เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 01 ก.พ. 10, 16:32



กระทู้: หลวงวิลาศปริวัตร(ครูเหลียม วินทุพราหมณกุล)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ก.พ. 10, 16:32
คุณพ่อของครูเหลี่ยม คือ ขุนพิมลสารไกร(ดิส)

คุณแม่คือ นางทองคำ   ธิดาของ ขุนศรีวิน(หมอคง หรือ คงเทวดา) กับนางงิ้ว(ธิดานายกัน)


นายคงเทวดาเป็นโหรประจำราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้่าอยู่หัว
ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณ  ปากตรอกต้นโพธิ  เสาชิงช้า  ตำบลสำราษราษฎร์

หมอคงมีธิดา ๖ คน หวิดๆท้าวสามลไปแล้ว

ธิดาทั้ง ๖ คือ  
นวม
ทองคำ
แสง
เริญ
หรุ่น
สังวาลย์




กระทู้: หลวงวิลาศปริวัตร(ครูเหลียม วินทุพราหมณกุล)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ก.พ. 10, 21:32
ด.ช. เหลี่ยม เมื่ออายุ  ๖ - ๗ ปีเรียนภาษาไทยกับบิดาที่บ้าน
เรียนภาษาอังกฤษกับอาจารย์ม่วง วัดเทพธิดา  เป็นผู้มีความรู้ภาษาอังกฤษดีมาก

ต่อมาเข้าเรียนที่วัดมหรรณพ์

เมื่อขุนพิมลสรไกร ไปปฎิบัติราชการที่เพชรบุรี  ช่วยเก็บค่านาเข้าหลวง
ด.ช.เหลี่ยมย้ายไปด้วยเรียนที่โรงเรียนแหม่มสมอล

(อ่านเรื่องมิชชันนารีตั้งโรงเรียนที่เพชรบุรีมานานแล้ว    วาดภาพ ด.ช. เหลี่ยม พูดภาษาอังกฤษกับแหม่ม)
เรียนอยู่ปีเศษ



กลับมากรุงเทพไปเรียนที่ คริสเตียนไฮสกูล ตำบลสำเหร่  ธนบุรี
เรียนอยู่ไม่กี่เดือน คิดถึงบ้านลาออก   ไปเรียนต่อที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ  ตั้งอยู่ท้ายพระบรมมหาราชวัง
ผ่านเข้าออกทางประตูเทวาพิทักษ์


กระทู้: หลวงวิลาศปริวัตร(ครูเหลียม วินทุพราหมณกุล)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ก.พ. 10, 21:56
ว่าจะข้ามโรงเรียนฝึกหัดครูไปด้วยความชำนาญ
สายตากวาดลงเห็นรายชื่อนักเรียน   รับประทานโทษ  เกือบพลาด


นาย เอช  กรีนรอดเป็นครูใหญ่  เปิดสอนเมื่อ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๓๕

นักเรียนรุ่นแรกมี

นายนกยูง(พระยาสุรินทรราชา)
นายบุญรอด(พระยาภิรมย์ภักดี)
นายสุ่ม

นายบุญรอดกับนายสุ่มลาออกในปีนั้น

มีนักเรียนมาใหม่อีก ๓ คน

นายสนั่น(เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี)
นายสด(หลวงสังขวิทยวิสุทธ์ิ)
นายเหม(พระยาโอวาทวรกิจ)

ปีนั้นนายเหลี่ยมเข้ามา   แแน่นอนว่าสอบประกาศนียบัตรครูได้

ตอนนั้นนายเหลี่ยมอายุเพิ่งย่าง ๑๗  ไปสอนที่โรงเรียนราชกุมาร ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวังพร้อมกับนายโห้(พระยาเทพศาสตร์)

ถ้าดูรายชื่อนักเรียนแล้วจะประทับใจ  พระราชกุมารจริงๆด้วย

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ    เป็นต้น 


กระทู้: หลวงวิลาศปริวัตร(ครูเหลียม วินทุพราหมณกุล)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ก.พ. 10, 22:05
ครูเหลี่ยมสอนอยู่ ๑ ปี  ก็ได้รับคัดเลือกให้ไปเรียนวิชาครู ที่ อังกฤษ


นักเรียนรุ่นเดียวกันที่ได้รับคัดเลือกไปด้วยกัน  มี
นายสนั่น(เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี)
นายนกยูง(พระยาสุรินทรราชา)
นายโห้(พระยาเทพศาสตร์)
นายชิด ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นเฉลิม(เจ้าพระยาพลเทพ)
และนายศิริกับ นาย ทศ  แพร่งสภา


