เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: CrazyHOrse ที่ 05 ต.ค. 07, 23:42



กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 05 ต.ค. 07, 23:42
อันเนื่องมาจาก กระทู้นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2287)  ผมได้ติดตามเส้นทางนิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียมเพื่อหาเบาะแสจากสถานที่ที่ปรากฏในนิราศเท่าที่จะทำได้ ขอเอาข้อมูลที่รวบรวมได้มาแยกนำเสนอในกระทู้ใหม่นี้นะครับ

ผมปักหมุด GoogleEarth ไว้ จะนำไฟล์มาลงในกระทู้นี้หลังจากปรับแก้โดยข้อมูลที่ได้จากการอภิปรายกันครับ ในขั้นต้นนี้จะนำเสนอเป็นภาพ แบ่งเป็นสามช่วง
- จากกรุงเทพถึงปากคลองสำโรง
- จากปากคลองสำโรงถึงปากน้ำบางปะกง
- จากปากน้ำบางปะกงถึงบ้านกร่ำ

ขอบคุณภาพถ่ายทางอากาศและข้อมูลจาก GoogleEarth และ PointAsia.com ครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 05 ต.ค. 07, 23:43
ช่วงที่ ๑ - จากกรุงเทพถึงปากน้ำบางปะกง



กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 ต.ค. 07, 00:35
ชอบจังเลย....สุดเดิ้น
ต่อไปจะมีตามรอยนิราศผ่านดาวเทียมออกมาเป็นชุดๆ

หมุดคุณเครซี่ ทำให้เล็กกว่านี้หน่อยได้มะครั๊บ
อ้อ ....เวลาทำงานเตรียมน้ำเกลือแร่ไว้ข้างตัวด้วยนะครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 06 ต.ค. 07, 00:53
ง่า......


น้ำเกลือแร่ของคุณพิพัฒน์ เอาไว้แก้เหนื่อย แก้กระหาย
หรือแก้อาการอุจาระแตกอุจาระแตนอ่ะคับ  :-X


ถ้าเป็นอย่างหลังเพราะทำงานนี้ นายติบอว่างอยู่ ขออนุญาตช่วยคุณ CRazy Horse ทำงาน นะคับ
เดี๋ยวอาจารย์เทาท่านต้องแก้คำผิดในกระทู้คนเดียวแล้วกระทู้ไม่เดิน คนเรือนไทยก็เส้าเยยจิกั๊บ....  :'(



ปล. คุณ CRazy Horse ไปสัมนาที่จุฬามั้ยครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 06 ต.ค. 07, 00:58
สถานที่แรกๆที่ผ่านเป็นสถานที่ๆเราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว

วัดแจ้ง อยู่เหนือปากคลองบางกอกใหญ่ที่แยกออกไปจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเล็กน้อย จากร่องรอยของนิราศเรื่องอื่นยุคต้นรัตนโกสินทร์ เรียกคลองบางกอกใหญ่ว่าคลองบางกอก (ไม่มีใหญ่ครับ) กวีเริ่มต้นการเดินทางจากที่ไหนสักแห่งเหนือวัดแจ้งขึ้นไปครับ

สามปลื้ม สามปลื้มอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา นิราศชุมพรที่แต่งในรัชกาลที่ ๑ เรียก สาวปลื้ม ครับ

สำเพ็ง สำเพ็งเป็นย่านที่อยู่ถัดลงมาจากสามปลื้มเล็กน้อย กวีว่าเป็นสถานนางประจาน ในขณะที่นิราศชุมพร(สมัย ร.๑) และนิราศฉะเชิงเทรา (๒๓๖๙) ครวญชมโฉมคนรักเมื่อผ่านสำเพ็ง

ดาวคะนอง ผมเชื่อว่าเป็นตำบลเก่าแก่ที่ออกชื่อว่า "นอง" ในกำสรวลสมุทร คือปากคลองดาวคะนองฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ทางใต้สะพานกรุงเทพลงไปเล็กน้อย

วัดดอกไม้ วัดดอกไม้นี้ไม่ใช่วัดบุปผารามนะครับ เป็นวัดดอกไม้ตรงยานนาวา ใต้สะพานพระราม ๙ ลงมาเล็กน้อย ปรากฏในนิราศช่วงต้นรัตนโกสินทร์ที่ผ่านเส้นทางนี้ครบทั้งสามเรื่อง (นิราศชุมพร, นิราศพระยาตรัง, นิราศฉะเชิงเทรา - จากนี้ไปจะขอเรียกย่อๆว่านิราศสามเรื่องนะครับ)

บางผึ้ง อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามวัดดอกไม้ โคลงนิราศพระยาตรังเอ่ยถึงบางผึ้งก่อนวัดดอกไม้ก็เพราะเหตุนี้ บางผึ้งเป็นตำบลเก่าแก่ ปรากฏในกำสรวลสมุทร ปัจจุบันเขียนว่า บางพึ่ง คลองนี้เดี๋ยวนี้แคบมาก ปากคลองมีวัดบางพึ่งอยู่ครับ

ปากลัด จากคลองบางผึ้งมาหน่อยจะมีคลองลัดหลวง แต่คลองลัดหลวงไม่ใช่ปากลัด ปากลัดคือคลองลัดโพธิ์ ถูกถมไปในปี ๒๓๒๙ เพราะน้ำทะเลหนุนสูงจนน้ำเค็มมาถึงกรุงเทพ ตำแหน่งที่แน่นอนของคลองนี้คือระหว่างวัดคันลัดกับสะพานทีปังกรรัศมิโชติ(สะพานวงแหวนอุตสาหกรรม) แผ่นดินช่วงนี้แคบเพียง ๖๐๐ เมตร ในขณะที่สามารถร่นระยะการเดินทางในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ถึง ๑๘ กิโลเมตร ปัจุบันมีโครงการพระราชดำริเพื่อขุดคลองปากลัดนี้ขึ้นใหม่พร้อมทำประตูระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมครับ

บางระเจ้า ปัจจุบันเรียกบางกะเจ้า เป็นตำบลตรงกะเพาะหมูนี้ แต่บางกะเจ้าของกวี ผมขอระบุเป็นตำแหน่งปากคลองบางกะเจ้านะครับ ทั้งนี้ นิราศสามเรื่องไม่เอ่ยถึงบางกะเจ้าเลย

ศาลพระประแดง ศาลพระประแดงนี้คือศาลเจ้าพ่อพระประแดงแถวท่าเรือคลองเตย ในพงศาวดารว่าสมัยพระรามาธิบดีที่ ๒ มีการขุดแต่งคลองสำโรงพบเทวรูปสองรูป จึงน้ำมาไว้ในศาลนี้ ศาลพระประแดงนี้อยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า ๗๐ ไร่ คุ้นชื่อ "ภาพ ๗๐ ไร่" ไหมครับ เอเย่นต์ค้ายารายใหญ่ที่โดนจับเป็นข่าวใหญ่เป็นเจ้าถิ่นแถวนั้นครับ

ปากคลองสำโรง อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คลองสำโรงเป็นคลองลัดเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง ปรากฏร่องรอยหลายตอนว่าเป็นคลองขุด จากชื่อตำบลที่ปรากฏอยู่ในแนวคลองสำโรงนี้ เป็นไปได้ว่าคลองสำโรงอาจเก่าถึงยุคที่ขอมยังมีอิทธิพลอยู่ในพื้นที่นี้ครับ



ขออำภัยเรื่องหมุดใหญ่ครับ จอผมมันทำได้เท่านี้เองครับ แหะๆ รอตอนจบจะแปะไฟล์หมุดไว้ให้ครับ เปิดดูใน GoogleEarth ซูมดูได้ทุกท่าตามถนัดครับ

ตอนนี้หมดแรง ขอต่อพรุ่งนี้นะครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 07, 08:07
คุณอาชาฯทรหดแท้ๆ  เจ็บป่วยก็ยังมาปักหมุดตามกวีไปเมืองแกลง ไม่ย่อท้อ
นับถือ นับถือ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 06 ต.ค. 07, 12:04
        เข้ามาเชียร์คุณอาชาให้วิ่งถึงเส้นชัยครับ
 
          ถ้าคุณอาชาเป็นครูสอนวิชาวรรณคดี ประวัติศาสตร์ คงไม่มีนักเรียนคนไหนนั่งหลับในห้องเรียน
       


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 06 ต.ค. 07, 13:30
หมุดนี้ปักไว้เสร็จเกือบ 100% ตั้งแต่ก่อนป่วยแล้วครับ แค่เลือกมุมเหมาะๆมาเซฟเป็นรูปกับเรียบเรียงข้อมูลเท่านั้นเองครับ ตอนนี้ก็เกือบหายสนิทแล้วครับ ขอบคุณกองเชียร์ทุกท่านครับ

ขอขยายส่วนแถวๆปากลัดนิดนึงครับ ตรงนี้มีเกร็ดที่น่าสนใจหลายอย่าง อยากจะขอแทรกไว้ตรงนี้หน่อยครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 07, 13:39
รอเกร็ดตรงนี้ค่ะ  อย่างกระวนกระวาย  เพราะอยากถามตั้งแต่เห็นรูปแรกแล้ว


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 06 ต.ค. 07, 17:08
ขออภัยครับ หายไปนานไปหน่อย

ขอลงข้อมูลของวัดดอกไม้กับวัดบางพึ่งเพิ่มเติมก่อนนิดนึงนะครับ

วัดดอกไม้ เดี๋ยวนี้วัดนี้อยู่ฝั่งเหนือของถนนพระราม ๓ ไม่ได้ติดแม่น้ำครับ อันนี้เป็น บล็อกของวัดดอกไม้ (http://watdokmat.blogspot.com/2007/10/blog-post_02.html) ครับ มีบอกไว้หน่อยนึงว่าเป็นวัดเก่าสามร้อยกว่าปี ผมเพิ่งจะเจอว่านิราศธารถลางของนายมี (ราว ๒๓๗๐-๒๓๗๔) ผ่านเส้นทางนี้เหมือนกัน แต่ไม่ได้เอ่ยถึงวัดดอกไม้ครับ

วัดบางพึ่ง เว็บจังหวัดสมุทรปราการ (http://www.smpk-sum.ago.go.th/P32.htm) ให้รายละเอียดไว้น่าสนใจดังนี้
วัดบางพึ่ง ตั้งอยู่ที่บ้านบางพึ่ง ตำบลบางพึ่ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
วัดบางพึ่ง สร้างเมื่อ พ.ศ.2347 คนส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีนผสมไทย อุโบสถสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นแบบศิลปะจีนประดับด้วยเครื่องเบญจรงค์ วัดบางพึ่งได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2378



ทีนี้มาที่แถวปากลัด

ว่ากันว่าคลองลัดโพธิ์ถูกขุดขึ้นในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ ผมไม่ทราบว่ามีหลักฐานแน่นอนหรือไม่ แต่พงศาวดารฉบับราชหัตถเลขาไม่ได้เอ่ยถึงการขุดคลองนี้ ยังไม่ได้ไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมครับ

พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งความว่า

ในปีมะโรง ฉศก (พ.ศ. ๒๓๒๗) ... ครั้งนั้นคลองขุดปากลัดนั้นกว้างออก และน้ำทะเลขึ้นแรงเค็มขึ้นมาถึงพระนคร ครั้นถึง ณ วันศุกร์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๑ ค่ำ จึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์กับทั้งกรมพระราชวังหลัง และเจ้าต่างกรมทั้งปวงพร้อมกันเสด็จโดยทางชลมารคลงไปปิดคลองปากลัด ดำรัสให้เกณฑ์ข้าราชการขนมูลดินและอิฐหักถมทำนบกั้นน้ำ แล้วให้เกณฑ์กันขึ้นไปรื้ออิฐกำแพงกรุงเก่า บรรทุกเรือลงมาถมทำนบจนสูงเสมอฝั่ง และน้ำเค็มจะไหลขึ้นมาทางคลองปากลัดนั้นมิได้ ไหลไปแต่ทางแม่น้ำใหญ่เป็นทางอ้อม ก็มิสู้เค็มขึ้นมาถึงฝั่งพระนคร ราษฎรทั้งหลายได้รับพระราชทานน้ำจืดเป็นสุขทั้งสิ้น

เป็นอันว่าคลองลัดโพธิ์ถูกปิดไปต้นรัชกาลที่ ๑ นี่เอง ผมเข้าใจว่าการปิดคลองปากลัดนั้นใช้วิธีถมกั้นเฉพาะทางฝั่งใต้ เมื่อน้ำผ่านไม่ได้ นานไปตะกอนก็สะสมจนคลองตื้นเขินไปทั้งคลองครับ

หลังจากปิดคลองลัดโพธิ์ไปในสมัย ร.๑ เป็นอันว่าทางลัดที่เคยใช้ลัดประหยัดระยะทางได้ถึง ๑๗ กม.ก็ไม่มีอีกแล้ว ยิ่งพิจารณาว่าระยะทางจากปากคลองบางกอกใหญ่มาถึงลัดโพธิ์นี่แค่ราว ๑๒-๑๓ กม.เท่านั้นเอง คงจะพอเห็นความสำคัญของคลองนี้นะครับ

แต่ธรรมชาติหรือจะสู้สติปัญญามนุษย์ได้ มาถึงรัชกาลที่ ๒ มีรับสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ลงไปสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ในพ.ศ. ๒๓๔๘ ได้ขุดคลองลัดหลวงในคราวนั้นด้วย ดูภาพถ่ายทางอากาศแล้วต้องชมเชยสติปัญญาคนที่กำหนดเส้นทางคลองลัดนี้ คลองลัดหลวงยาวเกือบ ๓ กม. ลัดได้ ๒๐ กม. ประหยัดไป ๑๗ กม.ใกล้เคียงกับเดิม แต่เนื่องจากคลองนี้ค่อนข้างยาวและมีส่วนขยักทางด้านใต้ น่าจะทำให้น้ำไหลผ่านไม่สะดวกนัก ไม่เกิดปัญหาคลองถูกกัดเซาะจนขยายกว้างเหมือนลัดโพธิ์ น้ำทะเลก็ขึ้นมาผ่านคลองนี้ได้น้อย ในขณะที่ยังสามารถใช้สัญจรได้

ตลอดแนวคลองลัดหลวงมีวัดเรียงรายหลายวัดตามแนวคลอง ล้วนแล้วแต่เป็นวัดมอญ เพราะทรงให้ครัวมอญมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองนี้ ศูนย์กลางของนครเขื่อนขันธ์อยู่ทางด้านใต้ของแผ่นดินระหว่างคลองลัดหลวงกับลัดโพธิ์

นครเขื่อนขันธ์เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองพระประแดงในสมัยรัชกาลที่ ๖ ครับ เป็นอันว่าชื่อพระประแดงได้ขยับจากตำแหน่งเดิมซึ่งเป็นเมืองโบราณสมัยขอมเรืองอำนาจมาอยู่ที่นครเขื่อนขันธ์ในช่วงเวลานี้เอง

ส่วนเมืองพระประแดงเก่านั้น พงศาวดารว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงให้รื้อไปสร้างกำแพงเมืองธนบุรีครับ

จากแผนที่ข้างต้นซึ่งได้มาจาก PointAsia.com เป็นภาพทางอากาศที่ค่อนข้างเก่า เพราะสะพานวงแหวนอุตสาหกรรมนี้เปิดใช้มานานพอสมควรแล้ว ในภาพจะเห็นเป็นแนวก่อสร้างอยู่ คลองลัดโพธิ์จะอยู่ระหว่างแนวก่อสร้างสะพานกับวัดคันลัดเป็นแนวที่ผมระบายสีไว้ครับ

มีลิงก์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเมืองปากน้ำและชุมชนมอญบริเวณนี้ดังนี้ครับ
http://www.paknam.com/thai/history.htm (http://www.paknam.com/thai/history.htm)
http://www.monstudies.com/show_content.php?topic_id=36&go_link=all_article.php&query= (http://www.monstudies.com/show_content.php?topic_id=36&go_link=all_article.php&query=)

ถึงตรงนี้เชิญอภิปรายกันก่อนครับ หมดข้อข้องใจแล้วเราจะพายเรือเข้าคลองสำโรงกัน


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 06 ต.ค. 07, 19:32
มาให้กำลังใจครับ  ;D


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 06 ต.ค. 07, 22:17
ตอนออกเดินทางกวีบอกว่า ถึงยามสองล่องลำนาวาเลื่อน    พอดวงเดือนดั้นเมฆขึ้นเหลืองเหลือง
ยามสองนี่คือสามทุ่มถึงเที่ยงคืน ผมขอเดาไว้ก่อนว่าราวคงออกเดินทางสาม-สี่ทุ่ม จากวัดแจ้งลงมาถึงปากคลองสำโรง ระยะทางราว ๒๘ กม. กวีมาถึงสำโรงตอนรุ่งเช้า ก็ราว ๘ ชั่วโมงครับ

ทำความเร็วได้ราว ๓.๕ กม./ชม.

ตรง "ดวงจันทร์ดั้นเมฆขึ้นเหลืองๆ" นี่ขอเดาว่าน่าจะเป็นพระจันทร์สูงจากขอบฟ้าไม่มาก เพิ่งจะขึ้นมาไม่นาน ไม่น่าเกินสองชั่วโมง ประมาณได้ว่าวันออกเดินทางเป็นข้างแรมประมาณ ๒-๓ ค่ำได้ครับ

เมื่อพิจารณาว่าเมื่อเดินทางมาถึงสำโรง กวีพรรณนาว่า
พอแจ่มแจ้งแสงเงินเงาระยับ         ดาวเดือนดับเด่นดวงพระสุริย์ใส
ถึงปากช่องคลองสำโรงสำราญใจ    พอน้ำไหลขึ้นเช้าก็เข้าคลอง


เห็นว่าตอนพระอาทิตย์ขึ้น พระจันทร์ยังไม่ตก ก็รับกันดี ประกอบกับรอสักพักก็น้ำขึ้น ก็สอดคล้องกันอีกครับ

หากไม่ติดขัดอันใด ตอนหน้าจะเข้าคลองสำโรงแล้วครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 06 ต.ค. 07, 22:58
ช่วงที่สองของการเดินทางคือการเดินทางในคลองสำโรง จากปากคลองสำโรงฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงปากตะครองฝั่งแม่น้ำบางปะกง ระยะทางราว ๕๒.๕ กม. ดังนี้ครับ



กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 06 ต.ค. 07, 23:38
ถึงปากช่องคลองสำโรงสำราญใจ      พอน้ำไหลขึ้นเช้าก็เข้าคลอง
เห็นเพื่อนเรือเรียงรายทั้งชายหญิง      ดูก็ยิ่งทรวงช้ำเป็นน้ำหนอง
ไม่แม้นเหมือนคู่เชยเคยประคอง       ก็เลยล่องหลีกมาไม่อาลัย
กระแสชลวนเชี่ยวเรือเลี้ยวลด          ดูค้อมคดขอบคุ้งคงคาไหล
แต่สาชลเจียวยังวนเป็นวงไป           นี่หรือใจที่จะตรงอย่าสงกา

ดูความคดเคี้ยวของคลองสำโรงช่วงต้นนี้ก็แล้วกัน กวีของเราบรรยายได้ตรงความจริงดีไหมครับ



กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 06 ต.ค. 07, 23:55
ถึงด่านทางกลางคลองข้างฝั่งซ้าย     ตะวันฉายแสงส่องต้องพฤกษา
ออกสุดบ้านถึงทวารอรัญวา           เป็นทุ่งคาแฝกแขมขึ้นแกมกัน

ด่านทางกลางคลองข้างฝั่งซ้าย มีร่องรอยที่ยังมีวัดด่านสำโรงอยู่ครับ ผมปักหมุดไว้ตรงวัดพอดี ด่านคงอยู่ใกล้ๆกัน แต่ไม่ทราบตำแหน่งแน่นอนครับ

อรัญวา คิดว่าไม่ใช่ชื่อสถานที่ มีปรากฏอีกหลายครั้งในเส้นทาง เข้าใจว่าหมายถึงป่าเท่านั้นเอง ผมคิดว่าคำนี้น่าจะเป็นคำบาลีที่ไม่ถูกต้อง ที่น่าสังเกตคือคำว่าอรัญวานี้ปรากฏใช้ในนิราศเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่อง อย่างน้อยๆก็พบใน นิราศพระประธม และนิราศพระบาท

ตำแหน่งชายป่านี้ ระบุตำแหน่งแน่นอนไม่ได้ แต่ควรจะอยู่แถวๆถนนศรีนครินทร์ครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 07 ต.ค. 07, 00:53
มันต้องให้ได้อย่างนี้สิ คุณcrazyhorse!!!!


