เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 01 ธ.ค. 10, 12:29



กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ธ.ค. 10, 12:29
ขอมอบเรื่องที่น่าอ่านที่สุดเรื่องหนึ่งเป็นของขวัญต่อเรือนไทย



       ฉันเป็นเด็กหญิงชาววรจักรย่านใจกลางพระนคร    สมัยนั้นมีสภาพเป็นชานเมือง


       แม่ของฉันเป็นลูกขุนนาง  เมื่อเล็ก ๆหนีคุณตาไปอยู่ในรั้วในวังเป็นที่โปรดปรานของเจ้านาย 

ไม่ยอมไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนแหม่มโคล์ หรือโรงเรียนวังหลังเพราะเดิมตั้งอยู่ที่ตำบลวังหลังหรือที่โรงพยาบาลศิริราชเดี๋ยวนี้

     แม่ไปอยู่ในวังเมื่ออายุ ราว ๑๕  ในสมัยรัชกาลที่ ๕  นาน ๆ ได้กลับบ้านเสียที   พ่อมาพักอยู่กับอาผู้หญิงที่บ้านติดกัน

พ่อเล่าว่า  เมื่อมากรุงเทพใหม่ ๆ  แม่ยังไว้จุก    ฐานะของครอบครัวร่ำรวยกว่าพ่อมาก  จนพ่อไม่กล้าจะสนิทสนมด้วย

พ่อเป็นราชนิกูลก็จริง  แต่คุณย่าเป็นชาวต่างจังหวัดแท้


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ธ.ค. 10, 16:47

       คุณตาฉันต้องออกจากราชการเพราะท่านทำงานพลาดในบางอย่าง  และถือว่าเพื่อแสดง

ความจงรักภักดีควรลาออกเป็นตัวอย่างทั้ง ๆ ที่เจ้านายท่านก็ไม่ถือว่าเป็นผิด      ท่านได้อยู่กับบ้านทำการค้าส่วนตัว

พอท่านเสียภรรยาไป  ท่านก็ทุ่มเททุกอย่างมาที่ลูกคือแม่ของฉัน  ลุง และน้า ๆ       แต่ท่านก็ได้สิ่งที่ชดเชยคือคือ

น้าชายสอบทุนเล่าเรียนหลวงได้  ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติมากในเวลานั้น      น้าเดินทางไปศึกษาต่อที่อังกฤษราว ๗ - ๘

ปี   ลุงก็ได้ตำแหน่งดี  ลุงเป็นนายทหารจึงสนิทสนมกับพ่อ         ฉันเป็นลูกคนที่หนึ่งของพ่อ  หลานคนแรกของปู่ย่า

ตาและยาย  ลุงและน้าด้วย


       ฉันจำได้ว่า  เมื่อเล็ก ๆ พ่อแต่งตัวนายทหารไปทำงานทุกวัน      ฉันมองดูด้วยความสนใจในความผึ่งผายของนายทหารสมัยนั้น

แม่เป็นคนสวย  ผิวบางแบบชาววัง     สมัยนั้นตัดผมสั้นมีจอนทัดหูเหมือนที่นิยมกันเดี๋ยวนี้      การแต่งตัวของหญิงไทยขณะ

อยู่กับบ้านก็นุ่งผ้าลาย  ห่มผ้าแถบ   ฉันยังต้องช่วยจีบผ้าแถบเป็นกลีบแบบกระโปรงพลีทสมัยนี้  แต่การจับผ้าแถบนั้นใช้วิธีจีบด้วยมือ

เพราะผ้าแถบกว้างประมาณ ๑๖ - ๑๘ นิ้ว   ยาวสองหลา   เมือจีบแล้วหักกลางเป็นรูปพัดมัดให้แน่นแล้วนำไปใส่ในก้อปปี้

ซึ่งทำด้วยไม้สองแผ่นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตรงกลางเป็นรู  มีเหล็กเกลียวขันขึ้นลงได้เหมือนแม่แรงรถยนต์  เมื่อขันให้ไม้ทั้งสองห่างกัน

แล้วก็สอดผ้าที่พับแล้วเข้าไป  แล้วขันให้แน่น  ทิ้งไว้นานตามความต้องการที่จะให้เรียบหรือเป็นกลีบขนาดไหน   ผ้าที่จะเข้าอัดต้องพรม

น้ำให้ชื้นทั่วกันเสียก่อน  แล้วจึงนำเข้าก๊อปปี้  เมื่อได้ที่แล้วจะต้องนำมาผึ่งให้แห้งแล้วจับกลีบอีกครั้ง  นำไปอัดอีกครั้งที่ ๒

ผ้าแถบเหล่านี้มีสีต่าง ๆ กัน  โดยมากเป็นสีตามวัน  ถ้าสีซีดก็ย้อมกันเอง   ผ้านุ่งก็เหมือนกัน  ต้องลงแป้งแข็งแล้วพรมน้ำจนชื้น 

ปูลงบนเสื่อ  รีดให้เรียบแล้วพับเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าพอดีกับอัดก๊อปปี้แล้วอัดวิธีเดียวกัน   สมัยนั้นยังไม่มีเตารีด


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 01 ธ.ค. 10, 16:55
..


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ธ.ค. 10, 17:06
       บ้านฉันไม่ได้อยู่ริมถนนต้องเดินเข้าทางวัดจางวางดิษฐหรือวัดดิศานุการาม      บ้านเป็นแบบใต้ถุนสูง

นับว่าเป็นบ้านใหญ่พอดู    อยู่ระหว่างวัดจางวางดิษฐกับวัดจางวางพ่วง  มีคลองหน้าบ้านคั่นระหว่างวัดจางวางดิษฐกับ

บ้านฉัน       ตอนเด็กฉันชอบออกไปนั่งริมถนนดูรถราวิ่งผ่านไปมา  บางวันก็หอบข้าวมากินด้วย   ฉันชอบนั่งบนรถเจ๊กที่เขาจอดไว้

คุณตาฉันต้องพาออกมาเอง       ท่านตามใจฉันมาก  ฉันสนิทสนมกับคุณตามากกว่าพ่อของฉันเองเพราะพ่อต้องออกหัวเมืองปีละ ๙ เดือน

ฉันต้องกินข้าวกับคุณตาทุกวัน   ถ้ามิฉะนั้นก็จะออกมานั่งรถเจ๊กกินข้าวที่นั่น  รถที่จอดริมถนนนั้นเป็นของคุณตา  ตอนเย็นเขาจะนำรถมาส่ง

และหลังจากทำความสะอาดแล้วก็เก็บเข้าโรง          ถนนเป็นหินโรยบนลูกรัง  ต้องรดน้ำบ่อย ๆ   คนรดน้ำจะหาบน้ำที่บรรจุอยู่ในอยู่

ในถังไม้  มีพวยยาว  ปากพวยมีเหล็กทาบแบนเปิดช่องเล็ก ๆยาวไว้   พอหาบมาถึงที่ที่ต้องการจะรดก็เอียงถังทั่งสองข้างให้ออกตามพวยฉีดไปเป็นฝอยตามถนน



กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ธ.ค. 10, 17:18

โอ   ขอบคุณค่ะคุณ:D :D

     สหายเจ้าของร้านหนังสือเก่ามีแท่งไม้ปนเหล็กมหึมาวางไว้ที่มุมห้อง   เป็นแท่นอัดหนังสือที่ซ่อมแล้ว

อยากได้ของเขาอยู่เหมือนกัน  เพราะมีหนังสือต้องซ่อมมากมาย  ยังประมาณตนอยู่จึงไม่ได้ขอบริจาคมา

หนังสือโบราณหายากนั้น  เราจะไม่เปลี่ยนสภาพหนังสือเลย        หนังสือบางชุดขนาดของเล่มหนาบาง

ไม่เท่ากัน  เจ้าของนักสะสมมีมีแต่เงินก็สั่งทำปกหนังเดินทองใหม่  แต่หนุนขนาดให้หนาเท่ากันเสียจะได้ดูดี

ในตู้โชว์  ราคาปกกระดาษจากร้านโบราณประมาณ ๖๐๐ บาทค่ะ


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ธ.ค. 10, 07:56

       ก๊อกประปาสาธารณะรูปทรงคล้ายตู้ไปรษณีย์  สีเขียวมีพวยยื่นออกมา

มีที่เปิดเป็นเดือยข้างบนเมื่อชักขึ้น  นำ้จะไหลทางก๊อกซึ่งเป็นพวย   ในตอนเย็นจะมีผู้คอยรองน้ำกันเป็นแถว

มีปี๊บน้ำมันก๊าดซึ่งเปิดฝา  มีไม้คานกลาง  วางเรียงมากมาย  เมื่อได้น้ำ ๒ ปี๊บก็หาบกลับบ้าน   บางคนก็ใช้ถัง

ที่แย่งรองน้ำกันจนทะเลาะทุ่มเถียงก็มี   ตอนค่ำเดือนมืดมีคนมาอาบน้ำที่นั้นเลยก็มี


       ถนนวรจักรสมัยนั้นนับว่าเป็นถนนสายใหญ่มาก   มีรถรางสายแดงผ่าน  รถรางมีสองสายคือสีแดงกับสีเหลือง

รถสีแดงสายรอบเมืองที่ผ่านวรจักรไม่มีรถพ่วง  ถ้าสายหัวลำโพง - บางลำภูมีรถพ่วงด้วย เห็นจะเป็นเพราะมีผู้โดยสารมาก

และเป็นระยะสั้นด้วย         ค่าโดยสารชั้นหนึ่ง ๑๐ สตางค์  ชั้นสอง ๖ สตางค์


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ธ.ค. 10, 08:10

       คุณตาเป็นนายช่าง  รูปบ้านจึงออกมาสมัยใหม่กว่าบ้านอื่นที่มีอายุเดียวกัน     เสาใช้ซุงทั้งต้น

ขนาดผู้ใหญ่โอบรอบ    พื้นกระดานแผ่นใหญ่เป็นไม้สักล้วน  ส่วนมากเป็นปีกไม้กว้าง ๑ ฟุต   ถ้าเป็นกระดาน

