เรือนไทย

General Category => หน้าต่างโลก => ข้อความที่เริ่มโดย: naitang ที่ 17 พ.ค. 21, 18:37



กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 พ.ค. 21, 18:37
วันนี้คือวันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2564   เมื่อหลายปีก่อนๆโน้น วันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี หรือบวกไปอีกสองสามวัน จะถูกกำหนดให้เป็นวันเปิดเทอมสำหรับการเรียนหนังสือภาคแรกในระบบการศึกษาระดับประถม (ประโยคประถมต้น ประโยคประถมปลาย) ในระดับมัธยม (ประโยคมัธยมศึกษาต้น ประโยคมัธยมปลาย) และในระดับเตรียมอุดมศึกษา  ชื่อต่างๆที่กล่าวถึงนี้เป็นชื่อที่ใช้กันในสมัยก่อนโน้น   ต่อๆมาก็ได้มีการปรับเปลี่ยนระบบอยู่พอประมาณ ทำให้มีชื่อเรียกต่างไปจากเดิมดังปรากฎตามที่มีการเรียกขานกันอยู่ปัจจุบันนี้      ประมาณวันที่ 1 มิถุนายน ก็จะเป็นการเปิดเรียนของภาคอุดมศึกษา ซึ่งดูจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงวันที่และเดือนตลอดมาจนถึงในปัจจุบัน

ก็เกิดความบังเอิญว่า  วันนี้ตรงกับวันจันทร์พอดิบพอดี เหมือนกับหลายๆปีในอดีต  จะต่างกันไปเพียงเล็กน้อยก็คือ วันนี้แทนที่จะมีฝนตกพรำๆ กลับกลายเป็นว่ามีอากาศร้อนอบอ้าว แต่อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมฯได้ประกาศไปแล้วว่า ไทยเราเข้าสู่ฤดูฝนแล้วเมื่อ 15 พค.ที่ผ่านมา ?       


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 21, 19:04
สวัสดีค่ะคุณตั้ง
นึกอยู่เหมือนกันว่า เช้าวันที่ 17 พฤษภาคม ถ้าย้อนหลังไปหลายสิบปีก่อน คือวันที่ต้องตื่นแต่เช้า กินข้าว แต่งตัวเตรียมไปโรงเรียน    ถ้าเป็นตอนเล็กๆ  ปีไหนเครื่องแบบคับรับชั้นเรียนใหม่ ต้องไปซื้อล่วงหน้าที่สมใจนึกบางลำพู  รองเท้าคับก่อนเสื้อผ้าอยู่แล้ว  จัดหนังสือเรียนลงกระเป๋าไว้ตั้งแต่เมื่อวาน ถึงเวลาก็หิ้วตัวเอียงไป  สมัยนั้นไม่มีเป้สะพาย
เปิดเทอม หมายถึงย้ายไปห้องเรียนใหม่  ย้ายที่นั่งใหม่   ได้เพื่อนที่นั่งคู่กันคนละคนกับเมื่อปีก่อน  ครูประจำชั้นคนใหม่ และวิชาใหม่ที่ยากกว่าปีก่อน


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 พ.ค. 21, 20:43
ผมเริ่มใช้วลี "ความรู้ในลิ้นชัก" เมื่อครั้งไปเป็น อ.พิเศษ สอนนักศึกษาระดับ Post Grad. เรื่องสิ่งแวดล้อม และในการไปเป็นวิทยากรในเรื่องทางธรณีฯและสิ่งแวดล้อม ให้ความรู้กับคณาจารย์ นักศึกษา นักเรียนระดับการศึกษาต่างๆ ทั้งในรูปของไกด์ทัวร์และ Excursion    ประสบการณ์ที่ได้รับรู้ตลอดมาที่เหมือนๆกันก็คือ เกือบจะทุกคนที่ผมได้สัมผัสล้วนแต่มีความรู้และสิ่งที่ควรรู้ในระดับฐานรากที่ไม่ต่างกันมากนัก ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาในต่างจังหวัด หรือผู้ที่ได้รับการในสถานศึกษาชั้นยอดก็ตาม  โดยสรุปง่ายๆก็คือ มีตรรกะ รู้เท่าๆกัน เหมือนๆกัน   แต่เมื่อได้มีการศึกษาในระดับที่สูงมากขึ้น สิ่งทึ่เคยได้รู้ได้เรียนรู้เหล่านั้น จะค่อยๆถูกเก็บไว้ในลิ้นชักความรู้ หลายคนก็มีการจัดก่อนเก็บ หลายคนก็จัดวางกองทับกันไว้ดูเรียบร้อย หลายคนก็ทำเพียงแต่โกยๆใส่ใว้ในลิ้นชัก      ผมที่ตามมาก็คือ เมื่อมีความจำเป็นจะต้องใช้ก็จึงมีความต่างกันในความใวที่จะสามารถที่จะค้นหาและดึงออกมาใช้ได้    

เมื่อผมต้องไปทำภารกิจดังที่กล่าวมา เรื่องหนึ่งที่ได้ทำเสมอตลอดมาก็คือ ใช้เวลาส่วนหนึ่งไปนำพา ช่วยดึงลิ้นชักเก็บความรู้ที่เขามีอยู่นั้น นำเอาออกมาใช้เป็นต่อมคิด ต่อมตรรกะเพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องต่างๆ แล้วผนวกเพิ่มข้อมูลและความรู้ใหม่ๆทั้งในรูปของความก้าวหน้า/สถานะในปัจจุบันทั้งในรูปของ Experimental approach, Empirical approach และ Theoretical approach   คือเพิ่มเนื้อหาเข้าไปให้เขาเก็บในลิ้นชักความรู้ของเขาให้มากขึ้น      


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 พ.ค. 21, 21:24
สวัสดีครับ อ.เทาชมพู

ตั้งใจะตั้งกระทู้ในลักษณะนี้มานานแล้วครับ  แต่ด้วยที่เป็นกระบวนทัศน์ของตนเองซึ่งเป็นคนนอกวงการการศึกษา ก็จึงใช้เวลาคิดอยู่นานว่าควรจะนำเสนอในรูปแบบใด


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 18 พ.ค. 21, 08:14
กราบสวัสดี คุณครูใหญ่ทั้งสองท่านครับ

เมื่อเปิดเทอมเข้าชั้นเรียนใหม่ ผมจะคอยลุ้นตารางสอนใหม่ว่ามีวิชาอะไรบ้าง คุณครูใหม่ว่าท่านจะดุหรือใจดีแค่ไหน ฯลฯ.
ในตอนนั้น ก็จะสนุกตื่นเต้น มีความสุขไปตามประสาเด็กๆ ที่โลกมักจะสว่างไสวจ้า... เมื่อมีสิ่งใหม่ผ่านเข้ามาในชีวิตครับ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 พ.ค. 21, 17:55
สวัสดีครับ คุณ ninpaat


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 พ.ค. 21, 19:44
เปิดเทอมใหม่เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับนักเรียน/นักศึกษาเกือบจะทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแรกเข้าสู่ระบบ ระดับ หรือการเปลี่ยนสถานศึกษาใดๆ  ยิ่งเมื่อมีอาการตื่นเต้นและอาการทางปิติผสมผสานเข้าไปด้วย ก็พอจะเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าผู้นั้นน่าจะมีใจใฝ่เรียนอยู่เป็นทุนอยู่ไม่น้อย       อย่างไรก็ตาม ก็จะต้องนำเอาสิ่งแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้นั้นมาพิจารณาประกอบด้วย  หลายๆคนอาจจะเป็นเรื่องของความดีใจที่ได้ออกไปพ้นบ้านและมีอิสระในช่วงเวลาหนึ่ง ได้พบเพื่อน ได้เล่น ได้เปิดหูเปิดตา ได้ทดลอง ได้ทดสอบ ได้แทรกตัวเข้าไปรับรู้หรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในสรรพสิ่งที่จับต้องได้และที่จับต้องไม่ได้ที่ปรากฎอยู่ในโลกของเศรษฐกิจและสังคมของผู้คนในวัยทำงาน   ปรับความนิยมในการเรียนรู้ของตนเองในเรื่องต่างๆไปในรูปแบบทางลัด หรือนิยมการเรียนรู้ในลักษณะของ "ครูพักลักจำ" (emulate ?)   แล้วก็มีความรู้แบบไร้พื้นฐาน

ประเด็นจากภาพที่ฉายมานี้ก็คือ เราต่างก็ได้รับความรู้และมีการจัดเก็บอยู่ในลิ้นชักในกลุ่มของเรื่องของตรรกะเหมือนๆกันเกือบทุกคนว่า การเรียนหนังสือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น   ซึ่งมันได้ถูกจัดไว้เก็บไว้ในสมองของเราตั้งแต่เรายังเด็กมากๆ ไม่ว่าจะจากพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายทั้งหลาย  ก็มีเรื่องน่าเสียดายอยู่เหมือนกันว่า มักจะมีแต่เพียงบอกว่า จำเป็น  แต่ไม่ขยายความต่อไปว่า อย่างไร   คือมีแต่เรื่องสิ่งที่ต้องทำแต่มักจะไม่มีเรื่องของผลที่จะได้รับต่อไปในภายหน้า (consequence ไปจนถึง achievement)
    
แล้วก็ เมื่อเด็กเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็สุดแท้แต่ บิดา มารดา หรือผู้ปกครองเป็นจำนวนไม่น้อยก็จะปล่อยให้เป็นภาระของฝ่ายครู(เกือบจะเป็นฝ่ายเดียว)


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 พ.ค. 21, 20:52
ลองสำรวจกันดูว่าความรู้ในลิ้นชักของเรามีอะไรบ้างตั้งแต่เกิดมาและจำความได้

จะมีคำพูดอยู่หลายคำที่ทำให้เราได้เก็บเอาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคำนั้นๆมาเป็นความรู้เก็บไว้ในลิ้นชัก   ที่เด่นๆก็จะมีคำว่า ไม่เอา ไม่ทำ อย่าทำเลอะเทอะ อย่าทำสกปรก ล้างมือ ล้างเท้า ล้างก้น อาบน้ำ สีฟัน ล้างหน้า ได้เวลากินข้าว ถึงเวลานอน ถึงเวลากินข้าว เลิกเล่นได้แล้ว กินน้ำ ไปโรงเรียน ทำการบ้าน ท่องหนังสือ... ฯลฯ   

แล้วลองนึกย้อนดูว่า ในช่วงที่เราเติบโตมาจนถึงวาระที่มีครอบครัวของตนเองว่า เราได้ทำอะไรบ้างหรือไม่ได้ทำอะไรบ้างที่เป็นกิจวัตรประจำวันในแต่ละวันตามช่วงเวลาที่เราได้ยินคำเหล่านั้นเมื่อครั้งยังเป็นเด็กเล็ก 

เมื่อมีครอบครัว กลายเป็นบิดามารดา เป็นปู่เป็นย่าเป็นตาเป็นยาย เราก็ต้องหันกลับมาใช้คำเหล่านี้อีกเช่นเดิมดังที่ได้เคยได้ยินมาแต่เด็ก  กระทั่งเมื่อถึงเวลาเจ็บป่วยเราก็จะได้ยินคำเหล่านี้อยู่อีกพอประมาณไม่ว่าจะจากคู่ชีวิต แพทย์ หรือพยาบาล ... ฯลฯ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 พ.ค. 21, 21:41
นั่นดูจะเป็นเรื่องในกลุ่มของการเสริมสร้างอุปนิสัย  ซึ่งหลายๆเรื่องได้ทำให้เกิดสภาวะของ "การรู้เอง"  (intuition) ในการแก้ไขอุปสรรคและปัญหาที่เกี่ยวข้อง

การสอนหนังสือให้ความรู้เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ (outcome) สำหรับยุวชนในทุกระดับการศึกษาเพื่อให้เกิดสภาวะดังกล่าวนี้  ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้สอนพึงจะต้องคำนึงไว้เสมอ   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 พ.ค. 21, 18:11
คำพูดเหล่านั้น หากออกมาจากปากแล้วแล้วมีวลีหรือคำพูดอื่นใดร่ายยาวต่อท้าย ซึ่งแม้ว่าส่วนมากจะอยู่ในรูปของการบ่น แต่ก็มักจะมีสำนวน คำพังเพย การให้เหตุผล หรือการสอนวิธีอันพึงปฎิบัติหรืออื่นใดปนออกมาด้วย สำหรับคนที่ต้องรับฟังก็จะเป็นเรื่องที่น่าเบื่อเอามากๆ     ในอีกมุมหนึ่งที่แฝงอยู่โดยที่ทั้งผู้พูดและผู้ฟังอาจจะไม่ได้นึกถึงเลยก็คือ ประเด็นเล็กๆน้อยๆที่กระจายอยู่ในคำว่ากล่าวและการต่อล้อต่อเถียงระหว่างกันนั้น ได้ถูกจัดเก็บไว้ในลิ้นชักในสมองเรียบร้อยแล้วทั้งในรูปของความพึงเป็นหรือไม่พึงเป็นเช่นนั้น ความถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง....    ซึ่งมันจะถูกนำออกมาใช้โดยไม่รู้ตัวในช่วงเวลาต่างของการใช้ชีวิตประจำวัน  อาทิ เรื่องของการพับผ้าห่มเก็บที่นอนเมื่อตื่นนอนแล้ว การล้างช้อนล้างจานเมื่อเสร็จจากการใช้กินอาหารแล้ว การไม่พูดเมื่อมีอาหารอยู่เต็มปาก การหุบปากเคี้ยวอาหารและการไม่เคี้ยวอาหารเสียงดัง การมีสัมมาคารวะที่เหมาะสม การให้อภัย การมีเมตตา แม้กระทั่งสาระในเรื่องของพรหมวิหารสี่ ฯลฯ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 พ.ค. 21, 18:52
ความรู้ที่ได้มาในลักษณะนี้ ดูจะไม่มีระบบในการนำเข้าและมีระเบียบในการจัดเก็บ

ก็มีความรู้อีกลักษณะหนึ่งที่ถูกจัดส่งให้แบบแกมบังคับ เข้ามาอย่างเป็นระบบ อย่างมีระเบียบ มีขั้นมีตอน มีช่วงเวลาในการนำเข้า   มาทั้งในรูปปริมาณและคุณภาพ แถมยังต้องมีการตรวจสอบอีกด้วยว่า ได้รับของนั้นๆไปแล้วจริงๆหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด  ก็คือความรู้ที่จะอยู่ในลิ้นชักไปอีกนานจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

สำหรับระบบดังกล่าวนี้ การนำเข้าความรู้ในแต่ละเรื่องเพื่อเอาไปเก็บไว้ในลิ้นชักความรู้ของแต่ละคนนั้น เกือบทั้งหมดจะเริ่มด้วยการท่องจำ และควรจะต้องจำอย่างขึ้นใจก่อนที่จะนำไปผสมผสานผูกพันกันให้มันสามารถใช้งานอย่างมีคุณค่าได้  ซึ่งโดยทฤษฎีแล้วทุกๆคนควรจะมีความรู้พอๆกันในเรื่องที่เหมือนๆกันที่ได้รับการศึกษามาในระดับเดียวกัน (ซึ่งในความเป็นจริง มิใช่เป็นเช่นนั้น)

 

 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 พ.ค. 21, 20:05
เมื่อแรกเรียน เราทุกคนจะต้องท่องและจดจำอักขระต่างๆให้แม่น  เริ่มด้วยพยัญชนะ ก ข ค .....ฬ อ ฮ   ออกเสียงเฉยๆมันจำได้ยาก ก็เลยมีเพลงแต่งขึ้นมาช่วยให้จำได้ง่ายขึ้น  ต่อมาก็เรื่องของสระ ตามมาด้วยวรรณยุกต์  ตามมาด้วยการผสมกันออกมาเป็นคำ เป็นเสียงต่างๆ ฯลฯ ก็ยังดูเป็นเรื่องสนุกอยู่ เพราะเป็นการเปิดโลกให้แต่ละคนได้ทดลองสะกดคำต่างๆที่ใช้พูดกัน เริ่มอ่านได้ เขียนได้   แต่แล้วก็เริ่มจะไม่สนุกเมื่อเริ่มต้องรับรู้กฎกติกาต่างๆ    ก็จะเป็นเช่นนี้เหมือนๆกันในกรณีแรกเรียนวิชาที่แปลกปลอมออกไปจากระบบการศึกษาพื้นฐาน

ลองย้อนนึกดูในกรณีที่เราจะต้องเปิดหนังสือพจนานุกรมเพื่อหาความหมายของคำสักคำหนึ่ง ผมเชื่อว่าทุกท่านจะต้องเริ่มด้วยการท่องพยัญชนะเรียงลำดับไปในระหว่างที่เปิดพจนานุกรมเล่มนั้น แล้วก็ไล่เรียงสระอีกด้วย  หากเราไม่มีความรู้อยู่ในลิ้นชักเลย ก็คงจะมีความยุ่งยากเกิดขึ้นอยู่ไม่น้อย    ในปัจจุบันนี้เราอยู่ในโลกยุค digital เรื่องเช่นนี้ดูน่าจะไม่น่าปรากฎ แต่โดยแท้จริงแล้วมันก็มีแฝงอยู่


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 พ.ค. 21, 20:43
ผมนึกไปถึงความยุ่งยากของครูและนักเรียนในชั้นเรียนภาษาไทยในที่ต่างๆ 

   ในภาษาเหนือ ตัว ร ออกเสียงเป็น ฮ    ตัว ช ออกเสียงเป็น จ     
   ในภาษาอีสาน ตัว ช ออกเสียงเป็น ซ   แต่ตัว ซ ออกเสียงเป็น ช   
   ในภาษาใต้ ตัว ง มักจะออกเสียงเป็นตัว ฮ

ยิ่งสนุกเข้าไปอีก เมื่อเสียงที่เปล่งออกมาใช้เรียกตัวพยัญชนะแต่ละตัวตามสำเนียงที่ใช้กันในภาษาถิ่นของภาคนั้น ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติทางเสียง(สูง กลาง ต่ำ)ของตัวอักษรนั้นๆ(บางตัว)ตามมาตรฐานกลางอีกด้วย    ก็จึงไม่ค่อยจะแปลกนักที่เรามักจะเห็นมีการสะกดที่ไม่ถูกต้องปรากฎอยู่ตามป้ายต่างๆ    ก็มีการเปลี่ยนการสะกดให้เป็นไปตามความเห็นว่ามีความถูกต้อง แต่มันก็ทำเกิดการเปลี่ยนเรื่องราวและการสื่อความหมายของสถานที่นั้นๆไปเป็นอะไรก็ไม่รู้   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 พ.ค. 21, 18:29
ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ โดยเฉพาะในกรณีคนไทยในพื้นถิ่นของภาคต่างๆสามารถที่จะอ่านข้อเขียนใดๆให้ออกเป็นสำเนียงตามภาษาถิ่นของตนได้  ซึ่งดูจะเป็นการแสดงว่าเขามีลิ้นชักที่เก็บขัอมูลและความรู้ในเรื่องของภาษาไทยที่มีระเบียบจนสามารถดึงออกมาใช้สลับกันไปมาได้โดยเร็วไว แม้ว่าจะเป็นในลักษณะของการนำมาใช้นานๆสักครั้งหนึ่งก็ตาม  ก็มีบ้างในกรณีที่ดึงลิ้นชักออกมาใช้ไม่ทัน หรือหาไม่เจอเพราะสนิมกินหรือผุพังไปแล้ว ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นปกติในหมู่ผู้เฒ่าทั้งหลาย   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 พ.ค. 21, 19:16
การท่องกลอน (เช่น เรื่องของไม้ม้วน) ก็เป็นวิธีการนำความรู้เกี่ยวกับภาษาไทยเข้าไปเก็บไว้ในลิ้นชักความรู้ในสมองของเรา  เชื่อว่าเกือบจะทุกท่านยังคงจำได้

สูตรคูณก็เป็นอีกเรื่องที่เป็นถูกนำเข้าสู่การเก็บไว้ในลิ้นชักในสมองตั้งแต่เยาว์วัย จนแก่เฒ่าใกล้เข้าโลงก็ยังไม่ลืมสูตรคูณแม่ต่างๆเหล่านั้น   เมื่อครั้งยังอยู่ในวัยทำงานก็อาจจะนึกออกได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องท่องในใจเรียงลำดับก่อนหลังของแม่นั้นๆ แต่หากไม่ได้ใช้บ่อยครั้งมากเข้าก็จะเริ่มถูกสนิมเกาะกินได้เช่นกัน


