เรือนไทย

General Category => ห้องหนังสือ => ข้อความที่เริ่มโดย: saimai ที่ 10 พ.ย. 13, 14:51



กระทู้: อ่านหนังสือ....เพิ่มความรู้
เริ่มกระทู้โดย: saimai ที่ 10 พ.ย. 13, 14:51
ได้รับแรงบันดาลใจจากหลายท่านที่เรือนไทยนี้ ทำให้ดิฉันอยากอ่านหนังสือจดหมายเหตุรายวัน และหนังสืองานศพมาก จึงเป็นที่มาของหนังสือเล่มแรกที่จะอ่านในเดือนพฤศจิกายนนี้ค่ะ


ขอบคุณสำหรับแรงบันดาลใจนี้ค่ะ อ่านสนุกได้ความรู้ ความเข้าใจ ทำให้อยากอ่านเล่มโน้นเล่มนี้ต่อไปค่ะ  :)


กระทู้: อ่านหนังสือ....เพิ่มความรู้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ย. 13, 15:25
น่าสนใจมากค่ะ  อ่านจบแล้วมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ
ท่านสมาชิกที่จะร่วมสนทนาเรื่องนี้ได้อย่างดี  คือคุณ V_Mee ค่ะ


กระทู้: อ่านหนังสือ....เพิ่มความรู้
เริ่มกระทู้โดย: saimai ที่ 10 พ.ย. 13, 17:38
ตอนนี้อ่านมาได้ครึ่งเล่มแล้วค่ะ ชอบตอนที่พระองค์บันทึกเรื่อง "คอนสติตูชั่น" เมื่อเดือนมีนาคม ร.ศ.130
เป็นการอธิบายแสดงคุณและโทษอันอาจจะมีมาได้โดยลักษณะปกครองมี "คอนสติตูชั่น"

ขออนุญาติไปสแกนมาให้ทุกท่านได้อ่านนะคะ  :D


กระทู้: อ่านหนังสือ....เพิ่มความรู้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ย. 13, 10:16
ระหว่างรอคุณ saimai   ขอนำจดหมายเหตุรายวัน บางตอนมาลงคั่นโปรแกรมไปพลางๆก่อนค่ะ
จากที่คุณ kanungnit เล่าไว้

http://www.phangngacity.com/%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2/%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8_%E0%B8%A3-6.html

จดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประพาสเมืองตะกั่วป่า ร.ศ.128

พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งทรงดำรงอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมราชโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร ทรงพระราชนิพนธ์ในลักษณะจดหมายเหตุรายวัน รวม 12 ฉบับ ทรงใช้นามแผงว่า "นายแก้ว" ซึ่งในฉบับที่ 4 ระหว่างวันที่ 20 - 24 เมษายน ร.ศ.128 ครั้งทรงประพาสที่เมืองตะกั่วป่า

 วันที่ 20 เมษายน ร.ศ.128 เรือถลางถอนสมอออกเดินทางจากปากแม่น้ำระนอง มาตามทางทะเล มาเข้าแม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำก็มีที่งาม ๆ น่าดูตลอดมา มีเขาทั้งสองข้างและมีการเกาะเป็นอันมาก มีบางเกาะที่มีเหมืองแร่ดีบุก เช่น เกาะพระทอง เป็นต้น กำหนดตามโปรมแกรมว่าบ่าย ๆ จะมาถึงเมืองตะกั่วป่า แต่เรือพาลี ซึ่งนำหน้าเรือถลางลงมานั้น เดินอยู่ข้างจะช้ามาก เพราะฉะนั้นกว่าจะทอดสมอที่หน้าเมืองตะกั่วป่าก็ค่ำเห็นไฟที่ตลาดครึกครื้นน่าดูมาก พอเรือทอดสมอ พระยาเสนานุชิต ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่า ลงมาเฝ้าเรือ เชิญเสด็จขึ้นเมือง เวลาทุ่มเศษ?.ฯลฯ

วันที่ 21 เมษายน ร.ศ.128 อำเภอตลาดใหญ่ เมืองตะกั่วป่า เวลาเช้า จวน 4 โมง เสด็จลงเรือดำรงรัฐจ ากเรือถลาง แล่นขึ้นมาตามลำน้ำ มาในระหว่างเกาะ ซึ่งมีเรียงรายอยู่ทั้งสองข้าง ผมได้ยิน ท่านเจ้าคุณเทศา ท่านว่ามีดีบุกแทบทุกเกาะ แต่ไม่มีใครได้ร่อนเพราะได้ไม่คุ้มโสหุ้ย ที่จะต้องเสีย ฯลฯ?
เวลาบ่ายโมงถึงท่า เสด็จทรงขึ้นพระเก้าอี้หามขึ้นมาพลับพลาทางประมาณ 20 เส้น ขึ้นจากท่าผ่านไป ริมกำแพงบ้านพระยาตะกั่วป่า เก่าชำรุดทรุดโทรมหมดแล้ว ทางข้างซ้ายถนนที่ดิน ยังเป็นที่ลุ่ม และเห็นได้ว่าเป็นลำน้ำเก่า มีหม้อเรือไฟของพระยาตะกั่วป่าทิ้งอยู่หม้อหนึ่ง ซึ่งเป็นพยาน ปรากฏอยู่ว่า แม่น้ำได้เคยขึ้นมาถึงตรงนั้น ทำให้เห็นได้ชัด การที่ทำลายเขาทำเหมืองแร่ขุดดีบุก เป็นอันตรายแก่ลำน้ำมาก    
พ้นบ้านพระยาตะกั่วป่าไปถึงตลาด มีตึกแถวอย่างจีนอยู่สอง ข้างถนน.. ที่ตลาดใหญ่นี้รู้สึกว่าเป็นเมืองมากกว่าเมืองใหม่ ซึ่งได้ขึ้นไปดูเมื่อคืน ที่นี่ตึกกว้านบ้านช่องมีมากกว่า ผู้คนก็ดูแน่นหนา ที่เมืองใหม่นั้นช่างสมชื่อเมืองตะกั่วป่าจริง ๆ คือมีตะกั่ว (ดีบุก) ทั่วไปทั้งเกาะ และสวนป่าก็เห็นอยู่มากกว่าบ้าน เมื่อคืนนี้เวลาประทับอยู่ที่จวนผู้ว่าราชการได้ยินเสียงกวางร้องอยู่ในป่า ได้ยินถนัดทีเดียว จนเข้าใจได้ว่าป่าอยู่ใกล้มาก สมควรแล้วที่จะเรียกว่า เมืองตะกั่วป่า ฯลฯ