เรื่องชีวิตครูเหลี่ยมในตอนนี้เข้าใจว่าหาอ่านได้ทั่วไป  เราจะข้ามไปหาเรื่องแปลกๆคุยกัน


กระทู้: หลวงวิลาศปริวัตร(ครูเหลียม วินทุพราหมณกุล)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ก.พ. 10, 04:45
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก ทรงแวะที่อังกฤษ ค.ส. ๑๘๙๗

นักเรียนไทยและครูเหลี่ยมก็ไปเข้าแถวเฝ้า

ขณะที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินผ่าน   พระราชโอรสและเจ้านายหลายพระองค์ทรงโบกพระหัตถ์และรับสั่งเรียกครูเหลี่ยม
จนล้นเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๕ ทรงหันพระพักตร์ทอดพระเนตรพร้อมกับรับสั่งว่า
"เป็นครูแต่ยังหนุ่มน้อย ๆ  น่าเอ็นดูจริง"


กระทู้: หลวงวิลาศปริวัตร(ครูเหลียม วินทุพราหมณกุล)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ก.พ. 10, 05:00
เหตุการณ์ที่น่าเสียใจเกิดขึ้น  คือครูเหลี่ยมล้มป่วยเนื่องจากครำ่เคร่งดูหนังสืออยู่ในที่พัก
เพื่อน ๆ ที่กลับจากไปเที่ยวข้างนอกได้ล้อเล่น โดยโยนผ้าไปคลุมไฟฟ้า
อาการนี้กระทบกระเทือนประสาทและอาการหนัก

ครูเหลี่ยมยังสอบวิชาครูของวิทยาลัยได้   จึงเดินทางกลับเมืองไทย 
ไปอยู่อังกฤษ ๒ ปีเศษ


เมื่อรักษาตัวจนหายจากโรคไข้รากสาดน้อย    ครูเหลี่ยมก็มาแต่งและแปลนิยาย


ในปี ๒๔๔๙  กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์(สมัยยังเป็นกรมหมื่น) ทรงจัดตั้งโรงเรียนนายเรือขึ้น
ครูเหลี่ยมก็ไปช่วยสอนภาษาอังกฤษและคำนวณ  จนเป็นที่โปรดปราน  ได้ร่วมโต๊ะเสวยบ่อย ๆ


กระทู้: หลวงวิลาศปริวัตร(ครูเหลียม วินทุพราหมณกุล)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ก.พ. 10, 05:25
สุภาพสตรีที่ครูเหลี่ยมสนใจ จนไปแอบถ่ายรูป เมื่อเธอติดตาม  คุณท้าววนิดา(เจ้าจอมเพิ่ม  สุจริตกุล)มาฟังธรรมที่วัดสุทัศน์

คือ คุณอบเชย  บุตรหลวงเทพเสนากับคุณนายชม  เดชจรุง


คุณอบเชยมีเงื่อนไขว่า หากเข้าทำงานเมื่อไรจะแต่งงานด้วย   ตอนนั้นท่านอยู่นอกราชการ



ประมาณปี ๒๔๕๙  เกิดอหิวาตกโรคระบาทที่นครราชสีมา   อธิบดีกรมสาธารณสุข ม.จ. สกลวรรณากร  วรวรรณ ชวนครูไปด้วย
ครูช่วยแต่งกลอนให้บทหนึ่ง

     "อหิวาต์กำเริบ   ล้างมือก่อนเปิบ  ด้วยน้ำประปา   ผักดิบผักสดงดเสียดีกว่า
หากใช้น้ำท่าจงต้มเสียก่อน..............."



ที่คัดลอกมาลงอย่างสบายก็เพราะทราบว่า  มีผู้ต้องการอ่านหนังสืออนุสรณ์  เจ้าของร้านหนังสือเก่าบางคนยังไม่มีเล่มนี้
สหายอ่อนอาวุโสผู้หนึ่ง  แต่เป็นนักอ่านหนังสือเก่า ได้อ่านงานของ คุณลุงอาจิณ จันทรัมพร เรื่องนักเขียนไทย ในวงวรรณกรรม ก็หลงใหล




วันนี้ดิฉันจะไปหาหนังสือ  ได้ข่าวว่ามีงานของกาญจนาคพันธุ์ หลุดมา
เวลาที่ดีที่สุดในการล่าหนังสือเก่า คือ สองอาทิตย์ก่อนงานหนังสือ
ถ้าเก็บใส่กล่องแล้ว  ไม่มีใครอยากเปิดเท่าไร


