เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ค. 10, 22:18



กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ค. 10, 22:18

ตอนเป็นเด็กสิบกว่าขวบยังนุ่งกางเกงขาสั้น(ใส่หมวกมุมซ้ายของรูปรถทัวร์) แม่พาผมไปทัศนาจรประเทศสหพันธรัฐมลายู เพิ่งได้รับอิสรภาพจากอังกฤษได้ไม่นาน คณะที่ไปจัดโดยคุรุสภา จึงเป็นครูและครอบครัวด้วยกันทั้งหมด นั่งรถไฟจากหัวลำโพงไปลงที่อลอร์สะตาร์ แล้วนั่งรถทัวร์ที่ยังไม่มีแอร์ให้ติด แต่หน้าตาเทห์กว่ารถเมล์ขาวในกรุงเทพมาก ตะเวนดูโรงเรียนและเที่ยวไปหลายเมือง รวมทั้งสิงคโปร์ซึ่งตอนนั้นรวมอยู่กับสหพันธรัฐมลายู โดยมีคนสำคัญของสมาคมครูที่นั่น เป็นมัคคุเทศน์กิตติมศักดิ์ร่วมเดินทางไปกับรถด้วยอีกคนหนึ่งตลอด

ทัวร์คณะนี้คงจะไม่มีอะไรตื่นเต้นถ้ามิสเคอร์ไก๊ด์กิติมศักด์ผมจำชื่อไม่ได้แล้ว เป็นคนจีนแต่คงจะเส้นใหญ่เอาการอยู่ ได้กระซิบท่านอาจารย์ถนอมจิต หุตะสิงห์หัวหน้าคณะที่ปินังว่า ตอนที่ไปถึงกัวลาลัมเปอร์ อาจจะโชคดี ท่านตนกู อับดุล เราะห์มาน นายกรัฐมนตรีอาจจะอนุญาตให้คณะครูจากคุรุสภาของไทยเข้าพบเป็นกรณีย์พิเศษ

เอาละซี ไม่มีใครทราบและเตรียมการมาก่อน แต่คุณครูในคณะก็ล้วนแล้วแต่เก๋ากึ้ก มีเวลาเตรียมตัวคืนเดียวระหว่างแวะนอนพักที่ไทปิง ก็แต่งกลอนยอเกียรติท่านตนกู แล้วใส่ทำนองไทยเดิม ซ้อมขับร้องให้หลานสาวตัวปุ๊กลุ๊กของท่านหัวหน้าคณะเป็นผู้รำอวยพร งานนี้ผมหลบสุดชีวิตไม่ยอมออกจากห้องนอนไปร่วมซ้อมด้วย เพราะกลัว(ไปเอง)ว่าเขาจะให้บทผมไปทำอะไรสักอย่าง ที่ผมจะรู้สึกว่าเด๋อมาก

ปรากฏว่าพอรถถึงชานเมืองหลวง มิสเตอร์เส้นใหญ่ก็ลงไปโทรศัพท์สักครู่ แล้วยิ้มร่ามาบอกยืนยันฟันธงว่า ท่านนายกรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นคนไทยดอกนะ จึงยินดีเปิดทำเนียบให้เข้าพบในเย็นวันนั้น

คณะครูก็ตื่นเต้นดีใจกันเป็นอันมาก


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ค. 10, 22:21
ท่านตนกู อับดุล เราะห์มานมีมารดาเป็นคนไทย จึงมีน้ำใจให้คนไทยอยู่แล้ว ผมสังเกตุว่าท่านโอภาปราศัยอย่างเป็นกันเอง  แม้เวลาจะรัดตัวเพราะท่านจะต้องรีบออกไปปฏิบัติภารกิจอื่น  ก็ยังอุตส่าห์ยืนยิ้มชมรำอวยพรที่คณะครูไทยร่วมกันขับร้องหมู่เสียงใส ผมแอบอยู่หลังแถวในรูปโผล่หน้ามาให้เห็นเพียงเสี้ยวเดียว(รูปหล่อที่ใส่เสื้อขาวนั่นไม่ใช่ผมนะครับ) ดูไปขนลุกไป รู้สึกว่ามันยาวนานเหลือเกินกว่าจะจบลงได้


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ค. 10, 22:24
ท่านพูดอะไรในตอนนั้นบ้างผมก็ไม่เข้าใจ เพราะภาษาอังกฤษยังได้แค่เยสโนโอ้แทงคิ่ว แต่ยังจำได้ที่ผู้ใหญ่มาเมาส์กันบนรถอย่างประทับใจหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว ตอนที่ท้าวความครั้งที่ท่านอยู่กรุงเทพ เรียนหนังสือไทยที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ท่านบอกว่าแต่ท่านเป็นชาวสยามนะ แต่ท่านไม่ใช่คนไทย

ผมยังจำถ้อยคำดังกล่าวได้จนถึงบัดนี้  ไปมาเลย์อีกในครั้งใดก็นึกถึงรัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่และคำพูดนั้นของท่านตลอด บัดนี้มีโอกาสทำสิ่งที่อยาก คือมีเวลาเขียนเรื่องราวของท่านตนกู อับดุล เราะห์มานบิดาแห่งมาเลเซียที่อยากจะทำมานานแล้ว  ให้ท่านอ่านกันสนุกๆเป็นความรู้เกี่ยวกับมิตรประเทศเพื่อนบ้านของเรา ที่อยู่ใกล้กันนิดเดียว แต่ยังรู้สึกว่า ห่างไกลกันเหลือเกิน


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ค. 10, 22:26
นอกจากหนังสือหนังหาและเวปทั้งภาษาไทยและอังกฤษที่โหลดมาดูจนตาแฉะ  ข้อมูลหลักของผมก็ได้มาจากหนังสือเล่มนี้ บทต้นๆเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองไทรบุรี ประเทศราชของไทย และตระกูลสุลต่านเจ้าเมืองที่ทางพระเจ้าแผ่นดินสยามจะโปรดเกล้าให้เป็นพระยาหรือเจ้าพระยาไทรบุรี แล้วแต่ความดีความชอบ ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจะทรงมีพระราชดำรัสว่า “เราไม่มีผลประโยชน์เป็นพิเศษแต่อย่างใดในบรรดาหัวเมืองเหล่านี้ หากเราต้องสูญเสียให้แก่อังกฤษ เราจะขาดแต่เพียงดอกไม้เงินดอกไม้ทองประจำปี ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น “


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ค. 10, 22:31
ตนกู อับดุลเราะห์มานเป็นบุตรของสุลต่าน อับดุล ฮามิด แห่งมลรัฐเคดะห์ หรือเจ้าพระยาไทรบุรี เจ้าประเทศราชของสยาม  ในฝ่ายหัวเมืองมลายูนั้น ยังมีปัตตานี แป-ระ กลันตัน และตรังกานู เช่นเดียวกับทางเหนือที่มีลำปาง เชียงใหม่ แพร่ น่าน สมัยที่ยังมีเจ้าผู้ครองนครเป็นเอกเทศ

“ตนกู”เป็นฐานันครศักดิ์เช่นเดียวกับ "เจ้า”ของเมืองทางเหนือ ใช้นำหน้านามทั้งเจ้าชายและเจ้าหญิงโดยลูกหลานจะไม่ถูกลดชั้น ลูกของตนกูผู้ชาย เกิดมาก็เป็นตนกูด้วย ท่านตนกู อับดุล เราะห์มานเคยบอกกับเพื่อนนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ที่ไปเป็นเอกอัครราชทูตที่กัวลาลัมเปอร์ว่า "สักวันหนึ่งถ้าคุณจะมีคนสวนเป็นตนกู ก็ขออย่าได้แปลกใจ" ตนกูของรัฐต่างๆในมาเลเซียรวมกันแล้วอาจมากกว่าคนที่ใช้ ณ อยุธยาข้างหลังนามสกุลในเมืองไทยด้วยซ้ำ

นครรัฐทั้งหลายในแหลมมลายู (เขาใช้คำในหนังสือที่ผมอ่านนี้ว่าเป็นCountry ที่อื่นใช้ Stateบ้าง Kingdom บ้าง ที่ใช้Sultanateก็พบเหมือนกัน) แม้จะมีวัฒนธรรมคล้ายกันมากแต่คงจะไม่มีทางรวมเป็นประเทศเดียวกันได้ ถ้าไม่มีมหาอำนาจมาจัดการให้ สุลต่านเมืองใหญ่ๆเช่นยะโฮว์ หรือซารังงอร์เคยพยายามจะรวบรวมเมืองมุสลิมเหล่านี้มาไว้เป็นราชอาณาจักรเดียวกัน ก็ไม่เคยสัมฤทธิ์ผลยั่งยืน หัวเมืองมลายูทางเหนือ มักจะหันไปพึ่งพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาให้ปกป้อง แต่สมัยรัตนโกสินทร์สยามแผ่แสนยานุภาพมารวมนครรัฐเหล่านี้ไปเป็นประเทศราช

กำแพงและประตูเมืองของไทรบุรีในสมัยโบราณ ทำอย่างแข็งแรง เดี๋ยวนี้ไม่มี ถูกรื้อทิ้งไปแล้วอย่างน่าเสียดาย


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ค. 10, 22:35
ความต่อไปนี้ ผมย่อมาจากพงศาวดารที่ทางสยามบันทึกไว้ พอให้เป็นพื้นฐานของสัมพันธภาพระหว่างเคดะห์กับพระราชอาณาจักร ศัพท์แสงสำเนียงต่างๆก็จะคงไว้ตามแบบไทยๆในช่วงนี้

เมืองไทรบุรีกลับมาเป็นเมืองขึ้นของสยามตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว แต่ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อเจ้าเมืองไทรบุรีแก่กรรมลง ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งตวนกูปะแงรันเป็นพระยาไทรบุรี และทรงแต่งตั้งตวนกูปัศนู เป็นพระยาอภัยนุราช ตำแหน่งรายามุดา (ผู้ว่าราชการเมือง)

ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ พม่ายกทัพมาตีเมืองถลางในปี พ.ศ. 2352 พระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ได้ส่งกองทัพจำนวน 2,500 คน ไปช่วยรบกับข้าศึก และในปี พ.ศ. 2355 ได้ยกกองทัพไปตีได้เมืองแป-ระ ทำให้ได้เมืองดังกล่าวมาขึ้นต่อกรุงเทพด้วย ความดีความชอบทั้งสองครั้งนี้ จึงทรงโปรดให้เลื่อนยศพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) เป็นเจ้าพระยาไทรบุรี

ไม่นานนักต่อมา เจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) เกิดแตกร้าวกับพระยาอภัยนุราช (ตวนกูปัศนู) ผู้เป็นรายามุดา ในเรื่องผลประโยชน์ โดยรายามุดาขอเอาที่กวาลามุดาเป็นบ้านส่วย เจ้าพระยาไทรบุรีไม่ยอม ต่างฝ่ายก็ทำเรื่องราวกราบบังคมทูลฟ้องร้องกันขึ้นมากรุงเทพ ทรงโปรดเกล้าให้พระยาพัทลุงเป็นข้าหลวงออกไปไกล่เกลี่ย แต่ทั้งสองไม่ยอมสมานฉันท์กัน จึงให้ย้าย พระอภัยนุราชไปเป็นรายามุดาเมืองสตูล ซึ่งเป็นเมืองออกของเมืองไทรบุรี และทรงตั้งตวนกูอิบราฮิมเป็นรายามุดาเมืองไทรบุรีแทน เรื่องก็สงบกันไป พระยาอภัยนุราชจึงขาดจากเมืองไทรบุรี มาอยู่ใต้บังคับบัญชาของเมืองนครศรีธรรมราชตั้งแต่นั้น

พ.ศ.2363 มีข่าวว่าพม่าเตรียมทัพจะยกมาตีเมืองสยาม และส่งคนมาเกลี้ยกล่อมเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) เป็นพวก  จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยานครสืบสวนและให้ส่งกองทัพเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองสงขลา ไปต่อเรือที่เมืองสตูล เพื่อคุมเชิงเมืองไทรบุรีไว้ด้วย ขณะนั้นตนกูม่อม น้องคนหนึ่งของเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ให้ข่าวต่อเจ้าพระยานครว่า เจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) มีใจให้แก่พม่าข้าศึกจริง จึงโปรดให้เรียกตัวเจ้าพระยาไทรบุรีเข้ากรุงเทพเพื่อไต่ถาม เจ้าพระยาไทรบุรีแม้ได้ทราบท้องตราแล้วก็ยังแข็งขืน พอดีถึงเวลาจะต้องส่งบุหงามาศ(ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ดังรูปถ่ายจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติของมาเลเซีย) ที่ต้องส่งไปทูลเกล้าถวายทุกๆสามปี ก็ไม่ส่ง  จึงโปรดให้พระยานครตีเมืองไทรบุรี เกิดการสู้รบเพียงเล็กน้อย กองทัพนครศรีธรรมราช ก็ยึดเมืองไทรบุรีได้ เจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) หลบหนีไปอยู่ที่เกาะหมาก(ปีนัง) ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของไทรบุรีแต่ให้อังกฤษเช่าไปโดยมิได้ขอพระบรมราชานุญาตแต่ครั้งแผ่นดินก่อน  ซึ่งสยามก็จำต้องปล่อยให้เลยตามเลย


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ค. 10, 22:40
พระยานครศรีธรรมราชได้ให้บุตรของตน คือพระยาภักดีบริรักษ์ (แสง) เป็นผู้รักษาเมืองไทรบุรี และให้นายนุช มหาดเล็ก (บุตรอีกคนหนึ่ง) เป็นปลัดเมือง ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระภักดีบริรักษ์เป็นพระยาอภัยธิเบศร์ และเป็นเจ้าเมืองไทรบุรี นายนุชปลัดเมืองไทรบุรี เป็นพระยาเสนานุชิต จวบจนพ.ศ.2373 ตนกูเดน ซึ่งเป็นบุตรของตนกูรายาพี่ชายต่างมารดาของตนกูปะแงรัน ซ่องสุมไพร่พลได้จำนวนมากจึงยกเข้าตีเมืองไทรบุรีคืน พระยาอภัยธิเบศร์เจ้าเมืองไทรบุรีและคนไทยในเมืองต้องหนีร่นไปตั้งหลักที่เมืองพัทลุง เจ้าพระยานครมีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ จึงโปรดให้จัดทหารลงไปช่วย4ทัพ แต่กำลังไม่พอ เนื่องด้วยเมืองกลันตันและเมืองตรังกานู ได้ยกทัพขึ้นมาช่วย จึงโปรดให้เจ้าพระยาคลัง (ดิศ บุนนาค หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์) สมุหพระกลาโหมและกรมท่า เป็นแม่ทัพใหญ่ยกกองเรือตามลงไปอีก กองทัพสยามได้เข้าล้อมพวกมลายูไว้ ตนกูเดนกับพวกนายกองทั้งหลายเห็นว่าจะหนีไม่พ้นแน่ก็พากันฆ่าตัวตายทั้งหมด (บันทึกทางมาเลย์ว่าเป็นการสังหารหมู่) เมืองไทรบุรีจึงยังคงอยู่ใต้สยามต่อไป

ปีพ.ศ.2381 ในรัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้เกิดความยุ่งยากขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากตนกูมะหะหมัดสหัส ตนกูอับดุลละ ซึ่งเป็นหลานอดีตเจ้าพระยาไทรบุรี (ตนกูปะแงรัน) ได้ตั้งตนเป็นนายโจรสลัดรวบรวมสมัครพรรคพวกมากระทั่งถึงพวกมุสลิมที่เกาะยาวที่พังงา ได้มากพอควรแล้วก็เข้าตีเมือง พระยาอภัยธิเบศร์ (แสง) เจ้าเมืองไทรบุรีกับพระยาเสนานุชิต (นุช) ปลัดเมืองไทรบุรีเห็นว่าเหลือมือ จึงหนีมาอยู่ที่พัทลุงอีกก่อนจะมีหนังสือบอกเข้ามายังกรุงเทพ
             
 เมื่อตีได้เมืองไทรบุรีคืนมาได้แล้ว ตนกูมะหะหมัดสหัสก็ได้ใจ เห็นว่าเจ้าเมืองฝ่ายสยามทางปักษ์ใต้ส่วนมากขึ้นไปช่วยงานออกพระเมรุพระศพสมเด็จพระศรีสุลาไลยในกรุงเทพฯ จึงได้ยกทัพมาทางทะเลเข้าปล้นเมืองตรัง(อำเภอกันตัง) แล้วเตรียมจะไปตีเมืองสงขลาต่อไป สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าฯทรงโปรดให้เจ้าเมืองทั้งหลายรีบกลับไปรักษาเมืองโดยทันที และทรงเกรงว่าพวกเมืองปัตตานีและเมืองบริวาร รวมทั้งเมืองกลันตัน ตรังกานู จะกำเริบขึ้นมาอีก จึงทรงโปรดเกล้าให้เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัด บุนนาค ต่อมาเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ) เป็นแม่ทัพใหญ่ยกกำลังทางเรือไปป้องกันเมืองสงขลา  เมื่อทัพใหญ่เดินทางไปถึงนั้น ทัพหน้าจากนครศรีธรรมราชก็ยึดเมืองไทรบุรีคืนได้แล้ว

เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกษาพิจารณาแล้วเห็นว่า การจะจัดการเมืองไทรบุรีให้เป็นที่เรียบร้อยต่อไปแล้ว หากตั้งคนไทยเป็นเจ้าเมืองก็คงจะมีความยุ่งยากไม่จบ  พวกบุตรหลานของตนกูปะแงรัน คงจะยกมารบกวนอีก จึงได้จัดแบ่งเมืองไทรบุรีออกเป็น 4 เมืองเล็ก แต่งตั้งตนกูเชื้อสายเจ้าเมืองเก่าให้เป็นเจ้าเมืองเหล่านี้ ส่วนเมืองไทรบุรีนั้น ให้พระยาอภัยธิเบศร์ (แสง) รักษาราชการอยู่ตามเดิม โดยมีตนกูอาหนุ่ม เป็นรายามุดา (ผู้ว่าราชการเมือง) เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์จัดราชการเรียบร้อยแล้ว จึงยกทัพกลับมาพักที่เมืองสงขลาและได้สถาปนาพระเจดีย์อีกองค์หนึ่งคู่กับองค์เดิมที่พี่ชายของท่านได้สร้างไว้บนยอดเขาแดง ปากทะเลสาปเมืองสงขลา ชาวบ้านเรียกเจดีย์สองพี่น้อง เสร็จแล้วจึงได้ยกกองทัพกลับเข้ากรุงเทพ



กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ค. 10, 22:42
เหตุการณ์บ้านเมืองในไทรบุรีก็คืนสู่ความสงบ เมื่อสิ้นพระยาอภัยธิเบศร์(แสง) ตนกูอะมัดได้เป็นพระยาไทรบุรี ถวายดอกไม้เงิน ดอกไม้ทองแด่พระเจ้าแผ่นดินสยามต่อมาจนถึงรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระยาไทรบุรี(อามัด)ได้แสดงความจงรักภักดี เข้าออกมากรุงเทพเนืองๆ เหมือนดังเจ้าเมืองคนไทยแท้ๆ ท่านโดยสารเรือกลไฟมาทางเมืองสิงคโปร์บ้าง เดินทางมาลงเรือที่สงขลาบ้าง ถึงกรุงเทพแล้วก็โปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้า คุ้นเคยสนิทสนมต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงโปรดเกล้าให้เป็นเจ้าพระยาไทรบุรี

เมื่อสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯขึ้นเสวยราชย์ และเสด็จประพาศหัวเมืองมลายูครั้งแรกในปีพ.ศ.2415 ได้เสด็จเมืองไทรบุรี เจ้าพระยาไทรบุรี (อามัด) ถวายการต้อนรับ

ในปี 2419 กุลีเหมืองแร่จีนเมืองภูเก็ตก่อการจลาจล เผาบ้านเผาเมือง ฆ่าฟันทำร้ายราษฎรแตกตื่นเป็นอันมาก เจ้าพระยาไทรบุรี ร่วมกับเจ้าเมืองอื่นๆทางฝั่งทะเลอันดามัน ยกกองกำลังลงไประงับเหตุร้ายในครั้งนั้นสำเร็จ ได้รับความดีความชอบในราชการแผ่นดินด้วย


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ค. 10, 23:01
พงศาวดารไทยบันทึกไว้ว่า

ในปีพุทธศักราช 2422 เจ้าพระยาไทรบุรี (อามัด) ถึงแก่อสัญกรรม มีท้องตราโปรดเกล้าฯ ให้พระมนตรีสุริยวงศ์ ข้าหลวงเมืองตรังรับไปฟังราชการ ณ เมืองไทรบุรี พระยามนตรีสุริยวงศ์ ข้าหลวงมีหนังสือบอกให้หลวงโกชาอิศหากถือมา ว่าราชการเมืองไทรบุรีเรียบร้อย พระยาสตูล พระยาปลิส พระอินทรวิไชย พระเกไดสวรินทร์ พระเสรีณรงค์ฤทธิ์ พระเกษตรไทยสกลบุรินทร์ ตนกูอาเด ลงชื่อประทับตราปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า เจ้าพระยาไทรบุรีมีบุตรชายใหญ่ 2 คน คนหนึ่งชื่อ ตนกูไซนาระชิด อายุได้ 22 ปี คนหนึ่งชื่อ ตนกูฮามิด อายุ 16 ปี ตนกูไซนาระชิด เป็นที่ควรจะได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณแทนเจ้าพระยาไทรบุรีต่อไป ตนกูฮามิดเป็นน้อง ควรรับราชการรองลงมา จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งตนกูไซนาระชิด เป็นพระยาฤทธิสงครามรามภักดี ศรีศุลต่านมะหะหมัด รัตนราช-มุนนทร์ สุรินทรวิวังษา พระยาไทรบุรี พระราชทานพานทอง ตนกูฮามิด เป็นที่พระเสนีณรงค์ฤทธิ์ รายามุดา พระราชทานพานครอบทอง

  ในปีพุทธศักราช 2424 พระยาไทรบุรีไซนาระชิดถึงแก่อสัญกรรม พระเสรีณรงค์ฤทธิ์ (ตนกูฮามิด) รายามุดา เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งพระเสรีณรงค์ฤทธิ์ รายามุดา เป็นพระยาฤทธิสงครามรามภักดี ศรีศุลต่านมะหะหมัด รัตนราชมุนนทร์ สุรินทรวิวังษา พระยาไทรบุรี และต่อมาเลื่อนเป็นเจ้าพระยาฤทธิสงครามภักดี ศรีศุลต่านมะหะหมัด รัตนราชมุนนทร์ สุรินทรวิวังษา ผดุงทนุบำรุงเกดะนคร อมรรัตนาณาเขต ประเทศราชราไชสวริยาธิบดี วิกรมสีหะ เจ้าพระยาไทรบุรี


ผมขอจบส่วนที่ย่อมาจากพงศาวดารของสยามไว้ตรงนี้  เพื่อเริ่มส่วนที่เป็นบันทึกของทางมาเลย์ ตามคำบอกเล่าของคนในตระกูลสุลต่านแห่งเคดะห์ต่อไป
เมื่อตนกูฮามิดได้เป็นพระยาไทรบุรีนั้นเขาได้จดบันทึกว่าตนกู อับดุล ฮามิดได้เป็นสุลต่านคนใหม่ และสุลต่าน อับดุล ฮามิดนี้เอง คือท่านบิดาของอภิชาตบุตรแห่งมลายู ตนกู อับดุล เราะห์มาน


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ค. 10, 23:30
ย้อนหลังขึ้นไปนิดนึง เมื่อสุลต่านอาหมัดถึงแก่อสัญกรรมนั้น เจ้านายของเคดะห์ก็แบ่งออกเป็นสองฝ่ายแย่งชิงกันเป็นสุลต่านองค์ใหม่ ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนตนกู ไซนัล ราชิด ลูกของชายาคนที่หนึ่ง แต่อีกฝ่ายหนึ่งสนับสนุนตนกู อับดุล ฮามิด ลูกของชายาคนที่สอง ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้จึงต้องยกพวกขึ้นไปกรุงเทพ เอาผู้หลักผู้ใหญ่ขึ้นไปฝ่ายละหลายคนเพื่อล็อบบี้ ซึ่งสยามฟังความแล้วก็เลือกตนกู ไซนัล ราชิดให้เป็นสุลต่าน และตนกู อับดุล ฮามิดเป็นรายามุดา สมดังที่พงศาวดารฝ่ายไทยบันทึก

แต่เกมแย่งชิงอำนาจยังไม่จบสนิท สุลต่าน ไซนัล ราชิดเป็นคนไม่เอาไหน ติดฝิ่น และว่าราชการไม่เป็น อาสองคนที่ขึ้นไปกรุงเทพด้วยก็ขอให้สยามตั้งตนทั้งสองเป็นผู้สำเร็จราชการร่วมกัน หลังจากนั้นเพียงสองปีสุลต่าน ไซนัล ราชิดเกิดอายุสั้นผิดปกติ หนึ่งในสองผู้สำเร็จราชการ คือตนกู เซียอุดดินก็นำคณะขึ้นไปกรุงเทพอีก คราวนี้วิ่งเต้นขอให้ตนได้เป็นสุลต่าน ฝ่ายชายาคนที่สองมารดาของตนกู อับดุล ฮามิด ก็สู้ยิบตา นำเครื่องเพชรเครื่องทองของตนไปจำนำกับเถ้าแก่ที่ปินัง เอาเงินพาคณะของตนขึ้นไปสู้กับฝ่ายนั้นถึงกรุงเทพเช่นกัน

ตรงนี้ต้องชมคนไทยด้วยกันเองสักหน่อย ไม่ทราบว่าเป็นใครแต่คงต้องยกเครดิตให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์โต ท่านหาข่าวจนได้ความว่าตนกู เซียอุดดินนี้ทรงอิทธิพล ถึงจะแก่แต่ยังทะเยอทะยานอยาก เคยเป็นตัวการสำคัญคนหนึ่งที่ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองที่ซารังงอร์ เพราะเป็นลูกเขยสุลต่านที่นั่น เมื่อญาติของเมียตีกันเรื่องแบ่งเขตเก็บเงินภาษี ก็นำทหารเคดะห์ไปช่วยฝ่ายหนึ่ง พอแขกรบกันเจ๊กเหมืองแร่ดีบุกที่นั่นก็พลอยแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ยกพวกจับกังเข้าช่วยเจ้านายฝ่ายตน เกิดสงครามกลางเมืองโดยมีพ่อค้าอังกฤษที่หวังผลประโยชน์จากท่าเรือเมืองกลังของซารังงอร์หนุนหลังฝ่ายเคดะห์ รบรากันอยู่หลายปีกว่าจะรู้แพ้รู้ชนะ เศรษฐกิจของซารังงอร์ก็พังครืนเพราะไม่มีใครกล้าทำเหมือง เป็นเหตุหนึ่งที่อังกฤษได้โอกาสเข้าแทรกแซงจนได้ซารังงอร์ไปอยู่ใต้อำนาจในที่สุด

เมื่อสยามเผยท่าทีว่ารังเกียจภูมิหลัง ตนกู เซียอุดดินจึงเสนอน้องอีกคนหนึ่งแทน ก็ไม่สำเร็จ ทรงโปรดเกล้าให้ตนกู อับดุล ฮามิดขึ้นเป็นสุลต่าน โดยให้เหลือผู้สำเร็จราชการเพียงคนเดียวเพราะตนกู เซียอุดดินจำต้องถอนตัว(แล้วหลบไปอยู่ที่ปินัง) ตำแหน่งรายามุดาเดิมที่ตนกู อับดุล ฮามิดครองอยู่นั้นให้ว่างไว้ เมื่อตนกู อับดุล อาซิส น้องแท้ๆของสุลต่านคนใหม่บรรลุนิติภาวะแล้ว ก็ให้ขึ้นเป็นแทน


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ค. 10, 23:36
สุลต่าน อับดุล ฮามิด เป็นคนทันสมัย ชอบท่องเที่ยวดูความเป็นไปของบ้านเมืองตามรัฐต่างๆ เคยไปถึงสิงคโปร์และอินเดียของอังกฤษ กรุงเทพนั้นไม่ต้องกล่าวถึงไปๆมาๆไม่รู้ว่าจะสักกี่ครั้ง นับถือสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯมากเช่นเดียวกับความจงรักภักดีที่ผู้เป็นบิดาถวายต่อพระมหากษัตริย์ไทย ขณะนั้นสยามได้เริ่มปฏิรูปประเทศแล้ว หลายอย่างสุลต่านอยากจะนำกลับไปทำที่เคด่ะห์บ้าง แต่ระบบราชการที่ล้าหลังของที่นั่นยังไม่เปิดโอกาส

เคด่ะห์บริหารรายได้ของตนเอง การที่มีฐานยุทธเศรษฐศาสตร์สำคัญคือเกาะปินังที่ชาวตะวันตกใช้เป็นท่าเรือน้ำลึกและลำเลียงสินค้าลงเรือเล็กเข้าแม่น้ำสุไหงเคดะห์ไปถึงกลางของแผ่นดินใหญ่  แต่ก่อนเจ้าเมืองไทรบุรีตั้งด่านเก็บภาษีอยู่ที่อลอร์ สะตาร์เท่านั้นก็มีรายได้แผ่นดินเป็นกอบเป็นกำแทบไม่ต้องทำอะไรอย่างอื่นเลย ต่อมาอังกฤษขอเช่าปินังไป แล้วเปิดเป็นเขตปลอดภาษี กิจการต่างๆก็หลั่งไหลเข้าไปตั้งอยู่ที่นั่น รายได้ของเคด่ะห์ก็ตกวูบ ต้องหันไปเก็บภาษีจากข้าว  ฝิ่น และเหล้าแทน แต่ก็รั่วไหลมาก สุลต่าน อับดุล ฮามิดจึงใช้วิธีการของสยาม ตั้งนายอากรขึ้นโดยเอาคนจีนมาเป็นผู้บริหารการคลัง สุลต่านขยันลงมาดูบัญชีรายรับรายจ่ายเองแทบทุกวัน จึงทำท่าจะร่ำรวยขึ้นมามาก

เป็นสุลต่านได้หกเจ็ดปี ไม่ทราบว่าทำงานมากไปหรือเที่ยวมากไป แต่ญาติๆโทษว่าเพราะชอบไปสยาม(ปัตตานี-คนมาเลย์จะถือปัตตานีว่าเป็นสยาม) เพื่อกินวิสกี้ดีๆกับเจ้านายที่นั่นแบบไม่บันยะบันยัง วันหนึ่งเลยเกิดฟุบลงไปเฉยๆ ต้องรักษาตัวกันอยู่ถึงสามปีกว่าจะเป็นปกติ เฉียดตายคราวนี้สุลต่านเลยเพี้ยน เปลี่ยนพฤติกรรมไปเป็นเพลย์บอย การงานไม่อากูร ชอบไปเล่นม้าแข่งที่ปินัง และติดบิลเลียดขนาดตั้งสโมสรขึ้นในอลอร์ สะตาร์ แล้วเชิญแชมป์จากอังกฤษมาแสดงฝีมือ  สุลต่านชักติดการพนัน ชอบเล่นหนักๆกับพวกอาเสี่ยที่เป็นนายอากรและเสียให้เซียนพวกนี้มากกว่าจะได้ เงินในคลังหลวงจึงร่อยหรอไปโดยสุลต่านไม่รู้สึกตัว ตวนกู อับดุล อาซิส น้องชายของสุลต่านขณะนั้นเป็นรายามุดาแล้ว  เริ่มตระหนักถึงปัญหานี้อยู่บ้างแต่ยังมีอำนาจไม่พอที่จะทำอะไรได้


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ค. 10, 23:38
แล้วฟองสบู่ก็แตกเผล่ะ ในปีพ.ศ.2447 สุลต่านจัดพิธีแต่งงานให้ลูกที่มีอายุถึงวัยอันสมควรทีเดียวพร้อมกัน5คน เป็นชาย2หญิง3 โดยจัดเป็นงานช้างแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เชิญบุคคลสำคัญทั้งสยามและอังกฤษ ตลอดจนเจ้านายของนครรัฐมลายูต่างๆพร้อมหน้า โดยเป็นเจ้าภาพรับรองการกินการอยู่ถึง10ทิวาราตรี มีโปรแกรมสำเริงสำราญทุกวันรวมถึงพาขี่ช้างไปล่าเสือด้วย ข้าวของที่สั่งมาตกแต่งอาคารสถานที่และการบริโภคทั้งหลาย สั่งจากห้างใหญ่ๆในปินังแบบระบบเงินเชื่อทั้งสิ้น

ภาพข้างล่างนี้ไม่เคยเห็นกันในเมืองไทยเลย เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมขุนลพบุรีราเมศวร์ประทับนั่งอยู่กับเจ้านายมลายู นายห้างอังกฤษ และข้าราชการของเคด่ะห์ ในวันหนึ่งของพิธีการดังกล่าว

การเลี้ยงมีวันที่ต้องเลิกลา และสิ่งที่ตามมาคือใบแจ้งหนี้ ทั้งที่ไปเซ็นเชื่อเขาไว้ และที่หยิบยืมจากบรรดาเถ้าแก่ในปินังมาทดรองจ่าย รวมกันแล้วติดลบอยู่กว่าหนึ่งล้านริงกิต



กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ค. 10, 23:42
ตวนกู อับดุล อะซิส รายามุดา เป็นอีกคนหนึ่งที่คุ้นเคยสนิทสนมกับราชสำนักสยาม เคยเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทบ่อยๆ ในรูปเป็นคราวที่ไปรับเสด็จสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯที่สิงคโปร คราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก

ตวนกู อับดุล อะซิสสติแตกไปเฝ้าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ (ผู้เขียนใช้คำว่า Prince Damrong, the enlightened Minister of the Interior) ขอกู้เงินมาชำระหนี้ ดูเหมือนว่ากรมขุนลพบุรีจะทรงรายงานเรื่องนี้ถวายแล้ว จึงทรงแสดงท่าทีว่าสยามจะช่วยเหลือวิกฤติการณ์ทางการเงินครั้งนี้ แต่ดูเหมือนว่าจะทรงรออะไรสักอย่างจากอังกฤษในสิงคโปร์ ก่อนที่จะทรงตอบตกลงให้กู้ซึ่งมีรายละเอียดราวกับIMF   รายามุดาจะต้องตกลงจะปฏิบัติก่อนจะได้เงินจากสยาม กล่าวคือ

1 ต้องทำหนังสือแสดงเจตนาที่จะขอกู้เงิน2.6ล้านริงกิตจากสยาม ลงนามโดยสุลต่านแห่งเคดะห์
2 เคดะห์ต้องตกลงที่จะยอมรับที่ปรึกษาทางการเงินที่สยามจะส่งลงไปคนหนึ่งเพื่อควบคุมการบริหารการเงินของเคดะห์จนกว่าจะใช้หนี้หมดสิ้น
3 เคดะห์ต้องตกลงที่จะตั้งบุคคลรวมทั้งสิ้น5คน เป็นคณะรัฐสภา เพื่อรองรับกับการทำงานของที่ปรึกษาทางการเงิน
4 คณะรัฐสภามีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินทั่วไป
5 สุลต่านไม่มีอำนาจที่จะกระทำการแต่ผู้เดียวโดยเด็ดขาดสืบไป

ตวนกู อับดุล อะซิสเป็นผู้ลงนามในหนังสือดังกล่าวร่วมกับมารดาของสุลต่านในฐานะผู้ปฏิบัติราชการแทนสุลต่าน แม้จะไม่มีตราสำคัญประทับแต่กรมพระยาดำรงทรงเห็นว่ามีผลผูกพันธ์ตามกฏหมายแล้ว หนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวจึงได้กระทำกันที่กรุงเทพในวันที่16มิถุนายน 2448 และตวนกู อับดุล อะซิสได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะสมาชิกสภาดังกล่าว

สุลต่าน อับดุล ฮามิดยอมรับสภาพการณ์ครั้งนี้โดยดุษฎี และวางมือในทุกสิ่ง หันไปทำงานด้านสังคมและศาสนา


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ค. 10, 23:49
ช่วงระหว่างที่ตนกู อับดุล อาซิส กำลังลุ้นกรมพระยาดำรงฯเรื่องเงินที่จะขอกู้จากสยาม ซึ่งดูเหมือนว่าทรงยินดีที่จะให้ แต่ก็เหมือนกับจะรีรออะไรบางอย่างจากสิงคโปรอยู่