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 07 ต.ค. 07, 21:47
ฝีพายกลับมาแล้ว เชิญลงเรือกันได้เลยครับ

ทับนาง ปัจจุบันยังมีคลองทับนางอยู่ครับ บรรยากาศคลองทับนางช่างเงียบเหงาเหลือเกิน
ถึงทับนางวางเวงฤทัยวับ           เห็นแต่ทับชาวนาอยู่อาศัย
นางชาวนาก็ไม่น่าจะชื่นใจ         คราบขี้ไคลคร่ำคร่าดังทาคราม
อันนางในนคราถึงทาสี             ดีกว่านางทั้งนี้สักสองสาม
โอ้พลัดพรากจากบุรินแล้วสิ้นงาม  ยิ่งคิดความขวัญหายเสียดายกรุง
กวีท่านนี้ ไม่ว่าจะใช่จะใช่สุนทรภู่หรือไม่ ปากจัดใช้ได้เลยครับ

บางพลี บรรยากาศบางพลีตรงข้ามกับทับนางอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ
ถึงบางพลีมีเรือนอารามพระ           ดูระกะดาษทางไปกลางทุ่ง
เป็นเลนลุ่มลึกเหลวเพียงเอวพุง       ต้องลากจุงจ้างควายอยู่รายเรียง
ดูเรือแพแออัดอยู่ยัดเยียด            เข้าเบียดเสียดแทรกกันสนั่นเสียง
แจวตะกูดเกะกะปะกระเชียง          บ้างทุ่มเถียงโดนดุนกันวุ่นวาย
โอ้เรือเราคราวเข้าไปติดแห้ง          เห็นนายแสงผู้เป็นใหญ่ก็ใจหาย
นั่งพยุงตุ้งก่านัยน์ตาลาย              เห็นวุ่นวายสับสนก็ลนลาน
น้อยกับพุ่มหนุ่มตะกอถ่อกระหนาบ   เสียงสวบสาบแทรกไปด้วยใจหาญ
นายแสงร้องรั้งไว้ไม่ได้การ           เอาถ่อกรานโดยกลัวจนตัวโกง
สงสารแสงแข็งข้อไม่ท้อถอย         พุ่มกับน้อยแทรกกลางเสียงผางโผง
ถ้วยชามกลิ้งฉิ่งฉ่างเสียงกร่างโกรง   นาวาโคลงโคลนเลอะตลอดแคมฯ

บางพลียุคนั้นคึกคักน่าดูครับ บรรยากาศคล้ายๆกับคลองโยงทางฝั่งท่าจีน การตื้นเขินของคลองลัดที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำสองสาย โดยเฉพาะที่เชื่อมในแนวขวางแบบนี้ เป็นเรื่องธรรมชาติครับ สาเหตุเป็นเพราะว่าน้ำจะไหลเข้าจากปากคลองทั้งสองฝั่ง และไหลมาชนกันตรงกลาง ดังนั้นยิ่งเข้าใกล้กลางคลอง น้ำยิ่งไหลเบา ตะกอนที่มากับน้ำก็จมลง จนตื้นเขินในที่สุด

เรื่องนี้ไม่เกินสติปัญญาบรรพบุรุษของเราไปได้ มีการขุดคลองจากตรงกลางคลองลงมาไปออกที่อื่น กรณีของคลองมหาสวัสดิ์และคลองโยงใช้คลองทวีวัฒนาเพื่อการนี้ ทำให้ลดการสะสมของตะกอน คลองจะตื้นช้าลงครับ

ปัจจุบัน คลองสำโรงจะมีคลองลัดไหลลงทะเลหลายคลอง แต่ก็ยังต้องพึ่งการขุดลอกเป็นครั้งคราวด้วยครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 07 ต.ค. 07, 22:25
จนตกลึกล่วงทางถึงบางโฉลง         เป็นทุ่งโล่งลานตาล้วนป่าแขม
เหงือกปลาหมอกอกกกับกุ่มแกม     คงคาแจ่มเค็มจัดดังกัดเกลือ
บางโฉลง เป็นชื่อคลองที่กลายเป็นชื่อตำบลในปัจจุบัน จากคลองสำโรงขึ้นไปตามคลองนี้ข้ามถนนบางนา-ตราดไปจนถึงสนามบินสุวรรณภูมิ แล้วไหลเลียบไปตลอดฝั่งตะวันออกของสนามบินที่เห็นเป็นสี่เหลี่ยมใหญ่โตเบ้อเร่อเบ้อร่ากลางภาพในคคห.๑๒ นั่นไงครับ ส่วนที่อยู่ตรงสนามบินสุวรรณภูมิเรียกชื่อว่าคลองหนองงูเห่า ส่วนคลองที่เป็นแนวตะวันตกของสนามบิน ก็คือคลองลาดกระบัง ที่เชื่อมต่อมาจากคลองบางพลีนั่นเอง

ผมไม่ทราบว่าคลองบางพลี-คลองลาดกระบัง และคลองบางโฉลง-คลองหนองงูเห่า อยู่ในสภาพนี้มาก่อนแล้วหรือถูกปรับให้เป็นอย่างนี้ระหว่างการก่อสร้างสนามบินนะครับ ท่านใดทราบกรุณามาช่วยหน่อยครับ

ถึงหัวป่าเห็นป่าพฤกษาโกร๋น          ดูเกรียนโกรนกรองกรอยเป็นฝอยเฝือ
ที่กิ่งก้านกรานกีดประทุนเรือ          ลำบากเหลือที่จะร่ำในลำคลอง
ในจังหวัดสมุทรปราการมีหมู่บ้านชื่อหัวป่าอยู่สองที่ แต่ทั้งสองที่ไม่ได้อยู่ใกล้กับบริเวณนี้เลย ผมเข้าใจว่าสภาพสมุทรปราการเมื่อก่อนคงจะเป็นป่าสลับกับชุมชนเป็นระยะๆ ก็เลยต้องมีหัวป่าหรือทวารอรัญวาเยอะหน่อย ที่รอดมาจนถึงเป็นชื่อหมู่บ้านยุคใหม่ได้นั้น คงเป็นส่วนน้อยแล้วครับ

ถึงหย่อมย่านบ้านไร่อาลัยเหลียว     สันโดษเดียวมิได้พบเพื่อนสนอง
เขารีบแจวมาในนทีทอง              อันบ้านช่องมิได้แจ้งแห่งตำบล
ปัจจุบันมีบ้านไร่อยู่แถวนี้จริง แต่ต้องเลยไปอีกหน่อย คือเลยคลองกระเทียม(ซึ่งเป็นตำบลถัดไป)ไปอีก ผมเข้าใจว่าแถวนี้คงเหมาะจะทำไร่ และมีไร่อยู่น่าจะตลอดแนว โดยเฉพาะฝั่งใต้ของคลองสำโรงแถบนี้ที่ยังมีร่องรอยชื่อบ้านไร่ และบ้านไร่พริกอยู่ ดังนั้นบ้านไร่นี้เห็นที่จะไม่ใช่ชื่อเฉพาะครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ต.ค. 07, 08:30
จากค.ห. 9
อ้างถึง
หลังจากปิดคลองลัดโพธิ์ไปในสมัย ร.๑ เป็นอันว่าทางลัดที่เคยใช้ลัดประหยัดระยะทางได้ถึง ๑๗ กม.ก็ไม่มีอีกแล้ว ยิ่งพิจารณาว่าระยะทางจากปากคลองบางกอกใหญ่มาถึงลัดโพธิ์นี่แค่ราว ๑๒-๑๓ กม.เท่านั้นเอง คงจะพอเห็นความสำคัญของคลองนี้นะครับ

แต่ธรรมชาติหรือจะสู้สติปัญญามนุษย์ได้ มาถึงรัชกาลที่ ๒ มีรับสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ลงไปสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ในพ.ศ. ๒๓๔๘ ได้ขุดคลองลัดหลวงในคราวนั้นด้วย

เป็นหลักฐานพอจะชี้ได้ไหมว่า กวีได้เดินทางอ้อมไปถึง ๑๗ ก.ม. เพราะในเวลานั้นคลองลัดโพธิ์ปิดไปแล้ว   คลองลัดหลวงก็ยังไม่ได้ขุด
แสดงว่านิราศเมืองแกลงแต่งก่อน พ.ศ. ๒๓๔๘  แต่ช้ากว่าพ.ศ. ๒๓๒๕  (ต้นรัชกาลที่ ๑)
ถ้าเดินทางในรัชกาลที่ ๓ น่าจะเข้าคลองลัดหลวงไปสบายไปแล้ว 


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 ต.ค. 07, 09:40
อ่านความเห็นอาจารย์ข้างบน ระบุปี  ๒๓๔๘ จึงต้องย้อนไปอ่านต้นทาง....พบว่า
คุณเครซี่พิมพ์ศักราชเพี้ยนไปนิดหนึ่งครับ
ปีสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ คือ 2357 (น่าจะพิมพ์ 5 เป็น 4) ปี 2347 ยังเป็นรัชกาลที่ 1 อยู่

จึงต้องขออนุญาตแก้ข้อความของอาจารย์เป็น
"นิราศเมืองแกลงแต่งก่อน พ.ศ. ๒๓๕๘  แต่ช้ากว่าพ.ศ. ๒๓๒๕  (ต้นรัชกาลที่ ๑)"


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 ต.ค. 07, 11:08
ขอบคุณคุณ Pipat ที่ช่วยแก้ให้ครับ พิพม์ผิดไปจริงๆ ต้้อง ๒๓๕๘ จึงตั้งเมืองเขื่อนขันธ์เสร็จครับ

ปากคลองสำโรงจะริมแม่น้ำช่วงโค้งกระเพาะหมูของคลองลัดหลวง ดังนั้นการใช้คลองลัดหลวงเพื่อเดินทางไปคลองสำโรงจะไม่สามารถร่นระยะได้ถึง ๑๗ กม. แต่จะร่นได้ราว ๖ กม.เศษดังนี้ครับ



กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 ต.ค. 07, 11:21
แต่จะฟันธงว่าการที่กวีไม่ใช้คลองลัดหลวงแปลว่ายังขุดไม่เสร็จนั้น ผมยังไม่แน่ใจนัก เพราะนิราศฉะเชิงเทรา ที่ว่าแต่ง ๒๓๖๙ และเดินทางเข้าคลองสำโรงเหมือนกัน ก็ไม่ใช้คลองลัดหลวงครับ

ขอแวะออกข้างทางอีกนิดนึงครับ

อ่านนิราศธารถลาง เรียกวัดราษฏร์บูรณะว่าราชบูรณะอีกแล้ว เป็นอันว่านิราศต้นรัตนโกสินทร์ที่ผ่านมาทางนี้ถึง ๔ เรื่องแล้วที่เรียกอย่างนี้ วัดนี้ผมเจอแค่ว่าสร้างราวปี ๒๓๑๐ ไม่รู้อะไรมากกว่านั้น นิราศ ๕ เรื่องที่ผ่าน กล่าวถึงวัดนี้ถึง ๔ เรื่อง มีนิราศเืองแกลงเรื่องเดียวที่ไม่เอ่ยถึง จะผ่านตอนดึกเกินไปหรือเปล่าก็ไม่ทราบครับ

หรือชื่อเก่าจะเป็นราชบุรณะจริงๆ?


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 ต.ค. 07, 12:59
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงวินิจฉัยว่า เมืองหลวงโบราณจะต้องมีวัดสำคัญ 3 วัดคือ
วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ กับวัดราชประดิษฐ์
(จึงทรงสถาปนาวัดราชประดิษฐ์ในปี 2410 และทรงมีพระราชาธิบายไว้)

สันนิษฐานว่า หลังจากนั้น จึงต้องเปลี่ยนชื่อวัดที่พ้อง ให้กลายความหมายไปครับ
แปลว่า ที่เรียกราษฎ์บูรณะ เป็นของใหม่หลังประกาศรัชกาลที่ 4 (2410)....กระมัง


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 ต.ค. 07, 14:15
ขอบคุณครับ เรื่องเปลี่ยนชื่อวัด เห็นจะเป็นอย่างนั้นครับ แต่ผมยังสงสัยต่อว่า แล้ววัดราษฎร์บูรณะที่เดิมใช้ชื่อวัดราชบุรณะนั้นเป็น "ราชา" หรือเจ้านายพระองค์ใดมาบูรณะ ประวัติวัดบอกว่าสร้าง ๒๓๑๐ แต่ผ่านไปไม่กี่สิบปี นิราศพระยาตรัง ต้นรัตนโกสินทร์กลับบอกว่าไม่รู้ว่าราชาพระองค์ไหนมาสร้าง

ดูแปลกๆยังไงชอบกลครับ

เรื่องการใช้เส้นทางคลองลัด นิราศธารถลางของนายมี (แต่งราว ๒๓๗๐-๒๓๗๔ แต่มีผู้ข้องใจอยู่ว่าใช่นายมีแต่งหรือไม่) เมื่อผ่านปากคลองลัด (ซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นลัดหลวง เพราะลัดโพธิ์ปิดไปสี่สิบกว่าปีแล้ว) กวีว่า

มาถึงด่านด่านเรียกให้เรือหยุด     แล้วรีบรุดมาในลำแม่น้ำไหล
ต้องเดินอ้อมค้อมคดรันทดใจ      มิได้ไปทางลัดน่าขัดเคือง


ก็น่าอึดอัดใจอยู่ เพราะกวีมากับเรือใบเดินทะเล เข้าคลองลัดไม่ได้ แต่พอเป็นหลักฐานให้เห็นว่า ณ เวลานั้น น่ามีการใช้คลองลัดหลวงกันเป็นปกติ ถ้ากวีมาเรือเล็กก็คงเข้าคลองไปแล้ว


เรื่องนิราศเมืองแกลงไม่เข้าคลองลัดหลวง (ถ้ามีแล้ว) ผมมานึกดู เป็นไปไำด้อย่างหนึ่งครับ ตอนที่ผ่านปากลัดกลอนว่า

ถึงปากลัดแลท่าชลาตื้น              ดูเลื่อมลื่นเลนลากลำละหาน
เขาแจวจ้วงล่วงแล่นแสนสำราญ      มาพบบ้านบางระเจ้ายิ่งเศร้าใจ

จากที่ผมประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่า ช่วงเวลาเดินทางน่าจะเป็นแรม ๒-๓ ค่ำ ดูจะระยะทางแล้ว ช่วงเวลาที่ผ่านมาถึงแถวปากลัดเป็นช่วงน้ำลง จากความตรงของคลองลัดหลวงด้านเหนือ น่าจะเป็นคลองขุดแน่ๆ โดยทั่วไปความลึกมาตรฐานของคลองขุดคือ ๖ ศอก ซึ่งต้ืนกว่าลำแม่น้ำแน่ๆ จึงเป็นไปได้ว่าเข้าคลองไม่ได้เพราะน้ำลง ทำให้คลองตื้นเขิน

ยิ่งเมื่อมาถึงคลองสำโรงแล้วต้องรอเช้าน้ำขึ้นถึงเข้าคลองได้ ดูจากแนวแล้วปากคลองลัดหลวงด้านเหนืออยู่สูงกว่าปากคลองสำโรง น้ำก็ต้องขึ้นมาถึงช้ากว่าเสียอีก

เป็นไปได้ว่า ตอนนั้นมีคลองลัดหลวงแล้ว แต่น้ำลงคลองแห้ง เลยต้องพายอ้อมไปตามลำแม่น้ำครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 ต.ค. 07, 16:16
เฉพาะเรื่องคลองลัดนี้ เดาเพิ่มได้อีกหลายทาง
1 ทางการขุดคลองลัด แต่งด่านที่ปากคลอง น่าจะเก็บเงิน กวีอาจจะขี้เหนียว ปล่อยให้ลูกน้องจ้ำพายไปอีกสองชั่วโมง ตัวเองนั่งสบายอยู่แล้ว
2 ถ้ามาจังหวะไม่เหมาะ เข้าคลองลัดแล้วต้องพายทวนน้ำ น่าจะเหนื่อยอยู่ พายตามน้ำไปตามเดิมดีกว่า
3 ทางเปลี่ยว ไม่อยากเข้าไปเสี่ยง

ข้อสามนี่ มีตัวอย่างในนิราศสุพรรณ
กวีมาตามคลองมหานาค แล้วมาเลี้ยววัดสะเกษทำไม อ้อมโลก
เพราะจะต้องผ่านวัดสะเกษ ไปออกคลองโอ่งอ่าง ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านวัดแจ้ง วังหลังแล้วเข้าคลองบางกอกน้อย

ทำไมไม่ตรงมาจากคลองมหานาคก็มาที่สามแยกตรงป้อมมหากาล แล้วออกขวาผ่านวัดปรินายก ตรงออกบางลำภู
ก็ออกเจ้าพระยาตรงวัดสังเวชได้เหมือนกัน

ผมเดาว่า เส้นนี้ กลางคืนไม่น่าผ่าน ฉวยเป็นอะไรไป เช่นเรือยางแบน....เอ๊ะ ไม่ใช่สิ
เกิดไปเกยตื้นตรงใหนสักแห่ง พอดีโดนปล้น ตายฟรี....กระมัง


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 ต.ค. 07, 17:49
ตอนสร้างนครเขื่อนขันธ์ ร.๒ ทรงให้ครัวมอญที่อพยพเข้ามาครั้งใหญ่ในครั้งนั้นไปตั้งบ้านเรือน นอกจากนี้ก็ยังมีที่กะเกณฑ์รวบรวมจากละแวกนั้นด้วย ดูจากจำนวนวัดที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวผมว่าแถวนครเขื่อนขันธ์ต้องคึกคักไม่เบาครับ โดยเฉพาะริมคลองลัดหลวงเองก็มีหลายวัดแล้วครับ

เป็นไปได้อีกอย่างว่าเจ้าถิ่นอาจไม่อยากให้ใครล่วงล้ำเข้าไปยามวิกาล


ไปต่อในคลองสำโรงนะครับ พ้นบางโฉลงไป
ถึงคลองขวางบางกระเทียมสะท้านอก    โอ้มาตกอ้างว้างอยู่กลางหน
เห็นแต่หมอนอ่อนแอบอุระตน            เพราะความจนเจียวจึงจำระกำใจ
จะเหลียวซ้ายแลขวาก็ป่าแสม            ตะลึงแลปูเปี้ยวเที่ยวไสว
ระหริ่งเรื่อยเฉื่อยเสียงเรไรไพร           ฤทัยไหวแว่วว่าพะงางาม

คลองขวางเห็นจะเป็นตรงโค้งน้ำหักศอกที่ผมหมายไว้เป็นหมายเลข 1 ในภาพนี้ครับ อย่างก่อนถึงบางกระเทียมเล็กน้อย


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 ต.ค. 07, 17:59
ถึงชะแวกแยกคลองสองชะวาก      ข้างฝั่งฟากหัวตะเข้มีมะขาม
เข้าสร้างศาลเทพาพยายาม          กระดานสามแผ่นพิงไว้บูชา
ตะลึงแลแต่ล้วนลูกจระเข้            โดยคะเนมากมายทั้งซ้ายขวา
สักสองร้อยลอยไล่กินลูกปลา       เห็นแต่ตากับจมูกเหมือนตุ๊กแก
โอ้คลองขวางทางแดนแสนโสทก    ดูบนบกก็แต่ล้วนลิงแสม
เลียบตลิ่งวิ่งตามชาวเรือแพ          ทำลอบแลหลอนหลอกตะคอกคน
คำโบราณท่านผูกถูกทุกสิ่ง           เขาว่าลิงจองหองมันพองขน
ทำหลุกหลิกเหลือกลานพาลลุกลน   เขาด่าคนจึงว่าลิงโลนลำพองฯ

คลองหัวตะเข้อยู่ก่อนถึงโค้งหักศอกคลองขวางเสียอีก แต่ที่เอ่ยถึงตรงนี้ผมเข้าใจเอาเองว่าหมายถึงฟากด้านเหนือคลองสำโรงเท่านั้นเอง ตำแหน่ง "ชะแวกแยกคลองสองชะวาก" นั้นคงเป็นตรงหมายเลข 3 ในแผนที่ข้างบนครับ

เลยไปพักใหญ่จะเป็นโค้งน้ำหักศอกอีก น่าจะเป็นคลองขวางที่ปรากฏในกลอนที่ยกมาในคคห.นี้


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 ต.ค. 07, 18:23
ถึงชะวากปากคลองเป็นสองแพร่ง     น้ำก็แห้งสุริยนก็หม่นหมอง
ข้างซ้ายมือนั้นแลคือปากตะครอง     ข้างขวาคลองบางเหี้ยทะเลวน

คลองแยกนี้เห็นจะเป็นแยกสำคัญ ดูลักษณะลำคลองที่คดโค้งแล้วน่าจะเป็นคลองธรรมชาติเก่าแก่ ตรงไปทางตะวันออกที่เขียนว่าบางบ่อในแผนที่จะไปออกปากตะครอง ซึ่งเป็นปากคลองสำโรงฝั่งแม่น้ำบางปะกง ในขณะที่ลงใต้ไปตามลำคลองบางเหี้ยจะออกทะเล

สมัยร.๕ มีการทำประตูระบายน้ำกลางคลองนี้ และมีการตั้งด่านภาษี คลองบางเหี้ยจึงได้อีกชื่อหนึ่งว่าคลองด่าน (ว่ากันว่าจอมพล ป. ห้ามเรียกชื่อคลองว่าบางเหี้ย ใครเรียกโดนปรับ ดูลิงก์นี้ (http://www.sarakadee.com/feature/2003/04/klong_dan.htm))
ช่วงสิบกว่าปีมานี้ คลองนี้กลายเป็นสัญญลักษณ์ของความชั่วช้าของนักการเมือง"น้ำเน่า"ของจริง เพราะมีการทุจริตโครงการบำบัดน้ำเสียที่ปล้นชาติอย่างไร้สำนึกที่สุด

จนสามปีที่แล้ว มีการดำเนินคดีนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ แต่เหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา เพราะเป็นแค่การแบล็คเมล์แก๊งโจรกระจอกให้ยอมยุบแก๊งเข้าร่วมกับแก๊งมาเฟียขาใหญ่ระดับข้าม(ไปอยู่)ชาติ(อื่นแล้ว)

พวกนี้ไม่ใช่แค่ "บาง" ต้องเรียกว่า "โคตร" เลย


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 ต.ค. 07, 20:58
เช้าถึงเย็น จากปากคลองสำโรงมาถึงชะวากปากคลองบางเหี้ยนี้ก็ราว ๓๓.๕ กม.ครับ ทำความเร็วได้ราว ๓ กม./ชม. ช้ากว่าช่วงที่อยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาหน่อย คงเพราะทางคดเคี้ยว ไม่มีกระแสน้ำช่วย และยังเสียเวลาไปติดตื้นที่บางพลีด้วยครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 08 ต.ค. 07, 21:17
ดิฉันคนพระประแดงแท้ อ่านที่คุณCrazyhorseเขียนแล้วสะใจค่ะ
คุณแม่เคยพายเข้าทั้งลัดหลวงลัดโพธิ์นะคะ ลัดโพธิ์น่ะมาตื้นเขินระยะสามสิบปีที่ผ่านมาก่อนขุดคลองชุบชีวิตอีกครั้งด้วยโครงการแก้มลิง ที่ตื้นเขินเพราะประชาชนปลูกบ้านล้ำคลอง ทิ้งขยะมูลฝอยนับเป็นสิบๆปีค่ะ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 ต.ค. 07, 12:24
ได้คนพระประแดงตัวจริงมาช่วยแล้ว ดีใจๆ

ถ้าลัดโพธิ์ยังพายเข้าได้ช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาแสดงว่ายังน่าจะเห็นร่องรอยตำแหน่งที่ปิด คุณกุ้งพอจะทราบไหมครับว่าเขาปิดปากลัดกันตรงไหน

เอ... หรือเขาปิดตรงวัดคันลัด? ตรงกลางพอดี


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 ต.ค. 07, 13:05
เรือจอดพักอยู่ที่ปากชะวาก ชาวบ้านหุงหาอาหารตามมีตามเกิด รสชาติอาหารทำเอากวีของเราฝืดคอ "กินแต่พอดับลมด้วยตรมใจ" ไหนจะยุงเยอะอีก โถ.....