กระทู้: หลวงวิลาศปริวัตร(ครูเหลียม วินทุพราหมณกุล)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 ก.พ. 10, 08:18
ดีครับ  ยังมีต่ออีกหรือเปล่าครับ  ท่าทางจะสนุกนักแล ;D


อ้างถึง
เหตุการณ์ที่น่าเสียใจเกิดขึ้น  คือครูเหลี่ยมล้มป่วยเนื่องจากครำ่เคร่งดูหนังสืออยู่ในที่พัก
เพื่อน ๆ ที่กลับจากไปเที่ยวข้างนอกได้ล้อเล่น โดยโยนผ้าไปคลุมไฟฟ้า
อาการนี้กระทบกระเทือนประสาทและอาการหนัก


เรื่องนี้เคยอ่านเจอเหมือนกัน   ตอนหลังเลย พยายามเพลาเรื่องอ่านหนังสือ เพื่อไม่ให้คร่ำเคร่งจนเกินไป


เอ...ครูเหลี่ยม ท่านมีพี่น้องท้องเดียวกันบ้างหรือเปล่าครับ   สงสัยอยู่ว่า   คนที่ขอนามสกุลพระราชทาน รัชกาลที่ ๖ ว่า " วินทุพราหมณกุล"  หลวงพนผลารักษ์ (วาศ ) เป็นอะไรกับครูเหลี่ยม   ตกลงครูเหลี่ยมใช้นามสกุลข้างแม่   ทำไมหนอ ?

อ้างถึง
วันนี้ดิฉันจะไปหาหนังสือ  ได้ข่าวว่ามีงานของกาญจนาคพันธุ์ หลุดมา
เวลาที่ดีที่สุดในการล่าหนังสือเก่า คือ สองอาทิตย์ก่อนงานหนังสือ
ถ้าเก็บใส่กล่องแล้ว  ไม่มีใครอยากเปิดเท่าไร

คุณวันดีได้อะไรดีๆ มาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ  เพราะช่วงนี้ไม่ใคร่ว่างไปเยี่ยมร้านหนังสือเก่าเลย



กระทู้: หลวงวิลาศปริวัตร(ครูเหลียม วินทุพราหมณกุล)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ก.พ. 10, 05:19
พี่น้องของครูเหลี่ยม

๑.   นางสมบุญ      สมรสกับ วินัยธร ปิ่น  โรหิตสุข
     
๒.   นางสาวลมุน

๓.   นายเหลี่ยม

๔.   นายวาศ(พระยาพนพลารักษ์)

๕.   นางแส(คุณหญิง อาชญาจักร)



ครูเหลี่ยมมีป้า ๑ คน  และน้า ๔ คน  เมื่อสมรสมีบุตร  วงญาติก็ขยายออกไป


กระทู้: หลวงวิลาศปริวัตร(ครูเหลียม วินทุพราหมณกุล)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ก.พ. 10, 05:29
บุตรชายหญิงกับนางวิลาศปริวัตร(อบเชย)

๑.   นางพาชื่น   สมรสกับพลตรีพนม  โชติพิมาย

๒.   นายสุริยน

๓.   นางแถลงไข

๔.   นายระพินทร

๕.  นางสาวประภาศรัย

๖.  นางสาววลัยภรณ์


บุตร เกิดกับ นาง พวง  ณ นคร

ด.ช. กวี  ถึงแก่กรรมเมื่อยังเป็นนักเรียน




กระทู้: หลวงวิลาศปริวัตร(ครูเหลียม วินทุพราหมณกุล)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ก.พ. 10, 06:17
ดร. วิชิตวงศ์  ณ ป้อมเพชร    หลานตา ของ พระยาพนผลารักษ์   เล่าว่า



"คุณตาเหลี่ยมเป็นพี่ชายร่วมสายโลหิตของเจ้าคุณตา"


"ถึงแม้คุณตาเหลี่ยมจะไม่ใช่บุคคลสำคัญในวงราชการ     หากก็มีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์วรรณกรรมของชาติเรา
ยุคปัจุบัน  นานมาแล้วเราเคยยอมรับกันว่า "ครูเหลี่ยม"  เป็น นักนวนิยายคนแรกของเมืองไทย"


