เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 26 มี.ค. 13, 14:11



กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มี.ค. 13, 14:11
ไทยเรามีนายกรัฐมนตรีคนแรกเมื่อพ.ศ. 2475  เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จ      พระยามโนปกรณ์นิติธาดาแม้ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำทางการเมืองคนแรกในระบอบประชาธิปไตย      แต่ตัวท่านเองก็มิได้ก่อตั้งนโยบายการบริหารใหม่ๆขึ้นมาด้วยตัวเอง    ทิศทางการเมืองในช่วงนั้นยังคงอยู่ในอำนาจของคณะราษฎร์ ที่ประกอบด้วยนายทหารหนุ่มๆและพลเรือนปัญญาชน ที่ก่อการปฏิวัติขึ้นมา 
 
พระยามโนปกรณ์ฯ ได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่พยายามประสานประโยชน์ระหว่าง "กลุ่มอำนาจเก่า" คือกลุ่มบุคคลสำคัญในระบอบราชาธิปไตย และ "กลุ่มอำนาจใหม่" คือกลุ่มผู้นำในการปฏิวัติ    ด้วยเหตุนี้เอง  จึงไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มอำนาจใหม่   ทำให้ท่านต้องถูกบังคับให้พ้นจากเก้าอี้ไปในระยะเวลารวดเร็ว

การเมืองไทยล้มลุกคลุกคลานด้วยการเปลี่ยนมืออำนาจมาตั้งแต่พ.ศ. 2475  จนถึงพ.ศ. 2481   ก็ได้นายกรัฐมนตรีที่ก้าวจากทหารมาเป็นผู้นำระบอบประชาธิปไตยอย่างที่เรียกกัน     จอมพลป. พิบูลสงครามมองเห็นความยุ่งยากทางการเมืองที่เรื้อรังมาตลอด 6 ปี      จึงเลือกวิธียุติปัญหาด้วยการเก็บกวาดผู้คนที่คิดว่าเป็นตัวปัญหาออกไปจากบ้านเมือง  ด้วยวิธีการเด็ดขาด   ไม่ประนีประนอมอีกต่อไป


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มี.ค. 13, 14:35
    เมื่อจอมพลป. ก้าวขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี    ในหนึ่งเดือน ผลงานแรกก็คือทำให้ผู้คนที่จอมพลป.เห็นว่าเป็นศัตรูทางการเมือง กลายเป็นลูกไก่ในกำมือ   ด้วยการออกคำสั่งเด็ดขาด  สั่งจับถึง 50 คน  ด้วยข้อหาเดียวกันหมดคือกบฏภายในพระราชอาณาจักร    คนเหล่านี้ไม่ถูกส่งผ่านการกระบวนการยุติธรรมอย่างผู้ถูกจับกุมทั่วไป  แต่ถูกส่งตัวขึ้นศาลพิเศษ โดยไม่มีใครในรัฐบาลหรือประชาชนคัดค้านได้     คำสั่งออกมาอย่างรวดเร็วแบบสายฟ้าแลบ  คือประหารชีวิต 18  คน จำคุกตลอดชีวิต 26 คน   ที่เหลือโชคดีกว่านิดหน่อยคือถูกเนรเทศออกนอกประเทศ
    วิธีการแบบนี้เหมือนจุดไฟเผาหญ้า   พอไฟไหม้ หญ้ารกๆก็ราบไปหมดทันตาเห็น   ส่วนจะไหม้อะไรอย่างอื่นที่ไม่ใช่หญ้า เช่นต้นไม้หรือสัตว์เล็กๆหรือเปล่า  ไม่ต้องคำนึงถึงในขณะนั้น    อย่างน้อยทุกอย่างที่เคยเป็นเสี้ยนเป็นตอก็ไม่เหลือเกะกะอีก    
    ในปีต่อมาคือพ.ศ. 2482  จอมพลป.มิได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเก้าอี้เดียว   แต่ว่านั่งคร่อมลงไปหลายๆตัวพร้อมกัน   เช่นเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ตำแหน่งหลังนี้ นั่งเก้าอี้ในปี 2485)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มี.ค. 13, 14:47
  เมื่อขจัดเสี้ยนหนาม ที่จอมพลป.เห็นว่าเป็นตัวปัญหาได้   ขั้นต่อไปคือใช้อำนาจในมือที่มีอยู่ สร้างสิ่งที่เห็นว่าเป็นผลดีต่อการบริหารประเทศ ที่ถูกกุมบังเหียนด้วยมือตนเองมากที่สุด       สิ่งนั้นคือปลุกสำนึกของประชาชนให้ไปทางเดียวกัน  ได้แก่สำนึกในเรื่อง "ชาติ"
  ประชาชนไทยสมัยนั้นถูกกระตุ้นเตือนจากสื่อที่มีอยู่ 2 อย่างคือวิทยุและหนังสือพิมพ์  ไม่เว้นแต่ละวัน   ให้เกิดความตื่นตัวและฮึกเหิมใจว่าประเทศกำลังก้าวกระโดดไกลอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน     แทนที่จะเป็นเรือพายที่พายเอื่อยๆเฉื่อยๆ อย่างที่พวกเขาเคยชินมาตั้งแต่เกิด   สยามกำลังเป็นรัฐนาวาแล่นฉิวไปสู่ความเป็น "สยามใหม่"   มีโอกาสรุ่งเรืองเป็นอารยะประเทศ  ไม่น้อยไปกว่าประเทศมหาอำนาจอื่นๆ   
สยามใหม่ในความหมายของจอมพลป. ประกาศออกมา คือ
"มีวัธนธัมดี   มีอนามัยดี  มีการแต่งกายอันเรียบร้อย   มีที่พักอาศัยดี  และมีที่ทำมาหากินดี"


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 26 มี.ค. 13, 17:43
เดี๋ยวนี้พัฒนาแล้วขยับจากเด็กหลังห้องหลับๆ ตื่นๆ มาหน้าห้องลงชื่อเข้าเรียนก่อนเลยครับ  ;D มานั่งรอซายานวรัตนด้วย


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มี.ค. 13, 17:50
มีเด็กโค่งมาลงทะเบียนประเดิมแล้ว      ขอเอาข้าวแช่มาเสิฟก่อนนะคะ   เหมาะกับอากาศร้อนจัดของเดือนมีนาคม
แล้วค่อยเปิดชั้นเรียนภาคค่ำค่ะ


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มี.ค. 13, 20:17
  จอมพลป. มีความหวังอันรุ่งโรจน์เช่นเดียวกับผู้นำที่เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงอยู่ในโลกยุคนั้น    ยุโรปมีฮิตเลอร์และมุสโสลินี ผู้เป็น "ความหวังใหม่"ของเยอรมนีและอิตาลี      สยามก็มีจอมพลป. นำทางไปสู่สยามใหม่ แตกต่างจากสยามเก่าที่ล้าหลังคร่ำครึในหลายๆด้าน อย่างในอดีต
  ผลงานแรกของจอมพลป. ที่ออกมาเป็นรูปธรรม  คือ  เมื่อจะเป็นสยามใหม่  ก็ต้องเปลี่ยนชื่อประเทศใหม่เป็นอันดับแรก     ไม่เป็นสยามแล้ว   แต่เป็น "ประเทศไทย"  เพื่อให้ถูกต้องตามเชื้อชาติ    เพราะแต่เดิมแม้ประเทศมีชื่อว่าสยาม  แต่สำหรับคนที่อาศัยอยู่ในประเทศ  เราเรียกว่า "คนไทย"   
  คนไทยแต่เดิมแบ่งตามท้องถิ่นเป็นไทยเหนือ  ไทยอีสาน  ไทยใต้ และแบ่งตามเชื้อชาติศาสนา เช่นเป็นไทยมุสลิม    ผู้นำไทยลบคำขยายทั้งหมด  เหลือแต่ "คนไทย" เฉยๆ  คำเดียว
   การเปลี่ยนจาก "สยาม" เป็น "ประเทศไทย" เป็นเรื่องใหญ่   แม้แต่เรื่องบางเรื่องไม่น่าจะใหญ่ก็เป็นเรื่องใหญ่ด้วยจนได้      เห็นได้จากสภาผู้แทนราษฎรต้องถกเถียงกันเป็นเหตุการณ์สำคัญ ถึงกับต้องลงมติให้โหวตเพราะตกลงกันไม่ได้      นั่นคือ คำว่า ไทย  จะต้องมี ย ยักษ์ หรือว่าเป็น "ไท" เฉยๆ
   ในที่สุด ต้องลงคะแนนกัน ชนะกันไม่ห่างนักด้วยคะแนนโหวต 64 ต่อ 57  ให้มีคำว่า ย  ต่อท้าย ไท
   เหตุผลก็คือ
   "ไทยมี ย เปรียบเหมือนผู้หญิงที่ดัดคลื่นแต้มลิปสติค เขียนคิ้ว   ส่วนไท  ไม่มี ย  นั้นเปรียบเหมือนหญิงที่งามโดยธรรมชาติ   แต่ไม่ได้ตกแต่ง"


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: ศานติ ที่ 26 มี.ค. 13, 20:29
๕๐ คนที่โดนจับ ประหารบ้าง จำคุกบ้าง มีใครบ้างครับ?


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 มี.ค. 13, 20:49
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3025.75

อยู่ในคคห.ที่ ๘๒ ๘๓ และ ๘๔ ครับ


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 มี.ค. 13, 20:50
    ในที่สุด ต้องลงคะแนนกัน ชนะกันไม่ห่างนักด้วยคะแนนโหวต 64 ต่อ 57  ให้มีคำว่า ย  ต่อท้าย ไท
   เหตุผลก็คือ
   "ไทยมี ย เปรียบเหมือนผู้หญิงที่ดัดคลื่นแต้มลิปสติค เขียนคิ้ว   ส่วนไท  ไม่มี ย  นั้นเปรียบเหมือนหญิงที่งามโดยธรรมชาติ   แต่ไม่ได้ตกแต่ง"

จิตร ภูมิศักดิ์ให้ความเห็นดังนี้

ข้อนี้ดูเหมือนจะเป็นที่รู้กันทั่วไปแล้วว่า เกิดขึ้นจากความเฟื่องในภาษาไทยบาลีและสันสกฤต

ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเขียน ไท เฉย ๆ ไม่มี ย แต่พอถึงจารึกสมัยพญาลือไท เราก็ได้พบว่าเริ่มเขียน ไทย ขึ้นปะปนกับ ไท เป็นสองรูป สาเหตุก็เพราะไทยยุคพญาลือไทนั้นกำลังเฟื่องภาษาบาลี ภาษาบาลีนั้นไม่มีสระ ไอ เมื่อจะเขียน ไท ด้วยภาษาบาลี ก็ต้องแผลงเป็น เทยฺย อย่างชื่อพญาลือไทย ก็เขียนเป็น ลีเทยฺย (ซึ่งเดี๋ยวนี้เราถอดออกมาเป็นลิไท ไม่รู้ว่าจะยอมเพ้อคลั่งบาลีกันไปด้วยถึงไหน) ฉนั้นเวลาเขียนเป็นภาษาไทยก็เลยเอา ย พ่วงท้ายเข้าให้ด้วยเป็น ไทย  แต่ที่บางแห่งในจารึกหลักเดียวกันนั้นเองก็ยังเขียน ไท, ลืมใส่ ย ของสำคัญเสียก็มี ! จารึกรุ่นหลัง ๆ ลงมาที่แก่วัดมาก ๆ ถึงกับใช้ เทยฺย ปนกับ ไทย ก็มี เช่นจารึกวัดช้างค้ำ จังหวัดน่าน พ.ศ. ๒๐๙๑ เขียนว่า :

"จุลศักราชได้ ๙๑๐ ตัว ในปีวอกขอมภิเสยฺย, เทยฺยภาสาว่าปีเปลิสัน, ในเดือนมาฆะ ไทย ว่าเดือน ๕....."

(วารสารศิลปากร ปีที่ ๔ เล่ม ๔ พ.ย. ๒๕๐๓ น. ๕๓)

ความคลั่งไคล้ภาษาบาลีเช่นนี้เอง จึงทำให้ ไทย เขียนมี ย ติดมาจนถึงทุกวันนี้

จาก หนังสือ "ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ" โดย จิตร  ภูมิศักดิ์  (http://www.openbase.in.th/files/tbpj027.pdf) หน้า ๖๑๐-๖๑๑

ถ้าเปรียบเทียบโดยใช้เหตุผลของจิตร ภูมิศักดิ์น่าจะเป็นว่า

"ไทยมี ย เปรียบเหมือนผู้ชายที่บวชเรียน ชำนาญภาษาบาลีสันสกฤต  ส่วนไท ไม่มี ย นั้นเปรียบเหมือนผู้ชายที่ยังไม่ได้บวชเรียน"


(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มี.ค. 13, 20:58
มัวไปงุ่มง่ามหารายชื่อให้อาจารย์หมอศานติ  กลับมาที่กระทู้  ซายานวรัตนดอทซี เร็วปานสายฟ้าแลบ  มาเฉลยเรียบร้อยแล้ว   
ขอขอบพระคุณ

ส่วนเรื่องไทย มี ย ไม่มี ย    ส.ส.ในสมัยโน้นเห็นทีจะติดใจสาวๆดัดผมเป็นคลื่นทาปากเขียนคิ้ว มากกว่าสาวที่งามอย่างธรรมชาติ เลยโหวตกันออกมาด้วยเหตุผลนี้     


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 มี.ค. 13, 21:01
   การเปลี่ยนจาก "สยาม" เป็น "ประเทศไทย" เป็นเรื่องใหญ่   
 

เรื่องใหญ่อย่างหนึ่ง ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในหมวดพระมหากษัตริย์อย่างมาก เพราะคำว่าสยาม มีหลายคำที่แฝงอยู่ในหมวดนี้พอสมควร เช่น สยามินทร์, สยามมงกุฎราชกุมาร แต่ทราบกว่าจะมีการประสานการใช้คำสยามให้กลับมาก็นานพอสมควร


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มี.ค. 13, 21:17
     การเปลี่ยนชื่อจากสยามเป็นไทย  ไม่ได้จำกัดแค่ชื่อประเทศ   แต่อะไรๆที่มีคำว่าสยามก็โดนหางเลขต้องเปลี่ยนเป็นไทยไปด้วย เช่นชื่อ Siam Society (สยามสมาคม)  ก็ถูกเปลี่ยนเป็น Thailand Research Society     เรื่องนี้  พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร   รับสั่งว่า
  " เพราะในกรมนราฯ (หมายถึงพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์)  แกกลัวตาแปลกเกินกว่าเหตุไปนั่นเอง"
    
     สมัยนั้น เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากนักว่า เมื่อจอมพลป.มีอำนาจเบ็ดเสร็จแต่ผู้เดียว และใช้อำนาจนั้นอย่างไม่เห็นแก่หน้าผู้ใด      ประชาชนไม่ว่าคนไหนย่อมถูกปลุกให้เกิดสำนึกว่า การปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลย่อมเป็นการประพฤติปฏิบัติตัวอย่างปลอดภัยที่สุด    รัฐบาลเองก็ไม่ได้ปล่อยเวลาให้ผ่านไปอย่างเปล่าประโยชน์    แต่เดินหน้าสายฟ้าแลบสั่งนโยบายออกมาในรูปที่เรียกว่า "รัฐนิยม" ออกมาเป็นประกาศให้ประชาชนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ถึง 12 ฉบับ  เพื่อความเจริญก้าวหน้าไปสู่ความเป็นอารยะประเทศ  ได้แก่
      
รัฐนิยม ฉบับที่ 1
    เรื่องการใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482
    วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2482 ให้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ตามที่เรียกขานประชาชนว่าคนไทย ชื่อประเทศก็ควรเรียกว่าประเทศไทย


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มี.ค. 13, 21:18
รัฐนิยม ฉบับที่ 2
    ประกาศไม่ให้คนไทยประพฤติตนเป็นตัวแทนของต่างชาติ และไม่ให้ขายที่ดินให้ต่างชาติ

รัฐนิยม ฉบับที่ 3
    เรื่องการเรียกคนในประเทศว่า “คนไทย” แม้มีเชื้อสายอื่นก็ให้ถือว่ามีสัญชาติไทย มิให้แบ่งแยก เป็นความต่อเนื่องจากรัฐนิยมแบบแรก นั่นคือการเรียกชื่อว่า “ไทยเหนือ ไทยอีสาน ไทยใต้ ไทยอิสลาม” ให้เรียกว่า “ไทย” โดยรวมเพื่อขจัดความแตกต่าง ซึ่งกำหนดให้เลิกเรียกชื่อชาวไทยโดยใช้ชื่อไม่ต้องตามเชื้อชาติ และนิยมของผู้เรียก แต่ให้ใช้คำว่า “ไทย” แก่ชาวไทยทั้งมวลโดยไม่แบ่งแยก ทั้งนี้รัฐบาลมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นดินมั่นคงของประเทศและความกลมเกลียวสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติไทยทั่วทุกภาคของประเทศ
     กล่าวได้นับว่านับเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า “ชาวไทยมุสลิม” เป็นคนไทยเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไปบนผืนแผ่นดินไทย มีข้อความว่าด้วยรัฐบาลเห็นว่า “การเรียกว่าไทย” บางส่วนไม่ต้องตามชื่อเชื้อชาติ และความนิยมของผู้ถูกเรียกก็ได้
      การเรียกชื่อแบ่งแยกคนไทยออกเป็นหลายพวก หลายเหล่า เช่น ไทยเหนือ ไทยอีสาน ไทยใต้ และไทยอิสลาม ก็ดีไม่สมควรแก่สถานของประทศไทย ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งอันเดียวกันจะแบ่งแยกมิได้จึงประกาศไว้ในรัฐนิยมไว้ ดังนี้
      1 ให้เลิกการเรียกชาวไทยโดยใช้ชื่อที่ไม่ต้องตามเชื้อชาติและความนิยมของผู้เรียก
      2 ให้ใช้คำว่า ไทย แก่ชาวไทยทั้งมวลโดยไม่แบ่งแยก    


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มี.ค. 13, 21:18

รัฐนิยม ฉบับที่ 4
    เรื่องการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี
รัฐนิยม ฉบับที่ 5
    เรื่องให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภค บริโภคที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย
รัฐนิยม ฉบับที่ 6
    เรื่องทำนอง และเนื้อร้องเพลงชาติ
รัฐนิยม ฉบับที่ 7
    เรื่องชักชวนให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติ
รัฐนิยม ฉบับที่ 8
    เรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี
รัฐนิยม ฉบับที่ 9
    เรื่องภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองดี ซึ่งกำหนดให้ชนชาติไทย ถือเป็นพลเมืองดีที่จะต้องศึกษาให้รู้หนังสือไทยอันเป็นภาษาของชาติอย่างน้อยต้องให้อ่านออก เขียนได้ และถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญในการช่วยเหลือสนับสนุนแนะนำชักจูงให้พลเมืองที่ยังไม่รู้ ภาษาไทยหรือยังไม่รู้หนังสือไทยให้รู้ภาษาไทยหรือหนังสือไทยจนอ่านออกเขียนได้ ทั้งนี้เพื่อ ไม่ให้เกิดความแตกแยกและความแตกต่างของท้องที่ถิ่นกำเนิด
รัฐนิยม ฉบับที่10
    เรื่องการแต่งกายของประชาชนชาวไทยและห้ามผิดเพศ : กำหนดให้คนไทยต้องแต่งกายตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ว่าเป็นสุภาพชน เช่น ผู้ชายสวมหมวกใส่เสื้อชั้นนอกคอเปิดหรือปิด สวมกางเกงขายาวแบบสากล สวมรองเท้าหุ้มส้นและหรือหุ้มข้อ และถุงเท้า ส่วนผู้หญิงก็ต้อง สวมหมวก ใส่เสื้อนอกคลุมไหล่ สวมผ้าถุง ใส่รองเท้าหรือหุ้มส้นและถุงเท้า เป็นต้น