โดยข้อเท็จจริง ช่วงดังกล่าวสยามกำลังเจรจากับอังกฤษอย่างเข้มข้น ที่จะแลกอธิปไตยทางศาล และสิทธิอำนาจเต็มเหนือดินแดนภาคใต้จากเมืองบางสะพานลงไปจรดชายแดนมลายูที่ไปพลาดให้อังกฤษในสนธิสัญญาบาวริง กับทั้งจะกู้เงินก้อนใหญ่ดอกเบี้ยถูกจากธนาคารในมลายูมาลงทุนทำรถไฟเอง แทนที่จะให้สัมประทานแก่อังกฤษดังเสนอ ทั้งหมดแลกกับการยกหัวเมืองมลายูทั้งสี่ที่สยามเห็นว่าไม่มีผลประโยชน์ใดอื่น เอาไว้ก็จะมีแต่เรื่องที่อังกฤษชวนทะเลาะเพราะชายแดนที่ไม่ชัดเจนกับสหพันธรัฐมลายูของอังกฤษ  ดังนั้นเงินที่จะให้ไทรบุรีกู้นี้ ทางอังกฤษจะต้องรับทราบ และรับรองว่าสยามจะได้คืน เมื่อมีสัญญาณว่าอังกฤษตกลงว่าหลังการผนวกดินแดนแล้วจะให้สหพันธรัฐมลายูเป็นผู้ชำระเงินกู้นี้แทน หนทางจึงปลอดโปร่ง

การที่สยามได้ตกลงส่งมอบการปกครองไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้แก่อังกฤษในครั้งนี้ สุลต่านของรัฐเหล่านั้นไม่ทราบล่วงหน้าเลย แม้เคดะห์จะได้แว่วข่าวมาบ้างก็ไม่ชัดเจน จึงได้มีหนังสือสอบถามข้อเท็จจริงจากรัฐบาลสยาม แต่ก็เงียบหาย ไม่มีหนังสือตอบกลับไปแต่อย่างใด สุลต่าน อับดุล ฮามิด จึงโกรธเคืองมากเมื่อได้รับหนังสือของเซอร์ จอห์น แอนเดอสัน ผู้สำเร็จราชการอังกฤษในสิงคโปร์ เอาใส่พานทองตั้งขบวนแห่มาให้ยังท้องพระโรง ซึ่งสุลต่านได้อ่านดังๆให้ทุกคนในที่นั้นฟังว่า บัดนี้สยามได้โอนสิทธิต่างๆอันพึงได้จากเคดะห์ให้อังกฤษแล้ว รวมทั้งเงินกู้ส่วนที่ยังคงค้างด้วย  และระบายอารมณ์กับเอเธอร์ ซี. อดัมส์ ที่ปรึกษาทางการคลังที่ส่งมาจากสยามตามข้อตกลงสัญญากู้เงินว่า

"ประเทศของฉัน ประชาชนของฉัน ถูกขายไปเหมือนกับขายลูกวัว…

…..ฉันให้อภัยคนซื้อซึ่งมีพันธะกับฉันได้ แต่ฉันให้อภัยคนขายไม่ได้…
.
…สยามมีสิทธิที่จะยกหนี้ไปให้ผู้อื่นได้ แต่ไม่มีสิทธิจะยกตัวลูกหนี้ให้ใคร"


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ค. 10, 23:51
สุลต่านกลันตัน และสุลต่านตรังกานู ต่างก็มีปฏิกิริยาคล้ายกัน ไม่มีใครอยากไปเป็นข้าฝรั่งที่เอาแต่ผลประโยชน์ของตัว การรวมนครรัฐต่างๆเข้าเป็นสหพันธรัฐมลายูเมื่อสิบกว่าปีก่อนหน้านั้น อังกฤษได้แสดงความเหี้ยมโหดกับคนมาเลย์เหมือนกัน นับตั้งแต่การใช้ปืนเรือยิงถล่มซารังงอร์ ให้ทหารล้อมยิงชาวบ้านที่มีแต่หอกดาบเป็นอาวุธ สุลต่านกลันตันจึงส่งผู้แทนเข้าไปเจรจาที่กรุงเทพทันที  ส่วนสุลต่านตรังกานูรีบส่งต้นไม้เงิน ต้นไม้ทองมาถวายสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ แต่ไม่ปรากฏว่าสยามชี้แจงว่าอย่างไร

นอกเหนือจากปฏิกิริยาดังกล่าวของสุลต่านดังกล่าวแล้ว เหตุการณ์ทุกอย่างได้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย สนธิสัญญา พ.ศ.2451 ได้เสริมสร้างให้สัมพันธภาพ ระหว่างสยามกับอังกฤษให้ดีขึ้น และสยามเอาตัวรอดจากกรงเล็บสิงโตอังกฤษได้อีกครั้งหนึ่ง


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ค. 10, 00:01
ตอนที่บิดาจัดงานแต่งงานให้พี่ๆทั้ง5คน ตวนกู อับดุล เราะห์มานอายุไม่ถึง3ขวบ ท่านเป็นลูกคนที่20 ของสุลต่าน  ที่เกิดจากมารดาเดียวกันก็มีถึง12คนแล้ว แต่เหลือแค่8คนเป็นพี่ชาย3 น้องชาย1น้องสาว3  นอกนั้นเสียตั้งแต่ยังเป็นเด็ก มารดาของท่านชื่อเดิมว่าเนื่อง เป็นลูกสาวหลวงนราบริรักษ์ (เกล็บ นนทะนาคร) นายอำเภอเมืองนนทบุรีในรัชสมัยรัชกาลที่5 กับคุณนายอิ่ม เล่ากันในตระกูลว่า ท่านเกล็บสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยามหาโยธา( เจ่ง-อดีตเจ้าเมืองเมาะตะมะที่พาครัวเรือนมอญหนีพม่ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร กับท่านผู้หญิงทรัพย์) หลังสมรสกับสุลต่าน อับดุล ฮามิดแล้ว หม่อมเนื่องผู้เป็นเอกภรรยาเพราะถือว่าเป็นภรรยาพระราชทาน ได้รับการสถาปนาเป็นปะดูกา ซรี เจ๊ะ เมินยาราลา ชาวเมืองทั้งปวงเรียกสั้นๆว่ามะเจ๊ะ(คุณแม่ใหญ่)

แม้นามสกุลนทนาครดังกล่าวจะบันทึกในหนังสือนามสกุลพระราชทานว่า สมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯพระราชทานให้ ขุนรามัญนนทเขตรคดี (เจ๊)  นายอำเภอปากเกร็ด  จังหวัดนนทบุรี  บิดาชื่อพระรามัญนนทเขตร์คดี (เทียม)  ปู่ชื่อหลวงรามัญนนทเขตร์คดี (ทับ) แต่เข้าเค้าว่าทั้งสองสายเป็นมอญทั้งคู่ อาจเป็นญาติกันทางใดทางหนึ่ง จึงใช้นามสกุลร่วมกัน

อีกกระแสหนึ่งแจ้งว่า การที่สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และกรมพระยาดำรงฯ ทรงเห็นพ้องกันให้ส่งเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมขุนลพบุรีราเมศวร์  เจ้ากรมพลัมภังกระทรวงมหาดไทย ไปเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช เพราะเห็นว่าทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และทรงเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกับข้าหลวงใหญ่อังกฤษในมลายูด้วย  น่าจะเป็นประโยชน์ในทางไมตรีอยู่
และบังเอิญว่า หม่อมเนื่อง เอกภรรยาของเจ้าพระยาไทรบุรี (สุลต่าน อับดุล ฮามิด) เคยเป็นคนในวังของพระมารดาของ กรมขุนลพบุรีฯ ซึ่งหากจะนับกันไปแล้วก็เปรียบเหมือนเครือญาติที่สนิทสนม ทำให้น่าจะเข้ากับเจ้านายทางหัวเมืองมลายูได้ดี 

เอกสารทางมาเลย์บอกว่า ตนกู อะมีนา พี่สาวคนโตของสุลต่าน อับดุล ฮามิด ได้เป็นผู้ไปพบและเห็นว่าคุณเนื่องเป็นเด็กน่ารัก เลยขอกับหลวงนราบริรักษ์มาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม และนำมาอยู่กับมารดาของตนในวังที่เคดะห์ ซึ่งนางก็โปรดคุณเนื่องมากเช่นกัน เลยชักนำให้แก่สุลต่านบุตรชาย ให้เป็นชายาคนที่4


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ค. 10, 00:14
ทั้งสามเรื่องที่ผมยกเล่าข้างต้น แม้จะไม่ปะติดปะต่อ แต่พอจะสอดคล้องกันอยู่

ก่อนที่ตนกู อับดุล เราะห์มานจะเกิดนั้น สุลต่านจับได้ว่าผู้ที่ตนมอบหมายให้รักษาตราประทับ(ตราลัญจกร) กระทำการคอร์รัปชั่นโดยแอบเอาตราสำคัญนี้ไปประทับออกโฉนดให้ผู้คน  โทษถึงประหารชีวิต และลูกเมียทั้งหมดทุกคนจะต้องถูกตัดนิ้วหัวแม่มือขวาเพื่อประจาน ตามกฏหมายของรัฐ

ภรรยากรมวังคนนั้นมาร้องห่มร้องไห้กับเมินยาราลา นางเกิดสงสารเลยคิดเสี่ยงตัวเองลงไปช่วย อาศัยที่เป็นคนโปรดนางไปหาสุลต่านเพื่อกระซิบว่าสงสัยน้องจะท้อง(อีกแล้ว)

มีความเชื่ออย่างหนึ่งของมุสลิมมาเลย์ว่า ระหว่างที่ลูกจะเกิด พ่อแม่จะต้องไม่ฆ่าแกงทำร้ายใครมิฉนั้นวิญญาณร้ายจะรบกวนลูกในท้อง อีตาคนโกงเลยรอดตายได้ลดโทษเป็นจำคุก ลูกเมียก็ยังเหลือนิ้วกันครบ ความจริงตอนนั้นหม่อมเนื่องยังไม่ได้ท้อง แต่หลังจากนั้นก็เกิดท้องขึ้นมาได้ดังใจหมาย เด็กเกิดเป็นผู้ชายลักษณะดีผิดพี่ผิดน้องจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่าตนกูปุตรา(ลูกชายที่จะช่วยพ่อแม่ไม่ให้ตกนรก) เชื่อว่าเด็กจะเป็นอภิชาตบุตร เป็นเพราะกุศลกรรมที่ให้อภัยทานชีวิตคนนี้


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ค. 10, 08:58
ในรูปนี้เป็นลูกๆของสุลต่าน ตอนเขาถ่ายรูปกันตนกูอับดุล เราะห์มานยังแบเบาะ หม่อมเนื่องไม่ยอมเอามาถ่ายกับเขาด้วย(ต่อไปนี้ ผมจะเรียกตนกูอับดุล เราะห์มาน สั้นๆว่าตนกูเฉยๆนะครับ ถ้าเป็นตนกูคนอื่นจะใส่ชื่อด้วย)

ชีวิตตอนเด็กๆของตนกูทั้งหลายในเคดะห์ก็ไม่ค่อยต่างกับเด็กที่อยู่นอกวังนัก หลายคนตายเสียยังเล็กเพราะโรคระบาด ตนกูเองก็ย่ำแย่ เกือบพิการเพราะความซุกซน เมื่ออายุได้6ขวบ ก็ได้เข้าเรียนชั้นประถมในโรงเรียนที่มีอยู่แห่งเดียวในเคดะห์นั้นเอง แต่กิจกรรมที่โปรดไม่ใช่การเรียน แต่เป็นฟุตบอลที่เตะกันในทุ่งกว้างนอกกำแพงวัง ต่อมาโรงเรียนนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนสุลต่านอับดุล ฮามิด ตามชื่อคนตั้งและอุปถัมป์ในยุคต้น เดี๋ยวนี้เจริญ สอาดสอ้านดูดีมาก


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 10, 09:01
ขอบคุณสำหรับเรื่องดีๆและหาอ่านยาก ที่นำมาเล่าสู่กันฟัง :D

เคยได้ยินชื่อ"ตวนกูอับดุลรามาน" (ตอนเด็กๆ  เขาออกเสียงกันอย่างนี้) มาตั้งแต่อยู่ชั้นม.ต้น    ทราบว่าท่านเคยเรียนในร.ร.ไทย   แต่ไปเข้าใจว่าเป็นร.ร.สวนกุหลาบ
ท่านเป็นผู้ที่สื่อมวลชนไทย กล่าวขานถึง ว่าท่านสนิทกับไทย  และสื่อไทยก็ชอบท่าน     แต่ตอนนั้นดิฉันยังเด็กเกินกว่าจะจำรายละเอียดได้

ไปเที่ยวมาเลย์เซียเมื่อปีก่อน    ความเจริญในกัวลาลัมเปอร์นำหน้าไปไกลลิบ     ไปถึงรัฐเคดะห์  (ซึ่งหลายวันกว่าจะรู้ว่านี่คือไทรบุรี)  ชมพิพิธภัณฑ์ของเขา  มีภาพบันทึกถึงการสู้รบระหว่างสยามกับไทรบุรีด้วยค่ะ  ตั้งแต่อยุธยา มาจนถึงรัชกาลที่ ๓  ท่าทางจะดุเดือดเอาการ
จำได้ว่าแปลกใจ ว่าทำไมเรารู้ประวัติศาสตร์ของเพื่อนบ้านน้อยมาก     ไม่เคยได้เรียนในร.ร. หรือมหาวิทยาลัย นอกจากรู้ว่ามลายูเคยเป็นส่วนหนึ่งของไทยเท่านั้น


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 พ.ค. 10, 09:39
ขออนุญาตเสริมคุณนวรัตนด้วยเรื่อง "เมื่อ ตนกู อับดุล ราห์มัน  เป็นนักเรียนเทพศิรินทร์" จากหนังสือชุด เงาหลังภาพ  ของ  ลาวัณย์  โชตามระ

เด็กชายสองคนวัยไล่เลี่ยกัน  ราว ๆ สิบสองสิบสามปีทั้งคู่  เด็กทั้งสองคนนี้ต่างกันทั้งเชื้อชาติ สัญชาติ และศาสนา แต่ทว่าได้มีความสนิทชิดชอบกันมาก จนได้เรียนหนังสือโรงเรียนเดียวกัน  และได้ถ่ายรูปคู่กันไว้เป็นที่ระลึก  ก่อนที่คนหนึ่งจะต้องเดินทางกลับมาตุภูมิของตน

รูปนี้ถ่ายเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๕๗  คนยืนด้านขวามือคือ ตนกู อับดุล ราห์มัน อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย ส่วนคนที่ยืนด้านซ้ายมือคือ หลวงถวิลเศรษฐพณิชย์การ ทั้งสองท่านแต่งเครื่องแบบลูกเสือของโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ซึ่งท่านทั้งสองเป็นนักเรียนอยู่ในเวลานั้น


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 พ.ค. 10, 09:48
ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดสโมสรสถานของสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ที่ถนนราชดำริได้มีการจัดทำหนังสือชื่นชุมนุมเป็นอนุสรณ์ในงานนี้

คณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือและหาโฆษณา ได้ติดต่อ "ขอเรื่อง" ไปยังนักเรียนเก่าเพื่อนำมารวมลงในเล่ม  ท่านตนกู อับดุล ราห์มัน ซึ่งขณะนั้นกำลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เป็นนักเรียนเก่าผู้หนึ่งซึ่งได้รับหมายเกณฑ์ประเภทนี้  และท่านก็ได้ส่งข้อเขียนมาเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมีผู้แปลเป็นภาษาไทยไว้ดังต่อไปนี้

สาส์นจากนายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซีย

ในวโรกาสที่สมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าแห่งประเทศไทย ได้เสด็จทรงกระทำพิธีเปิดสโมสรสถานหลังใหม่ของสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ ในกรุงเทพฯ ข้าพเจ้ามีความปลื้มปีติด้วยเป็นล้นพ้นที่จะส่งคำอวยพรและความปรารถนาดีอย่างยิ่งมายังสมาคมฯ

ข้าพเจ้ารู้สึกเสมือนว่าเพิ่งจะเป็นเพียงเมื่อวานนี้เองที่ข้าพเจ้าได้เป็นนักเรียนอยู่ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ที่ซึ่งข้าพเจ้าได้มีชีวิตที่เป็นสุขและสนุกสนานได้รับความสำราญใจในทุกชั่วโมงยาม ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกโรงเรียน

ข้าพเจ้าไปเข้าโรงเรียนเมื่ออายุสิบขวบ พักอยู่สองปีที่กรุงเทพฯกับพี่ชายข้าพเจ้า ร้อยเอกตนกู ยูซุฟ ผู้เป็นนายทหารในกองทัพบกไทย ขณะนั้นเข้าใจว่าเรียกกันว่า  ตำรวจภูธร แต่ก่อนที่ข้าพเจ้าจะสามารถก้าวหน้าไปได้มากที่โรงเรียน พี่ชายข้าพเจ้าได้สิ้นชีพตักษัยลง ทำให้การเรียนของข้าพเจ้าที่นั่นต้องสะดุดหยุดลงด้วยทั้งยังกำหนดอนาคตของข้าพเจ้าโดยที่ข้าพเจ้ามิได้คาดหวังมาก่อนเลย กล่าวคือข้าพเจ้าได้กลับมาไทรบุรี  แล้วก็ไปเข้าเรียนที่โรงเรียนปีนังฟรีสกูล

บางคราวข้าพเจ้าเคยคิดว่า หากพี่ชายข้าพเจ้าทรงมีชีวิตอยู่ต่อมา ชีวิตของข้าพเจ้าเองคงจะดำเนินไปในวิถีที่แตกต่างไปจากนี้ ข้าพเจ้าอาจได้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในประเทศไทย แต่นั่นคือโชคชาตา ขณะนี้แทนที่จะมีชีวิตสะดวกสบายในวัยที่อายุย่างเข้า ๖๓ ปี ข้าพเจ้ายังต้องทำงานหนักอยู่แทบทุกเวลา

อย่างไรก็ดี การทำงานหนักนั้นก็สมค่า ถ้างานของข้าพเจ้าช่วยให้สายสัมพันธ์แห่งภราดรภาพและความรักระหว่างประชาชาวไทยกับมาเลเซียที่มีอยู่อย่างแน่นแฟ้นแล้วนั้นประสานกันได้สนิทแนบแน่นยิ่งขึ้นอีก และช่วยให้ห่วงสัมพันธ์อันมั่นคงนี้เป็นสิ่งประกันให้ภูมิภาคซีกนี้ของโลกดำรงอยู่ได้ในสันติภาพและความผาสุก

ข้าพเจ้าระลึกถึงชีวิตเด็กที่เทพศิรินทร์ด้วยความปีติเป็นอันมาก การศึกษาที่ข้าพเจ้าได้รับจากที่นั่นและชีวิตที่เคยอยู่ในประเทศไทย นับเป็นทุนทรัพย์อันมีค่าอย่างแท้จริงในการปฏิบัติงานปัจจุบันของข้าพเจ้าในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพราะความรักในชีวิตไทยของข้าพเจ้าช่วยอำนวยให้เกิดความร่วมมืออันใกล้ชิด  ระหว่างประเทศทั้งสองของเรา

อันประเพณีไทยถือว่า "ช้า ๆ ได้พร้าสองเล่มงาม  ด่วนผลีผลามมักพลิกแพลง" อีกทั้งท่าทีของมะลายูที่จะไม่กุลีกุจอทำอะไร เว้นแต่ที่จำเป็นจริง ๆ นั้น  ข้าพเจ้าเคยนิยมชมชอบอยู่เสมอ  ในสมัยก่อนคนอังกฤษในครั้งโน้นเคยต้องรู้สึกกระอักกระอ่วนใจเมื่อมาติดต่อกับข้าพเจ้า

บัดนี้เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไปแล้ว  สิ่งข้าพเจ้าอยากจะรอเอาไว้ไปทำวันพรุ่งนี้ก็จำต้องกระทำในวันนี้  นี่คือวิถีของโลก  กาลสมัยผิดแผกไปและเราต้องเคลื่อนไหวไปพร้อมกับกาลสมัยนี้ด้วย เพราะเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงดีใจมากที่ศิษย์เก่าเทพศิรินทร์เคลื่อนไหวไปพร้อมกับกาลสมัยโดยมีการสร้างสโมสรสถานหลังใหม่สำหรับนักเรียนเก่าขึ้น

บรรดานักเรียนเก่าทั้งหลายได้บำเพ็ญประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้แก่ประเทศของตน ท่านเหล่านี้บ้างก็กำลังเป็นรัฐมนตรี เอกอัครราชทูต ทหารชั้นนายพล ข้าราชการผู้ใหญ่ นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จหรือเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีความรู้สึกร่วมด้วยกับท่านเหล่านี้ในการได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระมหากษัตราธิราชแห่งประเทศไทยที่ได้เสด็จเปิดสโมสรสถานแห่งนี้ ข้าพเจ้ามีความสุขใจเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมกับนักเรียนเก่าทั้งหลาย เพื่ออวยพรให้โรงเรียนเทพศิรินทร์และสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ซึ่งทุกคนภูมิใจที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเจริญวัฒนาถาวรและประสบความสำเร็จรุ่งโรจน์ต่อไปชั่วกาลนาน

จบสาส์นของท่านตนกู อับดุล ราห์มัน  นายกรัฐมนตรีของประเทศมาเลเซียขณะนั้น






กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 พ.ค. 10, 09:58
คุณหลวงถวิลเศรษฐพณิชย์การ ได้เขียนถึงท่านตนกู อับดุล ราห์มัน ว่าท่านเจ้าคุณอนุสาสน์พณิชย์การพี่ชายของท่าน กับตนกู ยูซุฟ พี่ชายของตนกู อับดุล ราห์มัน  เป็นนักศึกษารุ่นเดียวกันในประเทศอังกฤษ ทั้งสองท่านรักใคร่สนิทสนมกันมาก ระหว่างที่อยู่ในอังกฤษ ตนกู ยูซุฟ ได้สมรสกับมาดามยูซุฟ ซึ่งเป็นหญิงอังกฤษ  และเมื่อสำเร็จการศึกษาใน พ.ศ.๒๔๕๖ ทั้งสามท่านก็เดินทางกลับด้วยกัน และได้แวะที่เมืองไทรบุรีเพื่อเยี่ยมเคารพท่านเจ้าพระยาไทรบุรี สุลต่านอับดุลฮามิดและคุณหญิง ผู้เป็นบิดามารดาของตนกู ยูซุฟ  และตนกู อับดุล ราห์มัน

ตนกู ยูซุฟ พักอยู่ในไทรบุรีไม่นานนักก็เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อรับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณในฐานะที่เป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง  และได้รับพระราชทานทุนไปศึกษาวิชาในประเทศอังกฤษ ในโอกาสนี้ท่านบิดได้ส่งตนกู อับดุล ราห์มัน มาด้วย และทุกคนก็ได้มาพักอยู่กับเจ้าคุณอนุสาสน์ในบ้านของท่านบิดาข้าพเจ้าที่ถนนอนุวงษ์

เวลานั้นข้าพเจ้าศึกษาอยู่ในโรงเรียนเทพศิรินทร์ ตนกู ยูซุฟก็เห็นดีที่จะให้ตนกู อับดุล ราห์มัน เข้าศึกษาในโรงเรียนเทพศิรินทร์ด้วย เรามีจักรยานคนละคัน จึงได้ไปโรงเรียนด้วยกันและเที่ยวด้วยกันไกล ๆ เสมอ ตนกู ยูซุฟ และครอบครัวพักอยู่ที่บ้านท่านบิดาข้าพเจ้าจนบ้านที่หลัง โรงเลี้ยงเด็ก(๑) แล้วเสร็จ  จึงย้ายไป

ตนกู ยูซุฟ เข้ารับราชการในกรมตำรวจ เวลานั้นมียศเป็นร้อยเอก เป็นผู้ที่กล้าหาญ อดทน และปฏิบัติงานเพื่อผลเยี่ยมเสมอ เจ้าคุณอนุสาสน์เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า  ครั้งสุดท้ายที่ ตนกู ยูซุฟออกไปจับผู้ร้ายในต่างจังหวัด ตนกูต้องกรากกรำทนแดด ทนฝนมาก หลังจากจับผู้ร้ายได้แล้วก็ล้มป่วยด้วยปอดบวม แพทย์พยายามเยียวยารักษาทุกทางก็ไม่สำเร็จ ตนกู ยูซุฟ ถึงแก่กรรมที่บ้านหลังโรงเลี้ยงเด็กใน พ.ศ.๒๔๕๗

ความเศร้าสลดที่มาดามยูซุฟ และตนกู อับดุล ราห์มัน ได้รับในครั้งนั้นเกินกว่าจะหาถ้อยคำมากล่าวได้ ทั้งสองคนไม่มีจิตใจที่จะอยู่ต่อไปในบ้านหลังนั้น  จึงกลับมาอยู่กับท่านบิดาข้าพเจ้าอีกระยะหนึ่งจนกว่าญาติทางไทรบุรีเดินทางมารับ

ตนกูอับดุล ราห์มัน มีหม่อมมารดาเป็นคนไทยชื่อ หม่อมเนื่อง เป็นบุตรีหลวงบุรานุรักษ์ เจ้าเมืองนนทบุรี สมัยรัชกาลที่ ๕ แม้ท่านสุลต่านจะมีภรรยาได้หลายคนตามธรรมเนียมศาสนา แต่ก็ได้ยกหม่อมเนื่องเป็นภรรยาเอก เพราะภรรยาพระราชทานไปจากเมืองไทย หม่อมเนื่องเป็น มะเจ๊ะ  อันแปลว่า คุณแม่  ในภาษามะลายู แต่บางทีคนมะลายูก็เรียกทับศัพท์ภาษาไทยว่า หม่อม ด้วยเช่นกัน


(๑) โรงเลี้ยงเด็ก ของพระวิมาดาเธอฯ คือแถบที่สวนมะลิ แถวโรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร์ ซึ่งรื้อทิ้งไปแล้วนั่นเอง "โรงเลี้ยงเด็ก" นี้ เปิดดำเนินการเมื่อ ๓๑ มีนาคม ๒๔๓๒





กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 พ.ค. 10, 10:15
สาสน์ของ ท่านตนกู อับดุล ราห์มาน
เพื่อระลึกถึง และอวยพรในโอกาสที่โรงเรียนเทพศิรินทร์มีอายุครบ ๑๐๐ปี วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๘

โรงเรียนเก่าของข้าพเจ้า โรงเรียนเทพศิรินทร์ จะฉลองครบรอบศตวรรษในวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๘ นี่ต้องนับเป็นสถิติอันสำคัญอย่างแท้จริงสำหรับโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและเกียรติประวัติอันเป็นที่ทราบกันดีใน หมู่คนไทยทั่วไป และ โดยเฉพาะได้รับความเคารพนับถือจากนักเรียนทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ข้าพเจ้าเองเป็นนักเรียนเก่ามานานหนักหนาแล้ว จะพูดให้แน่ก็คือ ข้าพเจ้ามาเข้าโรงเรียนนี้ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนเก่ามากว่า ๗๐ปีแล้ว และข้าพเจ้ามีความภูมิใจอย่างแท้จริงที่ได้มีส่วน เกี่ยวข้องกับโรงเรียนนี้ ข้าพเจ้ายังจำความเมตตาปราณีและความเอาอกเอาใจของคุณครู และ เพื่อนนักเรียน และเพื่อนเล่นด้วยกันที่แสดงต่อข้าพเจ้าได้ดีมาจนทุกวันนี้ ชีวิตสมัยนั้นเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เพราะว่า เราไปโรงเรียนกันตอนแปดโมงเช้า และกลับเวลาบ่ายโมงเราจึงมีเวลาสำหรับเล่นสนุกกันตลอดทั้งบ่าย

ข้าพเจ้ามีรถจักรยานคันหนึ่ง และข้าพเจ้าพร้อมด้วยเพื่อนสนิทมากคือ ถวิล คุปตรักษ์ หลวงถวิลเศรษฐพาณิช ยการ โดยขี่จักรยานไปเที่ยวทั่วกรุงโดยไม่มีควันน้ำมันมาทำให้อากาศอันบริสุทธิ์เป็นพิษหรือกีดกั้นหนทาง ของเรา มันช่างผิดกับทุกวันนี้เหลือเกิน

เราเคยไปหาของรับประทานที่บริเวณเชิงสะพานยศเส และข้าพเจ้าจำได้ว่า เนื้อสะเต๊ะไม้หนึ่งเคยมีราคาเพียง สตางค์เดียว และในเวลากลางคืนบางทีเราก็ไปที่ถนนราชวงศ์ เพื่อรับประทานข้าวต้ม ทั้งหมดนี้นับเป็นชีวิตที่ แสนสนุกสบาย ในฐานะที่เป็นลูกเสือ เรามักจะมีการพบปะและชุนนุมกันในเมื่อมีบุคคลสำคัญมาเยี่ยมโรงเรียน ข้าพเจ้าเคยมีความภูมิใจในการที่ได้แต่งเครื่องแบบลูกเสือ

โรงเรียนได้เติบโตและเจริญก้าวหน้าขึ้นมาเรื่อยๆ และโรงเรียนนี้ได้ผลิตนักเรียนเก่าซึ่งได้เป็นนักการเมือง นายพล นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และบุคคลในวงการทูตมาแล้วมากมาย ในบรรดาบุคคลเหล่านี้ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ใน ปัจจุบันคงจะต้องมีความภาคภูมิใจในโรงเรียนเก่าของเขาเช่นเดียวกับข้าพเจ้าใรวาระที่ครบรอบร้อยปีนี้ เพื่อน นักเรียนรุ่นข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่อีกสักกี่คนข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่คงจะมีไม่มากนัก ชีวิตของข้าพเจ้าตอนที่เป็นนัก เรียนอยู่ที่นี่จะยังคงอยู่ในความทรงจำอย่างผาสุกยิ่งตลอดไป

ข้าพเจ้าไม่สามารถจะมาร่วมกับท่านทั้งหลายในโอกาสอันเป็นมงคลและเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญยิ่งสำ หรับนักเรียนเก่าและใหม่คราวนี้ได้ ข้าพเจ้าจึงขอตั้งความปรารถนาให้ โรงเรียนประสบความสุขเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะร่วมกับนักเรียนปัจจุบันและนักเรียนในอดีตที่จะตั้งความปรารถนาให้โชคดี และสำเร็จบังเกิดแก่โรงเรียนของเราตลอดไป

  
 
  
 
 


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ค. 10, 10:59
ขอบคุณทั้งสองท่านที่มาช่วยให้ผมหายเหงานะครับ ไม่งั้นก็เขียนไปเรื่อย ไม่ทราบว่าถูกใจหรือไม่ถูกใจพระเดชพระคุณอย่างไร

เรื่องของท่านตนกูเล่ากันมาหลายVersion (แหะ แหะ ครับ เมื่อก่อนผมก็เรียกตวนกูเหมือนกัน เพิ่งจะมาเรียกตนกูก็ตอนเขียนเรื่องนี้แหละ จะได้เหมือนกับที่เขาเขียนกันเป็นทางราชการ) ผมขอว่าของผมต่อไปตามทีหาเรื่องราวต่างๆมาได้ เอามายำๆปนๆกันไปให้สนุกเข้าว่า…ต่อนะครับ
.
.
ครั้นมีอายุได้ประมาณสิบขวบ พี่ชายพ่อแม่เดียวกันคนโตชื่อตนกูยูซุฟ เรียนจบจากอังกฤษและแวะกลับมาเยี่ยมบ้าน พี่ชายสองคนของท่านไปอยู่สยามตั้งแต่เล็กและคนนี้ได้รับทุนพระราชทานหรือเรียกสั้นๆว่าทุนคิงส์ ไปเรียนวิชาทหารช่างที่วูลลิช เรียนจบติดยศแล้วสมัครใจจะกลับไปรับราชการที่สยาม(ทั้งๆที่เคดะห์เป็นเมืองขึ้นอังกฤษแล้ว อาจจะเป็นเพราะเอาเมียแหม่มกลับมาด้วยและท่านสุลต่านไม่ยอมรับก็เป็นได้) อย่างไรก็ตามเมื่อตนกูยูซุฟเห็นน้องคนนี้แล้วก็ส่ายหน้า ถ้าอยู่อย่างนี้ต่อไปเห็นจะเอาดีไม่ได้ จึงขอแม่ให้ไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพดีกว่า หม่อมเนื่องเองก็เห็นด้วย ท่านตนกูจึงได้เดินทางไกล จากบ้านจากเมืองครั้งแรก

ท่านตนกูพูดเองว่า ถ้าโชคชะตาไม่เปลี่ยนอีกครั้งในสองปีต่อมา ท่านคงจะได้อยู่และเป็นคนกรุงเทพไปเลย เพราะท่านไม่รู้สึกแปลกถิ่นหรือคิดถึงบ้าน ไม่เคยขาดเพื่อน โดยเฉพาะเพื่อนที่นิยมชมชอบฟุตบอลด้วยกัน ทุกเย็นก็มาชวนกันไปเตะบอลอย่างสนุกสนานเหมือนครั้งยังเป็นหัวโจกอยู่เคดะห์

ร้อยเอกยูซุฟเป็นนายทหารที่ขยันขันแข็ง จบทหารช่างแต่ทางราชการสยามก็บรรจุเข้าหน่วยไหนก็ไม่ทราบ ท่านตนกูเล่าว่ามีหน้าที่ราวกับเป็นตำรวจภูธร ต้องออกจากบ้านไปตามจับผู้ร้ายที่บ้านนอกคราวละหลายๆวัน ครั้งสุดท้ายเป็นไข้หนักกลับมาเพราะไปเปียกฝน และถึงแก่กรรมอย่างรวดเร็วด้วยโรคปอดบวม (โรคนี้สมัยยังไม่มียาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพเป็นโรคที่ประมาทไม่ได้นะครับ ตอนนั้นเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถหลังหย่าขาดพระชายาแหม่มแล้วทรงสมรสใหม่กับหม่อมเจ้าหญิงองค์หนึ่ง ขณะกำลังไปฮันนิมูนกันที่สิงคโปรแต่เปียกฝนตอนขึ้นเรือ เมื่อไปถึงสิงคโปรก็ไข้สูงเกินแก้ แล้วสิ้นพระชนม์ที่เสียนั่นอย่างรวดเร็วเกินที่ใครจะคาดคิด)

ศพของร้อยเอกยูซุฟถูกฝังไว้ที่กุโบร์แถวมหานาค แหม่มแม่หม้ายและท่านตนกูก็ต้องเดินทางกลับเคดะห์ พี่ชายอีกคนหนึ่งชื่อตนกูยิหวามิได้กลับมาด้วย เพราะเรียนอยู่ราชวิทยาลัยซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ ท่านผู้นี้เหมือนคนไทยมุสลิมที่น่ารักทั้งหลาย หาความแปลกแยกระหว่างคนไทยด้วยกันเชื้อสายอื่นๆไม่ได้เลย ผมคงจะได้เขียนถึงท่านอีกในตอนหลังๆ

หม่อมเนื่องเอาเก๋งคันโตของสุลต่านมารอรับบุตรชายและพี่สะใภ้ที่ท่าเรือสงขลากลับไปเคด่ะห์ สุลต่านไม่ยอมรับสะใภ้แหม่มอยู่แล้วแต่ก็ยังใจดีจัดการส่งนางกลับไปอังกฤษ

ท่านตนกูระลึกถึงพี่ชายคนโตนี้มาก เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วเคยประสานมาทางเพื่อนคนไทย เดินทางเป็นการส่วนตัวมาขุดเอาอัฐิร้อยเอกยูซุฟห่อผ้าขึ้นเครื่องบินกลับไปบรรจุไว้ในสถูปของตระกูลที่เคด่ะห์อย่างเรียบร้อย สบายใจ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 10, 11:24
ดิฉันไม่มีความรู้เรื่องท่านตนกู      ถ้าคุณ N.C. ไม่คิดว่าการเข้ามาผสมโรงบางครั้งเป็นการขัดจังหวะให้เสียสมาธิ     ก็จะพยายามยกมือให้รู้ว่ายังติดตามอยู่
เรื่องราวของท่านตนกูยูซุฟ  กับสยาม    คุณศุภร บุนนาคได้ดัดแปลงเป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งในนวนิยายเรื่อง เกลียวทอง    ซึ่งหาอานได้ยากมาก
ตอนอ่านในสตรีสาร  ก็สงสัยว่าคนเขียนได้เรื่องมาจากไหน   เพราะดูหนักแน่นในรายละเอียด เกินกว่าจะคิดว่าท่านสมมุติขึ้นมาเอง  ตอนนี้รู้แล้ว
ถือว่าเป็นบายโปรดัคจากกระทู้นี้ค่ะ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ค. 10, 12:07
ไม่ขัดจังหวะครับ ชอบครับ
เอ้า..เล่าต่อ

ถวิล คุปตารักษ์ เป็นลูกชายเจ้าของบ้านที่พี่ชายท่านตนกูไปเช่าอยู่ระหว่างปลูกบ้านของตนเอง คุณถวิลกำลังเรียนอยู่เทพศิรินทร์ ท่านตนกูจึงได้ไปเข้าที่โรงเรียนที่นั่นด้วย ทั้งสองจึงเป็นเพื่อนรักที่ขี่จักรยานไปโรงเรียนด้วยกันทุกวัน
ถวิล คุปตารักษ์ ต่อมารับราชการ ทำงานอยู่กรมรถไฟ(ตอนนั้นใครทำงานที่นั่นต้องถือว่าโก้มาก)ได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงถวิลเศรษฐพณิชการ เคยได้จัดให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดชเสด็จทอดพระเนตรรถไฟที่หัวลำโพง คราวเสด็จนิวัติพระนครครั้งแรก เมื่อพ.ศ.๒๔๗๓

