เรือนไทย

General Category => หน้าต่างโลก => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ค. 06, 16:41



กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ค. 06, 16:41
 แตกกิ่งก้านสาขามาจากกระทู้นี้ค่ะ
 http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Cid=20&Pid=52337
คุณนิลกังขาเป็นผู้จุดประกายขึ้นมาก่อน
.
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 28 พ.ค. 06, 16:59
 ขอบพระคุณอาจารย์ใหญ่เทาชมพูครับ

ภาพของลุงนอร์มันที่ผมชอบมากอีกภาพหนึ่ง เป็นภาพที่ของจริงรัฐบาลสหรัฐอเมริกามอบให้กับสหประชาชาติเป็นของขวัญ ตัวภาพดูเหมือนจะแขวนอยู่ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก ชื่อภาพ the golden rule คือ ใจเขาใจเรา เราอยากให้คนอื่นทำอะไรกับเราอย่างไร เราเองแก็ต้องทำอย่างนั้นกับคนอื่นด้วย เช่น เคารพในความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน ไม่ทำร้ายกัน เพราะเราเองก็ไม่ชอบให้ใครมาทำร้าย

กฏทองคำนี้ เป็นหรือควรจะเป็นกฏสากลร่วมกันของมนุษยชาติ

เดี๋ยวขอไปหารูปก่อนครับ แต่เล่าฝอยเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับรูปนี้ได้ว่า ศิลปวัตถุที่รัฐบาลต่างๆ มอบให้สหประชาชาติไว้ประดับสำนักงานนั้นมีมากมายก่ายกอง เห็นจะเป็นร้อยๆ ชิ้น ของไทยเรา ท่านนายกป๋าเปรมสมัยโน้นเคยมอบเรือสุพรรณหงส์จำลองลำหนึ่ง แล้วนายกสมัยหลังใครก็ไม่รู้จำไม่ได้ เคยมอบบุษบกจำลองอันหนึ่ง ยังตั้งโชว์อยู่ที่สหประชาชาติอยู่จนบัดนี้ครับ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 28 พ.ค. 06, 17:10

The Golden Rule


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ค. 06, 17:11


  ช่วยกันหาภาพมาคนละไม้คนละมือ  ดีจังค่ะ  



ชวนคุณติบอมาแจมด้วยอีกคน  นั่นก็มือหาภาพเหมือนกัน

ดิฉันว่าจะไปรวบรวมภาพ Freedom 4 อย่างที่ประธานาธิบดี รูสเวลท์ เอ่ยถึง

แต่ตอนนี้ขอลง Choosin' Up ก่อน



**************

เรียกอาจารย์ก็พอค่ะ  อย่ามีคำว่าใหญ่เลย

มหิดลและศิริราช เขาเรียกกันในความหมายอื่นนะคะ  แหะแหะ

.

.



กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 28 พ.ค. 06, 17:11
 ถ้อยคำของ "กฎทอง" คือ Do unto others as you would have them do unto you.

...สาธุ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 28 พ.ค. 06, 17:14
 อะจ๊ากกก....

ขออภัยอย่างสูงครับ คุณครูใหญ่ที่ไม่ใช่อาจารย์ใหญ่ ไม่ทันคิดถึงความหมายนั้นครับ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 28 พ.ค. 06, 17:20
 ภาพ Stay at Home ในกระทู้ที่แล้วที่ผมขโมยพื้นที่ของแฟนๆ เอสเช่อร์ ผมดูแล้วได้ความรู้สึกว่า ลุงแก่ชาวเรือเฒ่าเหลาเย่ที่ออกทะเลไปไม่ไหวแล้ว ยืนมองดูท้องทะเลอันเวิ้งว้างอยู่ด้วยกันกับหลานชายของแก ซึ่งยังเด็กเกินกว่าจะออกทะเลได้

ทั้งสองคนตอนนี้ผจญทะเลไม่ได้ทั้งคู่ จึงต้อง stay at home แต่คนที่ยังหนุ่มแน่นผจญทะเลไหว เช่นพ่อของเจ้าหนู ก็ไม่อยุ่กับบ้านหรือในรูปนี้ คงจะหายไปออกทะเลนั่นแหละ

แต่ประสบการณ์ของปู่เฒ่าทะเล จะได้รับการถ่ายทอดต่อไปให้เจ้าหลาน ซึ่งถึงแม้ว่าตอนนี้ยังต้องอยู่กับบ้านเป็นเพื่อนปู่ ซักวันก็จะโตพอจะออกทะเลได้เอง ในตัวปู่เราเห็นอดีต ในตัวหลานเราเห็นอนาคต


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 พ.ค. 06, 17:24
 ผมแอบตามวิวัฒนาการของกระแสเอ็จเชอร์ กลายร่างเป็นฮอบเปอร์ แล้วตะลุ่มตุ้มโป๊ะเป็นร็อคเวลล์นิยมแล้วก็ชอบใจเสียนี่กระไร อ้อ ไวอัตด้วยแหละ
สามคนหลังนี่ เป็นตัวแทนโลกสามแบบที่ซ้อนกันกันอยู่ในวิถีอเมริกัน ต่างก็เป็นแก่นแท้ของชาตินี้ เพียงแต่ว่าจะหยิบหน้าใหนมาใส่อวดชาวโลก และจะพินิจเห็นหน้าที่แท้จริงได้ด้วยแว่นอะไร

ส่วนคนที่บอกว่าร็อคเวลล์ไม่ใช่ศิลปิน ก็ปล่อยเขาไปเถอะครับ
วันนี้เส้นแบ่งระหว่างเป็นหรือไม่เป็นศิลปินมันจางลงทุกทีแล้ว
ส่วนไอ้เส้นที่ว่าเป็นมากหรือเป็นน้อยกว่ากันนี่ เขา"เคย"ใช้กัน สมัยก่อนป๊อบครับ เดี๋ยวนี้เลิกแล้ว

เมื่อพ่อแฮมิลตันทำรูปนี้ออกมา ถึงได้ตาสว่าง ว่าเราอยู่ยุคใหนกันเนี่ย ยังหลงบูชาแม่นางโมนาลิซ่าอยู่อีก

เราต้องทำเรื่องที่เราเป็นส่วนหนึ่ง อย่าไปละเมอเพ้อพก ทำเรื่องผิดยุคแบบเว็บวิชาการ...เอ๊ยยย ผิดครับ
อย่าไปริทำเรื่องหมดสมัยตกยุค ยุคใครก็ยุคมัน เกณฑ์ประเมินความงามจึงจะงอกเงย ไม่งั้นก็มีแต่ฉันแหละ ดีที่สุด....เลยไม่ทำเรื่องดีๆกันอีก

ที่เสริมก็เพื่อจะเรียนทุกท่านว่า อย่าไปสนใจพวกคาบคัมภีร์สอนเด็ก ที่แปะรูปมานี่ ผมออกใบรับรองให้เอง ว่าศิลปะล้วนๆ ครับ


.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 28 พ.ค. 06, 17:28
 รูป "ปัญหาที่อยู่กับเรา" เป็นภาพไม่กี่ภาพของลุงนอร์มที่อารมณ์ออกโทนซีเรียส (เท่าที่ผมนึกออก) เพราะปกติโทนอารมณ์รูปลุงแกจะสบายๆ ดูแล้วอมยิ้ม เหมาะกับการเป็นปกนิตยสารฉบับวันเสาร์อาทิตย์

เพราะรูปนี้สะท้อนถึงปัญหาการแบ่งแยกผิวซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นๆ ในสมัยสัก 1950 - 1960 และสะท้อนประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของอเมริกา เมื่อศาลสูงสุดคือศาลฎีกาสหรัฐสั่งว่า การจัดการศึกษาแบบแบ่งแยกที่รัฐบาลมลรัฐทางใต้ (ใช่แอละบามารึเปล่าผมก็ลืมไปแล้ว) แยกไม่ให้เด็กนักเรียนผิวดำเรียนร่วมกับเด็กผิวขาวนั้น ถือว่าผิดรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐ เมื่อศาลสั่งอย่างนั้น แม่หนูในรูปจึงไปเรียนโรงเรียนใหม่ได้ แต่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางคอยดูแลอารักขาอย่างเข้มแข็ง และความรู้สึกของคนขาวพื้นเมืองก็ยังต่อต้านเหยียดผิวมากๆ เห็นได้จากรอยขีดเขียนและรอยปามะเขือเทศเน่าบนกำแพง

รูปนี้ดุแล้วเครียดครับ ผิดกับรูปของร้อคเวลล์อื่นๆ แต่ผมก็ชอบเหมือนกัน


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 28 พ.ค. 06, 17:29
 ขอบคุณพระเจ้าตา Pipat ครับ

ใครจะว่าไงไม่รู้ พระเจ้าตาผมออก ISO รับประกันว่าลุงนอร์มผมก็เป็นศิลปินด้วยคนหนึ่ง ผมก้พอใจแล้ว


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 28 พ.ค. 06, 17:32
 เอ กลับไปอ่านใหม่แล้วสงสัย
ลุงนอร์มวาดรูป "ปัญหาของพวกเราทุกคน" ไว้ในปี 1935 หรือครับ? หรือ 1953 ?


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ค. 06, 17:33
 ขอยกมือถามอัครมหาจารย์

ช่วยแนะนำฮอปเปอร์และไวอัตให้ยาย ..เอ๊ย.. ลูกศิษย์แถวหลังสุด รู้จักมากกว่านี้หน่อยได้ไหมค้า
ว่าหน้าหรือแก่นที่แท้จริงของเขาคืออะไร  เป็นอเมริกันแบบไหน


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ค. 06, 17:37
 เอา"รูปปัญหาอยู่ที่เรา" ที่คุณนิลกังขาเอ่ยถึง มาลงประกอบอีกทีค่ะ
สังเกตว่าแม่หนูผิวสี เธอสวมสีขาวบริสุทธิ์ทั้งตัวจนถึงรองเท้าถุงเท้า
.
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 28 พ.ค. 06, 17:47
 เห็นคำว่า NIG...ER จางๆ บนผนังไหมครับ เป็นคำด่าคนผิวดำ

ถ้าคนขาวในท้องถิ่นยังรู้สึกต่อต้านเช่นนั้น ลุงนอร์มแกก็ว่า ปัญหานี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ และเป็นปัญหาของพวกเรา (แกหมายถึงเราชาวอเมริกัน) ทุกคน

เรียนคุณยาย ผมน่ะรู้จักแต่ท่านเดวิด วัยอาจครับ ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ไทยสัญชาติเชื้อชาติอเมริกัน แต่ไม่แน่ใจและไม่กล้าเดาด้วยว่าพระเจ้าตาหมายถึงไวแอทท์ไหน? ต้องให้พระอาจารย์มาเฉลยเองครับ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 28 พ.ค. 06, 18:04
 ทนไม่ไหวไปค้นมา เลยต้องขอบอกคุณติบอว่า เอ... ข้อมูลที่ผมค้นมาได้ ภาพ ปัญหาที่อยู่กับเราทุกคน นั่นน่ะ ลุงนอร์มเขียนไว้เมือปี 1964 นี่ครับ?

ซึ่งถ้าว่าตามประวัติศาสตร์อเมริกันก็เป็นไปได้ ที่ลงข้อมูลไว้ในกระทู้เดิมว่า 1935 นั้นคงจะเร็วเกินไปหน่อยสำหรับ "ปัญหา" ที่จะเกิดขึ้นให้ลุงแกเอามาเขียนรูป


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ค. 06, 18:09
 ท่านวัยอัด  Andrew Wyeth   คงเป็นญาติห่างมากๆกับท่านวัยอาจ    เห็นอยู่คนละวัยกัน  
ท่านวัยอาจน่าจะผึ่งผายกว่า  แต่ท่านวัยอัด คงจะหมัดหนัก
ภาพนี้ไงคะ  คุณหลาน  ยกมาจากกระทู้ก่อน
.
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 28 พ.ค. 06, 18:31

อ้อ...
แต่ก็ยังให้อรรถธิบายไม่ได้อยู่ดีครับ ว่าเป็นหน้าไหนของอเมริกัน?

ต้องรอให้พระอรรถกถาจารย์ Pipat มาวิสัชนาโดยพิดารต่อไปเทอญ

ผมชอบภาพของลุงนอร์มภาพนี้ด้วย ที่สาวน้อยวัยเพิ่งจะรุ่น พยามวาดฝันหน้ากระจกเงาว่าสักวันหนึ่งเธอจะโตขึ้นมาสวยเหมือนดาราในสมัยโน้น

ใครจำได้บ้างครับว่า ภาพดาราบนตักสาวน้อยเป็นรูปใคร? มีตัวจริงรึเปล่า? ผมว่าผมคุ้นๆ หน้าแต่นึกไม่ออก
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 พ.ค. 06, 18:33
 เพิ่งทราบว่าวัยอาจ กลายเป็นคนไทยไปแล้ว นึกว่าแกยังอยู่ที่คอร์แนล

แอนดรู ไวยอัต คือเฮียคนที่วาดรูป"โลกของคริสติน่า" ที่ครูไหวใจดี เอามาอวดเสียเบ้อเริ่มเทิ่ม ที่ใหนสักแห่งในแกเลอรี่เรือนไทยนี่แหละครับ เป็นสาวเดียวดายขาลีบ กำลังถัดตัวเองผ่านท้องทุ่งกลับบ้าน เป็นเพื่อนบ้านกับศิลปิน เธอทำอย่างนี้ทุกวัน ไม่ร้องขอให้ใครช่วย

ไวยอัตเป็นศิลปินอเมริกันที่ทำลายสถิติขายรูปนี้ได้แพงที่สุด โดยตัวเองไม่ต้องตายไปเสียก่อน แกมีฝีมือเขียนสีน้ำดังพระเจ้าแกล้ง คือตั้งใจ ให้แกทำได้คนเดียว สะอาด แม่นยำ พอเหมาะพอเจาะ นับเป็นมือวางอันดับหนึ่งของอเมริกัน คู่กับซาเจ้นท์และโฮมเมอร์

แต่สิ่งที่แฝงอยู่ในรูปของแกนั้น ต้องยืมคำบรรยายที่อาจารย์เทาใช้บ่งบอกสภาวะของตระกูลโหด ว่า

บ้านที่ดูจากภายนอก เป็นบ้านเงียบสงบ.... เอาเข้าจริงภายในบ้านมีคลื่นใต้น้ำระดับสึนามิ ...ถล่มขึ้นมาในวันหนึ่งจึงไม่มีอะไรเหลือ

ผมจะลองจิตวิเคราะห์ผ่านสามรูปก็ได้ ว่า
กรณีแรก เปลือนอกสุดคือ ร็อคเวลล์ ที่หุ้มฮอบเปอร์ไว้ แต่ใต้สุดคือไวยอัต
คำถามคือ ท่านคิดว่าไวยอัต "โหด" แค่ใหน

กรณีที่สอง กลับกันเป็นย้อนศรเลยครับ เปลือกนอกสุดคือไวยอัตตที่หุ้มฮอบเปอร์ไว้ แต่แก่นในสุดเป็นร็อคเวลล์
คำถามคือ ร็อคเวลล์ คอสเมติคแค่ใหน

ถ้าทำอย่างนี้ไขว้กันไปมาจนครบทุกเปลือก เราอาจจะตีแผ่วัฒนธรรมอเมริกันออกมาอย่างล่อนจ้อน หลายมิติ
สมมติว่า พินิจโดยมีฮอบเปอร์เป็นศูนย์กลาง

ฮอบเปอร์เป็นคนเมืองที่หลงทางมาจากบ้านนอก
ทั้งชีวิต เขาเหงาเปล่าเปลี่ยว สิ้นหวังอย่างบัดซบทีเดียว (ขอยืมสำนวนพญาอินทรีอายุยี่สิบแปดมาใช้หน่อย)
ดูรูปประกอบจะเห็นครับ
ที่อาจารย์เทาเห็นเช้าวันอาทิตย์ของแกว่าสดใสนั้น อาจารย์สดใสเองนะครับ ฮอบเปอร์ไม่ใสด้วย
รูปนั้น ผมคิดว่าเป็นรูปจิตใจที่เดียวดายในเมืองใหญ่ ที่ซึ่งไม่มีใครรู้จักใครไม่มีใครสัมพันธ์กับใคร อาจจะถึงไม่มีการไปงานศพใครกันเลย หรือไปก็เป็นพิธีกรรม  ...เท่านั้น
ใครที่เคยชินกับดนตรีผิวดำ จะจับทางสิ่งที่ฮอบเปอร์เสนอได้ง่ายกว่า เรียกกันว่า urban blues ซึ่งจะพัฒนาต่อเป็น jazz ที่ซึมเศร้า โหยหาในที่สุด
ผมเสนอว่าเป็นอาการไร้รากซินโดรม เกิดขึ้นเฉพาะสังคมที่ anti-humanism ถ้าเป็นคอหนัง เห็นจะอ้าง วิม เว็นเดอร์ได้

ชนเหล่านี้ ต่อให้สึนามิถล่มเมืองก็ไม่อาดูร ฟูมฟาย เห็นคราวที่นิวออร์ลีนถูกถล่มใหมครับ มันไม่เหมือนคราวที่เวนิศจมโคลน มันมีความแตกต่างในส่วนลึก

ผมอาจจะดัดจริตไปหน่อยก็ได้ ว่าเมื่อได้ยินข่าวไฟไหม้ดิ ออฟฟิส อูปฟิสี้ (Uffizi) ที่ฟลอเร้นส์ ผมรู้สึกสะอึกในใจ คล้ายๆตอนพระธาตุพนมถล่ม แต่นิวออร์ลีนส์ แม้จะเป็นเมืองเก่า ก็ไม่มี genius loci ในระดับที่รุนแรงเท่าเมืองพันปี
นี่เป็นกับผมคนเดียวนะครับ

หรือเปรียบว่าไฟไหม้เมืองทองธานีร้อยไร่ ก็ไม่ใจหายเท่าไฟไหม้แพร่งสรรพศาสตร์สองไร่

พักครึ่ง ......คุณครูกรุณาตรวจการบ้านของผมด้วยนะครับ

.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 พ.ค. 06, 19:14
 ผมไม่น่าเปิดศึกสองด้านเลย ถูกหลอกจนจะลืมท่านทวดของผม รีบจบเรื่องกระเทาะเปลือกอเมริกันก่อน แล้วค่อยไปเพชรบุรี ตักศิลาแหล่งเดิมของเราดีฝ่า

ผมไม่ชอบขนมเค๊ก ชอบเกาลัต
ชอบขบ ก่อนเคี้ยว ไม่ชอบสิ่งฟูฟ่อง ที่ปรุงแต่งจนแทบจะเป็นสวรรค์จำแลง

