เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: หนูนาตัวน้อย ที่ 16 พ.ย. 00, 23:00



กระทู้: พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยใช่หรือไม่
เริ่มกระทู้โดย: หนูนาตัวน้อย ที่ 16 พ.ย. 00, 23:00
พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยจริงหรือครับ
เท่าที่เรียนมาเขาว่าอย่างนั้น ท่านเป็นผู้คิดและออกแบบเองทั้งหมด
หรือว่าเป็นเพียงการรวบรวมอักษรที่ใช้ๆกันอยู่ให้เป็นที่เป็นทาง
แล้วก่อนหน้านั้นคนไทยใช้อักษรอะไรในการสื่อสารครับ


กระทู้: พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยใช่หรือไม่
เริ่มกระทู้โดย: น้องลูกหมู ที่ 15 พ.ย. 00, 18:30
ไปเจอบทความอยู่อันหนึ่งอ่ะครับ ลองไปอ่านได้ที่



http://geocities.com/Nashville/Opry/3009/history/044.htm



เป็นเว็บของลุงทอมเดนเวอร์ ณ พันทิบ.คอม เค้าครับ



6_6


กระทู้: พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยใช่หรือไม่
เริ่มกระทู้โดย: น้องลูกหมู ที่ 15 พ.ย. 00, 18:31
อ่อออ แล้วก็มีอีหลายเรื่องเลยนะครับ ที่



http://geocities.com/Nashville/Opry/3009/history/frame_a.html



6_6


กระทู้: พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยใช่หรือไม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 พ.ย. 00, 21:00
ศิลาจารึก ระบุว่า
"เมื่อก่อนลายสืไทยนี้บ่มี ๑๒๐๕ สก ปีมแม  พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจแล่ใศ่ลายสืไทยนี้  ลายสืไทนี้  จึ่งมีเพื่อขุนผู๋น๋นนใศ่ไว้"
หา แปลว่า ด้วยตนเอง
ใคร่ใจในใจ แปลว่า คำนึงในใจ
แปลว่า เมื่อก่อนนี้ ลายสือไทย" นี้" ไม่มี   เพิ่งมีเมื่อ พ.ศ. ๑๒๐๖  พ่อขุนรามเป็นคนคิดขึ้นด้วยตนเอง  ลายสือไทยจึงมีขึ้นมา
ส่วนที่ว่า คนไทยสมัยสุโขทัย มีตัวอักษรอื่นใช้ด้วยหรือไม่   คำว่า "นี้" คำเดียวทำให้เถียงกันมามาก  ว่าหมายถึง The ลายสือไทย หรือ This ลายสือไทย
ถ้าหมายถึง This  ก็แปลว่าอักษรไทยอย่างอื่นมี   แต่พ่อขุนรามประดิษฐ์อักษรแบบ "นี้" ขึ้นมา ไม่เกี่ยวกับอักษรไทยแบบอื่น
ถ้าแปลว่า The คือคำประกอบ ลายสือไทย เฉยๆ ให้รู้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะตัว

มีข้อวิเคราะห์ว่าไทยใช้อักษรขอมอยู่ก่อน   เพราะขอมเคยมีอำนาจอยู่ในดินแดนแถบนี้  เมื่อไทยตั้งอาณาจักรขึ้นมาจึงรับวัฒนธรรมทางอักษรมาด้วย
 นอกจากนี้มีตัวอักษรดัดแปลงจากแบบมอญที่ใช้ในพวกไทยน้อย    แต่เป็นอักษรชาติอื่น
ของไทยสุโขทัยมีลายสือไทยอย่างเดียว เป็นอักษรไทยโดยเฉพาะ  
"ลายสือไท " ต่อมาวิวัฒนาการเป็นตัวอักษรไทยอย่างที่เราใช้ในปัจจุบันค่ะ


กระทู้: พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยใช่หรือไม่
เริ่มกระทู้โดย: ส้มหวาน ที่ 15 พ.ย. 00, 23:04
เคยได้ยินอาจารย๋เกริ่นไว้ว่า คำบางคำในศิลาจารึก เป็นคำใหม่ซึ่งเพิ่งจะมีในสมับรัตนโกสินทร์ตอนต้น  แต่แกไม่เคยเล่าลายละเอียดให้ฟัง แกบอกให้ไปคิดเอาเอง ใครเคยได้ยินเรื่องนี้บ้างไม๊คะ


กระทู้: พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยใช่หรือไม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ย. 00, 09:41
อาจารย์ของคุณส้มหวานคงจะอิงถึงเรื่องศิลาจารึกหลักที่ ๑ เป็นของปลอมหรือไม่  
ตามแนวเสนอของดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ และอีกคนคือไมเคิล วิกกอรี่
ที่เห็นว่าสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงประดิษฐ์ขึ้นมาเอง
แต่ได้รับการคัดค้านจากนักประวัติศาสตร์หลายท่าน มีการโต้แย้ง สัมมนา อภิปรายกันกว้างขวาง
จนต้องใช้หลักทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์รอยกร่อนของการสลักศิลาจารึก
ในที่สุดพบว่าเป็นของเก่าจริง  
เรื่องก็ยุติไปในหมู่นักวิชาการ  แต่ในเน็ตเห็นมีการหยิบยกมาพูดกันบ้างค่ะ


