เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: chupong ที่ 08 ต.ค. 11, 18:57



กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 08 ต.ค. 11, 18:57
เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู และท่านสมาชิกเรือนไทยทุกท่านครับ

   ขณะนี้ บ้านผมกำลังเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วม เนื่องจากเขตบึงกุ่มซึ่งครอบครัวเราพำนักอยู่ก็สุ่มเสี่ยงต่ออำนาจเกรี้ยวแห่งแม่พระคงคา ผมเลยนึกถึงความหลังสมัยก่อนขึ้นมาได้ นำมาสู่การตั้งกระทู้เพื่อขอรับความรู้จากทุกท่าน ครับ

   พ.ศ. ๒๕๒๖ เด็กชายชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ อายุ ๕ ขวบ ยังเพลิดเพลินอยู่กับของเล่น รถบังคับคือสิ่งสุดโปรด เล่นรถไปฟังเสียงฝนฟ้าซู่ซ่าครั่นครืนไป จำได้ว่าเข้านอนสักสองทุ่มเศษโดยมีสำเนียงพิรุณคะนองขับกล่อม จะตื่นมากี่หนก็ยังมิหยุด กระทั่งเช้าจึงเพลาเม็ด แต่พอตกบ่ายก็กระหน่ำชนิดทำนบฟ้าทลาย เป็นเช่นนี้หลายวันครับ ครั้นน้ำท่วม หน้าบ้านก็เอ่อขึ้นมาถึงหน้าแข้ง โชคดี ตอนนั้น คุณตา (ผู้ถึงแก่กรรมแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓) ยังอยู่แหละยังแข็งแรง ท่านเป็นนายช่างใหญ่ ควบคุมการวางกระสอบทรายกั้นน้ำเอง ภายในบ้านจึงไม่โชกชุ่มแม้สักนิด ถึงกระนั้นก็หวุดหวิดเต็มทีครับ  ผมยินเสียงเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ทำงานทั้งวัน คุณน้าว่ามีรถยีเอ็มซีของทหารอากาศมารับส่งคนในหมู่บ้านด้วย รามคำแหงระดับน้ำสูงถึงสะเอว (คุณพระช่วย!) โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ต้องเลื่อนไปเปิดภาคเรียนใหม่หลังลอยกระทง ความทรงจำของผมที่หลงเหลือมาก็มีเท่านี้ครับ ท่านผู้อ่านมีความหลังฝังจิตเกี่ยวกับน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ อย่างไรบ้าง โปรดเมตตาถ่ายทอดบันทึกไว้เพื่อเป็นวิทยาทานให้ผมด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ



กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 08 ต.ค. 11, 19:16
ปี พ.ศ. 2526 มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก ที่คุณชูพงษ์ได้เป็นลูกพ่อขุนคนหนึ่งที่นี่นั้น เกิดภาวะน้ำท่วม น้ำลึกกว่า 2 เมตร จนมหาวิทยาลัยต้องปิดการเรียนการสอนไปเกือบ 3 เดือน มั้ง



กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ต.ค. 11, 22:15
คุณ kaew.ratana เขียนเล่าเรื่องน้ำท่วมปี 2526 ไว้ในอีกเว็บหนึ่ง   เห็นภาพชัดเจนปานประหนึ่งคลิปวิดีโอ  จึงขออนุญาตลอกมาลงในกระทู้นี้ให้ทบทวนความหลังกันค่ะ

     " ยังจำได้ว่า สัปดาห์นั้นไปทำงานที่ทับแก้ว   และต้องพักที่บ้านพักข้าราชการ 2-3 วัน พอถึงเย็นวันศุกร์ก็กลับกรุงเทพฯ ไม่มีโทรศัพท์ที่จะติดต่อที่บ้าน (โทรศัพท์ราชการใช้ส่วนตัวไม่ได้) หนังสือพิมพ์ก้ไม่มีให้อ่าน เรียกว่า ไม่รู้ข่าวอะไรเลย
      ทุกคนเดินทางเข้ากรุงเทพโดยรถบัสของมหาวิทยาลัย ...พอมถึงเพชรเกษม อีกสัก2-3 ก.ม.จะถึงแยกท่าพระ  รถบัสไม่สามารถวิ่งต่อไปได้เพราะน้ำสูงมาก เราต้องลงเดินกัน  ข้าราชการใส่กระโปรง ใส่รองเท้าส้นสูงเดินจับมือกัน ฝ่ากระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว จนเซไปเซมา 
      ทุกก้าวย่างที่ยกเท้าขึ้น น้ำก็จะซัดรองเท้าให้หลุดจากเท้าได้ทุกก้าว   แถมภาพท่อระบายน้ำที่อาจจะไม่มีฝาปิด หรือบ่อเปิด ก็หลอน กลัวว่าจะก้าวลงบ่อเหล่านี้ โดยไม่รู้ตัว  พากันเดินจับมือกัน เหมือนเด็กอนุบาลต่อแถวรถไฟ จึงทำให้มั่นใจมากว่า หากเกิดอะไรขึ้นจะช่วยกันทัน
      ระยะทาง 2-3 ก.ม.ที่เดินกันใช้เวลาร่วม1-2 ช.ม.กว่าจะมาถึงแยกท่าพระก็ 6โมงเย็นกว่าๆแล้ว     บริเวณแยกท่าพระน้ำแห้ง ...ทุกคนเหนื่อยกันมาก หวังว่าจะมีรถเมล์มาให้เรากลับเข้ากรุงเทพฯได้   แล้วก็มีรถเมล์มาจริงๆแต่เราก็ขึ้นไม่ได้...
      รถเมล์กว่าจะมาแต่ละคันก็ทิ้งช่วงนานร่วม 20 นาที แต่พอเห็นแล้วก็เข่าอ่อน เพราะคนโหนออกมานอกรถ    ทุกคนคงอยากจะถึงบ้านให้เร็วที่สุด ข้อลำใครแข็งก็เหนี่ยวประตูรถเมล์มาได้แม้ตัวจะอยู่นอกรถก็ตาม   รถวิ่งมาถึงทางแยกก็ทิ้งโค้ง มาข้างน้ำหนักมาก เห็นแล้วก็ไม่มีปัญญาจะขึ้นเพราะที่จะวางเท้ายังไม่มี   ก็ยืนรอรถกันต่อไป
     จากท่าพระถึงบางโพ  กว่าจะได้ขึ้นรถก็ค่ำมากแล้ว ประมาณสัก 4 ทุ่ม รถมาถึงแยกเกียกกาย   ปรากฏว่าน้ำท่วมคอสะพาน และอาจจะท่วมตลอดย่านบางโพเพราะใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาเพียงกิโลเดียว   
     สมัยนั้นไม่มีแนวกั้นน้ำ รถไม่วิ่งตรงไปบางโพ จะทำไงล่ะเรา        คิดถึงเพื่อนสนิทที่อยู่วรจักร คงน้าไม่ท่วม ก็ต่อรถไปถึงหน้าบานเพื่อน ราว 5 ทุ่มเศษ ...กดกริ่งเรียกบริษัทของครอบครัวเพื่อน  เป็นตึก 5 -6 ชั้นอยู่แถวนั้น ชั้นล่างทำธุรกิจ  เวลานี้ไม่มีพนักงานอยู่แล้ว...
     เพื่อนมาเปิดประตูรับ เขาทำหน้าตกใจมาก เพระเราไปยืนหน้าซีด ใส่ชุดดำจุดขาว(ไว้ทุกข์ให้คุณแม่)  และมาในเวลาที่เขานึกไม่ถึง....น่ากลัวไหม...


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ต.ค. 11, 22:17
(ต่อ)
       รีบบอกเพื่อนว่ากลับบ้านไม่ได้ เขาก็เข้าใจรีบ ชวนเข้าบ้าน ...บอกเขาว่ายังไม่ได้ทานอะไรเลยตั้งแต่เที่ยง จะตายอยู่แล้ว  ขอข้าวกับไข่เจียวสักฟองก็พอ...บ้านนี้เขาอยู่แบบร้านค้า...หมดเวลางานแม่บ้านก็กลับบ้านหมด   จำไม่ได้ว่าวันนั้นทานอะไร ..แต่ก็รอดชีวิตมาได้     รีบโทรบอกทางบ้านว่าไม่ต้องเป็นห่วง ตอนนี้ปลอดภัยแล้ว 
        รุ่งขึ้นถึงได้กลับบ้าน  โอ้โฮ...น้ำท่วมหนัก ถนนกลายเป็นคลอง มีเรือพายอยู่บนถนน น่าตื่นตะลึงมากค่ะ
        เราอยู่ในสภาพนั้นราวเดือนเศษ จนถึงวันลอยกระทง ก็ลอยกันหน้าบ้านบ้าง บนถนน(คลอง )บ้าง  จำได้ไม่ลืมเลยค่ะ
        ************************
        ดิฉันไม่ได้อยู่ในกรุงเทพ  แต่จำได้ว่าเพื่อนที่อยู่ตามซอยต่างๆเล่าว่าต้องนั่งเรือออกจากบ้านมาทำงาน    บางคนออกจากบ้าน หิ้วกระโปรงไว้   นุ่งผ้าถุงลุยน้ำออกมา  ถึงปากซอยสู่ถนนใหญ่  ก็ขอเข้าร้านปากซอยเปลี่ยนจากผ้าถุงเป็นกระโปรง เพื่อต่อรถไปทำงาน




กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 ต.ค. 11, 22:42
จำได้ว่ามีพายุเข้าเป็นจำนวนมาก จำได้คือ พายุชื่อ คิม, เฮอร์เบริด์ จึงได้เข้าไปดูข้อมูลพายุรายปีได้ว่า

พายุที่พัดเข้าในปีพ.ศ. ๒๕๒๖ มีแค่ ๕ ลูกเท่านั้น เดือน กันยายน ๑ ลูก, ตุลาคม ๓ ลูก และพฤศจิกายน ๑ ลูกเท่านั้น

พายุลูกแรกที่เริ่มส่งผลกระทบให้น้ำท่วมเริ่มในปลายเดือนกันยายน ๒๕๒๖ ก่อตัวขึ้นวันที่ ๒๙ กันยายนที่ฟิลิปปินส์มุ่งหน้าเข้าภาคเหนือของประเทศไทยในวันที่ ๓ ตุลาคม เข้าจังหวัดน่าน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนและสลายตัวไป ส่วนหางพายุที่วนเวียงดังกงจักรพาดทับพื้นที่ภาคกลางประเทศ ให้ฝนตกอย่างหนัก

ระหว่างวันที่ ๗  ตุลาคม ๒๕๒๖ พายุก่อตัวขึ้นเป็นดีเพรสชั่นที่ทะเลจีนใต้ พัดเข้าปลายแหลมญวน และเข้าสู่ดินแดนไทยทางอีสานตอนใต้ในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ซึ่งอิทธิพลทำให้บริเวณภาคกลางมีฝนตกมาก พายุนี้ชื่อ เฮอร์เบริต์ และสลายตัวไปในดินแดนประเทศไทย

ฝนยังไม่ทันจางหายไปพายุดีเพรสชั่นลูกใหม่ได้ก่อตัวขึ้นที่เดิม ชื่อ “คิม” มุ่งหน้าเข้าเมืองโฮจิมินห์ พายุก่อตัววันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๒๖ และเข้าประเทศไทยที่ปราจีนบุรีในวันที่ ๑๘ ตุลาคม ผ่านอยุธยา อ่างทอง ออกเมืองกาญจนบุรีวันที่ ๑๙ ตุลาคมและมุ่งหน้าไปพม่าต่อไป

จำได้ว่าฝนตกแบบข้ามวันข้ามคืน ตกตลอดทั้งวัน ส่วนน้ำที่ท่วมนั้นเป็นน้ำเหนือที่สมทบลงมายังกรุงเทพมหานคร


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 ต.ค. 11, 22:58
ขณะนั้น ด.ช.หนุ่มสยาม เริ่มขึ้นบ้านใหม่ในที่ซอยศูนย์วิจัย ซึ่งหลังน้ำท่วมคลี่คลายแล้วทำให้ทราบว่า เป็นซอยหนึ่งที่ถูกกล่าวขานจากสังคมว่าเป็นซอยที่น้ำท่วมลึกถึงเอว หน้าอก แต่ข้าพเจ้ากลับรอดมาได้เพราะอยู่ต้นซอย ไม่ได้เข้าลึกไปกลางซอยซึ่งพื้นที่สมัยก่อนเป็นที่ลุ่ม ป่าต้นธูปฤาษีและมีบึงอยู่จำนวนมาก

