เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 07 ม.ค. 11, 17:35



กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ม.ค. 11, 17:35
 ๗ มกราคม เป็นวันที่ตรงกับวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์ที่๒ในรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

วันนี้ กรมศิลปากรและหน่วยราชการอื่นๆ ร่วมกับชมรมกองทุนพระบวรราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้จัดพิธีวางพวงมาลา บวงสรวงถวายสักการะพระบวรราชานุสาวรีย์ดังเช่นที่ได้กระทำเป็นประจำทุกปี ณ บริเวณโรงละครแห่งชาติ ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของพระบวรราชวังอันที่ประทับของพระองค์


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ม.ค. 11, 17:38
วันนี้ มีกำหนดการพิเศษจากปีที่ผ่านๆมา เพราะกรมศิลปากรจะได้ทำการเปิด “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์” ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดพระนคร ให้ประชาชนได้เข้าชมได้ใหม่ หลังจากที่ปิดไปหลายปีเพื่อกระทำการบูรณปฏิสังขรณ์ ด้วยสภาพเดิมได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ม.ค. 11, 18:11
พระที่นั่งองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์ หลังจาก “อยู่ดีๆ ท่านก็ให้มาเป็นสมภารวัดร้าง”
“สมภารวัดร้าง” คือการที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบรมเชษฐา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้กระทำพระราชพิธีบวรราชาภิเษกพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์วังหน้า ดำรงพระราชอิสริยยศเสมอพระเจ้าแผ่นดิน  มิใช่จะทรงเป็นแค่อุปราชวังหน้า เช่น สมเด็จกรมพระราชวังบวรพระองค์อื่นๆ

แต่การที่วังหน้าถูกปล่อยไว้รกร้าง หลังจากในรัชกาลที่๓ เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสิ้นพระชนม์แล้ว ไม่โปรดสถาปนาเจ้านายพระองค์ใดขึ้นเป็นวังหน้าอีก แต่ได้โปรดเกล้าฯให้ พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏทรงย้ายที่จำพรรษาจากวัดราชาธิวาส เสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร ประกาศความนัยให้คนทั้งปวงรู้ว่าในรัชกาลของพระองค์ต่อจากนั้น ผู้ใดเป็นองค์อุปราชพระบวรราชวัง

เมื่อขึ้นรัชกาลที่๔ สภาพวังหน้าเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเสด็จมาครองนั้น ชำรุดทรุดโทรมอย่างหนัก และไม่โปรดที่จะประทับที่ “พระวิมาน” ในหมู่พระราชมณเฑียรเดิม จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระที่นั่งขึ้นมาใหม่เป็นตึกทรงยุโรป เสร็จแล้วพระราชทานชื่อว่า “พระที่นั่งวงจันทร์” ตามพระนามของพระธิดาองค์หนึ่ง แล้วเสด็จประทับ ณ พระที่นั่งองค์นี้จนตลอดรัชกาล
หลังจากสวรรคตแล้ว สมเด็จกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็น “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ม.ค. 11, 19:02
บันทึกของเซอร์จอห์น เบาวริ่ง เมื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ครั้งแรกในตอนค่ำของคืนวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๓๙๘

"เวลาค่ำไปเฝ้าวังหน้าในที่ข้างในพระราชฐาน วังหน้าเป็นคนมีปัญญาความคิดฉลาด และเงียบขรึม และอ่อนโยนดี จากปัญญาความคิดที่ฉลาด จึงไม่ค่อยจะทรงเกี่ยวข้องกับการเมือง ตั้งแต่ท่าน้ำที่เราเดินขึ้นไปจนถึงพระราชวังได้ปูเสื่อลาดตลอดทาง

ห้องที่ประทับเหมาะดีและตกแต่งเข้าที เว้นแต่ที่ชักพัดแขวนสูงเกินไปจนติดฝ้าเพดาน ถ้าไม่ฉะนั้นแล้ว การที่ใช้ เครื่องตกแต่ง เกือบจะทำให้เชื่อว่าเข้าไปอยู่ในบ้านขุนนางฝรั่ง ทรงรับสั่งด้วยภาษาอังกฤษได้ไพเราะน่าฟัง ซึ่งเห็นได้ว่า เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาเล่าเรียน ปลูกฝังด้วยความรู้อย่างเลิศ ทั้งมีห้องสมุดหนังสืออังกฤษที่คัดเลือกมาอย่างดีเป็นจำนวนมาก กับมีเครื่องมือต่างๆ สำหรับใช้ในเครื่องจักรกล เท่ากับพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งทีเดียว ทั้งมีตัวอย่างงานช่างต่างๆที่ได้เจริญขึ้นในสมัยปัจจุบัน เช่นตัวอย่างเรือกลไฟขนาดย่อมและตัวอย่างเครื่องอาวุธต่างๆ ตลอดเวลาในคืนวันนั้นได้มีวงพิณพาทย์เล่นขับกล่อม ข้าพเจ้าชอบเครื่องดนตรีอย่างหนึ่งที่ทำจากเนื้อไม้ เรียงกันเป็นแผ่นต่อกันยาวประมาณสักเจ็ดฟิต เมื่อตีบนผิวไม้จะฟังไพเราะ ได้ทรงลองเล่นให้ดูด้วยพระองค์เอง  แล้วทรงแนะนำให้ข้าพเจ้ารู้จักพระธิดาองค์โปรดที่มีพระนามว่า เปีย ซึ่งได้เข้าเฝ้าอยู่ด้วย ทรงบอกว่ามีพระโอรสและธิดาอยู่ในราวยี่สิบองค์ องค์ใหญ่ ชื่อยอช เป็นผู้ดีหนุ่มที่ฉลาด อายุได้สิบแปดปี เราได้เห็นเจ้าจอมมารดาของเปียมาแอบยืนดูที่ประตู องค์หญิงทรงแต่งพระองค์ด้วยเครื่องเพชรเครื่องทองมาก แต่เมื่อเข้ามาใกล้แล้วก็ทำให้เสื้อผ้าเราเปื้อนไปด้วยสีเหลืองของขมิ้น"

     ครั้นวันที่ ๒๑ เมษายน เวลาบ่าย ๔-๕ โมง เซอร์จอห์น เบาวริ่งก็ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์อีกครั้งหนึ่ง และมีบันทึกว่า

   "วังหน้ามักจะทรงหลีกไม่ค่อยรับสั่งถึงเรื่องทางราชการแผ่นดิน วังหน้ามีลูกด้วยเจ้าจอมคนเดียวถึงเจ็ดองค์ เจ้าจอมคนนั้นเป็นที่ทรงโปรดปรานมาก และได้มาคลานคอยแอบดูอยู่ที่ข้างประตูในเวลาที่ข้าพเจ้าหยอกล้อเล่นอยู่กับองค์หญิงน้อยของเธอ ที่เรียกชื่อว่า 'เปีย' ซึ่งชอบข้าพเจ้า และได้เอาพวงมาลัยดอกไม้หอมมาสวมมือให้ วันนี้องค์หญิงเปียได้ทรงเครื่องอย่างฝรั่ง แต่ดูเหมือนว่าจะเดือดร้อนกับเครื่องทองที่เกะกะมากนัก พระองค์เจ้ายอชเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เป็นคนหนุ่มที่น่ารัก และมีนิสัยอ่อนโยนดี"


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ม.ค. 11, 19:16
ผมจะนำท่านเที่ยวชมพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ดังที่เซอร์จอห์น เบาวริ่งเล่าไว้ ในมุมมองของประวัติศาสตร์นะครับ ไม่ใช่โบราณสถาน แต่จะขออนุญาตที่จะไปช้าๆหน่อย แบบอ่านไปเขียนไป เพิ่งได้ไปดูแต่เช้าเป็นคณะแรกก่อนพิธีเปิด และถ่ายรูปทั้งหน้าฉากและหลังฉากของพระที่นั่งองค์นี้ เพราะเจ้าหน้าที่เขาเมตตาให้เข้าไปดูหลังเชือกที่กั้นเขตไว้


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ม.ค. 11, 19:47
เข้ามาจองที่นั่งแล้วครับ  ;D


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ม.ค. 11, 21:35
^
ขอบคุณครับ
.
.
ขอให้ผมนำท่านผู้อ่านตามเสด็จ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขึ้นไปชมพระที่นั่งองค์นี้ ตามที่ทรงพระนิพนธ์ไว้ในตำนานวังหน้าว่า

"พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงสร้าง ตามแบบอย่างตึกฝรั่ง เป็นตึกเก้าห้อง พื้น ๒ ชั้น รูป ๔ เหลี่ยมรี มีบันไดทำเป็นมุขขึ้นข้างนอก เพราะในสมัยนั้นยังถือกันอยู่ว่า ถ้าขึ้นทางใต้ถุนเป็นอัปมงคล…ชั้นล่างเป็นแต่ที่พนักงานอาศัยหาได้ใช้การอย่างอื่นไม่…”

เมื่อขึ้นบันไดมาถึงชั้น๒อันเป็นที่ประทับแล้ว จะเป็นเฉลียงไม้ยาวตลอดหน้าห้อง

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงบรรยายต่อไปว่า

"ตัวพระที่นั่งด้านหน้ามีเฉลียงโถง ๗ ห้อง ข้างในประธานตอนกลาง ๓ ช่อง กั้นเป็นห้องเสวย ห้องต่อมาข้างใต้ ๒ ช่อง เป็นห้องพระบรรทม มีฝาเฟี้ยมกระจกกั้นขวางอีกชั้น ๑ ต่อมาถึงที่สุดด้านใต้เป็นห้องเล็กชั่วช่อง ๑ เป็นห้องแต่งพระองค์"


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ม.ค. 11, 22:06
“…ลักษณะที่ตกแต่งพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์เป็นแบบฝรั่งทั้งสิ้น พระแท่นบรรทมสั่งมาแต่เมืองนอก เป็นพระแท่นคู่ มีรูปช้างเผือกสลักอยู่ที่พนัก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดฯให้ยกไปตั้งที่พระที่นั่งในพระราชวังบางปะอิน…”

ปัจจุบันพระแท่นทั้งคู่ ได้ถูกนำกลับมาประดิษฐานยังห้องพระบรรทมดังเดิมแล้ว ลักษณะของพระแท่นที่เห็นมีประทุนสูงนั้น ก็เพื่อไว้กางมุ้ง สำหรับคนรุ่นเราแล้ว พระแท่นที่บรรทมของพระมหากษัตริย์พระองค์ที่๒ในรัชกาลที่๔จะดูเล็กๆกว่าเตียงในโฮเต็ลทั้งหลายเสียด้วยซ้ำ มิได้ดูหรูหราอลังการอะไรดังภาพพจน์ที่เกิดจากการอ่านในพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯก่อนจะมาเห็นของจริง


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ม.ค. 11, 22:09
ขออนุญาตปาดครับ

การก่อสร้างเป็นแบบตึกฝรั่ง มีบันได้อยุ่ด้านหน้า อยากทราบว่าการก่อสร้างเป็นแบบยุโรปนี้ การลงเสาเข็มไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร จะวางไม้แกงแนงรับน้ำหนักอาคาร หรือ อิฐหักวางบนตอม่อเสาเข็มฐานแผ่ ก็น่าศึกษานะครับ


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ม.ค. 11, 07:49
ที่คุณหนุ่มสยามตั้งปุจฉาไว้ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อย ผมเรียนประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมมาแล้วก็จริง แต่จำไม่ได้ ครูบาอาจารย์ท่านได้บอกชัดๆหรือหาไม่ว่า การก่อสร้างของไทยเราเปลี่ยนจากระบบการกระจายน้ำหนักอาคาร ลงสู่ฐานรากแผ่ ให้ดินแบกรับน้ำหนัก มาเป็นฐานรากขนาดเล็กที่มีเสาเข็ม(เสาไม้)รองรับ แล้วกระจายลงให้ดินอีกทีโดยอาศัยความฝืด (friction) เพื่อรับน้ำหนัก ตั้งแต่เมื่อไหร่

พอดีเปิดตำราของอาจารย์ ดร.วิมลสิทธิ์ หรยางกูร กล่าวถึงการก่อสร้างอาคารสมัยรัชกาลที่๔ ว่า อาคารร่วมสมัยนั้น มักจะเป็นอาคารไม้แต่ก่อปูนหลอกให้ดูเป็นตึกเสียอีก ผมไม่แน่ใจเลยแต่อยากจะเดาเหมือนคุณหนุ่มสยามว่า เมื่อแรกรับรูปแบบอาคารมาจากตะวันตก คนไทยเราก็ยังเอามาประยุกต์ผสมผสานเข้ากับวิธีการก่อสร้างโดยใช้ไม้ที่ชำนาญมาแต่เดิม ดังนั้น ในส่วนฐานรากก็น่าจะผสมผสานเช่นกัน พระที่นั่งนี้อาจสร้างโดยใช้ทั้งระบบตีเข็ม และฐานรากใหญ่แบบฐานรากแผ่ด้วย (อาคารหลังนี้ นายช่างไม่จำเป็นต้องประหยัดยิ่งยวดนี่ครับ) เท่าที่เห็น อาคารไม่มีรอยชำรุดเนื่องจากทรุดตัวไม่เท่ากันเลย แม้แต่ส่วนที่ตัวบันไดเชื่อมกับตัวอาคาร ปกติเป็นจุดอ่อนที่จะเกิดรอยร้าว(ที่ไม่อันตราย) เนื่องจากสิ่งก่อสร้างสองชิ้น น้ำหนักไม่เท่ากัน อัตราการทรุดตัวจึงแตกต่างกัน แต่เมื่อวานไม่เป็นที่สะดุดตานะครับ ระบบการก่อสร้างน่าจะคำนวณเผื่อพวกฐานรากไว้มาก การทรุดตัวลงของอาคารพระที่นั่งจึงสม่ำเสมอกันทั้งหลัง