"ในสมัยของครูเหลี่ยม งานร้อยแก้วได้เริ่มขึ้น       โดยคุณตาเหลี่ยมและสหายรุ่นเดียวของท่าน  ซึ่งได้คุ้นเคยกับนวนิยายฝรั่ง
ได้นำนวนิยายมาเริ่มในเมืองไทย  โดยการแปลและเรียบเรียง

หนังสือดี ๆ หลายสิบเล่ม รวมทั้ง "สาวสองพันปี" ซึ่งคุณตาเหลี่ยมแปลและเรียบเรียงจาก นวนิยายของ Haggard



ในด้านการหนังสือพิมพ์ คุณตาออกหนังสือ "สำราญวิทยา" ซึ่งเป็นนิตยสารอันประกอบด้วยวิชาความรู้และบันเทิงคดี
บรรณาธิการเรียกตัวเองว่า  นายสำราญ

คุณตาเหลี่ยมเคยเล่าว่า   คราวหนึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า ฯ  เคยทรงเขียนภาพล้อรูปบรรณาธิการ "สำราญวิทยา"
ผ่าท้องมีหนังสือตำรับตำราไหลออกมาไม่จบสิ้น"





"คุณตารักดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ  เครื่องดนตรีไทยดูท่านเล่นเป็นเสียทุกอย่าง  และยังชอบร้องส่ง   แต่ท่านชอบร้องเพลงไทยเดิม
เวลาที่ท่านพักอยู่กับเรา     ถ้าไม่มีใคร  ท่านมักดีดเปียนโนเพลงไทยและร้องเพลง

บางทีคุณยายของข้าพเจ้า(ม.ร.ว. หญิง ทิพย์  สนิทวงศ์  พนผลารักษ์) นอนอยู่ข้างบน   ต้องขอร้องให้คุณหลวง  ลดเสียงลงบ้าง
เพราะเกรงว่าบ้านใกล้เคียง  ซึ่งอาจไม่มีรสนิยมสำหรับเพลงไทยเดิมจะเกิดความรำคาญ"




"ท่านเคยเดินทางไปประเทศพม่ากับพระโลกนารถ  ซึ่งเป็นพระอิตาเลียนมาบวชเป็นพระสงฆ์เมื่อราว ๓๐ ปีมาแล้ว(ดร. วิชิตวงศ์ เล่าไว้เมื่อ ปี ๒๕๐๙)
ในฐานะล่าม   เพราะท่านพูดไทยไม่ได้   ข้าพเจ้าทราบว่า  คุณตาเหลี่ยมล้มป่วยด้วยไข้มาเลเรีย  จึงมิได้เดินกับพระโลกนารถต่อไปจนถึงอินเดีย
ตามที่ตั้งใจไว้เดิม"




"เมื่อครั้งท่านบวชเป็นพระอยู่หนึ่งพรรษา ณ วัดแห่งหนึ่งในปักษ์ใต้      ท่านได้เขียนหนังสือเล่มเล็ก ๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
ข้าพเจ้ายังจำได้ดีถึงข้อความที่ท่านเขียนไว้ประโยคหนึ่ง  ทำนองว่า

                       คำถาม                    ทำอย่างไรจะมีความสุข
                       ตอบ                       หนีทุกข์ "




กระทู้: หลวงวิลาศปริวัตร(ครูเหลียม วินทุพราหมณกุล)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 03 ก.พ. 10, 08:35
ดร. วิชิตวงศ์  ณ ป้อมเพชร    หลานตา ของ พระยาพนผลารักษ์   เล่าว่า

"ท่านเคยเดินทางไปประเทศพม่ากับพระโลกนารถ  ซึ่งเป็นพระอิตาเลียนมาบวชเป็นพระสงฆ์เมื่อราว ๓๐ ปีมาแล้ว(ดร. วิชิตวงศ์ เล่าไว้เมื่อ ปี ๒๕๐๙)
ในฐานะล่าม   เพราะท่านพูดไทยไม่ได้   ข้าพเจ้าทราบว่า  คุณตาเหลี่ยมล้มป่วยด้วยไข้มาเลเรีย  จึงมิได้เดินกับพระโลกนารถต่อไปจนถึงอินเดีย
ตามที่ตั้งใจไว้เดิม"


ตรงนี้ จำได้ว่า อาจารย์กรุณาท่านได้เล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสือที่ชื่อ "ชีวิตที่เลือกเกิดไม่ได้"  ซึ่งอาจารย์เขียนเป็นจดหมายให้ลูกท่านอ่าน  อ่านแล้วประทับใจมาก 

