เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: นิลกังขา ที่ 16 พ.ย. 03, 22:09



กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 16 พ.ย. 03, 22:09
 เมื่อวันศุกร์ที่ 14 พ.ย. 46 นี้ ผมอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่ออกในเมืองไทยฉบับหนึ่งคือ เดอะเนชั่น ของคุณสุทธิชัย หยุ่น นั่นแหละครับ เจอข่าวที่น่าสนใจข่าวหนึ่งว่า รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลนี้หลายท่าน ท่านหนึ่งคือ คุณวราเทพ รัฐมนตรียุติธรรมก่อนปรับ ครม. (ปรับแล้วท่านเปลี่ยนตำแหน่งหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ยังจำรายชื่อ ครม. ใหม่ไม่ได้ครับ) จะเล่นโขน ดูเหมือนตามข่าวว่าจะเล่นถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรด้วย โขนคณะที่ท่าน รมต. จะเล่นนี้สืบมาแต่โขนธรรมศาสตร์สมัยอาจารย์คึกฤทธิ์ยังมีชีวิตอยู่และได้ฝึกหัดนักศึกษาธรรมศาสตร์สมัยนั้นไว้ จนเด็ก มธ. สมัยโน้นโตขึ้นกลายมาเป็นรัฐมนตรีสมัยนี้ก็หลายท่าน

โขนที่จะเล่นกันนี้เล่นเรื่องรามเกียรติ์แน่อยู่แล้ว แต่ตอนที่จะหยิบมาเล่นนั้น ตามข่าวภาษาอังกฤษของเนชั่นว่าเป็นตอน "Book the Road" และ "March to Battle"

ผมอ่านข่าวแล้วก็มึนไปพักใหญ่ พยายามจะแปลชื่อตอนเป็นภาษาไทยก็คิดว่า ตอนหลังนี้คงเป็นตอน ยกรบ หรือว่าตอนพระรามยกพหลพลทัพลิงไปลงกา แต่ตอนแรกนั้นไม่รู้จริงๆ ว่ามันตอนอะไร ที่จริงเมื่ออ่านทีแรกตาลาย อ่านผิด หนักเข้าไปอีก คือนึกว่าฃื่อตอน "Book to Read" แล้วก็นึกไม่ออกว่ารามเกียรติ์ตอนไหนมีพูดถึงหนังสือตำราอะไรให้อ่านด้วยหรือ เพ่งดูดีๆ จึงเห็นว่าเป็นตอน Book the Road ต่างหาก แต่ผมก็ยังงงงวยอยู่มากอยู่ดี

นึกอยู่นานจึงนึกได้ว่า เอดิเตอร์หรือก้อปปี้ไรท์เตอร์ของ นสพ. เดอะเนชั่น คงจะแปลตรงตัวจากชื่อบทโขนในภาษาไทย และคงตั้งใจใช้คำว่า book ในความหมายว่า reserve ไม่ใช่แปลว่าหนังสือ เช่น book the table ก็แปลว่าจองโต๊ะ

พอรู้แล้วก็แทบเข่าอ่อน พิโธ่พิถังเอ๋ย คุณพระคุณเจ้า นาร้ายณ์นารายณ์อีนี่ช่วยฉานด้วย เดอะเนชั่นตั้งใจจะแปล Book the Road จากภาษาไทยว่า ... โขนตอน "จองถนน" ครับ

มีใครรู้จักคุณสุทธิชัย หรือใครในกอง บก. เดอะเนชั่น ช่วยฝากไปบอกทีครับว่า ในภาษาไทยนั้นคำว่า จอง ก็มีหลายความหมายเหมือนคำว่า book ในภาษาอังกฤษ เป็นนามแปลว่าหนังสือก็ได้ เป็นกริยาแปลว่าจับจองก็ได้ ส่วนในภาษาไทยนั้น "จอง" แปลว่าสำรองที่ไว้ก็ได้ คือ to reserve the place หรือว่า to book นั่นแหละ แต่ว่า -แต่ว่า -แต่ว่า - "จอง" ถนน ในเรื่องรามเกียรติ์นั้น หาได้แปลว่าหนุมานได้รับบัญชาพระรามให้โทรศัพท์ไปหาพระสมุทร ผู้จัดการ (หรือกัปตัน) ร้านถนนพระราม จองที่ถนนพระรามไว้ให้พระรามทรงพระดริ้งค์กับสีดาหรือทศกัณฐ์ แต่อย่างใดไม่ครับ โธ่...

ในที่นี้ จองถนนแปลว่าสร้างถนนขึ้นมา ถมทะเลทำถนนขึ้นมาครับ ถ้าจะต้องแปลเป็นภาษาฝรั่งก็คงจะเป็น to pave the road (to Longka)

ถนนพระรามหรือรามเสตุนั้น ตามธรรมชาติจริงๆ คือแนวหินใต้น้ำที่ยื่นจากปลายสุดดินแดนชมพูทวีปหรืออินเดีย ยาวลงไปในทะเลเป็นแนวไปจนต่อกับเกาะลงกา หรือศรีลังกา เกิดขึ้นตามธรรมชาติมีของมันอยู่แล้ว จะเป็นเพราะอะไรก็ไม่ทราบ ต้องไปถามนักธรณีวิทยา แต่ตามจินตนาการของแขกนั้นเขาเชื่อว่าเป็นแนวถนนที่พระรามทรงบัญชาให้พลลิงของพระองค์เอาหินมาถมทะเลจนเป็นทาง เพื่อให้ทรงยกทัพของพระองค์ไปรบยักษ์ที่เกาะลงกาได้ เดิมหัวหน้างานถมมหาสมุทรสร้างทางถนนกลางทะเลครั้งนี้ คือลิงขาวกับลิงดำสองตัว นั่นคือหนุมานกับนิลพัท (ไม่ใช่นิลกังขา) แต่ลิงสองตัวนี้เก่งพอกัน ถือดีว่าตัวมีฤทธิ์มากทั้งคู่ เลยทำงานร่วมกันไม่ได้ทะเลาะกันจนในที่สุดลิงดำคือนิลพัทถูกปลดจากตำแหน่งประจำการในสนามรบ ให้ไปเป็นกองหนุน คอยสนับสนุนการช่วยรบแทนตลอดศึกลงกาจนกระทั่งทศกัณฐ์ล้ม ("ล้ม" ในที่นี้ เป็นภาษาโขนแปลว่าตายครับ แปลว่า to die ) การถมถนนไปลงกานี้ยังเป็นเหตุให้หนุมานได้เมียเป็นนางเงือก คือนางสุพรรณมัจฉาด้วย

โครงการถมถนนกลางทะเลนี่แหละครับ รามเกียรติ์ฉบับไทยท่านเรียกว่าการ "จอง" ถนน จองถนน ในที่นี้แปลว่า pave the road เดอะเนชั่นทราบแล้วเปลี่ยน


