เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 09, 17:08



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 09, 17:08
ต่อจากกระทู้นี้
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2935.msg55615;topicseen#msg55615

มาเกริ่นไว้ก่อน ว่าชาติพันธุ์ที่สอง ในขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุด  คือลาว
ในเรื่องนี้แบ่งได้เป็น ๒ เชื้อชาติ   เรียกว่าลาวเหมือนกัน แต่ในภูมิหลังเป็นคนละอาณาจักรกัน
คือ  ลาวล้านนา (ในเรื่องเรียกว่า ลานนา)   
และ ลาวล้านช้าง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 09, 17:21
ตั้งข้อสังเกตโดยไม่มีคำตอบ ไว้ข้อหนึ่งว่า ทั้งๆที่ไทยเป็นคู่รบกับพม่ามายาวนานหลายร้อยปี   แต่ในขุนช้างขุนแผน  ไม่มีการเอ่ยถึงพม่าในฐานะข้าศึกให้ขุนแผนได้โชว์ฝีมือรบเลยสักครั้ง
มีแต่การรบกับทางเหนือ คือเชียงใหม่  ซึ่งแยกเป็นอาณาจักรอิสระ  ไม่ได้ขึ้นกับอยุธยา

เชียงใหม่ในยุคของขุนช้างขุนแผน มีกษัตริย์คือพระเจ้าเชียงอินทร์ครองอยู่     ในเรื่องตอน"พลายแก้วถูกเกณฑ์ทัพ"  เรียกเชียงใหม่ว่า "ลาว"  เต็มปาก  ถือว่าเป็นคนละชาติพันธุ์กับ "ไทย" หรือ "ใต้"  ซึ่งในเรื่องหมายถึงอาณาจักรอยุธยา

วันหนึ่งเสด็จออกขุนนางแน่น                            พร้อมท้าวแสนเพี้ยลาวเหล่าทหาร
หมอบราบกราบเต็มหน้าพระลาน                       เกษมศานติ์ด้วยมุขมาตยา
พอสองลาวนำข่าวหนังสือบอก              ว่าเชียงทองกลับกลอกนอกหน้า
ไปขึ้นบุรีศรีอยุธยา                                          ไม่เกรงเดชาบารมี
นำเครื่องบรรณาการไปเวียงใต้            กรุงไทยส่งเสริมเพิ่มศักดิ์ศรี
ดูกำเริบเอิบใจใช่พอดี                                      จะนำไทยมาตีบุรีเรา


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 09, 21:49
ทีแรก สงสัยว่าเชียงทอง คือเมืองอะไร     ไปค้นดู   หมายถึงหลวงพระบาง
ถ้าเข้าใจผิด  ท่านที่ทราบ ช่วยแก้ไขให้ด้วยนะคะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ต.ค. 09, 22:56
เชียงทองนี้เป็นเมืองต่อแดนกรุงศรีอยุธยา(?)กับล้านนา ไม่ใช่หลวงพระบางครับ

ชื่อนี้ปรากฏในจารึกวัดป่ามะม่วง

เมื่อเวลาที่นำสมเด็จพระมหาเถระกับพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวงมา พระบาทกัมรเดงอัญ ทรงใช้ให้จัดหมาก ข้าวตอก เทียน ธูป ดอกไม้ กัลปพฤกษ์ ปลูกสร้าง…ทำการบูชาตลอดหนทาง ใช้ให้อำมาตย์มนตรีราชสกุลทั้งหลายไปต้อนรับ บูชาสักการะจากเมืองฉอดมาถึงเมืองเชียงทองถึงเมืองบางจันทร์บางพารแล้วถึงเมืองสุโขทัยนี้

ดูในแนวเส้นทาง เชียงทองในจารึกนี้ควรอยู่ในเขตจังหวัดตากครับ

ถ้าพิจารณาเมืองเชียงทองในขุนช้างขุนแผนว่าเป็นเมืองต่อแดนอยุธยา-ล้านนา โดยทางภูมิศาสตร์ก็เป็นไปได้ว่าจะหมายถึงเมืองเชียงทองในจารึกนี้ครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 14 ต.ค. 09, 04:02
ถ้าเป็นเมืองหลวงพระบาง มักเรียกกันเป็นคู่ครับ คือ เชียงดง-เชียงทอง

เชียงทองในบทกลอน น่าจะเป็นตามที่คุณ CrazyHOrse ว่าไว้ครับ

ผม ไม่แน่ใจว่า ตำแหน่งของเมืองนี้ ปัจจุบันตรงกับแห่งหนตำบลใด แต่ว่าในจังหวัดตากมี ต.เชียงทอง อยู่ใน อ.วังเจ้า ครับ

ถ้าผมจำไม่ผิด แผนที่อยุธยา ในสมุดภาพไตรภูมิ จะมีตำแหน่งของเมืองเชียงทองอยู่ด้วย คุ้นๆ ว่าอยู่ไปทางชายแดนพม่านี่แหละครับ

เสียดาย หนังสือไม่ได้อยู่กับตัว เลยไม่สามารถนำภาพมาให้ดูได้

จากข้อสังเกตของอาจารย์เกี่ยวกับคู่สงครามของขุนแผนไม่ใช่พม่า ก็อาจใช้เป็นการกำหนดอายุฉากในเรื่องขุนแผนได้ว่า ต้องเป็นก่อนเสียกรุงครั้งที่ ๑ ส่วนจะตรงกับสมัยกษัตริย์องค์ใดนั้น ผมจำไม่ได้เสียแล้ว ทราบแต่ว่า มีผู้ศึกษาไว้แล้ว (ท่านใดทราบ ก็เล่าต่อได้เลยครับ อิอิ ผมจำได้เลาๆ ว่าเป็นการวิเคราะห์จากฉากลักพาตัว ... ไม่แน่ใจครับ)

เรื่องอยุธยารุกขึ้นเหนือนี้ น่าจะเด่นชัดตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราช เป็นต้นมา (สมัยสมเด็จพระรามาธิบดี ก็เริ่มรุกสุโขทัย) อยุธยาดำเนินนโยบายขยายอำนาจขึ้นไปทางเหนืออย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ได้สุโขทัย ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ

ประเด็นนี้ อีกมุมหนึ่งก็มองได้ว่า อยุธยาได้ดินแดนรอบข้างมาไว้ในปกครองหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนครศรีธรรมราช นครราชสีมา พระนครหลวง (คือ กรุงกัมพูชา) ดังนั้นจึงดำเนินยโนบายรวมภาคเหนือได้อย่างต่อเนื่อง



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ต.ค. 09, 09:51
แวดล้อมอยู่ด้วยผู้รู้ก็ดีอย่างนี้เอง  ขอบคุณที่มาช่วยอธิบายค่ะ

ค่ะ มี ต.เชียงทองอยู่ในจังหวัดตาก      เป็นไปได้ว่ากวีผู้แต่งน่าจะหมายถึงเมืองนี้   เพราะอยู่ในเส้นทาง ที่อยุธยาจะแผ่อำนาจขึ้นไปถึง  ส่วนเชียงใหม่ก็แผ่อำนาจลงมาปกครองอยู่เช่นกัน

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าไว้ใน "ตำนานเสภา"   ทรงอ้างอิงใน" คำให้การของชาวกรุงเก่า"   กล่าวว่าพระพันวษาเป็นพระราชบิดาของพระบรมกุมาร    พระบรมกุมารเมื่อขึ้นครองราชย์ มีมเหสีชื่อศรีสุดาจันทร์
ดังนั้น พระพันวษาคือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 
จึงทรงประมาณว่า ขุนแผนมีตัวตนอยู่ระหว่างจุลศักราช ๘๕๓ -๘๙๑  (พ.ศ. ๒๐๓๔- ๒๐๗๒)
มีเนื้อความในพงศาวดารเชียงใหม่ว่า พระเมืองแก้วเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ทำศึกกับอยุธยาอยู่หลายคราว

ฉากในเรื่องน่าจะย้อนยุคไปถึงก่อนอยุธยาทำสงครามกับพม่า อย่างคุณ Ho ว่า   แต่รายละเอียดบางตอน กวีผู้แต่งก็แทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยร่วมสมัยที่แต่งเข้าไปด้วย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 14 ต.ค. 09, 10:18
ขอแทรกถามอาจารย์ และท่านอื่นครับ ว่า

         แต่เดิมอยุธยาและชาติใกล้เคียงก็เรียกล้านนาว่า ยวน แล้วทำไมจึงกลายไปเป็น ลาว
ทุกวันนี้แทบไม่ได้ยินคำว่า ยวน กันแล้ว

         คืนวันอาทิตย์ มีรายการพาไปชมตลาดยวนเสาไห้ จ.สระบุรี ที่ซึ่งชาวยวนถูกกวาดต้อนมาอาศัยอยู่
กว่า ๒๐๐ ปี แต่ยังคงสืบต่อรักษาภาษาพูด และวัฒนธรรมไว้ได้อย่างน่าชื่นชม
         


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ต.ค. 09, 10:21
คุ้นๆอยู่ว่าเรื่องนี้มีในพระราชนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง ค้นดูก็เจอจริงๆ ดู ที่นี่ (http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=rattanakosin225&group=6&date=25-03-2007&gblog=1) นะครับ

ผมเข้าใจว่าเมืองเชียงทองคงจะร้างไปนาน ชื่อนี้ถูกลืมเลือนไป และเมื่อ ร.๖ เสด็จในคราวนั้น ท่านทรงสันนิษฐานว่าเมืองกองทองคือเมืองเชียงทอง ชื่อเชียงทองที่เห็นในปัจจุบัน น่าจะถูกตั้งขึ้นในคราวนั้นเอง ถ้าคุณ V_mee ผ่านมา คงจะให้ความชัดเชนในข้อนี้ได้ครับ

นอกจากขุนช้างขุนแผนจะไม่ใหม่ไปกว่าเสียกรุงครั้งที่ ๑ ก็ต้องเรียกได้ว่าไม่เก่าไปกว่าตอนที่อยุธยาผนวกเอาสุโขทัยไว้ได้อย่างแนบแน่นแล้วด้วยครับ น่าจะหลังสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นมาครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ต.ค. 09, 19:01
คำว่ายวน  จำได้รางๆว่าเป็นคำเดียวกับโยนก     ข้อนี้ต้องถามคุณ Ho  ว่ายวนหายไปตั้งแต่เมื่อไร   กลายเป็นลาวเข้ามาแทนที่

เห็นด้วยกับคุณม้าเรื่องฉากยุคสมัยของขุนช้างขุนแผน  เป็นยุคหลังพระบรมไตรฯ    เพราะในเรื่อง มีบทบาทพระยาสุโขทัย เป็นเจ้าเมือง   ขึ้นตรงกับอาณาจักรอยุธยาไปแล้ว


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 15 ต.ค. 09, 04:58
ถ้าตามที่ผมเข้้าใจนะครับ ชื่อ โยนก หรือ ยวน (บาลี อ่าน ยะวะนะ ; ไทย อ่าน ยวน) ล้วนมาจากชื่อ โยน ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเผ่าไท ที่ลงมาตั้งถิ่นฐานแถบทางเหนือของประเทศไทย

สมัยก่อน การแต่งตำนาน มักจะเอาเรื่องของท้องถิ่นไปผูกเข้ากับเรื่องราวทางพุทธศาสนา ดังนั้น ชื่อเมืองท้องถิ่นจึงถูกแปลงให้เป็น "สำเนียงบาลี"

จากโยน ก็เทียบเสียงกับแคว้น โยนก หรือ ยวน ที่มีอยู่แล้วในตำนานทางพุทธศาสนา อันหมายถึงดินแดนแคว้นแบคเตรียในอัฟกานิสถาน-อุซเบกีสถาน
ชื่อ ยวน (Yavana) เป็นสำเนียงแขกที่เรียกกรีกครับ โดยมุ่งเรียกขานกรีกเผ่าไอ-ออน (Ion)

ส่วนทางอยุธยาจะเรียกล้านนาว่าลาวตั้งแต่เมื่อไหร่นั้น ผมไม่ทราบเหมือนกันครับ แต่คิดว่าคงตั้งแต่สมัยพระเจ้าไชยเชฏฐาธิราช ที่ครองหลวงพระบาง-เชียงใหม่ มั้งครับ เป็นเพราะสมัยที่กษัตริย์ลาวได้มาครองเชียงใหม่ โดยการเกี่ยวดองกันทางเครือญาติ

เคยอ่านจากไหนจำไม่ได้เสียแล้ว เห็นว่า คนล้านนาเอง ก็ไม่ได้เรียกตัวเองว่าลาว และในทางตำนานก็เรียกตัวเองว่า ยวน หรือ โยนก

ถ้าจำไม่ผิด สมัยรัชกาลที่ ๕ กรุงเทพฯ ก็ยัง เรียกคนภาคเหนือว่า ลาว .... อันนี้ไม่แน่ใจนะครับ ร้างเรื่องประวัิติศาสตร์ไปหลายปี ชักเลือนๆ แต่ยังไม่เลอะเลือน อิอิ  ;D

นึกได้อีกว่า กษัตริย์ในตำนานของเชียงใหม่ มีพระนามนำหน้าว่า "ลาว" อยู่ไม่น้อย

ต้นวงศ์ของพญามังราย ก็มีคำว่า ลาว อยู่ในพระนาม คือ ปู่เจ้าลาวจก


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 ต.ค. 09, 13:47
ผมไปเปิดสมุดภาพไตรภูมิสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี เล่ม ๑ เล่ม ๒ ดู ปรากฏตำแหน่งเมืองเชียงทอง อยู่เหนือเมืองกำแพงเพชรขึ้นไปในฝั่งแม่น้ำเดียวกัน และอยู่ก่อนถึงเมืองแม่ตางหรือแม่ตาก สงสัยว่าคือเมืองตากกระมัง ดังนั้น ที่ว่ามี ต.เชียงทองอยู่ในจังหวัดตาก เป็นไปได้ว่ากวีผู้แต่งน่าจะหมายถึงเมืองนี้   เพราะอยู่ในเส้นทาง ที่อยุธยาจะแผ่อำนาจขึ้นไปถึง  ส่วนเชียงใหม่ก็แผ่อำนาจลงมาปกครองอยู่  ก็น่าจะถูกต้อง

ส่วนเรื่อง โยนก หรือ ยวน ที่ใช้เรียกหัวเมืองล้านนานั้น  เป็นชื่อที่ปรากฏในตำนานที่แต่งเป็นภาษาบาลี  คนแต่งตำนานคงเทียบชื่อบ้านเมืองในสุวรรณภูมิกับดินแดนชมพูทวีปโดยยึดเอาทิศทางเป็นเกณฑ์ 

ฉากที่เกี่ยวกับล้านนาในเสภาขุนช้างขุนแผน  แน่นอนว่าต้องเป็นหลังสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  ต้องข้อสังเกตต่อไปว่า  ในฉากของเหตุการณ์ตัวละครเป็นเรื่องที่น่าจะเกิดสมัยอยุธยาตามการรับรู้ผ่านคำบอกเล่าหรือตำนานหรือเอกสารที่จดบันทึก  แต่สิ่งที่ผู้แต่งเสภานำมาเขียนเกี่ยวกับล้านนาอาจจะเป็นการรับรู้เรื่องราวล้านนาในสมัยกรุงธนบุรีเรื่อยมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็เป็นได้  เนื่องจากล้านนาเพิ่งฟื้นม่านและเข้ามาสวามิภักดิ์กับทางบางกอก  และต้องไม่ลืมว่า ก่อนหน้านั้นล้านนาเองตกอยู่ในการปกครองของพม่าประมาณ ๒๐๐ ปี แล้วจึงจะมาอยู่ในฐานะประเทศราชของสยาม


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ต.ค. 09, 21:42
ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ  อยุธยาเรียกล้านนาว่า "ยวน" เห็นได้จาก "ลิลิตยวนพ่าย"  แต่กวีที่แต่งขุนช้างขุนแผน ไม่ใช้คำนี้เลย  แสดงว่า กว่าจะมาถึงยุครัตนโกสินทร์  คำว่า "ยวน" หายไปจนจำกันไม่ได้แล้ว

พระเจ้าเชียงอินทร์ คู่สงครามของพระพันวษา   ครองราชย์ยาวนานเอาการ   เพราะเมื่อเริ่มศึกกับเชียงทอง  พลายแก้วเป็นหนุ่มเพิ่งแต่งงาน 
พระองค์ก็ครองราชย์มาจนกระทั่งพลายแก้วกลายเป็นขุนแผน ติดคุกจนลูกชายโตเป็นหนุ่ม  ก็เกิดศึกกันอีกครั้ง    เชียงใหม่เป็นฝ่ายแพ้   
พระเจ้าเชียงใหม่กลายเป็นพ่อตาของพลายงามไปในที่สุด

ศึกเชียงใหม่ในตอนแรก     กวีผู้แต่งตอนนี้ คงเป็นชาวภาคกลาง อาจจะคนกรุงเทพนี่เอง    การบรรยายจึงออกมาเป็นภาษาไทยกรุงเทพล้วนๆ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 20 ต.ค. 09, 09:35
น่าสังเกตว่าในยวนพ่าย ใช้ ยวน และ ลาว ปะปนกันครับ

อาจจะต้องไปค้นดูว่าวรรรคดีสมัยพระนารายณ์มีส่วนที่กล่าวถึง ยวน บ้างหรือไม่นะครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ต.ค. 09, 15:56
พลายแก้วยกทัพจากอยุธยา ไปตีเชียงทอง ในเรื่องบอกเส้นทางเดินทัพไว้สั้นๆว่า  จากอยุธยาไปทุ่งโสภา   ไปบ้านกระทง ตรงไปท่าโพธิ์   ถึงโพธิ์สามต้นก็ค่ำพอดีจึงหยุดทัพเสียคืนหนึ่ง   เช้าก็ตรงขึ้นไปนครสวรรค์ แต่ไปทางบก เป็นทางลัดฝ่าดงไป  ไม่ล่องไปตามลำน้ำ
จากนครสวรรค์ไปกำแพงเพชร  ระแหง และเถินตามลำดับ  ก็ระดมพลจากทั้งสามเมือง ไปตีเชียงทอง งั้นเชียงทองก็อยู่เหนือเถินขึ้นไป

ถ้าใครนึกเส้นทางนี้ออก  ช่วยอธิบายต่อให้ด้วยได้ไหมคะ

ในตอนนี้มีบทชมไพรบทหนึ่งแทรกอยู่      ฝีมือกวีระดับเทพ   จนต้องเดินออกซอยแยก เล่าสู่กันฟังเสียหน่อย   ขอวางมือจากเรื่องลาวชั่วคราว
บทชมไพร สำนวนเหมือนอิเหนา ในรัชกาลที่ ๒ มาก  เพราะบทชมนกชมไม้  คล้ายคลึงกันคือนิยมเล่นเสียงให้ชื่อนกกับชื่อต้นไม้สอดคล้องกัน        แต่กลอนในอิเหนามีลักษณะเป็นระเบียบตายตัว  คือนกยูงจับอยู่บนต้นยูง  นกยางก็ต้องจับบนต้นยาง    ผิดกับเสภาที่ยืดหยุ่นให้สมจริงมากกว่า   เห็นขนบข้อนี้เฉพาะบางวรรค

นกเขาจับข่อยอยู่เคียงคู่                  ผัวมาอยู่ไกลพิมเจ้าเหลือแหล่
คับแคทำรังบนต้นแค                      พี่ห่างแหหอเหินมาเดินไพร
กระลุมพูจิกพวงชมพูเทศ       สังเกตเหมือนผ้าชมพูพิสมัย
พะยอมหอมหวนมายวนใจ      เหมือนกลิ่นสไบเจ้ายังติดมา
หอมกลิ่นบุปผชาติดาษลง      เหมือนกลิ่นแก้มพี่หลงตะลึงหา
นกแก้วจับแก้วแจ้วเจรจา     เวทนาน้องจะพูดกับผู้ใด
นกขมิ้นบินจับต้นมะเดื่อ                   โอ้ว่าเนื้อเจ้าจะหมองไม่ผ่องใส
จะเมินหมางขมิ้นทาระอาใจ     โอ้เจ้าพิมพิลาไลยของผัวอา
พิศพรรณพฤกษามาตามทาง     มะปรางเปรียบแก้มนางทั้งซ้ายขวา
อินพรมนมสวรรค์จันทน์คณา     พี่จนกระแจะจันทน์ทาทุกอย่างไป
เห็นกระทุ่มพุ่มชัฏระบัดตั้ง   เหมือนผมพิมเจ้าสะพรั่งเพราไสว
เปล่าจิตคิดเย็นยะเยือกใจ   สักเมื่อไรจะได้พบเจ้าพี่อา


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ต.ค. 09, 16:38
มีข้อสังเกตเรื่องการใช้คำ
คือ  "อินพรมนมสวรรค์จันทน์คณา"   ในตอนชมไพรข้างบน  ทำให้นึกถึงตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง   ที่ว่า "แทงทวยทอดอินพรมนมสวรรค์"
รู้ว่า "อิน" เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง   และ"นมสวรรค์"  ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง   แต่ พรม หรือพรหม ไม่รู้ว่าต้นอะไร
อย่างไรก็ตาม สังเกตว่า กวีที่ใช้ อินพรมนมสวรรค์ น่าจะใช้ศัพท์ด้วยความคุ้นเคยในตอนหนึ่ง  และมาใช้ด้วยความคุ้นเคยในอีกตอนหนึ่ง
ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ว่ากันว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒    ถ้าอย่างนั้น ตอนพลายแก้วไปทัพ  จะเป็นพระราชนิพนธ์เช่นกันได้หรือไม่    ฝากคำถามแรกไว้ก่อนค่ะ
แล้วจะมาต่อว่า  ทำไมถึงสงสัย   นอกเหนือจากศัพท์แค่วรรคเดียว       เหตุผลคือฝีมือของกวีที่แต่งตอนนี้  เชี่ยวชาญทางศัพท์และภาษาอย่างหาตัวจับยาก
ขอพิมพ์ตัวอย่างมาให้อ่าน เป็นยิงทีเซอร์ก่อนนะคะ

ยางยูงสูงโยนโอนสะบัด                         พระพายพัดเอนลู่ดูสะพรั่ง
ลมกระแทกแตกลั่นสนั่นดัง                      ถูกรังหนูพุกยุ่งสยุมพู
ปลายทอดยอดแยะตลอดไส้                   เป็นตะไคร่คราบเคอะออกเยอะอยู่
กระแตตามกระรอกมาเข้าคารู                  งูเขี้ยวเลี้ยวไล่ตลอดปลาย

กวีไทยไม่กี่คน ที่บรรยายกลอนออกมาเห็นภาพเคลื่อนไหวและสรรพเสียงออกมาได้แจ่มชัดขนาดนี้   ใช้คำแค่ ๒ บทเท่านั้นเอง
พูดอย่างไม่เกรงใจว่า กวีคนนี้จะเป็นใครก็ตาม  มือเหนือชั้นกว่าสุนทรภู่เสียอีก


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 ต.ค. 09, 17:50
พยายามทำความเข้าใจที่คุณเทาชมพูอธิบายค่ะ  ว่าเป็นงานระดับเทพ
เลยอ่านออกเสียง
น่าจะใช้เวลาอีกสามคืนจึงจะพอเข้าใจ


พรม  มีอีกชื่อว่า หนามพรม   หรือขี้แฮด(พายัพ)
ชื่อพฤกษศาสตร์             Carissa spinarum L. (syn. C. cochinchinensis Pit.)
วงศ์                           Apocynaceae

ลักษณะ เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม  ใบเล็กกลม  ตามต้นและกิ่งมีหนามแข็งยาวและแหลมคม(หาได้ง่ายในสระบุรี)

ประโยชน์  สรรพคุณทางสมุนไพร  แก่นมีรสเฝื่อน  มัน  ขม  ฝาดเล็กน้อย
บำรุงไขมันในร่างกาย  บำรุงกำลัง  ทำให้ร่างกายแข็งแรง  อดทน

การขยายพันธุ์  ด้วยการเพาะเม็ด



จัน, จันขาว, จันลูกหอม, จันอิน, จันโอ, อิน (ลูกจันทน์)
ชื่อพฤกศาสตร์      Diospyros decandra Lour. (syn. D. packmannii C.B. Clark)
วงศ์                  Ebenaceae



ต้นนี้เราคงคุ้นกันนะคะ


นมสวรรค์   Pagoda Flower
ชื่อพฤกศาสตร์       Clerodendrum paniculatum L. var. paniculatum
วงศ์                   Labiatae

ไม้พุ่มขนาดกลาง  สูง ๖ - ๗ ฟุต    ใบโตกลมคล้ายนางแย้ม
แต่มีแฉกเล็ก ๆ ออกดอกเป็นช่อสีแดง เป็นชั้น ๆ คล้ายฉัตร  ดอกเล็กๆ แต่ละดอกคล้ายดอกเข็ม  ออกดอกตลอดปี



จันทน์คณา  จันทนา  จันทน์ขาว   จันทน์ใบเล็ก   จันทน์หอม
ชื่อพฤกษศาสตร์    Tarenna hoaensis Pit.
วงศ์                  Rubiaceae

เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลาง   ใบเล็กคล้ายใบไกร  เป็นพุ่มแจ้
สรรพคุณทางสมุนไพร มีรสขมเย็นระคนกัน
มีที่ประจวบและระยอง
แก้ไข้ที่เกิดในตับและดี   บำรุงเลือดลม  ทำให้เกิดปัญญาและราศี (ฮ้า....)


(เทศบาลนครกรุงเทพ พิมพ์ ต้นไม้ในวรรณคดี โดยได้รับความกรุณาจากคุณหลวง บุเรศบำรุงการ  ๒๕๑๔)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 ต.ค. 09, 17:59
ชมพู่เทศ    
ชมพู่ขาว  ชมพู่เขียว  ชมพู่สาแหรก  ชมพู่มะเหมี่ยว   เป็นชมพู่เทศ

ชื่อพฤกษศาสตร์          Syzygium samarangense  Merr. & L.M.Perry (syn. Syzygium javanicum, Eugenia javanica)
วงศ์                       Myrtaceae

รับประทานเป็นผลไม้
ปรุงเป็นยาหอมชูกำลัง  ทำให้ใจเบิกบาน
คนที่เป็นไข้เรื้อรังรับประทานได้


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ต.ค. 09, 19:09
ขอบคุณมากค่ะ  คุณวันดีเข้ามาอธิบายเรื่องต้นไม้ได้ทันใจจริงๆ

ฝีมือของกวี ดูว่าขั้นไหน  ถ้าเทียบง่ายๆ  ก็คือภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว 
ถ้าวาดภาพนิ่ง ง่ายกว่า   เช่นวาดใบไม้หนึ่งใบหล่นอยู่บนพื้นดิน
แต่ถ้าวาดภาพใบไม้ทั้งต้นกำลังพลิกพลิ้วตามลมอย่างมีชีวิตชีวา    มองแล้วสัมผัสสายลมแรง พัดออกมาจากภาพได้เลย
เราจะรู้ว่าฝีมือคนวาดได้ขนาดนี้   ต้องจัดเจนด้านฝีมือ  ต้องแม่นยำทางสายตา  ต้องมีวรรณศิลป์สูงมาก
เก่งกว่าคนวาดใบไม้แน่นิ่งบนพื้นดิน

มาดูภาษาของกวีคนนี้นะคะ  บรรยายป่าสมัยสองร้อยกว่าปีก่อน  ต่อจากกลอนในค.ห.ก่อน

ลางต้นล้มตั้งตละปัก                    รากหักขึ้นแทงระแหงหงาย
กระตุ้มกระติ้มเกะเกะปะกันตาย      ยอดหวายพันคลุมอยู่ซุ้มเซิง
เป็นน้ำกรังรังเรอะอยู่เฉอะแฉะ       เขยอะแขยะขยุกขยุยดูยุ่ยเหยิง
รุงรังรุกรุยเป็นปุยเซิง                   กะพะกะเพิงพันผูกลูกหวายไป

ท่านบรรยายไม้ยืนต้นตายซาก  มีไม้คลุมอยู่เป็นกระเซิง      กวีที่ไม่แน่ใจฝีมือตัวเองจะไม่กล้าลงท้ายบทด้วยคำยาก  เพราะหาคำมาสัมผัสยากหนักเข้าไปอีก   ดีไม่ดี  กลอนจะเข้ารกเข้าพงไป
แต่รายนี้ ลงท้ายด้วย "เซิง"  ท่านก็หาของท่านมาต่อไปได้จนจบ   เสียงของคำในนี้มองเห็นภาพหวายคลุมไม้ตายซากได้เป็นซุ้มยุ่งเหยิง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ต.ค. 09, 19:12
ขอย้อนกลับไปตอนรำพึงรำพันอีกนิดค่ะ

เห็นกระทุ่มพุ่มชัฏระบัดตั้ง     เหมือนผมพิมเจ้าสะพรั่งเพราไสว
เปล่าจิตคิดเย็นยะเยือกใจ     สักเมื่อไรจะได้พบเจ้าพี่อา

เห็นกระทุ่มแล้วคิดถึงผมนางพิม     สะท้อนทรงผมสมัยต้นรัตนโกสินทร์แน่นอน    ผมตัดสั้นของสตรีไทย เรียกว่าทรงดอกกระทุ่ม     ถ้าหากว่าเป็นสาวอยุธยาก่อนกรุงแตก  ผมถึงจะยาวประบ่า


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 ต.ค. 09, 23:07
พลายแก้วยกทัพจากอยุธยา ไปตีเชียงทอง ในเรื่องบอกเส้นทางเดินทัพไว้สั้นๆว่า  จากอยุธยาไปทุ่งโสภา   ไปบ้านกระทง ตรงไปท่าโพธิ์   ถึงโพธิ์สามต้นก็ค่ำพอดีจึงหยุดทัพเสียคืนหนึ่ง   เช้าก็ตรงขึ้นไปนครสวรรค์ แต่ไปทางบก เป็นทางลัดฝ่าดงไป  ไม่ล่องไปตามลำน้ำ
จากนครสวรรค์ไปกำแพงเพชร  ระแหง และเถินตามลำดับ  ก็ระดมพลจากทั้งสามเมือง ไปตีเชียงทอง งั้นเชียงทองก็อยู่เหนือเถินขึ้นไป

ถ้าใครนึกเส้นทางนี้ออก  ช่วยอธิบายต่อให้ด้วยได้ไหมคะ

ถ้าเป็นเชียงทองที่ว่าไว้ในจารึกสุโขทัย น่าจะอยู่ระหว่างกำแพงเพชรกับระแหงครับ

เป็นไปได้สองอย่างคือ
- เป็นคนละเชียงทองกัน
- ผู้แต่งขุนช้างขุนแผนตอนนี้ไม่รู้แล้วว่าเชียงทองคือเมืองอะไร อยู่ที่ไหน ปัจจุบันนี้เราก็เดาเอาเหมือนกันครับ อ.เชียงทองที่จังหวัดตาก ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะเป็นเพราะ ร.๖ ท่านทรงให้สืบหาครั้งเสด็จสุโขทัยครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 09, 12:15
อ่านขุนช้างขุนแผนตอนนี้   ดูภูมิศาสตร์ของเมืองต่างๆ  พอสรุปได้ว่าเชียงทองอยู่เหนือกำแพงเพชร  ระแหง และเถินขึ้นไป
แต่ไม่ไกลกันนัก
เพราะระบุไว้ว่า พระยากำแพงเพชรและพระยาระแหง เป็นคนส่งข่าวมาบอกอยุธยา ว่าเชียงทองแพ้ทัพเชียงใหม่  ก็แสดงว่าอยู่ไม่ไกลกัน  รู้ข่าวกันเร็ว

แต่เชียงทองอยู่ใต้ลำปางและลำพูน  เพราะว่าทัพเชียงใหม่แตกหนี ถอยร่นขึ้นไปทางนั้น  ทัพไทยก็ไล่ตามไป

ตั้งข้อสังเกตอีกอย่างว่า ในเรื่อง เรียกเจ้าเมืองกำแพงเพชรว่า พระยากำแพงเพชร  คนนี้ไปร่วมรบกับอยุธยา  รบกับฟ้าลั่นแม่ทัพของเชียงใหม่  ถูกฟันตกม้า แต่คงจะหนังเหนียว  ฟันไม่เข้าเลยรอดตายไปได้
เคยอ่านพบว่า เจ้าเมืองกำแพงเพชร มีราชทินนามว่า พระยารามณรงค์  ในสมัยอยุธยาตอนปลาย

การรบระหว่างไทยกับลาวเชียงใหม่ คึกคักโกลาหลมาก  ถ้าเป็นวิดีโอก็ภาพเคลื่อนไหวเร็วและแรงทีเดียว  มีปืนไฟใช้ในการรบเป็นของธรรมดา ควบคู่ไปกับดาบและทวนของไทย
มีอยู่คำหนึ่งน่าสนใจ  ไม่ทราบว่า ปิหลั่น แปลว่าอะไร

พวกเชียงทองมีค่ายปิหลั่นรับ                       ลูกปืนปับแบนเปล่าหาเข้าไม่
รบกันป่วนลั่นสนั่นไพร                                 ยังไม่มีชัยชนะกัน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เงินปุ่นสี ที่ 26 ต.ค. 09, 15:18
ชื่อเมืองเชียงทองนั้น ยังปรากฎอยู่ในการแต่งตั้งขุนนางในสมัยรัชกาลที่ ๕
โดยเป็นเมืองขึ้นของเมืองตาก ตามนี้ครับ

"ให้พระสุนทรบริรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองตาก เปนพระสุวรรณราชธานี ผู้สำเร็จราชการเมืองเชียงทองขึ้นแก่เมืองตาก
ถือศักดินา ๘๐๐ ตั้งแต่ ณ วัน ๒ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑ ปีมโรง สัมฤทธิศก จ.ศ.๑๒๓๐"


ดังนั้นเมืองเชียงทองในสมัยนี้น่าจะอยู่ไม่ไกลจากเมืองตากเท่าใดนัก
และเข้าใจว่าทั้งเมืองเชียงเงินและเมืองเชียงทองทั้งคู่ต่างก็เป็นเมืองขึ้นของเมืองตากเมืองหน้าด่านที่สำคัญ



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 ต.ค. 09, 16:24
คำว่า ปิหลั่น  อาจจะมาจากคำภาษามลายูว่า apilan แปลว่า เกราะหรือเสื้อเกราะ  คำนี้ปรากฏในกลอนบทละครบ่อยๆ ครับ 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 09, 16:40
ขอบคุณค่ะ คุณหลวงเล็ก
เอาแผนที่มาให้ดูกัน
ปัจจุบัน ต.เชียงทองอยู่ในกิ่งอ. วังเจ้า จ.ตาก   ถ้าดูเส้นทางที่บอกไว้ในขุนช้างขุนแผน ก็จะเห็นว่าอยู่เหนือกำแพงเพชรขึ้นมา  แต่อยู่ใต้ลำปาง ลำพูน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 09, 16:47
ขยายส่วนกิ่งอ.วังเจ้า ให้ดู   เชียงทองอยู่แถวนี้


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ต.ค. 09, 21:38
ภาพถ่ายทางดาวเทียมจาก Point Asia ครับ
ตำบลเชียงทองอยู่ในกิ่งอำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 26 ต.ค. 09, 22:18
ระแหง อยู่ที่ อ.เมืองตาก เหนือเชียงทองขึ้นไปครับ เห็นว่าตำแหน่งจะสลับกับที่ปรากฏในขุนช้างขุนแผนนิดหน่อย ข้อนี้อาจเป็นเพราะ ในสำนึกของคนยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น เห็นว่าตากเป็นพื้นที่ของอยุธยา ดังนั้นรอยต่อแดน อยุธยา-ล้านนา น่าจะอยู่เหนือตากขึ้นไป

แต่ข้อนี้ คงต้องประกอบกับสมมติฐานว่า คนในยุคนั้นไม่รู้ว่าเชียงทองอยู่ที่ไหนเสียแล้ว

เห็นได้ว่าข้อนี้ขัดกับข้อมูลที่คุณเงินปุ่นสีให้ไว้ว่า
ชื่อเมืองเชียงทองนั้น ยังปรากฎอยู่ในการแต่งตั้งขุนนางในสมัยรัชกาลที่ ๕
โดยเป็นเมืองขึ้นของเมืองตาก ตามนี้ครับ

"ให้พระสุนทรบริรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองตาก เปนพระสุวรรณราชธานี ผู้สำเร็จราชการเมืองเชียงทองขึ้นแก่เมืองตาก
ถือศักดินา ๘๐๐ ตั้งแต่ ณ วัน ๒ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑ ปีมโรง สัมฤทธิศก จ.ศ.๑๒๓๐"


ดังนั้นเมืองเชียงทองในสมัยนี้น่าจะอยู่ไม่ไกลจากเมืองตากเท่าใดนัก
และเข้าใจว่าทั้งเมืองเชียงเงินและเมืองเชียงทองทั้งคู่ต่างก็เป็นเมืองขึ้นของเมืองตากเมืองหน้าด่านที่สำคัญ


ที่น่าแปลกใจคือในพระราชนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง ให้ข้อมูลที่ดูเหมือนว่าในสมัยรัชกาลที่ ๖ เชียงทองเป็นเมืองที่ไม่มีใครรู้จักเสียแล้ว

ต่อมาเมื่อได้ทราบกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวในเรื่องเมืองเก่า จึงได้กลับความคิดเห็นว่าพระแก้วมรกตคงจะได้มาประดิษฐานไว้ที่ในวัดหนึ่งใน เมืองนครปุ คือเมื่อพระแก้วมรกตมาอยู่กำแพงเพชรนั้น เมืองกำแพงเพชรใหม่ยังไม่ได้สร้างขึ้น ครั้นได้ตรวจหนังสือในหลักศิลาจารึกว่าด้วยสุโขทัยมีปรากฏอยู่ว่า เมืองกำแพงเพชรเวลานั้นยังเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ห่างลำน้ำแควน้อยจึงได้ไป ขึ้นเรือที่เชียงทอง ซึ่งเข้าใจอยู่ว่าอยู่เหนือกำแพงเพชรขึ้นไป
.
.
.
ยังมีสิ่งที่ทำให้น่าเชื่อมากขึ้นคือ ถนนระหว่างกำแพงเพชรกับสุโขทัยนั้นได้ผ่านไปใกล้เมืองย่อมๆ ๓ เมือง ตรงตามความในหลักศิลา แต่เมื่อข้าพเจ้าเดินตามถนนนั้นได้เห็นปลายถนนทางด้านตะวันตก ไปหมดอยู่เพียงขอบบึงใหญ่อันหนึ่ง ห่างจากเมืองกำแพงเพชรกว่า ๑๐๐ เส้น พระวิเชียรปราการแสดงความเห็นว่าน่าจะทำข้ามบึงไป แต่น้ำได้พัดทำลายไปเสียหมดแล้ว ข้อนี้ก็อาจจะเป็นได้ แต่ข้าพเจ้ายังไม่สู้จะเชื่อนัก ยังนึกสงสัยอยู่ว่าคงจะมีต่อไปจนถึงเมืองเชียงทอง ซึ่งเป็นเมืองท่าเรือ ถามถึงเมืองเชียงทองแต่เมื่ออยู่เมืองกำแพงเพชรก็ยังไม่ได้ความ ครั้นจะอยู่รอค้นหาต่อไปก็ไม่มีเวลาพอ จึงได้ขอให้พระวิเชียรปราการจัดหาคนที่รู้จักภูมิประเทศ เที่ยวตรวจค้นดูทางเหนือเมืองกำแพงเพชรขึ้นไป ว่าจะหาที่อะไรที่พอจะสันนิษฐานว่าเป็นเมืองได้บ้างหรือไม่ แล้วก็ออกเดินทางต่อไป
.
.
.
ฝ่ายพระวิเชียรปราการได้ไปด้วย ถึงที่บ้านพรานกระต่ายพบสนทนากับขุนภักดีนายอำเภอ ตกลงสั่งให้ขุนภักดีไปตรวจค้นหาเมืองตามที่ข้าพเจ้าแนะนำ ขุนภักดีได้ไปเที่ยวตรวจค้นจนพบ แล้วรีบตามไปที่สวรรคโลก บอกว่าได้พบเมืองโบราณเมืองหนึ่งอยู่เหนือเมืองกำแพงเพชรขึ้นไปประมาณ ๒๐๐ เส้นเศษ เป็นเมืองย่อมๆเป็นคูและเทินดิน ราษฎรตามแถบนั้นเรียกว่าเมืองเทินทอง หรือชุมนุมกองทอง เมืองนั้นตั้งอยู่ริมลำน้ำเรียกว่าคลองเรือ ปากคลองทะลุลำน้ำแควน้อย และมีถนนจากเมืองนั้นไปทางตะวันออกเฉียงใต้ แต่มาขาดเสียกลางทาง นี่เป็นพยานอยู่ว่า การที่สันนิษฐานไว้นั้นถูกต้องแล้ว และถนนคงจะได้มีมาจนต่อกับที่ขาดอยู่ที่บึงอยู่นั้น ส่วนเมืองกองทองหรือเนินทองนั้นข้าพเจ้าเชื่อว่าคือเมืองเชียงทองที่กล่าว ถึงในหลักศิลานั้นเอง เพราะฟังดูภูมิฐานที่ตั้งก็ดูเหมาะกับที่จะเป็นเมืองท่าเรือทะเล และที่นี้เองน่าจะเป็นเมืองเชียงทองที่กล่าวถึงอยู่หลายแห่งในพระราช พงศาวดารกรุงทวาราวดี และน่าจะเป็นเมืองนี้เองที่กล่าวถึงในเรื่องขุนช้างขุนแผน
.
.
.
แต่ต้องขอแก้ตัวไว้ในที่นี้ว่าบางทีจะมีบกพร่องอยู่มาก เพราะประการหนึ่งเวลามีน้อยอยู่สักหน่อย เพราะฉะนั้นบางทีมาได้ข่าวถึงสถานที่สำคัญๆเมื่อเดินพ้นมาเสียแล้ว จะย้อนกลับไปก็ไม่มีเวลาเช่น เมืองเชียงทองพึ่งมาได้ข่าวมีเมื่อมาอยู่ที่สวรรคโลกแล้ว และถ้ำพระรามใกล้สุโขทัยซึ่งกล่าวถึงอยู่ในศิลาจารึก และซึ่งข้าพเจ้าตั้งใจไว้ว่าจะไปแต่หาไม่พบ จนเมื่อมาอยู่ที่พิษณุโลกแล้วจึงได้ข่าวว่ามีดังนี้เป็นตัวอย่าง อีกประการหนึ่ง ตามสถานที่เหล่านี้ไม่ใคร่มีใครไป จึงเป็นการลำบากในการค้นหาเป็นอันมาก บางแห่งต้องหักร้างถางพงเข้าไป ไปกว่าจะถึงก็ยากนัก ซึ่งทำให้สงสัยอยู่ว่าตามในที่รกๆซึ่งยังเข้าไปไม่ถึงนั้นน่าจะมีสิ่งที่ควร ดูอยู่อีกบ้าง


คัดมาจาก บล็อกของคุณกัมม์ (http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=rattanakosin225&date=25-03-2007&group=6&gblog=1)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ต.ค. 09, 13:39
ขอเพิ่มเติมเรื่องค่ายปิหลั่น

ปิหลั่น มาจากภาษามลายูว่า apilan แปลว่า เกราะสำหรับป้องกันกระสุนปืนใหญ่
ใน พจนะภาษา ของอ.เปลื้อง ณ นคร ท่านอธิบายความหมายไว้ว่า
ปิหลั่น หมายถึง ป้อมปราการที่สามารถเคลื่อนย้ายเข้าหาข้าศึกได้  วิหลั่น ก็เรียก
ถ้าอ่านตามนี้  ก็ยังไม่เห็นว่า ปิหลั่น มีลักษณะอย่างไร  เลยลองไปค้นในหนังสือเล่มอื่น พอได้ความจากบทละครในเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ตอนท้าวกะหมังกุหนิงยกทัพตีเมืองบุหราหงัน ว่า

บัดนั้น                            พวกทัพหน้าทัพหนุนแน่นเนือง
ขุดดินค่ายตับขยับเยื้อง       ถึงมุมเมืองคูคั่นชั้นใน
ทำหอรบเสร็จสรรพ์วิหลั่นบังยกตั้งประชิดเข้าไปใกล้
เกณฑ์ขึ้นคอยประจำไว้        ปืนใหญ่ยิงตอบกันไปมา

บัดนั้น                             ชาวเมืองซึ่งประจำหน้าที่
สอดแทงแย้งยิงไพรี            ไม่ท้อถอยคอยทีต้านทาน
วางปืนตับตอบรอบค่าย        คนรายรักษาหน้าด้าน
ชักปีกกากั้นประจัญบาน        ยกกระดานขึ้นตั้งบังตน
บนหอรบเรียงปืนใหญ่ยิง       บ้างทุ่มทิ้งหินผาดังห่าฝน
ตัวนายรายกำกับพวกพล       ต่างคนคอยรบรับไว้ ฯ

บัดนั้น                              ท้าวพระยาสามนต์น้อยใหญ่
ฟังกำหนดพจนารถภูวไนย     ก็ตรวจตราหาไพร่ให้พรั่งพร้อม
เร่งตั้งค่ายรายรอบกำแพงเมือง  ยักเยื้องมิให้บังหน้าป้อม
ชักปีกกาถึงกันเป้นหลั่นล้อม   วงอ้อมโอบรอบขอบคู
ยกหอรบหอคอยลอยตระหง่าน  สับกระดานต้านตั้งบังอยู่
รั้วขวากชั้นในไว้ประตู           เสากระทู้เขื่อนขัณฑ์มั่นคง
ทุกหน้าค่ายภายนอกออกไป   ก็โค่นไม้ขุดตอไม่หลอหลง
ฉายจอมปลวกปราบราบลง    ให้เตียนตรงป้อมปืนในพารา
สนามเพลาะในค่ายรายปืนน้อย  วางคนประจำคอยอยู่รักษา
แล้วนายกองรีบรัดจัดโยธา      เป็นหมู่หมวดตรวจตราทุกราตรี ฯ

บัดนั้น                                ดะหมังรับสั่งใส่เกศา
ออกมาเกณฑ์กันดังบัญชา       ให้โยธาถางที่นี่นัน
ทำค่ายหน้าค่ายหลังตั้งบรรจบ   ยกหอรบขึ้นปรับสับวิหลั่น
ชักปีกกาขึงไปถึงกัน               ผูกราวสามชั้นขันชะเนาะ
หว่างปอมเป็นจังหวะระยะแย่ง   ใส่บังตางาแซงมั่นเหมาะ
พูรดินเต็มตามสนามเพลาะ      ไม้ไผ่เจาะรวงปล้องเป็นช่องปืน
บ้างปลูกโรงรถคชา                ทั้งที่ผูกช้างม้ามิให้ตื่น
เสาตะลุงหลักแหล่งแปลงปืน     พ่างพื้นปราบเลี่ยนเตียนตา
บ้างเร่งทำตำหนักน้อยใหญ่       เพิงรายรอบในซ้ายขวา
ข้างนอกค่ายปักขวากดาษดา     ชักเขื่อนเข้าหาประจบมุม
บ้างจัดคนลำลองทุกกองเกณฑ์  ออกตระเวนนั่งทางวางหลุม
คอยเล็ดลอดสอดแนมจับกุม      ชั้นในให้ประชุมจตุรงค์ ฯ

จากกลอนข้างต้นที่ยกมา  พอสรุปได้ว่า ปิหลั่น หรือ วิหลั่น คงมีลักษณะเป็นไม้กระดานยกเคลื่อนที่ได้ ใช้ทำเป็นป้อมล้อมรอบหอรบ ป้องกันกระสุนปืนใหญ่ได้  เข้าใจว่าคงจะเป็นไม้กระดานขนาดใหญ่ยาวหนาและหนักมากพอสมควร  นับว่าเป็นยุทโปกรณ์สมัยโบราณที่คนสมัยก่อนเข้าใจคิดทำขึ้น  ปิหลั่นที่ว่ามานี้คงจะใช้มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  เสียดายว่าไม่มีรูปให้ดู  เลยได้แต่คาดคะเนรูปร่างปิหลั่นไปตามจินตนาการเท่านั้น.


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 09, 16:12
เมื่อกี้พิมพ์ยาว  พอส่งเว็บก็ขัดข้องพอดี  เรียกคืนไม่ได้ด้วย  ต้องก้มหน้าก้มตาพิมพ์ใหม่
คำอธิบายของคุณหลวงเล็ก น่าทึ่งมาก ขอบคุณที่ไปค้นคว้ามาให้     ดิฉันอยากเห็นรูปปิหลั่นจริงๆ  ไม่รู้ว่ามีอยู่ในภาพผนังโบสถ์รามเกียรติ์หรือเปล่า    ในเมื่อเป็นเรื่องรบกันตลอด  น่าจะมีปิหลั่นแทรกอยู่บ้างก็ได้

ข้อสังเกตของคุณม้าน่าสนใจมาก   เพราะจากข้อมูลของคุณเงินปุ่นสี   เชียงทองเหมือนจะเป็นเมืองที่มหาดไทยในรัชกาลที่ ๕ รู้จักดี
ผู้สำเร็จราชการ เป็นพระสุวรรณราชธานี  ยศและศักดินาประมาณเจ้าเมืองของหัวเมืองชั้นโท   สะดุดตาว่าเมืองนี้น่าจะสำคัญมาก่อน  เพราะราชทินนามคือ "สุวรรณราชธานี"   ถ้าไม่สำคัญ  คงเป็น "สุวรรณธานี" เท่านั้น
แต่ทำไมมาถึงรัชกาลที่ ๖  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไม่ทรงรู้จัก    คุณพระสุวรรณฯ คนเดิมอาจตายไปแล้ว แต่คุณพระสุวรรณฯคนใหม่ล่ะคะ ไปไหน
หรือว่าเป็นคนละเมืองกัน?


