เรือนไทย

General Category => วิเสทนิยม => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 14 ธ.ค. 01, 23:57



กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ธ.ค. 01, 23:57
เข้ามาชวนคุณพวงร้อยและท่านอื่นๆที่อ่านนิยายชุดบ้านเล็กคุยเรื่องอาหารในนั้น
คุณพวงร้อยเล่าว่าอาหารบางอย่างเขาก็เลิกทำกันไปแล้ว
ดิฉันอ่านฉบับแปลภาษาไทย แล้วมาอ่านฉบับภาษาอังกฤษภายหลัง
มีหลายคำที่นึกภาพไม่ออก อย่าง headcheese สุคนธรสแปล ๒ อย่างคือ หมูทับ กับเยลลี่หัวหมู
คือเอาหัวหมูต้มจนเปื่อยเนื้อหลุดจากกระดูก  พอเย็นมันก็แข็งเป็นวุ้นเพราะมีวุ้นออกมาจากกระดูก
เหล้าปอต pot-liquor ที่เอามาผสมกับเนื้อหมู  ทำเป็นอาหาร   เป็นเหล้าที่ต้มเองแบบเหล้าเถื่อนหรือเปล่าคะ
molasse หรือน้ำตาลเคี่ยว พอนึกออก คล้ายๆsyrub แต่ข้นกว่าใช่ไหม


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: นนทิรา ที่ 27 พ.ค. 01, 16:44
ดิฉันอ่านเรื่องนี้มานานมาก  เกิน 20 ปีแล้ว ตอนที่อ่านก็ยังเด็กมาก จำได้ว่าลอร่าเคยไปเยี่ยมบ้านคุณปู่คุณย่า คุณย่าจะให้เด็กๆไปกอบหิมะนอกบ้านใส่จานหรือภาชนะคนละใบ แล้วคุณย่าก็เอา maple syrup ร้อนๆราดบนหิมะ maple syrup เมื่อโดนหิมะก็จะแข็งตัวเป็น maple candy ให้เด็กๆค่ะ จำได้เท่านี้เองค่ะ

ตอนที่อ่านยังเด็กเหลือเกิน ยังไม่ค่อยสนใจเรื่องอาหาร มีแต่ maple candy ของเด็กๆนี่แหละค่ะที่ทำให้นึกภาพตาม ตามประสาเด็ก นอกจากนี้ ก็จำกรรมวิธีที่ลอร่าบรรยายถึงการทำเนยของแม่ พอปั่นจนได้เป็นเนยแล้ว แม่ก็เอาเนยใส่พิมพ์ที่มีรูปสตรอเบอรี่สวยเชียว เรื่องอาหารอื่นๆจำไม่ได้เลยค่ะ จำได้แต่เหตุการณ์ ตอนอ่านยังนึกภาพ Nellie Ollison เต้นเร่าๆเพราะโดนปลิงเกาะเท้าอยู่เลยค่ะ ผมบลอนด์สีทองเป็นหลอดๆ ว่าแต่ว่าใช่ปลิงหรือเปล่าคะ ดิฉันอาจจะจำผิด


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 27 พ.ค. 01, 22:40
ขออภัยที่เข้ามาช้าด้วยค่ะ  มีเรื่องติดพันอยู่ที่ห้องอื่นสองสามที่  เลยปลีกตัวมาไม่ได้เลยค่ะ

อาหารสมัยยุคบุกเบิกนี่  คิดว่ายังเชื่อมโยงวัฒนธรรมดั้งเดิมจากยุโรปไว้มาก  คือต้องประหยัด  เก็บสะสมอาหารไว้กินหน้าหนาวอันแสนนานและทารุณ  แต่มาหลังๆนี่  การกสิกรรมทำกันเป็นอุตสาหกรรมแล้ว  มีอาหารเหลือเฟือราคาถูก  เค้าก็ทิ้งวัฒนธรรมการสงวนอาหารพวกนี้ไปอย่างไม่ใยดี  ฝรั่งอเมริกันรุ่นปัจจุบันนี่  
ทำยี้หน้าเกือบทุกคน  หากเห็นการเอาส่วนอื่นที่ไม่ใช่เนื้อกับกระดูก(ซุป)ของสัตว์มาทำอาหาร  แม้คนที่ไม่มีความคิดดูถูกวัฒนธรรมอื่นๆ  ก็ยังอดไม่ได้ที่จะเกิดอาการขยอกขย้อนกัน  ดิฉันเห็นเป็นเรื่องตลกและสนุกมาก  หากได้เตือนให้เค้ารู้ถึงประวัติศาสตร์การกินของเค้าเอง  ว่ามันสูญหายไปได้อย่างไร  ดิฉันว่า  วัฒนธรรมการกินนี่  มันเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ของเรา   ไปได้ไกลมากกว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างอื่นๆทั้งหมด  ว่าไปแล้ว  น่าจะเรียกว่า  เป็นหลักฐานทางโบราณคดีด้วยซำ้  เพราะหากค้นลงไปลึกๆแล้ว  จะเห็นรอยต่อของอารยธรรมที่เราไม่คิดว่าจะมีอะไรร่วมกันได้เลย  อย่างวัฒนธรรมยิว-อาหรับ  ที่เป็นศัตรูคู่แค้นกันในปัจจุบัน  ที่จริงแล้ว  เป็นวัฒยธรรมเดียวกันมาก่อนนั่นแหละ  แม้จะมียิวที่ไปอยู่ยุโรปแล้วรับเอาอาหารยุโรปมาเป็นของตัว  แต่หากเอาอาหารหลายๆอย่างมาเทียบกันจานต่อจานแล้ว  ก็คือของอย่างเดียวกันนั่นเองค่ะ  เอ ชักจะเฉไฉไปมากแล้ว  กลับมาที่เรื่องอาหารใน "บ้านเล็ก" กันดีกว่าค่ะ อิอิ

headcheese ไม่เคยเห็นหรือทานจริงๆเลยค่ะ  อ่านจากดิคฯมีขาดเครื่องไปอีกอย่างคือ เท้าหมู (เอ เรียกว่ากีบหรือเปล่าคะ) ด้วยค่ะ  เห็นเค้าว่าเอาเนื้อ หนัง ต่างๆที่ขูดออกมากับนำ้ซุปที่เป็นวุ้น  มาม้วนอีกที  คงจะเทใส่ลงถาดให้มันแข็งตัวแล้วม้วน  หรือจะใส่ loaf pan คือถาดขอบสูงๆที่เค้าใช้อบขนมปังปอนด์  เพื่อให้มันเก็บง่าย ตัดออกมากินทีละหน่อยได้ง่ายๆมังคะ  ฝรั่งอเมริกันนี่เค้าจะยี้หน้าหากเอาอวัยวะส่วนหัวหมูให้ทาน  เคยลองมาแล้วค่ะ กั๊กๆๆ  เพื่อนแหม่มรูมเมตในเมืองไทยรบเร้าอยากให้พาไปบ้านนอก  ก็เลยพาไป  พ่อดิฉันก็เอา "ของดี" มาให้กิน  คือหูหมูสับเป็นชิ้นเล็กๆ  เคียงกับนำ้ส้มพริกดองมาให้  พ่อเค้าก็ไม่รู้เรื่องอะไร  ยัยแหม่มก็แทบหน้าเขียวเลยค่ะ  แต่ก็บอกดิฉันว่า  ในซุปเป้อร์มาร์เก็ตเดี๋ยวนี้  ยังหาซื้อเท้าหมูดอง(pickled pig feet)ได้  พอมาเมืองนอกก็ไปเสาะหา  ก็เจอจริงๆด้วยค่ะ  แปลกแต่จริง  แม้เค้าจะไม่กินเท้าหมูกัน  แต่ก็ไม่ค่อยแสดงความรังเกียจเท่าเมื่อเห็นหัวหมู  เพราะความเคยตาที่เห็นเท้าหมูดองวางอยู่ในร้านมาก่อน  เคยคุยกับเพื่อนฝรั่งที่เรียนจิตวิทยามา  เค้าก็ว่า  food bias หรืออคติในเรื่องการกินนี่  เป็นความเบี่ยงเบนในทางเลือกอาหาร  ที่ฝังลึกที่สุด  ที่เอาชนะได้ยากที่สุด  อย่างคนอีสานที่กินได้แทบทุกอย่างนี่  เค้ารังเกียจการกินข้าวต้มมากเลยค่ะ  ไม่ว่าจะเป็นข้าวต้ม เป็นโจ๊กก็แล้วแต่  ไม่กินกันทั้งนั้น  นี่พูดถึงคนอีสานแ้ๆนะคะ  ไม่รวมคนอีสานเทียมอย่างดิฉัน เอิ๊กๆๆ

