เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: heha ที่ 10 ต.ค. 17, 20:52



กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 10 ต.ค. 17, 20:52
1. เขตพระราชฐานชั้นใน ที่ซึ่งไม่มีมนุษย์ผู้ชายอาศัยอยู่นััน
ลูกท่านหลานเธอ เช่นเจ้าฟ้า และหรือพระองค์เจ้าชาย สามารถประทับได้ตลอดอายุขัยหรือไม่

2. มรว คึกฤทธิ์ เก็บรายละเอียดในวังได้ยังกับตาเห็น
นั่นหมายความว่าท่านเคยเห็น หรือจดจำจากคำบอกกล่าวจากผู้อื่นอีกที
หรือเล่าจริงบ้างสมมติบ้าง ก็มิอาจทราบได้ ใครพอทราบบ้างครับ

3. เจ้าจอมในเขตพระราชวัง แต่ละก๊ก หุงข้าวกินเอง หรือมีโรงครัวรวมครับ
คงโกลาหลมิใช่เล่น หากต้องเลี้ยงคนเป็นร้อย

4. ชีวิตในกำแพงพระบรมมหาราชวังเมื่อสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 5
อาจไม่มีสีสันต์เท่าเก่า เมื่อในหลวงรัชกาลใหม่ประทับที่วังอื่นบ้าง
ที่หัวเมืองบ้าง อีกทั้งการที่พระองค์ทรงมีมเหสีน้อยองค์ ทำให้ชีวิตในวัง
ซีดเซียวไปบ้างใช่ไหมครับ

ขอบคุณครับ



กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 17, 21:29
ขอตอบสั้นๆ    เพื่อท่านอื่นๆจะได้มาช่วยตอบด้วยค่ะ
1   เจ้านายฝ่ายชายชั้นพระราชโอรสในพระเจ้าแผ่นดิน  เมื่อพ้นจากโสกันต์(หมายถึงโกนจุก) ก็ถือว่าพ้นจากวัยเด็กแล้ว   ก็ต้องเสด็จออกไปมีวังส่วนพระองค์     เจ้านายชั้นหลานเธอก็เช่นกันค่ะ
2  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เกิดในพ.ศ. 2454  สิ้นรัชกาลที่ 5 ไปหนึ่งปีแล้ว   ท่านไม่ทันเห็นเหตุการณ์ของแผ่นดินแรกในสี่แผ่นดินแน่นอน   แม้แต่แผ่นดินที่สองตอนต้นๆ ท่านก็คงจะยังเล็กเกินกว่าจะจำอะไรได้   แต่ท่านถูกแวดล้อมด้วยชาววังที่เป็ญาติ  หม่อมแม่ก็เป็นชาววัง   ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายก็เจ้านายทั้งนั้น  ท่านก็ย่อมจะได้รับคำบอกเล่าต่างๆพอจะบรรยายภาพชีวิตเหล่านั้นได้
3  เจ้าจอมมีที่พักอาศัยเป็นสัดส่วน    มีครัวของตัวเองค่ะ
4  ใช่ค่ะ

ดิฉันอยากขอให้คุณ V_Mee และท่านอื่นๆที่เคยสนทนากันเรื่องสี่แผ่นดิน เข้ามาช่วยตอบด้วยนะคะ  


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 10 ต.ค. 17, 22:52
ขอบพระคุณครับ

5. ตอนที่แม่ของพลอยทูลลาเสด็จเพื่อไปเป็นอนุเจ้าคุณ
เสด็จถามว่าแกจะไปเป็นน้อยเขาหรือ สมัยนั้นแฟชั่นเมียเล็กเมียน้อย
ดูเป็นเรื่องธรรมดา การเป็นน้อยถือเป็นเรื่องต่ำเกียรติถึงขนาดที่เสด็จต้อง
ตอกย้ำเชียวหรือ แล้วบ้านใหญ่ต้องเปิดไฟเขียวก่อน หรือว่าไม่สนหรอก
เปิดไม่เปิด (เคยผ่านตาว่าเสด็จแม่ทรงขวางก๊กออ แสดงว่าน้อยๆ หลวงๆ
เป็นปัญหาโลกแตกที่ยืนยง)

6. ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับสี่แผ่นดิน แต่เกี่ยวกับภูมิศาสตร์บางกอก หลังงานพระเมรุมาศ
เจ้าฟ้าศิริราชฯ ก็มีการรื้อไม้มาสร้าง รพ ศิริราช ฝั่งตรงข้ามพระบรม
มหาราชวัง ฝั่งกรุงมีที่ดินเหลือเฟือ ทำไมไม่สร้างฝั่งกรุงซึ่งสะดวกในการเดินทางกว่า
หรือว่าฝั่งศิริราชเป็นสุขศาลาหรือโรงหมออยู่ก่อนเปล่าครับ





กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 10 ต.ค. 17, 23:09
อันนี้ก็ไม่เกี่ยวกับสี่แผ่นดินนะครับ ขออนุญาตคุณ heha นิดนึง แต่เกี่ยวกับพระบรมมหาราชวัง
ผมแปลกใจตรงที่ว่า หมู่พระมหามณเฑียร คือพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ซึ่งควรจะเป็นหัวใจของพระบรมมหาราชวัง และเป็นสิ่งปลูกสร้างที่เก่าแก่ดั้งเดิมมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เป็นที่รู้จักหรือพูดถึงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งผมเอง(ขอสารภาพว่า)ก็พึ่งได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระมหามณเฑียรเมื่อไม่นานมานี้เอง เลยอยากถามเพิ่มเติมครับว่ากระทู้ในเรือนไทยนี้เคยเขียนถึงบ้างหรือเปล่าครับ


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 11 ต.ค. 17, 07:31
1. เขตพระราชฐานชั้นใน ที่ซึ่งไม่มีมนุษย์ผู้ชายอาศัยอยู่นััน
ลูกท่านหลานเธอ เช่นเจ้าฟ้า และหรือพระองค์เจ้าชาย สามารถประทับได้ตลอดอายุขัยหรือไม่

โดยพระราชประเพณีพระมเหสี  เจ้าจอม และเจ้านายลูกเธอทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน  รวมตลอดทั้งคุณพนักงานและคุณข้าหลวงทั้งหลายจะประทับและอยู่ในพระบรมมหาราชวังไปจนตลอดพระชนม์ชีพและตลอดอายุขัย
แต่เจ้าลูกเธอฝ่ายหน้านั้นมีธรรมเนียมที่จะประทับร่วมกับพระชนนีไปจนโสกันต์หรือโกนจุกแล้ว  ต้องย้ายออกไปประทับภายนอก  ส่วนพระมเหสี เจ้าจอม คุณพนักงานทั้งหลายนั้นถือว่าเป็นคนหลวงเมื่อถวายตัวแล้วก็ต้องพำนักอยู่ในพระราชฐานชั้นในไปจนสิ้นอายุขัย  หากมีกิจธุระไปนอกพระราชฐานก็จะต้องคุณเถ้าแก่หรือท้าวนางผู้ใหญ่ไปด้วยเพื่อเป็นพยานว่าไม่ไปกระทำการอันเป็นที่เสื่อมเสีย  ทั้งจะต้องมีกรมวังไปคอยกำกับรักษาความปลอดภัย  ส่วนคุณข้าหลวงนั้นเป็นคนของเจ้านายหรือเจ้าจอม  ไม่ถือว่าเป็นคนหลวง  สามารถกราบถวายทูลลาหรือลาออกไปใช้ชีวิตภายนอกพระราชฐานได้

ในตอนปลายรัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างพระราชวังดุสิตขึ้นแล้ว  จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระมเหสี เจ้าจอม และเจ้านายลูกเธอย้ายออกไปประทับที่พระราชวังดุสิต  รวมทั้งพระราชทานที่ดินตลอดแนวคลองสามเสนฝั่งใต้ให้เป็นวังที่ประทับของพระราชธิดา  เมื่อเจ้านายลูกเธอทรงแยกออกไปประทับที่วังส่วนพระองค์แล้วบรรดาเจ้าจอมก็กราบถวายบังคมลาไปพำนักกับเจ้านายลูกเธอที่วังของแต่ละพระองค์

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง  พระมเหสีและเจ้าจอมที่ประทับและพำนักอยู่ในพระราชฐานชั้นในและพระราชฐานชั้นในต่างก็กราบถวายบังคมลาออกไปประทับและพำนักอยู่กับครอบครัว  มีบางพระองค์ที่ไม่ทรงมีพระญาติอยู่ภายนอก เช่น เจ้านายวังหน้าที่รัชกาลที่ ๖ โปรดให้ย้ายมาประทับในพระบรมมหาราชวังบางพระองค์ที่ยังคงประทับอยู่ในพระราชฐานชั้นในต่อมาจนสิ้นพระชนม์


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 11 ต.ค. 17, 07:41
4. ชีวิตในกำแพงพระบรมมหาราชวังเมื่อสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 5
อาจไม่มีสีสันต์เท่าเก่า เมื่อในหลวงรัชกาลใหม่ประทับที่วังอื่นบ้าง
ที่หัวเมืองบ้าง อีกทั้งการที่พระองค์ทรงมีมเหสีน้อยองค์ ทำให้ชีวิตในวัง
ซีดเซียวไปบ้างใช่ไหมครับ

มีส่วนจริงครับ  ในรัชกาลที่ ๖ ทรงมีคุฯเชื้อ  พึ่งบุญ (ท้าวอินทสุริยา) พี่สาวเจ้าพระยารามราฆพ เป็นพนักงานพระภูษามาตั้งแต่ก่อนเสวยราชย์ 
เมื่อทรงหมั้นกับพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีตำแหน่งฝ่ายในเช่น นางสนองพระโอษฐ์  นางพระกำนัลเพื่อประดับพระเกียรติยศตามแบบราชสำนักยุโรป 
ต่อมาเมื่อทรงราชาภิเษกสมรสด้วยคุณประไพ  สุจริตกุล (สมเด็จพระนางเจ้าอินทศักดิศจี พระวรราชชายา) แล้ว  ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ธิดาข้าราชการมาเป็นคุณพนักงานในพระองค์
ทำให้ราชสำนักฝ่ายในเริ่มคึกคักขึ้นอีกครั้ง  เนื่องจากในหลวงโปรดที่จะย้ายที่ประทับไปเรื่อยๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด  พระราชินี (ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามเป็นพระวรราชชายา)
และคุณพนักงานตลอดจนคุณข้าหลวงนั้นก็ต้องตามเสด็จไปด้วยทุกแห่ง 


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ต.ค. 17, 09:33
5. ตอนที่แม่ของพลอยทูลลาเสด็จเพื่อไปเป็นอนุเจ้าคุณ
เสด็จถามว่าแกจะไปเป็นน้อยเขาหรือ สมัยนั้นแฟชั่นเมียเล็กเมียน้อย
ดูเป็นเรื่องธรรมดา การเป็นน้อยถือเป็นเรื่องต่ำเกียรติถึงขนาดที่เสด็จต้อง
ตอกย้ำเชียวหรือ แล้วบ้านใหญ่ต้องเปิดไฟเขียวก่อน หรือว่าไม่สนหรอก
เปิดไม่เปิด (เคยผ่านตาว่าเสด็จแม่ทรงขวางก๊กออ แสดงว่าน้อยๆ หลวงๆ
เป็นปัญหาโลกแตกที่ยืนยง)

สังคมไทยสมัยนั้นอยู่ในระบบ polygamy  หมายความว่าผู้ชายมีภรรยาหลายคนในช่วงเวลาเดียวกันได้อย่างถูกต้อง  ไม่ผิดกฎหมายและไม่ผิดทางสังคม    แต่ฐานะทางสังคมของภรรยาไม่เท่ากัน    ภรรยาหลวงคือหญิงที่มีการแต่งงานกันเป็นที่รับรู้  (ทะเบียนสมรสยังไม่มีค่ะ)  ส่วนภรรยาน้อยคือได้กันเอง   ไม่มีพิธีรีตองออกหน้าอย่างภรรยาหลวง
สำหรับหญิงชาวบ้านสามัญ หรือบ่าวในบ้าน  การได้เป็นเมียน้อยของขุนนางหรือนายผู้ชาย คือการเลื่อนฐานะให้สบายขึ้น  แต่สำหรับหญิงผู้ดีอย่างแม่ของพลอย การไปเป็นเมียน้อยถือว่าไม่สมฐานะ    แม่ของพลอยเป็นชาววัง  ถึงในเรื่องไม่บอกว่าเป็นลูกสาวใคร ก็มีคำบอกเล่ากว้างๆว่าบิดาเป็นหลานเจ้าจอมมารดาของเสด็จ    แสดงว่าเป็นผู้ดี   ลูกสาวควรจะได้เป็นภรรยาของขุนนาง ซึ่งหมายความว่าจะมีโอกาสได้เป็นคุณหญิงคุณนาย    ถ้าเป็นเมียน้อยก็อดตำแหน่งนี้
เมียหลวงจะยอมรับเมียน้อยหรือไม่ ขึ้นอยู่แต่ละบ้าน   บ้านเจ้าคุณพ่อของพลอย  คุณหญิงของท่านซึ่งเป็นแม่ของคุณอุ่น ไม่ยอมรับแม่ของพลอยเข้ามาร่วมบ้าน ถึงกับเลิกกับเจ้าคุณ กลับไปอยู่บ้านเดิมที่อัมพวา      ข้อนี้เป็นสาเหตุให้คุณอุ่นเกลียดแม่ของพลอยและเลยมาถึงพลอยด้วย  ว่าทำให้พ่อแม่เธอต้องเลิกกัน