โรงเรียนเทพศิรินทร์เคยเป็นโรงเรียนที่ผลิตเด็กระดับหัวกะทิแข่งกับโรงเรียนสวนกุหลาบ ท่านตนกูเรียนอยู่ที่นี่น้อยไปหน่อย เพียงสองปี แต่นั่นก็เพียงพอสำหรับสิ่งดีๆที่เป็นความประทับใจของท่านถึงกับยอมรับว่าตนเองเป็นคนสยาม

และจุดนี้เลยเป็นจุดใหญ่ที่พรรคบาส ฝ่ายค้านหัวรุนแรงของมาเลย์ได้นำไปโจมตีระหว่างการรณรงค์หาเสียงว่าท่านเป็นพวกมาเลย์เทียม ขายชาติให้ประเทศไทย เพราะจุดยืนที่ท่านคัดค้านนโยบายที่พรรคบาสเสนอให้รวมสี่จังหวัดภาคใต้เข้ากับสหพันธรัฐมลายู ซึ่งผมจะได้เขียนเรื่องนี้อีกครั้งในตอนหลัง



กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 17 พ.ค. 10, 13:07
ขอบพระคุณมากครับ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ค. 10, 14:50
ยินดีครับคุณvirain


สมัยนั้น พวกเจ้านายของรัฐต่างๆจะส่งลูกไปเรียนที่The Malay College ในกัวลากังซาร์ และผู้ดีมีเงินจะลูกไปเรียนที่ปินังกัน ไม่ใช่แต่คนมาเลย์นะครับ นายหัวชาวจีนทางปักษ์ใต้เกือบทั้งหมดก็ให้ลูกนั่งเรือไปเรียนที่ปินังทั้งนั้น ความนิยมนี้ลากยาวมานานจนถึงสมัยผมเป็นวัยรุ่นทีเดียว ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์เทาชมพูจะจำได้หรือเปล่า ตอนอาภัสราขึ้นเวทีประกวดนางสาวไทยนั้น เธอให้สัมภาษณ์อย่างเหนียมอายว่ากำลังเรียนวิชาเลขานุการอยู่ที่ปินังเหมือนกัน ดูดี้ดี

ท่านตนกูก็ถูกเลือกให้ส่งไปเรียน Penang Free Schoolที่ดำเนินการโดยคนอังกฤษ เด็กเก่งบางทีก็เพราะครูดีด้วย ตนกูได้ครูชื่อMr. H.R.Cheeseman (ชื่อน่าจะทำของกินขายมากกว่าเป็นครูนะ ผมว่า) จุดประกายให้เด็กชายที่มีแววปราชญ์เปรื่องสนใจภาษาอังกฤษ แม้จะเป็นนักฟุตบอลของโรงเรียน(นั่งกลางที่ไม่ได้ถือลูก) แต่ท่านก็เรียนดีถึงกับได้passชั้นถึงสองครั้ง เข้าสูตรเรียนดี-กีฬาเด่นตามสเป๊กของคนอังกฤษทีเดียว

 ก่อนหน้านั้น สุลต่าน อับดุล ฮามิด สุขภาพทรุดลงไปอีกครั้ง คราวนี้ย่ำแย่ถึงกับต้องตั้งตนกู อิบราฮิม บุตรชายคนโตให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทน แม้ตนเองจะมีการศึกษาแค่ภาคบังคับ แต่ตนกู อิบราฮิมก็มีสายตายาวไกลหลายเรื่อง รวมทั้งการศึกษาของน้องๆ ข่าวการเรียนดีของท่านตนกูทำให้ท่านต้องผลักดันให้คณะสมาชิกรัฐสภา(ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยที่กรมพระยาดำรงท่านทรงเล่นบทIMF) อนุมติทุนการศึกษาให้ส่งนักเรียนเรียนดีไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ท่านตนกู ตอนนั้นอายุ16ปี เป็นผู้ชนะการคัดเลือกชิงทุนดังกล่าว


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ค. 10, 15:00
ปีนั้นตรงกับพ.ศ.2463 สงครามโลกครั้งแรกเพิ่งสงบลงได้เพียงปีกว่าๆ เรือโดยสารหายาก จะมีคิววิ่งมาแถวนี้สักลำหนึ่งคนก็จองกันข้ามปีข้ามเดือน ด้วยเส้นใหญ่ขนาดเส้นก๋วยจั๊บ ราชสำนักเคดะห์ก็สามารถหาตั๋วไปอังกฤษให้ท่านตนกูได้หนึ่งใบ แต่เป็นเรือสินค้าที่แบ่งเคบินมาขายให้ผู้โดยสารเพียง12คนเท่านั้น เรือลำนี้จะออกจากท่าที่สิงคโปร์ แวะรับสินค้าในท่าเรือมลายูมาเรื่อยๆจนถึงปินัง แล้วจึงจะมุ่งสู่ยุโรป แทนที่จะรอขึ้นที่ปินังเพราะใกล้บ้าน ท่านตนกูก็ถูกแนะนำให้ไปขึ้นเรือที่สิงคโปร์ เพราะตอนนั้นโรคมาเลเรียระบาดมาก บริเวณท่าเรือของปินังสกปรกน้ำเน่า ยุงชุมมาก ควรหลีกเลี่ยง อย่างไรก็ดี แม้จะไปลงเรือที่สิงคโปร์ แต่พอเรือมาเทียบท่ารับสินค้าที่กลัง ท่ามกลางป่าจากที่เต็มไปด้วยยุงก้นปล่อง ท่านตนกูจึงติดเชื้อมาเลเรียไปจนได้ ระหว่างอยู่ในเรือก็จับไข้ เป็นๆหายๆไปตลอดทาง กว่าจะทุเลาก็เกือบที่เรือจะถึงท่าทิลบุรี่ในลอนดอนแล้ว


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 พ.ค. 10, 15:25
ขออนุญาตเสริมคุณนวรัตน (อีกแล้ว)

 ;)

คุณวิกรม กรมดิษฐ์สรุปเกี่ยวกับการศึกษาของตนกูไว้ใน “ตนกู อับดุล ราห์มานบิดาแห่งประเทศมาเลเซีย” คอลัมน์ “มองซีอีโอโลก”

ตนกู อับดุล ราห์มาน เริ่มเรียนหนังสือตอนที่ท่านมีอายุได้ ๖ ขวบ โดยในชั้นแรกนั้นท่านเริ่มเรียนชั้นประถมที่โรงเรียน “จาลาน บาฮารู” ในเมืองอลอร์สตาร์ เมืองหลวงของรัฐเคดาห์ ซึ่งในปีนั้นตรงกับปี ค.ศ. ๑๙๐๙ และเป็นปีที่สยามต้องจาใจยกเมืองไทรบุรีให้กับอังกฤษไป ดังนั้น เมืองไทรบุรีหรือรัฐเคดาห์จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของบริติชมาลายาซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

ต่อจากนั้น ท่านย้ายไปเรียนที่โรงเรียนของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นโรงเรียนที่มีชื่อว่า Sultan Abdul Hamid College ช่วงเวลาตอนเช้าท่านจะเรียนหนังสือทั่ว ๆ ไปแล้วพอตอนบ่ายท่านก็เรียนคัมภีร์กุรอ่าน เล่ากันว่าตอนที่ท่านได้ไปโรงเรียนตอนแรกนั้น ผู้ติดตามรับใช้ในวังจะแบกท่านไปโรงเรียน ท่านก็กรีดร้องใส่ไม่ยอมให้แบก สมัยนั้นลูกหลานสุลต่านถือว่าเป็นผู้สูงศักดิ์ระดับเจ้าชายบ้านเราและเท้าจะเปื้อนดินไม่ได้ดังนั้นเวลาไปไหนมาไหนต้องให้คนแบก ท่านมีความสุขมากที่ท่านไม่ต้องถูกแบกเวลาไปและกลับจากโรงเรียน

บิดาแห่งประเทศมาเลเซียผู้นี้มีความใกล้ชิดกับไทยมาก เพราะนอกจากที่ท่านจะมีมารดาเป็นคนไทยแล้ว สมัยเด็ก ๆ ท่านยังเคยถูกส่งตัวให้มาอาศัยอยู่ที่เมืองไทยเป็นระยะเวลาหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๑๑ ตอนนั้นท่านมีอายุได้ประมาณ ๘ ขวบ และอยู่ที่กรุงเทพนาน ๒ ปี โดยพักกับพี่ชายของท่าน คือ ร้อยเอกตนกู ยูซุฟ ขณะนั้นรับราชการในกรมตารวจ ท่านทั้งสองได้พักอยู่ที่บ้านของเจ้าคุณอนุสาสน์ที่ถนนอนุวงษ์

ตนกู อับดุล ราห์มาน เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนเทพศิรินทร์ ท่านถูกบิดาส่งตัวมาอยู่ที่กรุงเทพเพื่อเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้เมื่อประมาณ ปี ค.ศ. ๑๙๑๓ ท่านจะไปเข้าเรียนตอนประมาณ ๕ โมงเช้าแล้วเลิกเรียนตอนบ่ายโมง หลังจากโรงเรียนเลิกเป็นเวลาสาหรับการเที่ยวเล่นสนุกไปตามประสาเด็กผู้ชาย ด้วยการขี่จักรยานเที่ยวกับเพื่อนสนิทชื่อ ถวิล คุปตรักษ์เป็นบุตรของเจ้าคุณอนุสาสน์เจ้าของบ้านที่ท่านและพี่ชายเคยไปพักอยู่ด้วยระยะหนึ่ง หรือไม่ก็ขี่จักรยานไปหาของกินที่บริเวณเชิงสะพานยศเส ซื้อเนื้อสะเต๊ะกินกัน แต่หลังจากนั้นเมื่อพี่ชายของท่านสิ้นชีพตักษัยลงเมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๔ เนื่องจากป่วยเป็นปอดบวมหลังจากที่เดินทางไปจับผู้ร้ายที่ต่างจังหวัดต้องกราแดดกราฝน ตนกู อับดุล ราห์มาน เสียใจมาก และเมื่อสิ้นพี่ชายไปจึงทาให้ญาติของ ตนกู อับดุล ราห์มาน เดินทางมารับตัวท่านกลับไปอยู่ที่รัฐเคดาห์ดังเดิม

เมื่อกลับไปอยู่ที่รัฐเคดาห์ ท่านเข้าเรียนที่โรงเรียนปีนังฟรีสกูล (Penang Free School) เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๑๕ แล้วได้ทุนการศึกษาจากรัฐบาลรัฐเคดาห์เพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยเซนต์แคทเธอรีน (St Catharine's College) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๑๘ โดยท่านเป็นนักเรียนคนแรกที่ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลของรัฐเคดาห์ให้ไปศึกษาต่อยังสหราชอาณาจักร แต่ก่อนที่ท่านจะได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนั้น ท่านต้องไปอยู่ที่หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งชื่อว่า Little Stukeley ใน Huntingdon เพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมกินนอนเสียก่อน แล้วจากนั้นก็เข้าเรียนมหาวิทยาลัย ท่านเรียนจบได้รับปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในปี ค.ศ. ๑๙๒๕

สมัยที่ตนกู อับดุล ราห์มาน ใช้ชีวิตอยู่ที่อังกฤษ กล่าวได้ว่าท่านเป็นหนุ่มที่คึกคะนองมาก เพราะท่านเป็นคนที่รักการขับรถเร็วเป็นชีวิตจิตใจมาก จนถูกจับในข้อหาที่เกี่ยวกับการจราจรถึง ๒๘ ครั้ง

http://www.vikrom.net/update/file/pttonguabdul300809%5Bedit%5D.pdf


บน -  Sultan Abdul Hamid College
ล่าง - St Catharine's College


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ค. 10, 15:52
ขอบคุณคุณเพ็ญครับ ทำให้ผมทุ่นแรงไปอักโข

Little Stukeley หมู่บ้านในชนบทเล็กๆที่ท่านตนกูพบว่ามีนักเรียนไทยไปอยู่ก่อนหน้านั้นแล้วถึง3คน
คนหนึ่งชื่อเทพ อภัยวงศ์

ผมเปิดปูมไม่เจอว่าท่านผู้นี้ลูกเต้าเหล่าใคร ไปเรียนแล้วกลับมาทำอะไร


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ค. 10, 16:10
วิทยาลัยเซนต์แคทเธอรีน (St Catharine's College) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

ในระหว่างปีที่ท่านตนกูไปศึกษาอยู่


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ค. 10, 16:27
ในปีพ.ศ.2466 ท่านตนกูเห็นการโฆษณาชักชวนให้ไปชมMotor Showประจำปีแล้วก็กิเลศพลุ่งพล่าน ไปรอคิวเข้าชมงานที่โอลิมเปียในวันแรกเพื่อจะจองรถสปอร์ตรุ่นล่าสุดของRileyให้ได้ ราคาของมัน550ปอนด์ เมื่อจองแล้วก็โทรเลขไปอ้อนแม่ให้ส่งเงินมาให้ ซึ่งเธอก็ส่งมาโดยดีก่อนวันปิดงาน เป็นที่ทราบกันอยู่ว่าพักหลังนี้หม่อมเนื่องเป็นนักธุรกิจสตรีระดับเจ๊สัวคนหนึ่ง

แล้วรถราคาแพงก็ทำหน้าที่ของมัน  ไม่มีใครในเมืองไม่รู้จักเจ้าของรถว่าเป็นใคร


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 พ.ค. 10, 06:53
ชีวิตในเคมบริดจ์เป็นดังสวรรค์สำหรับท่านตวนกู แม้จะเลือกเรียนกฏหมายตามคำแนะนำของท่านผู้สำเร็จราชการ แต่ก็ไม่ได้เคร่งเครียดนัก คบเพื่อนฝูงเยอะทั้งคนอังกฤษและคนไทยที่นั่น หนักไปทางเล่นประกอบกันไป ติดทีมของวิทยาลัยเซนต์คาธารีนทั้งฟุตบอลและเทนนิส


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 พ.ค. 10, 07:01
ตนกู อิบราฮิม ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแห่งเคดะห์ ผู้สนับสนุนให้ตนกูได้ทุนมาศึกษาที่นี่ ชวนตนกูยิหวา พี่ชายแท้ๆของท่านตนกูมาเยี่ยมน้องที่เคมบริจด์ คงได้ข่าวว่าแม่ซื้อรถสปอร์ตให้


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 พ.ค. 10, 08:25
เกร็ดตอนนี้น่าสนใจ

 :D

The British advisor to Malaya was summonsed by the Sultan of Kedah so that he may explain to the Dean of the university that Tunku was a prince in Malaya.

The Dean was totally shocked and exclaimed “why did you not say to me this before!”.

Tunku was then offered a room on campus but he gracefully declined as he had grown accustomed to living elsewhere by then.

http://revistaminimi.com/the-story-of-tunku-abdul-rahman-and-his-time-in-the-united-kingdom.html


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 18 พ.ค. 10, 09:11
ขอบคุณสำหรับเรื่องดีๆครับ
ขอคั่นรายการด้วยเรื่องฐานันดรของเจ้ามลายูครับ

เป็นบทความของขุนศิลปกิจจ์พิสัณห์(ผัน ศุภอักษร) อดีตศึกษาธิการจังหวัดในชายแดนปักษ์ใต้
ปักษ์ใต้มีบุคลากรทางการศึกษา ๒ ท่าน เป็นขุนศิลป์ เหมือนกัน และเป็นเกลอกัน
ท่านแรกคือขุนศิลปกิจจ์พิสัณห์(ผัน ศุภอักษร)
ท่านที่ ๒ คือขุนศิลปกรรม์พิเศษ(แปลก ศิลปกรรมพิเศษ) นามสกุล ม ไม่มีการันต์
ขุนศิลปกิจจ์ฯ เขียนเรื่อง เลเพลาดพาด สรุปความได้ดังนี้....

ตวนกู Tuanku เป็นคำใช้เรียกเจ้าผู้ครองรัฐและชายา
เต็งกู Tengku เป็นคำแสดงศักดิ์ของเจ้า
ตุน Tun เป็นบรรดาศักดิ์ของสามัญชน
นิ Nik เป็นผู้สืบเชื้อสายจากขุนนางชั้นสูง
วัน หรือ แว Wan เป็นผู้สืบเชื้อสายขุนนางชั้นสูงที่ต่ำกว่า นิ
เจ๊ะ Cek เป็นคำยกย่องชื่อผู้ดีมีตระกูล
ดาโต๊ะ Datok เป็นบรรดาศักดิ์
กู Ku เป็นคำนำหน้าชื่อผู้สืบเชื้อสายจากพระยาเมือง เข้าใจว่ากร่อนมาจาก เอิงกู Enjku หมายถึงผู้สืบสายเจ้า


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 พ.ค. 10, 12:32
เรื่องยศศักดิ์ของเจ้านายมาเลย์ คุณวิิกกี้อธิบายไว้

http://en.wikipedia.org/wiki/Malay_styles_and_titles

Tuanku  is both a title when used before a name and form of address when used alone, and is reserved for the Malay Rulers. It literally means "My Lord", and as a form of address can be glossed as "Your Majesty" or "Your Highness", but is left untranslated when used as a title. In Sarawak, "Tuanku" is the prefix used by certain noble families. In Aceh, a province of Indonesia, "Tuanku" is given to children and grandchildren of a ruling monarch.

Tengku (also spelled Tunku in Johor, Negeri Sembilan and Kedah, and Ungku or Engku Ansaruddin Agus to denote particular lineages, and Raja in Perak and certain Selangor lineages, and Syed/Sharifah in Perlis if suffixed by the royal clan name) is roughly equivalent to Prince or Princess. In Aceh, "Tengku" is the title given to religious officers, e.g. Tengku Imam Meunasah (leader of the mosque).



กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ค. 10, 14:04
ส่งรูปเมือง Little Stukeley ที่ท่านตนกูเคยไปพัก มาประกอบบรรยากาศกระทู้


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 พ.ค. 10, 21:13
ฐานันดรศักดิ์จ้าวนายต่างๆของมาเลย์มีมากมายและสับสนเป็นอย่างยิ่ง เพราะแต่ละรัฐใช้เหมือนกันบ้างไม่เหมือนกันบ้าง คนมาเลย์เองก็รู้ได้ไม่หมดอธิบายไม่ได้ คนไทยยิ่งสุดปัญญาจะจดจำหรือทำความเข้าใจได้เลย ไม่เชื่อก็ลองไปอ่านที่คุณวิกี้เขียนไว้ คุณเพ็ญชมพูอุตสาห์ทำโยงคลิ๊กไว้ให้แล้ว

อังกฤษในพ.ศ.2469นั้น มีเจ้านายมาเลย์รัฐต่างๆถูกส่งมาเรียนหลายคน ท่านตนกูได้แสดงความสามารถในความเป็นผู้นำแล้วในตอนนั้น ด้วยการรวบรวมคนเหล่านี้มาจัดตั้งสมาคม “The Malay Society of Great Britain” แต่ก็ยกให้ ตนกู อับดุล ราะห์มาน อีกคนหนึ่งซึ่งเป็นบุตรของยังดี เปอตวน เบซาร์ (ประมุข)แห่งนครรัฐ เนกิรี ซัมบิลัน เป็นนายกสมาคมคนแรก ชื่อตัวของคนมุสลิมเองก็ซ้ำๆกันอีก ชื่อเต็มๆจึงต้องมีสร้อยไว้ข้างท้ายด้วยว่าเป็นลูกของพ่อชื่ออะไร เพราะเขาไม่ใช้นามสกุล เวลาจะเขียนชื่อท่านตนกูของเราคนนี้แบบครบเครื่องต้องเขียนว่าตนกู อับดุล ราะห์มาน บิน สุลต่าน อับดุล ฮามิด หากสั้นๆคนมาเลย์ทั่วไปจะเรียกท่านว่าตนกูปุตรา หรือเป็นทางการหน่อยอย่างที่สมาคมมาเลย์แห่งราชอาณาจักรเรียกท่านว่าตนกู อับดุล ราะห์มาน ปุตรา

ท่านตนกูสังเกตุเห็นตั้งแต่บัดนั้นแล้วว่า เจ้านายจากรัฐต่างๆจะถือตน ไม่ชอบคบคนอื่น คนมาเลย์ในยุคนั้นยังไม่มีสำนึกของความเป็นชนชาติเดียวกัน เพราะในอดีตต่างก็เป็นอริชิงดีชิงเด่น ชิงดินแดนซึ่งกันและกัน การมารวมตัวกันเป็นสมาคมได้ถือเป็นก้าวแรกที่ดี แต่หนทางยังอีกยาวกว่าที่นครรัฐทั้งหลายจะยอมละลายความรู้สึกชาตินิยมระดับรัฐ มาสร้างชาตินิยมร่วมกันในระดับประเทศ

ในเคมบริดจ์ท่านตนกูจึงยังชอบที่จะคบคนไทยอยู่ รูปล่างด้านซ้ายท่านไม่ได้ระบุชื่อคนสยามทั้งสามไว้(เพราะจำยากมากสำหรับชาวต่างชาติ)แต่ระบุชื่อแหม่มแฟนของท่าน รูปล่างด้านขวา ชื่อที่เขียนภาษาอังกฤษผมแปลว่าหม่อมเจ้าลักษณากร เกษมสันต์ ท่านทรงไปศึกษาวิชาพฤกษศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยนี้  กลับมารับราชการกระทรวงเกษตรและเป็นอธิบดีกรมกสิกรรมก่อนจะทรงเกษียณอายุ และได้รับโปรดเกล้าให้เป็นราชบัณฑิต สาขาเกษตรศาสตร์

ท่านตนกูใช้ชีวิตเด็กมหาวิทยาลัยอย่างสนุกสนาน และเพลิดเพลินกับกิจกรรมนอกหลักสูตรมาก การเรียนของท่านจึงไม่ค่อยจะอยู่แนวหน้าเหมือนสมัยเด็กๆ แถมมีโชคไม่ดีแถมเข้ามา ในการสอบวิชาสำคัญวิชาหนึ่ง ท่านจำวันผิด จึงนั่งดูหนังสืออยู่ที่บ้าน กว่าเพื่อนจะเตือนและรีบขี่จักรยานไปเข้าห้องสอบก็สายเกิน ต้องเรียนซ้ำวิชานั้นเสียเวลาไปเปล่าๆถึง6เดือน


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ค. 10, 11:08
ท่านตนกูเคยกลับมาอลอร์ สะตาครั้งหนึ่งพร้อมปริญญาตรีนิติศาสตร์ หลังจากเวลาผ่านไป5ปี ตอนนั้นอายุเพียง23 หนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยวดังในรูป ท่านผู้สำเร็จราชการนั่งฟังน้องชายกลับมารายงานตัวด้วยความพอใจ แต่ก็สรุปว่า ยังเด็กไปที่จะเข้ารับราชการงานเมือง ควรจะกลับไปเรียนกฏหมายให้ได้ขั้นเนติบัณฑิตจะดีกว่า แม้ว่าท่านตนกูและมารดาจะอยากอยู่ที่เคดะห์ไม่กลับไปแล้ว แต่ก็ไม่กล้าฝืนความปรารถนาดีนี้ ท่านตนกูจึงศึกษากฏหมายอังกฤษขั้นสูงไปด้วยความเหนื่อยหน่ายใจ ระหว่างนี้เจอเพื่อนแก้เซ็ง ได้แก่แหม่มในรูปที่แล้วซึ่งแก่กว่าท่านถึง5ปี เคียงข้างไปตลอดแม้จะเป็นงานบอลล์ สนามม้า หรือคาสิโน การเรียนจึงใช้เวลายืดยาวเท่าที่มหาวิทยาลัยจะยอมให้ได้ แต่สุดท้ายท่านก็ไม่ผ่านอยู่ดี แม้จะสอบได้4วิชาใน5  ที่ตกคือวิชากฎหมายด้วยว่าอสังหาริมทรัพย์ และการโอนทรัพย์สิน แต่นั่นก็เพียงพอที่ทำให้ท่านจะต้องกลับบ้านมือเปล่าหลังจากใช้เวลาไปอีก3ปีในยกที่สองนี้

การเป็นนักศึกษาเพลย์บอยระดับอมตะนิรันดร์กาลสมัยอยู่ในอังกฤษถือเป็นเรื่องที่สังคมซุบซิบที่ไฮโซมาเลย์จะยกมาพูดกันสนุกสนาน ไม่จบตลอดชีวิตการเป็นนักการเมืองดังของท่าน


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ค. 10, 12:35
ท่านตนกูกลับมารายงานตัวกับท่านผู้สำเร็จราชการอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ท่านแสดงความรู้สึกผิดหวังและละอายใจ ที่น้องชายได้ไปเรียนอังกฤษด้วยทุนของรัฐแล้วไม่สำเร็จกลับมา อีกสองสามวันหลังจากนั้น ท่านตนกูได้รับคำสั่งให้ไปรายงานตัว ณ ที่สำนักงานที่ปรึกษากฏหมายของรัฐในฐานะข้าราชการฝึกหัด เมื่อถึงเวลาสอบคัดเลือก ท่านสอบผ่านอย่างง่ายดายและได้รับการบรรจุให้เป็นนายอำเภอชายแดนที่ปาดัง เท-รับ มีหมู่ชาวสยามชื่อซัมซัมอยู่ที่นั่นด้วย (คนพื้นเมืองในเคดาห์พวกหนึ่งคือ“ ซัม ซัม” หรือ “เสียม – เซียม” ( Sam Sam ) คือ พวกสยามอาศัยอยู่บนแหลมมลายูมาแต่โบราณ  เมื่อครั้งราชามะโรงมหาวงศ์พร้อมด้วยข้าราชบริพารเดินทางเรือมาขึ้นฝั่งที่เกาะซะรี  ได้เรียกพวกพื้นเมืองนี้ว่า  อสูร ( Gergasi ) ดังปรากฏข้อความตอนหนึ่งว่า  ” ชาวพื้นเมืองเป็นพวกอสูร…บรรดาเหล่าอสูรมีพระเจ้าเสียมผู้นี้เป็นบุตรชาวพื้นเมือง”   คนเหล่านี้คงมีความเจริญกว่าชนชาติอื่นจึงได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำ  คนเหล่านี้ได้สืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ ( อนันต์ วัฒนานิกร , 2531 : 6-7 )

ถ้าจริงตามที่คุณอนันต์เขียน เผ่าพันธ์ซัมซัมคงจะเสื่อมลงที่นั่น คนในหมู่บ้านนี้จึงมีอาชีพลักวัวลักควายข้ามชายแดนจากเมืองไทยมาขาย เกิดปัญหาความสกปรกและโรคระบาดทั้งคนและสัตว์เนืองๆ ท่านตนกูนายอำเภอคนใหม่ไฟแรงก็ได้เพียรพยายามบุกเข้าไปเจรจากับหัวหน้าให้เลิกพฤติกรรมนี้  ในหนังสือไม่แจ้งว่าได้ผลหรือไม่ ยั่งยืนประการใด

อ่านมาพอสมควร ผมสังเกตุประการหนึ่งว่า กลุ่มชนที่คนไทยเรียกว่าพวกแขก หรือพวกมุสลิมที่ชายแดนนั้น คนมาเลย์จะเรียกว่าพวกสยาม ภาษายาวีที่เขาพูดกันคนไทยฟังไม่รู้เรื่อง คนมาเลย์ก็เรียกว่าภาษาสยามไม่ใช่มาเลย์ ตกลงชนเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่มีใครยอมรับว่าเป็นเชื้อชาติเดียวกับตน


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 19 พ.ค. 10, 13:15
อ่านมาพอสมควร ผมสังเกตุประการหนึ่งว่า กลุ่มชนที่คนไทยเรียกว่าพวกแขก หรือพวกมุสลิมที่ชายแดนนั้น คนมาเลย์จะเรียกว่าพวกสยาม ภาษายาวีที่เขาพูดกันคนไทยฟังไม่รู้เรื่อง คนมาเลย์ก็เรียกว่าภาษาสยามไม่ใช่มาเลย์ ตกลงชนเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่มีใครยอมรับว่าเป็นเชื้อชาติเดียวกับตน

ขอเพิ่มเติมเรื่องภาษายาวีครับ

ภาษายาวี กับภาษามลายูกลางที่ใช้ในมาเลเซีย ใกล้เคียงกันมากครับ สามารถสื่อสารกันได้แบบเดียวกับคนไทยภาคกลางคุยกับคนอิสาน หรือคนใต้ ที่มีสำเนียงต่างกัน หรือมีศัพท์บางคำต่างกัน
เช่น กิน ถ้าเป็นภาษายาวีจะพูดว่า มาแก แต่ภาษามลายูกลาง พูดว่า มากัน
เที่ยว ภาษายาวีพูดว่า ยาแล แต่ภาษามลายูกลาง พูดว่า จาลัน


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ค. 10, 13:48
ขออนุญาตย้อนกลับไปถึงเกร็ดชีวิตท่านตนกู สมัยเป็นนักศึกษาที่เคมบริดจ์     ท่านพักอยู่ข้างนอก  ไม่ได้อยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัย
เพราะ...
Apparently however, Tunku was not allowed to remain on campus at St Catherine’s College for a whole term because back in the year’19 when he was there, it was highly unusual for a Malayan to be a student of Cambridge because they “did not look like British students” so it was preferred they were to live off campus.

ถือผิวกันหนักหนาสาหัสเอาการ    ไม่เคยรู้มาก่อนเลยค่ะ
ทำให้สงสัยว่า ท่านตนกูไปเจอนักเรียนไทย ๓ คนพักอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆนอกมหาวิทยาลัย หนึ่งในนั้นคือคุณเทพ อภัยวงศ์  (ค.ห. 30)   
ก็เพราะทุกคน " did not look like British students”   so it was preferred they were to live off campus.  หรือเปล่า

จากตรงนี้ ถึงตอนที่คุณเพ็ญชมพูมาต่อให้ ในค.ห. 35  ว่า
The British advisor to Malaya was summonsed by the Sultan of Kedah so that he may explain to the Dean of the university that Tunku was a prince in Malaya. The Dean was totally shocked and exclaimed “why did you not say to me this before!”. Tunku was then offered a room on campus but he gracefully declined as he had grown accustomed to living elsewhere by then.

http://revistaminimi.com/the-story-of-tunku-abdul-rahman-and-his-time-in-the-united-kingdom.html


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ค. 10, 14:43
หนังสือหลักที่ผมนำมาย่อยให้อ่านไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เลย นอกจากว่าชีวิตที่เคมบริดจ์เป็นสวรรค์ของท่านตนกู ผมตัดเอา2ข้อความที่กล่าวถึงเรื่องห้องพักที่วิทยาลัยเซนต์แคเธอรีน มาให้ดู ผมแปลไม่ออกตัวเดียว คำว่า pesioner หาไม่เจอแปลว่าอะไร

อีกข้อความหนึ่งแสดงถึงขนบประเพณีของชาวมหาวิทยาลัยที่นี่ ซึ่งในฐานะนักศึกษาทั่วไป ท่านตนกูต้องปฏิบัติ ผมไม่คิดว่าจะมีการเหยียดผิวอย่างที่กล่าวในอังกฤษนะครับ ถ้ามี เจ้านายไทยก็คงต้องโดนด้วยและคงไม่บิดบัง แต่ถ้าเป็นอัฟริกาใต้ หรืออเมริกาบางรัฐ สมัยนั้นก็ไม่แน่

คุณCTVครับ ภาษายาวีกับภาษามาเลย์ ผมว่าก็เหมือนภาษาลาวกับภาษาไทย ความรู้สึกของคนบางคนก็คล้ายกันมากเวลาคนไทยพูดถึงภาษาลาว และคนมาเลย์พูดถึงภาษายาวีที่เขาเรียกว่าไซมีส แต่ก็ยอมรับว่าเป็นความรู้สึกส่วนตัวของผมคนเดียวนะครับ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ค. 10, 14:57
ผมขอต่อเรื่องไปก่อนนะครับ แต่ถ้าท่านอยากจะเขียนเรื่องย้อนหลังเรื่องใดต่อ ก็เชิญนะครับ

ระหว่างเป็นนายอำเภอที่ปาดัง เท-รับ ท่านตนกูก็ได้ภรรยาอย่างเป็นทางการครั้งแรก เธอเป็นลูกสาวของนายหัวเหมืองแร่ดีบุกชื่อเถ้าแก่จง ท่านตนกูรู้จักมาก่อนเพราะเถ้าแก่คนนี้มาชวนพี่เขยและพี่สาวลงทุนเปิดเหมืองในเปรัก (เอกสารไทยชอบเรียกว่า เป-ระ) แล้วเจ้งเรียบร้อย เถ้าแก่เห็นว่าท่านตนกูยังไม่มีภรรยาจึงออกปากยกลูกสาวอายุ16ให้ ตอนแรกท่านก็เขินๆอยู่ พอดีถูกย้ายไปเป็นนายอำเภอ คราวนี้เถ้าแก่พาลูกสาวไปส่งถึงที่เลย พอดีสาวเจ้าเป็นคนสวยเข้าสเป๊ก พูดจามาดมั่นใจดี ท่านตนกูจึงตกลงรับเป็นภรรยาโดยไม่แจ้งให้ท่านผู้สำเร็จราชการทราบ แต่ให้แม่ป็นผู้จัดการแต่งงานตามประเพณีอิสลามให้ อาเหมยจึงได้กลายเป็นเมเรียม และเปลี่ยนศาสนาเป็นมุสลิม ดูเหมือนจะมีความเคร่งกว่ามุสลิมแท้ๆอดีตเพลย์บอยอังกฤษเสียอีกโดยเฉพาะในฤดูถือศีลอด ที่ท่านตนกูมักจะมีข้ออ้างขอเว้นเนื่องจากทำงานในตำแหน่งนายอำเภอเหนื่อยอยู่เนืองๆ

ทั้งสองมีบุตรชายและหญิงน่ารักด้วยกันสองคนดังรูป ก่อนที่เมเรียมจะติดเชื้อมาเลเรีย ซึ่งชุกชุมอยู่ในเมืองปาดัง เท-รับ เพราะเมืองนี้มีพื้นที่ชุ่มน้ำโดยรอบ ท่านตนกูพยายามยื้อชีวิตภรรยาอย่างถึงที่สุดด้วยการรีบพาไปรักษาที่ปินัง ที่นั่นมียาควินนินแบบฉีด ที่เป็นสิ่งเดียวที่อาจแรงพอจะต่อกรกับมาเลเรียได้ แต่อนิจจาเมเรียมแพ้ยานี้ เธอเสียชีวิตเกือบจะทันทีที่หมอฉีดยาเข้าเส้นเลือดของเธอ

คุณวิกี้ก็มีเรื่องภรรยาคนแรกของท่านตนกูเหมือนกัน

ท่านผู้หญิงมาเรียม จง อับดุลลาห์ (Lady Meriam Chong Abdullah) หรือ จง อา เหมย (Chong Ah Mei) หรือที่รู้จักกันในชื่อมาเรียม อับดุลลาห์ (Mariam Abdullah) ภรรยาคนแรกของตนกู อับดุล ราห์มัน นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศมาเลเซีย

ท่านผู้หญิงมาเรียมเป็นลูกสาวเจ้าของเหมืองชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีอิทธิพลในฝั่งไทย ชื่อ จง อา หยง (Chong Ah Yong) เธอมีเชื้อสายไทยแต่เธอเปลี่ยนมานับศาสนาอิสลาม เมื่อแต่งงานกับตนกู อับดุล ราห์มัน เมื่อพ.ศ.2476

ท่านผู้หญิงมาเรียมได้รับการคัดเลือกจากหม่อมเนื่อง นนทนาคร (Che Menjalara) มารดาของตนกู อับดุล ราห์มันให้เป็นเจ้าสาว ซึ่งมารดาของตนกู อับดุล ราห์มันมีเชื้อสายไทย ตามรายงานที่ปรากฏกล่าวว่า คุณเนื่อง นนทนาครบังคับให้แต่งงานกับตนกู ซึ่งตนกูปฏิเสธมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามพวกเขาได้แต่งงานตามประเพณีหลวงที่วังหลวงของเกดะห์

หลังจากที่แต่งงานกัน ก็ได้ให้กำเนิดบุตร 2 คน ได้แก่ ตนกู คอดิยะห์ และตนกู อาหมัดเนอรัง โชคร้ายในปีพ.ศ.2478 เพียง30 วันหลังจากที่ให้กำเนิดบุตรคนที่สองตนกู อาหมัดเนอรัง ท่านผู้หญิงมาเรียมก็เสียชีวิตด้วยโรคมาเลเรีย



กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ค. 10, 15:01
นักเรียนเก่าเคมบริดจ์อย่างคุณจ้อและคุณเปี้ยวแห่งวิชาการดอทคอม น่าจะรู้จักคำว่า pesioner
ดิฉันก็ไม่เคยเห็นคำนี้    ไม่รู้ว่าพิมพ์ผิดหรือเปล่า
แต่ดูจากบริบทแล้ว  น่าจะทำนอง resident