กระทู้: อ่านหนังสือ....เพิ่มความรู้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ย. 13, 10:17
วันที่ 22 เมษายน ร.ศ. 128 สิ่งสำคัญที่เสด็จไปทอดพระเนตรในวันนี้ คือ พระนารายณ์เทวรูป ซึ่งตั้งอยู่บนพลับพลาประทับร้อน เทวรูปพระนารายณ์ตั้งอยู่กลาง ข้างขวามือมีรูปเทพธิดานั่ง ซึ่งบางทีจะเป็นพระลักษมี ข้างซ้ายมีอีกรูปหนึ่งแปลไม่ออกว่าเป็นรูปพระเจ้าองค์ใด เทวรูปทั้งสามนี้ทำจากศิลา สลักข้างทรงดูเป็นอย่างแบบอินเดียแท้ จึงเข้าใจว่าเป็นนายช่างฝ่ายมัชฌิมประเทศเป็น ผู้ทำ ฯลฯ

วันที่ 23 เมษายน ร.ศ.128 เสวยแล้วเสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรพระนารายณ์เทวรูปบนยอดเขาพระเหนอ เทวรูปองค์นี้ทำด้วยศิลาทราย บัดนี้หักเสียเป็น 2 ท่อน หักเฉพาะที่เอว ถ้าไม่หักคงจะสูงราว 5 ศอก เครื่องสนิมพิมพาภรณ์ไม่วิจิตรเหมือนองค์ที่เขาเวียง แต่ฝีมือทำกล้ามเนื้อดี เหมือนคน  จากคลองเหนอได้ทรงเรือเสด็จไปทอดพระเนตรทุ่งตึก ซึ่งอยู่ในเกาะคอเขา ตรงกันข้ามกับที่ตั้งเมืองใหม่ ที่นี่ไม่มีอะไรดูนอกจากเนินดิน ขุดลงไปพบอิฐแผ่นใหญ่ ๆ ชนิดเดียวกันที่เห็นบนยอดเขาพระเหนอฯลฯ

วันที่ 24 เมษายน ณ.ศ.128 พระราชนิพนธ์ในวันนี้เล่าถึงบรรยากาศภายในเรือ และการเดินทางออกจากตะกั่วป่า ไปยังเมืองถลาง (ภูเก็ต)


กระทู้: อ่านหนังสือ....เพิ่มความรู้
เริ่มกระทู้โดย: saimai ที่ 12 พ.ย. 13, 20:26
มาแล้วค่ะ ช่วงหนึ่งของบันทึกที่อยากให้ทุกท่านได้อ่านกัน  ;D


กระทู้: อ่านหนังสือ....เพิ่มความรู้
เริ่มกระทู้โดย: saimai ที่ 12 พ.ย. 13, 20:28
หน้าต่อไปค่ะ


กระทู้: อ่านหนังสือ....เพิ่มความรู้
เริ่มกระทู้โดย: saimai ที่ 12 พ.ย. 13, 20:31
มาต่อกันเลยค่ะ


กระทู้: อ่านหนังสือ....เพิ่มความรู้
เริ่มกระทู้โดย: saimai ที่ 12 พ.ย. 13, 20:33
ต่อค่ะ


กระทู้: อ่านหนังสือ....เพิ่มความรู้
เริ่มกระทู้โดย: saimai ที่ 12 พ.ย. 13, 20:35
หน้าต่อไปเลยค่ะ


กระทู้: อ่านหนังสือ....เพิ่มความรู้
เริ่มกระทู้โดย: saimai ที่ 12 พ.ย. 13, 20:35
มาต่อกันค่ะ


กระทู้: อ่านหนังสือ....เพิ่มความรู้
เริ่มกระทู้โดย: saimai ที่ 12 พ.ย. 13, 20:36
ต่อค่ะ


กระทู้: อ่านหนังสือ....เพิ่มความรู้
เริ่มกระทู้โดย: saimai ที่ 12 พ.ย. 13, 20:37
หน้าสุดท้ายแล้วค่ะ


กระทู้: อ่านหนังสือ....เพิ่มความรู้
เริ่มกระทู้โดย: saimai ที่ 12 พ.ย. 13, 20:44
อ่านจบแล้ว ก็คิดถึงสถานการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมา และจนถึงขณะนี้ การปกครองไม่ว่าแบบใดก็ล้วนแต่มีปัญหาได้ จนบางครั้งดิฉันยังอดคิดไปไม่ได้ว่า การปกครองไม่มีทางสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี หากไม่มีศีลธรรม ศาสนามากำกับ บางทีเพียงรักษาศีลห้าไว้ให้ดีแล้ว ไม่ต้องมีกฎหมายเลยก็ยังได้  :)


กระทู้: อ่านหนังสือ....เพิ่มความรู้
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 พ.ย. 13, 21:11
ถ่ายทอดมาเพื่อให้อ่านได้ง่ายขึ้น

หน้า ๔๘ และ ๔๙

เรื่องราวของผู้อื่นก็จะเห็นขันอยู่บ้าง คือจะเห็นว่าขันคนยังมีความคิดฤศยาหยุมหยิมอยู่ฉะนี้ฤาจะเปนผู้ที่จัดการปกครองชาติบ้านเมืองอย่างริปับลิคได้ อย่าว่าแต่ริปับลิคเลย ถึงแม้จะปกครองลักษณะเจ้าแผ่นดินมีคอนสติตูชั่นก็ไม่น่าจะทำไปได้ ยังไม่รู้จักเอาความรักชาติเข้าข่มความฤศยาในใจตนเองแล้ว จะทำการให้เปนประโยชน์แก่ชาติฝ่ายเดียวอย่างไร

ถ้ามีผู้ต้องการ “คอนสติตูชั่น” จริง ๆ และเปนไปได้จริง จะเปนคุณอย่างใดฤๅไม่ แต่ถ้าแม้ต่างว่ามีคนอยู่จำพวก ๑ ซึ่งตั้งใจดีจริง มีความมุ่งดีต่อชาติจริง จะมาร้องฎีกาขึ้นโดยตรง ๆ ขอให้มีคอนสติตูชั่น เราเองจะไม่มีความแค้นเคืองเลย ตรงกันข้าม เราจะยอมพิจารณาดูว่า จะสมควรยอมตามคำขอร้องของคนนั้นฤๅไม่ ถ้ามีคอนสติตูชั่นได้จะยิ่งดี เพราะเรารู้สึกอยู่แล้วเหมือนกัน ว่าการปกครองที่มอบไว้ในมือเจ้าแผ่นดินคนเดียวผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดนั้น ดูเปนการเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรมอยู่ ถ้าเจ้าแผ่นดินเปนผู้ที่มีสติปัญญาสามารถและมีความตั้งใจมั่นอยู่ว่า จะทำการให้บังเกิดผลอันดีที่สุดแก่ชาติบ้านเมืองฉะนี้แล้วก็จะเปนการดีที่สุด จะหาลักษณปกครองอย่างใดมาเปรียบปานได้ โดยยาก แต่ถ้าแม้เจ้าแผ่นดินเปนผู้โฉดเขลาเบาปัญญา ขาดความสามารถ ขาดความพยายาม เพลิดเพลินไปแต่ในความศุขส่วนตัว ไม่เอาใจใส่ในน่าที่ของตน ฉะนี้ก็ดีฤาเปนผู้ที่มีน้ำใจพาลสันดานหยาบดุร้ายและไม่ตั้งอยู่ในราชธรรม เห็นแก่พวกพ้องและบริวารอันสอพลอและประจบฉะนี้ก็ดี ประชาชนก็อาจจะได้รับความเดือดร้อน ปราศจากความศุข ไม่มีโอกาสที่จะเจริญได้ ดังนี้จึงเห็นได้ว่าเปนการเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรมอยู่

