เรือนไทย

General Category => ชั้นเรียนวรรณกรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: SILA ที่ 30 พ.ย. 14, 11:52



กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 พ.ย. 14, 11:52
               สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย ด้วยโรคชรา วัย 96 ปี

          http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1417266189 (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1417266189)

           ลุงเส จากไปด้วยวัยชรา...

          ได้มีโอกาสพบคุณลุงเส(นีย์) เสาวพงศ์(นามปากกา,นามจริง ศักดิชัย บำรุงพงศ์) นักเขียนใน
ดวงใจสอง-สามครั้งในช่วงบั้นปลายชีวิตของคุณลุงขณะที่สุขภาพคุณลุงถดถอยลงตามวัย ทำให้
ไม่สามารถสนทนาอะไรได้นานนัก

          สมัยเป็นนักเรียน ได้รู้จักชื่อคุณลุงจากหนังสือของพี่ชายเรื่อง ปีศาจ และ ความรักของวัลยา
แต่ไม่ได้หยิบมาอ่าน(ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปแล้วเห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูก) จนกระทั่งเมื่อเติบโต
ขึ้นมา รู้วิชา รู้โลกมากขึ้นแล้วจึงได้หยิบงานชิ้นเอกทั้งสองของคุณลุงมาอ่านอย่างโดนใจ อิ่มใจ เหมือน
ได้พบของรักถูกอก ถูกใจ


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 พ.ย. 14, 11:54
          จากนั้นมาก็ได้กลายเป็นผู้ติดตามผลงานเก่าๆ ชิ้นอื่นๆ ของคุณลุงที่สำนักพิมพ์นำมาจัดพิมพ์ใหม่
อีกหลายเล่มโดยเฉพาะเรื่องแต่งแนวไพรัชนิยาย

            เล่มที่โดนใจ ด้วยพล็อตเรื่องที่ไม่เคยอ่านจากนักเขียนไทยคนไหนมาก่อน และการจบแบบห้วน
กำกวม คือ บัวบานในอะมาซอน 

            น่าเสียดายที่ตอนมีโอกาสได้สนทนากับคุณลุง ถามได้แต่ความว่า เป็นเรื่องแต่งตามจินตนาการ
ไม่ได้อิงเรื่องราวคนรู้จัก แต่ไม่ได้ถามต่อว่า ถ้าให้คุณลุงแต่งต่อเรื่องราวจะเป็นไปเช่นไร และ ในขณะที่
เรื่องดำเนินมาจวนถึงไคลแมกซ์
                 ทำไม คุณลุงจึงตัดจบแบบห้วนๆ เช่นนั้น

บัวบานหน้าปกแบบนี้เลยที่เคยอ่าน ภาพจาก khunmaebook.tarad.com


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 พ.ย. 14, 12:03
ภาพประทับใจ "สองนักเขียนในดวงใจ"

           ลุงเส กับ จิ๋ว บางซื่อ(พ.ญ.โชติศรี ท่าราบ)


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 พ.ย. 14, 12:06
           ได้อาศัยหนังสือ บรรเลงรมย์ รวมบทความที่ท่านหลังเขียนลงนิตยสาร ชาวกรุง
เปิดโลกดนตรีคลาสสิค


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 พ.ย. 14, 12:31
เสนีย์ เสาวพงศ์ ผู้ให้กำเนิด สาย สีมา เจ้าของวาทะสะท้านใจ

“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่าทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัวและไม่มีอะไรจะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนวันนี้ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้เพราะเขาอยู่ยงคงกระพันยิ่งกว่าอาคิลลิสหรือซิกฟริด เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป โลกของเราเป็นคนละโลก...โลกของผมเป็นโลกของธรรมดาสามัญชน”

ขอให้ สาย สีมา ตัวจริง เดินทางไปสู่สุคติ

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley17.png)


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 30 พ.ย. 14, 13:03

ขยายความ ปีศาจ ต่อเนื่องค่ะ
เคยเป็นละครโทรทัศน์ ในวาระพิเศษประมาณ วันสถาปนามหาวิทยาลัยอะไรสักแห่ง จำไม่ได้
และก็เป็นภาพยนตร์เมื่อเนิ่นนานเหมือนกัน
แต่ใช่ชื่อ สาย สีมา นักสู้สามัญชน กำกับโดย สุพรรณ บูรณะพิมพ์
(เห็นชื่อผู้กำกับก็เดาได้ว่าเนิ่นนานแค่ไหน
ดูรายละเอียดจากเวปนี้ค่ะ

(ตัดภาพออกมาไม่เป็น) :'(

http://110.164.183.135/media/books/1440/HTML/index.html#p=19 (http://110.164.183.135/media/books/1440/HTML/index.html#p=19)


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ย. 14, 16:39
ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของท่านด้วยค่ะ


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 01 ธ.ค. 14, 15:17
         เท่าที่ทราบ งานเขียนของเสนีย์ เสาวพงศ์ ซึ่งถูกนำมาถ่ายทอดเป็นภาพมีอยู่สองเรื่อง
ซึ่งเป็นเรื่องที่ดำเนินเหตุการณ์ในประเทศไทย
         เรื่องหลังคือ คนดีศรีอยุธยา เป็นละครทางช่องสาม ส่วนเรื่องแรกคือ ปีศาจ ที่ถูกหยิบมา
จัดแสดงเป็นละครเวทีเป็นครั้งคราว และ

          เป็นหนังในปี 2524 ในช่วงเวลาที่วงการหนังไทยมี "หนังนอกกระแส" ผลงานจากผู้กำกับ
คลื่นลูกใหม่ออกฉายมากมายถ่ายทอดเรื่องราวสะท้อนสังคมโดยนักแสดงหน้าใหม่ที่ไม่เป็นที่รู้จัก
โด่งดังเช่นยุค มิตร/เพชรา

            หนังเรื่องปีศาจ อำนวยการสร้างโดย เจน จำรัสศิลป์ นักหนังสือพิมพ์ และกำกับภาพยนตร์โดย
"หนุ่ม '22" ซึ่งเป็นนามแฝงของ สุพรรณ บูรณะพิมพ์
            นำแสดงโดย นักแสดงหน้าใหม่แกะกล่องใช้นามว่า โปรยชัย ชโลมเวียง และ ศรอนงค์ นวศิลป์
ซึ่งเมื่อหอภายยนตร์ฯ จัดกิจกรรมฉายหนังเรื่องนี้เมื่อเดือนกันยายนปีก่อน

ภาพและข้อมูลจากหอภาพยนตร์


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 01 ธ.ค. 14, 15:21
แล้วได้ทำการค้นหาจนได้ความว่า
            โปรยชัย นักแสดงนำผู้รับบท สาย สีมา นั้น ตัวจริงคือ นพ. ประจวบ มงคลศิริ ซึ่งได้มา
ร่วมงานในวันนั้นและให้ข้อมูลว่า เมื่อตอนเป็นนศ.แพทย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นนักกิจกรรม
ตัวยง ได้มีโอกาสขึ้นเวทีอภิปรายร่วมกับ ขรรค์ชัย บุนปาน เจน จำรัสศิลป์ และ เสนีย์ เสาวพงศ์แล้ว
ขรรค์ชัยได้ชักชวนให้มารับบทสาย สีมา

             หนังสร้างออกฉายโดยใช้ชื่อว่า สาย สีมา นักสู้สามัญชน ตามเครดิตต้นเรื่อง เนื่องจากเกรงว่า
คนดูจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นหนังผี แต่ในที่สุดก็กลับใช้ชื่อเดิมโดยสังเกตได้จากชื่อ ปีศาจ ในใบปิดของเรื่อง
(เคยอ่านบทความนานแล้วจนจำไม่ได้ว่าใครเขียนเล่าประมาณว่า ร้านที่ตนไปหาซื้อหนังสือปีศาจ ปรากฏ
ว่าหนังสือปีศาจนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเรื่องผี)
            