กระทู้: พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยใช่หรือไม่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 พ.ย. 00, 10:01
ขอแย้งคุณเทาชมพูนิดนะครับ
ที่ว่าไทยใช้อักษรขอมมาก่อน ความจริงแล้วน่าจะเป็นว่าไทยบันทึกด้วยภาษาขอมมาก่อนมากกว่า เพราะระบบอักษรไทยก็ดัดแปลงจากเพื่อนบ้านรอบข้างในละแวกนี้ที่รับมาจากทางอินเดียอีกที
เรื่องศิลาจารึกหลักที่หนึ่ง ผมไม่เคยได้ยินว่าได้สรุปไปแล้ว แต่ที่นักวิชาการเห็นพ้องต้องกันคือ อักษรไทยมีใช้กันมานานก่อนนั้นแน่นอนครับ


กระทู้: พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยใช่หรือไม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ย. 00, 10:30
ภาษา กับอักษร แตกต่างกัน  คือภาษา มีทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน และตัวอักษรที่ถ่ายทอดภาษา
อักษร คือการถ่ายทอดภาษาลงเป็นตัวเขียน
ดิฉันเข้าใจว่า ไทยมีภาษาพูดของตนเอง (ที่ได้รับอิทธิพลศัพท์จากขอม) แต่เวลาบันทึก ใช้อักษรขอม
คุณบอกว่า ไทยบันทึกด้วย "ภาษา" ขอม  หมายถึงคนละอย่างกับอักษรขอมหรือคะ?

ศิลาจารึกที่ว่าสรุปไปแล้ว  ดิฉันดูข่าวจากโทรทัศน์ที่ว่าได้มีผลการพิสูจน์รอยกร่อนของศิลาจารึก ด้วยเครื่องมือของญี่ปุ่นค่ะ
อยากจะขอให้คุณ Crazy Horse ช่วยเล่าถึงอักษรไทยที่ใช้กันมาก่อนสมัยพ่อขุนรามด้วยค่ะ


กระทู้: พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยใช่หรือไม่
เริ่มกระทู้โดย: สนใจ ที่ 16 พ.ย. 00, 10:39
นั่นสิครับ มีหลายคนพยายามบอกว่าพ่อขุนราม
ไม่ใช่พระองค์แรกที่ประดิษฐ์อักษรไทย(โดยตีความ
จากศิลาจารึก) อยากเห็นหลักฐานมากกว่านั้นครับ
ว่ามีศิลาจารึกภาษาไทย ก่อนศิลาจารึกหมายเลข ๑
หรือไม่ หรือมีหลักฐานเป็นตัวอักษรไทย อื่นๆ ก่อนนั้น
ให้เห็นหรือไม่ การตีความอย่างเดียว ยังไม่เพียงพอ
เพราะสมัยนี้กับสมัยก่อน ความหมายของคำอาจจะแตก
ต่างกัน การใช้ความหมายในปัจจุบัน ไปตีความคำใน
สมัยนั้นอาจจะผิดพลาดก็ได้ครับ


กระทู้: พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยใช่หรือไม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ย. 00, 15:17
ขอเพิ่มเติม
คนที่พิสูจน์ความเก่าของรอยจารึก คือคุณธีรพร อรัญนาค  ได้ใช้หลักและเครื่องวิทยาศาสตร์ มาพิสูจน์เรื่องนี้  
ผลออกมาว่า  รอยกร่อนของการสลัก เก่าแก่ว่าสมัยรัตนโกสินทร์มาก ประมาณ ๖๐๐-๗๐๐ ปี
จึงไม่ใช่หลักศิลาที่ปลอมขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ แน่
แต่...ประเด็นยังไม่หมด
ก็ยังเหลืออีกว่า  ศิลาจารึกนี้ทำโดยพ่อขุนราม หรือกษัตริย์สุโขทัยในชั้นหลัง
คำถามนี้ยังเป็นประเด็นที่จะต้องค้นข้อมูลมาวิเคราะห์กันต่อไป


กระทู้: พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยใช่หรือไม่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 พ.ย. 00, 16:23
ขอบคุณสำหรับการยืนยันเรื่องการตรวจสอบหลักศิลาจารึกครับ แต่ก็น่าแปลกนะครับ เพราะในศิลปวัฒนธรรมฉบับล่าสุดยังตีพิมพ์บทความเรื่องที่เกี่ยวกับความเห็นที่ขัดแย้งกันถึงกรณีที่ ร.4 ทรงประดิษฐ์ขึ้นเอง (ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะมีความเห็นว่าเป็นของพ่อขุนรามจริง) โดยส่วนตัวผมเองค่อนข้างจะเชื่อว่า หลักศิลาจารึกหลักที่ 1 นี้เป็นของจริงครับ
สำหรับเรื่องภาษาขอมที่ว่าเป็นภาษาเขียนหรือภาษาพูดนั้นขอชี้แจงดังนี้ครับ
ภาษาไทย(พูด) จัดอยู่ในกลุ่มภาษา tibetan-sino ร่วมกับภาษาพม่าและภาษาจีน ในขณะที่ภาษาขอมอยู่ในกลุ่ม Mon-Khmer ครับ เท่าที่ทราบภาษาในกลุ่ม tibetan-sino นี้จะมีลักษณะพิเศษที่มีเสียงวรรณยุกต์ โดยยังแบ่งเป็นสองกลุ่มย่อยคือ ธิเบต-พม่า และ ไทย-จีน
ไวยากรณ์ของไทยและจีน คนที่เคยเรียนภาษาจีน(หรือใช้พูดอยู่) คงรู้ว่าคล้ายกันมาก ในขณะที่ไวยากรณ์พม่าผมเคยคุยกับคนพม่า ปรากฎว่าคล้ายกับภาษาญี่ปุ่น คือเอากริยาไปไว้ข้างหลัง
สำหรับอักษรมอญ(ซึ่งเชื่อว่าเป็นชนชาติแรกๆที่มาตั้งถิ่นฐานในดินแดนนี้) ได้ดัดแปลงมาจากอินเดีย สำหรับอักษรไทยผมไม่ทราบ (เพิ่งจะมาเริ่มศึกษาได้ไม่นานนัก) แต่เมื่อเปรียบเทียบอักษรมอญ(ซึ่งถูกดัดแปลงไปใช้กับอีกหลายวัฒนธรรมในละแวกนี้เช่น พยูพม่า, ล้านนา ฯลฯ)กับอักษรไทย ปรากฎว่าคล้ายกันมาก(ถึงมากที่สุด) ขอเดาว่าน่าจะมีที่มาที่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งโดยธรรมดาแล้วชนชาติที่อยู่ร่วมกัน ถ้าชนชาติหนึ่งมีภาษาเขียนอีกชนชาติหนึ่งไม่มี การรับเอาตัวอักษรมาเทียบเสียงใช้น่าจะเป็นเรื่องปกติ มีนักวิชาการบางท่านแปลหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า เดิมผู้คนเขียนกันทั่วไป ไม่เป็นมาตรฐาน ท่านได้ทรงนำมาชำระเสียใหม่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งก็เป็นไปได้ครับ
สำหรับเรื่องการจารึกที่ว่าเป็นภาษาขอมนั้น ต้องขอโทษด้วยครับ ที่ว่าจารึกเป็นภาษาขอมนั้นจริงๆแล้วคือ อักษรขอมครับ