แสดงคุณแห่งลักษณปกครอง โดยมี “คอนสติตูชั่น” ส่วนการมีคอนสติตูชั่นนั้น เปนอันตัดความไม่แน่นอนไปได้มาก เพราะอำนาจไม่ได้อยู่ในมือคน ๆ เดียว ซึ่งถึงแม้ว่าจะดีฤๅชั่วปานใดก็เปลี่ยนไม่ได้ ประชาชนได้เสียงในการปกครองชาติบ้านเมืองของตนเองเสนาบดีผู้รับตำแหน่งน่าที่ปกครองก็รับผิดชอบต่อประชาชน จำเป็นต้องทำการให้เปนไปอย่างดีที่สุดที่จะเป็นไปได้ เพราะถ้าแม้ว่าทำการในน่าที่บกพร่อง ประชาชนไม่เปนที่ไว้วางใจต่อไป ก็อาจจะร้องขึ้นด้วยกัน

หน้า ๕๐ และ ๕๑

มาก ๆ จนเสนาบดีต้องลาออกจากตำแหน่ง คนที่ประชาชนไว้วางใจก็จะได้มีโอกาศเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ ทำการงานให้ดำเนินไปโดยทางอันสมควรและถูกต้องตามประสงค์แห่งประชาชน เช่นนี้เปนการสมควรอย่างยิ่ง และถ้าแม้จะกล่าวไปแต่โดยทางว่าเปนแบบแผนดีฤๅไม่คงไม่มีใครเถียงเลย คงต้องยอมรับว่าดีทั้งนั้น แต่แบบอย่างใดๆ ถึงแม้ว่าจะดีที่สุดเมื่อเขียนอยู่ในกระดาษ เมื่อใช้จริงเข้าแล้วบางทีก็มีที่เสียหายปรากฏขึ้น ดังปรากฏอยู่แก่ผู้ที่ได้ศึกษาและรู้เหตุการณ์ที่เปนไปในนานาประเทศ เพราะเหตุหลายประการ จะยกมาว่าแต่พอเปนสังเขปก็มีอยู่คือ แสดงโทษอันอาจจะมีได้ แม้เมื่อใช้ลักษณปกครองมี “คอนสติตูชั่น”

๑. ประชาชนยังไม่มีความรู้พอที่จะทำการปกครองตนเองได้ เพราะฉนั้นอาจที่จะใช้อำนาจอันอยู่ในมือตนในหนทางที่ผิดวิปลาศ บางที่สิ่งซึ่งต้องการให้มีขึ้นฤาให้เป็นไปจะไม่เปนสิ่งซึ่งมานำประโยชน์มาสู่ชาติ ฤๅกลับจะให้โทษ แต่ประชาชนมีความเห็นพร้อม ๆ กันมาก ก็ต้องเปนไปตามความเห็นของพวกมาก ต่อเมื่อกระทำไปแล้ว จึงแลเห็นว่าให้ผลร้ายเพียงใด จะยกอุทาหรณได้อย่าง ๑ คือต่างว่ามีสาเหตุเกิดวิวาทบาดหมางกันกับชาติอีกชาติ ๑ ซึ่งถ้าแม้ทำความเข้าใจกันเสียแล้วก็อาจจะเปนที่เรียบร้อยไปได้ แต่ประชาชนพากันเห็นไปว่า ถ้าแม้ยอมผ่อนผันให้จะเปนการเสียเกียรติยศเสียรัศมีของชาติก็อาจจะพากันร้องเซ็งแซ่ให้ทำสงครามได้ การทำสงครามนั้นในขณที่กำลังรบพุ่งกันอยู่ไม่สู้จะกระไรนัก เพราะใจประชาชนกำลังฮึกเหิม คิดแต่ถึงส่วนการต่อสู้และหวังเอาไชยแก่สัตรูเท่านั้น ต่อเมื่อสงบศึกแล้ว จึ่งจะรู้สึกโทษแห่งการสงคราม คือการทำมาหาเลี้ยงชีพจะผิดเคือง การค้าขายซึ่งต้องงดไว้ในระหว่างสงครามนั้น มาจับลงมือทำขึ้นอีกก็ย่อมจะไม่สะดวกเหมือนแต่ก่อน เปรียบเหมือนเครื่องกลไกอันจักรและใยเลื่อนที่เสียหมดแล้ว กว่าจะแก้ไขให้เดินดีและเรียบร้อยอย่างเดิมก็เปนการยากนัก ทั้งการปกครองท้องที่ก็ต้องจัดการเอาลงระเบียบอีก เมื่อแลเห็นผลแห่งการสงครามฉะนี้แล้วประชาชนจึ่งรู้สึกตัว ถ้ายิ่งในกาลสงครามนั้นได้พายแพ้แก่สัตรูภายนอกด้วย ความลำบากยากเข็ญต่างๆอันจะมีมาเปนเครื่องตามหลังก็จะยิ่งมากขึ้นเปนทวีคูณเปนแน่แท้ ที่กล่าวมาแล้วนี้เปนโทษแห่งการที่ประชาชนอันไม่รู้จักใช้อำนาจจะใช้เองในที่ผิด แต่ยังมีอยู่อีกประการ ๑ ซึ่งควรคำนึงและพิจารณาดูเหมือนกันคือ