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 17 พ.ย. 03, 00:18
 เช้าวันอาทิตย์  ตื่นมาก็ได้มีเรื่องขำๆให้อ่าน  แถมได้ความรู้ขึ้นด้วย  ขอบคุณคุณนิลกังขามากค่ะ  วันหลังเขียนอีกนะคะ  เคยคุยกันเรื่องทำนองนี้ที่ห้องรวมพลนักแปลกับคุณนวล  เดี๋ยวนี้ไม่ทราบหายไปไหนแล้ว  

สังเกตก็รู้สึกนะคะว่า  โรงเรียนสมัยนี้ไม่ค่อยแน่นด้านภาษาไทยเหมือนสมัยก่อนเลย  โดยเฉพาะด้านวรรณคดี  ทำให้ภาษาไทยกร่อนลงไปเยอะเลยนะคะ  นึกแล้วก็เสียดายมากเลยค่ะ


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ย. 03, 08:41
 เชื่อว่าคนที่แปล book the road  คงไม่เคยอ่านรามเกียรติ์  ก็เลยงงงวย
ตีความไม่ออกว่า จองถนนนี่มันอะไร
ถนนอะไรต้องจอง
อย่ากระนั้นเลย  แปล word by word มันเสียก็หมดเรื่อง
book the road  สั้นได้ใจความ
ถ้าจะแปลว่า  รามเกียรติ์ตอน Reservation of the Road  หรือ Road Reservation คงยิ่งดูไม่จืดนะคะ

หนุ่มสาวนักแปลยุคเอเป็กก็ยังงี้ละค่ะ     คงนึกว่าเป็นการ" จองถนน" แบบทางการออกมา"จอง" ถนนหลายสายในกรุงเทพช่วงผู้นำนานาชาติเขาแห่กันมาประชุมมั้งคะ
จำได้ไหม  ตอนนั้น ตำรวจก็ "จองถนน" กันหลายสาย    สายนั้นปิดตอนนี้ สายนี้ปิดตอนนั้น   สายนั้นห้ามจอด  สายนี้ห้ามขับในบางช่วง
"จองถนน" ขนานแท้เลยละค่ะ  

ดีเท่าไรแล้วที่คนแปลเขาไม่ย้อนกลับมาว่า รามเกียรติ์ใช้ภาษาผิด   ต้อง "สร้างถนน" สิ  ไม่ใช่"จองถนน"  ผม(หรือหนู) แปลถูกแล้ว  ภาษาไทยต้นฉบับน่ะผิด

คุณพวงร้อย  ดิฉันก็เห็นด้วยว่าเยาวชนยุคนี้ใช้ภาษาไทยอ่อนมากค่ะ  เป็นความไม่รู้ และไม่แม่น  ไม่ใช่พัฒนาการของภาษา
แค่ผันวรรณยุกต์ก็ผันกันไม่ถูกแล้ว  ไม่รู้ว่าเพราะอะไร


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 17 พ.ย. 03, 14:57
 เห็นด้วยอย่างยิ่งครับว่าเด็กสมัยนี้คับแคบครับไม่มีความรู้ในแนวกว้าง  ถึงไม่เคยอ่านรามเกียรติ์มาก่อน อย่างน้อยนะครับผมว่าถ้าเราเจอคำว่าจองถนน ถ้ามีไหวพริบเชาวน์ปัญญาสักหน่อยก็น่าจะสงสัยไว้ก่อนว่าคงจะมีนัยยะที่ลึกไปกว่า booking the road (เห็นแล้วขำกลิ้งเลย) น่าจะเป็นคำโบราณ
เป็นผมก็อาจจะโทรไปถามท่านอาจารย์เทาชมพูรึผู้เชี่ยวชาญอื่นๆก่อนค่อยเขียนลงไป  (แต่ผมไม่รู้เบอร์ท่านหรอกนะ)
ถ้าใครอ่าน www.Manager.co.th  ในคอลัมน์ที่ถอดเทปจากรายการของคุณสนธิ นี่เขียนผิดเยอะมากเพราะเขาเขียนเท่าที่เขาได้ยินไม่ได้เช็คว่าคำนั้นคืออะไร  ต้องใช้คำว่าชุ่ยมาก เพราะงานก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลยน่าจะทำได้ดีกว่านี้
ผู้อ่านเวปนั้นเขาเขียนไปด่าประจำเลยครับ
สรุป สื่อมวลชนสมัยนี้
1. ขาดความรู้รอบตัว
2. ไม่รู้-- แต่ไม่รู้ตัวว่า--- ตัวเองไม่รู้       เลยแปลไปตรงๆ
3. ถึงรู้ว่าตัวเองไม่รู้ ก็ไม่พยายามเสาะหา

อยากเพิ่มเติมว่าคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้หลากหลายรอบด้านทั้งลึกและกว้างอย่างคุณ นิลมังกร เอ้ย นิลกังขานี่หายากมากเลยนะครับ  ขอคารวะๆ

ปล. ขอคารวะท่านพวงร้อยและคุณเทาชมพูครับ ผมไม่ได้ไปไหนหรอกครับยังมาอ่านที่ท่านทั้ง 2 post ไว้ประจำโดยเฉพาะประวัติของเจ้านายทั้งหลายของคุณเทา สนุกดีครับ


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 17 พ.ย. 03, 15:21
 แหม เขิน ชมกันเองก็ได้ด้วย ขอบคุณครับคุณ Paganini

ข้อที่ว่า คนทำงานสื่อ (บางคน) ไม่รู้ หรือไม่ยอมรับรู้ว่าตัวเองไม่รู้นั้น เป็นจริงทีเดียวส่วนหนึ่ง

สมัยที่ท่านนายกทักษิณยังเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ไปประชุมสิงคโปร์ก็ไปซื้อไม้กอล์ฟมาอันหนึ่ง เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Golf club แล้วท่านก็ให้สัมภาษณ์ นสพ. สิงคโปร์ว่าท่านมาคราวนี้ก็ซื้อไม้กอล์ฟไปอันหนึ่ง เป็นปกติของท่านเวลาไปต่างประเทศประเทศไหนก็มักจะซื้อไม้กอล์ฟติดมือกลับบ้านเสมอทุกประเทศแหละ

หนังสือพิมพ์ไทยแปลข่าวจาก นสพ. สิงคโปร์ ตื่นเต้นสุดๆ ว่า ท่านรัฐมนตรีทักษิณรวยมหาศาล ไปประเทศไหนก็ต้องไปซื้อ "สโมสรกอล์ฟ" ที่ประเทศนั้นๆ เป็นกรรมสิทธิ์ทุกประเทศทุกทีไป ก็ Club มันแปลได้ทั้งไม้ กระบอง และสโมสรนี่ครับ

คนอ่านยิ้มกันทั้งเมือง และคนที่ทักท้วงไปก็คงมี ผมได้ทราบภายหลังว่า นสพ. ไทยฉบับนั้นภายหลังก็ลงแก้ให้ แต่ก็ไม่วายกระฟัดกระเฟียดว่า จะไปรู้ได้ไง ไม่เคยเป็นนักเรียนนอกนี่ เอ๊อ เกิดมาก็เป็นนักเรียนไทยมาตลอดชีวิต