น้ำท่วมหน้าบ้านข้าพเจ้าสูงประมาณ ๖๐ เซนติเมตรใช้กระสอบทรายวางไว้หน้าบ้าน ส่วนท่อระบายน้ำก็อุดด้วยกระสอบทราย แต่ก็ยังมีน้ำซึมเข้าประมาณตาตุ่ม หากสูงกว่านี้เครื่องสูบน้ำจะทำงาน ด้วยการกดกระเดื่องให้ทำงานจากโฟมที่วางไว้ หากน้ำสูงถึงระดับโฟมจะยกตัวขึ้นดีดให้คันชักยกตัวกดสวิซท์เครื่องสูบน้ำให้ทำงาน

ปลานั้นมีหลุดเข้ามาได้ ปลาช่อนตัวงาม ๆ ตัวยาวเท่าคืบ อยู่กันจนโต, ปลาหมอเป็นฝูง ๆ จับเอามาชุบแป้งทอดกินกัน, ปลาหางนกยูงมาเป็นแพลอยมาให้ช้อนเล่นสนุกสนาน

ยังจำได้ว่าถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ หรือตอนนี้เรียกว่า ถนนวิภาวดีรังสิต น้ำท่วมเลยตาตุ่มเช่นกัน เรือพายรับจ้างเริ่มมีมาให้บริการ ท้ายซอย ๕ บาท ไกลหน่อย ๑๐ บาท ต่อรองกันได้ ยายแก่ ๆ สวมงอบพายให้ นั่งเรือพายไปก็ลองเอาเท้าราน้ำให้สมคำพังเพย หรือไม่ก็ขอไม้พายจากยายมาลองพายดู พายไปวนไปวนมาจนยายบอกให้พอจึงได้คืนไป

ไม่นานก็มีข่าวอันเป็นขวัญกำลังใจอย่างมหาศาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จตรวจน้ำท่วมและการระบายน้ำในพื้นที่บางกะปิ ห้วยขวาง รามคำแหง ซอยศูนย์วิจัย บึงมักกะสัน พวกเรารอดตายแล้ว หลังจากนั้นเป็นต้นมาทางรอบนอกกรุงเทพมหานครก็เกิดโครงการเขื่อนดินป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพ โดยเรียกว่า King Dyke ซึ่งออกมาในรูปแบบถนนป้องกันน้ำไหลท่วมเข้ามายังพื้นที่ชั้นใน และระบบประตูน้ำต่าง ๆ เริ่มเข้ามามีบทบาท...ขอทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 09 ต.ค. 11, 08:53
กราบขอบพระคุณทุกๆท่านครับที่กรุณาแบ่งปันความหลัง ทำให้ภาพรัวๆรางๆของผมกระจ่างชัด

   เรียนคุณลุงไก่ครับ
   ถ้าผมโตกว่านี้ในตอนนั้น คงมีอะไรคุยมากกว่าบอกกล่าวเพียงสั้นๆในตอนต้นกระทู้ ทราบระดับน้ำที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สถาบันการศึกษาขั้นอุดมของผมแล้ว ตกใจครับ สูงมาก อยากฟังประสบการณ์ของลูกพ่อขุนใน พ.ศ. ๒๕๑๖ จังครับ
มหาวิทยาลัยยังเปิดการเรียนตามปกติได้หรือไร? หรือผู้ใหญ่ได้หยุดยาวเหมือนเด็กๆไปด้วย ๒๕๒๖ น้าสาวคนเล็กของผมท่านจบรามแล้ว เลยไม่มีความหลังมาเล่าให้ฟังเท่าไรครับ

   เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูครับ
   อ่านบันทึกของคุณkaew.ratana  ที่อาจารย์กรุณานำมาลงไปพลาง ผมก็ภาวนาไปพลาง ขอให้ปีนี้อย่าเป็นเช่นอดีตเลย เพราะผมมีหนังสือวรรณคดีเก่าจำนวนหลายเล่มอยู่ ถ้าน้ำท่วมสูงต้องขนของขึ้นชั้นสองของบ้าน คงขนย้ายหนังสือไปไม่หมดแน่ๆครับ

   เรียนคุณหนุ่มสยามครับ
   ผมลองเรียนถามญาติผู้ใหญ่ ปรากฏว่า บ้านเราไม่มีปลาหลุดเข้ามาให้จับเลย ข้าวของต้องซื้อตุน คุณหนุ่มสยามได้ปลาฟรีๆมิต้องซื้อหา ถือว่าแม่พระคงคาท่านประทานมาให้ เป็นโชคเล็กๆท่ามกลางวิกฤตจริงๆครับ
 
 


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 09 ต.ค. 11, 09:20
ผมมีบันทึกอีกชิ้นหนึ่งมานำเสนอต่อทุกท่านครับ จากฝีมือของกวีรัตนโกสินทร์ ท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ท่านเขียนบทกวีนี้ลงคอลัมน์”ข้างคลองคันนายาว” หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ท้ายบทกวีลงวันที่ไว้ว่า ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๖ ข้อความมีดังนี้ครับ

พิสดาร
รจนาโดย ท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

   เดือนสิบเอ็ดน้ำนองนองน่องน้อง
เดือนสิบสองน้ำลงคงความหมาย
พอเดือนอ้ายไหลรี่ล้นปรี่ปราย
ถึงเดือนยี่คลี่คลายเริ่มไหลลง

   นี่น้ำท่วมน้ำเถื่อนเดือนสิบสอง
ยิ่งน้ำนองน้ำเน่าเข้าโหมส่ง
ยังไม่มีทีท่าว่าจะทรง
ฝนกลับหลงฟ้าถล่มประโคมซัด

   ฤดูเดือนเคลื่อนคลาดให้ขัดข้อง
เทวดาท่าจะบ๊องจึงข้องขัด
เกิดอาเพศพิสดารสารพัด
ให้โดดเด่นเห็นชัดเฉพาะกรุง

   เห็นเรือหางซ่าซู่อยู่บนถนน
เห็นรถยนต์อยู่ในน้ำดำพลุ่งพลุ่ง
ป้ายจอดรถมีเรือจ้างอยู่นังนุง
เกิดท่าทุ่งบึงบางขึ้นกลางเมือง

   มหาห้วยรามคำแหงห้วยแห่งใหม่
ห้วยหัวหมากถัดไปให้นองเนื่อง
หมู่บ้านหนองเสรีน้ำอยู่เยื้อง
ถัดไปเบื้องถึงบางกะปิมี

   ที่เวิ้งว้างกว้างกว๊านการเคหะ
กอสวะผักตบเข้ากลบที่
คลองซุปเปอร์ไฮเวย์วิภาวดี
คลองเพชรบุรี คลองอ่อนนุช คลองบางนา

   คนอยู่น้ำย่ำน้ำกำเนิดใหม่
เริ่มแตกไคลครีบหางอย่างมัจฉา
ง่ามนิ้วตีนตกสะเก็ดเป็นเกล็ดปลา
พัฒนาล่าสุดมนุษย์น้ำ

   พวกอยู่ในห้องหับปรับอากาศ
เขาผงาดโง้งเห็นเป็นควายถ้ำ
เร่งล้อมรุมสุมเขาเง่างึมงำ
จัดกิจกรรมแก้ปัญหาอย่างทารก

   บ้างว่าต้องไปเอาชาวฝรั่ง
มาช่วยคิดช่วยสั่งช่วยนั่งถก
ขจัดน้ำทำเขื่อนช่วยเลื่อนยก
ทั้งกอกกกอสวะขจัดไป

   โอ้ว่าแก้วโกสินทร์แผ่นดินสยาม
ย่างศรีสามศตวรรษปัจจุสมัย
ถือฤกษ์เย็นเป็นเรือนเถิดเพื่อนไทย
อยู่นานนานก็อยู่ได้คุ้นไปเอง







กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 09 ต.ค. 11, 09:28
ผมต้องกราบขออภัยคุณลุงไก่ครับที่อ่านข้อความในความคิดเห็นที่หนึ่งไม่ถี่ถ้วน สรุปคือ ม. รามคำแหงปิดเรียนสามเดือน ข้อสงสัยต่อมาคือ แล้วเวลาสอบของภาคการศึกษาต่อไปเลื่อนไปอยู่เดือนไหนนี่ ถึงอย่างไรก็ยังอยากฟังคำบอกเล่าของลูกพ่อขุนยุคนั้นอยู่นั่นเองขอรับ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 09 ต.ค. 11, 18:03
ผมต้องกราบขออภัยคุณลุงไก่ครับที่อ่านข้อความในความคิดเห็นที่หนึ่งไม่ถี่ถ้วน สรุปคือ ม. รามคำแหงปิดเรียนสามเดือน ข้อสงสัยต่อมาคือ แล้วเวลาสอบของภาคการศึกษาต่อไปเลื่อนไปอยู่เดือนไหนนี่ ถึงอย่างไรก็ยังอยากฟังคำบอกเล่าของลูกพ่อขุนยุคนั้นอยู่นั่นเองขอรับ

ลืมเกือบหมดแล้วครับ อธิบายง่ายๆ ว่าระดับน้ำในรามฯ หัวหมาก ปีนั้นสูงขนาดไหน
น้ำท่วมเกือบถึงพื้นชั้นล่างตึกคณะมนุษย์ศาสตร์ เหลือบันไดไว้สักสองขั้นที่ไม่ท่วม เอาไว้สะบัดน้ำในรองเท้าที่ถอดออก ส่วนตึกชั้นเรียนเดียว (สมัยนั้น) น้ำท่วมถึงขอบบนของหน้าต่าง
เทอมต่อไปก็รวบรัดเวลาเรียนให้น้อยลงไปสักเดือน ตอนภาคฤดูร้อนเหลือเวลาเรียนแค่เดือนเดียว
ลานพ่อขุนน่ะ พวกนักศึกษาเอาเรือเข้ามาพายเล่นกันสนุกไปเลย แต่องค์พ่อขุนอยู่สูง น้ำเลยท่วมไม่ถึงองค์ท่าน
หลังจากน้ำท่วมใหญ่ในปีนั้นแล้ว ทางมหาวิทยาลัยจึงได้มีการก่อสร้างคันกั้นน้ำถาวรรอบพื้นที่มหาวิทยาลัย น้ำจากข้างนอกจึงไม่ไหลเข้า กลายเป็นต้องคอยสูบน้ำออกอย่างเดียว

กรุงเทพมหานครปัจจุบันในพื้นที่เศรษฐกิจชั้นในก็ใช้หลักการป้องกันน้ำท่วมแบบนี้ครับ

ผมเป็นประเภทไปสอบอย่างเดียว นานๆ จะไปเข้าเรียนสักครั้งหนึ่ง กับไปลงทะเบียนเรียน ไปสอบ และไปดูผลสอบ ความจำได้เลยน้อยน่ะครับ





กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ต.ค. 11, 22:53
ผมขอเล่าประสพการณ์เกี่ยวกับน้ำท่วมที่คุณชูพงษ์อยากทราบเป็นการเคาะสนิมเครื่องบันทึกความจำของผม ที่อาจจะต้องใช้อีกครั้งหนึ่งในเร็ววันนี้

เมื่อปี๒๕๑๖ ผมเรียนจบสถาปัตย์พอดี แล้วได้งานออกแบบและคุมงานหมู่บ้านเสรี หัวหมาก ตอนนั้นเขาเพิ่งจะถมดิน เห็นว่าถ้าให้ผู้รับเหมาที่นั่นไปถมที่ของแม่ในซอยกรุงเทพกรีฑาก็จะได้ราคาถูก เพราะรถขนดินจะวิ่งจากบ่อดินแถวนั้นเลยไปอีกนิดเดียว แม่ก็ตกลง ผมก็จัดการถมดินไปสูงเมตรครึ่ง

ไม่นานผมก็ไปบวชอยู่วัดบวรฯ จวนออกพรรษาแล้วช่วงหนึ่งฝนตกมากติดต่อกันสองสามวันจนมีข่าวว่าน้ำท่วม พอฝนหยุดโยมแม่ไปหาที่กุฏิ ท่าทางกังวลจัดเชิญให้นั่งก็ไม่นั่ง ยืนที่หัวกระไดบอกว่า ท่านๆ เค้าบอกว่าดินที่ท่านไปถมที่ๆหัวหมากไว้น่ะ ละลายไปกับน้ำหมดแล้ว ผมก็เต้นผาง นึกในใจว่าจะเป็นไปได้รื้อ แต่ก็รับปากจะไปดูให้เห็นกับตา

ต่อมามีอุปัฏฐากอาสาขับรถพาผมไป จำได้ว่าน้ำท่วมเกินครึ่งล้อตลอดทางแต่ก็พอคลานไปได้ไม่น่าเบื่อ เพราะรถยังไม่มากเหมือนสมัยนี้ ผ่านหน้ารามก็เห็นน้ำท่วมเต็มพื้นที่ รถวิ่งได้ถึงทางแยกเข้าซอยกรุงเทพกรีฑา หลังจากนั้นต้องเหมาเรือหางยาวที่มาจอดบนถนนคอยรับจ้างยังกับท่าเรือ  นั่งตากแดดจีวรปลิวตัดตรงข้ามทุ่งไป เล็งเป้าหมายสนามกอล์ฟที่เห็นต้นไม้หรอมแหรม พอใกล้แล้ววนหาที่ดินของแม่  พบว่าเป็นเกาะเล็กๆปริ่มน้ำอยู่พอเดินได้ ก็ลงจากเรือไปยืดเส้นยืดสายเสียหน่อย ก่อนกลับไปรายงานให้โยมแม่สบายใจ หลังสึกน้ำลดเป็นปกติแล้วไปดู ไม่เห็นว่าดินมันจะละลายไปไหนซักกะนิดเดียว