pot-liquor  ไม่เคยได้ยินเหมือนกันค่ะ  แต่คำอะไรที่เติมหน้าด้วย pot นี่  จะมีนัยถึงความถูก ความสั่ว
หรือของอะไรที่ทำออกมาอย่างไม่พิถีพิถันน่ะค่ะ  อย่าง pot-boiler คืองานเขียนสั่วๆที่หวังเงินเข้าว่าลูกเดียว  pot-belly คือการลงพุงที่มาจากการสวาปามอย่างไม่บันยะบันยัง  คล้ายๆอีกคำที่ว่า beer-guts ซึ่งเฉพาะเจาะจงลงไปหน่อยว่า  สวาปามอะไรไป  pot-liquor คงเป็นอย่างคุณเทาฯว่าน่ะค่ะ  คือต้มเองอย่างเถื่อนๆ  อย่างไม่ประดิษฐ์ประดอยพิถีพิถัน  เอาแค่เมาเข้าว่า  เป็นเหล้าถูกๆที่เอามาทำกับข้าว  มีไวน์เกรดทำกับข้าวหลายอย่างค่ะ  แต่ระดับยังดีกว่า pot-liquor อีก  เช่น cooking wine หรือ cooking sherry อาหารฝรั่งก็คล้ายๆอาหารจีนที่ใช้เหล้าประกอบด้วย  เดี๋ยวนี้มักจะเป็นส่วนประกอบของซอสมากกว่าค่ะ  อย่างหรูๆหน่อยก็ต้องเอาเหล้าที่ใช้กินอย่างดีๆด้วยมาทำซ้อส  แต่สมัยก่อนคงใช้หมักเนื้อด้วย  เพราะนอกจากมีกลิ่นหอมแล้ว  ยังช่วยทำให้เนื้อเปื่อยลงได้อีก  คงมาจากการที่ไปล่าสัตว์ป่าหนังเหนียวเอามากิน  ที่มันเหนียวจนต้องทำอะไรหลายๆอย่างให้มันหายเหนียว  เช่น แขวนทิ้งไว้ให้มันเน่าหน่อยๆ  คือเริ่มเปื่อยไปเองด้วยการเน่าสลายตามธรรมชาติ  แล้วเอามาหมักให้หายเหม็นทีหลัง  เพราะเหตุนี้แหละค่ะ  เมื่อพริกไทยเข้าไปในยุโรปแล้ว  จึงเป็นที่นิยมจนมีราคาแพงกว่ทองทีเดียว  เพราะคนรวยๆกินเนื้อที่มีกลิ่นเน่ามาจนเอียนแล้ว  พริกไทยกลบกลิ่นเน่าได้ชะงัดนัก  เลยกลายเป็นของำเป็นไป  สำหรับคนรวยน่ะค่ะ  คนจนก็ต้องทนกินเนื้อที่มีกลิ่นไปพลางๆ

molasse  ในปัจจุบันเห็นว่า เป็น กากนำ้ตาล  คือเอามาจากส่วนที่เหลือจากการเคี่ยวนำ้อ้อยได้นำ้ตาลออกไปแล้ว  ที่ติดก้นหม้อมีกลิ่นไหม้ๆ ไม่ค่อยหวาน  ก็ไม่ทิ้ง  เอามาใช้ได้  โมลาสนี่เอามาใส่ขนมหรือซ้อสค่ะ  อย่างมี โมลาสคุกกี้  หรือคุกกี้บางอย่างที่เค้าไม่ต้องการให้มันหวานจัดเกินไป  ใส่โมลาสแล้วมันกรุ่นกลิ่นไหม้ๆนิดๆเหมือนติดควันที่ปลายจมูก  ก็อร่อยไปอีกแบบค่ะ  แต่ในดิคฯเห็นว่า เป็นนำ้ตาลที่ทำมาจาก sorghum ด้วย  เจ้า sorghum เคยเห็นในป่า  แต่ไม่รู้ว่ารสชาติจริงๆเป็นอย่างไร  เคยดูหนังที่ Zhen Yimou สร้างโดยให้ดาราสาวสวย Gong Li เล่น ชื่อ Red Sorghum ก็เป็นเรื่องตระกูลคนจีนในแดนกันดาร  ที่หากินด้วยการหมักเล้าจากศอร์กัมนี่แหละค่ะ  เข้าใจว่านำ้ของมันคงจะหวาน

ที่คุณนนทิราเล่ามาเค้าเรียก snow cone ค่ะ  คิดว่าเราเอามาเลียนแบบเป็นนำ้แข็งไสไงคะ  เดี๋ยวนี้ก็ยังมีตามงานวัดฝรั่งเลยค่ะ  เค้าจะมีเครื่องทำนำ้แข็งไส  แล้วราดนำ้หวานหลากสีเป็นสายรุ้ง  ก็มีแต่นำ้ตาลใส่สีเท่านั้นแหละค่ะ  แต่เด็กๆจะชอบกินกันโดยเฉพาะในหน้าร้อน

เนย ที่เพิ่งเชิร์น(ไม่รู้จะแปลว่าอะไรดีค่ะ  เพราะมันไม่ใช่เป็นการปั่น  มัน "ตบ" มากกว่าค่ะ  แล้วกระแทกขึ้นๆลงๆ  เพื่อให้เนยที่ emulsify เป็นไขหยดเล็กๆจากนำ้นม จากแรงกระแทก  เกาะตัวกันเป็นก้อนใหญ่ขึ้น)  นี่จะหอมหวานอร่อยมากเลยค่ะ  ต่างกับเนยที่เราซื้อมากินตามร้านเหมือน นำ้กะทิสดๆคั้นใหม่ๆหอมหวานเอามาทำแกงก็หวานจนไม่ต้องใส่นำ้ตาล  กับกะทิที่เราเทออกมาจากกระป๋องน่ะค่ะ  แกงใส่กะทิในร้านอาหารเมืองนอก  ต่อให้หรูแพงระยับขนาดไหน  ก็ไม่มีเทียบแม้กับนำ้แกงราดข้าวจากกระจาดแม่ค้าข้างถนนในเมืองไทยเลยค่ะ  เนยที่เพิ่งทำสดๆใหม่ๆปาดลงบนขนมปังที่เพ่ิงผ่านไออบจากเตา  ยังกรุ่นไอร้อน  ก็ไม่มีอะไรเทียบได้แล้วค่ะ  ปกติดิฉันไม่กินเนย  ขนมปังก็ไม่สู้จะชอบเท่าไหร่  นอกจากที่เพิ่งออกจากเตาสดๆน่ะค่ะ  ถ้าได้เนยสดๆด้วยละก็  กินได้ไม่อั้น  แต่ไม่ใช่ไม่กินเลยนะคะ  ปกติก็กินข้าวน่ะค่ะ  หาข้าวกินได้ไม่ยากเรื่องอะไรจะไปกินขนมปัง  แต่ถ้ามีขนมปังสดๆ  ก็อดใจไม่ได้น่ะค่ะ

นำ้ที่ขังเป็นสระตามทุ่งอย่างนั้น  ต่างจากเมืองไทยที่  ในเมืองไทยจะมีจอกแหนลอยเป็นแพ  แต่ในเมืองนอกจะมีสาหร่ายตะไคร่นำ้แบบเป็นเมือกๆลอยฟ่องปล่อยฟองฟ่อดหน้า  แค่นั้นไม่ต้องมีปลิงก็ไม่กล้าลงแล้วค่ะ  เพิ่งไปบ้านเพื่อนมาเมื่อวานเค้าเป็นนักชีววิทยา  ก็เอาสระว่ายนำ้มาทำสระเลี้ยงปลา  ปลูกดอกบัว ไม้นำ้  เลี้ยงปลาเลี้ยงกบด้วย  ดิฉันเอาลูกอ๊อดที่จับมาได้จากทุ่งป๊อปปี้ไปปล่อยน่ะค่ะ  เค้าบอกว่า  ลูกอ๊อดมันชอบกินไอ้สาหร่ายที่เป็นเมือกๆแบบนั้นแหละค่ะ  ดิฉันก็ยังไม่ค่อยจะอยากแตะเท่าไหร่  เค้านี่ยื่นมือเปล่าคว้าดึงทิ้งเลยค่ะ  เหมือนเราถอนหญ้า  เพราะไม่ต้องการให้มีสาหร่ายมากเกินไป  ปลิงนี่ดูเหมือนจะเคยได้ยิน  แต่ไม่เคยเห็น  รู้สึกจะมีเฉพาะทาง(ตะวันออกเฉียง)ใต้เท่านั้นมังคะ  ทางตะวันตกนี่คงไม่รอดเลยไม่เคยเห็นตามทุ่งตามทะเลทรายเลยค่ะ

เคยไปเล่าที่ห้องจิปาถะในไกลบ้านเมื่อไม่นานมานี้  ว่าแยมกับเยลลี่มันต่างกันอย่างไร  แยม ทำด้วยการเคี่ยวเนื้อผลไม้บดละเอียดไฟตำ่ๆไปนานมาก   และใส่นำ้ตาล อาจจะใส่นำ้มะนาวนิดหน่อย  ทำอย่างลำบากสาหัสสากรรจ์เชียวค่ะ  ส่วนเยลลี่นี่ทำง่าย  ตัวหลักที่ทำให้เกิดเยลลี่ หรือวุ้น ก็คือนำ้ตาลกับเพคตินเท่านั้นเอง  เพคตินนี่มีในผลไม้รสเปรี้ยวตามธรรมชาติอยู๋แล้ว  แต่สมัยนี้เค้าสกัดมาขายเป็นซองๆ  ทำให้สะดวกมากเลยค่ะ  สมัยลอร่านั้นคงยังไม่มีที่เป็นซองๆ  ต้องเคี่ยวนำ้ผลไม้กรองแล้วนานๆอยู่เหมือนกัน  ดิฉันรู้จักคุณย่าของเพื่อนท่านหนึ่ง  ท่านก็เป็นนักบุกเบิกเองด้วยเหมือนกัน  แต่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสมัยใหม่อยู่บ้าง  ท่านขึ้นชื่อนักเรื่องเอาอะไรมาทำเยลลี่ก็ได้  สิ่งที่ลูกหลานเอามาล้อเลียนกันก็คือ  เยลลี่ซังข้าวโพดของท่าน  คือท่านจะรวบรวมเอาซังข้าวโพดเหลือๆจากอาหารมื้อเย็นมาต้มนำ้  เพื่อสกัดเอา "กลิ่นข้าวโพด"  จะมีกลิ่นอย่างอื่นปนเปมาด้วยหรือไม่ ดิฉันไม่ยอมพิสูจน์ค่ะ  แล้วเอาไปต้มนำ้ตาลกับเพคตินซอง  ออกมาเป็น corn-cob jelly ด้วยค่ะ

เอ หากให้ดิฉันบรรยายเรื่องอาหารการกินในบ้านเล็กภาคพวงร้อยนี่  มันจะไม่น่ากินจนชวนเคลิ้มกระมัง  เกรงว่าจะกลายเป็นภาคชวนแหวะเสียมากกว่า เอิ๊กๆๆ


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: N.K.Kh. ที่ 28 พ.ค. 01, 04:01
Probably the liquor got its name from the utensil - the "pot" - used to make it. A kind of moonshine?



