เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: ลุงไก่ ที่ 03 ต.ค. 13, 14:36



กระทู้: เสน่ห์หนังสืออนุสรณ์
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 03 ต.ค. 13, 14:36
หนังสืออนุสรณ์ที่จัดพิมพ์ขึ้นแจกจ่ายเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสต่างๆ เช่น หนังสืออนุสรณ์ผู้วายชนม์ (หนังสืองานศพ), หนังสือที่ระลึกครบรอบอายุ, หนังสืออนุสรณ์งานต่างๆ ฯลฯ ย่อมมีคุณค่าในตัวเอง จากเรื่องราวที่ผู้จัดพิมพ์ได้สรรหาเรื่องราวต่างๆ มาลงพิมพ์ไว้

ในหนังสืออนุสรณ์ผู้วายชนม์หรือหนังสืองานศพ ก็จะมีทั้งประวัติ รูปภาพ บันทึก ของผู้วายชนม์ และเรื่องราวอื่นๆ ที่นำมาลงพิมพ์ไว้ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ได้รับมาอ่าน คุณค่าของเรื่องที่นำมาพิมพ์เผยแพร่ ก็ย่อมขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้จัดทำและจากความสนใจของผู้อ่านด้วย

จะขอเริ่มต้นสักเรื่องหนึ่งก่อน ...

"ในตอนเด็กๆ ผมเคยเป็นปอดบวมแล้วหยุดหายใจ หมอบอกว่าผมตายแล้วแต่แม่ผมไม่เชื่อ เพราะตอนที่ท้องผม แม่ฝันว่ามีเทวดาจูงช้างมาให้ บอกว่าช้างที่เอามาให้นี่เป็นช้างที่จะทำงานเพื่อแผ่นดิน ... พอผมหยุดหายใจแม่ก็ไม่เชื่อว่าผมจะตาย แม่เชื่อว่าผมจะต้องเติบใหญ่มาทำงานให้เแผ่นดิน ... ก็ไปบนที่หลวงพ่อโตวัดสระเกศ ไปบอกว่าลูกคนนี้ได้มาเพราะฝันว่าเทวดามามอบให้เพื่อทำงานให้แผ่นดิน ถ้าผมมีบุญก็ขอให้มีชีวิตอยู่ต่อไป จึงขอเอาขี้ธูปของหลวงพ่อโตไปละลายน้ำให้ลูกกิน และอธิษฐานว่าถ้าฟื้นก็จะยกให้เป็นลูกของท่าน ... แล้วแม่ก็เอาขี้ธูปมาละลายน้ำกรอกใส่ปากผมที่ตอนนั้นนอนอยู่ในโลงแล้ว ... ผมก็ฟื้นขึ้นมา แม่ก็เลยยกผมให้เป็นลูกของหลวงพ่อโต วัดสระเกศ ผมเองก็คิดว่าเป็นลูกท่าน"

จากหนังสือ ๑๐ ทศวรรษ ศาสตราจารย์ ดร.บุญรอด บิณฑสันต์



กระทู้: เสน่ห์หนังสืออนุสรณ์
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 03 ต.ค. 13, 14:46
เมื่อก่อนหลวงพ่อโตจะอยู่ริมคลอง มันหมิ่นเหม่จะตกไม่ตก ผมเห็นว่าไม่ค่อยเหมาะที่ท่านจะอยู่ตรงนั้นก็อยากยกมาไว้ที่ริมภูเขาทอง เพราะผมเชื่อว่าเมื่อเราเป็นลูกท่านแล้วก็ควรจะยกย่องท่าน ในตอนที่จะไปยกท่านจากริมคลองก็มีการสำรวจว่าท่านหนักประมาณ ๒๐-๒๔ ตัน ต้องใช้รถยกของการไฟฟ้านครหลวงซึ่งใช้ยกหม้อแปลงไฟฟ้าหนัก ๕๐-๖๐ ตันได้สบายๆ จึงจะยกได้ ผมก็นัดกับคุณหลวงสัมฤทธิ์ฯ ว่าจะขอรถยกของการไฟฟ้านครหลวงมายกหลวงพ่อ ก่อนทำก็ไปขออนุญาตท่านเจ้าอาวาส ท่านก็เห็นด้วยเพราะองค์หลวงพ่อหมิ่นเหม่จะตกคลองอยู่แล้ว ก็นัดแนะกันเป็นอันดีแต่ก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องการบอกกล่าวท่าน คิดถึงแต่เรื่องทางวิทยาศาสตร์