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 พ.ค. 21, 20:12
ที่ได้กล่าวมาเหล่านั้น เป็น pretext ของเรื่องราวและความรู้ที่มีลักษณะเป็นเรื่องของสิ่งละอันพันละน้อยที่จะได้พูดถึงต่อไป


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 พ.ค. 21, 17:41
ขอทำความกระจ่างเสียแต่แรกว่า เรื่องต่างๆที่จะได้เสวนากันจากนี้ต่อไปทั้งจากตัวผมและจากสมาชิกเรือนไทย จะเป็นเรื่องที่แต่ละท่านรู้อยู่แล้วก็มี รู้แต่ยังไม่ชัดเจนและครบถ้วนก็มี รู้ต่างกันเนื่องจากตรรกะทางหลักการหรือทางทฏษฏีก็มี หรือมาจากต่างประสบการณ์ต่างกันก็มี ...  เชื่อว่าน่าจะอะไรๆดีๆมากพอที่จะเก็บเกี่ยวใส่เพิ่มลงไปในลิ้นชักได้บ้าง   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 พ.ค. 21, 19:15
ขอเริ่มด้วยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแผนที่ ด้วยเหตุว่าเราใช้กันมากขึ้นในชีวิตประจำวัน จึงควรที่จะต้องรู้อะไรๆที่เกี่ยวกับมันบ้าง

แผนที่ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Map  แปลคำกลับไปกลับมาได้ตรงไปตรงมาดี แต่แผนที่มีหลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับว่าจะทำขึ้นมาเพื่อใช้งานเนื่องในวาระใด 

สำหรับงานในด้านวิชาการและความมั่นคงนั้น เขาลงลึกกันไปถึงระดับรูปทรง(กลม)ของโลก  และลักษณะของแผนที่ๆจะแสดงถึงความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างตำแหน่งของสรรพสิ่งโลกใดๆ เช่น เน้นความถูกต้องในเชิงของเนื้อที่ หรือจะเน้นในเชิงของทิศทาง ... ซึ่งก็จะลักษณะของแผนที่ๆต่างกัน     หากสนใจที่จะหาข้อมูลและความรู้เพิ่มเติม
คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางวิชาการแผนที่เหล่านี้ก็จะมีอาทิ Geoid, Geodesy, Spheroidal, map projection, Mercator Projection, UTM, True north, Magnetic north .... ฯลฯ

มีแผนที่ๆเราน่าจะพึงรู้และมีความเข้าใจเล็กๆน้อยๆกับมันอยู่ 4 แบบ คือที่เรียกว่า แผนที่ภูมิประเทศ (Topographic map)  แผนที่เฉพาะเรื่อง (Thematic map)  ผัง...(Schematic map) และภาพถ่ายดาวเทียม (Satellite imagery)   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 พ.ค. 21, 20:34
แผนที่ภูมิประเทศเป็นแผนที่ๆที่ใช้ในการทำงานของฝ่ายราชการทั่วโลกที่มีภารกิจงานเกี่ยวข้องกับชาวบ้านในท้องถิ่นที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆของประเทศนั้นๆ   แผนที่นี้มีเรื่องของมาตราส่วน(scale)มาเกี่ยวข้อง ซึ่งโดยส่วนมากก็จะใช้แผนที่มาตราส่วน 1:500,000 เพื่อดูในภาพรวม ใช้มาตราส่วน 1:250,000 ในการวางแผนดำเนินการ  ใช้มาตราส่วน 1:50,000 ในการปฏิบัติเคลื่อนย้ายในภาคสนาม  และก็มีการใช้มาตราส่วนประมาณ 1:25,000 เพื่อจัดการเรื่องในลักษณะที่เป็นโครงการเฉพาะ (ระดับตำบลหรืออำเภอ)

ในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจทางทรัพยากรธรรมชาติ (แหล่งน้ำบาดาล แหล่งปิโรเลียม แหล่งกรวด หิน ดิน ทราย แร่ ฯลฯ) จะใช้แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 พร้อมกับภาพถ่ายทางอากาศมาตรส่วนเดียวกัน     ส่วนสำหรับมาตราส่วน 1:25,000 หรือ 1:20,000 นั้น เป็นเรื่องของการใช้ภาพถ่ายทางอากาศเท่านั้น ซึ่งของไทยเราใช้เพื่อแสดงรายละเอียดของสิ่งที่ปรากฎในภาพของพื้นที่บริเวณนั้นๆ เพื่อการกำหนดและการยืนยันแนวเขตการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินและของผู้ทีี่อยู่อาศัยมาก่อน

สำหรับแผนที่แนวเขตที่ดินที่ปรากฏอยู่บนโฉนดต่างๆนั้น มีลักษณะเป็นผังที่เขียนแสดงรูปทรงของพื้นที่ในขนาดมาตราส่วน 1:4,000  แต่มีการอ้างอิงถึงหมุด แนวทิศทางและระยะระหว่างหมุดโฉนด


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 พ.ค. 21, 17:33
ขยายความออกไปอีกเล็กน้อยว่า มาตราส่วนของแผนที่ใช้กันในระบบการบินนั้นมีอยู่ 3 มาตราส่วน แต่ที่จะใช้มากนั้นคือมาตราส่วน 1:1,000,000  และ 1:500,000   สำหรับมาตราส่วน 1:250,000 นั้น จะใช้ในเรื่องเฉพาะกิจ

ยกเรื่องมาตราส่วนของแผนที่ขึ้นมากล่าวถึงแต่แรกก็ด้วยเห็นว่ามันให้ขัอมูลที่สำคัญที่เราเกือบจะไม่ได้นึกถึงเลย โดยเฉพาะในเรื่องของระยะทางและทิศทาง(ออก ตก เหนือ ใต้)   ก็มีแอปที่เรานิยม download มาใช้นำทางอยู่หลายแอป (เรียกกันหลวมๆว่าเป็นแอป GPS) แอปเหล่านี้เกือบทั้งหมดจะไม่บอกมาตราส่วนของแผนที่ๆปรากฎอยู่บนจอภาพ มีจำนวนมากที่ไม่ให้ข้อมูลแม้กระทั่งในเรื่องของทิศ และก็มีที่ไม่บอกอะไรเลย(จัดอยู่ในรูปของ schematic map ?)


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 พ.ค. 21, 18:54
เพื่อความเข้าใจอย่างง่ายในเรื่องของมาตราส่วนของแผนที่  ความหมายพื้นฐานของมันก็มีเพียงว่า มันเป็นการย่อภาพที่ปรากฎจริงที่เราเห็นๆอยู่นั้น ให้มันเล็กลงมารวมกันอยู่ในกระดาษแผ่นหนึ่ง โดยที่มันยังคงมีความสัมพันธ์กันอย่างถูกต้องในเชิงของขนาด ระยะ และทิศทาง   

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ก็จะของยกแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 

ซึ่งหมายถึงว่ามันเป็นแผนที่ๆเป็นตัวแทนของๆจริงที่เป็นอยู่ แต่เราจะย่อมันโดยการใช้อัตราส่วน 1 หน่วยแทนของที่ปรากฎอยู่ในความเป็นจริงทุกๆ 50,000 หน่วย  ดังนั้น หากเราวัดขนาดสิ่งที่ปรากฎในแผนที่ได้ 1 ซม. หรือ 1 นิ้ว ก็จะหมายความว่าในความเป็นจริงสิ่งนั้นๆจะมีขนาดใหญ่เท่ากับ 50,000 ซม. หรือ 50,000 นิ้ว     ครานี้ก็ต้องใช้ความรู้ทางคณิศาสตร์เล็กน้อยว่า ไอ้ 50,000 ซม.นั้นมันคือเพียงใด      เรามีความรู้ทางมาตราต่างๆว่า 100 ซม.= 1 ม. ดังนั้น 50,000 ซม.ก็จะต้องเท่ากับ 500 ม.     แสดงว่าสิ่งที่เราวัดขนาดได้ 1 ซม.ในแผนที่ ขนาดของความเป็นจริงในธรรมชาติก็คือ 500 ม.   

ดังนั้น ระยะทาง 1 ซม.ในแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ก็คือระยะทาง 500 เมตร (หรือ ครึ่งกิโลเมตร)ในความเป็นจริง   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 พ.ค. 21, 19:28
ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ภาพแผนที่บนจอภาพสามารถจะย่อและขยายได้ตามใจของผู้ใช้  มาตราส่วนของแผนที่ก็จึงเปลี่ยนไปตามการย่อหรือขยายนั้นๆ  แอปแผนที่จึงมักจะมี bar scale แนบมาให้ที่มุมล่างขวา เพื่อที่จะทำให้เราสามารถใช้เป็นไม้บรรทัดวัดระยะต่างๆที่เหมาะสมสอดคล้องกับมาตราส่วนของภาพที่เราย่อหรือขยายออกมานั้น  และยังให้พิกัดของตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของจุดที่เราต้องการจะทราบด้วย   และแอปเหล่านั้นยังสามารถนำภาพถ่ายดาวเทียมมาทับซ้อนบนแผนที่ เพื่อให้เราได้เห็นภาพจริงในลักษณะ bird eyes view ครอบคลุมของพื้นที่นั้นๆอีกด้วยเช่นกัน


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 พ.ค. 21, 19:22
แล้วก็มาถึงเรื่องของทิศและทิศทาง

เป็นหลักการสากลและในวิชาการที่แผนที่ใดๆจะต้องสามารถบอกพิกัดของจุดต่างๆที่ปรากฎอยู่ในแผนที่นั้นๆได้ ซึ่งก็คือสามารถที่จะแสดงความสัมพันธ์กันในเชิงของระยะและทิศทางระหว่างกันของจุดต่างๆเหล่านั้นได้ทั้งหมด   โดยกำหนดเป็นมาตรฐานสากลว่า ด้านบนของกระดาษแผนที่นั้นๆคือทิศเหนือ  ดังนั้น แผนที่ของทางการของประเทศใดๆเกือบทั้งหมดก็จะเป็นในลักษณะเช่นนั้น อาทิ แผนที่เมือง แผนที่แสดงแหล่งท่องเที่ยว แผนที่แสดงเส้นทางการขนส่งมวลชน ฯลฯ    สำหรับในกรณีที่ความเป็นจริงทางกายภาพมีลักษณะเป็นรูปร่างทรงยาว ไม่เหมาะที่จะจัดให้อยู่ภายในกรอบทรง portrait หากแต่เหมาะที่จะแสดงในกรอบทรง land scape  ก็สามารถทำได้โดยจัดให้มีเครื่องหมายลูกศรชี้ไปทางทิศเหนืออยู่ที่ขอบกระดาษด้านขวาบนหรือขวาล่าง   

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ทำแผนที่หรือผู้ผลิตแผนที่ใดๆ(cartographer) ก็อาจจะเลือกวิธีการทำแผนที่ๆแบบง่ายๆ(แต่ทำยาก)เพื่อให้ข้อมูลที่สำคัญเป็นการเฉพาะกิจ  แผนที่เหล่านี้จะให้ข้อมูลที่เป็นแก่นสารสำคัญของสถานที่สำคัญๆ ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของภาพหรืออื่นใด   โดยที่พิกัดของสถานที่ต่างๆในเชิงของทิศทางและระยะห่างต่างๆจะยังคงมีอยู่ แต่จะอยู่ในรูปของ proportional         
 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 พ.ค. 21, 20:09
อาจจะเริ่มนึกถึงแผนที่ๆเราเคยเห็นอยู่หลังนามบัตรของร้านค้าต่างๆ หรือตามแผ่นใบปลิวหรือใบแทรกโฆษณาต่างๆ  แผนที่เหล่านี้จะไม่การแสดงทิศเหนือเพื่อการอ้างอิง แต่จะใช้จุดอ้างอิงที่เป็นสถานที่ๆเขาทั้งหลายซึ่งอยู่ในละแวกพื้นที่นั้นๆมีความคุ้นเคยกัน โดยเข้าใจว่าเราก็จะต้องมีความคุ้นเคยเช่นกันดั่งเขาด้วย เช่น การใช้ชื่อคลอง ใช้ชื่อแยก ใช้ชื่อถนน ใช้ชื่อซอยและแยกในซอย ใช้ชื่อหมู่บ้าน / อาคาร ฯลฯ  ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือไม่บอกระยะด้วย โดยเฉพาะระยะห่างจากจุดที่เขาใชอ้างอิง


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 พ.ค. 21, 18:34
สำหรับที่เป็นพวกบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่ทำแผนที่เพื่อให้ลูกค้าสามารถเดินทางไปยังร้านได้นั้น จะเป็นแผนที่ๆไม่บอกทิศก็ยังพอทำเนา แต่ประเภทที่ให้ลูกค้าต้องเดาเอาว่าจะต้องกลับหัวกลับหาง หมุนซ้ายหมุนขวาแผนที่นั้นๆไปเช่นใดจึงจะเข้าใจได้นั้น จะว่าแย่มากก็ยังไม่แย่มากเท่ากับแผนที่บอกเส้นทางการเดินทางไปสถานที่ทำโครงการราคาสูงบางโครงการซึ่งมีผู้รู้เรื่องความสำคัญของการต้องระบุทิศ และทำงานร่วมอยู่ในทีมดำเนินการของโครงการนั้นๆ 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 พ.ค. 21, 19:28
ความรู้เรื่องทิศเป็นความรู้ในลิ้นชักของทุกคน  คือ รู้ว่ามีทิศเหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก แต่เมื่อขยับไปถึงเรื่องของทิศที่มีคำว่า เฉียง คั่นอยู่ระหว่างสองทิศ  ที่จะเข้าใจและเห็นภาพของทิศทางนี้ในทันทีก็คือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ   แต่เมื่อมีการกล่าวถึงทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ ก็ชักอาจจะเริ่มงงๆหลงทิศทาง  สาเหตุก็คงจะไม่มีอะไรมากนัก น่าจะมาจากผลที่สืบเนื่องมาจากความรู้ที่ได้มาจากกระบวนการสอนในวิชาต่างๆ 

วิชาการที่ต่างก็ได้ร่ำเรียนกันมาเมื่อครั้งยังเด็กนั้น เราได้ถูกนำความรู้เรื่องทิศเข้าสู่ลิ้นชักในลักษณะที่ค่อนข้างจำกัด อาทิ พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก ตกทางทิศตะวันตก ทิศใต้เป็นด้ามขวานของแหลมทอง ทิศเหนือเป็นป่าเขา ทิศตะวันออกเป็นชายฝั่งทะเล ทิศตะวันตกเป็นเทือกเขาตะนาวศรี เป็นสันเขาแบ่งเขตแดนไทยกับพม่า ทิศตะวันออกเฉียงเหนือก็คือภาคอีสาน ... เป็นต้น      กระทั่งเติบใหญ่จนเข้าเขตผู้สูงวัย ก็ลองนึกย้อยดูว่าเราเคยได้ยินมีการกล่าวถึงทิศอื่นๆนอกจากที่กล่าวถึงนี้มากน้อยเพียงใด  ก็มีครับ มีสำหรับคนที่สนใจที่จะอ่าน รับฟัง และสังเคราะห์ข้อมูลข่าวสารในวงกว้าง รวมทั้งคนที่มีความสนใจหรือต้องสนใจในข้อมูลข่าวสารทางอุตุนิยมวิทยา       


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ค. 21, 20:18
เมื่อวานนี้ เขียนจนเสร็จแล้ว แทนที่จะกดส่งข้อความ เผลอเรอไปหน่อย ดันไปกดปิดเพจ  เลยต้องออกจากกระทู้  น่าจะเกิดมาจากอาการแพ้วัยที่มันกำลังเริ่มเข้ามาเคาะประตู แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนมากขึ้น

สาระที่เป็นประเด็นของเรื่องที่เขียนเมื่อวานนี้ก็คือ ในปัจจุบันนี้ ผู้เยาว์ของเราดูจะรู้จักทิศและทิศทางมาจากการเรียนรู้เรื่องการจำแนกพื้นที่ออกเป็นภาคทางภูมิศาสตร์ในภาพใหญ่เพียงเท่านั้น  เด็กไทยแต่ก่อนนั้นจะรู้จักและจำได้อย่างคร่าวๆ ว่าจังหวัดใดๆของประเทศไทยอยู่บริเวณใดของประเทศ อย่างน้อยก็รู้ในลักษณะเป็นกลุ่มจังหวัด ซึ่งยังผลทำให้ได้รู้ในเรื่องของทิศและทิศทางได้ค่อนข้างจะดี   จำได้ว่า แต่ก่อนนั้นมีวิชาภูมิศาสตร์เรียนกันในระดับประถมด้วย ??

ก็พ่วงไปถึงคำว่า ขึ้นเหนือ ลงใต้(ล่องใต้) ขาขึ้น ขาลง(ขาล่อง)   ซึ่งก็มีการพูดที่กลับทางกันอยู่บ่อยๆซึ่งดูจะขัดๆหูอยู่ไม่น้อย  ในปัจจุบันนี้ได้มีการเปลี่ยนไปใช้คำว่า ขาไป ขามา เที่ยวไป เที่ยวมา ก็เลยดูจะเหมาะสมดี เพราะใช้กับเส้นทางในภาคตะวันออกและในภาคอีสานได้ ไม่รู้สึกขัดหู   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 21, 20:36
ดิฉันเองก็เกิดมาในยุควาดแผนที่ตั้งแต่ชั้นประถม  ด้วยการยึดหลักว่า ขอบบนคือทิศเหนือ  ขอบล่างคือทิศใต้
ในยุคนี้ พอเจอแผนที่บางส่วนของกรุงเทพ  อ่านแล้วงง ทำให้หลงทางหาสถานที่จุดหมายไม่ถูกอยู่หลายครั้ง

ตัวอย่างแผนที่ที่ยกมาข้างล่างค่ะ    ดิฉันเคยชินกับแผนที่ถนนสุขุมวิทเชื่อมต่อจากถนนเพลินจิต   เริ่มจากทางรถไฟช่องนนทรีที่เป็นสุดเขตเพลินจิต  อยู่ซ้ายสุดของแผนที่   สุขุมวิททอดขวางกลางหน้า  มีซอยเลขคี่อยู่ทางซ้ายของถนน ซอยเลขคู่อยู่ทางขวา   แบบเดียวกับเวลาขับรถจากเพลินจิตไปสุขุมวิท
พอมาเจอแผนที่ข้างล่าง    ซอยเลขคี่ไปอยู่ทางขวา  เลขคู่อยู่ทางซ้าย เลยงง



กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 21, 20:50
ดิฉันสงสัยว่าแผนที่ข้างบนจะผิด    ถ้าเรามาจากพระโขนง   ซอยที่มีเลขคู่ต้องอยู่ทางซ้าย   ส่วนเลขคี่อยู่ทางขวา ไล่จากเลขมากไปหาน้อย     เพราะฉะนั้นลูกศรที่บอกว่าไปพระโขนงต้องอยู่ขอบล่าง   ข้างบนคือทางไปถนนเพลินจิต


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 26 พ.ค. 21, 13:44
ขออนุญาตเรียนตอบท่านอาจารย์เทาชมพู แทนท่านอาจารย์นายตั้งครับ

ที่รูปด้านบนขวาสุด ตรงลูกศรชี้ ' ไปพระโขนง ' และด้านซ้ายเขียนบอกไว้ว่า " ซ.สุขุมวิท 66/1 " นั้น
ที่จริงแล้ว ผมคิดว่าควรต้องเป็น " ซ.สุขุมวิท 60/1 " ไม่ใช่ ซ.สุขุมวิท 66/1
และสาเหตุน่าจะเป็นการพิมพ์ผิด ไม่ทันได้ตรวจทานครับ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 26 พ.ค. 21, 15:44
ขออนุญาตเรียนชี้แจงอาจารย์เทาชมพูและคุณninpaat
แผนที่นี้แสดงที่ตั้งย่านบางจาก ซึ่งอยู่ระหว่างสะพานพระโขนงและแยกบางนา
ลูกศรที่ชี้ทิศทางขึ้นเหนือไปพระโขนง และลงใต้ไปบางนา จึงถูกต้องแล้ว
ตำแหน่งซอยเลขคี่และเลขคี่ก็ถูกต้องแล้ว
ในแผนที่ระบุเลขซอย 60/1 ถูกแล้วครับ font เลข 6 และ 0 ต่างกัน (ซูมดูแล้ว)
แผนที่ถูกวางตามแนว บน-เหนือ ล่าง-ใต้ ตามมาตรฐานแล้ว
แผนที่รูปนี้จึงโอเคครับ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 26 พ.ค. 21, 15:51
แผนที่ถูกวางตามแนว บน-เหนือ ล่าง-ใต้ ตามมาตรฐานแล้ว
ดูจากสัญลักษณ์ทิศที่มุมบนซ้าย