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ต.ค. 17, 09:42
6. ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับสี่แผ่นดิน แต่เกี่ยวกับภูมิศาสตร์บางกอก หลังงานพระเมรุมาศ
เจ้าฟ้าศิริราชฯ ก็มีการรื้อไม้มาสร้าง รพ ศิริราช ฝั่งตรงข้ามพระบรม
มหาราชวัง ฝั่งกรุงมีที่ดินเหลือเฟือ ทำไมไม่สร้างฝั่งกรุงซึ่งสะดวกในการเดินทางกว่า
หรือว่าฝั่งศิริราชเป็นสุขศาลาหรือโรงหมออยู่ก่อนเปล่าครับ

ในรัชกาลที่ 5  ที่ดินฝั่งกรุงเทพไม่ได้มีว่างเหลือเฟืออย่างที่คุณเข้าใจ     ผู้คนอยู่กันหนาแน่นในเขตพระนคร    ถ้าออกนอกกำแพงเมืองไปไกลกว่านั้นก็คือทุ่งนา   ซึ่งไปสร้างโรงพยาบาลอยู่ ไม่สะดวกแก่การเดินทาง   คนไข้จะตายเสียก่อนไปถึง
ฝั่งธนบุรีเป็นเมืองหลวงเก่า ผู้คนอยู่กันแน่นหนามาตั้งแต่สมัยธนบุรี    วังของเจ้านายหลายพระองค์ก็อยู่ทางฝั่งธน  สมัยนั้นเดินทางกันด้วยเรือ  การข้ามแม่น้ำไปเป็นของง่ายเหมือนขับรถข้ามสะพานสมัยนี้
มาถึงคำถามว่าทำไมสร้างตรงนั้น คำตอบคือตรงนั้นเป็นที่ว่างผืนใหญ่  เดิมเป็นที่ตั้งของวังหลังในรัชกาลที่ 1   ล่วงมาถึงรัชกาลที่ 5  เชื้อสายเจ้านายวังหลังเหลือน้อยมากแล้ว และเป็นเจ้านายสตรีเสียส่วนใหญ่    ที่ดินก็รกร้าง เป็นพื้นที่กว้างพอจะสร้างสิ่งปลูกสร้างใหญ่ๆและขยับขยายได้อีกในภายหลัง   จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างรพ.ศิริราชขึ้นที่นั่น


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 11 ต.ค. 17, 18:41
ขอบคุณครับ

7. จากสภาพสังคมที่ชายมีภรรยาได้หลายคน
รักแรกของพลอยพังครืน เพราะพี่เนื่องพลาดพลั้งไป
ถ้าพี่เนืองมาสู่ขอพลอยไปเป็นบ้านใหญ่ จะทำได้ไหมครับใน
ความเป็นจริง ทีคุณเปรมมีเมียอยู่ก้นบ้าน ยังขอพลอย
ไปเป็นบ้านใหญ่ได้

ผมเข้าใจว่าพี่เนื่องหักอกพลอย เพราะผู้แต่งทำทางให้คุณเปรม
ก้าวเข้ามา


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 11 ต.ค. 17, 18:50
8. เคยปรากฏบ้างไหมครับว่าพระองค์เจ้าโอรสธิดา
แผ่นดินที่ 5 ได้รับการถวายพระเพลิงตามวัด ไม่ใช่ใน
พระเมรุมาศที่ทุ่งพระเมรุ

และเคยมีครั้งใดบ้างไหม ที่พระเมรุมาศครั้งเดียว
ใช้มากกว่า 1 ครั้ง ติดๆ กัน


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ต.ค. 17, 19:00
8. เคยปรากฏบ้างไหมครับว่าพระองค์เจ้าโอรสธิดา
แผ่นดินที่ 5 ได้รับการถวายพระเพลิงตามวัด ไม่ใช่ใน
พระเมรุมาศที่ทุ่งพระเมรุ

และเคยมีครั้งใดบ้างไหม ที่พระเมรุมาศครั้งเดียว
ใช้มากกว่า 1 ครั้ง ติดๆ กัน

มีที่บางปะอิน, มีที่สวนมิกสักวัน, มีที่พื้นที่หน้าวัดพระแก้ววังหน้า, ที่หน้าสุสานหลวงวัดราชบพิธ ครับ


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 11 ต.ค. 17, 19:15
8. เคยปรากฏบ้างไหมครับว่าพระองค์เจ้าโอรสธิดา
แผ่นดินที่ 5 ได้รับการถวายพระเพลิงตามวัด ไม่ใช่ใน
พระเมรุมาศที่ทุ่งพระเมรุ

ปกติพระองค์เจ้าจะพระราชทานเพลิงที่เมรุหลวงวัดเทพศิรินทราวาส  มีบ้างที่ฌปรดเกล้าฯ ให้ปลูกเมรุผ้าขาวพระราชทานเพลิงที่วัดราชาธิวาส และวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม  ต่างจังหวัดก็มีที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ

และเคยมีครั้งใดบ้างไหม ที่พระเมรุมาศครั้งเดียวใช้มากกว่า 1 ครั้ง ติดๆ กัน
เป็นเรื่องปกติครับ  พระเมรุท้องสนามหลวงจะใช้ในการพระราชทานเพลิงพระศพพระรมวงศ์ชั้นเจ้าฟ้าขึ้นไป  แต่บางคราวมีพระศพค้างหลายพระศพ  ก็จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงพระศพพระบรมวงศ์ที่มีพระอืสริยยศชั้นเจ้าฟ้าหรือสูงกว่าเป็นลำดับแรก  แล้วจึงต่อด้วยพระศพพระองค์เจ้าทรงกรมเรียงตามพระอิสริยยศ  เช่น การพระเมรุ พ.ศ. ๒๔๖๖  เริ่มจากพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์เป็นที่ ๑  ต่อด้วยพระศพสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัยเป็นที่ ๒  ที่ ๓ พระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ  เสร็จงานพระศพชุดแรกแล้วโปรดเกล้าฯ ให้ถอดฉัตรยอดออกแล้วแปลงเป็นยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ตามพระอิสริยศักดิ์  แล้วโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์  พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  แล้วปิดท้านด้วยศพ เจ้าพระยาเทเวศวงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน  กุญชร) เป็นศพสุดท้าย


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 11 ต.ค. 17, 23:47
ขอบพระคุณอาจารย์ และท่าน V_Mee ที่ช่วยแบ่งปันความรู้ครับ
เดิมที ผมคิดว่าพระเมรุมาศใช้ครั้งเดียวแล้วรื้อ เช่น คราวสมเด็จย่า
พระพี่นาง และเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ

9.1 พระโกศแปดเหลี่ยมต้องเผาจริงหรือเปล่าครับ

9.2 ข้าราชการระดับสูง เช่น มรว หลาน กุญชร เหตุใดจึงได้รับ

เกียรติให้ใช้พระเมรุมาศ หรือสุดแต่พระประสงค์ครับ


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 12 ต.ค. 17, 06:53
พระโกศไม่มีการเผาจริงครับ  สมัยก่อนเวลาเผาจริงถอดพระโกศหรือลองนอกออกเหลือแต่ลองในเป็นเงินหรือทองแดงปิดทองตามฐานานุศักดิ์  เวลาเผาจริงใช้สุมไฟจากด้านใต้ลองในครับ
ปัจจุบันเวลาเผสที่เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาถรณ์วัดเทพศิรินทร์  บรรจุศพลงในโกศไม้จำลองแล้วยกเข้าเตาเผาครับ

กรณีเจ้าพระยาเทเวศวงศ์วิวัฒน์ที่เป็นหม่อมราชวงศ์แล้วได้รับพระราชทานเพลิงที่พระเมรุท้องสนามหลวงนั้น  เป็นการพระราชทานเกียรติยศพิเศษแก่เชื้อพระวงศ์ที่ทำประโยชน์แก่ประเทศชาติ
นอกจากรายเจ้าพระยาเทเวศวงศฺวิวัฒน์แล้ว  ยังมีอีกท่านคือ จอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (ม.ร.ว.อรุณ  ฉัตรกุล) อดีตเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม
ก็ได้รับพระราชทานเพลิงศพที่พระเมรุท้องสนามหลวงต่อท้ายงานพระเมรุเจ้านายด้วย


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 12 ต.ค. 17, 11:01
จาก คห 11 ....แต่บางคราวมีพระศพค้างหลายพระศพ

เจ้านายชั้นพระองค์เจ้า น่าจะเป็นโอรสธิดาของพระมหากษัตริย์
เวลาสิ้นพระชนม์ ก็น่าจะเป็นธุระของสำนักพระราชวัง
สมัยก่อนมีกฏระเบียบเหมือนสมัยนี้ไหมครับว่าเจ้านายระดับใด
ขอพระราชทานเพลิงศพได้

ผมเคยไปเมืองพาราณสี 2 ครั้ง เห็นการเผาศพริมแม่น้ำคงคา
แบบเอาฟืนเรียงล่างและกลบบน กระดูกส่วนสะโพกที่หนาๆ เผาไม่หมด
ก็คีบทิ้งน้ำ การเอากระดูกทิ้งน้ำ คงพัฒนามาเป็นพิธีลอยอังคาร
บ้านเรา


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 17, 14:06
7. จากสภาพสังคมที่ชายมีภรรยาได้หลายคน
รักแรกของพลอยพังครืน เพราะพี่เนื่องพลาดพลั้งไป
ถ้าพี่เนืองมาสู่ขอพลอยไปเป็นบ้านใหญ่ จะทำได้ไหมครับใน
ความเป็นจริง ทีคุณเปรมมีเมียอยู่ก้นบ้าน ยังขอพลอย
ไปเป็นบ้านใหญ่ได้

พี่เนื่องมาขอพลอยไม่ได้แล้วค่ะ  เพราะว่าเขาตกลงสู่ขอกับพ่อแม่ผู้หญิงแล้ว  มีสินสอด มีการตบแต่งกันให้ผู้ใหญ่รับรู้   เท่ากับผู้หญิงคนนั้นอยู่ในตำแหน่งภรรยาหลวง    
ถ้าเขาจะมาขอพลอยอีกคน  พลอยก็อยู่ในตำแหน่งภรรยาน้อย  
อีกอย่างเสด็จก็รับสั่งแล้วว่าผู้ชายอย่างเนื่องมาสู่ขอพลอย ท่านในฐานะผู้ใหญ่ฝ่ายพลอย ท่านก็ไม่ยกให้อยู่ดี  
ผิดกับคุณเปรม   ได้บ่าวในบ้านเป็นเมีย แบบได้กันเอง ไม่มีการสู่ขอ  ผู้หญิงคนนั้นไม่อยู่ในฐานะจะเป็นภรรยาออกหน้าของคุณเปรม
ผิดกับพลอยเป็นภรรยาที่มีสินสอด  แต่งงานกันออกหน้าออกตา  ผู้ใหญ่สองฝ่ายรับรู้  ยังไงก็ถือว่าเป็นภรรยาเอกอยู่ดี   ต่อให้มาทีหลังเมียบ่าวก็เถอะ
แต่ทั้งๆได้เป็นเมียใหญ่   เสด็จก็ยังไม่ทรงเห็นด้วยอยู่ดี   พอทรงทราบว่าคุณเปรมมีเมียแอบซ่อนอยู่ในบ้านก็กริ้ว รับสั่งว่าถ้าทรงทราบมาก่อนจะไม่ยกพลอยให้เป็นอันขาด   ทั้งนี้เพราะเสด็จทรงเล็งเห็นว่า พลอยอาจไม่สงบสุขกับสภาพเมียหลวงเมียน้อย

หญิงที่เป็นภรรยาหลวง ไม่จำเป็นต้องเป็นเมียคนแรกในชีวิตของผู้ชายนะคะ     แต่เป็นคนที่แต่งงานกันอย่างถูกต้องตามธรรมเนียมประเพณี  มีการรับรู้กับผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 13 ต.ค. 17, 08:20
กำลังจะยืมหนังสือเรื่องนี้มาอ่านอยู่พอดี เห็นว่ามี 2 เล่ม หนาพันกว่าหน้า (พอสู้ไหว) อ่านจบค่อยมาดูกระทู้นี้อีกรอบนะครับ  :D


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 17, 08:29
เรื่องนี้อ่านเพลินค่ะ  จะจบเร็วไม่รู้ตัว
โดยเฉพาะแผ่นดินแรก ในรัชกาลที่ ๕