วันที่จะยกท่านผมทำงานที่กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติไม่ได้ลงไปดู อยู่ๆ คุณหลวงสัมฤทธิ์ฯ ก็มาบอกว่ารถยกได้ลองยก ๒ ครั้งแล้วแต่ยกไม่ได้ ครั้งหนึ่งโซ่ขาด อีกครั้งยางรถแตก ก็สรุปว่าท่านไม่ต้องการไปจากที่ตรงนี้แน่นอน เพราะหม้อแปลงไฟฟ้าขนาด ๕๐ ตันยังยกได้ นี่องค์หลวงพ่อ ๒๐ ตันก็น่าจะยกได้ ผมก็เลยไปพูดกับท่าน พูดแบบธรรมดาๆ ว่าเราตกลงกันแล้วว่าจะย้ายที่ให้ท่านใหม่ แล้วท่านจะตกน้ำตกท่าไปก็ช่วยไม่ได้แล้วนะ พอบอกกล่าวท่านเสร็จก็ให้ยกอีกครั้งก็ปรากฎว่ายกได้สบายๆ ยกห่างมาจากจุดเดิมที่ท่านอยู่ประมาณ ๑๐๐วาได้

ได้ลองใช้ภาพถ่ายทางอากาศของ William Hunt เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ มาประกอบการหาตำแหน่งวิหารเดิมของหลวงพ่อโตด้วยข้อสันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ริมคลองมหานาค ก็ไม่สามารถชี้ตำแหน่งได้

??? ???




กระทู้: เสน่ห์หนังสืออนุสรณ์
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 03 ต.ค. 13, 14:51
คุณหลวงสัมฤทธิ์ฯ ที่ท่านกล่าวถึง ได้สอบค้นดู ปรากฎว่าหมายถึง หลวงสัมฤทธิ์วิศวกรรม (โกศล สุขประยูร) ซึ่งท่านเป็นนักเรียนมัธยมบริบูรณ์ (มัธยมปีที่ ๘) รุ่นแรกของโรงเรียนปทุมคงคา


กระทู้: เสน่ห์หนังสืออนุสรณ์
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 03 ต.ค. 13, 15:32
"พ่อกับแม่มีลูก ๑๐ คน พี่ชายบุญรอดเป็นพี่หัวปี พี่เลื่อนตามมาเป็นคนที่ ๒ แม่ตั้งชื่อให้พี่ชายว่าบุญรอด เพราะมีบุญได้รอดตายมา ส่วนที่เลื่อนเป็นน้องตามมา ... ตอนที่บุญรอดเข้าโรงเรียนโดยตาม พี่ประเสริฐ รุจิรวงศ์ ไปทุกชั้น จนพี่ประเสริฐจบเข้าโรงเรียนทหาร พี่จึงแยกมาเข้าโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ อายุน้อยมากแต่ก็มีความรู้สูง อยู่ในท่ามกลางเพื่อนๆ ที่อายุมากกว่า ..."

บันทึกของ สุภัทรา บิณฑสันต์ น้องสาวง ดร. บุญรอด บิณฑสันต์ เป็นบุตรลำดับที่ ๗

บันทึกคำบอกเล่าของ ดร. บุญรอด ระหว่างที่เรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ดังนี้

"ผมเริ่มเรียนประถมที่โรงเรียนวัดใหม่ยายแฟง (วัดคณิกาผล) เริ่มเรียนเร็วเพราะมีลูกพี่ลูกน้องที่เขาถึงเกณฑ์ต้องเข้าเรียน (คงจะหมายถึง พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ ที่คุณสุภัทรากล่าวถึง) ผมก็ติดสอยห้อยตามไปกับเขาด้วยแล้วก็นั่งฟังครูไปด้วย รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ตอนนั้นอายุน้อยมากน้อยกว่าคนที่เข้าเรียนปกติถึง ๕ ปี พอถึงเวลาที่พี่เขาได้เลื่อนชั้น เราก็เลื่อนขึ้นไปด้วย ซึ่งตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าเราเรียนได้หรือไม่ได้ เพียงแต่ครูเห็นว่าเราอยู่ด้วยตลอดเวลาก็เหมือนเลื่อนชั้นให้เราไปโดยปริยาย แต่ตอนนั้นไม่สามารถวัดได้ว่าเรามีความรู้มากน้อยแค่ไหนนะ เพราะไม่ได้ไปสอบกับเขาด้วย จนพี่จบจากนั้นพี่ไปเรียนโรงเรียนนายร้อย เราตามไปไม่ได้ก็เลยย้ายมาเข้า ม.๑ ที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์"