รัฐนิยม ฉบับที่ 11
    เรื่องกิจประจำวันของคนไทย ( ประกาศเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2484 ) โดยชนชาติไทยพึงบริโภคอาหารให้ตรงเวลา ไม่เกินวันละ 4 มื้อ และนอนประมาณ 6-8 ชั่วโมงต้องมุ่งมั่นทำงาน พักกลางวันไม่เกิน 1 ชั่วโมง มีเวลาทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ ทั้งชำระร่างกายแล้วจึงรับประทานอาหารว่าง ในเวลากลางคืนก็ควรใช้ในการพบปะสนทนาในครอบครัว มิตรสหาย ทั้งใช้ศึกษาหาความรู้ หรือในการมหรสพ ส่วนวันหยุดก็ควรใช้ให้เป็นประโยชน์ ต่อร่างกายและจิตใจ เล่นกีฬา พักผ่อน ทำบุญ ฟังเทศน์ เป็นต้น

รัฐนิยม ฉบับที่ 12
    เรื่องการช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก คนชรา หรือคนทุพพลภาพ ประกาศเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2485


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มี.ค. 13, 21:22
   การเปลี่ยนจาก "สยาม" เป็น "ประเทศไทย" เป็นเรื่องใหญ่   

เรื่องใหญ่อย่างหนึ่ง ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในหมวดพระมหากษัตริย์อย่างมาก เพราะคำว่าสยาม มีหลายคำที่แฝงอยู่ในหมวดนี้พอสมควร เช่น สยามินทร์, สยามมงกุฎราชกุมาร แต่ทราบกว่าจะมีการประสานการใช้คำสยามให้กลับมาก็นานพอสมควร

ก็ยังสงสัยอยู่เหมือนกัน  ว่าชื่อสยามที่เป็นชื่อเฉพาะต่างๆ จะแก้ไขอย่างไร  อย่างคำว่าสยามินทร์   ยังไงก็ใช้คำว่าไทย แทนไม่ได้   


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มี.ค. 13, 21:39
     ในเมื่อต้องการก้าวไปข้างหน้า  รัฐบาลชุด "รัฐนิยม" จึงพยายามทิ้งส่วนต่างๆในอดีตออกไป  รวมประเพณีและความเชื่อแต่เดิมด้วย   เช่นประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายนซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นวันชาติ     เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็น 1 มกราคม  แทนที่จะเป็น 1 เมษายน  อย่างเดิมที่นับกันมาตั้งแต่พ.ศ. 2432   ทำให้การนับปีเปลี่ยนไป   เดือนธันวาคมกลายเป็นเดือนสุดท้ายของปีแทนที่จะเป็นเดือนมีนาคม  
    จอมพลป.ได้มอบหมายให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร  กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์  ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ และหลวงวิจิตรวาทการ ค้นคว้าหาเหตุผลว่าเหตุใดจึงสมควรเปลี่ยนวันปีใหม่ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี     ท่านทั้งสอง ก็ค้นคำตอบมาให้จนได้  ว่า
    1    มีผู้เข้าใจผิดว่าวันปีใหม่ 1 มกราคมเป็นวันปีใหม่ของคริสตศาสนา    แต่ความจริงใช้กันมาก่อนพระเยซูประสูติถึง 46 ปี   ผู้ริเริ่มคือจูเลียส ซีซาร์
    2    ประเทศทางตะวันออกที่นับ 1 มกราคม เป็นปีใหม่ก็มีแล้ว คือจีนกับญี่ปุ่น
    3    นำประเทศเข้าสู่ระดับสากล
    4    ใกล้เคียงกับคติโบราณของไทยมาก
    5    ถูกต้องกับลักษณะดินฟ้าอากาศ    เพราะตั้งแต่เดือนมกราคมไป อากาศในประเทศไทยดีที่สุด
    6    ยกเลิกสงกรานต์ คือยกเลิกเอาศาสนาพราหมณ์มาคร่อมพุทธศาสนา


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 มี.ค. 13, 21:43
ไม่เพียงแต่ชื่อประเทศเท่านั้นที่ถูกเปลี่ยน แม้แต่ชื่อตำบล อำเภอหากมีชื่อที่สื่อถึงต่างชาติ ก็ต้องถูกเปลี่ยนด้วย

พระราชกฤษฎีกาต่อจากฉบับข้างบนอีก ๒ ฉบับคือ พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามอำเภอ กิ่งอำเภอ และตำบลบางแห่ง พุทธศักราช ๒๔๘๒ (อีกฉบับหนึ่ง) (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/A/877.PDF) และ พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามอำเภอ กิ่งอำเภอ และตำบลบางแห่ง พุทธศักราช ๒๔๘๓ (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2483/A/263.PDF) เปลี่ยนชื่อตำบลและอำเภอกันอุตลุดเพื่อสนองรัฐนิยมของท่านผู้นำ

ตำบลไหน อำเภอไหน มีคำว่า ญวน ลาว ขอม เขมร กัมพุช พม่า ลังกา จีน  ถูกเปลี่ยนหมด

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มี.ค. 13, 22:06
ตามไปอ่านในราชกิจจาฯ ตามที่คุณเพ็ญชมพูบอกไว้    เห็นเปลี่ยนกันอุตลุดอย่างที่ว่า
ขอยกมาให้อ่านกัน เป็นตัวอย่าง ถึงชื่อตำบลที่ไม่น่าจะเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยน

ตำบลวัดสามจีน           เปลี่ยนเป็น          ตำบลสามแยก
ตำบลบ้านญวนสามเสน   เปลี่ยนเป็น          ตำบลวชิรพยาบาล
ตำบลบ้านทะวาย          เปลี่ยนเป็น          ตำบลยานนาวา


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 มี.ค. 13, 07:08
แม้ว่าจะมีประกาศในราชกิจจาฯ เปลี่ยนแปลงชื่อ "สยาม" เป็น "ไทย" เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๒ แต่ก็กว่าจะลงตัวคงอีกนาน อย่างตราไปรษณียากรพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลปัจจุบัน ออกใช้เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๐ ยังเป็น "สยาม"


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 27 มี.ค. 13, 18:03
รีบมานั่งฟังอาจารย์ทั้งหลายบรรยาย
ชอบฟังเรื่องจอมพล ป.


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 27 มี.ค. 13, 20:03
นอกจากรัฐนิยมทั้งหลายนั้นแล้ว  เมื่อนายพันเอก หลวงพิบูลสงครามได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเต็มตัวแล้ว  ภารกิจหนึ่งที่ไม่ค่อยมีคนทราบคือ เมื่อเสร็จการพระราชทานเพลิงศพ เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้านครน่านตนสุดท้ายที่ถึงพิราลัยใน พ.ศ. ๒๔๗๔ แล้ว  ทายาทเจ้านครน่านได้มีหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๗ ขอให้ทรงตั้งเจ้าราชวงศ์สิทธิสาร ผู้เป็นน้องของเจ้ามหาพรหมสุรธาดาเป็นเจ้านครน่านต่อไป  แต่เนื่องจากเวลานั้นเป็นสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว  รัชกาลที่ ๗ จึงพระราชทานฎีกานั้นไปให้รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาพิจารณา  คณะรัฐมนตรีสมัยนั้นได้พิจารณาเห็นว่า รัฐบาลราชาธิปไตยในสมัยรัชกาลที่ ๗ เคยมีดำริที่จะไม่ตั้งเจ้าผู้ครองนครอีกต่อไป  เมื่อเจ้านครตนใดพิราลัยลลงก็จะไม่ตั้งอีก  แต่ก็ยังมิได้จัดการอะไรจนเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วจึงได้มีพระราชกระแสพระราชทานไปพร้อมกับฎีกาของเจ้านายเมืองน่านว่า  เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ควรที่รัฐบาลจะได้พิจารณาทบทวนนโยบายเดิมเสียด้วย  รัฐบาลในยุคนั้นพิจารณากันต่อเนื่องยาวนาน  มีการเสนอว่าควรจะเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนคร  แล้วสถาปนาเจ้านายฝ่ายเหนือให้เป็น Prince แบบที่ญี่ปุ่นตั้งเจ้านายเกาหลี  บ้างก็เสนอให้ตั้งเป็นพระองค์เจ้า  แยกเป็นวงศ์ ณ เชียงใหม่  ณ ลำปาง  ณ ลำพูน  ณ น่านกันไป  สุดท้ายเมื่อจอมพลป เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก  ก็ได้มีบัญชาว่า ไม่ให้ทั้งยศ ทั้งตำแหน่ง ให้แต่เงินประจำตำแหน่งเพียงอย่างเดียว  การปกครองหัวเมืองมณฑลพายัพในรูปแบบหัวเมืองประเทศราชจึงเป็นอันสิ้นสุดลงด้วยประกาศิตของท่านผู้นำในระบอบประชาธิปไตยด้วยประการฉะนี้


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มี.ค. 13, 20:57
ขอบคุณคุณ V_Mee และท่านอื่นๆที่ช่วยเข้ามาบรรยายให้เกิดทั้งความรู้ และสีสันในกระทู้นี้ค่ะ  

นอกจากตำบลอำเภอทั้งหลายถูกเปลี่ยนชื่อ เพื่อลบประวัติส่วนที่มีชื่อเชื้อชาติอื่นๆมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในอดีต   คำว่า "สยามินทร์" ก็ถูกลบออกไปจากยุคสยามใหม่ เท่าที่จะลบได้ด้วย

ในเพลงสรรเสริญพระบารมี  คำว่า "สยามินทร์" ถูกตัดทอนออกไป   เท่านั้นยังไม่พอ  เนื้อเพลงก็ยังถูกหั่นให้สั้น   เหลือหัวท้ายเพียงแค่นี้เอง

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๘
เรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี
    โดยเหตุที่ได้บัญญัติให้เรียกชื่อประเทศว่าประเทศไทย รัฐบาลจึงเห็นสมควรแก้ไขบทเพลงสรรเสริญพระบารมี มิให้มีคำว่า สยาม และตัดทอนข้อความและทำนองให้กระทัดรัดเหมาะสมยิ่งขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยม แก้ไขบทเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบพิศดาร ให้มีข้อความดั่งต่อไปนี้

ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาล บรมกษัตริย์ไทย
ขอบันดาล ธประสงค์ใด
จงสิทธิดั่ง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายไชย ชโย
                           
                     ส่วนทำนองเพลงแบบสังเขปนั้นให้คงไว้ตามเดิม

                                                ประกาศมา ณ วันที่ ๒๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

                                                                                             พิบูลสงคราม


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มี.ค. 13, 22:16
     รัฐนิยมทั้ง 12 ฉบับ ทำให้คนไทยรู้สึกตัวว่ากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่จริงๆ    เพราะไม่เคยมีผู้ปกครองประเทศในยุคไหนเลยที่กำชับกำชาประชาชนอย่างละเอียดลออ ถึงขั้นก้าวล้ำเข้ามาในบ้านช่องห้องหับ  ในมุ้งในม่านของประชาชนไทย   
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๑๑

เรื่อง กิจประจำวันของคนไทย
     ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า การรู้จักปฏิบัติกิจประจำวันเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวแก่การผะดุง ส่งเสริมวัฒนธรรมของชาติ อันจะเป็นผลให้ประชาชนพบเมืองไทยทั่วไปมีสุขภาพแข็งแรงมั่นคง เป็นกำลังของชาติสืบไป คณะรัฐมนตรีจึ่งได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดั่งต่อไปนี้

     ๑. ชนชาติไทยพึงแบ่งเวลาในวันหนึ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ปฏิบัติงานที่เป็นอาชีพส่วนหนึ่ง ปฏิบัติกิจส่วนตัวส่วนหนึ่ง และพักผ่อนหลับนอนอีกส่วนหนึ่ง ให้เป็นระเบียบและมีกำหนดเวลาอันเหมาะสมจนเกิดเป็นนิสสัย

     ๒. ชนชาติไทยพึงปฏิบัติกิจประจำวันตามปกติดั่งต่อไปนี้
        ก. บริโภคอาหารให้ตรงตามเวลาไม่เกิน ๔ มื้อ
        ข. นอนประมาณระหว่าง ๖ ถึง ๘ ชั่วโมง

     ชนชาติไทยพึงตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ประกอบกิจการงานของตนโดยไม่ท้อถอย และหลีกเลี่ยง กับควรหยุดเพื่อรับประทานอาการและพักกลางวันไม่เกิน ๑ ชั่วโมง เมื่อพ้นกำหนดเวลาทำงานเวลาเย็น ควรออกกำลังกายโดยเล่นกิฬากลางแจ้งวันหนึ่งอย่างน้อย ๑ ชั่วโมง หรือประกอบงานอื่น เช่น ทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ หรือปลูกต้นไม้ เป็นต้น เมื่อชำระล้างร่างกายแล้ว รับประทานอาหาร

     ๓. ชนชาติไทยพึงใช้เวลาว่างเวลากลางคืน ทำการงานอันจำเป็นที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จ หรือสนทนาปราศัยกับบุคคลในครอบครัว มิตรสหาย ศึกษาหาความรู้โดยการฟังข่าวทางวิทยุกระจายเสียง อ่านหนังสือ หรือในการมหรสพ หรือศิลปกรรม แล้วแต่โอกาส

     ๔. ชนชาติไทยพึงใช้เวลาในวันหยุดงาน ให้เป็นประโยชน์แก่ร่างกายและจิตต์ใจ เช่นประกอบกิจในทางศาสนา ฟังเทศน์ ทำบุญ ศึกษาหาความรู้ ท่องเที่ยว เล่นกีฬา หรือพักผ่อนเป็นต้น.

                                                       ประกาศมา ณ วันที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๔

                                                                                               พิบูลสงคราม
                                                                                               นายกรัฐมนตรี


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 มี.ค. 13, 07:06
     รัฐนิยมทั้ง 12 ฉบับ ทำให้คนไทยรู้สึกตัวว่ากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่จริงๆ   

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/RKJ/announce/search_result.jsp?SID=53A2027F07A2B43A6120826D1D5BB830

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 มี.ค. 13, 08:56
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/RKJ/announce/search_result.jsp?SID=53A2027F07A2B43A6120826D1D5BB830

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/RKJ/announce/search.jsp  ชื่อเรื่อง - รัฐนิยม น่าจะหาได้ง่ายกว่า

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5510.0;attach=38733;image)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 มี.ค. 13, 11:05
     รัฐนิยมทั้ง 12 ฉบับ ทำให้คนไทยรู้สึกตัวว่ากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่จริงๆ    เพราะไม่เคยมีผู้ปกครองประเทศในยุคไหนเลยที่กำชับกำชาประชาชนอย่างละเอียดลออ ถึงขั้นก้าวล้ำเข้ามาในบ้านช่องห้องหับ  ในมุ้งในม่านของประชาชนไทย   

คุณแปลกยุ่มย่ามไปถึงชื่อของบุคคล กำหนดไว้เลยว่าชื่อไหนสำหรับผู้ชาย ชื่อไหนสำหรับผู้หญิง

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 28 มี.ค. 13, 11:15
     รัฐนิยมทั้ง 12 ฉบับ ทำให้คนไทยรู้สึกตัวว่ากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่จริงๆ    เพราะไม่เคยมีผู้ปกครองประเทศในยุคไหนเลยที่กำชับกำชาประชาชนอย่างละเอียดลออ ถึงขั้นก้าวล้ำเข้ามาในบ้านช่องห้องหับ  ในมุ้งในม่านของประชาชนไทย   

คุณแปลกยุ่มย่ามไปถึงชื่อของบุคคล กำหนดไว้เลยว่าชื่อไหนสำหรับผู้ชาย ชื่อไหนสำหรับผู้หญิง

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)

เรื่องชื่อกำหนดเพศว่า ชื่อใดบ่งบอกความเป็นชาย เช่น สามารถ, ชาญศึก, สมชาย  ส่วนชื่อบ่งบอกความเป็นสตรี คือ สมหญิง, จินตนา, ประภาพันธ์ ตรงนี้เองก็ไม่วายเกิดปัญหา

สมเด็จพระพันวัสสา "สว่างวัฒนา" ถูกท่านผู้นำทักท้วงว่าพระนามบ่งบอกความเป็นชาย สมควรเปลี่ยนพระนามให้เหมาะสมกับยุคสมัย

สมเด็จฯท่านตรัสคืนว่า "ชื่อฉัน ทูลกระหม่อมทรงทราบดีว่าฉันเป็น หญิง หรือ ชาย"  ;)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 มี.ค. 13, 11:23
หลักเกณฑ์การตั้งชื่อชาย-หญิง ของคณะกรรมการโดยมีแนวทางตามดำริของคุณแปลก  ;)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 มี.ค. 13, 11:45
[สมเด็จพระพันวัสสา "สว่างวัฒนา" ถูกท่านผู้นำทักท้วงว่าพระนามบ่งบอกความเป็นชาย สมควรเปลี่ยนพระนามให้เหมาะสมกับยุคสมัย

สมเด็จฯท่านตรัสคืนว่า "ชื่อฉัน ทูลกระหม่อมทรงทราบดีว่าฉันเป็น หญิง หรือ ชาย"  ;)

ตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการ  

พระนาม "สว่าง" เป็นชาย, "วัฒนา" เป็นหญิง แต่เมื่อนำมารวมกันแล้วก็น่าจะเป็นชื่อ "หญิง"

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)



กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 มี.ค. 13, 12:01
มีประกาศเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาถึง ๓ ฉบับ

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ชื่อบุคคล (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2484/D/1986.PDF)

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ชื่อบุคคล (ฉบับที่ ๒) (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2485/A/056/1483.PDF)

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ชื่อบุคคล (ฉบับที่ ๓) (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2487/A/007/159.PDF)

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5510.0;attach=38733;image)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มี.ค. 13, 21:16
การกำหนดชื่อคนไทยให้แบ่งแยกเพศกันชัดเจน  เป็นเรื่องอลหม่านอีกครั้งหนึ่งในหมู่ประชาชน   เพราะแต่เดิมมาชื่อชาวบ้านไทย มักใช้ได้ทั้งชายหญิง   ไม่ว่าชื่อจัน  อิน  บุญ  ทองอยู่ ฯลฯ    เมื่อจะต้องเปลี่ยนกันใหม่แทบจะไม่เว้นคน  ก็ต้องเกิดขั้นตอนให้ต้องเรียนรู้กันคือ
1   ชื่อของตนจัดอยู่ในเพศเดียวกับเจ้าของชื่อหรือไม่
2   ถ้าต้องเปลี่ยน จะเปลี่ยนเป็นอะไร