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 26 พ.ค. 21, 16:54
ผมเห็นด้วยกับคุณ Jalito ทุกประการครับ

และขอเรียนถามท่านอาจารย์นายตั้งเพิ่มเติมว่า แผนที่แบบที่ท่านอาจารย์เทาชมพูนำมาแสดงนี้ จัดเป็น Thematic map ได้หรือไม่ครับ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 พ.ค. 21, 19:16
แผนที่นั้นแสดงถูกต้องแล้วทั้งในเชิงของทิศและทิศทางครับ แต่ในเชิงของระยะทางนั้น ผมไม่แน่ใจนักว่าอยู่ในเกณฑ์ที่มีสัดส่วนใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด  อย่างไรก็ตาม โดยลักษณะของการให้ข้อมูลเชิงโครงข่ายถนน ซอย และสถานที่อ้างอิงที่หลากหลาย ผมมีความเห็นว่าเป็นแผนที่นำทางไปยังจุดที่ต้องการ (way point) ที่ดี  ทั้งนี้ โดยลักษณะที่ปรากฎ ก็น่าจะเป็นแผนที่ๆจัดว่ามีความถูกต้อง (accuracy) และผู้ที่ทำแผนที่นี้ดูจะมีความใส่ใจและคำนึงถึงผู้ใช้ค่อนข้างมากทีเดียว

แต่ก็เข้าใจในข้อสะกิดใจของ อ.เทาชมพู ที่เมื่อดูแผนที่แล้วต้องตั้งหลักพิจาณา  ผมเห็นว่ามันมีข้อมูลที่ไปสะกิดความรู้ในลิ้นชักของคนที่มีความคุ้นเคยกับพื้นที่นั้นๆ ที่เคยอยู่แต่ได้ย้ายถิ่นที่อยู่ออกไปค่อนข้างจะเป็นเวลานานมากแล้ว      แต่ก่อนโน้นชื่อวัดธาตุทอง คลองตัน เอกมัย พระโขนง และซอยอ่อนนุช เหล่านี้พอจะจัดได้ว่าเป็นชายขอบของ กทม.  ชื่อบางนานั้น หมายถึงขับรถไปอีกไกล และก็รับรู้กันว่ามันมี "แยกบางนา" ซึ่งหมายถึงถนนสายบางนา-ตราด      เมื่อแผนที่ได้บอกว่าปลายถนนสุขุมวิทด้านล่างเป็นเส้นทางไปบางนา ด้านบนไปพระโขนง  ก็จะเริ่มสับสนในเบื้องแรกเลยว่า แผนที่นี้อยู่ในส่วนใหนของถนนสุขุมวิท  ผมเห็นว่า เพียงเปลี่ยนการให้ข้อมูลทิศทางของถนนสุขุมวิท จาก ไปบางนา เป็น ไปแยกบางนา  และเปลี่ยนจาก ไปพระโขนง เป็น ไปแยกอ่อนนุช หรือ ไปแยกเอกมัย  บางทีก็น่าจะทำให้ลดการสะกิดใจได้ตั้งแต่แรก 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 พ.ค. 21, 19:41
...และขอเรียนถามท่านอาจารย์นายตั้งเพิ่มเติมว่า แผนที่แบบที่ท่านอาจารย์เทาชมพูนำมาแสดงนี้ จัดเป็น Thematic map ได้หรือไม่ครับ

ในความรู้ของผม thematic map มีลักษณะเป็นแผนที่ๆบอกเรื่องราวเฉพาะในแต่ละเรื่อง ซึ่งมักจะเป็นแผนที่ๆใช้แสดงข้อมูลของเรื่องต่างๆในเชิงปริมาณหรือในเชิงคุณภาพในภาพรวม   ในขณะที่ schematic map มีลักษณะเป็นแผนผังที่ใช้แสดงเรื่องราวหรือข้อมูลที่ต้องการจะบอกกล่าว   

ดังนั้น แผนที่ๆ อ.เทาชมพู นำมาแสดงนี้จึงไม่น่าจะเข้าข่ายเป็น thematic map ครับ   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 27 พ.ค. 21, 05:56
ขอบพระคุณท่านอาจารย์ครับ แผนที่แบบนี้ จัดเป็น schematic map นั่นเอง


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ค. 21, 18:46
เรื่องของ ทิศ นี้ มีความเกี่ยวข้องกับผู้คน สังคม วัฒนธรรม และศาสนา อย่างไม่น่าจะเชื่อเลยทีเดียว  แต่ส่วนมากจะอยู่ในเรื่องความเชื่อ บ้างก็เป็นเรื่องของพันธะ บ้างก็เป็นเรื่องของประเพณีนิยม บ้างก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกระบวนการทางธรรมชาติ บ้างก็อยู่ฐานทางวิทยาศาสตร์ ฯลฯ    ก็มีอาทิ  เรื่องของการนอนหันหัวไปทางทิศเหนือหรือทิศตะวันออก ไม่นิยมนอนหันหัวไปทางทิศใต้ และไม่พึงนอนหันหัวไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นเรื่องของคนตาย    พระพุทธรูปควรจะตั้งวางให้ผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือหรือตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น   

บนฐานทางวิทยาศาสตร์นั้น เกือบทั้งหมดจะเกี่ยวพันกับเรื่องของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นสุข เช่น การวางผังของบ้านที่อยู่อาศัยว่าควรจะมีลักษณะเช่นใด ในแนวของทิศทางใด...  เพื่อให้มีการผสมผสาน (compromise) กันอย่างเหมาะสมระหว่างลักษณะทางกายภาพของที่ดิน สภาพของดินฟ้าอากาศในช่วงฤดูกาลต่างๆ กระบวนการทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆ  ข้อจำกัดต่างๆ....   เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข           


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ค. 21, 19:33
ความรู้ในลิ้นชักของผู้คนในแต่ละเขตละติจูดต่างๆของโลก ก็จะต่างกันไป    ลองพิจารณาจากความเป็นจริงของธรรมชาติ  เส้นทางโคจรของดวงอาทิตย์มีอ้อมเหนือและอ้อมใต้ เมื่ออ้อมใต้ก็จะเป็นช่วงหนาวของคนที่อาศัยอยู่ในละติจูดเหนือ (เงาของเราจะทอดไปทางทางด้านทิศเหนือ) ดวงอาทิตย์ขึ้นพ้นขอบฟ้าช้า แต่ตกลับขอบฟ้าเร็ว  เมื่อพระอาทิตย์อ้อมเหนือก็จะเป็นช่วงร้อนของผู้คนในละติจูดเหนือ (เงาจะทอดไปทางด้านทิศใต้) ดวงอาทิตย์ขึ้นพ้นขอบฟ้าเร็วมาก และตกลับขอบฟ้าช้ามาก    ก็คงจะนึกภาพออกแล้วว่า การเก็บโกยแสงอาทิตย์มาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างมากที่สุดของพวกเขาจะต่างกันอย่างไรกับของเรา ของเรานั้นมีมากเกินพอจนต้องหลบเข่าร่ม   ทิศของพวกเขาจะไปอิงอยู่กับแนวการวางตัวของโครงสร้างต่างๆ เพื่อให้ได้ใช้แสงแดดอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด  ทิศของพวกเราจะไปอิงอยู่กับเรื่องทิศทางของลม พายุ ฝน และมรสุม   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 27 พ.ค. 21, 19:35
เห็นพูดคุยเรื่องทิศทำให้ดิฉันนึกถึงปรากฏการณ์หนึ่งคือตะวันอ้อมข้าวกับตะวันอ้อมโขง เป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ไม่ได้อยู่ทิศที่เห็นกันอยู่ทุกวันทำให้แอบสงสัยอยู่ว่าคนโบราณเขาจะมีมุมมองว่ามันดีหรือไม่เช่นไร


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ค. 21, 12:00
ในลิ้นชักของดิฉันคงไม่มีความรู้เรื่องแผนที่อยู่จริงๆ   ค้นจนทั่วแล้วค่ะ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 พ.ค. 21, 18:19
ไม่หรอกครับอาจารย์ ผมเห็นว่าเป็นเรื่องปกติครับ   

ในการทำงานในภาคสนามของผมที่ต้องเดินสำรวจทำแผนที่ธรณีวิทยาไปในพื้นที่ต่างๆนั้น จะมีแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1:50,000 อยู่ที่มือซ้ายตลอดเวลา มีเข็มทิศ มีสมุดบันทึก (field note)  ส่วนมือขวาก็จะถือฆ้อนธรณีฯ เพื่อใช้กระเทาะหินให้ออกเป็นชิ้นเล็ก ใช้ hand lens ส่องดูเพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆในเนื้อหิน (ซึ่งบอกเรื่องราวในอดีตของยุคที่มันกำเนิดมา) และใช้กระเทาะหรือย่อยมันเพื่อเก็บเอาไปเป็นตัวอย่างสำหรับวิเคราะห์ในสำนักงานหรือ lab ต่อไป   มีวิถีชิวิตที่ต้องเกี่ยวข้องกับแผนที่ เข็มทิศ ทิศทาง พิกัด (ตำแหน่ง) และระยะ ที่อาจจะกล่าวได้ว่าค่อนข้างจะมีความสันทัดอยู่พอประมาณเลยทีเดียว   ก็ยังไม่วายหลงทิศ หลงพิกัด หรือหลงระยะได้ง่ายๆเหมือนกัน  กระทั่งนักบินก็ยังเกิดการหลงทิศได้เช่นกัน


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 พ.ค. 21, 19:28
จากประสบการณ์ของผม มีความเห็นว่า อาการงงกับแผนที่และอาการหลงทิศนี้ดูจะมีต้นตอหลักๆมาจากพิกัดต้นทางที่เราเอาตัวของเราเข้าไปตั้งอยู่ แล้วใช้ในการพิจารณาแผนที่นั้นๆ  อีกสาเหตุหนึ่งดูจะเกี่ยวกับโครงสร้างในองค์รวมของพื้นที่ีๆเราดูนั้นๆไม่มีลักษณะเป็นสี่ทรงเหลี่ยม    ครับ...เราเป็นคนในโลกยุคใหม่ ในลิ้นชักความจำของพวกเรา(สมอง)จะเห็น ถูกสอน และคุ้นเคยกับอะไรๆที่มีลักษณะเป็นเส้นตรง (linear) และที่เป็นทรงกล่อง (rectangular)     

ก็จึงไม่แปลกนักที่เราจะค่อนข้างจะหลงทิศ/หลงทางเมื่อขับรถหรือเดินอยู่ในพื้นที่ส่วนที่เป็นเมืองเก่าทั้งหลาย(ในโลกและของไทย) หรือเมืองใหญ่ๆที่ผังเมืองได้ถูกกำหนดให้ต้องคดโค้งไปตามแม่น้ำสายหลักที่เมืองตั้งอยู่   ซึ่งถนนในเมืองเหลานั้นดูล้วนจะมาจากเรื่องทางพื้นฐานที่ถนนทุกสายมุ่งเข้าสู่/เชื่อมโยงกับใจกลางของมหานคร  ถนนสายหลักจึงมีลักษณะเป็นดั่งเส้นใยหลักของใยแมงมุม เมื่อมีถนนสายรองตัดเชื่อมถนนสายหลักทั้งหลาย ก็จะเกิดเป็นโครงสร้างเส้นทางคมนาคมทรงสามเหลี่ยม ซึ่งเราซึ่งเป็นผู้ไปเยี่ยมเยือนไม่คุ้น การหลงทิศหลงทางจึงเกิดขึ้น     หากจะลองทดสอบอาการหลงทิศหลงทางอย่างง่ายๆ ก็เพียงลองนำตัวเข้าไปอยู่ในพื้นที่บริเวณวงเวียน 22 กรกฎาฯ แล้วลองตั้งหลักคิดว่าจะใช้เส้นทางใหนไปสถานีหัวโพง เยาวราช เจริญกรุง บรรทัดทอง โอเดียน ... เป็นต้น         


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 พ.ค. 21, 19:52
มาถึงคำว่า "พิกัด"   เมื่อได้ยินคำนี้ ส่วนมากจะนึกถึงพิกัดทางภูมิศาสตร์ แต่หากเป็นคำภาษาอังกฤษ (coordinate) ก็มักจะนึกไปนึกถึงตำแหน่งที่ตัดกันระหว่างแนวเส้นตรงของข้อมูลที่ลากมาตัดกัน หรือมิฉะนั้นก็จะนึกถึงในความหมายของ entity (นิติบุคคล) ที่ดำเนินการประสานความร่วมมือต่างๆ    แท้จริงแล้ว การใช้คำว่า พิกัด ควรจะต้องมีสร้อยต่อท้าย เช่น พิกัดทางดาราศาสตร์  พิกัดฉาก  พิกัด GPS  พิกัดศุลกากร  ฯลฯ    พอมาถึงพิกัดศุลกากร ก็กลับกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง พิกัดศุลกากรหมายถึงระบบการจำแนกประเภทสินค้าที่มีการนำเข้าหรือส่งออกของแต่ละประเทศ แต่เดิมก็จะเป็นการจำแนกแบบของใครของมัน แต่ในปัจจุบันนี้ได้มีความตกลงร่วมกันว่าจะจำแนกสินค้าเหล่านั้นให้มีความเหมือนๆกัน เรียกกันสั้นๆว่า HS Code    พิกัดศุลกากรมีลักษณะเป็นตัวเลขหลักอยู่หกหลักแต่มีรายละเอียดย่อยลงไปได้อีกหกหลัก  การศุลกากรเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับภาษีที่เรียกว่า tariff   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 พ.ค. 21, 18:53
พิกัดทางภูมิศาสตร์ที่เรารู้จากการเรียนหนังสือตั้งแต่ระดับประถมวัยจนถึงระดับมหาวิทยาลัยนั้น อยู่ในเรื่องของละติจูด (Latitude) หรือเส้นรุ้ง  และลองติจูด (Longitude) หรือเส้นแวง ซึ่งคุณครูจะสอนให้จำได้อย่างขึ้นใจว่า "รุ้งตะแคง แวงตั้ง"  แล้วก็สอนให้รู้ว่ามันเหมือนตาข่ายคลุมโลกเรา ซึ่งมีการแบ่งตาข่ายเป็นเส้นตั้ง (แนวเหนือ-ใต้) เรียกว่าเส้นแวง ซึ่งเส้นแวงนี้มีจุดออกอยู่ที่ตำบล Greenwich ในประเทศอังกฤษ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงลอนดอนนัก (หากมีโอกาสไปเที่ยวอังกฤษและแวะพักในกรุงลอนดอน ก็น่าจะลองหาโอกาสไปแวะเที่ยวดู  มีตลาดที่ดี มีของอร่อยมากมาย โดยเฉพาะ beef stew puff หรือ pie)   ตำแหน่งของกรุงเทพฯอยู่ที่เส้นแวงประมาณ 100 องศา 30 ลิบดา นับไปทางทิศตะวันออกจาก Greenwich เขียนสั้นๆว่า 100ํํ 30' E (east)      ส่วนเส้นรุ้งจะเป็นเส้นในแนวนอนที่พาดผ่านในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก นับออกจากเส้นศูนย์สูตรขึ้นไปทางเหนือหรือลงใต้    กรุงเทพฯของเราตั้งอยู่ที่เส้นรุ้งประมาณ 13ํํ องศา 30 ลิบดา ขึ้นไปทางเหนือของเส้นศูนย์สูตร เขียนสั้นๆว่า 13ํํ 30' N (north) 

พิกัด(ตำแหน่ง)ที่ตั้งของเมืองกรุงเทพฯบนแผนที่ ก็คือ 100ํํ 30' E 13ํํ 30' N  (โดยประมาณ) 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 พ.ค. 21, 19:30
แต่พิกัดนี้หมายถึงเมืองกรุงเทพฯที่จุดใด   

เพื่อให้มีความละเอียดมากขึ้น ระบบก็เลยต้องแบ่งย่อยระยะของลิบดาลงไปอีกเป็นหน่วยย่อยที่เรียกว่า ฟิลิบดา     ก็มีข้อตกลงนาๆชาติกันว่า เราจะซอยแบ่งระหว่างแต่ละองศาออกเป็น 60 ส่วน แต่ละส่วนเรียกว่า ลิบดา  และซอยแบ่งแต่ละลิบดาออกไป 60 ส่วนเรียกว่า ฟิลิบดา  จะใช้วงกลมขนาดจิ๋วสำหรับหน่วยองศา ใช้เครื่องหมายฟันหนูหนึ่งเส้นสำหรับหน่วยลิบดา และใช้เครื่องหมายฟันหนูสองเส้นสำหรับหน่วยฟิลิบดา    แต่เมื่อโลกเข้าสู่สังคมและเทคโนโลยีในลักษณะที่ต้องการความแม่นยำสูง (precise) มากกว่าในด้านของความถูกต้อง (accuracy) และยุคสมัยของตรรกะฐานสิบนิยม   ก็จึงมีความนิยมที่จะหันจากการใช้พิกัดในระบบ องศา ลิบดา และฟิลิบดา เราก็เลยได้เห็นค่าพิกัดของที่ตั้งต่างๆในรูปของตัวเลขขององศาที่ตามมาด้วยจุดทศนิยม 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 มิ.ย. 21, 18:32
ในการทำงานเดินสำรวจทำแผนที่ธรณีฯของพวกผม จะใช้แผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1:50,000 และใช้ค่าพิกัดแสดงตำแหน่งด้วยระบบ UTM ซึ่งจะแตกต่างออกไปจากระบบละติจูด-ลองติจูด   ค่าพิกัดนั้นใช้ตัวเลข 6 หลัก จะต้องอ้างอิงตำแหน่งของระวางแผนที่ด้วย คงจะไม่เล่าขยายความนะครับ เป็นเรื่องยาวที่ต้องย้อนไปถึงเรื่องของแผนที่ในระบบ UTM (Universal Transverse Mercator) ซึ่งแผนที่ของระบบนี้จะมีความถูกต้องในเรื่องของทิศและระยะทาง


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 มิ.ย. 21, 18:37
จะต้องขออภัยที่ช่วงนี้การเล่าความจะกระท่อนกระแท่น  กำลังย้ายบ้านสลับกับบ้านของลูก ยังจัดทุกอย่างไม่เข้าระบบที่พึงจะเป็นครับ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มิ.ย. 21, 18:51
ตามสบายค่ะ  คุณตั้ง
เรียบร้อยแล้วกลับมาคุยกันต่อนะคะ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มิ.ย. 21, 18:39
ขออภัยที่ต้องเว้นวรรคไปช่วงหนึ่ง  ตอนนี้พอจะเป็นรูปเป็นร่างใกล้รูปแบบที่ตนเองคุ้นเคยแล้ว ก็เลยจะขอต่อเรื่องราวต่างๆครับ

สรุปเรื่องที่สำคัญตามที่ได้กล่าวมาก็คือ แผนที่ดีควรจะต้องมีการทำที่อิงกับมาตราส่วน โดยเฉพาะในเชิงของระยะทาง  หัวกระดาษของแผนที่ควรจะต้องเป็นด้านทิศเหนือเสมอ หรือมิฉะนั้นก็จะต้องมีเครื่องหมายที่บ่งชี้ว่าทิศเหนืออยู่ทางใหนของกระดาษแสดงแผนที่นั้นๆ 

แผนที่ๆเราถามหาและกล่าวถึงกันในวิถีการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันนี้ เกือบทั้งหมดจะเป็นแผนที่ๆใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมเป็นฐานในการแปลงให้เป็นผังภาพลายเส้นกราฟฟิค (vector graphic)  เพื่อการนำพาผู้คนไปสู่สถานที่(พิกัด)เป้าหมายที่มีตัวตนปรากฎ    (เป็นหนึ่งในวิทยาการประยุกต์ในเรื่องของการทำแผนที่ _Cartography)    แผนที่บนฐานของภาพถ่ายดาวเทียมนี้ดูจะมีขีดของความถูกต้อง +/- ในระดับเป็นเมตร (meter range accuracy)  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วลงไปได้ถึงระดับเซ็นติเมตร เพียงแต่ถูกจำกัดด้วยเรื่องของความมั่นคงต่างๆ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มิ.ย. 21, 19:34
สำหรับแผนที่ๆใช้ในการทำงานในเชิงของระบบและการวางแผนและอื่นๆนั้น เมื่อใช้คำว่าแผนที่ เกือบทั้งหมดจะหมายถึงแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1:50,000 สำหรับงานทั่วๆไป  และมาตราส่วนประมาณ 1:20,000 (สำหรับเรื่องของการใช้ประโยชน์ที่ดิน)  ซึ่งมักจะอยู่ในลักษณะของการใช้แผนที่ๆต้องมีการหาจุดพิกัดต่างๆด้วยตนเอง      ความถูกต้องของพิกัดจึงขึ้นอยู่กับตัวคนที่ดำเนินการหาจุดพิกัด และบนพื้นฐานของมาตราส่วนของแผนที่ พิกัดจึงมีความคลาดเคลื่อนได้ในระดับ+/- 50 เมตรโดยประมาณ เมื่อใช้แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 หรือในระดับ +/- 20 เมตรโดยประมาณ เมื่อใช้แผนที่มาตราส่วน 1:20,000