กระทู้: เสน่ห์หนังสืออนุสรณ์
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 03 ต.ค. 13, 15:34
"ตอนมาขึ้น ม.๑ ที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ ครูเห็นว่าตัวเล็กมากก็เลยทดสอบความรู้ ผลก็คือตอบได้ เขาก็เลยให้เรียนแล้วก็สอบได้เลื่อนชั้นขึ้นไปเรื่อยๆ ถือเป็นการเรียนที่แปลกกว่าคนอื่นๆ แต่เราก็ทำได้ เรียนได้จนจบชั้นมัธยม เรียกว่าเราเรียนแบบนี้มาตลอด มันเหมือนกับว่าไม่ได้เรียนตามกฎเกณฑ์ของโรงเรียนทั่วไป แต่เราทำได้ ตอบได้ พอเรียนๆ ไป ก็เริ่มอาสาทำงานให้ครู ช่วยครูแปลหนังสือด้านวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย เวลาครูสอนก็ชอบจด ทำให้ได้เรียนเคมี ฟิสิกส์ ในตำราของต่างประเทศด้วย เพราะเมื่อก่อนนั้นตำราจะเป็นของต่างประเทศ เพราะฉะนั้น พอได้ช่วยครูจด ช่วยครูแปล ก็ทำเหมือนได้เรียนไปด้วย"

ดร. บุญรอด บิณฑสันต์ จบชั้นมัธยม ๘ จากโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ด้วยอายุเพียง ๑๔ ปี และจบปริญญาตรีวิศวกรรมไฟฟ้า จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ เมื่ออายุเพียง ๑๘ ปี


กระทู้: เสน่ห์หนังสืออนุสรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ต.ค. 13, 16:30
ทึ่งใน IQ ของดร.บุญรอดมากค่ะ     สติปัญญาขนาดนี้หาคนเทียบยาก   แม้แต่ในปัจจุบัน
ยังเป็นเด็กชายอยู่แท้ๆ เรียนม.ปลาย ช่วยครูแปลตำราภาษาอังกฤษได้ตั้งหลายสาขา


กระทู้: เสน่ห์หนังสืออนุสรณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ต.ค. 13, 18:36
หลวงพ่อโต ระหว่างทางเดินลงจากภูเขาทองตามบันไดที่ขึ้นมา จะเห็นมีป้ายบอกทางนมัสการหลวงพ่อโต ซึ่งมีบันไดทางแยกลงอีกทางหนึ่ง เมื่อลงมาจะเห็นวิหารประดิษฐานองค์หลวงพ่อโตซึ่งมีประวัติดังนี้

 วัดสระเกศ เดิมชื่อวัดสระแก รัชกาลที่ ๑ พระราชทานชื่อวัดใหม่เป็นวัดสระเกศ หลังจากขุดคลองมหานาคเสร็จ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ โปรดให้สร้างพระพุทธรูปโลหะหน้าตักกว้าง ๗ ศอก ๑ คืบ สูง ๑๐ ศอก ประดิษฐานที่พระวิหารด้านคลองมหานาค ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อโต เนื่องจากขนาดขององค์พระใหญ่โต หลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เลียนแบบศิลปะสุโขทัย แต่ยังไม่งดงามเท่า มีพระพักตร์ค่อนข้างกลมแป้นไม่อวบอิ่ม พระนาสิกโด่ง พระขนงโก่งเล็กน้อย ไม่นูนขึ้นรูป พระเนตรหรี่ยาว พระโอษฐ์บาง

 อุตราสงค์ยาวเฉียงตรงจากพระถันขวาขึ้นไปที่พระอังสาซ้าย ขอบชายอุตราสงค์ยาวจรดพระนาภีเป็นแบบเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์ค่อนข้างสั้นเสมอกันไม่เรียวงอนอ่อนช้อย เป็นพระพุทธรูปสงบงามตามแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ชาวบ้านใกล้เรือนเคียงถือว่า เป็นหลวงพ่อที่ให้ความคุ้มครอง ให้ความสุข ความเจริญ