พอน้ำตึงถึงเรือก็รีบล่อง            เข้าในคลองคึกคักกันนักหนา
ด้วยมืดมัวกลัวตอต้องรอรา         นาวามาเรียงตามกันหลามทาง
พอน้ำขึ้นกวีของเราก็เริ่มออกเดินทาง น่าจะหยุดพักอยู่ที่นี่นานพอดู ปกติน้ำจะลงต่ำสุดตอนพระจันทร์กำลังจะขึ้นหรือกำลังจะตก ถ้าเป็นแรม ๒-๓ ค่ำ พระจันทร์ขึ้นก็ราว ๒-๓ ทุ่มครับ เรือคงจะมาถึงปากชะวากนี้ตอนน้ำกำลังจะลง ก็เลยหยุดพักกัน เป็นการรอให้พ้นช่วงน้ำลงไปในตัวด้วย

ถึงบางบ่อพอจันทร์กระจ่างแจ้ง     ทุกประเทศเขตแขวงนั้นกว้างขวาง
ดูดาวดาษกลาดฟ้านภาภางค์       วิเวกทางท้องทุ่งสะท้านใจ
บางบ่อนี่เป็นชื่อที่ไม่น่าจะหายาก แต่ผมหาไม่เจอว่าคลองบางบ่ออยู่ไหน ชื่ออ.บางบ่อก็ระบุอะไรไม่ได้ เพราะเป็นชื่อที่เปลี่ยนมาจากบางเหี้ย ปักหมุดไว้ที่วัดบางบ่อก่อนก็แล้วกันครับ จากมาถึงปากชะวากมาถึงวัดบางบ่อราว ๓ กม. คงพายสักชั่วโมงได้ ก็น่าจะพอดีจันทร์กระจ่างแจ้ง คงจะราว ๔-๕ ทุ่มเห็นจะได้ครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 ต.ค. 07, 14:23
ถึงหย่อมย่านบ้านระกาดต้องลงถ่อ   ค่อยลอยรอเรียงลำตามน้ำไหล
จนล่วงเข้าหัวป่าพนาลัย              ล้วนเงาไม้มืดคล้ำในลำคลอง
จากวัดบางบ่อมาถึงปากคลองบ้านระกาศก็ราว ๓ กม. แถวนี้คลองคงตื้นมาก อาจจะต้องให้น้ำขึ้นเต็มๆถึงจะพายกันสบาย

จากบ้านระกาศไปจนถึงเน็กสะเตชั่นบางสมัครนั้นไกลมาก จับไมล์เรือได้ตั้ง ๙ กิโลฝ่าๆ สภาพเส้นทางนอกจากจะเป็นป่าแล้วยังออกแนวผีๆสางๆเสียอีก

ระวังตัวกลัวตอตะเคียนขวาง        เป็นเยี่ยงอย่างผู้เฒ่าเล่าสนอง
ว่าผีสางสิงนางตะเคียนคะนอง      ใครถูกต้องแตกตายลงหลายลำ
พอบอกกันยังมิทันจะขาดปาก      เห็นเรือจากแจวตรงหลงถลำ
กระทบผางตอนางตะเคียนดำ       ก็โคลงคว่ำล่มลงในคงคา
พวกเรือพี่สี่คนขนสยอง             ก็เลยล่องหลีกทางไปข้างขวา
พ้นระวางนางรุกขฉายา              ต่างระอาเห็นฤทธิ์ประสิทธิ์จริง
ช่วงเวลาที่ผ่านเส้นทางนี้น้ำก็น่าขึ้นจะเกือบจะเต็มที่แล้ว คงตั้งใจให้เป็นอย่างนี้ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะชนตอตะเคียนที่ล้มอยู่ในคลอง
แต่ก็ยังไำม่วายมีผู้โชคร้ายอยู่ดีครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 ต.ค. 07, 14:43
พ้นตอตะเคียนใต้น้ำไปแล้วก็เป็นช่วงคลองแคบ แถมไม่กล้าพายชิดฝั่งอีกเพราะกลัวเสือ

ดูจากภาพนี้ก็คือเรือมาจากทางมุมซ้ายบนของภาพลงมาตามคลอง แถวๆนั้นจะมีหนองน้ำยึกยือ นั่นคือภาพสนามตีกบจากอวกาศครับ น่าเกลียดน่าชังทีเดียว สนามนี้ไม่ทราบว่าสนามอะไร แต่อยู่แถวบางเกลือ ริมถนนบางนา-ตราดครับ ทางขวามือของภาพจะเห็นถนนบางนา-ตราดช่วงที่หักลงมาเตรียมจะข้ามแม่น้ำบางปะกงอีกไม่ไกลแล้ว

คลองสำโรงช่วงนี้จะเห็นได้ว่ามีสองแนว เส้นทางหลักในปัจจุบันคือลำน้ำกลางภาพ กับอีกแนวหนึ่งซึ่งคดโค้งอยู่ทางได้ใต้ของสายหลัก แยกกันตรงด้านซ้ายของภาพ มาบรรจบกันแถวปากคลองบางสมัคร


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 ต.ค. 07, 15:27
ผมไม่ทราบว่าคลองหลักที่ตัดตรงในภาพข้างบนนี้ ขุดขึ้นเมื่อไหร่ ก็เลยไม่รู้ว่ากวีไปตามเส้นทางไหนนะครับ

บางสมัครปัจจุบันเป็นชุมชนที่เห็นอยู่ตรงกลางด้านบนของภาพ มีคลองไหลผ่านหลายสาย สายไหนชื่อบางสมัครผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน ผมเลือกคลองที่ผ่านวัดบางสมัครแล้วปักหมุดไว้ตรงปากคลองที่มาออกคลองสำโรง (ไม่ว่าสายใหม่หรือเก่าก็ตำแหน่งใกล้กัน) แต่ก็เป็นไปได้ว่าจะเป็นอีกสายหนึ่งซึ่งตัดลงมาตรงๆจากบ้านบางสมัคร ผ่าคลองสำโรงลงมาถึงบางเกลือครับ

บ้านมะพร้าวอันนี้ยาก เพราะชื่อนี้สูญไปแล้ว เว็บไซต์อบต.บางเกลือ (http://ที่ปักหมุดกำหนดตำแหน่งไว้เป็น) บอกว่าบ้านมะพร้าวคือบางเกลือ
ลำคลองสำโรงในสมัยนั้นคดเคี้ยวมาก เมื่อออกจากกรุงเทพฯ จะต้องถึงบางสมัครก่อนแล้วจึงจะถึงบ้านมะพร้าว
แต่ผมดูภาพถ่ายจากอวกาศแล้วไล่ยังไำงก็ยังไม่พบทางที่จะให้ถึงบางสมัครก่อนบางเกลือได้

กวีบอกว่ามาถึงบ้านมะพร้าวตอนรุ่งเช้าพอดี มีหมายช่วยจำอย่างนี้ ต่อให้ไม่ได้เขียนสด มาเขียนจากความทรงจำในภายหลังก็เห็นจะหลงลืมได้ยาก
ผมว่าบ้านมะพร้าวนี่ไม่น่าจะเป็นบางเกลือนาครับ

จากบ้านมะพร้าวไปถึงบางวัวแล้วก็ออกแม่น้ำบางปะกงที่ปากตะครอง ล่องตามแม่น้ำบางปะกงลงมา เลี้ยวโค้งกระเพาะหมูเลี้ยวหนึ่งก็ถึงบ้านบางมังกงเตรียมออกปากแม่น้ำแล้วครับ

ระยะทางจากชะวากปากคลองตรงบางเหี้ยมาปากตะครองฝั่งบางปะกงก็ราว ๑๙ กม. จากปากตะครองไปตามแม่น้ำจนถึงบ้านบางมังกงอีก ๑๒ กม.

หลังจากนี้ออกปากแม่น้ำพายเรือในทะเล มีฝนตกคลื่นลมก็เลยแรง เรือทำท่าจะถูกคลื่นซัดตีออกไปห่างฝั่ง (กลอนว่า น้ำจะพัดปัดตีไปสีชัง) โชคดีคลื่นลมสงบก็เลยพายไปถึงบางปลาสร้อยได้โดยสวัสดี จากบ้านบางมังกงถึงบางปลาสร้อยก็อีกราว ๑๘ กม.ครับ

รวมเบ็ดเสร็จพายรวดเดียวบางเหี้ย-บางปลาสร้อย ๔๙ กม.

จากกรุงเทพมาสองวันสองคืนเต็มๆ พายเรือมาราว ๑๑๐ กม. ถ้าคิดว่าโหดแล้ว
ระยะทางเดินบกนั้นโหดกว่านี้มากนัก ขอให้รอดูต่อไปเถิดครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 09 ต.ค. 07, 15:28
ไม่รู้ว่าจะรบกวนเกินไปหรือไม่ หากจะขอให้ระบุพิกัด เฉพาะจุดสำคํญๆ ไว้เป็นเครื่องอ้างอิง
ผมเชื่อว่า กระทู้นี้ จะกลายเป็นของมีชื่อในอนาคตอันไกล้

เด็กๆ จะได้ใช้เทคโนโลยี่ไปจับกบ....เอ้ย ไปตามรอยนิราศได้ สนุกใจ
และจะเป็นตัวอย่างให้น้องๆ ทำงานอย่างอุดมรายละเอียด ละเมียดละไม
แบ่งกันคิดช่วยกันหา

อ้อ คุณครูที่มาแอบอ่าน ก้อจะได้ใช้ประโยชน์ด้วยแหละ....กริ๊กๆๆ
(อมยิ้มด้วยความเห็นใจคนท้องเสีย)


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 ต.ค. 07, 15:38
ผมขอหยอดไฟล์พิกัดสำหรับเปิดใน GoogleEarth ไว้ตรงนี้ก่อนเลยละกันครับ
แต่อาจเปลี่ยนแปลงได้อีกนะครับ เพราะตอนเรียบเรียง ถ้าผมเจอข้อมูลใหม่ ผมอาจย้ายหมุดได้ทุกบ่อยครับ  ;D

เพิ่มเติมหน่อยครับ ไฟล์นี้ถ้าแก้นามสกุลจาก .kmz เป็น .zip จะสามารถ unzip ด้วยโปรแกรม winzip (และอื่นๆ) ได้ไฟล์ .kml ซึ่งสามารถเปิดโดยใช้ notepad อ่านรายละเอียดพิกัดทางภูมิศาสตร์ได้ครับ

หรือถ้าลงโปรแกรม GoogleEarth ในเครื่อง แค่ double-click ไฟล์นี้ ก็จะเปิดโปรแกรมและแสดงตำแหน่งได้ทันที อยากรู้พิกัดจุดไหนก็คลิกขวาดู property ได้เลยครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 ต.ค. 07, 15:53
พักเหนื่อยอยู่บางปลาสร้อยได้สามวัน กวีก็ออกเดิน... คราวนี้เดินจริงๆ คือเดินเท้า จุดเริ่มต้นบางปลาสร้อยแถบบางแสน จุดหมายบ้านกร่ำอำเภอแกลง ให้คนสมัยนี้ไปเดิน ต่อให้เดินสบายๆไปตามถนนสุขุมวิทยังส่ายหน้าว่าม่ายหวาย

แต่ทีมงานนิราศเมืองแกลงกำลังจะออกเดินมีครบรสทั้งขึ้นเขาลงห้วย ใครว่ากวีของเราใจเสาะอาจต้องคิดใหม่นะครับ  :)


แก้ไขรูปหน่อยครับ โพสต์ไปแล้วเพิ่งนึกได้ว่ารู้วิธีลดขนาดหมุดดังที่คุณพิพัฒน์เคยติงไว้แล้ว และแก้ในไฟล์ kmz ไปแล้ว แต่ภาพที่เซฟไว้ยังเป็นของเดิมครับ แก้ใหม่ดีกว่า


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 09 ต.ค. 07, 16:27
เห็นเส้นทางการเดินเท้าแล้ว ยากจะเชื่อว่าเป็นสภาพบ้านเมืองครั้งรัชกาลที่ 1 จริงๆ
เส้นทางเดินเท้ายาวขนาดนี้ บ้าเมืองต้องอุดมสมบูรณ์เต็มที่
หาไม่คนเดินจะตายกลางทางน่ะนา

เสียดายที่กลอนไม่ได้บอกละเอียดถึงสภาพการทำมาหากินให้ตามสอบได้
มีจดหมายเหตุชุดใหญ่ครั้งรัชกาลที่ 4 พิมพ์เป็นตอนๆ ในแถลงงานของคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์
เรื่องการปกครองหัวเมืองชายทะเล ไม่รู้จะมาเสริมความฝันในกระทู้นี้ได้หรือมิได้
จะลองไปคุ้ยดูนะครับ ถ้าโชคดีคงได้มาบันเทาความเหนื่อยคุณเครซี่ได้บ้าง

หมุดชุดใหม่ เจ๋งถูกใจอ่ะ เพ่


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 ต.ค. 07, 20:43
ถ้าได้ข้อมูลมาเพิ่มก็เรี่ยมเลยครับ

จะว่าไปก็พอมีร่องรอยเรื่องความเป็นอยู่และสภาพบ้านเมืองอยู่บ้างนะครับ เพราะกวีเป็นพวกขี้เหล้า เอ๊ย... ชอบเล่า ช่างบรรยายดีนักแล

เส้นทางเดินเท้านี้ บอกใบ้ไว้ก่อนว่าไกลกว่าที่พายเรือมาจากบางกอกเสียอีก เห็นแล้วเหนื่อยแทนเลยครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 ต.ค. 07, 22:38
กวีบรรยายบรรยากาศบางปลาสร้อยสมัยนั้นอย่างนี้ครับ

แลทะเลแล้วก็ให้อาลัยนุช             ไม่สร่างสุดโศกสิ้นถวิลหา
จนอุทัยไตรตรัสจำรัสตา               เห็นเคหาเรียงรายริมชายทะเล
ดูเรือแพแต่ละลำล้วนโปะโหละ         พวกเจ๊กจีนกินโต๊ะเสียงโหลเหล
บ้างลุยเลนล้วงปูดูโซเซ                สมคะเนใส่ข้องเที่ยวมองคอย
อันนารีที่ยังสาวพวกชาวบ้าน           ถีบกระดานถือตะกร้าเที่ยวหาหอย
ดูแคล่วคล่องล่องแล่นแฉลบลอย      เอาขาห้อยทำเป็นหางไปกลางเลน
อันพวกเขาชาวประโมงไม่โหย่งหยิบ   ล้วนตีนถีบปากกัดขัดเขมร
จะได้กินข้าวเช้าก็ราวเพล              ดูจัดเจนโลดโผนในโคลนตม
จึงมั่งคั่งตั้งบ้านในการบาป             แต่ต้องสาปเคหาให้สาสม
จะปลูกเรือนก็มิได้ใส่ปั้นลม            ใครขืนทำก็ระทมด้วยเพลิงลาม
.
.
.
ใครพบพักตร์เขาก็ทักว่าทรงซูบ        จะดูรูปตัวเองก็ผอมเหลือง
ซังตายชื่นฝืนฤทัยให้ประเทือง          เที่ยวชำเลืองแลชมตลาดเรียง
เป็นสองแถวแนวถนนคนสะพรั่ง        บ้างยืนบ้างนั่งร้านประสานเสียง
ดูรูปร่างนางบรรดาแม่ค้าเคียง          เห็นเกลี้ยงเกลี้ยงกล้องแกล้งเป็นอย่างกลาง
ขายหอยแครงแมงภู่กับปูม้า            หมึกแมงดาหอยดองรองกระถาง
พวกเจ๊กจีนสินค้าเอามาวาง             มะเขือคางแพะเผือกผักกาดดอง
ที่ชายผ้าหน้าถังก็เปิดโถง               ล้วนเบี้ยโป่งหญิงชายมาจ่ายของ
สักยี่สิบหยิบออกเป็นกอบกอง          พี่เที่ยวท่องทัศนาจนสายัณห์
คึกคักดีทีเดียว

ค้างอยู่บางปลาสร้อยได้สามวันก็ได้เวลาออกเดินทางต่อ
พอฟ้าขาวดาวเดือนลงเลื่อนลด         อร่ามรถสุริยาเวหาเหลือง
จากเคหาชลนาพี่นองเนือง              ขืนประเทืองปล้ำทุกข์มาตามทาง
พอพ้นบ้านลานแลล้วนทุ่งเลี่ยน         หนทางเตียนตัดเข้าภูเขาขวาง
ดูกรวดทรายพรายงามเหมือนเงินราง    หยาดน้ำค้างข้อหลุมที่ขุมควาย
ดูสีขาวราวกับน้ำตาลโตนด              ที่หว่างโขดขอบผาศิลาฉลาย
ริมทางเถื่อนเรือนเหย้ามีรายราย        เห็นฝูงควายปล่อยเกลื่อนอยู่กลางแปลง
ภูเขาขวางที่ว่าน่าจะหมายถึงเขาสามมุก ถ้าเดินเลาะชายทะเลมาคงไม่พ้นต้องปีนเขากันบ้าง เส้นทางชาวบ้านจึงเดินอ้อมมาหน่อย แต่คงไม่ถึงขนาดว่าเป็นเขาบางพระ เพราะถ้าเดินมุ่งหน้าไปทางนั้นเห็นทีจะไม่เจอหนองมน ตลอดเส้นทางมีชาวบ้านอยู่กันเรียงราย แต่สงสัยว่าจะยังไม่มีข้าวหลามขาย อิอิ

ถึงหมองมนมีตำบลชื่อบ้านไร่           เขาถากไม้ทุกประเทศทุกเขตแขวง
ต้องเดินเฉียงเลี่ยงลัดตัดทแยง          ตามนายแสงนำทางไปกลางไพร
กำดัดแดดแผดร้อนทุกขุมขน           ไม่มีต้นพฤกษาจะอาศัย
ล้วนละแวกแฝกคาป่ารำไร              จนสุดไร่เลียบริมทะเลมา
ตะวันคล้อยหน่อยหนึ่งถึงบางพระ       ดูระยะบ้านนั้นก็แน่นหนา
พอพบเรือนเพื่อนชายชื่อนายมา        เขาโอภาต้อนรับให้หลับนอนฯ
เดินพ้นไร่ตรงหนองมนมาจนถึงชายทะเลแล้วก็เลียบชายทะเลมาถึงบางพระ ก็ได้อาศัยพักที่บ้านนายมาครับ

เป็นอันว่าจบการเดินเท้าวันแรกแบบชิลล์ๆ แค่ราวๆ ๑๗-๑๘ กม. (เท่านั้นเอง  ;D) ทางคงไม่โหดเท่าไหร่ เพราะเห็นบ่นแต่ว่าร้อนแดดช่วงที่ต้องเดินในไร่ ไม่มีต้นไม้ให้อาศัยครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 ต.ค. 07, 00:09
วันภัดมาออกแต่เช้าอีก เดินเลียบชายทะเลจากบางพระมาถึงศรีราชา ไม่ได้บรรยายอะไรมากไปกว่า เห็นเรือรายโรงเรียงเคียงเคียงกัน
จากนี้ไปเข้าใจว่าเดินเข้าป่าผ่าเข้าไปในช่องเขามาโผล่ออกที่ทุ่งสงขลา(ปัจจุบันเรียกทุ่งสุขลา) ก็เดินตัดทุ่งไปจนถึงบางละมุง ซึ่งปัจจุบันปากคลองไหลลงทะเลใต้่ท่าเรือแหลมฉบังลงมาหน่อยเดียวครับ

ถึงตอนนี้กวีของเราชักจะน่วม
น้ำตาตกอกโอ้อนาถเหนื่อย       ให้มึนเมื่อยขัดข้องทั้งสองขา
ลงหยุดหย่อนผ่อนนั่งที่ศาลา      ต่างระอาอ่อนจิตระอิดแรง
ลงอาบน้ำลำห้วยพอเหนื่อยหาย   แต่เส้นสายรุมรึงให้ขึงแข็ง
สลดใจเห็นจะไม่ถึงเมืองแกลง    แต่นายแสงวอนว่าให้คลาไคล
กัดฟันอีกเฮือกหนึ่งเดินเลาะชายทะเลจากบางละมุงจนมาถึงนาเกลือก็ค่ำพอดี ไม่เหลือแรงมาบรรยายสภาพบ้านนาเกลือในสมัยนั้นให้เราอ่านแล้ว
เบ็ดเสร็จวันที่สองเดินมาอีกร่วม ๒๗ กม.เศษ ไกลกว่าวันแรกเกือบสิบกิโลครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 ต.ค. 07, 13:55
วันที่สามของการเดินเท้า ออกเช้าเช่นเคย จากนาเกลือเดินตัดป่าเข้ามาทุ่งพัทยา
ถึงตรงนี้นายแสงจำทางไม่ได้ พาหลงอุตลุด
บุกละแวกแฝกแขมแอร่มรก       กับกอกกสูงสูงเสมอเศียร
ด้วยน้ำฝนล้นลงหนทางเกวียน     ขึ้นโขดเตียนตอกรอกยอกระยำ
กลัวปลิงเกาะเลาะลัดตัดเขมร      ลงลุยเลนพรวดพราดพลาดถลำ
ถึงแนวน่องย่องก้าวเอาเท้าคลำ    แต่ท่องน้ำอยู่จนเที่ยงจึงพบทาง
ที่ว่า "พบทาง" นี่ไม่ใช่ถูกทางนะครับ แต่เจอทางเดิน กรรมไหมล่ะท่าน ผ่านไปครึ่งวันแล้วยังวนเวียนอยู่แค่นี้เอง

ถึงท้องธารศาลเจ้าริมเขาขวาง               พอได้ทางลงมหาชลาไหล
เข้าถามเจ๊กลูกจ้างตามทางไป               เป็นจีนใหม่อ้อแอ้ไม่แน่นอน
ร้องไล้ขื่อมือชี้ไปที่เขา                      ก็ดื้อเดาเลียบเดินเนินสิงขร
ศิลาแลเป็นชะแง่ชะงักงอน                  บ้างพรุนพรอนแตกกาบเป็นคราบไคล
ต้องเลี่ยงเลียบเหยียบยอกเอาปลาบแปลบ  ถึงที่แคบเป็นเขินเนินไศล
ค่อยตะกายป่ายปีนเปะปะไป                จะขาดใจเสียด้วยเหนื่อยทั้งเมื่อยกาย
ถึงที่โขดต้องกระโดดขึ้นบนแง่              ก่นเอาแม่จีนใหม่นั้นใจหาย
บอกว่าใกล้ไกลมาบรรดาตาย               ทั้งแค้นนายแสงนำไม่จำทาง
ทำซมเซอะเคอะคะมาปะเขา                แต่โดยเมากัญชาจนตาขวาง
แกไขหูสู้นิ่งไปตามทาง                     ถึงพื้นล่างแลลาดล้วนหาดทราย
ต่างโหยหิวนิ่วหน้าสองขาแข็ง               ในคอแห้งหอบรนกระหนกระหาย
กลืนกระเดือกเกลือกลิ้นกินน้ำลาย          เจียนจะตายเสียด้วยร้อนอ่อนกำลัง
น้ำก็นองอยู่ในท้องชลาสินธุ์                 จะกอบกินเค็มขมไม่สมหวัง
เหมือนไร้คู่อยู่ข้างกำแพงวัง                 จะเกี้ยวมั่งก็จะเฆี่ยนเอาเจียนตาย
ทั้งนี้เพราะเคราะห์กรรมกระทำไว้            นึกอะไรจึงไม่สมอารมณ์หมาย
แล้วปลอบน้องสองราปรีชาชาย              มาถึงท้ายทิวป่านาจอมเทียน
เห็นบ่อน้ำร่ำดื่มเอาโดยอยาก                พออ้าปากเหม็นหืนให้คลื่นเหียน
ค่อยมีแรงแข็งใจไปทางเกวียน              ไม่แวะเวียนเดาเดินดำเนินไปฯ

ถึงห้วยขวางตัดทางเข้าไต่ถาม               พบขุนรามเรียกหาเข้าอาศัย
กินข้าวปลาอาหารสำราญใจ                 เขาแต่งให้หลับนอนผ่อนกำลัง

ทีมนิราศเมืองแกลงหลงป่าอยู่หลายบทกลอนทีเดียว เขาที่สาวจีนชี้ทางให้เห็นจะเป็นที่ปัจจุบันเรียกเขาพระตำหนัก ระหว่างพัทยาใต้กับจอมเทียน ดูจากสภาพที่หลงอุตลุดขนาดนี้ เห็นได้ว่าพัทยาสมัยนั้นเป็นป่าทั้งนั้น

พอหลุดพ้นป่าออกมาเจอทุ่งนาจอมเทียน คราวนี้ก็สบายแล้วครับ เดินไปตามทางเกวียนจนเจอลำห้วยค่อยเลาะตามลำห้วยมาถึงชุมชนได้

คืนนี้ก็เลยนอนพักกันที่นาจอมเทียนนี้เอง ระยะทางจากนาเกลือมาถึงนาจอมเทียน ถ้าไม่หลงก็ควรจะแค่ราว ๑๓ กม.เท่านั้นเองครับ วันนี้นอกจากเหน็ดเนื่อยแล้วยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน น่าโกรธนายแสงไหมล่ะท่าน?


