เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 12:50



กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 12:50
ผมท่องเน็ทหาร่องรอยของเฮนรี่ อาลาบาศเตอร์ เผอิญเจอเข้ากับบทความหนึ่งในHandsworth Magazineที่เขียนในปี1899(พ.ศ.๒๔๔๒) เล่าเรื่องอดีตนายทหารราชนาวีอังกฤษผู้หนึ่ง ซึ่งเคยเข้ามารับราชการในสยาม สมัยแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้า และฝากผลงานที่เป็นประโยชน์ไว้มากมาย ไม่เฉพาะแก่ฝ่ายอังกฤษหรือไทย แต่สำหรับนักเดินเรือทั่วโลกได้ใช้ร่วมกัน  ชีวตของท่านมีสีสันพอๆกับนิยายทีเดียว

ผมเอามาผสมผสานกับข้อมูลของไทย ซึ่งมีเรื่องของท่านผู้นี้น้อยมาก

ลองอ่านดูครับ


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 12:53
กัปตันจอห์น อัลเฟรด ลอฟตัส เกิดที่ดาร์ลิงตัน แลงคาสเตอร์เกิดเมื่อปี1836

ชีวิตวัยรุ่นชัดเจนว่าเป็นคนรักทะเลอย่างไม่ต้องกังขาใดๆทั้งสิ้น พออายุสิบสามก็สมัครขึ้นเรือฟริเกตชื่อเพกิน(Pekin)ที่นิวคาสเซิลบนแม่น้ำไทนย์(Newcastle-on-Tyne)ในตำแหน่งลูกเรือฝึกหัด แล้วก็ประจำการอยู่บนเรือนั้นถึงหกปี ได้ร่วมปฏิบัติการขนกองทหารจากมัดราสไปพม่าเมื่อจักรภพอังกฤษเปิดสงครามยึดเมืองขึ้นที่นั่น ร่วมอยู่ในเหตุการณ์เมื่อเรือลำนี้ลอยลำติดอยู่ในน้ำที่แข็งตลอดฤดูหนาวในแม่น้ำโคลัมเบีย บนทวีปอเมริกาเหนือ ร่วมปฏิบัติภารกิจในการนำนักบุกเบิกไปตั้งถิ่นฐานในอาณานิคมใหม่ชื่อว่านิวซีแลนด์

มีโอกาสได้ไปเห็นอาณานิคมออสเตรเลีย แล้วเลยไปเมืองท่าต่างๆในอเมริกาใต้ จนถึงหมู่เกาะกูอาโนในเปรู และเมื่อย้อนกลับมาถึงเกาะแซนด์วิชในหมู่เกาะฮาวาย ที่ซึ่งกัปตันคุกได้ถูกชาวพื้นเมืองฆ่าตายเมื่อห้า-หกสิบปีก่อน ด้วยเหตุใดไม่แจ้ง ลอฟตัสได้ไปสร้างความคุ้นเคยกับพระราชากามี กัมญ่า จนทำให้พระองค์ทรงรับเป็นพระสหาย และประทานชาวประมงให้กลุ่มนึงมาเป็นลูกเรือของเขา ทำให้สามารถนำเรือเพกินอันชราภาพกลับสู่นิวคาสเซิลได้ตลอดรอดฝั่ง


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 12:56
แลงคาสเตอร์ เมืองเกิดของเขาในยุคสมัยนั้น


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 12:57
Newcastle-on-Tyne เมืองที่เขาไปสมัครลงเรือเป็นลูกนาวี


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 13:02
2nd Anglo-Burmese War สงครามขยายจักรภพอังกฤษที่เขาเข้าร่วมในฐานะลูกเรือลำเลียงทหาร เป็นขบวนจากอินเดียไปย่างกุ้ง


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 13:04
อาณานิคมอังกฤษบนทวีปใหม่ ออสเตรเลีย ที่เขาเคยได้ไปเห็น


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 13:09
เรือมุ่งหน้าไปสุดภารกิจที่นิวซีแลนด์ ดินแดนใหม่ที่เพิ่งผนวกเข้าอยู่ในอาณานิคม เรื่อของเขาขนผู้อพยพจากอังกฤษ ส่งขึ้นบกไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นั่น


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 13:13
หมู่เกาะกูอาโน ในเปรู อเมริกาใต้ที่อังกฤษไปครอบครอง ดูในภาพน่าจะเป็นท่าจอดเรือมีที่กำบังลมอย่างดี


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 13:18
เกาะแซนด์วิสที่มีชื่อเสียง เพราะเป็นที่ตายของกัปตันคุกคนดัง ในภาพเป็นการขึ้นฝั่งเพื่อประกาศการค้นพบเกาะนี้ครั้งแรก


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 13:26
การมาครั้งที่สอง ทำให้กัปตันคุกเอาชีวิตมาทิ้งไว้

ลอฟตัสหนุ่มมาที่นี่ในฐานะลูกเรือ ไฉนจึงได้สนิทสนมกับพระราชาแห่งเกาะนี้ถึงขนาดได้ลูกเรือไปเสริมกำลัง จนสามารถแล่นเรือกลับอังกฤษได้?


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 13:30
เมื่อกลับบ้านแล้วในคราวนั้น ได้งานใหม่ในลอนดอน เป็นถึงบุคคลใหญ่ที่สุดในเรือ ได้ชื่อเรียกใหม่ว่า “กัปตันลอฟตัส” ออกเดินทางไปยังทุกภูมิภาคต่างๆของโลก แต่จุดท้ายก็ปักหลักในซีกโลกภาคตะวันออก
 
ในปี1857เขากู้เรือลำหนึ่งที่จมอยู่ก้นอ่าวแอนดี้ (harbour of Andy อยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ)ขึ้นมาซ่อม และตั้งตนเป็นอิสสระ เอาเรือลำแรกของเขานี้เป็นเรือธง วิ่งไปมาค้าขายโดยใช้สิงคโปรเป็นฐานไปยังทุกเมืองท่าริมฝั่งทะเลของอินเดีย จีน และญี่ปุ่น
 
กลับไปบ้านเกิดเมืองนอนครั้งหนึ่งในปี1866 และอยู่ที่นั่นสักปีเศษเขาก็จากมาอีก โดยนำเรือschoonerขนาด125ตัน(เรือใบวิ่งเร็ว)มากับกลาสีสี่คนและเพื่อนร่วมทางอีกหนึ่ง(สงสัยจะเป็นแฟน) และก็ใช้เรือลำนี้วิ่งตระเวนไปทั่วน่านน้ำที่ตนคุ้นเคย จนถึงปี1870 ก็เกิดจุดพลิกผันในดวงชะตา เรือเล็กๆของเขาถูกสลัดยึดได้ในบริเวณน่านน้ำชายฝั่งของไหหลำ และเผามันทิ้ง ทำให้เขาสูญเสียทรัพย์สินที่มีทั้งหมดไม่เหลือแม้แต่เก๊เดียว แต่ก็รอดชีวิตมาได้


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 13:33
ในภาพเป็นเรือschoonerขนาด125ตัน จัดเป็นเรือใบที่วิ่งเร็วของราวๆปี1866
เรือของกัปตันลอฟตัสคงเป็นแบบนี้


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 13:41
ในช่วงอังกฤษกำลังมือขึ้นในการค้าขายในย่านที่มังกรทะเลเป็นเจ้าถิ่น โจรสลัดจีนได้ชื่อว่าโหดที่สุดยากที่เรือสินค้าจะรอด ทหารเรืออังกฤษพยายามจะไล่ล่าโจรพวกนี้ แต่ก็ไม่รู้จักหมดจักสิ้น กัปตันลอฟตัสเชี่ยวทะเลแค่ไหนในที่สุดก็โดน ดีที่รอดตาย รอดไปได้อย่างไรก็ไม่แจ้งเหมือนกัน


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 13:42
เริ่มงานใหม่ในฮ่องกง เป็นผู้บังคับการเรือกลไฟชื่อวิสเคาน์ แคนนิ่ง(Viscount Canning)ที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากสงครามอบิศซีเนีย(Abyssinian War) หลังจากนั้นก็ได้รับคำสั่งให้เดินทางมาสยาม และเข้ารับราชการภายใต้บังคับบัญชาของท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 13:55
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์กับผมทรงมหาดไทของท่าน

ทรงผมแบบนี้ทรมานใจฝรั่งมาก นำไปค่อนไปขอดสารพัด เดี๋ยวจะนำมาขยายให้ฟังว่ากัปตันลอฟตัสนำไปเขียนวิพากษ์เสียหมดรูปอย่างไร
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จไปทอดพระเนตรอาณานิคมของยุโรปรอบๆบ้านเราครั้งแรก เมื่อกลับมาแล้ว สิ่งที่ทรงปฏิรูปทันทีคือทรงผมของคนไทย โปรดเกล้าฯให้เลิกบังคับข้าราชการต้องเอาไว้ผมทรงมหาดไท โดยพระองค์ทรงแสดงเป็นตัวอย่างที่ไว้พระเกษายาวแบบฝรั่ง แต่ก็ไม่ฝืนใจ ใครอยากจะเอาไว้ผมทรงใดก็ได้ ทรงให้เสรีภาพ

หนึ่งในบรรดาท่านที่ยึดแน่นไม่ยอมเปลี่ยน ก็คือท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดินนี่เอง แต่พระองค์ก็มิได้ทรงว่าอะไร


