เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 22 ต.ค. 11, 10:21



กระทู้: นายพินิจ สมบัติศิริ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 ต.ค. 11, 10:21



       ในงานหนังสือที่เพิ่งผ่านพ้นไป    หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงเลอศักดิ์  สมบัติศิริ

เมื่อวันอาทิตย์ที่๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔  เป็นที่ต้องการและมีผู้ตามหาตามร้านต่าง ๆ      นักอ่านหนังสือเก่ามี

หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายพินิจ  สมบัติศิริเมื่อ วันเสาร์ที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๐  อยู่ด้วย   จึงอยาก

จะนำประวัติของท่านมาเล่าไว้พร้อมกันใน "เรือนไทย" นี้     คงจะเป็นที่สนใจของท่านที่สนใจประวัติศาสตร์และตระกูลขุนนาง

ตามสมควรเพราะเป็นสกุลทั้งสองเป็นขุนนางที่ซื่อสัตย์สุจริต  มีความรู้   มีบทบาทในการรับราชการเพื่อประเทศชาติ     มีชีวิตครอบครัวที่งดงาม

เฉพาะสายสกุลของท่านก็เป็นเรื่องที่น่าอ่านอยู่แล้ว



กระทู้: นายพินิจ สมบัติศิริ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 ต.ค. 11, 10:39

          ต้นตระกูลสมบัติศิริ

          "ต้นตระกูลของนายพินิจ  สมบัติศิริ  อยู่ในตระกูลตั้ง   มาจากเมืองซัวเถา  มณฑลแต้จิ๋ว  ประเทศจีน

เข้ามาในเมืองไทยเมื่อประมาณ​ ๒๐๐ ปีมาแล้ว


ลำดับที่ ๑       พระยาศรีอากร (เต๊กงึ้น  แซ่ตั้ง) เป็นทายาทลำดับที่ ๒๒  ของตระกูล

เป็นบุตรคนที่ ๖  ของนายงี่   เกิดที่ตำบลกัวตึ้ง   เมื่อวันที่ ๒๐  เดือนสอง  ปีฉลู พ.ศ. ๒๒๗๖   ในสมัยราชวงศ์เช็ง

(พ.ศ. ๒๑๘๗ - ๒๔๕๕)  

มีตำแหน่งเป็น ซุ่ยอ่าง (สมุหเทศาภิบาล)        

ในวันกลางคนได้เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีทางการค้ากับประเทศไทยจนได้รับแต่งตั้ง  พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีราชอากร          

รับราชการสนองพระเดชพระคุณถึง ๓ สมัย  คือสมัยปลายศรีอยุธยา     สมัยรัชกาลที่ ๑  และ รัชกาลที่สอง



ลำดับที่ ๒       พระยาสมบัติวานิช  (เงี้ยบสุน  แซ่ตั้ง)   ชื่อไทยว่านายบุญศรี

เป็นบุตรคนหนึ่งของพระยาศรีราชอากร

มีตำแหน่งในเมืองจีนเป็น อ่วงง้วน (ข้าหลวงต่างพระองค์)

ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในไทยเป็น พระยาสมบัติวานิช
    


กระทู้: นายพินิจ สมบัติศิริ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 ต.ค. 11, 11:25


ลำดับที่ ๓          นายอากร  ฉาย  แซ่ตั้ง (ฮวดใช้  แซ่ตั้ง)

บุตรพระยาสมบัติวานิช    ได้ทำการค้าขายสืบต่อจากบิดา   ซึ่งคงไม้ได้ทำการค้ากับประเทศจีนแล้ว 

แต่ผูกขาดเป็นนายอากรสุราในจังหวัดพิษณุโลก และ สุพรรณบุรี

มีบ้านอยู่ริมคลองหัวลำโพงแถวสะพานเหลือง

นายอากรฉายมีบุตรธิดา ๕ คน   คือ   นายยู่อี่   นางแฉล้ม   นายกอ(พระยามไหสวรรย์)   นายฮั้ว  และ นายเต๊ก


ลำดับที่ ๔          นายยู่อี่  สมบัติศิริ       มีภรรยาชื่อนางกรี   มีบุตรธิดารวม ๔ คน คือ

พระอรรถพากย์จรรยาวัตร (อัชว  สมบัติศิริ)    นายศรีเสนา  สมบัติศิริ (พระยาศรีเสนา)       นางอุปนิคสิตสารบรรณ(นวล  สุวรรณทัต)

และนายเอิบ   สมบัติศิริ


ลำดับที่ ๕          นายศรีเสนา (ฮะ)  สมบัติศิริ          เกิดปี พ.ศ. ๒๔๓๒          รับราชการปี ๒๔๕๐

ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

๒๔๕๓   นายชำนาญกระบวน

๒๔๕๔   พันพุฒอนุราช

๒๔๕๖   หลวงศักดิ์เสนี

๒๔๖๐   หลวงธุรนัยพินิจ

๒๔๖๑   พระธุรนัยพินิจ

๒๔๖๙   พระยาศรีเสนา

          ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖   นายศรีเสนา  สมบัติศิริ (หลวงศักดิ์เสนี) ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า  วานิชากริ 

โดยใช้คำหลังของพระยาศรีราชอากร กับพระยาสมบัติศิริ        แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแก้และพระราชทานเป็น "สมบัติศิริ"

(Sampatsiri)


          นายศรีเสนา  ได้สมรสกับ คุณหญิงถวิลหวัง  ประทีปเสน  มีบุตรคนหนึ่ง คือ นายพินิจ   สมยัตืศิริ

นายศรีเสนาได้สร้างเจดีย์ตระกูลสมบัติศิริ ไว้ที่วัดทองนพคุณ  เขตคลองสาน  กรุงเทพมหานคร  และบรรจุอัฐิของตระกูล  คือ

๑.   คุณหญิงแย้ม   มารดานายอากร  ฉาย  แซ่ตั้ง

๒.   นายอากร ฉาย  แซ่ตั้ง

๓.   นายยู่อี่  สมบัติศิริ"


กระทู้: นายพินิจ สมบัติศิริ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 ต.ค. 11, 10:21


       คุณพินิจ  สมบัติศิริ  เกิดเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน  พ.ศ. ๒๔๖๓  ณ อำเภอคลองสาน(ถนนลาดหญ้าในปัจจุบัน)

จังหวัดธนบุรี   เป็นลูกชายคนเดียวของนายศรีเสนา สมบัติสิริ   และคุณหญิงถวิลหวัง (ประทีปะเสน)

