เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 16 มิ.ย. 06, 13:11



กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 16 มิ.ย. 06, 13:11

เอามาฝากครับ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 16 มิ.ย. 06, 13:18

สมุดไทยวัดหัวกระบือฉบับนั้น เขียนเรื่อง “พระพุทธคุณคัมภีร์”
ระบุว่าสร้างขึ้น พ.ศ.๒๒๘๖ ซึ่งตรงกับปีในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัว
บรมโกศ ครั้งแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ด้วยประวัติความเป็นมา
อันยาวนาน สมุดฉบับนี้จึงทรงคุณค่า ทั้งทางด้านพระศาสนา
ด้านประวัติศาสตร์ และ ด้านศิลปกรรม ซึ่งถือกันว่าเป็น
งานศิลปะชิ้นเอกของชาติ เลยขอหยิบเอามาฝากท่านที่
สนใจครับ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 16 มิ.ย. 06, 13:33

พรหม


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 16 มิ.ย. 06, 13:38

ธรรมชาติ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 16 มิ.ย. 06, 13:53

จัตุบาท


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 มิ.ย. 06, 13:58
 เรี่ยมไปเลย ข้อมูลล้ำลึกแบบนี้

เรือนไทยได้ห้องใหม่ ทำเป็น อาร์ตแกลลอรี่ได้เจ๋งสุดพรรณา
ขอเชิญกุเรเตอร์โพธิ์ประทับช้างบรรยายนำให้สมค่าของดี
อยากจะทำคำรับรองมั่ง ว่าสมุดเล่มนี้ มีค่าควรเมือง
หากวัดแห่งนี้ ทำเหมือนวัดแห่งอื่นๆ ในประเทศไทย สมบัติชิ้นนี้ออกไปหลายสิบปีแล้วครับ
ต้องยกย่องท่านเป็นมหาวชิรปราการแห่งศิลปกรรมไทยทีเดียว

ผมจะคอยถามเมื่อมีโอกาส


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มิ.ย. 06, 16:45
 ขอทำคำบรรยายประกอบภาพหน่อยค่ะ

ภาพที่ ๒
หาวรรณคดีอยุธยาตอนปลายที่เกี่ยวกับพระพรหมไม่ได้  มาได้นิราศของสุนทรภู่ เกี่ยวกับบางพรหม
เลยกล้อมแกล้มไปก่อน

ถึงบางพรหมพรหมมีอยู่สี่พักตร์
คนประจักษ์แจ้งจิตทุกทิศา
ทุกวันนี้มีมนุษย์อยุธยา
เป็นร้อยหน้าพันหน้ายิ่งกว่าพรหม

ถ้าไม่ชอบ เอาโคลงของนายนรินทร์ธิเบศร์ก็ได้นะคะ

พันเนตรภูวนาถตั้ง....ตาระวัง ใดฮา
พักตร์สี่แปดโสตฟัง.....อื่นอื้อ
กฤษณนิทรเลอหลัง.....นาคหลับ ฤาพ่อ
สองพิโยคร่ำรื้อ.....เทพท้าวทำเมิน

บาทแรก-->พระอินทร์
บาทที่สอง-->พระพรหม
บาทที่สาม--->พระนารายณ์

ภาพที่ ๓

ชมดวงพวงมาลี...........ศรีเสาวภาคหลากหลายพรรณ
วนิดามาด้วยกัน...........จะอ้อนพี่ชี้ชมเชย    

(พระนิพนธ์ บทเห่เรือ ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์)


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 16 มิ.ย. 06, 18:50
 ภาพสวยเชียวครับ คุณโพธิ์ฯ โดยเฉพาะภาพดอกไม้ในความเห็นที่ 3 เห็นแล้วสวยถูกใจ แต่สงสัยขึ้นมาตะหงิดๆ ว่าช่างไปเห็นดอกอะไรมา ถึงได้เอามาเขียนลงในสมุดข่อยได้



.


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 มิ.ย. 06, 20:34
 ผมอยากเทียบสำเนียงกลอนกับจิตรกรรมไทยมานานแล้ว
แต่จนใจ ไม่มีฟามรู้เลยเรื่องกวีนิพนธ์ ยิ่งเทียบข้ามสมัย ยิ่งแบ๊ะ แบ๊ะ

กลอนที่อาจารย์เทาฯยกมานี้ดีนัก หูขี้เลื่อยอย่างผม ฟังแล้วรู้สึกเลยครับ ว่าท่านสุนทรฯ นี่พูดคนละสำเนียงกับสมุดข่อยวิเศษเล่มนี้
มันฟังจริงจัง ทื่อมะลื่อไปเลย เมื่อเอาไปอ่านให้จิตรกรรมฟัง
แต่กลับไปได้ที่ความถูกต้องสมจริง ซึ่งช่างเขียนดูเหมือนจะข้ามไป ไม่ใส่ใจเท่าไรนัก

เทียบให้ฟังอีกสักหลายบทได้ใหมครับ
แหม...นี่ถ้ามีเสียงดนตรีมาคลออยู่อีกอย่าง รับรองเข้าใจศิลปะไทย กระจ่างดั่งเดือนเด่นดวงเลย
พับผ่าสิ พ่อเพิ่ม ......เอ เกี่ยวกันไหมหว่า


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 มิ.ย. 06, 20:56
 นึกได้เรื่องหนึ่งละ

คุณโพธิ์ประทับช้าง ตั้งชื่อเรื่องว่า
"อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย"

ฟังแล้วชวนให้คิดว่า นี่เป็นงานจากเกาะเมืองอยูธยา ก่อนพม่ามาตีแตก
มีถ้อยคำหรือเงื่อนงำให้คิดไปได้เช่นนั้นใหมครับ
เพราะศิลปะสมัยปลายอยุธยา มีหลายสกุล เหมือนนิทานพื้นบ้าน ก็มีต่างกันไปในแต่ละท้องที่


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 16 มิ.ย. 06, 21:04
 ด้วยความรู้อันน้อยนิด

แต่เชื่อไหมครับคุณพิพัฒน์ ผมกลับรู้สึกว่าเอาจิตรกรรมที่ว่านั่นมาขึงโชว์ แล้วชี้ๆๆๆๆๆ  ให้นักกวี นักกลอน นักเขียน หรือแม้แต่นักเขี่ยอย่างผมดู

ผมกลับรู้สึกว่า กลอนที่อาจารย์เทาฯยกมานั้น อ่อนช้อยนิ่มนวลละมุน " เกินไป " สำหรับ ภาพเขียนตรงหน้าเสียด้วยซ้ำ


นั่นนะสิ เขาถึงเรียก ลางเนื้อชอบลางยา

??