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: azante ที่ 13 ต.ค. 17, 17:07
ได้อ่านเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็กๆ ทำให้มีความซาบซึ้งและมีความรักเทิดทูนพระมหากษัตริย์ไทยมากขึ้นจนทุกวันนี้                  
เมื่อโตขึ้นก็ยังหยิบเอามาอ่านหลายๆรอบ ประกอบกับได้รู้ได้เห็นสิ่งต่างๆมากขึ้นเลยมีข้อสังเกตุอยู่บ้างครับ                  
                  
                  
1.แม่พลอยเกิด ปี 2425   คุณสายเล่าให้ฟังว่าเมื่อครั้งเรือพระประเทียบล่มที่บางพูดคุณสายยังไว้จุก            
มาพิเคราะห์ดูแล้วว่า แม่แช่ม น่าจะมีแม่พลอยตอนอายุยี่สิบ มีพ่อเพิ่ม ตอนอายุสิบแปด                  
แม่แช่มน่าจะเกิด ราวปี 2405   คุณสายแก่กว่าแม่พลอยน่าจะราวๆ สี่ห้าปี เสด็จพระชนม์แก่กว่าคุณสายเล็กน้อยน่าจะราวๆ สองสามปี         
ตีซะว่าคุณสายเกิด 2400 พระนางเรือล่มเกิดเหตุปี 2423 คุณสาย อายุน่าจะประมาณ 23 ปี
ถ้าคุณสายไว้จุก ตอนปี 2423 คงอายุประมาณ 10 ขวบ ก็ต้องเกิดปี 2413 แก่กว่าแม่พลอยแค่ รอบเดียวคงเป็นไปไม่ได้                  
บทประพันธ์ตอนนี้ถ้าตัดช่วงที่คุณสายว่าตัวเองไว้จุกอยู่ออกไปน่าจะสมเหตุสมผลกว่า                  
                  
2.งานพระเมรุกรมขุนสุพรรณภาควดี ที่บางปะอิน ปี 2448                  
แม่พลอยแต่งงานอายุ 18 แต่งไม่เท่าไรก็ท้องตาอั้นแล้วตามเสด็จมางานนี้ด้วย                  
ปีที่ท้องตาอั้นน่าจะราวๆปี 2443-2444 ไม่น่าจะอุ้มท้องยาวถึงปี 2448                  
เทียบดูเหตุการณ์ต่างๆแล้ว ลูกของแม่พลอยทั้งหมดน่าจะเกิดในรัชกาลที่ 5 ด้วยซ้ำ                  
                  
เป็นข้อคิดเห็นเล็กๆน้อยนะครับ ซึ่งแม้จะมีอะไรแปลกๆไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้นิยายอันทรงคุณค่านี้เสียอรรถรสแต่อย่างใด
สี่แผ่นดินก็ยังคงเป็นนิยายอันดับหนึ่งในใจผมเสมอมา                  


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 17, 18:13
เรื่องเวลา ในสี่แผ่นดิน สับสนจริงอย่างที่ว่าค่ะ


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 14 ต.ค. 17, 19:30
วันนี้เริ่มอ่านแล้วครับ ถึงตอนที่แม่แช่มกลับมาเยี่ยมพลอยเป็นครั้งแรก แอบชอบนางพิศกว่าตัวละครหลักนะครับ หวังว่าจะมีบทบาทไปเรื่อย ๆ ที่ชอบอีกอย่างก็คืออุโมงค์ อืมม....มันจั๊กกรูดุ๋ยดีแท้


ปรกติผมมักจะเลี่ยงนิยายย้อนยุคเกินปี 2475 กับนักเลงเยาวราชผู้ผดุงความยุติธรรมอะไรพวกนี้ แต่พอได้อ่านไม่กี่หน้าก็เริ่มรู้ว่า...ซาเล้งกับฮาเลย์ เดวิดสันต่างกันตรงไหน ขอตัวไปซื้อขนมจันอับมาแกล้มชาร้อนก่อนนะครับ :D


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ต.ค. 17, 13:41
เตรียมจันอับไว้ให้แล้วค่ะ   เอาชาจีนมาอย่างเดียวพอ


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: ราชประชา ที่ 16 ต.ค. 17, 10:23
อาจารย์เทาชมพูเคยบอกว่าแม่พลอยเป้นลูกหลานสกุลบุญนาค เพราะผู้แต่งเขียนไว้ในบทสนทนาระหว่างแม่แช่ม กับคุณสาย ตอนนึงว่า

"คิดๆดูก็น่าสงสารนะคะคุณ คุณสายหยุดเธอรุ่นใหญ่กว่าอิฉัน จำได้ เห็นเธอในวัง เธอเป็นสาวแล้ว อิฉันออกไปอยู่บ้านเจ้าคุณก็ไม่ได้ข่าว เพราะเจ้าคุณนั้นก๊กฟากขะโน้นบ้านบน คุณสายหยุดเธอบ้านล่าง ไม่ค่อยได้ติดต่อกัน"

เสด็จฯ นายหญิงของแม่พลอย คือเสด็จฯ ที่โตมาในถิ่นคลองบางหลวงใช้มั๊ยครับอาจารย์


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 17, 10:42
ไม่ใช่ค่ะ
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์สมมุติให้เสด็จเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดา  ดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้า
เจ้านายฝ่ายในชั้นประสูติในวังหลวงทั้งนั้นค่ะ      เจริญพระชนม์มาในวังหลวง อาจจะตามเสด็จแปรพระราชฐานไปพักผ่อนที่อื่นบางแห่ง ช่วงสั้นๆ    แต่ก็เสด็จกลับมาอยู่ในวังหลวง  จนตลอดพระชนม์ชีพ สิ่นพระชนม์ในวังหลวงนั่นเองค่ะ
นี่คือสมัยก่อนที่เจ้านายฝ่ายในจะย้ายออกจากวังหลวงมาประทับอยู่วังข้างนอกในรัชกาลที่ ๕ นะคะ

คนที่โตมาในคลองบางหลวงคือแม่พลอย  เพราะเจ้าคุณพ่อของเธอมีบ้านอยู่ในคลองบางหลวงค่ะ


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 16 ต.ค. 17, 11:16
8.) พอคุณนุ้ยมาขอแม่พลอย เจ้าคุณว่าฉันไม่ขัดข้อง
แต่ต้องแล้วแต่เสด็จเพราะแม่แช่มถวายตัวพลอยแล้ว
 
เปรียบเทียบกับกรณีนางข้าหลวงคนหนึ่ง ทูลลาออกมา
ดูแลบิดาป่วยชราที่บ้าน ก็ต้องให้เสด็จเจ้านายทรงอนุญาต
ใช่ไหมครับ นั่นคือเจ้าคุณจะไม่ทูลว่าเกล้ากระหม่อมขอ
ลูกสาวกลับเพื่อรับขันหมาก

9.) สมัย ร 5 มีการเรียกสินสอด ระบุจำนวนหรือยังครับ
เช่น ทองสิบบาท เงินร้อยบาท

10.) ชีวิตในวังสมัยนั้น โอกาสที่สาวชาววังอยู่เป็นโสด
มากแค่ไหนครับ เพราะถึงแม้เป็นสาวสวย แต่โอกาส
ไปปิ๊งกับหนุ่มนอกกำแพงวังจำกัดเหลือเกิน
หรือว่าใช้บริการแมวมอง แม่สื่อแม่ช้กครับ


นึกถึงสาวมุสลิมบางนิกายคลุมเสียมิดชิด หนุ่มๆ ชำเลืองยากแท้
แล้วจะไปเดทกันตอนไหน


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 17, 13:30
ตอบทีละข้อ
1) พอคุณนุ้ยมาขอแม่พลอย เจ้าคุณว่าฉันไม่ขัดข้อง
แต่ต้องแล้วแต่เสด็จเพราะแม่แช่มถวายตัวพลอยแล้ว
 
เปรียบเทียบกับกรณีนางข้าหลวงคนหนึ่ง ทูลลาออกมา
ดูแลบิดาป่วยชราที่บ้าน ก็ต้องให้เสด็จเจ้านายทรงอนุญาต
ใช่ไหมครับ นั่นคือเจ้าคุณจะไม่ทูลว่าเกล้ากระหม่อมขอ
ลูกสาวกลับเพื่อรับขันหมาก

นางข้าหลวง เป็น "คน" ของเจ้านาย   เทียบเหมือนข้าราชการในกรมก็ต้องขึ้นกับอธิบดีกรม       จะลาไปไหนก็ต้องทูลขอประทานอนุญาต  ไม่ว่าจะลากลับบ้าน ๒-๓ วันหรือลากลับไปอยู่บ้านถาวร
เมื่อคุณเปรมให้ผู้ใหญ่มาสู่ขอแม่พลอย     เจ้าคุณพ่อก็ต้องทูลขอประทานอนุญาตจากเสด็จ   ถ้าไม่ประทานก็จบกัน    ตามธรรมเนียมเสด็จก็ทรงถามความสมัครใจของข้าหลวง และทรงพิจารณาความเหมาะสมด้วย  ว่าผู้ชายคนนี้คู่ควรกับนางข้าหลวงของท่านหรือไม่
ต้องขยายความว่า  เจ้าคุณพ่อไม่มีสิทธิ์มาทูลถามเสด็จโดยตรง เพราะในเขตพระราชฐานชั้นในผู้ชายเข้าไม่ได้ค่ะ   
มารยาทในสมัยนั้น ต้องมีขั้นตอน  คือเจ้าคุณพ่อสั่งคุณเชย ลูกสาวที่อยู่บ้านพ่อให้มาเชิญคุณสายผู้เป็นแม่บ้านหรือเรียกว่าต้นตำหนักของเสด็จออกไปพบเจ้าคุณพ่อที่บ้าน   เพื่อให้คุณสายรับทราบแล้วนำความขึ้นกราบทูลเสด็จอีกครั้ง
ถ้าคุณเฮฮาหรือท่านอื่นเกิดสงสัยขึ้นมาว่า เสด็จสามารถที่จะไม่อนุญาตได้ไหม    คำตอบคือได้  ถ้าข้าหลวงดีอยู่ในโอวาทก็อยู่กับเสด็จต่อไป   แต่นางข้าหลวงนั้นจะดื้อรั้นดึงดันไปตามใจตัวเองได้ไหม  คำตอบคือได้อีกเหมือนกัน
เห็นได้จากแม่แช่มแม่ของพลอยตอนทูลลาออกไปเป็นเมียน้อยเจ้าคุณพ่อ  เสด็จก็ทรงทัดทานแต่เธอไม่ฟัง    เสด็จก็กริ้ว แต่ด้วยน้ำพระทัยดีก็ไม่ว่าอะไรมากกว่านั้น ยังประทานเงินให้เป็นสินส่วนตัวไปด้วยอีก 20 ชั่ง  เป็นต้นทุนหาเลี้ยงตัวเองเผื่อสามีไม่เลี้ยง
ก็ยังไม่เคยเจอกรณีที่ว่าเจ้านายห้ามเด็ดขาด ประเภทเฆี่ยนตีล่ามโซ่ ไม่ให้ออกไปไหนค่ะ


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 17, 13:36
9.) สมัย ร 5 มีการเรียกสินสอด ระบุจำนวนหรือยังครับ
เช่น ทองสิบบาท เงินร้อยบาท

มีค่ะ  ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะบอกมาเลยว่า จะมาเอาลูกสาวเขาไปเป็นภรรยา  ต้องยกสินสอดมาเท่าไหร่
ถ้าฝ่ายชายไม่รวย ก็เรียกเงินเป็นชั่ง  หรืออาจจะบวกกับทองอีกเล็กน้อย เช่นเงิน ๒๐ ชั่ง ทอง ๕ บาท   ทองสมัยนั้นถูกกว่าเดี๋ยวนี้มาก
แต่ถ้าเป็นเศรษฐี มีหน้ามีตากันทั้งสองฝ่าย      เขาเรียกกันเป็นหีบ  เช่น ทอง  ๒ หีบ  (หีบหนึ่งมีทอง ๕๐ บาท) เงิน ๑๐๐ ชั่ง
จึงมีสำนวนว่า สาวน้อยร้อยชั่ง  คือเป็นสาวที่ค่าตัวสูงมาก  หรือถ้าขนาดพันชั่ง เป็นแม่ทองพันชั่ง  ก็ยิ่งค่าตัวสูงมหาศาล


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 17, 13:47
10.) ชีวิตในวังสมัยนั้น โอกาสที่สาวชาววังอยู่เป็นโสด
มากแค่ไหนครับ เพราะถึงแม้เป็นสาวสวย แต่โอกาส
ไปปิ๊งกับหนุ่มนอกกำแพงวังจำกัดเหลือเกิน
หรือว่าใช้บริการแมวมอง แม่สื่อแม่ช้กครับ