แต่คุณหนุ่มสยามน่าจะมีมุมมองในฐานะวิศวกรมาช่วยเสริมต่อด้วยนะครับ และขอเชิญทุกท่านเข้ามาร่วมวงดังเคย จะปาดจะเขียด จะถามจะเถียง หรือจะมาพาเข้าซอย ยินดีนะครับ


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ม.ค. 11, 08:18
คำว่า'ตึกเก้าห้อง'นั้น หมายความอย่างเรือนไทยที่นับช่วงระหว่างเสาถึงเสา ตามด้านยาว ๑ ช่องเท่ากับ ๑ ห้อง จึงมิใช่ว่าชั้นบนของพระที่นั่งนี้ กั้นเป็นห้องๆ รวม ๙ ห้อง

ตามที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯทรงบรรยายว่า "ตัวพระที่นั่งด้านหน้ามีเฉลียงโถง ๗ ห้อง ข้างในประธานตอนกลาง ๓ ช่อง กั้นเป็นห้องเสวย” นั้น จึงเป็นห้องตามภาพนี้ ปัจจุบันได้ปล่อยพื้นที่ไว้เป็นห้องโถง มิได้มีโต๊ะเสวยแบบฝรั่งขนาดใหญ่ที่พระราชทานเลี้ยงรับรองเซอร์จอห์น เบาวริ่งในครั้งกระนั้น

“…เวลามีแขกเมืองฝรั่งต่างประเทศ เช่นราชทูตเข้ามา ก็ทรงรับรองเลี้ยงดูที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์นี้ เล่ากันว่าถึงที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จฯอยู่ที่พระที่นั่ง อิศเรศราชานุสรณ์ ก็เสด็จอยู่อย่างฝรั่ง มีบ๋อยผู้ชาย และพนักงานข้างในเป็นสาวใช้จำกัดพอสำหรับรับใช้ แม้เจ้าจอมก็อยู่เฉพาะผู้ที่เป็น ราชูปฐาก พระเจ้าลูกเธอและพระสนมกำนัลเข้าเฝ้าฯ แต่เฉพาะเวลาเสวยเท่านั้น..."


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ม.ค. 11, 09:13
ส่วนห้องพระบรรทม ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงบรรยายว่า “มีฝาเฟี้ยมกระจกกั้นขวางอีกชั้น ๑ ต่อมาถึงที่สุดด้านใต้เป็นห้องเล็กชั่วช่อง ๑ เป็นห้องแต่งพระองค์” นั้น   ปัจจุบันไม่ปรากฏฝาเฟี้ยมกระจกดังกล่าวแล้ว

ผนังห้องพระบรรทม ด้านที่จะเข้าไปสู่ห้องแต่งพระองค์นั้น มีพระบวรฉายาทิศลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์แม่ทัพเรือสยามประดิษฐานอยู่


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ม.ค. 11, 09:31
พระบวรฉายาทิศลักษณ์ดังกล่าว จะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้พระมัสสุ มีผู้ลงความเห็นแต่โบราณว่าพระองค์ท่านทรงเป็นผู้นำชาวสยามในการไว้หนวด เพราะก่อนหน้านั้นเจ้านายไม่ทรงนิยมไว้พระมัสสุกัน

พระบวรฉายาทิศลักษณ์นี้เป็นภาพสีน้ำมัน ดูเก่าและมีริ้วรอยการเสื่อมสภาพขนาดหนัก เจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นภาพที่วาดมาจากอินเดีย ไม่ทราบว่าเป็นข้อมูลที่เดาเอาจากลักษณะพระพักตร์ที่ออกแนวแขกๆหน่อยหรือเป็นความจริงตามนั้น เพราะจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ คนอังกฤษที่เข้ามาเมืองไทยสมัยนั้นแทบจะทั้งหมด ก็โยกย้ายมาจากอินเดียด้วยกันทั้งสิ้น มิศหนอกหรือร้อยเอกน๊อกซ์ ครูฝึกทหารวังหน้าที่พระองค์ทรงจ้างไว้ นั่นก็คนสำคัญคนหนึ่งแหละ  อาจจะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดหาภาพนี้มาถวายก็เป็นได้


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ม.ค. 11, 09:44
ส่วน “ด้านใต้เป็นห้องเล็กชั่วช่อง ๑ เป็นห้องแต่งพระองค์”นั้น  เมื่อผมเข้าไปแล้วก็รู้สึกว่าเป็นห้องเล็กๆจริงๆ มีโต๊ะกระจกตามภาพ แต่มีเตียงนอนวางไว้ กรมศิลปากรบรรยายต่างกับสมเด็จกรมพระยาดำรงฯว่า เป็นห้องพระบรรทมเล็ก

ผมยังงงๆอยู่  ทำไมจึงมีห้องพระบรรทมเล็ก อยู่ติดกับห้องพระบรรทมใหญ่ สันนิฐานว่า ในช่วงปลายๆอาจมีเจ้านายมาบรรทมคอยเฝ้าท่านที่นั่น หลังจากพระพลานามัยไม่สู้จะดีแล้ว หรืออย่างไรไม่แจ้ง


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ม.ค. 11, 09:54
ขอคั่นจังหวะนิดนึงครับ

ตราพระบวรราชลัญจกรที่คุณหนุ่มสยามเอามาลงไว้ กับพระบวรราชลัญจกรบนหน้่าจั่วของพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 ม.ค. 11, 10:06
ระบบรากฐานของอาคารจะเป็นอย่างไร คงต้องมีการขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งปัจจุบันตัวอาคารยังคงสภาพที่สมบูรณ์ ไม่มีการทรุดตัวของอาคารที่ไม่เท่ากัน จึงไม่มีทางเห็นระบบรากฐานอาคารได้เลย ซึ่งดูจากอาคารแล้วมีความแข็งแรงเป็นอย่างมาก

จะขอแย้งเอกสารสักหน่อย ซึ่งพูดในลักษณะว่าในช่วงรัชกาลที่ ๓-๔ มีการก่อปูนหุ้มโครงไม้ให้ดูเหมือนอาคารก่ออิฐถือปูนนั้น จะขอแย้งว่าคงจะติดมโนภาพของการซ่อมเสริมหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานและพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย และพระอุโบสถวัดพระแก้ว ซึ่งมีการบรรยายไว้ว่า เดิมเป็นเสาไม้ และล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๓ โปรดให้ก่ออิฐถือปูนหุ้นเสานั้นไว้ โดยมีประจักษ์พยานเมื่อซ่อมแซมพระอุโบสถวัดพระแก้วเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ ก็พบแกนกลางเป็นไม้ซุง ซึ่งก็ผุไปมากแล้ว

แต่อาคารแบบยุโรปในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ ก็ไม่ต้องหลอก ก็มีเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนก็มีอยู่ โดยตึกแบบฝรั่ง สร้างแบบฝรั่งนั้นมีการก่อสร้างมาตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยา ดังเช่น หมู่ห้องพระคลังหลวงที่พระราชวังลพบุรี, อาคารตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ ก็เป็นแบบตะวันตก โดยใช้ผนังอิฐรับน้ำหนัก ภายในปูพื้นไม้กระดาน ซึ่งตึกแบบนี้มีเป็นอาคารอย่างห้องแถว หน้าต่างน้อยแต่บานใหญ่ ไม่มีกันสาด ซึ่งเป็นการถ่ายแบบจากชาวยุโรป มาสู่ภูมิภาคเอเซียตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเรียกอาคารแบบนี้ว่า "ตึก Factory" หรือ "แฟคตอรี่" ในสมัยอยุธยา

นายแฟรตอรี่ เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารลักษณะนี้ เพื่อใช้เป็นโกดังเก็บสินค้า ในดินแดนมะละกาและแพร่หลายไปยังดินแดนอาณานิคมอย่างรวดเร็ว ไทยเองก็รับเอาตึกแบบนี้เข้ามา และผสมกับฝีมือแรงงานแบบจีน ซึ่งเห็นเป็นตัวอย่างที่ท่าเรือกวางตุ้ง ซึ่งปลูกสร้างอย่างมากมาย

การวางรากระบบฐานราก ก่อสร้างในเขตพระบวรราชฐานต้องทำอย่างดีที่สุด ถ้าขุดดินลึกลงไปแน่นอนเป็นน้ำ และดินเลน หรือทางวิชาการบอกว่า เป็นดิน Bangkok's Clay เป็นเลนตะกอน หากมีแผ่นดินไหวจะสั้นดึ๋งๆๆๆๆ เหมือนสั่นถ้วยเยลลี่ และมีอัตราการทรุดตัวสูง ดังนี้การทรุดตัวของอาคารจึงทรุดตัวไปพร้อมๆกันทั้งหลัง จึงไม่เกิดปัญหาการแตกร้าวระหว่างตัวอาคารและบันไดทางขึ้น ซึ่งก่อสร้างพร้อมกัน

ในความเห็นของผมเอง จะยกตัวอย่างลักษณะการก่อสร้างอาคารเก่าแห่งหนึ่ง เป็นการก่อรากฐานอาคารแบบผนังรับน้ำหนัก และตัวฐานจะก่ออิฐเป็นเหมือนเขื่อนรอบอาคารเพื่อก่อผนังในอนาคต ระหว่างจุดตัดและมุมต่างๆ จะวางฐานอิฐแบบขั้นบันได แล้ววางบนปีกไม้ขัดเป็นตาราง ใต้นั้นห่มเสาไม้เข้าลงไปก็เป็นระบบรากฐานที่แข็งแรงอย่างดีเยี่ยม


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 ม.ค. 11, 10:08
ลักษณะรากฐานก่ออิฐแบบขั้นบันได เหนือปีกไม้และไม้เสาเข็ม


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 ม.ค. 11, 10:26
ขอคั่นจังหวะนิดนึงครับ

ตราพระบวรราชลัญจกรที่คุณหนุ่มสยามเอามาลงไว้ กับพระบวรราชลัญจกรบนหน้่าจั่วของพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์

"เจ้าฟ้าจุฑามณี" ซึ่งก็แปลว่า "ปิ่นปักผม" ครับ


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ม.ค. 11, 20:01
ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณคุณหนุ่มสยามที่มาขยายความเห็นทางวิศวกรรมของฐานรากอาคารโบราณสถานของไทย ย้อนยุคขึ้นไปจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาโน่นด้วย ผมไม่มีอะไรจะเสริมมากนักนอกจากจะเพิ่มเติมนิดเดียวว่า การก่อสร้างฐานรากนี้จะต้องลึกลงในดินมาก อาจถึง๒เมตร เพื่อให้ส่วนที่เป็นไม้จมอยู่ในระดับน้ำใต้ดินตลอดเวลา มิฉะนั้นไม้จะผุ แล้วโครงสร้างอาคารทั้งหมดจะทรุดลงตาม

ส่วนพระที่นั่งพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ดูๆแล้วก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ามีการหลอกเอาปูนหุ้มไม้ไว้ที่ไหนหรือเปล่า อาจจะเป็นงานก่ออิฐล้วนๆก็ได้ อย่างน้อยส่วนบันไดก็เป็นงานก่ออิฐฉาบปูนแน่นอน


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ม.ค. 11, 20:36
พอดีมีคนสนิทกันหลังไมค์มาฝากข้อความไว้ให้ตั้งแต่เช้าดังนี้

อ้างถึง
ระวังน้าๆๆๆๆ เดี๋ยว "นายจันหนวดเขี้ยว" โผล่มาบอกว่า "เราก็ไว้หนวด" "พระเจ้าตากสินก็มีหนวด" คิคิ

ผมจะตอบเพื่อนกลับไปทางหลังไมค์บ้างว่าผมไม่ได้นั่งเทียนเขียนขึ้นมาเองนะ ของมันมีที่มาที่ไป แต่คิดว่าเดี๋ยวอาจจะมีผู้อ่านท่านอื่นสงสัยทำนองเดียวกันว่าผมไปเอาข้อความ “ พระบวรฉายาทิศลักษณ์ดังกล่าว จะเห็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้พระมัสสุ มีผู้ลงความเห็นแต่โบราณว่าพระองค์ท่านทรงเป็นผู้นำชาวสยามในการไว้หนวด เพราะก่อนหน้านั้นเจ้านายไม่ทรงนิยมไว้พระมัสสุกัน” มาจากไหนอีก ผมก็คงจะต้องตอบ๒ที เลยขอเป็นทีเดียวตรงนี้จะดีกว่า


ผมเอาจากหนังสือเรื่อง “พระปิ่นเกล้า อ่าน เขียน เรียน “ฝรั่ง”  รู้เท่าทันตะวันตก” พิมพ์โดยกรมศิลปากร ดังนี้ครับ


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ม.ค. 11, 12:01
มาดูศัพท์แสงที่ใช้ในสมัยนั้นกันหน่อย

อ้างถึง
"ตัวพระที่นั่งด้านหน้ามีเฉลียงโถง ๗ ห้อง ข้างในประธานตอนกลาง ๓ ช่อง กั้นเป็นห้องเสวย ห้องต่อมาข้างใต้ ๒ ช่อง เป็นห้องพระบรรทม มีฝาเฟี้ยมกระจกกั้นขวางอีกชั้น ๑ ต่อมาถึงที่สุดด้านใต้เป็นห้องเล็กชั่วช่อง ๑ เป็นห้องแต่งพระองค์"