But "port" liquor is another kind of beverage. It's a sweet Portugease red wine, very sweet.



I think cooking and eating are the most basic aspects of any civilization, as Khun Puangroi said, bias over food is very hard to overcome. I don't know if it's only me, but Laura's description of her mom's American (Pioneer) homemade cooking reminds me of Khun Kampoon Boontawee's Luk Isarn. Uncle Kampoon also spent a big part of that book describing the food he ate in his childhood. His description makes my hungry (although I am sure that in reality I may not be brave enough to try some of the food - like kapom or lizards), and, while reading LukIsarn, I can feel the happiness of the family when they have something to eat to their hearts' content, like when they went to Moon (or Chee?) river on fishing expedition. It is almost the same feeling I feel when Laura's family finally survived another year and celebrated their good harvest together.


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: N.K.Kh. ที่ 28 พ.ค. 01, 04:05
In my line of work I have to train myself to eat anything. I don't have much trouble over any dish, but some I do not see what the fuss is about. For example, the Chinese dish that I can eat, but fail to understand why the Chinese think so highly about it - is Pling Thale or sea cucumber. I think it's like eating rubber.


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ค. 01, 08:08
pot liquor  ค่ะจำได้  
คงจะเป็น moonshine อย่างที่ว่า คงช่วยหมักเนื้อให้นุ่มและหอม
เหมือนตำรับไก่ทอดบางแห่ง    ต้องหมักไก่ในแม่โขงให้นิ่มเสียก่อนแล้วนำไปทอดให้เหลือง จะอร่อยมาก

เรื่องปลิง มีในเมืองหนาวค่ะ  ใน"บ้านเล็กริมห้วย" ลอราลงไปลุยน้ำนิ่งๆในหนองแล้วเจอปลิง
เคยอ่านพบว่าแพทย์สมัยโบราณในยุโรปใช้ปลิงดูดเลือดจากร่างผู้ป่วยเพื่อเอาเลือดร้ายออกไป

เรื่องลูกอีสาน  จำได้ว่าคุณคำพูนเคยให้สัมภาษณ์ว่าได้อ่านเรื่องบ้านเล็ก แล้วเลยได้แรงบันดาลใจบางส่วน

ในบ้านเล็ก อาหารการกินทุกอย่างต้องเก็บรักษาและใช้ให้คุ้ม    อย่างเลี้ยงไก่ พอแม่ไก่แก่จนวางไข่ไม่ได้ แม่ของลอราก็เอามาทำปายไก่
นกดำที่มากวนพืชผลในไร่ พ่อก็ยิงเอามากิน
blackbirds มันเป็นสัตว์ประเภทอีกาหรือเปล่าคะ  ลอราบรรยายว่าอร่อยจนดิฉันอยากกินไปด้วยแน่ะ

คนไทยสมัยโบราณก็ทำแบบเดียวกัน   ผักปลาทุกอย่างจะเอามากิน เก็บรักษาไว้ใช้กินให้คุ้ม
วัฒนธรรมนี้สูญไปเพราะการกินอยู่ตอนนี้สุขสบายอย่างคุณพวงร้อยว่า   เราก็เลยได้อ่านแต่ร่องรอยวัฒนธรรมเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อนเท่านั้นเอง


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 28 พ.ค. 01, 08:35
ผมเคยลองทําตามสูตรนํ้าเกรวิ่ จากตอนฤดูหนาวอันแสนนานดู แต่กินไม่ได้เลย :-)
ไม่รู้ว่าทําผิด หรือเพราะเป็นอาหารยามยากเลย ไม่อร่อย

ลูกอีสาน อ่านแล้วรู้สึกการทําอาหารของชาวอีสานน่าสนุกมาก
แม้ว่าผมจะไม่กล้ากินก็เถอะ  

แต่ที่ชอบที่สุดคืออาหารในเรื่องอยู่กับก๋ง


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: ด.เด็ก ที่ 28 พ.ค. 01, 09:27
ที่เจ๊พวงร้อยบอกว่าคนอีสานไม่กินข้าวต้มนั้นคงจะจริง เพราะที่อีสานเขากินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก ผมไปหนองคายเมื่อปี๒๕๒๐ เดินหาร้านขายข้าวสวยแทบตาย ทั้งเมืองมีอยู่๓ร้าน ข้าวต้มนี่ทีชาวจีนเขากินกัน อย่างคนญวนจะกินจะกินข้าวต้มเส้นที่ไม่มีลักษณะข้าวเลย มันเหมือนขนมจีนมาต้ม แต่อร่อยดี การที่คนอีสานไม่กินข้าวต้ม อีกอย่างนึง คือมันไม่อยู่ท้องมากกว่านะครับ


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: นนทิรา ที่ 28 พ.ค. 01, 11:05
คุณพวงร้อยคะ ดิฉันคิดว่า maple candy ที่ลอร่าพูดถึงเนี่ยเป็นคนละอย่างกับ snow cone นะคะ มีเพื่อนชาวแคนาเดียนเค้าเล่าว่าเค้าก็เคยกินอย่างลอร่าเหมือนกัน สมัยเค้ายังเด็กๆอยู่ คือ กอบหิมะใส่ภาชนะ แล้วก็เอา maple syrup ร้อนๆ มาราดบนหิมะ น้ำเชื่อมเมเปิ้ลก็จะแข็งตัวเป็น candy แล้วเค้าก็จะทานแต่ตัว candy ค่ะ แล้วก็ทิ้งหิมะไป ถ้าเป็น snow cone เนี่ยก็เป็นน้ำแข็งใสอัดแข็งๆ แล้วราดน้ำหวานหลากสีตามใจชอบ เวลาทาน ก็ดูดทานทั้งน้ำหวานและน้ำแข็งไปพร้อมๆกัน ไม่เหมือนกับ maple candy ของลอร่าค่ะ


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: นนทิรา ที่ 28 พ.ค. 01, 12:14
เมื่อกี๊ post เข้ามาทีหนึ่งแล้ว ทำไมไม่ติดก็ไม่ทราบ post ใหม่ก็แล้วกันค่ะ

snow cone นี่เป็นคนละอย่างกับ maple candy ของลอร่านะคะคุณพวงร้อย ดิฉันมีเพื่อนชาวแคนาเดียน เค้าก็เล่าให้ฟังว่า เค้าก็เคยกิน maple candy ซึ่งทำแบบเดียวกันกับลอร่าเหมือนกันค่ะ สมัยที่เค้ายังเด็ก เค้าจะกอบหิมะที่ตกใหม่ๆใส่ภาชนะ แล้วก็ราดด้วย maple syrup ร้อนๆ     ซึ่งน้ำเชื่อมเมเปิ้ลเมื่อโดนความเย็นของหิมะ ก็จะแข็งตัวเป็น candy ค่ะ พอแข็งตัวแล้ว เค้าก็จะกินแต่ตัว maple candy ค่ะ ส่วนหิมะก็เททิ้งไป

snow cone นี่จะเป็นอย่างที่คุณพวงร้อยเล่า คือเอาน้ำแข็งใสมาอัดกันแน่นๆแข็งๆ ใส่กรวยกระดาษบ้าง ถ้วยกระดาษบ้าง แล้วก็เอาน้ำหวานหลากสีราด เวลากิน ก็ดูดกินน้ำแข็งและน้ำหวานไปพร้อมๆกัน


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: นนทิรา ที่ 28 พ.ค. 01, 12:16
อ้าว...เลยติดสองทีเลย ทีแรกเปิดมาไม่เห็นความเห็นที่ 8 โผล่มา เลยลองโพสท์ใหม่ดู ขอประทานโทษนะคะที่โพสท์ซ้ำซ้อน


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 29 พ.ค. 01, 13:24
ตอนแรกก็ไม่แน่ใจเหมือนคุณ นกข น่ะค่ะว่า คุณเทาฯจะหมายถึง port รึเปล่า  แต่เมื่ออ่านความเห็นต่อไปจึงคิดว่าไม่ใช่  
คิดว่าคงเป็นเหล้าทำแบบถูกๆ  ใช้หม้อใช้ไหอะไรก็ได้มาต้ม  ถ้าจะเรียกว่าเป็นมูนไชน์ ก็คงเป็นมูนไชน์เกรดตำ่มากมังคะ  
ไว้หน้าร้อนนี้จะไปทางมิดเวสต์แล้วจะไปถามคนให้ค่ะ  ของอย่างนี้ต้องคนอยู่บ้านนอกๆหน่อยถึงจะทราบค่ะ

เหล้าพอร์ตนี่ก็เหมือนกันเหล้าเชอร์รี่นั่นแหละค่ะ  คิดว่าทำจากนำ้องุ่นเป็นไวน์ที่มีรสหวานและหมักไว้นานมาก  
เป็นสิบปีขึ้นไปถึงจะได้ความกลมกล่อมพอดี  เค้าต้องการบ่มให้กลิ่นไม้โอ๊คจากถังบ่มซึมซับเข้าไปในเนื้อเหล้าด้วยค่ะ  
เข้าใจว่าพวกพระเบเนดิคหรือเจซูอิตเป็นคนเริ่มคิดทำขึ้นมา  ก็มีทั้งจากสเปญและปอร์ตุเกสด้วยค่ะ  เอามาทำซอสของหวานเช่น
ลูกแพร์ราดซอสเชอร์รี่หรือพอร์ตเนี่ยะค่ะ  เป็นของหวานที่ดูหะรูหะราหน่อย  คือต้องปอกแพร์ให้เหลือแต่เนื้อกลมเกลี้ยงไร้รอยมีดเหลือขั้วเอาไว้  
นำไปต้มไฟรุมในซอส  แล้วเอาลูกแพร์ขึ้น  ต้มซอสต่อให้นำ้มันงวด  เวลาเสิร์ฟวางลูกแพร์สุกบานจาน  ราดด้วยซอสอีกที  
ดิฉันเอาตำราทำกับข้าวไปเก็บไว้ในโรงรถหมดแล้วค่ะ  ไม่ได้ทำอาหารมื้อใหญ่ๆมานานแล้ว  ต้องการเนื้อที่บนหิ้งไว้วางหนังสืออย่างอื่น  
เลยบอกวิธีได้แต่คร่าวๆเท่านั้นค่ะ  แต่ตอนนี้อยากกินมังคุดจังเลยยย

