เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 08:21



กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 08:21
เมื่อสิบหกปีมาแล้ว คือในพ.ศ.๒๕๓๘ ผมได้เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มหนึ่งที่กองทัพเรือเป็นเจ้าภาพจัดพิมพ์ขึ้นสำหรับร่วมแจกในงานเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพของคุณลุง พลเรือเอกจิตต์ สังขดุลย์ พี่ที่เคารพรักของแม่ หนังสือขนาดแปดหน้ายกนี้ดูไม่เหมือนหนังสืองานศพ เพราะผมวาดปกเองให้ดูดุเดือดสมกับชื่อเรื่อง “เมื่อธนบุรีรบ” อันเป็นบทความที่คุณลุงเขียนขึ้นจากเหตุการณ์ที่ท่านประสพด้วยตนเองเมื่อครั้งเป็นเรือโท ปฏิบัติหน้าที่นายป้อมปืนท้ายเรือหลวงธนบุรี คราวดวลปืนใหญ่สู้กับเรือรบฝรั่งเศสแบบสามรุมหนึ่งในการรบที่เกาะช้าง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารนาวิกศาสตร์ ปีพ.ศ.๒๔๘๔

คูณลุงเกือบจะตายเสียคราวนั้นเพราะกระสุนปืนใหญ่ฝรั่งเศสยิงโดนร.ล.ธนบุรีหลายนัด ลูกหนึ่งทะลุเข้าไปในป้อมปืนท้ายแต่บังเอิญไม่ระเบิด ทำให้ท่านรอดชีวิตกลับมาจนได้รับราชการในตำแหน่งสูงสุดคือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นนายทหารเรือคนเดียวในประวัติศาสตร์กองทัพ ที่นอกนั้นเป็นนายพลทหารบกทั้งสิ้น


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 08:30
หนังสือเล่มนี้ นอกจาก“เมื่อธนบุรีรบ”อันเป็นเรื่องเอกแล้ว ยังได้รวมเอาบทความต่างๆเขียนโดยฝ่ายทหารเรือไทยและฝรั่งเศส อย่างเป็นทางการและไม่ทางการที่น่าสนใจมารวมเล่มไว้ ตอนนั้นไม่มีอินทรเนตรอันศักดิ์สิทธิ์ให้นั่งสอดส่องอยู่กับบ้าน อยากรู้อะไรทางฝ่ายเขาก็ต้องควักกระเป๋าดั้นด้นไปค้นที่ฝรั่งเศส โชคดีที่ผมมีเพื่อนรุ่นน้อง ขอประทานโทษที่ขอพาดพิง คือคุณวนัสนันท์ กนกพัฒนางกูร ผู้กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกที่อยู่ปารีสในครั้งกระนั้น ช่วยค้นห้องสมุดทหารเรือได้เอกสารและภาพถ่ายมาได้ปึกใหญ่ แถมช่วยแปลความต่างๆให้ผมอีก หลังจากหอบกลับมาสกัดเอาฝอยๆออกไปแล้ว เหลือแต่ที่สมควร ก็นำมาลงประกอบในหนังสืองานศพคุณลุงด้วย

หนังสือ“เมื่อธนบุรีรบ”แม้แพร่หลายอยู่ในวงจำกัด แต่ก็เห็นมีเซียนนำภาพและเรื่องบางตอนเฉพาะที่ถูกใจตน ลอกไปลงในกระทู้บ้าง ในบล๊อกต่างๆบ้างอยู่เนืองๆ เห็นแล้วรำคาญใจที่ข้อเท็จจริงบางอย่างถูกบิดเบือนไปตามดีกรีความรักชาติของผู้แต่ง แต่ผมไม่ว่าอะไรหรอก

บัดนี้คิดว่า ผมน่าจะเอาข้อมูลที่ใกล้เคียงความจริงที่สุดในเหตุการณ์ครั้งนั้นมาเขียนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ให้อ่านสนุกๆตามแบบฉบับของกระทู้ สำหรับท่านที่ชอบหาความรู้ทางอินทรเนตรโดยเฉพาะ ไม่ใช่บทวิชาการนะครับขอบอก แต่เลือกห้องประวัติศาสตร์ในเรือนไทยนี่แหละเป็นเวทีนำเสนอ
การศึกษาประวัติศาสตร์นั้นมีประโยชน์อย่างสำคัญคือ เมื่อเรียนรู้ความผิดพลาดของอดีตแล้ว พึงระวัง อย่าทำอะไรเดิมๆที่จะทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก ผมหวังว่าอนุชนที่สนใจเข้ามาอ่าน นอกจากสาระบันเทิงแล้ว จะได้รับข้อคิดนี้ และนำไปปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในปัจจุบันและอนาคต

และเช่นเดิมครับ เชิญท่านทั้งหลายให้เข้ามาช่วยเสริมสร้าง(กรุณาอย่าเสริมแต่ง) หรือใครจะตั้งคำถาม ถ้าตอบได้ผมก็จะตอบอย่างตรงไปตรงมา หรือจะเห็นต่างก็ได้ ผมน้อมรับและยินดีที่จะได้ถกกัน สำหรับกูรูที่ประสงค์จะพาออกจากทะเลขึ้นฝั่งไปบ้างก็ไม่ว่า แต่อย่าไปไกลมากนะครับ เอาแค่ขุดหอยช้อนปลาหาเขียดปาดอยู่แถวชายหาดก็แล้วกัน เดี๋ยวผมจะพากลับออกทะเลไม่ถูก ถ้าสนใจจะต่อเรื่องเหตุการณ์ในกรณีพิพาทอินโดจีนจริงๆแล้วละก็ ควรแยกกระทู้ผมจะไปแจมด้วย จะเอาเป็นมหากาพย์อย่างกระทู้ครั้งกระโน้นก็เอากัน


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 08:32
ในปี๒๕๗๕ คณะทหารกลุ่มหนึ่งเป็นแกนนำในการปฏิวัติระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในนามของคณะราษฎร ครั้นได้อำนาจมาแล้วก็เสียเวลาจัดการปราบกลุ่มที่มีความคิดทางการเมืองแตกต่าง ทั้งฝ่ายเจ้าและฝ่ายเดียวกันแต่คนละพวกอยู่สองสามปี จึงมีความสงบพอที่จะมีเวลามองเหตุการณ์บ้านเมืองข้างหน้า ขณะนั้นสถานการณ์ความขัดแย้งของมหาอำนาจในยุโรปเริ่มชัดเจนแล้ว โลกตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อสงครามมากขึ้นและอาจจะเป็นวงกว้าง เพราะญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจใหม่ทางเอเซียหลังจากเอาชนะกองทัพอันเกรียงไกรของรัสเซียอย่างเด็ดขาดทั้งสงครามทางบกและทางเรือ เปิดทางให้กองทัพซามูไรเข้าไปยึดครองคาบสมุทรเกาหลีและกำลังรุกคืบเข้าสู่จีน แน่นอนว่าจะต้องเหยียบเท้าเจ้าอาณ่านิคมทางแถบนี้เข้าสักวัน หากญี่ปุ่นไม่บรรเทาความฮึกเหิมลงแล้ว สงครามก็น่าจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยความคิดของรัฐบาลทหาร(ในคราบของนักประชาธิปไตย) สยามควรจะต้องสร้างกองทัพให้แข็งแกร่งขึ้นมาบ้างเพื่อรับมือกับเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ดังนั้นในปีพ.ศ.๒๔๗๘ สภาผู้แทนราษฎรจึงตรากฏหมาย ออกเป็นพระราชบัญญัติให้ทุ่มงบประมาณเพื่อซื้อหรือสั่งสร้างสั่งต่ออาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทั้งสามกองทัพครั้งมโหฬารที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ชาติไทย


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 08:34
ตรงนี้ต้องขอดักคอบางคนไว้ก่อน ผมเชื่อในความบริสุทธิ์ใจของคณะนายทหารครั้งนั้นว่า มิได้จัดหางบประมาณซื้ออาวุธเพื่อหวังค่าคอมมิสชั่นเข้ากระเป๋าดังยุคหลังๆที่คนนินทาพวกผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหลายกัน ภัยที่กำลังมาใกล้ตัวช่วงนั้นมันชัดเจนมาก มหาอำนาจยุโรปหลายชาติไม่สนใจจะขายอาวุธให้ชาติอื่น ตรงกันข้ามกับญี่ปุ่นที่เต็มอกเต็มใจมากที่จะต่อเรือรบให้รัฐบาลไทยในราคาย่อมเยากว่าราคามิตรภาพ ผมเดาเอาเองว่าญี่ปุ่นหวังไทยให้นำเอาอาวุธเหล่านั้นไปฟาดฟันกับฝรั่งแทนตน การประมูลส่วนใหญ่ มีผู้เข้าร่วมสามประเทศ ได้แก่ เยอรมันซึ่งเสนอราคาสูงลิบลิ่วแบบไม่หวังจะได้ลูกค้า อิตาลีที่เสนอราคาถูกกว่าเยอรมันมาก แต่ก็แพงกว่าญี่ปุ่นเกือบเท่าตัว  อเมริกานั้นยอมขายเครื่องบินรบให้จำนวนหนึ่ง พอไทยอยากได้อีกก็ถามว่ายูจะเอาไปทำกันอะไรเยอะๆ ไทยจึงต้องไปซื้อจากญี่ปุ่นแทน แต่สมรรถนะยังสู้กันไม่ได้


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 08:36
ผมจะว่าเฉพาะ " พ.ร.บ.บำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.๒๔๗๘ " เพื่อนำเข้าเรื่องตามหัวข้อกระทู้ ซึ่งรวมความแล้วกองทัพเรือได้สั่งต่อเรือรบตามรายการดังนี้


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 08:38
เรือสลูป ๒ ลำ จากญี่ปุ่น (ร.ล. ท่าจีน ร.ล.แม่กลอง) เป็นเรือรบเอนกประสงค์ติดอาวุธทุกอย่างครบ มีแม้กระทั่งเครื่องบินทะเลบรรทุกที่ท้ายเรือด้วย ระหว่างสงคราม ร.ล.ท่าจีนโดนระเบิดสัมพันธมิตรที่สัตหีบ ท้องทะลุถึงไม่จมก็ไม่รุ่ง ซ่อมไม่ดีเท่าเดิมก็ปลดระวางไป หลังสงครามอเมริกันจัดหาเรือรบมาให้ใช้ใหม่ กองทัพเรือขึ้นระวางแทนในชื่อเดิม
 
ในยามสงบร.ล.แม่กลองใช้เป็นเรือฝึก นักเรียนนายเรือเรียกว่าเรือครู อยู่ยงคงกระพันมาหลายสิบปี คุ้มแล้วคุ้มอีก สุดท้ายล้าสมัยเกินจะปรับปรุง ปลดระวางไปเมื่อ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๓๙นี้เอง ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งอยู่ที่ป้อมพระจุลฯ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 08:45
เรือตอร์ปิโดใหญ่ ๙ ลำ (ร.ล.ชลบุรี  ร.ล. ตราด  ร.ล. ภูเก็ต ร.ล.ปัตตานี ร.ล.สุราษฎร์  ร.ล.จันทบุรี  ร.ล.ระยอง  ร.ล.ชุมพร  ร.ล.สงขลา) รายการนี้อิตาลีประมูลได้ไป

เรือชุดนี้เป็นเรือที่เกือบตกสมัย เพราะยังใช้เครื่องจักรไอน้ำอยู่ เป็นจุดอ่อนที่เรื่อรุ่นใหม่ๆจะเริ่มติดตั้งเครื่องดีเซลกันแล้ว


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 08:47
เรือตอร์ปิโดเล็ก ๓ ลำ จากญี่ปุ่น (ร.ล.กันตัง ร.ล.คลองใหญ่ ร.ล.ตากใบ)


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 08:49
เรือปืนหนักป้องกันชายฝั่ง ๒ ลำจากญี่ปุ่น (ร.ล.ศรีอยุธยา ร.ล.ธนบุรี)
เรือรบสองลำนี้เป็นที่ทรงอานุภาพที่สุด แต่ดวงไม่ดี แพ้อะไรที่ตกลงมาจากฟ้าคล้ายๆกัน


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 08:54
เรือดำน้ำ ๔ ลำจากญี่ปุ่น (ร.ล. มัจฉานุ ร.ล. วิรุณ ร.ล. สินสมุทร ร.ล.พลายชุมพล)

เป็นเรือขนาดมินิ ใช้งานไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่ ดำที่ต้องปลุกพระกันนานกว่าจะยอมโผล่ ประโยชน์ที่ได้จริงๆคือเอามาเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าป้อนรถรางระหว่างสงคราม หลังจากที่เครื่องบินอเมริกันทิ้งระเบิดโรงไฟฟ้าวัดเลียบพังพินาศ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 08:58
๖ เรือลาดตระเวนเบา ๒ ลำ (ร.ล.ตากสิน-ร.ล.นเรศวร)

อิตาลีประมูลได้ไป แต่ยังต่อไม่ทันจะถึงไหนก็เกิดสงครามขึ้นเสียก่อน ทัพกองเรืออิตาลีอ้างกฏหมายของเขายึดเรือไปขึ้นประจำการในตั้งชื่อใหม่ว่า Edna และ Visuvio รัฐบาลบอกจะคืนเงินค่าจ้างต่อเรือให้แต่สุดท้ายก็ชักดาบ เพราะเรือรบสองลำนี้ก็โดนเครื่องบินอเมริกันทิ้งระเบิดจมอยู่หน้าอู่หลังปล่อยเรือลงน้ำ ทำการติดตั้งอาวุธยังไม่ทันจะแล้วเสร็จ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 09:00
คณะผู้นำทางทหารของไทยสมัยนั้นคาดการณ์ได้แม่นยำ สมกับที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเล่าเรียนจบมา เพราะอีก ๓ ปีเท่านั้นฮิตเลอร์ก็นำกองทัพเยอรมัน เปิดยุทธการสายฟ้าแลบเมื่อวันที่1 กันยายน 1939 (ตรงกับพ.ศ. ๒๔๘๑) ส่งเครื่องบินเข้าทิ้งระเบิดวอร์ซอว์ แล้วยาตราทัพรถถังอันไร้เทียมทานบุกตลุยเข้าโปแลนด์ ทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมันทันที ซึ่งอีกไม่นานเกินรอก็จะลุกลามเป็นสงครามโลกครั้งที่ ๒

เวลาก็พอดีกับเรือรบที่เราสั่งต่อ เครื่องบินและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ผู้ผลิตได้ทยอยส่งมอบให้กับกองทัพไทยเกือบหมดแล้วก่อนหน้าอย่างฉิวเฉียด แต่แทนที่จะเก็บไว้ป้องกันตนเอง ไทยกลับเขม้นสายตาไปที่อินโดจีนฝรั่งเศส ก็มันมีเรื่องแค้นต้องชำระกันมาตั้งแต่ร.ศ. ๑๑๒ เผอิญกับว่าปลายปีนั้น พันเอกหลวงพิบูลสงครามเบ่งบารมีดับพระยาพหลพันเอกเฒ่า ขึ้นไปเป็นนายกรัฐมนตรีแทน แล้วควบรัฐมนตรีกลาโหม รัฐมนตรีมหาดไทยและรัฐมนตรีต่างประเทศ เล่นซะที่เดียว๔ตำแหน่ง ก้นยังไม่ทันอุ่นก็สั่งปราบพวกที่ต้องสงสัยว่าไม่ชอบตน ให้เนรเทศไปเป็นยาจกอยู่นอกพระราชอาณาจักรบ้าง จับเอาไปตั้งศาลพิเศษขึ้นมาสั่งยิงเป้าเสีย๑๘ศพบ้าง จำคุกระยะยาวบ้าง ตลอดชีวิตบ้างรวมแล้วอีก๒๕ ผู้คนตระหนกตกใจว่าเล่นกันแรงเกิน ถึงกับตั้งฉายาว่าเป็นยุคทมิฬไม่เป็นมงคลต่อบ้านเมือง พอดีฝรั่งเศสร้อนรนไปเอง เห็นว่าประเทศของตนรบติดพันกับเยอรมันแบบโดนถลุงไกล้จะหมอบอยู่เช่นนี้ ไทยอาจคิดตลบหลังอาณานิคมอินโดจีนได้ จึงติดต่อเข้ามาขอทำสัญญาไม่รุกรานกัน ยอมตกลงจะปรับปรุงแนวพรมแดนบนแม่น้ำโขงให้ถือร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์ตามข้อเสนอของไทย จนทำพิธีลงนามกันแล้วเสร็จ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 09:01
หลังจากนั้นผ่านไปได้๘วันกรุงปารีสก็แตก เยอรมันจัดตั้งรัฐบาลให้ฝรั่งเศสใหม่เรียกว่ารัฐบาลวีซี่ สั่งการมาให้อินโดจีนฝรั่งเศสยอมให้ญี่ปุ่นยาตราทัพ๓๕๐๐๐คน เข้าไปตั้งคุมอ่าวตังเกี๋ย อ้างว่าเพื่อเตรียมบุกจีน ท่านนายกรัฐมนตรีเห็นเป็นจังหวะอันดีที่จะหาเรื่องชวนทะเลาะกับฝรั่งเศส ยื่นบันทึกขอทวงดินแดนลาวและเขมรที่ถูกยึดไปครั้งกระโน้นคืน โดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยของไทยอันอาจจะเกิดจากประเทศที่๓ ที่เข้ามาในย่านนี้เพราะฝรั่งเศสผิดข้อตกลงที่ทำไว้กับไทย ระหว่างทะเลาะกันไปทะเลาะกันมาเริองนี้ ฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อก็ปล่อยข่าวให้หนังสือพิมพ์และวิทยุช่วยกันปลุกระดมจนเลือดรักชาติในตัวคนไทยเดือดพล่าน ลืมเรื่องที่ฆ่าแกงกันเองหยกๆหันไปอยากฆ่าฝรั่งเศสแทน เกิดพลังสามัคคี พร้อมใจเดินขบวนขึ้นเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์เพื่อไปยังหน้ากระทรวงกลาโหม เรียกร้องให้ใช้กำลังยึดเอาดินแดนที่ไทยเคยครอบครองนั้นคืนมา

ท่านนายกรัฐมนตรี ก็ออกมายืนสง่ารับขบวนประชาชนในมาดของท่านผู้นำ และกล่าวปฏิญาณต่อหน้าพระแก้วมรกตว่า จะเอาดินแดนที่เสียไปในครั้งรัชกาลที่๕คืนมาจากฝรั่งเศสให้ได้


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 09:03
ผมขอจบฉากที่ ๑ ตรงนี้ให้ท่านทั้งหลายตั้งตัวก่อน เดี๋ยวฉากต่อไปผมจะพาออกทะเลแล้ว


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ก.ย. 11, 09:24
เข้ามาสวัสดีครับ

กระผมก็ได้แต่หาหอยเสียบเลียบชายทะเล ไปเรื่อย ๆ อ่านตอนที่กล่าวถึงเรื่องไทยจะเรียกร้องเอาดินแดนคืน ... แหม เสียดายว่าญี่ปุ่นมาแพ้สงครามทำให้ฝรั่งเศส จึงถือข้างชนะเข้ายึดครองดินแดนอีกวาระ

ยกจากบันทึกจอมพล ผิน ชุณหะวัน มีเนื้อหาเมื่อฝรั่งเศสยอมเจรจากับรัฐบาลไทยเมื่อเดือนกันยายน ๒๔๘๓ ว่า

๑. ให้ถือเส้นกลางแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งระหว่างประเทศ และถือเกณฑ์ร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์

๒. ปรับปรุงเขตแดนให้เป็นไปตามธรรมชาติ (อันนี้หมายถึงดินแดนที่อยู่ฝั่งซ้ายและขวาแม่น้ำโขงจะได้แบ่งไปเลย แต่ปัจจุบันนี้ก็ซ้ายบ้าง ขวาบ้าง เช่นในแขวงไซยบุรี และปากเซ เป็นต้น)

๓. ถ้าอินโดนจีนเปลี่ยนอธิปไตยจากฝรั่งเศสไป ฝรั่งเศสจะคืนลาวและกัมพูชาให้ไทย



กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 11, 09:40
มาสวัสดีเช่นกันค่ะ.    ยังตั้งตัวไม่ทัน.    ขอเดินเลียบชายหาดไปพลางๆก่อนค่ะ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ก.ย. 11, 09:50
ชูป้ายริมฝั่งทะเลสักหน่อย จะขอสรุปเหตุการณ์ก่อนหน้าที่ อ.NAVARAT.C จะออกปากอ่าว  :P

ผู้อ่านจะได้เข้าใจเล็กน้อยว่า อยู่ดีดีทำไมเกิดเหตุการณ์สู้รบ ยิงเรือรบกันก่อนดังนี้

๑. การเจรจาทำสนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์และการเดินเรือ ๒๔๗๙ (แต่ฝรั่งเศสบ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด)

๒. ทำสนธิสัญญาไทย - ฝรั่งเศสไม่รุกรานกัน ๑๒ มิถุนายน ๒๔๘๓

๓. สงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศฝรั่งเศสถูกเยรมันยึด

๔. ไทยขอแก้ไขเส้นแดนที่ไม่เป็นธรรมต่อฝรั่งเศส กันยายน ๒๔๘๓

๕. การเดินขบวนเรียกร้องจากนิสิตนักศึกษา นักเรียนเพื่อเรียกร้องเอาดินแดนคืนมา

๖. เครื่องบินฝรั่งเศสบินข่มขู่ไทยแถวนครพนมตั้งแต่กันยายน ๒๔๘๓

๗. เครื่องบินฝรั่งเศสเข้ามาถ่ายภาพตัวเมืองนครพนม เดือนพฤศจิกยน ๒๔๘๓ จึงเกิดการขับไล่ สู้รบ กันจนเกิดเหตุการณ์ "สงครามอินโดนจีน" อันมีผลทำให้เรือรบทั้งหลาย เริ่มออกตัวเลยครับ  ;)


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 10:14
สวัสดีทั้งสองท่านครับ

ขอเชิญท่านเก็บหอยเก็บปูตามสบาย จะไปเก็บถึงแม่น้ำโขงก็ไม่ว่า ระวังปาดบ้างก็แล้วกัน
พอดีได้เวลานัด ผมจะต้องทิ้งกระทู้ไปจนถึงค่ำ ก่อนออกจากบ้าน ขอตอบคุณหนุ่มสยามดังนี้


๑.ให้ถือเส้นกลางแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งระหว่างประเทศ และถือเกณฑ์ร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์

ข้อนี้ฝรั่งเศสยอมตกลงแล้วครับ จึงมีการลงนามในข้อตกลงไม่รุกรานกันที่ผมกล่าวในกระทู้ที่ผ่านมา

๒. ปรับปรุงเขตแดนให้เป็นไปตามธรรมชาติ (อันนี้หมายถึงดินแดนที่อยู่ฝั่งซ้ายและขวาแม่น้ำโขงจะได้แบ่งไปเลย แต่ปัจจุบันนี้ก็ซ้ายบ้าง ขวาบ้าง เช่นในแขวงไซยบุรี และปากเซ เป็นต้น) 

๓. ถ้าอินโดจีนเปลี่ยนอธิปไตยจากฝรั่งเศสไป ฝรั่งเศสจะคืนลาวและกัมพูชาให้ไทย


สองข้อนี้ ไทยเสนอเข้าไปเพิ่มใหม่หลังจากฝรั่งเศสยอมแพ้เยอรมันแล้ว โดยอ้างว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปจากที่ตกลงกัน เพราะฝรั่งเศสยอมให้ญี่ปุ่นเข้าไปตั้งฐานทัพเป็นการคุกคามต่อไทย จึงจำเป็นต้องขอดินแดนที่เคยเป็นของไทยคืน คล้ายๆจะให้เป็นกันชนของแผ่นดินแม่ แต่รัฐบาลวีซี่ไม่ยอมรับ หาว่าไทยแทงข้างหลังทั้งๆที่ทำข้อตกลงไปแล้ว


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ก.ย. 11, 10:35
แม่เคยเล่าให้ฟังว่า ตอนสมัยเด็ก ๆ ได้นั่งรถไฟไปเที่ยวพระตะบองกัน เพราะว่ามีเครือญาติไปเป็นผู้กำกับที่เมืองพระตะบอง ไปด้วยรถไฟสนุกสนานกันมาก ไปเที่ยวที่ตลาดพระตะบอง เครื่องหวาย เครื่องจักรสานมากมาย และหินสบู่แกะสลักอย่างปราสาทบายน (พระพรหมสี่พักตร์) ขนาดใหญ่ก็ขนาดเด็กโอบรอบได้ (ซึ่งก็ซื้อมาประดับไว้ที่บ้านเวลานี้) ส่วนขนาดเล็กก็กำปั้นเห็นจะได้

ดินแดนนี้ควรจะเป็น เมืองพระตะบอง - เสียมราฐ - ไพลิน - ศรีโสภณ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 11, 13:28

และเช่นเดิมครับ เชิญท่านทั้งหลายให้เข้ามาช่วยเสริมสร้าง(กรุณาอย่าเสริมแต่ง) หรือใครจะตั้งคำถาม ถ้าตอบได้ผมก็จะตอบอย่างตรงไปตรงมา หรือจะเห็นต่างก็ได้ ผมน้อมรับและยินดีที่จะได้ถกกัน สำหรับกูรูที่ประสงค์จะพาออกจากทะเลขึ้นฝั่งไปบ้างก็ไม่ว่า แต่อย่าไปไกลมากนะครับ เอาแค่ขุดหอยช้อนปลาหาเขียดปาดอยู่แถวชายหาดก็แล้วกัน เดี๋ยวผมจะพากลับออกทะเลไม่ถูก ถ้าสนใจจะต่อเรื่องเหตุการณ์ในกรณีพิพาทอินโดจีนจริงๆแล้วละก็ ควรแยกกระทู้ผมจะไปแจมด้วย จะเอาเป็นมหากาพย์อย่างกระทู้ครั้งกระโน้นก็เอากัน


เจอท่านผู้การ Navarat ดักคอเข้าแบบนี้  ต้องระมัดระวังในการจับกุ้งหอยปูปลาชายฝั่งมาปั่นเรตติ้ง      เพราะอาจจะถูกคลื่นซัดไปนอกปากอ่าวกรณีพิพาทอินโดจีนเข้าโดยไม่ทันตั้งตัว

ไล่จับปลาชายฝั่งได้ มาหนึ่งกาละมัง  ว่าด้วยงบประมาณพิเศษของกระทรวงกลาโหม   สำหรับซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และเครื่องบินรบ ในพ.ศ. ๒๔๘๑   เป็นจำนวนเงิน ๑๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท   
กลาโหมขอมา  ๑๓ ล้านครึ่ง  คณะรัฐมนตรีใจดีมาก นอกจากให้ตามที่ขอแล้ว ยังเห็นว่าแค่นี้ไม่พอ   ก็อนุมัติเพิ่มเติมให้อีกโดยไม่ต้องขอ  ประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อเตรียมไว้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน  และมีงบจ่ายเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงทหารเกณฑ์ กองประจำการปี ๒ เป็นเงิน ๑,๙๙๒,๔๘๘ บาท
กระทรวงกลาโหมได้ที   เห็นความจำเป็นต้องจัดกองทัพไทยแบบสมัยใหม่  อาศัยการเคลื่อนที่ด้วยยานยนต์ จึงของบประมาณเพิ่มเติมอีกจำนวน ๔,๙๙๘,๙๘๘ บาท เพื่อเป็นค่าซื้อยานยนต์และค่าก่อสร้างโรงทหารชั่วคราว   คณะรัฐมนตรีก็ไฟเขียวแต่โดยดี

นังมีการเพิ่มกำลังทหารทั้งสามเหล่าทัพขึ้นด้วย  เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์สงคราม คือมีกองทัพ ๒ กองทัพ คือกองทัพบูรพา และกองทัพอิสาน มีอัตรากำลัง ๗๕ กองพันรวมกำลังพลทั้งสิ้น ประมาณ ๖๐,๐๐๐ คน

ดิฉันตอบไม่ถูกว่าถ้าเป็นปัจจุบัน งบประมาณเหล่านี้จะเท่ากับเงินจำนวนเท่าไร    จำได้ว่าคุณแม่เรียนจบจากจุฬาฯก่อนปี ๒๔๘๑ เล็กน้อย   บรรจุเข้าเป็นอาจารย์โรงเรียนสตรี สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ   ได้เงินเดือนหนึ่งร้อยกว่าบาท   บ่นว่ามากมายเสียจนไม่รู้จะเอาไปทำอะไร    เลยซื้อตุ๊กตาแจกนักเรียนในชั้น
งั้นค่าของเงินหนึ่งร้อยบาทในสมัยนั้นคงมากกว่าหนึ่งหมื่นบาทในสมัยนี้แน่นอน   


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 18:01
ค่าของเงินเมื่อเจ็ด-แปดสิบปีก่อนจะเทียบกับสมัยนี้อย่างไร ผมก็นึกไม่ออกจริงๆ
ลองพิจารณาตรงนี้สิครับว่าญี่ปุ่นต่อเรือดำน้ำให้เราราคาลำละเท่าไหร่

สภาผู้แทนราษฎรขณะนั้น ได้อนุมัติ พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ. 2478 โดยในพระราชบัญญัตินี้ ได้กำหนดให้กองทัพเรือ ต่อเรือดำน้ำ จำนวน 6 ลำ โดยในที่สุดแล้ว ไทยได้ทำสัญญาว่าจ้างต่อเรือ กับ บริษัท มิตซูบิชิ ประเทศญี่ปุ่นให้ต่อเรือดำน้ำ ขนาด 370 ตัน จำนวน 4 ลำ เป็นเงิน ลำละ 820,000 บาท และได้รับพระราชทานชื่อในภายหลังว่า ร.ล.มัจฉาณุ (หมายเลข 1) , ร.ล.วิรุณ (หมายเลข 2) , ร.ล.สินสมุทร (หมายเลข 3) และ ร.ล.พลายชุมพล (หมายเลข 4)

820,000 บาท เดี๋ยวนี้ซื้อมิตซูบิชิแลนเซอร์ได้คันเดียว

ข่าวล่าสุด ได้ยินว่ารัฐบาลเห็นชอบให้กองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำรุ่น U-206 A มือสองจากเยอรมัน จำนวน 6 ลำ ในวงเงิน 7.7 พันล้านบาท หรือเฉลี่ยลำละ1283 ล้านบาท เขาว่าราคานี้ถูกมาก เพราะใหม่ๆลำละประมาณหมื่นล้าน



กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 11, 18:07
ลองเทียบกับราคาทองได้ไหมคะ   ก่อนสงครามโลก ทองบาทละเท่าไร


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 20:18
ในบรรดาเรือรบที่สั่งต่อทั้งหมด ร.ล.ธนบุรีเป็นลำสุดท้ายที่ราชนาวีได้รับมอบ

ร.ล.ธนบุรีเป็นเรือปืนหนักก็จริง แต่มีขนาดเล็กกว่าเรือรบที่จะไปใช้ในเชิงรุกราน เหมาะสำหรับป้องกันชายฝั่งของประเทศเท่านั้น พิธีวางกระดูกงูกระทำที่อู่ต่อเรือคาวาซากิ เมืองโกเบในเดือนมกรา ๗๙ ปล่อยเรือลงน้ำกรกฎา ๘๐ ติดตั้งอาวุธประจำเรือและอุปกรณ์ทั้งหลายแล้วเสร็จ ขึ้นระวางเป็นเรือรบหลวงของราชนาวีไทยเมื่อวันที่๕ ตุลาคม ๒๔๘๑

กองทัพเรือส่งทหารไปรับมอบและออกทะเลฝึกกับครูช่าวญี่ปุ่นอยู่นานนับเดือน จึงได้เดินทางออกจากญี่ปุ่น มีการถ่ายรูปนายทหารและลูกเรือร่วมกันตามธรรมเนียม


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 20:20
ร.ล.ธนบุรีเดินทางมุ่งสู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ตัดข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก แวะโชว์ธงและเติมเสบียงที่อ่าวมนิลาก่อนจะกลับมาตุภูมิ มีคนไทยที่นั่นไปยืนโบกธงต้อนรับกันอบอุ่น


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 20:22
ขณะที่กำลังจะเข้าเทียบท่าที่มนิลานั้น มีเรือรบลำมหึมาทาสีขาวควันบุหรี่ลำหนึ่งชักธงฝรั่งเศสทอดสมออยู่ในอ่าวก่อนแล้ว ชื่อเรือลำนั้นเขียนว่า La Motte-Picquet ทหารเรือไทยเห็นแล้วก็ประสาทตื่นตัวขึ้นมาทันทีโดยสัญชาติญาณ แม้อ่านภาษาเขาไม่ออกก็รู้ว่านี่คือเจ้าลามอตต์-ปิเกต์ เรือธงของกองเรืออินโดจีนฝรั่งเศสที่ผู้บังคับการร.ล.ธนบุรี น.อ.หลวงพร้อมวีรพันธุ์พูดให้ฟังเสมอนั่นเอง

ขณะเรือวิ่งผ่านกัน ทหารทั้งสองฝ่ายต่างละหน้าที่มายืนเรียงข้างกราบเรือ ส่งสายตาไปยังอีกฝ่ายหนึ่งพลางคิดในใจว่า วันหนึ่งเราต้องเจอกันในสมรภูมิแน่



กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 20:23
เรือเฉียดกันครั้งนั้นก็เหมือนคู่ชกมวยมายืนเปรียบกันบนเวที ประเภทที่นักมวยไทยปะทะนักมวยฝรั่งแบบไม่เกี่ยงน้ำหนักแหละครับ ยืนบังกันมิดชนิดคนดูโห่ฮากันเกรียว


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 20:27
ความใหญ่โตของลามอตต์-ปิเกต์จะเห็นได้เมื่อเปรียบเทียบขนาดของทหารเรือที่ยืนอยู่บนกราบเรือ กับของร.ล.ธนบุรี


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 20:31
ร.ล.ธนบุรีมีอย่างเดียวที่เหนือกว่า คือขนาดของปืนใหญ่คู่  8” สองป้อมหัวท้าย ในขณะที่ลามอตต์-ปิเกต์มีปืนใหญ่คู่ขนาด 155 ม.ม. (6”) สี่ป้อม หัวท้ายข้างละสองป้อม ปกติแล้ว ปืน 6”ย่อมบรรจุและยิงกระสุนตับใหม่ได้รวดเร็วกว่าปืนขนาด 8” ถึง2.5เท่าถ้าทั้งสองฝ่ายต่างอยู่ในระยะยิงด้วยกันแล้ว ด้วยจำนวนกระบอกที่มากกว่า แถมยิงเร็วกว่า ถือได้ว่าอำนาจการยิงของลามอตต์-ปิเกต์ เหนือกว่าร.ล.ธนบุรีมาก

เมื่อร.ล.ธนบุรีเดินทางออกจากมนิลามาแล้วไม่นาน เจ้าลามอตต์-ปิเกต์ก็ตามออกมาอย่างห่างๆ ก่อนจะเร่งฝีจักรผ่านไปทิศทางไซ่ง่อนในเชิงท้าทาย แต่ทหารเรือไทยกลัวซะที่ไหน จะเจอกันเมื่อไหร่ที่ไหนก็ได้ ไม่เกี่ยง


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 20:40
ยามที่จอดเทียบท่า บางครั้งจะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมเรือรบได้ เรือปืนหนักใหม่เอี่ยมของราชนาวีทั้งสองลำ เป็นความภาคภูมิใจยิ่งของคนที่รักทหารเรือ

ภาพชุดต่อไปนี้ผมได้มาจากเวปที่แต่เดิมฝรั่งเป็นคนนำมาลง มีการบรรยายภาพไว้เป็นภาษาอังกฤษ ไม่ทราบว่าต้นตอของภาพจริงๆแล้วเขาได้มาจากไหน แต่ที่ผมแน่ใจอย่างหนึ่งก็คือ อาวุธยุทโธปกรณ์ที่รัฐบาลจัดซื้อมาครั้งนั้น ฝรั่งเศสที่อินโดจีนมีภาพถ่ายที่ส่งจารชนมาเก็บภาพไว้ทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ถ่ายจากงานสวนสนามหรือวาระที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปเยี่ยมในฐานทัพอย่างใกล้ชิดนี้เอง
 
ภาพแรกเป็นป้อมปืนท้าย อยู่ภายใต้หลังคาผ้าใบที่ติดตั้งยามปกติ และภาพส่วนท้ายเรือสุดของเรือที่ประดับธงฉาน


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 20:42
กลางเรือ ที่เห็นเป็นป้อมกลมๆอยู่ส่วนที่สูงที่สุดคือหอควบคุมการยิง แลเห็นกล้องเล็ง


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 20:44
ฐานปืนป.ต.อ. 3” และแท่นไฟฉาย


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 20:46
หอรับและถ่ายทอดสัญญาณ ทหารประจำเรือเรียกหอกลาง


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 20:48
ลูกเรือยืนพักผ่อนตามสบายอยู่หน้าหอบังคับการเรือ ห้องผนังโค้งๆข้างหลังนั้นหุ้มเกราะหนา 4” เรียกว่าห้องนายพล
ขณะที่นายทหารหนุ่มๆกำลังงานเข้า ง่วนกับภารกิจสำคัญอยู่ที่ป้อมปืนหน้า


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 11, 20:53
ปกติ ทหารจะต้องทำการฝึกอย่างหนักกลางทะเล เพื่อให้คุ้นเคยกับเรือรบที่เข้าประจำการใหม่ ทุกคนรู้ดีว่าสงครามรออยู่ข้างหน้า จะทำเป็นใจเย็นไม่ได้

เมื่อเกิดเหตุการณ์ตึงเครียดขึ้นที่ชายแดนด้านอินโดจีนฝรั่งเศส กองทัพเรือได้ตั้งกองบัญชาการขึ้นที่ฐานทัพเรือสัตหีบ และสั่งให้มีการลาดตระเวนทางทะเลอยู่ตลอดเวลา


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 11, 10:38
เอ ท่านกูรูทั้งหลายหายไป ไม่ทราบว่าไม่ถนัดจับกุ้งหอยปูปลาหรือไม่มีให้จับ แฟนๆขาประจำก็เงียบ ไม่ทราบว่าไปช้อนลูกน้ำอยู่ที่ไหน


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 11, 11:45
ยังติดตามอยู่ค่ะ    แต่ไม่อยากแทรกกลางให้เสียจังหวะเรื่อง    เห็นพระเอกคือ ร.ล.ธนบุรีแหวกม่านปรากฏโฉมออกมา    แล่นสวนทางกับฝ่ายปรปักษ์แล้ว  ก็รอดูว่าจะเริ่มบทพระเอกต่อไปอย่างไร

แต่ถ้าท่านนวรัตนจะนั่งพัก จิบน้ำชาให้หายคอแห้ง   ดิฉันก็ขอคั่นโปรแกรมด้วยกุ้งหอยปูปลาที่จับมาได้จากยูทูป   
คือภาพเคลื่อนไหวของร.ล.ธนบุรี ขณะลาดตระเวนสลับกับร.ล.ศรีอยุธยา
(ดูในคลิป  เรือดูเล็กมาก)

http://www.youtube.com/watch?v=Gbfgs-AB57g


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 11, 11:48
คุณร่วมฤดี คงจะติดภารกิจทางบ้าน   แก๊งค์ลูกน้ำคนอื่นก็ไม่รู้ว่าไปช้อนลูกน้ำอยู่ทางไหน
คุณเพ็ญชมพู กับคุณ DD ยังไม่เห็นมา
เหลืออีก 1  คน  ขอถูตะเกียงก่อน


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 11, 12:09
ระหว่างรอกองหนุน ผมขอสลับฉากไปที่อินโดจีนฝรั่งเศสมั่ง

ก่อนที่สงครามใหญ่ในยุโรปจะประทุ กองเรือของอินโดจีนฝรั่งเศสถูกจัดวางกำลังไว้ไม่มากนักและเรือรบดีๆทันสมัยก็ระดมเอาไปป้องกันประเทศแม่เกือบทั้งหมด เรือรบที่เหลือประจำการเป็นเรือเก่าที่ยกเครื่องปรับปรุงและติดอาวุธใหม่ แต่นาวิกานุภาพก็ถือว่าได้ดุลย์อำนาจเมื่อเปรียบเทียบกับกองทัพเรือของประเทศเพื่อนบ้านในคาบสมุทรนี้ แม้เรือรบหลักจะมีเพียง ๓ ลำ แต่หนึ่งในนั้นก็คือเรือลาดตระเวนลามอตต์-ปิเกต์ที่โด่งดัง  อีก ๒ ลำเป็นเรือสรูปที่เหมือนกันแบบฝาแฝด ติดอาวุธครบเครื่อง นอกนั้นเป็นเรือช่วยรบ และมีเครื่องบินทะเล ๘ ลำเป็นตัวเสริม
 
สิ่งที่กองเรืออินโดจีนได้เปรียบก็คือทหารเรือที่มีประสพการณ์ ชำนาญในการเดินเรือและใช้อาวุธที่ประเทศของพวกเขาเองเป็นผู้ผลิต นายทหารระดับผู้บังคับบัญชาล้วนผ่านศึกสงครามมาแล้ว แต่ผมค้นประวัติและรูปพวกเขายากมาก ทราบแต่ว่าหลังสงครามแทบทุกคนถูกนำตัวขึ้นศาลทหารในฐานะคนขายชาติ เช่นเดียวกับผู้นำคนอื่นๆในรัฐบาลวีซี่ที่ไปร่วมมือกับเยอรมัน


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 11, 12:20
เมื่อเกิดความตึงเครียดขึ้นกับไทยบริเวนชายแดนติดกัน และมีกองกำลังติดอาวุธเข้าไปก่อกวนในลาว รัฐบาลอินโดจีนก็มีนโยบายที่จะตอบโต้แบบรบรุก ไม่ใช่ตั้งรับ เพราะอาวุธยาวของเขาถูกออกแบบไว้เพื่อการนั้นทั้งเครื่องบินและเรือรบ ยิ่งเห็นว่าจำนวนเรือที่มีอยู่ไม่อาจจะคุ้มครองชายฝั่งได้ ควรจะอาศัยสมรรถนะที่เหนือกว่าของตัวเรือและอาวุธ ฉวยโอกาสบุกเข้าโจมตีก่อนที่ฝ่ายไทยจะตั้งตัวได้จะดีกว่า