ตรงนี้ขอแยกพูดนะครับ ผมชอบงานของทั้งสามศิลปินมาแตใหนแต่ไร ทุกวันนี้ก็ยังชอบ
แต่เรากำลังมา "จับผี" กัน ว่าวิญญานอเมริกันที่แท้ เป็นอย่างไร ประเทศที่ผลิตตระกูลบุชออกมาได้ ก็เป็นประเทศที่ผลิตร็อคเวลล์ ฮอบเปอร์และไวยอัต นี่เป็นความจริงที่น่าเจ็บปวด

เหมือนที่เรารู้ว่ามาร์ลิลีน มอนโรศรัทธาครูสอนการแสดงมาก เสียจนมอบสิทธิ์ทั้งปวงให้ไอ้ผู้ชายจากนรก เอาทรัพย์ของเธอ ไปปรนเปรอเมียเด็ก คนที่เกลียดนอร์มา จีนเข้ากระดูกดำ นี่ละครับสังคมทุนนิยมของแท้ที่ไม่มีที่ว่างให้กับยางอาย

ร็อคเวลล์รับใช้อุดมการณ์อเมริกัน เหมือนที่ชอสตาโกวิชรับใช้ระบอบโซเวียต หรือสเปียร์สรับใช้ฮิตเลอ่ร์ ในแง่นี้เราคงต้องให้แต้มความสร้างสรรค์เท่าๆ กัน
ส่วนแต้มคุณธรรมนั้น ตัวใครตัวมันครับ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 พ.ค. 06, 20:00
 ขอบคุณความเห็นที่ 18 ของอาจารย์ครับ กรุณาสละที่ให้ ทีนี้จะต่อนะครับ

ในรูปเด็กอยากเป็นดารา ความเห็น 16 ผมขอพูดรวบยอดเลยนะครับ ว่ามันเป็นลัทธิรักแร้ขาวเหมือนกัน บางทีจะมีพิษร้ายแรงมากกว่า
เด็กสาวหน้าตาดี วัยเพิ่งสิบขวบเศษ ฝันจะเป็นดารา.....
นี่เป็นโครงเรื่องน้ำเน่าบริสุทธิ์ที่ยังคงความอมตะมาถึงทุกวันนี้นะครับ
ประเทศนี้ผมเห็นว่าแปลก ชนิดต้องใช้คำว่าเวียต หรือรีดิดิวรัส

เจฟเฟอร์สัน ที่ร่างรัฐธรรมนูญแสนหยดย้อย ปรากฏว่ากดขี่ทาสเป็นนางบำเรออย่างโหดร้าย อันนี้ท่านอื่นๆคงรู้ดีกว่าผม

ผมอยากจะเปรียบว่า ร็อคเวลล์ก็คือเหยื่ออีกคนหนึ่งของ "อเมริกัน ดรีม" ซึ่งทำไม้ มันกลายเป็น "เวิลด์ ไนท์แมร์" ไปได้
ถามชาวอิรัคกับอัฟกัน คำตอบคงสุดแสบสรรค์

ว่าไปแล้ว นอร์มัน ร็อคเวลล์ ก็คือเหยื่ออีกรายของระบบฝันอเมริกัน เขาใช้พลังงานของเขาทั้งหมด สร้างภาชนะปิดเคลือบเชื้อนรกเอาไว้จนหมดจด ฝีมืออย่างเขา ถ้าอยู่ในวัฒนธรรมที่ศิวิไลส์กว่านี้ โลกจะได้ประโยชน์อีกมาก  ....เสียดายแทนครับ

ความจริง จะยกตัวอย่างแค่เฮียร็อคเวลล์คนเดียว อาจจะไม่ได้ภาพใหญ่
ต้องพูดว่า นับแต่สงครามโลกครั้งที่สองจบสิ้นลง และอเมริกันเป้นเจ้าโลกแต่ผู้เดียว เขาได้ผลิตสร้าง และส่งออกวัฒนธรรมแบบใหม่ที่ค่อนข้างฉาบฉวย เปี่ยมสีสรรค์ เน้นผลลัพธ์เฉพาะหน้า และมักมี "คู่มือ" สำเร็จรูปประกอบการเสพย์ แบบที่เรียกกันว่าวัฒนธรรมฮาวทู แล้วกลายมาเป็นมีทู แต่จะไปจบที่ปลาทูหรือเปล่า สวรรค์คงมีคำตอบ

ผมออกแนวเพ้อจนชักไม่ชอบตัวเองเสียแล้ว คงมีอะไรที่เป็นขี้เท่อฟุ้งแถวนี้ ไม่มากก็น้อย

ผมขอเรียนถามกลับดีกว่า ว่า
เมื่อดูรูปของร็อคเวลล์แล้ว เราย้อนไปพิจารณาควบวรรณกรรมและภาพยนตร์

เราได้อะไรเป็นเชื้อไฟให้สมองบ้างครับ  ใครที่รู้โปรดเข้ามาเสวนาด้วย

รูปประกอบผมต้องการให้เห็น art of propaganda จากสามโลก
เปลือกต่างกัน แต่เนื้อเหมือนกันครับ ในวรรณกรรมมีอย่างนี้ใหมครับ

.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ค. 06, 20:45
 ถามถึงวรรณกรรมแล้วชักสะดุ้ง  ไม่รู้เรื่องไหนโดนคุณพิพัฒน์หมายหัวว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่อบ้าง
อึ้งไปเลย  ไม่กล้าตอบ เพราะวรรณกรรมอเมริกันที่เรียนมา ครูอาจารย์ท่านก็เชิดชูว่าดีงาม
แต่งามสำหรับอเมริกัน จะงามสำหรับไทยหรือเปล่า อาจจะไม่

งานของจอห์น สไตนเบค ของเออเนสต์ เฮมิงเวย์ ของเทนเนสซี วิลเลียมส์ เหล่านี้ชวนเชื่อไหมล่ะคะ?

แต่ถ้าดูยูบีซี เจอบ่อย  หนังที่เชิดชูฝันอเมริกัน  เคยดูหลายเรื่อง ตัวเอกอพยพมาอยู่อเมริกา  มาสร้างและสานฝันอยู่ที่นี่จนสำเร็จน่ะค่ะ แต่จำชื่อเรื่องไม่ได้แล้วว่าอะไร  
ส่วนใหญ่ไม่มีใครย้อนหลังไปคำนึงถึงประเทศถิ่นที่จากมา    ทุกคนภูมิใจที่เป็นอเมริกัน


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 พ.ค. 06, 21:40
 มีความลับเล็กๆ คือ ถ้าผู้เกี่ยวข้องเป็นยิว จะสร้างโปรอเมริกันค่อนข้างชัดเจน

ที่อาจารย์ยกมา เฮมิงเวย์ดูจะน่าสนใจที่สุด
ผมเทียบอย่างนี้ ไม่รู้นักวรรณกรรมศึกษาจะหัวเราะหรือเปล่า
วรรณกรรมของเชคเสปียร์ เมื่อถูกแปลงเข้าสู่แต่ละประเทศ มักจะโอบอุ้มความเป็นชาตินั้นๆ เข้าในโครงเรื่องเดิมอย่างสนิทสนม จนบางทีก็ลืมความเป็นอังกฤษไปเสียสนิทใจ ไม่เหมือนที่อาจารย์ตั้งขอสังเกตว่า กลิ่นอเมริกัน ออกจะแรงมากผิดปกติ อันนี้ผมว่าเป็นเชื้อโปรปะกันดาแปลงรูป

ผมไม่ใคร่ถนัดวรรณกรรม แต่ถ้ายกตัวอย่างสิ่งที่หยาบกว่าคือภาพยนตร์ ก็เห็นจะพอเสนอความเห็นได้บ้าง
เช่นหนังเรื่องเชน ซึ่งมีโครงเรื่องสืบสายสกุลมาจากดอน ฆิโฮเต้
แต่ทำไมชื่อชั้นช่างห่างกันเสียเหลือเกิน


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ค. 06, 22:09
 ดิฉันตัดสินไม่ได้นะคะว่าFor Whom the Bell Tolls เป็นหรือเปล่า  บางทีงานอย่าง Gone with the Wind อาจทำให้มองเห็นความยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในอดีตได้มากกว่า

ยกตัวอย่างอีกเรื่องให้สะดุ้งกันไปทั้งเว็บ ก็คือวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง Little House Series ของ Laura Ingalls Wilder
ที่ดิฉันเขียนเป็นบทความขนาดยาวไว้
เรื่องนี้เป็นการเชิดชูนักบุกเบิกอเมริกันในปลายศตวรรษที่ 19 แต่ดิฉันไม่คิดว่าผู้เขียนต้องการชวนเชื่อ   เธอเชื่อของเธอจริงๆในสิ่งที่เธอเขียน

พอคุณพิพัฒน์พูดถึงเชน กับ Don Quixote (ขอโทษ ไม่รู้ว่าถอดเป็นภาษาไทยแล้วอย่างไหนถูกค่ะ   ดอน กีโฮเต้ หรือกิโฆเต้)
ทำให้นึกได้ทันทีเลยว่าเรื่องไหน   งานของหลุยส์ ลามูร์ นั่นไงคะ  
พระเอกคาวบอย ยอดชายชาตรีอเมริกันขนานแท้ เปี่ยมด้วยความกล้าหาญและคุณธรรมในถิ่นตะวันตกของอเมริกา
พลอยทำให้นึกถึงซูเปอร์แมน แบทแมน และไอ้แมงมุม  มากันเป็นขบวน  ซูเปอร์ฮีโร่ทั้งน้านนนน


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 พ.ค. 06, 22:45
 ในที่สุดอาจารย์ก็พาเรามาถึงสุดยอดนวัตกรรมทางวัฒนธรรม
ซึ่งเมื่อมองผ่านพวกยอดมนุษย์เหล่านี้กลับเข้าสู่ต้นทาง คือมองจากตอนจบกลับสู่บทนำ
การเลาะกระดูกอเมริกันก็เห็นรูปเห็นร่างชัดขึ้นสำหรับผม

ยอดมนุษย์เหล่านี้ ชวนผมนึกย้อนไปถึงแฝดบันลือโลก อิน-จัน อันอาจนับเป็นต้นแบบของวีระบุรุษบาดแผล ที่เกิดมาด้อยแต่สุดท้ายยิ่งใหญ่
ในพวกสุปเปอร์ฮีโร ก็จะมีพวกกลายพันธูทั้งหลายตามมาเป็นพรวน ตัวละครพวกนี้ เมื่อเทียบกับฝั่งยุโรปยุคสัตว์ประหลาดของคุณหมอแฟรงเก็นสไตน์ ดราคูล ไอ้ค่อม...ข้อแตกต่างก็เห็นชัด

ผมคิดว่าทางโลกเก่าสร้างความพิกลพิการ เพื่อศึกษาความทุกข์ และโศกนาฏกรรม(ที่ตกค้างมาจากกรีกกระมัง)
แต่ฝั่งโลกใหม่สร้างมันขึ้นมาเพื่อสนุกกับมัน
ฝ่ายหนึ่งล่องลำธารกลับไปยังต้นกำเนิดคำว่ามนุษยธรรม
อีกฝ่ายหนึ่งบึ่งสวนทางออกไปให้ไกลห่างจากความเป็นมนุษย์ให้มากที่สุด แล้วฝ่ายหลังนี่ก็สร้างอุปกรณ์เครื่องเคียงมากมายในระหว่างการหนีมนุษย์ พวกปมขัดแย้งเอย พวกมุขพลิกผันเอย พวกบันเทิงพิลึกพิลั่นเอย....

บางทีเทียบ Alice กับ Dorothy ก็อาจได้คำตอบมังครับ

รู้สึกผมจะหลงเข้าดงกับระเบิดของนักวรรณกรรม หาทางออกไม่ได้แย้ว

....หมูน้อย ส่งบัลลูนมาช่วยหน่อย ถ้าเป็นยัยเฟื่องละก้อ รีบดันหลังให้โดนสักเปรี้ยงไวๆ แง๋มเลย


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 พ.ค. 06, 22:56
 เมื่อมาถึงตรงนี้ ผมขอเชิญท่านที่สนใจ กลับไปความเห็น 15 ที่อาจารย์กรุณาทำรูปใหญ่ไว้ให้

ใช้เวลาตามสะบาย เพ่งพินิจ ภาษาต่างด้าวใช้ว่าคอนเทมเปรตกระมัง ฮิฮิ ดูให้เห็นหญ้าทุกต้น กระดูกโปนของคริสติน่า เส้นผม รอยยับของผ้า โรงนาที่ไกลลิบ  ถ้าเมื่อไหร่ท่านสัมผัสได้ถึงพลังมหาศาลที่ซ่อนอยู่ รู้สึกถึงความเครียดทางอารมณ์ที่เริ่มคุมไม่อยู่  ความอ้างว้าง ความโศกาอาดูร....บางท่านอาจจะรู้สึกเกลียดมนุษย์อย่างอ่อนๆ เมื่อนั้นท่านก็จบวิชาถลกหนังแยงกี้ละครับ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 พ.ค. 06, 23:09

.

ถ้ายังสร้างอารมณไม่ได้ ดู Christina อย่างใกล้ชิดก่อน แล้วกลับไป 15 อีกที


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 พ.ค. 06, 23:11

.

ลมทะเล รูปที่ผมชอบที่สุดครับ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 พ.ค. 06, 23:56
 ผมไม่ได้พูดถึง นึกถึงและรับรู้ถึงคริสติน่ามานานเหลือเกิน

ขอบคุณเรือนไทยที่ทำให้ความทรงจำบางส่วนกระเพื่อม
เลยขอปิดท้ายว่า คริสติน่าเป็นสามัญชนที่ยิ่งใหญ่มากในโลกศิลปะ ตัวของเธอเป็นเสมือนร่างคำฟ้องกล่าวหาพระเจ้า
ว่าเหตุไฉนทรงลำเอียงเหลือเกิน
บางคนช่างได้อะไรมาง่ายดายเหมือนไม่มีต้นทุน แต่เธอนั้น เพียงแค่จะสูดสายลมบริสุทธิ์ที่ไม่มีใครให้ราคา
ทำไมเธอต้องจ่ายแพงนัก

แต่เธอไม่ตัดพ้อ ไวเอ็จ(ออกเสียงอย่างถูกต้องละครับ) ก็ตาแหลมเหลือเกิน มองเห็นสิ่งพิเศษนี้อย่างเด่นชัด เราต้องนึกขอบคุณเขาเช่นกัน แววตา ท่าที และความมุ่งมั่นอย่างคริสติน่า มีมากมายอยู่ในชนบทไทย

เฒ่าทระนงอย่างปู่เย็น (ขออนุญาตอ้างถึงบ้าง ฮิฮิ...)
เวลาที่แกยุ่งอยู่ พระเจ้ามาหา แกอาจจะทิ้งให้นั่งรอ
จนกว่าชุนแหเสร็จ จึงจะว่างมาสนทนาด้วย

นี่แหละครับของจริง


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 06, 08:40
 ขอบคุณคุณพิพัฒน์  ในค.ห.ข้างบนนี้ ที่ทำให้ดิฉันมีแรงฮึด ไปตามล่าหาโลกของคริสติน่าจนเจอรายละเอียดค่ะ

คริสติน่า ออลสันเกิดเมื่อ ๓ พฤษภาคม ๑๘๙๓    ๑๑๓ ปีมาแล้ว  บ้านนาเก่าแก่บนเนินในภาพคือบ้านที่เธอเกิดและอยู่มาตลอดชีวิต อยู่ที่ฮาธอร์นพ้อยน์ ในเมืองคุชชิง รัฐเมน

ตั้งแต่อายุ ๓ ขวบ คริสติน่าเริ่มมีปัญหาในการเดินและทรงตัว  เธอเดินกระโผลกกระเผลก สะดุดหกล้มบ่อยๆ ไปเรียนหนังสือจนจบเกรด ๘ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียน  แล้วไม่มีโอกาสเรียนสูงกว่านั้น
แต่ความพิการไม่ได้เป็นอุปสรรคให้ย่อท้อ    พออายุได้ ๑๓ แม่เกิดป่วย สุขภาพทรุดโทรมจนดูแลบ้านไม่ได้ คริสติน่าก็ต้องรับหน้าที่แม่บ้านปัดกวาดเช็ดถู ๑๖ ห้องในบ้านเสียเอง รวมทั้งทำอาหาร เย็บเสื้อผ้าอีกด้วย  เธอก็ทำได้อย่างดีเยี่ยม

ใครที่อาการครบ ๓๒ แต่รู้สึกเหนื่อยหนักกับงานประจำวันเหลือเกิน  น่าจะเอารูปนี้มาแขวนเป็นกำลังใจบ้าง


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 06, 09:15
 ช่วงเวลาที่เป็นสุขที่สุดของคริสติน่าเริ่มเมื่อเธอเป็นสาวเต็มตัว อายุ ๑๙   ตอนนั้นละแวกบ้านเกิดกลายเป็นสถานที่พักร้อนตากอากาศของชาวเมืองอื่นๆ   ทำให้มีผู้คนคึกคักขึ้นแทนความเงียบเหงาอย่างเมื่อก่อน

ในจำนวนนี้ คริสติน่าพบหนุ่มปัญญาชน จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  

เธอตกหลุมรักเขา  ถึงหน้าหนาวเขากลับไป ก็ติดต่อกันทางจดหมาย  ถึงหน้าร้อนเขามาหาเธอ ก็ได้พบปะสนิทสนมกัน  เป็นอยู่อย่างนี้ตลอด ๕ ปี  

คริสติน่าเป็นคนเก่งและสติปัญญาดี    เธอชอบที่จะเขียนจดหมายโต้ตอบประเทืองปัญญากับหนุ่มคนนี้

ในจดหมายที่ชายหนุ่มเขียนถึงคริสติน่า  เขาระบุว่า

"เธอกรรเชียงเรือได้  ปีนต้นไม้ได้  ฝึกม้าได้ ขับรถม้าได้  เธอเก่งกว่าผมทุกอย่างที่ทำในเมืองคุชชิ่งนี่"



แต่ความเก่งก็ยังไม่พอที่จะทำให้คริสติน่าได้สิ่งที่ผู้หญิงธรรมดาๆเขาได้กัน   วันหนึ่งชายหนุ่มเงียบหายไป  ไม่เขียนมาหาอีก   เขาพบผู้หญิงคนใหม่  ก็เลยแต่งงานไป

ตอนนั้นคริสติน่าอายุได้ ๒๔  ความสุขในวัยสาวจบสิ้นลงเพียงแค่นั้นเอง



ความพิการของคริสติน่าทวีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น  เธอเริ่มล้มบ่อยเสียจนแม่ต้องทำสนับเข่ารองด้วยผ้านุ่มๆให้    แต่คริสติน่าก็ไม่ยอมให้ใครตราหน้าได้ว่าเธอไม่สมประกอบ    เธอยังไปท่องเที่ยวที่บอสตันเมื่ออายุ ๒๕   ด้วยความสนุกสนาน