ก็แหม ตัวเองก็พลาดแล้ว พลาดไปจริงๆ ด้วย คนอื่นเขาเมตตาบอกให้ก็ไม่ควรจะถือเป็นเรื่องกระฟัดกระเฟียดนี่นา ที นสพ. วิจารณ์คนอื่นทั้งเมืองยังวิจารณ์ได้เลย

แต่กรณีท่านนายกจะซื้อสโมสรฟุตบอลฟูแล่ม (แต่เขาไม่ขาย) เมื่อเร็วๆ นี้นั้น ไม่มีช่องว่างที่จะเข้าใจผิดอย่างนี้ได้ เพราะการเล่นฟุตบอลเขาไม่ต้องใช้ไม้อะไร club ก็แปลได้ว่าสโมสรอย่างเดียว สิ้นเคราะห์ไปที


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ย. 03, 16:07
 คุณ paganini เข้ามาร่วมวงเมื่อไรคะ  เงียบจนไม่ได้ยินเสียง
ช่วยไปซักถามในกระทู้เจ้านายบ้างซิคะ     ไม่ได้สงสัยจริงแกล้งสงสัยบ้างก็ได้

ตอน March to Battle  เห็นจะเป็นตอนยกทัพ นะคะ


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 พ.ย. 03, 23:41
 หึ หึ ตรงกับใจที่คุณเทาฯว่าเด็กสมัยนี้ผันวรรณยุกต์ไม่ถูก เพราะเคยเจอใน pantip.com มีคนมาถามหาที่ดู

"หิ้งหอย"

ที่ปลายโพงพางครับ :D


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 03, 10:25
 คุณCrazyHOrse เข้าใจหาตัวอย่าง
ขำกลิ้งเลยค่ะ
อยากจะขอเชิญให้หาตัวอย่างวิธีการสะกดและผันวรรณยุกต์ของหนุ่มสาวไทยมาให้ดูกันอีก
ว่าจะพิสดารแค่ไหน


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 03, 14:00
 ยังติดใจเรื่องแปลคำจองถนนอีกนิดหน่อย
ที่จริงคุณบุ๊คเดอะโร้ดแห่งเนชั่น ถ้าไม่รู้ว่าจองถนนแปลว่าอะไร  ก็ไม่ต้องเหนื่อยลากสังขารไปค้นถึงหอสมุด หรือกรมศิลปากร
ค้นในเนตดูก็เจอค่ะ  เล่าเรื่องรามเกียรติ์ย่อๆพร้อมภาพ  รู้เรื่องได้ในเวลารวดเร็วทันใจ
 http://www.chumchon.com/tourhtml/tour1-14.html  


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 18 พ.ย. 03, 14:48
 แหม ถ้าคุณเทาชมพูไม่มาขำกลิ้ง  ดิฉันก็ยังนึกว่าตัวอย่างของคุณอาชาสติแตก เอ๊ย CrazyHOrse (โรคแปลตามตัวชักติดต่อกันได้ในกระทู้นะคะ โปรดระวัง)  ว่าเป็นตัวอย่างผันวรรณยุกต์ผิดเท่านั้นค่ะ

ที่เห็นแล้วรำคาญตามากๆก็การใช้คำว่า หน้า แทนคำว่า น่า น่ะค่ะ  สะกดถูกแต่ใช้ผิดที่อย่างเช่น  เด็กคนนี้หน้าตาหน้ารักจังเลย  เห็นบ่อยมากในเว็บบอร์ดค่ะ  พวกที่สะกด "นู๋" นี่ยังพอทน  เพราะคิดว่ามันเป็นแฟชั่นแสดงความจ๊าบที่ใช้ตามกันไป

สักหกเจ็ดปีมาแล้ว  ดิฉันยังไม่ทราบว่ามีฟ้อนต์ไทยใช้  หรือมีเว็บบอร์ดที่จะคุยกับคนไทยแก้เหงาปากอยากใช้ภาษาไทยได้แล้ว  ก็ไปค้นหากลุ่มที่คุยกันเรื่องเกี่ยวกับเมืองไทยในเว็บ  ไปเจอเอากลุ่มที่มีแต่ฝรั่งที่หลงรักวัฒนธรรมไทย  หรือสาวไทย  มาคุยกัน  เรื่องนินทาว่าไม่ดีก็มีค่ะ  แต่มีอยู่หลายคนที่จริงจังขนาดพยายามเรียนภาษาไทย  ไม่ใช่แต่จะพูดได้เท่านั้น  ยังเขียนได้อีกด้วย  แต่ก็บ่นกันว่า  งงงวยกับเรื่องผันวรรณยุกต์มาก  แถมไปถามเพื่อนหรือแฟนคนไทยที่แม้แต่จบปริญญาตรีมา  ก็ยังอธิบายไม่ได้เลย  ดิฉันฟังแล้วหน้าชาเลยค่ะ  ไม่นึกว่าจะเป็นกันขนาดนี้

แต่จริงๆแล้ว  คิดว่า ครูสอนภาษาไทยที่เข้าใจภาษาอย่างลึกซึ้งจริงๆคงหาได้ยากมากๆแล้วนะคะสมัยนี้  ดิฉันเองตอนเรียนชั้นมัธยมก็ไม่เข้าใจเวลาอ่านตำราเหมือนกันว่ากฎเป็นอย่างไร  อาศัยเขียนได้ถูกเพราะอ่านเจอมาแล้วจำไปเขียนตามน่ะค่ะ  จนมาได้อาจารย์ภาษาไทยที่ดีมากๆสมัยเข้ามาเรียนมัธยมปลายในกรุงเทพฯ  เลยจำได้แบบตอกตรึงติดหัวมาเลยน่ะค่ะ  จะมีเด็กที่ยังโชคดีอย่างดิฉันอีกเท่าไหร่ก็ไม่ทราบนะคะ  น่าเสียดายจริงๆเลยค่ะ  เรามัวแต่ไปพัฒนาด้านอื่นจนเด็กของเราลืมความเป็นไทยไปมากแล้วนะคะ


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 พ.ย. 03, 21:58
 จะว่าไปแล้ว ถ้าลองดูเอกสารเก่าๆ การสะกดคำเหล่านี้ มองจากสายตาคนปัจจุบันแล้วจะรู้สึกว่า มั่วซั่ว (ไม่ใช่ มัวซัว   ) เหลือเกินครับ

การใช้ "น่า" กับ "หน้า" สลับกัน นี่เป็นเรื่องปกติ ดูแล้วน่าจะเป็นเพราะการเขียนให้ตรงกับเสียงโดยที่ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานอย่างสมัยนี้ หรือไม่ก็สมัยนิยมตอนนั้นไม่เข้มงวดกับเรื่องนี้

จะว่าไปถ้ามองในแง่การสื่อสารให้ได้ความ ก็ดูจะไม่เป็นอุปสรรคเท่าไรนัก นอกจากจะขัดข้องใจบ้าง

ผมก็มานึกถึง mail ที่เคยได้จากเพื่อน ลองอ่านดูแล้วกันครับ

Aoccdrnig to a rscheearch at Cmabrigde Uinervtisy, it deosn't mttaer in waht oredr the ltteers in a wrod are, the olny iprmoetnt tihng is taht  the frist and lsat ltteer be at the rghit pclae.