Now & Then
นพ.ประจวบ มงคลศิริ และ สาย สีมา ในฉากไคลแมกซ์ท้ายเรื่อง เมื่อเขาลุกขึ้นประกาศตนเป็นปีศาจ
ที่หลอกหลอนผู้คนชนชั้นสูงในห้องจัดงานเลี้ยง


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ธ.ค. 14, 15:31
เคยอ่านบทความนานแล้วจนจำไม่ได้ว่าใครเขียนเล่าประมาณว่า ร้านที่ตนไปหาซื้อหนังสือปีศาจ ปรากฏ
ว่าหนังสือปีศาจนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเรื่องผี
 

คงอ่านจากบทความเดียวกัน  ;D

"ปีศาจ" ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ก็สนุก

เคยอ่านพบว่า ร้านหนังสือบางแห่งจัดเอาไว้ในหมวดหมู่นิยายผี  


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 01 ธ.ค. 14, 16:51
          ปีศาจ เล่มแรกรู้จักมีปกสีแดงแบบนี้เช่นกันแต่เก่ากว่า ปกแข็งหนาแบบหนังสือนิยาย
ย่านวังบูรพาสมัยก่อนแต่ไม่มีใบหุ้มปก

ความรักของวัลยา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2496 ปกแข็ง มีใบหุ้มปกภาพวาดโดย พนม สุวรรณบุณย์
ที่คุ้นเคยตา
จาก nongpangbook.com


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 04 ธ.ค. 14, 09:44
         ค้นหาจนเจอหนังสือ ปีศาจ (และ ความรักของวัลยา) เล่มที่เคยเห็นตอนเป็นเด็ก แต่
เจอเป็นตัวหนังสือ ไม่ใช่ภาพ จากบทความ ประวัติศาสตร์วรรณกรรม

          ปีศาจของกาลเวลา : การรื้อฟื้นงานเสนีย์ เสาวพงศ์ในยุคแสวงหา
ประจักษ์ ก้องกีรติ : เขียน
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

            ราวปี 2513 ท่ามกลางบรรยากาศของสังคมไทยยุค "แห่งการพัฒนา", "อเมริกันในไทย"
และ "เผด็จการคณาธิปไตย" แม้จะไม่ใช่ปีที่สลักสำคัญจนถูกบันทึกหรือได้รับการจดจำเป็นพิเศษ
ในหน้าปฏิทินประวัติศาสตร์ไทย แต่เป็นปีที่มีความหมายพิเศษบางอย่างในทางภูมิปัญญาและการเมือง
วัฒนธรรม เมื่อพบว่ามีการปรากฏตัวของหนังสือ 2 เล่ม เผยโฉมสู่ท้องตลาดในเวลาไม่ห่างกันนัก
รูปเล่มหนังสือได้รับการออกแบบอย่างประณีตสวยงามแสดงถึงความเอาใจใส่ของผู้พิมพ์ จัดทำเป็น
ปกแข็งและพิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์อย่างดี

- เล่มหนึ่งปกสีเหลืองอ่อนรูปหนุ่มสาวคู่หนึ่งเดินคล้องแขนกันมีฉากหลังเป็นหอไอเฟล

(คือ ความรักของวัลยา จัดพิมพ์โดยมิตรนรา ออกวางจำหน่ายก่อนในปี 2513


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 04 ธ.ค. 14, 09:47
จนล่วงถึงปี 2514 ปีศาจจึงตามมา ทางสำนักพิมพ์เขียนชี้แจงว่าเล่มนี้ถือเป็นตอนต่อจาก
ความรักของวัลยา ขอให้อ่านควบคู่กัน! โดยได้มีการนำมารวมขายเป็นชุดเดียวกัน)

- อีกเล่มหนึ่งปกสีแดงเป็นรูปภูติผีกำลังแหวกว่ายดูน่ากลัว

          ทั้งสองเล่มปลาสนาการจากสายตาสาธารณชนหลังจากตีพิมพ์ครั้งแรกแล้วเกินกว่า 1 ทศวรรษ
การปรากฏตัวครั้งใหม่นี้ทำให้คนหนุ่มสาวยุคนั้นได้รู้จักวรรณกรรมเนื้อหาแปลกๆ 2 เรื่อง กับชื่อผู้เขียน
ไม่คุ้นหู 1 นาม หนังสือสองเล่มนั้นชื่อ "ความรักของวัลยา" และ "ปีศาจ" ส่วนนามของผู้เขียนคือ
"เสนีย์ เสาวพงศ์"...

        ผลงานจากยุค 2490 ทำให้นักศึกษาและปัญญาชนรุ่นหลังพบว่าความคิดต่อต้านท้าทายอำนาจ
เคยมีในสังคมไทยอยู่แต่เดิม การได้สัมผัสงานเหล่านี้ให้ทั้งรากทางความคิดและแรงบันดาลใจในการต่อสู้
ทางการเมืองแก่พวกเขา 
         ในบรรดางานทั้งหมดที่ถูกรื้อฟื้น เป็นไปไม่ได้หากจะไม่กล่าวถึงงานของเสนีย์ เสาวพงศ์ นักเขียน-
นักการทูตผู้โด่งดังจากยุคเฟื่องฟูของศิลปะเพื่อชีวิตในทศวรรษ 2490           

ไม่ปรากฏปีศาจเล่มจัดพิมพ์ครั้งนี้ในเน็ทหน้าต่างๆ


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 04 ธ.ค. 14, 09:49
ร้อยกรองรำลึกอาลัย สาย สีมา โดย ชมัยภร แสงกระจ่าง


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ธ.ค. 14, 10:38
กราบลา สาย สีมา-ศักดิชัย บำรุงพงศ์  

พนมมือก้มกราบรับทราบแล้ว
แม้รู้ว่าดวงแก้วต้องร่วงหล่น
แต่กระนั้นก็สะเทือนลั่นเลื่อนกมล
เพราะพี่คือคนในหัวใจสมัยของเรา
“สาย สีมา” ไปหา”รัชนี” เถิด
ชีพก่อเกิดแล้วก็ดับกลับว่างเปล่า
แต่ผลงานยังเร้ารุกยังปลุกเร้า
ยังเป็นเงาแห่ง “ปีศาจ”ตวาดวง
“วัลยา”จะอาลัยในความรัก
สุภาพบุรุษผู้ทอถักรัก “บุญส่ง”
นาม “เสนีย์ เสาวพงศ์” จะยังคง
อัศจรรย์ยืนยงดำรงไกล
“ชีวิตบนความตาย” หมายมาถึง
สิ้นมือซึ่งจับปากกาน้ำตาไหล
แต่วรรณกรรมผลงานอันตรึงใจ
ยังจับมั่นอยู่ในหัวใจชน
ไปสู่สุคติเถิดพี่ชายใหญ่
ทานตะวันดอกใหม่จะเกลื่อนกล่น
“ดิน น้ำและดอกไม้” รายหลากล้น
ต้อนรับพี่อยู่บนสวรรยา
 

ชมัยภร  แสงกระจ่าง
๒๙  พฤศจิกายน  ๒๕๕๗


(https://scontent-a-sjc.xx.fbcdn.net/hphotos-xaf1/v/t1.0-9/s720x720/10474441_10205538121241511_5479910087691776402_n.jpg?oh=1ef3212753e1f06763a6a19401b80dbc&oe=55161E59)

เสนีย์ เสาวพงศ์ และ ชมัยภร แสงกระจ่าง ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๓

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley17.png)


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ธ.ค. 14, 11:26
มารู้จัก "เสนีย์ เสาวพงศ์" ผ่านบทสัมภาษณ์  ;D

http://www.youtube.com/watch?v=H-dYJP7O6b8#ws (http://www.youtube.com/watch?v=H-dYJP7O6b8#ws)


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ธ.ค. 14, 13:31
พี่เสที่ผมรู้จัก โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์  จากหนังสือ  "๘๔ เสนีย์ เสาวพงศ์ ไฟยังเย็นในหัวใจ"


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ธ.ค. 14, 13:40
.