คริสติน่ายอมไปหาหมอตามที่พ่อแม่ขอร้อง  แต่หมอเป็นโขยงก็บอกไม่ได้ว่าเธอป่วยเป็นอะไร  ไม่ใช่โปลิโออย่างที่คิดไว้แต่แรก



อายุมากขึ้น  เธอเดินไม่ได้เลย  ต้องลากตัวเองหรือถัดไป  เธอคืบคลานจากบ้านไปเยี่ยมเพื่อนรักที่อยู่บ้านถัดไปห่างแปดร้อยฟุตเป็นประจำ แม้เหนื่อยหอบหมดแรง เธอก็ยังทำ

ภรรยาของไวเอ็จเป็นเพื่อนของครอบครัวนี้   ศิลปินใหญ่สเก็ตช์ภาพคริสตินาเมื่อเธอถัดไปเยี่ยมหลุมศพพ่อแม่   ในที่สุดภาพ Christina's World ก็เผยโฉมออกมา



คริสติน่ามีชีวิตที่แข็งแกร่งไม่ย่อท้ออยู่จนอายุ ๗๕ จึงถึงแก่กรรม

เธอมีชีวิตอยู่ในโลกแคบๆถ้าวัดตามรูปธรรม คือบ้านบนเนินเขากับเพื่อนบ้านใกล้เคียง  แต่ทางนามธรรม โลกของคริสติน่ากว้างใหญ่ไพศาลมากกว่าโลกใบจริงของเราเสียอีกค่ะ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 06, 10:46
 ดิฉันรู้จักภาพ Christina's World เมื่อลงเรียนวิชาศิลปการละคร ที่อักษรฯ

อาจารย์ชาวอเมริกันนำภาพนี้มาให้ตีความ   บอกสั้นๆว่าผู้หญิงในภาพพิการ ต้องคืบคลานไป

จำได้ว่าอาจารย์เกริ่นนำถึงเส้นโค้งในภาพ  เส้นของรอยล้อบดคู่กันไปบนพื้นหญ้า  ตลอดจนเส้นของทุ่งหญ้าที่เก็บเกี่ยวถากถางไปใหม่ๆ    สอดคล้องไปทางเดียวกัน

มันสะท้อนแรงผลักดันให้คริสตินามุ่งไปที่จุดหมายปลายทางคือบ้านบนเนิน

เธอไต่คืบคลานขึ้นไปสู่ที่สูงนะคะ ไม่ได้คลานลงสู่ที่ต่ำ  



ทั้งที่เป็นภาพนิ่ง  เราก็ยังมองเห็นการเคลื่อนไหว  เห็นกำลังแขนที่เอื้อมพาตัวคืบคลานไปอย่างไม่หยุดนิ่ง   แขนที่อยู่ข้างหน้าแฝงพลังกว่าขาซึ่งพับอยู่ข้างหลัง

เส้นผมน้อยๆกระจายปลิว  ทำให้เราพอมองเห็นความเหน็ดเหนื่อย



ไวเอ็จซ่อนดวงหน้าเธอไว้ไม่ให้เห็น   เพื่อเปิดกว้างจินตนาการเองว่าคริสติน่ารู้สึกยังไง

เหนื่อยล้า ทุกข์ระทม  ถมึงทึง  หรือว่าเธอกำลังยิ้มละไมที่รู้ว่าอีกไม่นานก็ถึงบ้านแล้ว

เสื้อผ้าสีอ่อน สวยสะอาด แบบเรียบร้อย   พูดถึงความละเมียดละไมในตัวตนและบุคลิก

เราไม่รู้ว่าเธอเป็นสาวน้อย หรือวัยกลางคน ในภาพนี้   เป็นคริสติน่าที่ไม่มีอายุขัยอยู่ในภาพ  

แล้วก็เป็นความจริง


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 พ.ค. 06, 11:22

มีคนไปสอบโลกของเธอ
มันก็โลกธรรมดา เหมือนกรวดทรายในท้องธาร

แต่ไวยเอ็จ เปรียบไปก็เหมือน ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ธรรมะของพระองค์ เหมือนใบประดู่ลายในป่าใหญ่ เป็นเพียงส่วนน้อยนิดของจักรวาลแห่งสรรพสิ่ง
อยู่ที่ใครจะตีความคำนี้ออกมาอย่างไร
ไวยอัจ มีตาวิเศษ มองเห็นสิ่งดาษดื่นในสำนึกของตนทั้งหลาย ว่าล้ำค่าเพียงใด หากได้ผ่านมือศิลปิน

นี่เอง ที่เราต้องยอมรับ ว่าศิลปิน ไม่ว่าจะด้วยสาขาสำแดงออกอย่างใด ล้วนทำให้ชีวิตเต็มชีวิต
ไม่ใช่หายไปครึ่งค่อน เพราะอะไรก็ไม่รู้ที่เราไม่ได้เชิญเข้ามาในโลกของเรา


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 พ.ค. 06, 11:23

.
รายละเอียดเพียงน้อยนิด ในโลกของคริสตินา


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 พ.ค. 06, 11:24

.
รูปเต็มของรายละเอียดเมื่อกี้ กาน้ำชาของคริสตินา


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 พ.ค. 06, 11:25

.
โลกของเธอ จากอีกมุมหนึ่ง


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 พ.ค. 06, 11:26

.
ความต้องการของเธอ น้อยกว่าที่น้อยที่สุด ที่เราต้องการ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 พ.ค. 06, 11:29

.
คราวนี้เป็นโลกภายในของคริสตินา


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 พ.ค. 06, 11:32

.
ไวยอัจกำลังเล่นกับความคิดของผู้ชม
เขาจงใจสร้างองค์ประกอบที่แตกสลาย แล้ววางแผ่นหลังของเธอไว้ตกขอบด้านหนึ่ง
ใครที่ชำนาญภาษาละคอนเวทีอาจจะอธิบายนัยยะได้ดีกว่าผมกระมัง


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 พ.ค. 06, 11:34

.
เป็นความจงใจอย่างยิ่งนะครับ ที่จัดเธอไว้ตรงขอบด้านซ้ายของรูป
ดูรายละเอียดสิครับ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 พ.ค. 06, 11:37

.
คริสตินาตามที่เป็นจริง

ผมอยู่แผนกหารูปครับ อาจารย์เทา แผนกหาเรื่อง ...555


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 29 พ.ค. 06, 12:20
 เข้ามาขออภัยสมาชิกทุกท่าน ที่พิพม์ปีที่ Norman วาดภาพไว้ผิด และขอบพระคุณ คุณหลวงนิล ที่ช่วยแก้ให้ผม

แล้วก็นั่งอ่านเรื่อง Wyeth ในกระทู้ Norman ครับ


ปล.1 อ่านความเห็นเพิ่มเติมที่ 25 ของคุณpipat แล้วทำให้ผมนึกถึงภาพนี้ยังไงก็ไม่รู้แฮะ

ปล.2 เอาภาพที่ว่ามาแปะไว้นี่จะถูกตีมั้ยครับเนี่ยะ แหะๆ





.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 06, 12:46
 ตอบค.ห. 40 ค่ะ

ขอย้ำคำเดิมว่า ใครเข้าไปเอี่ยวกับกระทู้คุณพิพัฒน์แล้วจะเจ็บตัวกลับไป  
ต่อให้ไม่ใช่กระทู้คุณพิพัฒน์ แต่คุณพิพัฒน์เข้ามาแจม ก็อนุโลมได้ว่าเช่นเดียวกัน

ขอลาไปทำตรายาง มาปั๊มเตือนตัวเองเวลาโพสต์ครั้งต่อไป
สรุปว่าหมดภูมิค่ะ

ส่วนภาพ Wood Stove  ดิฉันขอเอาส่วนของคริสติน่ามาขยายให้ดูใหญ่ๆละกัน  เห็นชัดๆ
เธอนั่งหันข้าง  ไวเอ็จเก็บดวงหน้าเธอไว้ตามเคย   มองเห็นเพียงลำตัวท่อนบนที่แข็งแกร่ง    สีสันของผนังและประตูที่กรำแดดลมจนซีด กับเตาทำอาหารแบบโบราณที่แม่ของลอร่าใช้ในยุคบุกเบิก..
อุ๊บ   พูดมากไปแล้ว  
.
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 06, 12:47

.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 29 พ.ค. 06, 13:11
 ลึกซึ้งครับ

เห็นคริสตินาแล้ว ผมนึกถึงเฮเลน เคลเลอร์ อีกคนหนึ่ง

เรียนพระเจ้าตาและ อ. เทาฯ ครับ เรื่อง ดร. วัยอาจ ณ คอร์แนล ซึ่งไม่ใช่จิตรกร ผมหมายความแต่เพียงว่าท่านเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของเมืองไทยครับ หรือจะเรียกว่าท่านเป็นนักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้ คือวิชาของท่าน แต่ตัวของท่านเอง ก็ยังสัญชาติเชื้อชาติอเมริกันอยู่ดีครับ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 06, 13:12
ป.ล. ถึงคห.25
ขอยกมือประท้วง
"เมื่อมาถึงตรงนี้ ผมขอเชิญท่านที่สนใจ กลับไปความเห็น 15 ที่อาจารย์กรุณาทำรูปใหญ่ไว้ให้"
คนที่ทำรูปใหญ่ไว้ให้ คือดิฉันเองละค่ะ

อยากจะบอกใครต่อใคร..จำได้ก็คุณนกข.  และคนอื่นๆอีกสองสามคน  ที่ชอบเรียกดิฉันผิดๆว่า อาจารย์กรุณา ยังโง้นยังงี้ อยู่บ่อยๆ
เดี๋ยวก็..อาจารย์กรุณาตอบ...บางทีก็..ขอบคุณครับที่อาจารย์กรุณาทำลิ้งค์...หรือ ตามที่อาจารย์กรุณาตั้งกระทู้...ฯลฯ
หนักๆเข้าคุณพิพัฒน์ก็พลอยเผลอตามไปอีกคน  ชักจะไปกันใหญ่แล้ว

ดิฉันชื่อว่า "เทาชมพู " ต่างหากล่ะคะ
อาจารย์กรุณา ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญทางสันสกฤต ถึงขั้นแปลคีตาญชลีและงานอื่นๆที่ทรงคุณค่า  
เป็นนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ทางภาษา และวรรณคดี  เป็นศิลปินแห่งชาติ
ท่านไม่มาเฝ้าเรือนอยู่ที่นี่แน่ๆ  


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 29 พ.ค. 06, 13:22
 ภาพของลุงนอร์มัน ที่อาจารย์เทาชมพูว่าจะหามา 4 ภาพว่าด้วยเสรีภาพ 4 ประการนั้น ถ้าจำไม่ผิด คือ Freedom from Want / from Fear/ of Speech/ of Religions 4 ประการ เป็นแนวคิดของประธานาธิบดีวิลสัน

ผมจำได้วาเคยเห็นภาพของลุงนอร์มัน แต่จำรายละเอียดไม่ได้ทุกภาพ จำได้แม่นคือเสรีภาพในการพูดหรือแสดงออก กับเสรีภาพจากความอดอยากหิวโหย 2 ภาพ อีก 2 จำไม่ได้

ยังไงๆ ผมก็ยังชอบลุงนอร์มันอยู่ และแน่ละในทางอุดมคติผมก็เห็นว่าเสรีภาพทั้ง 4 นี้เป็นหลักการสำคัญที่ถ้าทำได้จริงก็ดีแน่ละ แต่ผมอดมีข้อสังเกตเล็กๆ ไม่ได้ว่า บรรดาคนที่อยู่ในรูปของลุง 2 รูป ซึ่งกำลังเอ็นจอยเสรีภาพทั้ง 2 อยู่นั้น มีแต่คนขาว ไม่มีคนผิวสีอื่นเลยแม้แต่คนเดียว

ผมคิดว่าลุงนอร์มไม่ทันได้คิดหรือไม่ได้ตั้งใจหรอก แต่มันก็ออกมาอย่างนั้น

ที่จริงอีกนั่นแหละ รูปสบายๆ เบาๆ น่ารักๆ ของลุง โดยเฉพาะในยุคต้นๆ นั้น ตัวละครในภาพเป็นฝรั่งผิวขาวแทบทั้งหมดเลย ลุงเพิ่งจะมาเขียนเด็กนิโกร หรืออาซิ้ม หรืออื่นๆ ในรูปของลุง ดูเหมือนจะในระยะหลังแล้ว เมื่อจำเป็นต้อง -หรืออยากจะ- แสดงภาพของสังคมอุดมคติแห่งสหรัฐฯ ที่เป็น melting pot เท่านั้นแหละจึงได้ให้ประชากรเชื้อชาติอื่นของสหรัฐฯ แสดงตัวออกมาในภาพของลุงด้วย


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 29 พ.ค. 06, 13:27
 ภาพ Freedom from Want ของลุงนอร์มัน รอคเวลล์ พระเจ้าตา Piapt จัดให้เป็นพวกเดียวกับศิลปะโปรประกันดาของพวกนาซีเยอรมัน อยู่ใน คห. ที่ 20 ครับ ภาพที่เป็นงานเลี้ยงอันอุดมสมบูรณ์ (น่าจะเป็นงานเลี้ยงเทศกาลขอบคุณพระเจ้า) รูปขวาสุด เห็นไหมครับว่า คนที่อยู่ในภาพนี้ บังเอิญเป็นฝรั่งทั้งหมดเลย ไม่มีฮิสแปนิกอเมริกัน ไม่มีเอเชี่ยนอเมริกัน ไม่มีอินเดียนแดง และไม่มีแอฟโฟรอเมริกันเลยสักครึ่งคน


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 พ.ค. 06, 13:33
 ให้ผมแสดงความเห็นเกี่ยวกับรูป Wood Stove นี้เหรอครับ
มันจะยิ่งกว่าตาบอดคลำช้างนา...ระดับช้างคลำคนตาบอดเชียวแหละ

เอาล่ะ เพื่อไม่ให้เสียไปถึงท่านทวด ที่ท่านวางองค์ประกอบเชิงซ้อนไว้ หนักยิ่งกว่าที่เฮียไวฯ ทำกับรูปนี้
ผมจะใช้โมเมโถโลยี่ มั่วว่า

การยืดจุดสนใจออกจากกัน (ในที่นี้คือคริสตินากับหน้าต่าง) ก็เพื่อให้เกิด tempo-spatial ส่วนจะเป็นเท็มโประดับใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับสายตาผู้ชมที่จะอ่านสัญลักษณ์แต่ละชิ้นในรูป

การยืด ซึ่งน่าจะเรียกให้ถูกต้อง ว่าการฉีกสองสิ่งออกจากกัน ยังเป็นการบอกนัยยะด้วยว่าสองสิ่งที่ถูกฉีกออก ไม่ใช่สิ่งสำคัญ
ถ้างั้นอะไรเล่าคือสิ่งสำคัญในรูปนี้ ต้องไม่ใช่เตาผิง เก้าอี้หรือถังใบน้อยแน่นอน

หากเรากวาดตามองภาพนี้อย่างเป็นธรรมชาติ
เหมือนเรากำลังดูห้องในบ้านเก่าๆ หลังหนึ่ง ไม่ใช่ดื่มด่ำจิตรกรรมบนผนังห้องแสดง
เราน่าจะรับรู้ได้ว่า มีบางอย่างในรูปนี้ ที่เรารู้สึก แต่มองไม่เห็น ไม่มีตัวตนให้จับต้อง แต่สามารถสัมผัสได้ด้วยอายะตนะที่เหมาะสม ครั้นเมื่อสัมผัสได้แล้ว สิ่งนั้นก็ไม่สามารถปฏิเสธว่าไม่มีได้อีกต่อไป

ไวอัจจงใจเขียนให้เห็นว่า คริสตินาไม่รับรู้กับสิ่งที่เรายังเดาไม่ออกนี้ เธอยังเป็นตัวของตัวเอง
เตาผิงเสียอีก ที่ดูจะ "รู้สึก" มากกว่าเธอ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 29 พ.ค. 06, 14:01
 กราบนมัสการพระเจ้าตาอีกเรื่อง

มีหนังสือเล่มหนึ่ง เพิ่งออกมาไม่นานนักนี่เอง ชื่อ "American Dream, Global Nightmare" ผมอ่านไปได้ครึ่งเล่มแล้ว สนุกดีครับ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 พ.ค. 06, 14:08
 ประเด็นที่ผมจะเชื่อมโยงระหว่างไวยอัจกับร็อคเวลล์ก็คือ ความเป็นอเมริกัน
ทั้งคู่ เป็นยอดฝีมือ แต่ทำไมเล่า ท่านนิลกางขา...แซว ของผมถึงต้องน้อยใจ ว่าลุงนอร์ม ถูกเหยียดลงต่ำกว่าศิลปิน อันนี้ผมไม่เห็นด้วยเช่นกัน ลุงแกเป็นศิลปินครบถ้วนกระบวนความ หลายสิ่งหลายอย่าง ยังเหนือกว่าพวกปลอมปนเป็นศิลปิน ที่มีเกลื่อนโลก

แต่....ด้วยฝีมือระดับเทพยดาพู่กันทองฝังเพ็ชร แกไม่น่ามาเป็นศิลปินอเมริกันเลย มีความเป็นอเมริกันอยู่สามอย่าง ที่มันโดมิเนตคุณค่าให้ต้อยต่ำ คือความมักง่าย มักมาก และมักรู้ (...นี่กำลังพูดถึงแยงกี้นะครับ ไม่ใช่เสียมก๊ก)
ฝีมือแกไม่ต้อยต่ำกว่าเฮียไวฯ แม้แต่น้อย แต่เฮียไวฯ แกมี "มักทั้งสาม" น้อยกว่าเกณฑ์อเมริกันชนทั่วไป แกถึงเห็นอัญมณีข้างบ้านไงครับ
ส่วนลุงนอร์มน่ะหลงบูชาตะกั่ว

อีตาวิลสันคนนี้ใช่ใหม ที่อนุมัติให้อิโนลา เกย์ ขนไอ้เด็กน้อยไปฝากชาวฮิโรชิมา  แล้วอีกเจ็ดสิบสองชั่วโมงต่อมา มันก็มอบไอ้อ้วนให้ชาวนางาซากิ พลเรือนกว่าสองแสนนะครับ ที่สังเวยความอยากรู้ของมัน ผมไม่เคยคิดจะดูหมิ่นคนพิการเลย ยกเว้นเจ้าหมอนี่ ดังนั้นถ้าเวรตนนี้พูดอะไรออกมา แม้แต่คาถา เย ธมมา...ผมก็ไม่เชื่อครับ