ถ้าข้อแรกผ่านได้ ว่าชื่อเดิมนั้นตรงตามเพศดีอยู่แล้ว   เจ้าของชื่อก็เบาใจว่าไม่ต้องเปลี่ยน      แต่ถ้าไม่ผ่านเพราะไปสังกัดชื่อของเพศตรงข้าม   ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ หรือไม่ก็เติมคำเข้าไปให้เป็นชื่อตรงตามเพศตัวเอง   
เช่นชื่อถนอมเฉยๆ  จัดว่าเป็นชื่อผู้ชาย   แต่ถ้าเติมคำว่า จิตต์ ว่าศรี เข้าไป ก็จะกลายเป็นชื่อผู้หญิง  ถูกต้องตามวัธนธัม

อย่างนักหนังสือพิมพ์อาวุโสท่านหนึ่งชื่อนายประหยัดศรี ก็ต้องเปลี่ยนเป็นนายประหยัด ศ. สุภาพสตรีผู้หนึ่งชื่อสมัย ก็ต้องเติมคำว่าสวาทเข้าไปเป็นสมัยสวาท ขนาดนางสาวไทยชื่อเรียม ก็ต้องเปลี่ยนเป็นเรียมรมย์ แม้แต่สมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้าทรงพระนามเดิมว่า สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา ก็ทรงได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนพระนามเสียใหม่เพราะพระนามเดิมฟังเป็นเพศชาย ทำให้กริ้ว ตรัสตอบมาว่า
" ชื่อของฉัน ทูลกระหม่อม (หมายถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ผู้เป็นสมเด็จพระบรมราชชนก) พระราชทานให้ ท่านทรงทราบดีว่าฉันเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย"
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3477.120


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มี.ค. 13, 21:39
  ชื่อชายหรือหญิงตามกำหนดของรัฐบาลนี้  บางเรื่องก็ฟังแปลกๆ  เช่นชื่อบุญ ถือเป็นชื่อผู้ชาย  แต่บุญเจือ นับอยู่ในชื่อผู้หญิง   
  ชื่อดอกไม้ส่วนใหญ่ถูกนับเป็นชื่อผู้หญิง   แต่ดอกไม้บางชนิดก็เว้นไว้เป็นชื่อผู้ชาย เช่น แก้ว เข็ม พุด เทียน ส้ม     แต่ถ้ามีคำอื่นบวกเข้ามา  แก้ว เป็นแก้วมณี  เข็ม เป็นเข็มทอง  เทียน เป็นเทียนหอม    ก็นับเป็นชื่อผู้หญิง

   นวัตกรรมใหม่ของการเรียกชื่ออีกแบบหนึ่งคือ  มีชื่อต้น และชื่อรอง   ส่วนนามสกุลมีอยู่แล้วตั้งแต่รัชกาลที่ 6      เรื่องชื่อต้นและชื่อรองเห็นชัดว่านำมาจากประเทศตะวันตก    แต่เหตุผลที่ว่าทำไมต้องมีชื่อรอง     ก็เป็นคนละอย่างกับเหตุผลของฝรั่ง     ชื่อรองนั้นมีเผื่อเอาไว้   ในกรณีเจ้าตัวอยากจะใช้ชื่อย่อมากกว่าชื่อเต็ม   เช่นชื่อนายสิน นพกุล   จะใช้ ส.นพกุล  รัฐบาลก็ไม่ห้าม     ทีนี้คนนามสกุลนพกุล ที่มีชื่อขึ้นต้นด้วย ส.  เกิดมีหลายคนด้วยกัน      เมื่อมีนายคนหนึ่งใช้ชื่อนายส.นพกุลขึ้นมา  ก็ไม่รู้ว่า ส.ไหน   จึงต้องมีชื่อรองเอาไว้ให้รู้ว่าเป็นใครกันแน่  เช่นนายสิน ประเสริฐ นพกุล  เขียนว่า นายส.ป. นพกุล   นายสิริ มานิต นพกุล ก็เป็น นายส.ม. นพกุล

   กำหนดกันละเอียดขนาดนี้แล้ว   คณะกรรมการคณะที่กำหนดกฏเกณฑ์การตั้งชื่อคงจะมีคนที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปกว่า    จึงเผื่อเอาไว้ในกรณีอันหายากยิ่ง  คือเผื่อว่าชื่อย่อของชื่อต้นและชื่อรองก็ยังดันมาซ้ำกันอีก  แล้วจะทำอย่างไร     แทนที่จะตอบว่างั้นก็อย่าใช้ชื่อย่อ  ใช้ชื่อเต็มไปเสียเลยให้หมดเรื่อง   ท่านก็เปิดโอกาสให้ 50%  คือย่อครึ่งและเต็มครึ่ง  อันได้แก่ชื่อต้นต้องเขียนชื่อเต็ม และชื่อรองใช้ตัวย่อ  เช่นนายสิน ป. นพกุล


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 มี.ค. 13, 06:53
อย่างนักหนังสือพิมพ์อาวุโสท่านหนึ่งชื่อนายประหยัดศรี ก็ต้องเปลี่ยนเป็นนายประหยัด ศ. สุภาพสตรีผู้หนึ่งชื่อสมัย ก็ต้องเติมคำว่าสวาทเข้าไปเป็นสมัยสวาท ขนาดนางสาวไทยชื่อเรียม ก็ต้องเปลี่ยนเป็นเรียมรมย์

คุณแสงเงินมีบุตร ๒ คน คนโตเป็นหญิงชื่อ ภิรมย์ คนน้องเป็นชายแม่ตั้งชื่อให้คล้องจองกับพี่ว่า สมจิตร   

เมื่อคุณแปลกมีนโยบายให้ตั้งชื่อตามเพศ  สมจิตร ก็ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น จิตร  ภูมิศักดิ์

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 29 มี.ค. 13, 06:54
อ่านเรื่องชื่อบุคคลที่ท่านอาจารย์ใหญ่นำเสนอมาแล้ว  ให้หวนคำนึงถึงคุณครูผู้ใหญ่ท่ล่วงลับไปแล้วท่านหนึ่ง
ท่านเล่าให้ฟังว่า เดิมท่านชื่อเอี้ยง  เป็นชื่อที่บิดามารดาท่าตั้งให้  เมื่อออกไปเรียนต่อต่างประเทศท่านก็เป็นมิสเตอร์เอี้ยงไม่มีปัญหาอันใด
จบการศึกาากลับมารับราชการท่านก็คงเป็นครูเอี้ยงของศิษย์  แจ่เมื่อท่านผู้นำสั่งให้เปลี่ยนชื่อเพราะชื่อเอี้ยงนั้นเป็นชื่อที่ไม่สามารถระบุเพศได้ชัดเจน
ท่านเลยต้องเปลี่ยนชื่อ  และไหนๆ จะต้องเปลี่ยนแล้วท่านเลยเปลี่ยนจาก นกเอี้ยง ไปเป็นพญานก ที่ชื่อ อินทรีย์ เสียเลย  จากนั้นมาคนไทย
จึงรู้จักปูชนียาจารย์ท่านนี้ในชื่อ อินทรีย์  จันทรสถิตย์  มากกว่าราชทินนามหลวงอิงคศรีกสิการ


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 มี.ค. 13, 11:11
เมื่อคุณแปลกมีนโยบายให้ตั้งชื่อตามเพศ  สมจิตร ก็ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น จิตร  ภูมิศักดิ์

ยังมีอีกหลาย "สม" ที่ต้องเปลี่ยนจาก "หญิง" เป็น "ชาย"

หลายคนก็เป็นที่รู้จักภายหลังในเกือบอีก ๔๐ ปีต่อมา เช่น

1. ว่าที่นายร้อยตรี สมจิตร์ ชมะนันทน์ (พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์)
2. ว่าที่นายร้อยตรี ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา (พลเอก ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
3. ว่าที่นายร้อยตรี พร ธนะภูมิ (พลเอก พร ธนะภูมิ)
4. ว่าที่นายร้อยตรี ฉลาด หิรัญศิริ (พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ)
5. ว่าที่นายร้อยตรี สมบุญ ชุณหะวัณ (พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ)
6. ว่าที่นายร้อยตรี สมหมาย ณ นคร (พลเอก เสริม ณ นคร)
7. ว่าที่นายร้อยตรี วัฒนเพิ่ม บุนนาค (พลตำรวจตรี โชติพัฒน์ บุนนาค)
8. ว่าที่นายร้อยตรี เฉลิมศรี จารุวัสตร์ (พลโท เฉลิมชัย จารุวัสตร์)


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5510.0;attach=38733;image)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มี.ค. 13, 20:44
   
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๑๑

เรื่อง กิจประจำวันของคนไทย
    ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า การรู้จักปฏิบัติกิจประจำวันเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวแก่การผะดุง ส่งเสริมวัฒนธรรมของชาติ อันจะเป็นผลให้ประชาชนพบเมืองไทยทั่วไปมีสุขภาพแข็งแรงมั่นคง เป็นกำลังของชาติสืบไป คณะรัฐมนตรีจึ่งได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดั่งต่อไปนี้

     ๑. ชนชาติไทยพึงแบ่งเวลาในวันหนึ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ปฏิบัติงานที่เป็นอาชีพส่วนหนึ่ง ปฏิบัติกิจส่วนตัวส่วนหนึ่ง และพักผ่อนหลับนอนอีกส่วนหนึ่ง ให้เป็นระเบียบและมีกำหนดเวลาอันเหมาะสมจนเกิดเป็นนิสสัย

     ๒. ชนชาติไทยพึงปฏิบัติกิจประจำวันตามปกติดั่งต่อไปนี้
        ก. บริโภคอาหารให้ตรงตามเวลาไม่เกิน ๔ มื้อ
        ข. นอนประมาณระหว่าง ๖ ถึง ๘ ชั่วโมง

     ชนชาติไทยพึงตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ประกอบกิจการงานของตนโดยไม่ท้อถอย และหลีกเลี่ยง กับควรหยุดเพื่อรับประทานอาการและพักกลางวันไม่เกิน ๑ ชั่วโมง เมื่อพ้นกำหนดเวลาทำงานเวลาเย็น ควรออกกำลังกายโดยเล่นกิฬากลางแจ้งวันหนึ่งอย่างน้อย ๑ ชั่วโมง หรือประกอบงานอื่น เช่น ทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ หรือปลูกต้นไม้ เป็นต้น เมื่อชำระล้างร่างกายแล้ว รับประทานอาหาร

     ๓. ชนชาติไทยพึงใช้เวลาว่างเวลากลางคืน ทำการงานอันจำเป็นที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จ หรือสนทนาปราศัยกับบุคคลในครอบครัว มิตรสหาย ศึกษาหาความรู้โดยการฟังข่าวทางวิทยุกระจายเสียง อ่านหนังสือ หรือในการมหรสพ หรือศิลปกรรม แล้วแต่โอกาส

     ๔. ชนชาติไทยพึงใช้เวลาในวันหยุดงาน ให้เป็นประโยชน์แก่ร่างกายและจิตต์ใจ เช่นประกอบกิจในทางศาสนา ฟังเทศน์ ทำบุญ ศึกษาหาความรู้ ท่องเที่ยว เล่นกีฬา หรือพักผ่อนเป็นต้น.                                                  
    ประกาศที่ลงมติเป็นเอกฉันท์ของคณะรัฐมนตรีฉบับนี้ อ่านแล้วยังสงสัยถึงจุดมุ่งหมาย     ว่าตั้งใจจะให้มีผลบังคับตามนี้จริงหรือ    บางข้ออย่างข้อ ๑  ก็น่าจะปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยเริ่มมีชุมชนขึ้นในโลก   เพราะมนุษย์ก็ต้องทำงานหาเลี้ยงปากท้อง  เว้นเวลาไว้ทำเรื่องส่วนตัวบ้าง   ทำเสร็จก็พักผ่อนนอนหลับ    ไม่เห็นจะต้องมาออกประกาศกัน
    ส่วนข้อ ๒    ก็ไม่รู้ว่ามุ่งผลบังคับใช้มากน้อยแค่ไหน     ถ้าชาวบ้านสมัยนั้นเลิกงานแล้วกลับไปนั่งในบ้าน ไม่ออกกำลังกายเล่นกีฬากลางแจ้ง  จะมีโทษอย่างใดหรือไม่
    ข้อ ๓   ชาวบ้านที่เลิกงานกลับบ้าน  เขาก็พูดคุยกับลูกเมีย   มีวิทยุก็ฟังวิทยุ  มีหนังสือก็อ่าน    มันก็เป็นกิจวัตรประจำวันทำกันทั่วไปอยู่แล้ว
    


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 13, 11:04
ถ้ารัฐนิยมบังคับใช้มาจนปัจจุบัน   เห็นทีชื่อสมาชิกในเรือนไทยจะต้องเปลี่ยนใหม่หลายคน   อย่างน้อย  Siamese ก็ต้องเป็น Thai
คุณ V_Mee  คงต้องเปลี่ยน เพราะ V เฉยๆไม่รู้เพศไหน   
ส่วนคุณเพ็ญชมพู  ยังไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนดีหรือไม่  (http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5510.0;attach=38733;imag)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 มี.ค. 13, 11:52
ถ้ารัฐนิยมบังคับใช้มาจนปัจจุบัน   เห็นทีชื่อสมาชิกในเรือนไทยจะต้องเปลี่ยนใหม่หลายคน   อย่างน้อย  Siamese ก็ต้องเป็น Thai
คุณ V_Mee  คงต้องเปลี่ยน เพราะ V เฉยๆไม่รู้เพศไหน  
ส่วนคุณเพ็ญชมพู  ยังไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนดีหรือไม่  (http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5510.0;attach=38733;imag)

ต้องเปลี่ยนเล็กน้อยตาม ประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่อง การปรับปรุงตัวอักสรไทย  (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2485/A/035/1137.PDF) ประกาส นะ วันที่ ๒๙ พรึสภาคม  ๒๔๘๕  

เป็น .....

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3276.0;attach=9565;image)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 13, 14:21
ที่แน่ๆคือไม่ใช่...



กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 มี.ค. 13, 14:30
^
^
คงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะในชื่อข้างบนมีพยัญชนะที่คุณแปลกให้งดใช้อยู่ ๒ ตัว

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)



กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 มี.ค. 13, 14:36
เรื่องการตัดเชิงของ ญ ออก ตรงกับความเห็นของคุณจิตร ภูมิศักดิ์

เรื่องนี้อยู่ในบความชื่อ "เชิงอักษรไทย" ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย, จิตร ภูมิศักดิ์, ฟ้าเดียวกัน, กรุงเทพฯ, พิมพ์ครั้งที่ ๑, ๒๕๔๘, น. ๒๗๕ - ๒๘๕


http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/01/K5040700/K5040700.html#9   ความคิดเห็นที่ ๙-๑๙  แผยแพร่ในพันทิป โดย คุณแป๋ม

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 มี.ค. 13, 15:50
อ่านมาจนถึงหน้าสุดท้ายแห่งประกาศนี้ ได้ข้อสรุปว่า ต้องเขียนดังนี้แล

เพ็นชมพู

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3276.0;attach=9565;image)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 13, 16:12
ไคร่ส่งเสิมไห้ไช้ชื่อ เพ็นชมพู  เผื่อรับราชกานไนกระซวง จักได้จเรินพัธนาสถาพอนต่อไป  (http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5510.0;attach=38733;imag)

ภาษาไทยของสยามใหม่ ก่อความอลหม่านในสังคม ไม่ใช่เฉพาะลำบากต้องไปเปลี่ยนชื่อในทะเบียนบ้านที่อำเภอ  อย่างเรื่องก่อนเท่านั้น     แต่ต้องมาเริ่มต้นเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างที่เขียนด้วยภาษาไทย  ตั้งแต่ป้ายชื่อถนน เอกสารราชการทุกชนิด  ตำราเรียนทุกวิชาที่ใช้ภาษาไทย     ธนบัตร  เครื่องพิมพ์ดีด  ตัวเรียงพิมพ์ในโรงพิมพ์     หนังสืออ่านจริงอ่านเล่นทุกประเภทที่พิมพ์ด้วยภาษาไทย ฯลฯ
ในเมื่อช่วงนั้น (พ.ศ. 2485) เป็นช่วงประเทศไทยตกอยู่ในภาวะสงคราม   เศรษฐกิจทรุดหนัก  ข้าวของเงินทองขาดแคลนไปหมดทุกหย่อมหญ้า    การเปลี่ยนทุกอย่างเพื่อรองรับภาษาไทยชุดใหม่นี้จึงนับเป็นความสิ้นเปลืองอย่างมหาศาล     แต่ก็ไม่มีใครท้วงติงได้   เพราะท่านผู้นำตัดสินใจตามนี้ไปแล้ว   รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเป็นเอกฉันท์เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆก่อนหน้านี้  ให้ประกาศใช้ภาษาไทยแบบใหม่ ตั้งแต่วันที่ 29 พรึสภาคม พ.ศ. 2485


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 30 มี.ค. 13, 16:25
ยังติดไม่ออกเลยครับจะเปลี่ยนจาก วี ไปเป็นอื่นได้อย่างไร  ถ้าจะต้องกราบขอความกรุณาท่านอาจารย์พิจารณาหาชื่อที่เป็นเพศชายไม่ไม่แปลกเหมือนท่านผู้นำแล้วละครับ


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 30 มี.ค. 13, 17:13
นำเอกสารร่วมสมัย หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ ดังนี้


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 13, 17:28
ยังติดไม่ออกเลยครับจะเปลี่ยนจาก วี ไปเป็นอื่นได้อย่างไร  ถ้าจะต้องกราบขอความกรุณาท่านอาจารย์พิจารณาหาชื่อที่เป็นเพศชายไม่ไม่แปลกเหมือนท่านผู้นำแล้วละครับ
ส่งไม้ต่อให้ท่านซายาทั้งหลาย รับช่วงตั้งชื่อให้คุณ วี_มี ต่อไปค่ะ


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 13, 17:31
ทนไม่ได้กับตัวสะกดพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว   เลิกเสียได้ดีแล้ว


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 30 มี.ค. 13, 18:33
ทนไม่ได้กับตัวสะกดพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว   เลิกเสียได้ดีแล้ว

ตัดข้อความให้อ่านกันเล่น ๆ ครับ  ;)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 13, 20:23
ภาษาไทยในยุคสยามใหม่  หรือยุค "วัธนธัม" นี้    จะว่าไปก็มีการอ้างเหตุผลที่ไปที่มาอยู่เหมือนกัน   ไม่ใช่ว่าบทจะเกิดก็เกิดขึ้นมาลอยๆ   
ในเรือนไทยมีการพูดถึงที่มาในกระทู้เก่า  จึงขอยกมาให้อ่านกันอีกครั้งค่ะ

ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพกล่าวถึง "สี่ปุโรหิต" ในยุควัธนธัมนำไทยไว้ว่า