และเมื่อกองทัพบกของทั้งสองฝ่ายเข้าปะทะกัน ทหารไทยรุกข้ามพรมแดนอินโดจีนเข้าไปทั้งทางลาวและเขมร จิตใจทุกคนตอนนั้นฮึกเหิมยิ่งนัก พร้อมที่จะรบเพื่อชาติแบบไว้ลายไม่เสียดายชีวิต ทำเอาทหารอินโดจีนที่มีฝรั่งเศสเป็นนาย กำลังพลเป็นทหารรับจ้างเอามาจากอัฟริกาและทหารเกณฑ์ชาวญวน ที่ไม่รู้ว่าจะรบไปทำไมเพื่อใคร ประเทศฝรั่งเศสก็ถูกเยอรมันเขมือบไปแล้ว อนาคตของอินโดจีนก็เห็นซามูไรจ่ออยู่ที่คอหอย จึงรบแบบกลัวๆกล้าๆทำให้ต้านทานกองทัพบูรพาไม่อยู่ ล่าสุดฝรั่งเศสสูญเสียกองพันทหารต่างด้าวที่ดีที่สุดไป๓กองพันในการรบครั้งเดียว เรียกว่าละลายไปทั้งกรม ทหารไทยสามารถยึดธงไชยเฉลิมพลประดับเหรียญกล้าหาญและเหรียญเชิดชูเกียรติมาได้ต้วย รัฐบาลอินโดจีนจำเป็นต้องเรียกขวัญและกำลังใจคืนมาบ้างอย่างด่วน


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 11, 12:22
วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๘๔ พลเรือตรี จูลร์ เตร์โฮ้ซ (Jules Terraux)  ผู้บัญชาการกองเรืออินโดจีนรับนโยบายของผู้สำเร็จราชการอาณานิคม พลเรือเอกฌอง เดกูซ (Jean Decoux)  มาเรียกประชุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ฐานทัพอ่าวคัมรานห์(Cam Ranha) และแต่งตั้งนาวาเอกเรจีส์ เบรังเยร์ (Régis Bérenger) ผู้บังคับการเรือลามอตต์-ปิเกต์ให้เป็นผู้บัญชาการกองเรือเฉพาะกิจประกอบด้วยเรือลามอตต์-ปิเกต์ เป็นเรือธง เรือแอดมิรัล ชาร์แนร์ และเรือดูมองต์ ดูวิลล์ เป็นเรือโจมตี เรือตาอูร์ และเรือมาร์น เป็นเรือช่วยรบ อีกตำแหน่งหนึ่ง มีอำนาจสั่งการให้กองเรือเฉพาะกิจนี้ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดสุดแต่สถานการณ์จะเอื้ออำนวย


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 11, 12:31
ภารกิจ ๔ ประการที่พลเรือตรี จูลร์ เตร์โฮ้ซ ลงนามในท้ายหนังสือคำสั่ง คือ

๑ จู่โจมในเวลากลางวันเข้าระดมยิงเป้าหมายบนดินของฐานทัพเรือสัตหีบและเรือรบของข้าศึก และดำเนินการกวาดล้างทำลายกำลังทางเรือของข้าศึกที่เหลือหากพบตามแนวขอบฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของสยาม

๒ ค้นหาและทำลายกองเรือข้าศึก(สยาม)ตั้งแต่สัตหีบลงมาถึงเส้นพรมแดนเขมร

๓ นำกองเรือปรากฏตัวโดยเปิดเผยเข้าจู่โจมในอ่าวจันทบุรี รวมทั้งหมู่เกาะช้างและเกาะกูด แล้วระดมยิงเรือข้าศึกทุกลำที่พบ

๔ เมื่อปฏิบัติภารกิจข้างต้นแล้วเสร็จให้รวมกองเรือกลับสู่ไซ่ง่อน เว้นแต่เรือลำเลียง(ได้รับการดัดแปลงติดอาวุธเป็นเรือช่วยรบ) ให้ทำการลาดตระเวนตรวจการณ์น่านน้ำระหว่างแหลม เซนต์แจคส์ (Saint Jacques) และเกาะคอนดอร์ ( Pulo Condore)
(ปัจจุบันคือแหลมวุงเตา(Vũng Tàu) และเกาะคอนซอน ( Côn Sơn) อยู่ในเวียตนามบริเวณปากแม่น้ำโขง จุดยุทธศาสตร์คุมเส้นทางเดินเรือสู่ไซ่ง่อนและพนมเปญ)


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 11, 13:40

สิ่งที่กองเรืออินโดจีนได้เปรียบก็คือทหารเรือที่มีประสพการณ์ ชำนาญในการเดินเรือและใช้อาวุธที่ประเทศของพวกเขาเองเป็นผู้ผลิต นายทหารระดับผู้บังคับบัญชาล้วนผ่านศึกสงครามมาแล้ว แต่ผมค้นประวัติและรูปพวกเขายากมาก ทราบแต่ว่าหลังสงครามแทบทุกคนถูกนำตัวขึ้นศาลทหารในฐานะคนขายชาติ เช่นเดียวกับผู้นำคนอื่นๆในรัฐบาลวีซี่ที่ไปร่วมมือกับเยอรมัน


ขอแยกซอยเล่าถึงรัฐบาลวิชี่ ที่คุณ NAVARAT เอ่ยถึงอยู่ 2-3 ครั้ง  เผื่อท่านที่ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลวิชี่เป็นใคร

รัฐบาลวิชี่  (Vichy) คือรัฐบาลหุ่นของฝรั่งเศสใต้การครอบงำของนาซีเยอรมัน  เพราะในสงครามโลกครั้งที่ 2   พอฝรั่งเศสตกอยู่ในเงื้อมมือเยอรมันเรียบร้อยแล้ว   เยอรมันก็หนุนหลังตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมา มีผู้นำรัฐบาลชื่อนายพลฟิลิป  เปแต็ง   รัฐบาลวิชี่ดำเนินนโยบายตามลูกพี่ ปราบปรามกวาดล้างชาวฝรั่งเศสที่ถูกข้อหาเป็นสายลับหรือต่อต้านเยอรมัน      เป็นผลให้เดือดร้อนกันไปทุกหย่อมหญ้า     ในที่สุดรัฐบาลวิชี่ก็ไปไม่รอด  ถูกผู้นำฝรั่งเศสฝ่ายตรงข้ามคือนายพลชาร์ลส์ เดอ โกล ที่พันธมิตรหนุนหลังปลดแอกประเทศจากรัฐบาลวิชี่ได้สำเร็จ
รัฐบาลวิชี่กลายเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น   เมื่อสิ้นสุดสงครามด้วยความพ่ายแพ้ของฮิตเลอร์และเยอรมนี  นายพลเปแต็งถูกจับในฐานะอาชญากรรมสงคราม  ได้รับโทษขั้นประหารชีวิตแต่ถูกลดโทษลงมาแค่จำคุกตลอดชีวิต

รูปข้างล่างนี้ คนซ้ายสุดคือเปแต็ง  หัวหน้าคณะรัฐบาลวิชี่   จับมือกับฮิตเลอร์


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ก.ย. 11, 13:56
ส่งยูทูปยุทธนาวีที่เกาะช้างมาสนับสนุน

http://www.youtube.com/watch?v=9R5blcZkAY0

 ;D


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 11, 14:33
^
อินทรเนตรของผมไม่เห็นยูทูปครับ หรือมนุษยเนตรของผมจะฝ้าฟางไปแล้ว


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 11, 14:35
อันที่จริงการจัดตั้งกองเรือเฉพาะกิจได้กระทำมาตั้งแต่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเตรียมพร้อมเพื่อทำสงครามทางทะเลกับไทย มีการฝึกซ้อมปฏิบัติการร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่เพิ่งจะมีความชัดเจนว่าจะให้ลงมือทันทีหลังจากที่ผู้บัญชาการเรียกประชุมหมอบหมายภารกิจดังกล่าว หลังจากนั้น เรือทั้ง๕ลำก็เริ่มทะยอยออกจากท่าเพื่อไม่ให้เป็นที่สงสัยของสายลับไทยที่เฝ้าดูเรือเข้าๆออกๆจากท่าอยู่เป็นประจำ ทั้งหมดนัดมาเจอกันที่เกาะคอนดอร์ในตอนเย็นเพื่อประชุมผู้บังคับการเรืออีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่เรือทุกลำจะเดินเครื่องเต็มพิกัด ออกเดินทางเมื่อเวลา๒๑.๐๐น.ของคืนวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๔๘๔ มุ่งหน้าสู่พรมแดนไทย


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 11, 14:36
บ่ายวันที่ ๑๖ มกราคม หน่วยลาดตระเวนทางอากาศของฝรั่งเศสได้ส่งเครื่องบินทะเล ๒เครื่องไปสอดแนมที่สัตหีบเครื่องหนึ่ง รายงานมาว่าพบเรือปืนหุ้มเกราะ๑ลำ เรือตอร์ปิโด๔ลำ เรือดำน้ำ๒ลำ เรือขนาดเบา๒ลำ และเรือเร็วขนาดเล็ก๒ลำ เครื่องที่๒ ไปที่เกาะกูดกับเกาะช้างพบเรือลาดตระเวนชายฝั่ง๑ลำ และเรือขนาดเบา๓ลำ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 11, 14:42
ฝ่ายไทยเห็นเครื่องบินทั้งสองแต่ไม่ได้ทำการยิงเพราะอยู่สูงเกินวิถีกระสุนป.ต.อ. ทางฐานทัพสัตหีบสั่งให้เครื่องบินทะเลวาตานาเบ้ขึ้นไปรบก็ไล่ไม่ทัน จึงวิทยุไปให้สนามบินของกองทัพอากาศที่จันทบุรีส่งเครื่องขึ้นสกัดกั้น

นักบิน ร.อ.บุญนำ สังขภูติรายงานว่า ได้นำเครื่องฮอร์กพับฐานที่เตรียมพร้อมอยู่ลำเดียวขึ้น ตามหาเครื่องบินข้าศึกลำที่ไปที่เกาะช้างจนถึงเกาะกงก็คิดว่าไม่ทันแล้ว จึงบินกลับ มาถึงเกาะกูดพบเครื่องข้าศึกที่กำลังบินกลับจากสัตหีบขาววับตัดกับสีน้ำทะเล ก็ตีวงอ้อมเข้าหลังด้วยความตื่นเต้นดีใจที่จะได้ทำการรบครั้งแรกในชีวิต ลั่นกระสุนชุดแรกจึงเห็นแนวกระสุนต่ำไป หลุดเป้าทางท้ายเครื่องข้าศึก ตั้งศูนย์ยิงใหม่ คราวนี้หลุดทางหัว นักบินฝรั่งเศสเลยรู้ตัวพยายามบินหลบหลีกแต่ไทยก็ตามเกาะ ปรับศุนย์ใหม่กะยิงกลางลำตัวแล้วบรรจงลั่นกระสุน คราวนี้โดนอย่างจัง คือโดนใบพัดตัวเองเนื่องจากสายอำนวยการยิงขาด ยังดีที่ไม่ฉกรรจ์ถึงกับเครื่องตก แต่ต้องรีบผละจากการรบ

ปัญหาเรื่องสายอำนวยการยิงขาด กระสุนลั่นโดยไม่มีระบบควบคุมจนโดนใบพัดของเครื่องบินแบบนี้เกิดขึ้นเป็นประจำแก้ไม่ตก ทุกคราวที่มีการซ้อมบินยิงกระสุนจริง ต้องกลับลงมาเปลี่ยนใบพัดทุกครั้ง ทางช่างก็โทษนักบิน นักบินก็โทษช่าง

นี่ท่านรายงานอย่างนี้จริงๆ ผมไม่ได้นั่งเทียน


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 11, 16:54
เมื่อได้รับข่าวจากนักบินเช่นนั้น นาวาเอกเรจีส์ เบรังเยร์ ก็ตัดสินใจที่จะโจมตีหมู่เรือที่ทอดสมออยู่ที่เกาะช้างแบบสิบเบี้ยใกล้มือทันที ดีกว่าจะรนไปหาที่ตายถึงสัตหีบซึ่งอยู่ไกลออกไป ยิ่งเห็นว่าเรือดำน้ำไทยจอดที่ท่าแค่๒ลำ แล้วอีก๒ลำล่ะหายไปไหน เบรังเยร์ห่วงเรื่องนี้มาก กลัวว่าจะโดนตอร์ปิโดเข้าให้แบบไม่รู้ตัว

การที่ไทยมีเรือดำน้ำ แม้จะขนาดเล็กดูกระป๋องไปหน่อยแต่ฝรั่งเศสก็กลัวไม่น้อย เพราะอาจลักลอบเข้าไปทำลายเรือรบของเขาได้ถึงฐานทัพ แต่ความจริงแล้วไทยไม่เคยมีนโยบายถึงระดับนั้น ก่อนการรบท่านผู้นำได้ส่งพันเอกประยูร ภมรมนตรีบินด่วนนำสารของพระยาพหล อดีตนักเรียนนายร้อยไกเซอร์เกลอเก่าของเกอริงไปเยี่ยมคำนับเพื่อ“ขออนุญาต”เพราะฝรั่งเศสเป็นเด็กในคาถาของเยอรมันไปแล้ว ถ้าไม่บอกกล่าวเดี๋ยวผู้ปกครองเขาจะโกรธเอา แม่ทัพใหญ่เยอรมันเห็นใจที่ไทยอยากได้ดินแดนคืนก่อนที่ญี่ปุ่นจะชุบมือเปิบไปอีกทีหนึ่ง จึงบอกว่าถ้าไทยจะบุกเข้าไปในอินโดจีนเฉพาะในดินแดนเดิมของไทยก็จะไม่ห้าม แต่อย่าล้ำเส้นเกินเข้าไปในอินโดจีนส่วนอื่นก็แล้วกัน ดังนั้นเมื่อรบกันจริงๆ กองทัพเรือจึงถูกรัฐบาลสั่งให้รักษาพรมแดนไว้ อย่าได้รุกล้ำน่านน้ำของเขาเข้าไปสร้างปัญหาเป็นอันขาด

การที่ต้องตั้งรับอยู่อย่างเดียวนี้เลยทำให้เสียเปรียบเพราะมันมีทีเผลอได้ ฝรั่งเศสไม่มีข้อห้ามอะไรที่จะไม่รุกรานเข้ามาในดินแดนของเรา ในการรบส่วนใหญ่นั้น ฝ่ายที่เปิดฉากโจมตีก่อนจะเป็นฝ่ายชนะ อย่างน้อยก็ในเบื้องต้นเช่นญี่ปุ่นที่บุกเพิร์ลฮาเบอร์นั่นปะไร


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 11, 17:23
เมื่อกำหนดเป้าหมายแล้ว เบรังเยร์ก็สั่งการไปยังผู้บังคับการเรือรบทุกลำให้ชลอฝีจักรทันที ไม่มีอะไรต้องรีบเร่งอีกแล้ว เดินทางอย่างสบายๆกะให้ไปถึงจุดปะทะตอนรุ่งเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ฝ่ายไทยอาจจะไม่ทันระวังตัว


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 11, 17:26
เรือธงของกองเรือฝรั่งเศสที่ทำการรบ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 11, 17:27
เรือโจมตีลำที่๑


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 11, 17:29
เรือโจมตี ลำที่๒


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 11, 17:30
เรือช่วยรบ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 11, 17:32
เรือช่วยรบ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 11, 18:05
เส้นทางเดินเรือของฝรั่งเศส จากไซ่ง่อน มารอรวมพลที่เกาะคอนดอร์ก่อนจะเดินทางมุ่งสู่เกาะช้าง


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 11, 20:26
ขอประทานโทษครับ มีข้อผิดพลาดในคคห.ที่๔๖

นักบินที่ทำการบินขึ้นไปไล่ล่าเครื่องบินทะเลของฝรั่งเศสที่บินมาตรวจการในวันที่๑๗ มกราคม แล้วยิงเอาใบพัดเครื่องของตนเองนั้นชื่อ ร.ท.ประสงค์ คุณะดิลก ครับ ส่วนร.อ.บุญนำ สังขภูติท่านเป็นคนออกคำสั่ง

ร.ท.ประสงค์ คุณะดิลกท่านรับราชการจนถึงตำแหน่งสูงสุดเป็นถึงเสนาธิการกองทัพอากาศ ยศพลอากาศเอก


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 11, 20:34
ก่อนการรบท่านผู้นำได้ส่งพันเอกประยูร ภมรมนตรีบินด่วนนำสารของพระยาพหล อดีตนักเรียนนายร้อยไกเซอร์เกลอเก่าของเกอริงไปเยี่ยมคำนับเพื่อ“ขออนุญาต”เพราะฝรั่งเศสเป็นเด็กในคาถาของเยอรมันไปแล้ว ถ้าไม่บอกกล่าวเดี๋ยวผู้ปกครองเขาจะโกรธเอา แม่ทัพใหญ่เยอรมันเห็นใจที่ไทยอยากได้ดินแดนคืนก่อนที่ญี่ปุ่นจะชุบมือเปิบไปอีกทีหนึ่ง จึงบอกว่าถ้าไทยจะบุกเข้าไปในอินโดจีนเฉพาะในดินแดนเดิมของไทยก็จะไม่ห้าม แต่อย่าล้ำเส้นเกินเข้าไปในอินโดจีนส่วนอื่นก็แล้วกัน ดังนั้นเมื่อรบกันจริงๆ กองทัพเรือจึงถูกรัฐบาลสั่งให้รักษาพรมแดนไว้ อย่าได้รุกล้ำน่านน้ำของเขาเข้าไปสร้างปัญหาเป็นอันขาด
พันเอกประยูร ภมรมนตรี หรือต่อมาคือพลโทประยูร ภมรมนตรี  เป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕    ท่านเป็นบุตรของนายพันตรี พระชำนาญคุรุวิทย์ (แย้ม ภมรมนตรี) ซึ่งเป็นบุตรพระยามนเทียรบาล(บัว) และเป็นหลานปู่ พระยาราชมนตรี (ภู่) สืบประวัติขึ้นไปได้ถึงพระยาธิเบศรบดี จางวางมหาดเล็กในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัต ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
นายพันตรีแย้มเคยไปศึกษาวิชาทหาร ณ ประเทศเยอรมนี ได้ภรรยาเป็นสาวเยอรมัน ชื่อแพทย์หญิงแอนเนสีร์ ไฟ.เอ ธิดาศาสตราจารย์ ดร.ไฟร์ เอ อธิการบดีมหาวิทยาลัยในรัฐฮาโนเวอร์   เมื่อจบการศึกษาวิชาการทหารปืนใหญ่และสรรพาวุธแล้ว ได้เดินทางกลับประเทศไทยพร้อมด้วยภรรยาชาวเยอรมัน
พลโทประยูร จึงเป็นลูกครึ่งไทย-เยอรมัน พูดเยอรมันได้คล่อง ก็เหมาะสมแล้วที่จะไปเป็นทูตเจรจาในครั้งนี้
ลูกชายคนหนึ่งของท่านคือยุรนันท์ ภมรมนตรี หน้าตายังมีเค้าฝรั่งจากคุณย่า   ใครเป็นแฟนละครช่อง ๗ คงจำแซม ยุรนันท์ได้ดี


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ก.ย. 11, 20:53
ลูกชายคนหนึ่งของท่านคือยุรนันท์ ภมรมนตรี หน้าตายังมีเค้าฝรั่งจากคุณย่า   ใครเป็นแฟนละครช่อง ๗ คงจำแซม ยุรนันท์ได้ดี

หน้าตาเป็นพระเอกได้ ส่วนหนึ่งมาจากคุณแม่ รองนางสาวไทย พ.ศ. ๒๔๙๑

 ;D


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 11, 21:04
^
เป็นนางงามหนึ่งในสองคนที่สุนทราภรณ์แต่งเพลงให้เป็นเกียรติ คือเพลง "เรณูดอกฟ้า"  อีกคนคือคุณลักษมี กรรณสูต  แห่ง เพลง"ลักษมีเฉิดโฉม"

http://www.youtube.com/watch?v=k5FGFF3Crbg

คุณเพ็ญโนชวนออกทะเลไปไกลมาก   ต้องขอเลี้ยวเรือกลับมาที่ชายฝั่งตามเดิม ก่อนเจ้าของกระทู้จะมาเห็น


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 11, 21:31
นึกว่าจะไปจับปูจับปลากัน ที่แท้ไปจับแมงภู่


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 28 ก.ย. 11, 21:42
นาวาโทหลวงพร้อมวีรพันธุ์ (พร้อม วีระพันธุ์) ผู้บังคับหมวดเรือที่ ๓ กองเรือที่ ๑ และผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรี


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 11, 22:01
เมื่อเกิดสงครามที่ไม่มีการประกาศในกรณีย์พิพาทระหว่างไทยและฝรั่งเศสแล้ว ในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ กระทรวงกลาโหมได้ออกคำสั่งตั้ง พลเรือตรี หลวงสินธุสงครามชัย ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นแม่ทัพเรือ และในวันเดียวกันนั้นเอง กองทัพเรือได้ออกคำสั่งที่ ๑๓๓/๘๓ ตั้ง “ทัพเรือ” ขึ้น ซึ่งทัพเรือนี้เป็นหน่วยรบเฉพาะกิจ จัดกำลังเป็น กองเรือ ๓ กองคือ

กองเรือที่ ๑ นาวาเอก หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ ต่อมาเป็นพลเรือตรี) เป็นผู้บังคับกองเรือ แบ่งออกเป็น ๒ หมวด คือ
หมวด ๑ ประกอบด้วย ร.ล.ศรีอยุธยา เรือตอร์ปิโดใหญ่ ๓ ลำ ( .ร.ล.ภูเก็ต ร.ล.ปัตตานี ร.ล.สุราษฎร์) เรือดำน้ำ ๒ ลำ (ร.ล.มัจฉานุ ร.ล.สินสมุทร)
หมวด ๓ ประกอบด้วย ร.ล.ธนบุรี เรือตอร์ปิโดใหญ่ ๓ ลำ(ร.ลชลบุรี .ร.ล.สงขลา ร.ล.ระยอง) และ ร.ล.บางระจัน

กองเรือที่ ๒ นาวาเอก ชลิต กุลกำม์ธร (ต่อมาเป็นพลเรือตรี) เป็นผู้บังคับกองเรือ แบ่งออกเป็น ๒ หมวด คือ
หมวด ๒ ประกอบด้วย ร.ล.ท่าจีน เรือตอร์ปิโดใหญ่ ๓ ลำ (ร.ล. ตราด ร.ลชุมพร ร.ล.จันทบุรี) เรือดำน้ำ ๒ ลำ (ร.ล.วิรุณ ร.ล.พลายชุมพล)
หมวด ๔ ประกอบด้วย ร.ล.แม่กลอง เรือตอร์ปิโดเล็ก ๓ ลำ (ร.ล.กันตัง ร.ล.คลองใหญ่ ร.ล.ตากใบ) และ ร.ล.หนองสาหร่าย

กองเรือที่ ๓ นาวาโท หลวงพรหมพิสุทธิ์ (พิสุทธิ์ ยูปานนท์ ต่อมาเป็นพลเรือตรี) เป็นผู้บังคับกองเรือ ประกอบด้วย เรือรบรุ่นเก่า๓ลำ (ร.ล.สุโขทัย  ร.ล.เจ้าพระยา  ร.ล.พระร่วง) เรือยามฝั่ง ๖ ลำ เรือลำเลียง๖ลำ (ร.ล.สีชัง ร.ล.พงัน ร.ล.ช้าง ร.ล.เสม็ด ร.ล.จวง ร.ล.คราม ร.ล.บริพารพาหน)

ส่วนเรือธงสำหรับการบัญชาการของแม่ทัพเรือ คือ ร.ล.อ่างทอง (อดีต เรือพระที่นั่งมหาจักรี ลำที่สอง)
ต่อมาเมื่อขึ้นพ.ศ.๒๔๘๔ ได้มีการย้ายร.ล.หนองสาหร่ายมาแทนร.ล.บางระจันในหมวดที่ ๓ ร่วมกับ ร.ล.ธนบุรี


รายละเอียดพวกนี้ผมเอามาลงไว้ให้ข้อมูลครบๆเท่านั้น ท่านจะอ่านผ่านๆไปก็ได้ รับรองไม่มีใครมาออกข้อสอบ



กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ก.ย. 11, 05:40
เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2484 น.อ. หลวงสังวรยุทธกิจผู้บังคับการกองเรือที่๑ ได้สั่งการให้หมวด๒ ในบังคับบัญชาของ น.ท.หลวงพร้อมวีรพันธุ์ ไปผลัดเปลี่ยนกับหมวด ๑ ที่มี ร.ล.ศรีอยุธยาเป็นเรือนำยังเกาะช้าง

ร.ล.ธนบุรีมีน.ท.หลวงพร้อมวีรพันธุ์ เป็นผู้บังคับการเรือ  เรือรบในหมวดมี ร.ล.ระยอง  ร.ล.สงขลา ร.ล.ชลบุรี  และเรือช่วยรบ ร.ล. หนองสาหร่าย ออกเดินทางจากฐานทัพสัตหีบเวลา๒๒๐๐ ถึงหมู่เกาะช้าง ๐๙๐๐ เข้าทอดสมอทางทิศใต้ใกล้ๆกับเกาะง่าม และทำการรับมอบหน้าที่จากเรือหมวด ๑

รูปหลวงพร้อมวีรพันธุ์ผมมีเหมือนกัน แต่คนละรูปกับที่คุณหนุ่มสยามนำมาช่วยเสริม


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ย. 11, 11:14

นักบินที่ทำการบินขึ้นไปไล่ล่าเครื่องบินทะเลของฝรั่งเศสที่บินมาตรวจการในวันที่๑๗ มกราคม แล้วยิงเอาใบพัดเครื่องของตนเองนั้นชื่อ ร.ท.ประสงค์ คุณะดิลก ครับ ส่วนร.อ.บุญนำ สังขภูติท่านเป็นคนออกคำสั่ง

ร.ท.ประสงค์ คุณะดิลกท่านรับราชการจนถึงตำแหน่งสูงสุดเป็นถึงเสนาธิการกองทัพอากาศ ยศพลอากาศเอก

จากนั้น พลอากาศเอก ประสงค์ คุณะดิลก ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมคณะรัฐมนตรี คณะที่ 41 ของไทย (12 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2523) ที่มีพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี

นายทหารที่ผ่านวีรกรรมร.ล.ธนบุรี จนใหญ่โตได้เป็นรัฐมนตรียังมีอยู่อีก 2-3 ท่านค่ะ  


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ก.ย. 11, 17:29
รายละเอียดของร.ล.ธนบุรี


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ก.ย. 11, 17:31
เรือตอร์ปิโดใหญ่ ร.ลชลบุรี .ร.ล.สงขลา ร.ล.ระยอง


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ก.ย. 11, 19:38
ก่อนจะไปเกาะช้าง ร.ล.ธนบุรีได้ซ้อมยิงเป้าด้วยกระสุนจริงที่สัตหีบ เรื่องนี้ น.อ.หลวงสังวรยุทธกิจได้เขียนในสมุดบันทึกความจำส่วนตัว ซึ่งทายาทนำมาพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ผมไปอ่านพบเข้าโดยบังเอิญ ความตอนหนึ่งว่า “ต่อมาอีก๑วัน น.ท.สุนทร (ช่วยวงศ์วาน) มารับหน้าที่(ตำแหน่งผู้บังคับการร.ล. ศรีอยุธยา) จากหลวงชำนาญ (น.ต. หลวงชำนาญอรรถยุทธ) ทางเรือได้จัดเลี้ยงรับ-ส่งผ.บ.หมวดเรือเก่า-ใหม่ น.ท.สุนทรบอกว่าแม่ทัพเรือมาด้วย เวลานั้นประจำอยู่ร.ล.อ่างทอง และเมื่อได้ทราบผลการยิงกระสุนจริงของร.ล.ธนบุรี ซึ่งคลาดเคลื่อนจากที่หมาย ต่ำไป๓๐๐เมตร ในระยะการยิง๘๐๐๐เมตรแล้ว น.ท.สุนทรเห็นว่าควรสอบ Calibration ปืนเสีย”(หมายถึง ตรวจสอบและปรับศูนย์เครื่องเล็งปืน(ของร.ล. ศรีอยุธยา)เสียด้วย)

เรื่องนี้นายป้อมปืนท้ายของร.ล.ธนบุรีไม่ได้เอ่ยถึง จึงน่าจะแปลว่า เมื่อซ้อมยิงเห็นกระสุนพลาดเป้า ก็ได้ทำการปรับศูนย์เล็งปืนแล้วตามปกติวิสัย ก่อนจะแล่นออกมาประจำหน้าที่ ผมจึงยกเรื่องนี้ขึ้นมาให้เป็นข้อพิจารณาในเรื่องผลของการยิงในระหว่างการรบที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ก.ย. 11, 19:46
ก่อนจะถึงฉากบู๊ ผมจะขออธิบายการยิงปืนใหญ่ในป้อมปืนทั้งหัวและท้ายของเรือรบรุ่นนั้นเสียหน่อย
 
การยิงของป้อมปืนกระทำได้๒วิธี

วิธีแรก ทำการยิงภายในบังคับของหอควบคุมการยิง เรียกว่ายิงจากศูนย์รวม
หอควบคุมการยิงอยู่บนส่วนที่สูงที่สุดของเรือ มีเครื่องเล็ง ประกอบด้วยกล้องวัดระยะทาง กล้องวัดสูงต่ำของเป้า และกล้องสำหรับเล็งที่หมายซึ่งมีระบบหันหอควบคุมการยิงให้หมุนตามไปให้ตรงกับเป้าเสมอ เมื่อหอควบคุมการยิงหมุนไปหยุดที่แนวใด จะส่งสัญญาณไปที่ป้อมปืน ให้หมุนป้อมตามไปที่ทิศเดียวกัน และกระดกปืนให้สูงต่ำตามองศาที่กล้องเล็งไว้ เมื่อป้อมปืนทั้งสองพร้อม จะส่งสัญญาณกลับไปที่หอควบคุมการยิง ต้นปืนจะเป็นผู้สั่งกดสวิสท์เพื่อทำการยิงทันทีต่อไป

การยิงภายในบังคับของหอควบคุมการยิงนี้จะมีความแม่นยำสูง การCalibration  ที่กล่าวมาคือการตรวจสอบความถูกต้องของอุปกรณ์ที่ต้องทำงานร่วมกันของหอนี้  ปกติการยิงทุกตับ ต้นปืนจะต้องตรวจกระสุนตก และแก้ศูนย์เพื่อสั่งยิงให้เข้าเป้าหมายทุกครั้ง


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ก.ย. 11, 19:53
วิธีที่สอง ป้อมปืนทำการยิงโดยอิสระ

ปกติการยิงภายในบังคับของหอควบคุมการยิงจะให้ผลมากกว่าการยิงโดยอิสระมาก เพราะการยิงพร้อมกันของปืนทุกกระบอกกลุ่มกระสุนจะตรวจสอบง่าย อำนาจระเบิดก็จะร้ายแรงมากถ้าโดนเป้า นายป้อมเพียงแต่สั่งการให้คนประจำป้อมทำหน้าที่หันป้อมและกระดกปืนตามแนวและองศาตามสัญญาณที่ปรากฎเท่านั้น ไม่ต้องห่วงว่าจะมองไม่เห็นเป้า เล็งไม่ถนัดเพราะเรื่อโคลงตลอดเวลา หรือตรวจสอบกระสุนตกไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าที่เห็นนั้นเป็นของกระบอกไหน เป็นต้น

แต่เมื่อเกิดเหตุขัดข้องใดไม่สามารถทำการยิงภายในบังคับของหอควบคุมการยิงได้ นายป้อมจะเป็นผู้สั่งการยิงปืนแต่ละกระบอกแทนต้นปืน


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ก.ย. 11, 22:14
ในเรือปืนหนักนี้ ป้อมปืนทั้งหัวและท้ายแบ่งออกเป็น๓ชั้น ชั้นบนที่เป็นป้อมครอบตัวปืนคู่โผล่แต่กระบอกออกไปนั้น เรียกว่าห้องปืน


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ก.ย. 11, 22:16
ชั้นที่๒อยู่ล่างลงมาเป็นห้องลำเลียงกระสุน มีทหารทำหน้าที่อุ้มกระสุนจากที่เก็บเข้าเครื่องลำเลียงคล้ายลิฟท์ ส่งขึ้นไปยังห้องปืน

ชั้นที่๓เป็นห้องล่างสุด เป็นห้องลำเลียงนัดดิน นัดดินคือห่อดินปืน เก็บอยู่ในคลังที่สร้างอยู่ติดกันในส่วนท้องเรือใต้ระดับน้ำ มีทหารทำหน้าที่ลำเลียงนัดดินส่งขึ้นไปบนห้องปืน


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ก.ย. 11, 22:18
ปืนในห้องปืน แต่ละกระบอกมีทหารประจำอยู่กระบอกละ ๙ คน ในการยิงนัดหนึ่งๆจะทำหน้าที่ร่วมกัน เริ่มตั้งแต่พลลูกเลื่อนทำการเปิดลูกเลื่อนท้ายปืน พลกระสุนจะนำกระสุนไปวางที่เปล(ราง) พลรุนกระสุนจะเดินเครื่องรุนกระสุนเข้าไปในรังเพลิง พลนัดดินก็บรรจุนัดดิน เมื่อเสร้จแล้วพลลูกเลื่อนจะปิดท้ายปืน พลกระดกปืนก็จะทำหน้าที่การดกปืนตามที่ศูนย์ตั้งระยะไว้ พลหันป้อมปืนก็จะหันป้อมให้ตรงที่หมาย เมื่อตรงแล้วป้อมปืนนั้นก็พร้อมยิง


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ก.ย. 11, 22:21
ผมมีภาพการทำงานของทหารในป้อมปืนเรือฝรั่งประมาณสมัยของร.ล.ธนบุรีมาให้ชมด้วย ในป้อมปืนคงร้อนมาก ทหารต้องถอดเสื้อทำงาน


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ก.ย. 11, 22:23
ส่วนรูป animation ภาพแม้จะทันสมัยกว่าเรือรบสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่๒มาก เพราะมีเครื่องทุ่นแรงหมดแล้ว แต่ก็พอทำให้เข้าใจงานของป้อมปืนและหน้าที่ของทหารประจำป้อมได้



กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ย. 11, 07:16
๑๖ มกราคม  กองเรือหมวด๒ ทั้งหมดไปจอดรวมตัวกันอยู่ปากอ่าวสลักเพชร บริเวณเกาะง่ามซึ่งซึ่งกำลังเตรียมการก่อสร้างสถานีทหารเรือเล็กๆอยู่ มีร.ล.เทียวอุทกซึ่งป็นเรือใช้งานทั่วไปจอดอยู่ก่อนแล้ว ใกล้เที่ยงน.ท.หลวงพร้อมวีรพันธุ์ได้รับคำสั่งทัพเรือทางวิทยุ ให้หาสถานที่ปักไม้วัดเพื่อตรวจสอบระดับน้ำขึ้นสูงสุดและต่ำสุดใน๑สัปดาห์ จึงนำนายทหารทหารขึ้นบกไปปฏิบัติ หลังกลับขึ้นเรือในตอนเย็นได้สั่งการให้จ่า๒พลฯ๒ที่ว่างอยู่ ไม่ได้เข้าเวรยาม ขึ้นไปประจำการบนเกาะง่ามชั่วคราวเพื่อจดระดับน้ำ บังเอิญจ่าคนหนึ่งเป็นพลหันป้อมปืนท้าย ซึ่งไปจากเรือโดยที่นายป้อมไม่ทราบ

ครั้นตอนเย็นเครื่องบินทะเลของฝรั่งเศสมาบินวนตรวจการณ์ เรือทุกลำสั่งทหารเข้าประจำสถานีรบแต่ไม่ได้ทำการยิงเพราะอยู่สูงเกินไป ผู้บังคับการเห็นว่า การจอดเรือรวมกันเป็นหมู่ในยามค่ำคืนอาจไม่ปลอดภัย จึงมีคำสั่งให้ย้ายเรือ โดยให้ร.ล.ระยองออกไปรักษาการณ์เป็นเรือลาดตระเวนหน้าที่บริเวณใต้เกาะกูดเพื่อระวังหน้า ส่วนร.ล.ธนบุรี  ร.ล.หนองสาหร่าย รวมทั้ง ร.ล.เทียวอุทก ให้ย้ายไปอยู่ที่เกาะลิ่ม ด้านตะวันออกของเกาะช้าง  ร.ล.ชลบุรีและ ร.ล. สงขลา ให้ทอดสมออยู่ที่เดิม


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ย. 11, 09:45
๑๓.๕๐ ของวันเดียวกัน เมื่อได้รับรายงานจากนักบินว่าเห็นเรือตอร์ปิโดอิตาเลี่ยนของไทย๓ลำ และเรือลาดตระเวนชายฝั่ง๒ลำ น.อ.เรจีส์ เบรังเยร์ ผู้บังคับการเรือลามอตต์-ปิเกต์ ในฐานะผู้บัญชาการกองเรือเฉพาะกิจก็ออกคำสั่งไปยังเรือทั้ง๕ลำ นัดหมายให้ไปรวมตัวกันที่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะกูดก่อนรุ่งเช้า เพื่อแยกย้ายกันเข้าโจมตีเรือรบไทยโดยเรือลามอตต์-ปิเกต์จะใช้ช่องทางระหว่างเกาะหวายและกลุ่มเกาะจาน เรือแอดมิรัล ชาร์แนร์ และเรือดูมองต์ ดูวิลล์ให้ใช้ช่องทางระหว่างเกาะหวายและเกาะคลุ้ม เรือตาอูร์ และเรือมาร์นให้ใช้ช่องทางระหว่างเกาะคลุ้มและเกาะช้าง
ตอนนั้นเบรังเยร์ตีความว่า เรือลาดตระเวนชายฝั่ง๒ลำตามรายงานของนักบิน คือ ร.ล.ธนบุรี และ ร.ล. ศรีอยุธยา จึงตื่นเต้นเหลือขนาด

๑๗ มกราคม กองเรือฝรั่งเศสมาถึงเกาะกูดในขณะที่ท้องฟ้ายังมืดมิด ร.ล.ระยองซึ่งได้รับคำสั่งให้เป็นเรือลาดตระเวนหน้าที่ ทอดสมอดักศัตรูอยู่ที่อ่าวคลองโปรมบริเวณใต้เกาะกูด ใกล้จุดที่เรือรบฝรั่งเศสมารวมตัวกันที่สุดแล้ว แต่สังเกตุการณ์ไม่เห็นด้วยกันทั้งสองฝ่ายเพราะขณะนั้นมีหมอกหนาด้วย กองเรือฝรั่งเศสจึงเล็ดลอดเข้าไปได้ตามแผน

โชคเป็นของฝรั่งเศส ซวยเป็นของไทย ครั้งที่๑


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ย. 11, 12:38
๐๖.๐๕ เครื่องบิน Loire 130 ซึ่งบินมาจากฐานทัพที่เรียม (Riam อยู่ในเขมร จังหวัดกำปงโสม) ปรากฎเสียงเหนือเกาะช้างบริเวณเกาะง่ามที่นักบินเห็นหมู่เรือรบไทยจอดอยู่เมื่อวันวาน แต่เนื่องจากหมอกที่กระจายอยู่ยังไม่สามารถสังเกตุการณ์ได้ นักบินจึงบินเลยขึ้นเหนือไป สักครู่เห็นเรือใหญ่จอดอยู่สองลำจึงวนเข้าไปดู

๐๖.๑๐ ร.ล.ธนบุรี ซึ่งได้ม้วนเก็บหลังคาผ้าใบพร้อมรบไว้ตั้งแต่ตอนกลางคืน  เพิ่งเลิกตรวจแถวเช้าและกระทำกายบริหารเพื่อเตรียมฝึกซ้อมการปืนตามกิจวัตร เห็นเครื่องบินผลุบๆโผล่ๆเหนือเมฆ ผู้บังคับการส่องกล้องพอเห็นเครื่องหมายของฝรั่งเศสก็สั่งเป่าแตรสัญญาณให้ทหารเข้าประจำสถานีต่อสู้อากาศยานทันที แต่เครื่องบินดังกล่าวบินเลยกลับขึ้นไปทางเกาะง่ามอีก

ในเวลาเดียวกัน ร.ล.ชลบุรีและ ร.ล. สงขลาสั่งให้ทหารเลิกกระทำกายบริหารและเข้าประจำสถานีรบพร้อมอยู่แล้วตั้งแต่ได้ยินเสียงเครื่องบิน พอลัวร์๑๓๐โผล่ให้เห็นก็ระดมยิงด้วยปืนใหญ่เรือและป.ต.อ.อย่างหูดับตับไหม้ ความจริงนักบินกะจะไปทิ้งระเบิดใส่อาคารบนเกาะง่าม เมื่อถูกเรือรบไทยที่ตอนแรกมองไม่เห็นยิงเอา ก็ตกใจรีบปลดระเบิดแล้วเผ่นหนี ทหารบนร.ล.ธนบุรีสามารถเห็นกลุ่มกระสุนวิ่งเป็นทางขึ้นไประเบิดเป็นกลุ่มควันสีใกล้ๆเครื่องบินได้ชัดเจนก็โห่ร้องไชโยกันยกใหญ่ จนกระทั่งเครื่องบินลับตาไป
ฝ่ายไทยรายงานว่าเครื่องบินดังกล่าวถูกกระสุน ไฟลุกควันดำเป็นทางก่อนจะตกที่ใต้เกาะง่าม


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ย. 11, 12:46
ทหารบนกองเรือฝรั่งเศสก็เห็นภาพเดียวกันแต่พากษ์คนละอย่าง น.อ.เรจีส์ เบรังเยร์ออกอาการหงุดหงิดเล็กน้อย เมื่อเห็นลัวร์130บินกลับมาวนเหนือเรือลามอตต์-ปิเกต์ก่อนมุ่งหน้าไปทางฐานทัพเรียม ก็เพื่อนเล่นไปทำให้ทหารเรือไทยรู้ตัวซะแล้ว

๐๖.๑๕ กองเรือฝรั่งเศสโผล่พ้นเกาะต่างๆที่กำบังอยู่แต่ยังเห็นเรือตอร์ปิโดใหญ่ทั้ง๒ลำของไทยไม่ชัดเพราะหมอกและสีเรือที่กลมกลืนไปกับฉาก  ร.ล.สงขลาเห็นเรือลามอตต์-ปิเกต์ก่อนก็ลั่นปืนใหญ่ประจำเรือขนาด๗๕ม.ม.ที่กระสุนพร้อมยิงอยู่แล้วทันที ร.ล.ชลบุรีที่อยู่ห่างออกไป๓๐๐เมตร เห็นเข้าก็ยิงตาม
จังหวะแทบจะพร้อมๆกันนี่เอง กองเรือฝรั่งเศสทั้ง๕ลำ ก็อาศัยแสงระเบิดที่ปากกระบอกปืนใหญ่ของเรือรบไทย เล็งยิงกลับมาบ้าง เสียงดังสนั่นหว่นไหว

ทหารบนร.ล.ธนบุรี ได้ยินเสียงปืนคำรามติดต่อกันก็เข้าใจสถานการณ์ทันที ผู้บังคับการได้สั่งเป่าแตรรบ ถอนสมอเรือเตรียมประจันบาน ขณะนั้นได้เห็นเรือลามอตต์-ปิเกต์ไกลๆกำลังระดมยิงเรือรบไทยทั้งสอง จึงได้สั่งการให้ต้นหน (ร.ท.เฉลิม สถิรถาวร)วิทยุรายงานไปบ.ก.ทัพเรือโดยด่วน
บ.ก.ทัพเรือที่สัตหีบได้รับสัญญาณนี้ และสั่งการให้ร.ล.ศรีอยุธยารีบเดินทางมาสนับสนุน พร้อมกับได้ส่งข่าวไปยังกองบินที่จันทบุรีด้วยแต่สัญญาณนี้ทหารอากาศไม่ได้รับจึงไม่รู้เรื่องว่าข้าศึกบุกเข้ามาแล้ว ครั้นได้ยินเสียงกระสุนปืนใหญ่เรือดังพรึมๆ จึงส่งเครื่องบินเครื่องหนึ่งขึ้นไปดูแก้สงสัย แทนที่จะไปกันทั้งฝูง ถล่มให้ยับ

ขนาดกองบินที่จันทบุรีซึ่งตั้งอยู่ที่เนินพลอยแหวนไกลกันตั้ง ๙๓ ก.ม.ยังได้ยินเสียงเขายิงกัน แต่ร.ล.ระยองที่ทอดสมออยู่ที่เกาะกูดห่างกันไม่เกิน ๓๐ก.ม.กลับไม่ได้ยิน ผมล่ะไม่อยากจะเชื่อ

โชคเป็นของฝรั่งเศส ซวยเป็นของไทย ครั้งที่๒


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ย. 11, 13:19
๐๖.๒๐ น.อ.เรจีส์ เบรังเยร์ส่องกล้องไปเห็นแต่แสงวาบๆของปากกระบอกปืนเรือรบไทย และเงารางๆที่อยู่ข้างหน้า เข้าใจเอาเองว่านั่นคือเรือใหญ่อีกลำหนึ่ง เดาเสร็จว่าชื่อร.ล.ศรีอยุธยา จึงจัดแจงบรรจงสั่งการให้เรือลามอตต์-ปิเกต์ยิงตอร์ปิโดไปเป็นตับ ๓ ลูก ตั้งลึกที่ ๒.๕๐ เมตร ประมาณสัก๑๐นาที ก็เห็นแสงไฟ๓สายพุ่งขึ้นสูงมาก ๒สายออกสีเหลืองอีกสายหนึ่งออกสีขาว น.อ.เบรังเยร์กลับไปเขียนรายงานโม้ว่า “…ข้าพเจ้ามองด้วยกล้องส่องทางไกลเห็นลูกตอร์ปิโดระเบิดขึ้นเมื่อตอนที่โดนเข้ากับกราบเรือ…”

เกาะที่กำบังสายตาระหว่างร.ล.ชลบุรีและ ร.ล. สงขลากับเรือลามอตต์-ปิเกต์อยู่นั้น เป็นเกาะที่มีหาดทรายเป็นสันดอนเชื่อมระหว่างภูเขาเล็กๆ๒ลูก มีลักษณะเป็นง่ามสมชื่อเกาะ น.อ.เบรังเยร์แกคงตาถั่วหรือไม่ก็ตื่นเต้นจัด เห็นสันดอนทรายที่ว่านี้เป็นเรือรบที่จอดอยู่ระหว่างเกาะสองเกาะ ตอร์ปิโดที่ยิงไปกระทบหาดระเบิดทั้งตับ แต่แกดีใจยกใหญ่นึกว่าร.ล.ศรีอยุธยาเรียบร้อยโรงเรียนฝรั่งเศสไปแล้ว


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ย. 11, 15:01
ระหว่างนั้น ร.ล.ชลบุรีและ ร.ล. สงขลาเป็นเป้านิ่ง จอดทอดสมออยู่ให้เรือรบฝรั่งเศสทั้ง๕ลำแปรขบวนเข้ามากินโต๊ะ  ทำไมหรือครับ….?