ที่ไม่ใช่ปีกไม้บางแผ่นก็กว้าง ๒ ฟุต  แข็งแรงมาก  ฉันจำได้ว่าแม่ใช้ให้ถูเรือนยังใช้ผ้าขี้ริ้วจุ่มน้ำในถังขวางกระดานแผ่นแล้ว

ถูพรืดไป  สนุกมากและเร็วดี   ฝาเป็นไม้สักอัดและผนึกแน่นทาสีสวยตั้ง ๕๐ ปีแล้วไม่ต้องทาใหม่      หน้าจั่วทำเป็นรูป

กระต่าย  หมายถึงปีเกิดของคุณตา         บันไดใหญ่และกว้าง  ลูกบันไดชั้นหนึ่งหนาประมาณ ๓ นิ้วกว้าง ๑ ฟุต

ยาว ๕ เมตรเท่ากับความกว้างของนอกชาน   บันไดนี้เป็นที่นั่งเล่นไปในตัว      เรือนแฝดมีนอกชานแล่นกลาง  เรือนครัวอยู่ต่างหาก

หลังครัวเป็นคูซึ่งขุดต่อจากคลองหน้าบ้านไปทะลุคลองมหานาคและคลองวัดจักรวรรดิไปออกแม่น้ำ


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 ธ.ค. 10, 08:36
"ฉัน"  คนนี้เป็นใครหนอ ???
ดูท่าทางน่าจะเกิดในตระกูลมีอันจะกิน ;D


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 ธ.ค. 10, 09:48
"ก๊อกประปาสาธารณะรูปทรงคล้ายตู้ไปรษณีย์  สีเขียวมีพวยยื่นออกมา มีที่เปิดเป็นเดือยข้างบนเมื่อชักขึ้น  นำ้จะไหลทางก๊อกซึ่งเป็นพวย"


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: tony_hui ที่ 02 ธ.ค. 10, 10:00
ปูเสื่อรออยู่ครับ ระหว่างรอขอแวบไปซื้อหมึกปิ้งกับเมี่ยงคำก่อนนะครับ ;D


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ธ.ค. 10, 10:00
ขอบคุณคุณไซมีสค่ะที่กรุณาส่งภาพ


"ฉัน"  เป็นสุภาพสตรีบรรดาศักดิ์ค่ะ   มียศในราชการด้วย


ตอนนี้เรื่องยังยืดอยู่  แต่ท่านเล่าเรื่องได้แปลกค่ะเพราะเป็นข้อมูลต้นรัชกาลที่ ๖

มีบางเรื่องดิฉันก็เคยอ่านในหนังสือภาษาอังกฤษที่ท่านต้มน้ำโดยใช้ตะเกียงลาน

ประมาณคุณแม่บ้านชงน้ำชาเลี้ยงครูสอนหนังสือที่พึ่งย้ายมาใหม่


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ธ.ค. 10, 10:08


เมื่อชงน้ำชาแล้ว  เราก็จะกินแซนวิชแตงกวากัน  หรือบิสกิตแห้งๆค่ะ


       ในงานประชุมผู้สะสมหนังสือเก่าเมื่อสิบวันที่แล้ว      สมาชิกท่านหนึ่งง่วงนอนมาก

แจ้งกับประธานกลุ่มซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ว่า  กระผมขาดคาเฟอินขอรับ     ท่านประธานผู้สง่างาม

กำลังขบขันวาทะของผู้ร่วมประชุมท่านหนึ่งอยู่  ได้ยิน คาเฟอิน  เป็น เฮโรอิน  ไปได้อย่างไรก็ไม่ทราบ

นึกในใจว่า    หา...เราจะไปสั่งเฮโรอินที่ไหนล่ะนี่  ปากซอยคงไม่มีขายมั๊ง



กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ธ.ค. 10, 07:02

       เมื่อฉันเกิดนั้นยังใช้ตะเกียงลาน   ถ้าต้องการให้ไฟสว่างนวลต้องหมั่นไขลาน  ใช้เป็นที่ต้มน้ำได้เสร็จ 

โดยใส่สามขาซึ่งเป็นเหล็กทำให้พอดีกับบ่าตะเกียงสวมลงไป   มีเหล็กแหลมยื่นออกมา ๓ ข้างไว้รับน้ำหนักกา

ตอนค่ำ ๆคุณทวดชอบต้มน้ำชาชงชาเลี้ยงคนที่มาอ่านหนังสือให้ฟัง          ฉันเกิดทันคุณทวดซึ่งตอนนั้นอายุ

๗๐ แล้ว  แต่ยังแข็งแรงมาก  ชอบไปดูสวนเอง  ลงมือเก็บผลไม้นำมาขายตลาด


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ธ.ค. 10, 07:21

       เมื่อน้าชายสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้  จะต้องไปประเทศอังกฤษ    ต้องลงเรือใหญ่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา

ที่ท่าวัดพระยาไกร  ทุนเล่าเรียนหลวงสมัยนั้นสอบได้ยากและมีปีละ ๒ ทุน   น้าอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบ    ปีนั้นสวนกุหลาบ

ได้ทั้ง ๒ ทุน   การชิงทุนสมัยนั้นมีเฉพาะนักเรียนชาย  ถ้าใครอายุเกิน ๑๘ ปี  สอบม.๘ ได้ที่หนึ่งและที่ ๒  ก็ได้รับทุน



       ฉันอยู่กับคุณตาจนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัย   ท่านเป็นทั้งพ่อทั้งพี่เลี้ยง   ท่านขยันช่วยคนใช้หุงข้าวเพราะตื่นแต่เช้า

เมื่อตื่นก่อนก็จะติดไฟตั้งหม้อข้าวไว้ให้  หน้าหนาวก็ผิงไฟไปเสร็จ   สมัยนั้นยังใช้เตาฟืนอยู่  เตามีสามขา  เมื่อใส่ฟืนต้องมีวิธีก่ายฟืนให้ดี

บ้านฉันอยู่ริมคลอง  เรือฟืนจะมาส่งปีละมาก ๆ  เราใช้ฟืนแสม  นับกันเป็นพัน ๆ   เวลาโยนฟืนสนุกมาก  เขาจะโยนไว้ที่ท่าน้ำ 

เราเด็ก ๆ ก็ช่วยกันขนไปกองเรียงให้เป็นระเบียบ   โดยมากเป็นหน้าที่ของคุณทวด  คือน้าสาวของยายฉัน  เป็นผู้ควบคุมให้

พวกเราเรียงให้สวยสะดวกในการใช้


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ธ.ค. 10, 07:50


       พอตั้งข้าวแล้วคุณตาก็สอนให้ฉันท่องสูตรคูณ   วิธีสอนของท่านพิถีพิถันมาก

การเรียนหนังสือก็ต้องจำ ก. ข. ให้ได้จน ฮ.       นอกจากจะจำตัวแล้วยังต้องเขียนให้ถูกแบบ

ท่านใช้วิธีนำกระดานมาสลักเป็นตัวหนังสือ  โดยสลักลึกลงไปเป็นร่อง   ท่านเป็นช่างจึงนำวิธีช่างมาใช้

ฉันต้องหัดเขียนหนังสือโดยวิธีลากก้านธูปไปตามร่องที่กำหนดไว้  จนจำได้หมด   ฉันเกิดความคิดเปรียบเทียบ

กับการเขียนหนังสือภาษาอื่นเช่นภาษาอังกฤษ  ภาษาญี่ปุ่นที่ฉันได้เรียนเมื่อโตแล้ว  เขามีวิธีสอนคือจะต้องตั้งต้นเส้นไหน 

เส้นไหนเป็นเส้นแรก  เส้นที่สอง  เส้นที่สามฯลฯ  ระยะช่องไฟก็ต้องเขียนให้ถูก     จึงจะนับว่าเขียนเป็น


       ในสมัยนั้นมีแบบเรียนเร็วแล้ว  แต่คุณตาบอกว่าเรียนมูลบทหลักแน่นดี  จึงเรียนมูลบทก่อนที่จะไปเข้าโรงเรียน

การเรียนอ่านหนังสือในมูลบทฯ เสียเวลาหน่อย  เพราะจะต้องผันวรรณยุกต์และแจกลูกไปด้วย      ใช้วิธีฝึกที่เรียกว่า drill

พระยาศรีสุนทรโวหาร  ศาลฎีกาด้านภาษาไทยของเมืองไทยท่านใช้มานานแล้ว   ต่อไปก็จะต้องอ่านแจกลูก   แล้วผสมวรรณยุกต์

แบบนี้ทุกตัว       เด็กจะรู้ว่าไหนเป็นคำตายตัวไหนผันได้กี่เสียง   เมื่อจบแล้วจะให้อ่านข้อความสนุกสนานเป็นเรื่องราวคือกาพย์พระไชยสุริยา

เริ่มต้นด้วยแม่ก.กา  แล้วจึงถึงมาตราตัวสะกด  ก็ต้องแจกลูกก่อน  แล้วเข้ารูปวรรณยุกต์เรียงกันไปตั้งแต่แม่กนจนจบทั้งแปดมาตรา 

หรือเรียกตามภาษาชาวบ้านว่าแปดแม่  ก็พอจบเรื่องพระไชยสุริยาพอดี

       หนังสือมูลบทนี้ ทั้งชุดมี ๖ เล่ม


       ฉันเองอ่านไม่จบทั้ง ๖ เล่ม  ก็ต้องไปเข้าโรงเรียน       คุณตาเห็นว่าควรจะส่งไปโรงเรียนได้แล้วเมื่อจบมูลบท  มิฉะนั้นจะช้าไป


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ธ.ค. 10, 08:04


       ฉันเข้าโรงเรียนชาวบ้านเพราะเรียนกันตามบ้าน  ครูทำหน้าที่สอนหนังสือ  ทั้งอบรมกิริยามารยาท  ทั้งเป็นพี่เลี้ยงดูแลอาหารการกิน

ฉันเรียนในห้องใหญ่ในบ้าน  มีบรรยากาศอบอุ่นใจ        ท่านเจ้าของตึกสร้างขึ้นเพื่อให้ครอบครัวเล็ก ๆอยู่  เลียนแบบตึกอังกฤษ

เป็นที่อยู่ทันสมัยมาก  ท่านเจ้าของคือพระยาบรมบาทบำรุง  ตึกนี้อยู่ที่มุมห้าแยกพลับพลาไชย  ต่อมาเป็นร้านข้าวหน้าไก่เหลาะงาทิ้น

(ข้าวหน้าไก่....!!!)