ถึงจุดนี้ก็คงพอจะได้เห็นภาพของความขัดแย้งต่างๆได้พอสมควรเลยทีเดียวสำหรับกรณีแนวเขตที่มีลากเส้นเหล่านั้นได้กระทำตั้งอยู่บนฐานของแผนที่มาตราส่วนใด  ซึ่งจะยังผลให้ระยะ +/- ของแนวเขตในพื้นที่จริงๆขยับไปมาได้มากโขอยู่ทีเดียว


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 15 มิ.ย. 21, 19:42


    แผนที่ที่ผู้คนชาวบ้านทั่วไปคุ้นเคยกันดี เห็นจะเป็นโฉนดที่ดินละมังครับ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 มิ.ย. 21, 18:19
ใ่ช่ครับ ก็คงจะเป็นเช่นนั้น  ในโฉนดที่ดินก็มีการเขียนลูกศรชี้ทิศเหนือด้วย  ซึ่งด้วยความที่คุ้นเคยก้บพื้นที่และรูปทรงของที่ดิน ชาวบ้านก็จะดูออกในทันใดว่าที่ดินข้างเคียงในแต่ละทิศนั้นมีผู้ใดเป็นเจ้าของ  คนในกรุงและในเมืองเสียอีกที่ดูจะไม่รู้หรือไม่ได้สนใจเลยว่า ด้านที่ติดถนนหรือที่เรียกว่าด้านหน้า ด้านข้าง หรือด้านหลังของที่ดินผืนนั้น ผินหน้าไปทางทิศใด   

ก็ดูจะไม่มีสาระสำคัญที่จะต้องไปสนในใจกับเรื่องของทิศและการวางตัวของผืนดินนั้นๆ  แต่สำหรับผมนั้คงจะเป็นคนคิดมากไปหน่อย คิดเลยคิดถึงในกรณีจะสร้างบ้านพักอาศัย หรือหากเป็นพื้นที่ค่อนข้างใหญ่และคิดจะใช้เป็นบ้านชนบทเพื่อการพักผ่อนแบบให้มันเลี้ยงตัวเองได้ด้วยกิจกรรมแบบประสมประสานในรูปของไร่นาสวนผสม      เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างรูปทรงของที่ดินผืนนั้นกับทิศทางของการวางตัวก็จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาในทันที


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 มิ.ย. 21, 19:27
ลองค่อยๆนึกดูก็น่าเห็นว่า เราถูกระบบ (พ่อ แม่ ครู อาจารย์ การเรียนหนังสือ สังคม ข่าวสาร ...... ) เอาความรู้และความเชื้อหลายๆเรื่องเข้าไปฝังเก็บสะสมอยู่ในสมองของเรา  เช่น ในช่วงปลายปี อากาศในภาคเหนือจะหนาวเย็น ดวงอาทิตย์จะเดินอ้อมใต้ เงาจะทอดไปทางทิศเหนือ  ประมาณต้นเดือนเมษายนจะมีลมแรงและฝนมาจากทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ จะมีพายุฝนเข้ามาทางทิศตะวันออก   พระพุทธรูปควรจะผินหน้าไปทางทิศเหนือหรือตะวันออก  เราไม่ควรอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก ..... เหล่านี้เป็นต้น     ประเด็นความรู้และความคิดเหล่านี้จะนำพาไปสู่การวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีความเหมาะสมกับวิถีที่เราจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข      ในอีกนัยหนึ่งก็คือ ทุกเรื่องมีเป็นไปที่สอดคล้องกับพลวัติของธรรมาติ คือ Living in harmony with nature    ในทางศาสตร์ของฮวงจุ้ยก็น่าจะเป็นเรื่องขอหยินและหยางที่เอื้ออำนวยแก่กันจนทำให้ซี่ลื่นไหลไปได้อย่างราบรื่น



กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 มิ.ย. 21, 18:39
เมื่อเราเดินทางไปเที่ยววกวนอยู่ในสถานที่หรือพื้นที่แห่งหนึ่งที่มีความเจริญมากแล้ว แล้วไม่สามารถย้อนกลับมายังจุดเริ่มต้นได้   โดยลักษณะของรูปการณ์แล้วมันก็คือการเกิดการหลง ซึ่งเรามักจะใช้คำว่า หลงทาง     การหลงทางนี้ดูจะเกิดมาได้ทั้งจากความไม่ชัดเจนของข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมาจากระบบของสื่อ (information) และจากการหลงทิศทางตามความเชื่อมั่นของตัวเราเอง      แต่หากเป็นการหลงในพื้นที่ๆยังคงมีลักษณะเป็นธรรมชาติอยู่  การหลงจะมักจะเกิดจากการหลงทิศ และหลงเพราะความเชื่อมั่นในความรู้สึกของตนเอง

เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาเข้าจริงๆ ต้นตอของการหลงส่วนมากจะเริ่มต้นจากการไม่รู้จักพิกัดที่เป็นจุดออกแรกเริ่มของเราอย่างดีพอในพื้นที่นั้น

เมื่อเราจะหาพิกัดที่เรายืนอยู่ ณ จุดใดๆ  เราจะต้องมองไปรอบๆตัว ค้นหาจุดเด่นที่ปรากฎอยู่ในแนวสายตา (line of sight) หันหน้าตรงมองตรงไปทางจุดที่เด่นที่สุด แล้วบันทึกใว้ในความทรงจำว่าเราเห็นอะไรบ้างที่เด่นๆเมื่อผินหน้าไปทางซ้าย หรือขวา หรือบน หรือล่าง หรือกลับหลังไปมอง  ซึ่งจะทำให้เมื่อใดก็ตามที่เราเห็นจุดเด่นที่สุดนั้นๆก็พอจะทราบได้ว่าจุดแรกเริ่มของเราควรจะอยู่ ณ ที่ใด 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 มิ.ย. 21, 19:13
พิกัดจึงมิใช่เรื่องแต่เฉพาะตำแหน่งที่อยู่ พิกัดจำจะต้องมีรายละเอียดในเชิงของคุณภาพประกอบอยู่ด้วย จึงจะมีคุณค่าสำหรับการใช้ให้เกิดประโยชน์    ย้อนกลับไปที่ได้กล่าวมาเกี่ยวกับเรื่องของแผนที่ หากพิกัดต่างๆที่ปรากฎอยู่ในแผนที่ไม่มีข้อมูลใดๆประกอบอยู่ด้วยเลย แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราไปถูกที่ ณ จุดที่เขาให้พิกัดแก่เรา     ในแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 หนึ่งจุดดินสอดำ คลุมพื้นที่ประมาณ +/- 50 เมตร    แผนที่ 1:20,000 หนึ่งจุดดินสอคลุมพื้นที่ประมาณ 20 เมตร    อนึ่ง ความแม่นยำก็ยังขึ้นอยู่กับฝ่ายผู้ปักหมุดพิกัดให้กับเรา ว่าเขาเหล่านั้นมีความพิถีพิถันมากน้อยเพียงใดในการบอกพิกัด หรือเขาได้ปักหมุดลงบนแผนที่มาตราส่วนใด  ท่านที่ใช้ app. แผนที่ต่างๆน่าจะเห็นภาพที่ได้กล่าวถึงนี้


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 มิ.ย. 21, 19:40
การหลงในพื้นที่เมืองและชนบทเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ไม่ยาก  มีเพียงปากก็ดูจะเพียงพอที่จะแก้สภาพการหลงได้ เว้นเสียแต่ว่าจะไปเจอชาวบ้านที่ช่วยแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการบอกทางออกด้วยการใช้ระบบทิศทาง  ก็คงจะต้องงๆและเออออห่อหมกไปก่อน แล้วไปถามเอาดาบหน้าต่อไป

แต่การหลงในพื้นที่อุทธยานหรือป่าเขานั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย  ต้องใช้ความรู้ในลิ้นชักและสัญชาติญาณผสมผสานกันเพื่อการแก้ปัญหา หาทางออก และเอาตัวให้รอด  ซึ่งเป็นเรื่องที่จะว่ากันต่อไปครับ 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 มิ.ย. 21, 18:54
จะขอใช้เรื่องการหลงป่าเป็นภาพหลักที่จะคุยกันจากนี้ต่อไปะครับ

ความรู้สึกว่าได้เกิดการหลงป่าขึ้นแล้วนั้น จะเริ่มเมื่อจิตใจของเราเริ่มพะวงจากการเห็นภาพของสรรพสิ่งในป่าในขาเดินกลับ(ไปยังจุดเริ่มต้นที่เริ่มเดินเข้าป่าไป) ว่ามันไม่เหมือนกับที่เคยเห็นหรือที่รู้สึกคุ้นเคยเมื่อตอนขาเดินเข้าป่า  เมื่อมีความพะวงมากขึ้น ก็จะเริ่มพิจารณาและวิเคราะห์สิ่งที่ได้เห็นละเอียดมากขึ้น ....   ทำให้เกิดความกังวลในเรื่องอื่นๆตามมาอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะในเรื่องของเวลาและทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเวลา ภารกิจและกิจกรรมต่างๆที่มี time frame เข้ามากำกับ    เมื่อเกิดความกังวลมากๆเข้าก็กลายเป็น panic  เมื่อถึงจุดนี้ก็จะเกิดอาการขาดสติสัมปชัญญะ  ความคิดต่างๆเริ่มผันเข้าไปสู่แนวที่เป็น negative  เกิดความกลัว   ก็กลัวมากขึ้นไปจนถึงจุดที่ตั้งสติใหม่ได้ เกิดความรู้สึกของการต้องอยู่ในสภาพ isolation และการเอาชีวิตรอดในสภาพนั้น    ถึงตอนนี้ละครับ ความรู้ในลิ้นชักจะถูกรื้อค้นออกมาทั้งหมด ทั้งที่ถูกพ่อแม่ คนเฒ่าคนแก่เคยบ่น ดุด่า ห้ามปราม (เช่น เกี่ยวกับสัตว์มีพิษ ...) เรื่องน่าเบื่อจากการเรียนวิชาลูกเสือ  เรื่องของลมฟ้าอากาศ เดือน ตะวัน ทิศ   เรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ  เรื่องของการบ่มจิตใจ(ปฎิบัติ)ทางธรรม..... ฯลฯ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 มิ.ย. 21, 19:27
การแก้ปัญหาการหลงป่าคงจะต้องจำแนกออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การทำให้ตัวเองออกจากพื้นที่ป่านั้นได้ และการเอาชีวิตให้รอด   ทั้งสองเรื่องนี้จะต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างจิตใจให้เข้มแข็ง ปรับเปลี่ยนแนวคิดที่ไปในทางลบ ให้เป็นไปในทางบวก ซึ่งเป็นการทำให้ร่างกายและจิตใจพร้อมทีจะสู้ต่อไป       จะเดินลัดเลาะไปทางใหนก็ควรจะต้องทิ้งร่องรอยไว้ให้มากที่สุด ซึ่งจะเป็นการทิ้งร่องรอยให้คนที่เข้ามาช่วยเหลือเขาสามารถแกะรอยและติดตามได้  ในพื้นที่ป่าที่เราไม่คุ้นเคย เราจะเดินได้ประมาณ 2-3 กม.ต่อ ชม. แต่สำหรับคนที่ชำนาญพื้นที่เขาจะเดินได้เร็วกว่าเราอาจจะถึงประมาณเกือบ 2 เท่า      ควรพยายามนึกถึงแผนที่ๆเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆว่ามันอยู่ทางด้านบน ล่าง ซ้าย หรือขวาของถนนสายหลักที่นำพาเราเข้าสู่พื้นที่นั้นๆ  อย่างน้อยๆก็ยังช่วยให้เรามุ่งการเดินทางเข้าสู่ความเจริญ  ก็ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของทิศและทิศในแผนที่ที่เราควรให้ความสนใจ 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 มิ.ย. 21, 19:43
เป็นเรื่องปกติมากๆที่เมื่อเดินโผล่ออกมาจากแนวป่าแล้วยังต้องเดินหาจุดตั้งต้นที่เราเริ่มเดินเข้าป่าไป (ซึ่งมักจะเป็นลานจอดรถ สถานที่ตั้งเต็นท์พักแรม ที่ตั้งจุดตรวจ ฯลฯ)  รูปการณ์ในลักษณะนี้ เกิดขึ้นได้เช่นกันในการเดินเที่ยวชุมชนต่าๆ ตลาดขนาดใหญ่ ศูนย์การค้าขนาดใหญ่  การขับรถชมเมือง ...ฯลฯ     ทางแก้ที่จะมิให้เกิดความรู้สึกว่าหลงและซึ่งจะยังให้เกิดการเปลี่ยนไปเป็นความเพลิดเพลินในรูปของการคิดเชิงของการค้นพบในบริบทของ exploration หรือ expedition ก็คือ การมีข้อสังเกตต่างๆและการบันทึกเก็บไว้(ในสมอง)ไม่ว่าจะในรูปของ ROM หรือ RAM หรือ Flash memory    ทั้งนี้ ก็จะต้องเป็นข้อมูลที่มีการพิเคราะห์และการเลือกสรรที่ผ่านการคัดกรองตามที่เหมาะสมกับจริตของแต่ละคน  บ้างก็อยู่บนพื้นฐานของลักษณะถนน  บ้างก็ต้นไม้และพืชพรรณ บ้างก็ลักษณะห้วย บ้างก็ภูมิทัศน์ บ้างก็ลักษณะดิน-หิน ฯลฯ   
 
สรุปเอาง่ายๆว่า เมื่อใดที่เราเริ่มการกระทำภารกิจใดๆ จำเป็นจะต้องมีความสังเกตในทุกๆเรื่อง (มากน้อยต่างกันไป)  คือ รู้เขา รู้เรา และรู้ตัวเอง


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 มิ.ย. 21, 20:30
สังเกต เป็นคำหนึ่งที่อยู่ในลิ้นชักความรู้  น่าจะเป็นเป็นคำที่เราได้ยินมาตั้งแต่เด็ก และมีการพร่ำพูดคำนี้จากทุกท่านที่ทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์ในทุกระดับการศึกษา

เชื่อว่าทุกๆคนมีข้อสังเกตเป็นสมบัติประจำตัว จะมีมากบ้างน้อยบ้างในเชิงของนิสัยแตกต่างกันไป รวมทั้งความแตกต่างกันในเชิงของความละเอียด   เรื่องของความใส่ใจลงไปถึงความละเอียดจนเป็นนิสัยนี้ ผมมีความเห็นว่าส่วนมากจะเกิดขึ้นจากความสนใจและความใส่ใจในการเรียนรู้สรรพเรื่องต่างๆ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 มิ.ย. 21, 18:28
ผมเชื่อว่า องค์ความรู้ที่เรามีอยู่ในตัวเรานั้นได้มาจาก 2 แหล่งสำคัญ คือ จากระบบการเรียนเป็นวิชาๆตามศาสตร์ต่างๆ ซึ่งสิ่งที่ได้รับก็คือ knowledge   และจากการลักจำจากผู้ที่มีความสันทัดและเชี่ยวชาญเฉพาะทางในเรื่องต่างๆที่ตนเองได้มีโอกาศรับฟัง พูดคุย หรือที่ได้เห็นจากการกระทำใดๆ  ซึ่งสิ่งที่ได้รับอยู่ในลักษณะของ know how   เมื่อเอาทั้งสองสิ่งมารวมกันก็จะเกิดเป็นองค์ความรู้ (wisdom ?)มากน้อยกันไปของแต่ละบุคคล   ในด้าน ลักจำ นี้ โดยเนื้อแท้แล้วก็ดูจะเป็นเรื่องของการสังเกตอย่างมีคุณภาพนั่นเอง     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 มิ.ย. 21, 19:20
ออกจากเรื่องทางปรัชญาไปสู่ในทางปฎิบัติ

เมื่อรู้ว่าเราหลงป่าแล้ว เรื่องที่ต้องปฎิบัติในเบื้องแรกก็คือ พยายามตั้งสติ ปรับลดข้อจำกัดที่มีลักษณะว่าต้องเป็นไปตามข้อกำหนดที่ตั้งได้เป็นกรอบเอาไว้แต่แรก   เปลี่ยน mind set ที่ตั้งอยู่บนฐานของความรู้สึกในลักษณะของคำว่า เจ๋ง  ไปเป็นว่าจะแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมได้เช่นใด 

ก็มีเรื่องของเวลาตามมาเกี่ยวข้อง    ในพื้นที่ๆเป็นป่าเขาสูงบางบริเวณ ดวงอาทิตย์จะลับหลังเขาตั้งแต่ประมาณบ่าย 3 โมงเย็น อุณหภูมิอากาศก็จะเริ่มเย็นลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเข้าสู่เวลาประมาณ 5 โมงเย็น ความมืดก็จะเริ่มมาเยือน   ในป่าที่ค่อนข้างจะเป็นพื้นที่ราบ ดวงอาทิตย์จะลับขอบฟ้าเมื่อใกล้ 5-6 เย็น แต่เมื่อลับแล้วก็จะเข้าสู่ความมืดโดยเร็วทีเดียว    ผมเห็นว่าเวลาประมาณบ่าย 3 โมงเย็นคือเวลาที่ต้องเริ่มคิดและเริ่มเตรียมความพร้อมเพื่อรับอีกสถานการณ์หนึ่งเพื่อการอยู่รอด 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 มิ.ย. 21, 18:35
ก็มีเรื่องสำคัญแต่แรกที่จะต้องให้ความสนใจอยู่ 2 เรื่อง คือ ที่นอน และแหล่งน้ำ

ในเรื่องที่นอนนั้น คงจะต้องย้อนนึกถึงคำกล่าวต่างๆของคนเก่าคนแก่ เช่น อย่าไปนอนในที่อับ อย่านอนทับด่านสัตว์ ก่อไฟนอน ฯลฯ  แล้วก็ต้องนึกถึงเรื่องราวในหนังหรือสารคดีที่มีเนื้อหาบางส่วนหรือทั้งหมดที่เกี่ยวกับการเอาตัวรอดเมื่อต้องผจญภัย  แล้วประมวลคัดเอาแต่สาระที่มีความใกล้เคียงทาง scenario ทางสิ่งแวดล้อมค้ายๆกับของเรา    เอาคำสอนแต่โยราณและข้อมูลลักจำทั้งหลายเหล่านั้นมาพิจารณาดัดแปลงใช้ให้เป็นประโยชน์

อย่านอนในที่อับนั้น ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกทำร้ายโดยสัตว์มีพิษตัวเล็กซึ่งมักจะเป็นสัตว์หากินในตอนกลางคืนและชอบอยู่ในพื้นที่บริเวณที่มีความชุ่มชื้น  พื้นที่อับในป่าก็คือตำแหน่งหรือจุดที่มีต้นไม้ใบปกคลุมค่อนข้างจะหนาแน่น แหงนมองแล้วไม่รู้สึกโปร่ง หรือมองไม่ทะลุฟ้า   แล้วก็ พื้นที่เช่นนี้มักจะอุดมไปด้วยยุงและแมลงทั้งหลาย  ดีไม่ดี เผลอๆเป็นจุดที่อยู่ของเจ้าที่ เจ้าทาง เจ้าป่า เจ้าเขา เทพาอารักษ์ อีกด้วย   ก็แล้วแต่จะเชื่อกันนะครับ  ตัวผมเองไม่ลบหลู่ในเรื่องเช่นนี้ ก็เจอะเจอมาพอสมควรอยู่เหมือนกัน       


