เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: chupong ที่ 17 พ.ค. 12, 14:56



กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 17 พ.ค. 12, 14:56
เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ณ เรือนไทยหลังนี้ทุกท่านครับ

   ย้อนหลังกลับไปต้นเดือนพฤษภาคมของเมื่อ ๒๐ ปีก่อน เด็กชายชูพงค์อายุสิบสี่ขวบ กำลังเพลิดเพลินกับความรักแบบลูกสุนัข เพราะริจีบผู้หญิงเป็นหนแรก ซ้ำสำราญสำเริงเล่นอย่างสนุกสนานตามวัยอยู่ ณ จังหวัดอุดรธานี อบอุ่นกับครอบครัวจนมิสนอกสนใจสิ่งใดทั้งสิ้น เวลาล่วงเลยไปจวบกลางเดือน คุณน้ามารับผมกลับกรุงเทพฯ เนื่องจากใกล้เปิดภาคเรียนเต็มที ผมจำได้ครับว่ากลับมาถึงบ้านที่ซอยระนองสอง (สถานพำนักขณะนั้น) วันอาทิตย์ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ แม้จะได้ยินญาติผู้ใหญ่ทางบ้านท่านคุยกันเรื่องผู้ชุมนุมประท้วงก็ทำหูทวนลมเสีย

   รุ่งขึ้น วันจันทร์ ๑๘ พฤษภาคม ตื่นเช้ารู้ว่าโรงเรียนหยุด แทนที่จะฉงนสนเท่ห์ ซักไซ้ไต่ถามผู้ปกครองให้รู้เรื่องราวโดยละเอียด กลับเฮลั่นบ้าน ผลาญเวลาไปกับวิทยุ ฟังเพลง ฟังละคร ขณะคุณยายคุณน้าติดตามสถานการณ์ทางโทรทัศน์อยู่ทุกระยะ รุ่งขึ้น ๑๙ พฤษภาคม คุณยายตัดสินใจพาพวกเราอพยพไปอยู่กับน้าชายชั่วคราวที่บ้านเขตบึงกุ่ม (อันกลายมาเป็นเหย้าอาศัยถาวรในปัจจุบัน) เพราะมีคนกลุ่มใหญ่ถือป้ายมาชุมนุมออหน้าบ้านพักของพลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งอยู่ซอยระนองสองนั่นเอง ท่านเกรงเกิดเหตุรุนแรงขึ้นโดยมิคาดฝัน แล้วจะฉุกละหุกพัลวัน เลยย้ายครอบครัวออกมาเสียก่อน ผมไม่มีวันลืมชั่วชีวิตครับ ว่าได้ฟังพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวร่วมกับวงศาคณาญาติ ครั้นกระแสพระราชดำรัสจบลง ทุกคนรู้ทันที เหตุวิกฤตทั้งมวลคลี่คลายแล้ว รุ่งขึ้น ๒๐ พฤษภาคม คุณยายพาพวกเราย้ายกลับบ้านระนองสองตามเดิม แหละหากความจำของผมไม่เลือนเลอะ ผมคลับคล้ายคลับคลาว่า วันที่ ๒๐ พฤษภาคม จะได้ยินเสียงพระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์อยู่เป็นระยะๆด้วย

   ครับ ทั้งหมดดังได้กล่าวมา คือเรื่องเล่าเล็กๆของเด็กด้อยเดียงสาคนหนึ่ง เด็กที่เกิดทันก็เสมือนไม่ทันประวัติศาสตร์ของชาติไทย อันถูกขนานสมยา “พฤษภาทมิฬ” ล่วงมาถึงวันนี้ สองทศวรรษเวียนบรรจบ ผมคิดถึงความหลังเป็นอย่างยิ่ง จึงขออนุญาตตั้งกระทู้ ขอความรู้ ประสบการณ์ตรงจากท่านผู้เคยผ่าน เคยมีส่วนร่วม หรืออาจได้รับผลกระทบกระเทือนจากสงครามนองเลือดครั้งกระนั้นครับ ผมมิมีเจตนาใดๆเร้นแฝงแม้สักน้อย นอกจากปองประสงค์ให้ห้องประวัติศาสตร์ของเว็บไซต์เรือนไทยได้จดจารอีกหนึ่งฉากนาฏกรรมสำคัญของบ้านเมือง เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาแก่มหาชนสืบไป ผมเชื่อครับ ว่าวิธีคุยแบบเล่าสู่กันฟังย่อมอ่านสนุกกว่าการพลิกหนังสือสารคดีทั้งเล่มมากมายนัก สุดท้ายนี้ ขอเรียนเชอญท่านที่เคยพบพาน ได้รู้ ได้เห็น ได้ยินสิ่งต่างๆในเหตุจลาจลเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ โปรดสละเวลาถ่ายทอดเรื่องราวของท่านตามแต่จะการุณย์ด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ




กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 พ.ค. 12, 15:35
เรียนคุณชูพงค์

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงอีกครั้งหนึ่งในด้านการเมืองไทย เป็นเหตุการณ์ที่เป็นบทเรียนให้กับการเมืองไทยได้เป็นอย่างดี รัฐธรรมนูญที่ออกมาหลังเหตุการณ์ดังกล่าวมีผลให้คณะรัฐมนตรีต้องยื่นชี้แจงหลักทรัพย์เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตก่อนและหลังเข้าดำรงตำแหน่ง ส่วนในภาพสื่อสารมวลชนได้เกิดสถานีโทรทัศน์ภาคประชาชนขึ้นเป็นครั้งแรกและออกอากาศประมาณปี พ.ศ. 2536 คือ สถานีไอทีวี

ต้อนขอลำดับเหตุการณ์ย้อนหลังไปก่อนหน้านี้ช่วงปี พ.ศ. 2533 - 2534 อันเป็นสมัยที่การเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยประชาชนเทคะแนนเสียงให้กับพรรคชาติไทยได้จัดตั้งรัฐบาล นำโดยพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ
ต้องยอมรับว่านโยบายด้านการเมืองของท่านคือ "การเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า" อันมีผลกระตุ้นให้เศรษฐกิจเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการซื้อขายที่ดิน

รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคการเมือง มีพรรคกิจสังคมโดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชและนายมนตรี พงษ์พานิช, พรรคประชาธิปัตย์ (นายชวน หลีกภัย ก็เพิ่งเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมือง), พรรคพลังธรรม, พรรคเอกภาพ, พรรคราษฎร, พรรคประชากรไทย

ปัญหาการเมืองในขณะนั้นพัวพันเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตในหลาย ๆ ด้านของตัวรัฐมนตรีต่าง ๆ และการครอบงำของสายบ้านราชครู ซึ่งพัวพันเกี่ยวเนื่องในระบบเครือญาต ทั้งหลายเหล่านี้เป็นผลให้เกิดการปฏิวัตรัฐประหารยึดอำนาจขึ้น โดย พลเอกสุนทร คงสมพงษ์, พลเอกสุจิดา คราประยูร, พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล, พลเอกอิสสรพงษ์ หนุนภักดี และ พลเรือโทประพัฒน์ กฤษณจันทร์ รวมตัวกันภายใต้ชื่อ ครธรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ย่อกันว่า "รสช" เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 พ.ค. 12, 15:49
เมื่อคณะรสช ได้เข้าทำการยึดอำนาจแล้ว ก็ต้องมีนายกรัฐมนตรีขึ้นมาปกครองจึงคัดสรรคบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่ง คือ "นายอานันท์ ปัญญารชุน" ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประธาน รสช โดยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ เป็นประธานร่างรัฐธรรมมูญฉบับ พ.ศ. 2535 ขึ้้นมา โดยภายในปีกว่า การร่างรัฐธรรมนูญจวนแล้วเสร็จเพื่อปกป้องมิให้นักการเมืองทุจริตคอรัปชั่น

พลเอกสุจินดา คราประยูรได้ให้สัมภาษณ์ว่าหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะไม่ขอเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ท้ายสุดท่านก็ต้องหลั่งน้ำตาเพื่อชาติ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตรงนี้เองเป็นจุดหนึ่งที่เติมเชื้อไฟให้กับการประท้วงว่า กลืนน้ำลายตนเอง


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 พ.ค. 12, 16:15
เรื่องราวของนักการเมือง ชิงไหวชิงพริบกัน

ระหว่างขวบปีที่คณะ รสช เข้าปกครองโดยมีนายอานันท์ ปัณยารชุน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้วก็ให้มีการเลือกตั้งกันใหม่พร้อมกันทั้งประเทศ โดยผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 ผลการเลือกตั้งออกมาได้ว่า

พรรคการเมืองที่เลือกตั้งได้ที่นั่ง สส. มากที่สุดคือ พรรคสามัคคีธรรม รองลงมาคือ พรรคชาติไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคกิจสังคม ซึ่งพรรคสามัคคีธรรมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ต้องรวบรวมเสียงในสภาให้ได้มากกว่ากึ่งหนึ่งจึงจัดคณะรัฐบาลได้ แต่พรรคการเมืองที่จัดได้เป็นแบบพรรคผสม ซึ่งแต่ละพรรคก็มีอำนาจการต่อรองระหว่างกัน

แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งแต่ก็ยังอยู่ในความควบคุมของ คณะ รสช ซึ่งพรรคการเมืองก็ต่างที่จะเสนอชื่อ พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิลขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ได้กล่าวแนะนำไว้แล้ว แต่ท้ายที่สุดผลกลายเป็นว่า พรรคการเมืองได้พลิกเสนอชื่อ นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ในการถ่ายทอดสดการเข้ารับพระราชทานแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ที่บ้านนายณรงค์ วงศ์วรรณ ได้จัดโต๊ะหมู่พร้อมพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมพานที่จะวางพระราชโองการ นายณรงค์แต่งชุดข้าราชการสีขาวไว้พร้อมสรรพ แต่ทันใดนั้นเอง มีการแสช่าวจากรอยเตอร์ถึงเรื่องสถานะของนายณรงค์ ที่เข้าไปพัวพันเรื่องคดียาเสพติด เป็นอันว่าท่านจึงพ้นวาระที่จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ในขณะเดียวกันพลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล พลอากาศเอกสุเทพ เทพรักษ์ และพลโทชัยณรงค์ หนุ่นภักดี ได้หารือกับพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ โดยปรึกษาว่าการขึ้นดำรงตำแหน่งของนายณรงค์ วงศ์วรรณ ยังไม่กระจ่างเรื่องคดียาเสพติด ดังนั้นขอให้ "พลเอกสุจินดา คราประยูร" ขึ้นเป็น "นายกรัฐมนตรี" ในวันที่ี 4 เมษายน 2535


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 พ.ค. 12, 16:26
ครงนี้เองที่มีกระแสต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในการเข้ารับดำรงตำแหน่งของพลเอกสุจินดา คราประยูร เช่น เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า, ถุยน้ำลายรดฟ้า, กลืนน้ำลายตนเอง เป็นต้น จำได้ว่าท่านกล่าวพร้อมกับน้ำตาว่า "เข้ารับตำแหน่งเพื่อชาติ"

ในเวลาเดียวกันการเมืองเข้มขันและพัฒนาการต่อต้านขึ้นเป็นลำดับ เริ่มต้นจาก ร้อยตรีฉลาด วรฉัตร ประกาศอดข้าวประท้วงปักหลักกางมุ้งอยู่ข้างทำเนียบรัฐบาลจนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง มีการประท้วงวางพวงหรีดโดยสมาพันธ์นักศึกษา

ในด้านนักการเมือง มีการปล่อยตัวนัการเมืองที่ถูกยึดทรัพย์ ให้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ และนักการเมืองแต่ละพรรคก็ยังไม่พ้นที่จะเข้าแย่งตำแหน่งรัฐมนตรีในตำแหน่งสำคัญ ๆ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 พ.ค. 12, 16:40
เมื่อ 30 เมษายน พ.ศ. 2535 นายฉลาด วรฉัตร ที่อดข้าวประท้วงอยู่ ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลเนื่องจากอดอาหารอย่างรุนแรง ซึ่งก่อนหน้านี้นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะได้เข้าร่วมการอดอาหารเพื่อประท้วงร่วมด้วย หลังจากที่นายฉลาด วรฉัตรได้เข้าโรงพยาบาลแล้วพลตรี จำลอง ศรีเมือง ได้เริ่มเข้าอดข้าวประท้วงต่อ (พลตรีจำลอง ศรีเมือง เมื่อ 2 - 3 ปีก่อนหน้านี้ท่านได้ดำรงตแหน่งผู้ว่ากรุงเทพมหานครและลาออกจากตำแหน่งราวกลางปี พ.ศ. 2534)

ท่านไม่ยอมพูดใด ๆ นอกจากการใช้ปากกาเขียนแทนคำพูด อาบน้ำ 5 ขันท่านก็อยู่ได้ ไม่นานนายฉลาด วรฉัตรก็ออกจากโรงพยาบาล กลับเข้าประท้วงอดอาหารด้วยกัน ตรงนี้เองการชุมนุมทางการเมืองเริ่มขยายตัวเป็นอย่างมาก มีผู้ชุมนุมทางการเมืองมาให้กำลังใจกันอย่างมาก ราววันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2535

วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 "ประกาศกองอำนวยกลาง กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติภายในประเทศ ฉบับที่ 1"
ห้ามประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง ระหว่างนี้เองกลุ่มผู้ชุมนุมราว 30 คนได้นั่งล้อมพลตรีจำลอง ศรีเมืองเพื่อปกป้องจากการเข้าจับกุมตัว


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 พ.ค. 12, 16:50
ในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เวลาค่ำ พลตรีจำลอง ศรีเมืองได้เขียนจดหมายออกมาฉบับหนึ่งว่า ต้องการย้ายที่ชุมชุมไปสนามหลวง เนื่องจากเข้าออกได้หลายทาง ผู้คนรวมตัวกันได้มาก ไม่เหมือนที่บริเวณหน้าทำเนียบ หากถูกปิดล้อมย่อมทำได้ง่ายกว่ามาก

ในห้วงเวลาการชุมนุมดังกล่าว มีกระแสว่าทหารจะใช้กำลังสลายตัวอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ไม่เป็นผลมากนัก

วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 มีผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ท้องสนามหลวงราวสองแสนคน กองทัพภาคที่ 1 ได้นำรั้วลวดหนามมาเตรียมตัวไว้พร้อมใช้งาน คืนนั้นพลตรีจำลอง ได้ปลุกมวลชนเดินออกจากท้องสนามหลวง ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเดินทางไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งไม่มีจุดประสงค์แน่ชัดว่าจะไปทำอะไร แต่ก็ไปได้เพียงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ที่มีรั้วลวดหนามวางขวางอยู่กลางท้องถนน


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 พ.ค. 12, 18:18
9 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พลตรีจำลองศรีเมือง ได้ประกาศเลิกการอดอาหารและยื่นจดหมายลาออกจากพรรคพลังธรรม ในขณะเดียวกันหหารก็นำรั้วลวดหนามมากั้นไว้ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ

วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เป็นวันที่ผมฟังข่าวแล้วด้วยความกระวนกระวาย เนื่องด้วยมีข่าวว่าจะมีการเสด็จพระราชดำเนินผ่านพื้นที่ชุมนุมไปยังท้องสนามหลวง เพื่อเปิดงานสัปดาห์พระพุทธศาสนาในราว 17.00 นาฬิกา กลุ่มผู้ชุมนุมได้เปิดเส้นทางบริเวณถนนราชดำเนินเพื่อให้ขบวนเสด็จผ่าน และมีการออกโทรทัศน์ชี้แจงทำแผนที่ขบวนเสด็จ

แต่ท้ายที่สุดทางตำรวจก็เลี่ยงที่จะใช้เส้นทางถนนราชดำเนิน ขบวนเสด็จใช้วิธีการอ้อมไปอีกเส้นทางหนึ่งจะดีกว่ายอมให้ขบวนเสด็จผ่าน


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 พ.ค. 12, 18:38
วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ราว 6 โมงเย็น นายแก้วสรร และนายขวัญสรวง อติโพธิ, นายแพย์สันต์ หัตถีรัตน์ พร้อมอาจารย์จากจุฬาฯ, นายธีรยุทธ บุญมี และนายวีระมุสิกพงศ์ ได้เดินทางเข้ามาร่วมการชุมนุม

ประชาชนต่างหลั่งไหลเข้าร่วมการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง มีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ สลับกับข่าวเรื่องจะมีการสลายการชุมนุม ดังนั้นมีการเสนอให้หยุดการชุมนุมไว้ และจะรวมตัวกันใหม่

เวลาล่วงเลยไปถึงตีสามของเช้าวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พลตรีจำลอง ศรีเมืองได้ขึ้นเวทีประกาศพักการชุมนุมและจะนัดให้มีการชุมนุมกันใหม่ในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535

แต่ระหว่างพักการชุมนุม ยังคงมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง คือ มีการเผาหุ่น พลเอกสุจินดา คราประยูร


วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ร้อยตรีฉลาด วรฉัตร ได้ย้ายการประท้วงจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังถนนนครปฐม ข้างทำเนียบรัฐบาล ประกาศมั่นว่าจะประท้วงด้วยการอดอาหารให้ พลเอกสุจินดา คราประยูรลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากไม่ยอมตนก็พร้อมที่จะตาย

ในขณะเดียวกันทางการเมืองฝ่ายรัฐบาลก็ประกาศให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่สามารถจะเสร็จสิ้นได้ภายใน 1 อาทิตย์ ตรงนี้เองทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจ เห็นว่าพลเอกสุจินดายื้อเวลาเสียมากกว่า ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญหัวข้อดังกล่าว คือ เรื่องที่นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง

วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตย 25 องค์กร ประกาศจัดตั้งสมาพันธ์ประชาธิปไตย เตรียมแผนชุมนุมครั้งใหญ่วันที่ 17 พฤษภาคม มีเจตนาให้พลเอกสุจินดา คราประยูรลาออกจากตำแหน่ง และเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายก มาจากการเลือกตั้ง


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 12, 18:42
การเผชิญหน้ากันระหว่างประชาชนและทหาร


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 พ.ค. 12, 18:56
วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2535

สภาอาจารย์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสมาคมอาจารย์อุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ร่วมทำจดหมายเปิดผนึก ไปยังหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค ให้จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้เป็นประเด็นที่ต้องทำแบบเร่งด่วน

องค์กรครูทั่วประเทศ ประชุมที่โรงแรมรอยัล หัวมุมถนนราชดำเนิน ตั้งผู้ประสานงานฝ่ายครู เพื่อร่วมเคลื่อนไหวร่วมกับสมาพันธ์ประชาธิปไตย

สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประกาศจุดยืนสนับสนุนการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข


วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2535
ในช่วงเวลาทั้งหมด สื่อมวลชนสถานีโทรทัศน์ช่อง 3, 5 , 7, 9 และสำนักช่าวไอเอ็นเอ็น, วิทยุ จส. 100 ออกแถลงการณ์ว่าการนำเสนอข่าวนั้นในทำนองว่า ประชาชนรู้สึกผิดหวังการนำเสนอข่าวที่ถูกควบคุมโดยรัฐและตกที่นั่งลำบากในการนำเสนอ


วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535
ที่เวทีท้องสนามหลวง มีการขึ้นเวทีโจมตีรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง ราวสามทุ่ม กลุ่มผู้ชุมนุมราวสองแสนคน ได้เคลื่อนตัวออกจากท้องสนามหลวง ไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อให้กำลังใจร้อยตรี ฉลาด วรฉัตร ที่อดข้าวประท้วงอยู่ที่ข้างทำเนียบรัฐบาล


ราว สามทุ่มยี่สิบนาที กลุ่มผู้ชุมนุมไม่สามารถเดินข้ามสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กั้นลวดหนามไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินผ่านไปได้ ตรงนี้เองมีการยั่วยุไปมาระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจ จนสถานการณ์ชุลมุน มีการฉีดน้ำจากรถดับเพลิงไปยังกลุ่มผู้ชุมนุม และเป็นเหตุการณ์ปะทะกันเกิดขึ้น กลุ่มผู้ชุมนุมได้ขว้างปาขวด ถุงน้ำแข็งเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 พ.ค. 12, 19:06
ในขณะนั้นเองกลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมยึดรถดับเพลิงไว้ และทุบกระจกรถดับเพลิงเสียหาย ภายหลังตำรวจได้ยึดรถคืนได้ในที่สุด สถานการณ์มิอาจจะควบคุมได้ ราว 22.15 น. เกิดการปะทะที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจนมีผู้บาดเจ็บ 7 ราย ในขณะเดียวกันท้ายขบวนที่อยู่ท้องสนามหลวงได้เรียกร้องให้รถพยาบาลมารับตัวผู้ป่วยออกไปจากที่ชุมนุม

เวลา 22.20 น. ตำรวจตระเวนชายแดนได้รับคำสั่งให้เข้าคุมพื้นที่และนำเครื่องกีดขวางมาขวางไว้ บางส่วนผู้ชุมนุมได้เคลื่อนตัวออกจากรั้วลวดหนามไปได้

เวลา 22.55 น. กลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ใช้เครื่องขยายเสียงให้ผู้ชุมนุมเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ หน้ากรมโยธา (เก่า) ให้ทำลายเครื่องกีดขวาง

เวลา 23.00 น. พลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้เคลื่อนรถปิกอัพที่ใช้ปราศรัยมายังสะพานผ่านฟ้าเรียกร้องให้ประชาชนนั่งลง ๆ เพื่อเป็นการประท้วงอย่างสงบ ไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินต่อไป แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีการนั่งลง เนื่องจากยังติดค้างกับอารมณ์ที่เกิดการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เวลา 23.15 น. ประชาชนเริ่มที่จะสงบเริ่มนั่งลง มีการประกาศว่าจะมีวงดนตรี แอ๊ด คาราบาวมาเล่น และให้กลุ่มผู้ชุมนุมใช้หลักอหิงสา ไม่ใช้ความรุนแรง


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 พ.ค. 12, 19:17
ล่วงเข้าวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2535

เวลา 01.25 น. มีการลุกฮืออีกครั้งจากกลุ่มผู้ชุมนุม บริเวณสะพานผ่านฟ้า

เวลา 01.30 น. มีการปะทะกับตำรวจ มีผลทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมถอยร่นไปทางสะพานขาว

เวลา 1.40 น. พลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้ขึ้นเวทีขอให้ประชาชนอย่าใช้ความรุนแรงให้ถอยกลับเข้ามาแบบอหิงสา และอย่าตกเป็นเครื่องมือของบุคคลที่สาม

เวลา 1.45 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ออกคำสั่งมหาดไทย ห้ามชุมนุมเกิน 10 คน และห้ามตีพิมพ์สิ่งพิมพ์ที่กระทบต่อความมั่นคง หรือก่อความวุ่นวายและประกาศให้กระทรวงศึกษาปิดโรงเรียน 3 วัน

เวลา 1.50 น. กลุ่มวัยรุ่น 200 - 300 คนได้ขว้างปาสิ่งของเข้าไปในสถานีตำรวจนางเลิ้ง ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนินกลาง

เวลา 2.30 น. กลุ่มวัยรุ่นดังกล่าวได้ยึดสถานีตำรวจนางเลิ้ง

เวลา 2.58 น. เผาสถานีตำรวจนางเลิ้ง พร้อมรถอีก 10 คัน

เวลา 3.00 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ประกาศจะใช้กำลังทหารบก เรือ อากาศ ตำรวจและพลเรือนเข้ากวาดล้าง ขอให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องให้ออกจากพื้นที่



กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 พ.ค. 12, 19:25
เวลา 3.10 น. ทหารและตำรวจได้เคลื่อนตัวออกมาทางสะพานมัฆวานฯ เคลื่อนเข้าสะพานวันชาติ เพื่อไปสู่สะพานผ่านฟ้าฯ ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้ชุมนุมได้สร้างแนวป้องกัน ลากกระถางต้นไม้ที่ประดับไว้รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมาวางไว้เป็นแนวป้องกัน

เวลา 3.13 น. มีกลุ่มชนวิ่งอย่างตระหนกจากสะพานผ่านฟ้าอย่างชุลมุน รายงานว่าเกิดเสียงระเบิดและไฟไหม้สนามมวยราชดำเนินและร้านไก่ย่าง ในขณะเดียวกันพลตรีจำลอง ศรีเมืองประกาศว่าได้จับตัวผู้ก่อเหตุเผาสถานีตำรวจส่งให้ดำเนินคดี

เวลา 3.25 น. เกิดไฟไหม้รถมอเตอร์ไซด์ของตำรวจหน้าสถานีตำรวจนางเลิ้ง

เวลา 3.40 น. ประชาชนแตกตื่นอีกครั้งเมื่อได้ยินเสียงปืนยิงมาจากทหาร

เวลา 3.55 น. ทหารและตำรวจเคลื่อนตัวเข้ามายังถนนดินสอ ประมาณพันคน ขณะมีกระถางต้นไม้ขวางอยู่เป็นแนวป้องกัน

เวลา 3.58 น. ตำรวจปิดถนนศรีอยุธยามุ่งหน้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

เวลา 4.03 น. ทหารประมาณ 400 รายเคลื่อนตัวถึงสี่แยกจักรพรรดิพงษ์


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 พ.ค. 12, 19:33
เวลา 4.05 น. ที่แยกคอกวัว ทหารได้ห้ามสื่อมวลชนห้ามถ่ายภาพ กลุ่มวัยรุ่นได้ขึ้นรถ 6 ล้อพุ่งเข้าชนทหาร

เวลา 4.06 น. กำลังทหารตำรวจ เรียงแถวเข้ามาทางถนนราชดำเนินนอก 3 แนวมุ่งหน้าสะพานผ่านฟ้าลีลาศ พร้อมรถยีเอ็มซี 11 คัน

เวลา 4.09 น. ทหารยิงปืนขึ้นฟ้า

เวลา 4.10 น. ตำรวจตระเวนชายแดนเคลื่อนตัวพร้อมกระบองเข้ายังฝูงชน

เวลา 4.12 น. มีการเจรจาระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร

เวลา 4.13 น. กลุ่มวัยรุ่นยั่วยุโดยการบิดมอร์ไซด์ปาดไปมาหน้ากองกำลัง

เวลา 4.15 น. ทหารยิงปืนขึ้นฟ้านับหมื่นนัด ระหว่างนี้ "ไม่รู้มีใครยิงเข้าใส่ฝูงชน" ทหารด้วยกันเองยังร้องว่ายิงเข้าไปทำไม ช่างภาพและนักข่าวถูกยึดฟิล์ม

เวลา 4.18 น. ศพผู้เสียชีวิตเริ่มออกมา ทำให้ประชาชนตระหนก


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 พ.ค. 12, 19:45
เวลา 4.37 น. กำลังตำรวจตระเวนชายแดน เสริมเข้ามายังถนนจักรพรรดิพงษ์กว่า 100 นาย

เวลา 4.45 น. ผู้ชุมนุมนำรถสิบล้อ 7 คันมาปิดถนนตะนาว

เวลา 4.48 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ประกาศเรื่องกองกำลังของทางราชการได้กวาดล้างผู้ก่อความไม่สงบ ขอให้ประชาชนอย่าเดินทางไปสะพานผ่านฟ้าลีลาศและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเด็ดขาด

เวลา 4.55 น. ตำรวจและทหารได้ขอรถดับเพลิงเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีประมาณ 4 หมื่นคน

เวลาต่อไปจนถึงเวลา 5.35 น. มีร่างผู้บาดเจ็บและเสียชิวิตต่างถูกหามออกมาเรื่อย ๆ

เวลา 5.35 น. ทหารประกาศให้เวลาอีก 3 นาทีในการสลายชุมนุม

เวลา 5.37 น. มีเสียงปืนดังขึ้นบริเวณสะพานผ่านฟ้า ในขณะที่ประชาชนหมอบลง ประชาชนที่เหลือเข้าใจว่าทหารได้ลุยเข้ามา ในขณะที่ตำรวจดับเพลิงใช้ที่ฉีดน้ำเข้ากลุ่มชุมนุม ทำให้ผู้คนหนีกันอลหม่าน แตกตื่นกันไปหมด

เวลา 5.41 น. ทหาร 20 คันรถพร้อมลวดหนามวิ่งไปยังสะพานผ่านฟ้า ผู้ชุมนุม 1 หมื่นคนนั่งอยู่ที่เดิม อีก 2 หมื่นแตกกระจาย

เวลา 5.44 น. มีเสียงปืนมาจากกลุ่มผู้ชุมนุมใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ในเวลาเดียวกันประชาชนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเคลื่อนตัวเข้ามายังสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

เวลา 5.45 น. รถดับเพลิงถอยออกจากที่ชุมนุมเพราะว่าน้ำหมด ประชาชนร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี กล่มผู้ชุมนุมลุกยืนในขณะที่ทหารยิงปืนขึ้นฟ้ารัวยาว


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 พ.ค. 12, 19:56
เวลา 5.47 น. พลตรีประพาส ศกุนตนาค ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพ และปริมณฑล (ประกาศเคอร์ฟิว)

เวลา 5.50 น. พลตรีประพาส ศกุนตนาค ออกประกาศว่ารัฐบาลพยายามระงับไม่ให้ลุกลาม แต่กลุ่มบุคคลไม่หยุดการกระทำจึงต้องใช้มาตรการเด็ดขาด

เวลา 5.53 น. พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ เดินทางมายังถนนราชดำเนิน มีรายงานว่ามีประชาชนและผู้บาดเจ็บถูกนำตัวมาหลบที่โรงแรมรอยัลเป็นจำนวนมากและถูกบล๊อกไม่ให้ออกจากโรงแรม

เวลา 5.55 น. พลตรีจำลอง ศรีเมือง เจรจาโดยใช้โทรโข่งที่สะพานผ่านฟ้า ให้ทหารหยุดยิงประชาชน

เวลา 6.04 น. นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ส.ส. กรุงเทพฯ พรรคพลังธรรม ยกมือเหนือศรีษะ ขอเจรจากับทหาร

เวลา 6.13 น. พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ออกจากถนนราชดำเนินมาถนนจักรพรรดิพงษ์ ประชาชนได้ตะโกนด่าว่า "ฮิตเล่อร์"

เวลา 6.15 น. นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ คุยกับ พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นเวลา 5 นาที ก่อนจะกลับมาเข้ากลุ่มชุมนุมพร้อมเสียงปรบมือจากฝูงชน


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 พ.ค. 12, 20:02
เวลา 6.24 น. สำนักข่าว CNN รายงานสภาพเหตุการณ์ได้ตีข่าวไปยังทั่วโลก รายงานสดกับภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งมีการใช้กระสุนจริงในการสลายชุมชน

ในขณะที่โทรทัศน์ทุกสถานีกลับไม่มีการรายงานข่าวที่เป็นภาพร้ายแรงใด ๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นประชาชนที่ดูจากดาวเทียมที่รับสัญญาณได้จากต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี อยู่ระหว่างเสด็จที่ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังมีการให้พระราชทานสัมภาษณ์ออกโทรทัศน์ไม่ให้เกิดความรุนแรง


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 พ.ค. 12, 20:15
เวลา 6.37 น. พลตรีประพาส ศกุนตนาค ออกประกาศให้วันที่ 18 - 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เป็นวันหยุดราชการและประกาศภาวะฉุกเฉิน ขอให้ประชาชนอยู่กับบ้านทั้งวัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย

เวลา 6.38 น. กำลังทหารจากราบ 11 ขนเอ็ม 16 พร้อมกำลังทหาร 1 คันไปเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

เวลา 6.39 น. พลตรีจำลอง ศรีเมือง พูดโทรโข่งให้ประชาชนอยู่ชุมนุมถึง 9 โมงเช้า

เวลา 6.50 น. พลตรีจำลอง ศรีเมืองได้โทรศัพท์ถึงสมุหราชเลขาธิการ แต่ไม่พบ จึงสั่งให้ลูกสาวบอกต่อว่า "ประชาชนอยู่เฉย ๆ ก็มีทหารยิงเข้ามา บอกคุณพ่อด้วย"

เวลา 7.10 น. พลตรีจำลอง ศรีเมืองได้โทรศัพท์ไปยัง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี เล่าเรื่องต่าง ๆ ว่ามีมือที่สามดำเนินการ เราอยู่กันอย่างสันติ แต่มีคนยิงเข้ามาขอให้ป๋าช่วยดำเนินการแล้วแต่จะกรุณา ไม่อย่างนั้นเราถูกบุกแน่ ขณะเดียวกันองคมนตรีได้ถามว่ามีคนอยู่เท่าไร และตอบไปว่ามีอยู่ 7-8 หมื่นคน พอร้องเพลงสรรเสริญฯ จบทหารก็ยิงเข้ามา

เวลา 8.00 น. พลตรีจำลอง ศรีเมืองให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุ บีบีซี ภาคภาษาไทย

เวลา 9.00 น. พลเอกสุจินดา คราประยูร เดินทางมาประชุม ครม. ที่ทำเนียบรัฐบาล

กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงปักหลักอยู่ที่ถนนราชดำเนินอยู่จนกระทั่ง 21.04 น. มีการยึดรถเมล์พร้อมกับโบกธงชาติ ขณะเดียวกันที่สี่แยกคอกวัว ก็มีเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะ



กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 พ.ค. 12, 20:41
เวลา 23.04 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเผาป้อมตำรวจ บริเวณสะพานผ่านพิภพลีลา

เวลา 23.47 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้ยึดรถน้ำมันเอสโซ่ขนาดใหญ่ และขับมายังกลุ่มผู้ชุมนุม ใกล้โรงแรมโรยัล

แล้วก็ล่วงเข้าวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เ

เวลา 0.01 กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงรวมตัวกันหน้ากรมประชาสัมพันธ์ ตรงข้ามโรงแรมโรยัล และแล้วมีการจุดไฟเผากองสลาก, กรมประชาสัมพันธ์, กรมธนารักษ์ และกรมสรรพากร และบริเวณใกล้เคียง ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้ชุมนุมได้ขี่รถจักรยานยนต์ 2,000 คันขับกระจายออกทำลายตู้โทรศัพท์ ตู้ไปรษณีย์ และสัญญาณไฟตามสี่แยกต่าง ๆ รวมทั้งป้อมตำรวจ

เมื่อไฟไหม้กลุ่มอาคารนั้น ผู้ชุมนุมได้เผารถเมล์ และรถน้ำมันที่นำเข้ามาหน้ากองสลาก และเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ป้อมตำรวจหน้าห้างเมอร์รี่คิงส์ วังบูรพา

เวลา 1.00 น. มีผู้เข้าบริจาคเลือดที่โรงพบาบาลศิริราชและโรงพยาบาลกลางเพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ

เวลา 1.10 น. กลุ่มจักรยานยนต์เจ้าทำลายป้อมตำรวจและธนาคารแห่งประเทศไทย และท่าน้ำวิสุทธิ์กษัตริย์แต่ดับไฟได้ทัน

เวลา 1.19 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจดับไฟบริเวณบางรัก เพื่อทำการยิงบรรดาจักรยานยนต์ที่ก่อการจราจล

เวลา 1.20 น. ผู้ชุมนุมได้ยึดรถบรรทุกแก๊สขนาดใหญ่ ขับไปยังโรงแรมโรยัล

เวลา 1.55 น. ประกาศทางสถานีโทรทัศน์เรื่องการปราบปรามอย่างรุนแรงเพื่อระงับเหตุ โดยผู้ไม่เกี่ยวข้องให้กลับบ้านโดยด่วน

เวลา 2.10 น. ร้านค้าริมถนนสีลม ถนนคอนแวนต์ ถูกกลุ่มอร์เตอร์ไซด์เผาและทลายบ้านเรือน และมีการนำศพผู้เสียชีวิตใส่รถเข็น ไปทิ้งไว้หน้าโรงพยาบาลเซนหลุยส์ มีการเขียนข้อความข้างศพว่า "นี่คือวีรชน"

เวลา 2.20 น. รัฐบาลประกาศว่าทหารไม่ได้ยิงประชาชน


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 พ.ค. 12, 08:03
ร่วมกว่า 5 ชั่วโมงแห่งความโกลาหน เกิดเสียงปืนดังเป็นระยะ ๆ ที่สะพานขาว นางเลิ้ง ส่วนกลุ่มมอเตอร์ไซด์ก็ยังคงวิ่งไปทั่วกรุงเทพ และทำลายทรัพย์สินของทางราชการ จนกระทั้ง

เวลา 5.00 น. สำนักข่าว CNN ได้รายงานภาพข่าวและเหตุการณ์ไฟไหม้ตึกกองสลากและสัมภาษณ์ผู้อยู่ในเหตุการณ์

เวลา 7.22 น. เช้าแล้ว ทหารได้จับกุมตัวผู้ชุมนุมประมาณ 700 คนหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ ลำเลียงขึ้นรถทหาร ทุกคนถอดเสื้อ