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ธ.ค. 14, 16:49
แด่ คุณศักดิชัย  บำรุงพงศ์  “๙๐ ปี  เสนีย์  เสาวพงศ์”

๙๐  ปี    สง่าแม้น                จอมพล
เสนีย์     แห่งอักษรถกล          เกียรติก้อง
เสาว      รสแก่ปวงชน           คำชื่น
พงศ์      หนังสือต่างพร้อง        แผ่พื้นวรรณไสว

ทาน       ทนในนิ่งสู้             เผด็จการ
ตะวัน      เฉิดดวงฉมฉาน        ค่ำเช้า
ดอก       น้อยติดตามบาน       ดวงแบ่ง
หนึ่ง       ดอกพี่เร่งเร้า           เกิดน้องอสงไขย


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ธ.ค. 14, 16:53
“เสนีย์ เสาวพงศ์”             ยืนดำรงมานานไกล
เสนีย์แห่งวรรณไผท            สง่างามทุกยามยิน
“ความรักของวัลยา”          หญิงมั่นกล้าในแผ่นดิน
“ปีศาจ”ผงาดสิ้น              ปรับชีวิตปรับปัญญา

“ดิน น้ำ และดอกไม้”         บานไสวเกินพรรณนา
“คนดีศรีอยุธยา”             คือสามัญอันยืนยง
ยืนยัน “ทานตะวัน            ดอกหนึ่ง”นั้นอันดำรง
“ขอให้การพายเรือฯ”คง     เป็นอมตะนิรันดร

เก้าสิบปีแห่งชีวิต             นิรมิตมวลอักษร
เยือกเย็นและเร่าร้อน         ประทับไว้ในทรงจำ
เป็นหลักแห่งวรรณศิลป์      และเป็นปิ่นแห่งวรรณกรรม
เป็นขวัญแห่งถ้อยคำ         และเป็นหมุดที่หมายจาร


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ธ.ค. 14, 16:56
ดั่งว่าเป็นทานตะวันดอกหนึ่ง
แหงนหน้าซึ่งสู้ตะวันอันฉายฉาน
พระอาทิตย์แผดกล้ามาช้านาน
ก็ทนทานต้านสู้ไม่รู้รา

ทานตะวันดอกใหญ่ก่อให้เกิด
ดอกเล็กเล็กบานเฉิดอยู่ทั่วหล้า
หากเป็นชายชื่อว่า “สาย  สีมา”
หากเป็นหญิงชื่อ “วัลยา” ประมาณกัน

เก้าสิบปีทานตะวันอันแข็งแกร่ง
เก้าสิบปียังมีแรงยังแฝงฝัน
เก้าสิบปียังมีใจต่อใจพลัน
เก้าสิบปียังยืนยันยังยืนยง

ขอจงเป็นทานตะวันอันอมตะ
บานสวยสะให้ใครใครได้ใหลหลง
ขอเกียรติคุณ “เสนีย์  เสาวพงศ์”
เด่นดำรงคู่ไทยไปชั่วกาล

ชมัยภร  แสงกระจ่าง
นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
๑๑ กรกฎาคม  ๒๕๕๑


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ธ.ค. 14, 11:01
นพ.ประจวบ มงคลศิริ และ สาย สีมา ในฉากไคลแมกซ์ท้ายเรื่อง เมื่อเขาลุกขึ้นประกาศตนเป็นปีศาจ
ที่หลอกหลอนผู้คนชนชั้นสูงในห้องจัดงานเลี้ยง


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6171.0;attach=53163;image)

พบกับ สาย สีมา ได้ในวันอาทิตย์ที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๗  ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ;D


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 08 ธ.ค. 14, 11:21
บรรทัดล่างสุดบอกว่า *อยู่ในระหว่างทาบทาม  ;D

         เวลาเปลี่ยนผ่านไปหลายทศวรรษ, ถึงยุคนี้ ปีศาจ อาจแปลงร่าง แปรรูป ฤทธิ์อาจ
ลดลงไปไม่สามารถหลอกหลอนผู้คนชนชั้นสูงได้ดังก่อน

          


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ธ.ค. 14, 10:30
        เวลาเปลี่ยนผ่านไปหลายทศวรรษ, ถึงยุคนี้ ปีศาจ อาจแปลงร่าง แปรรูป ฤทธิ์อาจ
ลดลงไปไม่สามารถหลอกหลอนผู้คนชนชั้นสูงได้ดังก่อน

อย่างน้อยก็ยังสามารถหลอกหลอนคนบางคนได้อยู่

ทหารโผล่ พบผู้จัดงานรำลึก "เสนีย์ เสาวพงศ์" เคลียร์กันเข้าใจ-สุดท้ายขอมาฟังด้วย (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1418041243)  ;D


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ธ.ค. 14, 14:50
รู้จัก ศักดิชัย บำรุงพงศ์ ผ่าน ส. ศิวรักษ์ (https://www.facebook.com/sulak.sivaraksa/photos/a.10151360922012798.1073741826.114459752797/10152628607202798/?type=1&theater)

[ แด่คุณศักดิชัย บำรุงพงศ์ ]
(๑๒ กรกฎาคม ๒๔๖๑ - ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗)

ข้าพเจ้ารู้จักคุณศักดิชัยยิ่งกว่ารู้จัก 'เสนีย์ เสาวพงศ์' ซึ่งเป็นนามปากกาอันลือชื่อของท่าน โดยที่คนซึ่งตั้งตัวเป็นหัวก้าวหน้า ย่อมต้องรู้จักผลงานของเสนีย์ เสาวพงศ์ ด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะก็เรื่อง "ปีศาจ" เสนีย์ เสาวพงศ์เองก็ได้รับการยกย่องจากหลายต่อหลายวงการ เช่น เป็นคนแรกที่ได้รับรางวัลศรีบูรพา เป็นต้น

แต่คนส่วนใหญ่คงไม่รู้ ว่าการผลิตวรรณกรรมเป็นงานอดิเรกของท่าน ซึ่งทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการรับใช้กระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่สมัยคุณดิเรก ชัยนามเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้น โดยมีคุณศักดิชัยเป็นหน้าห้อง และในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น คุณดิเรกกับหลวงอดุลเดชจรัสประสานงานกันอย่างสำคัญทางด้านเสรีไทย บ่อยครั้งคุณหลวงจะโทรศัพท์มาถึงคุณดิเรกเอง โดยมีคุณศักดิชัยรับโทรศัพท์ที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อได้ยินคำว่า "นี่อดุลพูด ต้องการพูดกับคุณดิเรก" คุณศักดิชัยแทบหัวใจวาย และเมื่อคุณหลวงมาหาคุณดิเรก ตอนเดินออกจากกระทรวง ท่านไม่ให้คุณศักดิชัยเดินตามท่าน หากให้เดินไปข้างหน้า เผื่อใครลอบยิงท่านจะได้ยิงคุณศักดิชัยก่อน

อนึ่ง คุณดิเรก ชัยนาม เคยบอกว่า คุณศักดิชัย เธออยู่หน้าห้องอาจารย์ ทำงานหนักมาก แต่จะขึ้นเงินเดือนให้เธอ คนก็จะนินทา งบประมาณของกระทรวงฯมีจำกัด ให้คนอื่นเขาเงินเดือนขึ้นไปก่อนเถอะนะ

