เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 13, 09:57



กระทู้: มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 13, 09:57
เปิดเพลงนำกระทู้ไว้ก่อนค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=601BFoXFCtY&list=PL4hZgE78hiYgsw1O24sJoCC56evFAMe51&index=3



กระทู้: มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 13, 13:09
คุณ Crazy HOrse แห่งเรือนไทยเคยเล่าถึงท่านเอาไว้ในกระทู้เก่า เมื่อปี 07

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2180.0
ขอลอกมาให้อ่านกันค่ะ

พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร) นอกจากจะเป็นเสนาบดีที่มีบทบาทในช่วงก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ยังมีผลงานในทางการประพันธ์อีกด้วย

ส่วนหนึ่งของผลงานเหล่านี้คือการประพันธ์เพลง ร่วมกับท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ โดยพระยาโกมารกุลมนตรีเป็นผู้ประพันธ์คำร้อง และท่านผู้หญิงพวงร้อยประพันธ์ทำนองเพลง

เพลงที่พระยาโกมารกุลมนตรีประพันธ์นั้น นอกจากจะมีความสวยงามทางภาษาแล้วยังมีเสียงวรรณยุกต์ที่เข้ากับทำนองเพลงเป็นอย่างดี ทำให้มีความไพเราะเป็นอย่างมาก

เท่าที่ค้นหาได้ มีอยู่ 3 เพลง คือ
- จันทร์เอ๋ย
- เงาไม้
- ตาแสนกลม

http://www.youtube.com/watch?v=J4L_NsZc6bY


กระทู้: มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 13, 13:11
(ต่อ)
จากที่คุณม้าโพสต์ไว้

 เพลง จันทร์เอ๋ย

ประพันธ์ขึ้นในปี ๒๔๘๒ เพื่อประกอบภาพยนตร์เรื่องปิดทองหลังพระ มีคำร้องดังนี้

จันทร์เอ๋ยเคยสว่างไยจางแสง
หรือจันทร์แกล้งเย้าว่าน้องอกหมองไหม้
ลมเจ้าเอ๋ยเคยโชยชื่นชื่นหัวใจ
เป็นอะไรจึงสงัดไม่พัดเลย

ดาวเอ๋ยดาวพราวฟ้าไกลเห็นไหวยิบ
ดาวกระพริบตาเยาะเราหรือดาวเอ๋ย
จั๊กกระจั่นสนั่นเพรียกเรียกคู่เชย
เหมือนจะเย้ยว่าเราไม่มีใครปอง

ฟังคุณรัดเกล้า อามระดิษนำมาขับร้องใหม่ร่วมกับ BSO ได้ที่นี่ครับ

http://www.youtube.com/watch?v=q60FHA0pSQY


กระทู้: มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 13, 13:12
(ต่อ)
เพลง เงาไม้

ประพันธ์ขึ้นในปี ๒๔๘๑ เพื่อประกอบภาพยนตร์เรื่องลูกทุ่ง มีคำร้องดังนี้ครับ

แสงจันทร์วันนี้นวล คล้ายชวนให้น้องเที่ยว
จะให้เลี้ยวไปแห่งไหน
ชลใสดูในน้ำ เงาดำนั้นเงาใด
อ๋อ ไม้ริมฝั่งชล

สวยแจ่มแสงเดือน
หมู่ปลาเกลื่อนดูเป็นทิว
หรรษ์รมย์ลมริ้ว
จอดเรืออาศัยเงาไม้ฝั่งชล

ฟังคุณรัดเกล้า อามระดิษนำมาขับร้องใหม่ร่วมกับ BSO ได้ที่นี่ครับ

http://www.youtube.com/watch?v=XSn4nsNPUJY


กระทู้: มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 13, 13:16
(ต่อ)
เพลง ตาแสนกลม

