เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: Rinda ที่ 26 เม.ย. 06, 11:59



กระทู้: ที่มา..โคลงกำสรวล
เริ่มกระทู้โดย: Rinda ที่ 26 เม.ย. 06, 11:59
 คือกำลังศึกษาโคลงเก่าน่ะค่ะ เลยเข้ามาหาข้อมูล อยากทราบแนวคิดที่ว่า
น้ำจะท่วมโลกตั้งแต่ครั้งโบราณกาล มีที่มาจากวรรณคดีหรือปรัชญาตะวันออก... ย้ำ
เรื่องใด ขอบคุณค่ะ

เรียมร่ำน้ำเนตรท่วม..........................ถึงพรหม
พาหมู่สัตว์จ่อมจม............................ชีพม้วย
พระสุเมรุเปื่อยเป็นตม.......................ทบท่าว ลงแฮ
หากอักนิษฐ์พรหมฉ้วย......................พี่ไว้จึ่งคง

โดย ศรีปราชญ์


กระทู้: ที่มา..โคลงกำสรวล
เริ่มกระทู้โดย: Rinda ที่ 26 เม.ย. 06, 12:03
 คำถามข้างต้นเกิดขึ้นสืบเนื่องจากวรรณคดีเก่าของไทยหลายเรื่อง มีที่มาจาก
วรรณคดีมคธหรือสันสกฤต เช่นในโคลงดั้น ทวาทศมาส  

วรรณาโมลิสแล้ง....... แดงเดียว
อกกระอุเกรียมโกรย... กระด้าง
อัมพรอุทรเขียว..........ครางคร่ำ
พื้นฟั่นโหยไห้ช้าง......เชี่ยวสินธุ์

ซึ่งใน “ประชุมวรรณคดีไทยภาคพิเศษ” (2512) ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์  ถอดความว่า
แผ่นดินแห้งเป็นสีแดง เช่นเดียวกับอกกระอุเกรียม ท้องฟ้าอุ้มเมฆฝนเขียวชะอุ่ม
ครางคร่ำ พอคืนคิดก็โหยให้น้ำตาไหลเชี่ยวแรงเหมือนน้ำ

ซึ่งอาจได้เค้าเรื่องจาก “เมฆทูต-อมตะโศลกแห่งวสันตฤดู” (โดยรัตนกวี กาลิทาส
กวีในสมัยพระเจ้าวิกรมาทิตย์) ที่ว่าขณะเมฆกลุ่มแรกแห่งเดือนอาษาฒ ปรากฏ
เขียวชอุ่มขึ้นในท้องฟ้า ภาพของเมฆนั้นทำให้ยักษ์เกิดความสะเทือนใจเป็นยิ่ง
ซึ่งกาลิทาสบรรยายว่า

Even happy hearts thrill strangely to the cloud;
In poetic to him, poor wretch,
She loved embrace form was disallowed.

(แม้แต่วรรณกรรมของยุโรปบางเรื่อง เช่น Thelma, Love and the Philosopher เชื่อว่า
ทิ้งร่องรอยของการรับอิทธิพลของวรรณกรรมสันสกกฤตอยู่บ้างค่ะ)


กระทู้: ที่มา..โคลงกำสรวล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 06, 14:51
 อ่านซ้ำ ๒ ครั้งเพื่อจะจับใจความให้ได้ว่าคุณถามอะไร

"น้ำจะท่วมโลกตั้งแต่ครั้งโบราณกาล มีที่มาจากวรรณคดีหรือปรัชญาตะวันออก... ย้ำ เรื่องใด ขอบคุณค่ะ"
ถ้าน้ำ "จะ" ท่วมโลก  ก็เป็น Future Tense สิคะ   เป็นครั้งโบราณกาล Past Tense  ได้ยังไง
ถ้าเป็นแต่โบราณกาลก็ต้องใช้คำว่า น้ำ" เคย" ท่วมโลก

เอาใหม่   เข้าใจว่าคุณจะถามว่า ความเชื่อเกี่ยวกับน้ำท่วมโลกตั้งแต่ครั้งโบราณกาล มีอยู่ในวรรณคดีหรือปรัชญาเรื่องใดของตะวันออก
แต่การเรียบเรียงถ้อยคำ อ่านแล้วไม่ชัดเจน