คนอีสานส่วนมากจะบอกว่าที่ไม่กินข้าวต้ม  เพราะมันไม่อยู่ท้อง  แต่สำหรับหลายๆคนแล้วเค้า "ถือ" น่ะค่ะว่า  ข้าวต้มนี่แม้แต่ขอทานก็ยังไม่กินกัน  
มันเป็นเรื่องการวางตัวทางสังคมด้วยน่ะค่ะ   คนอีสานนี่เรื่องกับข้าวไม่เกี่ยง  จะให้กินอะไรก็ได้  แต่เรื่องข้าวนี่เค้าจะพิถีพิถันกันมากเลยค่ะ  
จะว่ามันเป็นแกนทางวัฒนธรรมเลยทีเดียวก็คงจะได้   การกินข้าวเหนียวปั้นนี่เค้าถือว่าเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเค้า  ทำไมเคร่งกันอย่างนั้น  
ถ้าจะให้เดาๆเอานะคะ  อาจจะเป็นได้ว่า  คนลาวนี่อพยพมาจากจีน  สมัยที่อยู่ในจีนตอนใต้นี่  
อาจมีการต่อสู้เพื่อรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตัวเอง  ไม่ให้ถูกกลืนชาติไปด้วยวัฒนธรรมจีน  คงมีส่วนให้เค้ายึดถือเรื่องกินข้าวอยู่  
จะสังเกตว่า  คนจีนกินข้าวต้มกันมาก  อาจจะเป็นจุดแยกทางสังคมก็ได้ค่ะ  คล้ายๆกับเป็นตัวแทนการต่อสู้ทางวัฒนธรรมอะไรอย่างนั้น  
ดิฉันก็มั่วๆเอาจากการสังเกตของตัวเองเท่านั้นนะคะ  ไม่รับรองอะไรว่าจะมีความเชื่อถือได้แต่อย่างใด

ขอบคุณคุณนนทิรามากค่ะที่ให้รายละเอียดเพิ่มเติม  นำ้ตาลเมเปิลนี่  ทำกันเป็นกิจลักษณะก็แต่ทางภาคตะวันออก  ดิฉันเลยไม่เคยเห็นค่ะ  
อาจเป็นไปได้ว่า ใโนว์โคนเป็นการเลียนแบบการกินนำ้ตาลเมเปิลอย่างนั้น  แต่เนื่องจากที่เค้าทำแบบนั้นได้  ก็คงจะเป็นต้นฤดูใบไม้ผลิที่ยังหนาวอยู่  
แต่ต้นเมเปิลเริ่มฉีดนำ้หล่อเลี้ยงขึ้นลำต้นเพื่อเร่งการผลิใบ  ถ้าอากาศอุ่นขึ้นแล้ว  ผลผลิตนำ้ตาลของต้นไม้ก็ลดลงทำนำ้ตาลไม่ได้  
ตอนที่อากาศหนาวๆอย่างนั้น  คนเลยไม่กินนำ้แข็งกัน  แต่พอมีเครื่องทำนำ้แข็งได้  ก็มาทำกันในหน้าร้อน   ไม่มีนำ้ตาลเมเปิลสดแล้ว  
ก็ใช้นำ้หวานเอา  เด็กๆนี่ชอบสีสดๆกัน  ใส่สีแล้วดูมัน "พิเศษ" ขึ้นเยอะน่ะค่ะ  เพราะนำ้ตาลเมเปิลมันสีนำ้ตาล  ดูก็งั้นๆแหละ  หน้าร้อนทางตะวันออก
ภาคใต้ และมิดเวสต์ของอเมริกานั้น  ทั้งร้อนทั้งชื้น  ไม่ผิดอะไรกับกรุงเทพฯเลยค่ะ  ทางตะวันตกก็ร้อนมากแต่แห้งกว่าหน่อย  
ได้กินนำ้แข็งไสแล้วก็ชื่นใจดีเหมือนอย่างอยู่บ้านเราน่ะค่ะ  อืม ชักคิดถึงนำ้แข็งไส ลอดช่องแตงไทยขึ้นมาตะหงิดๆ เหะๆๆ


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: ชายต๊อง ที่ 29 พ.ค. 01, 14:08
เรื่องอาหารนี่นะครับ ชอบกินอย่างเดียว ไม่ชอบทำ  ชายสนใจอาหารที่มล.เนื่อง   นิลรัตน์  ทำ ในหนังสือ ชีวิตในวังนะครับ ว่าจะอร่อยแค่ไหน คิดๆแล้วก็หิวจังครับ
   ชายสงสัยว่า ข้าวตอกน้ำกระทิ เนี่ย เป็นไงหรือครับ อยากได้สุดมาทำกินบ้างนะครับ รู้สึกว่าจะเป็นของหวานนะครับแต่หากินไม่ได้เลย


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: ชายต๊อง ที่ 29 พ.ค. 01, 14:09
โทษทีฮะ พิมพ์ผิด สูตร


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 01, 12:59
ไม่เคยกินเหมือนกันค่ะ
ไม่รู้ว่าทำแบบแตงไทยน้ำกะทิหรือเปล่า

น้ำเกรวี่ แม่ของลอราเคยทำด้วยน้ำนมค่ะ
หลังจาากทอดหมูเค็มแล้วก็เหลือน้ำมันในกระทะเอาไว้บ้าง  แล้วรินนมลงไป กวนไปเรื่อยไม่หยุดมือจนกระทั่งสุก กลายเป็นน้ำเกรวี่
รสชาติคงจะมันๆเค็มๆ  อร่อยสำหรับฝรั่ง

เยลลี่ที่เรากินกับไอศกรีมเป็นของหวาน
 ในเรื่องบ้านเล็ก เขากินแบบเดียวกับแยม คือทาขนมปัง   ต่างจากแยมตรงที่ไม่มีเนื้อผลไม้ปน  มีแต่วุ้นใสๆ ปาดลงบนขนมปัง

อีกอย่างหนึ่งที่แปลไม่ถูกว่าคืออะไร เรียกว่า salt-rising bread เป็นอาหารบนโต๊ะในงานเต้นรำที่บ้านคุณปู่
  สงสัยว่าคือขนมปังที่ใช้เกลือ(แทนผงฟู) ทำให้ฟูเป็นก้อน?
  รสชาติคงเค็มไม่จืดอย่างขนมปังทั่วไป
ใครรู้จักบ้างคะ?


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: ,ม่านฟ้า ที่ 01 มิ.ย. 01, 13:26
ชอบมากค่ะ  ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ แต่สนใจในเรื่องวัฒนธรรมในชีวิตประจำวันของฝรั่ง ทั้งเรื่องอาหารการกิน  คามเป็นอยู่ ทั้งเก่าใหม่ ได้ทั้งนั้น  ขอเป็นผู้ติดตาม  ตามติด เรื่องแบบนี้นะคะ    ขอบคุณค่ะ


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มิ.ย. 01, 21:21
สุคนธรสใช้คำไทยกับอาหารฝรั่ง  บางคำดิฉันก็จำศัพท์อังกฤษไม่ได้
อย่างสังขยาใส้แอปเปิ้ล  อ่านแล้วยังไงก็ไม่ใช่สังขยา เพราะมีแป้งหุ้มไส้แอปเปิ้ล  ราดครีมหวาน
แพนเค้กชนิดตั้งเคยแต่เห็นแต่ไม่เคยกินเป็นตั้ง  กินแต่เป็นแผ่น   มาเจอในหนัง Pleasantville ถึงรู้ว่าสมัยก่อนเขากินกันเป็น "ตั้ง" จริงๆ

ย้อนกลับมาที่เรื่อง
ในชีวิตจริงแม่ของลอราเคยไปทำงานในโอเต็ลของเพื่อนพ่อ   คงจะมีหน้าที่เป็นแม่ครัวประจำโรงแรม    ลอราเล่าว่าแม่ทำอาหารเก่งมาก
อย่างทำปายด้วยฟักทองดิบ  ราดน้ำส้มสายชู รสออกมาเหมือน apple pie
 หรือถั่วต้มอย่างเดียว เอาน้ำมาทำซุปถั่ว แล้วเม็ดถั่วก็อบราดน้ำเชื่อมเป็นอาหารหลัก
ส่วนอร่อยหรือไม่ คงอยู่ที่ลิ้นฝรั่งหรือไทยละค่ะ


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: pink ribbon ที่ 01 มิ.ย. 01, 22:42
อ่านเรื่องนี้ทีไร ก็จะรู้สึกหิวทุกทีเลยค่ะ

ชอบเรื่องนี้มากค่ะ ถ้ามีเครื่องtime machine ก็อยากจะนั่งย้อนเวลาไปอยู่ในยุคนี้แหละค่ะ


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 02 มิ.ย. 01, 06:22
เห็นทีจะต้องค่อยๆตอบผ่อนส่งนะคะ แหะๆๆ