บรรพบุรุษมาจากเมืองจีน   แต่ไม่ใช่พ่อค้า   ถูกส่งตัวมาโดยจักรพรรดิจีน  คล้าย ๆกับเป็นทูตมาเจริญสัมพันธไมตรี

เดินทางมาโดยเรือสำเภา  บรรทุกทองคำแท่งและข้าวของมาถวายพระเจ้าอยู่หัวของไทย   พอมาถึงสยาม  ก็ต้องอยู่กันเป็นปีถึงจะได้กลับไปได้ใหม่

ถูกขอให้ทำราชการ  จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระยาศรีราชอากร


       นายศรีเสนา  สมบัติศิริ  เริ่มรับราชการเป็นรองเวร(เสมียน)เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๕๐         แล้วเลื่อนเป็นนายเวร  ปลัดกรมมหาดไทยมณฑลปราจีณในปี ๒๔๕๕

ในปี ๒๔๕๗  ได้รับทุนไปเป็นนักเรียนวิชาการปกครองที่ประเทศอังกฤษ   เป็นนักเรียนมหาดไทยรุ่นแรก

เมื่อเรียนจบกลับมา   รับราชการเป็นผู้ตรวจการมณฑลปักษ์ใต้และอีกหลายอย่าง

ในปี ๒๔๖๑   ได้เป็นปลัดมณฑลปัตตานี(รองจากเทศามณฑล)    จากนั้นไม่นานก็เลื่อนมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี   ตำแหน่งในตอนนั้นใช้คำว่าเจ้าเมือง



กระทู้: นายพินิจ สมบัติศิริ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 ต.ค. 11, 11:38


       ด้านประวัติศาสตร์การต่างประเทศของไทย   ท่านได้รับเลือกเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศญี่ปุ่นคนแรก

เมื่อเสร็จสิ้นภาระกิจในปี ๒๔๘๕   ท่านกลับมาเป็นสมุหพระราชวัง  และเป็นประธานกรรมการพระราชสำนัก

และกลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ   แล้วยังเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยด้วย

หลังจากเกษียณอายุ   ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าให้เป็นองคมนตรี


       คุณหญิงถวิลหวัง (ศรีเสนา) สมบัติศิริ   มีฝีมือในการประดิษฐ์ที่ละเอียดอ่อนงดงาม   ได้ถวายงานรับใช้พระพันปีหลวง

ทั้งในด้านการเขียนปัก   การจัดดอกไม้สด   หาคนมีฝีมือเทียบเทียมยาก   เป็นผู้นำในงานสังคมของสตรี   เป็นกรรมการสภากาชาด   

เป็นนายกสโมสรอาสากาชาด   เป็นกรรมการสมาคมสตรีไทย   เป็นกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีตั้งแต่สมัยแรก ฯลฯ



กระทู้: นายพินิจ สมบัติศิริ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 ต.ค. 11, 15:02


       คุณพินิจเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ จากอัสสัมชัญบางรัก  ถูกส่งตัวไปเรียนต่างประเทศ

ไม่ได้ไปที่ประเทศฝรั่งเศสทันที   ได้รับทุนจากสถานทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพให้ไปเรียนที่ฮานอย

โรงเรียนชื่อ Lycee Albert Sarraut   ครูทุกคนมาจากปารีส   ข้อสอบข้อเขียนมาจากปารีสหมด

ตอนนั้นคุณพ่อของคุณพินิจเป็นปลัดทูลฉลองมหาดไทย   คุณพินิจเรียนอยู่ที่นั่น  ๖ ปี  พูดฝรั่งเศสได้คล่อง

ท่านเล่าว่าท่านกลับเมืองไทยทุก ๆ หยุดเทอม ๓ เดือน   

       ตอนที่ไปนั้น  ท่านนั่งรถไฟจากหัวลำโพงไปลงที่อรัญประเทศ   ต่อแท้กซี่ไปพระตะบอง    จากพระตะบองขึ้นรถไฟไปพนมเปญ

นั่งแท้กซี่จากพนมเปญไปไซ่ง่อน    แล้วนั่งรถบัสโกโรโกโสอีกสามวันสามคืนไปฮานอย

       ที่โรงเรียนมีราชวงศ์เขมร ลาว และญวนมาเรียนด้วย   และคนไทยที่รับทุนอีก ๓ -๔ คน

     
       คุณพินิจเกือบไม่ได้ไปเรียนต่อที่ปารีส  ฝรั่งเศสเพราะสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้นในยุโรป     

แต่เพราะสายตาที่ยาวไกลของคุณพ่อ   การศึกษาของคุณพินิจก็ดำเนินไป


กระทู้: นายพินิจ สมบัติศิริ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ต.ค. 11, 15:37
ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ถือกำเนิดจากคณะบาดหลวงจากประเทศฝรั่งเศส ดังนั้นจึงมีการสอนภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษให้กับเด็กนักเรียนด้วย ต่อมาการเรียนภาษาฝรั่งเศสจำกัดเฉพาะเด็กห้องที่เรียนเก่งหรือห้อง King จะได้รับการเรียนภาษาฝรั่งเศส ... อา แบ แซ แด.. ;)


กระทู้: นายพินิจ สมบัติศิริ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 ต.ค. 11, 16:19


คุณพินิจเรียนอยู่แผนกฝรั่งเศสที่อัสสัมชัญค่ะ(หน้า ๗๖)

เรื่องโรงเรียนที่ฮานอยนี้มีเด็กไทยเรียนอยู่หลายคนนะคะ    ไว้ค้นข้อมูลให้ครบครันแล้วมาคุยกันในโอกาสข้างหน้า

ตามที่เคยได้ฟังท่านผู้ใหญ่เล่ามาว่า  เชื้อสายของผู้นำเหล่านี้สนิทสนมกันทางสายเลือดอยู่แล้ว



กระทู้: นายพินิจ สมบัติศิริ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 ต.ค. 11, 16:46


       เมื่อคุณพินิจไปเรียนที่ฝรั่งเศสนั้น  คุณพ่อเป็นทูตที่ญี่ปุ่น    คุณพินิจแวะไปหาท่านเพื่อจะไปลา   

เป็นจังหวะเดียวกับเยอรมันบุกโปแลนด์      เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒  แต่ยังไม่ประกาศสงครามกัน

