เรือนไทย

General Category => หน้าต่างโลก => ข้อความที่เริ่มโดย: ดร.แพรมน และ นายตะวัน ที่ 25 ธ.ค. 01, 03:53



กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: ดร.แพรมน และ นายตะวัน ที่ 25 ธ.ค. 01, 03:53
ฟังคุณเทาชมพู ทบทวนเรื่อง ดารา สมัยเก่า เลย แอบทราบมาจากคุณเทาชมพู เกี่ยวกับ นักเขียนที่ ถูกลืม  "มาีรี คอเรลลี"


อัจฉริยะผู้ถูกลืม



   
นามของแมรี่ คอเรลลี อาจไม่เป็นที่คุ้นหูผู้อ่านชาวไทยนัก แต่ถ้าเอ่ยถึงนวนิยายชื่อ “ความพยาบาท”ของ ”แม่วัน” “เต็ลมา” “ขุนคลัง” “นางแก้ว” “อินโนเสนท์” และ “ศิสกา” (แปลโดย อมราวดี)แล้ว อาจไม่ฟังแปลกหูอีกต่อไป นวนิยายของเธอเป็นที่นิยมแพร่หลายตลอดช่วงปลายรัชสมัยวิกตอเรียน ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆทั่วโลก ถ้าพูดถึงยุคสมัยวิกตอเรียนแล้ว ก็อาจพูดได้เต็มปากว่า แมรี่ คอเรลลี เป็นนักเขียนสตรีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในอังกฤษ และแพร่มาถึงอเมริกา และข้ามฟากทวีปมาจนถึงเอเชีย
   
แต่ถ้าถามนักวรรณคดีในปัจจุบันว่า แมรี่ คอเรลลีคือใคร คำตอบเก้าในสิบคือ “ไม่ทราบ” ข้าพเจ้าเคยลองถามอาจารย์ชาวต่างประเทศสองท่านด้วยคำถามนี้ คนแรกจบทางวรรณคดีจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ คนหลังได้ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำของอเมริกา คนแรกตอบว่า “ไม่เคยได้ยินชื่อ” คนที่สองตอบว่า “เคยรู้ แต่ว่าเป็นนักเขียนสมัยปลายวิกตอเรียน แต่ไม่เคยอ่าน”
   
ทำไม..แมรี่ คอเรลลี ซึ่งมีชื่อเสียงในอังกฤษ ไม่แพ้ เจน ออสเตน พี่น้องบรองเต้ และเอลิซาเบธ บราวนิ่ง จึงถูกลืมเลือนเสียสิ้นในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา นวนิยายของเธอถูกตีพิมพ์ใหม่เป็นระยะๆแม้ในสมัยปัจจุบัน แต่ประตูของโลกวรรณคดีปิดตายสำหรับเธอ แต่กลับไปเปิดกว้างต้อนรับนักเขียนสตรีวิกลจริตอย่างเวอร์จิเนีย วูลฟ์
   
แมรี่ คอเรลลี เกิดเมื่อปี ค.ศ.๑๘๕๕ เป็นบุตรีของนายแพทย์ชาร์ลส์ แมคเคย์ และหญิงชาวอิตาเลียนผู้มีนามว่า มารี เอลิซาเบธมิลล์ ชีวิตวัยเยาว์ของเธออยู่ที่คฤหาสน์เฟิร์นเดลของบิดา ซึ่งเป็นบ้านแบบชนบทน่าสบายอยู่ใกล้หมู่บ้านมิคเกิ้ลแฮม แวดล้อมด้วยภูมิประเทศงดงามราวกับฉากในเทพนิยาย ทั้งวันแมรี่ท่องเที่ยวอยู่ตามลำเนาไพรเหล่านี้ เข้าถึงธรรมชาติจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวเอง อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แมรี่เชื่อถือเรื่องวิญญาณและความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ เพราะเธออยู่ไกลจากโลกมายาทั้งมวล
   
นายแพทย์แมคเคย์เป็นนักวรรณคดีคนหนึ่ง แม้ว่าบทโคลงกลอนจะไม่เป็นที่แพร่หลายนักก็ตาม แมรี่ได้พรสวรรค์และการอบรมทางวรรณคดีจากบิดาเต็มที่เธอเป็นเด็กฉลาด จึงเรียนรู้จากบิดาสอนอย่างรวดเร็ว นายแพทย์แมคเคย์หัดให้ลูกสาวอ่านผลงานของเชกสเปียร์ อาหรับราตรี และเรื่องของวอลแตร์ เป็นภาษาฝรั่งเศสตั้งแต่ยังเล็กๆและหัดให้เล่นเปียนโนตามแบบกุลสตรีสมัยนั้นนิยม พอแมรี่โตขึ้นก็ถูกส่งไปศึกษาเล่าเรียนในคอนแวนต์จนอายุครบ ๒๑ปี
   
แมรี่เขียนนวนิยายเรื่องแรก A Romance of two Worlds เมื่อปี ๑๘๘๖ เป็นเรื่องผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์ จินตนาการ และศาสนา ตามความฝันของเธอเรื่องวิญญาณอมตะ นวนิยายเล่มนี้ส่งชื่อเธอให้โด่งขึ้นมาราวกับพลุ ผู้คนอ่านแล้วอ่านเล่าอย่างซาบซึ้ง พร้อมกับจดหมายมาชมเชยไม่ขาดระยะพร้อมกันนั้น หน้าวิจารณ์ตามหนังสือพิมพ์ต่างๆก็ห้ำหั่นเรื่องของเธอไม่มีชิ้นดี หัวเราะเยาะหยันจินตนาการของเธอว่าเป็นไปไม่ได้ ข้อคิดแต่ละข้อโง่เขลาน่าหัวเราะ กระหน่ำซ้ำเติมโดยไม่มีความยุติธรรม ถ้าจะพูดกันตามหลักวิจารณ์ นักวิจารณ์ไม่มีสิทธิ์จะกล่าวหานักเขียนว่าโง่เขลาหรือตลกน่าทุเรศ วิธีการเขียนและจินตนาการเป็นความคิดของแต่ละคน
   
นวนิยายอื่นๆของแมรี่ตามออกมาเป็นทิวแถว เล่มที่ส่งเธอขึ้นไปสู่ความนิยมสูงสุดคือ “เต็ลมา” ลบรัศมีนักเขียนสตรีอื่นๆเสียสิ้น คำบรรยายในแต่ละเรื่องอ่อนหวาน แต่ก็หนักแน่นมั่นคง แจ่มกระจ่างด้วยภาพพจน์ตามแนวฝันของเธอ แต่นักวิจารณ์ก็พร้อมใจกันหัวเราะเยาะเย้ย ถากถางด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง  โจมตีตลอดมา ขณะที่ผู้อ่านทั่วประเทศ คลั่งไคล้ ใหลหลงเรื่องของเธอ แมรี่ตกอยู่ในสองอารมณ์ตลอดมา ถือความเจ็บปวดจากนักวิจารณ์ และความชื่นใจจากมหาชน
   