เกรวี่ นี่  คือซอสที่ทำจากการคั่วแป้งค่ะ  ต้นฉบับคงแพร่หลายกันทั่วยุโรป  คือเค้าจะละลายไขในกะทะ  จะเป็นไขมันจาก butter หรือ จากที่หยดมาจากเนื้ออบ  หรือเอาสะดวกรวดเร็วหน่อย  ก็เอาจากที่เหลือจากการทอดหมูเบค่อน (หรือหมูเค็มน่ะคะ)  เอาแป้งสาลีที่ใช้ทำขนมปังนี่แหละค่ะ  ใส่ซักสองช้อนโต๊ะ  คนๆๆๆ บนไฟอ่อนๆ  มันจึงหอมกลั่นที่มีลักษณะเฉพาะของไขมันแต่ละอย่างที่ไม่เหมือนกัน  แป้งที่คั่วไปก็จะค่อยๆมีสีเข้มขึ้น  เค้าเรียก Rue (เป็นภาษาฝรั่งเศสน่ะค่ะ)  สำหรับนำ้เกรวี่  เค้าจะให้มันมีแค่สีเหลืองอ่อนๆเท่านั้น  แล้วค่อยๆรินนมสดตามลงไปและกวนไม่หยุด  นำ้จะออกมาข้นๆ  เกรวี่ที่อร่อยที่สุด  จะมาจากการอบเนื้อก้อนโตๆ หรือไก่งวง  แล้วเอาตัว กึ๋น หัวใจ แยกออกมาต้มซุปต่างหาก  นำ้ซุปก็เอาไปใส่แทนนำ้เปล่าตอนทำเกรวี่  เครื่องในที่ต้มแล้วก็เอาไปหั่นลูกเต๋าเล็กผสมในเกรวี่ให้มันเคี้ยวติดฟันได้  เกรวี่ทานกับมันบด  โดยตักมันบดใส่จาน  แล้วกดด้วยช้อนตรงกลางให้มันบุ๋มหน่อยแล้วราดเกรวี่ลงไป  และเค้ามักจะราดบนชิ้นเนื้ออบที่ฝานเป็นแผ่นออกมาด้วยค่ะ

สมัยก่อนเค้ากินกันแบบนี้  แล้วออกไปทำงานกลางหิมะเผาผลาญไขมันพวกนี้ไปหมด  แต่สมัยนี้กินอย่างเดิม  แต่ไม่ต้องไปทำงานกลางหิมะอย่างนั้นอีกแล้ว  ไขมันเลยไปแช่อยู่ในหลอดเลือดแทนน่ะค่ะ อึ๋ยยย


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 02 มิ.ย. 01, 06:34
เยลลี่แบบที่เป็นวุ้นนั้น  นอกจากทำด้วยนำ้ผลไม้กรองแล้ว  (ซึ่งทาขนมปังหรือสอดไส้ขนมหวาน ฯลฯ เป็นของหวาน)  ก็ยังมีแบบของคาวด้วยค่ะ

มีพวก herb jelly ที่นิยมกันมากก็คือ mint jelly ค่ะ  พวกนี้เค้าไว้เคียงเวลาทานเนื้อนะคะ  อย่างหน้า Thanskgiving นี่  ของเคียงหรือ trimmings ที่กินกับไก่งวงนี่นับไม่ถ้วนเลยค่ะ  คนรุ่นเก่าๆเค้ามักจะกิน mint jelly กับหมูแฮมอบ(คือหมูแฮมทั้งขา อบแบบเนื้ออบหรือ roast beef)  หรือเนื้อไก่งวง  แต่กับไก่งวงนี่  เค้านิยม cranberry sauce มากกว่า  cranberry sauce นี่ที่จริงมันเป็นลูกแครนแบรี่ซึ่งเปรี้ยวมาก(จึงมีเพคตินมาก)  เคี่ยว นำ้ตาล อบเชย อาจจะมีเครื่องอย่างอื่นเช่น ผิวส้มขูดฝอย เมื่อทิ้งให้เย็นมันก็จะจับเป็นวุ้นไปเอง  ในแครนแบรี่ซอสก็จะมีทั้งนำ้ทั้งเนื้อ เปรี้ยวๆหวานๆน่ะค่ะ

กลับมาเรื่อง herb jelly อีกที  ดิฉันก็ชอบ mint jelly เหมือนกัน  แต่ไปซอกแซกหา  ไ้ยินว่าเค้ามี basil jelly ด้วย  ก็ลองทำดู  ใช้ sweet basil นี่แหละค่ะ  ที่คล้ายๆใบกะเพราะ  เหมือนต้มนำ้ชา  เอาแต่นำ้กรองมาเคี่ยวกับนำ้ตาลและเพคติน  เป็น basil jelly หรือเยลลี่กะเพราะ  ดิฉันว่ามันอร่อยกว่า mint jelly มากเลยค่ะ  เอาไปฝากคนรู้จักกัน  เค้ามีเพื่อนเป็นคุณป้าชาวอังกฤษที่แต่งกับคนอเมริกัน  มาอยู่อเมริกาตั้งแต่หลังสงครามโลก  ก็มาทานข้าว  แล้วได้ทาน basil jelly ที่ดิฉันฝากไปให้  ทานเสร็จนั่งร้องไห้คิดถึงบ้านเลยค่ะ  บอกเหมือนที่เคยกินตอนยังสาวๆที่อังกฤษ  แต่ก็ไม่ได้ทำเยลลี่มานานแล้วค่ะ  เพิ่งไปซื้อ sweet basil จะมาลง  ปีที่แล้วปลูกแล้ว  พอหนาวมาก็ปล่อยให้มันร่วงตายไป  ไม่มีเวลาทำเยลลี่แล้วค่ะเดี๋ยวนี้ เฮ้อ


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 02 มิ.ย. 01, 06:43
Salt-rising bread นี่เป็นขนมปังที่ใช้ นำ้เกลือเป็นตัวทำให้ฟู(leavening agent) ใช่แล้วค่ะ  สมัยก่อนใช่ว่าจะหาซื้อยีสต์กันได้ง่ายๆ  จะทำเอาเร็วๆง่ายๆ หรือเป็นจำนวนมากๆ  ก็ใช้เกลือตีกับนำ้แล้วมันจะเกิดเป็นฟองฟ่อดขึ้นมา  ก็อาศัยฟองที่เกลือมันจับน่ะค่ะ  ให้ไปทำให้แป้งขึ้นตัว  แต่ก็ไม่ขึ้นมากเหมือนอย่างใช้ผงฟู หรือ ยีสต์  เนื้อแป้งมันจะหนักมาก   ที่เค็มก็คงไม่เค็มกว่ากันมากมายอะไรหรอกค่ะ  เพราะเวลาทำขนมปังเค้าก็ต้องใส่เกลือกันอยู่แล้วค่ะ

สังขยาไส้แอ๊ปเปิ้ล ?!?  งงเหมือนกันค่ะ  ไม่ทราบว่าจะใช่ apple turnover รึเปล่าคะ (ดูเหมือนตอนที่ Almanzo ไปโรงเรียนวันแรก  จะเอา apple turnover ไปกินเป็นข้าวกลางวันน่ะค่ะ) เค้าใช้แป้งพายน่ันแหละค่ะ  แต่แทนที่จะใส่ถาด  ก็ห่อตัดเป็นแผ่นสีเหลี่ยมเล็กๆ  ใส่ไส้แอ๊ปเปิ้ลแล้วพับทบ  เหมือนห่อเกี๊ยว  แล้วโรยหน้าด้วยนำ้ตาล  เอาไปอบ  ปกติเวลาจะทานขนมพวกพายนี่เค้าจะหยอดหน้าด้วย whipped cream ค่ะ  คือครีมที่เอาไปตีกับนำ้ตาลจนขึ้นฟูบางเบาเหมือนปุบฝ้าย

เดี๋ยวมาคุยต่อละกันนะคะ


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 01, 08:50
ฟังแล้วชักหิวค่ะ  เหมือนเวลาอ่านเรื่องบ้านเล็ก ไม่ควรอ่านขณะกระเพาะว่าง  ท้องจะร้องจ๊อกๆง่ายมาก
มีอาหารอีกหลายอย่างที่น่ากิน อย่างแอปเปิ้ลทอดกับหัวหอม ของโปรดของแอลแมนโซ
กระต่ายอบ ยัดไส้ด้วยหัวหอม
บิสกิตในเรื่องนี้น่าจะเป็นชนมปัง(นุ่ม) ทำด้วยแป้งหมักแทนนมเปรี้ยว อยู่ในตอน "ริมทะเลสาบสีเงิน"

คุณสุคนธรส แปลคำว่า fried เป็นผัด บ้าง ทอด บ้าง
apples fried with onions มันผัดหรือทอดกันแน่

ต่างกันไหมคะ


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: นนทิรา ที่ 02 มิ.ย. 01, 09:51
ดิฉันไม่แน่ใจว่า apple fried with onions นี่จะผัดหรือทอด แต่คิดว่าถ้าจะทอด ก็ไม่น่าจะทอดแบบใส่น้ำมันเยอะๆ เหมือนกับที่เราทอดกล้วยแขกกันค่ะ
อาจจะทำคล้ายๆกับ home fried potatoes ที่คนอเมริกันนิยมทานเคียงกับไข่ และ/หรือ แฮม เบคอน ไส้กรอกเป็นอาหารเช้าค่ะ บางเจ้าก็ใส่หัวหอมด้วย แล้วแต่สูตรใครอยากใส่อะไรบ้าง


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: green fried tomato ที่ 02 มิ.ย. 01, 09:54
เห็นแล้วอดถามไม่ได้ green fried tomato ( ไม่ได้อยู่ในบ้านเล็กฯ อยู่ในหนังชื่อเดียวกัน )นี่เป็นอย่างไรเอ่ย ถ้าผมซื้อมะเขือเทศในเมืองไทยไม่ว่าจะสีแดง สีเขียวเอามาทอดจะออกมาเหมือนกับใน usa หรือไม่ มีวิธีกรรมพิเศษอะไรหรือเปล่าครับ


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 02 มิ.ย. 01, 11:36
บางครั้งอาหารที่อร่อยที่สุด  เป็นอาหารที่เราเคยกินตอนเป็นเด็กที่หิวจัด  วิ่งงกๆเข้าครัวมาขอแม่กิน  ความเอร็ดอร่อยหาใช่รสชาติที่ติดอยู่บนปลายลิ้นแต่อย่างเดียวไม่   หากกลับเป็นรอยรสประทับอยู่ในหลืบสมองมากกว่า  ความทรงจำที่เก็บไว้ค่อยๆและเล็มอย่างละเมียดละมัยด้วยความอาลัยหา  บางครั้งกลับถูกความเป็นจริงอันแสนโหดร้ายทำลายไปจนหมดสิ้ง

ดิฉันเคยนึกอยากกินอาหารบางอย่าง  เฝ้าใฝ่หาตลอดเที่ยวบินยี่สิบกว่าชั่วโมง  จนต้องหยุดรถระหว่างทางจากสนามบินแวะกินตอนตีหนึ่ง  เพียงเพราะทนรอไม่ไหว  แล้วกลับใจฝ่อลง  เมื่อรสที่กระทบลิ้นคำแล้วคำเล่า  กินเท่าไรก็ไม่สามารถนำรสชาติแห่งความทรงจำ  กลับคืนมาในคำ่คืนอันร้อนระอุได้  เหมือนอดีตที่ไม่มีวันหวนคืนมาอีกแล้ว...