"   ในยุควัธนธัมนำไทยนั้น  ได้มีการปรับปรุงภาษาไทยครั้งใหญ่  ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยได้ยินยอมให้ญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย  เพื่อทำสงครามปลดปล่อยชนผิวเหลืองในสงครามมหาเอเชียบูรพา  และแม่ทัพญี่ปุ่นได้ยื่นข้อเรียกร้องแก่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นว่า ภาษาไทยนั้นเรียนรู้ได้ยาก  เพราะมีพยัญชนะ  สระ และวรรณยุกต์หลากหลายมาก  เพื่อความสะดวกจึงเห็นสมควรให้ใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาราชการแทน  จอมพล ป.  พิบูลสงคราม จึงหาทางออกโดยแจ้งให้แม่ทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยทราบว่า ประเทศไทยมีภาษาอยู่สองชุด ชุดแรกสำหรับใช้ในราชการซึ่งอาจจะเรียนยากสักหน่อย  ส่วนอีกชุดสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันและสามัญชนทั่วไปนิยมใช้กัน  ซึ่งชุดนี้น่าจะตรงกับความต้องการของญี่ปุ่น
 แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยมิได้แบ่งภาษาออกเป็นสองชุดอย่างที่แจ้งแก่ญี่ปุ่น  ด้วยเหตุนี้จึงมีการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีและแต่งตั้งคณะกรรมการวัธนธัมไทยขึ้น  มีจอมพล ป.  พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานกรรมการ    พระยาอนุมานราชธน (ยง  เสฐียรโกเศศ) และพระราชธรรมนิเทศ เป็นรองประธานกรรมการคนที่ ๑ และ ๒ ตามลำดับ  กับมีผู้ทรงคุณวุฒิทางภาษาอีกอีก ๒๓ คนร่วมเป็นกรรมการ 
คณะกรรมการปรับปรุงตัวอักษรไทยนี้  ใช้เวลาประชุมเพียง ๒ ครั้ง  ในวันที่  ๒๓ และ ๒๖ พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๘๕  ก็สามารถปรับปรุงตัวอักษรไทยแล้วเสร็จ  และได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี  เมื่อวันที่  ๒๙  พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๘๕  กำหนดให้ลดรูปพยัญชนะไทยลงเหลือเพียง ๓๑ ตัว  ประกอบด้วยอักษร “ก ข ค ง จ ฉ ช ซ ญ ด ต ถ ท ธ น บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ส ห อ ฮ “  กับได้มีการตัดสระ ใ (ไม้ม้วน) ออก  ส่วนตัว “ทร” ให้ใช้ “ซ” แทน  และได้ตัดเชิงล่างของ “ญ” ออก" 


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 13, 20:25

ต่อจากความเห็นของคุณวีหมี

ผมเคยได้อ่านเรื่องที่มาอธิบายกันตอนหลังว่า ต้นเหตุที่จอมพลป.คิดและผลักดันภาษาไทยวิบัติขึ้นมาในช่วงนั้น เพราะญี่ปุ่นจะบังคับให้บรรจุภาษาญี่ปุ่นให้เรียนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาบ้าง ให้เป็นภาษาราชการของไทยบ้าง ผมก็ฟังหูไว้หู มิอยากเชื่อไปทั้งหมด เพราะมันเป็นไปได้ยากที่จะเป็นเช่นนั้น ด้วยว่า

1 ในประเทศที่ญี่ปุ่นปลดปล่อยแท้ๆ อย่าง มลายู และสิงคโปร ไม่พูดถึงจีนและฟิลลิปปินส์เพราะผมไม่ทราบ แต่สองประเทศดังกล่าวข้างต้นญี่ปุ่นยังทำไม่ได้เลย นอกจากผลักดันให้มีการสอนในระดับสูงๆ เท่านั้น

2 ญี่ปุ่นอาจจะมาปรารภเรื่องความซับซ้อนของภาษาไทยจริง ผมเคยมีเพื่อนญี่ปุ่นคนหนึ่ง บริษัทส่งมาทำธุรกิจในเมืองไทยแต่อาศัยเป็นคนมีพรสวรรค์ทางภาษา เลยสนใจเรียนภาษาไทย เรียนแล้วก็มาบ่นอย่างว่าและแสดงความเห็นว่า ถ้าอักษรไทยทำให้ง่ายลงแบบญี่ปุ่นมีตัวอักษรคันจิ(อักษรดั้งเดิมที่เอามาจากจีน)  และตัวคะตะคะนะ ที่คิดขึ้นใหม่ให้ง่ายลงมาก และสามารถออกเสียงตามภาษาต่างประเทศได้ ก็จะดี (เพื่อนคนนี้เก่งมาก เรียนการศึกษาผู้ใหญ่ของไทยอยู่2ปีก็สอบเทียบประถม4ได้) ผมคิดว่าตอนนั้นญี่ปุ่นคงมาขายไอเดียนี้ให้จอมพลป. แล้วท่านอาจจะเห็นดีเห็นชอบ อยากให้ภาษาไทยมีศัพท์แสงและตัวสะกดง่ายลงเช่นนั้นบ้างก็ได้

3 สมมุติว่าญี่ปุ่นมาขอร้องแกมบังคับไทยจริงๆให้หลักสูตรไทยสอนภาษาญี่ปุ่น ในฐานะผู้นำประเทศ ถ้าเห็นว่าหากฝืนไม่ได้จริงๆ เพราะญี่ปุ่นใหญ่มากและจะใหญ่อย่างนั้นไปอีกนานๆในโลกนี้ การเรียนภาษาญี่ปุ่นก็มีประโยขน์ในการสื่อสัมพันธ์กับเขาเช่นภาษาอังกฤษนั่นแหละ เรียนไว้เป็นภาษาที่2 ก็ไม่น่าจะเสียหาย
แต่หากว่า ญี่ปุ่นไม่ใหญ่จริง แต่แพ้สงครามตามอย่างที่เป็นไป ก็เลิกเรียน เหมือนในมลายูและสิงคโปรที่กลับไปเรียนภาษาอังกฤษเหมือนเดิม ไม่เห็นจะต้องไปทำอะไรกับภาษาไทยของเราถึงขนาดนั้น

4 ภาษาไทยของจอมพลป. มิใช่แค่อักขระวิบัติ แต่เป็นภาษาวิบัติ มีความมุ่งหมายที่จะปฏิวัติภาษาไทยแบบหลวงเสียใหม่ให้สมกับที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้ว ยกตัวอย่าง เช่น สรรพนามทั้งหมดที่แสดงระดับชนชั้นของบุรุษที่1กับที่2 เปลี่ยนเหลือเพียงท่านกับฉัน การวันเฉลิมพระชนม์พรรษาให้เปลี่ยนไปใช้วันเกิดในพระเจ้าอยู่หัว แทนเป็นต้น

ผมจึงคิดว่า การที่มาบอกภายหลังว่าที่ทำไปอย่างนั้น เพราะญี่ปุ่นอย่างโน้นอย่างนี้ ผมจึงเห็นว่าเป็นเพียงข้อแก้ตัว หลังจากถูกคนไทยด่ายับเยินไปแล้ว 


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 13, 20:42
  นอกจากเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนภาษา   คนไทยยังประสบความเปลี่ยนแปลงอันน่ามหัศจรรย์ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์   คือต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายด้วย
  เมื่อก่อนนี้ นอกเหนือจากแต่งกายด้วยเครื่องแบบตามอาชีพต่างๆเช่นทหาร ตำรวจ  ข้าราชการกรมกองต่าง ซึ่งเป็นระเบียบตายตัวตามสายอาชีพนั้น  คนไทยจะแต่งกายอย่างใดก็เป็นไปตามใจชอบ   แม้แต่ข้าราชการเองเมื่อพ้นเวลาทำงานจะแต่งลำลองออกนอกบ้านแบบไหนก็ได้      คนไทยในยุคนั้นยังนุ่งผ้าม่วงไปทำงาน   ถึงเวลาเที่ยวก็นุ่งกางเกงแพรแบบกางเกงจีนสีต่างๆ    อยู่บ้านจะนุ่งผ้าขาวม้า หรือโจงกระเบนหยักรั้ง  หรือนุ่งโสร่งตัวเดียว  ไม่สวมเสื้อ  ก็ไม่มีใครว่า     
  ผู้หญิงก็เช่นกัน ที่ติดการนุ่งโจงกระเบนมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์   จะสวมเสื้อหรือห่มผ้าแถบผืนเดียวก็ทำได้  หรือสวมเสื้อคอกระเช้าก็ไม่มีใครเห็นเป็นของแปลก      ส่วนรองเท้าจะสวมหรือไม่สวมก็แล้วแต่ถนัด ทั้งหญิงและชาย
  แต่รัฐบาล"สยามใหม่" เห็นว่าการแต่งกายแบบไม่มีระเบียบตายตัว นุ่งห่มกันตามใจชอบแบบนี้เป็นเรื่องน่าอับอาย   ไม่เหมาะกับประเทศที่กำลังก้าวไปสู่อารยะ      จึงได้ออกประกาศของกระทรวงมหาดไทย  (ซึ่งก็มีผลพอๆกับกฎหมาย) ให้คนไทยแต่งกายเสียใหม่  ล้มล้างรูปแบบเดิมๆโดยสิ้นเชิง
 


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 13, 20:48
   กล่าวคือ
  1   ผู้ชายต้องนุ่งกางเกงขายาว    ห้ามนุ่งโจงกระเบน  หรือโสร่ง    ต้องสวมเสื้อนอก  รองเท้าหุ้มส้นและถุงเท้า   และสวมหมวก
  2   ผู้หญิงต้องนุ่งกระโปรงหรือผ้าซิ่น   ห้ามนุ่งโจงกระเบน   ห้ามเดินเท้าเปล่า ต้องสวมรองเท้ารัดส้นหรือหุ้มส้น  สวมเสื้อมีแขนเวลาออกไปไหนมาไหน  ห้ามห่มผ้าแถบหรือเสื้อคอกระเช้า   และต้องสวมหมวก

    เรื่องหมวก เป็นข้อกำหนดใหญ่ของรัฐบาลยิ่งกว่ากางเกงหรือกระโปรง     เพราะท่านผู้นำเมื่อไปดูงานในประเทศตะวันตกเห็นผู้คนเขาสวมหมวกกันทั้งนั้น    ประเทศเขาก็ใหญ่โตเจริญก้าวหน้า     ดังนั้นเพื่อให้ไทยเจริญก้าวหน้า  ผู้คนก็ต้องสวมหมวก   คือหมวกเป็นสาเหตุ และความเจริญเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุ
     นับเป็นตรรกะที่ออกจะแปลก  แต่ในเมื่อเป็นความคิดของท่านผู้นำซะอย่าง     จึงไม่มีใครกล้าตั้งคำถามอยู่ดี   
 
     จอมพลป. ให้ความสำคัญแก่หมวกมากแค่ไหน  เห็นได้จากหลังประกาศสงครามกับพันธมิตรเพียงวันเดียว  ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะตึงเครียดอย่างหนักของสงคราม     จอมพลป.  ออกประกาศทางวิทยุกระจายเสียงว่า
     " พี่น้องสตรีอย่านึกว่า   ยามศึกไม่จำเป็นจะต้องสวมหมวก     การสวมหมวกยามนี้ยิ่งจำจะเป็นมากกว่ายามใดๆ"
     ขอหมายเหตุว่า หมวกที่ว่านี้ก็คือหมวกธรรมดานี่แหละ  มิใช่หมวกกันน็อค  หรือหมวกกันกระสุน หรือเซฟตี้แฮทชนิดใด


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 13, 20:54
 :D


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 13, 20:55
ดิฉันคิดว่าคนซ้ายน่าจะแต่งเครื่องแบบ ไม่นิสิตจุฬา ก็นักศึกษาธรรมศาสตร์


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 มี.ค. 13, 21:16
   แต่รัฐบาล"สยามใหม่" เห็นว่าการแต่งกายแบบไม่มีระเบียบตายตัว นุ่งห่มกันตามใจชอบแบบนี้เป็นเรื่องน่าอับอาย   ไม่เหมาะกับประเทศที่กำลังก้าวไปสู่อารยะ      จึงได้ออกประกาศของกระทรวงมหาดไทย  (ซึ่งก็มีผลพอๆกับกฎหมาย) ให้คนไทยแต่งกายเสียใหม่  ล้มล้างรูปแบบเดิมๆโดยสิ้นเชิง

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คำแนะนำในการแต่งกายของประชากรไทย  

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 มี.ค. 13, 08:45
http://www.youtube.com/watch?v=YDEXgOZf5ao

เพลง สวมหมวก
คำร้อง จมื่นมานิตย์นเรศร์
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน
ขับร้อง มัณฑนา โมรากุล

เชิญซิคะ เชิญร่วมกันสวมหมวก
แสนสะดวกสบายด้วยทั้งสวยหรู
ปรุงใบหน้าให้อร่ามงามหน้าดู
อีกจะชูอนามัยให้มั่นคง

สมศักดิ์ศรีมีสง่าเป็นอารยะ
หมวกนี้จะชวนให้ชมสมประสงค์
ถึงไม่สวยหมวกจะช่วยเสริมทรวดทรง
งามระหงเลิศวิไลหญิงไทยเรา

อย่ารีรอเลยเจ้าขามาช่วยกัน
สมานฉันท์สร้างไทยให้เทียมเขา
สวมหมวกเถิดจะสำรวยสวยไม่เบา
สนองเค้าท่านผู้นำกล่าวคำชวน

ซ้าย - คุณรุจี อุทัยกร  ขวา - คุณมัณฑนา โมรากุล ผู้ร้องเพลงนี้ ถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔   ;D



กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 มี.ค. 13, 09:10
ชื่อเดิมของมัณฑนา  โมรากุล เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ) ตั้งให้ว่า "เจริญ"   ครูสกนธ์ มิตรานนท์เป็นคนเปลี่ยนชื่อจาก "เจริญ" มาเป็น "จุรี โมรากุล" ต่อมาชื่อ จุรี โมรากุล ถูกปลี่ยนอีกครั้งเป็น "มัณฑนา โมรากุล" และประกาศอย่างเป็นทางการทางวิทยุให้ทราบทั่วกันตามคำสั่งของจอมพลป.พิบูลสงคราม
      
"ท่านบอกว่า จุรี แปลว่า พู่สีแดงที่ปลายหอก ท่านเขียนชื่อ วชิรา มัทนา มัณฑนา รุจิรา ให้จมื่นมานิตย์เอามาให้ดิฉันเลือก ดิฉันเลือกมัณฑนา แหม..ดวงตอนนั้นมันขึ้นเหลือเกิน เปลี่ยนชื่อก็ต้องประกาศวิทยุ"
      
ตอนนั้น จอมพลป. พิบูลสงครามชื่นชมนักร้องหญิงคนหนึ่งของวงหัสดนตรีกรมโฆษณาการ รุ่นเกล้เคียงกับมัณฑนา โมรากุล แต่กระนั้นท่านจอมพลก็ยังมาเลียบ ๆ เคียง ๆ ถามความสมัครใจกับมัณฑนา โมรากุล เรื่องที่เธอถูกโยงเข้าไปเกี่ยวข้องนั้น เกิดจากกรณีที่ท่านพบเห็นว่า มัณฑนา โมรากุล เจ้าของเสียงเพลง "สวมหมวก" (คำร้อง – จมื่นมานิตย์นเรศ ปี ๒๔๘๔ ) ส่งเสริมวัฒนธรรมสมัยใหม่ตามประกาศรัฐนิยม (สวมหมวก สวมถุงน่อง เลิกกินหมากและกล่าวคำว่าสวัสดี) กลับฝ่าฝืนไม่ยอมสวมหมวกในที่สาธารณะ
      
"ดิฉันถูกเรียกไปไต่สวนเรื่องไม่สวมหมวก เวลานั้นไปติดต่อราชการต้องสวมหมวก ถ้าไปโรงพยาบาลแล้วไม่สวมหมวกจะไม่ได้รับการต้อนรับ วันนั้นเรานั่งรถกลับบ้านหมวกมันก็เผยิบ ๆ เราเห็นว่า ใกล้ถึงวังสวนสุพรรณแล้ว พอรถถึงกรมการปกครองฯก็เลยถอดหมวกเอามาวางไว้บนตัก บังเอิญท่านจอมพลเอารถออกจากกรมการปกครองฯพอดี เราก็ตกใจ พอรุ่งขึ้นมีจดหมายเรียกตัวนางสาวมัณฑนาไปสอบสวนที่วังสวนกุหลาบ พระราชธรรมนิเทศ รองอธิบดีกรมโฆษณาการเป็นผู้สอบ ทำไมมัณฑนาผู้ร้องเพลงสวมหมวก แต่ไม่มีหมวกบนหัว?"
        