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 มิ.ย. 21, 19:22
อย่านอนทับด่านสัตว์    ด่านสัตว์ก็คือทางเดินประจำของสัตว์ใหญ่น้อยเพื่อไปยังแหล่งน้ำกินหรือไปกินดินโป่ง  ด่านสัตว์จะมีที่เรียกว่าด่านเล็กและด่านใหญ่   ด่านสัตว์ (ทางเดินบนดิน) จะมีสภาพเตียน ขาวเด่นออกมา ไร้พืชหรือหญ้า    ด่านเล็กและด่านใหญ่มีความต่างกันที่ความกว้างของช่องการเดินและความชัดเจนของเส้นทางที่ปรากฎบนพื้นดิน     นอกจากนี้ก็ยังมีด่านเก่าและด่านใหม่ แล้วก็มีด่านช้างอีกด้วย     อันที่จริงแล้วด่านใหญ่ก็มักจะเป็นด่านที่ช้างเดินนั่นเอง   ทางด่านของช้าง(ขนาดใหญ่จริงๆ)ที่ผมเคยเห็นนั้น อยู่ในห้วยขาแข้งฝั่งด้านตะวันตก ใหญ่และเตียนจริงๆ คล้ายถนนสำหรับรถสิบล้อใช้วิ่งได้เลย   ด่านสัตว์เป็นเส้นทางที่ค่อนข้างจะตัดตรงเข้าสู่แหล่งน้ำและโป่ง เป็นถนนที่ใช้งานกันในช่วงเวลากลางคืน

ดังที่กล่าวมา ก็คงพอจะทำให้เข้าใจได้ว่าด้วยเหตุใดจึงมีการห้ามนอนทับด่าน    หากจะต้องนอนใกล้พื้นที่ด่านจริงๆก็จึงควรที่จะหาที่นอนที่ห่างจากทางด่าน (สัก 50+/-เมตร)   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มิ.ย. 21, 18:56
โชคดีที่ป่าที่เราไปเที่ยวนั้น มักจะเป็นป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้งเป็นพวกป่าที่มีต้นไม้ประภทผลัดใบที่มีขนาดลำต้นพอๆกันขึ้นอยู่ค่อนข้างหนาแน่น ส่วนป่าเบ็ญจพรรณนั้นเป็นป่าที่มีทั้งไม้เล็ก ไม้ใหญ่ ทั้งที่ผลัดใบและไม่ผลัดใบขึ้นผสมผสานกันอยู่     

จากประสบการณ์ของผม ป่าดิบแล้งมีสภาพออกไปทางแห้ง พื้นที่อยู่ในโทนของสีต้ำตาลอ่อน แหล่งน้ำที่เป็นหลักก็คือลำห้วยขนาดใหญ่เส้นหนึ่ง  ซึ่งจะมีน้ำไหลอยู่เหนือท้องห้วยอยู่หลายเดือน (intermittent flow) แล้วก็แห้งไป ในช่วงแห้งนี้หรือช่วงเวลาแล้งจัดก็อาจจะมีน้ำใหลอยู่ใต้ผิวท้องห้วย (subterranean flow) และก็มักจะมีแอ่งน้ำขังอยู่ตามตะพักในห้วย   ด่านสัตว์ที่ค่อนข้างจะเห็นได้ชัดและเตียนโล่งในพื้นที่ๆเป็นป่าดิบแล้งมักจะบ่งชี้ว่ามีแหล่งน้ำประเภทนี้อยู่ใกล้ๆแถวนั้น  เราจะหาน้ำที่พอจะสะอาดดื่่มได้จากการขุดทรายทำบ่อซึมบริเวณหาดทรายในห้วยหรือหาดทรายริมห้วย     หากอยากจะให้เกิดมีความสุนทรีย์ในอารมภ์ขึ้นมาบ้าง ก็ลองไปนั่งซุ่มอยู่บนฝั่งคอยดูสัตว์ลงมากินน้ำ ช่วงเวลาที่เหมาะก็จะอยู่ประมาณ 3-5 โมงเย็น เก้งและกวางเขาชอบลงมาในเวลานี้ นอกจากนั้นก็อาจจะเป็นไก่ป่าและนก   ซึ่งก็มีเรื่องให้ต้องระวังอยู่ 2 เรื่อง คือ หากที่ข้างตลิ่งห้วยของเส้นทางด่านสัตว์มีลักษณะเป็นขั้นบันใด และดูใหม่หน่อย ก็ควรจะต้องหลบไปใกลๆจากด่านนั้น มันคือเส้นทางที่ช้างเขาเดิน เขาจะมาเล่นน้ำ กินน้ำ หรือเดินผ่านก็อันตรายทั้งนั้น (แล้วค่อยมาว่ากันต่อในภายหลัง)


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มิ.ย. 21, 20:23
ป่าเบญจพรรณนั้นเป็นป่าที่ดูจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญต่างๆ  มีสภาพออกไปทางชุ่มชื้นแต่แล้งน้ำ เป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่เล็กหลากหลายชนิดขึ้นปะปนกัน มีหลากหลายระดับความสูงของเรือนยอด(ยอดไม้)  ป่าชนิดนี้มักจะมีแหล่งน้ำเล็กๆน้อยๆกระจายอยู่ทั่วไป บางก็ในโกรกห้วย บ้างก็เป็นจุดน้ำซึมน้ำซับ บ้างก็เป็นโป่งที่มีน้ำขัง   เป็นป่าที่มีสัตว์หลากหลายชนิดอาศัยอยู่ มีด่านสัตว์หลายเส้นทางพาดผ่านกวักไกว่กัน มีต้นไม้ใหญ่ที่มักจะแยกกันอยู่เป็นต้นๆ เป็นป่าที่มีต้นไทร จึงมีนกหลากหลายชนิดมาเกาะ บ้างก็เกาะอาศัยอยู่เฉยๆ  บ้างก็มากินลูกไทร ซึ่งก็มีนกเงือก นกแกง นกเขาเปล้า ที่เป็นหลัก และนกอื่นๆ เช่น นกกุลุมพู(กระลุมพู?) นกโพระดก...    เป็นป่าที่มีต้นมะค่าโมง ประดู่ ยมหิน? ร่มม้า (ค่างชอบกินผล)...

ต้นมะค่าโมงจะมัรากที่มีลักษณะเป็นปีก ทำให้เกิดเป็นร่อง(ซอง)กว้างพอที่จะเอาตัวไปซุกนอนได้ จะในท่าเอนหลับหรือนอนราบก็ได้  ในป่าชนิดนี้ ความชื้นจะมีมากที่บริเวณสองฝั่งของตลิ่งห้วย ซึ่งมักจะถึงในระดับเป็นดินที่ฉ่ำน้ำ  ในห้วยมีของที่สามารถนำมาใช้สอยได้ในเชิงอุปโภค (ต้นกระดาษ ...) ในเชิงของการบริโภคก็มี เช่น ผักกูด ต้นบุบคางคก และสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย (กบ เขียด ปู ปลา)   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 มิ.ย. 21, 19:32
เมื่อสถานการณ์ไปถึงจุดที่ถูกบังคับให้ต้องนอนแรม ก็คงจะต้องนึกถึงต่อไปอีกว่า คืนวันนั้นเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรม หากเป็นข้างขึ้น ดวงจันทร์จะขึ้นก่อนดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าและตกในเวลาดึกก่อนเช้า หากเป็นข้างแรม ดวงจันทร์จะขึ้นเมื่อความมืดมาเยือนแล้ว และจะไปตกหลังฟ้าสาง  ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไ่ม่มีความสำคัญอะไรนักที่จะต้องพึงรู้  แต่ที่พึงต้องรู้บ้างก็จะดี เพระว่าในพื้นที่ป่าเขานั้น เมื่อแสงอาทิตย์ดับสนิท ความมืดก็คือความมืดที่เกือบจะมองไม่เห็นอะไรๆแม้กระทั่งมือของตนเองที่เหยียดแขนออกไป แสงจันทร์เป็นแสงสว่างเพียงอย่างเดียวที่ช่วยทำให้พอจะมองเห็นอะไรๆได้บ้างในระยะที่ไม่ไกลนัก

ก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่า ในธรรมชาตินั้นมีสัตว์พวกกินเนื้อและพวกกินพืช มีพวกหากินกลางคืนกับพวกที่หากินกลางวัน และก็มีพวกที่เป็นนักล่าและผู้ถูกล่า  ฝ่ายที่เป็นพวกผู้ถูกล่าก็ไม่นิยมที่จะออกมาเดินแสวงหาอาหารในช่วงกลางคืนมีมีแสงจันทร์สว่าง  ฝ่ายผู้ล่าไม่ค่อยจะสนใจมากนัก ออกมาเดินหาเหยื่อในทุกช่วงเวลาที่ตนเองพอจะมองเห็นได้

สิ่งแวดล้อมเช่นนี้ คิดว่าจะนอนแรมอย่างไรดี     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 มิ.ย. 21, 20:24
ที่ว่ามาคือการเหลียวซ้ายแลขวา เพื่อการคิดและการเตรียมรับสถานการณ์  มองฟ้าก็มองแล้ว ก็มาถึงเรื่องที่สำคัญอีก 2 เรื่อง คือ ดูร่องรอยบนพื้น และดูร่องรอยที่ต้นไม้

ทั้งคนและสัตว์ต่างก็นิยมที่จะเลือกเดินบนทางที่ราบเตียน   ร่องรอยของสัตว์อาจจะดูยากด้วยที่เราไม่ค่อยจะคุ้นเคยกัน ซึ่งบนทางด่านนั้นเป็นร่องรอยที่สังเกตได้ยากมากๆ บรรดาสัตว์ต่างๆเกือบจะไม่ทิ้งร่องรอยอะไรไว้เลย แม้กระทั่งมูลของมัน  แต่ก็มีพื้นที่ๆเราพอจะเห็นได้ชัดๆ คือที่ชายหาดห้วย ก็เอาพอรู้ว่ามี 2 ลักษณะรอยที่ควรจะรู้  ก็มีลอยที่เป็นของสัตว์กีบ ซึ่งเกือบทั้งหมดจะเป็นพวกสัตว์กินพืช เป็นฝ่ายผู้ถูกล่า  และมีรอยที่เป็น paw แบบรอยเท้าสุนัข ซึ่งส่วนมากจะเป็นกินแมลงกินเนื้อ เป็นสัตว์พวกนักล่า  ทั้งสองลักษณะรอยเท้านี้มีขนาดเล็ก ใหญ่ แหลม หรือมน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นตัวอะไร    สัตว์เหล่านี้ไม่มีอันตรายต่อเรา แต่อาจจะนำพาอันตรายมาสู่เราได้    ก็พยายามสังเกตให้ดีอยู่เพียงรอยอุ้งเท้าขนาดประมาณชามก๋วยเตี๋ยว ซึ่งคือรอยเสือ  และรอยกลมๆ พื้นเรียบๆ ขนาดประมาณปิซซ่าถดเล็ก-กลาง ซึ่งรอยนี้คือรอยช้าง และยิ่งเป็นรอยเดี่ยวๆและมีกองอึอยู่แถวนั้นก็อาจจะยิ่งน่ากลัว เพราะอาจจะเป็นของช้างหนุ่ม ซน และเกเร ที่เรียกกันว่า สีดอ

อยู่ห่างพื้นที่ลักษณะสักหน่อยนี้ก็น่าจะเป็นการดี  เว้นแต่หากสนใจที่จะส่องและล่ามันเอามาเป็นอาหาร


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 มิ.ย. 21, 20:43
สำหรับรอบๆต้นไม้นั้น  ก็ควรจะแหงนดูว่ามีรังผึ้งหรือไม่ หากมีก็ควรจะเลือกที่นอนที่ห่างออกไปหรือเลือกต้นใหม่ที่ห่างออกไป  ตามต้นไม้ที่มีรวงผึ้งอยู่นี้ มักจะเป็นต้นไม้ใหญ่ที่เหมาะที่จะเป็นที่หลบอาศัยนอน  ที่ต้องหลบไปอยู่ห่างๆก็เพราะหมีมันชอบมาปีนหากินรังผึ้ง  หากสังเกตตามผิวรอบๆต้นไม้ที่มีรังผึ้ง เรามักจะพบว่ามีร่องรอยการขีดข่วนของเล็บหมีอยู่รอบๆต้น

เรามักจะกลัวเสือกัน ด้วยความเชื่อฝังหัวมาแต่โบราณว่า เสือนั้นมันกินคน  แท้จริงแล้ว ตามประสบการณ์ของผม เสือจะพยายามหลบหนีผู้คนมากกว่าจะไล่ผู้คน ยกเว้นในกรณีที่เราไปแย่งอาหารของมัน   สัตว์ที่น่ากลัวและมีโอกาสทำร้ายเราเมื่อเผชิญหน้ากันจริงๆดูจะกลายเป็นหมีควาย โดยเฉพาะในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ?


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มิ.ย. 21, 18:25
รู้สิ่งแวดล้อมรอบๆพื้นที่แล้วก็มาถึงการจัดการเรื่องของตัวเรา    เรื่องแรกก็คือต้องมีความมั่นใจในสัญชาตญานของมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวเราว่า เมื่อใดที่เรามีความรู้สึกกังวลในเรื่องของความปลอดภัย มันก็มักจะมีอะไรๆมากระตุ้นเตือนเราก่อนเสมอ  แล้วก็เป็นเรื่องปกติที่คนเดินป่าเดี่ยวๆ (แม้จะเป็นนายพรานใหญ่) จะไม่หลับในท่านอนราบ แต่จะหลับในท่าเอนนอน  เราก็จะเลือกนอนในท่าเอนเช่นกันโดยอัตโนมัติ  ก็มีอยู่นิดนึงว่า ควรจะรู้ว่าตัวเองนอนหันหัวไปทางทิศใด สำหรับตัวผมนั้นเห็นว่าควรจะหันไปทาทิศเหนือ  นอนพลิกไปทางซ้ายจะเห็นฟ้าสว่างเมื่อเช้า พลิกไปทางขวาจะเห็นดวงจันทร์ยามดึก และเมื่อมีเรื่องต้องหลบหนีกระทันหันในยามดึก ก็ยังพอรู้ว่าหลบไปทางทิศใด จะทำให้พอคลำทางกลับมายังจุดที่เรานอนซึ่งเป็นจุดสุดท้ายที่เรารู้ตำแหน่ง(พิกัด)ของตัวเอง ก่อนที่จะเริ่มเดินหาทางออกจากป่าต่อไปในวันใหม่

เวลากลางคืนในป่าจะมีความเงียบสงัดมาก เงียบมากพอที่จะได้ยินเสียงปลวกสั่นตัวสื่อสารกันบางอย่าง หรือเสียงใบไม้แห้งพลิกเนื่องจากการเดินของสัตว์ตัวเล็กๆ ฯลฯ   หากจิตใจของเราสงบและตั้งใจฟังเสียงต่างๆจริงๆ เราก็อาจจะได้ยินเสียงเครื่องของรถยนต์ หรือเห็นบริเวณที่มีแสงสว่างเนียนๆในความมืด ซึ่งทั้งเสียงและความสว่างแบบสุดสลัวเหล่านี้ก็คือพื้นที่ๆมีคนและมีความเจริญ 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มิ.ย. 21, 18:46
ในช่วงที่ผมยังทำงานสำรวจทำแผนที่อยู่นั้น จะมีหลายช่วงเวลาในแต่ละปีที่ได้เดินสำรวจและค้างแรมในพื้นที่ประเภทที่ห่างไกลจากความเจริญสุดๆ มักจะกำหนดแผนการเดินไว้ครั้งละประมาณ 7 วัน  เป็นพื้นที่ห่างไกลมากพอที่สัตว์ป่าไม่รู้จักคน  ก็เป็นความรู้สึกที่ดีครับ ประเภทเห็นหน้ากันแล้วก็มองหน้ากันสักพัก ต่างพิจารณากันว่าตัวอะไรหว่า   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มิ.ย. 21, 19:18
ลืมบอกล่าวไปเรื่องหนึ่ง   เมื่อได้ที่เหมาะๆจะนอนแล้ว หากมีไฟส่องทางที่คาดหัวก็ควรจะถอดออกหรือไม่ก็หันหน้าไม่ให้มันมีโอกาสกระทบกับแสงสว่างใดๆที่มีการส่องมา     

มีพรานและชาวบ้านจำนวนมากที่ถูกยิงตายด้วยเหตุเข้าใจว่าเป็นตาของสัตว์ ซึ่งก็ให้บังเอิญว่า แสงที่สะท้อนของไฟคาดหัวนั้นมันจะนวลออกไปทางสีฟ้า ซึ่งส่วนมากจะเป็นของพวกสัตว์กีบที่เอามาทำอาหารได้    ที่จริงก็เป็นเรื่องที่ไม่มีการคิดและพิจารณากันก่อนทั้งสองฝ่าย  ฝายยิงก็ไม่พิจาณาว่าตาของสัตว์นั้นมันเป็นคู่ มีสองตา   ส่วนฝ่ายถูกยิงก็ไม่ได้คิดว่า ไฟคาดหัวนั้นมันจะสะท้อนแสงให้เห็นคล้ายกับนัยตาของสัตว์ และการนั่งหลับหรือเอนตัวหลับของตน ณ บริเวณนั้นๆ ระดับของไฟส่องสัตว์คาดหัวมันเป็นระดับเดียวกันกับตาของสัตว์ประเภทที่นิยมล่าเอามากินกัน


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มิ.ย. 21, 18:34
มาถึงเรื่องว่าควรจะก่อกองไฟเมื่อจะต้องนอนแรมหรือไม่  หากทำได้ก็พึงทำ แต่ต้องมีความเข้าใจด้วยว่า เอาใบไม้และกิ่งไม้แห้งๆมากองสุมรวมกันแล้วจุดไฟให้ติดลุกโชติช่วงนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก แต่จะทำให้มันติดคุกรุ่นอยู่ทั้งคืนนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก

หลักการก่อไฟนั้นเป็นเรื่องที่มีอยู่ในลิ้นชักความรู้ของทุกคน เป็นเรื่องที่ได้รับมาจากหลากหลายวิชาเรียน รู้กันทั้งวิธีการแบบ primitive ที่ใช้ไม้ 2 อันสีกัน วิธีการใช้หินต่อยให้เกิดสะเก็ดไฟ ไปจนถึงการใช้ขี้ไต้ ใช้ไม้เกี๊ยะ(ภาคเหนือ)   และยังอาจจะได้ทดลองปฎิบัติในวิชาลูกเสือ หรือในระหว่างการออกค่ายของนักเรียนนักศึกษา หรือไม่ก็ถูกใช้ให้ทำที่บ้าน (ติดเตาถ่าน) หรือแม้กระทั่งในวาระการทำ char coal BBQ กินกันในบางโอกาส   ทำกันในลักษณะที่มีอุปกรณ์พร้อมก็ยังก่อไฟยาก  ในป่าในสภาพที่ไม่มีอุปกรณ์พร้อม ต้องไปรวบรวมหาเอามาเองนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มิ.ย. 21, 19:22
จะว่าไปแล้ว สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต่างก็กลัวไฟ ดังนั้น กลิ่นของไม้ที่ไหม้ไฟและควันไฟจะช่วยไล่สัตว์ไม่ให้เข้ามาใกล้ๆได้ ควันไฟจะช่วยไล่ยุงและแมลงต่างๆ  อากาศในช่วงเวลากลางคืนในป่าเขาจะค่อนข้างเย็น และจะเย็นมากขึ้นในช่วงเวลาประมาณตี 3 แม้ว่าจะเป็นในช่วงของเวลาอากาศร้อนจัดในพื้นที่เมืองก็ตาม   ซึ่งในช่วงเวลาประมาณตี 3 นี้ก็จะเป็นช่วงเวลาที่ในป่าจะมีน้ำค้างค่อนข้างแรง เป็นช่วงเวลาที่เรามักจะหลับสนิทอีกด้วย กองไฟที่จุดสุมไว้นั้น หากไม่ใช้ขอนไม้ดีๆ ไฟก็จะมอด แล้วก็มักจะเป็นช่วงเวลาที่สัตว์ป่าจะมักจะแวะเวียนมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น ?  ในช่วงเวลาที่ยังทำงานนั้นเจอบ่อยครับ ทั้งพวกสัตว์กีบและพวกอุ้งเท้าใหญ่เล็ก