ข้อบกพร่องของแมรี่อยู่ที่ว่า เธอขาดความรู้ตามตำรานักปราชญ์ ดังนั้นข้อคิดต่างๆจึงออกมาจากสมองของเธอเสียส่วนใหญ่ และเมื่อเอ่ยถึงภูมิศาสตร์ ประเทศอื่นๆก็ปนเปอย่างน่าขัน แต่จินตนาการของแมรี่เต็มไปด้วยแสงสีอันพิสดารชนิดมีแต่อัจฉริยะเท่านั้นที่วาดออกมาได้ ความจริงใจขณะเขียนเป็นคุณสมบัติอีกประการหนึ่งที่ทุกคนยอมรับ แมรี่เชื่อในสิ่งที่เธอเขียนลงไป ปลายปากกาแหลมคมไม่วายตวัดเฉี่ยวนักวิจารณ์ผู้โจมตีเธออยู่ตลอดเวลา เมื่อเขียนถึงศาสนาก็ไม่ใช่ตามแบบความเชื่ออันงมงาย เธอเชื่อในความเป็นอมตะ ความเร้นหลับของจักรวาลและชีวิตหลังความตาย ความหนักแน่นจริงใจขณะเขียนนี้ทำให้เธอเข้าไปสู่หัวใจของคนอ่านตลอดมา
   
อีกประการหนึ่ง สิ่งที่แมรี่โจมตีตลอดมาถึงความไม่เสมอภาคของสตรี “ผู้ชายเห็นผู้หญิงเป็นสิ่งของครอบครอง ไม่มีชีวิตจิตใจ” เธอว่า “เขายินดีจะเห็นผู้หญิงเป็นนางระบำบำเรอความ


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: ดร.แพรมน และ นายตะวัน ที่ 27 พ.ย. 01, 21:46
สุขของเขามากกว่ายอมรับว่าเธอสามารถเป็นอัจฉริยะได้เช่นกัน เพราะเขาอิจฉาเกินกว่าจะทนยอมรับว่าตัวเองด้อยได้”
   
แมรี่เกิดมาอย่างเคราะห์ร้าย ตอนที่สมัยของเธอ ผู้หญิงเริ่มตื่นตัวทางสิทธิ และผู้ชายก็พยายามกดลงไปด้วยกลัวว่าจะสูญอำนาจ พวกนักวิจารณ์คู่แค้นของเธอไม่ได้สนใจเรื่องที่เธอเขียนมากไปกว่าความเป็นสตรีของเธอเอง สมัยก่อนหน้าสตรีนักเขียนต้องซุ่มซ่อนใช้ชื่อผู้ชายเวลาเขียนนวนิยาย แมรี่ใช้ชื่อสตรีเต็มภาคภูมิประสบความสำเร็จสูงสุด ความริษยาจากฝ่ายชายก็พุ่งขึ้น กลายเป็นสงครามจิตวิทยาอันยืดเยื้อจนเธอล่วงลับไป
   
แมรี่ วาดตัวเองไว้ในนวนิยายเกือบทุกเรื่องของเธอ เป็นหญิงสาวที่ครองความเป็นอัจฉริยะ แต่ก็ถูกกลั่นแกล้งหักโค่นจากเพศตรงข้ามตลอดมา นักวิจารณ์หัวเราะเยาะหยัน ถากถางใส่ไคล้เธอ แต่มหาชนก็ชื่นชมบูชาเธออย่างไม่เคยนิยมใครเท่าแฟนของเธอมีทั้ง มาร์ค ทเวน นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของอเมริกา โรเบิร์ต ฮัตชินส์ นักปรัชญาการศึกษา เอมเปรสแห่งออสเตรีย พระเจ้าเอิร์ดเวิร์ดที่เจ็ด กษัตริย์อังกฤษสมัยยังทรงเป็นปรินซ์ออฟเวลส์อยู่ ถึงกับมีพระราชโองการให้เธอเข้าเฝ้าเป็นส่วนพระองค์ และโปรดให้อุปรากรเล่นเพลงให้เธอเป็นพิเศษ หลังจากนั้นก็ทรงเป็นมิตรที่ดีของเธอตลอดมา
   
นวนิยายเรื่องยิ่งใหญ่ของแมรี่ คือ The sorrows of satan (ขุนคลัง แปลโดยอมราวดี) เป็นเรื่องที่ถูกวิจารณ์อย่างย่อยยับที่สุด แต่ประชาชนต้อนรับอย่างมั่งคั่งที่สุด จนสถิติการจำหน่ายสูงสุดเท่าที่เคยมีมาในบรรดานวนิยายอังกฤษ นักเทศน์หลายคนถือว่าหนังสือเล่มนี้เทียบเท่าคัมภีร์ใหม่ของคริสต์ศาสนา หลายคนเชื่อว่าแมรี่คือทูตสวรรค์ที่พระเจ้าส่งมาเพื่อฟื้นฟูความเชื่อความศรัทธาในบาปบุญคุณโทษ เพราะนับแต่ชาร์ลส์ ดาร์วินเขียนตำราว่าด้วยวัฒนาการของสัตว์โลกขึ้นมา ความศรัทธาของชาวคริสต์ก็ชักระส่ำระสาย หมดเชื่อเรื่องบาปกรรมจนสังคมชักจะเสื่อมโทรมขึ้นทุกวัน แมรี่เป็นคน วิญญาณมนุษย์ ที่จะไปสู่สวรรค์หรือนรกแล้วแก่การกระทำของตน เธอได้โครงเรื่องมาจากพระคัมภีร์ไบเบิ้ลที่ว่า
   
“พญามารได้มาล่อลวงพระคริสต์เจ้า แต่พระองค์ปฏิเสธสุข ลาภยศสรรเสริญ แล้วขับไล่มารไป ทำให้ฉันคิดได้ว่า พวกมนุษย์ทุกคนก็ควรดำเนินรอยตาม คือปฏิเสธอย่ามัวเมากับพญามาร เมื่อพญามารหลอกลวงเราไม่ได้แล้ว เราก็จะพ้นภัยและฉันเชื่อว่าพญามารเองก็คงดีใจเหมือนกันที่มนุษย์ละทิ้งตนไป  เพราะตัวเองจะได้พ้นโทษกลับสู่สวรรค์อีกวาระหนึ่ง”
   
ตรงข้ามกับจินตนาการอันแจ่มจ้าด้วยเรื่องจักรวาลอันอมตะของเธอ ความรู้ทันโลกของแมรี่น้อยอย่างไม่น่าเชื่อ เธอเกิดมาในวงแคบ มีความรู้ในตำราวรรณคดีอันห่างไกลจากโลกความจริง เมื่อมีชื่อเสียงร่ำรวยเงินทอง ชีวิตแมรี่ก็สงบเสงี่ยมอยู่ในกรอบเช่นเดิม เธอออกสังคมมากแต่ก็เป็นงานอันหรูหราฉาบฉวย สตรีบรรดาศักดิ์หัวสูงเหยียดหยามและแอบอิจฉาเธอ  เธอเองก็ทนคุณหญิงคุณนายไม่ได้ แมรี่จึงไม่มีความรู้เรื่องเหลี่ยมมุมอันซับซ้อนของโลก ชายคนเดียวที่เธอใกล้ชิดคือพี่ชายต่างมารดา ผู้ที่ก่อปัญหาให้เธอจนกระทั่งเขาตายไป หลังจากนั้นแมรี่ก็ได้แต่ล่องลอยอยู่ตามลำพัง จนกระทั่งพบชายผู้จัดเจนโลก ป้อยอเธอด้วยคำหวาน อวดอ้างตัวเองเป็นจิตรกร และเธอคือเทพธิดาผู้บันดาลชีวิตเขาให้รุ่งโรจน์ เพราะ “ภรรยาผมไม่เข้าใจผม” แมรี่ก็โผผวาเข้าไปหาด้วยหัวใจทั้งหมด เพียงเพื่อตระหนักภายหลังว่าเขาหลอกลวงเธอเพื่อเงินของเธอและความสนุกสนานเท่านั้นเอง
   