เวลา 9.50 น. ทางโทรทัศน์ประกาศว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้นำรถเมล์มาใช้เป็นเครื่องมือก่อการจลาจล

เวลา 10.30 น. หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ กองกำลังทหารได้เข้าควบคุมจับกุมตัวผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง

เวลา 11.00 น. นายวีระ มุสิกพงศ์(รองหัวหน้าพรรคความหวังใหม่) เข้ามอบตัวต่อ พลตำรวจเอก พงษ์อำมาตย์ อมาตยกุล ซึ่งก่อหน้าได้มีหมายจับไปยังแกนนำคือ นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ, นางสาวจิตราวดี วรฉัตร, นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์, นายแพทย์เหวง โตจิราการ และนายสมศักด์ โกไสยสุต

เวลา 15.45 น. ตำรวจนำนายวีระ มุสิกพงศ์ ย้ายออกจากเรือนจำโรงเรียนพลตำรวจ ไปฝากขังที่สถานีตำรวจดอนเมือง

ในเวลาเดียวกัน กลุ่มผู้ชุมนุมได้เริ่มขยายตัวไปบริเวณสี่แยกราชเทวี ไปรวมตัวกันที่ประตูน้ำ ซึ่งระหว่างทางได้ทำลายป้อมตำรวจ

เวลา 16.15 น. กลุ่มผู้ชุนมุมเคลื่อนตัวมายังถนนเพชรบุรี มุ่งหน้าสู่มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมทั้งยึดรถเมล์สาย 23 จำนวน 2 คันหน้าโรงแรมเฟริส

ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมอีกกลุ่มยังคงกระจายตัวบริเวณนางเลิ้ง บางลำพู เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า เหล่านี้ล้วนมีการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างต่อเนื่อง

เวลา 18.00 น. ที่บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 และ 6 มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ แพทย์ นิสติประมาณ 300 คน มาถวายสักการะขอพระบุญบารมีเป็นทีพึ่ง ให้ประเทศรอดจากความวิบัติ ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนถึงสี่แยกคลองตัน ซึ่งมีขบวนมอเตอร์ไซด์นำหน้า 100 - 200 คัน

เวลา 18.15 น. หัวขบวนได้ถึงมหาวิทยาลัยรามคำแหง และมีการขึ้นเวทีร่วมกับนักศึกษาธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ รามคำแหงว่าจะชุมนุมกันอย่างสันติ

เวลา 20.00 น. หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง กลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันอยู่ประมาณสองหมื่นคน

กลุ่มผู้ชุมนุมหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ปักหลักชุมนุมอยู่จนล่วงเข้าวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535



กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 พ.ค. 12, 08:23
วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535

เวลา 8.00 น. ญาตพี่น้องของผู้ชุมนุมทางการเมืองได้แห่กันไปเยี่ยมลูกหลานที่เรือนจำโรงเรียนตำรวจบางเขน

เวลา 9.00 น. องคมนตรีโดยท่านสัญญา ธรรมศักดิ์ และพลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา เดินทางไปที่บ้านสี่เสาเทเวศน์ เข้าพบพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ทุกท่านมีสีหน้าเคร่งเครียดเมื่อออกจากบ้านสี่เสาในเวลา 11.45 น.

เวลา 9.10 น. เจ้าหน้ากที่ กทม. เข้าทำความสะอาดถนนราชดำเนิน ล้างคราบเลือด และประชาชนเริ่มสำรวจความเสียหายและต่างวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง จนผู้คนมารวมตัวกันมากขึ้นถึงหมื่นคน มีการเผารถขยะ และทำลายกระถางดอกไม้ที่ประดับไว้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิไตย

เวลา 12.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่แถวหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้นำรถบรรทุกมาจอดขวางไว้ที่ถนนพระราม 9 ตัดกับถนนรามคำแหง และใช้รถแก๊สปิดกั้นอีกชั้นหนึ่ง ส่วนถนนพระราม 9 ได้นำรถขนปูนซิเมนต์มาปิดกั้นไว้ที่คอสะพาน และแผงกั้นเหล็กขวางไว้

เวลา 13.30 น. ที่ถนนราชดำเนิน ประชาชนได้กลับเข้ามายังพื้นที่ร่วมสองหมื่นคน ในขณะเดียวกันก็มีทหารกลุ่มใหม่ถูกส่งเข้ามาควบคุมพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง

เวลา 13.35 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจประกาศให้เพิ่มวันหยุดปิดภาคเรียนไปอีก 2 วัน

เวลา 14.00 น. ทางรัฐบาลได้ประกาศเตือนให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิไตย มีการแจกใบปลิวให้ประชาชนหาธงชาติ ป้ายข้อความ และเชิญประชาชนมาร่วมชุมนุม ที่วงเวียนใหญ่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สนามหลวง เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ในเวลาก่อน 20.00 น. ทุกวันและให้ตะโกนว่า "สุจินดาออกไป"

เวลา 14.45 น. พลเอกสุจินดา คราประยูร แถลงการณ์ออกโทรทัศน์ช่อง 5 กล่าวว่าผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ คือ นายทหารที่มีความคิดฝักใฝ่คอมมิวนิสต์

เวลา 15.45 น. มีข่าวลือสะพัดว่าจะมีการใช้เฮลิคอปเตอร์เข้าปราบปรามผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เวลา 16.08 น. มีข่าวลือว่ากองกำลังปราบปรามโดยรัฐบาลได้ควบคุมตัวในหลวงไว้ ซึ่งเป็นข่าวลือ

เวลา 17.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน สลายตัว เหลือเพียงพันคนเศษ

เวลา 19.25 น. กระทรวงมหาดไทยออกคำสั่งประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกจากเคหะสถาน ในระหว่าง 21.00-04.00 น.

เวลา 19.30 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจนำภาพการเข้าจับกุมตัวพลตรีจำลอง ศรีเมือง มาแพร่ภาพ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 พ.ค. 12, 08:29
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่พลเอกสุจินดาและพลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้า

วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เวลา 24.00 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจได้แพร่ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่พลเอกสุจินดาและพลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าและทรงตักเตือนรับสั่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขั้นด้วยการหันหน้าเข้าหากัน ไม่มีใครได้ผลประโยชน์ทั้งนั้นมีแต่ประชาชนที่เสีย และจะอ้างได้หรือว่าเป็นผู้ชนะบนซากปรักหักพัง

ภาพการเข้าเฝ้าดังกล่าวถูกตีพิมพ์ออกทางสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ทุกสถานี


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 พ.ค. 12, 08:41
ล่วงเช้าวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535

การประท้วงที่ถนนราชดำเนินสลายตัวไปหมด ทิ้งไว้เหลือเพียงซากรถที่ถูกไฟไหม้ และร่องรอยกระสุนบนผนังอาคาร รองเท้า เสื้อผ้า คราบเลือดของผู้ชุมนุมได้ถูกนำมากองรวมกันไว้ที่โคนต้นไม้ พร้อมกับประชาชนเข้ามาดูเหตุการณ์และวิพากษ์กันอย่างทั่วหน้า

เวลา 9.00 น. มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมราวสามพันคน ในขณะเดียวกันพลเอกสุจินดา คราประยูรได้เปิดสภาเปิดประชุมอภิปรายในเหตุการณ์ที่ผ่านมาในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้

ผู้นำเหล่าทัพประกาศให้ประชาชนเห็นใจทหารในการกระทำที่รักษาความสงบบ้านเมือง และเปิดเผยผู้เสียชีวิต 41 ราย บาดเจ็บ 681 รายพร้อมประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว

ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศเข้าทำงานเป็นวันแรก ต่างสวมชุดดำไว้ทุกข์


วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2535

องค์กรทุกกลุ่มเรียกร้องให้พลเอกสุจินดา คราประยูรลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งหาตัวคนผิดผู้สั่งฆ่าประชาชนออกมาลงโทษ ในขณะเดียวกันพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ กระทำพิธีรับพระบรมราชโองการให้เป็นหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ เป็นผู้นำฝ่ายค้าน

กลุ่มการเมืองได้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกันมีข่าวลือออกเป็นระยะ ๆ เกี่ยวกับการลาออกของพลเอกสุจินดา ซึ่งจะบินไปประเทศสวีเดนอีกไม่นาน
พรรคร่วมรัฐบาลเตรียมจัดตั้งรัฐบาลโดยคาดหวังให้ พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทยขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เวลา 24.00 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจออกประกาศพระราชกำหนดนิรโทษกรรมระหว่าง 17 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 พ.ค. 12, 09:14
วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535

เวลา 11.00 น. พลเอกสุจินดา คราประยูรประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, นายฉลาด วรฉัตร เลิดอดอาหาร, พรรคร่วมรัฐบาลเสนอพลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทยขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

สมาพันธ์ประชาธิปไตยท้วงติงรัฐบาลขาดความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล เสนอทางออกให้มีรัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือขอพระราชทานนายกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานรัฐสภายื่นใบลาออก และยื่นหนังสือถึงหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเข้ามา

วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติเสอน พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ต่อจากนั้นอีกหลายวันบรรดาพรรคการเมืองก็เร่งเจรจาเฟ้นหาต่อรองทางการเมือง ซึ่งพรรคชาติไทยได้เสนอตัวท่านเดิมคือ พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ ในขณะเดียวกันพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเข้ามาว่าท่านมีความเห็นส่วนตัวควรเสอนชื่อ นายชวน หลีกภัย

และการเจรจาโน้มน้าวการรวบรวมเสียงข้างมากในสภาก็เกิดขึ้นมีการรวบรวมเสียงได้มาก แกนนำพรรคชาติไทยคาดว่าจะได้กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกและแน่นอนว่าจะมาถึงในอีกไม่ช้า เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ นายก

เวลา 16.35 น. นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายรายชื่อนายกรัฐมนตรีคนที่ 20 แห่งราชอาณาจักรไทย

เวลา 16.45 น. พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ ออกมาต้อนรับแขกผู้มีเกียรติพร้อมแจกพระเครื่องที่ระลึกแก่นักข่าวและผู้มาเยือนซึ่งเตรียมพร้อมเข้ารับพระราชทานตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเวลาเดียวกันรองเลขาธิการ นายวิษณุ เครืองาม ได้เดินทางมาที่บ้านเพื่อเตรียมการรอรับพระบรมราชโองการ

เวลา 18.30 น. นายบรรหาร ศิลปอาชา เลขาธิการพรรคชาติไทยสวมเครื่องแบบปกติขาวมาร่วมงาน

เวลา 18.45 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการโปรดเกล้าแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเป็น "นายอานันท์ ปันยารชุน"

เวลา 19.30 น. นายอาทิตย์ อุทัยรัตน์โทรศัพท์เข้ามายังพลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ เรื่องโปรดเกล้าพระราชทานนายกคือนายอานันท์ สมาชิกพรรคชาติไทยสีหน้าเคร่งเครียดพร้อมแถลงข่าว

เวลาเดียวกันสื่อโทรทัศน์ก็มุ่งหน้าไปยังบ้านนายอานันท์ ปัณยารชุนแถวพระโขนง และท่านให้สัมภาษณ์ว่า ท่านทราบข่าวเมื่อราว 17.00 น. ขอให้รับตำแหน่งเพื่อความสมานฉันท์ของบ้านเมือง คือมาถึงทางตันแล้ว ซึ่งทางพรรคการเมืองได้เดินมาตามกติกาแต่ไม่ได้เป็นที่ยอมรับจากคนทั่วไป แต่อีกส่วนยอมรับแต่ไม่ถูกตามกติกา และขอให้ท่านเข้าดำรงตำแหน่งเพื่อควบคุมการเลือกตั้งครั้งหน้าให้ขาวสะอาดบริสุทธิ์

พรรคร่วมรัฐบาลกล่าวตัดความสัมพันธ์กับนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ พร้อมทั้งเสอนชื่อ นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ส่วนนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทยประกาศอำลาทางการเมือง

วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2535 ประกาศคณะรัฐมนตรีชุดนายอานันท์ ปันยารชุน และประกาศให้ยุบสภาวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535 เพื่อให้มีการเลือกตั้งกันใหม่

นี่เป็นเหตุการณ์คร่าว ๆ ที่จะเล่าให้คุณชูพงค์ได้รับทราบ แต่ในวันและเหตุการณ์ยังมีรายละเอียดซึ่งแต่ละท่านย่อมรับทราบและรับรู้แตกต่างกันไป





กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 18 พ.ค. 12, 10:41
กราบขอบพระคุณคุณหนุ่มสยามอย่างสูงยิ่งครับ ที่ปรานีช่วยให้เด็กโง่ๆคนหนึ่งได้เติมสติปัญญาขึ้นอีกอักโข ผมขอเรียนสารภาพต่อทุกท่านอย่างหมดอายครับว่า ตั้งแต่เด็ก ผมไม่เคยสนใจการเมืองเลย ใครจะขึ้น ใครจะลง ช่าง เพิ่งจะมาให้ความสำคัญจริงๆก็ราวๆ พ.ศ. ๒๕๔๕ ตอนเกือบๆจะเรียนจบจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงนั่นเองครับ ต้นเหตุนั้นมาจาก อ่านงานกวี “เพียงความเคลื่อนไหว” ของท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ รวมถึงวรรณกรรมเพื่อชีวิตเล่มอื่นๆแล้วงุนงงกับบริบททางสังคม จึงเริ่มค้นคว้าหาข้อมูล เริ่มรู้จักสิบสี่ตุลา หกตุลา พฤษภาทมิฬ ตามลำดับ ผมรู้สึกผิดครับผิดที่เกิดทันแท้ๆกลับเพิกเฉย เด็กอายุสิบสี่ขวบมิใช่จะเล็กจนจำอะไรไม่ได้โดยสิ้นเชิง ทว่าผมเลือกปิดกั้นตนเสียเอง มาถึงวันนี้ ผมอายุสามสิบสี่ คิดถึงความเหลวไหลของตัวขึ้นมา อยากร้องไห้ครับ ดังนั้น การตั้งกระทู้พฤษภาทมิฬ นอกจากมุ่งหมายจารึกประวัติศาสตร์เป็นปณิธานหลักแล้ว ผมยังปรารถนาจะชะล้างเปือกตมแห่งความเขลาอันพอกหนาในนิสัยครั้งวัยเด็ก เติมจิตสำนึกที่ดีเข้ามาชดเชย ฉะนั้น ความรู้ซึ่งคุณหนุ่มสยาม แหละท่านสมาชิกทุกท่านกรุณามอบให้ จึงทรงคุณูปการสำหรับผมจนเกินกว่าจะอุปมาครับ
 


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 พ.ค. 12, 11:09
หามิได้สำหรับการว่ากล่าวตนเองจนเกินไปครับคุณชูพงค์ คนเราไม่ได้โง่หากแต่ความไม่รู้เท่านั้นที่ผูกติดอยู่กับเรา หากได้รู้ก็จะเกิดปัญญามีแนวทางต่อไปได้

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เป็นบทเรียนอย่างดีให้กับการเมืองการปกครองของไทยครับ บทเรียนในการครอบงำสื่อสารมวลชน บทเรียนแห่งการใช้อำนาจกำลังเข้าสลายฝูงชน บทเรียนแห่งการปฏิวัติรัฐประหาร

ยังจำได้ว่าเมื่อมีการปิดกั้นการเสพข่าวจากในประเทศ ไม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริงย่อมมีผลที่ดีต่ออำนาจรัฐที่ปิดบังไม่ให้เห็นความรุนแรง แต่ภาพข่าวจากต่างประเทศนั้นสื่อให้เห็นว่ามีการกระทำที่รุนแรง เป็นภาพความโหดร้ายของมนุษย์ที่กระทำระหว่างกัน

ด้วยพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เรียกตัวทั้งสองท่านเข้าหันหน้าเข้าหากัน ทุกคนในสังคมจึงผ่อนปรน เจรจาและยุติลงได้ พลตรีจำลอง ศรีเมืองคลานเข้าไปเข้าเฝ้าพร้อมกับก้มกราบพระองค์ท่านพร้อมกับใส่เสื้อม่อฮ่อมอันเป็นเอกลักษณ์ของตน กล่าว่าขอพระราชอภัยในการแต่งกายไม่สุภาพเข้าเฝ้า ทุกคนนั่งลงกับพื้นฟังกระแสพระราชโอวาทพร้อมประชาชนทั่วประเทศ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ค. 12, 11:18
    กระแสพระราชดำรัส
    ในวันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้พลเอก สุจินดา คราประยูรและ พลตรี จำลอง ให้เข้าเฝ้า และได้มีกระแสพระราชดำรัสพระราชทาน   ตอนหนึ่งว่า
          “…ประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน เข้าหากันไม่เผชิญหน้ากันแก้ไขปัญหา เพราะปัญหามีอยู่ ที่เวลาเกิดจะใช้คำว่า บ้าเลือด เวลาคนมีการปฏิบัติรุนแรงมันลืมตัว ลงท้ายเขาไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทาง อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ถ้าสมมติว่า  เฉพาะในกรุงเทพมหานครเสียหายไป ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง…”

      หลังจากนั้นพลเอกสุจินดาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีมีชัย ฤชุพันธุ์รองนายกรัฐมนตรี รักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ค. 12, 11:19
ภาพประวัติศาสตร์


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 พ.ค. 12, 12:30
พฤษภาทมิฬมีทหารเสียชีวิตหรือไม่ครับ ?