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 14:24
บันทึกฝ่ายไทยกล่าวว่า พ.ศ.๒๔๑๔ รัฐบาลสยามได้ทำสัญญากับรัฐบาลอังกฤษ แบบช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  โดยว่าจ้างนายนาวาโท อัลเฟรด เจ. ลอฟตัส (Alfred J. Loftus) พร้อมกับ มิสเตอร์ จอห์น ริชาร์ดส์ ซึ่งเป็นนายทหารที่เคยเข้ามาสำรวจในอดีต ให้เข้ามารับราชการเป็นหัวหน้าสำรวจแผนที่ทะเลขึ้นกับกรมพระกลาโหม เพื่อทำการสำรวจต่อจากที่อังกฤษได้ทำไว้แล้ว โดยใช้เรือของสยาม นอกจากนั้น นายนาวาโท ลอฟตัส ยังได้รับมอบหน้าที่ในการสำรวจบริเวณที่จะวางเครื่องหมายทางเรือให้ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับฝ่ายเจ้าท่าซึ่งมี กัปตัน บุช เป็นเจ้าหน้าที่อำนวยการ ทางการได้จัดเรือนไม้เสาอิฐโบกปูน ซึ่งอยู่ในบริเวณที่ทำการกรมอุทกศาสตร์ในปัจจุบัน ให้เป็นที่พักและเป็นสำนักงาน
 
ในปีเดียวกันนี้ นายนาวาโท ลอฟตัส และผู้ช่วย คือนายเรือเอก ที. คาลตอนและนายเรือเอก เอ็น. ลีแมน ได้ใช้เรือราชการของสยามเป็นพาหนะ สำรวจช่องสมุย และอ่าวนครศรีธรรมราช แผนที่ทั้ง ๒ แผ่นนี้ หน่วยอุทกศาสตร์ของอังกฤษในประเทศอินเดีย ได้พิมพ์ออกจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ ให้หมายเลข เอส.๔ (๑๘๑๑) และ เอส.๕ อนึ่ง ในปีเดียวกันนี้ ราชนาวีอังกฤษได้ส่งเรือ ทีสเซิล (Thistle) เข้ามาสำรวจปากน้ำท่าจีนด้วย

ในปีต่อมา นายนาวาโทลอฟตัส ได้ทำการสำรวจท่าเรือปัตตานีและสงขลา รวมทั้งทะเลสาบสงขลา โดยใช้เรือราญรุกไพรี แผนที่ทั้ง ๒ แผ่นนี้ได้พิมพ์แทรกไว้ในแผนที่หมายเลข ๙๙๘ ซึ่ง กรมอุทกศาสตร์อังกฤษ พิมพ์ออกจำหน่าย เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๓ และแผนที่ทั้ง ๒ แผ่นนี้ยังได้แยกพิมพ์เป็น หมายเลขเอส.๖ (๑๑๗๘) และ เอส.๗(๑๑๗๔) โดยหน่วยอุทกศาสตร์อังกฤษในอินเดียเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๙ ด้วย และใน พ.ศ.๒๔๑๕ นี้ นายนาวาโท ลอฟตัส และผู้ช่วย ยังได้ ทำการ สำรวจ อ่าวนครศรีธรรมราช ถึง แหลมแท่น คือ แผนที่หมายเลข ๙๘๙ ซึ่งกรมอุทกศาสตร์ อังกฤษ ได้พิมพ์ออกจำหน่าย เมื่อพ.ศ.๒๔๒๓……..ฯลฯ ฯลฯ


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 14:27
ผมสงสัยว่า การที่อังกฤษเรียกท่านว่ากัปตันลอฟตัส จะมิได้หมายความว่าท่านเป็นนายทหารเรือยศนายเรือเอกแห่งราชนาวีอังกฤษกระมัง อย่างไรก็ดีเมื่อเข้ามารับราชการในสยามตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล  อาจทำให้ได้รับพระราชทานยศนายนาวาโทในราชนาวีสยาม ส่วนรายละเอียดตามความในคคห.ข้างบน ผมไม่ได้หวังว่าจะให้ท่านผู้อ่านซึมซับเรื่องเทคนิควิทยาการ แต่อยากให้ทราบคร่าวๆเพื่อช่วยกันประหลาดใจว่า ตามบันทึกของนักเขียนฝรั่งนั้น ภาพพจน์ของกัปตันลอฟตัสออกจะเป็นนักผจญภัย ชอบเดินทางค้าขายเสี่ยงโชค ตะลอนๆไปเจ็ดคาบสมุทร แต่ที่ไหนได้ พอเข้ามาในเมืองไทยกลับกลายเป็นนักวิชาการผู้ทรงภูมิรู้ในหลายต่อหลายด้านไปซะงั้น


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 ก.ย. 12, 14:51
หนังสือพิมพ์ Strits Times ฉยับ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๙ โดย Alfred J. Loftus เกียวกับอ่าวไทย


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 23 ก.ย. 12, 15:49
เข้ามายกมือครับ

เดาว่านายลอฟตัสตอนเริ่มลงเรือครั้งแรกตอนอายุ 13 คงจะไม่ได้ลงเรือในฐานะลูกเรือธรรมดาหรือลูกเรือฝึกหัด แต่คงจะลงเรือในฐานะนักเรียนทำการนายเรือมากกว่า เพราะเท่าที่ทราบช่วง ศตวรรษที่ 17-19 นายทหารราชนาวีอังกฤษจะเริ่มต้นชีวิตชาวเรือกันแบบนั้นครับ คือมาจากครองครัวชนชั้นกลางขึ้นไปจนถึงชนชั้นสูง อายุ 12-13 ก็ลงเรือในฐานะนักเรียน แต่มีสถานะที่สูงกว่าลูกเรือ อยู่ฝึกไปเรื่อยๆ จนอายุ 19-20 มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ วิทยายุทธพอสมควร เช่นวิชาเดินเรือ วิชาแผนที่ที่ วัดแสงวัดแดด  วิชาอาวุธ ก็จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายหทารเต็มตัว รับราชการต่อไปเรื่อยๆ จนได้รับมอบหมายเป็นกัปตันเรือลำใดลำหนึ่ง น่าจะอยู่ในช่วงอายุ 30 กว่าๆ ขึ้นไป คำว่ากัปตันสมัยนั้น ใหญ่กว่าตำแหน่งเรือเอกสมัยนี้ครับ ต้องระดับผู้บังคับการเรือ เทียบเท่าปัจจุบันก็นาวาเอก

และดูเหมือนว่า บางคนอาจจะมีช่วงว่างๆ ไม่ได้รับมอบหมายให้ลงเรือ ไม่ได้ออกเรือ  ก็จะอยู่ว่างๆ รายได้น้อยนิดหรือไม่มี เลยไปประกอบอาชีพได้ตามอัธยาศัย แต่ถ้ามีศึกสงคราม หรือราชการจะเรียกตัวกลับมาเมื่อไหร่ก็ได้ ก็ได้ยศได้ตำแหน่งแบบเดิม  บางทีราชการก็ตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งอื่นๆ เช่นไปเป็นเจ้าปกครองอาณานิคมก็มี แต่ผมก็ไม่แน่ใจนัก แต่เคยอ่านประวัติกัปตันคุก กัปตันไบลท์ หรือแม้แต่ลอร์ดเนลสัน ดูเหมือนจะมีช่วงเวลาแบบนี้ทุกคน


นายลอฟตัสอาจจะเป็นลักษณะนี้ครับ หรืออาจจะออกจากราชการไปแล้ว ไปโดนสลัดปล้น หมดเนื้อหมดตัวก็เลยกลับมารับราชการใหม่ที่ฮ่องกงก็เป็นได้ จนได้รับมอบหมายให้มาสยาม เพราะงานทำแผนที่ รัฐบาลอังกฤษก็ต้องขอมีเอี่ยวด้วยอยู่แล้ว


นี่แสดงความเห็นเฉยๆ พอไม่ให้เงียบเหงา มาจากความทรงจำล้วนๆ อาจจะผิดหมดก็ได้


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 16:02
ตำแหน่งที่ว่าคือ midshipman คำแปลสั้นๆก็บอกว่า เป็นระดับต่ำสุดของนักเรียนนายเรือฝึกหัด ผมมิได้ศึกษาลงลึกลงในรายละเอียดอย่างที่คุณประกอบว่า จึงเขียนไปเป็นตำแหน่งลูกเรือฝึกหัด
ต้องขอบคุณในข้อมูลทั้งหมดที่เขียนเล่าไว้นี้ และทำให้ผมหายข้องใจในฐานะทางทหาร และความรู้ความสามารถของท่าน


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 16:06
ฝรั่งเขียนต่อไปว่า ตำแหน่งอย่างเป็นทางการของกัปตันลอฟตัสคือ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่อุทกศาสตร์ แต่เขาก็มักจะได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่แถม เช่น ในปี1871ให้เป็นผู้บังคับการเรือปืนพิทยัมรณยุทธ(Regent) นำนายโทมัส น๊อกซ์กงสุลใหญ่อังกฤษ ตามเสด็จพระราชดำเนินเยือนอินเดียของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยร่วมขบวนไปกับเรือพระที่นั่งและเรืออื่นๆที่บรรทุกผู้ตามเสด็จ