คำว่า “ประธาน” ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงทรงบรรยายนั้น ทำเอาผมงงอยู่เป็นนานว่าทรงหมายความว่ากระไร กว่าจะมาเจอในสูจิบัตรของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ความตอนหนึ่งว่าพระที่นั่งวงจันทร์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับ ลักษณะเป็นอาคารทรงยุโรป 2 ชั้น มีเฉลียงบันไดทางขึ้นอยู่ทางด้านหน้า ชั้นล่างเป็นที่อยู่ของพนักงาน ชั้นบนเป็นที่ประทับ แบ่งพื้นที่ด้านหน้าเป็นเฉลียงโถง ด้านหลังเป็นเฉลียงทึบ ในประธานแบ่งเป็นห้องต่างๆ 5 ห้อง ประกอบด้วย 1. ห้องทรงพระอักษรและห้องสมุด 2. ห้องรับแขก 3. ห้องเสวย 4. ห้องพระบรรทม 5. ห้องแต่งพระองค์และห้องสรง
เป็นอันว่า“ประธาน”มีอีกความหมายหนึ่งที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คือส่วนที่มีความสำคัญของอาคารนั่นเอง

พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์นั้น นอกจากจะมีระเบียง(เฉลียง)ไม้ยาวตลอดทุกห้องทางด้านหน้าแล้ว ด้านหลังก็จะมีเฉลียงลักษณะคล้ายๆกัน แต่จะเป็นผนังทึบ มีหน้าต่างบ้างแต่ไม่ได้โล่งโถงเช่นด้านหน้า ห้องเฉลียงด้านหลังนี้ใช้เป็นส่วนบริการของห้องหลัก(ประธาน) เวลาเสด็จอยู่ พนักงานชาวที่คงเตรียมถวายงานอยู่ภายในห้องระเบียงด้านหลังนี้

สภาพปัจจุบันมิได้เปิดแสดงต่อสาธารณะ จึงเป็นที่เก็บคุรุภัณฑ์บางอย่างที่มิได้ออกนำแสดงเช่นกัน นี่เป็นหลังฉากที่ผมโชคดีได้เข้าไปเห็น


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ม.ค. 11, 12:06
ห้องหลักที่เรียงต่อมาจากห้องพระบรรทมนั้น เป็นห้องเสวยที่โดยปกติก็เสวยพระองค์เดียว แต่ห้องใหญ่หน่อยเพราะจะมีพระราชโอรส และฝ่ายในมาเข้าเฝ้าในระหว่างเสวยนั้นด้วย

เซอร์จอห์น เบาวริงยังเขียนถึงการได้รับพระราชทานเลี้ยงในห้องนี้ไว้อีกว่า

“ในที่นี้ ได้จัดโต๊ะสำหรับเลี้ยงอาหารกลางวันไว้พร้อมสรรพอย่างโต๊ะเลี้ยงของยุโรป  ของที่ตั้งบนโต๊ะนั้นมีแต่ผลไม้และขนมแช่อิ่มเท่านั้นที่เป็นของไทย นอกนั้น ขนมปังอย่างอเมริกัน และอาหารแบบชาวตะวันตก หากพ่อครัวที่ปรุงอาหารนั้นไม่ใช่ฝรั่งแล้ว ก็ต้องเป็นผู้ที่เรียนทำอาหารแบบชาวตะวันตกมา ได้ยินมาว่า ในการทำอาหารนั้น ทรงเอาเป็นพระธุระและทรงตรวจตราอย่างละเอียดยิ่งกว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ทุกอย่างถูกตระเตรียมด้วยความสะอาด และจัดทำการเสริฟอย่างคล่องแคล่ว”


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ม.ค. 11, 13:21
บันทึกของเซอร์จอห์น เบาวริ่ง เมื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ครั้งแรกในตอนค่ำของคืนวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๓๙๘

"เวลาค่ำไปเฝ้าวังหน้าในที่ข้างในพระราชฐาน วังหน้าเป็นคนมีปัญญาความคิดฉลาด และเงียบขรึม และอ่อนโยนดี จากปัญญาความคิดที่ฉลาด จึงไม่ค่อยจะทรงเกี่ยวข้องกับการเมือง ตั้งแต่ท่าน้ำที่เราเดินขึ้นไปจนถึงพระราชวังได้ปูเสื่อลาดตลอดทาง

ห้องที่ประทับเหมาะดีและตกแต่งเข้าที เว้นแต่ที่ชักพัดแขวนสูงเกินไปจนติดฝ้าเพดาน ถ้าไม่ฉะนั้นแล้ว การที่ใช้ เครื่องตกแต่ง เกือบจะทำให้เชื่อว่าเข้าไปอยู่ในบ้านขุนนางฝรั่ง ทรงรับสั่งด้วยภาษาอังกฤษได้ไพเราะน่าฟัง ซึ่งเห็นได้ว่า เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาเล่าเรียน ปลูกฝังด้วยความรู้อย่างเลิศ ทั้งมีห้องสมุดหนังสืออังกฤษที่คัดเลือกมาอย่างดีเป็นจำนวนมาก กับมีเครื่องมือต่างๆ สำหรับใช้ในเครื่องจักรกล เท่ากับพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งทีเดียว ทั้งมีตัวอย่างงานช่างต่างๆที่ได้เจริญขึ้นในสมัยปัจจุบัน เช่นตัวอย่างเรือกลไฟขนาดย่อมและตัวอย่างเครื่องอาวุธต่างๆ ตลอดเวลาในคืนวันนั้นได้มีวงพิณพาทย์เล่นขับกล่อม ข้าพเจ้าชอบเครื่องดนตรีอย่างหนึ่งที่ทำจากเนื้อไม้ เรียงกันเป็นแผ่นต่อกันยาวประมาณสักเจ็ดฟิต เมื่อตีบนผิวไม้จะฟังไพเราะ ได้ทรงลองเล่นให้ดูด้วยพระองค์เอง  แล้วทรงแนะนำให้ข้าพเจ้ารู้จักพระธิดาองค์โปรดที่มีพระนามว่า เปีย ซึ่งได้เข้าเฝ้าอยู่ด้วย ทรงบอกว่ามีพระโอรสและธิดาอยู่ในราวยี่สิบองค์ องค์ใหญ่ ชื่อยอช เป็นผู้ดีหนุ่มที่ฉลาด อายุได้สิบแปดปี เราได้เห็นเจ้าจอมมารดาของเปียมาแอบยืนดูที่ประตู องค์หญิงทรงแต่งพระองค์ด้วยเครื่องเพชรเครื่องทองมาก แต่เมื่อเข้ามาใกล้แล้วก็ทำให้เสื้อผ้าเราเปื้อนไปด้วยสีเหลืองของขมิ้น"

     ครั้นวันที่ ๒๑ เมษายน เวลาบ่าย ๔-๕ โมง เซอร์จอห์น เบาวริ่งก็ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์อีกครั้งหนึ่ง และมีบันทึกว่า

   "วังหน้ามักจะทรงหลีกไม่ค่อยรับสั่งถึงเรื่องทางราชการแผ่นดิน วังหน้ามีลูกด้วยเจ้าจอมคนเดียวถึงเจ็ดองค์ เจ้าจอมคนนั้นเป็นที่ทรงโปรดปรานมาก และได้มาคลานคอยแอบดูอยู่ที่ข้างประตูในเวลาที่ข้าพเจ้าหยอกล้อเล่นอยู่กับองค์หญิงน้อยของเธอ ที่เรียกชื่อว่า 'เปีย' ซึ่งชอบข้าพเจ้า และได้เอาพวงมาลัยดอกไม้หอมมาสวมมือให้ วันนี้องค์หญิงเปียได้ทรงเครื่องอย่างฝรั่ง แต่ดูเหมือนว่าจะเดือดร้อนกับเครื่องทองที่เกะกะมากนัก พระองค์เจ้ายอชเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เป็นคนหนุ่มที่น่ารัก และมีนิสัยอ่อนโยนดี"


พัดโบกรูปร่างแบบนี้ใช่ไหมครับ


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ม.ค. 11, 13:53
^
คุณหนุ่มสยามเป็นเอกะทัคคะในการค้นหารูปยากๆมาแสดง เยี่ยมเลยครับ

ที่จริงพัดแบบนี้ไม่ได้เป็นแบบที่คนไทยคิดค้นขึ้นมาใช้แต่เก่าก่อน มิฉะนั้นเราคงจะรู้จักกันดีกว่านี้
ผมคิดว่า คงจะนำความคิดมาจากอินเดีย โดยทหารฝรั่งของพระองค์นั่นแหละ
อาศัยที่ทรงเป็นช่างอยู่แล้ว ก็ไม่ยากที่จะทรงลองประดิษฐ์ขึ้นมาใช้บ้าง

ผมเดาว่าคงไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไร เสียงคงดังด้วย เวลาจะคุยกันจริงจังคงน่ารำคาญ
ในราชสำนักและบ้านผู้มีอันจะกินแบบไทยๆ ให้นางในมาคอยโบกวิชนีจะดีกว่า เจริญตาเจริญใจกว่ากันลิบลับ


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ม.ค. 11, 13:57
หลังจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเสด็จสวรรคตในปีพ.ศ.๒๔๐๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดห้องกลางในพระนั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ซึ่งเป็นห้องเสวยเดิมนี้ ให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ

ครั้นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าในรัชกาลที่๕เสด็จทิวงคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวร และย้ายเจ้านายและข้าราชการวังหน้าไปสังกัดวังหลวงทั้งหมด เป็นเหตุให้วังหน้าว่างลง พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพิพิธภัฑสถานในพระบรมมหาราชวังมาจัดแสดงใน พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๐

ส่วนพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ และกรมพระราชวังบวรทุกพระองค์ ที่ประดิษฐานอยู่ในวังหน้ามาแต่เดิม โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญไปไว้ที่หอพระนาก ในพระบรมมหาราชวัง

พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ได้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถาน พระนคร ไปด้วย โดยเป็นที่จัดแสดง พระราชอาสน์ เครื่องเรือนยุโรป และจีน ตลอดจนของสะสมต่างๆ ในสมัยสมัยรัชกาลที่๔ ตามลักษณะที่เคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ มาแต่เดิม

ส่วนตู้ทองที่เคยประดิษฐานพระบรมอัฐินั้น ได้อัญเชิญพระป้ายฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสได้ทรงสร้างขึ้นสำหรับเจ้านายวังหน้าปฏิบัติบูชา เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษของลูกหลานตามคติจีน มาสถิตย์พร้อมพระป้ายสมเด็จพระบรมราชชนก(พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) และพระราชมารดา(สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี)ยังด้านข้างด้วย


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ม.ค. 11, 14:05
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี หรือเจ้าฟ้าบุญรอด พระธิดาในกรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางเธอของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กับเจ้าขรัวเงิน แซ่ตัน ถือว่าพระองค์นั้นมีเชื้อสายจีนทางพระราชมารดา

ส่วนกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระโอรสพระองค์ใหญ่ พระชนนีคือท่านเจ้าคุณจอมมารดาเอม เลยยิ่งผสมจีนเข้าไปใหญ่ ไม่น่าแปลกที่พระญาติทางพระชนนีของท่านจะนำคตินิยมทางจีนเข้ามาในราชสำนักวังหน้ามากมาย


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ม.ค. 11, 14:17
พระป้ายฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯมีขนาดกว้าง๙เซนติเมตร  ยาว๑๕เซนติเมตร  และสูง๑๒เซนติเมตร จำหลักอักษรจีน ออกพระนามว่าเจิ้ง แซ่เจิ้ง อ่านแบบแต้จิ๋วว่า แต้เจี้ย มีข้อความในลิ้นชักระบุว่า ทรงได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์องค์ที่สองของสยาม และวันเดือนปีที่พระราชสมภพ


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 11, 16:03

ห้องที่ประทับเหมาะดีและตกแต่งเข้าที เว้นแต่ที่ชักพัดแขวนสูงเกินไปจนติดฝ้าเพดาน ถ้าไม่ฉะนั้นแล้ว การที่ใช้ เครื่องตกแต่ง เกือบจะทำให้เชื่อว่าเข้าไปอยู่ในบ้านขุนนางฝรั่ง ท
พัดชนิดนี้ เรียกว่า "พัดชัก"  ไม่ใช่พัดโบก ซึ่งเป็นเครื่องสูงชนิดหนึ่ง  เป็นพัดมีด้ามยาว
ถ้าเป็นคำกริยาที่ใช้กับพัด เรียกว่า "ชักพัด"   เพราะเวลาใช้ต้องดึงสายที่ผูกอยู่กับแผ่นผ้า ให้แกว่งไปมาคล้ายๆดึงสายเปล   มีหลากหลายแบบ

(http://www.milduraclub.com.au/images/punkahs_image.jpg)

