เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 14005 มองประวัติศาสตร์ไทยในมุมมองบาทหลวง
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


 เมื่อ 20 ต.ค. 07, 09:55

อย่างที่เคยแนะนำตัวไปน่ะครับว่าผมเป็นคาธอลิค วันก่อนเพื่อนถามถึงเรื่องระบบการปกครองคณะสงฆ์คาธอลิค ไม่รู้จะตอบอย่างไร (เพราะไม่มีความรู้) รู้แต่ว่าคุณพ่อ ยาโกเบ แจง เกิดสว่าง ท่านเป็นสังฆราชองค์แรกที่เป็นคนไทย ท่านประจำอยู่ในสังฆมลฑลจันทบุรี  (ที่คุ้นตา เพราะไปสุสานแถวบ้านที่ไรก็ต้องอ่านถ้อยคำในพระคัมภีร์ไบเบิลที่จารึกไว้ที่หลุมศพท่านทุกที่)

จากจุดนี้เลยถือโอกาส มองประวัติศาสตร์ไทยในมุมมองของบาทหลวงบ้าง ซึ่งน่าจะมีบันทึกเป็นรายลักษณ์อักษร ในหนังสือบ้าง จดหมายจากโรมบ้าง หนังสือพิมพ์ในโรมบ้าง ซึ่งมีบันทึกมาช้านาน

ว่าแล้วก็เลยตามประวัติศาสตร์ จากเวปอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เวปสังฆมลฑลจันทรบุรี ฯลฯ

ผู้ก่อตั้งมิสซังสยาม

ซ้าย: ฯพณฯ ปีแอร์ ลังแบร์ต เดอ ลามอตต์
ขวา: ฯพณฯ ปัลลือ


อ่านเพลินๆ เลยหยิบมาฝากนะครับ เริ่มจากสังฆมณฑลจันทบุรีนะครับ
แหล่งข้อมูล http://www.chandiocese.org/main/history/history.htm

!!!--- ประวัติสังฆมณฑลจันทบุรี ---!!!

สังฆมณฑลจันทบุรี ยุคแรก
จันทบุรี เมืองลี้ภัยสำหรับคริสตังญวน ที่อพยพหนีการเบียดเบียนศาสนาในโคชินไชน่า (ปี ค.ศ. 1707 – 1838)

ปี ค.ศ. 1707
     รัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ พระคุณเจ้าเดอ ซีเซ (De Cice') ปกครองมิสซังสยาม คุณพ่อเฮอด (Heutte) ออกจากอยุธยาไปโคชินไชน่า นำคุณพ่อนิโกลัส โคแลนติโน (Nicolas Tolentino) พระสงฆ์ชาวฟิลิปินส์ไปที่จันทบุรีเพื่อเปิดวัด คุณพ่อเฮอด อยู่ที่จันทบุรีตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม ที่นั่นมีคริสตังญวน ประมาณ 120 - 130 คน เป็นลูกหลานของญวน ชาวโคชินไชน่า ที่อพยพหนีการเบียดเบียนในประเทศของตน ทางมิสซังได้ตกลงสร้างวัดน้อยขึ้นหลังหนึ่ง ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำจันทบุรี และให้มีพระสงฆ์ประจำอยู่ ดังนั้น คุณพ่อนิโกลัส โคแลนติโน จึงเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก วัดน้อยคงตั้งอยู่ในที่ของวัดโบสถ์ปัจจุบัน (วัดพุทธ)

ปี ค.ศ.1739
     วัดจันทบุรีถูกปิด และคริสตังถูกนำไปที่อยุธยารวมกับคนญวนอื่น เขาจัดให้คริสตังอยู่ค่ายญี่ปุ่นที่ว่างอยู่ สาเหตุการย้าย คือ ทางการไทยสงสัยพวกญวนที่อยู่ทางจันทบุรีเป็นโจรสลัด เขาไม่ได้แยกว่าเป็นคริสตังหรือไม่ แต่บางคนได้หนีเข้าไปในป่า เวลานั้นผู้ดูแลคริสตัง คือ คุณพ่อคาบริเอล (Gabriel) เป็นพระสงฆ์ไทยลูกครึ่ง ท่านได้กลับไปที่อยุธยาพร้อมกับคริสตัง ในระหว่างที่คุณพ่อเจ้าอาวาส และคริสตังอพยบไปนั้น วัดหลังแรกก็ถูกรื้อทำลายไป

ปี ค.ศ. 1753
     คุณพ่อเดอ โกนา (De Cauna) มาเป็นเจ้าอาวาส บรรดาคริสตังที่หนีไปอยู่ตามป่า ค่อย ๆ ทยอยกันกลับมาและช่วยกันสร้างวัดหลังที่สองขึ้น

ปี ค.ศ. 1766
     ก่อนที่อยุธยาจะแตก คุณพ่ออารโต (Artaud) อธิการและคุณพ่อแกรแฮรเว (Kerherve') ได้พาเณร 30 คน ไปอาศัยอยู่ที่จันทบุรีชั่วคราว (จากเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนพฤศจิกายน) จากนั้นเณรไปอยู่ที่ฮ่องดาด (Hondat) ประเทศเขมร เวลานั้น คุณพ่อยาโกเบ ชัง สงฆ์จีนศิษย์เก่าบ้านเณรอยุธยา ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1760 ระยะเวลา 2 ปี หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา ท่านเป็นพระสงฆ์เพียงองค์เดียวในประเทศสยาม

ปี ค.ศ. 1779
     พระเจ้าตากสินทรงไล่ พระคุณเจ้าเลอบอง (Lebon) กับธรรมทูตสองคนออกจากประเทศสยาม คุณพ่อชัง ยังคงเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรี และเป็นพระสงฆ์องค์เดียวในสยามอีกครั้ง

ปี ค.ศ. 1780 - 1791
     คุณพ่อลิโอ (Liot) หนีการเบียดเบียนศาสนาในโคชินไชน่า มาอาศัยอยู่ที่จันทบุรีพร้อมกับเณรญวน 20 คน คุณพ่อลิโอได้ช่วยเหลือคุณพ่อชัง ที่ชรามากแล้ว สันนิษฐานว่าท่านมรณะประมาณปี ค.ศ. 1800

ปี ค.ศ. 1788
     คุณพ่อฟลอรังส์ (Florens) มาที่จันทบุรีเป็นธรรมทูตใหม่ คุณพ่อลิโอ
เป็นผู้ต้อนรับและให้คำแนะนำในการแพร่ธรรม คุณพ่อฟรอรังส์เป็นคนแรกที่เริ่มประกาศพระวรสารตามหมู่บ้านใกล้จันทบุรี และเป็นผู้ตั้งกลุ่มคริสตชนที่บ้านแสลง


ฯพณฯ ฟลอรังส์

ปี ค.ศ. 1791
     คุณพ่อฟรอรังส์ เป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรี และอธิการบ้านเณร ได้รับลูกวัดจันทบุรีคนแรกที่สมัครเป็นเณร คือ เณรมาธีอัส โด คุณพ่อยังไปเยี่ยมคริสตังที่กรุงเทพฯ ในช่วงเวลาที่พระคุณเจ้าการ์โน (Garnauld) อยู่ที่ปีนัง และในปี ค.ศ. 1810 คุณพ่อฟลอรังส์ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช

ปี ค.ศ. 1803
     คุณพ่อมาธีอัส โด (Mathias Do) พระสงฆ์ญวนลูกวัดจันทบุรี ที่พระคุณเจ้าการ์โนได้บวชให้ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรี ในต้นปี ค.ศ. 1834 ได้ย้ายวัดมาสร้างที่ฝั่งซ้าย (ตะวันออก) ของแม่น้ำจันทบุรี นับว่าเป็นวัดหลังที่สาม คือ เป็นที่ตั้งของวัดหลังปัจจุบัน และคุณพ่อได้มรณะภาพที่วัดจันทบุรี ในปี ค.ศ. 1834

ปี ค.ศ. 1805
     ได้มีการรวบรวมสตรีเพื่อตั้ง คณะภคินีรักไม้กางเขน ที่จันทบุรี


คณะภคินีรักไม้กางเขน

ปี ค.ศ. 1833
     พระคุณเจ้าตาแบรด (Taberd) กับธรรมทูต และสามเณรอีก 15 คน หนีการเบียดเบียนศาสนาจากจักรพรรดิมิงมังห์ แห่งโคชินไชน่า มาอาศัยที่จันทบุรี บรรดาธรรมทูตนั้นได้ช่วยอภิบาลคริสตังด้วย

ปี ค.ศ. 1833 - 1834
     ในบรรดาธรรมทูต นักบุญกือโน (Cuenot) ได้ทำหน้าที่เจ้าอาวาสวัดจันทบุรี


นักบุญกือโน

ปี ค.ศ. 1834 - 1838
     คุณพ่อเกลบังโซ ธรรมทูตใหม่ถูกส่งไปอยู่ที่จันทบุรี เพื่อเรียนภาษาญวน และได้ทำหน้าที่เจ้าอาวาสต่อจาก คุณพ่อมาธีอัส โด

ปี ค.ศ. 1838
     หลังจากคุณพ่อรังแฟง (Ranfaing) รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส คุณพ่อได้ขออนุญาตพระคุณเจ้าปัลเลอกัว สร้างวัดจันทบุรีเป็นอิฐอย่างถาวร ในปี ค.ศ. 1855 และในปี ค.ศ. 1838 นั้น ที่วัดจันทบุรีมีคริสตังประมาณ 750 คน สมัยนั้นเมืองจันทบุรีมีพลเมืองราว 5,000 คน คริสตังเป็นคนจนมีอาชีพหาปลา วัดยังไม่มีโรงเรียน และมีแม่พระปฏิสนธินิรมลเป็นองค์อุปถัมภ์ของวัดจันทบุรี คริสตังก็ได้ถูกบังคับให้ทำงานราชการ 8 ถึง 15 วัน และต้องส่งไม้จันทน์เป็นส่วยแก่รัฐบาล คริสตังวัดจันทบุรี ได้ถวายเพชรพลอยแก่พระคุณเจ้าปัลเลอกัว เพื่อประกอบแหวนพระสังฆราช คุณพ่อรังแฟงเป็นเจ้าอาวาสที่เคร่งครัดในงานการอภิบาลสัตบุรุษ ก่อนจะรับศีลมหาสนิทต้องแก้บาปหลายครั้ง ใครผิดศีลกล่าวเมื่อกลับใจต้องมาขอโทษที่วัดต่อหน้าสัตบุรุษ และถูกทำโทษ ท่านถือว่าความเคร่งครัดเป็นวิธีเดียวเพื่อรักษาความเชื่อ และศรัทธาของสัตบุรุษ


พระคุณเจ้าปัลเลอกัว


บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 20 ต.ค. 07, 10:14

สังฆมณฑลจันทบุรี ยุคที่ 2
คริสตศาสนาแพร่ขยายในภาคตะวันออกเฉียงใต้ (ปี ค.ศ. 1838 – 1938)

ระยะแรกสมัยบุกเบิก(ปี ค.ศ. 1883 – 1910)
     ก่อนรัชกาลที่ 3 ในภูมิภาคนี้ไม่ค่อยมีคนอาศัยอยู่ มีที่ดินว่างเปล่า อาจเป็นเพราะการรบกันระหว่างสยามกับเขมร ในสมัยก่อนคนที่มาอาศัยตั้งแต่สมัยราชกาลที่ 3 เป็นคนที่กองทัพไทยต้อนมาจากลาว หรือเขมร และยังเป็นสมัยที่คนจีนมาในประเทศสยามทั้งหมดเป็นคนต่างถิ่น เขาจึงสนใจศาสนาคริสต์ เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ แต่คนไทยเดิมที่อยู่ในเขตนี้ได้มีการต่อต้านศาสนาคริสต์ และพยายามไม่ให้คนมาใหม่เข้าศาสนาคริสต์

ผู้บุกเบิกในลุ่มแม่น้ำบางปะกง

คนแรก คือ คุณพ่ออัลบราง(Albrand)
     แม้ว่าพระคุณเจ้าปัลเลอกัวได้เคยมาเยี่ยมคริสตังที่อยู่บางปลาสร้อย ในปี ค.ศ. 1838 คุณพ่ออัลบรางได้เริ่มตั้งกลุ่มคริสตังจีนขึ้น คุณพ่อได้เปิดศูนย์อบรมคนจีนที่วัดกาลหว่าร์ และเตรียมครูคำสอน ในราวปี ค.ศ. 1840 – 1841 คุณพ่อได้ส่งครูคำสอนจีนให้คุณพ่อรังแฟงที่จันทบุรี เพราะว่าที่จันทบุรีมีคนมาก คุณพ่อได้รวบรวมคริสตังจีนที่บางปลาสร้อย และบ้านใหม่ (แปดริ้ว)
 
คนที่สอง คือคุณพ่อแวร์เนท์(Vernhet)
     คุณพ่อได้ไปเยี่ยมคริสตังที่คุณพ่ออัลบราง ได้รวบรวมไว้ และถวายบูชามิสซาที่บ้านของหญิงชราคนหนึ่งที่บางปลาสร้อย ต่อมาคุณพ่อจำเป็นต้องออกจากบางปลาสร้อย เนื่องจากทางการมีอคติต่อศาสนาคริสต์ ก่อนที่คุณพ่อเกโก จะไปอยู่ที่บางปลาสร้อย
 
คนที่สาม คือคุณพ่อดานีแอล(Daniel)
     คุณพ่อได้ซื้อที่ดินที่บางปลาสร้อย และได้สร้างวัดเป็นไม้ไผ่ ในปี ค.ศ. 1857 รวมทั้งได้สร้างวัดเป็นไม้ไผ่ที่ บ้านใหม่ ในปี ค.ศ. 1858 พระคุณเจ้าปัลเลอกัวได้ เสกวัดหลังแรกของบ้านใหม่ ในปี ค.ศ. 1859 คริสตังทั้งสองวัดเป็นคนจีน โดยทั้งสองวัดมีพระสงฆ์องค์เดียวคอยดูแล ในขณะที่คุณพ่อดานีแอลอยู่บ้านใหม่ มีชาวเขมรคนหนึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านของ บ้านหาดสะแก ได้เชิญคุณพ่อไปอบรมชาวบ้านที่อยากเข้าศาสนา และคุณพ่อได้สร้างวัดหลังหนึ่งที่นั่น

คนที่สี่ คือคุณพ่อชมิตต์(Schmitt)
     พระสงฆ์ที่เคยทำงานในเขตนี้ แต่ก่อนจะมาจากกรุงเทพและไป ๆ มา ๆ ไม่ได้อยู่ตลอดเวลา ส่วนคุณพ่อชมิตต์ได้อยู่เขตนี้เกือบตลอดชีวิต คุณพ่อจึงได้ตั้งวัดหลายแห่ง รวมทั้งได้ทำประโยขน์หลายอย่างเช่น
- รวบรวมคริสตังที่ท่าเกวียน (พนมสารคาม) ในปี ค.ศ. 1868
- ตั้งกลุ่มคริสตังขึ้นที่พนัสนิคม ปี ค.ศ. 1868
- ตั้งวัดที่ปากคลองท่าลาด (บางคล้า) ในปี ค.ศ. 1868 ซึ่งทีแรกชาวบ้านไม่ยอมขายที่ดินให้คุณพ่อ เพราะเขาต่อต้าน ศาสนาคริสต์ คุณพ่อจึงได้อาศัยคริสตังเช่าห้องแถว
- ตั้งวัดบ้านเล่าในปี ค.ศ. 1872
- ตั้งกลุ่มคริสตังที่ดอนกระทุ่มยาง ปี ค.ศ. 1893
ที่จริงยังมีหลายหมู่บ้าน ที่เป็นคนลาวใกล้ภูเขานครนายก ที่อยากเข้าศาสนาคริสต์ แต่ชาวพุทธขู่ไม่ให้ติดต่อกับบาทหลวง คุณพ่อได้ซื้อที่ดินฝั่งซ้ายของแม่น้ำบางปะกงและได้สร้าง วัดนักบุญเปาโล มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1873 คุณพ่อได้สร้างบ้านพักพระสงฆ์ สร้างโรงเรียนสองหลัง คริสตังที่คุณพ่อดูแลส่วนมากเป็นคนจีนหรือลาว มีญวนบางที่บ้านเล่า อนึ่งคุณพ่อเป็นนักภาษาศาสตร์ ได้แปลคำจารึกโบราณหลายแห่ง รวมทั้งได้แปลคำจารึกบนศิลารามคำแหงด้วย   ฮืมตกใจ

คุณพ่อชมิตต์

คนที่ห้า คือคุณพ่อเกโก(Mathurin Guego)
ในสมัยที่คุณพ่อได้ดูแลกลุ่มคริสตังที่บางปลาสร้อยและที่พนัสนิคม คุณพ่อได้สร้างนิคมที่โคกกระเรี่ยงและที่หัวไผ่ ในปี ค.ศ. 1884 ด้วยการร่วมมือกับคุณพ่อสมิตต์ที่ได้ให้ทุนเพื่อไถ่ทาสหนี้สิน ผู้ที่ได้รับการไถ่จะเข่าไปอยู่ในนิคมหากเขาสมัครใจเข้าศาสนาคริสต์ แต่คนที่อยู่ในนิคมไม่ใช่มีเพียงทาสเท่านั้น แต่มีญาติและเพื่อนบ้านของอดีตทาสมากกว่า เพราะเขาชื่นชม ความยุติธรรม ความสามัคคี และความสงบสุขของสมาชิกในนิคม คุณพ่อเกโกดูแลกลุ่มคริสตังที่ทุ่งเหียง และได้ตั้ง กลุ่มคริสตังที่บ้านโพธิ์ ในปี ค.ศ. 1894 บรรดาคริสตังที่คุณพ่อดูแลส่วนมากจะเป็นคนไทย

คุณพ่อเกโก

คนที่หก คือคุณพ่อรองแดล(Randel)
     คุณพ่อเคยเป็นธรรมทูตในภาคอีสานหลายปี เมื่อกลับมาภาคกลาง คุณพ่อถูกส่งไปเป็นธรรมทูตตามหมู่บ้านคนลาวแถบปราจีนบุรี คุณพ่อรองแดลได้นำคริสตังจากดอนกระทุ่มยาว ไปรวมกับคริสตังใหม่ที่เป็นคนลาว และตั้งเป็น หมู่บ้านโคกวัด โดยร่วมมือกับ คุณพ่อเซแลสติโน ในปี ค.ศ. 1948

คนที่เจ็ด คือคุณพ่อยอห์น เหียง ปลัดวัดลำไทร คุณพ่อได้ก่อตั้งกลุ่มคริสตังที่หัวควาย (เสาวภา) ในปี ค.ศ. 1904

คนที่แปด คือคุณพ่อแปรัว ได้ตั้ง กลุ่มคริสตังที่แหลมโขด ในปี ค.ศ. 1910 

ในขณะเดียวกัน ทางจันทบุรีก็มีการขยายกลุ่มคริสชนบริเวณจันทบุรี

คุณพ่อรังแฟง ซึ่งได้สร้างวัดจันทบุรีใหม่ ในปี ค.ศ. 1855
คุณพ่อแกงตริ๊ก ปลัดวัดจันทบุรี ได้ตั้งกลุ่มคริสตังขึ้นที่วัดยาว (วัดขลุง) ในปี ค.ศ. 1875
คุณพ่อกึงอัส เจ้าอาวาสวัดจันทบุรี ได้สร้างวัดที่แหลมประดู่และท่าใหม่ ต่อมาปี ค.ศ. 1900 สมัยคุณพ่อเปริกัล เป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรี คุณพ่อได้ซื้อที่ดินและสร้างวัดที่ตราด ในปี ค.ศ. 1906 คุณพ่อได้เริ่มดำเนินการ สร้างวัดจันทบุรีหลังปัจจุบัน มีพิธีเสกวันในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1909

วัดจันทบุรีค.ศ.1894

ระยะที่สองหลังยุคบุกเบิก(ค.ศ. 1910-1938) (น้อยๆชอบกล)
เป็นสมัยอบรมคริสตังให้เป็นผู้ใหญ่ในความเชื่อ เป็นสมัยสร้างวัดถาวร และพระสงฆ์จะดูแลคริสตังเก่ามากกว่าจาริกไปหาคริสตังใหม่ คนต่างศาสนาที่สนใจสมัครเข้าศาสนาคริสต์ มีเหตุผลหลายประการเป็นต้นเพื่อแต่งงานกับคริสตัง

บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 20 ต.ค. 07, 10:20

วัดจันทบุรีสมัยสังฆราชปัลเลอกัวมีแม่พระอุปถัมภ์เช่นเดียวกับวัดแม่พระปฏิสนธินิรมลที่กทม.เลย ไม่ทราบว่าเป็นเพราะท่านเคยครองวัดนี้มาก่อนหรือไม่ เมื่อไปอภิบาลที่จันทบุรีจึงเลือกให้แม่พระปฏิสนธินิรมล (Immacule conception) เป็นองค์อุปถัมภ์
บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 20 ต.ค. 07, 10:32

สังฆมณฑลจันทบุรียุคที่ 3
การสถาปนาสังฆมลฑลจันทบุรี

      มิสซังจันทบุรีแต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของมิสซังกรุงเทพฯ ได้แยกเป็นมิสซังใหม่ขึ้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1944 มีชื่อว่า “มิสซังจันทบุรี” มีพื้นที่ประมาณ 34,000 ตร.กม. รวม 7 จังหวัด ได้แก่ 1.ตราด 2.จันทบุรี 3.ระยอง 4.ชลบุรี 5.ฉะเชิงเทรา 6.นครนายก และ 7.ปราจีนบุรี สำหรับ จังหวัดฉะเชิงเทราฝั่งขวาของแม้น้ำบางปะกงเป็นของมิสซังกรุงเทพฯ และที่จังหวัดนครนายก อ.บ้านนาเป็นของมิสซังกรุงเทพฯ (ตั้งแต่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1993 มีจังหวัดสระแก้วเพิ่มอีก 1 จังหวัด)
          พระคุณเจ้าเรอเน แปร์รอส ได้ชื่นชมยินดีที่ได้ทำการอภิเษก คุณพ่อยาโกเบ แจง เกิดสว่าง เป็นพระสังฆราช เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 ทั้งนี้เพราะพระคุณเจ้าเรอเน แปร์รอส ได้เป็นผู้อบรมพระคุณเจ้าแจง เกิดสว่าง ตั้งแต่สมัยเป็นเณรใหญ่ และได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์จากพระคุณเจ้าเอง ในวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1910 พระคุณเจ้าแจง เกิดสว่าง เป็นพระสังฆราชไทยองค์แรกของประเทศไทย และมีพระสงฆ์จำนวน 16 องค์ เป็นผู้ร่วมงานที่เป็นคนไทยทั้งหมด
          “เพื่อเพิ่มพระเกียรติมงคลของพระเป็นเจ้า” เป็นประโยคที่น่าจะบ่งชี้ถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสมัยของพระคุณเจ้าแจงได้อย่างดี ขณะที่พระคุณเจ้าเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวไผ่ ได้ซื้อที่ดินที่ศรีราชาซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านเณรพระหฤทัย ศรีราชา อยู่ทุกวันนี้

สมัยพระคุณเจ้า ยาโกเบ แจง เกิดสว่าง (ค.ศ. 1944-1952)
 
  ปี ค.ศ. 1945 คุณพ่อเอมินทร์ อารีพรรค เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเตยใหญ่ ได้สร้างวัดแม่พระปฏิสนธินิรมล เตยใหญ่ และพระคุณเจ้าแจง ได้เป็นประธานเสกวัด เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์
  ปี ค.ศ. 1947 พระคุณเจ้าแจง ได้ซื้อที่ดิน อ.สัตหีบ จำนวน 7 ไร่ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดแม่พระลูกประคำสัตหีบ ทางด้านศรีราชา มีคุณพ่อสงวน สุวรรณศรี เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดศรีราชา ได้สร้างอาคารเรือนไม้ 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นโรงเรียนดาราสมุทร ชั้นบนเป็นวัด
   