สรุปจากที่คุณ N.C. สแกนมาให้ดู  ท่านตนกูก็อยู่ในที่พักของนศ. ๓ ปี นับแต่เข้าเรียน    ไม่ได้อยู่ข้างนอกน่ะซีคะ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ค. 10, 17:09
อ้างถึง
สรุปจากที่คุณ N.C. สแกนมาให้ดู  ท่านตนกูก็อยู่ในที่พักของนศ. ๓ ปี นับแต่เข้าเรียน    ไม่ได้อยู่ข้างนอกน่ะซีคะ


นั่นน่ะซิครับ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ค. 10, 17:22
แล้วท่านไปมี landlady ชื่อ Violet Coulson ได้ในช่วงไหนล่ะคะ   :)


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ค. 10, 17:31
แหม่มไวโอเล็ต กิ๊กเก่าของท่านตนกูในลอนดอน เคยจากกันอย่างเข้าอกเข้าใจว่าจบเกมส์กันไปแล้ว เธอทำร้านอาหารที่กลายเป็นสโมสรอย่างไม่เป็นทางการของนักเรียนมาเลย์ในอังกฤษมาตั้งแต่เจอะเจอกับท่านตนกู และก็ยังทำกิจการนี้ของเธอต่ออยู่ ดังนั้นข่าวท่านตนกูแต่งงานเธอก็ทราบ ตกเป็นพ่อหม้ายอีกเธอก็ทราบ ครั้งหลังนี้เธอตัดสินใจฝากกิจการไว้กับญาติแล้วตีตั๋วลงเรือไปสิงคโปร เมื่อถึงที่นั่นแล้ว จึงจดหมายไปหาคู่รักเก่า

ท่านตนกูเองก็ใช่ย่อย ได้รับจดหมายก็รีบนั่งรถไฟไปสิงคโปร์ เมื่อพบเธอแล้วถ่านไฟเก่าก็ลุกโพลงขึ้นมาอีกดังถูกน้ำมันราด เป็นอย่างไรก็เป็นกัน หลังจากดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์กันจนอิ่มแปร้ ตนกูก็พานางไปมัสยิดแล้วทั้งสองก็แต่งงานกันแบบอิสลาม เสร็จแล้วจึงพาภรรยาแหม่มไปซ่อนไว้ที่ปินัง

ตามกฏหมายของเคด่ะห์ สมาชิกราชวงศ์ไม่สามารถแต่งงานกับช่าวต่างด้าวได้ก่อนได้รับอนุญาตจากสุลต่าน ถ้าละเมิดจะถูกตัดออกจากกองมรดก  เป็นที่ทราบดีอยู่ว่าตนกูอิบราฮิมผู้สำเร็จราชการเป็นผู้ที่คัดค้านการแต่งงานข้ามสายพันธ์อย่างรุนแรง แต่เผอิญท่านถึงพิราลัยไปก่อนหน้า ผู้สำเร็จราชการคนใหม่ ท่านตนกูมามูดน้องของท่านสุลต่านเป็นคนใจกว้างกว่าในเรื่องอย่างนี้ แต่ท่านตนกูก็ต้องออกแรงไม่น้อย ที่จะทำให้การแต่งงานที่ผ่านมาได้รับการรับรองว่าถูกต้องตามกฏหมาย แต่ก็ถูกผู้ใหญ่เขม่นแล้วแกล้งย้ายให้ท่านไปลังกาวี คือเอาไปปล่อยเกาะว่ายังงั้นเถิด ลังกาวีอยู่ติดเกาะตะรุเตาที่ไทยใช้คุมขังนักโทษ คิดดูเถิด ที่นั่นไม่มีถนนหนทาง ผู้คนน้อยนิด ความเจริญยังไม่เฉียดกราย แต่หาดทรายละเอียดและน้ำทะเลสีครามใสก็เป็นที่ชื่นชอบของคุณนายยิ่งนัก คนอังกฤษเคยแต่ทะเลสีมอๆ หาดกรวดกระด้าง น้ำเย็นเฉียบ เมื่อเจอทะเลอันดามันเข้าก็เห็นว่าเป็นสวรรค์บนดิน คนที่คิดว่าแหม่มอังกฤษจะทนอยู่เกาะไม่ได้ ต้องรีบเผ่นกลับลอนดอนไปโดยเร็วจึงต้องผิดหวัง

ตนกูเป็นคนเก่งไม่อยู่เฉย เมื่อมาอยู่ลังกาวีก็หางบประมาณมาทำท่าเทียบเรือ กรุยทางทำถนน และรื้อฟื้นตำนานของมัสซุรี หรือประไหมสุหรีผู้ต้องโทษประหารเพราะคำใส่ร้าย เลยสาปให้แผ่นดินนี้ไร้ความเจริญไปอีกเจ็ดชั่วโคตร ท่านตนกูเอาผู้นำชุมชนมานับนิ้วให้ดูว่ามันพ้นคำสาปไปแล้ว จึงช่วยกันค้นหาหลุมศพ และก็เจอว่าถูกทอดทิ้งไว้ในรกชัฎ ท่านจึงตั้งกองทุนรับบริจาคเงินมาบูรณะกุโบร์ของมัสซุรี ดาษพื้นใหม่ด้วยหินอ่อนสีขาวทำแลนด์สเคป(ดูรูปประกอบ) เมื่อนายฝรั่งที่รัฐบาลอังกฤษตั้งขึ้นมาเป็นที่ปรึกษาของสภาแห่งรัฐเคดะห์มาเยี่ยมชมเกาะ เห็นแววท่านตนกูเลยกลับไปเสนอให้ย้ายตำแหน่งไปอยู่เมืองสุไหงปาตานี(ไม่เกี่ยวกับเกี่ยวกับปัตตานีนะครับ แต่เป็นเมืองใหญ่รองจากอลอร์ สะตา) ตนกูเลยยุ่งกับงานทั้งวันไม่มีเวลาให้เมียเลย  เมืองที่ว่าใหญ่ก็แค่บ้านนอก แหม่มลอนดอนเลยออกอาการ ทั้งเบื่อทั้งเครียด นั่งเรือกลับไปทำร้านอาหารต่อดีกว่า

อีกสองปีต่อมา เมื่อตนกูกลับไปอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง ทั้งสองได้ตกลงทำหนังสือหย่ากันด้วยความสมัครใจ เพราะไวโอเล็ตเองก็กำลังอยากจะแต่งงานใหม่กับอเมริกันชนคนหนึ่ง เป็นถึงอัยการทหาร

เรื่องนี้จบลงแบบ ภาษามวยเรียกว่าพลิกไปพลิกมา ท่านแก้วเก้าจะเอาเรื่องจริงนี้ไปเป็นพล็อตแต่งนวนิยายจากบ้างก็ได้นะครับ ท่านตนกูคงชอบ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ค. 10, 17:55
นวนิยายหรือจะมีสีสันเท่าชีวิตจริงได้     ดูแต่ "เมืองนิมิตร" เป็นตัวอย่าง :)
ผู้หญิงในรูปวาดเป็นภรรยาของท่านตนกูหรือคะ?

ท่านตนกูน่าจะมีไวโอเล็ตเป็นรักแรก (ซึ่งมักจะแรงกว่ารักครั้งหลังๆ)     ส่วนคุณมิเรียมนั้นผู้ใหญ่จัดการให้ ก็เลยปฏิเสธไม่ได้   พอเธอตายจากไป   ถ่านไฟเก่าเลยโชนแสงขึ้นมาอีก
คุณนายแหม่ม ก็คงรักเจ้าชายมาเลย์ด้วยน่ะแหละ  ไม่งั้นคงไม่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงสิงคโปร์   อยู่กันได้ตั้งหลายปี จนกระทั่งน้ำผึ้งขมไปเอง  ด้วยสถานการณ์แวดล้อม   
ก็ดีที่ผู้หญิงตะวันตกมักมีกำลังใจจะตั้งต้นใหม่ได้อีกครั้ง   ไม่อาภัพเหมือนนางเอกนิยายไทยรุ่นเก่า ที่ผิดหวังเมื่อไรก็ตายลูกเดียว 
 
ชีวิตสองคนนี้ เหมือน Rudyard Kipling เคยเปรียบเปรยไว้ว่า  “East is East, and West is West, and never the twain shall meet” แต่คำนี้คงไม่จริงอีกแล้ว ในโลกไร้พรมแดน


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ค. 10, 21:58
หามิได้ครับ ผู้หญิงในรูปวาดนั้น มีนามว่ามาซูรี   

นางเป็นหญิงสยามที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณชายหาดกมลา เกาะภูเก็ต ต่อมาบิดามารดาได้อพยพโยกย้ายไปอยู่ที่เกาะลังกาวี นางจึงได้สมรสกับน้องของสุลต่านแห่งลังกาวี ซึ่งมีชายาอยู่แล้วหนึ่งคน

มัสซูรีเป็นที่รักของพระสามีมาก และให้กำเนิดบุตรที่น่ารักน่าเอ็นดู ตามกฏแล้ว ชายาที่มีบุตรจะได้รับตำแหน่งเอกภรรยา จึงเป็นที่ริษยาของชายาคนแรกเป็นอย่างยิ่ง เพราะนางมีเพียงธิดา เมื่อสามีต้องไปรบกับชาวสยามที่มาตีเมือง นางก็ถูกใส่ร้ายว่าคบชู้กับชายชาวชวาที่เรือแตกมาติดเกาะ และนางได้ช่วยเหลือให้ข้าวให้น้ำประทังชีวิต

ในที่สุดสุลต่านให้ลงโทษประหารด้วยการใช้กริชแทง แต่กริชใดๆก็ไม่ระคายผิวของนาง จนนางต้องบอกให้ใช้กริชของสามีแทงปักหัวใจ ก่อนจะตาย นางได้กล่าวว่า ถ้าไม่ได้ทำผิด ขอให้เลือดที่ไหลออกมาเป็นสีขาวประดุจน้ำนม และสาปแช่งไว้ว่า....ขอให้ลังกาวีประสบทุพภิกขภัย แห้งแล้งกันดาร ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ไฟไหม้ทุ่งนาทุกครั้งที่ถึงเวลาเก็บเกี่ยว และให้เป็นเช่นนี้ตลอดไปจนครบเจ็ดชั่วโคตร ปรากฏว่าเลือดของนางป็นสีขาวจริงๆ นางจึงได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า เจ้าแม่เลือดขาว

แผ่นจารึกที่ทางการได้สลักไว้หน้าหลุมศพ แสดงปีที่นางถูกประหารชีวิต ตรงกับปี ค.ศ. 1819 หรือ พ.ศ. 2362  อันเป็นรัชสมัยของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
เมื่อสามีกลับจากการรบ แล้วพบว่านางถูกประหารชีวิต ก็โศกเศร้ายิ่งนัก อุ้มลูกน้อย หนีลงเรือไปขึ้นฝั่งที่หาดกมลา เกาะภูเก็ต และอยู่ที่นั่นจนตลอดชีพ ส่วนโอรสก็สมรสกับสาวไทยและมีลูกหลานสืบเชื้อสายต่อกันมา ส่วนที่ลังกาวีก็แห้งแล้งกันดานสมคำสาปจริงๆ

ว่ากันไปถึงว่า มีการค้นพบสาวไทยชื่อ ศิรินทรา ยายี  ที่บ้านกมลา ภูเก็ต และพิสูจน์ได้ว่าเธอเป็นผู้สืบเชื้อสายรุ่นที่ 7 ของมาซุรี โดยมีหลักฐานคือกริชและธงประจำตระกูล ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียสมัยมหาเธร์ได้เชิญน้องศิรินทรา(ซื่อมาเลย์-Wan Aishah Wan Nawawi) กลับไปอยู่ลังกาวี รูปข้างล่างเป็นรูปของน้องและรูปของมาซูรีที่จิตรกรสร้างมโนภาพขึ้นจากใบหน้าของน้องเค้า

ปัจจุบันลังกาวีพ้นคำสาป และกลับมาอุดมสมบูรณ์มั่งคั่ง กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของมาเลเซีย แข่งกับภูเก็ตไปแล้ว


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 พ.ค. 10, 09:57
การกลับไปอังกฤษของตนกูครั้งนั้นมิได้มีจุดหมายที่ไวโอเล็ต ท่านเจออุปสรรคสำคัญในระหว่างการทำหน้าที่นายอำเภอในสุไหงปาตานี เพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายของเลขาธิการรัฐชาวอังกฤษคราวหนึ่ง จนถูกคำสั่งย้ายด่วนภายใน24ชั่วโมงไปอยู่อีกอำเภอ จนคิดว่าตนควรลายาวเพื่อกลับไปเรียนเนติบัณฑิตให้ผ่านจะดีกว่า ภายหน้าจะได้สามารถกลับมาทำอาชีพอิสระด้วยการเป็นทนายความหากไม่สามารถฝืนใจรับราชการได้

เพื่อความเข้าใจอันดี ผมขอกล่าวถึงการปกครองของอังกฤษในมลายูยุคก่อนสงครามสักเล็กน้อยพอเป็นพื้น ผมไม่ได้ตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องการเมืองการปกครองหรอกครับเพราะจะไม่สนุก แต่จำเป็นต้องแตะบ้าง การปกครองมลายูตอนนั้นแบ่งออกเป็น3ระดับ

1 อังกฤษปกครองโดยตรง ได้แก่ เกาะปีนัง เกาะสิงคโปร์ และมะละกา กลุ่มนี้เป็นดินแดนที่อังกฤษได้มานานแล้วด้วยการเช่าจากสุลต่าน เรียกว่า ราชอาณานิคม (Crown Colony) โดยอังกฤษส่งผู้ว่าการ (Governor) มาบริหารในฐานะประมุขของรัฐ ขึ้นต่อกษัตริย์อังกฤษโดยตรง

2 รัฐที่อังกฤษใช้กำลังเข้าไปยึดครอง มี4รัฐ ได้แก่ เปรัก ปาหัง เซลังงอร์ และนครีเซมปิลัน อังกฤษจะส่งข้าหลวง (Resident) ไปประจำเพื่อกำกับระบบปกครองของสุลต่านอีกทีหนึ่ง ต่อมาได้รวมรัฐทั้งสี่เป็นสหพันธรัฐมลายู(Federated Malaya States - FMS) ประมุขของรัฐคือ ข้าหลวงใหญ่ (High Commissioner) บริหารผ่นสภาสหพันธ์ (Federal Council) ชึ่งมีข้าหลวง (Resident) ของแต่ละรัฐ และคนท้องถิ่นอีกสี่คน ต่อมาเพิ่มให้เป็นแปดคน  ในปี พ.ศ. 2470 เจ้าผู้ครองรัฐทั้งสี่ในสหพันธ์ได้ร่วมกันเขียนรัฐธรรมนูญ สภาสหพันธ์ขึ้น ให้เพิ่มสมาชิกเป็น24คน ในแต่ละรัฐประกอบด้วยเจ้าผู้ครองนคร ข้าหลวง (Resident) และสภาแห่งรัฐ (State Council) เป็นที่ปรึกษา

3 รัฐทั้งสามที่อังกฤษได้ไปจากสยาม รวมกับรัฐยะโฮร์ (Johore) อังกฤษปกครองแบบรัฐนอกสหพันธ์ (Unfederated States) ให้สุลต่านและคนท้องถิ่นปกครองตนเอง แต่จะส่งคนอังกฤษมาเป็นเลขาธิการรัฐ (Secretary of State) ทำหน้าที่ที่ปรึกษา แทรกแซงกิจการต่างๆได้ทุกเรื่อง

รัฐเคดะห์นั้น จึงถือว่าอังกฤษปกครองแบบเบาที่สุดแล้ว ท่านตนกูยังโดนจนได้ ถึงขนาดเกิดความมุ่งมั่นที่จะตั้งใจเรียน เพียงปีเดียวก็สอบผ่านทุกวิชาที่กำหนดในภาคแรกที่คราวที่แล้วใช้เวลาไป3ปีเต็มก็ยังไม่ผ่าน แต่แล้วเหตุการณ์สำคัญในยุโรปก็ระเบิดขึ้น ฮิตเลอร์ส่งกองทัพบุกเข้าโปแลนด์ทำให้อังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมันทันที ในฐานะที่ยังเป็นข้าราชการอยู่ ท่านตนกูถูกเรียกตัวกลับประเทศทันที


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ค. 10, 10:48
ขอเลี้ยวแยกซอยไปหน่อยนะคะ เรื่องนางเลือดขาว
ตำนานนางเลือดขาวทางใต้ มี ๒ ตำนาน    นางเลือดขาวที่พัทลุงน่าจะเป็นอีกตำนานหนึ่ง ไม่เกี่ยวกัน เผอิญมีเลือดขาวแบบเดียวกัน   แต่เรื่องราวไปกันละทาง
ส่วนนางเลือดขาวคนเดียวกับเจ้าแม่เลือดขาวมาซูรี  น่าจะเป็นคนเดียวกับที่อยู่ในตำนานวัดพระนางสร้าง ที่ภูเก็ต  แต่รายละเอียดผิดเพี้ยนกันไปจากของมาเลย์เซีย
สงสัยว่าวัดพระนางสร้างอาจจะสร้างโดยลูกหลานของพระนางมาซูรี ที่อพยพมาอยู่ภูเก็ตและสมรสไปกับคนไทยก็ได้    คงมีคนไหนสักคนที่นับถือพุทธศาสนา  แต่ที่นับถือศาสนาอิสลามก็ยังมีอยู่

คำว่าเจ็ดชั่วโคตร   ของไทยนับย้อนกลับไป ๓ ชั่วคนคือพ่อ ปู่ ทวด  และลงไปอีก ๓ ชั่วคนคือลูก หลาน เหลน   รวมตัวเองด้วยเป็น ๗    ประหารทีก็ลากผู้เฒ่าผู้แก่และลูกเด็กเล็กแดงมาโดนหมด
แต่เจ็ดชั่วโคตรที่พระนางมาซูรีสาปไว้ น่าจะนับลงอย่างเดียวไม่นับย้อนขึ้น  คือเป็น ๗ เจนเนอเรชั่น     

คำถามซอกแซกคือไม่รู้ว่าเจ็ดชั่วคนของใคร    เพราะแต่ละตระกูลมีอายุสั้นยาวไม่เท่ากัน    ตระกูลไหนมีลูกตอนอายุมากหน่อย   เช่นแต่ละคนมีลูกเมื่ออายุ ๔๐ ปี    กว่าจะครบ ๗ ชั่วคนก็สองร้อยกว่าปี   ตระกูลไหนมีลูกเมื่ออายุน้อยหน่อยก็ครบ ๗ เร็วหน่อย อาจจะแค่  ๑๐๐ ปี
ท่านตนกูท่านนับเก่ง   ไปชวนชาวบ้านลังกาวีมานับชั่วคนว่าเลย ๗ ชั่วคนมาแล้ว  ในสมัยท่าน ไม่รู้ว่านับจากตระกูลไหน  แต่คนในตระกูลคงมีลูกตอนยังหนุ่มสาวมากๆ ครบเจ็ดชั่วคนได้ในหนึ่งร้อยกว่าปี    ท่านเลยฟื้นฟูเกาะได้เร็ว


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 พ.ค. 10, 20:20
เรื่องข้อเท็จจริงในตำนานผมขอผ่านครับ แต่เรื่องข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ผมขอยกนิ้วให้ท่านตนกูในการใช้รัฐประศาสนศาสตร์ กู้ความเชื่อมั่นในแผ่นดินของคนท้องถิ่นที่เอาไปผูกกับตำนานได้เป็นคนแรก ไม่ทราบว่าท่านนับวิธีไหนว่าครบเจ็ดชั่วอายุคนแล้ว

ผมพอจะจำได้ว่าเมื่อรัฐบาลมาเลเซียสมัยท่านมหาเธร์พยายามผลักดันให้ลังกาวีเป็นWorld Class Resort แบบภูเก็ต โดยทุ่มเงินลงทุนลงไปอย่างมหาศาลในการตัดถนนรอบเกาะ สร้างสนามกอล์ฟ และทำสนามบินรองรับเครื่องจัมโบในขณะที่ตอนนั้น มาเลเซียน แอร์ไลน์ใช้เครื่อง737บินวันละไม่กี่เที่ยว และผู้โดยสารยังไม่เต็มลำ เนื่องจากท่านมหาเธร์เป็นชาวลังกาวีแท้ๆ คนมาเลย์เลยหาเรื่องชมท่านว่าเหมือนท่านบรรหาร ณ สุพรรณบุรี ผมเคยไปเกี่ยวกับงานของผมในลังกาวีสองสามครั้ง เห็นความห่างไกลเมื่อเทียบกับภูเก็ตในเรื่องความนิยมของนักท่องเที่ยว โรงแรมห้าดาวที่ไปนอนตอนนั้นอยู่มีแขกพักไม่ถึง10% ผมได้ไปเที่ยวที่กุโบร์ของมาซูรีด้วย

แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปี ก็ได้ยินข่าวการค้นพบตัวเด็กสาวชาวภูเก็ตที่ว่าเป็นเชื้อสายของแม่นาง หนังสือพิมพ์ในกรุงเทพก็ลง ในมาเลเซียหนักหน่อย ท่านมหาเธร์ลงมากำกับลับๆ ทางการมาเลเซียนำเด็กไปออกทีวี และของให้โอนสัญชาติ สุดท้ายที่ได้ข่าวคือได้รับทุนการศึกษาให้เรียนในมหาวิทยาลัยแห่งมลายา เป็นข่าวต่อเนื่องกันอยู่หลายเดือน กระแสเรื่องลังกาวีพ้นคำสาปแล้วก็แรงขึ้นมาอีก มีนักลงทุนใหญ่น้อยกล้าไปทำกิจการที่นั่นมากขึ้น ประกอบกับได้นักท่องเที่ยวคนไทยแห่กันเข้าไปเที่ยวมากเป็นอันดับหนึ่งเพื่อซื้อของปลอดภาษี โดยลงเรือที่สตูล ตลาดท่องเที่ยวเริ่มขยายตัวตามธรรมชาติของมัน ทัพหน้าของนักท่องเที่ยวยุโรปก็สะพายเป้ ขึ้นรถเมล์จากภูเก็ตและกระบี่สู่ลังกาวี เพราะธรรมชาติยังบริสุทธิ์กว่า พอพวกนี้ได้ปักหมุดเอาลังกาวีลงในแผนที่นิตยสารท่องเที่ยวที่ออกในยุโรปแล้ว กลุ่มสามดาวและห้าดาวก็ตามมาอีกที

ผมไม่ได้ไปลังกาวีอีกในระยะสิบกว่าปีมานี้ แต่ดูในรูป เห็นลังกาวีเจริญขึ้นมากทีเดียว ก็ต้องยกนิ้วให้ท่านมหาเธร์อีกคนหนึ่งเหมือนกัน


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ค. 10, 20:51
ท่านตนกู เก่งในการผสมผสาน  โน้มน้าวความเชื่อของชาวบ้านเข้ากับการพัฒนาประเทศได้  ไม่หักล้าง และไม่ปฏิเสธ  ซึ่งจะนำมาสู่การหันหลังให้แก่กัน
สะดุดใจมาตั้งแต่อ่านของคุณ N.C. ตอนที่ว่าท่านตนกูช่วยชาวบ้านนับเวลาว่าผ่านมา ๗ ชั่วโคตร  ลังกาวีพ้นคำสาป
ก็ในเมื่อเด็กสาวที่มีเชื้อสายเจ้าแม่เลือดขาว  เธอเป็นรุ่นที่ ๗  เกิดเมื่อพ.ศ. ๒๕๒๘  ท่านตนกูรับราชการที่ลังกาวีตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม    ก็ต้องก่อนน้องหนูเธอเกิดอยู่นานโข  ท่านคงมีวิธีนับ ๗ ชั่วคนได้สั้นกว่านี้มาก  และเนียนดีด้วย   ชาวบ้านถึงเชื่อถือ

ส่วนท่านมหาธีร์ ก็ปชส. และรณรงค์  ในการพัฒนาประเทศ ได้ยอดเยี่ยมจริงๆ      ไม่แปลกที่มาเลย์เซียก้าวไปลิ่วๆ ในอาเซียน  
ไปเที่ยวที่นั่นทีไร  ไม่ว่าเมืองใหญ่เมืองเล็ก ก็อยากร้องไห้โดยไม่จำเป็นต้องบอกเหตุผล


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 พ.ค. 10, 22:33
วันนี้ถ้าออกไปเที่ยวเมืองหลวงของไทยก็อาจจะร้องไห้โดยไม่จำเป็นต้องบอกเหตุผลเหมือนกัน


ท่านตนกูถูกเรียกตัวกลับจากอังกฤษให้ไปเป็นนายอำเภอที่กูลิมเมืองเล็กๆตามเดิม ข่าวว่ามีแนวโน้มที่สงครามจะลามมาในประเทศแถบนี้มีขึ้นเรื่อยๆ คนญี่ปุ่นเข้ามาเปิดร้านถ่ายรูปบ้าง ร้านทำผมบ้างในสุไหงปาตานีที่มีสนามบินของอังกฤษตั้งอยู่ และในอลอร์ สะตา รัฐบาลอังกฤษสั่งให้บรรดานายอำเภอตั้งกองอาสารักษาดินแดนขึ้น มีคนมาร่วมกับท่านตนกูมากเพราะความนิยมในตัวท่านที่เป็นลูกสุลต่านและเป็นนายอำเภอคนเดียวที่ไม่ใช่คนอังกฤษ ท่านได้จัดทำแผนอพยพผู้คนไว้ด้วย โดยการหาทุนไปสร้างค่ายผู้ลี้ภัยอยู่ในทำเลที่น่าจะปลอดภัย

ระหว่างนี้ ท่านได้พบและสมรสครั้งที่3กับสุภาพสตรีนางหนึ่งโดยการชักนำของหม่อมเนื่องมารดา เป็นลูกสาวขุนนางของอลอร์ สะตา ชื่อ ชารีฟ๊ะห์ โรเซียะห์ เธอคนนี้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับท่านตนกูยาวนาน ทั้งคู่ไม่มีลูกด้วยกันไม่มี นอกจากเลี้ยงดูบุตรธิดาสองคนแรกของสามีแล้ว ยังรับลูกบุญธรรมไว้อีกถึง4คน

เมื่อมีอายุมากแล้ว ท่านตนกูอยากจะมีลูกเล็กๆของตนเองอีกจึงมีภรรยาเป็นคนที่สี่ เป็นลูกสาวคนจีนชื่อ บีบี้ จง ทั้งคู่มีธิดาด้วยกันสองคน


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 พ.ค. 10, 11:30
แล้วญี่ปุนก็บุกเข้าแหลมทองจริงๆ ในวันที่8ธันวาคมพ.ศ. 2489 โดยยกพลขึ้นบกพร้อมกันในสยามและมลายู กองทัพอังกฤษพยายามต้านทานแต่สู้ไม่ไหว ต้องถอยร่นระนาวไปสิงคโปร์ก่อนที่จะถอนตัวโดยสิ้นเชิงไปตั้งรับที่อินเดีย แค่เวลาเพียง2เดือนเท่านั้นที่เจ้าอาณานิคมใหญ่ที่สุดในโลกพ่ายแพ้แบบหมดราคา ทิ้งคนหลายพันให้ญี่ปุ่นเอาไปกักกันไว่ที่ค่ายเชลยศึกชางยี (เดี๋ยวนี้กลายเป็นที่ตั้งของสนามบินดีที่สุดในภูมิภาคไปแล้ว) ชายฉกรรจ์ทั้งหมด ญี่ปุนเลือกเอาไปกาญจนบุรีเพื่อสร้างทางรถไฟสายมรณะเข้าสู่พม่า

วันแรกของสงคราม เครื่องบินรบของญี่ปุ่นบินมาทิ้งระเบิดฐานทัพอากาศของอังกฤษที่สุไหงปาตานี สร้างความแตกตื่นโกลาหลในเมือง มีคำสั่งของฝ่ายปกครองผ่านนายซายิด โอมาร์ คนมาเลย์เลขาของที่ปรึกษาอังกฤษให้นำสุลต่านอับดุล ฮามิดผู้ชรา ไปลี้ภัยที่สิงคโปร์ โดยจะให้ไปอยู่รอที่ปินังก่อน เพราะตอนนั้นอังกฤษเชื่อว่าน่าจะปลอดภัยจากกองทัพญี่ปุน

สามคืนก่อนหน้านี้ท่านตนกูฝันเห็นพ่อ ท่านสุลต่านส่งเสียงร้องเรียกมาแต่ไกลๆ “ปุตรา ปุตรา ช่วยพ่อที” ในฝันนั้นท่านเห็นตัวท่านวิ่งฝ่าหมอกควันไปหาต้นเสียง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นป่า ท่านพบสุลต่านบนคบไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง และช่วยพ่อลงมาจากต้นไม้ได้  เมื่อได้รับทราบคำสั่งนี้ ท่านจึงเข้าใจความหมายในฝันทันที ท่านไม่เห็นด้วยเลย สังขารของท่านสุลต่านร่วงโรยมากและไม่ควรจะต้องหนีไปไหน ที่ซึ่งปลอดภัยที่สุดของท่านคือที่เคดะห์ของท่านเอง แม้จะโต้แย้งนายซายิด พยายามอธิบายเหตุผลใดๆก็ไม่เป็นผล  นายซาอิดไม่ใช่คนมีอำนาจตัดสินใจในการเจราจาเพราะต้องรอให้นายใหญ่โฟนอินเข้ามาอีกทีหนึ่ง จึงตะแบงให้ท่านตนกูปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น

ท่านตนกูวางแผน ขณะขบวนรถกำลังนำท่านสุลต่านออกจากอะลอร์ สะตา ไปปินัง ทุกคนรู้จักท่านตนกูดีจึงไม่มีใครเอะใจว่าท่านคิดอะไรอยู่ เผอิญก่อนหน้านั้นมีฝูงบินรบของญี่ปุ่นบินผ่านเหนือหัวมุ่งไปทิศที่ปินังอยู่ด้วย ท่านเปิดประตูรถโรลสลอยส์สีเหลืองแล้วบอกท่านสุลต่านว่าพ่อไปกับผมนะ ผมจะพาพ่อไปอยู่กับผม ท่านสุลต่านดีใจที่เห็นลูกชายคนโปรด ท่านพยักหน้ายินยอม ท่านตนกูนำท่านสุลต่านไปที่บ้านของท่านเองที่กูลิม หลังจากพักผ่อนแล้วจึงเล่าเรื่องราวที่เป็นจริงให้ทราบ สุลต่านควรจะอยู่กับประชาชนไม่ใช่หนีไปกับอังกฤษ ท่านสุลต่านก็พยักหน้าแสดงความพอใจ  ไม่นานท่านผู้สำเร็จราชการซึ่งเป็นพี่ชายต่างมารดาของท่านเองก็โทรมา สั่งให้ท่านปฏิบัติตามคำสั่งของอังกฤษ ตอนแรกท่านดีใจที่จะได้แสดงเหตุผลกับผู้ใหญ่ของครอบครัว แต่ท่านผู้สำเร็จราชการไม่ฟังแถมขู่ด้วยว่าท่านกำลังประกอบอาชญากรรมร้ายแรงอยู่ ขอให้พาท่านสุลต่านไปปินังทันที ท่านตนกูเลยบอกกลับไปเรียบๆว่างั้นท่านพี่ก็มาพาพ่อไปเองก็แล้วกัน แต่พี่จะต้องข้ามศพผมไปก่อนนะ

ท่านตนกูบอกท่านสุลต่านว่าจำเป็นต้องพาท่านหลบไปอยู่ที่อื่นตามแผนสองเสียแล้ว ท่านสุลต่านก็พยักหน้าอีก ท่านเลยพาไปอยู่บ้านเล็กๆหลังหนึ่งของเพื่อนที่หมู่บ้านเปงฮูลู มีคนในหมู่บ้านถือปืนผาหน้าไม้หอกดาบอาสามาล้อมบ้านเป็นองครักษ์ให้ หลังจากจัดการเสร็จ ให้น้องต่างมารดาอีกคนหนึ่งอยู่เป็นเพื่อนท่านสุลต่านแล้ว ท่านตนกูก็กลับไปกูลิม รอรับเหตุการณ์ต่อไปที่จะเกิดขึ้น มีคนที่รู้ข่าวมาให้กำลังใจท่านเยอะ

ไม่ช้าเกินรอ ท่านผู้สำเร็จราชการโทรมาอีก คราวนี้ด้วยน้ำเสียงตื่นตระหนก ญี่ปุ่นถล่มปินังแบบไม่เลี้ยง บ้านเรือนราษฎรพังพินาศ คนตายหลายร้อยศพ ท่านบอกว่าได้ระงับคำสั่งที่ให้พาท่านสุลต่านไปปินังแล้ว และตนเองกับครอบครัวกำลังจะมาลี้ภัยที่กูลิม ขอให้น้องหาที่อยู่ให้ด้วย ท่านตนกูตอบกลับไปว่ายินดีอย่างยิ่ง พวกเราที่นี่จะดูแลพี่เอง


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 พ.ค. 10, 11:37
เมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดครองมลายู แต่แรกก็ทำตัวเป็นผู้ปลดแอก หลีกเลี่ยงที่จะทำร้ายสร้างศัตรูกับชาวบ้านตามแผนร่วมวงศ์ไพบูลย์แห่งเอเซีย ในเคดะห์นั้น  ทัพหน้าของญี่ปุ่นทราบดีว่าท่านตนกูเป็นลูกสุลต่านจึงให้เกียรติมาก และรับรองความปลอดภัยให้สุลต่านและท่านผู้สำเร็จราชการกลับไปยังอลอร์ สะตาร์ตามเดิม ท่านสุลต่านใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายส่วนใหญ่ในวังกับครูสอนศาสนาของท่าน

อย่างไรก็ดี สัมพันธภาพต่อมาระหว่างท่านตนกูกับกองทัพญี่ปุ่นก็ขัดแย้งกันโดยตลอด สุดท้ายผู้ปกครองญี่ปุ่นคนใหม่ที่เพิ่งย้ายมา ได้ออกคำสั่งให้ท่านเกณฑ์แรงงานชาวบ้านไปตัดโค่นต้นยางพาราให้หมด เพราะญี่ปุ่นต้องการจะให้ปลูกฝ้าย ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไรว่าฝ้ายไม่มีทางจะเจริญเติบโตได้ในสภาพภูมิอากาศของเคด่ะห์ นายคนนี้ก็ไม่ฟัง เมื่อท่านบอกว่าท่านปฏิบัติไม่ได้ ก็ออกคำสั่งย้ายท่านภายใน24ชั่วโมง ให้ไปรายงานตัวที่ฝ่ายธุรการในเมือง

ท่านตนกูเคยเจอคำสั่งแบบนี้มาแล้วในสมัยการปกครองของอังกฤษ แต่คราวนี้แย่กว่านั้นมาก งานใหม่ก็เลื่อนลอย บ้านของท่านในอะลอร์ สะตาร์ ก็ถูกกองทัพญี่ปุ่นยึดไปใช้ ท่านและครอบครัวจึงต้องไปอาศัยอยู่กับเพื่อนเป็นการเฉพาะหน้า แต่สถานภาพเช่นนี้เป็นไปแค่เดือนเศษ ฝ่ายราชการการปกครองบ้านเมืองทั้งหมดในเคดะห์ ปะลิส กลันตัน และตรังกานู  ญี่ปุ่นได้โอนให้สยามตามข้อตกลงร่วมวงศ์ไพบูลย์ ยกเว้นด้านการทหาร แม้จะอิหลักอิเหลื่อรัฐบาลท่านจอมพลป. พิบูลสงครามก็จำต้องรับไว้แบบเลยตามเลย ข้าราชการไทยจำนวนหนึ่งจึงถูกย้ายให้เข้ามาทำงานแทนญี่ปุ่นที่เคด่ะห์

คนไทยรู้จักท่านตนกูดี และก็เหมือนครั้งที่ไปอยู่กรุงเทพ ท่านตนกูพบว่าตนอยู่ระหว่างเพื่อนสนิทมิตรสหาย ไม่ทราบว่าเป็นโชคหรือเป็นแผนของผู้ใหญ่ คุณถวิลเพื่อนรักของท่านก็ได้เป็นคนหนึ่งในเหล่าข้าราชการไทยที่ถูกส่งมาด้วย ท่านตนกูพบว่าคุณถวิลได้ไปเรียนอเมริกาจนจบจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ขณะนี้เป็นใหญ่เป็นโตมีบรรดาศักดิ์เป็นถึงคุณหลวง  ท่านตนกูจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการศึกษา (Superintendent of Education )ทันที ซึ่งถึงแม้ตำแหน่งนี้จะไม่ค่อยมีอะไรจะทำได้มากมายนัก แต่ก็ช่วยกู้สถานะทางสังคมให้ท่านเป็นอย่างดี