The rset can be a total mses and you can sitll raed it wouthit porbelm.

Tihs is bcuseae the huamn mnid deos not raed ervey lteter by istlef,  but the wrod as a wlohe.

Amzanig huh?


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 19 พ.ย. 03, 22:31
 อมิเซ่ง  มากเลยครับ

ผมว่าใช้ได้แค่ภาษาอังกฤษกับภาษาตระกูลยุโรปนะ เพราะภาษาไทยแต่ละคำมักจะเป็น 3 อักขระ ทำให้ยากที่จะมีการสับเปลี่ยนแล้วคงหน้าหลังไว้ได้

แต่เป็นความจริงที่น่าตกใจจริงๆนะครับ ประหลาดจริงๆ


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: นนทิรา ที่ 20 พ.ย. 03, 01:03
 ที่เห็นผันวรรณยุกต์กันผิดๆบ่อยมาก เห็นเขียนกันเป็น ใช่มั๊ย บ้างก็เขียนเป็น ใช่ไม๊

เรื่องผันวรรณยุกต์นี่จริงๆ ไม่ได้เป็นเรื่องเหลือบ่ากว่าแรงเลย เหตุผลส่วนหนึ่งอาจจะเป็นที่ บ้านเมืองเรายุคหลังๆมานี่ เน้นเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษเหลือเกิน ใครๆก็อยากเก่งภาษาอังกฤษ คงลืมนึกไปว่า เราควรจะเขียนภาษาตัวเองให้ถูกต้องซะก่อน

ดิฉันเคยไปเถียงกับครูสอนภาษาเยอรมันของสถานกงสุลไทยที่นี่ ต้องเล่าก่อนว่า การสอนภาษาเยอรมันของสถานกงสุลไทยที่นี่ จะเริ่มสอนสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษเลย พื้นฐานการศึกษาบางคนแค่ป.4 จึงต้องเริ่มสอนตั้งแต่ ABC การอ่านการสะกด การผสมอักษรเพื่อสะกด คุณครูเขียนบนกระดานให้ดูว่า   "Tante อ่านว่า ทั๊นเท่" แล้วถามนักเรียนว่า "อ่านออกไหม เข้าใจไหม" พอถึงตอนนี้ นักเรียนเริ่มงงๆอ่านไม่ออก เพราะภาษาไทยบางคนก็อ่านไม่คล่องเหมือนกัน ดิฉันเลยยกมือบอกคุณครูว่า "ทั้น น่าจะเป็นไม้โทค่ะ ไม่ใช่ไม้ตรี" คุณครูเริ่มเซ็งดิฉันแล้ว บอกว่า "ครูว่าครูเขียนถูกแล้วนะ" ดิฉันว่าบอกว่า "ท. ใช้ไม้ตรีไม่ได้ค่ะ คุณครูลองเขียนคำว่า สะท้าน ดูสิคะ"  คุณครูเลยพูดสรุปว่า "เออ..ช่างเถอะจะใช้ไม้อะไรก็แล้วแต่ จำไว้ว่าอ่านว่า ทั้นเท่ ก็แล้วกัน" เป็นงั้นไป    


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ย. 03, 09:10
 ครูไทยของคุณนนทิราคงจำอักษร 3 หมู่ไม่ได้น่ะค่ะ
ถ้าจำได้ว่าอักษรสูง กลาง ต่ำ ผันเสียงวรรณยุกต์ได้ยังไงแบบไหน  คงไม่เอา ท ซึ่งเป็นอักษรต่ำ มาผันด้วยไม้ตรี

อักษรต่ำ  ผันด้วยไม้โท  เสียงออกมาเป็นตรี แล้วค่ะ    ไม่มีการใช้ไม้ตรี
เหมือน ม้า   ไม่จำเป็นต้องสะกดด้วยไม้ตรี  ว่า ม๊า
แต่เรามักจะรู้สึกไปเองว่า ไม้ตรีทำให้เสียงฟังสูงปรี๊ดกว่าไม้โท
อาม๊า  อ่านแล้วเสียงเหมือนจะสูงกว่า อาม้า
ว๊าย  อ่านแล้วเสียงเหมือนจะสูงกว่า ว้าย

จริงๆแล้วตามหลักภาษาไทย   วรรณยุกต์เลียนเสียงธรรมชาติไม่ได้ครบทุกเสียง    ไม่เหมือนไล่เสียงตามคีย์เปียโน
หลักภาษากำหนดให้ใช้ได้แค่ใกล้เคียงเท่านั้น


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 20 พ.ย. 03, 09:41
 จ๊าก     !!ผมก็ผันผิดเยอะเลยถ้า"งั๊น"


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ย. 03, 12:33
 งั๊นเชียวรื๊อคะ  คุณpaganini  ร๊องลั่นเชียว  ลองสะกดใหม่มั๊ยคะ


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 25 พ.ย. 03, 09:55
 เมื่อไม่กี่วันมานี่เอง อ่านเจอคำให้สัมภาษณ์ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขในหนังสือพิมพ์ไทยอีกฉบับหนึ่ง ท่านบอกว่า "ผมเป็นคนค่าโดยสารค่าโดยสาร ใครมาเล่นค่าโดยสารกับผมผมก็พร้อมที่จะค่าโดยสารตอบ แต่ใครที่ไม่ค่าโดยสารกับผมผมก็จะไม่ค่าโดยสารด้วยเหมือนกัน..."

ขออภัยคุณหมอครับ ที่จริงท่านปลัดท่านไม่ได้พูดยังงั้นหรอก ผมแกล้งแปลเอง เพราะท่านบอกแต่ว่า "ผมเป็นคนแฟร์ๆ ใครเล่นแฟร์กับผมผมก็แฟร์ด้วย ฯลฯ" แฟร์ในที่นี้ คือทับศัพท์คำว่า fair ในภาษาอังกฤษแปลว่ายุติธรรมนั่นเอง แต่นักข่าวที่ฟังท่านสัมภาษณ์ เกิดจะต้องถอดให้เป็นภาษาอังกฤษลงพิมพ์ จะใช้สระแอ ฟอฟัน รอเรือการันต์ เป็นภาษาไทยก็ไม่ได้ ถ้าจะถอดเป็นภาษาฝรั่ง ถอดให้มันถูกต้องก็ยังจะดี ไพล่ไปถอดเสียว่า "ผมเป็นคน fare" แปลออกมาแล้วจึงไม่เป็นภาษาคนอย่างที่ผมแกล้งแปลนั่นแหละ

