เรือนไทย

General Category => วิเสทนิยม => ข้อความที่เริ่มโดย: naitang ที่ 22 พ.ย. 20, 18:32



กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 พ.ย. 20, 18:32
กลับมาเข้ากระทู้ครับ

แรกว่าจะคุยกันเรื่องของหวาน แต่บังเอิญไปได้ความรู้เพิ่มเติมค่อนข้างจะละเอียดเกี่ยวกับเรื่องของชาวบ้านกับการทำนาข้าว ก็เลยจะขอขยายความและนำมาเสวนากัน _เท่าที่พอจะรู้ จำได้ และเข้าใจ    คงจะเป็นรูปแบบจำเพาะที่ไม่เหมือนกับพื้นที่ปลูกข้าวย่านอื่นๆ

ชาวบ้านและชาวนาในภาคเหนือปลูกข้าวกันทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียวตามแต่จุดประสงค์ของแต่ละคน ส่วนมากแล้วจะแบ่งผืนนาส่วนหนึ่งเพื่อปลูกข้าวที่ตนเองจะใช้เพื่อการบริโภค การจัดแบ่งพื้นที่จะมากน้อยเพียงใดนั้นจะขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่ทำนาว่าจะเป็นนาน้ำเหมือง (คูหรือร่องส่งน้ำเข้าผืนนา) หรือจะเป็นนาน้ำฟ้า (อาศัยน้ำฝน)   สำหรับส่วนที่เป็นผืนนาที่จะทำเพื่อการขายผลิตผลนั้น ส่วนมากจะเลือกปลูกพันธุ์ข้าว ข้าวหอมมะลิ 105, ข้าวเหนียว กข 6, ข้าวเหนียว กข 10, ข้าวเหนียวสันป่าตอง ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ข้าวก่ำ  ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับการคาดสถานะการณ์ในภายหน้าของแต่ละคนในเรื่องของดินฟ้าอากาศ น้ำ ตลาดรับซื้อ นโยบายและภาคปฎิบัติการของรัฐบาลที่เห็นและพอจับต้องได้

คิดได้แล้ว ตัดสินใจได้แล้ว ก็มาถึงเรื่องของภาคปฎิบัติ ซึ่งในเรื่องของภาคการปฎิบัตินี้มีเรื่องที่ต้องมีการคิด มีการวางแผน และมีการบริหารที่สลับซับซ้อนอยู่พอสมควร น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 พ.ย. 20, 19:36
เรื่องแรกเกี่ยวกับ 'การลงแขก'  ซึ่งพอจะจำแนกได้เป็นแบบแต่เก่าก่อน กับ แบบในปัจจุบัน

การลงแขกแต่เมื่อเก่าก่อนนั้นต่างกับการลงแขกในปัจจุบันนี้ค่อนข้างมาก   แต่ก่อนนั้น มันเป็นกิจกรรมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางด้านจิตใจที่มีทั้งการให้ การรับ และการต่างตอบแทน  เป็นเรื่องในบริบทของกิจกรรมต่างตอบแทนที่ไม่มีเรื่องของปริมาณและคุณภาพเข้ามาเกี่ยวข้องโดยแท้จริง    ต่างกับในปัจจุบันที่การลงแขกดูจะได้เพิ่มลักษณะของการคิดที่ผนวกเรื่องของปริมาณ และในเชิงของ value เข้าไปด้วย คือมีการบวก ลบ คูณ หาร ในเรื่องต่างๆที่เป็นบวกหรือเป็นลบ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงของ tangible หรือ intangible


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ย. 20, 20:43
ขอแยกเป็นกระทู้ใหม่ได้ไหมคะ " ชาวบ้านกับการทำนาข้าว" ? 


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 พ.ย. 20, 17:09
อาจารย์แยกกระทู้ให้แล้ว ก็ OK ครับ  ;D    แต่ต้องขอออกตัวเสียก่อนว่า ไม่ได้มีความรู้อะไรเป็นแก่นสารมากนักนะครับ



กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 พ.ย. 20, 18:28
ขอเริ่มต้นเรื่องราวกันดังนี้

แต่ก่อนนั้น ชาวบ้านส่วนมากจะมีที่นาของตนเอง   ชาวบ้านบางคนใช้การทำนาเพื่อเป็นการหารายได้หลักสำหรับการเลี้ยงครอบครัวในแต่ละปี โดยหารายได้เสริมจากทำงานในเรื่องอื่นๆ การเรียกกลุ่มคนที่ทำมาหากินในลักษณะนี้ว่ามีอาชีพ 'ชาวนา' น่าจะเป็นถูกต้องมากที่สุด     แต่ชาวบ้านบางคนหารายได้หลักจากการทำงานในด้านอื่นๆ การทำนาก็เลยกลายเป็นอาชีพเสริมหรือเป็นการทำกินเอง หากได้ผลมากเกินพอก็จะขายเพื่อเสริมรายได้ กลุ่มคนพวกนี้น่าจะเรียกว่ามีอาชีพ 'อิสระ' หรือมีอาชีพ 'รับจ้าง' 


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 พ.ย. 20, 19:11
ลองมาดูชื่อเรียกของนาต่างๆ  ที่คุ้นหูกันจริงๆสำหรับคนในเมืองก็ดูจะเป็นนาปรัง ซึ่งก็คือข้าวที่ปลูกนอกฤดูกาลของการทำนาประจำปีที่เรียกว่านาปี ซึ่งจะทำกันในช่วงฤดูฝน  นาปรังทำได้ในเขตพื้นที่ชลประทาน สำหรับนาปีนั้นก็มีชื่อเรียกกันแผลงๆออกไปเช่น นาน้ำฝน นาน้ำฟ้า    ส่วนนาดำกับนาหว่านนั้น ไปเกี่ยวกับเรื่องของวิธีการปลูกข้าว ซึ่งหากใช้วิธีการเอาต้นกล้าข้าวมาปลูกก็เรียกว่านาดำ หากใช้วิธีการหว่านเมล็ดข้าวก็เรียกว่านาหว่าน     แต่ในปัจจุบันนี้ดูจะมีวิธีการปลูกแบบอื่นๆเพิ่มเติมเข้ามา เช่น ด้วยวิธีการการหยอดเมล็ดข้าว เรียกว่านาหยอด และด้วยวิธีการโยนกล้าข้าว เรียกว่านาโยน    การทำนาด้วยวิธีการหยอดเมล็ดข้าวนี้ หากเป็นการทำนาในพื้นที่ลาดเอียงเชิงเขาและใช้ข้าวพันธุ์เมล็ดสั้น(คล้ายข้าวญี่ปุ่น) ก็จะเรียกว่าการปลูกข้าวไร่ 

 


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 พ.ย. 20, 18:12
วิธีการทำนาแบบต่างๆที่กล่าวถึงนั้น ไปเกี่ยวข้องกับลักษณะของพื้นที่ๆใช้ทำนาด้วย  นอกจากนั้นแล้ว แต่เดิมก็อาจจะเป็นการทำนาแบบหนึ่ง แต่ต่อมาสิ่งแวดล้อมต่างๆที่เอื้อต่อการทำนาได้เปลี่ยนไป วิธีการทำนาก็เลยเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งเท่าที่ผมได้เคยเห็นพัฒนาการต่างๆตลอดช่วงระยะเวลาของการเดินทางทำงาน เห็นว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดพัฒนาการต่างๆก็คือเรื่องของน้ำและการชักน้ำเข้าพื้นที่ทำนา ซึ่งก็เป็นที่ทราบดีกันอยู่แล้ว   เพียงแต่ผมคิดว่าได้เห็นภาพในอีกมิติหนึ่งในด้านการเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดระหว่างเรื่องราวของธรรมชาติกับระบบเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละชุมชนท้องถิ่น





กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 พ.ย. 20, 18:54
ขอเริ่มด้วยการปูพื้นด้วยเรื่องราวเชิงวิชาการสักเล็กน้อย

พื้นที่ๆใช้ทำนาข้าวนั้นน่าจะพอจำแนกออกได้เป็น 5 กลุ่มพื้นที่ คือ กลุ่มแรก คือพื้นที่ๆน้ำท่วมถึง (flood plain) ของแม่น้ำสายใดสายหนึ่งหรือเป็นพื้นที่ร่วมกันของแม่น้ำหลายสาย   กลุ่มที่สอง คือพื้นที่ๆเรียกว่าตะพักลำน้ำระดับต่ำ (lower terrace) ของแม่น้ำสายใดๆ  กลุ่มที่สามคือพื้นที่ๆเรียกว่า ตะพักลำน้ำระดับสูง (higher terrace) ของแม่น้ำสายใดๆ  กลุ่มที่สี่ คือพื้นที่ๆเรียกว่าที่ราบในหุบเขา (upland)  และกลุ่มที่ 5 ก็คือพื้นที่ลาดเอียงเชิงเขา (slope land)   

ตะกอนดินทรายและเศษวัตถุอินทรีย์ต่างๆที่น้ำพัดมามาตกทับถมกันจนเป็นพื้นที่ราบเหล่านี้ เรียกกันรวมๆว่า alluvial deposits  ก็เลยเรียกพื้นที่ราบที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ในองค์รวมว่า alluvial plain   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 พ.ย. 20, 19:23
จะขอกล่าวถึงอีก 2 เรื่อง คือ ลักษณะการแผ่กระจายของการตกตะกอนที่ทับถมกันจนเป็นดินในบริเวณต่างๆ  และองค์ประกอบของเนื้อดินในบริเวณต่างๆใน alluvial plain     

จากนั้นจึงจะผูกเรื่องราวที่ดูกระท่อนกระแท่นมาตั้งแต่แรกเข้าด้วยกัน  ก็อาจจะได้เห็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่น่าสนใจ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ย. 20, 18:27
ตะกอนที่มากับน้ำนั้น จะมีขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กเช่นใดก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของน้ำที่พัดพามันมา เรียกกันว่า river competence  แต่จะไม่เล่าขยายความลึกลงไป   เอาแต่เพียงหลักว่า น้ำแรงก็สามารถพัดพาตะกอนกอนขนาดใหญ่ให้เคลื่อนที่ลงไปตามน้ำได้  น้ำขุ่นก็คือน้ำมีตะกอนขนาดเล็กแขวนลอย (suspend particle) อยู่มาก ยิ่งมีความขุ่นมากขึ้นตัวมันเองก็จะกลายเป็นน้ำที่มีความหนาแน่น (dense) สูงมากขึ้น ยังผลให้มันสามารถอุ้ม/พัดพาตะกอนที่มีน้ำหนักมากกว่าปกติได้มากขึ้น  และเมื่อมีมากจนมีลักษณะเป็นของเหลวที่เรียกว่าโคลน มันก็จะสามาถอุ้ม/พัดพาของชิ้นใหญ่ๆหนักๆให้ลงมาทำลายสิ่งที่ขวางอยู่ข้องหน้ามัน ก็เรียกว่า mud slide ดังเช่นที่เคยเกิดที่กะทูน อ.พิปูน นครศรธรรมราช (แถวๆ พ.ศ.2530 ??)   

น้ำที่มีความหนาแน่นสูงในธรรมชาติก็เกิดได้จากปริมาณสารที่ละลายอยู่ในตัวของมันอีกด้วย เช่น น้ำทะเลก็จะมีพวกเกลือ sulfate, chloride, carbonate และอื่นๆละลายอยู่ในตัวมัน น้ำทะเลมีเกลือละลายอยู่ในตัวมันประมาณ 35 กรัมต่อลิตร   แต่น้ำของ dead sea มีเกลือละลายอยู่ในตัวของมันประมาณ 342 กรัมต่อลิตร คนจึงลอยตัวได้  เช่นกันการลอยคอในน้ำทะเลซึ่งมีความหนาแน่นสูงก็จะออกแรงน้อยกว่าลอยคอในน้ำจืด


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ย. 20, 19:23
ตะกอนที่มากับน้ำนั้น ยิ่งมาจากต้นกำเนิดที่ไกล แต่ละชิ้นก็จะยิ่งเล็กลงและมีความมนมากขึัน  และยิ่งมาจากต้นตอที่เป็นหินเนื้อไม่สด ก็จะยิ่งได้ตะกอนแต่ละชิ้นที่มีความเป็นแร่แต่ละตัวมากขึ้น โดยเฉพาะแร่ quartz หรือเขี้ยวหนุมาณ   แร่ feldspar หรือหินฟันม้า   แร่ micas (พวกที่มีลักษณะเป็นเกล็ดวาว)   และพวก clay minerals หรือแร่ดินต่างๆ   ไม่นับรวมพวกที่เป็นอินทรีย์เคมีทั้งหลาย (organic matters) หรือจะเรียกว่าพวก hydrocarbon ก็ได้

ที่ต้องขยายความเรื่องนี้ก็เพราะ ตะกอนเหล่านี้ (ผนวกกับบริเวณที่ตะกอนเหล่านี้ตกทับถม ซึ่งจะได้เสวนาต่อไป) ก็คือองค์ประกอบของตะกอนที่ไปตกสะสมจนทำให้เกิดเป็นดินที่มีลักษณะจำเพาะและมีคุณภาพเพียงพอที่จะใช้ในการทำนา     ภาพ (portrait) ที่แสดงรูปทรงของผืนนาในพื้นที่ต่างๆที่เราเห็นในภาพถ่ายดาวเทียมของอากู๋และเรื่องอื่นๆทางสังคมและเศรษฐกิจอีกหลากหลายก็มีส่วนเกี่ยวโยงด้วย 


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ย. 20, 20:15
แร่ quartz ในบางโครงสร้างก็ให้ silica ซึ่งเป็นที่ต้องการของพืช   แร่ feldspar มีหลายชนิด เป็นแร่ที่มีธาตุ magnesium potassium และ sodium   แร่ mica มีหลายธาตุอยู่ในตัวมัน     สำหรับ clay minerals นั้นก็ทำตัวคล้ายเป็นฟองน้ำค่อยๆคายแร่ธาตุให้แก่พืช 

ลองลงลึกไปดูแร่ดินกัน เรื่องของแร่ดินนั้นมีมากเสียจนต้องเรียนกันเป็นอีกวิชาหนึ่งแยกออกไปเลย    แต่เอาแบบง่ายๆเพียงว่าแร่ดินแบ่งได้ออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 2 พวกตามคุณสมบัติทางกายภาพ คือพวกที่ไม่ขยาย(พอง)ตัวเมื่อชื้น กับพวกที่ขยายตัว (พองตัว)   สำหรับพวกที่พองตัวได้นั้นก็ยังแยกออกเป็น 2 พวก คือ พวกที่ขยายตัวได้สูงสุดประมาณ 8 เท่า กับพวกที่ขยายได้ถึงประมาณ 14 เท่า 


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 พ.ย. 20, 19:21
ก็มาถึงเรื่องของเส้นทางการไหลของแม่น้ำตามธรรมชาติ 

ขอเปรียบเทียบด้วยการเอาแผ่นไม้อัดทั้งแผ่นมาวางพาดกับขอบโต๊ะ โดยให้ปลายขอบด้านหนึ่งอยู่ที่พื้น อีกขอบด้านหนึ่งวางอยู่ที่ขอบโต๊ะ  เอาเชือกมาเส้นหนึ่ง ผูกปลายด้านหนึ่งไว้ด้วยลูกกุญแจ แล้วค่อยๆหย่อนลูกกุญแจนั้นลงไปบนแผ่นไม้อัด ก็จะเห็นว่าในช่วงแรกเชือกค่อนข้างจะเป็นเส้นตรง จากนั้นก็จะเริ่มคดไปมาบ้าง จนเมื่อลูกกุญแจถึงปลายสุดของแผ่นไม้อัด (ถึงพื้น)เชือกที่เราปล่อยลงไปเรื่อยๆก็จะตวัดไปมา   ก็เป็นภาพคล้ายกับสิ่งที่ทางน้ำในธรรมชาติกระทำ ในช่วงต้นทาง ก็จะกัดเซาะในทางลึก ได้ร่องน้ำที่เป็นรูปตัว V (ของธารน้ำแข็ง_fjord_จะได้เป็นรูปตัว U)  เมื่อความลาดชันลดลง การกัดเซาะก็จะเริ่มออกไปทางด้านข้าง ร่องน้ำก็จะกว้างมากขึ้น  เมื่อเข้าสู่ที่ราบทางน้ำก็จะแกว่งคดโค้งไปมา (meandering) ซึ่งเมื่อปริมาณน้ำในแต่ละปีมีมากน้อยต่างกัน ก็จะทำให้เกิดการกัดเซาะที่มากน้อยต่างกัน บางทีก็เกิดการตัดข้ามคุ้งน้ำ กลายเป็นทางน้ำสายใหม่ (cutoff chute)  แม่น้ำสายเก่ถูกตัดขาดกลายเป็น oxbow lake    เมื่อระดับน้ำทะเลทั่วโลกเกิดการลดระดับลง (eustatic sea-level change) หรือแผ่นดินยกตัวสูงขึ้น  การกัดเซาะของแม่น้ำก็เปลี่ยนไปทั้งการกัดเซาะทางลึกและทางด้านข้าง  ทำให้เกิดแผ่นดินเดิมที่ตกค้างอยู่กลายเป็นที่พื้นที่ราบที่มีระดับสูงกว่าระดับที่ราบในปัจจุบัน ก็เรียกพื้นที่ราบที่มีระดับสูงกว่านั้นว่า terrace   

คิดว่าพอแล้วที่จะเป็นพื้นฐานสำหรับเรื่องอื่นๆครับ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 พ.ย. 20, 20:19
ท้ายนี้ก็เป็นเรื่องของภาพตัดขวางของแม่น้ำที่ไหลอยู่ในพื้นที่ราบ (alluvial plain)

ภาพตัดขวางของแม่น้ำตามธรรมชาติที่ไหลอยู่ในพื้นที่ราบนั้นมีลักษณะคล้ายตัว M ที่เหยียดขากว้างออกไป   ซึ่งพอจะเปรียบเทียบได้ว่า ทรงตัว v ที่อยู่ตรงกลางนั้นคือตัวแม่น้ำ ปลายด้านบนของตัว v คือคันคลอง      เมื่อถึงฤดูน้ำหลากล้นตลิ่ง น้ำจะไหลข้ามคันคลองออกไปทั้งสองด้าน    น้ำในแม่น้ำที่ไหลมาด้วยความแรง พาตะตอนหลากหลายขนาด เมื่อเอ่อไหลข้ามตลิ่ง ความเร็วของกระแสน้ำลดลง พวกตะกอนขนาดใหญ่ก็จะตกอยู่ในบริเวณที่เป็นคันคลอง ยิ่งไหลข้ามไปเป็นระยะทางมากขึ้น ตะกอนดินทรายก็ถูกคัดขนาดมากขึ้น จนในที่สุดก็เหลือแต่ตะกอนขนาดเล็กมากๆ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 พ.ย. 20, 08:13
alluvial plain


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ย. 20, 18:08
ขอบพระคุณสำหรับภาพประกอบครับ 

ในภาพเราจะเห็นว่าแม่น้ำแกว่งไปมาซ้าย-ขวา  เห็นพื้นที่สีอ่อนๆที่อยู่ใต้ร่มแดด บริเวณนี้ดูคล้ายกับจะเป็นตะพักลำน้ำ(terrace) ซึ่งก็คือพื้นที่ alluvial plain ก่อนที่แม่น้ำจะกัดลึกลงไปและสร้างพื้นที่น้ำท่วมบริเวณใหม่ของมัน   

ที่ด้านข้างของตัวแม่น้ำบริเวณที่เป็นหัวคุ้งน้ำ จะเห็นหาดทรายสีขาวๆ ด้านนี้แผ่นดิน(ตลิ่ง)จะงอกออกไป เป็นด้านที่เรียกว่า convex side ภาษาเดินเรือของชาวบ้าน ดูจะเรียกว่า คุ้งใน    อีกด้านหนึ่งเป็นด้านที่แผ่นดิน(ตลิ่ง)ถูกกัดเซาะเรียกว่า concave side หรือคุ้งนอก

แล้วก็จะเห็นว่ามีถนนที่ทอดตัวไปตามความคดโค้งของแม่น้ำ ถนนเหล่านี้จะทำอยู่บนสันคันคลองตามธรรมชาติของแม่น้ำ (natural levee)  ถนนสามเสนและถนนจรัญสนิทวงศ์ก็เป็นถนนที่สร้างอยู่บน natural levee เช่นกัน  หากเป็นพวกคลองที่ขุดขึ้นมาก็จะไม่มี levee   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ย. 20, 19:13
ขยายความให้ละเอียดมากจนเกินไปก็อาจจะกลายเป็นการบรรยายวิชาและศาสตร์ทาง Geomorphology   เพียงเท่านี้ก็น่าจะพอสำหรับใช้กับเรื่องราวของกระทู้นี้แล้วครับ

แล้วก็ต้องขอออกตัวไว้เสียแต่แรกว่า แม้ว่าตนเองจะได้เดินทางไปทำงานในหลากหลายพื้นที่ ได้พบผู้คน/ชาวบ้านที่มีกระบวนการคิดทางสังคมและเศรษฐกิจบนปรัชญาจำเพาะบางอย่าง ผนวกกับที่ได้พบและได้เห็นเชิงประจักษ์ รวมทั้งการได้สนทนา สอบถาม เรียนรู้ เหล่านั้น มิได้หมายความว่าตนเองจะมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในชุดกระบวนทัศน์ของเขาเหล่านั้น เป็นแต่เพียงความพยายามที่จะนำมาถ่ายทอดสู่กันฟัง นะครับ

     


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ย. 20, 19:22
ขอเริ่มด้วยการจำแนกพื้นที่เพื่อการทำนาและการทำเกษตรกรรมต่างๆ(ของไทยเรา)ออกเป็น 4 กลุ่มลักษณะพื้นที่ คือ พื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง (flood plain) ซึ่งแยกออกเป็นราบลุ่มตอนบนและตอนล่าง    พื้นที่ราบระหว่างเทือกเขาต่างๆ (inter mountain basin) ซึ่งอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันตก    พื้นที่ราบสูง (plateau) ซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    และพื้นที่ราบชายทะเล (Coastal plain) ซึ่งส่วนมากจะอยู่ในพื้นที่ภาคใต้    


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 พ.ย. 20, 18:57
ก็มาถึงเรื่องของดิน   

เป็นความรู้ทั่วไปของคนที่นิยมปลูกต้นไม้จะพูดว่า ดินปลูกต้นไม้ที่ดีจะต้องเป็นดินที่มีความชุ่มชื้น ร่วนซุย มีปุ๋ยและธาตุอาหารอยู่มาก โดยเฉพาะเป็นดินดำซึ่งมักจะมีสารอินทรีย์ปะปนอยู่มาก (humus) และมี pH กลางๆ (ไม่เป็นกรดหรือด่างด้านหนึ่งด้านใดมากเกินไป)   

ในทางวิชาการ ดินที่ปลูกต้นไม้ดี ก็คือดินที่เรียกว่า loam  เป็นดินที่มีส่วนผสมของ sand sized particles (ขนาดประมาณ 50 ไมครอน ถึงประมาณ 2 มม.)  มี silt sized particles ขนาดเล็กกว่า 50 ไมครอนลงไป  และมีพวกขนาดเล็กมากๆที่เรียกว่า clay sized particles ซึ่งมีขนาดเม็ดเล็กกว่า silt ลงไปอีก   เป็นแร่ธาตุและเป็นอินทรีย์วัตถุ (inorganic / organic)  ทั้งหมดนี้ผสมรวมอยู่โดยมีสัดส่วนแตกต่างกันไป ก็เลยมีชื่อเรียกขยายความคำว่า loam แตกต่างกันออกไป เช่น sandy loam, silt loam, sandy clay, silty clay, clay ฯลฯ 

เมื่อจะปลูกต้นไม้จริงๆ ก็ยังมีเรื่องที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมลงไปอีก เช่น พืชนั้นๆต้องการดินที่อุ้มน้ำหรือไม่อุ้มน้ำ พืชนั้นๆชอบดินที่มี pH เป็นกรดหรือเป็นด่าง  พืชนั้นๆที่จะให้ผลผลิตที่สมบูรณ์และรสชาติดีนั้นชอบดินนั้นชอบดินที่มีธาตุใดๆสูงเป็นพิเศษหรือไม่ (ดินภูเขาไฟ ดินจากหินแกรนิต ดินจากหินปูน ดินที่เคยอยู่ในอิทธิพลของทะเล ฯลฯ) ฯลฯ 


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 พ.ย. 20, 19:24
นำพามาสู่เรื่องความสามารถของชาวบ้านในการบริหารจัดการกิจกรรมทางเกษตรกรรมที่มีการพัฒนาให้สอดคล้องไปกับพัฒนาการทางเทคโนโลยีและระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 พ.ย. 20, 18:55
ออกตัวอีกครั้งว่า เรื่องที่จะขยายความต่อจากนี้ไป เป็นความเห็นของผมบนพื้นฐานความรู้ทางวิชาการธรณีวิทยา ซึ่งเป็นศาสตร์เกี่ยวข้องกับการกระบวนการกำเนิด กระบวนการเปลี่ยนแปลง กระบวนการนำพาไปอยู่รวมกัน และผลที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น เป็นศาสตร์ที่เน้นหนักไปในด้านทาง physical และ chemical aspect  มากกว่าทางด้าน biological aspect      ส่วนความเห็นทางด้านเศรษฐกิจและสังคม หรือทางมานุษยวิทยาสังคม _social anthropology นั้นมาจากประสบการณ์ในการเดินทางไปทำงานในพื้นที่ต่างๆ




 


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 พ.ย. 20, 19:23
เคยสังเกตไหมครับว่า ดินในผืนนาทั้งหลายนั้น ในฤดูแล้งก็จะแห้งและแตกระแหง หากแล้งนานมากดินก็จะแข็งมากและระแหงก็เป็นร่องใหญ่ สภาพนี้เป็นสภาพปกติโดยทั่วไปสำหรับนาน้ำฟ้าหรือนานอกระบบชลประทาน และก็เกิดกับนาในระบบชลประทานที่เลิกการทำนาไปด้วย  การแตกระแหงดังกล่าวนี้จะถูกมองว่าพื้นที่นั้นๆเป็นพื้นที่แล้งหรือได้รับภัยแล้ง ซึ่งก็มีทั้งถูกและผิด ถ้าจะให้แน่ชัดลงไปก็จะต้องนำองค์ประกอบอื่นๆมาประกอบการพิจารณาด้วย    (คงจะทำให้นึกถึงวลีสามัญประจำปี 'แล้งซ้ำซาก' แล้ว  แล้วค่อยว่ากันครับ)

ข้าวเป็นพืชที่ต้องการดินที่มีความชุ่มชื้นสูงมาก  สำหรับน้ำที่แช่อยู่ในนาข้าวนั้น นอกจากจะทำให้ดินมีความชุ่มชื้นคงที่แล้วก็ยังทำหน้าที่อื่นอีกด้วย ก็คือการคุมต้นหญ้ามิให้ขี้นมาแข่งกับต้นข้าว  

เคยสังเกตใหมครับว่าน้ำในนาข้าวจะมีความใสสะอาด ไม่ใช่ลักษณะของน้ำที่แข่ขังไว้จนส่งกลิ่น(เน่า) เป็นลักษณะเป็นน้ำไหลผ่าน  บางช่วงเวลาเราก็จะเห็นน้ำในนาแห้งจนเห็นดินพื้นนา บางช่วงเวลาก็จะเห็นว่าในนามีน้ำแช่ขังอยู่ บางช่วงเวลาก็ในระดับที่สูง บางช่วงเวลาก็ในระดับที่ต่ำ  แล้วก็จะเห็นว่าจะมีชาวบ้านแบกจอบเดินไปนาข้าวของตน เช้ารอบหนึ่ง เย็นรอบหนึ่ง หรือบางครั้งก็ทั้งวัน  และก็มีที่บางครั้งไปนอนค้างที่เถียงนา  


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 พ.ย. 20, 20:21
จะสรุปอย่างง่ายๆแบบกำปั้นทุบดินว่า น้ำดี ดินดี ก็ทำนาข้าวได้แล้ว ใช่หรือไม่(ตามสำนวนนิยมในปัจจุบัน)   จะว่าถูกก็ใช่ แต่มิได้หมายความว่าจะต้องใช่เสมอไป 

ก็ดังที่ได้ขยายความมาแล้วว่า ดิน loam นั้นมันก็ยังมีหลากหลายสัดส่วนของการผสมผสานในด้านขนาดเม็ดของแต่ละเม็ดตะกอน  หากยิ่งลงไปถึงในระดับ clay sized particles และ/หรือแร่ดินแล้ว คุณสมบัติของแร่ดินที่ว่า พองน้ำไม่ได้ หรือพองน้ำได้มาก/น้อยในกลุ่มใด  (Kaolinite group, Smectite group, หรือ Illite group)   

แล้วในเรื่องของน้ำนั้น เขาทำระบบกันอย่างไร


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ธ.ค. 20, 18:26
น้ำในนาข้าวที่เห็นแชอยู่นิ่งๆนั้น แท้จริงแล้วจะต้องมีการปรับระดับความสูงต่ำให้มีความเหมาะสมกับการเจริญของต้นข้าวอยู่ตลอดช่วงการทำนา    การปรับระดับน้ำให้สูงหรือต่ำไปเกี่ยวข้องกับการควบคุมต้นหญ้าที่จะขึ้นมาแข่งกับต้นข้าว โดยหลักก็คือการใช้น้ำกดให้ต้นหญ้าจมอยู่ใต้น้ำโดยที่ระดับน้ำไม่ท่วมต้นข้าวจนไม่สามารถไม่เหลือใบมากพอที่จะสังเคราหะห์แสงได้   เมื่อใดที่จะใส่ปุ๋ยหรือถอนต้นหญ้าพวกโตเร็ว ก็จะต้องมีการลดระดับน้ำลงที่ระดับต่ำกว่าผิวดินเล็กน้อย มิฉะนั้นปุ๋ยก็จะละลายน้ำและไหลออกจากนาไป  อีกทั้งปริมาณน้ำที่ไหลเข้านานั้นมีความไม่คงที่ เช่นในกรณีมีฝนตกลงมาในพื้นที่ ไม่ว่าจะโดยตรงบนผืนนาของเราหรือของผู้อื่นก็ตาม      เมื่อจะต้องมีการปรับระดับน้ำกัน ก็หมายความว่า นาแต่ละบิ้งจะต้องมีช่องสำหรับน้ำไหลเข้าและช่องสำหรับน้ำไหลออก  ซึ่งก็หมายความต่อไปว่า นาแต่ละบิ้งนั้นจะต้องมีระดับไม่เท่ากัน น้ำจึงจะไหลถ่ายเทจากที่สูงกว่าลงสู่ที่ต่ำกว่าได้ ซึ่งก็ต้องคิดกันต่อไปว่าจะให้น้ำนั้นหมุนเวียนอยู่ในพื้นที่ของนาของเราเป็นเส้นทางเช่นใดจึงจะได้ครบถ้วนทุกบิ้งนาอย่างเสมอภาคกัน     แล้วก็ไปเกี่ยวกับดินของผืนนาของเราที่เราไปพัฒนาพื้นที่ในธรรมชาติให้มาเป็นเป็นพื้นที่ทำนา


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ธ.ค. 20, 19:11
นาข้าว


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ธ.ค. 20, 19:25
ดินเกิดมาจากการตกสะสมของตะกอน ซึ่งพัดพามาได้ทั้งโดยน้ำไหล โดยลม (aeolian processes) และโดยการกลิ้งมาจากที่สูงด้วยแรงโน้มถ่ง (gravity) รวมทั้งจากการผุพังในตัวของมันเอง (in situ weathering)   ดินภายในพื้นที่ราบแต่ละหย่อม จึงมีความต่างกันมากน้อยต่างกันไป

ดังที่ว่ามาแล้ว ดินที่เหมาะแก่การทำนาคือดิน loam ที่จะต้องเป็นดินที่สามารถอุ้มน้ำได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อยังความชุ่มชื้นให้แก่ต้นข้าวในช่วงเวลาน้ำบนหน้าดินแห้งเหือด (ไม่ว่าจะโดยธรรมชาติหรือโดยการกระทำของคนก็ตาม)   ดินที่เหมาะกับการทำนาประเภทนี้จำเป็นจะต้องมีส่วนผสมที่เหมาะสมของแร่ดิน 3 กรุป  หากมีพวก kaolinite มากเกินไปก็จะกลายเป็นดินที่เหนียว  หากมีพวก illite มากเกินไปก็จะเป็นดินร่วน  จำเป็นจะต้องมีดินพวกที่บวมน้ำ/อุ้มน้ำพวก smectite อยู่มากพอสมควร  ก็จึงไม่แปลกนักที่ในฤดูแล้ง ดินในผืนนาจะต้องมีการแตกระแหง  

แร่ดิน clay minerals มีโครงสร้างเป็นแผ่นๆ เรียกกันว่าเป็นพวก phyllosilicates mineral หรือ sheet silicates   เปรียบเทียบง่ายๆคล้ายกับเอากระดาษ A4 มาวางซ้อนๆกันจนเป็นรีม ซึ่งเมื่อเอากระดาษทั้งรีมนั้นไปแช้น้ำ ก็จะเห็นว่ามันพองหนาขึ้นมา แต่ละแบรนด์หรือแต่ละขนาดน้ำหนัก จะบวมพองไม่เท่ากัน ซึ่งเมื่อเอาไปตากให้แห้ง ก็จะเห็นว่ามันยุบลงและมีความแห้งไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลา


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 02 ธ.ค. 20, 08:28
เข้ามาอ่านค่ะ ถึงตรงควบคุมระดับน้ำในนาข้าวแล้ว การทำนานี่ไม่ง่ายเลยนะคะ

ต้องควบคุมระดับน้ำทั้งหมดให้ทั่วถึงกัน


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ธ.ค. 20, 08:42
ประเภทของดิน


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ธ.ค. 20, 17:53
เข้ามาอ่านค่ะ ถึงตรงควบคุมระดับน้ำในนาข้าวแล้ว การทำนานี่ไม่ง่ายเลยนะคะ

ต้องควบคุมระดับน้ำทั้งหมดให้ทั่วถึงกัน

ครับ ไม่ง่ายอย่างที่คิด  เป็นความรู้ที่ถ่ายทอดกันต่อๆมานาน


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ธ.ค. 20, 18:14
ประเภทของดิน

ดูภาพแบบผิวเผินแล้วจะแยกกันไม่ออกเลย 

วิธีการทดสอบคุณสมบัติให้ลึกลงไปอย่างหนึ่งก็คือ การเอาดินมาสักกำมือหนึ่ง เอาน้ำหยดลงไป ค่อยๆเพิ่มปริมาณน้ำ กำมือขยำๆบีบให้ดินแน่นเป็นก้อน ก็จะเห็นว่า ณ ที่ปริมาณน้ำจุดหนึ่ง ดินจะยังร่วนอยู่ตลอด หรือดินก็จะจับตัวเป็นก้อนดี  จากนั้นดินก็จะเละไม่ทรงรูป บางทีก็ไหลเป็นโคลนเลย   ก็ใช้เป็นวิธีการพิจาณาแบบง่ายๆเพื่อจำแนกว่าเป็นดินร่วน เป็นดินแบบน้ำผ่านได้ดี (well drained soil) หรือ ... ฯลฯ แล้วก็เลือกใช้ให้เหมาะกับพืชที่เราจะปลูก


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ธ.ค. 20, 18:39
สรุปในเบื้องแรกว่า พื้นที่ทำนาข้าวจะต้องมีความลาดเอียงมากน้อยพอที่จะทำให้สามารถจัดการระบบน้ำได้ เป็นดินประเภทที่ระบายน้ำได้ดีแต่มิใช่เป็นดินทรายร่วน  และจะต้องเป็นดินที่มีสารอินทรีย์ (organic matters) ผสมอยู่ด้วย    แล้วพื้นที่ในลักษณะนี้สามารถพบได้ที่ใดบ้าง ?