และขอบคุณสำหรับข้อมูลคุณพระยาพนผลารักษ์ด้วยครับ

เมื่อคืนไปค้นหนังสือของคุณอาจิณที่บ้าน  เปิดอ่านเรื่องครูเหลี่ยม  มีตอนหนึ่งบอกว่า  ครูเหลี่ยมเคยเขียนเรื่องประเภทโป๊ๆ ด้วย และว่าคนรู้จักครูเหลี่ยมก็เพราะงานเขียนประเภทนี้  ขนาดครูเหลี่ยมเองยังรำพัน เมื่อครั้งคุณอาจิณไปพบท่านที่บ้าน ;D




กระทู้: หลวงวิลาศปริวัตร(ครูเหลียม วินทุพราหมณกุล)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ก.พ. 10, 09:29
ในทะเบียนนามสกุลพระราชทานระบุว่า นามสกุล วินทุพราหมณกุล Vindubra^hmanakula พระราชทานแก่ หลวงพนพลารักษ์ (วาศ)  ผู้ช่วยเจ้ากรม  กรมป่าไม้   ปู่ชื่อขุนศรี (วิน) เป็นพราหมณ์

ข้อมูลตรงนี้ไม่ตรงกัน

คุณแม่คือ นางทองคำ   ธิดาของ ขุนศรีวิน(หมอคง หรือ คงเทวดา) กับนางงิ้ว(ธิดานายกัน)

ดังนั้น ขุนศรี (วิน) จึงเป็นตาของ หลวงพนพลารักษ์ (วาศ)

 ;)






กระทู้: หลวงวิลาศปริวัตร(ครูเหลียม วินทุพราหมณกุล)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 03 ก.พ. 10, 10:46
กระทั่งชื่อ หลวงพนผลารักษ์ (วาศ วินทุพราหมณกุล) คนขอพระราชทานนามสกุล วินทุพราหมณกุล เอกสารยังระบุไม่ตรงกันเลยครับ

หนังสือนามสกุลพระราชทาน ๖,๔๗๒ นามสกุล   คุณเทพ  สุนทรศารทูล รวบรวมจากราชกิจจานุเบกษา มาพิมพ์ใหม่  พิมพ์ เป็น หลวงพลผลารักษ์ (วาส) - หน้า ๒๒๑

หนังสือนามสกุลพระราชทานอีกเล่ม  พิมพื เป็น หลวงพลพลารักษ์ (วาศ)

หนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๓๑ วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๔๕๗ ที่ลงประกาศกระทรวงวัง เรื่องพระราชทานนามสกุล หน้า ๑๐๓๗ พิมพ์ เป็น หลวงพลผลารักษ์ (วาศ)

แต่ในอักขรานุกรมนามสกุลพระราชทาน ฯ ที่คณะกรรมการรวบรวมและค้นคว้าเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์ ฯลฯ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวบรวม  หน้า ๔๓๘ พิมพ์ ว่า หลวงพนผลารักษ์ (วาศ)

ตกลงเชื่อตามอักขรานุกรมนามสกุลพระราชทานฯ   ;)  เพราะราชทินนามนี้เป็นของผู้ช่วยกรมป่าไม้ กระทรวงมหาดไทย  ย่อมเป็น พล ไม่ได้  ต้องเป็น พน  ถึงจะเข้ากับตำแหน่งหน้าที่กรมป่าไม้
 


กระทู้: หลวงวิลาศปริวัตร(ครูเหลียม วินทุพราหมณกุล)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ก.พ. 10, 10:59
ในหนังสืออนุสรณ์ หน้า ข    ลงไว้ด้วยว่า  ปู่ขุนศรีไกรวิน(หมอคง) และ ย่า งิ้ว
ท่านมีแต่ธิดา


กระทู้: หลวงวิลาศปริวัตร(ครูเหลียม วินทุพราหมณกุล)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ก.พ. 10, 13:50
ฉันทิชย์  กระแสสินธุ์  เขียนถึง คุณหลวงวิลาศปริวัตร ที่ข้าพเจ้ารู้จัก    น่าอ่านเป็นที่สุด



      "คุณหลวงวิลาศปริวัตรไม่เคยรู้จักข้าพเจ้า          แต่ข้าพเจ้ารู้จักท่านดี           รู้ว่าท่านคือครูเหลี่ยม  วินทุพราหมณกุล
หรืออีกนัยหนึ่งหลวงวิลาศปริวัตร   รู้จักกระทั่งนามแฝงที่แปลและเขียนหนังสือ  เช่นนกโนรี  นกน้อยเป็นต้น   ท่านเป็นนักเขียน
อาวุโสของเมืองไทย