(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/a/a4/Melrose-natchez-2.jpg)
คุณ Navarat.C  เข้าใจถูกแล้วค่ะ   พัดชนิดนี้เป็นของอินเดีย  เรียกว่า punkah  (ออกเสียงว่า พันคา)  เป็นพัดที่ใช้่แขวนบนเพดาน แล้วใช้เชือกดึงให้กระพือไปมาได้    เป็นอิทธิพลอาหรับที่อินเดียรับมาอีกที
เมื่ออินเดียตกอยู่ในปกครองของอังกฤษ  บ้านช่องและออฟฟิศของนายทหารอังกฤษก็ใช้พัดชนิดนี้กันทั่วไป   เพื่อบรรเทาร้อน  เพราะต่างก็ไม่ชินกับอากาศร้อนจัดกันที่นั่น   แฟชั่นนี้คงจะเดินทางมาสยามตามนายทหารอังกฤษที่มารับราชการกับสมเด็จพระปิ่นเกล้า     
สังเกตว่าในรัชกาลที่ 3  ปราสาทราชวังและวัดวาอารามทั้งหลายของไทยไม่ได้ออกแบบให้แขวนพัดแบบนี้ได้   จะเห็นได้จากเพดานสูงลิ่ว แขวนไปลมก็ลงมาไม่ถึง      ต้องเป็นอาคารแบบตะวันตกที่เพดานเตี้ย  พอที่พัดชักจะโบกลมถึงตัวคนที่นั่งอยู่ข้างใต้ได้
คนชักพัดเป็นมหาดเล็ก  ทำหน้าที่ดึงสายชักให้พัดโบกไปมา    ความกว้างของผ้าทำให้เกิดลมในวงกว้าง    คนข้างใต้เย็นสบายพร้อมกันหลายคน  ถ้าเป็นวิชนีจากนางในเอวบางร่างน้อย ก็พัดเย็นได้คนเดียว     เปรียบได้กับพัดลมตั้งโต๊ะเครื่องเล็กๆ     ส่วนพัดชักเป็นพัดลมเพดาน
เมื่อมีไฟฟ้าใช้กัน  พอจะติดพัดลมได้ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20  พัดชักก็หมดประโยชน์ใช้สอย   



กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ม.ค. 11, 19:12
ขอนำภาพพัดชัก เมื่อ พ.ศ. 2418 มาให้ชมซึ่งวาดไว้ที่ดินแดนพม่า โดยชาวยุโรป มีการใช้พัดชัก และพัดโบก ครับ


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ม.ค. 11, 19:45
รายละเอียดของพระป้ายทั้งสาม


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 11, 20:21


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3700.0;attach=16221;image)

        'ป้าย' ชาวจีนเรียกว่า 'เกสิน' หมายถึง ป้ายชื่อของบรรพบุรุษบุพการีที่ตั้งไว้สำหรับบูชาประจำบ้าน        ธรรมเนียมจีนถือว่าการบูชาเซ่นสรวงบรรพบุรุษเป็นการแสดงกตัญญูรู้คุณ อันจะส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้ปฏิบัติ
         พระราชพิธีสังเวยพระป้าย เริ่มมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดสังเวยในวันไหว้ของจีน ณ พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน และในวันตรุษจีน ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑ ของจีน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
เครื่องสังเวยที่ใช้เป็นเครื่องสังเวยคู่ ประกอบด้วย หัวหมู เป็ด ไก่ ขนมเข่ง ขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา ผลไม้ กระดาษเงิน กระดาษทอง วิมานเทวดาทำด้วยกระดาษ ผ้าสีชมพู ประทัด ดอกไม้ ธูป เทียนเงิน เทียนทอง
       ส่วนพระป้ายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงประกอบพิธีสังเวย คือพระป้ายที่เป็นพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และพระป้ายที่เป็นพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ จารึกเป็นภาษาจีนบนแผ่นไม้จันทน์ ปิดทองขอบไม้จันทน์จำหลักลายจีน ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีนทำด้วยไม้จันทน์จำหลักลายลงรักปิดทอง ตั้งอยู่ ณ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน
       พระป้ายอีกที่ มีลักษณะเป็นเทวรูปหล่อทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายจีบเสมอพระอุระ เหมือนกับองค์พระสยามเทวาธิราช แต่พระพักตร์ลักษณะเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีน ทำด้วยไม้จันทน์ จำหลักลงรักปิดทอง มีฉัตรทอง ๕ ชั้น ตั้ง ๒ ข้าง จารึกพระปรมาภิไธยด้านหลังซุ้มเรือนแก้วเป็นภาษาจีน ตั้งอยู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
       กำหนดการพระราชพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียน เครื่องราชสักการะ และธูปหาง ปักที่เครื่องสังเวย พนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ ทรงเผากระดาษเงิน กระดาษทอง
       เมื่อธูปที่เครื่องสังเวยหมดดอก เจ้าหน้าที่จึงลาถอนเครื่องสังเวย และนำมาวิมานเทวดาไปปักในแจกันที่ใต้เครื่องบูชา พร้อมผูกผ้าสีชมพู เป็นเสร็จพิธี

http://www.econnews.org/483/ekw0483.html


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ม.ค. 11, 21:03

              พระป้ายอีกที่ มีลักษณะเป็นเทวรูปหล่อทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายจีบเสมอพระอุระ เหมือนกับองค์พระสยามเทวาธิราช แต่พระพักตร์ลักษณะเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีน ทำด้วยไม้จันทน์ จำหลักลงรักปิดทอง มีฉัตรทอง ๕ ชั้น ตั้ง ๒ ข้าง จารึกพระปรมาภิไธยด้านหลังซุ้มเรือนแก้วเป็นภาษาจีน ตั้งอยู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
       

จัดภาพให้ชมกันครับ


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 11, 21:51
บันทึกของเซอร์จอห์น เบาวริ่ง เมื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ครั้งแรกในตอนค่ำของคืนวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๓๙๘

 ทรงบอกว่ามีพระโอรสและธิดาอยู่ในราวยี่สิบองค์ องค์ใหญ่ ชื่อยอช เป็นผู้ดีหนุ่มที่ฉลาด อายุได้สิบแปดปี....
 พระองค์เจ้ายอชเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เป็นคนหนุ่มที่น่ารัก และมีนิสัยอ่อนโยนดี"


พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ 



กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 11, 21:58
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงมีพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกัน(คือเจ้าคุณมารดาเอม หรือเจ้าคุณพระชนนี) ดังนี้

1. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง สิ้นพระชนม์ก่อนปรากฏพระนาม
2. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศบวราโชรสรัตนราชกุมาร กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
3. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า(ชาย)ปรีดา สิ้นพระชนม์โดยไม่มีสายสืบราชสกุล
4. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเนาวรัตน์ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์
5. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวงจันทร์


พระรูปกรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 11, 22:01
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวงจันทร์

(http://www.royjaithai.com/rama1-8/k4-2/wongjan.jpg)


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 10 ม.ค. 11, 08:02

              พระป้ายอีกที่ มีลักษณะเป็นเทวรูปหล่อทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายจีบเสมอพระอุระ เหมือนกับองค์พระสยามเทวาธิราช แต่พระพักตร์ลักษณะเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีน ทำด้วยไม้จันทน์ จำหลักลงรักปิดทอง มีฉัตรทอง ๕ ชั้น ตั้ง ๒ ข้าง จารึกพระปรมาภิไธยด้านหลังซุ้มเรือนแก้วเป็นภาษาจีน ตั้งอยู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
       

องค์นี้ใช่ฝีมือการปั้นของพระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการใช่ไหมครับ

...ผมไม่ค่อยแน่ใจเท่าไร เมื่อว่าเคยจะผ่านตามา ???


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ม.ค. 11, 08:57
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาช่วยเสริมแต่งข้อมูลครับ
ส่วนคำถามข้างบน ขออนุญาตตอบ

พระสยามเทวาธิราช องค์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าชายดิศ (ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่น ณรงค์หริรักษ์พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเจ้าจอมมารดาปาน องค์ต้นราชสกุลดวงจักร) ผู้ซึ่งขณะนั้นทรงเป็นนายช่างเอกของกรมช่างสิบหมู่ ทรงปั้นและหล่อขึ้นนั้น เป็นรูปเทพยดาที่มีลักษณะเป็นเทวรูปหล่อยืน ทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นจีบพระดรรชนีเสมอพระอุระ สูง๘ นิ้ว งดงามได้สัดส่วน  องค์พระสยามเทวาธิราชทำด้วยทองคำทั้งพระองค์นี้สถิตในเรือนแก้วทำด้วยไม้จันทน์แบบวิมานเก๋งจีน มีคำจารึกที่ผนังเบื้องหลังเป็นอักษรจีนแปลความว่า “เทพยดาผู้สิงสถิตรักษาสยามประเทศ” ปัจจุบันประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมมหาราชวัง

ในต้นรัชกาลที่๕ หม่อมเจ้าชายดิศ “ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมช่างสิบหมู่ ภายหลังทรงมีความดีความชอบมาก ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ

ส่วนพระบรมรูปที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเลียนแบบพระสยามเทวาธิราชแต่แปลงเค้าพระพักตร์ให้เหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระบรมราชชนกเพื่อทรงสักการะนั้น มิได้มีประวัติว่าใครเป็นนายช่างตัวจริงที่ปั้นขึ้น แต่ก็คงเป็นกรมช่างสิบหมู่นั่นเองที่รับสนองพระบรมราชโองการ ดังนั้น ถ้าจะกล่าวว่าพระองค์เจ้าประดิษฐวรการเป็นผู้สร้างถวายก็คงจะไม่ผิด

พระบรมรูปองค์หลังนี้ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต



กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ม.ค. 11, 09:08
มาชมเครื่องคุรุภัณฑ์ต่างๆที่จัดแสดงไว้ในห้องกลางนี้ครับ ผมเอามาจากหนังสือแจกของกรมศิลปากร

ที่มีมากคือพระราชอาสน์ มิใช่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทั้งหมด บางองค์สูงสง่ายิ่ง ผมเข้าไปเพ่งดูใกล้ๆ (แสงน้อยมาก การถ่ายรูปโดยไม่ใชแฟรช ไม่ค่อยจะได้เรื่อง ผมจึงไม่ได้ตั้งใจจะถ่ายมา)เห็นตราว.ป.ร.ของพระบามสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯก็มี บางองค์มีตรา แต่พินิจดูไม่ออกว่าเป็นตราของพระองค์ใด สงสัยผมจะตาถั่วด้วย

ส่วนองค์นี้ เป็นของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯชัดเจน


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ม.ค. 11, 09:15
พระฉาย(กระจกเงา)ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯครับ


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ม.ค. 11, 09:17
ตะเกียงแก้วแบบยุโรป


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ม.ค. 11, 09:20
ภายหลังที่ทรงทดลองระบบไฟโดยใช้แกสเป็นผลสำเร็จ  และทรงเดินท่อแกสสำหรับผลิตไฟแสงสว่างใช้ในวังหน้า โคมไฟในพระที่นั่งจึงเปลี่ยนมาใช้หลอด


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ม.ค. 11, 09:33
พระแท่นองค์นี้ใหญ่ขนาดที่นอนKingsizeในโรงแรมห้าดาว แต่ไม่โปรดกระมัง สมเด็จกรมพระยาดำรงฯจึงทรงบันทึกไว้ว่าในห้องพระบรรทม วางพระแท่นคู่ ดังภาพที่เสนอไปแล้ว

พระแท่นองค์นี้มิได้จัดแสดงต่อสาธารณะ แต่เก็บรักษาไว้ในส่วนเฉลียงหลัง


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ม.ค. 11, 11:32
บันทึกของเซอร์จอห์น เบาวริ่ง เมื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ครั้งแรกในตอนค่ำของคืนวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๓๙๘

   " วังหน้ามีลูกด้วยเจ้าจอมคนเดียวถึงเจ็ดองค์ เจ้าจอมคนนั้นเป็นที่ทรงโปรดปรานมาก และได้มาคลานคอยแอบดูอยู่ที่ข้างประตูในเวลาที่ข้าพเจ้าหยอกล้อเล่นอยู่กับองค์หญิงน้อยของเธอ ที่เรียกชื่อว่า 'เปีย' ซึ่งชอบข้าพเจ้า และได้เอาพวงมาลัยดอกไม้หอมมาสวมมือให้ วันนี้องค์หญิงเปียได้ทรงเครื่องอย่างฝรั่ง แต่ดูเหมือนว่าจะเดือดร้อนกับเครื่องทองที่เกะกะมากนัก พระองค์เจ้ายอชเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เป็นคนหนุ่มที่น่ารัก และมีนิสัยอ่อนโยนดี"


เจ้าจอมคนโปรด ที่เซอร์จอห์น บันทึกคือเจ้าจอมมารดากลีบ มีพระเจ้าราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า 7 องค์ 

1  พระองค์เจ้าหญิงบุปผา  ประสูติพ.ศ. 2382
2  พระองค์เจ้าหญิงตลับ   ประสูติ พ.ศ. 2384
3  พระองค์เจ้าหญิง ไม่ปรากฏพระนาม  ประสูติพ.ศ. 2391
4  พระองค์เจ้าหญิงจำเริญ (พ.ศ. 2393-2450)
5  พระองค์เจ้าชายโตสินี (พ.ศ. 2394-2458)  ทรงเป็นต้นสกุล โตษะณีย์
6  พระองค์เจ้าหญิง ไม่ปรากฏพระนาม ประสูติ พ.ศ. 2396
7  พระองค์เจ้าหญิง ไม่ปรากฏพระนาม ประสูติ พ.ศ. 2397

หลังจากปีที่เซอร์จอห์น เบาริ่งเข้าเฝ้าแล้ว  เจ้าจอมมารดากลีบมีพระองค์เจ้าอีก 2 องค์  เป็นพระองค์เจ้าหญิง ประสูติพ.ศ. 2398 และพระองค์เจ้าชาย ประสูติพ.ศ. 2400  แต่น่าจะสิ้นพระชนม์เมื่อประสูติหรือไม่ก็สิ้นเมื่อยังทรงพระเยาว์มาก ก่อนจะมีพระนาม

ส่วนพระองค์เจ้าหญิงเปีย ที่เซอร์จอห์น เบาริงเล่าว่าแต่งเครื่องทรงแบบฝรั่งแต่ประดับทองเต็มองค์ และทรงทาขมิ้นเสียจนเหลืองติดมือฝรั่ง  คือพระองค์เจ้าหญิงจำเริญ 

เรื่องราวของเจ้าจอมมารดากลีบเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีรสชาติสีสันมากเอาการ แต่ไม่เกี่ยวกับกระทู้นี้   ท่านที่สนใจลองค้นกูเกิ้ลหาเอาเองนะคะ



กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ม.ค. 11, 12:08
^
ครับ ผมจวนจะจบเรื่องหลักแล้ว หากจะกลับมาต่อเรื่องอื่นๆของพระองค์ท่านบ้างก็เชิญนะครับ
.
.
.
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงเป็นผู้ใฝ่รู้ โดยเฉพาะในเรื่องของชาวตะวันตกตั้งแต่ครั้งทรงเป็นเจ้าฟ้าน้อย การศึกษาของพระองค์มุ่งไปในแนวทางเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงมีพระราชประสงค์  เข้าใจได้จากพระราชดำรัสสุดท้ายก่อนเสด็จสวรรคต  เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรหนักแต่ยังทรงดำรงพระสติอยู่ ได้มีกระแสพระราชดำรัสแสดงความที่ทรงห่วงใยบ้านเมืองไว้ว่า “...การต่อไปภายหน้า...การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่งให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่ดีควรจะเรียนร่ำเอาไว้ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว...”