ความอ่อนโลกและความเจ็บปวดของหญิงที่ถูกกลั่นแกล้งเอาเปรียบตลอดจนทรยศหักหลัง สะท้อนออกมาในนวนิยายเช่น  The murder of Delicia (นางแก้ว) Ziska (ศิสกา) The secret power และ Open confession เป็นต้น นางเอกแต่ละคนล้วนแต่เหมือนเธอ คือซื่อตรงไปตรงมา และถูกหักหลังอย่างเลือดเย็น แต่ขณะเดียวกันนวนิยายเหล่านี้สะท้อนได้อีกอย่างหนึ่งว่า แมรี่ไม่มีความเข้าใจเรื่องความไว้ตัว ความหักห้ามใจ ความเด็ดเดี่ยวตัดสินใจได้ หรือตลอดจนเข้าใจประเภทของผู้ชาย ถ้าดูย้อนหลังประวัติของเธอจะเห็นว่าชีวิตในกรอบแคบนั่นเองทำให้แมรี่ขาดความฉลาดข้อนี้ไป
   
ชีวิตบั้นปลายของแมรี่เต็มไปด้วยความอ้างว้าง เธอมีคฤหาสน์หลังงามที่สแตรทฟอร์ด-ออน-เอวอน (ที่เกิดของเชกสเปียร์กวีคนโปรดของเธอ) มีเงินจับจ่ายได้สบายก็จริง แต่ขาดความรักความอบอุ่นทางใจ เซเวิร์นชายคนรักทิ้งเธอ โดยการประณามขับไล่ไสส่งและกลับไปหาภรรยาผู้มั่งคั่ง แมรี่หันไปเขียนเกี่ยวกับชีวิตอมตะหลังความตายอีกครั้งหนึ่ง แต่ยุคของเธอผ่านไปแล้ว แมรี่ไม่สามารถเป็นศูนย์กลางของสังคมได้อีก เธอได้แต่พักผ่อนอย่างสงบ บางครั้งก็ลงเรือกอนโดร่าล่องลอยไปตามลำน้ำเอวอน จนกระทั่งถึงแก่กรรมไปอย่างสงบราบเรียบเช่นเดียวกับชีวิตเธอ เมื่อ ๒๑ เมษายน ปี ค.ศ.๑๙๒๔
   
ความอาภัพของแมรี่อยู่ที่ขาดคนเข้าใจเธอ แม้แต่นักเขียนชีวประวัติของเธอ เช่น อีเลน บิ๊คแลนด์ ก็เห็นนวนิยายเธอน่าสมเพชและเรื่องรักของเธอโง่เขลาน่าทุเรศ เสียงของนักวิจารณ์กลายมาเป็นเสียงตัดสินว่างานของเธอไม่ใช่ “วรรณคดี” เรื่องของเธอเก่าพ้นยุคพ้นสมัย นักวรรณคดีปัจจุบันไม่รู้จักเธอ และประตูวรรณคดีปิดตายสำหรับเธอ
   
แต่แมรี่ทำประโยชน์หลายอย่างให้โลกมากกว่านักวรรณคดีจะคิดถึงเสียอีก นวนิยายของเธอนำมาแต่ความสุข รื่นรมย์ใจแก่ผู้อ่าน แทรกข้อคิดความดีความชั่ว และไม่เคยป้อนยาพิษให้ใคร เธอเป็นสตรีที่กล้าหาญ เชื่อมั่นความบริสุทธิ์ใจของตน จนกล้าประกาศความไม่เสมอภาคที่เพศชายพยายามเหยียบย่ำเพศของเธอ ข้อคิดของเธอนั้นล้วนแต่มาจากสมองอันรู้จักคิดของเธอเอง ไม่ได้ออกมาจากนักปราชญ์คนใด
   
“กวีมักจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เยี่ยมยอดด้วย เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าเขาเป็น สิ่งที่เขาคิด เขารู้ เขาเห็น มาจากฌานพิเศษของอัจฉริยะ ซึ่งเข้าถึงได้ภายในนาทีเดียว ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลาหลายชั่วคนคิด จนพิสูจน์ออกมาได้ กวีคิดได้ภายในพริบตาเดียวด้วยจิตใต้สำนึก  และเห็นขบวนการทั้งหมดในความฝัน”
   
นักวิจารณ์สมัยนั้นโห่เยาะเย้ย แต่นักวิจารณ์สมัยนี้อาจจะเงียบ เมื่อหวนนึกถึงเรือดำน้ำที่ จูล เวิร์น คิดออกมาได้ก่อนโลกรู้จักเรือดำน้ำ หรือการไปอวกาศที่นวนิยายหลายร้อยเล่มพาจินตนาการไปจนสุดขอบจักรวาล ขณะที่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะงุ่มง่ามไปจนถึงดวงจันทร์เท่านั้นเอง
   
ถ้าความเชื่อของแมรี่เป็นจริง ณ ทีใดที่หนึ่งเวลานี้ หญิงสาวสมัยวิกตอเรียน ผมสีทอง นัยน์ตาสีฟ้าอ่อน น่ารักน่าเอ็นดูประหนึ่งนางไม้ในนิยาย คงจะมองมาจากที่ใดที่หนึ่งในดินแดนอมตะของเธอ แมรี่อาจไม่แยแสนักที่วงวรรณคดีลืมเลือนเธอ เพราะถึงอย่างไร เธอก็ยังอยู่ในจิตใจผู้อ่านที่เธอรักและรักเธอตลอดกาล


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: ภาธร ที่ 29 พ.ย. 01, 07:50
ขอบคุณครับ  มีความรู้ดีๆมาเผยแพร่เสมอเลย


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: ภูวง-ภังคี ที่ 30 พ.ย. 01, 08:02
ขอบคุณครับ  เธออยู่ในใจพวกเราเช่นกัน


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: Linmou ที่ 25 ธ.ค. 01, 15:53
มาขอบคุณด้วยคนค่ะ
ว่าแต่ "เต็ลมา" ถือเป็นวรรณคดีไหมคะ?
อย่างไรก้ตาม ชอบเรื่อง "ขุนคลัง"  มากค่ะ
^____^


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 06 ส.ค. 16, 03:42
กระทู้นี้มาจากปี 2001  ว้าว เว็บบอร์ดนี้ยั่งยืนนานมาถึง 15 แล้วหรือเนี่ย ขอบคุณ ดร แพรมน ผู้เขียนกระทู้ อ่านสนุกน่าสนใจมากครับ