ปิดท้ายด้วยเนื้อความบางส่วนจากหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ว่า

เมื่อก่อนลายสือไทนี้ บ่มี
พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจ แลใส่ลายสือไทนี้ ลายสือไท นี้
จึงมีเพื่อพ่อขุนผู้นั้นใส่ไว้

ลองแปลดูเอานะครับว่าพ่อขุนรามคำแหงท่านทรงประดิษฐ์อักษรไทยหรือเปล่า

ส่วนเรื่องภาษาไทยยุคก่อนพ่อขุนรามนั้นขอเวลาไปค้นสักหน่อยนะครับ


กระทู้: พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยใช่หรือไม่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 พ.ย. 00, 16:35
เพิ่งไปดู website ภาษาเขมรมา อืมม.. ผมว่าภาษาแถวนี้สงสัยจะมาจากที่เดียวกันหมดแฮะ เหมือนกันมากๆๆๆเลย


กระทู้: พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยใช่หรือไม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ย. 00, 17:19
คุยกับคุณ crazy ้horse ทัละเรื่องนะคะ
ดิฉันก็ไม่ได้อ่านบทความที่คุณว่า หรืออาจจผ่านตาแต่นึกไม่ออกว่าเรื่องนี้
เดาจากที่คุณเล่า  ทำให้คิดว่าแต่เป็นไปได้ว่าผู้เขียนเพียงแต่ยืนยันความเชื่อของตนว่าศิลาจารึกเป็นของจริง   แต่เหตุผลสนับสนุนของเขามาจากบางประเด็นที่ซ้ำ/ไม่ซ้ำกับที่คนอื่นเคยพูดมาก่อน
วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาหนึ่งที่เกือบไม่มีบทสรุป หรือข้อยุติ   แต่เป็นวิชาที่เรียนไปเพื่อหัดให้เกิดวิจารณญาณ     รู้จักการค้นคว้าหาข้อมูลและเหตุผลมาประกอบสมมุติฐานหรือการวิเคราะห์ของตน
เรียกว่าฝึกให้คนคิด อย่างมีระเบียบ ระบบ และเหตุผล    เพื่อไม่ให้เราเอาแค่ความรู้สึกหรือมีอารมณ์อย่างไร ก็ปักใจเชื่ออย่างนั้น
หรือเชื่อโดยไม่มีเหตุผลมาประกอบ  
 ยิ่งต้องหาเหตุผลมามากเท่าไรเราก็ยิ่งมีวิจารณญาณมากเท่านั้น

บทความต่างๆในศิลปวัฒนธรรม(หรือวารสารวิชาการ)  ส่วนใหญ่เป็นการเสนอความคิดเห็น  ประกอบหลักฐานสนับสนุนความเห็น   แต่ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องชี้ขาด หรือยุติปัญหานั้นๆลงไป

ส่วนเรื่องภาษาไทยที่คุณถาม  มีคนเขียนเป็นตำราวิจัยเอาไว้แล้ว  ดิฉัน เคยถ่ายเอกสารไว้แล้วให้เขายืมไป  เลยเรียบร้อย   จำเนื้อความไม่ได้อีก
กำลังจะแกะรอยกลับไปหาหนังสืออีกครั้ง   แต่ถ้าคุณจะค้นมาเล่าให้ฟังก็จะยินดีมากค่ะ


กระทู้: พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยใช่หรือไม่
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 16 พ.ย. 00, 18:09
มานั่งฟังครับ
คุณ crazyhorse ครับ ผมกังขาอีกแล้ว ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต (รึจะเป็นตระกูลทิเบต-จีนก็สุดแต่) ที่คุณว่า เขียนเป็นภาษาฝรั่งว่า tibetan-sino จริงๆ เหรอครับ
 