ผมว่าเป็นโชคดีของเพื่อนทั้งสอง และโชคดีของคนไทยและคนมาเลย์ด้วย ที่นักการเมืองตอนนั้นมิได้หวังจะไปผนวกดินแดนมาเลย์ที่ญี่ปุ่นยกให้มาเป็นส่วนหนึ่งของสยามอย่างถาวร มิฉนั้นมิตรก็คงกลายเป็นศัตรู คนไทยกับคนมาเลย์คงจะฆ่ากันเลือดนองแผ่นดิน  ข้าราชการไทยทำงานอยู่ที่นั่นแบบประคองตัว อังกฤษส่งอาวุธให้คนจีนที่นั่นตั้งขบวนการใต้ดินเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นมีคนมาเลย์ร่วมอยู่ด้วย และปฏิบัติการอย่างได้ผลอยู่ในเคดะห์และกลันตัน แม้จะยังไม่เปิดศึกสองด้านกับคนไทย แต่ขบวนการเจ๊กถีบก็ทำให้ข้าวของที่ส่งไปที่นั่นโดยทางรถไฟและรอดเหลือจากขบวนการไทยถีบทางปักษ์ใต้มาได้ หายจ้อยลงไปอีก  ครั้นมีข่าวว่าอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูลงฮิโรชิมาและนางาซากิ ข้าราชการไทยในหัวเมืองมลายูก็รีบแพ็คของเตรียมกลับบ้านโดยไม่รอคำสั่งอย่างเป็นทางการ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 10, 13:22
ยังพอจะจำความหมายของ "ไทยถีบ" ได้  แม้ว่าเป็นเหตุการณ์ก่อนดิฉันเกิด  ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังอีกทีตอนอายุสักสิบขวบ  คุณมานิตอาจจะพอจำได้มากกว่า
ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ที่ญี่ปุ่นมาเป็นมหามิตรร่วมวงไพบูลย์ของไทย      การขนส่งสินค้า รวมทั้งยุทธปัจจัย ลำเลียงกันทางรถไฟ   เพราะถนนระหว่างจังหวัดยังมีน้อยมากและไม่สะดวก  น้ำมันก็ไม่มีใช้  ทุกอย่างขาดแคลนไปหมด

คนไทยซึ่งไม่ได้นิยมยินดีอะไรกับญี่ปุ่นอยู่แล้ว     ลอบขึ้นรถไฟ ถีบหีบห่อสินค้าของญี่ปุ่นลงจากรถไฟกลางทาง ตามจุดต่างๆที่นัดกันไว้  ส่วนใหญ่เป็นป่า    พรรคพวกที่มารอก็แบกของถูกถีบหายวับไปในป่ามืด  ยากแก่การแกะรอย    กลายมาเป็นสินค้าตลาดมืดอีกที

เคยมีหนังไทยรุ่นเก่า ปี 2518  ชื่อพยัคฆ์ร้ายไทยถีบ    แสดงวีรกรรมของพวกนี้  เห็นจะต้องถามคุณ SILA
 
เกร็ดอีกเรื่องคือ "เงินถีบ" หรือธนบัตรไทยถีบ  อ่านได้ที่นี่ค่ะ
http://www.banrongkhun.com/webboard/view.php?Qid=13&cat=2

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2485-2489) ช่วงแรกๆรัฐบาลไทย ประกาศที่จะไม่เข้ากับฝ่ายใดๆ แต่เมื่อสงครามขยายตัวเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงไต้ กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่ประเทศไทย ด้วยสภาพของกองทัพที่ต่างกันทำให้ไทยจำต้องเข้าร่วมกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตรที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำอยู่ โดยที่ก่อนหน้านั้น ไทยได้ว่าจ้าง บ.โทมัสเดอ ลา รูห์ แห่งประเทศอังกฤษพิมพ์ (ภาพประกอบ เป็นภาพ บ.โทมัทฯ ดดนระเบิดเสียหายครับ )ธนบัตรให้ประเทศไทยมาโดยตลอด ในระยะแรกของสงคราม รัฐบาลไทยได้ขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นจัดพิมพ์ธนบัตรให้ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงช่วยเหลือติดต่อให้จัดพิมพ์ธนบัตรขึ้นชุดหนึ่ง ต่อมาเมื่อผลของสงครามรุนแรงขึ้น การขนส่งธนบัตรทางเรือไม่สามารถทำได้ และขณะนั้น กองทัพญี่ปุ่นสามารถซ่อมแซมโรงพิพ์ที่ยึดได้จาดประเทศฮอลันดาที่ประเทศอินโดนีเซีย รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้จัดพิมพ์ธนบัตรไทยขึ้นที่นั่น
ธนบัตรที่พิมพ์ที่อินโดนีเซีย ทั้งคุณภาพกระดาษและเทคนิคการพิมพ์ต่ำกว่าธนบัตรที่ใช้อยู่แต่เดิมมาก เมื่อขนส่งมายังกรุงเทพฯ ถูกคนร้ายขโมยจากรถไฟโดยถีบหีบธนบัตรลงจากรถไฟจำนวนหนึ่ง แล้วนำมาปลอมลายเซ็นต์ ภายหลังทางการของไทยโดยธนาคารแห่งประเทศไทยทราบ จึงได้ออกประกาศยกเลิกธนบัตรดังกล่าว ต่อมา ญี่ปุ่นแพ้สงคราม และเกิดการขาดแคลนธนบัตรที่ใช้หมูนเวียนในประเทศไทย ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจึงนำธนบัตรรุ่นนี้มาแก้ไขราคาให้มีมูลค่าต่ำที่สุดคือ ห้าสิบสตางค์ และประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2489 คนทั่วไปนิยมเรียกธนบัตรแบบนี้ว่า “ ไทยถีบ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 10, 13:47
อ้างถึง
ไม่ทราบว่าเป็นโชคหรือเป็นแผนของผู้ใหญ่ คุณถวิลเพื่อนรักของท่านก็ได้เป็นคนหนึ่งในเหล่าข้าราชการไทยที่ถูกส่งมาด้วย ท่านตนกูพบว่าคุณถวิลได้ไปเรียนอเมริกาจนจบจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ขณะนี้เป็นใหญ่เป็นโตมีบรรดาศักดิ์เป็นถึงคุณหลวง

เข้าใจว่าคุณหลวงเพื่อนรักท่านตนกู  คือหลวงอังคณานุรักษ์(ร.อ.ถวิล เทพาคำ) ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ๒๔๘๖-๒๔๘๙


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 พ.ค. 10, 14:10
ขอประทานโทษ ไม่ใช่ครับ ท่านผู้นี้คิอ ถวิล คุปตารักษ์ คือลูกชายเจ้าของบ้านที่ท่านตนกูเคยอยู่ในกรุงเทพ ทั้งสองคนเป็นเพื่อนรักที่โรงเรียนเทพศิรินทร์

ถวิล คุปตารักษ์ เป็นวิศวรกร ต่อมารับราชการ ทำงานอยู่กรมรถไฟ ได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงถวิลเศรษฐพณิชการ ไม่ทราบว่าถูกส่งไปทำหน้าที่อะไรในเคดะห์ระหว่างสงคราม

รูปข้างล่างคุณเพ็ญชมพูเคยเอามาฝาก ตอนนี้คุณเพ็ญหายไป ไม่ทราบว่าไปทำใจอยู่ที่ไหน


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 10, 14:16
อ้าว ผิดคน    :-[  ขออภัยค่ะ
คุณเพ็ญ น่าจะไปเตรียมสระน้ำต้อนรับเพื่อนอยู่แถวๆปราสาทตาพรม   เดี๋ยวก็คงกลับมา


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 พ.ค. 10, 14:17
ตอนนี้คุณเพ็ญหายไป ไม่ทราบว่าไปทำใจอยู่ที่ไหน

(ยกมือ) อยู่ที่นี่จ้า กำลังเพลิดเพลินกับม้าแคระ่ตัวเล็กน่าเอ็นดู๊..เอ็นดู อยู่ใกล้ ๆ คุณนวรัตนนี่แหละ

ติดตามอ่านอยู่เสมอจ้า

 ;D


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 พ.ค. 10, 15:02
อ้อ เห็นแล้วครับ

ค่อยยังชั่วหน่อย นึกว่าเหลือแต่ผมคนเดียวนั่งส่งงานกับคุณครูประจำชั้น


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 10, 15:09
ถ้าเหลือคนเดียว  คงปิดชั้นเรียน  อนุญาตให้ไปพักนานแล้ว
แต่นี่ เห็นหลายสิบคน  นั่งแอบๆอยู่หลังประตูเรือน ค่ะ :)


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 10, 21:05
ความคิดเรื่อยเปื่อยอีกครั้ง

เรื่องท่านตนกูพาสุลต่านผู้พ่อหนีภัยสงคราม vs คำสั่งของพี่ชาย   สะท้อนให้เห็นว่าใครมีคุณสมบัติเป็นผู้นำ  ใครไม่ใช่
อย่างหนึ่งที่เห็นคือพี่ชายท่าน เป็นพวกคำสั่งนิยม  ไม่ชอบคิดอะไรเอง    พวกนี้ มักจะเคร่งครัดต่อการรับคำสั่ง  เพื่อจะมาเคร่งครัดต่อการสั่งคนอื่นอีกที   นิยมอยู่แค่นั้น
ส่วนท่านตนกู  ต่อให้ไม่มีเทพสังหรณ์ในฝัน  ท่านก็ต้องคิดออกอยู่ดีว่าหอบหิ้วพ่อผู้ชราเต็มที ระหกระเหินหนีภัย  เป็นการทรมานพ่อยิ่งกว่าถูกทิ้งระเบิดตายเสียอีก   บางทีพ่ออาจจะหัวใจวายกลางทางเสียก่อนลี้ภัยสำเร็จ
อย่างที่สอง ท่านน่าจะมีวิสัยทัศน์พอจะดูออกว่า ปีนังไม่รอดมือญี่ปุ่นแน่      หนีไปปีนังก็คือหนีเสือปะจระเข้ 
หาที่ใหม่เช่นหมู่บ้านเล็กๆ  ไร้ความสลักสำคัญในสายตาญี่ปุ่นดีกว่า

คนเป็นผู้นำ  องค์ประกอบสำคัญคือมีวิสัยทัศน์   เห็นอะไรที่คนใหญ่ๆคนอื่นมองไม่เห็น    นอกจากนี้ก็อย่างที่ชาลส์ เดอโกล บอกไว้ ก็คือ
The leader must aim high, see big, judge widely, thus setting himself apart form the ordinary people who debate in narrow confines.

Charles de Gaulle


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 พ.ค. 10, 21:53
ขอบคุณครับ
.
.
สุลต่านอับดุล ฮามิดถึงแก่พิราลัยในเดือนพฤษภาคมของปี2483นั้นเอง คืนวันหนึ่งท่านตนกูเกิดเทพสังหรณ์อีกครั้ง ท่านฝันเห็นท่านสุลต่านกำลังพูดว่า  “ปุตรา…พ่อไม่สบายเลย..”
ท่านตนกูอยู่คนละเมืองแต่ก็รีบเดินทางไปอลอร์ สะตาทันที สมัยสงครามน้ำมันหายากมากต้องซื้อหาจากตลาดมืดด้วยราคาแพงลิบลิ่ว แต่มันก็ทำให้ท่านไปพอดีได้เห็นใจพ่อ ท่านสุลต่านยังสามารถส่งภาษากายว่าจำลูกชายหัวแก้วหัวแหวนได้ แต่ก็แค่นั้น ก่อนที่จะสงบ และสัญญาณแห่งชีวิตจะค่อยๆหรี่ลง.หรี่ลง.จนดับในที่สุดสองสามวันหลังจากนั้น
.
.
ในช่วงสงครามเป็นที่ประจักษ์ว่า งานหลักของท่านตนกูคือการช่วยเหลือผู้ประสพทุกข์ภัยจากพิษสงคราม ค่ายผู้ลี้ภัยของท่านได้้ใช้งานจริงอย่างคุ้มค่า ระยะหลังเป็นที่พักฟื้นของกรรมกรทาษ ญี่ปุ่นได้เกณฑ์ชาวมาเลย์บ้านนอกไปเป็นกุลีก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะในไทยนับหมื่นคน หลายคนซมซานหนีค่ายนรกกลับบ้านมาได้ แต่ร่างกายเหมือนศพที่ยังมีชีวิต เคดะห์เป็นด่านหน้าที่จะรับคนพวกนี้คืนสู่มาตุภูมิ แต่ก็ต้องให้ที่คุ้มภัย มีอาหารและยาเพื่อบำรุงสังขารให้แข็งแรงพอที่พวกน่าสงสารทุกคนจะเดินทางต่อ กลับไปหาพ่อแม่หรือลูกเมียได้ หลังสงครามแล้วท่านมีโอกาสพบคนเหล่านี้อีก มีจำนวนมากที่ตระหนักดีว่าเขารอดชีวิตได้ก็เพราะท่าน

ท่านตนกูอยู่ในเครือข่ายที่ให้สนับสนุนการต่อสู้ของกองกำลังต่อต้านญี่ปุ่นที่ยึดมีฐานที่มั่นในป่า ทำสงครามกองโจรด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่อังกฤษสนับสนุนให้อย่างเต็มที่ ระยะหลังส่งนายทหารที่พูดมาเลย์ได้หรือเป็นคนมาเลย์ที่ผ่านการฝึกแล้วแทรกซึมเข้ามา คล้ายๆกับขบวนการเสรีไทย หลานของท่านสองคนเป็นตนกูเช่นกันได้โดดร่มลงในป่า รอเวลาที่จะร่วมปฏิบัติการขั้นแตกหักกับญี่ปุ่น ข่าวระเบิดปรมาณูทำให้ทุกฝ่ายทราบดีว่าอะไรจะเกิดขึ้นในลำดับต่อไป

ทหารป่ากลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของจีนเป็ง หรือที่เรียกว่าโจรจีนคอมมิวนิสต์เริ่มเคลื่อนไหวอย่างน่ากลัว การถอนทหารของญี่ปุนจะสร้างสูญญากาศระหว่างที่กองทัพอังกฤษยังเดินทางจากซีลอนมาไม่ถึง เป็นโอกาสดีของโจรจีนคอมมิวนิสต์ที่จะเคลื่อนทัพออกจากป่ามายึดเมืองในเคดะห์ได้อย่างง่ายดาย ท่านตนกูได้ข่าวนี้ด้วยความประหวั่นพรั่นใจ ท่านรีบเดินทางไปยังฐานลับของอังกฤษทันที ผิดหวังเล็กน้อยที่ไม่ได้เจอหลานชายทั้งสองที่ท่านใช้ชื่อเป็นใบเบิกทางไปถึงตัวผู้บังคับบัญชา แต่ก็ได้มีโอกาสเสนองานยากให้นายทหารอังกฤษซึ่งเห็นด้วยกับท่าน แต่มอบหมายให้นายร้อยเอกคนหนึ่งไปปฏิบัติการแทน

ท่านตนกูจะนำร้อยเอกเบอร์เสี่ยงไปหาผู้บังคับบัญชาทหารญี่ปุ่นที่ยังคุมทัพอยู่ที่อลอร์ สะตาร์เพื่อขอร้องในสิ่งที่ทั้งสองก็ไม่มั่นใจนักว่าจะสำเร็จ แต่ก็คุ้มที่จะลองเสี่ยงดู

นายพันเอกแม่ทัพลูกพระอาทิตย์ต้อนรับร้อยเอกเบอร์ในห้องรับรองที่มีล่ามนั่งอยู่แล้ว ด้วยใบหน้าที่ปราศจากความรู้สึกและไม่พูดอะไรเลย ล่ามแปลคำพูดของร้อยเอกเบอร์ว่าทหารอังกฤษลงเรือมาแล้วจากโคลัมโบและจะถึงปินังในสองสามวันนี้ แต่ในขณะนี้เป็นหน้าที่ของกองทัพญี่ปุ่นที่จะต้องรักษาความสงบเรียบร้อยในเมืองมิให้เกิดกลียุค มิฉนั้นอังกฤษอาจเอาผิดแก่ท่านในข้อหาอาชญากรสงครามได้ ร้อยเอกเบอร์อธิบายสถานะการณ์และขอให้ท่านแม่ทัพสั่งการให้ทหารญี่ปุนออกไปตั้งด่านสกัดพวกทหารป่าที่ถนนโปกอกเสนา ซึ่งเป็นถนนเล็กๆจากป่ามาสู่เมือง และรักษาไว้จนกว่าทหารอังกฤษจะมาถึง

ถึงตอนนี้ท่านแม่ทัพลุกขึ้นยืน และเดินออกไปจากห้องไปทั้งๆที่ยังไม่ได้พูดอะไรสักคำเดียว สักครู่จึงได้ยินเสียงทหารญี่ปุ่นสั่งการกันลั่น ครึ่งชั่วโมงต่อมาล่ามได้เข้ามาเชิญร้อยเอกเบอร์กลับ แต่ก่อนที่รถของนายทหารอังกฤษจะเทียบเข้ามารับนาย ร้อยเอกเบอร์ได้มีโอกาสเห็นรถบรรทุกทหารญี่ปุ่นอาวุธครบมือสามคันที่ขนรั้วลวดหนามวิ่งฝุ่นตลบออกไปจากค่ายด้วย

ท่านตนกูรออยู่ที่บ้านอย่างกระวนกระวาย และได้ฟังที่ร้อยเอกเบอร์กลับมารายงานด้วยความโล่งอก แผนการณ์ของท่านสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อกองกำลังฝ่ายหน้าของทหารป่าลาดตระเวณมาเห็นกองทหารญี่ปุ่นตั้งด่านปิดถนนที่จะเข้าเมือง จีนเป็งจึงไม่อยากเสี่ยงกับความสูญเสียที่ไม่จำเป็น อะลอร์ สะตาร์ก็รอดจากการถูกยึดครองโดยโจรจีนคอมมิวนิสต์ได้ในครั้งนั้น

เขียนมาถึงตรงนี้ ผมขอแสดงความคารวะต่อสุภาพบุรุษทั้งสามท่าน สุดยอดลูกผู้ชายจริงๆ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 พ.ค. 10, 09:42
สงครามโลกจบลงแล้ว แต่สงครามในชาติยังคุกรุ่นอยู่ อังกฤษนายเก่ากลับเข้ามาพร้อมแผนการปกครองใหม่เรียกว่า “ข้อตกลงสหพันธ์มลายา ” (The Federation of Malaya Agreement) ซึ่งมีความแตกต่างจาก “สหภาพมลายู ” (Malayan Union) เดิมที่แบ่งระดับการปกครองในรัฐต่างๆต่างกันไปดังที่ผมเล่าไปแล้ว ของใหม่นี้ทุกรัฐจะอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลสหพันธ์รัฐมลายา(รัฐบาลกลาง)ในระดับเดียวกัน แม้รัฐบาลท้องถิ่นภายใต้อำนาจสุลต่านของแต่ละรัฐก็ยังคงมีอยู่  แต่ชนวนที่เป็นปัญหาคือหมวดการให้สิทธิความเป็นพลเมืองของสหพันธ์รัฐมลายา ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไม่นึกถึงชาวจีนและอินเดียที่อังกฤษนำเข้ามาใช้งาน แต่ส่วนหนึ่งกุมเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้กับชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะชาวจีนที่จัดตั้งอยู่แล้วในนามพรรคคอมมิวนิสต์มลายานำโดย ‘จีนเป็ง' หรือนายหวัง เหวินหัว ผู้นำกองกำลังทหารป่าผู้เคยเป็นพันธมิตรรบญี่ปุ่นจนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของอังกฤษ บัดนั้นหันกระบอกปืนมาที่ผู้ให้ (ในรูปโจรจีนคอมมิวนิสต์ได้ออกมาสวนสนามตอนเสร็จสงครามใหม่ๆ) ไม่นานก็เริ่มปรากฏจากการหยุดงานประท้วงของกรรมกรจีน และการปะทะกันด้วยอาวุธ ทหารอังกฤษเข้าปราบรุนแรงจนพวกนี้ต้องหนีกลับไปตั้งหลักในป่า แล้วใช้ยุทธวิธีลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่และเจ้าของสวนยางพาราหลายแห่ง ที่ร้ายแรงที่สุดคือการลอบสังหารเซอร์ เฮนรี เกอร์นี ข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษ เพื่อหวังให้บ้านเมืองระส่ำระสายจนเกิดจราจลล้มล้างรัฐบาลอังกฤษ และสถาปนาระบอบคอมมิวนิสต์ขึ้นมาแทนนั่นเอง

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นเป็นปี เมื่อเหตุการณ์สงครามสงบได้ไม่นาน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ เซอร์ ฮาโรลด์ แมคไมเคิลได้บินมามลายูพร้อมกับ“ข้อตกลงสหพันธ์มลายา ” เพื่อเยี่ยมเยียนเป็นทางการต่อสุลต่านของรัฐต่างๆและบีบให้ทุกท่านลงนามในข้อตกลง ยอมเป็นข้าของอังกฤษโดยดีอีกครั้งหนึ่ง สุลต่านบาดิชาร์แห่งเคดะห์คนใหม่ได้ประกาศกับเหล่าพี่น้องว่า มันเป็นความเศร้าสลดและเจ็บปวดที่สุดในชีวิต ที่ถูกบังคับให้ทำเช่นนั้นโดยไม่มีทางเลือก

ผลของการลงนามที่กระทบกับท่านตนกูโดยตรงก็คือ รัฐบาลกลางได้ส่ง “ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการศึกษา” คนใหม่เป็นชาวอังกฤษมารับหน้าที่แทน แล้วแขวนท่านไว้ในตำแหน่งที่ไม่มีสาระ ด้วยเหตุนี้ทำให้ท่านคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรจะต้องกลับไปทำเรื่องที่ยังค้างคาอยู่ให้จบ ท่านตนกูบอกกับภรรยาและลูกๆว่า ถ้าท่านเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษไม่ได้ ท่านก็จะอยู่เสียที่นั่น ไม่กลับมามลายูอีก


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 พ.ค. 10, 11:09
ท่านตนกูไปเรียนคราวนี้ไปแบบผู้ใหญ่อายุสี่สิบแล้ว ไม่มีคราบของเพลย์บอยรถสปอร์ตเหลืออยู่เลย ท่านเช่าแฟลตห้องเล็กๆ เช่าแม้กระทั่งเตาแกสไว้ทำอาหารกินเอง(สงสัยเตาแกสออกใหม่ๆคงจะแพงจัด) หลังสงครามช่วงนั้น คนอังกฤษยังต้องปันส่วนอาหารให้พลเมืองกันอยู่ แต่ท่านจะมีของกินที่ภรรยาส่งมาให้ทางเมล์เสมอๆ  ห้องเล็กๆของท่านเลยกลายเป็นแม่เหล็กดูดนักศึกษามาเลย์ไปโดยปริยาย ตอนนี้ท่านได้พวกหัวเปรื่องเป็นเพื่อนใหม่หลายคน หนึ่งในนั้นต่อมาภายหลังคือตุนอับดุล ราซัก รองนายกรัฐมนตรีสมัยของท่านและนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากท่าน สมาคมนักเรียนมาเลย์แห่งสหราชอาณาจักรที่ท่านเป็นหัวแรงจัดตั้งขึ้นได้ถูกปลุกให้มีความคึกคักขึ้นมาอีก ท่านตนกูได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมแทบจะทันทีโดยมีเจ้าหนุ่มราซักเป็นเลขาธิการ กรรมการสมาคมตอนนั้นล้วนแต่กลับมาเป็นคนดังของมาเลเซียในกาลต่อมาแทบทั้งสิ้น

ท่านตนกูจ้างนักกฎหมายชาวอังกฤษซึ่งเป็นโค้ชมืออาชีพด้านนี้ให้ดูแลการเรียนของท่าน และยังได้เพื่อนอัจฉริยะรุ่นน้องมารวมหัวกันอ่านและตีความภาษากฎหมายของอังกฤษที่คนมาเลย์เข้าใจได้ยาก แต่แม้จะมุ่งมั่นอย่างไร ทุกวันเสาร์ท่านก็ไม่เคยพลาดการดูฟุตบอลในสนาม ข่าวไม่แจ้งว่าท่านตนกูของเราเป็นแฟนพันธุ์แท้ของทีมอะไร แต่กระซิบว่านอกจากฟุตบอลแล้ว บางอาทิตย์ท่านยังไปเชียร์ม้าด้วย เรื่องม้าๆนี่ท่านเลิกรักมันไม่ได้จริงๆ ตอนเป็นนายกแล้วยังไปจูงม้าสุดที่รักหลังจากวิ่งเข้าวินอยู่เลย แต่ข่าวไม่ได้แจ้งว่านอกจากม้าแข่งแล้ว ท่านรักม้าแคระที่เป็นสัตว์ประหลาดอยู่ในห้องข้างๆนี้ด้วยหรือไม่

ท่านตนกูใช้เวลาไปอีก3ปี ทั้งดูตำราทั้งสวดมนต์อ้อนวอนอัลเลาะห์อย่างเต็มที่ขอให้ช่วย ในที่สุดท่านก็ได้ปริญญาเนติบัณฑิตที่ชาวเคมบริดจ์เรียกว่า Barrister at the Inner Temple วันที่ทราบข่าวความสำเร็จที่ยากลำบากยิ่งนี้ ท่านถึงกับน้ำตาไหลอาบแก้ม
เป็นอันว่าท่านกลับบ้านได้แล้ว


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 พ.ค. 10, 13:09
ท่านตนกูกลับมลายู คราวนี้เคด่ะห์คับไปสำหรับท่านเสียแล้ว มีผู้ใหญ่ชวนท่านไปทำงานในกัวลาลัมเปอร์เมืองหลวง ท่านจึงมิได้รั้งรอ เริ่มงานในฐานะนักกฏหมายโดยเป็นผู้ช่วยอัยการแผ่นดิน และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานศาลชั้นต้น

การเมืองในช่วงที่ท่านกลับมานี้เริ่มเข้มข้นขึ้นทุกขณะ

ก่อนที่ท่านจะกลับมา อังกฤษได้ส่งเสริมให้ชาวมาเลย์ได้เรียนรู้ประชาธิปไตย โดยให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเพื่อบริหารระดับท้องถิ่นของตนก่อน  ส่วนระดับรัฐหรือระดับชาติ อังกฤษอ้างว่าหากปล่อยทันที  ประชาชนจะพากันเรียกร้องการปกครองตนเองในฉับพลัน  ซึ่งอาจจะส่งผลเสียมากกว่าได้ นโยบายของอังกฤษนั้นต้องการปูรากฐานประชาธิปไตยให้มั่นคงก่อนแล้วจึงจะให้เอกราชแก่มลายา ไม่อยากให้คนมาเลย์ปกครองตนเองโดยมีอุบัติเหตุทางการเมืองบ่อยๆ(เช่นประเทศเพื่อนบ้าน (ตรงนี้อังกฤษไม่ได้ว่า ผมว่าเอง))

ด้วยเหตุนี้พรรคการเมืองต่างๆก็ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นโดยมีพรรคใหญ่ที่สุดชื่อพรรคอัมโน The United Malays National Organization (UMNO) ซึ่งเป็นพรรคอำมาตย์ที่ประกอบด้วยบรรดาสุลต่าน ขุนนางและคนมาเลย์มีระดับเป็นผู้สนับสนุน มีนโยบายอนุรักษ์นิยมและคัดค้านระบอบอังกฤษ และด้วยอิทธิพลทางดีและไม่ดีของคนชั้นสูงเหล่านี้ บรรดาคนมาเลย์รากหญ้าก็พากันสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคกันล้นหลาม และก็ยังมีพรรคสำคัญๆอื่นๆด้วย เช่นพรรคพาส  Pan Malayan Islamic Party (PMIP) ที่ใหญ่เป็นอันดับสอง มีนโยบายให้มลายาใช้กฎหมายอิสลามปกครองประเทศ พรรคนี้มีฐานเสียงอยู่ที่รัฐแถบด้านตะวันออกเฉียงเหนือติดกับชายแดนไทย และพรรคสมาคมจีนมาเลเซีย (Malaysian Chinese Association : MCA) ที่ถึงแม้จะเล็กกว่าแต่ก็ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจยิ่ง
ขณะที่พรรคต่างๆรณรงค์หาเสียงกันอยู่นั้น การก่อการร้ายโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายาก็ยังดำเนินไปหาได้บรรเทาลงไม่ ทั้งทหารอังกฤษและทหารมาเลย์ต้องพลีชีพไปเยอะ

ท่านตนกูได้รับเชิญให้เข้าพรรคอัมโน และเป็นประธานสาขาพรรคของเคด่ะห์อย่างปราศจากคู่แข่ง
แล้วอยู่ดีๆวันหนึ่ง ส้มก็หล่นใส่ท่านอีก


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ค. 10, 19:51
อ้างถึง
เขียนมาถึงตรงนี้ ผมขอแสดงความคารวะต่อสุภาพบุรุษทั้งสามท่าน สุดยอดลูกผู้ชายจริงๆ
หลังจากปรมาณูลงที่ฮิโรชิมา   แม่ทัพญี่ปุ่นในมลายู และแม่ทัพอื่นๆก็ย่อมรู้แน่แก่ใจว่าความหวังจะชนะสงคราม เหลือศูนย์    เรื่องเจอข้อหาอาชญากรสงครามที่ท่านตนกูยกมา คงเป็นเหตุผลหนึ่ง  แต่เหตุผลอื่นๆน่าจะมีอีก 
อย่างแรกคือความรับผิดชอบตามหน้าที่ของแม่ทัพ
อย่างที่สองคือปล่อยโจรจีนเข้าบุกเมืองอะลอร์ สะตาร์ได้  ก็คงบาดเจ็บล้มตายกันทั้งทหารญี่ปุ่นและมลายู
ถ้าไปสะกัดตั้งด่านตรวจไว้ ยังมีโอกาสว่าโจรจีนจะไม่กล้าเสี่ยงเข้ามา ไม่เสียเลือดเนื้อญี่ปุ่น  เรียกว่าตัดไฟแต่ต้นลม
อย่างที่สาม คือสามคนนี้มีศักดิ์ศรี พอกันทั้งหมด

ไม่อยากนึกว่าถ้าท่านตนกูชวนทหารอังกฤษไปพบแม่ทัพญี่ปุ่น แล้วท่านแม่ทัพใส่เกียร์ว่างเอาดื้อๆ   ถือหลัก"ไม่สั่ง ไม่สู้ ไม่ทำอะไร  จะได้ไม่ผิด"   ป่านนี้ประวัติชีวิตท่านตนกูจะเปลี่ยนไปหรือไม่  และถ้าเปลี่ยน ประวัติศาสตร์มาเลย์คงเปลี่ยนตาม


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 พ.ค. 10, 21:14
อ้างถึง
เขียนมาถึงตรงนี้ ผมขอแสดงความคารวะต่อสุภาพบุรุษทั้งสามท่าน สุดยอดลูกผู้ชายจริงๆ

ลูกผู้ชายที่ถือหน้าที่ และความรับผิดชอบต่อชาติ และชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์

อยู่เหนือความกลัวที่จะบุกบั่นเข้าป่าไปหาที่ตั้งกองบัญชาการลับของอังกฤษ แล้วอาจจะถูกลอบยิงเนื่องจากความเข้าใจผิดโดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เมื่อไหร่ก็ได้

และอยู่เหนือความขลาดที่จะไปขอเข้าพบแม่ทัพของฝ่ายศัตรูขณะที่สงครามยังไม่ยุติ เพื่อไปขู่แกมขอร้องให้เขาทำในสิ่งที่หากเขาไม่เห็นด้วยแล้ว อาจจะเกิดอะไรขึ้นแก่ตนก็ไม่มีใครทราบ

และสุดท้าย อยู่เหนือความถือศักดิ์ศรีของนายทหารญี่ปุ่นระดับแม่ทัพ ที่ได้ชื่อว่ายอมตายดีกว่าจะก้มหัวให้ศัตรู แต่ยอมกระทำตามคำขอของนายทหารอังกฤษชั้นผู้น้อย ทั้งๆที่ยังไม่มีใครเป็นผู้แพ้ผู้ชนะ

การกระทำของท่านทั้งสาม เป็นความงดงามประดับหน้าประวัติศาสตร์สงคราม มิให้เห็นแต่ความเลวร้ายของมนุษยชาติเพียงอย่างเดียว


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ค. 10, 21:30
To be able to lead others, a man must be willing to go forward alone.
                                                                                         - Harry Truman


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 10, 08:48
เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่  ๒  บรรดาแม่ทัพญี่ปุ่นถูกส่งตัวขึ้นศาลในฐานะอาชญากรสงคราม   บางคนชิงฮาราคีรีตัวเองไปก่อนที่จะกลายเป็นจำเลย    นายพลโตโจแม่ทัพใหญ่ถูกตัดสินประหารชีวิต  นายพลฮาตะถูกจำคุก
ดิฉันไม่รู้ว่าแม่ทัพญี่ปุ่นที่ท่านตนกูเข้าถ้ำเสือไปเจรจา คือใคร   เจอชื่อนายพลโตโมยูกิ  ยามาชิตะ เป็นแม่ทัพในการรบที่มลายูและสิงคโปร์    ถูกตัดสินประหารชีวิตเมื่อค.ศ. 1946  รายนี้รบแพ้ที่สิงคโปร์


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 พ.ค. 10, 11:13
ในหนังสือที่ผมเอามา ไม่ได้กล่าวชื่อไว้ครับ

ค้นในอินเทอเน็ตก็ไม่มี หรือมี แต่ผมหาไม่เจอก็เป็นได้

กำลังจะต่อเรื่องท่านตนกู แต่เสียเวลาต้องทำการบ้านมากหน่อย ผมอยากตรวจสอบกับสำนวนอื่นๆด้วย
ตอนนี้เนื้อเรื่องเริ่มไปพันกับการเมือง เขียนลึกมากไปก็ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของผม นั่นใครอยากทราบก็สามารถค้นหาได้อยู่แล้ว
ผมต้องการจะคัดเอาเกร็ด และอะไรๆที่ท่านทำเกี่ยวข้องกับเมืองไทย หรือเรื่องที่คนไทยควรรู้

รออีกสักนิดนะครับ สักครู่(ใหญ่ๆ)จะกลับมา
ตอนนี้ใครจะเป็นผู้อุปถัมภ์รายการก็เชิญนะครับ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 พ.ค. 10, 13:35
ต่อ

เพื่อให้เกิดสำนึกของคนในชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับของอังกฤษที่จะให้อิสระในการปกครองตนเอง
ดาโต๊ะ ฮุสเซน ออนน์ หัวหน้าพรรคอัมโน จึงมีความคิดที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มิใช่ชาวมาเลย์เข้ามาเป็นสมาชิกของพรรคอัมโนได้ แต่ผลของมติที่ประชุมใหญ่คว่ำแนวทางนี้ ดาโต๊ะ ออนน์ จึงต้องลาออกจากพรรคอัมโน  และไปก่อตั้งพรรคใหม่เพื่อที่จะดำเนินการทางการเมืองตามแนวความคิดของตน (ซึ่งต่อมาก็พิสูจน์ว่าไม่มีทางสำเร็จได้ในประเทศนั้น)

พรรคอัมโนก็ต้องสรรหาหัวหน้าพรรคคนใหม่ ท่านตนกูมิได้เคยมีความคิดที่จะเสนอตนเข้าแข่งขันแม้น้อย แต่อับดุล ราซักเพื่อนรุ่นน้องที่เลื่อมใสท่านตั้งแต่ครั้งอยู่ด้วยกันในอังกฤษได้รวมสมัครพรรคพวกในพรรคมาเกลี้ยกล่อม

อับดุล ราซักนี้มีความไผ่ฝันที่จะเป็นนักการเมืองมาตั้งแต่ที่โน่นแล้ว ท่านตนกูเคยดูเขายืนซ้อมพูดหาเสียงอยู่หน้ากระจกเงาบานใหญ่อย่างขันๆ เมื่อกลับมาและเข้าเป็นสมาชิกพรรคอัมโนก่อนถือว่าแก่พรรษาทางการเมืองกว่าท่าน อยู่ในกลุ่ม(ดูเหมือนศัพท์ภาษาไทยจะเรียกว่ามุ้ง)ที่มีเสียงดังในพรรคพอสมควร เมื่อท่านตอบตกลง ราซักจึงเป็นหัวคะแนนสำคัญที่ทำให้ท่านตนกูได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนทิ้งห่างคู่แข่งขันชนิดไม่เห็นฝุ่น อับดุล ราซักจึงถือเสมือนเป็นมือขวา ซึ่งต่อมาได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี และได้รับแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เป็นตน(Tun) เมื่อมลายูได้รับเอกราชสมบูรณ์
เมื่อท่านตนกูวางมือจากการเมือง ตนอับดุล ราซักได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากท่านสมอยาก