๒. ประชาชนรู้สึกตนว่าไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะถืออำนาจและใช้อำนาจทุก ๆ คน จึ่งไว้ใจมอบอำนาจให้บุคคลบางคนถืออำนาจและใช้อำนาจนั้นแทน บุคคลเหล่านี้คือที่เลือกสรรให้เข้าไปนั่งในรัฐสภา (ปาร์ลิย์เมนต์) เปนผู้แทนประชาชน ผู้แทนเช่นนี้ ถ้าประชาชนรู้จักจริงว่าดีจริง ก็จะไม่มีอะไรเสียหายจะบังเกิดขึ้นได้เลย แต่ความจริงหาเปนเช่นนั้นไม่ ตามความจริงนั้นประชาชนโดยมากก็มีกิจธุระทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยกันทุกคน จะมัวสละเวลาเพื่อกระทำความวิสสาสะกับผู้ที่เปนผู้แทนตนในรัฐสภาก็ไม่ได้อยู่เอง เพราะฉะนั้นแบบธรรมเนียมจึ่งมีอยู่ว่า เมื่อถึงเวลาจะต้องเลือกผู้แทนเข้านั่งในรัฐสภา ก็มีคน



กระทู้: อ่านหนังสือ....เพิ่มความรู้
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 พ.ย. 13, 21:23
หน้า ๕๒ และ ๕๓

๒ คน ฤๅ ๓  คน มายืนขึ้นให้เลือก ว่าจะชอบคนไหนใน ๒ ฤๅ ๓ คนนั้น เมื่อชอบคนไหนก็เลือกคนนั้นโดยต่างคนต่างให้คะแนนของตน ใครได้คะแนนมากก็ได้เข้าไปนั่งในรัฐสภาดังนี้

แต่ถ้ามีผู้ที่มารับเลือกแต่คนเดียว ก็นับว่าไม่เป็นปัญหา ประชาชนไม่ต้องลงคะแนน คน ๆ นั้น เปนอันได้เข้านั่งในรัฐสภาทีเดียว

ส่วนการที่จะจัดให้มีคนมารับเลือกนั้น ตามคอนสติตูชั่นว่า ให้มีผู้ใดผู้หนึ่งในเขตร์นั้น ๆ เปนผู้นำขึ้นว่าผู้ใดควรได้รับเลือก ถ้าไม่มีผู้อื่นนำเสนอนามใครขึ้นอีกคน ๑ แล้ว คนที่ ๑ ก็เปนคนได้เข้ารัฐสภาอยู่เอง แต่ถ้ามีผู้เสนอนามบุคคลใดขึ้นอีกคน ๑ จึ่งต้องนัดวันให้ประชาชนในเขตร์นั้นลงคะแนนในระหว่าง คน ๒ คน ที่ได้มีผู้เสนอนามขึ้น

ดูเผิน ๆ เพียงนี้ก็ยังดีอยู่ แต่ตามความจริงนั้น ไม่ใช่ว่าใคร ๆ สักแต่เปนมนุษแล้วก็จะมีโอกาศได้รับเลือกได้ ผู้ที่หยิบยกตัวบุคคลมาให้ราษฎรเลือกนั้น คือคณะฤาปาร์ตีซึ่งมีแบ่งกันอยู่ ตั้งแต่ ๒ ขึ้นไป

การที่ต้องมีปาร์ตีนั้น เพราะถ้าแม้ผู้ที่เข้าไปนั่งประชุมในรัฐสภา ต่างคนต่างพูดไปแสดงความเห็นไปตามอัตโนมัตของตน ๆ ทุกคน ก็คงจะไม่มีความตกลงกันได้ในเรื่องใดเลยสักเรื่องเดียว จึ่งต้องเกิดใช้วิธีจัดรวมเปนคณะ คือผู้ที่มีความเห็นพ้องกันในปัญหาสำคัญๆ รวมกันเข้าเปนคณะฤาปาร์ตี เพื่อจะได้ช่วยกันความเห็นเหมือน ๆ กัน มาก ๆ ในเมื่อเข้าที่ประชุมรัฐสภา ดังนี้เปนที่ตั้ง

ครั้นเมื่อเวลาจะมีการเลือกสมาชิกเข้ามาใหม่ ต่างคณะก็ย่อมจะต้องมีความประสงค์ที่จะให้ผู้มีความเห็นพ้องกับคณะตนได้รับเลือก ต่างคณะจึ่งต่างจัดหาบุคคลอันพึงประสงค์ไปให้รับเลือก และต่างคณะจึ่งต่างคิดดำเนินการให้คนของตนได้รับเลือก

วิธีดำเนินอันถูกต้องตามกฎหมายนั้น คือแต่งสมาชิกแห่งคณะไปเที่ยวพูดจาเกลี้ยกล่อมราษฎรให้แลเห็นผลอันดีที่จะพึงมีมา โดยทางที่ให้คณะได้มีโอกาศทำการโดยสดวก

เมื่อกล่าวมาถึงแค่นี้แล้ว ก็ยังไม่มีสิ่งไรที่นับว่าเสียหายอันจะบังเกิดมีมาได้จากการใช้วิธีเช่นนี้ และถ้าความจริงเปนไปแต่เพียงเท่านี้ก็เปนอันไม่มีที่ติ แต่ความจริงมิได้หมดอยู่เพียงแค่นี้ คือการเกลี้ยกล่อมมิได้ใช้แต่เฉพาะทางเที่ยวพูดจา ไม่ได้ใช่ฬ่อใจราษฎร แต่ด้วยถ้อยคำเท่านั้นยังมีฬ่อใจโดยทางอื่น ๆ อีก ตั้งแต่ทางเลี้ยงดู จัดยานพาหนะให้ไปมาโดยสดวกและไม่ต้องเสียทุนทรัพย์ จนถึงติดสินบนตรง ๆ เปนที่สุด คณะใดมีทุนมากจึ่งได้เปรียบมากอยู่

ก็ตกลงรวบรวมใจความว่า ราษฎรไม่ได้เลือกผู้แทนของตน เพราะรู้แน่ว่าเปนคนดี สมควรจะเปนผู้แทนตนด้วยประการทั้งปวงฉะนี้เลย ตามจริงเลือกบุคคลผู้นั้นผู้นี้เพราะมีผู้บอกให้เลือกฤๅติดสินบนให้เลือกเท่านั้น เมื่อเปนเช่นนี้แล้ว ก็นับว่าผิดความมุ่งหมายเดิมของคอนสติตูชั่นแล้ว คือ อำนาจไม่ได้อยู่ประชาชนจริง ๆ แต่ไปอยู่ในมือแห่ง คนส่วน ๑ ซึ่งเปนส่วนน้อยแห่งชาติเท่านั้น

แต่ถ้าคนเหล่านี้มีความตั้งใจดีอยู่และเปนผู้ที่มีความรักชาติบ้านเมืองของตน ก็คงจะอุส่าห์พยายามกระทำการงานไปตามน่าที่อันได้รับมอบไว้นั้นโดยสุจริต แต่ผู้ที่มีความคิดซื่อตรงต่อชาติฝ่ายเดียว ไม่คิดถึงตนเองฤๅเข้าใจว่าถึงจะมีก็จะไม่มากปานใด คนโดยมากถึงว่าจะรักชาติบ้านเมืองก็มักจะมีความคิดถึงประโยชน์ส่วนตัวเจือปนอยู่เปนอันมาก คงยังมี