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มิ.ย. 06, 21:26
 การบ้านอะไร ยากเหลือทน
ขอทดลองใหม่  บรรยายภาพ ๒ อีกที

ดิฉันไม่รู้ว่าลายเส้นแบบนี้เขียนแบบเรียบง่ายหรือว่ามีชั้นมีเชิง มีลูกเล่น  
แต่ถ้าเป็นวรรณคดีที่มีเชิงชั้นวรรณศิลป์ แบบอยุธยาตอนปลาย  เขาเล่นคำกันแบบนี้ เรียกว่าบรรจงให้พริ้งพรายกันด้วยภาษามีชั้นมีเชิง มีแบบแผนที่แพรวพราว

จาก ศิริวิบุลกิตติ ของหลวงศรีปรีชา

ลองอ่านดู

พรายพริ้งยิ่งเทพสุรัญ........สุราไลยสรรพ์...........ประเสริฐทุกสิ่งสรรพการ
สรรพเกิดเพราะบุญสมภาร.........สมเพิ่มมานาน....แต่บุพชาติปางหลัง
ปางเลิศเชิดชูบุญบัง...........บุญแบ่งแยกยัง.......ศัตรูให้สิ้นสุดเปิง
สุดปานพระเดชรุ่งเริง.........รุ่งเรืองบันเทิง........พระไทยในปรางสุวรรณ์
สุดแววแก้วแกมกนกพัน.........กนกพาดหิรัญ..........สุวรรณเพริศ พรายพโยม
พรายพยับแย้มแสงเยื้อนโฉม.....เยื้อนฉายเฉกโฉม...เล่ห์จะล่อฉอชั้นกามา


คำประพันธ์ประเภท ฉันท์ฉบังนาคบริพันธ์ ๑๖


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มิ.ย. 06, 21:32
 หรือว่าจะเอาภาษาแบบนี้ งาม  สงบ และสง่า

จุดเทียนประดับแหว้น.............เวียนถวาย
ธูปประทีปโคมราย.................รอบล้อม
ทักษิณสำรวมกาย.................อภิวาท
เสร็จสมโภชแล้วน้อม.............นอบเกล้าบทศรี


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 มิ.ย. 06, 21:59

.
ขออนุญาตใช้ข้อมูลคุณโพธิ์ประทับช้างเพื่อประกอบความเห็นนะครับ ผมทำให้สว่างขึ้น เพื่อจะเห็นสิ่งที่อยากจะพูด

ข้อสังเกตแรก คือจิตรกรรมนี้ ใช้สีน้อยมากครับ โครงสีหลักคือแดง มีเขียวมาตัด ทั้งหมดทำงานบนพื้นขาว ซึ่งจะทำให้ทุกสิ่งที่เขาตวัดวาด โดดเด่นทันที

ประการที่สอง ไม่มีความลังเลในรอยพู่กัน ยิ่งเราสังเกตตรงคิ้ว ต่ำลงมาเป็นเปลือกตา และลูกตา วาดล้อกันอย่างแม่นยำ รวดเร็ว ไม่มีหยุดคิด

ประการที่สาม ชิ้นส่วนที่ทำงานเหมือนเป็นเจ้านายใหญ่ในรูป คือเส้น แต่เรากลับมองไม่เห็นในทีแรกนะครับ เส้นทั้งหมดทำหน้าที่เป็นโครงสร้างรองรับอารมณ์ทุกชนิดที่ปรากฏ แต่เมื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของเส้นแล้ว ทีนี้ละคุณ จะเห็นแต่เส้น ที่วิ่งฉวัดเฉวียน จนลืมดูเรื่องสีไปเลย

ประการสุดท้าย คือการใช้สี สังเกตรูปขวา พระพรหม
เป็นการใช้สีที่ฉลาดและมีรสนิยมมาก สีเขียวจะทำหน้าที่เป็นฉาก สีแดงที่รัศมีนั้นเข้มข้นดุดัน แต่ถ้าไม่มีเขียวอ่อนมารองรับ มันจะกลายเป็นสีแดงที่เน่า หมดราคา
ช่างเขียนเข้าใจเรื่องผลของสีคู่ตรงกันข้าม เขียวบางๆนั้น แก้การเน่าได้อย่างเด็ดขาด

ที่บรรยายมานี้ ทางกวีนิพนธ์ตรงกับฝีปากใครดีครับ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มิ.ย. 06, 22:01
 อธิบายเพิ่ม
ตัวอย่างในค.ห. 11
เป็นงานผลิตในเกาะอยุธยาค่ะ  กวีขุนนางแต่ง
ถ้าจะเอางานพื้นบ้าน ก็เป็นอีกแบบ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 มิ.ย. 06, 22:04
 ผมโหวตให้ท่านเซ่งขอรับ
หางเสียงมีชีวิต เหมือนลายพู่กันครูช่างวัดหัวกระบือเลย
ของนายนรินทร์นั่นฟังหวาน ได้ไม่ครบลายเส้นที่ปรากฏ

งานนี้ท่านสุนทรฯ ตกรอบแฮะ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มิ.ย. 06, 22:11
 โอยตายแล้ว  วรรณคดีเขาไม่ได้ดูอะไรกันยังงี้หรอก


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มิ.ย. 06, 22:15
โพสแล้วถึงเพิ่งเห็น  คุณพิพัฒน์ให้คะแนนหลวงศรีปรีชา   คุณต้องเคยอ่านมาแล้ว  
ไม่งั้นคงไม่รู้ว่าท่านชื่อเซ่ง  ดิฉันไม่ได้บอกไว้
ไหนบอกว่าไม่มีฟามรู้เรื่องกวีนิพนธ์  กลบทศิริวิบุลกิตติ์ เป็นเล่มรวมกลบท หาอ่านยากมาก


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 มิ.ย. 06, 23:15
 "โอยตายแล้ว วรรณคดีเขาไม่ได้ดูอะไรกันยังงี้หรอก"
ก็เพราะรู้ยังงี้นี่แหละ ถึงหลอกครูไหวมาเล่นสนุก

ศิลปะมีบางอย่างที่เล่นด้วยกันได้ครับ แต่คงไม่ถึงขั้นเอามาส่องกันแบบอาจารย์เจตนา ฯ มันไม่ใช่คบเพลิงง่ะ

ผมขอใช้ศัพท์ต่างด้าวว่า แชร์ สปิริต คำไทยน่าจะเป็นอะไร สมองก็ตีบ คิดไม่ออก

เปรียบอย่างนี้ครับ ว่าท่านเซ่งเห็นศิลปะเป็นหลัง เป็นแผ่น เป็นเล่ม ซึ่งท่านก็คงใช้มันด้วยแหละ บางอย่างก็ไหลเข้าในสำนึก แต่งออกมาก็เป็นสำเนียงอย่างได้ยิน

ไม่เชื่อจับอาจารย์ไปขังที่พิมายสักเดือน คงว่ากลอนออกมาเป็นก้อนๆ หนักหน่วง ชัดเจน หาที่อ่อนแอไม่เจอ ชมโฉมใครก็คงเป็นสะเนียงเตรียงอับษะรา เปรี๊ยะเตรี๊ยะกลึยย์ตรึยย์ กุกกุ๊ก กระมังครับ

เด็กเดี๋ยวนี้มันฟังแต่อ๊ะข่าเคมี้ยย์แฟ็นเท๊เฉี่ยลลล์ ลิ้นมัวแต่พันกันเป็นกิ้งกืออมฮอลลลล์ เลยแต่งกลอนไม่เป็น เป็นแต่ เอส เอ็ม เอ๊สสสส

พวกเล่มแปลกๆ หายากๆ นี่ของโปรดผมเลยครับ หามาให้ปลวกที่บ้านกินเสียแยะแล้วครับ เพราะผมอ่านไม่แตก
ผมมีฉันท์วัณณพฤกษ์ (เขียนถูกอ้ะเป่าก็ไม่รู้) ฉบับโรงพิมพ์ไท พิมพ์สัก 2456-7 กระมัง เจอเมื่อไร อาจารย์ได้เอาไปเล่นแน่ครับ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 มิ.ย. 06, 09:10
 นักเรียนโค่งหลอกครูนี่บาปนะ!))))))))))))))))