ถ้าเป็นพ่อของคนอื่นคงไม่ให้ลูกไป  แต่คุณพ่อผมบอกว่า  ไปเรียนเถอะ


       หลังจากเดินทางไปปารีส   ได้เข้าเรียนที่  L'Ecole des Beaux Arts   ทางสถาปัตยกรรมเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒

หนึ่งปีให้หลังกองทัพนาซีก็ได้บุกเข้ายึดกรุงปารีส     โรงเรียนปิด  เรียนต่อไม่ได้   คุณพินิจอยากจะเรียนต่อ  อยากจะเรียนภาษาฝรั่งเศส

เลยไปประเทศสวิส   อยู่ที่นั่น ๘​ปี


       "ก่อนวันที่เยอรมันจะเข้าฝรั่งเศสวันหนึ่ง   เป็นภาพที่น้อยคนจะได้เห็นนอกจากคนฝรั่งเศส หรือคนในฝรั่งเศส

เพราะเมื่อพูดถึงฝรั่งเศสนี่   ทุกคนจะนึกถึงความสนุกสนานรื่นเริง   แต่วันนั้น  เราได้เห็นคนฝรั่งเศสน้ำตาตก   แล้วหนีออกจากฝรั่งเศสเท่าที่จะหนีได้   

มีรถยนต์ก็ไปรถยนต์   ที่เดินก็เดิน   บางคนเอาของใส่รถเข็นเด็ก   เป็นภาพที่หาดูได้ยากมาก    มันดูแล้วชวนเวทนาว่า  ฝรั่งเศสเป็นอย่างนี้

ภาพเหล่านี้ค่อนข้างจะประทับใจผม" (หน้า ๗๙)



กระทู้: นายพินิจ สมบัติศิริ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ต.ค. 11, 08:55

       คุณพินิจต้องออกจากปารีสในวันนั้น   เพราะไม่ทราบล่วงหน้าว่าเมื่อเยอรมันเข้ามาแล้วจะเป็นอย่างไร

นักเรียนไทยถูกอพยพไปอยู่ชายทะเลใกล้ ๆ กับสเปน   อยู่ได้สักอาทิตย์ก็รู้ว่าเยอรมันเข้าปารีสแล้ว  แต่ไม่มี

เหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น  ก็กลับไป

       ตอนนั้นเยอรมันชนะทุกประเทศหมดแล้ว   ปรกติฝรั่งเศสกับเยอรมันเกลียดกันมาก    แต่วันที่เยอรมันเข้า

ฝรั่งเศสนั้น    เขาคงสั่งกันไว้ดี   จัดแจงอะไรต่ออะไรเอาไว้ดี    หมายความว่าพอทหารเยอรมันเข้ามาในร้านอาหารหรือที่ไหนก็แล้วแต่

พอก้าวล้ำประตูเข้าไป   คนฝรั่งเศสจะระวังตรงตะเบ๊ะทุกคน


       ในภาวะสงครามอาหารชาดแคลน    ไม่กี่วันโรงเรียนก็ปิด   คุณพินิจกับเพื่อน ๆ ก็พากันไปเรียนต่อที่กรุงเจนีวา  ประเทศสวิตเซอร์แลนด์


       ตอนที่ไปอยู่ใหม่ ๆ   การส่งเงินจากเมืองไทยใช้เวลาไม่นานทั่งๆที่เป็นภาวะสงครามโลก   แต่ต่อมาในยุคหลังใกล้กับสงครามจะสงบ

คือเมื่ออเมริกาเริ่มจะเป็นมหาอำนาจทางทหาร  ประมาณ ๒๔๘๗ - ๒๔๘๘  เงินทองสิ่งของส่งอะไรไม่ได้แล้ว   ขลุกขลักขัดสนไปทั่ว

นักเรียนไทยก็ต้องทำงานด้วยทั้งๆที่ไม่มีสิทธิที่จะทำงาน เพราะที่นั่นเขากวดขัดเรื่องคนต่างชาติที่เข้าไปทำงานในประเทศเขา   

แต่เราก็ทำงานแบบไม่ได้เงิน        พวกที่เรียนกฎหมายหรือหมอ  เมื่อไม่มีใบประกอบวิชาชีพก็ทำงานไม่ได้   จึงไปทำนาบ้าง  ไปรีดนมบ้าง 

ไปเก็บมันฝรั่งบ้าง  ได้อยู่ฟรีแล้วก็ได้กินด้วยเป็นการทุ่นค่าใช้จ่าย

       คุณพินิจถึงยังเรียนไม่จบ  แต่การเขียนแบบไม่มีอันตราย   เขียนตามแบบที่สถาปนิกบอกให้เขียน   จึงไปทำงานตามสำนักงานสถาปนิกได้



กระทู้: นายพินิจ สมบัติศิริ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ต.ค. 11, 09:34

(หน้า  ๘๑)

       "ตอนนั้นนักเรียนไทยในสวิสทุกคน   ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมราชชนนีฯ

พระราชทานเงินส่วนพระองค์ให้ยืมกันคนลพ ๒๐๐ ฟรังก์แน่ะ   แต่ก็ไม่พอใช้กัน   พวกเราก็เลยต้องทำงานด้วย  ทั้งๆที่ไม่มีสิทธิทำงาน"



"ชะตาชีวิตของคุณพินิจที่ต้องออกไปศึกษาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ครั้งนี้  ได้ลิขิตให้คุณพินิจได้มีโอกาสเฝ้าเจ้านายที่สำคัญสี่พระองค์  

ผู้ที่ในระยะเวลาต่อมา   ล้วนมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นเหลือกับชาติบ้านเมือง   คือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี   รวมทั้งพระราชธิดา

และพระราชโอรสทั้งสองพระองค์  ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์


       ชีวิตส่วนพระองค์ที่เรียบง่ายของสมเด็จพระบรมราชชนนีฯ   ผู้ทรงคุณอันประเสริฐเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยม  

และเป็นศูนย์กลางจิตใจของชาวไทยในต่างประเทศ       ในสมัยสงครามที่ยากลำเค็ญ   พระจริยาวัตรต่าง ๆ ของสมเด็จพระบรมราชชนนีฯ  

เป็นแนวทางที่คุณพินิจยกย่องอย่างสูงส่ง   และอาจถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิด

ของความผูกพันและความจงรักภักดีอย่างจริงใจ   ที่คุณพินิจมอบไว้ต่อเจ้านายทุกพระองค์  และได้มีสืบเนื่องมาตลอดชีวิต"