  ปี ค.ศ. 1949 พระคุณเจ้าแจง ได้ติดต่ออธิการิณีอารามคาร์แมล กรุงเทพฯ ให้มาเปิดอารามในมิสซังจันทบุรี เพื่อว่าภคิณีจะได้ภาวนาเป็นพิเศษสำหรับพระสงฆ์ และงานแพร่ธรรม ที่จังหวัดตราดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1929 ได้มีคริสตังจากจันทบุรี ขลุง ปากน้ำโพ อพยพมาประกอบอาชีพที่ตรา ทั้งนี้มีพระสงฆ์จากวัดจันทบุรีมาดูแล และเมื่อคุณพ่อชิ่น ไชยเจริญ เป็นเจ้าอาวาสวัดขลุงก็ได้รับมอบหมายให้ดูแลคริสตังที่ตราดด้วย
  ปี ค.ศ. 1950 พระคุณเจ้าแจงได้สร้าง สำนักพระสังฆราช ที่ศรีราชา เพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองมิสซัง แต่พระคุณเจ้าพำนักที่วัดหัวไผ่
  ปี ค.ศ. 1951 เริ่มก่อสร้างอารามคาร์แมล ที่จันทบุรี มีพิธีเสกและเปิดอาราม เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1952 และคุณพ่อบุญชู ระงับพิษ ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอารามฟาติมาของคณะธิดากางเขน ณ จันทบุรี ทางด้านคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ได้เข้ามาเปิดโรงเรียนวจนคาม ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น เซนต์ปอล คอนแวนต์ ศรีราชา
  ปี ค.ศ. 1952 ในวันที่ 14 เมษายน พระคุณเจ้าแจงได้ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบ ณ วัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่

สมัยพระคุณเจ้า ฟรังซิส เซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี (ค.ศ. 1953 – 1970)

  ปี ค.ศ. 1954 วันที่ 24 เมษายน วัดนักบุญยอแซฟ พนัสนิคม เกิดไฟไหม้ ทำให้ต้องสร้างวัดชั่วคราว หลังคามุงจาก มีสังกระสีเป็นฝา
  ปี ค.ศ. 1956 ในปีนี้ ได้มีการรวบรวม กลุ่มคริสตังที่นครนายก และมีคุณพ่อโกเชต์ที่อยู่หนองรี ได้มาถวายมิสซาให้ที่บ้านของนายบุญธรรม ทารีมุกข์
  ปี ค.ศ. 1957 คริสตังจากวัดโคกวัดจำนวนหนึ่งอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านทัพ (จ.สระแก้ว)
ในช่วงนี้ คุณพ่อจากวัดจันทบุรี ได้รับมอบหมายให้มาดูแลกลุ่มคริสตังที่ย้ายจากวัดจันทบุรีมาอยู่ที่ มูซู และได้ดำเนินการสร้างวัดแม่พระถวายองค์ในพระวิหาร
  ปี ค.ศ. 1958 พระคุณเจ้าสงวน ได้เชิญคณะซิสเตอร์พระกุมารเยซู มาเปิดโรงเรียนที่ชลบุรี ซึ่งคุณพ่อแรกเชอร์ หรือ คุณพ่อมาโต ได้มอบที่ดินไว้ให้เพื่อการศึกษาจำนวน 12 ไร่
  ปี ค.ศ. 1959 คุณพ่อโรเบิร์ต มาร์ติน คณะสงฆ์พระมหาไถ่ได้เช่าบ้านพักติดชายทะเล ศรีราชา เปิดบ้านเณรพระมารดานิจจานุเคราห์ และต่อมาสร้างเป็นบ้านเณรอย่างถาวรในที่ใหม่ ในปี ค.ศ. 1963 ทางด้านจังหวัดปราจีนบุรี เมื่อคุณพ่อสุเทพ นามวงศ์ มาเป็นเจ้าอาวาส ได้สร้างวัดหลังปัจจุบันขึ้น
  ปี ค.ศ. 1960 คุณพ่อบุญชู ระงับพิษ ได้ดำเนินการก่อสร้างวัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ (วัดหลังปัจจุบัน) ขณะเดียวกัน คุณพ่ออรุณ ธรรมธาดา ได้สร้างวัดอารักขเทวดา โคกวัด (วัดปัจจุบันเป็นหลังที่ 3) และคุณพ่อมาร์ติน สงฆ์คณะพระมหาไถ่ด้ช่วยดูแลกลุ่มคริสตังที่อำเภอสัตหีบ
ปี ค.ศ. 1961 พระคุณเจ้าสงวน มอบหมายให้คุณพ่อบุญชู สร้างอาคาร 2 ชั้น 1 หลัง เพื่อเป็นโรงเรียนอนุบาลละมุนอนุกูล ที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ พระคุณเจ้าสงวนได้มอบกิจการโรงเรียนของมิสซัง 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ โรงเรียนยอแซฟวิทยา โรงเรียนมารีวิทยา ให้แก่ซิสเตอร์คณะธิดากางเขน ณ จันทบุรี เป็นผู้ดำเนินกิจการเพื่อจะได้มีรายได้สำหรับคณะต่อไป
  ปี ค.ศ. 1962 คณะคามิลเลี่ยน ได้เริ่มเข้ามาทำงานในมิสซังจันทบุรี โดยเปิดโรงพยาบาลภายในโรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา
คุณพ่อวิจิตร ไตรภพ ได้สร้างวัดธรรมมาสน์นักบุญเปโตร ท่าแฉลบ (วัดหลังแรก) คุณพ่อเมธี วรรณชัยวงศ์ เจ้าอาวาสวัดพระหฤทัย ศรีราชา เห็นว่าวัดที่เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น มีสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงวางแผนและเริ่มดำเนินการสร้างวัดหลังใหม่ มีพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1964
  ปี ค.ศ. 1963 คุณพ่อประพล ธรรมพิชัย เจ้าอาวาสวัดนักบุญยอแซฟ ดำเนินการสร้างวัดใหม่แทนวัดหลังเดิมที่ถูกไฟไหม้ในวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1963 ได้มีพิธีฉลองเสกวัดนักบุญยอแซฟ พนัสนิคมปัจจุบัน ภารดาคณะเซนต์คาเบรียล ได้ตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ ระยอง
  ปี ค.ศ. 1964 คุณพ่อชิ่น ไชยเจริญ ได้เริ่มก่อสร้างวัดพระหฤทัย ขลุง (วัดปัจจุบัน) แทนวัดหลับที่ 2 ซึ่งมีอายุประมาณ 60 ปีแล้ว ส่วนวัดนักบุญยอห์น อัครสาวก มะขาม คุณพ่อวิจิตร ไตรภพ ก็ได้สร้างวัดขึ้นบนเนื้อที่ที่ คุณพ่อญาณี ได้จัดซื้อไว้
  ปี ค.ศ. 1965 วันที่ 18 ธันวาคม พระสันตะปาปา ปอล ที่ 6 ได้ประกาศสถาปนาให้มิสซังจันทบุรี เป็นสังฆมณฑลจันทบุรี พระคุณเจ้าสงวน ได้เชิญ คณะคามิลเลี่ยน มาเปิดสถานรักษาพยาบาลคนโรคเรื้อนที่โคกวัด ทั้งนี้ได้มอบที่ดินราว 100 ไร่ ให้แก่คณะด้วย
  ปี ค.ศ. 1966 คุณพ่ออรุณ ธรรมธาดา เจ้าอาวาสวัดโคกวัด ได้รวบรวมคริสตังี่อพยพจากโคกวัด ไปอยู่ที่เขาฉกรรจ์ (จ.สระแก้ว) และถวายมิสซาที่บ้านของสัตบุรุษ เมื่อคุณพ่อย้ายจากโคกวัดไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดชลบุรี ก็ได้เริ่มก่อส้างวัดหลังปัจจุบัน ซึ่งเริ่มมีการเตรียมสร้างใหม่ ตั้งแต่สมัยคุณพ่อวินทร์ ทางด้านวัดแม่พระปฏิสนธินิรมล เตยใหญ่ ได้ดำเนินการสร้างวัดหลังปัจจุบัน โดยมีคุณพ่อบุญชู ระงับพิษ เจ้าอาวาสวัดหัวไผ่มาควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งในขณะนั้น คุณพ่อวิทยา สาทรกิจเป็นเจ้าอาวาส ทำการเสกเมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1966 คุณพ่อกิจ วรศิลป์ เจ้าอาวาสวัดตราด ได้ซื้อที่ดินเพิ่มและได้สร้างวัดตราดใหม่แทนวัดเก่า
  ปี ค.ศ. 1967 คุณพ่ออรุณ ธรรมธาดา เจ้าอาวาสวัดพระนามเยซู ชลบุรี ได้รวบรวมคริสตังที่บางแสน ส่วนทางด้านคริสตังที่พัทยา ได้สร้างวัดนักบุญนิโคลัส เดอ ฟูล มีพิธีเสกวัดใหม่เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1967
  ปี ค.ศ. 1968 ทางสังฆมณฑล ได้มอบหมายให้ คุณพ่อหลุยส์ (คณะ SAM) เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านทัพ และคุณพ่อได้ร่วมกับสัตบุรุษช่วยกันสร้างวัดน้อยและบ้านพักพระสงฆ์
  ปี ค.ศ. 1969 คุณพ่อดำรง กู้ชาติ ได้ดำเนินการสร้างวัดเซนต์ปอล แปดริ้ว หลังจากที่มีโครงการสร้างวัดใหม่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1932 เพราะวัดเก่าทรุดโทรมมาก
  ปี ค.ศ. 1970 คุณพ่อกิจ วรศิลป์ ได้สร้างวัดนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ท่าศาลา (หลังปัจจุบัน) แทนวัดเก่าที่คุณพ่อซีมอน ได้สร้างไว้เมื่อ ค.ศ. 1937 พระคุณเจ้าสงวนได้ขอลาจากตำแหน่งประมุขของสังฆมณฑลจันทบุรี เนื่องจากสุขภาพไม่สมบูรณ์ โดยมีโรคประจำตัวอยู่เสมอ จนไม่อาจปฏิบัติภารกิจได้เต็มที่ ระหว่างที่ยังไม่มีประมุข คุณพ่อสนิท วรศิลป์ เป็นผู้รักษาการแทน 

สมัยพระคุณเจ้าลอเรนซ์เทียนชัย สมานจิต(ค.ศ. 1971 – ปัจจุบัน) 
         
  พระสันตะปาปา ปอล ที่ 6 ได้เลือกคุณพ่อลอเรนซ์ เทียนชัย สมานจิต ซึ่งเป็นเลขานุการของพระคุณเจ้าสงวน ให้เป็นพระสังฆราชปกครองสังฆมณฑลจันทบุรี เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1971 และได้รับอภิเษกโดยพระคุณเจ้าสงวน สุวรรณศรี ในวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1971 ณ วัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ พระคุณเจ้าได้มีคติประจำใจในวันอภิเษกเป็นพระสังฆราช “ขอให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน. (UT OMNES UNUM SINT)
  พระคุณเจ้า ได้พยายามใช้นโยบาย แห่งการประนีประนอม ควบคู่กับความรักเอาใจใส่ในการอภิบาลทั่วสังฆมณฑล มีการสร้างวัดเพิ่มขึ้นในที่ต่าง ๆ ตามที่มีคริสตังอพยพไปอยู่อาศัยตามพื้นที่ ในเขตสังฆมณฑลจันทบุรี
  ปี ค.ศ. 1971 สังฆมณฑล ได้จัดให้มีคณะกรรมการรับผิดชอบเรื่องคำสอน และจัดให้มีการอบรมครูคำสอน หลักสูตรปลายสัปดาห์ติดต่อกัน ณ สำนักพระสังฆราช
  ปี ค.ศ. 1973 คุณพ่ออังเดร โบลังด์ ได้เข้าไปดูแลคริสตังที่อพยพจากโคกประสาท โนนแก้ว โนนงิ้ว และโนนแฝก มาอยู่ที่เขาขาด อำเภอวัฒนานคร (จ.สระแก้ว)
  ปี ค.ศ. 1974 เมื่อวันที่ 22 กันยายน สังฆมณฑลได้เปิดดำเนินกิจการ สถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า พัทยา โดยมอบหมายให้คุณพ่อเรย์มอนด์ เบรนแนน เป็นผู้อำนวยการ และซิสเตอร์คณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร เป็นผู้ดำเนินกิจการ ปัจจุบันซิสเตอร์คณะธิดากางเขนเป็นผู้ดูแล ทางด้านวัดอารักขเทวดา แหลมประดู่ จันทบุรี คุณพ่ออารี วรศิลป์ ได้สร้างวัดหลังปัจจุบันแทนวัดเก่าที่คุณพ่อแอสเตวัง สร้างไว้ ราวปี ค.ศ. 1900
  ปี ค.ศ. 1975 โอกาสปีศักดิ์สิทธิ์ สังฆมณฑลได้มอบหมายให้หน่วยงานคำสอน จัดอบรมฟื้นฟูจิตใจตามวัดในสังฆมณฑล ในปีนี้ มีครอบครัวคริสตังย้ายมาจากภาคอีสานเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านสระไม้แดง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา และคุณพ่อโกโทร สงฆ์คณะพระมหาไถ่ ได้เข้าไปถวายบูชามิสซาเดือนละครั้งที่บ้านสัตบุรุษ สังฆมณฑลได้จัดตั้งศูนย์สังคมพัฒนา โดยมีคุณพ่อสีลม ไชยเผือก เป็นผู้รับผิดชอบ มีสำนักงานอยู่ที่วัดจันทบุรี
   ปี ค.ศ. 1977 คุณพ่อวิโอลา วรศิลป์ เจ้าอาวาสวัดตราด ได้ปรับปรุงวัดที่คุณพ่อกิจ วรศิลป์ ได้สร้างไว้ให้โปร่งมากขึ้น โดยติดกระจกทั้งหมด ทางด้านนครนายก ทางสังฆมณฑลได้จัดซื้อที่ดินจำนวน 3 ไร่ พร้อมกับบ้าน สำหรับใช้เป็นวัดน้อยมีชื่อว่า “วัดพระมารดาแห่งพระศาสนจักร”
  ปี ค.ศ. 1979 เนื่องจากวัดแม่พระลูกประคำ สัตหีบ (วัดเก่า) ซึ่งใช้บ้านหลังหนึ่ง ดัดแปลงเป็นวัดชั่วคราว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 มีสภาพไม่เหมาะสม และทรุดโทรมมาก คุณพ่อไพบูลย์ นัมคณิสรณ์ จึงดำเนินการสร้างวัดใหม่ ในที่ดินที่พระคุณเจ้าแจง เกิดสว่าง ได้ซื้อไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1947
ปี ค.ศ. 1981 คุณพ่อวัชรินทร์ สมานจิต เจ้าอาวาสวัดแขวงสระแก้ว ได้ก่อตั้งกลุ่มคริสตชนที่ทุ่งวิบาก อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว
  ปี ค.ศ. 1982 สังฆมณฑลได้จัดสร้างศูนย์สังฆมณฑลที่ศรีราชา โดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1982 เพื่อเป็นที่ประชุมสัมมนา และศูนย์ประสานงานต่าง ๆ ของสังฆมณฑล คุณพ่อชูชาติ ศรีวิชัยวัฒน์ อธิการบ้านเณรพระมหาไถ่ได้ดำเนินการรวบรวม “กองทุกคาทอลิก” เป็นทุนในการจัดซื้อที่ดินและสร้างวัดนักบุญอันนา สระไม้แดง และมีพิธีเสกวัดใหม่ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน
  ปี ค.ศ. 1984 คุณพ่อเศียร โชติพงษ์ เจ้าอาวาสวัดแม่พระนิจจานุเคราะห์ ได้ดำเนินการก่สร้างวัดใหม่ในที่ของวัดเอง ซึ่งแต่ก่อนวัดอยู่ในโรงเรียนอัสสัมชัญ ระยอง
  ปี ค.ศ. 1987 กลุ่มคริสตังจากบ้านโนนมาลี และบ้านหนองคู จ.ยโสธร ได้อพยพเข้ามอยู่ที่บ้านนายาว ทางสังฆมณฑลจึงมอบหมายให้คุณพ่อทวี อานามวัฒน์ เจ้าอาวาสแขวงวัดสระแก้ว เป็นผู้ดูแล
  ปี ค.ศ. 1988 โอกาสปีแม่พระ สังฆมณฑลจัดพิธีแห่แม่พระไปตามวัด
  ปี ค.ศ. 1989 คุณพ่อทวี อานามวัฒน์ ได้ดำเนินการก่อสร้างวัดพระจิตเจ้าบ้านทัพ แทนวัดชั่วคราวที่คุณพ่อหลุยส์สร้างไว้ และทางด้านปัญหาสังคมที่พัทยา คณะภคินีศรีชุมพาบาลได้เปิดศูนย์ธารชีวิต เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของสตรี ผู้มีอาชีพบริการ
  ปี ค.ศ. 1990 อารามคาแมล์ ดำเนินการก่อสร้างอารามในสถานที่ใหม่ มีพิธีวางศิลาฤกษ์ วันที่ 28 เมษายน ทางด้านวัดแม่พระประจักษ์ที่ลูร์ด บางคล้า คุณพ่อสันติ สุขสวัสดิ์ เจ้าอาวาส ได้เริ่มก่อสร้างวัดใหม่แทนวัดเดิมที่สร้างไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959
  ปี ค.ศ. 1991 คณะแม่พระแห่งพระตรีเอกภาพ ได้เปิดศูนย์บำบัดยาเสพติด (หญิง) ที่บางคล้า
  ปี ค.ศ. 1994 มิสซังจันทบุรี ก่อตั้งครบ 50 ปี เพื่อขอบพระคุณพระเป็นเจ้า สังฆมณฑลจัดให้มีพิธีเคารพศีลมหาสนิท และแห่ไปทุกวัด เริ่มจากวัดหัวไผ่ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม และจบที่วัดศรีราชา วันที่ 22 – 23 ตุลาคม มีพิธีฉลอง 50 ปีมิสซังจันทบุรี ณ บ้านเณรพระหฤทัย ศรีราชา


บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 20 ต.ค. 07, 11:21

เรามาดูทางอัครสังฆมลฑลกรุงเทพกันบ้าง ที่นี่มีตำนานยาวนานมาก สำหรับเรื่องข้อมูลทางประวัติศาสตร์ อ่านแล้ว ขัดๆ ข้องๆ สงสัยตรงไหน ไม่ว่าจะเรื่องชื่อสยามหรือเรื่องการเรียกมิสซังมาจากภาษาใด มีข้อมูลขัดแย้งประการใด แจ้งตามเวปไซต์ อัครสังฆมลฑลกรุงเทพ http://www.catholic.or.th/ ได้ (หรือไม่ไม่รู้นะครับ ยิ้ม ยิ้ม ยิ้ม ตัวกระผมนั้นเป็นผู้ตัดแปะเฉยๆ นะขอรับ)

แหล่งข้อมูล http://www.catholic.or.th/archive/archbkk/archbkk1.html

     H.E. SMITH ในหนังสือ “ Historical and Cultural Dictionary of Thailand” กล่า วไว้ว่า ชื่อ “สยาม” (Siam) ถูกใช้ครั้งแรกโดย Sir James Lancaster ในปี 1592 อาจารย์ รงค์สยามนันท์ อาจารย์ประวัติศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้ยืนยันเช่นเดียวกันความจริง ชื่อ “สยาม” ต้องถูกใช้มาก่อนหน้านี้อย่างแน่นอน จากการตรวจสอบเอกสารและการศึกษาประวัติศาสตร์พระศาสนจักรในประเทศไทย เราจะพบว่า นักบุญ ฟรังซิส เซเวียร์ ได้เอ่ยถึง และใช้ชื่อ “สยาม” ในจดหมายของท่านที่ส่งมาให้เพื่อนของท่านที่ Malacca ถึง 4 ฉบับ ในปี 1552. นอกจ ากนี้ อาจารย์ บุญยก ตามไท ได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจในวารสาร ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 5 ฉบับที่ 9 ไว้ดังนี้

     “ มีเกร็ดประวิติศาสตร์บันทึกโดยฝรั่งว่า เมื่อ พ.ศ. 2087 (1544) Antonio de Paiva ชาวโปรตุเกส ได้เดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระชัยราชาธิราช และมีโอกาสได้เข้าเฝ้าและสนทนาเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนากับพระองค์ จนเลื่อมใส และพระองค์ทรงประกอ บพิธี Baptise ได้รับพระราชทินนามเป็นภาษาโปรตุเกสว่า Dom Joao ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์พิเศษอย่างยิ่ง”

     เท่าที่ผมพยายามค้นหาเอกสารที่บันทึกโดยฝรั่งตามที่อาจารย์บุญยก ตามไท ได้กล่าวไว้นี้ก็ได้พบเอกสารที่รวบรวมอยู่ในหนังสือ Documenta Indica I และ II  และถูกนำมาอ้างอิงโดย Jose Maria RECONDO s.j. และ G.SCHURHAMMER, s.j. พระสงฆ์นักประวัติศาสตร์คณะเยซูอิต ชาวสเปน และเยอรมัน ตามลำดับ. เอกสารเหล่านี้ได้เอ่ยถึง ชื่อ “สยาม” ไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นชื่อประเทส “สยาม” ต้องถูกใช้มาแล้วตั้งแต่ปี 1544 ผมยังเชื่อว่าคำว่า “สยาม” ต้องถูกใช้มาก่อนหน้านี้ด้วย Simon de La Loubere ฑูตพิเศษของกษัตริย์ฝรั่งเศสปี 1687 และ 1688 ได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจมากไว้ดังนี้ว่า ชื่อสยามไม่ได้เป็นที่รู้จักของชาวสยามเป็นคำ ๆ หนึ่งที่พวกโปรตุเกสใน Indies ใช้ เป็นการยากที่จะสืบพบต้น กำเนิดของคำ ๆ นี้. เราอาจกล่าวได้ว่า ชื่อ “สยาม” ถูกใช้มาตั้งแต่พวกโปรตุเกสได้เข้ามาถึงหมู่เกาะ Indies ในปี 1511

     ชาวยุโรปได้เรียกแผ่นดินของเราว่า “สยาม” เป็นชื่อประเทศใน ศต. ที่ 17 และในการติดต่อกับชาวยุโรปสมัยนั้น พวกเราก็ได้ใช้ชื่อสยามเช่นเดียวกัน แม้ว่าเราจะไม่ได้เรียกประเทศของเราว่า “สยาม” ก็ตาม เพราะว่าสมัยก่อนคนไทยเราเรียกป ระเทศของตนตามชื่อนครหลวง เช่น กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา หรือมิฉะนั้นก็จะเรียกว่า “สยาม” ซึ่งเราก็นิยมใช้กันมาจนถึงตอนนี้

     ชื่อ “สยาม” กลายมาเป็นชื่อทางการของประเทศในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ใช้ คำว่า “สยาม” แทนคำว่า “เมืองไทย” ในการแก้ไขสนธิสัญญา Bowring ของวันที่ 5 เม.ย. 1856 และชื่อ “สยาม” ก็ถูกเรียกใช้เรื่อยมาตั้งแต่ตอนนั้น จนมาถึงวันที่ 24 มิ.ย. 1939 เมื่อประเทศของเราเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Monarchy) มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (แบบไทย ๆ ) และจอมพล ป. พิบูลสงคราม เปลี่ยนชื่อประเทศจากคำว่า “สยาม” มาใช้คำว่า “ประเทศไทย” ในรัฐธรรมนูญ “ประเทศไทย” จึงเป็นชื่อทางการของประเทศตั้งแต่นั้นมา คำภาษาอังกฤษจึงใ ช้คำว่า “Thailand” การเปลี่ยนนี้นับว่าเหมาะสม เพราะตรงกับการปฏิบัติจริงของประชาชน ที่เรียกประเทศของตนเสมอมาว่า “เมืองไทย”