คำแนะนำของผมก็คือ หากคิดจะก่อไฟ ก็ควรจะต้องเลือกบริเวณที่ไฟจะไม่สามารถจะลุกลามออกไปเป็นวงกว้างได้ ก่อไฟห่างจากจุดที่ตัวจะเอนนอนประมาณ 4-5 เมตร จะก่อไว้ที่ปลายเท้า หรือจะเป็นแบบรับไอร้อนด้านข้างตัวก็ได้ โดยหลักการก็คล้ายกับการเปิดไฟหน้าบ้าน คือ เห็นเขาแต่เขาไม่เห็นเรา เลือกขอนไม้แห้งขนาดประมาณโคนขาเพื่อใช้เป็นแท่งฟืนหลัก ก่อไฟให้ลุกโชติช่วงที่ปลายด้านหนึ่งของท่อนไม้นั้นจนกระทั่งไฟติดขอนไม้เป็นถ่านไฟแดงเต็มทั้งส่วนปลายขอนไม้นั้น ก่อนจะนอนก็เขี่ยขี้เถ้า ขยับท่อนไม้ให้อยู่บนกองถ่านแดงๆ เพื่อให้มันติดไฟอยู่นานๆ  ใช้กิ่งก้านไม้เล็กๆช่วยให้ไฟลุกโชน ใช้ใบไม้สุมให้เกิดควันไล่ลุงและแมลงต่างๆ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มิ.ย. 21, 19:26
จะเห็นว่ามีตัวสะกดตกหล่นเยอะมาก ต้องขออภัยด้วยครับ แป้นพิมพ์มันกำลังรวนครับ กำลังจะเปลี่ยนเครื่องครับ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มิ.ย. 21, 18:07
ตื่นเช้าขึ้นมา ทำใจให้สดใสแล้วเตรียมหาทางออกจากป่า เริ่มด้วยการการ ดับไฟกองไฟให้เรียบร้อย เดินไปหาแหล่งน้ำ ล้างหน้าให้รู้สึกสดชื่น กรอกน้ำใส่กระติก ยังไม่ต้องไปกังวลว่าน้ำมันจะสะอาดเพียงใด เพียงเลือกเอาจากจุดที่น้ำพอจะไหลหรือไม่ก็ขุดบ่อทรายเอา

จากความคุ้นเคยและประสบการณ์ของผม การหาทางออกจากป่าเมื่อหลงทางนั้นมีอยู่ 2 วิธีที่ทำได้ไม่ยาก คือ การใช้ทิศและเข็มทิศ และการเดินตามลำห้วย

การใช้ทิศนั้นได้กล่าวถึงไปบ้างแล้ว คือใช้เมื่อรู้แต่แรกเดินว่าบริเวณที่เราเดินเที่ยวป่านั้นมันอยู่ด้านทิศใดของถนน แม่น้ำ ฯลฯ    หากหลง แม้ว่าจะไม่มีเข็มทิศพกติดตัว ก็สามารถรู้ทิศได้จากวิธีการต่างๆ รู้จากการดูดวงอาทิตย์ขึ้นและตกนั้นเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่หากเป็นช่วงวันที่ฟ้ามืดอึมครึม หรือมีหมอกแดด (haze) ก็มีวิธีอื่นๆที่สามารถจะใช้การได้ดีพอสมควร

   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มิ.ย. 21, 18:58
สำหรับการใช้เข็มทิศนั้น มิได้หมายถึงเพียงการใช้บอกทิศเหนือ ใต้ ออก ตก เท่านั้น   มีวิธีการใช้เข็มทิศในเรื่องต่างๆอย่างหลากหลาย ซึ่งเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องของการเก็บและใช้ข้อมูลที่อ้างถึงพิกัดและทิศทาง(direction)  ทำให้มีการออกแบบเข็มทิศในเชิงของการใช้งานเฉพาะทางที่มีลักษณะและรูปทรงต่างๆกันออกไป  เช่นชนิดที่ผมใช้ในการสำรวจหรือทำแผนที่ทางธรณีวิทยา เรียกว่า Brunton compass ซึ่งมีลักษณะต่างไปจากแบบอื่นๆตรงที่ ตัวอักษรบอกทิศตะวันออกกับตะวันตกจะสลับที่อยู่กัน (หมายความว่า เมื่อเข็มทิศชี้ทิศเหนือ ทางขวาจะเป็นทิศตะวันตก ทางซ้ายจะเป็นทิศตะวันออก) เป็นเข็มทิศที่มีอุปกรณ์วัดมุมลาดเอียงอยู่ในตัว สามารถปรับตั้งตัวให้เหมาะสมกับเส้นแรงแม่เหล็กโลกได้ทั้งในด้าน declination และ inclination  มีด้านในของฝาปิดเป็นกระจกเพื่อใช่ในการทำ survey  มีขีดบอกองศาบนหน้าปัทม์แบบไปทางซ้ายของทิศเหนือ 90 องศา และไปทางขวาของทิศเหนือ 90 องศา ก็มี และก็มีชนิดที่มีขีดบอกองศาไปทางขวาของทิศเหนือต่อเนื่องจนครบ 360 องศาก็มี ...ฯลฯ     เข็มทิศที่ใช้ในทางทหารก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งที่ออกแบบให้สามารถใช้วัดระยะทางโดยทาบบนแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ได้...ฯลฯ    เข็มทิศบางชนิดก็ทำเป็นเสมือนกล้อง Theodolite ที่ใช้งานทางวิศวกรรมหรือที่ดิน แต่ทำเป็นแบบพกพาอันเล็กๆขนาดห้อยอยู่ในอุ้งมือได้ 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มิ.ย. 21, 19:29
เรื่องการใช้เข็มทิศในรูปแบบต่างๆนั้น แล้วค่อยพิจารณาว่ากันอีกที ครับ

ในกรณีของคนทั่วไป ผมมีความเห็นว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้เข็มทิศที่มีความละเอียดหรือมีราคาสูงมากนัก เพราะลักษณะการใช้งานโดยทั่วๆไปไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับการต้องเอาแผนที่(มาตราส่วน)ใดๆมาร่วมใช้งานด้วย เรามักจะใช้ในกรอบจำกัดเพียงเพื่อบอกว่าทิศใดเป็นทิศใด และสิ่งที่เห็นนั้นอยู่ทิศใด     การใช้เข็มทิศที่มีความละเอียด แม่นยำ และมีคุณภาพสูงนั้น มีความจำเป็นสำหรับกิจกรรมประเภทที่ใช้แผนที่ภูมิประเทศเป็นพื้นฐานในการไปสู่พิกัดที่ต้องการพร้อมๆไปกับการต้องการรู้ว่าพิกัดที่อยู่ของตน ณ ขณะนั้นอยู่ ณ จุดใดในแผนที่    ซึ่งในปัจจุบันนี้ กระบวนการดังกล่าวนี้ดูจะอยู่ใน app ในมือถือของเราพร้อมอยู่แล้ว เว้นแต่เราจะไปอยู่ในพื้นที่ๆอับสัญญาณโทรศัพท์ 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 มิ.ย. 21, 18:35
หลักพื้นฐานในการใช้เข็มทิศและพิกัดก็คือ การใช้บอกทิศทางที่เป็นเส้นตรง(ระยะสั้นที่สุด)ระหว่างจุดพิกัด 2 จุด  ซึ่งต้องเข้าใจด้วยว่า ในการเดินไปหรือมาระหว่าง 2 จุดนี้ ในพื้นที่ภูมิประเทศจริงๆนั้น การเดินเป็นเส้นตรงมันเป็นไปไม่ได้ และระยะทางที่เดินจริงก็มิใช่ดังที่วัดได้จากแผนที่ จะยาวมากกว่าเสมอ  อีกทั้งระยะเวลาในการเดินที่คาดการณ์เอาไว้นั้นก็จะมากกว่าที่คิดไว้เสมอ ซึ่งก็อาจจะมากกว่าได้ถึงสองหรือสามเท่า

เมื่อเราได้ทิศทางไปสู่พิกัดที่เราต้องการแล้ว ก็จะเดินตามทิศทางที่เข็มทิศบ่งชี้  ก็เป็นกรณีที่ทำให้เกิดการหลงได้อย่างง่ายๆ ซึ่งอาจจะยังให้เกิดอาการเสียขวัญ/สติแตกได้ง่ายๆ    สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ ในใจคิดว่า "เดินมาถูกทิศตั้งนานแล้วนี่ ทำไมยังไม่ถึงสักที"  แต่ในความเป็นจริง อาจจะเดินไปตามทิศทางที่ถูกต้อง แต่เป็นเส้นทางที่ขนานกับเส้นทางที่พึงจะเดินจริงๆ  หรือเพี้ยนทิศทางเนื่องจาก ณ จุดที่ตรวจสอบเข็มทิศนั้นมีลักษณะของ Geomagnetic field บางประการ  หรืออ่านข้อมูลทิศทางจากเข็มทิศหยาบมากไป         


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 มิ.ย. 21, 19:10
เป็นเรื่องปกติที่เมื่อเราเดินในพื้นที่โล่งแจ้งที่ไม่เห็นหรือไม่มีจุดอ้างอิงใดๆ หากเป็นการเดินเป็นเส้นทางตรงระยะทางหนึ่ง ที่เราคิดว่าตัวเรานั้นเดินเป็นเส้นทางตรงนั้น แท้จริงแล้วเราจะเดินเป็นเส้นทางโค้ง ซึ่งนานเข้าก็จะเป็นกลายเป็นเส้นทางวงกลม ซึ่งส่วนมากจะวนออกไปทางขวาตามการหมุนของเข็มนาฬิกา ?      เช่นกัน ในพื้นที่ป่าที่มีต้นไม้เหมือนๆกันหรือคล้ายๆกันทั่วไปหมด ที่เราจะต้องเดินอ้อมบ้าง เดินหลบบ้าง รวมทั้งเดินวกไปวนมาในป่าไผ่หนาม ...ฯลฯ 

ทำให้ เมื่อใดที่เราเอาเข็มทิศขึ้นมาตรวจสอบ จุดนั้นจะมิใช่จุดบนเส้นทางตรงที่เราคิดว่าเราเดินมา ก็คงพอจะนึกออกว่าการเดินของเรานั้นจะเป็นลักษณะของการเดินเป็นเส้นตรงที่ขนานกัน ซึ่งล้วนแต่มีทิศทางที่ถูกต้อง  จะทำให้พลาดเป้าหมายไปได้มากน้อยเช่นใด


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 มิ.ย. 21, 19:44
รู้เหตุแล้วก็ลองมาดูการแก้ปัญหา   ก็ทำง่ายๆได้ด้วยการการกำหนดเส้นทางเดินในทิศทางที่ต้องการนั้นๆเป็นระยะสั้นๆ โดยใช้จุดพิกัดแต่ละจุดที่เห็นได้ชัดต่อเนื่องกันบนเส้นทางเดินตามทิศทางนั้นๆ  จะมองไปข้างหน้าหรือมองกลับหลังก็เห็นจุดที่เป็น way point เหล่านั้นเป็นแนวเส้นตรงต่อเนื่องกัน   

หากพอจะนึกออก ก็คงจะพอยังจำได้ถึงการใช้หลักไม้ 3 หลัก ปักและเล็งให้มันเป็นเส้นตรง แล้วย้ายหลักแรกเอาไปวางต่อปลาย เล็งให้ตรง ทำต่อเนื่องสลับต่อไป เราก็จะได้แนวที่เป็นเส้นตรง  ก็เป็นหลักการเช่นเดียวกับที่นำไปใช้เมื่อใช้เข็มทิศกับ way point ที่มองเห็น แทนที่จะต้องใช้การปักหลักไม้    ก็เป็นหลักการของชาวบ้านป่าที่ได้พบเห็นเป็นธรรมดาตลอดมา


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 มิ.ย. 21, 18:43
มาถึงการหาทางออกจากการหลงป่าด้วยการเดินตามลำห้วย   

โดยหลักพื้นฐานก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเรื่องของผลจากการที่ห้วยมีน้ำไหลหรือค่อนข้างจะมีความชุมชื้น  ซึ่งทำให้มักจะมีหมู่บ้านป่าเล็กๆตั้งอยู่ริมห้วยเช่นนี้อยู่บ้าง หรือ ย่อมต้องมีชาวบ้านเดินเข้าไปเก็บพืชผัก กบเขียด ปูปลา   กระทั่งในเขตป่าหวงห้ามก็ยังมีเจ้าหน้าที่ๆต้องเดินตรวจตราการบุกรุก หรือไม่ก็เดินเก็บข้อมูลเกี่ยวกับป่าและสัตว์ป่าต่างๆ   เป็นหลักพื้นฐานที่ใช้ได้ดีในไทยและประเทศข้างเคียง

ก็มีข้อพึงเกตที่พึงทราบไว้บ้างเล็กน้อย คือ รูปตัดขวางตัวห้วยและตะกอนหินดินทรายนั้น  -ห้วยต่างๆจะมีรูปตัดขวางเป็นรูปตัว V  ยิ่งมีความแคบ ไม่มีตลิ่ง สองฝั่งข้างห้วยมีความลาดชันสูง และค่อนข้างตรง จะแสดงว่าเป็นห้วยสาขาเล็กๆ เป็นต้นทางของห้วยใหญ่  ก้อนหินในห้วยจะมีทรงเป็นเหลี่ยม แต่ละก้อนยังคงมีสันเด่นชัด และเป็นก้อนใหญ่    แต่หากยิ่งใกล้พื้นที่ราบมากเท่าไร ลักษณะของรูปทรงตัว V ก็จะยิ่งกว้าง จะมีตลิ่งลำห้วย มีตะพักลำน้ำเป็นที่ราบปกคลุมด้วยทรายและต้นไผ่ ก้อนหินต่างๆจะยิ่งมีขนาดเล็กลง มีความมนกลมมากขึ้น และจะยิ่งพบว่ามีหาดทรายเล็กๆที่บริเวณสบห้วยต่างๆมากขึ้นและกว้างขึ้น         


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 มิ.ย. 21, 19:41
ในบ้านเรา น้ำในห้วยสาขาเล็กๆจะไหลไปในหลายทิศทาง แต่เมื่อเริ่มเป็นห้วยสาขาหลัก ในภาพหลวมๆแล้ว ส่วนมากมักจะไหลลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้หรือทางตะวันออกเฉียงใต้    ดูจะมีที่ต่างออกไปอย่างชัดเจนก็คือในผืนป่าที่เป็นพื้นที่รับน้ำของแม่น้ำเมย (จ.ตาก) และห้วยบ้องตี้ (จ.กาญจนบุรี)ที่กลับทางกัน เพราะวา่ลำน้ำทั้งสองสายนี้ไหลขึ้นไปทางทิศเหนือ

เรื่องเกี่ยวกับการไหลของน้ำในธรรมชาตินี้ (Drainage pattern) เป็นศาสตร์หนึ่งที่ใช้ในการแปลความหมายทางด้านธรณีวิทยาจากภาพถ่ายทางอากาศและดาวเทียม  ใช้เพื่อจำแนกแต่ละชนิดหินตามคุณสมบัติของการถูกกัดกร่อนโดยกระบวนการทางธรรมชาติ (น้ำ น้ำแข็ง ลม การขยับตัว/เคลื่อนตัวของผิวโลก) ในการยกร่างแผนที่ทางธรณีฯ (บนดิน ใต้ดิน และ 3D) ก่อนที่จะออกไปเดินสำรวจในภาคสนาม    ก็มีหินหลายชนิดที่สามารถจะบอกได้เลยว่าเป็นหินอะไร และก็มีที่สามารถบอกได้แต่เพียงว่าน่าจะเป็นหินอัคนี หินชั้น หรือหินแปร    ในการแปลความหมาย ก็จะใช้ข้อมูลในภาพที่แสดงขอบเขตของความต่างระหว่างสรรพสิ่งต่างๆทั้งบนพื้นฐานของความรู้ทางธรณีฯและความสัมพันธ์กับพืชพรรณไม้       


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มิ.ย. 21, 17:46
ขอย้ำหน่อยหนึ่งว่า ที่เล่ามาแต่ต้นนั้นเป็นเรื่องที่อยู่ในสภาพแวดล้อมโดยทั่วๆไป  สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ประมาณ จ.ชุมพร ลงไป เป็นลักษณะของสิ่งแวดล้อมในอีกลักษณะหนึ่ง ลักษณะของป่าเขาที่ดูจะเป็นตัวแทนที่ดีของพื้นที่น่าจะเป็นอุทธยานแห่งชาติเขาสก ซึ่งดูจะไม่ค่อยนิยมไปเดินท่องไพรกันนัก    การหลงทางจริงๆน่าจะเป็นการหลงในพื้นที่สวนยางพารา สวนปาล์ม สวนกาแฟ สวนผลไม้ต่างๆ และในพื้นที่ๆทำเกษตรกรรมไร่นาสวนผสม  ซึ่งเป็นการหลงในลักษณะของการหลงทิศเนื่องมาจากการเดินข้ามไปมาในพื้นที่สวนที่มีผังการปลุูกต้นพืชที่ต่างกัน


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มิ.ย. 21, 19:07
โดยสรุปจากที่ได้กล่าวมาตั้งแต่ต้นก็คือ รู้พื้นที่ให้ดีมากพอเท่าที่จะพึงทำได้ก่อนที่จะกระทำกิจกรรมที่เป็นความสุขของเรา  ก็คือ รู้ตำแหน่งและความสัมพันธ์ทางทิศทางของสถานที่ต่างๆทั้งรอบนอกและในพื้นที่ (ชุมชน หน่วยงาน...) รู้ลักษณะภูมิประเทศ (หน้าผา น้ำตก...) รู้ลำน้ำสายหลักและลำน้ำสาขาที่หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ (ทิศทางการไหล ปริมาณน้ำที่มีตลอดปี...) รู้ลักษณะและธรรมขาติของพื้นที่ (พืชพรรณ สัตว์ที่อันตราย...)   และที่สำคัญ คือ รู้ตัวเองว่าจะไหวไม้


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มิ.ย. 21, 20:17
เมื่อรู้อะไรๆพอสมควรแล้วก็มาถึงเรื่องของการเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์   

สำหรับท่านผู้อาวุโสน่าจะมีประสบการณ์เหมือนๆกัน คือ ในครั้งเมื่อยังเยาว์วัยอยู่นั้น เมื่อจะต้องเดินทางไกลไปใหนมาใหน จะเป็นปู่-ย่า-ตา-ยาย พ่อหรือแม่ก็ตาม  มักจะต้องจัดเตรียมเสบียงเพื่อใว้ใช้กินในระหว่างการเดินทาง  ก็จะมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มกินเป็นหลัก มีของกินเล่นเล็กน้อย แล้วก็มีพวกข้าวหรืออาหารนิยมในยุคสมัยนั้นๆ จัดใส่ตะกร้า (มักจะเป็นตะกร้าไม้ไผ่สานทรงเหลี่ยม) โดยมักจะมีเหตุผลหรือคำพูดที่อ้างถึงว่า แก้หิว เผื่อรถเสีย เอาไว้กินกลางทาง ของเราสะอาดกว่า ...ฯลฯ     ซึ่งผมยังเห็นว่า ก็ยังคงป็นหลัการที่พึงปฎิบัติอยู่ในยุคปัจจุบัน  ของในตะกร้าในอดีตที่ดูรุ่มร่ามและไม่น่าดูอยู่นั้น ในปัจจุบันนี้ มันได้แปลงรูปร่างไปเป็นของชิ้นเล็กและในสภาพที่สามารถพกพาติดตัวของแต่ละคนได้

ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เรารับรู้ฝังลึกไว้มานานตั้งแต่เล็ก ซึ่งก็มักจะกระทำกันเมื่อเราเติบใหญ่ เพียงแต่ทำกันในชื่ออื่นที่เรียกว่า snack


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ค. 21, 19:11
สำหรับตัวผมก็ยังคงทำอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนจากใช้ตะกร้าไปเป็นการใช้ถุงผ้า ส่วนของกินนั้นก็แล้วแต่ว่าจะเป็นการเดินทางด้วยพาหนะอะไร ใช้เวลาในการเดินทางนานเพียงใด และมีการพักระหว่างทางในลักษณะใด  ก็เป็นการทำสำหรับครอบครัวและเป็นพิเศษสำหรับลูกๆหลานๆ    เป็นการกระทำที่ถูกฝังลึกตกทอดมา มาผนวกกับประสบการณ์ของชีวิตที่มีการเดินทางค่อนข้างมาก ก็เลยทำเพื่อเป็นการส่งต่อให้ตกทอดเป็นลักษณะนิสัยถึงลูกหลานต่อๆไป 