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 26 พ.ค. 12, 09:22
เสริมให้อีกนิดว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ นี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ม๊อบมือถือ เพราะในช่วงเวลานั้นโทรศัพ์มือถือได้เริ่มมีใช้กันมากขึ้นแล้ว
ข่าวคราวเหตุการณ์ทั้งหลายจากถนนราชดำเนินจึงถูกบอกเล่าผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้โดยตรง โดยไม่ต้องรอนักข่าวเข้าไปถ่ายภาพแล้รีบกลับมาเขียนข่าวที่โรงพิมพ์



กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 พ.ค. 12, 10:39
เกร็ดอีกเรื่องหนึ่งของพฤษภาททมิฬ ก็คือผลจากการนำประชาชนไปประท้วงด้วยมือเปล่า      ทำให้พลตรีจำลอง ศรีเมืองถูกประทับตราด้วยคำว่า "จำลองพาคนไปตาย"


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 26 พ.ค. 12, 14:13
กระผมกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูเป็นล้นพ้นครับที่กรุณาอัญเชิญพระราชดำรัสแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทันสมัยเสมอมานำเสนอให้พวกเราชาวเรือนไทยได้อ่าน ได้ใคร่ครวญกันอีกวาระหนึ่ง ในยุคสามัคคีเภทเช่นนี้ครับ

   ประโยค “จำลองพาคนไปตาย” นี่ผมเคยได้ยินครับอาจารย์ ความทรงจำอีกอย่างที่ยังเหลือ ก็คือ รู้สึกจะช่วงปลายๆปี ๒๕๓๕ นั้นเอง วงดนตรีเพื่อชีวิตชื่อดัง นาม “คาราบาว” ออกอัลบัมชุด “พฤษภา” (ถ้าผมจำคลาดเคลื่อน ขอท่านผู้รู้โปรดติติงด้วยครับ) เพลงแรกของอัลบัมดังกล่าวชื่อ “ใครฆ่าประชาชน” มีเพลงสรรเสริญวีรกรรมของพลตรีจำลอง ศรีเมืองเพลงหนึ่ง   ชื่อ “กระบี่มื้อเดียว” หรืออะไรทำนองนี้แหละครับ ผมยังพอจำได้แบบรางเลือนเต็มทีว่า
   “นักรบในวรรณกรรม
คือผู้นำในโลกมายา
นักบุญในใจประชา
คือมหากระบี่มื้อเดียว
นักรบในวรรณกรรม
คือผู้นำในโลกมายา
นักบุญในใจประชา
คือ มหาจำลอง”

   เรื่องขำๆอีกเรื่องหนึ่ง มีนักร้องเพลงแปลง”บุญโทน พระไม่ทำ” (ชื่อในขณะนั้น) นำเรื่องอดข้าวของท่านฉลาด วรฉัตร มาล้อเลียน โดยดัดแปลงเพลง “อกหักซ้ำบ๊อยบ่อย” ซึ่งคุณเสรี รุ่งสว่าง ขับร้องจนโด่งดัง แปรเปลี่ยนเป็นชื่อเพลง “อดข้าวซ้ำบ๊อยบ่อย” ท่อนที่ ๓     กล่าวพาดพิงถึงพฤษภาทมิฬ ถ้าฟังแบบไม่คิดอะไรมากก็ฮาดีเหมือนกันครับ

   “ก่อนนี้ ก็เมื่อเดือนพฤษภา
ไม่ยอมกินข้าวกินปลา รัฐสภายุ่งใหญ่
ข้าอยากอดข้าว แต่เจ้าหน้าที่ใจร้าย
เอาน้ำเกลือมาให้ เลยมิได้ไปวัด”

   นี่แสดงว่า พฤษภาทมิฬ ก่อแรงสะเทือนอย่างกว้างขวาง จนแม้วงการเพลงยุคนั้นยังอดไม่ได้ที่จะบันทึก อัลบัม “พฤษภา” ของคาราบาว ผมเคยมีเทปครับ แต่เดี๋ยวนี้สูญหายไปเสียแล้ว ถ้าจะดมดอมกลิ่นอายอดีต ก็อาศัยฟังผ่านโลกออนไลน์แทนครับผม

   เรียนคุณลุงไก่ครับ
   มือถือรุ่นนั้น ผมเคยคลำอยู่บ้างครับ รู้สึกจะอันใหญ่โตพอควร ขออนุญาตเรียนถามคุณลุงไก่ รวมถึงท่านสมาชิกท่านอื่นๆเพิ่มเติมครับ ว่า ช่วงระยะเวลานั้น ซีดีเริ่มเข้ามาสู่บ้านเราแล้วใช่ไหมครับ ผมคลับคล้ายคลับคลาว่าแต่ก่อนราคาสูงมากทั้งตัวแผ่นทั้งเครื่องเล่น ใครฟังซีดีแปลว่ามีสตางค์ใช่ย่อย เครื่องเล่นซีดีถือเป็นเครื่องอวดฐานะกันอีกต่างหาก ผมไม่แน่ใจว่าตัวเองจะจำผิดยุคหรือเปล่า ขอความรู้จากทุกๆท่านด้วยเถิดครับ
 


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 28 พ.ค. 12, 09:45
เกร็ดอีกเรื่องหนึ่งของพฤษภาททมิฬ ก็คือผลจากการนำประชาชนไปประท้วงด้วยมือเปล่า      ทำให้พลตรีจำลอง ศรีเมืองถูกประทับตราด้วยคำว่า "จำลองพาคนไปตาย"

เป็นที่รับรู้กันในหมู่คอการเมืองว่า...........ง
- ส่วนหนึ่งของชัยชนะของประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ คือ ความศรัทธาของประชาชนจำนวนไม่น้อยต่อตัวพลตรีจำลอง ศรีเมือง การเข้าร่วมของประชาชนอย่างล้นหลาม จึงมีเหตุผลหนึ่งมาจากศรัทธานี้
- พรรคการเมืองเก่าแก่พรรคหนึ่ง ที่แอบดูอยู่ห่างๆ (ไม่ยอมร่วมเป็นร่วมตายกับประชาชน)ถือโอกาสฉกฉวยเอาชัยชนะของประชาชน ไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองด้วยการใส่ร้ายคุณจำลอง ว่าพาคนไปตาย
- คุณจำลองเป็นคนเดียว ที่สามารถดึงคนแก่อายุ 80 up จำนวนไม่น้อยออกจากบ้านมาเข้าร่วมการชุมนุม (จะเล่าทีหลัง)
- สถานการณ์การบานปลายขยายตัวของม็อบต่อต้านสุจินดา ในต่างจังหวัดเกิดขึ้นต่อเนื่อง แม้ไม่มากเท่า 14 ตุลา 16 แต่เข้มข้นมากไม่แพ้กัน

จนทุกวันนี้ แม้ข้าพเจ้าจะมองคุณจำลองต่างจากก่อนบ้าง.................แต่สิ่งหนึ่งที่พร้อมจะทำ คือ ประณามทุกปากที่กล่าวหาว่า - จำลองพาคนไปตาย- เพราะหากไม่มีคุณจำลองในการนำม็อบครานั้น เราคงอยู่ใต้ท็อปบูตทมิฬอีกนาน




 ;D


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 28 พ.ค. 12, 12:29

จริงๆน่าจะลองวิเคราะห์ดูนะ ว่าหลังประท้วง เหยื่อที่ได้รับบาดเจ็บจากกลุ่มผู้ประท้วง ตัวผู้ประท้วงที่ตายจาก รวมถึงผู้นำประท้วงทั้งหลาย และรัฐบาลที่ปราบประท้วง มีการดำเนินชีวิตเช่นไรบ้าง อยู่ดีมีสุข หรือตกทุกข์ได้ยาก กฎหมายลงโทษหรือไฉน


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 28 พ.ค. 12, 12:57
ตอนนั้นข้าพเจ้าอายุ ๖ ขวบ จำได้แค่ว่านั่งดูโทรทัศน์กับคุณยายและพี่เลี้ยงจู่ๆก็ตัดภาพเป็นทหารมาพูดอะไรก็ไม่รู้

ในวันนั้นเองจำได้ว่าแม่กับป้าออกไปห้างซื้อของแห้งมาตุนไว้ทันที ข้าพเจ้าจำได้แค่ว่าเห็นประกระป๋องมากพอจะเอาไปทำบุญได้สัก ๒ วัด แต่ก็ได้สนใจอะไรไปมากกว่านั้น

และต่อมาจำได้แม่นคือวันเสาร์ วันที่ข้าพเจ้าจะไปกินเอ็มเค สาขาสุขุมวิท ร้านแรกและดั้งเดิม ข้าพเจ้าตอนเด็กชอบไปกินขนมจีบที่นั้นทุกเสาร์อาทิตย์ พอถึงวันเสาร์ก็ถามแม่ว่าไปกินกันเถอะ ผลคือแม่ตอบกลับมาว่า หน้าสิ่วหน้าขวาน คนเขาประท้วงใหญ่ มียิงกันตาย ออกไปอันตราย

ข้าพเจ้าเลยรับรู้ครั้งแรกว่าอันตรายมาก เพราะข้าพเจ้าไม่สามารถไปกินขนมจีบได้ :'(


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 28 พ.ค. 12, 15:49

จริงๆน่าจะลองวิเคราะห์ดูนะ ว่าหลังประท้วง เหยื่อที่ได้รับบาดเจ็บจากกลุ่มผู้ประท้วง ตัวผู้ประท้วงที่ตายจาก รวมถึงผู้นำประท้วงทั้งหลาย และรัฐบาลที่ปราบประท้วง มีการดำเนินชีวิตเช่นไรบ้าง อยู่ดีมีสุข หรือตกทุกข์ได้ยาก กฎหมายลงโทษหรือไฉน


ในแต่ละเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ย่อมส่งผลสะเทือนทั้งบวกลบ ต่อตามกันมามากมาย ก่อเกิดวีรบุรุษ นักสู้ ฯลฯ เช่นเดียวกันกับนักฉวยโอกาสทั้งหลาย หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้นักธุรกิจคนหนึ่งซึ่งไม่เคยสนใจการเมือง แต่สูญเสียลูกชายในพฤษภาทมิฬ กลับมาเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนหนึ่ง แต่หากในขั้วไหนเป็นอีกเรื่อง.............
ลองหาอ่านดูได้.............จากชื่อ อดุลย์ เขียวบริบูรณ์

http://www.isnhotnews.com/tag/%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B9%8C-%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C/


 :D


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 28 พ.ค. 12, 15:53
ผมจำได้ว่าเป็นคุณสมัคร สุนทรเวชนะครับที่ว่าคุณจำลองพาคนไปตาย


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 28 พ.ค. 12, 18:05
ผมจำได้ว่าเป็นคุณสมัคร สุนทรเวชนะครับที่ว่าคุณจำลองพาคนไปตาย

คุณสมัครพูดที่หลังครับ แต่เป็นการกระจายเสียงที่ดังกว่า


 ;D



กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 28 พ.ค. 12, 19:29
สหาเหตุที่มีการพูดว่า "จำลองพาคนไปตาย" เนื่องจากการพักชุมชุมเป็นเวลา ๗ วัน และประกาศนัดชุมนุมใหญ่เปิดศึกแตกหัก ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ตามการพาดหัวข่าวไทยรัฐ ฉบับที่ ๑๒๓๕๐ วันอังคารที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๓๕


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 28 พ.ค. 12, 19:32
ลีลาอารมณ์ พลตรีจำลอง ศรีเมือง กับโทรศัพท์มือถือรุ่นกระดูกหมา


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 28 พ.ค. 12, 20:56
สหาเหตุที่มีการพูดว่า "จำลองพาคนไปตาย" เนื่องจากการพักชุมชุมเป็นเวลา ๗ วัน และประกาศนัดชุมนุมใหญ่เปิดศึกแตกหัก ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ตามการพาดหัวข่าวไทยรัฐ ฉบับที่ ๑๒๓๕๐ วันอังคารที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๓๕

ขอเห็นแย้ง ว่าอาจไม่เป็นดังที่คุณหนุ่มสยามว่า.............

เพราะในระหว่างการต่อสู้กับสุจินดา ยังไม่มีการแพ้/ชนะ และยังไม่มีการตายเกิดขึ้น แม้จะพักม็อบและสู้ใหม่
ที่สำคัญคือ..............ทหาร(ในยุคนั้น) ยังไม่ได้รับการพัฒนาความคิดทางการเมืองเท่ากับปัจจุบัน

พวกฉวยโอกาสจึงได้จังหวะ.....ฆ่าพลตรีจำลอง ทางการเมือง...............ด้วยข้อหา พาคนไปตาย หลังสถานการณ์พัฒนาไปสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้น หลังรัฐบาลสุจินดาจับกุมพลตรีจำลองแล้ว




ทุกครั้งของการต่อสู้โดยสุจริตใจของประชาชน ผู้ฉวยโอกาสพร้อมที่จะฉกชิง/วิ่งราวและปล้นชัยชนะของประชาชนเสมอมา ไม่เคยเว้นแม้แต่ครั้งเดียว









 ;D


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 28 พ.ค. 12, 21:19
มือถือรุ่นโบราณนั้น น่าจะเรียกกันว่ากระดูกหมูมากกว่าครับ
เพลงล้อเลียนคนใช้มือถือ(ที่ตัวเองยังไม่มีตังค์ซื้อ)ว่า   ......เหมือนหมาคาบกระดูกหมู...........................
 ;D ;D


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: natadol ที่ 28 พ.ค. 12, 21:33
กลับมาร่วมด้วยครับ..ไปทำงานต่างจังหวัดเสียนาน เมื่อสมัยปี 35 ทหารเกือบทุกเหล่าทัพ ไม่กล้าไส่ชุดทหารกลับบ้านหรืออกนอกสถานที่เลย เพราะประชาชนมองทหารเป็นฝ่ายตรงข้ามตัวเองไปแล้ว ยกเว้นกองทัพเรือ ที่สามารถไส่เครื่องแบบเดินได้อย่างปกติ เพราะประชาชนมองว่าทหารเรือคอยช่วยเมื่อตอนโดนล้อมที่ท้องสนามหลวงและประชาชนหนีไปทางสะพานพระปิ่นเกล้า ส่วนใหญ่จะปลอดภัย แม้แต่คนที่กระโดดสะพานก็ยังมีเรือไปลาดตระเวณคอยรับอยู่ตลอดวัน


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 29 พ.ค. 12, 10:29
แต่ท่านจำลองก็ดูเป็นที่นับถือนะครับ เพราะเวลาผ่านไปเป็นสิบปี คราวประท้วงยึดสนามบิน และยึดรัฐสภา มีคนสนับสนุนเข้ายึดสนามบิน และรัฐสภาตามท่านมากมาย และไม่มีความผิดใดๆสืบมาด้วยสำหรับแกนนำบางท่าน

ไม่ทราบสิ่งนี้จะทำให้เกิดลัทธิเอาอย่างของผู้ประท้วงอีกกลุ่มหนึ่งที่พัฒนารุ่นแรงขึ้นหรือเปล่า เพราะเห็นที่ผ่านๆมาไม่มีใครเคยเอาผิด เลยย่ามใจก่อเหตุรุนแรงกว่าเดิม


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 พ.ค. 12, 10:48
แต่ท่านจำลองก็ดูเป็นที่นับถือนะครับ เพราะเวลาผ่านไปเป็นสิบปี คราวประท้วงยึดสนามบิน และยึดรัฐสภา มีคนสนับสนุนเข้ายึดสนามบิน และรัฐสภาตามท่านมากมาย และไม่มีความผิดใดๆสืบมาด้วยสำหรับแกนนำบางท่าน

ไม่ทราบสิ่งนี้จะทำให้เกิดลัทธิเอาอย่างของผู้ประท้วงอีกกลุ่มหนึ่งที่พัฒนารุ่นแรงขึ้นหรือเปล่า เพราะเห็นที่ผ่านๆมาไม่มีใครเคยเอาผิด เลยย่ามใจก่อเหตุรุนแรงกว่าเดิม

ให้ข้อสังเกตุว่าการชุมนุมประท้วงเมื่อยี่สิบปีก่อนกับการชุมนุมในรอบห้าปีที่ผ่านมานี้ มีหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เรื่องการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญาในฐานะทำรุนแรงกว่าเหตุ อีกทั้งมวลชนก็ยั่วยุให้เจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายและใช้ความรุนแรงกับมวลชน จะได้อ้างก่อเหตุความรุนแรง เหมือนเร่งเทน้ำมันในกองไฟ

การประท้วงในสมัยนั้นถึงแม้จะมีการใส่ร้ายและป้ายสี แต่ก็ไม่เหมือนสมัยนี้ (2549-2555) ครับ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 29 พ.ค. 12, 11:44
แต่ท่านจำลองก็ดูเป็นที่นับถือนะครับ เพราะเวลาผ่านไปเป็นสิบปี คราวประท้วงยึดสนามบิน และยึดรัฐสภา มีคนสนับสนุนเข้ายึดสนามบิน และรัฐสภาตามท่านมากมาย และไม่มีความผิดใดๆสืบมาด้วยสำหรับแกนนำบางท่าน

ไม่ทราบสิ่งนี้จะทำให้เกิดลัทธิเอาอย่างของผู้ประท้วงอีกกลุ่มหนึ่งที่พัฒนารุ่นแรงขึ้นหรือเปล่า เพราะเห็นที่ผ่านๆมาไม่มีใครเคยเอาผิด เลยย่ามใจก่อเหตุรุนแรงกว่าเดิม


เท่าที่ทราบ แกนนำเสื้อเหลืองหลายคน กำลังอยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีครับ และทั้งหมดทุกคนร้องเสียงเดียวกันว่าขอสู้คดี โดยไม่ขอรับอานิสงค์ของกฎหมายปรองดอง
อ.ปราโมทย์ นาครทรรพย์ การุณ ใสงาม เพิ่งถูกจับตัวไปรับทราบข้อกล่าวหาเมื่อไม่กี่วันนี้เองไม่ใช่หรือ?



เสียดายที่แกนนำบางคน ด่าเก่งจนทำให้คนฟังลืมพิจารณา ว่าเมื่อแยกขยะ(คำด่า-ผรุสวาท)ออกไปแล้ว มีข้อน่ารู้และความจริงที่ถูกปกปิดและน่าเป็นห่วงอีกมากมายของประเทศไทยเรา




 ;D


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 29 พ.ค. 12, 12:06
และก็น่าแปลก สำหรับสยามประเทศที่รักยิ่งของเรา................

อะไรบางอย่างก็ดูพิลึกๆ




นายทหารระดับคุมกำลัง ที่ปฎิบัติการอย่างเข้มข้น(โหดเหี้ยมหรือไม่-ต้องถามคนที่ประสพเอง) ตรงจุดสุดท้ายของการสลายฝูงชนเมื่อคราวพฤษภาทมิฬ ในโรงแรม-รอแย่- ติดสนามหลวง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของสถาบันที่เราเคารพ
และคนเดียวกันนี้เอง ที่ยอมทนถูกเสื้อแดงด่าอยู่หลายวัน จึงค่อยยอมรื้อถอนบ้านตนเองที่รุกที่ป่าสงวนเมื่อถูกระบุโดยหน่วยงานของรัฐว่ารุกจริง
คนเดียวกันนี้ มีบิดาซึ่งเป็นอดีตนายทหารที่ถูกรังแก จนต้องเข้าป่าเป็นแกนนำระดับสูงในพคท.
คนเดียวกันนี้อีกเช่นกัน ที่ฝากฝีมือในการแก้ไขสถานการณ์ก็อดอาร์มี่บุกยึดโรงพยาบาลราชบุรี โดยไม่มีการสูญเสียตัวประกันแม้แต่รายเดียว

โอ้หนอ.....มาเป็นแพ็คเกจ.............ทั้งด้านที่น่ายกย่องสรรรเสริญและน่าตำหนิ.....
สุดแต่เราจะเลือกมองหรือตัดสินเขาในมุมใดแง่ใด

ฉันใดก็ฉันนั้น....................กรณีคุณจำลองและคุณสนธิ ลิ้ม.................เราเอาความเกลียดเป็นที่ตั้งหรือเปล่า จึงเอามือปิดตาและอุดหูแน่นเกินไปจนไม่เห็นและไม่ได้ยินบางเรื่องที่เขาต้องการฟ้องประชาชน ว่าพวกกระสือกำลังรุมปล้นกินชาติของเราเพียงใด



 :)


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 29 พ.ค. 12, 12:17
เขามีส่วนเลวบ้าง ก็ช่างเขา
จงเลือกเอาส่วนดี เขามีอยู่..............ฯ

กลอนท่านพุทธทาสสอดคล้องกับภาษิตจีนที่ให้พิจารณาคน   โดยชั่งน้ำหนักว่าเขามีดีกี่ส่วน เลวกี่ส่วน แล้วค่อยตัดสิน...............