     ส่วนความหมายของคำว่า “สยาม” นั้นยังคงเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่ว่าคำนี้หมายความว่าอะไร แต่ไม่ได้หมายความว่าคำถามนี้ไม่มีคำตอบ ปัญหามาอยู่ตรงที่ว่ามีคำตอบมากเกินไป มี ความเห็นที่แตกต่างกันอยู่และยังไม่เป็นที่ลงเอย ผมจะยกมาเป็นตัวอย่างดังนี้ คำว่า “สยาม” หมายถึง

ผิวคล้ำ  ผิวดำ ยังหมายความถึง ทองคำ ได้ด้วย ดังนั้นหากนำเอาคำนี้มาใช้กับประชาชน ก็น่าจะหมายความว่า คนผิวคล้ำ ผิวดำ แต่หากนำมาใช้กับประเทศหรือแผ่นดิน ก็น่าจะหมายความถึง แผ่นดินทองคำ มากกว่าแผ่นดินคล้ำแน่ ๆ และโดยที่ลักษณะรูปร่างของแผ่นดินไทยเป็นแห ลม แหลมทองที่เรารู้จักกัน ก็อาจจะทำให้คิดได้ว่าสยาม อาจใช้เรียกแทน แหลมทองก็ได้ บางท่านให้ความเห็นว่า คำว่า “สยาม” เป็นคำในภาษาเขมร หมายถึง สีน้ำตาล บางท่านถือว่าเป็นคำภาษาบาลี แปลว่า ดำ บางท่านเชื่อว่าเป็นคำภาษาพม่า แปลว่า อิสระ เมื่อเราพิจารณาความเห็นเหล่านี้และสืบประวัติศาสตร์ไทยดูแล้ว จะพบว่าเขมร, ภาษาบาลี, พม่า ต่างก็มีความสัมพันธ์กับเราไม่น้อยเลย ความเป็นไปได้จึงมีอยู่ในทุกความเห็น ทางที่ดีที่สุดก็คือ เราจะไม่ตัดสินอะไรลงไปในสิ่งที่เรายังรู้ไม่แน่ชัด

     เหตุผลที่ผมกล่าวถึงคำว่า “สยาม” ในบทความนี้ ก็เพราะว่าพระศาสนจักรในแผ่นดินไทยของเราเป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวตะวันตก และในหมู่คริสตชนในประเทศเราเอง โดยใช้คำว่า “มิสซังสยาม”

     บทความนี้แม้จะไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะเขียนบรรยายถึงประวัติศาสตร์พระศาสนจักรในประเทศสยามแต่บางครั้งก็มีค วามจำเป็นที่จะต้องสอดแทรกประวัติบางตอนเข้ามาเล็กน้อย เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจอะไรชัดเจนขึ้น อันที่จริงยังมีคำอีกหลายคำที่น่าจะเข้าใจ ผมขออนุญาตเก็บเอาไว้ก่อนเพราะมิฉะนั้นจะทำให้ยาวเกินไปจนไม่มีใครอยากอ่านแต่ก็อดไม่ได้ ที่จะยกตัวอย่างมาให้ผู้อ่านตรวจสอบตัวเอง ดูว่ารู้จักคำเหล่านี้ ที่มีบทบาทอยู่ในพระศาสนจักรของเรามากน้อยเพียงใด เช่น ความหมายและบทบาทของ Padroado (หรือ Patronage ในภาษาอังกฤษ) , Propaganda Fide เป็นต้น. มิชชันนารีของ Padroado แล ะมิชชันนารีของ Propaganda Fide ต่างก็เข้ามาในแผ่นดินสยาม และก็เกิดควาาขัดแย้งกันเองในเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจในดินแดนส่วนนี้

หันมาพูดถึงคำว่า “มิสซังสยาม” บ้าง หากเปิดดูหนังสือประวัติพระศาสนจักรสากลและพระศาสนจักรในประเทศไทย จัดพิมพ์โดย สำนักงานสารสาส์นในปี 1967 หรือ พ.ศ. 2510 หน้า 196 จะพบว่าผู้เขียนได้ให้ข้อสังเกตว่า คำว่า “มิสซัง” เป็นคำภาษาโปรตุเกส.

     ในความเห็นส่วนตัวของผมเอง ผมเชื่อว่า คำนี้น่าจะมาจากอิทธิพลของภาษาฝรั่งเศสมากกว่า เพราะเหตุว่า แม้ว่าพวกโปรตุเกสจะเข้ามาถึงแผ่นดินสยามเป็นพวกแรก แต่ก็มีบทบาทอยู่ในประวัติพระศาสนจักรในสยามน้อยกว่าพวกฝรั่งเศส พวกมิชชันนารีโปรตุเกสเข้ามาถึงอยุธยาในปี 1567 เพื่ออภิบาลชาวโปรตุเกสที่ตั้งหลักแหล่งที่อยุธยา จนถึงปี 1783 เราไม่พบพ วกมิชชันนารีโปรตุเกสในสยามอีกเลยอีกทั้งในช่วงระยะเวลาระหว่างปี 1567 ถึง 1783 นั้น มิชชันนารีชาวโปรตุเกสก็มิได้มีอยู่ในสยามอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นคณะ Dominican, Franciscan, หรือ Jesuit ก็ตาม. เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ “มิสซัง (Mission) “ หมายถึงขอบเขตปกครองของสังฆราชที่ปกครองในนามของพระสันตะปาปาหรือที่เรียกกันในภาษาลาตินว่า Vicarius Apostolicus, ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Apostolic Vicar การปกครองในลักษณะเช่นนี้ถูกเรียกว่า Vicariatus หรื อ Vicariate บางท่านได้พยายามแปลเป็นภาษาไทยโดยใช้คำว่า “เทียบสังฆมณฑล” ซึ่งก็เป็นการแปลเพื่อให้เข้าใจเพียงว่า ขอบเขตนั้น ๆ ยังไม่ใช่สังฆมณฑลเท่านั้น จะเรียกว่าเป็นการแปลคงไม่ถูก น่าจะเรียกว่าเป็นการให้ความหมายมากกว่า อันที่จริง Vicariate หรือ Mission และ สังฆมณฑล (Diocese) เป็น 2 สถาบันที่มีลักษณะแตกต่างกัน บางสังฆมณฑลอาจถูกแต่งตั้งขึ้นโดยไม่ได้เป็น Mission มาก่อนก็ได้ อย่างไรก็ตามใน Commentary ของกฎหมายพระศาสนจักรภาษาอิตาเลียนได้ บอกไว้ว่า Vicariate มีความคล้ายคลึงกับสังฆมณฑล เอาเป็นว่าในขณะที่เรายังไม่มีคำอื่นที่ดีกว่าคำว่า “เทียบสังฆมณฑล” เพื่อใช้แทนคำว่า Vicariate หรือ Mission เราก็ใช้คำนี้กันไปก่อน ประเทศสยามได้รับการยกขึ้นเป็นประเทสมิสซังอย่างเป็นทางการโดย พระสันตะปาปา Clement IX โดยเอกสารทางการของพระศาสนจักร ชื่อ Cum Sicut ของวันที่ 4 มิ.ยง 1669 และ Speculatores ของวันที่ 13 ก.ย. 1669 พระสังฆราช Pallu และ Lambert de La Motte เป็นผู้เสนอเรื่องต่อ Rome หลังจากรับการยกขึ้นเป็นมิสซังแล้วจึงเรียกดินแดนสยามนี้ว่า มิสซังสยาม อย่างเป็นทางการ

     มิสซังสยามถูกปกครองโดย Apostolic Vicar คนแรกคือ พระสังฆราช Laneau. ดังนั้นการที่สยามถูกยกขึ้นเป็น “มิสซัง” จริง ๆ นั้น เกิดมาจากการวิ่งเต้นของพวกมิชชันนารีชาวฝรั่งเศส และก็เป็นบรรดามิชชันนารีคณะ M.E.P. นี้เองที่ได้ทำง านอยู่ในมิสซังสยามอย่างต่อเนื่อง (เกือบตลอด) มาจนถึงปัจจุบันนี้ เป็นพระสงฆ์คณะนี้เองที่ได้ก่อตั้งบ้านเณรขึ้น พระสงฆ์พื้นเมืองก็ได้เกิดขึ้นภายใต้การอบรมสั่งสอนของพวกพระสงฆ์คณะ M.E.P. ชาวฝรั่งเศส แน่นอนที่สุดอิทธิพลด้านภาษาฝรั่งเศสย่อมต้องเข้ามามีบทบาทอยู่ในชีวิตประจำวัน แม้ในปัจจุบันนี้อิทธิพลนี้ก็ยังคงมีอยู่ เช่น บรรดาพระสงฆ์ที่ได้รับการอบรมจากคณะสงฆ์ M.E.P. ได้เรียนรู้ภาษาฝรั่งเศส บรรดาพระสงฆ์มักจะเรียกสำนักมิสซังว่าโปรกือร์(Procure) ซึ่งมาจากภาษาฝรั่งเศ ส เป็นต้น นอกจากนี้คำว่า Mission (มิสซีออง) ในภาษาฝรั่งเศสก็ไม่ยากแก่การเพี้ยนมาเป็นคำว่า “มิสซัง” ผมได้สอบถามเพื่อน ๆ ที่พูดภาษาโปรตุเกสเกี่ยวกับการออกเสียงคำว่า “Missaon” ได้ความว่า คำนี้ออกเสียงว่า “มิสซาว” โดยเน้นเสียงพยางค์สุดท้าย เมื่อเทียบดูการออกเสียงคำนี้ระหว่างภาษาโปรตุเกสและภาษาฝรั่งเศสแล้ว ก็ได้ผลใกล้เคียงกัน ภาษาฝรั่งเศสก็เน้นเสียงพยางค์หลังเช่นเดียวกันแต่เมื่อคำนึงดูอิทธิพลของพวกฝรั่งเศสแล้ว คำว่า “มิสซัง” ที่เราใช้กันอยู่นี้ก็น่าที่จะมาจากภาษาฝรั่งเศสมากกว่าภาษาโปรตุเกส
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1669 มิสซังสยามถูกปกครองโดย Apostolic Vicar แต่ Apostolic Vicar คนแรก คือ ฯพณฯ Laneau ได้รับการอภิเษกเป็นสังฆราชในวันที่ 25 มี.ค. 1674 มิสซังสยามอยู่ในการปกครองแบบนี้มาจนถึง ค.ศ. 1965 ซึ่งได้มีการแบ่งมิสซังสยามและยกขึ้นมาสู่ระดับสังฆมณฑล โดยแบ่งเป็น 2 แขวงทางพระศาสนจักร (Ecclesiastical Provinces) คือแขวงกรุงเทพฯ และแขวงท่าแร่-หนองแสง ดังนั้น กรุงเทพฯ และ ท่าแร่-หนองแสงจึงถูกยกขึ้นมาสู่ระดับ อัครสังฆมณฑล และในแต่ละอัครสังฆมณฑลก็มีสังฆมณฑลลูก (Suffragan Diocese) ประกอบไว้ด้วย แต่ละสังฆมณฑลก็มีสังฆราชของตนเป็นผู้ปกครองเพื่อให้เข้าใจถึงความเป็นมาตั้งแต่สยามยังเป็น “มิสซังสยาม” จนมาเป็นอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ โปรดดูตารางต่อไปนี้

 มิสซังสยาม
ชื่อประมุขมิสซัง พระสังฆราชแห่ง ระยะเวลา

1. ฯพณฯ LANEAU METELLOPOLIS 1674-1696

2. คุณพ่อ FERREUX      1696-1698

3. ฯพณฯ DE CICE  SABULE  1700-1727

4. ฯพณฯ DE QUERALAY ROSALIA  1727-1736

5. คุณพ่อ LEMAIRE      1736-1738

6. ฯพณฯ DE LOLIERE JULIOPOLIS 1738-1755

7. ฯพณฯ BRIGOT TABRACA 1755-1767

8. ฯพณฯ LE BON METELLOPOLIS 1768-1780

9. ฯพณฯ COUDE  RHESI   1782-1785

10. ฯพณฯ GARNAULT METELLOPOLIS 1786-1811

11. ฯพณฯ FLORENS SOZOPOLIS 1811-1834

12. ฯพณฯ COURVEZY BIDE   1834-1841

13. ฯพณฯ PALLEGOIX MALLOS  1841-1862

14. ฯพณฯ DUPOND  AZOTH   1865-1872

15. ฯพณฯ L.VEY GERAZA  1875-1909

16. ฯพณฯ PERROS  ZOARA   1909-1947

17. ฯพณฯ L.CHORIN POLISTYLOS   1947-1965
ก่อนเปลี่ยนเป็นอัครสังฆมลฑลกรุงเทพ
ฯพณฯ ยวง    นิตโย OBBA  1963-1965



บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 20 ต.ค. 07, 11:27

อัครสังฆมลฑลกรุงเทพ

1. ฯพณฯ  ยวง   นิตโย BANGKOK 1965-1973

2. ฯพณฯ มีชัย  กิจบุญชู BANGKOK 1973

  นับตั้งแต่ปี 1965 ที่มิสซังสยามได้รับการแบ่งและยกขึ้นเป็นสังฆมณฑลต่าง ๆ มาจนถึงปีนี้คือ 1990 ก็เป็นเวลา 25 ปีพอดี สำหรับเรื่องการแบ่งแยกและการยกมิสซังสยามเช่นนี้เพื่อให้มีการปกครองและบริหารแบฐานันดรของพระศาสนจักร (Ecclesiastical Hierarchy) ในปี 1965 มาจนถึง ปี 1990 นี้ จะยังไม่พูดในบทความนี้ ขอให้สังเกตว่าในขณะที่พระศาสนจักรในเมืองไทยยังคงเป็น “มิสซังสยาม” อยู่นี้ มิสซังสยามอยู่ในระบบการปกครองและบริหารโดยมี Apostolic Vicar เป็นประมุข เราอาจจะแปลได้ว่า “รองอัครสาวก” หรือ “ผู้แทนพระสันตะปาปา” โดย Apostolic Vicar นี้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นสังฆราชของสังฆมณฑลใดสังฆมณฑลหนึ่ง ซึ่งถือเป็นตำแหน่งทางการของพระศาสนจักรเวลาเดียวกันถูกถือว่าเป็นผู้ที่ถูกส่งมาในฐานะผู้แทนพระสันตะปาปาในลักษณะเช่นนี้ Apostolic Vicar  จึงเป็น Titular Bishop (In Partibus Infidelium) ซึ่งหมายความว่าเป็นสังฆราช แต่ไม่ต้องประจำ ( Residence) ในท้องที่ที่ถูกกำหนดไว้ตามตำแหน่ง (สังคายนาที่เมือง Trent กำชับเรื่องนี้อย่างแข็งขัน) แต่ให้ไปทำหน้าที่เป็นผู้แทนพระสันตะปาปาแทน Title ที่ได้รับมาจึงเป็นแค่เพียงเกียรติศักดิ์เท่านั้น

  เหตุผลที่สมณกระทรวง PROPAGANDA FIDE ต้องส่ง Apostolic Vicar ออกมาทำงานในลักษณะเช่นนี้ (แทนที่ จะทำให้ง่าย ๆ โดยการแต่งตั้งให้เป็นสังฆราชของท้องที่ที่จะส่งไปเลย ก็สิ้นเรื่อง)ก็เป็นเพราะว่า หากไม่ทำเช่นนี้ มันจะไม่สิ้นเรื่องอย่างว่า แต่จะกลายเป็นก่อเรื่องมากขึ้น เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และน่าสนใจ ผมจะขอสรุปเหตุผลให้ฟังย่อ ๆ โดยใช้ภูมิหลัง (Background) บางอย่างมาประกอบ ดังนี้ :

  ใน ศต. ที่ 14 และ 15 แขกมุสลิม หรือ พวก เติร์ก (TURK) กำลังมีอำนาจมากและรุกรานยุโรป และเมื่อเมืองสำคัญเ ช่น Constantinople ถูกตีแตกในวันที่ 29 พ.ค. 1453 ชาวยุโรป และพระศาสนจักรเองก็เริ่มกลัวกันว่า ยุโรปจะรอดพ้นมือของพวกเติร์กหรือไม่ในยุโรปตอนนั้นก็มีเพียงประเทศ 2 ประเทศที่มีอำนาจและเข้มแข็งเพียงพอที่จะต้านทานการรุกรานของพวกแขกมุสลิมได้ ได้แก่ โปรตุเกส และสเปน นอกจากมีอำนาจและกำลังเพียงพอแล้ว ยังมีความก้าวหน้าในการสำรวจดินแดนใหม่ ๆ อีกด้วย กษัตริย์ของทั้ง 2 ประเทศ (ซึ่งเป็นประเทศคริสตัง) ต่างก็ขออำนาจจากพระสันตะปาปา ที่จะทำหน้าที่เผยแพ ร่ความเชื่อไปยังดินแดนที่เพิ่งค้นพบใหม่ ๆ เหล่านั้น บรรดาพระสันตะปาปาในสมัยนั้น ต่างก็เห็นถึงประโยชน์ทั้งด้านวิญญาณและด้านวัตถุด้วย ก็ได้มอบสิทธิพิเศษมากมายแก่พวกนักสำรวจของ โปรตุเกส และสเปน และมอบหมายให้ทั้ง 2 ประเทศนี้ทำหน้าที่เผยแพร่ความเชื่อในลักษณะเช่นนี้ สิทธิพิเศษเหล่านี้ทำให้ประเทศ โปรตุเกส และสเปน กุมบังเหียน การแพร่ธรรมเอาไว้ รวมทั้งยังประโยชน์ต่าง ๆ ด้วย เราเรียกกันรวม ๆ ว่า PADROADO หรือ PATRONAGE ผมขอยกตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ของสิทธิพิเศษเหล่านี้ เช่น

- โปรตุเกส และ สเปน มีสิทธิ์ขาดแต่ผู้เดียวที่จะเผยแพร่ศาสนาคาทอลิกในดินแดนที่ค้นพบใหม่ ๆ

- มีสิทธิ์กำหนดผู้ที่จะเป็นสังฆราช พระสงฆ์ ประจำตามสถานที่ต่าง ๆ มีสิทธิ์สร้าง วัดวาอารามและอื่น ๆ

- ผู้ที่จะเข้ามาในดินแดนเหล่านี้ ที่ถูกค้นพบเพื่อเผยแพร่ศาสนา ต้องได้รับอนุญาตจากโปรตุเกส หรือสเปน เสียก่อน และต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่

  ในสถานที่ที่กำหนดไว้ เช่น โปรตุเกส กำหนดให้กรุงลิสบอนเป็นจุดตรวจ เป็นต้นและเนื่องจากทั้ง โปรตุเกส และสเปน ต่างก็เป็นมหาอำนาจด้วยกันทั้งคู่ในสมัยนั้น เพื่อมิให้ทะเลาะวิวาท และบาดหมางกันเอง โลกใบนี้ก็กว้างใหญ่ พระสันตะปาปา ALEXANDERVI จึงได้ออกกฤษฎีกา INTER CAETERA วันที่ 3 พ.ค. 1493 แบ่งโลกออกเป็น 2 ซีก โดยการขีดเส้นจากขั้วโลกหนึ่งไปยังอีกขั้วโลกหนึ่ง ซีกโลกด้านตะวันตกมอบให้ สเปน, ด้านตะวันออกมอบให้โปรตุเกส. ทั้ง โปรตุเกส และสเปน ต่างก็หวงแหนสิทธิพิเศษเหล่านี้ ซึ่งได้รับการเพิ่มพูนมากขึ้นในสมัยของพระสันตะปาปายุคต่อ ๆ มาใครจะมาล่วงล้ำต่อสิทธิพิเ ศษนี้ในดินแดนของตนไม่ได้ เรื่องราวของการหวงแหนสิทธิเหล่านี้มีมาจนถึง ศต. ที่ 19 แม้ในสมัยที่หมดความเป็นมหาอำนาจไปแล้วก็ตาม เราจะเห็นว่าในระบบนี้ พระสันตะปาปาสูญเสียอำนาจในการแพร่ธรรมไปอย่างมากมายในดินแดนใหม่ ๆ เพราะตกอยู่ในมือของโปรตุเกสและสเปน (ใครดูภาพยนตร์เรื่อง The Mission ก็คงจะพอเข้าใจ และเห็นภาพชัดเจนขึ้น แต่กรุณาอย่าเชื่อภาพยนตร์ทั้งหมดว่าเป็นเรื่องจริง) ดังนั้นหลังจากการสังคายนาสากลที่เมือง Trent ระหว่างปี 1545-1563, ทางโร มเห็นว่าระบบนี้ไม่เหมาะสม และมีหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการแพร่ธรรม จึงหาหนทางที่จะเอาอำนาจการแพร่ธรรมกลับคืนมาและเพื่อมิให้มีข้อบาดหมางกับทั้ง 2 ประเทศนั้นด้วย ก็ต้องหาทางออกที่เหมาะสมโดยการก่อตั้งสมณกระทรวง Propaganda Fide ขึ้นมาในปี 1622 เพื่อรับผิดชอบในการแพร่ธรรมในส่วนต่าง ๆ ของโลก บังเอิญในช่วงปี 1622 นั้นประเทศโปรตุเกสกำลังอยู่ในสภาพสูญเสียความเป็นมหาอำนาจ อย่างไรก็ตาม การที่ Propaganda Fide จะทำอะไรสักอย่างเ พื่อการแพร่ธรรม ก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อมิให้เกิดเรื่องขึ้นได้ เพราะอาจะไปล่วงล้ำสิทธิพิเศษต่าง ๆ เหล่านั้น การแต่งตั้งสังฆราชปกติเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิพิเศษประการหนึ่ง แต่ก็ไม่มีสิทธิพิเศษข้อใดที่ขัดแย้งกับการส่งผู้แทนพระสันตะปาปา เข้ามาดูงานในเขตดินแดนเหล่านั้นรวมทั้งในเขตที่ยังไม่ถูกยึดครองโดย โปรตุเกส และสเปน ดังนั้นทางเดียวที่ทำได้คือ แต่งตั้งพระสังฆราชและมอบหมายให้เป็น Apostolic  Vicar ดังกล่าวถึงกระนั้นก็ดี ทั้ง 2 ประเทศนั้นต่างก็ถือว่า บรรดา มิชชันนารีของ Propaganda Fide ได้เข้ามาล่วงล้ำสิทธิพิเศษของตน จึงไม่ยอมรับอำนาจของพระสังฆราชที่ถูกส่งมา เรื่องของเรื่องก็คือ บรรดามิชชันนารีของ Padroado และของ Propaganda Fide ก็ต้องทะเลาะกันและบาดหมางกันในทุกภาคของโลกก็ว่าได้ (สำหรับผู้ที่สนใจ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าศึกษาอยู่มากในมิสซังสยามเองก็มีการทะเลาะกันเรื่องนี้เช่นเดียวกัน)