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 16:11
การเสด็จพระราชดำเนินเยือนอินเดียครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่สอง หลังจากนั้นก็ทรงพร้อมที่จะเสด็จยุโรป


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 17:22
จากปี1871ถึง1891นั้น ภารกิจหลักของเขาคือ รับผิดชอบการสำรวจชายฝั่งทะเล แม่น้ำต่างๆ เส้นทางปักเสาโทรเลขและทางรถไฟเพื่อทำแผนที่ แต่กัปตันลอฟตัสก็ถูกเรียกให้ไปรับงานแถมเสมอๆ อีกครั้งหนึ่งที่สำคัญก็คือ เขาได้รับมอบหมายให้ไปกำกับการก่อสร้างค่ายสังเกตการณ์เฝ้าดูสุริยคราส และให้การรับรองรวมทั้งช่วยเหลือแขกเมืองจากอังกฤษที่จะเดินทางมาร่วมด้วย

สุริยคราสครั้งนี้ไม่ใช่คราวที่หว้ากอซึ่งพระจันทร์บังพระอาทิตย์เต็มดวง แต่เป็นสุริยคราสสมัยรัชกาลที5 ที่กำลังจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์” ซึ่งจะเห็นได้ชัดที่สุดก็ที่พระราชอาณาจักรนี้

ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้มีพระราชสาส์นถึงราชสมาคมดาราศาสตร์ (Royal Astronomical Society) เพื่อเชิญนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษมาสยาม เพื่อสังเกตปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2418 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กัปตันลอฟตัสนำเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ไปสร้างค่ายทำหอสังเกตการณ์ฝ่ายไทยล่วงหน้านานนับเดือน และคอยให้ความช่วยเหลืออนุเคราะห์คณะนักสำรวจจากอังกฤษที่จะเดินทางมาสมทบด้วย กัปตันลอฟตัสได้เลือกจุดที่บริเวณชายฝั่งทะเลใกล้กับปากคลองขนาดเล็ก ใกล้แหลมเจ้าลาย ในชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นจุดที่เงียบสงบ กัปตันลอฟตัสเองได้ตั้งเครื่องไม้เครื่องมือของหลวงเตรียมไว้ และเมื่อเกิดอุบัติการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ก็ทำการบันทึกได้ครบทุกนาทีตั้งแต่ต้นจนจบ ในขณะที่คณะของนักดาราศาสตร์อังกฤษนำโดยอาร์เธอร์ ชุสเตอร์ (Arthur Schuster) และนอร์แมน ลอคเยอร์ (Norman Lockyer) ซึ่งเดินทางมาถึงล่าช้ากว่ากำหนดมาก โดยมาถึงสยามก่อนวันดังกล่าวเพียงหกวัน จนเตรียมการอะไรไม่ทันแม้กระทั่งจะติดตั้งกล้องให้เข้าที่เข้าทางอย่างสมบูรณ์ แต่กลับก็มีเรื่องและภาพไปทำเสนอรายงานใน Illustrated London News ฉบับวันที่19 กรกฎาคม 1875 อย่างแจ่มแจ๋ว


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 17:24
แสดงภาพบริเวณค่าย และหอดูดาวที่กัปตันลอฟตัสสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการสังเกตการณ์ ซึ่งได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ดังกล่าว


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 17:27
ภาพวาดโคโรนาของดวงอาทิตย์มีข้อความระบุว่า “ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ที่สังเกตการณ์ในประเทศสยาม” ทำให้สองนักวิทยาศาสตร์อังกฤษถูกยำใหญ่ เพราะโดยข้อเท้จจริงขณะที่ดาวศุกร์โคจรผ่านดวงอาทิตย์นั้น มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องกรองแสงถึงขนาดจึงจะสังเกตุเห็นเป็นจุดเล็กๆ ค่อยๆวิ่งผ่านไป

นี่ไปทำเป็นภาพพิมพ์(engraving)เหมือนสุริยุปราคาเต็มดวงที่เกิดจากการบดบังของพระจันทร์


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 17:42
ส่วนงานสำรวจรังวัดทำแผนที่ที่ท่านรับผิดชอบโดยตรงนั้น ปรากฏตามเอกสารไทยดังนี้


จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองทำแผนที่ทดลองขึ้นในพ.ศ.๒๔๑๘ โดยนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์เป็นหัวหน้ากอง กัปตันลอฟตัสเป็นผู้ช่วย พร้อมกับคนไทย๔คน (ม.ร.ว.แดง นายทัด นายสุด  และ ม.ร.ว. เฉลิม) โดยเริ่มด้วยการสำรวจทำแผนที่กรุงเทพฯ เพื่อตัดถนนเจริญกรุงและถนนอื่นๆ รวมทั้งงานทำแผนที่เพื่อวางสายโทรเลขไปยังพระตะบอง แผนที่บริเวณปากอ่าวสยาม เพื่อการเดินเรือและเพื่อเตรียมการป้องกันการรุกรานของข้าศึกที่อาจมาทางทะเล

ต่อมา นายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ผู้ซึ่งมิได้เป็นผู้เชี่ยวชาญโดยตรงในงานแผนที่จึงได้ถวายคำแนะนำให้ว่าจ้างช่างสำรวจรังวัดและทำแผนที่โดยตรงคือ นายเจมส์ เอฟ.แมคคาร์ธี ผู้ช่วยช่างทำแผนที่จากกรมแผนที่แห่งอินเดีย เข้ามารับราชการในกองทำแผนที่ทางบกตั้งแต่วันที่1ตุลาคม พ.ศ. 2424 (ขยายเป็นกรมทำแผนที่ในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2428)

ส่วนแผนที่ทางทะเลยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานแผนที่ทะเล ซึ่งมีกัปตันลอฟตัส เป็นหัวหน้าต่อไป


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 18:19
ในปี 1883 (พ.ศ.2424)ท่านได้ร่วมไปกับคณะสำรวจฝรั่งเศสภายใต้การนำของนายนาวาโทบิลลิยงเพื่อศึกษาภูมิประเทศของคอคอดกระตามแนวที่อาจจะขุดคลอง ไม่ได้ร่วมมือกันตลอดแต่ก็มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจุดมุ่งหมายลับๆของพวกฝรั่งเศสจะเอื้ออำนวย

กัปตันลอฟตัสเขียนรายงานและส่งไปตีพิมพ์ในฐานะสมาชิกของราชสมาคมภูมิศาสตร์ ทั้งรัฐบาลอังกฤษและหนังสือพิมพ์ต่างเห็นด้วยกับความคิดของท่านในแง่ปฏิบัติ และยกย่องความอุสาหะที่ได้นำข้อเท็จจริงมาเสนอ ก่อนฝรั่งเศสจะทำการคำนวณแล้วเสร็จ แล้วพับโครงการไป


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 19:11
จากผลงานในสยาม ท่านได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกทอเรีย ให้เป็นอ้ศวินระดับท่านเซอร์ และทรงอนุญาตให้เซอร์อัลเฟรด ลอฟตัส กลับมาทำงานสนองพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์สยามต่อไปตามหน้าที่เดิม ในประเทศนี้ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นที่ “พระนิเทศชลธี” นามเต็มคือ นายนาวาเอก พระนิเทศชลธี

ปี 1887 เซอร์อัลเฟรด ลอฟตัสได้กลับอังกฤษอีกครั้งเพื่อร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ50พรรษาของสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกทอเรีย ณ ราชสำนักเซนต์เจมส์ ในบรรดาราชบรรณาการล้ำค่าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวส่งไปถวาย ชิ้นหนึ่งเป็นเหรียญทองคำที่สร้างขึ้นในโอกาสที่ทรงสถาปนาองค์สยามมกุฎราชกุมาร(พระองค์แรก) ถือเป็นการประกาศโดยนัยยะขององค์ที่จะผ่านภพขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามต่อจากรัชกาลนี้

เมื่อถึงเวลาอันสมควรจะกราบบังคมทูลลาออกจากราชการในหลายปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ทรงรับใบลาออกของท่านเซอร์ด้วยความอาลัย


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ย. 12, 20:54
ขอแยกซอยออกไปนิดหน่อย เพื่อปั่นเรตติ้งไปด้วยในตัว

ชื่อท่านเซอร์ ออกเสียงแบบไทย  อ่านแล้วยิ้มออกมาง่าย  แต่สะกดออกมายาก

แอลเฟรด ยอนลอบเตอด เยฟอานีเอช
คำสุดท้ายมาจากภาษาอังกฤษแน่นอน แต่คำเดิมว่าอะไรยังงงๆอยู่  ชีฟ เอนจิเนียร์ หรืออะไรกันแน่  ต้องขอเชิญผู้รู้ช่วยตีความ

ได้ตรงนี้มาจากประวัติทางรถไฟสายปากน้ำค่ะ
อินทรเนตรบอกว่า เป็นทางรถไฟเอกชนที่เดินรถระหว่างหัวลำโพง กรุงเทพมหานคร กับเมืองปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นระยะทาง 21 กิโลเมตร ตั้งแต่ พ.ศ. 2436 ถึง พ.ศ. 2503 เป็นทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย

ทางรถไฟสายปากน้ำดำเนินการโดย กอมปานีรถไฟ หรือ บริษัทรถไฟปากน้ำ บริหารงานโดยอังเดร เดอ ริเชอลิเออร์ (พระยาชลยุทธโยธิน) ชาวเดนมาร์ก และแอลเฟรด ยอนลอบเตอด เยฟอานีเอช (พระนิเทศชลธี)2] มีวิศวกรเดินรถชื่อ ที.เอ. ก็อตเช่ (Captain T.A. Gottsche) ชาวเดนมาร์ก ต่อมาได้รับราชทินนามเป็น ขุนบริพัตรโภคกิจ ต้นสกุล คเชศะนันทน์

มีเพื่อนคนหนึ่งเรียนมาด้วยกันตั้งแต่เด็กจนจบจุฬา แต่แยกไปคนละคณะ   นามสกุลคเชศะนันทน์    เธอเคยบอกว่านามสกุลเดิมคือก๊อดเช่    หน้าตาสวยแบบฝรั่งมากทีเดียว   พอเห็นชื่อนี้ก็เลยถึงบางอ้อ    ท่านขุนผู้นี้น่าจะเป็นคุณปู่เธอเอง   


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 12, 21:04
เยฟอานีเอช

Captain Alfred John Loftus, F.R.G.S, (Fellowship of Royal Geographical Society สมาชิกราชสมาคมภูมิศาสตร์)

รถไฟสายปากน้ำรุ่นแรกครับ


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ย. 12, 22:49
เยฟอานีเอช ----> F.R.G.S.(Fellowship of Royal Geographical Society สมาชิกราชสมาคมภูมิศาสตร์)


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ย. 12, 23:43
ท่านเซอร์อัลเฟรด จอห์น ลอฟตัส  หรือคุณพระนิเทศชลธี นอกจากเก่งทั้งทางทะเลและบนบก    ยังเก่งอีกอย่างคือเป็นนักประดิษฐ์
พบว่าท่านมีประดิษฐกรรมอยู่ 2 อย่าง (เป็นอย่างน้อย) ที่ดูจะประสบความสำเร็จเอาการ
1  ตะเกียงที่เรียกว่า Loftus Patent Glycerine Lamp   ซึ่งในประวัติบอกว่าใช้กันแพร่หลายในรัฐบาลหลายประเทศและในบริษัทเดินเรือหลายแห่งด้วย
2  นาฬิกาแดด เรียกว่า  Royal Cylinder Axis Sun Dial   ซึ่งใช้ในพระราชอุทยานหลายแห่งในสยาม 

พยายามหารูปในกูเกิ้ลแต่ไม่พบ   จะอธิบายรายละเอียดก็อธิบายไม่ถูกเพราะไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร   ใครพอจะนึกออก ช่วยกรุณาต่อความด้วยนะคะ


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.ย. 12, 06:00
กัปตันลอฟตัสประดิษฐ์นาฬิกาแดดแบบใหม่ขึ้น เรื่องมีอยู่ว่า ขณะอยู่คนเดียวท่ามกลางความสงัดของอ่าวไทยวันหนึ่งนั้น เห็นว่านาฬิกาแดดที่มีอยู่หลายแบบล้วนอ่านค่ายาก จึงเกิดปิ๊งในความคิดขึ้นถึงรูปแบบใหม่ กึ๋นอยู่ที่วิธีทำให้เกิดเงาและแผงอ่านค่าเวลาของมัน เมื่อประดิษฐ์ขึ้นมาทดสอบแล้ว สามารถอ่านเวลาท้องถิ่นในขณะนั้นได้เลยเหมือนมองนาฬิกาธรรมดา โดยมีคลาดเคลื่อนไม่เกิน28วินาที

ท่านได้ร่วมกับกัปตันริชลิวสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเครื่องหนึ่ง ทรงโปรดให้ตั้งไว้ในสวนที่พระราชวังบางปะอิน (ทุกวันนี้ยังตั้งอยู่ที่หน้าโบสถ์วัดนิเวศธรรมประวัติ) รู้จักกันในนามว่า the Royal Cylinder Axis Sundial และได้จำลองแบบส่งไปแสดงที่เยอรมันและอิตาลี่ ได้รับความสนใจมากพอประมาณทีเดียว


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.ย. 12, 08:34
ตะเกียงที่เรียกว่า Loftus Patent Glycerine Lamp ซึ่งในประวัติบอกว่าใช้กันแพร่หลายในรัฐบาลหลายประเทศและในบริษัทเดินเรือหลายแห่งด้วยตามที่ท่านอาจารย์เทาชมพูสงสัยนั้น เป็นตะเกียงที่ใช้ในการเดินเรือครับ


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.ย. 12, 08:37
ปกติทะเลกว้างใหญ่ไพศาลยากที่เรือจะวิ่งมาประสานงากันได้ก็จริง แต่ในบางตำแหน่ง เช่นในร่องน้ำระหว่างแม่น้ำกับทะเลเป็นต้น มันมักจะแคบเสียจนเรือที่วิ่งสวนกันเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย โดยเฉพาะในยามค่ำคืน

ท่ามกลางความมืดมิด เมื่อเรื่มเห็นแสงของเรือตรงหน้าไกลออกไปนั้น ไม่ทราบหรอกครับว่า เรือลำนั้นอยู่ในทิศทางที่วิ่งมาหาเรา  หรือวิ่งในทิศทางเดียวกับเราแต่ความเร็วต่างกัน ควรจะหลบเรือไปทางซ้ายหรือขวาดี ชาวเรือเขาจึงคิดทำตะเกียงข้างเรือขึ้น กำหนดให้ข้างซ้ายมีแสงสีแดง ข้างขวามีแสงสีเขียว และแสงสีธรรมดาอยู่ด้านท้ายเรือ พอเรือเห็นแสงตะเกียงของกันและกันจะรู้อะไรเป็นอะไรได้โดยทันที และจะตั้งเข็มหลบเรือไปทางด้านขวาเสมอ ถือเป็นกฎสากลปฎิบัติ


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.ย. 12, 08:39
สมัยนี้มันง่ายเพราะใช้แสงจากไฟแบตตารี สมัยก่อนที่ต้องใช้ตะเกียงจุดไฟที่แสงริบหรี่(เพราะต้องประหยัดเชื้อเพลิงไว้ใช้นานๆด้วย) กว่าจะมองเห็นกันก็ยาก ลองมโนภาพสมัยที่เรือยังใช้ใบกันอยู่ ไม่มีเสียงเครื่องยนต์ และบางทีเมฆหมอกลงสลัว กว่าจะรู้ตัวก็หลบกันไม่ทันเสียแล้ว กัปตันลอฟตัสสามารถคิดค้นเอากลีเซอรีน ซึ่งเป็นสารที่มีลักษณะเป็นไขแข็งตัวได้ พอเติมสีลงไปแล้วจะโปร่งแสง มาทำเป็นแผ่นเลนซ์โค้งใช้สำหรับตะเกียงนำร่อง ได้รับการพิสูจน์รับรองว่าแสงสีแดงที่ผ่านตะเกียงไป จะสามารถมองเห็นได้ถึงระยะ9000หลา สีเขียว6000หลา และแสงก็สดใสกว่าของเดิมๆ แถมยังไม่แตกเมื่อเรือผจญพายุ หรือดับเพราะแรงอัดอากาศเวลายิงปืนใหญ่

สิทธิบัตรที่กัปตันลอฟตัสจดทะเบียนไว้นี้ คงเป็นรายได้แบบน้ำซึมบ่อทรายนานตราบกระทั่งใครไม่รู้ คิดค้นแบตตารีได้ ตะเกียงลอฟตัสชาวเรือสมัยนี้เลยไม่รู้จัก


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ย. 12, 09:02
^


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ย. 12, 09:24
สิทธิบัตรจากตะเกียงและนาฬิกาแดดที่คุณพระนิเทศชลธีจดไว้ในต่างประเทศคงจะทำรายได้ให้ท่านได้ดีมิใช่น้อย   พอเป็นรายได้อีกทางหนึ่งนอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้จากรัฐบาลสยาม
พูดถึงเรื่องค่าตอบแทน    ดิฉันคิดว่าในรัชกาลที่ 5 มีการจ่ายเงินเดือนขุนนางกันแล้ว   แต่เงินเดือนข้าราชการไทยกับข้าราชการฝรั่งคงจะต่างกันหลายเท่าตัว     เห็นได้จากเงินพระราชทานเลี้ยงชีพ หรือสมัยนี้เรียกว่าบำนาญตกทอดที่คุณนายอาลาบาศเตอร์กับลูกๆได้รับหลังพ่อตาย  ปีละ 30ชั่ง หรือ 300ปอนด์ ส่วนบุตรได้ปีละ 20ชั่ง หรือ 200 ปอนด์ นับว่าเป็นเงินรายได้อย่างงามทีเดียวสำหรับฝรั่ง
เทียบรายได้สมัยวิคตอเรียน  ครูพี่เลี้ยง (governess) ได้ประมาณปีละ 50 ปอนด์    ถ้าเป็นพ่อค้าระดับเถ้าแก่ ก็ค้าขายมีรายได้ปีละ  600-700 ปอนด์

ส่วนเงินเดือนข้าราชการไทยได้เท่าใด   ย้อนกลับไปเปิดประวัติเจ้าพระยามหิธรดู  พบว่าในพ.ศ. 2438 เมื่อเป็นเสมียนเอก  ท่านได้เงินเดือน 40 บาท  ก็ตกปีละ 480 บาท หรือ 6 ชั่ง