อย่าหาว่าสงสัยหยุมหยิมเลยครับ ผมเป็นคนขี้สงสัยยังงั้นเอง คราวนี้เกิดสงสัยว่า sino - ต่อด้วยอะไร
สมัยทำงานเกี่ยวกับสัมพันธ์ไทยจีน มีข้อตกลงหนึ่ง ข้างจีนเขาใช้ว่า Sino-Thai coopperation...ฯลฯ อะไรก็แล้วแต่ หน่วยงานของไทยบอกว่าในส่วนที่จีนจะเรียกข้อตกลงนั้นว่าเป็นความร่วมมือจีน-ไทยก็ตามใจจีน ในส่วนของไทยเราจะเรียกเอาไทยขึ้นหน้า เป็น ความร่วมมือไทย-จีน จะให้เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Thai-Sino ... ผมขออนุญาตแย้งท่านด้วยความเกรงใจว่า เอาเป็น Thai-Chinese ไหวไหมครับ ตามหลักภาษาสมัยเก่าที่ผมเคยเรียนมา o อยู่ตรงกลางครับ เช่น Anglo-French/ Franco-British ที่จะเป็น French-Anglo ผมว่าดูแปลกๆ แต่สมัยนี้เขาอาจจะเลิกถือกันแล้วก็ได้

ขอสนับสนุนคุณCrazyHorse ว่า ภาษาจีนไวยากรณ์ใกล้ภาษาไทย จริงครับ


กระทู้: พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยใช่หรือไม่
เริ่มกระทู้โดย: ทิด ที่ 16 พ.ย. 00, 18:35
สมมุติฐานเรื่องที่ว่ารัชกาลที่ ๔ เป็นผู้สร้างหลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ ขึ้นมา
เพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองนี้ นำเสนอโดย ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ครับ
แต่สมมุติฐานดังกล่าวรวมทั้งข้อสังเกตที่ว่าด้วยศัพท์ในจารึกบางคำ
ที่ทาง ดร. พิริยะ อ้างว่าไม่เคยพบในจารึกชิ้นอื่นๆ และคาดว่าน่าจะเป็น
ศัพท์ที่ใช้ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นก็ถูก เหตุผลอื่นแก้ไปแล้วเช่นกัน
ผมจำได้ว่าเคยเซฟบทความที่ ดร.พิริยะ ไว้เมื่อตอนช่วงต้นปีที่ผ่านมานะครับ
แต่ต้องลองขอค้นดูก่อนครับว่าผมเซฟเก็บไว้ในแผ่นไหน มันเยอะเหลือเกินครับ
.................................................
อีกเรื่องหนึ่งมีข้อสมมุติฐานอีกเรื่องนะครับว่า "ขอม" คือชนชาติใดกันแน่
จะใช่ "เขมร" อย่างที่เราเคยเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ หรือไม่ หรือจะเป็นคำเรียกขาน
กลุ่มชุมชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมินี้มาแต่เดิม นั่นก็เป็นเรื่องน่าสนใจ
จำได้ว่าเพื่อนสมาชิกในมองอดีตหลายๆท่านอย่างคุณ "หมูสยาม" คุณ "bookaholic"
คุณ "ถาวภักดิ์" คุณ "ทอมเดนเวอร์" จะมีข้อมูลเรื่องนี้ค่อนข้างมากครับ
ถ้าเผอิญท่านที่ถูกกล่าวนามมาแวะมาแถวนี้ อย่าลืมเข้ามาแจมด้วยนะครับ


กระทู้: พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยใช่หรือไม่
เริ่มกระทู้โดย: ทิด ที่ 16 พ.ย. 00, 19:39
รองศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ เสนอต่อที่ประชุม
ในการอภิปรายเรื่อง "ศิลาจารึกหลักที่ ๑"
เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ มีนาคม ๒๕๓๒ ณ ห้องประชุมธนาคารกรุงเทพ จำกัด

--------------------------------------------------------------------------------
ในช่วงของการอภิปรายนี้ ผมจะเสนอหลักฐานเพิ่มเติมที่จะสนับสนุนข้อสันนิษฐานว่า จารึกหลักที่ ๑ เป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

หลักฐานที่สำคัญได้แก่หนังสือเรื่องอภินิหารการประจักษ์ซึ่งสมเด็จพรมหาสมณเจ้า กรมพระยะปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงพระนิพนธ์ขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๔๑๑ เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้สวรรคต

สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯทรงเป็นลูกศิษย์ของเจ้าฟ้ามงกฎตั้งแต่เมื่อทรงผนวชอยู่ที่วัดมหาธาตุฯด้วย และเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชย์ฯ สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ จึงทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศน์ฯ องค์ต่อไป สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ มีพระชันษายาวนาน สิ้นพระชนม์ลงในปี พ.ศ.๒๔๓๓

หนังสือเรื่องอภินิหารการประจักษ์นั้น สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ทรงเล่าพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ตั้งแต่เมื่อแรกผนวชจนถึงสวรรคต และเน้นเหตุการณ์สำคัญในพระราชประวัติโดยเฉพาะปาฏิหารย์ ซึ่งเป็นการแสดงพระบารมีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ที่สำคัญได้แก่ปาฏิหารย์เมื่อพระองค์เสด็จประภาสสุโขทัยในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ เมื่อเสด็จถึงสุโขทัยนั้น ทรงพบแท่นศิลาที่ชาวเมืองนับถือว่าเป็นของขลังไม่มีใครเข้าไปใกล้ แต่พระองค์เสด็จขึ้นประทับบนแท่นศิลานั้น รับสั่งว่า "อยู่ทำไมกลางป่า ไปอยู่บางกอกด้วยกันจะได้ฟังเทศน์จำศีล" และไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับพระองค์ เมื่อพระองค์เสด็จกลับจึงโปรดเกล้าฯให้ชะลอมาก่อเป็นแท่นไว้ที่วัดสมอราย