เป็นนักเขียนนักแปลผู้ยิ่งใหญ่ที่อนุชนรุ่นต่อไปควรจะได้ทราบประวัติ

นักประพันธ์รุ่นนั้นมีอยู่หลายท่านเช่น นมส.  แม่วัน   เขียวหวาน  มะยงชิต   แต่ละท่านล้วนมีชื่อเสียง ปรากฎเกียรติคุณรู้กันอยู่จนบัดนี้"



(เขียวหวาน คือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี หรือ ครูเทพ     แล้ว   มะยงชิต  คือใคร  
ส่งคำถามไปหาขบวนการแล้ว
มีเสียงขู่เข็ญมาว่า  ตามอ่านในทวีปัญญาบ้างซิ     อ่านบ้างค่ะ         สำราญวิทยาก็เคยเห็นค่ะ  เล่มบางเชียว)




กระทู้: หลวงวิลาศปริวัตร(ครูเหลียม วินทุพราหมณกุล)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ก.พ. 10, 14:08
ความรู้เรื่องหนังสือ  เก็บมาจาก ข้อเขียนของ นายฉันทิชย์  กระแสสินธุ์   ในหนังสือ วิลาศปริวัตรานุสรณ์  ๒๕๐๙

"เมื่อ ๕๐ ปีล่วงมาแล้ว   กรุงเทพมีแหล่งขายหนังสืออยู่แห่งเดียว คือ  ร้านพร้อมภัณฑ์   เจ้าของร้านคือ คุณ พร้อม  วีระไวทยะ
ขายหนังสือทุกประเภท

เวลานั้นผมอยู่บ้านนอก  อายุประมาณ ๑๐ ขวบ  แต่อ่านหนังสือที่มีอยู่ในบ้านจนหมดทุกเล่ม  และหนังสือตีพิมพ์ที่คุณพร้อม  วีระไวทยะส่งไปให้
เพราะซื้ออ่านเป็นประจำ        ไม่ว่าจะเป็นหนังสือจาก
โรงพิมพ์ไทย
โสภณอักษรกิจ
บำรุงนุกูลกิจ
พานิชศุภผล
ราษฎรเจริญวัดเกาะ
กรุงเทพเดลิเมล์
อักษรนิติ

คุณพร้อมส่งไปให้อ่านทุกเล่ม  พอถึงปี คุณพ่อหรือพี่ชายผมเข้ากรุงเทพ  ก็นำเงินมาชำระเสียคราวหนึ่ง


       ผมได้อ่านเรื่องของคุณหลวงวิลาศฯ​​​    ที่ท่านแต่งและแปลขายหลายเรื่อง เช่น
สาวสองพันปี
ความไม่พยาบาท
ศรีธนญชัยสมัยใหม่  ฯลฯ


เราก็ควรจะต้องรำลึกถึงคุณหลวงวิลาศ​ฯ   เพราะท่านมีส่วนช่วยวางรากฐานแห่งการประพันธ์ขึ้นด้วยในประเทศไทยด้วยผู้หนึ่ง"


กระทู้: หลวงวิลาศปริวัตร(ครูเหลียม วินทุพราหมณกุล)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 04 ก.พ. 10, 08:57
คุณกรุณา  กุศลาสัย  ผู้ล่วงลับ  ได้เขียนเล่าถึงหลวงวิลาศปริวัตร (ครูเหลี่ยม  วินทุพราหมณกุล) ไว้ในหนังสือ ชีวิตที่เลือกไม่ได้ ตอนหนึ่งว่า

"...ข่าวคณะจาริกของพระโลกนาถเป็นที่โจษจันกันทั่วปากน้ำโพ  วันหนึ่งๆ  มีประชาชนพากันไปฟังปาฐกถาะรรมของท่านเป้นจำนวนมากมาย  ท่านเทศน์เป็นภาษาอังกฤษ  มีล่ามแปลเป็นไทย  ล่ามผู้นี้คือ หลวงวิลาศปริวัตร  หรือครูเหลี่ยม วินทุพราหมณกุล  นักเขียนนักแปลรุ่นบูรพาจารย์  เป็นนักเรียนทุนหลวงรุ่นเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีจากประเทศอังกฤษ  หลวงวิลาศปริวัตรเป็นฆราวาสคนเดียวเท่านั้นที่พระโลกนาถอนุญาตให้เดินทางไปกับคณะของท่าน..."