ดอกเตอร์ แซมวล เฮ้าส์ (SAMUAL R. HOUSE, M.D.)ที่คนไทยเรียกว่า “หมอเหา”ที่เข้ามาเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่๓  เรื่องราวของท่านผู้นี้ได้ถูกบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “ในตอนแรกเจ้าฟ้าน้อยทรงถือโอกาสที่ได้รู้จักกันนี้ให้ช่วยแนะนำวิชาวิทยาศาสตร์ให้ พระองค์ใช้มหาดเล็กมาขอยืมหนังสือ และขอคำแนะนำเกี่ยวกับเคมี ไฟฟ้า การถ่ายรูป การพิมพ์หนังสือ และงานที่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ดร.เฮ้าส์ได้ถูกเชิญให้เข้าไปเฝ้าในวังบ่อยๆ เพื่อขอความช่วยเหลือหรือถวายการสอนเกี่ยวกับการทดลองวิทยาศาสตร์บางประการ”

ในบันทึกหรือข้อเขียนต่างๆที่บรรดาฝรั่งทั้งหลายกล่าวถึงพระองค์ ล้วนแต่ศรัทธาในความเป็นผู้ที่มีการศึกษาทันสมัย และชื่นชมในความเป็น “ผู้เจริญแล้ว”ของพระองค์ ต่างกับที่เขาบันทึกถึงเจ้านายประเทศเอเซียทั่วๆไป ที่ฝรั่งมักจะมีอคติ ว่ายังเถื่อนๆอยู่ มิได้เป็นมนุษย์ที่เจริญแล้วเช่นพวกตน

ศาสตรจารย์ริกซซ์ (Professor Fred W. Riggs) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “การปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ของสยามและพม่า” เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯสถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอขึ้นไว้ในตำแหน่งอุปราช ซึ่งมีพระราชอิสสริยยศเสมอพระเจ้าแผ่นดิน อุปราชพระองค์นี้ทรงนิยมตะวันตกและรับสั่งภาษาอังกฤษได้ดีกว่าพระเจ้าอยู่หัวเสียอีก พระองค์จึงได้อาศัยความช่วยเหลือและแนะนำจากอุปราชเป็นอันมาก”

ในขณะที่เอกสารของฝรั่งต่างยืนยันว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงเป็นกำลังสำคัญของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ และอาจจะเป็นทรงเป็นกำลังสำคัญของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯด้วย แต่เอกสารของไทยกลับไม่ได้กล่าวถึงไว้เลย

นาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี นักประวัติศาสตร์ทหารเรือนามอุโฆษท่านหนึ่ง เขียนไว้ว่า “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีห้องสมุดส่วนพระองค์ จะเสด็จไปไหนก็มักจะทรงพระอักษร(อ่าน)ไปเรื่อย มีพนักงานห้องสมุดคนหนึ่งเป็นหญิง หญิงผู้นี้ไม่รู้หนังสือเลย แต่ประหลาดที่ว่าทรงใช้ให้หยิบหนังสืออะไรเป็นหยิบมาได้ถูกต้องเสมอ”

ผมได้มีโอกาสเข้าไปดูส่วนที่เป็นห้องทรงงานในพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ประกอบด้วยห้องขนาดใหญ่๑ห้อง มีประตูเชื่อมไปยังห้องที่เล็กกว่า กรมศิลปากรบรรยายว่าห้องใหญ่คือห้องรับแขก ส่วนห้องเล็กคือห้องทรงพระอักษรและห้องสมุด


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ม.ค. 11, 12:14
ห้องที่ปัจจุบันแต่งเป็นห้องรับแขก ในครั้งที่สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯยังทรงดำรงอยู่ อาจเป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุดด้วย และโมเดลพวกงานทางวิศวกรรมอื่นๆก็น่าจะวางไว้ในห้องนี้ เซอร์จอห์น เบาวริงจึงมีโอกาสได้เห็นและบันทึกไว้ให้คนไทยรู้

น่าเสียดายที่ทางพิพิธภัณฑ์มิได้หาสรรพสิ่งต่างๆของพระองค์ ตามที่เซอร์จอห์น เบาวริงกล่าวไว้ กลับมาแสดงตามตำแหน่งแห่งที่เดิม ซึ่งจะทำให้เยาวชนเกิดความประทับใจในประวัติศาสตร์ยิ่งขึ้นไปอีก


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ม.ค. 11, 12:16
ส่วนห้องเล็กๆที่อยู่ติดกัน วางโต๊ะทรงพระอักษรไว้ แค่โต๊ะเดียวก็คับห้อง ดังนั้นห้องนี้แม้ในอดีตจะมีตู้หนังสือ ก็น่าจะเป็นส่วนน้อย และคงจะเป็นพวกReference bookที่จะทรงหยิบมาใช้งานบ่อยๆ


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ม.ค. 11, 12:18
ห้องที่น่าสนใจที่สุด และติดตาติดใจผมกลับมาก็คือห้องน้อยที่อยู่แนวระเบียงหลัง ติดกับห้องทรงพระอักษรนั่นเอง


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ม.ค. 11, 12:25
เมื่อเห็นว่าสนใจ เจ้าหน้าที่จึงกล่าวกับพวกเราด้วยเสียงเรียบๆว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงพระประชวร และเสด็จสวรรคตในห้องนั้น

ผมเดินเข้าไปใกล้ๆ ที่นั่นมีเตียงเล็กๆตั้งอยู่
“บนพระแท่นนี่หรือครับ”
“ครับ บนพระแท่นนี่”
ผมกวาดสายตามองไปรอบๆห้อง
“ที่พระจอมเกล้าฯกับเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เสด็จมาเยี่ยม ก็ห้องนี้หรือครับ”
“ครับ”
....เงียบ
....ทั้งหมดถอยออกมาจากห้องนั้นช้าๆ ไม่มีใครพูดอะไรกันอีก

ตั้งแต่ปลายปีระกา ตรีศก จุลศักราช ๑๒๒๓ ตรงกับพุทธศักราช ๒๔๐๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงพระประชวรมีพระอาการต่างๆ ไม่เป็นไปโดยปรกติ  ไม่สบายพระองค์เรื่อยมา
  
เรื่องนี้ พระบาทสมเด็จฯพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสเล่าให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯฟังว่า

“…..เวลาเมื่อพระบาทสมเด็จฯพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรหนักอยู่นั้น  วันหนึ่งพระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปเยี่ยม  พระบาทสมเด็จฯพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า  ใคร่จะกราบบังคมทูลความลับสักเรื่องหนึ่ง  แล้วตรัสขับบรรดาผู้ที่เฝ้าแหนอยู่ในที่นั้น ให้ลงมาเสียจากพระที่นั่งอิศเรศร์ราชานุสรณ์  ให้อยู่แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้เชิญพระแสงของสมเด็จพระบรมชนกนาถพระองค์ ๑ กับกลีบจอมมารดาซึ่งเป็นผู้พยาบาล  และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จฯพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกคน ๑ เมื่อเป็นที่รโหฐานแล้ว พระบาทสมเด็จฯพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวกราบบังคับทูลว่า  พระองค์ก็จะไม่ได้ดำรงพระชนม์อยู่ไปได้กี่วันแล้ว  จะขอถวายปฏิญาณว่าการที่ได้ทรงสะสมกำลังทหารและเครื่องศัสตราวุธยุทธภัณฑ์ไว้เป็นอันมากนั้น  จะคิดร้ายต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอย่างหนึ่งอย่างใดไม่มีเลย  แต่ไม่ไว้ใจเจ้าพระศรีสุริยวงศ์  เกรงว่าถ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตลงเมื่อใด  เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะกำเริบขึ้น  จึงได้เตรียมกำลังไว้ป้องกันพระองค์  เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว ขอให้สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงระวังต่อไปให้จงดี ดังนี้  พระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานปฏิญาณว่า  มิได้เคยทรงระแวงสงสัยในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอย่หัวว่าจะทรงคิดร้ายต่อพระองค์  แต่เรื่องเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์นั้น  หาได้มีพระราชดำรัสตอบประการใดไม่”  
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ไม่ได้ทรงสั่งการอันหนึ่งอันใดให้ลำบากพระราชหฤทัยอีก  แสดงความเชื่อถือพระราชอัธยาศัยของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสิ่งหนึ่งสิ่งใดในอนาคต

จนถึงเดือน๖ ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๑๒๒๗ ทรงพระประชวรมาก พระกายทรุดโทรม  พระกำลังหย่อนลง  แพทย์หมอหลายพวกหลายเหล่าถวายพระโอสถแก้ไข   พระอาการคลายบ้าง แล้วทรุดไปเล่า จนถึงวันอาทิตย์  เดือน๒ แรม ๖ ค่ำ  ปีฉลู  สัปตศก  เวลาเช้า๓โมง  คือ๙ นาฬิกา แต่เที่ยงคืน เมื่อเวลาพระอาทิตย์  สถิตราศีธนู องศา ๒๕ (วันอาทิตย์ที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๐๘ เวลา ๐๙.๐๐)  เสด็จสวรรคต    สิริพระชนมายุตามจันทรคติอย่างชาวสยามใช้  ได้ ๕๗ ปี กับ ๕เดือน กับ ๕ วัน    นับเป็นวันได้ ๒๐๙๔๓ กับเศษอีก ๔ ชั่วโมง


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ม.ค. 11, 13:31
สงสัยว่าทำไมพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯจึงประทับบรรทมอยู่ในห้องเล็กขนาดนั้น       ไม่บรรทมในห้องใหญ่ของเดิม  ซึ่งกว้างขวาง
น่าจะสบายกว่า
ห้องเล็กขนาดนี้ เจ้าจอมหม่อมห้ามและพระราชโอรสธิดาจะเข้าเฝ้าก็ลำบาก    แล้วยังพวกหมอที่ถวายการรักษามาตั้ง ๕ ปี   น่าจะเข้ากันได้แค่ทีละคนสองคนอย่างมาก  มากกว่านี้ไม่มีที่นั่ง

สังเกตว่าห้องเล็กไม่มีหน้าต่าง มีแต่ประตูด้านหัวเตียงและข้างเตียง  ส่วนปลายเตียงมีหรือเปล่าไม่ทราบ   
ถ้าประตูนั้นเปิดออกไปสู่ระเบียงก็น่าจะลมพัดผ่านเข้ามาได้  พอเข้าใจได้ว่าบรรทมในห้องนี้น่าจะสบาย       แต่ถ้าเปิดไปสู่อีกห้อง  คงทำให้ห้องนี้อับทึบเอาการ

ดูจากรูปที่คุณ Navarat.C ถ่ายมา  ห้องบรรทมใหญ่และห้องบรรทมเล็ก เจ้าหน้าที่จัดพระแท่นที่บรรทมบังประตูไว้ทั้ง 2 รูป 

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3700.0;attach=16195;image)


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3700.0;attach=16243;image)

ปกติเวลาจัดห้อง   เราจะไม่ตั้งเครื่องเรือนขวางประตู    ทำให้ประตูหมดโอกาสใช้ไปโดยปริยาย   เลยคิดว่าแต่เดิม พระแท่นคงไม่ได้วางอยู่ตามจุดนี้ละมังคะ 
ทำให้สงสัยต่อไปว่า ห้องเล็กเป็นห้องบรรทมตอนประชวรจริงหรือ?