ห้องเรียนมีห้องเดียว  นั่งกับพื้นมีไม้ต่อเป็นม้าวางหนังสือ         ค่าเล่าเรียนก็เก็บกันเดือนละสองสลึงถึงหนึ่งบาท

ฉันไปเรียนไม่เสียสตางค์เพราะเป็นหลาน




กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 03 ธ.ค. 10, 09:39
..อร่อยระดับตำนาน...


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ธ.ค. 10, 15:52

     
       ฉันเรียนแบบเรียนเร็วของกระทรวงธรรมการ  เริ่มแต่ ก.ไก่   วิธีอ่านก็วางหนังสือลงบนม้าสี่เหลี่ยมผืนผ้าเตี้ย ๆ

พอสำหรับนักเรียนนั่งพับเพียบ       เวลาครูสอนอ่าน  ฉันก็ใช้ไม้ก้านธูปจิ้มไป  ปากอ่านไป  ตาเหม่อออกไปข้างนอก

เผื่อจะได้เห็นอะไร   ต่างคนต่างอ่านของตนเสียงสับสน      เมื่อใครถูกครูเรียกออกไปอ่าน   อ่านถูกหมดก็ได้ต่อบทใหม่

เรียกว่าไปต่อ   แบบเรียนเร็วเล่ม ๑ เป็นแบบหัดอ่านไม่เหมือนมูลบทบรรพกิจ  คือไม่มีการแจกลูก  แต่ใช้แบบหัดอ่านเป็นเรื่องทบทวนความจำ

เป็นเรื่องราวของสังคมสมัยนั้น  เป็นร้อยแก้วแบบหัดอ่านตัวสะกดในแม่กน   ตอนหนึ่งว่า "หนูแหวนแขนอ่อนบ้านอยู่บางเขน"

แสดงว่าสมัยนั้นเด็กผู้หญิงที่มีลักษณะเป็นผู้หญิงแท้  และนิยมกันว่าสวยนั้นจะต้องแขนอ่อน  เพราะสมัยนั้นนั่งพับเพียบท้าวแขน

เพื่อยันตัวให้นั่งอยู่ได้นานจะได้ไม่เมื่อย


       ฉันเป็นเด็กหญิงที่ซนมากและลือชื่อมาจนเป็นนักเรียนชั้นโต      ฉันช่างคุยจนถูกทำโทษบ่อย ๆ   แต่การเรียนไม่เสียครูจึงรัก

ฉันเรียนที่โรงเรียนนี้พออ่านออกเขียนได้ก็ย้ายโรงเรียนเพราะคุณป้าครูต้องย้ายไปสอนที่โรงเรียนสตรีเสาวภาบ้านหม้อ  ฉันต้องตาม

ไปด้วย  และได้เป็นนักเรียนโรงเรียนหลวง  ต้องหอบหนังสือกระดานชนวน  ดินสอหิน  ขวดน้ำสำหรับลบกระดานและอาหารกลางวัน

ในสมัยนั้นกระดานชนวนส่วนมากทำด้วยหินเป็นแผ่นแบน ๆ สีดำเป็นมันมีไม้ล้อมกรอบกันแตก  ไม้นั้นก็ทาน้ำมันกันสกปรก   ดินสอที่เขียน

เรียกว่าดินสอหิน  แท่งขนาดหลอดกาแฟ  ซื้อกันเป็นกล่องมันเปราะหักง่าย  และต้องฝนให้แหลมจึงจะเขียนได้ดี   

เขียนหนังสือก็เขียนกดลงไปบนกระดานชนวนแต่เบา ๆ  จะเป็นเส้นสีขาว  ถ้ากดแรงจะเป็นรอยลึกลบยาก   ฉะนั้นต้องีฝีมือเขียน



กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ธ.ค. 10, 16:26
       การเดินทางจากวรจักรไปโรงเรียนที่บ้านหม้อ  นับว่าไกลมาก  นอกจากกระเป๋าหนังสือยังมีขนมฝรั่งอยู่ในกระเป๋า  

กระเป๋ามีหลายชั้น  ตอนแรกใส่ดินสอหิน  ขวดน้ำที่ใช้ลบกระดานต้องใช้ขวดน้ำอบสวย ๆ(ประกวดกันมากสมัยนั้น)

ผ้าเช็ดกระดาน  กระดานชนวน  หนังสือ  ของกินที่เป็นของคาวใส่ปิ่นโตเล็ก ๆ สามชั้น  สีเขียวอ่อนมีลายนูนเป็นสีชมพู

       ปัญหาการเดินทางไม่ต้องพูดถึง  เพราะคุณตาฝากให้ไปกับป้าสะใภ้ที่เป็นครู  และมีเพื่อนอีกสองคนมาร่วมเดินไปด้วย

บางวันเดินไปขึ้นรถรางที่สี่แยกวรจักรไปลงปากคลองตลาด   ถ้าวันไหนไปสายหน่อยก็ขึ้นรถเจ๊กชนิดใหญ่หน่อย

รถขนาดใหญ่นี้ผู้ใหญ่สองคนนั่งได้สบาย  เด็กตัวเล็ก ๓ คนอย่างพวกฉันและป้านั่งได้พอดี

เพื่อนสองคนของฉันนั้นคนหนึ่งฐานะดีกว่าฉันมาก  ตอนท้ายสามีตายฉันกลับต้องเป็นผู้ช่วยเหลือเขา   ทำให้ฉันคิดว่าคนเรานั้น

คงมีผู้ลิขิตชีวิตเป็นแน่       เพราะทั้งสามคนต่างก็พยายามทำความดี  แต่ผลที่ได้รับต่างกันเห็นปานฉะนี้   ก็ควรที่จะพิจารณาด้วยเหตุผลเมื่อผจญ

อุปสรรค  จังหวะแห่งชีวิตเป็นตัวจักรสำคัญที่จะผวนผันไปให้ได้ลงช่องที่เหมาะหรือไม่   เพื่อนของฉันอีกคนได้ไปเป็นใหญ่เป็นโต  

ฉันก็ได้พึ่งเขาเหมือนกันเมื่อมีธุระ  เขาได้เป็นคนสนิทของผู้ใหญ่  สุดท้ายก็ได้เป็นภริยาเอกอรรคราชทูต


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 03 ธ.ค. 10, 16:46
แวะมานั่งพับเพียบเรียบร้อยตามอ่านไม่ลดละเจ้าค่ะ

รถซ่อมเสร็จเมื่อไร จะหา เฮโลอีน ...อุ๊ย...ขอประทานโทษค่ะ  คาเฟอีน ไปจิ้มก้องแลกหนังสืออ่านนะเจ้าคะ


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ธ.ค. 10, 05:37

       น่าแปลกที่ว่าพระเจ้าหรือธรรมชาติก็มักจะทดแทนให้ในสิ่งที่คนอื่นไม่มี   เพื่อนคนแรกเธอมีพร้อมทุกอย่าง

แต่ขาดลูกที่จะผูกจิตใจทั้งพ่อและแม่      ส่วนเพื่อนคนที่สองมีลูกหลายคนแต่ขาดพ่อ   ส่วนตัวฉันเองก็ปานกลาง

และในชีวิตของฉันก็ได้เห็นเช่นนี้มามากหลาย


       ฉันเรียนอยู่โรงเรียนเสาวภาประมาณ ๖ เดือน   ฉันแปลกใจเป็นอย่างยิ่งว่าโรงเรียนหญิงทำไมต้องมีลับแล ซึ่งทำเป็น

ขาตั้งแล้วตีไม้เป็นแผ่นยาวประมาณสามเมตรสูงสองเมตร  เห็นจะเป็นเพราะหวงลูกสาวจึงต้องกั้นไม่ให้คนภายนอกเห็น

เมื่อฉันย้ายโรงเรียนก็พบกับลับแลอีก  ที่ต้องย้ายโรงเรียนก็เพราะโรงเรียนเสาวภามีเพียงชั้นประถม   โรงเรียนใหม่แถวเสาชิงช้ามีชั้นมัธยม

ลุงฉันแต่งงานใหม่และป้าสใภ้เป็นครูที่โรงเรียนนี้  ฉันจึงย้ายมาเข้าชั้นมูล


       ฉันแต่งตัวไปโรงเรียนอย่างพิถีพิถันขึ้น เพราะมีนักเรียนมาก  นุ่งผ้าโจงกระเบนผืนเล็ก ๆ ตามขนาดตัว  สีต่าง ๆ ตามวันเพราะไม่มีเครื่องแบบ

สวมเสื้อขาวคอกลมลงมาจนปิดชายพก  ซึ่งมีเข็มขัดรัดไว้  เข็มขัดเป็นเงินทึบ  มีตะขอ  และมีรูขยายได้ตามขนาดของเอว    ฉันไว้ผมยาวราว

ครึ่งหลังต้องถักเปียให้เรียบร้อย  ผูกโบว์  โบว์นั้นบางทีเรียกว่าริบบิ้น  ยิ่งใหญ่เท่าไรยิ่งโก้      ยังจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าบางทีก็มี

ลวดลายต่าง ๆ เป็นตาหมากรุกก็มี     สวมรองเท้าแตะประทุน(คือตอนหัวรองเท้าเขาเรียกประทุน)ทึบ  ไม่โปร่ง  เดินลากลำบากเหลือเกิน

ถ้าเดินไปในที่มีน้ำแฉะ กระเด็นขึ้นมาเปรอะผ้านุ่งหมด

       เช้า ๆ คุณตาก็พามาส่งบ้านป้าสะใภ้ซึ่งอยู่ในตรอกเขมร   อยู่ระหว่างสมาคมไวเอ็มซีเอกับสี่แยกวรจักร  ตรอกนี้ไปทะลุออกถนนบ้าน