นึกถึงสาวมุสลิมบางนิกายคลุมเสียมิดชิด หนุ่มๆ ชำเลืองยากแท้
แล้วจะไปเดทกันตอนไหน

ใครชอบชีวิตแต่งงาน ควรจะเดินทางผ่านเวลาย้อนกลับไป ๑๐๐ ปีก่อน  เพราะผู้หญิงสมัยนั้นโอกาสจะขึ้นคานน้อยมาก    สาวๆโกนจุกได้ไม่เท่าไหร่  พ่อแม่ก็เตรียมหาลูกเขยไว้ให้แล้ว      ส่วนใหญ่  ผู้ใหญ่กับผู้ใหญ่ก็ตกลงกันเอง ว่าใครเหมาะสมจะเป็นเขยฉัน ใครเหมาะจะเป็นสะใภ้ฉัน    แล้วเสาะหากัน   
ส่วนหนุ่มสาวมีหน้าที่เข้าหอ   บางคนก็เจอหน้าเจ้าบ่าวครั้งแรกในวันแต่งงาน
เรื่องเดทนั้น คนไทยไม่รู้จัก   มีธรรมเนียมว่าก่อนแต่งงาน หมั้นหมายกันแล้วห้ามเจอกันเด็ดขาด    เขากลัวชิงสุกก่อนห่าม 
อย่าเอาเรื่องพลายแก้วกับนางพิมเป็นตัวอย่างนะคะ    ขุนช้างขุนแผนในสมัยก่อนเป็นเรื่องประโลมโลก    ไม่ได้ขึ้นหิ้งเป็นวรรณคดีอย่างสมัยนี้


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 16 ต.ค. 17, 18:33
เรื่องการสมรสกับคุณข้าหลวงนี้  คุณอุทุมพร อมรดรุณารักษ์ (อุทุทพร  สุนทรเวช) ได้กรุณาเล่าถึงตัวท่านว่า

เมื่อท่านผู้เล่าอายุ ๙ ขวบ  คุณหญิงสงวน  ดำรงแพทยาคุณ (สงวน  วีระไวทยะ) ได้นำท่านผู้เล่าถวายตัวเป็นคุณข้าหลวงในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง
ถายหลังสมเด็จพระพันปีหลวงเสด็จสวรรคตแล้ว  คุณหญิงสงวนได้กราบถวายบังคมลานำธิดากลับมาอยู่ที่บ้าน  จนพนายพลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณ (ฮวด  วีระไวทยะ) ถึงอนิจกรรม
วันหนึ่งคุณหญิงสงวนไปทำธุระที่จังหวัดนครปฐมพร้อมกับคุณอุทุมพร  เผอิญท่านข้าราชการผู้ใหญ่ที่จังหวัดนครปฐมซึ่งเพิ่งตกพุ่มม่ายเพราะภรรยาเสียชีวิต  เกิดมาพบคุณหญิงสงวนและธิดา
และเกิดชอบพอคุณอุทุมพร  จึงส่งเถ้าแก่มาสู่ขอคุณอุทุมพรไปเป็นภรรยา  ข้างฝ่ายคุณหญิงสงวนก็ตอบตกลงไปแล้ว  คุณอุทุมพรจึงส่งข่าวโดยฝากจดหมายไปกับมหาดเล็กคนหนึ่งที่เป็นเพื่อนกับจมื่นอมรกรุณารักษ์
(แจ่ม  สุนทรเวช) ซึ่งเป็นคนรักให้ทราบ  เมื่อจมื่นอมรดรุณารักษ์ซึ่งเวลานั้นยังเป็นนายเล่ห์อาวุธได้ทราบข่าวก็ไม่สบายใจจนล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงสังเกตเห็น  และมีพระราชดำรัสถาม  นายเล่ห์อาวุธ (แจ่ม)
จึงกราบบังคมทูลให้ทราบตามความเป็นจริง  เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  วันหนึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้ท้าวอินทสุริยา (เชื้อ  พึ่งบุญ) พี่สาวเจ้าพระยารามราฆพ ซึ่งเป็นสหชาติร่วมปีพระราชสมภพ และ
เวลานั้นรับราชการเป็นพนักงานพระภูษาในพระองค์  ไปรับคุณหญิงสงวน ดำรงแพทยาคุณ มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท  จากนี้เป็นคำบอกเล่าของคุณอุทุมพร

"เมื่อกลับจากเฝ้าในวันนั้นคุณแม่เล่าทั้งน้ำตาว่า ในหลวงทรงอ้างสิทธิครอบครองในตัวดิฉัน  โดยคุณแม่ได้ถวายสมเด็จพระพันปีหลวงทรงชุบเลี้ยงมา  เมื่อสิ้นสมเด็จพระพันปีหลวงแล้ว  ดิฉันก็เป็นพระราชมรดกตกทอดที่เป็นคนของหลวง  เรียกว่า “ห้าม”  คุณแม่จึงหมดสิทธิ์ที่จะเอาไปยกให้ใครก็ได้  มีพระราชดำรัสว่า พวกห้ามนี้ถ้าใครอยากจะได้ก็ต้องทำหนังสือขอพระราชทาน  มีจานเงินจานทอง ๑ คู่  ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ๑ คู่  แล้วนำทูลเกล้าฯ ถวายเข้ามาตามลำดับ  ซึ่งเป็นประเพณีมาแต่โบราณ  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะพระราชทานเสมอไป  การที่จะพระราชทานหรือไม่นั้นย่อมสุดแต่พระบรมราชวินิจฉัย  ทั้งทรงอ้างสิทธิมนุษยชนที่ว่าบุคคลแม้จะเป็นใหญ่หรือบุพการีก็ตาม  ไม่ควรบังคับกดขี่น้ำใจใคร  มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ในตัวของตัวเองที่จะเลือกเคารพบูชาหรือรัก  สรรเสริญบุคคล  ชาติ  ลัทธิ  ศาสนาใดๆ ได้  จึงควรที่ผู้เจริญแล้วจะเข้าใจและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยกัน  เป็นอันว่าคุณแม่แพ้คดีถึงสองกระทง  แต่ล้นเกล้าฯ ก็ทรงมีพระมหากรุณาทรงปลอบคุณแม่ว่า  ขออย่าเสียใจและเข้าใจผิด  การครั้งนี้ท่านไม่ได้ทรงกระทำอย่างเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินที่ใช้พระราชอำนาจกดขี่ข่มเหงราษฎร  แต่ทรงสงสารที่ทั้งสองคนรักกันและทรงมีเหตุผลประกอบอันสมควร  จึงขอให้คุณแม่จงสบายใจว่าจะทรงรับเป็นเจ้าภาพฝ่ายชาย  และจะพระราชทานความช่วยเหลือทุกอย่างที่คุณแม่เดือดร้อน  ทรงรับรองว่าจะชุบเลี้ยงทั้งดิฉันและนายเล่ห์อาวุธไม่ให้ต้องอับอายไปในภายหน้า"

เมื่อนายเล่ห์อาวุธได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นนายจ่ารง  และคุณอุทุมพรเรียนจบพยาบาลแล้ว  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดการสมรสพระราชทานแก่ทั้งสองท่านนั้น


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 17 ต.ค. 17, 22:07
ขอบพระคุณครับ กระจ่างเแจ่มแจ้ง ผมมีคำถามอีกครับ
1) เสื้อชาววังแขนหมูแฮม มีสีอื่นไหมครับนอกจากสีขาว

2) หากผลัดแผ่นดิน เสด็จจะยังได้รับพระราชทานเงินเดือน
ไหมครับ แล้วสิทธิการประทับในวังหลวงหมดไปหรือไม่
เจ้านายชายทรงไปสร้างวังเอง เจ้านายหญิงที่โสดมีไป
อยู่วังส่วนตัวไหมครับ ไม่นับการไปประทับกับเจ้าพี่เจ้าน้องครับ

3) สมัยแม่พลอยลูกสาวแต่งออก เริ่มมาเปลี่ยนแปลงเมื่อใด
ด้วยปัจจุบันเห็นแต่งเขยเข้าบ้านครับ
ขอบคุณครับ


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 18 ต.ค. 17, 07:40
2) หากผลัดแผ่นดิน เสด็จจะยังได้รับพระราชทานเงินเดือน
ไหมครับ แล้วสิทธิการประทับในวังหลวงหมดไปหรือไม่
เจ้านายชายทรงไปสร้างวังเอง เจ้านายหญิงที่โสดมีไป
อยู่วังส่วนตัวไหมครับ ไม่นับการไปประทับกับเจ้าพี่เจ้าน้องครับ

เจ้านายโดยทั่วไปไม่มีรับเงินเดือนครับ  ได้รับพระราชทานแต่เงินปีสำหรับพระราชวงศ์  เป็นเงินส่วนพระมหากรุณาที่พระราชทานแก่เจ้านายลดหลั่นกันตามลำดับพระอิสริยยศ
เช่น พระราชชายา เจ้าดารารัศมี และพระนางเธอลักษมีลาวัณ ได้รับพระราชทานในฐานะพระมเหสีปีละ ๒๐,๐๐๐ บาท  ต่ำสุดคือหม่อมเจ้า เช่น หม่อมเจ้าพูนพืศมัย  ดิศกุล
ทรงเล่าว่าเมื่อทรงพระเยาว์ได้รับพระราชทานปีละ ๔๐ บาท เงินปีที่พระราชวงศ์ยังคงพระราชทานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

แต่เจ้านายบางพระองค์ที่ทรงรับราชการก็จะได้รับพระราชทานเงินเดือนตามตำแหน่ง เช่น สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เคยทรงรับราชการเป็นราชเลขานุกาิณีใน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงได้รับพระราชทานเงินเดือนๆ ละ ๑,๕๐๐ บาท  ถึงรัชกาลที่ ๖ ยังทรงถวายเงินเดือนนั้นต่อมาเป็นการถวายพระเกียรติยศพิเศษ  หรือกรณี
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  ก็ทรงได้รับเงินเดือนในตำแหน่งเสนาบดีเริ่มตั้งแต่เดือนละ ๒,๐๐๐ บาทเช่นเสนาบดีอื่นๆ
เมื่อทรงออกจากราชการก็ทรงได้รับพระราชทานบำนาญเช่นข้าราชการทั้วไป

สำหรับสิทธิประทับในวังนั้น  เจ้านายฝ่ายในคงประทับอยู่ในพระราชฐานชั้นในจนตลอดพระชน์ชีพ  ธรรมเนียมนี้เพิ่งมาเปลี่ยนแปงในรัชกาที่ ๕  ที่พระราชทานที่ดินริมคลองสามเสนฝั่งใต้
แก่พระราชธิดา  จึงมีพระองค์เจ้าลูกเธอหลายพระองค์ที่ได้รับพระราชทานที่ดินต่างก็กราบถวายบังคมลาออกไปสร้างวังที่ประทับส่วนพระองค์ในที่ดินพระราชทาน  แต่เจ้านายที่ไม่ได้รับ
พระราชทานที่ดินก็ยังคงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังมาตลอดพระชนม์ชีพ


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 18 ต.ค. 17, 11:02
ขอบพระคุณท่าน V_Mee ครับ

งั้นแปลว่าเสด็จทรงใช้เงินปีของพระองค์เลี้ยงดูพลอย
เห็นช้อยและพลอยไปจับจ่ายซื้อน้ำพริกไปฝากพี่เนื่อง
บางตำหนักในวังแอบมีของขายกระมัง?


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ต.ค. 17, 11:08
ขอบพระคุณครับ กระจ่างเแจ่มแจ้ง ผมมีคำถามอีกครับ
1) เสื้อชาววังแขนหมูแฮม มีสีอื่นไหมครับนอกจากสีขาว

ต้องเดา เพราะภาพถ่ายสมัยนั้นเป็นภาพขาวดำ ภาพสียังไม่เกิด    เลยไม่ทราบว่าแฟชั่นแขนหมูแฮมมีสีฟ้าสีชมพูหรือเปล่า
เดาว่าไม่มีค่ะ เป็นสีขาว แต่อาจหลากหลายเฉดขาวตามเนื้อผ้า เช่นขาวออกครีม สีนวล ฯลฯ
สังเกตจากพระรูปซ้าย  ขาวในภาพเป็นคนละขาวกัน


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ต.ค. 17, 11:11
3) สมัยแม่พลอยลูกสาวแต่งออก เริ่มมาเปลี่ยนแปลงเมื่อใด
ด้วยปัจจุบันเห็นแต่งเขยเข้าบ้านครับ
ขอบคุณครับ

ธรรมเนียมไทยแต่งเขยเข้าบ้าน  ส่วนธรรมเนียมจีนแต่งสะใภ้เข้าบ้านค่ะ
เห็นได้จากนางพิมแต่งงาน พลายแก้วก็เข้ามาอยู่ในเขตบ้านเจ้าสาว แต่เรือนหอปลูกใหม่

ถึงกระนั้น ธรรมเนียมไทยก็ไม่ตายตัวนัก เห็นได้จากพลอยก็เป็นเจ้าสาวที่ไปอยู่บ้านเจ้าบ่าว    ส่วนประไพแต่งงานแล้วปลูกเรือนอยู่ในเขตบ้านพ่อแม่    ขึ้นอยู่กับความสะดวกว่าฝ่ายไหนมีมากกว่ากัน


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ต.ค. 17, 11:17
ขอบพระคุณท่าน V_Mee ครับ

งั้นแปลว่าเสด็จทรงใช้เงินปีของพระองค์เลี้ยงดูพลอย
เห็นช้อยและพลอยไปจับจ่ายซื้อน้ำพริกไปฝากพี่เนื่อง
บางตำหนักในวังแอบมีของขายกระมัง?