กระทู้: นายพินิจ สมบัติศิริ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 ต.ค. 11, 14:27


        หลักสูตรสถาปนิกใช้เวลาเรียน ๕ ปี   แต่คุณพินิจต้องอยู่สวิสเซอร์แลนด์ถึง ๘ ปี  เพราะไม่มีเรือโดยสาร

กลับประเทศไทย    ตอนนั้นก.พ.ต้องการสถาปนิกจบจากต่างประเทศมาทำงานศิลปากร    จึงออกค่าใช้จ่าย

ในการเดินทางกลับบ้านให้

   
        สถาปนิกหนุ่มกลับมาถึงเมืองไทยเมื่ออายุ ๓๐ ปี    กลายเป็นหนุ่มเนื้อหอมด้วยรูปสมบัติและคุณสมบัติ     

แต่คุณพินิจก็มีหญิงสาวในดวงใจที่ได้รู้จักและประทับใจตั้งแต่สิบปีก่อน   เธอคือ นางสาวเลอศักดิ์  เศรษฐบุตร ตอนนั้นกำลังศึกษาอยู่ในประเทศญี่ปุ่น

ทั้งสองเขียนจดหมายติดต่อกันอยู่ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๒ - ๒๔๘๙          เมื่อกลับมาอยู่เมืองไทยความสัมพันธ์ของทั้สองก็ยิ่งทวีความแนบแน่น

สถานที่นัดพบก็เป็นราชวงศ์  รับประทานอาหารกลางวันและซื้อหนังสือ

       ไม่นานเจ้าคุณศรีเสนาก็ไปสู่ขอนางสาวเลอศักดิ์    ให้กับลูกชายคนเดียว

       งานมงคลสมรสของกิ่งทองใบหยกจัดขึ้น ในวันที่ ๒ พฤษภาคม  ๒๔๙๐    จัดที่โรงแรมรัตนโกสินทร์   และคู่สมรสไปฮันนีมูนที่โรงแรมรถไฟหัวหิน



กระทู้: นายพินิจ สมบัติศิริ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 ต.ค. 11, 15:17

       คุณพินิจเริ่มทำงานที่กรมศิลปากร  กระทรวงศึกษาธิการ  ในตำแหน่งผู้ช่วยนายช่างตรีกองสถาปัตยกรรม  เงินเดือน ๖๐ บาท


       คุณพินิจเล่าว่า "ตอนกลับจากนอกใหม่ ๆ  ชีวิตผมแย่หน่อย  เพราะไม่มีเพื่อนเลย   ผมไปเมืองนอกตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ  

ก็เลยไม่มีเพื่อนฝูงที่รู้จักในกรุงเทพ   ไม่รู้จักใครเลย   รู้จักแต่เพื่อนที่ที่ทำงานด้วยกัน   ก็ต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับเมืองไทยนานนิดหนึ่ง

ปัญหามันอยู่ที่ภาษาไทยที่เราไม่คล่องนัก   เพราะเคยใช้ภาษาฝรั่งเศสจนเคยตัว   แต่เรื่องด่าพ่อล่อแม่นี่สบายมาก   เรื่องเขียนนี่แย่

เขียนไม่ได้เลย    เวลาที่เขียนหนังสือให้เขาพิมพ์   เขาแก้แดงหมด  เขาว่าถ้าส่งตามที่ผมเขียน  ไม่มีใครรู้เรื่องหรอก   ก็เลยต้องปรับตรงนี้เยอะมาก"


       คุณพินิจไม่มีโอกาสจะได้ทำงานโก้ ๆ ที่ได้เงินเยอะ   ช่วยทำบ้านเพื่อน ๒ - ๓ คน   ช่วยดัดแปลงธนาคารแห่งหนึ่ง  และก็ทำงานที่อื่นอีกไม่กี่ชิ้น


       ในปีพ.ศ. ๒๕๐๐  คุณพินิจได้รับเลือกให้เป็นสถาปนิกของกรมศิลปากรไปร่วมงานเวิลด์แฟร์ที่กรุงบรัสเซลล์  ประเทศเบลเยี่ยม  

ได้นำศิลปะอันเก่าแก่และทรงคุณค่าของไทยไปให้ชาวต่างชาติได้ชื่นชม   เป็นการเลียนแบบพระที่นั่งกลางน้ำในพระราชวังบางปะอิน  เป็นที่เลื่องลือมาก

กิจกรรมต่าง ๆ ก็มาแสดงที่หน้าศาลาเต็มไปหมด   เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ ก็ลงรูปศาลาไทยว่าเป็นหนึ่งศาลาที่มีคนสนใจมาก



       การทำงานของคุณพินิจก้าวหน้าไปตามขั้นตอน        


       ในปีพ.ศ. ๒๕๐๑  ได้เป็นหัวหน้ากองหัตถศิลป์

       ความสามารถที่ที่โดดเด่นทำให้กองหัตถศิลป์ในยุคของคุณพินิจเป็นยุคที่เฟื่องฟู      จนเรียกได้ว่าเป็นกองเดียว

ในกรมศิลปากรที่มีความเป็นเอกเทศมากที่สุด   ทำรายได้ให้กับกรมมากที่สุด      


       ลักษณะการทำงานของคุณพิินิจเป็นที่ถูกใจผู้ใต้บังคับบัญชามาก   เนื่องจากต้องบังคับบัญชาศิลปินผู้มีอารมณ์ไม่เหมือนคนทั่วไป

ศิลปินก็เอาใจยากอยู่  นึกจะทำก็ทำ  ถ้าไม่อยากทำมาเร่งเท่าไรงานมันก็ไม่เดิน    


       อาจารย์เรืองสุข   อรุณเวช  ประติมากรมือหนึ่งของกองหัตถศิลป์ เล่าว่า  "หน้าที่ของกองหัตถศิลป์คือออกไปทำอนุสาวรีย์ต่าง ๆ  

ท่านก็มีหน้าที่โดยตรงต้องสั่งงานพวกผม      ก่อนนั้นคนที่เป็นหัวหน้ากองไม่ค่อยจะเข้าใจคนที่ทำงานศิลปินเท่าไร    คือไม่ใช่ขี้เกียจนะ  

แต่มันเป็นอารมณ์ว่าอยากทำงานกันหรือเปล่า

       พออาจารย์พินิจเข้ามาเป็หัวหน้ากอง   ท่านก็เข้าใจอารมณ์ของพวกเรา  อาจเพราะท่านก็มีความเป็นศิลปินอยู่ในตัวเองเหมือนกัน