หลังจากนั้นย้ายมาปลูกบ้านที่นั่น และทำงานเป็นผู้จัดการของบริษัทพรีเมียรโพรดักส์ เมื่อก่อนโรงงานตั้งอยู่ในซอยเต็กเฮงหยูก่อนถึงหมู่บ้านเสรี ถัดโรงพักหัวหมากไปเล็กน้อย

ปี ๒๕๒๖ มีพายุโซนร้อนวิ่งเข้าญวนแล้วกลายเป็นดีเพรสชั่น ฝนตกหนักทั่วประเทศ น้ำเหนือทำท่าจะมาก กทม.สมัยนั้นผู้ว่าเป็นนายพลทหารเรือที่เกษียณแล้ว ป๋าเปรม นายกรัฐมนตรีดึงมานัยว่าเป็นคนซื่อสัตย์ ไม่เขี้ยวลากมากเขมือบเหมือนนักการเมืองอาชีพบางจำพวก ท่านก็ทำตามแผนป้องกันกรุงเทพชั้นในซึ่งสำนักการระบายน้ำเสนอ ฝั่งตะวันออกที่น้ำจากคลองแสนแสบปกติจะไหลผ่านไปออกแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ก็ทำเขื่อนปิดกั้นน้ำในบริเวณทุ่งแถบนี้ทั้งหมดไว้ ด้านในก็ใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ระดมกันสูบน้ำในคลองแสนแสบออกมาด้านนอก ทำอย่างนี้พอเกิดฝนตกหนักครั้งหนึ่งในระยะกลางเดือนกันยายน ย่านหัวหมากก็น้ำท่วมสักครึ่งแข้ง


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ต.ค. 11, 23:01
สมัยนั้นท่วมหลังฝนตกเป็นเรื่องปกติ คนก็ไม่ได้โวยอะไร แต่งงๆอยู่เหมือนกันว่าทำไมน้ำไม่ค่อยจะลด พอเข้าตุลาคม มีพายุโซนร้อนชื่อคิม (Kim) ก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น เคลื่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกของประเทศไทยมุ่งเข้าหากรุงเทพมหานคร ฝนตกหนักมากตั้งแต่เช้าตรู่ของวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๒๖  พายุลูกนี้ทำให้เกิดน้ำท่วมหลายจังหวัดในภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครด้วย

พอฝนหยุด ทั้งที่บ้านและโรงงานของผมก็น้ำท่วม ถนนในบ้านท่วมเล็กน้อยแต่ถนนหน้าบ้านท่วมแค่เข่า โทรเรียกให้ลูกน้องเอารถปิ๊กอัพมารับ พอเข้าซอยเต๊กเฮงหยูเห็นน้ำท่วมหนักเอาการ โรงงานโอสถสภากำลังเร่งสูบน้ำระบายออกมาที่ถนน เป็นน้ำสีแดงอันเกิดจากคลังลูกอมโอเล่โดนน้ำท่วม  เย็นวันนั้นตอนกลับบ้าน น้ำในซอยกลายเป็นน้ำสตรอเบรี่ส่งกลิ่นหอมชื่นใจ
 
โรงงานของผมนั้น บนถนนซอยน้ำท่วมมิดโคนขา ในตัวโรงงานครึ่งแข้ง เห็นแล้วระเหี่ยหัวใจยิ่งนัก เครื่องจักรทั้งหมดอยู่ในน้ำ ผมประชุมกันแล้วพยายามหาข่าวจากบริษัทแม่บ้าง หน่วยงานราชการบ้าง หนังสือพิมพ์ ทีวีก็ไม่มีข่าวว่าน้ำจะท่วมอย่างนี้อีกนานเท่าไร ไม่มีคำตอบอะไรจากใครทั้งสิ้น

สามวันต่อมา น้ำบนถนนสีแดงสดใสกลิ่นสตรอเบรี่ก็กลายเป็นน้ำครำ ใหลเข้ามาในโรงงานผมกลิ่นเหม็นฉุนแสบไปถึงโพรงจมูก ทหารเอาเรือท้องแบนมาบริการประชาชนในหมู่บ้านเสรี คนงาน พนักงานของผมก็ได้อาศัยเรือทหารนี้ มีผมคนเดียวที่ใช้รถกระบะของโรงงาน วิ่งระหว่างบ้านมาทำงานทุกเช้าเย็น เคยนั่งเรือเข้าไปดูในหมู่บ้านเสรีครั้งหนึ่ง บางโซนชั้นล่างจมไปกว่าครึ่ง ตอนนั้นปาเก้หลุดลอยออกมาบนถนนเป็นแพใหญ่ ผู้คนสีหน้ามีความทุกขเวทนามาก ผมเองก็ไม่ได้มีสภาพต่างไปจากพวกเขา ช่วยกันกับคนงานพยายามลุยน้ำเก็บของที่ยังใช้ได้ให้พ้นน้ำ ชิ้นงานที่ผลิตเสร็จแล้วรอส่ง ถูกลูกค้าที่กิจการของเขาน้ำไม่ท่วมโทรมาเร่งทุกวัน ก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร บอกว่าน้ำท่วมแค่นั้นแค่นี้ก็ไม่ค่อยจะยอมเชื่อ บางรายโทรมาด่าผมเสร็จก็ยังแถมด่าเลขาผมจนร้องไห้ ช่วงนี้เราหนักหนามาก ลุยน้ำกอบกู้เครื่องจักรจนเป็นโรคผิวหนังที่ขากันทุกคน มากหรือน้อยเท่านั้นเอง


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ต.ค. 11, 23:10
ผมมีเรื่องที่ต้องตัดสินใจอย่างแรงคือ ควรที่จะต้องทำคันกั้นน้ำแล้วสูบน้ำออก ให้พื้นที่บางส่วนของโรงงานผลิตต่อไปได้หรือไม่ เพราะถ้าทำก็ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก บริษัทก็ขัดสนอยู่ ทำไปแล้วอีกหกเจ็ดวัน เกิดน้ำลดก็เสียดายเงินแย่
 
พอดีได้ยินทีวีบอกว่า ปู่เทียม(ฉายาของท่าน)ผู้ว่ากทม.จะมาตอบคำถามประชาชนว่าเมื่อไหร่น้ำจะลด โดยจะใช้ห้องประชุมของสำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพที่สีลม เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนผู้ที่สนใจจะมาฟังและซักถามด้วยตัวเอง

ถึงวันดังกล่าว ผมออกจากบ้านแต่หกโมงเช้า รถกระบะที่ขับวิ่งไปได้แค่ประมาณโรงพักหัวหมาก ต้องจอดกลางถนนและยืนไปบนกระบะรถสิบล้อของทหารที่เอามาบริการประชาชนแทนรถเมล์ เนื่องจากถนนรามคำแหงหน้ารามน้ำท่วมมากไม่มีรถอื่นใดจะลุยผ่านได้ ผมมองเข้าไปในมหาวิทยาลัยแล้วก็เศร้าใจ อาคารสมัยนั้นไม่ได้หนาแน่นเช่นทุกวันนี้ เห็นทั่วอาณาบริเวณเหมือนอ่างใบยักษ์ น้ำท่วมเต็ม พลับพลาทรงไทยน้ำระดับเกือบถึงชายคา ตึกต่างๆตล้ายกับลอยอยู่กลางน้ำ

จากรถทหารก็ต่อรถเมล์ที่สี่แยกคลองตัน ผมไปถึงห้องประชุมก่อนเวลาเล็กน้อย คนเต็มห้องแล้ว กำหนดการคือ๑๐นาฬิกาที่ปู่เทียมจะปรากฏกายแต่กว่าจะออกมาบนเวทีก็สายกว่านั้นมาก พิธีกรก็ได้แต่พูดอู้ไปอู้มาจนคนกระสับกระส่ายแล้ว ปู่จึงออกมาเหมือนคนอดหลับอดนอน พออารัมภบทเสร็จ พิธีกรก็ยิงคำถามสำคัญทันทีว่า ท่านผู้ว่าครับ ประชาชนอยากจะทราบว่าน้ำจะท่วมขังอย่างนี้อีกนานเท่าใด ที่ท่านผู้ว่าบอกว่ามีคำตอบนั้น ขอเชิญท่านผู้ว่าเลยครับ

ปู่เทียมทำสีหน้าหงุดหงิดขึ้นมาทันที ยื่นหน้าไปหาไมโครโฟนพูดกรอกลงไปเสียงดังชัดเจนว่า คำถามของท่านที่ถามมานั้น ผมจะตอบให้ท่านได้เข้าใจให้ชัดเจน คือ ท่านต้องไปถามเทวดา จึงจะได้รับคำตอบ

คนฟังตกตะลึงไปเสี้ยววินาที และแล้วเสียงโห่ฮาแสดงความไม่พอใจก็ดังขึ้นลั่นห้อง กว่าพิธีกรจะทำให้สงบลงได้ก็เล่นเอาปู่เทียมทำท่าจะวอร์คเอ้าท์ พอจัดให้พูดทีละคน คนแรกก็พูดว่า เราไม่อยากให้ท่านผู้ว่าเล่นสำนวนเช่นนั้น ที่มากันนี่ ทุกคนอยากได้คำตอบที่จะนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายของกทม.ได้ ปู่เทียมจึงเสียงอ่อยลงว่า ที่พูดเช่นนั้นเพราะตนไม่ทราบจริงๆ อย่างเช่นจะมีฝนตกลงมาอีกหรือเปล่า ใครจะไปทราบได้นอกจากเทวดา คราวนี้เสียงโห่ยิ่งดังกว่าเก่า ดูเหมือนจะมีคนขว้างปาก้อนกระดาษไปบนเวทีด้วย ปู่เทียมนั่งทำท่าเหมือนจะเป็นลม ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความเหนื่อยหรือความโกรธ ขณะนั้นคนฟังบางส่วนเริ่มเดินออกจากห้อง ผมจึงเดินตามออกมาคิดว่าเราได้คำตอบแล้ว






กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ต.ค. 11, 23:30
เมื่อผมมาโรงงานในวันรุ่งขึ้น ก็ให้สั่งซื้อของมาทำแนวกั้นน้ำในตัวโรงงาน แล้วสูบน้ำออก ได้พื้นที่ส่วนหนึ่งกลับมาทำงาน จับแพะชนแกะหาเงินเดือนมาจ่ายพนักงานและคนงานให้อยู่ไปเป็นเดือนๆ  ชีวิตสาหัสสากันกับน้ำท่วมทุกคน

น้ำเริ่มลดประมาณกลางเดือนกุมภาพันธุ์ บทจะลดก็ลดเร็วมาก แต่รวมแล้วน้ำท่วมขังในท้องที่หัวหมากครั้งนี้ หกเดือนเต็มๆ ผมคิดว่า คงไม่มีเมืองหลวงของประเทศไหนอีกแล้วที่น้ำจะท่วมยาวนานเช่นนี้อีก ชาวบ้านหมู่บ้านเสรีประกาศขายบ้านทิ้งกันเป็นแถว แต่ถึงจะราคาถูกอย่างไรก็ไม่มีคนซื้อ


หลังจากนั้น งบประมาณก็ถูกทุ่มเข้ามาบริหารจัดการในท้องที่ดังกล่าว น้ำก็ไม่ท่วมอีกเลย
 
แต่ปีนี้ชักยังไงๆอีกแล้ว



กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 10 ต.ค. 11, 10:40
เรียนคุณลุงไก่ครับ

   แม้ผมจะยังเป็นเด็กอ่อนเรียนอนุบาลในยุคนั้น แต่บัดนี้ ผมคือหนึ่งในบัณฑิตราม ฉะนั้น เวลานั่งรถผ่านมหาวิทยาลัยก็จะคอยถามคุณน้าว่ารามเริ่มท่วมหรือยัง เมื่อเช้าขึ้นรถเมล์ หน้ารามรถติดแล้วครับ

   กราบขอบพระคุณประสบการณ์อันได้รายละเอียดยิ่งจากท่าน NAVARAT.C  ขอรับ

   ฟังจากท่านเล่าแล้ว ผมสยองครับ บ้านตนเองอยู่ถนนนวมินทร์ ๒๔ แม้ญาติๆจะช่วยกันปลอบว่า ปีนี้น้ำไม่ท่วม หรือท่วมก็นิดหน่อย ผมก็ยังใจตึกตึกอยู่มิรู้วาย ยอมรับตรงๆว่ากลัว กลัวหนังสือจำนวนมากจะขนย้ายไม่หมดครับผม
 