ดอกไม้   ตรงกลางมีถนนเลี้ยวไปออกถนนหลวงข้างวังกรมขุนกำแพงเพชร  หรือที่เรียกกันว่าวังแดง   บ้านป้าสใภ้อยู่ตรงมุมทางเลี้ยวพอดี

ด้านตรงกันข้ามมีบ้านคหบดีมีชื่อสมัยโน้น   บ้านตรงกันข้ามก็ยังรักษาประตูเก่าไว้แม้จะเปลี่ยนรูปทรงบ้านเป็นตึกสมัยใหม่แล้ว

ประตูสังกะสีดามสังกะสีทั้งสองด้าน  ด้านในมีตุ้มใหญ่ทำเป็นรอก  เวลาเปิดปิดต้องค่อย ๆ เปิดและจะปิดเอง  ไม่ต้องใช้บานพับสมัยใหม่

       ฉันได้เข้าเป็นนักเรียนโรงเรียนหลวง  เก็บค่าเล่าเรียนปีละ ๑๐ บาท   ฉันเป็นเด็กซนมาก  แต่เป็นเด็กตัวเล็กที่สุดจึงได้รับอภัยเสมอ

เมื่ออยู่ ป. ๑  นักเรียนชั้นเดียวกันอายุมากที่สุดแก่กว่าชั้นถึงแปดปี  เขาเป็นหัวหน้าชั้น      สมัยนั้นนักเรียนเกรงกลัวหัวหน้าชั้นมาก

ฉันประจบเขาจนเขารัก  เมื่อชั่วโมงไหนไม่อยากเรียน  ก็บอกว่าไม่สบายและไปหาพี่หัวหน้าที่หลังชั้นขอนอนตักหลับสบาย  โต๊ะหัวหน้าชั้นจะอยู่หลังชั้นเสมอ

เพื่อควบคุมลูกน้อง


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ธ.ค. 10, 15:32

       ชั้นประถมสมัยก่อนไม่เรียนภาษาอังกฤษด้วยถือว่าเด็กยังเล็กนัก   จะรับวิชามาก ๆ พร้อม ๆ กันย่อมเกินกำลังปัญญา

จึงเรียนแต่ภาษาไทยและความรู้เรื่องเมืองไทย  การรักษาตัว  ภูมิศาสตร์   บทเรียนด้วยของ   จรรยา

ฉันเรียนอ่านไทยและหนังสือเรื่อง "พลเมืองดี" ของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี  ซึ่งท่านเขียนให้เด็กอ่านได้รู้เรื่อง

ในทางศีลธรรมจรรยา  เราเด็กก็เรียนเรื่อง "สมบัติผู้ดี"   สอนให้รู้ว่าผู้ดีต้องปฎิบัติอย่างไร         ความรู้รอบตัวก็เรียน

ให้รู้เรื่องกรุงเทพก่อน  เช่นกรุงเทพมีรถรางกี่สาย  จากไหนไปไหน   หนังสือพิมพ์มีกี่ฉบับ  ชื่ออะไรบ้าง

เมื่อฉันเรียนป. ๑ นั้นมี ๕ ฉบับ  ฉบับหนึ่งนั้นเป็นภาษาฝรั่งชื่อ "สยามออบเซอร์เวอร์"(สหายผู้เรืองปัญญาแถวนี้ร้องโอ๊ย!!

เพราะอยากอ่านมานานแล้ว        ดิฉันก็อยากอ่านสยามมวย  แต่จะไม่อ่านเรื่องหมัดมวยหรือศอก  อยากอ่านบทความดี ๆค่ะ)

หนังสือพิมพ์ไทยชื่อฝรั่งมี เดลิเมล์          นักเรียนต้องท่องชื่อและโรงพิมพ์ว่าอยู่ที่ไหน   หนังสือพิมพ์ไทยเป็นของรัฐบาลมี

ข้าราชการเป็นบรรณาธิการคือ พระสันทัดอักษรสาสน์  ต้นสกุลอักษรานุเคราะห์  โรงพิมพ์อยู่หลังวัดเทพศิรินทร์


       วิชาภูมิศาสตร์  ก็เรียนภูมิศาสตร์เล่ม ๑ ของพระเมธาธิบดี  สอนทิศทาง  เรื่องความร้อนจากดวงอาทิตย์  เป็นเรื่องราวติดต่อกันเหมือนนิทาน

สาวน้อยผู้นี้จำความได้ไม่น้อยเลยนี่



กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ธ.ค. 10, 15:52

       ในตอนปลายปี  มีงานประจำปีของโรงเรียน   ฉันตื่นเต้นมากเพราะได้แต่งตัวเต็มที่  ได้เห็นแขกรับเชิญมากมาย  ได้ดูละคร

ปีนั้นฉันนุ่งผ้าโจงกระเบนสีน้ำเงิน  สวมเสื้อคอตั้งผ้าป่านสีน้ำเงิน  ตรงคอตั้งเป็นผ้าจีบฟู  ตัวยาวปิดหน้าท้อง 

ต่อตรงเอวเพื่อให้ปลายบาน  จีบฟูเหมือนกับคอ  มีแพรขาวรัดเอวมาผูกเป็นโบว์ทางด้านซ้าย

ตัวแขนเป็นลูกไม้ผ้าโปร่งสีขาว  ปลายข้อมือเป็นผ้าป่านสีน้ำเงินจีบฟู     ฉันสวมถุงน่องรองเท้าด้วย  ถุงเท้าทำด้วยฝ้าย

รองเท้าส้นสูงเล็กน้อย  ส้นเป็นรูปถ้วยแชมเปญ


       ฉันถูกจับให้ดัดผมเพื่อให้ผมฟู  แล้วจับผมทางขวามือหนึ่งปอยถักเปียไขว้มาทางซ้ายผูกโบว์สีดำใหญ่     การดัดผมเหมือนถูกจับ

ตัวมาทำโทษเพราะต้องนั่งนิ่ง ๆ  ใช้คีมเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมใหญ่  คล้ายพิมพ์ขนมวอฟเฟิลเป็นร่องยาวๆ  ผิงบนเตากะว่ามีความร้อนพอที่จะให้ผมอ่อนตามมือ

แล้วยกขึ้นบีบมือถือ  จับผมแทรกลง  นาบไปประมาณ ๑ นาที  กะว่าผมเป็นลอนแล้วยกขึ้น   กว่าจะเสร็จก็ร้อนพอดู  อยากสวยก็ทนเอา

ด้านหน้าผมไม่หยิกก็มีหวีประดับเพชรเสียบไว้

       วันแรกที่แต่งตัวเช่นนี้  ฉันรู้สึกว่าเป็นสาวขึ้นมากทั้งๆที่อายุ ๖ ขวบเท่านั้น



กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ธ.ค. 10, 16:07

       ฉันไปโรงเรียนทุกวันไม่เบื่อเลยเพราะชอบเล่นมาก  พอกระดิ่งหยุดพักก็วิ่งไปจองที่เล่น  บางทีก็ลืมกินข้าว 

เข้าห้องเรียนตอนบ่ายก็เรียนไม่รู้เรื่องเพราะตัวเหนียวไปหมด  การเล่นของเด็กผู้หญิงมีกระโดดเชือก  ลิงชิงหลัก  วิ่งเปี้ยว  สะบ้า 

มอญซ่อนผ้า    ท่านผู้เล่าเรื่องนี้ได้เล่าไว้ว่าการเล่นที่เมื่อท่านโตแล้วไม้ได้เห็นคือโปลิศจับขโมย  กับตี่จับ

(ด.ญ.วันดีขอให้การโดยสัตย์จริงว่าหลายสิบปีหลังจากนั้น  ด.ญ.วันดีก็ควงปืนคู่ใส่แก๊ปเป็นบางครั้งวิ่งไล่ผู้ร้ายตัวเล็กกว่าไปตามซอยรางน้ำ
มีหมวกเคาบอยของลูกชายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษใบที่ดีที่สุดใส่หัว  มรดกทางวัฒนธรรมนี้ไม่สูญเจ้าค่ะ)


       เด็กผู้หญิงแถวบ้านชอบเล่นรำละคร  เล่นหม้อข้าวหม้อแกง  เลี้ยงน้อง


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ธ.ค. 10, 16:22
       ปีนั้นฉันป่วยเป็นไข้รากสาดหรือไทฟอยด์เจียนตาย    การรักษาพยาบาลยังไม่เจริญ    พ่อไปราชการ

ต่างจังหวัด  คุณตาให้ยา        วันสอบไล่แม่พาไปโรงเรียนเพราะเพิ่งฟื้นไข้  กลางวันแม่อยู่ป้อนข้าวกลางวัน

ปีต่อมาโรงเรียนไม่มีงานประจำปีเพราะสมเด็จพระพันปีหลวง  พระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  เสด็จสวรรคต

พวกเราทุกคนเศร้าสลดใจ         ฉันเองเล็กๆแต่พอจำงานพระเมรุได้เลา ๆ    แม่เล่าว่าเมื่องานพระเมรุพระบรมศพรัชกาลที่ ๕  นั้น

คุณตาเป็นผู้คุมการก่อสร้าง  ท่านอยู่กรมโยธาธิการ        งานพระเมรุเมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ ๖ นั้น  ฉันอยู่ชั้น  ม. ๖ แล้ว

จำความได้ดีว่าการสร้างพระเมรประณีตเหลือเกิน  ที่เป็นทองก็ปิดทองคำเปลวจริง ๆ   ทองสมัยรัชกาลที่ ๖ บาทละ ๒๐ บาท   คนนิยมคาด

เข็มขัดทองเต็มไปหมด    


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 ธ.ค. 10, 07:53
       โรงเรียนที่ฉันเรียนเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู  นักเรียนฝึกหัดครูต้องรอบรู้หลายอย่างเพื่อไปเผยแพร่ในจังหวัดต่าง ๆ

จึงเรียนทอผ้าด้วย   ในห้องประชุมซึ่งใช้ประโยชน์หลายอย่างมีกี่ทอผ้าอยู่ด้วย    นักเรียนไปเช้าเย็นกลับใช้ห้องนี้รับประทานอาหารกลางวัน  