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 09, 17:24
จากศึกเชียงทองนี้เอง    ตัวละครนำฝ่ายหญิงอีกคนก็เปิดตัวขึ้นมา  เป็นสาวเหนือชาวเมืองจอมทอง
ชื่อเธอก็ประกาศความเป็น "ลาว" เต็มตัว   คือกวีตั้งชื่อให้ว่า "ลาวทอง"
อ่านมาถึงตอนนี้ก็สงสัยขึ้นมาอีกแล้วว่า ชื่อ "ลาวทอง " เป็นชื่อที่กวีไทยชาวกรุงเทพตั้งให้สาวชาวล้านนา  เพื่อบ่งบอกชาติพันธุ์วรรณาของเธอ  หรือไม่  เพราะชื่อนี้ ไม่น่าจะเป็นชื่อท้องถิ่นของล้านนา
ผิดกับชื่อพ่อ   คือแสนคำแมน   ส่วนแม่ชื่อศรีเงินยวง ฟังเป็นภาษาไทยกลาง
พี่เลี้ยงชื่อนางวันกับนางเวียง   มีกลิ่นอายของทางเหนืออยู่บ้าง

จอมทองที่เป็นถิ่นเกิดของลาวทอง  ก็น่าจะเป็นอ.จอมทอง ในจ.เชียงใหม่


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ต.ค. 09, 22:07
ปิหลั่น น่าจะมีรูปลักษณ์ประมาณนี้นะครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ต.ค. 09, 07:27
จากจิตรกรรมฝาผนังวัดพระศรีรัตนศาสดารามครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 ต.ค. 09, 07:45
ถ้าเทียบรูปกับค่ายปิหลั่นในเสภาขุนช้างขุนแผนก็ดี ข้อความในบทละครในเรื่องอิเหนาก็ดี  รูปที่เอาแสดงนี้ยังไม่น่าจะใช่ ค่ายปิหลั่น ที่ว่า  เพราะในรูปดูเป็นค่ายที่ลงหลักมั่นคง คงจะเคลื่อนย้ายเข้าหาข้าศึกได้ลำบากอยู่  ปิหลั่นน่าจะเป็นกระดานไม้แผ่นใหญ่และหนา  ไม่น่าจะเป็นเสาไม้ระเนียดธรรมดา


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 ต.ค. 09, 08:01
ปิหลั่นคือค่ายที่ขยับเคลื่อนทีรุกเข้าไปหาข้าศึกทีละน้อย

เห็นมากับ ทุบทู  ซึ่งเป็น เครื่องกำบังตัวเป็นแผงยาว  เคลื่อนที่ได้ใช้ป้องกันอาวุธ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ต.ค. 09, 09:48
เข้าใจแล้ว  ค่ายปิหลั่น สรุปง่ายๆคือค่ายเคลื่อนที่  หรือค่ายยกได้

รูปค่ายที่คุณ Navarat C. เอามาให้ลง   ไม่รู้ว่าถอนจากพื้นดิน เคลื่อนที่ได้ง่ายหรือเปล่าคะ 
ไม่แน่ใจว่าเวลายังไม่ได้ใช้งาน  ปักไว้บนดินเหมือนกำแพงกั้นธรรมดา  หรือว่าเป็นคล้ายๆฉากพับ  เอากองไว้บนพื้นดิน  พอจะใช้ก็ยกขึ้นมาตั้งกำบัง

การรบด้วยค่ายปิหลั่น แบบศึกเชียงทอง  เป็นวิธีเดียวกับการรบระหว่างไทยกับลาว ในศึกเจ้าอนุวงศ์ รัชกาลที่ ๓

"เมื่อเคลื่อนใกล้ค่ายลาวที่ทุ่งซ่มป่อย กรมหมื่นแม่ทัพทั้งสองพระองค์ จึ่งมีรับสั่งให้กองทัพหน้าทั้งห้ากอง ซึ่งยกล่วง หน้าขึ้นมาก่อน ให้ยกเข้าตั้งค่ายประชิดไว้หลายด้าน แลให้มีค่ายสีขุกรุกเฝือก ค่ายทุบทู ค่ายปิหลั่น แลทำบันไดหกพาดดอกไม้เพลิง ไฟพะเนียง ดวงพลุ ไว้จักได้ปล้นค่ายพร้อมเสร็จ"

จาก "บันทึกลับในราชการสงคราม"  ของ  เจ้าพระยาบดินทร์เดชา(สิงห์)
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=118625




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ต.ค. 09, 12:22
ค่ายในตระกูลเคลื่อนย้ายได้นี้ ทั้งค่ายสีขุกรุกเฝือก ค่ายทุบทู ค่ายปิหลั่น น่าจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เช่นค่ายสีขุกรุกเฝือกน่าจะเป็นประเภทเผือกไม้ไผ่ มีน้ำหนักเบามากๆ พอใช้กันอาวุธหอกดาบ หรือทูนไว้เหนือศีรษะเพื่อป้องกันธนูที่ยิงมาจากที่สูงได้ แต่ลูกปืน ทั้งปืนยาวปืนใหญ่คงจะต้านไม่อยู่

ค่ายทุบทู น่าจะแข็งแรงขึ้นมาหน่อยแลกกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ได้อ่านพบว่าพม่าใช้ไม้ตาลมาทำทุบทู กำบังอุโมงค์เข้าขุดฐานกำแพงกรุงศรีคราวเสียกรุงครั้งที่2

ส่วนค่ายปิหลั่น อ่านเนื้อเรื่องแล้วแม้ยังคงประกอบด้วยชิ้นส่วนที่นำไม้หนาๆมายึดติดเข้าด้วยกัน แต่ก็ฟังดูน่าจะเป็นค่ายกึ่งถาวรที่ต้องแข็งแรงกว่า2แบบแรกเพราะมีชักปีกกาได้  ผมปักใจเชื่อว่าจะต้องมีการขุดร่องฝังปลายลงดินแน่นอน แม้จะไม่ได้ลึกนัก และค้ำด้านบนไว้ ไม่ใช่ข้าศึกฮุย-เล-ฮุยเข้ามาดันทีเดียวล้มกระจาย น่าจะคล้ายๆภาพแรกที่ผมเอามาลง หากภาพนั้นคงสูงไปนิดนึง ถ้าคิดว่าจะต้องเคลื่อนย้ายได้รวดเร็วในการศึกที่ต้องรุกตามการถอยเป็นจังหวะของศัตรู

ภาพวาดในเรื่องรามเกียรติ์ที่ผมเอาดูจะเนี๊ยบไปนิด แต่ก็มีผนังค่ายเป็นไม้ท่อน ไม่ใช่ไม้กลม การเป็นไม้ท่อนที่มีหน้าระนาบแบนๆทำให้ง่ายต่อการเข้าไม้ให้ขบกันเพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงดีกว่าไม้เสากลมๆ จึงอาจรื้อออกแล้วประกอบใหม่ได้ถ้าต้องการ

ภาพข้างล่างนี้เป็นค่ายพม่าในประมาณต้นรัชกาลที่5 รบกับฝรั่งมา3ครั้งแต่พม่าก็ยังใช้เทคโนโลยีแบบเดิมๆที่ใช้ได้ดีเมื่อร้อยปีที่ผ่านมา ในภาพจะเห็นการผูกเครื่องไม้ อย่างน้อยก็มี2แบบ ค่ายรบของทหารในภูมิภาคนี้ ทำขนาดนี้ก็หรูเลิศแล้วถ้ารบกันเองระหว่างบ้านพี่เมืองน้อง แต่ฝรั่งเล่นขนเอาปืนใหญ่ที่รบกับนโปเลียนเข้ามายิงพม่าตั้งแต่สงครามครั้งแรก ค่ายไม้เหล่านี้เลยกลายเป็นไม้จิ้มฟันฝรั่งไปโดยพลัน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 ต.ค. 09, 16:35
ขอดูรูปอื่นๆ ให้มากกว่านี้ก่อนดีกว่าครับ  ตอนนี้ยังไม่ขอสรุปว่าใช่ค่ายปิหลั่นที่ว่าหรือไม่  อยากให้ช่วยกันค้นหาข้อมูลและรูปมาเพิ่มให้มากกว่านี้  ยิ่งเก่าก่อนสมัยรัชกาลที่ ๔ ขึ้นไปยิ่งดี เพราะการรบสมัยเก่ายิ่งจะได้ภาพที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงด้วยอิทธิพลตะวันตกมากนัก จะได้มั่นใจว่า  ที่เสนอรูปและความเห็นกันมา  เป็นไปได้มากน้อยเพียงใด 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ต.ค. 09, 18:31
ยังติดใจเรื่องค่ายปิหลั่น    ลาวทองคงจะต้องคอยไปก่อน

พวกเชียงทองมีค่ายปิหลั่นรับ                       ลูกปืนปับแบนเปล่าหาเข้าไม่

ไม้ที่ทำค่ายปิหลั่น ต้องหนาและแข็งมาก   ขนาดลูกปืน(ใหญ่) ยิงไม่เข้า  เพราะไม้แข็งและเหนียวพอจะต้านเอาไว้อยู่    
ถ้าเป็นไม้กระดาน  ลูกปืนน่าจะทลายได้กระจุยไปทั้งตับนะคะ คุณหลวงเล็ก


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ต.ค. 09, 06:59
ระหว่างรอท่านอื่นๆเอารูปหลักฐาน (ต้องไปค้นพวกสมุดข่อยมั้ง) ผมก็ขออนุญาตว่าของผมไปเรื่อยๆ ถือว่ามาสลับฉากไม่ให้คนอ่านเหงาก็แล้วกันนะครับ

คราวที่แล้วลืมขยายความไปอีกนิดนึงว่า วัสดุประเภทไม้ที่โบราณท่านเอามาใช้ป้องกันตัวนี้ ท่านต้องทำในลักษณะที่เป็นแผง จะใหญ่จะเล็กขึ้นอยู่กับน้ำหนักรวมของแผง และจะใช้งานอย่างไรด้วย เช่นถ้าจะยกเทินศรีษะไป จะใช้กี่คนยก 2คนหน้าหลัง หรือ4คนๆละมุม ขนาดก็จะทำให้เหมาะสมตามกำลังคนนั้น ถ้าเป็นไม้หนาและหนัก ก็คงทำเป็นแผงทางตั้ง มีเคร่าให้หลายๆคนช่วยกันยกไปตามแนวตั้ง ในระหว่างยกเข้าไปก็ใช้เป็นโล่ห์ไปด้วย แต่แผงก็คงจะไม่ใหญ่กว่าวาหรือประมาณ2เมตร มันจะไม่คล่องตัวพอ

แผงทั้งหมดไม่ว่าจะยกไป เทินไปอย่างไร จะสามารถไปประกอบเป็นรั้วค่ายได้ โดยง่ายและรวดเร็ว ค่ายทั้ง3แบบข้างต้นไม่น่าจะอยู่นอกหลักการที่ว่ามานี้

คราวนี้มาดูกระสุนปืนโบราณที่กระทบของแข็งเช่นรั้วไม้ แล้วแปะติดอยู่ ต้องแคะจึงจะออก ตามรูป


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ต.ค. 09, 07:11
กระสุนปืนคาบศิลาทั้งหมด เป็นกระสุนกลมทำด้วยตะกั่ว ขนาดเม็ดมะยมเรียกว่าลูกโดดบรรจุลูกเดียว โดนคนไม่ตายก็เจ็บหนัก ความจริงมีลูกตะกั่วขนาดเม็ดถั่วเขียว บรรจุครั้งละ5-6เม็ดเรียกลูกปราย ไว้ยิงนกยิงกระต่าย กระสุนเหล่านี้ไม่นิยมทำด้วยเหล็ก เพราะว่าเบากว่าตะกั่ว ยิงไปแล้วจะปลิวพลาดเป้าง่าย

กระสุนชนิดนี้แหละครับที่ไปติดแปะอยู่ที่ค่ายปิหลั่นของพวกเชียงทอง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ต.ค. 09, 07:27
รูปข้างบนเป็นภาพปืนสั้น แต่เครื่องกระสุนก็เดียวกันกับปืนยาว

ในภาพเป็นปืนประเภทเดียวกันนี้ที่ตามชนบทห่างไกลยังลักลอบทำกันอยู่ เพื่อใช้ล่าสัตว์เล็กสัตว์น้อย
เรียกกันว่าปืนแก็ป เพราะใช้แก๊ปเป็นเชื้อประทุให้ดินปืนที่บรรจุไว้ภายในรังเพลิงระเบิด

เวลาทางราชการขู่ว่า ใครมีปืนเถื่อนให้นำมามอบให้ภายในกำหนดเท่านั้นเท่านี้ มิฉะนั้นจะโดนโทษหนักหากจับได้
ก็จะมีชาวบ้านเอาปืนประเภทนี้มามอบให้กองเป็นภูเขาเลากา

พอคนออกคำสั่งย่ายไป ก็เริ่มซื้อเริ่มหากันใหม่ เพราะกระบอกละไม่กี่บาท
ตลาดทางบ้านนอก หาซื้อเครื่องกระสุนได้ง่าย เช่นลูกตะกั่ว มีทุกขนาดจะเอายังไงมีหมด


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ต.ค. 09, 08:02
คราวนี้มาดูปืนใหญ่ นี่เลือกเอาภาพที่ไม่ใหญ่เว่อมาลงแล้วนะครับ
เอาขนาดที่ยังแบกหามใส่หลังช้างไปได้ ประเภทปืนจ่ารงที่วางไว้หัวเรือพิฆาต เรือพระราชพิธี เห็นได้บ่อยๆ
กระสุนปืนเป็นเหล็ก ขนาดประมาณลูกเทนนิสขึ้นไป

ปืนใหญ่ที่บรรจุกระสุนลูกโดดเช่นนี้ไม่ได้ยิงเอาแม่น แต่ยิงใส่เป้าใหญ่ๆหรือรวมๆกะว่าต้องฟลุ๊กโดนอะไรเข้ามั่ง โดนช้างๆก็ตายว่างั้นเถอะ
ถึงไปโดนปิหลั่นเข้าก็เป็นเรื่องเหมือนกัน อย่างน้อยไม้ต้องแตก คนที่อยู่ข้างหลังอาจโดนแผงไม้หนักๆล้มใส่ ถึงไม่ตายก็อาจต้องออกจากการรบ

ลูกเหล็กโดนแล้วไม่ติดแป๊ะนะครับ ไม่ทะลุไปก็เด้งออกมา แต่ถึงเด้งก็เด้งทั้ง2ข้างนะครับ เป้าที่โดนต้องเด้งด้วย

แต่ปืนจ่ารงก็ใส่ลูกปรายได้เหมือนกัน เอากระสุนปืนเล็กข้างบนนี้เหละมาใส่ถุงผ้าให้สะดวกต่อการบรรจุในการยิงแต่ละครั้ง สำหรับจะฆ่าคนไม่ใช่ทำลายเป้าหมาย
ฉะนั้นกระสุนที่มาติดแป๊ะบนปิหลั่นดังกล่าว ก็อาจเป็นลูกที่ยิงมาจากปืนใหญ่ก็ได้ครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ต.ค. 09, 09:28
เพลิดเพลินและอัศจรรย์ใจกับ ความรู้เรื่องค่ายน็อคดาวน์ทั้ง ๓ แบบ  รวมทั้งเรื่องปืนโบราณของคุณ Navarat C. ด้วย
ปืนยาวแบบคาบศิลาที่คุณอธิบายมา  จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า เป็นแบบเดียวกับพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตงของสมเด็จพระนเรศวรฯ ด้วย   ถูกต้องหรือเปล่าคะ

ตอนนี้ยังไม่อยากเอาเรื่องลาวทองมาขัดจังหวะ   ขอฟังไปก่อน  ถ้าจบแล้วจะมาเล่าถึงวัฒนธรรมและภาษาของสาวลาวในขุนช้างขุนแผนต่อไปค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 29 ต.ค. 09, 09:34
ข้อความคัดมาจาก "ราชการทัพเมืองเวียงจันทน์ ฉบับ ๗"

๐ข้าพเจ้าพญาพิพิทสมบัด  หลวงศรียกระบัตรหลวงภักดีภูธรผู้ช่วยราชการหลวงทุกขราษ หลวงแพ่งกรมการเมืองตราดฃอบอกปรณีบัดมายังท่านขุนอักษรสมบัติเสมียรตรากรมท่า  ขอท่านได้นำขึ้นกราบเรียนแต่พรหัวเจ้าท่านโกษาธิบดีให้ทราบ

ด้วยเมื่อ ณ เดือน ๔ ปีจออัฎศก  ข้าพเจ้าพญาพิพิทสมบัดิออกไปแต่กรุงเทพมหานครเหนว่าเมืองตราดเปนเมืองหน้าด่านใกล้เมืองเขมน  เมืองญวน อยู่มิไว้ใจแก่ราชการทางบกและทางชะเลฝายตะวันออกปากน้ำเมืองตราดมีคลองเปนคลองๆ หลังเมืองตราดเรียกว่าคลองสตอใหญ่กว้างสีเส้น  กลางร่องน้ำฦกหกวา  คลองหน้าเมืองตราดเรียกว่าคลองบางพระ  กว้างเส้นที่วา  กลางร่องน้ำฦกสามวา  ปากคลองเมืองตราดนั้นเปนสองง่าม  เรือใหญ่เข้าได้ทั้งสองคลอง  ข้าพเจ้ากรมการจึ่งคิดอ่านปฤกษาพร้อมกัน  เกบเอาจีนลูกบ้านตัดเสาไม้ค่ายแก่นกลมใหญ่สามกำยาวเก้าศอกคืบเสมอคลห้าต้นเอามาตั้งค่ายที่ปากคลองเปนสองง่าม  ค่ายไม้กลมยาวเส้น ๑ กว้างเส้น ๑ กับเกนกระดานค่ายไม้แก่นคล ๒ แผ่น ยาว ๙ ศอกคืบ น่าใหญ่ ๒๐ นิ้ว น่าน้อย ๖ นิ้ว กับเลกสมส่วยแลเลกสังกัดพัน  เอามาทำป้อมติดกับหน้าค่ายปากน้ำสามเหลี่ยมๆ ละ๙ วา มีช่องปืนใหญ่ ๖ ศอก ต่อช่องริมคลองทังสองค่าง  ค่ายป้อมปากน้ำนั้นได้ทำเสรจ์แล้ว  ยังแต่จะตัดไม้ตอมาลงรอปากน้ำน่าค่ายสักสามชั้น  กับค่ายระเนิยดกระดานค่ายเมืองนั้น  ท่านพญายมราชมาตั้งค่ายไว้แต่ก่อนนั้น ยาว ๕ เส้น กว้าง ๓ เส้น ๔ วา เหนว่าคับแคบหาภอคนจะอยู่ไม่  แล้วก็ชำรุดผุะพังไปเปนอันมาก

ข้าพเจ้ากรมการพร้อมกัน  จึ่งให้เอากระดานที่เกนตัดไม้มาตั้งค่ายรเนียดกระดานขยายกว้างยาวออกไปอีก ยาว ๓ เส้น กว้างเสน ๑๖ วา เข้ากันเก่าใหม่ยาว ๘ เส้น กว้าง ๕ เส้น กับกระดานค่ายที่ชำรุดทรุดพังเสียไปเปนอันมาก  ได้ผลัดเปลี่ยนกระดานค่ายเสียใหม่มั่นคงแล้วได้ยิงตะปูติดกรอบบนครอบล่างพ้นดินศอกคืบ  แลทำป้อมสี่มุมทำหอรบตามปตูหว่างป้อมสี่มุมขุดดินทำสนามเพลาะเจาะช่องปืนทำไว้เสรจ์แล้ว  กับปืนใหญ่ลูกกระสุน ๔,๓ นิ้ว ๒ นิ้วกึ่งมีอยู่ ๑๑ บอก  ข้าพเจ้ากรมการได้เกนไพร่ตัดไม้ปดู่ส้ม  มาทำรางปืนใหญ่ใส่หน้าเรือแลรางปืนหล่อใส่ป้อมไว้ทุกบอกเสรจ์แล้ว  กับปืนใหญ่ที่จใส่ช่องป้อมเมืองนั้นยังหาภอไม่

......ฯลฯ........(ที่ละไว้นี้เป็นเรื่องต่อเรือรบ กับการเกนไพร่ออกตระเวนทางบกทางเรือสืบข่าวราชการ)  

ถ้าได้ฃ่าวราชการทางบกทางเรือ จะผันแปรมาเปนประการใด  ข้าพเจ้ากรมการจะเร่งบอกเข้ามาให้ทราบต่อครั้งหลัง ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด  ฃอบอกปรณีบัดมา ณ วันศุกร์ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุรนพศก ฯ

คัดลอกอักขรวิธีตามต้นฉบับ

ขอเสนอแต่ข้อมูลเอกสารไว้ก่อน ส่วนความคิดเห็นขอเชิญท่านผู้อ่านอภิปรายเต็มที่ครับ



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 29 ต.ค. 09, 10:16
บันทึกลับที่คุณเทาชมพูลิ้งค์มา  อยู่ในอานามสยามยุทธ  พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๔๖

พิมพ์ครั้งที่ ๓ ในปี ๒๕๕๐    ไม่มีชื่อผู้เรียบเรียงอยู่บนปกหน้่าและปกหลังเลย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ต.ค. 09, 10:50
คุณ Wandee คิดว่า  อานามสยามยุทธ  ผู้เรียบเรียงคือเจ้าพระยาบดินทรเดชา   อย่างที่ก.ศ.ร. กุหลาบบอกไว้ในการพิมพ์ครั้งแรกหรือเปล่าคะ
หรือว่าเป็นการสันนิษฐานของนายกุหลาบเอง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ต.ค. 09, 10:52
“…..ค่ายระเนิยดกระดานค่ายเมืองนั้น  ท่านพญายมราชมาตั้งค่ายไว้แต่ก่อนนั้น ยาว ๕ เส้น กว้าง ๓ เส้น ๔ วา เหนว่าคับแคบหาภอคนจะอยู่ไม่  แล้วก็ชำรุดผุะพังไปเปนอันมาก

ข้าพเจ้ากรมการพร้อมกัน  จึ่งให้เอากระดานที่เกนตัดไม้มาตั้งค่ายรเนียดกระดานขยายกว้างยาวออกไปอีก ยาว ๓ เส้น กว้างเสน ๑๖ วา เข้ากันเก่าใหม่ยาว ๘ เส้น กว้าง ๕ เส้น กับกระดานค่ายที่ชำรุดทรุดพังเสียไปเปนอันมาก  ได้ผลัดเปลี่ยนกระดานค่ายเสียใหม่มั่นคงแล้วได้ยิงตะปูติดกรอบบนครอบล่างพ้นดินศอกคืบ….”. 

ข้อความที่คุณหลวงเล็กคัดมาตรงกับรูปภาพรามเกียรติ์ของผม ขยายให้ดูอีกที่ตรงครอบล่างพ้นดินศอกคืบ ความหมายตรงนี้คือเคร่าตัวล่างอยู่สูงจากพื้นดิน50เซนติเมตร
แต่ค่ายลักษณะนี้ไม่ใช่ค่ายน็อคดาวน์ตามที่อาจารย์เทาชมพูว่า แต่เป็นค่ายหลวงแบบถาวร(จนกว่าไม้จะผุ) ในการศึกยือเยื้อ ณ ที่นั้น


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ต.ค. 09, 11:10
วันนี้อาจารย์ชมกลางชั้น ทำให้ยืดขึ้นมานิดนึง ส่วนคำถามเรื่องพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตงเป็นปืนคาบศิลาหรือเปล่านั้น ถ้าตอบสั้นๆตรงๆก็ -ใช่ครับ-

แต่ปืนโบราณที่รวมๆเรียกว่าคาบศิลามีด้วยกัน3ประเภท ในเวปมีพูดถึงพระแสงปืนต้นของสมเด็จพระนเรศวรไว้โดยพิศดารว่าเป็นประเภทไหนเหมือนกัน แต่ผมจะไม่ลากออกไปดีกว่า นางลาวทองแกรอจะออกฉากนานแล้ว เนิ่นช้าไปเดี๋ยวจะเซ็งตีบทไม่แตก

ตัวสลับฉากขอเข้าโรงก่อนดีกว่า

บัดนั้น ..เชิด

อ้าว เสภา..ไม่ใช่โขนหรือครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 29 ต.ค. 09, 11:27
ก.ศ.ร. แจ้งว่า  คัดลอกมาจากบันทึกรายงาน ของเจ้าพระยาบดินทร์เดชา(สิงห์  สิงหเสนี)
แม่ทัพใหญ่ในการทำศึกสงคราม

คนที่ชุบคงมีมากกว่าหนึ่งคน   คนที่ทานก็คงจะมีมากกว่าหนึ่งคน
แล้วยังมีคนอ่านให้ท่านเจ้าคุณฟังก่อนส่งใบบอกเข้ากรุงเทพ


ประวัติของเจ้าพระยาบดินทรเดชานั้น ก.ศ.ร. กุหลาบเรียบเรียงจากตำราหลายเล่ม
มีข้อมูลที่ไม่ตรงกันอยู่เรื่องตำแหน่งรับราชการ

ก.ศ.ร. รับว่า เหลือที่จะทราบแน่ลงอย่างใดไม่  เป็นการจนใจ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 29 ต.ค. 09, 11:54
ขอถามเรื่องอาวุธอีกหนึ่งอย่างค่ะ

เมื่อพลายแก้วทักทายพระยาฟ้่าลั่น  บอกชื่อแล้วขู่ว่า

ท่านอย่าองอาจประมาทไทย                                ถ้่าไม่ดีที่ไหนเราจะมา

สันบาดาลถือทวนอยู่แท้ ๆ   พลายแก้วฟันขาดตะพายแล่ง   แล้วฟันคอฟ้่าลั่นหัวขาดตกดิน

บรรยากาศตอนนี้

พวกไทยโห่ครื้นเอาปืนยิง                        ฉวยหอกกลอกกลิ้งวิ่งเข้าหา
พวกลาวกลุ้มกลาดดาษดา                       เอาวารับมันบ่ยั่นใคร
ลาวถูกปืนปั้นหันเห                               บ้างซวนเซซอนซุกไม่ลุกได้
บ้างถูกหม้อดินทิ้งกลิ้งเกลื่อนไป                 เปลวไฟลุกวาบขึ้นปลาบตา


หม้อดินบรรจุดินปืนหรือวัตถุไวไฟหรือนำ้มันดิน   จะถือว่าเป็น  home-made bombs    ได้ไหมคะ
สมัยคนแถวนี้บางคนยังเป็นหนุ่มน้อย     น่าจะทำระเบิดขวดซ้อมมือเป็น


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 29 ต.ค. 09, 12:02
"...ข้าพเจ้ากรมการจึ่งคิดอ่านปฤกษาพร้อมกัน  เกบเอาจีนลูกบ้านตัดเสาไม้ค่ายแก่นกลมใหญ่สามกำยาวเก้าศอกคืบเสมอคลห้าต้นเอามาตั้งค่ายที่ปากคลองเปนสองง่าม  ค่ายไม้กลมยาวเส้น ๑ กว้างเส้น ๑ กับเกนกระดานค่ายไม้แก่นคล ๒ แผ่น ยาว ๙ ศอกคืบ น่าใหญ่ ๒๐ นิ้ว น่าน้อย ๖ นิ้ว กับเลกสมส่วยแลเลกสังกัดพัน  เอามาทำป้อมติดกับหน้าค่ายปากน้ำสามเหลี่ยมๆ ละ๙ วา มีช่องปืนใหญ่ ๖ ศอก ต่อช่องริมคลองทังสองค่าง..."

และ

"...ข้าพเจ้ากรมการพร้อมกัน  จึ่งให้เอากระดานที่เกนตัดไม้มาตั้งค่ายรเนียดกระดานขยายกว้างยาวออกไปอีก ยาว ๓ เส้น กว้างเสน ๑๖ วา เข้ากันเก่าใหม่ยาว ๘ เส้น กว้าง ๕ เส้น กับกระดานค่ายที่ชำรุดทรุดพังเสียไปเปนอันมาก  ได้ผลัดเปลี่ยนกระดานค่ายเสียใหม่มั่นคงแล้วได้ยิงตะปูติดกรอบบนครอบล่างพ้นดินศอกคืบ...."

ฝากพิจารณาขนาดกระดานไม้ที่เอาทำค่าย  กระดานยาว ๙ ศอก ๑ คืบ  หน้าใหญ่ หรือ กว้าง ๒๐ นิ้ว และ หน้าน้อย หรือ หนา ๖ นิ้ว นิ้วในที่นี้ คงไม่ใช่ inch ๒.๕ ซม. แต่เป็นนิ้วไทย ๑ นิ้ว เท่ากับ ๔ กระเบียด  ๑๒ นิ้ว เท่ากับ ๑ คืบ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ต.ค. 09, 12:16
เรื่องป้อมค่ายไม้กระดาน   ต้องยอมแพ้   ไม่มีความรู้เรื่องนี้   ขอพาลาวทองไปนั่งหลบอยู่ข้างโรงก่อนนะคะ

คุณวันดีคะ  อ่านตอนที่คุณยกมา   ดิฉันนึกว่าหม้อดิน คือหม้อที่ใส่ดินปืนประกอบการยิงเสียอีกค่ะ  
รู้เพียงแค่ว่าปืนยาวโบราณ ต้องใช้ทั้งกระสุนและดินปืนพร้อมๆกันในการยิง        
รอผู้รู้มาขยายความให้ฟังเช่นกันค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 29 ต.ค. 09, 14:04
ในการเดินทางคิดว่าใส่ในถุงหนังสัตว์  แล้วบรรจุในกระชุ   แขวนไว้ใกล้แม่ทัพเพราะเป็นวัสดุสิ้นเปลืองที่ราคาสูง

อ่านจาก นิราศหนองคาย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 29 ต.ค. 09, 14:10
หม้อดินที่ทิ้งใส่ข้าศึกนี่ คือ หม้อที่ใส่ดินปืนหรือดินประสิว พอจะทิ้งใส่ข้าศึกที่กำลังปีนค่ายกำแพงขึ้นมาก็จุดไฟให้มันระเบิด  ฝุ่นผงดินปืนพร้อมหม้อก็จะแตกกระจายเข้าตาพวกข้าศึก  ถ้าไม่แตกไฟก็จะลวกเอาพวกข้าศึกเหล่านั้น  ลักษณะอย่างนี้ เป็นการต้านข้าศึกที่มาประชิดกำแพงป้อมค่ายอย่างหนึ่ง  ที่จริงมีการคั่วกรวดทรายให้ร้อนเทราดข้าศึกด้วย  เอาน้ำร้อน น้ำมันร้อนเคี่ยวเทราดก็มี  หม้อดินพวกนี้จะเป็นหม้อดินที่แยกใช้ต่างหาก จากดินที่ใช้ยิงปืน  ดินที่ใช้ยิงปืนเข้าใจว่าจะใส่เขนงหรือถุงผ้าถุงหนังซึ่งน่าจะพกสะดวกกว่าพกหม้อดินกระโตงกระเตงเกะกะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ต.ค. 09, 15:59
เอ้า แม่ยกเอานางลาวทองหลบไปเสียแล้ว  ตัวประกอบสลับฉากต่อ

12นิ้ว = 1คืบ, 2คืบ = 1 ศอก, 4ศอก = 1 วา, 20 วา = 1เส้น, 400เส้น  = 1กระจุก(อันหลังนี้ท่านไม่ได้ว่า แต่รุ่นพี่ถาปัดสอนไว้)
และ
1 เส้น = 40 เมตร, 1 วา = 2 เมตร, 1 ศอก= 50 เซนติเมตร, 1คืบ= 25 เซนติเมตร, แต่ทำไม1นิ้ว= 2.50 เซนติเมตร ไม่ใช่ 2.08

เมื่อพิจารณาดังที่กำหนดให้พิจารณา ขนาดกระดานไม้ที่เอาทำค่าย  กระดานยาว ๙ ศอก ๑ คืบ  ควรจะ ยาว4เมตร75เซนติเมตร หน้าใหญ่  ๒๐ นิ้ว คือควรจะกว้าง 41เซนติเมตรกับอีก6มิลลิเมตร  และหน้าน้อย ๖ นิ้ว คือควรจะหนา 12เซนติเมตรกับอีก 48 มิลลิเมตร  

แต่เพราะมีคนไทยฉลาดๆคนหนึ่งผมไม่ทราบนามของท่าน ได้กำหนดให้นิ้วในมาตราของไทยดังกล่าวเป็นสากล ตรงกับคำว่า inch ซึ่งฝรั่งเทียบกันไว้แล้วว่าเท่ากับ 2.5เซนติเมตร
เพื่อให้การซื้อขายไม้ในเมืองไทยยุ่งยากน้อยลงจากที่ยุ่งยากมากกกกก ทราบใช่ไหมครับว่า โรงเลื่อยมาตรฐานตั้งราคาขายไม้เป็นคิว คิวในที่นี่คือคิวบิกฟุต เพราะหน้าไม้วัดเป็นนิ้ว เช่นไม้2นิ้วx8นิ้ว แต่ความยาววัดเป็นเมตร คิดราคากันทีไรคนซื้อปวดเศียรเวียนเกล้า

แต่จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ยังเป็นความจริงอยู่เลยว่า การซื้อขายไม้ในชนบทอีกมากยังมั่วราคา โดยการคิดหน่วยปริมาตรเป็นยกอยู่เลย

1 ยกคือปริมาตรของไม้ "กระดาน" หนา 1 นิ้ว กว้าง 1 ศอก ยาว 16 วา
หรือ ที่เท่ากับใช้ปูพื้นที่ได้ 4 ตารางวา หรือ16 ตารางเมตร
เวลาคุยกัน 1 ศอกเปิ้นก็ว่า 50 เซนต์ 1วาคือ2เมตร ถ้าไม่ถามต่อให้มั่นๆ นิ้วของเปิ้นก็จะเอา24 หาร50 ไม่ใช้2.50เซนต์ตามดำหนด  คำนวณออกมาแล้วสตางค์ผิดกันหลายอยู่  ทั้งๆที่วัดหน้าตัดไม้จริงๆก็จะเห็นว่า1นิ้วคือ2.50เซนต์ ฉะนั้นตอนตกลงราคาถ้าได้ยินว่าเป็นยกละเท่านั้นเท่านี้ ต้องคุยกันให้รู้เรื่องก่อนว่าจะใช้นิ้วไทย หรือนิ้วฟุต

ปวดหัวดีไหมครับ ปวดหัวให้ปิดเครื่องแล้วออกไปสูดอากาศหายใจสักพัก กลับมาแล้วอ่านข้ามกระทู้นี้ไปเลย ท่านจะไม่เสียรดชาดทางวรรณคดีในเรื่องขุนช้างขุนแผนแต่ประการใด อาจารย์ก็แย้มๆแล้วว่าจะไม่นำมาออกข้อสอบด้วย

ฉะนั้นที่เขียนๆมา ผมจึงพยายามใช้ตัวเลขให้มันกลมๆ มันจะอะไรกันนักหนา ทำรั้วค่ายทหารเอาไว้ถล่มกันนะครับ ไม่ใช่ทำเฟอร์นิเจอร์จึงจะได้ต้องเคร่งครัดกับตัวเลขหน่วยวัด

 ไม้แผ่นที่เอามาทำค่ายนี้ถ้าไปหาซื้อที่โรงไม้ในปัจจุบันต้องสั่งว่า ไม้ 6x20 ยาว 5 เมตร น้ำหนัก 1แผ่นก็ประมาณ 250 กิโลกรัม 2คนยกไม่ไหวแน่นอน ใช้ทำจรยุทธไม่ไหวอยู่แล้วครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ต.ค. 09, 17:08
ถ้าเมื่อไรจะซ่อมเรือนไทย  จะวานคุณ Navarat C. ไปเจรจาหาซื้อไม้มาให้นะคะ  ;D

พาลาวทองไปหาฝ่ายคอสตูมและเมคอัพอาร์ติสต์ ที่หลังโรงก่อน     หมดเรื่องค่ายเมื่อไรจะพากลับออกมา
.........................                 .......................
ผลัดผ้าลูบทากระแจะจันทน์             ผัดหน้าผิวพรรณเป็นนวลใย
เกล้าผมสมทรงกะทัดรัด                  ดอกไม้ทองแซมทัดสะบัดไหว
เกี้ยวกระหวัดปิ่นพลอยลอยวิไล        สอดใส่ดอกมะเขือทองคำพราย
ห้อยสายระย้าเพชรเก็จก่อง             สังวาลทองพลอยพริ้งสะอิ้งสาย
เด่นดวงกุดั่นพรรณราย                    กำไลสวมขวาซ้ายสอดพร้อม
ใส่แหวนเพชรนิลมรกต                   สไบสีสุกสดตลบหอม
พ่อแม่เป็นผู้ใหญ่จะไปดอม             ข้าไทแวดล้อมกันลงเรือน

กวีที่หาคอสตูมให้แม่นางลาวทอง  น่าจะเป็นกวีที่เคยแต่งบทละครมาก่อน    ลูกสาวกำนันผู้ใหญ่บ้าน จึงแต่งเครื่องเพชรถนิมพิมพาภรณ์เสียพราวตา


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 ต.ค. 09, 18:00
      
อ้างถึง
400เส้น  = 1กระจุก(อันหลังนี้ท่านไม่ได้ว่า แต่รุ่นพี่ถาปัดสอนไว้)

        ตรงนี้คือ มุข(ก) หรือเปล่า ครับคุณ Navarat C เพราะเคยท่องจำมาว่า ๔๐๐ เส้นเป็น ๑ โยชน์



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 30 ต.ค. 09, 08:04
เรื่องไม้กระดานทำค่ายที่ยกมานั้น  ต้องการจะเทียบกับภาพค่ายที่เอามาแสดงว่าตรงกันหรือไม่  คาดว่ากระดานเหล่านี้ เมื่อจะเอามาใช้  ท่านคงเกณฑ์ตัดถากเลื่อยเอาจากป่าใกล้ๆ ค่ายนั่นแหละครับ  อย่างที่พม่าเอาต้นตาลมาทำค่ายปิหลั่นป้องกันสะพานเรือกข้ามเข้าพระนครศรีอยุธยาเมื่อครั้งเสียครั้งที่ ๒ ก็คงเป็นเพราะรอบๆ กรุงศรีอยุธยามีต้นตาลขึ้นอยู่มาก  พม่าเลยเอามาใช้ประโยชน์ในการสงคราม  พม่าคงไม่ขนลากเอาไม้ตาลมาจากหงสาวดีหรือกรุงอังวะหรอกครับ เพราะกว่าจะข้ามเทือกเขาตะนาวศรีมาถึงพระนครศรีได้ คงหมดแรงก่อน 

เช่นเดียวกับในเสภาขุนช้างขุนแผน ก็คงเอาไม้กระดานจากป่าใกล้ๆ นั่นแหละมาทำ  ส่วนเรื่องขนาดไม้กระดานนี่ก็สุดแต่แม่ทัพจะกะเกณฑ์สั่งให้ไพร่พลหรือหัวเมืองทำในแต่ละคราว แต่คงอยู่ราวๆ ประมาณนี้  การเคลื่อนย้ายไม้กระดานเหล่านี้เมื่อจะขยับย้ายป้อมค่ายเข้าหาข้าศึก  คาดว่า คงใช้กำลังมากอยู่พอสมควร แต่อาจจะมีมีล้อเลื่อน หรือช้างม้าชักลากไป  ทั้งนี้คงไม่ขนขยับย้ายไปไกลมาก  และค่อยๆ ขยับไปทีละน้อย  อันคงเป็นเวลาที่สงครามการบยืดเยื้อ  ถ้าเป็นสงครามระยะสั้นอาจจะไม่ต้องขยับย้ายก็ได้  ส่วนไม้กระดานเหล่านี้เมื่อเสร็จกิจสงครามก็คงทิ้งไว้อย่างนั้น  หรือจะไปทำประโยชน์อย่างอื่นก็แล้วแต่จะคิด  แต่คงไม่ขนกลับกรุงหรือขนกลับบ้าน (เว้นแต่โลภมาก) เพราะของอย่างนี้สมัยก่อนคงหาได้ไม่ยาก  ถ้าเป็นสมัยนี้สิ คงได้ขนกลับกันอุตลุด ไกลเท่าไรก็ไม่ว่า

ถ้าถามว่าเป็นค่ายประเภทน็อกดาวน์ไหม?  ก็อาจจะเป็นค่ายน็อกดาวน์เฉพาะกิจ  บางครั้งก็เป็นค่ายถาวร บางครั้งก็เป็นค่ายที่เคลื่อนย้ายได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การรบ เมื่อเสร็จกิจก็หมดหน้าที่ และเป็นค่ายน็อกดาวน์ที่ทำขึ้นจากวัสดุใกล้สนามรบนั่นเอง  ไม่ได้ขนไปจากเมืองหลวงเหมือนอย่างอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหลาย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 09, 08:48
ตอบคุณ Sila  (ไม่เห็นแวะเข้ามาเสียนาน)
มุกแบบพวกถาปัดเขาละค่ะ     มุกแบบนี้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า pun คือการเล่นคำ จากเสียงเดียวกัน

อ่านเรื่องค่ายที่แจกแจงกันเสียละเอียดลออในกระทู้นี้    จบกระทู้เมื่อไร เรือนไทยคงตั้งค่ายน็อคดาวน์ไว้ดูเล่นได้  ;D
ดิฉันจะรอคุณ Navarat C. เข้ามาต่อ      วันจันทร์นี้ถ้าจบเรื่องค่าย    ก็จะพาแม่นางลาวทองออกมาให้ยลโฉมกันเสียที


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 ต.ค. 09, 09:35
         แวะเวียนมาเรือนไทยแบบเงียบๆ อยู่บ่อยๆ ครับ อาจารย์

รอนางลาวทองออกโรงอยู่ แต่ที่จริงแล้ว ชอบรุ่นสร้อยฟ้า ศรีมาลา ที่เข้มข้นแบบละครหลังข่าว

นอกเรื่อง - ปีนี้ อาจารย์ไปดู แม่นาค เพชรบุรีตัดใหม่ หรือเปล่าครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 09, 09:47
ไม่ได้ไปดูค่ะ   เสียดายมาก
ถ้าคุณชอบละครค่ายนี้  รอดู น้ำใสใจจริง เดอะ มิวสิคัล  ในปีหน้านะคะ

หมดเรื่องแม่นางลาวทองก็จะถึงคิวเจ้าหญิงสร้อยฟ้าละค่ะ 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 30 ต.ค. 09, 09:56
บ่ายนี้ถ้าไม่มีธุระอะไร จะขอแทรกเรื่องเมืองเชียงทองอีกสักหน่อย  

ส่วนนางลาวทอง ที่นั่งรอดื่มน้ำชากาแฟพุงกางอยู่หลังโรงนั้น  
ถ้าว่าบ่ายแก่ๆ วันนี้  ไม่มีอะไรมาขัดจังหวะ  อาจารย์ควรจะเชิญออกมาสูดอากาศจะยลโฉมก่อนหมดอาทิตย์นี้


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 09, 10:33
ถ้าลาวทองออกโรงเมื่อไร ก็จะกลายเป็นประเด็นใหม่ ว่าด้วยเรื่องภาษาและวัฒนธรรมลาว     เรื่องค่ายน็อคดาวน์ก็จะเสียจังหวะ  รวมทั้งเรื่องเชียงทองของคุณหลวงด้วย

ตอนนี้  ดิฉันอยากจะรอคุณ Navarat C.   ก่อน เผื่อเธอจะมาเล่าอะไรให้ฟังอีก    แต่ถ้าเธออยากยลโฉมลาวทอง   ก็ถือว่าเป็นมติพหุชน( คือมากกว่า ๑ เสียง)   อาจจะพาลาวทองแหวกม่านออกมาเจรจา เสียที


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 09, 11:13
ขอประทานโทษครับ ถ้ารอผมอยู่

เรื่องค่ายทั้งหลายแหล่ ผมคิดว่าผมสรุปประเด็นของผมไปแล้วมั้งครับ
เพียงแต่รอท่านนักประวัติศาสตร์เอารูปจากสมุดข่อย(ถ้ามี)มายืนยันเท่านั้น

เชิญอาจารย์ต่อเลยครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 ต.ค. 09, 11:27
ช่วงหยุดพักนี้ ขออนุญาตท่านอื่นด้วย ครับ

คุยนอกเรื่อง - ไม่ทราบ อาจารย์ทราบหรือยังว่า แม่นาค กลับมาแสดงอีกครั้งในวันศุกร์ - อาทิตย์
สองสุดสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคมนี้ ครับ

ได้ยินข่าว น้ำใสใจจริง แล้วครับ เชื่อว่าค่ายนี้จะนำเสนอให้คนดูได้เห็นสิ่งใหม่ สิ่งที่ไม่เคยได้สัมผัสจากละครเรื่องนี้
(ที่เคยถูกนำมาสร้างทางทีวีสองครั้ง) มาก่อน

มีเรื่องอื่นอีกที่เหมาะสำหรับมิวสิคัล เช่น แต่ปางก่อน ซึ่งทำเป็นละครทีวีมาสองครั้ง (น้อยครั้งกว่าคู่กรรม ที่ยังไม่นับ
รวมสร้างเป็นหนังด้วย) ค่ายนี้สามารถที่จะทำให้ออกมา "ใหม่" ได้อย่างแน่นอน ครับ
หรือว่า ทางค่ายต้องการจะเปลี่ยนแนว จึงเลือก น้ำใสใจจริง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 09, 11:48
สมัยอยู่ถาปัด ทำหนังผีเรื่องนึงชื่อ"แม่นาคสามย่าน" ฮือฮาดีเหมือนกัน

ไม่มีสาระอะไรหรอกครับ

เอ้า...ผ่าน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 09, 12:23
ขอเวลานอก  ตอนพักเที่ยงเช่นกัน 

๑)ยังจำชื่อ "แม่นาคสามย่าน" ได้ค่ะ  แต่จำเรื่องไม่ได้แล้ว
รู้แต่ว่าอะไรที่ถาปัดทำ  ฮากันยิ่งกว่าตลกอาชีพ


๒)ลูกสาวส่งข่าวมาบอกแม่ว่าแม่นาคจะกลับมาอีก  ให้พ่อแม่ไปจองตั๋วได้เลย   ก็ตั้งใจว่าจะไม่พลาดละค่ะ
น้ำใสใจจริง ประเดิมเป็นเรื่องแรกของค่ายนี้    ส่วนแต่ปางก่อน หรือเรื่องอะไรก็ตาม   ดิฉันก็ตั้งใจจะยกให้อาจารย์โจ้ทำอยู่แล้ว  เว้นแต่มาลัยสามชาย   ซึ่งคงจะต้องเก็บรอความเห็นของคุณบอยก่อน    ตามมารยาท

หมดเวลาเจรจา  คนดูมานั่งรอกันสลอนแถวหน้า จะยลโฉมแม่นางลาวทอง  
ดิฉันจะพาเธอออกโรงละค่ะ   ชักช้า  เมคอัพจะลบหมด ต้องแต่งหน้ากันใหม่อีก
*********************
พาลาวทองกลับออกมาหน้าม่านอีกครั้ง

เมื่อสำรวจชาติพันธุ์วรรณา "ลาว" ในขุนช้างขุนแผนตอนนี้  ก็เกิดสงสัยตะหงิดๆ  ว่า กวีผู้แต่ง(ซึ่งดิฉันเชื่อว่าเป็นชาวกรุง) มีพื้นความรู้เรื่อง "ลาว" และ"ล้านนา"มากน้อยแค่ไหน
เอามาปนกันหรือเปล่า

ดิฉันจึงจับสาวลาวทองมาสัมภาษณ์ด้านวัฒนธรรมและภาษา  เพื่อจะดูว่ากวีผู้สร้างเธอเป็นสาวลาวล้านนา ได้กำหนดวัฒนธรรม "ลาวล้านนา" ติดตัวเธอมาด้วยหรือเปล่า
เท่าที่อ่าน   ก็ยังไม่รู้สึกว่านางลาวทองมีวัฒนธรรมแตกต่างจากนางพิม สาวภาคกลางมากนัก     อย่างแรกคือเก่งเย็บปักถักร้อยพอๆกัน  
ซึ่งถ้ารู้จักทอผ้าพื้นเมือง  ก็น่าจะให้ภาพให้กลมกลืนกว่า  แต่ท่านก็ไม่เลือกข้อนี้   เอาเถอะ  พอสันนิษฐานว่า งานปักน่าจะเป็นงานฝีมือที่ "ฮอท" กันอยู่ในยุครัตนโกสินทร์ตอนนั้น
สาวลูกผู้ใหญ่บ้านเมืองจอมทอง   จึงเผยคุณสมบัติว่า

ฝีมือปักทำเราชำนาญ                           จะปักม่านไว้ให้เห็นประจักษ์ตา
ถวายไว้ในวัดเมืองลำพูน            ให้เป็นเค้ามูลไปเบื้องหน้า

ม่านเป็นผ้าขนาดใหญ่  ปักยากกว่าปักสไบหรือผ้าอะไรที่ผืนเล็กๆ    ซ้ำลวดลายที่ปักก็ยากมหาศาล คือปักเป็นพุทธประวัติตอนมารผจญ   ใครเคยไปวัดสุวรรณาราม ชมภาพผนังโบสถ์ฝีมือคงแป๊ะ คงนึกออกว่ายากขนาดไหน
ลายม่านยังมีเขาสัตตบริภัณฑ์และสระบัวอีกด้วย
แต่เธอปักหนึ่งวันกับหนึ่งคืนก็เสร็จ   น่าจะเร็วกว่าปักจักรเสียอีก
นางพิมหรือวันทองก็ปักม่านได้ฝีมือยอดเยี่ยม   ถึงมีเหตุการณ์ตอนขุนแผนฟันม่านไงล่ะคะ    

ลาวทองปักเสร็จแล้วถวายวัดลำพูน  เพราะจอมทองในตอนนั้นขึ้นอยู่กับลำพูน  ไม่ได้ขึ้นกับเชียงใหม่  จากนั้นก็ให้ช่างปั้นรูปตัวเองถวายวัดไว้  ให้พ่อแม่ดูต่างหน้า

ดิฉันไม่มีความรู้ว่าวัฒนธรรมปักม่านและปั้นรูป  เป็นวัฒนธรรมของล้านนาหรือเปล่า    ถ้าใครทราบช่วยอธิบายด้วยนะคะ
แต่ลาวทองมีฝีมือปัก เป็นคุณสมบัติที่กวียืนยันให้เป็นฝีมือประจำตัว  เพราะเมื่อถูกพรากจากขุนแผนเข้าไปรับโทษในวัง  เธอก็ไปเป็นช่างปักสะดึงกรึงไหมอยู่ในนั้นเสียหลายปี    


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 09, 12:27
ขออภัยคนดู

ดิฉันเพิ่งนึกได้ว่าพาลาวทองออกมาผิดคิวเสียแล้ว    ยังไม่ถึงเวลาคุณหลวงจะมาเล่าเรื่องเชียงทอง     เห็นว่าจะรอบ่ายแก่ๆ
เอาเป็นว่าผิดแล้วผิดเลยก็แล้วกัน   ไหนๆพานางออกมาหน้าม่านแล้ว  จะรีบรุนหลังกลับเข้าโรงก็เสียจังหวะ
คุณหลวงขึ้นบันไดเรือนมาเมื่อไร ก็เล่าเรื่องเชียงทองตามตั้งใจไว้  ได้เลยค่ะ

ต่อ

วัฒนธรรมอย่างที่สองคือวัฒนธรรมภาษา     ดิฉันพยายามแกะรอยว่า แม่สาวลาวทอง เธอพูดภาษาถิ่นเหนือมากน้อยแค่ไหน
ก็พบว่าส่วนใหญ่กวีถอดคำพูดครอบครัวของลาวทองออกมาเป็นไทยภาคกลาง   มีศัพท์ท้องถิ่นปนอยู่บ้างพอได้กลิ่นอาย

ว่าพลางยกมือขึ้นไหว้วอน                               น้องห่อนที่จะเว้าเจ้านายเป็น
เลี้ยงน้องมาจนน้องเป็นสาว                             บ่าวใดก็มิได้มาเบิ่งเห็น
พ่อแม่ป้อนข้าวทุกเช้าเย็น                               กลางเวนกลางค่ำบ่เคยใคร
จะให้น้องไปเว้าเจ้านายทัพ                จะขอรองขอรับเป็นสังไหน
บ่ฮู้บ่หันประการใด                             น้องไปบ่ฮอดพี่นางวัน

อีกตอนคือ
ตัวข้อยจะประนอมยอมเป็นข้า               หมายว่าจะเมื้อถึงเมืองใต้

อีกตอนหนึ่ง
จากอกสองเฒ่ามาเว้าผัว                      ระวังตัวกลัวจะปะปิสังหั้น
เมื่อใหม่ใหม่ก็พิไรว่ารักกัน                                ครั้นถึงเวียงใต้ข้อยคิดกลัว
   
ดิฉันไม่รู้ภาษาถิ่นทั้งเหนือ ใต้และอีสาน  ก็เลยโทรไปหาสาวอีสานคนหนึ่งที่เรียนจบจากเมืองหลวง   อ่านให้ฟัง เธอก็บอกว่าหลายคำที่ขีดเส้นใต้ข้างบนนี้เป็นภาษาอีสาน   แต่เธอก็แถมท้ายว่าภาษาถิ่นเหนือและอีสาน มีอะไรเหมือนๆกันหลายอย่าง   อาจเป็นภาษาเหนือด้วยก็ได้
คำถามต่อไปที่ยังหาคำตอบไม่ได้  คือภาษาเหนือเมื่อสองร้อยปีก่อน เขาพูดกันอย่างนี้หรือเปล่า

เปิดกว้างไว้สำหรับผู้รู้มาขยายความกันตามสะดวกค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 09, 13:21
เมื่อยังไม่มีใครมาผสมโรง      ดิฉันก็คุยต่อไปเรื่อยๆก่อน

วัฒนธรรมของล้านนาที่ติดมากับลาวทอง ดูเหมือนจะเห็นแค่นี้เอง   เพราะเมื่อเธอติดตามพลายแก้วลงมาทางใต้ ก็เป็นอันจบฉากบ้านเดิมที่จอมทองไว้แค่นั้น    ในฉบับหอพระสมุดก็ไม่เห็นว่าเธอกลับไปอีก

บทบาทของลาวทองเข้มข้นที่สุดก็เมื่อเปิดฉากศึกเมียหลวงเมียน้อย   เมื่อตามสามีกลับมาที่เรือนหอเดิมของสามี    ประจัญหน้ากับเมียหลวง
เป็นฉากหึงกันที่ขึ้นถึงอารมณ์สูงสุด   พลิกผันชีวิตของนางพิมหรือวันทองให้กลายเป็นวันทองสองใจ ก็มีจุดเริ่มแรกที่เหตุการณ์นี้แหละ    
นางวันทองอุตส่าห์รักษาตัวคอยสามี   ถูกแม่บังคับยังไงก็ไม่ยอมเข้าหอกับขุนช้าง     รอจนพลายแก้วกลับมาจากศึกพร้อมเกียรติยศหน้าตา      
พร้อมกับเกียรติยศ  มีเมียน้อยตามมาเป็นของแถมด้วย     แถมเป็นเมียน้อยที่ไม่สงบเสงี่ยมเจียมตัว  กล้าแหวกม่านออกมาห้ามสามีมิให้วู่วาม    ทั้งๆเมียหลวงก็เพิ่งฟ้องเขาอยู่หยกๆว่าถูกเพื่อนเก่าทรยศจะรวบหัวรวบหางเธอ

บทนางวันทองขาดสติ  ด่าว่าลาวทอง  มีตอนหนึ่งประณามว่า

" นี่อีลาวชาวดอนค่อนเจรจา                     อีกินกิ้งก่าจะตบมัน"

กวีเอาวัฒนธรรมล้านนาไปสลับกับอีสานเสียแล้วละมังคะ?
รอความเห็นค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 ต.ค. 09, 13:55
เรื่องปักม่าน  ดิฉันสงสัยมาตั้งนานแล้วค่ะ  


มารประจญน่ะ มีช้างศึกที่ทรงเครื่อง มีกล้่ามเนื้อที่เคลื่อนไหวทรงพลัง  
มีเสนามารถืออาวุธต่างๆกัน
มีศร  มีพระขรรค์  มีจักรแก้ว  มี ตรีศูล เกาฑัณฑ์ กั้นหยั่น โล่ เขน
มีม้า  มีโค   เครื่องแต่งโค กับม้า  ก็ไม่เหมือนกัน

มีพระอาทิตย์(ไม่น่าจะปักยาก)  มีเมฆเกลื่อน(โอ้โฮ...เมฆปักยากมากถ้าจะให้ดูว่าลอยลิบหรือโดนลม)

เขาสัตตภัณฑ์  

มีแนวสมุทร  คงคาใสสุดแลสลอน  เป็นละลอกกระฉอกชโลธร      (วันดีคงปักเมฆดูเหมือนคงคานทีแน่)


ซื้อผ้าแล้วก็นำมาย้อม  ผ้าแกมไหมย้อมยาก  กว่าจะแห้งอีกครึ่งวัน
ขนาดกว่าจะต้มย้อมอีก
เจ็ดวันเจ็ดคืนก็ปักไม่เสร็จ

นางวันนางเวียงไม่ใช่เด็ก ๆ ที่จะคอยส่งเข็มจากใต้สะดึงตามวิธีปักไหมแบบโบราณ
ขืนนางวันมัวร้อยไหมอยู่  นางเวียงก็คงอาสาช่วยราชการไปนวดท่านแม่ทัพแก้วแล้วแน่ๆ
(ในเสภาฉบับไหนไม่แน่ใจ  ขุนแผนเลือกนางคนใดคนหนึ่ง)


ท่านผู้ว่าเสภาคงสรรเสริญงานฝีมือของกุลสตรีแบบบรรยายนางในฝัน


ไหมที่ใช้ปักในสมัยนั้นเป็นของฟุ่มเฟือย  มิใช่จะซื้อหาโดยง่าย  และ...เป็นของมาจากเมืองจีนค่ะ



มีข้อมูลว่า  พระองค์เจ้าหญิงจงกลนี พระธิดาองค์ที่ ๒๒ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
เจ้าจอมมารดาตานีพระสนมเอก  เป็นธิดา พระยาอุไทยธรรม(บุนนาก)กับ คุณลิ้ม
เป็นอธิบดี(แปลว่าผู้เป็นใหญ่ควบคุม)แม่กองช่างสดึง  ปักร้อยกรองสิ่งของต่าง ๆ มีผ้าแพรเป็นต้น ใน รัชกาลที่ ๒  กรุงเทพมหานคร)
(อ้างอิง  มหามุขมาตยานุกูลวงศ์  เล่ม ๑   )