ยังจำได้ว่าครั้งหนึ่ง หลัง 14 ตุลา ไม่นานนัก คุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล บุกขึ้นไปที่กทม.ก่นด่าทะเลาะกับเจ้าหน้าที่ดุจคนคลั่ง
บางคนตำหนิเสกสรรค์ ไม่มีชิ้นดี...............แต่ลืมมองไปว่า สิ่งที่ทำให้เขาออกอาการเหล่านั้น ทีแท้มาจากความที่มีจิตใจรักประชาชน รังเกียจที่กทม.ไปรังแกหาบเร่แผงลอยที่หาเช้ากินค่ำ ข้างถนน(ในมุมมองของเขา) และทั้งหมดนั้น เสกสรรค์ไม่ได้ทำเพื่อตนเองเลย  จิตใจที่รักประชาชนมีอยู่ในทุกวีรบุรุษตัวจริง เช่นเดียวกับประธานเหมาฯที่คนจีนเทอดทูนดุจจักรพรรดิ์




.
บ้านเรามีแต่นักการเมือง........หาวีรบุรุษได้ยากนัก หรือไงหนอ???





 :o


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 พ.ค. 12, 12:21
สวัสดีครับคุณ Sri Siam ท่านเริ่มก้าวข้ามเดือนพฤษภา ๓๕ แล้ว  ;)

ในภาวะนั้นบทกวีที่ประทับใจอย่างยิ่งคือ "ฝนแรก" โดยคุณจิระนันท์ แต่งไว้ว่า


ฝนแรกเดือนพฤษภา  รินสายมาเป็นสีแดง
 
ฝนเหล็กอันรุนแรง  ทะลวงร่างเลือดพร่างพราว
 
หลั่งนองท้องถนน  เป็นสายชลอันขื่นคาว
 
แหลกร่วงกี่ดวงดาว  และแหลกร้าวกี่ดวงใจ
 
บาดแผลของแผ่นดิน  มิรู้สิ้นเมื่อวันใด
 
อำนาจทมิฬใคร  ทะมึนฆ่าประชาชน
 
เลือดสู้จะสืบสาย  ความตายจะปลุกคน
 
วิญญาณจะทานทน  พิทักษ์เทอดประชาธรรม
 
ฝนแรกแทรกดินหาย  ฝากความหมายความทรงจำ
 
ฝากดินให้ชุ่มดำ  เลี้ยงพืชกล้าประชาธิปไตย


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 29 พ.ค. 12, 12:21
นอกเหนือจากฉายาม็อบมือถือแล้ว เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ยังก่อเกิดนวักรรมใหม่อีกอย่าง ในอุปกรณ์การประท้วง



ขวดน้ำปลาสติค...................ขวดเปล่า หลังดื่มน้ำหมด ถูกใช้เคาะจังหวะ
เคาะกับมือ
เคาะกับพื้นถนน
คนเรือนแสน เอาขวดตีถนนราชดำเนินพร้อมๆกันเป็นจังหวะ................


นึกภาพและเสียงเอาเองเถิด











จนพัฒนามาเป็น มือตบและตีนตบ ในปัจจุบัน



 ;D


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 12, 21:34
จำได้อีก 2 คำที่เกรียวกราวอื้อฉาวไม่แพ้คำว่า "จำลองพาคนไปตาย"
คำแรกคือคำว่า "เสียสัตย์เพื่อชาติ"   เจ้าของวาจาคือพลอ.สุจินดา คราประยูร

เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) รัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน  ได้แล้ว  ในตอนแรกคนสำคัญๆใน รสช.เช่นพลเอกสุจินดา คราประยูร ได้ให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า ตนและสมาชิกในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ
แต่ต่อมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ตรงกับที่เคยพูดไว้ เหตุการณ์นี้ จึงได้เป็นที่มาของประโยคที่ว่า "เสียสัตย์เพื่อชาติ" และเป็นหนึ่งในชนวนให้ฝ่ายคัดค้านลุกขึ้นเคลื่อนไหวต่อต้านจนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือด

คำที่สอง คือ "สุไม่เอาให้เต้"
คำนี้หนังสือพิมพ์อ้างอิงว่าเป็นคำพูดของพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ ประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) มีชื่อเรียกในวงการสื่อว่า บิ๊กจ๊อด
หมายความว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถ้าพลเอกสุจินดาปฏิเสธไม่รับ  ก็ให้ตำแหน่งเป็นของพลอ.อ. เกษตร โรจนนิล หรือ "บิ๊กเต้" รองหัวหน้าคณะรสช.  ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศอยู่ในขณะนั้น 
บทบาทของพลอ.อ.เกษตรคือควบคุมตัว พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบกที่สนามบินกองทัพอากาศ (บน.6) เพื่อให้รัฐประหารลุล่วงไปได้ด้วยดี




กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: natadol ที่ 29 พ.ค. 12, 22:10
หลังจากเหตุการณ์ปี2535 ก็ได้มีฐานันดรใหม่เกิดขึ้น คือฐานันดรที่4 นักข่าวหรือสื่อสารมวลชน ค่อนข้างมีเสียงและมีอำนาจมาก จนกระทั้งได้เกิดสถานีโทรทัศน์ itv ขึ้นมา และนักข่าวหรือสื่อสารมวลชนก็คืออีก1สาเหตุที่ทำให้บ้านเมืองแตกแยกในปัจจุบัน เพราะสื่อสารมวลชนของแต่ละฝ่ายก็มีไม่ไช่น้อย ทั้งสื่อหลัก สื่อรอง และอีกหลายๆช่องทางที่เผยแพร่ความเชื่อของตน หากทุกคนใชัหลัก กาลามสูตร บ้านเมืองเราคงไม่แตกแยกขนาดนี้หรอกครับ 


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 12 มิ.ย. 12, 20:13
สหาเหตุที่มีการพูดว่า "จำลองพาคนไปตาย" เนื่องจากการพักชุมชุมเป็นเวลา ๗ วัน และประกาศนัดชุมนุมใหญ่เปิดศึกแตกหัก ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ตามการพาดหัวข่าวไทยรัฐ ฉบับที่ ๑๒๓๕๐ วันอังคารที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๓๕

ขอเห็นแย้ง ว่าอาจไม่เป็นดังที่คุณหนุ่มสยามว่า.............

เพราะในระหว่างการต่อสู้กับสุจินดา ยังไม่มีการแพ้/ชนะ และยังไม่มีการตายเกิดขึ้น แม้จะพักม็อบและสู้ใหม่
ที่สำคัญคือ..............ทหาร(ในยุคนั้น) ยังไม่ได้รับการพัฒนาความคิดทางการเมืองเท่ากับปัจจุบัน

พวกฉวยโอกาสจึงได้จังหวะ.....ฆ่าพลตรีจำลอง ทางการเมือง...............ด้วยข้อหา พาคนไปตาย หลังสถานการณ์พัฒนาไปสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้น หลังรัฐบาลสุจินดาจับกุมพลตรีจำลองแล้ว




ทุกครั้งของการต่อสู้โดยสุจริตใจของประชาชน ผู้ฉวยโอกาสพร้อมที่จะฉกชิง/วิ่งราวและปล้นชัยชนะของประชาชนเสมอมา ไม่เคยเว้นแม้แต่ครั้งเดียว









 ;D

เคยอ่านงานเขียนของเพื่อนท่านจำลอง เห็นบอกว่า เป็นแผนที่วางเอาไว้

เพื่อนคนนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน ท่านพัลลภ นั่นเอง ท่านพัลลภถึงกับบอก เมื่อข่าวกรองของท่านรายงานว่า ทหารจะมาจับตัวเพื่อนรักอย่างท่านจำลองว่า "เราชนะแล้ว !!!!"

สงครามกองโจรในลาว ได้เอามาใช้ก็งานนี้แล


ส่วนเหตุการณ์สมัยโน้น ทำให้ผมเก้อเป็นหนแรก กำลังออกจากบ้านจะไปเรียนหนังสือ(ทั้ง ๆ ที่เขาก็ยังยิงกันอยู่) ไปถึงปากซอยบ้าน คนขายปาท่องโก๋บอกว่า "เขาให้กลับบ้านนะหนู"  ผมก็ไม่เชื่อ

จะให้เชื่อได้อย่างไร เพราะก่อนออกจากบ้าน ไม่เห็นมีข่าวอะไรเลย จนพ่อที่มาส่งบอกว่า ให้กลับบ้านก่อน ไว้ถ้าเป็นข่าวหลอกจะโดนครูทำโทษ(ครั้งแรกในชีวิต ที่จะโดนข้อหามาสาย หรือข้อหาขาดเรียน)
ก็ช่างมันเถอะ

สรุป กลับมาบ้าน เห็นข่าวเลยรอดตัวไป


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 15 มิ.ย. 12, 14:04
สหาเหตุที่มีการพูดว่า "จำลองพาคนไปตาย" เนื่องจากการพักชุมชุมเป็นเวลา ๗ วัน และประกาศนัดชุมนุมใหญ่เปิดศึกแตกหัก ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ตามการพาดหัวข่าวไทยรัฐ ฉบับที่ ๑๒๓๕๐ วันอังคารที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๓๕

ขอเห็นแย้ง ว่าอาจไม่เป็นดังที่คุณหนุ่มสยามว่า.............

เพราะในระหว่างการต่อสู้กับสุจินดา ยังไม่มีการแพ้/ชนะ และยังไม่มีการตายเกิดขึ้น แม้จะพักม็อบและสู้ใหม่
ที่สำคัญคือ..............ทหาร(ในยุคนั้น) ยังไม่ได้รับการพัฒนาความคิดทางการเมืองเท่ากับปัจจุบัน

พวกฉวยโอกาสจึงได้จังหวะ.....ฆ่าพลตรีจำลอง ทางการเมือง...............ด้วยข้อหา พาคนไปตาย หลังสถานการณ์พัฒนาไปสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้น หลังรัฐบาลสุจินดาจับกุมพลตรีจำลองแล้ว




ทุกครั้งของการต่อสู้โดยสุจริตใจของประชาชน ผู้ฉวยโอกาสพร้อมที่จะฉกชิง/วิ่งราวและปล้นชัยชนะของประชาชนเสมอมา ไม่เคยเว้นแม้แต่ครั้งเดียว









 ;D

เคยอ่านงานเขียนของเพื่อนท่านจำลอง เห็นบอกว่า เป็นแผนที่วางเอาไว้

เพื่อนคนนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน ท่านพัลลภ นั่นเอง ท่านพัลลภถึงกับบอก เมื่อข่าวกรองของท่านรายงานว่า ทหารจะมาจับตัวเพื่อนรักอย่างท่านจำลองว่า "เราชนะแล้ว !!!!"

สงครามกองโจรในลาว ได้เอามาใช้ก็งานนี้แล


ส่วนเหตุการณ์สมัยโน้น ทำให้ผมเก้อเป็นหนแรก กำลังออกจากบ้านจะไปเรียนหนังสือ(ทั้ง ๆ ที่เขาก็ยังยิงกันอยู่) ไปถึงปากซอยบ้าน คนขายปาท่องโก๋บอกว่า "เขาให้กลับบ้านนะหนู"  ผมก็ไม่เชื่อ

จะให้เชื่อได้อย่างไร เพราะก่อนออกจากบ้าน ไม่เห็นมีข่าวอะไรเลย จนพ่อที่มาส่งบอกว่า ให้กลับบ้านก่อน ไว้ถ้าเป็นข่าวหลอกจะโดนครูทำโทษ(ครั้งแรกในชีวิต ที่จะโดนข้อหามาสาย หรือข้อหาขาดเรียน)
ก็ช่างมันเถอะ

สรุป กลับมาบ้าน เห็นข่าวเลยรอดตัวไป


คงไม่ใช่เรื่องแปลกอันใด ที่ใครก็ตามหากเกาะติดหรือมีส่วนร่วมในการต่อสู้ของประชาชนมาก่อน สามารถวิเคราะห์ทิศทางการแพ้ชนะได้ถูกต้องจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
ทันทีที่ฝ่ายกุมอำนาจรัฐ เริ่มทำร้ายประชาชน (ซึ่งเริ่มก่อนคุณจำลองถูกจับกุมหนึ่งวัน-มีประชาชนถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย หัวเแตกเลือดอาบ) หรือจับกุมแกนนำ......................สามารถประเมินได้ทันทีว่า สุจินดากำลังจะแพ้แน่นอน................

การสู้อำนาจรัฐเผด็จการ โดยที่ฝ่ายประชาชนมีอดีตนายทหารที่ผ่านสมรภูมิการวสู้รบ ในสงครามจริงๆมา ย่อมทำให้การต่อสู้นันมีทิศทาง ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ที่ชัดเจนและได้ผลกว่าที่จะเป็นไปแบบไร้ทิศทาง
การสู้แบบมีการวางแผนล่วงหน้า ย่อมดีกว่า?  หากใครก็ตามที่เดินตามคุณจำลองในการต่อสู้ครั้งนั้น ไม่รู้ล่วงหน้าว่าตนเองแต่ละคน มีสิทธิ์เป็นวีรชน(ตาย)ได้ทุกคน ก็ถือว่าเป็นละอ่อนมากๆ ไม่มีใครหลอกใครได้หรอก แต่ละคนสู้ด้วยจิตสำนึกของตนเองมากกว่า

 พฤติกรรมของแต่ละคน สะท้อนจุดยืนของคนนั้นๆ จึงไม่แปลกที่ในที่สุด คุณจำลองจะถือว่าคุณวัลลพ คือคนที่เคยเป็นเพื่อน
นักเลงจริงเขาไม่ขายเพื่อนกันใช่ไหม?



 :)


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 มิ.ย. 12, 14:31
^
"น้ำไหลเปลี่ยนใจปลา  เงินตราและเวลาเปลี่ยนใจคน" ครับคุณ Sir Siam..เป็นคำตอบสุดท้าย  ;D


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 มิ.ย. 12, 14:40
คุณ Sir Siam

ยินดีกับคุณศรี          ที่ได้มีตำแหน่งใหม่
มีเซอร์นำหน้าไว้        ช่างยิ่งใหญ่ใดจะปาน

แฮะ  แฮะ

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 15 มิ.ย. 12, 17:38
คุณ Sir Siam

ยินดีกับคุณศรี          ที่ได้มีตำแหน่งใหม่
มีเซอร์นำหน้าไว้        ช่างยิ่งใหญ่ใดจะปาน

แฮะ  แฮะ

 ;D



น่ายินดี และภูมิใจ
เพราะเชื่อได้ ว่าเซ่อจริง
เขียนSir มาสองครั้ง
คงไม่พลั้ง แต่ตั้งใจ
ยอมทน เพราะทนได้
รักเรือนไทย จึงยอมทน

ลูกผู้ชาย ฆ่าได้ หยามไม่ได้
ทีใครก็ทีมัน



ล้อเล่นน่ะคุณดล....................จิตใจท่านสูงกว่านั้นครับ อ.เพ็ญฯ




 ;D


555555555555555


.


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 15 มิ.ย. 12, 17:50
จุดประสงค์ที่ต้องแก้แทนคุณจำลอง มีเพียงประการเดียว
คือสำนึกในบุญคุณของคุณจำลอง ที่กล้าตายออกมานำมวลชน ต่อสู้กับเผด็จการ
ในขณะที่คนอีกมาก เฝ้าดูอยู่ห่างๆ เห็นด้วย แต่ติดเงื่อนไขไม่สะดวกต่างๆ ไม่ว่ากัน

แต่มีอีกพวก ที่น่ารังเกียจมาก แสร้งเห็นด้วย แต่พร้อมที่ถล่มด่าหากพลาดพลั้งแม้เพียงนิดเดียว
หากชนะ จะฉกฉวยโอกาสเข้าร่วมขบวนการฉลองชัย
และแว้งกัดเมื่อมีโอกาส

พูดในฐานะทั้งเคยเป็นผู้เดินตามและเดินนำ................



แม้ปัจจุบันจะไม่เห็นด้วยในบางเรื่องที่คุณจำลองทำ...............
แต่ก็ไม่คิดว่าสมควรที่ผู้ใดจะกล่าวหาง่ายๆ...ในหลายข้อหาที่คุณจำลองถูกกล่าวหาอย่างไม่ยุติธรรม ทั้งๆที่หลายต่อหลายเรื่อง เราเห็นชัดว่าทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม......




.
ในช่วงหลัง จะเลี่ยงการวิจารณ์ ในเรื่องที่ไม่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์..





.


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 มิ.ย. 12, 19:13
คุณ Sir Siam

ยินดีกับคุณศรี          ที่ได้มีตำแหน่งใหม่
มีเซอร์นำหน้าไว้        ช่างยิ่งใหญ่ใดจะปาน

แฮะ  แฮะ

 ;D
โทษครับท่านเซอร์....อ้าว!!! ลืมดูครับ ไม่ได้ตั้งใจจริง ๆ  :-[


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 15 มิ.ย. 12, 21:35
แกนนำกลุ่มการเมืองบางท่านถูกจับไปแล้ว ภายหลังออกมา และได้ยศใหญ่กันทั่วหน้า

แกนนำกลุ่มการเมืองบางท่านถูกจับไปแล้ว ทุกวันนี้ยังไม่ได้ออกมา

แกนนำกลุ่มการเมืองบางท่านถูกจับไปสอบสวน ไม่รู้จะเป็นเช่นไร

แกนนำกลุ่มการเมืองบางท่านไม่ได้ถูกจับเลย และมีแรงออกมาประท้วงสืบไป สืบๆไป

ท่านท้ายสุดนี้ท่านคงทำบุญมาดีและทำมาเยอะจริงๆ เลยสามารถรอดปลอดภัยมาได้

คิดไปประท้วงยุคนี้ก็มีแปลกๆเยอะแยะ อาทิ เอาผ้าอนามัยไปวางรอบพระบรมรูปทรงม้า แสดงอวัยวะเพศ เทเลือด ยึดสนามบินกับยึดรัฐสภา เรื่อยไปถึงการทลายงานประชุมนานาชาติ และมีการวางเพลิง

ถือว่าแกนนำทุกฝ่ายสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆให้แก่ประเทศไทย น่าชื่นใจยิ่ง นี้ก็อุตส่าห์มาประท้วงกันอีกหน คงจะมีรูปแบบการประท้วงใหม่ๆเกิดขึ้นมาอีกเรื่อยๆ ให้เรานั่งวิเคราะห์กัน


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 16 มิ.ย. 12, 20:07
เขามีส่วนเลวบ้าง ก็ช่างเขา
จงเลือกเอาส่วนดี เขามีอยู่..............ฯ

กลอนท่านพุทธทาสสอดคล้องกับภาษิตจีนที่ให้พิจารณาคน   โดยชั่งน้ำหนักว่าเขามีดีกี่ส่วน เลวกี่ส่วน แล้วค่อยตัดสิน...............