อย่างที่ผมเกริ่นไว้ก่อนหน้า เรือตอร์ปิโดอิตาเลี่ยนป้ายแดงที่เราถอยออกมาจากอู่เมื่อไม่กี่ปีนี้เอง กลายเป็นเรือตกรุ่นไปแล้วเพราะพัฒนาการเรื่องอาวุธที่แข่งขันกันอย่างรวดเร็ว เรือที่ออกมารุ่นหลังอย่างเช่นร.ล.ธนบุรี ขึ้นระวางล่ากว่ากันไม่ถึง๓ปี ใช้เครื่องยนต์ดีเซลสามารถออกเรือได้ทันทีในขณะที่เรือรบเช่นร.ล.ชลบุรีและ ร.ล. สงขลาต้องเสียเวลาต้มน้ำ รอให้น้ำเดือดถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง กว่าจะได้ไอน้ำไปขับเคลื่อนเครื่องยนต์ได้ การจะต้มน้ำไว้ตลอดเวลาในขณะที่ไม่ใช้งานใช้การเป็นเรื่องสื้นเปลืองที่ไม่มีกองทัพเรือชาติไหนเขาจะทำเหมือนกัน คือจะยอมให้มีเฉพาะ“เรือลาดตระเวนหน้าที่”เท่านั้น ที่วื่งปฏิบัติการตลอด๒๔ชั่งโมงได้ เมื่อพบเหตุร้ายก็รายงานมาให้เรือรบลำอื่นรับทราบและเตรียมตัวรับมือ

จุดอ่อนเรื่องนี้จึงเป็นจุดอ่อนทั่วๆไปที่อดีตมหาอำนาจทางเรืออย่างฝรั่งเศสย่อมรู้ดี จึงวางแผนชิงปฏิบัติการอย่างรวดเร็วก่อนที่ฝ่ายไทยจะรู้ กว่าจะต้มน้ำให้เดือดก็สายไปเสียแล้ว

การปิดจุดอ่อนอยู่ที่ความสามารถในการการลาดตระเวนหาข่าว รู้เขารู้เรา รบสิบครั้งชนะสิบครั้ง เครื่องบินของเขาบินเข้ามาเจอฝ่ายเราทุกครั้ง ในขณะที่เครื่องบินฝ่ายเราไม่เคยเจอเขา เพราะเขาไม่ออกมาให้เจอ เขารู้ว่าการลาดตระเวนทำได้เฉพาะตอนกลางวัน เขาก็เดินทางตอนกลางคืน เอาความมืดกำบังพอเช้าก็ถึงเป้าหมาย


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ย. 11, 19:33
เทียบกำลังรบของทั้งสองฝ่ายโดยใช้มาตราส่วนเดียวกัน
จะเห็นว่าขนาดต่อขนาด น้ำหนักต่อน้ำหนัก ฝ่ายไทยไม่มีอะไรเทียบได้เลย นอกจากน้ำใจในการสู้รบของทหาร


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 30 ก.ย. 11, 20:30
เข้ามาสังเกตุการณ์ด้วยใจจดใจจ่อ แต่รบกวนช่วยบอก T,M D,A  และ L ให้ด้วยครับ เข้าใจว่าเป็นชื่อเรือของฝรั่งเศส


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ย. 11, 20:53
ขอบคุณคุณหนุ่มสยามที่เตือนครับ

อักษรย่อที่ผมใส่ไว้ในแผนที่เป็นเครื่องหมายแสดงตำแหน่งของเรือรบฝรั่งเศสดังนี้

Lamotte-Picquet    เรือลามอตต์-ปิเกต์    ใช้อักษรย่อว่า L
Amiral-Charner     เรือแอดมิรัล ชาร์แนร์  ใช้อักษรย่อว่า A
Dumont D’Urville   เรือดูมองต์ ดูวิลล์     ใช้อักษรย่อว่า  D
Tahure                  เรือตาอู                ใช้อักษรย่อว่า T
Marne                   เรือมาร์น               ใช้อักษรย่อว่า  M

รายละเอียดของเรืออยู่ในกระทู้ที่ 49 ถึง 53 ครับ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 30 ก.ย. 11, 20:56
โห เข้ามาตั้งหลายลำ เข้ามารุกล้ำอธิปไตยเลยนะครันนี่  ???


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ต.ค. 11, 08:01
๐๖.๒๕ กลุ่มเรือเรือแอดมิรัล ชาร์แนร์กับเรือดูมองต์ ดูวิลล์ซึ่งโผล่มาทางช่องทะเลระหว่างเกาะหวายและเกาะคลุ้ม และกลุ่มเรือตาอูร์กับเรือมาร์นซึ่งโผล่มาทางแหลมบางเบ้า อยู่คนละทิศ ทำให้พลยิงของเรือรบไทยพะว้าพะวัง ปืนใหญ่เรือขนาดเล็กแค่๗๕มม.ก็มีเพียงลำละ๓กระบอก จึงตัดสินใจเลือกเฉพาะเป้าใหญ่ ไม่สนใจเรือที่เล็กกว่า ดังเช่นร.ล. สงขลาที่เลือกยิงเรือดูมองต์ ดูวิลล์ลำเดียว ทำให้เรือรบลำอื่นของฝรั่งเศสยิงเราได้สบายใจ และเริ่มเข้าเป้าถูกเรือตอร์ปิโดของไทยหลังจากการยิงตับที่๓

นัดแรกที่โดนนั้น ร.ล.ชลบุรีเสากระโดงหักสะบั้นยามยอดเสาตกลงมาขาขาดทั้งสองข้าง แต่ก่อนจะสิ้นใจ ทหารเรือใจเพชรผู้นั้นก็พยายามร้องตะโกนให้เพื่อนสู้ต่อไปไม่ต้องสนใจอะไรทั้งสิ้น แต่แล้วกระสุนอีกนัดหนึ่งก็โดนท้ายเรือร.ล.ชลบุรีเข้าอีกจนถังน้ำมันเตารั่วไฟลุกพรึ่บขึ้น แสงสีแดงฉานสว่างโพลงทำเรือรบฝรั่งเศสเห็นเรือรบไทยชัดทั้งสองลำ สามารถเล็งยิงกันได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน

ภาพนี้เป็นเหตุการณ์จริงที่ถ่ายจากเรือตาอูร์ เห็นควันไฟที่พวยพลุ่งขึ้นจากร.ล.ชลบุรี สีดำทมิฬตัดกับท้องฟ้า


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ต.ค. 11, 08:05
๐๖.๓๐ ขณะที่กลุ่มเรือเรือแอดมิรัล ชาร์แนร์กับเรือดูมองต์ ดูวิลล์วิ่งเข้ามาห่างจากเรือตอร์ปิโดทั้งสองเพียง๕๐๐๐เมตร กลุ่มเรือตาอูร์ และเรือมาร์น จะพยายามวิ่งเข้าไปให้ใกล้ร.ล.ชลบุรีและ ร.ล. สงขลาที่สุด จนอยู่ในระยะต่ำกว่า๒๖๐๐เมตรเกือบถูกลูกหลงจากเรือลามอตต์-ปิเกต์

ถ้าเรือรบไทยสามารถยิงตอร์ปิโดได้ เรือฝรั่งเศสคงต้องโดนดีเข้าบ้าง แต่กระแสน้ำทะเลไม่เป็นใจให้ เรือทั้งสองลำที่ทอดสมออยู่ถูกน้ำปัดหัวเรือให้หันเข้าหาฝั่งหันท้ายเรือออกทะเลตลอด ทำให้ไม่มีมุมยิงทั้งๆที่ร.ล. สงขลาอัดลมบรรลุตอร์ปิโดไว้เต็มอัตราศึกพร้อมทำการยิง ซ้ำร้ายเรือรบทั้งสองอยู่ในแนวขนานกัน ลูกปืนที่ฝรั่งเศสกะจะยิงร.ล.ชลบุรี หากพลาดเป้าก็ยังมีสิทธิ์ไปลุ้นรับโชคครั้งที่สองกับร.ล.สงขลา สรุปแล้วเรือรบไทยโดนกระสุนอ่วมไปทั้งคู่


โชคเป็นของฝรั่งเศส ซวยเป็นของไทย ครั้งที่๓


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 ต.ค. 11, 08:53
เรียนถาม อ.NAVARAT.C ครับ เมื่อได้อ่านเหตุการณ์ถึงตอนถล่มเรือของกองทัพเรือไทย (ยังไม่ถึงเรือหลวงธนบุรี) เกิดความซวยซ้อนหลาย ๆ ครั้งนี้ ผมก็สงสัยว่า ทำไมถึงได้เกิดเหตุเหล่านี้ได้เพราะอะไร

๑. ธรรมชาติเช่นหมอก ทะเล เล่นตลกกับเราหรือ

๒. หรือจะว่าประสิทธิภาพอาวุธ ก็ไม่ถูกซะทีเดียว ไทยนั้นชอบพูดเรื่อง "เล็กพริกขี้หนู" ดูจ้อยแต่เผ็ดแรง ก็ไม่น่าใช่

๓. หรือว่าหย่อนใจเกินไป ไม่พร้อมตื่นตัวระวังในเหตุการณ์ จึงได้เสียท่าเขาแบบนี้


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ต.ค. 11, 09:55
ซวยก็คือซวยครับ

มันไม่มีใครทราบหรอกว่ามันเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร ภาษาพระท่านใช้คำว่า "เวรกรรม" นำไป
สำนวนสามก๊ก (ในการรบครั้งสำคํญๆนั้น) "ฝีมือเป็นเรื่องของมนุษย์ ความสำเร็จเป็นเรื่องของเทวดา"

.
.
นี่ตอบคำถามของคุณหมดแล้วทุกข้อที่ถามนะครับ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ต.ค. 11, 10:24
นึกถึงโฆษณาเรื่องนี้

http://www.youtube.com/watch?v=YOKnGxPvip8

ได้ยินแต่คำว่า "ซวย ซวย ซวย"

ต้นเหตุมันอยู่ที่.......

อย่าโทษ  "ซวย" โทษตัวเอง

 ;D


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ต.ค. 11, 10:33
ระยะแรกของการดวลปืนใหญ่กันนั้น ร.ล.สงขลาเล็งไปที่เรือลามอตต์-ปิเกต์ ตับแรกกระสุนตกต่ำไป ต้นปืน(ร.อ. นัย นพคุณ)สั่งให้เพิ่มระยะยิงเป็น๑๔๐๐๐เมตร แต่ตับที่สองคล่อมนี้ไปอีก  สั่งใหม่ให้ตั่งที่๑๒๐๐๐เมตร ต้นปืนเห็นประกายระเบิดของกระสุนตับที่สามกระจายออกบริเวณท้ายเรือลามอตต์-ปิเกต์ กำลังเฮกันอยู่โดนยิงสวน เพราะเรือรบฝรั่งเศสทุกลำใช้แสงปลายปืนเป็นจุดเล็ง ทำให้พอโดนเข้าทีไร พลยิงก็จะตายหรือหมดสภาพไปด้วย แม้พลกระสุนหรือคนอื่นๆจะผลัดกันเข้ามาแทน ความไม่ชำนาญบวกกับปืนที่ความพิการไปแล้ว ทำให้การยิงหวังผลอะไรไม่ได้กระสุนตกสะเปะสะปะ นอกจากส่งสียงคำรามให้ดังๆไปเท่านั้น

สงสัยกระสุนตับนั้นเอง ที่ทำให้น.อ.เบรังเยร์ยอมรับในรายงานว่า มีสะเก็ดกระสุนตกอยู่เกลื่อนบริเวณท้ายเรือ แต่อ้างว่าเรือฝรั่งเศสไม่ได้โดนกระสุนแต่อย่างไร ทหารเรือไทยไม่เชื่อรายงานนี้ แต่ผมสงสัย กระสุนที่ยิงไปอาจเป็นกระสุนแตกอากาศ เหมือนกับที่ไประเบิดข้างๆเครื่องบินทั้งๆที่มิได้กระทบเป้าหรือเปล่า ผมก็ไม่ใช่ผู้ชำนาญซะด้วย

รูปข้างล่างนี้เป็นเรือตอร์ปิโดใหญ่ ร.ล.ชุมพรซึ่งเป็นพี่น้องฝาแฝดลำหนึ่งของร.ล.ชลบุรีและ ร.ล.สงขลา คุณkaifaเป็นผู้โพส์ตลงเวปไว้ ผมขออนุญาตเอาเฉพาะอาวุธมารวมไว้ เพื่อเปรียบเทียบกับฝ่ายฝรั่งเศส


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ต.ค. 11, 10:41
นี่อาวุธร้ายแรงของเรือครับ เทียบสมัยนี้ก็เท่ากับจรวดนำวิถีจากพื้นถึงพื้น แต่เสียดายไม่มีโอกาสใช้สักลูกในสงครามที่ไม่ได้ประกาศครั้งนั้น

แต่ยังดีนะครับ ทหารเรือบอกว่าถ้ากระสุนฝรั่งเศสมาโดนตอร์ปิโดบนเรือของเราเข้าแล้วระเบิดขึ้น ก็คงตายทั้งลำ แต่โดยข้อเท็จจริงเราก็สูญเสียชีวิตไม่มากเทียบกับสภาพเรือ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ต.ค. 11, 10:53
นี่เป็นภาพปืน ๗๕ มม.เหมือนกันของเรือลามอตต์-ปิเกต์ ติดกราบเรือข้างละ๒กระบอก เขาบรรยายภาพว่าเป็นปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน มีหอเล็งควบคุมการยิงอยู่ตรงกลาง ทำให้ยิงแม่นยำกว่าเล็งเป้าด้วยสายตา


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ต.ค. 11, 11:08
นี่อาวุธหนักของเขา ปืนใหญ่ขนาด ๑๕๕ ม.ม.คู่ ๔ป้อม ยิงตับหนึ่งออกไป๘นัดราวกับลูกปราย ถ้าอยู่ในระยะยิงแล้วเล็งด้วยอุปกรณ์ในหอ มันต้องโดนเข้าสักลูก
 
อาวุธปืนเรือสมัยใหม่(ในยุคโน้น) ครูฝึกญี่ปุ่นย้ำกับทหารเรือไทยตอนไปรับเรือว่า ถ้าเห็นกันแล้วยิงไม่ถูกเขาภายใน๘นาที ก็เตรียมโดนยิงได้เลย


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ต.ค. 11, 11:20
หอเล็งปืนใหญ่ มีทั้งด้านกราบซ้ายและกราบขวา


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ต.ค. 11, 11:25
ปืนต่อสู้อากาศยาน ติดตั้งเพิ่มจากรายการอาวุธมาตรฐาน จำนวนกี่กระบอกไม่มีคำบรรยาย


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ต.ค. 11, 11:31
หอสังเกตุการณ์ในส่วนท้ายของสะพานเดินเรือ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ต.ค. 11, 12:46
๐๖๔๕ หลังจากโดนกระสุนเข้าไปนับไม่ถ้วน ปืนกระบอกไหนยังยิงได้ ทหารประจำเรือก็ช่วยกันยิงต่อไป ที่เหลือก็ช่วยลำเลียงกระสุนออกมาจากท้องเรือที่น้ำทะเลเริ่มทะลักรูกระสุนเข้ามามากขึ้น หรือคอยช่วยเหลือผู้ที่บาดเจ็บให้อยู่ในที่กำบัง เมื่อเรือเริ่มแปล้น้ำและกระสุนที่นำขึ้นมาได้หมดลง ปืนของร.ล.สงขลาจึงเงียบเสียง เรือเริ่มเอียงวูบลงทางกราบซ้าย ร.ล.สงขลาจึงสละเรือใหญ่ ทหารเรือพากันกระโจนลงน้ำเพื่อว่ายเข้าฝั่ง ผู้บาดเจ็บถูกนำลงเรือเล็ก น.อ.เบรังเยร์บันทึกว่าเรือรบของฝรั่งเศสเห็นดังนั้นจึงยุติการยิง แต่แล้วอีกสองสามนาทีเรือแอดมิรัล ชาร์แนร์กับเรือดูมองต์ ดูวิลล์ก็เริ่มยิงใหม่ไปที่เรือไทยที่กำลังจมอยู่นั้น นัยว่าเพื่อจะเผด็จศึกให้เรือจมอย่างเด็ดขาดสิ้นเชิง

ฝ่ายไทยก็บันทึกตรงกัน แม้การต่อสู้จะยุติลงแล้ว ฝรั่งเศสก็หาได้หยุดไม่ ยังระดมยิงมายังกลุ่มลูกเรือที่กำลังว่ายน้ำเห็นหัวดำๆเกลื่อนทะเล กระสุนบางลูกบรรจุแกส พอกระทบน้ำก็ระเบิดออกเห็นเป็นควันสีต่างๆทั้งเหลืองครามดำ ทหารกลัวจะเป็นพิษต้องคอยดำผลุบดำโผล่ พวกที่อยู่บนเรือเล็กก็กลัวจะเป็นเป้า พากันกระโดดน้ำว่ายหนีให้ห่างเรือ การที่ถูกระดมยิงชุดส่งท้ายนี้ ทหารร.ล.สงขลาเสียชีวิตไปอีกหลายคน จนในที่สุดร.ล.สงขลาก็พลิกคว่ำหงายท้องก่อนที่จะจมอย่างรวดเร็ว เสียงปืนด้านนี้จึงสงบ

เลิกสงครามกันแล้วฝ่ายไทยได้ประท้วงฝรั่งเศสเรื่องนี้ว่าโหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรม ไม่ช่วยเชลยขึ้นจากน้ำแล้วยังซ้ำเติม ฝรั่งเศสแก้ตัวว่าตั้งใจยิงเรือไม่ได้ยิงคน และที่ไม่ช่วยก็เพราะเห็นเรือประมงของคนไทยมารอช่วยอยู่แล้ว


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ต.ค. 11, 13:16
พลประจำเรือ ร.ล.สงขลาจำนวน๙๘คนที่เข้าทำการรบ เสียชีวิตครั้งนั้น๑๔คน
ผมขอจารึกชื่อไว้ด้วยความเคารพ

นายเรือโท สวาสดิ์ สุริเย
นายเรือตรี สวง ไชยพลับ
นายเรือโท ชั้น ฤทธิวรรณะ
นายเรือตรี เที่ยง ยู่อี่
นายเรือตรี วรรณะ มุ่งเพียร
พันจ่าเอก ภักดิ์ สุดใจ
พันจ่าเอก พริ้ง นิลพัฒน์
พันจ่าเอก สำราญ นันธิโพธิ์
พันจ่าเอก ชั้น น้อยแดง
พันจ่าเอก แล เพียรหาสิน
พันจ่าเอก ประวิทย์ วัชรากร
พันจ่าเอก จ้อย สุขแจ้ง
พันจ่าเอก ทองสุก จานสี
พันจ่าเอก จำรัส มูลศิริ

ทหารประจำเรือหลวงสงขลา ๒ นาย ได้รับเหรียญหล้าหาญจากการรบ

จ่าเอก นาค เจริญศุข
จ่าเอก วงศ์ ชุ่มใจ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ต.ค. 11, 14:22
๐๖.๕๐  ร.ล.ชลบุรีที่โดนยิงไฟลุกท่วมอยู่นั้น ท้ายเรือเรื่มจมน้ำลงไป กระสุนไม่สามารถถูกลำเลียงขึ้นมาจากท้องเรือได้ ปืนเรือก็เงียบเสียง ผู้บังคับการเรือสั่งสละเรือใหญ่ และมีเวลาพอที่จะขนผู้บาดเจ็บลงเรือเล็ก ส่วนผู้ที่เสียชีวิตแล้วได้ฝากร่างของพวกเขาไว้กับเรือ พวกที่ยังไหวก็ลอยคอเข้าฝั่งในช่วงจังหวะใกล้เคียงกับทหารเรือร.ล.สงขลา และโดนระดมยิงจากเรือรบฝรั่งเศสในคราวเดียวกัน

ทหารเรือยังโชคดีอยู่บ้างที่มีเรือประมงของชาวบ้านที่หากินอยู่ในบริเวณนั้น เมื่อได้ยินเสียงตูมตามแทนที่จะกลัว กลับสวมวิญญาณไทยมุงแห่กันเข้ามาลอยลำรอดูเหตุการณ์อยู่หลายลำ ครั้นเห็นเรือรบฝรั่งเศสยุติการยิงด้านนี้ หันหัวเรือมุ่งหน้าสู่ตะวันตกตามเสียงปืนที่ดังขึ้นอีกทางด้านนั้น จึงรีบแล่นเรือเข้าไปช่วยเหล่าดอกประดู่ขึ้นจากน้ำอย่างทันท่วงที ถ้าไม่ได้ชาวประมงเหล่านี้แล้ว ทหารเรือคงตายอีกมากเพราะเริ่มจะสิ้นเรียวแรงกันแล้ว


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ต.ค. 11, 14:52
พลประจำเรือ ร.ล.ชลบุรีเข้าทำการรบจำนวน๙๘คน เสียชีวิตครั้งนั้นน้อยมากเพียง๒คนเท่านั้น
ด้วยความเคารพ ขอจารึกชื่อไว้ดังนี้

นายเรือโท อำนวย แสงสมศรี
พันจ่าเอก ป๋อไล้ แซ่เฮง


ทหารประจำเรือหลวงชลบุรี๒ นาย ได้รับเหรียญหล้าหาญจากการรบ

พันจ่าเอก ป๋อไล้ แซ่เฮง
จ่าตรี ชาญ ทองคำ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ต.ค. 11, 16:21
ตามอ่านมาโดยตลอด  แต่ไม่มีความรู้พอจะออกความเห็นอะไรได้ค่ะ
รู้สึกแต่ว่ายุทธนาวีครั้งนี้เหมือนจับนักมวยไทยไปชกกับนักมวยเฮฟวี่เวทของฝรั่ง     เราสู้ด้วยน้ำใจทรหดแท้ๆ
แถมสภาพแวดล้อมก็ยังไม่เข้าข้างเสียอีก

ดิฉันอาศัยอินทรเนตรไปหาเอกสารฝรั่งมาอ่าน     เขียนถึงฝรั่งเศสซะเป็นพระเอกเชียว   แถมยังมีหนึ่งในจำนวนนั้นบอกด้วยว่าเมื่อทหารเรือไทยลอยคออยู่ในน้ำ  ฝรั่งก็ยังแวะช่วยขึ้นมา


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ต.ค. 11, 17:23
เรื่องใส่ไข่ให้พวกของตนดูดีนี่ดี เป็นกันทุกชาติแหละครับ ไทยเราก็เก่ง
 
ผมจึงอยากเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาใหม่ โดยทำใจให้เป็นกลาง เอาข้อมูลที่เชื่อถือได้ทั้งสองฝ่ายมาประมวลใหม่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ก็จะเขียนไปอย่างนั้น ให้เป็นประวัติศาสตร์ไม่ใช่นิยายอิงประวัติศาสตร์

ใครถูกใจก็ดี ไม่ถูกใจก็ดี ก็หวังว่าจะพิจารณาได้ว่ามันเป็นอดีตที่ผ่านไปแล้ว ไปคำนึงถึงมันมากเกินไปก็ไม่เกิดประโยชน์
เอาแค่เรียนรู้ไว้เฉยๆก็พอ

ฉากต่อไป พระเอกของเราจะออกแล้ว ขอให้ท่านติดตามกันต่อไปก็แล้วกัน อย่ากระพริบตา


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ต.ค. 11, 17:29
^
ผมเขียนข้างบนนี้เสร็จ ก็เปลี่ยนไปดูกระทู้ข้างล่าง เห็นท่านอาจารย์เทาชมพูท่านเขียนไว้ว่า

ประวัติศาสตร์มีเอาไว้ให้เรียนรู้ถึงความถูกต้องและผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต   อดีตเป็นที่มาของปัจจุบัน   ถ้ารู้ว่าเราเดินมาจากที่ไหน ก็จะรู้ว่าบัดนี้เราอยู่ตรงไหนและอนาคตจะไปที่ใด    แต่ถ้าไม่รู้อะไรเกี่ยวกับอดีตเสียเลย  ก็จะอยู่ไปวันๆกับปัจจุบัน  และเคว้งคว้างกับอนาคต

โดยส่วนตัว ดิฉันเห็นว่าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ค่อยจะไปไหนไกลเลย   เหมือนเดินเป็นวงกลมกลับมาที่เดิม  

ที่ท่านเขียนไว้ เอามาต่อกับของผมได้เลยครับ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: smallhands ที่ 01 ต.ค. 11, 20:41
มาลงชื่อว่าอ่านแล้วเหมือนกันค่ะ แต่ถ้าออกข้อสอบละก็ ตกแน่ค่ะ  :-[


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ต.ค. 11, 20:49
ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องชื่อหรอกครับ พอให้เข้าใจว่านี่เป็นฝรั่งเศสนี่เป็นไทยก็พอ เดี๋ยวถึงคิวบู๊ก็สนุกแล้ว
ดูหนังสงครามเขายังปูพื้นตั้งนาน กว่าจะรบกันได้ก็เข้าไปครึ่งหลังของเรื่องเหมือนกัน


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 01 ต.ค. 11, 23:45
เข้ามาลงชื่อว่าตามอ่านอยู่นะครับ


เรื่องนี้ เรียนตามตรงว่า เพื่อนๆผมหลายคนยังไม่รู้เรื่องเลย
ตัวผมเองก็ยังไม่รู้รายละเอียดอะไรมาก


ดังนั้นขอทำตัวเหมือนเด็กนักเรียนไทยทั่วไปนะครับ
คือ นั่งฟังเฉยๆ ถ้าคุณครูไม่ถาม ก็จะไม่ส่งเสียงนะครับ
 ;D ;D ;D


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ต.ค. 11, 05:33
เนื่องจากผมได้ไปเขียนเชิญชวนชาวพันทิปให้เข้ามาอ่านเรื่องนี้ด้วย คุณzodiac28จึงได้ท้วงติงผมในเรื่องของการสะกดชื่อคนฝรั่งเศส
ตามลิงค์นี้

http://www.pantip.com/cafe/wahkor/topic/X11139158/X11139158.html

ดังนั้น ที่ผมเขียนไปคือ
พลเรือเอกฌอง เดกูซ (Jean Decoux)   ที่ถูกควรจะเป็น ฌอง เดอกูซ์  
พลเรือตรี จูลร์ เตร์โฮ้ซ (Jules Terraux) ที่ถูกควรจะเป็น ชูล แตโฆ
นาวาเอกเรจีส์ เบรังเยร์ (Régis Bérenger) ที่ถูกควรจะเป็น เฆชี เบฆองเช่

แต่ผมขออนุญาตที่จะเขียนชื่อผู้บังคับการเรือฝรั่งเศสว่าเบรังเยร์ต่อไปตามแบบที่คนไทยเขียนมาเจ็ดสิบปีแล้ว และนี่ก็เข้าไปตั้งครึ่งต่อนเรื่อง ไปเปลี่ยนเข้าเดี๋ยวจะทำให้สับสนว่าเป็นคนละคนกัน

เป็นอันว่า ท่านทั้งหลายโปรดรับทราบตามที่คุณzodiac28ได้กรุณาทักท้วงก็แล้วกัน

ขอบคุณครับ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ต.ค. 11, 10:53
๐๖๒๐ ร.ล.ธนบุรีถอนสมอขึ้นพ้นน้ำ เครื่องดีเซลเริ่มทำงานหมุนใบจักรให้เรือเคลื่อนตัวออกอย่างช้าๆจากบริเวณเกาะลิ่ม หมุนตัวไปตามทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทะเลยามนั้นมีหมอกบางๆทัศนวิสัยไม่สู้จะดีนัก คลื่นสงบ อากาศค่อนข้างเย็น ร.ล.หนองสาหร่ายและร.ล.เทียวอุทกวิ่งจากไปแล้วหลังได้รับสัญญาณธงสองมือ ผู้บังคับการสั่งไม่ให้ตามมาเพราะเรือทั้งสองไม่ใช่เรือรบ เดี๋ยวจะพลอยโดนลูกหลงให้เสียของเปล่าๆ

เสียงยามบนสะพานเดินเรือที่ตะโกนเมื่อหลายนาทีที่ผ่านมาว่าเห็นเรือลามอตต์ปิเกต์ที่ปลายเกาะช้าง ปลุกประสาททหารทุกคนในเรือให้ตื่นตัวอย่างถึงขนาด เจ้ายักษ์ใหญ่กำลังมุ่งหัวเรือไปสู่ทิศตะวันออก ระหว่างเกาะง่ามกับเกาะไม้ซี้ แลเห็นแสงไฟแลบจากปากกระบอกปืนที่ยิงไปทางทิศทางเกาะง่ามเป็นประกายตลอดเวลา ผู้บังคับการเดินไปทางท้ายของสะพานเดินเรือพลางตะโกน“เรือลามอตต์ปิเกต์อยู่ที่หลังเกาะนั่นไง สู้มัน ไม่ต้องถอย” และชี้มือให้พวกที่อยู่บนสะพานควบคุมปืนเบาทำการวัดระยะยิง

ขณะนั้นเรือลามอตต์ปิเกต์กำลังจะแล่นเข้าบังเกาะไม้ซี้  ร.ล.ธนบุรี เริ่มสอบศูนย์จากศูนย์รวบเพื่อสับไฟให้ใช้ยิงที่ศูนย์ควบคุมการยิง เมื่อไฟสัญญาณทุกดวงติดขึ้นแสดงว่าปืนทั้งสองป้อมพร้อม ต้นปืนจึงปรับกล้องเครื่องเล็งจับเป้าหมายกะว่าถ้าหัวเรือลามอตต์ปิเกต์โผล่พ้นเกาะไม้ซี้ จะซัดตับแรก


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ต.ค. 11, 10:58
ตั้งแต่ที่ได้ยินแตรรบ ทหารประจำป้อมท้ายทุกคนก็กระโดดเข้าไปในป้อมทีละคนอย่างรวดเร็ว เมื่อเข้าไปแล้วก็ถอดเสื้อออก เข้าประจำหน้าที่ของตนโดยเคร่งครัด ไม่มีใครแสดงอาการตื่นเต้นวิตก นายป้อมสั่งการให้พลประจำปืนกระบอกซ้ายเติมอากาศเข้าเครื่องนำปืนกลับที่พร่องอยู่เล็กน้อยให้เต็ม(ปืนใหญ่เมื่อยิงแล้วจะถอยหลัง ต้องมีเครื่องดึงกลับเข้าที่) และสั่งให้ผู้ช่วยนายป้อม (ร.ต.เปล่ง เฉ่งพาณิช)เร่งพลประจำห้องเครื่องแรงน้ำมัน(เครื่องไฮโดรลิก)ให้รีบเดินเครื่องโดยเร็ว เพื่อที่จะได้เดินเครื่องลำเลียงกระสุน ลำเลียงนัดดิน หันป้อม ฯลฯ ได้

ขณะนั้นเองที่หอควบคุมการยิงก็ได้ส่งสัญญาณมาให้ทำการสอบเข็มเครื่องรับมุมหันของป้อมและมุมกระดกของปืนให้ตรงกับเข็มของศูนย์รวบที่หอควบคุมการยิง นายป้อมได้หันไปถามพลกระดกขวา(พ.จ.ต.ชม) และพลกระดกซ้าย(จ.ต.เฟี้ยม สกุลมั่น)ว่าตรงหรือยัง ทั้งสองตอบว่า ตรงแล้ว นายป้อมหันจะไปถามพลหันป้อมที่นั่งประจำที่อยู่ระหว่างปืนทั้งสอง เพื่อจะถามดูอีกว่าตรงหรือไม่ แต่ก็ต้องใจหายวูบเพราะไม่เห็นพลหันป้อมนั่งอยู่ตรงนั้น ถามผู้ช่วยนายป้อมได้ความว่า ผู้บังคับการสั่งให้ไปประจำที่เกาะง่ามชั่วคราวเพื่อวัดระดับน้ำตั้งแต่เย็นวันวาน นายป้อมมองไม่เห็นใครจะแทนได้เพราะทุกคนต่างมีหน้าที่หมด จึงกระโดดเข้านั่งทำหน้าที่แทน

ในช่วงนั้น เมื่อทางหอควบคุมการยิงได้ส่งสัญญาณให้สับสวิตช์ไฟเครื่องรับมุมหันกับเครื่องรับมุมกระดก พลกระดกทั้งสองก็สับสวิตช์รับไปแล้ว ทั้งลูกปืนและนัดดินถูกบรรจุเข้าไปในลำกล้องเรียบร้อย พลลูกเลื่อนปิดท้ายลำกล้องและสับสวิตช์ไฟแสดงปืนพร้อมไปยังหอควบคุมการยิงแล้ว ทำให้หอควบคุมการยิงเข้าใจว่าปืนท้ายพร้อมยิง ทั้งๆที่เครื่องรับมุมหันของป้อมยังไม่ได้สับสวิตช์ไฟ เมื่อนายป้อมลงไปนั่งประจำที่นั้น ทางหอควบคุมการยิงกำลังหันเครื่องเล็งเพื่อจะจับที่หมายเรือข้าศึก แต่นายป้อมหมดหนทางจะที่จะทราบว่าทิศทางนั้นอยู่กราบใด องศาใดเพราะเข็มรับมุมกับเข็มสั่งมุมหันคลาดเคลื่อนกัน  จึงรีบรายงานให้หอบังคับการทราบ

เมื่อพบว่าป้อมท้ายยังไม่พร้อม ผู้บังคับการหลวงพร้อมฯจึงสั่งหยุดเรือ หักหางเสือซ้ายหมด เพื่อชะลอให้เรือบังเกาะไม้ซี้ใหญ่อยู่ก่อน


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ต.ค. 11, 10:59
ตอนที่ร.ล.ธนบุรีเริ่มถอนสมอนั้น ยามบนเรือแอดมิรัล ชาร์แนร์ได้สังเกตุการณ์เห็นและรายงานผู้บังคับบัญชาว่ามีเรือรบไทยอยู่อีกสองสามลำ ซึ่งก็ได้แจ้งต่อไปยังผู้บังคับการเรือลามอตต์ปิเกต์ทันที เบรังเยร์เห็นแล้วแต่ก็ไม่ทราบว่าเป็นเรืออะไร เพราะยังอยู่ไกลมาก พอดีเรือเข้ากำบังเกาะไม้ซี้


เวลาเดียวกัน นายป้อมใช้ปฏิภาณอันเกิดจากการได้ฝึกหัดอยู่เสมอ รีบหันป้อมไปทางกราบขวาทำมุม๙๐องศา เสร็จแล้วรีบรายงานให้หอควบคุมการยิงให้หันหอไปไว้ที่มุม๙๐องศาเช่นกัน เมื่อหันเสร็จแล้วบอกลงมา นายป้อมก็สับสวิตช์ไฟเครื่องรับมุมหันทันที เป็นอันว่าเข็มตรงกันทั้งศูนย์ทั้งป้อม ปืนทุกกระบอกของร.ล.ธนบุรีพร้อมที่จะยิงภายใต้การบังคับของศูนย์รวบเพื่อทำการรบได้แล้วแต่บัดนั้น


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ต.ค. 11, 15:59
๐๖.๓๐ หลังจากเสียเวลาไป๕นาทีผู้บังคับการหลวงพร้อมฯสั่งเดินหน้าเต็มตัวทั้งสองเครื่อง “เตรียมรบกราบขวา ที่หมายเรือลาดตระเวนข้าศึก”

๐๖.๓๔  เรือลามอตต์ปิเกต์ โผล่ทางด้านตะวันออกของเกาะไม้ซี้ใหญ่ และเริ่มยิง ร.ล.ธนบุรีทันที กระสุนตับแรก๔ นัดของฝรั่งเศสตกสูงห่างไป ๓๐๐ เมตร ตับที่ ๒ตกตรงแต่ต่ำ ห่างเรือ ๕๐ เมตร ฝอยน้ำสูงเสมอหัวเรือ กระสุนที่ระเบิดในน้ำมีสีต่างๆกัน มีทั้งสีเขียว สีขาว สีคราม  ร.ล.ธนบุรีเริ่มยิงได้หลังจากเรือฝรั่งเศสยิงมาแล้ว๒ตับ โดยยิงตับแรกทั้งป้อมหัวและป้อมท้าย ตั้งระยะ ๑๓,๐๐๐ เมตร ทางฝรั่งเศสบอกว่ากระสุนปืนของไทยตกต่ำไปตั้ง ๒,๐๐๐ เมตร (ตกลงมีการทำ Calibration หรือเปล่าเนี่ย?)
 