  ในส่วนที่เกี่ยวกับมิสซังสยาม บรรดา Apostolic Vicar ที่ทาง Propaganda Fide ส่งมาจากคณะพระสงฆ์ M.E.P. (Missions Etrangeres de Paris) ทั้ง 3 ท่านแรกคือ ฯพณฯ Lambert de La Motte , ฯพณฯ Pallu และ ฯพณฯ Ignatius Cotolendi มิได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนพระสันตะปาปาในมิสซังสยาม แต่เนื่องจากในดินแดนที่ถูกกำหนดมาคือ จีน, ตังเกี๋ยและโคจินจีน กำลังมีการเบียดเบียนศาสนา ฯพณฯ Lambert และ ฯพณฯ Pallu จึงต้องตั้งหลักอยู่ที่อยุธยา ส่วนท่าน Cotolendi เสียชีวิตไป พระสังฆราชทั้ง 2 เห็นว่าประเทศสยามให้อิสระต่อการประกาศพระศาสนา สถานการณ์ต่าง ๆ ก็เอื้ออ ำนวย จึงขออนุญาตจากโรมทำงานในดินแดนนี้ รวมทั้งขอให้โรม ยกดินแดนนี้ขึ้นเป็นเขตปกครองโดยมี Apostolic Vicar เป็นประมุขดูแล ซึ่งการขอนี้ก็สำเร็จเป็นไปในปี 1669 และปี 1674 มิสซังสยามก็มี ฯพณฯ Laneau เป็น Apostolic Vicar คนแรก แน่นอนที่สุดบรรดามิชชันนารีของ Padroado ซึ่งอยู่ในสยามเวลานั้น ย่อมไม่ยอมรับอำนาจของพระสังฆราช

  มิสซังสยามจึงต้องถูกนับว่าเป็นมิสซังแรกที่มีมิชชันนารี M.E.P. ได้มาทำงาน และถูกนับว่าเป็นมิสซังแรกของคณะสง ฆ์คณะนี้ด้วย นอกจากนี้ที่อยุธยาเองยังเป็นแห่งแรกที่มีการจัดประชุม Synod ปี 1664 ผลของการประชุมนี้ ทำให้เกิดมีการพิมพ์คู่มือที่รวบรวมคำสั่งสอนและวิธีการแพร่ธรรมสำหรับพวกมิชชันนารีขึ้น คู่มือนี้ถูกจัดพิมพ์ขึ้นถึง 12 ครั้ง มิสซังสยามยังเป็นสถานที่แห่งแรกที่ก่อตั้งบ้านเณร หรือวิทยาลัยกลางขึ้นมาเป็นแห่งแรกของคณะ M.E.P. เพื่อผลิตพระสงฆ์พื้นเมืองขึ้นมาทำงานโดยจัดขึ้นแห่งแรกที่มหาพราหมณ์(ต่อมาย้ายไปที่อันนาม, อินเดีย และปีนัง ตามลำดับ) ในการประชุม Synod ครั้งนั้น ยังได้ตกลงกันก่อนที่จะก่อตั้งคณะนักบวชพื้นเมืองที่เรียกกันว่า “คณะรักไม้กางเขน Amantes de La Croix “ ขึ้นมาด้วย โดยที่จะให้มีสมาชิก มีทั้งชาย และหญิง รวมถึง พระสงฆ์ นักบวช และฆราวาสด้วย แต่เท่าที่สามารถจัดตั้งได้ก็เป็นแค่นักบวชหญิงเท่านั้น

  มิสซังสยามเจริญก้าวหน้าขึ้นมาเป็นลำดับ แม้ว่าจะมีอุปสรรคนานัปการ แต่ก็เรียกได้ว่าก้าวหน้า แม้จะเป็นความก้าวห น้าอย่างช้า ๆ ก็ตาม ในสมัยต่อ ๆ มา ก็มีการแยกมิสซังลาวออกจากมิสซังสยาม และมีการเผยแพร่ศาสนาออกไปตามส่วนต่าง ๆ ของประเทศ จนในที่สุดก็มีการแบ่งการปกครองออกเป็นสังฆมณฑลต่าง ๆ ในปัจจุบันเราก็ยังคงเรียกกันติดปากว่า สังฆมณฑลต่าง ๆ นั้นเป็นมิสซัง เช่น เรียกสังฆมณฑลจันทบุรีว่า มิสซังจันทบุรี ซึ่งถ้าหากจะเรียกกันตามฐานะที่ถูกต้องแล้ว ก็คงจะเรียกเป็นมิสซังไม่ได้ Apostolic Vicar คนสุดท้ายของมิสซังสยาม ได้แก่ ฯพณฯ ยวง นิตโย เป็น Tilular Proshop ของ OBBA และเป็น ฯพณฯ ยวง นิตโย นี้เองที่เป็นพระอัครสังฆราชองค์แรกแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ในปี 1965
เมื่อเราเข้าใจคำว่า “มิสซังสยาม” คำนี้แล้ว ก็ควรจะหันมาสนใจเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง มิสซัง กับ อัครสังฆมณฑล ด้วย

  ในวันที่ 18 ธ.ค. 1965 โดยอาศัยแรงสนับสนุนจาก ฯพณฯ John Gordon และฯพ ณฯ Angelo Pedroni สมณทูตวาติกันประจำคาบสมุทรอินโดจีน โรมได้แต่งตั้งและแบ่งแยกมิสซังสยามออกเป็นแขวงการปกครองของพระศาสนจักร 2 แขวงด้วยกัน คือแขวงกรุงเทพฯและแขวงท่าแร่-หนองแสง คำว่าแขวงนี้ใช้คำภาษาอังกฤษว่า Ecclesiastical Province หรืออาจเรียกเป็น Metropolitans ก็น่าจะได้ Metropolitan แห่งกรุงเทพฯ มีสังฆมณฑลอื่น ๆ ประกอบด้วย สังฆมณฑลราชบุรี, สังฆมณฑลจันทบุรี ,สังฆมณฑลเชียงใหม่ ส่วน Metropolitan แห่งท่าแร่-หนองแสง มีสังฆมณฑลอื่น ๆ ประกอบด้วย สังฆม ณฑลอุดรธานี, สังฆมณฑลอุบลราชธานี และสังฆมณฑลนครราชสีมา

  โปรดสังเกตว่า เขตจันทบุรีถูกยกขึ้นมาเป็นสังฆมณฑลแล้ว ตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค. 1944 และสังฆมณฑลอุบลราชธานีก็อยู่ในระดับสังฆมณฑลแล้วตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 1953 สังฆมณฑลที่ถูกยกขึ้นมาในวันที่ 18 ธ.ค. 1965 จึงมีเพียง 6 สังฆมณฑลดังกล่าวข้างบนแล้ว ส่วนสังฆมณฑลนครสวรรค์ได้ รับการยกขึ้น เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 1967 และสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 1969

  หนังสือพิมพ์ทางการของรัฐวาติกัน (L’ OSSERVATORE ROMANO) ได้ประกาศว่าพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 โปรดให้สถาปนาพระฐานานุกรมในประเทศไทย (Ecclesiastical Hierarchy) ตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 1965 และในหนังสือประวั ติพระศาสนจักรไทยได้กล่าวไว้ว่า ข่าวนี้ย่อมจะยังความยินดีอย่างใหญ่หลวงมาสู่ชาวคาทอลิกในประเทศไทย เป็นอันว่าพระศาสนจักรในประเทศไทยได้ย่างขึ้นสู่ระดับเดียวกันกับพระศาสนจักรในประเทศที่เจริญแล้ว แน่นอน ความยินดีนี้ย่อมต้องมีเหตุผลจึงจะดีใจกันได้ เหตุผลที่ว่านี้ก็คงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากว่าเป็นเพราะต้องมีความแตกต่างกันระหว่าง การปกครองมิสซังสยามโดย Apostolic Vicar กับ การปกครองของสังฆมณฑลโดยมีพระสังฆราชเป็นประมุข

  การเปลี่ยนระบบการปกครองจากมิสซัง มาเป็น สังฆมณฑล หากจะให้เปรียบเทียบก็อาจเปรียบได้เหมือนกับ กรุงศรีอยุธยาที่ถูกปกครองโดยกษัตริย์ที่กษัตริย์พม่าแต่งตั้งขึ้นหลังจากชนะกรุงศรีอยุธยาแล้ว กับการปกครองโดยอิสระโดยกษัตริย์ไทย การเปรียบเทียบแบบนี้อาจจะไม่ดีพอ แต่ผมยกขึ้นมา ก็เพื่อให้เข้าใจจริงขึ้นเท่านั้น และเพื่อให้เป็นหลักเป็นเกณฑ์สักหน่อย ผมก็จะขอยกเอากฎหมายของพระศาสนจักรฉบับที่ 1983 มาแสดงถึงความแตกต่างกันนี้สักเล็กน้อย ความจริงผมน่าจะเอา กฎหมายฉบับที่ 1917 มาใช้มากกว่า แต่เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย กฎหมายฉบับใหม่นี้ก็น่าจะเหมาะสมมากกว่า

1. การปกครองแบบ Apostolic  Vicariate และ Apostolic Prefecture

  กฎหมายมาตรา 371 กล่าวไว้มีใจความว่า Apostolic  Vicariate และ Apostolic Prefecture ได้แก่ส่วนที่แน่นอน ส่วนหนึ่งของประชากรของพระซึ่งยังไม่ได้ถูกยกขึ้นเป็นสังฆมณฑล เนื่องจากสภาพแวดล้อมเฉพาะเจาะจง และซึ่งถูกมอบหมายให้อยู่ในการอภิบาล Apostolic Vicar หรือ Apostolic Prefect ซึ่งปกครองส่วนนี้ในนามของพระสันตะปาปา

โดยทั่ว ๆ ไปแล้วก่อนที่ดินแดนมิสซังจะกลายเป็นสังฆมณฑล ก็จะมีขบวนการดังต่อไปนี้ คือ

ก. จัดตั้งขึ้นเป็นมิสซัง (Mission)

ข. จากนั้น มิสซังจะถูกยกขึ้นเป็น Apostolic Prefecture (ในกรณีนี้ มิสซังราชบุรีได้เคยถูกยกขึ้นมาถึงขั้นนี้ โดยพระสงฆ์ ซาเลเซียน. (Salesian)

ค. และที่สุด จะกลายมาเป็น Apostolic  Vicariate ปกครองโดย Tilular Bishop

  ในกฎหมายปี 1917 ( Cann. 293-311) จะกล่าวถึงฐานะทางกฎหมายของ Apostolic  Vicar และ Prefect ไว้อย่างชัดเจน แต่ในกฎหมายใหม่นี้มิได้กระทำเช่นนี้ อาจเป็นเพราะการปกครองแบบนี้ในสมัยปัจจุบันเกือบจะหมดไปแล้วก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายใหม่ก็พูดถึงการทำหน้าที่ต่าง ๆ ของพวกผู้แทนพระสันตะปาปานี้ว่าพวกเขาจะกระทำหน้าที่ในนามของพระสันตะปาปาเอง ตามปกติแล้ว จะทำงานผ่านทางสมณกระทรวง Propaganda Fide และเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ กฎหมายมาตรา 495 และ 502 ยังสั่งให้มีสภามิสซัง (Missionary Councils) เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับงานแพร่ธรรมด้วย พวกผู้แทนพระสันตะปาปา มีหน้าที่ที่จะต้องมาเคารพหลุมศพ น.เปโตร และเปาโล พร้อมทั้งปรากฏตัวต่อหน้าพระสันตะปา ปาตามเวลาที่กำหนด ซึ่งเรียกกันว่า Ad Limina Visit. (Can. 400 ) แต่หากไม่สามารถมาได้ ก็สามารถส่งผู้แทนซึ่งอาจเป็นคนหนึ่งคนใดที่อาศัยอยู่ที่โรมแล้วทำหน้าที่แทนได้ ส่วน Apostolic  Prefect ไม่ถูกบังคับให้ทำตามกฎหมายข้อนี้ (ในกรณีของสังฆมณฑล หากสังฆราชมา Ad Limina Visit ไม่ได้ ผู้แทนจะต้องเป็นบุคคลในคณะสงฆ์ที่อาศัยอยู่ในสังฆมณฑลนั้น ๆ ) ความจริงยังมีกฎหมายอีกหลายข้อ ที่กล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ของผู้แทนพระสันตะปาปา แต่ยังไม่จำเป็นต้องกล่าวอย่างละเอียดทั้งหมด

2. การปกครองแบบ สังฆมณฑล (Diocese)

  กฎหมายมาตรา 369 กล่าวไว้มีใจความว่า สังฆมณฑลได้แก่ส่วนหนึ่งของประชากรของพระ ซึ่งถูกมอบหมายให้อยู่ภายใต้การอภิบาลของสังฆราช โดยความร่วมมือของคณะสงฆ์ เพื่อว่าการร่วมมือร่วมใจภายใต้นายชุมภาบาลผู้นี้ในองค์พระจิตเ จ้า โดยผ่านทางพระวรสาร และศีลมหาสนิทจะเป็นการสร้างพระศาสนจักรเฉพาะ ในที่ซึ่งจะสามารถพบพระศาสนจักรหนึ่งเดียว ศักดิ์สิทธิ์สากล และสืบจากอัครสาวก ของพระเยซูคริสตเจ้าได้

  พระสังฆราชของสังฆมณฑลเป็นผู้แทนของพระศาสนจักรสากล (ไม่ใช่ของพระสันตะปาปาเท่านั้น) ทำงานร่วมกับคณะ สงฆ์และมีฝ่ายงานต่าง ๆ เป็นระบบระเบียบ บทบาทและหน้าที่ของพระสังฆราชมีกำหนดไว้ในกฎหมายใหม่นี้อย่างกว้างขวางมาก จะเรียกว่า เป็นพระสันตะปาปาของสังฆมณฑลก็ไม่น่าจะผิดจากภาคปฏิบัติมากนัก

  เราสามารถพูดได้ว่า การที่เขตหนึ่ง ๆ ถูกยกขึ้นมาอยู่ในระดับสังฆมณฑล ต้องถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะมีการปก ครองที่อิสระมากกว่า มีระบบระเบียบ มีศักดิ์ศรีสูงมาก ไม่ถูกถือว่าเป็น Subdivision หรือส่วนย่อยของพระศาสนจักรสากลอีกต่อไป แต่เป็นผู้แทน หรือภาพเหมือนของพระศาสนจักรสากล

  เรื่องสุดท้ายที่ผมขอพูดสั้น ๆ ก็คือ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 1965 นั่นเอง กรุงเทพฯ และ ท่าแร่-หนองแสง ได้ถูกยกขึ้นเป็น Metropolitans พระสังฆราชแห่งกรุงเทพฯ และท่าแร่-หนองแสง ถูกยกขึ้นมาเป็น อัครสังฆราช แห่งอัครสังฆมณฑล การเป็นอัครสังฆมณฑลนี้มีความสำคัญอย่างไรและมีความหมายอย่างไร และอัครสังฆมณฑลมีบทบาทและหน้าที่ต่อสังฆมณฑลอื่น ๆ ที่ประกอบอยู่ในเขต Metropolitan ของตนอย่างไร ผมขอแนะนำผู้ที่สนใจให้ไปอ่านดูวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของคุณพ่อวิชา หิรัญญการ ซึ่งได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ความหมายของคำ ประวัติความเป็นมา หน้าที่และปัญหาที่เกิดขึ้น. วิท ยานิพนธ์ เล่มนี้จะพบได้ที่ห้องสมุดสำนักพระสังฆราช (หากไม่มีก็น่าจะมีไว้) หรือมิฉะนั้นก็ต้องขอจากคุณพ่อวิชา คำว่า Metropolitan นี้ปรากฏขึ้นมาครั้งแรกในสังคายนาสากลที่เมือง Nicea ในปี 325 ใน Canon. ที่ 4 สิทธิและหน้าที่ในการเรียกและเป็นประธานการประชุม Synod เยี่ยมเยียนสังฆมณฑลที่อยู่ในแขวงของตน และคอยดูแลเรื่องการเลือกสังฆราชใหม่ด้วย ในกรณีที่ตำแหน่งว่างลง อำนาจของ Metropolitan เคยมีมากจนกระทั่งว่าเกิดปัญหากับพระสันตะปาปาว่าอำนาจของ Metropolitan เป็นอำนาจเดียวกันกับของพระสันตะปาปาหรือไม่ ในที่สุดฝ่ายพระสันตะปาปาก็ชนะ และชัยชนะนี้ยังสามารถเห็นได้โดยอาศัย Pallium ซึ่งเป็นเครื่องหมายแทนอำนาจสูงสุดของพระสันตะปาปา และพระสันตะปาปาก็จะมอบอำนาจให้แก่ บรรดาพระสังฆราชโดย Pallium นี้ แน่นอนอำนาจของ Metropolitan มีมากพอสมควรทีเดียว แต่หลายครั้งอำนาจนี้ก็ถูกขัดขวางเพราะไปกระทบกระเทือนคนอื่นด้วย บางครั้งก็อาจถูกถือว่าเป็นการก้าวก่ายในงานของสังฆมณฑลอื่น ๆ เป็นต้น ในหน้า 123 ของวิทยานิพนธ์ของคุณพ่อวิชา ได้มีการเสนอแนะว่า คงจะเป็นการดีกว่าหากจะให้ Metropolitan เข้ามามีส่วนในการเลือกตั้งพระสันตะปาปาด้วย นี่ก็ย่อมแสดงว่า การที่ได้รับการยกขึ้นมาเป็น Metropolitan ต้องมีความหมายพิเศษในพระศาสนจักร

  อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้รับเกียรตินี้คือถูกยกขึ้นมาเป็น Metropolitan มาถึง 25 ปีแล้ว ย่อมต้องมีความหมายเป็ นพิเศษ สำหรับชาวเราทุกคน เราจะพูดว่า อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯเป็นแม่ของอัครสังฆมณฑลอื่น ๆ ในประเทศไทยก็ไม่ผิดอะไร นอกจากนี้ประมุขของอัครสังฆมณฑลปัจจุบันก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระคาร์ดินัล คือ พระคาร์ดินัล มีชัย กิจบุญชู อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จึงมีความสมควรด้วยประการทั้งปวง ที่จะเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี นี้อย่างมีความหมายมากที่สุด

  ผมหวังว่าผู้อ่านที่ติดตามจนถึงบรรทัดนี้ คงจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง ไม่มากก็น้อย สำนวนภาษาการเขียนของผมมีข้ อบกพร่องมากมาย ก็ขออภัยด้วย ความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในบทความนี้ ก็ขอความกรุณาจากผู้รู้ช่วยแก้ไขให้ด้วย สุดท้ายนี้เบื้องหลังแท้จริงของความเป็นมาของอัครสังฆมณฑลได้แก่ ความใจกว้าง ความเสียสละ ของบรรดามิชชันนารีทั้งหลาย ให้เรามอบคำภาวนาและน้ำใจของเราแด่พวกท่านเหล่านั้นด้วย
บันทึกการเข้า
กุ้งแห้งเยอรมัน
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1573



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 20 ต.ค. 07, 11:45

 :)แวะมาอ่าน เกิดทันสมัยท่านยวง นิตโย..คุณพ่ออารามชื่อ คุณพ่อมอริส ยอลี..
บันทึกการเข้า
กุ้งแห้งเยอรมัน
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1573



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 20 ต.ค. 07, 12:33

รู้จักนายห้างเทียม
นายห้างเทียม เป็นนักธุรกิจดังคนหนึ่งของยุคนั้น ผลิตภัณฑ์ในเครือเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค หลายอย่าง
สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก และดาวรุ่งของบริษัท มาม่า
กุ้งแห้งเยอรมัน ไม่เคยมีชีวิตวนเวียนแถวถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เมื่อต้องไปทำงานแถวนั้น บรรยากาศน่ากลัว สองข้างทางเต็มไปด้วยโรงนวด ชื่อเก๋ๆ เพราะๆทั้งนั้น
สายฝน ..เป็นโรงที่ติดกับตึกที่ทำงานพอดี
ตึกใหญ่ของสหพัฒน์อยู่ริมถนน ใช้สีส้ม และสิงโตเป็นสัญลักษณ์ เนื่องจากมีที่มาเป็นผู้ร่วมทุนของบริษัทไลอ้อนที่ญี่ปุ่น เป้าหมายของสหพัฒน์คือฐานของคนในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในเมือง
ขณะนั้น สบู่ที่ครองใจคนไทย ชัดเจนว่าคือลักส์ ก็ด้วยคอนเส็ปท์อมตะ ดารา 9 ใน 10 คนใช้
ผงซักฟอกที่ครองอันดับหนึ่ง บรีส คอนเส็ปท์โฆษณา กลิ่นสะอาด ดมดูก็รู้ว่าบรีส ใช้แนว testimonials คุณธาดาจะตามไปสัมภาษณ์แม่บ้านทุกภาค
ทั้งสองผลิตภัณฑ์เป็นของค่ายลีเวอร์บราเธอร์
ส่วนยาสีฟัน ก็เป็นคอลเกต ของค่ายแฟ้บและคอลเกต
นายห้างมีวิธีต่อสู้อย่างไร เดี๋ยวติดตามต่อค่ะ
ยาสีฟัน
บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 20 ต.ค. 07, 14:20

 ฮืม ฮืม ???งง อ่ะคุณกุ้งแห้งเยอร์มัน ไหงจู่ๆ กระทู้บาทหลวงกลายเป็นนายห้างเทียมไปซะล่ะ งง แฮะ  ฮืม ฮืม ฮืม
บันทึกการเข้า
กุ้งแห้งเยอรมัน
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1573



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 20 ต.ค. 07, 14:31

 ยิงฟันยิ้ม สารภาพผิดค่ะ คุณko.. ดิฉันโพสท์ผิดหัวข้อ..มันเป็นช่วงเที่ยง มีน้องๆตามไปหม่ำข้าว เลยสับสน เขียนผิดกระทู้..ขออภัยอย่างแรงค่ะ
บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 20 ต.ค. 07, 14:45

อ้อ มิเป็นไรขอรับคุณกุ้งแห้งเยอรมัน วันเดียวกันนี้เองผมก็โพสต์ผิดกระทู้ ตั้งใจว่าจะโพสต์ประวัติศาสตร์มีคุณค่าหรือราคา กลับไปโพสต์ในความสัมพันธ์ไทยญี่ปุ่นซะง้าน เหอๆๆๆ
บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 20 ต.ค. 07, 16:36

   พออ่านประวัติศาสตร์ในภาคกลางและภาคตะวันออกกันมาแล้วข้อมูลสอดคล้องกันทำให้อ่านแล้วเพลิน จับต้นชนปลายถูก เห็นความเป็นมาต่อเนืองไม่ขาดสาย และการเคลือนไหวของบาทหลวง ไม่ใช่แค่เพียงที่ใดที่หนึ่งแต่เป็นทั้งแถบลุ่มน้ำโขงเลยก็ว่าได้ แล้วยังเห็นการอพยพย้ายถิ่นฐานลี้ภัยของคนคริสตังจากการถูกเบียดเบียนในประเทศเวียดนาม และแถวตังเกี๋ย

   ย่าทวดผมที่อยู่พนัสนิคมยังสวดมนต์ภาษาญวน ภาษาจีน และภาษาไทยได้เลยน่ะครับ  ก๋งทวดก็อพยพมาจากไหหนำในตังเกี๋ย สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ผมยังบอกให้ย่าทวดสวดภาษาญวนให้ฟังอยู่เลยครับ(ฟังไม่รู้เรื่องหรอกคับ ยิงฟันยิ้ม) ท่านทั้งสองอายุยืน คนหนึ่งเก้าสิบแปด อีกคนหนึ่งเก้าสิบห้า แล้วเสียห่างกันไม่นาน เกิดมาเพื่อเป็นคู่กันจริงๆ

   มาถึงตอนนี้เรามาดูทางด้านอีสานกันบ้างนะครับ เคยอ่านงานแปลบันทึกของบาทหลวงที่ทำงานแถวลาวที่ไหนสักที่จำไม่ค่อยได้ เลยตามหาในเวปไซต์อัครสังฆมลฑลท่าแร่-หนองแสง ก็เจอเรื่องราวน่าสนใจหยิบเอามาฝากกันอีกนะครับ

ประวัติอัครสังฆมลฑลท่าแร่-หนองแสง เนื่องจากเนื้อเรื่องค่อนข้างละเอียดเลยขอตัดออกเป็นท่อนๆ ให้อ่านนะครับ
เรื่องราวของที่นี่มีประวัติค่อนข้างหนัก แต่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับคริสชนน่ะครับ เลยหยิบมาให้ทุกท่านลองอ่านกันเล่นๆ 
แหล่งข้อมูล http://www.genesis.in.th/GENESIS/tharea/index01.html