ยังจำได้ว่าครั้งหนึ่ง หลัง 14 ตุลา ไม่นานนัก คุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล บุกขึ้นไปที่กทม.ก่นด่าทะเลาะกับเจ้าหน้าที่ดุจคนคลั่ง
บางคนตำหนิเสกสรรค์ ไม่มีชิ้นดี...............แต่ลืมมองไปว่า สิ่งที่ทำให้เขาออกอาการเหล่านั้น ทีแท้มาจากความที่มีจิตใจรักประชาชน รังเกียจที่กทม.ไปรังแกหาบเร่แผงลอยที่หาเช้ากินค่ำ ข้างถนน(ในมุมมองของเขา) และทั้งหมดนั้น เสกสรรค์ไม่ได้ทำเพื่อตนเองเลย  จิตใจที่รักประชาชนมีอยู่ในทุกวีรบุรุษตัวจริง เช่นเดียวกับประธานเหมาฯที่คนจีนเทอดทูนดุจจักรพรรดิ์






.
"บ้านเรามีแต่นักการเมือง........หาวีรบุรุษได้ยากนัก หรือไงหนอ???"



 :o

ข้อที่ว่าประธานเหมานี้คนจีนบูชาเทิดทูนดุจจักรพรรดิ์ ใช่ เป็นจริง ช่วงที่เหมาเรืองอำนาจ แต่หลังจากนั้น เหมาได้สร้างการปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งนักประวัติศาสตร์ชาวจีนหลายคนบอกว่า เพื่อดึงอำนาจมาสู่ตนอีกครั้ง ทำเอาบ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย วินาศ หลังจากเหมาสิ้นไป เติ้งเสี่ยวผิงได้ดำเนินนโยบายเลิกยกย่องอย่างบ้าคลั่ง และมองประธานเหมาอย่างที่เป็นจริง

ทุกวันนี้ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าคนจีนบูชาเหมาหรือเปล่า แต่เท่าที่เห็นผ่านตาคนในชาติก็ไม่ได้สนใจอะไรมากมายไม่ได้ยกย่องวิเศษอะไร และมีนักวิชาการหลายคนมาโจมตีเงียบๆ เรื่อยๆ แต่พูดดังไม่ได้เพราะจะเจอข้อหาอันร้ายแรง อาจารย์ข้าพเจ้าบางคนผ่านยุคนั้นมา พูดกับข้าพเจ้าตรงๆเงียบๆ ก็ไม่ได้พูดในทัศนคติเทิดทูนอะไร นักศึกษาที่เรียนด้วยกันก็พูดไม่ได้ต่างกัน แค่พูดดังๆไม่ได้
.
"บ้านเรามีแต่นักการเมือง........หาวีรบุรุษได้ยากนัก หรือไงหนอ???"

วางใจเถิดครับ นักการเมืองมีอยู่ทุกที่แหละ และจะกลายเป็นวีรบุรุษเมื่อเราอยากจะยกย่อง ทั้งๆที่จริงๆ ก็เลว ถ่อย ทราม ไม่ได้แตกต่างจากผู้อื่นเลยก็เป็นได้ เราอาจจะยกให้เขาดีขึ้นมาเฉยๆก็ได้



กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 มิ.ย. 12, 20:20
บ้านเรามีแต่นักการเมือง........หาวีรบุรุษได้ยากนัก หรือไงหนอ?

A statesman is he who thinks in the future generations, and a politician is he who thinks in the upcoming elections.
 
Abraham Lincoln

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 16 มิ.ย. 12, 22:20
เท่าที่ทราบ รู้สึกว่าความเสียหายมหาศาลจากการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนมาจากฝีมือเจียงชิง(และแก๊งค์4คน) ภริยาประธานเหมามากกว่าเป็นตัวประธานเหมาเอง จนที่สุดเหมาจึงเปิดไฟเขียวให้จัดการ จึงสงบลงได้
ประธานเหมานั้นท่านวิจารณ์ตนเองอยู่เสมอ และยอมรับในข้อผิดพลาดมากมายที่เคยทำ.............

ความเคารพนับถือของประชาชนจีน มีมากจริงๆ จนที่สุดแล้ว เติ้งเสี่ยวผิงเกรงจะเกิดกลายเป็นลัทธิบูชาตัวบุคคล จึงให้เพลาๆลงจนถึงขั้นปลดรูปออกจากประตูเทียนอันเหมิน และติดกลับคืนในช่วงหลังไม่นานนัก



เลนไปจีนจนได้.............

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มิ.ย. 12, 22:53
ไปจีนมาหลายหนแล้ว  เคยคุยกับนักวิชาการและชาวบ้านร้านถิ่น  เท่าที่สังเกตหนุ่มสาวจีนวัย 20-30 กว่าๆคือ พวกที่เติบโตขึ้นมาหลังยุคเหมา  เป็นคนจีนที่ไม่เหมือนยุคพ่อแม่พวกเขา     คนยุคก่อนดูเหมือนจะถูกปลูกฝังเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองมากกว่ายุคลูก  มีชีวิตสมถะเรียบง่าย  จะพูดจะจาก็ระมัดระวัง  พูดน้อย เงียบ สันโดษ
ข้อหลังนี้สังเกตจากคนจีนในยุค 70s ปลาย ที่ได้ทุนมาเรียนที่อเมริกา    เป็นยุคปลายๆของเหมาที่จีนเริ่มเปิดประเทศ   ส่งนักเรียนจีนมาเรียนวิชาวิศวฯ วิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์ ฯลฯ  ที่มหาวิทยาลัยของดิฉันก็มีคนจีนได้ทุนมาเรียนกันหลายคน

พี่ไทยกินอยู่กันสนุกสนาน  ทำแกงเขียวหวาน ส้มตำ ไก่ย่าง ลาบเนื้อ  กันเป็นประจำทุกวัน     นักเรียนจีนจากแผ่นดินใหญ่ต้มบะหมี่น้ำกินชามเดียวอิ่ม   เสร็จแล้วไปดูหนังสือต่อ
พอเรียนจบวันนี้  พรุ่งนี้แพ็คกระเป๋าเดินทางกลับบ้าน  ไม่รอวันรับปริญญาด้วยซ้ำ

ห่างไปจนถึงเข้าศตวรรษใหม่    ไปเมืองจีน  เห็นเด็กหนุ่มสาวจีนยุคนี้ทำให้ดิฉันนึกถึงหนุ่มสาวอเมริกัน  ไม่ว่ารูปร่างที่สูงใหญ่แข็งแรงเพราะกินอาหารดีๆ เช่นเนื้อและนมเนย   แต่งกายแฟชั่นแบบอเมริกัน    กิริยาท่าทางของวัยรุ่นเวลาเดินเที่ยวเตร่เฮฮากัน ก็เป็นเหมือนหนุ่มสาวตะวันตกไม่มีผิด       
ส่วนพวกที่อยู่ในวัยทำงานแล้ว  พวกนี้คล้ายๆคนจีนในประเทศเสรีนิยม  คือขยันขันแข็ง กระตือรือร้น ทำงานที่จะหารายได้ดี  ต้องการสร้างฐานะตนเอง   ชอบค้าขายทั้งงานผลิตสินค้าและงานเซอร์วิส  ขอแต่เพียงได้ผลตอบแทนคุ้มค่าเหนื่อยก็พอ
ถ้าถามเรื่องการเมือง  จะไม่ค่อยได้คำตอบเหมือนเขาไม่สนใจกันนัก    เขากระตือรือร้นจะสร้างอนาคตให้ตนเองมากกว่า   จนบัดนี้ยังไม่เคยได้ยินเขาคุยเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองกันเลย
เคยถามถึงผู้นำทางการเมืองที่เขานับถือ  ได้คำตอบว่า เติ้งเสี่ยวผิง

แต่นี่ก็เป็นการพบคนจีนอย่างผิวเผิน  รู้จักแต่คนเดินถนนทั่วไปหรือไม่ก็คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกันอย่างพวกนักวิชาการ  ไม่ได้เจาะลึกเข้าไปถึงระดับผู้บริหารสูงๆ     เลยยังไม่รู้ว่าอุดมการณ์ของเขายังเข้มข้นแบบเดิม หรือยังนับถือประธานเหมาหรือเปล่า


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 17 มิ.ย. 12, 11:10
นักวิชาการฝ่ายที่ออกมาปกป้องเหมาเจ๋อตุงบอกว่า ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลล้วนเกิดจากแก๊งสี่คน แต่นางเจียงชิง ภรรยาของประธานเหมาบอกว่า "ข้าพเจ้าเป็นสุนัขของท่านประธานเหมา ท่านบอกให้ข้าพเจ้าเห่า ข้าพเจ้าก็เห่า" จะสื่อนัยใดก็เหลือจะคิด

ทุกวันนี้ในวงวิชาการประวัติศาสตร์จีนแบ่งเป็นสองส่วน บางส่วนบอกว่า แก๊งสี่คนทำกันเอง บางส่วนบอกว่า เหมามีบทบาทอยู่เบื้องหลัง

ข้าพเจ้าไม่ขอบอกว่าฝ่ายใดถูก ท่านในศึกษาประวัติศาสตร์ก็พินิจกันเอง ตำราเขียนมีกันสองฝ่าย อาจารย์ที่สอนข้าพเจ้ายกตัวอย่างมาหลายเรื่อง จะมองว่าเหมาเป็นอัศวินกู้ชาติ เลยออกมาสั่งห้ามตอนสุดท้ายก็ได้ หรือจะบอกว่าเหมาปราบปรามแล้ว แต่ไม่เป็นผล เลยต้องผ่อนปรนลงมา ก่อนที่ตัวเองจะล้มก็บอกได้

ก่อนหน้าโน้น ในจีนมีเรื่อง "ปล่อยโอกาสให้ดอกไม้บาน ร้อยสำนักประชันความคิด" คือในวิจารณ์พรรคได้ เหมาเป็นคนเสนอ ปล่อยไปสักพักก็สั่งห้าม และคนวิจารณ์แรงๆก็ถูกลงโทษ ถูกปลดบ้าง เรื่องนี้เหมาทำเอง หรือใครทำก็ไม่กล้าจะพูด

ประวัติศาสตร์โดยเฉพาะตัวบุคคลมีสองด้านเสมอ จะมองให้เป็นทรชนคนทราม หรือวีรบุรุษกู้ชาติก็ได้ แล้วแต่จะมองเน้นฝ่ายได้ หรือเชื่อเรื่องราวใด

ทั้งนี้ เรื่องการเมืองคนจีนเขาไม่ค่อยสนใจกันเท่าไร เพราะว่า พรรคควบคุมทุกอย่าง ต่อต้านพรรคไม่ใช่แค่ตัวเองติดคุก แต่ครอบครัวตัวเองก็ต้องโทษ ถูกกักบริเวณ ลูกหลานเข้าเรียนเข้าทำงานมิได้ เป็นต้น


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 17 มิ.ย. 12, 11:15
ข้าพเจ้าคัดจาก

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1

คิดว่าบรรยายได้ดีพอควร ลองให้ทุกท่านอ่านดู พึงระลึกว่าการเขียนเช่นนี้ในจีนคงไม่ค่อยจะกล้าเขียนเท่าไร

การปฏิวัติทางวัฒนธรรม (อังกฤษ: Cultural Revolution; (จีนตัวเต็ม: 無產階級文化大革命; จีนตัวย่อ: 无产阶级文化大革命; พินอิน: Wúchǎn Jiējí Wénhuà Dà Gémìng) เป็นชื่อเรียกการปฏิวัติหนึ่งในประเทศจีน ช่วงปี พ.ศ. 2509-2519 (ค.ศ. 1966-1976)

ในสมัยที่ประเทศจีนปกครองโดยคอมมิวนิสต์ใหม่ ๆ นั้น ได้มีการใช้ระบบคอมมูน (แนวคิดว่าทรัพย์สินทุกอย่างเป็นของรัฐ) โดยคอมมูนนี้เป็นจุดเริ่มของการปฏิวัติวัฒนธรรมเพราะคอมมูนการเลี้ยงดูได้ปลูกฝังแนวคิดสังคมนิยม และคอมมิวนิสต์ให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ของจีนในสมัยนั้น เป็นผลให้ระบบเครือญาติที่เคยเข้มแข็งอ่อนแอลง

ทศวรรษแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรม 1966-1976 文化大革命 ต้นทศวรรษ 1960 ฐานะของเหมาในพรรคคอมมิวนิสต์ถูกลดบทบาทลง เขาจึงได้เริ่มรุกกลับในปี 1962 เพื่อ “ปกป้องพรรค” จากในสิ่งที่เขาเชื่อว่าการคืบคลานเข้ามาของทุนนิยม และการต่อต้านสังคมนิยมกำลังเป็นภัยต่อประเทศ ในฐานะนักปฏิวัติที่ผ่านร้อนผ่านหนาวจากสถานะการณ์อันเลวร้าย เหมาเชื่อว่าระบบการให้รางวัลแก่ชาวนาตามแนวทางปรับปรุงและฟื้นฟูของเติ้ง เป็นวิธีการฉ้อราษฏร์บังหลวงและเป็นการต่อต้านการปฏิวัติ

การต่อสู่ทางความคิดในพรรคนำไปสู่การกวาดล้างพวกที่ถูกเรียกว่า “ฝักใฝ่ทุนนิยม” หรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดสุดโด่งของเหมา ซึ่งมีตัวแทนคือ หลิวซ่าวฉี 刘少奇 กับเติ้งเสี่ยวผิง 邓小平 เหมากล่าวว่า “ขณะนี้ เพียงมีเนื้อหมูสามกิโลกับบุหรี่ไม่กี่ซอง ก็สามารถทำให้คนขายอุดมการณ์ได้แล้ว จึงมีเพียงการศึกษาแนวทางลัทธิสังคมนิยมเท่านั้น ที่จะยับยั้งลัทธิแก้ 修正主义 ได้”

โดยต่อมาการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นไปอย่างแพร่หลาย ผู้นำสังคมในยุคนั้นปลูกฝังประชาชนให้ให้ยึดมั่นอย่างเคร่งครัด ใครไม่ปฏิบัติตามจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง โดยมีหน่วยงานสนับสนุนที่สำคัญ คือ พวกกองทัพพิทักษ์แดง (เรดการ์ด - Red Guard) หรือก็คือเยาวชนที่ผลิตโดยคอมมูนการเลี้ยงดูนั่นเอง

กาลียุคแห่งการปฏิวัติ ปี 1966 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ได้ตัดสินใจแนวทางการปฏิวัติวัฒนธรรม หลังจากที่เหมาเข้าควบคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในพรรคได้อีกครั้ง โดยมีผู้สนับสนุนสำคัญคือ หลินเปียว 林彪 เจียงชิง 江青 (ภรรยาคนที่สี่ของเหมา) และเฉินป๋อต๋า 陈伯达 การปฏิวัติมีจุดมุ่งหมายเพื่อ “โค่นล้มพวกลัทธิทุนนิยม และ วิพากษ์ศิลปะวัฒนธรรมที่แบ่งแยกชนชั้น” โดยการปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปศิลปะวัฒนธรรม และปฏิรูปทุกอย่างที่ขัดกับแนวทางลัทธิสังคมนิยม

ผลของการปฏิวัติวัฒนธรรม คือ สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่แสดงถึงวัฒนธรรมของจีนต้องถูกทำลาย เช่น หนังสือ วัดวาอาราม รูปปั้น งานศิลปะต่าง ๆ และทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกันระหว่างครอบครัว เพื่อนบ้าน เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าใครจะเป็นผู้แจ้งให้ทางการรู้เกี่ยวกับละเมิดกฎ

วันที่ 18 สิงหาคม 1966 เหมาเจ๋อตงกับหลิวเปียวได้ปรากฏตัวที่จตุรัส-เทียนอันเหมิน天安门广场 พบกับพวกหงเว่ยปิงหรือเรดการ์ด 红卫兵 ที่ทยอยมาจากทั่วประเทศจำนวนรวมสิบกว่าล้านคน หลังจากนั้น ทั่วประเทศจีนก็เข้าสู่กาลียุคเมื่อพวกเรดการ์ดกระจายไปทั่วสารทิศแจกใบปลิว ติดโปสเตอร์ ป้ายคำขวัญ ตั้งเวทีอภิปราย บางส่วนก็บุกเข้าไปในวัดโบถส์ พิพิธภัณฑ์สถาน ทำลายวัตถุโบราณ เผางานศิลปะ งานประพันธ์ ตอนหลังก็มีการบุกค้นบ้าน โดยเฉพาะพวกผู้ดีเก่า ปัญญาชน ศิลปินหัวอนุรักษ์นิยม จะถูกจับแห่ประจาน ทรมาร ตอนหลังแม้แต่พระสงค์ แม่ชีและนักบวชก็ไม่เว้น พวกที่มีญาติอยู่ต่างประเทศก็โดนข้อหา “มีความสัมพันธ์กับต่างประเทศ” หลายคนทนรับเหตุการณ์ไม่ได้ก็ฆ่าตัวตาย