การยิงของปืน๘” ปกติจะช้ากว่าปืน๑๕๕ม.ม.ของฝรั่งเศสสองเท่าครึ่งอยู่แล้ว แปลว่า ระหว่างที่ไทยยิงไป๒ตับ๔ นัด จะโดนยิงกลับมา๕ตับ ถ้าพร้อมกันทุกกระบอกก็เท่ากับ๔๐นัด ถ้าเรายิงเขาไม่แม่นประเภทหม้ดเดียวจอด ปล่อยให้เขารัวหมัดชุดได้ก็จะไปเหลืออะไร

เรือลามอตต์ปิเกต์ยิงตับที่๓ บางนัดตกสูงบางนัดตกต่ำ ห่างจาก ร.ล.ธนบุรี ๑๕๐ เมตร

๐๖๔๘ เรือฝรั่งเศสตรวจกระสุนตกได้ว่าคร่อมเป้า จึงรีบยิงตับที่๔ซ้ำ ตับนี้เองที่โดนร.ล.ธนบุรีหลายนัด นัดหนึ่งโดนท้ายเรือบริเวณห้องกลาสีจนทะลุน้ำทะเลเริ่มไหลเข้าได้ กระสุนอีกนัดหนึ่งทะลุลำเรือเข้าไประเบิดใต้ดาษฟ้า บริเวณลำเลียงลูกปืนเบา ทหารตายตรงนี้ทันที๒ศพ บาดเจ็บสาห้สนับสิบ แต่ปืนใหญ่ของร.ล.ธนบุรีก็ยิงตอบโต้ไม่ลดละตามที่หอควบคุมการยิงสั่ง

ขณะชุลมุนกันอยู่นั้น ประกายไฟจากกระบอกปืนของเรือลามอตต์ปิเกต์ก็แวบขึ้นอีก เพียงครู่เดียวกระสุนตับนี้ก็ตกคล่อมร.ล.ธนบุรี ที่ลงทะเลก็ระเบิดขึ้นน้ำสูงเป็นช่อลำตาล แต่นัดหนึ่งนั้นได้รางวัลเหรียญทอง เพราะโดนหอบังคับการตรงมุมด้านกราบขวาของห้องรับแขกนายพลเข้าไประเบิดข้างใน แรงระเบิดทะลุเพดาน ซึ่งก็คือพื้นของห้องที่เป็นสมองของเรือ สะเกิดระเบิดตัดขาขวาผู้บังคับการหลวงพร้อมฯขาดสิ้นสติโดยทันที จ่าประจำพังงาถือท้ายขาขาดสองข้าง จ่าคุมเข็มถือท้ายและจ่าสื่อสารบาดเจ็บสาห้ส ต้นหนและทหารอีกคนหนึ่งบาดเจ็บเลือดโทรมกาย ตั้งสติได้เห็นเครื่องถือท้ายพังพินาศไปแล้วก็วิ่งออกจากหอบังคับการไปยังท้ายเรือ เพื่อจะเปลี่ยนไปใช้เครื่องถือท้ายสำรองแทน แต่เครื่องเจ้ากรรมก็เกิดติดขัดอีก ขณะทำการแก้ไขนั้น เรือที่ไม่สามารถบังคับได้ก็เริ่มหมุนเลี้ยวเป็นวงกลมด้วยความเร็วเท่าเดิม

หอบังคับการเป็นส่วนสำคัญของเรือที่ถูกออกแบบไว้ให้มีเกราะโค้งหนาถึง๔”เพื่อป้องกัน แต่ลูกปืนนัดนั้นโดนผนังส่วนบางที่อยู่ต่ำลงมานิดเดียวแล้วเข้าไประเบิดใต้สมองของเรือพอดี ทำให้ร.ล.ธนบุรีขาดประสิทธิภาพในการรบเร็วไปหน่อย ทั้งๆที่ยังออกอาวุธได้ แต่เมื่อไร้ระบบควบคุมก็หมดพิษสง

กระสุนนัดนั้นนับว่าโชคเป็นของฝรั่งเศส ซวยเป็นของไทย ครั้งที่๓


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ต.ค. 11, 16:37
เรือที่หมดสภาพ วิ่งหมุนซ้ายเป็นวงกลมอยู่ถึง๔รอบด้วยความเร็ว๑๔น๊อตนั้น เบรังเยร์กลับไปเขียนรายงานว่า เมื่อโดนยิง ร.ล.ธนบุรีได้แสดงชั้นเชิงการสู้รบอย่างเก่งกาจด้วยการเลี้ยวเรือวนไปมาจนเรือรบฝรั่งเศสไม่สามารถจับทิศทางเพื่อจะเล็งกล้องยิงให้ถนัดถนี่ได้ และเรือรบอื่นยังต้องระวังให้อยู่ห่างเพราะคิดว่าร.ล.ธนบุรีใช้ยุทธวิธีใหม่คือยิงแล้วเลี้ยวหันท้ายเรือให้ข้าศึกเข้ากำบังกลุ่มควัน และยังยิงโต้ตอบตลอดเวลา

บรรยากาศในห้องปืนท้ายนั้น มารู้สึกว่าผิดปกติก็ตอนที่เห็นเข็มสั่งมุมหันจากศูนย์รวบหมุนเร็วไม่ธรรมดา เดี๋ยวสั่งให้หมุนไปยิงทางกราบซ้าย เดี๋ยวสั่งให้ยิงทางกราบขวา บางครั้งสั่งให้ทำการยิงทั้งๆที่มุมหันของป้อมยังไม่ตรง แต่นายป้อมก็พยายามยิงออกไปอย่างต่อเนื่องเท่าที่จะทำได้ เพราะเห็นว่าเป็นการปลุกขวัญทหารในป้อมว่าเราไม่เป็นอะไร จนกระทั่งได้รับคำสั่งจากหอควบคุมการยิงให้ยิงอิสระ นายป้อมจึงสั่งให้พลกระดกใช้กล้องที่ปืนเล็งเป้า กระบอกใครกระบอกมัน โดยตนเองในหน้าที่พลหันป้อมก็พยายามหันป้อมให้ตรงกันกับเรือข้าศึก และต้องทำหน้าที่หลักในการตรวจกระสุนตก ซึ่งนายป้อมควรจะต้องขึ้นไปนั่งที่ช่องเหนือหลังคาป้อมเพื่อให้เห็นถนัด การที่ต้องส่องกล้องดูจากที่นั่งของผลหันป้อมนั้น ทำได้ยากเพราะควันปืนจะคลุ้งบดบังกล้องตลอดเวลา

ช่วงนี้เองที่เรือสรุปของฝรั่งเศสคือเรือแอดมิรัล ชาร์แนร์กับเรือดูมองต์ ดูวิลล์โผล่เข้ามาช่วยแจม  นายป้อมได้ยินจ.ท.เฟี้ยม พลยิงกระบอกซ้ายบอกว่าได้เห็นเรือข้าศึกถูกกระสุนระเบิด มีควันแดงๆพลุ่งขึ้นบริเวณกลางเรือ นายป้อมซักว่าแน่หรือ ไม่ใช่ไฟแลบจากปากกระบอกปืนเรือนะ จ.ท.เฟี้ยมก็ยืนยันว่าใช่แน่ นายป้อมจึงร้องไชโยขึ้น ทหารในห้องปืนก็ไชโยตาม พวกที่อยู่ในห้องลำเลียงกระสุนและห้องนัดดินข้างล่างได้ยินเสียงไชโยก็ไชโยโห่ร้องกันยกใหญ่ ทหารได้รับการปลุกขวัญอย่างดีก็ช่วยกันทำการให้ยิงได้อย่างรวดเร็วหวังจะให้ถูกข้าศึกมากขึ้น แต่ผลเป็นประการใดไม่ทราบเพราะควันปืนบังหมดมองไม่เห็น

เรือที่โดนยิงนั้น ผมคิดว่าเป็นเรือสรุปไม่ลำใดก็ลำหนึ่งเพราะเบรังเยร์เขียนว่า เมื่อเรือสรุปถูกระดมยิงจากเรือยามฝั่งของไทยอย่างแม่นยำจึงได้ทำการทิ้งวัตถุระเบิดต่างๆลงน้ำตามที่แนะนำกันไว้ แต่ไม่ได้บอกชื่อเรือ และกลับรายงานในตอนท้ายว่าไม่มีลำใดเสียหายจากลูกปืนของร.ล.ธนบุรีเลย


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ต.ค. 11, 08:23
ขณะที่เรือหมุนเป็นวงกว้างๆอยู่นี้ เรือฝรั่งเศสทั้ง๕ลำยังระดมยิงมาอย่างหนาแน่นแต่กระสุนส่วนใหญ่ไม่ถูก บนเรือ ต้นเรือและสรั่งเรือพยายามสั่งการให้ลูกเรือที่ไม่มีหน้าที่เฉพาะให้ช่วยดับไฟดับที่ลุกลามในห้องรับแขกนายพลแต่ก็ไม่ค่อยจะได้ผล  แถมยังโดนกระสุนเข้าอีกนัดหนึ่งบนดาดฟ้ากราบซ้ายแล้วทะลุลงใต้หลังคา ตัดแป๊บน้ำดับเพลิงขาดน้ำเจิ่งนองไปทั่ว แล้วหัวกระสุนนัดนั้นได้ระเบิดขึ้นในห้องพันจ่ากราบขวา ฉีกเหล็กผนังเรือโหว่เห็นทะลุจากภายนอก ทำให้เกิดไฟไหม้เครื่องนอนในห้องอีกจุดหนึ่ง

ตอนที่กระสุนลูกแรกๆเจาะท้ายเรือใต้แนวน้ำเข้าไประเบิดในห้องกลาสีนั้น คนในป้อมท้ายรู้หมด แต่ก็….ช่างหัวมัน ถ้าปืนยังยิงได้คนยังยืนอยู่ ก็สู้ต่อไปอย่างเต็มที่ นายป้อมได้ยินเสียงข้างล่างตะโกนบอกว่าไฟกำลังลุกในห้องแรงน้ำมัน จึงสั่งให้ปิดห้องเสียแต่ควันไฟและเปลวก็ยังพลุ่งออกไปได้ตามท่อระบายอากาศ เข้าไปห้องส่งนัดดินจนมองอะไรแทบจะไม่เห็น แต่ทหารก็ยังทนกันอยู่ คราวนี้น้ำทะเลที่ทะลักเข้ามาตามรูกระสุนเริ่มท่วม นายป้อมสั่งให้รีบขนนัดดินขึ้นมาไว้ที่ห้องกระสุน เคราะห์ดีที่ไฟไม่ได้ลามมาทางด้านนี้ มิฉะนั้นแล้วหากลูกไฟมาโดนนัดดินที่กองอยู่แล้วระเบิดขึ้น ป้อมปืนท้ายคงถอนทั้งยวงลอยหลุดขึ้นจากพื้น
 
จนมาถึงนาทีนี้ลูกปืนที่ระดมยิงมาจากเรือรบฝรั่งเศสก็โดนร.ล.ธนบุรีเข้าเรื่อยๆกระสุนนัดหนึ่งมาตกตรงหีบพักกระสุนปืน ๗๕ มม. ระหว่างกระบอก๑ และกระบอก๓ กระสุนได้ระเบิดเข้าห้องบัญชาการ ทะลุลงใต้ดาดฟ้าตรงห้องต้นปืน แพทย์ประจำเรือซึ่งอยู่ในห้องบัญชาการถูกสะเก็ดระเบิดขาขาด ทหารที่อยู่ใกล้บริเวณนั้นก็บาดเจ็บอีกหลายคน และเกิดไฟใหม้ห้องบัญชาการและห้องต้นปืนอีก

เมื่อควันไฟตลบอบอวลจนมองหาเป้าไม่เห็น นายป้อมท้ายจึงสั่งให้พลฯเวียน ที่มีหน้าที่ตั้งศูนย์ประจำกล้องให้มาทำหน้าที่หันป้อมแทนชั่วคราว ตอนนี้กระสุนอีกนัดหนึ่ง ถูกช่องกระจกทางกราบขวาห้องลำเลียงกระสุนใต้ฐานป้อมปืนท้ายหัวกระสุนคาอยู่ คนบนห้องปืนไม่รู้สึกเพราะเคราะห์ดีเป็นครั้งที่สอง หัวกระสุนนัดนั้นด้านมิได้ระเบิดขึ้น หากระเบิดแล้วนัดดินในห้องกระสุนคงทำให้ท้ายเรือขาดเป็นสองท่อน เรือน่าจะจมลงทันทีทหารคงตายกันเป็นเบือ แต่หมวกสวมหัวกระสุนนัดนั้นหลุดกระเด็นไปโดนพลฯชุน แซ่ฉั่ว พลหทารลำเลียงกระสุนที่แขนขวา และโดนพลฯสนุ่นน่องฉีก  นายป้อมหันมาเห็นพลฯชุนไต่กระไดขึ้นมาด้วยแขนซ้ายข้างเดียว แขนขวาห้อยร่องแร่งอยู่ใต้ศอกอยู่ได้ด้วยหนัง เนื้อเละๆแดงแจ๋ จึงใช้มือกดหัวพลฯชุนลงไปพลางตะโกนบอกว่าอย่าเพิ่งขึ้นมา รออยู่ข้างล่างก่อน พลฯชุนก็ยอมลงไปโดยดีมิได้ปริปากบ่น นายป้อมควักผ้าเช็ดมือในกระเป๋าปาตามลงไป พลฯชุนก็รับไปพันแขน

การที่นายป้อมทำไปเช่นนั้นก็เพราะกลัวทหารในห้องป้อมจะขวัญเสียถ้าเห็นสภาพพลฯชุนเข้า ขณะนั้นการยิงยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องโดยอาศัยการประสานกำลังของทหารทุกคน หากต้องขาดตอนเพราะไปให้ความสนใจกับคนๆเดียวก็อาจหมายถึงชีวิตของทุกคน สำหรับการยิงปืนเรือรบนั้น เวลาคือศัตรู หากหยุดแต่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้หยุด ก็เท่ากับยอมโดนยิงฟรีๆ

ท่านคิดว่าพลฯชุนจะลงไปหาที่หลบแล้วนอนรอด้วยความเจ็บปวดหรือ…..เปล่าเลย เขากลับลงไปลำเลียงกระสุนใส่รางด้วยมือที่เหลือเพียงข้างเดียวในห้องที่เต็มไปด้วยควัน และคงประจำหน้าที่นั้นต่อไปจนกระทั่งมีคำสั่งหยุดยิง เขาถูกนำลงร.ล.ช้างที่พาทหารบาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาลที่จันทบุรี นายป้อมเห็นเขานอนลืมตาสีหน้าเป็นปกติ ไม่ได้ร้องครวญครางแต่อย่างใด เมื่ออาการดีขึ้นถูกส่งตัวมารักษาพยาบาลต่อที่สัตหีบแล้ว นายป้อมได้ไปเยี่ยม คราวนี้พลฯชุนพูดว่า “นายป้อมครับ ผมเห็นจะไม่ได้ลงเรืออยู่กับนายป้อมแล้ว เพราะแขนผม.......”

จากรายงานของนายป้อม พลฯชุนได้เลื่อนยศเป็น พันจ่าเอกชุน แซ่ฉั่ว และเป็นคนหนึ่งที่ได้รับเหรียญกล้าหาญ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ต.ค. 11, 08:26
๐๗.๐๕ เครื่องบินขับไล่ฮอร์กพับฐานติดระเบิดขนาด๕๐ก.ก.ของกองทัพอากาศไทยที่ฐานบินเนินพลอยแหวน มีพันจ่าอากาศตรีอนันต์ พุทธจริยวงศ์ นักบินเวรเตรียมพร้อม เป็นผู้ได้รับคำสังให้นำเครื่องขึ้นไปดูว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น และโจมตีได้ถ้าจำเป็น

เมื่อมีเสียงปืนใหญ่ดังพรึมๆขึ้นตอนฟ้าสางนั้น  ฐานบินรออยู่ว่ากองทัพเรือจะขอความช่วยเหลือมาหรือไม่ แต่ไม่ได้รับการติดต่อ ในขณะที่เรื่องเดียวกันนี้ ฐานทัพเรือที่สัตหีบรายงานว่าพยายามติดต่อแล้วแต่ติดต่อไม่ได้ ครั้นเสียงปืนดังต่อเนื่องเนิ่นนานเกิน ทหารอากาศก็ไม่สมควรจะนิ่งเฉย
พ.อ.ต.อนันต์ พุทธจริยวงศ์ เมื่อไต่ระดับขึ้นได้ก็มุ่งตรงไปหมู่เกาะช้างที่เมื่อวาน นักบินลาดตระเวนรายงานว่าเห็นหมู่เรือของไทยจอดรวมกันอยู่๖ลำ ที่อ่าวสลักเพชรบริเวณเกาะง่าม

ถ้าทราบสถานการณ์แน่ชัดถูกต้อง ฐานบินคงจะส่งเครื่องบินที่ประจำการอยู่ทั้ง๙เครื่องขึ้นไปโจมตี แทนที่จะส่งไปลำเดียว การที่จะเข้าไปทิ้งระเบิดเรือรบที่มีป.ต.อ.กระสุนแตกอากาศระดมยิงขึ้นมา เครื่องบินสมัยนั้นไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปในระยะหวังผลได้เลย ยิ่งไปลำเดียวแล้วคงไม่ได้กลับฐานแน่ ต้องใช้แบบหมาหมู่รุมเสือ จึงอาจจะมีโอกาสชนะเสือได้  ถ้าเหตุการณ์ได้เป็นไปอย่างที่ควรแล้ว ประวัติศาสตร์คงจะไม่ได้จารึกเช่นนี้

ไม่ว่าใครผิดใครถูก เรื่องนี้ผมถือว่าเป็นโชคเป็นของฝรั่งเศส ซวยเป็นของไทยครั้งที่๔


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ต.ค. 11, 08:48
ร.ล.ธนบุรีตั้งแต๋โดนกระสุนนัดสำคัญๆ ได้ทำให้หลายส่วนของเรือกลายเป็นนรกเพราะแรงระเบิด ด้วยควันไฟและแก๊สพิษ ในห้องเครื่องท้องเรืออันเป็นที่ปฏิบัติงานของเหล่าพรรคกลินนั้น ได้สร้างวีรบุรุษผู้ปิดทองหลังพระที่อดทนและเสียสละหลายนาย ผมขออภัยที่ไม่อาจหาชื่อของพวกท่านได้ทุกคน

เมื่อต้นเรือวิ่งโซซัดโซเซมาบอกกับต้นกลว่า หอบังคับการถูกกระสุนพินาศ เครื่องบังคับหางเสือสำรองก็เสียใช้ไม่ได้ ต้นกลสั่งให้ช่างกล พ.จ.อ.นกเล็ก กระหม่อมทอง ขึ้นไปตรวจดู สักครู่ก็ลงมารายงานว่าเครื่องหางเสือไม่ได้ชำรุดเสียหายเข้าใจว่าสายไฟฟ้าคงขาด ขอเวลาแก้ไข ให้ใช้บังคับทิศทางเรือโดยสลับอัตราเร่งของเครื่องยนต์ทั้งสองไปก่อน

วิธีนี้เป็นวิธีที่ชาวเรือทั่วไปใช้อยู่ยามคับขัน ก็ได้ผลแต่ไม่ได้ดังใจ พ.จ.อ.นกเล็ก และทหารต้องคอยวิ่งขึ้นวิ่งลงท้ายเรือกับท้องเรือ สั่งให้เครื่องโน้นเบาเครื่องนี้หยุดบ้าง มาเอาเครื่องมือช่างนี่นั่นโน่นบ้าง เหนื่อยแทบขาดใจกว่าจะแก้ไขให้เครื่องถือท้ายสำรองใช้งานให้ร.ล.ธนบุรีวิ่งตรงทางได้ก็เกือบชั่วโมง ตัวต้นเรือที่บาดเจ็บอยู่วิ่งขึ้นวิ่งลงมากก็เกือบหมดสติไปครั้งหนึ่ง ถลามานั่งเหยียดขาอยู่กับพื้น ต้นกลได้เข้าไปนวดเฟ้นอยู่สักครู่หนึ่ง ต้นเรือก็เกาะราวเดินลากขาขึ้นไปข้างบนอีก

ท่ามกลางความชุลมุนระหว่างการรบยังคงดำเนินไป เรือสะท้านสะเทือนตลอดเวลาไม่ทราบว่าเพราะปืนใหญ่ฝ่ายเรายิง หรือเรือโดนกระสุนฝ่ายเขา จนกระทั่งมีไฟแลบลงมาตามทางลงห้องเครื่องของนายทหาร แสดงว่าไฟกำลังไหม้อยู่ข้างบน รองต้นกลได้ต่อสายสูบแล้วไต่บันไดขึ้นจะไปดับไฟ ก็ไม่ได้ผลเพราะน้ำไม่แรงพอ อะไรก็ไม่ร้ายเท่าควันและแก๊สพิษ ซึ่งถูกพ้ดลมดูดลงไปในห้องเครื่องไม่ขาดสายหนักขึ้นๆ  ทหารในห้องเครื่องพยายามหยุดพัดลมเป็นระยะๆ พอเห็นว่าควันขาดสายก็เปิดพัดลมให้อากาศบริสุทธิ์เข้ามาหายใจกันทีหนึ่ง แต่ไม่สามารถจะแก้อุปสรรคข้อนี้ได้ ควันคงคลุ้งกระจายไปทั่วห้องเครื่อง หายใจไม่เต็มปอดและไม่สามารถมองเห็นอะไรชัดเจนได้ และแล้วก็ยินเสียงระเบิดอย่างหนักข้างบนตอนเหนือห้องเครื่อง ทหารได้รับการบอกเล่าในภายหลังว่าถูกบอมบ์จากเครื่องบินข้าศึก


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ต.ค. 11, 09:28
เก็บหอยเสียบแล้วพายเรือจ๋อม ๆ เลียบข้าง ๆ เข้ามาพร้อมภาพถ่ายนี้จากหนังสือบันทึกจอมพลผิน ชุณหะวัน แนบภาพนี้ไว้ระบุว่า ภาพเหตุการณ์เรือหลวงธนบุรีขณะช่วยกันดับไฟขณะถูกโจมตีจากเรือลาดตระเวนลามอตต์ปิเกต์ ถ่ายจากเรือหลวงช้าง

เอาละซิครับ อ.NAVARAT.C ปรากฏ "เรือหลวงช้าง" ขึ้นมาอีก ๑ ลำ  ???


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ต.ค. 11, 09:30
ภาพลำดับต่อมา เป็นภาพถ่ายจากเรือหลวงช้าง ถ่ายภาพไปที่เรือหลวงธนบุรี ขณะดับไฟสงบแล้ว


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ต.ค. 11, 10:16
^
ภาพของคุณหนุ่มมาเข้าฉากเร็วไปหน่อย


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ต.ค. 11, 10:18
๐๗.๔๕ ทหารข้างบนเห็นเครื่องบินมาวนเหนือเรือ พอเห็นเครื่องหมายของไทยก็ไชโยขึ้น ได้ยินมาถึงในป้อมท้าย นายป้อมถามว่าเขาไชโยอะไรกัน ก็มีเสียงบอกว่าเครื่องบินของเรามาช่วยแล้ว ในห้องจึงได้เฮกันใหญ่แต่มิทันจะสิ้นเสียง เครื่องบินนั้นก็จิกหัวลงต่ำปลดระเบิดลงมา ลูกหนึ่งเฉียดกราบซ้ายลงทะเล แต่อีกลูกหนึ่งทะลุกลางเรือลงไประเบิดตูมในห้องสูทกรรม(ห้องครัว)ทางกราบขวา ทหารที่กำลังขนภาชนะจะเอาไปใส่น้ำช่วยกันดับไฟ ตายคาที่๒คน คนหนึ่งตัวขาดเหลือครึ่งท่อน  อีกคนหนึ่งขาขาดเป็นสามท่อน บาดเจ็บสาหัสสามสี่คน ไฟฟ้าในเรือดับวูบลงทันที

เหตุการณ์ตรงนี้เกิดขึ้นระหว่างที่เรือลามอตต์ปิเกต์วิ่งวนเข้ากำบังเกาะไม้ซี้อีกครั้งหนึ่ง ไม่มีเรือรบลำใดของฝรั่งเศสเห็นการโจมตีของเครื่องบินดังกล่าว และระยะสิบกว่ากิโลเมตรกล้องส่องทางไกลก็คงมองเครื่องบินไม่เห็น ในรายงานน.อ.เบรังเยร์ไม่มีกล่าวถึงว่าได้มีเครื่องบินรบของฝรั่งเศสมาร่วมรบ กองเรืออินโดจีนฝรั่งเศสไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการถึงเรื่องที่เกิดขึ้นนี้เลย

หลังจากการรบแล้ว กองทัพเรือออกข่าวว่าร.ล.ธนบุรีถูกทิ้งระเบิดจากเครื่องบินฝรั่งเศส ทหารในเรือที่ไม่ได้เห็นด้วยตาจึงไม่กล้าเอ่ยปากว่าเครื่องบินดังกล่าวเป็นของฝ่ายใด

พลเรือเอกจิตต์ สังขดุลย์ท่านมีธรรมชาติเป็นคนพูดน้อย เรื่องคุยโม้โอ้อวดยิ่งมิเคยหลุดจากปากท่าน เรืองราวการรบใครสนใจขอคุยด้วย ท่านก็จะพูดแบบถามคำตอบคำ มาจนถึงสมัยผมโตแล้วไปถามท่านบ้าง ท่านก็ไปหยิบ “เมื่อธนบุรีรบ” มาให้แล้วบอกว่าในนั้นมีละเอียดแล้ว ให้ไปอ่านเอาเอง ผมก็เลยถามคำถามสำคัญว่า เครื่องบินที่มาทิ้งระเบิดร.ล.ธนบุรี เป็นเครื่องบินของฝ่ายใด ท่านนิ่งไปสักครู่แล้วบอกว่า “ลุงอยู่ในป้อมปืนเลยไม่เห็น เขาว่าเป็นเครื่องบินฝรั่งเศส แต่ตอนนั้นคนบนเรือคิดว่าเป็นเคริ่องบินไทย”

นี่เอาคำพูดของท่านแบบคำต่อคำมาบอกกล่าว และก็มีเท่านั้นเพราะท่านไม่พูดอะไรต่อ แล้วผมก็ควรจะเข้าใจ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ต.ค. 11, 12:16
เมื่อถูกบอมบ์จากเครื่องบินสะเทือนไปทั่วลำ สวิตช์ไฟฟ้าตกทันที ไฟฟ้าดับหมด มอเตอร์ต่างๆเริ่มหยุดหมุน แต่เครื่องยนต์เรือคงเดินต่อไปเป็นปกติ  ในห้องเครื่องนั้นลำพังควันก็ทำให้มองอะไรเกือบจะไม่เห็นอยู่แล้ว ไฟฟ้ายังมาดับเสียอีก แต่จ.อ.ขัน ผู้คุมสวิตช์ไฟอัตโนมัติในห้องเครื่องจักรช่วยก็ตรวจสอบพบ แล้วทำการสับสวิตช์เข้าที่ดังเดิม ไฟฟ้าจึงสว่างพรึ่บขึ้นอีก

เครื่องจักรและเครื่องไฟฟ้าทุกตัวจึงกลับมาหมุนด้วยความเร็วสูง พรรคกลินทุกคนยังทำงานอยู่ในหน้าที่ แม้ทหารในห้องเครื่องจะเริ่มหายใจติดขัด ทุกคนใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกกันสำลัก รองต้นกล(ร.อ.อู๊ด นุชเนตร)เดินมาฟุบอยู่กับพื้น คนเห็นก็ได้แต่สงสารและรู้สึกสังเวชที่หมดหนทางจะช่วยเหลือ ทุกคนก็ไม่ต่างอะไรกันในเมื่อควันมากขึ้นทุกทีๆ แม้อยู่ใกล้ก็เกือบไม่เห็นกันไม่รู้ว่าใครเป็นใคร อยู่ที่ไหนกันบ้าง อากาศที่หายใจเข้าไปนอกจากกลิ่นควัน ยังเหม็นดินปืน และคาวเลือด ทหารหลายคนเมื่อหายใจติดขัดก็ไอจนรู้สึกเสียดท้อง เกือบสลบแล้วสลบอีก รู้สึกว่าใกล้จะหมดลมหายใจเต็มที แต่คำว่าวินัยเตือนสติอยู่ตลอดเวลาว่า ถึงจะตาย ก็ขอให้ตายในหน้าที่ ทหารเรือไทยไม่มีวันจะละทิ้งหน้าที่ไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด

พรรคกลินต้องทำงานอยู่ใน "นรก" ที่ต้องทนสูดแก๊สพิษและควันไฟเข้าปอดโดยไม่มีอากาศธรรมดาจะหายใจถึงสองชั่วโมง หลังประกาศหยุดยิง และต้นเรือสั่งให้หยุดเครื่อง ทหารพรรคกลิน๖นาย ถูกส่งลงร.ล.ช้างที่มาช่วยดับไฟ ให้ไปรับการรักษาพยาบาลที่จันทบุรีโดยด่วน เนื่องจากนัยน์ตาฟางมองเกือบไม่เห็น และปวดแสบปวดร้อนหลอดลม ไม่สามารถหายใจสะดวก

พรรคกลินของร.ล.ธนบุรีได้สร้างสองชั่วโมงแห่งเกียรติประวัติในทางวินัยให้แก่กองทัพเรือ และสิ่งที่น่าภูมิใจของเหล่าทหารเรือมาจนทุกวันนี้ก็คือ ในห้องเครื่องจักรช่วยนั้น  จ.อ.ขัน ผู้คุมสวิตช์ไฟอัตโนมัติ  จ.ท.พรม พลฯลำดวน ผู้ควบคุมตู้สวิตช์จ่ายไฟ พลฯสมัย พลฯ ยู่เอี๋ยวผู้คุมเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ๒๐๐ กิโลวัตต์ซ้ายขวา๒คัว และทหารรวม๘นาย ได้ยอมเสียชีวิต เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของทหารเรือไทยจนวาระสุดท้ายอยู่ในห้องนั้น เมื่อพ.จ.อ.นกเล็ก กระหม่อมทองลงไปสั่งงาน ภาพที่เห็นทั้ง๘คนนี้ล่าสุดคือ ทุกคนกำลังสนใจอยู่กับงานในหน้าที่เพราะเรือยังทำการรบ  ป้อมปืนทั้งหัวและท้ายยังทำการยิงอยู่เป็นระยะๆ

หลังจากเมื่อการรบได้สุดสิ้นลงแล้ว ทหารห้าหกคนสวมหน้ากากกันไอพิษพยายามจะเข้าไปช่วยพวก๘คนนี้ แต่ไม่สำเร็จ เพราะไม่สามารถฝ่าเพลิงที่กำลังลุกลามอยู่เข้าไปได้ พวกเขาเหล่านั้นตายอยู่กับงานของเขาอย่างสมเกียรติที่สุดของชายชาติทหาร


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: rin51 ที่ 04 ต.ค. 11, 14:28
ติดตามอ่านอยู่เหมือนกัน ครับ
จินตนาการตามที่เล่าเรื่อง    ขอสดุดีทหารเรือไทยที่เข้าร่วมใน ยุทธนาวี ครั้งนี้ ครับ
 


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ต.ค. 11, 15:03
๐๗๔๘ เมื่อเรือโดนระเบิดจากเครื่องบิน ทหารในป้อมปืนท้ายรู้สึกเหมือนป้อมถูกยกลอยขึ้นจากเรือ ไฟฟ้าดับ กลไกที่ใช้บังคับการยิงทั้งหมดใช้การไม่ได้ ทุกคนระร้าระรังอยู่ชั่วครู่พวกพรรคกลินก็แก้ไขให้ไฟฟ้าติดขึ้นอีก ระบบไฮโดรลิกเริ่มกลับมาทำงานอีกครั้งหนึ่ง ป้อมปืนพร้อมก็ทำการยิงแลกหมัดกับฝรั่งเศสต่อไป สักพักเห็นว่าเรือลามอตต์ปิเกต์ตีวงกลับ ทำท่าจะเข้าบังเกาะอีก ขณะนั้นเรือทั้งสองเข้าแนวขนาน ปืนซ้ายที่จ.ท.เฟี้ยมประจำการอยู่ก็ลั่นไก ป้อมท้ายนั้นส่วนใหญ่จะยิงได้เฉพาะปืนซ้าย เพราะปืนขวาเล็งไม่ค่อยจะได้เพราะควันปืนซ้ายรบกวนอยู่ และจะยิงทีต้องระวังพวกเดียวกันที่ทำงานบังคับเครื่องถือท้ายสำรองด้วย กระนั้นก็ดี พลฯอัมพรซึ่งโผล่ขึ้นมาในขณะที่ป้อมท้ายทำการยิง ได้ถูกแรงอัดอากาศกระแทกตกลงไปในห้องโดยไม่รู้ตัว หูข้างหนึ่งดับไปตั้งแต่บัดนั้น

นายป้อมใช้กล้องหันส่องดูเรือเรือลามอตต์ปิเกต์ขณะกลับลำ เห็นชัดเจนว่าเสาท้ายตอนบนหักห้อยลงมา จึงสั่งให้ยิงเร็วก่อนที่เรือจะเข้ากำบังเกาะ ยิงไปตับหนึ่งตกหน้าเป้าประมาณ๒๐๐เมตร จึงสั่งเพิ่มศูนย์ แต่ตับนี้ไม่ได้ทำการยิงเพราะท้ายเรือมีทหารมาวิ่งกันพลุกพล่าน พอดีกับเรือลามอตต์ปิเกต์เข้ากำบังเกาะเสียแล้ว นายป้อมสั่งให้ปืนกระดกตามศูนย์ไว้ ขณะนั้นกระสุนบรรจุพร้อมอยู่ทั้งสองลำกล้อง นายป้อมพยายามหันป้อมเลี้ยงมุมไว้ที่หัวเกาะไม้ซี้ กะว่าเรือลามอตต์ปิเกต์โผล่มาเมื่อไหร่จะยิงทันที

๐๗๕๐ น.อ.เบรังเยร์ นึกขึ้นมาได้ว่าไทยมีฐานทัพอากาศอยู่แถวนั้น นี่ใช้เวลาไปนานพอสมควร ถึงร.ล.ธนบุรียังไม่ยอมแพ้ก็ช่างมันแล้วกัน รีบหนีเอาตัวรอดจะดีกว่า จึงเปิดหวูดสัญญาณ สั่งให้เรือสรุปถอนตัวออกจากการรบ และเรือช่วยรบอีกสองลำแล่นตามไป

๐๗๕๘ น.อ.เบรังเยร์อ้างว่ากลัวใบจักรเรือจะติดน้ำตื้น ไม่คุ้มที่จะติดตามยิงร.ล.ธนบุรี ขณะกลับลำเรือเป็นช่วงที่นายป้อมท้ายส่องกล้องเห็นเสากระโดงหลังของเรือลามอตต์ปิเกต์หักห้อยอยู่ดังที่ผมเขียนไปก่อนหน้านั้น ได้ยิงตอร์ปิโด๓ลูกมายังร.ล.ธนบุรี ตั้งลึกที่๒.๕๐เมตรก่อนจะเข้ากำบังเกาะไม้ซี้ แต่ตอร์ปิโดตับนี้วืดเป้าไม่รู้ว่าไปทางไหน มีผู้เขียนว่า ตอร์ปิโดหลุดทางหัวเรือร.ล.ธนบุรี๑ลูก ท้ายเรือ๑ลูก ลอดท้องเรือ๑ลูก แต่เรื่องนี้ผมไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ในที่อื่นๆ

๐๘๐๐ น.อ.เบรังเยร์ออกคำสั่งหยุดยิง เรือลามอตต์ปิเกต์เลี้ยวขวาแล่นเข็ม ๒๓๐ องศา ส่งสัญญาณให้เรืออีก ๔ ลำแล่นเข้ากระบวน และเมื่อผ่านเกาะใบดั้งแล้วจึงสั่งเข็ม ๒๗๐ องศา แล่นออกกลางทะเลไป

ร.ล.ธนบุรียังไม่ทราบว่ากองเรือฝรั่งเศสถอนตัวไปแล้ว นายป้อมท้ายพยายามหันป้อมไปทางที่หมายไว้ สักครู่รู้สึกว่าป้อมไม่ยอมหันตาม เข้าใจว่าเครื่องไฮโดรลิกขัดข้องแต่ไม่ทราบว่าทหารพรรคกลินที่รักษาหน้าที่ดูแลเครื่องไฮโดรลิกได้เสียชีวิตพร้อมคนอื่นหมดแล้วในห้องเครื่องจักรช่วย นายป้อมจึงสั่งการให้เปลี่ยนไปใช้เครื่องหันป้อมและเครื่องกระดกปืนด้วยมือหมุนแทนทันที แต่ต้องทำการปลดครัชก่อน ครัชนี้อยู่ในห้องส่งกระสุนซึ่งมีควันคลุ้งไปหมดมองไม่เห็น นายป้อมตะโกนลงไปว่าถ้าไม่เห็นก็ให้ใช้มือคลำเอา ในที่สุดก็หันป้อมและกระดกปืนด้วยแรงคนได้ พร้อมที่จะทำการยิงให้ถึงที่สุด ไม่ข้าศึกไม่หนีไป ก็เมื่อทุกคนตายอยู่กับป้อม

รออยู่นานสองนาน เรือข้าศึกไม่ปรากฏให้เห็นอีก และแล้วก็ได้ยินเสียงตะโกนจากภายนอกป้อมว่า “ต้นปืนให้หันปืนเข้าแนวลำเรือ”  ข้าศึกหนีไปแล้วหรือ? นายป้อมลุกขึ้นบอกทหารว่า “เราได้ทำหน้าที่ของเราสมบูรณ์แล้ว” และไชโยขึ้น ทหารทุกคนไชโยตามสนั่นหวั่นไหว


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ต.ค. 11, 15:44
คุณ"แด่น้อง" ได้โพสต์ไว้ที่ห้องหว้ากอของพันทิป  ผมขออนุญาตยกมาลงที่นี่ด้วย


อ่านไป ก็ต้องเสียน้ำตาให้ลูกประดู่ไทย แม้จะเป็นน้อยครั้งมากที่เราได้ทำยุทธนาวีกับข้าศึก

ถึงแม้ลูกนาวีของเราไม่ได้มีชื่อเสียงในการรบทางทะเล แต่เมื่อทหารไทยต้องทำการรบกับอริราชศัตรู หน้าที่และวินัยของเหล่าท่าน ได้ทำให้คนรุ่นหลังอย่างผมคนหนึ่งบังเกิดความประทับใจและซาบซึ้งในวีรกรรมของเหล่าท่านจนสุดจะบรรยาย ถ้าทัพเรือไทยมิได้เข้าต่อตีทำการรบอย่างกล้าหาญกับข้าศึกที่เหนือกว่าในทุกๆด้านเยี่ยงยุทธนาวีที่เกาะช้างแล้ว บ้านเมืองชายฝั่งของเราคงถูกเรือข้าศึกระดมยิงจนย่อยยับเป็นแน่

ทหารเรือเป็นเหล่าทหารที่เหมือนจะอาภัพในกองทัพไทย คนทั่วไปไม่ค่อยเห็นความสำคัญ แต่เมื่อภัยมาเยือน ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันทางบกก็ล้วนเป็นมิตรยากที่จะเป็นภัยคุกคามกับเรา ในทางกลับกัน ภัยจากประเทศห่างไกลย่อมมาจากทางทะเลเท่านั้น ทรัพยากรผลประโยชน์เส้นทางเดินเรือ การส่งออกนำเข้าของเราเกือบทั้งหมดล้วนมาจากทางทะเลแทบทั้งสิ้น......ถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลจะกลับมาให้ความสำคัญกับทัพเรือบ้าง อย่างเช่น กองเรือดำน้ำ ที่ทัพเรือไทยควรจะมีซักที....เมื่อความจำเป็นมาถึงอย่าให้ทัพเรือต้องโดนข้าศึกถล่มจนย่อยยับอีกเลย วิญญาณของวีรชนทหารเรือในอดีตที่ท่านสละชีพปกป้องอธิปไตยของชาติเราจะได้เป็นสุขและพักผ่อนอย่างสุขสงบ เมื่อรับทราบได้ว่าจะไม่มีใครมาข่มเหงรังแก กองทัพเรือของท่านได้อีกต่อไป....

ขอสดุดีวีรชนที่สละชีพทุกท่าน.....  