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ต.ค. 11, 11:16
ผมยังคงจบไม่ได้ ถ้าไม่ได้เล่าตอนนี้

วันรุ่งขึ้นหลังจากที่ปู่เทียมโชว์เดี่ยวไมค์โครโฟนแล้ว หนังสือพิมพ์ก็รุมทึ้งปู่แบบสิ้นสงสาร ไม่กี่วันต่อมาก็เห็นทหารขนกระสอบทราย พร้อมนำกำลังพลหลายกองร้อย มาระดมช่วยกันเรียงเป็นพนังกั้นน้ำบนถนนรามคำแหงทั้งสองข้าง แล้วสูบน้ำออก วันสองวันเอง ถนนรามคำแหงรถเล็กก็วิ่งช้าๆผ่านได้
 
เช้าๆ ผมก็ขับรถกระบะ มีพ่อแม่ลูกวัยประถมชายหญิงอีกสอง ออกจากบ้านมายังปากซอยที่โรงงานตั้งอยู่ ให้แม่เขาขับรถของเราที่ฝากไว้แถวนั้น พาลูกไปโรงเรียน ตอนเย็นทุกคนจะมารวมกันที่เดิม แล้วถ่ายขึ้นรถกระบะลุยน้ำกลับบ้าน เด็กๆสนุกมากตรงข้ามกันกับผู้ใหญ่
ถนนรามคำแหงกลับมาใช้งานได้รวดเร็วคราวนั้น มีข่าวลือว่ามีประชาชนที่นอนดึก เห็นขบวนรถของพระเจ้าอยู่หัวสี่ห้าคัน วิ่งลุยน้ำช้าๆผ่านหน้ารามไปสักพักใหญ่ๆ แล้วย้อนกลับทางเดิม

ถึงจะไม่มีการยืนยันแต่ทุกคนก็พร้อมจะเชื่อ เพราะเห็นประจักษ์อยู่เสมอมาว่าพระเจ้าอยู่หัวช่วงที่ทรงแข็งแรงดีอยู่นั้น จะเสด็จไปทุกหนทุกแห่งแห่งที่ราษฎรมีทุกข์ด้วยพระองค์เอง  เพื่อทรงหาทางดับทุกข์นั้น


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 10 ต.ค. 11, 13:45
ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ

   ผมอ่านข้อความของท่าน NAVARAT.C แล้วขนลุกด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่ยิ่ง ขออนุญาตเรียนถามความคิดเห็น, ข้อคาดคะเนของท่าน NAVARAT.C รวมถึงทุกๆท่านครับ

   ผมอ่านข่าวน้ำท่วมอยุธยา รู้สึกเหมือนอุทกภัยครั้งนี้ราวคงคามหานทีพลิกคว่ำ สอบถามจากคุณลุงท่านหนึ่งซึ่งท่านตาบอด ท่านว่า ปี ๒๕๒๖ อยุธยายังไม่สาหัสขนาดนี้ ท่านคิดว่า กทม. พ.ศ. ๒๕๕๔ อาจพอๆหรือหนักกว่า ๒๕๒๖ ครับ ผมเองไม่มีความรู้เรื่องน้ำหรือเรื่องถนนหนทางเส้นสัญจรใดๆทั้งสิ้น เลยขอหยั่งเสียงทุกท่านครับ ท่านว่าน้ำท่วม ๒๕๕๔ สำหรับกรุงเทพมหานครควรจะเป็นอย่างไร หนักเบาปานใดขอรับ
 


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ต.ค. 11, 14:02
เอาข้อมูลมาฝากครับคุณชูพงศ์

ระดับน้ำปี ๒๖ ระดับน้ำสูงสุด +๒.๑๓ เมตรจากระดับน้ำทะเลกลาง

ระดับน้ำปี ๓๘ ระดับน้ำสูงสุด +๒.๒๗ เมตรจากระดับน้ำทะเลกลาง

จะเห็นว่าปี ๓๘ นั้นปริมาณน้ำนั้นมีมากกว่าปี ๒๖ แต่ระบบป้องกันน้ำท่วมปี ๓๘ ก็เริ่มมีประสิทธิภาพมากขึ้น

มาต่อที่ระดับความสูงของถนน วัดกับระดับน้ำทะเลกันว่าถนนใดสูงต่ำเพียงไร

ลักษณะของพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำเจ้าพระยา เสมือนมีกะทะวางอยู่ ๒ ใบด้านซ้ายและขวา ตรงกลางที่ว่างเสมือนแม่น้ำเจ้าพระยา ริมขอบกะทะฝั่งตะวันออกเสมือนถนนมหาราช สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๑.๕๐ เมตร ส่วนอีกฝั่งหนึ่งถนนอรุณอัมรินทร์สูง ๑.๖๐ ม. ส่วนพื้นที่แอ่งกะทะก็ตกอยู่ที่บริเวณถนนเพชรบุรีและรามคำแหง รวมทั้งสุขุมวิท

เช่น ถนนเพชรบุรีมีความสูง ๐.๐๘ เมตร คือพื้นที่สูงเพียง ๘ เซนติเมตรจากระดับน้ำทะเล

ถนนรามคำแหงความสูง ๐.๓๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล

ถนนสุขุมวิทความสูง ๐.๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล คือระดับเดียวกันกับน้ำทะเลเลย

และในปัจจุบันนี้ทางกรุงเทพมหานครได้ทำการก่อสร้างอุโมงค์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๕ เมครใต้ดินสำหรับผันน้ำออกไปแม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วขึ้น ซึ่งกทม. ได้เลือกบริเวณท้องกะทะนี่แหละครับ ทำก่อนเพื่อนเลย คือบริเวณย่านถนนพระราม ๙ ซึ่งติดกับคลองแสนแสบตั้งสถานีปากอุโมงค์ครับ ย่านรามแหง หัวหมาก น่ำจะไหลลงมาคลองแสนแสบและปล่อยเข้าไปยังอุโมงค์นี้ลงใต้ดิน น้ำจะวิ่งใต้ดินไปยังปากคลองพระโขนงซึ่งมีสถานีสูบน้ำจากใต้อุโมงค์ขึ้นมารีบนำไปปล่อยปากแม่น้ำเจ้าพระยาตรงคลองเตยครับ ช่วยลดระยะเวลาการขังตัวของน้ำในพื้นที่เขตดังกล่าว

ภาพประกอบความสูงจากพันทิป ซึ่งได้แปลอธิบายเป็นตัวอักษรให้คุณชูพงศ์ด้านบนแล้ว



กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 11, 14:13
แว่วๆเสียงจากข่าวโทรทัศน์  ว่ามีผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องออกมายอมรับว่า อุโมงค์ยักษ์ที่สร้าง ทำงานไม่ได้ผล      ใครพอจะขยายความเรื่องนี้ให้เข้าใจหน่อยได้ไหมคะ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ต.ค. 11, 14:22
แว่วๆเสียงจากข่าวโทรทัศน์  ว่ามีผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องออกมายอมรับว่า อุโมงค์ยักษ์ที่สร้าง ทำงานไม่ได้ผล      ใครพอจะขยายความเรื่องนี้ให้เข้าใจหน่อยได้ไหมคะ

ไม่ได้ผลอย่างไรเดี๋ยวคงรู้กัน  ;D

9 ต.ค. - กทม.เชื่ออุโมงค์ยักษ์ช่วยระบายน้ำออกจากด้านฝั่งตะวันออกได้ พร้อมให้ทุกเขตเตรียมสถานที่อพยพประชาชน ยืนยันไม่ได้มีการปิดประตูระบายน้ำแต่หากหน่วยงานใดขอให้เปิดเพิ่มขอให้แจ้งล่วงหน้า

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการทำงานอุโมงค์ยักษ์พระราม 9-รามคำแหง ภายในสถานีสูบน้ำพระโขนง และให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า อุโมงค์ยักษ์แห่งนี้ ทำหน้าที่สูบระบายน้ำและควบคุมระดับน้ำในคลองพระโขนง ซึ่งเชื่อมต่อกับคลองประเวศ คลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว รับระบายน้ำฝน น้ำทิ้งจากชุมชนในเขตพระโขนง บึงกุ่ม วัฒนา คลองเตย มีนบุรี หนองจอก ประเวศ ลาดกระบัง ห้วยขวาง และลาดพร้าว รวมพื้นที่รับผิดชอบ 360 กิโลเมตร ก่อนระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้อุโมงค์ดังกล่าวได้เปิดทำงานเต็มอัตราตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง ทำให้สามารถมีกำลังในการระบาย 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมกับสถานีสูบน้ำพระโขนงอีก 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้สถานีสูบน้ำแห่งนี้มีกำลังการสูบน้ำทั้งสิ้น 210 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือคิดเป็นประมาณ 4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ถ้าหากรวมกับสถานีสูบน้ำแห่งอื่นๆทั่วกรุงเทพมหานครจะมีกำลังการระบายน้ำประมาณ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ในปริมาณการระบายน้ำดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่เพียงพอที่สามารถระบายน้ำและป้องกันการท่วมภายในพื้นที่กทม. และสามารถเพิ่มได้หากมีการประสานงานมา

"ผมขอยืนยันว่า สถานีสูบน้ำของกทม.ไม่ได้ปิดประตูตามที่เป็นข่าว ทั้งนี้การเปิดประตูระบายน้ำขึ้นอยู่กับศักยภาพและขนาดของสถานีระบายน้ำแต่ละแห่ง รวมถึงชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ หากหน่วยงานใดต้องการให้ประตูระบายน้ำเพิ่มขีดความสามารถในการระบายน้ำให้มากขึ้นก็สามารถดำเนินการได้ เพียงแต่ต้องประสานล่วงหน้า เพื่อจะได้ประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ เตรียมพร้อมกับปริมาณน้ำทีเพิ่มขึ้นจากการระบายน้ำของสถานีที่จะเปิดเพิ่มขึ้น" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าว

นอกจากนี้ยังเป็นห่วงในช่วง 13-16 ตุลาคม เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนเข้ามาเพิ่ม ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า เป็นห่วงในพื้นที่กทม.ด้านตะวันออก และพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำใน 13 เขตที่อาจได้รับผลกระทบ พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้สำนักงานเขตในพื้นที่เสี่ยงเตรียมความพร้อมในการอพยพประชาชน หากกรณีน้ำท่วมสูงเข้าในพื้นที่ โดยใช้พื้นที่โรงเรียนในสังกัดเป็นสถานที่พักสำหรับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนด้วยพร้อมกับ เตรียมกระสอบทราย โดยสั่งเพิ่มอีกกว่า 1 ล้านใบ แต่ขณะนี้ติดปัญหาทรายขาดตลาดที่ไม่เฉพาะในกทม. แต่เป็นทั่วประเทศ - สำนักข่าวไทย



กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ต.ค. 11, 14:29
ด้วยงบประมาณกว่า ๒,๔๐๐ ล้านบาทนะครับที่ก่อสร้างโครงการนี้ไม่ใช่เฉพาะอุโมงค์ใต้ดินกว้าง ๕ เมตรเท่านั้น หากแต่ยังก่อสร้างสถานีสูบน้ำ เขื่อนคอนกรีตกันตลิ่งพัง ส่วนเรื่องที่จะใช้ได้เต็มประสิทธิภาพนั้นคงขึ้นกับกระบวนการของเครื่องสูบน้ำมากกว่าซึ่งต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินระบบ

ระบบท่อส่งน้ำใต้ดินเป็นระบบเดียวกับอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งใหญ่เล็กกว่ากันไม่เท่าไรนัก ข้อมูลเชิงตัวเลขวัดความกว้างอุโมงค์รถไฟใต้ดินที่ ๕.๖๐ เมตร ส่วนอุโมงค์ผันน้ำนี้กว้าง ๕ เมตรครับ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ต.ค. 11, 14:40
ลักษณะของโครงการมีแนวคิดคือการดึงน้ำในคลองแสนแสบที่เอ่อท่วมรีบระบายออกแม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วที่สุด การก่อสร้างก็ตั้งสถานีรับน้ำไว้ที่ริมคลองแสนแสบให้น้ำไหลเข้าและลงอุโมงค์ น้ำจะไหลไปยังปากคลองพระโขนงด้วยระบบใต้ดินความยาว ๒๕ กิโลเมตรและจะไปเจอกับเครื่องสูบน้ำจากใต้อุโมงค์ปล่อยออกแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยอัตรา ๖๐ ลูกบาศ์กเมตร/วินาที (๓๖๐๐ ลูกบาศ์กเมตร/นาที)

ข้อกังวลว่าประสิทธิภาพที่ไม่ร้อยเปอร์เซนต์อยู่ตรงไหน อยากจะทราบเช่นกันว่าเกิดจากอะไร เครื่องสูบน้ำมี ๔ ตัว อาจจะเดินเครื่องไม่เต็มที่ หรือการจัดระดับน้ำ หรืออัตราการไหลของน้ำในคลองแสนแสบที่ยังมีปริมาณมากเกินไป