เวลาท่านให้งานพวกผมทำ   ท่านจะไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวในเรื่องของงานเลย   คือให้พวกผมรับผิดชอบงานทั้งหมดด้วยตนเอง

คุณจะทำเมื่อไหร้ก็ได้   ถ้าไม่อยากทำก็ไม่ต้องทำ    อยากทำเมื่อไรค่อยลงมือก็แล้วกัน        เพราะท่านเข้าใจอย่างนี้   ท่านก็ให้อิสระในการทำงานอย่างเต็มที่

พวกผมก็ชอบใจกันใหญ่       รู้สึกว่าท่านเป็นคนที่น่านับถือ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงาน   แบบนี้ทำให้งานเสร็จทันเวลา   ดีกว่าบังคับให้เสร็จทันตามเวลา

อย่างที่คนอื่นๆเตยทำกัน"



กระทู้: นายพินิจ สมบัติศิริ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 29 ต.ค. 11, 06:56


       คุณพินิจทำงานอยู่กองหัตถศิลป์ ๖ ปี ๗ เดือน   แล้วย้ายไปเป็นหัวหน้ากองสถาปัตยกรรม ปี พ.ศ. ๒๕๐๗

เป็นช่วงที่ต้องรับผิดชอบในการซ่อมแซมพระบรมมหาราชวัง   และเขตพระราชฐานด้านใน

ไม่เพียงแต่จะเข้าไปบูรณะพระบรมมหาราชวังและเขตพระราชฐานชั้นใน   อันเป็นเขตที่น้อยคนนักจะเข้าไปถึง

คุณพินิจยังเป็นผู้ออกแบบพระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต    เป็นหนึ่งในคณะที่ซ่อมแซมบูรณะพระราชวังบางปะอิน   

พระราชวังไกลกังวล หัวหิน   พระที่นั่งอนันตสมาคม   รวมทั้งวัดพระศรีรัตนศาสดาราม


       แม้ว่างานต่าง ๆ ในสมัยที่ทำงานอยู่ศิลปากรจะไม่ใช่ผลงานของคุณพินิจโดยตรง   แต่มีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายและแผน

เป็นที่ปรึกษาให้คณะทำงาน    ให้คำแนะนำงานด้านสถาปัตยกรรม   การวางผัง  การออกแบบ  เขียนแบบ   ควบคุมดูแลงานก่อสร้าง

และซ่อมแซม   ตรวจการจ้าง   งานส่วนใหญ่ที่คุณพินิจทำจึงเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะของชาติ  รวมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับการงาน

ศิลปะของชาติ   รวมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงความศักดิ์สิทธิ์เหนือดวงใจของไทยทั้งมวล


       "และงานที่เป็นเรื่องสะเทือนใจคุณพินิจมากที่สุดก็คือ   ได้เป็นผู้ออกแบบการก่อสร้างพระเมรุมาศถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล   

ซึ่งเป็นองค์เหนือหัวที่คุณพินิจเคยได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิดเมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์    นับว่าเป็นความ

โทมนัสใจอย่างหาที่เปรียบไม่ได้"   


กระทู้: นายพินิจ สมบัติศิริ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 พ.ย. 11, 12:16


       ตำแหน่งสุดท้ายของท่านคือคือรองอธิบดีศิลปากร   ท่านอยู่กับกรมศิลปากรเป็นเวลา ๓๐ ปีเต็ม



       ต่อมาท่านได้เข้ารับตำแหน่งอธิบดีในกรมศาสนา    "เข้าไปเดือนแรกก็มีคนลองดี   คือจะมีหนังสือว่าจะส่งเงินให้วัดใดก็ตามที่ขอมา

จะต้องส่งมาให้ท่านเซ็นอนุมัติ   สมมติว่าเป็นเงินจำนวนสามหมื่นบาท   พิมพ์หน้าเอกสารตัวจริง  แต่สำเนาอาจจะเป็นสามแสน

เพื่อนได้เตือนท่านว่าจะเซ็นให้อ่านก่อน   พอไปถึงก็เจอเลย   เขาคงคิดว่าเราเซ็นข้างหน้าแล้วข้างหลังไม่ดูอะไรอย่างนั้น

ผมเข้าไปอยู่ไม่เท่าไหร่   มีอยู่เช้าหนึ่งผมก็เอาซองขาวไปแจกทุกโต๊ะ   เรียกว่าย้ายฟ้าผ่ากันเลย   โดนกันทุกคนไม่เว้น

โชคดีนะที่ผมไม่โดนยิงทิ้งตอนนั้น"

       "ผมเป็นคนแปลกอยู่อย่างหนึ่ง   ถ้าหากอยู่ในหน้าที่การงานที่ต้องทำ  ไม่ถือว่างานที่ทำเป็นเรื่องใหญ่     ผมเคยจับพระกลางบางลำพู

เพราะเห็นพระสงฆ์กำลังเรี่ยไรตามถนน   ผมจอดรถกลางถนนทันทีเลย  ตำรวจก็มาไล่    ผมบอกเดี๋ยวก่อน  เดี๋ยวค่อยมาว่ากัน

ผมขอจับพระก่อนก็แล้วกัน   ตำรวจกลัวเลย   ไม่รู้ว่าไอ้นี่มาจากหน่วยงานไหนถึงมาจับพระกลางตลาดบางลำพูอย่างนี้     ผมจับพระสงฆ์มาถามว่า

ท่านมาจากวัดไหน   รีบโทรศัพท์ให้คนจากกรมศาสนามามารับตัวไปวัดเลย   จากนั้นก็เล่นงานเจ้าอาวาสอีกองค์ต่อ    เพราะตามกฎแล้วพระสงฆ์

จะออกมาเรียไรนอกวัดไม่ได้     ตอนนั้นจับสึกเลย   ไม่ฟังเสียงใครทั้งนั้น"

       "สำหรับผม   พระที่ดีคือพระที่ไม่ยุ่งกับทางโลกทั้งหมด   มีความสำรวมตามพระวินัยและกฎของสงฆ์ทุกอย่าง"


กระทู้: นายพินิจ สมบัติศิริ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 พ.ย. 11, 05:33
      
       วันหนึ่งคุณพินิจไปราชการหัวเมือง  ขากลับนั่งมาจะหลับอยู่แล้ว   สวนทางกับรถกะบะคันหนึ่ง