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ต.ค. 07, 20:23
ขอมานั่งฟังด้วยคนค่า

ตอน น้ำก็นองอยู่ในท้องชลาสินธุ์  จะกอบกินเค็มขมไม่สมหวัง
นึกไปถึง  The Rime of the Ancient Mariner  ทำไมกวีเขียนเหมือนกันเปะเลยล่ะคะ

water, water everywhere but not a drop to drink



เรียนถามคุณ CrazyHOrse  ว่า สาวจีน  มาจากไหนคะ

เข้าถามเจ๊กลูกจ้างตามทางไป  เป็นจีนใหม่อ้อแอ้ไม่แน่นอน
ร้องไล่ขื่อมือชี้ไปที่เขา

สมัยโน้นจีนใหม่ที่เข้ามารับจ้าง ส่วนมากเป็นชายมิใช่หรือคะ  ภาษีโสเภณียังเก็บได้ไม่น้อย
เท่าที่เข้าใจ  ไล้ขื่อเป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว  ไล้แปลว่ามา และขื่อแปลว่าไป


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 ต.ค. 07, 22:12
เชิญคุณ Wandee มาร่วมแจมได้เลยครับ ช่วยกันคนละมือละไม้ ผมจะได้ไม่ต้องปล่อยไก่อยู่คนเดียว อิอิ

ไล้ขื่อนี่ภาษาแต้จิ๋วครับ แต่ผมว่าคงเอาแน่เอานอนไม่ได้ เพราะกวีไม่ใช่คนจีน อาจจะแค่เคยได้ยินมาจากจีนในกรุงบ้าง
ความจริงที่เรารู้คือ "สาวจีน" เป็นจีน และเป็นผู้หญิง แฮ่ๆ

ส่วนเรื่องจีนใหม่ก็เช่นกัน ผมได้ยินว่าคนจีนรุ่นเก่าหน่อยในบางชุมชน เขาอยู่ในสังคมจีนของเขา ถึงอยู่เมืองไทย (เผลอๆเกิดเมืองไทย) แต่ภาษาไทยไม่กระดิก ทั้งๆที่อยู่มาหลายสิบปี การแต่งกายอะไรก็เป็นแบบจีนด้วย ดังนั้นเห็นว่าพูดไทยไม่ได้ แต่งตัวเป็นจีน เผลอๆเกิดเมืองไทยนี่แหละ ไม่ใช่จีนใหม่ที่ไหนเลย

ทางชายฝั่งตะวันออกมีจีนแต้จิ๋วอยู่เยอะมาตั้งแต่ปลายอยุธยาแล้วครับ ตอนตั้งตัวเป็นใหญ่ พระเจ้าตากท่านมุ่งหน้ามาทางนี้ เหตุผลหนึ่งก็คงเพราะทรงรู้อยู่ว่ามีเครือข่ายคนจีนที่พอจะขอการสนับสนุนได้ครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 10 ต.ค. 07, 22:26
คุณ CRazyHorse ครับ
ขออนุญาตถามด้วยคนครับ
ว่าเป็นไปได้ไหมครับ ที่จีนใหม่จะหมายถึงพวกที่พูดออกสำเนียงแต้จิ๋ว
ที่พระเจ้าตากท่านพามาจากบ้านท่าน

ส่วนจีนเก่าก็น่าจะหมายถึงพวกจีนที่พูดออกสำเนียงฮกเกี้ยน (?) ไป แบบจีนอยุธยาน่ะครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 ต.ค. 07, 22:54
เห็นจะไม่ใช่หรอกครับ

คนไทยแยกแต้จิ๋วกับฮกเกี้ยนไม่ออกแน่ สองสำเนียงนี้เป็นตระกูลเดียวกัน(หมิ่นหนาน) ตอนผมเจอคนฮกเกี้ยนครั้งแรกยังแอบฟังตั้งนานกว่าจะจับได้ว่าเขาไม่ได้พูดแต้จิ๋ว

อีกอย่างหนึ่ง พระเจ้าตากท่านไม่ได้พาคนแต้จิ๋วมาจากบ้านครับ อย่างน้อยตัวท่านเองก็เป็นคนจีนรุ่นที่สองในแผ่นดินไทยแล้ว ผมคิดว่าคนแต้จิ๋วอพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ที่มีปริมาณน้อยกว่าฮกเกี้ยนก็เพราะแต้จิ๋วในจีนมีสัดส่วนน้อยครับ

การที่มีลูกแต้จิ๋วได้เป็นกษัตริย์ในแผ่นดินไทย เชื่อว่าเป็นแรงจูงใจให้คนแต้จิ๋วอพยพเข้ามามากในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่ไม่ใช่เพราะพระองค์ไปพามาแน่ๆครับ เขาพามากันเองเป็นทอดๆ ถ้าบอกว่าพระองค์ทรงกรุณาเป็นพิเศษจึงเป็นเหตุให้เข้ามากันมาก อันนี้ผมว่าน่าจะจริงครับ

ชุมชนแต้จิ๋วในไทยมีขนาดใหญ่มาก จนเกิดภาพลวงตา มีคนจำนวนมาก(ผมก็เคย)เข้าใจผิดว่าแต้จิ๋วเป็นพวกใหญ่ในจีน ซึ่งขัดความเป็นจริงที่ว่ามีอยู่แค่ไม่กี่อำเภอเท่าั้นั้น ถึงมีจำนวนระดับหลายล้านคน แต่เผลอๆจะน้อยกว่าพวกจ้วงซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่พูดภาษาตระกูลไทเสียอีกครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ต.ค. 07, 22:55
"ชาวเมืองทางหัวเมืองชายทะเลรักใคร่นับถือเขามาก"  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าขณะนั้นประทับอบู่ที่บ้านบางช้าง เมืองราชบุรี
ได้ทรงแนะนำพระราชอนุชาให้เข้าถวายตัวกับพระเจ้ากรุงธนบุรีี(อภินิหารบรรพบุรุษ)


ขอบคุณที่ชวนค่ะ  มิบังอาจยึดอภิสิทธิ์ในเรื่องปล่อยไก่ ไว้เป็นของตนตามที่คุณ CrazyHOrse  เอื้อเฟื้อ

ความรู้เพียงอ่านออกเขียนได้ค่ะ  ตามมาอ่านด้วยความสุขและพอใจเหลือหลาย  รายละเอียดทางประวัติศาสตร์ไม่แม่นยำ  แต่ก็จะพยายามอ่านให้แม่นเสียก่อน

เรียนเชิญคุณ CrazyHOrse  นำทางได้ค่ะ
รับหน้าที่เป็นหน่วงพะรุงพะรังตามมา


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 10 ต.ค. 07, 23:11
ขอบคุณ คุณ CRazyHorse มากครับผม


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 ต.ค. 07, 18:49
วันที่ ๔ ของการเดินเท้า เป้าหมายวันนี้คือระยอง แต่เมื่อคืนนี้
สงสารแสงแสนสุดเมื่อหยุดพัก   เฝ้านั่งชักกัญชากับตาสัง
เสียงขาคะอยู่จนพระเคาะระฆัง   ต่างร่ำสั่งฝากรักกันหนักครัน
นายแสงสุมหัวกับตาสังเมากัญชากันจนพระเฆาะระฆัง ก็เกือบยันสว่าง เพราะเฆาะระฆังขึ้นมาทำวัตรเช้า ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้ก็ราวตีสี่ล่ะครับ จะมีแรงเดินได้ไงนี่

แสนวิตกอกพี่เมื่ออ้างว้าง         ถามถึงทางที่จะไปในไพรสัณฑ์
ชาวบ้านบอกมรคาว่ากว่าพัน      สะกิดกันแกล้วกล้าเป็นน่ากลัว
เป็นเส้นทางป่า "มรรคาว่ากว่าพัน" ที่ชาวบ้านพูดถึงนั้นคือพันเส้น ก็ราว ๔๐ กม. เมื่อจับระยะดูก็จริงตามนั้น นาจอมเทียนไประยองระยะทางไกลกว่า ๔๐ กม.ครับ

กวีของเราได้ฟังความดังนั้น
ยิ่งหวาดจิตคิดคุณพระชินสีห์      กับชนนีบิตุเรศบังเกิดหัว
ข้าตั้งใจไปหาบิดาตัว              ให้พ้นชั่วที่ชื่อว่าไภยันต์
อธิษฐานแล้วสะท้านสะท้อนอก   สำเนียงนกเพรียกไพรทั้งไก่ขัน
เมฆแอร่มแย้มแยกแหวกตะวัน    ก็ชวนกันอำลาเขาคลาไคล
ไม่แต่กวีหรอกครับที่ขยาด ผมก็ด้วย เพราะเส้นทางจากนี้ไปมีสถานที่หลายแห่งสืบหาตำแหน่งได้ยากมากถึงยากมากที่สุด

ผมไปเจอเว็บนึงที่พอจะเป็นประโยชน์
http://202.183.216.170/suntonpu/wellcome.htm (http://202.183.216.170/suntonpu/wellcome.htm) และ http://202.183.216.170/suntonpu/mod1.htm (http://202.183.216.170/suntonpu/mod1.htm)
เป็นเว็บของโรงเรียนระยองวิทยาคมที่พานักเรียนไปทัศนศึกษาหมุดกวีที่ทางจังหวัดระยองจัดทำไว้ตามพระดำริของสมเด็จพระเทพรัตน์เมื่อราวปี ๒๕๔๒-๒๕๔๓ แต่เท่าที่ดูจากแผนที่ตำแหน่งหมุดในเว็บดังกล่าว บางหมุดผมรู้สึกว่าไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ จึงขอใช้เพียงเพื่อพิจารณาประกอบการกำหนดตำแหน่งครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 ต.ค. 07, 21:28
จากนาจอมเทียนเดินเข้าดง
เขม้นเมินเดินตรงเข้าดงดึก        ดูซึ้งซึกมิได้เห็นพระสุริย์ใส
เสียงฟ้าร้องก้องลั่นสนั่นไพร      ไม้ไหวไหวเหลียวหลังระวังคอย
สงัดเงียบเยียบเย็นยะเยือกอก     น้ำค้างตกหยดเหยาะลงเผาะผอย
พฤกษาสูงยูงยางสล้างลอย        ดูชดช้อยชื่นชุ่มชอุ่มใบ
ดูความอุดมสมบูรณ์ของป่าแถวจอมเทียนสิครับ ถ้าไม่ได้อ่านนิราศเมืองแกลงนี่คิดเองไม่ได้เลยครับ จินตนการไม่สูงพอ เพราะแถวนั้นตอนนี้มีแต่ทุ่งสลับกับคอนโด

ช่วงนี้ขอให้ดูแผนที่นี้ประกอบนะครับ http://www.rayongland.4t.com/bigmap2.htm (http://www.rayongland.4t.com/bigmap2.htm)

ถึงปากช่องหนองชะแง้วเข้าแผ้วถาง    แม้นค่ำค้างอรัญวาได้อาศัย
เป็นที่ลุ่มขุมขังคงคาลัย                 วังเวงใจรีบเดินไม่เมินเลย
หนทางรื่นพื้นทรายละเอียดอ่อน        ในดงดอนดอกพะยอมหอมระเหย
หายละหวยด้วยพระพายมาชายเชย     ชะแง้เงยแหงนทัศนามา
หนองชะแง้วคือหนองชากแง้ว กวีของเราคงฟังด้วยหูชาวกรุงแล้วได้ยินว่าหนองชะแง้ว คำว่า ชาก นี้ปรากฏบ่อยเป็นชื่อสถานที่แถบภาคตะวันออก พจนานุกรม ร.บ.๒๕๔๒ ไม่ใส่ไว้ (ไม่ทราบว่าฉบับมติชนมีหรือเปล่านะครับ)

ค้นในเน็ตมีคนบอกว่าแปลว่า "บาง" ของภาคกลาง แต่ผมเห็นว่าเลอะ ไม่เข้าเค้าเลย ไม่ว่าจะในความหมายว่าลำน้ำ หรือความหมายกลายที่ในยุคหลังแปลว่าชุมชนริมลำน้ำ เฉพาะในนิราศเมืองแกลงนี้ก็เห็นอยู่แล้วว่าชากอยู่ในป่าชัดๆเลย

อีกที่หนึ่งบอกว่าหมายถึงป่าที่ถูกหักร้างถางพงแล้ว ข้อนี้น่าฟังกว่า แต่ยังยืนยันเป็นมั่นเหมาะไม่ได้ คำนี้อาจจะเป็นภาษาชอง ซึ่งเป็นภาษาของชนพื้นเมืองแถบระยองครับ ส่วนคำว่าแง้ว อาจเป็นคำชอง "แงว" แปลว่า ปลาดุกรำพัน (เป็นชื่อปลาชนิดหนึ่งนะครับ มิใช่ปลาดุกทำกิริยารำพันแต่อย่างใด)

ปัจจุบันมีบ้านชากแง้วอยู่เป็นชุมชน แต่หนองชากแง้วนั้นอยู่ทางตะวันออกของบ้านชากแง้วไปหลายกม. หนองชากแง้วนั้นเป็นที่ลุ่มระหว่างภูเขาหลายลูก มีลำธารหลายสายไหลลงมาในบริเวณนั้น ทางตะวันตกของหนองชากแง้วมีช่องเขาที่จะออกไปทางบ้านชากแง้วได้ และที่สำคัญ ไปทางช่องเขานี้ก็จะออกไปทางนาจอมเทียนเช่นเดียวกัน ผมเชื่อว่าปากช่องหนองชากแง้วก็คือปากช่องเขาตรงนี้เองครับ

อ้อ ถึงปากช่องหนองชะแง้วเข้าแผ้วถาง  แม้นค่ำค้างอรัญวาได้อาศัย ผมว่าน่าจะเป็น "เขา" แผ้วถางมากกว่านะครับ ขบวนนี้คงไม่ว่างมานั่งถางป่าให้ชาวบ้านพักกันตอนนี้หรอกครับ และโปรดสังเกตว่า อรัญวา โผล่มาอีกแล้ว

ถึงบางไผ่ไม่เป็นไผ่เป็นไพรชัฏ    แสนสงัดเงียบในไพรพฤกษา
ต้องข้ามธารผ่านเดินเนินวนา      อรัญวาอ้างว้างในกลางดง
ในจำนวนลำห้วยหลายสายที่ไหลผ่านหนองชากแง้ว มีสายหนึ่งชื่อคลองบางไผ่ คลองบางไผ่นี้น่าจะเป็นลำห้วยที่ใหญ่กว่าลำธารอื่นๆ เพราะปัจจุบันมีการสร้างฝายกักเก็บน้ำในบริเวณใต้หนองชากแง้ว เกิดเป็นอ่างเก็บน้ำคลองบางไผ่ขึ้นมา คลองบางไผ่นี้จะอยู่ทางตะวันออกของหนองชากแง้วแล้วครับ

ถึงพงค้อคอเขาเป็นโขดเขิน         ต้องขึ้นเนินภูผาป่าระหง
ส่งกระทั่งหลังโคกเป็นโตรกตรง     เมื่อจะลงก็ต้องวิ่งเหมือนลิงโลน
ไต่ข้ามห้วยเหวผาจนขาขัด          ต้องกำดัดวิ่งเต้นดังเล่นโขน
ทั้งรากยางขวางโกงตะโขงโคน      สะดุดโดนโดดข้ามไปตามทางฯ
ถึงพุดรสาครเป็นพวยพุ              น้ำทะลุออกจากชะวากขวาง
ดูซึ้งใสไหลเชี่ยวเป็นเกลียวกลาง    สไบบางชุบซับกับอุรา
จากแผนที่ในลิงก์ข้างต้น ลงมาทางตะวันออกเฉียงใต้ของหนองขากแง้วจะเห็นวัดภูดร เชื่อว่าอยู่ตรงตำแหน่งพุดรที่ปรากฏในนิราศเมืองแกลง ส่วนพงค้อนั้นน่าเป็นจุดใดจุดหนึ่งตรงภูเขาระหว่างคลองบางไผ่กับพุดรนั่นเอง


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 12 ต.ค. 07, 00:00
หายไปซ้อมเดินตามลูกยางเล็กๆซะนาน  กลับมาท่าน CH เล่นแบบนี้เลยเหรอ   เยี่ยมเลยครับชัดเจนดี  ลอทำนิราศเมืองเพชรดูบ้างสิครับท่าน....... :o


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 12 ต.ค. 07, 18:24
มาช่วยกันสิครับ นิราศเมืองเพชรผมปักหมุดไว้ 95% นานแล้วครับ ตอนนี้ขอเดินให้ถึงบ้านกร่ำก่อน ชักจะล้าๆแล้วครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 07, 18:40
มาให้น้ำค่ะ อย่าเพิ่งล้า
มีอะไรให้ช่วยไหมคะ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 07, 19:16
ในนิราศเมืองแกลง  พูดถึงชาวชอง นิดหน่อย

ดูหนุ่มสาวชาวบ้านรำคาญจิต         ไม่น่าคิดเข้าในกลอนอักษรสนอง
ล้วนวงศ์วานว่านเครือเป็นเชื้อชอง   ไม่เห็นน้องนึกน่าน้ำตากระเด็น
แล้วไปชมกรมการบ้านดอนเด็จ      ล้วนเลี้ยงเป็ดหมูเนื้อดูเหลือเข็ญ
ยกกระบัตรคัดช้อนทุกเช้าเย็น        เมียที่เป็นท่านผู้หญิงนั่งปิ้งปลาฯ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 12 ต.ค. 07, 19:38
ถ้าผิดพลาดท่าน CH ช่วยด้วยนะครับ
ชอง  นี่คือชาวพื้นเมืองแถบตะวันออกของไทย  ซึ่งสันนิษฐานว่าไม่ได้ย้ายมาจากที่ไหน  แต่เป็ฯชาวพื้นเมืองดั้งเดิม  มีภาษาพูดเป็นของตัวเองแต่ไม่มีภาษาเขียน  ปัจจุบันก็จะอาศัยอยู่แถบจันทบุรีและตราด  แถบเขาคิชฌกูฏ  เขาสมิง  ซึ่งน่าประทับใจที่ยังรักษาเอกลักษณ์และวัฒนธรรมกันได้เป็นอย่างดี  แม้จะถือผีแต่ก็หันมาถือพุทธร่วมกันได้อย่างกลมกลืน
ภาพจำลองวัฒนธรรมชาวชอง
ภาพจาก  http://www.thaitambon.com


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 12 ต.ค. 07, 20:25
http://www.krp.in.th

         ไม่มีเอกสารหลักฐานใดที่จะกล่าวถึงว่า      "   ชอง  "      มาจากไหนแต่ปรากฏในข้อเขียของ
ดร.บีแอร์ ชื่อ แคมโบช ว่าคนพื้นเมืองของจันทบุรี  คือ   ชอง    จัดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ออสโตรเอเชียติค
กลุ่มมอญ  -  เขมร     คนชองมีรูปร่างลักษณะร่างกายสันทัดสูงประมาณ    5   ฟุต     ผมหยิกหยักศก
หน้าผากเหลี่ยม     คางตูม    จมูกหักหน้าตาหนา      ผิวดำแดงคล้ำ    แข็งแกร่ง    ค่อนข้างต่ำ    นิสัย
ใจคอซื่อสัตย์   พูดไม่เก่ง    ชอบอยู่ในที่สงบ   รักอิสระ     ปัจจุบันจันทบุรีมีประชากรชองอยู่ประมาณ
6,000    คน      ในเขตบ้านวังแซ้ม     บ้านปิก      อำเภอมะขาม      บ้านกระทิง      บ้านตะเคียนทอง   
บ้านคลองพลู      บ้านคลองน้ำเย็น     กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ

วิถีชีวิต

ชองมีภาษาพูด      และวัฒนธรรมของตนเอง      นับถือผีบรรพบุรุษ      ทำพิธีเซ่นไหว้ทุกปี
เป็นการรวมญาติเรียกว่า         พิธีเลี้ยงผีหิ้งผีโรง         การทำมาหากินด้วยการปลูกข้าวไร่เก็บของป่า
และเป็นพรานที่ชำนาญ    ชองมีความเป็นอยู่อย่างง่าย    ๆ   สร้างบ้านด้วยไม้ไผ่    หญ้าคา   ใบระกำ
ยกพื้นบ้านมีนอกชาน   พร้อมด้วยห้องเรือน   และครัวติดต่อกัน  หลังบ้านมียุ้งข้าว   กินอาหารง่าย  ๆ
ชองไม่มีภาษาเขียนแต่มีภาษาพูด      เช่น    "  พูดโธ่พุดถัง กาละมัง ครอบ โต๊ด  "    ทั้งประโยค    มี
ความหมายที่เป็นภาษาชอง  โต๊ด แปลว่า  หัว   " อูน เจว ท่อ แซ " แปลว่า  พ่อไปทำนาอย่างนี้เป็นต้น
การปรับตนในสังคมปัจจุบันโดยปกติชอบเอาอย่างคนอื่น              เลียนแบบปรับตัวเข้ากับสมัยได้เร็ว
มักลืมของเก่าชอบของ        ใหม่ดังนั้นสังคม          และวัฒนธรรมของชาวชองเริ่มที่จะเลือนหายไป   
แม้ว่าวัฒนธรรมการแต่งกายในชีวิตประจำวันก็จะเป็นเหมือนคนจันทบุรีโดยทั่วไป   ปัจจุบันชาวชอง
ได้รับการศึกษาเหมือนคนทั่วไปมีสิทธิเท่าเทียมกับประชาชนทั่วไป

ภาพชาวชอง


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ต.ค. 07, 00:37
มาตั้งข้อสังเกตย้อนหลังหน่อย ที่ความเห็น 49
ยิ่งหวาดจิตคิดคุณพระชินสีห์      กับชนนีบิตุเรศบังเกิดหัว
ข้าตั้งใจไปหาบิดาตัว              ให้พ้นชั่วที่ชื่อว่าไภยันต์

ผมสงสัยตรงนี้หน่อยหนึ่ง ขอปรึกษาคนที่รู้ว่า กวีเอ่ยถึงพ่อกี่คนครับ
มี "บิตุเาศบังเกิดหัว"
กับ "บิดาตัว"
ยังกับเป็นสองคน เพราะเรียงกลอนต่อกัน
แล้วพ่อมาเกี่ยวอะไรกับความชั่วที่ต้องหนีให้พ้น
ในเชิงกลอนนั้น ผมไม่พึงใจกับศัพท์แสงตรงนี้เลย ออกจะมั่วซั่วไปหน่อย
นักกลอนจะว่าอย่างไรครับ

ส่วนประเด็นจีนใหม่นี่ ผมก็พยายามหาทางสรุปมาหลายเพลา ยอมแพ้ด้วยว่าข้อมูลไม่พอ
ที่กวีได้ยินแม่สาวจีนเธอร้องไล้ขื่อนั้น ฟังได้ว่า กวีคุ้นกับจีนแต้จิ๋วแล้ว
หมวยเธอจะร้องว่าอะไรก็ช่างเธอ แต่หูกวีรายงานตามที่อยากได้ยิน
นั่นแปลว่ากวีของเรา มาจากบางกอกในยุคที่จีนแต้จิ๋วเต็มเมืองกระนั้นหรือ
หรือว่าจีนอื่นก็ร้องไล้ขื่อด้วยเหมือนกันครับคุณท้องเสีย....เอ้ย คุณเครซี่จอมขยัน


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 13 ต.ค. 07, 04:11
ถึงปากช่องหนองชะแง้วเข้าแผ้วถาง    แม้นค่ำค้างอรัญวาได้อาศัย
เป็นที่ลุ่มขุมขังคงคาลัย                 วังเวงใจรีบเดินไม่เมินเลย
หนทางรื่นพื้นทรายละเอียดอ่อน        ในดงดอนดอกพะยอมหอมระเหย
หายละหวยด้วยพระพายมาชายเชย     ชะแง้เงยแหงนทัศนามา

ผมว่า "ชาก" ใน ชากแง้ว นี้ อาจแปลว่า "หนอง" ก็ได้มั้งครับ ? สุนทรภู่ก็เลยเรียก "หนองชะแง้ว" เทียบง่ายๆ ก็อาจเป็น "หนองปลาดุก"

ชาก กับ มาบ พบมากพอๆ กัน (มาบ : ที่ลุ่มกว้างใหญ่ อาจมีน้ำขัง หรือไม่มีก็ได้)