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ต.ค. 11, 14:50
^
^
คุณหนุ่มมีแผนผังไหมครับ อุโมงค์ที่ว่านี้ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่จุดใด ผมทราบแต่ว่าอุโมงค์เป็นวิธีแก้เคล็ด คือ เมื่อก่อนมีการเสนอให้ขุด “เจ้าพระยา๒”ขึ้นเพื่อผันน้ำลงทะเล  ก็มีผู้ฉลาดคัดค้านกันตะเบ็งเซ็งแซ่ ตั้งแต่ว่าจะทำลายระบบนิเวศน์ ไปถึงทำลายภาพพจน์อันศักดิ์สิทธิ์ของแม่น้ำสายประวัติศาสตร์ของไทย จนต้องพับโครงการ ตอนหลังพอเป็นโครงการณ์อุโมงค์ระบายน้ำ กลุ่มคัดค้านเลยไม่ค่อยมีประเด็นจะเล่น

ปี๒๕๒๖ น้ำท่วมอยุธยาและภาคกลางมากกว่าปีอื่นๆก็จริง แต่ไม่หนักหนาสาหัสเหมือนกับพวกอยู่ชานเมืองหลวง เพราะกทม.เล่นสร้างเขื่อนอุดคลองทุกสายที่เมื่อก่อนจะระบายน้ำผ่านกรุงเทพไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา บันทึกหลายแห่งบอกว่าน้ำท่วมคราวนั้น๔เดือน แต่ผมขอยืนยันว่าบริเวณหัวหมาก หรือย่านรามคำแหงของคุณชูพงษ์นั้น น้ำท่วมอยู่๖เดือนครับ

ที่เป็นอย่างนี้เพราะคลองต่างๆที่ตัดเชื่อมคลองแสนแสบไปออกคลองประเวศ และตรงไปออกทะเลแถบสมุทรปราการ เช่นคลองชวดลากข้าว คลองพระองค์เจ้าไชยนุชิต ฯลฯ ที่เคยระบายน้ำฝน ก็น้ำตื้นเขินเพราะมิได้ทำนุบำรุง ผักตบชวาอยู่เต็ม นอกจากนั้นแล้วถนนบางนาตราด ถนนบางปูคลองด่าน ล้วนเป็นกำแพงกันน้ำ คือตอนสร้างถนนเหล่านี้เขาต้องการกันน้ำเค็มไม่ให้เอ่อขึ้นมาทำลายนาข้าว แต่ในทำนองกลับกัน มันก็ป้องกันน้ำหลากไม่ให้ลงทะเลด้วย

หลังน้ำลด พระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกผู้รับผิดชอบทั้งหมดทุกกรมกองไปถวายงานที่พระตำหนักอยู่นานนับปี หนึ่งในหลายๆโครงการที่ออกมาแก้ไขปัญหาสำหรับอนาคต มีการขุดลอกคลองและสร้างประตูน้ำในคลองชื่อต่างๆที่ผมกล่าวมา รู้สึกว่าแก้มลิงก็ทรงแนะนำให้ทำในช่วงนั้นด้วย น้ำท่วมใหญ่อีกครั้งในปี๒๕๓๘ หัวหมากน้ำท่วมไม่มากและไม่นานก็ลด ปีนั้นพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้ทหารเรือนำเรือยกพลขึ้นบกไปจอดเรียงเป็นตับในคลองที่ผมเอ่ยชื่อไปแล้วเพื่อใช้ใบพัดดันน้ำลงทะเลช่วงน้ำลง
ทำมั้ย ข้าราชการรุ่นนั้นที่อยู่มาถึงสมัยนี้จึงลืมเสียแล้ว ปล่อยให้คลองอยู่ในสภาพเดิมๆ นี่มาสั่งผู้ว่าสมุทรปราการให้ไปขุดลอกคลองเหล่านั้นให้เสร็จภายใน๑๐วัน มันจะเล่นแบบเผาเครื่องมากไปหน่อย

การสร้างสนามบินหนองงูเห่า ก็ไปถมที่ลุ่มผืนหมึมายักษาอันเคยเป็นพื้นที่รับน้ำฝั่งตะวันออกของกรุงเทพ คลองและลำรางเดิมต่างๆถูกถมหมด พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงทักและนักวิชาการหลายคนก็เตือนดังๆ แต่พณฯท่านทั้งหลายก็ตอบผู้สื่อข่าวว่า เค้าได้สร้างทางระบายน้ำแก้ปัญหาไว้หมดแล้ว
เอาละ แล้วท่านก็คอยดูกันต่อไป อีกไม่นานก็รู้กัน


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ต.ค. 11, 15:00
แผนผังครับ อ.NAVARAT.C เห็นปากคลองพระโขนงไหมครับ ที่ตั้งสถานีสูบน้ำไม่ได้ตั้งอยู่ติดแม่น้ำเท่าไรนัก อาจจะด้วยปัญหาพื้นที่ของท่าเรือคลองเตย ทำให้น้ำต้องใช้เวลาอีกนิดเพื่อจะออกแม่น้ำเจ้าพระยา

สำหรับอาคารน้ำเข้า Inlet นั้นก่อสร้างไว้ริมตลิ่ง ไม่ได้ตั้งขวางทางคลองแสนแสบ ลองนึกถึงสภาพน้ำไหลซ้ายไปขวา อาคารรับน้ำล้นเข้าทางข้าง ๆ คือแบบว่าน้ำมันไหลพรวดแต่ค่อย ๆ รินเข้าตลิ่งข้าง ๆ ลงสู่อุโมงค์


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ต.ค. 11, 15:06
อึมม์....มันไม่ใช่เจ้าพระยา ๒

คงได้ผลบ้าง

แค่ส่วนหนึ่ง ซึ่ง ถึงไม่น้อย ก็ไม่มากพอ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ต.ค. 11, 15:07
ภาพกำลังก่อสร้างปากทางน้ำล้นถนนพระราม ๙ ริมคลองแสนแสบ ด้านข้างเป็นคลองแสนแสบ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ต.ค. 11, 15:08
อึมม์....มันไม่ใช่เจ้าพระยา ๒

ไปบ่อยหรอครับ  ;D ;D ;D


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ต.ค. 11, 15:11
^
เคยไป แต่ก็ไม่ค่อยได้ผลเหมือนกัน :-[


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ต.ค. 11, 15:23
น้ำท่วมปี ๒๕๒๖ ประชาชนชาว กทม. ต่างร่วมชะตากรรมน้ำท่วมด้วยกันสูงบ้าง น้อยบ้าง แต่วิถีชีวิตก็อาจจะปรับเปลี่ยนกันไป มอเตอร์ไซด์รับจ้างเริ่มเข้ามามีบทบาทในการขนส่งผู้คนหลังน้ำลด เรือโดยสารต่างออกตัวกันเป็นล่ำเป็นสัน

ช่วงนั้นได้ยินข่าวที่น่ากลัวอย่างหนึ่งว่า เวลาเดินในน้ำท่วมให้ระวังไม้เสียบลูกชิ้นให้ดี เวลาเดินลุยน้ำไม้จะพุ่งเข้าเสียบขาเลย เรื่องงูก็น่ากลัวไม่น้อย ยกเหตุการณ์การกั้นกระสอบทราบที่หน้าบ้านข้าพเจ้า ตลอดระยะภาวะน้ำท่วมก็แปลกใจว่าทำไมน้ำซึมผ่านกระสอบทรายได้ทุก ๆ วัน หลังกระสอบทรายเป็นพื้นที่แห้งจะยาด้วยดินเหนียวตามรูไม่ให้น้ำไหล อุดรูต่าง ๆ ไว้

หลังน้ำลดก็ค่อย ๆ เอาดินเหนียวออกเจอรูอยู่ ๑ รูไม่ได้คิดอะไรมาก ก็นึกว่ารูนี้ไงที่ทำให้น้ำไหลซึมตลอดเวลา ที่ไหนได้ พอยกกระสอบทรายขึ้นมา เผ่นกันแทบไม่ทัน งูดินยาวมากมาอาศัยซ่อนตัวอยู่นี่เอง น่ากลัวมากครับ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ต.ค. 11, 16:00
อุโมงค์ของกทม.ปล่อยออกแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยอัตรา ๖๐ ลูกบาศ์กเมตร/วินาที (๓๖๐๐ ลูกบาศ์กเมตร/นาที) หรือ ๕,๑๘๔,๐๐๐ลูกบาศ์กเมตร/วัน

เขื่อนภูมิพล ณ วันนี้ (เขื่อนเดียว) ระบายน้ำหนีน้ำล้นเขื่อนวันละ ๑๐๐ล้าน ลูกบาศ์กเมตร/วัน มากกว่ากันเกือบ๒๐เท่า ไม่นับน้ำที่มีอยู่แล้ว และน้ำที่จะมาจากท้องฟ้า


อ้างถึง
ข้อความโดย: เทาชมพู


แว่วๆเสียงจากข่าวโทรทัศน์  ว่ามีผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องออกมายอมรับว่า อุโมงค์ยักษ์ที่สร้าง ทำงานไม่ได้ผล      ใครพอจะขยายความเรื่องนี้ให้เข้าใจหน่อยได้ไหมคะ

ผมขยายความให้แล้วนะครับ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 10 ต.ค. 11, 16:38
เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูและท่านสมาชิกทุกๆท่านครับ

ผมเข้ามาครานี้ มาเปิดเผยที่อยู่ ณ ปัจจุบันครับ ผมอยู่หมู่บ้านศรีนครพัฒนา ๑ ถนนนวมินทร์ ซอยนวมินทร์ ๒๔ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม ทางบ้านบอกใจเย็นๆ ถึงน้ำจะท่วมก็แค่ตาตุ่ม แต่ลึกๆแล้ว ผมเกรงจะหนักกว่านั้นครับ  ห่วงวรรณคดี/กวีนิพนธ์ซึ่งสะสมมาตั้งแต่อยู่ ม.๒ จนปัจจุบันเหลือเกิน หลายเล่มไม่มีสำนักพิมพ์ใดพิมพ์ใหม่แล้ว ครั้นจะรบกวนผู้ใหญ่ท่านให้ช่วยปกป้องสรรพหนังสือ ขนขึ้นชั้นสองจนสิ้น ข้าวของจำเป็นอันต้องพิทักษ์รักษาก็ยังมีอีกมาก เรียนสารภาพว่าทำเอาผมเครียดอยู่ขณะนี้ครับ ท่านใดพอจะมีคำแนะนำหรือผ่อนหนักเป็นเบาได้ จะเป็นพระคุณมากล้นพ้นประมาณครับผม

 


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ต.ค. 11, 16:43
คุณชูพงศ์ที่นับถือ
เอาหนังสือใส่ลังพลาสติกไว้ครับ ลังที่เป็นพลาสติกมีล้อเลื่อน มีฝาปิด ยกไว้ที่สูงจะช่วยได้มากและเก็บไว้ชั้น ๒ ของบ้านดีแล้วครับ แต่ที่สำคัญที่สุดขอให้ระวังเรื่องไฟฟ้าไว้ให้มาก อันตรายนะครับ

เรื่องระดับน้ำสูงมากน้อยนั้น ปีนี้น้ำมามาสูงมากครับ เพื่อนที่ทำงานอยู่นวมินทร์ แถวที่ดินบางกะปิ ก็กั้นคอกล้อมคอนกรีตไว้แล้วครับ นิ่งนอนใจไม่ได้นะ

ที่สำคัญน้ำจะซึมเข้าจากห้องน้ำ ทางระบายน้ำ ต้องเหลาโฟมเป็นจุกไว้อุดนะครับ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ต.ค. 11, 17:40
ถุงดำครับ ถูกดี เอาแบบหนาที่สุด ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะหาได้ ซื้อมาหลายๆใบ อะไรที่ไม่ต้องการให้เปียกน้ำ บรรจงใส่ไว้ หนังสือ เสื้อผ้า ของรักทั้งหลายใส่ได้หมด ระวังอย่าให้มีคมไปตำถุงทะลุได้เท่านั้น

ใส่เสร็จไล่อากาศออกให้มากที่สุด เอาหนังสติ๊กหลายๆเส้นทบกัน รัดปากถุงให้แน่น จัดวางเรียงกับพื้นที่ไหนก็ได้ ในห้องก็ดี นอกบ้านก็ได้ หลังจากนั้นทำใจให้สบาย ไม่ต้องเครียด ถ้าน้ำลดแล้วค่อยไปแกะเอาออก ต่อให้น้ำท่วมแค่ไหน ก็ไม่เปียก