หน้า ๕๔ และ ๕๕

ความต้องการอำนาจและต้องการผลอันจะพึงมีมาแต่การเปนผู้มีอำนาจต้องการโอกาศที่จะได้อนุเคราะห์แก่ญาติพี่น้องฤาคนชอบพอกันบ้านเปนธรรมดาอยู่ ความประสงค์อันนี้ทำให้เกิดมีผลอัน ๑ ซึ่งเชื่อว่าผู้ที่ริเริ่มคิดวิธีปกครองด้วย “คอนสติตูชั่น” มิได้ตั้งใจไว้ว่าจะให้มีคือ

๓. เกิดมีคนขึ้นจำพวก ๑ ซึ่งเอาการบ้านเมือง (ปอลิติค) เปนทางหาชื่อเสียง เอาเปนงานประจำสำหรับทำ เอาเปนทางเลี้ยงชีพทีเดียว ที่มีบุคคลทำเช่นนี้ได้ถนัดนักก็เพราะเหตุผลอันได้กล่าวมาแล้วในข้อ ๒ คือโดยเหตุที่ประชาชนโดยมากมีธุระและกิจการประจำต้องกระทำอยู่ ไม่มีเวลาพอที่จะดูแลฤๅดำริห์ในทาง “ปอลิติค” นั้น นึกแทนพูดแทนไป

การที่มีบุคคลจำพวก ๑ ซึ่งทำการคิดการทาง“ปอลิติค” ขึ้นนี้ ถ้าจะว่าไปตามตำราก็ต้องว่าไม่สมควร เพราะตำราว่าการบ้านเมืองให้เปนไปตามแต่ประชาชนจะเห็นชอบพร้อมกันต่างหาก การที่มีบุคคลจำพวก ๑ ซึ่งหาชื่อทาง “ปอลิติค” มาเปนผู้คิดแทนดังนี้ก็กลายเปนอำนาจอยู่ในมือคนจำพวกนี้โดยเฉพาะ จำพวกอื่นถึงจะต้องการอะไร ๆ ก็ไม่ได้สมประสงค์ นอกจากที่ความปรารถนาจะไปตรงเข้ากับพวกนักเลงปอลิติค

ถ้าจะเถียงว่าการที่เปนเช่นนี้มีทางแก้ได้ง่าย ๆ คือจัดหาคนที่ไม่ใช่พวก “ปอลิติเซียน” เข้าไปรับเลือกเสียงบ้างก็แล้วกันฉะนี้ไซร้ ก็ต้องตอบว่า ขอให้ดูความจริงว่าเปนไปได้ฤๅไม่ บุคคลที่เรียกตนว่า “อิศระ” (อินเดนเปนเดนต์) คือไม่ได้อยู่ในปาร์ตีใดปาร์ตี ๑ นั้น นาน ๆ จะหลุดเข้าไปนั่นเปนสมาชิกแห่งรัฐสภาได้สักคน ๑ ฤๅ ๒ คน แต่ถึงเข้าไปได้แล้วก็ไม่เข้าไปทำประโยชน์อะไร เพราะการงานใด ๆ ที่จะบรรลุถึงซึ่งความสำเร็จได้ก็โดยปรากฏว่าคนโดยมากเห็นชอบพร้อมกัน คือเมื่อตั้งเปนปัญหาขึ้นในที่ประชุมปาร์ลิยเมนต์แล้ว เมื่อถึงเวลาลงคะแนนกันก็ต้องเปนไปตามความเห็นของคะแนนตาม ๆ กัน สุดแต่หัวน่าแห่งคณะของตนจะบอกให้ลงคะแนนทางไหน ผู้ที่เรียกตนว่า “อิศระ”นั้น ไม่มีพวกพ้องที่จะนัดแนะกัน เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะมีความคิดความเห็นดีปานใดก็ตาม แต่ก็คงไม่สามารถจะบันดาลให้การเปนไปตามความคิดความเห็นของตนได้

เมื่อการเปนอยู่เช่นนี้แล้ว จะหาผู้ที่สมัคเข้าไปเปนสมาชิกอิศระเช่นนั้นก็ยาก ผู้ที่ประสงค์เข้าปาร์ลิยเมนต์โดยมากจึ่งมักแสดงตนว่าเปนผู้เห็นพ้องด้วยปาร์ตีใดปาร์ตี ๑ แล้วแต่จะเปนการสดวกและตรงความเห็นของตนในขณะนั้นลักษณะปกครองเช่นนี้จึ่งมีนามปรากฏว่า “ปาร์ตี สิสเต็ม” (ลักษณะปกครองด้วยคณะ) เรียกตามภาษาของเขาว่าเปน “รัฐบาล” (เคาเวอร์เมนต์) อีกคณะ ๑ เรียกว่าเปน “ผู้คัดค้าน” (ออปโปสิชั่น) คณะที่เปนรัฐบาลนั้นคือคณะที่มีพวกมากในที่ประชุมปาร์ลิยเมนต์

สามารถที่จะเชื่อใจได้อยู่ว่าการใด ๆ ที่จะคิดจัดขึ้น แม้ว่าจะเกิดเปนปัญหาขึ้นในที่ประชุมบ้าง ก็สามารถที่จะท้าให้ลงคะแนนกันได้ โดยไม่ต้องวิตกว่าจะต้องแพ้กันในทางจำนวนคะแนน พอเมื่อใดไม่มีความเชื่อได้แน่นอนในข้อนี้แล้ว ฤๅเมื่อท้าลงคะแนนกันแล้วแพ้ข้างฝ่ายผู้คัดค้าน ฝ่ายรัฐบาลก็ออกจากตำแหน่งผู้คัดค้าน



กระทู้: อ่านหนังสือ....เพิ่มความรู้
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 พ.ย. 13, 21:39
หน้า ๕๖ และ ๕๗

เข้ารับตำแหน่งแทนต่อไป กลับกันไปมาอยู่เช่นนี้

อีกประการ ๑ ในขณะเมื่อปาร์ตีใดได้รับน่าที่ปกครอง ฤๅพูดตามศัพท์อังกฤษว่า “ถืออำนาจ”(“อินเปาเวอร”) ปาร์ตีนั้นก็เลือกเอาแต่คนที่มีความเห็นพ้องกับตนไปตั้งแต่งไว้ในตำแหน่งที่น่าที่ต่าง ๆ ในรัฐบาล เปนทางรางวัลผู้ที่เปนพวกพ้องและที่ได้ช่วยเหลือปาร์ตีในเมื่อกำลังพยายามหาอำนาจอยู่นั้น พอเปลี่ยนปาร์ตีใหม่ได้เข้าถืออำนาจ เจ้าน่าที่ต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไปด้วยทั้งชุด ตั้งแต่ตัวเสนาบดีลงไป