ผมลองไปรวบรวมคำว่า "ชาก" ในชื่อหมู่บ้านต่างๆ ของภาคตะวันออก ก็แปลกใจอยู่ไม่น้อยว่า มีรูปแบบการตั้งชื่อที่ทำให้นึกไปถึงคำว่า "บาง" ที่พบมาทางภาคกลาง  :-\

ไม่รู้ว่าจะเป็นเพราะความหมายคำว่า "ชาก" ถูกกรอบความคิดของภาษาไทยกลางเปลี่ยนให้เป็น "บาง" หรือเปล่า ??? แต่เป็น "บาง" ที่หมายถึง "สถานที่" เช่น บ้านชากผักกูด ก็น่าจะหมายถึง สถานที่นี้ มีผักกูดเยอะ หรือ บ้านชากมันเทศ (น่าจะเป็นชื่อใหม่) ก็หมายถึง สถานที่นี้มีไร่มันเทศ

คำว่า ชาก คงถูกเปลี่ยนความหมาย และบางพื้นที่อาจถูกเปลี่ยนเป็นคำไทยไปแล้ว

ชื่อต้นไม้ (ซึ่งทำให้พิจารณาว่า ชาก ไม่น่าจะเป็น หนองน้ำ หรือ บึง แต่น่าจะเป็น บาง)
บ้านชากผักกูด
บ้านชากพุดซา
บ้านชากมะหาด
บ้านชากมะกรูด
บ้านชากลูกหญ้า
บ้านชากขนุน
บ้านชากมันเทศ
บ้านชากอ้อย
บ้านชากทองหลาง
บ้านชากโดน (ต้นกระโดน)
บ้านชากบก (ต้นกระบก)
บ้านชากพง (ต้นกระพง)
บ้านชากกระปอก (เฟิร์นชนิดหนึ่ง)
บ้านชากมาลัย (ต้นมาลัย ?)
บ้านชากตะไคร้

ชื่อบุคคล (อันนี้ ใช้กับ บาง เยอะพอควร เช่นในกรุงเทพฯ จะพบ บางขุนศรี บางขุนเทียน บางขุนพรหม)
บ้านชากยายจีน
บ้านชากยายนาค
บ้านชากตาด้วง
บ้านชากตาดา
บ้านชากเจ้าหลวง
บ้านชากเจ้าเดียว
บ้านชากขุนวิเศษ

บอกคุณลักษณะของ "ชาก" (อันนี้เทียบได้ คือ บางนา บางนอก บางใหญ่ บางเล็ก แต่บางน้ำลึก ไม่คุ้นครับ)
บ้านชากนา
บ้านชากนอก
บ้านชากใหญ่
บ้านชากเล็ก
บ้านชากน้ำลึก (อันนี้น่าสนใจ เพราะจะหมายถึง หนองน้ำ หรือ บึง ที่มีน้ำลึกหรือไม่ ถ้าใช่ก็แสดงว่า ความหมายแต่เดิมของ "ชาก" น่าจะหมายถึง หนองน้ำ หรือ บึง)


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 07, 08:03
พูดถึงคำว่า "จีนใหม่" ดิฉันกลับนึกถึงรัชกาลที่ ๓   ทั้งๆก็รู้ว่าคนจีนอพยพเข้ามาในไทยตั้งแต่อยุธยาแล้ว 
ที่คิด เพราะเข้าใจว่าในรัชกาลที่ ๓ ทรงเปิดโอกาสให้จีนอพยพเข้ามาในไทยกันมาก   นอกจากไม่กีดกันแล้วยังสนับสนุนอีกด้วย  เพราะทรงเล็งเห็นว่าแรงงานจีนจะมาเป็นกำลังให้บ้านเมือง ในงานด้านต่างๆ ทั้งงานโยธาและงานช่าง
จริงอยู่ คนจีนเข้ามาไทยได้เสมอ  ไม่มียุคไหนกีดกันห้ามเข้าประเทศ    แต่จำได้ว่าในรัชกาลที่ ๓ นี่แหละมีการหลั่งไหลเข้ามา   
ผลที่เห็นคืองานก่อสร้างและบูรณะวัดวาอาราม   งานช่างจีนที่ประดับตามวัด  ระบบเจ้าภาษี  ฯลฯ
ในกรุงเทพ แต้จิ๋วเข้ามาแยะ อาจจะกระจายไปถึงจังหวัดอื่นๆในภาคกลางด้วย

อย่าลืมเรื่ององค์ชายสี่คุมขบวนเรือเข้ามาในรัชกาลที่ ๓  ถ้ากรองเอาเกร็ดเรื่ององค์ชายออกไป   เหลือแต่เนื้อๆ   
ก็จะมองได้ว่าในสมัยนั้น  ข่าวคงแพร่หลายไปถึงจีนว่า สยามเป็นอาณาจักรที่เปิดรับคนจีน เข้ามาได้สะดวกสบายมากกว่าดินแดนอื่นๆ
เข้ามาเท่าไรก็ได้ไม่จำกัดจำนวน  ไม่ถูกกั้นเขตแหล่งทำมาหากินด้วย
คนจีนจึงเข้ามากันมาก เรียกว่าเป็นระลอกใหญ่ทีเดียว     

พวกนี้ ชาวบ้านเรียกว่า "จีนใหม่" ได้หรือไม่คะ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ต.ค. 07, 09:10
ประเด็นต่อมาก็คืออาหมวยเธอสปี๊คจีน
ตรงนี้น่าสนใจ

จีนเก่านั้น จะมาแต่ตัว มาหาเมียเอาดาบหน้า...แหะๆ ก็อสาวไทยงัยยย์
ได้ลูกออกมาก็เหมือนหนูสิน คือเป็นลูกครึ่งที่แม่เป็นคนเลี้ยง ก็ต้องพูดไทย
แต่หมวยของนิราศเมืองแกลง ดูจะเป็นของนอก คือเป็นตึ่งหนั่งเกี้ยทั้งอรองค์
แปลว่าเธอมาแต่เมืองจีนหรือ หรือเกิดที่นี่แต่แม่เป็นจีน เธอจึงรจนาภาษาเจ๊ก

โดยทางสอบสวนเช่นนี้ ผมจึงประหวัดไปถึงกลอนของพระยาไชยวิชิต(เผือก) ที่บอกว่า
มีจีนแต้จิ๋วมาเป็นช่างสร้างวัดให้พระนั่งเกล้า
ดูจะสอดคล้องกันชอบกล

นึกไปอีกทาง ถ้ากลอนนี้ แต่งตอนรัชกาลที่ 1 ตอนปลาย จะมีอีหมวยให้กวีได้ถามทางใหมหนอ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ต.ค. 07, 23:45
เรื่องชากก่อนนะครับ คำนี้ปรากฏบ่อยเหมือนคำว่าบางในพื้นที่ภาคกลางก็จริง แต่ที่ต่างกันคือตำบาลที่ขึ้นด้วยชาก เท่าที่ผมเห็น ไม่ยักกะมีลำน้ำไหลผ่าน และที่ปรากฏในนิราศเมืองแกลง หลายที่เป็นป่า ดังนั้นก็ต้องไม่ได้แปลว่าหมู่บ้านเช่นกัน

นอกจากนี้ ลำน้ำที่ปรากฏ ถ้าค่อนไปทางชลบุรีจะขึ้นด้วยบาง ถ้าขยับไปทางระยองก็มักเป็นห้วยครับ (ห้วยอีร้า ห้วยพะยูน ห้วยโป่ง ฯลฯ)

คงต้องทิ้ง "ชาก" ไว้เป็นปริศนาต่อไปครับ

ทีนี้เรื่องสาวจีนครับ กวีว่าสาวจีนเป็นจีนใหม่ คำนี้ผมยังเชื่อว่าหมายถึง ซิงตึ๊ง หรือ ซินตึ๊ง ที่เป็นคำที่คนแต้จิ๋วเองใช้เรียกจีนที่มาจากเมืองจีน ยังไม่คุ้นเคยกับภาษาวัฒนธรรมไทย แปลตรงตัวก็แปลว่าจีนใหม่ ประกอบกับคำไล้ขื่อที่เอ่ยถึงด้วย เห็นได้ชัดว่ากวีคุ้นเคยกับจีนแต้จิ๋ว นอกจากรู้จักคำว่าไล้ขื่อแล้ว ยังรู้ด้วยว่าซิงตึ๊งนี่แปลว่าจีนใหม่เสียด้วย

แต่การจะสรุปว่าต้องเป็นจีนที่หลั่งไหลเข้ามาในสมัย ร.๓ ผมยังคิดว่าเร็วไปครับ คือเป็นอย่างที่อ.เทาชมพูว่าคือ หลังสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว การไหลบ่าของจีนได้ชะลอตัว แต่ไม่ใช่ว่าหยุดไปเสียเลยทีเดียว

การไหลบ่าเข้ามาทั้งสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีและสมัย ร.๓ มีลักษณะที่ตรงกันอย่างหนึ่งคือ พระเจ้าแผ่นดินทรงกรุณาชาวจีนเป็นพิเศษ
โดยเฉพาะในรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา ยังมีปัจจัยการค้าต่างประเทศเข้ามาประกอบ ทำให้เกิดการผลิตเพื่อส่งออกเป็นอุตสาหกรรม และต้องการแรงงานจำนวนมาก จีนเข้ามามากก็ด้วยช่องทางทำมาหากินเหล่านี้เอง

แต่ช่วงเวลาอื่น ถึงไม่มีแรงจูงใจเป็นพิเศษจากพระกรุณาของพระเจ้าแผ่นดิน แต่ความขัดสนในบ้านเมืองจีนเองก็ยังมีอยู่ตลอด คนจีนยังอพยพอยู่ตลอดเวลาครับ ยิ่งพวกที่มีญาติอยู่เมืองไทยอยู่แล้วก็คงมากันเรื่อยๆ อย่างน้อยก็ดีกว่าอดอยากอยู่ที่แต้จิ๋วนะครับ

คุณพิพัฒน์ชี้อีกประเด็นหนึ่งว่า สาวจีนนี่ต้องเป็นลูกจีนแท้ คือมีแม่เป็นจีนด้วย ไม่้ใช่แต่พ่อเท่านั้น ข้อนี้จริง และเป็นข้อสำคัญ แต่ก็มีข้ออธิบายได้หลายประการครับ

สาวจีนอาจจะเป็นลูกจีน ที่แม่เป็นจีนที่มาจากแผ่นดินใหญ่ โดยหอบหิ้วกันมาทั้งครอบครัว ถึงความจริงแล้วคนจีนที่อพยพเข้ามาส่วนมากจะเป็นผู้ชาย ที่โสดมาหาเมียเอาที่เมืองไทยก็มี ที่ทิ้งเมียไว้ที่เมืองจีนเอาไว้(โดยมาหาเอาใหม่ที่เมืองไทย)ก็มาก แต่ไม่ได้ทั้งหมดครับ มีบางส่วนที่หอบหิ้วกันมาทั้งครอบครัว หรือที่มาคนเดียว ทำมาหากินจนตั้งตัวได้แล้วให้ลูกเมียตามมาก็มี พวกจีนพวกนี้บางทีตั้งกันเป็นอาณานิคมอยู่กันเอง มีลูกมีหลานก็พูดจีนเป็นภาษาหลัก พูดไทยกันไม่ค่อยได้ ที่หนักถึงขนาดพูดไทยไม่ได้เลยก็มี

ที่พูดมานี่ไม่ได้ยกขึ้นมาลอยๆนะครับ ขอลงทุนยกอาม่า คุณย่าผมเองเป็นตัวอย่าง

อาม่าเป็นลูกจีนที่เกิดเมืองไทย รุ่นพ่อแม่มาจากเมืองจีน อาม่าเกิดมาในชุมชนชาวจีนแห่งหนึ่งในกรุงเทพ พูดภาษาแต้จิ๋วกันทั้งชุมชน เมื่ออายุได้ราว ๑๒ ปี อาม่าถูกส่งไปเรียนหนังสือเมืองจีน ๒-๓ ปี กลับมาอีกที ได้รับเกียรติเป็นมนุษย์ต่างดาว เอ๊ย...ต่างด้าวไปแล้ว เพิ่งจะโอนสัญชาติ(กลับมา)เป็นไทยเมื่อราว ๓๐ ปีมานี่เอง

เชื่อไหมครับ อาม่าผมพูดไทยไม่แข็งแรงขนาดหนัก ถ้าคุยกัน ได้ถามให้ชัดเจนก็พอสื่อสารได้ แต่ดูละครไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ดูไปต้องคอยถามไปว่าเรื่องมันเป็นอย่างนี้ๆหรือเปล่า แล้วผมก็ชอบแกล้งอาม่าด้วยการหลอกเล่าเรื่องมั่วๆให้อาม่าฟัง อาม่าไม่รู้หรอกครับว่าโดนหลอก แต่พอผมบอกควาจริง อาม่าก็ด่าผมอย่างรักใคร่ทุกที อิอิ

จีนอย่างอาม่านี่แหละที่ คนไทยเจอต้องเรียกว่าจีนใหม่หรือซินตึ๊งแน่นอน เพราะเข้าเกณฑ์ทุกประการ เท่าที่ผมทราบอาม่าไม่ใช่กรณีพิเศษ เขาเป็นอย่างนี้กันเยอะแยะครับ ทั้งๆที่เกิดเมืองไทย โตเมืองไทยแท้ๆ

เล่ามาเสียนาน ขอสรุปสั้นๆว่าจีนใหม่ในนิราศเมืองแกลงนี่เห็นจะใช้เป็นหมุดเวลาที่สำคัญไม่ได้ครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ต.ค. 07, 00:14
จากพุดรกวี "ขึ้นเนินเดินในดงไม้หอม" ผ่านห้วยอีร้าและห้วยพะยูนไปออกชากลูกหญ้า กวีบรรยายไว้อย่างเห็นภาพว่าเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก โดยอันนี้ผมวัดโดยใช้ดัชนี"ทาก"ครับ  ;D
ครู่หนึ่งถึงชะวากชากลูกหญ้า         ล้วนพฤกษายางยูงสูงไสว
แต่ล้วนทากตะเละลำรำพูไพร        ไต่ใบไม้ยูงยางมากลางแปลง
กระโดดเผาะเกาะผับกระหยับคืบ     ถีบกระทืบมิใคร่หลุดสุดแสยง
ปลดที่ตีนติดขาระอาแรง             ทั้งขาแข้งเลือดโซมชะโลมไป
ชากลูกหญ้าอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของภูดร แต่มีภูเขาขวางอยู่ โดยมีลำห้วยอีร้าและห้วยพะยูนไหลลงไปจากทางตะวันตกของภูเขานี้ เข้าใจว่ากวีคงเดินเลาะอ้อมเขาลงไปทางใต้แล้ววกไปตะวันออกไปออกชากลูกหญ้า

จากชากลูกหญ้าไปก็เป็นชากขาม อันนี้ยังระบุตำแหน่งแน่นอนไม่ได้ครับว่าอยู่ตรงไหน แต่จุดต่อไปจะไปห้วยโป่งและห้วยพร้าวตามลำดับ
ตำแหน่งของห้วยโป่งและห้วยพร้าวนี้ยังมีชื่อบ้านอยู่ หมุดกวีเขาก็ปักตรงนั้น แต่ผมคิดว่าจุดที่กวีผ่านไม่น่าจะเป็นตรงบ้านนั้นเพราะจะต้องขึ้นเหนืออ้อมออกนอกเส้นทางไปไกล น่าจะข้ามห้วยทั้งสองตอนใดตอนหนึ่งในเส้นทางนั้นเอง

ถึงสุนัขกระบาก อันนี้เห็นจะเป็นสำนักกระบากมากกว่า แถวนั้นมีตำบลที่ขึ้นด้วยสำนักอยู่หลายแห่ง เท่าที่ผมลองตรวจสอบดูมีชื่อหมู่บ้านที่ขึ้นด้วยสำนัก หรือมีคำว่าสำนักประกอบอยู่เกือบทุกภาค แต่จะหนาแน่นมากทางตะวันออกนี้ ได้แก่ สำนักยาง, สำนักอ้ายงอน, สำนักท้อน ฯลฯ ปัจจุบันสำนักกระบากก็ยังมีอยู่ แต่ผมยังระบุตำแหน่งแน่นอนไม่ได้เช่นกัน

ถึงตรงนี้กวีดีใจว่าใกล้ออกจากป่าแล้ว แต่แข้งขาชักไม่ไหว โผล่ออกมาได้ก็ตรงชายทุ่งริมตลิ่ง ซึ่งเห็นจะเป็นตลิ่งแม่น้ำไม่ใช้ริมทะเลครับ
ยิ่งจวนเย็นเส้นสายให้ตายตึง          ดูเหมือนหนึ่งเหยียบโคลนให้โอนเอน
ออกปากช่องท้องทุ่งที่ตลิ่ง            ต่างเกลือกกลิ้งลงทั้งรกถกเขมร
ด้วยล้าเลื่อยเหนื่อยอ่อนนอนระเนน   จนสุริเยนทร์ลับไม้ชายทะเล
ผลัดกันทำย่ำเหยียบแล้วยืนหยัด      กระดูกดัดผัวะเผาะให้โผเผ
ค่อยย่างเท้าก้าวเขยกดูเกกเก         ออกโซเซเดินข้ามตามตะพาน
ดูจากระยะที่เดินมา ถือว่าวันนี้กวีไม่ค่อยบ่นมากเท่าวันแรกๆ

จากตรงนี้ก็เดินเลาะแม่น้ำไปเรื่อยๆ ผ่านบ้านทับม้า(ปัจจุบันเรียกบ้านทับมา ไม่รู้เปลี่ยนชื่อหรือกวีฟังผิด หรือไม่ก็คนคัดลอกผิด) เข้าใจว่ากวีไม่ได้เข้าไปในบ้านทับมา แค่มองจากไกลๆ เพราะบ้านทับมาไม่ได้อยู่ริมแม่น้ำ จากทับมาไปเล็กน้อยก็ถึงระยองแล้วครับ

กลอนว่าไปสิ้นสุดการเดินทางในวันนี้ที่บ้านเก่าบ้านญาตินายแสง ตรงนี้หมุดกวีเขาบอกว่าอยู่ที่บ้านเก่า อ.บ้านค่าย ก็จากระยองไปอีกราว ๓ กม.เศษ ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับว่าใช่หรือเปล่า อ่านดูแล้วผมรู้สึกเหมือนว่าอยู่ในระยองนั่นเอง แต่คิดอีกทีบุกป่ามา ๔๐ กว่ากิโล เดินทางทุ่งอีกสัก ๓-๔ กิโลคงรู้สึกว่า "เดะๆ"

สรุปว่าวันนี้เป็นวันที่หนักมาก ผมวัดระยะได้ ๕๐ กม.พอดี ถ้าบ้านเก่าอยู่ในระยอง ไม่ได้ไกลไปถึงบ้านค่ายก็ต้องลดลงไปอีก 3 กม.ครึ่งครับ

อ่วมอยู่ดี


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 ต.ค. 07, 01:16
คำว่าจีนใหม่ แปลจากซินตึ้งแน่นอน
แต่การยกครัวเข้ามาทั้งโคตรนั้น เป็นปรากฏการณ์สมัยหลังลงมามาก

แม่ผมเองเป็นตัวอย่าง ครอบครัวเป็นกวางตุ้ง อยู่ๆ มีโจรมาจับน้องคนเล็กไปเรียกค่าไถ่
ทางบ้านช่วยกันต่อสู้ เอาตัวกลับมาได้ น้าผมตอนนั้นอายุแค่สามขวบ เดี๋ยวนี้ แปดสิบเกือบเก้าสิบ
การเป็นต่างด้าวรุ่นร้อยปีมานี้ เรียกว่าทิ้งแผ่นดิน คือถอนเสาเรือนมากันทั้งครอก พ่อผมก็มาด้วยเหตุคล้ายกัน

แต่ที่พระเจ้ากรุงธน และรัชกาลที่ 1 ท่านรับจีนเข้ามา เป็นชนิด เผชิญโชค
คือรับคนหนุ่มเข้ามาคราวละมากๆ ส่วนใหญ่เป็นโสด ถ้ามีลูกเมียก็มักจะไม่มากัน
เว้นแต่เบื่อเมีย....ฮ่าฮ่า
ทีนี้ การรับจีนอพยพนี่ ต้องได้รับอนุญาตนะครับ ไม่ใช่ว่าจะเล็ดลอดมากันทีละเล็กละน้อยแบบเรือมนุษย์สมัยเวียตนามแตก
ทางจีนมีหนังสือเตือนมาทางบางกอกครั้งรัชกาลที่ 1 เป็นหลายครั้ง

จุดบ่งชี้ มีแต่เรื่องอาหมวยพูดจีนนี่แหละครับ ถ้าจีนครั้งรัชกาลที่ 1 เป็นไม่มีลูกสาวที่พูดจีน เพราะแม่เป็นไทย
จะมีลูกสาวพูดจีนแท้ๆ ต้องพากันเข้ามาครั้งรัชกาลที่ 3 ซึ่งคนจีนมั่นใจแล้ว ว่าเข้ามาไม่อดตาย
เพราะมีอุตสาหกรรมอ้อยรองรับ

อุตสาหกรรมนี้ เป็นของสั่งเข้าร้อยปูเซงนา อาเครซี่เอ้ย....
ก่อนนั้น เราไม่มีน้ำตาลทรายกินกัน มีแต่น้ำตาลปึก น้ำตาลทรายแดง หรือน้ำตาลเฉยๆ ชนิดเป็นเกล็ดละเอียด แห้ง เป็นเทคโนโลยี่จีน
นำเข้ามาปลายรัชกาลที่ 2 รับรองโดยกาละฟัด ในเจอรนั่ลของเขา บอกว่าการทำน้ำตาลทราย(ขาว)
พวกจีนเพิ่งนำเข้ามาเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ตรงกับ พ.ศ. 2355 โดยประมาณ
หมายความว่า จีนรุ่นนั้น คงถูก "นำเข้า" โดยประสงค์ของบ้านเมือง เพราะหลังจากนั้น การทำไร่อ้อยก็กลายเป็นแหล่งทำเงินอย่างมหาศาล
จนมีเรื่องเล่าว่า เจ้าพระยาพระคลัง เอาน้ำตาลแลกกับรั้วเหล็ก ในน้ำหนักเท่ากัน เมื่อสร้างวัดปลายรัชกาลที่ 3

เทียบข้อมูลแล้ว ผมจึงเชื่อว่า หมวยไล้ขื่อนางนี้ อีเปงหมวยซิงตึ้งแท้ๆ เข้ามาตอนรัชกาลที่ 3 เป็นอย่างเร็วครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ต.ค. 07, 12:14
อ้างถึง
เล่ามาเสียนาน ขอสรุปสั้นๆว่าจีนใหม่ในนิราศเมืองแกลงนี่เห็นจะใช้เป็นหมุดเวลาที่สำคัญไม่ได้ครับ

ขอตัดพ้อคุณอาชาผยองหน่อยเถอะค่ะ 
ถ้าจะปักหมุดสำคัญให้คุณอาชาเชื่อได้  ก็มีทางเดียวคือกวีต้องระบุวันเดือนปีพ.ศ. ที่แต่งไว้ในนิราศ ชัดๆ นั่นแหละ  ซึ่งถ้าเป็นงั้นท่านทั้งหลายที่อ่านนิราศกันมาตั้งแต่พิมพ์ครั้งแรก  คงปักให้เราเรียบร้อยแล้วละ
ก็ที่พวกเรามานั่งล้อมวงถกประเด็นกันเอาเป็นเอาตาย ก็คือพยายามปักหมุดเวลาจากสภาพแวดล้อมทางสังคม     
ดิฉันว่าเรื่องจีน ถ้าปะติดปะต่อให้ละเอียดอาจจะพอทำให้เห็นภาพเวลาได้ไม่มากก็น้อย