ป่านนี้ไม่รู้ว่านักข่าวท่านนั้นรู้รึยัง

เน็คไทที่เป็นผ้าผูกคอฝรั่ง อันคนไทยรับมาผูกคอเป็นเครื่องแบบไปแล้ว (ทั้งๆ ที่บ้านเราร้อน - คิดถึงเสื้อทรงพระราชนิยมที่ป๋าเปรมชอบใส่ที่เรียกกันว่า ชุดพระราชทาน จัง) นั้น คำว่าไทภาษาเดิมเขาเรียก tie แต่เห็นถอดเป็นไทยกันแปลกๆ บางทีก็เห็นถอดว่า "ผูกไทด์" อันน่าจะแปลว่าเอากระแสน้ำมาผูกคอ บางครั้งก็จะเห็นว่า "ผูกไทม์" อันควรจะแปลได้ว่า เอาเวลามาผูกคอ บางทีเขียน "ผูกไทล์" หรือ "ผูกไทร์" ก็เคยเห็น คำแรกน่าจะแปลว่าเอากระเบื้องผูกคอ ส่วนคำหลังสงสัยว่าจะแปลว่าเอายางรถยนต์มาผูกคอ ล้วนเป็นสิ่้งที่ไม่น่าจะเอามาผูกคอเล่นด้วยกันทั้งสิ้น ที่จริงในเมื่อภาษาเดิมเขาลุ่นๆ อยู่แค่ tie ก็ไม่ควรจะต้องมีการันต์ใดๆ ทั้งสิ้นให้รุงรังเกินภาษาเดิม ไท ก็ไท

ถ้ากลัวว่าจะซ้ำกับคำว่า เป็นไท ในภาษาไทย ผมก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะแก้ยังไง เท่าที่ปัญญาอันน้อยของผมจะนึกออกนั้น ถ้าใช้คำว่าเน็คประกอบความก็น่าจะช่วยชี้อยู่แล้วว่า เน็คไทเป็นภาษาฝรั่งไม่เกี่ยวกับคำว่าเป็นไทในภาษาไทย บางทีเคยเห็นท่านที่รู้ภาษาดีทั้งไทยและอังกฤษท่านใช้ว่า ชุดราตรีสโมสรแบล็กทาย มาจาก black tie แปลว่าท่านออกเสียงคำหลังให้ยาว (แต่ก็จะไปซ้ำกับคำว่าทำนายทายทักอีก)

ผมคิดว่าในเมื่อถูกบังคับโดยคำในภาษาเดิมว่า tie แล้ว ก็อย่าไปพยายามหาเติมการันต์อะไรให้มันแตกต่างจากคำในภาษาไทยเลยครับ มันจะซ้ำกับคำว่าเป็นไทหรือทักทายก็ช่างมัน ความแวดล้อมหรือบริบทจะบอกผู้อ่านเองว่าเราพูดทับศัพท์ฝรั่งอยู่


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: Ngao_Mak ที่ 11 ก.พ. 10, 07:16
ตอนจองถนน หนุมานได้นางสุพรรณมัจฉาเป็นเมีย มีลูกชื่อมัจฉานุ มีในรามายณะนะครับ

ขอยืนยันว่าตอนนี้มีครับ


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 11 ก.พ. 10, 07:24
อืม......เพิ่งเคยได้ยินนะครับว่าในรามายณะมีตอนสุพรรณมัจฉาด้วย ยังไงคุณ Ngao_Mak รบกวนหาสักโศลกมาเปรียบเทียบหน่อยได้ไหมครับ

รวมทั้งชื่อตัวละคร อย่างสุพรรณมัจฉา กับลูกชายด้วยครับ


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: Ngao_Mak ที่ 15 ก.พ. 10, 07:38
ผมลืมบอก ไม่ใช่ของวาลมิกีนะครับ
แต่เป็นรามายณะที่เรียกว่า"อิรามายณัม" หรือ กัมพะ อิรามายณัม ของฤษีกัมพะ เป็นรามายณะฉบับทมิฬครับ

mAyiliravanan ไทยคือ ไมยราพณ์
tUratantikai ไทยคือ นางพิรากวน
timiti ไทยคือ สุพรรณมัจฉา
maccakarppan(มัตสยครรภ์) ไทยคือ มัจฉานุ
nilamEkan(นีลเมฆัน) ไทยคือ ไวยวิก


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ก.พ. 10, 11:50

เสฐียรโกเศศ เขียนไว้ในหนังสืออุปกรณ์รามเกียรติ์ (กรุงเทพมหานคร : ศิลปาบรรณาคาร,๒๕๑๕),๒๓๓-๒๓๗. ว่าในภาษาทมิฬเรียกชื่อตัวละครในรามเกียรติ์ดังนี้

ไมยราพณ์    =   มยิลิราพณ์
มัจฉานุ       =   มัจฉครภ
นางพิรากวน  =   นางทูรตัณฑิไก


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 15 ก.พ. 10, 12:08
เป็นที่รู้กันว่า รามเกียรติ์ ของไทย เป็นญาติสนิทกับรามายณะฉบับศรีลังกา

น่าสงสัยว่าเรารับมาทางเดียว หรือมีส่วนร่วมด้วยช่วยกันดัดแปลงด้วยนะครับ


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: Ngao_Mak ที่ 16 ก.พ. 10, 07:00
เมื่อหลายวันก่อน มีคนชวนไปสมาคม"หเร กฤษณะ"คุยเรื่องจองถนนกับสาวกคนนึง เขาบอกว่าตอนหลังมีการค้นพบก้องหินที่"รามเสตุ"สลักชื่อ"ราม"ที่ก้อนหิน เขาบอกว่ามีคนไปพิสูจน์แล้ว ผมถามว่าเขาพิสูจน์จริงหรอ อาจจะเอาหินสลักชื่อ แล้วใส่ลงไปก้ได้ แต่สาวกบอกว่าเขาพิสูจน์แล้ว

ผมไม่ได้คุยอะไรต่อกับเขา แต่ถ้าใครพอทรายข้อมูลตรงนี้ ช่วยชี้แนะหน่อยครับ ว่าหินตรงนั้นมีการค้นพบจริงหรือเปล่าว่ามีการสลักชื่อ"ราม"ที่ก้อนหิน


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: Ngao_Mak ที่ 16 ก.พ. 10, 07:05
ฤษีกไลโกฎ ที่ทำพิธีขอบุตรให้ท้าวทศรถและเมีย3คน

กไลโกฏ คือชื่อภาษาทมิฬ kalaikkoottu รามายณะเรียกว่า ฤษยศฤงคะ
ใน อลัมพุสาชาดก มีเหมือนกัน เรียกว่า อิสิสิงคะ