กระทู้: เสน่ห์หนังสืออนุสรณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ต.ค. 13, 18:50
ผมลองใช้กูเกิลวัดระยะทาง๑๐๐วา(๒๐๐เมตร)แล้ว ตกตรงตำแหน่งนี้ครับ


กระทู้: เสน่ห์หนังสืออนุสรณ์
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ต.ค. 13, 19:23
อา เอาซะเป๊ะ เลยนะครับ  ;D

หยิบแผนที่สำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ มาให้สำรวจกัน จะเห็นว่า วิหารหลวงพ่อโตหันหน้าออกคลอง อยู่ติดคลอง ส่วนอาคารติดกันขวามือคือ โรงเลื่อย

ที่มาแผนที่ฉบับเฉลิมพระเกียรติเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกรุงเทพมหานคร)


กระทู้: เสน่ห์หนังสืออนุสรณ์
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ต.ค. 13, 20:23
ช่วยวิเคราะห์ภาพองค์พระองค์นี้ว่าใช่องค์ที่กำลังพูดถึงหรือไม่


กระทู้: เสน่ห์หนังสืออนุสรณ์
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 03 ต.ค. 13, 20:27
ทึ่งใน IQ ของดร.บุญรอดมากค่ะ     สติปัญญาขนาดนี้หาคนเทียบยาก   แม้แต่ในปัจจุบัน
ยังเป็นเด็กชายอยู่แท้ๆ เรียนม.ปลาย ช่วยครูแปลตำราภาษาอังกฤษได้ตั้งหลายสาขา

ตอนที่พี่เลื่อนเข้าเรียนที่จุฬาฯ (พี่เลื่อน - ดร. เลื่อน บิณฑสันต์ น้องชายคนรองของ ดร. บุญรอด บิณฑสัณต์) อาจารย์ที่สอนอยู่เห็นความสามารถของพี่เลื่อนว่าเก่งกว่าอาจารย์ที่สอนเสียอีก พี่เลื่อนได้ปริญญาทางการไฟฟ้าและเครื่องกลด้วย โดยเฉพาะอาจารย์ทางช่างกลให้คะแนนพี่เลื่อน ๑๑๐ % ทำให้ทางคณะต้องประชุมกันเป็นอาทิตย์ โปรเฟสเซอร์บอกว่าพี่เลื่อนดีกว่าที่อาจารย์สอนอยู่เสียอีก จึงให้แค่ ๑๐๐ % ไม่ได้

ตอนที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ เป็นเวลานาน (พ.ศ. ๒๔๘๕) พี่เลื่อนและพ่อช่วยกันต่อเรือ ๓ ลำ ลำหนึ่งยาวเรียวต้องยืนพาย พี่เลื่อนพายเรือนี้ไปสอนหนังสือที่ตึกวิศวะฯ ยกเรือขึ้นวางไว้บนถนน นักเรียนจะแอบเอาเรือลงน้ำลองพายดูบ้างแต่ไม่มีใครทรงตัวได้ ตกน้ำเสื้อผ้าเปียกกันหมด ตอนรับปริญญาต้องใส่เสื้อครุย พี่เลื่อนตัดเสื้อเองทำได้สวยมาก มีคนจองขอยืมกันทุกปี

เมื่อตอนที่พี่เลื่อนถอดชิ้นส่วนของจักรเย็บผ้าของแม่ออกมากองหมด แม่โกรธมาก ว่าจะตีลูกทั้ง ๒ คน พี่รอดบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงจะเอาชิ้นส่วนกลับเข้าไปใหม่ พี่ทั้ง ๒ ก็ทำได้

สุภัทรา บิณฑสันต์ น้องสาว - ครอบครัวบิณฑสันต์ ๑๐ ทศวรรษ ศ. ดร. บุญรอด บิณฑสันต์

ดร. บุญรอด บิณฑสันต์
- ประกาศนียบัตร์ชั้นสูง พ.ศ. ๒๔๗๖
- ปริญญาบัตรวิศวกรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๗๘
ดร. เลื่อน บิณฑสันต์
- ปริญญาบัตร์วิศวกรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๘๐