พวกที่มีปิ่นโตมาก็แอบปิ่นโตไว้ที่หนึ่ง  เลิกกลางวันก็มาล้อมวงรับประทานอาหารกัน   พวกที่ไม่ได้เอาอาหารมาจากบ้านก็จะไปซื้อของจากแม่ค้าผู้เข้ามาขาย

วันสอบไล่ได้สตางค์มากเป็นพิเศษวันละ ๑๐ สตางค์  อาหารจานหนึ่ง  ข้าวเนื้อย่างจิ้มซีอิ๊วก็ ๓ สตางค์  ขนมจานละ ๑ สตางค์

น้ำแข็งราดน้ำหวานนมสดก็ ๑ สตางค์    ฉะนั้น ๑๐ สตางค์จึงเหลือถึงเย็น   ก๋วยเตี๋ยวชามละ  ๓ สตางค์    ผลไม้สมัยนั้นที่สมัยนี้ไม่มีคือ

ลูกไหนจิ้มพริกกะเกลือ  ลูกลิ้นดอง(เรียกเองเพราะลักษณะเหมือนลิ้น) จิ้มน้ำตาล  ผลไม้แห้งคือเกี้ยมห้วยโป๋  เกี้ยมซึงตี  เซงจาของจากเมืองจีน

มีรสอร่อย  ๑ สตางค์ก็ได้มากพอดู   ถ้าเป็นหน้าลิ้นจี่  ก็มีลิ้นจี่ดองลูกใหญ่ ๆ ควักจากไหหวานฉ่ำมาก   เมื่อเลิกสอบแล้วจะวิ่งมาซื้อขนมพวกนี้ไปกินแล้วไปวิ่งเล่นต่อ


       นักเรียนประจำรับประทานแยกจากนักเรียนไปเช้าเย็นกลับเพราะรับประทานไม่เสียเงิน   กระทรวงศึกษาเป็นผู้อุปถ้มภ์เพราะเป็นนักเรียนทุน  

ต้องกลับไปสอนตามจังหวัดที่ตนได้ทุน   การรับประทานนั่งล้อมเป็นวงมีสำรับกลาง   จานและสำรับนี้จะจัดไว้ก่อนโรงเรียนเลิก      ข้าวหุงด้วยกระทะซึ่งต้องใช้แรงงานมาก

เพราะต้องโพงน้ำออกตอนข้าวจะสุก   ข้าวก้นกระทะเป็นข้าวตัง เป็นรายได้พิเศษของคนทำ   เราชอบซื้อข้าวตังใหม่ ๆ กินเล่นกันเอร็ดอร่อย  ๒ แผ่นสตางค์ก็กินกัน ๕ คน

อาหารส่วนมากเป็นอาหารพื้นคือน้ำพริกปลาทู  แกงส้ม  วันไหนมีแกงเผ็ด  มัสมั่นเป็นดีใจกันเหลือล้น


       ในระหว่างรอผลสอบไล่อยู่นั้นเป็นฤดูที่มะม่วงกำลังออกผล  ฉันเก็บมะม่วงดิบไปฝากเพื่อนนักเรียนเป็นประจำ  เพราะที่บ้านมีต้นมะม่วง

หลายต้นชนิดต่าง ๆ กันสำหรับใช้ประโยชน์ต่าง ๆ  ที่ใช้ตำน้ำพริกก็มีพิมเสนเปรี้ยว  พอสุกก็ใช้กวนมะม่วงแผ่น        ที่รับประทานดิบ ๆ ก็ได้แก่พิมเสนมัน

มะม่วงแก้วใช้ทำมะม่วงกวนเพราะเนื้อแข็งกวนแล้วใสเหมือนแก้วเป็นเส้น ๆ สวยมาก   บางทีก็ดองไว้ในไหจิ้มน้ำตาลทราย    

ที่ไว้รับประทานเมื่อสุกก็มีอกร่องซึ่งมีรสหวานแหลมเหมาะที่จะรับประทานกับข้าวเหนียวมะม่วง   ยังมีทองคำ กับ เขียวไข่กาอีกสองต้น   หน้ามะม่วงนี้ฉันสนุกมาก

เพราะคอยวิ่งแย่งมะม่วงหล่น มะม่วงแต่ละต้นโตมาก  ยิ่งนานปีกิ่งก้านยิ่งสูง  จะเก็บแต่ละครั้งต้องปีน  ถ้าต้นโตมากลำต้นเท่าผู้ใหญ่เอามือโอบ  

สูงประมาณ ๑๐ เมตรขึ้นไป  ฉันตัวเล็กขึ้นต้นไม่เป็นต้องรอหล่นเวลาลมพัดหรือมีพายุ         ต้นพิมเสนมีกิ่งระหลังคาเรือนหลังเตี้ยที่เป็นสังกะสี

พอหล่นก็ดัง   เด็ก ๆ วิ่งแย่งกันสนุก   ยิ่งแตกยิ่งอร่อย         ที่บ้านเด็กที่รุ่นราวคราวเดียวกันมีแต่เด็กผู้ชายทั้งนั้น   เขามาอยู่ที่บ้านเพื่อเรียนหนังสือ

ฉันจึงมีความว่องไวเท่าเด็กผู้ชาย


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 05 ธ.ค. 10, 09:41
เซงจาของจากเมืองจีน เป็นแบบนี้นี่เอง
เป็นผลไม้รสเปรี้ยว นิยมนำมาเคลือบน้ำตาลให้จับตัวแข็ง แล้วกินมีวิตามินซีสุง

คุณหนุ่มรัตนะได้ลงเรื่องซานจาไว้ที่ http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/04/K7800785/K7800785.html ครับ


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 ธ.ค. 10, 07:03

ขอบคุณค่ะ คุณไซมีส

ตอนเด็กไม่ได้เจอขนมนอกบ้านเลยค่ะ    หนึ่งไม่เคยมีสตางค์ติดตัว

เหตุผลข้อที่สอง และ สามสี่ไม่ต้องเอ่ย  เพราะไม่มีสตางค์แล้ว  ก็เป็นความครอบคลุมที่เหลือไม่ต้องเอ่ยก็ได้



       ตามบ้านในสมัยฉันเป็นเด็ก  ฉันเห็นทุกบ้านปลูกมะม่วงและชมพู่ถ้ามีที่ดินพอ    ฉะนั้นทุกบ้านจึงมีมะม่วงและชมพู่รับประทานไม่ต้องซื้อ 

รสอร่อยเพราะสดเก็บจากต้น  ถ้ามะม่วงยังไม่สุก  ก็ต้องรอบ่ม   วิธีบ่มก็ใช้ใส่เข่งเอาใบตองสุม       ที่บ้านฉันมีชมพู่หลายชนิด

ฉันเรียกว่าชมพู่เขียว  ชมพู่แดง  ชมพู่ขาว  คือเรียกตามสี        ชมพู่ขาว  เขาเรียกว่ากะหลาป๋า  จะได้มาจากไหนก็ไม่ทราบดูเสียงคล้ายชวา 

หวาน อร่อย เนื้อแน่น        ชมพู่แดงคือชมพู่สาแหรก  มีลายแดงขาว     


     ฉันมีงานอดิเรกอยู่อย่างหนึ่ง   หลังจากสอบไล่เมื่อกลับบ้านก็คอยเก็บมะม่วงขบเผาะ  ที่หล่นจากต้นเมื่อยังเล็กอยู่  ชมพู่ที่หล่นลอยน้ำ   

มารวมเข้าแล้วเย็บกระทงใบตอง  ใส่มะม่วงและชมพู่เหล่านี้นำไปขายที่ตลาด   บางทีนึกสนุกก็ไปนั่งขายเอง   ชอบตรงได้รับสตางค์ทอนสตางค์   

ที่ไปขายได้เองก็เพราะคุณทวดเก็บของสวนที่อยู่ห่างบ้านฉันไปไม่มาก  แถวสวนมะลิ  ออกไปตั้งแผงขายเอง  มีมะม่วง  มะปราง  กล้วยตานีดอง 

หน่อไม้ไผ่สีสุกที่หั่นและจัดเป็นตองแผ่อย่างสวยงาม  หมากดิบ  หมากสง         ฉันก็ไปผสมกับท่านบ้าง  บางทีก็ได้ ๕ - ๖ สตางค์  ดีใจเหลือเกินเพราะเป็นน้ำพักน้ำแรง



กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 ธ.ค. 10, 09:44

       แถวบ้านฉันใกล้สวนหลวงซึ่งมีมอญหรือผู้มีเชื้ออยู่หลายครอบครัว    สวนหลวงอยู่ต่อจากวัดจางวางพ่วงไปจนถึงถนนบำรุงเมืองออกสะพานดำ   

คือตรงถนนคลองถมเยื้องร้านสุภาพรรณ    ที่เรียกกันว่าสะพานดำนั้น  ฉันคิดว่าเป็นเพราะที่สะพานนี้ที่ราวสะพานมีรูปคุณแม้น 

หม่อมของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เจ้าของวังบูรพาภิรมย์   สะพานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก  มีรูปหม่อมเป็น

แบบรมดำ   รูปทรงสะพานคล้ายสะพานมหาดไทยอุทิศที่ข้ามสี่แยกคลองบางลำภูตรงหน้ากรมโยธาธิการ  ทางที่จะไปวัดสะเกศ     

ที่สี่แยกสะพานดำหรือสี่แยกแม้นศรีแต่ก่อนยังมีร้านถ่ายรูปชื่อว่าฉายาแม้นศรี



       การเล่นอย่างหนึ่ง ที่ฉันยังจำติดตาได้จนบัดนี้  ก็คือการเข้าแม่ศรี        ที่ว่าจำได้ก็เพราะมีเหตุการณ์แปลกประหลาดพิสูจน์ไม่ได้       

วันหนึ่งฉันเห็นคนกลุ่มหนึ่งแต่งตัวแบบชนบท   เขาชวนมาเล่นแม่ศรีที่กลางลานวัดจางวางพ่วง   เขาเอาครกตำข้าวมาคว่ำลง   แล้วให้เด็กสาวคนหนึ่งนั่งลงบนครกแล้วเอาผ้าผูกตาไว้ 