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 30 ต.ค. 09, 14:17
ไม่เป็นไรครับอาจารย์ ลาวทองออกมาก็ดีแล้ว  เพราะถ้าลาวทองเกิดอิ่มข้าวเหนียวมื้อกลางวันแล้วนั่งรอนานจนถึงบ่ายแก่  ลาวทองอาจจะง่วงเหงาหาวนอนได้

เรื่องเมืองเชียงทอง  เท่าที่ไปดูตามเอกสารต่างๆ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พอจะประมวลมาให้ดูได้ดังนี้

1.ในสมัยสุโขทัย  มีจารึกทั้งหมด ๔ หลัก ที่กล่าวถึงเมืองเชียงทอง คือ จารึกนครชุมด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๒๐ ซึ่งจารึกด้านนี้ข้ความชำรุด อ่านแล้วความไม่ติดต่อกัน ข้อความนั้นว่า เมิองชยงทองหาเปนฃุนนิง......  ข้อความนี้ตีความจากจารึกได้ว่า ในช่วงหนึ่งของสมัยสุโขทัย เมืองต่างๆ ในอาณาจักรสุโขทัย ประกาศตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นกับสุโขทัย เหตุเพราะหัวเมืองต่างๆ ไม่ยอมรับพระราชอำนาจกษัตริย์กรุงสุโขทัย  เมืองเชียงทองเองก็ตั้งตัวเป็นอิสระด้วยเมืองหนึ่ง  จารึกหลักยังไม่ให้ความกระจ่างได้ว่าเมืองเชียงทองอยู่ที่ไหนแน่  จารึกหลักต่อมา คือจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๒๑ " กฺการ  อํวิ สฺรุก โฉด โมก ลฺวะ ชฺยงโทง ดล สฺรุก บางจนฺร " ข้อความในจารึกหลักนี้ที่เกี่ยวกับเมืองเชียงทองมีว่า พระบาทกมรเตงอัญศรีสูรยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช หรือสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๑  (ลิไทย) ได้โปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิตไปอาราธนาพระมหาสามีสังฆราชจากลังกามายังกรุงสุโขทัย เมื่อพระมหาสามีสังฆราชเดินทางมาถึงท่าเมืองมอญเดินทางเข้าสู่เขตสุโขทัย  ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้อมาตย์มนตรีและราชสกุลไปรับพระมหาสามีสังฆราชจากเมืองฉอดมาถึงเมืองเชียงทอง ถึงเมืองบางจันทร์ เมืองบางพาร สุดท้ายการเดินทางที่กรุงสุโขทัย  (ขอให้สังเกตว่า ในภาษาเขมรโบราณที่ไทยใช้นั้น ใช้สระโอแทนเสียงสระออ  ตรงนี้อธิบายได้ว่า ในบางถิ่นของเขมรเองก็ออกเสียงสระโอเป็นออเหมือนกัน ลักษณะเช่นนี้ปรากฏในเอกสารกัลปนาเมืองพัทลุงและเอกสารภาษาเขมรในไทยอีกหลายชิ้น แม้แต่อักษรไทยบางทีก็ใช้โอแทนออก็มี)  แสดงว่า เมืองเชียงน่าจะอยู่ทางตะวันตกของสุโขทัย และอยู่ในเส้นทางผ่านจากเมืองมอญมากรุงสุโขทัยด้วย (สฺรุก นอกจากแปลว่า เมือง แล้ว ยังแปลว่า บ้าน หรือ หมู่บ้าน ก็ได้) จารึกอีกสองหลักต่อมาที่สำคัญต่อการชี้ทิศทางที่ตั้งของเมืองเชียงทองในสมัยสุโขทัย คือ จารึกวัดอโสการาม ด้านที่ ๒ ที่เป็นภาษาบาลี บรรทัดที่ ๑๗ กับจารึกวัดบูรพาราม ด้านที่ ๒ ที่เป็นภาษาบาลี บรรทัดที่ ๑๓ จารึกทั้ง ๒ หลักระบุชัดว่า เมืองเหมปูระ หรือเมืองเชียงทอง อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ แสดงว่าสมัยสุโขทัยเมืองเชียงทองอยู่ในอาณาเขตของสุโขทัยด้วย เมืองเชียงทองสมัยสุโขทัยนี้ มีนักวิชาการตีความสับสนกับเมืองเชียงทองในลานช้าง  เพราะชื่อเหมือนกันนั่นเอง

2.ในสมัยอยุธยา  มีหลักฐานที่กล่าวถึงเมืองเชียงทองไม่มาก มีสมุดภาพไตรภูมิสมัยอยุธยา ที่ระบุที่ตั้งเมืองเชียงทองว่าอยู่เหนือเมืองกำแพงเพชรและใต้เมืองตาก  นอกจากนี้ ก็มีเอกสารพระไอยการเก่าตำแหน่งนาหัวเมือง เอกสารชิ้นนี้เคยลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือเทศาภิบาลเมื่อ ปี ๒๔๕๙ (ไม่ใช่เทศาภิบาล พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) เมื่อไม่นานมานี้ได้มีผู้นำมาพิมพ์อีกในหนังสือศรีชไมยาจารย์ เมื่อปี ๒๕๔๖   ในพระไอยการนี้ ระบุว่า เมืองเชียงเงิน เมืองเชียงทอง เป็นเมืองขึ้นแก่เมืองกำแพงเพชร  และในสมัยนั้น เมืองตากก็ขึ้นแก่เมืองกำแพงเพชรด้วย  และเมื่อนำไปเทียบกับทำเนียบหัวเมืองครั้งรัชกาลที่ ๓ ที่จารึกไว้ที่วัดพระเชตุพน  ปรากฏว่า เมืองเชียงเงิน เมืองเชียงทอง บนฝั่งขวาของลำน้ำพิง (หันหน้าขึ้นเหนือ) ย้ายไปขึ้นกับเมืองตากแทนแล้ว  เป็นอันว่า สมัยอยุธยาเมืองเชียงทองก็ยังอยู่ไม่หายไปไหน

๓.สมัยธนบุรี ยังไม่พบเอกสารที่กล่าวถึงเมืองเชียงทอง  

๔.สมัยรัตนโกสินทร์ มีเอกสารหลายชิ้นกล่าวถึงเมืองเชียงทอง  เช่น ในสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้เตรียมการออกพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ ๑ เมืองเชียงเงิน เมืองเชียงทอง ได้รับเกณฑ์ให้ส่งขมิ้นสำหรับย้อมผ้าไตรถวายพระสงฆ์ด้วย  สมัยรัชกาลที่ ๓ นอกจากทำเนียบหัวเมืองที่จารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนแล้ว ยังมีเอกสารรายงานราชการทัพเมืองเวียงจันทน์บางตอน ระบุว่า เจ้าเมืองเชียงทอง เจ้าเมืองตาก ต้องเกณฑ์ไปทัพรบกับพวกลาวเวียงจันทน์  ขยับมาอีกให้ใกล้ปัจจุบัน  อยากให้อ่านหนังสือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๕๕ - ๒๔๖๐ (ไปหาซื้อได้ที่มูลนิธิมหามกุฏฯ หน้าวัดบวรฯ ราคาเล่มละ ๑๒๐ บาท ๖๔๐ หน้า) ตอนที่ว่าด้วยระยะทางสมเด็จพระมหาสมณะ  เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์ในมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ.๒๔๕๖ มีรายงานเมื่อเสด็จไปตรวจการเมืองตาก ในการเสด็จครั้งนั้นได้เสด็จไปที่เมืองตาก ก่อนแล้วเสด็จลงมาทางใต้จนมาถึงบ้านเชียงทองบ้านเชียงเงิน ที่นี่มีดอยเชียงทอง และวัดเชียงทองล่าง วัดดอยเชียงทอง ซึ่งในขณะนั้นเมืองเชียงทองในอดีตคงลดฐานะเป็นเพียงหมู่บ้านแล้ว  หลักฐานทางโบราณคดีคงจะสูญไปมากตามกาลเวลา  เพราะมีหลักฐานจากประวัติเมืองตาก ที่ขุนวัชรพุกก์ศึกษากร (แปลก วัชรพุกก์) แต่งไว้ พิมฑ์ในงานพระราชทานเพลิงศฑท่านเองเมื่อ ๒๕๐๘ ว่า ในสมัยโบราณเรียกเมืองเชียงทองว่าด่านช่องกุฎิ์ มีโบราณสถานเป็นวัด เจดีย์เก่าแก่ และบ่อน้ำ  ครั้นภายหลังชาวบ้าน ได้ไปขุดค้นเจดีย์หาของมีค่าจนเจดีย์พังทลาย บ่อน้ำก็ถูกถมดินเสียหมด จนไม่เหลือหลักฐานชุมชนเมืองเก่าให้คนรุ่นหลังได้เห็น  

คะเนว่า เมืองเชียงทองในเขตจังหวัดตาก อาจจะไม่ใช่เมืองในความหมายว่าต้องมีคูน้ำคันดินล้อมรอบเมือง อย่างเมืองโบราณใหญ่ๆ ทั้งหลาย คงเป็นชุมชนที่พัฒนามาจากหมู่บ้านที่อยู่ในเส้นทางผ่าน   และเข้าใจว่า การเดินทางไปทางเหนือสมัยก่อนคงใช้ทางเดียวกับทางเดินทัพของพลายแก้ว  มิได้เดินตรงขึ้นจากกรุงศรีอยุธยาไปเชียงทองทีเดียวตามความเข้าใจของคนปัจจุบัน  แต่ต้องเดินขึ้นไปถึงพิษณุโลกหรือสุโขทัยก่อนแล้วค่อยเดินตัดไปทางตะวันตก เข้ากำแพงเพชร ไประแหง ถึงตากแล้ววกลงมาที่เชียงทอง  ถ้าจะขึ้นเชียงใหม่ พอถึงระแหง เถิน ก็ขึ้นไปตามลำน้ำพิงก็ถึงเชียงใหม่  

ขอเสนอข้อมูลเมืองเชียงทองเท่าที่ค้นมาได้ อาจจะมีเอกสารอื่นๆ อีกแต่เนื่องจากเวลาจำกัดจึงขอเสนอแต่เท่านี้ครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 ต.ค. 09, 14:18
นางวันทองนั้นทรุดตัวลงกอดเท้าขุนแผนด้วยความระทม
เรือนั้นเป็นเรือยาวหลังคากระแชง    บริเวณหน้าเรือกว้างขวาง  ภายในเรือกั้นม่านมีฟูกหมอนผิดสังเกต

ลาวทองออกมากั้นขุนแผนไว้เตือนว่ามีตื้นลึกหนาบาง
เป็นการเหน็บแนม


นางวันทองคิดว่าเป็นการสำออยลอยนวล  ไม่ต้องมาไหว้ให้เสียมือ
รับไหว้เมื่อไหร่ก็เท่ากับเลื่อนฐานะตนเองเป็นเมียหลวงทันที


นางลาวทองเก่งกาจมากทีเดียวถึงกับประชดว่าไม่รู้ว่ามีเมียหลวงอยู่จะได้ขนของแพง ๆเช่นไม้กฤษณางาช้างมาให้


การด่าทอเปรียบเปรยเป็นไปอย่างดุเดือดด้วยความหึงหวง
นางลาวทองลอยหน้าชมว่านางวันทองคงขับขี่ช้างทุกเวลา  ถึงกับจะเผื่อให้ไปรับ


ถึงตอนนี้วันทองก็เรียกสายทองและสาวใช้อีกสองคนมาช่วยตบ

สายทองคงร่วมมือเต็มที่เพราะเห็นว่าอัตราแบ่งส่วนลดลงแน่ๆ
พูดแล้วเห็นใจสายทอง



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ต.ค. 09, 14:19
คนกรุงเทพฯตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ขึ้นไปเรียกคนล้านนาว่าเป็น "ลาว" แม้แต่คนในรั้วในวังยังไม่ทราบว่าคนล้านนารับประทานอะไรบ้าง คิดว่ารับประทานปลาร้าเช่นเดียวกับลาวล้านช้าง

ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง เล่าไว้ในหนังสือ เพ็ชรลานนา, เชียงใหม่ ๒๕๐๗, น. ๒๖-๒๗ เรื่องที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีถูกดูถูกเหยียดหยามโดยชาววังคนกรุงเทพว่า

บางทีพระองค์ทรงได้ยินเสียงตะโกนลั่นผ่านหน้าห้องบรรทมว่า "เหม็นปลาร้า" บ่อยครั้งที่พระกระยาหารบรรจุวางบนถาดเงินก็ถูกกีดกันมิให้ผ่านเข้าออกทวาร ยิ่งกว่านั้นเครื่องเพชรอันหาค่าบ่มิได้ของในหลวงก็มาปรากฎวางทิ้งอยู่ในพระตำหนักของพระราชชายา ผู้ที่ปรนนิบัติรับใช้พระองค์ก็พลอยถูกจงเกลียดจงชัง มีคนเอาปลาทูใส่กะลามะพร้าวไปวางไว้บนสำรับกับข้าว.....

จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนไว้ในหนังสือ "ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ" ถึงปรากฎการณ์การดูถูกไทยล้านนาของคนไทยภาคกลาง ในสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ขึ้นไป ว่า

ประวัติศาสตร์ของไทยล้านนานับตั้งแต่ต้นสมัยรัชกาลที่ ๕ ขึ้นไป เป็นประวัติศาสตร์ของการเป็นเมืองขึ้นของไทยภาคกลางและพม่าสับเปลี่ยนกันหลายร้อยปี. ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ ขึ้นไป ล้านนาเป็นประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์ มีเจ้าครองรัฐอยู่หลายนครรัฐ โดยมีเชียงใหม่เป็นรัฐประธานของสหพันธนครรัฐพี่น้อง. ยุคนั้นชาวกรุงเทพมหานครถือชาวล้านนาเป็นเมืองขึ้น เป็นประชาชนชั้นสอง มักเรียกขานอย่างดูถูกเหยียดหยามว่าเป็น "ลาว" เป็นพวก "นุ่งผ้าซิ่น กินกิ้งกือ" หรืออย่างในเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนนางวันทองหึงนางลาวทองซึ่งมาจากเมืองเหนือ มีคำด่าเปรียบเปรยนางลาวทองว่า

"ทุดอีลาวดอนค่อนเจรจา  อีกินกิ้งก่ากบจะตบมัน"

(พระราชนิพนธ์รัชกาลที่๒)





กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 09, 15:09
เคยได้ยินเรื่องอคติเหล่านี้มาบ้างเล็กน้อยค่ะ ไม่รู้รายละเอียด   รู้อีกอย่างว่าพระราชชายา หรือ"เจ้าน้อย" ที่ชาววังเรียก   ท่านดำรงพระองค์ด้วยขันติ มาก ระหว่างทรงอยู่ในวังหลวง

ลองพิจารณาน้ำเสียงของกวีผู้สร้างลาวทองขึ้นมาว่า ท่านเหยียดหยามตัวละครตัวนี้ไหม   ก็ไม่เห็นอะไรในทางลบ
เพราะท่านสร้างคุณสมบัติให้ลาวทอง ให้มีคุณสมบัติไม่น้อยกว่านางวันทอง  มีฝีมือกุลสตรี ช่างคิด   แหลมคม ไม่ใช่ผู้หญิงจืดๆโง่ๆ
อันที่จริงบรรดาตัวนางในขุนช้างขุนแผน ก็ไม่เห็นใครจืดสักคน   ถ้าเป็นอาหารก็รสชาติเป็นส้มตำปูเค็มใส่พริกกันเป็นส่วนใหญ่   ที่สุภาพที่สุดเห็นจะเป็นลูกสาวเจ้าเมืองที่ชื่อแก้วกิริยา 
ศรีมาลาถึงสวยเสงี่ยมมีราศีผู้ดี แต่ความคิดความอ่านก็ไม่เรียบร้อยนักหรอก


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 09, 17:52
คุณวันดีเอ่ยถึงม่านฝีมือลาวทอง   ปักลายพุทธประวัติตอนมารผจญ
กวีท่านพรรณนาไว้ได้งามมาก

ปักเป็นเรื่องพระยามารา                           ยกพลโยธากองทัพชัย
มาประจญใต้ต้นมหาโพธิ                          กริ้วโกรธกระทืบช้างที่นั่งไล่
พวกพลแปรร่างต่างต่างไป                        บ้างสวมใส่เสนาะเกราะพราย
บ้างแบกตระบองตะแบงมาน                      ขี่สารสูงสุดพระเมรุหมาย
กำซาบศรขรรค์พรรณราย                          จักรแก้วแพรวพรายคทาธร
ตรีศูลเสน่าเกาทัณฑ์                                กั้นหยั่นโล่เขนแลสลอน
ขี่คชสารกล้างางอน                                 สิงหราชฤทธิรอนระเหิดตาม
มิ่งม้าแม้นม้าพลาหก                                ผจงยกย่ำย่างกลางสนาม
ล้วนประดับประดาเครื่องม้างาม                  บ้างขี่โคโตหลามกระบวนทัพ
ปักเป็นธงหน้าคลาเคลื่อน                         เมฆเกลื่อนอาทิตย์ก็มิดดับ
เทพทุกราศีก็หนีลับ                                 ระยับด้วยทองถมทุกแห่งไป

ยกมาแค่ลายมารผจญก่อนค่ะ  ยังมีภาพเขาสัตตบริภัณฑ์และสระบัวอีก     อดคิดไม่ได้ว่ากวีท่านพรรณนาตามจิตรกรรมฝาผนัง ในวัดใดวันหนึ่งที่ท่านเคยเห็นมาก่อนหรือเปล่า
ไม่น่าจะมาจากจินตนาการล้วนๆ   น่าจะมีแบบอยู่ที่ไหนให้ท่านเขียนคำบรรยายตาม

น่าเสียดายม่านผืนนี้มีอยู่ตอนเดียว    พอลาวทองถวายวัดก็หมดบทบาทไป     ทั้งๆฝีมือบรรยายนั้น เห็นความเฉิดฉายไม่แพ้ม่านนางวันทองเลยเชียว


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 09, 19:56
อ้างถึง
สมัยรัตนโกสินทร์ มีเอกสารหลายชิ้นกล่าวถึงเมืองเชียงทอง  เช่น ในสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้เตรียมการออกพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ ๑ เมืองเชียงเงิน เมืองเชียงทอง ได้รับเกณฑ์ให้ส่งขมิ้นสำหรับย้อมผ้าไตรถวายพระสงฆ์ด้วย  สมัยรัชกาลที่ ๓ นอกจากทำเนียบหัวเมืองที่จารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนแล้ว ยังมีเอกสารรายงานราชการทัพเมืองเวียงจันทน์บางตอน ระบุว่า เจ้าเมืองเชียงทอง เจ้าเมืองตาก ต้องเกณฑ์ไปทัพรบกับพวกลาวเวียงจันทน์  ขยับมาอีกให้ใกล้ปัจจุบัน  อยากให้อ่านหนังสือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๕๕ - ๒๔๖๐ (ไปหาซื้อได้ที่มูลนิธิมหามกุฏฯ หน้าวัดบวรฯ ราคาเล่มละ ๑๒๐ บาท ๖๔๐ หน้า) ตอนที่ว่าด้วยระยะทางสมเด็จพระมหาสมณะ  เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์ในมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ.๒๔๕๖ มีรายงานเมื่อเสด็จไปตรวจการเมืองตาก ในการเสด็จครั้งนั้นได้เสด็จไปที่เมืองตาก ก่อนแล้วเสด็จลงมาทางใต้จนมาถึงบ้านเชียงทองบ้านเชียงเงิน


สรุปว่าเมืองเชียงทองของจริง ยังดำรงความเป็นหัวเมืองอยู่  ในรัชกาล ๑ ๒ และ ๓    แต่มาถึงรัชกาลที่ ๕  กลายเป็นบ้านเชียงทองไปแล้ว
กวีที่แต่งศึกเชียงทองก็น่าจะแต่งตอนนี้ไม่เกินรัชกาลที่ ๓

ส่วนการปักสดึงกรึงไหม เป็นงานสำคัญของสตรีในวัง สมัยรัชกาลที่ ๒   ถึงขั้นมีกองช่างสดึง     และหัวหน้าที่ควบคุมก็ไม่ใช่ระดับสตรีบรรดาศักดิ์ที่เป็นสามัญชนอย่างคุณท้าวท่านใดท่านหนึ่ง 
แต่เป็นถึงพระเจ้าลูกเธอ คือพระองค์เจ้าหญิงจงกลนี พระธิดาองค์ที่ ๒๒ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 
แสดงว่างานฝีมือด้านนี้เป็นภารกิจสำคัญของชาววังทีเดียว


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 30 ต.ค. 09, 21:02
ขอเพิ่มเติมเรื่องค่ายปิหลั่น

ปิหลั่น มาจากภาษามลายูว่า apilan แปลว่า เกราะสำหรับป้องกันกระสุนปืนใหญ่
ใน พจนะภาษา ของอ.เปลื้อง ณ นคร ท่านอธิบายความหมายไว้ว่า
ปิหลั่น หมายถึง ป้อมปราการที่สามารถเคลื่อนย้ายเข้าหาข้าศึกได้  วิหลั่น ก็เรียก


ผมขอเพิ่มเติมข้อมูลด้วยอีกคนครับ  ;D

คือ ผมลองหาคำว่า apilan จากเว็บ "พจนานุกรมหลักภาษาอินโดนีเซีย" ( http://pusatbahasa.diknas.go.id/kbbi/index.php ) (คำนี้ หาตามเว็บแปล อินโดฯ - อังกฤษ ทั่วไป จะไม่เจอ) ได้คำแปลมาว่า

api·lan kl n papan tebal untuk dinding pd haluan kapal atau untuk menempatkan meriam

pd นี้ ผมไม่ทราบว่าย่อมาจากอะไร

เนื่องจาก ผมไม่มีความรู้ภาษาดังกล่าว จึงต้องพึ่งพาบริการของ translate.google.com กับ kamus.net (kamus แปลว่า พจนานุกรม) ก็ทำให้พบว่า ภาษามาเลย์-อินโดฯ นี้ เรียงคำเกือบๆ จะเหมือนกับภาษาไทยเลย ซึ่งคนไทยน่าจะเรียนรู้ได้เร็วกว่าทั้งภาษาจีน และอังกฤษ

ท่านใดแปลภาษานี้ได้เนียนๆ ก็ช่วยแปลด้วยนะครับ
คำแปลที่ได้มาจาก google และ kamus.net มีดังนี้ครับ

papan........tebal.. untuk... dinding ..........pd ... haluan kapal .... atau.. untuk ... menempatkan .. meriam
แผ่นกระดาน...หนา.... สำหรับ... กำแพง (เชิงเทิน) .... ... หัวเรือ ......... .... หรือ.... สำหรับ ... วาง (ติดตั้ง) ........ ปืนใหญ่


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 09, 21:45
เส้นทางที่จะไปเมืองเชียงทองยังไม่ค่อยลงตัวเท่าไรครับ

จากหลักฐานที่ปรากฏในปัจจุบัน การเดินทางในสมัยโบราณหากใช้แม่น้ำเจ้าพระยามาขึ้นที่พิษณุโลก แล้วเดินทางบกมุ่งทิศตะวันตก ผ่านสุโขทัย มาตามที่ราบ จะมาถึงอำเภอเมืองตากปัจจุบันที่ตำบลเชียงเงินนะครับ เชียงเงินนี้อยู่ทางทิศเหนือของระแหงห่างกันสักกิโลเมตรเดียว ปัจจุบันระแหงก็เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเมืองตากเหมือนกัน ตามประวัติไม่นานมานี้ เชียงทองแม้จะอยู่ทางใต้ของระแหงไปตั้งยี่สิบกว่ากิโลเมตร ก็เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอเมืองตากด้วย แต่เพิ่งจะแยกไปขึ้นกับอำเภอวังเจ้าเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้

ก็เลยงงๆกับบันทึกของคนโบราณ ถ้าเริ่มต้นการเดินทางโดยทางบกที่พิษณุโลก ก็คงไม่ย้อนไปกำแพงเพชรแน่ แต่จะตรงผ่านสุโขทัยมาดังกล่าวแล้ว ก็จะเจอเชียงเงินและระแหง แล้วจึงย้อนมาเชียงทอง

แต่ถ้าขึ้นเรือที่พิจิตร ก็จะตัดตรงเข้ากำแพงเพชร แล้วมาถึงเชียงทอง ก่อนจะถึงระแหง และเชียงเงินตามลำดับ

อ้อ  แล้วเมืองตากโบราณนั้นอยู่ที่ไหน อยู่ที่ระแหง หรืออยู่ที่อำเภอบ้านตากในปัจจุบัน ซึ่งอยู่เหนือระแหงออกไปสิบกว่ากิโลเมตร  แต่ถึงเมืองตากตอนโน้นจะอยู่ที่อำเภอบ้านตาก คนเดินทางจากสุโขทัยมาก็ต้องมาที่เชียงเงินก่อนอยู่ดีเพราะเป็นทางราบ แล้วจึงเปลี่ยนทิศขึ้นไปตากและเถินตามลำดับ เพราะทางจะลาดชันน้อยกว่า ทางอื่นต้องผ่านภูเขาสูงทั้งนั้น


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 09, 22:08
อ้างถึง
พลายแก้วยกทัพจากอยุธยา ไปตีเชียงทอง ในเรื่องบอกเส้นทางเดินทัพไว้สั้นๆว่า  จากอยุธยาไปทุ่งโสภา   ไปบ้านกระทง ตรงไปท่าโพธิ์   ถึงโพธิ์สามต้นก็ค่ำพอดีจึงหยุดทัพเสียคืนหนึ่ง   เช้าก็ตรงขึ้นไปนครสวรรค์ แต่ไปทางบก เป็นทางลัดฝ่าดงไป  ไม่ล่องไปตามลำน้ำ
จากนครสวรรค์ไปกำแพงเพชร  ระแหง และเถินตามลำดับ  ก็ระดมพลจากทั้งสามเมือง ไปตีเชียงทอง งั้นเชียงทองก็อยู่เหนือเถินขึ้นไป



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 09, 23:10
นั่นนะซีครับ แล้วตำบลเชียงทองปัจจุบันมาอยู่ทางใต้ได้อย่างไร มันใช่หรือเปล่าที่เคยมีเมืองเชียงทองอยู่ที่นี่ ถ้าเคยอยู่จริงและเป็นเมืองใหญ่ขนาดต้องเกณฑ์คนทั้ง3เมืองมาตี ทำไมข้อมูลของอ.บ.ต.จึงไม่เอ่ยถึงทรากโบราณสถาน หรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอะไรสักนิด แม้แต่วัด ก็มีเพียงหมู่บ้านละวัด และไม่ใช่วัดเก่าแก่อะไร

จะอ้างที่คุณหลวงเล็กเอามาลงว่า หลักฐานจากประวัติเมืองตาก ที่ขุนวัชรพุกก์ศึกษากร (แปลก วัชรพุกก์) แต่งไว้ว่า ในสมัยโบราณเรียกเมืองเชียงทองว่าด่านช่องกุฎิ์ มีโบราณสถานเป็นวัด เจดีย์เก่าแก่ และบ่อน้ำ  ครั้นภายหลังชาวบ้าน ได้ไปขุดค้นเจดีย์หาของมีค่าจนเจดีย์พังทลาย บ่อน้ำก็ถูกถมดินเสียหมด จนไม่เหลือหลักฐานชุมชนเมืองเก่าให้คนรุ่นหลังได้เห็น  ท่านก็มิได้แจ้งด้วยว่า แล้วด่านช่องกุฏิ์นั่นน่ะอยู่ที่ไหน หนังสือโบราณใดกันเล่าที่ไม่เรียกเมืองนี้ว่าเชียงทองแต่ไปเรียกว่าช่องกุฏิ์ เห็นมีแต่เรียกเชียงทองๆทั้งนั้น

ยิ่งบันทึกที่ว่าสมเด็จพระมหาสมณะ  เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์ในมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ.๒๔๕๖ มีรายงานเมื่อเสด็จไปตรวจการเมืองตาก ในการเสด็จครั้งนั้นได้เสด็จไปที่เมืองตากก่อน แล้วเสด็จลงมาทางใต้จนมาถึงบ้านเชียงทองบ้านเชียงเงิน ก็ยิ่งงงหนักขึ้น ไม่แจ้งเหมือนกันว่าท่านเสด็จผ่านมาจากเมืองใด

ท้ายสุดที่คุณหลวงเล็กสรุปว่า การเดินทางไปทางเหนือสมัยก่อนคงใช้ทางเดียวกับทางเดินทัพของพลายแก้ว  มิได้เดินตรงขึ้นจากกรุงศรีอยุธยาไปเชียงทองทีเดียวตามความเข้าใจของคนปัจจุบัน  แต่ต้องเดินขึ้นไปถึงพิษณุโลกหรือสุโขทัยก่อนแล้วค่อยเดินตัดไปทางตะวันตก เข้ากำแพงเพชร ไประแหง ถึงตากแล้ววกลงมาที่เชียงทอง  ถ้าจะขึ้นเชียงใหม่ พอถึงระแหง เถิน ก็ขึ้นไปตามลำน้ำพิงก็ถึงเชียงใหม่  ผมก็เลยบอกมั่งว่า ถ้าการเดินทางไปทางเหนือเริ่มต้นจากพิษณุโลก(เพราะไปทางเรือแสนสะดวก แล้วไปขึ้นบกที่นั่น)ก็ต้องเดินบกเข้าสุโขทัย ไปที่ระแหง(หรือเชียงเงินที่อยู่ใกล้กันนิดเดียว) ถ้าจะเลือกผ่านกำแพงเพชรก็ต้องขึ้นจากเรือที่พิจิตร แล้วเดินบกมา แต่จะต้องผ่านเชียงทอง(ตำบลเชียงทอง)ก่อนจะถึงระแหง และตาก(ที่บ้านตาก)ตามลำดับ

ส่วนในกรณีย์ของพลายแก้ว ใช้การเดินบกตลอดก็ถูกแล้วที่มาตามเส้นทางผ่านนครสวรรค์ไปกำแพงเพชรเลย เพราะลัดสั้นและตรงไปตรงมา แต่สะดุดตรงที่ไปอ้อมหนีเมืองเชียงทองทำไม ต้องไประดมพลถึงระแหงและเถินโน่นจึงย้อนกลับมา อย่างนั้นเชียวรึ

หรือจะเป็นอย่างที่อาจารย์ว่า คือเชียงทองอยู่เหนือเถินขึ้นไป

สรุปก็คือ มีรายการมั่วนิ่มแน่นอน คำถามก็คือ รายการไหนชัวร์ รายการไหนมั่วนิ่มครับ





กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: TIRAV ที่ 30 ต.ค. 09, 23:17
ตามมาอ่านอย่างเงียบๆครับ  :-[


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 30 ต.ค. 09, 23:47
พลายแก้วยกทัพผ่าน นครสวรรค์ กำแพงเพชร ระแหง เถิน แล้วจึงเชียงทอง ลองอ่านต่อไป พบว่าไปตีลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่
เรียกได้ว่า ใช้แนวแม่น้ำปิงจากนครสวรรค์ขึ้นมา พอถึงตากก็แยกเข้าแควแม่น้ำวัง ขึ้นไปทางเถิน เชียงทอง และลำปาง หลังจากนั้นคงเดินผ่านช่องเขาเข้าไปยังเมืองในลุ่มน้ำปิง คือ ลำพูนและเชียงใหม่

ซึ่งถ้าพิจารณาตามนี้ "เชียงทอง" ในที่นี้ เห็นจะต้องอยู่ระหว่าง เถิน กับ ลำปาง ริมฝั่งแม่วังนี่แหละครับ

และไม่สอดคล้องกับตำแหน่งของเชียงทองในจังหวัดตากแต่อย่างใด


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ต.ค. 09, 08:23
ได้ข้อคิดมา ๒  ข้อจากการอ่านค.ห.คุณหลวง คุณ  N.C.   และคุณม้า
๑   กวีไม่แม่นเรื่องแผนที่เส้นทาง   ไม่รู้ว่าเชียงทองอยู่ตรงไหนกันแน่    พลายแก้วเลยยกทัพอ้อมไปอ้อมมา  ขึ้นไประดมพลถึงระแหงและเถินก่อนวกลงมาเชียงทอง
๒  เชียงทองในขุนช้างขุนแผน  ไม่มีจริง  กวีสมมุติชื่อเมืองซ้ำกับเมืองจริงเท่านั้น

เชียงทองของจริง  ก็อยู่ตามที่ปรากฏในเอกสารข้อเท็จจริงทั้งหลายที่คุณหลวงอุตสาหะไปค้นมาให้     แต่มิได้เกี่ยวกับเชียงทองในวรรณคดี  นอกจากว่าจะอยู่ทางเหนือเหมือนกัน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ต.ค. 09, 09:52
ได้ร่องรอยมาเพิ่มครับ

ในจังหวัดตากนั้น ปรากฎว่ามีวัด2วัด ชื่อว่าวัดเชียงทอง(บน) ตั้งอยู่ที่ ตำบลเชียงเงิน และวัดเชียงทอง(ล่าง) ตั้งอยู่ ตำบลระแหง อำเภอเมือง เช่นกัน ปัจจุบันวัดเชียงทองทั้ง2 ได้รับการพัฒนาดังรูป  มีการปรับปรุงอุโบสถ และศาลาการเปรียญ และหอไตรต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจนแทบจะดูไม่ได้ว่าเป็นวัดโบราณ แต่ยังมีพระพุทธรูปสำคัญ ๆของจังหวัด อีกหลายองค์

รายรอบวัดทั้ง2นั้น มีชุมชนที่เทศบาลเมืองตากเรียกอย่างเป็นทางการว่าชุมชนเชียงทองบน และชุมชนเชียงทองล่าง อยู่ในอำเภอเมืองตากด้วย

การวิจัยของทางราชการชิ้นหนึ่งสรุปว่า ชุมชนเชียงทอง มีทรัพยากรทางศิลปวัตถุ ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่สำคัญมากมาย มีศักยภาพในการส่งเสริมพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปและวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี  ประชาชนส่วนใหญ่ยังสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม ในความเชื่อ พิธีกรรมต่าง ๆ แบบประเพณีชาวเมืองเหนือไว้อย่างเหนียวแน่น มีภาษาพูดแบบคำเมือง สำเนียงที่เป็นเอกลักษ์เฉพาะถิ่น

จึงเป็นไปได้เหมือนกันว่า เดิมเมืองเชียงทองก็อยู่ติดๆกับระแหงเหมือนเชียงเงินนั้นแหละ พอบ้านเมืองเจริญขึ้นอะไรๆก็เปลี่ยนไป ส่วนตำบลเชียงทองในปัจจุบันนั้น ผมอยากจะเชื่อว่าเป็นฝีมือการตั้งชื่อของกระทรวงมหาดไทยครั้งที่แบ่งเขตการปกครองให้เหมาะกับสภาพภูมิศาสตร์ในช่วงหลังๆนี่ แล้วเอาชื่อเชียงทองมาตั้งตำบลนี้ให้เป็นที่ระลึกแก่เมืองในประวัติศาสตร์ที่สูญหายไปแล้ว

ผมคิดอย่างที่อาจารย์เทาชมพูว่า คือกวีที่แต่งเรื่องขุนช้างขุนแผนคงไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในทุกเรื่องที่ตนเขียน โดยเฉพาะความรู้ที่ไกลตัวออกไป สมัยก่อนอีบุ๊กค์ก็ไม่มี ไอ้บุ๊กค์ก็หาค้นยาก ต้องฟังเขาเล่าว่าอีกทีหนึ่ง ผมหมดประเด็นเรื่องนี้แล้วเหมือนกันครับ อาจารย์จะนำนางลาวทองออกมารำต่อก็เชิญดีกว่า เดี๋ยวเธอจะงอนกลับเชียงใหม่ไป


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 31 ต.ค. 09, 09:55
ขุนแผนรักนางลาวทองมากนะคะ

ขนาดจากไปปีกว่ายังเปิดมุ้งมองหา   ได้ยินเสียงนกร้องก็นึกว่านางขึ้นมาบนหอ


ขุนแผนเป็นคนที่ถือตัวอยู่เหมือนกัน เพราะไม่เรียก

ข้าใช้ไทยลาวสาวสาวมี  ไม่ยินดีด้วยใครอาลัยนาง



ขออนุญาตคุณเทาชมพู  นำความบางตอนมาจาก  เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน  ความเก่า  สำนวนที่ ๒

บำราสร้างห่างโฉมเจ้าลาวทอง                         ให้ตริตรองตรึกตรมอารมณ์รอน
ยามนอนก่ายกรเกยนลาต                               เสียวสวาทลาวทองฤทัยถอน
โอ้ทำไฉนจึงจะได้มาแนบนอน                           แต่อาวรณ์วิเวกวังเวงทรวง



มีความอยู่นิดหนึ่ง  ไม่เคยเห็นที่ไหน  อธิบายความว่า ทำไมขุนแผนจึงโมโหทิ้งวันทองไว้   (เสภาความเก่า  สำนวนที่ ๒)

โอ้โอ๋วันทองของพี่เอ๋ย                                    ไม่ควรเลยอนิจจามาตกปลัก
โมโหหึงส์ดึงดันจนเด็ดรัก                                เพราะหาญหักหุนหวลจึงชวนเชิง
ห้ามเจ้าเจ้าก็ตามทรามถวิล                             ประมาทหมิ่นอาคมคารมเหลิง
คิดถึงวันจากให้อาไลยละเลิง                            เพราะกระเกริงจึงต้องกรากอยู่กรุงกรัง




เรียนถามทุกท่านที่อ่านฉบับหอพระสมุดว่า

ที่ประมาทอาคมนั้น คือการที่ วันทองพูดว่า
"จะตักน้ำล้างบ้านเอาตีนสี"  
หรือที่ ด่าว่า  "คนเท็จ"
หรือ ที่ว่า "สิ้นบุญสิ้นกรรม"
หรือที่ว่า "อีลาวมันจะสับยับระยำ"

ที่เหลือคิดว่าอ่านออกสอบได้ค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 31 ต.ค. 09, 10:08
รัชกาลที่ ๖ ทรงเสด็จและพระราชนิพนธ์ "เที่ยวเมืองพระร่วง" เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๑ ก่อนพระองค์ขึ้นครองราชย์ในอีกสองปีต่อมา

ผมลองค้นหาชื่อเมืองเชียงทองในพระราชกิจจานุเบกษา ( http://www.ratchakitcha.soc.go.th/RKJ/announce/search.jsp (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/RKJ/announce/search.jsp) ) พบว่ามีการเอ่ยถึงเรื่องการปรับปรุงถนนที่เชียงทอง พ.ศ.๒๔๕๒

สงสัยว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการเสด็จของ ร.๖ ทางใดทางหนึ่งครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ต.ค. 09, 13:25
นางลาวทองออกมารำแปร๊บเดียว คุณม้าก็ออกมาสลับฉากอีกแล้ว ผมรอๆอยู่สงสัยนางลาวทองจะได้เวลาไปทานข้าวเหนียวน้ำพริกอ่องกับแคบหมู ขอผมสลับฉากกับคุณม้าหน่อยก็แล้วกัน

หนังสือนี้  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสมัยดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช   ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง  ความตอนหนึ่งว่า

“… ยังมีสิ่งที่ทำให้น่าเชื่อมากขึ้นคือ  ถนนระหว่างกำแพงเพชรกับสุโขทัยนั้นได้ผ่านไปใกล้เมืองย่อมๆ ๓ เมือง  ตรงตามความในหลักศิลา  แต่เมื่อข้าพเจ้าเดินตามถนนนั้นได้เห็นปลายถนนทางด้านตะวันตก  ไปหมดอยู่เพียงขอบบึงใหญ่อันหนึ่ง  ห่างจากเมืองกำแพงเพชรกว่า ๑๐๐ เส้น  พระวิเชียรปราการแสดงความเห็นว่าน่าจะทำข้ามบึงไป  แต่น้ำได้พัดทำลายไปเสียหมดแล้ว  ข้อนี้ก็อาจจะเป็นได้  แต่ข้าพเจ้ายังไม่สู้จะเชื่อนัก  ยังนึกสงสัยอยู่ว่าคงจะมีต่อไปจนถึงเมืองเชียงทอง  ซึ่งเป็นเมืองท่าเรือ  ถามถึงเมืองเชียงทองแต่เมื่ออยู่เมืองกำแพงเพชรก็ยังไม่ได้ความ  ครั้นจะอยู่รอค้นหาต่อไปก็ไม่มีเวลาพอ  จึงได้ขอให้พระวิเชียรปราการจัดหาคนที่รู้จักภูมิประเทศ  เที่ยวตรวจค้นดูทางเหนือเมืองกำแพงเพชรขึ้นไป  ว่าจะหาที่อะไรที่พอจะสันนิษฐานว่าเป็นเมืองได้บ้างหรือไม่  แล้วก็ออกเดินทางต่อไป

         ฝ่ายพระวิเชียรปราการได้ไปด้วย  ถึงที่บ้านพรานกระต่ายพบสนทนากับขุนภักดีนายอำเภอ  ตกลงสั่งให้ขุนภักดีไปตรวจค้นหาเมืองตามที่ข้าพเจ้าแนะนำ  ขุนภักดีได้ไปเที่ยวตรวจค้นจนพบ  แล้วรีบตามไปทีสวรรคโสลก  บอกว่าได้พบเมืองโบราณเมืองหนึ่งอยู่เหนือเมืองกำแพงเพชรขึ้นไปประมาณ ๒๐๐ เส้นเศษ  เป็นเมืองย่อมๆเป็นคูและเทินดิน  ราษฎรตามแถบนั้นเรียกว่าเมืองเทินทอง  หรือชุมนุมกองทอง  เมืองนั้นตั้งอยู่ริมลำน้ำเรียกว่าคลองเรือ  ปากคลองทะลุลำน้ำแควน้อย  และมีถนนจากเมืองนั้นไปทางตะวันออกเฉียงใต้  แต่มาขาดเสียกลางทาง  นี่เป็นพยานอยู่ว่า  การที่สันนิษฐานไว้นั้นถูกต้องแล้ว  และถนนคงจะได้มีมาจนต่อกับที่ขาดอยู่ที่บึงอยู่นั้น  ส่วนเมืองกองทองหรือเนินทองนั้นข้าพเจ้าเชื่อว่าคือเมืองเชียงทองที่กล่าวถึงในหลักศิลานั้นเอง  เพราะฟังดูภูมิฐานที่ตั้งก็ดูเหมาะกับที่จะเป็นเมืองท่าเรือทะเล  และที่นี้เองน่าจะเป็นเมืองเชียงทองที่กล่าวถึงอยู่หลายแห่งในพระราชพงศาวดารกรุงทวาราวดี  และน่าจะเป็นเมืองนี้เองที่กล่าวถึงในเรื่องขุนช้างขุนแผน….”

ผมใช้วิธีการปัจจุบันนั่งส่องหาเมืองที่ว่านี้อยู่กับบ้าน ระยะทาง200เส้นก็เท่ากับ8กิโลเมตรโดยประมาณ จากกำแพงเมืองกำแพงเพชรกวาดขึ้นไปทางเหนือ แถวๆลำน้ำแม่ปิง มาเจอจุดที่น่าสงสัยนี้


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ต.ค. 09, 13:42
ตำแหน่งนี้ ดูท่าจะเข้าลักษณะที่เคยเป็นชุมชนมาก่อน อยู่ติดคลองที่ตื้นเขินไปแล้วหลายส่วนแต่ร่องรอยยังชัดอยู่มาก แม้จะมองไม่เห็นคันกำแพงดินของเมือง แต่ก็เห็นแนวถนนตรอกซอกซอยอยู่

ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งของสถานที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นเมืองเชียงทองตามพระราชนิพนธ์
แต่หากเป็นเช่นนั้น เมืองนี้ก็ห่างจากระแหง จากเถินมากทีเดียว

มีเท่านี้ครับ





กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ต.ค. 09, 17:34
ขอผัดการบ้านของคุณวันดีไปก่อน    เพราะที่ยกมา  ว่า
จะตักน้ำล้างบ้านเอาตีนสี"   
หรือที่ ด่าว่า  "คนเท็จ"
หรือ ที่ว่า "สิ้นบุญสิ้นกรรม"
หรือที่ว่า "อีลาวมันจะสับยับระยำ

ยังนึกไม่ออกว่าไปลบหลู่อาคมหรือไม่  ข้อสองกับสาม ไม่น่าจะใช่   ข้อหนึ่ง ก็ไม่น่าใช่   กำลังสงสัยข้อสี่อยู่ค่ะ 

ส่วนพ่อยกที่รอจะคล้องมาลัยติดแบ๊งค์พัน    สาวลาวทองฝากบอกขออภัย

ลาวทองเกรงกลัวยอบตัวไหว้                ขอหม่อมอย่าได้นึกเคืองขุ่น
นี่เวลาวีคเอนด์ไม่เป็นคุณ                     ข้าเจ้ามีงานบุญต้องจำจร
จะกลับมาพบกันวันจันทร์เช้า                แต่บัดนาว จำใจลาไปก่อน
เฮ็ดการบ้านเล่มใหญ่ไม่ได้นอน             หม่อมโปรดอย่าใจร้อน วอนเห็นใจ 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ต.ค. 09, 21:07
                             บัดนั้น        เหล่าลูกหาบยินดีจะมีไหน
   แม่ลาวทองจรแล้วจะช้าใย        รีบอินเตอร์มิชชั่นทันใดไปเถิดเรา


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 31 ต.ค. 09, 21:18
วิกปิดหนึ่งวัน    ลาวทองก็เข้าวังหลวงไปแล้ว

วันดีไปคลองถมดีกว่า


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 01 พ.ย. 09, 07:52
เรื่อง "ลาว" กับ "ยวน" นั้น
ถ้าเป็นคนล้านนาจะเรียกตัวเองว่า "ยวน" ซึ่งมาจากโยนก
ส่วนคำว่า "ลาว" ที่หมายถึงชาวโยนกนั้นเป็นคำทีใช้กันมาแต่สมัยอยุธยา 
เรื่องนี้พระยาอมรฤทธิ์ธำรง (พร้อม  ณ ถลาง) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  ได้กล่าวไว้ว่า  เป็นคำเชิงดูหมิ่นพวกล้านนาที่รบกับพม่าไม่ทันไรก็เลิกรบ  ยอมแพ้เอาง่ายๆ  และตกเป็นเมืองขึ้นของพม่ามาแต่ก่อนเสียกรุงครั้งแรก
ต้อมาในรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการตกลงทำสัญญาเชียงใหม่กับอังกฤษแล้ว  จึงโปรดให้ขุนนางสยามขึ้นไปประจำรับราชการที่เชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๗  ขุนนางสยามที่ขึ้นไปนั้นก็ตั้งที่ทำการอยู่ที่ริมแม่น้ำปิง  ตรงเชิงสะพานนวรัฐในปัจจุบัน  ฝ่ายพวกเชียงใหม่ก็คงอยู่กันแต่ในแนวกำแพงเมือง  มีการแบ่งกันเป็นไทยเป็นลาว  จนล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ เสด็จเลียบมณฑลพายัพใน พ.ศ. ๒๔๔๘  จึงมีพระบัณฑูรห้ามเรียกคนพื้นเมืองว่า "ลาว" อันเป็นการแบ่งแยกเชื้อชาติอีกต่อไป  จึงทไห้เกิดคำว่า "คนเมือง" ขึ้นนแทน

ในเมื่อชาวกรุงศรีอยุธยาเรียกคนล้านนาว่า "ลาว" มาตั้งแต่ก่อนเสียกรุงครั้งแรก  เรื่องขุนช้างขุนแผนก็น่าจะมีกำเนิดในยุตใกล้เคียงกันนั้น


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 พ.ย. 09, 08:40
ขอเริ่มที่เรื่องเมืองเชียงทองก่อน  ตามที่ได้ค้นมาจากเอกสารที่พอจะหาได้และได้นำเสนอไปแล้วนั้น  ปรากฏว่ามีผู้เข้ามาอภิปรายกันมาก  ดีครับ  ในฐานะผู้นำเสนอข้อมูล  จริงๆ แล้วผมอาจจะตัดสินเรื่องที่ตั้งเมืองเชียงทองเร็วไป ทั้งที่เอกสารทั้งหลายก็ไม่ได้ระบุชัดเจน  จึงได้คิดต่อไปว่า  เป็นไปได้หรือไม่ว่า  เมืองเชียงทองซึ่งเป็นเมืองปลายแดนระหว่างล้านนากับอยุธยา  อาจจะเคยย้ายที่ตั้งเมืองมาก่อนที่จะตั้งอยู่ที่บ้านเชียงทองปัจจุบัน  จะเนื่องด้วยปัจจัยอะไรซึ่งไม่ทราบได้   

ส่วนเรื่องเมืองเชียงทองอยู่เหนือหรือใต้เมืองระแหงนั้น   ถ้าความคิดคนสมัยก่อน  การจะเดินทางไปเมืองอะไรไกลๆ สักเมืองคงเป็นเรื่องยากลำบากเอาการ เพราะต้องบุกป่าฝ่าดงไป ดีหน่อยก็ไปเรือ เท่าที่ดูจากสมุดภาพไตรภูมิก็ดี จากตำราพิไชยสงครามก็ดี  สมัยก่อนถ้าอยากจะรู้ว่าเมืองที่ไปนั้นไกลจากเมืองหลวงเท่าไร  เขาไม่บอกว่าไกลสักกี่โยชน์กี่เส้น แต่จะบอกว่าเมืองนั้นจะไปถึงต้องใช้เวลาเดินทางกี่วันจะไปถึง  และด้วยการเดินทางอย่างนี้  คนโบราณจึงกำหนดเอาที่ตั้งของเมืองจากการเดินทางจากเมืองหลวงเป็นหลัก  กรณีที่เดินทางไปเมืองใหญ่อย่างสุโขทัย พิษณุโลก นครราชสีมา คงจะกำหนดทิศทางง่ายกว่าทิศทางไปหัวเมืองเล็กปลายด่านแดน  การเดินทางไปหัวเมืองปลายแดนอาจจะต้องไปที่หัวเมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้ก่อน แล้วค่อยถามเอาทิศทางจากคนในเมืองนั้นว่าจะไปถึงหัวเมืองนั้นต้องเดินทางอย่างไร ถ้ายังไม่ได้ความก็ถามเรื่อยไปจนกว่าจะถึง  บางทีก็เดินขึ้นเหนือลงใต้ หลีกภูเขาบ้างจนบางทีจับทิศทางของเมืองจุดหมายไม่ได้ว่ามันเหนือหรือมันใต้กว่าเมืองก่อน  คนสมัยก่อนไม่ได้มีแผนที่กางเดินสะดวกๆอย่างสมัยปัจจุบัน  ต้องอาศัยประสบการณ์เป็นหลัก 

อนึ่งพลายแก้วเองก็ไม่ใช่คนเมืองบน  เป็นคนเมืองใต้ และเพิ่งจะถูกเกณฑ์ให้มาเป็นแม่ทัพรบที่เมืองบนครั้งแรกในชีวิต ไม่รู้จักภูมิประเทศที่ตั้งเมืองเชียงทองมาก่อน การที่พลายแก้วรบชนะทัพเชียงใหม่เอาเมืองเชียงทองคืนมาได้คงต้องอาศัยความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนมามาก  การรบครั้งนี้อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พลายงามกราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวษาให้ปล่อยตัวขุนแผนเพื่อให้เดินทางไปรบเมืองเชียงใหม่ด้วยกัน  เพราะพลายงามเองก็เป็นอย่างพลายแก้วที่ไม่เคยเดินทางขึ้นเหนือมาล้านนามาก่อนจำต้องอาศัยพ่อที่เคยเดินทางมาในแถบนี้  แน้นจึงสังเกตได้ว่า การเดินทางขึ้นเหนือทั้งสองครั้ง คือ คราวพลายแก้วมารบที่เมืองเชียงทอง กับคราวพลายงาม ขุนแผน และเหล่านักโทษ ๓๕ คนมารบเมืองเชียงใหม่  เป็นเส้นทางการเดินทัพแบบเดียวกัน

ถ้าว่า พลายแก้ว พลายงาม มีแผนที่ มีอินเทอร์เน็ต สะดวกสบายอย่างคนปัจจุบันจะต้องเดินทัพให้ไกลไปไยกัน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 พ.ย. 09, 09:03
เรื่อง "ลาว" กับ "ยวน" นั้น
ถ้าเป็นคนล้านนาจะเรียกตัวเองว่า "ยวน" ซึ่งมาจากโยนก

จิตร ภูมิศักดิ์เขียนไว้ในหนังสือเล่มเดียวกับที่อ้างไว้ใน #๗๒ เกี่ยวกับยวน, โยน, โยนก และคนเมือง ดังนี้

คำว่า ยวน หรือ โยน นี้ชาวภาคเหนือไม่เรียกตัวเอง เขาเรียกตนเองว่า คนเมือง. คำว่า ยวน-โยน เป็นคำที่คนอื่นเรียก.

โยนก ในรูปศัพท์บาลี ก ท้ายคำนั้นแปลว่า ชาว, โยนก จึงหมายถึง ชาวโยน, พวกไตลื้อสิบสองปันนาเรียกชาวล้านนาว่า ไตโยน หรือ ไตยน, เช่น โยนเจงใหม่ (โยนเชียงใหม่), โยนละกอน (โยนลำปาง, ชื่อเก่าของเมืองลำปางว่า ละกอน) เป็นต้น. แต่สระโอของภาษาไทยพายัพและไตลื้อนั้น สำเนียงลาวและไทยกลางเป็น อัว, เช่น หมากโม่ง ไทยว่า มะม่วง ฯลฯ คำว่า โยน จึงเป็นไทยกลางและลาวว่า "ยวน"

ยวน เป็นคำไทยภาคกลางที่เรียกชาวล้านนามาแต่ดั้งเดิมก่อนคำอื่น. "ลิลิตยวนพ่าย" ซึ่งแต่งเมื่อสมัยอยุธยาตอนต้นเล่าถึงการรบกับเชียงใหม่, เรียกไทยล้านนาว่า ยวน. ยวนพ่าย หมายความว่า ไตโยนแพ้.