เอ๊ะ...คนขับเหลืองๆนี่นา    คุณพินิจถามคนขับรถของท่านว่าเมื่อกี้เห็นหรือเปล่าว่าใครขับรถ

เขาบอกเห็นครับ  พระ


คุณพินิจสั่งให้กลับรถ   "บึ่งไปถึงตัดหน้าเรียกให้หยุด   เฉ่งเลย   เพราะพระสงฆ์ขับรถไม่ได้  ผิดพระธรรมวินัย

ท่านต้องสำรวมตามกฎสงฆ์     ผมถามท่านว่ามาจากวัดไหน  ไปเดี๋ยวนี้เลย   เล่นงานเจ้าอาวาสด้วย

ผมว่าท่านคงขับมานานแล้ว   แตไม่เคยสวนทางกับอธิบดี (หัวเราะ)"


       วันที่คุณพินิจเกษียณเป็นวันที่มหาเถรสมาคมประชุมพอดี    ท่านเป็นเลขานุการโดยตำแหน่ง        พอประชุมเสร็จ

สมเด็จพระสังฆราชก็เรียกท่านให้เข้าไปใกล้    แล้วที่ประชุมสงฆ์สวดชยันโตให้    ไม่เคยมีอธิบดีคนไหนที่มหาเถรสมาคมสวดชยันโตให้

คุณพินิจเล่าว่า "ผมงี้ขนลุกซู่เลย"

       พอกลับถึงกรมฯ  ก็เก็บข้าวของลงบันไดจะขึ้นรถ   มีคนจุดประทัดไล่หลังเลย   "คงมีหลายคนดีใจที่ผมจากไป  

เพราะผมไปขัดผลประโยชน์ของเขาไว้เยอะ  ปราบเขาไว้มาก"



กระทู้: นายพินิจ สมบัติศิริ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 พ.ย. 11, 06:24


       คุณพินิจมีลูกสาวสองคน    เป๊ก-พิไลพรรณ  สมบัติศิริ  กับแป๊ก-สัณหพิศ   โพธิรัตนังกูร

"ตอนผมมีลูกสาวนะ   ตอนนั้นยังรับราชการอยู่ก็จะมีเวลาเลี้ยงลูกตอนกลางคืน   ผมชอบลูกสาวนะ   เห็นเมื่อไรก็ยังน่ารัก

แต่ถ้ามีลูกชายก็ยังรักนะ    แต่พอมันอายุสักสิบห้าหรือยี่สิบ   แหมมันน่าเตะจริง ๆ   อะไรก็ไม่รู้


       พอมีลูกสาวก็รักมาก   เวลาตอนกลางคืนผมจะเป็นอุ้มให้นอนเอง  บังเอิญลูกทั้งสองคนเป็นเด็กที่นอนยากมาก

ผมต้องร้องเพลงกล่อมตั้งแต่โอเปร่าถึงแจ๊ส"


       คุณพิไลพรรณเล่าว่า "เท่าที่ทราบ   พ่อจะแบกขึ้นบ่า  และเปิดเพลงเก่าๆให้ฟัง  แล้วตบก้นไปด้วย  เต้นไปตามจังหวะ

แต่ถ้ายังไม่นอนก็จะเริ่มกระทืบเท้าและตบฝา   สงสัยว่าตอนนั้นไม่กลัวพ่อเพราะสนุกไปด้วย   กว่าจะได้นอนก็สนุกไปด้วย

กว่าจะได้นอนก็เหนื่อยกันทั้งพ่อทั้งลูก"

       "รู้สึกว่าพ่อเป็นคนดี   เป็นคนที่เรียบง่าย   ทำให้พ่อไม่เบียดเบียนใคร     ไม่เคยทำให้ใครเดือดร้อน   ไม่เคยพูดไม่ดีกับใคร   

เป็นคนที่คิดถึงคนอื่นในแง่ดี   ถ้าไม่ชอบใครก็จะเลี่ยงไปไม่เข้าใกล้ชิด    พ่อเป็นคนที่มีความเข้าใจในชีวิต  เป็นคนลึกซึ้ง

ทั้งๆที่ภายนอกพ่อเป็นคนที่ดูง่าย ๆ"


คุณสัณหพิศ   กล่าวถึงคุณพ่อว่า

       "พ่อไม่ยึดวัตถุในชีวิตเลย   ชอบเรียบ ๆง่าย ๆ   อะไรก็ได้   มีก็กิน   ไม่มีก็ไม่ตะเกียกตะกายต้องหา  หรือยืมคนอื่นมา

พ่อเป็นคยไม่ถือตัว  โอภาปราศรัยเข้ากับคนง่าย   จึงเห็นเป็นคนสบาย ๆ     แต่ถ้าคนไหนไม่ดี  โกงกิน  ไม่ซื่อตรง   

พ่อก็จะไม่ว่าอะไรเขา  แต่จะไม่คบ   เพราะถือว่าไม่ใช่เรื่องของเรา  ไปยุ่งแล้วปวดหัววุ่นวาย  เอามาเป็นทุกข์กับตัวเราอีก

เพราะฉะนั้นพ่อจะไม่ยุ่งเรื่องคนอื่นเลย     แต่คนที่ไม่รู้จักจะนึกว่าพ่อเป็นคนเละ ๆ เทะๆ ไปเรื่อย       

แต่ไม่มีใครทราบว่าพ่อเป็นคนละเอียด  ถี่ถ้วนทุกอย่าง  และมีระเบียบมาก   ทุกอย่างที่ผ่านตาจะต้องจดลงสมุดโน้ตและลอกไปลงสมุดใหญ่อีกที

เงินก็ต้องพับอย่างเป็นระเบียบเป็นใบ ๆเรียงกัน    จริงๆแล้วพ่อเป็นคนที่ถือตัวพอควรสำหรับคนที่ดูถูกคน"   

   


กระทู้: นายพินิจ สมบัติศิริ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 พ.ย. 11, 20:46



        คุณพินิจชอบเครื่องบิน   อยากจะเป็นนักบิน  แต่สมัยก่อนเครื่องบินของไทยไม่ค่อยดี

ทางบ้านเลยไม่ให้เรียน   ท่านเลยมาหัดบินและเป็นนักเรียนนักบินพลเรือนรุ่นที่ ๑๖  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔

เวลาเรียนต้องเสียค่าเรียนสามพันบาทและเสียค่าน้ำมันเป็นนาที

 
       พอปล่อยเดี่ยวได้คุณพินิจก็ฝ่าฝืนข้อห้ามของครูฝึกบ้าง  เพราะไม่ทราบถึงผลเสียที่จะตามมา