ออกนอกเรื่องนิด บรรดาศักดิ์ของสามัญชนมาเลย์นี้แต่ไหนแต่ไรมาสุลต่านแต่ละรัฐสามารถแต่งตั้งให้ใครก็ได้เป็นดาโต๊ะ(Dato) และจะกี่คนก็ได้ ตอนนี้ในมาเลเซียมีดาโต๊ะนับเป็นพันๆคน คนไทยก็มีเยอะที่แอบไปเป็นกับเขาด้วย แต่อยู่เมืองไทยเขินที่จะใช้บรรดาศักด์นี้นำหน้าชื่อตัว ท่านตนกูเห็นว่าเมื่อเป็นสหพันธรัฐมลายูแล้ว ข้าราชการและผู้ที่ทำคุณประโยชน์แก่ชาติก็ควรจะได้รับอะไรที่เหนือกว่านั้น รัฐบาลจึงสร้างบรรดาศักดิ์สามัญชนขึ้นใหม่ให้สูงกว่าระดับดาโต๊ะ บรรดาศักด์ใหม่นี้สูงสุดคือตน รองลงมาคือตันศรี (Tan Sri) มีคนพยายามจะเทียบว่าดาโต๊ะเท่ากับพระยา ตันศรีคือเจ้าพระยา ตนคือสมเด็จเจ้าพระยา ผมจึงคิดว่าไม่เหมือนกันด้วยประการฉนี้


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 พ.ค. 10, 13:42
หัวหน้าพรรคคนใหม่มีแนวทางที่เหมือนแต่แตกด่างกับคนเดิม ด้วยสร้างแนวร่วมหรือพันธมิตรระหว่างพรรคการเมืองต่างเชื้อชาติ  โดยมีเป้าหมายร่วมกันอยู่ที่การต่อสู้กับอังกฤษเพื่อเอกราช ด้วยสันติวิธี ท่านตนกูประสพความสำเร็จในการผนึกกับพรรคสมาคมจีนมลายู(MCA) ที่ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายา ทั้งสองพรรคใช้ยุทธศาสตร์ “แยกกันตีร่วมกันโต” ส่งสมาชิกลงสนามเลือกตั้ง

ระหว่างที่ทุกพรรคระดมหาเสียงอยู่นั้น โจรจีนคอมมิวนิสต์ได้ปฏิบัติการก่อกวนไม่หยุด(กิตติศัพท์ในทางร้ายนี้ถึงขนาดที่รัฐบาลไทยยืมไปใช้ เมื่อสี่ส.ส.อิสานถูกตำรวจสันติบาลจับกุมขึ้นรถ และไปปรากฎว่าถูกกระสุนปืนกลมือพรุนทั้งๆที่ถูกใส่กุญแจมือตายอยู่หน้าวัดพระศรีมหาธาตุ ทางการแถลงว่าตำรวจถูกโจรจีนคอมมิวนิสต์ซุ่มโจมตี แล้วทั้งสี่คนโดนลูกหลง) ที่นั่นรัฐบาลอังกฤษควบคุมสถานการณ์อย่างเข้มแข็ง สนธิกำลังจำนวนมากจากเครือจักรภพเข้ามาปราบปรามจนกองโจรคอมมิวนิสต์แตกพ่ายมาหลบซ่อนอยู่ในดินแดนไทย (และเป็นหนามยอกอกคนไทยอยู่หลายสิบปี แม้บัดนี้ก็ยังไม่จบเรื่อง) การเลือกตั้งครั้งแรกผ่านไปได้ ผลปรากฏว่าสมาชิกของทั้งสองพรรคได้รับการเลือกตั้งเข้าสภาท้องถิ่นอย่างท่วมท้น

ปีต่อมาเมื่อความตึงเครียดทางการเมืองผ่อนคลายลง คนทำมาหากินได้เศรษฐกิจก็เริ่มกระเตื้อง บรรยากาศเช่นนี้ทำให้ท่านตนกูชวนหลงจู้หัวหน้าพรรคสมาคมคนจีนมลายูไปอังกฤษด้วยกันเพื่อแสวงหาแนวทางที่จะได้เอกราช แม้จะไม่ประสพความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ต่อมาอังกฤษก็ยอมให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งสหพันธรัฐมลายา และยอมให้สัดส่วนของสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งมากกว่าเดิมที่ได้กำหนดไว้ ประการหลังนี้มีการประลองเกมการเมืองกันเล็กน้อยด้วยการขู่ของพรรคอัมโนว่าจะถอนตัวไม่สมัครเข้ารับเลือกตั้ง จนในที่สุดอังกฤษก็ต้องยอม เรื่องนี้ทำให้ได้ใจคนมาเลย์มาก นอกจากนั้นท่านตนกูยังได้ดึงพรรคสภาอินเดียมลายา (Malaya Indian Council: MIC) เข้ามาร่วมพันธมิตรอัมโนอีก ทำให้เป็นองค์ประกอบสมบูรณ์ที่จะให้อังกฤษยอมรับว่าพรรคนี้เป็นตัวแทนของสังคมหลากหลายเชื้อชาติด้วย
              
เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปสู่สภานิติบัญญัติของมลายาในเดือนกรกฎาคมพ.ศ.2498 พรรคพันธมิตรที่นำโดยพรรคอัมโนได้รับการยืนยันความยอมรับของประชาชน ด้วยการลงคะแนนเสียงให้ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย พรรคอัมโนได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และตนกู อับดุล เราะห์มาน ได้เป็นChief Minister ผมแปลว่าหัวหน้ารัฐมนตรีตรงๆดีกว่าที่จะเรียกว่านายกรัฐมนตรี (Prime Minister) ที่ต่อไปท่านก็จะได้เป็นคนแรกของประเทศนี้อีกเหมือนกัน


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 พ.ค. 10, 13:44
เงื่อนไขที่รัฐบาลอังกฤษได้ตั้งไว้ว่าหากปัญหาเหล่านี้หมดไป จึงจะให้มลายาเป็นเอกราชได้มีสองประการ
1. มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างเชื้อชาติอันหลากหลายในสังคม
2. การจัดการกับปัญหาคอมมิวนิสต์

สำหรับปัญหาแรกนั้นถือว่าหมดไปส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่ไม่หมดก็เพราะเกี่ยวพันกับปัญหาที่สอง
แม้ว่ากองกำลังโจรจีนจะถูกบดขยี้ทำให้ศักยภาพลดลง แต่คนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายาก็หลบลงใต้ดินและมีอิทธิพลต่อคนจีนรากหญ้าอีกจำนวนไม่น้อย ท่านตนกูได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจาประนีประนอมกับกลุ่มคอมมิวนิสต์  ด้วยการประกาศว่าพร้อมที่จะเจรจากับจีนเป็ง โดยยกเรื่องที่จะยกเลิกภาวะฉุกเฉิน และนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อการร้ายมาเป็นตัวชูประเด็น

จีนเป็งตอบรับที่จะเจรจาด้วยในหมู่บ้านแห่งหนึ่งติดกับชายแดนไทย ท่านตนกูไปที่นั่นกับนายเดวิด มาร์แชล หัวหน้ารัฐมนตรีของสิงคโปร์ในขณะนั้น เมื่อเข้านั่งโต๊ะเจรจาแล้ว ท่านขอกล่าวก่อนสองเรื่องคือ หนึ่ง..เรื่องของประกาศนิรโทษกรรม ถ้ายังข้องใจประเด็นไหน ท่านยินดีที่จะทำให้กระจ่าง สอง..ท่านมาเจรจาแทนประชาชนมลายู ไม่ใช่ฐานะตัวแทนของรัฐบาลอังกฤษ หลังจากนั้นจึงเชิญให้จีนเป็งกล่าวบ้าง จินเป็งตอบว่าตัวเขาจะไม่ยอมรับประกาศนิรโทษกรรม เพราะไม่เปิดโอกาสให้พวกคอมมิวนิสต์ในป่าให้มีสถานะทางสังคมเท่าเทียมกับพวกมลายัน(คนมลายูแท้ๆ) เขาต้องการให้พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับการยอมรับว่าเป็นพรรคการเมืองโดยชอบด้วยกฏหมาย และขู่ว่าทุกคนในป่าจะไม่มีวันยอมแพ้หากไม่ได้ตามเงื่อนไขนี้ การเจรจาดำเนินไปจนค่ำก็ยังไม่มีแววว่าใครจะยอมใคร เดวิด มาร์แชลถามจีนเป็งว่าถ้ามลายามีเอกราชแล้ว พวกโจรจีนจะยอมวางอาวุธหรือไม่ จีนเป็งก็ยืนยันว่า ถ้าไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ก็ไม่มีวันที่จะวาง การเจรจายุติลงด้วยความล้มเหลวเมื่อเวลาล่วงเลยสี่ทุ่มไปแล้ว

ท่านตนกูกลับบ้านเช้าวันรุ่งขึ้น เพื่อเตรียมตัวจะนำคณะเจรจาเพื่อเอกราชไปอังกฤษในสองวันต่อมา ท่านบันทึกไว้ว่า การพบกันครั้งนี้สอนอะไรให้ท่านบางอย่าง “มลายากับระบอบคอมมิวนิสต์ไม่มีทางที่จะอยู่ร่วมแผ่นดินกันได้”


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 พ.ค. 10, 13:49
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2491 คณะตัวแทนจากพรรคพันธมิตรและตัวแทนบรรดาสุลต่านโดยการนำของท่านตนกูก็ได้เดินทางไปลอนดอนอีกครั้งหนึ่งเพื่อเจรจากับรัฐบาลอังกฤษ มุ่งประเด็นไปสู่การเป็นเอกราชอย่างเดียว โดยไม่นำเงื่อนไขคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องค่อยๆแก้ไขมาประกอบ อังกฤษเห็นว่าความรุนแรงของปัญหาดังกล่าวก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆจึงยอมรับฟัง และสนองด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยสมาชิก5คน เลือกสรรมาจากบรรดาประเทศในเครือจักรภพ ให้ท่านลอร์ด รีด เป็นประธาน มีหน้าที่รับฟังความเห็นของชาวมลายาและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ นำมาร่างรัฐธรรมนูญที่มีชื่อว่าเมอร์เดกา(ภาษามาเลย์แปลว่าเอกราช) ที่สำเร็จลงอย่างไม่มีใครได้ทุกสิ่งที่คาดหวัง แต่ทุกคนก็พอใจ สภานิติบัญญัติจึงได้ให้สัตยาบันรับรองรัฐธรรมนูญนี้เมื่อวันที่15 สิงหาคม พ.ศ.2500


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 พ.ค. 10, 13:51
31 สิงหาคม พ.ศ.2500 เป็นวันประกาศเอกราชของสหพันธรัฐมลายา รัฐพิธีที่ทุกคนรอคอยนี้กระทำในสนามเมอร์เดก้า สเตเดียมที่สร้างขึ้นใหม่เอี่ยมเพื่อการนี้ วันนั้นฝูงชนเข้าไปเบียดเสียดยัดเยียดเพื่อรอดูตนกู อับดุล เราะห์มาน เอกบุรุษของพวกเขาจะประกาศเอกราช ทุกคนร่วมกันเปล่งเสียงเมอร์เดก้า..เมอร์เดก้า..เมอร์เดก้า..เป็นจังหวะ บนพื้นยกระดับกลางสนามนั้น สุลต่านทั้ง9รัฐได้มานั่งเป็นสักขีภายใต้กรดสีเหลือง ท่านดยุ๊กแห่งโกลสเตอร์ ผู้แทนพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองและภรรยาเป็นหัวหน้าคณะนำบุคคลสำคัญฝ่ายอังกฤษเข้าร่วมพิธีก็พร้อมแล้ว ท่านตนกูเองอยู่ในชุดเครื่องแต่งกายไหมแท้สีดำหนาที่ทอสอดด้วยด้ายทองคำ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะสำหรับเจ้านายแห่งรัฐเดด่ะห์เท่านั้น ท่านออกไปยืนตรงหน้า และอ่านประกาศเอกราชในท่ามกลางเสียงประสานคำว่าเมอร์เดก้าอย่างกึกก้องของประชาชน

ตนกู อับดุล เราะห์มานได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย และได้รับสมญานามว่าบิดาแห่งเอกราช (Bapa Merdeka) ณ บัดนั้น


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 พ.ค. 10, 13:55
ผมใกล้จะจบเรื่องที่อยากเขียนเกี่ยวกับท่านตนกูแล้ว เพราะหลังจากนี้ประวัติของท่านจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง อันเป็นเกมแห่งอำนาจที่ไม่มีผู้ชนะยั่งยืน

หลังจากที่ดำรงตำแหน่งยาวนานสิบกว่าปี ฝีที่กลัดหนองในเรื่องปัญหาเกี่ยวกับคนจีนก็แตกออกในวันที่13 พฤษภาคม พ.ศ.2512 (พ.ศ.นี้คนไทยก็เริ่มกันฆ่ากันเอง นำไปสู่การเผาบ้านเผาเมืองในวันที่และเดือนเดียวกันนี้เหมือนกัน) ปีโน้นเป็นวันที่คนจีนกับคนมาเลย์เริ่มปะทะกันในกัวลาลัมเปอร์ แล้วลุกลามเป็นการจลาจลเผาบ้านเผาเมืองไปทั่วประเทศ รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินแล้วส่งทหารตำรวจเข้ารักษาความสงบด้วยวิธีการรุนแรง แต่ใช้เวลาร่วมเดือนกว่าจะยุติ ตัวเลขทางการบอกมีผู้เสียชีวิต184คน แต่ข่าวที่หลุดมานอกประเทศบอกว่าเหตุมิคสัญญีนี้มีคนจีนถูกฆ่าตายนับเป็นพันๆคน ศพได้ถูกนำไปฝังกลบด้วยแบคโฮว์ในค่ายทหารต่างๆอย่างรีบเร่ง

ก่อนหน้าที่อุบัติการณ์จะเกิด ขณะอุณหภูมิค่อยๆร้อนขึ้นๆ ท่านนายกรัฐมนตรีต้องการจะแก้ไขปัญหาด้วยความประนีประนอมตามแบบฉบับของท่าน แต่ไม่ทันใจกลุ่มหัวรุนแรงของทั้งสองฝ่าย ต่างก็ยั่วยุซึ่งกันและกันจนได้เรื่อง เหล่าคนที่ท่านไว้วางใจที่สุดในพรรคก็เริ่มกล่าวหาท่านว่าเป็นมะเขือเผา ดีแต่เอาใจพวกคนจีน เล่นมาจองกันทุกวันจนไม่กล้าที่จะเด็ดขาดกับพวกนี้ เมื่อประกาศภาวะฉุกเฉินท่านจึงมอบอำนาจสั่งการทุกอย่างให้ตนอับดุล ราซัก และหลังจากเหตุการณ์สงบลงแล้ว ท่านคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ท่านจะวางมือจากการเมือง


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 พ.ค. 10, 13:59
ผมจะยังจบเรื่องนี้ไม่ได้หากมิได้กล่าวถึงครั้งที่ท่านตนกูต้องการผนวกดินแดนของคนมาเลย์ที่ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษที่เหลืออยู่ มารวมเข้าเป็นประเทศใหม่ชื่อว่ามาเลเซีย ขณะนั้นเป็นปีพ.ศ.2504 ดินแดนเหล่านั้นนอกจากสิงคโปร์แล้ว ก็อยู่บนเกาะบอร์เนียวใต้จมูกของอินโดนีเซียทั้งสิ้น คือรัฐซาราวัค และรัฐซาบาห์ และรัฐบรูไน แต่บรูไนนั้นอังกฤษก็ไม่อยากให้หลุดไปรวมเป็นมาเลเซียเพราะเจอน้ำมันในรัฐนี้ตั้งแต่ปี2473 แต่อีกสองรัฐนั้น อังกฤษคิดว่าให้อยู่กับมาเลเซียดีกว่าปล่อยให้อินโดนีเซียขม้ำไป จึงใช้อิทธิพลช่วยผลักดันเต็มที่จนประเทศมาเลเซียเกิดขึ้นได้ แต่ก็เจอปฏิกิริยาของอินโดนีเซียที่ประกาศนโยบายเผชิญหน้า ส่งทหารยกพลขึ้นบกในซาราวักแต่อังกฤษก็ช่วยมาเลเซียรบ เกิดสงครามที่ไม่ได้ประกาศนี้เป็นการปะทะกันประปรายไปทั่ว ตึงเครียดกันอยู่สักสามสี่ปี ประธานาธิบดีซูการ์โนหมดอำนาจแล้ว ทั้งสองประเทศจึงค่อยเลิกลาต่อกัน แต่นานๆก็ยังฮึ่มใส่กันอยู่สักทีเรื่องเส้นเขตแดนทั้งในทะเลและบนบก คล้ายเขมรกับไทยยังไงยังงั้น

ระหว่างนั้นพรรคพาสของพวกมุสลิมหัวรุนแรงซึ่งเป็นฝ่ายค้านได้โจมตีว่า ทีสี่จังหวัดภาคใต้ของไทยก็เป็นมาเลย์เหมือนกัน ทำไมจึงไม่คิดจะรวมเสียด้วย เลยเถิดไปจนถึงว่า แม่เป็นคนไทย สงสัยท่านตนกูจะเป็นมุสลิมเทียม และยื่นเรื่องเข้าสู่สภาในเดือนสิงหาคม 2504 อาศัยจังหวะที่มีการก่อหวอดปฏิบัติการของกลุ่มขบถแบ่งแยกดินแดนที่พรรคสนับสนุนไว้ในปัตตานี เรียกร้องให้ผนวกดินแดนทั้งสี่จังหวัดนั้นเข้ากับดินแดนมลายูเสียเลย

นายกรัฐมนตรี ตนกู อับดุล เราะห์มาน แถลงตอบฝ่ายค้านว่า ปัตตานี นราธิวาส สตูล และยะลา เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของไทย ย่อมจะไม่ยอมให้ดินแดนของตนไปเป็นของชาติอื่นอย่างแน่นอน ถ้าหากปฏิบัติไปตามคำเรียกร้องเช่นนั้นแล้ว ก็เป็นที่น่าวิตกว่าจะต้องเกิดสงครามขึ้นอย่างแน่นอนระหว่างไทยกับมลายู (โปรดสังเกตุว่า ท่านตนกูมิได้กลัวยักษ์ใหญ่อย่างอินโดนีเซีย แต่เกรงใจไทย)

“และถ้าหากเกิดสงครามขึ้นระหว่างสองประเทศแล้ว ประชาชนทั้งสองชาติจะต้องกลายเป็นศัตรูกันต่อไปชั่วกาลนานทีเดียว ในกรณีเช่นนี้อะไรเล่าจะเกิดขึ้น นอกจากชัยชนะของพวกคอมมิวนิสต์เท่านั้น” 

เรื่องในสภาจบแค่นั้น แต่นอกสภาไม่จบ พรรคพาสกล่าวหาว่าท่านตนกูขายชาติให้คนไทย ถึงกับประกาศต่อต้านไม่ให้ท่านเหยียบเข้าไปในแผ่นดินของกลันตันเป็นอันขาด มิฉนั้นจะไม่รับรองความปลอดภัย และพรรคนี้ก็เดินหน้านโยบายที่จะสร้างประเทศมุสลิมมลายูแท้ที่ประกอบด้วย ปัตตานี นราธิวาส สตูล และยะลา ปะลิศ เคด่ะห์ กลันตัน ตรังกานู ต่อไปอย่างไม่ลดละ

ท่านตนกูประสพความสำเร็จในการผนวกดินแดนที่ท่านเห็นว่าเป็นของคนมลายูเข้ารวมเป็นประเทศเดียวกัน ท่านจึงได้ฉายาว่าเป็นบิดาของประเทศมาเลเซียด้วย แม้ว่าต่อมาสิงคโปร์จะแยกตัวออกไปตามความปรารถนาร่วมกันทั้งของสองฝ่ายก็ตาม


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 พ.ค. 10, 14:05
เวลาคนไทยมองมาเลเซียว่าอยู่เบื้องหลังความวุ่นวายในสี่จังหวัดภาคใต้ของเรา ผมหวังว่าเรื่องทั้งหมดที่ผมเขียน จะทำให้ท่านเข้าใจเพื่อนบ้านของเราเองได้มากขึ้น โดยเฉพาะตอนนี้สามารถนำเอาความแตกแยกทางการเมืองในบ้านเรามาเป็นอุธาหรณ์ว่าทำไมรัฐบาลมาเลเซียจึงแก้ไขเรื่องที่ฝ่ายค้านบ้านเขามายุยงสนับสนุนคนบ้านเราไม่ได้

ผมติดค้างเรื่องคนมุสลิมสยามอีกท่านหนึ่งไว้ ซึ่งก็คือ พี่ชายแท้ๆของท่านตนกูอับดุล เราะห์มาน มีนามเต็มว่า ตนกู มูฮัมหมัด ยิหวา ในรูปท่านยืนอยู่ด้านซ้ายของท่านบิดา อีกข้างหนึ่งคือน้องชายคนสำคัญ ท่านผู้นี้เรียนหนังสือในเมืองไทย เป็นนักเรียนเก่าราชวิทย์รุ่นโรงเรียนอยู่นนทบุรี และเทพศิรินทร์ พูดไทยเขียนไทยเหมือนคนไทยที่มีการศึกษาสูงอย่างไม่ผิดเพี้ยน จบมัธยมแล้วท่านได้ไปเรียนต่อที่อังกฤษ กลับมารับราชการในตำแหน่ง นายอำเภอ ผู้พิพากษา อธิบดีกรมศุลกากร และอธิบดีกรมสรรพสามิต ตามลำดับ  หลังเกษียณอายุแล้วจึงได้รับตำแหน่ง “ตำมะหงง” (เสนาบดี) แห่งรัฐเคดาห์

 เพื่อนคนไทยผู้ใดผ่านไปผ่านมาและแวะเยี่ยม ท่านก็จะให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ในคราวที่มีปัญหาการเมืองในเมืองไทยเช่นเมื่อปี2475 มีเจ้านายไทยลี้ภัยผ่านทางปีนังหลายพระองค์ ท่านตนกูยิหวาจะไปเฝ้า ติดตามสารทุกข์สุกดิบตลอดเวลาที่อยู่ในดินแดนของเคดะห์

ท่านตนกูยิหวา เป็นอิสลามมิกชนที่มีจิตใจประเสริฐ ท่านมักจะเข้าวัดไทยที่นั่น เพื่อพบปะสนทนากับพระสงฆ์อยู่เสมอ การสนทนาก็เป็นเรื่องของมิตรภาพและความปรารถนาดีต่อกัน สิ่งที่ประทับใจคนไทยที่ไปจากกรุงเทพฯ และคนไทยในมาเลเซียก็คือ ทุกปีที่พระเถระชั้นผู้ใหญ่นำคณะสงฆ์จากกรุงเทพเอาข้อสอบนักธรรมไปสอบไล่พระสงฆ์ในมาเลเซีย ท่านตนกูยิหวาจะถือเป็นธุระจัดการต้อนรับ  และเป็นเจ้าภาพเลี้ยงภัตตาหารแก่พระสงฆ์สามเณรที่เข้าสอบด้วยความเต็มใจ และที่น่าชื่นชมก็คือ เมื่อท่านมาต้อนรับคณะสงฆ์ ทุกคนจะเห็นท่านทำตัวเสมือนดังคนไทยทั่วไป เวลาเดินกับพระท่านตนกูจะแบกร่มสนทนากันไปไม่กางไว้เหนือศรีษะ คนที่โน่นไม่มีใครไม่รู้จักท่านตนกูยิหวา ผู้อุปัฏฐากวัดไทยและเป็นที่พึ่งของคนไทยมาตลอดชีวิตของท่าน

ท่านตนกูยิหวาได้จัดสรรมิตรภาพระหว่างเพื่อนร่วมโลกแต่ต่างศาสนา กับความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าของท่านได้ถูกต้องดีเยี่ยม ท่านเป็นมุสลิมที่ดี และท่านก็สอนให้บุตรธิดาของท่านเป็นอิสลามมิกชนที่ดีอย่างไม่บกพร่อง ตนกู มูฮัมหมัด ยิหวาถึงแก่อนิจกรรมที่เมืองอลอร์สตาร์ รัฐเคดาห์ เมื่อ ปี พ.ศ.2520 สิริอายุกว่า83 ปี




กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 พ.ค. 10, 14:11
จบเรื่องที่ผมอยากเขียนแล้วละครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาช่วยให้หายเหงา และขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาติดตามอ่านอย่างเงียบเชียบ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 24 พ.ค. 10, 14:46
ขอบคุณครับ

ผมต้องกลับไปหยิบหนังสือ ไทยในมาเลเซีย ของ ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ มาอ่านอีกรอบแล้ว


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 10, 15:05
เข้ามาต่อจากคุณ CVT ที่เร็วปานจรวด     ขอบคุณมากค่ะ  อ่านด้วยความสนใจและอิ่มใจ
เดี๋ยวจะติดหมุดให้  จะได้ไม่ตกจอเร็วนัก

ขอบคุณที่ย่อยประวัติศาสตร์ที่ยืดยาวและยุ่งยากของมาเลย์เซียให้อ่านกันง่ายขึ้น  และเห็นภาพท่านตนกูได้ชัดเจน
ในเรือนไทยยังไม่เคยมีเรื่องเกี่ยวกับมาเลย์เซีย  หรือประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆก็ไม่มี
หวังว่าคงจะมีกระทู้ดีๆอย่างนี้ให้อ่านกันอีก   อย่าหาว่าได้คืบจะเอาศอกเลยนะคะ

อ่านบางตอนแล้วจุดประกายความคิดเกี่ยวกับการเมืองประเทศเพื่อนบ้านของมาเลย์เซียขึ้นมาได้   อาจจะเข้ามาแสดงความเห็นในโอกาสต่อไป 
หวังว่าจะมีคนเข้ามานั่งล้อมวงแจมบ้าง   ไม่ใช่พูดกันแค่ ๒-๓ คน  เจ้าของเรื่องจะเหงา  :)


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 10, 15:18
เข้ามาเพิ่มเรตติ้ง ด้วยการเอาบทความที่เกี่ยวข้องกันนิดหน่อยมาลง  ได้จากโอเคเนชั่น

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=185347คนสยามในมาเลเซีย
คนสยามในมาเลเซีย

ผมเองมีเพื่อนๆที่เป็นชาวสยามมาเลย์หลายท่าน ทุกท่านล้วนมีนิสัยดีกันทั้งนั้นครับ  ถึงแม้จะคุยภาษาเดียวกัน(ใต้) แต่ท่านเล่นคำโบราณจนผมแอบอมยิ้มอยู่เสมอ  วันนี้ก็เลยขอนำเรื่องราวที่น่าสนใจของคนสยามในมาเลเซียมาเล่าให้เพื่อนผองชาวบลอกได้อ่านประดับความรู้กันนะครับ

เรื่องราวความเป็นมาของชาวสยามในอาณาจักรมาลายูซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศเพื่อนบ้านของเรานั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร  มีที่มาที่ไปอย่างไร และเขาอยู่กันอย่างไรนั้น ขอเชิญทุกท่านอ่านกันตามอัธยาศัยครับ

ว่ากันว่าชาวสยามในมาเลเซียเป็นคนเชื้อสายเดียวกับคนในประเทศไทย  ่ซึ่งได้อพยพมาตั้งแต่ครั้งอาณาจักรศรีวิชัย (Srivijaya)  และจากบันทึกตำราของคุณธำรงศักดิ์  อายุวัฒนะ (ฉบับปรับปรุงปีค.ศ. 2004)  ได้กล่าวไว้ว่ามีชาวพุทธเชื้อสายสยามอพยพเข้าไปอยู่ในดินแดนมลายูเมื่อประมาณ 300-500 ปีมาก่อนแล้ว  ซึ่งตรงกับช่วงที่สยามยาตราทัพเข้าไปยึดเมืองปาหัง  โดยที่ผู้ที่ติดตามพร้อมกับกองทัพสยามได้เข้าไปอยู่อย่างกระจัดกระจายไปทั่ว  ท่านได้บันทึกไว้ว่าชาวพุทธเชื้อสายสยามอพยพเข้าไปในรัฐกลันตันหรือทางตะวันออกตอนเหนือของคาบสมุทธมลายูประมาณ 300 ปีแล้ว  และอพยพเข้าไปอยู่ในรัฐเคดาห์หรือไทรบุรีซึ่งตั้งอยู่ตะวันตกตอนเหนือของคาบสมุทรมลายูเมื่อประมาณ  500  ปีมาก่อนแล้ว

จากประวัติศาสตร์พบว่าเมือง ไทรบุรีเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีมาช้านานแล้ว  (หาอ่านเพิ่มเติมได้ใน wikipedia) ดังมีปรากฏหลักฐานว่าเป็นหนึ่งในเมืองสิบสองนักษัตร เมืองไทรบุรีใช้ตรานักษัตรงูใหญ่ ต่อมาในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยาตั้งเมืองชัยนครขึ้นใหม่ เมื่อไทยยกไปตี เมืองมะละการะหว่าง พ.ศ. 1998-2003 จึงขนานนามเมืองนี้ว่าเมืองไชยบุรี และมีราษฎรทางหัวเมืองเหนืออพยพมาอยู่กันมาก จึงออกเสียงแบบสำเนียงเหนือเป็นไซบุรี ต่อมาปี พ.ศ. 2067 เมืองไชยบุรีได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอาเจะห์ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประชากรจึงได้หันไปนับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังมีคนที่นับถือศาสนาพุทธจำนวนมากเช่นเดียวกัน ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ราว พ.ศ. 2173 จึงได้เมืองไชยบุรีกลับมาตามเดิม ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ยังเขียนชื่อเป็นไซบุรีอยู่ ต่อมาภายหลังจึงเขียนเป็น ไทรบุรี

ต่อมารัฐไทรบุรีได้ทำการแบ่งการปกครองออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ เมืองสตูล ปะลิส ไทรบุรีหรือรัฐเกดะห์ในปัจจุบัน และกุบังปาสู

ในสมัยยุคล่าอาณานิคม ไทยถูกบังคับให้เซ็นสนธิสัญญายกไทรบุรี ปะลิส กลันตัน ตรังกานู เประตอนบนให้อังกฤษ ในวันที่ 10 มีนาคม 2451

ยังมีชาวสยามที่อาศัยอยู่ในเมืองตุมปัด ในรัฐกลันตันเนื่องจากการแบ่งเขตดินแดนกับอังกฤษ ในการยึดครองมลายู โดยใช้แม่น้ำโก-ลกเป็นเขตแดน โดยใช้สิ่งแสดงว่ามีชาวไทยอพยพอาศัยมาช้านานแล้วคือ วัดชลธาราสิงเหซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอตากใบ จังหวัดนาราธิวาส นอกจากนี้ยังมีชาวสยามกระจัดกระจาดอยู่ที่อื่นๆอีก แต่ที่เป็นกลุ่มเป็นก้อนก็จะอยู่ในรัฐและเมืองที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ถึงแม้ว่าจะอยู่ในมาเลเซียมาช้านานคนสยามเหล่านี้ก็ยังคงธำรงรักษาประเพณีวัฒนธรรม และภาษาของตนเองไว้ได้ตราบจนถึงทุกวันนี้  และเขายังเรียกตัวเองว่าเซียมหรือสยาม ภาษาไทยไทรบุรีกับปะลิสคล้ายกับภาษาไทยถิ่นใต้ของจังหวัดสงขลาและนครศรีธรรมราช ส่วนของกลันตันจะคล้ายกับของภาษาไทยถิ่นใต้แถบตากใบ 
คาดว่าชาวสยามในมาเลย์เซียมีอยู่ประมาณ 50,000 คน

ชาวสยามในมาเลเซียมีการรวมตัวกันเป็นสมาคมเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างที่พึงจะได้รับจากทางการ (หาอ่านเพิ่มเติมได้จาก The Politics of ERthnic Representation: Malay-Muslim in Southern Thailand and Thai Buddhists in Northern Malaysia by Dr. Suria Saniwa) ในปี 1960s (พ.ศ. 2503) เริ่มมีสมาคมสยามเคดาห์-เปอร์ลิสที่เพื่อคงไว้ซึ่งภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในมาเลเซีย  มีการเปิดโรงเรียนสอนภาษาไทยและมีการสอนให้รักชาติไทย  รักศาสนาพุทธเทิดทูลพระมหากษัตริย์ไทยองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  มีการยกธงชาติไทยควบคู่กับธงชาติมาเลเซีย

ในช่วงนี้ขอนำเสนอข้อเรียกร้องที่เป็นประเด็นสำคัญๆที่สมาคมไทยกลันตันและสมาคาสยามมาเลเซียเสนอมายังรัฐบาลก็คือ

-การขอมีสิทธิเป็นภูมิบุตรา
-การขอมีพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดให้เป็นที่สักการะบูชาของชาวพุทธจากทั่วโลก
-การขอแก้ไขให้มีการระบุชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยในแบบฟอร์มการขอเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐ 
-การขอประกาศวัฒนธรรมไทยเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแห่งชาติและขอประกาศวันสงกรานต์เป็นวันหยุดราชการ
-การขอมีสิทธิในกองทุนช่วยเหลือด้านการศึกษาและด้านการประกอบทางธุรกิจ
ตลอดจนการขอมีสิทธิเป็นสมาชิกของพรรค UMNO

จากข้อเรียกร้องดังกล่าวรัฐบาลได้ตอบสนองดังต่อไปนี้

- ถึงแม้ชาวสยามจะไม่ได้สถานภาพเป็นภูมิบุตร  แต่สิทธิต่างๆ  ในด้านการเมืองเศรษฐกิจและสังคม  จะเหมือนกับภูมิบุตรที่เป็นชาวมลายูทุกประการ  ปัจจุบันนี้  ชาวพุทธเชื้อสายไทยจึงมีสถานภาพพิเศษซึ่งถือว่าเป็นสถานภาพที่สูงกว่าชาวจีนและชาวอินเดียในมาเลเซีย
-ปัจจุบันนี้ประเทศมามาเลเซียมีพระพุทธรูปทรงนั่งที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากพระพุทธรูปทรงนั่งของประเทศญี่ปุ่น  ซึ่งพระพุทธรูปทรงนั่งในประเทศมาเลเซียจะประดิษฐานอยู่ที่วัดมัชชิมาราม  หมู่บ้าน Tereboh  อำเภอ Tumpat รัฐ Kelantan  ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศมาเลเซียจากฝั่งอำเภอตากใบ  จังหวัดนราธิวาส  ก็จะพบเห็น  พระพุทธรูปดังกล่าวทางด้านซ้ายมือห่างจาก Pengkalan Kubor ริมฝั่งแม่น้ำตรงกันข้ามอำเภอตากใบประมาณ 5-8 กิโลเมตร
- รัฐจัดการให้มีการแก้ไขให้มีการระบุกลุ่มชาติพันธ์สยามในแบบฤอร์มการเข้ามหาวิทยาลัย (หากไม่มีการระบุกลุ่มชาติพันธุ์ที่ชัดเจน  จะทำให้ลูกหลานชาวพุทธเชื้อสายไทยหมดสิทธิในการเข้าศึกษาต่อในสถาบันของรัฐ  เพราะการเข้าสถาบันการศึกษาของรัฐในมาเลเซียนั้นมีการจัดการเข้าศึกษาตามระบบ  PR ซึ่งเป็นอัตราส่วนตามจำนวนกลุ่มชาติพันธุ์)
- รัฐบาลมาเลเซียจึงประกาศให้วัฒนธรรมการละเล่นกลองยาว  การฟ้อนรำไทย  และประเพณีวันสงกรานต์เป็นวัฒนธรรมแห่งชาติ
- รัฐจัดให้มีกองทุนต่างๆแก่ชาวพุทธเชื้อสายสยามเท่ากับชาวมาเลเซียทุกประการ
- นับตั้งแต่มีการต่อสู้การเรียกร้องสิทธิทางการเมือง  มี คุณเจริญ  อินทร์ชาติ  คุณซิวชุน  เอมอัมไพซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติล้วนแต่เป็นสมาชิกของพรรค UMNO ทั้งสิ้น

จะเห็นว่ารัฐบาลมาเลเซียไม่เพิกเฉยต่อการเป็นชนกลุ่มน้อยชาวสยามที่อยู่ในแระเทศของตน  นับตั้งแต่การให้มีการจัดตั้งองค์กรกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อที่จะได้ปกป้องสิทธิของพวกเขาเอง  และรัฐบาลยังได้สัญยากับชาวสยามมาเลย์ว่าจะสงวนสิทธิในตำแหน่งสภานิติบัญญัติไว้สำหรับชาวสยามหนึ่งที่นั่งต่อประชากร 60,000 คน  และชาวสยามมาเลย์คนแรกที่ได้รับตำแหน่งดังกล่าวในปี 2002 คือ นายเจริญ  อิทรชาติ

ทุกวันนี้ชาวสยามมาเลย์ได้ดำเนินวิธีชีวิติตามวิธีแห่งตนท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลายในมาเลเซียและจากการต่อสู้เรียกร้องตามวิถีครรลองแห่งประชาธิปไตยด้วยความสันติ รวมถึงการเปิดโอกาศที่เป็นธรรมและยุติธรรมและไม่ทอดทิ้งของรัฐบาลยังทำให้พวกเขายังเป็นชาวสยามในมาเลเซียที่ดำเนินวิถีแห่งชาวสยามต่อไป