ที่จริงแล้ว ชาวไทยล้านนาถือว่าตัวเองเป็น ไต, ไม่ได้เรียกตนเองว่า ลาว เลย. เขาเรียกตนเองว่า คนเมือง ประวัติความเป็นมาของชื่อ คนเมือง นั้น ทางหนึ่งกล่าวว่าเป็นชื่อที่เรียกเพื่อยืนยันว่าตนเป็นชาวเมืองมิใช่ชาวป่า - คนเมืองมิใช่คนป่า, อีกทางหนึ่งกล่าวว่าเกิดขึ้นในสมัยที่พม่าปกครองล้านนาเป็นเมืองขึ้น (จากราว พ.ศ. ๒๑๐๐ ลงมาถึงเกือบสองร้อยปี) ชาวไทยภาคเหนือเรียกชาวพม่าว่า คนม่าน และเพื่อแยกตัวให้ชัดว่ามิใช่คนม่านจึงได้เรียกตัวเองขึ้นว่า คนเมือง. แต่ผู้อธิบาย (สงวน สุขโชติรัตน์, ไทยยวนหรือคนเมือง, วารสารวัฒนธรรมไทย ฉบับประจำเดือนธันวาคม ๒๕๐๗.) ก็มิได้อธิบายแถลงว่าทำไมจึงเลือกเอาคำ คนเมือง มาใช้สำหรับตนเอง. และก็แปลกที่ทำไมจึงไม่ใช้คำว่า คนไต เสียตรง ๆ จะได้ตรงข้ามกับ คนม่าน; หรือว่าจะมุ่งแปลคำคนเมืองว่า คนพื้นเมือง, ซึ่งนี่เห็นจะไม่ใช่.





กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ย. 09, 10:09
เปิดวิก เช้าวันจันทร์
ยินดีที่มีผู้เข้ามาร่วมวงสนทนาเพิ่มค่ะ   แต่ละท่านก็หอบความรู้มาเต็มกระเป๋า เอามาเผื่อแผ่กัน
เป็นโอกาสให้เปิดกระทู้ (๓) ต่อไปในอนาคตอันใกล้

เรื่องภาษาของลาวทอง  ยังไม่มีใครมาไขข้อข้องใจว่าเป็นภาษาอีสาน หรือเหนือกันแน่  ขอคิดไปก่อนว่าเป็นอีสาน

อ้างถึง
ว่าพลางยกมือขึ้นไหว้วอน                               น้องห่อนที่จะเว้าเจ้านายเป็น
เลี้ยงน้องมาจนน้องเป็นสาว                             บ่าวใดก็มิได้มาเบิ่งเห็น
พ่อแม่ป้อนข้าวทุกเช้าเย็น                               กลางเวนกลางค่ำบ่เคยใคร
จะให้น้องไปเว้าเจ้านายทัพ                จะขอรองขอรับเป็นสังไหน
บ่ฮู้บ่หันประการใด                             น้องไปบ่ฮอดพี่นางวัน

อีกตอนคือ
ตัวข้อยจะประนอมยอมเป็นข้า               หมายว่าจะเมื้อถึงเมืองใต้

อีกตอนหนึ่ง
จากอกสองเฒ่ามาเว้าผัว                      ระวังตัวกลัวจะปะปิสังหั้น
เมื่อใหม่ใหม่ก็พิไรว่ารักกัน                     ครั้นถึงเวียงใต้ข้อยคิดกลัว

ก่อนอื่น  มาทำการบ้านที่คุณวันดีทิ้งไว้ให้  ที่ถามว่า
อ้างถึง
ห้ามเจ้าเจ้าก็ตามทรามถวิล                             ประมาทหมิ่นอาคมคารมเหลิง

อ่านในฉบับหอพระสมุด  เห็นพอเข้าเค้าตอนหนึ่ง ที่วันทองหาว่า พลายแก้วถูกเมียน้อยทำเสน่ห์

เห็นเราอะไรชังดังเห็นเสือ                    ถูกยาเบื่อแล้วหรือหม่อมเจ้าจอมผ้ว
มันแขวะควักออกให้กินจนสิ้นตัว             ซาบทั่วขนเข้ากระดูกดำ
สีหน้าฝ้าขลับจับจมูก                           ป้ายถูกริมฝีปากถลากถลำ
นานไปก็จะซานคลานระยำ                   มันจะซ้ำขี่คอเล่นต่างวัว

พลายแก้วเป็นคนมีอาคม   เมื่อถูกสบประมาทว่าถูกทำเสน่ห์(ซึ่งถือเป็นเรื่องต่ำ)  ก็โกรธพลุ่งพล่านขึ้นมา  กลายเป็นจุดแตกหักกัน
นึกคำตอบได้แค่นี้   ใครมองเห็นมากกว่านี้   ช่วยอธิบายต่อด้วยค่ะ
 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ย. 09, 10:17
จะว่าไปบทบาทของลาวทองก็สำคัญไม่เบาเลยในตอนต้น    เรามักจะนึกถึงรักสามเส้า ระหว่างขุนช้าง ขุนแผนและวันทอง
แต่ไม่ค่อยมีใครนึกถึงสามเส้าอีกชุด คือขุนแผน วันทองและลาวทอง 
ที่จริงจุดแตกหักระหว่างขุนแผนกับวันทอง  มีตัวแปรสำคัญคือลาวทอง  ไม่ใช่ขุนช้าง
ถ้ามีแต่ขุนช้าง   ลาวทองไม่ได้แหวกม่านเรือออกมาเป็นเชื้อไฟให้วันทองหึงจนทะเลาะกับสามี     ขุนแผนก็คงเล่นงานขุนช้างที่จ้องตีท้ายครัวแต่ไม่สำเร็จจนแล้วจนรอด     พาวันทองกลับไปอยู่ด้วยกัน  แฮปปี้เอนดิ้งกันแค่นั้น

เป็นอันว่าแม่สาวลาวของเรา จุดชนวนระเบิดได้ผล
แต่หลังจากนั้นบทบาทของลาวทองก็เฟดเอาท์ออกไปจากเรื่อง     ถูกลงโทษส่งเข้าไปปักสดึงอยู่ในวังนมนานกาเล  ไม่มีบทบาทอะไรอีก    พ้นโทษออกมาก็มาอยู่เงียบๆในบ้าน
ไม่มีลูกกับขุนแผนเสียด้วย   ก็เลยไม่มีบทให้ต่อความยาว   จบชาติพันธุ์วรรณาลาวรุ่นใหญ่เพียงแค่นี้    ก่อนที่กวีจะยังติดใจศึกเชียงใหม่ แล้วสร้างตัวละครเอกมาอีก ๒ ตัว ให้มีบทยาวเหยียดในรุ่นลูก
คือเจ้าหญิงสร้อยฟ้า และเถรขวาด
คนหลังนี้  คนอ่านขุนช้างขุนแผนเห็นเป็นตัวผู้ร้าย  เป็นสมี เป็นพระทุศีล  แต่ดิฉันชอบการสร้าง character ของแก  เห็นว่ากวีสร้างได้น่าเอ็นดู แม้น่าเกลียดก็ไม่น่าชัง

ระหว่างนี้  intermission   รอความเห็นพ่อยกแม่ยกก่อนค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 พ.ย. 09, 12:44
ในเสภา ขุนช้างขุนแผน ภาคปลาย  กรมศิลปากรตรวจชำระใหม่
แพร่พิทยาพิมพ์ ๒๕๑๓



หน้า ๑๐๖    ศรีมาลา เล่าให้ พลายเพชรพลายบัว  ว่า

...อาชื่อว่าหลวงต่างใจ                          เป็นนายใหญ่อยู่บ้านจอมทองนั่น
เป็นลูกหม่อมแม่ลาวทองนั้น                     รูปพรรณคล้ายกันกับบิดา
ขาวขาวสูงสูงดูคมสัน                            ไผนั้นมีที่ปลายท้ายคิ้วขวา
จงไปสืบให้ประสบพบกับอา                     จะได้พากันยกไปชิงชัย ฯ


หน้า ๑๑๑
     จะกล่าวถึงพลายณรงค์บุตรหลวงแผน                ลือแดนขามเดชทุกเขตขัณฑ์
เป็นบุตรของลาวทองผู้งามครัน                            อายุนั้นอ่อนกว่าพลายชุมพล
เมื่อครั้งหลวงนายกับพลายงาม                            ถึงความม้วยมุดสุดนุสนธิ์
พลายณรงค์ทรงฤทธิฺยิ่งกว่าคน                            เลิศล้นปราบศึกไม่นึกพรั่น
ได้ประทานนามตั้งหลวงต่างใจ                            ให้เป็นใหญ่ในบ้านจอมทองนั่น
ออกนามขามเดชทุกเขตคัน                                วันนั้นแสนคะนึงถึงพระไวย


หลวงต่างใจ แต่ง กับนางบัวคำ   มีลูกสาวชื่อ แว่นแก้ว  ต่อมา พลายบัวบุกเข้าไปในบ้านพาตัวมา
หลวงต่างใจขี้โมโห   ตามมา    ด่าลูกสาวเสียยับ  นึกว่าหนีตามผู้ชายมา   ฆ่าเสียดีกว่าขายหน้าพ่อ
คนจะได้ไม่กล้าหยาม

พลายเพชรตามมา  แค้นน้องชายมาก  ชมซะอ่วม

ลูกเขาเขารักดังแก้วตา                                      ช่างด้านหน้าไปลักมารักใคร่
กูจะเฆี่ยนเสียให้ยับนับร้อยไป                               ทำเจ็บไข้ไอ้ขี้เค้าเจ้ามารยา
มึงไม่เจียมตัวว่าต่ำศักดิ์                                     ไปลอบรักลูกผู้ดีให้เกินหน้า
เขาจะให้เขาก็อายแก่หน้าตา                                มันคงเกิดเข่นฆ่ากันร่ำไป



พลายบัวยอมรับผิดแบบนิด ๆ

ด้วยใจหนุ่มมันให้กลุ้มด้วยความรัก                         อกจะหักมอดม้วยด้วยผู้หญิง

แถมอ้างบรรพบุรุษว่าทีพระไวยกับหลวงแผนแสนศักดา  มาตีเมือง คืนเดียวได้
ม้าก็มีแล้วเหมือนสีหมอก   ดาบก็เปรียบเท่าฟ้าฟื้น

ก็เลยถามชื่อแซ่นับญาติกันได้


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ย. 09, 12:57
ขอบคุณคุณวันดี มาช่วยเติมให้สมบูรณ์ค่ะ

ดิฉันไม่มีขุนช้างขุนแผนฉบับหลังฉบับหอพระสมุด     เคยอ่านในตู้หนังสือของภาควิชา   ว่าขุนแผนตายไปแล้วกลายเป็น "นายผี" (คนละคนกับอัศนี พลจันทร์)
จำได้รางๆ แต่ละครกรมศิลป์ตอนพลายเพชรพลายบัวออกศึก   
บทบาทของหลวงต่างใจคงถูกเติมขึ้นทีหลัง    กวีสร้างว่าเป็นลูกชายของลาวทอง ซึ่งในฉบับหอพระสมุด   ไม่เอ่ยถึงลาวทอง  ไม่บอกว่ามีลูกกันเลยกับขุนแผน
จนพลายชุมพลโตเป็นหนุ่ม ชนะเถรขวาด  ได้เป็นหลวงนายฤทธิ์    ก็ไม่เห็นมีวี่แววว่าขุนแผนมีลูกชายคนเล็กอีกหนึ่งคน

แต่เอาเถอะ   เป็นอันว่ามีก็มี     พระไวยกับพลายชุมพลอายุสั้นไปหน่อย     ส่วนหลวงต่างใจคงจะกลับไปอยู่กับญาติทางฝ่ายแม่   เลยรับราชการอยู่จอมทอง
ในภาคปลาย  ลาวทองตายไปแล้วใช่ไหมคะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 พ.ย. 09, 13:56
ขอฟื้นประเด็นเรื่องคำด่าลาวทองที่ว่ากินกบกินเขียดสักหน่อย  ซึ่งมีความเห็นหนึ่งเสนอว่า สงสัยคนแต่งเสภาจะเข้าใจผิดเอาวัฒนธรรมการกินของคนลาวอีสานไปให้คนลาวล้านนา    น่าพิจารณาอยู่ว่า ผู้แต่งจะสับสนขนาดนั้นเชียวหรือ

เป็นไปได้หรือไม่ว่า  คนอีสานหรือคนล้านนาสมัยก่อนมีวัฒนธรรมการกินไม่ต่างกัน  ที่วันทองด่านางลาวทองเช่นนั้น  เข้าใจว่า คนในราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ หาง่าย โดยเฉพาะพืชผัก ปลา เพราะอยู่ใกล้แม่น้ำ มีบันทึกชาวต่างชาติที่เข้ามาที่กรุงศรีอยุธยา กล่าวไว้ตรงกันว่าคนสมัยอยุธยากินข้าวกับกับข้าวที่มีผักและปลาเป็นหลัก วัฒนธรรมการกินของคนภาคกลางจึงไม่มีลักษณะต้องดิ้นรนหาเท่ากับคนภาคเหนือและภาคอีสาน  คนภาคเหนือ ภาคอีสาน อยู่เขตที่ราบสูง เขตภูเขา อยู่ห่างไกลทะเล พื้นที่ไม่อุดมเท่าภาคกลาง  อาหารการกินจึงหายากกว่า  ฉะนั้นจึงกินอะไรก็ตามที่พอจะเป็นอาหารได้    ซึ่งลักษณะอย่างนี้เนการการกินเพื่ออยู่รอดก่อนแล้วจึงกลายมาเป็นวัฒนธรรมการกินประจำท้องถิ่นต่อมา  เมื่คนต่างถิ่นมาพบเห็นการกินอาหารบางอย่างซึ่งคนอีกถิ่นไม่นิยมกิน ย่อมตั้งข้อรังเกียจเป็นธรรมดา  และกลายมาเป็นคำที่เอามาบริภาษกัน  เช่น วันทองว่าลาวทองว่า เป็นคนกินกบกินเขียด.

หรืออาจจะคิดได้อีกทางหนึ่งว่า   ปกติคนภาคไหนๆ ก็กินกบกินเขียด  ที่อย่างนี้ เพราะมีบันทึกของฝรั่งสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเดินทางจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปสำรวจทำแผนที่ทางเหนือของไทย หลวงพระบาง ลงมาตามแม่นำโขง ได้ระบุไว้ว่า คนไทยและคนลาวต่างก็นิยมกินกบกัน  ข้อนี้ถ้าพิจารณาว่า ปกติคนภาคกลางที่กินกบมักเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง  แต่คนภาคอื่น ๆ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงต่างนิยมกินกบเหมือนกัน  วันทองหรือแม้แต่ขุนแผนจึงตั้งข้อรังเกียจลาวทอง ดังในบทละครเรื่องขุนช้างขุนแผน พระนิพนธ์สมเจกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ความว่า

           เมื่อนั้น                    ขุนแผนป่วนจิตคิดสับสน
เปลี่ยนใจนึกไขว่อลวน           เหลียวมายลดูบ้านรำคาญครัน
พิศดูเมียใหม่ที่ได้มา              ทรวดทรงขนงหน้าดูคมสัน
ปรนนิบัติอื่นอื่นดีทั้งนั้น           แต่สำคัญทรลักษณ์ด้วยการกิน
อึ่งตะกวดตุ๊ดตู่งูเงี้ยว              ช่างกระไรเลยเคี้ยวกินเสียสิ้น
อาหารหยาบคายเป็นอาจิณ      มลทินรังเกียจเกลียดระอา
พิมเอ๋ยพี่ยังอาลัยอยู่               การกินรู้สารพัดจัดหา
ไม่เปื้อนเปรอะเหมือนลาวชาวพนา    น้ำมือโอชาอร่อยรส

จะเพราพริ้งก็ไม่ยิ่งหย่อนแก่กัน   สิ่งสำคัญลับลี้ล้วนดีหมด
ไทยงอนลาวอ่อนระทวยทด       กัลเม็ดปรากฏทั้งสองนาง
บุณาณว่าอย่าให้มีเมียสอง        ทีนี้ต้องตำราไขว่ใจหมาง
แสนคำนึงรำพึงมาตามทาง        หน้าเผือดเลือดจางพลางถอนใจฯ

ถ้าว่ารุปลักษณ์ภายนอกของวันทองกับลาวทองที่ผู้แต่งบรรยายไว้ในเสภา ลาวทองรูปร่างก็แม้นกันกับวันทอง ความสามารถทางงานฝีมือก็เทียบกันได้ คนที่ยืนยันเรื่องนี้ได้ คือขุนแผน เพราะตอนที่ได้ลาวทองมาพร้อมกับเดินทางกลับจากเมืองเชียงทอง ขุนแผนเรียกลาวทองสับสนเป็นนางพิมหลายครั้ง  ถ้าไม่เหมือนกันมาก คงไม่เพ้อหลงเรียกชื่อผิดกันได้   แต่เพราะเรื่องการกินนี่เอง ที่ทำให้ลาวทองต่างจากวันทอง   สงสัยระหว่างทางที่ลาวทองเดินทางลงมากับพลายแก้ว  ลาวทองกับบ่าวจะได้กินกบเขียดให้พลายแก้วเห็นหรือเปล่า  ตรงนี้กวีไม่ได้เล่าไว้   ถ้าไม่เช่นนั้นก็คงเป็นมายาคติที่พลายแก้วหรือคนภาคกลางมีต่อคนล้านนาคนอีสานเรื่องการกิน  ซึ่งไม่ได้มีกล่าวแต่ตอนนี้เสภาตอนเดียว  ในตอนทัพไทยต้อนคนลาวเชียงใหม่ลงมา หลังจากที่พระเจ้าเชียงใหม่ยอมแพ้  ก็มีบทแอ่วลาวที่กล่าวถึงคนลาวถูกต้อนลงมาจับอึ่งจับกบจับเขียดกินมาระหว่างทาง เท่านั้นยังไม่พอ ในบทละครนอกเรื่องไกรทอง พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ก็ความตอนหนึ่งว่า

แกงหมูปูทะเลเทเสียสิ้น      มางมกินกบเขียดไม่เกลียดหรือ
ช่างไม่อายพวกลาวชาวอัตปือ   ตบมือหัวเราะเฮฮา
 
ลาวอัตปือ คือ ลาวแถบเมืองจำปาศักดิ์  จะว่าคนสมัยต้นรัตนโกสินทร์ไม่รู้จักคนล้านนาคนอีสานเลยก็ไม่น่าจะใช่  เพราะสมัยนั้นการยกทัพไปรบแถบหัวเมืองลาวก็มีอยู่บ่อยๆ การกวาดต้อนคนลาวมาอยู่หัวเมืองชั้นในก็มีมาก  

อย่างไรก็ตาม  ลาวทองคงจะได้เรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ เรียนรู้และปรับเปลี่ยนการกินอย่างคนภาคกลางอย่างชาววังในกาลต่อมา   เพราะสมเด็จพระพันวษามีรับสั่งให้นำตัวลาวทองเข้าไปประจำฝ่ายในอยู่เวลานานเป็นสิบปี  กว่าจะได้ออกมาอยู่นอกวัง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 พ.ย. 09, 14:02
หน้า ๖๐

หลวงแผนนั้นก็แก่ชราภาพ                              ตั้งแต่ปราบศัตรูหมู่ทหาร
ถึงกองกรรมที่แกทำมากประมาณ                      กำหนดการแกก็ล่วงพิราลัย
ทั้งนางแก้วกิริยานางลาวทอง                           เมียทั้งสองก็ถึงตักษัย
ก็ตายสิ้นตามกันเพราะนานไป                          พ่อแม่ใครลูกได้เผาตามเหล่ามา
พระไวยที่ชื่อพลายงามนั้น                               ก็ชีพลับดับขันธ์สิ้นสังขาร์


พลายชุมพลมีทายาทคงติดท้องนางสร้อยระย้า ชื่อ พลายมณีนาถค่ะ  
เมียพลายชุมพลชื่อนางสร้อยระย้า  อยู่เมืองพิมาย  ย้ายกลับบ้านเดิมค่ะ

ศรีมาลาหนังเหนียวค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ย. 09, 14:08
จนปัญญาจริงๆเรื่องอาหารการกินของชาวล้านนาเมื่อสองร้อยปีก่อน    ต้องขอความรู้เพิ่มเติมจากสมาชิก

จำได้แค่ข้าวเหนียว น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่องและแคบหมู  ซึ่งนักท่องเที่ยวไปแอ่วเชียงใหม่ คงได้กินกันทุกคน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 พ.ย. 09, 14:33
เสภาขุนช้างขุนแผนภาคปลายที่กรมศิลปากรชำระต่อจากเสภาขุนช้างขุนแผนฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ อ่านดูก็สนุกดี  แม้จะอภินิหารเยอะไปบ้าง  แต่ที่สำคัญและควรสังเกต คือ ฉากของเรื่องไม่ใช่ เมืองกาญจน์ สุพรรณ และอยุธยา  แต่จะเปลี่ยนไปเป็นฉากล้านนาเกือบ ๑๐๐ %  เห็นทีกระทู้ลาวล้านนาต้องยาวอีกมาก  เพราะถ้าเอาเสภาขุนช้างขุนแผนตอนปลายด้วย  คงต้องอภิปรายกันยาว  จะเสียดายก็แต่เสภาตอนปลายนี้มีคนอ่านกันน้อย  ไม่รู้เป็นเพราะคำบอกเล่าที่ว่า เสภาขุนช้างขุนแผนตอนปลายเนื้อเรื่องเลอะเทอะ หรือเปล่า เลยทำให้คนไม่อ่าน และไม่รู้จัก 

ทางที่ดี อยากขความกรุณาให้คุณวันดีช่วยเล่าเรื่องย่อๆ ของเสภาขุนช้างขุนแผนตอนปลายให้คนที่ไม่เคยอ่านได้พอทราบเนื้อเรื่อง และสามารถไปตามอ่านต่อภายหลังได้ น่าจะเป็นวิทยาทานที่ดีทีเดียว


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 02 พ.ย. 09, 19:19
การเดินทางขึ้นไปสู่เชียงใหม่ในสมัยก่อนนั้นมีเส้นทางหลักอยู่ ๒ เส้นทางคือ ไปทางลำน้ำเจ้าพระยาถึงปากน้ำโพ  แล้วแยกเข้าลำน้ำปิงไปถ่ายเรือที่เมืองระแหงหรือเมืองตาก  ซึ่งเป็นประตูสู่ล้านนานและเมืองมะระแหม่งของพม่า  แล้วจึงเดินทางต่อไปตามลำน้ำปิงถึงเมืองลำพูนและเชียงใหม่  กับอีกเส้นทางหนึ่งคือ จากปากน้ำโพ แยกเข้าลำน้ำน่าน  ไปขึ้นบกที่ท่าอิฐหรืออุตรดิตถ์  แล้วเดินทางบกข้ามเขาพรึงไปเมืองแพร่  ไปเมืองลำปาง  ลำพูนและเชียงใหม่ตามลำดับ  จากท่าอิฐยังแยกไปท่าปลาออกสู่ลำน้ำโขงไปเมืองหลวงพระบางได้ด้วย  แต่ที่คุณหลวงเล็กกล่าวถึงเมืองเชียงทองว่าเป็นเมืองชายแดนพระราชอาณาจักรสยามแล้ว  ก็น่าจะเป็นเมืองเชียงทองในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง  ที่น่าจะอยู่ในเส้นทางระหว่างเมืองตากกับศรีสัชนาลัย  เพราะจากศรีสัชนาลัยสามารถข้ามไปยังเด่นชัยแล้วตัดไปเมืองแพร่หรือลำปางได้อีกทางหนึ่ง  แต่หนทางค่อนข้างกันดารกว่า


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 พ.ย. 09, 23:03
สิ่งที่น่าสงสัย คือ ทำไมในเรื่องขุนช้างขุนแผน ขุนแผนถึงใช้เส้นทางขึ้นไปทางเหนืออย่างเดียวกันทั้งสองครั้ง ทั้งที่เป็นที่เป็นระยะเวลาห่างกันหลายปี  ถ้าว่าเป็นทางทุรกันดารมากอย่างคุณ V_Mee ว่าไว้  แค่เดินผ่านไปครั้งแรกก็น่าจะรู้แล้วว่ายากลำบากเพียงใด  ความรู้เรื่องเส้นทางไปหัวเมืองต่างๆ สมัยก่อนนั้น  อาจจะมีมากกว่าที่เรารู้กันในปัจจุบันก็ได้  เพราะท่านเดินด้วยเท้า  ไม่มีแผนที่ที่มีมาตราส่วนอย่างปัจจุบัน  เข็มทิศก็ไม่มีใช้  เสภาเรื่องนี้อาจจะเป็นร่องรอยว่าเคยมีเส้นทางนี้อยู่  สมัยหลังอาจจะจะไม่ได้ใช้เส้นทางนี้ก็ได้  เพราะว่ามันทุรกันดารนัก   จึงไม่เป็นทางที่นิยม   แต่ก่อนการจะเดินเรือลงไปปักษ์ใต้ในนิราศบางเรื่อง  ท่านจะเอาเรือออกไปทางเกาะสีชังก่อน แล้วค่อยแล่นเรือตัดข้ามทะเลอ่าวไทยไปที่เขาสามร้อยยอดแล้วเลียบฝั่งลงใต้ไป สมัยต่อมาเมื่อการเดินเรือสะดวกขึ้น  การเดินเรืออย่างนี้ก็หมดความนิยมไปเช่นกัน  


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 พ.ย. 09, 15:35
ขุนช้างขุนแผนเป็นเพียงนิยาย ถ้าคนแต่งตอนขุนแผนเดินทัพมีความเข้าใจเส้นทางว่าไปอย่างไรมาอย่างไร จะให้เดินอีกสัก10เที่ยวก็คงซ้ำอยู่ทางนั้นแหละครับ มันไม่ใช่จดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์เหมือนพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วงจะได้บันทึกตามที่คนเขียนไปเห็นมาจริง เส้นทางอาจจะไม่ซ้ำกันเลยก็ได้

อนึ่ง ถนนหลักส่วนใหญ่ก็สร้างทับลงไปบนเส้นทางเกวียนที่เคยมีมาแต่โบราณนั่นเอง สมัยเมื่อ50ปีก่อน ทางหลวงแผ่นดินบ้านเราก็ยังแคบๆ อ้อมไปอ้อมมาหาทางสะดวกไม่ต้องไต่เขาสูงชัน แต่ผ่านใจกลางชุมชนหมู่บ้านไปตลอดทาง หลังๆนี้เองที่รู้จักทำถนนเลี่ยงเมืองบ้าง ทำ cut and fill หรือทำอุโมงค์บ้าง ถนนที่เรียกว่าhighwayจึงลัดสั้นลงไปอีกมาก เส้นทางเดิมๆที่ใช้มาแต่โบราณก็ยังใช้อยู่แต่เป็นsecondary roadไป เส้นทางที่คุณวีหมีว่าไว้ เป็นเส้นทางที่มีอยู่จริง แต่เมืองเชียงทองที่ล้นเกล้าฯทรงสันนิฐานคงจะไม่ได้อยู่ในแนวเมืองตากกับศรีสัชนาลัย เพราะอยู่ไกลจากที่พระราชนิพนธ์มาก

เรื่องการเดินทางทางเรือของคุณหลวงเล็กน่ะจริงเฉพาะเวลาช่วงน้ำลง เพื่อให้อยู่ในแนวร่องน้ำปากเจ้าพระยาก็เล็งเกาะสีชังไว้ก่อน เพราะเป็นlandmarkที่มองเห็นชัด หลังจากที่ออกลึกแล้วหรือช่วงน้ำขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องวิ่งไปจนถึงเกาะสีชังแล้วขวาหันแล้ววิ่งแนวฉากไป ก็จะไปทำไมเล่ามันเสียเวลาเสียค่าใช้จ่าย เมื่อเห็นว่าปลอดภัยเมื่อใดก็เล็งเขาสามร้อยยอดซึ่งสังเกตง่ายเพราะสูงกว่าเขาเพื่อนและอยู่ติดทะเลที่สุด แล้วมุ่งตรงไปได้เลย พอใกล้แล้วก็จึงเบนหัวเรือเข้าปากน้ำปราณ เติมเสบียงเสียทีนึงก่อนจะมุ่งใต้จริงๆ  หรือขึ้นบกเดินลัดไปช่องสิงขรสู่ตะนาวศรีได้

มนุษย์เป็นสัตว์แสนรู้ที่สุดในเรื่องหาแนวทางลัดสั้น ลองสังเกตุดูเถิดครับ ในสวนสาธารณะใหญ่ๆบางทีเขาทำทางเท้าไว้ให้เดินโค้งไปโค้งมาสวยงาม ท่านก็ไม่เดินกัน ไปเดินตัดสนามหญ้าเขาเป็นรอยไปหมด รอยทางเท้าก็ไม่ใช่ลัดเป๊ะดังกล้องส่องนะครับ มีงอๆโค้งๆไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน

ทางใหญ่ที่เชื่อมเมืองต่อเมืองก็เหมือนกันแหละ คงใช้เวลาหน่อย อาจเป็นปีๆกว่าจะลงตัว ถึงไม่มีกล้อง ก็เป็นทางลัดสั้นที่สะดวกที่สุดสมัยนั้นได้นะครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 พ.ย. 09, 17:07
มาเริ่มชาติพันธุ์วรรณาลาว ชุดใหม่  ห่างจากศึกเชียงทองมาอีกเกือบ ๒๐ ปี
คราวนี้   มาถึงลาวล้านช้าง    ในเรื่อง เรียกชื่อเป็นทางการว่า "กรุงนาคนะหุต"   ดิฉันไม่เคยได้ยิน เคยได้ยินแต่ ศรีสตนาคนหุต
ในขุนช้างขุนแผน ระบุว่าอาณาจักรเชียงใหม่และล้านช้าง เป็นอาณาจักรอิสระ  เท่าเทียมกัน

ทั้งกรุงนาคนะหุตมงกุฎภพ                       เลิศลบทั่วโลกราศี
ทั้งสองกรุงบำรุงธรณี                              พระเกียรตินั้นก็มีเสมอกัน

เจ้าเชียงอินทร์แห่งเชียงใหม่   แต่งทูตไปขอนางสร้อยทอง  ลูกสาวเจ้าล้านช้าง   ทางฝ่ายนั้นนอกจากเดือดดาล    ไม่ยอมยกให้แล้วยังตัดสินใจยกเจ้าหญิงให้อยุธยาแทน   ทั้งๆพระพันวษาก็ไม่ทันได้รู้เรื่องอะไรด้วย ส้มหล่นลงมาเฉยๆ

ทูตล้านช้างเดินทางมาอยุธยา   ตรงนี้  มีเส้นทางใหม่มาให้คุณหลวง   คุณN.C.  คุณ V_Mee  คุณม้าและท่านอื่นๆ ได้ส่องกล้องสำรวจทางกันอีกแล้ว
เส้นทางนั้นบอกว่า ทูตลงเรือจากล้านช้าง  ข้ามไปปากโมง  จากนั้นขึ้นม้า  ข้ามป่าฝ่าดงไปถึงเขาศาล   จากนั้นไปสามหมอ  ต่อไปถึงลำพาชี  มาถึงโคราช
จากโคราชใช้เส้นทางถึงโคกพญา   ข้ามเขาเขื่อนลั่นเข้าดงพญาไฟ  ใช้เวลาห้าคืนถึงมาถึงแก่งคอย  อีกหกเจ็ดวันถึงอยุธยา

ล้านช้างในที่นี้ หมายถึงเวียงจันทน์


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 พ.ย. 09, 21:35
การเดินเรือลงใต้ ถ้าเป็นเรือใบ เขาจะแล่นเลาะชายฝั่งตะวันออกไปให้พ้นเกาะสีชัง เพื่อให้เข้าแนวลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากนั้นกางใบแล่นไม่นานก็ตัดอ่าวไทยลงมาถืงทางตะวันออกของคาบสมุทรได้ เป็นวิธีการเดินทางที่เร็วที่สุดแล้วครับ เส้นทางนี้ในหลวงเคยทรงเรือใบแล่นข้ามมาแล้วครับ

ถ้าเป็นเรือพายก็ต้องเลาะชายฝั่ง โดยมากก็จะพยายามเดินทางในคลอง จากแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าคลองบางกอกใหญ่ ตัดเข้าคลองด่าน ไปออกสมุทรสาคร หลังจากนั้นจะเลียบชายฝั่ง หรือจะลัดเลาะไปตามลำคลองไปออกเพชรบุรีก็ได้ครับ แต่โดยมากจะพายเรือในทะเลเท่าที่จำเป็นเพราะคลื่นลมแรง พายยาก

เส้นทางที่กล่าวถึงในเสภาขุนช้างขุนแผน ถ้าเชียงทองอยู่ในเขตจังหวัดจากจริง จะเหนือหรือใต้ระแหงก็ไม่สมเหตุสมผลทั้งนั้นครับ เพราะจากเถินไปลำปางระยะทางไม่ไกล และสามารถไปตามลำแม่น้ำวังได้ ถ้าจะย้อนกลับลงมาตากก็เรียกได้ว่าทิศทางตรงกันข้ามเลย (ต้องลงมาทางน้ำวังเหมือนกัน แต่คนละทิศ)

ก็คงกลับมาที่เดิม
- เชียงทองในเสภา ไม่ใช่เชียงทองที่ตาก (และในจารึกสุโขทัย) เป็นเมืองอะไรสักเมืองที่อยู่ระหว่างเถินกับลำปาง
- ผู้แต่งเสภาไม่รู้จักเชียงทอง จึงระบุเส้นทางไม่ถูกต้อง
- เชียงทองเป็นเมืองในจินตนาการของผู้แต่งเสภา ไม่มีอยู่จริง

ไม่น่าจะนอกเหนือไปจากนี้ครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 04 พ.ย. 09, 00:09
ทูตล้านช้างเดินทางมาอยุธยา   ตรงนี้  มีเส้นทางใหม่มาให้คุณหลวง   คุณN.C.  คุณ V_Mee  คุณม้าและท่านอื่นๆ ได้ส่องกล้องสำรวจทางกันอีกแล้ว
เส้นทางนั้นบอกว่า ทูตลงเรือจากล้านช้าง  ข้ามไปปากโมง  จากนั้นขึ้นม้า  ข้ามป่าฝ่าดงไปถึงเขาศาล   จากนั้นไปสามหมอ  ต่อไปถึงลำพาชี  มาถึงโคราช
จากโคราชใช้เส้นทางถึงโคกพญา   ข้ามเขาเขื่อนลั่นเข้าดงพญาไฟ  ใช้เวลาห้าคืนถึงมาถึงแก่งคอย  อีกหกเจ็ดวันถึงอยุธยา

เส้นทางนี้แม่นยำ และไม่มีอะไรให้สงสัยเลย สอบจากหนังสือ นิราศทัพเวียงจันท์ (มติชน ๒๕๔๔) ซึ่งนอกจากจะมีนิราศทัพเวียงจันท์พระนิพนธ์ในหม่อมเจ้าทัพ (ในกรมหลวงเสนีบริรักษ์) ยังมีโคลงนิราศทัพเวียงจันท์พระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร และยังมีจดหมายเหตุระยะทางเสด็จพระราชดำเนินกองทัพหลวงอยู่ด้วย

เส้นทางทูตล้านช้างลงมากรุงศรีอยุธยาเป็นเส้นทางที่มีอยู่จริงและถูกต้องดี น่าสังเกตว่าเป็นเส้นทางเดียวกับระยะทางเสด็จพระราชดำเนินของกองทัพหลวงเป๊ะๆเลยครับ

ความแม่นยำของเส้นทางนี้ทำให้ต้องกลับมาคิดทบทวนเรื่องเชียงทองอีกครั้ง ผมคิดว่าชื่อเชียงทองไม่น่าจะเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาลอยๆไม่มีตัวตน น่าจะเป็นชื่อที่อยู่ในเรื่องขุนช้างขุนแผนมาแต่สมัยอยุธยา หากเมื่อเวลาผ่านไป เมืองเชียงทองยุบหายไปด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง กวีผู้แต่งเสภาในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ใส่รายละเอียดทางเดินทัพเพิ่มเข้าไป แต่เนื่องจากไม่ทราบตำแหน่งเชียงทองอย่างแน่นอน จึงเดาเอาว่าคงอยู่ระหว่างเถินกับลำปางดังความที่ปรากฏอยู่ครับ

ถ้ามีฉบับอยุธยาให้สอบก็น่าจะดีครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ย. 09, 04:39
คุณม้าครับ

การเดินเรือลงใต้ ถ้าเป็นเรือใบ เขาจะแล่นเลาะชายฝั่งตะวันออกไปให้พ้นเกาะสีชัง เพื่อให้เข้าแนวลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากนั้นกางใบแล่นไม่นานก็ตัดอ่าวไทยลงมาถืงทางตะวันออกของคาบสมุทรได้ เป็นวิธีการเดินทางที่เร็วที่สุด..........ลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ไม่มีครับ มีแต่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดจากใต้ขึ้นเหนือ แล้วเส้นทางในทะเลนะครับ มันไม่ใช่ถนนหรือทางรถไฟ จะต้องไปเริ่มตรงนั้นตรงนี้เป๊ะจึงจะลัดตรงเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวไปยังที่โน่นที่นี่  ตรงไหนใบเรือกินลมก็ปล่อยฉิวเลย ใช้หางเสือบังคับทิศทางเอา จะเฉียงหรือสลับฟันปลาก็แล้วแต่ทิศที่ต้องการจะไป

เส้นทางนี้ในหลวงเคยทรงเรือใบแล่นข้ามมาแล้วครับ.....ทรงข้ามจากไหนไปไหนครับ จากปากแม่น้ำเจ้าพระยาไปเกาะสีชัง แล้วเลี้ยวสู่หัวหินหรือ?
ผมตรวจสอบพระราชประวัติแล้ว มีครั้งเดียวที่ทรงเรือใบซูปเปอร์มดที่ทรงออกแบบและต่อขึ้นเองชื่อเวคา ข้ามอ่าวไทย

เมื่อเวลา 04.28น.19 เมษายน 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเรือใบเวคาด้วยพระองค์เองเพียงลำพัง จากพระราชวังไกลกังวลแล่นข้ามอ่าวไทยมาถึง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เวลา 21.28น.เวลาเที่ยงคืนเศษ ประทับร.ล.จันทรกลับหัวหิน

ปกติมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดปกคลุมประเทศไทย ระหว่างกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม  หลังจากนั้นจะเป็นมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ(ลมหนาว)พัดปกคลุมประเทศไทย จนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ เมษายนจะเป็นช่วงที่ลมแปรปรวน  วันนั้น "ลมอ่อน" ทำให้เรือใบแล่นได้ช้าลง เพราะเรือใบต้องอาศัยแรงลมในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย หากครั้งใดเจอปัญหาสภาพลมอ่อนจะต้องควบคุมเรือใบให้เดินทางสู่จุดหมายด้วยวิธีแล่นก้าว ซึ่งเป็นการแล่นเรือใบสลับฟันปลา เพื่อให้ใบเรือปะทะรับแรงลมแล่นไปสู่จุดหมายปลายทางนั่นเอง ผู้คนเป็นห่วงพระองค์มากเพราะกะว่าจะถึงก่อนค่ำ แต่ก็ทรงปลอดภัย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ย. 09, 06:48
จากประชุมพงศาวดารภาค 70 ของกรมศิลปากร เรื่องพงศาวดารย่อนครเวียงจันทน ปรากฏข้อความประมวลได้ว่า ภูเวียงที่เป็นอำเภอหนึ่งของขอนแก่นในปัจจุบัน มีฐานะเป็นเมืองป้อมหรือเมืองหน้าด่าน ของเวียงจันทน์ ตั้งอยู่ในเส้นทางมาติดต่อกับนครเวียงจันทน์กับกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงเทพฯ การเดินทัพเดินทางโดยทั่วไปของทั้งสองนครต้องผ่านหนองบัวลำภู(อำเภอกุมภวาปี)  ภูเวียง (อำเภอหนึ่งของขอนแก่น) ช่องสามหมอ(อำเภอหนึ่งของชัภูมิ) ลงไปโคราช เพราะเป็นทางตรงและมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์

ต่อมาภายหลังเมื่อสร้างทางรถไฟและถนน ได้เลี่ยงหลีกเลี่ยงทางลุ่มไปทำบนที่ดอน จากโคราชผ่านเมืองพล บ้านไผ่ ขอนแก่น อุดร ไปยังลาวแทนเส้นทางโบราณ

ในขุนช้างขุนแผน บอกว่าข้าม(แม่น้ำโขง)ไปปากโมง  จากนั้นขึ้นม้าข้ามป่าฝ่าดงไปถึงเขาศาล จากนั้นไปสามหมอ ต่อไปถึงลำพาชี ลำพาชีนี้คือแม่น้ำชี อยู่ใต้เมืองชัยภูมิก่อนเข้าโคราช มาถึงตำบลด่านพระไวยที่อยู่ในอำเภอเมือง นครราชสีมาเลย

ที่ผมยังไม่ทราบก็คือ นาคนะหุตซึ่งหมายถึงล้านช้างแน่ แต่ไม่แน่ใจว่าคนแต่งขุนช้างขุนแผนจะตั้งเป้าให้เป็นหลวงพระบางหรือเวียงจันทน์ แต่ไม่ว่าจะเมืองใดก็ตาม ท่านทูตคงต้องข้ามมาฝั่งนี้แถวๆหนองคาย แต่ผมก็ไม่ทราบว่าปากโมงจะอยู่ตำแหน่งไหนแน่ๆของฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น

ที่ไม่ทราบอีกอย่างหนึ่งก็คือ ตำบลด่านพระไวยนี้ตั้งขึ้นเมือใด ก่อนหรือหลังที่ขุนช้างขุนแผนจะดัง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 04 พ.ย. 09, 07:03
เมืองลาวเริ่มแบ่งเป็นสองอาณาจักร คือ หลวงพระบางและเวียงจันทร์ มาตั้งแต่สมัยพระไชยเชษฐาแล้วครับ 

เนื่องจากเส้นทางคมนาคมระหว่างหลวงพระบางกับเวียงจันทร์นั้นในอดีตต้องอาศัยลำน้ำโขงเพียงอย่างเดียว  ฉะนั้นเส้นทางการติดต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับเวียงจันทร์และหลวงพระบางจึงแยกขาดจากกันโดยเด็ดขาด  จึงพบว่าชาวหลวงพระบางมีการติดต่อกับล้านนาทางเมืองน่านหรือเชียงแสนสืบมาจนถึงปัจจุบัน  แต่การติดต่อกับกรุงเทพฯ จะใช้เส้นทางๆ เมืองอุตรดิตถ์  ส่วนเวียงจันทร์แทบจะไม่พบการติดต่อกับล้านนาเลย  การติดต่อกับกรุงเทพฯ ก็จะลงมาทางเส้นทางที่กล่าวกันไว้ข้างต้นเป็นพื้น


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 พ.ย. 09, 08:51
คราวนี้มาถึงลาวล้านช้าง ในเรื่องเรียกชื่อเป็นทางการว่า "กรุงนาคนะหุต"   ดิฉันไม่เคยได้ยิน เคยได้ยินแต่ ศรีสตนาคนหุต


ศรีสตนาคนหุต แยกคำศัพท์ออกมาได้ว่า ศรี = ใช้นำหน้าชื่อเมืองเพื่อยกย่อง เช่นศรีอยุธยา สต = ร้อย นหุต = หมื่น  นาค = ช้าง รวมความแล้ว แปลว่า ล้านช้าง

กรุงนาคนะหุต ไม่คำว่า สต จึงแปลได้เพียงว่า เมืองหมื่นช้าง เท่านั้น

บางทีการย่อชื่อทำให้ขาดทุนได้เหมือนกัน

 ;)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 04 พ.ย. 09, 09:45
ขออภัยครับคุณ Navarat.C มือผมไม่ตรงกับใจ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พิมพ์เป็นใต้ ออกมหาสมุทรแปซิฟิคเรียบร้อย  ;D

ครั้งในหลวงทรงเรือใบเวคา เส้นทางกลับกัน ใช้ลมตะวันตกเฉียงใต้ แล่นตัดจากหัวหินไปที่สัตหีบ(พ้นเกาะสีชังคงไม่ผิดนะครับ ใช้เป็นเพียงจุดอ้างอิงที่เป็นที่รู้จัก) การเดินทางโดยลมก็เป็นอย่างที่คุณ Navarat.C ว่า คือถ้าลมอ่อนก็ลำบากล่ะครับ แต่โดยทั่วไป ถ้าเลือกเดินทางในหน้ามรสุมได้ ใช้เส้นทางนี้ย่อมดีกว่าแล่นเลาะชายฝั่งลงมามากนัก

ปากโมง คือปากแม่น้ำโมงตรงที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง อยู่ฝั่งไทยฝั่งนี้ เยื้องๆเมืองเวียงจันท์ ค่อนลงมาทางใต้เล็กน้อยครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 พ.ย. 09, 09:58
ตอนถวายนางสร้อยทองสร้อยฟ้า

ครานั้นพระองค์ผู้ทรงเดช                 ปิ่นปักนคเรศเป็นใหญ่
ฟังขรัวนายทูลสนองต้องพระทัย         เอออ้ายไวยมันสมกับสร้อยฟ้า
แล้วหันมาปราศรัยนางสร้อยทอง        อย่าหม่นหมองจะเลี้ยงให้งามหน้า
สมเป็นราชบุตรีศรีสัตนา                 ซึ่งบิดายกให้ด้วยไมตรี

ศรีสัตนา เหลือแค่ร้อยช้าง (หรือร้อยนา ?)

ย่ออย่างนี้ยิ่งขาดทุนใหญ่

 ;D



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ย. 09, 10:29
ขอบคุณค่ะ คุณเพ็ญชมพู  :D
ในเรื่องนี้   อยุธยาเรียกล้านช้างว่า "นาคบุรี" คำนี้ก็ไม่เคยได้ยินมาก่อนเหมือนกัน

คุณ N.C. คะ
ตอนแรกที่หยิบขึ้นมาปัดฝุ่น อ่านตอนนี้   วาดภาพว่าเจ้าล้านช้างอยู่หลวงพระบาง   ดูท่าทีว่าเป็นอาณาจักรใกล้เคียงกับเชียงใหม่    คมนาคมกันไปมาได้   เจ้าเชียงใหม่ถึงได้ยินข่าวเล่าลือถึงความงามของเจ้าหญิงล้านช้าง  จนเกิดอยากจะได้มาเป็นมเหสีอีกองค์หนึ่ง
แต่อ่านๆไป ระบุชื่อเมืองว่าเวียงจันทน์ จึงต้องกลับมาแก้ข้อความเสียใหม่

ตอนนี้  กวีให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างอาณาจักร   คือทูตล้านช้างเดินทางมา ยังตรงเข้ามาถึงอยุธยาไม่ได้
แต่ต้องหยุดอยู่แค่โคราช   เจ้าเมืองก็ต้อนรับอย่างดี   จัดหาที่อยู่ให้ เลี้ยงโต๊ะกันทุกวัน    พร้อมกันนั้นก็ทำเรื่องบอกเข้ามาในเมืองหลวง
เมื่อพระพันวษาทรงทราบและตอบรับไมตรี  ก็จัดขุนนาง ลงเรือไปถึงท่าราบ  จากนั้นขึ้นบก  เดินบุกป่าฝ่าดงไป ๕ คืน ถึงโคราช   พาทูตล้านช้างมาเฝ้าที่อยุธยา
ตกลงกันดีแล้วก็ให้ขุนนางคุมบรรณาการอย่างดีจากไทยไปล้านช้าง  เพื่อรับนางสร้อยทองมาอยุธยา
เส้นทางจากอยุธยาไปล้านช้าง    บอกรวบรัดว่า กินเวลา ๑ เดือน ๑๐ วัน  ไปหยุดอยู่ที่ฟากพานพร้าว   ทางฝ่ายลาวมารับแล้วไปกราบทูลพระเจ้าล้านช้างก่อน  ทรงอนุญาตแล้วถึงจะเข้าเฝ้าได้


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 พ.ย. 09, 11:05
ในเรื่องนี้ อยุธยาเรียกล้านช้างว่า "นาคบุรี" คำนี้ก็ไม่เคยได้ยินมาก่อนเหมือนกัน


พระพันวษารับทูตล้านช้าง

อนึ่งกรุงนาคบุรี                    ข้าวกล้านาดีฤๅไฉน  
ฤๅฝนแล้งข้าวแพงมีไภย           ศึกเสือเหนือใต้สงบดี  
ทั้งองค์พระเจ้าเวียงจันท์           ทรงธรรม์เป็นสุขเกษมศรี  
ไม่มีโรคายายี                     อยู่ดีฤๅอย่างไรในเวียงจันท์

กรุงนาคบุรี  เป็นคำกลาง ๆ  อาจจะหมายถึง "เมืองช้าง" หรือ "เมืองนาค" ก็อาจเป็นได้ เพราะเมืองลาวเองก็นับถือพญานาคอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

 :)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ย. 09, 13:01
ขอบคุณคุณม้าครับที่ชี้แนะว่าปากโมงคือปากแม่น้ำโมง เลยทำให้หามาแสดงได้
พิเคราะห์ดูแล้วเห็นว่าที่เขามาข้ามฟากกันแถวนั้นก็เพราะช่วงหนึ่งแม่น้ำโขงแคบมากนั่นเอง

กำลังนึกขำคำแปลเรื่องกำไร-ขาดทุนของคุณเพ็ญชมพูอยู่พอดี(สงสัยจะจบมาจากคณะอักษรศาสตร์การบัญชี)
คุณเทาชมพูเข้ามาบอกว่าตอนแรกคิดว่าพระเจ้าล้านช้างอยู่หลวงพระบาง ครับคิดเหมือนผมเลย
นึกไม่ถึงว่าทหารเชียงใหม่จะพยายามขนาดหนักที่จะมาดักชิงนางแถวอิสาน
ถ้าไปหลวงพระบางละก็ ค่อยสมเหตุสมผลหน่อย

ผมขับรถเส้นทางลำปาง- หล่มสัก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่นไม่รู้ตั้งกี่ครั้ง
เส้นทางช่วงลำปาง-หล่มสักเป็นเขาสูงชันคดเคี้ยวมาก คนนั่งมาด้วยเมารถคอพับคออ่อน การเดินทัพจึงไม่น่าจะง่าย

ก็..ครับ จะไปเอาอะไรมากกับนิยาย ก็จริงมั่งแต่งมั่งเสริมกันไป


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 พ.ย. 09, 15:00

ในขุนช้างขุนแผน บอกว่าข้าม(แม่น้ำโขง)ไปปากโมง  จากนั้นขึ้นม้าข้ามป่าฝ่าดงไปถึงเขาศาล จากนั้นไปสามหมอ ต่อไปถึงลำพาชี ลำพาชีนี้คือแม่น้ำชี อยู่ใต้เมืองชัยภูมิก่อนเข้าโคราช มาถึงตำบลด่านพระไวยที่อยู่ในอำเภอเมือง นครราชสีมาเลย

ตำบลที่คุณนวรัตนกล่าวถึงชื่อที่ถูกต้องคือ ตำบลหมื่นไวย ชื่อในเรื่องคือ บ้านด่านหมื่นไวย

อำมาตย์รับสั่งบังคมลา                   คลานถอยออกมาหาช้าไม่
ลงเรือข้ามส่งล่องลงไป                  ถึงท่าใหญ่ปากโมงทันที
ขึ้นม้าแล้วก็พากันรีบไป                  ดั้นตัดลัดไพรพนาศรี
ข้ามป่าฝ่าทุ่งมุ่งจรลี                      ถึงคีรีเขาศาลล่วงด่านไป
พักม้ากินหญ้าพอหายเหนื่อย            ลมเฉื่อยขึ้นม้าหาช้าไม่
หยุดร้อนนอนป่าพนาลัย                 มาได้สามหมอรีบต่อมา
ถึงลำพาชีรี่ออกทาง                     ชักม้าสะบัดย่างมากลางป่า
ถึงบ้านด่านโคราชสีมา                   เข้าหาชาวบ้านด่านหมื่นไวย
แจ้งความตามเรื่องราชสาร               ชาวด่านพามาไม่ช้าได้
ตัดตรงลงโคราชทันใด                   ผูกม้าไว้เข้าในเมือง



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ย. 09, 15:21
เอาละครับ ถึงตาผมเมาคลื่นบ้างแล้วละขอรับคุณม้า

เอ้า...ด่านหมื่นไวยคร้าบ ด่านหมื่นไวย
ช่วยแก้ข่าวหน่อยยยย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ย. 09, 15:34
อ้างถึง
ข้ามป่าฝ่าทุ่งมุ่งจรลี                      ถึงคีรีเข้าศาลล่วงด่านไป
พักม้ากินหญ้าพอหายเหนื่อย                      ลมเฉื่อยขึ้นม้าหาช้าไม่


เมาคลื่นตามไปอีกคนค่ะ แต่ไม่รู้คนไหน คุณเพ็ญหรือคุณ N.C.
เข้าศาล หรือ เขาศาล คะ?