อ้างถึง - ๙๐ ปีิวิศวฯ จุฬาฯ, ๙ รอบคุณพระเจริญฯ




กระทู้: เสน่ห์หนังสืออนุสรณ์
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 03 ต.ค. 13, 20:32
ช่วยวิเคราะห์ภาพองค์พระองค์นี้ว่าใช่องค์ที่กำลังพูดถึงหรือไม่

ทรงเดียวกัน แต่มองแล้วจะต่างกันที่พระเนตรและมุมพระโอษฐ์


กระทู้: เสน่ห์หนังสืออนุสรณ์
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ต.ค. 13, 20:37
ถ้าลงภาพนี้ ลุงไก่อาจจะเข้าใจในตำแหน่งมากยิ่งขึ้น แนวนั้นจะอยู่ริมคลองมหานาคและอยู่ตรงกับประตูตรงระเบียงคด ครับ


กระทู้: เสน่ห์หนังสืออนุสรณ์
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 03 ต.ค. 13, 20:56
มีเรื่องหนึ่งที่ผมต้องเรียนปรึกษาท่าน NAVARAT C. ในฐานที่เป็นศิษย์เก่าสถาปัตย์ฯ  คือ ในบทความของ ศ. ดร. จรวย บุญยุบล วศ. ๒๔๙๖ อดีตอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และคณะบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๒-๒๕๒๖ ว่า
"... ไม่มีห้องเรียนประจำ ต้องเร่ร่อนไปเข้าฟังเลกเชอร์ (การบรรยาย) ตามตึกเรียนและห้องเรียนตามที่กำหนดไว้ เช่น ถ้าเรียนวิชาเคมีบรยายก็ต้องไปเรียนที่ห้องเลกเชอร์ตึกฟิสิกส์ของคณะวิทยาศาสตร์ อยู่ฝั่งเดียวกันกับตึกคณะวิศวกรรมศาสตร์ .. และถ้าจะเรียนวิชาเคมีปฏิบัติก็ต้องข้ามฟากไปรียนที่ตึกเคมี (ปัจจุบันเปลี่ยนไปเป็นตึกของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์) ... "

ผมคิดว่าน่าจะเป็นตึกของคณะเภสัชศาสตร์ ข้างตึกคณะสถาปัตย์ฯ นะครับ ทราบว่าปัจจุบันกลายเป็นตึกคณะศิลปกรรมศาสตร์ไปแล้ว

อ้างถึง - ศ. จรวย บุณยุบล, ความทรงจำเกี่ยวกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ในช่วงปี ๒๔๙๖-๒๕๓๘
๙๐ ปีวิศวฯ จุฬาฯ ๙รอบ คุณพระเจริญฯ

จะใช่ตึกนี้หรือเปล่าหนอ  ???



กระทู้: เสน่ห์หนังสืออนุสรณ์
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 03 ต.ค. 13, 20:57
ถ้าลงภาพนี้ ลุงไก่อาจจะเข้าใจในตำแหน่งมากยิ่งขึ้น แนวนั้นจะอยู่ริมคลองมหานาคและอยู่ตรงกับประตูตรงระเบียงคด ครับ

วันเสาร์นี้จะย่องไปสำรวจ


กระทู้: เสน่ห์หนังสืออนุสรณ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ต.ค. 13, 21:35
อ้างถึง
"... ไม่มีห้องเรียนประจำ ต้องเร่ร่อนไปเข้าฟังเลกเชอร์ (การบรรยาย) ตามตึกเรียนและห้องเรียนตามที่กำหนดไว้ เช่น ถ้าเรียนวิชาเคมีบรยายก็ต้องไปเรียนที่ห้องเลกเชอร์ตึกฟิสิกส์ของคณะวิทยาศาสตร์ อยู่ฝั่งเดียวกันกับตึกคณะวิศวกรรมศาสตร์ .. และถ้าจะเรียนวิชาเคมีปฏิบัติก็ต้องข้ามฟากไปรียนที่ตึกเคมี (ปัจจุบันเปลี่ยนไปเป็นตึกของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์) ... "

ผมคิดว่าน่าจะเป็นตึกของคณะเภสัชศาสตร์ ข้างตึกคณะสถาปัตย์ฯนะครับ ทราบว่าปัจจุบันกลายเป็นตึกคณะศิลปกรรมศาสตร์ไปแล้ว