ลอร์ดคลาร์ก เขียนไว้ใน Civilization ว่า
ระหว่างตึกกับคำปราศัยในตึกนั้น แกเชื่อตึกง่ะ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 06, 14:19
 ตอนเรียนวรรณคดี   ดิฉันมักสงสัยว่าสิ่งที่อาจารย์อธิบายว่าตัวละครคิดยังโง้นยังงี้   เรื่องราวเป็นงั้นเป็นงี้  

อย่างบทรำพึงกับตัวเองอันลือชื่อของ Hamlet  ขึ้นต้นว่า To be, or not to be นั้น  แฮมเล็ตแกคิดถึงปรัชญาชีวิตยังงั้นของแกจริงๆหรือว่าปรมาจารย์ทั้งหลาย 'คิด' ว่าแกคิด

เคยถามเหมือนกัน   อาจารย์บอกว่าต้องอ่านหนังสือเยอะๆ โดยเฉพาะผลงานของกวีหรือนักประพันธ์นั้นๆ เพื่อแกะรอยเขาได้ รวมทั้งต้องรู้ประวัติหรือสังคมแวดล้อมที่เป็นแรงบันดาลใจด้วย



ตามประสาคนไม่มีปรัชญาชีวิต  ดิฉันก็ไม่ค่อยจะเชื่อว่ากวีที่เป็นมนุษย์อย่างเราๆคิดอะไรได้ลึกขนาดนั้น รวมทั้งต้องชักแม่น้ำทั้งห้าจากสภาพแวดล้อมมาประกอบด้วยอีกแน่ะ  มันยุ่งยากกับชีวิตมากไปมั้ง



ดิฉันเห็นว่าผลงานของศิลปินนั้นประดุจลมหายใจ   เขาไม่รู้ตัวหรอกว่ากำลังสูดลมเข้าหรือออก    ดังหรือเบา กระชั้นหรือว่าเนิบเนือยแค่ไหน    เขาหายใจโดยอัตโนมัติตามสบายและตามถนัด   มันก็หล่อเลี้ยงชีวิตเขาไปเองจนหมดอายุขัย

แต่นักวิชาการนั้นเหมือนหมอที่มาเฝ้าดูว่า หมอนี่กรนดังไหม หัวใจเต้นกี่ครั้งต่อนาที  หายใจแบบนี้แสดงว่าสุขภาพดี   แบบนี้แสดงว่าแย่แล้ว ฯลฯ



เชกสเปียร์อาจเมาจนพูดไม่รู้เรื่องก็ได้ตอนเขียนบทแฮมเล็ตรำพึง   เลยเขียนอะไรออกมาอ่านไม่รู้เรื่อง   กลายเป็นเหตุของความลึกล้ำยากจะตีความ  

ตอนแกสร่างเมา เขียนรู้เรื่อง ก็ชัดเจนแจ่มแจ้งดีจนไม่ต้องอธิบาย เลยไม่มีใครติดอกติดใจตอนนั้น  หาว่ามันตื้น



ที่พล่ามมายาวจนออกนอกร็อคเวลล์ไปเยอะ คือจะบอกคุณพิพัฒน์ว่าดิฉันมองภาพ Wood Stove แบบงี่เง่า  เลยเห็นไปอีกอย่าง  

เตลิดเปิดเปิงออกนอกเส้นทางไปมากทีเดียวละค่ะ

แต่ยังไม่บอกว่าเป็นยังไง  ขอไปหาเกราะมาสวมก่อน  กันเจ็บตัว

มีเกราะของอัศวินพระเจ้าชาลมาญอยู่แถวนี้ให้ยืมซักชุดไหมคะ คุณนกข.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 06, 14:29
 ป่านนี้ประธานาธิบดีวิลสันสะดุ้งอยู่ในหลุมแล้ว  

ภาพชุดที่นำชื่อเสียงมาให้ร็อคเวลล์มากที่สุด คือภาพชุด Freedom
เขาวาดขึ้น โดยมีแรงบันดาลใจจากสุนทรพจน์ของประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี.รูสเวลท์ ที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๑๙๔๑
ขอลอกมาให้อ่านกันตามนี้ค่ะ

In the future days which we seek to make secure,
we look forward to a world founded upon four essential human freedoms.

The first is freedom of speech and expression
-- everywhere in the world.

The second is freedom of every person to worship God in his own way
-- everywhere in the world.

The third is freedom from want, which, translated into world terms,
means economic understandings which will secure to
every nation a healthy peacetime life
for its inhabitants
-- everywhere in the world.

The fourth is freedom from fear, which, translated into
world terms,
means a world-wide reduction of armaments
to such a point and in such a thorough fashion
that no nation will be in a position to commit an act of physical aggression against any neighbor
-- anywhere in the world.

That is no vision of a distant millennium. It is a definite
basis for a kind of world attainable in our own time and generation.
That kind of world is the very antithesis of the so-called "new order" of tyranny
which the dictators seek to create with the crash of a bomb.

มันยาวนัก ไม่แปลละค่ะ ถ้าคุณนกข.อดรนทนไม่ได้ เดี๋ยวก็มาแปลให้ฟังเอง และอาจจะมีของแถมให้อีกด้วย
เพราะส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์อันงามสง่าหวานหูนี้ คงไปกระทบต่อมคันยุกยิกในหัวใจของท่าน นกข. เข้าไม่มากก็น้อย

บอกสั้นๆว่าท่านประธานาธิบดีพูดถึง เสรีภาพ ๔ อย่าง ที่มนุษย์พึงมี
-freedom of speech เสรีภาพในการพูดแสดงความคิดเห็น
-freedom to worship เสรีภาพในการนับถือศาสนา ตามศรัทธาความเชื่อของตน
-freedom from want ข้อนี้คือปลอดพ้นจากความอดอยากขาดแคลน
-freedom from fear ปลอดพ้นจากภยันตราย ไม่มีภัยใดมาข่มขู่คุกคาม มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

ร็อคเวลล์ได้รับมอบหมายให้ตีความทั้ง ๔ ข้อออกมาเป็นภาพ ที่"พูดได้" (ขอยืมสำนวนพระเจ้าตาของคุณนกข.)
ในที่สุดเขาก็ทำได้จริงๆ ภาพของเขาพูดออกมากังวานไปทั่วอเมริกา
สามารถ"ฝึกฟื้นใจเมือง" ที่กำลังหน้าดำคร่ำเครียดกับสงครามโลกครั้งที่สองอย่างได้ผล
นี่คือ Freedom of Speech
.
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 06, 14:32
 Freedom of Worship
.
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 06, 14:33
 Freedom from Want
.
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 06, 14:36
 Freedom from Fear
.
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 พ.ค. 06, 15:15
ผมมีเรื่องมาฝากอาจารย์เทาฯ

เกี่ยวกับศิลปะหรือเปล่าก็ไม่รู้



วงร็อคอังกฤษวงหนึ่ง ดังพอดูเชียวแหละในยุคของเขา manic street preacher มาแสดงที่กรุงเทพ นักจัดรายการดังคนหนึ่งของไทย ไปสัมภาษณ์ ตอนหนึ่งสังเกตว่า พวกนี้ทำไมดูอารมณ์เสียจังวะ นั่งหน้านิ่วคิ้วขมวด ถามคำตอบคำ แกก็เลยถามว่า พวกคุณไม่มีความสูขหรือ

"ไม่"

อ้าว ทำไมละ คุณได้เล่นดนตรีที่คุณรัก มีชื่อเสียง มีแฟนเพลงทั่วโลก ได้เกียรติยศชื่อเสียงเหนือกว่าคนส่วนมาก เป็นผมละก็ มีความสุขตายเลย ผมอยากเป็นอย่างคุณ

"อย่าเลย มันไม่ดีหรอก"

ไม่ดียังไง คนส่วนใหญ่ยอมทุกอย่างเพื่อเป็นอยางคุณตอนนี้

"คุณไม่รู้อะไร เรามันพวกเด็กวัยยี่สิบ เป็นกลุ่มที่แย่ที่สุด"

เป็นไปได้ไง วัยรุ่นก็เหมือนกันนั่นแหละ

"ไม่เหมือน ...เด็กต่ำกว่าสิบ อยู่กับพ่อแม่ตลอดเวลา มีแต่ความสุข เด็กสิบขวบกว่า ใครๆ ก็เอาอกเอาใจ กลัวว่ามันจะใจแตก ไอ้พวกสามสิบขึ้นไป มันก็มีงานทำ มีครอบครัว มีสังคม...



พวกเราเด็กยี่สิบนี่แหละ ที่ถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครเหลียวแล...

แม้แต่เวลาเล่นดนตรี พวกผมก็ต้องเล่นเอาใจคนฟัง ไม่ได้เล่นอย่างที่ตัวเองอยากเล่น...." นี่ขนาดศิลปินเด็กนะครับ มันยังครุ่นคิดตรึกตรองขนาดนี้



ผมว่าอาจารย์เทาฯ แกล้งทำเป็นไม่ฉลาดอย่างแนบเนียน  ความจริงฉลาดเหลือร้ายทีเดียว คิดดูนะครับ ยกคำนี้มา "ผลงานของศิลปินนั้นประดุจลมหายใจ เขาไม่รู้ตัวหรอกว่ากำลังสูดลมเข้าหรือออก"

จะหลอกให้ผมชำแหละศิลปินจำพวกหนึ่ง ผมไม่หลงกลละคร๊าบบบ...อย่างที่อีตาปีกัสโสว่า "i do not seek i've found"



ตอนนั้นแกพูดอะไรก็เท่ทั้งนั้นแหละ คนเราดังแล้วนี่ ทำเป็นเงียบคนก็ว่าลึกซึ้ง ทำเป็นแหกปากโวยวาย คนก็ว่าบริสุทธิ์ใจ



ศิลปินที่ทำงานออกมาเหมือนลมหายใจนี่ ผมว่าทั้งประวัติศาสตร์โลกนี่ จะมีคุณสุวรรณอยู่คนเดียวมังครับ

สมเด็จนริศฯ ทรงใช้สำนวนว่า "..แตกออกมาเป็นเหื่อ" ศิลปะ มันหนักหนาประมาณนั้นนะครับ ขนาดผมพิมพ์ความเห็นไม่เป็นโล้เป็นพายนี่ ยังเหนื่อยแฮกๆ เลยครับ



ตอบความเห็น 42 ที่อาจารย์เทาชมพุกรุณา....จ๊าก ลืมตัวครับ

ที่บ้านสอนให้นอบน้อมกับคุณยาย เอ๊ย คุณพี่..ผู้อาวุโส  แหะแหะ รับทราบ...และปฏิบัติ  ครับพ้ม



ส่วนคุณนิลฯ ถ้าคุณอ่านเล่มนั้นจบ แล้วไม่มาเล่าให้พวกเราฟัง ผมจะแช่งให้คุณ.... เอ เคยแต่ด่าคน แช่งไม่เป็น....

เอางี้

ให้คุณถูกล็อตตะรี่ติดกันสิบสามงวด แต่ลืมสลากไว้ในกระเป๋ากางเกง ส่งไปซัก นึกขึ้นได้ ตามไปเอา ....ร้านบอกว่า...

คิดเอาเองละกัน  5555



ทีนี้มาว่าด้วยฮอบเปอร์กับพี่ไวฯ สองคนนี่ก็น่าพิจารณาเหมือนกัน ใครจะเริ่มก่อนครับ

เชิญ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 06, 15:52
มีแต่คนฉลาดเท่านั้นที่นึกว่าคนอื่นฉลาดเหมือนตัว...ทุภาษิตจากไหนก็ไม่รู้บอกไว้

อยากฟังคุณพิพัฒน์เริ่ม จะฮอปเปอร์หรือไวเอ็จก็ได้ค่ะ  คนไหนก็ประเสริฐแก่โสตเท่ากัน

นำภาพ Wind from the Sea ที่คุณชอบมาขยายให้คนอื่นดูกันบ้าง
ภาพนี้ดูแล้วเศร้ากว่า Early Sunday Morning เสียอีกค่ะ
ใน ESM ยังรู้สึกว่ามีคนอยู่มากมายในภาพนั้น แม้ว่ามองไม่เห็นตัว ก็ยังรู้สึกถึงการดำรงอยู่
แต่ภาพนี้  คริสติน่าซ่อนอยู่นอกภาพ  มองออกไปจากหน้าต่างห้องเก่าแก่   เธอมองไม่เห็นคนอยู่ที่ไหนเลยจนคนเดียว
สายลมพัดเข้ามา  แต่เธอไม่ได้ออกไป


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 06, 15:54

.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 29 พ.ค. 06, 17:26
 จาก คหพต 24 รู้สึกตัวเองเหมือนเป็นกุมารทอง
ว่ายวนอยู่ในอ่างปลาทองดีๆ พ่อแผนก็เรียก..

อ่านอยู่เงียบๆแท้ๆ เชียวนะเนี่ย
(ไม่ทำร้ายใครแน่ๆค่ะ  รับรองด้วยเกียรติของปลาทองแคระ)

ชอบผลงานลุงนอร์ม เหมือนกันค่ะ

ด้วยความที่ถนัดทางภาพยนตร์มากกว่า แหะๆ
ทำไมก็ไม่ทราบ พอเห็นผลงาน ผนวกกับเรื่องอเมริกันดรีม
แล้วทำให้นึกถึงเรื่องนี้ค่ะ

Nothing is as simple as Black and White

.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 29 พ.ค. 06, 17:32
 Freedom from want ?

.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 06, 18:39
สวัสดีจ้ะ แม่ปลาทองคลีโอ  โผล่พ้นน้ำแล้วหรือ
ดู Pleasantville แล้วเหมือนกัน  ชอบมาก  โดยเฉพาะตอนที่สีสันมันค่อยๆแต้มสีขาวดำของเมืองขึ้นมาทีละส่วน..ทีละส่วน

ขอย้อนกลับไปพูดถึงภาพ Freedom from Want   ภาพนี้ปลอบขวัญกำลังใจในยามสงครามได้ตรงเป้า
เรามองเห็นภาพโต๊ะอาหารที่แสนอุ่นหนาฝาคั่ง   สมาชิกในครอบครัวหน้าชื่นตาบาน    
ผู้ชายตรงมุมภาพขวาล่างยังส่งยิ้มให้คนดูภาพราวกับจะเชื้อเชิญให้เข้าไปในภาพด้วยกันอีกแน่ะ
ไม่มีร่องรอยความขาดแคลนในสงครามให้เห็น

คุณยายใจดี  อ้วนท้วนสมบูรณ์ยกถาดวางไก่งวงตัวใหญ่เหลืองอร่ามเข้ามา    มีคุณตาคอยเตรียมพร้อมจะช่วย   ลูกๆหลานๆเริงร่ากันรอบโต๊ะ  เครื่องเงินอย่างโถน้ำเกรวี่ ขวดเกลือพริกไทย ขัดขาววับนำออกมาวางในโอกาสพิเศษ
น่าจะเป็นการเลี้ยงฉลองในวันแธงส์กิฟวิ่ง   ไม่ใช่คริสต์มาส   วันนี้เป็นวันของอเมริกันแท้  ยุโรปไม่มีวันนี้
เป็นบรรยากาศอบอุ่นของบ้านอเมริกัน กินอยู่กันอิ่มหนำทั่วหน้ากัน

ส่วน Freedom from Fear เราเห็นแม่กำลังบรรจงเหน็บผ้าห่มขาวนุ่มให้ลูกน้อยไร้เดียงสาสองคน  
สัมผัสของแม่แผ่วบาง ทะนุถนอมจนลูกน้อยหลับอย่างอบอุ่นเป็นสุข   ไม่มีสะดุ้งตื่นตกใจ   พ่อยืนอยู่ข้างแม่ เหมือนเป็นหลักของครอบครัว  
มือถือหนังสือพิมพ์  ข่าวพาดหัวจะรุนแรงยังไงก็ตาม   แต่ก็เป็นเพียงในกระดาษ  ไม่มีอันตรายใดๆมากล้ำกรายหนูน้อยในภาพนี้ได้


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 พ.ค. 06, 19:14



.

MoMa เขาเทียบสองคน เฮียไว(คริสติมน่า) กะเฮียฮ๊อป(รูปนี้) ใครอ่านออกเขียนได้ แปลหน่อยดิ

ผมอ่านไม่ออก แต่เขียนได้ จะคอยแซว
 http://www.moma.org/education/makingchoices/lessons/02hopper2.html



MoMa ซื้อคริสตินา'ส เวิลด์ ด้วยราคา 1800 เหรีญ ปี 1948 ถือว่าแพงมาก แต่ทำเงินจากการ์ด โปสเตอร์ ฯลฯ ไม่รู้เท่าไหร่ ปกติที่นั่นมีรายได้ปีละกว่าสองพันล้านบาท คริสติน่าขายดีที่สุด



แต่ไอ้องค์กรหัวสูง ดัดจริตวี๊ดว๊ายกะตู้วู๊ ดีดดิ้นตะแล๊ดแต๊ดแต๋ของพวกไฮโซแห่งนี้ ไม่เคยคิดขยับแม้แต่ขนตาสักเส้น ให้คำขอบพระคุณอัศวินีของเรา ทั้งที่มันขายเธอไป ไม่รู้กี่สิบล้านใบ ทุด

แล้วยังไม่เคยซื้องานของเฮียไวฯ เข้าคลังด้วย งานของเฮียมันติดดินเกินไป ดูรู้เรื่องเกินไป (ไม่ได้รู้ตัวเลย ว่าดูรู้เรื่องแต่ไม่เข้าใจ มันก็อย่างเดียวกับงี่เง่านั่นแหละ) วันที่ซื้อรูปนี้ คงกินยาผิด

-----------------------

แม่ปลาทองขี้บ่น มีหนังยัยตัวร้าย....เปล่า  ไม่ใช่หนูหร็อก

ที่เป็นเด็กสาวแสนซื่อ เข้าเมืองมาจากบ้านนอก มาเป็นคนติดตามดาราใหญ่ แล้วโค่นเจ้านายเป็นดาราเสียเอง หนังขาวดำ จำชื่อเรื่องไม่ได้แล้ว  หาให้หน่อยดิ จะมาประกอบเรื่องมะริกันดรีมน่ะ



บรรยากาศแบบที่อาจารย์เทาฯ บรรยายมานี่ ไปหาหนังชุด Mr. Deed มาฝากด้วยนะจ๊ะ มีหลายภาคอยู่ เหมือนกันจริงๆ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 29 พ.ค. 06, 20:15
 บุ๋งๆๆ (กรีดครีบว่ายแจวมาแต่ไกล)

กราบสวัสดีอาจารย์กรุณา เอ๊ย อาจารย์เทาชมพู และครูพัดค่ะ

หนังยุคขาวดำนี่ เฟื่องยังไม่เกิดดีเลยค่ะ เลยได้ดูไม่มาก
แต่ฟังพล็อตเรื่องแล้วคุ้นๆ เหมือนจะเคยดูค่ะ

ขอว่ายไปฟากน้ำฝั่งกระนู้น หาข้อมูลก่อนนะคะ

:: พนมครีบ ::  


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 06, 20:35


  หนูเงือก  อย่าเพิ่งแหวกคลื่นหนี   ช่วยแปลการบ้านของครูพัดด้วยนะจ๊ะ
 http://www.moma.org/education/makingchoices/lessons/02hopper2.html



หนังขาวดำที่ว่า คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยดู

แม่สาวน้อยที่กลายมาเป็นดารา ในตอนจบ ก็มีสาวหน้าซื่อคนใหม่มาสมัครงาน เป็นกงเกวียนกำเกวียนใช่หรือเปล่าคะ

มีอีกเวอร์ชั่นหนึ่งเป็นหนังสยองขวัญราคาถูก  เนื้อหาทำนองเดียวกันแต่จบไม่ได้เรื่อง ชื่อ They Shoot Diva, Don't they?