ระวังอย่าให้ไหลไปตามน้ำได้แค่นั้น เพราะจะลำบากตามไปเก็บ

โชคดีครับ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 11, 18:33
ทำตามคำแนะนำของคุณ navarat.c และคุณ siamese ดีที่สุดแล้วค่ะ    อะไรที่ต้องเรียงใส่ลังยกขึ้นชั้นบนได้ก็ยก    อะไรที่ใส่ถุงได้โดยไม่ต้องกลัวยับหรือหัก ก็เอาลงถุงแล้วมัดปากให้แน่น
บ้านดิฉันอยู่ในที่ดอน ไม่เคยน้ำท่วม  แต่ปีนี้ชักไม่แน่ใจ   เพราะมีการระบายน้ำออกจากแม่น้ำมาเข้าคูคลองต่างๆริมแม่น้ำ  อาจจะมาถึงบ้านเมื่อใดก็ได้   ที่บ้าน ของมีค่าก็มีแต่หนังสือเช่นกัน  ก็จะต้องเตรียมถุงดำเอาไว้   ส่วนลังเต็มหมดแล้ว


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 10 ต.ค. 11, 23:55
ตอนนี้ข้าพเจ้ากำลังปวดหัวมากกับปัญหาน้ำท่วม แม้ตัวจะอยู่จีน แต่ที่เมืองไทยก็มีแม่และป้าอยู่

บ้านข้าพเจ้าสมบัติอะไรที่มากที่สุดและเยอะที่สุดคือหนังสือ มีเป็นห้องๆ จนไปซื้อบ้านไว้ที่อยุธยาเพื่อไว้หนังสือประดามี (ใกล้ๆศูนย์ศิลปาชีพ)

ตอนแรกหมู่บ้านของข้าพเจ้านี้เขาว่าวางใจน้ำไม่ท่วม เพราะว่าจะกั้นไว้เป็นที่พักผู้ประสบภัย แม่เล่าว่าคนมาอยู่เต็มถนนในหมู่บ้านน่าสงสารมากๆ

แต่ว่าแม่พึ่งโทรศัพท์มาในวันนี้เย็นๆว่า เขื่อนดินทำท่าจะเอาไม่อยู่แล้ว จะแตกภายในคืนวันอังคารนี้

น้ำจะเข้ามาในความสูงอย่างต่ำหนึ่งเมตร ฟังแล้วใจหายวาบ สงสารแม่กับป้า แล้วก็คนที่มาหลบภัย

โอ๊ย...ย...ย

อันนี้ขอฝากไว้นิดหนึ่งว่า เดือนหน้าโปรดระวังดีๆ วันที่ ๑ - ๑๐ อาจหนักกว่าเก่าอีกก็ได้

กลุ้ม

ปล. ขนาดบ้านข้าพเจ้าอยู่ทองหล่อ ที่ซึ่งปรกติแล้วน้ำไม่ควรท่วม เพื่อนบ้านเอากระสอบทราบมากันกันเต็ม ประหนึ่งว่าหลุ่มหลบภัย


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 11 ต.ค. 11, 09:13
กระผมขอกราบขอบพระคุณในคำแนะนำอันมีค่ายิ่งของท่าน navarat.c คุณหนุ่มสยาม และท่านอาจารย์เทาชมพูครับ

   ทางบ้านผม ผู้ใหญ่ท่านมีแผนจะขนสรรพหนังสือ (เท่าที่กำลังจะแบกขนไหว) ขึ้นชั้นสองครับ แต่ตอนนี้ยังไม่เคลื่อนย้าย เพราะดูๆเหมือนท่านจะวางใจระดับน้ำในคลองพังพวย ผมสะกิดท่านแล้วว่า มันจะไม่ค่อยๆเอ่อขึ้นมานะ ทะลักพรวดพราดเลย แป๊บเดียวสูงถึงเมตร คราวนี้หละจะโกลาหล เอาเถอะครับ... ตามดูกันต่อไปครับ อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด ถ้าสมมุติผมต้องสูญเสียหนังสือจริง แผนการในอนาคตซึ่งเตรียมไว้คือ เบิกเงินสะสมจากธนาคารมาจำนวนหนึ่งเพื่อเก็บกว้านซื้อวรรณคดีคืน ยึดประกาศของวรรณคดีสโมสรเป็นหลัก แล้วเพิ่มเติมรายชื่ออื่นๆภายหลัง เกาะติดอยู่กับศึกษาภัณฑ์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร ศูนย์หนังสือจุฬา ได้เท่าไหนเอาเท่านั้นก่อนครับ  ส่วนเล่มใดหาได้ยาก ผมคงต้องขอรบกวนท่านสมาชิกเรือนไทยบ้างสักเล็กน้อยครับ วิธีการคือ จะส่งข้อความแบบหลังไมค์ เรียนถามท่านที่เป็นนักเลงหนังสือเก่าว่าหนังสือเล่มนี้หาได้จากแหล่งใดบ้าง  แล้วบุกลุยด้วยตัวเอง เก็บกู้คืนมาอย่างช้าๆ ช้าๆ ไม่สนใจว่าภูมิลำเนาที่มีหนังสือเล่มนั้นๆอยู่จะใกล้ไกลเพียงใด ต่อให้ต้องประสบอุบัติเหตุระหว่างเดินทาง แต่ได้วรรณคดีมรดกของชาติ สมบัติของคนไทยที่พึงรักษาหวงแหนมาไว้ในครอบครอง ผมว่าชีวิตผมคุ้มค่าแล้วครับ
 


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 11 ต.ค. 11, 09:26
อย่ารอให้คนขนขึ้นชั้นสองเลยค่ะ เตรียมเอาหนังสือใส่ถุงดำไว้ก่อนเลย
ใส่ปริมาณพอยกไหว แล้วใช้ยางมัดปากถุงให้แน่น ถ้าขนขึ้นทันก็ขน
ถ้าไม่ทันก็ไม่เปียก หลังน้ำลดค่อยมาทำความสะอาด

ตอนนี้ถุงดำอย่างหนาเริ่มขาดตลาดแล้วนะคะ
เมื่อวานหนูดีดีไปซื้อที่ห้างแถวบ้าน บนชั้นวางไม่มีเหลือค่ะ
พนักงานเข็นมาเสริมยังไม่ทันถึงชั้นวางเลยค่ะ แย่งกันหยิบอุตลุดเลย

ซื้อกระสอบทรายไม่ทันค่ะ แถวบ้านหมดเรียบ เพื่อนเลยแนะนำว่าถุงดำนั่นแหละ
เอาน้ำใส่เข้าไป มัดให้แน่น แล้ววางแทนกระสอบทราย พอกันน้ำได้
แต่อย่าเผลอไปเหยียบเชียวนะ... ;D

ก็ขอให้รอดปลอดภัยกันทุกคนนะคะ...

มีเว็ปแนะนำค่ะ เป็นเฟสบุ๊ค ชื่อ น้ำขึ้นให้รีบบอก
http://www.facebook.com/room2680#!/room2680?sk=app_2373072738 (http://www.facebook.com/room2680#!/room2680?sk=app_2373072738)
สังคมเล็กๆ ที่คอยส่งข่าวและกำลังใจ ในช่วงน้ำท่วมค่ะ...



กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ต.ค. 11, 09:54
เรียนคุณชูพงศ์ ที่นับถือ

น้ำท่วมครั้งนี้ระดับน้ำมาปริมาณมาก ทุกพื้นที่ยิ่งกั้นยิ่งป้องกัน ยิ่งทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น และน้ำที่กำลังจะบุกเข้ากรุงเทพฯ เป็นเพียงหัวขบวนน้ำเท่านั้น ส่วนท้ายน้ำยังอยู่ที่นครสวรรค์ยังท่วมอยู่เลย ดังนั้นหากพื้นที่กรุงเทพท่วมแล้วคาดว่าอีกเป็นเดือนคงจะหายท่วม

ทั้งนี้ขอให้ป้องกันไว้เลยครับ อย่านิ่งนอนใจ เนื่องจากพื้นที่นวมินทร์ เป็นเขตที่เขาประกาศว่าเป็นเขตเสี่ยงภัยด้วย วิธีตอนนี้ที่ป้องกันได้อีกวิธีหนึ่งคือ การก่อกำแพงปูนปิดไว้หน้าบ้านเลยครับ ใช้กระสอบทรายหนุนเล็กน้อยพอเดินขึ้น อุดท่อให้อยู่เพื่อป้องกันบ้านตัวเองให้รอด หากมีน้ำซึมให้สูบน้ำออก สามารถปกป้องบ้านได้ครับ ขอให้นึกว่าอย่าได้ประมาทครับ น้ำมาครั้งนี้หนักหนานัก


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ต.ค. 11, 10:14

       คุณดีดีแนะนำถูกต้องแล้วค่ะ  เรื่องใส่หนังสือในถุงปริมาณที่ยกไหว

คนขายหนังสือจะใช้ลังเบียร์เพราะอุ้มไหว

เป็นคนหนึ่งที่เผชิญความเสียหายจากน้ำท่วมหัวหมากมาเหมือนกัน  และความเสียหายที่ตามมา

จะเล่าก็ยังมีความแค้นระคนอยู่   เรียกว่าฝังใจ       มีสตังค์ออมไว้ไม่มากแต่เมื่อถึงเวลาแล้ว

ตนก็เป็นที่พึ่งของตน   ต้องสละทรัพย์เพื่อรักษาชีวิตไว้

       น้ำที่มานั้นมาไวมาก   ดิฉันเฝ้าสูบสองตัวอยู่หลังเที่ยงคืนแล้ว ๒๕๒๖  ที่ผ่านมา     ตูมเดียวน้ำสูงขึ้นทีละศอก

ขอให้รักษาตัวและสุขภาพไว้ก่อน  


เรื่องหาหนังสือทดแทนจะยากอะไร   ยื่นมือออกไปก็จะได้มา


สหายที่เคารพของข้าพเจ้า  ปีนี้ไม่ได้ไปฝากวางหนังสือที่งาน  เพราะต้องอยู่เฝ้าบ้าน    เขาขายหนังสือระดับ

กลาง  แต่มีหนังสือยอดดวงใจกองเต็มไปหมดทั้งบ้าน         เขามีหนังสือที่มีลายเซ็นของนายวรรณด้วย

โรงรถด้านหน้าบ้านนั้นคงจะท่วมแน่   และหนังสือเป็นหมื่นเล่มก็จะสูญ


สหายคุณพระเฉียบเรียงเรียบวางแผนสั่งรถ ๖ ล้อสองคันเข้ามาขนหนังสือย้ายไปในที่สูงแล้ว     ดิฉันเกรงว่าท่านจะฝันว่าจะขน

หนังสือคนเดียวไหว        ได้เสนอไปว่า  ขนหนังสือมาบ้านดิฉันก็ได้    มีที่เก็บถมไป

ท่านหัวเราะเสียงแห้ง ๆ ว่า เกรงว่าจะได้คืนไม่ครบ

โอ!   ตายจริง     เสือย่อมรู้จักสิงห์

คงยืมอ่านแล้ววางไว้ทั่วบ้านมากกว่า
      


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 11 ต.ค. 11, 10:46
ผมขอกราบขอบพระคุณในความกรุณาของทุกๆท่านครับ ไม่ว่าจะเป็นคุณดีดี คุณหนุ่มสยาม คุณวันดี

   ผมไม่คิดหรอกครับว่าหนังสือทุกเล่มจะพ้นภัย เพราะคะเนจากข่าวแล้วว่า ปริมาณน้ำครานี้มากมายราวทะเลเทคว่ำ มิใช่กระต่ายตื่นตูมหรอกครับ แต่หยั่งเอาด้วยการพินิจข่าวสารแล้ว มันมหาศาลพันลึกจริงๆ เมื่อวันอาทิตย์ ผมทำรายชื่อบัญชี “หนังสือหนีน้ำ” เอาไว้แล้วครับ  แต่ก็ยังมิได้ปลิ๊นท์จากไฟล์ออกมาให้ทางบ้านดู หนังสือทั้งตู้ ผมคัดเหลือไม่เกินหนึ่งร้อยเล่ม เอาจำเพาะสุดยอดของโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ลิลิต และกวีนิพนธ์บางเล่ม ส่วนนวนิยายนั้นตายยาก จะเก่าแค่ไหนเขาก็ยังขายกันดาษดื่น ถ้าจะลอยตุ๊บป่องๆผมก็สามารถยืนดูได้ไม่ทุกข์ร้อนกระไรนัก แต่สำหรับวรรณคดี/กวีนิพนธ์ ถ้าสูญไปก็ดั่งสูญขวัญ เพราะเดี๋ยวนี้คนอ่านกันน้อยมาก สำนักพิมพ์จะพิมพ์ใหม่หรือก็ขาดทุนยับเยิน น่าเห็นใจเขาครับ สรุป ถ้าผู้ใหญ่ท่านยังนอนใจก็ปล่อยให้ท่านนอนไปก่อน ในเมื่อท่านสัญญาไว้แล้วว่าจะคุ้มครองหนังสือให้ ผมก็ต้องไว้ใจท่าน ทว่าโดยส่วนตัว คิดว่าชั้นที่หนึ่งของบ้าน น้ำซึมถึงตาตุ่มแน่ครับ
 