ถ้าหากว่าฝรั่งไม่ได้เงินเดือนมากเท่านี้ คงจะไม่ยอมทิ้งบ้านเรือนมาอยู่คนละซีกโลก  เพราะถึงอยู่ในเมืองหลวงก็ไม่สะดวกสบายเหมือนบ้านตัวเอง    ของกินของใช้ก็ขาดแคลน รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บในเมืองร้อนด้วย


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ย. 12, 18:58
   ไปหาเงินเดือนของคุณพระนิเทศชลธีมาได้  พบว่าใน พ.ศ.๒๔๒๑ โปรดเกล้าฯ ให้กัปตัน ลอฟตัส เป็น พนักงานเซอรเว ในสังกัดกรมทหารมหาดเล็ก รับพระราชทาน เงินเดือนๆ ละ ๒๕๐ เหรียญ (๕ ชั่ง)
   ก็ตกปีละ ๓๐๐๐ เหรียญ  หรือ ๖๐ ชั่ง  เท่ากับ ๖๐๐ ปอนด์
   หลังจากนั้นอีก ๘ ปี   ในวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๒๙ ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระนิเทศชลธี   ตำแหน่งเป็นเจ้ากรมเซอรเวทางน้ำ สังกัดกรมท่ากลาง ถือศักดินา ๘๐๐

  ยังค้นไม่เจอว่า คุณพระนิเทศชลธีถวายบังคมลาออกจากราชการ เพื่อกลับไปใช้ชีวิตวัยเกษียณในอังกฤษในพ.ศ.ใด   พบแต่ว่าท่านถึงแก่กรรมเมื่อค.ศ. 1899 (พ.ศ. 2442) รวมอายุ 63 ปี  ในประวัติกล่าวสั้นๆว่าท่านใช้ชีวิตอยู่ในสยามนานกว่า 25 ปี
  ไม่ทราบอีกอย่างคือครอบครัวของท่าน  ว่ามีบุตรภรรยาชาวอังกฤษหรือไทย


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.ย. 12, 21:06
คอลัมน์สังคมไฮโซบางกอกซุบซิบว่า คุณนายลอปตัสและเด็กๆจะลงเรือยอท์ชของสยามชื่ออเลกซานดราที่สามีเป็นกัปตันเรือ นำV.I.P.ไปทัศนศึกษาชายฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย โดยจะไปขึ้นที่อ่างหิน และรอที่นั่นจนกว่าเรือจะกลับมารับ

คุณนายลอปตัสเป็นคนอังกฤษแน่เลยครับ


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.ย. 12, 06:56
ข่าวคุณนายให้กำเนิดบุตรชายในกรุงเทพ วันที่ 22 มกราคม 1871


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 12, 11:23
สรุปประวัติการทำงานของคุณพระนิเทศชลธี  โดยการบวกลบปีศักราชเอาเองจากประวัติที่ลงในข่าวมรณกรรมของท่านที่อังกฤษ
-  เกิดเมื่อค.ศ.  1836  (พ.ศ. 2379)
-  อายุ 13-19 เป็นนักเรียนนายเรือ
-  จากนั้นเดินเรือสำรวจในดินแดนไกลๆทางตะวันออกหลายแห่ง
-  เข้ามารับราชการในสยามเมื่ออายุ 35 ปี    ในค.ศ.1871  (พ.ศ.2414) เมื่อรัฐบาลสยามทำสัญญากับรัฐบาลอังกฤษแบบช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  โดยว่าจ้างนายนาวาโท อัลเฟรด เจ. ลอฟตัส (Alfred J. Loftus) พร้อมกับ มิสเตอร์ จอห์น ริชาร์ดส์ ซึ่งเป็นนายทหารที่เคยเข้ามาสำรวจในอดีต ให้เข้ามารับราชการเป็นหัวหน้าสำรวจแผนที่ทะเลขึ้นกับกรมพระกลาโหม เพื่อทำการสำรวจต่อจากที่อังกฤษได้ทำไว้แล้ว
    ในปีเดียวกันนี้  เป็นผู้บังคับการเรือปืนพิทยัมรณยุทธ(Regent) นำนายโทมัส น๊อกซ์กงสุลใหญ่อังกฤษ ตามเสด็จพระราชดำเนินเยือนอินเดียของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยร่วมขบวนไปกับเรือพระที่นั่งและเรืออื่นๆที่บรรทุกผู้ตามเสด็จ
-  อายุ 39 ปี อยู่สยามมาได้ 4 ปี  นำนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษไปสังเกตปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2418 ในสยาม
-  อายุ 35-55 ปี มีภารกิจหลักรับผิดชอบการสำรวจชายฝั่งทะเล แม่น้ำต่างๆ เส้นทางปักเสาโทรเลขและทางรถไฟเพื่อทำแผนที่
-  อายุ 47 ปี  ในปี 1883 (พ.ศ.2424) ร่วมกับคณะสำรวจฝรั่งเศสภายใต้การนำของนายนาวาโทบิลลิยงเพื่อศึกษาภูมิประเทศของคอคอดกระตามแนวที่อาจจะขุดคลอง
-  จากนั้นได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เซอร์
-  อายุ 51 ปี (ค.ศ.1887) เซอร์อัลเฟรด ลอฟตัสได้กลับอังกฤษอีกครั้งเพื่อร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ50พรรษาของสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกทอเรีย ณ ราชสำนักเซนต์เจมส์
-  ลาออกจากราชการสยาม กลับภูมิลำเนาในอังกฤษ
-  ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 63 ปี  ในค.ศ. 1899  (พ.ศ. 2442)


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 25 ก.ย. 12, 12:39
ขออนุญาตแทรกความรู้เรื่องทหารเรือไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ในยุคที่เรายังต้องใช้ฝรั่งเป็นผู้บังคับการเรือ
ซึ่งเรื่องนี้ นายพลเรือโท พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรอุดมศักดิ์ เสนาธิการทหารเรือ  พระยศและตำแหน่งในเวลานั้น  ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน
เรื่อง “ความเจริญแห่งราชานาวี”  ที่ประทานไปลงใน ดุสิตสมิต เล่ม ๖ (ฉบับพิเศษ สำหรับเปนที่ระฤกเนื่องในงานเฉลิมพระชนมพรรษา
วันที่ ๓ มกราคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๒) ว่า

“ในระหว่างที่ชาวต่างประเทศเปนผู้บังคับบัญชา (นายงาน) อยู่นั้นก็หาได้ตั้งใจจะฝึกสอนให้คนไทยมีความรู้สำหรับทำการในน่าที่  และมิได้จัดการบังคับบัญชา
ให้เปนระเบียบแบบแบบธรรมเนียมของทหารอันมียุทธวินัย,  เปนแต่เวลาทำงานก็ใช้แรงทำงานและข่มขี่อย่างทาษ;  ส่วนความประพฤติของทหารนั้นมิไยใคร
จะประพฤติเกะกะเกกมะเหรกละเมิดบทกฎหมายหรือต้องโทษต้องทัณฑ์อย่างไรก็ช่าง  "มิหนำซ้ำในสมัยนั้น  ถ้าจะมีใครกล่าวขวัญถึงราชนาวีด้วยบ้าง  ก็ไม่ต่างกัน
กับกล่าวขวัญถึงกุลีของรัฐบาลพวกหนึ่งสำหรับใช้ทางเรือ  (ในทเล, ลำน้ำ, ลำคลอง, และเบ็ดเตล็ดจุกจิกอื่นๆ อีกเอนกประการ)”


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.ย. 12, 13:45
^
เรื่องที่คุณวีหมีกล่าวมานี้เห็นทีจะต้องว่ากันอีกยาว แต่ตอนนี้ขอผลัดไปก่อนนะครับ


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.ย. 12, 13:50
ในฐานะผู้ตรวจสอบงานสำรวจรังวัดและรับรองความถูกต้องของนายนาวาเอก พระนิเทศชลธีหน่วยงานในความรับผิดชอบของท่านได้ผลิตแผนที่อันมีคุณค่าสำหรับประเทศผู้เป็นเจ้าของ ท่านได้ตีพิมพ์แผนที่สยามและประเทศราชขึ้นหลายแบบหลายฉบับ


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.ย. 12, 13:58
และท่านยังได้เป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับสยามและประวัติศาสตร์อันน่าสนใจยิ่ง ทำให้คนอังกฤษได้รู้จักพระราชอาณาจักรและกษัตริย์ที่ปกครองประเทศสืบต่อกันมาจนรัชกาลนี้ กับได้ทราบถึงการปฏิรูปประเทศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯที่ทรงกระทำเมื่อยี่สิบเจ็ดปีที่แล้ว เช่นการอนุญาตให้ประชาชนมีเสรีภาพทางศาสนาที่จะไว้ทรงผมเหมือนคนยุโรปได้ แทนที่จะต้องโกนผมโดยเว้นไว้นิดนึงบนกบาล เหมือนขนแปรงไม้กวาดเก่าๆหรือกระจุกหญ้าบนส่วนหน้าของศรีษะ (ผมว่าตามนักเขียนฝรั่งนะครับ ถ้ากัปตันลอฟตัสเขียนจริงอย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านเข้าใจผิดอย่างแรงต่อผมทรงมหาดไทแบบท่านผู้สำเร็จราชการฯ คิดว่าพุทธศาสนิกชนไทยต้องโกนผม ดังพระวินัยที่บัญญัติสำหรับพระภิกษุ)