ก็ต้องย้อนกลับไปใช้ภาพตัดขวางของแม่น้ำเพื่อขยายความเฉพาะในพื้นที่นาในพื้นที่ราบลุ่ม   แล้วจึงจะเข้าไปเรื่องนาในพื้นที่ราบในหุบเขา/หุบห้วยต่างๆ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ธ.ค. 20, 19:31
พลาดท่าครับ ระบบบอกว่าหมดเวลาส่งข้อความ   

ต่อวันพรุ่งนี้ก็แล้วกันครับ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ธ.ค. 20, 18:43
ขอยกลักษณะของพื้นที่ในกรุงเทพฯเพื่อแสดงถึงลักษณะของพื้นที่ๆเหมาะแก่การทำนา และขอเลือกเอาพื้นที่บริเวณแถวสะพานกรุงธนไปทางด้านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาเป็นตัวอย่าง   

ถนนสามเสนนั้นต้้งอยู่บนแนวสันคันคลองตามธรรมชาติ (natural levee)  เมื่อน้ำเจ้าพระยาล้นฝั่ง เอ่อท่วมออกไปทั้งทางด้านข้าง พวกตะกอนที่มีน้ำหนักหรือที่มีขนาดใหญ่กว่าตะกอนปกติ เช่นพวกทรายหยาบก็จะตกตะกอนก่อนเพื่อน ตกทับถมกันมาทุกปีจนกลายเป็นสันคันคลองที่ค่อยๆมีระดับสูงมากขึ้น  ผู้คนจะใช้พื้นที่เช่นนี้ในการปลูกบ้านเรือนที่อยู่อาศัย  ซึ่งหากเปิดแผนที่ดาวเทียมของอากู๋ดู ก็จะเห็นบ้านเรือนของชาวบ้านตั้งอยู่เป็นทิวช้ายขวาตามเส้นทางการไหลของแม่น้ำสายต่างๆ  จะไม่เห็นว่ามีการทำนาบนพื้นที่นี้ และก็เกือบจะไม่เห็นมีการใช้พื้นที่นี้ในการทำไร่ทำสวนใดๆ    จากถนนสามเสนออกไป พื้นที่จะราบแต่มีความลาดเอียง ตะกอนดินทรายจะมีความร่วน ระบายน้ำดี เหมาะสำหรับการปลูกพืชผัก ทำสวนผลไม้ และการปลูกไม้ยืนต้น ก็เช่นพื้นที่สวนของนนทบุรีต่างๆ หรือพื้นที่ย่านถนนสวนผักของฝั่งธนบุรี  เมื่อความแรงของน้ำที่ไหลบนพื้นผิวดินลดลงอีก ตะกอนที่มีความละเอียดมากขึ้นและมีส่วนผสมของ clay sized particles มากขึ้นก็จะตกตะกอน ทำให้เกิดเป็นดินที่เหมาะแก่การทำนาข้าว  ชื่อที่ยังคงหลงเหลือเป็นเครื่องบ่งชี้ก็คือ ทุ่งพญาไท   ในที่สุดก็ถึงที่ราบต่ำจนกลายเป็นพื้นที่น้ำขัง เป็นบึง เป็นหนองน้ำ  ดินจะเป็นพวกดินเหนียวที่ไม่เหมาะกับการทำนาหรือการปลูกพืชใดๆต่อไป  แต่ก็ยังอาจจะเหมาะสำหรับการใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่นปลูกผักกระเฉด ปลูกผักบุ้ง ฯลฯ ก็เช่นพื้นที่ บึงมักกะสัน


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ธ.ค. 20, 20:27
พื้นที่น้ำขังนี้ มีการใช้คำเรียกอยู่หลายคำ เช่น หนอง บึง หล่ม ปลัก มาบ ตลุก บวก กว๊าน  ในภาษาอังกฤษก็มีอยู่หลายคำเช่นกัน เช่น marsh, swamp, bog, wet land,    คำทั้งหลายเหล่านี้ดูคล้ายๆกับจะมีความหมายเหมือนๆกันในของแต่ละกลุ่มภาษา (ไทยหรืออังกฤษ)  แต่โดยที่มาที่ทำให้เกิดเป็นสภาพเช่นนั้น ดูจะต่างกันอยู่  ชาวบ้านและคนรุ่นแต่เก่าก่อนนั้นดูจะมีความสามารถมากๆในการจำแนกและใช้คำนำหน้าให้มีความหมายที่แตกต่างกันออกไป 

พื้นที่ๆเรียกว่าทุ่งก็เช่นกัน  ตามความหมายตามปกติ ทุ่ง หมายถึงที่ราบโล่ง แต่แท้จริงแล้ว ตามประสบการณ์ที่พบมา คำว่าทุ่งมิได้หมายความว่าจะต้องเป็นที่ราบ เป็นพื้นที่ลาดเอียงตามเชิงเขาก็ได้ เพียงแต่เป็นที่ค่อนข้างโปร่ง มีต้นไม้ขึ้นไม่หนาแน่น ไม่มีต้นไม้โค่นหรือมีกิ่งไม้แห้งตกอยู่ระเกะระกะอยู่บนพื้นมากนัก เกือบจะไม่มีพวกต้นไม้ที่มีเรือนยอดสูงระดับกลาง มีพืชพื้นล่างเป็นพวกหญ้าหรือพวกไผ่เพ็ก(หญ้าเพ็ก)  เช่น ทุ่งก่อ ทุ่งมะขามป้อม ทุ่งมะกอก ทุ่งมะเดื่อ ....   

สำหรับทุ่งที่เป็นที่เป็นพื้นที่ราบ หรือค่อนข้างราบ หรือเป็นพื้นที่ราบลอนคลื่น (undulating terrain) นั้น  โดยพื้นเดิมจริงๆที่ชาวบ้านเขาจะบอกบริเวณพื้นที่กัน จะมีคำนำหน้าอยู่ 3 คำ คือ คำว่า ห้ว(ทุ่ง)  กลาง(ทุ่ง)  และ ท้าย(ทุ่ง)   

โดยนัยแล้ว คำว่าทุ่งของชาวบ้านจะหมายถึงพื้นที่ทำนา   สำหรับคำว่าหัวทุ่งและท้ายทุ่งนั้น บอกเล่าเรื่องราวได้อีกหลายเรื่องเลยทีเดียว


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ธ.ค. 20, 08:53
พื้นที่ในโคโลราโด มีทุ่ง (prairie) อยู่มาก   ไม่เคยเห็นในประเทศไทย  ไม่ทราบมีอยู่หรือเปล่าคะ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ธ.ค. 20, 18:25
ที่ราบที่เป็นทุ่งหญ้าผืนใหญ่นั้นมีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อ เรียกว่า prairie ในอเมริกาเหนือ   เรียกว่า savanna ในอัฟริกา    เรียกว่า steppe ในเอเซียกลาง   เรียกว่า rangeland ในออสเตรเลีย   ในอเมริกาใต้ก็มี แต่นึกชื่อไม่ออกครับ    คำจำจำกัดความทางวิชาการของมันก็คือพื้นที่ราบผืนใหญ่ที่เป็นทุ่งหญ้า ที่ไม่มีต้นไม้ใหญ่ (อาจจะมีก็ได้แต่ในปริมาณน้อยมากๆ) ตั้งอยู่ในพื้นที่ของโลกในแถบละติจูดที่เป็น temperate zone  คือ มีสภาพภูมิอากาศกลางๆในฤดูกาลต่างๆ ไม่ร้อนจัด ไม่เย็นจัด มีฝนตกกระจายทั่วถึงแต่ในปริมาณไม่มาก ผืนดินมีความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์ดี 

ในบ้านเราก็มีพื้นที่ๆมีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าผืนใหญ่เช่นกัน แต่ไม่ตกอยู่ในคำจำกัดความทางวิชาการดังที่กล่าวมา  ก็คือ ทุ่งเจ้าพระยาที่เรียกว่า Chao Phraya Flood Plain  หากมีโอกาสเดินทางโดยทางรถยนต์ในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนบนเส้นทาง อ.อินทร์บุรี จ.สิงหบุรี - อ.วังทอง จ.พิษณุโลก หรือเส้นทาง จ.นครสวรรค์ - จ.พิษณุโลก  ซึ่งเป็นช่วงที่ข้าวในนากำลังเริ่มแก่ ก็จะได้เห็นสภาพของทุ่งนาที่สวยงามไม่แพ้ทุ่งหญ้า prairie เช่นกัน   แต่หากเดินทางในช่วงประมาณเดือนเมษายน ก็จะได้เห็นในอีกภาพหนึ่ง คือความแห้งแล้ง แดดเปรี้ยง และอากาศที่ร้อนจัด


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ธ.ค. 20, 19:19
คู่กับคำว่าหัวทุ่งและท้ายทุ่งที่เป็นวลีที่นิยมพูดกัน  ก็มีอีกหลายคำ อาทิ หัวไร่ ปลายนา สวน ไร่  นา  หัวนา ท้ายนา ... 

คำเหล่านี้ที่ชาวบ้านเขาใช้เรียกพื้นที่หรือสถานที่ในท้องทุ่งต่างๆนั้น  สำหรับผมแล้ว มันสื่อความหมายในทางกายภาพในเรื่องของระดับความสูงของผืนดินที่ต่างกัน รวมทั้งบอกถึงเรื่องราวบางอย่างในทางสังคมของผู้คนและพัฒนาการต่างๆทางสังคมของชุมชนในพื้นที่นั้นๆ (เมื่อเอาข้อมูลในด้านอื่นๆมาประมวลเข้าด้วยกัน) 

คำว่าหัวทุ่ง หัวไร่ หัวนา สวน ไร่ เหล่านี้ล้วนแต่แสดงว่าเป็นบริเวณพื้นที่ๆมีระดับสูงกว่าท้องทุ่ง  ซึ่งโดยนัยก็คือพื้นที่ต้นทางน้ำที่จะไหลเข้าทุ่ง  คำที่เหลืออื่นๆก็จะหมายถึงพื้นที่ๆอยู่ในระดับต่ำกว่า ซึ่งโดยนัยจะหมายถึงพื้นที่ต่ำบริเวณที่น้ำจะไหลออกพ้นพื้นที่ทุ่ง   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ธ.ค. 20, 18:53
ท่านที่เคยเดินทางบนเส้นทางถนนที่ผ่านทุ่งนาแต่ก่อนโน้น น่าจะพอจำได้ว่า เราจะเห็นจุดที่เป็นโคก(เนินดิน)ขนาดเล็กๆที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่ต้นสองต้นและมีห้างนา(กระต๊อบ เถียงนา) เห็นเด่นอยู่ในทุ่งนา โคกเหล่านี้จะมีระดับความสูงมากกว่าระดับพื้นนาแตกต่างกันไป  ซึ่งหากสังเกตค่อนข้างละเอียดลงไปก็จะเห็นว่า ในบริเวณที่เรียกว่าหัวทุ่ง หัวนา โคกเหล่านั้นจะไม่มีระดับสูงกว่าพื้นนามากเท่ากับปริเวณที่เรียกว่ากลางทุ่ง และเกือบจะไม่เห็นว่ามีในบริเวณพื้นที่ๆเรียกว่าท้ายทุ่ง ท้ายนา    ภาพเช่นนี้ยังพอจะมีหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ที่หายไปจนเกือบจะไม่หลงเหลือให้เห็นอยู่เลยในปัจจุบันนี้ ดูจะเริ่มมาตั้งแต่ยุคที่ความเหล็กเริ่มเป็นที่นิยมใช้ในการไถนา ยิ่งเมื่อเริ่มมีระบบการชลประทานที่ดีมากขึ้น มีการใช้รถแทรกเตอร์แทนการใช้ความเหล็กมากขึ้น นาแต่ละบิ้งที่เคยมีขนาดเล็กก็ขยายเป็นบิ้งขนาดใหญ่มากขึ้น พร้อมๆกับบรรดาโคกเนินดินทั้งหลายก็หายไปด้วย       

แต่ก่อนที่เคยใช้ตอไม้ที่เห็นอยู่ในนา ใช้ขนาดแและรูปทรงของบิ้งนาที่ต่อกันเป็น jigsaw ของผืนนาในพื้นที่ทำนาต่างๆ รวมทั้งลักษณะและชนิดของการปลูกพืชและไม้ผล นำเอาไปผนวกกับองค์ประกอบอื่นๆ แล้วใช้ประเมินความเก่าแก่ของการเข้ามาตั้งรกรากของชุมชน ในปัจจุบันเกือบจะใช้ไม่ได้เลย   ก็เพราะด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยีนั่นเอง  ก็อาจจะเป็นเรื่องแปลกสำหรับท่านสมาชิกว่า ด้วยเหตุใดผมจึงให้ความสนใจ    ก็เพราะว่าในการทำงานสำรวจทำแผนที่ทางธรณีวิยาของผมนั้น พื้นที่ๆทำงานเป็นพื้นที่ๆมีเรื่องราวทางโบราณคดีและทางประวัติศาสตร์ที่มีจารึกอยู่ทั้งในเชิงของหลักฐานเชิงประจักษ์ หลักฐานทางเอกสาร และความเห็นทางวิชาการ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ธ.ค. 20, 20:32
ที่บรรยายมา ก็หมายความว่า มันต้องมีการปรับระดับท้องนาแต่ละบิ้งตั้งแต่แรกเริ่มการทำให้เป็นพื้นที่ทำนา แล้วก็มีพัฒนาการทั้งในเชิงของการขยายพื้นที่ในทางราบ พร้อมไปกับการปรับระดับให้เหมาะสมไปทั่วทั้งทุ่ง (และในพื้นที่ๆตนเป็นเจ้าของ)   

นั่นหมายถึง การที่ผู้คนในชุมชนจะต้องมีความร่วมมือกันเป็นอย่างดีในการสร้างระบบการไหลของน้ำให้ครอบคลุมและมีความเสมอภาคสำหรับทุกบิ้งนา(หรือทุกเจ้าของผืนนา)  ซึ่งค่อนข้างจะบ่งบอกว่า ต้องเป็นชุมชนที่อยู่ร่วมกันแบบเอาไหนเอากัน (เลือดสุพรรณด้วยกัน  ;D) โดยนัยก็คือน่าจะเป็นพวก เป็นกลุ่ม เป็นเครือญาตกัน ดองกัน...    แล้วก็ยังบ่งบอกว่าเป็นสังคมที่อยู่ในกรอบความคิดในเชิง quality มากกว่าในเชิง quantity

ก็คงจะคาดกันได้ว่า จะนำพาไปสู่เรื่องของการลงแขก (ยังนึกคำศัพท์ภาษาอังกฤษไม่ออกสำหรับคำว่าลงแขก) แต่มิใช่ในความหมายในทางด้านที่ไม่ค่อยจะดีตามที่มีสื่อไว้ในพจนานุกรม


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ธ.ค. 20, 10:48
้เปิดพจนานุกรมแล้ว ไม่มีคำแปลตรงๆของ "ลงแขก" แต่มีคำอธิบายว่า gathering to help at harvest time   
ฝรั่งคงไม่มีการ "ลงแขก" แบบไทย   แต่เคยอ่านพบว่าในสังคมเกษตรกรรมดั้งเดิมของอเมริกา  มีการแลกเปลี่ยนแรงงานกันค่ะ   
เรียกว่า  (to) trade work  หรือถ้าเป็นคำนามก็ work trading
เช่น Mr.A  กับ Mr.B  ตกลงกันว่าจะเกี่ยวข้าวในนาของแต่ละคน    ถึงเวลา A ก็ไปช่วย B  ในนาของ B  จนเสร็จ   แล้ว B ก็มาช่วยเกี่ยวข้าวในนาของ A 


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ธ.ค. 20, 18:57
ขอบพระคุณครับ

ผมไปนึกถึงคำว่า reciprocal หรือ reciprocity    คำว่าลงแขกจึงอาจจะใช้วลีว่า reciprocity social systems ก็น่าจะพอได้อยู่ ??


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ธ.ค. 20, 20:24
การพัฒนาพื้นที่เพื่อใช้ในการปลูกข้าวนั้น ไม่ว่าจะเริ่มต้นจากด้านท้ายทุ่งหรือจากด้านหัวทุ่งก็ตาม ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการทำระบบการผันน้ำเข้าพื้นที่ทำนา ชาวบ้านจะต้องทำฝายกั้นน้ำ(ฝายน้ำล้น)ที่ห้วยหรือที่ร่องน้ำไหล เพื่อยกระดับน้ำให้สูง ให้ไหลเข้าไปในร่องส่งน้ำที่ทำด้วยการเซาะดินให้เป็นร่องด้วยความลาดเอียงที่เหมาะสม เพื่อนำน้ำส่งเข้าสู่พื้นที่ปลูกข้าว  ร่องน้ำนี้มีชื่อเรียกต่างกันในแต่ละภาค เช่น เหมือง ลำราง ร่องน้ำ คู เป็นต้น 

เราอาจจะเห็นเป็นเรื่องง่ายๆ   แต่หากจะลองพิจารณาดูว่า
    คูน้ำนี้ถูกเซาะร่องไปตามเชิงเนินที่มีความลาดเอียงในขณะที่จะต้องรักษาระดับความลาดเอียงของพื้นร่องน้ำให้มีความคงที่ตลอดเส้นทางที่ยาวตั้งแต่ไม่กี่ร้อยเมตรจนถึงเป็นกิโลเมตร โดยไม่มี inclinometer หรือกล้องส่องระดับ มีแต่เพียงจอบและเสียมเท่านั้น  แล้วเขาทำกันโดยไม่มีเครื่องมืออะไรเลยได้อย่างไร ??
    คูน้ำเหล่านี้มีน้ำที่ใสสะอาดไหลรินอยู่ตลอดเวลา เกือบจะไม่ต้องมีการล้างร่องน้ำเพื่อลอกเอาตะกอนที่ตกสะสมอยู่ออกไป   ดูชาวบ้านเขาจะมีความรู้ในเรื่องความสามารถตามธรรมชาติของการกัดเซาะของน้ำไหลและการนำพาตะกอนดินทรายในน้ำค่อนข้างจะดีมากเลยทีเดียว
    แล้วก็ การทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งของที่เป็นสาธารณะเช่นนี้ มันเป็นการร่วมลงมือทำด้วยกัน ทำไปพร้อมๆกัน แล้วก็ยังต้องเป็นความร่วมมือกันแบบที่มีความรู้และความสามารถค่อนข้างจะทัดเทียมกันด้วย

น่าสนใจนะครับ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ธ.ค. 20, 18:50
เล่ามาเป็นแต่ละภาพ  ก็ถึงเวลาเอามาต่อกันเป็นเรื่องราว

พื้นที่ทำนาปลูกข้าวในหมู่บ้านห่างไกลและแม้กระทั่งของชุมชนชาวกะเหรี่ยง เท่าที่เคยเห็นมาเมื่อครั้งยังทำงานจนกระทั่งเริ่มทำในพื้นที่ของตนเองนั้น   เริ่มต้นมาจากการสังเกตพื้นดินตั้งแต่ช่วงที่มีฝนตกครั้งแรกของรอบปี (ประมาณปลายเดือนเมษาฯ ต้นเดือนพฤษภาฯ) ดูว่าหลังจากฝนตกผ่านไปแล้ววันสองวัน ดินยังดูฉ่ำชื้นอยู่หรือไม่  หากใช้จอบขุดหน้าดินดูแล้วยังเห็นความชื้นของดินลึกลงไปมากกว่าหนึ่งจอบ และดินมีสีค่อนข้างดำ  ก็หมายความว่า ดินนั้นเป็นดินที่อุ้มน้ำได้ดี เป็นดินที่น้ำซึมผ่านน้ำได้ดี และมีปุ๋ยธรรมชาติ (สารอินทรีย์ _humus) ใช้ทำนาได้ดี   

ดูการไหลของน้ำบนผิวดินเมื่อฝนตก (surface runoff) ว่าพื้นที่ผืนนั้นเอียงเทไปทางใหน เพื่อพิจารณาส่วนที่จะเป็นพื้นที่หัวนา พิจารณาว่าควรจะเซาะร่องเอาน้ำเข้านาทางมุมใหน ด้านใหน รวมทั้งร่องน้ำส่วนเกินที่จะต้องปล่อยให้ไหลผ่านว่า ควรจะอยู่ที่ใด ผ่ากลางนา ? อยู่ทางด้านซ้ายหรือทางด้านขวาของพื้นที่ทำนา และจุดที่น้ำจะออกพ้นพื้นที่ผืนนา

พิจารณารวมกันแล้วจึงนำมาสู่การตัดสินใจว่า mosaic ของบิ้งนาควรจะเป็นทรงใหน (แบบกล่องไม้ขีดไปต่อกันทางด้านข้างสั้น หรือต่อกันทางด้านข้างยาว) แต่ละบิ้งควรจะมีขนาดใหญ่เล็กเพียงใด หรือจะผสมผสานกันอย่างไร 


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ธ.ค. 20, 19:12
ตัวผมเองใช้เวลาพิจารณาตัดสินใจอยู่หลายปี เพราะว่าเป็นพื้นที่ๆต้องทำนาแบบนาน้ำฟ้า  ขึ้นอยู่กับความชุกของฝนและปริมาณน้ำของฝนที่ตกลงมา  คือ อาศัยฝนที่จะยังให้เกิดความชุ่มชื้นของดินและการยกระดับน้ำผิวดิน(water table) ซึ่งจะมีระดับขึ้นลงตามความฉ่ำที่ได้จากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา   หลังจากสังเกตมาหลายปีเห็นว่าพอไหวก็เลยเริ่มเปิดกระบวนการทำนา

สนุกดีครับ ได้เอาความรู้จากสิ่งที่ได้เห็น ที่ได้รู้จากการพูดคุยกับชาวบ้าน และจากวิชาชีพที่ได้ร่ำเรียนมา  เอามาผสมผสานทำเอง(แต่มิได้ลงทำด้วยมือของตนเอง แก่เกินไปครับ ;D)


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ธ.ค. 20, 18:26
แล้วก็ลงมือดำเนินการปรับพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ทำนา ซึ่งในพื้นที่ของผมใช้ควายเหล็ก  ก็จะเริ่มเมื่อฝนตกลงมาจนดินในบริเวณนั้นไม่แห้งแข็งแล้ว   เริ่มต้นด้วยการไถปัดออก เพื่อยกให้เป็นคันนารอบๆแปลงนาด้วยการหมุนวนการไถไปตามการหมุนของเข็มนาฬิกา  จากนั้นจึงทำการไถดะ ซึ่งเป็นการเดินไถวนไปทางซ้าย   การไถครั้งแรกเพื่อทำให้เกิดเป็นที่ทำนานี้จะเรียกว่าไถพรวนก็น่าจะพอได้อยู่ การดำเนินการทั้งหมดนี้ก็คือการพลิกดินเพื่อเอาดินส่วนล่างใต้ผิวดินออกมาตากพร้อมไปกับการขุดถอนและทำลายวัชพืช

ขอขยายความเรื่องของคำว่าปัดออก ปัดเข้า การไถวนซ้าย การไถวนขวา แล้วก็เรื่องของการพลิกดิน  ซึ่งที่จริงแล้วก็น่าจะค้นหาได้ในเน็ตได้ไม่ยากนัก


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ธ.ค. 20, 19:22
ก็อาจจะเป็นเรื่องแปลกอยู่นิดนึงที่บรรดาผานของคันไถต่างๆ ไม่ว่าจะที่เป็นชุดติดอยู่ท้าย farm tractor หรือที่หัวคันไถที่ใช้พรวนดินต่างๆนั้น จะถูกจัดทำหรือติดตั้งให้พลิกดินไปทางด้านขวา
จึงทำให้การพรวนดินในผืนนามักจะเริ่มต้นโดยการหมุนวนไปทางขวาตามเข็มนาฬิกาตามขอบคันนา ซึ่งจะทำเฉพาะเมื่อเริ่มการไถนา โดยนัยก็คือกำหนดขอบเขตของผืนนาแต่ละบิ้งและการจัดคันนา  จากนั้นก็จึงจะไถหมุนวนไปทางซ้ายทวนเข็มนาฬิกา ซึ่งโดยนัยก็คือจะได้ไม่ต้องไปเหยียบย่ำดินที่ได้รับการพรวนแล้ว  ส่วนคำว่าปัดเข้าและปัดออกนั้นมันอยู่ในเรื่องของเทคนิคในการไถนาซึ่งมีอยู่หลากหลายที่ชาวบ้านเขาจะเลือกใช้ตามลักษณะและสภาพของผืนนา รวมทั้งอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการไถ   หาข้อมูลต่างๆได้จากเน็ตมากมายเยอะแยะเลยครับ

 


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ธ.ค. 20, 18:33
ปัดเข้า กับ ปัดออก โดยพื้นฐาน   การไถปัดออกก็คือ การไถให้ดินพลิกออกห่างไปจากตัวคันนา  ส่วนไถปัดเข้าก็คือ การไถพลิกดินไปในทิศทางของคันนา


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ธ.ค. 20, 19:27
การไถนาของชาวบ้านแต่ก่อนโน้น จะใช้แรงงานวัวหรือแรงงานควาย ก็เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ ซึ่งส่วนมากแล้วจะนิยมใช้วัวกัน   ส่วนควายนั้นจะมีใช้กันเฉพาะในพื้นที่ๆค่อนข้างจะลุ่ม คือมีบริเวณใกล้ๆที่เป็นแอ่งน้ำหรือมีจุดที่ดินฉ่ำน้ำ ควายสามารถจะลงไปแช่ตัวและคลุกโคลนได้  ควายไม่ทนแดดเท่าวัว ในขณะที่วัวที่ไม่ชอบพื้นที่ดินฉ่ำน้ำ  ที่เคยเห็นแปลกออกไปก็แถว จ.ตาก ในพื้นที่บนเส้นทางรถสาย ตาก - สุโขทัย ซึ่งเป็นพื้นที่ค่อนข้างจะแห้งแล้ง แต่ชาวบ้านใช้ควายทั้งในการเทียมเกวียนและไถนา     และที่เคยเห็นแปลกที่สุดก็คือการใช้แรงงานช้าง เคยเห็นก็อยู่ในพื้นที่ของ จ.กาญจนบุรี เป็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง   ซึ่งเท่าที่รู้ก็มีอีกแห่งหนึ่งในพื้นที่ของ จ.แม่ฮ่องสอน

การใช้แรงงานวัวในการไถนา ก็มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ ใช้วัวตัวเดียวหรือใช้วัวคู่ 2 ตัว  สำหรับแรงงานควายนั้นจะเป็นการใช้ควายตัวเดียว   ทั้งหลายนี้ก็เลยทำให้มีรูปทรงของแอกและความยาวของก้านคันไถที่แตกต่างกันออกไป  รวมทั้งการใส่ art work ลงไปสำหรับรูปร่างและความอ่อนช้อยต่างๆ ไม่นับรวมถึงการเลือกใช้ไม้ชนิดใด 