ประพันธ์ขึ้นในปี ๒๔๘๒ เพื่อประกอบละครเรื่องจุดไต้ตำตอ มีคำร้องดังนี้ครับ

ตาแสนกลมแต่คมนักเจียวเจ้า
เหลื่อมแหลมเงาเป็นประกายวาม
แหลมเกินศรแหลมหล่อนชายคร้าม
สุกดาวงามแม้มาเทียบเปรียบแพ้ตาเจ้าเอย

เรียบเรียงจาก http://th.wikipedia.org ครับ

http://www.youtube.com/watch?v=M0s_9nKMJjY


กระทู้: มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 13, 13:18
คุณนริศ อารีย์ขับร้องเพลง ตาแสนกลม ไว้ด้วย หาฟังยาก เลยนำมาลงให้ฟังกันด้วยค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=FDO5SeeDF64


กระทู้: มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 27 ก.ย. 13, 16:27
เพลงจันทร์เอ๋ยนี่ชอบมากเลยค่ะ จำได้ว่าเคยมีการเอากลับมาขับร้องทำดนตรีใหม่แล้วประกอบละครสักเรื่อง แต่จำไม่ได้ว่าละครเรื่องอะไร น่าจะเป็นละครหม่อมน้อย ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ไม่แน่ใจว่าซอยปรารถนา 2500 หรือเปล่า


กระทู้: มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 13, 14:11
จะลองค้นให้นะคะ

ได้ยินชื่อพระยาโกมารกุลมนตรีครั้งแรก ไม่ได้เกี่ยวกับตำแหน่งการงานของท่าน   แต่ได้ยินเมื่อฟังเพลงของท่านผู้หญิงม.ล.พวงร้อย หลายเพลงเป็นเพลงโปรด    พบว่าหนึ่งในผู้ประพันธ์เนื้อร้องชื่อพระยาโกมารกุลมนตรี  ยังนึกแปลกใจว่าทำไมไม่เคยได้ยินชื่อท่านรวมอยู่ในสาขาดนตรีไทยอย่างคุณพระเจนดุริยางค์ หรือหลวงประดิษฐไพเราะ

ต่อมา อินทรเนตรก็สอดส่องไปหาประวัติของท่านมาให้   อ่านแล้วก็นึกทึ่งในสติปัญญาของเนติบัณฑิตอังกฤษจากสยามท่านนี้  นอกจากนี้เส้นทางราชการของท่านก็เริ่มต้นห่างไกลจากศิลปะอยู่มาก

         ประวัติของสกุล ณ นคร เล่าไว้ว่า  มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 9 ปีเถาะ จุลศักราช 1253 ตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม พุทธศักราช 2434 เป็นบุตรชายคนเดียวของนายพลพ่าย (ชวน โกมารกุล ณ นคร) และคุณจวง บุนนาค
             หลังจากที่ได้เข้าศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนสุขุมาลัย (พ.ศ. 2444) และที่โรงเรียนอุดมวิทยายน วัดอนงคาราม ท่านได้ขึ้นไปเชียงใหม่กับท่านเจ้าพระยาพลเทพ ฯ ซึ่งเป็นอาของท่าน และได้เริ่มฝึกราชการที่พระคลังมณฑลพายัพ
            เมื่อกลับจากเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2449 ท่านได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งครั้งนั้นยังอยู่ที่ตึกสายสวลีย์ คือที่โรงเลี้ยงเด็ก ถนนบำรุงเมือง ในปัจจุบันและในปี พ.ศ. 2451 เมื่อมีอายุ 17 ปี ท่านได้เข้าฝึกราชการในกรมตรวจและกรมสารบาญชี กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ต่อมาใน พ.ศ. 2452 ได้เป็นเสมียนในกรมตรวจและกรมสารบาญชี รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ 25 บาท