"ตอนนั้นดิฉันยังเด็ก ร้องไห้ใหญ่เลย ดิฉันบอกว่า ลมมันตี เห็นว่าใกล้ถึงวังสวนสุพรรณแล้วก็เลยถอด ท่านจะเอาโทษดิฉันตัดเงินเดือน ๓ เดือน ฉันบอกว่า ฉันต้องเลี้ยงแม่ พ่อติดคุก น้องอีกหลายคน ท่านบอกว่าเรื่องนี้ต้องไต่สวนกันตลอดชีวิต ตอนหลังเรื่องไม่สวมหมวกพับไป เอาเรื่องไม่เคารพผู้นำขึ้นมาแทน ท่านจอมพลฯ เห็นว่าไม่ได้ไหว้ท่าน ดิฉันตอบว่าตกใจจริง ๆ ไม่คิดว่าจะเจอท่านที่หลังวังสวนสุพรรณ มันเป็นคราวเคราะห์ของดิฉัน นักดนตรีพูดกันว่า เฮ้ย...งานนี้โดนเก็บ (เป็นภรรยาลับ) อีกคนแล้ว ต้องหานักร้องใหม่อีกแล้ว"
      
"ตอนหลังท่านถามตรง ๆ ว่า อยากสบายแบบ..(นักร้องหญิงคนหนึ่งของกรมฯ รุ่นใกล้เคียงกับมัณฑนา) ดิฉันก็บอกตรงๆ ว่า ไม่อยากสบาย ท่านถามว่าทำไม...เค้ามีรถยนต์ มีแหวนเพชรนะ-ไม่ค่ะ-คุณพ่อดิฉันติดคุกอยู่บางขวาง ท่านก็อึ้งไป หลวงอดุลย์เค้าจับ ดิฉันบอกว่า พ่อติดคุก แล้วลูกต้องไปเป็นดอกไม้ของศัตรู พ่อมิช้ำใจตายในคุกหรือ ท่านตอบว่า ฉันไม่ข่มขืนใจใคร ต่อไปนี้จ่ายเด็กคนนี้อีกเดือนละ ๕๐๐ บาท เพราะเป็นเด็กรู้พระคุณ ตอนนั้นเงินเดือน ๔๕๐ บาทเอง เพราะแรงกตัญญูนี่แหละจึงดันชีวิตได้ ๑๒ ปี"
      
"ตอนที่ท่านเข้าคุก มีคนมาตามดิฉันให้ไปที่กระทรวงยุติธรรม ให้ดิฉันพูดว่าเคยถูกบังคับให้เป็นเมียท่าน ดิฉันบอกว่า ดิฉันไม่ทำ เพราะดิฉันไม่ได้โดนบังคับ จะให้พูดในสิ่งที่ไม่จริง ดิฉันไม่ทำ หลายคนก็มองว่า ทำไมดิฉันไม่เล่นศัตรูกลับ ดิฉันถือว่าท่านมีพระคุณ"

เก็บความจาก ผู้จัดการ (http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9530000004169)

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)
      


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: ศานติ ที่ 31 มี.ค. 13, 10:16
เรื่องรองเท้าผมจำได้ดี พี่เลี้ยงผมตอนผมเป็นเด็กบ้านเดิมอยู่ราชบุรี เดินเท้าเปล่ามา ๒๐ กว่าปี พอออกกฎว่าต้องใส่รองเท้าก็ต้องกระเสือกกระสนหารองเท้า แต่รองเท้าที่มีขายมีเ​ฉพาะสำหรับคนที่ใส่รองเท้ามาแต่เด็ก พี่เลี้ยงผมมีเท้าแบบเดินคันนามาแต่เล็ก ปลายเท้าแผ่ หารองเท้าที่ได้ขนาดไม่ได้ บ้านผมอยู่ลึกเข้าไปในกรมช่างอากาศ เวลาไปจ่ายตลาดพี่เลี้ยงก็เดินหิ้วรองเท้าจนถึงหน้ากรมแล้วค่อยใส่เพื่อเดินไปตลาด ขากลับพอพ้นยามหน้ากรมก็ถอดรองเท้าเดินจนถึงบ้าน

โจงกะเบนก็น่าเสียดายที่เลิกไป เพราะมีประโยชน์สองอย่าง อย่างแรกคือเป็นที่ให้เด็กอายุสามสี่ขวบอย่างผมเกาะ โดยเฉพาะเวลาจ่ายตลาด เวลาเขาก้มลงเลือกผลไม้จากหาบที่วางอยู่กับพื้น ผมยืนอยู่ข้างหลังก็เกาะหางโจงกะเบนไว้ ทำให้อุ่นใจว่าพี่เลี้ยงจะไม่หายไปไหนแน่  ประโยชน์อีกอย่างคือ ทำให้หญิงมีความเสมอภาคกับชายในด้านการปัสสาวะ จะทำที่ไหนก็ได้ ชายยืนข้างรั้วได้ หญิงก็ปลดหางโจงกะเบนออก นั่งลงข้างรั้วได้อย่างมิดชิดเหมือนกัน   ๕๕๕

จำได้ว่าเขาสั่งฟันต้นหมากต้นพลูหมด พี่เลี้ยงผมแทบแย่ ไปดูรูปเก่าๆเห็นหน้าบึ้งทุกรูป คงเป็นที่ไม่มีหมากเคี้ยว พออพยพไปโคราชปรากฎว่าชาวบ้านยังเก็บต้นหมากต้นพลูไว้ใช้ส่วนตัวอยู่บ้าง แต่ไม่มีขายแล้ว ถ้าจะว่าจอมพล ป.ทำอะไรดีแก่ชาติ ผมก็จะเสนอว่าการให้คนไทยเลิกหมากได้อาจนับว่าเป็นงานชิ้นโบว์แดง จำได้ว่าเดินไปไหนมีแต่ร่องรอยของคนบ้วนน้ำหมากไว้ สดๆบ้าง เก่าๆ บ้าง มีกระโถนไว้บ้วนน้ำหมากในบ้านทุกบ้าน นอกจากนั้นผมคิดว่ามะเร็งของช่องปาก ลิ้น ฯลฯ คงจะสูงพอดู


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 มี.ค. 13, 13:25
จำได้ว่าเขาสั่งฟันต้นหมากต้นพลูหมด พี่เลี้ยงผมแทบแย่ ไปดูรูปเก่าๆเห็นหน้าบึ้งทุกรูป คงเป็นที่ไม่มีหมากเคี้ยว พออพยพไปโคราชปรากฎว่าชาวบ้านยังเก็บต้นหมากต้นพลูไว้ใช้ส่วนตัวอยู่บ้าง แต่ไม่มีขายแล้ว

ส.ส.เชียงใหม่สมัยนั้นตั้ง กระทู้ถามรัฐบาลถึงเหตุผลที่สั่งให้เจ้าหน้าที่ตัดต้นพลูของราษฏร (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2487/D/025/709.PDF)  กะซวงมหาดไทยตอบว่า

"เจ้าของสวนพลูเหล่านั้นได้ซาบซึ้งไนนโยบายของรัถบาลเปนหย่างดีจึงยินยอมไห้ตัดด้วยความสมัคใจ ไม่มีไครเดือดร้อน และขอไห้แก้ไขความเดือดร้อนแต่หย่างได"

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3276.0;attach=9565;image)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 31 มี.ค. 13, 15:39
วีงสวนสถพรรณที่คุณทัณฑนาท่านกล่าวถึงนั้พอจะทราบว่า อยู่ริมคลองสามเสนติดกับโรงโซดาหลวงสวนดุสิตตรงใกล้แยกสวนรื่นในปัจจุบัน
แต่กรมการปกครองนั้นจะอยู่ในบริเวณพระที่นั่งนงคราญสโมสร  ที่ปัจจุบันเป็นกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ้น  ใกล้กับวังสวนกุหลาย  ใช่หรือไม่ครับ?


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 เม.ย. 13, 15:06
คุณแปลกแสดงความปรารถนาดีด้วยเห็นว่าคำแทนชื่อ คำรับและปฎิเสธที่คนไทยใช้กันอยู่เดิมมีมากมายเกินไปทำให้ยุ่งยากในการเลือกใช้ จึงได้จัดระเบียบเสียใหม่ ตาม ประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่อง วางระเบียบ คำแทนชื่อ และคำรับ คำปติเสธ (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2485/A/041/1301.PDF) ลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 เม.ย. 13, 15:11
ต่อมาคุณแปลกเห็นว่า คนไมนิยมใช้คำตอบรับว่า "จ้ะ" และคำปฏิเสธว่า "ไม่" จึงได้เปลี่ยนแปลงเสียใหม่  ตาม ประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่อง เปลี่ยนแปลงคำรับ คำปติเสธ และไห้ไช้ระเบียบคำแทนชื่อ คำรับ คำปติเสธโดยเคร่งครัด (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2486/A/045/1304.PDF)   ;D



กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 01 เม.ย. 13, 16:07
นายแปลกแกคงต้องการให้ภาษาไทยกลายเป็นภาษาอังกฤษ เลยตัดสรรพนามต่างๆ ออกไป แม้กระทั่งเรื่องการสวมหมวกหรือการจูบภรรยา   ก็ทำให้เห็นวิสัยทัศน์ของแกและคนรอบข้างได้ดี ว่าแม้ปากจะเชิดชูวัฒนธรรมไทย แต่กลายเป็นเอาค่านิยมฝรั่งมายัดเยียดและบังคับไปซะฉิบ แถมไม่สนใจรากเง่าหรือพื้นฐานคนไทย คิดจะเปลี่ยนก็เปลี่ยน ทำยังกะเด็กเล่นขายของ  แถมยังบ่งบอกความเชื่อเรื่องการเชิดชูและเห็นฝรั่งเหนือกว่าได้เป็นอย่างดี เลยจะทำให้เรากลายเป็นฝรั่ง


การกระทำต่างๆ ของนายแปลกยุคเรืองอำนาจ ไม่ต่างกับสมัยสมบูรณาญาฯ แต่อย่างใด แถมหนักยิ่งกว่าอีก ชี้นกเป็นไม้ ชี้ตายเป็นตาย   น่าเศร้าที่แม้ในปัจจุบันเวลาคนมองเรื่องประชาธิปไตย ยังให้ความสำคัญกับรูปแบบมากกว่าพฤติกรรมความเป็นจริงในการบริหารปกครองบ้านเมือง


ถ้าจำไม่ผิดนายแปลกนี่ยังริเริ่เรื่องวิปริตอย่างอื่นเช่นการโบกอิฐฉาบปูนซากโบราณสถานในอยุธยาด้วย  คือแกจะเนรมิตรของเก่าให้เป็นของใหม่ซะด้วย


ขออภัยที่ใช้ชื่อเรียกว่านายแปลกอาจขัดหูขัดตาผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน ที่กระผมไม่เรียกจอมพล ป หรือจอมพล  คือถ้าเรียงลำดับนายกที่นายประกอบนักเรียนหัวรุนแรงเกลียดที่สุด  นายแปลกแกเป็นอันดับสอง แต่ไม่ทิ้งห่างอันดับหนึ่งมากนัก อ่านเรื่องบุคคลผู้นี้ทำไร 'รมณ์เสีย ของขึ้นทุกที  ที่แกไม่ได้ตำแหน่งชนะเลิศเพราะผมมองว่านายแปลกแกบ้าอำนาจยศศักดิ์อย่างเดียว ไม่บ้าเงินตรามหาศาลด้วย เลยแพ้อันดับหนึ่งไปอย่างฉิวเฉียด


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 13, 20:13
มาลดดีกรีความร้อนในอารมณ์คุณประกอบ ที่ตัวเอกในกระทู้นี้ก่อให้โดยไม่ตั้งใจ       เมืองที่คุณประกอบอยู่อากาศคงจะยังหนาวเย็น   แต่ว่าในประเทศไทยตอนนี้ร้อนตับแตกมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม      เลยไม่อยากเพิ่มอุณหภูมิในเรือนไทยอีกค่ะ
ดูรูปสาวงามสมัยสยามใหม่ให้เย็นๆใจ   เสียดายไม่ทราบชื่อว่าเธอเป็นใคร  ทราบแต่ว่าชนะประกวดเครื่องแต่งกายในสมัยสงคราม ตรงตามวัธนธัมของท่านผู้นำ
ถ้าเป็นยุคนี้หนังสือพิมพ์อาจจะมีคำว่าไฮโซนำหน้าชื่อเธอ


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 13, 20:43
   มีเกร็ดเล็กๆเกี่ยวกับชาตินิยมอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งเคยเอ่ยมาบ้างแล้วในกระทู้เก่า  แต่ทบทวนอีกครั้งก็คงไม่ถึงกับเบื่อกันนะคะ
   ทั้งๆที่สยามใหม่ถูกกำหนดให้อะไรๆก็เป็นของชาติไทยหมด  ไม่มีชาติอื่นเจือปน   แม้แต่ชื่อตำบลแต่ดั้งเดิมที่บันทึกถึงชาติพันธุ์ต่างๆซึ่งเคยอพยพมาตั้งหลักแหล่งอยู่ในถิ่นนั้น  ก็ถูกลบล้างออกไปจากประวัติศาสตร๋      เช่นตำบลบ้านญวนสามเสน   กลายเป็นตำบลวชิรพยาบาล
   แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่คุณแปลก(ของคุณเพ็ญชมพูและคุณประกอบ)   ยอมยกให้ว่าไม่ต้องเปลี่ยนชื่อก็ได้   นั่นก็คือก๋วยเตี๋ยว   ซ้ำยังสนับสนุนให้ชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยวกันเป็นล่ำเป็นสัน ราวกับเป็นอาหารประจำชาติอีกด้วย     มิได้ไยดีข้าวแกงหรือน้ำพริกของไทยที่คนไทยกินกันมาแต่เดิม

   ที่มาของก๋วยเตี๋ยว ตามที่เล่าไว้ใน "สี่แผ่นดิน" ก็คือ เมื่อพ.ศ. 2485 เกิดน้ำท่วมใหญ่ทั่วกรุงเทพ     ข้าราชการลุยน้ำออกมากินข้าวกลางวันนอกออฟฟิศไม่ได้  ก็มีเรือก๋วยเตี๋ยวพายเข้าไปขายถึงในทำเนียบ    เมื่อนายกรัฐมนตรีได้กินก๋วยเตี๋ยวก็ชอบว่ามีรสอร่อย  ซ้ำยังประกอบด้วยผัก ถั่วงอก และหมู   ซึ่งท่านส่งเสริมให้ประชาชนปลูกผักเลี้ยงหมูกินกันเองอยู่พอดี     ท่านก็เลยคิดนโยบายสนับสนุนก๋วยเตี๋ยวเป็นการใหญ่    ให้ประชาชนทั้งบริโภคและค้าขาย


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 13, 21:15
     จอมพลป. เห็นว่า การส่งเสริมให้คนไทยกินก๋วยเตี๋ยวกันมากๆ นั้น จะเป็นการแก้ไขปัญหาข้าวยากหมากแพงในยามสงครามได้    ข้อนี้ท่านไม่ได้พูดเล่นๆ   และดิฉันก็ไม่ได้พูดเว่อร์   มีหลักฐานยืนยัน  เห็นได้จากคำแถลงข้างล่างนี้

    "อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วกัน เพราะก๋วยเตี๋ยว มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีรสเปรี้ยว เค็ม หวานพร้อม   ทำเองได้ในประเทศไทย   หาได้สะดวกและอร่อยด้วย หากพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยวคนละหนึ่งชามทุกวัน วันหนึ่งจะมีคนกินก๋วยเตี๋ยวสิบแปดล้านชาม ตกลงวันหนึ่งค่าก๋วยเตี๋ยวของชาติไทยหนึ่งวันเท่ากับเก้าสิบล้านสตางค์  เท่ากับเก้าแสนบาท เป็นจำนวนเงินหมุนเวียนมากพอใช้     เงินเก้าแสนบาทนั้น ก็จะไหลไปสู่ชาวไร่ ชาวนา ชาวทะเลทั่วกัน     ไม่ตกไปอยู่ในมือใครคนหนึ่งคนใดเพียงคนเดียว และเงินหนึ่งบาท   ก็มีราคาหนึ่งบาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เสมอ ไม่ใช่ซื้ออะไรก็ไม่ได้เหมือนอย่างทุกวันนี้   ซึ่งเท่ากับไม่มีประโยขน์เต็มที่ในค่าของเงิน.."

    จอมพลป.จริงจังมากกับนโยบายเศรษฐกิจจากก๋วยเตี๋ยว   จึงไม่ได้แค่ชักชวนประชาชนเฉยๆ  แต่กำหนดให้ราชการออกคำสั่งเวียนไปทุกจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และครูใหญ่ทุกโรงเรียน ต้องขายก๋วยเตี๋ยวคนละหนึ่งหาบ และให้กรมประชาสงเคราะห์จัดทำคู่มือการทำก๋วยเตี๋ยวแจกจ่าย สมัยนั้น ข้าราชการที่มีหน้ามีตาจึงมีหน้าที่ขายก๋วยเตี๋ยวกันเป็นการใหญ่     ข้าราชการชั้นลูกน้องเช่นครูน้อยก็ต้องเปลี่ยนเวรกันมาช่วยครูใหญ่ขายก๋วยเตี๋ยวด้วย 


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 13, 21:46
อ้างจากคุณ V_Mee:

อ้างถึง
เรื่องให้ข้าราชการขายก๋วยเตี๋ยวนี้  ท่านหม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล ซึ่งเวลานั้นเป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษาได้รับสนองนโยบายของท่านผู้นำด้วยการจัดก๋วยเตี๋ยวไปขายที่กระทรวงศึกษาธิการ  ปรากฏว่าขายดีมากแต่ไม่ได้เงินค่าก๋วยเตี๋ยว       เพราะลูกค้าของท่านซึ่งล้วนเป็นข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ต่างก็มาช่วยรับประทานก๋วยเตี๋ยวของท่านอธิบดีโดยไม่จ่ายสตางค์  เพราะถือกันว่าเป็นการช่วยท่านอธิบดีปฏิบัติราชการ   จะได้ไม่ต้องหอบข้าวของกลับบ้าน

ตามถนัดของผู้นำรัฐบาล  นอกจากราชการแล้ว ท่านก็กำหนดให้กรมโฆษณาการแต่งเพลง "ก๋วยเตี๋ยว" ขึ้น  เชิญชวนให้คนไทยหันมาขายและรับประทานก๋วยเตี๋ยวกัน โดยเนื้อเพลง มีดังนี้

"ก๋วยเตี๋ยวเอ๊ย...ก๋วยเตี๋ยวมาแล้วจ้า...ก๋วยเตี๋ยวมาแล้วจ้า..
ก๋วยเตี๋ยวจ้า...ก๋วยเตี๋ยวเอ๊ย...ของไทยใช้พืชผล เกิดในไทยรัฐทั้งสิ้น...ทรัพย์ในดินหาได้ทั่วไป ...ช่วยซื้อขายกันให้มั่งมี
เพราะไทยเรานี้ช่วยกันตลอดไป..."
 