ในปัจจุบันนี้ คันไถที่ทำด้วยไม้ ได้เปลี่ยนสภาพมาเป็นของสะสมสำหรับผู้นิยมสะสมของเก่า ซึ่งก็ดูแปลกๆที่มักจะไม่มีผานไถที่ทำด้วยเหล็กหล่อติดอยู่ด้วย นัยว่าถูกถอดแล้วแยกขายเป็นของอีกชิเก่าอีกชิ้นหนึ่ง   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ธ.ค. 20, 18:21
แต่ก่อนโน้น การทำนาของชาวบ้านกะเหรี่ยงที่อยู่ห่างไกลและที่อยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านเล็กๆนั้น จะใช้พื้นที่ราบเท่าที่มีอยู่ใกล้ๆหมู่บ้าน เป็นลักษณะของนาผืนใหญ่ผืนเดียว ไม่กระจายไปเป็นแต่ละหย่อม หัวคันไถ(ผาน)ก็เป็นไม้หัวแหลมคล้ายหัวลูกกระสุนปืน  การไถจึงดูจะเป็นลักษณะของการพรวนดินแบบตื้นๆเสียมากกว่าจะเป็นการไถเพื่อการพลิกดินมาตาก  น่าเสียดายที่การทำงานในพื้นที่ห่างไกลของผมเป็นลักษณะของการเดินสำรวจไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่ละจุดอาจจะแวะพักค้างแรมได้วันหรือสองวัน  ก็เลยไม่มีโอกาสได้เห็นว่ากิจกรรมอื่นใดอย่างต่อเนื่อง ที่ขยายความมาได้นี้ก็เป็นเพียงเอาสิ่งที่ได้เห็นในแต่ละช่วงมาผูกกันให้เป็นภาพเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม มันก็มีกระบวนความรู้เพื่อที่จะให้ได้ผลผลิตที่ดีที่สุด  การทำนาในพื้นที่ลักษณะดังกล่าวดูจะเรียกว่าเป็นการทำนาดอน อาศัยน้ำฝนและความชุ่มชื้นของดินเป็นหลัก  การปลูกข้าวก็ใช้วิธีการหยอดเมล็ดข้าวลงหลุมแล้วกลบ การทำหลุมก็ใช้ไม้ไผ่กระทุ้งให้เป็นหลุม หยอดลงไปแล้วก็ใช้เท้าเกลี่ยดินปิด ข้าวที่ปลูกจะเป็นข้าวเมล็ดสั้นที่เรียกว่าข้าวไร่ (ของอร่อย คล้ายกับข้าวญี่ปุ่น แต่มีความหอมน้อยกว่า ยกเว้นแต่ว่าจะเป็นข้าวใหม่จริงๆ)   ในด้านของผลผลิตนั้น ผมก็เห็นว่ามีกินกันอย่างพอเพียง ไม่เคยได้ยินคำว่าได้ข้าวไม่พอกิน (หรือจะมีแต่ไม่ทราบก็ได้)


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ธ.ค. 20, 19:11
ผมเคยเห็นชาวบ้านทำทางน้ำยกระดับข้ามบางช่วงของหุบหรือพื้นที่ต่ำ (aqueduct) พบมากในภาคเหนือแถวลำปาง แพร่ เชียงราย ซึ่งส่วนมากจะใช้ไม้กระดานทำ  พวกบ้านป่าและกะเหรี่ยงก็ทำกัน แต่ใช้ไม้ไผ่เป็นโครงและใช้ดินเป็น lining      ที่เคยเห็นและค่อนข้างจะคุ้นเคยอีกวิธีการหนึ่งในการนำน้ำเข้าพื้นที่เกษตร ก็คือ การใช้ หลุก (ระหัดวิดน้ำ ?) จะพบได้เฉพาะในพื้นที่ๆมีแม่น้ำและน้ำไหล  มีการใช้กันทั้งในภาคเหนือและอิสาน       


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ธ.ค. 20, 19:28
จะเห็นว่า ที่ขยายความมาเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำด้วยตัวเองคนเดียวไม่ได้    ที่ทำเองด้วยตัวเองคนเดียว(และครอบครัว)ได้จริงๆก็คือเมื่อแรกจับจองและบุกเบิกพื้นที่ให้มีสภาพเป็นพื้นที่ทำนา

พอดีไข้กำลังขึ้น เลยขอจบเอาดื้อไว้เพียงนี้ก่อนครับ   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ธ.ค. 20, 19:20
พื้นที่ๆแผ้วถางเพื่อทำเป็นนานั้น จำเป็นจะต้องมีความลาดเอียงค่อนข้างต่ำมากและจะต้องมีตะกอนดินทรายที่เหมาะสมอีกด้วย   สำหรับในพื้นที่ๆเป็นที่ราบลุ่มระหว่างเขา ดินตะกอนที่ดีส่วนมากจะอยู่ที่บริเวณที่เป็นสบห้วย ซึ่งได้มาจากการนำพามาของน้ำในลำห้วยห้วยสาขา (tributary stream) นำมาตกตะกอนร่วมกับตะกอนของลำห้วยหรือแม่น้ำสายหลักที่ไหลอยู่ในร่องเขานั้นๆ

หากมีโอกาสได้เดินทางไปในพื้นที่ภาคเหนือ ก็ลองสังเกตดูป้ายชื่อหมู่บ้านต่างๆ จะมีคำนำหน้าชื่อว่า สบ.... ซึ่งเกือบทั้งหมดจะจะตั้งอยู่ในพื้นที่ๆเป็นสบห้วยของลำห้วยสาขากับลำห้วยสายหลัก หรือเป็นบริเวณที่ห้วยสาขาสองห้วยมาบรรจบกัน  และหากมีโอกาสลงไปเดินในพื้นที่หมู่บ้านเหล่านั้น ก็จะเห็นว่าเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งไร่นาและพืชสวนต่างๆ   ซึ่งแต่ก่อนโน้น จะเห็นว่าทางเข้าแต่ละบ้านมีสะพานไม้เพื่อข้ามลำเหมืองที่มีน้ำไหลผ่านอยู่หน้าบ้าน มักจะมีการปลูกต้นมหาหงส์ประด้บอบู่ที่ริมรั้วหน้าบ้าน เดินผ่านบ้านต่างๆในช่วงเวลาเย็นที่มีอากาศเย็นๆ จะได้กลิ่นหอมของดอกมหาหงส์อ่อนๆโชยมาตลอดเวลา  ครั้งสุดท้ายที่เห็นภาพเช่นนี้อยู่ในเขต อ.แม่ทา จ.ลำพูน ภาพเช่นนี้คงจะไม่มีให้เห็นและสัมผัสได้อีกแล้ว

มหาหงส์หรือสะเลเต เป็นพืชที่มีลักษณะลำต้นคล้ายพวกต้นขิง เป็นพืชที่บ่งชี้คุณภาพของน้ำเหมือนกัน ปลูกง่ายครับเอาเหง้ามันมาปลูกในกระถางก็ได้  ไปเที่ยว ตจว.ในภาคเหนือ ลองขอแบ่งเหง้าจากชาวบ้านมาสักแง่งหนึ่งก็น่าจะได้  กลิ่นหอมของมันมีความนุ่มนวล ให้ความรู้สึกที่เย็นและมีความความสงบ  ผมชอบมาก  สำหรับผมนั้นมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ต้นมหาหงส์นี้มักจะเห็นมีปลูกอยู่ตามหมู่บ้านนอกเมืองที่มีความสงบสุข ผู้คนมีจิตใจที่โอบอ้อมอารี มีชีวิตที่ค่อนข้างจะเรียบง่าย เพียงพอ และพอเพียง


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ธ.ค. 20, 20:32
ลองนึกออกมาเป็นภาพง่ายๆว่า แม่น้ำหรือลำห้วยสายหลักนั้นมันก็คือสายพานรางเลื่อน (conveyer belt) ที่ลำเลียงเอาส่วนผสมดีๆจากธรรมชาติที่ถูกใส่ผสมเข้ามาในระหว่างการขน แล้วนำมาปล่อยทิ้งสะสมไว้ที่ปลายทาง  

ลุ่มเจ้าพระยาก็เป็นเช่นนั้น มีแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ที่ช่วยนำดินและแร่ธาตุดีๆที่ได้จากบรรดาแม่น้ำและลำห้วยสาขาที่อยู่ในระบบ catchment ของตน ที่ไปเก็บเกี่ยวมาจากบรรดาห้วยเล็กห้วยน้อยต่างๆที่กัดเซาะอยู่ในพื้นที่ป่าเขาต่างๆ   แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำหลังสวนและสายอื่นๆก็เช่นกัน   ก็คงจะพอเห็นได้ว่าการบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำ (catchment management) นั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าและดูเหมือนว่าจะถูกละหรือให้ความสนใจค่อนข้างจะน้อยก็คือในเรื่องของพวก subcatchment ของพวกลำน้ำสาขา โดยเฉพาะลำน้ำสาขาที่มีเส้นทางไหลผ่านพื้นที่หรือบริเวณที่เป็นหินบางอย่าง ซึ่งจะให้ทั้งดินและแร่ธาตุจากกระบวนการแปร(alteration)ของแร่และเนื้อหินในรูปแบบต่างๆที่มีความเป็นจำเพาะ  


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ธ.ค. 20, 18:38
สำหรับการทำนาข้าวในพื้นที่ราบลุ่มที่เกิดจากการกระทำของแม่น้ำสายใหญ่  ก็นิยมจะเลือกพื้นที่คุ้งน้ำฝั่งคุ้งในหรือฝั่งด้านในโค้ง (convex side) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการตกตะกอน มีที่ดินงอกเพิ่มออกไป และเป็นบริเวณที่ค่อนข้างราบ มีส่วนผสมของดินดี ดินมีความชุ่มชื้นดี   ในขณะที่อีกฝั่งตรงกันข้ามจะเป็นจุดที่แม่น้ำกัดเซาะตลิ่ง ตลิ่งพัง และเนื้อที่ดินหายไป     และหากเปิดภาพถ่ายจากดาวเทียมของอากู๋ดู ก็จะเห็นภาพแปลงนารูปสี่เหลี่ยมทรงยาวอยู่ต่อจากถนนที่ทำอยู่บนสันคันคลองตามธรรมชาติ ต่อจากนั้นจึงจะเป็นพวกแปลงนารูปสี่เหลี่ยมที่มีขนาดเล็กต่างขนาดกันไป วางตัวเป็นจิ๊กซอจนเต็มพื้นที่ราบลุ่มนั้น     

รูปทรงและขนาดของแปลงนาหรือของแต่ละบิ้งนา บอกเรื่องราวอะไรๆให้เราได้รู้บ้างใหม ?   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ธ.ค. 20, 20:35
สำหรับตัวผม มันบอกเรื่องราวได้มากโขอยู่ทีเดียว 

ดังที่ได้กล่าวมาว่าการเปิดพื้นที่ทำนา มันเริ่มต้นด้วนการหักร้างถางพงด้วยคนในระดับครอบครัว ซึ่งต่อมาก็จะมีการพัฒนาที่เป็นไปตามวิถีทางตามธรรมชาติของมนุษย์ เกิดมีการเข้ามาใช้พื้นที่ชายขอบ  เกิดการร่วมมือกันทำสิ่งต่างๆที่จะต้องใช้ร่วมกัน(infrastructure) เช่น ร่องน้ำ(เหมือง)...  เกิดการช่วยกัน (ปลูก เก็บเกี่ยว)  เกิดการช่วยกันปกป้องพื้นที่จากการถูกสัตว์และแมลงมาทำลาย ฯลฯ   จากพื้นฐานของแนวคิดในเชิง qualitative หรือในเชิง intangible ก็แปรไปเป็นบนพื้นฐานในเชิง quantitative หรือในเชิง tangible  จนในที่สุดก็เข้าสู่แนวคิดในเชิงของ supremacy

นาใหม่ส่วนมากจะเป็นนาที่ยังมีตอไม้ มีโคกดิน หรือมีจอมปลวก ให้เห็น ใช้เวลานานหลายๆปีกว่าจะเป็นผืนนาที่ไม่ปรากกฎสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้    ในอีกภาพหนึ่ง พื้นที่ทำนาที่เก่าแก่ก็มักจะเห็นบิ้งนาที่มีขนาดต่างๆกันมาวางต่อเนื่องเป็นจิ๊กซอกันอยู่ ซึ่งมันบอกเรื่องราวที่สำคัญอยู่สองเรื่องคือ เกิดมาจากการปรับระบบน้ำ หรือการปรับระดับท้องนาให้เหมาะสม  และอีกเรื่องราวหนึ่งมาจากเรื่องของการแบ่งทรัพย์สินมรดก    กระทั่งเข้าสู่ยุดของการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เงิน อำนาจ รวมทั้งการมีระบบที่ดีด้านการชลประทานและระบบการใช้น้ำบาดาล ผืนนาชิ้นเล็กน้อยก็ถูกซื้อเอามารวบรวมเข้าเป็นแปลงนาผืนใหญ่ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

ขออภัยหากเป็นความเห็นที่ก้าวล่วงเข้าไปในศาสตร์ทางมานุษยวิทยามากจนเกินไป ครับ   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ธ.ค. 20, 18:38
ที่เล่าเรื่องราวมาในลักษณะเป็น frame บ้าง เป็น clip บ้าง ก็น่าจะพอนำพาไปสู่ภาพทั้งหมดที่เกิดขึ้นในแต่ละสภาพสิ่งแวดล้อมทางกายภาพของพื้นที่และของกระบวนการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ รวมทั้งสภาพทางสังคมของชุมชน     

และ ที่เลือกจะเล่าเรื่องในลักษณะดังกล่าวนี้ ก็ด้วยเห็นว่ามันมีจุดที่ต้องขยายความในเชิงวิชาการอยู่หลายประเด็น ซึ่งต้องเลือกเอาระหว่างการปูพื้นในเบื้องแรก หรือแยกขยายความในลักษณะเป็น footnote เป็นจุดๆไป   และที่ไม่ได้เลือกที่จะเล่าเป็นเรื่องแบบต่อเนื่องกันไป (ไม่ตะกุกตะกัก) ก็ด้วยเพราะเห็นว่ามันจะให้ความรู้สึกที่ออกไปเป็นในทางการจินตนาการเสียมากกว่าการเป็นเรื่องที่มีข้อมูล

คืดมากไปหรือเปล่าก็ไม่รู้  ;D


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ธ.ค. 20, 19:16
ก่อนจะเล่าความกันต่อไป จะขอขั้นด้วยชื่อหมู่บ้านหรือชุมชนที่ขึ้นต้านด้วยคำว่านา ก็มีทั้งที่เป็นหมู่บ้านขนาดเล็กขนาดใหญ่ เป็นระดับตำบลก็มี เป็นระดับอำเภอก็มี 

นาไร่เดียว แต่ก่อนมีอยู่หลายแห่งในภาคเหนือ ในปัจจุบันไม่รู้ว่ายังคงมีเหลืออยู่บ้างหรือไม่   นาบ่อคำ นาปลากั้ง นากลาง นาลาว นามอญ นายายอาม นาหวาย นาสวน นาสาร นาขวัญ นางิ้ว นาขาม นาหว้า นาหวาย นาป่าบง นาป่าหนาด นาบอน นาบึง นาหนอง นาหว้า นาหล่ม ..... เท่าที่พอจะนึกออก ครับ

ชื่อชุมชนหรือหมู่บ้านเช่นที่กล่าวถึงเหล่านี้ พอจะสื่อเรื่องอะไรๆให้เราพอได้รู้บ้างใหม ?   

สำหรับผมแล้ว ชื่อเหล่านี้ได้ให้ข้อมูลพอสมควรเพื่อการทำงานสำรวจทางธรณีฯ อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่ชี้แนะอะไรบางสิ่งบางอย่าง บ้างก็ในทางชุมชน บ้างก็ในทางกายภาพ... และหากนำชื่อสถานที่อื่นๆในละแวกนั้นๆมาพิจารณาประกอบด้วย บางทีก็ทำให้ได้เห็นภาพว่าควรจะต้องเลือกเส้นทางใดในการสำรวจเพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ธ.ค. 20, 18:15
ผมไม่มีความรู้มากพอที่จะลงไปในเรื่องของพันธุ์ข้าว  มีความสามารถเพียงเล็กน้อยพอที่แยกพันธุ์ออกได้เมื่อได้เห็นเมล็ดข้าวที่สีแล้ว เช่น ระหว่างข้าวเหนียว ข้าวเจ้า ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ข้าวดอกข่า ข้าวสังข์หยด (น่าจะเป็น สังข์หยอด มากกว่า สังข์หยด ?) ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอรี่ เป็นต้น   และก็พอจะแยกได้ว่าใช่หรือไม่ใช่สำหรับข้าวที่หุงสุกแล้ว เช่น ระหว่างข้าวหอม(หอมปทุม)กับข้าวหอมมะลิ ข้าวใหม่กับข้าวเก่า  ซึ่งเชื่อว่าทุกท่านก็คงจะมีความสามารถพอๆกันในเรื่องที่กล่าวมาเพราะค่อนข้างจะเป็นเรื่องพื้นฐาน แล้วก็เชื่อว่าหลายๆท่านมีความสามารถที่จะจำแนกความต่างต่างๆได้มากกว่าที่ได้กล่าวมา ตั้งแต่เห็นต้นข้าวอยู่ในนาจนถึงเมื่อสีเป็นเมล็ดข้าวสารแล้ว หรือดูจากเมล็ดข้าวสารย้อนกลับไป ซึ่งก็มีเมล็ดข้าวแบบอ้วนป้อม มีแบบเมล็ดใหญ่สมส่วน มีแบบเมล็ดเล็กทรงยาวรี  หรือมีลักษณะของผิวที่ต่างกัน (luster) 


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ธ.ค. 20, 18:37
ข้าวสุขภาพอย่างไรซ์เบอรี่ กำลังเป็นที่นิยม


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ธ.ค. 20, 19:41
ในปัจจุบันนี้ ผมเชื่อว่าผู้คนชาวเมืองที่ทำงานใน office และมีครอบครัว ส่วนมากจะซื้อข้าวสารบรรจุถุงสำเร็จรูปขนาดบรรจุ 5 กก. ราคาต่อถุงก็จะมีตั้งแต่ร้อยกว่าบาทไปจนถึงสองร้อยกว่าบาม(แก่ๆ)  คงจะต้องอ่านฉลากกันให้ดีก่อนที่จะซื้อ  ป้ายชื่อข้าวหอมนั้นอาจจะหมายถึงถึงข้าวหอมใดๆก็ได้ หากจะเลือกซื้อข้าวหอมมะลิก็ต้องมีระบุให้ชัดเจนว่าเป็นข้าวหอมมะลิ   ก็มีอีกคำว่า 100 เปอร์เซนต์ คำนี้อาจจะมีความหมายอยู่หลายนัย คือ หมายถึงข้าวสายพันธุ์นั้นๆปลูกในพื้นที่ย่านนั้นๆ 100 % หรือข้าวสายพันธุ์นั้นๆแต่รวบรวมมาจากหลายพื้นที่  หรือข้าวสารที่ไม่มีเมล็ดข้าวที่หักปะปนมา  

สำหรับตัวผมนั้น เคยเลือกที่จะซื้อข้าวหอมมะลิจากร้านขายข้าวสารที่ตวงออกมาจากกระสอบ ซื้อครั้งละ 1 ถัง (15 กก) ซึ่งเป็นข้าวที่เรียกว่า ข้าว 5%  ก็คือข้าวสารที่มีเมล็ดข้าวหักปนอยู่ในระดับประมาณ 5%  ที่เลือกใช้วิธีก็เพราะ รู้จักและคุ้นเคยกับผู้ขายมากพอและผู้ขายเองก็เคยเป็นผู้ค้าข้าวคนกลาง   ประกอบกับที่ผมเป็นคนที่จะเรื่องมากสักนิดนึง ด้วยได้เคยสัมผัสกับความลุ่มลึกในความอร่อยและความหอมหวลของข้าวสวยประเภทที่มีข้าวเมล็ดหักผสมอยู่ด้วย    เมื่อโลกเปลี่ยนไป ทุกอย่างเปลี่ยนไป ก็เลยหนีไม่พ้นที่จะต้องหันเข้าไปหาซื้อข้าวสารบรรจุถุงสำเร็จรูป ซึ่งก็จะต้องเป็น 100% ในด้านใดด้านหนึ่ง   แต่ก็ยังพอมีทางที่จะเลือกอยู่บ้างด้วยการเลือกซื้อของผู้ผลิตในท้องถิ่น  

ความสุขที่เกิดขึ้นจากการกินข้าวที่เป็นผลผลิตของนาของตนเองจึงเป็นอะไรที่บอกเล่าได้ยาก ด้วยว่ามันเป็นของจริงที่เกิดขึ้นและสัมผัสได้ในทุกระดับของการพัฒนาการและขั้นตอนที่ผ่านมา


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ธ.ค. 20, 19:18
วิถีการทำนาแบบเก่าที่ใช้วิธีการที่เรียกว่าการลงแขกนั้น มีความหมายในเชิงของการออกแรงช่วยกันกระทำการให้ลุล่วงไปบนพื้นฐานของการมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน   การลงแขกค่อนข้างจะจำกัดอยู่แต่เฉพาะการทำนาแบบนาดำ การเกี่ยวข้าว และการฟาดข้าว  สำหรับการไถนา การตกกล้าข้าว การตากข้าว และอื่นๆนั้น จะเป็นการทำด้วยตนเองผู้เป็นเจ้าของนาหรือโดยการว่าจ้าง   

เมื่อระบบทางเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนไป การลงแขกก็ได้เปลี่ยนไปเป็นในลักษณะของการแลกเปลี่ยนแรงงานกัน คำว่าลงแขกก็หายไปกลายเป็นการใช้คำว่า 'เอาแรง'   ซึ่งก็มีพัฒนาการต่อมาที่ผนวกเข้าไปด้วยการคิดในเชิงของการได้เปรียบและเสียเปรียบระหว่างกันและกัน (comparative advantage)  ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. มีนาอยู่ 10 ไร่ นาย ข. มีนาอยู่ 3 ไร่  นาย ก.มาช่วยนาย ข. ดำนา จนเสร็จ ใช้เวลา 1 วัน  โดยนัย นาย ข. ก็จะต้องไปช่วยนาย ก.ดำนา แต่จะใช้หลักการเช่นใด ระหว่างการไปช่วย 1 วัน หรือการไปช่วย ดำนาทั้ง 10 ไร่ให้เสร็จ ใช้เวลา 2 วัน  และที่อาจจะหนักไปกว่านั้นอีกในกรณีที่นาย ก. มีที่ทำนาที่เช่าจากผู้อื่นอยู่อีก 2 หรือ 3 แปลงในบริเวณใกล้ๆกัน ?? หากจะคิดบนพื้นฐานเชิงปริมาณ มันก็เป็นเรื่องแบบหนึ่ง  แต่หากจะคิดบนพื้นฐานเชิงคุณภาพ มันก็เป็นเรื่องอีกแบบหนึ่ง       ที่ชาวบ้านยังคงอยู่ร่วมกันอย่างมีความสันติสุขก็เพราะพวกเขายังมีธรรมะเป็นพื้นฐานในการคิด พิจารณา และเข้าถึงสัจธรรมต่างๆ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ธ.ค. 20, 20:20
เมื่อการทำนาได้เปลี่ยนไปอีกระดับหนึ่ง มีรถแทร็กเตอร์ทางการเกษตร มีรถดำนา มีรถเกี่ยวข้าว มารับจ้างดำเนินการในเกือบจะทุกขั้นตอนของการทำนา  ภาระกิจของชาวนาในการทำนาก็เลยลดลงไปด้วย ดูจะเหลือแต่เพียงการดูแลนาข้าวในเรื่องของน้ำ ปุ๋ย พืช วัชพืช เพียงเท่านั้น   อาจจะกล่าวได้ว่า มีมือถือเครื่องเดียวก็ทำนาได้แล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นและมีอยู่ในปัจจุบัน

ด้วยสภาพดังกล่าว จากอาชีพที่เรียกว่าชาวนา ซึ่งมักจะบ่งบอกว่าเป็นชาวบ้าน  ในปัจจุบันนี้ก็จึงมิได้หมายความว่าจะต้องเป็นชาวบ้านเสมอไป อาจจะเป็นนายทุนก็ได้ หรือเป็นผู้พอมีอันจะกินก็ได้ หรือเป็นผู้ที่มีอาชีพอื่นใดอยู่ในเมืองต่างๆ แต่มีภูมิลำเนาอยู่ในท้องถิ่นชนบทก็ได้ ฯลฯ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ธ.ค. 20, 18:55
การทำนาในปัจจุบันนี้จึงต้องมีแผน มีการบริหาร และมีการเจราจา  ซึ่งในการเจราจานั้นก็มีลักษณะที่แปลก คือมิใช่ในเรื่องของประโยชน์ในเชิงของรายได้ที่จะได้รับเพิ่มขึ้น หากแต่เป็นในเรื่องของการลดโอกาสที่จะมิให้เกิดความเสียหายขึ้นกับผลผลิต

ขยายความได้ดังนี้     ชาวบ้านในแต่ละภูมิภาคและแต่ละท้องถิ่นต่างก็จะมีวันหรือช่วงเวลาที่กำหนดเป็นฤกษ์ชัยในการเริ่มลงมือทำนา หรือเป็นวันแรกเริ่มเข้าสู่ฤดูการทำนา  ซึ่งหมายความว่า ก็จะต้องมีการเตรียมพื้นที่ให้พร้อม เริ่มตั้งแต่การไถดะ ตามมาด้วยการไถแปร แล้วไถคราด     แต่ก่อนนั้นใช้แรงสัตว์ ต่อมาก็ใช้รถไถเดินตาม เลยไม่มีปัญหาใดๆ เพราะว่าเป็นเจ้าของเองและทำด้วยตัวเอง  เมื่อเข้าสู่ยุคปัจจุบัน เมื่อฐานะไม่ดีพอที่จะเป็นเจ้าของรถแทรกเตอร์และอุปกรณ์ประกอบ ก็เลยต้องใช้วิธีจ้างเขา นัยว่าประหยัดเวลา และจะได้ใช้เวลาไปทำงานอื่นๆเพื่อหารายได้เสริม  แต่ก็มีอยู่มากรายเป็นรายที่การทำนากลายเป็นอาชีพเพื่อหารายได้เสริม   

ช่วงของการปรับพื้นที่นาให้พร้อมนี้ยังพอจะยืดหยุ่นช่วงเวลาให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกันได้ระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง  ทั้งนี้ ฝ่ายผู้ว่าจ้างมักจะต้องเป็นฝ่ายร้องขอ ในขณะที่ผู้รับจ้างมักจะเป็นฝ่ายผู้กำหนดเงื่อนไข กลับทางกันกับเรื่องของนายจ้างกับลูกจ้างที่เราคุ้นๆกัน


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ธ.ค. 20, 19:29
เตรียมที่นาแล้วก็ต้องมาคิดว่าจะทำนาแบบใหนดี นาดำ หรือ นาหว่าน  ซึ่งตามปกติแล้ว เคยทำเช่นใดมาก็จะทำเช่นนั้นต่อไป แต่บางปีก็อาจจะรู้สึกว่าน่าจะลองสลับไปทำนาอีกแบบหนึ่งบ้าง ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงก็ขึ้นอยู่กับการคาดการณ์ต่างๆ   หลายเรื่องก็อยู่บนพื้นฐานของภูมิปัญญาชาวบ้าน หลายเรื่องก็อยู่บนฐานของข้อมูล เช่น การพยากรณ์ดินฟ้าอากาศ  การคาดการณ์เรื่องทางการตลาดและเศรษฐกิจต่างๆ  สถานการณ์น้ำ ฯลฯ ซึ่งส่วนมากก็เป็นข้อมูลเผยแพร่ของทางราชการ และข้อมูลมี่มีการใส่ไข่ใส่สีเพิ่มเติมด้วยลมปากของผู้แสวงประโยชน์ทั้งในด้าน +ve และ -ve

คิดจะทำนาหว่านก็ยังสามารถทำด้วยตนเองได้   แต่หากคิดจะทำนาดำ นั่นก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ธ.ค. 20, 18:09
จะทำนาดำก็จะต้องมีการประเมินความคุ้มค่าระหว่างจะทำแบบเอาแรงกันหรือจะจ้างรถปลูกข้าว ซึ่งทั้งสองแบบนี้ต่างก็จะต้องมีการตกกล้าข้าว  ต่างกันที่หาก เป็นการทำด้วยแรงคนก็จะเป็นการเพาะกล้าข้าวในพื้นที่นาที่กันเขตไว้ส่วนหนึ่ง แต่หากจะใช้เครื่องปลูกข้าว ก็จะต้องเพาะในกระถางเพาะชำเล็กๆที่จัดเรียงอยู่ในถาดที่มีขนาดจำเพาะ   ซึ่งทั้งสองวิธีการนี้ต่างก็มีปัญหาเหมือนๆกัน คือจะต้องคำนวนปริมาณกล้าข้าวให้ได้พอดีๆสำหรับการปลูกในผืนนาของตน  ก็เลยมีกรณีขาดและเกิน ทำให้เกิดเรื่องของการให้ การขอยืม และการซื้อขายเล็กๆน้อยๆขึ้นมา  แล้วก็มีกรณีการฝากเพาะกล้าข้าว และการเพาะกล้าข้าวขายอีกด้วย ซึ่งเกิดมาจากกรณีที่น้ำในที่ของตนในปีนั้นๆดูไม่ดีพอที่จะเพาะกล้าข้าวให้เจริญเติบโตได้ดี

การทำนาที่ดูจะง่ายๆเมื่อลงลึกเข้าไปในกระบวนการ ก็ชักจะดูมีความยุ่งยากขึ้นมาแล้ว ขนาดยังไม่เข้าถึงขั้นดำเนินการจริง


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ธ.ค. 20, 18:48
ก็ยังต้องมีเรื่องที่จะต้องเตรียมการอีก คราวนี้เป็นเรื่องของการติดต่อประสานงานต่างๆ

ลองจินตนาการไปก่อนนะครับว่ามันจะเป็นเช่นใด


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ธ.ค. 20, 18:36
การประสานงานในเรื่องของการทำนาข้าวดูเหมือนกับว่าจะไม่มีเรื่องใดๆที่ต้องกังวล  แท้จริงแล้วมันก็มีอยู่ แต่ละคนก็จะมีแตกต่างกันไป  เช่น

ในกรณีการเอาแรงกัน ประเด็นก็จะไปอยู่ที่ว่าจะได้แรงมามากพอที่จะทำการให้เสร็จภายในหนึ่งวัน(หรือกี่วัน)หรือไม่ หากเห็นว่าได้ไม่พอก็จะต้องใช้วิธีการจ้างเอา เรื่องมันก็เลยพ่วงต่อให้ต้องคิดว่า เมื่อเสร็จงานแล้วแทนที่จะเสียค่าใช้จ่ายแต่เฉพาะของกินแก้หิวกับน้ำอมฤตก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน ก็จะต้องบวกค่าแรงคนที่จ้างมาด้วย  แถมเรายังจะต้องไป(ชด)ใช้แรงอีกด้วย   หรือจะใช้วิธีจ้างอย่างเดียว เสร็จงานแล้วคนละกรึ๊บกับมะขามเปียกจิ้มเกลือแล้วก็เลิกกันไป     ก็อย่างที่เล่ามา หากไปเอาแรงกับคนที่เขามีที่นาผืนใหญ่หรือมีหลายผืนมากกว่าเรา เราก็อาจจะดเูเหมือนจะเสียเปรียบอยู่มาก   การเอาแรงกันในปัจจุบันนี้จึงค่อนข้างจะจำกัดอยู่แต่เฉพาะในวงค์ญาติใกล้ชิดกันจริงๆ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ธ.ค. 20, 19:14
อีกประเด็นหนึ่งก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับช่วงเวลาที่ไม่อำนวยให้เกิดความราบรื่น เรื่องนี้ไปเกี่ยวกับเรื่องของต้นกล้าข้าว  ในกรณีที่เป็นกล้าที่เพาะในพื้นที่ของนาเราเองก็ไม่มีข้อกังวลมากนัก แต่หากไปฝากเพาะกล้าในนาของผู้อื่น ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง   ต้นกล้าข้าวมันก็เติบโตของมันไปเรื่อยๆ มันก็มีช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะต้องนำลงปลูกในนา 