จากเรื่อง พิษสวาท (ตั้งชื่อได้เก๋มาก) ที่มี อาจารย์ท่านหนึ่งออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ผู้แต่งเรื่องนี้คือทมยันตีไม่ได้จินตนาการเรื่องราวทั้งหมดเอาเองแต่เลียนแบบมาจากนิยายเรื่อง Ziska ของ Marie Corelli (นามสกุลเหมือนปรมาจารย์ทางไวโอลินชาวอิตาเลี่ยนเลย) เมื่อมีนักข่าวตามไปถามคุณทมยันตี เธอไม่ได้ปฏฺิเสธหรือยอมรับอย่างชัดเจน ตามการตีความของผม ผมก็ว่า....จริงนั่นแหละ 555 การยอมรับซื่ออาจจะทำให้นิยายไม่ขลัง ดูไม่น่ากลัวหรือไงก็ไม่ทราบได้ แต่ในความเห็นผม  ผมว่าไม่น่าเกลียดนะ ถึงทมยันตีเอาอย่างพล๊อตเรื่องมา แต่ก็เอามาแต่งเติมด้วยความเป็นไทย แถมผสมเรื่องเข้าไปในประวัติศาสตร์อยุธยา ก็ถือว่าเป็นนิยายเพื่อเป้าหมายความบันเทิงมากกว่าอย่างอื่น

ในวงการวรรณกรรมเราเห็น  "การได้แรงบันดาลใจ" แบบนี้มาในนักเขียนชื่อดังหลายท่าน ผมเป็นแฟนนิยายกำลังภายในก็เห็นว่า โก้วเล้ง เอาโครงจาก เรื่อง gunfight at the ok corral มาทำเป็นเรื่อง ฤทธิ์มีดสั้น  เอา The Godfather มาทำเป็น ดาวตก ผีเสื้อ กระบี่  ส่วน ชอลิ้วเฮียงก็คงเอามาจาก เชอร์ล๊อคโฮล์มส์   แม้ในนิยายยุคใหม่อย่าง เจาะเวลาหาจิ๋นซี  นี่มันเลียนแบบโครงเรื่องจาก โดเรม่อน  หรือไม่ก็เจาะเวลาหาอดีต back to the future นี่นา  555555

แฟนหนังเมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน อาจจะเคยดูหนังเรื่อง The Groundhog Day ที่ แอนดี้ แมคโดเวลล์ แสดงกับ บิลเมอรเรย์ เกี่ยวกับชายหนุ่มเซ่อซ่าที่อยากจีบหญิงสาวแต่แห้ว ด้วยอิทธิฤทธิ์ของตัว groundhog ทำให้เขาเริ่มวันใหม่เป็นวันเดิมทุกๆวัน(งงมั้ย)ซึ่งทำให้เขาได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดจนเอาชนะใจเธอได้ในที่สุด  ซึ่งไอเดียแบบนี้ อาจารย์สมเถา สุจริตกุล เคยเขียนเป็นเรื่องสั้นเอาไว้ก่อนแล้ว (ผมเคยอ่านด้วย แต่จำชื่อเรื่องไม่ได้แล้ว) และเมื่อไม่นานมานี่เอง แนวคิดแบบนี้ก็ถูกนำมาดัดแปลงใช้อีกในเรื่อง The Edge of Tomorrow ที่นำแสดงโดยทอม ครุ้ยส์

แล้วก็เรื่องที่เราพึ่งจะคุยกันไปเมื่อไม่นานมานี้เกี่ยวกับภาพถ่ายคนตาย ที่เอามาใช้ในหนังผีเรื่อง The Others  เรื่องนี้จะว่าไปก็เอาแนวคิดมาจากเรื่อง The Sixth Sense (บังเอิญหรือตั้งใจ) แต่ก็ทำได้ดีเด่นทั้งสองเรื่อง แนวคิดยังไงก็ไม่ขอบอกเผื่อจะสปอยล์คนที่ไม่เคยดู เวลาผ่านไปหลายปี ก็มีผู้สร้างหนังชาวไทยเอาแนวคิดเดียวกันนี้มาสร้างเป็นเรื่อง "เปนชู้กับผี" ซึ่งก็ทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม แหละหลอนขนหัวลุกสุดๆเหมือนกัน

จะว่าไปแล้วในวงการทั้งหนัง ละคร นิยาย ต่างก็มีการหยิบยืมแนวคิด จินตนาการของผู้แต่งรุ่นพี่รุ่นปู่รุ่นย่า แล้วนำมาดัดแปลงสร้างใหม่ให้แตกต่าง จะว่าไปมันก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรนัก  นี่ยังมิได้กล่าวถึงงานของ อาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์นะครับ ที่เราเคยคุยกันอย่างสนุกสนานเมื่อนานนนนนนนนนนมาแล้ว สมัยที่บอร์ดนี้พึ่งจะมีใหม่ๆ


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ส.ค. 16, 07:32
จากเรื่อง พิษสวาท (ตั้งชื่อได้เก๋มาก) ที่มี อาจารย์ท่านหนึ่งออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ผู้แต่งเรื่องนี้คือทมยันตีไม่ได้จินตนาการเรื่องราวทั้งหมดเอาเองแต่เลียนแบบมาจากนิยายเรื่อง Ziska ของ Marie Corelli

คุณเทาชมพูได้เขียนเกี่ยวกับนิยายของ Marie Corelli ทมยันตีแห่งอังกฤษ ที่แปลเป็นภาษาไทย ไว้เมื่อ ๑๖ ปีก่อน

Marie Corelli  นักเขียนยอดนิยมเมื่อต้นศตวรรษที่ ๒๐  เรียกว่าเป็นทมยันตีแห่งอังกฤษก็คงจะได้

เธอเป็นคนเขียนเรื่อง ความพยาบาท นิยายแปลเรื่องแรกของไทยเมื่อปลายรัชกาลที่ ๕ โดยแม่วัน (พระยาสุรินทราชา)

เต็ลมา (Thelma) นิยายแปลยอดฮิทเมื่อรัชกาลที่ ๖

ขุนคลัง (The Sorrows of Satan)  พิษสวาท(Ziska) นางแก้ว (The Murder of Delicia)  ผู้บริสุทธิ์(Innocent)และที่แปลออกมาไม่กี่ปีก่อนนี้คือ ปรัชญารัก (Love and the Philosopher) ทั้งหมดเป็นฝีมือแปลของคุณอมราวดี ผู้ล่วงลับไปแล้ว

เผอิญจำชื่อ Ziska ฉบับภาษาไทยของอมราวดี ผิดไปเล็กน้อย   ;D

ขออภัย  จำชื่อผิด
Ziska มีฉบับภาษาไทย ใช้ชื่อว่า กงเกวียน   แปลโดยอมราวดี   พิมพ์ครั้งแรกพ.ศ. 2483    ดิฉันเคยอ่านฉบับภาษาไทยก่อนจะไปเจอฉบับภาษาอังกฤษที่หอสมุดของมหาวิทยาลัย ที่อเมริกา
จำชื่อผิดเป็น" พิษสวาท"ค่ะ ขออภัยด้วย



กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ส.ค. 16, 08:33
คุณเพ็ญชมพู  คุณ Share  และ คุณปากกานินี เชิญอ่านกระทู้ข้างล่างนี้ให้จบเสียก่อนค่ะ

http://pantip.com/topic/35449067 (http://pantip.com/topic/35449067)
นักวิชาการแฉ "ทมยันตี" แต่งนิยาย"พิษสวาท" อิงนิยายอังกฤษ!

http://pantip.com/topic/35457583 (http://pantip.com/topic/35457583)
สรุปตรงนี้ไปเลยว่า"พิษสวาท"ไม่ได้ลอก Ziska แค่พล็อตคล้ายเฉยๆ

ในเมื่อเขาสรุปกันไปแล้ว  กระทู้นี้ก็อย่าไปต่อความยาวสาวความยืดอีกเลย


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 06 ส.ค. 16, 09:24
ขอบพระคุณครับท่านอาจารย์เทาชมพูและอาจารย์เพ็ญชมพู.

จริงๆเรื่องพิษสวาทนี้เป็นเรื่องที่ประทับใจผมมากเลยทีเดียวครับ
เคยได้ดูตอนเด็กๆ ฉายทางช่องสามตอนดึกๆ ยุคนั้นคุณรัชนู บุญชูดวง เป็นนางเอก
จำได้ว่าหลอนมาก ทั้งๆที่ฉากละคร สเปเชี่ยลเอ็ฟเฟ็ค อะไรต่างๆไม่มีเท่าปัจจุบัน.
แต่ทำออกมาได้หลอนจับใจ. ทำให้ผมยังจำได้จนถึงทุกวันนี้เลย
มีฉากนึง. ไม่แน่ใจว่าพระเอกรึใครไปได้ภาพวาดของคุณสโรชินีมา. ตอนแรกเป็นภาพหญิงสาวสวยงาม
แต่พอเอากลับมาบ้านเปิดผ้าคลุมกลายเป็นภาพหน้าศพซะงั้น


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 08 ส.ค. 16, 14:03
           สมัยเป็นนักเรียน ได้รู้จักชื่อและนิยายของ มารี คอเรลลี จากละครโทรทัศน์เรื่อง ดรรชนีนาง บทประพันธ์
ของ อิงอร เมื่อนางเอก(ดรรชนี) ได้กล่าวเปรียบเปรยเอ่ยถึง
           เต็ลมา นามของนางเอกและเป็นชื่อนิยายจากผลงานของ คอเรลลี ที่เล่าเรื่องราวสาวชาวฟยอร์ดนอรเวย์
พบรักกับท่านเซอร์จากลอนดอน - ละม้ายคล้ายคลึงกับดรรชนี สาวชาวใต้พบรักกับท่านชายนายทหารเรือจากเมืองกรุง
(tumtoilet3.com)


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 08 ส.ค. 16, 14:06
        การเอ่ยอ้างถึงเต็ลมาในดรรชนีนี้ ผู้ประพันธ์คงจะบอกเป็นนัยว่าได้แนวคิดพล็อตเรื่องรักต่างแดนข้ามชนชั้น
ของดรรชนีกับท่านชายมาจากเต็ลมา ทั้งยังตั้งชื่อนิยายโดยใช้ชื่อนางเอกเหมือนกัน(แต่เรื่องราวรายละเอียดและ
การจบต่างกัน) ทั้งนี้ อ.สหะโรจน์ กิตติมหาเจริญได้อ้างไว้ในบทความ “พื้นที่” ในเรื่องสั้นดรรชนีนางของอิงอร ว่า
  
             เรื่องราวของดรรชนีนางเกิดขึ้นที่สงขลา สถานที่คืออ่าวแหลมสน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของอิงอรผู้เขียนเรื่องนี้
นั่นเอง อิงอรได้ให้เหตุผลตอนเขียนเรื่องนี้ว่า “มีคืนหนึ่งก็นั่งดูนิ้วชี้ตัวเอง-เอ นี่แผลอะไร อ้อ แผลได้มาจากตอนกิน
ลูกตาลก็เลยนึกถึงอ่าวสงขลา”
             นอกจากนี้อิทธิพลจากเรื่องเต็ลมาของแมรี่ คอเรลลี่ก็มีส่วนทำให้อิงอรสร้างดรรชนีนางขึ้นมาโดยใช้ทิวทัศน์
ของสงขลาซึ่งเป็นแผ่นดินเกิดเป็นฉากของเรื่อง (เริงไชย พุทธาโร, ๒๕๔๒: ๕๖ และ๕๘)
(oknation.net)


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 08 ส.ค. 16, 14:11
            นักเขียนอังกฤษในยุคนั้นที่เป็นที่นิยมในไทยอีกท่านหนึ่งคือ Sir H Rider Haggard ได้รู้จักท่านตอน
เป็นนักเรียนเช่นกันจากหนังและหนังสือเรื่อง She สาว(พระนาง)สองพันปี ที่อาจจะเป็นต้นแบบแนวทางนางเอก
จากอดีตที่อยู่ยงย้อนกลับมาพบคนรักภพเดิมในภพปัจจุบันและ อีกเรื่องหนึ่งของท่านคือ King Solomon's Mines
ที่อาจจะเป็นต้นทางนิยายผจญภัยในป่าดงดิบตามล่าหาสมบัติ ซึ่งในกรณีของนิยาย เพชรพระอุมา นั้น, ได้มีการพูดคุย
กันไปแล้วทั้งในเรือนไทยและเรือนอื่น

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=595.0 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=595.0)

(goodreads.com)


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ส.ค. 16, 14:17
เคยอ่าน ขุนคลัง (The Sorrows of Satan / แมรี คอเรลลิ, ผู้แต่ง และอมราวดี, นามแฝง, ผู้แปล)
สมัยเป็นนักเรียน ม.ปลาย เลยซื้อเก็บไว้ครับ

เรื่อง The Sorrows of Satan นี้ก็เคยมีการคุยกันบ้างแล้วในเรือนไทย  ;D

ข้าพเจ้าเคยอ่านนวนิยายภาษาไทยสามเล่มที่มีพญามัจจุราชเป็นตัวเอก มีชื่อและรายละเอียดต่างออกไป แต่เค้าใจความอันเดียวกัน คือ “ก่อนอุษาสาง” ของ พนมเทียน  “เงา” ของ โรสลาเลน และเรื่อง”ขุนคลัง” แปลจาก “The sorrow of satan” ของแมรี่ คอเรลลี โดยอมราวดี และเคยได้ยินว่าเรื่องของคอเรลลีนี้ นักเขียนอาวุโสผู้ล่วงลับไปแล้วคือ คุณมาลัย ชูพินิจได้แปลไว้ในชื่อ “ค่าของคน” แต่หาต้นเรื่องมาอ่านไม่ได้จึงได้แต่เพียงสันนิษฐานไว้