ก็เหมือนอาหารของลอร่าน่ะค่ะ  หลายๆอย่างหลายๆจานเป็นเพียงอาหารคนยาก  ที่แท้แล้วไม่มีรสมีชาติอะไรพิเศษนักหนา  แต่ความวิเศษสุดแสนอร่อยของมัน  คืออดีตอันแสนหวานของเด็กน้อยๆคนหนึ่งในอดีตนั่นเอง


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 02 มิ.ย. 01, 12:21
fried คือ ทอด หรือ ผัด ??  ภาษาอังกฤษไม่มีศัพท์แสงของการปรุงอาหารแบบนี้มากนัก  เพราะส่วนมากเค้าจะใช้เตาอบ  หรือเตาย่างกันมากกว่า  เลยใช้คำเดียวครอบจักรวาลไปหมด  ที่จะตั้งเตาก็มักจะต้มมากกว่า  ถ้าจะว่าทอดคือการใช้นำ้มันมากๆ  ผัดใช้นำ้มันน้อยๆอย่างเราผัดผัก  ก็เทียบกันคำต่อคำยากค่ะ  เพราะเวลาเค้าใช้นำ้มันปานกลาง  มากกว่าที่เราใช้เวลาผัด  แต่มากกว่าเวลาทอด  จะเรียกอะไรดี ??  

แต่สำหรับ แอ๊ปเปิ้ลกับหัวหอมนี้  ไม่เคยเห็นใครเค้ากินกันแล้วค่ะ  ไม่เคยเห็นในเมนูไหนด้วย  แต่จะให้เดาเอานะคะ  เค้าคงผัดหัวหอมใหญ่(onion)ก่อนน่ะค่ะ  หัวหอมแดงอย่างหบ้านเรา(shallot)ใช้ไม่ได้นะคะ  หัวหอมใหญ่นี้  ให้รสให้กลิ่นต่างกันด้วยเวลาปรุงสั้นยาวไม่เท่ากันค่ะ  ถ้าผัดเร็วๆพอให้เริ่มใส  ก็จะมีรสหวานกรอบ มีกลิ่นหอมของหัวหอมกรุ่นจมูก  แต่ถ้าผัดจนเลยใส  ให้เริ่มออกยางสีนำ้ตาล  ที่เค้าเรียกว่า caramelized แล้ว  มันจะเกิดยางหอมหวาน  ไม่เหลือกลิ่นหัวหอมเท่าไหร่แล้ว  แต่จะหวานเหมือนนำ้ตาลเคี่ยวติดไหม้นิดหน่อย  แล้วจึงใส่แอ๊ปเปิ้ลฝานลงรวนผัดให้พออ่อนนอกกรอบใน  ก็จะมีรสกรอบกรุบของแอ๊ปเปิ้ล  หนุนด้วยรสหวานสุขุมแกมกลิ่นไหม้อ่อนๆ  แล้วต้องกินให้หมด  รสประสานกับกลิ่นแตะจมูกอย่างนี้จะคงอยู่เพียงชั่วมือเท่านั้น  เอาไปอุ่นมากินอีกก็จะไม่เอาไหนเลย  เพราะกลิ่นกรุ่นจมูกไม่หลงเหลืออีกแล้ว

กระต่ายอบยัดด้วยหัวหอมใหญ่่  ท่าจะอร่อยมากค่ะ  ดิฉันไม่เคยลอง  ลองแต่อบเป็ดค่ะ  เอาเป็ดล้างผึ่งให้สะอาด  หั่นหัวหอมใหญ่ผ่าแปด ส้มเช้งผ่าแผดคว้านเมล็ดออกยัดท้องตามไปด้วยอีกสักลูก  ใส่ขิงทั้งราก ตามด้วยรากผักชี  กระเทียมบุบถูทาให้ทั่วทั้งนอกทั้งใน  โรยพริกไทยทุบแตกใหม่ๆถูให้ทั่วหนัง  อบไฟกลางๆ  สักครึ่งชั่วโมง  แล้วเปิดมาตักนำ้ราดชโลมทั่วทุกสิบห้านาทีจนสุก  เอาออกมาพักไว้  เทนำ้เนื้อที่หยดลงถาดใส่ถ้วย  แล้วแยกไขมันกับนำ้เนื้อ  เอาแท่งเนยสดถูถาดอบแล้วขูดเอาเศษเนื้อเศษหนังชิ้นเล็กชิ้นน้อยออกจากถาดให้หมด  เทยำ้ซุปต้มเครื่องในใส่ถาด  แล้วขูดต่อให้เกลี้ยง  แล้วเอานำ้มันที่แยกตั้งกะทะ  คั่วแป้งดังกล่าวข้างบน  พอแป้งเริ่มมีกลิ่นหอมและไหม้นิดๆได้ที่  เติมนำ้และเศษเนื้อที่ขูดออกจากถาดอบ  คนให้แป้งละลายไม่เป็นลูก  ใส่เครื่องในสับ  เติมพริกไทยบดใหม่ๆ  ใส่เกลือ  แล้วรินใส่โถพักไว้  ขำแหละเนื้อ ฝานเป็นแผ่นหนาประมาณหนึ่งหุนเรียงใส่จาน  ราดด้วยเกรวี่  กินกับเครื่องเคียง  มี มันบดราดเกรวี่  เยลลี่ใบกะเพรา  หรือแครนแบรี่ซอส  แคร๊อทฝานอบเนยกับนำ้ตาลทรายแดง ถั่วแขกนึ่งพอสุกแล้วรวนกับเนยสดเกลือพริกไทย

ส่วนบิสกิตนั้น  ก็เป็นกึ่งขนมปังกึ่งเพสตรี้น่ะค่ะ  เค้าผสมแป้งสาลีกับผงฟู แล้วตัดไข(อาจเป็นเนยสดหรือ shortening)  ด้วยมีดที่คล้ายๆสนับมือ  
หรือมีดสองด้ามจับด้วยสองมือแล้วปาดๆๆๆ  จนไขถูกตัดเป็นชิ้นเท่าเม็ดกรวดเม็ดทราย  เอ่อ เอาสูตรไปดีกว่าค่ะ หุๆๆแป้งสาลี ๒ ถ้วยร่อนให้ไม่จับเป็นก้อน
ผงฟูที่เค้าเรียกว่า  double-acting baking powder (ไม่ใช่ baking soda นะคะ)  ๓ ช้อนโต๊ะ
เกลือ ๑ ช้อนชา
เนยสด (หรือ shortening) ๖ ช้อนโต๊ะนมสด ค่อนถ้วย(สองในสามถึงสามในสี่ของถ้วยตวง)ตั้งไฟเตาอบ ๔๕๐ องศาฟาเร็นไฮต์  แล้วหันไปร่อน แป้ง กับผงฟูและเกลือเข้าด้วยกัน  ฝานเนยสดใส่ลงแป้งผสม  แล้วตัดลงในแป้ง  จนเนยมีขนาดเท่าเม็ดทราย    รินนมใส่ทีละน้อยๆคนให้เข้ากันจนแป้งเกาะเป็นก้อน  ไม่ติดข้างชามผสม  โรยแป้งลงบนเขียงหรือกระดานที่จะใช้นวด  นวดเบาๆ ๖-๗ ครั้ง  แล้วใช้ไม้รีดแป้งรีดให้เป็นแผ่น  โดยรีดออกจากศูนย์กลางไปหาริม  ให้หนาประมาณครึ่งนิ้ว  แล้วใช้ที่ตัด(ใช้กระป๋องนมเปล่าตัดก้นออกก็ได้ค่ะ)โรยแป้งนิดหน่อย  จะได้ไม่ติด  กดตัดออก  ใน่ถาดอบ  เอาไปอบ ๑๒-๑๕ นาที  จะได้บิสกิตที่กรอบนอกเนื้อผสมทั้งร่วนทั้งนุ่ม  เพราะเม็ดเนยที่ไม่ได้เจือลงไปในเนื้อแป้ง  เมื่อถูกความร้อนในเตา จะละลายแยกแป้งเป็นแผ่นบางๆจากกันเหมือนเพสตรี้  เวลากินก็ผ่าครึ่งราดเกรวี่ หรือทาเนยสดก็ได้ค่ะ  อบสดๆใหม่ร้อนๆออกจากเตานี่ จะหอมอร่อยมากเลยค่ะ  กินกับเนื้ออบด้วยแล้วจะเข้ากันมากเลยค่ะ


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 02 มิ.ย. 01, 13:42
fried green tomatoes มะเขือเทศเมืองไทยที่จำได้จะมีแต่แบบลูกเล็กคิดว่าคงทอดไม่ได้หรอกมังคะ  แต่สมัยนี้อาจมีแบบลูกใหญ่ๆแล้วก็ได้  
ต้องใช้อย่างดิบ(green)ค่ะ  เอามะเขือเทศสุกสีแดงมาทอดมันจะเละหมดค่ะ  มะเขือดิบนี่คงหาซื้อไม่ได้มังคะ  เพราะเค้ามักจะเก็บที่สุกแล้วมาขาย