กระทู้: มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ย. 13, 11:54
      คนสมัยหนึ่งร้อยปีก่อน เป็นผู้ใหญ่เร็วกว่าสมัยนี้มาก  จะเห็นได้ว่าพระยาโกมารกุลฯเมื่อครั้งเป็นนายชื่น หนุ่มวัย 17  ก็เข้าฝึกงานในกระทรวงแล้ว  พออายุ 18  ก็บรรจุเป็นเสมียนในกรมตรวจและกรมสารบาญชี  เรียกว่าเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว มีเงินเดือนถึงเดือนละ 25 บาท ในยุคที่ข้าวแกงจานละสตางค์เดียว
       ปีต่อมาเมื่อท่านอายุได้ 19  กระทรวงพระคลังมหาสมบัติส่งท่านไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ในชั้นต้นได้เข้าศึกษาที่ Travis’ Commercial School, Southampton   ต่อมาได้ย้ายไปศึกษาที่ Pitman’s School, London   ท่านได้ศึกษาวิชากฎหมายในสำนักศึกษา Gray’s Inn, London ซึ่งเป็นสำนักกฎหมายมีชื่อเสียงที่สุดในอังกฤษ   ได้สำเร็จวิชากฎหมายเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษแห่งสำนักนั้น เมื่อ พ.ศ. 2460  อายุได้ 26 ปี  ถือว่าเก่งอย่างน่าอัศจรรย์ทีเดียว
       พอเรียนจบ พระยาโกมารกุลมนตรีก็เดินทางกลับสยาม  คราวนี้ย้ายจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติไปเป็นพนักงานอัยการ ตามความรู้ทางกฎหมาย  สมัยนั้นกรมอัยการสังกัดอยู่กระทรวงยุติธรรม   สองปีต่อมา ในพ.ศ. 2462 จึงโอนกลับไปรับราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติตามเดิม
      จากนั้นตำแหน่งราชการก็ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆตามที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในวิชาการอย่างสูงผู้หนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6  นอกเหนือจากตำแหน่งราชการโดยตรง  ก็มีตำแหน่งสำคัญอื่นๆเช่นเป็นเลขานุการสภากรรมการกำกับตรวจตราข้าว (เนื่องจากอุทกภัยในปี พ.ศ. 2460 ซึ่งเป็นเหตุให้ข้าวมีราคาแพง) เป็นเลขานุการและที่ปรึกษากฎหมายสภาเผยแผ่พาณิชย์ กรรมการในสภากรรมการรถไฟ อธิบดีกรมทะเบียนการค้า อธิบดีกรมเงินตรา นายกกรรมการธนาคารสยามกัมมาจล จำกัด ฯลฯ


กระทู้: มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 13, 13:45
      ล่วงมาถึงรัชกาลที่ 7  เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2469 พระยาโกมารกุลได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบาญชีกลาง ซึ่งถือกันว่าเป็นกรมชั้นหนึ่งในราชการบริหารประเทศไทยครั้งนั้น    ตำแหน่งอธิบดีกรมบาญชีกลางยังถือกันว่าเป็นบันไดที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอีกด้วย
    ข้อนี้ก็เป็นความจริงต่อมา  ภายหลังที่ได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบาญชีกลางอยู่ประมาณ 3 ปี ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2472 ในขณะที่มีอายุเพียง 38 ปี ซึ่งทั้งนี้เป็นข้อพิสูจน์ความสามารถของท่านอย่างชัดแจ้ง และหลังจากนั้นเพียงไม่ถึงหนึ่งเดือนก็ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์มงกุฎสยาม
     ด้วยความสามารถในการปฏิบัติราชการ   ปีต่อมา (1 เมษายน พ.ศ. 2473) ก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังสมบัติ ในขณะที่มีอายุเพียง 38 ปี 7 เดือนเศษ นับว่าเป็นเสนาบดีที่มีอายุน้อยที่สุดในสมัยนั้น ท่านได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งเสนาบดีจนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2475 จึงได้กราบถวายบังคมลาออก รับพระราชทานบำนาญต่อมา  ด้วยอายุเพียง 41 ปี