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 เม.ย. 13, 22:15
^
^
(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 เม.ย. 13, 07:02

   ที่มาของก๋วยเตี๋ยว ตามที่เล่าไว้ใน "สี่แผ่นดิน" ก็คือ เมื่อพ.ศ. 2485 เกิดน้ำท่วมใหญ่ทั่วกรุงเทพ     ข้าราชการลุยน้ำออกมากินข้าวกลางวันนอกออฟฟิศไม่ได้  ก็มีเรือก๋วยเตี๋ยวพายเข้าไปขายถึงในทำเนียบ    เมื่อนายกรัฐมนตรีได้กินก๋วยเตี๋ยวก็ชอบว่ามีรสอร่อย  ซ้ำยังประกอบด้วยผัก ถั่วงอก และหมู   ซึ่งท่านส่งเสริมให้ประชาชนปลูกผักเลี้ยงหมูกินกันเองอยู่พอดี     ท่านก็เลยคิดนโยบายสนับสนุนก๋วยเตี๋ยวเป็นการใหญ่    ให้ประชาชนทั้งบริโภคและค้าขาย

ของแพงขึ้นทุกวัน ด้วยน้ำท่วม และ สงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่กรุ่น ๆ เข้ามายังประเทศไทย ทำให้ก๋วยเตี๋ยวจากชามละ ๓ สลึง ถีบตัวขึ้นไปถึงชามละ ๑๐ สลึง

ก่อนหน้านี้ก๋วยเตี๋ยวเป็นแบบของจีน โรยหน้าด้วยหมู แต่พอเป็นก๋วยเตี๋ยวแบบไทย ก็ดัดแปลงไปหาก๋วยเตี๋ยวเนื้อ เพื่อเลี่ยงกันการสับสนกัน


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 เม.ย. 13, 08:54
แปลกที่ท่านแปลกมิได้ส่งเสริมอาหารประจำครัวเรือนคนไทยกรุงเทพมาหลายสิบชั่วคนอย่างน้ำพริก ในนโยบายรัฐนิยมของท่านเลย   จะเป็นเพราะไม่มีหมูประกอบ (ทั้งๆมีผัก)  หรือท่านไม่ชอบอาหารเผ็ด ก็สุดจะรู้ได้
แปลกของท่านแปลกอีกข้อก็คือ ท่านไม่ยักตั้งชื่อไทยให้ "ก๋วยเตี๋ยว" จนแล้วจนรอด    ก็ขนาดชื่อตำบลอำเภอและชื่อคนยังเปลี่ยนกันทั่วประเทศ    ทำไมหนอ คำว่า "ก๋วยเตี๋ยว" ถึงยืนยงคงกระพันเป็นชื่อจีนในอาหารไทยประจำสยามใหม่อยู่ได้ ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน

แต่ที่ไม่แปลกก็คือ ท่านแปลกมิได้ลืมต้นกำเนิดของก๋วยเตี๋ยว   ว่ายังไงอาหารจานเด็ดนี้ ก็เกิดมาจากคนจีน ไม่ใช่อาหารไทยแท้ๆ     หลังจากสั่งให้ข้าราชการขายก๋วยเตี๋ยวไปแล้ว   ท่านจึงดำริให้มีการคิดสูตรก๋วยเตี๋ยวที่มีเอกลักษณ์เป็นไทยแท้ๆ ขึ้น เป็นของไทยเราเอง  มิได้ขอยืมมาจากจีนอีกต่อไป

ตรงนี้เอง   อาหารไทยอย่างใหม่ก็อุบัติขึ้น  


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 เม.ย. 13, 08:57
มีการนำ "ก๋วยเตี๋ยวผัด" มาดัดแปลงสูตรให้เป็นไทย   เลิกก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่เล็ก  เอาเส้นจันท์มาผัด  หั่นเต้าหู้เหลืองเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ลงไป ใส่กุ้งแห้ง ใบกระเทียม  ตอกไข่ คนให้ทั่ว ปรุงรสด้วย น้ำมะขามเปียก พริกป่น ถั่วป่น หากใส่กุ้งใหญ่ ก็จะได้ผัดไทยกุ้งสด ประดับจานด้วยถั่วงอก และต้นกระเทียม
ผัดไทยนั้นจะต้องไม่ใส่หมู เพราะท่านแปลกถือว่าไหนๆจะทำอาหารไทยแล้ว   ก็ไม่ควรมีหมูซึ่งเป็นอาหารจากจีนมาปนอยู่  คนไทยแท้ๆ จะกินแต่ผัก ปลา ไก่ เป็นอาหารหลัก    เนื้อหมูนั้นจะกินก็ต่อเมื่อมีงานฉลองใหญ่ๆ เท่านั้น ดังนั้นก๋วยเตี๋ยวไทยชนิดใหม่นี้ จึงไม่หมูมาปนให้เสียเอกลักษณ์ไทย
อาหารจานนี้ก็คือ "ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย "  หรือ "ผัดไทย" นั่นเอง


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 เม.ย. 13, 11:19
นายแปลกแกคงต้องการให้ภาษาไทยกลายเป็นภาษาอังกฤษ

เรื่องนี้เป็นผลงานอีกเรื่องหนึ่งของคุณแปลก   :o


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 เม.ย. 13, 20:13
อ่านข้างบนนี้แล้ว  เห็นได้ว่าคุณแปลกของคุณเพ็ญชมพูประสงค์จะให้เกิดความเสมอภาคแก่ชาวไทยทั่วหน้า ไม่ว่าเจ้าหรือสามัญชน   โดยจะอ้างเหตุผลอะไรก็ตาม    ความหมายคือไม่เอาราชาศัพท์น่ะแหละ   แต่อ้างนั่นนิดนี่หน่อยโดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่ท่านเห็นว่าเป็นภาษาของประเทศอารยะ

อ่านแล้วก็นึกถึงประโยคเด็ด ในหนังสือ The Animal Farm ของ George Orwell  เล่มนี้เรียนตอนอยู่ปี 1   
“All men are created equal but some are more equal than others…”
"คนเราเกิดมาเท่าเทียมกัน  แต่บางคนก็เท่าเทียมมากกว่าคนอื่นๆ"

ในช่วงที่กำลังคึกคักกับรัฐนิยม  จอมพล ป.เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้บัญญัติกฎหมายยกเลิกบรรดาศักดิ์ไทยเดิม โดยสถาปนา "ฐานันดรศักดิ์" (Lordship) ตามแบบฝรั่งขึ้นใหม่ คือ ดยุค. มาควิส, เคานท์, ไวสเคานท์, บารอน ฯลฯ โดยตั้งศัพท์ใหม่ขึ้นเพื่อใช้สำหรับฐานันดรศักดิ์เจ้าศักดินาใหม่ คือ สมเด็จเจ้าพญา, ท่านเจ้าพญา, เจ้าพญา, ท่านพญา ฯลฯ ส่วนภรรยาของฐานันดรศักดินาใหญ่นั้นให้เติมคำว่า "หญิง" ไว้ข้างท้าย เช่น "สมเด็จเจ้าพญาหญิง"

ก็ยังดี ที่เรื่องนี้ตกไป   


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 02 เม.ย. 13, 21:29
ฮิฮิ ถ้าไม่โดนไม้เรียวซะบ้างรู้สึกเหมือนชีวิตมันขาดๆ แม้เมืองนอกจะเย็นขนาดมีละอองหิมะเมื่อวานซืน  แต่เมื่อมองอนาคตเมืองไทยที่รักยิ่งของผมตอนนี้แล้วมันร้อนรุ่ม เห็นแต่ความมืดมนวังเวงรออยู่  :'(


ผมมีความคิดมานานแล้วว่านายแปลกของผม(คุณแปลกของซายาเพ็ญ จอมพล ป ของ อ.เทา) แกบูชาฝรั่งมากซะจนแกมองว่าความเจริญหรือวัฒนธรรมแบบฝรั่งคือวัฒนธรรมอันดีงาม โดยไม่มองหรือพิจารณารากเง่า ตลอดจนความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมไทย-เทศ จนแกไม่สามารถนำแก่นแท้ของความเจริญที่แตกต่างมาปรับใช้ได้ สิ่งที่แกทำเป็นการนำเปลือกแบบฝรั่งมาบังคับทาบทับคนไทยเฉยๆ  จริงๆ เรียกได้ว่าตามก้นเค้าอย่างเดียวจริงๆ  เพียงแต่เปลี่ยนจากภาษาของฝรั่งเป็นภาษาไทย  ทั้งเรื่องการปรับภาษา  การแต่งกาย ฐานัรดรฯลฯ นี่เป็นวิธีคิดแบบคนหลงอำนาจที่ไม่มีวิสัยทัศน์พอจะเข้าใจว่าอะไรคือเปลือก  อะไรคือแก่น อะไรคือสิ่งสำคัญที่เราควรเอาอย่างมาปรับใช้ อะไรที่เราควรคงไว้ 


ในขณะที่ส่งเสริมชาตินิยม  นายแปลกแกกลับสองมาตรฐานสำหรับสิ่งที่แกชอบหรือนิยม เช่นเรื่องของก๋วยเตี๋ยว  จึงจริงอย่างที่ท่านอาจารย์ยกมา คนบางคนเท่าเทียมมากกว่าคนอื่นๆ จริงๆ  น่าเสียดายที่ช่วงที่แกมีอำนาจสูงสุด ชี้นกเป็นไม้ ชี้เป็นชี้ตายใครๆ ก็ได้ แกกลับนำอำนาจไปใช้กับการเอาเปลือกฝรั่งมาฉาบคนไทย  แก่นของเราเลยอ่อนๆ ไหวยวบยาบมาแม้จนปัจจุบัน



นึกย้อนไปถึงกระทู้ที่เคยคุยกันว่าทำไมญี่ปุ่นเกาหลีแซงเราไป ก็อดคิดไม่ได้ว่าแม้แต่ในปัจจุบัน ไทยเราก็ยังไม่อาจนำแก่นที่ชาติอื่นใช้พัฒนาตัวเองจนประสบความสำเร็จ มาปรับใช้กับประเทศเราได้ดีเท่าไหร่นัก เรายังคงให้ความสำคัญกับเปลือกหรือรูปแบบ มากกว่าผล  เรามองวันนี้แต่ไม่มองวันหน้า  และเพราะเปลือกเราเจ๋ง  แต่แก่นเราอ่อน  เราจึงจะยังคงเป็นชาติที่สามารถจัดพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ได้ยิ่งใหญ่อลังการไม่แพ้มหาอำนาจใดในโลกจัดพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิค  แต่จะเป็นเจ้าเหรียญทองได้เฉพาะการแข่งกันเองในประเทศละแวกนี้เท่านั้น


ปล  เสียดายนิดที่กฏหมายฐานันดรไม่ผ่าน เผื่อผมจะได้มีฐานันดรกับเค้าบ้าง เอาแค่บารอนก็โก้พอแล้ว อาจจะได้เป็นท่านพญาที่หนึ่งแห่งทุ่งหมาว้อบ้าง (Baron of Tung-Ma-Wah I) ที่จริงถ้าผ่านรัฐอาจจะทำเงินได้มหาศาลจากการขายฐานันดรสำหรับพวกชอบโก้บ้างก็ได้ ชื่อระดับหมู่บ้านหรือตำบลถูกหน่อยจ่ายยี่สิบล้านให้ชั้นบารอน หรือไวสเคานท์  ระดับชื่ออำเภอร้อยล้านเป็นเคานท์หรือมาควิส จ่ายห้าร้อยล้านให้ระดับชื่อจังหวัดเป็นดยุคไปเลย เพิ่มแกรนด์ดยุคแบบรัสเซียสำหรับคนที่ยอมจ่ายแพงลิบลิ่วสองพันห้าร้อยล้านอีกด้วย  ฐานันดรนี้ให้ส่งผ่านถึงลูกหลานได้แต่ต้องเสียค่าบำรุงรายปี ปีไหนไม่จ่ายริบคืนไว้ขายใหม่ ให้สิทธิพิเศษรับเชิญงานรัฐพิธีมีเก้าอี้จัดพิเศษให้นั่งหน้าๆ หน่อยใกล้ๆ ระดับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง  ;D  แล้วก็แจกตำแหน่งอัศวินสำหรับคนที่ทำคุณงามความดีก็ไม่เลว  แล้วก็แยกระหว่างเครื่องราชฯกับฐานันดรที่รัฐแจกเองไปเป็นคนละส่วนไปเลย


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 เม.ย. 13, 21:46
ถึงฐานันดรศักดิ์ถูกเลิกไปเสียก่อนจะเกิด   แต่เครื่องราชฯยังมีอยู่ในราชการไทย    คุณประกอบลองไปค้นกูเกิ้ลคำว่า "คดีเจ้าคุณอุดม" อาจจะได้ความรู้เพิ่มเติม
ส่วนเรื่องอัศวิน   มีแหวนอัศวินประดับนิ้วนายตำรวจมือปราบ ยุคพลต.อ.เผ่าครองอำนาจ   นี่ก็เรื่องมันๆอีกเหมือนกันค่ะ

ชักออกนอกทาง  กลับมาเรื่องสยามใหม่ดีกว่า


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 เม.ย. 13, 07:23
เชิญแต่งตัวออกจากบ้านด้วยชุดลินินสีขาว สวมเสื้อนอก เลิกเคี้ยวหมากได้แล้ว แต่งตัวให้เข้ากับแฟชั่น สวมกระโปรงยาว มาเชิญรำวงมาตรฐานที่ทางรัฐบาลจัดให้
และพร้อมเข้าสู่ยุค "มาลานำไทย" กันเถิดครับ  ;)

และเรามีสำนักใหม่เกิดขึ้น "สำนักวัธนธัมทางจิตใจ" พ.ส. ๒๔๘๗


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 เม.ย. 13, 08:05
ขมีขมันมาตามคำเชิญของคุณหนุ่มสยาม  

ยุคของข้าราชการไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2   เป็นยุคที่มีสีสันยิ่งกว่ายุคใดๆ    เพราะนอกจากจะต้องขายก๋วยเตี๋ยวเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลแล้ว       ในขณะที่ระเบิดลงตูมๆเหนือหัวอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน    ข้าราชการก็ต้องแบ่งเวลาราชการในวันพุธไปหัดรำวงมาตรฐานตามคำสั่งของท่านผู้นำด้วย

นายแปลกของคุณประกอบ  เป็นผู้สนใจศิลปวัฒนธรรมไทยหลายสาขา รวมทั้งบันเทิงเริงรำ      สมัยนั้นไม่มีไฟฟ้าใช้ตอนค่ำคืน ชาวบ้านในกรุงเทพธนบุรีถ้าอยากเล่นอะไรรื่นเริงกันคลายเครียด   ก็จะรำโทนกันในหมู่บ้านของพวกเขา    เพราะรำง่าย ไม่มีแบบแผนยุ่งยาก ใครอยากรำก็รำ  จังหวะสนุกสนาน  เครื่องดนตรีก็มีแต่โทน ยืนพื้น     ท่านผู้นำก็เลยจับรำโทนมาพัฒนา ให้ไฮคลาส เป็นรำวงมาตรฐาน  โดยมอบหมายให้กรมศิลปากรจัดการปรับปรุงการรำ และบทร้อง  ให้มีแบบแผนเป็นระบบระเบียบ   จากนั้นข้าราชการที่ตำแหน่งการงานถูกจับให้หันซ้ายหันขวาได้ง่ายอยู่แล้ว ก็ต้องมาหัดรำวงมาตรฐานกัน
 
กรมศิลปากร ประพันธ์ 4 บทเพลง คืองามแสงเดือน  ชาวไทย ,รำซิมารำและ คืนเดือนหงาย ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ประพันธ์ 6 บทเพลง คือ ดอกไม้ของชาติ , ดวงจันทร์-วันเพ็ญ ,หญิงไทยใจงาม ,ยอดชายใจหาญ ,ดวงจันทร์ขวัญฟ้า ,บูชานักรบ


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 เม.ย. 13, 08:12
    รำโทนของเดิมชาวบ้านรำกันตามใจชอบ   เมื่อถูกจับขึ้นมาตรฐาน ป.ISO    กรมศิลปากรก็จัดท่ารำเสียใหม่  โดยนำท่ารำจาก ท่าแม่บทของนาฏศิลป์ไทย มากำหนดเป็นท่ารำของ “รำวงมาตรฐาน”   เป็นมรดกที่ท่านผู้นำทิ้งไว้ให้สังคมไทยจนมาถึงทุกวันนี้    เด็กนักเรียนเล็กๆในโรงเรียนรัฐ  เมื่อหัดแสดงขึ้นเวทีในชั้นอนุบาลหรือประถม 1  ก็จะต้องหัดรำวงมาตรฐานกัน 
   สำหรับผู้ประดิษฐ์ท่ารำวงมาตรฐานคือ หม่วมต่วน (ศุภลักษณ์  ภัทรนาวิก) นางมัลลี คงประภัศร์ และคุณครูละมุล ยมะคุปต์

     
http://www.youtube.com/watch?v=8e0JqSCEWsk


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 03 เม.ย. 13, 10:16
นิยายพลนิกรกิมหงวนให้บรรยากาศของยุคนั้นได้ดีมากค่ะ มีตอนที่ท่านเจ้าคุณทั้งหลายไม่มีบรรดาศักดิ์แล้ว ก็เรียกหากันว่านายอู๊ด นายประสิทธิ์ ตัวเอกสาวๆ ในเรื่องก็สวมหมวก พูดจ๊ะจ๋า ฉันเธอ การปฏิบัติตามคำสั่ง เอ้ย คำขอของรัฐบาล ยุคสงครามเกาหลี รวมทั้งการเรียกสหรัฐอเมริกาว่า พี่ชายของประเทศไทย

เวลาท่านเจ้าคุณปัจจนึกจะพูดอะไร มักอินโทรว่า เพื่อเป็นการตอบสนองคำวิงวอนของนายกรัฐมนตรีที่รักของเรา 

อ่านๆ แล้วก็ไม่แน่ใจว่าท่านผู้่เขียนเห็นดีด้วยหรือประชดกันแน่ค่ะ



กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 03 เม.ย. 13, 18:07
คำขึ้นต้นดังว่านั้น  เป็นส่วนหนึ่งของวัธนทัมไทยยุคใหม่ครับ  จดหมายราชการในสมัยนั้นจะต้องขึ้นคำนำในทำนองนั้นทั้งหมดครับ  คุณปรีชาผู้แต่งพลนิกรกิมหงวนท่านถ่ายทอดไว้สมบูรณ์เลยครับ


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 เม.ย. 13, 20:15
เชิญแต่งตัวออกจากบ้านด้วยชุดลินินสีขาว สวมเสื้อนอก เลิกเคี้ยวหมากได้แล้ว แต่งตัวให้เข้ากับแฟชั่น สวมกระโปรงยาว มาเชิญรำวงมาตรฐานที่ทางรัฐบาลจัดให้

เจ้าลืมนอนซ่อนพุ่มกระทุ่มต่ำ                       เด็ดใบบอนช้อนน้ำที่ไร่ฝ้าย
พี่เคี้ยวหมากเจ้าอยากพี่ยังคาย                     แขนซ้ายคอดแล้วเพราะหนุนนอน

ข้างบนนี้คือคำตัดพ้ออันลือชื่อของขุนแผนต่อนางวันทอง   ในพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2   ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง
ถ้าหากว่าขุนแผนและนางวันทองมีชีวิตต่อมาจนถึงยุคสยามใหม่    สงสัยว่าจะต้องถูกตำรวจจับเข้าสักครั้งหนึ่งแน่ๆ    เพราะไม่ปฏิบัติตามนโยบายของจอมพล ป. ว่าด้วยเรื่องกินหมาก

เมื่อกำหนดให้ราษฎรไทยสวมหมวก นุ่งกางเกงหรือกระโปรง  สวมรองเท้า เพื่อจะได้เป็น "อารยะ" แล้ว   สิ่งต่อไปที่ถูกกำจัดออกไปจากชีวิตประจำวันของคนไทย ก็คือ หมาก และแน่นอนว่า พลูก็โดนด้วย

รัฐบาลถือว่าการกินหมากเป็นสิ่งเสื่อมเสียเกียรติอย่างร้ายแรง   เพราะ
"...คนกินหมากเป็นคนป่าเถื่อน  เหมือนเนื้อสัตว์สดๆติดเลือดแดงที่ปาก    ในการกินหมาก  ผู้คนต้องเคี้ยวเอื้องเหมือนควาย   ทำให้ปากเหม็น   ฟันเขยิน เสียระเบียบ   หน้ากร้านแก่เกินอายุ   เป็นโรครำมะนาด    ปลายประสาทลิ้นชา   เป็นโรคเบื่ออาหาร  โรคท้องร่วง   อาจเป็นมะเร็งได้ง่าย  ธาตุไฟหย่อน   และทำให้สถานที่ต่างๆของบ้านเมืองขาดความสวยงาม   เพราะนักกินหมากชอบบ้วน เลอะเทอะ"


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 เม.ย. 13, 21:32
ไม่รู้ว่าการวินิจฉัยโรคข้างบนนี้ถูกต้องหรือเปล่า   ต้องฝากให้ผู้รู้ช่วยอธิบายด้วยค่ะ