มะเขือเทศมีอย่างลูกโตๆเป็นกิโลก็ยังมีค่ะ  มันจะมีลูกสุกได้ก็ตอนอากาศร้อน  บางพันธุ์(อย่างใหญ่)จะค่อยๆทยอยออกไปเรื่อย  แต่พอเริ่มเข้าหน้าใบไม้ร่วง  อากาศเริ่มเย็นลง  มะเขือเทศจะไม่ยอมสุกค่ะ  บางทีหรอสต์(แม่คะนิ้ง)ลงใบร่วงหมดชั่วคืนต้นก็จะตาย  ก็ต้องเก็บลูกเขียวๆที่ยังไม่ห่าม  และจะไม่ยอมสุกมาทำอย่างอื่นกินกันค่ะ  บ้างก็เอาไปดองใว่ขวด  มีบ้างที่เอามาชุบแป้งทอดเป็น fried green tomatoes  ก็มี  

แบบที่ง่ายที่สุดก็ชุบแป้งข้าวโพด (cornmeal) ที่ผสมเกลือพริกไทยนิดหน่อยแล้วเอาไปทอด  แต่แป้งมันมักจะหลุด  จึงต้องมีเคล็ดคือ ห่ันมัเขือเทศดิบเป็นแว่นๆหนาประมาณ หรึ่งหุน  แล้ววางบนกระดาษเช็ดมือเพื่อซับนำ้ออก  โรยแป้งสาลีเพื่อซับนำ้อีก  ตีไข่กับเกลือพริกไทย  เอามะเขือเทศไปชุบไข่แล้วไปชุบ cornmeal หรือ  (bread crumps)  แล้วเอาไปทอดนำ้มันร้อนๆ  

จะเอาให้หรูขึ้นหน่อยก็  ฝานมะเขือวางพักบนกระดาษซับอย่างว่าข้างบน พักไว้  แล้วผสมแป้งสาลีครึ่งถ้วยตวง  เกลือ ๒ ๑/๒ ช้อนชา  นำ้ตาล ๒ ๑/๒ ช้อนชา  พริกไทย ๑/๔ ช้อนชา ให้เข้ากัน  เอามะเขือคลุกแป้ง  แล้วเติมนมกระป๋อง evaporated milk (แบบครีมนมตราหมีที่ร้านกาแฟเอามาราดหน้ากาแฟเย็นน่ะค่ะ)  ๓/๔ ถ้วยตวงในแป้งที่เหลือ  กวนให้เข้ากัน  แล้วชุบมะเขือเทศที่ชุกแป้งแห้งไว้แล้วครั้งหนึ่งนั้น  ลงในแป้งที่เปียกทีหลังอีกครั้ง  แล้วลงทอดกะทะนำ้มันร้อนๆจนได้ที่  คือออกเกรียมเป็นสีนำ้ตาลทองทั้งสองด้าน


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: pink ribbon ที่ 02 มิ.ย. 01, 14:51
อ่านสํานวนการเขียนของคุณพี่พวงร้อยในความเห็นที่24 แล้ว ขอชมค่ะ เพราะดีจัง
พี่พวงร้อยเป็นนักเขียนหรือเปล่าคะ  
นอกจากนี้ ดูท่าทางคุณพี่พวงร้อย คงทําอาหารเก่งแน่ๆค่ะ  อ่านทีไรหิวทุกทีค่ะ


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 01, 18:48
อ่านของคุณพวงร้อยแล้วได้กลิ่นยั่วน้ำลายเลยค่ะ  ดูจากการบรรยาย ไม่ทราบว่าเคยขีดๆเขียนเๆมาบ้างหรือเปล่า

แอปเปิ้ลทอดกับหัวหอม อ่านแล้วน่ากินจัง  เอาผลไม้มาทอดกินแบบของคาว แปลกดี

ในนิยาย มักเอ่ยถึง "หมูเค็ม" บ่อยๆ   เป็นเนื้อสัตว์หลัก  
เรียกว่า salted pork  ใน" ริมทะเลสาบสีเงิน" บอกว่าเป็นหมูชิ้นใหญ่ๆ สีขาว แช่อยู่ในน้ำเกลือสีน้ำตาล  มีมากขนาดเป็นถังเลยค่ะ
หมายถึงเบคอนอย่างที่เรากินกันนี่เองหรือคะ?


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 02 มิ.ย. 01, 21:46
โอ๊ย เขินเลยค่ะ  ดิฉันมัวแต่ "ใช้" ชีวิต ยุ่งๆอยู่  ยังไม่มีเวลามาจดบันทึกลงไว้ให้เป็นชิ้นเป็นอันเลยค่ะ  ตั้งใจว่าจะขีดๆเขียนๆอะไรอยู่เหมือนกันค่ะ  

ตอนที่อ่านเรื่องนี้  อายุ ๑๒-๑๓  แต่ก็ยังจำรสประทับได้ติดตาติดใจ   แต่ยิ่งนานไป  ความประทับใจที่งวดตัวลงเรื่อยๆไปตามกาลเวลา  ทำให้ยิ่งรู้สึกว่า  เรามี "วิญญาณของลอร่า" แฝงฝังในความทรงจำของเราทุกคน   คือความโหยหาอาลัย "รอยรสประทับในหลืบสมอง"  ที่บางครั้งบางคราว  เราประจงเอาออกมาและเล็มอย่างทนุถนอม  เพราะมันเป็นสิ่งเดียวกับ ความสุขบริสุทธิ์ ของเด็กน้อยคนหนึ่งในอดีตนั่นเอง  เคยคิดอยู่เหมือนกันว่า  ลอร่าเขียนเรื่องนี้เมื่อย่างเข้าวัยชราแล้ว  ความน่ากิน รสชาติความเอร็ดอร่อยตามท้องเรื่อง ดูเหมือนจะเข้มข้นขึ้น  ด้วยการเก็บบ่มอย่างทนุถนอม  ในซอกหลืบของความทรงจำอย่างนี้แหละค่ะ  คิดว่าเราทุกคน  ต่างก็มีสิ่งเหล่านี้เก็บไว้  ความอมตะของเรื่องบ้านเล็ก  อยู่ที่เมื่อเด็กอ่าน  ก็ประสานคล้องกับความเจริญอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ  และเมื่อย้อนนึกถึงประสบการณ์ที่ได้อ่านมาในอดีต  มันก็ไปซ้อนทับกับ อดีตอันหอมหวานที่เรามีอยู่ทุกคน  ยังนึกไม่ออกเลยค่ะว่า  มีเรื่องอะไรอีก  ที่สามารถสาวทุกอณูแห่งความทรงจำออกมาได้ ทั้งรสทั้งกลิ่น ทิ้งลิ้นสัมผัส  เหมือนอย่าง เรื่องชุดบ้านเล็กฯ ได้เลยค่ะ

คนที่อยู่เมืองนอก  นานๆกลับบ้านที  ความอิดโรยจากเที่ยวบินมาราธอน  จากการที่ร่างกายสัมผัสความเปลี่ยนแปลงของอากาศต่างกันสุดขั้วอย่างฉับพลัน  ความพลุ่งพล่านของอารมณ์  ที่เหมือนอดีตและปัจจุบัน  มาปะทะกันราวกับโดนพายุสาดซัดจนแทบตั้งตัวไม่ติด  ครั้งแล้วครั้งเล่า  เที่ยวแล้วเที่ยวเล่า  ที่ดิฉันกลับเมืองไทย  มักจะผ่านความรู้สึกแบบนี้  บางทีรู้สึกเหมือนกับไปติดอยู่ในหนัง Twilight Zone แล้วฉายออกมาแบบสโลว์โมชั่นเลยค่ะ หึหึ

salted pork ก็คล้ายๆกับหมูเบค่อน  คือมาจากหมูมันส่วนท้อง (pork belly)  ที่เอาไปหมักนำ้เกลือ  แต่เบค่อนเค้าเอาไปเขวนตากแห้ง  แล้วอบรมควันช้าๆ  ให้มีกลิ่นหอมและเก็บได้นานขึ้นมาก  ที่เค้าทำมาขายก็ยังแถมฝานเป็นชิ้นบางๆเท่ากันเปี๊ยบมาเสร็จสรรพ  ถ้าสังเกตดีๆจะเห็นความหนาบางไม่เท่ากัน  ถ้าฝานบางๆเมื่อทอดออกมาแล้วมันจะกรอบกว่า  แต่ฝานแบบนั้นก็ต้องใช้เครื่องหั่นแล้วค่ะ  ชาวบ้านเฉือนเอาด้วยมีดกับเขียง  ก็หั่นได้ชิ้นหนากว่า  ตามตลาดเค้าจะมีเบค่อนอย่างชิ้นหนา  หั่นด้วยเครื่อง แต่เรียกให้มันติดกลิ่นอายคั้นทรี่(ทำให้แพงขึ้น) ซักหน่อยว่า  countrystyle bacon  ก็พอจะปะล่อมปะแล่มว่า  ได้กินอาหารติดกลิ่นอายธรรมชาติสักหน่อย  เวลาเรานั่งละเลียดอาหารในท่ามกลางความวุ่นวายของชีวิตชาวกรุงไงคะ