อันที่จริงเรื่องทำนองนี้ไม่น่ามีในหนังสือปรัชญา  เพราะไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของปรัชญา    ก็เหลือแต่วรรณคดี
น้ำท่วมโลกมีอยู่ในปางหนึ่งของพระนารายณ์ เรียกว่า "มัตสยาวตาร" พระนารายณ์อวตารเป็นปลาใหญ่ลากจูงเรือของพระมนูให้พ้นจากน้ำท่วมโลก  
ในวรรณคดีไทยมีอยู่ในลิลิตนารายณ์สิบปาง   พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


กระทู้: ที่มา..โคลงกำสรวล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 06, 14:54
 Thelma กับ Love and the Philosopher ของ Marie Corelli  ดิฉันเคยอ่าน  Corelli เป็นนักเขียนคนโปรดคนหนึ่ง  
แต่จำไม่ได้ว่ามีอิทธิพลสันสกฤตตรงไหนค่ะ   คุณอ่านที่ดร.กิ่งแก้ว อัตถากรกับคุณ"อมราวดี"แปลหรือเปล่า


กระทู้: ที่มา..โคลงกำสรวล
เริ่มกระทู้โดย: 111 ที่ 28 เม.ย. 06, 12:56
 มหากาพย์กิลกาเมส ของอารยธรรมเมโสโปเตเมีย (ปัจจุบันนี้อยู่แถวอิรัก กับซีเรียใช่มั๊ย?)ก็กล่าวถึงน้ำท่วมโลก


กระทู้: ที่มา..โคลงกำสรวล
เริ่มกระทู้โดย: Rinda ที่ 28 เม.ย. 06, 18:08
 ขอโทษอ่ะค่ะ  อาจารย์ที่สอนมักจะรวมศาสนาพุทธและพราหมณ์เข้าไว้กับปรัชญา

ดิฉันหาได้อ่าน Thelma ของอ.กิ่งและคุณลัดดา ถนัดหัตถกรรม (อมราวดี) แต่ใดไม่
เคยแต่ไปฟังเสวนาที่เทวาลัยเมื่อนานมาแล้ว โดยมีอาจารย์นักเขียนท่านหนึ่งร่วมเสวนาด้วย

อ่านงานของ Marie ครั้งแรกโดยบังเอิญตอนโดยสาร ร.ฟ.ท.จะไป ม.อ. แต่มีเหตุให้รู้ตัวที่ป.ด.บ.ซ.
ขณะรอรถไฟกลับ ที่ร้านหนังสือเก่า พบเต็ลมาเล่มเหลืองกรอบตีพิมพ์หลังสงครามโลก โดย ศ.ร.
(ม.จ. ช. และ ม.จ. ญ. (สะใภ้) แห่งราชสกุลเกษมศรี) ภายหลังหาอ่านจาก Gutenberg
เทียบกับของสายธารค่ะ  

งานอื่นของแมรี่ อ่าน The Murder of Delicia, Ziska, The Sorrows of Satan, Innocence
เรื่องสั้นมี The Withering of a Rose, The Sole of the Newly Born
Three Wise Men of Gotham, The Hired Baby

อ่านออนไลน์ Vendetta กับเล่มแปลจากห้องสมุด (โดยแม่วัน-ท่าน น.ย.)
และที่เก็บความใหม่ (จากงานสัปดาห์หนังสือฯปีนี้) ชื่อ คมพยาบาท ของ ค.ญ.ว.


กระทู้: ที่มา..โคลงกำสรวล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 06, 09:13
 อ.ษ.ย. เยอะเหลือเกิน   อ่าน ม.ร.ร.  ค่ะ
ส่วนเรื่อง คมพยาบาท มา เกี่ยวอะไรด้วยกับความพยาบาท???


กระทู้: ที่มา..โคลงกำสรวล
เริ่มกระทู้โดย: Rinda ที่ 29 เม.ย. 06, 14:51

.
เรื่องเต็ลมา ที่อ่านนั้น ผู้นิพนธ์ (แปล) เป็นหม่อมเจ้าชายและหม่อมเจ้าหญิง
ใช้พระนามปากกาเป็นตัวย่อจริงๆว่า ศ.ร. ค่ะ (เล่มขวา คืองานของ ศ.ร.)