ผมสันนิษฐานว่า แท่นศิลานี้น่าจะได้แก่แท่นที่วางดอกไม้สำหรับสักการะพระเจดีย์ที่วัดวิหารทองสุโขทัย ซึ่งปัจจุบันนี้แท่นศิลาด้านทิศใต้ถูกเคลื่อนย้ายไปแล้ว ส่วยด้านทิศตะวันออกยังคงอยู่ ณ ที่เดิม พร้อมพระแท่นนั้นพระองค์ยังทรงเอาเสาศิลาจารึกหลักที่ ๔ ภาษาเขมรของพระมหาธรรมราชาลิไทลงมาด้วย แต่สมเด็จพระยาปวเรศฯ มิได้รับสั่งว่า ทรงนำเอาศิลาจารึกหลักที่ ๑ มาด้วยในคราวนั้น

สมเด็จพระยาปวเรศฯ ทรงสันนิษฐานว่า ดูเหมือนเทพเจ้าเมืองสุโขทัยจะมาทูลเจ้าฟ้ามงกุฎว่า ในภายหน้าพระองค์จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินมีพระบารมีเท่าเทียมกับพระมหาธรรมราชาลิไทยที่กล่าวถึงในศิลาจารึกหลักนั้น นอกจากนั้นสมเด็จกระพรยาปวเรศฯ ทรงพิเคราะห์ว่าการที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไททรงสร้างศิลาจารึกไว้ เป็นการบันทึกปาฏิหารย์ที่เกิดขึ้นเพราะพระบารมี นอกจากนั้นแล้วสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ยังได้ตีพิมพ์คำแปลศิลาจารึกภาษาเขมรของพระมหาธรรมราชาลิไทที่พระองค์ทรงแปลไว้เป็นภาคผนวกอีกด้วยเพื่อที่ท่านผู้อ่านได้เปรียบเทียบกับพระบารมีของสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และพระมหาธรรมราชาลิไท

สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ยังทรงตรัสไว้ว่า เรื่องในหนังสือในเสาศิลานั้น ถูกต้องกับรัชกาลที่เป็นไปนี้โดยมาก ดังอาจจะกล่าวไว้โดยสังเขปดังต่อไปนี้

"พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นรัชทายาท แต่เพราะเหตุผลบางประการจึงไม่สามารถจะสืบราชสมบัติได้ทันที แต่ต้องรอคอยไปเสียก่อน

ทั้งสองพระองค์ได้ศึกษาพระไตรปิฏกอย่างลึกซึ้ง และทรงมีพระปรีชาสามารถในการศึกษาดาราศาสตร์ และสามารถที่จะเพิ่มหรือลบศักราชได้ ทั้งสองพระองค์ทรงสถาปนานิกายใหม่โดยได้รับความช่วยเหลือจากพระภิกษุต่างชาติ ทั้งสองพระองค์ทรงผนวชและลาสิกขาบทเพื่อขึ้นครองราชย์ และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรม และทรงสั่งสอนพสกนิกรของพระองค์ให้เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ทั้งสองพระองค์ยังได้แสดงความอัศจรรย์อันเป็นผลแห่งพระบารมีให้เป็นที่ประจักษ์ เช่นแผ่นดินไหวเมื่อพระมหาธรรมราชาลิไททรงอุปสมบท และเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทรงเสด็จไปครองวัดบวรนิเวศฯ ก็ได้เกิดปาฏิหารย์ซึ่งมีผู้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นสองดวงเป็นต้น"


ในตอนท้ายเรื่องอภินิหารการประจักษ์ สมเด็จพระปวเรศฯ ทรงกล่าวเพิ่มเติมถึงศิลาจารึกหลักที่ ๑ ซึ่งไม่ได้ทรงกล่าวถึงเลยในตอนต้นว่า "เรื่องราวของพระแท่นมนังคศิลาบาตร อยู่ในเสาศิลาที่มาแต่เมืองสุโขทัย และพ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น" ซึ่งเป็นการพิมพ์เนื้อหาของจารึกหลักที่ ๑ ขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะคงมีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ จึงทรงนำมาตีพิมพ์ไว้ที่นี้เป็นที่หน้าสังเกตว่า เนื้อหาที่สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ทรงแปลนั้น จะยกเอามาแต่เฉพาะเหตุการณ์ที่มีศักราชโดยเริ่มขึ้นที่มามหาศักราช ๑๒๑๔ ศก ปีมะโรง พ่อขุนรามคำแหงให้ปลูกไม้ตาลนี้ ๑๔ ปีเข้า จึงให้ช่างถามขดานหินกลางไม้ตาลนี้ และในวันอุโบสถก็โปรดให้พระเถระผู้ใหญ่สวดธรรมแก่ เหล่าอุบาสก หามิใช่วันอุโบสถพระองค์เองก็เสด็จขึ้นประทับออกว่าราชการ

ข้อความที่ว่า "พ่อขุนรามคำแหงโปรดให้พระเถระผู้ใหญ่สวดธรรมบนแท่นหินนี้" รับกับพระราชดำริของเจ้าฟ้ามงกุฎเมื่อเสด็จสุโขทัยที่ตรัสกกับแท่นศิลาว่า "ให้ไปบางกอกด้วยกัน จะได้ฟังเทศน์ถือศีล" น่าจะสันนิษฐานได้อีกว่า พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่าหากเมื่อพระองค์เสวยราชสมบัติขึ้นเมื่อใดก็คงใช้แท่นศิลานี้เป็นบัลลังค์ แต่ก็มิได้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์เท่านั้น