ประเด็นไปอยู่ที่จังหวะเหมาะพอดีที่กล้าจะไม่แก่หรือไม่อ่อนเกินไป  หมายถึงว่า การจัดการทุกอย่าง(การเอาแรงหรือการจ้างก็ต้องพร้อมในช่วงนั้นพอดีๆ)ควรจะต้องประสานกันอย่างลงตัว (ในสภาพที่ทุกคนต่างก็มีภาระผูกพัน) ซึ่งแม้ว่าจะดูไม่ยาก แต่มันก็ไม่ง่ายนักสำหรับชุมชนในหมู่บ้านหนึ่งๆ     


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ธ.ค. 20, 18:32
เรื่องของช่วงเวลาและเรื่องราวที่ได้กล่าวถึงนั้นเป็นเรื่องของข้าวนาปี ซึ่งพันธุ์ข้าวที่นิยมปลุกกัน(หรือถูกบังคับให้ต้องปลูกมัน) หากเป็นข้าวเจ้าก็จะเป็นพันธุ์ข้าวหอมมะลิ กข 105 และหากเป็นข้าวเหนียวก็จะเป็นพันธุ์ กข 6   (กข ก็คือ กรมการข้าว)    เหตุที่ใช้ข้าวสองสายพันธุ์นี้ ก็เพราะว่ามันเป็นข้าวที่ไม่ว่าจะลงมือปลูกในเวลาที่ต่างกันในช่วงฤดูการทำนาเช่นใดก็ตาม มันก็จะออกรวงและให้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ในช่วงกรอบเวลาแคบๆเดียวกัน    คุยกับชาวบ้านที่ทำนามานานก็ได้คำตอบเหมือนๆกันว่า มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ  ที่จริงแล้วชาวบ้านบอกเล่าเสียด้วยซ้ำว่า การเก็บเกี่ยวในพื้นที่ทำนาทั้งหลายจะเสร็จสิ้นก่อนวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ไม่มีการเก็บเกี่ยวหลังจากนั้นเว้นแต่จะเป็นข้าวนาปรัง 

ด้วยความสนใจว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ก็จึงหาอ่านและได้ความรู้จากเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวกับข้าวอยู่มากมาย   ว่า..ทางวิชาการข้าวเขาจัดเป็นข้าวสายพันธุ์ที่ไวต่อช่วงแสง หรือข้าวไวแสง     ซึ่งจะขอขยายความต่ออีกเล็กน้อยว่า แสงอาทิตย์นั้นมันเป็นช่วงความถี่หนึ่งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่แม้ว่าเราจะเห็นเป็นแสงสีขาวเหมือนกัน (white light) แต่โดยเนื้อในของมันในแต่ละช่วงเวลาต่างๆของวันและของปี มันจะมีองค์ประกอบทั้งในเชิงของปริมาณและคุณภาพไม่เหมือนกัน  ซึ่งก็มีไม่เหมือนกัน ณ พื้นที่ส่วนต่างๆของโลกอีกด้วย โดยเฉพาะในเชิงของละติจูดทางภูมิศาสตร์ของโลกเรา   ข้าวไวแสงที่มันให้ผลผลิตในช่วงกรอบเวลาแคบๆของปีก็มาจากปัจจัยในเรื่องของ spectrum ของแสงอาทิตย์นี้เอง


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ธ.ค. 20, 19:29
เรื่อง spectrum ของแสงอาทิตย์กับการปลูกพืชผลและการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรนี้ ผมเห็นว่าค่อนข้างจะมีความสำคัญค่อนข้างมาก แต่ดูเหมือนจะถูกละเลยและขาดการให้ความสนใจและศึกษาอย่างจริงจัง ส่วนมากจะไปให้ความสนใจในเรื่องของตัดต่อและดัดแปลงสายพันธุ์   

ก็อาจจะเป็นเรื่องที่คิดมากจนเกินไปของผมว่า พืชผักผลไม้หลายชนิดที่เคยคิดว่าปลูกที่ในอื่นใดไม่ได้เพราะสภาพของผืนดินและภูมิอากาศเหล่านั้น   ในปัจจุบันนี้เรามีทุเรียนจากสวนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรามีมะม่วงอกร่องจากสวนในพื้นที่รอยต่อของภาคกลางและภาคเหนือ ฯลฯ    ส่วนหนึ่งของเรื่องเช่นนี้นอกเหนือจากปุ๋ยแล้วจะเกี่ยวข้องกับเรื่องในเชิงประสิทธิภาพและคุณภาพของกระบวนการ photosynthesis ของพืช ซึ่งไปเกี่ยวโยงกับลักษณะของแสงอาทิตย์หรือไม่ ?   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ธ.ค. 20, 20:38
เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า นาดำให้ผลผลิตดีกว่านาหว่าน ประกอบกับข้าวสายพันธุ์ที่มีความอร่อยเป็นที่ยอมรับกันและมีราคาดีนั้น จะเป็นข้าวประเภทไวต่อช่วงแสง (หอมมะลิ 105 และขาวเหนียว กข 6) ซึ่งถูกบังคับโดยธรรมชาติให้ออกดอกผลในช่วงประมาณเดือนตุลาคมและจะเก็บเกี่ยวได้ในเดือนพฤศจิกายน    ดังนั้น โดยพื้นของความคิดแล้ว ชาวบ้านจึงนิยมทำนาดำมากกว่านาหว่าน ก็จึงมาอยู่ที่ว่าจะเลือกระหว่างการดำนาด้วยแรงคนหรือจะใช้เครื่องจักรกล   

มันก็มีประเด็นที่ต้องคิดนอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาแล้วคือ การดำนาด้วยแรงคน เราก็จะได้ระยะห่างของกอข้าวที่มากกว่าการปักดำด้วยเครื่องจักร ซึ่งหมายความว่า กอข้าวก็จะมีพื้นที่ให้ขยายตัวได้ใหญ่มากขึ้น ยังผลให้กอข้าวมีความแข็งแรง สมบูรณ์ และให้ปริมาณผลผลิตที่มากกว่าการปักดำด้วยเครื่องจักรกล (ซึ่งจะมีระยะห่างระหว่างกอข้าวที่ค่อนข้างจะใกล้กัน กอข้าวแต่ละกอจะเล็ก)  ก็อาจจะถูกของชาวบ้านเขาที่เห็นและรู้สึกเช่นนั้น ที่ผมได้เห็นมาก็ดูจะเป็นเช่นนั้น      นาที่ปลูกด้วยเครื่องจักรกลนั้น เป็นการเลียนแบบมาจากญี่ปุ่น ซึ่งเขาใช้กับการปลูกข้าวอีกสายพันธุ์หนึ่งซึ่งเป็นข้าวเมล็ดสั้นที่เรียกกันว่า Japonica rice    ซึ่ง ด้วยที่คนญี่ปุ่นมีพื้นฐานความคิดฝังลึกในเรื่องของ accuracy & precision กระทั่งการทำดำนาด้วยแรงคนเขาก็ยังใช้ตะแกรงลวด wire mesh ม้วนเป็นแท่งกลมๆกลิ้งไปบนผืนนา แล้วปลูกข้าว ณ จุดตัดของเส้นตะแกรง  สำหรับการทำนาข้าวของญี่ปุ่นนั้นมันเป็นอีกเรื่องราวหนึ่ง (concept)ที่ต่างไปจากการทำนาของเรา  ของเขาตั้งอยู่บนพื้นฐานในเรื่องคุณภาพและปริมาณในกรอบที่เป็นความเป็นการจำเพาะอยู่พอสมควร   ก็พอจะรู้และเข้าใจอยู่บ้างแต่คงจะไม่ต้องขยายความในเรื่องนี้
         


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ธ.ค. 20, 19:02
หลังจากปลูกข้าวเสร็จแล้วก็ไปถึงเรื่องของการดูแล 

ชาวบ้านจะไปดูนาของตนแต่เช้าทุกวันก่อนที่จะไปทำงานอื่นใด บางวันก็อาจจะทำอะไรต่อมิอะไรทั้งวันในที่นาของตน บ้างก็ไปในช่วงเวลาตอนบ่าย บ้างก็ไปตอนเย็นก่อนจะกลับเข้าบ้าน เพื่อแวะเข้าไปดูความเรียบร้อยต่างๆในที่นาของตน     ที่ว่าต้องทำอะไรต่อมิอะไรที่นานั้นก็เช่น การปรับระดับน้ำเพื่อการควบคุมหญ้าที่ขึ้นมาแข่งกับต้นข้าวหรือเพื่อการอื่นๆ (ใส่ปุ๋ย ฯลฯ) การตรวจตราในเรื่องของศัตรูข้าว (แมลง นก สัตว์ ฯลฯ) การให้ปุ๋ย การกำจัดสิ่งที่มาเบียดเบียนต้นข้าว (แมลง วัชพืช ฯลฯ)  ซึ่งสิ่งที่ไม่พึงปราถนาเหล่านี้จะมาเป็นระยะๆและเปลี่ยนไปตามการเจริญของต้นข้าว

สำหรับคนในเมือง คงจะได้รับรู้อยู่แล้วว่า เมื่อถึงฤดูการทำนา แรงงานที่มาทำงานก็จะกลับบ้านไปทำนากัน ปลูกข้าวเสร็จก็กลับมาทำงานต่อ (ปล่อยการดูแลประจำวันในเรื่องที่ได้กล่าวถึงให้เป็นภาระของคนที่อยู่ที่ภูมิลำเนาเป็นผู้ดำเนินการ) จะกลับไปบ้านอีกครั้งหนึ่งก็เมื่อถึงเวลาของการเก็บเกี่ยวข้าว     ต่างกันไปสำหรับคนในพื้นที่ ก็จะเป็นที่รู้กันว่าแต่ละคนต่างก็มีภารกิจประจำวันที่สำคัญผูกพันอยู่ ก็คือไม่ค่อยจะมีเวลาว่างกัน หรือจะมีก็ในช่วงเวลาที่อาจจะจำกัด     สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างคนในเมืองกับชาวบ้านก็คือ แรงงานหายาก เป็นแรงงานเฉพาะกิจระยะเวลาสั้นๆ   ซึ่งมูลเหตุสำคัญก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าคำว่า 'ห่วงนา'


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ธ.ค. 20, 19:27
เมื่อระยะเวลาได้ผ่านไปประมาณ 2 เดือน การแตกกอของต้นข้าวก็จะหยุดลงแล้วก็เริ่มการตั้งท้องออกรวงต่อไป ในระยะนี้ ชาวบ้านก็พอจะประเมินผลผลิตได้แล้วว่า ในปีนั้นๆจะได้ผลผลิตข้าวมากน้อยเพียงใด  แต่ก่อนจะถึงจุดนี้ก็มีการเฝ้าดูอย่างใจจดใจจ่ออยู่เหมือนกันในทำนองว่า เอ..ทำไมข้าวของเรา กอก็ใหญ่ ต้นก็สมบูรณ์ดี แต่ทำไมยังไม่ตั้งท้องออกรวงเสียที    ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่ามันเป็นข้าวสายพันธุ์ที่ไวต่อแสง มันจะถูกกระตุ้นให้เริ่มกระบวนการตั้งท้องออกรวงได้ด้วยช่วงของคลื่นแสงอาทิตย์ ณ ช่วงเวลาหนึ่งของปี  มันก็เลยจะตั้งท้องออกรวงในระยะช่วงระยะเวลาเดียวๆกัน

ผมมีความเห็นว่าชาวบ้านชาวนายังขาดการรับรู้ ความเข้าใจ และการได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างเพียงพอในหลายๆกรณีเกี่ยวกับเรื่องของการทำนาปลูกข้าว ทั้งนี้มิได้หมายความว่าไม่มีการเผยแพร่ข้อมูล หรือไม่มีการศึกษาวิจัยและรายงานผลของการศึกษาวิจัย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาวิจัยในรูปของ literature search, review and comments หรือในรูปของ scientific research and experiments     ประเด็นไปอยู่ที่ว่าการบรรยายหรือการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องมีปรากฎและเผยแพร่อยู่เหล่านั้น มันเป็นรูปของการเขียนที่ใช้สื่อกันระหว่างนักวิชาการหรือระหว่างคนที่มีความรู้พื้นฐานทางวิชาการอยู่บ้าง  จะเขียนเผยแพร่ในลักษณะเป็นภาษาพูดก็มีประเด็นในเรื่องของมาตรฐานและความเชื่อถือ (และการใช้เป็นผลงานเพื่อประเมินผลในเรื่องต่างๆ)   สำหรับตัวผมเอง ที่เขียนบรรยายมาทั้งหลายเหล่านี้ ก็มิได้ต่างไปจากที่กล่าวมามากนัก มากมายหลายครั้งที่ใช้ภาษาอังกฤษ เพราะหาคำสั้นๆที่ให้เนื้อหาและใจความอย่างที่ประสงค์ไม่ได้   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ธ.ค. 20, 18:32
ข้าวออกรวงแล้วไม่นานก็แก่ ถึงเวลาต้องเก็บเกี่ยวกัน ก็ถึงคราววุ่นวายกันอีกครั้งหนึ่ง   ด้วยที่ข้าวตกท้องออกรวงในกรอบเวลาแคบๆเดียวกัน มันก็จะสุกได้ที่เกือบจะพร้อมๆกัน  แต่เครื่องจักรเกี่ยวข้าวมีค่อนข้างจะจำกัดในแต่ละพื้นที่ จะใช้แรงงานคนที่เอาแรงกันไว้เมื่อครั้งปลูกข้าวก็ต้องรอจังหวะให้ว่างพร้อมๆกัน เพราะต่างคนต่างก็ต้องเก็บเกี่ยวในที่นาของตนให้เสร็จสิ้นก่อน หรือจะต้องดูว่าพอจะแยกตัวหรือสลับสับเปลี่ยนอะไรๆได้บ้าง  ทุกอย่างดูจะต้องมีคิวไปเสียหมด   ประเด็นของเรื่องไปอยู่ที่ว่า เก็บเกี่ยวข้าวที่ยังไม่แก่จัดก็ไม่ดี หากแก่แล้วยังเก็บเกี่ยวไม่ได้ก็ไม่ดี เมื่อเลยเวลาเวลาของการแก่จัดๆไป ต้นข้าวจะเหี่ยวแห้งลงและอาจจะถูกลมพัดให้ล้ม ซึ่งหากล้มแบบไร้ทิศทางก็จะทำให้เก็บเกี่ยวได้ยากและเสียเวลามาก ไม่ว่าจะใช้เครื่องจักรหรือแรงคน   นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีบรรดานกหนูและสัตว์อื่นๆที่ต่างก็รู้ว่าข้าวสุกแล้ว ก็จะเข้ามาเยี่ยมเยียน กินอาหารชั้นดีอย่างสนุกสนาน    ดินฟ้าอากาศก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สร้างให้เกิดความกังวล เพราะมันเป็นช่วงเวลาของปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว  หากฝนตกลงมา ข้าวก็จะเปียกชื้น เก็บเกี่ยวแล้วก็จะต้องหาพื้นที่ตากข้าวให้แห้งก่อนที่จะนวดข้าว นวดข้าวเสร็จแล้วก็ยังต้องตากอีกให้ความชื้นลดลงก่อนที่จะเก็บเข้ายุ้งข้าว (ฉางข้าว)


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ธ.ค. 20, 19:18
เล่าข้ามความกังวลของคนทำนาไปเรื่องหนึ่ง ช่วงที่ต้นข้าวตั้งท้องออกรวงนั้น มันต้องการน้ำและอาหารที่สมบูรณ์ ซึ่งจะยังให้ได้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ด้วย  ก็เป็นความบังเอิญว่ามันมักจะเป็นช่วงที่เกิดฝนตกแบบกระท้อมกระแท้ม ตกแบบมีน้ำบ้าง แบบไม่มีน้ำบ้าง    ชาวนาเลยต้องคอยดูเมฆฝนกันในแต่ละวันว่าจะมีโอกาสฝนตกบ้างหรือไม่  วันใหนที่มีฝนตกก็จะมีความสุข  ก็จึงไม่แปลกนักที่เรามักจะเห็นคนทำนาใส่หมวกกันฝน คลุมตัวด้วยผ้าพลาสติก เดินท่อมๆแบกจอบอยู่ตามผืนนาต่างๆในวันที่มีฝนตก  บ้างก็ไปกินนอนอยู่ที่เถียงนาเพื่อจะได้ลงพื้นที่ทำงานได้เลยตั้งแต่เริ่มฟ้าสาง


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ธ.ค. 20, 19:16
ก็มาถึงการเก็บเกี่ยวข้าว 

กรณีใช้แรงคน ก็จะเป็นการเดินหน้ากระดานเกี่ยวไปเรื่อยๆ  แต่ละคนจะเกี่ยวกอข้าวโดยการเอี้ยวตัวไปทางซ้ายเท่าที่มือจะกำกอข้าวและใช้เคียวเกี่ยวได้ หมุนจากซ้ายไปขวาทีละกอจนสุดการเอื้อมที่จะกำกอข้าวและใช้เคียวเกี่ยวได้ ซึ่งก็จะได้ประมาณ 3-4 กอต่อคนและต่อการเดินก้าวไปข้างหน้าครั้งหนึ่ง  เป็นเรื่องเพียงการจัดคนให้ยืนห่างกันพอดีๆเพื่อให้สามารถเกี่ยวข้าวได้ในลักษณะต่อเนื่องกันเป็นแถวหน้ากระดาน  การเกี่ยวก็จะตัดกอข้าวที่ระดับประมาณหัวเข่า แต่หากเป็นข้าวพันธุ์ต้นเตี้ยก็ต้องก้มมากหน่อย     

เมื่อครั้งยังเดินทำงานสำรวจอยู่นั้น ก็ใช้ข้อสังเกตในเรื่องของความสูง-ต่ำของตอข้าว(ตอซังข้าว)และขนาดของกอข้าวเพื่อประเมินความสมบูรณ์ของพื้นที่และความอยู่ดีกินดีของชาวบ้านในพื้นที่นั้นๆ   การสังเกตเช่นนี้อาจจะไม่มีความสำคัญใดๆในความเห็นของหลายๆคน แต่สำหรับผม มันเป็นเรื่องที่บ่งชี้อะไรๆในบางเรื่องทางธรณีฯของพื้นที่ในย่านนั้น   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ธ.ค. 20, 20:02
การเกี่ยวข้าวนั้น ดูไม่น่าจะมีอะไรที่น่าสนใจ  แท้จริงแล้วมันต้องมีความเป็นระเบียบ เรียบร้อย และความนุ่มนวลอยู่ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว 


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ธ.ค. 20, 18:18
ที่ว่าเช่นนั้น ก็จะขอเปรียบเทียบกับมัดต้นหอมผักชีที่ผู้ชายเขามัดเป็นกำเล็กๆวางขายกำละ 5 บาทบ้าง 10 บาทบ้าง เราจะเห็นการมัดที่รากของต้นหอมและต้นผักชีอยู่เสมอกัน แล้วเอามาวางเรียงทับกันเป็นกลุ่ม ไม่ปะปนกับมัดผักอื่นๆที่ก็มัดและวางแยกเป็นกองเป็นกลุ่มเช่นกัน  หากสังเกตละเอียดลงไปอีกเล็กน้อยก็จะเห็นว่า ขนาดของต้นหอมและผักชีจะมีขนาดของต้นใกล้ๆกันในแต่ละมัด   

ในการเกี่ยวข้าวก็เช่นกัน ชาวนาก็จะพยามตัดต้นข้าวสูงจากพื้นดินท้องนาที่ระดับที่เท่าๆกัน และรวบต้นข้าวปริมาณเท่าที่จะกำได้  ตัดขาดออกมาจากกอข้าวแล้วก็ใช้เคียวประคองส่วนปลาย(ยอด)ต้นข้าวเพื่อให้ยังคงเป็นทรงกำที่ปลายไม่กระจายรุ่งริ่ง แล้วจึงค่อยวางลงบนตอข้าวที่เกี่ยวไปแล้วทางด้านซ้ายของตนเอง เหตุที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพราะว่า เมื่อเวลาจะเก็บข้าวที่ได้เกี่ยวแล้วขนออกจากผืนนาก็จะทำได้ง่าย ด้วยเพราะมันเป็นระเบียบเรียบร้อยดี เอามามัดรวมกันเป็นฟ่อนๆ แล้วใช้คานสอดหามออกไป ทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อลดปริมาณรวงข้าวหักร่วงซึ่งจะยังให้มีข้าวเปลือกตกหล่นอยู่ตามพื้นในปริมาณมากโดยไม่จำเป็น 


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ธ.ค. 20, 18:32
การเกี่ยวข้าวนี้ก็มีเหตุให้ต้องรีบทำให้เสร็จเมื่อข้าวสุกเต็มที่แล้ว  เรื่องของเรื่องก็คือ หากเกิดมีลมกรรโชกมาทำให้ต้นข้าวล้มแบบไม่มีทิศทาง การเกี่ยวข้าวก็จะยากและเสียเวลามากขึ้น ลักษณะการเดินแบบดาหน้าก็จะต้องเว้นแหว่งไป ต้องเสียเวลามากขึ้นกับการจัดการเกี่ยวต้นข้าวหรือกอข้าวที่ล้มอย่างไม่มีระเบียบเหล่านั้น   

เรื่องต้นข้าวล้มนี้ พวกรถเกี่ยวข้าวก็ไม่ชอบเช่นกัน


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ธ.ค. 20, 18:27
ก็มาถึงเรื่องของการใช้รถเกี่ยวข้าว   

ระบบของการใช้รถเกี่ยวข้าวนั้นจะมีมากน้อยเช่นใดก็ไม่ทราบ เท่าที่พอจะทราบนั้นมันเป็นระบบที่มีการดำเนินการต่อเนื่องกัน คือ เกี่ยว-ขน-ขาย  ซึ่งดำเนินการโดยผู้รับงานที่อาจจะเป็นเจ้าของเครื่องจักรกล รถบรรทุก และการขายข้าวเปลือก หรืออาจจะเป็นเพียงผู้รับดำเนินการประสานวันและเวลาเพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องจักรเกี่ยวข้าว รถขนข้าวเปลือก และการซื้อขายข้าวเปลือก   ระบบก็ดูโปร่งใส ตรงๆ ง่ายๆดี คือรถเกี่ยวข้าวก็จะเกี่ยวข้าวทั้งนาไม่ให้เหลือตกค้างแม้แต่กอเดียว (เห็นแล้วทึ่งมาก) ทำการนวดข้าวหรือตีข้าวเสร็จอยู่ในตัว ได้ผลผลิตออกมาเป็นข้าวเปลือกเก็บอยู่ในกระบะข้างรถเกี่ยวข้าว แล้วประเมินไปเป็นน้ำหนักจากปริมาณข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวได้ ซึ่งจะซื้อขายกัน ณ จุดนี้ตามราคาตลาด (ราคาต่อกิโลกรัม) แล้วก็ขนเอาข้าวเปลือกขึ้นรถไป(ที่ใดก็ไม่รู้)


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ธ.ค. 20, 19:10
ในเรื่องที่ดูเรียบง่ายนี้ มันก็มีประเด็นที่น่าสนใจแฝงเร้นอยู่

ในระบบการใช้เครื่องเก็บเกี่ยวข้าวนี้ แน่นอนว่าจะต้องมีการเคลื่อนย้ายเครื่องจักร ซึ่งหมายความว่าจะต้องการเสียเวลาและมีค่าใช้จ่าย แล้วก็มิใช่เรื่องง่ายนักที่จะโยกย้ายเครื่องจักรไปมาในระยะทางที่ห่างกันมาก เช่น ระหว่างตำบลหรือระหว่างอำเภอ แม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่จังหวัดเดียวกันก็ตาม    ดังนั้น ผู้รับจ้างเกี่ยวข้าวก็จึงต้องพิจารณาปริมาณเนื้อที่ๆจะเข้ามาทำงานในแต่ละครั้งให้คุ้มกับค่าใช้จ่าย ซึ่งหากเป็นพื้นที่นาผืนใหญ่ก็ไม่เป็นประเด็น แต่หากเป็นนาผืนเล็กกระจัดกระจายในพื้นที่นั้นๆ ก็ต้องรอรวบรวมหรือมีข้อเสนอเพื่อให้เกิดพื้นที่ขนาดใหญ่พอที่จะมีความคุ้มค่าในการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรกลเข้าไปทำงาน  ซึ่งในอีกแง่มุมหนึ่งก็จะเป็นการสวนทางกับความต้องการของเจ้าของนาผืนเล็กที่อาจจะรอเวลาต่อไปไม่ได้นานนัก(ด้วยสาเหตุที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว) พวกนาผืนเล็กจึงอาจจะต้องเลือกใช้วิธีการจ้างแรงงานหรือผสมผสานกับระบบการเอาแรงที่สร้างผูกพันกันไว้


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ธ.ค. 20, 19:25
การใช้รถเกี่ยวข้าวในพื้นที่ๆมีการทำนากระจายเป็นหย่อมๆ ซึ่งจะพบได้ในพื้นที่ราบลอนคลื่นหรือที่เป็นแอ่งที่ลุ่มระหว่างเขาในภาคเหนือเหล่านั้น น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับ SME หรือ micro SME     

มีเป็นภาพดังนี้คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายต่างก็ทำธุรกิจระหว่างกันทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน ทุกคนมีรายได้จากการดำเนินการต่างๆ บ้างก็ในฐานะผู้ประสานงาน(นายหน้า คนกลาง organizer lobbyist) บ้างก็ในฐานะของผู้ปฏิบัติงาน (task orient, job orient, subcontractor)   ไม่มีการทำสัญญาระหว่างกันที่เป็นเอกสารใดๆ ทั้งหมดเป็นการดำเนินการในรูปแบบของความไว้ใจและเชื่อถือซึ่งกันและกัน อยู่ในลักษณะของการกระทำที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สังคมท้องถิ่นยอมรับกันโดยทั่วๆไป  ซึ่งการกระทำในลักษณะดังนี้ หากเกิดกรณีขัดแย้งกันก็คงจะมีความยุ่งยากในการฟ้องร้องกัน เพราะไทยเราไม่ได้ใช้ระบบกฎหมายแบบ common law  ท่านที่เรียนทางกฎหมายจะขยายความในเรื่องนี้ได้มาก (อย่างน้อยก็ว่า ผิด หรือ ถูก ตามความเห็นของผม)


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ธ.ค. 20, 20:21
ตามลงไปดูในรายละเอียดบางประเด็น

ผู้รับจ้างและผู้เกี่ยวข้องไปประเมินว่าพื้นที่เกี่ยวข้าวว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด ดูความยากง่ายในการนำรถเกี่ยวเข้าพื้นที่ ดูปริมาณข้าวเปลือกที่จะได้ เพื่อที่จะได้นัดวันและจัดทัพให้เหมาะสม  คิดค่าเก็บเกี่ยวข้าวในราคาต่อไร่ (รวมค่าขนส่งข้าวไปขายที่ตลาดข้าว)  เมื่อเกิดกรณีปริมาณข้าวได้ไม่มากเท่าที่ประเมิน รถที่มาบรรทุกข้าวใหญ่เกินไป และระยะทางที่จะขนข้าวไปยังตลาดข้าวไกล ค่าระวางที่คิดในรูปของการเหมารถเป็นเที่ยวซึ่งคิดรวมอยู่ในค่าจ้างการเก็บเกี่ยว ก็อาจจะมีการขอเปลี่ยนไปเป็นน้ำหนักต่อระยะทาง   

คิดว่ามีเรื่องอื่นๆอีกมากที่ผมยังไม่รู้และยังเข้าไม่ถึงแก่น


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ธ.ค. 20, 20:33
เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็จะมีเรื่องของธุรกรรมการเงินตามมา โดยเฉพาะในเรื่องของการชำระค่าปุ๋ย ค่ายากำจัดแมลง/วัชพืช และหนี้สินที่เกี่ยวข้องและที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำนา 

ที่น่าสนใจก็คือเรื่องที่เป็นธรรมเนียมปฎิบัติของชุมชนบางแห่ง (คิดว่าน่าจะเกือบทุกชุมชนที่มีการทำนา)    ด้วยที่แต่ละชุมชนมักจะมีวัดหรือสำนักสงฆ์อยู่หนี่งแห่ง ผนวกกับการมีความสำนึกต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (แม่โพสพ) และการเฉลิมฉลองความสำเร็จในการเพาะปลูกธัญญาหารที่จะใช้เป็นอาหารในรอบปี ก็จึงมีระบบการแบ่งปันผลผลิตเพื่อช่วยกันอุปถัมภ์ ค้ำจุน ทำนุบำรุง และดูแลวัดและพระสงฆ์ให้มีความคงอยู่ตลอดไป  นาของแต่ละคนจะถูกประเมินปริมาณข้าวเปลือกที่ได้ แล้วคิดว่าควรจะต้องแบ่งมาช่วยกิจการของวัดมากน้อยเพียงใด ก็อยู่ระหว่าง 1-10ถึง ข้าวเปลือก หรือจะจ่ายเป็นเงินตามราคาข้าวเปลือกที่ซื้อขายกันอยู่ในขณะนั้นก็ได้  บ้างก็จัดเป็นในลักษณะพิธีทำบุญข้าวใหม่      ก็เป็นเรื่องรากเง่าของระบบการจัดเก็บภาษีบนพื้นฐานของ wealth    ที่น่าจะพึงมี ก็น่าเพิ่มเติมก็ในอีกเรื่องคือ การเก็บภาษีในพื้นฐานหนึ่งของ opportunity  จำแนกออกไปเป็นในกรณีของผลผลิตจากการทำนาในพื้นที่ๆมีการชลประทาน กับการทำนาในพื้นที่นอกเขตขลประทาน     


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ธ.ค. 20, 20:59
นาที่ทำในพื้นที่ชลประทานแต่แรกนั้น ในแต่ละปีจะทำได้ปีละ 2 ครั้ง ต่อมาก็เป็นปีละ 3 ครั้ง  ในขณะที่นานอกเขตชลประทานจะทำได้ปีละครั้งเดียว แต่ต่อมาก็มีการพัฒนานำน้ำใต้ผิวดิน (perched aquifer) สูบออกมาใช้ ก็เลยทำนาได้ปีละ 2-3 ครั้ง  พวกนาในพื้นที่ชลประทานก็เลยใช้วิธีการเอาน้ำจาก perched aquifer มาช่วยด้วยสำหรับในช่วงที่น้ำในระบบชลประมานมีน้อยมากๆ

เพื่อขยายความให้พอเห็นภาพ  เอาจานมาวางแล้วเอาฟองน้ำล้างจานมาปูพื้น แล้วก็เอาจานอีกใบหนึ่งมาวางทับ แล้วเอาฟองน้ำล้างจานวาง แล้วเอากระดาษลูกฟุกมาวางปิดใว้   เมื่อเราแทน้ำลงไป กรดาษลูกฟูกก็จะเปียกชื้น เปรียบได้เสมือนผิวดิน  ฟองน้ำใต้กระดาษก็จะอุ้มน้ำเก็บไว้  น้ำบางส่วนจะหยดลงไปให้ฟองน้ำชั้นล่างดูดซับไว้  ฟองน้ำขั้นบนนั้นคือแหล่งน้ำใต้ผืนดินที่เรียกว่า perched aquifer  ฟองน้ำชั้นล่างจะเรียกว่า confined aquifer (หรือ aquifer เฉยๆ) ชั้นนี้คือชั้นน้ำบาดาล หรือชั้นที่เราเจาะเอาน้ำบาดาลมาใช้กัน