กระทู้: มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 13, 13:46
 :D


กระทู้: มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 13, 14:47
    หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475   พระยาโกมารกุลมนตรีได้กลับเข้ารับตำแหน่งในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอีกครั้งหนึ่ง คือดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ระหว่าง 29 มิถุนายน พ.ศ. 2475 - 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
จากนั้น  ตำแหน่งเปลี่ยนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ  ท่านก็ได้ดำรงตำแหน่งนี้ต่อมาระหว่าง 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2476


กระทู้: มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 13, 10:39
พระยาโกมารกุลมนตรีสมรสกับคุณหญิงโสภาพรรณ  ธิดาพระยาประภากรวงศ์ (ว่อง  บุนนาค) มารดาชื่อ เรียบ (หรือเลียบ บุนนาค) เป็นธิดาเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค)    คุณหญิงโสภาพรรณเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ แรกเกิดสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทานชื่อว่า "เสาวภา " ต่อมาภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนให้เป็น "โสภาพรรณ " เมื่อเยาว์วัย  ท่านไปอยู่กับท่านเจ้าจอมเลียม ในรัชกาลที่ ๕ เพื่ออบรมมารยาทชาววังในวังหลวง

คุณหญิงโสภาพรรณได้เข้ารับการศึกษาหลายโรงเรียน ได้แก่โรงเรียนศึกษานารี (ปัจจุบันเป็นวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา) เพราะอยู่ใกล้บ้าน ต่อมาศึกษาที่โรงเรียนราชินีปากคลองตลาด  เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนซางตาครูซคอนแวนด์จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๖ จึงติดตามท่านบิดาซึ่งเป็นราชทูตประจำประเทศสหรัฐอเมริกา (ต่อจากหม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย) ไปศึกษาต่อที่วอชิงตัน ดีซี ได้ประกาศนียบัตรจากโรงเรียน Holten Arm School สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้ไปเรียนที่ Sacred Heart School และเข้าเป็นพยาบาลอาสาสมัคร

เมื่ออายุ ๒๒ ปี  คุณหญิงโสภาพรรณสมรสกับพระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑  ย้ายครอบครัวมาอยู่กับเจ้าพระยาพลเทพ (เฉลิม โกมารกุล ณ นคร) ผู้เป็นอาของสามี ที่บริเวณคลองบ้านสมเด็จ วงเวียนเล็ก ธนบุรี ระหว่างที่พระยาโกมารกุลมนตรีเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลาง ต้องออกตรวจราชการคลังจังหวัดต่างๆ หลายแห่ง คุณหญิงโสภาพรรณได้ติดตามไปด้วยทุกครั้ง เช่น ที่มณฑลปัตตานีและนครศรีธรรมราช มณฑลราชบุรี มณฑลพายัพ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์  ทั้งๆท่านมีบุตรที่ต้องดูแลถึง ๑๐ คน

คุณหญิงโสภาพรรณถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ อายุ ๘๒ ปี


กระทู้: มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 13, 10:52
       ความสามารถพิเศษประการหนึ่งของพระยาโกมารกุลมนตรี ที่หาได้ยากมากในข้าราชการที่เติบโตขึ้นมาทางความรู้สาขาบัญชีและกฎหมาย คือการประพันธ์    ท่านมีใจรักทางด้านภาษาและหนังสือ เขียนบทความแสดงข้อคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนมาก ท่านเชี่ยวชาญถึงขั้นแต่งบทละครพูดชวนหัว เรื่องสั้น ๆ ชนิดองก์เดียวจบไว้หลายเรื่อง
       นอกจากนี้ยังมีกวีนิพนธ์ด้วย ท่านได้แต่งโคลงกลอนไว้เป็นจำนวนมากดังที่ปรากฏใน “ประมวลโวหาร”
       พระยาโกมารกุลมนตรี เป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และในพระพุทธโอวาท  เมื่อ พ.ศ. 2467 ได้เป็นปัจจัยให้ท่านสร้างหนังสือแสดงคำอธิบายของพระพุทธโอวาทโดยเลือกธรรมบางข้อมาผูกขึ้นเป็นโคลงทาย 19 บท แล้วส่งโคลงทายเหล่านั้นไปยังบรรพชิตและคฤหัสถ์ ขอให้ตอบโคลงทาย   เมื่อได้รับคำตอบและคำอธิบายวิสัชนาของโคลงทายเหล่านั้นแล้ว ท่านก็ได้รวบรวมจัดพิมพ์เป็นเล่มเรียกว่า “โคลงทาย และวิสัชนา” แจกจ่ายไปยังบรรดาผู้ที่ชอบพอคุ้นเคย เป็นวิทยาทาน
      “โคลงทาย และวิสัชนา” ภายหลังได้แต่งเพิ่มเติมขึ้นอีก 14 บท และได้พิมพ์ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2503 รวมเป็นโคลงทายทั้งสิ้น 33 บทด้วยกัน