พวกที่ล้อมวงก็ร้องเพลงเชิญแม่ศรี           เขาเชื่อกันว่า  แม่ศรีนั้นรำละครเก่งมาก   และเมื่อเชิญมาแล้ว   จะมาเข้าผู้ที่สมมุติเป็นแม่ศรี         การร้องเชิญนั้น

บางทีก็ร้องเที่ยวเดียวสองเที่ยว        ผู้ที่เป็นแม่ศรีก็จะลุกขึ้นรำไปตามทำนองที่ผู้ร้องร้อง    เป็นการเล่นที่คิดว่าแม่ศรีมาเข้าทรง      ฉันนั่งดูที่ระเบียงบ้านก็เห็นถนัด

เด็กคนนั้นแต่งตัวสวย  นั่งพนมมือ   ผู้ที่ล้อมวงร้องเพลงเชิญแม่ศรีอยู่หลายเที่ยว

             แม่ศรีเอย  แม่ศรีสาวสะ   ยกมือไหว้พระ  ว่าจะมีคนชม
             ขนคิ้วเจ้าก็ต่อ     ต้นคอเจ้าก็กลม
             ชักผ้าปิดนม  ชมแม่ศรีเอย

       เมื่อแม่ศรีลุกขึ้นรำ  รำได้อ่อนช้อยมาก  ลูกคู่ก็กระทุ้งใหญ่  แม่ศรีก็รำไป       ฉันชักตื่นเต้นเพราะรู้ว่าเขารำไม่เป็น   แต่พอแม่ศรีเข้า  รำได้สวยมาก

พอรำ ๆ ไป  แม่ศรีด็วิ่งแหวกฝูงคนเข้าไปทางศาลาที่จะไปออกสวนมะลิ     ผู้คนแตกตื่นวิ่งตามไป  เรียกให้กลับก็ไม่กลับ

เลยวิ่งไปตามตัวไว้   ฉันก็ออกไปดูกับเขาบ้าง   และได้เห็นกับตาว่าผู้ชายสี่คนดึงไว้ถึงอยู่ทั้ง ๆ ที่เด็กคนนั้นตัวนิดเดียว   เขาพากันดึงกลับมาที่วัด 

เด็กคนนั้นฮึดฮัดมากไม่ยอมมา   คนอื่นบอกว่าผีพลอย   จึงรีบไปนิมนตร์พระที่วัด  ดึงเด็กคนนั้นออกมาที่ลาน   พระท่านทำอย่างไรฉันไม่เห็น

มีคนหนึ่งนำไม้แบบไม้เรียวมาแล้วหวดลงไปที่เด็กคนนั้น  เสียงร้องเป็นเสียงผู้ชาย  ฉันอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง  หวดได้สามสี่ทีเด็กนั้นก็อ่อนปวกเปียก

ทำท่างงงวยทั้ง ๆ ที่ถูกฉุดกลับมาเสื้อผ้าขาดเกือบหมด      ฉันทราบจากพระท่านภายหลังว่า  เมื่อเชิญแม่ศรีออกไปแล้ว  ผีอื่นที่เป็นชายเข้าผสมรอย

จะจริงเท็จอย่างไรฉันก็พิสูจน์ไม่ได้  ดูเป็นศาสตร์ลึกลับ   จึงมาเล่าสู่กันฟัง    ตั้งแต่นั้นมา  แถวบ้านฉันไม่เล่นเข้าแม่ศรีกันอีกเลย


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 ธ.ค. 10, 10:26
       "ฉัน"   เล่าเรื่องการเล่นของไทยไว้  มี

ลิงชิงหลัก

หมาไล่ห่าน  ห่านมีสิทธิวิ่งหนีเข้าวง  (คงเหยียบขาแขนคนนั่งล้อมวงไปกันบ้างล่ะน่า)

ลิงชิงหลัก

โปลิศจับขโมย

ซ่อนหา

เอาเถิด

กระโดดเชือก  กระโดดเชือกหมู่

รีรีข้าวสาร

งูกินหาง

สะบ้า   "ฉัน"  เล่าว่า มีถึง ๔๘ บท  ท่านเองเล่นได้แค่ ๒๔ บทเท่านั้น  การเล่นพลิกแพลงใช้ลูกสะบ้าไว้ตามที่ต่าง ๆ

ของร่างกาย  เช่นเอาไว้ที่น่าอก  ท้อง  ที่หัวเข่า โดยนั่งคุกเข่าแล้วยิง   หนีบไว้ที่เข่าแล้วกระโดด

ไว้ที่ไหล่แล้วหันหลังยิง

ท่านยังเล่าเรื่อง  หมากเก็บ  

อีตัก

จ้ำจี้

ปั่นแปะ

โพงพาง

ไอ้เข้ไอ้โขง

ซักส้าว

แมงมุม

เสือข้ามห้วย

จูงนางเข้าห้อง  และ

เสือตกถัง  เป็นต้น


       ขอข้ามไปเพราะไม่เช่นนั้นก็จะติดอยู่ที่กระทู้นี้ถึงตรุษจีนค่ะ



กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 ธ.ค. 10, 22:09

       เมื่อฉันอยู่ ม.๕  ครูถามว่าใครอยากจะเป็นครูบ้าง      ถ้าอยากจะเป็นก็ให้สมัครครูมูลได้

ถ้าใครสอบ ม.๕ และสมัครครูมูลได้  ก็จะออกไปทำงานได้เงินเดือน ๓๐ บาท      เงิน ๓๐ บาทสมัยนั้นไม่ใช่เงินน้อย  สามารถ

ครองชีพได้อย่างไม่ฝืดเคืองนักสำหรับผู้ที่มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว    หรือสามารถอยุ่ได้อย่างสบายถ้าเป็นคนโสด  ยิ่งเป็นผู้หญิงอยู่กับพ่อแม่

ก็ยิ่งนับว่าเป็นรายได้ที่สวยพอดู  เพราะราคาค่าครองชีพยังถูกมาก  อาหารกลางวันมื้อหนึ่งก็ประมาณ ๖ สตางค์ ถ้ารับประทานดีหน่อยก็ ๑๐ สตางค์

ถ้ารับประทานผลไม้  เงาะ ๒๕ ​ผลก็ประมาณ ๖ สตางค์หรือสองไพ       การซื้อผลไม้เขานิยมต่อกันเป็นไพหรือเฟื้องอย่างมากก็สลึง   เช่นจะซื้อเงาะ

ก็ตกลงกันว่ากี่ใบไพ  หรือกี่ใบเฟื้อง   การใช้มาตราเงินในห้องตลาดแม้จะใช้มาตราบาทละ ๑๐๐ สตางค์แล้วก็ตาม   ผู้คนยังนิยมใช้ไพ  เฟื้อง

บาทอยู่เสมอ

       นักเรียนที่มาจากต่างจังหวัดหลายคนสมัครเรียนเพราะอยากกลับบ้านเร็ว  ถ้าได้เงินเดือน ๓๐ บาทก็ถือว่าไม่น้อยแล้ว         พอฉันเลื่อนขึ้นไป ม.​๖

ทางโรงเรียนก็บรรจุวิชาครูประถมไว้ชั่วโมงสุดท้าย  เป็นเชิงบังคับกราย ๆ ให้คนเรียน



     ในปีนั้นเองฉันซึ่งเป็นนักเรียนมัธยมได้ไปดูละครนอกเรื่องมณฑาลงกระท่อม  ผู้แสดงเป็นนิสิตชายคณะต่าง ๆ       ขุนพาจพิทยากรเป็นผู้ซ้อม   

ตัวท่านเองก็เล่นเป็นนางมณฑาด้วย  ขุนพาจนี้ลูกศิษย์เรียกว่าคุณย่า   ฉันยังจำได้ว่าเจ้าเงาะแสดงโดยคุณแถว  อินทรสูต    หอวังนั้นตั้งอยู่ที่สนามกีฬา

วันที่ฉันไปดูละครแต่งตัวชนิดที่เรียกว่าสวยเต็มที่(ตามแบบสมัยนั้น)  นุ่งผ้าซิ่นสีม่วง  ลายขวางสีทอง  สวมเสื้อให้เข้าชุดกับสีม่วง  ถักเปีย  ผูกโบวใหญ่

ฉันต้องนั่งรถรางไปลงยศเส  แล้วเดินไปจนถึงหอวังเพราะไม่มีรถโดยสารชนิดใดในย่านนั้น      ก่อนเปิดฉากมีดนตรีทำเพลงห่วงอาลัย  กำลังเป็นที่นิยม

       "อิเหนาหรือจะมาตามด้วยความรัก          ข้อนี้ไม่ประจักษ์ยังสงสัย"


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 ธ.ค. 10, 22:21

       ปีที่ฉันสมัครสอบเข้าเป็นนิสิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นเป็นปีที่ ๒  ที่จุฬาเปิดรับนิสิตหญิง

ปีแรก พ.ศ.​๒๔๗๐  เปิดรับเฉพาะคณะแพทย์ศาสตร์    ม.จ. พูนศรีเกษมศรีทรงเป็นคณบดีคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์องค์แรก

ฉันเองพ่ออยากให้เข้าแพทย์   ฉันเองก็ตั้งใจเช่นนั้น    แต่พอมาสมัครเข้า  เพื่อน ๆ ที่มาจากโรงเรียนเดียวกันเขาไปสมัครอักษรศาสตร์หมด

พวกสมัครแพทย์มาจากโรงเรียนราชินี   ฉันสอบได้ที่ ๕   เป็นหนึ่งในสิบของ ๑๐ คนที่ได้ทุน  เกือบถูกตัดออกเพราะอายุน้อยเกินไปเพียง ๑๕​ปี ๙ เดือน

จำคนที่หนึ่งที่สอบอักษรศาสตร์ที่หนึ่งได้  คือ คุณเปลื้อง  ณ นคร


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 ธ.ค. 10, 22:36


ที่นำมาเล่าด้วยความเคารพเห็นว่าน่าอ่านและมีประโยชน์   คือ  ชีวประวัติ ของ ศาสตราจารย์ พันตรีหญิง  คุณหญิงผะอบ  โปษะกฤษณะ