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.ย. 12, 14:09
พระราชอาณาสยามในปัจจุบันได้ร่วมอยู่ในสมาพันธ์ไปรษณีย์และพัศดุสากล มีกิจการโทรเลข มีไฟฟ้าใช้ในเมืองหลวงมาสิบกว่าปีแล้ว รัฐบาลอนุญาตให้มีโรงพิมพ์ของชาวยุโรปเพื่อการศึกษาและวัตถุประสงค์อื่นๆ ผลิตผลทางธรรมชาติของประเทศนี้ก็คือไม้สัก ข้าว ขนสัตว์ เมล็ดงา พริกไท ไม้ฝาง มีนิตยสารภาษาไทยสองหรือสามฉบับและยุโรปสองฉบับ ภาษาอังกฤษได้แก่บางกอกไทม์ซึ่งออกฉบับแรกในปี1887 หนังสือพิมพ์ฝ่ายตรงข้ามกันชื่อ The Siam Mercantile Gazette พิมพ์โดยชาวเยอรมัน บทความหนึ่งของท่านเซอร์กล่าวถึงสาระสำคัญในสนธิสัญญาบาวริ่ง “Treaty of Friendship and Commerce between Great Britain and Siam, 1856 และภาคผนวกที่แสดงความเห็นค้านข้อกล่าวหาที่Mr. Holt S Hallett มีต่อพระเจ้าแผ่นดินสยาม และสุดท้าย บัญชีสินค้าส่งออกของสยาม


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.ย. 12, 14:14
กัปตันลอฟตัสเป็นข้าราชการผู้อุทิศตนต่อสยาม และเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสยามกับสหราชอาณาจักร ท่านเป็นผู้ที่เผชิญอันตรายมาแล้วอย่างโชกโชนทั้งบนบกและในทะเล ได้ซาบซึ้งในฤทธิ์เดชของพายุไซโคลนดียามต้องเผชิญหน้ากับมันหลายต่อหลายครั้งในทะเล ที่ร้ายแรงที่สุดสองครั้งคือเมื่อ21ตุลาคม1861 และ1พฤศจิกายน1867 ซึ่งกระชากหลังคาบ้านเรือนไป30,000หลัง ไร่นาล่มสลาย เรือหลายลำอัปปาง ซึ่งจะเรียกให้ถูกต้องใช้คำว่าถูกฉีกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยอยู่ในทะเล
 
ครั้งหนึ่งเมื่อท่านล้มเจ็บหนัก เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ กรมหลวงเทวะวงศ์ พระอนุชาของพระเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ความจริงเป็นพระปิตุลานี = น้องชายของพ่อ)ได้ส่งแพทย์หลวงประจำพระองค์มาดูแล และเกรงกันว่าท่านจะทิ้งสังขารเพราะโรคร้าย พระเจ้าอยูหัวทรงมีรับสั่งให้เตรียมหาโลงศพที่งดงามสมเกียรติไว้ให้พร้อมเพื่อบรรจุศพของท่านแล้ว โชคดีที่ท่านยังไม่ต้องการที่จะรับพระราชทานเกียรติยศถึงระดับนั้น จึงหายป่วยท่ามกลางความดีพระทัยและความยินดีปรีดาของบรรดาเพื่อนฝูงในยุโรป


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.ย. 12, 14:21
เมื่อกราบบังคมทูลลาออกจากราชการเมื่อประมาณอายุ55ปี และเดินทางกลับไปประเทศอังกฤษราวปี1890-91 กัปตันลอฟตัสมีงานต้องทำต่อเพื่อแก้ปัญหาเรื่องไฟต้นหน และค้นคว้าหาวัสดุที่จะส่งสัญญาณให้ดีขึ้นสำหรับเรือและรถไฟ ซึ่งงานของท่านก็เป็นผลสำเร็จ
 
ท่านมีความรู้ภาษามาเลย์ดี และสายสัมพันธ์ระหว่างท่านและคนไทยที่ยาวนานเกินยี่สิบห้าปี ได้ช่วยสร้างประสานมิตรภาพระหว่างสยามและสหราชอาณาจักรให้แน่นแฟ้นยิ่ง

กัปตันลอฟตัสพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 6 ถนนกรอสเวเนอร์  ในปี1988 วันที่29ของเดือนที่ผ่านมา Handsworthได้สูญเสียลูกบ้านที่มีสีสันคนหนึ่งไปชั่วนิรันดร์


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 12, 15:33
สุริยคราสครั้งนี้ไม่ใช่คราวที่หว้ากอซึ่งพระจันทร์บังพระอาทิตย์เต็มดวง แต่เป็นสุริยคราสสมัยรัชกาลที5 ที่กำลังจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์” ซึ่งจะเห็นได้ชัดที่สุดก็ที่พระราชอาณาจักรนี้

ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้มีพระราชสาส์นถึงราชสมาคมดาราศาสตร์ (Royal Astronomical Society) เพื่อเชิญนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษมาสยาม เพื่อสังเกตปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2418 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กัปตันลอฟตัสนำเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ไปสร้างค่ายทำหอสังเกตการณ์ฝ่ายไทยล่วงหน้านานนับเดือน และคอยให้ความช่วยเหลืออนุเคราะห์คณะนักสำรวจจากอังกฤษที่จะเดินทางมาสมทบด้วย กัปตันลอฟตัสได้เลือกจุดที่บริเวณชายฝั่งทะเลใกล้กับปากคลองขนาดเล็ก ใกล้แหลมเจ้าลาย ในชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นจุดที่เงียบสงบ กัปตันลอฟตัสเองได้ตั้งเครื่องไม้เครื่องมือของหลวงเตรียมไว้ และเมื่อเกิดอุบัติการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ก็ทำการบันทึกได้ครบทุกนาทีตั้งแต่ต้นจนจบ ในขณะที่คณะของนักดาราศาสตร์อังกฤษนำโดยอาร์เธอร์ ชุสเตอร์ (Arthur Schuster) และนอร์แมน ลอคเยอร์ (Norman Lockyer) ซึ่งเดินทางมาถึงล่าช้ากว่ากำหนดมาก โดยมาถึงสยามก่อนวันดังกล่าวเพียงหกวัน จนเตรียมการอะไรไม่ทันแม้กระทั่งจะติดตั้งกล้องให้เข้าที่เข้าทางอย่างสมบูรณ์ แต่กลับก็มีเรื่องและภาพไปทำเสนอรายงานใน Illustrated London News ฉบับวันที่19 กรกฎาคม 1875 อย่างแจ่มแจ๋ว

ศาสตราจารย์ อาเทอร์ ชูสเตอร์


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 12, 15:34
เส้นทางสุริยุปราคาเต็มดวง เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๑๘ (ค.ศ. 1875)


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 25 ก.ย. 12, 17:17
ในความเห็นของท่าน Navarat C. ข้างต้นที่กล่าวถึงสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการนั้น  ถูกทั้ง ๒ แบบครับ
ตอนที่ทรงเป็นกรมหลวงเสนาบดีต่างประเทศนั้น  ทรงเป็นพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ ๕ ครับ
ถึงรัชกาลที่ ๖ จึงทรงเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทวะวงศ์ฯ  แล้วเลื่อนเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาเทวะวงศ์ฯ ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ ครับ  ในรัชกาลที่ ๖ นี้ทรงเป็นทั้งพระปิตุลา คือ น้องของพ่อ)
และทรงเป็นพระมาตุลา  เพราะทรงเป็นพระเชษฐาในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี
พันปีหลวงด้วยครับ


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.ย. 12, 18:02
^
นั่นสินะครับ แล้วผมไปใส่ข้อความในวงเล็บไว้ทำไม สงสัยตนเองอีกแล้ว


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 25 ก.ย. 12, 22:18
เข้ามาลงชื่อว่าตามอ่านเหมือนอย่างเคยครับ

 ;D ;D ;D


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 12, 07:59
อ้างถึง
ขออนุญาตแทรกความรู้เรื่องทหารเรือไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในยุคที่เรายังต้องใช้ฝรั่งเป็นผู้บังคับการเรือ

ซึ่งเรื่องนี้ นายพลเรือโท พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรอุดมศักดิ์ เสนาธิการทหารเรือ พระยศและตำแหน่งในเวลานั้น ทรงพระนิพนธ์ไว้ในเรื่อง “ความเจริญแห่งราชนาวี” ที่ประทานไปลงใน ดุสิตสมิต เล่ม ๖ (ฉบับพิเศษ สำหรับเปนที่ระฤกเนื่องในงานเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๓ มกราคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๒) ว่า

“ในระหว่างที่ชาวต่างประเทศเปนผู้บังคับบัญชา (นายงาน) อยู่นั้นก็หาได้ตั้งใจจะฝึกสอนให้คนไทยมีความรู้สำหรับทำการในน่าที่ และมิได้จัดการบังคับบัญชาให้เปนระเบียบแบบแบบธรรมเนียมของทหารอันมียุทธวินัย, เปนแต่เวลาทำงานก็ใช้แรงทำงานและข่มขี่อย่างทาษ; ส่วนความประพฤติของทหารนั้นมิไยใครจะประพฤติเกะกะเกกมะเหรกละเมิดบทกฎหมายหรือต้องโทษต้องทัณฑ์อย่างไรก็ช่าง "มิหนำซ้ำในสมัยนั้น ถ้าจะมีใครกล่าวขวัญถึงราชนาวีด้วยบ้าง ก็ไม่ต่างกันกับกล่าวขวัญถึงกุลีของรัฐบาลพวกหนึ่งสำหรับใช้ทางเรือ (ในทเล, ลำน้ำ, ลำคลอง, และเบ็ดเตล็ดจุกจิกอื่นๆ อีกเอนกประการ)”