วันที่คุณศักดิชัยหมั้นกับคุณเครือพันธ์ โดยมีท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์เป็นประธานนั้น ท่านผู้หญิงถูกจับในข้อหากบฏสันติภาพกลางพิธีหมั้นวันนั้นเลย และบิดาของคุณเครือพันธ์ ก็คือ คุณเฉลียว ปทุมรส ซึ่งเคยเป็นราชเลขาธิการในรัชกาลที่ ๘ และถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ลอบวางแผนปลงพระชนม์ในหลวงพระองค์นั้น จนศาลฎีกาซึ่งปราศจากความยุติธรรมตัดสินให้ประหารชีวิตคุณเฉลียว เช่นเดียวกับคุณชิต สิงหเสนีและคุณบุศย์ ปัทมศริน คุณศักดิชัยปิดปากเงียบ ไม่พูดเรื่องกรณีสวรรคตเอาเลย ทั้ง ๆ ที่ศรีภรรยาเป็นทนายให้บิดา ซึ่งก็คือพ่อตาของคุณศักดิชัย

เพราะทำงานใกล้ชิดกับคุณดิเรก และท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หลังรัฐประหาร ๒๔๙๐ คุณศักดิชัยจึงตกอับที่กระทรวงการต่างประเทศตลอดมา ดังทางกระทรวงการต่างประเทศนั้น ก็ส่งคุณศักดิชัยไปทำงานยังสถานทูตที่ไกลโพ้นถึงอเมริกาใต้ และค่อย ๆ ย้ายเข้ามา จนถึงกรุงเวียนนา ซึ่งท่านเป็นเบอร์ ๒ รองจากเอกอัครราชทูต โดยมีนายวรพุทธิ์ ชัยนาม ทำงานร่วมด้วย ในฐานะเลขานุการตรี ทั้งสองคนนี้เข้ากันได้อย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย ทั้งทางด้านวรรณกรรมและการเมือง ซึ่งทั้งคู่อยู่ฝ่ายค่ายสังคมนิยม ในขณะที่เอกอัครราชทูต ณ สถานที่แห่งนั้น เป็นคนขวาตกขอบอย่างปราศจากรสนิยมใด ๆ สิ้น

เมื่อคุณศักดิชัยมีตำแหน่งหน้าที่ถึงขั้นควรเป็นเอกอัครราชทูต กระทรวงฯก็เลือกให้ไปเป็นทูตที่เอธิโอเปีย ซึ่งทางกระทรวงฯเห็นว่า อยู่ในทวีปแอฟริกาอันเลวร้ายอย่างสุด ๆ เมื่อคุณศักดิชัยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตที่พม่าก็บินตรงจากเอธิโอเปียไปประเทศใหม่นี้เลย โดยไม่ได้เข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณา จะว่านี่เป็นเรื่องทางการเมืองได้ไหม โดยเราต้องไม่ลืมว่าเวลานั้น พี่ชายของคุณศักดิชัยเป็นผู้บัญชาการทหารบก

สำหรับตัวข้าพเจ้าเองนั้น ได้คุ้นเคยกับคุณศักดิชัยเกือบตลอดสมัยที่ท่านทำงานอยู่กระทรวงการต่างประเทศ ดังนายสละ ศิวรักษ์ ลูกผู้พี่ของข้าพเจ้า ก็ร่วมงานกันกับคุณศักดิชัยในขบวนการเสรีไทย และช่วยกันหาเสียงให้คุณดิเรก ชัยนาม ตอนที่ท่านสมัครเป็น ส.ส. พระนคร และเป็นผู้เดียวที่ชนะ โดยชนะผู้สมัครคนอื่น ๆ ของพรรคประชาธิปัตย์เอาเลย

ดังได้กล่าวแล้วว่าข้าพเจ้าคุ้นเคยกับคุณศักดิชัยและคุณเครือพันธ์มานาน แม้เมื่อท่านมาเป็นประธานที่ปรึกษาของหนังสือพิมพ์ "มติชน" ก็ยังสนิทสนมกลมเกลียวกัน แม้เจ้าใหญ่นายโตของสำนักนั้นจะหันหลังให้ข้าพเจ้าแล้วก็ตาม

คุณศักดิชัย เป็นคนพูดน้อย และมีอารมณ์ขัน อันยิ้มเยาะตัวเองได้เนือง ๆ โดยไม่โฆษณาชวนเชื่อให้ตัวเองเอาเลย แม้เมื่อท่านได้รับเชิญให้ไปแสดงปาฐกถาหรืออภิปรายในที่ต่าง ๆ ท่านยังไม่ยอมบอกให้ "มติชน" ไปทำข่าว ท่านบอกว่าเดี๋ยวจะกลายเป็นโฆษณาให้ตัวเองไป

คุณศักดิชัยมีอายุยืนนาน แม้ตอนหลังจะแทบไม่รับรู้อะไร ๆ เอาเลยก็ตาม ที่ดีก็คือ ท่านไม่ทราบเอาเลยด้วยซ้ำว่าคุณเครือพันธ์ตายจากท่านไปก่อน

เท่าที่เขียนมานี้ ก็เพื่ออยากให้มหาชนได้ทราบว่าคุณศักดิชัย บำรุงพงศ์ มีสาระแห่งความเป็นมนุษย์อย่างน่าชื่นชม นอกเหนือไปจากผลงานอันเป็นอมตะของเสนีย์ เสาวพงศ์

ส. ศิวรักษ์
๒-๑๒-๕๗


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 11 ธ.ค. 14, 15:10
ขอบคุณคุณเพ็ญที่นำมาแชร์
              อ่านเรื่องเล่า, เรื่องเขียนของคนอื่นก็ไม่สนุกเท่าเรื่องเล่าของ ส ศ ษ
เพราะมีเรื่องน่าสนใจที่ไม่เคยรู้, เคยได้ยินมาก่อนเสมอ
          
อ้างถึง
จอย ปทุมรส บำรุงพงศ์ อ่านแล้วสะเทือนใจมาก บางเรื่องไม่เคยทราบมาก่อนเลย
ขอบพระคุณที่เขียนถึงคุณพ่อค่ะ


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 11 ธ.ค. 14, 23:20
ไม่เคยทราบมาก่อนว่าชีวิตของท่านประสบกับความยากลำบากขนาดนี้ อ่านแล้วสงสารท่านจังเลยค่ะ


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ธ.ค. 14, 06:02
ปูชนียาลัย เสนีย์ เสาวพงศ์

เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ธ.ค. 14, 06:39
ปลุกวิญญาณขบถแห่งยุคสมัย
ปลุกหัวใจเยาวชนคนหนุ่มสาว
ให้ความรักความหวังดั่งดวงดาว
ให้แวววาวจากวันนั้นจนวันนี้

สิ้น “เสนีย์ เสาวพงศ์” คงความหมาย
ไม่สิ้น “สาย สีมา” ทำหน้าที่
ไม่สิ้นแสงแรงสาดหนึ่ง “รัชนี”
จากมือผู้ผจงพจี เจียระไนฯ


(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley17.png)


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 14 ธ.ค. 14, 07:35
บ่ายนี้จะไปฟังเสวนาค่ะ แล้วดูหนังเรื่องปีศาจ ขอสารภาพว่าเคยได้ยินชื่อนิยายเรื่องนี้ แต่ไม่เคยสนใจที่จะอ่านเลยค่ะ ต้องขอบพระคุณอาจารย์เพ็ญชมพูและทุกท่านที่นำข้อมูลมาแบ่งปัน ทำให้หูตาดิฉันขยายกว้างขึ้น ว่าแต่...ไม่ทราบว่าหนังจะเหมือนกับในหนังสือหรือเปล่าคะ ???