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ธ.ค. 20, 19:38
การทำนาปลูกข้าวที่แต่เดิมเคยทำได้ปีละครั้งในช่วงฤดูฝน กลายมาเป็นทำได้ปีละ 2-3 ครั้งด้วยระบบการชลประทานหรือด้วยระบบการใช้น้ำใต้ผิวดิน นานเข้าก็กลายมาเป็นความเคยชิน  ทำให้เมื่อปีใดเกิดมีสภาพน้ำท่าน้อย ซึ่งส่งผลให้ทำนาได้น้อยครั้งลงไป หรือขาดน้ำในช่วงที่ข้าวกำลังตั้งท้องออกรวง จึงเกิดการเรียกร้องต่อฝ่ายรัฐให้ช่วยเหลือ   คำว่า แล้ง ที่เคยหมายถึงการขาดน้ำบริโภตและอุปโภคที่พอจะใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อการยังชีพ ก็ถูกผนวกเข้าไปด้วยกับเรื่องของการขาดน้ำในการทำการเกษตรในเชิงพาณิชย์ 

    (การเจาะน้ำบาดาลเพื่อการยังชีพแต่แรกเริ่ม (ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2510+/-) ซึ่งพัฒนาต่อมาเพื่อการกินดีอยู่ดีภายหลังจากปัญหาพื้นฐานได้คลี่คลายไปจนเป็นที่น่า
      พอใจแล้ว ก็ได้เปลี่ยนไปเป็นเพื่อใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ)

ด้วยที่น้ำบาดาลที่สามารถเอามาใช้ในเชิงเพื่อการบริโภคจะอยู่ลึกเป็นสิบๆเมตร ซึ่งยังจะต้องเลือกอีกด้วยว่าควรจะเป็นชั้นน้ำบาดาลชั้นใดที่ระดับใหนที่มีคุณภาพน้ำที่เหมาะสมอีกด้วย     ต่างกับการเอาน้ำในระดับตื้นที่อยู่ใต้ผิวดินซึ่งมีได้ตั้งแต่พื้นผิวต่อเนื่องลงไปถึงระดับ 10+ เมตรนั้น ซึ่งในบางจุดก็มีปริมาณน้ำมากพอที่จะลงทุนขุดบ่อน้ำตื้น (well) หรือเจาะแล้วใช้เครื่องสูบน้ำหอยโข่งตามปกติก็ได้แล้ว   น้ำใต้ผิวดินนี้จะมีการเติมน้ำเข้าไปเก็บไว้ได้ทุกปีจากน้ำฝนหรือน้ำที่ท่วมหลาก แต่จะได้ในปริมาณมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ความพรุนของชั้นตะกอน (porosity) ความสามารถในการไหลซึมของชั้นตะกอน (permeability) ปริมาณและความยาวนานของน้ำท่าที่ท่วมขังอยู่บนผิวดิน     


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ธ.ค. 20, 20:45
ฝนก็ตกตามฤดูกาลทุกปี แต่ที่ไม่เหมือนกันในแต่ละปีก็คือ จำนวนวันที่มีฝนตก การกระจายตัวฝน ปริมาณน้ำฝน ฯลฯ  ในขณะที่ปริมาณการใช้น้ำเพื่อการเกษตรมีระดับของความวิกฤติที่คงที่ แต่การขยายกิจกรรมและปริมาณการใช้มีมากขึ้น ผนวกกับความประสงค์อื่นใดที่มีแฝงอยู่  คำว่า 'แล้ง' ก็เลยมีปรากฎอยู่ทุกปี แล้วก็กลายเป็นคำว่า 'แล้งซ้ำซาก' ในพื้นที่ต่างๆที่ได้รับฟังกันเป็นประจำทุกๆปี


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ธ.ค. 20, 21:06
ก็มีโครงการศึกษาและทดลองทำการเติมน้ำลงในชั้นน้ำใต้ผิวดิน  ซึ่งที่ทราบและเคยเห็นนั้นอยู่ในพื้นที่ของ จ.สุโขทัย และ พิษณุโลก ทำโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

ที่เลือกใช้พื้นที่นี้ก็เพราะว่าได้มีการทำนาโดยใช้น้ำใต้ผิวดินกันมาก สูบน้ำมาใช้กันมากเสียจนระดับน้ำลดลงนับเป็น 10 เมตร น้ำฝนและน้ำในลำธารตามธรรมชาติที่มีในแต่ละปีไหลซึมลงไปเติมไม่ทัน    ก็มีการทดลองเอาน้ำฝนจากหลังคาบ้านต่อลงถังพักแล้วต่อท่อลงใปใต้ดินเลย ก็ได้ผลดี น้ำใต้ผิวดินในพื้นที่ชุมชนที่ทำการทดลองนั้นมีระดับสูงขึ้นมากพอที่จะทำให้ดินส่วนผิวบนพื้นมีความชุ่มชื้น ต้นไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับต่างๆเจริญงอกงามออกดอกออกผลดีอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ๆไม่ได้มีการทดลองดำเนินการ   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ธ.ค. 20, 18:47
มีประเด็นชวนให้สนใจอยู่บางเรื่องที่เป็นความเห็นของผมบนพื้นฐานของความรู้ของตนเองที่พอจะมีในทางวิชาการ ว่า

จะเห็นว่าในการไถนาพรวนดินทุกๆปี มีการปล่อยน้ำเข้า-ออกนา ก็ย่อมแสดงว่าดินโคลนเม็ดละเอียดยิบนั้นจะถูกแขวนลอยอยู่ในน้ำแล้วถูกพัดพาออกสู่แม่น้ำสายต่างๆ ยังให้ความสมบูรณ์ของดินในนาค่อยๆลดลงไปทุกปี   

ในเชิงการเปรียบเทียบ...นาในพื้นที่ต้นน้ำจะลดความสมบูรณ์ลง ดินในนาจะค่อยๆเปลี่ยนสภาพไปในทางเป็นกรดมากขึ้น    ก็ดูจะเป็นความโชคดีของพื้นที่นาข้าวในภาคเหนือที่มีทิวเขาหินปูนอยู่ตามของแอ่งในพื้นที่ ทำให้มีน้ำที่มีความเป็นด่างช่วยปรับความเป็นกรดของดินให้พอจะเกิดความสมดุลย์  เมื่อนานปีมากๆเข้า ระดับดินในท้องนาก็ลดลง คันนาก็จะดูค่อยๆสูงขึ้น      ในขณะที่ที่นาในพื้นที่ราบลุ่มช่วงปลายน้ำก็จะมีความสมบูรณ์มากขึ้นด้วยปุ๋ยธรรมชาติที่ได้จากมาจากการพรวนพลิกดินในพื้นที่ต้นน้ำ แล้วถูกน้ำพัดพามาตกตะกอน แต่ก็อาจจะอุดมไปด้วยสารเคมีที่ไม่พึงปราถนาพร้อมกันไปด้วย    ด้วยที่มีตะกอนดินมาตกเสริมในทุกๆปี ระดับของคันนากับท้องนาในพื้นที่ภาคกลางจึงดูคงที่อยู่เสมอ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ธ.ค. 20, 20:10
ข้อสังเกตเพิ่มเติมก็มีในเรื่องของการเผาตอข้าวหรือซังข้าวก่อนที่จะมีการไถพรวนดิน  เท่าที่พอจะประมวลได้จากการได้เห็นผนวกกับที่พอจะรู้สภาพทางกายภาพของพื้นที่นั้นๆ  การเผานั้น แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่กระทำสืบทอดกันมา แต่เมื่อดูให้ลึกลงไปก็พอจะเห็นว่า การเผานั้นเป็นการช่วยปรับความเป็นกรดเป็นด่างของดิน เพราะว่าเถ้าถ่านของพืชที่คงเหลือจากการเผานั้นมีสภาพเป็นด่าง ซึ่งจะช่วยปรับสภาพดินที่มีสภาพเป็นกรดที่เกิดจากการใช้ปุ๋ย หรือที่เกิดจากเนื้อดินถูกชะล้างออกไปจนมีส่วนประกอบที่เป็นทรายมากขึ้น   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ธ.ค. 20, 20:15
ค่อยต่อกันหลังปีใหม่ครับ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ธ.ค. 20, 21:11
ก่อนจะสิ้นปีเก่า 

ขอขอบคุณท่านทั้งหลายที่ได้ติดตามเรื่องราวของกระทู้นี้และกระทู้อื่นๆที่ได้ตั้งขึ้นมา เรื่องราวทั้งหลายเหล่านั้นได้มุ่งหวังจะให้เป็นเพียงกระจกที่สะท้อนถึงความมีอยู่จริงในวิถีชีวิตของคนไทย เสี้ยวหนึ่งเท่าที่คนๆหนึ่งได้มีโอกาสได้สัมผัสมา


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ธ.ค. 20, 21:12
เข้าสู่ปีใหม่

เนื่องในวาระเข้าสู่พุทธศักราชใหม่ ก็ขออาศัยอำนาจและบารมีของคุณงามความดีที่ท่านทั้งหลายได้กระทำชอบและได้ประพฤติขอบที่ได้สั่งสมมา ได้ยังผลให้ท่านทั้งหลายได้ประสพแต่ความสุขความสมบูรณ์ทางโลกียสุขและทางใจ ปราศจากทุกข์และโรคภัยทั้งหลาย ตลอด พ.ศ.2021 และตลอดไป


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ม.ค. 21, 18:56
สวัสดีปีใหม่ทุกท่านครับ   

เข้าสู่ปี พ.ศ.ใหม่ ก็หมายความว่าต่างคนต่างก็มีอายุเพิ่มมากขึ้นอีก 1 ปี ต่างคนต่างก็ก้าวเข้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แปลกใหม่ต่างออกไปเดิม ไปในทางที่เพิ่มขึ้นบ้าง ในทางที่ลดลงบ้าง บ้างก็ในเรื่องทางสุขภาพ บ้างก็ในเรื่องเศรษฐกิจ บ้างก็ในเรื่องทางสังคม     

การครองตนอย่างมีสติ อย่างมีความเข้าใจ อย่างมีความเหมาะสมกับสภาพและสภาวะการณ์ต่างๆจึงมีความจำเป็น และมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้เกิดความสุขทางใจ ดีกว่าที่จะไปเอาเรื่องทั้งหลายมาผูกสัมพันธ์กันจนทำให้ให้เป็นเรื่องทุกข์ มืดมนไปเสียทุกๆด้าน

ผมเองอยู่ในวัยครึ่งทางระหว่างเลขเจ็ดกับเลขแปด ยังพอจะเขียนเล่าเรื่องราวอะไรๆที่เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่คนหมู่มากได้ ก็ทำ  อย่างน้อยก็เป็นการบอกเล่าประสบการณ์จริงที่ได้พบมา ซึ่งคิดเอาเองว่าอาจจะมีการจับเอาความในบางเรื่องราวหรือบางจุดเอาไปแสวงหา/ค้นคว้า ขยายเป็นความรู้ในเรื่องอื่นใดเพิ่มเติม   ก็ต้องขออภัยที่อาจจะมีการเขียนผิด/สะกดผิด  ส่วนหนึ่งก็มาจากวัย  สมองส่วนที่เป็น ROM ก็ยังพอใช้งานได้อยู่ แต่ส่วนที่เป็น RAM และ Cache นั้นคงจะทำงานไม่ค่อยจะสมบูรณ์นัก


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ม.ค. 21, 19:30
ได้กล่าวถึงภาพที่เมื่อนำมาผนวกกันแล้วจะเป็นภาพในองค์รวมได้ว่า ในการทำนาแต่ละปีนั้น คุณภาพของดินในท้องนาก็จะเปลี่ยนไป  นาที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำ(catchment area)ของต้นทางแม่น้ำจะสูญเสียปุ๋ยธรรมชาติในทุกๆปี ซึ่งก็จะถูกนำพาไปตกตะกอนเพิ่มเติมให้กับนาในพื้นที่ราบลุ่ม(floodplain area)ในทุกๆปี    ด้วยสภาพดังกล่าวนี้ ก็จึงควรจะต้องมีการปรับปรุงดินที่ใช้ทำนาในพื้นที่ๆดินท้องนามีสภาพเสื่อมโทรมลง     

ลองนึกถึงวิธีการว่าจะทำเช่นใดได้บ้าง 


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ม.ค. 21, 19:05
การปรับปรุงหรือการฟื้นฟูสภาพดินนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนักและก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา คนส่วนมากก็จึงคิดไปถึงการใช้ปุ๋ย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายที่สุด     ก็น่าเสียดายที่เรื่องการปรับปรุงดินนี้มีการศึกษาอย่างมากมายในทุกระดับปริญญา แล้วก็มีเอกสารเผยแพร่อยู่ในสื่อที่เป็นสาธารณะอยู่มากมายเช่นกัน  หากแต่เพียงนักวิชาการจะมีความพยายามในการแปลความหรือย่อยความให้ออกมาเป็นภาษาและเรื่องราวแบบง่ายๆสำหรับผู้คนที่มีข้อจำกัดในเชิงของการสื่อสารทางวิชาการ ก็จะเป็นเรื่องที่จะมีผู้นำไปสู่ปฎิบัติ อันจะยังผลให้เกิดการเกษตรที่มีความสมดุลย์ระหว่างการใช้กระบวนการทางธรรมชาติ(เป็นหลัก) กับการใช้วัสดุทางวิทยาศาสตร์เพียงน้อยนิดเพื่อช่วยสนับสนุน  และเปลี่ยนตรรกะจากเป้าประสงค์ในทางปริมาณไปเป็นในทางคุณภาพ     


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ม.ค. 21, 19:16
แท้จริงแล้ว ในปัจจุบันนี้ การทำนาในหลายพื้นที่ในระดับตำบลหรือหมู่บ้านก็มีการเปลี่ยนแปลงตรรกะจากเพื่อการทำให้ได้ปริมาณมากๆไปเป็นการทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพสูงขึ้นและมีมาตรฐาณที่คงที่มากขึ้น    แต่จะขอขยายความเรื่องการปรับปรุงหรือการฟื้นฟูสภาพดินที่ค้างไว้เสียก่อน


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ม.ค. 21, 20:44
ผมมิใช่นักวิชาการเรื่องดิน แต่ต้องมีความรู้ส่วนหนึ่งเกี่ยวพันในส่วนที่เกี่ยวกับการหาแหล่งทรัพยากรเพื่อใช้ในการทำปุ๋ย NPK   เมื่อรู้น้อยและแก่วัดมากขึ้นในเรื่องของ Geochemistry  การรู้แต่เพียงว่าให้มันมีอยู่แต่ในดินก็เพียงพอแล้วมันก็มิใช่ มันก็ต้องมีต่อไปว่ามันควรจะต้องอยู่ในรูปของอินทรีย์เคมีหรืออนินทรีย์เคมี รวมไปถึงกระบวนการต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่นการสลับสับเปลี่ยนของธาตุที่มีขนาดของอะตอมใกล้ก้น การแปรเปลี่ยนของสารประกอบในสภาวะการณ์ต่างๆ (EH, pH, Temp.)   ต่างๆเช่นนี้ที่อยากจะเห็นมีการอธิบายแบบง่ายสุดๆให้กับชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน  ซึ่งก็เชื่อว่าหากรู้จริงอย่างค่อนข้างจะถ่องแท้ ก็จะเป็นเรื่องที่ไม่ยากนักในการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 21, 09:58
เข้ามาสวัสดีปีใหม่ค่ะ  คุณตั้ง  ปีใหม่ปีนี้คงไม่มีพรอะไรดีกว่าขอให้สุขภาพแข็งแรง ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บทุกชนิดนะคะ

catchment area


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ม.ค. 21, 17:59
สวัสดีปีใหม่ครับ อาจารย์  ขอให้อาจารย์มีสุขภาพที่แข็งแรงและปราศจากโรคภันทั้งหลายเช่นกัน และขอให้ประสบแต่ความสุขและความสวัสดีมีชัยในเรื่องต่างๆทั้งหลาย ครับ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ม.ค. 21, 19:41
การปรับปรุงดินน่าจะแยกออกได้เป็นในสองเรื่องใหญ่ๆ คือการปรับปรุงในเชิงกายภาพ และการปรับปรุงในเชิงของความอุดมสมบูรณ์ของดิน (ปุ๋ยและแร่ธาตุ)   ในเชิงของกายถาพนั้นจะไม่ค่อยจะเห็นว่ามีการทำกันมากนักด้วยเหตุว่า ผืนดินที่ทำเกษตรกรรมอยู่นั้นได้มีการเลือกและมีการปรับให้เหมาะสมตั้งแต่ช่วงแรกๆของการใช้ประโยชน์แล้ว  หากจะมี ที่เด่นชัดก็จะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนรูปแบบของการใช้ประโยชน์ เช่น เปลี่ยนไปเป็นการปลูกพืชไร่ หรือพืชสวน

สำหรับการปรับปรุงในเชิงของความอุดมสมบูรณ์นั้น ดูจะจำแนกออกได้เป็นสามรูปแบบ คือแบบแต่เก่าก่อน แบบผสมผสานกลางเก่ากลางใหม่ และแบบพึ่งพาสารเคมี 

แบบแต่เก่าก่อนนั้น มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปตามกระบวนการของธรรมชาติ   เมื่อทำนาเสร็จแล้วก็เลี้ยงวัวเลี้ยงควายในพื้นที่นา ให้มันกินตอซังข้าวและฟางข้าวที่ได้นวดกันในพื้นที่นาภายหลังที่ได้เก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว ก็จะได้ปุ๋ยจากมูลของวัวควายเหล่านั้นตามสมควร  เมื่อถึงฤดูกาลจะทำนาครั้งใหม่ ก็จะเผาตอซังข้าว ได้เถ้าถ่านที่มีฤทธิเป็นด่างไปช่วยปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินในนา   ก็เลยมีประเด็นน่าสนใจโยงเข้ามาสู่เรื่องของ amorphous silica ที่มีอยู่ในแกลบและซังข้าว ???  ก็จะค่อยๆว่ากันไปนะครับ   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ม.ค. 21, 20:47
เรื่อง Rice Husk Silica หรือ Rice Hulls Silica หรือเรื่องของแกลบและขี้เถ้าของแกลบข้าวซึ่งมี Amorphous Silica นี้  ได้มีการศึกษาวิจัยกันอย่างกว้างขวาง มีเอกสารรายงานทางวิชาการเผยแพร่อยู่มากมายทั้งในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยชั้นนำและตามสื่อ on line ต่างๆ  มีทั้งเอกสารการศึกษาแบบ hard core  แบบในเชิงวิชาการง่ายๆ   และในเชิงทางเศรษฐกิจ      เรื่อง Amorphous Silica จากแกลบนี้ ดูเผินๆก็ไม่น่าจะมีความสำคัญใดๆเลย แต่มันก็มีมากพอที่ทำให้เคยมีนิติบุคคลในยุโรปสนใจสอบถามและเข้ามาประเมินปริมาณโดยรวมที่มีในแต่ละปีของเรา   ก็ลองหาอ่นดูนะครับและลองส่องเข้าไปดูในเรื่องของ Material Sciences ด้วย

ผมออกนอกเรื่องไปไกลอีกแล้ว  ;D   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ม.ค. 21, 18:37
amorphous silica ก็คือ silica gel ที่ใช้ดูดความชื้นในขวดยาและในกล่องผลิตภัณฑ์สินค้าเครื่องใช้ต่างๆนั่นเอง  แต่หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของพืชก็จะเป็นเรื่องในลักษณะที่กลับทางกัน คือเป็นการไปช่วยอุ้มความชื้นให้กับรากและดินให้คงมีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งน่าจะเป็นการช่วยทำให้พืชดูดซับอาหารและแร่ธาตุได้ดีขึ้นตลอดเวลา

ก็เลยคงจะไม่แปลกนักที่การเพาะชำพืชต่างๆจึงนิยมใช้ขี้เถ้าแกลบ       


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ม.ค. 21, 19:58
amorphous silica อีกแหล่งหนึ่งที่จะได้มา คือได้มาจากมูลของใส้เดือนที่กินพวกซากพืช  ซึ่งเท่าที่ได้เคยอ่านเอกสารทางวิชาการมาพอสมควร นัยว่ามีใส้เดือนบางสายพันธุ์ที่จะย่อยสลายและถ่ายมูลที่มีประโยชน์นี้ได้มากเป็นพิเศษ  ท่านที่ชอบปลูกต้นไม้จะรู้จักดินมูลใส้เดือนนี้และผลของการใช้ได้เป็นอย่างดี    สำหรับชาวบ้านก็เพียงแต่ดูว่า เมื่อขุดดินในนาแล้วพบใส้เดือนอยู่มากน้อยเพียงใด หากอุดมไปด้วยใส้เดือนก็แสดงว่าดินมีความอุดมสมบูรณ์ดี   

ก็น่าเสียดายที่เป้าหมายของการทำนาข้าวดูจะถูกครอบไปด้วยเรื่องในทางปริมาณมากกว่าในด้านคุณภาพ   ถูกวัด ถูกคัดกรอง ถูกจัดเป็นการแข่งขันกันด้วยปริมาณผลผลิต ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเป็นการแข่งขันกันแบบแยกกันเป็นกลุ่มสำหรับแต่ละสภาพและสภาวะแวดล้อมที่ต่างกันมากน้อยเพียงใด (ในเขต/นอกเขตชลประทาน  นาลุ่ม นาดอน นาดำ นาหว่าน นาหยอด ฯลฯ)    ในทางคุณภาพนั้นก็มีในเรื่องของความสมบูรณ์และขนาดของเม็ดข้าวเป็นเรื่องหลัก   เหล่านี้ ในมุมกลับก็เสมือนเป็นการส่งเสริมหลักนิยมให้ใช้ปุ๋ยและสารเคมีต่างๆ ซึ่งส่งผลให้กระบวนการชีวะเคมีทางธรรมชาติต้องสะดุดลงและเปลี่ยนแปลงไป     


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ม.ค. 21, 20:35
สัตว์ที่เกือบจะไม่เห็นในผืนนาอีกเลยในปัจจุบันนี้ ในช่วงทำนาก็จะมีอาทิ ปลิง หอยโข่ง ปลากระดี่ ปลาช่อน หิ่งห้อย แมลงปอ ปูนา นกกระยาง(ขาว/แดง) นกกวัก ฯลฯ   ในช่วงฤดูว่างนาก็จะมีอาทิ ใส้เดือน จิ้งกุ่ง(จิ้งโกร่ง) แมงขี้เบ้า (ด้วงขี้ควาย) นกคุ้ม นกกระทา นกกะปูด นกเขาต่างๆ(เขาใหญ่ เขาเขียว เขาเปล้า เขาไฟ) นกแซงแซว (นานๆจะเห็นสักครั้ง) ฯลฯ     เหล่านี้ดูจะเป็นผลโยงใยมาจากการใช้สารเคมีพวก pesticide และ herbicide


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ม.ค. 21, 18:57
เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่ามูลของสัตว์ทั้งหลายนำมาใช้ทำเป็นปุ๋ยได้ดี แต่มันจะต้องทิ้งไว้ให้แห้งก่อนนำไปใช้ (ของสดๆนำไปใช้ไม่ได้ ชาวบ้านใช้คำว่ามันยังร้อนอยู่) ซึ่งในขั้นตอนนี้ก็คือการปล่อยให้มันเกิดการย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ต่างๆให้สมบูรณ์เสียก่อน เรียกกันว่า ปุ๋ยคอก    การย่อยสลายของพืชก็ใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน เพียงแต่บางส่วนของพืชอาจจะย่อยสลายได้ช้ามาก (หรืออาจจะสังเกตเห็นว่าไม่มีเอาเสียเลย) ดูจะเรียกกันว่า ปุ๋ย(พืช)สด    ต่อมาก็พัฒนามาเป็นปุ๋ยหมักโดยเอาทั้งมูลสัตว์และส่วนของพืชมาผสมกัน แต่คงจะเป็นด้วยอัตราการย่อยสลายที่ไม่เท่ากันของสารอินทรีย์ของสัตว์และจากพืช ก็เลยเอาจุลินทรีย์ที่มีการเพาะ (culture) ใส่เพิ่มเข้าไปช่วยให้มันเกิดการย่อยสลายที่สมบูรณ์ ได้ปุ๋ยที่เรียกกันว่า ปุ๋ยหมัก   

ปุ๋ยเหล่านี้เรียกกันรวมๆว่า ปุ๋นอินทรีย์   ไม่นานก็เกิดปุ๋ยอินทรีย์ในรูปแบบใหม่ขึ้น ก็คือปุ๋ยอินทรีย์ที่มีการผสมปุ๋ยเคมีเล็กน้อยเข้าไปด้วย  ขอพักไว้เพียงนี้ก่อน แล้วค่อยเข้าไปในเรื่องของเกษตรอินทรีย์ในบางบริบท   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ม.ค. 21, 20:45
ขอขยายความเล็กน้อยเกี่ยวกับคำว่าการย่อยสลาย  เรื่องนี้อาจจะดูเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรน่าสนใจมากนัก  แต่ลองนึกถึงความต่างของคำว่า เน่า ผุ เปื่อย ยุ่ย   จะเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้มีความต่างกันในสภาพของพื้นที่และในระดับความลึกใต้ผิวดินที่ต่างกัน   

ก็กำลังจะขยายความไปถึงเรื่องของ Aerobic และ Anaerobic environment บนความรู้พื้นฐานของกระบวนการกำเนิดทรัพยากรกลุ่ม Hydrocarbon (แกส น้ำมัน ถ่านหิน) ที่พอจะสรุปได้อย่างง่ายๆว่า การย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศกับที่มีข้อจำกัดของอากาศนั้นมีความต่างกัน 


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ม.ค. 21, 18:48
จะขอใช้การเปรียบเทียบแบบการ์ตูนอย่างง่ายๆดังนี้   พวกจุลินทรีย์กลุมที่ใช้อากาศตามปกติ จะมีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างสบาย มีอาหารไม่จำกัด พวกมันก็เลยมีโอกาสที่จะเลือกกินแต่ส่วนที่ง่ายๆของพืช กินได้เร็ว เหลือทิ้งไว้แต่ส่วนที่กินยาก  ต่างกับพวกจุลินทรีย์กลุ่มที่มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศจำกัด พวกนี้ไม่มีโอกาสในการเลือกมากนัก อะไรที่กินได้ก็จะต้องกิน กินได้ช้า     คิดว่าคงจะเคยเห็นความต่างระหว่างพืชที่เน่าเปื่อย (rotten) ผุพัง (decay) และย่อยสลาย (decompose) ที่อยู่บนผิวดิน กับพืชที่เน่าเปื่อยผุพังและย่อยสลายที่อยู่ลึกลงไปใต้ดิน

ปุ๋ยหมักก็เกิดจากกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์เหล่านี้เป็นหลัก แต่ก็มีสัตว์พวกแมลง หนอน และใส้เดือน เข้ามาร่วมดำเนินการด้วย


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ม.ค. 21, 20:27
ในการทำปุ๋ยที่มีการแนะนำให้ใช้ EM เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุนั้น  ในระหว่างการหมักปุ๋ยก็จะต้องมีการรักษาระดับความชื้นด้วยการรดน้ำ มีการพลิกเพื่อให้วัสดุส่วนล่างได้มีโอกาสสัมผัสกับอากาศและเป็นการทำให้กองวัสดุเกิดความโปร่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการใช้ผ้าใบหรือผ้าพลาสติกสีดำคลุมกองวัสดุนั้นด้วย 

เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า  ในการพลิกกองวัสดุนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำเพื่อช่วยลดการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์บางกลุ่ม เพื่อที่จะส่งเสริมให้อีกกลุ่มหนึ่งได้ทำงานอย่างเต็มที่มากขึ้น ??   แล้ว..การเอาพลาสติกมาปิดคลุมไว้นั้น ก็เพื่อลดการถ่ายเทของอากาศ แต่ไปเพิ่มบรรยกาศ(fugacity)ของแกสมีเทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของจุลินทรีย์บางพวก ??      ก็เป็นเพียงความนึกคิดดังๆของผมแบบเรื่อยเปื่อยในเรื่องที่อาจจะไม่มีสาระสำคัญใดๆเลย


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ม.ค. 21, 21:03
แท้จริงแล้วกระบวนการทำปุ๋ยด้วยวิธีการหมักจะเป็นเช่นใดก็ตาม ก็ล้วนเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดผลลัพท์หลักๆอยู่สองรูปแบบ คือ รุปแบบแรก เพื่อให้เกิดการแตกสลายตัวแยกย่อย (disintegration) หน่วยต่างๆที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวตนของวัสดุนั้นๆ ให้แยกออกมาเป็นแต่ละหน่วยย่อยเล็กมากๆให้ได้มากที่สุดทั้งในรูปของโครงสร้างทางกายภาพและทางเคมี   อีกรูปแบบหนึ่งก็เพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางชีวะเคมีบางอย่าง   

ทั้งหลายเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นว่า ในระหว่างการหมักจะมีการขยายตัวของวัสดุที่หมัก มีแกส มีกลิ่น มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงของแต่ละหน่วยในกองวัสดุนั้นๆ จนในที่สุด วัสดุกองโตๆนั้นก็ลดขนาดลง ยุบลงไปเป็นขนาดที่ย่อมกว่าแต่แรกค่อนข้างมาก


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ม.ค. 21, 18:54
เรื่องของปุ๋ยอินทรีย์ที่ข้ามมานั้น  มีเอกสารทางวิชาการเผยแพร่อยู่มากมาย  แต่หากสนใจประเภทที่แปลกๆออกไปก็คงจะต้องหาโอกาสไปนั่งคุยกับชาวบ้านที่เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้าน โดยเฉพาะพวกที่เขามีพื้นที่ทำการเกษตรของตนเองและมีการลงมือทำเอง   ได้ไปดู ไปเห็นเขาทำกันจริงๆ ไปคุยด้วยแล้ว ก็จะรู้สึกทึ่งเหมือนกันว่า ด้วยข้อจำกัดทางด้านการเงิน เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆเหล่านั้น เขาสามารถนำสรรพสิ่งที่มีอยู่รอบตัว นำมาดัดแปลง จัดประกอบกัน จัดการวางผังพื้นที่งาน และทำการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้

ตัวอย่างหนึ่งที่ผมชอบ เขามีนา มีบ่อน้ำหลัก 1 บ่อ บ่อน้ำเล็ก 1 บ่อ  มีควาย 3-4 ตัว มีหมู 2-3 ตัว   ก็ทำคอกเลี้ยงควาย ใช้ฟางข้าวและอื่นๆให้กิน เก็บขี้ควายมาเป็นวัตถุดิบในการทำแกสใช้สอยในครัวเรือน  ขุดหลุมทำคอกหมู ใช้แกลบรองพื้น เลี้ยงหมูแบบที่เรียกว่าหมูหลุม  ทำน้ำ EM จากหยวกกล้วยและพืชอื่นๆ    นำขี้ควายที่เหลือจากการปล่อยแกสออกไปแล้ว ก็เอามาผสมกับแกลบที่ใช้เลี้ยงหมู ผสมกับวัชพืชอื่นๆและใช้น้ำ EM ก็จะได้เป็นปุ๋ยคอก  นำปุ๋ยคอกเท่าที่พอมีไปใช้ในการทำสวนทำนา   ผมชอบที่จะไปนั่งคุยกับเขา(หากมีโอกาสเดินทางผ่านและมีช่องเวลา) ก็จะมีอาหารในเมืองและน้ำอมฤตไปฝากกันตามสมควร 