กระทู้: มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 05 ต.ค. 13, 08:29
ข้าพเจ้าชอบฟังเพลง "ตาแสนกลม" มากกกกกกกกกก ชอบมาตั้งแต่เด็กๆ ดีใจที่ได้เข้ามาอ่านประวัติในครั้งนี้ :D


กระทู้: มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 13, 11:45
ตัวอย่าง “โคลงทาย และวิสัชนา" ของพระยาโกมารกุลฯ  จะเห็นได้ว่าผู้วิสัชนาเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ทั้งสิ้น


กระทู้: มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 13, 11:47
อีกเรื่องหนึ่ง


กระทู้: มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 13, 11:55
     ข้างล่างนี้คือตัวอย่างการใช้ภาษาของพระยาโกมารกุลมนตรี   ในคำปรารภต่อข้าราชการกรมบาญชีกลาง เมื่อท่านเข้ารับตำแหน่งอธิบดี  ขอให้สังเกตสำนวนโวหารของท่านในการปราศรัย ว่ามีทั้งโวหารเปรียบเทียบ  บรรยายอารมณ์ความรู้สึก   และให้ข้อคิดข้อเตือนใจ      ไม่ใช่แต่ว่าปราศรัยพอเป็นพิธี
     ที่สำคัญคือเป็นข้อเขียนของท่านเอง  ไม่ใช่สิ่งที่เจ้าภาพเขียนขึ้นแล้วส่งให้อ่าน   เหมือนอย่างคำปราศรัยของคนใหญ่คนโตหลายๆคนในสมัยนี้      
     เราจึงได้เห็นตัวอย่างการใช้ภาษาของคนรุ่นทวด  ว่าท่านเก่งเรื่องภาษาจริงๆ แม้ว่าท่านจะไปได้ดีทางสาขาวิทยาการด้านอื่น  แต่พื้นฐานภาษาไทยของท่านก็แข็งแรงมาก