ผมก็เขียนไป น้ำตากลบนัยตาไปเหมือนกัน

ทำไมคนหมู่น้อยจึงได้เสียสละให้คนหมู่มากได้ถึงเพียงนี้ น้ำใจของพวกทหารเรือ ช่างหล่อหลอมกันมาแข็งแกร่งเหมือนเหล็กกล้าแท่งเดียวกัน
ไม่ผิดเพี้ยนไปจากบรรพบุรุษไทยที่ปกป้องรักษาแผ่นดินนี้ไว้ด้วยชีวิตเลือดเนื้อ เพื่อลูกหลานเหลนโหลน ....เช่นพวกเรา



กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ต.ค. 11, 16:56
๐๘.๓๐ ร.ล.ธนบุรีพยายามวิ่งเข้าหาฝั่งทางทางแหลมน้ำ ทหารที่ประจำหน้าที่อยู่ใต้ท้องเรือทยอยกันพาตนเองและเพื่อนที่บาดเจ็บออกมาหาที่สูดอากาศให้เต็มปอด ดีใจแค่ชั่ววินาทีพอเห็นสภาพเรือ ไฟลุกทั่วไปในช่องทางเดินและห้องหับต่างๆ ก็วิ่งพล่านไปช่วยกันดับ แม้จะพยายามเท่าไรก็ไร้ผล  เรือแล่นใกล้ที่ตื้นของแหลมน้ำ ท้ายเรือแปร้น้ำลงทุกทีและเอียงทางกราบขวาเล็กน้อย ต้นเรือ(เรือเอก ทองอยู่ สว่างเนตร) จึงสั่งปรับหางเสือ ให้เรือบ่ายหน้าไปทางแหลมงอบ แต่ยิ่งแล่น ลมยิ่งโหมไฟยิ่งลุก ดูเหมือนว่าชีวิตจะสิ้นหวังเสียแล้ว
ขณะนั้นมีคนเห็นเรือลำหนึ่งแล่นเต็มฝีจักรมาจากหัวเกาะช้างด้านใต้  คนมีกล้องส่องทางไกลก็ยกกล้องขึ้นส่องดู พอจำได้ว่าเป็นร.ล.ช้าง ทุกคนเลยเฮโลสาระพา มีกำลังใจที่จะต่อสู้กับพระเพลิงต่อไปให้หนักมือขึ้นอีก
 
๐๙.๕๐ ร.ล.ธนบุรีหยุดแล่นให้ร.ล.ช้างได้เข้ามาเทียบ ทหารโห่ร้องแสดงความยินดีต่อกัน ร.ล.ช้างเข้าทางเทียบกราบขวาเพื่อช่วยดับไฟ แต่สายสูบของเรือทั้งสองต่อเข้ากันไม่ได้เพราะหัวคนละชนิด ร.ล.ช้างจึงดับไฟได้แต่ดาดฟ้าชั้นบน ตามรูปที่คุณหนุ่มเอามาลงไว้ล่วงหน้าแล้วนั้น  สายสูบของเป็นร.ล.ช้างก็สั้นไปเสียอีก ไม่สามารถลากลงไปดับไฟใต้ท้องเรือ หรือส่วนบนของเรือตามช่องทางเดินและห้องบัญชาการได้

๑๐.๐๐ ร.ล.เทียวอุทก และร.ล.หนองสาหร่ายมาถึง ผมเคยเขียนเผลอไปว่าเป็นเรือลำเลียง แต่แท้จริงเป็นเรือกวาดทุ่นระเบิด ทำให้ไม่กล้าเข้าไปช่วยเหลือเพราะเกรงว่าหากร.ล.ธนบุรีระเบิดขึ้น ทุ่นระเบิดในเรือที่มีอยู่เพียบจะระเบิดตาม เรือจะจมตายกันหมดทั้งสามลำ ดังนั้นจึงเปลี่ยนไปรับทหารของร.ล.ชลบุรี และร.ล.สงขลา ที่แหลมเทียนอ่าวสลักเพชรแทน ส่วนเรือลำเลียง ร.ล.เทียวอุทกเข้าเทียบทางกราบขวา ช่วยร.ล.ช้างลากจูงร.ล.ธนบุรีไป
ร.ล.ธนบุรียังคงตกอยู่ในกองเพลิง เรือเอียงขวามากจนกราบตักน้ำ ขณะนั้นคนเจ็บถูกลำเลียงลงร.ล.ช้างหมดแล้ว เมื่อเห็นไฟโหมหนัก น่ากลัวว่าหากมีอะไรยังหลงเหลืออยู่แล้วเรือระเบิดขึ้น ทหารจะพากันบาดเจ็บล้มตายไปเปล่าๆปลี้ๆ ต้นเรือ กระทำหน้าที่ผู้บังคับการเรือจึงสั่งสละเรือ ให้ทหารลงจากเรือหมดไม่มีตกค้างแล้ว ร.ล.ช้างก็สั่งตัดเชือกพ่วง ถอยออกไปลอยลำอยู่ ต่อมาเปลี่ยนความคิด ให้ร.ล.ช้างจูงไปเกยตื้นไว้บริเวณแหลมงอบแทนที่จะปล่อยไว้กลางทะเล

๑๐.๕๐ ร.ล.ช้างจูง ร.ล.ธนบุรีมาจนถึงหน้าแหลมงอบ ใกล้ติดท้องทรายตรงแนวน้ำลึก๖เมตร

๑๑.๐๐ คำสั่งสละเรืออีกครั้ง ให้ปล่อยร.ล.ธนบุรีไว้ ณ ที่นั้น

๑๗๔๐ ร.ล.ธนบุรีตะแคงลำลงเอากราบขวานอนดิน พอระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุดในคืนนั้น ร.ล.ธนบุรีก็พลิกคว่ำ หงายท้องชี้ฟ้า


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ต.ค. 11, 17:48
ขยายภาพจาก # ๑๒๑

แผนที่ ยุทธนาวีเกาะช้าง ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔  (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87) ตามการสรุปของ พล.ร.ท. พัน รักษ์แก้ว

(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/thumb/9/95/Battle_of_Koh_Chang_17_January_1941_Phan_Rakkaeo%27s_Conclusion_%28th_version%29.PNG/554px-Battle_of_Koh_Chang_17_January_1941_Phan_Rakkaeo%27s_Conclusion_%28th_version%29.PNG)

ที่มา: ภาพต้นฉบับจากหนังสือ เมื่อธนบุรีรบ  (http://www.navy.mi.th/newwww/gallery/war/251.gif) อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พล.ร.อ. จิตต์ สังขดุลย์ ดัดแปลงและลงสีเพิ่มเติมโดย สุทธิพงษ์ พื้นแสน

;D


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ต.ค. 11, 17:54
ขอบคุณครับ นี่ของฝรั่งเศสแบบชัดๆ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ต.ค. 11, 19:57
พลประจำเรือ ร.ล.ธนบุรีเข้าทำการรบจำนวน๒๓๔นาย เสียชีวิตครั้งนั้น๒๐นาย
ด้วยความเคารพ ขอจารึกชื่อไว้ดังนี้

นายนาวาเอก หลวงพร้อมวีรพันธุ์ (พร้อม วีระพันธุ์)
นายนาวาเอก อัชฌา พัฒนวิบูลย์
นายเรือโท เทียน เหมือนสุวรรณ
นายเรือโท ทองมี เสตะจันทร์
นายเรือโท สว่าง สุวรรณเปี่ยม
นายเรือตรี ทองปอนด์ ชำนาญแพทย์
นายเรือโท ขัน วงศ์กนก
นายเรือตรี พรม รักษ์กิจ
นายเรือตรี สมัย จำปาสุต
พันจ่าเอก เฟื่อง ยาประดิษฐ์
พันจ่าเอก สาคร ฉันบุญช่วย
พันจ่าเอก มูล พึ่งมา
พันจ่าเอก ยก นรธด
พันจ่าเอก สม จันมะณี
พันจ่าเอก ปิ่น แซ่ลิ้ม
พันจ่าเอก เอี๋ยว อึ้งหลี
พันจ่าเอก ลบ นุดนา
พันจ่าเอก นวล เสี่ยงบุญ
พันจ่าเอก ลำดวน ทัพพะเกตุ
พันจ่าเอก ยู่เล้ง อาจสาคร


ทหารประจำเรือหลวงธนบุรี ๑๔ นาย ได้รับเหรียญหล้าหาญจากการรบ

นายนาวาเอก หลวงพร้อมวีรพันธุ์ (พร้อม วีระพันธุ์)
นายเรือเอก เฉลิม สถิระถาวร
นายเรือโท ขัน วงศ์กนก
นายเรือตรี พรม รักษ์กิจ
นายเรือตรี สมัย จัมปาสุต
พันจ่าเอก ทองอยู่ เงี้ยวพ่าย
พันจ่าเอก เอี้ยว อึ้งหลี
พันจ่าเอก นวล เสียงบุญ
พันจ่าเอก ลบ นุดนา
พันจ่าเอก ลำดวน ทัพพะเกตุ
พันจ่าเอก ยู่เล้ง อาจสาคร
พันจ่าเอก เพื่อน สุดสงวน
พันจ่าเอก ชุน แซ่ฉั่ว
พันจ่าเอก เอ่ง แซ่ลิ้ม


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 11, 20:00
คุณ navarat เล่าจนเห็นได้ชัดเจน ราวกับเป็นภาพเคลื่อนไหวอยู่ตรงหน้า  
จับใจในวีรกรรมของทหารเรือไทยในยุทธนาวีครั้งนี้   ทุกคนสู้สมเป็นชายชาติทหารจริงๆค่ะ
นอกจากไม่พึ่งโชคใดๆทั้งสิ้น  ก็ยังไม่ระย่อต่อเคราะห์ที่กระหน่ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า

http://www.youtube.com/watch?v=7k_EBc63mno


 


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ต.ค. 11, 22:01
.


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ต.ค. 11, 22:09
การรบที่เกาะช้างนั้นมิได้มีเฉพาะยุทธนาวี กองทัพอากาศไทยก็มีบทบาทในการรบกับกองเรือรบของฝรั่งเศสด้วย ก่อนจะเล่าการสับประยุทธระหว่างเครื่องบินรบของไทยกับเรือลามอตต์ ปิเกต์ ผมขอปูพื้นเสียหน่อยจะดีกว่า

เมื่อใกล้จะเกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยและอินโดจีนฝรั่งเศส กองทัพอากาศได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้มารีบดำเนินการจัดตั้งฐานบินขึ้นที่เนินพลอยแหวน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เพื่อปกป้องน่านฟ้าไทยในอาณาบริเวณชายแดนด้านทิศตะวันออกที่ติดกับฝั่งทะเล โดยย้ายฝูงบินขับไล่จากฐานทัพอากาศโคกกระเทียมมาจัดตั้งฝูงบินอิสระเมื่อวันที่๒๖ กันยายน ๒๔๘๓ ใช้เครื่องบินฮอว์ก แบบ ๑๗ (Curtiss Hawk III) ที่ทันสมัยสุดๆ(ของเรา)เพราะสามารถพับล้อเก็บได้ จนมีฉายาเก๋ไก๋ว่าฮอว์กพับฐาน จำนวน๙เครื่อง แม้ฐานบินจะมีลักษณะชั่วคราว อาคารทั้งหมดเป็นเรือนไม้มุงหลังคาจาก แต่ทหารนักบินก็อยู่อย่างสะดวกสบาย ความเป็นอยู่ดีมีแฟนคลับของทหารอากาศขาดรักเช่ารถจากตัวเมือง เอาอาหารการกินผลหมากรากไม้มาส่งส่วยมิได้ขาด ในเล้าไก่ก็มีชาวบ้านคอยเอามาเติมให้ แม้กระทั่งรถยนต์นั่งก็มีผู้มีจิตศรัทธานำมาให้ผู้ฝูงใช้ถึง๒คัน

นักบินทั้งหมดในฝูงมีดังนี้

นาวาอากาศตรี ม.ล.ประวาศ ชุมสาย ผู้บังคับฝูงบิน
เรืออากาศเอก บุญนำ สังขภูติ รองผู้บังคับฝูงบิน
เรืออากาศตรี ประสงค์ คุณะดิลก ผู้บังคับหมวดบิน
พันจ่าอากาศตรี อนันต์ พุทธจริยวงศ์ นักบิน
จ่าอากาศเอก อุทัย สังเนตร นักบิน
จ่าอากาศโท เอื้อน เอมปาน นักบิน
จ่าอากาศโท หิรัญ ศิริพรรค นักบิน
จ่าอากาศโท บุศยะ น่วมในชาติ นักบิน
จ่าอากาศโท มาลา วีระพันธ์ นักบิน
จ่าอากาศโท ม.ร.ว. ปรียะ จักรพันธ์ นักบิน


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ต.ค. 11, 22:12
ต่อมาในวันที่๖ มกราคม ๒๔๘๔ ได้มีคำสั่งย้ายฝูงบินตรวจการณ์ทิ้งระเบิด แบบ ๒๓ (Vought Corsair) ที่มีฉายาว่าคอร์แซร์หัวถาด(V-93S) จำนวน ๙ เครื่อง รุ่นนี้ทันสมัยกว่ารุ่นเก่าที่มีฉายาว่าคอร์แซร์หัวโอ่ง(V-93) มาอยู่ในฐานบินเดียวกัน

นักบินทั้งหมดในฝูงมีดังนี้

เรืออากาศเอก ถนอม ปิณฑแพทย์ ผู้บังคับฝูงบิน
เรืออากาศตรี สวน จิตรไพบูลย์ ผู้บังคับหมวดบิน
พันจ่าอากาศโท จิต ทองเพชร์ นักบิน
พันจ่าอากาศตรี อรรจถ์ สุริโยธิน นักบิน
จ่าอากาศโท ศิริ กลันนานนท์ นักบิน
จ่าอากาศโท จำรัส ม่วงประเสริฐ นักบิน
จ่าอากาศโท โต๊ะ บุญยมาลิก นักบิน
จ่าอากาศโท ชุ่ม ใช้ญาณ นักบิน
จ่าอากาศโท โฉมยง ถนอมทอง นักบิน



กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ต.ค. 11, 08:27
ฝูงบินทั้งสองเป็นฝูงบินอิสระ แปลความว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครในฐานทัพเดียวกัน ฟังแต่คำสั่งของหน่วยเหนือเท่านั้น บังเอิญผบ.ฝูง ม.ล.ประวาศ ชุมสาย กับผบ.ฝูง ถนอม ปิณฑแพทย์เป็นนายทหารรุ่นเดียวกัน รักใคร่นับถือว่าอะไรว่าตามกันอยู่แล้ว ทหารจึงอยู่กันเรียบร้อย แบ่งปันความสุขที่ชาวจันทบุรีนำมามอบให้อย่างถ้วนทั่ว

ผบ.ฝูง ม.ล.ประวาศ ชุมสายเพิ่งจะได้เลื่อนยศแซงหน้าก่อนที่เพื่อนจะย้ายมาไม่กี่วันเอง เพราะได้บินไปทิ้งระเบิดเรือฝรั่งเศสที่นำทหารมายกพลขึ้นบกที่แหลมสารพัดพิษ ชายแดนตราด ถึงจะไม่โดนจังๆแต่เรือข้าศึกก็เสียหายมาก เมื่อสถานีวิทยุกระจายเสียงไซ่ง่อนภาคภาษาไทย ออกข่าวหลังเหตุการณ์ว่า รัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสได้มอบเหรียญตราให้กับนายเรือเอกคนหนึ่งที่ต่อสู้กับเครื่องบินข้าศึก จนสามารถนำเรือกลับไปได้อย่างปลอดภัย วันรุ่งขึ้น บก.ทหารสูงสุดจึงอนุมัติให้เลื่อนยศนักบินผู้ปฏิบัติการในวันนั้นคนละ๒ขั้นเป็นบำเหน็จ เลยได้ติดยศใหม่เป็นนาวาตรีสดๆร้อนๆ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 11, 21:03
ขอปาดกลับไปที่ข้อข้องใจหน่อยค่ะ   เรื่องเครื่องบินทิ้งระเบิดเรือร.ล. ธนบุรี
ร.ล.ธนบุรี โดนระเบิดจากเครื่องบินไทยด้วยกัน  ที่ดูผิดว่าเรือไทยเป็นเรือฝรั่งเศสใช่ไหมคะ
เป็นความเคราะห์ร้ายครั้งที่เท่าไรล่ะนี่?

แต่ถ้ากระทู้วิ่งเลยเรื่องนี้ไปไกลแล้ว  เก็บคำถามไว้ท้ายกระทู้ก็ได้ค่ะ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ต.ค. 11, 21:15
ครับ และนี่คือที่มาของชื่อเรื่องด้วย

ปกติเมื่อเกิดเรื่องเช่นนี้ ผู้ที่มีใจเป็นกลางคงจะอุทานว่า "เวรกรรม"

ฉะนั้น ในวีรกรรมของทหารเรือครั้งสำคัญ มันเลยมีวีรเวรอยู่ด้วย

 คคห๑๑๓

๐๗.๐๕ เครื่องบินขับไล่ฮอร์กพับฐานติดระเบิดขนาด๕๐ก.ก.ของกองทัพอากาศไทยที่ฐานบินเนินพลอยแหวน มีพันจ่าอากาศตรีอนันต์ พุทธจริยวงศ์ นักบินเวรเตรียมพร้อม เป็นผู้ได้รับคำสังให้นำเครื่องขึ้นไปดูว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น และโจมตีได้ถ้าจำเป็น

เมื่อมีเสียงปืนใหญ่ดังพรึมๆขึ้นตอนฟ้าสางนั้น  ฐานบินรออยู่ว่ากองทัพเรือจะขอความช่วยเหลือมาหรือไม่ แต่ไม่ได้รับการติดต่อ ในขณะที่เรื่องเดียวกันนี้ ฐานทัพเรือที่สัตหีบรายงานว่าพยายามติดต่อแล้วแต่ติดต่อไม่ได้ ครั้นเสียงปืนดังต่อเนื่องเนิ่นนานเกิน ทหารอากาศก็ไม่สมควรจะนิ่งเฉย
พ.อ.ต.อนันต์ พุทธจริยวงศ์ เมื่อไต่ระดับขึ้นได้ก็มุ่งตรงไปหมู่เกาะช้างที่เมื่อวาน นักบินลาดตระเวนรายงานว่าเห็นหมู่เรือของไทยจอดรวมกันอยู่๖ลำ ที่อ่าวสลักเพชรบริเวณเกาะง่าม

ถ้าทราบสถานการณ์แน่ชัดถูกต้อง ฐานบินคงจะส่งเครื่องบินที่ประจำการอยู่ทั้ง๙เครื่องขึ้นไปโจมตี แทนที่จะส่งไปลำเดียว การที่จะเข้าไปทิ้งระเบิดเรือรบที่มีป.ต.อ.กระสุนแตกอากาศระดมยิงขึ้นมา เครื่องบินสมัยนั้นไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปในระยะหวังผลได้เลย ยิ่งไปลำเดียวแล้วคงไม่ได้กลับฐานแน่ ต้องใช้แบบหมาหมู่รุมเสือ จึงอาจจะมีโอกาสชนะเสือได้  ถ้าเหตุการณ์ได้เป็นไปอย่างที่ควรแล้ว ประวัติศาสตร์คงจะไม่ได้จารึกเช่นนี้

ไม่ว่าใครผิดใครถูก เรื่องนี้ผมถือว่าเป็นโชคเป็นของฝรั่งเศส ซวยเป็นของไทยครั้งที่๔


ผมกำลังจะดำเนินเรื่องเข้าไปขยายเนื้อความตอนนี้แล้วละครับ รับรองเป็นประวัติศาสตร์ แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครอยากพูดถึง


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ต.ค. 11, 21:18
ฐานบินจันทบุรีอยู่ค่อนข้างจะโดดเดี่ยวจากหน่วยทหารอื่นๆ วิธีสื่อสารนั้น ใช้การได้ดีเพียงวิทยุติดต่อกับกองทัพอากาศสนามที่ดอนเมือง ใช้พูดแบบธรรมดาๆบ้าง พูดเป็นระหัสลับบ้าง ส่วนการติดต่อกับฐานทัพเรือที่สัตหีบที่ใกล้กว่านั้นกลับทำไม่ค่อยจะได้ ทั้งๆที่ผู้ใหญ่บอกไว้ว่า ไปอยู่ที่นั่นนั้น “กองทัพอากาศเป็นแม่ตัว กองทัพเรือเป็นแม่เลี้ยง” กับกองเรือรบก็ไม่เคยติดต่อสื่อสารกัน ระหว่างเครื่องบินกับเรือรบจึงไม่ต้องพูดถึง เครื่องบินกับเครื่องบินในหมู่เดียวกันยังคุยกันไม่ได้เลย ทั้งๆที่ตอนซื้อเขามา อเมริกันก็ติดวิทยุให้ในห้องนักบินด้วย แต่ไม่ทราบอย่างไรจึงไม่ใช้กัน เล่นวิธีการที่เรียกเสียให้โก้ว่า“ทรรศนสัญญาน” เช่นชูกำปั้นขึ้น แปลว่าให้โจมตี โบกมือแปลว่าห้าม โคลงปีก แปลว่าพวกเดียวกัน ชักธงเขียวแปลว่าพร้อมแล้วลงได้ ชักธงแดงแปลว่าสนามบินยังไม่พร้อม ปูผ้าขาวแปลว่าให้รีบลงไวๆ เป็นต้น
 
หากพิจารณาจำนวนเครื่องบินที่ซื้อมาประจำการแล้ว ตอนนั้นกองทัพอากาศยังไม่พร้อมถึงระดับที่ควรจะเป็น ผู้หลักผู้ใหญ่ในกองทัพตลอดจนนักบินมือดีต่างโดนหางเลขจากคดีกบฐบวรเดช ต้องติดคุกหรือถูกให้ออกจากราชการฐานมีมลทินกันครึ่งกองทัพ นายทหารรุ่นใหม่ๆเป็นเด็กหนุ่มยังทำอะไรไม่ค่อยจะเป็นเพราะขาดผู้บังคับบัญชาระดับกลางที่มีประสพการณ์ การฝึกการสอนไม่มี มีแต่สั่ง ผู้ใหญ่สั่งให้เอาเครื่องบินมาก็มา ผู้ใหญ่สั่งให้ซ้อมทิ้งระเบิด ก็ทิ้งไป โดยไม่มีวัตถุประสงค์กำกับว่าเป้าหมายที่กำหนดจะทำลายนั้นเป็นประเภทใด เป็นอาคารที่อยู่นิ่งๆ หรือเคลื่อนที่เช่นเรือรบที่มีปืนสวนขึ้นมาได้ด้วย หรือผู้ใหญ่สั่งให้หมั่นซ้อมยิงก็ยิง ยิงแล้วไปโดนใบพัดเกือบขาดบ่อยๆ แต่ทุกครั้งก็โทษกันเอง ไม่กล้าโทษผู้ใหญ่ เวลาออกไปรบจะยิงข้าศึกสักทีก็คิดแล้วคิดอีก กลัวจะเป็นการยิงตัวตาย

นี่ผมเขียนเล่ามาถึงตรงนี้ต้องขอเบรคสักนิด ขอดักคอบางท่านก่อนว่า ผมไม่ได้โม้ และไม่ได้มั่ว ไม่มีเจตนาจะทับถมใคร ข้อมูลเหล่านี้มาจากรายงานและบทสัมภาษณ์ของทหารนักบินผ่านศึกในสงครามครั้งนั้นเอง กองทัพอากาศเป็นผู้รวบรวมและจัดพิมพ์ขึ้น ตอนทำหนังสืองานศพคุณลุง นายทหารเรือที่ช่วยเหลือผมอยู่ได้ประสานไปยังกองประวัติศาสตร์ของกองทัพอากาศตามที่ผมขอ ต้องการไปค้นข้อมูลเลยได้รับอนุเคราะห์หนังสือเล่มนี้มากับมือตนเอง  เล่มหนามาก อ่านสนุกจริงๆขอบอก


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ต.ค. 11, 21:26
เพื่อเป็นหลักฐาน นี่เป็นข้อความบางตอนที่ยืนยันว่า แม้สำนวนของผมจะปรุงแต่งภาษาไม่เหมือนหนังสือเขา แต่ข้อเท้จจริงในนั้นมิใช่เรื่องที่ผมแกล้งแต่งขึ้น

อ้อ ร.อ.สุรพลนั้น คือคนๆเดียวกับร.อ.บุญนำ สังขภูติ ท่านเปลี่ยนชื่อใหม่ตามสมัยนิยมของท่านผู้นำในช่วงต่อมา


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ต.ค. 11, 21:53
ใครดู โตรา  โตรา  โตรา คงจำได้ ญี่ปุ่นก่อนจะไปโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์นั้น ได้ซ้อมทิ้งระเบิด ซ้อมทิ้งตอร์ปิโด กันเป็นร้อยเที่ยว ขนาดนั้ยังมีพลาด

การซ้อมเป็นจุดอ่อนของไทย ในฐานะประเทศผู้ซื้ออาวุธที่ประเทศผู้ผลิตมักจะขายแพงๆ เวลาจะซ้อมด้วยกระสุนจริง ก็ต้องประหยัด ทหารอากาศตอนนั้นซ้อมทิ้งระเบิดด้วยลูกระเบืดที่หล่อด้วยคอนกรีต ถึงจะดูคล้ายๆก็ไม่เหมือนทั้งน้ำหนักทั้งรูปร่าง พอทิ้งระเบิดที่เป็นลูกเหล็กจึงไม่ค่อยเข้าเป้า
 
ปืนเสือหมอบสมัยรัชกาลที่ห้าเป็นปืนที่ทันสมัยที่สุดในโลก แต่ขาดการฝึกซ้อม วันที่เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการทดสอบปืนอาร์มสรองที่ป้อมพระจุลฯนั้น ปืนเสือหมอบเจ็ดกระบอก สามารถยิงได้แค่กระบอกเดียว ที่เหลือหมอบไม่ยอมลุก ฝรั่งผู้ขายรับจะแก้ไข บังเอิญเหตุการณ์เดินหน้ารวดเร็ว ยังไม่ทันจะฝึกลูกแถวให้เข้าที่ เกิดวิกฤตการณฺ์ ร.ศ.๑๑๒ เรือรบฝรั่งเศสก็เข้ามาแล้ว๓ลำ ปืนเสือหมอบยิงทันเฉพาะเรือนำล่อง ที่เหลือยิงลงน้ำหมด ไม่คุ้มราคาปืน 


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ต.ค. 11, 22:05
อย่างไรก้ดี เรื่องที่นายทหารอากาศผ่านศึกครั้งนั้นเขียนขึ้นจากสมุดบันทึกความจำ บางอย่างก็มีรายละเอียดไม่เหมือนกัน บางช่วงขาดหายไป ไม่ปะติดปะต่อเหมือนดูหนังขาด รายละเอียดปลีกย่อยนั้นไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เพราะบางเรื่องบันทึกจากสิ่งที่ได้ยิน ไม่ใช่จากสิ่งที่ได้เห็นกับตาตนเอง ผมต้องเสียเวลาไปกับการใช้วิจารณญาณ กรองเอาเฉพาะสิ่งที่ผมควรเชื่อ ซึ่งแม้จะปราศจากอคติก็อาจจะไม่ถูก ดังนั้นตรงไหนที่ขัดแย้งกัน ผมจะเอาใจความที่ขัดแย้งมาให้ท่านพิจารณาด้วย เพื่อความเป็นธรรม

หลังจากเหตุการณ์ที่เรืออากาศโทประสงค์ คุณะดิลกได้รับคำสั่งให้ไปสกัดกั้นเครื่องบินของฝรั่งเศสที่บินไปตรวจการณ์ที่เกาะช้างและสัตหีบเมื่อเย็นวันที่๑๖ จนได้มีโอกาสยิงเครื่องลัวร์ถึง๒ชุดแต่พลาดเป้า แถมชุดที่๓ยิงโดนเอาใบพัดตัวเอง ดีแต่ว่าถากๆถึงสามารถบินกลับมาฐานได้นั้น
ช่วงเวลาดังกล่าวผบ.ฝูง ม.ล.ประวาศไปราชการกรุงเทพ ร.อ.บุญนำ สังขภูติ รองผู้บังคับฝูงบินเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทน ได้รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปที่กองทัพเรือ แม่ทัพเรือหลวงสินธุสงครามชัยตอบมาว่า ทราบแล้วขอบใจ แต่หวังว่าคราวหน้าคงไม่พลาดอีกนะ ส่วนแม่ทัพอากาศหลวงอธึกเทวเดชนั้น ตำหนิรองผบ.ฝูงอย่างรุนแรง เสียงก้องลำโพงได้ยินกันทั่วห้องว่าทำไมจึงสั่งให้ไปทำการเพียงเครื่องเดียว ข้าศึกจึงหลุดมือไปอย่างน่าเสียดาย

วันรุ่งขึ้น เสียงปืนใหญ่ยิงกันตูมตามได้ยินมาถึงฐานทัพตั้งแต่ฟ้ายังไม่สางจนทหารทุกคนตกใจตื่น  ร.ท. เจียม ปาละกะวงศ์ฯ นายทหารเวรได้รับโทรศัพท์ทางไกลจากทหารเรือชื่อ“เย็น” บอกว่าได้ยินเสียงปืนใหญ่เข้าใจว่าเป็นปืนเรือ จึงเข้าไปปลุกรองผบ.ฝูง แต่เห็นตื่นอยู่แล้วและสั่งการให้เรียกประชุม เมื่อวิทยุรายงานด่วนไปที่กองทัพอากาศเพื่อขออนุมัติการโจมตี แม่ทัพอากาศตอบมาว่า อนุมัติให้โจมตีได้ถ้าจำเป็น หลังจากนั้น ได้วิทยุรายงานให้น.อ. หลวงนาวาวิจิตร เสนาธิการทัพเรือทราบ
 
รายงานของกองทัพอากาศระบุว่า ฝูงบินจันทบุรีไม่ได้รับการติดต่อจากกองทัพเรือเลย แต่รองผบ.ฝูงเมื่อได้รับอนุมัติจากแม่ทัพอากาศ จึงสั่งให้พ.อ.ต.อนันต์ เวรเตรียมพร้อม ให้นำเครื่องออกไป โดยเครื่องเตรียมพร้อมติดระเบิดขนาด๕๐ก.ก. บินไปยังเกาะช้างแล้ว รองผบ.ฝูงจึงสั่งให้ ร.ท. ประสงค์นำหมู่๒ ตามออกไปโดยมีจ.อ.อุทัย สังเนตร และจ.อ. หิรัญ ศิริพรรค เป็นลูกฝูง โดยมีเครื่องของร.ท. ประสงค์เท่านั้นที่ติดระเบิดขนาด๒๕๐ก.ก. อีกสองเครื่องติดระเบิดขนาด๕๐ก.ก.

ในบทสัมภาษณ์น.อ. สุรพล ไกรฤทธิราญ อดีตร.อ.บุญนำ สังขภูติในหนังสือเล่มเดียวกันนั้น น.อ. สุรพลเล่าว่า เมื่อได้รับอนุมัติจากแม่ทัพอากาศ จึงได้สั่งร.ท.ประสงค์ ให้นำหมู่บินไป โดยให้ติดลูกขนาด๕๐ก.ก. เพราะจะเร่งรีบให้ไป หมู่บินของร.ท.ประสงค์บินขึ้นเมื่อเวลา ๐๗.๐๕ แน่นอน

ส่วนบันทึกของร.ท.ประสงค์ เรื่องเดียวกัน เล่มเดียวกัน เขียนว่า ตอนนั้นยังมืดอยู่ ไม่สว่างดี ทำการแทนผบ.ฝูงได้สั่งให้พ.อ.ต.อนันต์ พุทธจริยวงศ์ นำหมู่แรกออกไปทำการทิ้งระเบิดเรือข้าศึกโดยติดลูกระเบิดขนาด๕๐ก.ก. ยังนึกอยู่ว่าทำการแทนผบ.ฝูงน่าจะใช้(ตน)ให้นำหมู่ไปเป็นหมู่แรกเพราะรู้ที่ตั้งของกองเรือเราดี และกองเรือข้าศึกจะอยู่บริเวณใด และการติดระเบิดก็ควรจะใช้ขนาด๒๕๐ก.ก. (ตน)เป็นเพียงผบ.หมวดก็แล้วแต่ผบ.ฝูง ได้แต่พูดเปรยๆกับช่างเครื่อง ช่างอาวุธว่าน่าจะติดขนาด๒๕๐ก.ก. เพราะทิ้งระเบิดเรือรบ จะเป็นพ.อ.ต.อนันต์หรือลูกหมู่ของพ.อ.ต.อนันต์จำไม่ได้แน่ มาถามว่าจะไปที่ไหน ก็ได้บอกว่าให้ไปที่บริเวณเกาะช้าง เพราะกองเรือของเราอยู่เกาะช้าง

เอาละซีพระคุณท่าน เรื่องขนาดของระเบิดและเวลาบินขึ้นมันเกิดสำคัญขึ้นมาแล้ว เพราะร.ล.ธนบุรีถูกบอมบ์เมื่อเวลาประมาณ๐๗.๔๕ น.ด้วยลูกระเบิดขนาด๕๐ก.ก. (หากเป็น๒๕๐ก.ก.เรือก็ท้องแตกจมอยู่กับที่ไปแล้ว) ใครที่บินขึ้นในช่วงดังกล่าวนั้นจึงมีนัยยะสำคัญอย่างยิ่ง


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ต.ค. 11, 05:15
ภาพเครื่องบินรบของเยอรมันสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่๒ ติดระเบิดทั้งขนาด๕๐และ๒๕๐กก.
ผมนำมาให้ดูเฉยๆเพื่อเปรียบเทียบขนาดว่าเล็กใหญ่กว่ากันอย่างไร

ลูกระเบิด๒๕๐กก.นั้นหนักมาก ใช้เวลาติดกันครึ่งค่อนชั่วโมงเพราะสมัยนั้นอุปกรณ์เครื่องมือไม่ค่อยจะดีและไม่ค่อยจะมี พวกนักบินของฐานบินจันทบุรีจึงไม่ค่อยได้ติด นอกจากจะมีภารกิจที่ชัดเจนเหมือนคราวนี้


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ต.ค. 11, 07:27
ที่ฐานบินเดียวกันนี้ มีฝูงบินตรวจการณ์อิสระอีกฝูงหนึ่ง ผมได้เขียนไปแล้วว่า ทั้งฝูงบินขับไล่และฝูงบินตรวจการณ์ ใครจะทำอะไรก็ทำไป แม้จะกินข้าวหม้อเดียวกันแต่เรื่องงานแล้ว ไม่มีการปรึกษาวางแผนร่วมกันใดๆทั้งสิ้น

ร.อ. ถนอม ปิณฑแพทย์ ผบ.ฝูงบินตรวจการณ์เป็นคนเนี๊ยบ สั่งงานลูกฝูงทุกครั้งจะเขียนใบสั่งที่เรียกว่ากร.๑๐ให้ไปปฏิบัติ ถ้าเหตุด่วนจึงสั่งด้วยวาจาแต่นักบินกลับมาแล้วจะต้องรายงานผลการปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษร และลงนามรับกร.๑๐ย้อนหลังทุกครั้ง ดังนั้นเมื่อกองทัพอากาศประมวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จึงให้น้ำหนักกับรายงานของฝูงนี้มากกว่าฝูงบินขับไล่ ซึ่งคำสั่งต่างๆใช้วาจาอย่างเดียว มาเขียนรายงานหลังเหตุการณ์ทั้งหลายจบแล้ว


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ต.ค. 11, 07:30
บ่ายก่อนวันที่เกิดเหตุ ร.อ. ถนอม ปิณฑแพทย์ได้ออกกร.๑๐ให้ จ.ท.จำรัส ม่วงประเสริฐเป็นนักบินไปตรวจการณ์ตามแนวเกาะต่างๆไปถึงเกาะเรียมในเขมรตามปกติ บินอยู่สองชั่วโมงครึ่งไม่พบอะไรเลยก็กลับ ถึงเกาะช้างประมาณ๑๖.๓๐น. เห็นร.ล.ธนบุรีและเรือตอร์ปิโดทั้ง๓ลำจอดอยู่ที่เกาะช้าง ตรงอ่าวสลักเพชร จึงโฉบลงไปดูเห็นทหารเรือกำลังกินข้าว ยังโบกไม้โบกมือให้ทรรศนะสัญญาณว่ายินดีที่ได้พบเน้อซึ่งกันและกัน ภายหลังการรบ ได้ยินทหารเรือพูดว่า ฝรั่งเศสบินเข้ามาเห็นหมู่เรือรบของเราตั้งแต่ตอนเย็นก่อนหน้า จ.ท.จำรัสยังคิด(เขียน)ว่าทหารเรือมั่วแล้ว เครื่องบินที่เห็นนั้นเป็นเครื่องบินของตนชัดๆ แสดงว่า แม้อยู่ด้วยกันจ.ท.จำรัสยังไม่ทราบเลยว่า เย็นวันเดียวกันนั้น ร.ท.ประสงค์ได้นำเครื่องบินขับไล่ขึ้นไปยิงเครื่องบินตรวจการณ์ลัวร์ของฝรั่งเศส จนใบพัด(ของตัวเอง)เกือบหัก กระเสือกกระสนมาลงฉุกเฉินที่ฐานบินเดียวกันนั่นแหละ
 
ไม่ทราบว่าเป็นเพราะนักบินทหารสัญญาบัตรกับนักบินประทวนจะไม่ค่อยคลุกคลีกันด้วยหรือเปล่า ข่าวเด่นวันนี้จึงไม่ค่อยมีใครรู้

เมื่อเสียงปืนใหญ่ดังขึ้นแล้วนานพอสมควร ร.อ. ถนอม ปิณฑแพทย์จึงเขียนกร.๑๐เสร็จ สั่งการให้ พ.อ.ต. อัจจ์ สุริโยธิน เป็นหัวหน้าหมู่ จ.ท.จำรัส ม่วงประเสริฐหมายเลข๒ บินหมู่๒(ไปกันสองเครื่อง) เพื่อตรวจการณ์ค้นหาข้าศึก ถ้าพบ ให้ทิ้งระเบิดทำลายทันที โดยแต่ละลำติดระเบิด๕๐ก.ก. ซ้ายขวา

ย้อนกลับไปดูบันทึกของร.ท.ประสงค์ จะบ่นว่า รู้สึกว่ามีการชุลมุนกันบ้าง ฝูงตรวจการณ์ก็สั่งให้ไปทิ้งระเบิด ขับไล่ก็ไปทิ้งระเบิด ต่างฝูงต่างสั่ง ไม่มีการประสานงานกัน หัวหน้าหมู่บางคนก็อาจจะไม่รู้ว่ากองเรือเราอยู่ที่ไหน และกองเรือข้าศึกที่จู่โจมกองเรือของเราน่าจะอยู่บริเวณใด

สำหรับฝูงขับไล่ ทำการแทนผบ.ฝูงได้สั่งให้ข้าพเจ้าไปทิ้งระเบิดเป็นหมู่ที่๓ หมู่สุดท้าย ซึ่งเป็นเวลาค่อนข้างสายเกือบ๐๘.๐๐น.แล้ว ได้ขออนุมัติติดระเบิดขนาด๒๕๐ก.ก. ซึ่งได้รับอนุมัติ ส่วนลูกหมู่อีก๒คน คือ จ.ท. หิรัญ และจ.ท. อุทัย แสงเนตร ติดขนาด๕๐ก.ก.


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ต.ค. 11, 09:34
คราวนี้มาดูบทสัมภาษณ์ของอดีตทำการแทนผบ.ฝูง น.อ. สุรพล ไกรฤทธิราญ หรือในสมัยนั้นคือ ร.อ.บุญนำ สังขภูติ (ท่านไม่ได้เขียนด้วยตนเอง อาจจะเพราะไม่ชอบเขียนอยู่แล้วเป็นทุนก็ได้ จึงใช้วิธีเล่าเรื่องให้คณะผู้จัดทำหนังสือให้จบก่อน แล้วจึงตอบข้อซักถามที่หลัง การนี้คณะผู้จัดทำได้จดบันทึกและอัดเสียงไว้ นำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่ แล้วนำมาตีพิมพ์ไว้ในเล่ม)

ต่อจากความตอนที่แล้ว น.อ. สุรพลเล่าว่า เมื่อได้รับอนุมัติจากแม่ทัพอากาศ จึงได้สั่งร.ท.ประสงค์ ให้นำหมู่บินไป โดยให้ติดลูกขนาด๕๐ก.ก. เพราะจะรีบเร่งให้ไป น.อ. สุรพลย้ำว่า หมู่บินของร.ท.ประสงค์บินขึ้นเมื่อเวลา ๐๗.๐๕ แน่นอน ขณะนั้นยังได้ยินเสียงปืนอยู่ เมื่อหมู่บินแรกไปแล้ว ก็สั่งให้สรรพาวุธติดลูกระเบิด๒๕๐กก.ให้กับเครื่องของตนและของลูกหมู่ คือ จ.อ.ทองหล่อ(ชื่อเดิมของพ.อ.ต.อนันต์ พุทธจริยวงศ์) และจ.อ.บุญช่วย เตรียมพร้อมไว้ ร.ท.ประสงค์บินไปประมาณชั่งโมงครึ่งก็กลับมารายงานว่าได้ทิ้งระเบิดแล้วแต่  (ไม่มีระบุว่า ทิ้งใส่เรือลำไหน ระเบิดตกโดนเป้าหมายหรือเปล่า) น.อ. สุรพลกับลูกหมู่ก็บินขึ้นไป(พร้อมกับอ้างพยานว่า)ขณะนั้น ร.อ.ทวนชัย โกลิลานนท์ นายทหารบกเดินทางมาจากปราจินบุรี เมื่อมาพบเหตุการณ์นั้นจึงได้อยู่ฟังเหตุการณ์อยู่ด้วย  และร.อ.นักรบ บิณษรี บินมาอย่างไรไม่ทราบ(?) มาพอดีจึงบอกร.อ.นักรบว่า “เป็นเจ้านายแทนหน่อย อั๊วจะไปละ”

เมื่อบินไปคอยเกาะหมู่ของลูกหมู่อยู่ จ.อ.บุญช่วยบินขึ้นไปแล้วเกิดอะไรไม่ทราบกลับบินลงไป คงมีจ.อ.ทองหล่อเกาะหมู่กันไปสองเครื่อง บินไปถึงเกาะช้าง บินวนกันรอบใหญ่ๆ จ.อ.ทองหล่อหายไป คงเหลืออยู่เครื่องเดียว เมื่อกลับไปจนพบยืนอยู่ที่สนามบินแล้ว ลูกระเบิดยังติดอยู่

ขณะบินวนเห็นเรือลำหนึ่งควันขึ้นโขมง ก็รู้ว่าร.ล. ธนบุรีโดนเข้าแล้ว ตนได้บินวนจนถึงเกาะกูด พบเรือตอร์ปิโดลำหนึ่งจอดอยู่ ไม่มีอะไรบุบสลายเลย  (ทราบภายหลังว่าเป็นร.ล.ระยอง) จึงได้บินย้อนกลับมาที่เรือที่ควันขึ้นโขมง ได้บินโฉบเข้าไปต่ำมากจนเห็นเรือชื่อร.ล.ธนบุรี เห็นร.ล.ช้างกำลังแล่นอยู่ใกล้ๆ ได้บินโฉบอยู่สามสี่เที่ยวในระยะต่ำมาก ได้เห็นความเสียหายของร.ล.ธนบุรีแล้วนึกเศร้าใจมาก จึงได้บินกลับโดยมิได้ทิ้งลูกระเบิดเลย ลูกระเบิดยังติดมากับเครื่องบิน กลับมาก็วิทยุรายงานให้หลวงอธึกฯทราบ

คืนนั้นหลวงอธึกฯส่งเงินมาให้๒๐๐บาท ให้เลี้ยงกัน (ไม่ทราบว่ายินดีอะไรหนักหนา)

ผมอ่านแล้วเห็นพิรุธว่าถ้าท่านได้ฟังรายงานของร.ท.ประสงค์ที่บินกลับมาจากที่ได้ทิ้งระเบิดแล้ว แต่ท่านกลับไม่ทราบว่าศัตรูอยู่ที่ไหน ไปบินวนเวียนหาที่เกาะช้างนานสองนาน จนพลัดหลงกับลูกฝูง และบินกลับฐานโดยไม่ได้ปลดระเบิดทั้งสองลำ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ต.ค. 11, 09:56
ที่ไม่ทราบว่ายินดีอะไรกันหนักหนานั้น อ่าน"ข่าวทหาร"วันรุ่งขึ้นก็พอจะเข้าใจ ไม่ทราบว่าผู้ใหญ่ถูกหลอก หรือเป็นปฏิบัติการจิตวิทยา เพราะที่บ้านผม แม่เล่าว่า พอได้ข่าวร.ล.ธนบุรีถูกโจมตี คุณยายก็เริ่มร้องไห้เป็นห่วงลูกชาย คุณตาก็ซึมไป  หลายวันกว่าน้ำตาจะเหือดแห้ง คุณลุงก็สวมเสื้อกลาสีกางเกงขาสั้น สะพายถุงทะเลเดินยิ้มเผล่เข้าประตูบ้านมา ทุกคนเลยร้องไห้กันอีกตะเบ็งเซ็งแซ่ คราวนี้ด้วยความดีใจ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ต.ค. 11, 10:08
หลังจากนั้นไม่นานเกินรอ ร.อ.บุญนำ สังขภูติ ก็ถูกสั่งย้ายด่วน กองทัพอากาศส่ง ร.ต. สมัย จุทัยรัตน์ (พล.อ.ต.วัชระจุทัยรัตน์)มาดำรงตำแหน่งแทน

การรบวันนั้นยังไม่จบนะครับ ขอให้ท่านติดตามต่อไป

ช่วงนี้ใครจะไปทำธุระส่วนตัวอะไรก็เชิญ ผมก็จะไปด้วย


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ต.ค. 11, 10:17
รายงานของกองทัพอากาศมิได้กล่าวถึงการปฏิบัติการของฝูงบินที่ทำการแทนผบ.ฝูงร.อบุญนำอ้างว่าได้นำเครื่องขึ้นไปค้นหากองเรือรบฝรั่งเศสดังกล่าวแม้น้อย แต่ได้เขียนไว้ว่า รท ประสงค์ได้นำหมู่ที่๒วิ่งขึ้นประมาณ๐๘๐๐น เมื่อเครื่องบินขับไล่หมู่แรก(พ.อ.ต.อนันต์ พุทธจริยวงศ์)กลับลงมารายงานว่ารลธนบุรีถูกเรือรบข้าศึกยิงไฟไหม้ ร.อ. ถนอม ปิณฑแพทย์ ผบ. ฝูงบินตรวจการณ์  ได้สั่งให้ พ.อ.ต. อัจจ์ สุริโยธิน เป็นหัวหน้าหมู่จ.ท.จำรัส ม่วงประเสริฐ เป็นหมายเลข๒  บินหมู่๒ขึ้นไปตรวจการณ์ค้นหาข้าศึก ถ้าพบ ให้ทิ้งระเบิดทำลายทันที…..