สมัยผมเป็นนิสิต ตึกที่อยู่ติดคณะสถาปัตย์เป็นตึกเคมีครับ ตึกเภสัชที่กลายเป็นคณะศิลปกรรมศาสตร์อยู่ถัดไปอีกตึกนึง



กระทู้: เสน่ห์หนังสืออนุสรณ์
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 03 ต.ค. 13, 21:47
ถ้าลงภาพนี้ ลุงไก่อาจจะเข้าใจในตำแหน่งมากยิ่งขึ้น แนวนั้นจะอยู่ริมคลองมหานาคและอยู่ตรงกับประตูตรงระเบียงคด ครับ

บริเวณนี้กลายเป็นตึกแถว ร้านค้าไม้ไปหมดแล้ว มีถนนบรมบรรพตต้ดผ่าน



กระทู้: เสน่ห์หนังสืออนุสรณ์
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 04 ต.ค. 13, 07:02
แวะมารู้จักอัจฉริยะทางการศึกษาอีกท่านหนึ่งแห่งทุ่งบางเขน ... มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

".. ข้าพเจ้าได้รู้จักกับ ดร. อุทิศ ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๔๘๓ เมื่อ ดร, อุทิศ ไปเรียนหนังสือที่แม่โจ้ ข้าพเจ้าเป็นอาจารย์สอนคำนวณเพียงวิชาเดียว เราไม่คุ้นกันมากนัก .. ต่อมาข้าพเจ้าเป็นเลขาธิการมหาิวิทยาลัย ดร. อุทิศมาทำหน้าที่พนักงานคลัง .. ดร. อุทิศได้ช่วยสอนวิชาบัญชี และได้เห็นลูกศิษย์เป็นชั้นโทไปตามๆ กัน ส่วน ดร. อุทิศก็ยังคงเ็ป็นชั้นตรีอยู่ ข้าพเจ้าจึงแนะนำให้ ดร. อุทิศสอบชิงทุนไปนอก แต่ ดร. อุทิศก็ไม่ยอมสอบ จนกระทั่งถูกคนปรามาทหน้าว่าหน้าอย่างนี้ไม่มีวันสอบชิงทุนได้ ดร. อุทิศจึงสมัครสอบชิงทุน ก.พ. ได้เป็นอันดับหนึ่งทั้งสามหน่วย และได้ไศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลล์

ก่อนจะไปนอก ดร. อุทิศได้เรียนที่ธรรมศาสตร์โดยไม่ได้ดูหนังสือและเข้าสอบเลย แต่ในปีที่ ๔ ดร, อุทิศสอบรวมวิชาทั้ง ๔ ปีจนได้ภายในปีเดียว และเรียนริญญาโททางเศรษฐศาสตร์ต่อภายในประเทศ เมื่อไปถึงคอ์แนลล์ใหม่ๆ ดร. อุทิศยังไม่รู้ศัพท์ภาษาอังกฤษทางวิชาการเศรษฐศาสตร์ ข้าพเจ้าได้เข้าช่วยแปลตำราเศรษฐศาสตร์ให้เมื่อเสร็จงานอื่นแล้ว คือตั้งแต่เที่ยงคืนไปจนถึงตีสอง แต่ในไม่ช้า ดร. อุทิศก็เชี่ยวชาญภาษาพอที่จะทำปริญญาเอกได้สำเร็จในเวลาเพียงสองปี"

อ้างถึง - แด่ ดร. อุทิศ โดย ศจ. ดร. ประเสริฐ ณ นคร
"๔๘ ปีของข้าพเจ้าและบทความบางเรื่อง" อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศ. ดร. อุทิศ นาคสวัสดิ์


กระทู้: เสน่ห์หนังสืออนุสรณ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 13, 13:31
คนเก่ง สมองดีเลิศหลายท่านที่ข้ามสาขาการเรียนหรือทำงาน มาดังอีกด้านหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับสาขาแรก   เช่นดร.อุทิศที่คุณลุงไก่นำเสมอ
ท่านเป็นนักเศรษฐศาสตร์การเกษตร  ที่ออกทีวีบ่อยมาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะอีกแขนงของไทย    ยังจำได้เพราะเคยดูรายการทีวีของท่าน


กระทู้: เสน่ห์หนังสืออนุสรณ์
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 05 ต.ค. 13, 14:55
ถ้าลงภาพนี้ ลุงไก่อาจจะเข้าใจในตำแหน่งมากยิ่งขึ้น แนวนั้นจะอยู่ริมคลองมหานาคและอยู่ตรงกับประตูตรงระเบียงคด ครับ