นามสกุลเดิมของท่าน คือ  วิโรจน์เพ็ชร


เกิดเมื่อวันที่ ๔  สิงหาคม  ๒๔๕๕  ณ บ้านเลขที่ ๑๗๗๘ ถนนวรจักร
เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย  กรุงเทพ

ธิดาของ พลตรี พระรณรัฐวิภาคกิจ (อุ่ณห์  วิโรจน์เพ็ชร) อดีตเจ้ากรมแผนที่ทหารบก  และ คุณหญิงผัน (คงศักดิ์)

คุณตาของท่านคือ หลวงอุประถัมภ์หัตถสาร


พี่น้องร่วมบิดามารดา ๗ คน

เจ้าประวัติ

ด.ญ. เล็ก

พันเอกหญิง อุไรโรจน์  วิโรจน์เพ็ชร

นาวาเอก  ณรัฐ  วิโรจน์เพ็ชร

พันเอกหญิง อุบล  ศิริพันธ์

แพทย์หญิง ประยูร  ศาลยาชีวิน

นางพูนสุข  สุประดิษฐ์

นางพูนศรี  วิโรจน์เพ็ชร

(ยังมีต่อค่ะ)


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 ธ.ค. 10, 22:59

สมรสกับ  นายเกษม  โปษะกฤษณะ  บุตรพระยาเกษตรรักษา(เจียง  โปษะกฤษณะ) กับคุณหญิงเกษตรรักษา(แช่ม)

มีบุตรธิดา ๔ คน คือ


๑.  นางมัทนา     สมรสกับ พ.ต.อ. สุพจน์  เกตุนุติ         มีธิดาสองคน  คือ นางสาวฎาร์ฉวี  กับนางสาวปรียานุช


๒.  นางจันทนา   สมรสกับ  ชาร์ล  ซองเกอร์  มีธิดาสองคนคือ น.ส. มาริสา  และ น.ส. โรจนี  กลางเมือง

๓.  นางสาวอิสสรา  โปษะกฤษณะ

๔.  นายอานนท์  สมรสกับ นางสาว วัฒนา  มั่นบุปผชาติ   มีบุตร คือ  พัชรพล


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 ธ.ค. 10, 06:25

คุณหญิงผะอบเริ่มเรียนที่โรงเรียนเสาวภา  แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเบญจมราชาลัยซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู

ในปี ๒๔๗๑  ท่านได้เข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์  แต่เนื่องจากขณะนั้นคณะอักษรศาสตร์ยังไม่มีการสอนถึงขั้นปริญญา 

เมื่อจบปี ๒   จึงต้องไปเรียนที่แผนกคุรุศาสตร์อีก ๑ ปี  จึงได้รับประกาศนียบัตรครูมัธยม

เมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดสอนขั้นปริญญาตรี  แผนกอักษรศาสตร์ ในปี ๒๔๗๗  คุณหญิงผะอบจึงสอบเข้าศึกษาและทำงานไปด้วย

จนได้รับปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิตในปี ๒๔๘๗  วิชาเอกภาษาไทยและประวัติศาสตร์


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 08 ธ.ค. 10, 06:38
ได้มีโอกาสสนทนากับคุณหญิงในบั้นปลายชีวิตของท่าน  แม้จะเริ่มป่วยด้วยโรคมะเร็งแล้ว  ท่านก็ยังเป็นคุณครูที่น่ารัก  สามารถเล่าเรื่องเก้าๆ เป็นวิทยาทานให้ผู้เยาว์อย่างผมฟังได้ร่วม ๓ ชั่วโมง  โดยผมได้แต่รับว่า ครับ ไปตลอด  เรื่องที่ท่านเล่าให้ฟังและยังจำติดหูมาตลอดถึงทุกวันนี้ คือ ท่านว่า ภาษาไทยเป็นไม่กี่ภาษาในโลกนี้ที่มีตัวเลขเป็นของตนเอง  เพราะฉะนั้นคนไทยเราต้องรักตัวเลขไทย  อีกเรื่องที่ท่านเล่าคือ เมื่อครั้งท่านยังเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์นั้น  ท่านยังอายุน้อยมาก  นิสิตที่อายุพอๆ กับท่านคือ ศ.ดร.กัลย์  อิศรเสนา อดีตองคมนตรีและผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย  ท่านเล่าว่า เวลานั้นท่านอายุประมาณ ๑๕ ปีเป็นน้องเล็กในคณะ  หนุ่มวิศวะที่จะมาจีบสาวอักษรจึงมักจะไหว้วานท่านให้เป็นไปรษณีย์ถือจดหมายไปส่ง สาวอักษรที่หมายปอง


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 ธ.ค. 10, 06:38
ท่านเริ่มรับราชการเป็นครูที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย  ย้ายไปโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์

ย้ายไปสอนที่โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย  โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา


ปี ๒๔๙๗  รับปริญญาครุศาสตร์บัณฑิต(เกียรตินิยมอันดับสอง)   และปีต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นนายทหารหญิงรุ่นแรกของกองทัพบก


ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญรอบรู้ในเรื่องภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยมากคนหนึ่ง

และมีความคิดแน่วแน่ที่จะเผยแพร่ฟื้นฟูความสำคัญของภาษาและวัฒนธรรมไทยอย่างต่อเนื่อง

ท่านได้สร้างสรรค์ผลงานอันมีค่าทางวิชาการออกมาเป็นจำนวนมาก





กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 ธ.ค. 10, 07:12
     ขอบคุณคุณวีมีค่ะ  เรื่องนี้ท่านก็เล่าไว้อย่างสนุกสนาน  ในหน้่า  ๑๐๔    "ว่าท่านเดินจดหมายจนบางคนเข้าใจผิดว่าท่านผู้นั้นมาชอบฉัน

จนภายหลังเมื่อเขาจะแต่งงาน  ภรรยาของเขายังสงสัยว่าเรามีอะไรกัน"  พวกนี้มาจากสวนกุหลาบค่ะ



       เมื่อไม่กี่วันมานี้  ได้ไปแวะที่แหล่งหนังสือแห่งหนึ่งเชิงสะพานอรุณอัมรินทร์เพื่อตรวจสอบหนังสือสำคัญ

ปึกหนึ่งที่เดินทางวกวนอยู่ในประเทศไทย    สหายสองคนฝากดูหนังสือต่างประเภทกัน  ดิฉันก็ได้เอกสาร

เกี่ยวกับประเทศฝรั่งเศสมา ๑ เล่ม    รู้สึกเหงามือมาก  จึงคว้าหนังสืออนุสรณ์มาหลายเล่ม  โดยโทรศัพท์ไป

ขอยืมจากเจ้าของที่อยู่ต่างประเทศเพราะไม่ทราบจะตกลงราคากันอย่างไรได้    โบราณทีเดียวค่ะ

อ่านหนังสือของคุณหญิงท่านเล่าไว้อย่างสนุกสนาน    ยังไม่เคยเห็นเรื่องเล่าของเด็กผู้หญิงในช่วงเวลานี้มาก่อน

จึงนำมาฝากเรือนไทย


       เมื่อท่านสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรครูมัธยมจากจุฬา   ท่านได้รับเงินค่าประกันคืน ๒๐ บาท  

ดีใจจนไม่ทราบว่าจะใช้อย่างไรเพราะตลอดมาได้รับค่าใช้จ่ายเดือนละ ๑๐ บาท

เมื่อช่วยกันออกเงินจัดแสดงละครประจำปี  ออกเงินคนละ ๓ บาท


      ครึ้มใจเมื่ออ่าน     และคิดว่าตัวเองยังพอมีสตางค์ออกไปหาหนังสือได้อีกวันนี้  


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 ธ.ค. 10, 13:57

ลูกพี่ลูกร้องของคุณหญิงผอบ  คุณสุพรรณ  อุปถัมภ์หัตถสาร   เขียน "คิดถึงพี่"  ในหน้า (๗๒)


       "พี่อบเป็นหลานคนโตของคุณตา (หลวงอุประถ้มภ์หัตถสาร)  คุณตามีลูกชายสองคน  ลูกสาวสองคน

(คนที่ ๒ และคนที่ ๔)   หลานตาจะเกิดและรวมอยู่ที่เดียวกัน  ข้างวัดจางวางดิษฐ์  ถนนวรจักร

   

       พี่เป็นคนเรียนเก่ง  ได้ทุนตั้งแต่ชั้นประถมถึงมหาวิทยาลัย   มีความจำดีเยี่ยม  ใส่ใจในการเรียนรู้

และโอกาสเป็นสิ่งประกอบให้พี่เก่งเพราะคุณลุงผล(พระบรรสิทธิ์วรสาสน์) และ คุณลุงผิน(หลวงเผดิมวิทยาสูง)

เป็นนักเรียน King's scholarship  ทั้งสองคน      คุณลุงผลต้องสละสิทธิ์เพราะคุณยายไม่ให้ไป
 
คุณลุงผินไปเรียนที่อังกฤษ            แม้จะมีอายุสั้น  พี่อบก็โตพอมีเวลาได้เรียนรู้จากคุณลุง   โดยเฉพาะที่บ้่านมีโรงม้า

(ใกล้สะพานแม้นศรี  ฝรั่งชอบเช่าเพราะรถสวย         ภาษาไทยก็ได้ตาแปลก  ภู่ระหงษ์( หลายปู่สุนทรภู่)สามียายละมุน คนเลี้ยงของแม่และข้าพเจ้า"
   



กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 ธ.ค. 10, 06:52
       คุณหญิงเล่าต่อถึงเพื่อนๆของพี่ข้างบ้านท่านที่เป็นนักเรียนสวนกุหลาบ  ที่ต่อมาเป็นนักประพันธ์กันหลายคน  คือ

ก. พรรธะแพทย์

น. ฤทธาคนี

สันตสิริ   และ

นวนาค


ท่านเล่าว่าหนังสือที่คนติดใจมากคือเกร็ดพงศาวดารจีนที่ลงในหนังสือพิมพ์รายวัน   เป็นเรื่องเหนือมนุษย์ที่คนส่วนมาก