ตรงนี้อ่านแล้วงงนิดหน่อย ถ้าดูหลักฐานประกอบ แล้วเรียงความใหม่ให้ดีแล้วจะได้ความว่า หมู่บินตรวจการณ์(พ.อ.ต. อัจจ์)ได้ขึ้นบินต่อจากหมู่แรกของฝูงบินขับไล่(พ.อ.ต.อนันต์)  ร.ท.ประสงค์ได้นำหมู่ที่๒ของฝูงบินขับไล่ขึ้นบินหลังจากหมู่บินตรวจการณ์(พ.อ.ต. อัจจ์)ได้บินขึ้นไปแล้ว

แต่ทั้งหมด ไม่มีรายงานของใครหรือบทสัมภาษณ์ใดๆกล่าวถึงการปฏิบัติงานระหว่างอยู่บนฟ้าของพ.อ.ต.อนันต์ พุทธจริยวงศ์ ผู้นำเครื่องขับไล่บินขึ้นไปเกาะช้างเมื่อเวลาประมาณ ๗นาฬิกา ซึ่งขณะนั้นเมฆหมอกยังปกคลุมแผ่นฟ้ามาถึงทะเล ทัศนียภาพไม่แจ่มใสจนน่าจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด เพียงแต่เขียนไว้ว่าพ.อ.ต.อนันต์ พุทธจริยวงศ์กลับลงมารายงานว่าร.ล.ธนบุรีถูกเรือรบข้าศึกยิงไฟไหม้


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ต.ค. 11, 10:22
จ.ท.จำรัส ม่วงประเสริฐ นักบินฝูงบินตรวจการณ์หมายเลข๒รายงานว่า เมื่อได้รับคำสั่ง หน.หมู่พ.อ.ต. อัจจ์ สุริโยธินและจ.ท.จำรัส นำเครื่องขึ้นแล้ว ก็บินมุ่งไปเกาะช้าง ถึงแหลมงอบมองเห็นร.ล.ธนบุรีเอียงกระเท่เร่ ไฟลุกกลางลำเป็นควันดำ มีเรือกระหนาบข้างวิ่งมาทางเขตน้ำตื้น แปลว่าตอนนั้นร.ล.ธนบุรีโดนทิ้งระเบิดไปแล้วแต่ยังไม่จม เวลาน่าจะประมาณ๐๘.๔๐น.และไม่ใช่จากเครื่องคอร์แซร์๒ลำนี้แน่

นักบินทั้งสองนำเครื่องบินข้ามเกาะช้างไปทางทิศตะวันตก ท้ศนวิสัยค่อนข้างเลว มีเมฆในระยะต่ำเป็นอันมาก มองเห็นผิวน้ำได้เป็นครั้งคราว ประมาณสิบกว่านาที มองลอดเมฆลงไปเห็นเรือรบลำใหญ่ ดาษฟ้าสีแดงเรื่อๆ มีเรือบริวารสีขาวตามมาห่างๆ เป็นขบวนข้างละ๓ลำรวมแล้ว๗ลำ(? อาจเห็นไม่ชัดเพราะเมฆบัง) หน.หมู่ชี้ให้ดู ทั้งสองพยักหน้าให้กันเตรียมตัวพร้อมที่จะเข้าโจมตี ยังไม่ทันไร กระสุนป.ต.อ.แตกอากาศก็ขึ้นมาระเบิดโป้งป้างรอบๆ หน.หมู่ให้ทรรศนสัญญาณนำเครื่องขึ้นจากระดับ๑๕๐๐เมตร ไป๒๐๐๐เมตร กลุ่มระเบิดก็น้อยลง ไม่ค่อยได้เสียวใต้เบาะนั่ง(สำนวนของจ่าเค้า)

หน.หมู่ สั่งแยกหมู่แล้วโจมตีอิสระ จ.ท.จำรัสพยายามจะดำทิ้งระเบิดเรือรบเป็นครั้งแรกในชีวิต โดยเลือกแนวหัวเรือไปท้ายเรือตามคำแนะนำของผบ.ฝูง แต่เรือลามอตต์ ปิเกต์หยุดเดินหน้า แล้วกลับลำอยู่กับที่คล่องแคล่วอย่างกับเรือจ้าง(นี่ก็สำนวนของจ่าเค้าอีกเหมือนกัน) พยายามหันข้างให้เครื่องบิน ปืนทุกกระบอกจากเรือทุกลำก็ระดมยิงขึ้นมาหนาแน่น จึงดึงเครื่องขึ้นก่อนยังไม่ปลดระเบิด  กลับขึ้นไปตั้งตัวใหม่ดำลงมาอีก รีบปลดระเบิดไป๑ลูกทั้งๆที่เรือรบกำลังหมุนตัวอยู่ในท่าเดิม มองตามไปไม่เห็นการระเบิด ลูกที่สองก็เช่นกัน ไม่รู้ว่าถูกหรือไม่ถูกเรือ พอลูกระเบิดหมด ก็บินกลับฐาน

จ.ท.จำรัสลงมาถึงพื้นแล้วจึงนึกได้ว่า ลูกระเบิดที่ติดเครื่องขึ้นไปนั้น เข็มแทงชนวนเป็นชนิดแหลม ใช้สำหรับทิ้งใส่เป้าหมายบนพื้นดิน จะไปทิ้งระเบิดใส่เรือรบเข็มชนวนมันต้องเป็นแบบดอกจอก แม้กระทบน้ำก็จะระเบิด ถึงไม่โดนเรือจังๆก็อาจทำความเสียหายได้ เช้าวันนั้นมันลนลานกันเหลือเกิน ทุกคนเลยลืมคิดเรื่องหัวเข็มชนวนลูกระเบิดไป

จ่าท่านเป็นทหารนักบินผ่านศึกที่รับราชการต่อมาจนเกษียณในยศนาวาอากาศโท


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ต.ค. 11, 10:27
ส่วนเอกสารของฝรั่งเศสรายงานว่า หลังจากผละออกจากการรบกับร.ล.ธนบุรี น.อ.เบรังเยร์ได้สั่งให้เรือรบทุกลำแล่นออกลึกในแนวตั้งฉากกับฝั่ง เพื่อลวงให้ฝ่ายไทยเดายากว่าจะปฏิบัติการอย่างใดต่อ และให้ทำการรบอิสระหากถูกเรือดำน้ำหรือเครื่องบินไทยโจมตี

๐๘.๕๘น. เครื่องบินแบบคอร์แซร์ลำหนึ่งเข้าโจมตีเรือลามอตต์ ปิเกต์ โดยที่คนบนเรือไม่ทันเห็นแต่แรกเพราะโผล่มาจากดวงอาทิตย์ ทิ้งระเบิดลูกหนึ่งตกห่างกราบเรือไปแค่๕เมตร อีกลูกหนึ่งพลาดไปทางท้ายเรือ  เครื่องที่สองตามมาในลักษณะเดียวกัน ทิ้งระเบิดห่างไปทางท้ายเรือประมาณ๒๐๐เมตร ฝ่ายเราโต้ตอบด้วยปืน๗๕ และปืนกล
 
๐๙๐๐ระเบิดอีกลูกหนึ่งตกห่างไปทางกราบซ้ายของเรือแอดมิรัล ชาร์แนร์

รายงานของน.อ.เบรังเยร์และจ.ท.จำรัส ม่วงประเสริฐสอดคล้องกัน สรุปได้ว่าพ.อ.ต. อัจจ์ สุริโยธินหลังจากบินแยกออกไปจนจ.ท.จำรัสมองไม่เห็นนั้น ได้เข้าโจมตีก่อนโดยปลดระเบิด๒ลูกพร้อมกัน เฉียดกราบเรือไปแบบเผาขนแค่๕เมตร ถ้าเป็นลูกระเบิดกระทบน้ำแตกอย่างที่ควรจะติดกันมา ระเบิดลูกนี้น่าจะสร้างความเสียหายให้เรือลามอตต์ ปิเกต์หรือทหารบนเรือได้ ส่วนจ.ท.จำรัสดำลงทิ้งระเบิดทีละลูก๒ครั้ง ห่างเป้าไปพอสมควร เพราะเรือลามอตต์ ปิเกต์รู้ตัวแล้ว วิ่งซิกแซกคล่องแคล่วเหมือนเรือแจวเพื่อหลบระเบิดจากเครื่องบิน

ความรุกรี้รุกรนจนเกิดความผิดพลาดในการติดเข็มชนวนนี้ แม้ฝ่ายไทยจะไม่เสียหายแต่ก็ถือว่าซวย และเป็นโชคเป็นของฝรั่งเศส ครั้งที่๕


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ต.ค. 11, 10:34
ฝูงบินขับไล่๓เครื่อง นำโดยร.ท.ประสงค์ ได้บินขึ้นเป็นเวลาค่อนข้างสายเกือบ๐๘.๐๐น.แล้ว โดยเครื่องของหน.หมู่ ติดระเบิดขนาด๒๕๐ก.ก. ส่วนลูกหมู่อีก๒คน คือ จ.ท. หิรัญ และจ.ท. อุทัย แสงเนตร ติดขนาด๕๐ก.ก. เมื่อตั้งลำได้ก็วิ่งลัดตัดตรงไปยังจุดที่มั่นใจว่ากองเรือรบของฝรั่งเศสจะอยู่บริเวณนั้น เมื่อผ่านเกาะช้างมาทางเกาะกระดาษ ก็เห็นเรือลามอตต์ ปิเกต์วิ่งพรายน้ำตามหลังเป็นแนวยาวพยายามจะมารวมกลุ่มกับเรือรบอีกสามสี่ลำที่แต่ละลำขนาดเรือธนบุรีทั้งนั้น จึงทำทรรศนสัญญาณให้ลูกหมู่ให้เข้าโจมตีทั้งที่ข้าศึกเริ่มระดมยิงป้องกันหนาแน่น โดยตนเองพลิกตัวดำดิ่งในมุมลบ๓องศา พอเครื่องปักหัวลงต่ำมากใกล้แล้วก็ปลดระเบิดใส่เป้าหมาย และรีบตีคืน เชิดหัวขึ้นห่างน้ำเพียงไม่เท่าไหร่ แต่มองไม่เห็นตำบลระเบิดของตัวเอง ส่วนลูกหมู่ที่ตามมา หน.หมู่เห็นชัดว่าทิ้งระเบิดห่างจากเรือประมาณ๒๐-๕๐เมตร ส่วนมากตกทางท้ายเรือ

บันทึกของ จ.อ. อุทัย สังเนตร นักบินในหมู่หมายเลข๒ รายงานว่าบินเกาะหมู่ตามกันไประดับเหนือเมฆจึงไม่ค่อยจะเห็นข้างล่าง เมื่อบินผ่านเกาะช้างไปแล้วจึงเห็นเรือลามอตต์ ปิเกต์  จี้เข้าระยะแล้วแล้วหน.หมู่ก็เบาเครื่องดำดิ่งลงไปเลย นานมากจนคนบินตามเริ่มนึกในใจว่าเมื่อไหร่จะเงยขึ้นซะที จนระดับต่ำถึงที่สุดแล้วหน.หมู่ก็ปลดระเบิด ลูกหมู่ที่ตามมาเห็นระเบิดตกลงตอนกลางของท้ายเรือ ระเบิดขึ้นเป็นกลุ่มขาว จ.อ. อุทัยเข้าใจว่าเป็นฝุ่นที่ฟุ้งขึ้นมาแสดงว่าลูกระเบิดด้านไม่ระเบิด (อาจจะเป็นช่อน้ำที่เกิดจากลูกระเบิดเฉียดลงทะเลก็ได้ หรือเปล่า?) เพราะเมื่อหน.หมู่ดึงเครื่องขึ้นแล้ว ลูกหมู่ทั้งสองเครื่องก็ปลดระเบิดทีเดียว๔ลูกเลยทั้งสองลำ หลังจากขึ้นไปเกาะกลุ่มกันแล้ว หน.หมู่ไม่แน่ใจว่าลูกระเบิดใต้เครื่องของตนหลุดไปหรือยัง ได้ส่งทรรศนะสัญญาณถาม และตะแคงเครื่องให้ดู ลูกหมู่ทั้งสองส่งทรรศนะสัญญาณตอบว่า ร่วงแล้ว จึงบ่ายหน้าเข้าหาฝั่ง ขากลับจึงได้เห็นเรือรบของเราพลิกคว่ำอยู่ในทะเล ท้องเรือร.ล.ธนบุรีสีแดงดูชัดเจน


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ต.ค. 11, 10:38
น.อ.เบรังเยร์เขียนรายงานต่อจากเมื่อกี้ว่า

๐๙๑๒ เครื่องบินสยามสองลำบินอยู่ที่จุดพร้อมเข้าโจมตีเดิม แต่โดนยิงโต้ตอบอย่างหนักหน่วงจึงทำให้ลงมาทิ้งระเบิดไม่ได้และบินกลับไป
ผมดูเวลาแล้ว น่าจะเป็นเครื่องบินตรวจการณ์ทั้งสองลำหลังปลดระเบิดแล้ว บินรวมหมู่กันแวะมาดูผล เหตุที่บินกลับไปไม่ได้โจมตีเพราะออกอาวุธหมดแล้ว คงเป็นเพราะเมฆมากบนท้องฟ้าด้วย ฝรั่งเศสมองไม่เห็นตลอดจึงนับไม่ถูกว่าเราบินไปกี่ลำกันแน่
 
แต่ช่วงที่หมู่บินขับไล่เข้าโจมตีนี่ เขียนซะเป็นคนละเรื่องเดียวกันเลย

๐๙๒๘ เครื่องบินลำที่๕ บินอยู่เหนือเรือลามอตต์ ปิเกต์ที่ระยะสูง๓๐๐๐เมตร แต่พอถูกระดมยิง ก็บินห่างออกไป
๐๙๔๐ เครื่องบินอีกลำหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นลำเมื่อชั่วครู่นี้ก็ได้ ทำท่าจะดำดิ่งลงมาโจมตี แต่พอถูกยิงต้านทาน ก็รีบบินห่างออกไป อีกลำหนึ่งดำมาได้ครึ่งทางก็หักหลบ เรือมาร์นเห็นว่าเครื่องบินลำนี้ทิ้งระเบิดลงมา๒ลูก แต่ตกห่างด้านหลังกองเรือของเราไป๕๐๐๐เมตร(!?!) ต่อจากนั้นก็ไม่มีการโจมตีใดๆอีก

จบรายงานของน.อ.เบรังเยร์

ผมเห็นว่า รายงานท่อนนี้มั่วสุดๆเหมือนไม่ใช่นาวาเอกเขียน นักบินชาติไหน ต่อให้ขี้ขลาดหรืองี่เง่าอย่างไร คงไม่ดำทิ้งระเบิดห่างเป้าถึง๕๐๐๐เมตร(=๕ก.ม.) คนปัญญาอ่อนเท่านั้นที่จะยอมเชื่อ
แต่การที่ไม่รายงานผลตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้น มีจุดประสงค์อย่างไร หรือใครไปแก้ของเค้าเพื่อผลทางจิตวิทยาในอนาคต ผมยังไม่สิ้นประเด็นสงสัย


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ต.ค. 11, 12:42
รายงานที่เขียนโดยร.ท.ประสงค์ยังมีต่อว่า ตอนไปทิ้งระเบิด เห็นเรือลามอตต์ ปิเกต์เป็นปกติดี ไม่ได้มีควันไฟลุกแสดงว่ากำลังเกิดไฟไหม้เลย ที่ลือๆกันว่าชาวประมงเห็นอย่างโน้นอย่างนี้จึงไม่มีมูล

เมื่อน.ต. ม.ล.ประวาศ ชุมสาย ผู้บังคับฝูงบินกลับมาถึงฐานบินจันทบุรีตอนบ่าย ก็สั่งให้ร.ท.ประสงค์นำหมู่บินออกติดตามเรือข้าศึกไปอีก ซึ่งได้ไปจนสุดรัศมีทำการถึงเกาะเรียมเมื่อไม่พบกองเรือข้าศึกก็บินกลับ ตอนผ่านแหลมงอบเห็นร.ล.ธนบุรีจมตะแคงอยู่ และเห็นร.ล.ศรีอยุธยา แล่นไปถึงเกาะช้างพอดี

เรื่องเรือธนบุรีจมตะแคงหรือจมหงายท้องนี้ ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้เห็น และระดับน้ำขึ้นน้ำลงในขณะนั้น


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ต.ค. 11, 12:49
เช้าวันรุ่งขึ้น ๑๘มกราคม ตอนบ่าย ฐานบินจันทบุรีได้รับวิทยุจากกองทัพเรือแจ้งว่า มีเรือข้าศึกขนาดใหญ่กำลังมุ่งหน้ามาโจมตีเรือของเราที่แหลมสิงห์อีก ขอให้ส่งเครื่องบินไปช่วยเหลือด่วน ผบ.ฝูงจึงสั่งให้ร.ท.ประสงค์นำหมู่ออกไปโจมตีเรือรบข้าศึก คราวนี้ทั้ง๓เครื่องติดระเบิด๒๕๐ก.ก. กะจะดำลงซัดแบบเผาขนให้อยู่หมัด แหลมสิงห์อยู่ใกล้กันนั้นเอง บินประเดี๋ยวเดียวก็ถึง มองเห็นจำได้ว่าเป็นร.ล.ศรีอยุธยากำลังวิ่งไปทางแหลมงอบ จึงมุ่งบินผ่านไปหาเรือข้าศึก ในใจคิดว่าต้องเป็นขนาดใหญ่พอๆกับเรือลามอตต์ ปิเกต์ลักลอบเข้ามาโจมตีซ้ำ แต่บินวนเวียนเที่ยวหาไปจนถึงสัตหีบก็ไม่พบ เลยนำหมู่บินกลับ ลงถึงพื้นผบ.ฝูงบอกว่าเป็นห่วงอยู่กลัวจะไปถล่มเรือศรีฯเข้า พอบินขึ้นไปแล้วได้รับวิทยุจากทัพเรือ ขอโทษมาว่าแจ้งผิด ที่ว่าเรือข้าศึกนั้นที่จริงคือเรือศรีอยุธยา

นับเป็นโชคของร.ล.ศรีอยุธยาที่มิได้โดนระเบิดจากเครื่องบินจมในครั้งนั้น แต่รอดมาก็เคราะห์ร้าย ถูกจมลงในแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าสะพานพุทธฯด้วยฝีมือดำดิ่งทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศไทยในคราวกบฏแมนฮัตตั้นจนได้


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ต.ค. 11, 14:58
การรบที่เกาะช้างยุติในวันนั้น และไม่มีเหตุการณ์ปะทะใดๆในแนวรบด้านนี้อีก จนกระทั่งวันมีคำสั่งให้หยุดการรบในวันที่๒๘มกราคม๒๔๘๔ ตามที่ญี่ปุ่นได้ยื่นมือเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย

แผนกประวัติศาสตร์ กองทัพเรือฝรั่งเศสสรุปความเสียหายของฝ่ายไทยในการรบที่เกาะช้างว่า ทำให้กำลัง๑ใน๓ของกองทัพเรือไทยใช้การไม่ได้อีกต่อไป โดยบรรยายรายละเอียดว่า

๑  เรือตอร์ปิโดทันสมัย๓ลำ ถูกจู่โจมโดยไม่รู้ตัวและถูกยิงจมลงในช่วงแรกของการรบ หมายเลขของเรือที่อ่านได้คือ หมายเลข๑๑ ๓๒ ๓๓ ซึ่งก็คือเรือตราด เรือชลบุรี และเรือสงขลา

๒  การรบช่วงที่๒ เป็นการต่อสู้ทางด้านตะวันออกของเกาะช้าง เรือธนบุรีได้ถูกเรือลามอตต์ ปิเกต์ทำลายทิ้งไว้แถวนั้นในสภาพย่ำแย่และมีเพลิงลุกไหม้ ฝ่ายไทยพยายามนำเรือเข้าเกยตื้นเพื่อไม่ให้เรือจม แต่เนื่องจากเสียหายมากจากการสู้รบ เรือจึงล่มลงในเขตน้ำตื้นแถบฝั่งแหลมงอบ

๓  แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้รายงานว่า เรือยามฝั่งอีกลำหนึ่งที่ชื่อศรีอยุธยาอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ และดูเหมือนจะเป็นลำนี้เองที่ถูกตอร์ปิโดของเรือลามอตต์ ปิเกต์ ถึงแม้ว่าจะได้รับความเสียหายหนัก แต่เรือศรีอยุธยาก็ยังสามารถแล่นหนีไปได้พ้น  และได้แล่นเข้าไปในแม่น้ำจันทบูรณ์โดยที่ไม่มีใครสังเกตุเห็นแล้วก็ไปเกยตื้นอยู่ที่นั่น การเกยตื้นนี้ทำให้เรือใช้การไม่ได้อีกเลย จนบัดนี้(๒๔๙๐)ยังเกยสันดอนอยู่ที่จันทบูรณ์ โครงเรือยังพอเห็นได้เวลาน้ำลง
เรือศรีอยุธยานั้น เมื่อเครื่องบินของเรามาสังเกตุการณ์ที่เกาะช้างไม่เห็นเรือลำนี้ แต่มีคนเห็นอยู่ที่สัตหีบ คงเดินทางมาตอนกลางคืนเพื่อสับเวรกับเรือธนบุรี ทำให้กองเรือเฉพาะกิจของเราเผชิญหน้ากับเรือปืนยามฝั่งทั้ง๒ลำ ที่กำลังเปลี่ยนเวรกันพอดีเข้าโดยบังเอิญ

๔  กองทัพเรือไทยเสียเรือรบสำคัญ๒ลำที่มีศักยภาพจะต่อตีกับเรือลามอตต์ ปิเกต์ในอ่าวไทยได้ ในท้ายที่สุด การสูญเสียกำลังพลของไทยในครั้งนี้ใหญ่หลวงมาก เมื่อการรบยุติลงแล้ว จากจำนวนลูกเรือทั้งหมด๔ลำ มีผู้รอดชีวิตเพียง๘๒คนเท่านั้น

ข้อความข้างต้น สิ่งพิมพ์ทางการทหารทั้งหลายของฝ่ายตะวันตกต่างใช้อ้างอิงในการเขียนประวัติศาสตร์การยุทธทางเรือระหว่างฝรั่งเศสกับไทย ติดต่อกันมาช้านาน แม้ที่ขยายขึ้เท่อกันในอยู่เวปสมัยปัจจุบัน

จริงอยู่ที่ทั้งสองฝ่ายต่างมีเหตุผลที่จะอ้างชัยชนะ ฝรั่งเศสนั้นแน่นอน เพราะจมเรือรบเราได้ในขณะที่เขาไม่ได้เสียหายอะไรมาก แต่หากเปรียบเทียบเป้าหมายใหญ่ที่เขาตั้งใจจะไปยิงถล่มฐานทัพเรือสัตหีบ หรือตัวเมืองจันทบุรีให้ย่อยยับแล้ว สิ่งที่เขาได้ไปจากสมรภูมิที่เกาะช้าง นับว่าเป็นผลงานที่ต่ำกว่าความต้องการมาก
 
สำหรับไทยเราแล้วเห็นว่า การที่ร.ล.ธนบุรีชึ่งเล็กกว่าเรือลามอตต์ ปิเกต์ถึง๔เท่า แต่สามารถสัปยุทธกับเรือฝรั่งเศส แบบเด็กคนเดียวถูกผู้ใหญ่รุม๕ต่อ๑ แต่ยังสามารถยันเอาไว้ได้ถึงสองชั่วโมง มิให้กองเรือศัตรูผ่านไปทำลายเป้าหมายที่สำคัญกว่าได้ต้องหันหลังกลับในที่สุด ถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งแล้วในการป้องกันมาตุภูมิ

รายงานของฝรั่งเศสโอ้อวดเกินความจริงตลอด เรือรบที่เขาคิดว่าจมเราได้๕ลำนั้น ความจริงเพียง๓ลำ ที่สำคัญ เขาคิดว่าเขาฆ่าเราได้มากมายโดยระบุว่ากำลังพลทั้งหมดของเราเหลือรอดเพียง๘๔คนเท่านั้น
การรบที่เกาะช้าง เราเสียทหารกล้าไปเพียง๓๖นาย จากจำนวนทหารบนเรือรบ๓ลำทั้งหมด๒๓๔นาย เท่ากับ๘.๕๓%ของกำลังพลทั้งหมด ถือว่าน้อยกว่าที่ฝรั่งเศสเข้าใจมาก

และชัยชนะหลายอย่างของเขา เกิดขึ้นเพราะโชคช่วย เหตุการณ์สำคัญอย่างน้อยก็๕ครั้งที่มิใช่ความผิดของฝ่ายไทย แต่เป็นเวรกรรมแท้ๆที่บรรดาลให้เกิดขึ้น และเป็นคุณต่อศัตรู

วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้างจบลงแล้วที่บรรทัดนี้ แต่วีรกรรมของเหล่าทหารเรือผู้กล้าในการรบครั้งนั้นยังไม่จบ แต่จะยังคงอยู่ในหัวใจของคนไทย ให้บอกเล่ากันต่อๆไปชั่วลูกชั่วหลาน


R-Z1a0dpx7M&feature=related


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 11, 16:09
หลักฐานทางฝ่ายฝรั่งเศสที่ลงไว้ในวิกิพิเดีย    ให้น้ำหนักฝรั่งเป็นฮีโร่ตามเคย  ช่วยผู้ประสบภัย  ได้ชัยชนะด้วย

Thonburi shifted fire back to Lamotte-Picquet after a salvo from the French cruiser put her after turret out of action. Soon she reached the safety of shallow water which the French ships could not enter for fear of grounding, but it all came too late for the hapless Thais as Thonburi was burning fiercely and listing heavily to starboard. Her remaining turret was manned and hand and could not fire unless the maneuvers of the ship put it in appropriate position. At 07:50, Lamotte-Picquet fired a final salvo of torpedoes at 15,000 meters (16,404 yards) but lost sight of Thonburi behind an island from which she was not seen to emerge.

For the next hour, the French ships patrolled the area, picking up survivors and ensuring their victory was total. At 08:40, Bérenger ordered the squadron to head for home, but this coincided with the start of the expected Thai air attacks. Thai planes dropped several bombs close to Lamotte-Picquet and scored one hit, although the bomb failed to explode. Lamotte-Picquet's anti-aircraft guns put up a vigorous barrage and further attacks were not pressed home. The final raid departed at 09:40, after which the victorious French squadron returned to Saigon.


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 11, 16:13
ควรถือว่าการต่อสู้อย่างทรหดของทหารเรือไทย ทำให้แผนของฝรั่งเศสที่จะโจมตีไทยไม่เป็นผลสำเร็จ   ต้องล่าถอยกลับไป   แม้ฝ่ายฝรั่งเศสก่อความเสียหายให้เรือรบของไทยอย่างหนัก   แต่ทางไทยก็ป้องกันประเทศไว้ได้
ส่วนจะไปคุยว่าเป็นชัยชนะทางฝ่ายฝรั่งเศส    ก็คุยไป   เหมือนในปัจจุบันนี้ก็มีคนอเมริกันจำนวนมากเชื่อว่าอเมริกาไม่ได้แพ้สงครามเวียตนาม
ขอบคุณคุณ Navarat.C  สำหรับเรื่องดีๆ ปลุกสำนึกคนไทยที่รักชาติค่ะ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ต.ค. 11, 16:36
ขอบคุณครับ อ.Navarat.C เพลงวอลซ์นาวีชอบมากครับ และเพลงดอกประดู่ โดยเสด็จกรมหลวงชุมพร ยังร้องได้ก้องอยู่เสมอครับ

หะเบสสมอพลัน ออกสันดอนไป
ลัดไปเกาะสีชัง จนกระทั่งกระโจมไฟ
เที่ยวหาข้าศึก มิได้นึกจะกลับมาใน
ถึงตายตายไป ตายให้แก่ชาติของเรา


พวกเราจงดู รู้เจ็บแล้วต้องจำ
ลับดาบไว้พลาง ช้างบนยอดกาฟฟ์จะนำ
สยามเป็นชาติของเรา ธงยอดเสาชักขึ้นทุกลำ
ถึงเรือจะจมในน้ำ ธงไม่ต่ำลงมา


เกิดมาเป็นไทย ใจร่วมกันแหละดี
รักเหมือนพี่เหมือนน้อง ช่วยกันป้องปฐพี
สยามเป็นชาติของเรา อย่าให้เขามาย่ำมายี
ถึงตายตายดี ตายในหน้าที่ของเรา


พวกเราทุกลำ จำเช่นดอกประดู่
วันไหนวันดี บานคลี่พร้อมอยู่
วันไหนร่วงโรย ดอกโปรยตกพรู
ทหารเรือเราจงดู ตายเป็นหมู่เพื่อชาติไทย

http://www.youtube.com/watch?v=7k_EBc63mno




กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ต.ค. 11, 13:05
ภาคผนวก

พิธีมอบเหรียญกล้าหาญให้แก่ร.ล.ธนบุรี และเหรียญชัยสมรภูมิแก่ทหารเรือ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ต.ค. 11, 13:06
.


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ต.ค. 11, 13:07
..


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 11, 18:42
อ่านกระทู้แล้วไปค้นชื่อวีรบุรุษชาวเรือต่อไป  เผื่อจะหารายละเอียดได้ว่าท่านมีชีวิตราชการต่อไปอย่างไรบ้าง   บางท่านก็ได้เป็นใหญ่เป็นโตถึงรัฐมนตรี  บางท่านก็เป็นนายพล
แต่ก็มีหลายคนที่แกะรอยไม่พบเลย   ล่วงเลยมาจนพ.ศ. 2554  ก็คงล่วงลับกันไปหมดแล้ว
เหลือแต่วีรกรรมให้จดจำไว้ในคนรุ่นลูกรุ่นหลาน
โชคดีที่ยุคนี้มีอินทรเนตร ซึ่งจะจารึกเรื่องราวไว้ได้ยาวนาน  และหาอ่านได้กว้างขวางและง่ายดายกว่าหาจากหนังสือ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: ศุศศิ ที่ 13 ต.ค. 11, 17:38
เข้ามารายงานตัว ตามอาจารย์เนาวรัตน์ มาจากห้องสมุด พันทิพ :D
ได้เจอเวปนี้ถูกใจมาก


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 11, 18:45
^
ยินดีต้อนรับครับ

จะถามอะไร จะเสริมอะไร เชิญตามสบาย
ภาคผนวกที่เตรียมไว้ก็ยังมีอีก แต่บรรเลงอยู่คนเดียวชักจะเหงาๆ เลยรอไว้ก่อน

สงสัยทุกคนใจไปจดจ่ออยู่กับเรื่องน้ำท่วมหมด


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 11, 20:17
ถ้าเตรียมภาคผนวกไว้แล้วก็เชิญต่อได้เลยค่ะ   
ถ้าดิฉันพอจะมีพื้นฐานความรู้ในเรื่องที่ว่า  ก็จะมาแจมด้วย   งานนอกเรือนไทยในเดือนนี้ยกเลิกไปเกือบหมดแล้ว

ในยามนี้  เรื่องน้ำท่วม เป็นปัญหาใหญ่ชวนกังวล   จึงมีกระทู้น้ำท่วมเกิดขึ้นมาหลายกระทู้      ดิฉันเห็นด้วยว่าน้ำจะท่วมถึงบ้านเราเองหรือไม่ก็ตาม  ก็เป็นนิสัยวิญญูชนที่จะไม่ใจดำ  ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนกับทุกข์ของเพื่อนร่วมชาติ
เราช่วยกันคนละไม้ละมือ    ไม่ว่าจะบริจาคเงิน บริจาคแรง บริจาคเวลา  บางท่านก็ทำงานแบบปิดทองหลังพระอยู่นอกเรือน  ส่วนบนเรือนไทย การช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และให้ข้อแนะนำ อย่างที่ท่าน Navarat และสมาชิกประจำหลายท่านทำกันอยู่   ก็ถือเป็นน้ำใจที่ควรแก่การสรรเสริญ




กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 14 ต.ค. 11, 01:45
เข้ามารอภาคผนวกครับ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ม.ค. 12, 00:14
วันนี้เป็นวันที่๑๗มกราคมของปี๒๕๕๔ อันเป็นวาระครบรอบ๗๑ปีที่ทหารเรือไทยได้พลีชีพต่อสู้กับกองเรือของฝรั่งเศสที่สมรภูมิเกาะช้าง ผมขอโอกาสที่จะปลุกกระทู้นี้ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เป็นการแสดงความคารวะต่อเหล่าวีรบุรุษไทยเหล่านั้น

กระทู้นี้หยุดไปในช่วงที่มหาอุทกภัยกำลังจะไหลบ่ามาท่วมกรุง ด้วยผมเห็นว่ามันไม่ค่อยจะถูกกาละเทศะกับสถานะการณ์ที่ทั้งผู้เขียนและผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมอยู่ในตอนนั้น ประกอบกับกระทู้เดินผ่านจุดที่ใจความสำคัญของเรื่องถูกเสนอไว้สมบูรณ์แล้ว จะจบก็ได้ไม่เสียอรรถรส เพราะภาคที่หลงเหลืออยู่หลังเหตุการณ์วันที่๑๗มกราคม๒๔๘๔ นั้น ผมถือเป็นภาคผนวกทั้งหมด


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ม.ค. 12, 00:15
ทุกๆวันที่๑๗มกราคมของทุกปี กองทัพเรือจะประกอบพิธีสดุดีวีรชนกองทัพเรือ รำลึกถึงวีรกรรมของเหล่าทหารเรือไทยที่ร่วมรบในยุทธนาวีที่เกาะช้าง โดยผู้บัญชาการทหารเรือจะเป็นประธานในการบำเพ็ญกุศลถวายภัตตาหารพระภิกษุสงฆ์ อุทิศส่วนกุศลและทำพิธีบวงสรวง ดวงวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิต และวางพวงมาลาของกองทัพเรือหน้าอนุสรณ์สถาน เรือหลวงธนบุรี ที่โรงเรียนนายเรือ ปากน้ำ สมุทรปราการ โดยมีหน่วยงานอื่นๆทั้งภายในและภายนอกกองทัพเรือ จัดขบวนมาร่วมวางพวงมาลากันอย่างพร้อมเพรียง


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ม.ค. 12, 00:17
และในวันเดียวกันนั้นที่ตำบลแหลมงอบ จังหวัดตราด ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นประธานนำข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ร่วมพิธีทำบุญตักบาตร ข้าวสารอาหารแห้ง พระภิกษุ อุทิศส่วนกุศลและทำพิธีบวงสรวง แด่วีรชนผู้เสียสละ ณ บริเวณอนุสรณ์สถาน ยุทธนาวีที่เกาะช้าง

ในช่วงบ่าย ผู้บัญชาการทหารเรือหรือผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบในฐานะผู้แทน วางพานพุ่มสักการะพระบรมรูปฯกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ แล้วลงเรือที่สะพานท่าเทียบเรือแหลมงอบ(กระโจมไฟ) เดินทางไปเกาะช้าง ประกอบพิธีลอยพวงมาลาในทะเลบริเวณเกาะลิ่ม อันเป็นจุดที่ร.ล.ธนบุรีลอยลำต่อสู้กับศัตรูผู้รุกราญอย่างมิลดละจนกระทั่งศัตรูล่าถอยออกไปจากน่านน้ำไทย


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ม.ค. 12, 00:20
ร.ล.ธนบุรีมิได้ถูกปล่อยให้หงายท้องกลางทะเลอยู่อย่างนั้น หลังจากที่ผู้บังคับบัญชาสั่งสละเรือแล้ว กองทัพเรือได้ตัดสินใจทำการกู้ ร.ล.ธนบุรีขึ้นมาใหม่โดยจ้างบริษัทมิตซุยบุซซันไกชา ซึ่งเป็นตัวแทนบริษัทผู้สร้างเรือ คืออู่คาวาซากิให้เป็นผู้ดำเนินการ โดยเริ่มลงมือทำงานตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔  จนเรือพลิกลำขึ้นมาลอยน้ำได้วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งนับจากวันที่เรือจมก็ครบ ๗ เดือนพอดี และเริ่มจูง ร.ล.ธนบุรีจากแหลมงอบ เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔  มาถึงท่าเรือสัตหีบในเที่ยงวันต่อมา


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ม.ค. 12, 00:24
เนื่องจากบริษัท มิตซุยบุซซันไกชา ประเมินค่าซ่อมประมาณ ๔ ล้านบาท ทั้งๆที่ราคาเรือในปีที่ทำสัญญาสร้าง ๒,๘๖๓,๓๓๓ บาท ผู้บัญชาการทหารเรือขณะนั้นจึงตกลงใจที่จะให้กรมอู่ทหารเรือซ่อมเอง จึงทำการลากจูงเรือจากสัตหีบมาเข้าอู่ทหารเรือที่ธนบุรี แล้วซ่อมคืนสภาพสามารถใช้งานในราชการได้ในระดับหนึ่ง

ขณะนั้นไทยอยู่ในภาวะสงคราม กองทัพญี่ปุ่นก็มาอยู่เต็มเมืองแล้ว รัฐบาลก็เข้าร่วมวงศ์ไพบูลย์กับญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับอเมริกาและอังกฤษเสียด้วย แม้มีความพยายามที่จะซ่อมปรับแต่งเรือมาโดยตลอด แต่ก็ไร้ประโยชน์ที่จะเอาไว้ต่อกรกับมหาอำนาจตัวจริงของโลกระดับนั้น และการสงครามยังได้เปลี่ยนโฉมจากการคุกคามทางทะเลมาเป็นทางอากาศ เรือปืนขนาดหนักหมดคุณค่าทางยุทธการ แม้เรือประจันบานที่ใหญ่ที่สุดในโลกเช่นเรือยามาโต้ของญี่ปุ่น ยังโดนฝูงบินอเมริกันถล่มลงไปจมท้องสมุทรอย่างง่ายดาย  กองทัพเรือจึงได้แต่พยายามเอาเรือรบไปซุกๆซ่อนๆตามเกาะต่างๆเพื่อให้ปลอดจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินรบของสัมพันธมิตร หลังจากฐานทัพเรือสัตหีบโดนถล่มไปครั้งหนึ่ง เรือจมไปหน้าท่าหลายลำ
ร.ล.ธนบุรีซึ่งรอดพ้นจากการทิ้งระเบิดของสัมพันธมิตรมาตลอดสงครามโลกครั้งที่๒ จึงมีคุณค่าในเชิงสัญญลักษณ์ แม้จะใช้งานเพียงเป็นเรือฝึก  ส่วนใหญ่เรือจะถูกจอดผูกทุ่นไว้หน้ากรมสรรพาวุธ บางนา จนปลดระวางประจำการไปเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๒