การเปลี่ยนเจ้าน่าที่ทำการงานของรัฐบาลชุดเช่นนี้ถ้ายิ่งเปลี่ยนบ่อยเท่าใดก็ยิ่งชอกช้ำมากเท่านั้น การงานก็อาจที่จะเสียหายไปได้มาก ๆ เพราะบางที่คนพวก ๑ ได้เริ่มคิดไว้แล้ว แต่ยังมิทันจะได้กระทำไปให้สำเร็จก็มีคนอื่นเข้ามารับน่าที่เสียแล้ว งานการก็เท่ากับต้องเริ่มริไปใหม่

เขาแลเห็นกันอยู่เช่นนี้ทั่วกัน จึ่งต้องจัดให้มีคนจำพวก ๑ ซึ่งเรียกว่า “ข้าราชการประจำ” (“เปอรมะเนนต์ ออฟฟิเชียล”) ไว้ในกระทรวงและกรมต่างๆทุกแห่งเพื่อเปนผู้ดำเนินการงานของรัฐบาลไปตามระเบียบเรียบร้อย ซึ่งไม่ผิดอะไรกันกับวิธีจัดระเบียบราชการรัฐบาลแห่งเมืองอันพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจเต็มเปนผู้ปกครองนั้นเอง

เสนาบดีฤๅ พวกหัวน่ากรมกระทรวงที่ผลัดกันเข้าออกอยู่นั้น เปนแต่ผู้คิดทางการที่จะดำเนินต่อไปอย่างไร เมื่อคิดแล้วก็ต้องมอบให้พวกข้าราชการประจำเปนผู้ทำต่อไป จะทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น พวกข้าราชการประจำเหล่านี้คือผู้ที่ต้องเหน็จเหนื่อยจริง กรากกรำลำบากจริง นั่งออฟฟิซจริง ทำการงานของรัฐบาลจริง แต่พวกเหล่านี้ฤาได้รับบำเหน็จรางวัล ลาภยศฤๅถานันดรศักดิ์ หามิได้เลย ผู้ที่ได้รับบำเหน็จรางวัลคือผู้ที่มาขี่หลัง คือผู้ที่เข้ามาครอบ คือผู้ที่เปนพวกพ้องของหัวน่าปาร์ตีที่ถืออำนาจ

ถ้าแม้ว่าใคร ๆ ที่มีความรู้พอและพยายามพอที่จะอ่านหนังสือพิมพ์ต่างประเทศอยู่เนือง ๆ และหมั่นตรวจดูอยู่ว่าผู้ที่ได้รับบำเหน็จ มีเลื่อนยศ รับยศใหม่ รับตรา เปนต้นเหล่านี้ คือใครบ้าง แล้วและสืบสาวดูว่าบุคคลนั้น ๆ ได้กระทำความชอบแก่ชาติบ้านเมืองอย่างไร คงจะได้แลเห็นว่า ในจำพวกที่รับบำเหน็จนั้น มีผู้ที่ปรากฎว่าได้ทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองจริง ๆ เปนส่วนน้อย (และทหารบกทหารเรือนาน ๆ จะมีนามอยู่ในหมู่ผู้รับบำเหน็จสูง ๆ สักคราว ๑) โดยมากเป็นพวกมีทรัพย์เท่านั้น ซึ่งเห็นได้ว่าการมีทรัพย์นั้นแลเปนเครื่องที่จะบันดาลให้คนได้รับบำเหน็จดู ๆ ไปก็คล้าย ๆ ซื้อบำเหน็จกันได้

วิธีซื้อนั้น ไม่ใช่ซื้อกันตรง ๆ มักเปนไปทางอ้อม คือทางส่งเงินไปเข้าเรื่ยรายในเงินกองกลางของปาร์ตี ปาร์ตีใช้เงินกองกลางนี้สำหรับใช้จ่ายในเมื่อจัดให้คนพวกของตนไปรับเลือกเปนเมมเบอร์ปาร์ลิยเมนต์ นับว่าเปนอันได้ช่วยโดยทางอ้อมเพื่อให้ปาร์ตีได้ถืออำนาจ ยกเอาว่าเปนความชอบแก่รัฐบาล จึ่งให้บำเหน็จเพื่อแสดงความพอใจของปาร์ตี

เมื่อเปนเช่นนี้แล้ว ก็ไม่ผิดอะไรกันกับเจ้าแผ่นดินบำเหน็จรางวัลแต่พวกพ้องของตนเองที่ประจบประแจงบำเหน็จรางวัลก็คงเปนอันไปได้แก่คนหัวประจบอีก ไม่ใช่ได้แก่ผู้ที่ทำการงานจริง ๆ

คราวนี้ก็จะต้องแก้ขึ้นว่า ถึงแม้จะเปนไปได้เช่นนั้นก็ตาม แต่ถ้าเมื่อใดปรากฏขึ้นว่าคณะซึ่งเปนรัฐบาลมีความลำเอียงฤาประพฤติไม่เปนยุติธรรม ราษฎรก็อาจจะ

หน้า ๕๘ และ ๕๙

ร้องขึ้นได้ และอาจที่จะร้องให้คณะนั้นออกจากน่าที่รัฐบาลเสียได้เพราะฉนั้น คณะที่เปนรัฐบาลจำจะต้องระวังอยู่

ข้อนี้จริงและถูกต้องทุกประการตามตำรา แต่ตามความจริงนั้นเปนอยู่อย่างไร? ประชาชนจะร้องทักท้วงขึ้นได้ก็โดยอาไศรยปากแห่งผู้แทนซึ่งได้เลือกให้เข้าไปเปนสมาชิกแห่งรัฐสภาอยู่แล้ว ก็ในที่ประชุมปาร์ลิยเมนต์นั้น แล้วแต่คะแนนมากและน้อยมิใช่ฤๅ พวกรัฐบาลเขามีอยู่มาก ถึงใคร ๆ จะร้อง จะว่าเขาอย่างไร ๆ เมื่อท้าลงคะแนนกันเข้าเมื่อใดก็ต้องแพ้เขาเมื่อนั้น