วันเสาร์นี้จะย่องไปสำรวจ


ภาพถ่ายจากสะพานนริศดำรัส .. บริเวณริมคลองมหานาคที่วิหารหลวงพ่อโตเคยตั้งอยู่ กลายเป็นตึกแถวร้านค้าไม้ไปหมดแล้ว


กระทู้: เสน่ห์หนังสืออนุสรณ์
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 05 ต.ค. 13, 16:36
ย้อนมาอ่าน "สาวชาวกรุง" ของ ศ.พ.ต. หญิง คุณหญิงผะอบ โปษะฤษณะ นิสิตอักษรศาสตร์รุนแรก พ.ศ. ๒๔๗๑ และปริญญาบัตร์อักษรศาสตร์รุ่นแรก พ.ศ. ๒๔๗๗ รับระทานปริญญาบัตร พ.ศ. ๒๔๗๘

ท่านเล่าว่าท่านมาสมัครสอบเข้าจุฬาฯ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ อันเป็นปีที่สองที่จุฬาฯ รับนิสิตหญิง ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ รับนิสิตหญิงเข้าศึกษาในคณะแพทย์ศาสตร์เป็นปีแรก คุณพ่ออยากให้เข้าเรียนแพทย์ แต่เพื่อนๆ ไปเลือกเข้าเรียนอักษรศาสตร์กันหมด พวกที่สมัครแพทย์มีแต่นักเรียนราชินี เลยสมัครเรียนอักษรศาสตร์ตามเพื่อน สอบเข้าได้เ็นที่ ๕ ประกาศผลสอบออกมาแล้วยังเกือบจะถูกตัดออกเพราะอายุน้อยเกินไปยังต้องพิจารณากันอยู่นาน ที่ได้ติดอยู่ก็เพราอายุ ๑๕ ปี ๗ เดือน ถ้าไม่มีเศษเดือนก็คงไม่ได้เป็นนิสิตกับเขาแล้ว (สมัยนั้นพระยาภรตราชาเ็ป็นคณบดี)

เปรียบเทียบกับ ดร. บุญรอด บิณฑสันต์ เข้าเป็นนิสิตจุฬาฯ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ อายุ ๑๔ ปี (จุฬาฯ คงจะผ่อนปรนเรื่องอายุแล้วกระมัง?)

อาจารย์คุณหญิงผะอบท่านเล่าไว้ว่า ปีนั้นประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นผู้ประทานแทนองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึงประทับอยู่ที่โลซานน์ นิสิตทุกคนต้องเตรียมครุยปริญญาไว้ก่อน ซึ่งต้องสั่งตัดล่วงหน้าก่อนที่จะประกาศผลได้ตก  เพราะเมื่อประกาศผลแล้วก็รับพระราชทานปริญญาในเวลาต่อมาไม่กี่วัน ในปีนั้นการรับปริญญารับที่เรือนไม้ข้างตึกจักรพงษ์เดี๋ยวนี้ (เดิมเป็นที่รับประทานอาหาร) เพราะยังไม่ได้สร้างตึกจักรพงษ์ (ปัจจุบันพื้นที่นี้คือสระว่ายน้ำ ดูจากภาพในหนังสือ มุมด้านหนึ่งของโรงอาหารเป็นเวทียกพื้นสูงประมาณเอว มีคำอธิบายภาพว่า ภายในโรงอาหาร อ.เป้า ขำอุไร (บัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ รุ่นเดียวกับ ดร. บุญรอด บิณฑสันต์) เล่าให้ฟังว่าในหลวง ร.๗ เสด็จมาพระราชทานปริญญาที่นี่ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีหอประชุม - ลุงไก่)

อาจารย์คุณหญิงผะอบได้เป็นนิสิตรุ่นแรกของจุฬาฯ ที่สำเร็จประกาศนียบัตรครูมัธยม (จุฬา) หรือที่เรียกกันในปัจจุบันนี้ว่า "อนุปริญญาครุศาสตร์" จำนวน ๑๔ คน

เครดิตภาพ - facebook หอประวัติจุฬาฯ  เครื่องแบบนิสิตหญิงคณะแพทย์ศาสตร์ ในยุคต้น