ชอบจินตนาการตามไป   เม่งลี่กุน   เจ็งฮองเฮา   ซิเต็งซัน  อันปังเตี้ยก๊กจี่  ฯลฯ      ชอบกันมากจนเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน

เช่นกินราวกับซิยิ่นกุ้ย  สวยราวกับนางปังเซียนจู

คุณหญิงได้เอ่ยถึงนิยายไทยบางเรื่องที่แสดงฤทธิ์เดช  เช่นวงษ์สวรรค์   จันทวาท


       ใครมีจันทวาท  ช่วยเล่าเรื่องแบบย่อให้ฟังหน่อยเถิดค่ะ


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 12 ก.ย. 12, 14:13
ขอบคุณคุณไซมีสค่ะที่กรุณาส่งภาพ


"ฉัน"  เป็นสุภาพสตรีบรรดาศักดิ์ค่ะ   มียศในราชการด้วย


ตอนนี้เรื่องยังยืดอยู่  แต่ท่านเล่าเรื่องได้แปลกค่ะเพราะเป็นข้อมูลต้นรัชกาลที่ ๖

มีบางเรื่องดิฉันก็เคยอ่านในหนังสือภาษาอังกฤษที่ท่านต้มน้ำโดยใช้ตะเกียงลาน

ประมาณคุณแม่บ้านชงน้ำชาเลี้ยงครูสอนหนังสือที่พึ่งย้ายมาใหม่

"... เมื่อฉันเกิดยังใช้ตะเกียงลาน ตะเกียงลานนั้นถ้าต้องการให้ไฟสว่างนวลต้องหมั่นไขลาน ใช้เป้นที่ต้มน้ำได้เสร็จ โดยใส่สามขาซึ่งเป็นเหล็กทำให้พอดีกับบ่าตะเกียงสวมลงไป มีเหล็กแหลมยื่นออกมา ๓ ข้างไว้รับน้ำหนักกา ตอนค่ำๆ คุณทวดท่านชอบต้มน้ำชงชาเลี้ยงคนที่มาอ่านหนังสือให้ฟัง ..."



กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 12 ก.ย. 12, 15:38
คุณหญิงฯ ท่านเล่าไว้ว่า

... ในปีที่ฉันได้รับปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิตนั้น มีเพื่อนร่วมรุ่นกันมาแต่เดิมเพียง ๕ คน ฉันเป็นผู้หญิงคนเดียว ... พวกที่จบในปีนั้น นับเป็นอักษรศาสตร์บัณฑิตรุ่นแรก คือ ๒๔๗๘

เมื่อฉันมาทำงานได้ ๓ ปีก็ได้ทราบว่าทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเปิดชั้นปริญญาตรีแผนกอักษรศาสตร์ และได้เปิดแผนกวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์แล้วในปี ๒๔๗๖ และอนุญาตให้ผู้ที่สำเร็จประโยคครูมัธยมจากจุฬาลงกรณ์ฯ ซึ่งศึกษามาแล้ว ๓ ปีเข้าศึกษาต่อได้แต่ต้องสอบคัดเลือกใหม่ พวกเพื่อนทั้ง ๓ รุ่น หลายคนไปสอบคัดเลือกและลาออกจากราชการเข้าไปศึกษาต่อ จึงรวมเป็นนิสิต ๕ รุ่นที่เข้ามาศึกษาปีที่ ๓ พร้อมกันคือ ตั้งแต่รุ่นที่ ๑-๕ (๒๔๗๑-๒๔๗๕) ...

... ปริญญาบัตรที่ได้รับแปลกกว่ารุ่นอื่นๆ คือทำด้วยหนังหมูและมีใบสีชมพูประทับบนแผ่นปริญญาบัตร ปีต่อๆ มาไม่มีแบบนี้เลย ...

...

การรับปริญญารุ่นแรกโกลาหลมากเพราะทุกคนจะต้องเตรียมเสื้อครุยปริญญาอักษรศาสตร์ เดินเส้นสีเทา ปีนั้นประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป้นผู้ประทานแทนองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งประทับอยูที่โลซานต์

การรับปริญญารับที่เรือนไม้ข้างตึกจักรพงศ์เดี๋ยวนี้ (เดิมเป็นที่รับประทานอาหาร) เพราะยังไม่ได้สร้างตึกจักรพงศ์ จำนวนนิสิตมากจึงใช้สถานที่นี้



กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 12 ก.ย. 12, 16:06
ครูฝรั่งในภาพ อาจจะเป็นครูเดวีส์ (Mr. Davies) ที่คุณหญิงผะอบ ท่านกล่าวถีงไว้ก็ได้

"ฉันได้ข้ามตึกมาเรียนวิชาครูที่ตึกอักษรศาสตร์ ...เมื่อเรียนอยู่ ฉันโกรธครู Davies มาก หาว่าเคี่ยวเข็ญ ให้การบ้านมาก ... ครูเดวี่ส์กวดขันพวกเรามากจึงเรียกกันว่าครู Davies คือคล้ายครูไทยปฏิบัติต่อนักเรียน เราก็โกรธในบางครั้ง นินทาบ้าง ..."

ในสมัยที่ท่านเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ยังไม่มีเครื่องแบบนิสิตหญิง จะมีปีไหนยังค้นไม่พบ





กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 12 ก.ย. 12, 16:40
พอขึ้นปีที่ ๒ นิสิตทุกคณะย้ายที่เรียนไปอยู่ที่ตึกวิทยาศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราเรียกกันว่าตึกขาว ขณะนั้นยังสร้างไม่เสร็จเรียบร้อยดี ที่เรียกว่าตึกขาวเพราะทาสีขาว นับว่าเป็นตึกที่ ๒ ที่ได้สร้างขึ้น

นิสิตหญิงอาศัยห้อง Lab ซึ่งยังไม่มีเครื่องมือทางด้านซ้ายของตึกเป็นห้องพัก มีห้องสมุดเล็กๆ เวลาเรียนก็อาศัยห้องบรรยายบ้าง ห้อง Lab ที่มีม้านั่งบ้าง คณบดีท่านก็ยังเข้มงวดเป็นระเบียบอย่างเดิม พอเปลี่ยนชั่วโมงครั้งหนึ่งก็เปลี่ยนห้องกันครั้งหนึ่งเหมือนปัจจุบันนี้ อาจารย์ภาษาอังกฤษก็เปลี่ยนไปเป็นอาจารย์เดวี่ส์ ซึ่งเคยอยู่เมืองไทยมา เป็นคนขยันมากและเจ้าระเบียบ ให้การบ้านบ่อย



กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 15 ก.ย. 12, 01:49
... ส่วนเปลตาข่ายนั้นมีปากเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทำด้วยไม้สัก คือใช้ไม้สี่ท่อนมาต่อกัน เจาะช่องสำหรับสอดด้ายถัก ก้นเปลเป็นไม้สักอีกแผ่นหนึ่งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเช่นกัน ขนาดย่อมกว่าปากเปลเพื่อให้ก้นเปลสอบนิดหน่อย รอบๆ กระดานแผ่นนั้นเจาะเป็นรูรอบๆ ไว้สอดด้ายถัก ผู้ถักเปลจะถักจากขอบลงมาเป็นลวดลายต่างๆ แล้วมายึดกับก้นเปลทิ้งชายไว้ข้างล่างให้สวยงาม ที่ขอบเปลทางปากสี่มุมจะมีที่ยึดให้ผุกเชือกโยงไปยึดกับตงหรือรอดใต้ถุนบ้านหรือบนเรือน เปลชนิดนี้โปร่งเย็นสบาย ...

... เปลตาข่ายสมัยก่อนนั้นเป็นการส่งเสริมศิลปะไปด้วยในตัว เพราะส่วนมากมักจะถักเองและประกวดประขันลวดลายต่างๆ วิธีถักใช้การพันด้ายโยงไปมาให้เป็นดอกเป็นลวดลาย ของใครสวยก็เป็นการแสดงฝีไม้ลายมือกัน เรียกเปลเรียกเป็นปาก เปลปากหนึ่งๆ บางทีลูกนอนต่อๆ กันได้ถึง ๓-๔ คนยังไม่ขาด ...


กระทู้: สาวชาวกรุง ๒๔๕๕
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 31 ธ.ค. 12, 15:10


ที่นำมาเล่าด้วยความเคารพเห็นว่าน่าอ่านและมีประโยชน์   คือ  ชีวประวัติ ของ ศาสตราจารย์ พันตรีหญิง  คุณหญิงผะอบ  โปษะกฤษณะ

นามสกุลเดิมของท่าน คือ  วิโรจน์เพ็ชร


เกิดเมื่อวันที่ ๔  สิงหาคม  ๒๔๕๕  ณ บ้านเลขที่ ๑๗๗๘ ถนนวรจักร
เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย  กรุงเทพ

ธิดาของ พลตรี พระรณรัฐวิภาคกิจ (อุ่ณห์  วิโรจน์เพ็ชร) อดีตเจ้ากรมแผนที่ทหารบก  และ คุณหญิงผัน (คงศักดิ์)

คุณตาของท่านคือ หลวงอุประถัมภ์หัตถสาร


พี่น้องร่วมบิดามารดา ๗ คน

เจ้าประวัติ

ด.ญ. เล็ก

พันเอกหญิง อุไรโรจน์  วิโรจน์เพ็ชร

นาวาเอก  ณรัฐ  วิโรจน์เพ็ชร

พันเอกหญิง อุบล  ศิริพันธ์

แพทย์หญิง ประยูร  ศาลยาชีวิน

นางพูนสุข  สุประดิษฐ์

นางพูนศรี  วิโรจน์เพ็ชร

(ยังมีต่อค่ะ)

ท่านเล่าไว้ว่า "..พ่อมีเชื้อสายราชนิกูลก็จริง แต่คุณย่าเป็นชาวต่างจังหวัดแท้ .."

หมายถึง สกุล ณ บางช้าง หรือไม่ครับ