ความพยายามในระยะเริ่มแรก
     ความพยายามที่จะส่งมิชชันนารีออกไปประกาศศาสนาในภาคอีสานเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค . ศ.1640 ( พ. ศ.2183) โดย คุณพ่อเลเรีย(LERIE) คณะเยซูอิตจากประเทศฟิลิปปินส์ได้เดินทางมาอยุธยาเพื่อเดินทางไปลาวแต่ไม่ได้รับอนุญาตจึงเดินทางไปเขมร และเดินทางจากเขมรขึ้นไปเวียงจันทน์ในปี ค. ศ.1642 ( พ. ศ.2185) โดยพำนักอยู่ในลาวเป็นเวลาถึง 5 ปี แต่เราไม่มีหลักฐานงานแพร่ธรรมของคุณพ่อเท่าไรนัก ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระสังฆราชลาโน (Louis LANEAU: 1674-1696) ได้ส่งคุณพ่อโกรส (GROSSE) และคุณพ่ออังเยโล (ANGELO) ให้เป็นผู้เผยแผ่ศาสนาในประเทศลาว โดยเดินทางไปสุโขทัยและนครไทย แต่ทั้งสองท่านได้ถึงแก่มรณภาพก่อนที่จะไปถึงประเทศลาว ในปี ค. ศ.1773 ( พ. ศ.2316) พระสังฆราชเรเดอเลส(REYDERET) ประมุขมิสซังตังเกี๋ยตะวันตกได้ให้ครูคำสอนสองคนไปสำรวจดูประเทศลาวและเลือกหาหมู่บ้านที่เหมาะสำหรับการแพร่ธรรมโดยเดินทางไปถึงเชียงขวาง ในปี ค. ศ.1842 ( พ. ศ.2385) คุณพ่อแวร์เนท์ (VERNHET) มีความตั้งใจที่จะเดินทางไปแพร่ธรรมในภาคอีสานโดยเดินทางไปถึงพิษณุโลก แต่ที่สุดได้ล้มเลิกความตั้งใจ ต่อมาเมื่อแบ่งเขตมิสซังและตั้งมิสซังเขมรในปี ค. ศ.1850 ( พ. ศ.2393) พระสังฆราชมิช(MICHE) ประมุของค์แรกของมิสซังเขมรได้รับมอบหมายให้ดูแลงานแพร่ธรรมในล้านช้าง ได้พยายามส่งมิชชันนารีไปประเทศลาวในปี ค. ศ.1852 ( พ. ศ.2395) แต่เข้าไปไม่ได้ ในปี ค. ศ.1855 ( พ. ศ.2398) ได้พยายามส่งคุณพ่อโอโซเลย (AUSSOLEIL) และคุณพ่อทรีแอร์ (TRIAERE) ไปหลวงพระบางโดยผ่านทางประเทศสยามไปถึงน่านและเป็นไข้ป่าตายไปไม่ถึงหลวงพระบาง

     ในปี ค . ศ.1866 ( พ. ศ.2409) คุณพ่อดาเนียล (DANIEL) และคุณพ่อมาติน (MATIN) จากกรุงเทพฯ ได้พยายามสำรวจเส้นทางที่จะขึ้นมานครราชสีมาและได้ออกเดินทางจากทับสะแกมาถึงนครราชสีมาพร้อมกับครูคำสอนชาวจีน 2 คนและสมัครพรรคพวกอีกหลายคน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านกำลังอดอยากและมีขโมยมากจึงไม่มีใครสนใจเรียนคำสอน ประกอบกับคุณพ่อทั้งสองไม่สบายจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ แต่ที่น่าสนใจคือมีคนจากนครราชสีมา 8 คนตามไปเรียนคำสอนที่ทับสะแก ในเดือนมิถุนายน ค. ศ.1868 ( พ. ศ.2411) กระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้แบ่งเขตมิสซังใหม่และมอบหมายการแพร่ธรรมในล้านช้างให้มิสซังสยาม โดยมีคำสั่งให้ส่งมิชชันนารีไปล้านช้างให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ พระสังฆราชยอแซฟ ดือปอง(Joseph DUPOND: 1864-1872) ซึ่งไปประชุมสังคายนาวาติกันครั้งที่ 1 ได้ตกลงที่จะส่งมิชชันนารีไป แต่เป็นที่น่าเสียดายที่พระสังฆราชดือปอง ได้ถึงแก่มรณภาพก่อนที่จะได้ปฏิบัติตามคำขอร้องจากกรุงโรม

     นี่คือความพยายามในสมัยต่างๆ ที่จะไปแพร่ธรรมในภาคอีสานและประเทศลาว ทั้งนี้เพราะในอดีตที่ผ่านมางานของพระศาสนจักรคาทอลิกของมิสซังสยามจำกัดอยู่แต่เฉพาะภาคกลางของประเทศเท่านั้น ความพยายามนี้มาสำเร็จในสมัยพระสังฆราชยัง หลุยส์ เวย์ (Jean Louis VEY: 1875-1909)

มิชชันนารีสององค์แรก
     ในปี ค . ศ.1876 ( พ. ศ.2419) พระสังฆราชเวย์ ได้ส่งคุณพ่อกองสตัง ฌอง โปรดม(Constant Jean PRODHOMME) ให้ขึ้นไปช่วยคุณพ่อแปร์โร(PERRAUX) ซึ่งปกครองสัตบุรุษที่อยุธยาและมอบหมายให้สำรวจดูว่า มีทางที่จะขึ้นไปภาคอีสานอย่างไร โดยหวังที่จะเอาอยุธยาเป็นศูนย์กลางการแพร่ธรรมในภาคอีสาน คุณพ่อโปรดม ได้ไปดูแลกลุ่มคริสตชนที่หัวแก่งหรือแก่งคอยในปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้นมีผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชนประมาณ 250-300 คน และได้ไปสร้างวัดที่คลองท่าเกวียนใกล้มวกเหล็ก

     ในปี ค . ศ.1880 ( พ. ศ.2423) คุณพ่อโปรดม ได้พยายามเดินทางไปแพร่ธรรมที่นครราชสีมาแต่อยู่ได้ไม่นานนักเพราะเป็นไข้มาลาเรียต้องไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯและพักฟื้นที่จันทบุรี ในขณะเดียวกันคุณพ่อซาเวียร์ เกโก(Xavia GEGO) กำลังเรียนภาษาไทยที่วัดอัสสัมชัญเกิดเป็นแผลที่หัวเข่าได้ไปรักษาตัวที่จันทบุรีด้วย พระสังฆราชเวย์ จึงมอบหมายให้คุณพ่อโปรดม กับคุณพ่อเกโก ไปสำรวจภาคอีสาน เพราะเล็งเห็นว่าการแพร่ธรรมในภาคอีสานจะเกิดผลอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อผู้แพร่ธรรมไปอยู่ในภาคอีสาน จึงดำริให้ตั้งศูนย์แพร่ธรรมขึ้นที่เมืองอุบลราชธานี อุบลฯจึงกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ธรรมในภาคอีสานในเวลาต่อมา และนับเป็นกลุ่มที่ 7 ที่เดินทางมาแพร่ธรรมในภาคอีสาน

กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, เอกสารรัชกาลที่ 5, กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์จัดราชการเมืองนครราชสีมา, ร. ศ.111.
เกศรี โสดาศรี และอรนินท์ ศิริพงษ์, “ ความเชื่อของไทยในภาคอีสาน” ใน เอกสารวิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรม, ( มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2533), หน้า 4.
โรแบร์ กอสเต, “ ประวัติคริสตศาสนาในภาคอีสาน”, ใน พิธีกรรมกับการดำเนินชีวิตชนคาทอลิกในภาคอีสาน, ( เอกสารอัดสำเนา), หน้า 1.
เกลาดิอุส บาเย, ประวัติการแพร่พระศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว, แปลโดย เกี้ยน เสมอพิทักษ์, ( กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เรือนแก้ว, 2527), หน้า17.
เรื่องเดียวกัน, หน้า 23.


     การแพร่ธรรมในภาคอีสานได้เริ่มต้นขึ้นอย่างแท้จริง เมื่อพระสังฆราชเวย์ แต่งตั้งคุณพ่อโปรดม และคุณพ่อเกโก ให้เดินทางไปแพร่ธรรมในภาคอีสานเมื่อวันที่ 2 มกราคม ค. ศ.1881 ( พ. ศ.2424) โดยมีภารกิจหลักคือการตั้ง “ มิสซังลาว ” คุณพ่อทั้งสองได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 12 มกราคม ค. ศ.1881 ( พ. ศ.2424) พร้อมกับครูเณรคนหนึ่งและคนรับใช้อีก 2-3 คน มุ่งสู่อุบลฯ ผ่านแก่งคอยมาถึงนครราชสีมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และพักอยู่ที่บ้านพ่อค้าชาวจีนคนหนึ่งเป็นเวลา 12 วันก่อนออกจากนครราชสีมามุ่งหน้าสู่ขอนแก่นผ่านอำเภอชนบทถึงที่นั่นวันที่ 16 มีนาคม และไปถึงกาฬสินธุ์เมื่อวันที่ 25 เดือนเดียวกัน ออกจากกาฬสินธุ์วันที่ 1 เมษายน มุ่งหน้าไปทางกมลาไสยถึงร้อยเอ็ดวันที่ 4 และวันที่ 11 ได้มาถึงยโสธร เนื่องจากอยู่ในช่วงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์จึงหยุดพักทำสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์และฉลองปัสกาในเต็นท์ที่นั่น นับเป็นการฉลองปัสกาครั้งแรกในภาคอีสาน ที่สุดได้มาถึงอุบลฯในวันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน รวมระยะเวลาในการเดินทางครั้งนั้น 102 วัน

     วันต่อมาคุณพ่อได้เข้าเยี่ยมคารวะท่านข้าหลวงใหญ่ พร้อมกับแสดงเอกสารสำคัญจากกรุงเทพฯที่อนุญาตให้เดินทางไปมาในภาคอีสานได้โดยเสรีและจะจัดตั้งที่พักที่ไหนก็ได้ ข้าหลวงใหญ่ได้เชิญให้คุณพ่อพักอยู่ที่มุมหนึ่งของศาลาว่าการเมือง โดยใช้ไม้ไผ่สานขัดแตะกั้นมุมหนึ่งไว้สำหรับเป็นที่ทำการ การพักอยู่ที่นั่นแม้ออกจะแออัดอยู่บ้าง แต่ก็เป็นโอกาสให้คุณพ่อได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียน ประเพณีบ้านเมือง และเป็นดังวิทยาลัยให้เกิดความรู้ทางกฎหมายและการปกครองบ้านเมืองด้วย ซึ่งนับว่ามีประโยชน์อย่างมากสำหรับงานแพร่ธรรมในเวลาต่อมา

การแพร่ธรรมในระยะเริ่มแรก : ค. ศ.1881-1899 ( พ. ศ.2424-2442)
     เมื่อแรกเดินทางมาถึงอุบลฯ คุณพ่อทั้งสองไม่แน่ใจว่าจะอยู่ภาคอีสานได้นานแค่ไหน ตั้งใจว่าเมื่อสิ้นฤดูฝนจะเดินทางกลับกรุงเทพฯจึงไม่คิดที่จะตั้งวัด การมาครั้งแรกนั้นเพียงเพื่อดูว่าชาวบ้านมีความเป็นอยู่อย่างไร และมีคนสนใจศาสนาหรือไม่

การไถ่ทาส
     งานแพร่ธรรมแรกในภาคอีสานคือการไถ่ทาส กล่าวคือปลายเดือนมิถุนายน ค . ศ.1881 ( พ. ศ.2424) คุณพ่อโปรดม ได้ปลดปล่อยทาส 18 คนที่ถูกพวกกุลาจับมาจากประเทศลาวเพื่อขายเป็นทาส โดยได้ยื่นฟ้องพวกกุลา 2 ข้อหาคือ พวกกุลาเป็นโจรเพราะขโมยคนมาขาย และได้แอบอ้างชื่อคุณพ่อเป็นผู้สั่งให้ค้าขายทาส ศาลได้ตัดสินปล่อยทาสทั้ง 18 คนเป็นอิสระ พวกเขาจึงมาขออาศัยอยู่กับคุณพ่อและเป็นกลุ่มแรกที่ได้เริ่มเรียนศาสนา ข่าวการชนะคดีและปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระครั้งนั้นได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็วและได้สร้างชื่อเสียงให้กับคุณพ่อ พวกทาสได้มาขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อเป็นจำนวนมาก การไถ่ทาสจึงกลายเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งในการแพร่ธรรม ซึ่งได้กลายเป็นเอกลักษณ์เด่นของบรรดามิชชันนารีในเวลาต่อมา “ เมื่อคุณพ่อเดินทางไปที่ไหน พวกทาสในถิ่นนั้นมักขอให้คุณพ่อเป็นทนาย ขอให้ศาลปล่อยเป็นอิสระเสมอ ” พวกทาสเหล่านั้นเมื่อได้รับอิสรภาพก็ไปอยู่กับมิชชันนารีเพราะกลัวจะถูกจับไปเป็นทาสอีก การอยู่กับมิชชันนารีและการเข้าศาสนาของพวกเขาจึงเป็นการหนีร้อนมาพึ่งเย็น

บุ่งกะแทว ศูนย์กลางแห่งแรกของมิสซัง
     เมื่อมีคนมาอยู่กับคุณพ่อมากขึ้น การพักอาศัยในอาคารหลวงจึงเป็นการไม่สะดวก และไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง คุณพ่อจึงเร่งเจ้าเมืองอุบลฯให้หาที่อยู่ให้ใหม่ เจ้าเมืองอุบลฯได้เสนอให้คุณพ่อไปอยู่ในที่ดินที่เป็นบ้านร้างทางตะวันตกของตัวเมืองอุบลฯ ซึ่งถือเป็นที่เคล็ดมีผีร้ายชาวบ้านอยู่ไม่ได้จึงทิ้งไป ความจริงบริเวณดังกล่าวเป็นเพียงป่าทึบชื้นแฉะผิดหลักสุขลักษณะทำให้เกิดไข้มาลาเรีย ตั้งอยู่ริมบุ่งหรือบึงที่ชื่อว่า “ บุ่งกะแทว ”

     อย่างไรก็ตาม คุณพ่อโปรดม ได้ไปดูสถานที่ด้วยตนเองและพอใจที่ดินผืนนั้นจึงได้ซื้อบ้านเก่ามาปลูกและเข้าอาศัยอยู่เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ค. ศ.1881 ( พ. ศ.2424) รวมคุณพ่อ คนงาน และผู้สมัครมาอยู่ด้วยทั้งหมดประมาณ 30 คน หลังจากช่วยกันหักล้างถางพงเป็นที่เรียบร้อยคุณพ่อได้เริ่มสอนคำสอนทันที เมื่อตั้งหลักได้แล้วคุณพ่อโปรดม ได้เดินทางไปกรุงเทพฯเพื่อรายงานกิจการต่อพระสังฆราชเวย์ กลางเดือนมีนาคม ค. ศ.1882 ( พ. ศ.2425) คุณพ่อโปรดม กลับจากกรุงเทพฯโดยนำคุณพ่อเกลมังต์ พริ้ง(Clemente PHRING) พระสงฆ์ไทยขึ้นมาด้วยพร้อมกับครูสอนคำสอน 2 คน การเรียนคำสอนได้ทำอย่างจริงจัง ที่สุด ในโอกาสสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ วันที่ 15 สิงหาคมปีนั้นเอง พวกที่ถูกปลดปล่อยได้รับศีลล้างบาปเป็นคริสตชน และด้วยความวางใจในคำเสนอวิงวอนของพระนางมารีย์ คุณพ่อโปรดม จึงเลือกเอาพระนางเป็นองค์อุปถัมภ์วัดแรกของภาคอีสานโดยตั้งชื่อว่า “ วัดแม่พระนฤมลทิน ” บุ่งกะแทวจึงกลายเป็นศูนย์แรกของกลุ่มคริสตชนในภาคอีสาน เป็นที่พักของมิชชันนารีและเป็นที่ตั้งของ “ มิสซังใหม่ ” ตลอดเวลาหลายปี

     เดือนธันวาคม ค . ศ.1882 ( พ. ศ.2425) คุณพ่อโปรดม ได้เดินทางไปกรุงเทพฯอีก ขณะที่คุณพ่อเกโก ไปแพร่ธรรมที่อำนาจเจริญแต่ไม่เป็นผลจึงกลับบุ่งกะแทว ที่กรุงเทพฯพระสังฆราชเวย์ ได้ปรารภกับคุณพ่อโปรดม ด้วยความห่วงใยว่า “ ไม่รู้ว่าจะสนับสนุนมิสซังใหม่อย่างไรดี พ่อกลุ้มใจมากเพราะการส่งพระสงฆ์ไปตามป่าดงหลายวันก็เท่ากับส่งเขาให้ไปเป็นไข้ป่าตาย อีกอย่างหนึ่งก็เกินความสามารถของมิสซังที่จะส่งพระสงฆ์ ครูคำสอนหรือทรัพย์สมบัติขึ้นไปช่วยเสมอ ๆ เอาอย่างนี้เป็นไงคือให้คุณพ่อพาคนทั้งหมดของมิสซังใหม่ย้ายมาอยู่ทางนี้เสียก็แล้วกัน ” พร้อมกับเสนอให้หาที่ทำกินสำหรับทุกคนเช่นใกล้กับวัดหัวไผ่ จากนั้นได้ถามคุณพ่อโปรดม ว่าคิดอย่างไรกับแผนการนั้น นับเป็นความโชคดีของพระศาสนจักรในภาคอีสานที่คุณพ่อโปรดม ไม่เห็นด้วยกับความคิดของพระสังฆราชเวย์ ไม่เช่นนั้นการแพร่ธรรมในภาคอีสานคงจะหยุดเพียงแค่นั้น ตรงข้ามคุณพ่อโปรดม ได้ตอบพระสังฆราชเวย์ ด้วยความสุภาพว่า การกระทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการทำลายการแพร่ธรรมในภาคอีสานอย่างสิ้นเชิง การแพร่ธรรมในภาคอีสานจึงดำเนินต่อมาและเจริญเติบโตเป็นปึกแผ่นมั่นคงอย่างในปัจจุบัน

การตั้งกลุ่มคริสตชนที่นครพนม
     ในการเดินทางไปกรุงเทพฯครั้งที่ 2 คุณพ่อโปรดม ได้คุณพ่ออัลเฟรด- มารีย์ เทโอฟิล รองแดล (Alfred-Marie RONDEL) ขึ้นไปช่วยงานพร้อมกับครูทอง ครูสอนคำสอน ถึงอุบลฯวันที่ 5 เมษายน ค. ศ.1883 ( พ. ศ.2426) ต่อมามีคนจากหัวเมืองทางเหนือของภาคอีสานมาเชิญคุณพ่อให้ขึ้นไปหนองคาย โดยอ้างว่ามีหลายคนอยากเข้าศาสนา คุณพ่อโปรดม ได้ตัดสินใจไปพร้อมกับคุณพ่อรองแดล และครูทอง โดยออกเดินทางจากจากอุบลฯวันที่ 26 เมษายน ค. ศ.1883 ( พ. ศ.2427) มาถึงนครพนมเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ค. ศ.1883 ( พ. ศ.2427) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสำรวจเส้นทาง สถานการณ์และการดำเนินชีวิตของชาวบ้านเพื่อวางโครงการแพร่ธรรมในโอกาสต่อไป เมื่อได้ใช้เวลาสำรวจไปถึงหนองคายและเวียงจันทน์ได้พบคริสตชน 2 คนซึ่งได้รับศีลล้างบาปที่วัดบ้านแป้ง สิงห์บุรี เมื่อได้เรียนรู้สภาพท้องที่พอสมควรแล้วคุณพ่อทั้งสองได้เดินทางกลับอุบลฯ

     ในระหว่างเดินทางกลับได้แวะพักที่นครพนมหลายสัปดาห์ ในโอกาสนั้นได้สอนคำสอนให้ชาวเวียดนามที่สนใจ ที่สุดคุณพ่อได้โปรดศีลล้างบาปคริสตชนชาวเวียดนามกลุ่มแรกที่นครพนมจำนวน 13 คน และจัดให้พวกเขารับศีลสมรสอย่างถูกต้องอีก 4 คู่ เมื่อวันที่ 14 กันยายน ค. ศ.1883 ( พ. ศ.2426) เมื่อได้เวลาสมควรจึงล่องเรือกลับผ่านธาตุพนม มุกดาหาร และหมู่บ้านตามรายทางซึ่งคุณพ่อได้ช่วยทาสให้เป็นอิสระหลายคน ที่สุดได้มาถึงบุ่งกะแทวในเดือนตุลาคม ค. ศ.1883 ( พ. ศ.2426) พร้อมกับทาสที่ติดตามคุณพ่อมาอยู่ด้วยจำนวน 51 คน เมื่อมาถึงบ้าน หลวงภักดีณรงค์ ข้าหลวงพิเศษได้มาเยี่ยมคุณพ่อถึงบ้านและชมเชยในความกล้าแกร่งและเสียสละของคุณพ่อที่ช่วยคนเหล่านั้น พอถึงเดือนพฤศจิกายน คุณพ่อเกโก กับคุณพ่อรองแดล ต้องเดินทางไปกรุงเทพฯเพื่อรักษาตัวเพราะป่วยเป็นไข้มาลาเรีย หมอไม่อนุญาตให้คุณพ่อรองแดล มาภาคอีสานอีก แต่ได้มีคุณพ่อยอร์ช- ออกิสต์ มารีย์ ดาแบง ( Georges DABIN) สมัครมาแทนและเดินทางมาพร้อมกับคุณพ่อเกโก พร้อมด้วยครูทัน ครูเณรชาวเวียดนามจากจันทบุรีภายหลังเมื่อหายดีแล้วคุณพ่อรองแดล ได้เดินทางมาแพร่ธรรมที่ภาคอีสานอีกครั้งในปี ค. ศ.1888 ( พ. ศ.2431)

     หลังจากฉลองปัสกาในเดือนเมษายน ค . ศ.1884 ( พ. ศ.2427) คุณพ่อโปรดม กับคุณพ่อเกโก และครูทัน ได้เดินทางจากอุบลฯมานครพนมอีกครั้งหนึ่ง กลุ่มคริสตชนที่นครพนมได้ต้อนรับคณะของคุณพ่อด้วยความยินดียิ่งและรวมกลุ่มอาศัยอยู่ทางทิศเหนือของตัวเมืองใกล้กับที่เรียกว่า “ วัดป่า ” ต่อมาได้มีครอบครัวชาวเวียดนาม 4-5 ครอบครัวได้มาตั้งหลักแหล่งอยู่ด้วยและสมัครเป็นคริสตชนโดยมีครูทัน เป็นคนสอนคำสอน ต่อมาในเดือนมกราคม ค. ศ.1885 ( พ. ศ.2428) คุณพ่อเกโก ได้ปรึกษากับทุกคนเพื่อย้ายคริสตชนกลุ่มนี้ไปอยู่ที่บ้านคำเกิ้ม ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมืองนครพนมประมาณ 3-4 กิโลเมตร

เรื่องเดียวกัน , หน้า 26.
เรื่องเดียวกัน, หน้า 29.
เกลาดิอุส บาเย, “ ธรรมทูตรุ่นแรกมาถึงประเทศไทย” อุดมศานต์, ปีที่ 61 ฉบับที่ 12, ( ธันวาคม, 2524), หน้า 29.
ยังมารีย์ กืออ๊าส, “ บันทึกปี ค. ศ.1907 เนื่องในโอกาสฉลอง 25 ปีของการแพร่คริสตธรรม” ใน ที่ระลึกงานเสกวัดช้างมิ่ง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร 15 เมษายน 2512, ( ม. ป. พ., 2512), หน้า 4.
เกลาดิอุส บาเย, “ ธรรมทูตรุ่นแรกมาถึงประเทศไทย”, หน้า 29.
ยังมารีย์ กืออ๊าส, เรื่องเดิม, หน้า 4.


บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 20 ต.ค. 07, 16:56

การตั้งกลุ่มคริสตชนที่สกลนคร
     เมื่อตั้งกลุ่มคริสตชนที่นครพนมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาในเดือนมิถุนายน ค . ศ.1884 ( พ. ศ.2427) คุณพ่อโปรดม เดินทางไปสกลนครพร้อมกับครูทัน ตั้งใจจะไปเยี่ยมคริสตชนที่มาจากประเทศเวียดนามตามที่ได้ยินมา และเปิดศูนย์คาทอลิกที่นั่นหากเป็นไปได้ คุณพ่อได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากคริสตชนชาวเวียดนามและมีชาวเวียดนามจำนวนหนึ่งแจ้งความจำนงจะเป็นคริสตชน คุณพ่อจึงได้สร้างที่พักและอยู่กับพวกเขา 1 เดือนแล้วจึงมอบให้ครูทัน ดูแล ส่วนคุณพ่อเดินทางกลับนครพนม

     กลางเดือนสิงหาคม ค . ศ.1884 ( พ. ศ.2427) คุณพ่อโปรดม เดินทางไปสกลนครอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับคุณพ่อเกโก จากนครพนม คุณพ่อได้ใช้โอกาสนั้นสอนศาสนาแก่ชาวเวียดนามที่สนใจ ในใบบอกเมืองสกลนคร ทำให้เราทราบว่ามีชาวเวียดนามเป็นจำนวนมากสมัครเป็นคริสตชนในครั้งแรกนั้น “… ครั้น ณ . เดือน 7 ปีวอก ฉศก บาทหลวงอเล็กซิส โปรดม บาทหลวงซาเวียร์ เกโก ชาวฝรั่งเศสได้ขึ้นมาเมืองสกล เพี้ยศรีสองเมือง นายกองญวน เพี้ยจ่าย ปลัดกองญวน ได้พาพรรคพวกญวน 75 คน สมัครเข้าศาสนาบาทหลวง เหลือญวนเมืองสกลนครที่ยังไม่เข้าศาสนากับบาทหลวงเพียง 35 คน …” เมื่อเห็นว่าจำนวนผู้สมัครเป็นคริสตชนเพิ่มจำนวนมากขึ้น คุณพ่อโปรดม จึงได้จัดตั้งศูนย์คาทอลิกสกลนครขึ้นในปี ค. ศ.1884 ( พ. ศ.2427) ซึ่งพระสังฆราชเกลาดิอุส บาเย ได้อ้างบันทึกของคุณพ่อโปรดม ในรายงานประจำปี ค. ศ.1910 ( พ. ศ.2453) เอาไว้ในหนังสือ “ ประวัติการเผยแพร่พระศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว ” ที่แปลโดยพระอัครสังฆราชมีคาแอลเกี้ยน เสมอพิทักษ์ ว่า “ กลุ่มคริสตังสกลนครซึ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นในปี ค . ศ.1884 ( พ. ศ.2427) และในวันที่ 8 กันยายนปีเดียวกันก็ได้มีการโปรดศีลล้างบาปให้คริสตังใหม่กลุ่มแรก ภายในวัดน้อยที่ตั้งไว้ชั่วคราวระหว่างหนองหารและตัวเมือง ” ในบริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งโรงภาพยนตร์ประสานราษฎร์ปัจจุบัน แต่จากหลักฐาน “ สมุดบัญชีศีลล้างบาป คริสตัง สกลนคร ปี 1884, 1885, 1886 ” ที่บันทึกโดยคุณพ่อโปรดม พบว่า ผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปในลำดับที่ 1 ชื่อ “ มารีอา เดียง ” ได้รับศีลล้างบาปในวันสมโภชพระนางมารีย์ได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ วันที่ 15 สิงหาคม ค. ศ.1884 ( พ. ศ.2427) ทำให้เราแน่ใจว่า คุณพ่อโปรดม ได้ล้างบาปให้คริสตชนที่สกลนครก่อนหน้านั้นแล้ว หลังจากนั้นจึงได้มอบกลุ่มคริสตชนใหม่นั้นให้คุณพ่อเกโกกับครูทัน ดูแลและเดินทางกลับไปอุบลฯ เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปกรุงเทพฯ

     นานวันเข้าได้มีหลายคนมาสมัครเป็นคริสตชน ส่วนใหญ่เป็นชาวเวียดนามที่ได้รับการปลดปล่อยจากการเกณฑ์แรงงานและคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ 40 คน ทำให้จำนวนคริสตชนเพิ่มมากขึ้น เป็นความลำบากมากทีเดียวที่จะจัดหาที่ดินเพื่อพักอาศัยและทำกินสำหรับคริสตชนเหล่านั้นในตัวเมืองสกลนคร ประกอบกับถูกกลั่นแกล้งไม่หยุดหย่อนจากเจ้าหน้าที่บางคน คุณพ่อเกโก จึงได้คิดหาทำเลสำหรับตั้งหมู่บ้านคริสตชนใหม่ ในคืนวันหนึ่งหลังการฉลองนักบุญทั้งหลายปี ค. ศ.1884 ( พ. ศ.2427) คุณพ่อเกโก และครูทัน ได้ตัดสินใจย้ายกลุ่มคริสตชน โดยจัดทำแพใหญ่ทำด้วยเรือเล็กและไม้ไผ่ผูกติดกันบรรทุกทั้งคนและสัมภาระลงแพ ใช้ผ้าห่มและผืนผ้าขึงแทนใบให้ลมพัดไปในทิศทางที่พระเป็นเจ้าทรงประสงค์ ที่สุดพวกเขาสามารถข้ามไปยังอีกฟากหนึ่งของหนองหารอย่างปลอดภัย และตั้งหลักแหล่งที่นั่น

กลุ่มคริสตชนวัดมหาพรหมมีคาแอล หนองหาร
     คริสตชนกลุ่มแรกที่ย้ายมามี 20 ครอบครัวประมาณ 150 คน นับทั้งที่ได้รับศีลล้างบาปแล้วกับผู้ที่กำลังเตรียมซึ่งมีทั้งชาวเวียดนามและพื้นเมือง ส่วนมากเป็นทาสที่ได้รับการไถ่ให้เป็นอิสระหรือพวกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ และคริสตชนใหม่จำนวน 35 คนได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรกในโรงเรือนที่ทำเป็นวัดชั่วคราวในดินแดนแห่งใหม่นั้นเองในวันสมโภชพระคริสตสมภพปี ค. ศ.1884 ( พ. ศ.2427) พร้อมกับการล้างบาปคริสตชนกลุ่มแรกที่ท่าแร่จำนวน 8 คน เนื่องจากคริสตชนเหล่านั้นได้ร้องขอความช่วยเหลือจากอัครเทวดามีคาแอลเป็นประจำ เพื่อให้ช่วยคุ้มครองป้องกันและสู้ทนกับความยากลำบาก วัดหลังแรกที่สร้างเป็นโรงเรือนชั่วคราวจึงตั้งชื่อว่า “ วัดมหาพรหมมีคาแอล หนองหาร ” ดังปรากฎในหลักฐาน “ สมุดบัญชีศีลล้างบาป วัดนักบุญมารีอามักดาเลนา บ้านนาโพธิ์ 1888 ” ที่บันทึกโดย คุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออ บอกให้เราทราบว่า คริสตชนกลุ่มแรกของวัดนาโพธิ์ล้างบาปที่ “ วัดมหาพรหมมีคาแอล หนองหาร ” (Ecclesia Sti Michaelis Nong-Han) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค. ศ.1888 ( พ. ศ.2431)

     เป็นที่น่าสังเกตว่าในการล้างบาปคริสตชนที่ท่าแร่ในเวลาต่อมาในปี ค . ศ.1885 ( พ. ศ.2428) ที่บันทึกโดย คุณพ่อยอร์ช ดาแบง ยังคงใช้คำว่า “ วัดสกล ” (Ecclesiae Sakhon) บางครั้งก็ใช้คำว่า “ วัดเล็กเมืองสกลนคร ” (sacello civitatis Sakhon Nakhon) ในการล้างบาปอีกครั้งในวันฉลองแม่พระลูกประคำ วันที่ 7 ตุลาคม จึงใช้คำว่า “ วัดมหาพรหมมีคาแอล เมืองสกล ” (Ecclesia Sti Michaelis Urbis Sakhon) ต่อมาในสมัยคุณพ่อกอมบูริเออ ใช้เพียงว่า “ วัดมหาพรหมมีคาแอล ” (Ecclesia Michaelis) ตามที่ปรากฎใน “ สมุดบัญชีศีลล้างบาปคริสตัง สกลนคร ปี 1884, 1885, 1886 ” ยังไม่มีการใช้ชื่อ “ ท่าแร่ ” แต่อย่างใด

     เป็นไปได้ว่าชื่อ “ หนองหาร ” อาจเป็นชื่อดั้งเดิมของกลุ่มคริสตชนที่ท่าแร่ ส่วนการจะเปลี่ยนชื่อเป็น “ ท่าแร่ ” เมื่อไรนั้นไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด แต่จากเอกสารที่เขียนด้วยอักษรโรมัน ( ภาษาวัด) 2 เล่ม ซึ่งผู้เขียนให้ชื่อว่า “ บันทึกเหตุการณ์และหนังสือเข้า ” และ “ สำเนาหนังสือออกและคดีความ ” ที่บันทึกโดยคุณพ่อกอมบูริเออ ในช่วงแรกไม่ปรากฎการใช้ชื่อ “ ท่าแร่ ” แต่อย่างใด นอกจากชื่อ “ วัดมหาพรหมมีคาแอล แขวงเมืองสกลนคร ” เพิ่งจะมาปรากฎในบันทึก “ สำเนาหนังสือออกและคดีความ ” เลขที่ 10 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน ค. ศ.1901 ( พ. ศ.2444) ที่คุณพ่อกอมบูริเออ เขียนถึงพระวิชิตพลหาร ผู้ช่วยเมืองสกลนคร จึงได้ใช้ชื่อ “ บ้านท่าแร่ ” โดยเขียนขึ้นต้นหนังสือฉบับนั้นว่า “ ที่สำนักท่านบาทหลวง บ้านท่าแร่ ” อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันว่าชื่อ “ ท่าแร่ ” เรียกตามชื่อถิ่นที่ตั้งหมู่บ้านอันเป็นบริเวณที่เต็มไปด้วยป่าไม้มีหินลูกรังอยู่ทั่วไป ซึ่งคนภาคพื้นนั้นเรียกว่า “ หินแฮ่ ” และเป็นชื่อที่เรียกขานกันตั้งแต่แรกเช่นเดียวกันในหมู่ชาวบ้านจนเป็นที่นิยมเรียกกันทั่วไปจนติดปาก ต่อมาชื่อ “ ท่าแร่ ” จึงได้กลายมาเป็นชื่อหมู่บ้านอย่างในปัจจุบัน

     ในระยะเริ่มแรกกลุ่มคริสตชนที่นครพนมและท่าแร่อยู่ในความดูแลของคุณพ่อเกโก ส่วนคุณพ่อโปรดม เดินทางไปกรุงเทพฯ และกลับมาในเดือนมีนาคม ค . ศ.1885 ( พ. ศ.2428) พร้อมกับคุณพ่อกอมบูริเออ มาถึงท่าแร่วันที่ 4 พฤษภาคมปีนั้นเอง และคุณพ่อโปรดม ได้แต่งตั้งให้คุณพ่อกอมบูริเออ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ค. ศ.1937 ( พ. ศ.2480) จึงได้ลาออกจากตำแหน่งและถึงแก่มรณภาพที่ท่าแร่เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค. ศ.1939 ( พ. ศ.2482) นับเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าแร่ที่ยาวนานที่สุดกว่า 52 ปี และได้สร้างคุณประโยชน์สำหรับชาวท่าแร่เป็นอย่างมาก จนท่าแร่เจริญก้าวหน้าและกลายเป็นอาณาจักรของพระเยซูคริสตเจ้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในปัจจุบัน

คำเกิ้ม ศูนย์กลางมิสซังแห่งที่สอง
     หลังจากฉลองคริสตสมภพปี ค . ศ.1884 ( พ. ศ.2427) ที่ท่าแร่ คุณพ่อเกโก ได้เดินทางไปนครพนมในต้นเดือนมกราคม ค. ศ.1885 ( พ. ศ.2428) เวลานั้นคริสตชนใหม่และผู้เตรียมเป็นคริสตชนมีไม่มาก และรวมกลุ่มอาศัยอยู่ทางทิศเหนือของตัวเมืองนครพนม ใกล้กับที่เรียกว่า “ วัดป่า ” คุณพ่อโปรดม เห็นชอบที่จะย้ายกลุ่มคริสตชนดังกล่าวไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมกว่า คุณพ่อเกโก ได้ปรึกษาหารือกับทุกคนถึงเรื่องสถานที่ใหม่ เวลานั้นคุณพ่อดาแบง เดินทางมาจากท่าแร่ได้รับเชิญให้ร่วมปรึกษาหารือด้วย เมื่อปรึกษากันดีแล้วได้ตกลงเอาบ้านคำเกิ้ม ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมืองนครพนมประมาณ 3-4 กิโลเมตร บ้านคำเกิ้มเวลานั้นมีคนต่างศาสนาอยู่ก่อนแล้ว 3-4 ครอบครัวซึ่งยินดีที่จะกลับใจเป็นคริสตชน เช้าวันรุ่งขึ้นทุกคนทั้งคริสตชนใหม่และผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชน ได้ไปรวมกันที่บ้านคำเกิ้มและลงมือหักล้างถางพงเพื่อตั้งบ้านเรือนและที่ทำกิน

     ต่อมาภายหลัง เมื่อมีพระสงฆ์องค์หนึ่งประจำที่คำเกิ้มและอีกองค์หนึ่งที่ท่าแร่ บ้านคำเกิ้มได้กลายเป็นที่ตั้งของศูนย์มิสซังใหม่แทนที่บุ่งกะแทว อุบลราชธานี และเป็นที่ที่บรรดาพระสงฆ์ได้มาประชุมเข้าเงียบประจำปีในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี รวมทั้งได้เริ่มบันทึกรายชื่อผู้รับศีลล้างบาปในสมุดหนาเล่มหนึ่งที่คุณพ่อดาแบง นำติดตัวมา โดยเริ่มต้นดังนี้ “ บันทึกศีลล้างบาป ของคริสตังที่นครพนม วัดนักบุญยอแซฟ ค . ศ.1885 ” และผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปลำดับแรกลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค. ศ.1885 ( พ. ศ.2428) จากเดิมที่เคยจดบันทึกในสมุดบัญชีของวัดบุ่งกะแทว และในระหว่างนั้นคุณพ่อเกโก ได้เดินทางไปมาระหว่างคำเกิ้มและท่าแร่จนถึงเวลาที่คุณพ่อโปรดม แต่งตั้งคุณพ่อกอมบูริเออ เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าแร่ ในช่วงเวลานั้นมิสซังมีศูนย์กลางอยู่ 3 แห่งคือ บุ่งกะแทวสำหรับภาคใต้ ท่าแร่สำหรับภาคตะวันตก และคำเกิ้มสำหรับภาคเหนือและตามแม่น้ำโขง ซึ่งศูนย์ทั้งสามแห่งได้กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญสำหรับการขยายการแพร่ธรรมในหมู่บ้านต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกล จนมีหมู่บ้านคริสตชนเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่งในเวลาต่อมา กล่าวคือจนถึงปี ค. ศ.1899 ( พ. ศ.2442) มิชชันนารีสามารถจัดตั้งชุมชนคาทอลิกในภาคอีสานและประเทศลาวได้ทั้งหมด 55 หมู่บ้าน โดยเกิดจากศูนย์บุ่งกะแทวในเขตอุบลฯ 15 หมู่บ้าน จากศูนย์ท่าแร่ในเขตสกลนคร 9 หมู่บ้าน และที่ศูนย์คำเกิ้มในเขตนครพนม 31 หมู่บ้าน

     จากปี ค . ศ.1881 ( พ. ศ.2424) ถึง ค. ศ.1898 ( พ. ศ.2441) คุณพ่อโปรดม ผู้บุกเบิกต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ 18 ครั้ง เพื่อรายงานกิจการ ตลอดจนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้พระสังฆราชเวย์ ทราบ และเพื่อรับคำแนะนำและสิ่งของต่าง ๆ ที่ต้องการสำหรับ 1 ปี เช่น เงิน น้ำองุ่น แป้งทำฮอสเตีย, ยารักษาโรค ฯลฯ และนำพระสงฆ์ใหม่สำหรับไปช่วยงานแพร่ธรรม การเดินทางสมัยนั้นนับว่าลำบากมากต้องฝ่าอันตรายผ่านป่าดง ข้ามภูเขาหลายลูก จากอุบลฯถึงกรุงเทพฯใช้เวลาเดินทางอย่างน้อย 25 วัน และจากกรุงเทพฯถึงอุบลฯ 30 วัน การเดินทางส่วนใหญ่จะใช้ม้า เรือแจวและเกวียนไม่สะดวกเหมือนเช่นทุกวันนี้

การตั้งโรงเรียนครูคำสอนที่ดอนโดน
     คุณพ่อโปรดม มองเห็นความจำเป็นเรื่องการเตรียมครูสอนคำสอนเป็นการเฉพาะ เนื่องจากบรรดาเณรที่มาช่วยงานและสอนคำสอนในช่วงพักทดลองไม่พร้อมสำหรับการทำงานในภูมิภาคนี้เท่าไรนัก ดังนั้นในเดือนพฤษภาคม ปี ค . ศ.1891 ( พ. ศ.2434) จึงได้ตั้งโรงเรียนครูคำสอนขึ้นที่เกาะดอนโดน ซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ กลางลำแม่น้ำโขงในเขตประเทศลาวเหนือนครพนมขึ้นไปประมาณ 4-5 กิโลเมตร พร้อมกันนั้นได้เตรียมผู้ที่จะเป็นพระสงฆ์โดยคัดเลือกเอาคนที่มีลักษณะดีที่ส่งมาจากวัดต่าง ๆ เพื่อฝึกอบรมให้เป็นพระสงฆ์ ดังปรากฎในบันทึกการก่อตั้งมิสซังลาวของคุณพ่อปิแอร์ แอกกอฟฟอง ความว่า “ เดือนพฤษภาคม ค . ศ.1891 คุณพ่อโปรดม คุณพ่อใหญ่ได้ตัดสินใจที่จะสร้างโรงเรียนครูคำสอนขึ้นที่ดอนโดน เพื่อ 1) อบรมครูสอนคำสอน 2) เตรียมเณรหากเป็นไปได้ ” โรงเรียนที่ตั้งขึ้นที่ดอนโดนจึงเป็นทั้งบ้านเณรและโรงเรียนครูคำสอนในเวลาเดียวกัน ภายใต้การดูแลของคุณพ่อเดอลาแล็กซ์ ในปีแรกมีนักเรียน 12 คน เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ค. ศ.1892 ( พ. ศ.2435) มีนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 24 คน ต่อมาในปี ค. ศ.1894 ( พ. ศ.2437) คุณพ่อโปรดม ได้แต่งตั้งคุณพ่อแอกกอฟฟอง เป็นอธิการและคุณพ่ออัมโบรซิโอ ชื่น เป็นอาจารย์ประจำ

     น่าเสียดายที่ “ บ้านเณรดอนโดน ” หรือ “ โรงเรียนดอนโดน ” ดำเนินการฝึกอบรมเยาวชนเพื่อเตรียมตัวเป็นพระสงฆ์และครูคำสอนได้ไม่นานก็พังทลายลงเพราะพายุใต้ฝุ่น ในราวเดือนเมษายน ปี ค. ศ.1901 ( พ. ศ.2444) ดังปรากฎในบันทึกของพระสังฆราชกืออ๊าส ความว่า “ บ้านเณรดอนโดนของเราถูกพายุใต้ฝุ่นระหว่างอาทิตย์ปัสกาพัดพังทลาย เหลือความสามารถที่จะซ่อมแซมได้ เราจำเป็นจะต้องสร้างตึกใหม่ ซึ่งจะไม่อยู่บนเกาะนี้อีกแล้ว แต่จะไปสร้างในสถานที่มั่นคงกว่านั้นอยู่ทางเหนือของหนองแสง ระยะห่างเดินประมาณ 20 นาที ” อย่างไรก็ดี บ้านเณรแห่งนี้ได้ผลิตพระสงฆ์พื้นเมืององค์แรกและองค์เดียวแก่พระศาสนจักรท้องถิ่นคือ คุณพ่ออันตนหมุน ธารา จากอุบลฯซึ่งได้บวชเป็นพระสงฆ์ที่วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ สามเสน เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค. ศ.1912 ( พ. ศ.2455) และได้ผลิตครูคำสอนที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยงานแพร่ธรรมของมิสซังตามหมู่บ้านต่าง ๆ

หนองแสง ศูนย์กลางของมิสซังแห่งใหม่
     ในเวลานั้นมีพระสงฆ์ประจำอยู่ที่ศูนย์บุ่งกะแทว คำเกิ้มและท่าแร่ คำเกิ้มซึ่งเป็นสถานที่อยู่กึ่งกลางกว่าบุ่งกะแทว ได้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งที่ 2 ของมิสซัง ซึ่งบรรดาพระสงฆ์ที่อยู่ทางแขวงนั้นพากันมาประชุมและเข้าเงียบเป็นประจำในเดือนพฤศจิกายนทุกปี แต่เนื่องจากผู้ปกครองมิสซังในสมัยนั้นไม่ได้พำนักอยู่ที่คำเกิ้มตามตำแหน่ง แต่มักพักอยู่กับพระสงฆ์มิชชันนารีองค์อื่นเพื่อช่วยงานหรือไปเยี่ยมเยียนสัตบุรุษตามวัดต่าง ๆ ซึ่งได้ก่อให้เกิดปัญหาและความไม่สะดวกหลายอย่างตามมา พระสงฆ์ที่ประสบปัญหาไม่สามารถปรึกษาหารือได้ อีกทั้งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหรือบุคคลภายนอกไม่สามารถติดต่อได้

     ดังนั้น หลังการเข้าเงียบประจำปีในเดือนพฤศจิกายน ค . ศ.1896 ( พ. ศ.2439) บรรดาพระสงฆ์จึงเสนอความเห็นให้มีสถานที่หนึ่งสำหรับใช้เป็นสำนักของอุปสังฆราชผู้ปกครองมิสซัง และเป็นสำนักทางการของมิสซังด้วยเพื่อให้ง่ายต่อการติดต่อทางจดหมายและปรึกษาหารือปัญหาต่าง ๆ โดยเลือกเอาบ้านหนองแสง แต่หลังจากพิจารณาอย่างละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ที่เหมาะสมกว่าก็เห็นว่า ควรย้ายบ้านพักและโรงสวดไปตั้งใกล้ฝั่งแม่น้ำโขงที่มีสถานที่กว้างขวางและไปมาสะดวก ที่ตั้งใหม่นี้คือหนองแสงในปัจจุบัน ดังนั้นหนองแสงจึงกลายเป็นศูนย์ที่ 3 ของมิสซังและเป็นสำนักพระสังฆราช ประมุขปกครองมิสซังลาว