ไม่เป็นไร   เดี๋ยวครูบ้านนอกจะสอนให้หน่อย  เผื่อบรรเทาบาปคุณพิพัฒน์ลงไปบ้าง

ทางวรรณคดีเขาถือกันว่า ลักษณะกาพย์กลอนโคลงฉันท์ ย่อมเลือกให้สอดคล้องกับคำที่ใช้
อย่างฉันท์ มีครุลหุ มีกลวิธีการแต่งที่ซับซ้อน ต้องใช้บาลีสันสกฤตเขมรถึงจะลงตัว  ทั้งยังเป็นโอกาสให้กวีได้ฝากฝีมือในการเล่นศัพท์แผลงศัพท์และผูกศัพท์ได้พลิกแพลงพิสดาร  

จะว่าไปการผูกศัพท์ เล่นศัพท์ก็เห็นจะคล้ายช่างเขียนเล่นลายกระมังคะ
เล่นลายลึกสองชั้นสามชั้น อย่างลายแกะสลักบานประตูโบสถ์วัดสุทัศน์  ย่อมยากซับซ้อนกว่าแกะลายง่ายๆแบบนักเรียนหัดทำ

การใช้ฉันท์เขาก็ใช้ในโอกาสพิเศษ เกี่ยวข้องกับของสูง เช่นการยอพระเกียรติ การไหว้ครู  ใช้ในพระราชพิธีสำคัญต่างๆ
ไม่เอามาใช้เล่านิทานกล่อมเด็ก
แม้แต่ฉันท์แต่ละชนิดก็มีระดับความสูงต่ำต่างกัน    ชนิดยากที่สุดใช้กับโอกาสพิเศษสุด  เช่นสัททุลวิกีฬิตฉันท์ ๑๙ ใช้ในบทอาเศียรวาท
วสันตดิลก ๑๔ ใช้ในการพรรณนาปราสาทราชวังและสิ่งโอฬารตระการตา

เมื่อพระเจ้าปราสาททองยาตราทัพไปเขมร   ได้ปลากรอบมาอย่างที่คุณพิพัฒน์เคยพูดไว้ในกระทู้ไหนสักแห่งก่อนนี้ก็จริง  
แต่ท่านก็ได้แบบแผนสร้างจักรวาลในวัดไชยวัฒนารามมาด้วย    ตลอดจนพระพุทธรูปทรงเครื่องที่อลังการ

ขอให้อ่านบทเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าปราสาททองนะคะ  เห็นความอลังการทรงเครื่องประดับอยู่ด้วยไหม

เริ่มต้นด้วยการไหว้พระรัตนตรัย

ขอถวายประนมบอรมสรร-............เพชญพุทธสาษดา
ตัดเบญจพิทธพลมา....................รมุนินทรเลอศไกร
ลายลักษณอุดมวรา.....................ดุลเรียบรเบียบใน
บาทาทุลีบอรมไตร......................ภพโลกยโมลี
นบพระสตัปกรณา.......................อภิธรมเปรมปรีดิ
อันเป็นนิยานิกแลตรี....................ภพย่อมนมัสการ
พระสูตรพระอรรถกถา.................บอรมารรถยอดญาณ
นำสัตวสู่บอรมถาน......................บทโมกขสิวาไลย
นบพระขิณาสยปอันธรง...............คุณคามภิเลอศไร
นฤโศกนฤทุกขแลไภ..................ยพิโรธพาทา

บทเฉลิมพระเกียรติในสมัยโบราณเขามีเอาไว้ขับ  ไม่ได้มีไว้อ่านในใจอย่างเดี๋ยวนี้
บทนี้ถ้าได้ครูแจ้ง คล้ายสีทอง มาอ่าน จะอลังการจนคุณพิพัฒน์อาจจะต้องพนมมือฟัง


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 มิ.ย. 06, 13:58
 โอ้ .... วิธีไถ่บาปของครูบ้านนอกนี่ เจ๋งขนาด
แบบนี้ยอมทำบาปเช้าเย็นเลยครับ

ทำไมครูในเมืองเขาไม่สอนวรรณคดีกันแบบนี้หนอ ผมอยู่หลังห้องยังได้ยินชัดเจน ต้องหยุดเขียนรูปมาตั้งใจฟัง ไม่งั้น ป่านนี้เป็นนักวรรณคดีไปแล่ว

แต่ ตามประสานักเรียนเก
เอาเรื่องมาเถียงครูอีกแล้ว
"ได้แบบแผนสร้างจักรวาลในวัดไชยวัฒนารามมาด้วย"

ก่อนผมจะมาเป็นมดไต่รูปเก่า ผมเคยเป็นมดไต่แผนผังสถาปัตยกรรมมาก่อน ไต่มานานกว่าไต่รูปอีกครับ

สมองที่เล็กกว่าสมองปลาทองแคระของน้องเฟื่อง
และตาที่มัวยิ่งกว่าตาของเจ้าพระยาทิพากรวงษ์
ช่วยกันบอกว่า แผนผังจักรวาลอยุธยานี่ ไม่ได้มาจากเขมรครับ เป็นงานสร้างทำในลุ่มเจ้าพระยานี่เองครับ ภาคกลางนี่ ยกเว้นที่ไทรโยค(ปราสาทเมืองสิงห์) กับที่ลพบุรี(ปรางค์แขก และปรางค์สามยอด) ซึ่งมีกลิ่นเขมรค่อนข้างแรง ก็ยังไม่เขมรร้อยเปอร์เซนต์ครับ ถ้าเป็นอิสานนี่ไม่เถียง แต่พอย่างเข้า พ.ศ. 1800 ลงมาแล้วนี่ เขมรไม่มีแรงไปแผ่ออิทธิพลใส่ใครอีกแล้ว
1867 นี่มีคนไปสร้างพระเจ้าพนัญเชิง องค์ใหญ่ยิ่งกว่าตึก ไปสร้างพระอัจนะที่สุโขทัย และพระแสนสะแหว้ที่เจียงใหม่
เขมรก็ทำตาปริบๆ อยากสร้างมั่ง แต่ทำไม่เป็นขอรับ

ทีนี้พอเจ้าสามพระยาตีเมืองพระนครหลวงนี่ ทรากอาณาจักรก็ล้มครืน กลายเป็นเถ้าถ่านจมดิน คงไม่มีอะไรเหลือให้พระเจ้าปราสาททองขนกลับอยุธยาแล้วครับ รวมทั้งผังจักรวาลด้วย

ปีใกล้ๆกัน หรือหลังลงมา มีร่องรอยว่า กษัตริย์เขมร กัดฟันเข้าไปบูรณะอังกอร์วัดอีกที ทำได้แค่แกะหินให้เป็นร่องรอยไม่กี่ก้อน ตอนนั้นคงไม่มีใครในพระราชอาณาจักรกัมพุชประเทศ รู้จักกับไศวนิกายวิษณุนิกาย......หรือพระเจ้าแผ่นดินวงศ์วรมันทั้งหลายอีกแล้ว

เรื่องนี้ถ้าจะแกล้งครูไหว เห็นจะเปิดห้องจักรวาลวิทยาได้อีกหนึ่งรายวิชา แต่ต้องภายใต้คติพระศรีรัตนมหาธาตุแบบอยุธยาเท่านั้นนะครับ

จั๊กกะวาลา (นี่ออกเสียงแบบไทอาหม..แหะๆ) แบบอื่นๆ ต้องไปขุดพี่แดงของผมกลับมาจากเมืองตุรินจึงจะกล้าอ้าง

.