ถ้าจำไม่ผิด พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงได้รับพระราชมรดกจากสมเด็จพระบรมราชชนกนะคะ  ข้อนี้รอคุณ V_Mee ยืนยันอีกที
ส่วนเรื่องจับจ่ายใช้สอย  ในเขตพระราชฐานชั้นในมีเรือนแถวเรียกว่าเต๊ง     เปิดคล้ายๆตลาด  มีของขายทั้งของกินของใช้  เจ้าของเต๊งแต่ละห้องคือพวกข้าราชการหญิงที่อยู่ฝ่ายใน    ทำงานด้วยและเปิดขายของด้วย   ทำได้เปิดเผยไม่ต้องแอบ
บางตำหนักเปิดขายของสวยๆงามๆ ก็มี
ชีวิตในเขตพระราชฐานชั้นใน เป็นชีวิตที่แยกไปจากโลกภายนอก     บรรดาเจ้านายสตรีและเจ้าจอมจะออกมาสู่โลกภายนอกได้ยาก   นางข้าหลวงและพนักงานออกมาได้แต่ต้องกลับเข้าวังก่อนหกโมงเย็น เพราะประตูวังปิด    จะมาเข้านอกออกในสี่ทุ่มห้าทุ่มตามใจชอบไม่ได้
ดังนั้นการดำเนินชีวิตในเขตพระราชฐานชั้นใน จึงมีของกินของใช้ของตัวเอง    ไม่ต้องพึ่งพิงโลกภายนอกเกินจำเป็น


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 18 ต.ค. 17, 17:46
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย  ดิศกุล ทรงกล่าวถึงเบี้ยหวัดเงินปีพระราชวงศ์นี้ไว้ใน “เรื่องพระคลัง” ในพระราชวงศ์จักรีว่า

“เงินปีเบี้ยหวัดของเจ้าต่อไป  ทุกคนเกิดมาพอรู้ว่าอยู่ไม่ตายและได้พระราชทานชื่อแล้ว  ก็ได้พระราชทานเบี้ยหวัด คือเงินประจำปีตามตำแหน่งยศ  หรือที่ทรงกะพระราชทานเป็นพิเศษ  เป็นการชุบเลี้ยงพระราชวงษ์ซึ่งทรงเป็นประมุข  ผู้ใดเกิดก่อนก็สะสมไว้ได้มากตามเวลา  หรือสิ้นพระชนม์ซับซ้อนมรดกตกต่อกันลงมาเป็นชั้นๆ  ก็เรียกว่ามั่งมี  มีที่ทางต่อออกมาก็เพราะรับจำนำหลุดหรือเป็นของได้มรดก,  หรือพระราชทาน  พูดตามงบประมาณอันเป็นส่วนมาก  ไม่ใช่พวกพิเศษอันมีจำนวนน้อยกว่าแล้ว  ก็เป็นดังนี้
   พระราชทานพระราชโอรส      ปีละ   ๑๒,๐๐๐  บาท
   “              “     ธิดา             “     ๖,๐๐๐  บาท
   “        พระเจ้าพี่และน้องเธอ             “     ๔,๘๐๐  บาท
        “         พระเจ้าหลานเธอ        “       ๒,๔๐๐  บาท

   เจ้านายเหล่านี้ทรงรับเป็นงวด  คือ ๓ เดือนครั้งหนึ่ง  เรียกว่าเงินงวด  ส่วนชั้นหม่อมเจ้าต่างวังทุกรัชกาลนั้นมีเปนจำนวนมาก  จึงพระราชทานได้เพียงแต่ให้รู้สึกว่าตัวเป็นพระญาติที่ทรงชุบเลี้ยงอยู่คือได้รับเมื่อเป็นเด็ก ปีละ ๒๐ บาท  และพอโกนจุกแล้ว  ขึ้นเป็นปีละ ๔๐ บาท เท่านั้นเอง  แต่ถ้าประพฤติตัวดีมีความชอบอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ขึ้นพระราชทาน  และอย่างเดียวกัน  ถ้าทำผิดก็ถูกตัดหรือหยุดพักชั่วคราว  เจ้าหญิงที่หนีไปมีผัวเป็นไพร่สกปรก  ก็ยังได้พระราชทานปีละ ๖ บาท  จนมีคำเรียกกันว่า “เจ้า ๖ บาท” ในสมัยก่อนนี้

   รัฐบาลออกเงินเลี้ยงเจ้าเพียง ๘ พระองค์ดังนี้
๑.   สมเด็จพระบรมราชินีนารถ (เพราะได้ทรงสำเร็จราชการเป็น Regent มา) ปีละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท
๒.   สมเด็จพระบรมฯ ปีละ ๓๐๐,๐๐๐ บาท

เจ้าฟ้าพระองค์ชายอีก ๖ พระองค์ๆ ละ ๔๐,๐๐๐ บาทต่อหนึ่งปี  และทุกพระองค์นี้มีพระชนม์เกินอยู่พระชันษา ๕๐ ปี  แต่ทูลกระหม่อมบริพัตร์พระองค์เดียว...”  
(เจ้าฟ้าชาย ๖ พระองค์นั้นมีพระนามเรียงตามพระชันษา  ดังนี้  
๑.   สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต)
๒.   สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ  กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ)
๓.   สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกX
๔.   สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมขุยนครราชสีมา (สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา)
๕.   สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย)
๖.      สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 18 ต.ค. 17, 18:34
ด้วยความขอบพระคุณยิ่ง แต่ท่าน V_Mee ครับ

เช่นนั้น เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร ก็ทรงได้รับ 12,000 บาท
เท่าพระองค์ชาย (หาใช่สี่หมื่นบาท) น่ะสิครับ

ส่วนเสด็จของพลอย ทรงได้รับพระราชทาน 4,800 บาท


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ต.ค. 17, 18:44
สมเด็จเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร  กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นโทค่ะ   เรียกว่าสมเด็จชาย  ไม่ใช่เจ้าฟ้าชั้นทูลกระหม่อมอย่าง ๖ พระองค์ข้างบนนี้


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 ต.ค. 17, 18:56
ขอบพระคุณครับ กระจ่างเแจ่มแจ้ง ผมมีคำถามอีกครับ
1) เสื้อชาววังแขนหมูแฮม มีสีอื่นไหมครับนอกจากสีขาว

ต้องเดา เพราะภาพถ่ายสมัยนั้นเป็นภาพขาวดำ ภาพสียังไม่เกิด    เลยไม่ทราบว่าแฟชั่นแขนหมูแฮมมีสีฟ้าสีชมพูหรือเปล่า
เดาว่าไม่มีค่ะ เป็นสีขาว แต่อาจหลากหลายเฉดขาวตามเนื้อผ้า เช่นขาวออกครีม สีนวล ฯลฯ
สังเกตจากพระรูปซ้าย  ขาวในภาพเป็นคนละขาวกัน

ใส่แต่สีขาวคงเบื่อแย่เลยครับ ที่จริงแล้วแฟชั่นแขนหมูแฮมใช้ผ้าต่างประเทศมีสี ทั้งฟ้า และส้ม ส่วนที่แนบมาเป็นโมเสกพระสาทิศลักษณ์สมเด็จพระพันปีหลวงติดตั้งไว้ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงแขนหมูแฮมสีฟ้า


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 18 ต.ค. 17, 19:05
ขอบพระคุณครับอาจารย์

สำหรับพระศรีสวรินทราและเจ้าจอมหม่อมห้าม
ไม่อยู่ในรายการข้างบน ในหลวงคงทรงใช้เงิน
พระคลังข้างที่พระราชทาน

ก่อนหน้านี้ ผมเคยสงสัยว่าเจ้าฟ้าลูกควีนและ
พระองค์เจ้ามีความแตกต่างกันบ้างไหม รายการ
ข้างบนตอบปัญหาผมแล้วครับ


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ต.ค. 17, 19:22

ใส่แต่สีขาวคงเบื่อแย่เลยครับ ที่จริงแล้วแฟชั่นแขนหมูแฮมใช้ผ้าต่างประเทศมีสี ทั้งฟ้า และส้ม ส่วนที่แนบมาเป็นโมเสกพระสาทิศลักษณ์สมเด็จพระพันปีหลวงติดตั้งไว้ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงแขนหมูแฮมสีฟ้า

มาได้จังหวะพอดี  ขอบคุณค่ะ
ความรู้ใหม่นะเนี่ย


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 19 ต.ค. 17, 07:26
ละครไปเร็วมาก ต้องรีบถามไว้ก่อน

ปลายสมัย ร 7 เงินท้องพระคลังพร่องมาก
ต้องดุลข้าราชการออก เงินปีของพระบรมวงศานุวงศ์
ได้รับผลระทบบ้างไหมครับ


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 19 ต.ค. 17, 08:39
ในสมัยปฏิรูปการปกครองมาจนถึงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น  เงินท้องพระคลังแบ่งเป็นสองส่วน คือ เงินงบประมาณแผ่นดิน คือ เงินที่ใช้จ่ายในราชการแผ่นดิน
กับเงินส่วนพระคลังข้างที่ที่รัฐบาลจัดถวายพระมหากษัตริย์เป็นรายปี  ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เริ่มจากปีละ ๖ ล้านบาทแล้วเพิ่มมาเรื่อยจนถึงปีละ ๙.๕ ล้านบาทในปีที่สวรรคต
สมัยรัชกาลที่ ๖ ก็เริ่มปีละ ๖ ล้านบาท  และเพิ่มมาเป็นลำดับจนถึงปีละ ๙ ล้านบาทในปีสวรรคต  ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ก็เริ่มที่ ๗ ล้านบาทเหมือนกัน

ที่ว่าเงินในท้องพระคลังพร่องมากเกิดมาจากในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีสงครามในยุโรป ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๗ - ๒๔๖๑  และในระหว่างนั้นสัมปทานขุดคลองรังสิตของบริษัทคูน้ำสยามหมดลงในสิ้นปี ๒๔๕๗
รัฐบาลจึงมีโครงการที่จะพัฒนาระบบชลประทานในลุ่มเจ้าพระยา  มีการขุดคลองชัยนาท - ป่าสัก และเขื่อนพระราม ๖ เพื่อทดน้ำเข้าสู่ลุ่มน้ำป่าสักและทุ่งรังสิต  ในการลงุนนี้ประเมินว่าจะต้องใช้เงินราว ๑๑ ล้านบาท
แต่ไม่สามารถกู้เงินจากต่างประเทศมาดำเนินโครงการนี้ได้  ในขณะเดียวกันการสร้างทางรถไฟสายเหนือจากลำปางไปเชียงใหม่ก็เริ่มดำเนินการไปแล้ว  เริ่มขุดอุโมงค์ขุนตาลไปแล้ว  จึงเกิดปัญหาขึ้นว่า
จะเอาเงินที่ไหนมาทำโครงการทั้งสอง  ทางฝ่ายกระทรวงเกษตราธิการก็อ้างความจำเป็นในการพัฒนาระบบชลประทาน  ข้างฝ่ายกระทรวงคมนาคมก็เสียดายเงินที่ลงทุนไปแล้ว  ถ้าหยุดก็จะเสียเงินเปล่า
ในที่สุดรัชกาลที่ ๖ ทรงตัดสินพระทัยให้ดำเนินโครงการทั้งสองไปพร้อมกันโดยใช้เงินคงพระคลัง  ซึ่งเป็นเงินเงินงบประมาณเหลือจ่ายในแต่ละปีแล้วกระทรวงพระคลังสะสมไว้เป็นทุนสำรองของชาติ

อนึ่ง ใน พ.ศ. ๒๔๕๘ โปรดให้เลิกการพนันหวย กข. ทำให้รัฐสูญรายได้จากอากรการพนันไปกว่าปีละ ๗ ล้านบาท  และในระหว่างที่โครงการทั้งสองกำลังดำเนินการก่อสร้าง  เกิดน้ำท่วมใหญ่ปีมะเส็ง
ใน พ.ศ. ๒๔๖๐ (แบบเดียวกับน้ำท่วมปี ๒๕๕๔) ทำให้ผลผลิตข้าวไม่ได้ผลต้องจำกัดการ่งออกข้าวไว้บริโภคภายในประเทศ  ประกอบกับใน พ.ศ. ๒๔๖๒ เกิดวิหฤตค่าเงินสเตอริงค์ในตลาดยุโรป 
ทำให้ค่าเงินบาทซึ่งผูกไว้กับเงินปอนด์ได้รับผลกระทบ เพื่อรักษาค่าเงินบาทมิให้ผันผวนตามค่าเงินปอนด์ของอังกฤษ  รัฐบาลจึงตรึงค่าเงินบาทไว้ที่ ๑๓  บาท/ปอนด์เพื่อรักษาตลาดส่งออก
ทำให้เงินทุนสำรองได้รับความเสียหา เหมือนวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐  ในการแก้ปัญหานี้โปรดให้รัฐบาลกู้เงินจากตลาดเงินในยุโรป๒ ครั้งรวม ๕ ล้านปอนด์  โดยใช้ความมั่นคงของกรุงสยาม
เป็นหลักประกัน  (เป็นครั้งแรกที่สยามกู้เงินจากต่างประเทศโดยไม่ต้องเสียดินแดนหรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ) จากเหตุนี้เองที่ทำให้ชาวต่างประเทศที่ปรึกษาการคลังออกปากว่า รัชกาลที่ ๖ จะนำประเทศสยาม
ไปสู่ความหายนะทางการเงิน  จากนั้นจึงกล่าวกันติดปากว่ารัชกาลที่ ๖ ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่วิกฤต