พูดถึง Mr.Deeds ไปอ่านเนื้อหา http://www.imdb.com/title/tt0280590/#comment

รู้สึกว่าน่าดูค่ะ



เอาภาพของร็อคเวลล์มาเอาใจหนูเฟื่องนะจ๊ะ  ภาพนี้เป็นงานระยะต้นๆของเขา ราว 1927 ชื่อ Treasures

สาวน้อยยุค 1927 (ดูจากทรงผม) ขึ้นไปที่ห้องใต้เพดาน เปิดหีบสมบัติของคุณยาย หยิบชุดสมัยวิกตอเรียนที่คุณยายเคยสวมสมัยยังสาว มาลองหน้ากระจกเงา

เพื่อจะดูว่าดัดแปลงเป็นชุดใหม่ของเธอได้หรือไม่
.

.



กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 29 พ.ค. 06, 21:51
 แหะๆ การบ้านครูพัด นะคะ เป็นการสอนศิลปะตามหลักสูตรการเรียนรู้ของโมม่า

ภาพแรก โลกของคริสติน่านั้น เขาขยายภูมิหลังให้ฟังนิดหน่อยว่า
แอนดรูว ไวเอ็ธ และคริสติน่า (สุภาพสตรีในภาพเขียน) เคยเป็นเพื่อนบ้านกันในรัฐเมน
ไวเอ็ธชื่นชมคริสติน่าอย่างมากว่า เป็นคนฉลาด (เธอเดินไม่ได้เนื่องจากล้มป่วยตอนเล็กๆ)
ไวเอ็ธ บอกว่า คริสติน่า ชอบความรู้สึกที่ได้ออกไปอยู่ในท้องทุ่งกว้าง

บทเรียนแรกนะคะ เขามีคำถามว่า
1. เมื่อได้รับทราบภูมิหลังข้างต้นเป็นข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับภาพเขียนแล้ว  คุณรู้สึกแปลกแตกต่างไปจากครั้งแรกที่ได้เห็นภาพหรือไม่ อย่างไร
2. ชื่อภาพเขียนมีความสำคัญสำหรับคุณหรือไม่ (ถ้าหากว่า ไวเอ็ธ เปลี่ยนชื่อภาพเขียนนี้ เป็น "ฟาร์มในรัฐเมน" หรือ "ภาพเหมือนของคริสติน่า" หรือเพียงแค่ "คริสตินา"  จะสร้างความแตกต่างหรือไม่)

ทางเลือกมีดังนี้

ให้นึกถึงใครสักคนที่คุณรู้จักดี และสถานที่ประจำของเขาแห่งใดแห่งหนึ่ง(ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน หรือ ที่ที่เขาชอบ)
ถ้าคุณสามารถเขียนภาพของบุคคลนี้ในสถานที่แห่งนั้นได้
คุณจะเลือกเขียนออกมาแบบไหน
สถานที่แห่งไหนที่คุณคิดจะวาดภาพเขาออกมา
คนๆนี้จะสวมใส่เสื้อผ้าแบบไหน
คุณจะเขียนให้เห็นใบหน้าของคนๆ นี้ไหม เพราะเหตุใด

คุณอาจจะไม่ต้องวาดภาพบุคคลดังกล่าวนี้ ลงในภาพเขียนก็ได้
ทว่า คุณอาจจะเขียนสิ่งของ และสถานที่ที่เขาอยู่ หรือเขาทำงาน

ขอให้ดูภาพเขียน The Red Studio เป็นตัวอย่าง
และพินิจพิจารณาทางเลือกที่เป็นไปได้ทั้งหลายแหล่ประกอบด้วย


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 พ.ค. 06, 22:11

.
ซ้ายมือคือหนุ่มซื่อ กระทาชายนายดี้ด
ขวามือคือสาวแสบอีฟ all about eve

ขอแนะนำเว็บนี้ มีความบันเทิงสำหรับวัตถุโบราณ...เอ๊ยไม่ใช่ สำหรับ หนุ่ม-สาวรุ่น...(ก่าววว)
 http://www.classicmoviefavorites.com/

ประเด็นที่น่าคิดก็คือ
หนัง จำลองชีวิต
หรือ ชีวิต เอาอย่างหนัง

นี่เป็นอีกหนึ่งวิกฤติได้กระมัง


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 29 พ.ค. 06, 22:23
 อย่าเอาอย่างจำลองละกัน

อุอุ แว้บบบบบบบบบบบ...


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 30 พ.ค. 06, 00:26
 ตามบัญชาค่ะ แปลการบ้าน แล้วครูพัดสอนต่อนะคะ อิอิ

ถัดมา โมม่า เลือกภาพมาเปรียบเทียบกันประกอบการทัศนาศิลปะ

ภาพแรก โรงภาพยนตร์ในนิวยอร์ค ของเอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ (ภาพในคหพต. 64)
สีน้ำมันบนผีนผ้าใบ เขียนเมื่อปี 1939

คำถามของครูพัด เอ๊ย โมม่า มีดังนี้
1. เมื่อคุณทราบชื่อภาพเขียน และทราบปีที่ศิลปินเขียนภาพนี้ขึ้นแล้ว  
ความรู้สึกของคุณเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้างหรือไม่ เพราะเหตุใด

2. เทียบจากประสบการณ์ของคุณแล้ว ภาพนี้ ทำให้คุณนึกถึงเวลาคุณไปชมภาพยนตร์หรือไม่
มีความคล้ายคลึงหรือความต่างอย่างไรบ้าง เทียบกับโรงภาพยนตร์ในปัจจุบัน

ในการเตรียมการเขียนภาพชิ้นนี้ ฮอปเปอร์ ได้ร่างภาพภายในโรงภาพยนตร์ที่เขาโปรดปราน
พร้อมๆ กับการร่างภาพอื่นๆ ไปด้วย
เขามักจะใช้ โจ ภริยาของเขาเป็นแบบในงานเขียนภาพของเขา
และในภาพนี้ โจ ก็ปรากฏอยู่ในภาพเช่นกัน สุภาพสตรีที่เราเห็นทางขวามือนั่นเอง

คุณเห็นว่า องค์ประกอบภาพของสิ่งต่างๆ ในภาพนี้เป็นอย่างไร (การวางสิ่งต่างๆในภาพ)
การให้แสง, มุมมองของภาพ รายละเอียดอื่นๆ
รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้น มีผลต่อการมองผลงานโดยรวมชิ้นนี้อย่างไร

การสร้างความเชื่อมโยง

เปรียบเทียบภาพโรงภาพยนตร์ในนิวยอร์ค กับ ภาพ โลกของคริสติน่า (คหพต. 15 นู้นน)

อะไรคือความต่าง และความเหมือน ของภาพเขียนทั้งสองภาพนี้


((นักเรียนมีเวลา 50 นาทีในการทำข้อสอบนะคะ ปิ๊ดดด ลงมือได้เลยค่ะ))

.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 30 พ.ค. 06, 00:54
 เซนต์ชื่อเข้าสอบแล้วนั่งหลับครับ
จะตี 1 แล้ว ตามันไม่ยอมลืม

ขออนุญาตคิดว่า "นาที" ของคุณเฟื่องแปลว่า "นาทีแม้ว" นะครับ
เดี๋ยวพรุ่งนี้มาส่งคำตอบครับ



ปล. เขาว่าแม้วนี้ คิดทุกนาทีมีค่า เพราะเก็บค่าบริการตามจริง(แพงๆ)เป็นวินาทีหรือเปล่าครับ หิหิ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 30 พ.ค. 06, 01:08
 ฝันดีค่ะ คุณติบอ

พูดถึง "นาทีแม้ว" แล้วนึกถึง ชั่วหมากจืด ชั่วหมายิ้ม


ห้ามเบี้ยวน๊า พรุ่งนี้ พี่เฟื่องจะพกหางกระเบนมาฝากครูพัดด้วยละ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 06, 10:22
 Freedom from Want จัดเป็นภาพที่นอกเหนือจากชวนเชื่อโปรปะกันดาแล้ว ยังตอบสนอง American Dreams ได้ด้วยค่ะ

ชาวอเมริกันแท้ๆคือพวกอินเดียนแดงที่อยู่กลมกลืนกับธรรมชาติไปตามประสา
หลายร้อยปี  จนกระทั่งดินแดนอันยิ่งใหญ่นี้ถูกนักแสวงโชคจากยุโรป หลั่งไหลกันเข้ามาทำมาหากิน  
พวกเขาพลิกฟื้นผืนดินขึ้นจากป่าเป็นไร่นา    ต่อจากไร่นาเป็นโรงงานอุตสาหกรรม   สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19

ความฝันของคนยากจนลืมตาอ้าปากไม่ขึ้น จึงมุ่งมาที่อเมริกา  เป็นดินแดนที่ฝันเป็นจริง  อย่างคำขวัญของดิสนีย์แลนด์ไงคะ
ดิสนีย์เป็นคนสำคัญคนหนึ่งที่สร้างฝันเป็นจริงให้เด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลก   ทำให้ลายเส้นสเก็ตช์หนูจี๊ดๆ ตัวหนึ่งกลายเป็นหนูที่มีคนรู้จักมากที่สุดในโลก

คนแต่ละรุ่นที่อพยพกันมาสู่ดินแดนใหม่  ก็ถ่ายทอดความฝันนี้ให้คนรุ่นหลังได้กระหายใฝ่ฝันอยากมาบ้าง  เชื่อกันว่าเพียงแต่คุณขยัน ไม่งอมืองอเท้า  คุณก็มีโอกาสจะประสบความสำเร็จ  ร่ำรวยได้  ดังได้  ก้าวหน้าได้
ไม่ต้องใช้ชาติกำเนิด   เส้นสายใต้โต๊ะ หรือล็อตเตอรี่ เพื่อทำฝันให้เป็นจริง

American Dreams จึงเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ข้ามยุคสมัยมาจนทุกวันนี่   แม้แต่พี่ไทยเองจำนวนมากก็ไปสร้างฝันอเมริกันได้สำเร็จแล้ว ไม่ว่าแถวแอล.เอ. หรือเมืองใหญ่อื่นๆ
แม้แต่เมืองเล็กๆในรัฐเกษตรกรรมที่ดิฉันไปเรียน   เพื่อนนักเรียนไทยด้วยกันก็ไม่กลับเมืองไทย  สานฝันอเมริกันกันอยู่หลายราย

ภาพของร็อคเวลล์กระทบใจคนอเมริกันได้เต็มหัวใจ    ทุกคนยังจำได้ว่าบรรพบุรุษดั้งเดิมในยุโรปอยู่ยากแค้นแสนเข็ญ จะกินเข้าไปแต่ละมื้อก็ยังไม่มี
เมื่อได้มากินอิ่มหนำสำราญ ทุกคนในครอบครัวพร้อมหน้ากันอบอุ่น ไม่ว่าเด็กผู้ใหญ่ดูสดใส    ภาพนี้ก็คือฝันเป็นจริงที่พวกเขาแสวงหา

นี่ก็อีกภาพที่ร็อคเวลล์ปรุงรสชาติได้ถูกใจคนดูมาก   เป็นฝันอเมริกันในวันคริสต์มาส
.
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 06, 10:38
 ฝันอเมริกัน หมายถึงงาน เงิน เกียรติ ที่ได้มาด้วยความขยันหมั่นเพียร    เมื่อได้แล้วก็เกิดความสุขทางวัตถุ   ที่จับจ่ายใช้สอยได้อย่างไม่น้อยหน้าใคร
ในเมื่อพวกเขาได้มาอย่างสุจริต   เขาก็มีสิทธิ์ใช้  อีกอย่างเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในประเทศด้วย
เป็นสุขเกิดจากการจ่ายทรัพย์ ทางพุทธนับเป็นหนึ่งในสี่ของสุขของคฤหัสถ์

ภาพนี้ร็อคเวลล์เขียนให้โฆษณารถยนต์   พ่อแม่พาลูกไปฉลองคริสต์มาสที่บ้านคุณย่า  
ทุกคนมีของขวัญหอบกันมาเพียบ คนละหลายกล่อง  แสดงว่ามีสตางค์จ่ายของได้มาก  ไม่ขาดแคลน

หนูน้อยร้องอวดอย่างภาคภูมิใจ
" เมรี่ คริสต์มาส คุณย่าฮะคุณย่า   เรานั่งรถพลีมัธคันใหม่มาหานะฮะ"
.
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 06, 10:54
 ภาพของร็อคเวลล์ภาพนี้เป็นของ American Dream ที่สดใสไร้เดียงสา
เหมือนภาพสาวน้อยส่องกระจกอยากเป็นดารา ที่คุณนกข.เอามาโชว์ให้ดูก่อนหน้านี้ น่ะค่ะ

แต่ถ้าคุณพิพัฒน์มอง อาจจะเรียกว่าเป็นภาพด้านสว่างของ All About Eve ได้ละมั้ง
.
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 30 พ.ค. 06, 12:57
 ฝันมะริกัน เป็นประเด็นใหญ่ของโลก ครือว่าโลกต้องเสียสละไม่รู้เท่าไร เพื่อให้ชาตินี้ฝันดี
เราจะค่อยๆ ปอกหัวหอมไปทีละกลีบ ฮิฮิ......จนไม่เหลืออะไร มีแต่แสบตาฟรีๆ
ผมชอบไอ้หนูพลีมัธที่แกแหกปากได้เต็มอารมณ์ดีจริงๆ  แต่ปกกอลิเย่นี่ ยังไงโตขึ้น เธอก็เป็นอีฟอยู่ดี สังคมจอเงินนั้น เขากินคนเป็นอาหาร แล้วอะไรจะอิ่มเร็วเท่าสวาปามผู้มีพระคุณเล่า...

ขอบคุณแม่เฟื่อง ช่วยแปลคู่มือบริโภคศิลปะฉบับโมม่ามาฝาก ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ผม มาแซว....เอ หรือแซวไปแล้วนะ

ตกลงกันอย่างนี้นะครับ ท่านผู้มีเกียรติ
ผมอยากให้อ่านวิธีการของโมม่า เพื่อจะบอกว่า นี่ไม่ใช่วิธีที่ผมแนะนำ ในการ"เตลิด"เข้าในโลกของศิลปกรรม
เราต้องการมัคคุเทศน์ที่มีรสนิยมมากกว่านี้ เวลาเราอยู่ต่อหน้าโลกของคริสติน่า หรือแม้แต่โลกของลุงนอร์ม จะมาวางเกณฑ์เป็นข้อๆ เปรียบเทียบซ้ายขวา หาดูว่าเจออะไรไม้ มันอยู่ตรงใหนซักแห่ง....อย่างนี้ผมเรียกว่าคู่มือใช้เครื่องซักผ้าครับ

ความจริงโมม่าต้องปิดตัวเองลง ตั้งแต่ซื้องานของเฮียไวแล้วละครับ
ไม่ก็ต้องเปลี่ยนชื่อ ไม่ก็เปลี่ยนผู้บริหาร ไม่ก็ไล่พ่อ Barr ผู้อำนวยการหนุ่มฟ้อ (ตอนนั้น) ออก
ทำไมพูดยังงั้นละพี่

ก็มันตอแหลซีครับพี่ ตั้งชื่อว่า Museum of Modern Art แล้วเที่ยวกร่าง อวดชาวโลกว่า นี่แหนะเฮ้ย เรามะริกันชน เป็นชาติแรก ที่ทำมิวเซียมให้โมเดิ้นอาร์ต ไม่มีใครก้าวหน้ากว่าเราอีกแล้ว
(คือเจ๊ทั้งสี่ ที่ควักกระเป๋าตั้งโมม่า เธออายกระมัง ที่ศุลกากรสหรัฐ ไปเก็บภาษีศิลปะชิ้นหนึ่ง ตอนเชิญเข้ามาในงาน armory show 1919 ทั้งๆ ที่ตกลงกันแล้ว ว่าจะไม่เก็บภาษี ก็ไอ้ศิลปะท่อนนั้น มันดูไม่เป็นสัปรสเลย -แหง๋ซี ใครเขาเอาสัปรสแสดงศิลปะ มันเป็นประติมากรรมล้ำยุค ชื่อนกในที่ว่าง ของอีตาบรันคูชี่ เจ้าหน้าที่เลยตีตราเป็นวัตถุดิบ ยังไม่แปรรูป ต้องจ่ายภาษี ฮา...ดังๆด้วย)

ในปีตั้ง 1929 เจ๊แกเห็นว่า ศิลปะสมัยใหม่ คือยอดสุดของภูมิปัญญามนุษย์แล้ว ถึงได้เริ่มการสะสมและจัดแสดง ที่อิมเปรสชั่นนิสม์ แล้วยังเน้นเซซาน เป็นหัวใจ เพราะจากเซซาน มันจะแตกเป็นสี่เหลี่ยมนิยม มาเป็นการนิรรูปนิยมแบบแอ๊ปสะแตรก แล้วมาที่อะเมริกันเอ๊กเปรสชั่นนิสม์ มาจบที่ป๊อบ ซึ่งเป็นมะริกันจ๋า และยกย่องว่าเป็นเพชรยอดมงกุฏของศิลปะสมัยใหม่......