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ต.ค. 11, 11:01
เรียนคุณชูพงศ์
ช่วงบ่ายทำเลยนะครับ น้ำท่าไม่รอใคร อันไหนทำได้ทำไปก่อนจะได้ไม่เป็นอุปสรรค์ในภายหน้า สำหรับหนังสือที่ไม่ได้รับการคัดเลือก ถ้าถึงท้ายที่สุดอย่าปล่อยให้หายไปกับน้ำ ทุกอักษรทุกตัวหนังสือล้ำค่าในความรู้สึก ให้จัดใส่ถุงดำหลายชั้น มันให้แน่นตามคุณดีดีแนะนำ ดีกว่าครับ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ต.ค. 11, 11:03
ผมถึงจะเกิดทันเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี ๒๕๒๖  แต่ก็ยังจำความไม่ได้
เพราะยังเด็กมาก   แต่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า   สวนแถวบ้านเสริมคันดิน
วางกระสอบทราบกันโกลาหล   สูบน้ำออกกันทั้งวันทั้งคืน  
แต่จะสูบน้ำออกมากก็ไม่ได้  เพราะเดี๋ยวหักจมทั้งสวนทั้งบ้าน
ซึ่งจะกู้คืนไม่ไหว  เนื่องจากน้ำมาก   กรณีทำนบคันดินหักนี้
เคยเห็นตัวอย่างมาแล้ว   เสียงล้งเล้งไปหมด  โครมเดียวน้ำเจิ่ง

ผู้ใหญ่อีกคนเล่าให้ฟังว่า  ท่านวางผมไว้ที่แท่นบันไดที่บ้าน
ส่วนผู้ใหญ่ก็ไปขนดินมากั้นน้ำรอบบ้าน  ผมก็ดีเหลือเกิน
ไม่คลานดุกดิกไปไหน   วางไว้ตรงไหนก็นั่งเล่นตรงนั้น
ถ้าเป็นเด็กซนๆ หน่อย  เห็นจะดำน้ำเป็นตั้งแต่ยังไม่ได้เรียนอนุบาล

ที่จริงถ้าจะพูดถึงน้ำท่วม  น้ำท่วมปี ๒๕๓๘  ประทับใจผมมากกว่า
เพราะผมต้องกรอกกระสอบทรายทุกวัน เช้าจรดเย็น  
ทำอย่างนี้  ๑ เดือนเศษ  เพราะน้ำสูงขึ้นทุกวัน  วางกระสอบทราย
รอบสวนสูงถึง ๔ ชั้น  ใช้กระสอบแป้งมันสำปะหลัง  กระสอบอาหารปลา
กระสอบข้าวสาร  กระสอบปุ๋ย ใส่ทรายค่อนกระสอบ  ซ้อน ๔ ชั้น
คุณผู้อ่านคิดว่า มันสูงขนาดไหน  เอวครับ   พอน้ำลดแล้ว
ไปเดินบนกระสอบที่วางไว้นั้น  เหมือนเดินปากเหวเลย


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ต.ค. 11, 11:31
^
ดีนะไม่ตกน้ำตกท่าไป  ;D


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ต.ค. 11, 11:43


น่าจะเดินได้แล้วนะ   อะไร้สามสี่ขวบแล้วนี่


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ต.ค. 11, 11:53

น่าจะเดินได้แล้วนะ   อะไร้สามสี่ขวบแล้วนี่

คนเขารู้จักระมัดระวังตัว   รู้ว่าอะไรควรไม่ควร


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 13 ต.ค. 11, 09:17
ผมขอกราบขอบพระคุณในความกรุณาของทุกๆท่านครับ ไม่ว่าจะเป็นคุณดีดี คุณหนุ่มสยาม คุณวันดี

   ผมไม่คิดหรอกครับว่าหนังสือทุกเล่มจะพ้นภัย เพราะคะเนจากข่าวแล้วว่า ปริมาณน้ำครานี้มากมายราวทะเลเทคว่ำ มิใช่กระต่ายตื่นตูมหรอกครับ แต่หยั่งเอาด้วยการพินิจข่าวสารแล้ว มันมหาศาลพันลึกจริงๆ เมื่อวันอาทิตย์ ผมทำรายชื่อบัญชี “หนังสือหนีน้ำ” เอาไว้แล้วครับ  แต่ก็ยังมิได้ปลิ๊นท์จากไฟล์ออกมาให้ทางบ้านดู หนังสือทั้งตู้ ผมคัดเหลือไม่เกินหนึ่งร้อยเล่ม เอาจำเพาะสุดยอดของโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ลิลิต และกวีนิพนธ์บางเล่ม ส่วนนวนิยายนั้นตายยาก จะเก่าแค่ไหนเขาก็ยังขายกันดาษดื่น ถ้าจะลอยตุ๊บป่องๆผมก็สามารถยืนดูได้ไม่ทุกข์ร้อนกระไรนัก แต่สำหรับวรรณคดี/กวีนิพนธ์ ถ้าสูญไปก็ดั่งสูญขวัญ เพราะเดี๋ยวนี้คนอ่านกันน้อยมาก สำนักพิมพ์จะพิมพ์ใหม่หรือก็ขาดทุนยับเยิน น่าเห็นใจเขาครับ สรุป ถ้าผู้ใหญ่ท่านยังนอนใจก็ปล่อยให้ท่านนอนไปก่อน ในเมื่อท่านสัญญาไว้แล้วว่าจะคุ้มครองหนังสือให้ ผมก็ต้องไว้ใจท่าน ทว่าโดยส่วนตัว คิดว่าชั้นที่หนึ่งของบ้าน น้ำซึมถึงตาตุ่มแน่ครับ
 


ผมเปิดแผนที่ใน google ที่หมู่บ้านที่คุณชูพงศ์อยู่ บอกไม่ได้ว่าจะท่วมสูงแค่ไหน แต่ก็พอคาดได้ว่าน้ำจะเอ่อมาจากทางคลองหลังหมู่บ้านแน่นอน ถ้าคุณคะเนว่าน้ำไม่น่าจะท่วมสูงมาก ไม่เกินหัวเข่า ก็แนะนำว่าให้ที่บ้านซื้อถังส้วมปูนสักสองใบอย่างใหญ่ มันจะสูงประมาณ 70 เซนติเมตร เส้นผ่าศูน์กลาง 1 เมตร จัดการหาที่ว่างในบ้าน วางถังกับพื้น เอาแผ่นไม้กระดานอย่างหนาประมาณ 10 มิลลิเมตร ซื้อที่ร้านวัสุก่อสร้าง มันจะมีขนาดยาว 2.40 เมตร กว้าง 1.20 เมตร วางบนถังส้วม เอาหนังสือใส่ถุงพลาสติกใบใหญ่มัดปากถุง แล้วกองไว้บนแผ่นกระดานนี้ไว้ชั่วคราวก็ได้ครับ

ถ้าคิดว่าท่วมถึงเอว ก็ต้องใช้ 4 ถัง วางซ้อนกันสองชั้น ก็สูงประมาณแค่หน้าอกหละครับ น้ำลดแล้วก็ยังเอาถังปูน เอาไม้กระดานไปใช้อย่างอื่นได้

หากพื้นที่ยังเหลือ ก็เก็บพวกอุปกรณืไฟฟ้าทั้งหลายขึ้นมาวางไว้ด้วย ไม่ต้องกลัวพังครับ มันรับน้ำหนักได้มากกว่า 1 ตัน ถังปูนสองใบไม่กี่ร้อยบาท แต่แผ่นไม้กระดานแพงหน่อย รวมแล้วก็พันกว่าบาท แต่เทียบกับคุณค่าของหนังสือ มันสุดแสนจะคุ้มครับ

จัดของให้ดีๆ ยังมีพื้นที่เหลือให้อนเฝ้ายังได้เลยครับ



กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 13 ต.ค. 11, 12:05
สภาพน้ำท่วมมหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก เมื่อปี 2526






กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ต.ค. 11, 13:16
^
^
ลุงไก่ ?

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 13 ต.ค. 11, 14:28
กราบขอบพระคุณความการุณย์ ข้อแนะนำจากคุณลุงไก่ครับ เมื่อคืนฝนถล่ม ผมนี้ใจตึกๆตักๆ รุ่งเช้ามาน้ำยังไม่เอ่อ เฮ่อ... ค่อยโล่งอก ช่วงนี้ลุ้นน้ำเสียยิ่งกว่าลุ้นภาพยนตร์หรือลุ้นนวนิยายหลายเท่าครับ
 


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 15 ต.ค. 11, 23:00
จำได้เลา ๆ ว่า ตอนนั้นปิดเทอม น้ำเริ่ม ๆ ขึ้นมาเรื่อย ๆ พี่ชายผมก็เริ่มเอาดินน้ำมันไปอุดตามท่อน้ำต่าง ๆ แต่น้ำก็ยังซึมเข้ามาตลอด ผมกำลังสนุกสนาน ได้วิดน้ำกับเขาเป็นครั้งแรก สนุกมากจริง ๆ แต่วิดไปวิดมา น้ำมันมามากเกินไป แม่เลยให้ไปอยู่ชั้นสอง แต่พ่อก็ยังไปทำงานไม่ได้หยุด แต่แม่หยุดมาดูผมที่บ้านแล้ว พี่ชายกับพี่สาวไปเรียนตามปกติ และรู้สึกว่า พ่อจะฝากไว้บ้านญาติแถว ๆ สุรวงศ์ ที่น้ำท่วมไม่ถึง เพราะ กทม. เขากันไว้ไม่ให้ท่วม

ไป ๆ มา ๆ ทหารก็ต้องเอา GMC มาขนคนออกไป ตอนแรกไปนอนโรงแรมโก้ ๆ หลายคืน แต่มันอึดอัดมาก ก็เลยย้ายไปนอนบ้านน้าเขยแถว ๆ บางเขน ได้เห็นเขาลอยกระทงกันหน้าบ้านที่น้ำท่วมด้วย กลับมา น้ำเห็นคราบน้ำท่วมสูงมิดหัวเลย ยังมีคราบบอกอย่างชัดเจน


รู้สึกหลังจากนั้น มีเพลงมาล้อ ปู่เทียม ด้วยเหมือนกัน จำได้เลา ๆ  แต่ไม่ชัด ท่อนฮุคร้องประมาณว่า ข้อยสงสาร ปู่เทียมเหลือใจ ( ถ้าจำไม่ผิดนะครับ อาจจะผิดก็ได้เพราะจำตอนเด็กอยู่ ตอนนี้แก่แล้ว ๕๕๕๕ )


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ต.ค. 11, 08:05
วันนี้ไทยรัฐเอาภาพประว้ติศาสตร์ชุดน้ำท่วมปี๒๕๒๖มาลงครับ

http://www.thairath.co.th/content/region/210756

เชิญไปดู

ใครอยากรู้ ย่านที่ตนอยู่ทุกวันนี้ ถ้าน้ำทะลักเข้ามาแบบเลวร้ายที่สุด จะระดับไหน ก็เชิญไปเลือกดู
หรือแก็งค์ลูกน้ำจะบอกให้ รูปไหนเป็นย่านไหนก็คงจะดี


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ต.ค. 11, 08:34
เหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ๓ พ.ศ.  ๒๔๘๕ - ๒๕๒๖ - ๒๕๓๘

http://www.youtube.com/watch?v=7xXrPFDEJoc&feature=related


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ต.ค. 11, 16:58
พอดีไปได้รูปที่ลูกสาวเอาไปเก็บไว้ เป็นรูปน้ำท่วมเมื่อปี๒๕๒๖ จึงเอามาฝากไว้ให้กระทู้นี้

บ้านผมอยู่ถนนกรุงเทพกรีฑา ซอย๘ แยก๑๐ (ถนนหมู่บ้านนักกิฬาแหลมทอง หัวหมาก) รูปชุดนี้ถ่ายที่ถนนหน้าประตูบ้าน

ระดับน้ำก็ตามที่เห็นนั่นแหละครับ แต่แหน เกิดจากน้ำท่วมขังนานมาก ประมาณ ๔เดือนมั้ง  ในหมู่บ้านนักกิฬาน้ำลึกกว่านี้ สักประมาณหัวเข่าโดยเฉลี่ย


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ต.ค. 11, 17:00
ลูกสองคนของผม ตอนนี้อายุเข้าไปสามสิบกลางๆแล้ว ผมถามเขาว่าจำน้ำท่วมคราวนั้นได้ไหม เขาบอกว่าจำได้ มันสนุกมาก

ผมเป็นตัวพ่อ ไม่ค่อยจะมีรูปกับเขาเพราะเป็นคนถ่าย แม่ลูกน่ะเขามีความสุขกันดี แต่ตัวพ่อไม่เป็นสุขเท่าไหร่เพราะทำหน้าที่เบ๊  แต่ก็ไม่ถึงกับทนทุกข์นะครับ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ต.ค. 11, 17:08
หลังน้ำท่วม ถนนกรุงเทพกรีฑาได้รับการถมเพิ่มระดับขึ้นมาสูงกว่าที่เคยน้ำท่วม  หากปีนี้ น้ำหลากเข้ามา ก็ไม่น่าจะเลวร้ายกว่าครั้งนั้น