ในส่วนของผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์เองก็ใช่ว่าจะได้รับการยกเว้น เติ้ง-เสี่ยวผิง กับหลิวซ่าวฉี (ตอนหลังตายในที่คุมขัง)ถูกปลด เผิงเต๋อหวาย 彭德怀 กับเฮ่อหลง 贺龙 ถูกทรมานจนเสียชีวิต วันที่ 22 สิงหาคม เหมาประกาศ “ห้ามตำรวจขัดขวางความเคลื่อนไหวของนักศึกษาปฏิวัติ” ในช่วงเวลาดังกล่าวเรียกว่า “แดงสยอง” 红色恐怖 เฉพาะในเป่ยจิง มีคนถูกฆ่าตายถึง 1700 คน และทั่วประเทศมีคนฆ่าตัวตายถึง 2 แสนคน วันที่ 5 กันยายน ทางพรรคคอมมิวนิสต์ประกาศสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับนักศึกษาและอาจารย์ที่จะเข้ามาเคลื่อนไหวในเป่ยจิง วันที่ 9 ตุลาคม หลินเปียวกล่าวหาเติ้งเสี่ยวผิงกับหลิวซ่าวฉีเป็นตัวแทนของทุนนิยม

อวสานของหลินเปียว 1969-1971 ปี 1969 ในที่ประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 1 เมษายน หลิวเปียว ถือว่าเป็นผู้ที่อยู่ในอำนาจสูงสุดต่อจากเหมา ในขณะที่หลิวซ่าวฉีถูกโค่น และโจวเอินไหลถูกลดบทบาทลง ในที่ประชุมสมัชชา หลินเปียวกล่าวสดุดีเหมาด้วยคติพจน์เหมา และสนับสนุนการใช้กองกำลังอาวุธ ประนามหลิวซ่าวฉีเป็นพวกต่อต้านการปฏิวัต แก้ไขธรรมนูญพรรค ให้ตนเองเป็นผู้สืบทอดอำนาจของเหมาในอนาคต หลังจากนั้น ชื่อของหลิวเปียวกับเหมาเจ๋อตงมักจะปรากฏคู่กันเสมอในที่ต่าง ๆ ในการคัดเลือกผู้นำพรรคใหม่ในครั้งได้ ได้คัดเลือกเหมาเจ๋อตง หลิวเปียว เฉินป๋อต๋า 陈伯达 โจวเอินไหล คังเซิน 康生 เป็นสมาชิกถาวรคณะกรรมการกลางพรรค สี่ในห้าเป็นการได้ตำแหน่งด้วยผลพวงของการปฏิวัติวัฒนะธรรม ขณะที่โจวเอินไหลเป็นเพียงคงสถานะตนเอง

หลังจากได้รับการยืนยันที่จะได้รับเป็นผู้สืบทอดของเหมา หลิวเปียวจึงขอฟื้นฟูตำแหน่งประธานประเทศขึ้นมาใหม่ หลังจากที่เหมาได้ยกเลิกไป โดยหลินเปียวมุ่งหวังที่จะเข้ารับรองประธาน โดยมีเหมาเจ๋อตงเป็นประธาน

วันที่ 23 สิงหาคม 1970 การประชุมเต็มคณะครั้งที่สองของสมัชชาพรรคครั้งที่ 9 ได้จัดขึ้นที่หลูซาน 庐山 อีกครั้งหนึ่ง เฉินป๋อต๋า 陈伯达 เป็นคนแรกที่ขึ้นกล่าวในที่ประชุม เขาได้กล่าวยกย่องสดุดีเหมาเสียเลิศเลอและตามด้วยการขอฟื้นตำแหน่งประธานประเทศขึ้นมาใหม่ เหมารู้ถึงเบื้องลึกของเฉิน จากนั้นไม่นานเฉินก็ถูกปลดออกจากคณะกรรมการกลางของพรรค และเรื่องนี้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทั่วประเทศ และเฉินก็กลายเป็นพวกตัวแทนของหลิวซ่าวฉี ซึ่งเป็นมาร์กซิสจอมปลอมและพวกปลิ้นปล้อนทางการเมือง

การปลดเฉินออกถือเป็นสัญญาณเตือนหลินเปียว แต่หลิวเปียวก็ไม่หยุดที่เรียกร้องให้แต่งตั้งตำแหน่งประธานประเทศ ทางรัฐบาลกลางได้ชี้ให้เหมาเห็นถึงความทะเยอทะยานของหลิวเปียวที่จะขจัดเหมาออกจากอำนาจ การขอเป็นรองประธานก็เพื่อให้เขามีความชอบธรรมที่จะได้ขึ้นเป็นประธานเมื่อเหมาถึงแก่อสัญกรรม

เมื่อแผนการล้มเหลว หลินเปียวจึงคิดจะยึดอำนาจด้วยการใช้กำลัง เนื่องจากอำนาจในพรรคของเขานับว่ายิ่งน้อยลง ๆ หลินเปียวได้ร่วมกับลูกชาย หลินลิกั่ว 林立果 และคนสนิทใกล้ชิดก่อการในซ่างไห่ 上海 โดยวางแผนใช้กองทัพอากาศทิ้งระเบิดปูพรม เมื่อยึดอำนาจสำเร็จก็จัดการจับกุมพวกฝ่ายตรงข้ามและเขาก็ก้าวสู่อำนาจสูงสุด ดังที่เขาได้กล่าวในเอกสารชื่อ “อู่ชิยี่กงเฉินจี้ย่าว” 五七一工程记要 (คำว่า 五七一 อู่ชิยี่หรือ 571 เป็นคำพ้องเสียงเพื่อสื่อความหมาย 武装起义 คือก่อการด้วยอาวุธ) ไว้ว่า “การต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจครั้งใหม่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเราไม่สามารถยึดอำนาจการนำปฏิวัติสำเร็จ อำนาจก็จะตกไปอยู่ในมือของคนอื่น”

เมื่อการยึดอำนาจไม่สำเร็จ ข่าวลือเกี่ยวกับการลอบสังหารเหมาเกิดขึ้นมาไม่ขาดระยะ ลือกันตั้งแต่เหมาถูกฆ่าบนขบวนรถไฟในเป่ยจิง การบุกเข้าไปลอบสังหารถึงที่พัก โดยคนใกล้ชิดของหลินเปียว หลังวันที่ 11 กันยายน หลินเปียวก็ไม่เคยปรากฏให้เห็นในที่สาธารณะอีก ในขณะที่ผู้ใกล้ชิดของหลินเปียวที่หนีไปทางฮ่องกงถูกจับกุมทั้งหมด วันที่ 13 หลินเปียวขึ้นเครื่องบินเตรียมหนีไปโซเวียต แต่เครื่องบินไปตกในมองโกลในไม่มีผู้ใดรอดชีวิต ในวันเดียวกันทางเป่ยจิงเรียกประชุมด่วนเกี่ยวกับเรื่องของหลินเปียว จนถึงวันที่ 14 กันยายน ข่าวหลินเปียวเสียชีวิตจากเครื่องบินตกจึงทราบถึงทางเป่ยจิง ในวันที่ 1 ตุลาคม ทางการจีนประกาศงดจัดฉลองวันชาติที่จตุรัสเทียนอันเหมิน


แก๊งสี่คน 四人帮 1971-1976 หลังการเสียชีวิตของหลินเปียว เหมายังมองไม่เห็นผู้สืบทอดอำนาจ จึงได้ย้าย หวางหงเหวิน 王洪文 จากซ่างไห่มาเป่ยจิงในเดือนกันยายน 1972 และได้เป็นคณะกรรมการกลางของพรรคในอันดับสองรองจากโจว เอินไหล เหมือนหมายมั่นจะให้เป็นผู้สืบทอด ในขณะเดียวกันเติ้งเสี่ยวผิง ก็ได้กลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งภายในความช่วยเหลือของโจวเอินไหล จากผลกระทบในการแย่งชิงอำนาจของหลินเปียว ทำให้เหมาไม่อาจที่จะไม่พึ่งพาโจวเอินไหลกับเติ้งเสี่ยวผิง แต่เหมาก็ไม่คิดจะถ่ายโอนอำนาจให้ เติ้ง แต่ถ้าเทียบกำลังอำนาจ “ฝ่ายซ้ายจัด”ของฝ่ายตนแล้ว เหมาก็ยังไม่ค่อยชอบ“ฝ่ายขวา”ของเติ้งนัก

กรกฏาคม 1973 เหมาวิพากษ์ว่าทั้งกั๊วหมิงต่างกับหลินเปียวล้วนแต่เป็นพวกฝักใฝ่ลัทธิขงจื้อ มกราคม 1974 เจียงชิงพร้อมพวกซึ่งเป็นพวกฝักใฝ่เหมาเจ๋อตงที่แท้จริง ก็เริ่มเคลื่อนไหว “วิพากษ์หลินวิจารณ์ข่ง” 批林 批孔运动 โดยมีเป้าหมายอยู่ที่โจวเอินไหล เนื่องจากโจวเป็นคู่แข่งคนสำคัญทางการเมืองหลังจากหลินเปียวเสียชีวิต แต่ความเคลื่อนไหวนี้ก็ไม่ได้รับความสนใจมากนัก

ตุลาคม 1974 โจวเอินไหลป่วยหนักเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ภาระกิจทั้งหมดจึงมอบหมายให้เติ้ง ในฐานะรองนายกฯเป็นคนรับผิดชอบแทน เติ้งดำเนินตามนโยบาย “สี่ทันสมัย” 四个现代化 ของโจวเอินไหล (สี่ทันสมัยคือความทันสมัยด้านเกษตร ด้านอุตสาหกรรม ด้านเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ และด้านการทหาร) กันยายน 1975 เหมาล้มป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอีกคน

สิ้นสุดการปฏิวัติวัฒนะธรรม ปี 1976 เป็นปีที่สำคัญสำหรับการปฏิวัติวัฒนะธรรม วันที่ 8 มกราคม โจว เอินไหลเสียชีวิตด้วยโรงมะเร็ง ในวันต่อมาประชาชนต่างหลั่งไหลในที่อนุสาวรรีย์วีรชนเพื่อไว้อาลัยแก่โจวเอินไหล วันที่ 15 เป็นวันจัดงานศพของโจวเอินไหล เติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้กล่าวไว้อาลัยอย่างเป็นทางการ

กุมภาพันธ์ กลุ่มแก๊งสี่คนออกมาโจมตีเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งเป็นคู่แข่งที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวอีกครั้ง โดยได้รับไฟเขียวจากเหมา เติ้งถูกลดอำนาจอีกครั้ง แต่เหมาก็ไม่ได้แต่งตั้งใครจากกลุ่มสี่คนเข้ารับตำแหน่งแทน แต่หันไปแต่งตั้งหัวกั๊วเฟิง 华国锋 แทน วันที่ 4 เมษายน วันชิงเม้ง 清明 ตามประเพณีจีน ประชาชนประมาณสองล้านคนรวมตัวกันที่จตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อรำลึกโจวเอินไหล ขณะ เดียวกันก็มีกลุ่มสนับสนุนเติ้งเสี่ยวผิง และโจมตีแก๊งสี่คนปรากฏภายในจตุรัส เอกสารต่อต้านกลุ่มสี่กลุ่มเผยแพร่ออกมาจำนวนมาก กลุ่มแก๊งสี่คนจึงสั่งให้ตำรวจเข้าไปสลายการชุมนุม แก๊งสี่คนโจมตีเติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้วางแผนอยู่เบื้องหลังสำหรับการชุมนุมครั้งนี้ เติ้งถูกปลดออกจากทุกตำแหน่งทางการเมือง และแต่งตั้งหัวกั๊วเฟิงเป็นรองนายกฯอันดับหนึ่งแทน

กันยายน 1976 เหมาถึงแก่อสัญกรรม แก๊งสี่คนเห็นหัวกั๊วเฟิงไม่ยอมเชื่อฟังพวกเขาจึงเตรียมที่จะล้มหัว แต่วันที่ 6 ตุลาคม หัวกั๊วเฟิงภายใต้การสนับสนุนของกองทัพก็ชิงลงมือก่อน โดยส่งตำรวจเข้าจับกุมสมาชิกแก๊งสี่คนทั้งหมด การปฏิวัติวัฒนธรรมจึงปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์
การสิ้นสุดของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม

การเสียชีวิตของ เหมาเจ๋อตง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น มีผลต่อการล่มสลายของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก ผู้สืบอำนาจต่อมา คือ เติ้งเสี่ยวผิง นั้นได้ผ่อนคลายกฎลง ทำให้ภาวะการณ์คลี่คลาย โดยเฉพาะเมื่อมีการจับกุมกลุ่มผู้นำการปฏิวัติ ทำให้การปฏิวัติทางวัฒนธรรมสิ้นสุดลง


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 มิ.ย. 12, 11:55
ซ้าย นางเจียงชิงกับประธานเหมา เมื่อสมรสกันใหม่ๆ
ขวา  นางเจียงชิงในวัยที่กุมอำนาจทางการเมือง


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 มิ.ย. 12, 11:59
หากเรื่อง "ประธานเหมา นักการเมืองหรือรัฐบุรุษ"  ยังมีต่อให้วิพากษ์กันอีกยืดยาว

แยกกระทู้ใหม่เป็นไรมี

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 มิ.ย. 12, 12:07
ต้องแล้วแต่คุณ han_bing จะเห็นสมควรค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 17 มิ.ย. 12, 18:01
“我是毛主席的一条狗,毛主席叫我咬谁我就咬谁。你们打狗也得看主人啊”

wo shi mao zhu xi de yi tiao gou, mao zhu xi jiao wo yao shei wo jiu yao shei. ni men da gou ye dei kan zhu ren a!

ข้าพเจ้าเป็นสุขัขตัวหนึ่งของท่านประธานเหมา ท่านประธานเหมาบอกให้ข้าพเจ้ากัดใคร ข้าพเจ้าก็กัดคนนั้น พวกคุณจะตีสุนัขก็ต้องมองไปถึงเจ้าของสุนัขด้วย!

วาทะนางเจียงชิงหลังสิ้นอำนาจ

(咬: yao ในภาษาจีนจะแปลว่า "กัด" หรือ "เห่า" ก็ได้ แต่ข้าพเจ้าคิดว่าในบริบทนี้น่าจะเป็น "กัด" มากกว่า "เห่า")


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 17 มิ.ย. 12, 21:39
^
"น้ำไหลเปลี่ยนใจปลา  เงินตราและเวลาเปลี่ยนใจคน" ครับคุณ Sir Siam..เป็นคำตอบสุดท้าย  ;D

ถ้าใช้ทฤษฏีของ Maslow มาอธิบาย "เงิน" ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายครับ

Self Esteem ต่างหากครับ ในความเห็นผมนะ

ไม่งั้นคงไม่เกิด "คาร์บ๊อง" แน่ ๆ

ถ้าดูหนัง HolleyWood บ่อย ๆ จะเห็นสถานการณ์แบบนี้เยอะมาก อย่าง The Rock (ปู่ฌอน คอนเนอร์ลี, นิโคลาจ เคจ) บทของผู้พันหน่วยซีล นั่นล่ะครับ คำตอบของเรื่อง Self Esteem

เอาภาษาบ้าน ๆ ทางพระท่านบอกว่า "ยศฐานบรรดาศักดิ์" นั่นเอง

ถ้าตามประวัติท่านพัลลภมานาน จะเข้าใจครับ ไม่ต้องอื่นไกล "ผอ.รมน." นั่นล่ะครับตัวอย่างที่ดีของ Self Esteem ในเรื่องนี้

ว่าไปว่ามา  มันก็เข้าหรอบเดิม  "...เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล...."  เผอิญทำไม่สำเร็จ มันก็ต้องมี Strike Back กันบ้าง ฮ่า ๆ ๆ

โลกนี้ก็แบบนี้ล่ะหนอ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 17 มิ.ย. 12, 21:47
คงไม่ใช่เรื่องแปลกอันใด ที่ใครก็ตามหากเกาะติดหรือมีส่วนร่วมในการต่อสู้ของประชาชนมาก่อน สามารถวิเคราะห์ทิศทางการแพ้ชนะได้ถูกต้องจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
ทันทีที่ฝ่ายกุมอำนาจรัฐ เริ่มทำร้ายประชาชน (ซึ่งเริ่มก่อนคุณจำลองถูกจับกุมหนึ่งวัน-มีประชาชนถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย หัวเแตกเลือดอาบ) หรือจับกุมแกนนำ......................สามารถประเมินได้ทันทีว่า สุจินดากำลังจะแพ้แน่นอน................

การสู้อำนาจรัฐเผด็จการ โดยที่ฝ่ายประชาชนมีอดีตนายทหารที่ผ่านสมรภูมิการวสู้รบ ในสงครามจริงๆมา ย่อมทำให้การต่อสู้นันมีทิศทาง ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ที่ชัดเจนและได้ผลกว่าที่จะเป็นไปแบบไร้ทิศทาง
การสู้แบบมีการวางแผนล่วงหน้า ย่อมดีกว่า?  หากใครก็ตามที่เดินตามคุณจำลองในการต่อสู้ครั้งนั้น ไม่รู้ล่วงหน้าว่าตนเองแต่ละคน มีสิทธิ์เป็นวีรชน(ตาย)ได้ทุกคน ก็ถือว่าเป็นละอ่อนมากๆ ไม่มีใครหลอกใครได้หรอก แต่ละคนสู้ด้วยจิตสำนึกของตนเองมากกว่า

 พฤติกรรมของแต่ละคน สะท้อนจุดยืนของคนนั้นๆ จึงไม่แปลกที่ในที่สุด คุณจำลองจะถือว่าคุณวัลลพ คือคนที่เคยเป็นเพื่อน
นักเลงจริงเขาไม่ขายเพื่อนกันใช่ไหม?
 :)

มันไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกครับ ในประวัติศาสตร์การลุกฮือต่อต้านอำนาจเดิมทั่วโลก ฝ่ายที่ "มีการจัดตั้งอย่างเป็นระเบียบ" ย่อมสามารถทำให้เป้าหมายของตนเองประสบความสำเร็จได้

ตรงกันข้ามกับฝ่ายที่ "ไม่มีการจัดตั้ง" อย่างแน่นอน เพราะสุดท้าย ฝ่ายที่ไม่ได้จัดตั้งและวางระเบียบองค์กรปฏิวัติของตนเองดีพอ ก็จะกลายเป็น "กบฎ" ไปนั่นเอง

ทั้งนี้ การรับรู้ของแต่ละคน ในเฟืองแต่ละชิ้นขององค์กรย่อมต่างกันไป อยู่ที่ว่าท่านใดจะเลือก "มองมุมไหน" และ "การรับรู้ข่าวสารในระดับของตัวเอง" จะเป็นเช่นไร


สำหรับผมที่เกิดทันพฤษภาคม 2535 ถ้าให้เทียบกับ ตุลาคม 2516  ผมมองว่ายัง "....ห่างกันไกลนัก....."