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ธ.ค. 14, 06:18
บ่ายนี้จะไปฟังเสวนาค่ะ แล้วดูหนังเรื่องปีศาจ ขอสารภาพว่าเคยได้ยินชื่อนิยายเรื่องนี้ แต่ไม่เคยสนใจที่จะอ่านเลยค่ะ ต้องขอบพระคุณอาจารย์เพ็ญชมพูและทุกท่านที่นำข้อมูลมาแบ่งปัน ทำให้หูตาดิฉันขยายกว้างขึ้น

ยินดีที่คุณแอนนาได้รับประโยชน์สมความปรารถนา ตามความในเพลงนี้

http://www.youtube.com/watch?v=PcfWIWOW4wY#ws (http://www.youtube.com/watch?v=PcfWIWOW4wY#ws)

นำมาฝาก สำหรับคนพลาดงานเมื่อวานนี้  ;D

http://youtube.com/watch?v=MlKuXEdpHng#ws (http://www.youtube.com/watch?v=MlKuXEdpHng#ws)



กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 15 ธ.ค. 14, 14:31
        มีเซอร์ไพรส์ท้ายการอภิปรายด้วย: รัชนี ก็เป็น ปีศาจ


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ธ.ค. 14, 15:51
นาทีที่ ๑.๓๒.๔๐ ถึง ๑.๓๓.๐๕

ที่แท้จริงของปีศาจในเรื่องนี้คือ "รัชนี" เพราะรัชนีประกาศตัวเป็นขบถชัดเจนต่อชนชั้นตัวเอง แล้วหลอกหลอนชนชั้นตัวเองอย่างรุนแรงที่สุด ในขณะที่ชนชั้นตัวเองรักและผูกพันตัวรัชนี

เสนีย์ เสาวพงศ์

จากความทรงจำของนายแพทย์ประจวบ มงคลศิริ ผู้แสดงเป็น สาย สีมา ในภาพยนตร์เรื่อง ปีศาจ



กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 14, 16:06
กวีประชาภิวัฒน์ : หยดหนึ่งแห่งกาลเวลา โดย ราตรี ประดับดาว
(แนวหน้า 14 ธํนวาคม 2557)

ใบไม้หนึ่งร่วงปลิวพลิ้วชายป่า
พงพนามิสะเทือนถึงเลื่อนลั่น
แต่ต้นใหญ่ไม้แกร่งแห่งวงวรรณ
กลับกระเทือนเฟือนสนั่นลั่นปลายฟ้า

เธอคือไม้ต้นแกร่งแห่งวรรณศิลป์
ที่หลั่งรินความหมายให้ค้นหา
แม้เป็นเพียง”หยดหนึ่งแห่งกาลเวลา”
หากเหมือน”ความรักของวัลยา”ค่าอนันต์

เริ่มต้นที่”โบ้ บางบ่อ”แหล่งก่อร่าง
พลันสรรค์สร้างแรงไฟความใฝ่ฝัน
ที่หนังสือ “สุวัณภูมิ”ปูมสำคัญ
แหล่งเพาะพันธุ์ตำนานอันงดงาม

”ชัยชนะของคนแพ้” สรรพ์แง่คิด
เริ่มชีวิตเดินทางไกลฝ่าไหน่หนาม
เป็น “เสนีย์ เสาวพงศ์”ธำรงนาม
คู่สยามตราบนิรันดร์กัลปา

จาก”เดือนตกในทะเลจีน”ถึง ”ปีศาจ”
คือประกาศสัจธรรมอันล้ำค่า
กระทั่งถึง ”คนดีศรีอยุธยา”
คือ”ทานตะวันดอกหนึ่ง”กล้าท้าตาวัน

เก้าสิบหกปีกาลงานหลากหลาย
ผ่าน”ชีวิตบนความตาย”คล้ายความฝัน
นักการทูต-นักหนังสือพิมพ์-นักประพันธ์
คือหนึ่งหมุดหนึ่งชีวันอันแสนงาม

คือคนแรกแห่งรางวัล “ศรีบูรพา”
หนึ่งตำรา “ศิลปินแห่งชาติ”สยาม
คือคนแรก”นักเขียนอมตะ”ประกาศนาม
หนึ่งนิยามรางวัล”นราธิป” ทิพธารา

นับแต่หนึ่งวินาทีนี้ต่อไป
จะมีใครถาม ”อุชเชนี”อีกทีว่า
“เมื่อไรเด็กสองคนนั้นจะมา-
พาเราไปกินข้าวกลางวันกัน”

เมื่อไม้ใหญ่แห่งพนานต์วรรณศิลป์
จำร่วงโรยโบยบินถิ่นสวรรค์
เด็กใดใดในแผ่นดินสิ้นรำพัน
ไม่มีวันพรุ่งนี้...นิรันดร!!!@

(แด่ เสนีย์ เสาวพงศ์ 12 กค 2461-29 พย2557)


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 15 ธ.ค. 14, 21:45
อาจารย์เพ็ญชมพูก็ไปงานเมื่อวานนี้มาเหมือนกันหรือคะ ไปร่วมงานเมื่อวานนี้ดิฉันได้ความรู้เพิ่มอีกเพียบเลยค่ะ แถมยังได้พบนักเขียนอีกหลายท่านด้วย


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ธ.ค. 14, 22:04
ไปทางอินทรเนตร จะได้บรรยากาศสู้ไปด้วยตัวเองอย่างไรได้

อยากให้คุณแอนนากรุณาเล่าสู่กันฟังถึงบรรยากาศและความรู้ที่เก็บเกี่ยวได้จากงาน อยากฟังจัง  ;D



กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 16 ธ.ค. 14, 08:40
บรรยากาศคึกคักมากค่ะ ผู้คนล้นหลามจนที่นั่งไม่พอต้องเสริม บางคนหาที่นั่งไม่ได้ต้องลงนั่งกับพื้นก็ยอม ผู้จัดถึงกับออกปากว่าถือเป็นปรากฏการณ์ เพราะที่ผ่านมาการจัดงานแต่ละครั้งต้องคอยลุ้นว่าจะมีคนมีร่วมงานหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้ ดิฉันคิดว่าอาจเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์ในครั้งก่อนๆน้อยเกินไปก็ได้ ดิฉันเอง ถ้าไม่เข้ามาอ่านกระทู้นี้ในเรือนไทยก็คงไม่ทราบเรื่อง และไม่สนใจจะติดตามด้วย

ผู้ร่วมงานที่ลงทะเบียนได้รับแจกหนังสือ"เรื่องสั้นสันติภาพ" โดยถ้วนหน้า  ตอนที่เค้าขานชื่อเรียกรับหนังสือ ได้ยินชื่อ"อุทิศ เหมะมูล" แต่ดิฉันไม่เห็นตัว ได้เห็น"สุชาติ สวัสดิ์ศรี" ได้พบอาจารย์เพ็ญศรี เคียงศิริ "นราวดี" ท่านไปคนเดียว พอดิฉันเห็นว่าท่านเดินไม่ค่อยถนัดนักจึงเข้าไปช่วยรับหนังสือแทน และดูแลพาท่านลงลิฟท์ไปเข้าห้องน้ำ ตลอดจนเดินเป็นเพื่อนพาท่านไปส่งที่รถ เลยได้คุยกัน  พอเห็นนักเขียนหลายท่านเข้า ดิฉันยังแอบหวังว่าจะได้พบ"ว.วินิจฉัยกุล/แก้วเก้า"นักเขียน idol ของดิฉัน แต่ก็ไม่พบ :(