ระยะที่พ่อขุนรามคำแหงให้ปลูกต้นตาล และถากขดานหิน สอดคล้องกับ 14 ปีที่เจ้าฟ้ามงกุฎทรงเป็นเจ้าอาวาสที่วัดบวรนิเวศฯ ซึ่งอาจจะเปรียบเทียบได้กับพระองค์เสด็จขึ้นประทับเหนือราชบัลลังก์

สมเด็จพระปวเรศฯยังทรงประทานข้อเฉลยไว้ท้ายเล่มว่า "ถ้าจะใคร่ทราบกลศักราชทั้งปวง ต้นศักราชปีมะเส็งมากกว่ามหาศักราช ๖๒๑" ดังนั้น หากเราจะเปลี่ยนมหาศักราช ๑๒๑๔ อันเป็นปี่ที่พ่อขุนรามคำแหงปลูกต้นตาลมาเป็นพุทธศักราชโดยการเอา ๖๒๑ มากบวกก็จะได้เป็นปีพุทธศักราช ๑๘๓๕ ซึ่งถ้าเราอ่านศักราช ๑๘๓๕ เป็นคริสต์ศักราช ก็จะได้ปี ค.ศ. ๑๘๓๕ คือสองปีก่อนที่เจ้าฟ้ามงกุฎจะเสด็จไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดบวรนิเวศฯ และสิบสีปีต่อมาก็เท่ากับปีพุทธศักราช ๑๘๔๙ ถ้าอ่านเป็นปี ค.ศ. ๑๘๔๙ อันได้แก่สองปีก่อนที่พระองจะเสด็จขึ้นครองราชย์ ปีต่อมาที่สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯตรัสถึงได้แก่ปีศักราช ๑๒๐๙ ปีกุน ซึ่งเราทราบดีแล้วในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่ากล่าวถึงศักราช ๑๒๐๗ ปีกุน เพราะฉะนั้น ความผิดพลาดนี้เป็นเจตนาที่จะแสดงให้เห็นความแตกต่างของเวลาสองปี ดังนั้น ถ้าเอาสองปีมาเพิ่มเข้าไปก็จะได้ปีคริสต์ศักราช ๑๘๓๗ และ คริสต์ศักราช ๑๘๕๑ ก็คือปีที่เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จไปครองวัดบวรนิเวศฯ และปีคริศต์ศักราช ๑๘๕๑ ก็คือปีที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ซึ่งเป็นปีกุน

เหตุการณ์ต่อมาที่กล่าวถึงในศิลาจารึกหลักที่ ๑ คือ ปีศักราช ๑๒๐๙ ที่พ่อขุนรามคำแหงให้ขุดเอาพระธาตุออกไปให้คนทั้งหลายเห็น แล้วเอาลงไป

ฝังไว้กลางเมืองศรีสัชนาลัย ปีนี้สามารถปรับเป็นปีคริสต์ศักราช ๑๘๓๐ ตามที่เสนอไปแล้ว ซึ่งตรงกับปีที่เจ้าฟ้ามงกุฎโปรดเกล้าฯให้ขุดศิลานิมิตวัดสมอรายขึ้นมาดูแล้วทรงให้ผูกนิมิตใหม่พร้อมกับให้พระภิกษุที่วัดสมอรายอุปสมบทขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นการสถาปนาธรรมยุตนิกายให้ถูกต้อง

ส่วนศักราช ๑๒๐๕ เมื่อพ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์ลายสือไทยนั้น ตรงกับปีที่เจ้าฟ้ามงกุฎทรงมีพระราชศรัทธาที่จะนำเอาพระวินัยมอญมาเป็นข้อปฏิบัติในธรรมยุตนิกาย และอาจจะทรงริเริมประดิษฐ์อักษรอริยกะเพื่อเขียนภาษาบาลีก็เป็นได้

การเฉลยการเปลี่ยนศักราชต่าง ๆ สมเด็จพระยาปวเรศฯ ทรงต้องการที่จะให้บุคคลในกาลข้างหน้ารับทราบว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้กลเลขในการลบบวกศักราชต่าง ๆ ที่จะให้เห็นว่าพระองค์เกี่ยวข้องกับนิพนธ์หลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ ดังที่สมเด็จพระยาปวเรศฯ ทรงเขียนไว้เป็นอวสานพจน์ของหนังสืออภินิหารการประจักษ์
..................................................................
ศักราชคิดดั่งนี้...............ชอบขยัน
มือลับชนสามัญ.............ห่อนเจ้า
 ไทยถือว่าสำคัญ............กลเลข
แยบยลคนกล่าวแกล้ง.....กล่าวว่า คนไกล
 .................................................................
ดังนั้น ผมจึงใคร่ขอเสนอต่อท่านผู้มีเกียรติว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นหลังจากที่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์อันได้แก่สิบสี่ปีหลังจากที่เสด็จไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ

นอกจากนั้นแล้ว ข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ยังส่อให้เห็นอีกด้วยว่าเหตุใดพระองค์ถึงทรงพระราชนิพนธ์จารึกหลักนี้ขึ้นมา