ครั้งที่ผมยังเป็นเด็กพอจำความได้  เคยเป็นเพื่อนแม่นั่งเรือไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา จะผ่านบรรดาเรือรบที่ผูกทุ่นไว้เป็นคู่ๆ ตั้งแต่แถวเทเวศน์ไปจนถึงหน้าสถานีทหารเรือ ตรงข้ามท่าราชวรดิฐ ผมชอบดูมาก จำได้ว่าถ้าเป็นเรือตอร์(ปิโด)มันจะเรียวๆยาวๆ  เรือดำน้ำสี่ลำนั้นจอดอยู่หลายปีไม่ไปไหน จนสีกระดำกระด่างเปลี่ยนเป็นขึ้นสนิมเหอะ วันหนึ่งนั่งไปไกลมากเห็นเรือลำใหญ่ สีแดงๆทั้งลำ กำลังจอดซ่อมอยู่ริมแม่น้ำ ตอนโตแล้วมาเห็นภาพถ่ายจึงทราบว่านั่นแหละคือร.ล.ธนบุรี


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ม.ค. 12, 00:31
เมื่อปลดประจำการแล้วก่อนจะขายเป็นเศษเหล็ก กองทัพเรือได้ตัดป้อมปืนหน้า สะพานเดินเรือและส่วนประกอบสำคัญของ ร.ล.ธนบุรีไปเก็บไว้หลายปี ก่อนจะนำไปก่อสร้างอนุสรณ์สถานเรือหลวงธนบุรีขึ้นที่โรงเรียนนายเรือ ปากน้ำ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๑ – พ.ศ.๒๕๑๒  บริเวณสโมสรนักเรียนนายเรือเก่าริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านใต้ของสนามรักบี้ท้ายโรงเรียน

ผมเรียนอยู่จุฬาแล้ว ไปเยี่ยมเยือนโรงเรียนนายเรือแบบเป็นหมู่คณะครั้งหนึ่ง น่าจะประมาณปีพ.ศ.๒๕๑๕   นักเรียนนายเรือผู้ต้อนรับได้พาขึ้นไปบนอนุสรณ์สถานร.ล.ธนบุรี และบรรยายการรบที่เกาะช้างให้ฟังอย่างน่าตื่นเต้น  จุดประกายความสนใจให้ผม โดยที่ก่อนหน้านั้น ผมไม่เคยได้ยินคำบอกเล่าใดๆจากปากคุณลุงของผมเลย ไม่ทราบด้วยซ้ำว่าคุณลุงเคยเป็นถึงนายป้อมปืนท้ายในวันที่เรือดวลปืนใหญ่กับฝรั่งเศส ถ้าทราบมาก่อนคงจะโม้กันสนุกไปแล้ว

และผมคลับคล้ายคลับคลามาตลอดว่าอนุสรณ์สถานร.ล.ธนบุรีที่ผมเห็นนั้น มีป้อมปืนอยู่ครบทั้งหัวและท้าย ครั้นมาเห็นอนุสรณ์สถานนี้อีกครั้งหนึ่งก็คราวทำหนังสืองานศพคุณลุง ที่เขาย้ายร.ล.ธนบุรีมาตั้งในตำแหน่งใหม่ หน้าหอดาราศาสตร์ เห็นมีแต่ป้อมปืนส่วนหัว ป้อมท้ายไม่มี จึงออกอาการผิดหวังพอสมควรว่าไหนๆจะเก็บเป็นอนุสรณ์แล้ว ไฉนไม่เก็บส่วนสำคัญให้ครบสมบูรณ์ทั้งลำเล่า มันเป็นเงินสักเท่าไหร่กันเชียว

ตอนที่เขาขนย้ายชิ้นส่วนร.ล.ธนบุรีมาอยู่ ณ ที่ตั้งใหม่ในปัจจุบันเมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๑ นั้น พลเรือตรี ปารีส เพาะผล ผู้มีส่วนร่วมครั้งนั้นเล่าว่าผู้รับเหมาทำการขนย้ายได้นำรถเครนมายกถึง๔ ตัว และนำแผ่นเหล็กมาปูรองรับน้ำหนักตลอดทาง๓๐๐ เมตรที่ทำการขนย้าย เพราะชิ้นส่วนร.ล.ธนบุรี หนักมาก ต้องตัดออกเป็น ๓ ส่วนตามแนวตั้ง คือส่วนป้อมปืน ส่วนสะพานเดินเรือ หรือหอรบ และส่วนท้าย ค่อยๆลำเลียงเคลื่อนย้ายมาวางบนฐานที่กรมอู่ทหารเรือออกแบบ และก่อสร้างเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว ระหว่างขนย้ายก็มีเหตุการณ์น่าตกใจเล็กน้อยเมื่อเครนตัวหนึ่งเสียหลัก ล้อกระดกขึ้น แต่โชคดีที่ไม่มีการเสียหลักพลิกคว่ำแต่อย่างใด

สงสัยจะเซ่นไหว้ตามพิธีทหารเรือได้ถูกต้อง


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ม.ค. 12, 00:43
เรื่องการเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือนั้น ชาวเรือเอเซียหลายชาติไม่ว่าทหารหรือชาวประมงถือเป็นเรื่องจริงจังมาก มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความเฮี้ยนของแม่ย่านางเรือมากมาย ร.ล.ธนบุรีก็มีตำนานเกี่ยวกับอำนาจไสยศสาตร์ลึกลับเช่นนี้เหมือนกัน

พลเรือเอก ดิลก ภัทรโกศล อดีตเสนาธิการกองทัพเรือ ได้เขียนบทความลงหนังสือนาวิกศาสตร์ ปีที่ ๙๐ เล่มที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ไว้ว่า
เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๙ คุณครูนาวาโท ดร.สว่าง เจริญผล ซึ่งเป็นนักเรียนทุนการประมงญี่ปุ่นในระหว่างสงครามได้เล่าถึงเรื่องคำทำนายทายทักเกี่ยวกับร.ล.ศรีอยุธยาและร.ล.ธนบุรีให้นายทหารเรือหลายคนฟังว่า ในวันทำพิธีนำเรือทั้งสองลำลงน้ำ ณ อู่ต่อเรือคาวาซากิ ซึ่งบริเวณพิธีตามประเพณีของชาวญี่ปุ่นจะมีสายสิญจน์ล้อมวงอยู่ บังเอิญมีสุภาพสตรีสูงศักดิ์ของไทยท่านหนึ่งที่ไปร่วมงานเผลอเดินข้ามสายสิญจน์ที่วางอยู่นี้เข้า คนญี่ปุ่นถือว่าเป็นนิมิตที่ไม่ดี ถือเป็นโชคร้าย โหรศาสนาชินโตได้ทำนายอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เรือทั้ง ๒ ลำนี้ จะถูกทำลายโดยคนชาติเดียวกันเอง
 
เป็นที่ทราบโดยเปิดเผยว่า ในที่สุดร.ล.ศรีอยุธยาก็ถูกลูกระเบิดจากเครื่องบินที่ติดเครื่องหมายธงชาติเดียวกัน จมไปกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเพราะสงครามกลางเมือง ที่เรียกว่ากบฎแมนฮัตตั้น อันเกิดจากนักการเมืองพยายามรักษาอำนาจโดยไม่คำนึงถึงความวิบัติที่จะเกิดแก่ประเทศของตน ปัจจุบันก็อีกแล้ว ทำท่าจะเอาให้ชาติย่อยยับให้ได้

ส่วนร.ล.ธนบุรี วงการนายทหารชั้นผู้ใหญ่ทราบดีว่าระเบิดที่ทิ้งจากบนฟ้ามาทำลายเรือและทหารที่กำลังสู้รบกับศัตรูนั้น มาจากเครื่องบินของชาติเดียวกัน แต่เขินเกินกว่าที่จะยอมรับในหน้าประวัติศาสตร์ ลูกหลานต้องขุดคุ้ยหาหลักฐานมาบอกกล่าวเล่าความจริงสู่กันฟัง


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ม.ค. 12, 00:48
พลเรือเอก ดิลก ภัทรโกศล ยังเขียนเล่าต่อไปว่า ท่านไปร่วมงานวีรชนของกองทัพเรือที่โรงเรียนนายเรือในวันที่ ๑๗ มกราคมของทุกปี จนกระทั่งป่วยไปไม่ได้ ครั้งหนึ่งได้รับเศษกระดาษจากทหารผ่านศึกผู้สูงอายุที่ไปร่วมงาน ในเศษกระดาษนั้นมีชื่อสุภาพบุรุษและเบอร์โทรศัพท์ติดต่อที่บ้าน ลูกเรือร.ล.ธนบุรีท่านนั้นบอกว่า ผู้ที่มีชื่ออยู่ในเศษกระดาษนี้เป็นบุตรชายของนักบินที่ไปทิ้งระเบิดร.ล.ธนบุรีจม ซึ่งบอกว่าคุณพ่อบอกไว้ เป็นความเข้าใจผิดที่รู้สึกเสียใจมาก คุณพ่อยังได้ไปเยี่ยมทหารบาดเจ็บที่โรงพยาบาลด้วย
 
จากเศษกระดาษที่ท่านรับมา ตอนแรกคิดจะโทรศัพท์ไปพบกับบุตรชายนักบินที่ทิ้งระ เบิดลงมา ขอให้เล่าความจริงที่คุณพ่อบอกเอาไว้ แล้วจะนำมาเขียนเรื่องลงนาวิกศาสตร์ ทำนองเอาความจริงที่พวกเราทหารเรือสงสัยมานานมาเปิดเผยกันเสียที แต่แล้วก็คิดไปว่า การฟื้นฝอยหาตะเข็บจะได้ประโยชน์อันใด ร.ล.ธนบุรีก็จมไป ๖๐ กว่าปีแล้ว(ในปีที่ท่านเขียนบทความ) และคนที่จะเล่าให้ฟังจะเท็จจริงแค่ไหนก็พิสูจน์ยาก ปล่อยให้เรื่องนี้จบไปตามสภาพที่เป็นอยู่ดีกว่า เขียนไปคนอ่านบางคนก็เกิดความโกรธแค้น ขุ่นเคือง อาฆาตกันไม่รู้จักจบสิ้น คิดถึงคำพระที่ว่าจงระงับเวรด้วยการไม่จองเวรจะดีกว่า ท่านก็เลยเก็บเศษกระดาษนั้นเป็นความลับต่อไปด้วย

ผมได้ยินข้อมูลจากปากของเซียนหนังสือเก่าที่รู้จักกันในเวปนี้แหละ บอกว่ามีหนังสืองานศพของอดีตนักบินกองทัพอากาศท่านหนึ่ง ได้เขียนบันทึกชีวิตของท่านสารภาพเรื่องเดียวกันนี้ไว้ ท่านเคยเจอที่หอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี  และผมไปตามหาแล้วแต่ไร้ร่องรอย


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ม.ค. 12, 00:51
แม้จะผ่านความรู้สึกเช่นเดียวกันกับท่านมา แต่ที่ผมตัดสินใจเขียนบันทึกไว้ในโลกไซเบอร์ไปก็เพราะเชื่อว่าอารมณ์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เย็นลงแล้ว ทุกวันนี้หลักฐานประวัติศาสตร์หาไม่ยากว่าอะไรเป็นอะไร การเสนอความจริงอย่างตรงไปตรงมาโดยปราศจากอคติย่อมเป็นประโยชน์แก่วิญญูชนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกับความเป็นความตายของชาติ จะนำความผิดพลาดในอดีตไปเป็นอุธาหรณ์ หากประวัติศาสตร์จะเวียนซ้ำรอยกลับมาอีก จะได้ไม่ทำผิดซ้ำผิดซาก

ขนาดไม่อยากจะฟื้นฝอยหาตะเข็บ บทความเดียวกันพลเรือเอก ดิลก ภัทรโกศล ยังเขียนต่อไปว่า ครูสอนการเรืออยู่ที่โรงเรียนนายเรือเกล็ดแก้วตอนท่านเป็นนักเรียนนายเรืออยู่ชั้นปีที่ ๑ ในปี ๒๔๙๒ คือคุณครูเรือเอก นคร สุทธิแช่ม ส่วนอีกท่านหนึ่งจำชื่อไม่ได้ เคยเป็นทหารผ่านศึกอยู่บนร.ล.ธนบุรี มักจะเล่าเรื่องให้พวกนักเรียนฟังว่า ขณะเครื่องบินลำนั้นดำต่ำลงมา จะเห็นเครื่องหมายธงชาติไทยอยู่บนเครื่องบินชัดเจน ตอนแรกทหารที่อยู่บนร.ล.ธนบุรีก็ดีใจ กระโดดโลดเต้นคิดว่าเครื่องบินคงจะมาช่วยกันถล่มเรือข้าศึกแล้ว แต่ที่ไหนได้กลับทิ้งระเบิดลงมายังเรือเรา ระเบิดชุดแรกไม่ถูกเรือ ตกน้ำไป ชุดที่ ๒ ถูกกราบซ้าย ทะลุลงไประเบิดในห้องเครื่องจักร ทำให้เพลิงไหม้บนเรือเพิ่มขึ้น สรุปแล้วร.ล.ธนบุรีจมด้วยลักษณะชะตากรรมเดียวกับร.ล.ศรีอยุธยา


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ม.ค. 12, 00:52
แล้วเหตุการณ์ปะทะที่เกิดขึ้นที่เกาะช้าง ฝ่ายฝรั่งเศสเป็นอย่างไร

ร.ท.จิตต์ สังขดุลย์ นายป้อมปืนท้ายเขียนเรื่องนี่ไว่ใน “เมื่อธนบุรีรบ”ว่า…

“ข้าพเจ้าได้ทราบว่าเมื่อคราวเซ็นสัญญาหยุดรบกันที่ไซ่ง่อน ทางไซ่ง่อนได้จัดเรือลาม๊อตปิเก้ต์ไปเทียบท่าอวดผู้คนชาวเราที่ไปเซ็นสัญญา ทาสีเรือเสียใหม่เรียบร้อย เพื่อจะแสดงว่าเรือของเขามิได้ถูกยิงแม้แต่รูเดียว ข้าพเจ้ากล้ารับรองโดยเอาชีวิตเป็นประกันว่า เรือลาม๊อตปิเก้ต์ต้องได้รับความเสียหายอย่างมาก ดังหลักฐานของการสู้รบที่ข้าพเจ้าได้เล่ามาแล้ว เรารู้ดีว่ากระสุน๘”ของเราต้องมีพิษสงมากกว่ากระสุน๖”ของฝรั่งเศสที่ยิงมา เราเห็นอำนาจของกระสุน๖”ของฝรั่งเศสที่ยิงถูกเรือเรา ก็ยิ่งทำให้เราเชื่อในความเสียหายที่เรือลาม๊อตปิเก้ต์ได้รับเป็นอันมาก เสียใจที่กระสุนของเราที่ยิงไปส่วนมากเป็นกระสุนเจาะเกราะ ไม่ใช่กระสุนกระทบแตกและไม่ใช่กระสุนเพลิง ภายนอกเรือลาม๊อตปิเก้ต์อาจเป็นรูกระสุนเจาะทะลุไปเท่านั้น รูกระสุนนี้เจ้าหน้าที่ทางเรือฝรั่งเศสอาจใช้แผ่นเหล็กหรือสังกะสีปิดแล้วทาสีใหม่ให้เรียบร้อย แล้วเชิญเจ้าหน้าที่หนังสือพิมพ์ไปชมเรือดังที่วิทยุไซ่ง่อนคุย ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทางเรือฝรั่งเศสจะใจดีถึงกับให้พวกหนังสือพิมพ์ที่ได้รับเชิญลงไปชมสิ่งที่เขาปิดนักปิดหนา ถ้าเจ้าหน้าที่ทางเรือฝรั่งเศสให้ความเข้าใจได้ว่า นายนาวาเอกเบรังเย มิได้รับบาดเจ็บจนถึงต้องไปนอนป่วยที่โรงพยาบาลลาแนสซัง(Hospital La Naissan)ที่ฮานอย และถ้าเรือลาม๊อตปิเก้ต์มิได้แล่นเอียงไปข้างกราบหนึ่งและมีเรือบริวาร๓ลำควบคุมการแล่นตรงไปไซ่ง่อน และทั้งเมื่อวันที่เรือลาม๊อตปิเก้ต์เดินทางเข้าไซ่ง่อนในเวลากลางคืน ทางเรือมิได้ทำการขนคนเจ็บและคนตายอย่างขนานใหญ่ได้แล้ว ข้าพเจ้าสมัครใจเชื่อว่า เรือลาม๊อตปิเก้ต์มิได้รับความเสียหายเลยแม้แต่นิดเดียว แต่อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์ของทหารเรือฝรั่งเศสก็คงเขียนการรบที่เกาะช้างขึ้นในไม่ช้า”

ถึงพ.ศ.นี้นักประวัติศาสตร์ของทหารเรือฝรั่งเศสเขียนไปแล้วอย่างไร ผมไม่จำเป็นต้องฉายซ้ำ ก็ข้อมูลชั้นต้นผู้บังคับการเรือบันทึกอย่างไรมันก็มีเท่านั้น ข้อมูลอื่นๆก็ไม่มีประวัติศาสตร์การรบทางเรือไม่ว่าชาติไหน พอเขียนเรื่องการรบที่เกาะช้างก็ลอกต้นฉบับของฝรั่งเศสเป็นอย่างเดียว


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ม.ค. 12, 01:45
ขออนุญาตเขียนถึงคุณลุงของผมอีกเล็กน้อย

ตอนมาเชียนเรื่องนี้โดยใช้อินเทอเน๊ตค้นคว้า ผมจึงได้ทราบว่าหลังจากตำแหน่งนายป้อมปืนท้ายร.ล.ธนบุรี เรือโท จงจิตต์ สังขดุลย์ได้รับคำสั่งให้ย้ายมาเป็นผบ.ร้อย กองต่อสู้อากาศยาน (พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๘)

วันที่๒๕มกราคม๒๔๘๕ อยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่๒ ญี่ปุ่นบุกเข้าตั้งที่มั่นในเมืองไทยแล้ว คืนนั้นกรุงเทพถูกทิ้งระเบิดอีกครั้งหนึ่ง ป.ต.อ.ของทหารเรือภายใต้การบังคับบัญชาของท่านที่ตั้งอยู่ที่สามแยกไฟฉาย เพื่อคุ้มกันสถานีทหารเรือกรุงเทพและสถานีรถไฟบางกอกน้อย ได้ยิงโดนเครื่องบินข้าศึกไฟลุกไหม้ไปตกที่ตลาดพลูลำหนึ่ง เป็นเครื่อง de Havilland DH.98 Mosquito ของกองทัพอากาศอังกฤษที่ประจำการในอินเดีย
เรื่องนี้ ผมไม่เคยได้ยินจากปากของท่านมาก่อนเลย  ก็ผมไม่รู้จึงไม่ได้ถาม เมื่อไม่ถามท่านจึงไม่ได้เล่า

นายทหารเรือเพื่อนๆ และลูกศิษย์ลูกหาที่รู้จักท่าน จะกล่าวชื่นชมท่านกับผมด้วยความนับถือเสมอว่าท่านเป็นคนตรง พูดน้อยไม่มีคุยโม้เรื่องของตนเอง ดังนั้น ข้อความที่ท่านเขียนเรื่องเรือลามอตต์ปิเก้ต์ ผมเชื่อว่าท่านคงเห็นตามนั้นจริงๆ  


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ม.ค. 12, 12:40
ขอต้อนรับที่แวะมาเรือนไทยอีกครั้งค่ะ ท่าน Navarat.C

เหตุการณ์นี้ทำให้นึกถึงวาทะของเซอร์ฟรานซิส เบคอน นักปราชญ์อังกฤษที่บอกว่า "ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนคนหนึ่ง กลับกลายเป็นโชคลาภของอีกคน"    ตรงกับเรื่องนี้เป๊ะ
ขอเวลาหน่อยค่ะ  จะกลับมาพร้อมด้วยข้อมูลว่าผลจากการรบ   ส้มก็หล่นทับฝ่ายเรือรบฝรั่งเศสอย่างไรบ้าง   


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ม.ค. 12, 17:30
ข้างล่างนี้ คือคำปราศรัยของกัปตันเรือฝรั่งเศส  น.อ. เบรังเยร์ ต่อลูกเรือ   ว่าด้วยชัยชนะอันเกริกเกียรติในยุทธนาวีกับสยาม     ท่านนวรัตนไปเจอเข้า ส่งมาให้ดิฉันแปล    แต่ความรู้ภาษาฝรั่งเศสส่งคืนอาจารย์ไปเกือบหมดแล้ว   จึงได้แต่ถอดความออกมางูๆปลาๆ ว่ากัปตันเท้าความถึงการรบครั้งนี้ ว่าฝรั่งเศสได้กระทำการกล้าหาญขนาดไหน จนกระทั่งได้รับชัยชนะ 
มีตอนหนึ่งเท้าความด้วยว่าถูกทิ้งระเบิดจากเครื่องบิน

คิดถึงคุณ Hoฯ มิตรเก่าของเรือนไทยที่หายหน้าไปนานนับปี     ถ้าได้อ่านคงแปลออกมาได้ทั้งหมด  เพราะเป็นความถนัดของท่านอยู่แล้ว


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ม.ค. 12, 17:41
หน้าตาของกัปตันเรือลาม็อตปิเกต์ ในยุทธนาวีเกาะช้าง  ชื่อเต็มคือ Marie Daniel Régis BÉRENGER  อ่านว่ามารี ดานิเอล เรจีส์ เบเรงเช่   แต่ขอเรียกว่าเบรังเยร์ตามที่ฝายไทยเรียกมาแต่เดิม


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ม.ค. 12, 17:52
กัปตันเบรังเยร์ ได้รับส้มทองคำไปหนึ่งเข่งจากยุทธนาวีเกาะช้าง    เพราะว่าสามารถรายงานกลับไปให้กระทรวงกลาโหมของฝรั่งเศส ทราบได้ว่าทางเรือฝรั่งเศส แม้ว่าถูกถล่มหนัก ก็ตอบโต้อย่างทรหดจนได้ชัยชนะเหนือฝ่ายปรปักษ์   แต่แกไม่ได้พูดสักคำว่า การถูกทิ้งระเบิดทางเครื่องบินนั้น ทิ้งลงไปที่ไหนยังไง   
ผลก็คือ ได้ความดีความชอบ   เลื่อนยศจากนาวาเอกขึ้นเป็นพลเรือตรี กลายเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งของกองทัพเรือ

ทางไทยเราไม่ได้ติดตามเรื่องกัปตันเรือผู้นี้อีก     แต่เมื่ออินทรเนตรเกิดขึ้น ก็สามารถจะสอดส่องมองหาเขาได้ไม่ยาก   เพราะหลักฐานต่างๆในประวัติศาสตร์  พวกฝรั่งเก็บรายละเอียดไว้ดีมาก      ท่านนวรัตนจึงสามารถตามประวัติของเขาเอามาให้ดิฉันแกะความออกมาได้อีกทีหนึ่ง

เบรังเยร์ยังคงเป็นสิงห์ทะเลอยู่แถวเอเชียนี้จนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง   ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายพันธมิตร รบกับญี่ปุ่นด้วย    แต่รบคราวนี้เบรังเยร์ไม่โชคดีเท่ากับคราวก่อน   ตามประวัติบอกว่า เมื่อ 1  มีนาคม 1945      เขาถูกจับเป็นเชลย   จนกระทั่งถึง 2 กันยายน 1945




กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ม.ค. 12, 18:26
     อินทรเนตรของเว็บกองทัพเรือฝรั่งเศส เล่าว่าเบรังเย์ถูกจับเป็นเชลยของกองทัพญี่ปุ่น   ดูจากเวลาในค.ห.ข้างบนนี้ก็คือตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ื2  เป็นเชลยอยู่ไม่กี่เดือน    เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง  เขาก็ถูกปล่อยเป็นอิสระ   และปลดประจำการหลังจากนั้น  
    เขาเกิดเมื่อค.ศ. 1888  ปลดประจำการเมื่อ 1946  อายุ 58 ปี  ก็ถือว่าอายุเฉียด 60 เข้าไปแล้ว    สมควรแก่เวลาพักผ่อน

    เบรังเยร์อายุยืนยาว  ถึงแก่กรรมเมื่อค.ศ. 1971   อายุ 83  ปี


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 12, 17:30
http://webboard.travel.sanook.com/forum/?topic=3025512


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ม.ค. 12, 10:03
เอกสารฝ่ายฝรั่งเศสยอมรับว่ามีทหารบนเรือลาม็อตปิเกต์บาดเจ็บจำนวนหนึ่งโดยไม่ยอมระบุจำนวน แต่บอกว่าไม่มีผู้ใดเสียชีวิต คงเป็นไปได้ว่า นัดที่คนในป้อมปืนท้ายเห็นว่ายิงโดนแล้วเฮกันนั้น กระสุนเป็นหัวเจาะเกราะทะลุผ่านกราบเรือข้าศึกเข้าไปดิ้นอยู่ในเรือจริง แต่ไม่โดนคนถึงจุดตาย  ก็คล้ายนัดที่เขายิงทะลุห้องกระสุนใต้ป้อมปืนท้ายแล้วตัดแขนพลฯชุน แซ่ฉั่วนั่นเอง หลังจากที่"เมื่อธนบุรีรบ"ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือนาวิกศาสตร์ ก็มีผู้เขียนวิจารณ์ว่าทหารเรือของเราชอบใช้กระสุนเจาะเกราะยิง แทนที่จะใช้กระสุนกระทบแตกหรือกระสุนเพลิง มิฉะนั้นฝรั่งเศสจะเสียหายมากกว่านี้
 
พลเรือเอกจิตต์ สังขดุลย์ท่านไม่มีบุตร ผมจำเป็นต้องทำหน้าที่แทน  ท่านไม่เคยแก้ตัว  แต่ผมขอแก้ต่างแทนคุณลุงผมหน่อย
ในนาทีแห่งความเป็นความตายนั้นถ้าใครเข้าไปอยู่ในป้อมปืนที่เต็มไปด้วยควันและกลิ่นฉุนของดินปืนจนแสบจมูก หูก็อื้ออึงไปด้วยเสียงระเบิดของลูกปืนที่ยิงออกไปจากลำกล้องปืนของฝ่ายเรา และลูกปืนของฝ่ายเขาที่มากระทบเรือตูมๆ สมองของมนุษย์คงตีบตันไปหมดแล้ว แค่ทำหน้าที่ไปตามสันชาติญาณ ไม่มีความคิดว่านัดนี้ควรจะยิงด้วยกระสุนนั่นโน่นนี่ ตาก็มองไม่ค่อยจะเห็น อะไรใกล้มือพลกระสุนคว้าได้ก็รีบส่งต่อกันไปยัดเข้ารังเพลิง ไม่ต้องมีใครสั่งหรือคอยรับคำสั่ง พลยิงพอปืนพร้อมก็รีบยิงให้เร็วที่สุด ขอเพียงให้โดนเขาก่อนที่เขาจะยิงมาโดนเราเท่านั้น  ตูมออกไปแล้วก็ฝากไว้นัดนั้นไว้กับโชคชะตา

โชคเป็นของเขา ซวยเป็นของเรา ก็อย่างที่ท่านอาจารย์ใหญ่ว่าแหละครับ  รบกันครั้งนี้ ส้มหล่นทับฝ่ายฝรั่งเศสลูกแล้วลูกเล่า รับกันไม่หวาดไม่ไหว

รูที่โดนหัวกระสุนเจาะเกราะผ่านเข้าไป คงซ่อมไม่กี่ชั่วโมงก็แล้วเสร็จ  แต่ถ้าจะทาสีเฉพาะตรงนั้นก็จะทิ้งรอยด่างให้สังเกตุได้ ฝรั่งเศสจึงลงทุนทาสีทั้งลำใหม่เอี่ยม  แล้วจัดให้ผู้แทนคณะเจรจาสงบศึกฝ่ายไทยผ่านไปเห็น โดยลืมไปว่าการทำเช่นนั้นก็เป็นข้อพิรุธแล้ว  ถ้าไม่เสียหายอะไรเลยตามคำโฆษณาจริงจะต้องทาสีเรือเสียใหม่ทั้งลำไปทำไม


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ม.ค. 12, 10:15
หลังรบกับเราไม่นาน สงครามโลกครั้งที่๒เต็มรูปแบบก็มาถึง รัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสจำเป็นต้องเข้ากับฝ่ายอักษะตามคำสั่งของรัฐบาลวีซี่ในเมืองแม่  คุณวนัสนันท์ กนกพัฒนางกูร อดีตนักศึกษาระดับปริญญาเอกที่ช่วยผมเข้าไปค้นคว้าในห้องสมุดทหารเรือที่ปารีสบอกว่า แฟ้มประวัติของกัปตันเบรังเยร์ไส้ในหายไป เหลือแต่ปก มีบันทึกสั้นๆไว้ว่ามัวหมองเนื่องจากร่วมมือกับชนชาติศัตรู ครั้งนั้นเราจึงไม่สามารถสืบเสาะว่าหลังปลดประจำการแล้วนายเบรังเยร์กลับไปตายที่บ้านเกิดหรืออย่างไร ที่ไหน ความหวังว่าจะได้พบกับลูกหลานของเขาเพื่อขอสัมภาษณ์อะไรบ้างจึงหมดไป พลเรือตรีมารี ดานิเอล เรจีส์ เบเรงเช่ ถูกเขี่ยทิ้งออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์อย่างเงียบเชียบ ไร้ร่องรอย ในเน็ทมีบันทัดเดียวดังที่ท่านอาจารย์ใหญ่เขียนไว้ทำนองว่า ไปติดคุกญี่ปุ่นอยู่พักหนึ่งช่วงปลายสงครามก่อนถูกปลดประจำการ

ไม่ทราบเหมือนกันครับว่าความจริงเป็นอย่างไร

แต่ก่อนหน้านั้น หลังรบกับเรา(นานพอสมควร) เรือลามอตต์ปิเก้ถูกนำซ่อมปรับปรุงใหญ่ที่อู่ในโอซาก้า และแล้วก็ถูกญี่ปุ่นยึดไปใช้เป็นเรือฝึกทหาร จนกระทั่งวันที่๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ กองเรือเฉพาะกิจของกองทัพเรือสหรัฐ(Task Force 38)ที่กวาดล้างเรือรบญี่ปุ่นอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่ฟิลลิปปินส์เรื่อยมา ได้ส่งเครื่องบินรบจากเรือบรรทุกเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่ตั้งทางทหารในไซ่ง่อน  เรือลามอตต์ปิเก้จอดทอดสมออยู่ในแม่น้ำ โดนเข้าไปด้วยชุดหนึ่งถึงกับอัปปางลงกับที่  แล้วถูกปล่อยทิ้งให้เป็นซากอยู่อย่างนั้นจนหลังสงครามเลิกแล้ว ถูกฝ่ายไหนไม่ระบุขายเป็นเศษเหล็กไป

เรือรบของฝรั่งเศสที่ใช้ในการรบที่เกาะช้างทุกลำ ถูกจมลงหรือถูกขายเป็นเศษเหล็กหมด ในกาลอวสาน


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ม.ค. 12, 14:34
แฟ้มประวัติของกัปตันเบรังเยร์ไส้ในหายไป เหลือแต่ปก มีบันทึกสั้นๆไว้ว่ามัวหมองเนื่องจากร่วมมือกับชนชาติศัตรู ครั้งนั้นเราจึงไม่สามารถสืบเสาะว่าหลังปลดประจำการแล้วนายเบรังเยร์กลับไปตายที่บ้านเกิดหรืออย่างไร ที่ไหน ความหวังว่าจะได้พบกับลูกหลานของเขาเพื่อขอสัมภาษณ์อะไรบ้างจึงหมดไป พลเรือตรีมารี ดานิเอล เรจีส์ เบเรงเช่ ถูกเขี่ยทิ้งออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์อย่างเงียบเชียบ ไร้ร่องรอย ในเน็ทมีบันทัดเดียวดังที่ท่านอาจารย์ใหญ่เขียนไว้ทำนองว่า ไปติดคุกญี่ปุ่นอยู่พักหนึ่งช่วงปลายสงครามก่อนถูกปลดประจำการ

ไม่ทราบเหมือนกันครับว่าความจริงเป็นอย่างไร
อินทรเนตรช่วยคนในยุคนี้ได้มาก เพราะสามารถกวาดสายตาให้มองเข้าไปเห็นประวัติของเบรังเยร์ได้ จากประวัติทางการ   มีอยู่ 2 เว็บไซต์ด้วยกัน
ผลออกมาว่า
1  มีนาคม 1945       เบรังเยร์ถูกจับเป็นเชลยของกองทัพญี่ปุ่นตั้งแต่ 9 มีนาคม 1945   จนกระทั่งถึง 2 กันยายน 1945  จึงเป็นอิสระ
25 กันยายน 1945    พ้นจากราชการ   (Released, it is placed on leave of activity in September 1945.  )
28 mars 1946       ปลดเป็นทหารกองหนุน  (หมายถึงปลดประจำการ)

เว็บไซต์บอกว่า
03 avril 1937   Capitaine de vaisseau
14 avril 1939   LA MOTTE-PICQUET - Commandant,jusqu'au 01/05/41
26 mars 1941   Contre-Amiral
01 mai   MARINE INDOCHINE - Commandant,jusqu'au 01/03/45
29 juillet 1943   Vice-Amiral
01 mars 1945   En captivité,jusqu'au 02/09/45
25 septembre   En congé d'activité
28 mars 1946   Placé dans la section de réserve

เหรียญตราต่างๆก็ได้มาเต็มหน้าอก
LÉGION D'HONNEUR - Commandeur - 26 janvier 1941
 LÉGION D'HONNEUR - Officier - 01 juillet 1931
 LÉGION D'HONNEUR - Chevalier - 15 octobre 1919
 CROIX DE GUERRE 1939-1945 Avec 1 palme
 MÉRITE MARITIME - Chevalier
 MÉDAILLES COMMÉMORATIVES DIVERSES ET ASSIMILÉES Médaille interalliée de la Victoire
 MÉDAILLES COMMÉMORATIVES DIVERSES ET ASSIMILÉES Médaille commémorative de la Grande Guerre

น่าสังเกตว่าเครื่องราชย์สุดท้ายที่ได้คือในปี 1941   เมื่อพ้นประจำการแล้ว ไม่ได้ความดีความชอบอีก     แต่ในประวัติไม่ได้บอกว่าเขาถูกขึ้นศาลทหาร
ถ้าหากว่าบันทึกนั้นถูกต้องก็หมายความว่าเมื่อถูกจับเป็นเชลยศึก  สันนิษฐานว่าเบรังเยร์อาจกระทำการบางอย่างที่เป็นประโยชน์กับญี่ปุ่น  เช่นสารภาพ     จึงกลายมาเป็นหลักฐานมัดตัวทีหลังเมื่อเสร็จสงครามแล้ว     แต่คงไม่ได้ร้ายแรงถึงถูกถอดยศ หรือติดคุก   แต่ว่ามีหลักฐานในเรื่องนี้   จึงถูกปลดจากประจำการ   


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ม.ค. 12, 15:56
ขอบพระคุณครับ ที่อยู่เป็นเพื่อนในกระทู้นี้ตั้งแต่ต้นจนจบ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ม.ค. 12, 17:42
ยุทธนาวีที่เกาะช้าง  เป็นเรื่องของนักสู้ตัวเล็กที่ตัดสินใจสู้กับคนตัวใหญ่กว่าโดยไม่เกี่ยงน้ำหนัก     มิหนำซ้ำเพื่อนที่วิ่งเข้ามาช่วย ก็ยังพลั้งเผลอกระหน่ำเพื่อนด้วยกันเข้าเสียอีก  จะโทษกันก็ไม่ได้     รอยแผลที่ได้รับจึงต้องถือว่าเป็นแผลแห่งวีรกรรมโดยแท้

ขอบคุณท่าน Navarat.Cที่เข้ามาให้ความรู้อันมีค่าซึ่งเกิดจากความอุตสาหะวิริยะในการค้นคว้าและเรียบเรียงเรื่องนี้ จนออกมาเป็นมหากาพย์อีกเรื่องหนึ่ง   จะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจใฝ่รู้ต่อไปค่ะ
หวังว่าในโอกาสหน้า ท่านจะมีสิ่งที่น่าสนใจมาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอีก  ขอบคุณอีกครั้งค่ะ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 23 ม.ค. 12, 20:23
เข้ามาลงชื่อว่าตามอ่านอยู่เช่นเดิมนะครับ


ไม่รู้จะเติมเสริมเรื่องอย่างไร เพราะผมเองก็ไม่ทราบรายละเอียด
ดังนั้น ขออนุญาตแปลงคำปราศรัยของผู้การฯเรือ จากภาษาฝรั่งเป็นภาษาอังกฤษ มาเสริมก็แล้วกันนะครับ

(ขอออกตัวก่อนนะครับ ภาษาฝรั่งของผมก็คืนคุณครูไปเกือบหมดแล้ว เลยใช้เครื่องมือหลายตัวในคอมฯ ช่วยแปลงนะครับ)


Navy in Indochina
Cruiser
“Lamotte-Picquet”

Board in March, the I8 January 1941.

It is indisputable which a victory ended in the morning of 17th January,
the military action in close collaboration of the group placed under my authority with other big ships,
we have taken against an important part of the Siamese‘s fleet.

After 1hour and 40 minutes, The enemy ships had been several continuously committed to lie at the bottom of the sea, and only black smoke column marked, in the wildly diving, as their site.
A rotting coast guard has no salvation to escape from the bottom of the sea that make us stop from pursue.

These brilliant results make your honour.
They had could not be obtained only through the good cohesion of services to the overall effort and discipline of all.

Aircraft bombs, amid shrapnel from an opponent who valiantly fought all you have been an example of a courage worthy of our ancestors.