ดิฉันได้ที่นั่งติดกับคุณวาณี สายประดิษฐ์ บุตรสาวคนเล็กของท่านปรีดี พนมยงค์ และเป็นสะใภ้ของ "ศรีบูรพา"ได้คุยกับคุณวาณีดิฉันก็ได้รับความรู้เพิ่มอีกหลายเรื่อง และท่านยังให้เกียรติเชิญดิฉันไปเยี่ยมชมบ้านของท่าน ซึ่งกำลังจะปรับปรุงทำเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงผลงานของศรีบูรพา   
สุดท้ายได้ชมภาพยนต์เรื่องปีศาจ ซึ่งเพิ่งเข้าใจเดี๋ยวนั้นเองว่าปีศาจที่ว่าหมายถึงอะไร




กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 16 ธ.ค. 14, 10:49
บรรยากาศคึกคักมากค่ะ ผู้คนล้นหลามจนที่นั่งไม่พอต้องเสริม

(ไม่ได้ไป, อาศัย) ภาพจากเฟซบุ๊ค ยอดบางเตย


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ธ.ค. 14, 15:47
สาย สีมา (โปรยชัย ชโลมเวียง - นายแพทย์ประจวบ มงคลศิริ) และ รัชนี (ศรอนงค์ นวศิลป์) ในภาพยนตร์ พ.ศ. ๒๕๒๒ (ซ้าย) มาพบกันอีกครั้งในงานรำลึกถึงเสนีย์ เสาวพงศ์ (ขวา) ;D


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 18, 13:42
๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๑ รำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาล ศักดิชัย บำรุงพงศ์ "เสนีย์ เสาวพงศ์"


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 18, 20:16
[ เสนีย์ เสาวพงศ์ อายุครบ ๑๐๐ ]

คุณศักดิชัย บำรุงพงศ์ เป็นที่รู้จักกันในนามปากกามากกว่าคือเสนีย์ เสาวพงศ์  วันนี้อายุครบ ๑๐๐  เสียดายที่ไม่มีใครจัดงานเป็นที่ระลึกให้ท่านเลย  คุณเสนีย์เขียนหนังสือน้อยกว่าคุณคึกฤทธิ์  แต่มีคุณภาพมากกว่า และยืนหยัดอยู่เพื่อความยุติธรรมของสังคม โดยเป็นตัวแทนของคนข้างล่างที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ  ในขณะที่ข้อเขียนของคึกฤทธิ์ยืนอยู่ฝ่ายคนข้างบน กดหัวคนข้างล่าง ให้สยบยอมกับศักดินาขัตติยาธิปไตย  ทั้งงานเขียนของคึกฤทธิ์หลายชิ้นขโมยเอามาจากงานของฝรั่ง (plagiarism) ซึ่งเป็นอนันตริยกรรมในทางวรรณกรรม  แต่แล้วรัฐบาลไทยก็เสนอให้คึกฤทธิได้คำรับรองจาก UNESCO ว่าเป็นบุคคลตัวอย่าง  คงจะต้องใส่วงเล็บต่อไปว่า (เป็นตัวอย่างในทางกลิ้งกะล่อน หลอกหลวง และมอมเมาประชาชนมากกว่า)

คุณศักดิชัยรับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ เคยเป็นหน้าห้องของคุณดิเรก ชัยนาม เมื่อท่านผู้นั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  คุณศักดิชัยรับใช้คุณดิเรกอย่างใกล้ชิด พอถึงตอนเสนอให้ขึ้นเงินเดือน คุณดิเรกบอกกับคุณศักดิชัยว่า "ศักดิชัยรับใช้ใกล้ชิดอาจารย์ ถ้าเสนอขึ้นเงินเดือนให้เธอเป็นพิเศษ คนจะหมั่นไส้เอา อย่าเอาสองขั้นเลย"  แต่คุณศักดิชัยก็เคารพนับถือท่านเป็นอันมาก  

คุณศักดิชัยเคยเล่าให้ฟังว่ามีโทรศัพท์มาที่กระทรวง ซึ่งคุณศักดิชัยต้องรับก่อนและถามว่าใครพูด คำตอบก็คือ "อดุลพูด" ถามต่อไปว่า "อดุลไหน" คำตอบคือ "อดุลเดชจรัส จะพูดกับคุณดิเรก"  คุณศักดิชัยกลัวจนเกือบตกเก้าอี้  โดยที่เวลานั้นคุณหลวงอดุลฯใกล้ชิดกับคุณดิเรกมาก  เคยมาเยี่ยมที่กระทรวงต่างประเทศ เวลาเดินออกไปขึ้นรถ ท่านให้คุณศักดิชัยเดินนำหน้า เพราะท่านพกปืนติดตัวตลอด แสดงว่าไม่ไว้ใจใครเลย  

ต่อมาคุณศักดิชัยยังได้ร่วมงานกับ วรพุทธิ์ ชัยนาม ลูกชายของคุณดิเรก ณ สถานทูตไทย ณ กรุงเวียนนา  คุณศักดิชัยชื่นชมวรพุทธิ์มาก ว่าฉลาด ขยัน และอุทิศตัวเพื่อราชการยิ่งกว่าเห็นประโยชน์ส่วนตัว

เราต้องไม่ลืมว่า ภรรยาของคุณศักดิชัยนั้น เป็นลูกสาวคุณเฉลียว ปทุมรส ซึ่งเคยเป็นราชเลขานุการในพระองค์ในหลวงรัชกาลที่ ๘ และถูกศาลฎีกาลงโทษประหารชีวิตร่วมกับมหาดเล็กอีก ๒ คนที่เป็นผู้ต้องหา  ภรรยาคุณศักดิชัยเคยเป็นทนายให้พ่อ แต่เมื่อคดีนี้ผ่านพ้นไป ทั้งสองท่านนี้ไม่เคยพูดถึงกรณีสวรรคตอีกเลย

โดยที่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นประธานในการหมั้นคุณศักดิชัยและคุณเครือพันธ์ เพราะตอนนั้นอาจารย์ปรีดีลี้ภัยไปแล้ว และท่านผู้หญิงพูนศุขก็ถูกจับในงานหมั้นของคู่นี้เอง

ผมมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับคุณศักดิชัยได้มาก เพราะคุ้นกับท่านมานาน โดยที่ท่านเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตัว และมีอารมณ์ขันที่ถ้าใครตามท่านไม่ทัน ก็อาจจะไม่ขันไปด้วย  ส่วนงานเขียนของท่านนั้น บางชิ้นถือได้ว่าเป็นอมตะเอาเลย  

สมัยผมทำ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ได้อุดหนุนนักเขียนรุ่นใหม่ คนหนึ่งในจำนวนนี้คือ นิพนธ์ ขำวิไล ซึ่งเขียนฉันท์ได้เป็นเลิศ และเขียนเรื่องสั้นได้อย่างวิเศษ  ดังผมเคยให้แปลเป็นภาษาอังกฤษและนำไปลงพิมพ์ในนิตยสาร Solidarity ที่ฟิลิปปินส์ คุณศักดิชัยอ่านแล้ว บอกกับผมว่า "เด็กรุ่นใหม่เขาเขียนได้ดีกว่าผมเสียแล้ว" แสดงว่าท่านมีความอ่อนน้อมถ่อมตนมาก เสียดายที่นิพนธ์มุ่งความเป็นเลิศมากไป เขาจึงไม่มีวรรณศิลป์ทิ้งร่องรอยไว้ให้อีก

สำหรับงานเขียนของเสนีย์ เสาวพงศ์ นั้น เชื่อว่าจะมีคนพูดถึงได้มาก เพราะท่านมีความเป็นเลิศจริงๆ  และท่านเป็นคนแรกที่ได้รับรางวัลศรีบูรพา ต่อจากนั้นมาคนที่ได้รับรางวัลดังกล่าวจะหาใครที่มีงานเขียนเป็นเลิศ เช่นเสนีย์ เสาวพงศ์ เห็นจะหาไม่ได้

ในโอกาสศตวรรษชาตกาลของท่านคราวนี้  หวังว่าคนรุ่นใหม่จะเข้าถึงงานเขียนของท่าน และผลิตงานเขียนได้ตามรอยท่าน อย่าไปตามรอยคึกฤทธิ์ ปราโมช หรือหลวงวิจิตรวาทการ กันเลย

ขอแถมอีกนิดนึงว่า ปาจารยสาร เคยทำฉบับพิเศษสำหรับเสนีย์ เสาวพงศ์ ถ้าใครสนใจสามารถขอรับได้ตามรายละเอียดด้านล่างนี้

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10156184423322798&id=114459752797

ส. ศิวรักษ์


https://www.facebook.com/114459752797/posts/10156184792422798/


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 13 ก.ค. 18, 09:48
        ชอบอ่าน,ฟังเรื่องราวจาก ส.ศ.ษ. นอกจากเรื่องราวที่ไม่ค่อยได้ยิน,ฟัง ยังได้ฝึก "การทำใจให้เป็นกลาง(ไม่ยินดี,ยินร้าย)"
กับข้อความบางส่วนที่ชนแรงด้วย

รูปประกอบ คือหนังสือที่คุณเพ็ญได้รับแล้ว?