ตัวอย่างโวหารเปรียบเทียบ

ในการที่เชิญมาพร้อมกันบัดนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาจะพูดด้วยสองสามข้อ จะขอเริ่มด้วยปรับทุกข์ให้รู้น้ำใจกันให้ชัดเจน เพราะการที่จะทำงานร่วมกันนั้น ต้องรู้จักน้ำใจกัน จึงจะได้ผลดีแก่ราชการ
     ในชั้นต้นขอให้เข้าใจเสียให้ทั่วกันว่า ในการที่ข้าพเจ้ามาเป็นอธิบดีกรมนี้นั้น ไม่ใช่มาด้วยความประสงค์ของข้าพเจ้าเอง มาด้วยทางราชการบังคับให้มา ถ้าถามอย่างส่วนตัวแล้ว ก็ตอบได้อย่างเต็มปากว่า ไม่ได้นึกอยากจะเป็นอธิบดีกรมนี้เลย แต่เกิดมาเป็นข้าราชการ ตั้งใจให้ชีวิตและร่างกายแก่บ้านเมืองแล้ว จะเอาใจสมัครของตนมาเป็นเกณฑ์ไม่ได้อยู่เอง เมื่อทางราชการเห็นว่าข้าพเจ้าจะเป็นประโยชน์ตำแหน่งนี้ ข้าพเจ้าก็จำต้องรับ แลจำต้องพยายามอย่างดีที่สุดที่จะให้ความไว้วางใจที่รัฐบาลมีในข้าพเจ้า
     ที่กล่าว่าไม่ได้นึกอยากมาเป็นอธิบดีกรมบาญชีกลางนั้น เพราะงานในตำแหน่งเก่าเป็นงานที่สนุกกว่าทางนี้ งานทางโน้นเป็นงานปั้น ปั้นกรมขึ้นทั้งกรมด้วยฝีมือ แลเห็นความเจริญทีละน้อย เปรียบเหมือนทำเก้าอี้ขึ้นเอง แลทำมาตั้งแต่ตัดไสไม้จนเป็นรูปเก้าอี้ ถึงเก้าอี้นั้นจะเล็กสักหน่อย ก็รู้สึกภูมิใจว่าเป็นเก้าอี้ที่ทำขึ้นเองด้วยฝีมือ ส่วนงานทางนี้เป็นงานที่ผู้สามารถกว่าข้าพเจ้าได้จัดขึ้นลงรูปแล้ว เปรียบเหมือนนั่งเก้าอี้คนอื่นเขาทำไว้แล้วเสร็จ ถึงจะเป็นเก้าอี้ใหญ่หรือนวมจะนุ่มสักเพียงไร ก็ไม่มีความภูมิใจเหมือนนั่งเก้าอี้ที่ทำเอง


กระทู้: มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 13, 12:07
ข้อความที่แสดงอารมณ์

อนึ่ง พระยาอนุรักษ์โกษากับข้าพเจ้านั้น เป็นมิตรที่รักกันอย่างสนิทสนมมาแต่ยังอยู่ในประเทศอังกฤษด้วยกัน     ถ้าข้าพเจ้ามาแทนเพราะเขาเลื่อนตำแหน่งไปอื่น การมานี้ก็จะมาด้วยเบิกบานใจ แต่นี่มาแทนเพราะเหตุเขาตาย ต้องมานั่งในห้องที่เขาเคยนั่ง สิ่งต่าง ๆ ในห้องก็จะเตือนใจอยู่ไม่วาย ให้ระลึกถึงกัลยาณมิตรที่เสียไป การที่มานี้ดังนั้นจึงเป็นการมาด้วยความเศร้าว้าเหว่ใจเป็นที่สุด
นอกจากเหตุที่กล่าวมานั้นแล้ว ข้าพเจ้ายังรู้สึกบกพร่องในตัวของข้าพเจ้าเอง จริงอยู่ข้าพเจ้าเคยรับราชการในกรมนี้มาก่อนและได้เรียนการบาญชีแลการคลัง แต่วิชานั้นได้ทิ้งมาเสียนาน เวลานี้ค่อนข้างจะเรื้อเป็นอันมาก ความบกพร่องอีกอย่างหนึ่งก็คือ อายุข้าพเจ้ารู้สึกว่ายังเป็นเด็ก ผู้ช่วยแต่ละคนที่ข้าพเจ้าจะต้องปกครองล้วนมีอายุคราวพี่ แลแต่ละคนมีความรู้ในหน้าที่เป็นอย่างดี ทั้งรักราชการช่ำชองมาด้วยกันทั้งนั้นเป็นเวลานาน ๆ
     ที่กล่าวนี้เป็นข้อปรับทุกข์ให้เห็นว่าไม่ได้มาเป็นอธิบดีเพราะอยากจะมา มาด้วยความเศร้าแลด้วยความรู้สึกบกพร่องของตนอยู่เหมือนกัน เมื่อเข้าใจกันชัดเจนดังนี้แล้ว จะกล่าวต่อไปถึงนโยบายที่จะดำเนินราชการกรมนี้