แต่ผลของการดำเนินพระบรมวิเทโศบายดังกล่าวมาเริ่มปรากฏผลใน พ.ศ. ๒๔๖๕  หลังจากที่เปิดการเดินรถไฟสายเหนือไปถึงเชียงใหม่ในตอนปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๔  ทำให้มณฑลพายัพซึ่งแต่เดิมเป็นท้องที่
ที่ขาดแคลนข้าว  ต้องขนข้าวจากมณฑลอื่นๆ ขึ้นไปบรรเทาความอดอยากเป็นประจำ  กลับมีการผลิตข้าวจนสามารถส่งลงมาขายในตลาดกรุงเทพฯ  และเมื่อโครงการชลประทานลุ่มเจ้าพระยาแล้วเสร็จใน
พ.ศ. ๒๔๖๖  ทำให้ผลผลิตข้าวโดยรวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก  นอกจากนั้นจากการที่รัฐบาลสามารถตกลงแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐอเมริกาได้เป็นผลสำเร็จใน พ.ศ. ๒๔๖๔
จึงทำให้นับแต่ปี ๒๔๖๕  รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษาจากพ่อค้าอเมริกันได้มากกว่าร้อยชักสาม  มาเป็นถัวเฉลี่ยที่ร้อยละ ๘ และเมื่อแก้ไขสนธิสัญญากับประเทศอื่นจนครบใน พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว 
ภาษีร้อยชักสามจึงเป็นอันหมดไป  รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นเป็นถัวเฉลี่ยที่ร้อยละ ๘ เหมือนกันหมด  จึงส่งผลให้งบประมาณแผ่นดินที่ต้องขาดดุลมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๘  กลับมาเริ่มเกินดุล
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๖  และปรากฏในรายงานของกระทรวงพระคลังใน พ.ศ. ๒๔๗๓ ว่า รัฐบาลมีเงินุงพระคลังที่กันไว้เป็นเงินทุนสำรองเพื่อการชำระหนี้เงินกู้จากต่างประเทศกว่า ๓๐ ล้านบาท  กับมีเงินใน
ส่วนเงินคงพระคลังอีกกว่า ๒๐ ล้านบาท นี่จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า ในตอนปลายสมัยรัชกาลที่ ๖ มิใช้ทรงใช้จ่ายเงินจนเกิดเหตุวิกฤตทางเศรษฐกิจ  หากแต่เป็นการลงทุนเพื่อสร้างกำไรในอนาคตตามหลัก
เศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นของใหม่มากในยุคนั้น
   
ในส่วนเงินที่รัฐบาลจัดถวายนั้น  เนื่องมาจากตอนต้นรัชกาลที่ ๖ เดสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติขอให้ทรงแยกรายจ่ายส่วนพระองค์ออกจากรายจ่ายแผ่นดิน  เมื่อทรงยอมรายจ่ายทุกอย่างในพระราชสำนัก
จึงยกมารวมอยู่ในเงินที่รัฐบาลจัดถวาย เช่น เงินปีพระราชวงศ์ดังได้กล่าวไว้ในความเห็นข้างบน  ค่าใช้จ่ายในกรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร. ซึ่งเป็นหน่วยทหารสังกัดกระทรวงวัง  (ทหารรักษาวังนี้มีนักวิชาการบางคน
บอกว่าเป็นกองกำลังค้ำจุนราชบัลลังก์  แต่ในข้อเท็จจริงสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก เคยกล่าวไว้ว่า กำลังกองทัพสยามที่จัดเป็น ๑๐ กองพลทั่วประเทศในเวลานั้น มีแต่โครง
ถ้าเรียกกำลังพลทั้งหมดมารวมกันจริงๆ สามารถจัดเป็นกองพลเต็มตามอัตราได้เพียง ๒ กองพลครึ่ง) กรมทหารรักษาวังจึงเป็นหน่วยที่ตั้งขึ้นเพิ่อเสริมกำลังทหารโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์  และเมื่อสมเด็จ
เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถเสด็จตรวจราชการทหารมณฑลพายัพใน พ.ศ. ๒๔๕๘  เมื่อเสด็จกลับลงมาได้กราบบังคมทูลให้ทราบว่า การศึกษาของไทยในมณฑลภาคพายัพสู้โรงเรียนของมิชชันนารี
ไม่ได้  รัชกาลที่ ๖ จึงโปรดให้สร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นที่ห้วยแก้ว เชิงดอยสุเทพ เป็นโรงเรียนที่มีครูส่วนหนึ่งจบการศึกษาจากต่างประเทศ  จึงสามารถแข่งกับโรงเรียนของมิชชันนารีได้  และราชการอื่นๆ
อีกหลายส่วนที่ยกมาไว้เป็นราชการในพระราชสำนัก  ทำให้ในตอนปลายรัชกาลรายจ่ายในพระราชสำนักประสบเหตุวิกฤตต้องมีการตรวจตัดรายจ่ายลงเพื่อให้รายจ่ายกลับสู่สมดุล

แต่เมื่อรัชกาลที่ ๗ ขึ้นครองราชย์นั้น  โปรดให้ปรับลดเงินที่รัฐบาลจัดถวายปีละ ๙ ล้านบาทในรัชกาลก่อนเหลือเพียงปีละ ๖ ล้านบาท  จึงทำให้ต้องปรับลดส่วนราชการในพระราชสำนักลงจำนวนมาก  แต่
รายจ่ายในส่วนพระองค์ เช่น เงินปีพระราชวงศ์มิได้ลดลง  ด้วยเหตุนี้จึงข้าราชการในพระราชสำนักจำนวนมากต้องถูกดุลยภาพออกรับพระราชทานบำเหน็จบำนาญเพราะยุบเลิกตำแหน่งราชการ 
ในขณะเดียวกันในส่วนราชการกระทรวงพลเรือนอื่นๆ ก็มีการดุลย์ข้าราชการออกไปบางส่วนตามนโยบายของรัฐบาล  ทำให้เสนาบดีที่มีเงินเดือนมากต้องพ้นจากตำแหน่งไปหลายคน

อนึ่ง ที่กล่าวกันว่า เศรษฐกิจไทยในตอนปลายรัชกาลที่ ๖ ต่อต้นรัชกาล ๗ ตกต่นั้น  แต่มีที่สน่าสังเกตว่า เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกใน พ.ศ. ๒๔๗๓ ที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทพังครืน  ใบหุ้นกลายเป็น
เศษกระดาษ  แต่เศรษฐกิจไทยกลับไม่ได้รับผลกระทบ  แถมยังมีอัตราเติบโตที่สูงมาก 




กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 19 ต.ค. 17, 19:33
เตรียมจันอับไว้ให้แล้วค่ะ   เอาชาจีนมาอย่างเดียวพอ

จันอับที่แท้จริงคือแท่นโต๊ะไม้แกะสลักสวยงามชิ้นนี้ เรียกว่า จิ้๊นอั๊บ ซึ่งใส่ขนมหวานประเภทต่างๆเพื่อบูชา ซึ่งขนมเหล่านี้เรียกว่า แต้เหลียว มีหลากหลายรูปแบบ และบ้านเราก็เรียกบรรดาของเหล่านี้ว่า จันอับ ไปโดยปริยาย


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: azante ที่ 19 ต.ค. 17, 21:22
แม่พลอย นับว่าโชคดี อย่างหนึ่งตามภาษาชาวบ้านที่ว่า ไม่มีพ่อผัวแม่ผัว มาให้ต้องกังวลหรือ หนักใจ
แต่ก่อนแต่งงานกับคุณเปรม แม่พลอยคงสับสนเล็กน้อย เมื่อตอนล่องเรือขนมจีน คุณสายเล่าเรื่องครอบครัวคุณเปรม
เต็มปากว่ารู้จักดี ทั้งคุณหญิงแม่ คุณอาทั้งสอง ยังบอกว่าคุณเปรมเป็นลูกคนเดัยว คุณหญิงตายไปแล้ว สองสามปี เจ้าคุณพ่อจะมีเล็กๆน้อยๆอีกมั้ย
ไม่แน่ใจ แสดงว่าเจ้าคุณพ่อคุณเปรมยังมีชีวิตอยู่

แต่หลังจากคุณนุ้ยมาขอแม่พลอย และมีการเตรียมงานแต่งงาน แม่พลอยสนิทสนมกับคุณนุ้ยมากขึ้น ถึงได้ทราบว่า คุณพ่อคุณแม่คุณเปรมเสียไปหมดแล้ว
คุณเปรมมีน้องอีก 2 คน คุณเปรื่อง คุณปรุง แต่ไม่ได้มาอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกัน  ในนิยายก็ไม่ได้กล่าวถึง สองคนนี้เลย นับว่าไม่มีพี่น้องของคุณเปรมมา
เกี่ยวข้องกับแม่พลอย 

สรุปว่าคุณสายรู้จักครอบครัวคุณเปรมดีจริงหรือ



กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ต.ค. 17, 10:07
ก็คงจะมีความสับสนเล็กๆน้อยๆ ละค่ะ   แบบเดียวกับอายุแม่พลอยและลูกๆ เทียบกับเหตุการณ์ในแผ่นดิน

น้องชายและน้องสาวของคุณเปรม เป็นตัวละครที่ใส่มาเฉยๆ ไม่มีบทบาท     ถ้าถามว่าใส่มาทำไม ก็เดาว่าคงเป็นน้ำหนักให้การค้าขายที่นำความร่ำรวยมาให้คุณเปรม   เพราะบอกว่าน้องชายไม่ได้รับราชการ  พี่ชายให้ดูแลการค้าของพี่ชาย  ส่วนน้องสาวแต่งงานแยกบ้านไปอยู่กับสามี แล้วไม่เคยกลับมาเยี่ยมบ้านอีกเลย   เป็นตายร้ายดีอย่างไร ท่านผู้ประพันธ์ไม่ได้บอกไว้

ร้านค้าหรือห้างของคุณเปรมน่าจะเทียบได้กับบริษัทอิมพอร์ตเอกซพอร์ตในยุคนี้  เพราะมีการสั่งจักรยานจากยุโรปเข้ามาขาย   เมื่อสั่งสินค้าเข้ามาก็น่าจะส่งสินค้าของไทยออกไปด้วย     รายได้ดีขนาดเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1   ทางห้างก็ยังขายของได้กำไรดี ไม่กระทบกระเทือน
ทั้งหมดนี้เป็นฝีมือคุณเปรื่องน้องชายคุณเปรม   น่าเสียดายไม่มีบทบาท   ตายไปเมื่อไหร่ก็ไม่ได้บอกไว้ 

คุณสายรู้จักพ่อแม่คุณเปรมอย่างผิวเผินผ่านทางคุณนุ้ยและคุณเนียนซึ่งเป็นสาวชาววังยุคเดียวกัน     แต่คงไม่เคยไปมาหาสู่   เลยไม่รู้ว่าคุณเปรมแอบมีลูกเมียซุกซ่อนอยู่ในบ้าน


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 20 ต.ค. 17, 16:08
ในที่สุดก็ได้ทราบสาเหตุที่เงินในท้องพระคลังพร่องเมื่อถึงรัชสมัย ร 7
ขอบพระคุณครับ

เมื่อเสด็จสิ้นพระชนม์ ถ้านางข้าหลวงหมดที่พึ่งพิง
สามารถถวายตัวที่ตำหนักอื่นได้ไหมครับ

หมดแผ่นดินที่ 1 เศร้าสร้อยหดหู่เสียเหลือเกิน
เหมือนใบไม้ค่อยๆ ร่วง ทีละใบสองใบ




กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 ต.ค. 17, 18:35
เมื่อเสด็จสิ้นพระชนม์ ถ้านางข้าหลวงหมดที่พึ่งพิง
สามารถถวายตัวที่ตำหนักอื่นได้ไหมครับ

ต้องดูครับว่า เสด็จทรงมีพระโอรสพระธิดาหรือไม่  ถ้ามีนางข้าหลวงนั้นก็จะตกเป็นคนมรดกของพระโอรสหรือพระธิดาของเสด็จ
ถ่าเสด็จไม่ทรงมีพระโอรสพระธิดา  นางข้าหลวงก็ย่อมตกเป็นคนหลวง  เหมือนกรณีคุณอุทุมพร อมรดรุณารักษ์ที่เคยถวายตัวเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระพันปีหลวง

เรื่องข้าสองเจ้าบ่าวสองนายนี้โบราณท่านถือกันครับ


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 21 ต.ค. 17, 14:00
ผมนึกชื่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หนึ่งใน 10 ชื่อแรกๆ ไม่ออก
ที่ท่านไม่ยอมเป็นข้าสองเจ้า บ่าวสองนายหลังสิ้นแผ่นดินที่ 6
ถึงกับบวชตลอดชีพ