ใครที่อยู่แถวนี้ดูรูปแล้ว ผมหวังว่าจะสบายใจได้ในระดับหนึ่ง

แต่อะไรจะเกิด มันก็ต้องเกิดนะครับ
ขอให้นึกไว้อย่างงั้นก็แล้วกัน


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ต.ค. 11, 17:39
^
เรื่องการถมถนนให้สูงขึ้นนี้ ผมก็มีแนวคิดอีกประการว่า อย่าลืมเรื่องดินทรุดในพื้นที่กรุงเทพ (Soil Settlement) ด้วยนะครับ การทรุดจะทรุดทั้งพื้นที่วงกว้าง ดังนั้นถมถนนใหม่หรือไม่ถม คงต้องอ้างอิงจากพื้นที่ความสูงอ้างอิงจากระดับน้ำทะเลว่ามีผลต่างกันในรอบ 30 ปีเท่าไร


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ต.ค. 11, 18:09
จริงของคุณ ทุกวันนี้เราไม่มีจุดอ้างอิงเลยว่า ถนนหน้าบ้านของเราเป็นระดับ+หรือ-เท่าไรจากระดับ+/-0 หรือระดับน้ำทะเลปานกลาง

สมมติเวลาเขาบอกว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพ 50 เซนติเมตร เราไม่มีทางทราบเลยว่า ณ ตำแหน่งหน้าบ้านของเรา น้ำจะท่วมกี่เซนติเมตร


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 22 ต.ค. 11, 21:50
มาช้ายังดีกว่าไม่มา มัวแต่ไปปั่นกระทู้สู้กับน้ำอยู่ที่พันทิป คิดถึงคุณชูพงษ์มาหลายวันแล้วว่าเก็บหนังสือเสร็จหรือยัง

แวะมาบอกคุณชูพงษ์ถึงวิธีง่ายๆ ในการเก็บหนังสือหนีน้ำ ดังนี้ หาซื้อถุงพาสติกอย่างหนาใบใหญ่ๆ แบบที่พวกผู้ค้าส่งที่ตลาดไทเขาใส่พวกผักผลไม้มาจากแหล่งผลิต เอาเบอร์ 24 นิ้วเลยถ้าหาได้

ราคาไม่แพงหรอกครับ ขายเป็นน้ำหนัก กิโลละไม่เกินแปดสิบบาท ก็ได้สิบกว่าใบแล้ว

ได้มาแล้วก็บรรจงเรียงหนังสือลงในถุงให้เรียบร้อย อย่าให้ไปเกี่ยวเอาถุงขาดล่ะ ตอนปิดถุงพยายามทำให้ถุงโป่งๆ เข้าไว้จะไ้ด้มีอากาศเก็บไว้มากๆ จัดการรวบปากถุงแล้วมัดด้วยเทปกาวพลาสติกอย่างเหนียว ถ้าได้เทปกาวแบบที่ใช้ผลึกกล่องสินค้ายิ่งดีใหญ่ เทปแบบใสนะครับไม่ใช่เทปแบบสีน้ำตาล มันบางเกินไปจะขาดซะก่อน

แล้วพับปากถุงลง พันด้วยเทปกาวอีกครั้งให้แน่น วางทิ้งไว้กับพื้นบ้านชั้นล่างนั่นแหละครับ ไม่ต้องยกหนีขึ้นข้างบน แรงดันของอากาศในถุงจะช่วยดันไม่ให้น้ำเข้ามาในถุงได้ด้วยอีกส่วนหนึ่ง แต่ต้องมัดปากถุงให้แน่นจริงๆ นะครับ

ผมก็เลียนแบบมาจากการเอารถเก๋งใส่ถุงพลาสติกนั่นแหละครับ

จะได้ไม่ต้องนั่งร้องไห้ แล้วต้องแคะกระปุกไปหาหนังสือมาสะสมใหม่


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 23 ต.ค. 11, 08:57
เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู เรียนคุณลุงไก่ และท่านสมาชิกเรือนไทยทุกท่านครับ

   ณ เวลานี้ หนังสือวรรณคดี รวมถึงกวีนิพนธ์บางส่วนที่ผมเห็นว่าจำเป็นจริงๆ (หมายถึงถือเสมือนหัวใจหลัก หรือแม่แบบในการศึกษา) ได้รับการขนย้ายทยอยขึ้นชั้นสองไปแล้วครับ ผมพลอยโล่งอกไปเปลาะหนึ่งหละครับ กะไว้แล้วว่า อย่างต่ำๆ ระดับน้ำปีนี้ แถวบ้านคงประมาณ ๑ เมตร ถึงเมตรครึ่ง แต่ถ้าสูงเกินกว่าที่คะเน ก็สุดแต่บุญแต่กรรมครับ

   ระหว่างรอลุ้นว่าน้ำจะมาเมื่อไหร่ ผมก็เขียนอะไรเล่นๆ ปลอบใจตัวเองไปพลางๆเพื่อมิให้เครียดมากนัก ระบายความวิตกออกมาเสียบ้าง ขออนุญาตนำความรู้สึกของผมซึ่งบันทึกไว้ในรูปของงานตามขนบฉันทลักษณ์มาลงไว้ที่เว็ปไซต์เรือนไทยสักชิ้นนะครับ เผื่ออาจจะตรงกับความรู้สึกของอีกหลายๆท่านครับผม

คุยกับน้ำ

      ยิ้มเยื้อนเอื้อนถาม...น้ำจ๋า
หลั่งมาล้าเมื่อยเหนื่อยไหม
กรรชากกรากเชี่ยวเกรี้ยวไกร
ท่วมไทย ท่วมฟ้าธาตรี

   หลายเมืองเนืองนับรับน้ำ
ยังร่ำไล่รุกทุกที่
จวนถึงเทวาธานี
ถิ่นนี้เคยล้นชลนอง

   เชิญเยือนเรือนย่านบ้านเก่า
พวกเราคับคั่งทั้งผอง
แม้แย่ แม้กลัว หัวพอง
เราต้องรับท่าน...ทานทน

   คงเห็นเช่นตอนก่อนบ้าง
เรือจ้างลอยล่องท้องถนน
คนกรำทำงาน/ทำงน
ดั้นด้นลุยน้ำฉ่ำแด

   ป้องกันท่านไว้ไม่หยุด
เราอุด ท่านพลั่งพังแน่
คนฤาดื้อรั้นผันแปร
ธรรมชาติคือแม่แท้เทียว

   เอื้อนเผยเอ่ยพร่ำ...น้ำจ๋า
แม้นล้า เชิญพักสักเดี๋ยว
ถ้าดีมีแรงแกร่งเกลียว
อย่าเหนี่ยวหน่วงเนิ่นเกินนาน

   เครียดขึงตึงที่ศีรษะ
อยากดูวาระอวสาน
อั้นอ้นทนรอทรมาน
เชิญท่านเข้า กทม.

(เขียนเพื่อคลายความเครียดของตัวเอง เมื่อคืนวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ครับผม)








   




กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 24 ต.ค. 11, 22:36
ปี 2526 ยังจำติดตาครับ ในหมู่บ้านนักกีฬาแหลมทองเมื่อต้องไปทำงานต้องเดินลุยน้ำไปปากซอยเพื่อรอรถทหารซึ่งจะไปส่งที่บางกะปิ ถ้าไปรถไฟต้องลงเรือที่ปากซอยแล้วเรือจะไปส่งที่สถานีรถไฟทับช้าง ถ้าพลาดรถไฟเป็นอันว่าต้องนั่งเรือกลับบ้าน แถวนั้นไม่ต้องห่วงครับถ้าฝนตกตอนดึก จะนอนภาวนาขอไม่ให้น้ำท่วมเพราะออกไปทำงานไม่ได้ ลำบากจริงๆครับ หลังจากสร้างถนนวงแหวนและเปลี่ยนท่อระบายน้ำใหม่ดูเหมือนว่าน้ำจะไม่ท่วมแล้วยกเว้นน้ำในคลองบ้านม้าหรือคลองทับช้างขึ้นจริงๆก็ไม่แน่เหมือนกัน ผมโบกมือลาหมู่บ้านนักกีฬามาเกือบสิบปีแล้วเพราะหนีปัญหาน้ำท่วมมาอยู่แถวคลองสามวาช่วงนี้เลยต้องวิ่งดูน้ำตามคลองต่างๆทั้งเช้าและเย็น   


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ต.ค. 11, 08:07
"น้ำท่วมพ่ายน้ำใจ" (http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A11191801/A11191801.html) ๒๕๒๖

วันเสาร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๖

ดารา-นักร้อง ร่วมด้วยช่วยกันอย่างคับคั่ง

(http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A11263977/A11263977-18.jpg)

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 30 ต.ค. 11, 13:25
ขออนุญาตเรียนถามคุณเพ็ญชมพูครับ ดารา นักร้อง ที่คับคั่งนั้น มีใครบ้างเป็นอาทิ อย่างน้อยๆ ผมจะได้ความรู้ว่า สมัยตัวเองอายุ ๕ ขวบ ใครคือซุปเปอร์สตาร์ ขอบพระคุณครับผม


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ต.ค. 11, 13:31
คุณชูพงศ์คลิกเข้าไปอ่านที่คำว่า "น้ำท่วมพ่ายน้ำใจ" (http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A11191801/A11191801.html) ได้เลย

ในปี ๒๕๒๖ นับจากเดือนกันยายนจนถึงธันวาคม หน่วยงานตั้งแต่ราชสำนัก รัฐบาล เอกชน นิติบุคคล ต่างจัดแจกสิ่งของเงินทองไปยังผู้ประสบภัยทั่วไทยกันไม่หยุดหย่อน สื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ทุกสถานีก็ต้องประโคมข่าวเรื่องน้ำท่วม (ถึงแม้เวลาการให้ข่าวอาจจะน้อยกว่าสมัยนี้ที่ต้องทุกนาที แต่คนไทยสมัยนั้นก็คงไม่มีใครไม่รับรู้อย่างแน่นอน) แม้กระทั่งวงการบันเทิง ทั้งหนัง เพลง ละคร ก็ช่วยประโคมและเรียกร้องเรื่องน้ำท่วมในสื่อผลงานของตนไปด้วย เหมือนเป็นตัวแทนประเทศไทยจริงๆ จนกระทั่งเหล่าดารานักร้องมารวมตัวกันเป็นประวัติการณ์ ด้วยการจัดงานการกุศล เท่าที่สะดวกสุดในสมัยนั้นคือการถ่ายทอดสดรายการพิเศษทางโทรทัศน์ช่องดัง

วันเสาร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๖ ที่สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง ๗ มีรายการชื่อ "น้ำท่วมพ่ายน้ำใจ" เป็นการถ่ายทอดสดการรับบริจาคเงินเพื่อนำรายได้ทั้งหมดสู่ผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งจัดโดย มูลนิธิส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีประธานคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยร่วมมือกับภาคเอกชน พร้อมขนศิลปิน นักแสดง นักร้องชั้นนำ พร้อมด้วยหางเครื่อง มาร่วมรายการกับอย่างคับคั่งจนเกินเวลาออกอากาศ แทนที่จะจบเที่ยงคืนตายตัวตามปกติ จาก ๓ ทุ่มครึ่งก็ไปสิ้นสุดที่ตี ๓ ครึ่ง ก็เพราะมีผู้มาร่วมน้ำใจมากมายล้นเวทีห้องส่งหมอชิต โดยยอดเงินบริจาคสิ้นสุดไว้ที่ประมาณ ๒๒ ล้านบาท (ทราบข้อมูลมาจาก นสพ.ไทยรัฐ)

ดาราสุดฮอตประมาณว่า สรพงศ์-จารุณี-เนาวรัตน์-อภิรดี-มนฤดี-สุรีย์วัล-นันทิดา ตลกล้อต๊อก-เด่น-เด๋อ นักร้องอย่าง สายัณห์-ยอดรัก-พุ่มพวง-สังข์ทอง สีใส ฯลฯ ก็มาช่วยกันถึงห้องส่ง ขับกล่อมพี่น้องผู้จะคลายทุกข์คลายภัยที่ขออดหลับอดนอนเฝ้าจออยู่ทางบ้าน เพื่อรอรับข้าวของเงินทองจากดาราที่ท่านรัก

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 31 ต.ค. 11, 09:09
ขอบพระคุณความรู้จากคุณเพ็ญชมพูครับ น้ำท่วมกี่ครา ศิลปินดาราก็ออกแรงช่วยกันคับคั่ง ครั้งนี้ก็เช่นกัน ฟังข่าวแล้วชื่นใจครับผม