ในการเดินทางใดๆนั้น มันมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอที่จะเกิดการล่าช้าจากเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ทั้งจากด้านต้นทาง กลางทาง และปลายทาง แม้กระทั่งในโลกสมัยปัจจุบัน เช่น ระยะทาง 200 กม. ขับรถด้วยความเร็ว 100 กม.ต่อ ชม. ก็น่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ชม. แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในระหว่างทางอาจจะมีการซ่อมถนน ตั้งด่าน อุบัติเหตุ ไฟแดง รถติดโดยไม่มีสาเหตุสำคัญ ... ฯลฯ  ทำให้ระยะทางที่จะต้องเดินทางหากยิ่งยาวก็จะยิ่งมีอุปสรรคเพิ่มมากขึ้นทั้งในเชิงของรูปแบบและในเชิงปริมาณ       ผมเคยพบกับเหตุเครื่องบิน delay ที่ภูเก็ต  เป็นเที่ยวเวลาประมาณ 2 ทุ่ม เพื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ   ก็ delay ไปเรื่อยๆแบบไม่มีการให้บริการอื่นใด (น้ำ, snack, communication, entertainment)  จนได้บินกลับในเวลาประมาณเที่ยงคืน ไม่มีข้อมูลไม่มีข่าวสารใดๆให้สามารถนำมาคาดเดา หรือคาดการณ์ วางแผนได้ว่าสถานการณ์ข้างหน้าได้ว่าจะต้องทำหรือจะทำอะไรได้บ้าง  มีเพียงข่าวสารทุก 1 ชม บอกว่า ยังต้อง delay อยู่     การเดินป่าท่องไพรก็จึงควรจะมีการเตรียมพร้อมและจะต้องมีมากกว่าในการเดินทางในพื้นที่ๆมีความเจริญ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ค. 21, 20:06
จากประสบการณ์ ก็มีความห็นว่า ในการเดินทางใดๆควรจะมีเป้หลัง หรือกระเป๋าถือ/สะพายข้าง หรือย่าม  ใช้ใส่ของใช้สำคัญที่จำเป็นเฉพาะตน  ก็จะมียาที่ต้องกินเป็นประจำวันสัก 2-3 ชุด มียาแก้ปวดที่คลุมอาการได้ในรอบ 1 วัน มีพลาสเตอร์ยาสองสามชิ้น มียาธาตุน้ำขาวขวดเล็กสักขวดนึงหรือยาถ่าน activated carbon สัก 2 เม้ด  มียาหม่องหรือยาทาแก้เคล็ดขัดยอกหลอดเล็ก มียาอมแก้ไอ/แก้เจ็บคอ  มีน้ำดื่มขนาดประมาณครึ่งลิตร 1 ขวด  มี energy bar 1-2 อัน  อาจเพิ่มยาชูกำลังที่มี caffeine หรือกาแฟสัก 1 ขวด/กระป๋อง  มีกระดาษเช็ดหน้า/มือห่อเล็กๆ  มีมีดพับใช้สอยอันเล็กๆ  มีไฟแช็ค     นอกเหนือไปจากนี้ก็เป็นไปตามจริตของแต่ะบุคคล


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ค. 21, 18:36
คงพอจะสังเกตสิ่งของที่กล่าวถึงเหล่านี้ได้ว่าเป็นของใช้ในภาวะฉุกเฉินทั้งนั้น เป็นสิ่งของที่ช่วยบรรเทาในเรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วยและการสุขอนามัย     แต่หากเป็นกรณีเดินท่องไพรชมนกชมไม้ ก็ควรจะต้องมีของจำเป็นบางอย่างเพิ่มเข้าไป เช่น ไฟฉายและถ่านสำรอง  มีหมวก  อาจจะมีอาหารกระป๋อง (ปลากระป๋อง ถั่วขาวในซอสมะเขือเทศ...) มีเกลือแร่ที่ทำในรูปผงละลายน้ำ  มีแว่นตาสำรอง และอื่นๆที่เห็นว่าสำคัญ

หากเป็นกรณีชอบทำกิจกรรมประเภท outdoor หรือ off road  ก็ควรจะต้องเพิ่มเข็มทิศ มีดสำหรับฟันไม้ น้ำมันไฟแช็คสำหรับจุดกองไฟ เสื้อแจ็คเก็ตกันลม ถั่วเขียวและน้ำตาล ยากันยุง ยาใส่แผลสด ตะไกรตัดเล็บ และอื่นๆที่เหมาะสมตามสถานการณ์ที่คาดไว้


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ค. 21, 19:41
คงจะต้องขยายความว่า เหตุใดจึงนำเสนอสิ่งของที่ควรจะมีของพร้อมไว้เป็นเช่นนั้น  ก็จะขอขยายความในรูปของเรื่องสิ่งละอันพันละน้อยที่อาจจะเป็นประโยชน์เพื่อการเอาตัวให้ผ่านสถานการณ์ที่ไม่พึงปราถนาบางอย่าง จะเรียกว่าเป็น survival trick ก็อาจจะมากเกินไป 

ค่อยเริ่มเรื่องกันครับ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ค. 21, 18:26
ขอเริ่มเรื่องตั้งแต่การแต่งกายที่ใช้ในการเดินทางจากบ้านไปจนถึงสถานที่หรือพื้นที่ๆจะไปทำกิจกรรม

แน่นอนครับว่าจะต้องเป็นการแต่งกายที่มีความเหมาะสม มิใช่มุ่งเน้นแต่ในเรื่องของแฟชั่น ความเท่ห์ หรือความเป็นหนึ่งเดียว ควรจะเป็นการแต่งกายแบบลำลอง ใช้เสื้อผ้าทรงหลวมๆ โทนสีที่ไม่เข้มจัด ไม่รัดรูป ซักง่าย แห้งเร็ว  ใส่เสื้อกล้ามหรือเสื้อยืดบาง ใช้เข็มขัดชนิดรูดเพื่อให้กระชับ ใช้รองเท้าหุ้มส้นหรือแตะที่มีสายรัดส้นชนิดที่ถอด-ใส่ง่ายๆ ที่มีพื้นเป็นร่อง มิใช่แบบพื้นเรียบๆ   ใช้นาฬิกาข้อมือแบบใส่ถ่าน ไม่ต้องห้อยพระมากมายจนพระรุงพะรัง ละเว้นการใช้เครื่องประดับราคาสูงและหลากหลายชิ้น  แล้วก็อย่าลืมผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าขนหนูผืนเล็กๆบางใส่กระเป๋ากางเกงไว้ด้วย

เชื่อว่าก็คงเป็นเรื่องที่ทราบกันดีอยู่แล้ว และก็คงจะเคยเห็นนักท่องเที่ยวที่แต่งกายดั่งจะไปงานปาตี้ยามบ่าย หรือไม่ก็ดั่งจะไปชายทะเลแต่กลับไปเดินอยู่ในพื้นที่อุทยานหหรือป่าเขา     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ค. 21, 19:25
อาจจะต้องขยายความเรื่องของสีของเสื้อผ้าและการใช้เครื่องประดับต่างๆ ดังนี้   เมื่อไปในพื้นที่ต่างถิ่นใดๆ ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนักที่จะทำตนให้โดดเด่นเป็นที่สังเกตของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ เพราะเราไม่รู้ถึงความคิดของคนในพื้นที่เหล่านั้นทั้งในทางบวกหรือทางลบ  เราจะกลายเป็นเป้าสายตาทั้งของมิจฉาชีพและสัตว์ต่างๆ(ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า)  สัตว์เลี้ยงส่วนมากจะตื่น ระวังตัว และก็อาจจจะเข้ามาขับไล่  สำหรับสัตว์ป่านั้นมักจะเป็นการหลบซ่อน เขาจะเริ่มหยุดนิ่งเมื่อเริ่มได้กลิ่นแปลกๆที่ไม่คุ้นเคย แล้วจะกระโจนหลบเมื่อเริ่มเห็นตัวเรา   กลิ่นของสบู่ น้ำหอมและเครื่องประทินผิวต่างๆนั้นค่อนข้างจะแรงมาก คนเราเองยังได้กลิ่นแต่ไกล สัตว์ต่างๆซึ่งมีจมูกไวมากกว่าเรามากนักจึงหยุดอยู่ห่างจากเราค่อนข้างไกล    ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้การเดินชมนกชมไม้ในป่าจึงไม่ค่อยจะพบเห็นสัตว์ใดๆ     

แฉลบไปสู่เรื่องของกลิ่น ก็จะขอต่อไปอีกเล็กน้อย    เมื่อพรานไพรจะไปนั่งห้างส่องสัตว์ หรือนั่งซุ่มในบังไพร เขาจะไม่อาบน้ำกัน บุหรี่ที่สูบก็จะเป็นยาฉุนมวนเองและจะสูบเมื่อมีความต้องการเต็มที่ เสื้อผ้าที่ใช้ก็เป็นเสื้อที่ใช้ใส่กันมาทั้งวัน  กลิ่นของคนดังที่กล่าวถึงนี้ไม่ทำให้สัตว์หลบหนีไป ก็แปลกดี แสดงว่าคนและสัตว์ต่างก็มีกลิ่นที่เป็นธรรมชาติที่ต่างก็รับรู้กันว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมโลกกัน ?    ผมมีความเห็นว่า เราเองต่างก็มีความเป็นอัตโนมัติที่รู้จักกลิ่นของสัตว์ที่อาจจะเป็นอันตรายต่อตน (จากประสบการณ์ของตนเอง)  เช่น กลิ่นของหมี ช้าง  แต่...ทั้งนี้ก็เมื่อผนวกกับข้อมูลอื่นๆที่ประมวลได้มาจากร่องรอยต่างๆ (ก็คือแยกแยะได้)       


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ค. 21, 20:22
กรณีการใส่เสื้อกล้ามหรือเสื้อยืดเป็นเสื้อชั้นในนั้น   ประเด็นก็มีอยู่ว่า ในพื้นที่โล่งนอกเมืองนั้น อุณหภูมิของอากาศจะมีความต่างกันค่อนข้างมากระหว่างกลางวันกับกลางคืน หรือโดยเฉพาะช่วงระหว่างที่เห็นดวงอาทิตย์ขึ้นและตก เทียบกับช่วงเวลาอื่นๆ  เราไม่ค่อยจะได้รับรู้กันเพราะว่าเรานอนห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ   ช่วงดึกสงัดก่อนจะย่ำรุ่งอุณหภูมิอาจจลดลงไปมากกว่า 10 องศาได้  จากแถวๆ 30 องศา ลงไปถึง 20 องศาก็ได้  (ในปัจจุบันนี้ ที่เชียงราย ผมยังคงต้องนอนห่มผ้าในช่วงก่อนเช้ามืดอยู่บ่อยครั้ง) อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงได้ในระดับนี้และรวดเร็วในบางช่วงเวลาทำให้ร่างกายของเราปรับตัวไม่ค่อยจะทัน  การพยายามรักษาอุณหภูมิที่จะมากระทบร่างกายของเราให้ค่อยๆเป็นไปนั้นจึงมีความสำคัญ ช่วยลดการเจ็บป่วยอันไม่พึงปราถนาได้ค่อนข้างมากเลยทีเดียว 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ค. 21, 18:28
การแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ใส่หลวมๆนั้น โดยหลักพื้นฐานก็คือการใช้อากาศที่คั่นอยู่ระหว่างเสื้อผ้ากับเนื้อหนังของเราให้มันเป็นฉนวน  ซึ่งช่วยบรรเทาได้ทั้งความร้อนและความเย็น  ในปัจจุบันนี้มีพัฒนาการของผ้าใยสังเคราะห์มากมาย และก็มีผู้ผลิตนำมาใช้ตัดเป็นเสื้อผ้าต่างๆเพื่อการใช้สำหรับกิจกรรมกลางแจ้งเฉพาะแต่ละเรื่อง   อีกประการหนึ่งสำหรับการใช้เสื้อผ้าหลวมๆนั้นก็เพื่อความคล่องตัวและลดขีดจำกัดในการเคลื่อนไหวท่าทางต่างๆ

ผมรู้ว่าพวก out door fitting เหล่านั้นล้วนมีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งส่วนตัวผมมองว่าเป็นราคาที่สูงเอามากๆจนเกินใช้และเกินงาม  ที่ผมได้ปฎิบัติตลอดมาหลายสิบปีแล้วก็คือการใช้พวกที่ทำด้วยผ้าฝ้าย ซึ่งเป็นของดีราคาไม่แพง แถมยังเลือกได้อีกว่าจะเอาแบบผ้าทอหนาหรือผ้าทอบาง       

ผมเห็นว่าการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยเราอยู่ในรูปแบบของการพักผ่อนในรูปของการเปลี่ยนสถานที่อยู่ ที่กิน  มิใช่การพักผ่อนในลักษณะของการแยกตัวออกจากหรือตัดขาดจากสังคมที่คุ้นเคยไปสู่ลักษณะของการโดดเดี่ยวตัวเอง การเดินทางของเราจึงไม่อยู่ในรูปของ back pack แบบฝรั่ง   อีกทั้งเราก็มักจะไปเที่ยวต่างประเทศกันในลักษณะของกรุปทัวร์ที่มีการให้บริการแบบสมบูรณ์   ดังนั้น ในการเดินทางท่องเที่ยวต่างๆของเราจึงเกือบจะไร้ข้อจำกัดทางการแต่งกาย ที่พักอาศัย อาหาร ความปลอดภัย ......     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ค. 21, 19:23
ก็มีอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการควบคุมอุณหภูมิของตัวเรานอกเหนือไปจากการใส่เสื้อผ้าหลวมๆ   เรื่องหนึ่งที่พึงทราบไว้ก็คือ เป็นความเชื่อนานมาแล้วว่าความร้อนของร่างกายเราระบายออกไปทางกระหม่อมในอัตราที่ค่อนค้างสูงและเร็ว และรู้กันว่าหู แก้ม จมูก มือ และเท้า ดูเหมือนจะเป็นจุดที่บ่งบอกอุณหภูมิของร่างกายเรา  ก็ลองสืบหาข้อมูลกันต่อไปนะครับ

จากประสบการณ์ของผมเมื่อครั้งทำงาน(คุมงาน)อยู่ที่กรุง Ottawa ประเทศ Canada ตลอดช่วงฤดูหนาวสองครั้ง ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ -15 องศา บางช่วงเวลาก็ลงไปแถวๆ -25 ++   ก็ได้คำแนะนำจากคนในพื้นที่ว่า หมวกกับผ้าพันคอเป็นของสำคัญที่จะช่วยทำให้ตัวเรารู้สึกอุ่นและไม่หนาวได้  ก็เป็นเรื่องจริง   หากได้สังเกตสักเล็กน้อยก็คงพอจะเห็นว่า ชาวแคนาดาและประเทศที่มีอากาศหนาวจัดอื่นใด(รัสเซีย สแกนดิเนเวีย...)จะไม่นิยมใส่หมวกแก็บแบบที่อเมริกันชนนิยมใส่กัน แต่จะใส่หมวกประเภทที่ทำด้วยขนสัตว์ และจะมีผ้าพันคอที่พันปิดหน้าเหมือนกับใส่หน้ากาก   

ด้วยประสบการณ์ของตนเอง ก็เลยมีแนวปฎิบัติของตนเองในการเดินทางไปใหนมาใหนที่จะต้องมีหมวกติดตัวไปด้วยเสมอ  ซึ่งหากเป็นการเดินทางไปต่างประเทศในเขตหนาวในฤดูอากาศเย็น ก็จะต้องเตรียมถุงเท้าแบบหนา ไม่เตรียมถุงมือเพราะใช้วิธีซุกในกระเป๋าเสื้อหนาว และไม่เตรียมผ้าพันคอเพราะเลือกใช้เสื้อหนาวแบบคอตั้ง เว้นแต่จะเป็นช่วงที่มีหิมะตกซึ่งมักจะมีโอกาสมีพายุหิมะและ wind chill effect 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ค. 21, 18:39
ผมเป็นคนชอบหมวก แต่ก็เรื่องมากในการเลือกซื้อ ที่มีและชอบก็คือหมวกปีกสักหลาด รุ่นเก่าก่อน/รุ่นใหม่ หมวกปีกแบบผ้าใบของออสเตรเลีย หมวกเบเร่ต์ทรงนิยมของบางประเทศในยุโรป หมวกแก็บ งอบชาวนา/ชาวไร่ และหมวกกะโล่แบบเด็กใช้ใส่ไปโรงเรียนในสมัย 60+ปีมาแล้ว  อื่นๆก็มีหมวกแบบอัฟกันนิสถาน ปากีสถาน เนปาล หมวกถักด้วยใหมพรม/ขนสัตว์

ด้วยความที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับการเดินทาง ก็เลยมีโอกาสได้ใช้หมวกต่างชนิดต่างรูปต่างทรงในสิ่งแวดล้อมและสถานะการณ์ต่างๆค่อนข้างมาก  ซึ่งพอจะสรุปความได้ดังนี้ หมวกสักหลาดนั้น ใช้เมื่อเดินป่าเดินทุ่งได้ดีในช่วงที่มีอากาศเย็นสบาย แต่หากจะใช้ในการเดินป่าดงที่มีต้นไม้กิ่งค่อนข้างมากจก็ะไม่มีความเหมาะเลย   หมวกเบเร่ต์นั้นมีความกระทัดรัด บึกบึน ยุบให้เล็กลงได้ จึงพกง่าย แต่มันค่อนข้างจะอมฝุ่น   หมวกแก็บใช้ได้ดี สามารถหมุนไปมาซ้ายขวาหน้าหลังเพื่อบังแดดได้ แต่ก็ควรจะเป็นชนิดที่ไม่ได้ทำด้วยผ้าขนสัตว์หรือผ้าฝ้ายแบบถักแน่นๆ และก็จะต้องมีรูระบายอากาศที่ค่อนข้างใหญ่ที่มีประสิทธิภาพดี     ผมใช้งอบเป็นประจำเมื่อเดินไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ และใช้ใส่กันฝนที่ตกปรอยๆแทนการถือร่ม   

โดยสรุปก็คือ ควรจะต้องมีหมวกติดตัวไปด้วยเมื่อเดินทางไกลไปในที่ต่างๆ ควรจะเป็นหมวกที่พอจะพับหรือยุบให้เล็กลงได้เพื่อสะดวกในการพกพาและในการเก็บใส่กระเป๋า และเลือกใช้ทรงหมวกที่เหมาะกับการใช้เดินในพื้นที่ มิใช่เหมาะแต่กับกับการเดินในเมือง 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ค. 21, 19:27
สำหรับเรื่องของผ้าพันคอนั้น ในบ้านเราคงจะไม่มีความจำเป็นใดๆหากไม่ได้ไปในพื้นที่ๆมีอากาศหนาวจัด   สำหรับผู้ชาย ผมเห็นว่าใช้ผ้าขะม้าหรือขาวม้า (สะกดเช่นใดจึงจะถูก ?) ก็ยังพอไหว   หากเป็นผู้หญิง ก็คงพอได้เมื่อใช้ผ้าคลุมใหล่ที่ทำด้วยผ้าใยขนสัตว์คุณภาพสูง เบาและยังสวยงามอีกด้วย   

ผ้าขะม้าเป็นสิ่งที่ผู้ชายควรจะจัดให้มีอยู่ในกระเป๋าไว้ในทุกการเดินทาง  เช่นเดียวกัน ผู้หญิงก็ควรจะต้องมีโสร่ง  ของใช้ทั้งสองนี้มีประโยชน์มากมายเหลือหลายจริงๆ ใช้ได้ในสารพัดเรื่องดังที่ทราบกันอยู่แล้ว ตั้งแต่ผลัดเสื้อผ้า ใส่อาบน้ำ ใช้แทนผ้าเช็ดตัว ใช้เป็นชุดนอน เป็นผ้าห่ม เป็นหมอนหนุน เป็นผ้าห่อตัวกันลมกันหนาว ใช้ห่อเสื้อผ้าที่ใช้แล้ว...  มีข้อแนะนำอยู่เพียงนิดเดียว ก็คือ ควรจะเลือกใช้แบบที่ทำด้วยผ้าฝ้ายที่มีเนื้อหนาสักหน่อย เนื้อผ้าทอค่อนข้างแน่น มีสัมผัสที่ค่อนข้างนุ่มและเนียน ส่วนลายก็สุดแท้แต่จะชอบ แล้วก็มีสิ่งที่มิพึงเลือกนำมาใช้ ซึ่งก็คือไม่ควรจะเป็นผ้าที่ทอด้วยฝ้ายผสมเส้นไหมหรือเส้นใยสังเคราะห์