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 มิ.ย. 06, 14:35
 คนโง่วรรณคดี ทำเป็นมาอ้าง ผิดคนละอ่าวเลย กลายเป็นตำราต้นไม้เฉ็ยเล็ยย์ ขออภัยที่อ้างผิด

ฉันท์วรรณพฤติ ครับของกรมสมเด็จปรมานุชิตชิโนรส
พิมพ์อย่างงดงาม ขนาด B 4 ปกแข็ง แต่ยังหาไม่เจอ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 17 มิ.ย. 06, 14:45

ขอบคุณ คุณเทาสำหรับบทกวี
และคุณ Pipat คุณหมู คุณติบอ
และท่านอื่นๆ สำหรับข้อคิดเห็นครับ

วันนี้งานเยอะเหลือเกิน
ไปขุดรูปพรหมมาฝากครับ
พรหมวัดใหญ่สุวรรณ คาดว่าน่าจะเป็น
สกุลเดียวกับสมุดฉบับวัดหัวกระบือ
ไว้มาคุยด้วยอีกทีครับ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 17 มิ.ย. 06, 14:49

เอามาฝากให้เห็นถึงวิวัฒนาการของภาพพรหม
กว่าจะมาเป็นภาพพรหรมฉบับวัดหัวกระบือ
พรหมแบบอยุธยาตอนต้น จากเมืองพระราชาครับ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 17 มิ.ย. 06, 15:10

"ภาพใบหน้าที่ถูกลืม"
ภาพจิตรกรรมฝาผนังจากชุมชนโบราณสมัยอยุธยา
อยู่กลางป่าเขาที่เมืองกาญจนบุรี ยังไม่ได้เผยแพร่
สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นครั้งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์
แห่งกรุงศรีอยุธยา เขียนขึ้นก่อนสมุดฉบับวัดหัวกระบือ
ใช้โทนสีแบบไทย สีเบญจรงค์ ได้แก่ แดง ดำ ขาว
เขียว และ เหลือง และไม่ได้ใช้สีฉูดฉาดอย่างสมุด
วัดหัวกระบือ

ผมมีคำแนะนำสำหรับการชมจิตรกรรมไทยโบราณ
สำหรับท่านที่เพิ่งเริ่มชม ชมอย่างได้ประโยชน์และ
ความสนุกสนานเพลิดเพลิน แล้วจะมาเล่าให้ฟังครับ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 17 มิ.ย. 06, 15:15

รูปพรหมจากสมุดฉบับวัดลาด เมืองพริบพรี
ใช้สีเบญจรงค์เช่นเดียวกัน
สีเหลืองและสีแดง รุนแรงและโดดเด่นมาก
น่าจะร่วมหรือไม่ห่างสมัยกันนักกับสมุดฉบับวัดหัวกระบือ
ท้าวความเสียยืดยาว ก็เพื่อให้ได้อรรถรส
ก่อนชมสมุดฉบับวัดหัวกระบือกันต่อ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 17 มิ.ย. 06, 15:22

ภาพปกสมุดครับ

ผมขอความกรุณาคุณเทาช่วยนำบทกวี
มาบรรยายอีก จะขอบคุณมากครับ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 17 มิ.ย. 06, 15:32
 "วัดมหาธาตุ มีความสำคัญต่ออยุธยาต้นฉันใด
วัดไชยวัฒนาราม ก็มีความสำคัญต่ออยุธยาปลายฉันนั้น"

เคยสงสัยกันมั้ยครับว่า ก่อนจะสร้างปรางค์วัดไชยวัฒนาม
คนสร้างจะคิดอะไร แล้วใช้อะไรเป็นแบบแผนในการสร้าง

ผังจักรวาล อยุธยาได้มาจากเขมร เขมรได้จากอินเดีย
ข้อนี้ผมขอยืนยันครับ ลองอ่านหนังสือเรื่องสัญลักษณ์
แห่งพระสถูปของ ดร.เอเดรียน สนอดกราส ดูครับ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 17 มิ.ย. 06, 16:15
 ชอบ ศิริวิบุลกิตติ ของหลวงศรีปรีชา มากครับคุณเทา


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 17 มิ.ย. 06, 16:22

อินทร์


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 มิ.ย. 06, 22:36
 จำได้ว่าเคยเอ่ยถึงด๊อกคนนี้ไว้หนหนึ่ง ว่าแกเขียนเรื่องเหมาะกับมัคคุเทศก์เอาไปใช้อ้างอิง เพราะทำให้ทุกอย่างอธิบายได้ตามคติจักรวาลหมด ซึ่งผมไม่เห็นตามนั้น
จำได้ว่า เฮียเออร์วิ่นสรุปไว้คำเดียว ผมก็เลยไม่ต้องใช้หนังสือของท่านสะน๊อดกร๊าสสส์นี้อีก

แต่เมื่อคุณโพธิ์ประทับช้าง มาอ้างถึงแกอีก ความทรงจำทำให้ต้องเตือนท่านอื่นๆว่าหนังสือของพี่คนนี้ ไม่เหมาะกับน้องๆที่ภูมิต้านทานต่ำ เพราะแกสามารถอ้างคติผสมปนเป ระหว่างฮินดู พุทธอโศก พุทธลังกา มหายานญี่ปุ่น วัชรญานธิเบต.....มาเขมร ชวา พม่า โดยไม่ต้องนึกถถถึงความต่างศักย์ สุดแท้แต่กลอนจะพาไป เป็นไฮบริด สะกอล่าร์ขั้นสูง

ไม่แนะนำให้อ่านนะครับ ใครมี ให้เอามาฝากผมไว้ ...55555


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 18 มิ.ย. 06, 03:12
 ผมไม่เห็นด้วยกับคุณ Pipat ครับ

1. คุณ Pipat อ้างถึงหนังสือสัญลักษณ์แห่งพระสถูปว่าเหมาะกับมัคคุเทศน์ไว้ใช้อ้างอิง
ตอบ คุณ Pipat ช่วยยกตัวอย่างตำรามัคคุเทศน์เล่มไหนบ้างที่เอาหนังสือเล่มดังกล่าว
ไปอ้างอิงหรือสอนมัคคุเทศน์บ้าง ส่วนใหญ่หนังสือเล่มนี้ใช้กับหนังสือและตำราทางวิชาการ
ด้านสถาปัตยกรรมทางศาสนา บุคลากรที่แปลหนังสือเล่มนี้ ก็ประกอบด้วยนักวิชาการ
หลายๆ ท่านมีตำแหน่งและความรู้ที่น่าเชื่อถือ ถ้าไม่น่าสนใจ ผมคิดว่าท่านคงแปลเล่มอื่นดีกว่า
เล่มนี้ ถึงจะไม่หนาแต่ต้องค้นอย่างหนักมาก