ขยายความต่ออีกนิดครับ ตามขอบบ่อน้ำหลักมีการปลูกต้นไม้พืชผลกินได้ต่างๆ (เพกา เสี้ยว ฯลฯ) และพืชสวนครัว มีการปลูกหญ้าแฝกบริเวณตลิ่ง ชายน้ำข้างบ่อมีการปล่อยหอยลายน้ำจืด อยู่กันเป็นกลุ่ม งมเก็บได้ไม่ยาก (เอามานึ่งกับตะไคร้ให้สุก อร่อยนัก) ในบ่อเล็ก มีการเอากิ่งไม้ไปโยนไว้เพื่อให้หอมขมได้อยู่ตามแบบที่มันชอบ  ทำคอกเลี้ยงไก่ก็เลยได้ไข่ไก่สดกินทุกวัน    กินดี อยู่ดี เพียงพอ และพอเพียง ครับ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ม.ค. 21, 19:19
ผมเคยสนทนากับผู้ผลิตข้าวอินทรีย์เจ้าเล็กๆเจ้าหนึ่ง เขาเคยได้รับรางวัลใหญ่ในเรื่องนี้ แต่จะเป็นประเภททใดก็ไม่ทราบ  บังเอิญว่านาที่เขาทำอยู่ไม่ไกลจากที่ผมอยู่มากนัก และเป็นประเภทนาน้ำฝนจริงๆ  ถามเขาว่า เขาคุมพวกหญ้าที่ขึ้นมาแข่งกับต้นข้าวอย่างไร คำตอบคือ เขาใช้วิธีการถอนครับ   ทำให้ผมเกิดคิดขึ้นมาว่า การจะใช้คำว่าเกษตรอินทรีย์นั้นดูจะมีอยู่หลายทางในการปฎิบัติ  ก็พอจะเข้าใจในภาพรวมๆอยู่ แต่ก็ชักไม่ค่อยจะแน่ใจในรายละเอียด โดยเฉพาะในกรณีหากมีการปรับปรุงสภาพดินโดยการใช้แร่ธาตุบางอย่าง


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ม.ค. 21, 20:48
คิดว่าท่านทั้งหลายน่าจะพอทราบอยู่แล้วว่า พื้นที่เริ่มต้นของการนำข้าวไปพัฒนาต่อยอดจนเป็นข้าวหอมมะลิ กข 105 ที่โด่งดังไปทั่วโลกนั้นคือ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา  พื้นที่ทำนาที่ปลูกข้าวได้คุณภาพดีของ จ.ฉะเชิงเทราเหล่านั้น เท่าที่จำได้จากการไปสัมผัสและที่ได้เดินสำรวจเล็กๆน้อยๆนานมาแล้วนั้น พื้นที่นาเหล่านี้ดูจะมีผลึกของแร่ Gypsum โผล่ให้เห็นอยู่ในดินอย่างเด่นชัด     พื้นที่นาข้าวอีกแห่งหนึ่งที่มีผลผลิตข้าวที่สมบูรณ์ดี อยู่ในพื้นที่รอยต่อของ จ.นครสวรรค์ พิษณุโลก และพิจิตร  พื้นที่นี้ก็เป็นพื้นที่ๆมีแหล่งแร่ยิบซั่มอยู่ใต้ผิวดิน   อีกทั้งในยุโรปและอเมริกาก็มีการใช้แร่ยิบซั่มใส่ลงไปในพื้นที่การเกษตรเพื่อการปรับปรุงดิน 

ก็เลยพอจะสรุปเอาดื้อๆได้ว่า แร่ยิบซั่มน่าจะเอามาใช้ในการปรับปรุงดินที่ใช้ในการทำการเกษตรได้เป็นอย่างดี  แท้จริงแล้วก็มีเอกสารทางวิชาการมากมายที่นำเสนอผลการศึกษาและการค้นคว้าสืบเรื่อง (literature review) และให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องของการใช้ยิบซั่มในการปรับปรุงดินตั้งแต่ในอดีตจนในปัจจุบัน


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ม.ค. 21, 18:58
ได้กล่าวถึงแร่ยิบซั่มที่เอามาใช้เป็นปุ๋ยและปรับปรุงดิน หมายถึงการใช้แร่ยิบซั่มที่พบเป็นแร่อยู่ในธรรมชาติจริงๆ คือมีส่วนประกอบทางเคมี CaSO4.2H2O  เป็นสารประกอบที่มีน้ำอยู่ในตัว 2 หน่วย หากไม่มีน้ำอยู่ในตัวเลยจะกลายเป็นอีกแร่ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Anhydrite    แผ่นยิบซั่มที่เอามาทำฝ้าเพดานหรือใช้กั้นห้องนั้น ก็เป็นยิบซั่มอีกแบบหนึ่งที่สร้างมันขึ้นมาด้วยการเอาแร่ยิบซั่มที่มีน้ำอยู่ในตัว 2 หน่วยนั้น เอามาอบหรือคั่วที่ความร้อน ณ อุณหภูมิหนึ่ง เพื่อไล่น้ำสองหน่วยนั้นให้ออกไปให้เหลือเพียง 1 หน่วย

ก็เลยน่าจะมีคำถามตามมาว่า แล้วจะเอาแผ่นยิบซั่มบอร์ดที่ใช้แล้วรื้อทิ้งไป เอามาใช้เป็นปุ๋ยได้หรือไม่  เรื่องนี้ผมไม่มีคำตอบ มีแต่ความเห็นบางประการว่า แผ่นยิบซั่มที่ใช้แล้วเหล่านั้นไม่น่าจะมีความบริสุทธิ์เพียงพอที่จะนำมาใช้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตเพื่อการบริโภค ด้วยว่าที่ผ่านมามันจะต้องถูกทาสีและได้ดูดซับ polluted particles ไว้ในตัวในระหว่างการใช้งานเป็นเวลานานที่ผ่านมา แม้ว่าโดยพื้นฐานแล้วมันสามารถจะสามารถดูดซับความชื้นเข้าไปในตัวแล้วทำมันให้กลับไปเป็นแร่ยิบซั่มที่มีน้ำสองหน่วยอยู่ในตัวได้ก็ตาม แต่กระบวนการของการแปรเปลี่ยนกลับไปนั้นไม่ง่ายและรวดเร็วดังที่คิด   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ม.ค. 21, 20:10
ก็ยังมีแร่ยิบซั่มอีกตัวหนึ่งที่ได้มาจาการสังเคราะห์ แต่มิใช่เป็นการตั้งใจที่จะสังเคราะห์ให้เกิดขึ้นมาเพื่อเอามันมาใช้ประโยชน์  เป็นเรื่องของการได้มาอันเนื่องมาจากกระบวนการกำจัดควันจากการทำอุตสาหกรรมบางอย่าง (flue gas) ที่มี Sulfur dioxide (SO2)   ยับซั่มที่ได้จากกระบวนการนี้ไม่น่าจะมีความบริสุทธ์ใดๆ เพราะจะมีตะกอนของสารประกอบอื่นๆตกลงมาร่วมด้วย   ทราบอยู่ว่ามีการศึกษาวิเคราะห์ตรวจสอบสารประกอบทางเคมีของตะกอนเหล่านี้อยู่ตลอด มีจุดประสงค์หลักเพื่อการควบคุมคุณภาพวิ่งแวดล้อมในองค์รวม  ไม่ทราบว่ามีการศึกษาวิจัยกันในเชิงของการนำไปใช้ประโยชน์อื่นใดในเชิงของการเกษตรบ้างหรือไม่ นอกเหนือไปจากเพื่อการกำจัดแบบทำให้มันเป็น inert waste ที่สมบูรณ์   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ม.ค. 21, 18:53
กล่าวถึงเรื่องนี้แล้วเลยทำให้นึกถึงเรื่องเก่าเมื่อครั้งเข้าทำงานใหม่ๆ ตอนนั้น (พ.ศ.2512) เป็นช่วงแรกเริ่มของการเริ่มต้นการสร้างเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร   เป็นยุคต้นๆของความขัดแย้งในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองในพื้นที่เทือกเขาภูพาน  เขื่อนน้ำอูนสร้างขึ้นมาก็เพื่อทำระบบชลประทาน เพื่อการปรับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ของเทือกเขาภูพานในละแวกนั้น  เมื่อทำให้มีน้ำได้ก็ต้องมีการปรับปรุงคุณภาพดินร่วมไปด้วย การเกษตรจึงจะได้ผล    ผมได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมเล็กๆน้อยๆในโครงการนี้ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการนำฝุ่นของหินปูนที่ได้จากระบบการกำจัดฝุ่นในปล่องควันของโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ (ด้วยระบบ electrostatic precipitator) เพื่อจะนำไปใช้ปรับสภาพความเป็นกรดของดิน ก็เลยได้รับความรู้ทางวิทยาการหลายๆเรื่อง และยังได้รับแถมหลักคิดในเรื่องเชิงเศรษฐกิจและสังคมที่น่าสนใจต่างๆอีกด้วย ปรัชญาหนึ่งก็คือ กู้เขาให้พ้นจากสภาพความอดอยากยากจน ให้เข้ามาอยู่ในสภาพมีกินมีอยู่เสียก่อน แล้วจึงทำการพัฒนาก้าวขึ้นไปสู่สภาพของการกินดีอยู่ดี   

การแก้ปัญหาการขาดน้ำบริโภคและอุปโภคในพื้นที่อิสานและพื้นที่อื่นๆของไทยเราก็เริ่มด้วยปรัชญาในลักษณะนี้ ได้เริ่มกันอย่างจริงจังและเป็นระบบด้วยการเจาะน้ำบาดาลก็เมื่อประมาณ พ.ศ.2510+/-   ถ้าจำไม่ผิด แรกๆก็บนพื้นฐานการคิดเฉลี่ยว่าผู้คนในพื้นที่ขาดน้ำยิ่งยวดเหล่านั้นควรจะมีน้ำให้ได้ใช้อย่างน้อยที่สุดประมาณ 5 ลิตรต่อคนต่อวัน  เมื่อดีขึ้นแล้วก็แสวงหาและพัฒนาการเจาะเพื่อให้ผู้คนในพื้นที่แล้งได้ใช้น้ำเฉลี่ยประมาณ 20 ลิตรต่อคนต่อวัน แล้วค่อยๆขยับขึ้นมาให้เป็นระบบประปาเพื่อให้มีน้ำใช้แบบคนในเมือง (ประมาณ 200 ลิตรต่อคนต่อวัน ?)


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ม.ค. 21, 20:24
ได้พูดถึงเรื่อง amorphous silica ไว้  ขอกลับมาต่อเรื่องว่า ก็มีหินอัคนีบางอย่างที่น่าจะมีประโยชน์ในการเอามาปรับปรุงดินได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้มิได้หมายถึงการเอาหินมาบดให้ละเอียดแล้วโปรยลงดินไป    ส่วนที่จะมีประโยชน์ของมันจริงๆจะเป็นส่วนที่มันผุพังด้วยกระบวนการที่เรียกว่า weathering      พวกแร่ประกอบหินในหินอัคนีทั้งประเภทประทุออกมาและที่ไหลออกมา ต่างก็จะมีแร่ที่มีความเสถียรที่อุณหภูมิสูง แร่เหล่านี้จะเป็นพวกที่มีส่วนประกอบเป็นธาตุที่มีโปแตสเซียมสูง มีเหล็กสูง มีแม็กนีเซียมสูง และมักจะมีแร่ปริมาณเล็กน้อยที่เป็นแร่ที่มีสารประกอบเป็นฟอสฟอรัส     แร่ประกอบหินเหล่านี้กำเนิดในบรรยากาศบางอย่างเป็นการเฉพาะ เมื่อหินเหล่านี้โผล่มาอยู่ในอุณหภูมิ ในความดันอากาศ และในบรรยากาศที่อุดมไปด้วยอ๊อกซิเจนของโลกในปัจจุบัน ความเสถียรของเขาก็ลดลง เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆในทางเคมี (alteration) แล้วตามมาด้วยการผุพัง ส่วนที่เป็นความผุพังนี้แหละที่เป็นประโยชน์ต่อดินและต่อพืชทั้งในด้านกายภาพและความสมบูรณ์


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 21, 10:19
amorphous silica


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ม.ค. 21, 18:00
อาจารย์โผล่มา เลยลืมเรื่องราวที่จะเดินต่อเลยครับ ;D


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 21, 18:45
อ้าว เป็นงั้นไป  ไม่นึกว่าจะทำให้คุณตั้งตกใจ
งั้นต่อไปจะอ่านเงียบๆค่ะ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ม.ค. 21, 19:17
ผมมีความสนใจอยู่เรื่องหนึ่ง ว่า..ในการผลิตปุ๋ยเคมีสูตรต่างๆนั้น ผู้ผลิตจะเอาวัสดุและสารเคมีต่างๆมาผสมกันตามสูตรปุ๋ยต่างๆ (ตามสัดส่วนเพื่อให้ได้ธาตุ N P และ K ตามที่ต้องการ) แล้วปั้นเป็นเม็ดเล็กกลมๆใส่ถุงขาย  

ก็มีประเด็นที่ชวนให้คิดอยู่ว่า  แน่นอนว่าการผสมนั้นได้สัดส่วนตามที่กำหนดไว้ในกระบวนการผลิต แต่เมื่อนำไปใช้แล้ว  yield หรือปริมาณของแต่ละธาตุตามที่ระบุไว้จะสามารถปลดปล่อยออกมาให้กับพืชได้จะมีได้มากน้อยเพียงใด  เรื่องนี้นอกเหนือไปจากคุณภาพของวัตถุดิบและการการผลิตแล้ว ก็ไปเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ๆที่นำปุ๋ยนั้นๆไปใช้ ทั้งทางด้านกายภาพ ทางด้านเคมีของดิน ของน้ำ รวมทั้งด้านชีวภาพ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ม.ค. 21, 19:27
ไม่หรอกครับ ดีใจเสียอีกที่รู้ว่ามีปรมาจารย์ที่มีหลักนิยมในการปลูกพืชทำสวนอ่านอยู่  แต่เดิมที่เคยเกรงๆอยู่ว่ากระทู้นี้จะสอบไม่ผ่าน ก็รู้สึกสบายใจมากขึ้นครับ ;D


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ม.ค. 21, 21:25
นำพามาสู่เรื่องของปุ๋ยในรูปแบบอื่นๆที่มีผลิตขายอยู่ใน ตปท. คิดว่าในเมืองไทยก็น่าจะมีขาย แต่อาจจะมีราคาสูงและหายาก  ปุ๋ยเป็นสินค้าควบคุมประเภทหนึ่งของไทยเรา มีการคุมทั้งด้านการผลิต การขนส่ง และการจำหน่าย ก็เพราะว่ามีการหลอกและปลอมแปลงกันมาก โดยเฉพาะในเชิงของสัดส่วนและตัวเนื้อปุ๋ย ทั้งนี้ แม้จะมีการผสมที่ถูกต้องและผ่านการชักตัวอย่างตรวจสอบแล้วก็ตาม ก็ยังไม่ค่อยจะแน่ใจนักในเรื่องของ yield    ซึ่งเรื่อง yield นี้ก็อาจจะไปเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมต่างๆของพื้นที่ๆนำไปใช้ก็ได้ เลยทำให้การวิจารณ์ว่าปุ๋ยของเจ้านั้นๆจะดีหรือไม่ดีนั้นก็อาจจะมีความไม่ถูกต้องได้เช่นกัน     


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ม.ค. 21, 19:09
อาจจะเป็นเรื่องคิดมากไป   ที่จะกล่าวถึงจริงๆก็คือเรื่องของวัสดุอื่นๆที่เอามาผสมเพื่อประสานส่วนผสมต่างๆให้เป็นเนื้อเดียวกันและเพื่อปั้นให้เป็นเม็ด (fuller's earth) ซึ่งที่สะดวกและหาได้ง่ายที่สุดก็คือดินที่ทำให้เป็นผงแล้ว และก็ยังมีราคาถูกอีกด้วย    แต่ด้วยที่การใส่ปุ๋ยนั้นมิได้มุ่งหวังให้ได้ผลโดยเร็วคล้ายกับการฉีดยาเข้าเส้นเลือด หากแต่ต้องการให้เม็ดปุ๋ยมันค่อยๆปล่อยสารประกอบ N,P,K ในลักษณะที่พืชจะสามารถดูดซับได้ในอัตราที่เป็นไปตามธรรมชาติบนพื้นฐานของดินที่มีความสมบูรณ์ตามปกติ

โดยนัยนี้ fuller's earth ก็เลยมีความสำคัญในเชิงของความสามารถในด้านที่จะค่อยๆแตกสลาย (disintegrate)เพื่อปล่อยปุ๋ยให้กับพืช  ส่วนประกอบของมันก็เลยมีความสำคัญ และก็น่าจะเป็นส่วนสำคัญในเรื่องของราคาต้นทุน  อีกทั้งก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีผลต่อการใช้ที่ว่าดีหรือไม่ดีในพื้นที่ต่างๆกัน  ทำให้น่าจะพอสรุปได้ในอีกมุมหนึ่งว่า ในบางพื้นที่ ปุ๋ยราคาถูกราคาแพงอาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญ  ทั้งหลายทั้งปวงมันก็อยู่ที่การสังเกตของตัวเราเอง

ศาสตร์ของการทำ การผลิต และการใช้ปุ๋ย จึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษา การเรียนรู้ และประสบการณ์ 


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ม.ค. 21, 20:22
ด้วยที่ปุ๋ยที่ผลิตเพื่อขายในทางการค้าจะต้องผ่านกระบวนการขออนุญาตหลายขั้นตอนในด้านกระบวนการผลิต การตรวจสอบคุณภาพ การจำหน่าย และสถานที่จำหน่าย ?  ก็เลยอาจจะเป็นเรื่องที่ไปทำให้เกิดข้อจำกัดในการคิดที่จะทำผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายต่างๆสำหรับเกษตรกรสมัครเล่นรายย่อยเล็กๆ  ในทางกลับกันก็อาจจะเป็นโอกาสอันดีของเกษตรกรสมัครเล่นที่จะได้ใช้ความคิดในการผลิตปุ๋ยที่เหมาะสมสำหรับการใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมของตนเอง 


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ม.ค. 21, 19:04
ลองเอาความรู้ที่พอจะมีเหล่านี้ ผสมผสานกับความรู้ในเรื่องอื่นๆที่เราได้รับรู้มาจากการเรียน จากการได้อ่าน จากการได้ฟัง ตั้งแต่จบภาคการศึกษาเป็นต้นมา  ก็น่าจะพอสรุปได้เรื่องหนึ่งว่า พื้นฐานของความมีสุขอนามัยที่ดีของสิ่งมีชีวิตนั้นล้วนแต่เกิดขึ้นจากความสมบูรณ์ของอาหารและสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติที่ดี  เมื่อเจ็บป่วยจึงจะใช้อาหารหรือยาที่มีความเข้มข้นของสารประกอบหรือธาตุบางอย่างเพื่อไปรักษา   โดยนัยก็คือ เมื่อวัตถุดิบหรือแหล่งทรัพยากรเริ่มจางหายและหมดไป พืชทั้งหลายก็จะมีความไม่สมบูรณ์เท่าที่พึงจะเป็นไปตามปกติ ซึ่งนิยมรักษากันด้วยยาครอบจักรวาล คือ ปุ๋ย N,P,K ในสัดส่วนต่างๆ  แต่พืชและสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายต่างก็ต้องการแร่ธาตุหลายชนิดในปริมาณที่น้อยมากๆ เพื่อไปช่วยในกระบวนทำงานของระบบต่างๆให้มีประสิทธภาพ คล้ายกับที่เราก็อาจจะต้องกินมัลติวิตามินหรือกินอาหารเสริมที่มีแร่ธาตุบางอย่างในปริมาณสูง

คิด(มาก)ในเรื่องเช่นนี้แล้ว ก็เลยเห็นว่า จะดีใหมหนอ หากปุ๋ยที่ทำขายกันอยู่นั้น ในส่วนที่เป็น fuller's earth จะใช้วัสดุที่เป็นผลิตผลจากการแปรสภาพวัสดุอินทรีย์ทั้งหลาย เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เศษไม้ใบหญ้า กระดูกสัตว์ เปลือกหอย เปลือก crustacean อีกทั้งพวกขี้นก(นางแอ่น พิราบ ..)ที่ต้องคอยกวาดทิ้ง   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ม.ค. 21, 20:30
ก็เลยเห็นว่า มีช่องทางพอที่จะทำให้ดินมีความสมบูรณ์เพื่มขึ้นได้โดยให้มีการใช้ปุ๋ยน้อยที่สุด

เรารู้อยู่ว่าพืชในตระกูลถั่วสามารถเพิ่มปริมาณไนโตรเจนในดินได้ แต่ไม่ได้มีการบอกเล่าให้หมดว่า นอกเหนือจากไนโตรเจนแล้ว มันยังให้แร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อพืชได้อีกหลายตัว 


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ม.ค. 21, 19:19
เช่นเดียวกัน พืชผักผลไม้ต่างๆก็ล้วนมีแร่ธาตุอยู่ในตัวเองชนิดและปริมาณที่แตกต่างกันไป เรื่องของแร๋ธาตุในพืชนี้มีปรากฎอยู่ในการเรียนตั้งแต่เด็ก ในข้อเขียนที่เกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพในสื่อทั่วๆไป รวมทั้งในโฆษณาอาหารเสริมและผลิตภัณฑ์คุณภาพต่างๆ  เมื่อเจ็บป่วยก็ยังได้ฟังจากปากของคุณหมออีก ก็คงไม่ต้องขยายความ 

เป็นเรื่องน่าคิดว่า ในพื้นที่ช่วงว่างจากทำนา ในพื้นที่ป่าชุมชน และในพื้นที่ว่างสาธารณะประโยชน์ต่างๆนั้น เราสามารถจะปลูกพืชไร่ พืชสวน ไม้ผล หรือไม้ใบ ประเภทที่ดูแลรักษาน้อยหรือไม่ต้องดูแลเลย คือปล่อยให้เทวดาเลี้ยง ปลูกแบบไม่หวังผลด้านรายได้ แต่หวังผลในด้านประโยชน์ใช้สอย  แล้วก็ไปเก็บกิ่ง ใบและผลที่หักร่วงลงมา เอามารวมกันไปเป็นวัตถุดิบเพื่อการทำปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยคอกต่างๆ หรือเอาไปใส่ในพื้นที่ทำนา ราดด้วยน้ำ EM ก็น่าจะได้ปุ๋ยที่มีประโยชน์ แม้จะมีปริมาณไม่มากก็ตาม   

ที่จริงเคยคิดว่า น่าจะมีการศึกษาเรื่องธุรกิจรับจ้างตัดแต่งกิ่งต้นไม้ในสวนผลไม้ต่างๆ รวมทั้งการเก็บทำความสะอาดสวน  เอาพวกเศษกิ่ง ใบและผลที่ร่วงลงมาเหล่านั้นไปเข้าเครื่องย่อยให้ออกมาเป็นชิ้นเล็ก แล้วเอามาหมักทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ อาจจะใส่แม่ปุ๋ยบางอย่างเพิ่มลงไปก็ได้ (ในรูปของเหลวหรือผง) คลุกให้เข้ากันดี แล้วนำไปใช้ในกิจกรรมทางเกษตรอินทรีย์ต่างๆ     


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ม.ค. 21, 20:39
แนวคิดที่ว่านั้นเกิดมาจากเมื่อครั้งไปประจำการอยู่ในประเทศออสเตรีย    เมื่อชาวบ้านได้เรียกเมืองให้เขามาช่วยตัดแต่งต้นไม้ต่างๆในที่ดิน ตัดเสร็จเขาก็เอากิ่งก้านที่ย่อยเป็นชิ้นเล็กๆแล้ว (จากต้นไม้ที่ใหนก็ไม่รู้) เอาลงให้เราสองสามถุง นัยว่าเป็นเศษวัสดุของเธอ ฉันช่วยย่อยให้เป็นชิ้นเล็กๆแล้ว เธอก็เอาคืนไป เอาไปถมที่โคนต้นไม้ให้มันช่วยเก็บความชุ่มชื้นและแปรสภาพเป็นปุ๋ยต่อไป   ท่านที่เดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศในเขตหนาวคงจะเคยเห็นกองเศษไม้เช่นนี้ตามโคนต้นไม้ในพื้นที่ทางแยก/ทางตัดกันของถนนหลวงสายต่างๆ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ม.ค. 21, 18:59
มีอีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะกล่าวถึง เป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบการเก็บรักษาธัญพืช (ยุ้ง ฉาง)   เป็นรายงานการศึกษาของหน่วยงานในระบบ UN ซึ่งผมได้อ่านเมื่อนานมาแล้ว (คงจะประมาณ 20 ปี) ไม่แน่ใจว่าจะเป็นการศึกษาของ UNDP หรือ FAO   

มีอยู่เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับข้อดีกับข้อเสียของระบบการเก็บรวมไว้ในไซโลใหญ่ กับระบบแยกกันเก็บเป็นรายย่อย บ้านใครบ้านมันหรือกลุ่มใครกลุ่มมัน   ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ว่า ของที่เก็บในระบบไซโลนั้น จะต้องมีกระบวนการจัดการในเรื่องของการระบายความชื้น การใช้สารเคมีเพื่อการต่างๆ ฯลฯ  ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาคุณภาพให้มีความเป็นหนึ่งเดียวกันตลอดอายุของการเก็บและการทะยอยจำหน่ายออกไป   ในขณะที่การแยกเก็บเป็นรายย่อยนั้น  แม้จะมีการเสียหายไปบ้าง แต่ก็เป็นไปแบบธรรมชาติ และเป็นไปตามวิทยาการและความรู้พื้นบ้านที่ได้มีการถ่ายทอดส่งต่อกันมา ทั้งนี้ ก็เพียงอาจจะเข้าไปช่วยไปเพิ่มเติมเสริมแต่งในบางเรื่องก็เพียงพอ

แนวคิดเรื่องการเก็บรักษาในรูปแบบรายย่อยนี้ คิดว่าน่าจะรวมอยู่ในแนวของเกษตรอินทรีย์ด้วย จึงจะมีความสมบูรณ์ในองค์รวมของคำว่าเกษตรอินทรีย์     


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ม.ค. 21, 20:38
ผลิตผลแบบ organic products กับผลิตผลแบบ farm-to-table  ดูคล้ายกับว่าจะมีความเหมือนกัน แต่มันก็มีความแตกต่างกัน    farm-to-table นั้น เน้นประเด็นไปในเรื่องของความสดใหม่ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ สินค้าที่มีการผลิตและจำหน่ายอยู่ในพื้นที่ชุมชนละแวกนั้นๆ     organic products ทั้งหลายก็จึงเป็นผลิตภัณฑ์แบบ farm-to-table ได้ ในกรณีที่เป็นการซื้อกินทำกินในละแวกพื้นที่ๆมีการผลิตนั้นๆ

นำเรื่องมาก็เพียงจะเสนอความเห็นว่า ผลิตผลทางการเกษตรทั้งพืชและสัตว์ของชาวบ้านที่เอามาขายกันในตลาดพื้นบ้านนั้น ส่วนมากจะเป็นผลิตผลแบบอินทรีย์ หรือมีการใช้สารเคมีน้อยมาก เป็นของที่ไม่สวยงามดูน่ากินนัก แต่ก็เป็นผลิตผลในลักษณะของ farm-to-table      ในกรณีข้าว หากเป็นไปได้ก็ลองขอปันซื้อจากชาวบ้านที่ทำนาเพื่อความอยู่รอด (ได้ข้าวมากก็ขาย ได้ข้าวน้อยก็เก็บ) แล้วขอให้เขาช่วยนำไปสีเป็นข้าวสาร เราก็อาจจะได้พบข้าวชั้นดีจากบางผืนนา อาจจะแปรเป็นขาประจำกันไป ได้ทั้งการช่วยเขา ได้ทั้งของกินชั้นดี และก็อาจจะได้มีอะไรๆที่เป็น signature ของเรา    (ในปัจจุบันนี้ ระบบ logistic ดีมากขึ้นแล้ว อาจจะเป็นลักษณะของการส่งมาเป็นข้าวเปลือกให้เราสีเองด้วยเครื่องสีข้าวเสียบปลั๊กไฟฟ้าขนาดเล็กก็ได้ สีแต่ละครั้งก็ได้ข้าวใหม่พอกินไปได้ไปสองสามวัน ...เพ้อฝันไปครับ)   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ม.ค. 21, 20:22
ก็มาถึงเรื่องของการเก็บรักษา   

แบบชาวบ้าน   ใช้วิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกที่ได้มาจากการทำนา เมื่อต้องการจะกิน ก็จะเอาไปสีในปริมาณพอสมควร อาจจะครั้งละถังหรือสองถังก็สุดแท้แต่ความต้องการในช่วงเวลานั้นๆ คือไม่เก็บข้าวในรูปของข้าวที่ทำการสีแล้ว   ข้าวที่สีได้โดยตรงจากข้าวเปลือกนี้มักจะเรียกกันว่าข้าวขาว    เหตุที่เก็บในรูปของข้าวเปลือกนี้ก็เพราะว่ามีความเสียหายจากมอดแมลงน้อยกว่าการเก็บข้าวที่สีแล้ว และก็ยังสามารถจะใช้ข้าวเปลือกเป็นอาหารสำหรับการเลี้ยงสัตว์ได้อีกด้วย   สำหรับข้าวสารที่สีได้แต่ละครั้งนั้นก็จะเก็บไว้ในภาชนะที่ใส่ใบมะกรูดสดลงไปเพื่อไล่มอดแมลง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้แล้วได้ผลจริงๆ   

แบบอุสาหกรรม   ดูจะเก็บในรูปของข้าวที่สีแล้วมากกว่าการเก็บในรูปของข้าวเปลีอก (ไม่แน่ใจนัก) เป็นการสีในระบบการทำให้ข้าวมีความชื้นที่สูงมากขึ้นแล้วจึงทำการสีให้เป็นข้าวสาร (เรียกกันว่าสีแบบข้าวนึ่ง) ระบบนี้ทำให้ได้ข้าวสารที่มีไม่มีเม็ดหักปนอยู่ (หรือมีน้อยมากๆ)  และสามารถทำให้ได้ข้าวสารที่มีสีนวลสวยงามต่างๆกันไปได้อีกด้วย    การเก็บรักษาข้าวสารจะเป็นไปแบบอุตสาหกรรมที่ต้องมีการใช้กระบวนการและการจัดการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ม.ค. 21, 20:56
คิดว่ากระทู้นี้น่าจะมีสาระชวนให้คิดในเรื่องต่างๆอยู่บ้างพอสมควร   อย่างน้อยก็ในมุมมองว่า การทำนานั้นมันเป็นศิลปะของการประยุกต์ใช้ความเข้าใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและกระบวนการทางธรรมชาติ  น่าเสียดายที่เป็นกิจกรรมที่ดูจะถูกบดบังด้วยการดูแคลนจนเกินไป   ชาวบ้านและชาวนารู้อะไรมากมายกว่าที่เราคิดว่าเขาไม่รู้เยอะมาก

ก็จะขอลงจากกระทู้นี้แต่เพียงเท่านี้

ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ติดตามให้ความสนใจ ครับ  :D


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ม.ค. 21, 11:17
ขอบคุณสำหรับกระทู้ดี หาอ่านยากแบบนี้ค่ะ
หวังว่าคุณตั้งคงจะมีกระทู้ใหม่มาลงในเรือนไทยในเร็ววันนะคะ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ม.ค. 21, 20:45
ขอบพระคุณครับ _/\_


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 พ.ย. 23, 19:15
ช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับการช่วยเหลือชาวนาในเรื่องของราคาข้าว ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการใช้อยู่หลายวิธีการ แต่ที่มีเอามาเป็นประเด็นในการวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงกันนั้น มีอยู่ 2 เรื่อง คือ ที่เรียกชื่อสั้นๆว่า ใช้วิธีการจำนำข้าว และ ใช้วิธีการประกันราคาข้าว   

ก็จะไม่ลงไปร่วมวงวิพากษ์ด้วย หากแต่เกิดฉุกนึกขึ้นมาว่า ที่วิพากษ์กันนั้น เกือบทั้งหมดดูจะจำกัดวงอยู่แต่เฉพาะส่วนที่เป็นปลายทางของการเกษตรกรรมของไทยในเรื่องที่ว่าด้วยการปลูกและการขายข้าว และก็ดูจะจำกัดอยู่แต่ในวงของเรื่องในส่วนที่เป็นทางด้านปลายน้ำ ดูจะไม่ค่อยมีการกล่าวถึงในเชิงของมาตรการและกระบวนการต่างๆที่เกี่ยวข้องในระหว่างทางของกระบวนการผลิต ตั้งแต่หว่านข้าว/เพาะกล้าไปจนถึงการเก็บเกี่ยวและการขายเปลี่ยนมือจากชาวนาไปสู่พ่อค้าข้าว tier ต่างๆ

ปีนี้ได้ทำการปลูกข้าวกินเองในผืนนาเล็กๆอีกครั้งหนึ่ง ได้เปลี่ยนไปปลูกข้าวพ้นธุ์ กข.43 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ให้ผลิตภัณฑ์ข้าวสารประเภทมีปริมาณน้ำตาลต่ำที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องควบคุมการบริโภคน้ำตาล    ก็เลยพอจะมีข้อมูลที่อาจจะน่าสนใจของช่วงต้นทางและกลางทางของการปลูกข้าวมาเล่าสู่กันฟัง    คิดว่าน่าจะพอเป็นพื้นฐานที่พอจะนำไปใช้ประโยชน์ได้บ้างในเรื่องต่างๆ  ก็เลยย้อนกลับไปปลุกชีพกระทู้นี้ให้มีชีวิตขึ้นมาอีก     

ก็อย่างเคยนะครับ ค่อยๆว่ากันไป และก็อาจจะเนิบๆไปหน่อยตามวัย


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ย. 23, 19:34
 อยากทราบว่าคุณตั้งปลูกข้าวด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบหรือคะ  หรือว่าต้องจ้างแรงงานบ้าง
 ผลเป็นอย่างไรคะ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 พ.ย. 23, 22:08
ผมไม่ได้ลงนาด้วยตัวเอง และก็ไม่ได้ทำนาด้วยการจ้างแรงงาน  เป็นเพียงผู้ที่มีผืนดินในพื้นที่สวนที่พอจะทำเป็นผืนนาแปลงเล็กๆได้ 2 แปลงๆละประมาณ 2+ไร่  เป็นแบบนาดอนแปลงหนึ่ง และแบบนาเหมือง(คูส่งน้ำ ระบบชลประทานพื้นบ้าน)แปลงหนึ่ง  คนลงมือทำนาตัวจริงคือคนที่ดูแลสวน ผมเป็นผู้ให้ความเห็น ร่วมในการตัดสินใจ และให้การสนับสนุนด้านพันธุ์ข้าว ปุ๋ย และค่าใช้จ่ายเล็กๆน้อยๆในบางเรื่อง   ผลผลิตข้าวที่ได้มาก็ใช้กินด้วยกัน ส่วนที่เกินพอก็ขายไปได้เป็นเงินในเชิงของค่าลงแรงของเขาและที่เขาจ่ายเล็กจ่ายน้อยสัพเพเหระ เช่นค่าใช้จ่ายของวงแก้เหนื่อยตอนเย็นก่อนกลับบ้านหลังจากเสร็จงานลงแขกตอนดำนาปลูกข้าวหรือตอนเกี่ยวข้าว ....     