     เมื่อได้ข้อยุติเกี่ยวกับสถานที่ตั้งศูนย์กลางมิสซังที่หนองแสงแล้ว คุณพ่อโปรดม ได้เตรียมสถานที่และโค่นต้นไม้เพื่อจะได้สร้างบ้านหลังเล็ก ๆ สำหรับเป็นที่อาศัยของคุณพ่อ ซึ่งต่อมาภายหลังได้ใช้เป็นโรงครัวในปี ค . ศ.1897 ( พ. ศ.2440) ในการก่อสร้างครั้งนั้นคริสตชนที่อยู่รอบ ๆ หนองแสงมีส่วนอย่างมากในการเตรียมไม้เสา ไม้โครงส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างตึกตามโครงการดังกล่าว หลังวันปัสกาปี ค. ศ.1897 ( พ. ศ.2440) คริสตชนวัดต่าง ๆ ได้บรรทุกไม้ที่เลื่อยแล้วใส่เรือมาส่งที่หนองแสง และเริ่มตั้งเสาต้นแรกเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ค. ศ.1897 ( พ. ศ.2440) เพียงไม่กี่วันต่อมาโครงตึกทั้งหลังก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และได้ใช้หญ้ามุงมุมด้านหนึ่งแล้วปูพื้นชั่วคราวเพื่อเป็นที่อยู่ของอุปสังฆราช จนกระทั่งสร้างเสร็จ

บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 20 ต.ค. 07, 17:02

การแยกจากมิสซังสยามและการตั้งมิสซังลาว : ค. ศ.1899-1950 ( พ. ศ.2442-2493)

     นับตั้งแต่ปี ค. ศ.1895 ( พ. ศ.2438) เริ่มมีการพูดถึงการแยกมิสซังทั้งนี้เนื่องจากการคมนาคมติดต่อลำบาก อีกทั้งจำนวนคริสตชนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับความจำเป็นในการรับเงินอุดหนุนจากกรุงโรมหากแยกเป็นมิสซังต่างหาก เดือนธันวาคม ค. ศ.1897 ( พ. ศ.2440) มีจดหมายเวียนแจ้งให้บรรดาพระสงฆ์ทราบว่า กระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ ได้ตัดสินจะตั้งมิสซังใหม่แยกจากมิสซังสยาม กระทั่งวันที่ 24 พฤษภาคม ค. ศ.1899 ( พ. ศ.2442) สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ได้ลงพระนามในหนังสือประกาศสถาปนา “ มิสซังลาว ” และแต่งตั้งคุณพ่อยอแซฟ- มารีย์ กืออ๊าส เป็นพระสังฆราชปกครอง

     มิสซังใหม่มีอาณาเขตคือ ภาคอีสานของประเทศไทยและประเทศลาว แต่ไม่รวมแขวงซำเหนือ แขวงไทนินตะวันออกและแขวงอัตตาปือทางภาคใต้ เวลานั้นมิสซังใหม่มีคริสตชนจำนวน 9,262 คน และผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชนอีก 1,761 คน ศูนย์กลางมิสซังตั้งอยู่ที่หนองแสง ห่างจากตัวเมืองนครพนมไปทางเหนือ 3 กิโลเมตร

พระสังฆราชยอแซฟ - มารีย์ กืออ๊าส พระสังฆราชองค์แรกของมิสซังลาว : ค. ศ.1899-1912
     พระสังฆราชยอแซฟ - มารีย์ กืออ๊าส (Jean-Marie CUAZ) เกิดที่เมืองลีออง ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค. ศ.1862 ( พ. ศ.2405) เข้าศึกษาที่บ้านเณรเมืองอาร์จองตีแยร์ (Argentillieres) ก่อนที่จะเข้าศึกษาต่อที่บ้านเณรมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส และได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค. ศ.1885 ( พ. ศ.2428) จากนั้นได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ค. ศ.1885 ( พ. ศ.2428) ได้รับมอบหมายให้ดูแลวัดจันทบุรีในช่วงปี ค. ศ.1886-1899 ( พ. ศ.2429-2442) ได้รับอภิเษกเป็นพระสังฆราชที่วัดกัลหว่าร์กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 กันยายน ค. ศ.1899 ( พ. ศ.2442) โดยพระสังฆราชเวย์ คณะสงฆ์มิสซังใหม่ทราบถึงวันอภิเษกช้าไปจึงไม่สามารถไปร่วมพิธีได้ แต่ได้มีคำสั่งให้วัดที่มีระฆังย่ำระฆังและให้คริสตชนทุกวัดร่วมใจภาวนาเพื่อพระสังฆราชใหม่ วันที่ 29 กันยายน ค. ศ.1899 ( พ. ศ.2442) พระสังฆราชกืออ๊าส มาถึงนครจำปาศักดิ์ ถึงอุบลฯวันที่ 14 ตุลาคม และได้โปรดศีลกำลังให้แก่คริสตชนใหม่ที่นั่น จากนั้นได้เดินทางไปถึงสำนักมิสซังที่หนองแสงเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ค. ศ.1899 ( พ. ศ.2442) โดยการนำของคุณพ่อโปรดม อุปสังฆราชและได้รับการต้อนรับจากพระสงฆ์เกือบทุกองค์ หลังจากนั้นไม่กี่วันได้เป็นประธานเข้าเงียบประจำปีของบรรดาพระสงฆ์

     พระสังฆราชกืออ๊าส ได้ปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่อย่างกล้าหาญและได้ออกเยี่ยมเยียนหมู่บ้านคริสตชนตามที่ต่าง ๆ สอบถามถึงความต้องการของแต่ละแห่งและโปรดศีลกำลังเป็นครั้งแรก เนื่องจากต้องตรากตรำในการเยี่ยมเยียนกลุ่มคริสตชนนั่นเองทำให้สุขภาพของพระคุณเจ้าทรุดโทรมลงจนต้องเดินทางออกจากหนองแสงเพื่อไปพักรักษาตัวที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค. ศ.1907 ( พ. ศ.2450) และกลับมาที่หนองแสงอีกครั้งเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ค. ศ.1908 ( พ. ศ.2451) แต่สุขภาพยังไม่ดีขึ้น กลับทรุดหนักลง พร้อมกับปัญหาต่าง ๆ มากมายที่ต้องแบกรับ

     ที่สุดพระสังฆราชกืออ๊าส ต้องยอมแพ้ต่อความเจ็บป่วยและเดินทางออกจากหนองแสงเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค. ศ.1908 ( พ. ศ.2451) เพื่อกลับไปพักผ่อนที่ประเทศฝรั่งเศสปิตุภูมิ ภายหลังเมื่อเห็นว่าจะกลับเมืองไทยไม่ได้อีกแล้วจึงได้ลาออกจากผู้ปกครองมิสซังในปี ค. ศ.1912 ( พ. ศ.2455) รวมเวลาปกครองมิสซัง 13 ปีและถึงแก่มรณภาพที่นั่นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ค. ศ.1950 ( พ. ศ.2493) เมื่ออายุได้ 88 ปี

การตั้งอารามภคินีรักกางเขนที่หนองแสงและบ้านเณรนาซาเร็ธ
     พระสังฆราชกืออ๊าส ได้ตั้งอารามภคินีรักกางเขนที่หนองแสงในปี ค . ศ.1900 ( พ. ศ.2443) จุดประสงค์เพื่อช่วยสอนคำสอน เลี้ยงดูและอบรมเด็กกำพร้า โดยมีภคินีทน ซึ่งเคยเป็นอธิการิณีคนแรกของคณะภคินีรักกางเขนที่อุบลฯเป็นอธิการิณี และภคินีมั่น เป็นรองอธิการิณี ในรายงานประจำปี ค. ศ.1901 ( พ. ศ.2444) ของพระสังฆราชกืออ๊าส ทำให้เราทราบว่า อารามแห่งนี้มีผู้สมัครเข้ารับการฝึกอบรม 8 คน ดำเนินการก่อสร้างโดยคุณพ่อโปรดม อุปสังฆราช ภายหลังพระสังฆราชกืออ๊าสเห็นว่า อารามรักกางเขนทั้งที่อุบลฯและหนองแสงขาดการอบรมที่ดีพอเนื่องจากต่างเป็นคริสตชนใหม่ทั้งนั้น จึงได้เชิญภคินีคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร มาช่วยให้การอบรม ด้วยความอนุเคราะห์ของมาแมร์กานดิต อธิการิณีเจ้าคณะที่ไซ่ง่อนได้ส่งคณะเซอร์จำนวน 8 รูปมาให้ตามคำขอของพระคุณเจ้า โดยออกเดินทางจากไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม วันที่ 1 ตุลาคม ค. ศ.1904 ( พ. ศ.2447) เมื่อมาถึงมิสซัง เซอร์ 4 รูปคือ เซอร์อูร์ซุน, เซอร์กุสตาฟ, เซอร์เดซีเร และเซอร์เอดัม ได้ไปประจำที่อารามหนองแสงและอยู่ที่นั่นจนถึงเดือนธันวาคม ค. ศ.1940 ( พ. ศ.2483) ส่วนอีก 4 รูปคือ เซอร์มาเดอแลนด์, เซอร์มาเปตรัว, เซอร์มารีอักแนส และเซอร์โซลังซีอา ไปประจำที่อารามอุบลฯและอยู่ที่นั่นจนถึงปลายปี ค. ศ.1942 ( พ. ศ.2485)

     ต่อมาในสมัยพระสังฆราชโปรดม ได้ย้ายอารามรักกางเขนที่หนองแสงไปตั้งที่เชียงหวาง ประเทศลาว ในปี ค . ศ.1919 ( พ. ศ.2461) แต่เซอร์เซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ยังคงอยู่ประจำที่หนองแสงสำหรับช่วยดูแลโรงเรียนพระหฤทัยและโรงเลี้ยงเด็กกำพร้า จากคำบอกเล่าของ เซอร์เอดัวร์ ขาวดีเดช อายุ 79 ปี ลูกวัดหนองแสง ก่อนหน้าที่เซอร์เซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร จะถูกขับออกนอกประเทศเพราะเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน ที่หนองแสงมีเซอร์อยู่ถึง 6 คน

     นอกจากการตั้งอารามแล้ว พระสังฆราชกืออ๊าส ยังเป็นผู้ที่เอาใจใส่บ้านเณรเป็นพิเศษ โดยถือว่า “ กิจการนี้เป็นงานของมิสซังอันดับหนึ่ง ” หลังจากบ้านเณรดอนโดนถูกพายุใต้ฝุ่นพัดพังทลายจนยากที่จะซ่อมแซมได้ จึงย้ายไปสร้างใหม่ที่หนองแสงในที่ดินที่ผู้มีน้ำใจดีคนหนึ่งยกถวายให้มิสซัง โดยคุณพ่อโปรดม ได้สร้างตึกใหม่ขึ้นในปี ค. ศ.1902 ( พ. ศ.2445) เปิดใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ ค. ศ.1903 ( พ. ศ.2446) โดยมีคุณพ่อลาซาร์ ฮวด เป็นอธิการ และพระสังฆราชกืออ๊าส ได้ตั้งชื่อบ้านเณรแห่งใหม่นี้ว่า “ บ้านเณรนาซาเร็ธ ” ในปี ค. ศ.1908 ( พ. ศ.2451) ได้ขออนุญาตจากผู้ใหญ่ที่กรุงโรมเลิกใช้ตึกนี้เป็นบ้านเณร แต่ได้ใช้เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูคำสอนเพียงอย่างเดียว ส่วนสามเณรนั้นส่งไปเรียนที่บ้านเณรบางช้าง อำเภอบางคนฑี จังหวัดสมุทรสงคราม ของมิสซังกรุงเทพฯ และบ้านเณรพระหฤทัย อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

การฉลองหิรัญสมโภชแห่งการแพร่ธรรม
     ในเดือนพฤศจิกายน ค . ศ.1906 ( พ. ศ.2449) พระสังฆราชกืออ๊าส พร้อมกับบรรดาพระสงฆ์ที่มาร่วมเข้าเงียบประจำปีได้ทำการฉลอง 25 ปี แห่งการแพร่ธรรมในภาคอีสานและประเทศลาว คุณพ่อโปรดม และคุณพ่อเกโก ได้รับการฉลองเป็นพิเศษจากคณะสงฆ์ สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ได้ส่งพรพิเศษมายังคุณพ่อผู้บุกเบิกทั้งสองพร้อมกับพระสังฆราช พระสงฆ์ ภคินี สามเณร ครูคำสอน คริสตชนและผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชนทุกคน ทุกคนต่างเบิกบานยินดีและซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระสันตะปาปา ต่างถือเป็นความบรรเทาและกำลังใจในการปฏิบัติงานที่เต็มไปด้วยความลำบากนานัปการ

     พระสังฆราชกืออ๊าส ได้บันทึกข้อความทั้งหมดนี้ในรายงานประจำปี ค . ศ.1906 ( พ. ศ.2449) ซึ่งในปีนั้นได้ทำการสำรวจครอบครัวคริสตชนที่มีอยู่ พบว่ามีเขตคริสตชนรวม 24 เขต วัดน้อยรวม 73 แห่งมีพระสงฆ์มิชชันนารี 30 องค์และพระสงฆ์ไทย 4 องค์ สามเณรที่บ้านเณรนาซาเร็ธ 3 คน นักเรียนครูคำสอน 10 คน จำนวนคริสตชนทั้งหมดตามรายงานปี ค. ศ.1907 ( พ. ศ.2450) 11,362 คน และผู้เตรียมเป็นคริสตชน 1,003 คน นั่นคือความก้าวหน้าทั้งหมดของมิสซังลาว ภายหลังที่คริสตศาสนาเข้ามาในภูมิภาคแห่งนี้เป็นเวลา 25 ปี

การเสด็จมณฑลอีสานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
     ในเดือนธันวาคม ค . ศ.1906 ( พ. ศ.2449) สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระเจ้าน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้เสด็จตรวจเยี่ยมมณฑลอีสานต่างพระเนตรพระกรรณเป็นเวลานาน 3 เดือน ได้มีการปรับปรุงถนนหนทาง มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำข้ามห้วยเป็นการใหญ่เพื่อเตรียมรับเสด็จ ในเดือนมกราคม ค. ศ.1907 ( พ. ศ.2450) ได้เสด็จถึงนครพนมและแวะพักกับพระสังฆราชกืออ๊าส และบรรดามิชชันนารีที่สำนักมิสซังหนองแสง แสดงความอารีอารอบและพึงใจต่อกิจการของมิสซังที่ส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นและประชาชน พระองค์รู้สึกแปลกใจที่ได้พบแม่ชีฝรั่ง 4 รูปที่หนองแสงและปรารภว่า “ ที่กรุงเทพมีนางชีฝรั่งอยู่ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่เห็นนางชีต่างประเทศในถิ่นกันดารขาดแคลนความสะดวกเช่นนี้ เป็นเรื่องที่น่าพิศวงน่าชม พวกเขาต้องมีแก่ใจที่จะนำคุณงามความดีมาสู่ประชาชนอย่างแน่นอน ” ระหว่างเส้นทางไปเมืองสกลนครผ่านบ้านท่าแร่ ได้หยุดแวะเยี่ยมมิชชันนารีที่บ้านพักพระสงฆ์เป็นเวลานาน รู้สึกพอพระทัยในคณะมิชชันนารีและบรรดาคริสตชน และได้ทรงถ่ายภาพวัดหลังใหม่ที่ท่าแร่ ทำให้เราได้เห็นถึงความสวยงามโอ่อ่าตระการตาของวัดหลังที่ 2 ที่เพิ่งสร้างเสร็จ การเสด็จเยี่ยมครั้งนั้นเกิดผลให้บรรดาเจ้าหน้าที่และประชาชนแถบนั้น เกิดความเข้าใจอันดีกับมิสซังเพราะแม้แต่เชื้อพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ยังให้เกียรติแก่มิสซังเป็นอย่างดี

     อย่างไรก็ดีเหรียญย่อมมี 2 ด้าน ในประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศคริสตชน เกิดมีรัฐบาลอเทวบีบรัดพระศาสนจักรไม่น้อยเลย เมื่อมามีอำนาจที่ประเทศลาว แทนที่จะส่งเสริมมิชชันนารีที่เป็นชนชาติและนับถือศาสนาเดียวกัน กลับทำความยุ่งยากบังคับคริสตชนให้ไปถือน้ำสาบานที่วัดพุทธปีละ 2 ครั้ง เป็นเหตุให้มิชชันนารีต้องหัวหมุน เมื่อเจรจากับเจ้านายที่เมืองขึ้นไม่ได้ความจึงจำเป็นต้องส่งเรื่องร้องเรียนถึงรัฐบาลที่ประเทศฝรั่งเศสเรื่องจึงค่อยสงบลง

พระสังฆราชยอห์นบัปติสต์ โปรดม พระสังฆราชองค์ที่สองของมิสซังลาว : ค. ศ.1913-1920
     ในปี ค . ศ.1907 ( พ. ศ.2450) สุขภาพของพระสังฆราชกืออ๊าส ย่ำแย่ลงจึงกลับไปพักรักษาตัวที่กรุงเทพฯเป็นเวลา 3 เดือนจึงกลับมาที่หนองแสง แต่อยู่ได้ไม่นานก็กำเริบขึ้นอีกจึงตัดสินใจไปพักรักษาตัวที่ประเทศฝรั่งเศสตามคำแนะนำของบรรดาพระสงฆ์ โดยออกจากหนองแสงวันที่ 3 สิงหาคม ค. ศ.1908 ( พ. ศ.2451) จากนั้นเป็นต้นมาภารกิจในมิสซังจึงอยู่ในความดูแลของคุณพ่อโปรดม อุปสังฆราช และได้ทำความตกลงกับมิสซังกรุงเทพฯในปี ค. ศ.1909 ( พ. ศ.2452) ให้รับหน้าที่ดูแลวัดในเขตนครราชสีมา เป็นการชั่วคราว เมื่อพระสังฆราชกืออ๊าส ลาออกจากผู้ปกครองมิสซังในปี ค. ศ.1912 ( พ. ศ.2455) กรุงโรมได้แต่งตั้งคุณพ่อโปรดม เป็นพระสังฆราชองค์ที่ 2 ของมิสซังลาวเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค. ศ.1913 ( พ. ศ.2456) โดยได้รับอภิเษกเป็นที่ไซ่ง่อนในวันฉลองเทิดทูนไม้กางเขน วันที่ 14 กันยายน ค. ศ.1913 ( พ. ศ.2456) โดยพระสังฆราชกังแตง เป็นผู้ประกอบพิธี มีพระสังฆราชแปร์รอส แห่งกรุงเทพฯ และพระสังฆราชบูซือ แห่งพนมเปญเป็นผู้ช่วยอภิเษก

     พระสังฆราชโปรดม เกิดที่เมืองโกนอง (Gonon) แคว้นมาเยน (Mayenne) ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 24 มกราคม ค. ศ.1849 ( พ. ศ.2392) ต่อมาได้เดินทางมาประเทศสยามถึงกรุงเทพฯในเดือนสิงหาคม ค. ศ.1874 ( พ. ศ.2417) ในฐานะเป็นอธิการของกลุ่มมิชชันนารี ภายหลังได้รับแต่งตั้งจากพระสังฆราชเวย์ ให้เดินทางไปสำรวจและบุกเบิกงานแพร่ธรรมที่ภาคอีสานเมื่อวันที่ 2 มกราคม ค. ศ.1881 ( พ. ศ.2424) พร้อมกับคุณพ่อเกโก โดยถือเอาเมืองอุบลฯ เป็นศูนย์กลางของการแพร่ธรรมในระยะเริ่มแรก นับเป็นผู้บุกเบิกและวางรากฐานสำหรับการก่อตั้งมิสซังใหม่ และเมื่อมิสซังใหม่นาม “ มิสซังลาว ” เริ่มก่อตัวขึ้นในต้นปี ค. ศ.1888 ( พ. ศ.2431) จึงได้รับแต่งตั้งจากพระสังฆราชเวย์ ให้เป็นอุปสังฆราชประจำภาคอีสานและได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชองค์ที่ 2 ของมิสซังลาวในเวลาต่อมา พระสังฆราชโปรดม จึงได้ชื่อว่าเป็นประทีปนำทางการแพร่ธรรมในภาคอีสานและประเทศลาวอย่างแท้จริง

การก่อสร้างอาสนวิหารนักบุญอันนา หนองแสง
     ภายหลังได้รับเลือกให้เป็นพระสังฆราช พระสังฆราชโปรดม ได้ดำเนินการก่อสร้างอาสนวิหารใหม่ที่หนองแสงตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก งานก่อสร้างเริ่มก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค. ศ.1914 ( พ. ศ.2457) แต่มาหยุดชะงักปลายเดือนสิงหาคม ค. ศ.1914 ( พ. ศ.2457) ต่อมาได้มอบหมายให้คุณพ่อแฟรสแนล ดำเนินการก่อสร้างต่อในปี ค. ศ.1918 ( พ. ศ.2461) จนกระทั่งแล้วเสร็จสมบูรณ์กลางปี ค. ศ.1919 ( พ. ศ.2462) คุณพ่อมาลาวาล มีความเสียใจเป็นอย่างมากที่ พระสังฆราชโปรดม อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถเป็นประธานในการเสกและเปิดอาสนวิหารใหม่ได้

     อาสนวิหารหนองแสงนับว่าเป็นอาสนวิหารที่ใหญ่โตเข็งแรงและสวยงามมาก ด้านหน้ามีหอคู่ที่มีลักษณะเป็นยอดแหลมสูงเด่นเป็นสง่ามองเห็นได้จากระยะไกล โครงหลังคาสร้างอย่างถูกหลักเทคนิค วัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่ขนมาจากไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม ซึ่งสมัยนั้นมีเพียงบริษัทเดินเรือบริษัทเดียวที่เดินเรือระหว่างไซ่ง่อนกับเวียงจันทน์สัปดาห์ละครั้ง จึงเข้าใจได้ว่าต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะสร้างเสร็จ นับเป็นผลงานชิ้นเอกที่ยังความพิศวงแก่ผู้ที่พบเห็น แต่น่าเสียดายที่อาสนวิหารหลังนั้นได้ถูกปืนใหญ่และระเบิดทำลายในช่วงที่เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศสในปี ค. ศ.1940 ( พ. ศ.2483) เหลือไว้แต่ซากปรักหักพังที่ยากแก่การปฏิสังขรณ์ มิฉะนั้นเราคงจะมีโบราณสถานอันล้ำค่าแห่งหนึ่งของภาคอีสาน ณ ดินแดนแห่งนี้

มรณกรรมของคุณพ่อซาเวียร์ เกโก
     คุณพ่อเกโก เกิดที่เมืองลังแฟงส์ (Lanfains) แคว้นโคต์ดือนอร์ด (Cotes du Nord) ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 19 เมษายน ค. ศ.1855 ( พ. ศ.2398) ต่อมาได้เดินทางมาประเทศสยามถึงกรุงเทพฯ ในเดือนธันวาคม ค. ศ.1879 ( พ. ศ.2422) ได้พบกับคุณพ่อโปรดม ขณะไปพักรักษาหัวเข่าที่จันทบุรี และได้รับมอบหมายจากพระสังฆราชเวย์ ให้ไปแพร่ธรรมที่ภาคอีสานพร้อมกับคุณพ่อโปรดม

     คุณพ่อเกโก เป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการแพร่ธรรมในมิสซังลาวเคียงบ่าเคียงใหล่คุณพ่อโปรดม โดยเฉพาะการก่อตั้งกลุ่มคริสตชนที่คำเกิ้ม ซึ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางของมิสซังและนำไปสู่การก่อตั้งกลุ่มคริสตชนใหม่ที่ดอนโดน เชียงยืน หนองแสง และหมู่บ้านใกล้เคียงอีกหลายแห่ง ต่อมาเมื่อ คุณพ่อโปรดม แยกดอนโดนออกจากคำเกิ้มเป็นอีกเขตหนึ่งต่างหาก คุณพ่อเกโก ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนโดนและทำหน้าที่แพร่ธรรมในหมู่บ้านต่าง ๆ ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในประเทศลาว โดยเฉพาะกับชาวโส้ ที่บ้านโป่งกิ้ว บึงหัวนา และดงหมากบ้า ซึ่งเป็นชนเผ่าที่ยากจนที่สุด มีภาษาและวัฒนธรรมเฉพาะของตัวเอง

