เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: candy ที่ 29 ต.ค. 00, 13:00



กระทู้: พระมะเหลเถไถ
เริ่มกระทู้โดย: candy ที่ 29 ต.ค. 00, 13:00
เมื่อวานนี้ฝากน้องที่น่ารัก (์nurin) ซื้อหนังสือเรื่อง "พระมะเหลเถไถและอุณรุทร้อยเรื่อง" ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักพระมะเหลเถไถและอุณรุทร้อยเรื่อง เป็นไปได้ไง?
จำได้ว่าเรื่องนี้เคยบรรจุอยู่ในหนังสือเรียนภาษาไทยภาคบังคับด้วย แต่เดี๋ยวนี้คงไม่มีแล้ว น่าเสียดายมากๆเลยทีเดียว เพื่อนๆมีความคิดเห็นกันว่าอย่างไรคะ?


กระทู้: พระมะเหลเถไถ
เริ่มกระทู้โดย: คุณพระนาย ที่ 29 ต.ค. 00, 02:10
ไม่แปลกหรอกครับ ที่เด็กจะไม่รู้จักเรื่องนี้ ผมไม่รู้หลักสูตรสมัยใหม่เป็นยังไง แต่จำได้ว่า วิชาประวัติศาสตร์ และภาษาไทยในสมัยผมเรียน เป็นวิชาที่น่าสนใจน้อยมาก
ผมเอง สนใจด้วยความชอบอ่านส่วนตัวน่ะครับ อย่าง พระมะเหลเถไถ นี่น่าจะเป็นพระนิพนธ์ของ ร. 6 หรือเปล่า หรือว่าผม หน้าแตกล่ะครับงานนี้
ยากนะครับ ที่จะทำให้เด็ก ๆ สนใจเรื่อง วรรณคดีไทย นิทานไทยหรือประวัติศาสตร์ไทย ทำยังไงให้เค้าอยากรู้ไม่ใช่แค่ต้องจำไปทำข้อสอบ แล้วก็ลืม


กระทู้: พระมะเหลเถไถ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ต.ค. 00, 10:37
พระมะเหลเถไถ จัดอยู่ในประเภท parody (วรรณกรรมล้อเลียน) ซึ่งมีอยู่น้อยมากในวรรณคดีไทย
เป็นผลงานของคุณสุวรรณ  กวีหญิงสมัยรัชกาลที่ ๓
เธอมีวิธีการใช้คำที่แหวกแนวไปจากยุคสมัยมาก  กวีร่วมสมัยนิยมใช้ศัพท์ถูกต้องตามความหมาย  ถ้าแผลงจากบาสลีนสกฤตก็ต้องแผลงอย่างมีระบบระเบียบ
คุณสุวรรณไม่ทำอย่างนั้น  เธอเอง "เสียง" เป็นหลัก เพื่อให้ความรู้สึก
จะแผลงศัพท์ก็แผลงตามใจชอบ  แต่มีเค้าให้รู้ว่าแผลงศัพท์เป็น
คนก็มองว่าคุณสุวรรณ " เพี้ยน" เป็นงานของกวีที่สติไม่ค่อยปกติเท่าไร
ถ้าคุณสุวรรณไปเกิดในอังกฤษ   น่าจะดังกว่านี้  เพราะการคิดอะไรเป็นตัวของตัวเอง ไม่ซ้ำคนอื่นนั้น นักวิจารณ์จะสนใจนำมาวิเคราะห์กันมาก
งานอย่าง Tristam Shandy ซึ่งเขียนตามใจชอบของผู้เขียน ก็เป็นหนึ่งในวรรณคดีที่นำมาศึกษากัน  ไม่ได้ดูว่ามันแหวกแนวออกไปจนเห็นขบขันและดูถูกว่าแต่งไม่เป็น
พระมะเหลเถไถมีอีกยาวที่อยากเล่าแลกเปลี่ยนความเห็นกัน  ขอตัวไปพิมพ์ก่อนนะคะ
ส่วนคำถามของคุณพระนายตอนท้าย...ดิฉันรู้สึกว่าตั้งแต่นโยบายระดับชาติให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาก   หลักสูตรก็จะหนักไปทางนี้   เด็กม.ปลายเก่งๆหันไปเรียนสายวิทย์  มีโอกาสเรียนภาษาไทย ปวศ. วัฒนธรรมน้อยลงมาก
ประกอบกับข้อสอบออกมาเป็นปรนัย ไม่ใช่อัตนัย  วิธีทดสอบความรู้เด็กจึงกลายเป็นทดสอบความจำกันไปหมด ไม่งั้นให้คะแนนถูกผิดได้ยาก