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 พ.ย. 09, 15:59
ขอบพระคุณ คุณเทาชมพูที่ช่วยชี้แนะ กลับไปแก้ไข #๑๑๗ เรียบร้อยแล้ว

ถึงคีรีนามนี้ต้องเป็นเขา              จะไปเข้าศาลใดที่ไหนนั่น
กลับไปดูและแก้ไขในฉับพลัน       ที่ถูกนั้น เขาศาล หนอ...ขออภัย

  :(




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 04 พ.ย. 09, 16:16
สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น ดูแผนที่ดีกว่าครับ

จากหนังสือ นิราศทัพเวียงจันท์ (มติชน ๒๕๔๔) หน้า ๗๙ ครับ



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ย. 09, 16:17
มัวเพลิดเพลินหลงทางกลางอักษร               ต้องรีบจรก่อนหนา ค่ำมาใหม่
มีเส้นทางอีกหลายทางผ่านกลางไพร           มีคลื่นใหญ่อีกหลายครั้ง ยังให้เมา


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 04 พ.ย. 09, 16:28
ตามแผนที่ คคห. ข้างต้นนี้เรียกเขาศาลว่าช่องข้าวสาร (ในบทกลอนสะกดอย่างโบราณว่า ช่องเข้าสาร)

ในจดหมายเหตุระยะทาง ฯ (เล่มเดียวกัน) มีชื่อ ด่านเข้าสาร บ้านเข้าสาร เข้าใจว่าด่านเข้าสารกับช่องเข้าสารจะเป็นที่เดียวกันครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ย. 09, 17:03
เอาละวาจะเขาศาลหรือข้าวสาร  คงไม่นานตีความได้ไม่อับเฉา
จะเป็นด่านหรือเป็นบ้านก็งานเบา ถ้าพวกเราช่วยสะกิดไม่ผิดใจ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ย. 09, 19:10
พระเจ้าเชียงใหม่มาดักชิงเจ้าหญิงเวียงจันทน์   ถึงอีสาน     ดูเส้นทางมันจะไกลไปหน่อยค่ะ  อย่างที่คุณ N.C.ว่า
ถ้าเป็นหลวงพระบางก็น่าจะลงตัวกว่า     แต่กวีท่านว่าเวียงจันทน์ก็ต้องเวียงจันทน์

มาเล่าเรื่องต่อ
พระเจ้าเชียงใหม่ใช้หน่วยข่าวกรองชื่อมหาปาดไปสืบข่าวถึงเวียงจันทน์    แกก็ขี่ม้าฝ่าดงไปถึงเวียงจันทน์  ได้ความแล้วกลับเชียงใหม่ ใช้เวลาจากอีสานกลับขึ้นเหนือ ๗ วัน  แต่เส้นทางต้องผ่านอะไรบ้าง กวีไม่ยักบอก
อาจเป็นเพราะไม่แม่นเส้นทาง  หรือรวบรัดเพราะเป็นเหตุการณ์เล็กๆน้อยๆไม่สำคัญ

จากนั้น แม่ทัพเชียงใหม่ชื่อแสนตรีเพชรกล้า คุมพลมาดักชิงนางกลางทาง  ระบุว่า ออกจากเชียงใหม่ ตรงมาทางภูเวียง
แต่เลี่ยงเขาใหญ่ ไม่ข้ามไป  หยุดทัพไว้แค่เชิงดอย (เชิงดอย เดาว่าหมายถึงตีนเขาใหญ่)
ส่วนพระเจ้าล้านช้างก็ส่งลูกสาวมากับทัพอยุธยา  มีพระท้ายน้ำคุมพล    บอกเส้นทางว่าผ่านภูเขียว  ซึ่งเป็นชายแดนต่อระหว่างลาวกับเชียงใหม่     ตรงนี้อันตราย
จากนั้น จะเข้าเขตโคราช   ถึงลำชีก็จะปลอดภัย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ย. 09, 19:12
นางสร้อยทองเดินป่ามาจนถึงภูเวียง  ก็หยุดพักกัน   แสนตรีเพชรกล้าที่ซุมดักอยู่ก็จู่โจม  ตรงนี้ระบุชื่อไว้ว่า "ปางคา" ไม่รู้ว่าเป็นชื่อตำบลหรืออะไร   

พวกสอดแนมมาแถลงให้แจ้งใจ               ว่าลาวไทยกับนางอยู่ปางคา

คลื่นชักจะมาอีกระลอก ต้องส่งเรือชูชีพให้คุณเพ็ญชมพูช่วย ด่วน

ส่วนเส้นทางยกทัพจากอยุธยาขึ้นไปตีเชียงใหม่   เริ่มต้นจากเคลื่อนทัพที่วัดใหม่ชัยชุมพล   ค่ำลงพักที่"พิตเพียน"  เช้าเดินทางต่อไปที่ "บ้านดาบก่งธนู"  ขุนแผนไปขุดเอาดาบฟ้าฟื้นที่ฝังไว้ขึ้นมา

ค่ำแวะพักที่ลพบุรี   เช้าเดินทัพตัดบางขาม ข้ามบ้านด่านโพธิ์ชัย   ไปถึงแขวงอู่ตะเภา  ตรงไปหัวแดนภูเขาทอง หนองบัว ห้วยเฉียง   เลี่ยงชายเขาตรงไปทุ่งหลวง  พักคืนหนึ่งแล้วก็เดินทัพต่อไปถึงเมืองพิจิตร
จากพิจิตร  คำบรรยายเส้นทางชวนปวดหัว  คือไม่รู้ว่าเป็นชื่อตำบลหรือบรรยายธรรมชาติ

กองทัพยกออกนอกพิจิตร    ต้องเลียบชิดบึงบางที่ขวางหน้า
บางแห่งใหญ่โตมโหฬาร์      เป็นที่ปลาอาศัยทั้งใหญ่น้อย

อ่านแล้วเข้าใจว่าเป็นบึงหลายแห่ง อยู่ใกล้ๆกัน   แต่มาถึงอีกหน้าหนึ่ง  บอกว่า

พอพ้นแนวหนองคลองบึงบาง              ก็เลี้ยวลัดตัดทางมากลางป่า

บึงบาง เป็นชื่อคลอง เสียแล้วหรือ   หรือชื่อตำบลคลองบึงบาง?

อย่างไรก็ตาม จากพิจิตร ทัพยกผ่านป่าไปถึงพิษณุโลก      สังเกตว่าเส้นทางเดินทัพ ไม่ได้ไปตามแม่น้ำ  บุกป่าฝ่าดง   บรรยายป่ามาตลอดทาง
ออกจากพิษณุโลก  ไปเมืองพิชัย  แล้วไปบ้านไกร ป่าแฝก  ถึงศรีสัชนาลัย  สวรรคโลก   ตัดข้ามเขตระแหง  ถึงเถิน แล้วหยุดทัพที่หนองโคกเต่า นอกเชียงใหม่ ไม่ยกทัพเข้าเมือง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ย. 09, 19:15
เห็นหลายท่านสนุกกับเส้นทางเดินทัพ    ดิฉันก็เลยหามาให้แกะรอยหลายเส้นทาง
จบเรื่องเส้นทางเมื่อไร จะเล่าถึงคำสอนของพระนางเกสรต่อเจ้าหญิงสร้อยทอง   ก่อนเธอลามาเป็นฝ่ายในของพระพันวษา
เป็นคำสอนที่สง่างามมาก   น่าจะเป็นของจริงของชาววังสมัยรัตนโกสินทร์


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 05 พ.ย. 09, 06:56
คำว่า "เข้า" เป็นคำเดียวกับคำว่า "ข้าว" ครับ
ในเอกสารเก่าสมัยรัชกาลที่ ๖ ยังใช้ "เข้า" อยู่  มาเปลี่ยนเป็น "ข้าว" สมัยใดไม่ทราบชัด  แต่ภาษาพูดของชาวอีสานยังออกเสียง "เข้า" อยู่

สำหรับตอนที่ว่า สายสืบขี่มเจากเวียงจันทร์กลับเชียงใหม่ใน ๗ วัน  ดูอย่างไรก็ไม่น่าจะเป็นไปได้  เพราะเส้นทางจากเชียงใหม่ไปเวียงจันทร์ดูไม่ออกว่าจะขี่ม้าไปได้อย่างไร
ยิ่งเส้นทางบุกป่าฝ่าดงจากพิจิตรไปพิษณุโลก  ที่ว่าผ่านบึงใหญ่  บึงนั้นคือบึงสีไฟที่อยู่ใกล้กับตัวเมืองพิจิตรเก่าซึ่งอยู่ริมน้ำยม  แต่เมืองพิษณุโลกอยู่ริมน้ำน่าน 
อีกประการการเดินทางจากปากน้ำโพขึ้นไปเมืองพิชัย  ถ้าเดินทัพผ่านลำน้ำน่านซึ่งมีน้ำบริบูร์ตลอดปี  ทั้งไม่มีแก่งเป็นอุปสรรคเหมือนกับลำน้ำปิง  ย่อมสะดวกกว่าบุกป้าฝ่าดงไปทางบกมากนัก
ยิ่งเดินทัพจากเมืองพิชัย  ศรีสัชนาลัย  สวรรคโลก  ไประแหง  แล้วยกไปเมืองเถิน  นี้ยิ่งแปลกประหลาดไปใหญ่  เพราะเป็นการเดินทัพแอมจากตะวันออกไปตะวันตกแล้วจึงตัดขึ้นเหนือ
หรือว่าการเดินทัพอ้อมโลกเช่นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมไพร่พลเสริมทัพ

ดูจากการบรรยายเส้นทางเดินทัพ  ดูเหมือนกวีผู้แต่งท่านจะชำนาญเส้นทางเดินทัพไปเวียงจันทร์  ผ่านภาคอีสานมากกว่าทางเชียงใหม่ที่ดูออกจะมั่วๆ พิกล 
แล้วเรื่องวัฒนธรรมอาหาร  เชียงใหม่กับเวียงจันทร์ก็ออกจะต่างกัน  อาหารเชียงใหม่ได้รับอิทธิพลจากพม่าไม่น้อย  นอกจากนั้นอาหารเชียงใหม่กับหลวงพระบางก็มีความละม้ายกันอยู่ไม่น้อย 
แต่วัฒนธรรมอาหารทางเวียงจันทร์จะเหมือนกับภาคอีสานมากกว่า  ที่สำคัญอาหารอีสานมี "ปลาแดก" เป็นอาหารหลัก  ในขณะที่อาหารเชียงใหม่ไม่นิยมปลาร้า  แต่เน้นเครื่องเทศมากกว่าอาหารอีสาน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 พ.ย. 09, 07:29
สวัสดีตอนเช้าครับคุณวีหมี ผมกำลังจะมาแสดงความเห็นพอดี บังเอิญคล้ายที่คุณวีหมีว่าไว้คือท่านผู้แต่งท่านด้นกลอนของท่านไปตามเรื่อง สุดที่ผู้อ่านสมัยนี้จะทำใจเชื่อเรื่องทางเดินทัพได้ ผมตัดตอนให้ดูตั้งแต่พิษณุโลกไปเถิน จะเห็นว่าท่านเล่นอ้อมไปอ้อมมาซะอย่างงั้น แล้วจากเถินไปเชียงใหม่ช่วงนั้นเป็นภูเขาทั้งสิ้น ท่านไม่ได้บรรยายอะไรไว้เลยใช่ไหมครับ

คือผมอยากสรุปว่า เรื่องการเดินทัพที่พวกผม(เรียกว่าพวกผู้ชายก็ได้)เอามาเล่นสนุกกันอยู่นี่ มันเป็นแค่น้ำจิ้ม หาเนื้อหาหนังไปทำประโยชน์ไม่ค่อยจะได้ นึกแค่จะเอาไว้สลับฉากเท่านั้น ความจริงก็อยากฟังอรรถรสทางวรรณคดี และเนื้อหาที่มีค่าของขุนช้างขุนแผนมากกว่า ท่านอาจารย์พาเข้าเรื่องเลยดีกว่าครับ เดี๋ยวพวกผู้หญิงกลับบ้านหมด นี่คุณวันดีก็หายไปแล้ว ไม่รู้ว่าผู้ปกครองมารับไปแล้วหรือไฉน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 พ.ย. 09, 09:03
เอาละวาจะเขาศาลหรือข้าวสาร  คงไม่นานตีความได้ไม่อับเฉา
จะเป็นด่านหรือเป็นบ้านก็งานเบา ถ้าพวกเราช่วยสะกิดไม่ผิดใจ

แผนที่ของคุณม้า # ๑๒๑ เป็นข้อมูลหนึ่งเกี่ยวกับชื่อของช่องเขาแห่งนี้ ในเอกสารปัจจุบันปรากฏทั้งสองชื่อ ช่องเขาสาร และ ช่องข้าวสาร

คำว่า "เข้า" เป็นคำเดียวกับคำว่า "ข้าว" ครับ
ในเอกสารเก่าสมัยรัชกาลที่ ๖ ยังใช้ "เข้า" อยู่  มาเปลี่ยนเป็น "ข้าว" สมัยใดไม่ทราบชัด  แต่ภาษาพูดของชาวอีสานยังออกเสียง "เข้า" อยู่

ขออนุญาตดำเนินรายการภาษาไทยวันละคำ

 ;D

ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชหลักที่ ๑ มีคำว่า "เข้า" อยู่ ๕ ความหมาย คือ

เข้า ๑ น.   ข้าว เช่นในน้ำมีปลา ในนามีเข้า (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๙) เยียเข้า (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๓)

เข้า ๒ น.   ข้าวของ เช่น เห็นเข้าท่านบ่ใคร่พึน (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๗)

เข้า ๓ น.   ปี, ขวบ, เช่น เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๔) ปลูกไม้ตาลนี้ได้สิบสี่เข้า (ด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๑๒) ให้ขุดเอาพระธาตุออก ทั้งหลายเห็นการทำบูชาบำเรอแก่พระธาตุได้เดือนหกวัน จึงเอาฝังลงในกลางเมืองศรีสัชนาลัย ก่อพระเจดีย์เหนือ หกเข้าจึ่งแล้ว ตั้งเวียงผาล้อมพระมหาธาตุ สามเข้าจึ่งแล้ว (ด้านที่ ๔ บรรทัดที่ ๔ - ๘)

(คำว่า "เข้า" ทั้ง ๓ ความหมายที่ใช้ ข ไข่ และสระเอาไม้โท เหมือน กันหมด แต่เครื่องหมายวรรณยุกต์โท ในสมัยนั้นเขียนเป็นรูปวรรณยุกต์จัตวา)

เข้า ๔ ก., ว. เข้า เช่น ขุนสามชนเกลื่อนเข้า (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๖) กูขับเข้าก่อนพ่อกู (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๗) เมื่อจักเข้ามาเวียง (ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๗) เข้ามาดูท่านเผาเทียนท่านเล่นไฟ (ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๒๒)

เข้า ๕ ก.    เข้าข้าง, เป็นฝักฝ่าย, เช่น บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๖)

(คำว่า "เข้า" ในความหมายที่ ๔ และที่ ๕ ซึ่งเป็นคำกริยานั้น ในศิลาจารึกใช้ ฃ ขวด และใช้สระเอา วรรณยุกต์โทเช่นกัน)

คำว่า "ข้าว" นั้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ - ๕ ยังเขียนเป็น "เข้า" อยู่ เข้าใจว่ามาแยกเขียนเป็น "เข้า" ในสมัยรัชกาลที่ ๖ นี้เอง พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ จึงได้เก็บคำว่า "เข้า ๒" ไว้ และบอกว่าเป็นคำโบราณ หมายความว่า "ข้าว; ขวบปี" ส่วนที่เป็นชื่อไม้ล้มลุก ในวงศ์ Gramineae (แกรมินีอี) เมล็ดใช้เป็นอาหารนั้น เขียนว่า "ข้าว"

ข้อมูลจากบทความในรายการวิทยุภาษาไทย ๕ นาที โดย ศ. จำนงค์ ทองประเสริฐ  ๒๗  มกราคม  ๒๕๓๕ และ๒๗ ธันวาคม ๒๕๓๖
http://www.tpschamnong.iirt.net/article/basa_5nt046.html
http://www.tpschamnong.iirt.net/article/basa_5nt143.html










กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 พ.ย. 09, 09:37
แผนที่แสดงจุดเกิดเหตุการณ์สำคัญในศึกเจ้าอนุวงศ์ตั้งแต่ปี ๒๓๖๙ - ๒๓๗๑ สัญลักษณ์ดาบไขว้คือจุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ เส้นเขตแดนที่ปรากฎนั้นเพียงแสดงตำแหน่งสถานที่ให้ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้พึงตระหนักว่า เส้นเขตแดนดังกล่าวเพิ่งถูกขีดขึ้นเมื่อไม่ถึงศตวรรษมานี้เอง (ภาพประกอบ : เฉลิมชาติ เจริญดียิ่ง)
หมายเหตุ ในแผนที่นี้เขียนชื่อเป็น ช่องเขาสาร

จากบทความเรื่อง จากเวียงจันทน์ ถึงบางกอก ตามรอยเจ้าอนุวงศ์ คลี่ปมประวัติศาสตร์ไทย-ลาว นิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๒๙๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ปีที่ ๒๕
http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=932

 
 

 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 พ.ย. 09, 10:00
ตอนหนึ่งของบันทึกลับในราชการสงคราม เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์) อาญาสิทธิ์แม่ทัพใหญ่ฝ่ายตะวันออก เอกสารสมบัติของขุนนคเรศฯ

ฝ่ายเจ้าอนุคิดจัดการตั้งค่ายรับสู้รบกับสยามหลายตำบล โดยจักตั้งค่ายใหญ่ที่หนองบัวลำพู จึ่งสั่งให้ พระยานรินทร์คุมพลสามพันอยู่เป็นนายค่ายที่นั่น แล้วเจ้าอนุก็จักยกขึ้นไปตั้งค่ายที่ช่องเขาสารแห่งหนึ่ง ช่องเขาสาร เป็นที่สำคัญเพราะเป็นทางสองแพร่ง แยกรวมจักไปเมืองเวียงจันทร์ ให้ พระยาศุโภกับชานนท์ เป็นนายทัพคุมพลสองหมื่นตั้งรักษาค่ายที่ตำบลนั้นให้มั่นคง แต่เจ้าอนุจักตั้งค่ายใหญ่บนเขาสาร .....

จากนั้นเจ้าอนุจึ่งนำพลยกขึ้นไปเถิงที่ตำบลเขาสาร อันเป็นทางช่องแคบแลเป็นทางสองแพร่ง เจ้าอนุสั่งให้หยุดพักพล แล้วจึ่งให้ตั้งค่ายเจ็ดค่าย ชักปีกกาเถิงกันขุดสนามเพลาะปักขวากหนามทำการมั่นคง แลตั้งค่ายละเมาะปีกกาเป็นวงภาสโอบเขาลงไป เถิงเชิงเขาสองด้านเป็นที่รับข้าศึกสยาม ครั้นเจ้าอนุจัดการตั้งค่ายคูประตูหอรบที่เขาสารเสร็จแล้วจึ่งสั่งให้ เจ้าสุทธิสาร บุตรผู้ใหญ่ ถืออาญาสิทธิ์ เป็นแม่ทัพใหญ่ได้บังคับบัญชาทุกทัพทุกกองกอง คุมทหารสองหมื่นอยู่รักษาค่ายเขาสารทั้งเจ็ดค่าย....

ทัพสยามทางด้านเหนือ เจ้าพระยาอภัยภูธร ที่สมุหนายกแม่ทัพฝ่ายเหนือ ยกกองทัพขึ้นไปเถิงเมืองหล่มศักดิ์ ในเพลานัดหมายกับกองทัพของพระยาเพชรพิชัย กับ พระยาไกรโกษา ทัพสยามทั้งสองจึ่งรวมกำลังกันเข้าตีกองทัพลาว เจ้าราชวงศ์จนแตกหนี ไป  เจ้าราชวงศ์ให้จับตัวพระสุริยวงศาธิบดีเจ้าเมืองหล่มศักดิ์ไปด้วย เร่งหนีทัพสยามข้ามเข้าสู่ ค่ายเขาสาร ซึ่งเจ้าอนุตั้งค่ายหลวงอยู่นั้น

http://www.oknation.net/blog/only1/2007/09/17/entry-2
http://www.oknation.net/blog/only1/2007/09/25/entry-1




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 พ.ย. 09, 10:13
ช่องข้าวสารในปัจจุบัน หรือ ช่องเขาสารในอดีต หนึ่งในจุดยุทธศาสตร์ที่กองทหารสยามเดินทัพผ่านในศึกเจ้าอนุวงศ์ เมื่อพ้นช่องเขานี้จะเป็นทางราบยาว ๘๐ กิโลเมตรเข้าสู่เวียงจันทน์

สมภาร โวหารา คนเลี้ยงวัวที่ช่องเขาสาร เล่าตำนานที่อาจตกค้างมาจากสงครามครั้งอดีตให้ฟังว่า

ดนแล้ว (นานแล้ว) คนแก่เล่าว่ามีข้าวสารผุดขึ้นจากบ่อน้ำแถวนี้ เลยเรียก 'ช่องข้าวสาร' มีคนเว้า (พูด) ต่อมาว่าตรงนี้เป็นเส้นทางเดินทัพเก่า แต่ไม่รู้ว่าใครรบกับใคร

จากบทความในหนังสือเล่มเดียวกัน # ๑๓๑



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 พ.ย. 09, 14:24
ไม่ได้เข้ามาดูสองสามวัน  กระทู้คืบหน้าไปเยอะเลย  เรื่องเส้นทางที่ทูตล้านช้างเดินทางมากรุงศรีอยุธยานั้น  ยังไม่ขอแสดงความเห็นเพราะคิดว่าระยะทางเดินทัพไปปราบเจ้าอนุวงศ์ครั้งรัชกาลที่ ๓ มีจดหมายเหตุจดแจงระยะทางไว้ละเอียดชัดเจนอยู่แล้ว  จะผิดกันบ้างก็คงไม่มากนัก

แต่ที่จะขอแทรกเกร็ดสักเล็กน้อย คือ เรื่องพระราชปฏิสันถารของสมเด็จพระพันวษาที่รับสั่งแก่ทูตล้านช้างเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯ   ตรงนี้มีธรรมเนียมปฏิบัติว่า

พระมหากษัตริย์จะมีพระราชปฏิสันถารพระราชทานแก่ทูตเมืองใด  ย่อมทรงปฏิบัติดังนี้ 
ถ้าเป็นแขกเมืองใหญ่ จะมีพระราชปฏิสันถาร ๗ นัด ๙ นัด
ถ้าเป็นแขกเมืองน้อย  จะมีพระราชปฏิสันถาร ๓ นัด ๕ นัด

กรณีมีพระราชปฏิสันถาร  ๗ นัด มีรับสั่งถามทูตดังนี้
๑ พระศาสนารุ่งเรืองดีอยู่ฤา (กรณีที่บ้านเมืองนั้นนับถือพุทธศาสนาเหมือนกรุงศรีอยุธยา)
๒ ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์อยู่ฤา
๓ ฝนฟ้านั้นบริบูรณ์อยู่ฤา
๔ พ้นจากโรคภัยอยู่ฤา
๕ บ้านเมืองนั้นพ้นจากโจรผู้ร้ายเบียดเบียนอยู่ฤา
๖ พระมหากษัตริย์เป็นธรรมอยู่ฤา
๗ เสนาอมาตย์อยู่ในธรรมฤา

ธรรมเนียมอย่างนี้ปรากฏอยู่ในคำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชพิมพ์ เมื่อ ๒๕๔๗ กับในหนังสือคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม  (จริงๆ ก็คือคำให้การขุนหลวงหาวัด ที่พลัดฉบับออกมา แต่คนเข้าใจว่าเป็นคำให้การคนละฉบับ)

ในกรณีทูตล้านช้าง มีพระราชปฏิสันถารว่า

อนึ่งกรุงนาคบุรี                    ข้าวกล้านาดีฤๅไฉน 
ฤๅฝนแล้งข้าวแพงมีไภย         ศึกเสือเหนือใต้สงบดี 
ทั้งองค์พระเจ้าเวียงจันท์         ทรงธรรม์เป็นสุขเกษมศรี 
ไม่มีโรคายายี                      อยู่ดีฤๅอย่างไรในเวียงจันท์

อย่างนี้นับว่า ทูตล้านช้างเป็นแขกเมืองน้อย จึงมีพระปฏิสันถาร ๕ นัด  ธรรมเนียมปฏิบัติเช่นนี้คงปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ด้วย ดังปรากฏในจดหมายเหตุรายวันสมเด็จเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ ทรงบันทึกว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ ซึ่งทรงได้รับการสถาปนาเป็นสยามมกุฎราชกุมารแล้วนั้น เสด็จออกรับแขกเมืองต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ นำสิ่งของมาทูลเกล้าฯ ถวายในโอกาสที่ที่ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสยามมกุฎราชกุมาร แต่แขกเมืองเหล่านั้นเดินทางมาร่วมพระราชพิธีไม่ทัน  จึงได้มาเฝ้าฯ ภายหลัง  ในการนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าก็ได้มีพระราชปฏิสันถารทักแขกเมืองตามธรรมเนียมนี้ด้วยเช่นกัน 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 พ.ย. 09, 15:31
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องพระราชปฏิสันถารกับทูตต่างประเทศไว้ในเรื่อง อธิบายเรื่องราชทูตไทยไปยุโรป

ลักษณพระราชปฏิสัณฐารทูตก็มีแบบโบราณว่าทรงปฏิสัณฐาร ๓ นัดเปนธรรมเนียม แลเปนธรรมเนียมลงไปจนถึงข้อความของพระราชปฏิสัณฐาร คือดำรัสถามว่า พระเจ้าแผ่นดินฝ่ายโน้น กับทั้งพระราชวงศ์ทรงสบายดีอยู่หรือนัด ๑ ว่าทูตานุทูตเดินทางมาสดวกดีอยู่หรือเดินทางมาช้านานเท่าใดจึงมาถึงนัด ๑ ว่าประเทศโน้นฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองมีความสุขสมบูรณ์ ไพร่บ้านพลเมืองมีความสุขอยู่หรือนัด ๑ แบบพระราชปฏิสัณฐารอย่างนี้เข้าใจกันซึมทราบมาแต่ก่อนจนอาจจะแต่งลงเปนบทเสภา เมื่อสมเด็จพระพันวะษาเสด็จออกรับทูตล้านช้างได้ดังนี้

 ๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงเดช      ชำเลืองพระเนตรผายผัน  
เห็นราชทูตมาถวายบังคมคัล      กับทั้งเครื่องสุวรรณบรรณา  
จึงตรัสประภาษปราไส            มาในป่าไม้ใบหนา  
กี่วันจึงถึงพระภารา                มรรคายากง่ายประการใด  
อนึ่งกรุงนาคบุรี                   เข้ากล้านาดีหรือไฉน  
หรือฝนแล้งเข้าแพงมีภัย          ศึกเสือเหนือใต้สงบดี  
ทั้งองค์พระเจ้าเวียงจันท์          ทรงธรรม์เปนสุขเกษมศรี  
ไม่มีโรคายายี                    อยู่ดีหรืออย่างไรในเวียงจันท์ ฯ  
                
แบบแผนทางเมืองพม่ายิ่งหนักมือไป ถึงพระเจ้าแผ่นดินไม่ต้องมีรับสั่งว่ากะไร เพียงพยักพระพักตร์เท่านั้น ผู้สนองพระโอฐก็รับสั่งมาแจ้งพระราชปฏิสัณฐารแก่ทูตตามข้อความที่กล่าวมา

เมื่อมีพระราชปฏิสัณฐารนัด ๑ โกษาธิบดีก็รับพระราชโองการมาบอกแก่กรมท่าขวาหรือซ้าย อันเปนเจ้าหน้าที่ ๆ บอกล่าม ๆ แปลบอกทูต ทูตจะกราบทูลว่ากะไรก็ต้องย้อนกลับโดยนัยอันเดียวกัน แล้วมีพระราชปฏิสัณฐารนัดที่ ๒ ที่ ๓ ต่อไป ครั้นมีพระราชปฏิสัณฐารแล้ว เจ้าพนักงานจึงยกพานหมากกับเสื้อผ้ามาตั้งพระราชทานทูตานุทูต เปนสัญญาว่าเสร็จการเฝ้า พอตั้งพานหมากแล้วไม่ช้าก็ปิดบานพระบัญชรเสด็จขึ้นมีประโคม แลข้าราชการกับทูตานุทูตถวายบังคมอิก ๓ ครั้งแล้วทูตจึงออกจากท้องพระโรง เมื่อทูตออกมาจากเฝ้าแล้ว เจ้าพนักงานพาไปดูสิ่งสำคัญในพระราชวัง คือพระยาช้างเผือกเปนต้น ปรากฎเหมือนกันทั้งคราวราชทูตฝรั่งเศสแลราชทูตลังกา แล้วจึงพาทูตกลับไปพัก เมืองพม่าก็เหมือนกันอย่างนี้





กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 05 พ.ย. 09, 15:41
ส่วนเส้นทางยกทัพจากอยุธยาขึ้นไปตีเชียงใหม่   เริ่มต้นจากเคลื่อนทัพที่วัดใหม่ชัยชุมพล   ค่ำลงพักที่"พิตเพียน"  เช้าเดินทางต่อไปที่ "บ้านดาบก่งธนู"  ขุนแผนไปขุดเอาดาบฟ้าฟื้นที่ฝังไว้ขึ้นมา

ค่ำแวะพักที่ลพบุรี   เช้าเดินทัพตัดบางขาม ข้ามบ้านด่านโพธิ์ชัย   ไปถึงแขวงอู่ตะเภา  ตรงไปหัวแดนภูเขาทอง หนองบัว ห้วยเฉียง   เลี่ยงชายเขาตรงไปทุ่งหลวง  พักคืนหนึ่งแล้วก็เดินทัพต่อไปถึงเมืองพิจิตร

จากพิจิตร ทัพยกผ่านป่าไปถึงพิษณุโลก      สังเกตว่าเส้นทางเดินทัพ ไม่ได้ไปตามแม่น้ำ  บุกป่าฝ่าดง   บรรยายป่ามาตลอดทาง
ออกจากพิษณุโลก  ไปเมืองพิชัย  แล้วไปบ้านไกร ป่าแฝก  ถึงศรีสัชนาลัย  สวรรคโลก   ตัดข้ามเขตระแหง  ถึงเถิน แล้วหยุดทัพที่หนองโคกเต่า นอกเชียงใหม่ ไม่ยกทัพเข้าเมือง

ผมคิดว่าเส้นทางนี้สมเหตุสมผลพอสมควรทีเดียวครับ หากคิดว่าทัพที่ยกกันขึ้นไปเป็นทัพขนาดใหญ่ ไม่ใช่มีแต่คนขี้คุกไม่กี่สิบคนอย่างนี้ ถ้ามีแค่นี้ ใช้เรือขึ้นไปตามแม่น้ำปิงคงสบายกว่าเยอะ

สงครามในสมัยโบราณ จำเป็นต้องใช้พลเดินเท้า เพราะการลำเลียงพลจำนวนมากทางเรือมีต้นทุนสูงเกินไป ผู้เขียนเสภาตอนนี้ น่าจะรู้จักเส้นทางนี้ดีพอสมควร

- วัดใหม่ชัยชุมพล เข้าใจว่าหมายถึงวัดใหม่ประชุมพล ตรงข้ามปราสาทนครหลวง ริมน้ำป่าสัก
- พิตเพียนก็เป็นชื่อตำบลที่ยังปรากฏในปัจจุบัน อยู่ในเขตอำเภอมหาราช พระนครศรีอยุธยา
- บ้านดาบก่งธนูก็น่าจะอยู่ริมน้ำป่าสักระหว่างพิตเพียนกับตัวเมืองลพบุรีนี้เอง

จากลพบุรีเลาะลำน้ำบางขาม ผ่านบางขาม แล้วไปตามลำแม่น้ำสายเก่า ผ่านโพธิ์ชัย อู่ตะเภา ข้อนี้น่าสนใจ เพราะลำน้ำสายนี้กลายเป็นคลองไปนาน ตั้งแต่สมัยไหนก็ไม่ทราบ

จากอู่ตะเภาเดินขึ้นเหนือตรงไปเขาทอง (ภูเขาทอง) เหนือไปจากนี้จะเจอบึงบอระเพ็ดขวางกั้นอยู่ ทัพขุนแผนน่าจะเดินเลียบออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านหนองบัว ส่วนห้วยเฉียงนั้นอยู่ไหนไม่ทราบ แต่คงอยู่ระหว่างหนองบัวกับพิจิตรนี่เอง

จากพิจิตร ขึ้นไปพิษณุโลก พิชัย พิชัยนี้เป็นเมืองพิชัยเก่าที่อยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน หมุดในแผนที่ที่คุณ Navarat.C ได้กรุณาทำมาให้ดูต้องขยับออกไปทางตะวันออกนิดนึงครับ

ถึงตรงนี้ เส้นทางดูคล้ายจะสับสน ผมขอยกกลอนมาดูเลยดีกว่า

พอพักไพร่หายเหนื่อยเลื่อยล้า    ก็ยกพลต่อมาเมืองพิชัย
ผู้รั้งกรมการด้านทาง              ต่างเมืองต้อนรับไม่นิ่งได้
ยกฟากข้ามจากเมืองพิชัยไป      ถึงบ้านไกรป่าแฝกแล้วแยกมา
วันหนึ่งถึงเมืองสัชนาลัย           กรมการผู้ใหญ่ก็พร้อมหน้า      
เลี้ยงดูรับรองตามท้องตรา        พักอยู่สามเวลาในธานี ฯ

๏ ยกออกนอกเมืองสวรรคโลก      ข้ามโคกเข้าป่าพนาศรี


บ้านไกร ป่าแฝก อยู่ในเขตจังหวัดสุโขทัย เรียกได้ว่าอยู่ระหว่างพิษณุโลกกับสวรรคโลก ในขณะที่พิชัยนั้นในจากพิษณุโลกขึ้นไป ระดับเดียวกับสวรรคโลก ถ้าออกจากพิษณุโลก ไปทางพิชัยแล้วข้ามน้ำ เดินตรงไปทางตะวันตกก็ถึงสวรรคโลก หรือไม่อย่างนั้น จากพิษณุโลกข้ามน้ำแล้วเดินตัดขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านบ้านไกร ป่าแฝก ก็จะไปถึงสวรรคโลกได้โดยตรง

เส้นทางในกลอนที่ว่าข้ามน้ำจากพิชัยแล้วไปบ้านไกร ป่าแฝก นี่ต้องเดินกลับลงใต้มาร่วม ๓๐ กม. แล้วเดินกลับขึ้นไประยะทางเท่าๆกัน อ้อมไปถึง ๖๐ กม.ครับ ขอฝากไว้ก่อน เพราะหาคำอธิบายที่สมเหตุสมผลไม่ได้

ข้อถัดมา เรื่องศรีสัชนาลัยกับสวรรคโลก  ตามบทกลอนนั้นยกเข้าสัชนาลัยพักสามวัน แต่ออกจากสวรรคโลก ดูชอบกล ผู้แต่งเสภาเห็นจะรวบสองเมืองนี้เข้าเป็นเมืองเดียวกัน


ตัดข้ามเขตระแหงแขวงเถิน      เดินเลยหาเยื้องเข้าเมืองไม่
สิบสี่วันดั้นเดินตามเนินไพร      เกือบจะถึงเชียงใหม่อีกสองวัน
หยุดหนองโคกเต่าไม่เข้าบ้าน      พักทหารตั้งกองริมหนองนั่น
ชักหนามวงรอบเป็นขอบคัน      กำชับกันมิให้ใครเที่ยวไปมา ฯ


จากสวรรคโลก เดินทัพเข้าป่าไปออกระแหง เส้นทางนี้สมเหตุสมผลนะครับ จากลุ่มแน่น้ำยม-น่าน จะข้ามไปลุ่มแม่น้ำปิง มีเทือกเขากันเป็นแนวยาวลงมา ถ้าจะอ้อมลงไปทางใต้ ก็ต้องลงไปถึงกำแพงเพชรแล้วตัดขึ้นมา ในขณะที่มีช่องเขาอยู่แห่งหนึ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของสวรรคโลก บริเวณบ้านด่าน-ลานหอย(ใกล้เมืองเก่าสุโขทัย) มีช่องทางด่านไปออกระแหง

นี่คือเส้นทางสำคัญ น่าจะเป็นเส้นทางที่นำความเจริญมาสู่สุโขทัย แม้ปัจจุบันนี้ก็มีทางหลวงตัดผ่านช่องเขานี้ครับ

จากระแหงก็ยึดแนวลำนับปิงขึ้นไปถึงเถิน

ถ้าถามว่า จากสวรรคโลกทำไมไม่ตัดขึ้นไปที่เถินโดยตรง?
ดูจากภาพถ่ายดาวเทียมแล้วตอบได้ว่าเหนือสวรรคโลกศรีสัชนาลัยขึ้นไป มีเทือกเขาสลับซับซ้อน ไม่มีเส้นทางไปถึงได้ครับ ต้องอ้อมลงมาออกระแหงนี่แหละถูกต้องแล้ว

ผมทำไฟล์หมุด Google Earth ไว้ เชิญดาวน์โหลดได้เลยครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 พ.ย. 09, 18:02
คุณม้าครับ

ส่วนใหญ่ผมก็เห็นด้วยกับคุณทั้งสิ้น แต่..ด้วยความเคารพ ผมอยากทราบเหตุผลว่าทำไมไม่เดินทัพจากพิษณุโลก ผ่านบ้านไกร และป่าแฝก เข้าสุโขทัยแล้วไประแหงทีเดียว
ทางโบราณสมัยท่านพ่อขุนทั้งหลายก็คงยังอยู่ เดินทางสบายๆ
ทำไมต้องเดินอ้อมเล่นเป็นร้อยกิโลขนาดนั้น

ไม่ทราบว่าเพราะไปกันเพียงสามสิบกว่าคน เลยต้องไปเที่ยวเกณฑ์ผู้คนมาเข้าทัพหรือ?
ถ้าใช่ก็เอาเถอะ มันป็นนิยาย

แต่ถ้าจะบอกว่าคนโบราณเขาใช้เส้นทางนี้เดินทัพจริงๆตามประวัติศาสตร์
ก็คงจะหาหลักฐานรองรับได้นะครับ ผมว่า


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ย. 09, 18:39
หลีกทางให้คุณ N.C. กับคุณม้าสำรวจทางกันไปก่อน
และหลีกทางให้คุณหลวงเล็ก  กับคุณเพ็ญชมพู   อธิบายเรื่องประเพณีรับทูต  
ดิฉันก็จะไม่กล่าวถึงซ้ำอีก   แต่จะเล่าถึงโอวาทสำคัญที่พระนางเกสร มเหสีล้านช้าง ประทานให้นางสร้อยทอง พระธิดา

ขอเกริ่นว่า  ก่อนจะมาถึงข้อนี้    พยายามมองหาวัฒนธรรมของลาวล้านช้างว่ามีอะไรเฉพาะตัวบ้างไหม  แต่ก็ยังมองไม่เห็น   ถ้าใครเห็นช่วยมาเสริมให้ด้วย  จะขอบคุณมาก
ที่ว่ามองไม่เห็น คือรู้สึกว่า ต่อให้อาณาจักรนี้ไม่ใช่ล้านช้าง แต่เป็นอาณาจักรสมมุติอะไรอีกสักแห่ง แม้แต่อาณาจักรบนแหลมทอง สักแห่ง  ก็น่าจะสวมแทนกันได้
เพราะนอกจากชื่อขุนนางที่ฟังออกสำเนียงลาว  และภาษาลาวอยู่ไม่กี่คำแล้ว  ดิฉันไม่รู้สึกว่าครอบครัวของพระเจ้าล้านช้าง มีลักษณะเฉพาะตัวแตกต่างจากไทย
มีบทออกขุนนาง ณ ท้องพระโรง      มีลูกสาวพอโตเป็นสาว ก็ถูกส่งไปเพื่อเสริมสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรใกล้เคียง     เราเห็นกันมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย

อ่านมาถึงตอนนี้    นึกถึงพระเทพกษัตรี   พระธิดาพระมหาจักรพรรดิ  ที่ถูกส่งตัวไปเป็นพระมเหสีพระไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้าง  แต่ถูกบุเรงนองส่งกองทหารมาดักชิงตัวไปกลางทางเสียก่อน  หลังจากนั้นก็ไม่รู้ข่าวคราวของท่านอีก  


 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ย. 09, 19:15
คำสั่งสอนที่พระนางเกสร ประทานให้เจ้าหญิงสร้อยทอง    กวีผู้แต่งตอนนี้  น่าจะรู้จักขนบธรรมเนียมในราชสำนักฝ่ายในดี  จึงเขียนได้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน
ว่าผู้หญิงที่จะเข้าไปเป็นบาทบริจาริกาของพระมหากษัตริย์ ควรวางตัวอย่างไร  จึงจะงดงามเหมาะสม  เจาะจงให้เห็นทีละข้อ  ไม่ใช่กล่าวกว้างๆ
เน้นที่กิริยา มารยาท  อัชฌาศัย รู้จักวางตัวกับสตรีฝ่ายในอื่นๆ ไม่ว่าจะเจ้านายหรือสามัญชน
เป็นคำอบรมสั่งสอนที่ชัดเจน    เลือกตัวละครได้เหมาะ คือให้แม่ที่เป็นนางกษัตริย์ สั่งสอนลูกสาวที่จะไปเป็นเจ้านายฝ่ายใน    ถ้อยคำที่ใช้ สุภาพ และสง่างามสมบทบาท
จำแนกละเอียดเป็นข้อๆเลย ว่า
๑)  การวางตัวกับสตรีฝ่ายในด้วยกัน

อันขนบธรรมเนียมของเมืองใต้                      ต้องเพียรเอาใจใส่ให้รู้จัก
อันบรรดานารีที่พบพักตร์                             เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ในวัง
ที่ใครควรเคารพก็นบนอบ                            ที่ควรชิดควรชอบอย่าผินหลัง
อย่าโหดไร้ให้เขาพากันชิงชัง                       แต่อย่าพลั้งเผลอคบคนเสเพล


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ย. 09, 20:17
๒) การวางตัว  เป็นส่วนตัว
ข้อนี้กำหนดคุณค่าสตรีในราชตระกูลไว้สูงมาก   ว่าเป็นผู้หญิงที่ได้รับการอบรมต่อเนื่องกันมาตามสายตระกูล  ย่อมจะถูกผู้ใหญ่กวดขันให้อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ดีคล้ายๆกัน     ไม่ค่อยจะมีผ่าเหล่าผ่ากอ

นางกษัตริย์เขาจัดว่าล้ำเลิศ                       ประเสริฐด้วยสุริย์วงศ์พงศา
ถือมั่นสัตย์ธรรม์จรรยา                              ทั้งวาจามารยาทสะอาดดี
เพราะว่าเป็นวิสัยในพงศ์พันธุ์                     ฝึกสอนสืบกันมาตามที่
ซึ่งจะผ่าเหล่าไปมิใคร่มี                            เหตุนี้จึงนิยมชมทั่วไป

ที่สำคัญคือสตรีในราชตระกูล    แม้ว่าต่างราชตระกูลกัน ก็ไม่ได้ต่างด้านประพฤติปฏิบัติวางตัว   เพราะ

กษัตริย์ถึงต่างทิศผิดภาษา                       อันจะต่างจรรยานั้นหาไม่

อ่านขุนช้างขุนแผนมาถึงตอนนี้  นึกถึงพระดำรัสของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ   ที่ยกย่องเจ้าดารารัศมีอย่างสูง  เคยตรัสกับพระธิดาว่า
" กราบเจ้าป้าลงกับพื้นเถิดลูก   เพราะไม่มีสิ่งใดที่ควรจะรังเกียจ    แม้กำเนิด  ท่านก็เกิดมาในเศวตฉัตรเหมือนกัน"


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 05 พ.ย. 09, 21:07
คุณ Navarat.C ชี้แนะมาอย่างนี้ ผมได้สมมติฐานใหม่ว่า เส้นทางช่วงนี้อาจจะเป็นเส้นทางสองเส้นทางที่ถูกจับมามัดไว้รวมกัน
- พิษณุโลก -> พิชัย -> สวรรคโลก -> บ้านด่าน
- พิษณุโลก -> บ้านไกร  -> ป่าแฝก -> บ้านด่าน

ดูจากกลอน ไปพักอยู่ที่สัชนาลัย-สวรรคโลกถึงสามวัน ถือว่าให้ความสำคัญไม่น้อย ถ้าลอกเส้นทางนี้มาจากเส้นทางทัพจริง ก็อาจจะมีราชการหรือแม้แต่เกณฑ์ไพร่พลจากที่นี่ไปด้วยกันครับ

น่าสังเกตว่าไม่พูดถึงสุโขทัยเลยนะครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 พ.ย. 09, 21:37
นั่นน่ะซีครับคุณม้า


สุโขทัยไม่ใช่เมืองกระจอกงอกง่อย ผ่านข้ามไปได้อย่างไรไม่พูดถึงเลย
ผมออกจะเชื่อไปในทางว่า คนที่แต่งตอนนี้ไม่สู้จะรู้จริงเรื่องเส้นทางเดินทัพขึ้นเหนือเท่าไร

เราจะเอานิยายมาอ้างอิงมันกระไรอยู่ บังเอิญเนื้อหาตรงนี้มันไม่เนียนเสียด้วย
ถ้าจะเอาให้ชัดๆ คงต้องหาพวกจดหมายเหตุโบราณมาแสดงจะน่าเชื่อถือกว่านะครับ



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 พ.ย. 09, 08:29
ขอย้อนไปที่เรื่องช่องเขาศาลหรือช่องเข้าสารหรือด่านเขาสาร นิดหนึ่ง  เพราะเพิ่งได้อ่าน 
ในนิราศทัพเวียงจันท์ ที่มติชน พิมพ์ ในนิราศทัพเวียงจันท์ พิมพ์ว่า เข้าสาร ทั้งหมด  รวมไปถึงในระยะทางเสด็จพระราชดำเนินกองทัพตั้งแต่กรุงเทพฯ ถึงเมืองเวียงจันท์ ปีจอ อัฐศก ๑๑๘๘ ฉะบับนายพลพัน หุ้มแพร ถวาย ซึ่งพิมพ์รวมอยู่ท้ายเล่มหนังสือเดียวกัน  ก็เป็น เข้าสาร ทุกแห่ง แม้กระทั่งแผนที่ที่ประกอบก็เขียนอย่างเดียวกัน

ได้ลองเทียบชื่อดูในหนังสือจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ เล่ม ๒ เล่ม ๓ ซึ่งเนเอกสารที่พิมพ์ตามต้นฉบับเอกสารตัวเขียน
ในเล่ม ๒ มีเอกสาร ชื่อ ระยะทางเสด็จพระดำเนินกรีฑาทัพ จ.ศ. ๑๑๘๘ ซึ่งก็คือ เอกสารต้นฉบับที่ภายหลังนำมาพิมพ์เป็นระยะทางเสด็จพระราชดำเนินกองทัพตั้งแต่กรุงเทพฯ ถึงเมืองเวียงจันท์ ปีจอ อัฐศก ๑๑๘๘ ฉะบับนายพลพัน หุ้มแพร ถวาย นั่นเอง  ตรงคำว่า เข้าสาร ที่ปรากฏในหนังสือที่มติชนพิมพ์ นั้น  ต้นฉบับเดิมในจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ เขียนเป็น เขาสาร เหมือนกันทุกแห่ง

ในเล่ม ๓ เป็นเอกสาร ว่าด้วย ราชการทัพเมืองเวียงจันทน์ ฉบับ ๑ - ๑๔ กลับเขียนเป็น เข้าสาร เข้าสาน ทั้งนั้น ไม่มีแห่งใดเขียนว่า เขาสาร เลย  แต่ได้ลองเทียบระยะทางเสด็จฯ กับจดหมายเหตุว่าด้วยราชการทัพฯ แล้ว จะ เขาสาร หรือ เข้าสาร ก็น่าจะเป็นชื่อสถานที่แห่งเดียวกัน (มีทั้งเป็นชื่อบ้าน ชื่อช่องเขา และชื่อด่าน ) เพียงแต่คนจดคงจดลงตามความเข้าใจ ชื่อที่ได้ยิน และอักขรวิธีตามสะดวกของแต่ละคน  เลยทำให้เขียนชื่อออกมาไม่เหมือนกัน 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 พ.ย. 09, 09:04
มีคำบางคำที่สงสัยอยู่ อยู่ในตอนที่เกี่ยวกับลาว หากใครมีความรู้ช่วยอธิบายให้เข้าใจหน่อยครับ

ขุนแผนฟังบ่าวบอกข่าวน้อง  ประหวั่นถึงลาวทองที่เป็นไข้
แล้วนิ่งระงับดับใจ               ดูฤกษ์ในยามตามนาที
วันเสาร์ข้างเช้าเป็นยามจันทร์  ไข้นั้นหนักเจียนจะเป็นผี
แต่ยามจันทร์ท่านทายว่าคลายดี   ผู้มาบอกนั่งที่ก็ไม่ร้าย
ผิดทั้งหลาวเหล็กราหูจร          อยู่ข้างต้นศรว่าพลันหาย
ฤกษ์ยามตามตำราว่าไม่ตาย    แต่แก้วตาจะกระวายกระวนใจ

คำศัพท์ตัวหนาข้างต้น เป็นสัพท์ทางโหราศาสตร์ อยากทราบรายละเอียดศัพท์แต่ละคำ ถ้าอธิบายได้ละเอียดก็ขอบคุณมาก


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 09, 09:21
เป็นอันว่า ด่าน"เข้าสาร"  กลายเป็น "เขาศาล" เปลี่ยนทั้งรูปคำและความหมาย   

ดิฉันเคยอ่านพบศัพท์ที่คุณหลวงเล็กถาม   ในตำราพรหมชาติ    รู้คร่าวๆว่าโหรเขากำหนดยามต่างๆในแต่ละวัน  ว่าเหมาะหรือไม่เหมาะจะทำการอะไรบ้าง  ยามไหนดี  ยามไหนร้าย    
นอกจากยามก็มีทิศเช่นกัน   หลาวเหล็ก หมายถึงทิศที่ร้ายในวันนั้นๆ
รอท่านผู้รู้มาอธิบายค่ะ  ถ้าผ่านไปหลายวันไม่มีใครเข้ามาอธิบาย  จะไปถามเพื่อนที่เรียนโหราศาสตร์ให้


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 09, 09:44
๓) การวางตัวต่อพระสวามี
พระนางเกสร สอนนางสร้อยทองเรื่องการวางตัวต่อพระพันวษา เมื่อไปเป็น "ฝ่ายใน" แล้ว   คำสอนการวางตัวของภรรยา ก็เอามาจากพุทธศาสนานั่นเอง  ไม่ได้มีอะไรผิดแปลกไปจากที่โบราณสอนกันมา  คือรู้จักรับใช้ดูแล  ซื่อสัตย์ ร่วมทุกข์สุขกัน เคารพนบนอบสามี

แต่ย้ำเพิ่มไปอีกว่า ในเมื่อสามีไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นเจ้าแผ่นดิน ก็ต้องเคารพยำเกรงในฐานะข้าฝ่าธุลีด้วย

แต่บริจามหากษัตริย์นั้น                      ผิดกับหญิงสามัญที่มีผัว
ต้องจงรักภักดีแล้วเกรงกลัว                 เหมือนอย่างตัวเป็นข้าฝ่าธุลี
ตั้งใจสนองรองบาทา                         ให้ทรงพระกรุณาเป็นราศี
ถึงขัดข้องหมองใจในบางที                 ไม่ควรที่ให้เคืองเบื้องบทมาลย์

อ่านตั้งแต่ต้นจนจบ   พระนางเกสรสอนพระธิดาเหมือนจะไปปฏิบัติราชการ เสียมากกว่าจะไปครองเรือน     แสดงว่า "หน้าที่" เป็นสิ่งสำคัญที่สุด    และน่าจะสำคัญประการเดียวสำหรับผู้หญิงระดับพระธิดา
ส่วนความสัมพันธ์ส่วนตัว เช่นสร้างสายใยเสน่หาระหว่างสามีภรรยา จะทำยังไง  พระนางไม่สอนลูกสาวเลย  เหมือนเป็นสิ่งไม่ต้องคำนึงถึงก็ได้     
เหตุผลคือกวีอาจจะเห็นว่าไม่เหมาะสม หรือเห็นว่าไม่ใช่ "จรรยา" ของนางกษัตริย์

ในเรื่องนี้   แม่สอนลูกสาวเรื่องครองเรือน มี ๓ คู่ด้วยกัน   และสอนแตกต่างกันไป       จะทยอยมาเล่าให้ฟังพร้อมวิเคราะห์ไปด้วย   
ใครเห็นแตกต่าง ก็เชิญออกความเห็นได้เลยค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 06 พ.ย. 09, 11:34
มีข้อมูลเรื่องการย้ายที่ตั้งเมืองสวรรคโลกอยู่ใน wiki http://th.wikipedia.org/wiki/อำเภอสวรรคโลก (http://th.wikipedia.org/wiki/อำเภอสวรรคโลก)

เดิมเมืองสวรรคโลกตั้งอยู่ที่เมืองศรีสัชนาลัยเดิม ย้ายลงมาท่าชัย(ใต้เมืองเดิมลงมาราว 3 กม.)ในราวสมัยกรุงธรบุรีหรือต้นรัตนโกสินทร์ แล้วย้ายลงมาที่เมืองสวรรคโลกปัจจุบัน(ใต้ลงมาอีกสิบกว่ากิโลเมตร)ในปี ๒๓๗๙

อ่านจากกลอนตอนนี้ น่าจะต้องก่อนย้ายลงมาที่ตั้งปัจจุบันแน่นอน แต่จะก่อนย้ายลงมาท่าชัยหรือไม่นั้นอาจจะยังชี้ชัดไม่ได้ครับ

เรื่องความน่าเชื่อถือของเสภาขุนช้างขุนแผน ก็ต้องยอมรับความจริงว่านี่เป็นเรื่องแต่งเล่น จะถือเป็นจริงจังทั้งหมดคงไม่ได้ แต่ในความเป็นจริง เสภาขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องเก่าสมัยอยุธยา เก่าขนาดไหนนั้นก็ยังไม่รู้ แต่มีการแต่งต่อเติมกันอยู่เรื่อยๆ แม้ในสมัยรัตนโกสินทร์ก็มีการแต่งเติมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ และมาแต่งทำกันใหญ่โตในสมัยรัชกาลที่ ๒ โดยมีพระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นบรรณาธิการด้วยพระองค์เอง กวีที่ร่วมแต่งแม้ไม่ทราบชัดว่ามีใครบ้าง แต่เห็นได้ว่าส่วนใหญ่ก็เป็นเจ้านายและขุนนาง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เคยรบทัพจับศึกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ด้วยกันทั้งนั้นครับ

แน่นอนว่าจะให้กวีเหล่านี้รู้จักเส้นทางทั้งหมดก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่เราได้เห็นตัวอย่างจากเส้นทางพวกเชียงใหม่ดักชิงเจ้าหญิงล้านช้าง ชนิดที่ว่าโผล่ออกจากเชียงใหม่แล้วมาโผล่ที่ภูเวียงเลย ระยะห่างกันกว่า ๓๐๐ กม. เห็นได้ว่าไม่รู้จักเส้นทางนี้ และไม่รู้จะบรรยายเส้นทางอย่างไร จึงได้ข้ามไปเสียดื้อๆ

ข้อมูลเส้นทางเดินทัพที่เห็นในช่วงนี้ อาจจะมีข้อผิดพลาดบ้าง แต่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้เส้นทางการเดินทางขึ้นเหนืออีกเส้นทางหนึ่งนอกเหนือจากเส้นทางแม่น้ำปิงที่รู้จักกันดีนะครับ