     คุณพ่อเกโก เป็นคนที่มีความสุภาพมาก ไม่เคยไว้ใจตนเองเลยแต่มอบความไว้ใจในพระเป็นเจ้า ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายให้ทำอะไร ลำบากแค่ไหนไม่เคยปริปากบ่นหรือยอมแพ้อะไรง่าย ๆ ด้วยความเชื่อศรัทธาในพระเป็นเจ้า ความร้อนรนในการแพร่ธรรม และแบบอย่างชีวิตที่เรียบง่าย ที่เต็มไปด้วยความสุภาพ ใจดีมีเมตตาอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคุณพ่อ ได้สร้างความประทับใจให้กับชาวลาวที่พบเห็น นำไปสู่ความสนใจและสมัครเรียนคำสอน ทำให้เกิดกลุ่มคริสตชนขึ้นเป็นจำนวนมากในประเทศลาว

     อย่างไรก็ดี ความยากลำบากในการเดินทาง และชีวิตความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ทำให้สุขภาพของคุณพ่อเกโก ย่ำแย่ลง ประกอบกับอายุมากทำให้ป่วยเป็นโรคปอดบวมจนต้องเดินทางกลับมาพักรักษาตัวที่หนองแสง แต่อาการไม่ดีขึ้น ที่สุด คุณพ่อเกโก ได้มอบคืนดวงวิญญาณแด่พระเป็นเจ้าเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ค. ศ.1918 ( พ. ศ.2461) รวมสิริอายุ 63 ปี ยังความเศร้าโศกเสียใจอย่างสุดซึ้งในคณะสงฆ์และสัตบุรุษทั่วมิสซัง ร่างของคุณพ่อเกโก ได้รับการบรรจุที่สุสานวัดหนองแสง

กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, เอกสาร ร.5 ม.2 12 ก., ใบบอกเมืองสกลนคร, วัน 5 14/11 ค่ำ ปีระกา สัปตศก 1247, (22 ตุลาคม 2428).
เกลาดิอุส บาเย, ประวัติการเผยแพร่พระศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว, หน้า 56.
สมุดบัญชีศีลล้างบาป คริสตัง สกลนคร ปี 1884, 1885, 1886, เลขที่ 1, 15 สิงหาคม 1884.
ประวัติพระศาสนจักรคาทอลิกไทย สมัยกรุงศรีอยุธยา- สังคายนาวาติกันที่ 2 ( พ. ศ.2098- พ. ศ.2508), ( นครปฐม : วิทยาลัยแสงธรรม, 2533), หน้า 283.
สมุดบัญชีศีลล้างบาป วัดนักบุญมารีอามักดาเลนา บ้านนาโพธิ์ 1888, เลขที่ 2,15 สิงหาคม 1888.
ดู สมุดบัญชีศีลล้างบาป คริสตัง สกลนคร ปี 1884, 1885, 1886.
เกลาดิอุส บาเย, “ ประวัติท่าแร่” ใน อุดมศานต์, ปีที่ 63 ฉบับที่ 12, ( ธันวาคม, 2526), หน้า 31.
บันทึกการก่อตั้งมิสซังลาวของคุณพ่อปิแอร์ แอกกอฟฟอง, แปลโดย คุณพ่อยอห์นบัปติสต์ นรินทร์ ศิริวิริยานันท์, ( เอกสารอัดสำเนา), หน้า 4.
เรื่องเดียวกัน, หน้า 5.
เรื่องเดียวกัน, หน้า 10.
เกลาดิอุส บาเย, ประวัติการเผยแพร่พระศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว, หน้า 124.
เรื่องเดียวกัน, หน้า 118-119.
โรแบร์ กอสเต, การแพร่ธรรมในประเทศไทย ( ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปี 1910), แปลและเรียบเรียงโดยสมบัติ ถาวร ( เอกสารอัดสำเนา), หน้า 333- 336.
เรื่องเดียวกัน, หน้า 121.
ดู เกลาดิอุส บาเย, ประวัติการเผยแพร่พระศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว, หน้า 133-138.
ยังมารีย์ กืออ๊าส, เรื่องเดิม, หน้า 8.
เกลาดิอุส บาเย, “ ประวัติย่อของอาสนวิหารหนองแสงที่ได้ถูกทำลาย ปี 1940-1941” ใน หนังสือ วันอภิเษกโบสถ์นักบุญอันนาหนองแสง นครพนม วันที่ 18 เมษายน 2518, ( กรุงเทพฯ : โสภิตการพิมพ์, 2518), หน้า 24.
บันทึกการเข้า
KoKoKo
อสุรผัด
*
ตอบ: 49


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 20 ต.ค. 07, 17:23

มรณกรรมของพระสังฆราชโปรดม
     พระสังฆราชโปรดม ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชปกครองขณะอายุ 64 ปี แม้จะยังคงมีความกล้าหาญร้อนรนเหมือนเดิม แต่สุขภาพเสื่อมทรุดลงเพราะเวลาหนุ่มเดินทางมาก ขี่ม้าตากแดดหลายพันกิโลเมตรภายใต้แสงแดดอันร้อนระอุของภาคอีสาน เมื่อเป็นสังฆราชยังมีเหตุการณ์ทำให้หนักใจมาก เพราะพระสงฆ์หนุ่มถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี ค. ศ.1914-1918 ( พ. ศ.2457-2461) จำนวน 21 องค์ เหลืออยู่ทำงานเพียง 14 องค์ตามบันทึกในรายงานประจำปี ค. ศ.1916 ( พ. ศ.2459) และยังสูญเสียคุณพ่ออัมโบรซิโอ ชื่น เมื่อวันที่ 21 กันยายน ค. ศ.1914 ( พ. ศ.2457) ขณะทำหน้าที่ดูแลคริสตชนที่บ้านโพนสูง สูญเสียพระสงฆ์ 2 องค์ในสนามรบ แต่ที่นำความสะเทือนใจมากที่สุดก็คือมรณกรรมของคุณพ่อเกโก เพื่อนร่วมงานแพร่ธรรมคู่ใจ

     ในการเข้าเงียบประจำปี เดือนพฤศจิกายน ค . ศ.1918 ( พ. ศ.2461) บรรดาพระสงฆ์สังเกตเห็นพระสังฆราชโปรดม มีอาการอ่อนเพลียผิดปกติ แต่หลังเข้าเงียบยังขี่ม้าไปเยี่ยมหมู่บ้านคริสตชนทางตอนใต้เมื่อกลับมาในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค. ศ.1919 ( พ. ศ.2462) จึงหมดเรี่ยวแรงต้องไปรักษาตัวที่ไซ่ง่อนเป็นเวลา 2 เดือน และวันที่ 18 กันยายน ค. ศ.1919 ( พ. ศ.2462) ได้ป่วยเป็นโรคสมองอัมพาตปกครองมิสซังไม่ได้ คุณพ่อมาลาวาล อุปสังฆราชจึงรับหน้าที่ปกครองมิสซังแทน ที่สุดพระสังฆราชโปรดม ได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ค. ศ.1920 ( พ. ศ.2463) นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของมิสซัง เหลือไว้แต่เพียงผลงาน และแบบอย่างชีวิตที่เข้มแข็งอดทนและร้อนรนในการแพร่ธรรมโดยไม่หวั่นเกรงต่ออุปสรรคและความยากลำบากใด ๆ คุณพ่อมาลาวาล อุปสังฆราชพร้อมกับบรรดาพระสงฆ์และสัตบุรุษได้ประกอบพิธีปลงศพพระสังฆราชโปรดม อย่างสมเกียรติ และบรรจุร่างของพระสังฆราชโปรดม ไว้ที่สุสานวัดหนองแสงเคียงข้างหลุมศพของคุณพ่อเกโก เพื่อนผู้บุกเบิกและร่วมงานแพร่ธรรมนั่นเอง และคุณพ่อมาลาวาล ได้รักษาการปกครองมิสซังต่อไปอีกจนถึงเดือนกรกฎาคม ค. ศ.1922 ( พ. ศ.2465) ซึ่งในช่วงปีนั้นเองคุณพ่อได้เปิดโรงเรียนครูคำสอนอีกในสถานที่เคยเป็นบ้านเณรนาซาเร็ธ

พระสังฆราชอังเยโล มารีย์ แกวง พระสังฆราชองค์ที่สามของมิสซังลาว : ค. ศ.1922-1943
     หลังจากมรณภาพของพระสังฆราชโปรดมคุณพ่ออังเยโล - มารีย์ แกวง (Angelo-MarieGOUIN) เจ้าอาวาสวัดแก่งสะดอกในประเทศลาว ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชองค์ที่ 3 ของมิสซังลาว เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค. ศ.1922 ( พ. ศ.2465) ได้รับอภิเษกที่อาสนวิหารหนองแสง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม ค. ศ.1922 ( พ. ศ.2465) โดยพระสังฆราชแปร์รอส แห่งกรุงเทพฯ มีพระสังฆราชบูซือ แห่งพนมเปญกับพระสังฆราชแกงตอง แห่งไซ่ง่อนเป็นผู้ช่วยอภิเษก

     พระสังฆราชแกวง เกิดที่ประเทศฝรั่งเศส เข้ารับการศึกษาที่บ้านเณรของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส จนกระทั่งได้บวชเป็นพระสงฆ์และเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศสยาม ถูกส่งตัวมาช่วยงานที่มิสซังลาวแต่เราไม่มีข้อมูลหลักฐานอะไรมากนัก ทราบเพียงว่าเคยทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสที่วัดเชียงยืน นามน และแก่งสะดอกในประเทศลาว จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชองค์ที่ 3 ของมิสซังลาวแทนพระสังฆราชโปรดม ที่ถึงแก่มรณภาพ

การก่อตั้งอารามภคินีรักกางเขนที่ท่าแร่
ในปี ค . ศ.1922 ( พ. ศ.2465) คุณพ่อกอมบูริเออ ได้ปรึกษากับพระสังฆราชแกวง ถึงเรื่องการตั้งคณะภคินีรักกางเขนที่ท่าแร่ พระสังฆราชแกวง เห็นด้วยและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เนื่องจากท่าแร่เป็นวัดใหญ่มีสัตบุรุษมากจำเป็นจะต้องมีอารามภคินีอยู่ใกล้ ๆ เพื่อช่วยงาน คุณพ่อกอมบูริเออ ได้รวบรวมหญิงสาวที่ประสงค์จะถวายตัวแด่พระเป็นเจ้าเข้าฝึกหัดเป็นภคินี 8 คน ส่งไปรับการฝึกอบรมขั้นพื้นฐานที่อารามเชียงหวาง ประเทศลาวในเดือนพฤศจิกายน ค. ศ.1922 ( พ. ศ.2465) พร้อมกับสร้างอารามขึ้นที่ท่าแร่บริเวณด้านตะวันออกของสุสาน โดยขนานนามว่า “ อารามเซนต์เทเรซา ”

     หลังจากได้ฝึกอบรมเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว คุณพ่อกอมบูริเออ ได้ไปรับกลับท่าแร่เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค. ศ.1923 ( พ. ศ.2466) โดยมีคุณแม่ยุสตามารีอา เปี่ยม ชาวบ้านปากซันร่วมเดินทางมาด้วย เพื่อทำหน้าที่เป็นนวกจารย์และอธิการิณีกลุ่มผู้ฝึกหัด ต่อมาได้มีหญิงสาวจากวัดท่าแร่และวัดใกล้เคียงสมัครเข้ารับการอบรมเพิ่มขึ้น คุณพ่อเห็นว่าคณะที่ได้ริเริ่มขึ้นจะเป็นปึกแผ่นและสามารถช่วยงานของพระศาสนจักรต่อไปในอนาคต จึงได้ขออนุญาตพระสังฆราชแกวง เปิดอารามคณะภคินีรักกางเขนแห่งท่าแร่ขึ้นอย่างเป็นทางการโดยได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค. ศ.1924 ( พ. ศ.2467)

การแบ่งแยกมิสซังและการเปิดบ้านเณรเล็กที่หนองแสง
     พระสังฆราชแกวง กลุ้มใจมากเพราะรู้สึกว่าไม่มีความสามารถจะแพร่ธรรมทุกท้องที่ของมิสซังได้ จึงพยายามหาพระสงฆ์คณะอื่นมาช่วยงาน โดยได้พระสงฆ์คณะข้าบริการแม่พระนฤมลทิน (O.M.I.) มารับหน้าที่ดูแลภาคเหนือของประเทศลาว คุณพ่อ 3 องค์แรกของคณะมาถึงท่าแขกเมื่อวันที่ 10 มกราคม ค. ศ.1935 ( พ. ศ.2478) ต่อมาสันตะสำนักได้ประกาศแต่งตั้งมิสซังเวียงจันทน์และหลวงพระบางแยกออกจากมิสซังลาวเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค. ศ.1938 ( พ. ศ.2481) และมอบให้คณะข้าบริการแม่พระนฤมลทิน ดูแล

     นับตั้งแต่ปิดบ้านเณรนาซาเร็ธที่หนองแสง บรรดาเณรของมิสซังถูกส่งไปรับการอบรมที่บ้านเณรบางช้างและบ้านเณรพระหฤทัยศรีราชา การส่งสามเณรไปเรียนในที่ไกล ๆ ก่อให้เกิดปัญหามากมาย เนื่องจากการคมนาคมไม่สะดวกเหมือนในปัจจุบัน พระสังฆราชแกวง และคณะที่ปรึกษาได้ตัดสินใจเปิดบ้านเณรเล็กขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค. ศ.1938 ( พ. ศ.2481) ในที่ดินของมิสซังที่หนองแสง โดยมีคุณพ่อแฟรส์ เป็นอธิการและคุณพ่อเปาโลศรีนวล ศรีวรกุล เป็นผู้ช่วย

มรณกรรมของคุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออ
     คุณพ่อกอมบูริเออ เกิดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค. ศ.1861 ( พ. ศ.2404) ที่ มูล เดอ บาเรส สังฆมณฑลโรแดส แคว้นอาเว รอง ประเทศฝรั่งเศสในครอบครัวของชาวนา ก่อนที่จะย้ายไปตั้งหลักแหล่งที่โรยัก สังฆมณฑลแซงฟลูร์ แคว้นกังตาล และเข้าบ้านเณรใหญ่ที่นั่นในปี ค. ศ.1879 ( พ. ศ.2422) ต่อมาได้เข้าบ้านเณรของคณะมิสซังต่างประเทศเมื่อวันที่ 7 กันยายน 1882 ( พ. ศ.2425) จนกระทั่งบวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 20 กันยายน ค. ศ.1884 ( พ. ศ.2427) และได้รับมอบหมายให้เดินทางมาประเทศสยาม โดยออกจากบ้านเณรที่ถนนดือบักเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค. ศ.1884 ( พ. ศ.2427)

     เมื่อคุณพ่อกอมบูริเออ เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่คุณพ่อโปรดม เดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อรับสิ่งจำเป็นสำหรับงานแพร่ธรรมและขอมิชชันนารีไปช่วยงานที่ภาคอีสาน พระสังฆราชเวย์ จึงให้คุณพ่อกอมบูริเออ เดินทางไปพร้อมกับคุณพ่อโปรดม โดยขี่ม้ามาจนถึงนครราชสีมาและต่อไปถึงอุบลราชธานี จากนั้นได้เดินทางไปบ้านคำเกิ้ม ที่สุดได้เดินทางมาถึงท่าแร่เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ค. ศ.1885 ( พ. ศ.2428) ขณะนั้นกลุ่มคริสตชนที่ท่าแร่ตั้งได้ประมาณ 7 เดือน มีคริสตชน 147 คนและผู้สมัครเรียนคำสอน 692 คน ในระยะแรกคุณพ่อโปรดม ทำหน้าที่เป็นผู้สอนคำสอนคริสตชนใหม่และผู้สมัครเรียนคำสอน ขณะที่คุณพ่อกอมบูริเออ เริ่มเรียนภาษา และก่อนจะเดินทางออกจากท่าแร่ คุณพ่อโปรดม ได้แต่งตั้งคุณพ่อกอมบูริเออ ให้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก นับเป็นเจ้าอาวาสที่หนุ่มที่สุด มีอายุเพียง 23 ปี โดยมอบหมายให้คุณพ่อดาแบง ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและสอนคำสอน พร้อมกับล้างบาปผู้สมัครเป็นคริสตชนที่ท่าแร่เป็นจำนวนหนึ่งดังปรากฎในเอกสารสมุดบัญชีศีลล้างบาปปี ค. ศ.1885 ( พ. ศ.2428) ก่อนหน้าที่จะย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบุ่งกะแทว ที่อุบลฯในเดือนตุลาคมปีนั้นเอง คุณพ่อกอมบูริเออ จึงต้องรับผิดชอบคริสตชนที่ท่าแร่ตามลำพัง พร้อมกับครูทัน โดยมีคุณพ่อเกโก จากวัดคำเกิ้มแวะเวียนมาเยี่ยมบ้างเป็นครั้งคราว

     คุณพ่อกอมบูริเออ เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าแร่จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ค. ศ.1937 ( พ. ศ.2480) จึงได้ลาออกจากตำแหน่ง ตลอดเวลาที่เป็นเจ้าอาวาสกว่า 52 ปี คุณพ่อได้เอาใจใส่ดูแลอย่างเต็มความสามารถในการอบรมชาวท่าแร่ให้ก้าวหน้าและมั่นคงในความเชื่อคาทอลิกอย่างแท้จริง ดังปรากฎในคราวที่มีการเบียดเบียนศาสนาตลอดเวลากว่า 5 ปี มีคริสตชนน้อยคนที่มีจิตใจโลเลไปบ้าง และได้สร้างคุณประโยชน์มากมายสำหรับชาวท่าแร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งโรงเรียนมหาพรหมมีคาแอล เพื่อให้การศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดาชาวท่าแร่ให้มีความรู้ และจัดตั้งอารามภคินีรักกางเขนแห่งท่าแร่ เพื่อช่วยงานพระสงฆ์ตามวัด นับว่าคุณพ่อเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและมีพระคุณต่อชาวท่าแร่เป็นอย่างมาก นอกนั้นคุณพ่อกอมบูริเออ ได้จัดวางผังหมู่บ้านและการตั้งบ้านเรือนตามหลักวิชาการสมัยใหม่ คือตัดถนนตรงแน่ว บริเวณวัด อารามอยู่ตรงกลางหมู่บ้าน จัดให้สัตบุรุษตั้งบ้านเรือนอยู่สองฟากคือด้านตะวันออกและตะวันตกอยู่กันเป็นหมวดหมู่เป็นคุ้ม

     ตลอดเวลาที่เป็นเจ้าอาวาส คุณพ่อกอมบูริเออ ได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเพียงครั้งเดียว นับว่าเป็นผู้ที่เสียสละอย่างมาก คุณพ่อเป็นคนประหยัดในการกินอยู่ ไม่ชอบกินเนื้อจนคุณพ่อปลัดท่านหนึ่งกล่าวต่อหน้าท่านว่า “ สำหรับวัดท่าแร่ พระบัญญัติห้ามเนื้อต้องเปลี่ยนใหม่ อย่าเอาเนื้อเป็นอาหารในวันศุกร์และวันอื่น ๆ ด้วย ” นอกนั้นคุณพ่อยังมีความคิดที่แยบยลในการปกครองชาวเวียดนาม กล่าวคือ คุณพ่อต้องการให้ชาวเวียดนามที่เกิดในประเทศไทยเป็นคนไทยจริง ๆ จึงกำหนดให้เรียนคำสอนและแก้บาปเป็นภาษาไทยหมด ไม่ส่งเสริมการเรียนและอ่านภาษาเวียดนาม เพียงแต่อนุโลมให้สวดในวัดบ้างเท่านั้น ทำให้ลูกหลานชาวเวียดนามมีจิตใจเป็นคนไทยอย่างไม่เอนเอียง ดังปรากฎเมื่อมีชาวเวียดนามอพยพเข้ามาประเทศไทยและจัดตั้งสมาคมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางการเมืองของประเทศตน จึงไม่มีลูกหลานชาวเวียดนามคนใดเอออวยเห็นดีด้วยเลย

     ปี ค . ศ.1938 หลังจากได้ลาออกจากการเป็นผู้รับผิดชอบมิสซังและเจ้าอาวาสวัดท่าแร่ คุณพ่อกอมบูริเออ ได้รับหน้าที่เป็นจิตตาธิการภคินีรักกางเขนแห่งท่าแร่ที่คุณพ่อได้ตั้งขึ้น จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม ค. ศ.1939 ( พ. ศ.2482) คุณพ่อได้ล้มป่วยลง และได้ถวายดวงวิญญาณคืนแด่พระเป็นเจ้าเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค. ศ.1939 ( พ. ศ.2482) ขณะอายุได้ 78 ปี ในฐานะที่คุณพ่อเป็นเพื่อนร่วมงานของคุณพ่อโปรดม และคุณพ่อเกโก คุณพ่อไม่ได้ด้อยกว่าท่านทั้งสองในด้านการงานแต่ประการใด คุณพ่อได้ทิ้งผลงานมากมายให้มิสซังและบ้านท่าแร่ ควรที่ชาวท่าแร่จะรำลึกถึงตราบนานเท่านาน

สงครามโลกครั้งที่ 2 และกรณีพิพาทอินโดจีน
     กลางปี ค . ศ.1939 ( พ. ศ.2482) บรรยากาศทางการเมืองในทวีปยุโรปได้เลวร้ายลง จนกระทั่งวันที่ 1 กันยายน ค. ศ.1939 ( พ. ศ.2482) กองทัพเยอรมันภายใต้การนำของอด๊อฟ ฮิตเลอร์ ได้เปิดฉากบุกประเทศโปแลนด์แบบสายฟ้าแลบ เป็นเหตุให้ประเทศอังกฤษกับฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมันในอีกสองวันต่อมา พร้อมกับกลุ่มประเทศที่เรียกว่า “ ฝ่ายสัมพันธมิตร ” ส่วนประเทศอิตาลีและญี่ปุ่นได้เข้าร่วมสงครามกับฝ่ายเยอรมันที่เรียกว่า “ ฝ่ายอักษะ ” และนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2

     ปลายปี ค . ศ.1940 ( พ. ศ.2483) บรรยากาศทางการเมืองในประเทศไทยดูขุ่นมัวไปทั่ว และได้เกิดสถานการณ์แห่งความยากลำบาก รัฐบาลไทยได้เสนอให้รัฐบาลฝรั่งเศสปรับปรุงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนเสียใหม่ เพราะดินแดนที่ไทยเสียไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ยังปักหลักเขตแดนไม่เรียบร้อย แต่รัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธและนำไปสู่การใช้กำลังเข้าตัดสินปัญหาที่เรียกว่า “ กรณีพิพาทอินโดจีน ” หรือ “ สงครามอินโดจีน ” และยุติลงตอนต้นปี ค. ศ.1941 ( พ. ศ.2484) โดยการไกล่เกลี่ยของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปลายปีนั้นเองญี่ปุ่นได้เปิดฉากสงครามเอเชียบูรพากับฝ่ายสัมพันธมิตรและบังคับให้ประเทศไทยเข้าร่วม

เกลาดิอุส บาเย, ประวัติการเผยแพร่พระศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว, หน้า 161.
คำจวน ศรีวรกุล, อนุสรณ์งานวชิรสมโภช 75 ปี วัดอัครเทวดามีคาแอล บ้านท่าแร่ อ. เมือง จ. สกลนคร, ( กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ประเสริฐธนกิจ, 2503), หน้า 10.
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.153 วินาที กับ 19 คำสั่ง