I am proud of you,

Vive la France
Captain, R. BERENGER
Commanding the cruiser "LA MORT-PICQUET"


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ม.ค. 12, 21:07
ขอบคุณที่ติดตาม และช่วยเติมเต็มกระทู้นี้ครับ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ม.ค. 12, 22:42
ขอบคุณคุณ Diwali ที่แกะจากฝรั่งเศสมาเป็นอังกฤษให้ค่ะ      แต่ฝรั่งเศสพอแปลเป็นอังกฤษ การเรียงรูปประโยค มันออกมาอ่านยากอยู่เหมือนกัน  ว่าจะแปลเป็นไทยอีกทีก็เลยไม่แน่ใจ 
สรุปได้แต่ว่า ในคำปราศรัยของผู้การเรือ  บอกว่าทางฝรั่งเศสถล่มเรือศัตรูจมลงก้นทะเล   คงหมายถึงเรือร.ล.ธนบุรี
และบอกว่าเรือฝรั่งเศสก็โดนทิ้งระเบิดจากเครื่องบินด้วย    แต่ไม่ได้บอกว่าเรือได้รับอันตรายจากระเบิด   เเพียงแต่บอกว่าโดนระดมยิงด้วยกระสุน
และยังบอกว่าสาเหตุที่เรือฝรั่งเศสไม่ได้รุกไล่ทางฝ่ายสยามให้ถึงที่สุด   ก็เพราะเรือลาดตระเวนมาสะกัดไว้เสียก่อน

ดูน้ำเสียงผู้การ   แกพูดเต็มปากว่าทางฝ่ายฝรั่งเศสได้รับชัยชนะในยุทธนาวีครั้งนี้


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 23 ม.ค. 12, 23:57
เอ่อ.....  ต้องขออภัยคุณครูใหญ่ และคุณครูท่านอื่นๆทุกท่าน นะครับ


ขอสารภาพตามตรง ผมใช้เครื่องช่วยแปล ให้แปลงภาษาฝรั่งเป็นอังกฤษ
มันก็เลยออกมาแหม่งๆ แปลกๆ แบบนี้แหละครับ

ภาษาฝรั่งฯของผม ไม่ได้พูด เขียน อ่าน มากว่าสิบปีแล้ว คืนคุณครูผู้ประสิทธิประสาทวิชาไปเสียแล้ว



ถ้าเป็นการบ้านส่งคุณครู  งานนี้ไม่มีคะแนนแถมยังอาจถูกหักแต้มติดลบอีกนะเนี่ย


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ม.ค. 12, 08:56
แค่นี้ก็ดีแล้วละครับ สมัยนี้เครื่องทุ่นแรงเยอะ ภาษาที่เราไม่รู้เรื่องก็ได้รู้เรื่องบ้าง ดีกว่าไม่รู้อะไรเลย

แล้วเราก็แค่อ่านเอาความ ไม่ได้เอาคะแนนไปสะสมไว้แลกรางวัลที่ไหน

วันหลังเอาอีกนะ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ม.ค. 12, 09:20
เอ่อ.....  ต้องขออภัยคุณครูใหญ่ และคุณครูท่านอื่นๆทุกท่าน นะครับ


ขอสารภาพตามตรง ผมใช้เครื่องช่วยแปล ให้แปลงภาษาฝรั่งเป็นอังกฤษ
มันก็เลยออกมาแหม่งๆ แปลกๆ แบบนี้แหละครับ

ภาษาฝรั่งฯของผม ไม่ได้พูด เขียน อ่าน มากว่าสิบปีแล้ว คืนคุณครูผู้ประสิทธิประสาทวิชาไปเสียแล้ว
ถ้าเป็นการบ้านส่งคุณครู  งานนี้ไม่มีคะแนนแถมยังอาจถูกหักแต้มติดลบอีกนะเนี่ย

ไม่หักคะแนนหรอกค่ะ  ให้ผ่านอยู่แล้ว
แปลจากฝรั่งเศสเป็นอังกฤษ  อ่านรู้เรื่องกว่าอังกฤษเป็นไทยหลายเท่า
ลองเอาบทแปลภาษาอังกฤษที่คุณ Diwali แปล มาให้น้องกู๊กแปลเป็นไทย   มันออกมาเป็นแบบนี้ละค่ะ

It is indisputable which a victory ended in the morning of 17th January,
the military action in close collaboration of the group placed under my authority with other big ships,
we have taken against an important part of the Siamese‘s fleet.
มันเป็นที่เถียงไม่ได้ชัยชนะในตอนเช้าสิ้นสุดวันที่ 17 มกราคมของการดำเนินการทางทหารในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของกลุ่มอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของฉัน ที่มีเรือขนาดใหญ่อื่น ๆ  ที่เราได้ถ่ายส่วนหนึ่งที่สำคัญของกองทัพเรือสยามของ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ม.ค. 12, 07:16
เรื่องไม่ยอมรับความจริงกับเรื่องที่เกินเลยความจริงนี่ เป็นธรรมดาของการออกข่าวระหว่างคู่พิพาทในทุกกรณีย์ ยากที่คนกลางจะวินิจฉัยได้ว่า เรื่องจริงแท้เป็นอย่างไร และส่วนใหญ่คนฟังก็ปักธงไว้แล้วว่าฉันจะเชื่อใคร พอได้ฟังเรื่องที่ถูกจริตก็นำไปขยายผลด้วยการพูดต่อเขียนต่อ พอคูณด้วยจำนวนคนพูดคนฟังเข้า เรื่องเท็จแท้ๆก็อาจกลายเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าจริงไป

ไม่ต้องไปยกตัวอย่างเรื่องที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราชนิดที่เห็นๆกันนี่นะครับ กิเลศอคติของคนอุณหภูมิยังสูงอยู่  ไม่มีใครยอมรับใคร เอาเรื่องการรบที่เกาะช้างนี่แหละ  ฝรั่งเศสก็โม้ไปอย่างที่พลเรือตรีเบรังเยร์รายงาน  ฝรั่งทั้งหลายก็เชื่อฝรั่งด้วยกัน ส่วนไทยก็เชื่ออีกอย่าง  ก่อนที่“ธนบุรีรบ”จะตีพิมพ์ คนไทยส่วนใหญ่ก็ยึดถือ “ข่าวทหาร” เขียนโดยกองบัญชาการทหารสูงสุดของท่านผู้นำทั้งนั้น  กว่าจะรู้อะไรเป็นอะไรว่าเรื่องที่รัฐบาลต้องการให้ประชาชนเชื่อนั้น ไม่จำเป็นต้องใช่เรื่องจริงก็ได้  ก็นานปีทีเดียว

วันที่๑๗ มกราคม ๒๔๘๔ ข่าวทหารที่อ่านออกทางวิทยุกระจายเสียงของกรมประชาสัมพันธ์มีดังนี้


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ม.ค. 12, 07:36
หลังจากนั้นสองวัน เมื่อได้รับรายงานตามความเป็นจริง อะไรเป็นอะไรรู้อยู่  แต่ข่าวลือจากตราดมาถึงกรุงเทพหึ่งไปว่าเรือรบฝรั่งเศสบุกเข้ามายิงเรือรบไทยจมไปหลายลำ "ข่าวทหาร"ก็ออกอากาศตามหลักสงครามจิตวิทยาดังนี้


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ม.ค. 12, 08:14
^
ข้อความข้างบนนี้  คนที่แหลมงอบได้ฟังวิทยุแล้วก็คงได้แต่อ้าปากค้าง แต่คนไทยที่อยู่ส่วนอื่นคงฟังแล้วฮึกเหิม พากันยกย่องสรรเสริญท่านผู้นำขึ้นอีกเป็นทวีคูณ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ม.ค. 12, 09:17
สำหรับผม ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องที่จบลงไปแล้ว แต่เป็นเรื่องสนุกที่น่าค้นคว้าหาความจริงต่อไปได้อีกอย่างไม่สิ้นสุด

เราไม่ควรจะเชื่อในสิ่งที่ใครจะนำมาอ้างจนกว่าจะได้วิเคราะห์ข้อขัดแย้งทั้งมวลแล้ว และต้องพร้อมจะเปลี่ยนความเชื่อหากหลักฐานใหม่ที่ดีกว่าปรากฏ  โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นกับฉันทาคติเดิมที่อาจจะมีผู้จงใจหลอกคนในยุคให้เชื่อในเรื่องที่เป็นคุณต่อพวกเขาเท่านั้น

ผมหวังว่า เรื่องราวในอดีต หากเขียนโดยปราศจากอคติในปัจจุบัน จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านในอนาคต


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ม.ค. 12, 16:04
อ้างถึง
และเช่นเดิมครับ เชิญท่านทั้งหลายให้เข้ามาช่วยเสริมสร้าง(กรุณาอย่าเสริมแต่ง) หรือใครจะตั้งคำถาม ถ้าตอบได้ผมก็จะตอบอย่างตรงไปตรงมา หรือจะเห็นต่างก็ได้ ผมน้อมรับและยินดีที่จะได้ถกกัน สำหรับกูรูที่ประสงค์จะพาออกจากทะเลขึ้นฝั่งไปบ้างก็ไม่ว่า แต่อย่าไปไกลมากนะครับ เอาแค่ขุดหอยช้อนปลาหาเขียดปาดอยู่แถวชายหาดก็แล้วกัน เดี๋ยวผมจะพากลับออกทะเลไม่ถูก ถ้าสนใจจะต่อเรื่องเหตุการณ์ในกรณีพิพาทอินโดจีนจริงๆแล้วละก็ ควรแยกกระทู้ผมจะไปแจมด้วย จะเอาเป็นมหากาพย์อย่างกระทู้ครั้งกระโน้นก็เอากัน

ผมก็เตรียมตัวเตรียมใจอยู่ว่าจะมีผู้สนใจประวัติศาสตร์การรบที่สมรภูมิสำคัญๆระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในกรณีพิพาทอินโดจีนในแค่ไหน เห็นเข้ามากันสักพักก็เงียบๆกันไปหมด ผมสะสมภาพไว้ทั้งที่ได้จากฝ่ายไทยและฝรั่งเศสร่วมร้อยภาพ อ่านเอกสารทั้งที่เป็นหนังสือและในบอร์ดคอมพิวเตอร์จนงงไปหมด ก็ต่างฝ่ายต่างบรรยายฉากเดียวกันแบบคนละเรื่องไปทุกสำนวน กำลังจะเรียบเรียงเป็นข้อเท็จจริงที่ตัวผมเองเชื่ออยู่
  
สมรภูมิบนภาคพิ้นดินที่ทุกฝ่ายยอมรับว่าเป็นการรบครั้งเด็ดขาดของกรณีพิพาทนี้ คือสมรภูมิบ้านพร้าว (The battle of Phum Preav) ที่กองพันทหารต่างด้าว III/5 REI อันเกรียงไกรของฝรั่งเศสต้องมาปราชัยแบบย่อยยับอัประมาณ ทั้งตายทั้งถูกจับเป็นเชลย ขนาดทิ้งธงไชยเฉลิมพลไว้ให้ทหารกองพันทหารราบที่ ๓ของไทยนำไปย้ำชัยชนะจนปฏิเสธไม่ออก(แต่ไม่วายที่จะแต่งเรื่องใหม่ “ตามหลักสงครามจิตวิทยา”แบบไทยๆเหมือนกัน)


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ม.ค. 12, 09:13
ระวัติศาสตร์โดยหลักการเป็นเรื่องว่าด้วยข้อเท็จจริงในอดีต  เอาเข้าจริง  ก็มีบ่อยครั้งที่กลายเป็นเรื่อง "มองต่างมุม"  อาจจะบ่อยกว่า "มองมุมเดียวแบบไม่มีข้อโต้แย้ง" เสียอีก
ทำให้เกิดสำนวนตามมาอีกหลายสำนวน เช่น "ประวัติศาสตร์เขียนโดยผู้ชนะ"   " ประวัติศาสตร์ต่างจากนิยายตรงที่ใช้ฉากของจริง"
คำคมของนักคิดนักเขียนหลายคน เกิดจากมองประวัติศาสตร์อย่างไม่สู้จะศรัทธานัก   ขอยกมาเป็นกระสายยาสัก 2-3 คำนะคะ

God cannot alter the past, though historians can.(พระเจ้าไม่อาจเปลี่ยนแปลงอดีต  ส่วนนักประวัติศาสตร์ทำได้)
Samuel Butler

Historian: an unsuccessful novelist. (นักประวัติศาสตร์ คือนักเขียนนิยายที่คนอ่านไม่"อิน")
H. L. Mencken

History is a pack of lies about events that never happened told by people who weren't there.(ประวัติศาสตร์คือโกหกคำโต เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง เล่าโดยผู้ที่เกิดไม่ทันยุคสมัยนั้น)
George Santayana

เรียนประวัติศาสตร์ก็สนุกไปอย่างหนึ่ง ตรงที่ได้ใคร่ครวญจากหลักฐานมากกว่าหนึ่งทาง  ว่าอย่างไหนมันพอจะสมเหตุสมผลมากกว่ากัน    อย่างที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.แถมสุข นุ่มนนท์ เคยตอบดิฉันว่า "เรียนประวัติศาสตร์ไปเพื่อเพิ่มรอยหยักในสมอง" เมื่อดิฉันเรียนถามท่านว่า  ทำไมไม่มีใครตัดสินเหตุการณ์หรือเรื่องราวสำคัญๆในอดีตให้ชัดเจนสักทีว่ามันยังไงกันแน่    ปล่อยให้เถียงกันอยู่ได้   
ท่านยังตอบทีเล่นทีจริงอีกว่า ถ้าประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่ทุกอย่างทุกเรื่องชัดเจนจนกระดิกกระเดี้ยไม่ได้แล้ว  นักประวัติศาสตร์ก็ตกงานกันหมดน่ะซี


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ม.ค. 12, 09:13
มื่อถูกท่านผู้บรรยายต่อว่าเอานิดหน่อยว่า ผู้ฟังในชั้นเรียนพากันเงียบไปหมด  ก็เลยต้องเป็นตัวแทนส่งเสียงกระแอมกระไอ ทำลายความเงียบ
ขอย้อนกลับไปสรุปอีกครั้ง ถึงยุทธนาวีครั้งนี้ จากมุมของฝรั่งเศสและมุมของสยาม      เพราะอ่านคำแถลงของกองทัพแล้ว รู้สึกว่าใครก็ตามที่เขียนร่างคำแถลง ท่านใส่สีสันในการบรรยายมากเอาการ      ปกติคำแถลงหรือแถลงการณ์อะไรก็ตาม เขาจะแถลงกันแต่สิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น (หรือเชื่อว่าเป็นข้อเท็จจริง)   แต่แถลงการณ์นี่มีทั้งข้อเท็จจริงทั้งข้อคาดคะเน
อ่านจากแถลงการณ์ทั้งหมด  แถลงการณ์แรกของกองบัญชาการทหารสูงสุด ดูจะแถลงอย่างเรียบๆหนักแน่น ไร้อารมณ์  สมเป็นแถลงการณ์ของราชการ   
แต่พอคำแถลงที่สอง ที่ว่า "ทำให้เราเป็นเจ้าอากาศอย่างเด็ดขาด"  ก็กลายเป็นคำแถลงเชิงจิตวิทยาไป

ส่วนกองทัพเรือ แถลงแบบข้อเท็จจริง ผสมคาดคะเน  เพื่อผลทางจิตวิทยา
อย่างหลังนี้ เห็นได้จากการใช้คำประเภทไม่ฟันธง  แต่จูงใจให้เชื่อ คือ

- เรือลาม็อทท์ปิคเกท์  คงเครื่องจักรชำรุดเพราะแล่นส่ายเป็นเวลานาน
- จึงเชื่อว่าเรือลาม็อทท์ปิคเกท์ลำใหญ่ของอินโดจีนฝรั่งเศสคงจะได้จมลง
- ถ้าไม่จมก็คงจะใช้งานอีกไม่ได้
- (ทางฝ่ายเรา) คงจะมีเสียหายบ้าง  แต่คงไม่มากนัก


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ม.ค. 12, 09:15

ผมก็เตรียมตัวเตรียมใจอยู่ว่าจะมีผู้สนใจประวัติศาสตร์การรบที่สมรภูมิสำคัญๆระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในกรณีพิพาทอินโดจีนในแค่ไหน เห็นเข้ามากันสักพักก็เงียบๆกันไปหมด


ขอแก้ตัวแทนนักเรียนที่ทยอยกันเข้ามานั่งเต็มชั้น (เห็นได้จากการคลิกจำนวนเข้าอ่าน)โดยไม่ปริปากพูดอะไรเลย   ว่าอาจเป็นเพราะไม่ค่อยมีใครรู้รายละเอียดเรื่องนี้พอจะออกความเห็นได้  ก็เลยขอฟังไปก่อน 
ถ้าออกความเห็นบ้างก็ทำได้แค่เล็กๆน้อยๆแล้วก็หมดภูมิ  อย่างดิฉันน่ะค่ะ 

ไม่เคยได้ยินชื่อสมรภูมิบ้านพร้าว    แต่เชื่อว่าทางฝรั่งเศสน่าจะมีบันทึกเรื่องนี้่เอาไว้     ขอให้รู้ว่าฝรั่งเศสเรียกชื่อว่าอะไรเถอะ  อินทรเนตรจะสอดส่องเข้าไปหาข้อมูลมาลงในกระทู้นี้เอง

เชิญไปอ่านกระทู้ใหม่ได้ที่
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4942.0


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 ม.ค. 12, 09:19


เรื่องสมรภูมิบ้านพร้าว   ลงในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๘  ฉบับที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๐  หน้า ๖๘ - ๗๑

คัดมาจากเรื่อง  "วีรกรรมของกองพันทหารราบที่ ๒  กรมทหารราบที่ ๑  มหาดเล็กรักษาพระองค์ ฯ ในอดีต"

ลงพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ  พันเอกนิ่ม  ชโยดม ท.ช. ท.ม. ณ เมรุวัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม  พ.ศ. ๒๘ ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๓๑

คุณเครือวัลย์  ญาณนนท์ และพลเรือโทช่วย  ญาณนานนท์  ผู้เป็นทายาทของพันเอกนิ่ม  ชโยดม(ขุนนิมมาณกลยุทธ) ได้ส่ง

หนังสืออนุสรณ์มาให้ ศิลปวัฒนธรรม

        ทายาทอีกท่านหนึ่งก็บัญชาการให้ วันดี  ไปหาหนังสือมาให้หลายเล่มหน่อย    ซึ่งมิได้เป็นการยุ่งยากแต่อย่างใด

จึงจะขอคัดลอกแบบย่อความอย่างยาวเพื่อแสดงตนว่าเป็นนักอ่านกระทู้ของคุณ Navarat.C มาช้านานแล้ว  ตั้งแต่กระทู้ช้างนั่นแล



กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.พ. 12, 12:02
ไม่เชิงว่าจะเข้ามาปั่นเรตติ้งหรอกครับ แต่ ปีนี้กองทัพเรือจัดงาน“วันวีรกรรมทหารเรือไทยในยุทธนาวีที่เกาะช้าง” ประจำปี 2555 ได้ยิ่งใหญ่น่าชม ผมจึงอยากจะนำมาบันทึกไว้ในกระทู้นี้ด้วย
 
ภาพส่วนหนึ่งและเรื่องได้จาก สมาคมกู้ภัยบุญช่วยเหลือ จ.ตราด

กองทัพเรือร่วมจังหวัดตราด นำข้าราชการ ประชาชนทำพิธีลอยพวงมาลารำลึกถึงวีรกรรมทหารเรือ ในงาน “วันวีรกรรมทหารเรือไทยในยุทธนาวีที่เกาะช้าง” ประจำปี 2555 เวลา 11.00 น. วันที่ 17 มกราคม 2555 ที่บริเวณอนุสรณ์สถานยุทธนาวีที่เกาะช้าง อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด พลเรือเอกฆนัท ทองพูล ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ กองทัพเรือ เป็นประธานเปิดงาน “วันวีรกรรมทหารเรือไทยในยุทธนาวี ที่เกาะช้าง ประจำปี 2555 “ ซึ่งกองทัพเรือได้ร่วมกับจังหวัดตราดพร้อมด้วยส่วนราชการต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ร่วมกันจัดขึ้น โดยมี นางสาวเบญจวรรณ อ่านเปรื่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด นายประทีป จงสืบธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด พร้อมหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ และประชาชนชาวตราดร่วมภายในงาน พร้อมกับร่วมกันลอยพวงมาลาเพื่อรำลึกในวีรกรรมของทหารเรือไทยบริเวณเกาะลิ่ม จุดที่เกิดเหตุการณ์เรือรบทั้ง 3 ลำถูกระดมยิงจมทะเลในครั้งนั้นด้วย  


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.พ. 12, 12:03
พลเรือเอกฆนัท ทองพูล ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ กองทัพเรือ กล่าวว่า พิธีสดุดีวีรชนและบำเพ็ญกุศลแด่วีรชนของกองทัพเรือนี้ เป็นพิธีสำคัญที่กองทัพเรือร่วมกับจังหวัดตราดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ทหารเรือทุกคนได้แสดงความเคารพและรำลึกถึงวีรกรรมของทหารเรือจำนวน 36 นาย ที่ได้ทำการรบอย่างกล้าหาญ และยอมพลีชีพเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ จากการรุกรานของกองทัพเรือฝรั่งเศสที่นำเรือลามอตปิเกต์ที่มีระวางขับน้ำถึง 9,350 ตัน 1 ลำ เรือสลุป 2 ลำ เรือปืนอีก 4 ลำ เรือสินค้าขนาดใหญ่ติดอาวุธ 1 ลำ และเรือดำน้ำอีก 1 ลำ รวมทั้งสิ้น 9 ลำ เข้ามาในน่านน้ำไทยทางด้านเกาะช้าง จังหวัดตราด ด้วยความมุ่งหมายที่จะระดมยิงหัวเมืองชายทะเล ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นเวลา 71 ปีแล้ว ขณะที่กองทัพไทย มีกำลังรบเพียง 3 ลำ คือ เรือหลวงธนบุรี เรือหลวงสงขลา และเรือหลวงชลบุรี เราจึงเสียเปรียบในด้านกำลังรบอย่างไม่อาจจะเทียบกันได้ แต่บรรพบุรุษทหารเรือของเรายังคงมีขวัญและกำลังใจที่ดี และปฏิบัติหน้าที่ในการรบด้วยความกล้าหาญ ตราบจนเรือหลวงของไทยทั้ง 3 ลำ ต้องจมลงพร้อมกับนายทหารและทหารประจำเรือที่เสียชีวิตไปถึง 36 นาย  


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.พ. 12, 12:04
สำหรับงานวันวีรกรรมทหารเรือไทยในยุทธนาวีที่เกาะช้าง จัดขึ้นเป็นประจำระหว่างวันที่ 17-21 มกราคม หรือ วันที่ 23 มกราคม ของทุกปี ที่บริเวณแหลมงอบ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.พ. 12, 12:12
เห็นภาพนี้เข้า ช่างภาพจะถ่ายเครื่องฮ.ที่กำลังขึ้นจาก ร.ล..กระบุรีแต่วิวข้างหลังสะดุดตาผม บรรดาเกาะทั้งหลายอันมีชื่ออยู่ในกระทู้ปรากฏอยู่ที่ขอบฟ้า จินตนาภาพเห็นเรือลามอตต์ปิเกต์ และหมู่เรือบริวารของฝรั่งเศสวิ่งกำบังอยู่ด้านหลัง

บริเวณที่ร.ล. กระบุรีลอยลำเพื่อประกอบพิธีวางพวงมาลาอยู่นี้ เป็นจุดที่ร.ล.ธนบุรีต้องกระสุนสำคัญนัดแรกของข้าศึกที่ปลิดชีวิตท่านผู้บังคับการในทันที และทำให้เรือปืนหนักของราชนาวีไทยต้องทำการรบต่อไปเสมือนทหารที่ถูกยิงโดนสมองแต่ไม่ตาย นิ้วยังคงลั่นไกปืนอยู่ หาได้ยอมแพ้แก่ศัตรูไม่


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.พ. 12, 12:30
ส่วนที่สแกนมาให้อ่านนี่  ไม่ทราบว่าผู้เขียนคอลัมน์นี้ท่านง่วงมากหรืออย่างไร ข้อความจึงกลายเป็น พลเรือเอกจิตต์ สังขดุลย์ได้เขียนเรื่อง “เมื่อธนบุรีรบ” จากการบอกเล่าของลุงไปโน่นเลย

เอามาจี้เส้นเท่านั้นน่ะครับ ไม่ได้จะซีเครียดอะไร


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.พ. 12, 20:07
ส่วนที่สแกนมาให้อ่านนี่  ไม่ทราบว่าผู้เขียนคอลัมน์นี้ท่านง่วงมากหรืออย่างไร ข้อความจึงกลายเป็น พลเรือเอกจิตต์ สังขดุลย์ได้เขียนเรื่อง “เมื่อธนบุรีรบ” จากการบอกเล่าของลุงไปโน่นเลย

เขียนใหม่   อาจจะกลายเป็นนายพล Navarat.C เป็นคนเขียน "เมื่อธนบุรีรบ" จากคำบอกเล่าของลุง ไปนู่นเลยก็เป็นได้


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: pedder101 ที่ 16 มี.ค. 12, 05:07
 :) สวัสดีครับ ผม น.ท.เพทาย บุญสุยา เป็น นบ.ของ ทอ. จบ เสธ.ทร.รุ่น ๗๐ ตอนนี้กำลังเรียน เสธ.ฝรั่งเศส ที่หน้า รร.มีถนนชื่อ ลามอทปิเก้ เกรอเนย์ เป็นผู้มีส่วนร่วมในทุกวงการที่พาดพิงในเรื่องนี้ครับ
ผมได้รับข้อมูลเรื่อง บ.ทอ. บอมบ์เรื่องธนบุรี เรืออยุธยา จาก นทน.ทร.มาพอสมควร , ชอบอ่านหนังสือในห้องสมุดยุทธศาสตร์ ยศ.ทร. และอ่านจากวิกิพิเดียของฝรั่งเศสมาบ้างแล้ว (ก็จดหมายผู้การเรือฝรั่งเศสฉบับนี้หละ่ครับ) เมื่อได้อ่านข้อมูลในบล็อกขอท่านแล้วรู้สึกเกิดความรู้สึกหลากหลาย และขอขอบคุณท่านที่ช่วยเติมเต็มช่องว่างของประวัติศาสตร์ที่ผมหาคำตอบมานาน ถึงแม้นว่าระบบเอกสารประวัติศาสตร์ของไทยจะขาดหายไม่มีหลักฐานครบทั้งหมดทุกเรื่องเหมือนอย่างฝรั่ง แต่ที่ท่านทำไว้ผมขอชื่นชมในความรัก ทร.ของท่านด้วยความจริงใจครับ หากต้องการข้อมูลทางฝรั่งเศสให้ผมช่วยค้นหาสิ่งใดอยู่ที่ไหนแจ้งมาได้เลยครับ ที่ pedder101@hotmail.com ;D


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 มี.ค. 12, 07:02
ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีนายทหารเขียนมาถึงเช่นนี้ โดยทั่วไปแล้วทหารจะสนใจประวัติศาสตร์น้อยมาก แม้จะเป็นเรื่องของตนเอง เหตุการณ์รบครั้งสงครามอินโดจีน นายทหารระดับนายพันลงมาจะไม่ค่อยจะทราบอะไรเป็นอะไรสักเท่าไหร่ ระดับนายพลถึงพอจะผ่านหูผ่านตาบ้าง แต่ไม่ค่อยจะตรงกับที่ผมค้นคว้ามาเล่า

ส่วนเรื่องเกี่ยวกับทร.ฝรั่งเศสหรือราชนาวีที่เกี่ยวข้อง ผู้พันเพทายอยากจะเพิ่มเติมตรงไหนก็ขอเชิญได้เลยนะครับ ตอนนี้รัฐบาลฝรั่งเศสก็ยอมรับผลงานของวีซี่ในเรื่องการรบที่เกาะช้างแล้ว นำชื่อLa Motte-Picquet ไปตั้งให้เรือรบลำใหม่ซึ่งเป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ ตามคำเรียกร้องที่บรรดาผู้เกี่ยวข้องพยายามจะเชิดชูวีรกรรมของฝ่ายเขาเหมือนกัน เอกสารบางอย่างที่เคยเก็บไปปกปิดอาจโผล่ออกมาใหม่

ถ้าในแฟ้มใดแฟ้มหนึ่งในหอจดหมายเหตุทหารเรือที่ปารีสจะมีบันทึกลับ การซ่อมหรือการบาดเจ็บล้มตายของลูกเรือฝรั่งเศสหลังการรบครั้งนั้นก็วิเศษ มันไม่น่าเชื่อเหมือนกันที่เขาจะโม้ว่าเขาไม่โดนอะไรของเราแม้แต่นิดเดียว

ว่างๆน่าลองไปหาดูนะครับ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 มี.ค. 12, 08:12
ขอโทษครับ น.ท.เพทาย บุญสุยา เป็น นบ.ของ ทอ. (แปลว่านักบินทหารอากาศ) ต้องเรียกผู้ฝูงเพทายซินะครับ ไม่ใช่ผู้พัน



กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มี.ค. 12, 17:49
:) สวัสดีครับ ผม น.ท.เพทาย บุญสุยา เป็น นบ.ของ ทอ. จบ เสธ.ทร.รุ่น ๗๐ ตอนนี้กำลังเรียน เสธ.ฝรั่งเศส ที่หน้า รร.มีถนนชื่อ ลามอทปิเก้ เกรอเนย์ เป็นผู้มีส่วนร่วมในทุกวงการที่พาดพิงในเรื่องนี้ครับ
ผมได้รับข้อมูลเรื่อง บ.ทอ. บอมบ์เรื่องธนบุรี เรืออยุธยา จาก นทน.ทร.มาพอสมควร , ชอบอ่านหนังสือในห้องสมุดยุทธศาสตร์ ยศ.ทร. และอ่านจากวิกิพิเดียของฝรั่งเศสมาบ้างแล้ว

โปรดสงสารคนชรา  ผู้หญิง และเด็กที่ไม่ชินกับตัวย่อทางทหารด้วยเถอะค่ะ   ต่อไปนี้คือรายการถอดรหัส ที่ขอจากอินทรเนตรอันศักดิ์สิทธิ์ให้ประทานมา

น.ท.  = นาวาอากาศโท
นบ.    =  นักบิน  (ได้จากคำตอบท่านนวรัตน)
ทอ.    =  กองทัพอากาศ
เสธ.ทร.  =  โรงเรียนเสนาธิการกองทัพเรือ
เสธ. ฝรั่งเศส   = โรงเรียนเสนาธิการของฝรั่งเศส
บ. ทอ.  = เครื่องบิน ฝูงบิน?? ของกองทัพอากาศ
นทน.   = คำนี้จนปัญญา  คุณกู๊กเจอคำนี้แต่ไม่ยักอธิบายให้ทราบ
ทร.    =  กองทัพเรือ
ยศ.ทร.  กรมยุทธศึกษา กองทัพเรือ?


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มี.ค. 12, 22:38
อ้างถึง
โปรดสงสารคนชรา  ผู้หญิง และเด็กที่ไม่ชินกับตัวย่อทางทหารด้วยเถอะค่ะ   ต่อไปนี้คือรายการถอดรหัส ที่ขอจากอินทรเนตรอันศักดิ์สิทธิ์ให้ประทานมา

น.ท.  = นาวาอากาศโท
นบ.    =  นักบิน  (ได้จากคำตอบท่านนวรัตน)
ทอ.    =  กองทัพอากาศ
เสธ.ทร.  =  โรงเรียนเสนาธิการกองทัพเรือ
เสธ. ฝรั่งเศส   = โรงเรียนเสนาธิการของฝรั่งเศส
บ. ทอ.  = เครื่องบิน ฝูงบิน?? ของกองทัพอากาศ
นทน.   = คำนี้จนปัญญา  คุณกู๊กเจอคำนี้แต่ไม่ยักอธิบายให้ทราบ
ทร.    =  กองทัพเรือ
ยศ.ทร.  กรมยุทธศึกษา กองทัพเรือ?


มาเติมคำในช่องว่างครับ


บ. ทอ.  =  เครื่องบิน กองทัพอากาศ
นทน.    =  นายทหารนักเรียน
นทน.ทร.=  นายทหารนักเรียน กองทัพเรือ

คนชรา ผู้หญิง และเด็กที่ไม่ชินกับตัวย่อทางทหาร แต่สนใจใคร่เรียนรู้ศัพท์ยากๆที่ทหารเขาใช้กัน โปรดแว๊ปเข้าเวปนี้ครับ

http://www.rta.mi.th/21610u/New/Data/vocab_soldier.pdf




กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 12, 16:53
การเทียบยศทหารตำรวจในลิ้งค์ที่คุณนวรัตนให้มา ละเอียดมากค่ะ     ต้องค่อยๆอ่านไป   ถ้าอ่านแบบจำ ก็นานหลายวันกว่าจะอ่านจบ
ใครเป็นนักแปลที่แปลเรื่องทางทหารตำรวจน่าจะเซฟเป็นบุ๊คมาร์คไว้
Captain Von Trapp พระเอกใน Sound of Music  เป็นนาวาเอกจริงๆ  ไม่ใช่เรือเอก


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: TonyNTR ที่ 01 ม.ค. 15, 23:33
ผมตามไปอ่าน เรือประจัญบานเซาท์ดาโกต้า รบกับ เรือประจันบานคิริชิม่า เรือลาดตระเวนหนักอะทาโกและทาเกา. เมื่อ 14-15 พ.ย. 1942 มีรายงานผลการสำรวจความเสียหาย อ่านดูยังไม่เข้าใจทั้งหมด. คล้ายว่ากระสุนเจาะเกราะฝ่ายญี่ปุ่นจะใช้ชนวนถ่วงเวลานานกว่าทางสหรัฐ. ทำให้เมื่อยิงโดนตัวเรือที่ไม่หนามากกระสุนทะลุไปก่อนที่จะระเบิดทำความเสียหายในตัวเรือ เห็นว่าโดนยิงไปอย่างน้อย 26 นัด 1 นัดจากปืนขนาด 5 นิ้ว/6 จาก 6 นิ้ว/18 จาก 8 นิ้ว :-X และ 1 นัด จาก 14 นิ้ว. น่าสนใจที่ โดนขนาด 8 นิ้วไป 18 นัด. จะเป็นขนาด 8 นิ้วเดียวกับเรือธนบุรีเราที่ต่อจากญี่ปุ่นในช่วงเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือไม่ รบกวนท่านผู้ทราบช่วยอ่านและแปลให้ทราบด้วยน่ะครับ. ผมเอาที่อยู่มาแปะไว้
http://www.history.navy.mil/library/online/wardamagereportno57.htm (http://www.history.navy.mil/library/online/wardamagereportno57.htm)
ลองอ่านดูตรง หน้า 3 น่ะครับ ขออนุญาตคัดลอกมาบางส่วน// เข้าไปจะมีรูปประกอบด้วยครับ
SECTION III
DISCUSSION
A. Type of Projectile
11. During the engagement described above, SOUTH DAKOTA sustained at least 26 projectile hits. It is estimated that one hit was 5-inch, six were 6-inch, eighteen were 8-inch and one was 14-inch. The caliber of these hits was estimated from the damage produced and fragments recovered of one projectile. In many cases the size of the entry hole of the projectile almost gave a direct measure of its caliber. Although structural damage was extensive, it was considerably less than would be generally expected from this number and caliber of hits. That damage was not more extensive can be attributed to the fact that most projectiles passed through the ship's structure without detonating. SOUTH DAKOTA reported that fragmentation was chiefly due to impact rather than detonation. After a study of the fragments, one 8-inch projectile was classified in reference (e) as a common projectile. From reference (f), however, it appears that this was probably a Japanese 8-inch AP projectile. From the damage produced it appears that the majority of the hits were AP projectiles. Reference (f) reported that the Japanese used a fuze with a time delay of 0.4 second in 8-inch and larger AP projectiles and a time delay of 0.08 second in 6-inch AP projectiles as compared with a time delay of about 0.02 second to 0.035 second in U.S. Naval AP projectiles. This relatively long time delay was used to allow time for penetration of the lower side belt after the fuze action had been initiated on water impact for a near-short. Because of this long time delay, most projectiles passed through the superstructure without detonating.

12. Japanese AP projectiles were designed to continue an undisturbed trajectory under the water with the hope of striking the target below the waterline and possibly below the armor belt. To prevent deflection upon striking water, the forward section of the projectile was weakened so that when it struck water the windshield and cap head would break off leaving a flat end. It would be expected that when striking structure above

--3--
the waterline, these parts would break off and make fragment holes in the vicinity of the hole made by the body of the projectile. This is believed to be the reason that, even when there was no detonation, fragment holes were frequently found near the projectile hole. Also the hole made by the hardened cap head would be expected to be round and slightly smaller than the hole made by the body of the projectile as noted in hits Nos. 9 and 10.


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ม.ค. 15, 09:16
ผมอ่านแล้วแต่คงไม่กล้าวิจารณ์ต่อหรอกครับ ความรู้ไม่พอ  เอาให้ผู้เชี่ยวชาญของทหารเรือเผื่อท่านจะผ่านมาทางนี้ก็แล้วกัน
 
ผมเองได้ผ่านตาสารคดีเรื่องหนึ่งหลังจากที่เขียนกระทู้นี้จบไปแล้ว กล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงหลังของการดวลปืนใหญ่ระหว่างสองฝ่ายว่า  ลามอตต์ปิเกต์ถลำเข้าไปในเขตน้ำตื้นจนท้องเรือครูดกับสันดอนใต้น้ำ เรือสะเทือนไปทั้งลำทำท่าจะติดแห้ง  กัปตันจึงสั่งหันหัวกลับ ต้นกลเพิ่มไฟเต็มที่ระเบิดแรงดันไอน้ำเข้าขับเคลื่อนใบจักรเหนือขีดวิกฤต เรือจึงเคลื่อนที่ต่อไปได้อย่างช้าๆจนกระทั่งหลุดเข้าที่ลึก
จังหวะนั้นเองที่ทหารเรือไทยเห็นลามอตต์ปิเกต์ผละออกจากการรบพร้อมควันดำควันขาวพลุ่งๆตลบเรือผิดปกติ  ต่างโห่ร้องไชโยกันลั่นด้วยความมั่นใจว่าลูกปืนจากป้อมท้ายของเรือธนบุรีโดนเรือรบศัตรูเข้าบ้างแล้ว

ในโอกาสที่ได้เข้ามาอีกนี้ ก็ขอนำเสนอภาพสีน้ำมันก่อนสงครามเขียนโดยจิตรกรชาวญี่ปุ่นราวปี พ.ศ. ๒๔๘๓ - ๘๔ เป็นกองเรือรบสยามขณะแปรขบวนสวนสนามในอ่าวสัตหีบ ในภาพจะเห็น ร.ล.ธนบุรี ร.ล.ศรีอยุธยา นำหน้าด้วยเรือตอร์ปิโดใหญ่ ๙ ลำ ชุดร.ล.ตราด และขนาบข้างด้วยเรือดำน้ำ๔ ลำชุด ร.ล. มัจฉานุ  หลังๆออกไปดูไม่ชัดแล้ว น่าจะเป็นเรือปืนชุด ร.ล. สุโขทัย ร.ล.รัตนโกสินทร์ และที่เก่าๆกว่านั้น

ต้นฉบับขนาดใหญ่มาก ชมได้ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ สมุทรปราการครับ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ม.ค. 15, 10:51
คุณ K.C. Shai นายทหารเรือราชนาวีไทยยศนาวาโท(ขณะนั้น)ท่านหนึ่งได้กรุณาหลังไมค์มาให้ผมเมื่อสองปีที่ผ่านมา ความว่า

เมื่อช่วงก่อนหยุดปีใหม่ พวกผมคณะทำสารคดีกองทัพเรือ ได้ไปดำน้ำถ่ายทำสภาพเรือหลวงสงขลาและเรือหลวงชลบุรี ที่จมอยู่ที่เกาะช้างมาครับ ภาพที่ถ่ายทำมานี้เป็นส่วนหนึ่งของสารคดี เรื่อง การรบที่เกาะช้าง ที่พวกเรากำลังทำกันอยู่ครับ เรือนำภาพมาแบ่งปันให้คุณอาได้ดูครับ
ภาพที่เห็นเป็นลำๆ นั้นคือเรือหลวงสงขลานะครับ ส่วนเรือหลวงชลบุรีนั้น ปัจจุบันโครงสร้างเรือพังทลายเป็นแผ่นเหล็กกองอยู่ใต้ท้องทะเล ทับถมด้วยตะกอนและปะการัง ซึ่งถ่ายทำมาได้ลำบากมากครับ

ผมคัดเลือกภาพมาส่วนหนึ่ง เชิญชมครับ


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ม.ค. 15, 10:52
2


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ม.ค. 15, 10:52
3


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ม.ค. 15, 10:54
4


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ม.ค. 15, 10:54
5


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ม.ค. 15, 10:55
6


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ม.ค. 15, 10:55
7


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ม.ค. 15, 10:56
8


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ม.ค. 15, 10:57
9


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ม.ค. 15, 10:58
10 (ภาพสุดท้ายครับ)


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 17 ม.ค. 24, 23:01
วันนี้ ๑๗ ม.ค. ๒๕๖๗ ครบ ๘๓ ปี เหตุการณ์การรบที่น่านน้ำเกาะช้าง
ขอสดุดีวีรกรรมบรรพชนลูกประดู่ทุกท่านที่ได้พลีชีพเพื่อรักษาเกียรติภูมิของชาติ แม้ว่าจะเสียเปรียบด้านยุทโธปกรณ์และเทพีแห่งโชคไม่ได้อยู่ข้างพวกท่าน แต่ก็ต่อสู้ด้วยจิตใจที่ไม่เป็นรองแน่นอน
ด้วยเมื่อหลังวันขึ้นปีใหม่ที่ผ่านมาได้มีโอกาสทำพิธีกรรมครั้งสุดท้ายให้ญาติผู้ใหญ่(ฝากท่านสู่อ้อมอกแม่พระคงคา)ที่ทะเลบริเวณด้านใต้ของเกาะช้าง พวกเราลงเรือที่สะพานเทียบเรืออำเภอแหลมงอบ ล่องลงมาตามช่องเกาะช้าง ผ่านเกาะลิ่มและเกาะสลัก ซึ่งร.ล.ธนบุรี ทอดสมออยู่เมื่อ ๘๓ ปีโน้นก็ยกมือพนมตั้งจิตคารวะลูกประดู่ผู้กล้าทั้งหลาย จนกระทั่งเรือที่ให้บริการเลี้ยวผ่านช่องท้ายเกาะช้างกับเกาะง่าม แล้วจึงลอยลำเพื่อเริ่มทำพิธี ทะเลเรียบมาก ท้องฟ้าสีฟ้าสดใส ปราศจากเมฆหมอกใดใด แต่ทว่าน่านนำ้ตรงนี้เมื่อ ๘๓ ปีก่อนคือนรกของลูกเรือเรือตอร์ปิโดใหญ่ ร.ล.สงขลาและร.ล.ชลบุรี ที่ตกเป้านิ่งให้เรือฝรั่งเศสรุมยำจนอับปางคาที่ สภาพเรือขณะนี้ก็คงเป็นดังภาพข้างบนที่อาจารย์NAVARAT.Cโพสต์ไว้ ได้สังเกตทุ่นสีเหลือง ๒ ทุ่น ถูกลอยอยู่ห่างกันประมาณ ๒๐๐ เมตร ซึ่งตอนที่ผ่านมาหลายปีก่อนยังไม่มี จึงสอบถามนายท้ายเรือที่ให้บริการ ก็ยืนยันว่าเป็นตำแหน่งพักผ่อนสุดท้ายของร.ล.สงขลาและร.ล.ชลบุรี จึงพากันยกมือพนมตั้งจิตคารวะอีกครั้ง ขออำนาจความมุ่งมั่นความกล้าหาญของพวกท่านจงเป็นพลังปกป้องคุ้มครองพวกเราด้วย
พ่อของผมมีอาชีพเป็นช่างเครื่องเรือรบ เรียนจบก็ถูกบรรจุประจำการเมื่อหลังเหตุการณ์เกาะช้าง ๓ ปี เรือรบลำหนึ่งทีพ่อเคยปฏิบัติหน้าที่คือเรือตอร์ปิโดใหญ่ ร.ล.ระยอง ก็ลำเดียวกันกับที่ได้รับคำสั่งให้แยกไปคอยสังเกตการณ์ที่บริเวณเกาะกูดเมื่อตอนเย็นวันที่ ๑๖ ม.ค.๒๔๘๔ เลยคลาดกับกองเรือฝรั่งเศสเนื่องจากเช้ามืดวันรุ่งขึ้นหมอกลงจัด หากไปรวมกองกัน ๓ ลำก็คงจะประสบชะตากรรมเดียวกับเรือสงขลา-ชลบุรี และผมก็คงไม่มีโอกาสไปคุ้นเคยกับเรือลำนี้เพราะพ่อพาไปเที่ยวเรือบ่อยๆตอนเด็กนัยว่าจะปลูกฝัง ปัจจุบันเรือตอร์ปิโดใหญ่ที่รอดมาได้ ๗ ลำ เหลือเป็นรูปเป็นร่างอยู่ลำเดียวคือร.ล.ชุมพร เป็นอนุสรณ์สถานอยู่ที่หาดทรายรี จังหวัดชุมพร นอกนั้นปลดระวางขายเป็นเศษเหล็กหรือไม่ก็เป็นเป้าให้เรือรบปัจจุบันซ้อมยิง


กระทู้: วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 24, 07:33
ขอบคุณคุณ Jalito ที่นำเรื่องมาเล่าสู่กันฟังค่ะ  ขอให้วิญญาณของญาติผู้ใหญ่ของคุณไปสู่สุคติ ณ สัมปรายภพ
และขอคารวะวิญญาณทหารผู้กล้าทั้งหลายมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