ฤษีตนนี้มีหัวเป็นกวางครับ


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 ก.พ. 10, 09:21
เมื่อหลายวันก่อน มีคนชวนไปสมาคม"หเร กฤษณะ"คุยเรื่องจองถนนกับสาวกคนนึง เขาบอกว่าตอนหลังมีการค้นพบก้องหินที่"รามเสตุ"สลักชื่อ"ราม"ที่ก้อนหิน เขาบอกว่ามีคนไปพิสูจน์แล้ว ผมถามว่าเขาพิสูจน์จริงหรอ อาจจะเอาหินสลักชื่อ แล้วใส่ลงไปก้ได้ แต่สาวกบอกว่าเขาพิสูจน์แล้ว

ผมไม่ได้คุยอะไรต่อกับเขา แต่ถ้าใครพอทรายข้อมูลตรงนี้ ช่วยชี้แนะหน่อยครับ ว่าหินตรงนั้นมีการค้นพบจริงหรือเปล่าว่ามีการสลักชื่อ"ราม"ที่ก้อนหิน

ลองค้นดูในเน็ต  แล้วภาพนี้  มีคำอธิบายว่า  Floating Stone from Ramsethu(bridge made by lord Rama and Vanara sena)  ไม่แน่ใจว่า ใช่หินที่กล่าวถึงหรือไม่


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ก.พ. 10, 15:54
หินก้อนนี้สลักชื่อ ราม แน่นอน แต่สำคัญว่าใครเป็นคนเขียน

 ;)


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 ก.พ. 10, 16:11
อย่างที่คุณเพ็ญชมพูว่าแหละครับ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า มีคำว่า "ราม" อยู่หรือไม่ เพราะถึงมี ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเก่าแก่ถึงยุครามายณะ

ที่สำคัญ รูปแบบตัวอักษรนั้นใหม่มาก เป็นตัวอักษรเทวนาครีแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันไม่ผิดเพี้ยน

ถ้าคนเขียนตั้งใจปลอมของเก่า ก็แสดงว่าเป็นคนที่ไม่มีความรู้เรื่องรูปแบบอักษรโบราณเลย


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 ก.พ. 10, 08:23
ในรูปภาพรามายณะตอนจองถนนข้ามไปลงกา  เท่าที่เคยเห็นมาจะเขียนหรือวาดเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ  หินที่บรรดากองทัพวานรของพระรามขนมาทิ้งถมมหาสมุทรทุกก้อนจะเขียนหรือจารึกชื่อ ราม ไว้   ซึ่งความหมายตรงกับคำว่า "จอง" ในภาษาไทย  (เขียนบอกว่าหินที่เอามาถมนี้ของพระรามนะจ๊ะ  ใครห้ามแตะ)  แต่แปลกใจตรงที่ ไทยเราเรียกรามเกียรติ์ตอนนี้ว่า  พระรามจองถนน  แต่หาได้บอกว่ามีการเขียนชื่อพระรามบนก้อนหินด้วยไม่  อาจจะเป็นไปได้ว่า  รายละเอียดตรงนี้คงจะหายไปเมื่อเรื่องพระรามถูกถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุคน  รายละเอียดเล็กๆ จึงอาจตกหายระหว่างเวลาไป  กระนั้นก็โชคดีที่ยังคงเหลือชื่อตอนไว้ให้สืบกลับไปหาต้นตอรามายณะได้อยู่  แต่ก่อนคิดสงสัยเหมือนกัน  ทำไมถึงต้องเรียกรามเกียรติ์ตอนนี้ว่า พระรามจองถนน  มันน่าจะเป็นพระรามทำถนน  พระรามถมถนน หรือไม่ก็พระรามตัดถนน  เพิ่งจะถึงบางอ้อก็ตอนได้เห็นภาพจากอินเดียนี่เอง ;)


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ก.พ. 10, 09:44
คำว่า จอง มาจากภาษาเขมรแปลว่า ผูก

ที่จริงคำว่า จองถนน ทั้งคำก็มาจากภาษาเขมรเช่นกัน เขียนแบบเขมรได้ว่า จงถฺนล่ (อ่านว่า จอง-ถนน) แปลตรง ๆ ได้ว่า ผูกถนน ซึ่งหมายความว่า สร้างถนน

คำว่า ผูกถนน คงเรียกตามลักษณะการสร้างถนนในสมัยโบราณ เช่นเดียวกับในปัจจุบันใช้ว่า ตัดถนน อาจารย์กาญจนา นาคสกุล ว่าการสร้างถนนใช้คำกริยาว่า ตัด เช่น ตัดถนน ตัดทาง ตัดทางรถไฟ เข้าใจว่า เพราะในการสร้างทางนั้นต้องตัดต้นไม้ ถางป่าเพื่อเปิดช่องให้เป็นทางตามที่ต้องการ การสร้างถนนและทางคมนาคมจึงใช้คำว่า ตัด ถนนยิ่งตัดก็ยิ่งยาวเพราะไม่ใช่การตัดตัวถนนออก หากเป็นการตัดต้นไม้เพื่อสร้างถนนต่อไปและเรียกว่า ตัดถนน

คำว่า จอง ในความหมายว่า ผูก มีอยู่ในคำไทยโบราณอีกคำหนึ่งคือ โจงกระเบน ซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษาเขมรเช่นกัน เขียนแบบเขมรได้ว่า จงกฺบิน (อ่านว่า จอง-เกฺบิน) จง  แปลว่าผูก ส่วน กฺบิน เป็นคำเรียกชายของผ้านุ่งที่ม้วนขึ้นไปเหน็บไว้ข้างหลัง



กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ก.พ. 10, 15:47
เทคนิคในการสร้างถนนด้วยการผูก มีร่องรอยอยู่ในคำกลอนตอนที่หนุมาน (ลิงขาว) กับนิลพัท (ลิงดำ) ทำสงครามปาก้อนนหินใส่กัน คือหนุมานใช้วิธีผูกก้อนหินเข้ากับเส้นขนทุกเส้นเพื่อนำมาถมเพื่อสร้างถนน (และทุ่มใส่นิลพัทด้วย  ;D)

ครั้นถึงสำแดงศักดา                ดั่งว่าเกิดกาลลมกรด
สะเทือนเลื่อนลั่นถึงโสฬส          หักยอดบรรพตด้วยว่องไว
ผูกศิลาเข้าทุกเส้นขน               ทั่วตนจะเว้นก็หาไม่
เรียกเร่งบริวารบรรดาไป            ได้พร้อมกันแล้วเหาะมา

http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=nayrotsung&month=09-2009&date=07&group=5&gblog=20


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 ก.พ. 10, 08:10
คำว่า จอง มาจากภาษาเขมรแปลว่า ผูก

ที่จริงคำว่า จองถนน ทั้งคำก็มาจากภาษาเขมรเช่นกัน เขียนแบบเขมรได้ว่า จงถฺนล่ (อ่านว่า จอง-ถนน) แปลตรง ๆ ได้ว่า ผูกถนน ซึ่งหมายความว่า สร้างถนน