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ม.ค. 11, 13:53
^
คำเห็นและคำถามข้างบน เชื่อว่าทุกคนคงรู้สึกเช่นนั้น แต่ก็ไม่มีใครคิดจะซักถามเจ้าหน้าที่ที่เปิดเผยข้อมูลให้ดังกล่าวให้ทราบ ข้อเท็จจริงจะต่างกับที่ท่านว่าหรือไม่นั้น ผมไม่สามารถจะยืนยันได้ (อย่างน้อยในขณะนี้)

ความรู้ใหม่ที่ได้เห็นพระที่นั่งที่ประทับอยู่ตลอดรัชสมัย ย้ำความเข้าใจผมของผมที่มีมาโดยตลอดก็คือ สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯนั้นทรงสมถะ โปรดอะไรที่เรียบง่าย มิได้หรูหราฟุ่มเฟือย แม้ด้วยโดยพระราชฐานะที่ทรงเป็นกษัตริย์ พระองค์ก็น่าจะกระทำอะไรๆให้ยิ่งกว่านี้ได้ แต่ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนใหญ่ที่ทรงใช้ มิใช่เพื่อบำเรอความสุขส่วนพระองค์ แต่น่าจะหมดไปมากกับงบทางการทหาร ที่ทรงสร้างสมกำลังทั้งทหารเรือและทหารปืนใหญ่ ตลอดจนยุทโธปกรณ์นำสมัยตามมาตรฐานของยุโรป

ถึงกระนั้น แม้พระบวรราชวังและพระที่นั่งที่ประทับ จะห่างระดับกับพระบรมมหาราชวัง และพระราชวังของชาวยุโรปมาก แต่ก็ไม่มีฝรั่งผู้ใดที่เคยพบเห็นและสัมผัสกับพระองค์จะหยามเหยียดในข้อด้อยดังกล่าว นอกจากจะยกย่องความเป็นผู้รู้ และการวางพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการบ้านการเมือง อันที่เป็นที่เข้าใจเป็นดีว่า เป็นพระราชอาญาสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์พระองค์ที่๑ ส่วนพระองค์เองนั้นทรงเป็นทหาร รับภาระหน้าที่ต่อบ้านเมืองคนละประเภทกับพระเชษฐา

เมื่อเริ่มต้นเขียนกระทู้นี้ ผมไม่ทราบดอกว่า พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์จะเปิดให้ประชาชนเข้าชมปีละ๑ครั้ง ในทุกวันที ๗ มกราคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตพระองค์ท่านเท่านั้น มาทราบจากการคลิ๊กไปคลิ๊กมาในอินเทอเนตนี่เอง และไม่ทราบเหมือนกันว่ากรมศิลปากรมีเหตุผลอะไร ที่ลงทุนบูรณปฏิสังขรณ์ด้วยงบประมาณใหญ่โตเพื่อปีหนึ่งๆจะปิดเอาไว้๓๖๔วัน เปิดเพียง๑วัน เช่นนั้น
.
.
รู้สึกว่าดีที่ผมเขียนกระทู้นี้ขึ้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯท่านทรงเจียมพระองค์ต่อสมเด็จพระเชษฐาอย่างยิ่ง เกรงจะไปทัดเทียม จึงเป็นเพียงเสมอเงาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเท่านั้น  ไม่มีใครจะได้ทราบบทบาทแท้จริงของพระองค์โดยเฉพาะช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อช่วงต้นของรัชกาล ที่นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า คงไม่ใช่เรื่องดวงพระชะตาที่เจ้าฟ้ามงกุฏทรงอ้างในการยกเจ้าฟ้าน้อยขึ้นเป็นกษัตริย์เสมอพระองค์เลย แม้โหราจารย์บางท่านก็ออกมาวิจารณ์อย่างสอดคล้องว่าดวงพระชะตาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯนั้นข่มดวงพระชะตาของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทุกอย่าง ยกเว้นเรื่องดาวอังคารอันเกี่ยวกับการทหาร ดังนั้น นอกจากคนที่หลักสูตรการศึกษากำหนดให้เรียนวิชาประวัติศาสตร์แล้ว จึงไม่มีใครจะรู้จักพระองค์ ที่รู้จักก็ยังน้อยมาก กระทู้นี้อาจทำให้ท่านผู้อ่านรู้จักพระองค์ในบางแง่บางมุมเพิ่มขึ้น

เป็นความจริงนะครับ ที่ว่าคนยุคใหม่เข้าใจว่า “พระปิ่นเกล้า” คือสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งหนึ่งในกรุงเทพเท่านั้น


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ม.ค. 11, 14:23
อ้างถึง
ปกติเวลาจัดห้อง   เราจะไม่ตั้งเครื่องเรือนขวางประตู    ทำให้ประตูหมดโอกาสใช้ไปโดยปริยาย
 

ที่เห็นในรูปนี้ไม่ใช่ประตูครับ แต่เป็นหน้าต่างยาวตลอดที่เรียกว่า(French Window) สังเกตุลูกกรงไม้ที่เป็นที่กันตก ด้านบนของลูกกรง สมัยโน้นคงเปิดโล่ง ปัจจุบันมีเหล็กดัดไปใส่ไว้เป็นสิ่งแปลกปลอมอยู่
ถ้าเปิดบานหน้าต่างยาวนี้ออกไป ห้องจะโปร่งมาก อาจจะมากไปด้วยซ้ำสำหรับคนไข้

ถ้าทรงพระประชวรและประทับรักษาพระองค์ในห้องนี้จริงๆ พระแท่นคงไม่ได้อยู่ตำแหน่งนั้นอยู่ดี อย่างน้อยต้องขยับออกมาให้ผู้ถวายการพยาบาลเดินรอบได้

ห้องพระบรรทมใหญ่ก็เหมือนกันครับ ช่องที่ว่าประตูนั้นมีลูกกรงไม้สีเหลืองๆติดอยู่ แสดงว่าสามารถเปิดออกเหมือนประตู แต่ไม่ได้ให้คนเดินเข้าเดินออกทางนั้น


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ม.ค. 11, 14:52
เพิ่งดูออกว่าเป็น French windows แบบไทย    ช่วงบนเป็นเหล็กดัด ช่วงล่างเป็นลูกกรง    เดิมคงมีแต่เฉพาะลูกกรงครึ่งล่าง ส่วนครึ่งบนโล่งให้ลมพัดเข้าออกได้

เอารูป french windows แบบต่างๆมาให้ดูกันค่ะ บางแบบก็ทำหน้าที่เหมือนหน้าต่าง ไม่ได้เอาไว้ให้เดินเข้าออก

(http://www.dtawanbooks.com/webboard/dtawanbooks_20080225145857.jpg)

แต่บางแบบก็ทำหน้าที่เดียวกับประตู

(http://www3.northern.edu/wild/th241/French_window2.jpg)


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ม.ค. 11, 15:35
ตั้งแต่ปลายปีระกา ตรีศก จุลศักราช ๑๒๒๓ ตรงกับพุทธศักราช ๒๔๐๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงพระประชวรมีพระอาการต่างๆ ไม่เป็นไปโดยปรกติ  ไม่สบายพระองค์เรื่อยมา
  
จนถึงเดือน๖ ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๑๒๒๗ ทรงพระประชวรมาก พระกายทรุดโทรม  พระกำลังหย่อนลง  แพทย์หมอหลายพวกหลายเหล่าถวายพระโอสถแก้ไข   พระอาการคลายบ้าง แล้วทรุดไปเล่า จนถึงวันอาทิตย์  เดือน๒ แรม ๖ ค่ำ  ปีฉลู  สัปตศก  เวลาเช้า๓โมง  คือ๙ นาฬิกา แต่เที่ยงคืน เมื่อเวลาพระอาทิตย์  สถิตราศีธนู องศา ๒๕ (วันอาทิตย์ที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๐๘ เวลา ๐๙.๐๐)  เสด็จสวรรคต    สิริพระชนมายุตามจันทรคติอย่างชาวสยามใช้  ได้ ๕๗ ปี กับ ๕เดือน กับ ๕ วัน    นับเป็นวันได้ ๒๐๙๔๓ กับเศษอีก ๔ ชั่วโมง


อาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว คือวัณโรค  สมัยนั้นเป็นโรคร้ายแรงพอๆกับมะเร็ง  เพราะรักษาไม่หาย ไม่มียาดีเหมือนสมัยนี้
ตามประวัติเล่าว่าเสด็จไปเที่ยวรักษาพระองค์ตามหัวเมือง   มักจะเสด็จไปประทับตามถิ่นที่มีบ้านลาว  เพราะโปรดฯแอ่วลาว  สถานที่ที่เสด็จก็เป็นบ้านสัมปะทวน แขวงจังหวัดนครชัยศรีบ้าง  ทางเมืองพนัสนิคมบ้าง  แต่ไปประทับที่ตำหนักบ้านสีทา แขวงจังหวัดสระบุรีโดยมาก  

ดิฉันไม่ทราบว่าสมัยนั้นหมอไทยแนะนำการรักษาอย่างไร ต้องถามคุณหมอ CVT   แต่เคยอ่านพบว่าฝรั่งรักษาวัณโรคด้วยการให้คนป่วยโยกย้ายไปอยู่ในที่อากาศดี  เชื่อว่าอากาศในทุ่งกว้าง รักษาโรคนี้ได้   ถ้าอยู่ในเมืองมักไม่รอด
สมเด็จพระปิ่นเกล้าอาจจะเสด็จไปหัวเมืองเพราะมีหมอฝรั่งทูลแนะนำก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม  ทรงไม่หายขาด   พ.ศ. ๒๓๑๘  พระอาการหนักลง  ต้องเสด็จกลับกรุงเทพ   ถึงกำหนดพระฤกษ์จะได้ทำการพระราชพิธีโสกันต์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัว  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอย่หัวทรงพระราชดำริว่าสมเด็จพระอนุชาธิราชประชวรมาก  จะโปรดฯให้เลื่อนงานโสกันต์ไป  ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กราบทูลขออย่าให้เลื่อนงาน  ว่าพระองค์ประชวรมากอยู่แล้วจะไม่ได้มีโอกาสสมโภช  จึงต้องโปรดฯให้คงงานไว้ตามพระฤกษ์เดิม

ครั้นถึงงาน  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้เจ้าพนักงานเตรียมกระบวนจะเสด็จลงมาจรดพระกรรไกรพระราชทาน  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ต้องรับสั่งให้ทอดที่ราชอาสน์เตรียมไว้รับเสด็จตามเคย  ทั้งทรงทราบอยู่ว่าพระอาการมากจะไม่เสด็จลงมาได้  โดยจะมิให้สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯน้อยพระทัย  ด้วยทรงพระเมตตาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก  รับสั่งเล่าว่า เมื่อยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น  เสด็จขึ้นไปเฝ้าเมื่อใด  มักดำรัสเรียกเข้าไปใกล้แล้วยกพระหัตถ์ลูบ รับสั่งว่า "เจ้าใหญ่นี่แหละ ต่อไปจะเป็นที่พึ่งของญาติได้"

พอถึงวันสุดงานพระราชพิธีโสกันต์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ก็เสด็จสวรรคตที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์  พระชนมายุได้๕๘ พรรษา


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ม.ค. 11, 19:09
การพระศพโปรดเกล้าฯให้เรียกว่าพระบรมศพ  จัดเหมือนอย่างพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทุกอย่าง  เว้นแต่มิได้ทรงพระลองเงินกับประกาศให้คนโกนหัวไว้ทุกข์แต่ที่มีสังกัดในพระบวรราชวัง  เหมือนอย่างกรมพระราชวังบวรฯ  มิได้ให้โกนหัวทั้งแผ่นดิน

     พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดฯให้ทำพระเมรุที่ท้องสนามหลวง  ตามแบบอย่างพระเมรุพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน  และจัดการแห่พระเมรุพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทำนองกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ในรัชกาลที่ ๒  แต่เพิ่มเติมพระเกียรติยศพิเศษขึ้นอีกหลายอย่าง
      รายการงานพระเมรุครั้งนั้น ณ เดือน ๓ ขึ้น ๔ ค่ำ  เชิญพระบรมธาตุแห่แต่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยในพระบวรราชวัง  ออกประตูมหาโภคราช  และประตูบวรยาตราด้านตะวันออก  มาสมโภชที่พระเมรุวันกับคืนหนึ่ง  แห่พระบรมธาตุกลับแล้ว  ถึงเดือน ๓ ขึ้น ๖ ค่ำ เพลาบ่าย ๒ โมง  เชิญพระบรมศพแห่ออกประตูโอภาษพิมานชั้นกลางด้านเหนือ  และประตูพิจิตรเจษฎาด้านตะวันตกพระบวรราชวัง  ไปถึงตำหนักแพ  เชิญพระบรมโกศประดิษฐานเหนือพระแท่นแว่นฟ้าในเรือพระที่นั่งกิ่งไกรสรมุข  แห่ล่องมาประทับที่พระราชวังเดิม  ด้วยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประทับอยู่ตลอดในรัชกาลที่ ๓ มีมหรสพสมโภชคืนหนึ่ง 
    ครั้นเวลาดึกเคลื่อนเรือพระบรมศพมาประทับที่ท่าฉนวนวัดพระเชตุพนฯ  รุ่งขึ้น ขึ้น ๖ ค่ำ เวลาเช้าแห่กระบวนน้อยไปยังที่ตั้งกระบวนใหญ่ที่สนามชัย  เชิญพระบรมโกศขึ้นพระมหาพิชัยราชรถแห่ไปยังพระเมรุมาศ  ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและมีมหรสพสมโภช ๗ วัน  แล้วพระราชทางเพลิงเมื่อขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๓  เมื่อเสร็จการสมโภชพระบรมอัฐิแล้ว  โปรดฯให้เชิญไปประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ที่ในพระบวรราชวัง


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ม.ค. 11, 19:37
เมื่อจบเรื่องหลักแล้ว อ.NAVARAT.C พอจะมีเรื่อง "วังสีทา" บ้างหรือไม่ครับ