หวังว่าคงมีประโยชน์นะครับ
 
โดย สนต้นที่เก้า


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 10, 16:02
ดิฉันแยกกระทู้ตามความประสงค์ของคุณ CVT แล้วนะคะ  แต่เพราะโลว์เทค  เลยทำให้ค.ห.คุณ CVT หายไปจากกระทู้นี้ด้วย
ตามไปอ่านได้ที่
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3321.0


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 พ.ค. 10, 21:42
ผมมีเรื่องจะขอแก้ไขเพิ่มเติมที่เขียนไปแล้วหน่อยครับ

ที่จะแก้ไขก็คือ พระรูปเจ้านายไทยที่เสด็จไปร่วมงานสยุมพรลูกชายและลูกสาวของท่านสุลต่านอับดุลฮามิดทีเดียวห้าคู่นั้น ไม่ใช่สมเด็จเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมขุนลพบุรีราเมศวร์ ตามที่เดิมผมสันนิฐานเอาเองจากบทความที่คุณวศินสุขเรียบเรียงไว้ดังนี้

“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น ทรงพิจารณาร่วมกันแล้ว มีพระราชดำริเห็นพ้องต้องกันว่า ควรที่จะส่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมขุนลพบุรีราเมศวร์ (ต้นราชสกุลยุคล) เจ้ากรมพลัมภัง กระทรวงมหาดไทย ไปเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช เนื่องจากพระองค์สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี ด้วยทรงสำเร็จการศึกษาวิชารัฐศาสตร์การปกครอง วิชาประวัติศาสตร์ (เกียรตินิยม) ระดับปริญญาตรี และปริญญาโททางด้านภาษาอักษรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการปกครองหัวเมืองมลายูของอังกฤษกับการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ของไทยเป็นอย่างดี ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกับข้าหลวงใหญ่สหพันธรัฐมลายูที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษมาก่อน แม้แต่เจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮามิด) ก็ได้สมรสกับคุณหญิงเนื่อง ซึ่งเป็นคนในวังของพระมารดาของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนลพบุรีราเมศวร์ ซึ่งหากจะนับกันไปแล้วก็เปรียบเหมือนเครือญาติที่สนิทสนม ทำให้เข้าพระทัยวัฒนธรรมประเพณีอิสลามเป็นอย่างดี”

ผู้ที่ทักท้วงมาว่าผมผิดก็คือคุณวี-มี

 “พิจารณาจากเค้าพระพักตร์และลักษณะเครื่องแบบข้าราชการพลเรือนชั้นโท (เทียบชั้นนายพันทหารบก) ในภาพแล้ว คิดว่าบุคคลในภาพนั้นน่าจะเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ซึ่งทรงเป็นพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้ารุ่นแรกๆ ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ และกลับเข้ามารับราชการในตอนปลายรัชกาลที่ ๕


บ่ายวันนี้ผมออกไปเดินเล่นมา เห็นร้านหนังสือใหญ่เลยเข้าไปดู เจอหนังสือเล่มใหญ่เขียนโดยคนสิงคโปรเรื่อง Through the eyes of King Chulalongkorn ผมพลิกๆดูมีภาพเยอะมาก และมีภาพที่ผมนำมาลงในคคห.11 ด้วย ใต้ภาพบรรยายความว่าผู้ที่ประทับติดกับท่านสุลต่านคือ Prince Charoon. ผมกลับมาเปิดคอมดูเห็นที่คุณวี_หมีเขียนไว้ จึงต้องขอยกนิ้วให้ ขอบคุณมากครับ
ท่านที่จะเอาเรื่องที่ผมเขียนนี้ไปโพสต์ต่อ(ผมพบว่ามีในเน็ทแล้ว) ผมไม่ว่าหรอกครับ แต่กรุณาแก้ไขใหม่ให้ถูกต้องกับความเป็นจริงด้วย

ส่วนเรื่องที่จะขอเพิ่มเติม คือเรื่องท่านตนกูยี่หวา ผมนำเนื้อหาส่วนใหญ่มาจากที่คุณภูวดล แดนไทยเขียนไว้ในเวป แต่เอาข้อมูลจากที่อื่นเติมลงไปบ้างตามสำนวนของผม ยกเว้นบางตอนที่ผมประทับใจสำนวนที่คุณภูวดลเขียนไว้มาก ไม่อยากแตะต้องให้ด้อยลง ผมก็ลอกมาไว้ทั้งประโยค แต่ลืมแจ้งไว้ในกระทู้นั้น นึกขึ้นมาได้ก็แก้ไขไม่ทันเสียแล้ว ต้องขอบอกกล่าวกันด้วยวิธีนี้

สุดท้ายต้องขอขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูที่เอากระทู้นี้ไปปักหมุด ..หายเหนื่อยเลยครับ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 10, 22:17
มาต่อท้ายอีกนิดหน่อย เพราะไม่อยากให้กระทู้หยุดนิ่งแค่นี้ 

ไปตามอ่านต่อ  พบว่าท่านตนกูพ้นตำแหน่งเมื่อ ค.ศ. 1970   แต่จะว่าท่านวางมือโดยสิ้นเชิงก็ไม่ใช่   เจ็ดปีต่อมา  ท่านถือหุ้นของหนังสือพิมพ์  The Star  นอกจากเป็นประธานกรรมการแล้วยังเป็นคอลัมนิสต์  เขียนคอลัมน์ "Looking Back"(ย้อนอดีต) และ " As I see It"(ตามที่เห็น)
เดาว่าข้อเขียนของท่านตนกู คงจะมีปัญญาชนนิยมชมชื่น เหมือนพวกที่ตามอ่านคอลัมน์ป๋าเปลว สีเงิน

ข้อเขียนของท่านตนกู วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในหลายเรื่องที่ท่านเห็นว่าไม่สมควร       เขียนอยู่ได้ 10 ปี  ก็ต้องมาสิ้นสุดลงในค.ศ. 1987, ดร.มหาธีร์ สั่งปิดหนังสือพิมพ์เสียเลย
เจอแบบนี้เข้า ก็กลายเป็นรอยแตกใน UMNO  ท่านตนกูและตนฮุสเซน ออนน์ แยกตัวออกไปตั้งพรรคใหม่  แต่ก็เจอตอใหญ่คือมหาธีร์ตามเคย   ตั้งไม่ได้  มหาธีร์เองก็ตั้งพรรค NEW UMNO หรืออุมโนใหม่ขึ้นมาเหมือนกัน
สังขารของท่านตนกูเสื่อมลงตามวัยมากแล้ว  แม้จะกลับมาสนับสนุนมุ้ง UMNO อีกมุ้งหนึ่งที่แยกออกไปเหมือนกัน แต่สุขภาพไม่ให้เสียแล้ว  ท่านถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี 1990 ด้วยวัย 87 ปี   พักผ่อนตลอดกาลอยู่ในสุสานที่อลอร์สตาร์

ไม่ค่อยจะได้รู้เรื่องการเมืองของมาเลย์เซียนัก   ถ้าผิดพลาดประการใด  ช่วยแก้ไขให้ด้วย
ตามอ่านมาแต่ต้น   ได้ข้อสังเกตอะไรหลายอย่าง  แบบ ดูหนังดูละคร แล้วย้อนดูตัว      อะไรที่มาเลย์เซียเจอในอดีต  ดูเหมือนว่าประเทศเพื่อนบ้านของเขากำลังเจออยู่ในปัจจุบัน


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 10, 22:20
อ้างถึง
ท่านที่จะเอาเรื่องที่ผมเขียนนี้ไปโพสต์ต่อ(ผมพบว่ามีในเน็ทแล้ว) ผมไม่ว่าหรอกครับ แต่กรุณาแก้ไขใหม่ให้ถูกต้องกับความเป็นจริงด้วย
เร็วจริง   ในเว็บไหนคะ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 พ.ค. 10, 23:44
ท่านอาจารย์ลองป้ายประโยคนี้ อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย แล้วไปแปะในกูเกิ้ล ก็จะมีเวปหนึ่งโผล่มาให้เห็นก่อนของผมเสียอีก

ปกติกระทู้บางบทของผมจะมีผู้ขอมาทางหลังไมค์บ้าง ขอในหน้ากระทู้บ้าง ที่จะลิงค์ หรือเอาบางตอน หรือขอรูปไปใช้ ซึ่งผมก็ยินดี ไม่ข้ดข้อง แถมประกาศด้วยว่าผมไม่สงวนลิขสิทธิ์ถ้าผู้ใดเห็นว่าจะนำไปยังประโยชน์ให้เกิดต่อๆกันไปได้ ผมถือว่าผมเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ ก็อ่านมาเห็นมาทั้งนั้น จะคิดจะแต่งขึ้นมาเองเสียเมื่อไหร่ จะหวงไว้ทำไม  หากถ้าท่านจะเอ่ยว่าท่านเอามาจากกระทู้ของผม ผมก็ขอบพระคุณ ไม่เอ่ยผมก็ไม่ว่ากระไรเพราะส่วนใหญ่ผมก็ทำอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ถ้าเอาข้อมูลจากผมไปเขียนแบบผิดๆ ผมจะไม่สบายใจ  เกรงว่าหากลอกต่อๆกันไปแล้ว  วันหนึ่งคนข้างหน้าจะเห็นว่าที่ผิดเป็นถูกไปก็ได้

ยกตัวอย่างเช่นข้อความนี้

ตนกู อับดุล ราห์มัน ได้สมรสรวมทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่
ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2476 กับสตรีชาวไทยเชื้อสายจีนชื่อ ท่านผู้หญิงมาเรียม จง หรือมาเรียม อับดุลละห์ (Meriam Chong หรือ Meriam Abdullah) มีบุตร 2 คนคือ ตนกูคอดิยะห์ (Tunku Khadijah) และตนกูอาหมัด เนอรัง (Tunku Ahmad Nerang) และภรรยาคนแรกมาเรียม จง ได้เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2478

สาวไทยคนนั้นคือ "เรียม เพศยนาวิน" นางสาวไทยประจำปี 2482 (แค่ตายก่อนได้ตำแหน่งก็น่ากลัวแล้ว)  "เรียม"คนนี้และ ที่กลายเป็น"รานีตวนกูมาเรียม"(รานีคือภรรยาคนที่สอง) ของเอช.เอช. ซุดพัตรา ชามา ลุลลาอิล รายาแห่งรัฐเปอร์ลิส……….


ผมไม่ทราบว่าท่านเจ้าของเฟสบุค เข้าใจผิด หรือพิมพ์ผิดอะไรสักอย่าง แพะจึงมาชนกับแกะวินาศถึงขนาดนี้ แต่มันไม่ใช่กงการอะไรของผม ผมจึงเพียงเอามาเอ่ยลอยๆในกระทู้ที่แล้ว ให้ท่านอื่นที่จะเอาข้อมูลในเวปผมไปใช้ประโยชน์ ให้ระวังแก้ไขข้อผิดพลาดที่ผมเพิ่งจะทราบด้วย เท่านั้นแหละครับ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 25 พ.ค. 10, 02:15
เข้ามาลงชื่อว่าตามอ่านแบบเงียบๆครับ
 :-X
ขอบพระคุณทุกๆท่านที่แบ่งปันครับ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 25 พ.ค. 10, 07:52
เป็นกำลังใจให้ และขอบคุณ คุณ Navarat.C ที่นำสิ่งดีๆมาให้อ่านเสมอ
ผมไปอ่านเว็บนั้นแล้ว มันมั่วๆยังไงไม่รู้ครับ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 พ.ค. 10, 08:09

     ถอนหายใจดังเฮือก.......โธ่ถัง


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 พ.ค. 10, 08:26
อ่านคำตัดพ้อของคุณนวรัตน แล้วนึกถึงเพลง "ขวัญเรียม" ท่อนที่ว่า "เรียมเหลือทนแล้วนั่น"

เข้าไปอ่านกระทู้เก่า ถกกันถึงความหมายของคำว่าเีรียม

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=151.0

ได้ความว่า

เีรียม มาจากชื่ออิสลามว่า มาเรียม

แล้วอีเรียมของไอ้ขวัญแห่งทุ่งบางกะปินี่เป็นมุสลิมด้วยหรือเปล่าหนอ

 ;D


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 10, 08:51
เข้าไปอ่านแล้วค่ะ 
ป่านนี้เจ้าของกระทู้นั้น(ซึ่งคงติดตามกระทู้นี้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะเอาไปลอกโดยไม่บอกที่มา) คงรู้แล้วว่าเขียนผิดฉกาจฉกรรจ์

เรื่องนี้ทำให้นึกขึ้นได้ ว่าควรแถลงว่า
ข้อเขียนของดิฉันทั้งหมดในเรือนไทย สงวนลิขสิทธิ์    ตอนนี้ก็ยกสิทธิ์นั้นให้คณะกรรมการสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ(สวช.)ไปแล้ว    เขาเอาไปพิมพ์เป็นหนังสือเพื่อหารายได้เข้ากองทุน สำหรับสวัสดิการศิลปินแห่งชาติ   
เพราะถึงแม้ว่ารัฐจะจัดสรรงบประมาณมาเป็นค่ารักษาพยาบาลให้ศิลปินแห่งชาติก็จริง    แต่ก็เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น   ถ้ามีรายจ่ายเกินกว่างบประมาณ    สวช.ก็ต้องขวนขวายหาเพิ่มเติมเอาเอง
ดังนั้น บทความดิฉันในเรือนไทย   รายได้ทั้งหมดเป็นของรัฐ     ถ้าหากว่าใครละเมิด  สวช.เขาจะตามเช็คบิลล์โดยฝ่ายนิติกรของเขาเอง    แล้วตามถึงที่สุดด้วย  เพราะว่าเป็นหน้าที่ของเขา


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 10, 18:15
หัวหน้าพรรคคนใหม่มีแนวทางที่เหมือนแต่แตกด่างกับคนเดิม ด้วยสร้างแนวร่วมหรือพันธมิตรระหว่างพรรคการเมืองต่างเชื้อชาติ  โดยมีเป้าหมายร่วมกันอยู่ที่การต่อสู้กับอังกฤษเพื่อเอกราช ด้วยสันติวิธี ท่านตนกูประสพความสำเร็จในการผนึกกับพรรคสมาคมจีนมลายู(MCA) ที่ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายา ทั้งสองพรรคใช้ยุทธศาสตร์ “แยกกันตีร่วมกันโต” ส่งสมาชิกลงสนามเลือกตั้ง

การสร้างแนวร่วมเป็นสิ่งจำเป็นในสงครามประชาชน   สำหรับกลุ่มผู้ต่อต้านอำนาจที่เหนือกว่า  ไม่ว่าต่อต้านรัฐบาลหรือต่อต้านประเทศมหาอำนาจที่ถือเบี้ยบนก็ตาม
อย่างแรกที่ต้องรวบรวมกลุ่มพลังต่างๆให้ได้     แม้ว่าจะมีอุดมการณ์แตกต่างกันก็ไม่เป็นไร   เพราะต่างฝ่ายต่างมีปรปักษ์ร่วมกันอยู่แล้ว  ก็พอจะหยวนๆกันไปได้เรื่องความแตกต่าง  
เราจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมบางประเทศ  ฝ่ายซ้ายไม่ขัดกับนายทุน      ไม่ต่อต้านกันเรื่องอุดมการณ์และผลประโยชน์ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิง   บางทีจะมากถึงขั้นเข้าไปรวมกันอย่างสนิทใจเสียอีก    ต่างคนต่างแยกกันตีและรวมกันโต   
หลังจากเติบโตจนชิงอำนาจมาได้แล้ว  ก็ค่อยจัดการกันเองทีหลัง      

ในบรรดากลุ่มต่างๆของประชาชนในแต่ละประเทศ    ไม่มีกลุ่มไหนใหญ่เท่ากลุ่มคนจน  จะเป็นเกษตรกรในประเทศเกษตรกรรม หรือกรรมกรในประเทศอุตสาหกรรมก็ตาม   พวกนี้มักรู้สึกว่าตัวเองถูกเอาเปรียบในสังคมอยู่แล้ว   ก็อยากได้ผู้นำที่เห็นอกเห็นใจ มาช่วยให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น
ใครที่เป็นผู้นำ จะมองข้ามหัวคนจนไม่ได้   ต้องกุมหัวใจคนจนให้ได้    ถ้าผู้นำเป็นคนจริงใจ  ก็จะทำทุกอย่างเพื่อให้คนจนมีชีวิตดีขึ้น อย่างน้อยพอจะพึ่งตัวเองได้   เพื่อยกประเทศให้เจริญขึ้นไปอีก    ช่องว่างระหว่างชนชั้นมีน้อยลง
อย่างที่รุ้ง จิตเกษมอยากให้รัฐบาลหางานให้คนไทยอย่างทั่วถึง   อยากให้ฝึกพลเมืองตามความรู้ความถนัดของพวกเขา เพื่อจะสร้างชีวิตที่มีคุณภาพให้ประชาชน   พูดง่ายๆคือเขาอยากให้รัฐบาลที่ยึดอำนาจมาได้ เหลียวแลประชาชนอย่างทั่วถึง

ในทางตรงข้าม ถ้าผู้นำหวังอำนาจเบ็ดเสร็จ   ก็จะเอากลุ่มคนจนเป็นแรงหนุนตัวเอง    ให้ความหวังบ้าง  เงินบ้าง  ความเชื่อถือศรัทธาลวงๆบ้าง   เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย  พอได้อำนาจแล้วก็แล้วกัน  ไม่เหลียวแลอีก  คนจนก็ยังจนเหมือนเดิม    

สิ่งที่คนจนไม่รู้คือในประเทศทุนนิยม  แม้คนจนเป็นกลุ่มกำลังคนจำนวนมากที่สุดก็จริง  แต่การขับเคลื่อนสังคมให้เดินหน้า อยู่ในมือคนชั้นกลางผู้เป็นเจ้าของทุนต่างๆ   ทั้งใหญ่และเล็ก
ตราบใดประเทศยังเป็นทุนนิยม  ใครเข้ามาบริหารก็ต้องทำตัวกลมกลืนไปกับชนชั้นกลางอยู่ดี    ถ้าไม่เป็นเจ้าของทุนรายใหญ่เสียเอง ก็ต้องเป็นมิตรกับนายทุน   แต่ถ้าจะเอาคนจนเป็นหลักก็ต้องเป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสม์    
อย่างที่รุ้งเรียกว่ากดขี่คนทุกชั้นที่ไม่ใช่กรรมกร  โดยหัวหน้ากรรมกร    ประวัติศาสตร์พิสูจน์ตัวอย่างจากรัสเซียและจีนแล้วว่าระบบนี้ไปไม่รอด     แปลกที่ก็ยังมีคนเชื่ออย่างฝังหัวอยู่อีก


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 พ.ค. 10, 21:01
การเมืองในทุกประเทศคงเหมือนกัน ด้านหนึ่งคืออุดมการณ์  ด้านหนึ่งคือผลประโยชน์

อุดมการณ์จะไม่มีทางไปรอดถ้าหากการจัดสรรผลประโยชน์ของทุกฝ่ายไม่ลงตัว

การเมืองเป็นประเด็นที่หาข้อยุติไม่ได้ หรือได้ก็ได้ชั่วคราว ตราบเท่าที่โลกยังหมุนอยู่ การเมืองก็ไม่นิ่ง


ตอนแรกคิดจะเขียนแตะเข้าไปในเรื่องการเมืองที่ท่านตนกูเล่น และที่มันกลับมาเล่นท่านเสียเองอยู่เหมือนกัน แต่สถานการณ์ในบ้านเราขณะนี้ไม่มีบรรยากาศที่จะทำตัวทำใจให้เป็นกลางได้ เดี๋ยวจะไปแขวะเอาเค้าเข้า กระทู้จะเละเสีย

ผมมีรูปท่านตนกูในสต็อกอยู่อีกจำนวนหนึ่ง มีบางรูปที่อยากจะบันทึกไว้ท้ายเรื่องราวที่ผมเขียนถึงท่าน

รูปข้างล่างนี้เป็นตำนานอันดับหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย คือรูปที่ท่านเปล่งเสียงเมอร์เดก้าในท่ามกลางมหาสมาคมมาเลย์


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 พ.ค. 10, 21:08
รูปถ่ายกับเพื่อนที่ไม่เคยชอบกัน ประธานาธิปดีซูการ์โนแห่งอินโดนีเซีย

ทั้งสองปล่อยมุขตลกเข้าใส่กัน ก่อนจะปิดประตูเชือดเฉือนเหลี่ยมคมกันบนโต๊ะเจรจา


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 พ.ค. 10, 21:10
นี่คู่มิตรคู่หมาง นายลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีอัจฉริยะแห่งสิงคโปร์

ทั้งคู่ต่างก็แสดงอารมณ์ดีระหว่างอยู่ต่อหน้าสื่อ ทว่าลับหลัง คงไม่อยากแม้จะมองหน้า
เดี๋ยวนี้ทั้งสองประเทศก็ยังไม่ไว้ใจกันสนิท


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 10, 21:37
อ้างถึง
ตอนแรกคิดจะเขียนแตะเข้าไปในเรื่องการเมืองที่ท่านตนกูเล่น และที่มันกลับมาเล่นท่านเสียเองอยู่เหมือนกัน แต่สถานการณ์ในบ้านเราขณะนี้ไม่มีบรรยากาศที่จะทำตัวทำใจให้เป็นกลางได้ เดี๋ยวจะไปแขวะเอาเค้าเข้า กระทู้จะเละเสีย

ตีเหล็กต้องตีเมื่อร้อน
ดิฉันไม่อยากเล่าเรื่องท่านตนกูและท่านมหาธีร์เอง    ถึงไปหาอ่านมาได้  ก็คงเล่าไม่สนุก เพราะไม่มีพื้นฐานในเรื่องนี้พอจะเล่าได้ดี
เท่าที่อ่านมาผิวเผิน  ก็อยากรู้เหมือนกันว่าเหตุใดมหาบุรุษทางการเมืองทั้งสอง ถึงกลายเป็นคนละขั้วกันไปได้
ส่วนเรื่องไปแขวะใครนั้น  หากกระทู้เละ  ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว   ที่ไปอาราธนาเจ้าของกระทู้เข้าก่อน
เชื่อว่าจะมีผู้แอบฟังอยู่เงียบเชียบ มาเชียร์กันเงียบๆหลายคน   ดูจากเรตติ้งละกันค่ะ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 10, 21:59
ใครเป็นใคร คงมีคนบอกได้


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 พ.ค. 10, 22:08
ท่านอาจารย์ครับ สมัยนี้ไม่ต้องตีเหล็กตอนร้อนก็ได้  ใช้เทคโนโลยี่ขึ้นรูปตอนเหล็กเย็นๆตามธรรมชาติของมัน ได้งานแข็งแรงกว่า ขอเวลาทำใจอีกนิด ถ้าเรทติ้งไม่ตก จะให้เขียนก็จะเขียนครับ

ตอนนี้ดูรูปเก่าๆไปพลางๆก่อน ถือเป็นการเปลี่ยนอารมณ์ก็ได้

ช่วงชีวิตสมัยรุ่งโรจน์ ท่านตนกูได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่สองแห่งสหราชอาณาจักรพร้อมกับผู้นำประเทศในเครือจักรภพอื่นๆ และนายฮาโรล วิลสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ(ขวาของสมเด็จพระนางเจ้า)ที่ราชสำนักเซนต์เจมส์ เมื่อวันที่ 3 พฤาภาคม 2503 ท่านตนกูอยู่ทางขวาคนที่สองแถวหน้า นายลี กวนยูตอนนั้นซี้กัน เลยมายืนอยู่ข้างหลัง


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 พ.ค. 10, 22:16
วันที่ 21 กันยายน 2513 ท่านตนกูได้กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อสมเด็จพระราชาธิบดี ยังดี เปอร์ตวน อากง ท่ามกลางสุลต่านแห่งรัฐต่างๆของมาเลเซีย และคณะรัฐมนตรี


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 พ.ค. 10, 07:42
ก่อนหน้าการกราบบังคมทูลลาออกอย่างเป็นทางการ ในเช้าวันนั้น ท่านตนกูได้ปฏิบัติภารกิจสุดท้ายในตำแห่งนายกรัฐมนตรีในพระราชพิธีสถาปนาตนกูฮาริม แห่งเคดะห์ หลานชายของตนเอง ขึ้นเป็นพระราชาธิปดีพระองค์ใหม่สืบแทนพระองค์เดิมที่ต้องพ้นไปตามวาระ



กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 พ.ค. 10, 07:44
อีกภาพหนึ่ง
ท่านอากับท่านหลานสวมกอดกันประสาญาติสนิทในสถานที่รโหฐาน หลังจากพิธีการทั้งหลายเสร็จสิ้นไปแล้ว


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 พ.ค. 10, 17:35
ท่านตนกูประกาศลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคอัมโนในที่ประชุมพรรค เปิดทางให้ตนอับดุล ราซักขึ้นเป็นแทน ซึ่งเท่ากับปูพรมให้ก้าวไปสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่สองของประเทศมาเลเซีย


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 พ.ค. 10, 17:37
หลังจากวางมือทางการเมืองในรัฐสภาแล้ว ท่านตนกูได้หันไปทำงานให้ศาสนา
ด้วยจากการริเริ่มให้มาเลเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่อิสลามิกสัมพันธ์แห่งภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นเป็นครั้งแรก


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 พ.ค. 10, 17:43
งานของท่านตนกูเข้าตากษัตริย์ไฟซาลแห่งซาอุดิอาราเบียองค์อุปถัมภ์ใหญ่ของโลกอิสลาม ถึงกับเสด็จมามาเลเซีย แม้อยู่ในฐานะแขกของรัฐบาล แต่ก็ได้คุยกับท่านตนกูเพื่อขอเชิญให้รับตำแหน่งเลขาธิการองค์กรมุสลิมโลกที่ทรงดำริจะจัดตั้งขึ้น โดยจะมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่เจดดาห์

ท่านตนกูทูลตอบว่าท่านเป็นคนชอบคบคนทั้งหลาย ชอบเล่นม้า และชอบเล่นไพ่ในบางโอกาส ท่านไม่เหมาะสมกับตำแหน่งที่ว่า แต่กษัตริย์ไฟซาลผู้ชราแย้มพระสรวล ตรัสว่าทรงทราบทุกอย่างเกี่ยวกับท่านตนกูดีอยู่แล้ว ท่านไม่ได้เดินทางมาครั้งนี้เพื่อจะเสาะหาอิหม่าม ท่านมาเชิญคนไปช่วยจัดองค์กรที่จะนำมุสลิมทั้งโลกมาร่วมใจกัน ซึ่งเป็นจุดหมายที่ตัวท่านตนกูจะช่วยให้บรรลุผลได้เป็นอย่างดี

ท่านตนกูจึงยอมรับ
 
ในภาพ ท่านตนกูนั่งตรงกลางคณะผู้ทำงานในสำนักงานใหญ่องค์กรมุสลิมโลกที่ท่านได้เริ่มต้นในเจดดาห์ งานนี้ทำให้ท่านต้องย้ายนิวาสถานไปอยู่ที่นั่น โดยกษัตริย์ไฟซาลพระราชทานวังส่วนพระองค์แห่งหนึ่งให้เป็นที่พำนักตลอดเวลา3ปีที่ท่านอุทิศตนให้กับการเสริมสร้างสังคมมุสลิมทั่วโลก


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 พ.ค. 10, 08:24
อ้างถึง
ไปตามอ่านต่อ  พบว่าท่านตนกูพ้นตำแหน่งเมื่อ ค.ศ. 1970   แต่จะว่าท่านวางมือโดยสิ้นเชิงก็ไม่ใช่   เจ็ดปีต่อมา  ท่านถือหุ้นของหนังสือพิมพ์  The Star  นอกจากเป็นประธานกรรมการแล้วยังเป็นคอลัมนิสต์  เขียนคอลัมน์ "Looking Back"(ย้อนอดีต) และ " As I see It"(ตามที่เห็น)
เดาว่าข้อเขียนของท่านตนกู คงจะมีปัญญาชนนิยมชมชื่น เหมือนพวกที่ตามอ่านคอลัมน์ป๋าเปลว สีเงิน

หลังการเกษีรณหน้าที่เป็นครั้งที่สอง ท่านกลับมาบ้านที่เลือกจะอยู่ใช้ชีวิตบั้นปลายที่ปีนัง วันหนึ่งมีเถ้าแก่เจ้าของหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ท้องถิ่นมาบอกขายกิจการให้ ท่านตนกูเป็นนักการเมืองแบบฉบับที่มิได้ร่ำรวยจากผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ธนาคารได้ให้ท่านกู้เงินก้อนใหญ่มาทำสิ่งที่ท่านอยากจะทำนี้ หนังสือพิมพ์เดอะซันจึงมียอดขายพุ่งกระฉูดเพราะมีท่านเป็นคอลัมนิสต์ประจำ สมาชิกพรรคอัมโนและแนวร่วมทุกคนต้องอ่าน จนต้องขยายกิจการไปเปิดสำนักพิมพ์อยู่ในเมืองหลวง 


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 พ.ค. 10, 08:33
ระหว่างที่ได้ขึ้นทำเนียบนักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่  นางมาร์กาเรต ฮิลดา แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กของอังกฤษที่ครั้งหนึ่งมาเยือนมาเลเซีย ได้แวะเยี่ยมคารวะท่านถึงที่บ้าน


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 พ.ค. 10, 08:54
อ้างถึง
ข้อเขียนของท่านตนกู วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในหลายเรื่องที่ท่านเห็นว่าไม่สมควร    เขียนอยู่ได้ 10 ปี  ก็ต้องมาสิ้นสุดลงในค.ศ. 1987, ดร.มหาธีร์ สั่งปิดหนังสือพิมพ์เสียเลย

ยอดขายที่เพิ่มขึ้นตลอดบังคับให้สำนักพิมพ์จะต้องลงทุนครั้งใหญ่เพื่อติดตั้งแท่นพิมพ์ขนาดยักษ์ ถึงตรงนี้ท่านอายุเลยแปดสิบแล้ว ขาดทุนทรัพย์ที่จะลงทุนอีก จึงขายหุ้นเกือบทั้งหมดของท่านให้กับพรรคสมาคมคนจีน(MCA) เหลือเก็บไว้เป็นความภูมิใจที่ก้นกระเป๋าเพียงเล็กน้อย ในรูปเป็นวันที่เขาเข็นรถเก้าอี้พาท่านมาชื่นชมแท่นพิมพ์ตัวใหม่  ชายชรามีสีหน้าเบิกบานมาก

ในหนังสือที่เป็นข้อมูลหลักของผมมิได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในล้อมกรอบข้างต้นเลย แต่มีสาส์นของตุน ดร. มหาธีร์ บิน มูฮัมหมัด นายกรัฐมนตรี เขียนลงในเดอะสตาร์ฉบับพิเศษเนื่องในวันที่อายุของท่านครบ7รอบ ในพ.ศ.2530 (1987)
แปลความว่า

“ เราทั้งหลายต่างสำนึกในพระกรุณาขององค์อัลเลาะห์ที่ประทานให้ท่านตนกูยังมีความสามารถที่จะเสริมสร้างงานเพื่อสังคมอันมีค่ายิ่ง โดยเฉพาะด้านการประชาสงเคราะห์ และงานเผยแพร่ศาสนา ความเต็มอกเต็มใจที่จะรับใช้สังคมแม้กระทั่งอยู่ในวัยขนาดนี้ เป็นความภูมิใจของชาวมาเลเซียทุกๆคน”

สงสัยเดอะซัน(ซึ่งเป็นของพรรคการเมืองคนจีนไปแล้ว)คงจะถูกปิดไปจริงๆ สาส์นข้างต้นจึงไปลงในเดอะสตาร์(อาจจะแท่นพิมพ์เดียวกันก็ได้ เพียงแต่เปลี่ยนหัว) การเมืองมาเลเซียก็สลับซับซ้อนเช่นเดียวกับบ้านเรา ผมยิ่งอ่านยิ่งแน่ใจว่าตนรู้น้อย เขียนสุ่มสี่สุ่มห้าไปมากอาจจะพลาดในข้อเท็จจริงที่ถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบิดเบือนไว้ ก็เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยตอนนี้แหละครับ ชาวต่างชาติหลงมาอ่านฉาบฉวยก็อาจจะเชื่อเรื่องโกหกที่ปรุงแต่งเสียจนเนียน ผมจึงระมัดระวังให้กระทู้นี้เป็นเรื่องประวัติชีวิตที่สะอาดและมีคุณค่าของรัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของเอเซีย ซึ่งท่านบอกว่าท่านเคยเป็นคนสยาม อันเป็นที่มาของความบรรดาลของผมในการเขียน


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 พ.ค. 10, 09:09
อ้างถึง
เจอแบบนี้เข้า ก็กลายเป็นรอยแตกใน UMNO  ท่านตนกูและตนฮุสเซน ออนน์ แยกตัวออกไปตั้งพรรคใหม่  แต่ก็เจอตอใหญ่คือมหาธีร์ตามเคย   ตั้งไม่ได้  มหาธีร์เองก็ตั้งพรรค NEW UMNO หรืออุมโนใหม่ขึ้นมาเหมือนกัน
สังขารของท่านตนกูเสื่อมลงตามวัยมากแล้ว  แม้จะกลับมาสนับสนุนมุ้ง UMNO อีกมุ้งหนึ่งที่แยกออกไปเหมือนกัน แต่สุขภาพไม่ให้เสียแล้ว  ท่านถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี 1990 ด้วยวัย 87 ปี   พักผ่อนตลอดกาลอยู่ในสุสานที่อลอร์สตาร์

หนังสือของผมจบเรื่องลงที่งานฉลองอายุดังกล่าวของท่าน มิได้กล่าวถึงข้อความข้างบนนี้ อย่างไรก็ดีคนอายุแปดสิบกว่า คนหนึ่งนั่งรถเข็น อีกคนหนึ่งก็คงจะเป๋พอๆกัน ถ้ามาถกกันเรื่องที่จะตั้งพรรคต่อสู้ทางการเมืองกับมหาธีร์ คนหนึ่งลุกไปปัสสาวะ กลับมาอีกคนหนึ่งอาจจะลืมไปแล้วว่าเมื่อกี้พูดกันเรื่องอะไร มันก็จะไปรอดกันได้สักกี่น้ามมม?