ส่วนเรื่องแรกนั้นเหมือนเรื่องที่สามเกือบทุกตัวอักษร เพียงแต่เปลี่ยนฉากและชื่อจากอังกฤษเป็นไทยเท่านั้น เรื่องที่สองนั้นไม่เหมือน แต่มีเค้า ท่านชายวสวัตใน “เงา” เป็นชายรูปงาม มีชีวิตปะปนในสังคมมนุษย์ แต่เป็นพญามัจจุราช ทำหน้าที่ตัดสินความดีชั่วของมนุษย์ โดยไม่มีเลขาอย่างโทรทัศน์ มีประวัติเลวๆในเรื่องว่า เป็นเทพกึ่งสัตว์นรก เพราะมีบาปบุญอย่างละครึ่งพอดี แต่ชื่อกลับไปคล้ายพญามารวสวดีในพุทธศาสนาที่ตามผจญพระพุทธเจ้า ซึ่งพญามารนี้เป็นคนละคนกับพญายม เป็นเจ้าแห่งกิเลส ไม่ใช่ความตาย ท่านชายวสวัตนี้มีความหวังว่าวันหนึ่งจะได้พ้นทรมานขึ้นไปอยู่สวรรค์ ส่วนลักษณะหน้าตา การมาอยู่อย่างคนธรรมดา และความหวังนี้ตรงกับพญามารใน “ขุนคลัง” ซึ่งเป็นตัวลูซิเฟอร์หรือซาตานนั่นเอง แมรี่ คอเรลลีใช้จินตนาการของเธออย่างเห็นอกเห็นใจพญามาร ผู้ซึ่งถูกลงโทษให้เป็นมาร จนกระทั่งมนุษย์หลบลี้หนีกิเลสที่ตนถูกสาปให้ล่อลวงไปได้หมด จึงจะพ้นโทษกลับสู่สวรรค์ได้ ทุกครั้งที่พระเอกของ “ขุนคลัง”หรือใช้ชื่อว่า เจ้าชายลูชิโอ วิมาเนซ เห็นคนทำดีไม่ยอมถูกล่อลวงขายวิญญาณตัวเองก็ได้ก้าวขึ้นสู่เบื้องบนอีกก้าวหนึ่ง แต่ถ้าเห็นคนยอมให้ล่อลวงตกสู่หายนะ ก็จะตกลงมาอีกก้าวหนึ่ง เจ้าชายพญามารจึงมีสภาพคล้ายถูกชักคะเย่ออยู่ระหว่างความดีความชั่วไม่ได้ขึ้นสวรรค์กับเขาสักที มีสภาพเป็นเจ้าชายรูปงามจากแคว้นสมมุติในยุโรป ทำหน้าที่ชักจูงล่อลวงคนด้วยความจำใจ จนกระทั่งถึงวันที่มนุษย์ทำดีกันหมดจึงจะพ้นกรรม


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ส.ค. 16, 15:40
และเคยได้ยินว่าเรื่องของคอเรลลีนี้ นักเขียนอาวุโสผู้ล่วงลับไปแล้วคือ คุณมาลัย ชูพินิจได้แปลไว้ในชื่อ “ค่าของคน” แต่หาต้นเรื่องมาอ่านไม่ได้จึงได้แต่เพียงสันนิษฐานไว้

หน้าปก "ค่าของคน" มาลัย ชูพินิจ ถอดความจากเรื่อง THE SORROW OF SATAN ของ แมรี่ คอเรลลิ สำนักพิมพ์ เกษมบรรณกิจ พิมพ์ครั้งที่ ๓ ปีที่พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๑๔


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ส.ค. 16, 16:05
น่าสนใจมาก
เนื้อเรื่องเป็นอย่างไรคะ คุณเพ็ญชมพู


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 08 ส.ค. 16, 19:57
นักเขียนที่มีผลงานแปลในไทยเยอะแยะมากมาย หลายเรื่องถูกสร้างเป็นละครแต่แทบไม่มีใครจำชื่อเธอได้ อ่านแล้วเศร้าจัง เมื่อวานยังไม่เศร้าเลยนะ


เหมือนผมจะเคยดูภาพยนต์ดรรชนีนางนะครับ หวังว่าจะไม่จำสลับกับเรื่องอุกาฟ้าเหลืองซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกัน (คือเด็กมากจนแทบจำอะไรไม่ได้เลย)


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ส.ค. 16, 20:49
มารี คอเรลลี่ ค่ะ


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 09 ส.ค. 16, 01:10
คุณ ส.อาสนจินดา เคยรับบท เคานท์ฟาบีโอ โรมานี ในละคร ความพยาบาท ยุคแรกๆของละครโทรทัศน์ ที่ช่อง 4 บางขุนพรหม
สยองมากๆ(อารมณ์เด็ก)ตอนที่ท่านเคานท์ฟื้นขึ้นมาในสุสาน :-\


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ส.ค. 16, 09:18
หน้าปก "ค่าของคน" มาลัย ชูพินิจ ถอดความจากเรื่อง THE SORROW OF SATAN ของ แมรี่ คอเรลลิ สำนักพิมพ์ เกษมบรรณกิจ พิมพ์ครั้งที่ ๓ ปีที่พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๑๔

น่าสนใจมาก
เนื้อเรื่องเป็นอย่างไรคะ คุณเพ็ญชมพู

เรื่องแปลน่าจะมีเนื้อเรื่องตรงกับต้นฉบับ เฉกเช่นเรื่อง "ขุนคลัง" ของอมราวดี


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ส.ค. 16, 09:28
เคานท์ฟาบีโอ โรมานี ในละคร ความพยาบาท

ความพยาบาท ฉบับภาษาอังกฤษหรือที่มีชื่อเต็มว่า Vendetta! Or the Story of One Forgotten (โปรดสังเกตว่า นักประพันธ์ได้ใส่เครื่องหมาย “อัศเจรีย์” ไว้หลังชื่อด้วย) นวนิยายที่แต่งโดยนักประพันธ์สตรีชื่อ มารี คอเรลลีนี้ วางตลาดในอังกฤษเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๙  เป็นนวนิยายเรื่องที่สองของเธอ และส่งชื่อเสียงของเธอให้โด่งดังขึ้น หลังจากนวนิยายเรื่องแรกคือ A Romance in Two Worlds ประสบผลสำเร็จในฐานะนวนิยายของนักเขียนหน้าใหม่มาแล้ว

สิบสี่ปีหลังจาก Vendetta! ออกวางตลาดเป็นครั้งแรก นักเรียนไทยคนหนึ่งซึ่งเคยไปเรียนที่อังกฤษ และมีความรู้ทางภาษาอังกฤษอย่างแตกฉาน ก็นำเรื่องนี้มาแปลเป็นไทยเป็นครั้งแรก นักเรียนไทยคนนั้นคือ พระยาสุรินทราชา หรือ “แม่วัน”

“แม่วัน” แปลเรื่องนี้ด้วยภาษาสมัยใหม่ ไพเราะ ได้อรรถรส ได้อารมณ์สะเทือนใจอย่างดีเยี่ยม แต่ว่าท่านไม่ได้แปลหมดทั้งเรื่อง คงแปลเฉพาะเนื้อเรื่องอันเป็นหัวใจสำคัญ การตัดรายละเอียดที่ท่านอาจจะเห็นว่าไม่จำเป็น หรือไม่เป็นที่เข้าใจของคนไทยในสมัยนั้นออกเสีย

ส่วนที่ท่านตัดออก คือเนื้อหาการสะท้อนสังคม และการวิจารณ์สังคมอังกฤษ-อันเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งของนวนิยายเรื่องนี้......