คำว่า ผูกถนน คงเรียกตามลักษณะการสร้างถนนในสมัยโบราณ เช่นเดียวกับในปัจจุบันใช้ว่า ตัดถนน อาจารย์กาญจนา นาคสกุล ว่าการสร้างถนนใช้คำกริยาว่า ตัด เช่น ตัดถนน ตัดทาง ตัดทางรถไฟ เข้าใจว่า เพราะในการสร้างทางนั้นต้องตัดต้นไม้ ถางป่าเพื่อเปิดช่องให้เป็นทางตามที่ต้องการ การสร้างถนนและทางคมนาคมจึงใช้คำว่า ตัด ถนนยิ่งตัดก็ยิ่งยาวเพราะไม่ใช่การตัดตัวถนนออก หากเป็นการตัดต้นไม้เพื่อสร้างถนนต่อไปและเรียกว่า ตัดถนน


"จอง" ใน จองถนน เป็นคำภาษาเขมรโบราณ  แปลว่า  สร้าง  เขมรโบราณเขียนเป็นโจง  แล้วจึงเปลี่ยนเขียนเป็น จง  ในภายหลัง  ส่วนที่ไทยรับมาเขียนว่า  ทั้ง ดจง และ จอง ที่เขียนว่า โจง  เป็นการเขียนตามรูปของเขมรโบราณ  ส่วน จอง เป็นการเขียนตามการออกเสียง โอ ในเขมรบางถิ่นที่ออกเสียงกระเดียดมาทางเสียงสระ ออ  เช่น โอย (ให้) คนเขมรออกเสียงว่า  ออย   โหง คนเขมรออกเสียงว่า  ฮอง  เป็นต้น   นอกจากนี้  ภาษาไทยสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยาตอนต้น  ยังมีการใช้ สระโอ ในคำบางคำ ที่ปัจจุบันเขียนด้วยสระออ  เช่น ตะวันโอก  คือ ตะวันออก  โสง คือ สอง  โทง คือ ทอง  เป็นต้น  อาจจะเป็นอิทธิพลอักขรวิธีของเขมรด้วย  ในการเขียนภาษาไทยด้วยอักษรขอมไทย  ท่านก็ใช้สระโอแทนสระออด้วย  การที่ โจงในภาษาเขมรโบราณ กลายมาเป็น โจง และ จอง ในภาษาไทย ก็มีด้วยประการฉะนี้ :)

ส่วนจองในภาษาไทยที่ความหมายตรงกับภาษาเขมรโบราณที่แปลว่า สร้างนั้น  น่าจะเหลือแต่คำว่า จอง ในจองถนนเพียงคำเดียวเท่านั้น


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ก.พ. 10, 16:01

"จอง" ใน จองถนน เป็นคำภาษาเขมรโบราณ  แปลว่า  สร้าง 

ส่วนจองในภาษาไทยที่ความหมายตรงกับภาษาเขมรโบราณที่แปลว่า สร้างนั้น  น่าจะเหลือแต่คำว่า จอง ในจองถนนเพียงคำเดียวเท่านั้น

คุณหลวงพอมีตัวอย่างคำเขมรโบราณที่  จง-โจง (จอง) มีความหมายว่า สร้าง ได้อีกบ้างไหม

 8)


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 ก.พ. 10, 16:14
ได้ครับ  แล้วจะนำมาตัวอย่างมาแสดงให้ดูครับ   :)


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 ก.พ. 10, 13:13
ตัวอย่าง   โจง ในภาษาเขมรโบราณ  แปลว่า  สร้าง

จากศิลาจารึกสด็อกก็อกธม ๒ ด้านที่ ๔ ภาษาเขมร

๑.(บรรทัดที่ ๒๐)...สฺถาปนา  วฺระ เปฺร ภูตาศ ๒ อาย์ เชง์ วฺนํ คิ ต จต์ สฺรุก์ เถฺว การฺยฺย นา วฺระ โนะห์ ทํเนปฺร  โจง์  ปฺราสาท  กํเวง์ วลภิ เสตง์ อญ์ ศิขา คิ ต ...

๒.(บรรทัดที่ ๓๗-๓๘)...ชา คุรุ วฺระ บาท อีศฺวรโลก เสฺตง์ ชคต์ ต ราช ชา อาจารฺยฺยดหม ปิรธาน ต กุเล โจง์ ปฺราสาท วลภิ อาย์ สฺตุก์ รนฺสิ จต์ สฺรุก วฺรหฺมปุร จํนต์ กตุก จํนต์ ศานฺติ อฺเนา ต ภูมิ สฺตุก์ รนฺสิ สฺถาปนา...

๓.(บรรทัดที่ ๔๗-๔๘)...สฺถาปนา วฺระ ลิงฺค ๑ ปฺริติมา ๒ ไท ติ เลง์ ไน สนฺตาน โอย์ สรฺวฺวทฺรวฺย ต วฺระ โนะ โผง์ โอย์ ขฺญุม์  โจง์ วลภิ โจง์ กํเวง์ อเลง์ เถว เกฺษตฺราราม ชฺยก์ ตฺรวาง์ เถฺว ทํนบ์ ต สฺรุก์ ภทฺราวาส อุนฺมีลิต วฺระ โนะ โอย์ สรฺวฺวทฺรวฺย ...

๔.(บรรทัดที่ ๕๕-๕๖)...จต์ สฺรุก์ โนะ วิง์ ต ศูนฺย เถฺว วลย อฺวล์ วิง์ ต คิ สฺถาปนา วฺระ ลิงฺค เอกหสฺต โจง์ ปฺราสาท โอย์ ขฺญุม์ โอย์ สรฺวฺวทฺรวฺย ...

๕.(บรรทัดที่ ๗๕-๗๖)...คิ โอย์ ต ธูลิ เชง์ วฺระ กมฺรเตง์ อญ์ โอย์ ทาส ทาสี สฺลิก ๑ ต วฺระ โนะ โจง์ ศิลาปฺราสาท วลภิ ชฺยก์ ตฺรวาง์ เถฺว ทํนบ์ เถฺว เกฺษตฺราราม...

จากศิลาจารึกหลักที่ K ๙๑ ด้าน B ที่จังหวัดกำปงจาม

(บรรทัดที่ ๔-๕)...ไอ ไวฺร ทฺรมฺวาง์ นุ โฉฺลญ์ เทวาจฺยุต ต ยาชก ไอ ไวฺร ทฺรมฺวาง์ ๐๐๐๐๐ กุเล มาตฺฤปกฺษ  โจง์ ปฺราสาท  มฺวย์ ปศฺจิม กํลุง์ เอกาศิติ ๐๐๐๐๐ สฺถาปนา ...

จากศิลาจารึกหลักที่ K ๑๙๔ ด้าน B ที่จังหวัดกำปงธม

(บรรทัดที่ ๑๙-๒๐)...นุ อฺนก์ วิษย สทฺยา เทา เถฺว สฺรุก์ วฺนุร์ ทฺนง์ นุ เทวสถาน โนะ บิ เลง์ ต สนฺตาน ติ โกฺรย์  โจง์ ปฺราสาท  ชฺยก์ ทนฺเล ๐๐๐๐น์  วน์ กํเวง์ ชุม์  สฺรุก์ บิต์...