     การแสดงอารมณ์เศร้าโศกของท่านในการมารับตำแหน่ง  ก่อผลได้ 2 อย่างพร้อมกัน คือ
     1 แสดงความอาลัย และนับถืออธิบดีคนเก่าที่ถึงแก่กรรมไป    เป็นการแสดงมารยาทและให้เกียรติผู้ล่วงลับอย่างเหมาะสม  เพราะข้าราชการในกรมนี้ก็ล้วนแต่ลูกน้องของพระยาอนุรักษ์โกษา ย่อมสนิทสนมและนับถือผู้บังคับบัญชาคนเก่าไม่มากก็น้อย    การกล่าวให้เกียรติอธิบดีคนเก่าโดยอธิบดีคนใหม่ จึงน่าจะก่อความรู้สึกที่ดีให้ข้าราชการใต้บังคับบัญชา 
      2  เป็นการถ่อมตัวของอธิบดีคนใหม่ ว่าท่านมิได้ทะเยอทะยานในตำแหน่งใหญ่ที่ได้รับ    เห็นได้จากท่านออกตัวในย่อหน้าต่อมา ว่ารู้สึกว่าตัวเองยังไม่ชำนาญ เพราะทิ้งวิชาบาญชีและคลังไปเสียนาน     นอกจากนี้ท่านก็ให้เกียรติข้าราชการใต้บังคับบัญชาที่อายุมากกว่า นอบน้อมคารวะว่าเป็น "รุ่นพี่"  ไม่ได้ถือว่าตัวเองตำแหน่งใหญ่กว่าย่อมจะเหนือกว่า
     มารยาทไทยๆอ่อนน้อมถ่อมตนแบบนี้เป็นที่ยอมรับนับถือกันในสังคมไทยประมาณหนึ่งร้อยปีมาแล้ว     พระยาโกมารกุลฯ ใช้ถ้อยคำได้ตรงกับธรรมเนียมในสมัยนั้นทุกประการ


กระทู้: มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 13, 21:17
    บทปราศรัยนั้นมักจะต้องลงท้ายด้วยโอวาท    และการให้กำลังใจแก่ข้าราชการใต้บังคับบัญชา   พระยาโกมารกุลฯก็ไม่ลืมที่จะให้ข้อนี้   โดยมีโวหารเปรียบเทียบตามความถนัดในการใช้ภาษาของท่าน 

     ขอให้พึงเชื่อเถิดว่า ถ้าเรารักษาราชการในหน้าที่เป็นอย่างดีที่สุด ความเจริญจะมีแก่ตัวเอง เพราะหว่านพืชไว้ไปไหนเสียจะได้ผลแลขอให้ไว้ใจเถิดว่า ข้าพเจ้าเป็นอธิบดีปกครองท่านอยู่ตราบใด ถ้าท่านเป็นข้าราชการที่ดี ข้าพเจ้าจะรักท่านเหมือนดังข้าพเจ้ารักตัวข้าพเจ้าเองเสมอ อธิบดีนั้นเปรียบเหมือนหัวของกรม ลำพังแต่หัว จะหาสามารถทำอะไรให้สำเร็จไปได้ไม่ จึงเป็นหน้าที่ของอธิบดีจะต้องรักผู้ที่อยู่ใต้ความปกครองทุกคน ความเจริญของเอกชนทุกคนในกรมนั้น อธิบดีจะต้องนึกถึงอยู่เสมอ

    ที่เห็นอีกอย่างจากคำปราศรัยของท่านก็คือ  ไม่มีตรงไหนเลยที่พระยาโกมารกุลฯแสดงตนว่าเป็นผู้มีอำนาจควรแก่การยำเกรง   หรืออยู่เหนือกว่าข้าราชการใต้บังคับบัญชาของท่าน   ตรงกันข้าม มีแต่ความเป็นมิตร และอ่อนน้อม ยกย่องให้ความสำคัญแก่ผู้ทำงานในกรม  ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นข้าราชการระดับล่างกว่าท่านทั้งสิ้น