มาช่วยแกะรอยคนจีนตามเส้นทางไปเมืองแกลง   อ่านๆดู   ชุมชนคนจีนอุ่นหนาฝาคั่งทีเดียวละค่ะ

เริ่มที่บางปลาสร้อย

แลทะเลแล้วก็ให้อาลัยนุช         ไม่สร่างสุดโศกสิ้นถวิลหา
จนอุทัยไตรตรัสจำรัสตา            เห็นเคหาเรียงรายริมชายทะเล
ดูเรือแพแต่ละลำล้วนโปะโหละ   พวกเจ๊กจีนกินโต๊ะเสียงโหลเหล
บ้างลุยเลนล้วงปูดูโซเซ            สมคะเนใส่ข้องเที่ยวมองคอย

ตรงนี้ เป็นชุมชนคนจีนที่ตั้งถิ่นฐานทำประมงจนลงตัวแล้ว    อยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ ยังคงวัฒนธรรมของตัวเองอยู่เหนียวแน่น 
แสดงว่ามีการรวมตัวเป็นเอกเทศ     ไม่ปะปนอยู่ในกลุ่มเชื้อชาติอื่น 
เช่นยัง"กินโต๊ะ" คือมีโต๊ะนั่งกินข้าว  ไม่กินกับพื้นอย่างคนไทยที่ปูเสื่อกินข้าว    พูดภาษาจีนระหว่างกัน  ไม่พูดภาษาไทย
เรียกได้ว่ามีหมู่บ้านจีนอุ่นหนาฝาคั่ง  ในอำเภอบางปลาสร้อยของไทยในยุคที่กวีหนุ่มไปเมืองแกลง

กวียังย้ำถึงคนจีนที่บางปลาสร้อยไว้อีกครั้ง ในตลาด
ขายหอยแครงแมงภู่กับปูม้า            หมึกแมงดาหอยดองรองกระถาง
พวกเจ๊กจีนสินค้าเอามาวาง            มะเขือคางแพะเผือกผักกาดดอง

ข้อนี้บอกอะไรได้บ้าง
บอกได้ว่า
๑) คนจีนที่บางปลาสร้อย ไม่ใช่เข้ามาเป็นแรงงานอย่างในรัชกาลที่ ๓  แต่มาอยู่ตั้งถิ่นฐาน ทำมาหากิน
ทำอาชีพประมง  และปลูกผักปลูกพืชขาย
น่าจะเข้ามานานแล้ว  อย่างน้อยสองชั่วคน  คำบรรยายบอกให้รู้ถึงการลงหลักปักฐานที่มั่นคงแล้ว
๒) พวกนี้ต้องเป็นจีนพูดภาษาเดียวกัน   ถึงรักษาวัฒนธรรมกันไว้ได้เหนียวแน่น  ถ้าแต้จิ๋วก็แต้จิ๋วทั้งก๊ก  แคะก็แคะทั้งก๊ก
๓)สำเนียงจีนที่พูดกัน  สำเนียงอะไรไม่ทราบ  กวีเรื่องนี้จับได้เพียงไกลๆเท่าที่ได้ยิน
ไม่มีบทสนทนาปราศรัยด้วย    อาจจะไม่ใช่แต้จิ๋ว


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ต.ค. 07, 12:58
๓) ถ้าถามว่ากวีรู้จักภาษาแต้จิ๋วไหม   เห็นด้วยว่ารู้จัก อย่างน้อยเขียนคำว่า ไล้ขื่อ ได้ถูกต้อง  รู้ด้วยว่าแปลว่าอะไร
 
ถึงท้องธารศาลเจ้าริมเขาขวาง              พอได้ทางลงมหาชลาไหล
เข้าถามเจ๊กลูกจ้างตามทางไป               เป็นจีนใหม่อ้อแอ้ไม่แน่นอน
ร้องไล้ขื่อมือชี้ไปที่เขา                         ก็ดื้อเดาเลียบเดินเนินสิงขร
ศิลาแลเป็นชะแง่ชะงักงอน                    บ้างพรุนพรอนแตกกาบเป็นคราบไคล
****************
ถึงที่โขดต้องกระโดดขึ้นบนแง่                ก่นเอาแม่จีนใหม่นั้นใจหาย
บอกว่าใกล้ไกลมาบรรดาตาย                ทั้งแค้นนายแสงนำไม่จำทาง
๔) ถ้าถามว่า ทำไมเรียกสาวจีนคนนั้นว่า "จีนใหม่"  แทนที่จะเรียกว่า จีน เฉยๆ     เพราะหน้าตาคนจีนก็เหมือนๆกัน    ก็ชวนให้คิดว่า คำว่า "จีนใหม่" เป็นคำที่คนไทยยุคกวีหนุ่ม รู้จักแพร่หลายในหมู่คนไทย
เรียกคนจีนบางกลุ่มว่า "จีนใหม่"  บางพวกเรียก"จีน" เฉยๆ

จีนบางปลาสร้อย เป็น "จีน" เฉยๆ  แต่คนจีนริมลำธารใกล้ศาลเจ้าเป็น "จีนใหม่" 
ความแตกต่างเห็นได้ชัดในบทกวีคือ จีนใหม่พูดไทยไม่ได้     ส่วนจีนเก่านั้นแม้ว่าพูดจาโหลเหลกันในกลุ่มพวกเขา  แต่พูดไทยกับคนไทยได้   ไม่งั้นคงค้าขายพืชผักอยู่ในตลาดไม่ได้
สาวจีนใหม่ริมธาร เธอฟังออกว่าหนุ่มไทยสี่คนนี้หลงทาง  ถามทาง    แต่เธอตอบไทยไม่ได้ พูดได้แต่จีน
เธอคงมาอยู่ในเมืองไทยไม่นานนักละมัง   พ่อแม่อพยพเอาตัวเธอมาด้วย   คงไม่ได้คบค้ากับคนไทยเท่าไร  แต่ก็คงเจอบ้างถึงฟังภาษาไทยรู้เรื่อง

๔) หนุ่มกวีของเรารู้ภาษาจีนแต้จิ๋วแบบไหน  คงรู้บ้างบางคำ     จากไหน? ก็จากสำเพ็งไงล่ะคะ
คำบรรยายต้นเรื่องบอกให้รู้ว่าคงท่องเที่ยวสำเพ็งเสียปรุ  รู้จักหน้าตาดีว่ามีซอกซอยตรงไหนยังไง คนไม่เคยไป ย่อมบรรยายไม่ถูกค่ะ

ถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ                  แพประจำจอดเรียงเคียงขนาน
มีซุ้มซอกตรอกนางเจ้าประจาน         ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 ต.ค. 07, 12:59
อันนี้อยากรู้เฉยๆ ครับ ใครตอบขอขอบพระคุณล่วงหน้า

ไทยเราเรียกคนจีนว่า เจ๊ก มาแต่เมื่อไร และหมายถึงจีนอะไรครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 ต.ค. 07, 13:04
อ่านเจอที่ใหนจำไม่ได้แล้ว
ท่านว่า "จีนใหม่" จะแต่งตัวตามลัทธิของแมนจู คือโกนหัวไว้เปีย
ถ้าจีนเก่า จะแต่งกายผมเผ้ามาทางไทยครับ

ตอนที่เจ้าพระยาสิงห์ท่านเล่นสงกรานต์(เลือด) ที่ฉะเชิงเทรา ก็ว่า หมายหัวพวกไว้เปียนี่แหละ
เป็นอั้งยี่


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ต.ค. 07, 13:21
แล้วผู้หญิงจีนใหม่ กับจีนเก่า แต่งตัวยังไงคะ
เดาว่าผู้หญิงจีนใหม่ที่เจอริมลำธาร นุ่งกางเกง ถักเปียยาว หรือม้วนเปียขึ้นเป็นมวยท้ายทอย

บรรยายว่าหล่อนเป็นเจ๊กลูกจ้าง    สงสัยว่ารับจ้างทำอะไร   ซักผ้าริมลำธารเหมือนในหนังจีนหรือเปล่า
เพราะดูจากภูมิประเทศช่วงนั้น  เป็นเส้นทางภูเขา   ไม่ใช่ไร่นาที่จะจ้างแรงงาน


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 ต.ค. 07, 13:46
การที่กวีท่านระบุว่า หมวยอึ๋ม(หรือเปล่าหว่า) ของเรานั้น เป็นจีนใหม่นี่ เป็นหมุดเวลาดอกเป้งทีเดียวเชียวนา....
เพราะจีนเก่า ไม่มีผู้หญิงครับ ดังได้บอกแล้วว่ามาหาเมียเอาดาบหน้า

ยิ่งบอกชัดว่าเป็นลูกจ้าง ก็ยิ่งเป็นหมุดใหญ่กว่าดอกใหญ่อีก
ผมคิดเอาว่า เมื่อโรงหีบอ้อย ต้องพึ่งคนงานเป็นร้อย อาหารการกินต้องทำพิเศษ
น่าจะถึงกับสั่งแม่ครัวมาด้วยเทียวแหละ ไม่งั้นกุลีหมดแรงข้าวต้ม ขนน้ำตาลไม่ไหว
จะมีสาวไทยใจกล้า ไปทำครัวเจ๊กเลี้ยงจับกังได้ไง เจ้าหล่อนหวังแต่จะเป็นเมียเจ๊สัวทั้งนั้น
กลอนเรื่องอื่นก็เคยรับประทานนิสัยเลือกซะมีอย่างนี้เอาไว้แรงๆ

ไปอ่านประวัติเมืองชลโดยสรุปแล้ว
http://www.chonburi.go.th/history.php

เห็นว่า หัวเมืองตะวันออกนี้ เว้นแต่จันทบุรี ซึ่งเป็นเมืองใหญ่แล้วนั้น ที่อื่นๆ ย่อมแหลกยับเยินเพราะการสงคราม
เริ่มตั้งแต่กรมหมื่นเทพพิพิธ ส้องสุมผู้คนจนต้องรบกับทัพในกรุง แล้วกรมหมื่นมาโดนพม่าตีแตก
ผู้คนย่อมเบาบาง จนเมื่อเจ้าตากผ่านมา ก็ยังเป็นที่รกร้างขาดไพร่บ้านพลเมือง
กว่าจะตั้งเป็นบ้านเป็นเมืองกลับคืน ก็น่าจะปลายรัชกาล หรือล่วงเข้ารัชกาลที่ 1

ถ้าเชื่อว่า นิราศเมืองแกลง แต่งเมื่อ 2350 ก็ห่างปีสร้างกรุงเพียง 25 ปี
เวลา 25 ปีนี้ พอเพียงให้หัวเมืองด้านนี้ คึกคักอย่างในบทนิราศหรือไม่ คิดว่าไม่ได้
แต่ถ้าร่นเวลามาแถวๆ ที่เจ้าพระยาพระคลัง และท่านสิงห์ จะมาปราบอั้งยี่ อันนี้คิดว่าสอดคล้องกัน
ครั้งนั้นศพพวกจีนลอยน้ำมาทีละสิบละร้อย ตายกันเห็นจะหลายพัน
แสดงว่า หัวเมืองแถวนี้ เป็นแหล่งชุมนุมชาวจีนที่คึกคัก อย่างเดียวกับที่อ่านเจอในนิราศทีเดียว

จึงขอเดาว่า แต่งก่อนสงกรานต์เลือด 2391 ครับ
แต่จะก่อนเพียงใด ก็น่าจะอยู่ในรัชกาลที่ 3 นั่นเอง นี่เดาจากฐานทางเศรษฐกิจแท้ๆ ทีเดียวเจียว

อ้อ สงกรานต์เลือดนั้น ในพงศาวดารจดว่าเป็นการเล่นของเจ้าพระยาพระคลังนะครับ
เจ้าพระยาสิงห์ท่านมาสมทบช่วยอีกแรง


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 ต.ค. 07, 14:11
ทีนี้ จะ"เอาคืน" คุณเครซี่ที่น่ารักบ้าง ว่า
ในเมื่อท่านเห็นแก่ 0.001 % แห่งความอาจจะผิดพลาด จึงไม่ยอมรับความไม่ผิดพลาดอีก 99.009 % ที่เราอุตส่าห์หามาให้
แล้วท่านจะยอมให้เรายอมรับข้อเสนอที่ 99.001 % ผิดพลาด มาเติมเต็มความน่าจะเป็น 0.001 % ละหรือ

เพราะท่านอ้างอาม่า ซึ่งเป็นข้อมูลเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง มาหักล้างข้อมูลของพ.ศ. 2350-2400 อย่างนี้ ทำไม่ได้ครับ
มีตัวแปรมากมายมหาศาลระหว่างข้อเสนอ กับข้อหักล้างเรื่องอาม่า
เป็นต้นว่า อาม่าได้รับโอกาสกลับไปเรียนหนังสือที่เมืองจีน นี่เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดสมัยสุนทรภู่ครับ

แล้วท่านก็ด่วนสรุปว่า อาม่านี่แหละ เหมาะสมจะเป็นซิงตึ้ง
"จีนอย่างอาม่านี่แหละที่ คนไทยเจอต้องเรียกว่าจีนใหม่หรือซินตึ๊งแน่นอน เพราะเข้าเกณฑ์ทุกประการ"
ผมก้อขอย้ำให้มันชัดเจนว่า ไม่มีการเรียกคนรุ่นอาม่าเป็นซินตึ้งอีกแล้ว ถ้าเป็นจีนเรียก
และไม่มีการเรียกอาม่าเป็นจีนใหม่อีกเช่นกัน ถ้าเป็นไทยเรียก
ในยุคของอาม่านั้น คำนี้ เกือบจะเลิกใช้แล้ว เพราะเข้าสู่กระบวนการกำจัด....เอ้ย จำกัดการอพยพแล้ว
คนไทยจึงไม่รู้จักจีนใหม่อีกต่อไป เพราะราวๆ 2450 เป็นต้นมา
การดูแลคนอพยพ มีระบบเข้มแข็ง สังคมก็ปรับตัวรับรู้ได้อย่างกลมกลืนแล้ว
พวกเข้ามาใหม่ จะฝังตัวอยู่ในกลุ่ม จนปรับตัวได้ จึงออกสู่สังคมภายนอก
มีแต่คนจีนเจ้าถิ่นเท่านั้น ที่จะเรียกเด็กใหม่ว่าซิงตึ้งอยู่ชั่วปีหรือสองปี จนเจ้านั่น กลายเป็นโอลด์ตึ้ง

ดังนั้น การที่เราพบคำว่าจีนใหม่ ในเอกสารรุ่นต้นรัตนโกสินทร์
แล้วเราจะหยิบเอาข้อมูลสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาใช้รองรับ

ท่านว่า ไม่เอื้อด้วย เทศะ แอนด์ กาละ ครับป๋ม


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ต.ค. 07, 14:50
ไปค้นเจอ"จีนใหม่" ในนิราศพระประธม  อยู่ที่คลองโยง

ตามแถวทางกลางย่านนั้นบ้านว่าง    เขาปลูกสร้างศาลาเปิดฝาโถง
เจ๊กจีนใหม่ไทยมั่งไปตั้งโรง            ขุดร่องน้ำลำกระโดงเขาโยงดิน

ตรงนี้เหมือนกับว่าจีนใหม่กับไทย อยู่ปะปนกันเป็นชุมชนเดียวกันเสียแล้ว 
อาจจะเป็นสังคมขยายในเวลาหลังจาก นิราศเมืองแกลง เป็นไปได้ไหมคะ

ทบทวนเรื่องขุนช้างขุนแผน  มีหลายตอนมากที่พูดถึงชนกลุ่มน้อย  แต่ไม่พูดถึงที่อยู่อาศัยของคนจีนนอกเมืองสุพรรณ
มีแต่เอ่ยถึงคนจีนนิดหน่อยในกรุงศรีอยุธยา(ก็คือกรุงเทพนั่นเอง) ตอนพลายชุมพลปราบเถรขวาด


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 ต.ค. 07, 15:26
ผมวางนิราศพระประโธนไว้เป็นเรื่องก่อนสุดท้ายของท่านสุนทรภู่
ปีนั้น จีนใหม่เข้าแทรกในกิจกรรมตามหัวเมืองสนิทสนมแล้วครับ

นิราศนี้ก้อน่าเปิดทู้ใหม่เหมือนกัน
แต่คงต้องรอนักภูมิศาสตร์กาลเวลา ว่างภาระกิจก่อน....ฮิฮิ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 15 ต.ค. 07, 15:42
ขออภัยครับ ช่วงนี้ไม่ค่อยมีเวลาเท่าไหร่ อาจจะเดินช้าหน่อยครับ

ความจริงเรื่องจีนใหม่นี่ก็น่าจะเป็นกระทู้ใหม่ได้เหมือนกันครับ เพราะมีแง่มุมที่น่าสนใจอยู่มาก และยังอาจใช้เป็นหมุดเวลาสำคัญในนิราศหลายเรื่องได้ หากมีหลักฐานซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปถึงอายุของ "จีนใหม่" ได้

จนใจว่าสมัย ร. ๑ ผมไม่รู้จะไปข้อมูลอะไรมายืนยันได้ว่าคนจีนอพยพเข้ามาแบบไหน แต่คนที่อพยพเข้ามาในช่วงราว ๑๐๐ ปีมานี้มีตัวอย่างให้เห็นหลายรูปแบบมาก
- หนุ่มโสดมาแสวงโชค (พ่อของตาผมเข้ามาราว ๒๔๕๐-๒๔๖๐ ยังเป็นแบบนี้อยู่เลย มาหาเมียเอาที่นี่ ไม่ได้ยกครัวเข้ามา และหลังจากตั้งตัวได้แล้วยังช่วยเหลือให้คนเข้ามาแบบเดียวกันอีกไม่น้อย แสดงให้เห็นว่าจีนยุคหลังนี้ก็ไม่ได้ยกครัวกันมาเป็นหลักนะครับ พวกนักแสวงโชคยังมีอีกเยอะ)
- หนุ่มไม่โสดทิ้งลูกเมียไว้เมืองจีนแล้วเข้ามาแสวงโชค พวกนี้ตั้งตัวได้แล้วยังแบ่งเป็น
  - ส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวที่เมืองจีน แต่หาเมียใหม่ในเมืองไทย
  - ขนเอาลูก หรือ ทั้งลูกทั้งเมียตามมา
- พวกมากันทั้งครอบครัว
- พวกมากันเป็นลำเรือหรือสองสามลำเรือ อย่างที่มีบางคนอ้าง แต่ข้อนี้ผมยังสงสัยอยู่ว่ามีจริงหรือ? ถ้าอยู่บ้านสบายอยู่แล้วจะมาทำไม ถ้าหนีเมียมาก็ว่าไปอย่าง แต่คงไม่หนีแบบยกมากันสองสามลำเรือหรอกครับ

(ความจริงมีกรณีศึกษาอีกหลายกรณี แต่คงต้องไปกระซิบคุยกันหลังบ้าน รู้สึกว่าเอาบรรพบุรุษมาขายมากไปเสียแล้ว)

ผมไม่อยากจะเชื่อว่าสมัยพระเจ้าตาก หรือสมัย ร.๑ จะมีกฏห้ามพาเมียมาด้วยนะครับ (แต่อาจมีคนกุขึ้นมาใช้เป็นข้ออ้างทิ้งเมียไว้ก็เป็นได้ อิอิ)
ถ้าไม่มีกฏเกณฑ์อะไรเป็นพิเศษเชื่อว่ารูปแบบการอพยพน่าจะไม่ต่างกัน เพราะปัจจัยหลักยังเป็นเรื่องของ "โอกาส" เหมือนเดิม ไม่น่าจะเกี่ยวกับยุคสมัยครับ

ส่วนเรื่องอุตสาหกรรมน้ำตาลจากอ้อย อันนี้ผมเห็นด้วยครับว่าเหตุการณ์พบสาวจีนที่พัทยาในนิราศเมืองแกลงนั้นไม่ขัดกับกับภาพชาวไร่อ้อยเลย เพราะในกลอนบอกว่าจีนพวกนี้เป็นลูกจ้าง ซึ่งก็อาจเป็นลูกจ้างทำงานในไร่อ้อยได้ เสียแต่ว่ากวีไม่ยักกะระบุว่าแถวนั้นเป็นไร่อ้อย ไม่อย่างนั้นภาพคงชัดกว่านี้มาก

และศาลเจ้าที่ระบุในกลอน ก็ชี้ให้เห็นว่านี่เป็นชุมชนชาวจีน

ปัญหาอยู่ที่ว่าผมไม่รู้ว่าชาวจีนตั้งแต่ยุคปลายอยุธยาสืบเนื่องมาถึงต้นรัตนโกสินทร์ตามเมืองชายฝั่งตะวันออก นอกจากทำการค้าแล้ว เขาทำมาหากินอะไรกันอีก เมืองชลบุรีหรือบางปลาสร้อยนี้อาจไม่ได้คุมกันแน่นหนาในยุคพม่าล้อมกรุง แต่เห็นได้ชัดว่าในแผ่นดินพระเจ้าตากนั้นคุมกำลังกันได้หมดแล้วตั้งแต่ ๒-๓ ปีแรก

ถ้าจีนแถวนั้นจะหนีพม่าไปหมด ก็เห็นจะไหลกลับมาจนเต็มเหมือนเดิมในเวลาอันสั้นแหละครับ

ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ในยุคอุตสาหกรรมอ้อยเฟ่องฟู ภาคตะวันออกทั้งภาคเป็นแหล่งผลิตอ้อยสำคัญ ตั้งแต่ฃลบุรี ระยอง จันทบุรี ไปถึงตราด ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ปลูกอ้อย

แต่ผมว่าอ่านนิราศเมืองแกลงแล้ว ถ้าไม่นับชุมชนจีนที่บางปลาสร้อยกับที่เจอสาวจีนแถวพัทยาแล้ว ไม่มีบรรยากาศแบบนี้ให้เห็นอีกเลยนะครับ

ดังนั้นโอกาสที่สาวจีนจะเป็นชาวไร่อ้อยในสมัย ร.๓ จึงเป็นไปได้ แต่ไม่ได้มากไปกว่าโอกาสที่จะเป็นคนจีนในชุมชนจีนที่ตั้งหลักกันมาตั้งแต่ยุคพระเจ้าตากหรือ ร.๑ เลย ดอกาสไม่ได้เป็น 99.99% เต็มที่ก็สัก 30-40% เท่านั้นแหละครับ



กลับไปเรื่องจีนใหม่อีกที

ผมไม่แน่ใจว่าในยุคก่อนมีเรียกจีนใหม่แล้วมีจีนเก่าหรือไม่?