อีกประการ ๑ การให้บำเหน็จรางวัลผู้ที่ให้เงิน “ลงขัน” กองกลางของปาร์ตีนั้น มิใช่ว่าจะกระทำอยู้แต่เฉภาะปาร์ตีเดียว ย่อมจะกระทำอยู่ด้วยกันทุกปาร์ตี เพราะฉะนั้นปาร์ตีใดจะร้องติเตียนอีกปาร์ตี ๑ ก็ไม่ใคร่ถนัดเปนเรื่อง “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่” อยู่ฉะนี้ จึ่งเปนการยากที่จะแก้ไขให้หายไปได้ ข้อที่แสดงมาแล้วนี้ ก็นับว่าร้ายอยู่แล้ว แต่ยังมีต่อไปอีกขั้น ๑ คือ

๔. คณะฤๅปาร์ตีทั้ง ๒ ฝ่ายต่างตกลงกันเสียว่าจะผลัดเปลี่ยนกันเข้าเปนรัฐบาลผลัดเปลี่ยนกันมีโอกาศได้อุดหนุนพวกพ้องของตน เมื่อได้ตกลงกันเช่นนี้แล้วเมื่อใด ก็แปลว่าถึงที่สุดแห่งความเลวทราม เพราะเปนอันหมดทางที่จะแก้ไขได้ ในระหว่างที่ปาร์ตี “ก” เปนรัฐบาล ก็อุดหนุนพวกพ้องของตนเสียเต็มที่ ฝ่ายปาร์ตี “ข” ก็ไม่คัดค้านจริงจังอันใด จะคัดค้านบ้างก็แค่พอเปนกิริยา เพราะนึกอยู่ว่าไม่ช้าก็จะถึงคราวฝ่ายตนได้เข้าไปนั่งกินบ้าง

ความเสียหายอันนี้มีอยู่แก่ปาร์ลิยเมนต์แทบทุกเมือง แม้แต่ที่เมืองอังกฤษซึ่งนิยมกันว่าเปนประเทศซึ่งมีปาร์ลิยเมนต์อันดีที่สุด ก็ยังมีคนอังกฤษเองร้องติอยู่ว่า ในเรื่อง “ขายบำเหน็จ” นั้น ถึงแม้ใคร ๆ จะร้องขึ้นในปาร์ลิยเมนต์ก็ไม่เปนผลอันใด เพราะทั้งคณะลิเบรัลและคอนเชอร์วะติฟพากันตัดรอนปัญหาเสีย มิได้ทันต้องได้ปฤกษากัน ฤๅลงคะแนนกันเลย ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินนั้น ถึงแม้ว่าทรงจะทราบเรื่องนี้ ก็ไม่มีอำนาจจะทรงแก้ไขอย่างใดได้ การที่จะประทานบำเหน็จรางวัลแก่ผู้ใด ก็ต้องเปนไปตามความแนะนำของเสนาบดีเปนพื้น จะมีที่เลือกประทานเองได้บ้างก็แต่พวกข้าราชการในราชสำนักนี้เท่านั้น ก็เมื่อในประเทศอังกฤษเปนเช่นนี้ได้แล้ว ในประเทศอื่นจะเปนอย่างไร

การมีปาร์ลิยเมนต์ ฤๅเปนริปับลิคไม่ตัดการฉ้อโกงฤๅการไม่สม่ำเสมอให้หมดได้ แต่ว่า-ข้อความที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ก็เปนแต่หัวข้อบางข้อ ซึ่งตามความเห็นของเราเหนว่าเปนสำคัญ และโทษทั้งปวงที่ได้แสดงมาแล้วนั้น อาจจะมีได้ไม่เฉภาะแต่ที่ในประเทศซึ่งใช้ลักษณปกครองเปน “รีปับลิค” ก็มีได้เหมือนกัน การมีปาร์ลิยเมนต์ก็ดี ฤๅ ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนลักษณปกครองเปนริปับลิคไปที่เดียวก็ดี ไม่ตัดการฉ้อโกงฤๅการไม่สม่ำเสมอให้หมดไปได้เลย

ถ้าผู้ถืออำนาจยังมีทางที่เลือกให้บำเหน็จรางวัลแก่ใคร ๆ ได้ตามใจอยู่ตราบใด คนสอพลอและหัวประจบก็คงยังต้องมีอยู่ตราบนั้น จะผิดกันก็แต่ชื่อที่เรียกผู้มีอำนาจเท่านั้น แต่ว่า-มันก็มีข้อที่ควรคำนึงต่อไปอยู่บ้าง และถึงแม้ว่าจะเปนข้อที่ไม่พึงใจก็จำจะต้องมองดูตรง ๆ คือ


กระทู้: อ่านหนังสือ....เพิ่มความรู้
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 พ.ย. 13, 21:48
หน้า ๖๐, ๖๑ และ ๖๒

“เสียงประชาคือเสียงเทวดา”

ความนิยมของคนโดยมากในสมัยนี้ทั่วไปมีอยู่ว่า การที่มอบอำนาจไว้ในมือบุคคลคนเดียว ให้เปนผู้จัดการปกครองชาติบ้านเมืองคนเดียวนั้น ต้องได้คนที่ ดีจริง เก่งจริง สามารถจริง จึ่งจะควรไว้ใจให้เปนผู้ครอบครองได้ โดยไม่ต้องเกรงว่าบุคคลผู้นั้นจะใช้อำนาจในที่ผิดและไม่เปนประโยชน์ฤๅความศุขแห่งประชาชน

แต่การที่จะหาคนเช่นนี้ก็มิใช่ง่าย และถ้าพระเจ้าแผ่นดินไม่เปนผู้ที่เหมาะแก่น่าที่แล้ว จะเปลี่ยนตัวก็ยาก นอกจากที่เจ้าแผ่นดินนั้นเองจะมีความรู้สึกว่าตนไม่มีความสามารถพอที่จะทำน่าที่ได้ และมีความรักชาติพอ มีใจเด็ดเดี่ยวพอที่จะสละอำนาจ สละลาภยศและราไชสวรรย์จึ่งหลีกไปเสีย เพื่อให้ผู้ที่ประชาชนนิยมมากกว่าได้มีโอกาศทำการเพื่อบังเกิดผลอันใหญ่ยิ่งขึ้นแก่ชาติบ้านเมือง

แต่เจ้าแผ่นดินที่จะรู้สึกตัวว่าตัวนั้นไม่สามารถก็หายาก และถึงแม้ว่าจะมีบ้าง การที่จะออกจากน่าที่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไปได้โดยง่าย อาจจะมีเครื่องขัดขวางอยู่หลายประการ