ขออนุญาตไม่แปลข้อความที่ยกมา  แต่ถึงไม่แปลก็พอจะจับความได้อยู่บ้าง


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ก.พ. 10, 14:03
แกะรอยไปอ่านจารึกสด๊กก๊อกธม ๒ ด้านที่ ๔
http://www2.sac.or.th/databases/jaruk/th/main.php?p=cGFydA==&id=258&id_part=4

๑๙. ศิวโลก เปฺร วฺร ปํนฺวาสฺ มฺวายฺ ชฺมะ เสฺตงฺ อญฺ ศิขา . ศิษฺย  กมฺรเตงฺ ศิวาศฺรม ชา อฺนกฺ วฺระ ราชการฺยฺย . วฺระ เปฺร เสฺตงฺ โนะ เทา เถฺว สฺรุกฺ ภทฺรป -
๒๐. ตฺตน สฺถาปนา วฺระ เปฺร ภูตาศ ๒ อายฺ เชงฺ วฺนํ คิ ต จตฺ สฺรุกฺ เถฺว การฺยฺย นา วฺระ โนะหฺ ทํเนปฺร โจงฺ ปฺรสาท กํเวงฺ วลภิ เสฺตงฺ อญฺ ศิขา คิ ต
๒๑. เปฺร อฺนกฺ เถฺว การฺยฺย ลฺวะหฺ สฺรจฺจฺ . โอยฺ ต กมฺรเตงฺ ศิวาศฺรม . กมฺรเตงฺ ศิวาศฺรม นิเวทน โอยฺ สฺรุกฺ ภวาลย ต ใน สนฺตาน นุ สฺรุกฺ รฺหา นุ สฺรุกฺ

คำแปล

๑๙ - ๒๑. บรมศิวโลก ทรงรับสั่งให้วามศิวะอุปสมบท เสตงอัญศิขา ซึ่งเป็นข้าราชการคนหนึ่งของพระองค์เป็นนักพรต ท่านวามศิวะได้แนะนำให้เสตงอัญศิขาสร้างเทวสถานไว้ในภัทรปัตตนะ แล้วพระบาทบรมศิวโลกทรงมีพระกระแสรับสั่งให้พระราชทานหมู่บ้านภวาลัย อันเป็นของสกุลวามศิวะ และหมู่บ้านอื่น ๆ อีก



๔๗. ปตฺตน สฺถาปนา วฺระ ลิงฺค ๑ ปฺรติมา ๒ ใท ติ เลงฺ ใน สนฺตาน โอยฺ สรฺวฺวทฺรวฺย ต วฺระ โนะ โผงฺ โอยฺ ขฺญุ ํ . โจงฺ วลภิ โจงฺ กํเวงฺ เอฺลงฺ เถฺว เกฺษตฺราราม ชฺยกฺ ตฺรวางฺ

คำแปล

๔๗. ปัตตนะ นอกจากมรดกประจำสกุลแล้ว ท่านยังได้สถาปนาพระศิวลึงค์หนึ่งองค์ และพระปฏิมาอีกสององค์เหมือนกับที่อื่น ๆ ได้มอบทรัพย์สินต่าง ๆ พร้อมทั้งทาสให้แก่พวกเขา ได้สร้างป้อม กำแพงมอบทุ่งนาและสวนให้พร้อมทั้งขุดสระเก็บน้ำ

ได้ตัวอย่างมา ๓ คำ โจงฺ ปฺรสาท - โจงฺ วลภิ - โจงฺ กํเวงฺ = สร้างเทวสถาน -สร้างป้อม - สร้างกำแพง

เข้าใจถูกบ่

 ;D



กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 ก.พ. 10, 14:13
ทีนี้ มาดู "จอง"ถนน  ในรามเกรฺติ์ ของเขมร บ้าง

๐ฎงโนะพฺระราเมศสูร              พฺระโอสฺถมธูร
บนฺทูลมธุรสเมตฺรีฯ
๐ไหมหาชมฺพูราชธิบตี             พงฺสราชฎ็กฺรบี
ตฺรกูลอํบูรบริสุทฺธฯ
๐อญเปฺรีหนุมานองฺคท             เทาอญิเชีญมกบท
นูวคิตชํนุมจงถฺนล่
......................................

๐สพฺทสูรทัวทาล่ลงฺกา             ถาพฺระรามา
พิระลกฺสฺมฺณ์ธิราชนรปตีฯ
๐ถานูวจงถฺนล่ชลธี       นูวรํลางบูรี
บูรมบูราณลงฺกาฯ

......................................

๐นเรนฺทฺรพานรองฺคทคง่คาล่      วึกวรเขฺญียวขฺญาร
คาล่คิตนูวแบ"กจารจง
ถฺนล่พฺระพีรพานรผง               รนฺเทะธารนูวปฺรลง
นูวอาลฎณฺเฎีมยกชัยฯ

......................................

คัวรเยีงสํแฎงฤทฺธิ์จงถฺนล่           โฎยเตโชพล
จํพูกกฺรบินฺทยาตฺราฯ

..................................... :)


กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 ก.พ. 10, 14:34
ได้ตัวอย่างมา ๓ คำ โจงฺ ปฺรสาท - โจงฺ วลภิ - โจงฺ กํเวงฺ = สร้างเทวสถาน -สร้างป้อม - สร้างกำแพง

เข้าใจถูกบ่

 ;D

เช่นนั้นครับ   นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างจากศิลาจารึกสมัยหลังพระนครว่า

"...อนก์  ทำง  อมฺปาล  โนะ ชา สากฺสี  โอก หฺลูง  ราชาเตชชะ โปรส ขญุมฺม โจฺจง  พฺระ..."
แปลว่า  ท่านทั้งหมดนั้นเป็นพยานแก่ออกหลวงราชเดชะปล่อยข้าทาส สร้างพระพุทธรูป  จากศิลาจารึกนครวัดสมัยหลังพระ หลักที่ IMA 8 บรรทัดที่ 17

ในพจนานุกรม Dictionnaire  vieux khmer - francais - anglais (An old khmer  - franch - english dictionary) ของ Saveros Pou  หน้า 167-168 อธิบายความหมายคำว่า โจง ไว้ดังนี้
 "To bind. To build of brick or stone. To compose, establish"  และว่าปัจจุบันเขมรใช้ว่า จง (ตรงกับ จอง ในภาษาไทย)



กระทู้: "จอง" ถนนไปลงกา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ก.พ. 10, 17:01
น่าสนใจเรื่องรามเกรฺติ์ ของเขมร โดยเฉพาะตอน จงถฺนล่

อยากทราบว่าเหมือนหรือต่างจากรามเกียรติ์ของไทยประการใด

อาทิเช่น มีเรื่องลิงขาวทะเลาะกับลิงดำ เรื่องนางสุพรรณมัจฉา หรือไม่

 ???