แต่ถ้าพิจารณาจะในสังคมจีนเองออกไป เราไม่มีจีนเก่าครับ คือมี จีนใหม่ กับ ไม่ใช่จีนใหม่

คำว่า ซิงตึ๊ง แปลตรงตัวว่าจีนใหม่ คือจีนที่มาเมืองไทยใหม่ๆ ยังกะเร่อกะร่าไม่รู้ภาษาวัฒนธรรมไทย คนจีนในไทยเองใช้ในกลิ่นอายแบบ "ไอ้บ้านนอก" อะไรอย่างนั้น และก็ไม่มีจีนเก่าในสารบบความนึกคิดของจีนแต่อย่างใด เพราะ ไอ้บ้านนอก เมื่อรู้ความแล้วก็พ้นสภาพความเป็นไอ้บ้านนอกไป ไม่ได้รับเกียรติเป็นจีนเก่า หรือจีนเก๋าแต่อย่างใด

ผมยังคิดว่าคนไทยเองก็รับโลกทัศน์นี้จากคนจีนไปเรียกจีนใหม่ ไม่ได้สร้างคำจีนใหม่/จีนเก่าขึ้นมาจากระลอกการอพยพเองโดยไม่เกี่ยวกับคำว่าซิงตึ๊งแต่อย่างใดนะครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 ต.ค. 07, 16:45
คำว่าจีนใหม่ ส่อเค้าว่าเป็นคำเรียกของวัฒนธรรมเมือง
คิดดูว่า ถ้าอาตี๋เดินทางจากซัวเถา มาที่แปดริ้ว แกก็คงเข้าสมทบกับพรรคพวกที่อยู่มาก่อนแล้ว การแบ่งเขาแบ่งเราไม่น่าจะรุนแรง
แต่ถ้าอาตี๋เข้ามาบางกอก คำเรียกแบบเหยียดมีเค้าว่าจะเกิดทันที เพราะในกรุง มีจีนมากมายหลายพวก
ทีนี้ จีนซินตึ้งเข้ามามากในครั้งใด

ผมเดาว่า ในกรุง ไม่ต้องการจีนกุลี พวกแรงงานนั้นต้องไปอยู่ตามหัวเมือง บางกอกจึงควรจะปลอดซิงตึ้งในรัชกาลที่ 1
คำว่าซิงตึ้ง จึงไม่น่าจะเป็นศัพท์รัชกาลที่ 1
งานที่ทำก็ตั้งแต่เหมืองแร่ - รังนก ที่ปักษ์ใต้ ประมงและงานไร่แถบปากอ่าว โดยเฉพาะฟากเมืองชล
ไกล้เข้ามาอีกทีก็กุลีโรงน้ำตาล ซึ่งต้องจับจองแม่น้ำสายสำคัญเป็นหลัก
การขุดคลองในรัชกาลที่ 3 - 4 ก็เพื่ออุตสาหกรรมเหล่านี้ และมาเสริมด้วยโรงสีหลังสนธิสัญญาเบาริ่ง

ดังนั้น ผมจึงขอย้ำว่า หมุดเวลานั้น หาได้ในนิราศเมืองแกลงแน่นอน จากข้อมูลสภาพบ้านเมือง และผู้คน
ยิ่งไม่มีร่องรอยของการทำไร่ ยิ่งชี้ชัดว่า หัวเมืองพวกนี้ อุ่นหนาฝาคั่งขึ้นมาอีกระดับหนึ่งโดยไม่พึ่งน้ำตาล

แต่จะคับคั่งก่อน หรือหลังอุตสาหกรรมน้ำตาล คำตอบน่าจะหาไม่ยากครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 15 ต.ค. 07, 17:19
ข้อนี้ผมก็ไม่เห็นด้วยอีกแระ

วิสัยมนุษย์ ไม่เฉพาะแต่จีน เรื่องเครือข่ายนี่เป็นเรื่องธรรมชาติ คนจีนในยุคพระเจ้าตากก็มีตั้งมาก พวกนี้มีเครือญาติอยู่ มีใครอยากมาก็มาช่วยงานเล็กๆน้อยๆไปก่อน มีโอกาสก็ไปทำมาหากินเอง พวกนี้มาใหม่ๆก็เป็นซิงตึ๊งนี่แหละครับ ไม่ใช่แค่ว่ามีในสมัย ร.๑ แต่ต้องมีมาตั้งแต่สมัพระเจ้าตาก หรือก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำไปครับ

เชื่อว่าการเปลี่ยนแผ่นดินต้องมีผลกับพวกแต้จิ๋วแน่ แต่คงมีผลแค่การไหลบ่าครั้งใหญ่กลายเป็นการอพยพย้ายถิ่นเรื่อยๆ จนมาบูมเต็มที่อีกครั้งช่วง ร.๓

อุตสาหกรรมอ้อยที่เริ่ม ๒๓๕๓ ต้องใช้แรงงานจีนจำนวนมาก คงไม่ได้อิมพอร์ตทั้งหมดหรอกครับ มันต้องมีของเก่าเป็นเชื้ออยู่บ้างแล้ว

แล้วก็ต้องมาในรูปแบบเครือข่ายเดิมนั่นแหละไปบอกต่อกันมา หาไม่แล้วคงไม่มีคำตอบว่าทำไมพวกที่อพยพเข้ามาถึงได้เป็นแต้จิ๋วเป็นส่วนมาก ทั้งๆที่ในจีนมีพวกกวางตุ้งกับฮกเกี้ยนมากกว่าแต้จิ๋วอย่างเทียบกันไม่ได้ ยิ่งถ้าไปดูประเทศอื่นในละแวกนี้จะเห็นได้ชัดว่า จีนที่ไปปักหลักอยู่จะมีส่วนผสมที่แตกต่างกันไป

ผมยังสงสัยอยู่อีกเรื่องหนึ่งคือ อุตสาหกรรมน้ำตาลนี่กระบวนการเป็นอย่างไร จุดส่งออกอยู่ที่กรุงเทพเท่านั้นหรือไม่ หรือมีการส่งออกจากหัวเมืองชายฝั่งตะวันออกโดยตรงด้วย ที่น่าสังเกตคือในขณะที่คลองโยงที่จะไปออกนครชัยศรีในนิราศสุพรรณแสดงภาพเรือขนสินค้าต้องรอคิวกันคับคั่ง คลองสำโรงกลับเงียบเชียบจนน่าแปลกใจ ยิ่งมีตะเคียนล้มขวางด้วยยิ่งแสดงให้เห็นชัดว่าเส้นทางนี้ไม่ใช่เส้นทางขนส่งสินค้า (ขนาดคนเดินทางเลือกผ่านช่วงเวลาน้ำขึ้นแล้วยังอุตส่าห์มีคนโดนจนได้)

จะว่าใช้เส้นทางทะเลก็ยิ่งแปลก ดูจากสภาพการเดินทางของเรือพายในทะเลที่ปรากฏในนิราศเมืองแกลงและนิราศเมืองเพชรแล้ว เห็นได้ว่าทุลักทุเลมาก ถ้าเป็นเรือใบล่ะก็เหมาะเลย แต่ถ้าเป็นเรือใบจริงก็ไม่มีเหตุที่จะต้องเข้าไปถึงกรุงเทพ สู้ขนส่งกันจากแถวชลบุรีโดยตรงเลยไม่ได้

แต่ในนิราศเมืองแกลงก็ไม่มีภาพการเป็นเมืองท่าให้เห็นเลยนะครับ

คงต้องหาคำตอบที่เหมาะสมให้กับปัญหาพวกนี้ด้วยครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 ต.ค. 07, 19:30
ฮิฮิ...ผมยิ่งไม่เห็นด้วยกับจินตนาการของคุณเครซี่

ว่ากันที่เรื่องน้ำตาลก่อน
การผลิตน้ำตาลทรายเชิงอุตสาหกรรมนั้น ไม่สามารถทำได้โดยวิธีครูพักลักจำ แต่ต้องเป็นตัวครูนั่นแหละมาทำเอง
จะเห็นว่า จนถึงวันนี้ การผลิตน้ำตาลทราย ก็ยังอยู่ในมือชาวจีน เช่นเดียวกับโรงสี
เทคนิคหลายอย่าง ไม่มีการเผยแพร่ออกสู่คนนอก ในประเทศไทย การผลิตทองคำสีขาวนี้ จึงไม่เคยเปลี่ยนมือมาสู่คนไทย
สมัยราชวงศ์หมิง มณฑลฟูเจี้ยนและกวางตุ้ง ผลิตน้ำตาลคิดเป็น 9 ส่วนของทั้งประเทศ
แต่คนจีนไม่บริโภคน้ำตาลทราย แล้วจะผลิตไปทำไม คำตอบก็คือ ขายต่างประเทศสิครับ
(ข้อมูลจากหนังสือ สหวิทยาการของอ้อยและน้ำตาล บริษัทมิตรผลจัดพิมพ์ 2442 ผมบังเอิญคุ้นเคยกับผู้จัดทำ...หึหึ)

เทคนิคสำคัญก็คือลูกหีบ คนจีนพัฒนาลูกหีบแนวตั้งขึ้นมารีดน้ำอ้อยได้อย่างเจ๋ง
จึงไม่ยากที่จะมีการขนเทคโนโลยี่มาทำกินในประเทศไทย เมื่อราชสำนักยินยอม
การทำไร่อ้อย ก็เป็นเทคนิคเฉพาะ เพียงแต่ปลูกผิดเดือน น้ำอ้อยไม่มีหรือเจอแมลงเสียก่อน ก็เจ้งแล้วครับ
การลงทุนระดับนี้ จึงต้องทำเมื่อปัจจัยทุกอย่างเอื้อ
เราจึงเชื่อรายงานของกาละฟัดได้ ว่าอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายในประเทศไทย เกิดเมือ่ ต้นรัชกาลที่ 2 (2355)
ในการนี้ คนจีนจำนวนมากจะต้องถูกนำเข้ามา มาอย่างเป็นระบบนะครับ ตกลงกับทางการให้เรียบร้อย

เรื่องเสื่อผืนหมอนใบมันจะเป็นอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง เกิดเมื่อสมัยปลายราชวงศ์ชิงที่โจรชุกชุม จนทนอยู่ในประเทศไม่ได้
ก็ต้องทะยอยกันทิ้งถิ่น  สองเรื่องนี้ ไม่เกี่ยวกันเลย

การที่คนจีนมากันเป็นกองทัพ ทำให้เกิดปัญหาตามมา คือเรื่องอั้งยี่ จนต้องปราบกันนองเลือด
การปราบเจ๊กนี้ ก็เป็นเครื่องบอกสภาพการณ์ได้ดี
สมัยพระเจ้าบรมโกศ พวกจีนคิดกันถึงจะปล้นวังหลวง แล้วเมื่อกรุงแตก ก็คุมกันเป็นกองโจร ขนาดเผาพระพุทธบาทก็ยังทำ
จีนพวกนี้ พอบ้านเมืองกลับคืนดี ก็กลายเป็นคนดี บ้างก็เข้ารับราชการ

คราวนี้ จะรู้ได้อย่างไร ว่าจีนพวกใหนมากันครั้งใหน ผมเสนอให้ตามดูศาลเจ้าครับ
ยังไม่พบศาลเจ้าจีนเก่าแก่อยู่นอกบางกอกเลย เก่าสุดก็สมัยรัชกาลที่ 3 ยิ่งอยู่ห่างเมืองหลวงก็ยิ่งใหม่
นี่บ่งบอกข้อมูลเป็นอย่างดี ว่าจีนอพยพแบบยกหมู่บ้าน มากันสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นหลัก

ข้อเสนอเรื่องเครือข่ายของคุณเครซี่ จึงใช้กับอุตสาหกรรมน้ำตาลครั้งรัชกาลที่ 2- 3 ไม่ได้เลย
ใช้ได้ก็กับสมัยปลายชิง แบบที่ปู่ผม และตาผม หนีตายจากกวางตุ้ง และแต่จิ๋วมาที่บางรัก
จนเกิดเป็นตัวผม ซึ่งไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรกับจีนสมัยตั้งเมืองสงขลาให้คุมแขกสมัยรัชกาลที่ 1
คนละยุคสมัยเลยครับ

ดังนั้น ผมจึงเห็นว่า การเอ่ยถึงจีนใหม่ การที่มีอาหมวยต้าอ่วยภาษาไล้ขื่อ
และการที่หัวเมืองภาคตะวันออกคับคั่ง เจริญรุ่งเรืองอย่างในนิราศเมืองแกลง จะเกิดหลังตั้งกรุงเทพ 25 ปี

มิได้เป็นอันขาด


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ต.ค. 07, 20:31
อ้างถึง
คราวนี้ จะรู้ได้อย่างไร ว่าจีนพวกใหนมากันครั้งใหน ผมเสนอให้ตามดูศาลเจ้าครับ
ยังไม่พบศาลเจ้าจีนเก่าแก่อยู่นอกบางกอกเลย เก่าสุดก็สมัยรัชกาลที่ 3 ยิ่งอยู่ห่างเมืองหลวงก็ยิ่งใหม่
นี่บ่งบอกข้อมูลเป็นอย่างดี ว่าจีนอพยพแบบยกหมู่บ้าน มากันสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นหลัก

ถึงท้องธารศาลเจ้าริมเขาขวาง              พอได้ทางลงมหาชลาไหล
เข้าถามเจ๊กลูกจ้างตามทางไป               เป็นจีนใหม่อ้อแอ้ไม่แน่นอน
ร้องไล้ขื่อมือชี้ไปที่เขา                         ก็ดื้อเดาเลียบเดินเนินสิงขร
ศิลาแลเป็นชะแง่ชะงักงอน                    บ้างพรุนพรอนแตกกาบเป็นคราบไคล

ถ้าหากว่ามีหลักฐานยืนยันว่า ศาลเจ้าเพิ่งสร้างกันในรัชกาลที่ ๓  ในรัชกาลที่ ๑ และ ๒ ไม่มี   ตรงนี้ก็น่าจะปักหมุดเวลาลงไปได้อีกดอกเบ้อเร่อ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 ต.ค. 07, 21:14
มีงานวิจัยเรื่องศาลเจ้าจีน
ดูเหมือนจะเป็นผลงานของอาจารย์พรพรรณ โรจนานนท์ (ขออภัยถ้าจำชื่อผิด)
หรือเป็นหนังสือเล่มก็เคยเห็น แต่ตัวผมเองนั้นไม่มี

ผู้ใดสะดวกไปคุ้ยในห้องสมุด
จะรับไปดำเนินการก็ขอได้รับความสุขความเจริญแก่ตนและครอบครัวด้วยเทอญ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 15 ต.ค. 07, 22:01
เรื่องนี้เห็นจะเป็นหนังยาวครับ

ถ้าจบโปรเจ็คสารพัดในมือแล้วยังไม่มีใครมาเฉลย ผมจะลองไปวิจัยดูครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 ต.ค. 07, 22:23
อ๋าย.....ได้อิหยั่งงี้ ก้อเรี่ยมดิ
ผมเคยทราบมาว่า หนึ่งในศาลเจ้าเก่าแก่ และสวยงามสมบูรณ์ของกรุงเทพ อยู่ที่วัดประยุรวงศ์
(กลับมาทบทวน อาจจะเป็นวัดกัลญานมิตร...ขออำไพครับ)
ทราบโดยเพื่อนที่เป็นช่างเขียน เคยไปป้วนเปี้ยน แถวนั้น แต่ก็ไม่ไว้ใจ เพราะเขาไม่ได้มีพื้นฐานทางจีนศึกษาดีพอ

ขออนุโมทนาในกุศลผลบุญที่จะไขความลับเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้า

เอ...วันนี้ ท่าทางผมจะกินยาผิดแฮะ
พูดจาแปลกตัวเองไปทุกที

ฝากลิ้งค์ไว้ก่อน
http://www.kapook.com/news/07/11148.html
http://www.kwongsiew.com/thai/shrine/shrine.html
http://kaekae.pn.psu.ac.th/ojs/psuhsej/viewarticle.php?id=113


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ต.ค. 07, 11:45
กลับมาต่อนิราศเมืองแกลงนะครับ

หลังจากวันมหาโหดตะลุยป่าเดินเท้าไกลถึง ๕๐ กม. ปรากฏว่า
ครั้นรุ่งเช้าเท้าบวมทั้งสองข้าง     จะย่องย่างสุดแรงจะแข็งขืน
อยู่ระยองสองวันสู้กลั้นกลืน       ค่อยแช่มชื่นชวนกันว่าจะคลาไคล
ซ้ำร้ายนายแสงคนนำทางกลับหนีไปเสียอีก
นายแสงหนีลี้หลบไม่พบเห็น              โอ้แสนเข็ญคิดน่าน้ำตาไหล
น้อยหรือเพื่อนเหมือนจะร่วมชีวาลัย       มาสูญใจจำจากเมื่อยากเย็น
จึงกรวดน้ำร่ำว่าต่ออาวาส                 อันชายชาตินี้หนอไม่ขอเห็น
มาลวงกันปลิ้นปลอกหลอกทั้งเป็น        จะชี้เช่นชั่วช้าให้สาใจ
เดชะสัตย์อธิษฐานประจานแจ้ง           ให้เรียกแสงเทวทัตจนตัดษัย
เหมือนชื่อตั้งหลังพิหารเขียนถ่านไฟ      ด้วยน้ำใจเหมือนมินหม้อทรชน
ท่าจะแค้นมากครับ

เป็นอันว่าจากระยองไป ทีมนิราศเมืองแกลงต้องวัดดวงเดินแบบไม่มีคนนำทาง ทั้งๆที่ตอนมีนายแสงนำก็ยังอุตส่าห์หลงที่พัทยาได้
แล้วชวนสองน้องรักร่วมชีวิต      ให้เปลี่ยวจิตไม่แจ้งรู้แห่งหน
จากระยองย่องตามกันสามคน    เลียบถนนคันนาป่ารำไรฯ

 ถึงบ้านนาตาขวัญสำคัญแน่       เห็นยายแก่แวะถามตามสงสัย
เขาชี้นิ้วแนะทิวหนทางไป          ประจักษ์ใจจำแน่ดำเนินมา
เห็นภาพความลำบากของคนไม่รู้ทางเลยครับ ต้องถามทางไปตลอด เพียงแค่ป้ายแรกที่บ้านนาตาขวัญก็ต้องถามทางเสียแล้ว

ถึงบ้านแสงทางแห้งเห็นทุ่งกว้าง    เฟื่อนหนทางทวนทบตลบหา
บุกละแวกแฝกแขมกับหญ้าคา     จนแดดกล้ามาถึงย่านบ้านตะพง
บ้านแสงนี้ไม่รู้อยู่ไหน แต่ระหว่างบ้านนาตาขวัญกับบ้านตะพงมีบ้านแลงอยู่ สงสัยว่าน่าจะคัดลอกผิดมา
ถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าเกือบหลงครับ คงจะไปเดินผิดทาง เพราะทางที่คนเดินมีหรือจะต้องไป "บุกละแวกแฝกแขมกับหญ้าคา" เคราะห์ดีที่ยังรักษาทิศทางจนไปถึงบ้านตะพงได้

ที่บ้านตะพงนี้
มีเคหาอารามงามระรื่น              ด้วยพ่างพื้นพุ่มไม้ไพรระหง
ตัดกระพ้อห่อได้ทุกไร่กง           พี่หลีกลงทางทุ่งกระทอลอ
เห็นสาวสาวชาวไร่เขาไถที่          บ้างพาทีอือเออเสียงเหนอหนอ
แลขี้ไคลใส่ตาบเป็นคราบคอ       ผ้าห่มห่อหมากแห้งตาแบงมาน
ก็ไม่รู้ว่าทำไร่อะไรกันนะครับ แต่สาวชาวไร่คราวนี้ไม่ใช่สาวจีนแน่ (ฮิฮิ)

หลังจากนั้นกวีเดินเข้าดงสูง เส้นทางแสนลำบากเป็นห้วยเป็นหนอง หลงอุตลุด ภาพจากดาวเทียมแถวนี้ก็เต็มทน GoogleEarth ไม่มีรายละเอียดเลย ส่วน PointAsia เห็นชัด คือเห็นเมฆชัดมาก เป็นก้อนสีเทาเต็มพื้นที่ มองไม่เห็นผิวโลกเลย

มาออกจากป่าได้ก็ออกทะเลพอดีตรงคลองกรุ่น (ปัจจุบันเรียกคลองกรูน)
ถึงปากช่องคลองกรุ่นเห็นคลองกว้าง      มีโรงร้างเรียงรายชายพฤกษา
เป็นชุมรุมหน้าน้ำเขาทำปลา               ไม่รอรารีบเดินดำเนินพลาง
ปากคลองกรูนนี้อยู่เลยท่าเรือบ้านเพทางจะไปสวนสนครับ ก็เรียกได้ว่าอยู่ในเขตบ้านเพนั่นแหละ เข้าใจว่าเดี๋ยวนี้ชาวบ้านที่นั่นก็ยังทำน้ำปลาอยู่ครับ

ถึงศาลเจ้าอ่าวสมุทรที่สุดหาด       เลียบลีลาศขึ้นตามช่องที่คลองขวาง
ถึงบ้านแกลงลัดบ้านไปย่านกลาง   เห็นฝูงนางสานเสื่อนั้นเหลือใจ
แต่ปากพลอดมือสอดขยุกขยิก     จนมือหงิกงอแงไม่แบได้
เป็นส่วยบ้านสานส่งเข้ากรุงไกร     เด็กผู้ใหญ่ทำเป็นไม่เว้นคนฯ
ที่ตรงนี้มี "ศาลเจ้าอ่าวสมุทรที่สุดหาด" ไม่รู้แบ่งวรรคตอนยังไงแต่เป็นศาลเจ้าแน่ๆครับ ตรงนี้กวีเดินเร็วเหลือเกินจากคลองกรูนบ้านเพแค่ไม่กี่คำกลอนไปถึงบ้านแกลงเสียแล้ว บ้านนี้เป็นบ้านสานเสื่อส่งส่วยเมืองกรุง ลิงก์นี้มีรูปการสานเสื่อหวายโสมให้ดูครับ
http://school.obec.go.th/sunthonphu/schoolweb1/kittisak/10.html (http://school.obec.go.th/sunthonphu/schoolweb1/kittisak/10.html)
คืนนี้กวีของเราจะพักเรือนเพื่อนที่นี่ สิริรวมระยะทางที่เดินมาวันนี้ได้ราว ๒๗ กม. ไม่รวมระยะหลงวกวนซึ่งคำนวณไม่ถูกนะครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 07, 11:49
ศาลเจ้าอ่าวสมุทรที่สุดหาด น่าจะแบ่งเป็น ศาลเจ้า(ชื่อ)อ่าวสมุทร  (ตั้งอยู่)ที่สุด(ชาย)หาด
อ่าวสมุทร อาจจะไม่ใช่ชื่อโดยตรง  แต่หมายถึงศาลเจ้าประจำอ่าวหรือทะเลส่วนนี้


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ต.ค. 07, 12:29
เคยเชื่อที่อาจารย์บอกว่า กวีเป็นหนุ่มกรุงผิวบาง
อ่านที่คุณเครซี่ถอดความแล้ว ต้องเปลี่ยนใจ

แกอึดยังกับแร่ด รอดไปร้องไห้กับตักพ่อได้ ก็นับเป็นยอดคนแล้ว


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ต.ค. 07, 12:42
ผมก็ว่างั้นครับ ปากก็บ่นไปเรื่อย แต่ถึกมาก ดูจากวันเดินลุยป่าจากนาจอมเทียนมาระยอง ๕๐ กม.นี่ โอ้..พระเจ้า ทามปายด้ายงาย เพ่...
ไม่ใช่แต่หนุ่มกรุงผิวบางตัวจริงอย่างผมที่บ่น (อิอิ) ชาวบ้านที่นาจอมเทียนได้ยินว่าจะเดินไประยองยังส่ายหัวกันหมดนาครับ

น่าสังเกตอีกอย่างคือ พ่อกวีคนนี้ทำไมเพื่อนแยะนัก แวะพักได้ตลอดทางเลย แถมที่บางปลาสร้อยทักกันใหญ่ว่าดูซูบอีกแน่ะ
ไปรู้จักกันมักคุ้นกันมาแต่ไหนหนอ?