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 03 มิ.ย. 01, 14:06
กลับมาคุยเรื่อง แพนเค้ก อีกที  คือพวกแป้งผสมผงฟู เติมน้ำนม นำ้มัน หรืออาจจะมีไข่ด้วย  แป้งจะเปียกๆ  ปรุงด้วยการหยอดลงบนกะทะแบนๆให้สุกเหมือนเราเจียวไข่  ในอเมริกาเรียกว่า แพนเค้ก บ้าง flapjacks บ้าง (คงมาจากการที่พลิกแผ่นแป้งเร็วที่คนชำนาญบางคนใช้โยนขึ้นจากกะทะ  ไม่ต้องใช้ตะหลิวน่ะค่ะ)  คนกินจุๆก็จะตั้งซ้อนกันสองสามแผ่น ทาเนย ราดนำ้ตาลเมเปิ้ล  บางคนก็ใส่แยมหรือเยลลี่ด้วย  ที่ตั้งสองแผ่น  มักจะเรียกว่า short stack ถ้ามากไปอีกก็เรียก long stack ก็มี  ก็ ตั้งเล็ก ตั้งใหญ่ นั่นแหละค่ะ

แป้งแผ่นที่ปรุงด้วยการเอาแป้งเหลวๆราดบนกะทะให้สุกเป็นแผ่นกลมๆอย่างนี้  มีเห็นกินกันในหลายๆชาติเลยค่ะ  โดยเฉพาะในยุโรป  ต่างกันก็ความหนาบาง  ที่บางก็เพราะแป้งมันเหลวมาก  บางทีบางเหมือนกระดาษอย่างคนฝรั่งเศสเรียกว่า เครป(crepe) หรือคนเยอรมันเรียกว่า บลิ้นท์ซ (blintz) เคยได้ยินที่เรียกว่า บลีนี่ (blini) ไม่ทราบว่าเป็นคำอิตาเลี่ยนหรือเปล่านะคะ  ในยุโรปก็กินกันหลากหลายทั้งคาวหวานต่างกันไปมากมาย  อย่างแบบของคนยิวมี บลีนี่ อย่างนึงที่ใส่ ครีมเปรียวกับปลาแซม่อนรมควันด้วยค่ะ  

มีเพื่อนคนนึงชอบกินอาหารเอธิโอเปียมาก  เค้าบอกว่าคล้ายสตูแต่เข้าเครื่องเทศมาก  กินกับ "ขนมปัง" อย่างหนึ่งที่เรียกว่า อินเจรา (Injera)  ก็เพิ่งไปลองกินมาเมื่อสองสามเดือนก่อนนี้เองค่ะ  เค้าเอาถาดใบใหญ่  ปูด้วย อินเจรา ที่ว่า  แล้วกองๆกับข้าวที่ดูเหมือนแกงต้มเขละๆ  แป้งอินเจราที่ว่านี่เป็นแป้งบางๆและใหญ่มาก  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางสัก ๑๕ นิ้วได้มังคะ  เค้ากินโดยฉีกแป้งแล้วใช้ชิ้นแป้งนี้  ไปหยิบกับข้าวใส่แป้งมาหน่อยหนึ่ง  แล้วห่อกินด้วยกัน  พอเข้าปากก็รู้เลยว่านี่เป็นพวกแกงคล้ายๆของแขกเลยค่ะ  คือคล้ายๆพวกมัสมั่น  ไม่ค่อยจะเผ็ด  แต่ถึงเครื่องเทศเหมือนแกงแขก  แล้วอินเจรานี่  เหมือนเครปยังไงยังงั้นเลยค่ะ  ก็ทึ่งเป็นอันมาก  ถามเจ้าของร้านซึ่งเป็นคนชาวเอธิโอเปียแท้ๆ  มาทำร้านกันทั้งครอบครัว  ก็บอกว่า  เค้าผสมแป้งแล้วทิ้งหมักไว้หลายๆชั่วโมง  ส่วนผสมฟังดูแล้วคล้ายๆแพนเค้กนั่นแหละค่ะ  แต่เค้ากินเป็นอาหารหลัก  เหมือนฝรั่งกินขนมปังต่างข้าวเลยค่ะ  ฟังแล้วก็ทึ่ง  คิดว่าการทำแป้งแพนเค้กนี่คนตกทอดมาแต่โบราณ  เพราะการทอดแป้งสุกเร็วๆบนเตาอย่างนี้  ใช้เชื้อเพลิงน้อย  ไม่ต้องหาเตาอบให้ยุ่งยากสำหรับคนอยู่เมืองร้อน  และดูความที่เป็นทีแพร่หลายในทุกๆชาติแถวยุโรป  พอๆกับขนมปังอบเลยทีเดียว  ก็คิดว่าคงเป็นอาหารหลักของคนในวงกว้างกันมานานแล้วค่ะ

เด็กๆมักจะชอบกินแพนเค้ก  เพราะทำอันเล็กๆมากๆเหมือนเล่นบ้านกัน  ด้วยการหยอดแป้งนิดเดียว  แพนเค้กออกมาอันเล็กๆนี้เค้าเรียกว่า  silver dollar pancake  มีเพื่อนคนหนึ่ง  เค้าครีเอทีฟมาก  หลอกให้ลูก(ซึ่งเป็นเด็กกินยากสุดๆ) ให้กินแพนเค้ก  ด้วยการหยอดแป้งเป็นตัวหนังสือตามชื่อ  ให้ลูกสะกดเป็นชื่อเค้าออกมา  เด็กคนนี้มาพักที่บ้านก็ขอให้ดิฉันทำแพนเค้กตัวหนังสืออย่างนั้นด้วย  ทำยากจริงๆเลยค่ะ หึหึ

เรื่องเอาผลไม้มาทำเป็นของคาวนี่  ของเราก็มี  ก็อย่างแกงเผ็ดเป็ดย่างไงคะ  ใส่สับปะรดด้วย  สองสามปีก่อนมีบุญได้กินแกงเป็ดที่คนไทยที่นี่คนหนึ่งทำ  นอกจากจะมีสับปะรดแล้ว  เค้ายังใส่ลูกองุ่นไร้เมล็ด กับลิ้นจี่กระป๋องด้วย  อร่อยซ้าาาไม่มีเลยค่ะ  นึกไม่ถึงเลยว่าเอาผลไม้มาทำแบบนั้นได้  แต่ออกมาแล้วเป็นแกงเป็ดที่อร่อยที่สุดเท่าที่เคยกินมาเลยค่ะ


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เย็นจันทร์ ที่ 08 มิ.ย. 01, 02:30
แกงเป็ด สูตรที่ได้มาใส่สัปปะรดกับลิ้นจี่ค่ะ เครื่องแกงก็ผสมน้ำพริกมัสหมั่นไปนิดนึง อร่อยมาก ทำทานที่นี่ฝรั่งกินกันประมาณว่าแทบจะขอดจาน เคยทำให้ป๊ากับแม่ทานตอนไปเมืองไทย ได้กะทิคั้นเอง น้ำพริกแกงสดๆคนขายทำให้ใหม่ๆ ผักสด เป็ดสด ทุกอย่างดีหมดค่ะ ป๊ากับแม่ตอนแรกไม่กล้ากิน พอได้เข้าปากทีเดียว กินกันเรียบ อิอิ
หมูเค็ม เคยทำหมูเค็มสดสูตรคิดเองน่ะค่ะ อร่อยดีเหมือนกัน ทำให้หลายคนทาน ก็ติดใจกันมาเยอะแล้ว ทำก็คล้ายๆิเนื้อเค็มสด เปลี่ยนเนื้อเป็นหมู สันคอหมูจะดีที่สุดน่ะค่ะ สับชิ้นใหญ่ๆหน่อย หมักกับเครื่อง มีเกลือกระเทียม พริกไทยเม็ด ขมิ้น แล้วก็ตะใคร้ ตำให้ละเอียด เคล้ากับหมู ใส่ซีิอิ๊วขาวไปนิด หมักไว้ประมาณชั่วโมงนึงก่อนเติมน้ำให้ท่วมแล้วเอาตั้งไฟ เคี่ยวไฟอ่อนๆไปเรื่อยๆจนน้ำแห้งงวด น้ำมันจากหมูจะออกมา ก็ผัดหมูด้วยน้ำมันหมูนั่นแหละค่ะ จนหอม ก็เสริฟไำด้ ปกติจะทำเอาไว้เยอะ แล้วแบ่งแพคแช่ฟรีสเอาไว้ จะกินก็เอามาอุ่นที กินกำน้ำพริกผักต้ม อืมมมมมม อร่อยค่ะ


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 15 มิ.ย. 01, 23:04
กลับมาใช้กระทู้นี้อ้างอิงสูตรอบเป็ดอบไก่  เพิ่งสังเกตว่าเขียนผิดไปค่ะ  ในความเห็นที่ ๑๘ แป้งรู  ซึ่ง ได้จากการคั่วแป้งสาลีในนำ้มัน หรือเนยสด  ต้องสะกดอย่างนี้ค่ะ Roux  ไม่ใช่ Rue

Rue เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง  มีกลิ่นที่ดิฉันคิดว่า เหม็น หาใดเปรียบเลยค่ะ  กลิ่นเหมือนถุงเท้าเก่าๆไม่ซักแล้วหมักไว้สามเดือน  เคยผลูกด้วยความอยากรู้อยากเห็น  เจอดีเลยค่ะ หึหึ  ในยุโรปยุคกลางที่ยาสมุนไพรเป็นสิ่งที่แพร่หลายมากก็ใช้กัน  สำหรับแก้อะไรดิฉันจำไม่ได้แล้วค่ะ

แล้วสูตร บิสกิต ที่ให้ไว้  ผงฟู สามช้อนโต๊ะ ต่อแป้งสองถ้วย  รู้สึกจะมาก  น่าจะเป็น "ช้อนชา" มากกว่า  ไปเช็คดูก็เป็น ๓ ช้อนชา จริงๆด้วยค่ะ  ใครไปใช้สามช้อนโต๊ะเดี๋ยวอบออกมาเป็นลูกโป่งแน่ เอิ๊กๆๆ


กระทู้: อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: ดพจร ที่ 15 ธ.ค. 01, 11:57
เคยอ่านชุดบ้านเล็กฯสมัยนานมาก
อยากซื้อเก็บไว้เหมือนกันคับ
จำได้ว่า
อ่านแล้วหิวๆๆ
เอิ๊ก