นักการเมืองวัยทองของไทยที่ออกมาเต้นๆสลับฉากอยู่ตอนนี้ น่าจะดูๆตัวอย่างไว้บ้าง ..อ้าว..เริ่มไปแขวะเขาเข้าแล้ว


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 พ.ค. 10, 09:18
งานฉลองวันเกิดของท่านในปีนั้น จัดกันยิ่งใหญ่ แต่ความสุขของท่านคงจะอยู่ที่การมาพร้อมหน้าพร้อมตากันของลูกหลาน


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 พ.ค. 10, 09:22
อ้างถึง
การเมืองมาเลเซียก็สลับซับซ้อนเช่นเดียวกับบ้านเรา ผมยิ่งอ่านยิ่งแน่ใจว่าตนรู้น้อย เขียนสุ่มสี่สุ่มห้าไปมากอาจจะพลาดในข้อเท็จจริงที่ถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบิดเบือนไว้ ก็เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยตอนนี้แหละครับ ชาวต่างชาติหลงมาอ่านฉาบฉวยก็อาจจะเชื่อเรื่องโกหกที่ปรุงแต่งเสียจนเนียน ผมจึงระมัดระวังให้กระทู้นี้เป็นเรื่องประวัติชีวิตที่สะอาดและมีคุณค่าของรัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของเอเซีย ซึ่งท่านบอกว่าท่านเคยเป็นคนสยาม อันเป็นที่มาของความบรรดาลของผมในการเขียน

กลับไปหาว่าตัวเองได้ข้อมูลมาจากไหน  พบว่าไปฉวยเอามาจากวิกิ (ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนได้)  จึงขอลงไว้ให้พิจารณา   หากผิดพลาดก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

In 1977, having acquired substantial shares in The Star, a Penang-based newspaper, Abdul Rahman became the newspaper's Chairman. His columns, "Looking Back" and "As I See It", were critical of the government, and in 1987 Prime Minister Mahathir Mohamad banned the newspaper. This led to a split in UMNO, with Abdul Rahman and another former Prime Minister, Tun Hussein Onn, setting up a new party called UMNO Malaysia, but its registration was quashed by Mahathir Mohamad, who set up his own UMNO Baru ("New UMNO"). Abdul Rahman later supported Semangat 46, a splinter group of UMNO led by Tengku Razaleigh Hamzah. He campaigned actively for the latter in the General election of 1990, but was already in very poor health. The well-educated, visionary Tunku clashes with Mahathir's brand nationalism that was meant to help the economically and socially stunted Malays of Malaysia (due to the effect of colonial British 'divide and rule' system).
ดิฉันพยายามหาข้อมูลต่อจากที่กล่าวไว้ในนี้    แต่ยังหาไม่เจอ   ลองเสิชในกูเกิ้ลก็ยังไม่พบเรื่องนี้เฉพาะเจาะจง    ถ้าใครเจอช่วยทำลิ้งค์ให้ด้วยจะขอบคุณมาก
ตอนที่อาราธนาคุณ N.C. มาเล่าต่อ  ใจไปเชื่อวิกิ   นึกว่าเป็นเรื่องที่รู้ๆกันอยู่ทั่วไปในมาเลย์เซีย   ไม่งั้นคงมีคนเข้ามาแก้ไขวิกิให้ถูกต้องเสียนานแล้ว   พอคุณ N.C. ตอบมา ก็เลยเอะใจว่าเราจะสรุปเร็วเกินไปหรือเปล่า  


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 พ.ค. 10, 10:13
ท่านมหาธีร์เป็นนักการเมืองที่แรงคนหนึ่งของมาเลเซีย เป็นนายกรัฐมนตรีนานที่สุดถึงยี่สิบปี ตอนหนุ่มๆทะเยอทะยานมาก หาชื่อเสียงด้วยการเป็นฝ่ายค้านหัวรุนแรงในพรรคของตนเอง เคยเขียนบทความคัดค้านท่านตนกูลงหนังสือพิมพ์เป็นเรื่องฮือฮาทั่วประเทศ ตอนนั้นท่านตนกูกำลังรุ่ง อาจจะหลงๆตนเองไปด้วยซ้ำว่าตนเองบริสุทธิ์ขนาดเดินออกไปตากฝนตัวยังไม่เปียก อะไรทำนองนั้น เจอทีเด็ดพ่อหนุ่มเชื้อแขกนี้เข้าถึงกับเป๋ด้วยความเสียอกเสียใจไปหลายวัน ในที่สุดสาวกในพรรคก็ช่วยจัดการอัปเปหินายมหาธีร์นี้ออกจากพรรคอัมโนไป กว่าจะอโหสิให้กลับมาใหม่ก็หลายปี

ชื่อมหาธีร์(Mahathir)ที่ท่านอาจารย์ใช้ตรงกับความเชื่อของผมว่าน่าจะมาจากศัพท์บาลีตัวนี้แหละ(เช่นเดียวกับพระราชสมัญญานามสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า) แต่แม้ทุกวันนี้ก็ยังมีการสะกดที่แตกต่างกันในภาษาไทย มีมหาเธียร์บ้าง มหาเธร์บ้าง เมื่อขึ้นสู่ตำแหน่งใหม่ๆตอนนั้นหนังสือพิมพ์เมืองไทยใช้ว่ามหาเดร์ ผมไปกัวลาลัมเปอร์ช่วงนั้นเรียนถามท่านทูตไทยว่าคนมาเลย์เขาอ่านออกเสียงอย่างไร ท่านทูตบอกว่า "มหาเด่...มหาเด่ ชัดๆอย่างนี้แหละ" พวกเราได้ฟังแล้วก็หัวเราะกันหึๆ .เอ้า...นอกเรื่องอีก

ข้อความที่คุณวิกี้ว่า ผมได้เห็นแล้วครับ ดูแล้วก็เห็นว่าน่าจะมีมูลอยู่ ที่เอาสาส์นของมหา.ธีร์มาลงไว้ ก็ให้เห็นว่า นักการเมืองนะครับ หน้าไหว้หลังหลอกให้กันตลอด แต่ก็ยังมีที่พอจะสังเกตูได้อยู่ว่า ฉันมิได้ยกย่องเธอเรื่องผลงานด้านการเมืองเลยนะ จะบอกให้


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 พ.ค. 10, 10:21
รางวัลที่รัฐบุรุษจะได้รับจากประชาชาติ

อนุสาวรีย์บรอนซ์ของท่านตนกู อับดุล เราะห์มานได้รับการสถาปนาไว้ที่หน้าอาคารรัฐสภาของมาเลเซียที่ท่านสร้างขึ้น เป็นอนุสรณ์ให้คนมาเลย์ได้ระลึกถึงคุณความดีที่บุคคลท่านนี้ได้กระทำลงไปในขณะที่ดำรงชีวิตอยู่ ตลอดไปชั่วกาลนาน

ท่านตนกูโชคดีที่ได้มีโอกาสได้เห็นอนุสาวรีย์ที่เพื่อนร่วมชาติสร้างให้ท่านนี้


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 พ.ค. 10, 10:57
คุณ Navarat C. บอกไว้ในค.ห.สุดท้ายว่า

อ้างถึง
ผมขอจบเรื่อง “อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย” ไว้ ณ ตรงนี้

ขอความกรุณาท่านอาจารย์ช่วยเปิดกระทู้สืบเนื่องในประเด็นที่เราติดใจจะคุยกันต่อ
ว่าด้วยเรื่อง “มองมาเลย์ แล้วเหล่ดูไทย” เป็นประเดิมก่อน ผมจะกลับบ้านตอนบ่ายๆแล้วจะมาช่วยกันต่อครับ
ขอบพระคุณ

ดิฉันก็เลยแยกกระทู้ไป  เพื่อเวลาขึ้นเว็บบอร์ดจะได้มีชื่อเจ้าของเรื่องตัวจริงเป็นคนตั้งกระทู้   แต่ระบบมันพาแยกไปทั้งค.ห.   เลยต้องก๊อปกลับมาใส่ไว้ในกระทู้เดิม  ไม่งั้นเรื่องจะหายไปดื้อๆ ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยให้รู้ว่าจบแล้ว
ขอเชิญติดตามเรื่องใหม่ได้ที่นี่ค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3326.0

ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย  สำหรับเรื่องที่จบลงไป และที่เราจะได้อ่านเรื่องดีๆกันอีก


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 27 พ.ค. 10, 11:03
ขอบคุณครับ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 พ.ค. 10, 13:49
ผมมีเรื่องที่ต้องขอแก้คำผิด และขออภัย2เรื่อง

ความคิดเห็นที่ 111
อ้างถึง
หลังการเกษีรณหน้าที่เป็นครั้งที่สอง ท่านกลับมาบ้านที่เลือกจะอยู่ใช้ชีวิตบั้นปลายที่ปีนัง วันหนึ่งมีเถ้าแก่เจ้าของหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ท้องถิ่นมาบอกขายกิจการให้ ท่านตนกูเป็นนักการเมืองแบบฉบับที่มิได้ร่ำรวยจากผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ธนาคารได้ให้ท่านกู้เงินก้อนใหญ่มาทำสิ่งที่ท่านอยากจะทำนี้ หนังสือพิมพ์เดอะซันจึงมียอดขายพุ่งกระฉูดเพราะมีท่านเป็นคอลัมนิสต์ประจำ สมาชิกพรรคอัมโนและแนวร่วมทุกคนต้องอ่าน จนต้องขยายกิจการไปเปิดสำนักพิมพ์อยู่ในเมืองหลวง


เรื่องแรก คำว่าเกษียณ(อายุ)ต้องสะกดอย่างนี้ ข้างบนนั้นผิด แก้ที่ต้นฉบับไม่ทันแล้ว ต้องมาขอแก้ที่นี่ครับ

เรื่องที่สอง เดอะซัน เป็นชื่อหนังสือพิมพ์ของอังกฤษที่ติดสมองผมอยู่ หนังสือพิมพ์ที่ท่านตนกูทำชื่อเดอะสตาร์  ทำให้ครั้งแรกที่พิมพ์ สัญญาวิปราศไปจิ้มนิ้วเป็นเดอะซันอย่างไม่รู้ตัว
 
ความคิดเห็นที่ 113
อ้างถึง
สงสัยเดอะซัน(ซึ่งเป็นของพรรคการเมืองคนจีนไปแล้ว)คงจะถูกปิดไปจริงๆ สาส์นข้างต้นจึงไปลงในเดอะสตาร์(อาจจะแท่นพิมพ์เดียวกันก็ได้ เพียงแต่เปลี่ยนหัว)

พอเดอะซันไปแล้วครั้งนึง ตรงนี้ก็เลยต่อความวิปลาศเข้าไปอีก อันที่จริงเดอะสตาร์เค้ายืนยงคงกระพันมาตลอด ไม่ทราบว่าคุณวิกี้ไปเอามาจากไหนว่าถูกท่านมหาธีร์ปิดไป


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 พ.ค. 10, 08:34
อันนี้เพิ่งไปเห็นเข้า เลยเอามาฝากท่านอาจารย์เทาชมพูครับ


1987 รัฐบาล(ท่านมหาธีร์)กวาดล้างฝ่ายค้านในเดือนตุลาคม จับตัวมากักขังกว่า 100 คน และปิดหนังสือพิมพ์ชั่วคราว 3 ฉบับ เพื่อระงับความตึงเครียดด้านเชื้อชาติ สืบเนื่องจากการถกเถียงในประเด็นเรื่องระบบการศึกษาที่จัดให้คนจีน


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ค. 10, 21:16
เดาว่า ๑ ใน ๓ ที่โดนปิดไปนั้นคือเดอะสตาร์ของท่านตนกู
พยายามจะหารายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อมาถาม   แต่ยังหาไม่ได้ค่ะ  ขอฟังอย่างเดียวก่อน


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 29 พ.ค. 10, 11:44
ขอแถมให้คุณ Navarat.C ด้วยข้อมูลจากหนังสือ ไทยในมาเลเซีย ของ ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ ครับ

(http://img695.imageshack.us/img695/9301/scan00047760182.jpg)

ปกหนังสือที่อ้างถึงครับ


(http://img197.imageshack.us/img197/216/scan00037750228.jpg)

ตนกูยิหวา พี่ชายท่านตนกูอับดุลเราะห์มาน


(http://img684.imageshack.us/img684/2685/scan00027743078.jpg)

ประวัติคุณหญิงเนื่อง ลายมือตนกูยิหวา


(http://img517.imageshack.us/img517/8748/scan00017768134.jpg)

รายชื่อบุตรและบุตรีของคุณหญิงเนื่อง ลายมือตนกูยิหวา



กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 พ.ค. 10, 19:04
ต้องขอขอบคุณ คุณCVTมากครับที่เอาของแถมที่มีค่ามาลงไว้ โดยส่วนตัวผมนึกนิยมท่านตนกูยิหวามาก ชื่อท่านสดุดหูมานาน ฟังแล้วนึกถึงสำนวนที่พระเอกสมัยโบราณเกี้ยวนางเอกโดยเรียกเสียงอ่อนเสียงหวานว่า “แม่ดวงยี่หวา” ครั้นได้อ่านเรื่องของท่านก็เห็นว่าท่านเป็นคนดีจริงๆ เป็นที่รักของเพื่อนและคนทั่วไปที่รู้จักท่าน ไม่ว่าจะเป็นคนมาเลย์หรือคนไทย ท่านน่าจะได้อีกตำแหน่งหนึ่ง คือทูตสันทวไมตรีระหว่างคนทั้งสองประเทศ

ตกลงว่า “นนทนาคร” เป็นนามสกุลท่านมารดาของท่านตนกูทั้งสองอย่างมิต้องสงสัยใดๆต่อไป ได้หลักฐานกระทั่งว่าน้องชายของคุณหญิงเนื่องคนหนึ่งชื่อแช่ม
ผมมีเพื่อนชื่อดุสิต นนทนาคร บิดาชื่อท่านช่วย นนทนาคร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ สงสัยว่าปู่จะชื่อท่านแช่ม คุณดุสิตคนนี้เป็นอดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทผลิตภัณฑ์ในเครือซีเมนต์ไทย ปัจจุบันเป็นประธานหอการค้า หน้าตาดูไปแล้วก็คล้ายๆกับคนมาเลย์เหมือนกัน


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 10, 19:21
เห็นจะต้องมาเลี้ยวออกซอยแยก ในกระทู้นี้อีกแล้วละค่ะ

ยิหวา เป็นภาษาชวา แปลว่า ใจ     ดวงยิหวา ก็คือดวงใจ
ตอนอิเหนาเห็นบุษบาครั้งแรก  เมื่อท้าวดาหาให้ออกมาไหว้     ก็เคลิ้มไปกับความงาม ถึงกับสติแตก ไม่อยู่กับตัว  หลงขับเพลงออกมาว่า  
เจ้าเอยเจ้าดวงยิหวา                 หยาดฟ้ามาแต่กระยาหงัน
ได้เห็นโฉมฉายเสียดายครัน        ฉุกใจไม่ทันจะคิดเอย

เมื่อพระเอกชวาในวรรณคดีไทยเรียกนางเอกว่า ดวงยิหวา     คนไทยก็เลยเอาคำว่ายิหวาไปใช้เป็นเพศหญิง  นางเอกนิยายรุ่นคุณ N.C. ยังเล็ก    ชื่อดวงยิหวาบ้าง ขวัญยิหวาบ้าง    แต่ไม่ยักมีพระเอกคนไหนชื่อยิหวา   ( มีแต่ชื่ออ้ายขวัญ)
ชวากับมาเลย์เป็นภาษาตระกูลเดียวกัน    ในพจนานุกรมของราชบัณฑิตฯ ท่านไม่ได้บอกว่ายิหวามาจากคำว่าอะไรในภาษาเดิม  ไม่ได้บอกว่าสะกดเป็นอักษรโรมันยังไง
ก็เลยลองสะกดเองว่า Yiwa  ไปขอคุณกู๊กช่วย  เจอชื่อนี้ในเว็บของคนมาเลย์ ๒ เว็บ    จึงเดาว่าปัจจุบันก็ยังมีคนชื่อนี้อยู่   แต่ไม่รู้ว่านิยมชื่อกันทั้งชายหญิง หรือว่าชายอย่างเดียว
รอคุณ Hotacunus  มาอธิบายอีกที ถ้าหากว่าแวะเข้ามานะคะ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 29 พ.ค. 10, 19:54
รูปที่ผมเอามาให้ดูอาจจะอ่านยาก ผมลอกมาบรรทัดต่อบรรทัด อักขรวิธีตามการเขียนในต้นฉบับ
ต้นฉบับลายมือของตนกูยิหวา ฉบับแรกเขียนไว้ว่า


....                                               ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๙

คุณหญิงเนื่องภริยาเจ้าพระยาไทรบุรี สุลต่าลอับดุลฺฮามิดแห่งรัฐเคดาห์
เป็นบุตรีหลวงนราบริรักษ์ หลวงนรามีชื่อเดิมคือ เกล็บ อยู่ในสกุล
นนทนาคร เมื่อยังมีชีวิตอยู่นั้นเป็นนายอำเภอเมืองนนท์ - สมัยรัชกาลที่ ๕
คุณหญิงเป็นมารดาของตนกูยิหวาอตำมะหงงแห่งรัฐเคดาห์และเป็นมารดา
ของตนกูอับดุลฺรอฮฺมานนายกรัฐมน(เขียนตกคำว่าตรี - CVT)คนแรกของมาลายาและมาเลเซีย คุณ
หญิงเนื่องเป็นผู้สร้างวัดบาการฺบาตา, อาลอรฺสะตารฺ, รัฐเคดาห์เมื่อ พ.ศ.
๒๔๕๓ ไว้เป็นที่รลึกและเพื่อแสดงความกตัญญูกัตเวทีต่อคุณนายอิ่ม
ผู้เป็นมารดาซึ่งล่วงลับไปแล้วนั้น คุณนายอิ่มถึงแก่อนิจกรรมที่บ้านถนน
วรจักร์ กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ ในงานฌาปนกิจศพ ณ วัดสะเกษ
นั้นมีนักเรียนจากโรงเรียนราชวิทยาลัย ขณะนั้นตั้งอยู่ที่ตำบลโรงเลี้ยงเด็ก
พระนคร ได้ไปกันมาก อาทิ นายแช่ม นนทนาคร น้องชายคุณหญิง
เนื่อง อัฐของคุณนายอิ่มได้ถูกนำมาไว้ที่วัดบาการฺตา ซึ่งขณะนี้มี
นามว่าวัดราชานุประดิษ
คุณหญิงเนื่องถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ ก่อนสงครามโลกครั้ง
ที่สองไม่นานนัก ภาพล่างคือภาพของท่านถ่ายเมื่ออายุครบ ๕๖ ปี





กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 พ.ค. 10, 20:10
ภาพคุณหญิงเนื่องครับ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 29 พ.ค. 10, 20:24
ฉบับที่ ๒ เป็นรายชื่อบุตรและบุตรีคุณหญิงเนื่อง


......

นามบุตรและบุตรีของคุณหญิงเนื่อง :-
๑.ตนกูยูซุฟ ถึงแก่กรรมที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ ศพฝัง
ที่สุสานอิสลาม มหานาค เมื่อยังดำรงชีวิตอยู่นั้นรับราชการในกรมตำรวจ
เป็นนายร้อยตำรวจเอก เริ่มศึกษาวิชาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ และโรง
เรียนราชวิทยาลัย ภายหลังกระทรวงมหาดไทยส่งไปศึกษาต่อที่ประ
เทศอังกฤษ ได้เข้าเรียนที่ "รักบี้สกูล" สำเร็จวิชาแล้วกลับกรุง
เทพฯ เข้ารับราชการในกรมตำรวจ
๒.ตนกูกัลซุม(ตนกูจม) ถึงแก่อนิจกรรมโดยอุบัติเหตุที่อำเภอ
สะเดา สงขลา ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๗
๓.ตนกูยิหวา ตำมะหงงแห่งรัฐเคดาห์ ก่อนรับบำนาญเป็น
อธิบดีกรมศุลกากรและสรรพสามมิต เคยเป็นนายอำเภอและผู้พิพากษา
๔.ตนกูอับดุลรอฮฺมาน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
๕.ตนกูบาฮารุม(ตนกูอม)
๖.ตนกูอามีน๊ะ ภรรยา "มึนตรีเบอซารฺ" รัฐเคดาห์
๗.ตนกูดาเกี๊ยะ(ตนกูกลัด)
๘.ตนกูฮัมซ๊ะ(ตนกูเบดาห์) ภรรยาเอกอัคราชทูตมาเลเซียที่
กรุงเทพคราวหนึ่ง ภายหลังย้ายไปโตเกียวและเวลานี้อยู่ที่ลอนดอน
ประเทศอังกฤษ


นมัสการท่านพระครูเปลี่ยน ที่เคารพ
      นามบุตรและบุตรีของมารดาผมที่ท่านประสงค์นั้นได้
เขียนให้ตามข้างบน ภาพของผมถ่ายพร้อมกับภรรยาและภาพท่าน
หยองอธิการวัดบาการฺบาตานั้นได้ส่งมาพร้อมกับจดหมายนี้ ...
อื่นที่ต้องการนั้น ทางฝ่ายศาสนาควรขอให้ทูตไทยที่กัวลาุมปอรฺ
ช่วยจัดการให้คือเขียนขอที่เลขานุการของสุลต่านทุกๆรัฐ เขาคงให้ไม่
ขัดข้อง
                                   ตนกูยิหวา
                                     27/9/1966



กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 10, 07:26
กระทู้นี้แยกซอยไปเป็นกระทู้ ลายมือเขียน
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3332.msg64711#msg64711
เชิญทัศนา


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ค. 10, 09:11
มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับท่านตนกูยิหวาอีกเล็กน้อย ผมได้มาจากหนังสือสารเศวต ของราชวิทยาลัยสมาคม โรงเรียนราชวิทยาลัย(ที่เรียกสั้นๆว่าราชวิทย์)นี้เป็นโรงเรียนประจำสำหรับฝึกเด็กผู้ชายตามแบบฉบับของอังกฤษที่เรียกว่า Public School ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นรัชกาลต่อมาเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจึงโปรดเกล้าให้ยุบราชวิทยาลัย เอาครูกับนักเรียนไปรวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาล แล้วพระราชทานนามให้ใหม่ว่าวชิราวุธวิทยาลัย

ต่อมา นักเรียนเก่าราชวิทย์ได้ร่วมแรงร่วมใจกันพยายามจะรื้อฟื้นโรงเรียนขึ้นมาใหม่ ม.ล. ปิ่น มาลากุล (นักเรียนเก่าโรงเรียนมหาดเล็กหลวง) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ช่วยเหลือด้วยการโอนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาสามพรานอันเป็นโรงเรียนประจำสังกัดกรมวิสามัญศึกษาให้แก่มูลนิธิราชวิทยาลัยเพื่อการศึกษา จัดตั้งโรงเรียนขึ้นใหม่ ได้รับพระราชทานนามว่าภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดผ้าแพรคลุมป้านโรงเรียนในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2507

ท่านตนกูยิหวาได้มีส่วนร่วมสมทบทุนในการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นใหม่นี้ด้วย


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ค. 10, 09:12
.


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ค. 10, 09:13
.


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ค. 10, 09:15
.


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ค. 10, 09:17
.


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 มิ.ย. 10, 08:00
อ้างถึง
พระยานครศรีธรรมราชได้ให้บุตรของตน คือพระยาภักดีบริรักษ์ (แสง) เป็นผู้รักษาเมืองไทรบุรี และให้นายนุช มหาดเล็ก (บุตรอีกคนหนึ่ง) เป็นปลัดเมือง ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระภักดีบริรักษ์เป็นพระยาอภัยธิเบศร์ และเป็นเจ้าเมืองไทรบุรี นายนุชปลัดเมืองไทรบุรี เป็นพระยาเสนานุชิต จวบจนพ.ศ.2373 ตนกูเดน ซึ่งเป็นบุตรของตนกูรายาพี่ชายต่างมารดาของตนกูปะแงรัน ซ่องสุมไพร่พลได้จำนวนมากจึงยกเข้าตีเมืองไทรบุรีคืน พระยาอภัยธิเบศร์เจ้าเมืองไทรบุรีและคนไทยในเมืองต้องหนีร่นไปตั้งหลักที่เมืองพัทลุง เจ้าพระยานครมีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ จึงโปรดให้จัดทหารลงไปช่วย4ทัพ แต่กำลังไม่พอ เนื่องด้วยเมืองกลันตันและเมืองตรังกานู ได้ยกทัพขึ้นมาช่วย จึงโปรดให้เจ้าพระยาคลัง (ดิศ บุนนาค หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์) สมุหพระกลาโหมและกรมท่า เป็นแม่ทัพใหญ่ยกกองเรือตามลงไปอีก กองทัพสยามได้เข้าล้อมพวกมลายูไว้ ตนกูเดนกับพวกนายกองทั้งหลายเห็นว่าจะหนีไม่พ้นแน่ก็พากันฆ่าตัวตายทั้งหมด (บันทึกทางมาเลย์ว่าเป็นการสังหารหมู่) เมืองไทรบุรีจึงยังคงอยู่ใต้สยามต่อไป

ปีพ.ศ.2381 ในรัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้เกิดความยุ่งยากขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากตนกูมะหะหมัดสหัส ตนกูอับดุลละ ซึ่งเป็นหลานอดีตเจ้าพระยาไทรบุรี (ตนกูปะแงรัน) ได้ตั้งตนเป็นนายโจรสลัดรวบรวมสมัครพรรคพวกมากระทั่งถึงพวกมุสลิมที่เกาะยาวที่พังงา ได้มากพอควรแล้วก็เข้าตีเมือง พระยาอภัยธิเบศร์ (แสง) เจ้าเมืองไทรบุรีกับพระยาเสนานุชิต (นุช) ปลัดเมืองไทรบุรีเห็นว่าเหลือมือ จึงหนีมาอยู่ที่พัทลุงอีกก่อนจะมีหนังสือบอกเข้ามายังกรุงเทพ
             
 เมื่อตีได้เมืองไทรบุรีคืนมาได้แล้ว ตนกูมะหะหมัดสหัสก็ได้ใจ เห็นว่าเจ้าเมืองฝ่ายสยามทางปักษ์ใต้ส่วนมากขึ้นไปช่วยงานออกพระเมรุพระศพสมเด็จพระศรีสุลาไลยในกรุงเทพฯ จึงได้ยกทัพมาทางทะเลเข้าปล้นเมืองตรัง(อำเภอกันตัง) แล้วเตรียมจะไปตีเมืองสงขลาต่อไป สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าฯทรงโปรดให้เจ้าเมืองทั้งหลายรีบกลับไปรักษาเมืองโดยทันที และทรงเกรงว่าพวกเมืองปัตตานีและเมืองบริวาร รวมทั้งเมืองกลันตัน ตรังกานู จะกำเริบขึ้นมาอีก จึงทรงโปรดเกล้าให้เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัด บุนนาค ต่อมาเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ) เป็นแม่ทัพใหญ่ยกกำลังทางเรือไปป้องกันเมืองสงขลา  เมื่อทัพใหญ่เดินทางไปถึงนั้น ทัพหน้าจากนครศรีธรรมราชก็ยึดเมืองไทรบุรีคืนได้แล้ว

เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกษาพิจารณาแล้วเห็นว่า การจะจัดการเมืองไทรบุรีให้เป็นที่เรียบร้อยต่อไปแล้ว หากตั้งคนไทยเป็นเจ้าเมืองก็คงจะมีความยุ่งยากไม่จบ  พวกบุตรหลานของตนกูปะแงรัน คงจะยกมารบกวนอีก จึงได้จัดแบ่งเมืองไทรบุรีออกเป็น 4 เมืองเล็ก แต่งตั้งตนกูเชื้อสายเจ้าเมืองเก่าให้เป็นเจ้าเมืองเหล่านี้ ส่วนเมืองไทรบุรีนั้น ให้พระยาอภัยธิเบศร์ (แสง) รักษาราชการอยู่ตามเดิม โดยมีตนกูอาหนุ่ม เป็นรายามุดา (ผู้ว่าราชการเมือง) เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์จัดราชการเรียบร้อยแล้ว จึงยกทัพกลับมาพักที่เมืองสงขลาและได้สถาปนาพระเจดีย์อีกองค์หนึ่งคู่กับองค์เดิมที่พี่ชายของท่านได้สร้างไว้บนยอดเขาแดง ปากทะเลสาปเมืองสงขลา ชาวบ้านเรียกเจดีย์สองพี่น้อง เสร็จแล้วจึงได้ยกกองทัพกลับเข้ากรุงเทพ

สืบเนื่องจากคคห.6ข้างต้น ขณะเมื่อเขียนถึงตรงนี้นั้น ผมพยายามจะหารูปเจดีย์สองพี่น้องมาประกอบ เพราะเคยเดินขึ้นภูเขาที่เรียกว่า”หัวเขาแดง”ไปถึงเจดีย์คู่นี้มาสองสามครั้งมีความประทับใจกับประวัติศสาตร์ที่นั่นมาก แต่หารูปเก่าๆที่ถ่ายไว้เองไม่เจอ เลยละไว้ เช้านี้เข้าไปเดอะเนชั่นบล็อก เจอภาพถ่ายนี้เข้า คุณเคียงดินผู้ที่นำมาลงแจ้งว่าเป็นฟอร์เวิร์ดเมลมาอีกทีหนึ่ง ขออนุญาตกันมาเป็นต่อๆผมก็ต่อท้ายแถวขออนุญาตรูปนึงเอามาคู่กับของคุณบังรุณที่เคยโหลดไว้เดิม เพื่อประกอบเรื่องให้สมบูรณ์สำหรับผู้สนใจศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเมืองไทรบุรีในรัชกาลที่3จะได้บันทึกเก็บไว้นะครับ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มิ.ย. 10, 18:29
ขอบคุณสำหรับรูปถ่ายที่นำมาลงให้ดูกันค่ะ
เคยเอ่ยถึง "หัวเขาแดง" ไว้นิดหน่อย ในบทความ สุลต่านสุไลมานกับราชวงศ์จักรี
แต่ประวัติศาสตร์ ไทรบุรี   ดิฉันยังไม่เคยศึกษา  ถ้าใครรู้ก็กรุณาเล่าเพิ่มเติมด้วย


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 14 มิ.ย. 10, 19:01
สวัสดีทุกๆท่านค่ะ

เป็นสมาชิกใหม่วันนี้เองค่ะ เพราะค้นหาประวัติศาสตร์ของไทยสมัยต่างๆ ทำให้เจอเวปไซด์นี้ด้วยความโชคดีเป็นอย่างยิ่ง
เนื่องจากได้เจอประวัติศาสตร์บ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง ดีใจจริงๆเลยค่ะ  จะเข้ามาทยอยอ่านข้อมูลที่สนใจ คงต้องใช้
เวลานานหน่อย แต่จะพยายามค่ะ

ขอบพระคุณเจ้าของกระทู้และทุกท่านในที่นี้นะคะ ที่กรุณานำเรื่องราวดีๆมาแบ่งปันให้คนรุ่นหลังได้ทราบ

ขอบพระคุณค่ะ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 14 มิ.ย. 10, 21:30
ขอบคุณสำหรับรูปถ่ายที่นำมาลงให้ดูกันค่ะ
เคยเอ่ยถึง "หัวเขาแดง" ไว้นิดหน่อย ในบทความ สุลต่านสุไลมานกับราชวงศ์จักรี
แต่ประวัติศาสตร์ ไทรบุรี   ดิฉันยังไม่เคยศึกษา  ถ้าใครรู้ก็กรุณาเล่าเพิ่มเติมด้วย

อาจารย์ครับผมมีไฟล์ประชุมพงศาวดารภาค ๒ มีพงศาวดารเมืองไทรบุรีด้วย
ผมฝากไฟล์ให้ดาวน์โหลดที่นี่ครับ

http://www.4shared.com/document/Xgdpz32X/2_online.html


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 15 มิ.ย. 10, 21:41
เคยเข้ามาอ่านกระทู้นี้ (อย่างยาวนาน) ครั้งหนึ่งแล้ว คงต้องใช้เวลาอ่านอีกสักพักครับ

ขอบพระคุณคุณ Navarat.C มากครับ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 มิ.ย. 10, 06:25
คุณม้ามีความรู้เรื่องมาเลย์มากมาย
วันหน้าคงจะได้เล่าอะไรสู่กันฟังบ้างนะครับ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มิ.ย. 10, 08:12
ถ้าคุณนวรัตนขอจบกระทู้แค่นี้   ดิฉันก็เข้ามาขอบคุณ ที่เล่าเรื่องอันมีค่าและหาฟังยากให้ชาวเรือนไทยได้ฟังกัน
ขอขอบพระคุณอย่างสูง
และ...
หวังว่าเมกะโปรเจคที่เกริ่นไว้  พวกเราคงไม่ต้อง ยืน เดิน นั่ง นานเกินรอ นะคะ

ป.ล.แต่ถ้ายังไม่จบกระทู้  จะคุยต่อก็ไม่มีปัญหาอันใดค่ะ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 23 มิ.ย. 10, 17:29
อ่านกระทู้นี้มาหลายวันกว่าจะจบ ได้ทั้งความรู้และความบันเทิงเป็นอันมาก

มีเรื่องหนึ่งที่ผมเคยสงสัยมานาน คือเรื่องจีนเป็ง เพราะเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดว่าคนจีนคนไหนจะเรียกตัวเองโดยใช้สรรพนามว่า "จีน" นำหน้า ยิ่งเป็นคนจีนในแดนมลายูด้วย

มีรูปหนึ่งที่คุณ Navarat.C ได้กรุณาโพสต์ไว้ ทำให้คลายข้อสงสัยของผมลงได้ คือมีรูปของจีนเป็ง พร้อมคำว่า Chin Peng และ 陳平 ปรากฏอยู่พร้อมกัน

ทำให้พอจะเข้าใจได้ว่า ชื่อจีนเป็งนั้น คนไทยเราถอดเสียงมาจาก Chin Peng ซึ่งน่าจะถอดมาจากเป็นคำอ่าน 陳平 ในสำเนียงแต้จิ๋วว่า ฉิ่งเพ้ง ตัว 陳 นี้เป็นแซ่ อ่านอย่างแมนดารินว่า เฉิน โดยทั่วไปพวกแต้จิ๋วจะอ่านว่า ตั๊ง (ซึ่งเมื่อประกอบกับเพ้งแล้วจะเลื่อนเสียงเป็น ตั่งเพ้ง) แต่ก็มีที่อ่านว่า ชิ้ง อยู่บ้างเหมือนกัน (รวมกับเพ้งแล้วเลื่อนเสียงเป็น ฉิ่งเพ้ง) ถ้าเป็นพวกไหหลำ ก็คือแซ่ด่านนั่นเองครับ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มิ.ย. 10, 17:56
Chin Peng ออกสำเนียงจีนกลางว่า เฉินเพ้ง หรือคะ 
คุณม้ายังไม่ได้ไขคำหลัง  ว่าแมนดารินออกเสียงยังไง


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 23 มิ.ย. 10, 19:45
ขออภัย ลืมไปครับ

陳平 ออกเสียงจีนกลางว่า เฉินผิง เขียนด้วยอักษรโรมันควรเป็น Chen Ping ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมเข้าใจว่า Chin Peng น่าจะเป็นสำเนียงแต้จิ๋วครับ

ความหมายของชื่อจีนเป็ง 平 นี่ก็ช่างขัดแย้งกับพฤติกรรมดีเหลือเกิน เพราะเป็นชื่อยอดนิยมที่จะให้ความหมายว่า สันติ ครับ

สงสัยคงต้องพยายามเลี่ยงแปลว่า เท่าเทียม กระมัง


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มิ.ย. 10, 21:23
พอคุณม้าเอ่ยถึง"จีนเป็ง"  ก็เลยลองไปค้นในกูเกิ้ล อ่านเพิ่มเติม   พบด้วยความประหลาดใจว่าจีนเป็ง หรือเฉินผิง ยังมีชีวิตอยู่  อายุ ๘๗ แล้ว    รู้สึกว่าเหตุการณ์ยุคเขาเกิดขึ้นนานเหลือเกิน    คนรุ่นเดียวกันก็จากไปหมดแล้ว
เลยนึกว่าล่วงลับไปตามอายุขัยแล้วเสียอีก    ที่แท้ ลี้ภัยอยู่ในประเทศไทยทางใต้นี่เอง
เขาทำเรื่องขอกลับมาเลเซีย   แต่ศาลฎีกายกคำร้อง  เพราะเขาไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าเป็นชาวมาเลย์โดยกำเนิด     ทำให้ยังกลับไม่ได้จนบัดนี้


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 11:47
ส่งท้ายกระทู้ ด้วยคลิปวิดีโอ  พฤษภาทมิฬของมาเลเซียเมื่อปี 1969
http://www.youtube.com/watch?v=zu6tV2CiZyQ&feature=related


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 07 ก.ค. 10, 22:43
ขอส่งท้ายด้วยขอรับ

เข้ามาขอพระคุณทุกๆท่าน ทั้งคุณอาหม่อมฯท่านเจ้าของกระทู้
คุณครูใหญ่เทาชมพู และคุณม้าคลั่งพิโรธ รวมไปถึงท่านอื่นที่ผมมิได้เอ่ยนาม


กระทู้นี้ สนุกสนานปนด้วยสาระ เปี่ยมด้วยบันเทิง ทั้งจากเนื้อหาและจากสำบัดสำนวนชั้นครู

หากกระทู้เช่นนี้มีมากๆ ผู้อ่านดังเช่นผม คงได้ความรู้ประดับก้อนไขมันในกะโหลกศีรษะจนเนืองแน่นอย่างแน่นอนครับ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ต.ค. 15, 19:09
แฟนานุแฟนคุณนวรัตนโปรดอดใจรอเรื่องราวในกระทู้นี้ในรูปของหนังสืออีกไม่ช้า  ;D

ข่าวจากนิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ ๓๑๘๓

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6208.0;attach=59670;image)


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: คนดีอยู่ไหนจ๊ะ? ที่ 26 ต.ค. 15, 16:48
เข้ามาเก็บความรู่จากระทูนี้อย่างเงียบ ๆ แต่เกรงใจว่าแอบอ่านเลยขอแสดงตนแจ้งให้ทราบว่ามีผู้น้อยด้อยความรู้คอยตามอ่านงานเขียนของท่านผู้อาวุโสอยู่เงียบ ๆ นะเจ้าคะ  ;D ;D ;D


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ต.ค. 15, 17:22
อ่านในกระทู้นี้ก็ดีครับ จะได้รายละเอียดที่พิศดาร เพราะรวมความเห็นของท่านอื่นด้วย

ส่วนในหนังสือก็จะได้อีกอรรถรสหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องให้กระชับ จะปล่อยให้เข้าป่าหรือออกทะเลไม่ได้ ก็สนุกคนละแบบแหละครับ



กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ต.ค. 15, 08:07
เป็นหนังสือแล้วนะครับ แต่ถ้าจะไปหาซื้อให้ได้แน่นอน ผมได้ฟังมาว่าต้องเป็นซักวันพฤหัสที่ ๒๙ คือพรุ่งนี้ครับ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ต.ค. 15, 09:20
ตัวอย่างพอเป็นกระสายยา ๓๐ หน้า  ;D

http://www.yingthai-mag.com/sites/default/files/samplePDF/preview_204.pdf (http://www.yingthai-mag.com/sites/default/files/samplePDF/preview_204.pdf)


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ต.ค. 15, 10:39
รวดเร็วกว่าผมตามเคย ผมยังไม่ทันเห็นระโยงที่ว่าเลย ขอบคุณมากครับ


กระทู้: อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
เริ่มกระทู้โดย: ศุศศิ ที่ 29 ต.ค. 15, 14:19
เกือบพลาดกระทู้ดีๆ ดูปีที่เขียน 2010  นั้นน่าจะยังไม่ได้เป็นสมาชิกติดตามเว็บนี้  โชคดีที่มีการโพสขึ้นมาใหม่