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 18, 09:56
        ชอบอ่าน,ฟังเรื่องราวจาก ส.ศ.ษ. ได้ฝึก "การทำใจให้เป็นกลาง(ไม่ยินดี,ยินร้าย)" กับข้อความบางส่วน
ที่ชนแรง
    เห็นด้วยค่ะ   ทำได้ก็เท่ากับผ่านขั้นตอนของอุเบกขาไปได้อีกขั้นหนึ่งแล้ว


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.ค. 18, 10:29
รูปประกอบ คือหนังสือที่คุณเพ็ญได้รับแล้ว?

ไม่ดอกเพียงบอกกล่าว
ถ่ายทอดข่าวเรื่องหนังสือ
หากใคร่ได้ถึงมือ
ไม่ต้องซื้อเพียงแจ้งไป


"ปาจารยสาร" ฉบับนี้ เมื่อทายาทของคุณศักดิชัยได้อ่านแล้ว ได้ส่งข้อความมายังสาราณียกรว่า "เปิดอ่าน น้ำตาซึม คิดถึงพ่อสุดหัวใจ ในฐานะลูก มันเป็นความภาคภูมิใจอย่างที่สุด ที่น้องยังศรัทธาในตัวพ่อ" (๒๒/๓/๕๘)

https://www.facebook.com/114459752797/posts/10156184423322798/


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ส.ค. 18, 09:52
ศักดิชัย บำรุงพงษ์ และสุภา ศิริมานนท์ นักเขียน นักแปล นักหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการ "อักษรสาส์น" รายเดือน

ปารีส ฝรั่งเศส ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่  ๒


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ส.ค. 18, 09:31
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย (ที่คนไม่ค่อยจะรู้) เกี่ยวกับเสนีย์ เสาวพงศ์

เสนีย์ เสาวพงศ์ เกือบจะมีชื่อจริงที่ไม่ใช่ “ศักดิชัย บำรุงพงศ์”

ก่อนหน้าปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ เสนีย์เคยมีชื่อจริงนับแต่แรกเกิด “บุญส่ง บำรุงพงศ์” ชื่อนี้เคยอยู่บนปกหนังสือ สตาลิน ผลงานแปลของเขา

ครั้นเมื่อจะเข้ารับราชการเลยต้องเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ เพราะยุคสมัยนั้นชายหญิงต้องใช้ชื่อให้เหมาะสมกับเพศ ให้สอดคล้องตามสมัยรัฐนิยม แท้แล้ว ชื่อที่เสนีย์ตั้งใจจะยื่นขอเปลี่ยนได้แก่ “สักกะ บำรุงพงศ์” แต่เจ้าพนักงานประจำอำเภอกลับบอกว่า “สักกะ” ไม่มีคำแปลจึงไม่ยอมให้ใช้ มิหนำซ้ำยังตั้งชื่อใหม่ให้เสนีย์เองเป็น “ศักดิชัย” ซึ่งเสนีย์ก็ยอมรับโดยดีหาได้ขัดข้อง ด้วยความที่เป็นคนไม่ชอบต่อล้อต่อเถียง

อ้อ! เกือบลืมแล้วสิ พระอินทร์คือคำแปลความหมายของ “สักกะ” ถ้าไม่เชื่อลองเปิดพจนานุกรมดูครับ


เสนีย์ เสาวพงศ์ เคยร่วมเรียบเรียงหนังสืออ่านเพิ่มเติมวิชาสังคมศึกษา

เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าเสนีย์ เสาวพงศ์ ได้สร้างผลงานวรรณกรรม สารคดี และบทความจิปาถะต่าง ๆ ไว้มากมาย แต่สิ่งที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงก็คือเสนีย์เคยเรียบเรียงหนังสืออ่านเพิ่มเติมสังคมศึกษา สำหรับประโยคมัธยมศึกษาตอนต้นด้วย

นั่นคือ เรื่องเที่ยวรอบโลก ตอนเที่ยวละตินอเมริกา ซึ่งมีประเทศเม็กซิโก กลุ่มประเทศอเมริกากลาง และดินแดนในทะเลแคริบเบียน
โดยทางกรมวิชาการได้ขออนุมัติกระทรวงศึกษาธิการให้นางสาวชูสิริ จามรมาน และนายศักดิชัย บำรุงพงศ์ เป็นผู้เรียบเรียงขึ้น และทางกระทรวงได้แต่งตั้งนายเสนาะ ครองอาตม์ เป็นผู้ตรวจ จัดพิมพ์ครั้งแรกจำนวน ๒,๐๐๐ เล่ม เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๑ เหตุที่ศักดิชัยหรือเสนีย์ได้รับหน้าที่ดังกล่าวอาจเพราะเขาเคยใช้ชีวิตนักการทูตในทวีปอเมริกาใต้นานหลายปี

ผมเองได้พลิกอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว เพลิดเพลินดีครับ เนื้อหาเข้าใจง่ายและมีภาพประกอบสีสันสะดุดตา เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นสนใจเรียนรู้ภูมิภาคละตินอเมริกาเลยทีเดียว

บางส่วนจากบทความ เรื่อง (ที่คนอาจไม่ค่อยจะรู้) เกี่ยวกับเสนีย์ เสาวพงศ์ ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาล โดย อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๑๗-๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๑

https://www.matichonweekly.com/literature/article_128350


กระทู้: สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 21, 15:05
๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ครบรอบ ๑๐๓ ปี ชาตกาล เสนีย์ เสาวพงศ์

ในวาระครบรอบ ๑๐๓ ปี ชาตกาล เสนีย์ เสาวพงศ์ ที่บรรจบครบรอบในวันนี้ ขอพานักอ่านย้อนรำลึกถึงประวัติของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ผู้ให้กำเนิด “ปีศาจ” อมตะนิยายของสามัญชน สุดยอดผลงานที่ครองใจนักอ่านข้ามยุคข้ามสมัย

เสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นนามปากกาของศักดิชัย บำรุงพงศ์ นักเขียนลือนามผู้สร้างสรรค์นิยายอมตะอย่าง ปีศาจ, ความรักของวัลยา, คนดีศรีอยุธยา และงานเขียนอื่น ๆ อีกหลายเล่มที่ครองใจนักอ่านมายาวนานกว่า ๕ ทศวรรษ ผลงานของเขาปลุกมโนสำนึกนักอ่านให้มองเห็นความอยุติธรรมในสังคมโดยมิได้สนับสนุนให้เสียเลือดเสียเนื้อ หากแต่กระตุ้นให้ผู้อ่านตื่นตัวขึ้นได้เอง เพื่อยกระดับสังคมไปสู่การแสวงหาเสรีภาพและแสงสว่างทางปัญญา