มาตรการกำจัดหมากไปจากปากฟันคนไทย ทำกันอย่างเด็ดขาดเอาจริงเอาจัง   กระทรวงมหาดไทยออกคำสั่งห้ามประชาชนที่กินหมากเข้าไปติดต่อในสถานที่ราชการ     นอกจากนี้ยังทำหนังสือเวียน 'ด่วนมาก' ไปยังจังหวัดต่างๆให้กวดขันเรื่องคนกินหมาก   ห้ามขายพลูในตลาด    ห้ามปลูกต้นพลู   ห้ามทำสวนพลู      ยุคนี้จึงเกิดการบุกเข้าโค่นสวนหมากสวนพลูของประชาชน อย่างถูกต้องโดยทางราชการเอง    ราวกับว่าหมากพลูเป็นไร่ฝิ่นที่จะต้องกวาดล้างออกไปให้หมด   
รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยสมัยนั้นชื่อหลวงพรหมโยธี  ได้กวดขันเรื่องหมากถึงขั้นมีคำสั่งว่า นายอำเภอคนใดกินหมาก  ก็ให้เลิกเสีย   และกินความไปถึงการเลี่ยมฟันทองด้วย    ข้อหลังนี้ไม่เกี่ยวกับหมาก  แต่เหมือนกันในแง่ที่ว่า ทำให้เสียบุคลิก

ในเมื่อหักด้ามพร้าด้วยเข่าเช่นนี้     ประชาชนทั้งหนุ่ม กลางคนและแก่ที่เคยชินกันกินหมาก ก็เดือดร้อนกัน     ทำให้หมากและพลูต้องหลบลงใต้ดิน กลายเป็นสินค้าตลาดมืด    เพราะอุปสงค์อุปทานมีมากเกินกว่าจะปล่อยให้ถูกโค่นโดยดี


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: ศานติ ที่ 04 เม.ย. 13, 00:02
กรมศิลปากร ประพันธ์ 4 บทเพลง คืองามแสงเดือน  ชาวไทย ,รำซิมารำและ คืนเดือนหงาย ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ประพันธ์ 6 บทเพลง คือ ดอกไม้ของชาติ , ดวงจันทร์-วันเพ็ญ ,หญิงไทยใจงาม ,ยอดชายใจหาญ ,ดวงจันทร์ขวัญฟ้า ,บูชานักรบ

ชวนให้นึกถึงสมัยโน้น ผมอายุสัก ๙ ขวบได้ อ่านหนังสือโฆษณาชวนเชื่อที่เขาส่งมาให้พ่อเป็นประจำอยู่บ่อยๆ อ่านแล้วก็เชื่อหมด วันหนึ่งอ่านอะไรสักอย่างที่เขาว่าภริยานายแปลกเป็นคนแต่ง ไม่แน่ใจว่าเป็นเพลง หรือ โคลงกลอน ผมอดชื่นชมไม่ได้ พูดกับพ่อว่า เก่งจังมีความรู้มากมาย พ่อตอบแบบเปรยๆว่า หาคนอื่นแต่งให้ง่าย  ผมเลยหายซื่อไร้เดียงสาขึ้นมาก


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 04 เม.ย. 13, 02:06
ชวนให้นึกถึงสมัยโน้น ผมอายุสัก ๙ ขวบได้ อ่านหนังสือโฆษณาชวนเชื่อที่เขาส่งมาให้พ่อเป็นประจำอยู่บ่อยๆ อ่านแล้วก็เชื่อหมด วันหนึ่งอ่านอะไรสักอย่างที่เขาว่าภริยานายแปลกเป็นคนแต่ง ไม่แน่ใจว่าเป็นเพลง หรือ โคลงกลอน ผมอดชื่นชมไม่ได้ พูดกับพ่อว่า เก่งจังมีความรู้มากมาย พ่อตอบแบบเปรยๆว่า หาคนอื่นแต่งให้ง่าย  ผมเลยหายซื่อไร้เดียงสาขึ้นมาก

ฮิฮิ ขนาดท่านอาจารย์หมอศานติยังเรียกนายแปลกแบบผมเลย มีพวกแล้ว  ;D  ;D  ;D


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 เม.ย. 13, 08:03
วันหนึ่งอ่านอะไรสักอย่างที่เขาว่าภริยานายแปลกเป็นคนแต่ง ไม่แน่ใจว่าเป็นเพลง หรือ โคลงกลอน ผมอดชื่นชมไม่ได้ พูดกับพ่อว่า เก่งจังมีความรู้มากมาย พ่อตอบแบบเปรยๆว่า หาคนอื่นแต่งให้ง่าย  ผมเลยหายซื่อไร้เดียงสาขึ้นมาก

ภรรยาคุณแปลกแต่งโคลงเก่งอยู่ดอก

เคยลง ปัจฉิมกาลอนุสรณ์ (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3438.msg70244#msg70244) ในกระทู้เก่าของคุณนวรัตน จับความตามเนื้อเรื่องตั้งแต่คุณแปลกต้องลี้ภัยระหกระเหินไปเขมรจนถึงไปพำนักเป็นการถาวรที่ญี่ปุ่น

ปัจฉิมกาลอนุสรณ์
ท่านผู้หญิงละเอียด  พิบูลสงคราม

ชีวาประวัติผู้                 มีนาม
ป. พิบูลสงคราม            ชื่อก้อง
ไม่ร่วมรัฐบาลตาม           ผู้ปฏิ  วัติเฮย
เนรเทศตนเองต้อง          ตกด้าวกัมพูชา

พระกรุณาท่วมท้น           เกษีย์
องค์กระษัตริย์ธิบดี          เด่นเกล้า
อีกสมเด็จราชินี              วรนาถ
พระโปรดรับให้เข้า           ดั่งเช่นแขกเมือง


..............................................

บูชาพระพุทธเจ้า                       อาศรม  วิสิทธิ์แฮ
อีกพระธรรมแห่งบรม-                 ศาสตร์เจ้า
พระสงฆ์ปฏิบัติพรหม-                 จรรย์เคร่ง  ครัดนา
ท่านพิบูลฯ ใฝ่เฝ้า                      ปฏิบัติพร้อมปณิธาน

สำราญสัมฤทธิ์แล้ว                     ดั่งประสงค์
เราต่างมุ่งหน้าพะวง                     กลับเหย้า
สู่ประเทศญีุ่ปุ่นตรง                      บินผ่าน  ไทยพ่อ
อยู่อย่างสุขห่างเศร้า                    ตราบท้าวอวสาน

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 เม.ย. 13, 11:55
ฝีมือแต่งกลอนก็ไม่เบา   ;)

หนังสือวรรณคดีสาร  เล่มนี้พิมพ์ออกมาในงานวันคล้ายวันเกิดจอมพล ป. พิบูลสงคราม (14 กรกฎาคม 2486)  ที่หน้ารองปกพิมพ์ข้อความว่า
   “วรรนคดีสาร   ไนอภิลักขิตสมัยคล้ายวันเกิด  พนะท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม   นายกกัมการ อำนวยการวรรนคดีสมาคมแห่งประเทสไทย  14  กรกดาคม 2486  เล่มที่ 12   กรกดาคม 2486  ปีที่ 1”
   ในงานวันนั้น   นักปราชญ์ทางวรรณคดีทำพานดอกไม้และเขียนบทกวีเป็นคำสดุดดีหัวข้อ “ดอกไม้วรรนคดี” มาร่วมงาน
   ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ทำพานดอกไม้เป็นรูปสมเด็จพระศรีสุริโยทัยทรงช้างศึก  และเขียนกลอนสดุดีดอกกระดังงา  ดังนี้
            ...........................................
ของ พนะ พันโทหยิง ล.พิบูลสงคราม
รูปพระสุริโยทัยซงช้างสึก (เครื่องหมายสำนักวัธนธัมฝ่ายหยิง)
คำสดุดี
     ๐ อันมาลีสรีประเทสทั่วเขตขันธ์                      มีมากพรรนมากหย่างต่างกลิ่นสี
บ้างสีงามกลิ่นหอมหวนยวนรึดี                             บ้างงามสีแต่ไร้กลิ่นประทิ่นชม
บ้างมีชื่อเป็นมงคลสุภผลพร                                เปนนุสรน์บำรุงขวันอันเหมาะสม      
แม้ไร้กลิ่นชื่อชวนไห้ไฝ่นิยม                               รื่นอารมน์ประดับโลกนิรันดร์กาล
เมื่อขึ้นชื่อว่ามาลีเป็นสรีเลิส                                ชนชูเชิดประกอบสุขทุกสถาน
ชมมาลีชวนไห้ใจชื่นบาน                                   งามตระกานเกียรติมาลีไม่มีคลาย
     ดอกเอ๋ยดอกกะดังงา                                  อันคุนค่าเป็นสรีมาลีหลาย
เปนพรรนไม้ยืนต้นแขงแกร่งไม่กลาย                      แม้ลมชายไม่สท้านชูก้านไบ
เปนดอกไม้รวมหยู่เปนหมู่ช่อ                               ไม่แตกกอแตกต้นหนไสว
เจ้าทนลมทนแดดแผดเผาไป                               คงที่ไนความสดชื่นทุกช่อพวง
สแดงว่ากะดังงาเจ้ากล้าแขง                                ไม่แขยงขยาดภัยอันไหย่หลวง  
เจ้ามั่นสามัคคียิ่งสิ่งทั้งปวง                                  หยู่เปนพวงเปนช่อไม่ห่างไกลกัน      
       ดอกเอ๋ยดอกกะดังงา                                สีเจ้าน่าคิดกะไรชวนไฝ่ฝัน
เมื่อยามอ่อนเขียวขจีสดสีครัน                              เหมือนสีไบไม่แปรผันให้ผิดไป
เมื่อยามแก่เหลืองอร่ามช่างงามนัก                          แจ้งประจักส์เจ้ามีจิตคิดไฉน
เจ้ารักเกียรติรักสักดิ์รักวินัย                                 เจ้าปักไจรักเผ่าพันธุ์ไม่ผันแปร
เจ้ายึดมั่นพุทธสาสน์จิตมาดหมาย                          ไม่สนสับกลับกลายหลายกระแส
เจ้ามั่นรักสลักซวงไนดวงแด                                 จิตแน่วแน่น่าชื่นชมนิยมครัน
ดอกเอ๋ยดอกกะดังงา                                        กลิ่นอบอวนยวนวิญญาน์พาสุขสันติ์
ไช้อบน้ำอบผ้าสารพัน                                       ปรุงสุคันธ์ประเทืองกลิ่นประทิ่นไกล
อันบุหงากะดังงาพากลิ่นหวน                                หอมยียวนชื่นวิญญาน์จะหาไหน
ควนจัดว่ากะดังงามาลาไทย                                 เปนดอกไม้ดีเลิสประเสิดเอย ๐

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 เม.ย. 13, 12:54
ขอต่อเรื่องหมากอีกหน่อย
ในบรรดานโยบายของจอมพลป.  เห็นด้วยเรื่องเดียวคือเรื่องเลิกกินหมาก    แต่น่าจะเป็นการขอร้องหรือชักชวนมากกว่าโค่นสวนหมากสวนพลูให้ชาวสวนเดือดร้อน      ถ้าเป็นสมัยนี้เห็นจะโดนเดินขบวนประท้วงกันแน่ๆ
ในเมื่อประเทศเราไม่ได้กวดขันกันเรื่องระเบียบวินัย  ขยะยังถูกทิ้งกันตามใจชอบ แม้ว่ามีถังขยะตั้งให้ก็ดูจะไม่พอเพียง     ถ้าคนไทยยังกินหมากกันอยู่    น้ำหมากคงจะแดงเถือกเลอะเทอะตามถนนหนทาง หรือแม้แต่ในห้องน้ำโรงแรมห้าดาว หรือศูนย์การค้าเริ่ดหรู ก็อาจจะเช็ดน้ำหมากกระจายกันไม่หวัดไม่ไหว


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 เม.ย. 13, 13:06
ขอต่อเรื่องหมากอีกหน่อย
ในบรรดานโยบายของจอมพลป.  เห็นด้วยเรื่องเดียวคือเรื่องเลิกกินหมาก    แต่น่าจะเป็นการขอร้องหรือชักชวนมากกว่าโค่นสวนหมากสวนพลูให้ชาวสวนเดือดร้อน      ถ้าเป็นสมัยนี้เห็นจะโดนเดินขบวนประท้วงกันแน่ๆ
ในเมื่อประเทศเราไม่ได้กวดขันกันเรื่องระเบียบวินัย  ขยะยังถูกทิ้งกันตามใจชอบ แม้ว่ามีถังขยะตั้งให้ก็ดูจะไม่พอเพียง     ถ้าคนไทยยังกินหมากกันอยู่    น้ำหมากคงจะแดงเถือกเลอะเทอะตามถนนหนทาง หรือแม้แต่ในห้องน้ำโรงแรมห้าดาว หรือศูนย์การค้าเริ่ดหรู ก็อาจจะเช็ดน้ำหมากกระจายกันไม่หวัดไม่ไหว


ปัจจุบันนี้ที่อินเดีย พม่า ไต้หวัน ยังนิยมการทานหมากกันอยู่ เอาแบบว่าการขายหมากที่ประเทศไต้หวัน ขายกันตามท้องถนน ร้านแผงลอย เรียกขวัญใจลุกค้าหนุ่ม ๆ ได้มากเลย  ;D ;D ;D


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 เม.ย. 13, 13:29
^
คนขายน่าสนใจกว่าหมาก  ;)

v
คราบน้ำหมากในนิวเดลี ค่ะ


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 เม.ย. 13, 13:37
แผงขายหมากพลูและคนขายฉบับคลาสสิก ที่พม่า   

แผงขายหมากพลู ของสำคัญของชาวพม่า

มีทั่วไปทุกมุมถนน

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4676.0;attach=29039;image)

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 เม.ย. 13, 18:55
เรื่องส่งเสริมความเป็นไทยตามนโยบายของคุณแปลก  (เรียกอย่างนี้ก็แล้วกัน) ออกมาแปลกๆสมชื่อท่าน      เพราะบางอย่างมันก็สวนทางกันอย่างที่สมัยนี้เรียกว่าสองมาตรฐานก็คงจะได้     เช่นชื่อตำบลอำเภอต่างๆจะบ่งบอกถึงเชื้อชาติอื่นไม่ได้      แต่พอถึงการแต่งกายกลับสนับสนุนให้แต่งแบบฝรั่ง ห้ามนุ่งโจงกระเบนแบบไทย    กินหมากก็ถือว่าเป็นข้อเสีย     อาหารประจำชาติกลายเป็นก๋วยเตี๋ยว ไม่ใช่น้ำพริก หรือแกงเผ็ด
แม้ว่ามีการส่งเสริมให้รำไทย    แต่ก็ไม่ใช่อย่างที่คนไทยพื้นบ้านรำกันมา   ต้องเอามาปรับระดับให้เป็นมาตรฐาน  กลายเป็นรำวงมาตรฐาน ผู้ชายสวมชุดสากลรำวง  ผู้หญิงนุ่งกระโปรง    ส่วนรำโทนอันเป็นที่มาของรำวงมาตรฐานกลับถูกห้ามรำในกรุงเทพ   รำได้เฉพาะในอีสานอันเป็นที่มาดั้งเดิม

ส่วนเรื่องดนตรี ก็อยู่ในความสนใจของคุณแปลก  ไม่น้อยกว่าศิลปะสาขาอื่นๆ   แต่ก็นั่นแหละ  ไม่วายมีอะไรแปลกๆอยู่บ้างเหมือนกัน    เช่นคุณแปลกมีบัญชาให้กรมศิลปากรตั้งวงจุลดุริยางค์หญิง 45 คนขึ้นเพื่อแสดงวัธนธัมทางดนตรีของไทย     ทั้งๆวงจุลดุริยางค์มีลักษณะเป็นดนตรีตะวันตก   ข้อนี้ท่านเห็นว่าไม่เป็นไร      แต่พอมาถึงเครื่องดนตรีไทยที่เล่นกันมานานแล้ว เช่นกลองยาว ซอด้วง และซออู้   กลับถูกห้ามนำเข้ามาเล่นในวงดนตรีไทย  เพราะถือว่าไม่ใช่เครื่องดนตรีไทยแต่ดั้งเดิม  ส่วนจะเป็นของชาติไหนมาก่อน ดิฉันไม่ทราบเหมือนกัน  เดาว่ากลองยาวน่าจะมาจากพม่า เพราะเคยได้ยินเพลง "พม่ากลองยาว"



กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 เม.ย. 13, 19:13
การละเล่นของไทยที่รู้จักกันดีมานับร้อยปี อย่างลิเก  ละครชาตรี และหุ่นกระบอก  ถูกสั่งห้ามเช่นกัน    เพราะถือว่าไม่ใช่ของไทยมาแต่ดั้งเดิม 
ละครที่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีคือละครปลุกใจของหลวงวิจิตรวาทการ  ซึ่งเป็นละครรูปแบบใหม่  เนื้อหาดัดแปลงจากประวัติศาสตร์ไทยตอนใดตอนหนึ่ง   เน้นว่าความรักใดๆก็ไม่เท่ากับความรักชาติ    ตัวเอกของเรื่องสามารถสละชีวิต พลีชีพเพื่อชาติได้เสมอ     
ด้วยเหตุที่ละครแบบนี้ไม่เหมือนละครที่เคยมีมาก่อน คนทั้งหลายจึงเรียกว่า "ละครหลวงวิจิตรวาทการ"  แต่ดูลักษณะแล้ว คล้ายละครพันทาง   มีทั้งพูด ร้องและรำ หรือระบำต่างๆ อยู่ในเรื่อง  เพลงก็มีทั้งเพลงไทยเดิมและเพลงไทยสากล   แทรกด้วยการแสดง  เช่น การรำอาวุธ การประลองอาวุธ การฟ้อนรำ และระบำต่างๆประกอบเพลง 
นอกจากนี้ละครหลวงวิจิตรวาทการยังมีลักษณะแปลก คือจะชวนเชิญให้ผู้ชมร้องเพลงในละครเรื่องนั้น   คนดูได้รับแจกเนื้อเพลง สามารถนำมาร้องให้ลูกหลานฟังต่อไป

ชื่อละครเหล่านี้คือ คือ  ราชมนู พระเจ้ากรุงธน ศึกถลาง เจ้าหญิงแสนหวี พระมหาเทวี เบญจเพส น่านเจ้า อนุสาวรีย์ไทย พ่อขุนผาเมือง ดาบแสนเมือง ชนะมาร เจ้าหญิงกรรณิการ์ สีหราชเดโช ตายดาบหน้า ลานเลือดลานรัก เพชรรัตน์ - พัชรา ลูกพระคเณศ ครุฑดำ โชคชีวิต อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง อานุภาพแห่งความเสียสละ อานุภาพแห่งความรัก อานุภาพแห่งศีลสัตย์ และเลือดสุพรรณ


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 เม.ย. 13, 20:10
ราชมนู 
อาจารย์หมอศานติน่าจะเคยดู ตอนเด็กๆ

http://www.youtube.com/watch?v=1HNIMKmvtRI


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 เม.ย. 13, 20:49
ขอออกตัวหน่อยว่า ถ้าหมู่นี้หายไปก็เพราะเหตุผลอีกอย่างคือ เข้าเว็บเรือนไทยไม่ได้ค่ะ     เกิดอะไรไม่ทราบ  เดี๋ยวก็เข้าได้ เดี๋ยวก็เข้าไม่ได้    บางทีพิมพ์ๆอยู่   พอส่งเกิดเว็บขัดข้องขึ้นมาเสียแล้ว    ต้องรออีกพักใหญ่กว่าจะเข้าได้ตามปกติ    สักพักก็หลุดอีก