     การปฏิบัติการงานในหน้าที่ของท่านนั้น ข้าพเจ้าเป็นคนใหม่ เข้ามายังไม่ทราบหนเหนือหนใต้ จึงขอให้คำสั่งว่า ท่านได้เคยทำมาในครั้งพระยาอนุรักษ์โกษาอธิบดีอย่างไร ก็ให้ปฏิบัติไปอย่างนั้นพลางก่อนนี้เป็นหมดข้อความที่ข้าพเจ้าปรารถนาจะกล่าวในที่นี้ ข้าพเจ้าขอบใจท่านเป็นอันมากที่มาปราชุมและตั้งใจฟังถ้อยคำของข้าพเจ้า ขออวยพรให้ท่านมีอายุแลกำลังที่จะรักษาราชการในหน้าที่ ช่วยกันคิดกันทำงานโดยปราศจากความแก่งแย่ง เพื่อความเจริญของกรมบาญชีกลาง


กระทู้: มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ต.ค. 13, 10:00
ความสามารถด้านภาษาของพระยาโกมารกุลมนตรีเป็นทักษะพิเศษประจำตัวท่าน    ยังค้นไม่พบว่าท่านเล่นดนตรีไทยหรือสากลชนิดใดชนิดหนึ่งได้หรือไม่    แต่ที่รู้แน่ๆจากผลงานด้านเพลง  คือท่านต้องรู้จักเสียงโน้ตดนตรีสากล  และแม่นยำเรื่องเสียงวรรณยุกต์ภาษาไทย  ถึงสามารถแต่งเนื้อเพลงให้ลงตัวกับเสียงโน้ตดนตรีเพลงที่เรียบเรียงแบบทำนองสากลของท่านผู้หญิง(ม.ล.)พวงร้อย สนิทวงศ์ได้หลายเพลง
คนที่ไม่รู้เสียงโน้ตดนตรีสากล และไม่แม่นเรื่องเสียงวรรณยุกต์ ตลอดจนไม่แม่นภาษาไทย แต่งเพลงเหล่านี้ไม่ได้     เพลงที่นักร้องร้องออกมาจะแปร่งเพี้ยนไปหมด
ตัวอย่างเช่นโน้ตตัว "โด" นั้น  ใช้เสียงสามัญจะเพี้ยน  ถ้าเป็นคำว่า" เธอ" ไปลงในเสียง "โด" จะกลายเป็น "เถ่อ"

เนื้อร้องของพระยาโกมารกุลฯ ไม่เพี้ยนเลย


กระทู้: มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ต.ค. 13, 10:45
เพลงที่คุณหาญบิงชอบ    ใช้ภาษารุ่นเก่า แต่ไพเราะมาก   แสดงถึงภูมิรู้ทางภาษาของท่าน
ขอแปลเป็นไทยให้ฟังอีกทีนะคะ

ตาแสนกลมแต่คมนักเจียวเจ้า          ท่อนนี้ไม่ต้องแปลมาก   เจียว ก็คือ เทียว หรือเชียว   หรือภาษาวัยรุ่นใช้ว่า เชีย
เลื่อมแหลมเงาเป็นประกายวาม         เหลื่อม หรือ เลื่อม  แปลว่า เป็นมันระยับ  เราใช้ในคำซ้อนว่า เลื่อมพราย
                                           แหลม แปลว่า คม  พบได้ในคำซ้อนว่า แหลมคม  มีความหมายเดียวกัน
แหลมเกินศรแหลมหล่อนชายคร้าม     แหลมเกินศร คือคมเกินศร  
สุกดาวงามแม้มาเทียบเปรียบแพ้ตาเจ้าเอย   สุก= สุกใส  

เชิญฟังเพลงนี้อีกครั้งจากเสียงของคุณเศรษฐา  ศิระฉายา  ศิลปินแห่งชาติ  ค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=g4quzvnkFqA


กระทู้: มหาอำมาตย์เอก พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ต.ค. 13, 10:50
ขอส่งท้ายด้วยเพลงประพันธ์เนื้อร้องโดยพระยาโกมารกุลมนตรี อีกเพลงหนึ่งค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=6hZlgDkapSY