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 07, 13:02
จอมยุทธทั้งสองท่านเพิ่งถกเถียงกันมาหยกๆเรื่องซินตึ๊ง ว่าเอาปัจจุบันไปวัดอดีตไม่ได้   ไฉนจึงมาเผลอเข้าข้างกันเองเป็นปี่เป็นขลุ่ย

คุณพพ.กับคุณอชผ. คงจะเคยเรียน รด. หรือออกภาคสนามทำงานกลางแจ้งกันมาเยอะแล้วสมัยเรียน  หรือเรียนจบก็ไปท่องเที่ยวบุกตะลุยถิ่นไกลๆกันมา    ไม่มีใครเรียกตัวเองว่าผิวบาง
อาจจะนึกว่าตัวเองถึกทั้งคู่
แต่ถึกสมัยนี้     เดินสิบกิโลก็แทบตายแล้ว  อย่าว่าแต่เดินจากจอมเทียนไประยอง  แค่เดินจากพัทยาเหนือไปพัทยาใต้ ไปกลับสัก ๒ เที่ยว  อาจจะหมดแรงลงกองกับพื้น
ผิดกับเมื่อ ๒๐๐ ปีก่อน   เขาแจวเรือกันเป็นวันๆ  เดินกันเป็นเส้นๆ เขาก็ทำได้

กวีหนุ่มเดินไปโอดโอยไปนี่แหละค่ะเรียกว่าผิวบาง  บ่นไปตลอดทาง  จะช่วยพายช่วยแจวก็ไม่ค่อยอยากทำ
นายแสงแกถึงรำคาญสุดขีด ทนหนุ่มผู้ดีไม่ไหว  หนีไปเลยไงล่ะคะ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ต.ค. 07, 13:40
ถ้าเดินป่า ประมาณวันละ ๓๐ กม.นี่ผมเคยเดินครับ หลายครั้งแล้ว...
แหะๆ แต่เดินในเมืองประเภทหิ้วถุงเดินตามต้อยๆ อันนี้ผมไม่เคยคำนวณดูว่าไกลขนาดไหน เผลอๆอาจจะไกลกว่า  ;D

ให้ผมประเมินจากประสบการณ์ตัวเอง ผมว่าเดินป่าทึบ ๕๐ กม.ในวันเดียวนี่โหดจริงครับ (ยังไม่นับว่าก่อนหน้านั้นเดินเฉลี่ยวันละยี่สิบกว่ากิโลมาแล้วสองวัน)

หากอาจารย์ไม่เชื่อหนุ่มลูกกรุงผิวบางอย่างผมก็ต้องให้ชาวบ้านนาจอมเทียนเขาบอกเอง
แสนวิตกอกพี่เมื่ออ้างว้าง           ถามถึงทางที่จะไปในไพรสัณฑ์
ชาวบ้านบอกมรคาว่ากว่าพัน        สะกิดกันแกล้วกล้าเป็นน่ากลัว

 ;D

ส่วนนายแสง ผมว่าน่าจะหนีเพราะเป็นถิ่นตัวเองครับ พบญาติแล้วเลยไม่อยากไปต่อ ขออยู่ที่นี่ดีกว่า


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ต.ค. 07, 14:17
อาจารย์เรา หลงกลกวีซะแล่ว
ขืนแต่งนิราศว่า ฉันเป็นถึกปนแร่ด สาวที่ใหนจะมองครับ
ขนาดปัจจุบัน พระเอกในนิยายยังสำออยยิ่งกว่าไส้เดือนถูกขี้เถ้า

อันที่จริงนั้น ผมได้ลงความเห็นไว้แต่ปีมะโว้แล้วว่า กวีหนุ่ม ต้องมีหน้าที่การงานสำคัญมาปฏิบัติ
จากเจ้านายที่ครองวัง ซึ่งหมายถึงต้องเป็นระบบการปกครองครั้งรัชกาลที่ 2 ลงมา ที่มีการยกเจ้านายให้กำกับราชการ
หาไม่ เจ้าหนุ่มกวีเดินดุ่มๆ มาเที่ยวสอดส่องสภาพบ้านเมืองอย่างนี้ เจ้าพระยาพระคลังเอาตาย

ผมได้เคยวินิจฉัยไว้ในทรากกระทู้ที่จมอยู่กับฮาร์ดดิสก์ตัวที่พังไปแล้วว่า
เจ้าหนุ่มถูกจ่ายงานให้เดินทางปุปปับ ไม่มีแม้เวลาจะร่ำลาหวานใจ ก็เป็นได้อย่างเดียวคือเป็นงานที่ทำประจำ
ถ้าเป็นงานจร หรืองานส่วนตัวคือจะแวะเยี่ยมพ่อซะหน่อย....ก็ต้องเลิกเมื่อนายแสงหนีงานแล้วละครับ
แต่การหาเป็นเช่นนั้นไม่ สามหนุ่มยังลุยต่อ
ผมคิดได้เพียงว่า แกต้องรับงานมาชนิดเลิกไม่ได้ และแกต้องมีของดีอยู่กับตัว แกจึงแวะพักบ้านเจ้าถิ่นได้ทุกคืน
ของดีนั้นเรียกว่าสารตราครับ
คนเดินทางทำราชการต้องมีติดตัว มิเช่นนั้นก็ถูกจับตัวส่งต้นสังกัด ตั้งแต่ที่ด่านเรือโยงแล้วละครับ
ด่านที่ว่า เขาเก็บตังค์ด้วยนะครับ คลองลัดทั้งหลายด้วย ขุดเพื่อเก็บเงินทั้งนั้น

จึงขอสรุปว่า กวีผู้นี้ รับราชการในฝ่ายที่มีกิจการเกี่ยวกับหัวเมืองฟากตะวันออก
แกคงมีพื้นเพทางนี้อยู่ด้วย อย่างน้อยพ่อก็เป็นพระผู้ใหญ่ที่เมืองแกลงแหละ
เจ้านายใช้ให้ออกมา ก็ต้องมา ระนั้น ดูเหมือนจะเป็นงานจัดหาสินค้า
และแกเป็นขุนนางชั้นไม่เล็กแล้วด้วย เพราะมีชาวบ้านมาฟ้องเรื่องรีดนาทาเร้น

แต่เรื่องร้องไก้ เรื่องโอดครวญ อันนั้นเป็นกลเม็ดหลอกมัดใจอาจารย์ของเรา....5555555

หัวร่อแบบหนุ่มน้ำเค็ม


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 ต.ค. 07, 14:25
นายแสงติดกัญชาจนตาแดง  ความจำเสื่อมจำทางไม่ได้ 
เสบียงอาหารของกวีก็ไม่เห็นมีของหวานมาแก้อาการคออักเสบ หิวน้ำเลย

กวีเร่งเดินทางขนาดลืมมุ้ง
คงไม่ได้เอาทองหยิบทองหยอดติดตัวมา

แกหมดกำลังใจอยากอยู่เฉยๆไม่ทำอะไรเลยมากกว่า

ตอนแรกรู้จักกันฤทธิกัญชายังไม่มาก  อาจช่างพูดช่างคุย  พูดจาถูกอกถูกใจ  ตื่นเต้น  หัวเราะตลอด

แกเมากัญชาจนตาลายแล้ว  เมื่อทุกคนหิวน้ำ  แกต้องหิวมากกว่าหลายเท่าเพราะร่างกายขับเหงื่อออกมาก
นายแสงคงนึกว่าโดนหลอกมาเหมือนกันค่ะ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 07, 14:32
ตอบ #86,#87
บอกว่าไก่เห็นตีนงู  เสียก็หมดเรื่องค่า ไม่ต้องอธิบายยาว   ;D  ;D


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ต.ค. 07, 15:06
ผมกลับว่านายแสงนี่แหละคนพันธุ์ถึกของแท้ครับคุณ Wandee

คิดดู ล่อกัญชากับตาสังจนพระเคาะระฆัง ถ้านอนตอนนั้นก็คงได้นอนไม่เกินสองชั่วโมง เผลอๆไม่ได้นอนเลยหรือเปล่าก็ไม่รู้ แล้ววันนั้นไปเดินป่าอีก ๕๐ กม.

นายแสงคนนี้ต้องเป็นคนที่เดินประจำจนชินแน่ ไม่ใช่คนกรุงเด็ดขาด เมื่อก่อนผมไปเดินป่า ชาวบ้านที่นำทางนี้ก็อึดอย่างนายแสงนี่แหละครับ

ข้อนี้ทำให้ผมยิ่งเชื่อว่านายแสงไม่ได้หนีไปเพราะเจอคนกรุงผิวบางขี้บ่น เพราะวันที่บ่นหนักๆคือวันที่พาหลงที่พัทยา ในขณะที่วันเดิน ๕๐ กิโลไม่ยักกะบ่นเท่าไหร่ (อาจจะบ่นไม่ออก)

ผมเคยเดินเร็วที่สุดในชีวิตครั้งนึง ๑๒ กม.ใช้เวลา ๒ ชั่วโมงพอดี เป็นทางในป่า ฝนตกพรำๆ ทางบางตอนเละเป็นโคลน ข้ามลำห้วยหนึ่งหรือสองครั้ง แต่ไม่รก ที่ทำความเร็วขนาดนั้นก็เดินกึ่งวิ่งแล้วครับ ถ้าทางไกลกว่านี้ก็คงเดินไม่ได้เร็วเท่านี้แล้ว

กวีเดิน ๕๐ กม. ออกแต่เช้าตรู่ ถึงเอาค่ำๆ อาจจะสักทุ่ม ใช้เวลาเดินเต็มๆต้องมี ๑๐-๑๒ ชม. ทำความเร็วได้ ๔-๕ กม./ชม. ถือว่าเดินค่อนข้างเร็วแล้ว ถ้าเป็นชาวบ้านเดินขนาดนี้อาจจะธรรมดา แต่สำหรับคนกรุง เดินได้ขนาดนี้ต้องบอกว่าคนนำทางต้องชื่นชมเลยแหละครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ต.ค. 07, 16:17
จากแกลงออกเดินแต่เช้าอย่างเคย วันนี้อารมณ์ดีเป็นพิเศษ เพราะใกล้จุดหมายปลายทางแล้ว อีกทั้งระยะทางที่เหลือก็ไม่เท่าไหร่เมื่อเทียบกับที่ได้ผ่านมาแล้ว
เดินเข้าป่าไม่ทันไร เอาดินไล่ทุบรอกแตแย้ตุ่ยเสียแล้ว เดินไวเหมือนโกหก จากบ้านแกลงไปแค่สี่คำกลอนก็ถึงสะพานยายเหมเสียแล้ว ผมเข้าใจว่าสะพานยายเหมนี้คือบ้านหนองสะพานในปัจจุบัน อยู่ห่างจากบ้านแกลง(บ้านท่าเรือแกลง) ไปทางตะวันออก(เฉียงใต้นิดหน่อย) ไม่ถึง ๒ กม.

จากจุดนี้เดินไปเพลินๆอีก ๔ กม.เศษก็ถึงแหลมทองหลาง อารมณ์ดีขนาดเดินว่าเสภากันไปตลอดทาง แถมไปกะลิ้มกะเหลี่ยกินแตงโมชาวบ้านฟรีอีกตะหาก ความตรงนี้น่าสนใจ
เห็นไร่แตงแกล้งแวะเข้าริมห้าง    ทำถามทางชักชวนให้สรวลเส
พอเจ้าของแตงโมปะโลปะเล      สมคะเนกินแตงพอแรงกัน
ที่ว่าน่าสนใจคือ เป็นครั้งแรกที่มีการระบุชนิดของพืชไร่ที่ปลูกครับ นั่นคือแตงโม และเช่นเดิม ประสาคนเชื่อยากอย่างผม ยังไม่กล้าฟันธงว่าชาวบ้านแถวนี้เขาปลูกแตงโมกันเป็นหลัก (ไม่ใช่อ้อย อิอิ)
เดินโฉบผ่านทะเลนิดนึงก็เข้าป่าต่อ สถานีต่อไปคือปากลาวน หรือปากคลองลาวนที่ไหลลงสู่ทะเล ปัจจุบันอยู่ ต.ชากพง
จนพลบค่ำก็ไปถึงบ้านกร่ำที่กวีได้กราบพ่อ และพบปะวงศ์วานว่านเครือแล้วครับ

ชาวบ้านเห็นพ่อกวีหนุ่มชาวกรุงมาดังนั้นก็เข้ามารุมล้อมปรับทุกข์กันอุตลุด
บรรดาเหล่าชาวบ้านประมาณมาก        ต่างมาฝากรักใคร่เหมือนใจหมาย
พูดถึงที่ตีโบยขโมยควาย                กล่าวขวัญนายเบียดเบียนแล้วเฆี่ยนตี
ถามราคาพร้าขวานจะวานซื้อ            ล้วนอออือเอ็งกูกะหนูกะหนี
ที่คะขาคำหวานนานนานมี               เป็นว่าขี้คร้านฟังแต่ซังตาย
อ่านความตรงนี้ ผมมั่นใจว่ากวีต้องเป็นข้าราชการแหงมๆ โดยเฉพาะวรรคสุดท้ายนี่แหละที่มันฟ้องเต็มๆ "เป็นว่าขี้คร้านฟังแต่ซังตาย"

วันนี้เดินแบบชิลล์ๆได้ระยะอีกราว ๑๖-๑๗ กม.ครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ต.ค. 07, 16:34
เป็นอันว่าทางพายเรือจากบางกอกมาถึงบางปลาสร้อยสองวันสองคืน ๑๑๐ กม.

พัก ๓ วันที่บางปลาสร้อย

แล้วต่อด้วยเดินเท้าจากบางปลาสร้อยจนมาเจอพ่อที่บ้านกร่ำ ไม่รวมระยะหลง ก็เป็นทางไกลถึง ๑๕๒ กม. ใช้เวลา ๖ วัน (ไม่รวมที่หยุดพักที่บ้านเก่าระยองอีก ๒ วัน)

เบ็ดเสร็จ ๒๕๒ กม.

จากบางกอกมากว่าจะได้เจอพ่อก็ปาเข้าไป ๑๓ วันทีเดียวเชียว

แหม่... ไมไม่ไปทางมอเตอร์เวย์น้า... ไม่กี่ชั่วโมงก็ถึงแว้ววววว


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 26 ต.ค. 07, 16:33
 
       วันนี้ท่องเน็ทได้อ่านบทความ  สุนทรภู่กับการไปเมืองแกลง  ทศพร วงศ์รัตน์ 

จาก วารสารราชบัณฑิต ตุลาคม - ธันวาคม ๒๕๕๐  นำลิ้งค์มาแสดงสำหรับผู้สนใจครับ

http://www.royin.go.th/th/download/index1.php?SystemModuleKey=338&SystemMenuID=1
     
         


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 07, 18:48
อ่านไปรอบหนึ่งแล้วค่ะ    ที่เห็นชัดๆคือกวีผู้แต่งนิราศเมืองแกลง  ไม่ได้สมัครใจไปเอง แต่เจ้านายใช้ไป  ข้อนี้บอกไว้ชัดเจน


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 26 ต.ค. 07, 21:11
อาจารย์ทศพรเขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่งชื่อ "พระอภัยมณี...มาจากไหน?" ตอนผมอ่านนี่มึนทีเดียวครับ เพราะอาจารย์ท่านอุตสาหะมาก พยามยามโยงเรื่องราวในพระอภัยมณีเข้ากับเหตุการณ์ตามประวัติของสุนทรภู่

น่าจะยังหาซื้อได้นะครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: ธิดา ที่ 17 พ.ย. 07, 16:00
เพิ่งมีโอกาสได้อ่านกระทู้นี้ เป็นกระทู้ที่ดีเหลือเกิน ขอแสดงคารวะต่อคุณ CrazyHOrse เป็นอย่างสูงในความอุตสาหะ
ชอบภาพประกอบการเดินทางจาก Google Earth มากเลยค่ะ  :D

ขออนุญาตเรียนถาม คำว่า "ไภยันต์" ที่อยู่ในกลอน หมายถึงอะไรหรือคะ ("ให้พ้นชั่วที่ชื่อว่าไภยันต์")
เคยหาจากพจนานุกรมก็ไม่พบ อยากทำความเข้าใจว่า ท่านถูกปรามาสด้วยเรื่องอะไร ถึงกับต้องพยายามไปหาพ่อให้ได้
หลังจากที่เสร็จสิ้นภารกิจราชการที่เมืองแกลงแล้ว

อีกนิดนึง เรื่องของ "จีนใหม่" ที่เห็นคุยกันว่าเป็น "สาวจีน"
เพราะดิฉันอ่านแล้วไม่รู้สึกว่าเป็นผู้หญิง อ่านทวนไปทวนมาก็ได้ความตรงบาทที่ว่า

ถึงที่โขดต้องกระโดดขึ้นบนแง่              ก่นเอาแม่จีนใหม่นั้นใจหาย

ใช่วรรคนี้หรือเปล่าคะ ทำให้คิดว่าจีนใหม่ที่คณะเดินทางพบ เป็นผู้หญิง
คือฉันอ่านแล้วเข้าใจไปว่า คณะเดินทางเขา "ด่าแม่" จีนใหม่ที่บอกทางนั่นนะคะ
ไม่ใช่ว่าจีนคนนั้นเป็นผู้หญิง มิฉะนั้นท่านน่าจะบรรยายไว้ตั้งแต่ตอนที่พบครั้งแรกแล้ว
อีกอย่าง ถ้าเป็นคนงานทำงานอยู่ในไร่หลายคน คนที่จะออกมาพบกลุ่มคนเดินทางแปลกหน้าและบอกชี้ทางให้
น่าจะเป็นคนงานผู้ชาย มากกว่าผู้หญิงนะคะ ฉันคิดอย่างนี้น่ะค่ะ

จะมีใครมาคุยกันต่อหรือเปล่าคะเนี่ย ฮือ... มาช้าไปมากเลย ตลาดวายเสียแล้ว

คุณ CrazyHOrse คะ ถ้าจะกรุณาและมีเวลาว่าง อยากให้ตามรอย "นิราศวัดเจ้าฟ้า" จะเป็นพระคุณยิ่ง
เพราะสงสัยเหลือเกินค่ะว่า "วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์" คือวัดอะไรกันแน่
ฉากไคลแมกซ์ตอนเกิดอภินิหารที่วัดนั้นสุดยอดไปเลยค่ะ เหมือนอ่านนิยายแฟนตาซีเลย ชอบมากๆ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 พ.ย. 07, 23:15
อย่างได้แสดงคารวะผมเลยครับ เขิน... คิดว่ายังมีข้อบกพร่องอยู่มากครับ แต่ถ้าสิ่งที่ทำไปจะเป็นประโยชน์ต้องผู้สนใจบ้างแม้สักเพียงเล็กน้อย ผมก็ดีใจที่ได้ตอบแทนคืนกลับสู่สังคมบ้างครับ

คำว่า "ไภยันต์" คิดว่าเป็นภาษาบาลีกลาย ย่นย่อมาจากคำว่า ภยันตราย โดยไม่ถูกหลักภาษาครับ
ความตรงนี้บางท่านตีความไว้ดังที่คุณธิดาพูดถึง คือกวีถูกกล่าวหาอะไรสักอย่าง ต้องไปหาพ่อเพื่อ "ให้พ้นชั่วที่ชื่อว่าไภยันต์"
แต่ผมอ่านแล้วคิดว่าความหมายน่าจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ลองดูกลอนช่วงนี้เต็มๆนะครับ

แสนวิตกอกพี่เมื่ออ้างว้าง          ถามถึงทางที่จะไปในไพรสัณฑ์
ชาวบ้านบอกมรคาว่ากว่าพัน       สะกิดกันแกล้วกล้าเป็นน่ากลัว
ยิ่งหวาดจิตคิดคุณพระชินสีห์      กับชนนีบิตุเรศบังเกิดหัว
ข้าตั้งใจไปหาบิดาตัว                ให้พ้นชั่วที่ชื่อว่าไภยันต์
อธิษฐานแล้วสะท้านสะท้อนอก   สำเนียงนกเพรียกไพรทั้งไก่ขัน
เมฆแอร่มแย้มแยกแหวกตะวัน    ก็ชวนกันอำลาเขาคลาไคล

ผมอ่านได้ความว่า เมื่อกวีถามทางไปยังเมืองแกลง ชาวบ้านบอกว่าทางไกลและอันตราย กวีจึงตั้งจิตอธิษฐานว่าตนจะเดินทางไปหาพ่อ ขอคุณพระและพ่อแม่ช่วยคุ้มครองให้เดินทางโดยปลอดภัยด้วย

เท่านี้เอง ไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นเรื่องเป็นราวครับ

ส่วนเรื่อง "ก่นเอาแม่จีนใหม่นั้นใจหาย" ผมไม่เคยคิดแบ่งวรรคอย่างตอนคุณธิดาว่ามาก่อน น่าสนใจเหมือนกันครับ

นิราศวัดเจ้าฟ้าคิดว่ายากกว่านี้มากครับ เพราะจุดสังเกตไม่ค่อยมี แต่ถ้ามีโอกาสเหมาะๆผมจะมาชวนกันตามรอยนิราศนี้ครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงผ่านดาวเทียม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ย. 07, 10:49
อ้างถึง
อีกนิดนึง เรื่องของ "จีนใหม่" ที่เห็นคุยกันว่าเป็น "สาวจีน"
เพราะดิฉันอ่านแล้วไม่รู้สึกว่าเป็นผู้หญิง อ่านทวนไปทวนมาก็ได้ความตรงบาทที่ว่า

ถึงที่โขดต้องกระโดดขึ้นบนแง่              ก่นเอาแม่จีนใหม่นั้นใจหาย

ใช่วรรคนี้หรือเปล่าคะ ทำให้คิดว่าจีนใหม่ที่คณะเดินทางพบ เป็นผู้หญิง
คือฉันอ่านแล้วเข้าใจไปว่า คณะเดินทางเขา "ด่าแม่" จีนใหม่ที่บอกทางนั่นนะคะ
ไม่ใช่ว่าจีนคนนั้นเป็นผู้หญิง มิฉะนั้นท่านน่าจะบรรยายไว้ตั้งแต่ตอนที่พบครั้งแรกแล้ว
อีกอย่าง ถ้าเป็นคนงานทำงานอยู่ในไร่หลายคน คนที่จะออกมาพบกลุ่มคนเดินทางแปลกหน้าและบอกชี้ทางให้
น่าจะเป็นคนงานผู้ชาย มากกว่าผู้หญิงนะคะ ฉันคิดอย่างนี้น่ะค่ะ

การตีความของคุณธิดา น่าทึ่งมาก   ไม่เคยคิดมาก่อนค่ะ
ถ้างั้นก็ต้องแบ่งวรรคใหม่  ว่าเป็น
ก่นเอาแม่   จีนใหม่  นั้นใจหาย
นึกภาพกวีต้องป่านปีนหินสูงชัน ตัวเองเป็นชาวเมืองหลวงเคยเจอแต่ที่ราบ ใจหายจวนเจียนจะพลาดตก
ก็เลย"ด่าแม่" ชายจีนใหม่ ระบายอารมณ์
ไม่ใช่ด่า "แม่สาวจีนใหม่"คนนั้น

แต่จะแปลอย่างไหนก็ตาม  ก็ยังได้ความอย่างหนึ่งตรงกันคือยุคสมัยที่กวีไปเมืองแกลง  มีจีนอย่างน้อยก็ ๒ พวกที่แตกต่างกันจนแม้แต่นักเดินทางแปลกถิ่นยังแยกได้ออก  ว่ามี "จีนใหม่" และ "จีน" เฉยๆ คือพวกที่ไม่ใช่ใหม่

บรรยากาศของสังคมหัวเมืองตะวันออก เหมาะจะเป็นสมัยรัชกาลที่ ๑ หรือรัชกาลที่ ๓ กันแน่?