อ้างถึง
^เรื่องที่คุณวีหมีกล่าวมานี้เห็นทีจะต้องว่ากันอีกยาว แต่ตอนนี้ขอผลัดไปก่อนนะครับ

คือผมผลัดไปหากระจกมาส่องให้ดูอีกด้านหนึ่ง เป็นบันทึกของนายเฮนรี นอร์แมน นักเขียนสารคดีการเมืองชาวอเมริกันที่เข้ามาสยามเมื่อเหตุการณ์ร.ศ.๑๑๒ เพิ่งจะผ่านพ้นไปหมาดๆ ผมถอดความออกมาให้อ่านประกอบดังนี้ครับ

อีกสาขาหนึ่งของงานหลวง คือราชนาวี แม้การอวดอ้างจะน้อยแต่ในความจริงแล้วหลายอย่างจะดีกว่าที่อื่นๆ ริเชอลิวนายทหารเดนมาร์กผู้ที่ข้าพเจ้าได้สนทนาด้วย ทำงานทหารเรือมาหลายปีแล้วร่วมกับพระองค์เจ้า(ขจรจรัสวงษ์  พลเรือโทกรมหมื่นปราบปรปักษ์)ผู้โดดเด่นในบรรดานายทหารไทยในเรื่องเข็มแข็งต่อการงานและความตงฉิน ได้สร้างทหารเรือที่มีระเบียบวินัยอย่างเยี่ยมขึ้นมากรมใหญ่ ถึงแม้จะขาดประสิทธิภาพทางยุทธวิธีมากหน่อยก็ตาม ทหารเหล่านั้นก็น่าจะเป็นผู้ที่ประจำการในป้อมปืน เป็นพลประจำปืนบนเรือรบ และเป็นพลรบบนภาคพื้นดินหรือที่ไหนก็ตามที่มีการรบ แม้ว่าพวกนี้จะผ่านการฝึกในด้านแถวทหารมานิดหน่อยและพอจะรู้วิธียิงปืนไรเฟิ้ล แต่ความมีวินัยก็สร้างภาพลักษณ์ให้ทหารเรือโดดเด่นขึ้นมาจากกรมกองอื่นๆของสยาม  ทำให้ภารกิจต้องหนักไปอีกทางหนึ่งโดยสิ้นเชิง ทหารเรือกลายเป็นเหมือนกับทหารรับใช้ในพระราชสำนักอันโอ่อ่าไม่ใช่ภารกิจในการป้องกันชาติ พวกนี้สวมเครื่องแบบกลาสีแต่ทำงานแบบกุลี เงินเดือนต่ำกว่าที่ควรจะได้ งานหนัก และเกษียณโดยไม่มีบำนาญ เมื่อมีการเสด็จแปรพระราชฐานไปเกาะสีชังหรือบางปะอิน กรมทหารเรือมีภารกิจในงานแบกขนสัมภาระ กระทะหม้อข้าวหม้อแกงของสำนักพระราชวัง ซึ่งตระเตรียมหีบห่อไว้โดยคุณหญิงคุณนายและคนรับใช้สตรีนับจำนวนไม่ถ้วน(การบรรจุหีบห่อนี้ถือศิลปะที่ปกปิดอย่างหนึ่งในสยาม) ทำงานซ่อมสร้างตั้งแต่ในวังถึงในกระท่อมของผู้ตามเสด็จ งานรดน้ำต้นไม้ งานสร้างสุขาและสุขาภิบาล งานลากรถเจ๊ก งานแบกเสลี่ยง งานที่ต้องแต่งเครื่องแบบเต็มที่เพื่อเข้ากระบวนเสด็จไปจนถึงงานกำจัดแมลงวันเป็นถังๆไม่ให้รบกวนพระราชฐาน


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 12, 08:04
เอาต้นฉบับมาลงไว้ให้ดูด้วยกันสงสัย

As for the other branch of his Siamese Majesty's service, the Navy, while the pretensions are less, the realities in some respects are better. The Danish officer M. de Eichelieu, of whom I have already spoken, has given many years of labour to this, and in alliance with him, Pra Ong Chora, unique among Siamese officials for energy and integrity, has created a large body of marines who possess at any rate the elements of discipline, however much they may lack technical efficiency. They are supposed to man the forts, supply the fighting crews for the gunboats, and act as an armed force on land whenever one is required, though their whole training for these duties consists of a little elementary drill and the bare knowledge of how to discharge a rifle. The  discipline which does characterise them, and which yet distinguishes them brilliantly from other Siamese organisations, is directed to wholly different ends. They are neither more nor less than the body-servants of the royal household another striking instance of the subordination of national interests to royal luxury. Underpaid, harshly treated, and ground by the corvee, they wear the uniform of sailors and perform the duties of coolies. When the King goes to Koh-si-chang or Bang-pa-in, the whole navy turns out to effect his household removal, to carry the pots and pans of the Palace retinue of innumerable ladies and women-servants (packing is an unknown art in Siam), to build their " palaces " and shanties, to water their gardens, to erect and superintend their sanitary conveniences, to drag their jinrikisha, to carry their sedans, to dress up in their processions, and even to catch flies by bucketfuls to facilitate the royal repose.



กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 27 ก.ย. 12, 17:00
^
นั่นสินะครับ แล้วผมไปใส่ข้อความในวงเล็บไว้ทำไม สงสัยตนเองอีกแล้ว

สงสัยจะเพราะหนุ่มน้อยไปหน่อยครับ อิอิ


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 12, 17:30
ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้มีพระราชสาส์นถึงราชสมาคมดาราศาสตร์ (Royal Astronomical Society) เพื่อเชิญนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษมาสยาม เพื่อสังเกตปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2418 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กัปตันลอฟตัสนำเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ไปสร้างค่ายทำหอสังเกตการณ์ฝ่ายไทยล่วงหน้านานนับเดือน และคอยให้ความช่วยเหลืออนุเคราะห์คณะนักสำรวจจากอังกฤษที่จะเดินทางมาสมทบด้วย กัปตันลอฟตัสได้เลือกจุดที่บริเวณชายฝั่งทะเลใกล้กับปากคลองขนาดเล็ก ใกล้แหลมเจ้าลาย ในชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นจุดที่เงียบสงบ กัปตันลอฟตัสเองได้ตั้งเครื่องไม้เครื่องมือของหลวงเตรียมไว้ และเมื่อเกิดอุบัติการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ก็ทำการบันทึกได้ครบทุกนาทีตั้งแต่ต้นจนจบ ในขณะที่คณะของนักดาราศาสตร์อังกฤษนำโดยอาร์เธอร์ ชุสเตอร์ (Arthur Schuster) และนอร์แมน ลอคเยอร์ (Norman Lockyer) ซึ่งเดินทางมาถึงล่าช้ากว่ากำหนดมาก โดยมาถึงสยามก่อนวันดังกล่าวเพียงหกวัน จนเตรียมการอะไรไม่ทันแม้กระทั่งจะติดตั้งกล้องให้เข้าที่เข้าทางอย่างสมบูรณ์ แต่กลับก็มีเรื่องและภาพไปทำเสนอรายงานใน Illustrated London News ฉบับวันที่19 กรกฎาคม 1875 อย่างแจ่มแจ๋ว

ลอฟตัสคือคนซ้ายสุดในรูปหรือเปล่าคะ


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 12, 17:44
รูปนี้ไม่ใช่เหตุการณ์จริงนะครับ เป็นหุ่นขี้ผึ้งที่ถูกจัดฉากตั้งแสดงไว้ในสถาบันทางดาราศาสตร์ในฝรั่งเศส


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 12, 17:48
^
นั่นสินะครับ แล้วผมไปใส่ข้อความในวงเล็บไว้ทำไม สงสัยตนเองอีกแล้ว

สงสัยจะเพราะหนุ่มน้อยไปหน่อยครับ อิอิ

คุณประกอบ อย่าย้ำ...ขอร้องละ..ปั่ดธ่อ


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 12, 21:42
รูปนี้ไม่ใช่เหตุการณ์จริงนะครับ เป็นหุ่นขี้ผึ้งที่ถูกจัดฉากตั้งแสดงไว้ในสถาบันทางดาราศาสตร์ในฝรั่งเศส
ดูไม่ออกเลยค่ะ


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: นอแรด ที่ 30 ก.ย. 12, 17:02
จากปี1871ถึง1891นั้น ภารกิจหลักของเขาคือ รับผิดชอบการสำรวจชายฝั่งทะเล แม่น้ำต่างๆ เส้นทางปักเสาโทรเลขและทางรถไฟเพื่อทำแผนที่ แต่กัปตันลอฟตัสก็ถูกเรียกให้ไปรับงานแถมเสมอๆ อีกครั้งหนึ่งที่สำคัญก็คือ เขาได้รับมอบหมายให้ไปกำกับการก่อสร้างค่ายสังเกตการณ์เฝ้าดูสุริยคราส และให้การรับรองรวมทั้งช่วยเหลือแขกเมืองจากอังกฤษที่จะเดินทางมาร่วมด้วย