เวลาหน้าข้าว   ต้นข้าวขึ้นสูงเต็มท้องทุ่งไปหมด    เวลาบินเขาห้ามบินเรี่ยยอดข้าว  เพราะจะเกิดอันตราย  ห้ามทำ   

ท่านเล่าว่า "ตอนนั้นก็สนุก  ไม่รู้ว่าที่เขาห้ามนั้นเพราะอะไร

       เห็นนาข้าวเหลืองก็บินเรี่ยยอดข้าวเล่น  รวงข้าวติดล้อเรือบินมา   ครูฝึกจับได้เอ็ดตะโรใหญ่

ทำไมเขาถึงห้ามรู้ไหม    เพราะตามทุ่งนาเขาจะมีเสา ๆปักไว้   เมื่อต้นข้าวขึ้นสูงเต็มที่ก็จะบังเสาหมด    ถ้าเผื่อไปบินเรี่ยยอดข้าว   

ล้อเกิดไปโดนเสาก็จะตีลังกา    ตอนนั้นโดนดุใหญ่   พอเขาบอกอย่างนั้นแล้ว      โอ้โห...ไม่อยากจะนึกภาพเลย"

 


กระทู้: นายพินิจ สมบัติศิริ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 พ.ย. 11, 22:17


       ในสายตาคนส่วนใหญ่   คุณพินิจเป็นคนเรียบง่าย   ใจเย็น  และอารมณ์ดี

แต่เพื่อน ๆที่สนิทกันจะทราบว่า   ภายใต้ความอารมณ์ดีนั้น   มีความเด็ดเดี่ยวอย่างชนิดที่เรียกว่า

ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนมาก่อนว่าคุณพินิจจะทำได้

       อาจารย์เรืองสุข  อรุณเวช  เล่าว่า

       "ท่านอาจารย์พินิจเป็นคนที่ใช้ชีวิตคุ้มค่า   ผมเองก็ตามท่านไปขึ้นเครื่องบินบ่อย ๆ    ผมรู้สึกว่าท่านชอบขับเครื่องบินมาก   

ขับแป๊บเดียวก็ปล่อยเดี่ยวได้เลย  ผมถึงรู้ว่าท่านเป็นคนมั่นใจในตัวเองมาก   เพราะคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองแล้ว   จะขับเรือบินไม่ได้



       ความใจเด็ดของท่านผมเห็นมาจริงๆก็ตอนที่ท่านเข้าไปช่วยคนติดอยู่ในเรือบินตอนที่เรือบินตก    แถมเรือลำนั้นเป็นหมายเลข ๑๔  ที่

อาจารย์ท่านขับบ่อย ๆเสียด้วย    เวลาที่ท่านขับก็ไม่เห็นเป็นอะไร   แต่พอคนอื่นเขามาเอาไปขับอยู่ครั้งหนึ่งก็ตก   รู้สึกว่าคนที่เอาไปขับ

เป็นนายทหารอากาศเสียด้วย        ตัวเรือบินพังยับเลย    เขาว่าที่ตกเพราะคนขับดึงคันบังคับให้หัวเชิดมากไป   แล้วนักบินก็ติดอยู่ในเครื่องออกไม่ได้

โชคดีที่ไม่ตาย   แต่ขาขัดอยู่กับที่นั่งดึงเท่าไรก็เอาไม่ออก


       ทีนี้ทุกคนก็ไม่รู้ว่าเครื่องมันจะเกิดระเบิดขึ้นมาเมื่อไหร่ใช่มั้ย   อาจารย์ท่านก็ตัดสินใจเอามีดของทหารสวิสตัดขาที่ติดในเครื่องออก   

เห็นว่าขามันแหลกแล้ว   เหลือติดอยู่นิดเดียวแหละ   เอามีดตัดขากางเกงก่อน    นักบินร้องโวย ๆ ว่าอย่าตัด ๆ   

ท่านก็ไม่ฟังเสียงตัดฉับเดียวขาดเลย  แล้วแบกออกมา

       ถ้าเป็นคนอย่างเราๆก็คงไม่กล้าหรอก   แต่ท่านกลัวว่าถ้าหากไม่รีบเอาตัวออกมาก่อน   ถ้าเกิดเครื่องระเบิดขึ้นก่อน

ก็จะเสียมากกว่าขา   ก็เลยตัดสินใจแบบนั้น"


กระทู้: นายพินิจ สมบัติศิริ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 พ.ย. 11, 08:10

       อาจารย์เรืองสุขเป็นเพื่อนสนิทที่สุดที่สุดของคุณพินิจในตอนนั้น   สมัยที่เข้าไปทำงานที่กรมศิลปากรใหม่ ๆ

บ้านอาจารย์เรืองสุขอยู่สะพานควาย    ในเวลาเช้าคุณพินิจไปฝึกบินที่ดอนเมืองตั้งแต่ ๖​โมงเช้าถึง ๗​โมงครึ่ง

แล้วก็ขับรถมาทำงานต่อ  แล้วแวะรับอาจารย์เรืองสุชมาด้วย   นานเข้าก็เลยพาเขาขึ้นเครื่องไปด้วย

       อันที่จริงทางทหารอากาศไม่อนุญาตให้ขึ้นหรอก   แต่อาจารย์เรืองสุขเป็ประติมากรที่เก่ง   ก็ได้ไปรู้จักกับผู้อำนวยการบินที่นั้น  

แล้วไปซ่อมอะไรให้สักอย่างนี่แหละ   ก็เลยได้รับอนุญาตให้ขึ้นเครื่องคุณพินิจขับได้


       คุณพินิจบินโดยมากจากดอนเมืองไปปากน้ำแล้วก็กลับ    ท่านเล่าว่าขนาดเห็นทุกวันก็ไม่เคยเบื่อ  เพราะท้องฟ้าแต่ละวันไม่เหมือนกัน

บางวันมีเมฆ  บางวันไม่มีเมฆ     แสงอาทิตย์ที่สาดมาเปลี่ยนมุมนิดเดียวความแตกต่างก็เกิดขึ้นแล้ว




กระทู้: นายพินิจ สมบัติศิริ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 พ.ย. 11, 08:42


       คุณพินิจสะสมมีด   บางส่วนเป็นมรดกมาจากพ่อตา พระยาภักดีนรเศรษฐ์(เลิศ  เศรษฐบุตร)    เนื่องจากคุณพินิจเดินทางไปรอบโลก