แม้แต่เรื่องการที่ไม่เอ่ยถึงสุโขทัย ก็อาจจะมีอะไรแฝงอยู่ เพราะเมืองเก่านั้นร้างไปนาน จะนานเท่าใดก็ไม่ทราบ เมืองใหม่ที่ริมแม่น้ำยมปัจจุบันนี้ตั้งมาเมื่อไหร่ จะมีความสำคัญขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใดก็ไม่รู้อีกเหมือนกัน มันมีช่องว่างให้พิจารณาอยู่นะครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 พ.ย. 09, 12:01
เมืองใหม่ที่ริมแม่น้ำยมปัจจุบันนี้ตั้งมาเมื่อไหร่ จะมีความสำคัญขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใดก็ไม่รู้อีกเหมือนกัน

ตัวเมืองสุโขทัยในปัจจุบันนี้มิใช่กรุงสุโขทัยอันเป็นราชธานีเดิม รัชกาลที่ ๑ ทรงย้ายผู้คนทั้งหมดจากสุโขทัย มาตั้งเมืองใหม่ทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำยมเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๖ โดยห่างจากตัวเมืองสุโขทัยที่เคยเป็นราชธานี ๑๒ กิโลเมตร

ข้อมูลจาก หนังสือประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดสุโขทัย , ๒๕๔๑



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 พ.ย. 09, 12:01
นางเกสรเลี้ยงดูนางสร้อยทองอย่างใกล้ชิด  
คำสั่งสอนสุดท้ายของแม่  นางสร้อยทองก็จำไว้
ความทุกข์ของนางเมื่อตกไปอยู่เชียงใหม่ถึงกึ่งปีคงทำให้นางเสงี่ยมงาม

พระพันวษาทรงพอพระทัยในความงามและกิริยามารยาท


พินิจทรงสร้อยทองละอองพักตร์                               นรลักษณ์งามเลิศเฉิดฉัน
ละมุนละม่อมพร้อมพริ้งทุกสิ่งอัน                              สมเป็นขวัญของประเทศเขตลาวกาว
ดูสงบเสงี่ยมงามทรามสวาท                                  มารยาทสนิทสนมสมเป็นสาว
กระนี้หรือจะมิลือในแดนลาว                                  จนเชียงใหม่ได้ข่าวเข้าช่วงชิง


คุณท้าววรจันทร์เห็นตามพระอัชฌาสัยอยู่แล้ว

นางสร้อยทองต้องลักษณะนัก                                นรลักษณ์งามดีถี่ถ้วน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 พ.ย. 09, 12:16
สร้อยฟ้าสวยแค่ไหน

พึ่งเป็นสาวรุ่นร่างกระจ่างดวง                                 ดูสองถันนั้นเป็นพวงผกาทิพย์
เหมือนโกมุทพึ่งผุดหลังชลา                                   พอต้องตาเตือนใจจะให้หยิบ
............................
............................
งามขนงก่งค้อมละม่อมละไม                                  แต่เนตรหลับยังวิไลประหลาดนาง
นาสิกแต่ละทรงพระแสงขอ                                    โอษฐละออเรี่ยมริมเหมือนจิ้มฝาง
สองปรางอย่างผิวผลมะปราง                                  ดูศอคอคางอย่างกลึงกลม
งามระหงทรงศรีไม่พีผอม                                      เพริศพร้อมแต่บาทจนถึงผม



อ่านแล้วไม่แน่ใจเหมือนกันว่าสร้อยฟ้าจะแก่เดือนกว่านางสร้อยทองหรือไม่   เพราะนางสร้อยทองอายุ ๑๕ ปี  ตกไปอยู่เชียงใหม่ กึ่งปี


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 พ.ย. 09, 12:21
คุณเพ็ญชมพู ในคคห ๑๔๘      มีความรู้กว้างขวาง น่านับถือ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 09, 15:01
เป็นไปได้ไหมคะ  ว่า เส้นทางเดินทัพ ผ่านไปตามสุโขทัยเดิมซึ่งเป็นเมืองร้างไปแล้ว   กวีจึงไม่ได้เอ่ยถึงตัวเมือง ในตอนนี้

กลับมาเรื่องแม่กับลูกสาว

เมื่อเสร็จศึกเชียงใหม่  ขุนแผนกับพลายงามปฏิบัติการ mission impossible บุกเข้าวังเจ้าเชียงใหม่  จู่โจมถึงตัวพระเจ้าเชียงอินทร์     หลังจากฆ่าแสนตรีเพชรกล้าทหารเอกเชียงใหม่ลงได้แล้ว
เจอแบบนี้ เจ้าเชียงอินทร์ก็ยอมแพ้   จำต้องยกลูกสาวให้เป็นบาทบริจาริกาให้พระพันวษา   แต่นางสร้อยฟ้าโฉมงาม วาสนาด้อยกว่าความสวย     พระพันวษาไม่รับเป็นพระสนม  แต่ยกให้เป็นเมียหัวหมื่นมหาดเล็กแทน
แทนที่จะได้เป็นเจ้านายสตรีฝ่ายใน   ก็กลายเป็นเมียที่สองของจมื่น
ก็ถึงบทที่พระนางอัปสรสุมาลี  แม่ของสร้อยฟ้า  ให้โอวาทลูกสาวที่กำลังจะออกเรือน

สร้อยฟ้ากับสร้อยทอง มีศักดิ์เท่ากัน  ต่างก็เป็นเจ้าหญิงพระธิดาเจ้าแผ่นดิน     แต่ได้สามีไม่เท่ากัน   สูงต่ำผิดกันมากมาย    แม่จึงให้โอวาทไปคนละทาง

ขอตั้งข้อสังเกต แทรกเข้ามานิดหนึ่งว่า  พระพันวษากับพระเจ้าเชียงอินทร์ ดูจะพระอัธยาศัยและรสนิยมเรื่องสตรี  แตกต่างกันมาก   
พระเจ้าเชียงอินทร์เมื่อเห็นตัวจริงของสร้อยทอง   ก็ดูว่าจะไม่ปลื้มนัก     ผิดกับตอนแรกที่ได้ยินข่าวลือเรื่องความงาม  แล้วคลั่งไคล้ใหลหลง

เพ่งพิศโฉมนางไม่วางตา                    ลักขณาเพริศพริ้งทุกสิ่งอัน
เสียอยู่แต่ดูยังเป็นเด็ก                        ร่างเล็กไม่สมภิรมย์ขวัญ

แม้เสียดายว่าสวย    แต่ก็คงจะไม่ถูกอกถูกใจมากจนกระทั่งอยากได้เป็นมเหสี ว่างั้นเถอะ  จึงปล่อยนางไว้ก่อน   
ผิดกับพระพันวษาที่พอเห็นนางสร้อยทอง  ก็ถูกพระทัยทันที ว่าสงบเสงี่ยม  กิริยามารยาทเรียบร้อย     รับเป็นฝ่ายในก็เหมาะสมดี    ไม่น่าจะมีอะไรให้ยุ่งยากพระทัย   
ส่วนนางสร้อยฟ้า  ทรงเห็นว่าจริตกิริยาแสนงอนกระตุ้งกระติ้งเหมือนนางละคร     ก็เลยไม่โปรด   พระชนม์มากแล้ว ไม่ใช่หนุ่มๆ  มีเมียสาวแบบนี้คงจะทรงตามไม่ทัน

แสดงว่าพระพันวษากับเจ้าเชียงอินทร์ คนละเรื่องกันเลยทีเดียว    เจ้าเชียงอินทร์มีลักษณะเป็นหนุ่มใหญ่เจ้าชู้     ได้นางคนใหม่มาทีไรก็หลงใหลไปเป็นพักๆ  แต่แล้วก็กลับมาตายรัง   
พระนางสร้อยสุมาลี เป็นสาวใหญ่ที่ยังสาวพริ้งเหมือนสาวน้อย  จึงรู้เชิงพระสวามี  ว่าไปไหนได้ไม่นาน   เวลาสอนลูกสาวที่จะออกเรือน  ก็สอนแบบเมียหลวงที่รู้วิธีเอาสามีไว้อยู่มือ

ด้วยวิสัยในการประเวณี                             ย่อมอยู่ที่ดวงจิตพิศมัย
พอถึงกันก็ประหวัดกำหนัดใน                     แต่พอได้รู้รสก็หมดกลัว
และ
อันเป็นเมียจะให้ชอบใจผัว                        สิ่งสำคัญนั้นก็ตัวของผู้หญิง
ทำให้ผัวถูกใจไม่มีทิ้ง                               ยังอีกสิ่งก็อาหารตระการใจ

ว่ากันว่า เสภาตอนนี้เป็นฝีมือของครูแจ้ง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 พ.ย. 09, 15:04
เมื่อสมเด็จพระพันวษารับสั่งกับพระเจ้าเชียงใหม่ว่า  จะยกนางสร้อยฟ้าให้พระไวย

มันน่าชมสมกันนี่กระไร                                          ลูกสาวเจ้าเชียงใหม่ก็เฉิดฉาย
อ้ายพลายงามความรู้ก็เลิศชาย                                 จะได้เป็นสุขสบายทั้งสองรา



พระเจ้าเชียงใหม่................                                 รันทดท้อฤทัยให้ไหวหวั่น
เสียดายศักดิ์สุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์                                  อัดอั้นมิใคร่ออกวาจา
นึกถึงสร้อยฟ้านิจจาเอ๋ย                                         ไม่ควรเลยจะระคนลงปนข้า



สงสารสร้อยฟ้าอยู่เหมือนกัน เพราะนางรู้ตัวว่าไม่รู้ประเพณีไทย   นางยินดีทำงานหนักที่ใช้แรงแม้นกระทั่ง
ตักน้ำและหามวอ    เพราะเป็นการทดแทนบุญคุณบิดามารดา

แสนทุกข์อยู่ที่จะมีผัว                                               พระทูลหัวอกเอ๋ยหาเคยไม่
จะดูการเรือนเหย้าเขาข้่างไทย                                    จะอย่างไรก็ไม่รู้ประเพณี
จะถูกติฉินยินร้าย                                                  อัปยศอดอายชาวกรุงศรี
สำหรับค่อนว่าทั้งตาปี                                             มีแต่จะอับอายขายบาทา


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 09, 15:12
ในตอนที่พระนางอัปสรสุมาลีสอนสร้อยฟ้าออกเรือน   มีวิธีสอนทำกับข้าวแทรกอยู่ด้วย
กับข้าวทั้งหมดที่บรรยายมา  สงสัยว่าจะเป็นของโปรดของครูแจ้ง   ดูเมนูแล้วบางอย่าง เชื่อกันว่าบำรุงกำลัง
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ท่านเขียนไว้ในเรื่อง "ฆาตกรรมจากก้นครัว" ให้คุณนายองุ่นทำให้สามีกิน  บำรุงบำเรอเสียจนร่างกายทนไม่ไหว    ตายเร็วกันทั้งสองคน

ถ้าจะวิจารณ์ตอนนี้  ก็ขอบอกว่าไม่เข้ากับเนื้อเรื่อง   เพราะเมนูไม่ใช่กับข้าวชาวเหนือเลยสักอย่าง

เป็นต้นต้มตีนหมูให้ชูรส                          ไข่ไก่สดปลาต้มยำทำขยัน
ตับเหล็กสันในและไข่ดัน                         หั่นให้ชิ้นเล็กเล็กเหมือนเจ๊กทำ

สร้อยฟ้าเป็นเจ้าหญิง   เกิดมามีแต่พี่เลี้ยงบริวารประคับประคอง  จะเอาโอกาสไหนไปทำกับข้าวกินเอง
วาสนาเธอก็เกิดมาเพื่อจะไปเป็นมเหสีพระราชาอยู่แล้ว   ไม่จำเป็นต้องเข้าครัว

ข้อสังเกตอีกอย่างคือ เมนูอาหารตอนนี้ มีลักษณะของกับข้าวจีนปะปนเข้ามา   เมื่อเทียบกับกาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวานในรัชกาลที่ ๒
ยิ่งวรรคสุดท้ายยิ่งเห็นเลยว่า เป็นรายการอาหารเหลาของอาเฮียตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา เสียละมังคะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 พ.ย. 09, 15:25
นางอัปสรเป็นเจ้าหญิงเชียงตุง    พระปู่เฒ่าเชียงใหม่ไปขอมา  ได้เห็นสวามีก็เมื่อวันงาน

นางสอนธิดาว่า

ธรรมดาสตรีที่มีผัว                                           ต้องเกรงยำจำกลัวผัวข่มเหง
เพราะถ้าผัวตัวนั้นยังคุ้มเกรง                                ถึงคนอื่นครื้นเครงมิเป็นไร


อาหารที่นางแนะแนวทาง

เป็นต้นต้มตีนหมูให้ชูรส                                     ไข่ไก่สดปลาต้มยำทำขยัน
ตับเหล็กสันในและไข่ดัน                                     หั่นให้ชิ้นเล็กเหมือนเจ๊กทำ


เรื่องต้มขาหมูนี่ มีแทรกในกลอนหลายตอน     ครูแจ้งคงเบื่ออาหารเลี้ยงตามงาน
คอเพลงที่ต้องใช้เสียงให้เจื้อยแจ้ว  คงต้องการของเปรี้ยวเผ็ด และบำรุงกำลัง




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 พ.ย. 09, 15:43
บทเสภาขุนช้่างขุนแผนตอนแต่งานพระไวย  สำนวนครูแจ้ง



หน้า ๒๐ - ๒๑   นางบุษบาก็สอน ศรีมาลาไว้เหมือนกัน


แม่อุตส่าห์ต้มลูกลำไยทำไข่หวาน                                รังนกเคี่ยวน้ำตาลกรวดให้ยวดยิ่ง
กับนมโคเคี่ยวน้ำตาลให้หวานจริง                                ทำใส่โถทิ้งไว้ให้ทุกวัน

สิ่งอื่นถึงจะมิกินก็แล้วไป                                           เมื่อคราวจะกินยกมาให้ขมีขมัน
กับข้าวอุตส่าห์หาปลามันหมั่นต้มยำ                              นั่นแลสำคัญนะแม่คุณ

น้ำพริกต้มยำทำให้ถึงที่                                            กะปิดีเสาะหาน้ำปลาญี่ปุ่น
เคียวให้ค่นน้ำขาวราวกับวุ้น                                       หนุนผักชีกระเทียมกรอบคงชอบใจ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 09, 15:53
เมนูอาหารแบบชาวบ้าน  ในตอนที่นางบัวคลี่คิดฆ่าขุนแผน ด้วยยาพิษ

มาจัดแจงแกงเนื้อตะพาบน้ำ                     แย้ยำห่อหมกทั้งนกคั่ว
ข้าวใหม่ใส่ในชามกลีบบัว                        เอายานั้นโรยทั่วทุกสิ่งอัน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 พ.ย. 09, 16:03
ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นเปิดประเด็นสำรับคาวหวานแล้ว   งั้นขออนุญาตแทรกแหล่มหาชาติเกี่ยวกับเรื่องขุนช้างขุนแผนสักหน่อย  ตอนที่นำเสนอนี้เป็นตอนเกี่ยวกับลาวทอง  เชิญอ่านดูครับ  โปรดสังเกตตอนจบ  เด็ดดีทีเดียว

แหล่ขุนแผนกลับจากทัพ  (เครื่องเล่นเทศน์มหาชาติกัณฑ์มหาพนหรือกัณฑ์มหาราช)

ฝ่ายขุนแผนแสนหาญฮึก    เมื่อชนะศึกล่องลงมา
เร่งบ่าวไพร่พายนาวา    เรือจอดหน้าท่าบ้านศรีประจัน
เสียงเกรียวกราวฉาวฉ่า    คนในนาวาเสียงอึงลั่น
เวลาก็ดึกลงครามครัน    ผู้คนผายผันเข้าหลับนอน
สายทองพลิกฟื้นตื่นผวา    เสียงใครมาในสาคร
พลางฉุดสลักชักกลอน    รีบบทจรคลาไคล
พอมาถึงห้องหอกลาง     เปิดหน้าต่างออกมองไป
เห็นคนตีฆ้องน้องก็ตกใจ    จึงจุดไต้ไฟเดินออกมา
พลางบรรจงลงบันได    รีบครรไลมาถึงหน้าท่า
เห็นเรือยาวใหญ่ดีใจหนักหนา   พ่อแผนกลับมาก็ยินดี
นางกลับขึ้นเรือนแล้วเชือนเข้าห้อง   ปลุกแม่วันทองมารศรี
ผัวเจ้ากลับมาอย่าช้าที     มาเถิดพี่จะพาไป
วันทองได้ฟังกำลังง่วง     ชะน้อยหรือมาลวงหลอกน้องเล่นได้
ขุนช้างแสนกลคนจัญไร     น้องไม่อยากไปเห็นหน้ามัน
ไม่ใช่ขุนช้างดอกนะวันทอง   เชื่อพี่เถิดน้องอย่าหุนหัน
ขุนแผนเลิกทัพกลับมานั่น   อย่าหุนหันเลยแก้วตา
จริงๆ หรือนี่พี่สายทอง    จะมาหลอกน้องกระมังหนา
จริงๆ โฉมศรีฟังพี่ว่า    เรือจอดหน้าท่าบ้านของเรา
วันทองลุกพลันมิทันช้า    หวีหัวผัดหน้าจับเขม่า
นุ่งลายห่มแพรแลดูพริ้งเพรา    พักตร์น้องดังดาวดวงจันทร์
โอษฐ์สะอาดดังสีลิ้นจี่จิ้ม   เมื่อยามจะยิ้มมันน่ารับขวัญ
ลูกสาวใครไม่เทียมทัน      ในเมืองสุพรรณไม่เห็นมี
ช่างยกย่องแม่วันทองขึ้นเชิด    มันช่างสวยประเสริฐเมื่อยามมีศรี
รีบเร็วเถิดหนาอย่าช้าที       สายทองรีบรี่ลงบันได
นางค่อยดำเนินเดินมา     พอถึงหน้าท่าเห็นเรือยาวใหญ่
เห็นคนตีฆ้องจึงร้องถามไป    ว่านั่นเรือใครนะขาตา
ฝ่ายตาลาวที่เฝ้ายามครั้นได้ยินถามทัก    เหลือบแลเห็นพักตร์งามเลขา
จะเป็นเมียนายหรือใครมา    ดูท่วงทีท่าก็สมทรง
จะพิศดูไหนก็งามนั่น     ดูผิวพรรณก็งามระหง
ทั้งรูปร่างสำอางองค์   คล้ายๆ นางหงส์ที่เหินลอย
ธุระอะไรเล่าหล่อนจ๋า  มาถามถึงนายข้าแม่ยอดสร้อย
นายขุนแผนสั่งให้มาคอย    แม่สาวน้อยๆ จงแจ้งใจ
สายทองได้ฟังถ้อยคำ     ช่างคมขำพอใช้ได้
พูดจาคดเคี้ยวเกี้ยวแทนนาย   พูดจาใช้ได้คมขำ
ปลุกนายเถิดหนาจะให้กัญชาสองกำ   เร็วๆ เถิดอย่าร่ำพิไร
ตาลาวได้ฟังว่า   จะได้กัญชาลุกออกมาโดยไว
ว่าพ่อแผนจ๊ะพ่อแผนจ๋า   ใครมาหานายลุกขึ้นไวๆ เถิดสินะพ่อคุณ
ขุนแผนผวาคว้าสอด      เอื้อมมือไปกอดแม่เนื้ออุ่น
ลาวทองรูปสวยมาด้วยแม่คุณ   เอามืออังอุ่นแนบอุรา
พลางขยับประคับประคอง    ว่าแม่ลางทองหล่อนจ๊ะหล่อนจ่า
ช่างขาวผ่องละอองตา    ใครเห็นก็พากันยินดี
พลางขยับประคับประคอง    ว่าแม่ลาวทองโฉมศรี
ค่อยชื่นชวนยวนยี     ทำกระซิกกระซี้แล้วก็เลยหลับไป
ตาลาวคุกคลานแอบม่านเข้าไปมอง   แลเห็นไฟส่องสว่างไสว
แลเห็นเต็มตาประหม่าใจ    มือกุมก้นไต้หัวเราะงอ
ขุนแผนไม่หลับให้ขยับเขยื้อน    เห็นม่านสะเทือนถามว่าใครหนอ
เปิดม่านออกไปไม่รั้งรอ    นี่เอ็งมาหัวร่อข้าด้วยเรื่องอะไร
ตาลาวว่าข้อยมาคอยอยู่นาน    ถามถึงนายท่านข้อยนี้หารู้ไม่
ข้อยจึงแหวกม่านคลานเข้าไป   นายเล่นซิใดสัประดน
ขุนแผนว่าไหนใครให้ปลุก    ขุนแผนก็ลุกเถลือกถลน
เห็นสายทองนั่งอยู่ยังฝั่งชล    นั่งอยู่สองคนกับแม่วันทอง
วันทองขัดแค้นขุนแผนหนักหนา   ช่างมาลืมเคหาหอห้อง
ช่างไม่กลับมารับวันทอง    ประเดี่ยวนี้น้องถูกยุยง
ไอ้ขุนช้างดูถูกเอากระดูกห่อผ้า    บอกว่าชีวาพ่อแผนผุยผง
ไอ้ลาวแทงตายเสียที่ชายดง    มันยุยงแม่ศรีประจัน
มันมาขอแม่แกก็ให้     เขาปลุกหอใหม่ให้ดิฉัน
มันมานอนหอรออยู่นั่น    ไม่เชื่อฉันไปดูก็ได้
ขุนแผนครั้นได้ฟัง   ให้แค้นคั่งดั่งเพลิงไหม้
น้อยหรือไอ้ช้างคนจังไร    มันข่มเหงได้ไม่เกรงเรา
ยายศรีประจันแกขันไม่หยอก   โดนแต่เขาหลอกแกก็ให้ลุกสาว
เห็นเขามั่งมีดีกว่าเรา     จึงได้ยกลูกสาวให้แก่มัน
ชิชะทำได้ไม่ไว้หน้า   แล้วลุกออกมาจากม่านกั้น
ฉวยดาบได้ว่าจะไปฟัน   ลาวทองนั้นเดินตามมา
ว่าหม่อมคะหม่อมขาหม่อมจะไปซิใด     ธุระอะไรเล่าหม่อมขา
เขามีผัวใหม่ช่างเป็นไรนา    จะไปโกรธาเขาทำไม
วันทองได้ฟังซึ่งคำลาว    มันรานร้าวน่าหมั่นไส้
จึงมีสุนทรย้อนกลับไป   ว่านางลาวเชียงใหม่ช่างพาที
เข้ามากั้นกางทำขวางหน้า   มาเจรจาว่าเสียดสี
นางลาวรูปสวยเป็นเจ้าของด้วยหรือนี่   ช่างมาเสียดสียียวน
ลาวทองได้ฟังนั่งชม้อย    จึงตอบว่าน้อยหรือนางสำนวน
แม่ไทยรูปสวยเป็นเจ้าของด้วยจึงควร   อย่าพูดลามลวนให้ฉันรำคาญ
ขุนแผนว่าไฮ้อย่าได้จาบจ้วง   เขาเป็นเมียหลวงอย่าทำหักหาญ
เชิญขึ้นไปไหว้กราบกราน    เจ้าจงสมานซึ่งไมตรี
ลาวทองขึ้นไปบ่ได้ช้า    ยกมือวันทามารศรี
สองมือลูบเข่าเข้าทันที     ว่าอีสันบ่มีสิ่งอันใดมา
วันทองเห็นนางเข้ามานั่งไหว้   ให้ประหลาดใจเป็นหนักหนา
ว่าหม่อมไปได้ที่ไหนมา     หรือภรรยาเขาประทาน
ขุนแผนว่าเจ้าลาวทอง    เป็นลูกนายซ่องบ้านเชียงคาน
เขายกให้ด้วยใจสมาน   แม่อย่าเดือดดาลเลยนิรมล
วันทองว่าหม่อมเห็นไหมคะหม่อมเห็นไหมขา   เมียมาวันทาทำเสือกสน
มันผิดในแบบแยบยล    มันผิดกว่าคนชาวนคร
ช่างสวยสมคมคาย   ดูเนตรละม้ายคล้ายกินนร
เที่ยวอยู่ตามซอกซอกวอน    ดูเหมือนกินนรตามตรอกอาจม
ลาวทองได้ฟังนั่งแอบม่าน    ทั้งเจ็บทั้งคันทั้งขื่นทั้งขม
ว่าแม่ไทยรูปสวยช่างคารม    อันว่าตรอกอาจมมันอยู่ซิใด
ตัวข้อยเป็นลาวชาวบ้านนอก   บ่รู้จักบางกอกมันอยู่ซิใด
มันอยู่ที่นี่หรืออยู่ที่ไหน   จงบอกไปให้แจ้งกิจจา
วันทองว่านางช่างประจบ    เอ็งจะกินผักตบหรือจ๊ะหล่อนจ๋า
ว่าแล้วนวลนางเยื้องย่างเข้ามา   ขุนแผนห้ามว่าฮึฮึเลิกกัน
วันทองขยับจับแขนขวา   ลาวทองก็คว้าแขนซ้ายนั่น
ขุนแผนอยู่กลางไม่ห่างกัน    ดูเหหันอลวน
ดุเหมือนพระจันท์กับโมรา   เมื่อโจรป่านไพรสณฑ์
ขุนแผนอยู่กลางนวลนางสองคน    ดูเหมือนไอ้โจรกับพระจันท์
ข้างโน้นก็ฉุดข้างนี้ก็ฉุด     ผ้าผ่อนล่อนหลุดเห็นแต่ด้ามพระขรรค์
ดูวาววับจับตาพลัน          ต้องขอหยุดกันเท่านี้ที
—นั้นแหล่ ฯ

ถ้ามีโอกาสจะเอาแหล่ตอนสร้อยฟ้าทะเลาะกับศรีมาลามานำเสนออีก
 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 พ.ย. 09, 16:19
เจ้าพระยาภาสกรวงศ์(พร  บุนนาค)  เก็บตำราต้มยำปลาช่อน   จาก เสภาคำครูแจ้งไว้ตอนหนึ่ง



แนะหม่อมพี่สีมาลาบรรดาทำ                              ไม่เอิบอารมณ์เหมือนต้มยำดอกพี่ขา
ซื้อปลาช่อนตัวใหญ่ ๆที่ไข่มี                               น้ำใส่อ่างล้างสีให้สิ้นคาว

ต้มน้ำเสียก่อนให้ร้อนฉ่า                                   แล้วเอาปลาใส่เค่ยวให้น้ำขาว
ทุบตะไคร้ม้วนใส่ทั้งท่านยาว                              เข้าสารซาวใส่ด้วยช่วยหนุนปลา

น้ำพริกต้มยำทำให้ถึงที่                                    น้ำปลาญี่ปุ่นกะปิดีพี่เสาะหา
เมื่อตักนั้นสันศีร์ษะกะพุงมา                               ช้อนเอาไข่ใส่หน้าให้ชูใจ

กระเทียมสุกบดใส่สักสามกลีบ                            มะนาวบีบลงให้ดีผักชีใส่
น้ำพริกเจือน้ำปลาล่อให้จุใจ                               เอาช้อนโบกเข้าโฮกไรแล้วได้แรง                                                   




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 พ.ย. 09, 16:25
ยังมีการบรรยายเรื่องสำรับที่บ้านพระไวย  สำนวนครูแจ้ง  อีกหนึ่งหรือสองตอน



เรื่องแหล่นั้น  คงต้องขอความรู้จากคุณหลวงเล็กสืบไป   เป็นตอนที่ กรมหมื่นรักษ์รณเรศไปเที่ยวเล่น
จำได้ว่ามีระยะเวลา  และชื่อวัด


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 09, 16:29
ลืมเรื่องลาวสักครู่     แวะพักที่เมนูอาหารของครูแจ้งก่อนค่ะ
ดูแล้ว  ตีนหมู (ต้มยำ?) น่าจะเป็นจานโปรดของครูแจ้ง

อนึ่งต้มตีนหมูดูให้แน่                                           ถ้าเปื่อยแท้แล้วจึงคั่วถั่วทองใส่
มะขามเปียกรสชาติมักขาดไป                               ต้องสอดใส่น้ำส้มจึงกลมละมุน
หนึ่งไข่ไก่อังไฟแต่ห่างห่าง                                  พอเป็นยางมะตูมต่อยออกข้นขุ่น
เอาไม้คนให้ขาวราวกับวุ้น                                    น้ำปลาญี่ปุ่นเหยาะหน่อยซอยหอมลง
หนึ่งปลาไหลย่างไฟพอน้ำหยด                             ขดใส่หม้อลงทั้งตัวกับถั่วลิสง
ข้าวสารขาวซาวใส่ให้บรรจง                                  ทุบตะไคร้ใส่ลงแล้วเคี่ยวไป
ไฟให้แรงน้ำแกงขาวจนข้าวข้น                              จนเม็ดถั่วเปื่อยปนเนื้อปลาไหล
แล้วเด็ดเอาใบมะกรูดรูดลงไป                               ตักใส่ไว้ในชามฝรั่งบาง
เอาไม้คนปลาให้เข้ากับข้าวทั่ว                              หักหัวเก็บเสียให้สิ้นก้าง
พริกกะปิเผาให้เกรียมกระเทียมราง                        ตำให้อย่างยาบดรสจึงดี
น้ำปลาใสใส่ทั่วพอกลั้วพริก                                  กระเทียมสุกใส่อีกจนได้ที่
ต้นหอมหั่นสันใส่ใบผักชี                                      มะนาวสีเขียวสดรสดีจริง

ปลาไหล เดี๋ยวนี้เห็นมีแต่ในร้านอาหารญี่ปุ่น   ส่วนตีนหมู ไม่เคยกินค่ะ  
อาหารไทยข้างบนนี้  ใครเคยกิน ช่วยอธิบายว่าเป็นอย่างไร  จะขอบคุณมาก


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 09, 20:09
กลับไปค้นกระทู้เก่าในเรือนไทย    ถ้าใครยังสนใจ ครูแจ้ง  เชิญอ่านได้ที่นี่ค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1145.0


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 พ.ย. 09, 20:27
ตีนหมูก็คือคากิ   ขาหมูส่วนที่ไม่มีเนื้อมากนักไงคะ
ต้มแล้วน้ำแกงก็จะข้นหนืดๆเป็นพิเศษเพราะมีกระดูก

ครูแจ้งและพ้องเพื่อนก็ขอเป็นต้มยำไปเสีย

ไข่อังไฟ  ก็มีในฆาตกรรมก้นครัวของคุณคึกฤทธิ์

ปลาไหลนั้น  ผ่าน   ไม่เกลียดตัวแต่ไม่เคยกิน
ข้าวสารที่ใส่ไปก็จะทำให้น้ำข้นอีกนั่นแหละ
พริกเผาหอมเผากระเทียมเผา  ก็คือเครื่องน้ำพริกเผา


ในเสภาสำนวนครูแจ้ง    ตอนเลี้ยง

พวกทนายยกสำรับมาตั้งให้                                     เป็ดตัวไก่พะแนงแกงหมูหัน
เกาเหลาของเคียงเรียงเป็นชั้น                                  เหล้าบ้าหรั้นทั้งอะหนีและสามทับ

เรื่องเหล้าต่างประเทศนั้นเก็บข้อมูลไว้บ้าง  คงจะได้นำมาคุยกัน

เกาเหลานั้นทราบมานานแล้วว่าเข้ามาตั้งแต่รัชกาลที่ ๒
มีหมูหันด้วยนี่น่าสนใจ


ในแม่ครัวหัวป่าก์ได้ลงพระอภัยมณีไว้

เสวยที่แท่นสุวรรณด้วยหรรษา                    พระอะไภยศรีสุวรรณเป็นหลั่นมา                  พร้อมบรรดาสุริวงศ์เผ่าพงษ์พันธุ์
กับข้าวไข่ไก่แพนงแกงเป็ดต้ม                    จอกน้ำส้มสายชูจิ้มหมูหัน                          ซ่อมมัดพับสำหรับทรงองค์ละคัน
เหล้าบ้าหรั่นน้ำองุ่นยี่ปุ่นดี



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 พ.ย. 09, 20:44
ข้าวสารที่ใส่ไปก็จะทำให้น้ำข้นอีกนั่นแหละ

ใส่แค่ไหนยังไงหรือครับ
ปกติจะให้น้ำข้น ก็ป่นให้เป็นแป้ง เช่นแป้งข้าวจ้าวเอามาใส่ก็ได้ใช่ไหมครับ
หรือพ่อครัวต้องการข้าวเป็นตัวแบบเม็ดๆด้วย

วันนี้แม่ยายมาทานข้าวที่บ้าน ผมถามเรื่องนี้ แม่บอกว่าไม่เคยเห็น
แม่ยายผมสมัยยังไหวอยู่ก็ทำกับข้าวเก่งมาก
แต่บอกว่าไม่เคยเห็นใครเอาข้าวใส่ไปในแกง แสดงว่าสูตรนี้ตองเก่าจริง หรือสูตรเฉพาะตัวครูแจ้ง



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 09, 21:19
พอคุณวันดีบอกว่า คากิ ดิฉันก็นึกออก   แต่ไปเปิดดูวิธีทำในกูเกิ้ล  ไม่ใส่น้ำส้มสายชูอย่างตำรับครูแจ้ง  ส่วนถั่วทอง รู้แต่ว่าเขาโขลกใส่น้ำพริกที่กินกับขนมจีน

ข้าวสาร(ไม่ใช่ข้าวสุก) ใส่ให้น้ำแกงขาวข้น  เคยอ่านพบเหมือนกันค่ะ   
น่าจะเป็นสูตรชาวบ้าน ไม่ใช่ชาววังหรือชาวเมืองหลวง

สนใจเมนูกับข้าวของพระอภัยมณีศรีสุวรรณ   คงจะเป็นพระกระยาหารฝรั่งลังกา

กับข้าวไข่ไก่แพนงแกงเป็ดต้ม                    จอกน้ำส้มสายชูจิ้มหมูหัน
ซ่อมมีดพับสำหรับทรงองค์ละคัน                 เหล้าบ้าหรั่นน้ำองุ่นยี่ปุ่นดี

แกงเป็ดต้มนี่แกงอะไรคะ     รู้จักแต่แกงเผ็ดเป็ดย่าง  ในที่นี้บอกว่าเป็ดต้มก็เลยไม่แน่ใจว่าเป็นแกงเผ็ดหรืออะไรกันแน่
เหล้าบ้าหรั่น  บรั่นดีหรือเปล่า    น้ำองุ่น น่าจะหมายถึงไวน์   เหล้าญี่ปุ่น ก็คงสาเก   
ทั้งหมดนี้เดาค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 พ.ย. 09, 21:21
ตำราเก่าๆมีจม(แปลว่ามาก) เลยค่ะ  คุณ​ NC
ใส่ประมาณกึ่งฟายมือหนึ่ง

ฟายมือคือลักษณะของแม่ครัว กรายมือ(ข้างถนัดซิคะ  ถนัดซ้ายไปใช้มือขวาก็ สวย)
ลงไปใน อ่างหรือโอ่งหรือ ตุ่ม(สีเขียวเป็นดีมี่สุด เพราะปล่อยได้ง่าย) ที่ใส่ข้าว
ทำมือแบน ๆ  หัวแม่มือพับแนนกับอุ้งมือ

ขืนใส่ทั้งอุ้งมือ   ก็เปลืองข้าวไปหน่อย


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 พ.ย. 09, 21:39
สงสัยจะเป็นเป็ดต้มต้นหอมกระมังคะ     คุณคึกฤทธิ์เคยเล่าไว้  ว่านำต้นหอมเขียวมากระหมวดหรือผูก

บ้าหรั่นคือ บรั่นดีทำจากผลไม้

สามทับ  คือ สุราที่กลั่นสามครั้ง

อะหนี  คือ  anise   คือสุราต่างประเทศในสกุลยี่หร่า

เหล้าเข้ม   ยังไม่ตกลงกันว่าอะไรแน่  อาจเป็น รัม  ได้ค่ะ

ไชยบาล  สุราที่ดื่มเพื่อฉลองชัยชนะ  เอาฤกษ์เอาชัย       รามเกียรติ์ดื่มบ่อยค่ะ



คิดเอาเองว่าอะหนีคือ เหล้าจีนมาหลายสิบปี




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 06 พ.ย. 09, 22:16
ขอขอบคุณคุณเพ็ญชมพูเป็นอย่างมากสำหรับข้อมูลเรื่องย้ายเมืองสุโขทัยครับ

ดูจากข้อมูลนี้ ก็สมเหตุสมผลว่าเสภาตอนนี้น่าจะแต่งช่วงรัชกาลที่ ๒ จริงๆ เหลือแต่บ้านไกรป่าแฝกที่เป็นส่วนเกินในเส้นทางนี้เท่านั้นเอง ไม่ทราบว่าเป็นความสับสนของกวี หรือเป็นของเก่าตกค้างมาจากเสภาฉบับเดิมสมัยอยุธยาครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 พ.ย. 09, 22:35
ขนมเบื้องทำด้วยปากยากอะไร


ขนมเบื้อง    ตัวเอกในเสภาขุนช้างขุนแผน

ขอรีบรุดพาไปสู่สาเหตุของความรักอาฆาตริษยา   เพื่อขอรับฟังการวิจารณ์ของคุณเทาชมพู


(คัดลอกมาจาก แม่ครัวหัวป่าก์)
ขนมเบื้องเป็นของว่างทำกันตามฤดูกาลที่กุ้งชุม      การทำขนมเบื้องเป็นศิปอย่างหนึ่งที่นารีในครอบ
รัวต้องฝึกหัดละเลงให้บางและกรอบ

เครื่องมือที่จำเป็นก็ต้องเป็นเถากัน     จ่าละเลงแป้ง   จ่าละเลงหน้ากุ้ง  และหน้าสังขยา


จ่าขนมเบื้องทำประณีตบรรจงกว่าธรรมดาและหลังแบนกว่า  ด้ามแกะสลักลวดลายเป็นที่อวดฝีมือ

ไม้ปากเป็ดนั้นเหลาแบนด้วยไม้ไผ่สด  ปากเป็ดนั้นแบนและกลม โตประมาณ ๓ นิ้ว  ด้ามกลม

กระทะทำด้วยดินอย่างแบนมีมือจับและฝาครอบ

ขนมเบื้องนั้น ละเลงเป็นรูปไข่ยาวเป็นสองอันแฝด  ขนาดพอรับประทานเข้าปาก  
หน้ากุ้งก็ละเลงหนาพอพับเข้าก็รับประทานทันที

ปัจจุบันนี้ วิธีทำก็เปลียนไป  กระทะเป็นเหล็ก   ไม้ปากเป็ดเป็นเหล็ก   ละเลงแผ่นใหญ่เกือบเต็มกระทะ
แป้งก็ผสมถั่วมาก  ดูหนาและสีคล้ำ
หน้ากุ้งก็เติมกากมะพร้าว  เนื้อกุ้งแต่น้อย  หน้าก็ละเลงบาง(ท่านผู้หญิงเจ้าขา(เปลี่ยน  ภาสกรวงศ์)    ดิฉันไม่เคยเจอเนื้อกุ้งมาหลายสิบปีแล้วเจ้าค่ะ)



เครื่องปรุง
แป้งข้าวเจ้า    ถั่วทองหรือถั่วเขียว    ไข่    มะพร้าว    นำ้ปูน    กุ้ง    พริกไทย    ผักชี    ใบมะกรูด
น้ำตาล  พริกป่น
น้ำหอมกุหลาบ   หรือนมแมวเติมวานิลา

วิธีทำ      
คอยนางศรีมาลาก็แล้วกันนะคะ

อ้าว!   ซื้อแป้งได้ก็ซื้อซิคะ   ตากแดด  กรอง  ตากแดด
โม่ถั่วจนแตกสองซีก     คั่วพอสุกเหลืองหอม        โม่จนละเอียดป่นเป็นแป้ง

ปูนแดงละลายน้ำ  เทลงในหม้อต้ม  ต้มจนเดือด  ยกลงทิ้งให้ใสและเย็น

ใช้ไข่เป็ดหรือไข่ไก่ ๑ หรือสองฟอง  แป้งส่วนหนึ่ง  ถั่วส่วนหนึ่ง  ถ้ามีแป้งเมล็ดขนุนเจือลงครึ่งส่วน


นวดหัวกะทิเล็กน้อยกับไข่แป้งและถั่วนวดเข้าด้วยกันจนเหนียว    รินน้ำปูนใสลง  คนจนเข้ากัน  เหนียวหน่อย


ทำไส้กุ้งสับผสมมันที่หัว  โรยเกลือ  ผสมน้ำปูนใส
ใบหอมผักชีมะกรูดหั้นละเอียด

มะพร้าวขูด(ซื้อมาเหอะ) เดี๋ยวหม่อมไวยจะโมโหหิว

เรื่องละเลงนั้นต้องหัดไว้บ้าง
ลาไปดื่มชาร้อนตราพีชแก้ลม






กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ย. 09, 08:20
ศึกขนมเบื้อง เป็นศึกใหญ่ยิ่งกว่าศึกเชียงใหม่   นำไปสู่ผลกระทบหนักหน่วงในตระกูล"พลาย"  จนตระกูลแทบล่ม
ขอเวลาช่วงวีคเอนด์ไปเตรียมผัดแป้งแต่งตัว พาสร้อยฟ้ามาออกโรง ก่อนค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 09, 22:18
ระหว่างคอยลุ้นขนมเบื้อง ผมเอาหนังแผ่นมาแห่โฆษณาไปก่อนแล้วกัน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 09, 22:21
ใครเป็นใคร เชิญดูเอาเองนะครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 09, 22:23
นางสร้อยฟ้าไปโผล่ในภาพที่ผ่านมาแล้ว เอ้าเชิญดูต่อครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 09, 22:29
ดูสาวจาวเหนือไปแล้ว คราวนี้ดูทางล้านช้างบ้าง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 09, 22:38
ตัวประกอบทางล้านช้าง หรือล้านนา ผมขอให้ท่านพิเคราะห์กันเองนะครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 09, 22:43
ใครเป็นใครมั่วไปหมด อ้าวคุณแม่ยายมาโผล่ที่นี่


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 09, 22:48
พระเจ้าเชียงใหม่อยู่ที่นี่


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 09, 22:51
รูปสุดท้ายที่มีแล้วครับ เชิญละเลงขนมเบื้องด้วยปาก(กา)ได้


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 พ.ย. 09, 23:20
เมตตาจริงแฮะ



ดิฉันหาฟืนไว้แล้วเจ้าค่ะ   มะพร้าวไว้ขูดวันพรุ่ง


(อ่านมาจาก  รูปยาซิกาแรตไทย  ของ  คุณเสริม  สุนทรานันท์)
รูปยาซิกาแรตของไทย ชุดวรรณคดี  ชุดขุนช้างขุนแผน  เป็นของ บริษัทยาสูบบริติช - อเมริกัน มีสองชุด  ชุดละ ๕๐ แผ่น
เป็นของสะสมน่าสนใจ   ออกมาในปี ๒๔๖๘
แจกมาในบุหรี่ตรานกอินทรี  ตราไชโย  ไพ่ป๊อก และอื่นๆอีก
(ตัวลครบางตัวชื่อแปลกไม่ปรากฎในฉบับพิมพ์ที่ไหน/วันดี)



ชุด อิเหนา ๕๐ ภาพ ออกมาในปี ๒๔๖๑

ชุดพระอภัยมณี ชุดแรก  อักษรดำ  ออกมาในปี ๒๔๕๙  
ชุดสอง อักษรแดง  ๓๖ ใบ ออกมาในปี ๒๔๖๐

รามเกียรติ์ ภาพเดี่ยว ชุดหนึ่ง และสอง   ชุดละ ๕๐ ใบ   ออกมาในปี ๒๔๕๕
รามเกียรตื์(ภาพคู่)  ออกมาในปี ๒๔๖๓


เดินหาหนังสือก็เก็บไว้บ้้างเหมือนกัน



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 พ.ย. 09, 23:36
ผู้มีฝีมือในการทำ เครื่องมือทำขนมเบื้องไทย  คือ พระยาสีหศักดิ์สนิทวงศ์


เสด็จตา คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวาศาธิราชสนิท
มารดาคือ หม่อมเจ้าหญิง สารภี  สนิทวงศ์      บิดาคือ หม่อมเจ้าประวิช

ประวัติของท่านสนุกมาก   ฉบับที่มีอยู่เป็นของสำนักพิมพ์บรรณกิจ ๒๕๒๕        ราคา ๑๔ บาท

เข้าใจว่าเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของกระทรวงศึกษาธิการ











กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ย. 09, 06:46
อ้างถึง
อ่านมาจาก  รูปยาซิกาแรตไทย  ของ  คุณเสริม  สุนทรานันท์
รูปยาซิกาแรตของไทย ชุดวรรณคดี  ชุดขุนช้างขุนแผน  เป็นของ บริษัทยาสูบบริติช - อเมริกัน มีสองชุด  ชุดละ ๕๐ แผ่น
เป็นของสะสมน่าสนใจ   ออกมาในปี ๒๔๖๘
แจกมาในบุหรี่ตรานกอินทรี  ตราไชโย  ไพ่ป๊อก และอื่นๆอีก
(ตัวลครบางตัวชื่อแปลกไม่ปรากฎในฉบับพิมพ์ที่ไหน/วันดี

ใช่แล้วครับ แต่ที่น่าแปลก ในหนังสือเล่มนี้ขาดบุคคลสำคัญไปอย่างน้อย 2
คือ พระพันวษา กับ น.ส.พิม หรือนางวันทอง

ถ้าท่านผู้ใดสะสมอยู่ เอา2ภาพดังกล่าวมาเติมให้ก็จะเป็นพระคุณยิ่ง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 พ.ย. 09, 08:58
เรื่อง ข้าวสาร ที่เอามาใส่ในน้ำแกงให้ข้นขึ้นนั้น  แม่เล่าให้ฟังว่า คนสมัยก่อนเขาทำกันแทบทุกบ้าน  เพราะประสงค์จะให้น้ำแกงโดยเฉพาะแกงเผ็ดใส่กระทิต่างๆ ข้นพอที่จะจิ้มผักกินต่างน้ำพริกได้ด้วย  แม่เล่าให้ฟังว่า  คนที่แขกเกี่ยวข้าว ดำนา เก็บผัก หรือทำงานที่ไหน เอาข้าวไปกิน ก็มักแกงอย่างนี้ไปกินแล้วไปหาผักจิ้มเอาข้างหน้า เพราะผักหญ้าสมัยก่อนหาไม่ยากอย่างสมัยนี้  ข้าวแบบนี้ นัยว่าทำอย่างข้าวคั่วนั่นเอง  ไม่รู้ถิ่นอื่น บ้านอื่นเขาเรียกข้าวอย่างนี้ว่าอะไร  แต่เคยได้ยินแม่เรียกว่า ข้าวเบือ  ยังเคยเห้นคนแถวบ้านทำและใช้ข้าวเบือใส่ในแกงอยู่สมัยก่อน ซึ่งก็นานมากแล้ว  เดี๋ยวนี้คงไม่มีบ้านไหน ไม่ว่าในกรุงหรือต่างจังหวัด ทำหรือใช้ข้าวเบือผสมน้ำแกงแล้วกระมัง

รูปยาซิกาแร็ต รูปตัวละครขุนช้างขุนแผน เคยเห็นวางขายที่ร้านหนังสือเก่าบ่อยๆ แถวท่าช้างก็มี  แต่ท่าจะหาครบถ้วนยาก  จำได้ว่า คุณ ชาลี  เอี่ยมกระสินธุ์  เคยเอาพิมพ์ลงในหนังสือสยามสมัยก่อนหรืออะไรสักเล่ม  สวยดีเหมือนกัน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ย. 09, 09:16
  พอได้คำว่า"ข้าวเบือ"จากคุณหลวงเล็ก ผมก็ถามอากู๋ทันที อากู๋ก็ให้ความรู้มากมาย ดังเช่นข้างล่างที่เอามาจากเวปของเมืองโบราณ   

  อันว่าข้าวเบือนั้น เราๆ ท่านๆ ก็รู้จัก ว่าได้จากการที่เอาข้าวสาร (ข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียวก็ได้) แช่น้ำจนเมล็ดข้าวบาน แล้วเอาไปโขลกในครกให้ละเอียด ไว้ละลายใส่ในแกงประเภทที่ต้องการให้น้ำแกงข้นๆ เช่น แกงลาว แกงป่าบางสกุล หรือต้มโคล้งบางสำนัก  แต่ก็มีเล่ากันเหมือนกันว่า บางทีถ้าเกิดจะใช้ข้าวเบือขึ้นมา ก็อาศัยช้อนเอาข้าวที่กำลังหุงต้มอยู่จนเป็น "ตากบ" แล้วนั้น (คือผิวนอกเริ่มใสๆ แล้ว แต่ข้างในเมล็ดยังเป็นไตขาวอยู่) ใส่ครกตำไปตามขั้นตอนปกติ อย่างนี้ก็จะได้ข้าวเบือเหมือนกัน แถมตำง่ายกว่าด้วยเพราะว่าข้าวเริ่มนิ่มแล้ว

อากู๋ยังมี สูตรอาการสารพัด อย่างหนึ่งคือแกงอ่อม ที่ใส่ข้าวเบือเป็นสูตรมาตรฐาน สรุปว่าผมต้องเคยทานกับข้าวที่ปรุงด้วยข้าวสารหรือข้าวเบือแน่นอน เพียงแต่ไม่ทราบเท่านั้นเอง สงสัยว่าคนกรุงเทพส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ชายน่าจะเหมือนๆผม


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ย. 09, 09:17
ถึงวันจันทร์ขมีขมันตามนัดหมาย             เปิดเข้ามาใจแทบวายเมื่อได้เห็น
ไพ่ทาโร่ต์แบบไทยไทย  ดูไม่เป็น          มองเขม้น อ้อ ไม่ใช่ โล่งใจที

เห็นเชฟใหญ่น้อยมาคอยท่า                  ถือกระจ่าทองคำเจ้าคุณสีห์
ยาสูบหลายสิบซองล้วนของดี                ตัดริบบิ้น เปิดเวที ตรงนี้เอย

ขุนช้างขุนแผนฉบับหอพระสมุดมีศึกใหญ่หลายครั้ง เพราะพระเอกเป็นนักรบ     แต่มีครั้งเดียวเท่านั้นศึกเปิดฉากในครัวเรือน    ซ้ำกลายเป็นศึกเผ็ดร้อนที่สุดในเรื่องก็ว่าได้
ที่จริง  มองกันด้วยสายตาคนปัจจุบัน     การที่พระไวยสั่งให้สองเมียทำขนมเบื้องให้กิน    เป็นเรื่องไม่แฟร์กับสร้อยฟ้ามาตั้งแต่แรก  เพราะขนมเบื้อง ไม่ใช่วัฒนธรรมในครัวของล้านนา
นี่ยังไม่ต้องพูดถึงความจริงที่ว่า สร้อยฟ้าเป็นพระธิดากษัตริย์ จะเอาโอกาสที่ไหนไปเข้าครัว     ราชสำนักเขาก็ย่อมมีพวกวิเสส ตามหน้าที่อยู่แล้ว
แต่ขนมเบื้อง ไปเข้าทางศรีมาลาเต็มๆ     ในฐานะลูกสาวเจ้าเมือง  พ่อต้องต้อนรับท้าวพระยา  เจ้าบ้านผ่านเมือง และแม่ทัพทั้งหลาย ที่ผ่านไปทางพิจิตร   เป็นประจำ
คุณนายเจ้าเมืองต้องเก่งในการเลี้ยงข้าวปลาคนใหญ่คนโต  ลูกสาวก็ต้องถูกดึงมาช่วยแม่เป็นธรรมดา     แม่อาจเป็นสาวชาววังมาก่อนก็ได้     จึงรู้วิชาละเลงขนมเบื้อง  ซึ่งถือกันว่าเป็นคุณสมบัติสาวชาววัง

ทำไมพระไวยไม่บอกเมียว่า ให้ทำของว่างมาคนละอย่าง ตามถนัด    อย่างน้อยสร้อยฟ้าก็สั่งนางไหม สาวใช้ ให้ทำแคบหมูกับน้ำพริกอ่อง มาให้กินกันได้   อร่อยเสียอีก



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 พ.ย. 09, 09:23
คนสมัยนี้คงมีน้อยคนที่รู้จัก ข้าวเบือ แต่ยังคงมีร่องรอยฝากไว้ในคำว่า สากกะเบือ (สากไม้สําหรับตําข้าวเบือหรือนํ้าพริกเป็นต้น, ใช้คู่กับ ครกกะเบือ.- พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ๒๕๔๒)

ตอนขุนแผนอาสาพา ๓๕ เดนตายเพื่อร่วมคุกไปราชการสงครามเชียงใหม่ มี่คนหนึ่งในประวัติเคยสร้างวีรกรรมลักของตั้งแต่สากกะเบือยันเรือ (รบ?)

อ้ายมอญมือด่างบางโฉลง                      เมียชื่ออีโด่งเป็นชาวเหนือ
ลักถ้วนลักถี่ทั้งตีเรือ                            ครกกระบากสากกะเบือไล่เก็บครบ

 ;D



 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ย. 09, 09:27
สร้อยฟ้าศรีมาลาว่าเจ้าคะ                      ตั้งกระทะก่อไฟอยู่อึงมี่
ต่อยไข่ใส่น้ำตาลที่หวานดี                     แป้งมีเอามาปรุงกุ้งสับไป
ศรีมาลาละเลงแผ่นบางบาง                   แซะใส่จานวางออกไปให้
สร้อยฟ้าไม่สันทัดอึดอัดใจ                    ปามแป้งใส่ไล้หน้าหนาสิ้นดี
พลายชุมพลจึงว่าพี่สร้อยฟ้า                  ทำขนมเบื้องหนาเหมือนแป้งจี่
พระไวยตอบว่าหนาหนาดี                     ทองพระศรีว่ากูไม่เคยพบ
ลาวทำขนมเบื้องผิดเมืองไทย                แผ่นผ้อยมันกระไรดังต้มกบ
แซะม้วนเข้ามาเท่าขาทบ                     พลายชุมพลดิ้นหรบหัวร่อไป

ขนมเบื้องฝีมือศรีมาลา เป็นแบบไทย  ใส่กุ้งสับรสก็คงออกคาวนิดหน่อย แต่ตัวแป้งนั้นออกหวาน  มีสองรสแบบไทยๆ
ตอนหลังเคยกินขนมเบื้องหวานใส่ไส้ฝอยทอง   และพัฒนามาถึงใส่ครีมฟูเหมือนหน้าขนมเค้ก
หลังๆนี้เลิกกินไปแล้ว  เลยไม่รู้ว่ารสชาติไปถึงไหน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: TIRAV ที่ 09 พ.ย. 09, 12:01
เรื่องเอาข้าวเจือลงในแกงนี้

ยังมีให้เห็น อย่างน้อยก็ในรายการ "ค้นครัว ทั่วไทย" ทางช่อง "ทีวีไทย" ครับ

พิธีกรถามว่า ทำไมถึงต้องใส่ข้าวลงไป ชาวบ้านบอก "เพื่อให้มันนัวจ้ะ" ...