ทายาทท่านเล่าว่าตอนท่านแม่ทรงออกโรงเรียน อยากหางานอดิเรกทำแทนการจับเจ่าเฝ้าเรือน
จึงทรงปรึกษาท่านชายองค์หนึ่ง ซึ่งพึ่งทรงลาออกจากงาน ท่านชายประทานคำแนะนำให้แปลเรื่องเต็ลมา
และทรงเป็นโค้ชให้ พอแปลเสร็จ กามเทพก็ลั่นศรไปยังสององค์ และทรงเสกสมรสกันต่อมา เสียใจที่จำ
พระนามจริงของท่านไม่ได้

ดิฉันพิมพ์ผิด "คมพยาบาท" ที่ถูกต้องต้องเป็น "ความพยาบาท" (a Story of One Forgotten)
แปลโดย อาจารย์ คุณหญิงวินิตาฯ ทราบว่าท่านเคยทำวิจัยเกี่ยวกับนักเขียนเรื่องนี้สมัย 30 ปีที่แล้วมังคะ
(อ่านงานแปลอีกเรื่องของท่าน "สองปรารถนา" แล้วไม่น่าเชื่อว่าท่านแปลแนวนั้นก็เป็น ท่านใช้ภาษาสละสลวย
บรรยายฉากโรแมนติกได้เห็นภาพพจน์ดีทีเดียวค่ะ)  


กระทู้: ที่มา..โคลงกำสรวล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ค. 06, 11:57
 หม่อมเจ้าศุขศรีสมร และหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี ค่ะ


กระทู้: ที่มา..โคลงกำสรวล
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 12 พ.ค. 06, 05:38
 น้ำท่วมโลกแบบไทยๆ ที่คนไทยไม่ค่อยรู้ต้องเรื่อง พญาแถน ครับ หาอ่านได้จาก พงศาวดารล้านช้าง

ใครว่า ตำนานไทยๆ ไม่มีน้ำท่วมโลก อิอิ


กระทู้: ที่มา..โคลงกำสรวล
เริ่มกระทู้โดย: จิตแผ้ว ที่ 14 พ.ค. 06, 07:44
 ตำนาน เรื่อง ผาแดง นางไอ่ หนองหานล่ม จากวรรณกรรมอีสานก็พอจะพูดถึงเรื่อง
น้ำท่วมอยู่บ้างครับ


กระทู้: ที่มา..โคลงกำสรวล
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 21 พ.ค. 06, 02:44
 ถ้าพูดถึงเรื่อง หนองหานล่ม น่าสนใจครับว่ามีโครงเรื่องเดียวกับ "เวียงหนองล่ม" ในตำนานสิงหนวัติ หรือเปล่า

เพราะมีตัวละคร "เผือก" เหมือนกัน ที่เป็นสาเหตุให้เมืองล่ม

หนองหาน มี กระรอกเผือก
เชียงแสน มี ปลาไหลยักษ์เผือก
มีบทความแนะนำครับ

วรรณกรรมสองแคว ตอนที่ ๗ เรื่องความเหมือนกันของวรรณกรรม โดย รศ. ดร. ประจักษ์ สายแสง
 http://www.thai-folksy.com/L2Qua/L1-30/07-L2Q.htm  


กระทู้: ที่มา..โคลงกำสรวล
เริ่มกระทู้โดย: พระยาสุเรนทร์ ที่ 02 มิ.ย. 06, 16:09
 ตามความรู้งูๆ ปลาๆ ของผมนะครับ      
ไม่ทราบว่าจะเกี่ยวกับตำนานฝ่ายพุทธหรือเปล่าครับ ที่กล่าวว่าจักรวาลจะถูกทำลายโดย 3 วิธี คือ โดยไฟ โดยลม โดยน้ำ
เวลาถูกทำลายโดยน้ำนั้น จะท่วมทั้งนรก โลกมนุษย์ สวรรค์ฉกามาวจร และพรหมชั้นต้นๆ แต่อกนิษฐพรหม เป็นรูปพรหมชั้นสูงสุดจึงรอดพ้นและจะคอยช่วยเหลือ โดยบอกวิธีจะขึ้นไปพรหมชั้นสูงๆ ให้แก่มนุษย์ก่อนที่น้ำจะท่วมโลก(โดยการให้ฝึกฌานสมาธิ)

แต่แปลกดีนะครับที่มีตำนานน้ำท่วมโลกมากมายในหลายวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น มายา เมโสโปเตเมีย(กิลกาเมซ) คริสต์(โนอาห์) ฮินดู(พระพรหมมาบอกให้มนูต่อเรือหนีน้ำท่วม) และพุทธ
ไม่ทราบว่ามีความเกี่ยวพันกันหรือเปล่า และอย่างไรครับ    


กระทู้: ที่มา..โคลงกำสรวล
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 02 มิ.ย. 06, 17:06
 มีโดยดินด้วยไม่ใช่หรือครับ