ปี 1948 น่ะ มันยุคของมงเดรียงแก (ตาย 1944) เท่ระเบิดเล็ย ตีเส้น 5-6 เส้น ฟาดเงินเป็นล้าน ใครดูไม่รู้เรื่อง จะตกข้อหาเป็นบาบาเลี่ยน เป็นยุคของกุมาระสวามี และซูสุกี้ ถกปรัชญาตะวันออก ไฮโซปัญญาเลิศ ต้องไปฟังเล็คเชอ่ร์ เข้าคอร์ส ต้องรู้ว่า วิกฤติโลก มันเป็นไปเพราะนาฏะราชาเริ่งร่ายลีลาศ .....ต้องรู้ทฤษฎความว่างของซามูไร....ของเซ็น โอ๊ย เล่าแล้วเหนื่อย

สรุปง่ายๆ ว่า งานของเฮียไว เฮียฮ็อป พวกนี้ ถือเป็นจัณฑาละศิลปะ มิมีชนชั้นจะขึ้นมาเผยอหน้าบนเวทีโลกได้
ผมลองสอบดู พบข้อมูลเด็ด ว่า ห้าสหาย(สี่สาวหนึ่งหนุ่ม) สร้างมรดกศิลปะให้แก่สหรัฐแบบนี้ครับ (ตัวเลข คงหมายถึงงานที่อยู่ในคลังสะสมของ โมม่า)

Willem de Kooning 201
picasso 121
Max Ernst 91
Robert Motherwell 64
Robert Rauschenberg 64
Jackson Pollock 34
Cézanne 27
duchamp 25
Braque 22
kandinsky 20
Piet Mondrien 19
Brancusi 16
Mark Rothko 13
warhol 13
---------------------
hopper 4
Wyeth 1
Norman Rockwell 0

ในทัศนะผม ถ้าไม่เป็นเพราะรสนิยมเบี่ยงเบน ก็เป็นเพราะการเก็งกำไร เพราะใครสักคนจำเป็นต้องดันกระทู้...เอ๊ย ผิดอีกแล่ว
ต้องดันราคาศิลปะที่ตุนไว้ผิด ฮิฮิ...ให้กลายเป็นสิ่งเลอค่า ปล่อยออกไม่ขาดทุน

ที่บั๊กกิ้งแฮมนะครับ ที่ปรึกษาซื้องานศิลปะ ชื่อ Kenneth MacKenzie Clark (Lord Clark of Saltwood 1903–1983)
ถึงได้เก็บดรออิงของเลนาร์โดไว้เกือบหมดโลก
เป็นคอลเล็คชั่นศิลปะกรรมที่สูงค่าที่สุด เทียบชิ้นต่อชิ้น
ผมว่าเจ๊เบ็ธ เธอคงตาไม่ถึงเท่าไหร่ในเรื่องนี้ (เรื่องอื่นก็ด้วยแหละ) แต่ทำไมแกซื้องานเก่งจัง  หนูเฟื่องคงรู้ฟามลับแล้วละ วันนี้

เอาเป็นว่าแปลต่อไปนะจ๊ะ ขอบคุณล่วงหน้า เดี๋ยวจะมาต่อเรื่องฟามเห่ยของมาม่า...เรื่องภาพถ่าย
พอดีคลิ๊กตามลูกศรต่อออกไปอีกสองสามรูป เจอแล้วมึนตึ้บ
ทำไมมันไร้สติและฟามเข้าอกเข้าใจถึงเพียงนี้วะ ไอ้องค์กรครอบโลกแห่งนี้


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 30 พ.ค. 06, 13:33


  ทีนี้จะมาแกล้งอาจาร์ยเทาฯ ล้วนๆเล็ย

ลุงบราห์มสแกบอกว่า เมื่อมีเริงร่า ก็ต้องมีฟูมฟาย One craps the other weeps.

แถวๆ 1930's ที่ลุงนอร์มเริ่มรุ่ง มันคือช่วงเดียวกับการเป่าลูกโป่งพองลม...เอ คุ้นๆยังไงอยู่นา บางคนแถวนี้เป็นจอมแจกลูกโป่ง..555 ของตลาดหุ้นนิวยอร์ค แล้วแตกโพ๊ละ ในอีกไม่กี่มากน้อย



ผมมีศิลปะด้านสะท้อนมาฝาก เกิดพร้อมกับงานของลุงนอร์มนั่นแหละครับ แถมยังมีคดีดังมาฝากจอมเล่าเรื่องอีกด้วย แต่อันนี้อาจไม่โหดทางกายภาพ แต่โหดในมโนนึก The Sacco-Vanzetti Case ครับ

ศิลปินคนโปรดของผมทำเป็นหลักฐานไว้ที่ศิลาคิ้วส์



.



กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 30 พ.ค. 06, 13:37

.
อันนี้ ขยายใหญ่ครับ
เป็นฝันมะริกันฉบับจริง ไม่ใช่ฉบับฝัน


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 30 พ.ค. 06, 13:40
 หา ให้แปลต่ออีกหรือคะ :: ตาปริบๆ ::

สเว็ท ช็อป (โรงงานนรก ?) นี่ รวมอยู่ในโลกศิลปะด้วยหรือคะครู
เดี๋ยวอู้งานมาแปลต่อให้ค่ะ ตอนนี้ ขอออกจากบ้านไปทำงานก่อน
สายแย้ววว


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 30 พ.ค. 06, 13:42

.
Ben Shahn เป็นช่างภาพด้วย
แก้คำผิดครับ Armory Show 1913 ครับ มั่วไปหน่อย ขออำไพ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 30 พ.ค. 06, 13:57
 ที่นี่บลัด สะเว๊ท แอนด์ เทียร์ส
โน เพนน์ โน เกนน์

ไม่ต้องแปลก้อด้าย สงสารสมองจิ๋ว เอาไปทำอย่างอื่นนะจ๊ะ
เดี๋ยวจะมาถลกมะริกัน ดรีม ให้แหลกเป็นลูกไรในมูลิเหน็ก
ตอนนี้เอารูปตัวอย่างไปดูก่อน

Dorothea Lange in 1936
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 พ.ค. 06, 15:18
 ขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับลุงร็อค และลุงวาย แบบคนที่เล่าเรียนวิทย์ว่า

            ลุงร็อค ท่านเป็น illustrator คุณภาพ  ภาพวาดของลุงสวยงาม เล่าเรื่องตรงไป ตรงมา ง่ายแต่ประทับใจมาก  

            ส่วนลุงวาย เป็น artist  รังสรรค์ภาพที่สั่นสะเทือนอารมณ์ ปั่นป่วนจิตนาการ ดูแล้วคิดไปได้หลายเรื่อง หลายราว  
              ภาพโลกของคริสทินา ดู (โดยไม่ทราบว่าเธอเป็นเพื่อนบ้านของจิตรกร) แล้วสัมผัสสายลมริ้ว แสงแดดเริง
              สงสัยว่าผู้หญิงคนนั้นเป็นใคร ไปทำอะไรอยู่กลางท้องทุ่ง บ้านหลังนั้นเป็นบ้านของใคร นั่นเธอซมซานกลับบ้าน มาหาอ้อมอกแม่ หรือ คนรัก หรือ เธอเป็นหญิงพลัดถิ่น หวังไปพักพิงที่บ้านหลังนั้น

           ภาพเธอคงติดตา แม้เมื่อเวลาผ่านไป ในขณะที่ภาพของลุงร็อคเลือนไปบ้างตามกาลเวลา    

      หากเปรียบเป็นเพลง ฟังว่า ผลงานลุงร็อคนั้นคือเพลงพ็อพ ชั้นดี มีเนื้อร้องเล่าเรื่องราว มีท่วงทำนองไพเราะเสนาะหู ในขณะที่ผลงานลุงวายเป็นเพลงบรรเลงคลาสสิค ฟังแล้วสั่นสะเทือน ซาบซึ้งตรึงใจ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 30 พ.ค. 06, 18:01

.
ก่อนไปสำรวจโลกศิลปะรอบตัวลุงนอร์ม
ด้วยงานของสาวเจ๋ง แลงก์ และคนอื่นๆ

เอาคนที่ไม่เอากับฝันมะริกัน  หัวเด็ดตีนขาดก็ไม่รับรู้เหตุผลของท่านยายเทาฯ ฮิฮิ... แกเป็นสมาชิกเรือนไทยนี่แหละครับ
บุรุษที่สร้างรอยด่างให้โรงเรียนนายร้อยเวสต์ป๊อย
อาชาผยอง crazy horse

รูปอนุสรณ์สถานที่ไม่น่าจะเสร็จในชั่วชีวิตเรา แต่ศิลปินเตรียมลูกไว้รับช่วงแล้ว แกชี้มือไปที่ขอบโลก ซึ่งเป็นที่ฝังศพบรรพชน
แต่ แยงกี้มาแย่งไปแล้ว


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 06, 18:26
 เหรียญยังมีสองด้านเลยนะคะท่านอาจารย์พีพี
****************
เดิม American Dreams หมายถึงความหวังใหม่(ซึ่งไม่ใช่พรรคการเมือง)ในดินแดนใหม่    เป็นดินแดนในฝันของคนจนที่มาจากประเทศเก่าแก่ในยุโรป

ลืมตาอุแว้ออกมาก็เจอชนชั้นซะแล้ว    ระบบฟิวดัลลิสม์มันกดหัวคนไม่ให้โงขึ้นพ้นดินตั้งแต่เกิด   ไม่ว่าคุณเก่ง คุณขยัน คุณดีแค่ไหน  คุณเกิดมาเป็นชาวนา คุณก็ยากจนทำไร่ไถนาอยู่จนตาย
ส่วนลูกชายท่านลอร์ดเจ้าของผืนนาที่ให้เช่า ขี้เกียจหรือสารเลวแค่ไหน  คลอดออกมาก็เป็นคุณชายไปเรื่อยจนตาย   ไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องกระดิกตัวทำงาน

แต่อเมริกาไม่มีผู้ดีไพร่  ทุกคนมีโอกาสเท่ากันที่จะทะยานขึ้นจากจนเป็นรวย  

ในเมื่อเพ่งไปที่เป้าหมายคือความสำเร็จ   วิธีการทำให้สำเร็จเป็นยังไงแบบไหนก็มักจะลืมๆกันไปมั่ง ว่ามันสุจริตหรือทุจริต
หนัง The Godfather จึงเป็นตัวอย่างของ American Dreams ที่บิดเบี้ยวไปจากเดิม  
แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ถึงความสำเร็จของดอน คาลิโอเน่  
โดยเฉพาะเจ้าลูกชายคนเล็กที่ไม่ต้องการความสำเร็จเลยเชียวละค่ะ   แต่ก็กลับผงาดขึ้นมายิ่งใหญ่กว่าพ่อและพี่ในตอนจบของภาค 1
******************
ครูไหวแกหิ้วห่อผ้าเก่าๆห่อเดิม งกเงิ่น หลบไปนั่งอยู่มุมห้องด้านหลัง อย่างเจียมตัว  ให้ท่านศ.ดร.พิพัฒน์เลกเชอร์เรื่องท่านอาชาผยองไปตามลำพัง
เสร็จเมื่อไร   ครูไหวแกจะกลับมาพร้อมด้วยตะบันหมาก


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 30 พ.ค. 06, 18:54

.
ฉากเปิดเรื่องดอน คอเลโอเน แต่นี่ของจริง
ฝีมือ Alfred Stieglitz
ลูกชายแกเคยทำงานที่เมืองไทย อาจารย์คงรู้จัก

อภินันทนาการครูไหว จากพีพี เด็กกวาดเรือนไทย


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 30 พ.ค. 06, 19:42
 อ่า..... ผมว่าจะเข้ามาส่งการบ้านอยู่เชียว
ที่ไหนได้ ท่าน ศ. ดร. พิพัฒน์ (ที่ควบตำแหน่งภารโรงด้วย) ออกปากว่าไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมซะแล้ว
เอามันพับกลับไปบ้านจะดีกว่า จะได้ไม่ต้องเปลืองเนื้อที่บอร์ดเรือนไทยให้รกหูรกตาสมาชิกท่านอื่นๆ


ครูไหวครับ อยากได้เด็กรับใช้เมื่อไหร่ ก็เขย่าเต้าปูนเรียกนะครับ กระผมจะรีบคลานไปให้ไวเชียว
แต่ตอนนี้ขอตัวไปจัดหาน้ำร้อนน้ำชาใส่แก้วมารอท่าน อินสะตรั๊กเตอร์หน้าห้องก่อนท่านจะกระหายเสียก่อนดีกว่า
เพราะถ้าผมขี้เกียจ หรือเผลอนั่งหลับขึ้นมา อาจจะโดนแปลงลบกระดานมาลงตรงกลางกระบาลเอาได้น่ะครับ



.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 30 พ.ค. 06, 20:54
 การจะป้องกันตัวเองจากตะพันหมาก ท่านว่าต้องใช้ตะลุมพุกสถานเดียว

กลับมานินทาโมมาต่ออีกหน่อยตามลิงค์ข้างต้น หากคล๊กไปอีก 2-3ที จะเข้าสู่รูปถ่ายชุดฟองสบู่แตก the great depression เขายกงานของ Dorthea Lange (ทั่วไปจะใช้ Dorothea นะครับ) ไว้เหนืองานของ Walker Evans ดังบรรยายว่า
" Unlike Lange, Evans was not necessarily motivated to take images for social or political reasons. Working for the government was a good job for Evans because he was funded to take photographs of many people and places that interested him. As he said later, "I was looking upon this as a great opportunity for myself and I was exploiting the United States government, rather than having them exploit me."

หยั่งนี้มันเหยียดเพศนี่หว่า ผู้ชายต้องแพ้ผู้หญิงตลอดหรือไง
ตามความรู้งี่เง่าของผม Walker Evans ยังไงก็เป็นหนึ่งในสายงานของตัว งานของเขาไม่ใช่อย่างที่ไอ้โมเมมันพูดแน่นอน อันที่สุดยอดคือ  "Let Us Now Praise Famous Men" ลองตามรอยเขาผ่านลิงค์ที่ผมสรรหามานะครับ
 http://xroads.virginia.edu/~ug97/fsa/welcome.html

ส่วนอันนี้สำหรับครูสอนวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยเพาะที่เก่งภาษาต่างด้าว หนูเฟื่องลองอันนี้ดูมะ
 http://www.english.uiuc.edu/maps/depression/photoessay.htm

.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 31 พ.ค. 06, 00:58

.
อีแวนพิมพ์รูปสามัญชนผู้ยิ่งใหญ่นี้ หน้าละรูป ปล่อยด้านข้างขาว เหมือนที่เขาทำกับรูปศิลปะชั้นสูง คำบรรยายน้อยมาก กลายเป็นต้นแบบของโฟโต้เอ็สเสมาจวบจนทุกวันนี้
ผมขี้เหนียว เลยแสดงทีละสองรูป


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 31 พ.ค. 06, 01:00

.
อีกสองรูปครับ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 31 พ.ค. 06, 15:33
 เอี้ยวตัวหลบตะลุมพุกของท่านศาสตราจารย์อย่างว่องไว

จากคหพต. 84 ของครูไหวนะคะ
คนฝรั่งเศสเองก็คงรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคมเช่นกัน
เลยลุกขึ้นมากุดหัวราชวงศ์เรียบในสมัยปฏิวัติครั้งใหญ่
แต่พอนานเข้า จิตวิญญาณของประชาชนยุคหลังปฏิวัติก็เจือจางเต็มที
พวกอริสโตแครตก็มามีบทบาทในมาดใหม่ในชุดนายทุน
ดังนั้น แม้แต่คนฝรั่งเศสเองก็ยังนิยม les reves americains
หรืออเมริกัน ดรีมส์
ในแง่ของการให้โอกาสคนโดยเท่าเทียมกันเหมือนกันค่ะ

ครูพัดเจ้าขา สมาชิกห้องนี้ เก่งๆ ภาษาต่างด้าวกว่าเพื่องหลายขุมนัก
แต่ยินดีรับใช้ช่วยแปลสนองพระเดชพระคุณครูพัดเจ้าค่ะ
ผิดพลาดประการใด รับรองว่าคุณครูหลายๆ ท่านคงช่วยแก้ไขเป็นวิทยาทานต่อไป

บ่ายๆ มาแปลให้ค่ะ ขอไปทำงานก่อน แว้บบบ...


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 01 มิ.ย. 06, 07:38

.



เอาภาพมาฝากคุณpipat ซักนิดครับ
ภาพนี้เขาว่าถ่ายเอาไว้เมื่อปี 1997 ตอนลุง Wyeth อายุ 80 แน่ะ ยังดูหนุ่มอยู่เลยนะเนี่ยะ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มิ.ย. 06, 09:27
 แวะมาส่ง May Basket ให้ทุกคนค่ะ  
เป็นภาพฝีมือ Wyeth อีกภาพหนึ่งที่เห็นแล้วชอบมาก

มีงานด่วนนอกเน็ตเข้ามา   ต้องทำจนถึงวันเสาร์  
ถ้าแว้บเข้ามาได้จะเข้ามาคุยนะคะ  ถ้าไม่ได้ก็จะมาไล่ตามเก็บค.ห.ทีหลัง
หวังว่างานจะเสร็จก่อนกำหนด
.
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มิ.ย. 06, 09:11
มาอธิบายต่อว่าทำไมถึงชอบภาพ May Basket



ทั้งหมดต่อไปนี้เป็นการตีความของตัวเอง   ไม่ใช่ข้อเท็จจริง

เพราะฉะนั้นใครจะมองมุมอื่นหรือมีข้อแย้งก็ได้



ดิฉันจะไม่พูดถึงแสง เงา จังหวะ ฝีแปรง กลิ่นสีหรือกาวแป้ง เพราะไม่รู้เรื่องศิลปะ

แต่จะมองในแง่อักษรศาสตร์



กระเช้าดอกหญ้าสีขาวตั้งอยู่บนขอบหน้าต่างห้องของคริสติน่า

ผูกโบสีเดียวกับเสื้อกระโปรงใน Christina's World บอกให้รู้ว่าเป็นสมบัติของเธอเอง

เมื่อคริสติน่าเคลื่อนกายไปตามท้องทุ่ง  เพื่อจะได้อากาศบริสุทธิ์ตามที่หมอแนะนำ

ไปเยี่ยมเยียนศิลปินเอกและภรรยา  ไปเยี่ยมหลุมศพของพ่อแม่ ไปที่นั่นที่นี่ที่เธออยากไป

สิ่งที่เธอสัมผัส  คือพื้นดินขรุขระที่ฝ่ามือต้องยัน  แต่ละคืบ แต่ละช่วงเคลื่อนไหว

อาจมีโคลนเลน เศษหญ้า หิน มด แมลง  ปะปนตลอดเส้นทางในโลกของคริสติน่า

แต่เธอผ่านสิ่งเหล่านั้นอย่างไม่ย่อท้อ จนถึงปลายทาง

สิ่งที่เธอมองเห็นคือดอกไม้กลางทุ่งดอกน้อย สีขาวบริสุทธิ์ ชูช่ออยู่กลางความขรุขระลำเค็ญในทุ่งกว้าง

คริสติน่าไม่เก็บความลำเค็ญกลับมาบ้าน   เธอเก็บความงดงามกลับมา

วางไว้ข้างหน้าต่าง รับแดดอุ่น   เพื่อเธอจะได้ชื่นชม ยามเธอต้องจำกัดตัวอยู่ภายในโลกแคบๆของบ้าน

เพราะโลกภายนอกที่ยิ่งใหญ่ไพศาลก็จะกลับเข้ามาด้วยในกระเช้าดอกไม้ใบนี้



คุณล่ะคะ  เก็บอะไรไว้ในโลกของคุณบ้าง?