พยายามแกะรอยแนวคิดของคุณแปลก ในเรื่องสยามใหม่     บางเรื่องก็ยังสับสนอยู่หาคำตอบไม่ได้    บางเรื่องก็พอดูออก  จึงเรียบเรียงคำตอบออกมาตามนี้
1   จอมพลป. เป็นคนที่นิยมแฟชั่นตะวันตก  (หมายถึงยุโรปและสหรัฐอเมริกา)   ฝรั่งในยุค 1930s จนถึง1940s แต่งกายเป็นทางการกว่าฝรั่งสมัยนี้มาก   ใครดูหนังขาวดำเก่าๆคงนึกออกว่า ออกจากบ้านหรือแม้แต่อยู่ในบ้านก็ตาม  นักแสดงฝ่ายชายสวมเสื้อนอกเรียบร้อย   ออกนอกบ้านก็สวมหมวก สวมสูท รองเท้าหุ้มส้น     ผู้หญิงออกนอกบ้านก็สวมหมวก ถุงมือ และมีเสื้อโค้ตสวมทับเสื้อกระโปรงด้วย   
    ในเมื่อจอมพลป. นิยมแฟชั่นแบบนี้ ท่านจึงไม่เห็นว่าการแต่งกายแบบฝรั่ง  แสดงถึงเชื้อชาติอื่น   ผิดกับชื่อถนนหนทางและตำบลของไทยที่มีคำว่าจีน ญวน ลาว ฯลฯ  ที่ต้องเปลี่ยนหมด

2   จอมพลป.  คงไม่นิยมชมชื่นประเทศในเอเชียด้วยกันเท่าใด    แม้แต่ญี่ปุ่นเอง ซึ่งท่านเชื่อมั่นว่าจะชนะสงครามและกลายเป็นมหาอำนาจของเอเชีย      เห็นได้จากท่านไม่เคยสนับสนุนให้คนไทยรับวัฒนธรรมญี่ปุ่นเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันเลย

     ความนิยมชมชื่นตะวันตก  นอกจากแฟชั่นแล้วยังขยายไปถึงวิธีปฏิบัติตัวของชายหญิงด้วย      เช่นมีข้อกำหนดให้สามีจูบลาภรรยาก่อนออกจากบ้านไปทำงาน    แต่ข้อนี้  รัฐเห็นจะไม่กวดขันเท่าเรื่องห้ามกินหมาก   เพราะไม่เห็นบอกว่าจะต้องตักเตือนหรือลงโทษอย่างใด ถ้าหากว่าสามีไม่ร่วมมือ


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: ศานติ ที่ 04 เม.ย. 13, 20:51
อ้างถึง คห. ๙๒  โชคไม่ดี ไม่ได้ดูครับ โทรทัศน์ยังไม่มี แม่คงฟังรู้เรื่องน้อย พ่อไม่สนใจ เลยต้องอยู่บ้านหาความสำราญโดยการรังแกน้องสาวแฝด ๕๕๕  มีวิทยุ ได้ฟังนายมั่นนายคงเป็นประจำ รู้สึกว่าพ่อจะแอบฟังสถานีอื่นนอกจากสถานีกรมโฆษณาการอยู่ แต่เปิดไม่ดัง จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าการฟังสถานีต่างชาติมีความผิด


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 เม.ย. 13, 07:32
มีวิทยุ ได้ฟังนายมั่นนายคงเป็นประจำ รู้สึกว่าพ่อจะแอบฟังสถานีอื่นนอกจากสถานีกรมโฆษณาการอยู่ แต่เปิดไม่ดัง จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าการฟังสถานีต่างชาติมีความผิด

ชะตากรรมของนายมั่น-นายคง

ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ เสวกเอก พระราชธรรมนิเทศ (เพียร  ไตติลานนท์) กล่าวถึงคดีอาชญากรววงครามไว้ว่า  คุณพระฯ ตกเป็นจำเลยในคดีอาชญากรสงครามร่วมกับจอมพล ป.  พิบูลสงคราม และนายสังข์  พัธโนทัย  โดยคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ยื่นฟ้องบุคคลทั้งสามมีใจความว่า สมัครใจเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น และโฆษณาชักชวนให้ประชาชนเห็นชอบกับการทำสงครามรุกรานสันติภาพของภูมิภาคระหว่างวันที่  ๑๖  กรกฎาคม ถึงวันที่  ๓๑  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๘๖  ขอให้ลงโทษริบทรัพย์และเพิกถอนสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย  

บทบาทของคุณพระฯ กับนายสังข์  พัธโนทัย ที่ถูกกล่าวหานั้นคือ บทบาทของ "นายมั่น - นายคง" ที่ออกอากาศโฆษณาชวนเชื่อในระหว่างสงคราม


(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม20.png)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: ศานติ ที่ 05 เม.ย. 13, 08:50
พูดถึงนายสังข์ พัธโนทัย ทำให้ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่ท่านแต่ง แล้วผมได้อ่านตอนอายุ ๑๐ ขวบ ชื่อ ศึกไทยในร้อยปี จำได้ว่าน่าสนใจดี


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 05 เม.ย. 13, 09:51
         เคยค้นหาประวัติ พระราชธรรมนิเทศ ตอนตั้งกระทู้เก่า ร้อยกรองวันแม่

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2284.30

ได้ประวัติของท่านในเน็ทน้อยมาก ปีนี้ มีประวัติของท่านเพิ่มเติมจากคุณ คีตา พญาไท แห่งเว็บผู้จัดการ

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9560000007247&CommentReferID=22696641&CommentReferNo=1&


        พระราชธรรมนิเทศ (เพียร ไตติลานนท์) เป็นบุตรของ นายเปลี่ยน นางจัน ไตติลานนท์
เกิดที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ เรียนหนังสือที่
โรงเรียนวัดทรงธรรม พระประแดง และโรงเรียนฝึกหัดครู บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้รับทุนไปศึกษาต่อ
ที่ประเทศอังกฤษ ต่อมาได้รับราชการเป็น ผู้บังคับการโรงเรียนราชวิทยาลัย และ เป็นเลขานุการประจำ
พระองค์ ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ เคยเป็น
รองอธิบดีกรมโฆษณาการ และ อธิบดีกรมธรรมการ
       
         เป็นผู้มีบทบาทด้านการเมืองในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เคยเป็น คณะกรรมการส่งเสริม
วัฒนธรรมไทย ที่แก้ไขปรับปรุงภาษาไทย และ ชำระปทานุกรมแห่งราชบัณฑิตยสถาน ในการปรับปรุง
อักษรไทย เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ให้เหลือเพียง ๓๑ ตัว โดยมี พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ)
เป็นประธาน จนได้ชื่อว่า เป็น ๑ ใน ๔ ปุโรหิตประจำตัวของจอมพล ป.พิบูลสงคราม คือ ยง เถียร เพียร นวล
อันได้แก่ ยง (พระยาอนุมานราชธน) เถียร(หลวงวิเชียรแพทยาคม) เพียร(พระราชธรรมนิเทศ)
นวล(หลวงสารานุประพันธ์)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 05 เม.ย. 13, 09:53
          เป็นผู้เขียนบทสนทนา นายมั่น นายคง ทางวิทยุกระจายเสียง ที่โด่งดังมากในยุคเชื่อผู้นำ
จะพ้นภัย เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ จังหวัดปทุมธานี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑ และได้รับการเลือกตั้ง
ให้เป็น ประธานสภาผู้แทนราษฎรในสมัยรัชกาลที่ ๘ (พ.ศ. ๒๔๗๗ – ๒๔๗๘)
       
        เป็นนักเขียน นักพูด คนสำคัญคนหนึ่ง โดยเฉพาะ หนังสือ รัฐธรรมนูญคำกลอน พ.ศ. ๒๔๗๘
และ มีชื่อเสียงมากจากบทกลอน ที่แปลมาจากภาษาอังกฤษ ได้แก่
       
    ถึงชายได้ กวัดแกว่ง แผลงจากอาสน์
ซึ่งอำนาจ กำแหง แรงยิ่งกว่า
อันมือไกว เปลไซร้ แต่ไรมา
คือหัตถา ครองพิภพ จบสากล
       
        จาก บทกลอน อะไรครองโลก? ของ William Ross Wallace ที่ว่า
       
    But a mightier power and stronger Man from his throne has hurled,
   And the hand that rocks the cradle, Is the hand that rules the world.
       
และ บทกลอน แม่ของฉัน ที่ว่า

        เมื่อล้มกลิ้ง ใครหนอวิ่ง เข้ามาช่วย
และปลอบด้วย นิทาน กล่อมขวัญให้
หรือจูบที่ เจ็บชะมัด ปัดเป่าไป
ผู้นั้นไซร้ ที่แท้ แม่ฉันเอง

      Who ran to help me when I fell,
And would some pretty story tell,
Or kiss the place to make it well ?
My Mother.
        จากบทกลอน My Mother ของ Ann Taylor


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 เม.ย. 13, 11:25
                 จนได้ชื่อว่า เป็น ๑ ใน ๔ ปุโรหิตประจำตัวของจอมพล ป.พิบูลสงคราม คือ ยง เถียร เพียร นวล
อันได้แก่ ยง (พระยาอนุมานราชธน) เถียร(หลวงวิเชียรแพทยาคม) เพียร(พระราชธรรมนิเทศ)
นวล(หลวงสารานุประพันธ์)

ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพกล่าวถึง "สี่ปุโรหิต" ในยุควัธนธัมนำไทยไว้ว่า

"ในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น  กล่าวกันว่า พระราชธรรมนิเทศนั้นได้เป็นหนึ่งใน “สี่ปุโรหิต” คู่บารมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม  ซึ่งที่มาของชื่อเรียกนี้มาจากการที่จอมพล ป. มักพูดอยู่เสมอว่า ในมโหสถชาดกนั้น  มีปุโรหิตอยู่สี่คนที่ช่วยว่าราชการงานต่าง ๆ ให้กับมโหสถ  และโดยส่วนตัวท่านเองนั้นก็มี “ปราชญ์” สี่คนคอยช่วยงานการด้วยเช่นกัน คือ  “ยง  เถียร  เพียร  นวล”  อันหมายถึง พระยาอนุมานราชธน (ยง  เสฐียรโกเศศ)  หลวงวิเชียรแพทยาคม (เถียร  ตูวิเชียร)  พระราชธรรมนิเทศ (เพียร  ไตติลานนท์) และหลวงสารานุประพันธ์ (นวล  ปราจิณพยัคฆ์)
 

ข้อที่คุณแปลกว่า ปราชญ์ทั้งสี่คอยช่วยงานให้กับมโหสถนั้น คงจะพลาดไป ที่ถูกต้องแล้ว ผู้ที่ปราชญ์ทั้งสี่ช่วยราชการคือ พระเจ้าวิเทหราช  ส่วนมโหสถเป็นปราชญ์คนทีห้าที่จะมาช่วยราชการ แลดูจะเป็นคู่แข่งปราชญ์สี่คนแรกเสียด้วย

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 เม.ย. 13, 11:44
ชะตากรรมของนายมั่น-นายคง

ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ เสวกเอก พระราชธรรมนิเทศ (เพียร  ไตติลานนท์) กล่าวถึงคดีอาชญากรววงครามไว้ว่า  คุณพระฯ ตกเป็นจำเลยในคดีอาชญากรสงครามร่วมกับจอมพล ป.  พิบูลสงคราม และนายสังข์  พัธโนทัย  โดยคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ยื่นฟ้องบุคคลทั้งสามมีใจความว่า สมัครใจเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น และโฆษณาชักชวนให้ประชาชนเห็นชอบกับการทำสงครามรุกรานสันติภาพของภูมิภาคระหว่างวันที่  ๑๖  กรกฎาคม ถึงวันที่  ๓๑  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๘๖  ขอให้ลงโทษริบทรัพย์และเพิกถอนสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย  

บทบาทของคุณพระฯ กับนายสังข์  พัธโนทัย ที่ถูกกล่าวหานั้นคือ บทบาทของ "นายมั่น - นายคง" ที่ออกอากาศโฆษณาชวนเชื่อในระหว่างสงคราม


ผลของคดี (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8)

ศาลฎีกาโดยพระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ ผู้ซึ่งเป็นทั้งประธานศาลฏีกาและเป็นเจ้าของสำนวน ร่วมวินิจฉัยกับองค์คณะประกอบด้วยพระยาเลขวณิชธรรมวิทักษ์ พระยาธรรมบัณฑิตสิทธิศฤงคาร และพระชัยประชา ได้ชี้ขาดว่าพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เฉพาะที่บัญญัติย้อนหลังว่าการกระทำก่อนวันประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ คือวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๘๘ เป็นความผิดด้วยนั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ และเป็นโมฆะ อันจะทำให้ลงโทษจำเลยทั้ง ๓ ไม่ได้

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 เม.ย. 13, 17:34
พบประวัติของพระราชธรรมนิเทศ อีกนิดหน่อยค่ะ

 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้ว มีการจัดระเบียบราชการภายในพระราชสำนักโดยยุบกรมมหาดเล็กรวมเข้ากับกระทรวงวัง และมีการยุบส่วนราชการในกรมมหาดเล็กบางส่วนลง เช่น ยุบเลิกกรมมหรสพ และกรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ที่บังคับบัญชาโรงเรียนทั้ง ๔ แต่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ) ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และพระราชธรรมนิเทศ เพียร ไตติลานนท์) ผู้บังคับการโรงเรียนราชวิทยาลัย ต่างก็ถวายฎีกาคัดค้าน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยมารวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และพระราชทานนามให้ใหม่ว่า “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย” เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ส่วนโรงเรียนพรานหลวงนั้นถูกยุบเลิกไปในคราวนั้น

พบว่าพระราชธรรมนิเทศ (เพียร ราชธรรมนิเทศ)ได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร  ระหว่าง๑๕ มิถุนายน ๒๔๙๒ - ๒๙  พฤศจิกายน ๒๔๙๔ ค่ะ


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 เม.ย. 13, 17:43
  ถ้าเป็นสมัยนี้อาจมีคำถามว่า ความเป็นไทยของคุณแปลกคืออะไรกันแน่    ทำไมเดี๋ยวฝรั่งเดี๋ยวไทย    ในสมัย "วัธนธัม"   การดำเนินงานทุกอย่างของจอมพลป. เพื่อให้ไทยเป็นอารยประเทศ ตามความคิดของท่าน เป็นไปอย่างราบรื่นไม่มีสะดุด    ทั้งราชการและเอกชนไม่มีใครคัดค้าน  ประชาชนทุุกคนขานรับและปฏิบัติตาม ไม่มีปัญหาว่าเต็มใจหรือไม่เต็มใจ    ทุกคนก็เดินตามทางที่ "ท่านผู้นำ" เดินนำอยู่  อย่างพร้อมเพรียงทั่วกัน

   ศ.ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ เขียนไว้ในอัตชีวประวัติของท่าน ชื่อ "ความสำเร็จและความล้มเหลวของข้าพเจ้า" ตอนหนึ่ง ว่า

   " ข้าพเจ้ายังเชื่อไม่ได้จนทุกวันนี้   ว่าบุคคลคนเดียวสามารถทำให้มีเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในสมัยสงคราม ในด้านนิสัยชีวิตของคนไทยได้...ข้าพเจ้ายังเชื่อไม่ได้ว่าคนสูงสุดคนเดียวทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เกิดแล้ว    ข้าพเจ้าว่าผู้มีอำนาจคนนั้นมีมิตรโง่  และมีศัตรูฉลาด    มิตรโง่ตามใจเรื่อยไป   ศัตรูฉลาดก็ตามใจให้เหลิง   จนกระทั่งให้ดูเหมือนคนบ้าได้เหมือนกัน"


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 เม.ย. 13, 20:49
      อย่างไรก็ตาม   ความฝันอันรุ่งโรจน์เพื่อนำไทยไปสู่อารยประเทศดับวูบลง ในวันที่ 24 กรกฎาคม  2487   เมื่อจอมพลป. พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี   เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพ.ร.ก. จัดตั้งนครบาลเพ็ชรบูรณ์และพุทธบุรีมณฑล      นายกรัฐมนตรีคนใหม่คือพันตรีควง อภัยวงศ์ แถลงในวันแรกที่ได้รับตำแหน่งว่า

        " ข้าพเจ้ามิได้เป็นผู้นำ    ข้าพเจ้าเป็นนายกฯ"

         ผลงานแรกๆของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ก็คือออกคำสั่งยกเลิกนโยบายสร้างสยามใหม่ในหลายๆเรื่องที่นายกฯคนเก่าริเริ่มไว้   อย่างหนึ่งก็คือสั่งให้ข้าราชการตามกระทรวงต่างๆเลิกหัดรำวง   เพราะเอาเวลาราชการไปเสียโดยเปล่าประโยชน์    ผ่อนผันเรื่องสวมหมวกและรองเท้า      จากนั้นคำสั่งต่างๆที่ยกเลิกระเบียบปฏิบัติต่างๆก็ทยอยกันตามออกมา  เช่นเลิกใช้ตัวอักษรแบบใหม่  เลิกระเบียบการตั้งชื่อบุคคล  เลิกการห้ามกินหมาก   เรื่องขายก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ 


กระทู้: สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 เม.ย. 13, 20:50
     สรุปว่าคำสั่งอะไรต่อมิอะไรของจอมพลป. ที่บังคับให้คนไทยทำโน่นทำนี่   ผิดไปจากชีวิตประจำวันเมื่อก่อนของพวกเขา  ถูกยกเลิกหมด    ใครจะไม่สวมรองเท้า นุ่งโจงกระเบน กินหมาก ก็ได้   ผู้หญิงจะชื่อนางสาวประกอบ หรือผู้ชายชื่อนายเพ็ญชมพูก็ทำได้ไม่มีใครห้าม เว้นแต่เจ้าตัวเขาจะสมัครใจไม่ใช้ชื่อแบบนี้เอง

     นโยบายสร้างชาติของจอมพลป. ที่ดูภายนอก ทำท่าเหมือนว่าสถาปนาอย่างมั่นคงมาหลายปี โดยไม่มีประชาชนผู้ใดต่อต้าน   เอาเข้าจริงก็พิสูจน์ให้เห็นว่าอะไรก็ตามที่ไม่ได้หยั่งรากลึกลงไปในวัฒนธรรมไทย  และไม่ได้ค่อยๆพัฒนาชนิดค่อยเป็นค่อยไปด้วยตัวของมันเอง   ย่อมเกิดขึ้นง่ายและดับลงไปง่ายด้วยเช่นกัน  ไม่ต่างอะไรกับพลุที่สว่างเพียงชั่วครู่เดียว   
    วัฒนธรรมในสังคมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตามความเหมาะสม   ไม่จำเป็นต้องบีบบังคับ  จะเห็นได้ว่าจอมพลป. เองก็ดูจะยอมรับความเป็นจริงข้อนี้   ดังนั้นเมื่อกลับมาเสวยอำนาจอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ท่านจึงไม่ได้รื้อฟื้น 'วัธนธัม' ไทยขึ้นมาอีกเลย   
   
    เอวังของสยามใหม่ก็มีด้วยประการฉะนี้