2. คุณ Pipat อ้างว่าความทรงจำทำให้ต้องเตือนท่านอื่นๆว่าหนังสือของพี่คนนี้
ไม่เหมาะกับน้องๆที่ภูมิต้านทานต่ำ
ตอบ อาจจะหมายถึงคุณ Pipat คนเดียวหรือเปล่าที่ภูมิต้านทานต่ำ ? ผมคนนึงที่ไม่เห็นด้วยกับคุณ
หลังจากที่อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ผมก็พบทั้งข้อดีและข้อเสีย ผมเชื่อว่าไม่มีสิ่งไหนในโลกนี้
ที่ Perfect 100% แต่ละคนต่างก็มีสติปัญญา จึงขึ้นอยู่กับว่า จะเลือกและใช้อะไรต่างหาก
อีกประการ ท่านที่เขียนก็เป็น ดร. การทำ ดร. ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หรือ ได้กันมามั่วๆ
ต้องทำการศึกษาและวิจัย ให้เกียรติเค้าสักหน่อยก็จะดีนะครับ ผมว่าไม่ต้องทำให้คนอื่นดูแย่
เราก็ดูดีได้ ให้เกียรติกันจะสร้างสรรค์ สังคมอินเตอร์เน็ทก็น่าอยู่กว่ากันเป็นไหนๆ

3. เพราะแกสามารถอ้างคติผสมปนเป ระหว่างฮินดู พุทธอโศก พุทธลังกา มหายานญี่ปุ่น
วัชรญานธิเบต.....มาเขมร ชวา พม่า โดยไม่ต้องนึกถถถึงความต่างศักย์ สุดแท้แต่กลอนจะพาไป
เป็นไฮบริด สะกอล่าร์ขั้นสูง
ตอบ ความต่างศักย์ของคุณ Pipat นั่นก็เป็นความเข้าใจของคุณ คนอื่นอาจจะคิดไม่เหมือนคุณ
ก็ได้ครับ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 18 มิ.ย. 06, 04:16

อยู่กันเป็นคู่ๆ เกาะอยู่บนต้นไม้ออกดอกสะพรั่ง


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 18 มิ.ย. 06, 04:17

ธรรมชาติ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 18 มิ.ย. 06, 04:19

ธรรมชาติ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 18 มิ.ย. 06, 04:20

ธรรมชาติ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 18 มิ.ย. 06, 04:21

ธรรมชาติ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 18 มิ.ย. 06, 04:22

ธรรมชาติ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 18 มิ.ย. 06, 04:23

ธรรมชาติ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 18 มิ.ย. 06, 04:24

ธรรมชาติ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 18 มิ.ย. 06, 04:25

ธรรมชาติ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 18 มิ.ย. 06, 04:28

สีของพื้นหลังในแต่ละภาพ
จะบอกถึงช่วงเวลาต่างๆ ของวัน
ตั้งแต่เช้ายันค่ำครับ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 18 มิ.ย. 06, 05:46
 ถึงคุณโพธิประทับช้างครับ

สีสันสวยมากเลยครับ ถ้าไม่บอกว่าเป็นสมุดข่อย หรือไม่เห็นรอยชำรุด ผมคงนึกว่าเป็นภาพวาดสมัยนี้เป็นแน่

ว่าแต่ "วัดหัวกระบือ" อยู่ที่ไหนหรือครับ ???

แล้วที่ว่าเขียนเรื่อง “พระพุทธคุณคัมภีร์” นั้น ไม่ทราบว่ามีท่านใดได้ศึกษาเนื้อหาของสมุดข่อยเล่มนี้ หรือยังครับ ?

อีกคำถามนะครับ ภาพวาดที่คุณโพธิ์ประทับช้าง นำมาให้ชมนี้ เป็นภาพที่เป็นองค์ประกอบของฉากป่าหิมพานต์หรือเปล่าครับ

สมุดข่อยที่ผมเคยศึกษาคร่าวๆ คือ สมุดภาพไตรภูมิ ครับ ไม่แน่ใจว่าจะมีเนื้อหาแบบเดียวกับ สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือหรือเปล่า

เนื้อหาของสมุดภาพไตรภูมิจะเริ่มด้วยภาพวาดเชิงรูปธรรมของโครงสร้างจักรวาล ภูมิต่างๆ ตามปรัชญาพราหมณ์-พุทธ จากนั้นก็จะเป็นภาพของแกนโลก (ภูเขาสิเนรุ) และทวีปใหญ่ทั้ง ๔ จากนั้นก็เป็นภาพเน้นเฉพาะชมพูทวีป โดยเริ่มจากป่าหิมพานต์ มายังชมพูทวีป อันเป็นที่ตั้งของ ๑๖ ชนบท ในช่วงนี้ ก็มีการแทรกภาพอดีตชาติ และพุทธประวัติ จนมาจึงแผนที่ของเอเชียอาค์เนย์ ต่อไปจนถึงเกาะลังกา อีกตอนก็เป็นแผนที่ชายฝั่งทะเลจาก กรุงจีน ไปถึงเมืองมกร (แถบๆ ตะวันออกกลาง)


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 18 มิ.ย. 06, 09:49
 ถามคุณโพธิประทับช้างนะครับ ว่า

นอกจากเล่มนี้แล้ว คุณใช้เล่มอื่นช่วยในการทำความเข้าใจจักรวาลวิทยาฮินดู และจักรวาลวิทยาของพุทธหรือไม่
หนังสืออ้างอิงที่ท้ายเล่มของคุณสน็อดกราส(ชื่ออ่านยากจริง) คุณอ่านแล้วกี่เล่ม

แล้วค่อยมาถกกันนะครับ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 18 มิ.ย. 06, 21:52
 สวยงามมากครับ สมกับเป็นคุณโพธิ์ประทับช้างจริงๆ อยากทราบว่าภาพให้คห 23และ 24 มาจากวัดใดครับ

ผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับสัญลักษณ์พระสถูปเท่าไรนัก คิดว่ามันกว้างเกินไปที่จะกำหนดกฏเกณท์บางอย่างเพื่อให้ครอบคลุมกับสถูปทั่วโลก แม้ว่าจะเป็นพุทธศาสนาเหมือนกันแต่บางนิกายก็มีความคิดที่ต่างกันแทบทาบกันไม่ติด ทั้งมหายาน เถรวาท สรรวาสติวาท โยคาจารย์ ตันตระ ยังมิพักกล่าวถึงคติของแต่ละท้องถิ่นเสียอีก


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: Japonica ที่ 20 มิ.ย. 06, 14:44
 ความเห็นที่ 2
วรรณกรรมที่กล่าวสรรเสริญวีรกรรมของกษัตริย์ว่าเหมือนกับเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ก็มี
ให้เห็นในวรรณคดีสมัยอยุธยาเรื่องอื่นๆอีก แต่แปลยากเหลือเกินครับ เช่น

พรหมพิศณุบรเมศวร์เจ้า.......จอมเมรุ มาศแฮ
ยมเมศมารุตอร..................อาศน์ม้า
พรุณอัคนิกุเพนทรา.............สุรเสพย์
เรืองรวิวรฟ้าจ้า...................แจ่มจันทร

(ลิลิตยวนพ่าย)


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มิ.ย. 06, 15:06
 พรหมพิศณุบรเมศวร์  = พระพรหม  พระนารายณ์ พระอิศวร
เจ้าจอมเมรุมาศ= พระอินทร์  สวรรค์ชั้นดาวดึงส์อยู่ระดับยอดเขาพระสุเมรุพอดี
ยมเมศมารุตอร..................อาศน์ม้า= พระยมและพระพาย ซึ่งมีพาหนะคือม้าวลาหก รูปร่างเป็นก้อนเมฆ
พรุณอัคนิกุเพนทรา = พระพิรุณ  พระอัคนี และท้าวกุเวร( หนึ่งในสี่ของจตุโลกบาล อยู่สวรรค์ชั้นแรกชื่อจตุมหาราชิกา)
สุรเสพย์  = หมายถึงเทวดา
บาทสุดท้ายหมายถึงพระอาทิตย์และพระจันทร์