...

รูปฉลากบุหรี่นี้น่าสนใจครับ ผมเดินงานหนังสือหลายๆครั้ง เห็นมีร้านเอาอกมาตั้งโชว์ (ขาย?)
แต่เห็นราคาแล้วให้วิงเวียนทุกที ...


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 พ.ย. 09, 13:20
ขอขัดจังหวะเรื่องสำรับอาหารแม่ครัวสักครู่

พอไปค้นเจอเสภาขุนช้างขุนแผน สำนวนนอกฉบับหอพระสมุดวชิรญาณชำระ  มาจากภาคผนวกของวิทยานิพนธ์
ชื่อ การศึกษาเปรียบเทียบบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครกับฉบับสำนวนอื่น
ของ ชุมสาย  สุวรรณชมภู เป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาโทสาขาวิชาภาษาไทย  บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี ๒๕๓๔
เลือกเอาเฉพาะตอนที่เกี่ยวกับลาวมาเสนอ น่าสนใจดี เชิญทัศนาบัดนี้

หมายเหตุ  คัดลอกอักขรวิธีตามต้นฉบับ

เสภาขุนช้างขุนแผน ตอน ลาวทองป่วยให้ทาสเป็นค่ารักษา

ขุนแผนแสนณรงค์ออกจากวัง   ไม่หยุดยั้งรีบออกนอกราชถาน
เรือพระราชข้ามส่งตรงขึ้นสะพาน   อาไสยวัดหยุดยานภักครอบครัว
แล้วจัดสิ่งของหลายสิ่งอัน   ไปกำนันท่านผู้ใหญ่ไปทุกทั่ว
ครัวลาวช้างม้ากระบือวัว                   ฝากตัวให้สนิทมิตรไมตรี
ท่านผู้ใหญ่ครั้นได้กำนัลของ   เรียกร้องทนายอยู่อึงมี่
แขกขุนแผนมาหาหน้าผู้ดี   เรียกหมากพลูบุหรี่น้ำร้อนชา
เชิญขุนแผนมานั่งข้างบนนี้   ธุระมียังไรก็ให้ว่า
อย่าเกรงใจขัดสิ่งใดก็บอกมา   ทำราชการเห็นหน้ากันสืบไป
ขุนแผนกราบแล้วจึงเรียนว่า   ผมมาลาหามีธุระไม่
ตั้งแต่กรุงไปบ้านยังพานไกล   ยกมือไหว้ลุกลามาจัดกัน
แบ่งให้ไปเรือเหลือไปบก   รุ่งเช้าจึงจะยกตามจัดสรร
ช้างม้าวัวควายมากมายครัน   แต่เงินทองของสำคัญใส่เรือไป
พระยาอำมาตย์พระราชให้เรือส่ง   ท่านผู้ใหญ่ทุกองค์นั่งไม่ได้
นำสำรับกับข้าวเฝ้าส่งไป                   ลาวทองลงท้องไหลเจ็บเต็มที
พระราชมารักษาหายาแก้   ยังนิ่งแน่นอนเสือกเกลือกขี้
แก้กันชุลมุนวุ่นเต็มที                   ขุนแผนร้องไฉนนี่อนิจจา
แต่เย็นจนค่ำย่ำยามยังไม่หยุด   เที่ยวเก็บยาอุตลุตกันหนักหนา
คางคกอึ่งอ่างเผาเคล้ากับยา   กันตามเถิดขายาสำคัญ
พลายแก้วรับยากรอกลาวทอง   กลืนเข้าไปเถิดน้องอย่าเดียดฉันท์
พอยาตกถึงท้องร้องดีครัน   ที่ลงนั้นก็หยุดสุดชื่นใจ
ลุกขึ้นกินข้าวต้มขนมผิง                   กล้วยหักมุกสุกปิ้งเกรียมเจียนไหม้
ค่อยมีแรงเติมแกงเลียงเข้าไป   ลุกขึ้นได้พูดจ้อขอตำรา
พระราชว่าตำราหลวงทิพยจักร   เจ้าของรักนักหวงหนักหนา
ให้ห้าชั่งแล้วก็ไม่ให้ราคา                   ส่วนขอยามาใช้ให้ดีดี
ลาวทองว่าพระคุณล้นเกศา   หาไม่ตัวข้าจะเป็นผี
จึงจัดลาวสาวสวยรูปรวยดี   จำเพาะมีนางแว่นถึงกึ่งราคา
กราบเท้าเจ้าคุณเป็นขวันเข้า   อยู่หัวเจ้าเอาไปใช้เป็นทาษา
แทนคุณเจ้าคุณเห็นคุณยา   พระราชว่าอย่าอย่ากลัวบาปกำม์
มันพลัดพรากพ่อแม่แลพี่น้อง   ไปหน่อยมันจะร้องพิไรร่ำ
พรากแม่พรากพ่อก่อเวรกำม์   เอามาถามปากคำให้แน่ใจ ฯ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 พ.ย. 09, 14:32

พิธีกรถามว่า ทำไมถึงต้องใส่ข้าวลงไป ชาวบ้านบอก "เพื่อให้มันนัวจ้ะ"

ตอนนี้คงเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาหารอีสานแน่นอน (นัว = อร่อย.-ถิ่นอีสาน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๔๒)

เดาต่อไปว่าคงคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับแกงอ่อม ไม่งั้นก็ แกงยอดหวาย แกงหน่อไม้สด แกงหน่อไม้เปรี้ยว แกงขนุนอ่อน

 :D


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 พ.ย. 09, 18:08
เมื่อพระไวยสั่งให้ทำขนมเบื้องมาเอาใจพลายชุมพลนั้น       สร้อยฟ้าได้มาอยู่กับพระไวยได้กี่ปีแล้ว

คิดคร่าวๆว่าน่าจะหลายปีเพราะพลายชุมพลเกิดเมื่อขุนแผนประชุมพลก่อนยกไปเชียงใหม่

คิดถึงการทัพ  การเดินทาง(คิดแบบนานที่สุดก็ได้) การกวาดต้อนผู้ตนลงมา
บวกคดีขุนช้าง  การดำน้ำพิสูจน์   บวกคดีพระไวยไปพรากนางวันทองมา   ประหารนางวันทอง
พลายชุมพลหนีไปกาญจนบุรี อายุ ๗ ขวบ

เมื่อพลายชุมพลกับขุนแผนมาทำคดีสร้อยฟ้า ศรีมาลานั้น   สร้อยฟ้าและศรีมาลาเพิ่งท้อง
แสดงว่ามีครรภ์ช้า

เนื่องจากเสภามีผู้ประพันธ์หลายคน   ยกประโยชน์ให้ คนอ่าน




สร้อยฟ้าน่าจะออกเรือนมา  ๓ - ๔ ปีแล้ว     คงคุ้นเคยกับอาหารไทย
การทำอาหารและขนมพื้นมืองคงมีบ้างในบริเวณเรือนสองหลังของตนที่เป็นสัดส่วน

การกินเป็น  กับการทำเป็นนั้น  แตกต่างกันมาก




บรรยากาศของวรรณคดีเรื่องนี้เป็นเวลารัชกาลที่สอง   
การเลี้ยงดูขุนนางตามบ้านของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ หรือวังของเจ้านาย  เกิดขึ้นเป็นประจำ
นักขับเสภาย่อมรู้เห็น



เรือนของจมื่นไวยเป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีอาหารมากมายไว้รับรองเพื่อนฝูง


พลายชุมพลเป็นน้องรัก  มีหน้าที่คอยเลื่อนสำรับ

เสภาคำครูแจ้ง
(รักษาตัวสะกดเดิม)

ชุมพลเลื่อนขยับสำรับให้                          นั่งจารไนยทุกสิ่งสรรพ์
แกงหมูฉู่ฉี่หมี่ทอดมัน                              ไข่จัละเม็ดห่อหมกทั้งจันลอน
ไส้กรอกหมูแนมแกมทองหลาง                    ปลาดุกย่างกะปิขั้วใบบัวอ่อน
แกงปลาไหลไก่แพนงแกงร้อน                     ปลาโคกลครเขื่องคับปากดี


เด็กที่ขึ้นนั่งเคียงแล้วขยับสำรับพี่ชายกินนั้น  เป็นมารยาทการเอาอกเอาใจอย่างหนึ่ง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 พ.ย. 09, 18:13
นางสร้อยฟ้า    ไม่มีทางจะรู้ได้ว่า  อาหารและขนมไทยนั้น  มีเคล็ดมากมายแค่ไหน

คู่แข่งที่ชำนาญงานอย่างศรีมาลา   น่าจะกะการได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 พ.ย. 09, 18:21
คุณย่าทองประศรี    หรือนางเสือประจำเรือน   ถือโอกาสด่านางสร้อยฟ้า  ว่า ลาวจัญไร
หมาขี้เรื้อน


ศรีมาลาเพียงแต่ชายตาดูเท่านั้น


เสภาเรื่องขุนช้าง ขุนแผน  ขับกันในสมัยรัชกาลที่สอง หรือสาม
การมอง ลาว  ว่า ด้อยกว่า ไทยนั้น   มีมาตลอด


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 พ.ย. 09, 18:37
ขอคุยกับคุณ  TIRAV    ว่า


รูปยาซิกาแรตไทย  ที่ออกมาเป็นชุด ๆ นั้น        เป็นของส่งมาจากเยอรมันที่เก็บเอาไว้นานมากแล้ว
ดิฉันได้มาจากร้่านป้าวิมล(ผู้ล่วงลับไปแล้ว/คิดถึงจัง/นักอ่าน)ในราคาไม่ตกใจจนต้องวิ่งหนี

ร้านหนังสือเก่าในจตุจักรที่มีอยู่ก็เป็นรุ่น "ทิ้งเทอะน่า"   เพราะ กระดาษพองเกือบหมดสภาพ    ดำ  และเปื้อนอาจมทั้งปวง


ต่อมามี ซีคอน มีกลุ่มของเก่านำมาขายเหมือนกัน  สภาพดี  และเป็นชุดเจ้านาย  ของ บริษัมยาสูบซำมุ้ย  ออกมาในปี ๒๔๗๗


ไม่ต้องคอยเวลาอีกแล้ว   ตอนนี้หาหนังสือกันที  ก็ถามถึงอาจารย์ญี่ปุ่นทั้งนั้น


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 พ.ย. 09, 08:55
เรื่องฝีมือการทำขนมเบื้องนี่  สมัยต้นรัตนดกสินทร์คงถือเป็นศิลปะการทำอาหารชั้นสูงที่ต้องฝึกฝนกันนานกว่าจะทำได้และทำได้สวยงามสม่ำเสมอ  เสียดายว่าหลักฐานที่เก่าถึงยุดต้นกรุงรัตนโกสินทร์เกี่ยวกับการทำขนมเบื้องนั้นหาไม่ได้เลย  มามีเอกสารกล่าวถึงในสมัยหลังมากๆ เช่น ในโคลงพระราชพิธีทวาทศมาส พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์  กล่าวถึงพระราชพิธีพระราชกุศลเลี้ยงขนมเบื้อง ไว้ว่า

๐ในราชนิเวศน์เจ้า     จอมกษัตริย์
วันสุริยออกสุดปัด       กลับเยื้อง
ส่ำสงฆ์เหล่าปริยัติ       สมถะ   อีกเอย
แปดสิบฉันขนมเบื้อง   หนึ่งครั้งคราวปีฯ

๐กรมพระปวเรศเจ้า     จอมสงฆ์
อีกหม่อมเจ้าห้าองค์     แฉกล้วน
ราชาเจ็ดสิบคง           เศษสี่     อีกนา
รวมแฉกงาสานถ้วน     ครบได้ดังนิมนต์ฯ

๐เนาในพระที่นั่งอ้าง    อมรินทร์
พระเสด็จออกทรงศีล   เสร็จแล้ว
ทรงถวายโภชนบิณฑ์   บาตทั่ว   สงฆ์เฮย
ทนายเลือกหอกกลั่นแกล้ว    ยกตั้งคาวถวายฯ

๐กรมวังนั้นได้ยก         ของหวาน
อีกกับรับนักงาน           เก็บช้อน
ขนมเบื้องฉซะใส่จาน    คอยวิ่ง  ไวนา
เร็วรีบทันร้อนร้อน         อิ่มกุ้งหวานเติมฯ

๐บางองค์ที่ชอบแล้ว     ฉันหลาย
จริงจุเฟอะฟูมฟาย        ห่อนยั้ง
นั่งเคี้ยวแต่ตามสบาย    เติมบ่อย
ปีหนึ่งฉันได้ครั้ง           หนึ่งนั้นนานมีฯ

๐ร้อนร้อนอ่อนอ่อนเคี้ยว    ย้ำเหยอ
คว้ากริ่มอิ่มออกเรอ       เลิกกุ้ง
ซ้ำหวานล่อพล้ำเผลอ    อร่อยรส   นักนา
กินดั่งว่าท้องยุ้ง            ไม่น้อนกองโตฯ

๐ลางองค์ไม่สู้ชอบ        ใจฉัน  นักเอย
ได้สี่อันห้าอัน               อิ่มอื้อ
เล้กน้อยค่อยคอยกัน      รออิ่ม
เป็นแต่ราชการมื้อ          หนึ่งให้พอควรฯ

บางองคืนั้นชอบเหล้น   หน้าหมู
อย่างหนึ่งหน้าปลาทู       ชอบบ้าง
อย่างญวนก็น่าดู             ลางชอบ   แนเฮย
รีบเร่งเคี้ยวกลัวค้าง         ย่ำย้ำเลยกลืนฯ


๐คาวแล้วยกเลิกตั้ง        ของหวาน
ถึงทิวาเกือบกาล            กึ่งฟ้า
ต่างแนต่างประมาณ        ควรอิ่ม   อิ่มเอย
ฉันอีกน้ำชาช้า              หน่อยน้อยพอดีฯ

๐ฉันเสร็จสำเร็จแล้ว       ยถา
จบจึ่งอติเรกลา              ราชเจ้า
ต่างองค์อุฏฐายา           สนะออก   มาเอย
จากพระโรงที่เฝ้า           ยาตรเต้าตามควรฯ

๐ขนมเบื้องบอกทั่วทั้ง    ราชฐาน
เถ้าแก่แลพนักงาน         ท่านท้าว
หนึ่งพวกท่านจอมมาร-   ดาเก่า     เกณฑ์แฮ
ทำทุกพระองค์เจ้า          แต่ล้วนฝ่ายในฯ

๐ขนมเบื้องนี้หากต้อง     จำเพาะ   คราวฤา
กุ้งมากมีมันเหมาะ          จึ่งได้
อาทิตย์สุดใต้เจาะ           จงบอก   วันเฮย
มีราชบัญญัติไว้              แต่ครั้งแปดมะโรงฯ

๐น้ำลดลงหลิ่งแห้ง          รวมคลอง
ไหลตกห้วงบึงหนอง        ใหญ่น้อย
กุ้งปลาชุกชุมปอง           ประโยชน์เหล่า    ชนนา
หนองหนึ่งนับร้อยร้อย      อย่างน้อยเรือนพันฯ

ถ้าไปอ่านในพระราชพิธีสิบสองเดือน  พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕   มีแต่ข้อความพระราชพิธีพระราชกุศลนี้แต่ย่อๆเพียงย่อหน้าเดียว จากโคลงที่ยกมา ทำให้รู้ว่า สมัยก่อน ท่านทำทั้งขนมเบื้องคาวหลายหลากหน้าและขนมเบื้องหวาน  แต่สมัยนี้เหลือขนมเบื้องหวานเพียงอย่างเดียว


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Whitearmy ที่ 10 พ.ย. 09, 12:16
เรื่องฝีมือการทำขนมเบื้องนี่  สมัยต้นรัตนกสินทร์คงถือเป็นศิลปะการทำอาหารชั้นสูงที่ต้องฝึกฝนกันนานกว่าจะทำได้และทำได้สวยงามสม่ำเสมอ

มองต่างมุมกับคุณหลวงขอท้วงหน่อย
ขนมเบื้องพบได้บ่อยชั้นสูงไม่
แป้งข้าวจ้าวมะพร้าวคั้นน้ำตาลไข่
คลุกเคล้าให้ส่วนผสมกลมกลืนกัน
ไฟรุมรุมกระทะวางตั้งบนเตา
ละเลงเข้าอย่ารอรีขมีขมัน
เป็นแพนเค้กพื้นบ้านหวานเค็มมัน
มีขายกันหัวท้ายบ้านไม่ขาดแคลน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 พ.ย. 09, 13:02
ที่ว่า ขนมเบื้องเป็นศิลปะการทำอาหารชั้นสูง หมายความว่า เป็นอาหารที่ต้องใช้ฝีมือในการทำมาก คนที่ทำไม่เป็นเลยหรือไม่เคยฝึกทำมาก่อน เพียงแค่เห็นเขาละเลงแป้งขนมเบื้องบนกระทะ ใช่ว่าจะทำได้ทันที ยิ่งถ้าทำให้บางดีขนาดสม่ำเสมอ  ยิ่งต้องฝึกกันนาน ไม่เช่นนั้นโบราณเขาจะมีสำนวนว่า  ละเลงขนมเบื้องด้วยปาก หรือ  กรณีศรีมาลากับสร้อยฟ้าก็เป็นตัวอย่างให้เห็นชัดว่า  สร้อยฟ้าเป็นลูกเจ้าชาวเหนือ อาจจะเคยกินขนมเบื้องเคยเห็นชาวบ้านชาววังทำขนมเบื้องอย่างไรก็ตามแต่  เมื่อต้องมาทำจริงๆ มันไม่ใช่ของทำกันได้ง่าย ถ้าไม่ได้ฝึกฝนกันมา  ที่พูดอย่างนี้ได้  เพราะได้เคยไปนั่งดูเขาฝึกทำขนมเบื้องมาตั้งแต่เด็กๆ  และเคยไปถามแม่ค้าที่เขาขายขนมเบื้องตามงานวัด  กว่าจะละเลงแป้งขนมเบื้องกันเป็น หมดแป้งไปหลาย  ถึงใครที่ฝึกละเลงแป้งขนมเบื้องเป็นแล้ว  แต่ถ้าไม่ได้ทำอยู่เสมอ  นานๆ ทำที  ก็มีเหมือนกันที่ต้องมานั่งฝึกกันใหม่ 

ไม่ได้หมายความว่า เป็นอาหารของคนชั้นสูงในรั้วในวังอย่างใดเลย  ดีไม่ดี ขนมเบื้องในรั้วในวังก็อาจจะเอาขนมเบื้องชาวบ้านนี่แหละไปพัฒนาต่อให้ประณีตขึ้นเป็นขนมเบื้องชาววัง   

กลอนที่แต่งมา  วรรครองบทแรก (บรรทัดที่สาม) ใช้เสียงวรรณยุกต์ผิดหลักเสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรค  เพราะปกติกลอนวรรครองต้องลงท้ายด้วยเสียงวรรณยุกต์สามัญหรือหรือตรี     ส่วนบทที่สอง  ใช้คำรับสัมผัสซ้ำกับคำส่งสัมผัสท้ายบทแรก  กัน-ขมัน-มัน-กัน ไม่ผิดร้ายแต่ไม่นิยมกัน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 พ.ย. 09, 15:27
คำ่วันนั้น

พระไวย หอมกลิ่นดอกพุทธชาดที่อยู่ในกระถาง  จึง

เกิดวาบหวามทรวงซาบอาบอาลัย                        เดินไปเข้าห้องศรีมาลา

นางศรีมาลามีความเขินอายเนื่องผู้คนยังตื่นอยู่  เด็กเล็กก็ยังไม่หลับ



พระไวยตอบว่าเจ้าอย่างอน                                ความรักพี่นี้ร้อนดังไฟเรือง

นางศรีมาลาก็บ่ายเบี่ยงว่า

เด็กเล็กมันยังตื่นครื้นทั้งเมือง                              ขนมเบื้องทำด้วยปากยากอะไร ฯ



เด็กเล็กในที่นี้ก็คงรวมความถึงพลายชุมพล  และสมุนตัวน้อยๆ  ยังวิ่งเล่นกันครึกครื้นอยู่แถวนอกชาน



อนิจจา   การตัดพ้อต่อว่าเท่านี้เป็นกองเพลิงที่ดินประสิวได้เชื้อ

ดินประสิวนั้นคือนางสร้อยฟ้าที่ยัง แค้นเคืองปวดปอดตลอดไส้  แสดงว่า รวดร้าวไปทั้งร่าง   น่าเห็นใจนางอยู่เหมือนกัน

ข้อสำคัญคือคนกลางเลือกไปรับราชการที่เรือนคู่แแข่งขัน



นางจึงอาละวาดด่าทอว่านางศรีมาลามีฝีมือในการยั่วยวนพระไวย  แถมมายกตัวเรื่องทำขนมเบื้องว่าเก่งกว่า



นางศรีมาลาก็ตอบว่านางสร้อยฟ้าต้องการให้พระไวยไปหาหรือ
คำเปรียบเปรยนั้นเป็นธรรมชาติ

นางสร้อยฟ้าประชดว่าศรีมาลาคงมียาดี  ทำให้มีเสน่ห์ใน   

พระไวยตอนนี้ยังฟังสองหญิงเปรียบเปรยกันไปมายังสนุกอยู่



นางทองประศรีไม่สนุกด้วย  เพราะสร้อยฟ้าเหน็บแนมพระไวยหลานชายเข้าด้วย  จึงด่าว่า

      เหวยลาวเลยลาวไปแล้วเหวย..........

หมายความว่านางสร้อยฟ้าทำเกินตน           นางทองประศรีได้เอื้อเฟื้อคำด่าทออีกประมาณเจ็ดแปดคำ


(น่าเสียดายมากที่ยังไม่มีเสภาครูแจ้งตอนนี้     น่าจะเป็นความรู้ได้อีกมาก)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 พ.ย. 09, 16:19
หลังจากพระไวยออกจากบ้านไปเฝ้าแล้ว       สร้อยฟ้าได้เริ่มสงครามอีกครั้งหนึ่งโดยการ
กระทืบเท้าแสดงอำนาจ
ด่าบ่าวไพร่ของตัวเป็นการประชดอย่างหยาบคาย


การกระทืบเท้าในเรือนนั้น   ผู้ที่พอจะได้รับการอบรมจะไม่ทำ  เพราะถือว่าทรามมารยาท
หนึ่ง เสียงดัง                  สองเรือนกระเทือน                (สาม ผีเรือนตกใจ)
กระทืบโครมที่ระเบียงเรือนฝั่งนี้           หม้อชามรามไหที่อีกฟากเรือนกระเด็นกระดอนแน่ๆ


ความหึงหวง  และความต้องการตามธรรมชาติที่อยากให้สามีเอาใจ   รวมความน้อยใจที่โดนต่อว่ามาแล้วสองครั้ง  ว่า สู้คู่แข่งไม่ได้
สร้อยฟ้าไม่สามารถระงับอารมณ์  ข่มโทสะ  ที่หนุนเนื่องด้วยความอาย  ความน้อยใจ
นางไม่เคยมีคู่แข่ง

เมื่อสมเด็จพระพันวษาไม่เลือกตัวนางก็เป็นความผิดหวังครั้งใหญ่มาแล้ว

แต่ครั้งนี้เป็นความจริง  ที่นางแทบไม่มีความสำคัญในครัวเรือน


ความรุนแรงจึงเพิ่มระดับขึ้น


นางศรีมาลาไม่ได้เก็บปาก  ก็เถียงไปว่าอยากได้ตัวพระไวยก็มาฉุดเอาไป
มาด่าว่าซำ้ซากทำไม    นางไม่ได้เป็นนางเชลยที่ถูกตีเมืองมา



สร้อยฟ้าขาดสติที่จุดนี้  คือ พระไวยไม่อยากไปหานาง    ใครเลยจะยอมรับการหยามนี้ได้
ยิ่งวาจาเปรียบเปรยว่านางเป็นนางเชลย  เจ็บปวดเหมือนถูกแทงด้วยกริช



ที่นางบุษบาคิดว่าลูกสาวไม่ค่อยมีปากมีเสียงนั้น      นางอาจจะเข้าใจผิดไป


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ย. 09, 17:10
มาถึงตอนนี้  นั่งพัก ขอฟังคุณวันดีเล่าเรื่องดีกว่าค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 พ.ย. 09, 20:22


สร้อยฟ้าเป็นธิดาพระเจ้าเชียงใหม่  เมื่อมาพักลงเรือกันยาที่พิจิตร   คงสังเกตพระไวยอยู่แล้ว
กิจกรรมในยามค่ำคืนที่แม่ทัพไปเยือนเรือนท่านผู้ว่าในยามราตรี   คงเป็นที่ซุบซิบกันอยู่บ้าง
สร้อยฟ้าใช้ข่าวกรองชิ้นดีโจมตีศรีมาลาแบบ surprise attack



ศรีมาลาโกรธแทบบ้า  เพราะโดนว่าซึ่งหน้าว่ามิใช่สาวพรหมจารี  อุตส่าห์ทำสงบเสงี่ยม
เสไปว่าสร้อยฟ้ามาขึ้นกูขึ้นเอ็ง      ต้องตบเสียหน่อย     
ถ้าจะเข้าไปตบโดยไม่ประกาศคงเป็นการฉลาดกว่า      ขู่แล้วเดินวนเวียนไปมาเป็นการประกาศสงครามก่อนยกทัพ
อีกฝ่ายก็เตรียมตัวทัน


สร้อยฟ้ามีเวลาพอที่จะคาดนม  คือรัดทรวงด้วยผ้าที่คล้องคออยู่  และเกล้าผมให้แน่นหนา

การตบตีมิได้เกิดขึ้นเพราะผู้ช่วยนางเอก  พลายชุมพลถลันเข้าขวาง    สร้อยฟ้าผลักพลายชุมพลเซไปตกร่อง

(ร่องที่มีในเรือนไทยนั้น   มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์หลายอย่าง   พวกเราน่าจะชุมนุมประชุมกันคุยเรื่อง ร่องต่อไปในโอกาสหน้า)



โชคร้ายของสร้อยฟ้าที่พลายชุมพล(อายุ ๗ ขวบ   ต้องย้ำประเด็นนี้ไว้เรื่อยๆ)ได้รับบาดเจ็บ

นางทองประศรีมีคนทั้งตลาดสั่นหัวตั้งแต่ยังสาว ๆ  ซัดนางสร้อยฟ้าอีกชุดใหญ่     
ถ้าจะลอกมาลง  เกิดมีสหายแถวนี้นำไปเขียนบทละครโทรทัศน์เข้า   ท่านผุ้ชมจะตื่นตาตื่นใจกับคำไทยเดิมที่มีความหมายลึกซึ้ง


นางสร้อยฟ้าน่าสงสารแท้ๆรำพันว่า หัวเดียวไม่มีพี่น้อง    เชิญทุบถองเอาตามใจ




พระไวยกลับมาเห็นสร้อยฟ้ากำลังเถียงกับคุณย่าอยู่พอดี 
ถามเรื่องได้ความ   ก็ฉวยไม้ได้ไล่ตี



การตีนางพระราชทานแบบ ขวับขวับยับตลอดไปทั้งหลัง    ลายกระทั่งตัวตลอดบ่า     พระไวยหวิดจะทำผิดกฎหมายแล้ว
พระราชกำหนดบอกว่า  จะตีให้เสียทรงไม่ได้
ตีกันขนาดไหน  แขนหัก   ซี่โคร่งหัก   ขาเป๋ฤา


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 พ.ย. 09, 20:38
สร้อยฟ้าวิ่งหนีเจ้าไปในเรือน ปิดประตูแล้วร้องไห้
ร้องไปคร่ำครวญไป
ไม่ได้ว่าพระไวยเท่าไร    โกรธศรีมาลามากที่สุด

สิ่งที่นางเป็นห่วงคือเมื่อไรพระไวยจึงจะมาคืนดี

ดังเพชรนิลปิ่นหลุดออกจากเรือน                                ทลายแหลกแตกเปื้อนลงป่นปี้
จะมืดคล้ำดำไปไม่มีดี                                             สักกี่ปีจะได้คืนขึ้นเรือนทอง


การอ่านเสภาขุนช้างขุนแผนนั้น  ถ้าอ่านกันดัง ๆ   และผลัดกันแปล   สนุกมาก
ขอให้อ่านด้วยความสดชื่น   แฝงความสงสัย


นิล(หรือเพชร)ที่หลุดออกจากเรือน     ตกพื้นแล้วหายาก


ไม้ที่พระไวยคว้ามาตีสร้อยฟ้าคือไม้อะไร


ท่านผู้ใดทราบประวัติ นายบุญจันโขน   โปรดแบ่งปันด้วยเทอญ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ย. 09, 20:56
อ่านแล้วก็สงสารผู้หญิงตัวคนเดียว  เป็นพระธิดา ยศศักดิ์ควรจะเป็นถึงเจ้าจอมหม่อมห้ามในวังหลวง แต่มาได้สามีหัวหมื่นมหาดเล็ก เขานอกจากไม่รักแล้วยังไม่เกรงใจอีกด้วย  ตีเอาๆยังกะตีข้าทาส

ไม้ที่พระไวยคว้ามาตี   กวีใช้คำว่า "ขวับขวับ" ประกอบเสียงตี   อ่านแล้วเข้าใจว่าเป็นไม้ชนิดอ่อน อย่างไม้ไผ่  เพราะบอกว่า
ขวับขวับยับตลอดไปทั้งหลัง              ลายกระทั่งทั่วตัวตลอดบ่า

โดนขนาดนี้ เนื้อไม่แตก  เพียงแค่เป็นริ้วลาย  เข้าห้องก็แค่  "เจ็บระบมตรมทั่วทั้งตัวไป"  ถ้าหากว่าเป็นไม้เนื้อแข็ง   ผิวบางๆของหญิงสาวคงแตกยับ เลือดอาบไปทั้งหลังแล้ว  เจ็บมากกว่าระบม


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Whitearmy ที่ 11 พ.ย. 09, 03:30
ยิ่งถ้าทำให้บางดีขนาดสม่ำเสมอ  ยิ่งต้องฝึกกันนาน ไม่เช่นนั้นโบราณเขาจะมีสำนวนว่า  ละเลงขนมเบื้องด้วยปาก หรือ  

ละเลงขนมเบื้องด้วยปาก เป็นการแดกดันว่า การใช้ปากบันดาลโดยไม่ใช้มือทำ ย่อมไม่เกิดผล
สำนวนนี้ ไม่ได้ให้น้ำหนักว่าการละเลงขนมเป็นเรื่องสาหัสสากรรจ์เลยหนา





จากโคลงที่ยกมา ทำให้รู้ว่า สมัยก่อน ท่านทำทั้งขนมเบื้องคาวหลายหลากหน้าและขนมเบื้องหวาน  แต่สมัยนี้เหลือขนมเบื้องหวานเพียงอย่างเดียว


คุณหลวงเรื่อยเจื้อยว่าสมัยนี้มีแต่ขนมเบื้องไส้หวาน
ก็ขนมเบื้องงานวัดหลวงพ่อโสธร มีงานประจำปีทีมาขายกันเป็นร้อยร้าน
หรือตามตลาดข้างถนนก็เห็นกะละมังใส่ไส้สีส้มเด่นมาแต่ไกล
ทำด้วยมะพร้าวขูดด้วยกระต่ายปนกุ้งแห้งป่น แต่งสีส้มแจ๊ดและดับคาวด้วยใบมะกรูดหั่นฝอย
หรือขนมเบื้องบรรดาศักดิ์ออกซุ้มตามที่คุณแวนดี้เอ่ยใน คห ๑๘๐ ก็ใช้ไส้กุ้งสดแต่งรสเค็มปะแล่ม
หรือไส้ปลาช่อนนึ่งแกะเนื้อขาวโขกทำเป็นปลาหย็องไงล่ะ
ขนมเบื้องจะออกแขก ประกวดประชันก็ต้องใช้ไส้เค็มชูโรง


กลอนเสภาที่ใช้ขับ เป็นการออกเสียงดังๆ
เสียงลงท้ายถ้าจะเพี้ยนนิดหน่อย เวลาขับก็ขับช่วยได้
ไม่ผิดฉันทลักษณ์ก็ไม่เป็นไร แต่ผิดใดไม่น่าเกลียดเท่ากับสะกดผิดๆ หลายแห่งดังใน คห 194 ข้างต้น
คนเราอยู่ใกล้ตัวหนังสือ ขีดเขียนพิมพ์ทานระมัดระวังบ้างก็ดี
(กระทู้นี้เป็นกระทู้ขุนช้างยาวอยู่แล้ว คุณหลวงชักใบยกโคลงที 10 กว่าบท เยิ่นเย้อ)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 พ.ย. 09, 06:56
อ้าว!    หลบ....









พระเจ้าเชียงใหม่มีอาจารย์ชื่อ เถรขวาด  เป็นผู้มีคาถาอาคมเก่งกล้าตามมาจากเชียงใหม่
และวานให้อยู่อยุธยาเพื่อคอยป้องกันพระธิดา
เถรขวาดนุ่งเหลืองห่มเหลือง  บิณฑบาตพอเลี้ยงตัว   กินข้าวเย็นและดื่มสุราเป็นระยะ ๆ
อาศัยอยู่ที่วัดพระยาแมน

นางสร้อยฟ้าใช้สาวใช้ไปหา  ขอความช่วยเหลือ  ให้ช่วยทำให้พระไวยหลงเสน่ห์และเกลียดชังนางศรีมาลา

เถรขวาดอายุ แปดสิบปลายแล้ว      นางไหมกว่าจะผ่านด่านเณรจิ๋วเข้าไปหาเถรได้ก็โดนคว้าข้อมือ
ซึ่งถือว่าเป็นการลวนลาม

นางไหมผู้นี้นับว่าแคล่วคล่องพอตัว  นางปัดมือเณรแล้วอุทานว่า  ต๊าย! ปลาขอดแล้วยังกระดิกได้

นับว่าปากคมพอใช้

นอกจากนี้วาทะของนางไหมที่ผู้อ่านเสภาชอบใจกันมาก แต่สมัยนี้ไม่ค่อยจะสนใจกัน

คือ เมื่อเถรหยอกนางทีเล่นทีจริง  นางเฉือนว่า    แก่จนแมลงวันตัวเมียบ่บินตอม


     
การทำเสน่ห์นั้นใช้ขี้ผึ้งปากผี   ซึ่งคงเก็บยากหน่อยกว่าจะได้มาปั้นตุ๊กตาสักคู่
นี่ต้องทำสองคู่  คือคู่พระไวยกับศรีมาลาหันหลัง   และคู่พระไวยกับสร้อยฟ้ากอดกัน

การทำเสน่ห์ได้ผล



กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 พ.ย. 09, 07:06
พระไวยรักสร้อยฟ้าและเฆี่ยนตีศรีมาลา       
นางทองประศรีก็ต้องมนต์ไปด้วยคือเป้าหมายของการด่าก็ย้ายมาที่ศรีมาลา


พลายชุมพลจึงหนีออกจากบ้านไปหาขุนแผนและนางแก้วกิริยาที่กาญจนบุรี
รายงานว่าพระไวยถูกเสน่ห์
แล้วหนีจากกาญจนบุรีไปหาตายายที่สุโขทัยต่อ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ย. 09, 09:05
"ขนมเบื้องทำด้วยปากยากอะไร"
กลอนวรรคนี้บอกชัดเจนในตัวแล้วว่า ขนมเบื้อง ถ้าทำด้วยปาก คือแค่พูด  ก็ไม่ยาก     แต่ถ้าลงมือทำ มันยาก
ไม่ได้หมายความถึงได้ผลหรือไม่ได้ผล

การแต่งกลอน  วรรคที่สาม นิยมใช้เสียงสามัญ หรือเสียงตรีก็ได้  แต่ "ไข่" เป็นเสียงเอก  เขาไม่ใช้กัน
กวีที่แต่งขุนช้างขุนแผน ไม่มีใครใช้เสียงเพี้ยน   โดยหวังจะให้นักขับเสภาช่วยกลบเกลื่อนให้   หัดแต่งกลอน อย่างแรกที่ต้องคำนึงคือแต่งให้ถูกตามฉันทลักษณ์

อย่านึกว่าโพสต์เป็นภาษาอังกฤษแล้วดิฉันจะจำสำนวนภาษาคุณไม่ได้      คำถามก็คือเมื่อไรคุณจะเลิกมาตอแยในเรือนไทยเสียที   คุณกินนรเริงร่า นุชนา บาบาตอฟ
ถ้าคุณมาด้วยเจตนาจะสนทนาในเรือนไทย  ดิฉันก็จะไม่ว่าอะไร   ให้โอกาสคุณตั้งแต่กระทู้คุณไปถามถึงราชสกุลนวรัตนแล้ว  
แต่คุณจะต้องคำนึงถึงมารยาทด้วยว่า ในเรือนไทย  เราคัดค้านกันได้ ท้วงติงหรือแย้งกันได้  แต่ต้องให้เกียรติกันด้วยคำสุภาพ   ไม่ใช้ถ้อยคำนำไปสู่การทะเลาะวิวาท  และไม่แถว่า ถ้ามาหาว่าฉันผิดเรื่องนี้  คุณก็ผิดเหมือนกันในเรื่องโน้น

คุณจะเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนภาษาจากไทยเป็นอังกฤษ หรือเปลี่ยนอะไรก็ตาม   สิ่งหนึ่งที่คุณเปลี่ยนไม่ได้ คือถ้าใครทักท้วงว่าคุณผิด     คุณจะเกิดโทสะขึ้นมาทันที   นับว่าน่าเสียดายโอกาสที่คุณจะได้สนทนาแลกเปลี่ยนความรู้กับคนอื่นๆ ฉันมิตร  


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 พ.ย. 09, 16:02
ไม่เป็นไรครับ  ถือเสียว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงวิชาการเจริญครับ  คนเราจะให้คิดเห็นเหมือนกันหมดคงเป็นไปไม่ได้  ต้องถกเถียงแสดงความเห็นกันในสิ่งที่เห็นไม่ตรงกันบ้างเป็นธรรมดา  มิฉะนั้นความรู้จะไม่งอกงาม

ขอขอบพระคุณคุณเทาชมพูมากครับ 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ย. 09, 16:06
ขอบคุณคุณหลวงเล็กค่ะ   ถ้าอย่างนั้นดิฉันก็จะให้โอกาสเขาอีกที  
ถ้าจำกัดอยู่แต่กับประเด็นที่สนทนากัน ถึงคิดเห็นต่างกัน ก็เป็นเรื่องธรรมดาค่ะ   ดิฉันไม่ได้ท้วงความเข้าใจที่ต่างกัน
แต่ท้วงวิธีการใช้ถ้อยคำ ที่ไม่เหมาะสม


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ย. 09, 14:37
ลาวตัวสำคัญในขุนช้างขุนแผน   ยังออกโรงมาแค่อินโทร ที่คุณวันดีจูงมาให้เห็น     ยังเหลือบทบาทอีกมาก   
คือเถรขวาด  ราชครูเชียงใหม่    กวีผู้แต่งแก้ตัวให้แกว่าตอนเกิดศึก แกไม่อยู่ มัวเข้าป่าไปหาเหล็กไหล   กว่าจะออกจากป่า พระเจ้าเชียงใหม่ก็ยอมแพ้แม่ทัพอยุธยาไปแล้ว   ทำเอาแกแค้นจัด แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง
แกก็เลยลงมาอยู่อยุธยา    ทำตัวเป็นอลัชชีไปตามเรื่อง   แต่ก็ไม่ลืมที่พระเจ้าเชียงใหม่มอบหมาย คือให้ดูแลทุกข์สุขพระธิดา
เมื่อสร้อยฟ้าเดือดร้อนเพราะสามีไม่รัก     บากหน้าไปพึ่ง  เถรขวาดก็เลยได้ออกโรง เป็นตัวละครลาวสำคัญบิ๊กเบิ้มไปจนปลายฉบับหอพระสมุด

เชิญคุณวันดีค่ะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 พ.ย. 09, 16:44
พระเจ้าเชียงใหม่

เธอห่วงลูกอาวรณ์ร้อนฤทัย                                     จึงสั่งให้ราชครูอยู่เพื่อนนาง
เผื่อจะเกิดทุกข์เข็ญเป็นอย่างไร                                 ให้เถรคอยแก้ไขเมื่อขัดขวาง
อย่าให้ใครล่วงรู้ดูท่าทาง                                        ให้เป็นอย่างพระธุดงค์ที่ลงมา



นโยบายแบบนี้เรียกว่า  ส่งสายฝังตัว
(สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง  ญี่ปุ่นในไทยปิดเก๊ะ แต่งเครื่องแบบกันคึ่ก ๆ
นำ้ตาลูกผู้ชายไทยที่รักบ้านรักเมืองก็อาบหน้า)



เถรขวาดมีฤทธิและคาถาอาคมมาก             ตอนขุนแผนพลายงามบุกเชียงใหม่ เถรไปหาเหล็กไหล
จึงไม่ได้อยู่ป้องกันเมือง

อ้าว!   มี  เหล็กไหล  แถวเชียงใหม่ด้วยเฮะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 พ.ย. 09, 17:07
การให้บริการของเถรคือ   ให้เครื่องราง    ให้ยา   ให้ผ้าประเจียด
แก้คุณไสย   ปัดเป่า   ทำน้ำมนต์       ถือเป็นบริการพื้นฐาน


การทำรูปรอยนั้น  มีการแทงด้วยหนาม  ลงยันต์  พันด้วยใบเต่ารั้ง
เรื่องใช้ หนามแทง  ถือเป็นวิชาแม่มดพ่อมดสากล  101


รูปพระไวยและนางสร้อยฟ้านั้น  ห่อด้วยใบรักและเลขยันต์
เมื่อเป่ามนต์แล้วรูปก็พลิกหันหน้าเข้ากอดกันพัลวัน    ...สยอง......


อีกสิ่งหนึ่งที่เถรขวาดแถมให้ไปคือแป้งน้ำมัน ผสมด้วยว่านและน้ำมันพราย



สร้อยฟ้าทำเสน่ห์ มีผลโดยตรงคือ บั่นทอน ศิริมงคลของสามี ผู้เป็นทหาร 
น้ำมันพราย (ถ้าไม่เกรงผู้ตีระฆังรักษาเวลาแถว ๆ พระบรมรูปทรงม้า จะยืดเรื่อง)ไม่ได้ลนจากนางที่ตายทั้งกลมอย่างเดียว
ตำราว่า คนที่ตายวันเสาร์  เผาวันอังคารก็ใช้ได้


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 พ.ย. 09, 17:30
เถรขวาดหายตัวได้และสามารถทำให้เณรจิ๋วที่กอดเอวหายตัวตามได้ด้วย

มีอำนาจราชสีห์  คือ  ตวาดเสียงดัง ทำเอาไพร่พลชะงัก

เถรขวาดเมามากถึงอาเจียรว่าอาคมไม่ได้  จึงโดนจับ


ในระหว่างสอบสวน พลายชุมพลได้ชักกระบี่สับแสกหน้า     ไม่มีการอ่านมิแรนด้าเลย(บัดนี้เอ็งถูกจับแล้ว......เอ็งจงนึกถึงพ่อแก้วแม่แก้ว)

แผลเป็นนี้ได้ก่ออาฆาต เถรขวาดกลับมาล้างแค้นแปลงเป็นจรเข้ยักษ์


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 พ.ย. 09, 18:06
เมื่อคณะผู้สอบสวน  พาเถรมาขุดรูปรอยที่บ้าน
นางทองประศรีฮึดฮัดมาก  ทำท่าตีหัวนางสร้อยฟ้าเพราะ

ทำให้พระไวยกับขุนแผนแตกกัน
พลายชุมพลหนีออกจากบ้าน
ศรีมาลาได้รับความทรมาน

พระไวยห้ามไว้ว่ายังต้องดำเนินคดีอีก



ฝากขังเถรขวาดกับเณรจิ๋วไว้ที่ทิมตำรวจ
จำห้าประการ  และล่ามแหล่ง(ล่ามไว้กับเสา)


ในตอนกลางคืน  เถรขวาดกำหนดจิต อ่านคาถาสะกดตำรวจ
(เท่าที่อ่านตำรามาต้องกลั้นใจท่องคาถา)

เสดาะโซ่ตรวนของตนเองและเณรจิ๋ว
เสกปูนพลูเป็นร่างของตนทิ้งไว้


ว่าแล้วก็แปลงตัวเป็นจระเข้  เณรนั้นแปลงให้เป็นลูกจระเข้าเกาะหลัง
ที่ให้เกาะหลังเพราะเณรไม่ใช่นักดำน้ำ  หายใจในน้ำไม่ได้
เถรก็หายใจในน้ำไม่ได้เพราะผิดวิสัย  ตอนที่มากรุงศรีอยุธยาก็ใส่หมวกนักดำน้ำมา(บาตร)



ท่านผู้แต่งเสภาตอนนี้ที่ว่าสนุกนักหนาคือ ครูแจ้ง
อยากอ่านจัง   บ่นดังๆแล้วนะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 พ.ย. 09, 19:32
สมเด็จพระพันวษาทรงชำระความนางสร้อยฟ้า

ประภาษว่า  นางโลภประเวณี
บ้านเมืองเดือดร้อน(ขุนแผนไปชวนพลายชุมพลมาทำสงครามสั่งสอนพระไวยต่างหาก)

นางสร้อยฟ้าเถียงได้คล่องแคล่ว เพราะฝ่ายตรงกันข้ามไม่มีพยานบุคคล
พระพันวษาถึงกับออกโอษฐว่า     

ช่างประจบต้นปลายขยายตาม                     เหมือนลากหนามสะจุกทุกช่องไป

แถมใส่ความว่า ศรีมาลาเป็นชู้กับพลายชุมพล



ศรีมาลาตอบข้อหาชู้สาวซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ว่า

เมื่อชุมพลด้นไปหาบิดา                             ยังเด็กนักชันษาเพียงเจ็ดปี
ใครห่อนจะสอนซึ่งเด็กได้                           มาใส่ไคร้เจรจาน่าบัดสี
ข้างลาวเคยทำบ้างหรืออย่างนี้                     สอนให้เด็กกาลีดังเจรจา


วิธีพิสูจน์คือ ดำน้ำกับลุยไฟ


นางศรีมาลาเลือกที่จะลุยไฟ

วิธีปฎิบัติใกล้เคียงกับการดำน้ำ             ในหนังสือชุดภาษาไทยของคุรุสภา  ๒๕๓๗   เล่ม ๒  อยู่ในหน้า  ๑๐๕ เป็นต้นไป
รางเพลิงนั้น  ยาวหกศอก   กว้่างหนึ่งศอก  ลึกหนึ่งศอก

มีรายละเอียดอยู่นิดหนึ่งว่า

"อนึ่งถ้าพิสูจน์ลุยเพลิงพองหลังเท้า และ/หรือนิ้ว    จะเอาเป็นแพ้นั้นมิได้           
ถ้าโจทย์กับจำเลยมิได้พองด้วยกันทั้งสองข้าง     ย่อมมีความสัจจริงด้วยกันทั้งสองข้าง
จึ่งให้พิสูจน์ดำน้ำต่อไป"



นางศรีมาลาลุยไฟชนะ      สมเด็จพระพันวษาตรัสสั่งให้ประหารนางสร้อยฟ้า
นางสร้อยฟ้าขอร้องนางศรีมาลาให้กราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษ เนื่องด้วยนางท้อง

นางสร้อยฟ้าถูกขับจากเมือง  ไปพบกับเถรขวาดกับเณรจิ๋วเข้าจึงพากันเดินทางกลับเชียงใหม่


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 พ.ย. 09, 19:43
เมื่ออ่าน เสภาขุนช้างขุนแผนนั้น   ตั้งหน้าตั้งตาอ่าน
สงสัยอะไรก็บ่นกับต้นไม้และอากาศ


การลุยไฟก็ให้เหตุผลกับตนเองว่าคงมาจาก สีดาลุยไฟ


ต่อมาได้อ่านเรื่องพิธีมะหะหร่ำหรือเต้นเจ้าเซ็นเข้าก็สงสัยว่า ครูเสภาจะยืม การลุยไฟมาหรืออย่างไร
ถ้าจะไม่พูดถึงกฎหมายตราสามดวง




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 พ.ย. 09, 08:30
อ่านคำถามคุณวันดีเรื่องที่มาของการลุยไฟพิสูจน์ในเสภาขุนช้างขุนแผนแล้วก้สงสัยเหมือนกัน

กรณีสีดาลุยไฟนั้น  เพื่อเป็นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของนางสีดา ว่าในระหว่างที่ถูกทศกัณฑ์ลักพาและนำมากักกันบริเวณไว้ในอุทยานนอกเมือง  นางสีดาไม่ได้มีจิดคิดออกหากจากพระรามผู้เป็นสวามี  การลุยไฟของสีดานี้ไม่ได้มีแต่ในรามเกียรติ์ไทย มีในรามายณะของอินเดียด้วย เข้าใจว่า คงจะสืบเนื้อเรื่องมาจากรามายณะ นั่นเอง   กรณีของนางสีดาจึงเป็นการลุยไฟเพื่อพิสูจน์ตัวเอง  ไม่มีคู่กรณีมาร่วมลุยพิสูจน์ด้วย  แต่ก็นับว่าจุดประสงค์ของการลุยไฟพิสูจน์สัตย์ของสีดานั้นใกล้เคียงกับจุดประสงค์ของการลุยไฟพิสูจน์ในเสภาขุนช้างขุนแผน

ส่วนกรณีการลุยไฟของในพิธีมะหะหร่ำของพวกแขกเจ้าเซ็น  เป็นส่วนหนึ่งของพิธีแห่เจ้าเซ็นเพื่อรำลึกถึงการเสียชีวิตของท่านอิหม่ามฮุเซ็นและญาติที่ถูกทหารนักฆ่าของยะซีดล้อมฆ่าขณะเดินทางหนีออกมาจากเมืองมะดีนะฮ์ จุดประสงค์ของการลุยไฟในพิธีแห่เจ้าเซ็นก็เพื่อจำลองเหตุการณ์ที่กองคาราวานของอิหม่ามฮุเซ็นถูกล้อม ซึ่งท่านอิหม่ามฮูเซ็นได้สั่งให้คนในคาราวานของท่านขุดสนามเพลาะและจุดไฟให้รอบ  การลุยไฟนี้เป็นการรำลึกถึงความทรมานของท่านฮุเซ็นและกองคาราวานก่อนถูกฆ่าตายนั่นเอง  คนที่ลุยไฟในพิธีแห่เจ้าเซ็นนี้เรียกว่า นู่ฮ์  เป็นผู้ชายนุ่งกางเกงขายาวสีขาวทาตัวขาว ไม่สวมเสื้อ มีผ้าขาวโพกศีรษะ ผูกกะพรวนที่ข้อเท้าทั้งสอง นู่ฮ์ นี้เป็นตัวแทนของผู้มีศรัทธาต่อท่านอิหม่ามฮุเซ็น  รายละเอียดของพิธีแห่เจ้าเซ็นนี้สามารถหาอ่านได้จากนิตยสารสารคดีฉบับที่มีรูปอาจารย์ป๋วยขึ้นปกหน้า  ฉะนั้นพอจะกล่าวได้ว่า การลุยไฟของพวกมุสลิมนิกายชีอะฮ์หรือแขกเจ้าเซ็นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพิธีกรรมเท่านั้น  ซึ่งจุดประสงค์ต่างจากการลุยไฟพิสูจน์สัตย์ในเสภาขุนช้างขุนแผน

อันที่จริงยังมีการลุยไฟของพวกม้าทรงในเทศกาลถือศีลกินเจอีก คนแต่งเสภาจะเอามาจากการลุยไฟอันนี้หรือเปล่า อันนี้เหลือรู้ครับ  เพราะไม่ทราบว่าคนจีนในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เขามีพิธีถือศีลกินเจอย่างในสมัยหลังหรือเปล่า บันทึกอันใดก็ไม่มีให้ค้นเสียด้วย  แต่ก็นับว่าจุดประสงค์การลุยไฟของพวกม้าทรงนั้นเป็นการสำแดงอิทธิฤทธิ์ไม่ใช่การพิสูจน์สัตย์

นี่กล่าวอย่างไม่แตะกฎหมายตราสามดวงเลย  ไม่ทราบคุณวันดีเห็นว่าอย่างไรครับ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 พ.ย. 09, 09:11
คุณหลวงเล็กพูดถูกต้องทุกประการค่ะ  ดิฉันเห็นด้วย



"แต่นัยยะของพิธีมะหะหร่ำ  มิได้เป็นเพียงพิธีกรรมที่อ้างถึงเหตุการณ์สิ้นพระชนม์ของอิหม่ามฮุเซน
นักบุญคนสำคัญของนิกายชีอะห์เท่านั้น

แต่แสดงถึงการต่อสู้แบบถวายชีวิตเพื่อธำรงรักษาความชอบธรรมเอาไว้"


ดร. จุฬิศพงศ์  จุฬารัตน์   ใน ขุนนางกรมท่าขวา   พิมพ์ครั้งที่ ๒   ๒๕๕๐
อ้างคุณ กุศล เอี่ยมอรุณ  "บันทึกเจ้าเซ็นในคืนวันเลือดปนน้ำตา   สารคดี  ตุลาคม ๒๕๔๒




สิ่งที่อ่านมาเพื่อหาชาวต่างชาติในเมืองไทย เสริมความรู้ให้ดิฉันเรื่อง การเต้นเจ้าเซ็น    