สมัย ร 6 ทรงผมและเครื่องแต่งกายของชาววังนำสมัยขึ้น
อยากทราบว่าผมทรงมหาดไทยและนุ่งโจงในกำแพงวัง
หมดสิ้นไหมครับ


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ต.ค. 17, 18:17

สมัย ร 6 ทรงผมและเครื่องแต่งกายของชาววังนำสมัยขึ้น
อยากทราบว่าผมทรงมหาดไทยและนุ่งโจงในกำแพงวัง
หมดสิ้นไหมครับ

โจงกระเบนในภาพฝ่ายหน้ายังถือธรรมเนียมนุ่งและนิยมกันอยู่ปะปนกับกางเกง ส่วนสุภาพสตรีฝ่ายในรุ่นเด็ก รุ่นสาวต่างพากันหันมานุ่งผ้านุ่งกันเกือบหมด และส่วนสตรีสูงวัยยังคงนุ่งโจงกระเบนกัน แต่ในระดับชาวบ้านสามัญนั้นยังคงนุ่งโจงกระเบนกันอยู่


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 21 ต.ค. 17, 18:48
ผมนึกชื่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หนึ่งใน 10 ชื่อแรกๆ ไม่ออก
ที่ท่านไม่ยอมเป็นข้าสองเจ้า บ่าวสองนายหลังสิ้นแผ่นดินที่ 6
ถึงกับบวชตลอดชีพ

ผมขอเดาว่า น่าจะใช่
ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิตฯ (ธมฺมวิตกฺโกภิกฺขุ) หรือ พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์) (https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%95_(%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B6%E0%B8%81_%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C))
กระมังครับ


เครดิต : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี



กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ต.ค. 17, 19:19
ใช่ค่ะ พระภิกษุพระยานรรัตนฯ


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 23 ต.ค. 17, 07:37
ข้าราชบริพารในรัชกาลที่ ๖ ที่บวชถวายพระราชกุศลตลอดชีพมี ๒ ท่านคือ
ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ (ภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต - ตรึก จินตยานนท์) วัดเทพศิรินทราวาส  ท่านผู้นี้เป็นจางวางมหาดเล็กห้องพระบรรทม  เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพได้บวชถวายพระราชกุศล (บวชหน้าไฟ) ตามประเพณี  แล้วเลยดำรงเพศสมณะจนมรณภาพ

อีกรูปคือ พระครูมงตลญาณสุนทร (ผ่อง  จินดา) วัดจักรวรรดิราชาวาส  รูปนี้เป็นข้าราชการกรมราชเลขาธิการ  ได้กราบถวายบังคมลาอุปสมบทใน พ.ศ. ๒๔๖๘  รัชกาลที่ ๖ ทรงรับเป็นอุปัฏฐากในการอุปสมบท  ออกพรรษาแล้วยังมิทันลาสิกขา  ก็พอดีล้นเกล้าฯ เสด็จสวรรคต  จึงดำรงเพศบรรพชิตต่อมาจนมรณภาพ  กล่าวกันว่าพระครูมงคลญาณสุนทรนี้เป็นผู้เสกน้ำระพุทธมนต์ถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทุกครั้งเวลาจะเสด็จไปหรือเสด็จกลับจากต่างประเทศ


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 23 ต.ค. 17, 12:33
ขอบคุณครับ

1) มีใครพอทราบบ้างครับว่าหนังสือเกิดวังปารุสก์
วางแผงครั้งแรกเมื่อไร สี่แผ่นดินตีพิมพ์ราว 2494
อากัปกิริยาที่คุณเปรมไม่พอใจสะใภ้แหม่ม ถอดแบบ
มาจากตอนที่พระองค์จุลฯ ทรงบรรยายว่าพระพุทธเจ้าหลวง
ทรงไม่ใคร่พอพระทัยที่สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงสมรส
หญิงต่างชาติ ชื่นชมครับที่ มรว คึกฤทธิ์ เก็บรายละเอียดได้ครบ

2) ไม่มีหนังสือใกล้มือครับ อยากกลับไปอ่านอารัมภกถา
กำเนิดวังปารุสก์ว่าพระองค์จุลฯ ทรงนิพนธ์ต้นฉบับเรื่องนี้
เป็นภาษาไทยหรือเทศ พระองค์จากบ้านไปตั้งแต่พระชันษา 13
ภาษาไทยอาจไม่แข็งแรงพอที่จะถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึก
ได้ลึกซึ้งดังพระนิพนธ์

3)  ข้อนี้ไม่มีสาระนัก ผมแค่อยากทราบว่านักเรียนนอก
ยุคแผ่นดินที่ 6 มีใครศึกษาอักษรศาสตร์เหมือนอ๊อดบ้างไหมครับ
นอกจากคณะยอดนิยม เช่น การทหาร กฏหมาย และการแพทย์


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ต.ค. 17, 12:54
ขอบคุณครับ

1) มีใครพอทราบบ้างครับว่าหนังสือเกิดวังปารุสก์
วางแผงครั้งแรกเมื่อไร สี่แผ่นดินตีพิมพ์ราว 2494
อากัปกิริยาที่คุณเปรมไม่พอใจสะใภ้แหม่ม
ถอดแบบมาจากตอนที่พระองค์จุลฯ ทรงบรรยายว่า
พระพุทธเจ้าหลวงทรง ไม่ใคร่พอพระทัยที่สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ
ทรงสมรสหญิงต่างชาติ ชื่นชมครับที่ มรว คึกฤทธิ์
เก็บรายละเอียดได้ครบ

เอามาจากวิกิ ค่ะ
ในการพิมพ์ครั้งที่ 1 ประกอบด้วย
เล่ม 1 สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พิมพ์ครั้งที่ 1 สนพ.อุดม พ.ศ. 2493
เล่ม 2 สมัยประชาธิปไตย พิมพ์ครั้งที่ 1 สนพ.อุดม พ.ศ. 2494
เล่ม 3 สมัยยุทธภัย พิมพ์ครั้งที่ 1 สนพ.อุดม พ.ศ. 2496
เล่ม 4 ภาคผนวก อักษรานุกรม ของ เกิดวังปารุสก์เล่ม 1 สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ต.ค. 17, 12:58
ขอบคุณครับ

3)  ข้อนี้ไม่มีสาระนัก ผมแค่อยากทราบว่านักเรียนนอก
ยุคแผ่นดินที่ 6 มีใครศึกษาอักษรศาสตร์เหมือนอ๊อดบ้างไหมครับ
นอกจากคณะยอดนิยม เช่น การทหาร กฏหมาย และการแพทย์
ม.ล.ปิ่น มาลากุล ค่ะ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ได้รับทุนของกระทรวงธรรมการ  ท่านจึงได้ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ เข้าเรียนที่ The School of Oriental and African Studies, University of London (SOAS) ได้รับประกาศนียบัตรวิชาภาษาและวรรณคดีบาลีและสันสกฤต แล้วได้ย้ายไปศึกษาต่อที่ Faculty of Oriental Studies สถาบันตะวันออกของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด  ได้ปริญญาตรี (B.A.) เกียรตินิยมสาขาบูรพคดีศึกษา (Oriental Studies) วิชาเอกภาษาบาลีและสันสกฤต ในปี พ.ศ. 2471
ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทจนสำเร็จการศึกษา ได้รับปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (M.A.) ระหว่างที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ท่านสังกัดวิทยาลัยบเร๊สโนส (Brasenose College)


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 24 ต.ค. 17, 22:30
ขอบพระคุณท่านอาจารย์ครับ

ผมมีคำถามสำหรับวันนี้ นิดหน่อยครับ

1) ตอน ร.7 เสด็จยุโรปปี 2476 ข้าราชบริพารส่งเสด็จ
ที่ตำหนักแพ (ผมเข้าใจว่าเพื่อไปทรงรถไฟที่หัวลำโพงเสด็จ
สิงคโปร์) สมัยนั้นรถยนต์พระที่นั่งก็มีแล้ว ออกถนนเจริญกรุง
ก็ถึงหัวลำโพง ซี่งสะดวกกว่าทางเรือมาก เป็นธรรมเนียม
รึเปล่าครับที่ต้องเสด็จทางเรือ

2) หลัง พ.ศ. 2475 รัฐบาลกล้าหักหาญนำวังบางแห่ง
เช่น พระที่นั่งนงคราญสโมสร มาใช้เหรอครับ

3) ในริ้วขบวน ผมเห็นมีฉัตรสีทอง 5 ชั้น และ ฉัตรสีโอรส
7 ชั้น เคยทราบว่า 7 ชั้นสำหรับอุปราช แต่ตรงบริเวณนั้น
ไม่มีใครเลยครับ

พัดรูปใบโพ ด้ามยาว คล้ายตาลปัตรพระ ที่อยู่ข้างพระมหาพิชัย
ราชรถ เรียกว่าไรครับ จะไปค้นต่อ ขอบคุณครับ





 


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 25 ต.ค. 17, 06:49
1) ตอน ร.7 เสด็จยุโรปปี 2476 ข้าราชบริพารส่งเสด็จ
ที่ตำหนักแพ (ผมเข้าใจว่าเพื่อไปทรงรถไฟที่หัวลำโพงเสด็จ
สิงคโปร์) สมัยนั้นรถยนต์พระที่นั่งก็มีแล้ว ออกถนนเจริญกรุง
ก็ถึงหัวลำโพง ซี่งสะดวกกว่าทางเรือมาก เป็นธรรมเนียม
รึเปล่าครับที่ต้องเสด็จทางเรือ

สถานการณ์บ้านเมืองเวลานั้นไม่สู้น่าไว้วางใจครับ  มีบันทึกว่าตอนเสด็จลงจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐานซึ่งเป็นที่ประทับ  มีเฉพาะแถวทหารรักษาวัง ว.ป.ร. แลนักเรียนวชิราวุธไปรอส่งเสด็จ  บรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา เหมือนกับจะทรงทราบว่าจะไม่มีโอกาสเสด็จกลับพระนครอีกแล้ว  จึงมีนักเรียนวชิราวุธหลายคนสังเกตเห็นน้ำพระเนตรตอนทรงโบกพระหัตถ์ลานักเรียน 

เหตุที่ไม่เสด็จทางรถไฟนั้นคงจะเนื่องมาจากหากเสด็จโดยทางรถไฟจะต้องมีการประสานการเสด็จผ่ามลายูของอังกฤษ  และก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินคราวนั้นก็ต้องทรงต่อรองกับรัฐบาลอยู่นาน  เพราะรัฐบาลจะกักพระองค์ไว้เป็นตัวประกัน  และเมื่อเกิดเหตุกบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม ๒๔๗๖ นั้น  เมื่อจะเสด็จหลบภัยจากหัวหินไปสงขลา  ทางราชการก็มีการสั่งการให้สกัดขบวนรถไฟพิเศษในระหว่างทาง  จึงน่าจะไม่ทรงปลอดภัยหากเสด็จโดยทางรถไฟ

พัดรูปใบโพ ด้ามยาว คล้ายตาลปัตรพระ ที่อยู่ข้างพระมหาพิชัย
ราชรถ เรียกว่าไรครับ
เรียกว่า บังพระสูรย์ ครับ


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 26 ต.ค. 17, 14:10
ขอบคุณครับ และจาก คห 56 ข้อ 3)

ผมได้คำตอบจากผู้บรรยายทางทีวี
ที่กล่าวว่า เครื่องสูงของกษัตริย์ประกอบด้วย
ฉ้ตร 5 ชั้น ฉัตร 7 ชั้น...ฟังทันแค่นี้ครับ


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 01 พ.ย. 17, 11:07
1)  สมัย ร 6 เมื่อคุณเปรมได้เป็นเจ้าคุณหรือพระยา
พลอยในฐานะภรรยาได้เป็นคุณหญิงพลอยโดยอัตโนมัติ
หรือต้องรอโปรดเกล้าฯ ครับ สมัยนั้นมีเครื่องราชย์ชั้น
จุลจอมเกล้าฯ ไหมครับ

2) ว่างๆ ผมจะไปหาอ่านกบฏบวรเดชครับ
แต่เบื้องต้นอยากทราบพอสังเขปว่านักโทษการเมือง
ที่มักไม่มีการเอาเรื่องอย่างเอาเป็นเอาตาย เหตุใด
พระองค์ต้องลี้ภัยในญวนถึง 16 ปี เห็นสมัยหลังๆ
รอให้เรื่องเงียบหน่อยก็กลับบ้านได้ หรือเป็นเพราะรัฐบาลยุค
ปลาย ร 8 เริ่มเป็นมิตรกับเจ้าครับ


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 17, 11:54
พระองค์เจ้าบวรเดชถ้าไม่หนีตอนนั้น ขึ้นศาลพิเศษต้องโดนโทษประหารแน่ครับ ตอนนั้นก็โดนกันหลายคน แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงขอชีวิต เมื่อเขาไม่ให้ก็เลยสละราชบัลลังก์
การขึ้นครองราชย์โดยพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทำให้รัฐบาลคณะราษฎรจำต้องอภัยโทษพวกต้องโทษประหารชีวิต เหลือจำคุกตลอดชีวิต พวกนักโทษการเมืองถูกจำคุกอยู่บางขวางพักหนึ่งก็ส่งไปเกาะตะรุเตา แล้วย้ายไปเกาะเต่า จนกระทั่งเปลี่ยนรัฐบาลใหม่จึงได้รับอภัยโทษ