เมื่อเปนเช่นนี้แล้ว มหาชนจึ่งได้พากันค้นหาทางแก้ไขความไม่แน่นอนแห่งลักษณปกครองโดยมีเจ้าแผ่นดินถืออำนาจสิทธิ์ขาดนั้นโดยวิธีใดวิธี ๑ บางเมืองก็แก้ไปทางมี “คอนสติตูชั่น” ขึ้น และตัดอำนาจพระเจ้าแผ่นดินเสียทั้งหมด คงเหลือให้ไว้แต่อำนาจที่จะห้ามกฎหมาย (วีโต้) บางครั้งบางคราว กับการทำสงครามและเลิกสงคราม แต่ถึงแม้อำนาจทั้ง ๓ นี้ ก็ไม่ได้ใช้โดยลำพังคงต้องใช้ได้ด้วยความแนะนำของคณะเสนาบดีโดยมาก

แต่ถึงแม้ตัดอำนาจเจ้าแผ่นดินลงไปปานนี้แล้ว บางชาติก็เหนไม่พอ จึ่งเลยเปลี่ยนเปนริปับลิคไปอีกชั้น ๑ จึ่งเห็นได้ว่าความนิยมของมหาชนเวลานี้เดินไปหาทางประชาธิปตัย คือทางให้อำนาจอยู่ในมือของประชาชนเอง ต้องการที่จะมีเสียงฤๅมีส่วนในการปกครองชาติบ้านเมืองของตนเองให้มากที่สุดที่จะเปนไปได้ และเมื่อความเห็นของคนมาก ๆ ตรงกันเข้าแล้ว ก็ยากที่จะทัดทานฤาคัดค้านไว้ได้ คงจะต้องเปนไปตามความเห็นอันนั้นคราว ๑ จะผิดกันก็แต่เวลาจะช้าฤๅเร็วเท่านั้น

นักปราชญ์โรมันจึ่งได้แสดงเปนภาษิตไว้ว่า “Vox populi vox dei” แปลว่า “เสียงประชาคือเสียงเทวดา” ขยายความว่าเทวดาเปนผู้ที่นิยมกันว่ามีอานุภาพใหญ่สามารถจะบันดาลให้สิ่งทั้งปวงเปนไปตามปรารถนาทุกประการ อันประชาชนซึ่งมีความประสงค์ตรงกันอยู่แล้วโดยมาก และได้แสดงความประสงค์อันนั้นให้ปรากฏชัดแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดจะสามารถทัดทานได้ จึ่งนับว่ามีอานุภาพเปรียบด้วยเทวดาฉะนี้

เมื่อปรากฏอยู่เช่นนี้แล้ว ก็ไม่มีข้อควรสงไสยเลยว่า เมื่อไทยเรานี้คงจะต้องเปนไปอย่างประเทศอื่น ๆ ได้เปนมาแล้ว คงจะต้องมี “คอนสติตูชั่น” อัน ๑ เปนแน่แท้ ถึงแม้การมี “คอนสติตูชั่น” จะมีโทษเช่นที่กล่าวมาแล้วก็ตาม

แต่ลักษณะปกครองโดยมอบอำนาจไว้ในมือพระเจ้าแผ่นดินผู้เดียวก็มีโทษอยู่เหมือนกัน (ซึ่งในเวลาบัดนี้มีผู้แลเห็นและรู้สึกอยู่หลายคน) จึ่งตกอยู่ในปัญหาว่าจะเลือกเอาอย่างไหน และคำตอบปัญหาอันนี้ ก็มีอยู่ว่าแล้วแต่ประชาชนจะเห็นชอบและประสงค์ทั่วกันเถิด

ส่วนตัวเราเองนั้นย่อมรู้สึกอยู่ดีว่า การเปนเจ้าแผ่นดินมีความลำบากปานใด คับใจเพียงใด ที่ยังคงอุส่าห์ทำการไปโดยหวังใจให้บังเกิดผลอันดีที่สุดแก่ชาติบ้านเมืองของเราเท่านั้น การใด ๆ ที่เราจะทำไปให้บรรลุถึงซึ่งความสำเร็จได้ ก็ด้วยอาไศรยความพร้อมใจแห่งข้าราชการ อันเปนผู้รับน่าที่ทำการงานของรัฐบาล ตั้งแต่เสนาบดีลงไปจนถึงผู้มีตำแหน่งน่าที่น้อยๆ อาไศรยความไว้ใจแห่งท่านเหล่านี้อันอยู่ในตัวเรา ไว้ใจว่ามีความมุ่งดีและมีความ สามารถพอที่จะเปนหัวน่าเปนนายเหนือเขาทั้งหลายได้

ถ้าเมื่อได้ความไว้ใจอันนี้เสื่อมถอยลงไป ฤๅสิ้นไปแล้ว ตัวเราก็เท่ากับท่อนไม้อัน ๑ ซึ่งบุคคลได้ทำขึ้นไว้เปนเตว็ดตั้งไว้ในศาล จะมีผู้เคารพนับถือก็แต่ผู้ที่มีปัญญาถ่อย ปราศจากความคิดเท่านั้น.

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: อ่านหนังสือ....เพิ่มความรู้
เริ่มกระทู้โดย: saimai ที่ 12 พ.ย. 13, 22:44
ขอบคุณค่ะคุณเพ็ญชมพู  :D


กระทู้: อ่านหนังสือ....เพิ่มความรู้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 พ.ย. 13, 17:02
ขอบคุณค่ะคุณสายไหม
เป็นพระราชวิจารณ์ที่ใช้ได้ตลอดมา แม้แต่ในปี 2556  ก็ยังทันสมัยอยู่
เรามี "คอนสติตูชั่น" มาหลายฉบับแล้ว     ระบบรัฐสภาถูกต้องตามระเบียบแบบแผนเราก็มี    ข้าราชการประจำก็มี   ผู้แทนที่ได้รับเลือกตามระบบก็มี
แต่การเมืองก็ยังไม่เคยสงบเรียบร้อยเลยจนบัดนี้


กระทู้: อ่านหนังสือ....เพิ่มความรู้
เริ่มกระทู้โดย: saimai ที่ 23 พ.ย. 13, 19:30
เห็นด้วยค่ะคุณเทาชมพู ดิฉันคิดว่าพระราชวิจารณ์นี้ร่วมสมัยมาก ราวกับเขียนเมื่อไม่มานี้ ประเทศไทยคงใช้ "คอนสติตูชั่น"แบบชาติใดไม่ได้ เราคงต้องคิดแบบเฉพาะมาใช้เอง

ปัจจุบันนี้ยังอ่านเล่มนี้ไม่จบเลยค่ะ  ไปรับเป็นอาสาสมัครถอดเสียงธรรมะบรรยาย แล้วก็ไปเที่ยวอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยมา
ทำให้คิดถึงเหล่าคณะราษฎรเหลือเกิน..


กระทู้: อ่านหนังสือ....เพิ่มความรู้
เริ่มกระทู้โดย: nutty ที่ 18 ธ.ค. 13, 10:42
ขอบคุณนะคับคุณเพ็ญชมพู