เนื่องจากในหน้าที่การงานและการพักผ่อนส่วนตัว     จึงเสาะแสวงมีดที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจ   


       ท่านว่า "ผมรักที่จะสะสมมีด  เพราะมันเป็นของที่ใช้งานได้    และในขณะเดียวกันมันก็คงทนต่อการเก็บรักษาเอาไว้ได้นาน ๆด้วย

คงเป็นความสุขอย่างหนึ่งในห้าร้อยจำพวกของมนุษย์    ผมชอบสะสมมีด   ไปราชการหรือดูงาน  แม้กระทั่งไปพักผ่อนส่วนตัว   

ผมก็ชอบหามีดของท้องถิ่นเหล่านั้นติดไม้ติดมือมาเก็บไว้ที่บ้าน"


       มีดที่สะสมไว้มีสามร้อยด้าม       มีชนิดต่างๆกัน    ถ่าจะคิดเป็นราคาค่าเงิน  ก็ไม่มีราคาค่างวดอะไร     แต่ถ้าให้ราคาตามความรู้สึกแล้ว 

ก็ประเมินราคาของความสุข  ความพอใจ  และความภาคภูมิใจที่ได้ใช้ความพยายามรวมรวมมาอย่างต่อเนื่องและยากเย็น

มีดของคุณพินิจเป็นมีดที่หายาก   โดยเฉพาะมีดอีโต้ตัดคอวัวอันเป็นอาวุธคู่กายของนักรบกุรข่า   ที่อยู่แถบเนปาลบริเวณเทือกเขาหิมาลัย

และมีดรัสเซียที่ทั้งฝักและด้ามเป็นสีขาวไร้ลวดลาย  ไม่มีขายในตลาดเพราะเขาตีว่าเป็นอาวุธ      รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมมอบให้เมื่อครั้งนำคณะศิลปิน

ไปโชว์ที่มอสโคว์

       เนื้อเหล็กที่คุณภาพดีมากมาจากกลุ่มสแกนดิเนเวียและเยอรมันตะวันตก    เหมาะกับการใช้งานทุกประเภท

       การดีไซน์ที่สวยหรู  เป็นของอเมริกา

       ความสวยงามของแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไป   บางประเทศดูผาดๆไม่ละเอียดงดงามเท่าไหร่   แต่มีเสน่ห์และเอกลักษณ์ของประเทศเหล่านั้น

คนที่รักการสะสมจริงๆถึงจะรู้

       มีดในตู้ของคุณพินิจทีตั้งแต่มีดพก   มีดดาบยาว   มีดล่าสัตว์   มีดปอกผลไม้   มีดล่าสัตว์   ได้มาจากชาวบ้าน  ร้านขายของที่ระลึก   และร้านขายของเก่า


กระทู้: นายพินิจ สมบัติศิริ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 พ.ย. 11, 07:17

       ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจของคุณพินิจอีกหลายอย่างที่ไม่สามารถนำมาเสนอได้ทั่วถึง   งานของท่าน

การเดินมางไปในท้องถิ่นที่ไม่เป็นที่รู้จักกันดีนัก    การเล่นกล้อง  และอื่นๆอีก   แต่เรื่องสุดท้ายที่ขอคัดย่อ

มาเพื่อแสดงความรักและเมตตาสัตว์คือเรื่องการอุปถัมภ์ช้างในโครงการรักษ์ช้างภาคเหนือ

คุณพินิจทราบข่าวว่า   ลูกกบที่ถูกพรากจากแม่จากคนใจร้ายตั้งแต่อายุเพียง ๗ - ๘ เดือนในจังหวัดสุรินทร์

นำไปแสดงหนังฮอลลีวู้ดชื่อ Operation Dumbo Drop  


       ตามธรรมดาลูกช้างต้องได้นมแม่จนอายุ ๒ ขวบจึงจะแข็งแรงเต็มที่    ลูกกบมีปัญหาเรื่องกระดูกเปราะและผิดรูป

เนื่องจากหย่านมแม่ก่อนวัย   แพทย์ต้องให้ยาบำรุงและเสริมแคลเซียมในกระดูก  (จากหนังสือ "เพื่อนช้าง" ปีที่ ๒  ฉบับที่ ๕ เมษายน - มิถุนายน ๒๕๓๘)

เมื่อการถ่ายทำภาพยนต์จบลง  ผู้กำกับได้ขอซื้อตัวลูกกบจากเจ้าของแล้วนำตัวมามอบให้ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย  


จึงรับอุปการะไว้ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๓๘        เป็นเวลา ๑ ปีกับ ๑ เดือนที่ ช้างน้อย(สูง ๑ เมตร ๔๖ ซม. หนัก ๔๐๐ กก.)

ได้รับความรักที่ไร้ขีดจำกัดจากคุณพินิจ


       คุณพินิจบันทึกไว้ว่า   "ขี้เล่น   ช่างประจบ และเจียมตัว   งาโผล่ออกมาแล้ว ๕ ซม.    ควาญพี่เลี้ยงประจำชื่อ นายบุญยั้ง  บุญเทียม"

คุณพินิจได้ตั้งชื่อลูกกบเป็นทางการว่า "ศิรินิจ"


       คุณพินิจไปเยี่ยมศิรินิจบ่อย   ในการเยี่ยมครั้งที่สอง  ศิรินิจใช้งวงคล้องแขนคุณพินิจไว้ไม่ให้กลับ     คุณพิินิจจะป้อนกล้วยและกอดคอ

ลูกช้างที่โตเร็วไว้    ช้างเป็นสัตว์แสนรู้  มีหรือจะรับกระแสความเมตตาจากสุภาพบุรุษในชุดซาฟารีใจดีไม่ได้

       คนที่รักและเข้าใจสัตว์  รู้กันว่าสัตว์มีใบหน้าที่แสดงอารมณ์แตกต่างกัน

       คุณพินิจพาดมือซ้ายเหนือคอศิรินิจ(เพราะโอบไม่รอบ)  มือขวาจับที่ต้นงวงและก้มไปกระซิบที่หน้าผาก      ศิรินิจทำตัวเป็นเด็กดีที่สุดในวันนั้น

ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์รับอุปการะศิรินิจต่อมา



        ขออนุญาตจบเพียงแค่นี้   หนังสือปกแข็ง  หนา ๔๑๒ หน้า         ยังพอหาได้ในตลาดหนังสือมือสอง