อาจจะดูแปลกๆและมีข้อสงสัยมากมาย           


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ย. 23, 23:06
อ้างถึง
อาจจะดูแปลกๆและมีข้อสงสัยมากมาย   
รอขยายความค่ะ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 พ.ย. 23, 18:28
ขอบอกกล่าวเสียแต่แรกว่า สาระที่เขียนต่อไปทั้งหมดนี้ เป็นความรู้ที่ได้มาจากการประมวลข้อมูลที่ได้อ่านสะสมมา และจากการได้ลงไปคลุกคลีในทางปฏิบัติการปลูกข้าวกินเอง 

ก็ทราบกันอยู่แล้วว่า ข้าวนั้นมีการจำแนกอย่างหลากหลายบนพื้นฐานต่างๆ เช่น ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า ข้าวเมล็ดสั้น ข้าวเมล็ดยาว ข้าวไร่ ข้าวนาดอน ข้าวนาลุ่ม ข้าวนาตม ข้าวไวแสง ข้าวไม่ไวแสง ข้าวสังข์หยอด ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวหอม ข้าวขาว ..... 

ข้าวที่จำแนกบนพื้นฐานต่างๆดังที่ยกตัวอย่างมา แต่ละชนิดก็ยังมีความแตกต่างกันที่พันธุ์และสายพันธุ์  ซึ่งก็มีทั้งประเภทที่เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมือง(พื้นถิ่น)และข้าวพันธุ์ผสมที่พัฒนาขึ้นมาบนฐานความรู้ทางวิชาการ   

ข้าวพันธุ์พื้นเมืองของไทยเรานั้นมีมากกว่า 100 พันธุ์  เชื่อว่าทุกพันธุ์ได้มีการศึกษาเพื่อหาข้อดีและข้อด้อยแล้วทั้งหมด  ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นได้ถูกนำไปพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่มีความแข็งแรง ปลอดโรค ให้ผลิตพลดีทั้งคุณภาพและปริมาณ   ข้าวสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้ทั้งหมดดูจะได้ชื่ออยู่ในตระกูลชื่อ กข. (กรมการข้าว ?) ที่มีตัวเลขกำกับ  ซึ่งดูจะได้จัดให้เลขคู่เป็นของกลุ่มพันธุ์ข้าวเหนียว  และเลขคี่เป็นพวกข้าวเจ้า (กข 6 คือสายพันธุ์ข้าวเหนียวหอม กข 105 คือข้าวหอมมะลิ)     แล้วก็ยังมีชื่อแปลกๆอีก เช่น พันธุ์ กข - แม่โจ้ 2 เป็นต้น แต่จะขอละไว้เพียงเท่านี้ 


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 พ.ย. 23, 19:12
ภาพแรกเป็นเรื่องของสายพันธุ์ข้าวที่มีตัวตนอยู่   ภาพนี้จะเป็นภาพในเป็นเรื่องของการเลือกพันธุ์ข้าวที่จะนำมาปลูก

การตัดสินใจในเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องไปถึงผลที่ต้องการจากการทำนาปลูกข้าว  ผลที่ว่าถึงนี้ เกือบทั้งหมดคงหนีไม่พ้นในเรื่องของปริมาณเงินตราที่จะได้รับเมื่อได้ขายข้าวไปแล้ว  การปลูกข้าวส่วนมากจึงต้องมุ่งไปอยู่ที่ปริมาณมากกว่าในด้านคุณภาพ และก็ควรจะต้องเป็นข้าวพันธุ์ที่มีผู้บริโภคนิยมที่มีราคาซื้อขายสูงทั้งในตลาดการผลิต ตลาดส่งออก และตลาดผู้บริโภคทั่วไป

แล้ว...


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 พ.ย. 23, 18:27
ก็มาถึงการหาพันธุ์ข้าว

โดยพื้นๆแล้ว เราน่าจะคิดคล้ายๆกันว่า พันธุ์ข้าวที่ชาวนาใช่ปลูกกันนั้น ก็คือข้าวเปลือกที่คัดและเก็บไว้ใช้เป็นพันธุ์ข้าวสำหรับการปลูกในฤดูกาลต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ใช่เมื่อครั้งกระโน้น   แต่ในปัจจุบันนี้ ข้าวที่เราบริโภคและว่าอร่อยกันนั้น ดูล้วนจะเป็นข้าวพันธุ์ที่ได้ถูกปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาใหม่  จะมียกเว้นก็น่าจะเป็นแต่เฉพาะพวกข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ยังคงใช้วิธีการคัดหาแม่พันธุ์จากผลผลิตของหลายแหล่งผลิค (??)

ประเด็นของเรื่องมาอยู่ที่ว่า ข้าวสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่เหล่านี้มันกลายพันธุ์หากเอามันมาใช้ปลูกซ้ำต่อเนื่องกันสามสี่ครั้ง ก็คือทุกๆประมาณ 3 ปีก็จะต้องเปลี่ยนแม่พันธุ์ใหม่ครั้งหนึ่ง    เมื่อพอทราบมาว่ามันเป็นเช่นนี้ ก็เลยพอจะเข้าใจว่า เหตุใดจึงต้องมีศูนย์ผลิต... ศูนวิจัย... ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว .... กระจายอยู่ในแต่ละภูมิภาคทั่วไทย 



กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 พ.ย. 23, 19:04
ก็มามีความรู้เพิ่มเติมเมื่อคิดจะปลูกข้าว กข.43  ก็เป็นไปตามปกติคิด การหาซื้อพันธุ์ข้าวก็ควรจะต้องเล็ดพันธุ์ที่ต้องการที่เชื่อถือได้ว่าเป็นพันธุ์นั้นจริงๆ   

หาข้อมูลในเบื้องต้นก็พอจะรู้ว่าข้าวพันธุ์นี้มีปลูกกันมากในภาคกลางในพื้นที่แถบ จ.ชัยนาท และใกล้เคียง  ก็หาข้อมูลผู้จำหน่าย  เริ่มต้นค้นหาจากข้อมูลของกรมการข้าว พบว่าร้านขายเมล็ดพันธุ์ข้าวจะต้องมีใบอนุญาตให้เป็นสถานที่จำหน่าย ค้นหาต่อไปก็ได้พบรายชื่อร้านต่างๆในจังหวัดต่างๆทั่วไทย  ก็พยายามสุ่มติดต่อไปยังร้านในพื้นที่ๆเป็นแหล่งปลูก สรุปว่าไม่มีผู้ใดมีข้าวสายพันธุ์นี้จำหน่าย   ก็เลยเถิดหาข้อมูลที่้เกี่ยวข้องต่างๆอยู่พักหนึ่ง เลยได้ความรู้ใหม่เพิ่มเติมว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวมันมีระดับเหมือนกัน ภาษาทางราชการ/วิชาการ เรียกว่าชั้นพัธุ์ แบ่งออกเป็น 4 ชั้น  คือชั้นพันธุ์คัด ชั้นพันธุ์หลัก ชั้นพันธุ์ขยาย และชั้นพันธุ์จำหน่าย   

จะซื้อชั้นพันธุ์ใหนไปปลูกดี ?   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ย. 23, 18:14
ก็ต้องค้นหา หาความรู้เพื่อความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องต่างๆ   สรุปความได้ว่า ชั้นพันธุ์คัดนั้นเป็นเรื่องของการวิจัยพัฒนา  ชั้นพันธุ์หลัก เป็นชั้นพันธุ์ที่ใช้ปลูกเพื่อขยายปริมาณเมล็ดพันธุ์ต้นทางที่ได้วิจัยพัฒนาขึ้นมานั้นๆ  เมล็ดพันธุ์ชั้นนี้จะถูกกระจายไปปลูกตามหน่วยงานที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคต่างๆเพื่อขยายการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อการกระจายพันธุ์ ผลผลิตที่ได้เรียกว่าชั้นพันธุ์ขยาย   สำหรับชั้นพันธุ์จำหน่ายนั้น เป็นเมล็ดพันธุ์ของชั้นพันธุ์ขยายที่นำมาปลูกแล้วเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่ายแก่ชาวนาทั่วไป   ชั้นเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ มีระบบการความคุมและตรวจสอบในเชิงคุณภาพโดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

ชั้นพันธุ์ขยาย สามารถหาซื้อได้ทั้งจากร้านค้าที่มีใบอนุญาต(สถานที่จำหน่าย) และจากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวของกรมการข้าว ส่วนชั้นพันธุ์จำหน่ายนั้น ดูจะมีขายเฉพาะที่ร้านค้าเท่านั้น

ก็ดูจะเป็นภาพที่ไม่สลับซับซ้อน ตรงไปตรงมา และดูง่ายดีในเชิงของการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ข้าวต่างๆที่ต้องการจะนำไปปลูก  แต่ในภาคปฏิบัติจริงที่ตัวเองได้ประสบมานั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก  ทำให้นึกถึงข้อจำกัด ขีดจำกัด และโอกาสของชาวบ้านและชาวนารายเล็กรายน้อยต่างๆ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ย. 23, 18:53
ด้วยที่เป้นการปลูกข้าวกินเอง ก็เลยเลือกที่จะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพ้นธุ์ขยาย แต่หาที่ซื้อด้วยตนเองไม่ได้ดังที่เล่ามาแล้ว ก็เลยสอบถามข้อมูลกับกรมการข้าว ได้ทราบว่าข้าว กข.43 นี้ ศูนย์ที่ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวพันธุ์นี้ ไม่มีบริการส่งของ ต้องไปซื้อและขนเอง ปริมาณที่เมล็ดพันธุ์ที่ต้องการใช้เพียง 2 ถุงๆละ 25 กก. สุดท้ายเลยต้องใช้บริการออนไลน์ ได้ของตรงตามที่ต้องการ

เรื่องที่ดูง่ายๆ เพียงต้องการปลูกข้าวพันธุ์อื่นเพื่อใช้บริโภคเองในพื้นที่ๆเขานิยมปลูกข้าวพันธุ์ กข.105 และ กข.6 เท่านั้นเอง 


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 พ.ย. 23, 18:15
ได้พันธุ์มาก็เพาะเมล็ดข้าวเตรียมการลงปลูกเลย เพราะเป็นเป็นห่วงเรื่องน้ำสำหรับทำนา และคิดว่าเมื่อถึงวาระเก็บเกี่ยวก็จะได้ไม่ไปชนกับช่วงเวลาที่ทั้งพื้นที่กำลังเก็บเกี่ยวกัน ทุกอย่างผ่านมาด้วยดี ข้าวก็เจริญงอกงามดีจนถึงวาระเก็บเกี่ยว

จะเก็บเกี่ยวโดยวิธีการลงแขกก็ทำไม่ได้ เพราะชาวบ้านแต่ละคนต่างก็กำลังดูแลข้าวในนาของตนเอง ด้วยเป็นช่วงที่ข้าวกำลังจะตกท้องออกรวง  ไม่มีช่องเวลาที่จะปลีกตัวมาช่วย  จะใช้วิธีการจ้างก็เกือบจะไม่มีแรงงานเลย แถมค่าแรงยังสูงในระดับ 400 บาทต่อวัน ยังไม่รวมงานที่จะต้องทำหลังที่เกี่ยวข้าวมาพักไว้เพื่อทำการนวดข้าวต่อไป    คิดไปคิดมา สู้การไปจ้างรถเกี่ยวข้าวไม่ได้ ทั้งเร็วและทั้งประหยัดกว่ามาก

ก็ดูจะง่ายดี แต่ก็ไม่เป็นดังที่คิดนัก   คนที่ทำนาในลักษณะแนวคิดแบบผมและพวกที่มีผืนนาอยู่ในจุดที่มีน้ำท่าดีนั้น ส่วนมากจะเป็นผืนนาที่ไม่ใหญ่และจะค่อนข้างกระจายห่างกัน    รถเกี่ยวข้าวในแต่ละพื้นที่มีไม่มากนัก อาจมีเพียงคันเดียวสำหรับหลายตำบล  ในการปฏิบัติการ เขาจะมาเป็นชุด มีรถสิบล้อเพื่อบรรทุกรถเกี่ยวข้าวมา 1 คัน มีรถขนข้าว 1 หรือ 2 คัน หรือมากกว่านั้น (ขึ้นอยู่กัยระยะทางและปริมาณข้าวเปลือกที่ประเมินไว้ เพื่อขนข้าวเปลือกที่ได้มาจากการเกี่ยวข้าว) ทำให้ต้องมีการนัดหมาย วันและเวลาที่จะเข้าไปดำเนินการเกี่ยวข้าว       


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ย. 23, 18:37
ข้าวหอมมะลิ 105


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 พ.ย. 23, 18:02
การณ์ก็ดูจะไม่มีอะไรที่ต้องกังวลต่อไป   แต่มันก็มีเรื่องให้ต้องมีความเครียดบ้างตามธรรมชาติของการทำงาน 

ในระบบของการเกี่ยวข้าวด้วยเครื่องจักรกลนี้  ผู้รับจ้างจะดูจะมีลักษณะเป็นกลุ่มคน คนหนึ่งเป็นเจ้าของรถเกี่ยวข้าว อีกคนหนึ่งหรืออีกสองสามคนเป็นเจ้าของรถบรรทุกแต่ละคัน  ก็อาจจะมีอีกคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ประสานระหว่างผู้จ้างกับผู้รับจ้างและกับผู้รับซื้อข้าวเปลือกเมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว

ภาพของงานในองค์รวมจะเป็นดังนี้ เมื่อถึงวันและเวลานัด รถสิบล้อจะบบรทุกรถเกี่ยวข้าวมาที่นาน้าว รถบรรทุกขนข้าวก็จะมาพร้อมด้วยกัน เมื่อเกี่ยวข้าวได้เต็มอุ้ม (bin, container) ก็จะถ่ายให้รถบรรทุกขนออกจากนาไปยังลานตากข้าว หรือไปยังโกดังของผู้ซื้อข้าว  หนึ่งอุ้มข้าวเปลือกจะมีน้ำหนักน่าจะอยู่ระหว่าง 1-2+ ตัน   ค่าใช้จ่ายจะแยกคิดออกเป็น 3 หมวด คือค่าเกี่ยวข้าว คิดเป็นต่อไร่ ดูจะอยู่ในเกณฑ์ 700++บาท ซึ่งดูจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายของงาน เช่น ความไกลและความแห้งของดินผืนนา เป็นข้าวพันธุ์ต้นสูงหรือต้นเตี้ย และต้นข้าวล้มหรือไม่ ...  ค่ารถขนข้าวเปลือก ซึ่งคิดในลักษณะราคาเหมา จะถูกหรือแพงไปขึ้นอยู่กับระยะทางและปริมาณเที่ยวรถที่จะใช้ขนข้าวไปลานตากหรือโกดังข้าว    ในกรณีที่จะไม่ใช้วิธีตากข้าว แต่จะใช้วิธีอบแห้งแทน  ก็จะต้องเสียค่าอบประมาณ 1.50 บาท ต่อกิโลกรัม และจะต้องมีค่าจ้างรถขนกลับ       


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 พ.ย. 23, 18:39
ความเครียดที่มีดูจะอยู่ในเรื่องของธรรมชาติเป็นหลัก ก็มีอยู่ 2-3 เรื่อง เรื่องแรกเป็นเรื่องของต้วต้นข้าวที่ช่วงเวลาของความสุกเต็มที่กับการร่วงหล่นของเมล็ดนั้นมันสั้น และยังเป็นช่วงที่ต้นข้าวกำลังแห้งมากพอที่จะถูกลมพัดพาให้ล้มหรือหักได้  ซึ่งหากล้มมากก็มีข้อจำกัดในการใช้รถเกี่ยวข้าว ต้องใช้แรงคนช่วยกันเกี่ยวแทน   เรื่องที่ตามมาต่อเนื่องก็คือ นกหนูจะช่วยกันลงมาแย่งเก็บกินเมล็ดข้าวที่ร่วงหล่น แต่ก่อนนั้นดูจะมีเพียงพวกนกตัวเล็ก เช่น นกกระจอก นกกระจาบ นกกระจิบ แต่ในปัจจุบันนี้มีนกพิราบเข้ามาร่วมวงด้วย   เรื่องที่สามเกี่ยวกับเรื่องของฝนที่ตกลงมาแบบเกินพอ ทำให้น้ำท่วมผืนนาหรือดินแฉะมากเกินไปจนรถเกี่ยวข้าวลงนาไม่ได้ การลุยน้ำเกี่ยวข้าวจึงมีให้เห็น

ทั้งมวลของการปลูกข้าว จะได้ผลดีหรือไม่ดีดูจะวังวนอยู่ในเรื่องของจังหวะเวลา  ช่วงแรกปลูกก็เกี่ยวกับน้ำ เมื่อต้นข้าวโตขึ้นก็เกี่ยวกับการระบาดของโรค เมื่อเก็บเกี่ยวก็ดังที่ขยายความมา


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 พ.ย. 23, 18:26
เก็บเกี่ยวแล้วก็มาถึงเรื่องของการขาย   ก็คงมีอยู่ 3 ภาพ คือ เกี่ยวแล้วเอาข้าวไปเก็บไว้ในฉาง หรือเกี่ยวแล้วขายเลยกับผู้รับจ้างเกี่ยวข้าว หรือเกี่ยวแล้วขนไปขายให้พ่อค้ารับซื้อข้าว     

กรณีแรก เกี่ยวแล้วจะต้องตากข้าวหรืออบแห้งก่อนเอาไปเก็บในฉาง เพื่อรอขายในราคาที่เหมาะสม  กรณีนี้จะต้องเสียเงินในการว่าจ้างให้ทำการเกี่ยวข้าว และหากไม่ตากข้าวเองก็จะต้องเสียเงินค่าอบข้าวให้แห้ง ซึ่งทั้งสองวิธีการทำให้ข้าวเปลือกแห้งนี้ มีผลกับน้ำหนักและราคาที่จะซื้อขายกัน (มาตรฐานราคาซื้อขายกำหนดกันที่ความชื้นไม่เกิน 15%)

กรณีที่สอง เกี่ยวแล้วชั่งน้ำหนักแล้วขายไปเลย  กรณีนี้ ชาวนาไม่ต้องมีเรื่องให้วุ่นวายต่อไปหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว แต่จะได้ราคาขายข้าวที่อาจจะต่ำมาก   

กรณีที่สาม เกี่ยวแล้วขนไปขายพ่อค้ารับซื้อข้าว  กรณีนี้ ดูจะพบกับปัญหาในเรื่องของการกดราคาด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ไม่รับซื้อ เต็มโกดังแล้ว ความชื้นมากไป เมล็ดข้าวไม่สวย ...   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 พ.ย. 23, 18:46
ในช่วงเวลาที่ข้าวสุกและเริ่มเก็บเกี่ยวขายกันนั้น ราคาข้าวเปลือกในแต่ละวันจะไม่เท่ากัน กลุ่มที่ได้มีโอกาสเก็บเกี่ยวในช่วงแรกๆของฤดูการเก็บเกี่ยวจะได้ราคาที่ดีกว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ในช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวกันทั่วไป  ราคาข้าวเปลือกจะมีราคาต่ำลงและผันแปรแบบวันต่อวันเลยทีเดียว เรื่องนี้ส่วนหนึ่งไปขึ้นอยู่กับเรื่องของการบริหารสต๊อกและประเภทข้าวที่จะรับซื้อของฝ่ายผู้รับซื้อข้าว  ก็จึงมีเรื่องของการขนข้าวเปลือกจากพื้นที่หนึ่งไปขายในอีกพื้นที่หนึ่ง สลับกันไปมา   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ธ.ค. 23, 18:37
ผมมีความรู้ที่จำกัดมากๆในเรื่องของราคาข้าว แต่ก็พอจะมีเรื่องขยายเป็นให้พอทราบกันได้ดังนี้

ราคากลางข้าวจะมีการประกาศให้ทราบโดยกรมการค้าภายใน เป็นราคาซื้อขายกลางๆที่ได้มาจากการสำรวจตลาดของแต่ละจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตข้าว  โดยปกติแล้วข้าวเปลือกเหนียวจะมีราคาสูงกว่าข้าวเปลือกเจ้าในระดับพันสองพันบาท  ราคาข้าวเปลือกทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้านี้ดูจะอยู่ในเกณฑ์ราคาประมาณ 15,000+/- บาท/ตัน   

เมื่อเอาข้าวเปลือกไปสีให้ออกมาเป็นข้าวสาร  จะได้ผลผลิตออกมาเป็นข้าวสารประมาณ 60% +/-  เป็นแกลบประมาณ 30% +/-ที่เหลือจะเป็นเศษข้าวที่แตกหัก ซึ่งหากยังมีลักษณะเป็นเศษของเมล็ดข้าวที่แตกหัก ก็เรียกกันว่าปลายข้าว(หรือรำข้าวขาว ?) พวกที่เป็นเศษก่อนขัดขาวก็เรียกว่ารำข้าวกล้อง   ปลายข้าวนั้น เอาไปทำโจ๊กได้ดี ....  รำข้าวนั้นเอาไปผสมทำอาหารสัตว์ ปลูกเห็ด... แกลบก็เอาไปใช้ในหลายเรื่องทั้งแบบ hitech และ lowtech         


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ธ.ค. 23, 18:54
ต้องปลูกกี่ไร่ถึงจะคุ้มราคาที่ลงทุนคะ  ยังไม่ต้องพูดถึงกำไร


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ธ.ค. 23, 19:11
ลองเอาตัวเลขประมาณแบบมั่วๆ และอย่างหยาบๆ (บนฐานของโครงสร้างราคา) เพื่อพิจารณากันเล่นๆนะครับ

ชาวนามีข้าวเปลือก 1 ตัน (1,000 กก.) ขายได้ กก.ละ 10 บาท  ข้าว 1 ตันนี้นำไปสีได้ข้าวสารประมาณครึ่งหนึ่ง คือ 500 กก. (ครึ่งตัน) ข้าวถุงที่เราซื้อตามร้านค้าถุงละ 5 กก.นั้น คิดที่ราคาถุงละ 180 บาท  สีได้ปลายข้าวและรำข้าวรวมกันประมาณ 120 กก. ปลายข้าวขายได้ กก.ละ 10 บาท  รำข้าวขายได้ กก.ละ 8 บาท  และได้แกลบประมาณ 200 กก. ขายได้ กก.ละ 5 บาท  


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ธ.ค. 23, 18:51
ต้องปลูกกี่ไร่ถึงจะคุ้มราคาที่ลงทุนคะ  ยังไม่ต้องพูดถึงกำไร

เป็นคำถามที่น่าสนใจ  ก็จะลองให้ตัวเลขอย่างหยาบๆสำหรับกรณีทำนาในพื้นที่ๆต้องมีค่าใช้จ่ายค่้อนข้างมาก

กรณีของผม ก่อนถึงฤดูทำนา จะมีรายการต้องจ่ายค่าบูรณะลำรางส่งน้ำเข้าพื้นที่ทำนา (ลอกและปรับแต่งร่องน้ำ) ซึ่งจำนวนเงินของชาวนาที่จะต้องจ่าย จะมาจากการประเมินของคณะกรรมการดูแลและจัดการฝายน้ำและลำรางว่าผู้ใดควรจะเสียมากน้อยเพียงใด (เป็นการคิดในลักษณะของ appropriation)    ปีที่ผ่านมานี้ สำหรับนา 2 ไร่ ผมเสีย 700 บาทสำหรับงานเรื่องของงานโยธาลำราง และ 200 บาทสำหรับค่าใช้น้ำ  ค่าใช้จ่ายในการไถพลิกดินเพื่อตาก(ไถดะ) 500 บาท/ไร่ (ไถดะ)  ไถพลิกกลับและย่อยก้อนดิน(ไถแปร) 500 บาท/ไร่  เมื่อนาได้น้ำจากฝนหรือเอาน้ำเข้านาแล้วก็ไถเอาเศษวัชพืชออกพร้อมไปกับการปรับพื้นที่นาให้เรียบ(ไถคราด) 500 บาท/ไร่  ค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว 800 บาท/ไร่  ค่าใช้จ่ายในการลงแขกดำนา (เครื่องดื่มและของรองท้องหลังเสร็จงาน ก่อนกลับบ้าน) 1,000 บาท   ค่าปุ๋ย 1,000 บาท   ค่ารถเก็บเกี่ยวข้าว 700 บาท/ไร่ ค่ารถบรรทุกขนข้าวไป-กลับขนข้าวเปลือกไปอบ 450 บาท ค่าอบข้าว 1.50 บาท/กก.  ได้ข้าวเปลือกมา 400 กก./ไร่ หากขายข้าวเปลือกหลังเก็บเกี่ยวเสร็จเลยจะขายได้ 12 บาท/กก.