เธอวิจารณ์ความเสื่อมศีลธรรมของผู้ดีชั้นสูงชาวอังกฤษ โดยเฉพาะเรื่องมากชู้หลายเมีย และตำหนิความเหลวแหลกของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ตลอดจนความบกพร่องของกฎหมายอังกฤษ ที่อนุญาตให้ภรรยาผู้นอกใจสามีได้หย่าร้างกับสามีง่ายๆ ไม่ได้รับโทษทัณฑ์อย่างใดมากกว่านั้น

เหตุผลที่ว่า “แม่วัน” ตัดบทวิพากษ์วิจารณ์ในส่วนนี้ออกไปหมด ผู้เขียนเห็นว่าคงจะเป็นเพราะว่าท่านเห็นว่าเป็นรายละเอียดปลีกย่อยของเรื่อง ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อเรื่องโดยตรง และอีกอย่างหนึ่งสังคมอังกฤษหรือสังคมฝรั่งใดๆในสมัยนั้นย่อมเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากความเข้าใจของคนในสมัยที่ท่านแปลหนังสือออกมาให้อ่าน ในเมื่อสังคมไทยสมัยนั้นมีนักเรียนนอกที่รู้จักสังคมฝรั่งอยู่นับคนถ้วนและมีผู้อ่านที่อ่านหนังสืออย่าง “ลักวิทยา” หรือ “ทวีปัญญา” อยู่เพียงกลุ่มเล็กๆกลุ่มเดียว

ท่านจึงแปลเฉพาะเนื้อเรื่องส่วนที่เกี่ยวกับชีวิตของเคานต์ฟาบีโอ โรมานี ซึ่งก็ได้อรรถรสครบถ้วนในส่วนที่เป็นเนื้อหาสำคัญของเรื่อง และเป็นวรรณกรรมร้อยแก้วที่ทรงคุณค่าทางวรรณศิลป์เรื่องหนึ่งจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

หากต้องการอ่าน "ความพยาบาท" ฉบับแปลที่ไม่มีการตัดทอน แนะนำให้อ่านของ ว.วินิจฉัยกุล   ;D


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 16, 09:54
ใครคะ


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ส.ค. 16, 10:28
ว.วินิจฉัยกุล เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ ผลงานของมารี คอลเรลลี คนหนึ่ง ได้ทำวิจัยเรื่อง "อิทธิพลของมารี คอลเรลลีต่อวรรณกรรมไทย" ขณะเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้ย่อยเป็นบทความ ลงพิมพ์ในวารสารครบรอบ ๑๕ ปี ของคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 16, 10:43
อ้อ อย่างนี้นี่เอง
ขอบคุณค่ะ


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 16, 13:11
ที่เมืองสแตรทฟอร์ด เขามีกิจกรรมพาเที่ยวบ้านและสถานที่ที่เกี่ยวกับมารี คอเรลลี่ด้วยนะคะ
http://www.visitstratforduponavon.co.uk/event/marie-corelli-day (http://www.visitstratforduponavon.co.uk/event/marie-corelli-day)


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ส.ค. 16, 13:46
ป้ายหน้าบ้านของ มารี คอเรลลี ที่ Church Street เมือง Stratford upon Avon (เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณวิกกี้ (https://en.wikipedia.org/wiki/Marie_Corelli))


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 16, 14:03
ป้ายหน้าบ้านถูกเปลี่ยนใหม่แล้ว   ใช้ถ้อยคำที่ให้เกียรติเธอมากขึ้นหน่อย
สมัยที่ดิฉันไปถึงบ้านเธอ   ยังเป็นป้ายอันเก่า ที่ดูไม่อินังขังขอบเจ้าของบ้านเดิมเท่าไหร่   


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 16, 14:06
บ้านนี้ชื่อ Mason Croft (เมสัน ครอฟต์) เคยเป็นบ้านหลังงามที่สุดในเมือง   ด้านหลังมีเนื้อที่สนามกว้างขวาง มีเรือนกระจก และหอคอยจำลองแบบยุคศตวรรษที่ 15 เรียกว่า Elizabethan tower   มารีใช้เป็นที่เขียนหนังสือ   ปัจจุบันก็ยังอยู่ แต่ปิดร้าง

ภาพนี้ถ่ายสมัยเธอยังเป็นเจ้าของบ้าน ตอนต้นศตวรรษที่ 20


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 16, 14:08
ปัจจุบันเป็น Shakespeare Institute   สถานศึกษาเรื่องราวบทละครของเชคสเปียร์  ประจำเมืองสแตรทฟอร์ด
เข้าไปข้างใน บรรยากาศแห้งแล้งเหมือนโรงเรียนเก่าๆสักแห่ง


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 16, 14:10
หอคอยที่เธอใช้เป็นห้องเขียนหนังสือ  อยู่ในสนามหลังบ้านค่ะ   
ทุกวันนี้ก็ยังอยู่  แต่ไม่มีไม้เลื้อย  เป็นหอคอยเปล่าๆ แห้งแล้ง


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 16, 14:20
นี่คือหลุมฝังศพของมารี คอเรลลี่ในเมืองสแตรทฟอร์ด    สร้างอย่างสวยงามโดยเพื่อนรักที่เป็นทายาทมรดกของเธอด้วย   
ประดับรูปสลักหินอ่อนทูตสวรรค์ ในท่าบ่งถึงชัยชนะ 


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 16, 14:24
แต่เมื่อปลายปี 2013   มีคนโรคจิตที่ไหนไม่รู้ลอบปีนเข้าไปในสุสาน เที่ยวทุบทำลายหลุมฝังศพต่างๆ รวมทั้งของเธอด้วย   รูปหินอ่อนถูกกระแทกล้มลงมาแตกหักเสียหายเกินซ่อมแซม
ถ้าจะทำใหม่ก็ต้องเสียเงินถึง สองหมื่นถึงสามหมื่นปอนด์  ทางเทศบาลเมืองนี้ไม่มีงบขนาดนั้น
หลุมศพของเธอจึงเหลือแต่แท่นเปล่าๆ น่าเสียดาย


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 09 ส.ค. 16, 15:21
ว้ายยยยยยย รูปหินอ่อนนี้โดนทุบพังซะแล้วเหรอเนี่ย  ยังเคยไปเยี่ยมชมถ่ายรูปมาเลย

หลายปีก่อนไปเมืองสแตรทฟอร์ด ก็ไปเดินหาหลุมศพนี้ กับบ้านเมสัน ครอฟต์  หลุมศพหนะเจอ ถ่านีูปมาเต็มไปหมด แต่บ้านหลังนี้ เดินผ่านไปผ่านมาหลายรอบไม่ยักกะรู้ เพราะป้ายเล็กกระจิ๊ดริด พอถามคนแถวนั้นดันชี้ไปบ้านอื่นที่ผิดบ้านซะอีก :(