ผลงานวรรณกรรมของเขาเกิดขึ้นบนโต๊ะข่าวโดยแท้ จากลูกชาวนาแห่งบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ที่ใส่ใจการศึกษา ได้ย้ายมาเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดจักรวรรดิ และชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดบพิตรภิมุข กรุงเทพมหานคร จากนั้นศึกษาต่อที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เพียงเดือนเศษ บิดาก็ถึงแก่กรรม จนครอบครัวเกิดปัญหาทางการเงินเพราะขาดเสาหลักของบ้าน

ศักดิชัย บำรุงพงศ์ จึงได้ลาออกมาทำงานเป็นผู้แปลข่าวต่างประเทศและเป็นคอลัมนิสต์ให้แก่หนังสือพิมพ์ศรีกรุงและสยามราษฎร์ เขียนคอลัมน์ “ศรีกรุงจาริก” ใช้นามปากกาว่า “โบ้ บางบ่อ” อันมาจากถิ่นเกิดที่จังหวัดสมุทรปราการ ภายใต้การกุมบังเหียนของครูอบ ไชยวสุ ควบคู่ไปกับการเรียนนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

ในช่วงเวลานั้น ขณะที่ทำหน้าที่นักหนังสือพิมพ์อยู่ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ ได้เขียนบทความที่สร้างความกระทบกระเทือนต่อนายทหารผู้มีอำนาจผู้หนึ่งในสมัยนั้น จนเป็นเหตุให้ครูอบ ไชยวสุ ในฐานะบรรณาธิการถูกบีบบังคับให้ลาออก ศักดิชัย บำรุงพงศ์ จึงลาออกตามเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

จากนั้นเขาจึงเบนเข็มชีวิตด้วยการสอบเข้ารับราชการเป็นเสมียนแผนกพาณิชย์นโยบายต่างประเทศ กรมพาณิชย์ กระทรวงเศรษฐการ ทำหน้าที่แปลข่าวเศรษฐกิจและการค้า แต่ทำงานได้เพียงหนึ่งปีก็ต้องลาออกจากราชการ เพราะได้ทุนจากรัฐบาลเยอรมนีให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี

การเดินทางไปเยอรมนีในครั้งนี้กลับมีอุปสรรคจากภาวะสงคราม ศักดิชัย บำรุงพงศ์ จึงต้องเดินทางกลับประเทศไทยหลังจากที่นั่งรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียไปจนถึงสหภาพโซเวียตแล้ว เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย เขาจึงทำงานที่หนังสือพิมพ์สุวรรณภูมิ ในฐานะผู้แปลข่าวต่างประเทศ และเริ่มเขียนเรื่องสั้นโดยใช้นามปากกา “สุจริต พรหมจรรยา” และใช้นามปากกา “เสนีย์ เสาวพงศ์” เป็นครั้งแรกในการเขียนเรื่องสั้นชื่อ “เดือนตกในทะเลจีน” จนกระทั่ง “ญี่ปุ่นขึ้นฝั่งไทย” หนังสือพิมพ์จึงถูกจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข่าว โดยเฉพาะข่าวในประเทศ

นักหนังสือพิมพ์อย่างศักดิชัย บำรุงพงศ์ ที่อึดอัดกับสภาวะดังกล่าวจึงตัดสินใจเข้าทำงานในกระทรวงการต่างประเทศเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ จนกระทั่งเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. ๒๕๒๑ ในระหว่างที่อยู่ที่นี่ เขาได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ โดยสองตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตราชการของเขาคือ เอกอัครราชทูตวิสามัญประจำประเทศสังคมนิยมเอธิโอเปีย และเอกอัครราชทูตวิสามัญประจำสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า

เพราะเริ่มต้นอาชีพจากนักหนังสือพิมพ์และนักเขียน เมื่อรับราชการอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ ก็ยังคงเขียนหนังสือเรื่อยมาตลอดระยะเวลาที่ทำงานที่นี่ เขาให้สัมภาษณ์ไว้ในชาวกรุง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ ไว้ว่า “เรื่องที่เขียนส่วนใหญ่มาจากประสบการณ์และมาจากจินตนาการบ้าง นักเขียนได้เขียนจากประสบการณ์อย่างเดียว เขียนไปจะหมด ไม่มีอะไรใหม่ จะเป็นศิลปินได้ต้องรู้จักสร้างสรรค์ ใช้จินตนาการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทั้งหลายที่เราได้ประสบและเห็นมา”

ประสบการณ์ของศักดิชัย บำรุงพงศ์ ดูจะเป็น “ต้นทุน” และ “แต้มต่อ” ที่ดีกว่านักเขียนรุ่นเดียวกัน เพราะการเดินทางไปต่างแดนในฐานะข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ช่วยส่งเสริม “สายตา” และ “มุมมอง” ทางสังคมให้กับเขามากกว่านักเขียนร่วมรุ่น

การสัมผัสวัฒนธรรมต่างชาติอย่างกว้างขวางผ่านสายตาแบบปฐมภูมิ ทำให้ผลงานของศักดิชัย บำรุงพงศ์ สามารถเจาะลึกลงไปถึงแก่นความคิดของสังคมต่างแดนได้อย่างถึงราก สิ่งที่โดดเด่นในงานเขียนของเขาคือการหยิบยกอุดมคติทางสังคมและการต่อสู้เพื่อเสรีภาพมาเป็นแนวคิดหลักในการสร้างผลงาน แต่ทว่า ผลงานของเขากลับไม่ได้มีน้ำเสียงในการเรียกร้องอุดมคติดังกล่าวอย่างแข็งกร้าวหรือปลุกระดม แต่กลับแสดงออกอย่างเป็นกลาง ผ่านความบันเทิง และกระตุ้นผู้อ่านให้ได้คิดต่อด้วยตนเองถึงสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อผ่านนิยายของตน

อาจเป็นเพราะการเป็นข้าราชการด้วยส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลงานของศักดิชัย บำรุงพงศ์ ไม่มีท่าทีก้าวร้าว ปลูกฝัง ถ่ายทอดปัญญา และอุดมคติ มากกว่าการปลุกสำนึกความเป็นขบถทางการเมืองแก่ผู้อ่าน อีกทั้งยังเป็นนักเขียนที่มีผลงานต่อเนื่อง และสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพสูงอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลา ๕ ทศวรรษ จึงทำให้ผลงานและตัวตนของเขาเป็นเหมือนเสาหลักที่เหล่าปัญญาชนและนักคิดนักเขียนรุ่นใหม่ใส่ใจศึกษาอย่างจริงจัง หากจะพูดถึงหมุดหมายแห่งวรรณกรรมที่ว่าด้วยเสรีภาพในทศวรรษ ๒๕๑๐

ผลงานของศักดิชัย บำรุงพงศ์ ไม่เคยเชย และไม่มีวันตาย ด้วยเพราะว่าสิ่งที่เขาบอกแก่เรานั้นคือสัจธรรม คือความเป็นไปของโลกที่ไม่มีใครฉุดรั้งได้

อังคาร กัลยาณพงศ์ กล่าวถึงศักดิชัย บำรุงพงศ์ เจ้าของนามปากกาเสนีย์ เสาวพงศ์ ไว้ว่า “เทือกเขาของวรรณกรรมจะมียอดหลายยอด และเสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นยอดี่สูงที่สุดยอดหนึ่ง"

คำกล่าวอันยกย่องนี้จะถูกต้องแท้จริงสักเพียงไหน ท่านในฐานะนักอ่านต้องหาคำตอบด้วยตัวเอง

สำนักพิมพ์มติชน (https://www.facebook.com/119067444824615/posts/4383311778400139/)