เมื่อได้อ่านช่วงปลายรัชกาลแล้ว พระองค์ท่านพระชนม์น้อยเกินไปนะครับ ทรงแต่งตำราปืนใหญ่ เรือรบ ไว้สำหรับเป็นเกียรติยศแก่แผ่นดิน และพระองค์ทรงทันสมัยมากในสมัยนั้นไม่น้อยเลยทีเดียวครับ

ภาพการตั้งพระโกศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ม.ค. 11, 19:44
ภาพริ้วกระบวน


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ม.ค. 11, 19:45
ภาพพระเมรุ เดิมพระเมรุปรุงยอดแบบปราสาท แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงโปรดให้เปลี่ยนเป็นยอดปรางค์


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ม.ค. 11, 20:39
เรื่องห้องบรรทมในวาระสุดท้ายของพระชนมชีพนั้น เป็นหน้าต่างบานใหญ่ยาวตั้งแต่พื้นยาวขึ้นไปตามความสูง
1. บานหน้าต่างเปิดได้ชั้นเดียว หรือ เปิดได้ผสมบานกระทุ้งครับ
2. การที่เป็นวัณโรค คงต้องการอากาศที่ปลอดโปร่ง จึงต้องให้ลมพัดผ่านได้สะดวก ดังนั้นผมใคร่อยากทราบถึงตำแหน่งของห้องนี้ตั้งอยู่มุมใด
3. อยากทราบว่า เมื่อเปิดหน้าต่างทั้งสองบานออก ใคร่อยากทราบวิว ที่มองผ่านออกไปจังเลยครับ


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ม.ค. 11, 22:08
อ้างถึง
1บานหน้าต่างเปิดได้ชั้นเดียว หรือ เปิดได้ผสมบานกระทุ้งครับ
เท่าที่เห็นจากด้านอื่น ดูภายนอกเป็นบานเกล็ดในท่อนบน ท่อนล่างเป็นบานทึบ แต่สังเกตุในรูปซึ่งเป็นด้านภายในของห้องนั้นจริงๆ จะเห็นเป็นบานทึบตลอด อันนี้ไม่แน่ครับ อาจมาเสริมเข้าไปตอนเป็นพิพิธภัณฑ์ก็ได้ หน้าต่างบานเกล็ดที่ไม่มีคนเฝ้าดูอยู่เป็นประจำจะมีปัญหาทั้งฝน ทั้งฝุ่น ไม่เหมาะแก่การใช้สอยอาคารที่เปลี่ยนประเภทไป

อ้างถึง
2. การที่เป็นวัณโรค คงต้องการอากาศที่ปลอดโปร่ง จึงต้องให้ลมพัดผ่านได้สะดวก ดังนั้นผมใคร่อยากทราบถึงตำแหน่งของห้องนี้ตั้งอยู่มุมใด

ตามภาพนะครับ

อ้างถึง
3. อยากทราบว่า เมื่อเปิดหน้าต่างทั้งสองบานออก ใคร่อยากทราบวิว ที่มองผ่านออกไปจังเลยครับ
สมัยของพระองค์ท่านกับสมัยนี้ต่างกันมโหฬาร ลองดูภาพปัจจุบันก่อนนะครับ แล้วลองเปรียบเทียบกับแผนผังวังหน้าในสมัยโบราณดู

1 พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์
2 โรงราชรถ
3 กลุ่มพระบวรราชมณเฑียร
4 พระที่นั่งสุทไธสวรรค์
5 พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน
6 โรงละครแห่งชาติ


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ม.ค. 11, 06:35
อ้างถึง
เมื่อจบเรื่องหลักแล้ว อ.NAVARAT.C พอจะมีเรื่อง "วังสีทา" บ้างหรือไม่ครับ
เคยไปดูโบราณสถานวังสีทาที่แก่งคอยเมื่อกว่าห้าปีมาแล้ว หลังจากที่มีข่าวว่าพบวังของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯที่อำเภอนั้น เมื่อไปเห็นก็สลดใจครับ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในครอบครองของเอกชน ทางราชการคงทำอะไรมากไม่ได้  ส่วนใหญ่ก็เป็นไร่ข้าวโพดไปแล้ว ผมไปเห็นศาลทำค้วยไม้ ลักษณะเป็นศาลเพียงตาขนาดใหญ่หน่อย เพื่งจะทำขึ้นมาใหม่ เห็นพระบวรฉายาลักษณ์ใส่กรอบรูปตั้งอยู่ มีร่องรอยชาวบ้านไปจุดธูปจุดเทียนขอหวยกันมากมาย เป็นวัตถุประสงค์หลักที่คนไปที่นั่น

ภายในขอบเขตที่ดินที่ไม่รกเกินพอจะเดินไปดูได้ ปรากฏทรากฐานอาคารกระจัดกระจายอยู่ ไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไร แต่ดูอาณาบริเวณแล้ว ก็ไม่ใช่วังมโหฬารอะไร บ้านตากอากาศของเจ้านายสมัยหลังที่ไปสร้างกันตอนหัวหินบูมใหม่ๆ ยังดูจะใหญ่กว่า

ถ้าจะบีบคั้นถามความเห็น ผมว่าวังสีทาไม่น่าจะมีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นปราการต่อต้านฝรั่ง หากโดนเอาเรือรบเข้ามายึดกรุงเทพดังที่เอกสารประวัติศาสตร์อ้าง แต่คงจะเป็นที่หลบพักอารมณ์มากกว่า ในยามที่การเมืองภายในมีเชื้อ พวกอยู่ไม่สุขจะโหมลมปากให้ไฟระอุ อยากเห็นพญาช้างสารชนกัน การถอยเข้าฉากจะเป็นวิธีดีที่สุดที่จะลดอุณหภูมิ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เอง ในช่วงปลายๆชีวิตก็ทำเช่นเดียวกัน ท่านเลือกที่จะลี้ภัยจากข่าวลืออัปมงคลต่างๆไปพำนักอยู่ที่ราชบุรี ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว พวกลูกขุนพลอยพยักก็ไม่รู้จะเอามูลที่ไหนไปเต้าข่าว เรื่องที่ไม่เป็นเรื่องก็จางลงไปเอง

เดี๋ยวนี้สภาพโบราณสถานวังสีทาดีชึ้นมากว่าที่ผมเคยเห็น ท่านที่สนใจจะลองเข้าไปหาข้อมูลอ่านจากกูเกิลได้ โดยพิมพ์คำว่า “วังสีทา” ลงไป จะปรากฏเวปต่างๆที่เกี่ยวข้องออกมามากมาย ถ้าให้ผมเขียนขึ้นมาอีก ทั้งเนื้อและน้ำก็คงจะซ้ำๆตามนั้น ไม่มีอะไรใหม่ อย่างที่ผมปรารภไปแล้ว เราทราบพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯน้อยมาก

เวปที่เอามาให้ลองเข้าไปดูนี้ เป็นของกรมศิลปากร จะมีข้อมูลที่เป็นทางการหน่อยครับ

http://www.gis.finearts.go.th/fad50/fad/display_data.asp?id=0000761#


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ม.ค. 11, 15:31
กระทู้นี้แยกไปที่

" เราที่สองรองภูมินทร์นามปิ่นเกล้า"
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4184.msg76739;topicseen#msg76739


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ม.ค. 11, 14:26
วันนี้ได้ภาพพระที่นั่งคชกรรมประเวศชัดๆมาฝากครับ

พระที่นั่งนี้ สร้างขึ้นภายในพระบวรราชวัง โดยเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเอง  เนื่องจากไม่มีธรรมเนียมให้ก่อสร้างปราสาทภายในพระบวรราชวังมาก่อน (อาคารที่มีเรือนยอดเหนือหลังคาเป็นกุฎาคารนั้น เรียกว่าปราสาท) ในสมัยที่กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพทรงสร้างวัดบวรสถานสุทธาวาส หรือวัดพระแก้ววังหน้านั้น ทรงเตรียมขึ้นโครงหลังคาพระวิหารเป็นกุฎาคาร ความทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯรับสั่งให้คนไปห้าม จึงต้องทรงระงับ และเปลี่ยนแบบหลังคาเป็นทรงจตุรมุขแทน สัดส่วนของอาคารจึงเสียไป ดูไม่งดงามเท่าที่ควร กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพท่านทรงน้อยพระทัยในเรื่องนี้อยู่มาก ส่วนเครื่องยอดปราสาทที่ปรุงไม้ไว้แล้วนั้น โปรดให้ไปสร้างมณฑปถวายไว้ที่วัดมหาธาตุ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงสถาปนาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ให้เสด็จมาประทับที่วังหน้า จึงโปรดให้สร้างพระที่นั่งคล้ายพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ขึ้นหน้าพระที่นั่งสุทไธยสวรรค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ในฐานะที่ทรงเป็นกษัตริย์เช่นกัน พระราชทานนามพระที่นั่งนี้ว่า"พระที่นั่งคชกรรมประเวศ" เพราะมีเกยสำหรับขึ้นทรงช้างด้วย

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เครื่องไม้ของพระที่นั่งผุกร่อนและชำรุดมาก จึงโปรดเกล้าฯให้รื้อพระที่นั่งองค์นี้ออก คงเหลือแต่ฐานปราสาทและเกยช้าง

แม้ในภาพนี้จะมองไม่เห็นกระทั่งหลังคาของพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ แต่ทางด้านขวา จะได้เห็นบรรยากาศของสิ่งก่อสร้างและสภาพแวดล้อมด้านหน้าพระที่นั่งองค์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯประทับอยู่จนวันสวรรคต ดังที่คุณหนุ่มสยามตั้งปุจฉาค้างไว้  ยังดูโปร่งโล่งดี  มีต้นไม้บังเขตพระราชฐานพอสมควร




กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 11, 15:29
เข้าใจว่าเป็นพระที่นั่งสร้างขึ้นเป็นองค์แรก เมื่อมีพระบวรราชวัง   ก่อนสร้างพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์   
ถ้าอย่างนั้นสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯคงจะเสด็จอยู่ที่นี่ จนกระทั่งพระที่นั่งอิศเรศฯสร้างเสร็จ  จึงได้ทรงย้ายไป?


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 ม.ค. 11, 15:43
ผมลองเดินมาทางอีกปีกหนึ่งของ พระที่นั่งคชกรรมประเวศ นะครับ อ. NAVARAT.C จะเห็นกลุ่มสิ่งก่อสร้างด้านขวามือภาพ เป็นสิ่งก่อสร้างอะไรครับ


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 11, 15:55
ขยายภาพให้ท่านอื่นๆช่วยดูด้วย


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ม.ค. 11, 16:28
ขอเลือกตอบอันนี้ก่อนนะครับ (ครูสอนไว้ว่า ข้อสอบที่ยากๆ ให้เลือกตอบทีหลัง)

อ้างถึง
เข้าใจว่าเป็นพระที่นั่งสร้างขึ้นเป็นองค์แรก เมื่อมีพระบวรราชวัง   ก่อนสร้างพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์   
ถ้าอย่างนั้นสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯคงจะเสด็จอยู่ที่นี่ จนกระทั่งพระที่นั่งอิศเรศฯสร้างเสร็จ  จึงได้ทรงย้ายไป?

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงย้ายจากวังหลังที่ประทับอยู่กับพระราชชนนี เสด็จมาประทับที่วังหน้าตั้งแต่พระบวรราชาภิเษก โดยประทับที่พระที่นั่งวสันตพิมาน ซึ่งเป็นพระที่นั่งสองชั้น หนึ่งในสามหลังของหมู่พระวิมาน ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พระบรรทมของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ประทับอยู่และเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้
ในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงซ่อมแซมปรับปรุงใหม่แต่พระองค์ก็มิได้เสด็จเข้ามาประทับ ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ สมเด็จพระบรมเชษฐาทรงโปรดฯให้ตั้งพระแท่นแขวนเศวตฉัตร ดังเช่นห้องพระบรรทมที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง จึงทรงต้องประทับในพระที่นั่งองค์นี้ชั่วระยะหนึ่ง ครั้นพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ที่โปรดให้สร้างขึ้นแล้วเสร็จ จึงทรงย้ายประทับ

เมื่อเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแล้ว ได้จัดให้ส่วนชั้นล่างของพระที่นั่งเป็นที่จัดแสดงเครื่องถ้วยต่าง ๆ ส่วนชั้นบนที่บันใดขึ้นชันมาก เป็นส่วนพระวิมานที่เคยเป็นห้องพระบรรทมก็ดูทึมทึบ เป็นที่จัดแสดงงาช้าง จากช้างต้นและช้างสำคัญ รวมทั้ง งานศิลป์ที่สร้างขึ้นจากงาช้างด้วย



กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ม.ค. 11, 16:46

อ้างถึง
ทำให้สงสัยต่อไปว่า ห้องเล็กเป็นห้องบรรทมตอนประชวรจริงหรือ?
   