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 16, 22:15
    บ้านในอังกฤษ สร้างตรงข้ามกับบ้านไทย   บ้านคนไทยมีสนามอยู่หน้าบ้าน  โดยเฉพาะบ้านเศรษฐีสร้างเดี่ยวๆ  สนามมีเนื้อที่กว้างขวางมาก แต่มักปล่อยสนามทิ้งไว้เฉยๆ    ไม่จัดงานไม่จัดกิจกรรม ไม่ออกมานั่งเล่นเดินเล่น    
    แตกต่างจากอังกฤษ เขามักจะสร้างด้านหน้าติดรั้วหรือติดถนน   ส่วนสนามเอาไว้ด้านหลัง ใช้ทำกิจกรรมสารพัด เช่นปลูกดอกไม้เป็นสวนดอกไม้  มีเก้าอี้ชุดไว้นั่งเล่นรับแสงแดด ฯลฯ
    บ้าน Mason Croft ก็เช่นกันค่ะ   เมื่อเข้าไปในบ้าน เดินทะลุไปข้างหลัง   แหม่มแก่ๆที่มาเปิดประตูรับตอนไปกดกริ่งขอชมบ้าน พาไปดูหลังบ้าน    แม้ว่าทุกวันนี้ปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ตกแต่ง   แต่ก็ยังเห็นร่องรอยว่าสมัยหนึ่งมันจะต้องเป็นสวนดอกไม้ที่สวยมาก  มีเรือนกระจก  มีซุ้มหินอ่อนแบบโรมัน  มีหอคอยเล็กๆน่ารัก ข้างบนเป็นห้องให้นั่งเขียนหนังสือ  มองออกมาชมสวนดอกไม้ คงเพลิดเพลินเจริญใจมากสำหรับนักประพันธ์
    ด้านหลังบ้านของมารี คอเรลลี่ ในปัจจุบัน


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 16, 22:23
รูปข้างบนนี้ สังเกตดูจะเห็นเรือนกระจกที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน
ข้างล่างคือเรือนกระจกในอดีต


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 16, 22:28
หอคอยที่เป็นแหล่งสร้างผลงานไว้มากมาย   ทุกวันนี้ปิดร้าง โรยรา
ไม่มีใครเหยียบย่างเข้าไปอีกหลายสิบปีแล้ว


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 16, 22:29
บ้าน ในโปสการ์ดระบายสี


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 16, 22:37
มารี คอเรลลี่เป็นคนเดียวในประวัติศาสตร์วรรณกรรมอังกฤษ ที่หนังสือเมื่อออกใหม่ ขายหมด 50,000 เล่มในวันเดียว     สถิติจำหน่ายรวมยอดแล้วสูงกว่าพระคัมภีร์ไบเบิลเสียอีก
ก็เพิ่งมีที.เจ. โรลลิ่ง เจ้าของวรรณกรรมเด็กแฮรี่ พอตเตอร์  ที่มียอดสูงกว่า     
แต่เธอก็ถูกลืมจากวงวรรณกรรม เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1    ระยะเวลาหลังจากนั้นมาจนถึงปลายทศวรรษที่ 20  เป็นหลุมดำสำหรับคอเรลลี่   นักวิชาการอังกฤษ ครูบาอาจารย์และนักศึกษาวิชาวรรณคดีไม่มีใครรู้จักเธอ
แต่เมื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามาย่อโลกให้เล็กลง  ชื่อของมารี คอเรลลี่ก็คืนกลับมาอีกครั้ง   งานของเธอยังมีนักอ่านให้ความสนใจ โดยเฉพาะนอกประเทศอังกฤษ  เพราะคติชีวิตและทัศนะเรื่องบาปบุญคุณโทษในหนังสือ คนที่ไม่ได้นับถือคริสตศาสนา ก็เข้าใจได้  และเข้าถึงมากกว่าเพื่อนร่วมบ้านเกิดเมืองนอนของเธอเสียอีก


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 10 ส.ค. 16, 11:53
ตามมาอ่านค่ะ ซึ่งส่วนตัวยังไม่ได้อ่านซิสก้าเลย คิดว่าเดี๋ยวคงต้องหาอ่านเสียแล้วเพราะเห็นว่าสามารถหาอ่านออนไลน์ได้


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 10 ส.ค. 16, 13:41
นั่งเขียนหนังสือบนหอคอยเพียงลำพัง ความฝันของผมเลย  ;D


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ส.ค. 16, 16:54
คุณนางมารน้อย อ่าน Ziska ได้ที่นี่ค่ะ

http://www.publicbookshelf.com/fantasy-paranormal/ziska-soul/publication-prologue (http://www.publicbookshelf.com/fantasy-paranormal/ziska-soul/publication-prologue)
Ziska, The Problem Of A Wicked Soul


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ส.ค. 16, 17:39
ตรงนี้   เคยไปยืนมาแล้ว  นี่คือด้านหลังของบ้านเมสัน ครอฟต์   มีซุ้มประตูโรมันและเรือนกระจก ซึ่งยังเหลืออยู่
แต่ไม่มีสวนดอกไม้ ซึ่งครั้งหนึ่งคงสวยงามมากสำหรับเจ้าของบ้าน


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ส.ค. 16, 17:44
ภายในบ้าน  ห้องโถงจัดเป็นห้องเรียน


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ส.ค. 16, 17:50
ปัจจุบัน มีแต่นักศึกษาวิชาเชคสเปียร์นั่งเรียนกันอยู่ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ส.ค. 16, 17:50
ห้องโถงในบ้าน


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 16, 09:47
มารีเชื่อว่าตัวเองมีเชื้อสายอิตาเลียนทางแม่     เธอจึงเลือกนามปากกา ว่า Corelli ซึ่งเป็นภาษาอิตาเลียน   เมื่อมาอยู่สแตรทฟอร์ด เธอก็สั่งเรือกอนโดล่าจากอิตาลี พร้อมด้วยคนแจวชาวอิตาเลียน มาไว้ที่บ้านนี้      ตกเย็นก็นั่งเรือกอนโดล่าล่องไปตามลำน้ำเอวอนที่ไหลผ่านเมือง


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 16, 09:51
ปัจจุบันนี้เรือลำนี้ก็ยังอยู่  เปลี่ยนเจ้าของไปแล้ว  เจ้าของใหม่ยังเก็บรักษาไว้อย่างดี


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 16, 15:20
ในบ้านยังมีภาพวาดของมารี คอเรลลีเหลืออยู่ภาพหนึ่ง  ประดับฝาอยู่ เป็นภาพใหญ่
หาไม่เจอในกูเกิ้ล   คล้ายๆภาพนี้ค่ะ


กระทู้: มาคุยเรื่อง มารี คอเรลลี
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 16 ส.ค. 16, 11:28
ขอบพระคุณอาจารย์เทาชมพูค่ะ ขอตัวไปนั่งอ่านซิสก้าก่อนค่ะ

ว่าแต่มารี คอเรลลีเธอช่างสร้างบรรยากาศสำหรับตัวเองจริงๆนะคะเนี่ย มีเรือกอนโดราพร้อมฝีพาย