มูลเหตุอันเป็นแรงบันดาลพระทัยคงจะได้แก่พระองค์ตั้งพระทัยที่จะทรงพระราชนิพนธ์ประวัติของพระแท่นมนังคศิลาบาตรนี้ ในรูปแบบของประวัติศาสตร์นิพนธ์ โดยใช้พระปรีชาสามารถทางด้านภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศาสนา ดาราศาสตร์ และการคำนาณในการสร้างภาพพจน์ที่ใกล้เคียงกับอดีตเท่าที่จะทรงทำได้ ประวัติศาสตร์นิพนธ์ชิ้นนี้ยังเป็นกุศโลบายที่พระองค์จะนำไปใช้ในการเปลี่ยนแปลงขนบประเพณีที่มีมาแต่เดิมไปสู่โลกทัศน์ใหม่ ซึ่งรับกับอารยธรรมตะวันตก จารึกหลักที่ ๑ จึงเป็นการสร้างภูมิหลังเพื่อเป็นหลักประกันแก่ความเปลี่ยนแปลงที่ พระองค์ทรงกระทำเพราะความเปลี่ยนแปลงบางประการเช่น การที่พระองค์ทรงประดิษฐ์อักษรอริยกะ และอาจจะมีพระราชประสงค์ที่จะเปลี่ยนระบบวิธีเขียนภาษาไทยให้อยู่ในบรรทัดเดียวกันเพื่อสามารถที่จะใช้กับเครื่องพิมพ์ได้สะดวกยิ่งขึ้น บางประการ เช่นการเปิดการค้าเสรี การขัดผลประโยชน์ของเจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ ที่แต่เดิมใช้ระบบการค้าแบบผูกขาด การเปลี่ยนแปลงที่พระองค์จะทรงริเริ่มขึ้นนั้นมิได้เป็นการกะทำผิดจากโบราณราชประเพณี แต่กลับเป็นการรักษาโบราณราชประเพณี ที่มีมาแต่สมัยสุโขทัย ให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป บ้านเมืองจึงจะอยู่เย็นเป็นสุขเช่น การที่พระองค์จะลดค่าระวางปากเรือ จังกอบ ให้เหลือว่าละ ๑๐๐๐ บาท จากวาละ ๑๗๐๐ บาท ตามที่อังกฤษขอมาในสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง จึงมีมาแต่เมื่อโบราณว่า " เจ้าเมืองบ่อเอาจังกอบในไพร่" หรือเมื่อพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้ไพร่ที่ไม่สามารถจะช่วยตัวเองได้ ให้มาถวายฎีกาแก่พระองค์โดยตีกลองวินิจฉัยเภรี ก็มีมาแล้วในการที่ไพร่ฟ้าหน้าใสไป สั่นกระดิ่งถวายฎีกาต่อพ่อขุนรามคำแหง พระองค์ต้องการที่จะปรับปรุงพระราชพิธีสำหรับบ้านเมือง เช่นให้ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระองค์เองก็เสวยน้ำพิพัฒน์สัตยานั้นด้วย ก็แสดงให้เห็นในข้อความที่ "ให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุนถือบ้านถือเมือง"

นอกจากนั้นพระองค์ก็ยังทรงให้ความสำคัญแก่เทพารักษ์ผู้พิทักษ์รักษาบ้านเมือง เช่น การนับถือพระขพุงที่สุโขทัย และพระสยามเทวาธิราช ซึ่งทรงสถาปนาขึ้นเพื่อพิทักษ์รักษากรุงสยามในลักษณะเดียวกัน และเมื่อพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้ราษฎรมาเฝ้าชมพระบารมี ก็มีมาแล้วในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ที่ชาวเมืองสุโขทัยมาดูพ่อขุนรามคำแหงท่านเผ่าเทียนเล่นไฟ ทั้งหมดนี้ปรากฏอยู่ในประกาศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ศิลาจารึกหลักนี้ จึงเปรียบเสมือน รัฐธรรมนูญที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จะทรงใช้เป็นแนวทางการบริหารแผ่นดิน เพื่อให้บ้านเมืองเจริญตามอารยธรรมตะวันตกเพื่อให้เป็นที่นับถือของฝรั่ง จึงอาจกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงใช้ประปรีชาสามารถในทางปัญญาที่ได้นำกรุงสยามให้พ้นจากภัยพิบัติได้

ผมขออัญเชิญพระราชดำรัสของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงตรัสว่า "แต่น่าอนาถใจจริงๆ ทุกวันนี้ผู้รู้พระคุณของทูลกระหม่อมมีน้อยตัวลงทุกที"

ข้าพุทธเจ้า ขอสดุดี พระมหาราชา ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของเมืองไทยด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้


กระทู้: พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยใช่หรือไม่
เริ่มกระทู้โดย: ส้มหวาน ที่ 16 พ.ย. 00, 19:45
คุณ สนใจ  หรือใครก็ได้พอจะบอกได้ไหมคะว่า คำ คำ ไหน ใน จารึกหลักที่ 1 ที่ เป็นคำที่เพื่งใช้ในรัตนโกสินทร์ตอนต้นคะ


กระทู้: พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยใช่หรือไม่
เริ่มกระทู้โดย: ทิด ที่ 16 พ.ย. 00, 19:52
ยังมีบทความอีกเกี่ยวกับเรื่องศิลาจารึกอีกฉบับหนึ่งนะครับ พอดีผมตามลิงค์ของ

หน้าบทความดร.พิริยะไปแล้วเลยได้เจอข้อความนี้ด้วยลองไปอ่านกันดูก็แล้วกันครับ

ขอตัวไปพักก่อนทั้งง่วง ทั้งเพลียเต็มที ลิงค์ที่ว่าอยู่ข้างล่างนี่นะครับ

http://www2.50megs.com/shalawan/jaruk-discuss.htm


กระทู้: พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยใช่หรือไม่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 พ.ย. 00, 10:37
วันนี้เวลาน้อยครับขอพูดเรื่องความคิดเห็นกับวิชาประวัติศาสตร์นิดหนึ่ง

ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้ว บางเรื่องเราอาจไม่รู้ข้อเท็จจริงด้วยเหตุผลประการใดก็แล้วแต่ การศึกษาประวัติศาสตร์ทำให้เรามองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ความจริงที่ได้ทำให้เราเข้าใจรากเหง้าของชาติพันธุ์เราได้ดีขึ้น
ทุกวันนี้มีนักวิชาการหลายกลุ่มแบ่งพรรคแบ่งพวก ยึดติดกับแนวคิดบางอย่าง กรมพระยาดำรงท่านถูกเอามาใช้เป็นเส้นแบ่งแยก ซึ่งท่านคงไม่ได้ต้องการให้เป็นเช่นนี้ สิ่งที่ท่านได้ศึกษาไว้ ผมไม่ได้เชื่อว่าถูกทั้งหมด แต่ก็ไม่คิดว่าท่านจะทำโดยอคติ บางครั้งผลสรุปที่ไม่ตรงใจเราในบางเรื่องทำให้บางคนลามไปถึงว่า(แทบจะ)ทุกสิ่งที่ท่านพูดผิดไปหมด ซึ่งไม่ยุติธรรมและเป็นผลเสียกับผู้ศึกษาเองด้วย คงต้องยอมรับว่ายุคสมัยต่างกัน ข้อมูลต่างกัน กระบวนทัศน์ต่างกัน ผลลัพธ์อาจต่างกันได้ ถ้าคนทำงานแล้วถูกตำหนิอย่างหนักจากบางฝ่าย ต่อไปใครจะทำงานให้คุณล่ะครับ


กระทู้: พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยใช่หรือไม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ย. 00, 11:59
ขอออกความเห็นบ้าง
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงริเริ่มบุกเบิกงานทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยเมืองไทยยังไม่มีนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ ที่เรียนเป็นระบบมาจากมหาวิทยาลัยทั้งไทยและตะวันตกอย่างในปัจจุบัน
หลักฐานข้อมูลก็ไม่กว้างขวาง เสาะหากันจากประเทศไกลๆได้เหมือนสมัยนี้  หาได้อย่างมากก็จากพม่า อย่างพงศาวดารฉบับหอแก้ว
ทรงชำระประวัติศาสตร์ จากหลักฐานเท่าที่ทรงค้นพบ  ทรงคัดเลือกและเรียบเรียง ตามพระวิจารณญาณ
ที่ปรึกษาอย่างศ.ยอร์ช เซเดส์ ก็ถือว่าเป็นผู้มีความรู้แถวหน้า ที่พอจะหาได้ในเมืองไทย  คนอื่นๆอย่างพระเจนจีนอักษร  ก็เช่นกัน

เมื่อเวลาผ่านไป  เราค้นพบหลักฐานใหม่ ข้อมูลใหม่ ก็แน่นอนว่าเรื่องราวที่เข้าใจกันมาแต่เดิมต้องเปลี่ยนไป  
ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะโทษใคร  หรือใครจะยืนกรานเข้าข้างใคร
มันเป็นหลักธรรมดาของวิชาประวัติศาสตร์

แต่ดิฉันมีความเห็นส่วนตัวว่า นักวิชาการรุ่นใหม่หลายคน อาศัยเพียงหลักฐานที่มีมาแต่เดิม  ซึ่งกรมพระยาดำรงฯ ท่านข้ามไป ไม่นำมาใช้
อาจจะทรงเห็นว่า ไม่น่าเชื่อถือ  ผิดพลาด  หรืออะไรก็ตาม  จึงมิได้นำมาเรียบเรียงไว้ในผลงานของท่าน
เมื่อคนรุ่นใหม่ไปค้นพบในหอจดหมายเหตุ   ก็นำหลักฐานนั้นมาแถลง  แล้วชี้ให้เห็นว่าของท่านผิด
แต่ไม่ใช่เป็นการพบอะไรใหม่ๆขึ้นมา  ซึ่งจะทำให้สมมุติฐานแต่เดิมเปลี่ยนไป   มันเป็นแค่รายละเอียดที่เปลี่ยนไป

แต่จะไปสรุปว่า พระราชพงศาวดารผิดหมด เพราะไม่ตรงกับหลักฐานใหม่ที่พบ  ก็ไม่ใช่
ใครจะไปรู้ว่าหลักฐานใหม่ผิดหรือถูก   ในเมื่อมนุษย์สร้างขึ้นมามันก็มีโอกาสจะเจือปนด้วยอคติ ความเข้าใจผิด  หรือความคลาดเคลื่อนได้ทั้งนั้น

แต่จะยึดของท่านว่าถูกหมด  ขยับไปจากนั้นไม่ได้เป็นผิด ก็ไม่ใช่อีก  คิดอย่างนั้นก็อันตราย เพราะวิชาการจะย่ำซ้ำกับที่ ไม่ก้าวไปไหน

ในอังกฤษดิฉันเห็นว่าจนทุกวันนี้เขาก็ยังเถียงกันเรื่องประวัติศาสตร์ที่รู้ๆกันมานานแล้ว  ไม่รู้จักเลิก
อย่างไม่นานมานี้ไปเจอในเน็ต  คนเสนอหลักฐานใหม่ว่า ควีนเอลิซาเบธที่ ๑ ไม่ใช่ The Virgin Queen อย่างที่ยกย่องกัน
แต่ทรงมีความสัมพันธ์กับ Lord Robert Dudley จนมีลูกด้วยกัน
เขาก็เขียนกันได้  ก็ไม่เห็นมีใครว่าอะไร  อย่างมากก็มีอีกคนเขียนสนับสนุนหรือคัดค้านด้วยการยกหลักฐานมาบ้าง
ก็ไปกันได้ เป็นของธรรมดาของวิชานี้ค่ะ