ในเสภา    นางทองประศรี ด่า  นางสร้อยฟ้า  ว่า

"ยกหัวเป็นกิ้งก่าอีหน้าเป็น                            เต้นเจ้าเซ็นมาแต่วานจนป่านนี้
ราวกับช้างงาบ้าน้ำมัน                                 เสยกำแพงแทงตะบันจนป่นปี้
งาหักงวงยับจนอัปรีย์                                  อีกาอีกูจะตบให้ซบไป"


ดิฉันขำนางสร้อยฟ้า  ที่ อาละวาด     เพื่อที่จะรักษาความชอบธรรม(คือตัวพระไวยมาเข้าห้อง)
คิดว่า ทองประศรี คงเคยเห็นกิจกรรมนี้แน่นอน   จึงเปรียบเปรยได้เจ็บแสบ

วรรณคดีเรื่องนี้ เป็นเรื่องชีวิตชาวบ้าน  ที่สงสัยอะไรก็หาได้
ครูเสภาทั้งหลายก็เข้าใจธรรมเนียมขุนนาง  ธรรมเนียมวัง
กฎหมายตราสามดวงก็เล่ามาอย่างละเอียดถูกต้อง


งั้นเราเชื่อ กฎหมายตราสามดวงกันนะคะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 พ.ย. 09, 11:17
คิดต่อได้อีกอย่างว่า  จากกลอนว่า เต้นเจ้าเซ็นมาแต่วานจนป่านนี้
แสดงว่า  คนแต่งน่าจะเป็นคนที่อยู่แถวฝั่งธนบุรี ใกล้ๆ ถิ่นของพวกแขกเจ้าเซ็น
จึงได้มีโอกาสได้รู้ได้เห็นพิธีกรรมแห่เจ้าเซ็น  ถ้าเป็นคนที่อยู่ถิ่นอื่น 
อาจจะไม่ได้เห็นพิธีกรรมอย่างนี้  เพราะเท่าที่ทราบมามีพิธีกรรมอย่างนี้แต่ก่อนมีที่ฝั่งธนที่เดียวในเมืองไทย
เอ...แต่ว่า  ครูแจ้งเองก็คงจะเป็นคนที่อยู่แถวๆ ฝั่งธนด้วยกระมัง จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า 
มีเอ่ยถึงครูแจ้งในเพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ด้วย  อย่างนี้พอจะสันนิษฐานว่าครูแต่งเสภาตอนนี้ได้ไหมหนอ?คุณวันดี


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 พ.ย. 09, 12:44
เปิดเผยข้อมูลกับคุณหลวงเลยนะคะ

บ้านอยู่  ตำบลถนนอาจารย์       หลังวัดระฆ้งค่ะ


เรื่องถนนอาจารย์นี่ดิฉันมีเอกสาร  แต่ไม่มีรายละเอียดว่า อาจารย์อยู่แถวนั้น เป็นถิ่นเสภา ดนตรี หรือไม่



ตอนนี้  เรียกว่า  พระไวยต้องเสน่ห์ค่ะ    ที่ครูแจ้งแต่ง  หรือเรียกกันว่า คำครูแจ้ง  ยังหาไม่ได้ค่ะ


คุณสุวรรณแต่งเรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์  เฉือนคุณโม่งกับหม่อมเป็ดไว้หลายแห่ง

หม่อมขำยัวะครูแจ้ง

ข้างหม่อมขำฟังคำซ้ำขัดใจ                           ดีอะไรกับตาแกแกล้งกลั่น
สาระวอนค่อนว่าสารพัน                              กล่าวขวัญถึงเราสองคนเป็นพ้นนัก


ตอนนี้ครูมี มาเล่นเสภากับครูแจ้งด้วยค่ะ



.....................                                         หม่อมเป็ดสวรรค์เอ่ยออเซาะปะเหลาะพี่
เบื่อเดือนสิบสองตาแจ้งขับรับกับนายมี                   ตลับทองของดีก็หายไป




กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 พ.ย. 09, 13:29
อะฮ้า...สนุกจริง   จำได้ว่า ในเสภาตอนงานศพนางวันทองมีกลอนกล่าวถึงครูแจ้งร้องเพลงแก้ไขกับยายมาด้วยแสดงครูแจ้งนี่ก็เป็นพ่อเพลงนอกเหนือจากเป็นครูเสภา แถมยังเป็นคนที่เข้าออกในวังบ่อย (นัยว่า พระเจ้าลูกเธอ  กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ทรงอุปถัมภ์ครูแจ้งด้วย) จึงได้รู้ธรรมเนียมทั้งของชาวบ้านและชาววัง แต่ครูแจ้งจะเป็นคนบอกบทละครอย่างสุนทรภู่ด้วยหรือเปล่านี่ไม่ทราบได้  ประวัติครูแจ้งออกจะลี้ลับนัก   ไม่ทราบว่า นายกุหลาบได้เคยเล่าไว้บ้างหรือไม่ครับคุณวันดี

แทรกเรื่องพิธีแห่เจ้าเซ็น อีกนิด  เพราะเคยสงสัยเรื่องรัชกาลที่ ๒ ทรงพระราชนิพนธ์กาพย์เห่เรื่องแห่เจ้าเซ็นไว้ตอนหนึ่ง  จึงอยากรู้ว่าพระองค์จะทรงเกี่ยวข้องกับพวกแขกเจ้าเซ็นอย่างไรอย่างหนึ่งกระมัง  ไปถามท่านผู้รู้ ท่านก็ว่า รัชกาลที่ ๒ เคยประทับอยู่ฝั่งธนฯ ในสมัยรัชกาลพระเจ้าตากสิน ครั้นรัชกาลที่ ๑ ขึ้นเสวยราชย์  รัชกาลที่ ๒ ก็ย้ายไปประทับที่พระราชวังเดิม  แม้ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว ก็ยังคงประทับที่พระราชวังเดิม  การที่ประทับที่พระราชวังเดิมนี้น่าจะทำให้ทรงคุ้นเคยกับพวกแขกเจ้าเซ็น (และพวกสกุลบุนนาค) มาก  เมื่อได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้มีรับสั่งให้วังจ่ายมีดโกนให้พวกแขกเจ้าเซ็นใช้ในการกรีดศีรษะในพิธีแห่เจ้าเซ็นและยังมีรับสั่งส่งเรือหลวงไปรับพวกเจ้าเซ็นมาแห่ตำปุดให้ทอดพระเนตรถึงในวังด้วย  ดังมีหลักฐานหมายรับสั่งอยู่ในประชุมหมายรับสั่ง ภาคที่ ๓


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 พ.ย. 09, 14:40
ครูแจ้งท่านเป็นพ่อเพลงเก่า  เล่นเพลงปรบไก่   ท่านแพ้ทางยายมาเลยไปเล่นเสภาแทน

ตามความเข้าใจของดิฉันนะคะ  เพลงปรบไก่นั้นเล่นกันแรง  หยอกเอินด้วยกิจกรรมทางเพศ
เพื่อให้ฟ้าร้องฝนตก  ต้นข้าวจะได้งอกงาม อะไรทำนองนี้นะคะ

ยายมาก็พาดพิงไปถึงมารดาของครูแจ้ง
ครูแจ้งท่านแก้ไม่ตกค่ะ   อาจจะเป็นตัวอักษร หรือมีความนัยที่เข้าใจกันในชุมชน



ดิฉันว่าในเรื่องของบทอัศจรรย์นั้น    ครูทั้งหลายก็ขับกันในยามดึกดื่น  เด็กเล็กง่วงนอน
ถ้าเด็กโตจะฟังบ้าง   ธรรมเนียมไทยไม่ห้าม




เรื่องก.ศ.ร. กุหลาบนั้น     อ่านๆไปก็ต้องหยุดไปกินน้ำบัวบกค่ะ      ข้อมูลท่านมหัศจรรย์
ธรรมเนียมเก่าไม่เก่าของไทยท่านก็แถมความเห็นให้    ต้องแยกให้ดี
แต่ประวัติบุคคลในยุค รัชกาลที่ ๓  ท่านแจ๋วมากค่ะ         
ข้อมูลในรัชกาลที่ ๔ กับ ที่ห้า     ท่านลอกประกาศมาแท้ๆ   พอหาอ่านเทียบได้ค่ะ







ดิฉันมีบางส่วนของเสภาขุนช้าง ขุนแผน  คำครูแจ้ง  เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เก็บไว้
คุณหลวงหัวเราะดังๆนะคะ   ถ้าเคยเห็นแล้วก็ถือว่าเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนก็แล้วกัน



เสาะซื้อไข่ไก่ไข่เต่านา                                  ทำน้ำปลาแมงดาหัวหอมหั่น
แต่ลักขณะต้มไข่ให้สำคัญ                              ถ้าต้มดีแล้วมีมันขยันนัก
ถ้าต้มสุกเสียสิ้นก็กินจืด                                ต้มเปนยืดเยอะยางมะตูมตัก
กินกับข้าวสิ้นชามสักสามพัก                           แล้วก็มีน้ำหนักตลอดคืน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 พ.ย. 09, 15:40
ฮิฮิฮิ  สงสัยเย็นวันนี้ต้องรับประทานไข่ต้มยางมะตูมเป็นมื้อเย็นเสียแล้ว ขอบคุณคุณวันดีมาก

เรื่องว่า ในเรื่องของบทอัศจรรย์นั้น   ครูทั้งหลายก็ขับกันในยามดึกดื่น  เด็กเล็กง่วงนอน
ถ้าเด็กโตจะฟังบ้าง   ธรรมเนียมไทยไม่ห้าม 
เผอิญเกิดมาได้ทันดูเขาเล่นลำตัดในงานวัดสมัยเมื่อยี่สิบปีก่อน  นั่งรออยู่นานทีเดียวกว่าจะเริ่มว่าเพลง  และกว่าจะว่าเพลงโต้ตอบกันอย่างเผ็ดร้อน แบบสองแง่สองง่าม  ก็เกินเวลาเด็กวัยประถมต้องเข้าหลับนอนแล้ว  เด็กบางคนหลับคาตักพ่อแม่ที่นั่งฟังก็มี   เสียดายว่าไม่เคยได้ดูลำตัดจนจบสักครั้ง  เข้าใจว่ายิ่งดึกยิ่งเผ็ดร้อนกว่าหัวค่ำ  อย่าว่าแต่ลำตัดเลย  บางทีลิเกก็เอากับเขาเหมือนกัน

บทอัศจรรย์แบบชาวบ้านสมัยก่อนอาจจะโจ่งแจ้งมากเกินไป  จนผู้ใหญ่เห็นจะเป็นอันตรายแก่เด็ก  ภายหลังท่านผู้แต่งเลยไปใช้ภาษาที่เป็นสัญลักษณ์แทน (เป็นการเซ็นเซอร์)  ถึงเด็กๆ จะฟังจะอ่าน หากตีความไม่เป็น ไม่มีประสบการณ์ ก็จะไม่ทราบว่าสิ่งที่อ่านหมายถึงอะไร  แต่เด็กเดี่ยวนี้คงรู้หมดแล้วกระมัง  และเพราะบทอัศจรรย์นี่แหละ ที่ทำให้หมอสมิทหรือหมอบลัดเลต้องถูกขึ้นศาลโทษฐานตีพิมพ์หนังสือที่มีเนื้อหาอนาจารผิดศีลธรรม  แสดงว่าฝรั่งสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ เขาก็รู้จักบทอัศจรรย์ของไทยแล้ว

เรื่องนายกุหลาบเขียนหนังสือนี่  ก็มีคนหลายคนท้วงไว้ว่า จะเชื่อเอาเสียทั้งหมดไม่ได้  ต้องเลือกพิจารณาดูว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริงอะไรเป็นความเห็นของนายกุหลาบ   แต่ก็มีนักหนังสือบางท่านที่ปฏิเสธสิ่งที่นายกุหลาบเขียนทั้งหมด  อันนี้จะโทษใครได้ก็นายกุหลาบทำให้คนอ่านไม่ไว้สิ่งที่แกเขียนเอง 

สงสัยอยุ่เหมือนกันว่า นายกุหลาบไปได้ข้อมูลประวัติคนในสมัยรัชกาลที่ ๓มาแต่ไหน ชะรอยนายกุหลาบจะได้แหล่งข้อมูลดี ที่ไม่ใช่เอกสารหนังสือ  จากพระสงฆ์? จากขุนนางเก่า? จากคนเก่าๆ ?

ทิ้งท้ายคำถามหนึ่ง คุณวันดีพอจะทราบเรื่อง เจ้าพระภาสกรวงศ์เมื่อตอนเป็นนายราชาณัตยานุหารได้เขียนเรื่องนายจิตนายใจสนทนากันลงในดรุโณวาทว่ากระทบเจ้าพระยามหินทร์ หรือเปล่าครับ (ถ้าตอบสั้น ขอให้คุณวันดีตอบในนี้ แต่ถ้าต้องคุยกันยาว  คงต้องขึ้นกระทู้ใหม่ดีกว่าครับ)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 พ.ย. 09, 16:22
นวนิยายเรื่องแรกของไทยหรือคะ     มีละเอียดอยู่หลายแห่งเลยค่ะ
ไว้ตั้งกระทู้ใหม่ก็ได้


เรื่องครูสมิท โดนฟ้องนั้น  ไม่มีหลักฐานนะคะ
ไม่มีใครรู้ว่า  ขึ้นศาลอะไร       ครูสมิทถือสัญชาติอะไร เพราะอะไร
พยานคืออเมริกัน   ชื่ออะไร  หาไม่เจอค่ะ
จุ้นอะไรด้วยกับพระอภัยมณี
ครูสมิทไม่ได้ทำงานให้มิชชันนารีนานแล้ว  เพราะไม่มีงบ  แต่ครูยังให้มีสวดที่บ้านทุกวันอาทิตย์

ครูเป็นลูกทหารในบังคับอังกฤษ  แม่เป็นสก้อต   ครูดูเหมือนแขกมากค่ะ
ครูเกิดที่อินเดีย  ตามพ่อกับแม่ไปมะละแหม่ง  พ่อตาย(ไม่มีบัญชีการฝังศพ  ไม่มีชื่อในสุสาน)
ครอบครัวสมิท  ชาวอเมริกัน    รับเป็นบุตรบุญธรรม
เล่ากันว่า ซามูเอล  ซนตับแล่บเลยค่ะ  เคยเฝ้ารัชกาลที่ ๔ เมื่อยังทรงผนวช
สมเด็จเจ้าพระยาพระองค์ใหญ่ โปรดมาก   ให้ยืมหนังสือเอาไปพิมพ์
ใครมาเล่าก็ไม่รู้ว่า ต้องแบ่งครึ่งกับ หมอบรัดเล

เป็นแฟนขับครูสมิทค่ะ

ท่านผู้รู้ช่วยตอบว่าพยานอเมริกันผู้นั้นชื่ออะไร  ตอนที่อ่านให้ศาลฟังอ่านตอนไหนที่ว่าโป๊

ว๊า...........ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทรหรือคะ


คุณหลวงอยู่กับสมบัติหนังสือมากมาย  อ่านมาเล่าให้ฟังบ้างซิคะ


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 พ.ย. 09, 16:28
ถึงมี  ก็เข้าใจว่าน้อยกว่าของคุณวันดีอย่างเทียบกันมิได้  งานนี้เชิญคุณวันดีสำแดงข้อมูลในกระทู้ใหม่เถิด แล้วผมจะได้ช่วยสนับสนุนข้อมูลตามที่มีและหาได้


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 18 พ.ย. 09, 09:22
      วันก่อนค้นแฟ้มเก่า พบบทความนี้ คิดว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับกระทู้นี้บ้าง ครับ
บทความความสัมพันธ์ไทย ลาว จากนสพ. กรุงเทพธุรกิจ  ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๐ 

              'ลาว' ในสังคมไทยสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์ตอนต้น

อริญชย์ วรรณชาติ
 
             คำนี้นอกจากจะเป็นการใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว ยังมีนัยแห่งความหมายที่สะท้อนให้เห็นถึง
ความรู้สึกในการแบ่งกลุ่ม ซึ่งได้ปรากฏและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

            ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานและข้อมูลใดเพียงพอที่จะสามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่า เพราะเหตุใด
ผู้คนในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจึงเรียกคนแถบล้านนาและล้านช้างว่า 'ลาว' ซึ่งปรากฏคำเรียกขาน
ดังกล่าวมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างน้อย
           จากตำนานบ้านเมืองในลุ่มน้ำกกและแม่น้ำโขง แถบเชียงราย-เชียงแสน ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 14
อ้างว่าผู้ปกครองของเมืองเชียงลาว หรือเมืองเงินยางเชียงแสนสืบราชวงศ์มาจากลวจักราช โดยผู้ปกครองต่อๆ มา
ล้วนมีคำนำหน้าว่า "ลาว" 

            จิตร ภูมิศักดิ์ และมหาสิลา วีรวงศ์ ผู้เขียนประวัติศาสตร์ลาว รวมทั้งนักปราชญ์อีกหลายคนต่างให้
ความหมายไปในทิศทางเดียวกันว่า

              ลาวหมายถึงความสูงส่งแห่งฐานันดร และความเป็นผู้เจริญ ซึ่งความหมายเหล่านั้นไม่ตรงและสอดคล้อง
กับความหมายในการรับรู้ของคนไทยในสังคมปัจจุบัน
            จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า เพราะเหตุใดลาวที่เคยมีความหมายว่าผู้ยิ่งใหญ่ ผู้เจริญ กลับกลายเป็นคำที่มี
ความหมายไปในทำนองว่าเป็นคนบ้านนอกล้าหลังตามความคิดของคนไทย

            การรับรู้เกี่ยวกับลาวในสังคมไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นน่าจะเกิดขึ้นภายใต้
กรอบความคิดตามช่วงระยะเวลาที่ต่างกัน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 18 พ.ย. 09, 09:24
กรอบความคิดแรก        
                  เป็นการรับรู้ในลักษณะของพื้นที่ หรือความเป็นกลุ่มชน โดยคนสยามในอดีตมักจะเรียกดินแดน
และผู้คนบริเวณแม่น้ำโขงว่า ลาว  ซึ่งหมายถึงดินแดนและผู้คนแถบล้านนา ล้านช้าง และภาคอีสานในปัจจุบัน
การรับรู้ในลักษณะเช่นนี้เป็นการรับรู้ในเชิงพื้นที่เท่านั้น ยังไม่ปรากฏความรู้สึกของความเป็นชาติเข้ามาร่วม

กรอบความคิดที่สอง      
                  คือการรับรู้ผ่านความสัมพันธ์ทางการเมือง ระหว่างผู้ปกครองแคว้นและอาณาจักร เช่น กรณีที่
พระเจ้าอู่ทอง(อยุธยา) และพระเจ้าฟ้างุ้ม(ล้านช้าง) ทรงสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างกันด้วยการแบ่งปันเขตแดน
อาณาจักร ดังข้อความในพระราชสาสน์ที่ปรากฏในพงศาวดารลาวว่า

             ...เฮาหากแม่นพี่น้องมาแต่ขุนบุลม(ขุนบรม)พู้น เจ้าอยากได้เมืองให้เอาแค่เขตแดนดงสามเส้า
(ดงพระยาไฟ) ไปจดภูพระยาพ่อและแดนเมืองนครไทยเถิด...

กรอบความคิดที่สาม      
                 คือการรับรู้ผ่านความสัมพันธ์ทางเครือญาติโดยการแต่งงาน เมื่อลาวเข้ามามีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ
กับไทย ย่อมทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์กันทางสังคมขึ้นระหว่างคนทั้งสองกลุ่ม ส่งผลให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับลาวขึ้นใน
สังคมไทย เช่น
                 การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีเจ้าจอมองค์หนึ่งเป็นชาวเวียงจันทน์
นาม 'แว่น' หรือเรียกอีกชื่อว่า 'ท่านเสือ'ซึ่งทรงได้รับความไว้วางพระทัยให้ดูแลกิจการภายในแทน
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี (ท่านนาก) และต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นถึงพระสนมเอก
             นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่าอิทธิพลของพระสนมพระองค์นี้น่าจะมีผลต่อการควบคุมและดำเนิน
นโยบายระหว่างกรุงเทพฯ กับเวียงจันทน์อยู่ไม่น้อย  


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 18 พ.ย. 09, 09:27
กรอบความคิดที่สี่         
                  คือการรับรู้ผ่านการทำสงคราม กล่าวคือเมื่อยามเกิดศึกสงครามระหว่างสยามกับลาวย่อมจะมี
การเกณฑ์แรงงานไพร่เพื่อออกไปรบ ตลอดจนการรวบรวมเสบียงอาหารในกองทัพ การเตรียมการศึกใน
แต่ละครั้งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับลาวแก่สังคมไทย
                นอกจากนั้นผลพวงจากการทำสงคราม เช่น การกวาดต้อนเทครัวชาวลาวเมืองเวียงจันทน์ลงไปไว้ที่
เมืองสระบุรีหลายหมื่นคน อีกส่วนหนึ่งส่งไปไว้ที่ลพบุรี จันทบุรี ส่วนลาวซ่งดำ หรือลาวโซ่งให้ไปอยู่ที่เพชรบุรี
สุพรรณบุรี และราชบุรี ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ก็ทำให้ลาวเหล่านั้นเข้ามาเกี่ยวข้องและมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมไทย

กรอบความคิดสุดท้าย       
                    คือการรับรู้ผ่านการเป็นพลเมืองของประเทศ เมื่อชาวลาวเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสังคมไทยย่อมทำให้
เกิดความสัมพันธ์กับคนในสังคมไทยด้วย คนลาวที่อาศัยในไทยได้รับการขนานนามว่า 'ลาวสยาม' เพราะชาวสยาม
ตีดินแดนนี้ได้จากลาวซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของตน การเป็นลาวสยามนั้นแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของลาวที่มีต่อสังคมไทย
ในลักษณะการเป็นพลเมืองของประเทศ

                 ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ความคิดเกี่ยวกับลาวแสดงให้เห็นความสัมพันธ์
อันดีที่มีต่อกันอันเนื่องมาจากเป็นช่วงที่เจ้านายเชื้อสายลาวเป็นที่นิยมชมชอบและมีบทบาทอยู่ในราชสำนักสยาม
ดังเช่น กรณีท่านเสือพระสนมเอก หรือ กรณีการสถาปนาพระองค์เจ้าหญิงจันทบุรี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 1
ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเจ้าทองสุก(พระราชธิดาในเจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์) ขึ้นเป็น 'สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี' และต่อมาก็ได้ทรงอภิเษกเป็นพระชายาในรัชกาลที่ 2


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 18 พ.ย. 09, 09:34
              ทว่าทัศนะและมุมมองกลับเปลี่ยนไปในทางเกลียดชังซึ่งปรากฏชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังจากกรณี
ความขัดแย้งระหว่างเจ้าอนุวงศ์กับราชสำนักไทย ความเกลียดชังถูกถ่ายทอดผ่านประวัติศาสตร์กรณีการตั้งแข็งเมือง
ของเจ้าอนุวงศ์ จนทางการไทยต้องส่งกำลังไปปราบ และได้จับเจ้าอนุวงศ์ พระชายา พระโอรส และพระธิดาจองจำ
ในกรงเหล็ก ลำเลียงเข้ามายังกรุงเทพฯ แล้วนำไปประจานไว้ที่สนามหลวงจนเจ้าอนุวงศ์ถึงแก่พิราลัย และยังนำพระศพ
เจ้าอนุวงศ์เสียบประจานไว้ที่สำเหร่ 

           กรณีดังกล่าวเป็นการถ่ายทอดทัศนะแห่งความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่ทัศนะ
และมุมมองแห่งความไม่เข้าใจกันของทั้งสองชาติ

          ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดทัศนะของสังคมไทยต่อลาวตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือ
ความสัมพันธ์ทางการเมือง หากความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นไปในลักษณะที่ดี ทัศนะของชาวไทยมีต่อลาวก็ย่อมจะเป็นไป
ในทางที่ดีด้วย ในทางกลับกันเมื่อความสัมพันธ์ทางการเมืองเสื่อมทรามก็นำไปสู่การสร้างความเกลียดชัง ชนชั้นปกครอง
จึงมีส่วนสำคัญในการสร้างภาพและขยายมุมมองทางทัศนะที่มีต่อลาวไปสู่คนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม

          การรับรู้ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นปัญหาที่มีความซับซ้อนในทางประวัติศาสตร์ เป็นบทเรียนที่ดีให้คนยุคปัจจุบัน
ตระหนักและเรียนรู้เพื่อแสวงหาหนทางที่จะสร้างความเข้าใจ และความเคารพในความเสมอภาค...ไม่ว่าจะมาจาก
ชาติพันธุ์ใดก็ตาม

พระธาตุศรีสองรัก จังหวัดเลย พระธาตุที่แสดงถึงมิตรไมตรีระหว่างอยุธยากับล้านช้าง


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 พ.ย. 09, 10:22
พอดีเห็นเรื่องนี้เมื่อเช้า เห็นเข้ากันดีกับประเด็นที่คุณSilaเสนออยู่ ขออนุญาตคุณยอดเยี่ยม เทพทรานนท์เจ้าของข้อเขียนนี้ นำมาให้อ่านกันที่นี่ด้วย


น้ำตาศิษย์ลาวที่เมืองอุบลฯ


เมื่อวานนี้ผมไปสอนหนังสือที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อุบลราชธานี สอนตั้งแต่ ๘.๓๐ น. ยันเครื่องบินออกตอนค่ำตามเคย สนุกดี และมีบรรยากาศดี แม้จะสอนปีละเพียงวันเดียว แต่ก็มีความเป็นกันเองเหมือนกับสอนกันมาทั้งปี

ใน Class ที่สอน มีนักเรียนทุน ป.โท จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวมาเรียนด้วย เป็นอาจารย์อยู่ที่ลาวครับ  เป็นหญิงหนึ่งคนและชายหนึ่งคน ตั้งใจเรียนเหมือนนักเรียนที่ต้องมาเรียนต่างถิ่นเป็นธรรมดา การสอนวันนั้นไม่เน้นทางวิชาการ แต่เน้นวิธีคิด ในตอนหนึ่งของการสอนขั้นตอนการตัดสินใจ Engineering Critical Thinking “การจัดระบบความคิดให้เป็นระเบียบ” เพื่อให้นักเรียนสามารถ “ผลิตงานภายใต้แรงกดดัน” ให้ได้ (Productive Under Pressure) จึงเชิญนักศึกษาไทย ๒ คน และนักศึกษาลาว ๑ คน มายืนหน้าห้อง

ผมเริ่มถามนักเรียนไทยว่า... “เมืองไทยนั้นเป็นเมืองที่คนทั่วโลกบอกว่าเป็นสยามเมืองยิ้ม เป็นเมืองที่ฝรั่งมังค่าบอกว่าเป็นเมืองแห่งความเป็นมิตร ช่วยเหลือและโอบอ้อมอารี.... แต่เคยคิดไหมว่าทำไม ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีแต่ศัตรูรอบด้าน เพื่อนบ้านของเรา ไม่ว่าจะเป็นพม่า มาเลเซีย ลาว เขมร เวียดนาม ต่างก็เกลียดเมืองไทยกันหมดเลย.... มันเกิดอะไรขึ้นหรือครับ”

นักเรียนไทย.... นิ่ง

ผมพูดต่อว่า.... “ทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเกิดจากเหตุและปัจจัย เราต้องหาเหตุและปัจจัยให้ได้”

นักเรียนไทยคนหนึ่งตอบว่า.... “เขาคงอิจฉาเรา เพราะเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร”

ถามนักเรียนไทยต่อว่า... “รู้สึกไหมว่าในภูมิภาคนี้ ไม่มีประเทศไหนเลยที่จะทำลายทรัพยากรของประเทศเพื่อนบ้านเหมือนพวกคนไทยเรา เราไม่เคยได้ยินว่า ลาวมาตัดป่าเมืองไทย หรือพม่ามาขุดแร่เมืองไทย.. เราเคยแต่ได้ยินว่าคนไทยเราไปตัดป่า ขุดแร่ในลาว ในเขมร ในพม่า.. มันเกิดอะไรขึ้นหรือ”

นักเรียนไทย.... นิ่ง

ผมพูดต่อว่า.... “การนิ่ง ไม่ได้แก้ปัญหา”

นักเรียนไทยตอบว่า.... “อาจจะเพราะว่าเราเจริญกว่า และเราค้าขายเก่งกว่า”

ผมถามนักเรียนไทยต่อว่า.... “ประเทศแถวๆเรานี้ ล้วนเป็นประเทศที่มีศิลปวัฒนธรรมมายาวนาน หลายแห่งเป็นมรดกโลก... แต่รู้สึกไหมว่า ไม่มีประเทศไหนเขามาเอาศิลปวัฒถุของเราไปเลยในยามที่ทั้งสองฝ่ายสงบไม่รบกัน ข่าวว่ามีแต่เราที่เข้าไปตัด เข้าไปขโมย เข้าไปขนศิลปะของเขามาวางขายในบ้านเรา ทั้งเทวรูปหิน หน้าบันไม้ ต่างๆนานา แถมส่งไปขายให้ต่างประเทศอีกด้วย ... มันเกิดอะไรขึ้นหรือครับ”

นักเรียนไทย.... นิ่ง (อาจจะเริ่มรู้สึกตัวว่ากำลังถูกวางยาอะไรสักอย่าง)

ผมถามต่อว่า.... “กลับมาถึงคำถามแรกดีกว่า.... ทำไมเพื่อนบ้านเราเขาถึงเกลียดเรา”

นักเรียนไทย.... นิ่ง

ถามต่อว่า.... “เพราะอะไรหรือครับ”

นักเรียนไทย.... นิ่ง

ผมหันไปถามนักเรียนทุนจาก สปป.ลาว ว่า... “คนลาวรู้สึกอย่างไรกับคนไทยบ้างครับ ขอให้ตอบตามจริงอย่างสุภาพ ไม่มีอารมณ์ แต่ขอให้พูดความจริง เพราะในนี้คือห้องเรียน และการพูดของท่าน อาจจะเป็นจุดเล็กๆในการแก้ปัญหาให้ลูกหลานไทย-ลาว เพื่อให้เราอยู่กันอย่างมีความสุขขึ้น”

นักศึกษาลาว.... นิ่ง (สงสัยว่ายังงงๆอยู่ หรืออาจจะกำลังติดตามคำตอบของนักเรียนไทยอย่างจดจ่ออยู่)

ผมพูดต่อว่า....  “ความน่าสนใจก็คือ ตอนนี้มีคนเวียดนามเข้ามาในลาวมาก รู้สึกอย่างไรกับเพื่อนบ้านจากแดนซ้าย กับเพื่อนบ้านจากแดนขวา”

นักศึกษาลาวตอบว่า... “พูดจริงๆนะคะ คนลาวรู้สึกว่าคนไทยดูถูกและเอาเปรียบคนลาว”

ข้าพเจ้า... นิ่ง (ไป ๒ อึดใจ)  และพูดต่อเพื่อขอเวลาคิดบ้างว่า.... “เป็นความรู้สึกของตนเองหรือของคนลาวโดยรวม”

นักศึกษาลาวตอบว่า... “เป็นภาพรวมๆทั่วประเทศค่ะ”

กระผม... นิ่ง (ไปอีก ๑ อึดใจ) และหันหน้ามาบอกนักเรียนไทยอีก ๖๐ ชีวิตใน Class ว่า.. “นี่คือคำตอบจากความจริงใจของเพื่อนชาวลาว ต้องขอบคุณเขาที่เขากรุณาบอกความจริงให้เรา และนับแต่นี้เป็นต้นไป เราคงต้องคิดและคิดแล้วครับว่า เราจะทำอย่างไรต่อไป”

ผมพูดต่อว่า.... “การกระทำใดต่อไป จะต้องเกิดจากข้อมูลและความเข้าใจ ต้องใจกว้าง และเริ่มปฏิบัติการแก้ปัญหาแห่งความรู้สึกนั้น เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ปัญหาอาจจะไม่สามารถแก้ได้ในวันเดียว คงต้องอาศัยเวลา วันหนึ่งความรักก็จะกลับมาหาพวกเราทุกคนในภูมิภาคนี้อีกครั้งหนึ่ง... คิดและเริ่มทำ ได้แล้วกระมังครับ"

ผมหันกลับมาที่ศิษย์ลาวแล้วพูดว่า..... “รู้จักสมเด็จพระเทพรัตนฯ หรือไม่”

นักศึกษาลาวตอบว่า... “รู้จักดีค่ะ”

ผมถามต่อว่า.... “วิจารณ์หรือแสดงความรู้สึกต่อพระองค์ท่านสักนิดซิครับ”

นักศึกษาลาวตอบว่า..... “ท่านเป็นคนดีที่สุดในโลก”

นักศึกษาลาวพูดต่อว่า.... “พระเทพเป็นคนดีที่สุด พระเทพรักคนลาว เป็นห่วงคนลาว เข้าใจคนลาว  ช่วยเหลือคนลาว ไม่เคยดูถูกคนลาว ท่านเป็นคนที่ดีมากๆๆ”

ผมถามนักศึกษาลาวต่อว่า... “คนลาวรู้สึกอย่างไรต่อพระองค์ในภาพรวม”

นักศึกษาลาวพูดเสียงเครือๆว่า... “คนลาวรักสมเด็จพระเทพมากๆ มีบ้านพระเทพอยู่ที่เขื่อนน้ำงึมด้วย เรารู้สึกว่าพระเทพเป็นคนที่ดีที่สุด เป็นห่วงและทำให้เมืองลาวมากๆ..... ฯลฯ...”

ผมพูดต่อไปว่า... “มีอะไรจะพูดอีกไหมครับ”

นักศึกษาลาว.... เงียบ และยกมือขึ้นปาดน้ำตา

ยอดเยี่ยม... อึ้ง และ เงียบไปเหมือนกัน


ผมหันกลับมาหาลูกศิษย์ไทยอีก ๖๐ ชีวิตว่า....


“นี่คือทองคำที่อยู่บนหัวนอนเรา เราอาจจะรู้ว่าเรามีทองคำอยู่ แต่ด้วยความเคยชิน เราจึงไม่ค่อยได้เช็ดถูรักษาทองคำของเรา แต่เราก็จะไม่ยอมให้ใครมาเอาทองคำของเราไป.... เป็นความรู้สึกที่เราต้องรู้สึก และเป็นความรู้สึกที่วิศวกรอย่างเราต้องแสดงออกมาเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ นี่คือความรู้สึกของเรา”

หลังจากนั้นผมพูดอีกหลายประการ แต่ขออนุญาตไม่บันทึกไว้ที่นี้ เพราะเกรงว่าจะไม่สมควรที่จะบันทึกเป็นตัวหนังสือออกมาครับ

ผมรักประเทศไทย.... ผมรักและเทิดทูนสมเด็จพระเทพรัตนฯ ครับ


ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์
๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 09, 11:46
ขอบคุณสำหรับบทความนี้ค่ะ คุณ N.C.   อ่านแล้ว ตื้นตันใจ

ทีแรกว่าจะมาเล่าถึงลาว(ล้านนา)พ่อลูกสองคนที่เป็นตัวประกอบในตอนศึกเชียงใหม่       คุณวันดีเคยเกริ่นไว้   แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียด
แต่ไม่อยากเล่าในตอนนี้ให้เสียบรรยากาศดีๆจากบทความ   เลยหยุดไว้ก่อน
เผื่อใครมาเล่าเรื่องอื่นคั่นโปรแกรมอีกบ้าง

ภาพที่นำมาลง มาจากเว็บนี้
http://kanchanapisek.or.th/kp14/news/works/49/feb/240206/240206.html

๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ คณะบุคลากรทางการแพทย์จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน ๓๑ คน ที่เข้าร่วม   
“  โครงการฝึกอบรมเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขสำหรับบุคลากรทางการแพทย์จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามพระราชดำริ  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พ.ศ. ๒๕๔๙ ”รวมทั้งคณะวิทยากร  และผู้ร่วมดำเนินงานโครงการ  ประกอบด้วย   อัครราชทูตที่ปรึกษาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประจำประเทศไทย รองผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ  อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล  คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์  คณบดีคณะเภสัชศาสตร์   คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์    คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์   คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน  มหาวิทยาลัยมหิดล  ผู้บริหารโรงพยาบาลขอนแก่น  ผู้บริหารโรงพยาบาลน้ำพอง  จังหวัดขอนแก่น   ผู้บริหารโรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม  จังหวัดอุดรธานี  และผู้บริหารโรงพยาบาลเสาไห้  จังหวัดสระบุรี  เฝ้าทูลละอองพระบาท  ณ  อาคารชัยพัฒนา  สวนจิตรลดา  กรุงเทพฯ 


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 พ.ย. 09, 15:21
รู้สึกดีครับ ได้อ่านบทความที่เอามาลงแล้วสบายใจและดีใจเหลือประมาณ :)


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 24 ธ.ค. 09, 14:46
       วันนี้ นสพ.มติชน คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม มีบทความน่าสนใจเกี่ยวกับ ล้านนา - ลาว
จึงคัดลอกมาลงในกระทู้นี้ ครับ

         ล้านนาโบราณเป็นลาว (แปลว่า ผู้เป็นใหญ่, ผู้เป็นนาย) เพิ่งเปลี่ยนเป็นไทยเมื่อมีชื่อ ประเทศไทย

คัดบางตอนจาก ภูมิสังคมวัฒนธรรม เรื่อง ชื่อบ้านนามเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ


            คนกรุงเทพยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รู้จักเมืองเชียงใหม่  และเมืองอื่นๆ ในล้านนา ในนาม ลาวพุงดำ บ้าง
ลาวเฉียงบ้าง
            นอกจากรู้ด้วยตนเองแล้ว ยังรู้ผ่านวรรณคดีและการแสดง เช่น พระลอ ขุนช้างขุนแผน ฯลฯ


ลาวเชียงใหม่

         เมืองเชียงใหม่กกลายเป็น "เมืองในอุดมคติ" เมื่อทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ตัดเชื่อมถึงเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔
ขณะนั้นชาวล้านนาเรียกตัวเองว่า ลาว คนอื่นก็เรียกชาวล้านนาและเชียงใหม่ว่า ลาว

         เมื่อปฏิรูปการปกครองราว พ.ศ. ๒๔๓๕ สมัยรัชกาลที่ ๕ บริเวณล้านนาได้ชื่อเป็นลาวว่า มณฑลลาวเฉียง

         ครั้น พ.ศ. ๒๔๔๒ มีปัญหาทางการเมืองกับเจ้าอาณานิคมจึงให้ยกเลิกคำว่าลาว แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ

         แต่สำนึกของคนทั่วไปในภาคกลาง เช่น กรุงเทพฯ ยังเรียกคนเชียงใหม่และบริเวณล้านนาทั้งหมดว่าเป็นลาว
ดังมีพยานในความนิยมละครเรื่องพระลอ สาวเครือฟ้า ฯลฯ ที่มีเพลงประกอบสำเนียงลาว (ล้านนา) รวมทั้งขุนช้างขุนแผน
(แต่งขึ้นหลังรัชกาลที่ ๒) บอกว่านางวันทองเรียกนางลาวทอง (จากเมืองเชียงทอง ใกล้ๆ เมืองเชียงใหม่และลำพูน) ว่า

         อีลาวชาวดอนค่อนเจรจา    กินกิ้งก่ากิ้งกบกูจะตบมึง

         แต่เมืองเชียงใหม่และล้านนาทั้งหมดก็ไม่ได้มีแต่ลาวพวกเดียว หากมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อีกมาก
 
          ขอให้สังเกตด้วยว่าขุนช้างขุนแผนตั้งแต่ต้นจนจบ (สำนวนเก่า) แม้แต่งเพิ่มเติม (สำนวนใหม่) ในสมัยหลังๆ
ล้วนมีโครงเรื่องหลักเหตุการณ์เดียวทั้งหมด คือสงครามระหว่างอยุธยาและเชียงใหม่


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 24 ธ.ค. 09, 14:50
ล้านนาเป็นลาว

        ความเป็นล้านนา เกิดขึ้นแท้จริงเมื่อเรือนพ.ศ.๒๐๐๐ ในแผ่นดินพระเจ้าติโลกราช ทรงได้รับยกย่องเป็น
มหาราชล้านนา

         ชาวล้านนาเรียกตัวเองว่า ลาว และไม่เคยเรียกอย่างอื่นนอกจาก ลาว แปลว่า ผู้เป็นใหญ่,ผู้เป็นนาย ฯลฯ
มีฐานะเทียบคำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางว่า ขุน และกษัตริย์ ดังเห็นทั่วไปในคำนำหน้านามเจ้านายเชื้อวงศ์
ปกครองบ้านเมืองเก่าแก่ในตำนาน พงศาวดาร เช่น ลาวเจือง (คือท้าวเจือง ท้าวฮุ่ง) ลาวเมง (คือบิดาพระยามังราย) ฯลฯ
แต่ก็มีชาติพันธุ์อื่นๆ อยู่ด้วย เช่น มอญ(เมง) พม่า(ม่าน) ไทยใหญ่(เงี้ยว) ฯลฯ
ดังโคลงนิราศหริภุญชัยบทหนึ่งว่า
 
     สุญารามหนึ่งหั้น         บุญเลง
ที่รูปไททังเมง                 ม่านเงี้ยว
ถือลาดาบกับเกวง             สกรรจ์แก่น   คนแฮ
ช้างฉวาดพันเกล้าเกลี้ยว      แกว่นสู้สงคราม ฯ

    โคลงบาทที่สองว่า - ไททังเมง     ม่านเงี้ยว -  มีคำว่าไท ไม่ได้หมายถึงคนไทยอย่างทุกวันนี้
หากเป็นศัพท์แปลว่า คน (เฉยๆ) ข้อความนี้หมายว่า มีคน ทั้งเมง ม่านและเงี้ยว (ไม่ได้หมายถึงคนไทย)

       คำเรียกตัวเองว่า คนเมือง เพิ่งมีขึ้นหลังพ.ศ. ๒๔๐๐ ช่วงแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ ปฏิรูปการปกครอง

         --- อ. อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ผู้เชี่ยวชาญภาษาล้านนา อ้างว่า ไม่พบคำว่า "คนเมือง" ในเอกสารโบราณ
ของล้านนา และอาจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล ผู้เขียนประวัติล้านนาปัจจุบันก็ยังได้ยืนยันคำว่า "คนเมือง" เพิ่งจะปรากฏครั้งแรก
ในรายงานยของกรมหมื่นพิชิตปรีชากร ข้าหลวงพิเศษฝ่ายลาวเฉียง (ดูแลเมืองเชียงใหม่ ลำพูนและลำปางระหว่างพ.ศ. ๒๔๒๗-๒๘)

      จึงอาจกล่าวได้ว่า คำว่า "คนเมือง" คงเป็นคำที่เพิ่งเกิดในสมัยหลังการปฏิรูปการปกครอง รัชกาลที่ ๕ นี่เอง ----

ภาพประตูเชียงใหม่ในอดีต ถ่ายไว้เมื่อ พ.ศ. 2442
จาก หนังสือพระบารมีปกเกล้าฯ ยุพราชวิทยาลัย 100 ปี นามพระราชทาน


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 24 ธ.ค. 09, 14:53
คนไทย

         หลังเปลี่ยนชื่อประเทสสยาม เป็น ประเทศไทย เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๒ คนเชียงใหม่และคนล้านนาทั้งหมด
ก็ถูกบังคับให้เป็น คนไทย ตามชื่อประเทศที่เปลี่ยนไปสืบจนปัจจุบัน


    ---- เชียงใหม่,ล้านนา มาจากไหน

    ๕๐๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว       แรกพบหลักฐานบรรพชนคนล้านนาที่ลำปาง

    ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว          บรรพชนคนล้านนาอยู่เพิงผาในหุบเขาที่แม่ฮ่องสอน  

    ๕,๐๐๐  ปีมาแล้ว         เริ่มปลูกข้างเหนียว กินข้าวนึ่ง  พบที่ถ้ำปุงฮุง แม่อ่องสอน

    ๔,๐๐๐ ปี    แรกมีชุมชนหมู่บ้านในล้านนา พบที่ปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน

    ๓,๐๐๐ ปี   มีชุมชนหมู่บ้านอยู่ริมน้ำปิง วัง ที่เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง

    หลัง พ.ศ. ๑    แรกมีชุมชนบ้านเมืองราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว อยุ่ทางลุ่มน้ำปิง ที่ลำพูน

    หลัง พ.ศ. ๕๐๐  ศาสนาจากอินเดียถึงสุวรรณภูมที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังไม่ถึงล้านนา

    หลัง พ.ศ. ๑,๐๐๐  แรกมีรัฐหริภุญชัยที่ลำพูนรับศาสนาจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา

    หลัง พ.ศ. ๑,๕๐๐   รัฐหริภุญชัยเป็นศูนย์กลางการค้าข้ามภูมิภาค โขง-สาละวิน

    หลัง พ.ศ. ๑,๖๐๐  ตระกูลลาวบริเวณโยนก ควบคุมเส้นทางการค้า โขง สาละวิน

    หลัง พ.ศ. ๑,๗๐๐   เครือญาติลาวขยายอำนาจร่วมกับเครือข่ายมังราย คุมสองฝั่งโขง

    หลัง พ.ศ. ๑,๘๐๐  มังรายร่วมกับตระกูลลาว ยึดหริภุญชัย สร้างเมืองเชียงใหม่

    หลัง พ.ศ. ๑,๙๐๐   เมืองเชียงใหม่วุ่นวาย  การเมืองภายใน-ภายนอกคุกคาม
                                     แรกมีพระแก้วมรกตที่เชียงราย

    หลัง พ.ศ. ๒,๐๐๐  เมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางอำนาจ "รัฐล้านนา" ครั้งแรก
                                   พระแก้วมรกต ประดิษฐานเมืองเชียงใหม่ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๑๑-๒๐๙๖

    หลัง พ.ศ. ๒,๑๐๐   บุเรงนองยึดล้านนา แล้วปกครองถึงกษัตริย์มังระราว ๒๐๐ ปี

    หลัง พ.ศ. ๒,๓๐๐  เมืองเชียงใหม่ร้างหนีศึกพระเจ้ากาวิละฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่    

    หลัง พ.ศ. ๒,๔๐๐   ลาวเชียงใหม่ เป็นคนเมือง แล้วเปลี่ยนเป็น คนไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 24 ธ.ค. 09, 14:55
โยนก ล้านนา มาจากไหน

    บ้านเมืองในดินแดนภาคเหนือของไทย ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำระหว่างหุบเขาอันอุดมสมบูรณ์
มีขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง

    ที่เป็นขนาดใหญ่มี ๒ บริเวณ คือ  บริเวณที่ราบลุ่มเชียงใหม่-ลำพูน  กับบริเวณที่ราบลุ่มเชียงราย-พะเยา

    สภาพภูมิประเทศที่มีเทือกเขาขวางกั้นพื้นที่ราบให้แยกจากกัน แต่มีช่องเขาเล็กๆ ติดต่อกับแหล่งอื่นๆ
ทำให้บ้านเมืองเหล่านี้มีพัฒนาการเติบโตไม่พร้อมกัน

     บ้านเมืองที่เติบโตเป็นรัฐ (หรือ แคว้น) เก่าแก่ที่สุดอยู่ที่ราบลุ่มเชียงใหม่-ลำพูน มีเมืองหริภุญชัย
(ลำพูน) เป็นเมืองสำคัญ ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง มีพัฒนาการเป็นบ้านเมืองตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. ๑,๒๐๐
อันเนื่องมาจากการขยายอิทธิพลของแคว้นละโว้ (ลพบุรี) ที่เป็นบ้านเมืองหรือรัฐขนาดใหญ่บริเวณที่ราบลุ่ม
แม่น้ำเจ้าพระยา

     ต่อมาเมืองหริภุญชัย ขยายขอบเขตไปยังเมืองเขลางค์ (ลำปาง) บนที่ราบลุ่มแม่น้ำวัง

     ส่วนบริเวณอื่นๆ มีชุมชนเล็กๆ กระจัดกระจายอยู่ตามที่สูงกับที่ราบ ยังไม่รวมตัวเป็นบ้านเมืองใหญ่ มีเรื่องราว
ความเป็นมาในลักษณะของคำบอกเล่าหรือนิทานปรัมปรา เช่น บริเวณที่ราบลุ่มเชียงราย-พะเยา
มีคำบอกเล่าเรียกว่า โยนก

     ต่อมาภายหลังเมื่อรวบรวมบ้านเมืองบริเวณที่ราบลุ่มเชียงใหม่-ลำพูน กับบริเวณเชียงราย-พะเยา และบริเวณ
ใกล้เคียงเข้าด้สยกัน จึงเรียกรวมทั้งหมดว่า ล้านนา

      ผู้คนในล้านนามีหลายเผ่าพันธุ์ หลายตระกูล เช่น มอญ-เขมร, ม้ง-เย้า, จีน-ทิเบต ฯลฯ แต่คนกรุงศรีอยุธยา
(สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๙๙- ๒๒๓๑) เรียกคนในตระกูลไทย-ลาว ชาวล้านนา
ว่า ไทยใหญ่ แล้วเรียกคนทางล้านช้างว่า ไทยน้อย ส่วนคนทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง คือ ไทยสยาม


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 24 ธ.ค. 09, 15:05
        --------- ล้านนา หมายถึง ดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลบริเวณที่เป็นภาคเหนือของไทยทุกวันนี้
โดยมีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางมาแต่สมัยแรกๆ และเป็นชื่อที่มีอยู่คู่กันมากับ ล้านช้าง ที่หมายถึงดินแดนตอนเหนือ
ของลาว มีหลวงพระบางเป็นศูนย์กลาง
           เนื่องจากภาษาถิ่นภาคเหนือ ไม่นิยมเขียนรูปวรรณยุกต์ในใบลานสมัยโบราณ ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน
ไปว่าดินแดนภาคเหนือสมัยโบราณมีชื่อเรียกว่า ลานนา แล้วภายหลังเรียกว่า ลานนาไทย
        แท้จริงแล้วในภาคเหนือมักไม่ใช้ว่า  ลาน ในความหมายว่า บริเวณที่ว่าง แต่ใช้คำว่า ข่วง เช่น ข่วงเมรุ ข่วงวัด
วัดหัวข่วง

          ---------- โยนก  ในภาษาตระกูลไทย-ลาว หมายถึง ดินแดนและ/หรือผู้คนในภาคเหนือสมัยโบราณ
อาจแทนคำว่าล้านนาได้
           แรกเริ่มเดิมที ชื่อ โยนก หมายถึงดินแดนและประชากรบริเวณที่ทุกวันนี้เรียกว่าที่ราบลุ่มจังหวัดเชียงรายกับพะเยา
และต่อเนื่องเข้าไปถึงบางส่วนของพม่าและลาวดดยมีลำน้ำแม่กกเชื่อมแม่น้ำโขงเป็นแกน
          คำ โยนก กับ ยวน เป็นคำเดียวกันที่ไม่ใช่ตระกูลภาษาไทย-ลาว แต่มีรากจากภาษาพม่า หมายถึง ขี้ข้า หรือ ทาส


กระทู้: ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ธ.ค. 09, 15:21
เอา #๙๓ มาลงอีกที

จิตร ภูมิศักดิ์เขียนไว้ในหนังสือเล่มเดียวกับที่อ้างไว้ใน #๗๒ เกี่ยวกับยวน, โยน, โยนก และคนเมือง ดังนี้

คำว่า ยวน หรือ โยน นี้ชาวภาคเหนือไม่เรียกตัวเอง เขาเรียกตนเองว่า คนเมือง. คำว่า ยวน-โยน เป็นคำที่คนอื่นเรียก.

โยนก ในรูปศัพท์บาลี ก ท้ายคำนั้นแปลว่า ชาว, โยนก จึงหมายถึง ชาวโยน, พวกไตลื้อสิบสองปันนาเรียกชาวล้านนาว่า ไตโยน หรือ ไตยน, เช่น โยนเจงใหม่ (โยนเชียงใหม่), โยนละกอน (โยนลำปาง, ชื่อเก่าของเมืองลำปางว่า ละกอน) เป็นต้น. แต่สระโอของภาษาไทยพายัพและไตลื้อนั้น สำเนียงลาวและไทยกลางเป็น อัว, เช่น หมากโม่ง ไทยว่า มะม่วง ฯลฯ คำว่า โยน จึงเป็นไทยกลางและลาวว่า "ยวน"

ยวน เป็นคำไทยภาคกลางที่เรียกชาวล้านนามาแต่ดั้งเดิมก่อนคำอื่น. "ลิลิตยวนพ่าย" ซึ่งแต่งเมื่อสมัยอยุธยาตอนต้นเล่าถึงการรบกับเชียงใหม่, เรียกไทยล้านนาว่า ยวน. ยวนพ่าย หมายความว่า ไตโยนแพ้.

ที่จริงแล้ว ชาวไทยล้านนาถือว่าตัวเองเป็น ไต, ไม่ได้เรียกตนเองว่า ลาว เลย. เขาเรียกตนเองว่า คนเมือง ประวัติความเป็นมาของชื่อ คนเมือง นั้น ทางหนึ่งกล่าวว่าเป็นชื่อที่เรียกเพื่อยืนยันว่าตนเป็นชาวเมืองมิใช่ชาวป่า - คนเมืองมิใช่คนป่า, อีกทางหนึ่งกล่าวว่าเกิดขึ้นในสมัยที่พม่าปกครองล้านนาเป็นเมืองขึ้น (จากราว พ.ศ. ๒๑๐๐ ลงมาถึงเกือบสองร้อยปี) ชาวไทยภาคเหนือเรียกชาวพม่าว่า คนม่าน และเพื่อแยกตัวให้ชัดว่ามิใช่คนม่านจึงได้เรียกตัวเองขึ้นว่า คนเมือง. แต่ผู้อธิบาย (สงวน สุขโชติรัตน์, ไทยยวนหรือคนเมือง, วารสารวัฒนธรรมไทย ฉบับประจำเดือนธันวาคม ๒๕๐๗.) ก็มิได้อธิบายแถลงว่าทำไมจึงเลือกเอาคำ คนเมือง มาใช้สำหรับตนเอง. และก็แปลกที่ทำไมจึงไม่ใช้คำว่า คนไต เสียตรง ๆ จะได้ตรงข้ามกับ คนม่าน; หรือว่าจะมุ่งแปลคำคนเมืองว่า คนพื้นเมือง, ซึ่งนี่เห็นจะไม่ใช่.