สรุป เป็นค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 6,500 บาทต่อไร่ สำหรับการปลูกข้าวกินเอง (ไม่คิดค่าแรงและค่าใช้จ่ายประเภทจิปาถะ)   แต่หากเป็นการขายหลังการเกี่ยวเสร็จในทันที ค่าใช้จ่ายในการปลูกข้าวก็จะเป็น 5,450 บาท/ไร่ (ไม่คิดค่าแรงและค่าใช้จ่ายประเภทจิปาถะ) ก็จะขายได้ 4,800 บาทต่อไร่ 
 


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ธ.ค. 23, 10:36

สรุป เป็นค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 6,500 บาทต่อไร่ สำหรับการปลูกข้าวกินเอง (ไม่คิดค่าแรงและค่าใช้จ่ายประเภทจิปาถะ)   แต่หากเป็นการขายหลังการเกี่ยวเสร็จในทันที ค่าใช้จ่ายในการปลูกข้าวก็จะเป็น 5,450 บาท/ไร่ (ไม่คิดค่าแรงและค่าใช้จ่ายประเภทจิปาถะ) ก็จะขายได้ 4,800 บาทต่อไร่ 
 
งั้นก็ขาดทุน 6500-4800 = 1700 บาท  ต่อไร่น่ะซีคะ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ธ.ค. 23, 19:18
ครับ ขาดทุนในเชิงของปริมาณเงินที่ลงทุนไปกับปริมาณเงินที่ได้รับกลับคืนมาจากการลงทุน เพราะเป็นการทำนาแบบจ้างทำเกือบจะทั้งหมด

ในความเป็นจริงการทำนาข้าวนั้น ผมมีความเห็นว่าจะต้องแยกออกเป็นอย่างน้อย 2 ระบบ คือ การทำนาในลักษณะของการลุงทุนเพื่อผลิตสินค้าส่งออกขาย ซึ่งมีเป้าหมายเป็นเรื่องของกำไร-ขาดทุน  กับ การทำนาในลักษณะของวัฎจักรในวิถีของการดำรงชีพ ซึ่งมีเป้าหมายเป็นเรื่องของความอยู่รอดของชีวิตและครอบครัว

กรณีแรก ทำนาในรูปของธุรกิจการค้า กรณีนี้มีเรื่องของ Economy of scale เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อว่าเป็นเรื่องที่มีอยู่ในกระบวนการคิดและการวางแผนของผู้ลงทุน แต่ไม่ทราบว่าจะมีการคิดส่วนที่เป็นกำไรว่าควรจะพึงได้กี่เปอร์เซนต์  คิดว่าน่าจะน้อยกว่าที่เขาคิดกันในภาคการอุตสาหกรรม    เท่าที่พอจะได้สัมผัสมา ผืนมาผืนนาประเภทนี้ดูจะอยู่ในระดับมากกว่า 50 ไร่ขึ้นไป (หรือหลายที่รวมกัน)  ซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อยที่เจ้าของที่นาไม่ได้ทำนาเองแต่เป็นการให้เช่าที่ทำนา และก็มีไม่น้อยที่คนทำนาขายข้าวมิใช่เจ้าของที่นา 

เรื่องคิดเกี่ยวกับ Economy of scale ในธุรกิจทำนาขายข้าวนี้ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะในกระบวนการทำนาเพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตข้าวนั้น มันมีความผันแปรที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากมายหลายเรื่องจริงๆ  เชื่อว่าในวงการเกษตรกรรมเรื่องข้าวนี้น่าจะมีการศึกษาและมีข้อมูลทางวิชาการลงลึกไปแบบละเอียดของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆมากอยู่แล้ว เช่น ระหว่าง นาน้ำชลประทาน นาน้ำฟ้า(ฝน) เครื่องจักรกลชนิดต่างๆ (ไถ พรวน แปร ปลูก เกี่ยว) การเลือกพันธุ์ข้าว ปริมาณผลผลิตของแต่ละพันธุ์ การปรับปรุงดิน(ด้วย gypsum, marl, dolomitic lime, calcitic lime)...   ก็น่าจะแปลงให้เป็นความรู้และความเข้าใจแบบง่ายๆพร้อมทั้งนำเสนอสิ่งที่สามารถนำเอามาใช้ ทำ หรือเอามาทดแทนได้เพื่อสร้างสภาพ Economy of scale ที่พอจะเข้าถึงได้สำหรับชาวบ้านที่ทำนาโดยทั่วไป 


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ธ.ค. 23, 20:23
กรณีการทำนาในลักษณะของวัฎจักรในวิถีของการดำรงชีพ   กรณีนี้เป็นเรื่องของการทำนาของชาวบ้านโดยทั่วไปที่มีที่นาเป็นมรดกตกทอด  แต่ดั้งเดิมนั้นแต่ละครอบครัวดูจะมีนาอยู่หลายสิบไร่  จนถึงช่วงเวลาหนึ่งของความเจริญทางเศรษฐกิจ ลูกหลานได้เปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตไปอยู่ในระบบทำงานรับจ้าง คนช่วยทำงานในกระบวนการทำนาลดจำนวนลงและหายไป ความสามารถในการทำนาในผืนนาที่เป็นเจ้าของจึงเกิดข้อจำกัด ผนวกกับมีเรื่องของการแยกครัวเรือน การแบ่งทรัพย์สิน มีการขายที่ดิน ....  เหล่านี้ล้วนส่งผลให้พื้นที่ผืนนาของแต่ละครัวเรือนโดยทั่วๆไป ดูจะเหลืออยู่ในเกณฑ์น้อยกว่า 10 ไร่ (ประมวลจากข้อมูลที่ได้การพูดคุยสอบถามชาวบ้านตั้งแต่สมัยทำงานจนถึงในปัจจุบัน) ซึ่งก็มีเป็นจำนวนมากที่แปรสภาพไปเป็นชาวนาที่ไม่มีที่นาเป็นของตนเอง คือเคยมีแต่ได้แล้วขายที่ดินไปแล้ว เปลี่ยนสภาพ กลายเป็นชาวนาที่ต้องเช่าพื้นที่ทำนา  การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายดูจะเริ่มในช่วงตั้งแต่ประมาณปี 2520 เป็นต้นมา

ที่ดูจะไม่เปลี่ยนไปเลย ที่ผมเห็นก็คือตรรกะของระบบที่ชาวบ้านใช้ ซึ่งเป็นไปเพื่อให้สามารถดำรงชีพแบบอยู่รอดได้ในแต่ละปี     ตรรกะของคนในเมืองตั้งอยู่บนฐานของเงินตราเพื่อนำไปใช้ทำให้ตนอยู่รอด  ในขณะที่ตรรกะของชาวบ้านต้้งอยู่บนฐานของการอยู่รอดด้วยการใช้ประโยชน์ในสิ่งที่ตนมี   สิ่งแวดล้อมรอบตัวของคนในเมืองเกือบทั้งหมดเป็นอนินทรีย์วัตถุ ต้องใช้พลังภายนอกเพื่อขับเคลื่อนมันให้เกิดประโชน์  ต่างกับของชาวบ้านที่เกือบทั้งหมดเป็นอินทรีย์วัตถุที่ใช้พลังภายในเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดประโชน์   ก็กำลังขยายความว่า การปลูกข้าวของชาวบ้านนั้น กำไรที่ได้มาตลอดทั้งปีสำหรับข้าวที่ปลูกได้มาก็คือ ครอบครัวได้ใช้ในการบริโภค ใช้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพื่อประโยชน์อื่นใด ... ฯลฯ  เงินส่วนที่ขายข้าวได้ก็จะเป็นเงินส่วนที่จะใช้ประโยชน์ต่างๆในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวและของตนเองให้ดีขึ้น  แต่ด้วยระบบเศรษฐกิจแบบปัจจุบันนี้ เงินส่วนที่ชาวนาจะใช้เพื่อพัฒพัฒนาคุณภาพชีวิตนั้น ก็ยังคงได้รับในเชิงปริมาณไม่ต่างไปจากเดิม แต่ค่าของเงินได้เปลี่ยนแบบลดลงไป  อีกทั้งบรรดา windfall profit ที่เกิดขึ้นในระบบการค้าข้าวทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ภาคเอกชนและภาครัฐได้มานั้น ชาวนาก็ดูจะยังไม่มีส่วนร่วมได้ประโยชน์ไปกับเขา ?? 


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ธ.ค. 23, 19:14
ขยายความต่อให้ครบเรื่อง 

ย้อนกลับไปหน่อยนึงว่า ราคาข้าวที่ขายไปในทันทีที่เกี่ยวเสร็จนั้นเป็นข้าวที่มีความชื้น ราคาจึงค่อนข้างต่ำ  ตามปกติก็จะต้องตากให้แห้งก่อนขาย  ราคากลางของข้าวเปลือกที่ซื้อขายกันในตลาดนั้นตั้งอยู่บนฐานของความชื้นที่ 15% 

ก็มีภาพอีกภาพหนึ่งที่ชวนให้คิด   เคยได้มีโอกาสนั่งกินข้าวกับพ่อค้าข้าวรายใหญ่ในระดับตลาดโลกครั้งหนึ่งที่ออสเตรีย ได้รู้ว่าการซื้อขายข้าวในตลาดระดับนั้น ปริมาณข้าวที่ซื้อขายส่งมอบกันนั้นอยู่ในตัวเลขของหลักหลายแสนหรือหลักล้านตัน  ข้าวในปริมาณระดับนี้ ยากที่จะหาได้จากแหล่งผลิตแหล่งเดียว(ประเทศผู้ผลิต) ก็จะต้องหาเอาจากหลายแหล่งผลิตมารวมกันเพื่อการส่งมอบ  ความน่าสนใจอยู่ที่ ก็แสดงว่าข้าวที่ซื้อขายกันนั้น มันมิใช่คละพันธุ์กันไปทั้งหมดหรือ ??  ก็คงจะมีแต่เพียงการแยกระหว่างข้าวเมล็ดยาวที่เรียกว่า Long grain rice หรือ Indica rice  กับ ข้าวเมล็ดสั้นที่เรียกกันอย่างง่ายๆว่า Japonica rice ??     

ก็สื่อให้ชวนคิดว่า ภาพในลักษณะเช่นนี้จะเห็นในบ้านเราได้บ้างหรือไม่ ??   ข้าวสารที่เราซื้อกินกันนั้น ส่วนมากจะซื้อข้าวที่มีข้อความเขียนบอกว่าเป็นข้าวหอม (Jasmine rice) ซึ่งอาจจะซื้อมาโดยที่นึกถึงการได้มาซึ่งข้าวหอมมะลิ 105 (กข.105 ) ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง (Hommali rice)    แท้จริงแล้ว ที่เรียกว่าข้าวหอมนั้นอาจจะเป็นข้าวขาวที่มีกลิ่นหอมพันธุ์ต่างๆที่ปลูกกันในพื้นที่ของจังหวัดต่างๆ     


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ธ.ค. 23, 19:25
    อาจออกนอกนาข้าวไปหน่อย แต่ยังอยู่ในขอบเขตข้าวหอมมะลิ 
   คุณตั้งอ่านข่าวนี้หรือยังคะ
   ข่าวจาก The Rice Trader (TRT)แจ่งว่าในการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก (The World’s Best Rice 2023 )ในการประชุมข้าวโลก (2023 International IWRC) ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ผลออกมาว่า ข้าวสายพันธุ์ ST25 ของเวียดนาม ได้รับรางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2566 เอาชนะพันธุ์ข้าวที่ส่งเข้าประกวดราว 30 ตัวอย่าง จากหลายประเทศ

ทั้งนี้ มีข้าว 3 พันธุ์เท่านั้น ที่ผ่านเข้ารอบ 3 อันดับแรก ได้แก่ พันธุ์ข้าวจากกัมพูชา พันธุ์ข้าวจากอินเดีย และพันธุ์ข้าวจากเวียดนาม

ก่อนหน้านี้  ในปี 2563-2564 ข้าวหอมมะลิ 105 จากไทย ได้รับรางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลก 2 ปีซ้อน แต่แล้วในปี 2565 ก็พลิกล็อกหล่นลงอันดับ 2  ข้าวหอมมะลิผกาลำดวนของกัมพูชาแซงหน้าคว้าแชมป์ไปได้

พอถึงปี  2566  ข้าวไทยก็หล่นไม่ติดอันดับ 1 ใน 3 อันดับ


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ธ.ค. 23, 09:35
ก่อนหน้านี้  ในปี 2563-2564 ข้าวหอมมะลิ 105 จากไทย ได้รับรางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลก 2 ปีซ้อน แต่แล้วในปี 2565 ก็พลิกล็อกหล่นลงอันดับ 2  ข้าวหอมมะลิผกาลำดวนของกัมพูชาแซงหน้าคว้าแชมป์ไปได้

พอถึงปี  2566  ข้าวไทยก็หล่นไม่ติดอันดับ 1 ใน 3 อันดับ


วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๖ นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ที่ข้าวไทยไม่ติด ๑ ใน ๓ นั้น  เพราะว่าปีนี้ไทยไม่ได้ส่งข้าวร่วมประกวด เนื่องจากสมาคมมองว่าการประกวดครั้งนี้ไม่มีความเป็นกลาง  ซึ่งหลังจากนี้ไปสมาคมฯจะไม่ส่งข้าวเข้าประกวดอีก ส่วนเอกชนรายไหนต้องการจะส่งข้าวประกวดก็สามารถส่งไปในนามบริษัทได้

https://www.thaipbs.or.th/news/content/334644

https://youtu.be/BmRKTh5hO5o


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ธ.ค. 23, 18:49
เรื่องข้าวนี้มีประเด็นชวนให้คิดและน่ารู้ค่อนข้างมาก   ข้าวจากพันธุ์เดียวกันจากนาเดียวกัน เก็บเกี่ยวแล้วทำให้แห้งด้วยวิธีการต่างกัน (ตากแดดหรืออบ) เก็บในฉางข้าวแบบมีหรือไม่มีการใช้สารเคมี เอาไปสีให้เป็นข้าวสารด้วยวิธีการที่ต่างกัน (นึ่งหรือไม่มีการนึ่งก่อนสี) ได้ข้าวสารมาแล้วเก็บแบบมีการใช้สารเคมีกันมอดหรือไม่มี  เอาไปหุงเป็นข้าวสุกด้วยวิธีการที่ต่างกันก็ล้วนจะใด้ข้าวสุกที่มีความนิ่ม ความหอมที่แตกต่างกัน อีกทั้งการใช้ข้าวใหม่หรือข้าวเก่า การหุงข้าวแบบใช้เตาถ่าน ใช้เตาแกส หุงแบบเทน้ำ หุงแบบใช้หม้อไฟฟ้า หุงแบบนึ่ง/อบด้วยกระทะใบบัว ทำให้สุกแบบการทำ Paella  การหลามด้วยกระบอกไม้ไผ่ ....   โดยสรุปก็คือ เราจะได้ข้าวสวยที่มีความไม่เหมือนกันในเชิงคุณภาพ

ในประสบการณ์ที่ผ่านมา ข้าวที่ฝรั่งและแขกทั้งหลายนิยมกินกันนั้นจะเป็นข้าวพันธุ์เมล็ดยาวที่มียางข้าวน้อย คือเมื่อหุงสุกแล้วจะเป็นข้าวสวยแบบเมล็ดข้าวร่วน ข้าวที่ว่าดีของพวกเขาเรียกกันว่าข้าว Basmati  ดูจะมีแต่ในเอเซียเท่านั้นที่กินข้าวสวยเมล็ดยาวแบบมียางข้าว เรียกกันว่าข้าว indica  และก็มีเฉพาะญี่ปุ่นเท่านั้นที่นิยมกินข้าวเมล็ดสั้น เรียกกันว่าข้าว Japonica     ก็จนกระทั่งเมื่อสักประมาณ 40 ปีมานี้กระมัง ที่ฝรั่งเริ่มหันมากินข้าวแบบมียางข้าว ซึ่งดูจะสืบเนื่องมาจากการมีการรับผู้อพยพชาวลาว เวียดนาม และเขมร เป็นจำนวนมาก  เมื่อชุมชนของพวกเขาเริ่มแข็งแรง ก็เกิดมีการเปิดร้านขายของชำเอเซียกระจายมากขึ้น เกิดมีสินค้าของไทยไปปรากฏตัวมากขึ้น เช่น ปลาร้า ปลาเค็ม มะเขือเปาะ ลิ้นฟ้า(เพกา) น้ำพริกเผา ผักกุยฉ่าย(ลาวและเวียดนามนิยมกิน) ซอสพริกศรีราชา น้ำพริกเผา ข่า ตะไคร้ พริกสด ยาหม่อง......   อาหารไทยหลายอย่างก็ได้เริ่มเป็นที่รู้จักและน่าทดลองกินของฝรั่ง ซึ่งดูจะเป็นช่วงเวลาแรกๆของการแจ้งเกิดของอาหารไทยหลายๆในตลาดโลก เช่น แกงเขียวหวาน ฉู่ฉีปลา ผัดซีอิ๊ว ผัดไทย ผัดกระเพรา ต้มยำ และไก่ย่าง ส้มตำ ข้าวเหนียว ....         


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ธ.ค. 23, 19:29
ก็เพียงจะบอกว่า ผมมีความเห็นว่า ด้วยความต่างในด้านของกระบวนการนำข้าวมาบริโภค แล้วอะไรที่เหมาะสมควรจะนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการตัดสินใจว่าข้าวใด ? ของใคร ? มีคุณภาพเป็นเลิศ ?    จะเน้นใช้องค์ประกอบทางกายภาพ หรือจะเน้นใช้องค์ประกอบทางคุณภาพ หรือจะใช้ทั้งสององค์ประกอบในการพิจารณา  เช่น กรณีข้าวเหนียวเขี้ยวงู มีเมล็ดยาว ขาวสวย เหมาะสำหรับเอาไปทำขนมมากกว่าเอาไปนึ่งกิน  ต่างกับข้าวเหนียวสันป่าตอง หรือ กข.6 ที่เหมาะกับการเอาไปนึ่งกิน  หรือ ข้าว กข.43 ดีในเรื่องของสุขภาพ เทียบกับข้าว กข.105 ที่ดีในเรื่องของความหอมและความนุ่มนวล

ก็เป็นความเห็นแบบคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการ/วิชาการข้าว   สำหรับในเรื่องที่เป็นจริงนั้น เชื่อว่าในการประกวดนั้น เขาก็ต้องมีองค์ประกอบต่างๆกำหนดไว้ชัดเจนทั้งในด้านที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ธ.ค. 23, 19:32
ก็มีเรื่องชวนให้คิดเล็กๆน้อยๆอยู่บางอย่าง ซึ่งเห็นว่าหากกลุ่มผู้ผลิตและกลุ่มผู้บริโภคร่วมกันจัดการ ก็จะยังให้เกิดประโยชน์แก่กันทั้งสองฝ่าย  จะขยายความเป็นส่วนๆแล้วค่อยเอามาประสานกัน   

เรื่องหนึ่ง ... คงทราบกันทั่วไปอยู่แล้วว่า ข้าวสารที่เก็บไว้ในถังข้าวที่ปิดฝาให้สนิทนั้น เมื่อเก็บไว้นานก็จะเกิดมีตัวมอดข้าวสารเดินกันอยู่ในถังเก็บข้าว ซึ่งจะต่างไปจากข้าวสารในถุงๆละ 5 กก.ที่ซื้อจากห้างสรรพสินค้าต่างๆ จะเก็บได้นานและไม่มีตัวมอด เหตุที่เป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากข้าวนั้นได้ผ่านการรมยามา   ข้าวที่ไม่ผ่านการรมยาหนีไม่พ้นที่จะต้องมีมอดเกิดขึ้น วิธีกันมอดง่ายที่ใช้กันทั่วๆไปก็คือ ใช้ใบมะกรูดสดปริมาณหนึ่งใส่ลงไปในถังเก็บช้าว  ก็มีแบบที่ใช้พริกแห้งเช่นกัน   และหากต้องการจะไล่มอดในถังเก็บข้าว ก็ใช้วิธีเอาถังข้าวไปตั้งไว้ในที่มีแดดหรือแสงสว่างมากๆ เปิดฝาถังแล้วตั้งทิ้งไว้ มอดก็จะพากันออกมาเดินพาเรดไต่ขึ้นขอบถังหนีออกไป    มอดในข้าวเปลือกก็มี แต่มันจะถูกคัดออกโดยอัตโนมัติเมื่อผ่านกระบวนการสีให้เป็นข้าวสาร

อีกเรื่องหนึ่ง ... ก็คงทราบกันทั่วไปอยู่แล้วว่า พืชผักผลไม้ชนิดเดียวกันที่ปลูกในพื้นที่ๆมีลักษณะทางกายภาพที่ต่างกัน (ดิน น้ำ อากาศ...) จะให้ผลผลิตที่มีความต่างกันในเชิงของคุณสมบัติด้านกายภาพและด้านคุณภาพ ซึ่งเหมาะกับการนำไปใช้บริโภคที่ต่างวิธีการและต่างรูปแบบกัน  ข้าวก็เช่นกัน ในปัจจุบันนี้เราเริ่มเลือกบริโภคข้าวโดยคำนึงถึงแหล่ง/พื้นที่ๆปลูก  เช่น ข้าวหอมมะลิเชียงราย  ข้าวหอมมะลิศรีสะเกษ ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ....   หรือเลือกใช้ข้าวเหนียวเขี้ยวงูของ อ.แม่จัน เชียงราย  เลือกใช้ข้าวสังข์หยดของ พ้ทลุง  เลือกใช้ข้าวดอกข่าของ พังงา เพื่อใช้ในอาหารบางชนิด    เหล้าอาวาโมริ เหล้าเก่าแก่ของญี่ปุ่นที่มีแหล่งผลิต(ประมาณ 40 โรงงาน)อยู่ในเกาะโอกินาวา เป็นเหล้าที่มีราคาสูงของญี่ปุ่น ใช้ข้าวหอมของไทยเป็นวัตถุดิบในการผลิตเท่านั้น  มีเหล้าสาเกของญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากที่ใช้ข้าวเฉพาะพื้นที่ในการผลิตเพื่อรักษาเอกลักษณ์ กระทั่งข้าวที่ใช้ทำซูชิก็ยังมีการเลือกใช้ข้าวจากแหล่งผลิตเป็นการเฉพาะ       


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ธ.ค. 23, 18:57
ต่อเรื่องของญี่ปุ่นอีกเล็กน้อยครับ

้เคยมีโอกาสร่วมอยู่ใน Petit forum ของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งจัดขึ้นเพื่อแสดงถึงเรื่องพัฒนาการและความก้าวหน้าในด้านต่างๆที่ญี่ปุ่นมี จัดเป็นกลุ่มเล็กสำหรับนักการทูตที่มีความสนใจ ครั้งละประมาณ 20 คน ปีละ3-4 ครั้ง  ครั้งหนึ่งเป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกันอย่าง win-win ระหว่างอุตสาหกรรมผลิตสาเก การปลูกข้าว สิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว เป็นโครงการในพื้นที่ของชุมชนท้องถิ่นที่เกิดผลสัมฤทธิ์อย่าง win-win จริงๆ คือผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทุกอาขีพ ล้วนได้รับผลที่เป็นประโยชน์ทั้งในเชิงของรายได้และคุณภาพชีวิต

ปัญหาที่มีมาแต่ดั้งเดิมนั้นก็คือ น้ำเสียจากโรงงาน การปลูกข้าว ผลผลิตและการขายข้าว สิ่งแวดล้อมโดยทั่วไปแย่ลง(หิ่งห้อยหายไป) นักท่องเที่ยวหายไป ผลสรุปรวมก็คือ รายได้ของโรงงานและของชาวบ้านต่างก็ลดลง เข้าสู่สภาวะเริ่มอยู่ลำบากมากขึ้น     ทั้งภาคโรงงาน ชาวนา และชาวบ้าน จึงหันหน้ามาจับเข่าคุยกัน สรุปออกได้ว่าจะร่วมกันดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของทุกภาคส่วน  ก็เริ่มต้นด้วยการมีความเห็นตรงกันว่า หากน้ำที่มีปรากฎอยู่ในพื้นที่เป็นน้ำที่สะอาด ก็ย่อมหมายถึงการเป็นพื้นที่ๆมีคุณภาพของสิ่งแวดล้อมใกล้กับธรรมชาติแต่เดิม  สิ่งบ่งชี้ว่าสิ่งแวดล้อมมีความสะอาดและคุณภาพดีก็คือ หิ่งห้อย (ทิ้งถ่วง ชื่อน่ารักดี  ;D)  กรรมการผู้ตรวจสอบผลความสำเร็จของการดำเนินการต่างๆก็ควรจะเป็นเด็กที่จะช่วยกันรายงานว่าพบที่ใดบ้างและมากน้อยเพียงใด (ข้อสำคัญคือไม่น่าจะมีการโกหก)

ผลสรุปสุดท้ายที่เป็นรูปธรรมก็คือ บนพื้นฐานของข้อมูลในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรมชาติที่ดี  สาเกของโรงงานในก็เป็นที่นิยมและขายดี เพราะใช้ว้ตถุดิบ(ข้าว)ที่ปลูกในพื้นที่ๆมีน้ำสะอาด ยังผลต่อเนื่องให้เปลี่ยนสภาพการทำนาไปเป็นแบบ Contract farming  มีรายได้ที่มั่นคง  มีนักท่องเที่ยวมาดูหิ่งห้อยและพักผ่อน ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายของและที่พักแรมแบบเรียวกัง (Ryokan) ทุกคนในพื้นที่ล้วนได้มีชีวิตที่มีความสุขอย่างพอเพียง     


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ธ.ค. 23, 18:21
ได้ทราบว่าญี่ปุ่นมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องของที่ดินนาข้าวที่น่าสนใจอยู่บริบทหนึ่ง ได้รับผู้รับมรดกที่นาจะต้องถือครองที่นาผืนนั้นต่อไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง จำได้ว่า 6 ปี  ไม่ทราบลึกลงไปในรายละเอียด โดยนัยก็คือต้องการให้ทำนาต่อไป  เหตุก็คงจะเป็นเพราะว่า ญี่ปุ่นต้องการสร้างสมดุลย์ระหว่างปริมาณผลผลิตข้าวภายในกับปริมาณการบริโภคภายในให้เกิดขึ้นและสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง จึงไม่ยอมปล่อยให้มีการนำเข้าอย่างเสรี มีกฎเกณฑ์มาตรฐานในการอนุญาตให้น้ำเข้าในลักษณะว่า ปริมาณข้าวนำสำหรับชดเชยส่วนที่ผลิตเองได้ไม่พอเพียงพอ จะมีอัตราภาษาระดับหนึ่ง ปริมาณนำเข้าส่วนที่เกินไปกว่านั้นเข้าจะมีอัตราภาษีที่สูงกว่ามากๆ ก็คือกันไม่ให้เข้ามาทำลายระบบการผลิตภายใน ลืมบอกไปว่าใช้เฉพาะกับ Japonica rice  ส่วนการนำเข้าข้าว long grain (Indica rice) นั้น ดูจะใช้เกณฑ์แข่งขันทางการค้าตามปกติสากล


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ธ.ค. 23, 18:56
เคยอ่านรายงานการศึกษาอยู่เรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับเกษตรกรรมภาคการผลิตเมล็ดธัญพืชในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา ปัญหาต่างๆก็ไม่ต่างไปจากของเรื่องข้าว ประเด็นหนึ่งก็เกี่ยวกับราคาขายเมื่อผลผลิตประดังกันออกมา ประเด็นสำคัญตคือ เกษตรกรไม่มีที่เก็บเพื่อชลอการขายผลผลิตในช่วงที่เห็นว่ามีราคาเหมาะสม เกษตรกรเห็นว่าการสร้างยุ้งเก็บเองนั้นมีปัญหาเรื่องความเสียหายจากพวกแมลงและสัคว์ฟันแทะ  คณะผู้ทำการศึกษาเห็นว่าความเสียหายของการเก็บในยุ้งขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วไปนั้น สามารถบริหารจัดการได้ง่ายกว่ายุ้งขนาดใหญ่แบบ Silo ที่จะต้องใช้เคมีภัณฑ์ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้บริโภค   ยุ้งขนาดเล็กของเกษตรกรแต่ละครัวเรือนนั้น แม้จะเกิดความเสียหายในการเก็บบ้าง แต่ปริมาณผลผลิตที่ไม่เสียหายก็มีมากพอที่จะขายได้ในราคาที่ดีและคัุมค่าเมื่อช่วงเวลาการประดังออกมาของผลผลิตซาลง

แต่เดิม ชาวนาไทยแต่ละครัวเรือนจะมีฉางข้าว ปัจจุบันนี้เกือบจะไม่เห็นในพื้นที่ใดๆอีกแล้ว ได้ถูกรื้อขายเป็นไม้เก่าไปหมด   


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ธ.ค. 23, 19:11
  เมื่อไปญี่ปุ่นครั้งแรก  ออกไปเที่ยวนอกโตเกียว  เห็นนาข้าวเขียวสดอยู่สองข้างทาง    ที่จำได้แม่นยำคือญี่ปุ่นปลูกนาข้าวติดกับตัวบ้านเลยทีเดียว เรียกว่าใช้เนื้อที่ทุกกระเบียดน้ิ้ว  ไม่เว้นว่างไว้เฉยๆ    บ้านเหล่านี้ก็ไม่ใช่กระต๊อบหรือกระท่อม แต่เป็นบ้านหน้าตาโอ่อ่าในมาตรฐานของญี่ปุ่น   แต่แทนที่จะมีสนามหญ้าล้อมรอบตัวบ้านอย่างบ้านเรา  กลับมาต้นข้าวปลูกเป็นแถว


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ธ.ค. 23, 19:59
ก็มีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ  เป็นเรื่องเกี่ยวกับแกลบ

เมื่อเอาข้าวเปลือกไปสีเป็นข้าวสารก็จะได้แกลบออกมาประมาณ 20+% เป็นของเสียที่ต้องทิ้ง  โรงสีข้าวก็ใช้แกลบนั้นเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการสีข้าว เป็นการกำจัดกากของเสียไปในตัว  แกลบบางส่วนที่กองอยู่ก็ถูกไฟไหม้ลามกลายเป็นแกลบสีดำกองอยู่นอกโรงสี ขี้เถ้าของแกลบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงก็จะถูกโกยออกจากเตาเอาไปทิ้ง   เป็นภาพปกติที่เห็นกันทั่วไป

จนกระทั้งเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการขยายตัวแบบทวีคูณของยุค Silicon  ก็มีเรื่องของการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ Silica ในแกลบโผล่ออกมา (Rice hush silica)  มี paper ออกมามากมายในกลุ่มการศึกษาวิจัยเรื่องนี้  ท่านที่ชอบในทางวิชาการลึกๆ หรือท่านที่ต้องการเอาความรู้ไปต่อยอดทางเศรษฐกิจ น่าจะลองติดตามกัน  ลองเริ่มต้นค้นหาด้วยคำว่า Rice Hush Ash (RHA)  


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ธ.ค. 23, 18:54
  เมื่อไปญี่ปุ่นครั้งแรก  ออกไปเที่ยวนอกโตเกียว  เห็นนาข้าวเขียวสดอยู่สองข้างทาง    ที่จำได้แม่นยำคือญี่ปุ่นปลูกนาข้าวติดกับตัวบ้านเลยทีเดียว เรียกว่าใช้เนื้อที่ทุกกระเบียดน้ิ้ว  ไม่เว้นว่างไว้เฉยๆ    บ้านเหล่านี้ก็ไม่ใช่กระต๊อบหรือกระท่อม แต่เป็นบ้านหน้าตาโอ่อ่าในมาตรฐานของญี่ปุ่น   แต่แทนที่จะมีสนามหญ้าล้อมรอบตัวบ้านอย่างบ้านเรา  กลับมาต้นข้าวปลูกเป็นแถว

ความสวยและความรู้สึกผ่อนคลาย เย็นสบาย ชื่นใจ ของภาพในองค์ประกอบลักษณะนี้ ยังพอมีให้เห็นได้บ้างในไทยเรา พอจะพบได้ตามถนนหลวงที่มีหมายเลขสี่ตัว ความต่างก็จะมีในเรื่องของความใหญ่โตรโหฐานของบ้านที่อยู่   ของเรานั้น เรือนที่มีหลังคาเกือบทั้งหมดที่ตั้งอยู่กลางผืนนาที่ล้อมไปสีเขียวของใบต้นข้าวหรือสีเหลืองของรวงข้าวที่แก่นั้น จะเป็นกระต๊อบนา หรือเถียงนา หรือห้างนา ซึ่งก็ให้ภาพที่สื่อออกไปในอารมภ์ทางสงบและสบายใจเช่นกัน

การปลูกข้าวที่เห็นอยู่ในภาพทั้งสองนี้ แสดงถึงการทำนาข้าวด้วยการใช้เครื่องจักรกล  หากเป็นการทำนาด้วยการดำนาด้วยมือคน ก็จะเห็นองค์ประกอบที่เป็นบ้านอยู่อาศัยในอีกลักษณะหนึ่ง คือจะเป็นบ้านแบบโบราณ    กลุ่มบ้านแบบโบราณและวิถีชิวิตของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ภายในพื้นที่ ได้รับการสนับสนุนและการอุดหนุนจากภาครัฐในหลายๆด้านเพื่อให้คงดำรงไว้ในลักษณะเป็น living museum  การทำนาในพื้นที่เหล่านี้ ที่เราเห็นต้นข้าวเป็นแถวเป็นแนวเรียงกันดีนั้น เขาใช้ wire mesh เอามาม้วนทำเป็นลูกกลิ้งกลมๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร กลิ้งไปตามผืนนาเพื่อกำหนดจุดที่จะปักดำต้นข้าว


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ธ.ค. 23, 19:00
ก็จะขอเว้นวรรคไปสักสองสัปดาห์  แล้วค่อยกลับมาต่อเรื่อง RHA ในบางมุมมอง


กระทู้: ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ธ.ค. 23, 20:40
ต้องรีบออกมาแก้ เพราะเผลอไปสะกดคำว่า husk ผิด  ที่เขียนว่า hush นั้นผิดครับ