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มิ.ย. 06, 09:40
 แถมให้อีกภาพ  The Master Bedroom
.
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มิ.ย. 06, 09:53
 ขอกลับมาลุยนอร์แมน ร็อคเวลล์ ต่อ ค่ะ

อย่างที่คุณนิลกังขาปรารภไว้ในตอนต้นของกระทู้ คห.ใดค.ห.หนึ่ง
งานของร็อคเวลล์ในช่วงต้นๆ  ตั้งแต่ทศวรรษ 1930 - 1950  เป็นโลกสดใสรื่นรมย์ของอเมริกันผิวขาว...เท่านั้น
ซึ่งถ้ามองเหตุผลว่าคุณร็อคเวลล์แกวาดลงปกนิตยสาร  หรือโฆษณา ที่คนอ่านล้วนเป็นคนขาว    ก็น่าเห็นใจว่าแกต้องวาดเพื่อกลุ่มเป้าหมายนี้
ถ้าแกฉีกแนวออกไป  ก็ไม่มีใครอ่าน  เผลอๆอาจตกงานเอาด้วย
***************
คุณร็อคเวลล์ดูทีท่าว่าเป็นคนรักเด็ก    และคงรักหมาด้วย  
ถูกใจคนรักหมาอย่างดิฉัน  แต่อาจจะถูกหนูเฟื่องคนรักแมวค้อนเอานิดหน่อย

ในยุคเมื่อคุณปู่คุณทวดยังเป็นวัยซน     เด็กผู้ชายย่อมมีหมาแสนรักวิ่งติดหน้าตามหลังอยู่ไม่ขาด   เหมือนเด็กผู้ชายสมัยนี้ต้องมีเครื่องเสียบรูหูฟังเพลง
เจ้าหมาน้อยหน้าซน จึงเข้ามามีบทบาทในภาพของร็อคเวลล์เป็นประจำ
อย่างภาพนี้ No Swimming  ทางการเขาติดประกาศห้ามลงเล่นน้ำบริเวณนี้อยู่โต้งๆ  แก๊งค์เจ้าหนูก็ขอให้ได้ฝ่าฝืนถึงสนุก
พอตำรวจหรือผู้ใหญ่โผล่มาไล่   ก็โกยอ้าวกันทั้งคนทั้งหมา  ผ้าผ่อนไม่ทันนุ่ง
.
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มิ.ย. 06, 10:06
 อารมณ์ขันของร็อคเวลล์ มีอยู่เหลือเฟือในภาพต่างๆ    เขาแสดงออกผ่านทางนางแบบนายแบบทุกเพศทุกวัย    
เป็นอารมณ์ขันที่น่าเอ็นดู บริสุทธิ์สะอาด   ไม่ใช่ความตลกแบบลบหลู่ดูหมิ่นอีกฝ่าย  หรือแกล้งกันแรงๆไล่ตีหัวกันอะไรแบบนั้น

ภาพนี้คุณตาช่างซ่อมรองเท้ากำลังปวดเฮดกับหนูน้อยที่เอารองเท้าสำคัญมาให้ซ่อม     ว่าจะซ่อมยังไงดี ในเมื่อมันจิ๋วซะเหลือเกิน
แต่เราก็คงดูออกว่า ในที่สุดคุณตาก็ซ่อมให้อย่างไม่ย่อท้อ  ไม่ละเลยความสำคัญของลูกค้า ผู้เห็นว่ารองเท้าของตุ๊กตานั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด  ขาดชำรุดไปตุ๊กตาจะไปไหนมาไหนได้ไง
ดูจากสีหน้าสีตาท่าทางเคร่งเครียดของเธอซิคะ
 
หลักการบริการลูกค้าแบบคุณตา น่าจะได้รางวัลบริการลูกค้ายอดเยี่ยมแห่งปี
.
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มิ.ย. 06, 10:16
 ภาพนี้ชื่อ After the Prom
Prom Night เป็นงานฉลองยิ่งใหญ่ของนักเรียนมัธยม   จัดเต้นรำกัน แต่งตัวกันเริ่ดที่สุดไปร่วมงาน
สาวน้อยจะได้ช่อดอกไม้จากหนุ่มน้อยคู่ควงของเธอ  ประดับบนเสื้อ หรือบางทีก็ข้อมือ

ในภาพนี้  เมื่อจบงานเลี้ยงแล้ว  หนุ่มน้อยก็พาสาวน้อยไปกินอะไรรองท้องรอบดึก  
ถ้าเป็นบ้านเราก็ทำนองข้าวต้มโต้รุ่ง
ผู้ใหญ่ก็พากันเอ็นดู    คนขาย(ซึ่งอาจจะเป็นเจ้าของร้าน) ทำท่าปลื้มกับความงามของสาวเจ้า จนโงหัวไม่ขึ้น
มาขอชมดอกไม้ติดเสื้อที่สาวน้อยอวดให้ดูด้วยความภูมิใจ  มีหนุ่มน้อยยิ้มแก้มแทบปริ ในเสน่ห์ของสาวคู่ควง
.
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มิ.ย. 06, 10:19
 ภาพนี้ ร็อคเวลล์ล้อเลียนนักวิจารณ์ศิลปะ ชื่อ  Art Critic
โปรดสังเกตว่าคนในภาพศิลปะมองเจ้าหนุ่มนักวิจารณ์อย่างตระหนก ราวกับเห็นน้องตุ๊ดตู่
ส่วนเลดี้ในภาพก็ทำหน้าเหมือนกับว่า...วุ้ยว้ายตายแล้ว  แกมาส่องดูอะไรชั้นยะ
.
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มิ.ย. 06, 10:48


  ร็อคเวลล์เก่งอีกอย่างคือจำลองภาพในชีวิตประจำวันของชาวบ้านร้านถิ่นออกมาได้งามประทับใจ

สิ่งที่เรามองผ่านๆไป เพราะเห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  เมื่อผ่านกล้องขยายสายตาศิลปิน  ก็กลายเป็นงานศิลปะที่มีชีวิตจิตใจมองไม่รู้เบื่อ

อย่างภาพ Shuffleton's Barbershop



ในเวลากลางวัน  คุณลุงทั้งหลายก็ประกอบอาชีพไป ในร้านเล็กๆติดจะรุงรังตามประสาร้านบ้านนอก  ไม่มีอะไรน่ามองซ้ำ

แต่เมื่อหมดเวลาทำงาน  ปิดร้านด้านหน้า ไฟหน้าร้านดับมืดลง ไฟด้านหลังก็แจ่มกระจ่าง

มองลอดเข้าไปในห้องด้านหลัง  ที่ใช้เป็นทั้งห้องอาหาร รับแขก นั่งเล่น

แขกรับเชิญที่ล้วนแต่คนบ้านนอก ทำอาชีพเล็กๆน้อยๆในละแวกเดียวกัน ทยอยกันเข้ามา

สวมวิญญาณของศิลปิน   บำรุงบำเรอใจกันและกัน  ดังที่เชกสเปียร์เคยกล่าวว่าว่า

If music be the food of love, play on.

แค่นั้นแหละ  เต็มอิ่มแล้วในความรู้สึกของพวกเขา  ไม่ต้องไปนั่งอยู่ในวงซิมโฟนีออเคสตราเสียก่อนถึงจะบรรเลงออก


ขอส่งท้ายภาพด้วยพระราชนิพนธ์แปล เวนิสวาณิช ในสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า




ชนใดไม่มีดนตรีกาล.........................ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก

อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ..............เขานั้นเหมาะคิดกบฎอัปลักษณ์
 
ฤาอุบายเล่ห์ร้ายขมังนัก....................มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี

อีกดวงใจย่อมดำสกปรก ...................ราวนรกเช่นกล่าวมานี่

ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้....................เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ

.

.



กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มิ.ย. 06, 11:22
 ถ้าใครจำความรักครั้งแรกสมัยอยู่ประมาณ ม.๒   ได้ อาจจำได้ว่าแอบดูเขา(หรือเธอ) บ่อยๆ แต่ไม่กล้าไปคุยด้วย
อยากรู้จังว่าเขา(หรือเธอ) คิดยังไงกะเรา  ชอบเรามั่งมั้ย  รู้รึเปล่าว่าเราแอบชอบ
ถ้าเขา(หรือเธอ) ยิ้มให้ เข้ามาคุยด้วย มาบอกว่าชอบเรา  ก็จะรู้ว่าโลกมีแต่สีชมพูและฟ้าเท่านั้น
สิ่งมีชีวิตร่วมโลกก็มีแต่นกน้อย ผีเสื้อ กระต่ายน้อย กวางน้อย เต่าน้อย  ไม่มีเสือสิงห์กระทิงแรด

ภาพนี้ ร็อคเวลล์ทบทวนความหลังให้หนุ่มใหญ่สาวใหญ่ทั้งหลาย ได้ลืมนึกถึงปัญหารถติดบ้าเลือดไปรับลูกไม่ทัน  หาโรงเรียนดีๆให้ลูกไม่ได้     ลืมความปวดใจเรื่องเอเน็ทไอเนทที่ทั่นผู้ใหญ่ยืนยันว่าปีหน้าก็จะใช้อีก  
ฯลฯ
ชื่อ Sweet Song so Young ค่ะ
.
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มิ.ย. 06, 19:03

.
.
ภาพนี้ ดิฉันชอบเป็นพิเศษ  ชื่อ The Shiner  
Shiner ก็คือเบ้าขนมครกสีเขียวปัดรอบขอบตาสาวน้อยในภาพ  เรียกอีกอย่างว่า a black eye
ดังนั้นถ้าจะชมดวงตาสาวคนไหนว่าดำขลับ อย่างสาวสเปนหรืออิตาเลียน  
ฝรั่งไม่นิยมเรียกว่า black eyes  เขาเรียกว่า dark eyes ค่ะ

สาวน้อยถูกเรียกตัวไปนั่งรอหน้าห้องครูใหญ่   นี่หมายถึงว่าเธอได้ก่อเหตุใหญ่ในโรงเรียน  จนถูกเรียกตัวไปไต่สวนหรือลงโทษ
ประตูเปิดแง้มมองเห็นครูสาวยืนหน้าตากังวล รายงานครูใหญ่ผู้มีท่าทางเคร่งขรึมเจ้าระเบียบ

รูปลักษณ์ของสาวน้อย ผ่านอะไรมาเชิญเดาก่อน    
ตาซ้ายเขียวปัดเหมือนโดนกำปั้น  เข่ามีพลาสเตอร์ปิดแผลสดๆ   เสื้อเยิน ถุงเท้ายับ รองเท้าเชือกหลุดลุ่ย แสดงว่าเธอกรำศึกมาหยกๆ สะบักสะบอม
แต่ขุนศึกหญิงมู่หลานนั่งกางข้อองอาจ   ยิ้มเผล่อย่างสุขใจเป็นล้นพ้น  

เธอคงได้ตะบันหน้าไอ้หนุ่มรุ่นเดียวกันคนใดคนหนึ่งลงไปนอนนับสิบ  หลังจากแลกหมัดกันอุตลุด
มันบังอาจมาสบประมาทสิทธิสตรี ประการใดประการหนึ่งหรือหลายประการ    เช่นกระตุกหางเปีย หรือท้าว่าผู้หญิงขี้แยดีแต่ร้องไห้  
เธอก็เลยโดดเข้าสั่งสอนซะ   ให้รู้ว่าเพศหญิงไม่ได้อ่อนแออย่างที่ว่านะเฟ้ย
หลังจากนั้นเธอก็เดินอาดๆ พาบาดแผลฟกช้ำดำเขียวมารับโทษ ที่รังแกนักเรียนชาย
นี่แหละ หัตถาครองพิภพของแท้  อย่าประมาทเชียว


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 04 มิ.ย. 06, 20:02
 แอบแวบเข้ามาอ่านเรื่อง Norman Rockwelll หลังอาหารค่ำนะครับอาจารย์
ห่างหายจากบอร์ดไปวันกว่าๆ เรื่องเล่าของ อ.เทาชมพู ยังสนุกเหมือนเดิม
คิดถึงเรือนไทยจังครับ


คราวนี้ขอเอาภาพลุง Norman Rockwell สมัยที่ยังเป็น "เฮีย" อยู่มาฝาก อ.เทาฯ ซักภาพแล้วกันครับ




.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มิ.ย. 06, 22:15
 :) คุณติบอ  


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 04 มิ.ย. 06, 23:33

.


พอดีไปค้นเจอภาพของลุง Norman จากเวบเดิมครับ เลยขออนุญาตเอามาลงที่นี่ต่อจาก อาจารย์เทาชมพูด้วยครับ


ภาพแรก ลุงเขียนไว้เมื่อปี 1920 (ในเวบที่ค้นมาบอกว่าแบบนั้นนะครับ แหะๆ)
ชื่อภาพคือ Is He Coming?


ในภาพแม่หนูกับน้องสาวคงเป็นเด็กฝรั่งอีกคู่หนึ่งที่สงสัยในคำบอกเล่าของพ่อแม่ว่าลุงซานตาคลอสจะโผล่ลงมาจากปล่องไฟได้มั้ย แล้วพุงโตๆของลุงจะไปค้างอยู่ระหว่างปล่องไฟหรือเปล่า
ก็เลยถือตะเกียงย่องลงมาจากห้องนอนตอนกลางดึกที่ไฟในเตาผิงเริ่มมอดลงบ้างแล้ว เพื่อแอบดูว่าลุงซานตาคลอสมาหรือยัง แล้วปีนี้ของขวัญที่เขียนอธิษฐานเอาไว้จะได้สมใจปรารถนามั้ยน้อ
.....



หรือคิดอีกที เด็ก 2 คนนี้อาจจะแอบลงมาดักคุณพ่อที่จะเอาของมาใส่ในถุงเท้าเหนือปล่องไฟก็ได้
เพราะสงสัยมาข้ามปีแล้วว่าตกลงใครคือลุงซานตาคลอส He ที่ว่าก็เลยกลายเป็นคุณพ่อแทนไงครับ อิอิ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 04 มิ.ย. 06, 23:51

.




ภาพนี้ชื่อ Marrie Christmas Couple Dancing Under The Mistletoe ครับ
ปีที่วาดทางเวบไม่ได้บอกไว้



ผมเดาเอาเองว่าลุงในภาพอาจจะอยากบอกรักกับป้าชุดเขียวคนนี้มาตั้งแต่นานแสนนานมาแล้ว
แต่ยังหาโอกาสบอกรักไม่ได้ซักที ถึงแม้ว่าจะแอบรู้มาว่าป้าเองมีใจให้ลุงอยู่ก็ตาม

จนวัน Christmas วันหนึ่งเมื่อทั้งคู่มีอายุมากขึ้นแล้ว ถึงได้พบโอกาสเหมาะเจาะที่ใต้ช่อ Mistletoe ช่อหนึ่ง
เนื่องจากธรรมเนียมคริสต์ เขาอนุญาตให้หนุ่มสาวที่อยู่ด้วยกันใต้ช่อกาฝากชนิดนี้ซึ่งนำมาแขวนประดับไว้ในวันคริสมาสต์จูบกันได้
ลุงกับป้าก็เลยลุงขึ้นมาเต้นระบำกันร่าเริง ด้วยความยินดีปรีดากับโอกาสทองของตัวเอง (โดยลืมไปว่าเขาอนุญาตให้ "หนุ่มสาว" นะนั่น หิหิ)

ในภาพลุง Norman วาดไว้ให้ไม่น่าเกลียดนัก โดยการหันหน้าตาลุงตุ้ยนุ้ยหัวเริ่มล้านออกมาทำหน้ากรุ้มกริ่มแทน
ลองคิดดูว่าถ้าคนที่หันออกมาเป็นป้า แล้วมีแววตาแบบที่ลุงทำอยู่นี่ ไม่รู้คนดูภาพจะคิดยังไงก็นะครับ ฮี่ๆ



ปล. ที่จริง 2 ลุงกับป้าคู่นี้อาจจะเป็นคู่รักที่อยากย้อนความทรงจำกันก็ได้ใครจะรู้
แต่เชื่อเถอะครับ ผู้หญิงหลายคนยืนยันได้ว่าไม่ว่าจะใช้จินตนาการขนาดไหนก็ตาม สามีตัวเองไม่มีทางทำสีหน้าแบบลุงได้หรอกครับ อิอิ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 05 มิ.ย. 06, 00:07

.




ภาพนี้ชื่อภาพคือ Christmas - Santas Reading Mail
ลุง Norman วาดเอาไว้เมื่อปี 1935 เป็นสีน้ำมันบนผืนผ้าใบเหมือนอีก 2 ภาพแรก

ในภาพลุงซานต้ากำลังอ่านจดหมายจากนหูน้อยทั่วมุมโลกอย่างเคร่งเครียด
ใช้ปากกาขนนกจดรายการของสารพัดอย่างลงไปบนสมุดเล่มโตที่เปิดแล้วเปิดอีกบนโต๊ะของลุง

และเนื่องมาจากลุง Norman วาดภาพนี้เอาไว้เมื่อ 70 กว่าปีมาแล้ว ลุงซานต้าถึงได้ใช้ปากกาขนนกกับสมุดเล่มโต
เพราะถ้าเป็นซานต้ายุคใหม่คงใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ กับซอฟต์แวร์ซักโปรแกรม ป้อนอะไรเข้าไปก็ไปจัดเข้าพวกได้ไม่ต้องเหนื่อยเหมือนตอนนั้น แหงๆ หิหิ




ปล. อยากรู้จังว่าถ้าป้า Barbra Streisand ไปร้องเพลง "My grown up Christmas list" อยู่หน้าลุงซานต้าส์ลุงจะเกาหัวหนักกว่านี้มั้ย
เพราะแกคงต้องไปนั่งนึกหาวิธีปลดนักการเมืองแนวหน้าทั่วโลกออกจากเก้าอี้กันระนาวนะเนี่ยะ หิหิ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 05 มิ.ย. 06, 00:16

.