สุริยคราสครั้งนี้ไม่ใช่คราวที่หว้ากอซึ่งพระจันทร์บังพระอาทิตย์เต็มดวง แต่เป็นสุริยคราสสมัยรัชกาลที5 ที่กำลังจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์” ซึ่งจะเห็นได้ชัดที่สุดก็ที่พระราชอาณาจักรนี้

ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้มีพระราชสาส์นถึงราชสมาคมดาราศาสตร์ (Royal Astronomical Society) เพื่อเชิญนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษมาสยาม เพื่อสังเกตปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2418 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กัปตันลอฟตัสนำเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ไปสร้างค่ายทำหอสังเกตการณ์ฝ่ายไทยล่วงหน้านานนับเดือน และคอยให้ความช่วยเหลืออนุเคราะห์คณะนักสำรวจจากอังกฤษที่จะเดินทางมาสมทบด้วย กัปตันลอฟตัสได้เลือกจุดที่บริเวณชายฝั่งทะเลใกล้กับปากคลองขนาดเล็ก ใกล้แหลมเจ้าลาย ในชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นจุดที่เงียบสงบ กัปตันลอฟตัสเองได้ตั้งเครื่องไม้เครื่องมือของหลวงเตรียมไว้ และเมื่อเกิดอุบัติการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ก็ทำการบันทึกได้ครบทุกนาทีตั้งแต่ต้นจนจบ ในขณะที่คณะของนักดาราศาสตร์อังกฤษนำโดยอาร์เธอร์ ชุสเตอร์ (Arthur Schuster) และนอร์แมน ลอคเยอร์ (Norman Lockyer) ซึ่งเดินทางมาถึงล่าช้ากว่ากำหนดมาก โดยมาถึงสยามก่อนวันดังกล่าวเพียงหกวัน จนเตรียมการอะไรไม่ทันแม้กระทั่งจะติดตั้งกล้องให้เข้าที่เข้าทางอย่างสมบูรณ์ แต่กลับก็มีเรื่องและภาพไปทำเสนอรายงานใน Illustrated London News ฉบับวันที่19 กรกฎาคม 1875 อย่างแจ่มแจ๋ว



ไม่ทราบว่าท่านเนาวรัตน์ แปลมาจากที่ไหนครับ เพราะว่า ....ไม่มีปรากฎการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ในวันดังกล่าว (  6 เมษ 1875 )
แท้ที่จริงแล้ววันดังกล่าว .......เกิดสุริยุปราคา เต็มดวง เห็นที่เมืองไทย เวลาประมาณ บ่านสองโมงครึ่งเศษ  แม้ในกทม.ก็มองเห็นครับ




กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ย. 12, 17:48
ไม่ได้เอาจากอันนี้ แต่อันนี้คล้ายกับที่ไปเอา

http://www.narit.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=406:-venus-transit-2012&catid=1:astronomy-news&Itemid=4


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 30 ก.ย. 12, 18:54
ดูที่นี่ http://transitofvenus.nl/wp/2011/08/22/transits-and-eclipses-mixed-up/ (http://transitofvenus.nl/wp/2011/08/22/transits-and-eclipses-mixed-up/)

เมื่อประกอบกับลิงก์ที่คุณ Navarat.C ได้กรุณามาโพสต์ไว้ น่าจะชัดเจนครับ ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์เกิดในเดือนธันวาคมปีก่อนหน้านั้น Illustrated London สับสน ลากไปรวบเข้ากับสุริยุปราคาว่าเกิดพร้อมกันครับ หากเชื่อว่า Loftus สังเกตการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ที่ค่ายบางทะลุ ก็แสดงว่าค่ายบางทะลุถูกเตรียมสร้างขึ้นก่อนสุริยุปราคา 1875 อย่างน้อยร่วมครึ่งปีทีเดียว

บางตะลื้อในลิงก์ของคุณ Navarat.C ก็คือบางทะลุนี่แหละครับ อันนี้คนไทยถอดฝรั่งเขียนทับศัพท์ไทยสับสนครับ

 :)

มีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ คือนักดาราศาสตร์ฝรั่งเศสที่เข้ามาสังเกตการณ์สุริยุปราคาที่หว้ากอในปี 1868 มีชื่อแพลมๆให้เห็นวับๆ แวมๆ ว่านายปิแอร์ ซึ่งน่าจะเป็นนามสกุล แต่จะเป็นชื่อตัวหรือเปล่าก็ยังไม่แน่ใจนัก ไม่รู้ว่าได้เขียนรายงานอะไรออกมาบ้างหรือไม่ เพราะในสุริยุปราคาครั้งนั้น มีนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสอีกคนหนึ่งคือนาย Pierre Janssen ไปสังเกตการณ์ที่อินเดีย และทำการตรวจจับเสปคตรัมของแสงในช่วงสุริยุปราคาจนนำมาซึ่งค้นพบธาตุฮีเลียม นาย Lockyer ก็เป็นคนสำคัญผู้หนึ่งในการค้นพบธาตุนี้ครับ เรื่องนี้ถือเป็นข่าวใหญ่ในวงการมิทยาศาสตร์ในเวลานั้น นาย Janssen ผู้นี้ยังได้เข้ามาสังเกตการณ์สุริยุปราคาในสยามปี 1875 ด้วย ไม่ทราบว่าดูที่ไหน และมีบันทึกฝ่ายไทยอย่างไรหรือไม่ครับ


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: นอแรด ที่ 30 ก.ย. 12, 19:47
ไม่ได้เอาจากอันนี้ แต่อันนี้คล้ายกับที่ไปเอา

http://www.narit.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=406:-venus-transit-2012&catid=1:astronomy-news&Itemid=4

ผมตามท่านเนาวรัตน์ไป web ที่ว่า ก็เลยรู้ว่ากัปตันลอฟตัส ในระหว่างที่ไปสร้างหอสังเกตุการณ์สำหรับ การดูสุริยุปราคานั้น ได้เป็นคนเห็น ดาวศุกร์โคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์ด้วย จึงใช้โปรแกรม search ย้อนหลัง ดูว่ามีปรากฎการณ์นั้นเมื่อใด และนี่ก็คือ คำตอบครับ
โห เกิดวันที่ 9 ธค. 1874 เวลา เมื่อดาวศุกร์เข้าไปเต็มดวงประมาณ เกือบ 10:30 น. แสดงว่าไปสร้างก่อน เกือบ 6 เดือน


   


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ย. 12, 19:51
I may mention the following. M. Pierre, the botanist of the Expedition,  

ต้นฉบับเขียนดังข้างบนครับคุณม้า น่าจะเป็น surname


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: นอแรด ที่ 30 ก.ย. 12, 19:53
และก็จาก เวป เดียวกันนี้ เขาเอารูปกลุ่มนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษพร้อมกล้องดูดาว ซึ่งภาพนี้เหมือนกับภาพของท่านเนาวรัตน์ ที่อ้างว่าเป็นนักดูดาวฝรั่งเศส และถ่ายจากพิพิทธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งของฝรั่งเศส

ตกลงแล้วเป็นของชาติใดแน่ครับ



กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ย. 12, 20:15
ขอเวลาไปย้อนดูเอกสารชั้นต้นก่อน


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 30 ก.ย. 12, 23:53
I may mention the following. M. Pierre, the botanist of the Expedition,  

ต้นฉบับเขียนดังข้างบนครับคุณม้า น่าจะเป็น surname

ขอบคุณครับ ยังหาตัวไม่เจอครับ อาจจะไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญครับ

ผมยังสงสัยเรื่อง Janssen มาดูสุริยุปราคาที่สยาม 1785 อยู่ครับ ดูเหมือนไม่มีร่องรอยเลย ถึงแม้ wiki จะว่า Janssen มาสยามปีนั้น แต่ผมสงสัยว่าอาจจะไม่ได้มาจริงครับ


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ต.ค. 12, 06:09
Jean Baptiste Louis Pierre เป็นนักพฤกษศาสตร์ครับคุณม้า อาลาบาศเตอร์มีพื้นฐานเดียวกันจึงชื่นชมกล่าวถึง

http://en.wikipedia.org/wiki/Jean_Baptiste_Louis_Pierre


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ต.ค. 16, 08:19
มีรูปและเรื่องราวมาเพิ่มครับ ขอเชิญเข้าไปดู

https://www.facebook.com/visanu/media_set?set=a.10154529207148554.1073741864.686798553&type=3


กระทู้: พระนิเทศชลธี นายทหารเรืออังกฤษแห่งราชนาวีสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 มี.ค. 17, 09:34
มีเรื่องของลอฟตัสมาให้อ่านเพิ่มครับ บางตอนในเรื่องเดียวกันนี้ผมได้เขียนไว้ในกระทู้ใหม่เกี่ยวกับบทบาททางการทูตของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ แต่ไม่มีเรื่องที่ลอฟตัสร่วมคณะสำรวจฝรั่งเศสในฐานะข้าราชการสยาม ไปสำรวจคอคอดกระในครั้งกระนั้นด้วย จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ครับ

https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_7580