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: azante ที่ 01 พ.ย. 17, 14:36
1)  สมัย ร 6 เมื่อคุณเปรมได้เป็นเจ้าคุณหรือพระยา
พลอยในฐานะภรรยาได้เป็นคุณหญิงพลอยโดยอัตโนมัติ
หรือต้องรอโปรดเกล้าฯ ครับ สมัยนั้นมีเครื่องราชย์ชั้น
จุลจอมเกล้าฯ ไหมครับ


ถ้าสามีเป็นชั้นพระยาขึ้นไป ภรรยาเอก เป็นคุณหญิงทันที  ไม่จำเป็นต้องได้รับตราจุลจอมเกล้า
การได้รับตราถือเป็นบำเหน็จความชอบไป 

ตรานี้ บัญญัติขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วครับ
การเป็นคุณหญิงไม่มีการโปรดเกล้าฯขึ้นอยู่กับว่า
1.เป็นภรรยาเอก สามีเป็นชั้นพระยาขึ้นไป
2.ถ้าสามี ไม่เป็นพระยา แต่สมรสแล้ว และได้รับตราจุลจอมเกล้า ถึงชั้น ทุติยจุลจอมเกล้า



กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 01 พ.ย. 17, 22:22
ขอบคุณทั้งสองท่านครับ ต่ออีกนิด

3) งั้นสำนวนคุณหญิงตราตั้ง คือตราจุลจอมเกล้าตั้ง
ใช่ไหมครับ

4) คุณ V_Mee เอ่ยถึงความสัมพันธ์ของรัฐบาล
และ ร 7 ว่าเสื่อมลงหลังกบฏวรเดช เสื่อมลงในแง่ที่ว่า
พระองค์ต้องสงสัยว่าสนับสนุน หรือว่าพระองค์ขอชีวิต
แล้วเขาไม่ให้ครับ

5) ในละครบอกว่ารบกันที่ทุ่งบางเขนอยู่ 4 วัน
กำลังทหารพระนครยิงปืนใหญ่ถล่มจนพวกกบฏ
ยอมจำนน แสดงว่าทัพจากหัวเมืองหลายๆ จังหวัด
ที่พระองค์เจ้าบวรเดชฯ ยกมา มีอาวุธสู้กำลัง
จากพระนครไม่ได้ หรือเป็นเพราะเหตุอื่น เช่น ข่าวรั่ว

6) เคยได้ยินคำว่านรกตะรุเตา มันนรกจริง
เปล่าครับ เกาะหลีเป๊ะ ทรายสวย น้ำใส
น่าเบิกบานไม่น้อย นึกภาพนรกไม่ออกครับ

ขอบคุณครับ


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 02 พ.ย. 17, 07:21
3) งั้นสำนวนคุณหญิงตราตั้ง คือตราจุลจอมเกล้าตั้งใช่ไหมครับ
ใช่ครับ  คุณหญิงที่ได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้า  โบราณท่านเรียกว่า คุณหญิงรับตรา
ส่วนสตรีที่ได้เป็นคุณญิงเพราะสามีเป็นพระยา เช่น พลอยในเรื่องสี่แผ่นดินนั้น  ท่านเรียกกันว่า คุณหญิงตามผัว

4) คุณ V_Mee เอ่ยถึงความสัมพันธ์ของรัฐบาลและ ร 7 ว่าเสื่อมลงหลังกบฏวรเดช เสื่อมลงในแง่ที่ว่า
พระองค์ต้องสงสัยว่าสนับสนุน หรือว่าพระองค์ขอชีวิตแล้วเขาไม่ให้ครับ
เหคุที่รัชกาลที่ ๗ ขัดแย้งกับรัฐบาลมีหลายเรื่องครับ เริ่มตั้งแต่รัฐบาลบุบหน่วยงานในพระราชสำนักและเอาคนของรัฐบาลเข้าทำหน้าที่แทน
ภายหลังกบฏบวรเดช  รัฐบาลกล่าวหาว่ารัชกาลที่ ๗ แอบสนับสนุนพระองค์เจ้าบวรเดช  และพยายามจะยุบกรมทหารรักษาวัง  ซึ่งเป็นหน่วย
รักษาพระองค์เพียงหน่วยเดียวในเวลานั้น  นอกจากนั้นก็มีเรื่องรัฐบาลอยู่เบื้องหลังนายถวัติ  ฤทธิ์เดช ฟ้องฐานหมิ่นประมาท  แต่ที่สำคัญที่สุด
คือเรื่องที่รัฐบาลอ้างว่าพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทรัพย์แผ่นดินอันเป็นที่มาของทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์  และเมื่อทรงสละราชย์สมบัติแล้ว
รัฐบาลก็ยังตามฟ้องว่า ทรงเบียดบังพระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์เป็นของส่วนพระองค์

5) ในละครบอกว่ารบกันที่ทุ่งบางเขนอยู่ 4 วันกำลังทหารพระนครยิงปืนใหญ่ถล่มจนพวกกบฏยอมจำนน แสดงว่าทัพจากหัวเมืองหลายๆ จังหวัด
ที่พระองค์เจ้าบวรเดชฯ ยกมา มีอาวุธสู้กำลังจากพระนครไม่ได้ หรือเป็นเพราะเหตุอื่น เช่น ข่าวรั่ว
ตามข้อตกลงทหารจากหัวเมืองจะยกกำลังมาสมทบกับทัพโคราช  แต่เพราะเมื่อทหารหัวเมืองทราบว่าพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นผู้นำทัพ
บางส่วนจึงไม่มาตามที่นัดหมายกันไว้  แต่ถึงจะไม่มาตามนัดแต่สุดท้ายนายทหารหัวเมืองที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยก็โดนรัฐบาลเล่นงานจนหมด


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ย. 17, 07:52

5) ในละครบอกว่ารบกันที่ทุ่งบางเขนอยู่ 4 วัน
กำลังทหารพระนครยิงปืนใหญ่ถล่มจนพวกกบฏ
ยอมจำนน แสดงว่าทัพจากหัวเมืองหลายๆ จังหวัด
ที่พระองค์เจ้าบวรเดชฯ ยกมา มีอาวุธสู้กำลัง
จากพระนครไม่ได้ หรือเป็นเพราะเหตุอื่น เช่น ข่าวรั่ว


อ่านเอาเองครับ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5194.0



กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ย. 17, 08:03

6) เคยได้ยินคำว่านรกตะรุเตา มันนรกจริง
เปล่าครับ เกาะหลีเป๊ะ ทรายสวย น้ำใส
น่าเบิกบานไม่น้อย นึกภาพนรกไม่ออกครับ


นรกเกาะตะรุเตาเป็นชื่อนวนิยายเขียนโดยปองพล อดิเรกสาร เนื้อเรื่องไม่เกี่ยวกับนักโทษการเมือง ซึ่งความความจริงอยู่ที่นั่นไม่นานก็ถูกย้ายไปเกาะเต่า สวรรค์ของนักท่องเที่ยวสมัยนี้เช่นกัน แต่เกาะเต่าสมัยเป็นที่คุมขังนักโทษการเมืองคุณสามารถจินตนาภาพได้จากข้อเขียนนี้

https://www.facebook.com/siamhistory/photos/a.435240936530190.98873.435087346545549/492978924089724/?type=1&theater


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 02 พ.ย. 17, 10:49
อ่านความเห็นที่42ของอ.V_Meeแล้วทึ่งจริงๆค่ะ ประปรีชาสามารถในพระวิสัยทัศน์ส่วนนี้ไม่มีใครพูดถึงเลยจริงช่างน่าเสียดาย พูดกันแต่ ร.6ทำเศรษฐกิจตกต่ำๆ แต่สาเหตุและเหตุผลรวมถึงผลงานกลับไม่มีใครพูดถึงกันเลย


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 20 พ.ย. 17, 07:43
นิยายคุณปองพลชื่อ "โจรสลัดแห่งตะรุเตา" หรือเปล่าครับ ผมนี่ขาประจำกันเลยทีเดียว จำได้ว่าตอนโน้นซื้อไว้ครบออกมากี่เรื่องก็ซื้อ แต่ตอนนี้หาเจอแค่ 2 เล่มเอง

มาที่สี่แผนดินกันอีกครั้ง ผมเพิ่มอ่านจบรัชกาลแรกเอง นางพิศของผมบทบาทเยอะมาก  :D ตัวละครทั้งหมดมีบุคลิกชัดเจนแจ่มแจ๋ว แต่พอเริ่มรัชกาลที่สองแม่พลอยมีลูก 3 ในท้องอีกหนึ่งซะแล้ว ประเด็นที่คุยกันในกระทู้ยังไม่ได้อ่านเลย ไม่ได้ติดใจตรงไหนนอกจากเรื่องได้บ่าวในบ้านเป็นเมีย หรือว่ามีลูกกับบ่าวอะไรทำนองนี้ สมัยก่อนคงเป็นเรื่องปรกติสินะครับ อยู่ที่ว่าสามารถเลี้ยงดูปูเสื่อกันได้แค่ไหน


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ย. 17, 19:43
ใช่ค่ะ นิยายของคุณปองพล อดิเรกสาร ชื่อ โจรสลัดแห่งตะรุเตา

มาถึงเรื่องสี่แผ่นดิน  หัวข้อลูกกับบ่าว
สังคมไทยสมัยชกาลที่ ๕  เป็นสังคม polygamy  คือผู้ชายมีภรรยาหลายคนได้ถูกต้องตามกฎหมาย  ข้อนี้สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยาค่ะ
ผู้ชายพอโตเป็นหนุ่มขึ้นมา  เรียกว่าโกนจุกได้ไม่เท่าไหร่ ก็มีเมียได้แล้ว    ส่วนใหญ่สังคมสมัยนั้น ไม่ค่อยจะมีกิจกรรมนอกบ้านให้ไปเที่ยวเตร่ได้    สาวๆที่หนุ่มๆเจอก็คือคนในบ้าน หรือคนใกล้บ้าน   ความใกล้ชิดก็นำไปสู่ความสัมพันธ์ได้ง่าย
คุณเปรมเป็นลูกชายคนโต เรียกได้ว่าเป็น 'คุณชาย'ของบ้าน   พอเป็นหนุ่มขึ้นมาเห็นสาวใช้หน้าตาดีๆ ก็เรียกมาปรนนิบัติรับใช้  เป็นของธรรมดา  พ่อแม่ก็ไม่ถือสาอะไร    จึงเกิดตาอ้นลูกชายคนแรก  ถ้าแม่พลอยไม่ใช่นางเอกแสนดี รับตาอ้นมาเลี้ยงเหมือนลูกตัวเอง ตาอ้นก็คงถูกทิ้งเป็นลูกของเมียบ่าว   ฐานะความเป็นอยู่ไม่ดีไปกว่าลูกคนใช้สักเท่าใด


กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 22 พ.ย. 17, 22:30
อ่านจบแล้วครับ  ;D ช่วงหลัง ๆ ก็เร่งหน่อยเพราะคำทำนายหมอดูแม่นเกิน ชอบแผ่นดินที่ 2 มากที่สุด โดยเฉพาะพ่อแง่แม่งอนระหว่างคุณเปรมกับแม่พลอย คุณเปรมก็ลูกคนจีนนี่ครับ มีพิธีกงเต๊กด้วยที่พ่อเพิ่มเผาอีหนู ๆ ไปให้


ตลอดทั้งเรื่องไม่ได้บอกวันเวลาที่ชัดเจน แต่ไม่มีปัญหาเพราะแม่พลอยอยู่ในบ้านในวังเป็นหลัก (คนอ่านก็อยู่แค่บ้านกับวังตามกันไปด้วย) เหตุการณ์สำคัญ ๆ หลังปี 2475 ส่วนใหญ่จำได้โดยเฉพาะช่วงสงครามโลก ทีนี้สบายเลยอ่านรวดเดียวหมดเล่ม...ดูเหมือนตอนจบจะห้วนไปนิด สงสารก็แต่แม่ช้อยต้องอยู่อยู่เฝ้าวังคนเดียวตอนแก่


เข้าสู่คำถามบ้างครับ ปัจจุบันยังมีแม่ช้อยอยู่อีกหรือเปล่าครับ แล้วต่อไปในวังจะเป็นอย่างไรเพราะนิยายจบแค่นี้ หรือว่ามีเล่มสองเนื้อหาต่อกันไปจะได้ตามอ่าน ขอบคุณครับ ;)



กระทู้: ดูรีรันสี่แผ่นดินแล้วเกิดคำถามครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ย. 17, 10:02
ชาววังอย่างแม่ช้อย ในปัจจุบัน ได้ยินว่ายังมีอยู่ค่ะ  แต่ดิฉันไม่ทราบรายละเอียด ต้องถามคุณหนุ่มสยาม หรือไม่ก็คุณ V_Mee