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: Japonica ที่ 20 มิ.ย. 06, 15:35
 ขอบคุณครับสำหรับคำแปล

หลายๆภาพ ดังเช่น ค.ห. 3 เห็นมีนกเคลียคลอ ทำให้ผมนึกถึงบทกวีเก่าในสมัยอยุธยาอีกบทหนึ่งที่
ที่ใช้นกเป็นสื่อบินไปแจ้งข่าวแก่นาง

เห็นนกเรียมอื้อโองการ.....ว่านกเอยวาน....มาช่วยทังวลโศกา
สูรักษ์เร่งเรวร่อนหา..........จงพบพนิดา.....แลทูลจงรู้เรียมศัลย์

(นิราศษีดา)


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: Japonica ที่ 21 มิ.ย. 06, 01:43
 รูปที่ 1

รูปนั้นเป็นยักษ์  คนกับยักษ์ทำให้นึกถึงเรื่อง “รถเสน” เป็นกาพย์ขับไม้สมัยอยุธยาเท่าที่มี
บทเหลือมาจนถึงปัจจุบันนี้  ทราบกันว่าเป็นวรรณกรรมสมัย
อยุธยา แต่ไม่ปรากฏตัวผู้แต่ง
และสมัยที่แต่งครับ

จินตนาการว่ายักษ์ตนนี้คือ “เมรี” ขณะชมสวนกับ “รถเสน”


โคลง

เด็ด....................ดวงดอกไม้ดุจ.........จินดา
ก้าน....................กิ่งใบชายา.............ซ่อนไว้
ราน....................รุกคลุกบุษบา..........บานบอบ
ใบ......................ก็ได้ดวงได้.............ดอกไม้ดวงสงวน  

กาพย์
เด็ดก้านรานใบ......มุ่งหมายภายใน........แลลับคับควร
ผ่อนผันกัลเม็ด.......ดูนางพลางเด็ด.......บขาลลามลวน
อักเคื้อเนื้อนวล......ทอดมาตาจวน.........พิศดูภูบาล

บัดนั้นเมรี.............น่าพระภูมี..............เดินโดยอุทยาน
สองเท้าลีลาศ.......ลีลาประพาศ..........ชมไม้พิสดาร
ดอกดวงเบ่งบาน...งอกงามในสถาน......หลายพันธุ์มากมี

พระแกล้งใส่กล......เด็ดดอดโกมล.......ทัดทานเกษี
เด็ดทับทิมทาย......แสร้งทำอุบาย.......เล่ห์กลภูมี
ตรัสถามเมรี..........ว่าไม้สิ่งนี้..............เจ้าเรียกชื่อใด

นางทูลบช้า.............สิ่งนี้แก้วข้า..........ชื่อทิพยภายใน
บเชื่อเชิญเสวยดู......พระผู้ร่วมรู้............จึงจะเชื่อน้ำใจ
สิ่งนี้พิศมัย..............เชิญเสวยเป็นใด....ชื่นพระทัยหนักหนา


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: Japonica ที่ 21 มิ.ย. 06, 01:46
 ความเห็นที่ 2, 31 โคลงเกี่ยวกับพระอินทร์ และพระพรหม ที่พอนึกออกยังมีโคลงโบราณ ดังต่อไปนี้ครับ

ศุลีตรีเนตรเรื้อง..............เรืองฤทธิ์
พรหเมศแมนสรวงสิทธิ์....สี่เกล้า
เชิญพระบรรธมนิทร........เหนือนาค
เสร็จสำราญทุกข์เร้า.......รุ่งฟ้าดินขจร


สี่หน้าบบ่ายหน้า…………..ดูดิน
ตรีเนตรลืมแลถวิล..........แหล่งหล้า
นารายน์บรรทมสินธุ์........นานตื่น
สองโศกสามเจ้าฟ้า........บ่เอื้ออาดูร

(โคลงโบราณสมัยอยุธยา)


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: Japonica ที่ 21 มิ.ย. 06, 02:29
 ความเห็นที่ 37 น่าจะเป็นยามดึก ที่ฉากหลังสีหม่นลงหมายถึงรัตติกาลมาเยือน

ยามดึกวิเวกด้วย............เสียงนก
เค้าแสรกแถกถาผก........กู่ร้อง
ยอกรกอดกับอก............ออมสวาสดิ
มือตะโบมโลมน้อง.........ปากพร้องรับขวัญ

(พระศรีภูริปรีชา)


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 21 มิ.ย. 06, 12:49

หัวกระบือกบินทรราชร้า  รณรงค์ แลฤา
ตัดกบาลกระบือดง  เด็ดหวิ้น
สิบเศียรทรพีคง  คำเล่า แลแม่
เสมอพี่เด็ดสมรดิ้น  ขาดด้วยคมเวร
ที่มา : นิราศนรินทร์

ตอบคำถาม คุณ Hotacunus ครับ
- ว่าแต่ "วัดหัวกระบือ" อยู่ที่ไหนหรือครับ ?
ตอบ ถนนบางขุนเทียนชายทะเล แขวงท่าข่าม แขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ครับ
สำหรับท่านที่เคยไปทานอาหารทะเลบ่อยๆ คงจะคุ้นเคยกันดี
สมัยโบราณ ไม่มีทางรถไป ไปกันทางคลอง
คลองที่ว่านี้เป็นเส้นทางคมนาคมโบราณที่ยาวต่อกันไปโดยตลอด
จาก คลองด่าน ไป คลองสนามไชย ก็จะถึง คลองหัวกระบือ
นั่งเรือไปเที่ยวคงจะได้รับความเพลินเพลินไม่น้อยครับ
ผ่านตำหนักทองวัดไทรด้วย
เว็บวัดหัวกระบือ ยินดีต้อนรับครับ http://www.wathuakrabeu.com  


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 21 มิ.ย. 06, 12:57

- “พระพุทธคุณคัมภีร์” นั้น ไม่ทราบว่ามีท่านใดได้ศึกษาเนื้อหาของสมุดข่อยเล่มนี้ หรือยังครับ ?
ตอบ ครั้งหนึ่งเคยไปอยู่กับหอสมุด แต่ผมก็ไม่ทราบว่าได้ทำการศึกษากันหรือยัง
เพราะระบบราชการนั้นยุ่งยากเหลือเกิน แต่ปัจจุบันกลับมาอยู่ที่วัดแล้ว สำหรับฉบับวัดหัวกระบือนี้
ส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกับคัมภัร์พุทธคุณฉบับอื่นที่นิยมคัดลอกและสร้างร่วมสมัยกัน ปรากฏใน
หัวฉบับว่าสร้างในปี ๒๒๖๘ โดย นายบุญคำ ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก ๒๔ ปี เขียนด้วยหมึกดำ
ใช้อักษรไทยย่อแบบอยุธยา มัลักษณะใกล้เคียงกับอักษรไทยย่อ ในนันโทปนันทสูตรคำหลวงของ
เจ้าฟ้ากุ้งที่แต่งครั้งแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ส่วนตัวคัมภีร์ใช้อักษรขอมและบาลี