แต่ถ้าจะให้เทียบ ผมมองว่า ตุลาคม 2519 มีลักษณะการดำเนินไปของเหตุการณ์เหมือนกับ พฤษภาคม 2535 ครับ

หมายเหตุ เป็นความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ

 


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 17 มิ.ย. 12, 22:04
ในโลกแห่งความเป็นจริง  "เก้าอี้" มันมีอยู่ไม่กี่ตัว แต่คนที่พร้อมจะเล่นเกมนี้ "มีเยอะ"  ก็เป็นธรรมดาที่จะต้อง "แก่งแย่ง" กันไป ใครแรงเยอะกว่า อดทนกว่า พร้อมจะเปลืองตัวมากกว่า ก็ทำสำเร็จไป (แต่ก็อาจจะต้องแลกมาด้วยอะไรต่อมิอะไรมากมาย ที่อาจจะไม่คุ้มก็ได้ ? )

บางหน่วยงาน ที่ได้ชื่อว่า "เคารพในระบบอาวุโส" และ "มีความเป็นระบบอย่างสูง"

เอาเข้าจริง ก็เห็นได้ข่าวว่ารุ่นน้อง "ปีนเกลียว" กับ รุ่นพี่ อยู่บ่อย ๆ กลายเป็นตำนาน รุ่นนั้นไม่ถูกรุ่นนั้น รุ่นนี้ไม่ถูกรุ่นโน้น บางรุ่นอยู่ตรงกลางระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง กลายเป็น "รุ่นโลกลืม" ไปก็มี

อนิจจา ........อำนาจ วาสนา บารมี ชื่อเสียง เงินทอง ......... มันช่างเย้ายวนอะไรเช่นนี้


ในโลกนี้ ที่เคยเห็นคนที่พอจะต่อต้านมันได้ และทำเพื่อคนจริง ๆ หา "ได้ยากเหลือเกิน"

จะมีใคร ที่ทำได้อย่าง  จางเหลียง หรือแม้แต่ สวินอี้ (ซุนฮก) บ้างหนอ....


เขียนถึงเรื่องนี้ พาลให้นึกถึงเพลงนี้ 
http://www.youtube.com/watch?v=VIOCkrowslY


เพิ่งเข้าใจก็วันนี้ ทำไมจอมยุทธเขาถึงหลีกกาย หลีกเร้น เพื่อหาวิเวก



กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 01 ก.ค. 12, 23:10
แฮ่กๆๆ ตามอ่านจนเหนื่อย พอเจอกระทู้ไหนที่ตัวเองสนใจต้องมาดันกระทู้เอาไว้ก่อน อิอิอิ

สมัยพฤษภาทมิฬผมก็มีส่วนร่วมในเหตุการณ์อยู่น้อยนิด ว่างๆจะมาเล่าประกอบเพือเป็นข้อมูลไว้ครับ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 12, 01:57
เข้ามารอฟังค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 02 ก.ค. 12, 12:37
เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ตอนนั้นผมอยู่ประมาณปีสองมหาวิทยาลัยครับ  ช่วงนั้นยังเด็กและมีพลังงานเยอะ ก่อนนั้นติดตามข่าวการเมืองตลอดมา ตั้งแต่รัฐบาลน้าชาติ เหลิมดาวเทียมทะเลาะกับทหาร ไปเอามนูญ รูปขจรมาเอี่ยว จนไปถึงน้าชาติโดน บิ๊กเต้ จี้บนเครื่องบิน  โดยคีย์แมนก็คือบิ๊กตุ๋ย   พอเกิดการตระบัดสัตย์ "เสียสัตย์เพื่อชาติ" ของบิ๊กสุ ประชาชนก็รู้สึกเหมือนถูกหลอก

ทั้งๆที่ตอนเกิดการรัฐประหาร กพ 2534 ประชาชนไม่ได้ต่อต้านหรือสนับสนุนอะไรมากนัก ในยุคนั้นข่าวสารฉับไวทั่วถึงแล้วแต่ประชาชนอาจจะยังไม่สนใจเรื่องการเมืองมากเท่ายุคนี้ คนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว นักการเมืองทะเลาะกับทหารก็โดนจัดการเท่านั้นเอง  อีกทั้ง รฐบ น้าชาติมีชื่อเสียเยอะอยู่ รมต หลายคนพัวพันมัวหมองว่าคอรัปชั่น พอเกิด รปห  คนก็เลยเฉยๆ และคาดหวังว่า รสช จะนำมาซึ่งการเมืองที่สะอาดกว่าเดิม ยิ่งได้ นายอานันท์ ปันยารชุนผู้มีภาพลักษณ์ที่ดีมากมาเป็นนายกฯ คนก็คาดหวังมากกว่าเดิม

แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าทหารกลุ่มนี้ก็กลับไปสมคบกับนักการเมืองกลุ่มเดิมที่อื้อฉาว ทำให้ผู้เฝ้าดูรู้สึกสิ้นหวัง  ยิ่งหนักเข้าไปอีกเมื่อบิ๊กสุที่กระมิดกระเมี้ยนอยากเป็นนายกฯขึ้นมา ความไม่พอใจก็ระเบิดสิครับความไม่พอใจ  ว่ากันว่าถ้าบิ๊กสุได้เป็นนายกอย่างราบรื่นปัจจุบันเราอาจจะอยู่ภายใต้การนำของตระกูลหรือวงศ์ญาติของบิ๊กสุอยู่เลย จินตนาการไปว่าถ้าสุลงจากเก้าอี้ ไม่เพื่อนเต้ ก็เพื่อนตุ๋ยจะมารับต่อ ถัดจากเต้ ตุ๋ย  ก็อาจจะเป็นบิ๊กหนุน(ชัยณรงค์) ที่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในยุคนั้น    เป็นการซ้ำรอยโมเดลการสืบทอดอำนาจของ สฤษดิ์ ถนอม ประภาส ณรงค์ เพียงแค่เปลี่ยนชื่อคนรับบทบาทเท่านั้น

คิดเล่นๆ ถ้าบิ๊กสุนั่งตำแหน่งนายกอย่างที่อยากเป็นตั้งแต่แรก คงไม่มีแรงต้านขนาดนี้ จำได้ว่าสมัยนั้นบิ๊กสุเนื้อหอมมาก รูปหล่อ ฉลาด พูดเก่ง ไหวพริบดี โต้ตอบกับนักข่าวมีแต่เสียงเฮฮาและรอยยิ้ม  แต่ดันขี้อาย แม้กระทั้งการทำ รปห ก็ขี่้อายไม่ยอมเป็นหัวหน้าแต่แรก ไปเชิดบิ๊กจ๊อดเสื้อคับมาเป็นหัวหน้า หรือบิ๊กสุแกถนัดอยู่เบื้องหลังอย่างเดียวก็ไม่รู้พอวันนึงอยากจะอยู่เบื้องหน้าก็โดนโห่เอา


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 12, 04:20
20ปี พฤษภาทมิฬ   ชื่อนายทหารระดับบิ๊กที่คุณ paganini ทบทวนให้ฟัง ทำให้ความจำคืนกลับมาอีกครั้ง   สมัยนั้นชื่อเขาลงหนังสือพิมพ์ทุกวัน   เห็นหน้าทุกคืนตอนรายการข่าว
ผ่านไปสิบกว่าปี  เคยเห็นบิ๊กสุเดินขึ้นบันไดไปภัตตาคารในศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง ตามลำพัง    ไม่มีนายทหารล้อมหน้าล้อมหลัง   บิ๊กจ๊อดอำลาไปอยู่อีกโลกหนึ่งหลายปีแล้ว เช่นเดียวกับคุณหญิงของท่าน ซึ่งดิฉันเคยเห็นมาตั้งแต่ตอนสาวๆก่อนเข้าคณะอักษรฯเสียอีก  เป็นผู้หญิงสวยที่สุดอีกคนหนึ่งเท่าที่เคยเห็นมา    เรียนจบแล้วมาเป็นผู้ประกาศข่าวขอช่อง 7 อยู่พักหนึ่งก่อนอำลาไปแต่งงาน
ส่วนบิ๊กตุ๋ยและบิ๊กหนุน มานึกชื่อออกก็ตอนอ่านค.ห.นี้ละค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 05 ก.ค. 12, 07:36
สวัสดีครับท่านอาจารย์เทาชมพู

ตอนแรกผมว่าจะเขียนประสบการณ์การไปชุมนุมมา  เล่าไปได้ครึ่งหน้า มือไปกดผิดปุ่ม มันเปลี่ยนหน้าที่พิมพ์ยาวๆหายหมดเลย   เลยเปลี่ยนใจแทนที่จะเล่าเรื่องที่เจอมาเพราะมันนิดหน่อยไม่น่าสนใจก็กลายเป็นทบทวนภาพรวมการเมืองในสมัยนั้นไป

แต่เล่าอีกทีก็ได้ ตื่นมาเช้าๆจิตใจแจ่มใส เล่าไว้ในฐานะประจักษ์พยาน

ช่วงนั้นการที่ติดตามข่าวตลอด รวมไปถึงฉบับสัปดาห์วิจารณ์ของ มติชน สยามรัฐ และที่สำคัญคือ "อาทิตย์ - ข่าวพิเศษ" ที่เป็นนิตยสารการเมืองล้วนๆ
พอเขาเรียกชุมนุม ผมกับเพื่อนๆ ก็ไปกันไปฟังปราศัย ไปดูบรรยากาศรอบๆ ในบรรดาเพื่อนๆรู้สึกว่าผมสนใจการเมืองมากที่สุด แต่เพื่อนๆนักเรียนของผมคงอยากจะรู้อยากเห็นมั๊ง สมัยนั้นเยอะนะครับที่ไปเพราะอยากรู้อยากเห็น ไม่ได้ไปเพราะรู้สึกร่วมแต่แรก  นั่นเป็นเพราะข่าวสารไม่เข้าถึงง่ายแบบปัจจุบันแถมตอนนั้น รฐบ พยายามปิดหูปิดตา คนเลยยิ่งอยากรู้

ที่สำคัญคือคืนวันที่ 17 พค 35 ผมกับเพื่อนอีกสองคนไปค่ำๆแล้ว คนเยอะมาก เป็นม๊อบมือถือจริงๆเพราะมีทั้งอาเสี่ย อาซิ้ม อาเจ๊ ที่ถือมือถือมา แต่ละคนแต่งตัวดีๆดูภูมิฐาน  ที่แต่งตัวไม่ดีก็เยอะ เรียกว่ามีหลายระดับ จำได้ว่าพวกผมไปประจำอยู่แถวสะพานผ่านฟ้านั่นแหละครับ ตำแหน่งที่ผมอยู่น่าจะเป็นแถวๆหน้า สนง การบินไทย ถนนหลานหลวง ตอนนั้นคนออกันยาวไปตามถนนหลานหลวงไกลเลยครับ  ตอนดึกๆ เริ่มมีการปะทะกันที่แนวหน้า ผมเห็นรถปราศัยของ พลตรีจำลองวิ่งผ่านหน้าไปทางพระที่นั่งอนันต์ ที่ค่อนข้างขำก็คือ เวลาข้างหน้ามีเรื่องอะไรหน่อย เขาก็จะถอยครับ พอหน้าถอย หลังก็ถอยมากกว่า ไอ้ที่อยู่หลังสุดนี่วิ่งเลยครับ ไอ้พวกผมเห็นข้างหน้าวิ่งแตกฮือลงมาก็เลยต้องวิ่งตาม ไม่งั้นจะโดนเหยียบซะก่อน   เกิดยังงี้ สองสามครั้งก็กลายเป็นเรื่องขำขันไป   สมัยนั้นวิทยาการการชุมนุมยังไม่ได้รับการพัฒนาเหมือนสมัยนี้นะครับเลยไม่มีรถปราศํยที่สามารถควบคุมมวลชนได้เป็นจุดๆ  เรียกได้ว่าพวกเราอยู่ห่างไกลก็โดดเดี่ยวไม่มีคนนำ ยืนๆออๆกัน ฟังความเคลื่่อนไหวจากข้างหน้าอย่างเดียว  พอดึกๆเข้าไปอีก ผมก็จำไม่ได้ว่ากี่โมงเริ่มยิงกัน พวกเราเห็นเม็ดไฟ วิ่งขึ้นฟ้าเป็นสายๆอยู่ข้างหน้า  ก็ลูกปืนไงครับ ทหารเขายิงขู่ขึ้นฟ้า  คนก็เริ่มแตกฮือละครับ พวกกองหนุนอย่างผมก็เลยต้องหนีตามระเบียบ  ซึ่งก็ไปไม่ไกลจากตรงนั้น เพราะผมพักอยู่แถวซอยเพชรบุรี 5 (ที่ช่วงนี้เฮียชูแกมาทลายบ่อนนั่นเองครับ)

หลังจากวันที่ 17 หอพักของผมกลายเป็นที่ชุมนุมของเพื่อนๆไปเพราะบ้านเรือนร้านค้าปิดหมด ของกินหายากมากพึ่งพาแต่มาม่ากันอย่างเดียว เช้าวันที่ 18 จะไปมหาวิทยาลัยกัน เขาก็ปิดประตูใหญ่ไม่ให้เข้า ผมยังคิดเลยตอนนั้นว่าสงสัยเขาปิดมหาลัยอย่างจุฬา ธรรมศาสตร์เป็นปีแน่   เลยไม่ได้ไปไหนขลุกอยู่แต่ในห้อง ข่าวสารก็ถูกปิดหูปิดตาหมด กลางคืนน่ากลัวมากเพราะมีเสียงปืน มียิงกันตามถนน  ข่าวลือร้ายๆทั้งนั้น แถมมีใบปลิวว่าทหารฆ่าประชาชนไปแล้วเป็นหมื่น ฯลฯ จวบจนกระทั่งในหลวงทรงให้โอวาทแก่พลตรีจำลองและบิ๊กสุนั่นแหละ กรุงเทพถึงเริ่มจะปกติ
จำได้ว่า สนพ อาทิตย์ข่าวพิเศษ ออกเล่มพิเศษมาช่วงทีเกิดเหตุการณ์นั้น ลงภาพและข้อมูลที่หาไม่ได้จากสื่อทั่วๆไปที่ถูกอิทธิพลทหารครอบงำ  ผมก็อุตส่าห์ไปหาซื้อมาจนได้ น่าเสียดายมากๆตอนที่ย้ายหอพัก ผมจำเป็นต้องทิ้งพวกนิตยสารเหล่านี้ไปหมดเลย


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 05 ก.ค. 12, 07:46
อาจารยเทาชมพูครับ คุณหญิงของบิ๊กจ๊อด อาจารย์หมายถึง คุณหญิงอรชรหรือเปล่าครับ?  ผมนึกออกแต่หน้าคุณยุ้ย แต่จำไม่ได้ว่าคุณหญิงท่านสวยแค่ไหน

ส่วนความรู้สึกของผมสมัยนั้น ผมรู้สึกว่าบิ๊กตุ๋ย คือบุคคลที่น่ากลัวที่สุด น่าจะเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังทุกขั้นตอนตั้งแต่รัฐประหาร (ซึ่งผมอาจจะผิดก็ได้นะครับ) จำได้ว่าหลังรัฐประหาร คณะทหารไปเมืองจีน บิ๊กตุ๋ยได้รับคำชมจากผู้่นำจีนในยุคนั้น(ไม่แน่ใจว่าเป็นป๋าเติ๊งเสี่ยวผิงหรือปล่าว) ว่ากระทำการได้รวบรัดฉับไวดีมาก    แสดงว่าคีย์แมนที่แท้จริงน่าจะเป็นคนนี้


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 12, 08:26
หมายถึงพันเอกหญิงคุณหญิงอรชร คงสมพงษ์ค่ะ 

ถ้ากดปุ่มผิด ข้อความหาย ให้กดย้อนกลับไปหน้าเดิมนะคะ  ข้อความจะกลับมาได้ค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: natadol ที่ 05 ก.ค. 12, 22:27
จากวันที่17ที่เริ่มมีการสลายการชุมนุม ทางด้านตะวันออกของกรุงเทพ ตั้งแต่แยกรัชดาตัดไปหน้าราม กลุ่มนักศึกษาและมวลชนใด้นำถังแก๊สขาดใหญ่ 48กิโลกรัม ได้นำมาเรียงขวางถนนเส้นที่จะไปหน้าม.รามจนเต็มทั้งสองฝั่งถนน และกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนที่ล่าถอยจาก ถ.ราชดำเนิน ก็ไปรวมตัวกันที่ ม.รามคำแหง โดยมีแกนนำคนสำคัญซึ่งขณะนั้นยังเป็นเพียงผู้ก่อตั้งพรรคศรัททราธรรม ก็คือ จตุพร พรหมพันธุ์ ที่เป็นแกนนำเสื้อแดง ณ ปัจจุบันนี้ แต่ไม่มีเหตุการปะทะบริเวณ ถ.รัชดา มีแต่เพียงการทุบกระจกและทำลายสิ่งของบริเวณห้างเซ็นทรัล หัวหมาก และ ห้างเวลโกล หัวหมาก บางส่วน แต่หลังจากที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้พลตรีจำลอง และบิ๊ก สุ เข้าเฦ้า เหตุการณ์ตึงเครียดบริเวณหน้ารามก็กลับสู่ภาวะปกติภายในเวลาไม่เกิน3ชั่วโมง เป็นเพราะพระบารมีของล้นเกล้าที่ทรงมาห้ามศึกได้ทันท่วงที มิฉะนั้น จุดต่อไปที่ทหารจะบุกก็คือ หน้ารามนั่นเองครับ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 09 ก.ค. 12, 12:04
มีแต่เพียงการทุบกระจกและทำลายสิ่งของบริเวณห้างเซ็นทรัล หัวหมาก และ ห้างเวลโกล หัวหมาก บางส่วน

ห้างเวลโก้ ครับ ปัจจุบันกลายเป็น Major Holleywood สาขารามคำแหงครับ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: natadol ที่ 15 ก.ค. 12, 22:57
เรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆนะครับ หลังจากที่พลเอกสุจินดา สละอำนาจแล้ว จะต้องมีการสรรหานายกคนใหม่ ซึ่งข่าวมาแรงว่าน่าจะเป็น พลอากาศเอก สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทยในขณะนั้น เตรียมพร้อมรับบรมราชโองการแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรี ถึงขั้นแต่งขุดรอถวายสัตย์ แต่ ขบวนรถของประธานสภากลับมุ่งตรงไปทางอื่นแทน เรื่องนี้ต้องผู้อาวุโสสูงๆมาเล่าถึงจะมันส์ สมัยนั้นผมก็เหมือนกับคุณpaganine คือ พร้อมลุยอย่างเดียว ช่วงนั้นผมอยู่หน้ารามครับ