อ้างถึง
คำเห็นและคำถามข้างบน เชื่อว่าทุกคนคงรู้สึกเช่นนั้น แต่ก็ไม่มีใครคิดจะซักถามเจ้าหน้าที่ที่เปิดเผยข้อมูลให้ดังกล่าวให้ทราบ ข้อเท็จจริงจะต่างกับที่ท่านว่าหรือไม่นั้น ผมไม่สามารถจะยืนยันได้ (อย่างน้อยในขณะนี้)

อ่านไปอ่านมา ได้ไปเจอข้อความในหนังสือ “ตำนานวังหน้า” ตอนนี้เข้า จึงเอามาฝากครับ


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 11, 16:52
งั้นก็ได้คำตอบแล้วว่าทำไมบรรทมในห้องเล็ก  คงเป็นเพราะเปิด french windows แล้วลมคงพัดโกรกเข้าได้    เย็นสบายกว่าในห้องบรรทมเดิม  จึงทรงเลือกห้องนี้


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ม.ค. 11, 19:08
ขณะที่ผมละจากคอมพิวเตอร์ไปเตรียมตัวทานข้าว กำลังอาบน้ำอุ่นเพลินๆอยู่พลันคิดตามประสาสถาปนิกได้ว่า  เมืองไทย(กรุงเทพ)นั้น โดยปกติลมจะพัดมาทางใต้เฉลียแล้ว๙เดือนต่อปี เฉพาะหน้าหนาวธันวาคมถึงกุมภาพันธุ์ ๓ เดือนเท่านั้น ที่ลมหนาวจากจีนเข้ามา ลมจะกลับทิศพัดจากเหนือลงใต้

ตกลงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯท่านมีห้องพระบรรทมใหญ่ ตั้งพระแท่นคู่ไว้ประดับพระบารมีเฉยๆ  ส่วนมากพระองค์จะไปประทับบรรทมในห้องแต่งตัวเล็กๆ ที่อยู่รับลมจากทิศใต้

ในช่วงที่ทรงพระประชวรใกล้สวรรคต ทรงโปรดให้ตั้งพระแท่นในห้องเล็กๆ ที่อยู่ทางทิศเหนือ เพื่อรับลม(กรุงเทพคงไม่หนาวจัดทั้งวันทั้งคืนตลอดฤดูกาลหรอก) ขณะเสด็จสรรคตเป็นช่วงต้นเดือนมกราคม ระยะที่ลมกลับทิศนั่นเอง

นี่ถ้าอากาศกรุงเทพวันนี้ไม่หนาวยะเยือกขึ้นมา ผมก็คิดไม่ออกนะเนี่ย


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 11, 20:20

ในช่วงที่ทรงพระประชวรใกล้สวรรคต ทรงโปรดให้ตั้งพระแท่นในห้องเล็กๆ ที่อยู่ทางทิศเหนือ เพื่อรับลม(กรุงเทพคงไม่หนาวจัดทั้งวันทั้งคืนตลอดฤดูกาลหรอก) ขณะเสด็จสรรคตเป็นช่วงต้นเดือนมกราคม ระยะที่ลมกลับทิศนั่นเอง

นี่ถ้าอากาศกรุงเทพวันนี้ไม่หนาวยะเยือกขึ้นมา ผมก็คิดไม่ออกนะเนี่ย


ปริศนาในประวัติศาสตร์  ใช้วิชาภูมิศาสตร์เฉลยก็ได้  ;D


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 19 ม.ค. 11, 08:25
"ที่มุมตะวันตกเฉียงใต้ กั้นเป็นห้องสรง"

อยากทราบว่ามีการตั้งเครื่องสรงอย่างไร เป็นแบบตะวันตกมีฝักบัว หรือตั้งถังสาคร เนื่องจากธรรมเนียมไทยการตั้งห้องน้ำในเรือนถือเป็นเรื่องไม่งาม เพิ่งจะเห็นดังพระราชพงศาวดาร ร.๓ มีการก่อห้องสรงไว้ในพระที่นั่ง, ตำหนักแดงของพระศรีสุริยเยทราฯ ก็มีเหมือนกันครับ


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ม.ค. 11, 08:52
"ที่มุมตะวันตกเฉียงใต้ กั้นเป็นห้องสรง"

อยากทราบว่ามีการตั้งเครื่องสรงอย่างไร เป็นแบบตะวันตกมีฝักบัว หรือตั้งถังสาคร เนื่องจากธรรมเนียมไทยการตั้งห้องน้ำในเรือนถือเป็นเรื่องไม่งาม เพิ่งจะเห็นดังพระราชพงศาวดาร ร.๓ มีการก่อห้องสรงไว้ในพระที่นั่ง, ตำหนักแดงของพระศรีสุริยเยทราฯ ก็มีเหมือนกันครับ

ขอขยายความ
ถ้าเป็นสามัญชน การตั้งห้องน้ำไว้ในเรือนเป็นสิ่งมิบังควร   ถือว่าทำเทียมเจ้านาย  แต่ถ้าเป็นพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายระดับสูงทรงมีห้องสรงและที่ลงพระบังคนในพระตำหนักได้ไม่แปลก    หากถามว่าแล้วคนโบราณเขาเข้าห้องน้ำกันยังไง ก็หาคำตอบได้จากขุนช้างขุนแผน  ว่าบ้านสามัญชน เวลาอาบน้ำ ถ้าไม่ลงอาบที่ท่าน้ำ  ก็ตั้งขันสาครหรือโอ่งน้ำไว้บนนอกชาน  บ้านเศรษฐีก็หรูหรามีฝักบัว   แต่ถ้าจะเข้าส้วมละก็ต้องลงจากเรือนไป "เว็จ" หมายถึงส้วมหลุมนอกบ้าน

ข้อหนึ่งที่ขุนช้างไปทูลฟ้องกับพระพันวษา  ใส่ความขุนแผนว่าเป็นกบฏ ก็คือ

มันปลูกตำหนักป่าพลับพลาแรม
ค่ายป้อมล้อมแหลมเป็นหน้าฉาน
ตั้งที่ลงบังคนชอบกลการ
นานไปก็จะเป็นกะลีเมือง

แปลว่าคิดการใหญ่ขนาดปลูกพลับพลา สร้างส้วมเอาไว้ใช้ด้วย   เข้าขั้นบังอาจทำเทียมพระมหากษัตริย์  ก็คือคิดการใหญ่เป็นกบฏนั่นเอง

ขุนช้างขุนแผนและนางวันทองเป็นคนมีฐานะดี   แต่ก็ยังไม่มีส้วมอยู่บนเรือน    นางวันทองต้องลงจากเรือนไป "เว็จ" ข้างนอก ข้อนี้รู้จากตอนตัดขาดกับขุนแผน  นางบอกว่า "จะขุดเว็จฟื้นดินให้สิ้นรอย"


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 19 ม.ค. 11, 09:19
ขอบคุณครับ อ.เทาชมพู ที่ให้ความกระจ่าง แต่ผมยังสังสัยต่อไปในเรื่องรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เช่น ใช้ฝักบัว หรือ ใช้ขันสาคร เนื่องจากทราบว่าในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้นมีการตั้งเครื่องจักรไอน้ำ สูบน้ำเข้าท่อเพื่อเป็นระบบประปามายังวังหน้า ซึ่งงานระบบเดินท่อจะเฉียดไปทางมุมพระที่นั่งอิศเรศฯ หรือไม่ หรือ ให้คนยกน้ำเดินขึ้นลงบันไดหน้าพระที่นั่ง ตักน้ำผ่านห้องต่างๆ คงไม่งามเท่าที่ควร


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ม.ค. 11, 16:00
^
ผมไม่มีโอกาสได้ดูเรื่องเหล่านี้เลยครับ


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ม.ค. 11, 11:52
เอาโถส้วมที่ใช้ในยุควิกทอเรียนมาให้ดูครับ

ลางที ที่ลงพระบังคนในพระที่นั่งต่างๆ อาจจะใช้เช่นเดียวกันนี้


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ม.ค. 11, 12:02
สุขภัณฑ์รูปที่คุณ Navarat นำมาแสดง ถ้าเข้ามาในสยามน่าจะเป็นสมัยรัชกาลที่ ๔ หรือ ๕  ดิฉันยังสงสัยว่ามีท่อน้ำต่อออกไปหรือไม่
เคยรู้แต่ว่า ยุคก่อนหน้าฝรั่งเข้ามา   พระบังคนจะลงในกระทง แล้วมีพนักงานเชิญกระทงนำไปทิ้งในแม่น้ำ   กระทงนั้นคงจะรองในกระโถนพระบังคนอีกที
สุขภัณฑ์กระเบื้องทันสมัยอย่างในรูปของคุณ Navarat   น่าจะมีใช้ที่พระที่นั่งอิศเรศฯ  ก็ในเมื่อเซอร์จอห์น เบาริงถึงกับออกปากว่าเหมือนเข้ามาในคฤหาสน์ของผู้ดีอังกฤษ     สุขภัณฑ์ทันสมัยจะไม่มีเชียวหรือ?

รูปข้างล่างนี้เป็นสุขภัณฑ์เคลื่อนที่ได้ สมัยวิกตอเรียน   ข้างในเป็นถังรอง มีประตูด้านข้างเปิดปิดได้ เพื่อดึงถังรองออกไปทำความสะอาด แล้วค่อยเลื่อนกลับเข้าที่ตามเดิม
เคยเห็นแบบคล้ายๆอย่างนี้ แสดงอยู่ที่พระราชวังร. ๒ ที่อัมพวา

(http://www.mrbeasleys.com/store/images/products/6745.jpg)


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 มี.ค. 17, 14:56
พระป้ายฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯมีขนาดกว้าง๙เซนติเมตร  ยาว๑๕เซนติเมตร  และสูง๑๒เซนติเมตร จำหลักอักษรจีน ออกพระนามว่าเจิ้ง แซ่เจิ้ง อ่านแบบแต้จิ๋วว่า แต้เจี้ย มีข้อความในลิ้นชักระบุว่า ทรงได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์องค์ที่สองของสยาม และวันเดือนปีที่พระราชสมภพ

รายละเอียดของพระป้ายทั้งสาม

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3700.0;attach=16221;image)

ภาพอธิบายของคุณหนุ่มสยามดูจะไม่ถูกต้อง ป้ายตรงกลางคือ ป้ายเทพารักษ์  พระเจนจีนอักษร (สุดใจ ตัณฑากาศ) อธิบายว่า ป้ายเทพารักษ์นั้น น่าจะเป็นป้ายพระภูมิ ด้วยธรรมเนียมจีนเขาตั้งศพต้องตั้งที่พระภูมิด้วย

ส่วนพระป้ายฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯในรูปอยู่ทางซ้ายมือ พระเจนจีนอักษรแปลถวายแปลถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ รายละเอียดอยู่ในหนังสือ "สาส์นสมเด็จ" เล่ม ๒ (พ.ศ. ๒๔๖๖ - ๒๔๗๔)


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 มี.ค. 17, 12:13
ความหมายของอักษรจีนในป้ายเทพารักษ์  (วิธีอ่านแบบจีน ขวาไปซ้าย บนลงล่าง)


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 มี.ค. 17, 12:42
ข้อความในลิ้นชักระบุว่า ทรงได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์องค์ที่สองของสยาม และวันเดือนปีที่พระราชสมภพ

ตัวอักษรจีนมีดังนี้


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 มี.ค. 17, 14:30
คำอ่านสำเนียงแต้จิ๋ว

๑. เก่าฮอง เซี่ยมก๊ก ยี่อ๋อง แต้เจี่ย เจ๊กอุ้ย เฮียงซิ่ว

๒. แซอี่โบ้วสินหนี โป้ยง้วยจั๊บโหงวยิ่ด ปั้วแหม โง้วเตี้ยมตั๋งเจง

๓. ปังอีโง้วจับชิดส่วย อื๋อสี่ง้วยอู่โง้วยิด ซินยิดเก่ย หน่อบ้วนขั่งเกาเปะโป๊ยจับซายิด หลังเจ๊กเตี้ยมตั้งเจง


กระทู้: “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 มี.ค. 17, 15:13
คำแปล

๑. เก่าฮอง = ยกย่องสืบเนื่องมา  เซี่ยมก๊ก = ประเทศสยาม  ยี่อ๋อง = เจ้าองค์ที่สอง  แต้เจี่ย = เป็นพระนาม  เจ๊กอุ้ย = พระองค์หนึ่ง  เฮียงซิ่ว = มีอายุได้ (คำนี้ไม่สมบูรณ์ ถ้าให้ได้ความต้องเป็น เฮียงซิ่วบ่อเกียง = ขอให้อายุยืนยาว)

แปลความว่า ยกย่องสืบเนื่องมา ให้แต้เจี่ยเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่สอง ทรงพระชนม์ยืนยาว

๒. แซอี่โบ้วสินหนี = เกิดเมื่อปีมะโรง  โป๊ยง้วยจับโหงวยิ่ด = วันที่ ๑๕ เดือน ๘ (ตรงกับเดือน ๑๐ ของไทย)  ปั้วแหม = เที่ยงคืน  โง้วเตี้ยมตั๋งเจง = ระฆังตี ๕ ที

แปลความว่า ทรงพระราชสมภพเมื่อ (ขึ้น) ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะโรง เวลา ๕ ทุ่ม

๓. ปังอีโง้วจับชิดส่วย = สวรรคตเมื่อ ๕๗ พรรษา  อื๋อสี่ง้วยอู่โง้วยิด = เศษ ๔ เดือนกับ ๕ วัน  ซินยิดเก่ย = คำนวณวัน  หน่อบ้วนขั่งเกาเปะโป๊ยจับซายิด =สองหมื่นกับเก้าร้อยแปดสิบสามวัน  หลังเจ๊กเตี้ยมตั้งเจง = กับระฆังตี ๑ ที

แปลความว่า เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุได้ ๕๗ พรรษา ๔ เดือน ๕ วัน คำนวณเป็นเวลา ๒๐,๙๘๓ วันกับ ๑ ชั่วโมง

ข้อความทั้งหมดนี้ สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงให้ความเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานร่างให้เขียนเป็นภาษาจีนแน่นอน