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 21 มิ.ย. 06, 12:58

- เป็นภาพที่เป็นองค์ประกอบของฉากป่าหิมพานต์หรือเปล่าครับ สมุดข่อยที่ผมเคยศึกษาคร่าวๆ
สมุดภาพไตรภูมิ ครับ ไม่แน่ใจว่าจะมีเนื้อหาแบบเดียวกับ สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือหรือเปล่า ?
ตอบ คล้ายคลึงกับที่คุณ Hotacunus กล่าวมากครับ จิตรกรรมจากสมุดวัดหัวกระบือ
เริ่มต้นจากสวรรค์ชั้นต่างๆ วาดจากชั้นสูงสุดเรื่อยลงมาจนจบที่ป่าหิมพานต์ครับ
โดยที่วไปสมุดข่อยของไทยนอกจากจะทำเป็นพระคัมภัร์ ยังใช้เป็นตำราต่างๆ เช่น โหราศาสตร์
ตำรายา ใช้จดคาถากฤตยาคมต่างๆ รวมทั้งเป็นคัมภีร์ที่ต้องเขียนภาพประกอบ เช่น
สมุดพระมาลัยและไตรภูมิ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 21 มิ.ย. 06, 13:01
 ตอบ คุณ Pipat ครับ

- นอกจากเล่มนี้แล้ว คุณใช้เล่มอื่นช่วยในการทำความเข้าใจจักรวาลวิทยาฮินดู
และจักรวาลวิทยาของพุทธหรือไม่ หนังสืออ้างอิงที่ท้ายเล่มของคุณสน็อดกราส
(ชื่ออ่านยากจริง) คุณอ่านแล้วกี่เล่ม ?
ตอบ ผมมีเหตุผลหลายประการที่แนะนำให้ท่านที่ยังไม่ได้อ่านควรจะอ่าน
ผมใช้อีกหลายเล่มครับ สำหรับเรื่องหนังสืออ้างอิงท้ายเล่มอ่านน้อยมาก
ผมศึกษาจากหนังสือพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ครับ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 21 มิ.ย. 06, 13:13

คอบคุณ กุรุกุลา ครับ

- สวยงามมากครับ สมกับเป็นคุณโพธิ์ประทับช้างจริงๆ อยากทราบว่าภาพให้คห 23และ 24
มาจากวัดใดครับ ?
ตอบ ภาพที่ ๒๓ วัดมหาธาตุ ราชบุรี / ภาพที่ ๒๔ วัดร้าง กาญจนบุรี
คิดว่าเป็นประโยชน์เลยเอามาฝาก ขอบคุณครับ

- ผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับสัญลักษณ์พระสถูปเท่าไรนัก
ตอบ สำหรับสัญลักษณ์แห่งพระสถูป นั้น เป็นหนังสือที่ชวนให้ผู้อ่านเกิดความสงสัย
เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องของสถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา ควรจะได้อ่านเพื่อทำความเข้าใจ
เมื่อได้อ่านแล้ว จะเกิดคำถามมากมาย ความสงสัยในใจ จะทำให้เราต้องค้นหาคำตอบนั้น
ผมชอบอ่านหนังสือแบบติดเรทครับ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 21 มิ.ย. 06, 13:15
 ขอบคุณ คุณ Japonica สำหรับบทกวี
อยากทราบว่าเรื่องเมรี ต้นฉบับนี้ ที่คุณ Japonica นำมาประกอบนี้
เดิมทีมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ขอความรู้สักนิด เล่าให้ผมฟังทีจะขอบคุณมากครับ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 มิ.ย. 06, 16:02
 หนังสือที่ว่าด้วยจักรวาลวิทยานั้น ไม่ควรทำให้ผู้อ่านต้องไปคิดต่อ นั่นเป็นหน้าที่ของบทความ
เส้นทางของนักประติมานวิทยานั้น ไม่มีทางลัด จะต้องเริ่มด้วยบทความที่เข้มแข็งจำนวนหนึ่งเสียก่อน
ฝึกคิดฝึกไต่ตรอง และฝึกการสืบค้นจนมั่นใจ จึงขยับไปเป็นหนังสือเล่ม ส่วนมากจะตายเสียก่อน
เว้นแต่ว่า เป็นอัจฉริยะเหนือมนุษย์ ซึ่งมีน้อยกว่าน้อย
สมัยก่อน คือเมื่อห้าสิบปีย้อนลงไป นักประติมานวิทยา จะเริ่มชีวิตวิชาการด้วยบททดสอบที่ เบบี๋กว่าบทความเสียอีก
คือหัดเขียนแคตล็อกศิลปะวัตถุ

ดอกเตอร์สน็อดกราสส์ ไม่เคยมีบทความ เริ่มต้นก็เล่นของใหญ่เลย
ในกรณีนี้ เราจะต้องตรวจสอบเทือกเถาเหล่ากอของผู้แต่งให้ดีก่อน ว่ามาจากสำนักที่น่าเชื่อถือเพียงใด
เพราะหนังสือมีมาก อ่านผิดก็เสียเวลาเปล่า
ทั้งหมดนั้นคือการและเล็มก่อนเข้าไปเปิดอ่าน

เมื่อเปิดอ่าน เราได้อะไร ถ้าได้อย่างที่บอกว่า
"จะเกิดคำถามมากมาย ความสงสัยในใจ จะทำให้เราต้องค้นหาคำตอบนั้น"
ก็ต้องบอกว่าเป็นหนังสือที่ไม่ดี หน้าที่อย่างนั้นเป็นของสำนักต่วยตูนเขา ไม่ใช่ของนักวิชาการ
ลองยกตัวอย่างสักเล่ม ที่สนอดกราสใช้อ้างอิงก็ได้ เช่น le Cambodge ของ boiselier
หรือ The Golden Germ ของ FDK Bosch
ล้วนเป็นศาลฎีกาของสิ่งที่เขาเขียน เว้นแต่ไม่เชื่อ ก็ต้องเขียนอีกเล่มออกมาโต้
แบบที่ภัตตราจารย์สอนมวยเซแดส เรื่องประติมานวิทยาเขมร

ทีนี้ลองดูวินิจฉัยแบบอนุบาล ของสนอดกราสสครับ บทเกือบสุดท้าย 21 หน้าที่ของพระสถูป
เขาดันไปอธิบายลัทธิบูชาไฟ ว่าเป็นแก่นกลางของอนุสรณ์สถานแห่งพระพุทธศาสนา ได้อย่างไร
มันคนละลัทธิ และเป็นปฎิกริยาแก่กัน แม้ศัพท์แสงจะใช้เหมือนกัน แต่คนละเทอร์มิโนโลยี่

ในรูปประกอบ 257 รูปขวา เขาอธิบายพระพุทธรูปองค์หนึ่งว่า "มีเปลวรัศมีล้อมรอบ" ภาษาอังกฤษใช้ว่า เปลวไฟเลยนะครับ
เขาไม่รู้จักพระพุทธประวัติตอนยมกปาฎิหารย์เอาเสียเลย
เป็นปางเดียว ที่อนุญาตให้อิทธิฤทธิ์แบบฮินดู เข้ามาแปดเปื้อนพระเกียรติคุณ
เพราะจำต้องแสดงว่า ทรงทรมานพวกชฎิลดาบสอย่างไร

ในหน้าต่อไป (418) เขาไปค้นคำว่าไฟในเอกสารทางพุทธและสารพัดสาระเพ มา 12 รายการ
โอ้...ขยันจริงๆ
แล้วปิดท้ายว่า..."พระองค์ทรงเป็น...ไฟบูชายัญ..." เอากะมันสิ
อย่างนี้ผมเรียกว่ามิจฉาทิษฐิครับ