ภาพนี้ชื่อ A Drum for Tommy ครับ
Norman วาดเอาไว้เมื่อปี ค.ศ. 1921 เป็นจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบอีกเหมือนเคย


ลุง Santas คงได้รับจดหมายหรือไม่ก็โทรจิตซักฉบับจากหนูน้อย Tommy แล้วล่ะ ถึงได้เอากลองมาฝากเจ้าหนู
ส่วนลุง Norman ก็คงไปเห็นว่าหนูน้อยสะกดจดหมายอย่างที่เห็นอยู่ เลยแอบไปบันทึกภาพของลุง Santas ที่ขำกับจดหมายอย่างใจดีมาให้พวกเราได้ดูกัน


หลังจากเห็นชื่อ Tommy แล้วผมมีเรื่องความเลวของตัวเองมาสารภาพครับ
เรื่องคือผมไปซื้อ "หนังแผ่น" มาดูนี่แหละ ไม่ใช่หนังแปลกๆหรอกครับ แค่หนังไม่มีลิขสิทธิ์น่ะ

ผลปรากฏว่าเขาแปลชื่อเด็กผู้ชายที่ชื่อ Tommy ว่าท้องบ้าง กระเพาะบ้างทั้งตั้งแต่ต้นจนจบ
บางฉากก็เลยมีคำแปลแปลกๆขึ้นมาด้านล่าง เช่น "กระเพาะๆ ฉันจะออกไปข้างนอกแล้วนะเธออยากอยู่บ้านมั้ย ?"
ทำเอาคนอ่าน(คำแปล) งงเป็นพักๆได้..... อืม คิดอีกทีเขาคงอยากให้ผมหัดฟังภาษาอังกฤษนะครับ แหะๆ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 05 มิ.ย. 06, 00:24

.



เอาภาพที่ไม่ใช่ "Christmas" มาแปะบ้างดีกว่า ก่อนสมาชิกที่มาตามอ่านกระทู้จะเบื่อกับสีแดง หิมะ และลุงSantas ไปก่อน



ภาพนี้เอามาแปะไว้เปรียบเทียบกับภาพในความเห็นที่ 66 ของ อ.เทาชมพูครับ
ในภาพนู้น เด็กสาวกำลังรื้อเอาเสื้อผ้าของคุณแม่บ้าง คุณยายบ้างมาดูว่าเธอจะเอามาทำยังไงให้ตัวเองใส่ได้บ้าง

ส่วนภาพนี้อาจจะเป็นคุณยายของหนู แอบเข้ามาดูหีบเสื้อผ้าเก่าๆของตัวเองหลังจากที่แม่หนูออกไปแล้ว
แล้วก็หยิบเอาสมุดบันทึกเล่มเก่าขึ้นมาอ่านรำลึกความหลังอันหวานชื่น ที่ผ่านพ้นไปกับเดทแรกของคุณตา
ว่าแล้วก็ใจชื้นที่ชุดที่ใส่ในวันนั้นไม่ถูกหลานสาวหั่นชายกระโปรงตัวยาวออกไปให้ทันสมัยเหมือนตัวอื่นๆ
คุณยายก็เลยขอสวมอีกซักครั้ง คิดว่าตัวเองกำลังคอยนัดจากคุณตาอยู่เหมือนเมื่อครั้งกระนู้น นั่งยิ้มแป้นอยู่คนเดียวในห้องใต้หลังคาเหมือนในภาพไงครับ อิอิ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 05 มิ.ย. 06, 00:28
 .




ส่วนภาพนี้ เห็นคุยกันเรื่องโทรศัพท์มือถืออยู่ พอหาภาพแล้วเห็นภาพนี้เลยนึกถึงโฆษณาที่ว่า "พูดกันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น" หรืออะไรทำนองนี้ของโฆษณาโทรศัพท์ซักค่ายนี่แหละ
เลยขอเอามาแปะไว้หน่อยนะครับ เพียงแต่ข้อเสียนิ๊ดเดียวของภาพนี้น่ะ คือชื่อของภาพคือ The Gossips น่ะสิครับ แหะๆ



ปล.1 เน้นนะครับ ว่า The GossipS

ปล.2 ภาพเมื่อกี้นี้ชื่อ Attic Memories นะครับ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 05 มิ.ย. 06, 00:32

.


ภาพหลุดครับ โตไปนี๊ดนึง


ขอเป็นภาพสุดท้ายสำหรับคืนนี้แล้วกันครับ
คนแปะเริ่มหน้าตาเหมือนสมาชิกในภาพที่ชื่อ "Family Home From Vacation" เข้าไปทุกทีแล้วล่ะครับ แหะๆ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มิ.ย. 06, 08:00
 คุณติบอเข้ามาแจมให้แฟนร็อคเวลล์ครึกครื้นขึ้นได้อีกเยอะค่ะ
โดยส่วนตัว ดิฉันชอบภาพรุ่นเก่าของร็อคเวลล์   มันดูเป็นโลกที่ใสๆ สะอาดๆ ดูแล้วสบายใจ
แต่ร็อคเวลล์เองก็คงรู้ว่า ฝันดีแบบนั้นอยู่ไม่ได้นาน  ต้องมีวันตื่นขึ้นมาสักวัน
ภาพในยุคต่อมา ช่วงทศวรรษ 1960s   จึงเริ่มมีแนวใหม่เข้ามาแทรก เป็นภาพที่ดูเผินๆก็สีใสๆ อ่อนสะอาด  มีเด็กเป็นแบบ   แต่มองแล้วเสียดแทงใจ  ชนิดที่แฟนประจำอึ้งไปเมื่อเห็น
อย่างภาพนี้
หนูน้อยผิวดำสองคนย้ายเข้ามาอยู่ในถิ่นของคนขาว   ปกติเมื่อมีเพื่อนบ้านใหม่เข้ามาอยู่    เด็กๆในละแวกนั้นก็จะวิ่งกันมาดู อยากรู้และอยากต้อนรับเพื่อนใหม่
แต่นี่ยืนอึ้งกันเป็นแถว  แม้แต่เจ้าหมาน้อยก็ทำท่าระย่อแกมไม่ไว้ใจ สะท้อนอารมณ์ของนายน้อยของมัน
เพราะเด็กสองพี่น้องหน้าใหม่  เป็นเด็กผิวดำ  ซึ่งยืนเก้อๆทำอะไรไม่ถูก
ความแปลกแยกเห็นได้ชัด  เป็นฝุ่นที่เคยกวาดเข้าไปซุกใต้พรมอเมริกันดรีม
บัดนี้ร็อคเวลล์แง้มพรมขึ้นมาให้ดูโดยทั่วกัน
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มิ.ย. 06, 10:20
 ตอนนี้เอาภาพเบาๆมาคั่นก่อนค่ะ
ภาพนี้ชื่อ "หนูเฟื่องถูกจับ"
เมื่อหนูเฟื่องถูกจับขึ้นมาจากทะเล   ลุงแกก็แบกเอาไปทำแป๊ะซะเสียแล้ว
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มิ.ย. 06, 10:26
 ภาพนี้เป็นภาพสะท้อนชีวิตอีกภาพหนึ่ง

ไอ้หนูวัยรุ่น เป็นหนึ่งที่โชคดีผ่านขบวนการมิชชั่นอิมพอสสิเบิ้ลชื่ออเน็ทไอเนทไปได้  
เตรียมพร้อมจะออกจากท้องไร่ท้องนา เข้าเมืองไปเป็นหนุ่มมหาวิทยาลัยเล
นั่งหลังยืด หน้าเชิด ในเสื้อผ้าชุดใหม่สะอาดเอี่ยม   มีพ่อผู้ชรา หลังสู่ฟ้าหน้าสู้ดินมาตลอดชีวิต  มานั่งส่งลูกชายขึ้นรถทัวร์ระหว่างจังหวัด
ไอ้หนูไปแล้วก็คงไปลับ  เรียนจบแล้วไม่กลับมาพัฒนาถิ่นเดิม  ท่าแบบนี้ไปเป็นหนุ่มชาวเมืองแน่นอน
ชื่อ Breaking Home Ties ค่ะ
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 05 มิ.ย. 06, 11:36
 หากเงือกในลอบดักปลาที่คหพต.ที่112นั้นเป็นคุณเฟื่องจริง
คุณลุงที่แบกลอบไปนั้นมีหวังต้องหลังหักซะกลางทาง..    


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 06, 19:23
 กรี๊ดดดดดดดดดดดดดด...
ได้ยินเสียงหนูเฟื่องแหวกคลื่นมาแต่ไกล
ภาพนี้ฝากคุณหมูน้อยค่ะ  


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 06, 19:36


  โลกเปลี่ยนไปมากจากยุคเริ่มต้นที่นอร์แมน ร็อคเวลล์เริ่มแสดงฝีมือ

ปัญหาหลายอย่างที่เมื่อก่อนถูกมองข้าม สะสมเป็นขยะกองใหญ่ขึ้นมาจนซุกไว้ใต้พรมไม่ไหว

อย่างปัญหาการเหยียดผิว



ช่วง 1960s ในรัฐทางใต้บางรัฐ    ความบาดหมางระหว่างคนขาวกับคนดำดำเนินไปอย่างรุนแรง

คนดำที่ทำผิดต่อคนขาว  แม้ว่าเนื้อหาอาจไม่ต่างจากคนขาวทำผิดต่อคนขาวด้วยกัน แต่คนดำถูกกฎหมู่ลงโทษสาหัสกว่า

เช่นถูกโบยกลางสาธารณชน  หรือลงประชาทัณฑ์จนตาย



กฎหมายเองก็ตะแคงถ่วงไปทางอีกด้านหนึ่ง  

แบ่งแยกกันชัดเจนว่า ความเสมอภาคนคือเสมอภาคเฉพาะคนขาว



คล้ายกับในหนังสือ Animal's Farm ของ George Orwell ที่เสียดสีไว้ว่า

All animals are equal. But some are more equal than others.

สัตว์ทุกตัวเสมอภาคกัน  แต่บางตัวก็เสมอภาคมากกว่าอีกตัว



ภาพนี้ขอปิดท้ายกระทู้ร็อคเวลล์ค่ะ   เขาสะท้อนการเหยียดผิวเอาไว้อย่างเฉียบคมและสะเทือนใจ

ในภาพชื่อ Southern Justice

.

.



กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มิ.ย. 06, 16:27
 ตั้งใจจะปิดกระทู้   แต่ไปเจอภาพของร็อคเวลล์ที่รวบรวมไว้ในโฟลเดอร์  จะลบทิ้งไปหมดก็เสียดาย
มีบางภาพสวยน่ารักดี  เลยขอมาแถมท้ายเป็นป.ล. ของกระทู้

ตามหมู่บ้าน  พอถึงหน้าร้อน ปิดเทอม มีเวลาว่างพอทำกิจกรรม   ก็มีละครสมัครเล่นของเด็กๆนักเรียน  เอาเรื่องคลาสสิคมาเล่น
เปิดวิกกันในโรงกว้างๆ อะไรก็ได้ที่พอจะหาที่นั่งให้เพื่อนฝูงกันได้  อย่างในโรงนาก็ได้  โรงเก็บรถก็ดี
สาวน้อยแต่งตัวเป็นควีนเอลิซาเบธที่ 1  กำลังตั้งอกตั้งใจแต่งหน้า   เพื่อจะเปิดรอบปฐมทัศน์ในโรงนา
.
.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มิ.ย. 06, 16:42

.
.
เกียรติของลูกเสือ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มิ.ย. 06, 16:45

.
นี่คงเป็นอีกภาพที่คุณนกข.จะเรียกว่าโปรปะกันดาอเมริกา


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มิ.ย. 06, 16:50

.
โฆษณาสายการบินแพนแอม
ในภาพมีตัวคุณร็อคเวลล์อยู่ด้วยนะคะ ใครเห็นบ้าง


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 08 มิ.ย. 06, 21:47
 กรี๊ดดดดดดดดดดดดดดด...

อาจารย์รู้ทันหนูจริงๆ เลยค่ะ
จริงๆ เคยกรี๊ดไว้ตั้งแต่อาทิตย์ก่อน หลัง คหพต. คุณหมูน้อย
แต่ว่า เครืองคอมเป็นอะไรไม่ทราบค่ะ สงสัยเน็ตที่บ้านล่ม

ตอนนี้ จับหมูน้อยย่างไปแล้วนะคะ อร่อยค่ะ

ลุงนอร์ม อยู่ใต้ร่มชายหาดหรือเปล่าคะ อิอิ น่าอิจจ๋า..


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 08 มิ.ย. 06, 22:46
 ผมเปล่าเรียกก๊าบ อาจารย์ พระเจ้าตาพิพัฒน์ของผมท่านเรียกก่อน

แต่ได้สังเกตว่า "ประชาชนอเมริกัน" ภายใต้ร่มธงชาติดวงดาวและลายขวางในรูป คห. 119 นั้น มีทั้งมนุษย์อวกาศ ซึ่งแสดงความก้าวหน้าทางวิทยาการของสหรัฐฯ (อเมริกาชนะโซเวียตได้ ไปลงดวงจันทร์ก่อน) มีเด็กชายนิโกรคนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่มีฮิสแปนิกอเมริกันและเอเชี่ยนอเมริกันอยู่ดี

สำหรับเฟมินิสต์ ช่วยผมดูหน่อยว่ามีผู้หญิงรึเปล่า ใช่คนมุมขวาบนสุดไหม ถ้าคนนั้นไม่ใช่หญิง ก็แปลว่าลุงนอร์มของผม ลืม รวมผู้หญิงไว้ในประชาชนอเมริกันอีก


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เพื่อนพระเอก ที่ 20 มิ.ย. 06, 10:54
 ขอบคุณมากครับ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: กอประกาญจน์ ที่ 22 มิ.ย. 06, 14:16
 มัวแต่ไปทำงานจนหน้าเหี่ยวไม่ได้มาหาความรู้ที่นี่เสียหลายเดือน เปิดมาก็เจอประเด็นถูกใจเลยค่ะ ดิฉันชอบภาพของคุณร็อคเวลมากถึงกับซื้อหนังสือรวมภาพมาเก็บไว้ (ชอบ Escher และ Gustav Klimt ด้วยค่ะ ยังมีอีกหลายคน ชอบมั่วไปหมด) ไม่ได้ชอบภาพไหนเป็นพิเศษค่ะ

สิ่งที่ดิฉันชอบที่สุดในภาพของคุณร็อคเวลคือรายละเอียดปลีกย่อยในภาพและลูกเล่นเล็กๆ น้อย หลายๆ รูปดูไปก็ยิ้มไป หลายภาพก็ชวนให้คิดต่อไปอีกไกล เห็นบางภาพแล้วดิฉันนึกถึงแนวคิด (หรือเขาเรียกว่าทฤษฎีคะ ไม่ค่อยแน่ใจเลย ความรู้ด้านวิชาการไม่แน่นค่ะ) เรื่อง American Dreams และหลายๆ ภาพก็ชวนให้นึกถึงคำว่า propaganda อยู่ ดีใจที่คิดเหมือนที่ "ท่านผู้รู้" (ยกย่องจริงๆ ค่ะ ไม่ได้ประชด) หลายท่านว่ากันมา

อ่านแล้วสนุกดีค่ะ ได้มองมุมใหม่ เปิดโลกทัศน์ตัวเองดี อาจารย์เทาชมพูอย่าเพิ่งรีบปิดกระทู้เลยค่ะ


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มิ.ย. 06, 17:08
 หมดสต๊อคแล้วค่ะ   ไม่มีของร็อคเวลอีกแล้ว
คุณกอประกาญจน์อยากได้ภาพของศิลปินคนไหนอีกล่ะคะ
ดิฉันจะเปิดกระทู้ใหม่ให้
เผื่อมีมุมมองใหม่ๆน่าสนใจเพิ่มขึ้นอีก


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 22 มิ.ย. 06, 19:30
 ผมยังพอเหลือภาพของลุง Norman อยู่บ้างครับอาจารย์ ที่ไม่ได้นำมาลงไว้แต่แรก
เพราะเห็นว่าเรื่องก็จบไปแล้ว เลยไม่แน่ใจว่าจะมีคนอยากชมภาพกันต่อบ้างมั้ย

วันนี้เห็นคุณกอประกายกาญจน์ เข้ามาอยากชมภาพเพิ่ม เดี๋ยวผมหามาลงให้อีกครับ
แต่ต้องขอเวลานิดนึงนะครับ เพราะไม่มั่นใจแล้วว่าตัวเองเอาภาพไปเก็บไว้ไหนบ้าง


เริ่มจากภาพนี้ก่อนครับ "Family Home From Vacation" ที่ผมเล่าถึงเอาไว้ในความเห็นที่ 110

เป็นภาพที่ ลุง Norman วาดภาพครอบครัวเล็กๆครอบครัวหนึ่งที่เพิ่งจะกลับจากไปเที่ยวช่วงวันหยุดฤดูร้อนเอาไว้
ในภาพ คุณพ่อสวมหมวกฟางแบบแบบที่นิยมกันในยุคนั้น ประดับด้วยดอกไม้เล็กๆให้เข้ากับบรรยากาศวันหยุดเสียหน่อย
คุณแม่ก็โพกผ้าสีสดใสตามประสาคนไปเที่ยววันหยุดมา ไม่แพ้เจ้าหนูตัวน้อยที่นั่งอยู่ในอ้อมแขนคุณพ่อ
แต่ด้วยความเหนื่อยจากการเที่ยวมากเกินไป ครอบครัวง่วงๆครอบครัวนี้ก็เลยมานั่งหลับให้ลุง Norman วาดรูปเอาไว้


ปล. เห็นภาพนี้แล้วนึกถึงตัวเองให้ห้องเรียนตอนบ่ายๆครับ แหะๆ




.


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: กอประกาญจน์ ที่ 23 มิ.ย. 06, 17:39
 ขอบพระคุณอาจารย์เทาชมพูที่จะกรุณาเปิดกระทู้ใหม่ให้ค่ะ ไม่ทราบว่าภาพของ Gustav Klimt จะมีประเด็นน่าสนใจพอหรือไม่คะ แต่ไม่ต้องเปิดกระทู้ใหม่ก็ได้ค่ะอาจารย์ พักนี้ดิฉันจัดเวลามาเข้าเว็บไม่ค่อยได้เลยค่ะ งานยุ่งมาก เกรงว่าอาจารย์กรุณาเปิดประเด็นใหม่แต่คนขอจะไม่ได้มาอ่าน (แน่ๆ เลย พอดีสองวันนี้งานไม่ยุ่งมากค่ะ เลยแอบมาอ่านได้)

ขอบคุณคุณติบอที่เอารูปครอบครัวกลับจากพักร้อนมาแปะให้ชมค่ะ มีชุดนายทหารเกณฑ์ไหมคะ ดิฉันจำชื่อไม่ได้เสียแล้ว จำได้ว่ามีคุณนอร์แมนวาดนายคนนี้อยู่หลายรูปเทียว


กระทู้: นอร์แมน ร็อคเวลล์ ศิลปินวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน
เริ่มกระทู้โดย: นชน ที่ 11 ธ.ค. 06, 11:19
[[258]]
This picture is so lively. Uncle Norman's characters  are very theatrical and exaggerate thing a bit.