กระทู้: พระมะเหลเถไถ
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 29 ต.ค. 00, 19:35
ผมเคยอ่านทั้งสองเรื่องเมื่อนานมาแล้ว และยังอยากอ่านอีก แต่จนใจ ไม่รู้จะไปหาอ่านได้ที่ไหนตอนนี้
ชอบ อุณรุทร้อยเรื่อง ตอนใครสักคนยกทัพไปรบใครอีกคน ก่อนจะยกทัพไพร่พลที่เกณฑ์มาร่วมกระบวนทัพก็แสดงฤทธิโดยการแปลงกายกันยกใหญ่ แต่แปลงแบบคุณสุวรรณทำเอาคนอ่านหัวเราะจนปวดท้องครับ แต่ผมจำกลอนได้บาทเดียว ที่ว่า - เทเวศแปลงเพศเป็นเทวา - ความที่จะให้ขัน อยู่ตรงที่ ไพร่พลแต่ละคนแปลงร่างเป็นตัวเองนั่นแหละ ทั้งขัน และทั้งทึ่งความรู้ภาษาไทยของคุณสุวรรณด้วยที่อุตส่าห์หาคำที่มีความหมายเหมือนกัน ที่เรียกว่า ไวพจน์ มาแต่งกลอนได้หลายสิบคู่


กระทู้: พระมะเหลเถไถ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ต.ค. 00, 21:17
ดิฉันมีอุณรุทร้อยเรื่องค่ะ  จำได้ว่าตอนเรียน ก็ชอบบทแปลงกายอย่างที่คุณนกข.ยกมา
ขอยกเป็นกระทู้ใหม่แยกจากกระทู้นี้นะคะ
หนังสือทั้งสองเรื่องยังวางขายอยู่ที่แพร่พิทยา   เซนทรัลปิ่นเกล้าค่ะ
แล้วจะมาเล่าเรื่อง พระมะเหลเถไถ ต่อ วันพรุ่งนี้ค่ะ


กระทู้: พระมะเหลเถไถ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 00, 09:53
เรื่องพระมะเหลเถไถมีอยู่ว่า พระมะเหลเถไถเป็นโอรสท้าวโปลา  วันหนึ่งอยากจะออกประพาสป่า  ก็ไปลาพระบิดา แล้วยกพลออกจากเมืองไป   ระหว่างพักแรม พระอินทร์เห็นหลับอยู่เดียวดายในพลับพลา ก็ไปอุ้มนางตะแลงแกงธิดาท้าวมะไลทีมาอุ้มสมให้    พระมะเหลเถไถตื่นเช้าก็พานางเดินทางต่อไป  พบยักษ์ชื่อท้าวไทอสุรา  เห็นมนุษย์เข้าก็อยากจับกิน  จึงเกิดรบกันขึ้น ต้นฉบับมีแค่นี้  
เรื่องนี้ถ้ามองแบบแผนการแต่งละครแล้วมีครบ   มีทั้งกล่าวความเป็นมาในตอนต้น  บทแต่งองค์   ยกพล  ชมดง  พรรณนาธรรมชาติ    อุ้มสม พบนาง  และบทรบ ครบถ้วนตามที่นิยมกัน
ศัพท์ของคุณสุวรรณที่ทำให้ใครๆว่าเพี้ยน ก็เพราะเธอใช้ศัพท์ตามเสียง  ไม่ใช่ตามความหมาย  อย่างชื่อพระมะเหลเถไถ  แปลความหมายไม่ได้  แต่ตามเสียง เถไถ  ทำให้นึกถึง เฉไฉ หรือ เถลไถล  อาจจะหมายถึงเที่ยวเถลไถล หรือการออกนอกรูปรอกรอย  เรื่องนี้ก็ออกนอกรอยจริงๆ ในด้านภาษา
เมื่อนั้น พระมะเหลเถไถมะไหลถา
ส่วนใหญ่กวีจะนิยมลงท้ายคำประกอบชื่อกษัตริย์หรือตัวละครสำคัญว่า "นาถา" อย่างพระตรีภพลบโลกนาถา"   คุณสุวรรณเธอก็ " ถา" เป็นเหมือนกัน  แต่เป็น " มะไหลถา" ให้รับกับ เถไถ
สถิตยังแท่นทองกะโปลา
กะโปลา ฟังคล้ายๆ กะลา หรือกะโปโล  จะเป็นคำไหนก็ตาม  แท่นทองนี้คงไม่ใช่ของงดงาม  น่าจะดูซอมซ่อ เป็นของตลก
ศุขาปาลากะเปเล
ก็คือมีความสุขสบายดีนั่นเองในคำแรก  คำหลังเป็นเสียงให้รู้ว่า สุขไปตามประสาพระมะเหลเถไถ
วันหนึ่งพระจึงมะหลึกตึก
ตึก  คล้ายคำว่า ตรึก   คือตรึกตรอง   ตรึก แผลงตามใจชอบเป็น มะหลึกตึก
มะเหลไถไพรพรึกมะรึกเข
มะเหลไถ คำนี้น่าจะเป็นคำกริยาของพระมะเหลเถไถ คือเที่ยวเถลไถล  ไพรพรึก ก็คือไพรพฤกษ์  
ส่วนมะรึกเข   เรามีคำว่า มฤค แปลว่า กวาง   กวีมักแผลงเป็น มฤคา มฤคี  คุณสุวรรณก็เลยแผลงเป็น มฤเข  หรือมะรึกเข ได้เหมือนกัน
 แปลว่าอยากจะไปเที่ยวป่าล่ากวาง