ทีนี้มาดูฝีมือการแปลดูหน่อย เอาแบบตลกน่ารักละกัน ดูที่หน้า 95 ท่านแปลว่า
ทันจอเรในอินเดีย, วิหารเปรรัป นครวัด, วิหารตะเกออ นครวัด, วิหารพิเมียนะกัส นครวัด
ไปดูต้นฉบับภาษาอังกฤษเอาเอง ว่าหมายถึงอะไร คงต้องริบเงินเดือนบรรณาธิการภาษาไทยทั้งสองท่าน

อ้อ ที่คำนำสำนักพิมพ์ บันทัดที่ 13 จากบน เขียนว่า
"...แม้คำเรียกร้องให้จัดพิมพ์ซ้ำอีกจะมาจากกลุ่มมัคคุเทศก์..." ผมก็ว่าเหมาะสมกันดีอยู่

หนังสือระดับนี้ พิมพ์ออกมาก็น่าเสียดายแล้ว ยังมาเก็บเงินคนซื้อเสียอีก
ผมไม่มีเวลามานั่งแก้คำผิดหนังสืออย่างนี้ นึกขึ้นได้ก็เตือนๆ กัน
เชื่อไม่เชื่อ ก็เรื่องของคุณ คนอื่นไม่เกี่ยวครับ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 21 มิ.ย. 06, 19:51
 ขอบคุณสำหรับคำเตือน จะรับไว้พิจารณาครับ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 21 มิ.ย. 06, 20:18
 ช่วยแนะนำหนังสือเรื่องที่ว่าด้วยจักรวาลวิทยา
ที่คุณ Pipat  เห็นว่าควรอ่านสักหน่อย จะขอบคุณมากครับ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 21 มิ.ย. 06, 21:03
 ขออนุญาตบังอาจแนะนำนะครับ ถ้าหากเป็นผมแล้วต้องการนำคติจักรวาลวิทยาหรือคติอะไรก็แล้วแต่มาสัมพันธ์กับศิลปะหรือสถูปในเมืองไทย ผมคิดว่าผมจะใช้หนังสือเหล่านี้

Gustav Roth, The stupa its religious historical and Architectural significance, Weisbaden Steiner, 1980.

A.H. LONGHURST, The story of the stupa, New delhi : J.Jetley, 1979.

Roland Silva, Religious Architecture in Early and Medival Srilanka, Columbo : Druk : Krips Repro Mepple, 1998.

ที่เลือกใช้หนังสือของศรีลังกาเพราะพุทธศาสนาของทั้งสองดินแดนมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างแน่นแฟ้นจนแยกแทบไม่ออก ศิลปะไทยมีแรงบันดาลใจจากศรีลังกาเข้ามาปะปนค่อนข้างมาก จนบางอย่างมีผู้รู้ชี้ว่าเป็นช่างมาจากศรีลังกาด้วยซ้ำ

สัญลักษณ์พระสถูปใครอ่านก็ต้องงงครับ งงกับความหลากหลายและสิ่งที่ไม่เคยนึกฝันมาก่อน ถ้าเอาจักรวาลมาจับก็ควรใช้หนังสือของไทย

เพิ่งไปเดินร้านหนังสือมา เห็นโลกสัณฐานโชตรตนคัณฐี อยากได้จังเลยครับ ใครอ่านแล้วช่วยบอกหน่อยว่าเข้าใจยากง่ายแค่ไหน


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: Japonica ที่ 22 มิ.ย. 06, 02:31
 ตอบ ความเห็นที่ 58

เท่าที่ทราบนะครับ เรื่องพระรถเมรี หรือ รถเสน เป็นนิทานพื้นบ้านของไทย นามผู้แต่งไม่ปรากฎชัดเจนครับ
ฉบับร้อยแก้วเดิมทีอาจเป็น มุขปาฐะ แล้วค่อยมีการบันทึกขึ้นมา ฉบับร้อยกรอง สันนิษฐานว่าแต่งในสมัย
อยุธยาตอนปลาย หรือหลังจากนั้น ไม่มีใครยืนยันได้ ที่สันนิษฐานว่าเป็นช่วงอยุธยาตอนปลาย
เพราะลักษณะคำประพันธ์เป็นโคลง+กาพย์ ซึ่งปลายสมัยอยุธยา เป็นยุคทองของบทกวีลักษณะนี้ครับ

เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ สมัยที่ท่านเป็นวังหน้า ท่านฝากฝีมือชั้นครูในกาพย์เห่เรือ ที่ถือว่าเป็นวรรณคดีประเภทกาพย์
ที่ไพเราะที่สุดให้เป็นมรดกของวรรณคดีไทย อีกอย่างหนึ่ง เท่าที่ผมจำได้ กาพย์ที่เรากำลังพูดถึงนี้ 1 บท
ประกอบด้วย ๙ วรรค ซึ่งแตกต่างจากกาพย์สมัยนี้ ที่มักประกอบด้วย 7 หรือ 8 วรรค เท่านั้นครับ

ขอท้าวความถึงตอนที่ฤาษีแปลงสารเสร็จ รถเสนก็เข้าเมืองไปพบลูกสาวยักษ์ ได้เสกสมรสกัน เพราะลูกยักษ์
เห็นสารของแม่ที่เขียนว่าพบเช้า ก็ให้ปิ๊งเช้า แทนที่จะเป็นพบเช้า-กินเช้า ดังที่แม่ยักษ์เขียนกำกับมา

พระเอกเผลอไผลหลงระเริงในอสุรธานีเนิ่นนานถึง 200 ราตรี ก็ถึงเวลาที่ต้องเอาลูกตากลับไปฝากนางสิบสอง
จึงออกอุบายแกล้งป่วย ฝ่ายลูกสาวยักษ์เป็นห่วงภัสดา จึงขอให้รถเสนไปชมสวนเพื่อเปลี่ยนอากาศ
พอกลับจากชมสวน รถเสนจึงมอมเหล้าภรรยาและหนีไปพร้อมห่อลูกตา มิไยที่นางยักษ์พอฟื้นขึ้นมา
จึงได้ติดตามไป ด้วยระลึกเสมอว่าเสียทองเท่าหัวยังดีกว่าเสียสิ่งอื่นใด

ฉบับเต็มตอนชมสวนยาวกว่านี้ครับ แต่ก็ไม่เต็มเรื่องอยู่ดี บังเอิญไม่มีกวีมาแต่งซ่อมให้ครบบริบูรณ์ฮะ

สมัยก่อนนี้เรื่องพระรถเมรี ก็เป็นหนังจักรๆวงศ์ๆทอปฮิต เช่นเดียวกับพวกปลาบู่ทอง และยอพระกลิ่นกินแมว
อ้อ..อันหลังนี้เป็นฝีมือของพระองค์เจ้าทินกร หรือกรมหลวงภูวเนตรฯ ครับ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 30 มิ.ย. 06, 01:03
 ขอบคุณ คุณ japonica สำหรับเรื่องพระรถเมรี
หาอ่านยากเหลือเกิน ว่างๆ จะแวะไปสนทนาเรื่องนี้
อีกทีครับ


กระทู้: สมุดข่อยฉบับวัดหัวกระบือ อัญมณีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เริ่มกระทู้โดย: นชน ที่ 11 ธ.ค. 06, 01:50
  สมุดข่อยวัดหัวกระบือ มีจำหน่ายที่ศึกษาภัณฑ์ พิมพ์สี่สี