ผมเองชอบโสร่งชั้นดีที่คนในภาคใต้เขาใช้กัน ทอด้วยฝ้ายล้วนๆ ยิ่งซักยิ่งฟู เนื้อนุ่ม ใส่สะบาย   เป็นของที่ผมจัดลงกระเป๋าในเกือบจะทุกครั้งของการเดินทาง   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.ค. 21, 17:55
ไฟฉายเห็นของอีกอย่างหนึ่งที่ควรจะต้องมีติดตัวในการเดินทางไกลทุกครั้ง  โรงแรมที่ไปพักในที่ต่างๆกันนั้น ต่างก็มีการติดไฟให้แสงสว่างไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน บ้างก็จัดให้มีความสว่างอย่างเหลือเฟือ บ้างก็เอาเพียงสว่างพอประมาณ (โดยเฉพาะพวกที่พักแรมระดับ 3 ดาว)    ควรจะมีมีดพับติดไปด้วย ใช้ช่วยในการเปิดจุดขวนพลาสติก ตัดเชือกฟาง ปอกเปลือกผลไม้ ช่วยฉีกซองพลาสติกที่ใส่ของกิน ...ฯลฯ   เรื่องมีดนี้มีข้อจำกัดสำคัญคือ จะพกพาได้ก็เฉพาะเมื่อใส่ในกระเป๋าเดินทางที่เอาลงใต้ท้องเครื่อง(บิน)เท่านั้น

ทำให้นึกถึงเรื่องของน้ำดื่ม สนามบินต่างๆจะไม่ยอมให้มีการนำน้ำจากภายนอกเข้าไปในพื้นที่ๆเป็นที่นั่งพักรอของผู้โดยสารขาออก แต่ในพื้นที่ๆนั่งรอนั้นก็มีน้ำดื่มขาย  หากเป็นการเดินทางไกลข้ามช่วงเวลากลางคืน ก็อย่าลืมซื้อใส่กระเป๋าสะพายไปด้วยสักขวดนึง ทั้งนี้ แม้จะมีการให้บริการบนเครื่องบินก็ตาม แต่ก็มักจะเป็นแบบกระปิดกระปรอยเสียเป็นส่วนมาก มาทีละจอกน้อยๆไม่พอแก่การแก้กระหายน้ำตามลักษณะ/ปริมาณที่เราดื่มกัน  ก็มีผู้โดยสารทุกชาติจำนวนไม่น้อยที่แก้ด้วยการเอาขวดเปล่าเข้าไปแล้วเติมน้ำจากเครื่องให้บริการน้ำดื่มฟรีที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณนั่งพักรอขึ้นเครื่อง   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.ค. 21, 18:52
แล้วก็นึกออกอีกเรื่องหนึ่ง   เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะปกติสำหรับเที่ยวที่เป็น in-bound flight  (เที่่ยวบินของแต่ละสายการบินที่บินกลับ Home base ของตน)  เที่ยวบินเหล่านี้จะช่วยกันทำหน้าที่ต้อนรับผู้คนของตนเองกลับบ้าน พร้อมๆไปกับต้อนรับผู้ที่จะมาเยือนประเทศของตน  การให้บริการในระหว่างการบินของเส้นทางเหล่านี้มักจะค่อนข้างเป็นกันเอง อะลุ่มอล่วยมากกว่าปกติ เช่น แทนที่จะเสิร์ฟน้ำอัดลมหรือเบียร์แบบมาเป็นแก้ว ก็เป็นการเสิร์ฟทั้งกระป๋อง หรือไม่หวงที่จะเติมซ้ำให้บ่อยครั้งอย่างเต็มใจ   แอร์โฮสเตสมักจะเดินดูแลให้บริการถี่กว่าปกติและดูยิ้มแย้มเป็นมิตรมากกว่าปกติอีกด้วย

หากจะต้องนั่งเครื่องบินเป็นเวลานนานหลายๆชั่วโมง ควรจะต้องใช้รองเท้าที่หลวมกว่าที่เคยใช้เล็กน้อยก็จะดี เพราะเท้าจะบวม หรือไม่ก็ต้องพยายามหาที่นั่งริมทางเดิน เพื่อจะได้ลูกขึ้นยืนหรือเดินบ้าง  สำหรับผม เมื่อเดินทางไกลคนเดียวหลายๆชั่วโมง บ่อยครั้งจะเลือกที่นั่งท้ายเครื่อง เสียงจะดังหน่อย จะรู้สึกแกว่งหน่อย ดีเพราะจะมีข้อจำกัดน้อยมากในเรื่องของการลุก ยืน เดิน ก็คือสามารถเปลี่ยนอริยาบทได้หลายท่าทาง แถมยังใกล้กับพื้นที่เตรียมอาหาร จะขอจะเอาอะไรจากแอร์ฯก็ง่าย ไม่ต้องรีบกินอาหารที่เสิร์ฟแม้จะได้รับทีหลังผู้อื่น  แถมยังใกล้ห้องสุขาอีกด้วย   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.ค. 21, 19:23
จัดกระเป๋าเสร็จแล้วก็อย่าลืมตรวจในกระเป๋าสะพายด้วยว่ามีของจำเป็นส่วนตัวและเอกสารที่จะใช้ในการเดินทางครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งผมเห็นว่าควรจะท่องไว้ให้เป็นคาถาประจำตัวก่อนออกนอกบ้านทุกๆครั้งเลยทีเดียว ก็จะมี โทรศัพท์ นาฬิกา แว่นตา กระเป๋าสตางค์  ID ต่างๆ  บัตร(เครดิต) ปากกา เหรียญบาท 5 เหรียญ (สำหรับใช้เข้าห้องน้ำ) เหรียญ 10 บาท/ธนบัตร 20 บาท (สำหรับการทิป) และตั๋ว(ที่ต้องใช้ในการเดินทาง)  อาจจะเพิ่มกระดาษเพื่อใช้ในการเข้าห้องสุขาห่อเล็กๆ (สำรองไว้)     

คาถาประจำตัวนี้จะมีประโยชน์เมื่อได้เข้าสู่วัยที่มีเลข 6 นำหน้า และจะมีประโยชน์อย่างยิ่งเมื่ออายุเข้าสู่วัยเลข 7 นำหน้า


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ค. 21, 20:37
อ้างถึง
มีข้อแนะนำอยู่เพียงนิดเดียว ก็คือ ควรจะเลือกใช้แบบที่ทำด้วยผ้าฝ้ายที่มีเนื้อหนาสักหน่อย เนื้อผ้าทอค่อนข้างแน่น มีสัมผัสที่ค่อนข้างนุ่มและเนียน ส่วนลายก็สุดแท้แต่จะชอบ แล้วก็มีสิ่งที่มิพึงเลือกนำมาใช้ ซึ่งก็คือไม่ควรจะเป็นผ้าที่ทอด้วยฝ้ายผสมเส้นไหมหรือเส้นใยสังเคราะห์
ผ้าพวกนี้มีข้อเสียอะไรบ้างคะ ในการเดินป่า


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.ค. 21, 19:38
 ;D   
พูดกันตรงๆเลยนะครับ  การใช้ผ้าขะม้าหรือโสร่งนั้นไม่ค่อยจะแตกต่างไปมากนักจากการเป็นลักษณะผ้าขี้ริ้วประจำตน   ที่ใช้ประโยชน์กันส่วนใหญ่จริงๆก็มักจะเป็นเรื่องของการอาบน้ำและเป็นผ้าเช็ดตัว คือเกี่ยวกับการใช้ในเรื่องของความเปียกชื้นทั้งหลาย  แต่หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แห้ง ก็มักจะใช้กันในเรื่องของการปัดฝุ่นทำความสะอาดหรือปูรองนั่ง 

สำหรับข้อเสียตามลักษณะคำถามที่อาจารย์มีปุจฉามานั้น ผมมองใน 2 มุม   ในมุมแรก ลักษณะของข้อปุจฉาเช่นนี้ แสดงถึง intelligence & wisdom ของบุคคลที่มีการศึกษาในระดับสูงอันพึงมี   appreciate มากๆครับ _/\_    ในมุมที่สอง คำตอบหรือคำอธิบายของผู้ถูกถามนั้น แม้จะดูว่าก็ไม่น่าจะมีอะไรหนักหนามากนัก แต่ในความเป็นจริงจะต้องมีการประมวลข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งในเชิงทฤษฎี (theory) และในเชิงประจักษ์ (empirical)   

คำอธิบายในองค์รวมตามความรู้และประสบการณ์ของผมก็คือ เส้นใยสังเคราะห์และเส้นไหมที่ใช้ผสมเข้าไปในการถักทอผ้าเหล่านั้น ส่วนมากจะเป็นการกระทำเพื่อความสวยงามและการทรงใว้ซึ่งลาย (pattern) ยิ่งใส่เข้าไปมากก็จะยิ่งทำให้ผ้าบางเบาและมีลาดลายละเอียดสวยงามมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะทำให้คุณสมบัติที่ต้องการในการใช้งานลดลงไป       


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.ค. 21, 20:48
ผ้าขะม้าและโสร่งของภาคอิสานตอนกลางค่อนข้างจะเป็นลายตารางเล็ก ใช้ด้ายไหมค่อนข้างมาก บาง เบา มีเงางาม   ผมมีทั้งที่เป็นผ้าขะม้าและที่เป็นโสร่ง แต่ไม่ชอบนักด้วยที่มันค่อนข้างจะกระด้าง  ต่างกับผ้าขะม้าของพวกไทย(ลาว)ต่างๆที่ใช้ผ้าฝ้ายในการทอ (ไทยยวน ไทยพวน ....) หากไปราชบุรีก็น่าจะลองแวะดูที่วัดคูบัว หากไปภาคเหนือก็น่าจะลองแวะดูผ้าน้ำอ่างที่ อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ หากไปทางอิสานก็น่าจะลองแวะ อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ   ที่จริงแล้ว มีแหล่งทอผ้าฝ้ายฝีมือดีๆอยู่ทั่วไปในทุกภาค  หากมีโอกาสก็น่าจะลองแวะดู ช่วยซื้อ ช่วยเอาเม็ดเงินลงไปให้ชาวบ้านเขาได้ใช้หมุนกัน

โสร่งที่ทำด้วยผ้าฝ้ายอีกแหล่งหนึ่งที่มีฝีมือทอดีๆ ผ้าดี และมีลายที่น่าสนใจก็คือของยะไข่ ประเทศพม่าโน่น เป็นของค่อนข้างหาซื้อได้ยาก(ในพม่า)เหมือนกัน     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ก.ค. 21, 18:34
ก็มาถึงเรื่องของยานพาหนะส่วนตัวที่ใช้ในการเดินทาง  ซึ่งมีข้อพึงเตือนตัวเองว่าจะต้องทำอะไรบ้างอยู่พอสมควร   

เรื่องสำคัญแรกๆเลยก็คือการตรวจสภาพรถในมุมว่าเราจะต้องรู้จักสุขภาพรถของตนเองให้ดีพอ  อาจจะเริ่มให้ความสนใจจริงๆก่อนการเดินทางไกลสักประมาณหนึ่งสัปดาห์ก็พอได้ เผื่อว่าอาจจะมีกรณีต้องเปลี่ยนอะไหล่หรือการซ่อมแซมใดๆ    ในปัจจุบันนี้เรามักจะนึกถึงการนำรถไปเข้าศูนย์ ซึ่งก็ดีอยู่ แต่ก็ต้องคำนึงด้วยว่า แม้ว่าศูนย์ต่างๆจะมีมาตรฐานของการตรวจซ่อมเดียวกัน แต่คนที่ทำงานนั้นๆมีความละเอียดและความใส่ใจในงานไม่เท่ากัน  และอีกประการหนึ่ง มันก็มีความต่างระหว่างผลของการดูและรักษารถที่เข้าศูนย์ที่เดียวประจำ เข้าศูนย์คละที่ และแบบเข้าบ้าง/ไม่เข้าบ้าง  โดยนัยก็คือการสังเกตของช่างในเรื่องของการเสื่อมสภาพต่างๆของอุกรณ์ ซึ่งเขาก็ดูจากลักษณะการใส่ใจของเราในการนำรถเข้าไปทำการบำรุงรักษา

ผมใช้รถยนต์ในการเดินทางไกลและในพื้นที่ทุรกันดารค่อนข้างมาก  ได้ประสบกับเหตุการณ์เกี่ยวกับรถเสียที่คาดไม่ถึงมากมาย ที่แก้ไขสถานการณ์แล้วเอาตัวรอดมาได้ก็เพราะพอจะมีความรู้ทางช่างในเรื่องของเครื่องยนต์กลไก แล้วก็มีข้อพึงปฏิบัติยังคงใช้ได้ดีที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากคนรุ่นเก่าที่มีอาชีพต้องใช้รถใช้ถนน   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ก.ค. 21, 19:36
ที่จะเล่าความต่อจากนี้ไปอาจจะกระโดดไปมาบ้างนะครับ

สภาพความพร้อมของรถที่ต้องตรวจดู เรื่องแรกก็คือ ยางรถ    ในปัจจุบันนี้รถยนต์ใช้กะทะล้อแบบโลหะผสม เป็นแบบใส่ยางโดยไม่ต้องมียางใน แต่กะทะล้ออะไหล่ของรถบางรุ่น บางผู้ผลิต และบางคัน ยังใช้กะทะเหล็ก ซึ่งก็มีทั้งแบบที่ต้องมียางในและไม่ต้องมียางใน    ยางรถก็มีอายุการใช้งาน ซึ่งดูได้จากดอกยางและจำนวนปีที่ใช้งานหรือวันที่ผลิต  ทำให้แม้ว่าดอกยางจะดูยังลึกดี แต่ก็อาจจะหมดอายุและไม่ปลอดภัยในการใช้งานต่อไป   พวกยางระเบิด แหกโค้ง/หลุดโค้ง ลื่นไถล เบรคไม่อยู่ รถหมุน เหล่านี้ มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของอายุของยาง

หากเป็นคนช่างสังเกตก็จะพอมองออกว่าถึงวาระต้องเปลี่ยนยางหรือยัง  จะดูจากดอกยางก็ต้องดูว่าความลึกของดอกยางมันหายไปถึงระดับ bar ที่อยู่ในร่องยางหรือยัง หรือจะดูจากเนื้อยางก็ดูจากการแตกลายงาที่เห็นตามแก้มยางหรือในร่องยาง  หรือจะดูจากอายุของยางก็ดูที่ตัวเลขวันเดือนปีที่ผลิต (ลองเปิดหาในเว็ปว่าจะดูได้อย่างไร)  ยางอายุเกินกว่า 4 ปีแล้วก็ไม่สมควรจะใช้งานต่อไป (อย่างยิ่ง)  ทั้งนี้ ก็อาจจะใช้ได้เมื่อเป็นการใช้รถในเมืองที่ไม่มีการใช้ความเร็ว  แต่หากเป็นการเดินทางไกลที่ใช้ความเร็วต่อเนื่องก็ควรจะต้องเปลี่ยน และก็ต้องเปลี่ยน 4 ล้อพร้อมกันไปเลย  แล้วก็ควรจะเลือกดอกยางที่เหมาะสมกับลักษณะของถนนและการขับของเราในพื้นที่ๆเราใช้เป็นประจำ ซึ่งโดยหลักๆก็จะมียางสำหรับการใช้แบบขับรถเดินทางบนถนนเรียบและแห้ง ยางแบบขับรถเดินทางบนถนนเรียบและเปียกแฉะ ยางสำหรับการใช้งานทั้งในเมืองและในพื้นที่ชนบท ยางสำหรับใช้งานอเนกประสงค์ ...   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ก.ค. 21, 20:34
ก็มาถึงเรื่องของลมยาง  ในปัจจุบันนี้ โดยทั่วๆไปจะสูบลมยางเป็นมาตรฐานกันที่ 32 psi   ก็ OK แม้จะไม่เป็นไปตามคู่มือการใช้รถ  เรื่องลมยางนี้เป็นเรื่องที่ต้องควรระวังและตรวจสอบด้วยตนเองทุกครั้งในกรณีที่ให้เด็กปั้มหรือร้านยางช่วยทำการเติมลมให้ เพราะว่าเขาเหล่านั้นค่อนข้างจะเคยชินกับการตัวเลขของเติมลมสำหรับรถกระบะ(ซึ่งใช้ยางอีกประเภทหนึ่ง)ที่ใช้ลมยางประมาณ 35 - 45 psi  (45 psi เป็นแรงดันลมยางที่สูงมากสำหรับยางรถเก๋งโดยทั่วๆไป)
 
ในการเดินทางไกลและช่วงระยะทางของการขับรถอย่างต่อเนื่องที่ใช้เวลานานหลายชั่วโมง ยางจะร้อน แรงดันของลมยางจะเพิ่มมากขึ้นอีกถึง 2-3 psi ก็เป็นเรื่องปกติ   ในกรณีที่บรรทุกหนักเราอาจจะเติมยางหลังเป็น 35 psi ก็ได้ แต่อย่าลืมลดลมยางลงและตรวจวัดทั้ง 4 ล้อเมื่อกลับมาใช้งานตากปกติ   เช่นกัน ในระหว่างการเดินทางแต่ละวันก็ควรจะต้องหาโอกาสตรวจดูลมยางด้วย โดยเฉพาะเมื่อแวะเติมน้ำมันก่อนออกเดินทางในช่วงต่อไป

ลืมไปเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับสภาพของยางที่หมดอายุ   ก็คือ การบวมของแก้มยาง  ยิ่งแก้มป่องจนยางดูกลมสวยงามก็ยิ่งมีอันตรายมากขึ้น เสี่ยงกับการระเบิดในระหว่างการเดินทางไกลเป็นอย่างยิ่ง


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ค. 21, 18:38
สำหรับผู้รักการขับในถนนทุรกันดารก็จะใช้ยางอีกลักษณะหนึ่งที่มีดอกยางหยาบ ร่องยางค่อนข้างจะลึกและกว้างกว่ายางปกติ  ยางพวกนี้มีให้เลือกทั้งแบบแก้มยางอ่อนและแบบแก้มยางแข็ง ซึ่งหากจะใช้ในพื้นที่ๆสมบุกสมบันจริงๆก็ควรจะต้องเลือกแบบแก้มยางไปทางแข็ง   ขนาดของลมยางที่ใช้กับยางพวกนี้จะแปรผันไปตามลักษณะของภูมิประเทศ พื้นดิน และน้ำหนักบรรทุก  ใช้ได้ตั้งแต่ประมาณ 25 psi ไปจนถึงประมาณ 40 psi     ในประสบการณ์ของผมที่ใช้รถ 4x4 เข้าทำงานในพื้นที่โหดๆหลายพื้นที่ หลักการก็ไม่มีอะไรมาก  ใช้ยางอ่อนเพื่อให้ได้ยางหน้ากว้างในพื้นที่ๆเป็นดินทรายหรือทราย เพื่อจะได้ไม่จมทราย  ใช้ยางแข็งเพื่อให้ได้หน้ายางแคบในพื้นที่ๆมีดินโคลนบนพื้นผิว  และใช้ยางที่หน้ายางสัมผัสกับผิวถนนเต็มหน้าในพื้นที่เป็นทรวดทรายและลูกรัง    ก็อาจจะเห็นว่าพูดง่ายแต่ทำยาก ว่าแล้วจะไปเอาลมที่ใหนมาใช้สูบยาง   แต่ถ้าเราได้ศึกษาหาข้อมูลของพื้นที่ก่อนพอสมควร เราก็พอจะประเมินความเหมาะสมที่เป็นทางสายกลางได้  ในประสบการณ์ของผมก็ทำเช่นนั้น  หลายๆด้านเราสามารถประเมินได้จากลักษณะภูมิประเทศ จากลักษณะความห่างไกลจากชุมชนเมือง จากสิ่งแวดล้อมทางภูมิอากาศ จากข่าวสาร/สารคดีต่างๆ ...ฯลฯ         

   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ค. 21, 19:30
ก็มาถึงยางอะไหลซึ่งในปัจจุบันนี้เราเกือบจะไม่ได้สัมผัสกับมันเลย  ก็มีอยู่สองสามเรื่องที่พึงต้องนึกถึงมันเมื่อจะต้องเดินทางไกล    เรื่องแรกก็คือ ยังเห็นมันอยู่ดีมีสุขอยู่ในที่เก็บ เห็นเช่นนั้นแล้วก็ต้องลองเอามันออกมาวางไว้นอกรถ ก็เป็นเรื่องที่ควรจะต้องทำ    เพราะการทำนั้นมันจะช่วยเตือนความจำให้เราได้รู้ว่า อุปกรณ์ที่จะใช้ในการเปลี่ยนยางนั้นเก็บอยู่ที่ส่วนใดของรถและมันมีองค์ประกอบครบใหมในกรณีที่เกิดเหตุให้ต้องมีการเปลี่ยนยางในระหว่างการเดินทาง  ซึ่งก็จะต้องมีแม่แรงและเหล็ขันน็อตล้อเป็นสำคัญ   สำหรับการเอายางออกมาวางนอกรถนั้น ก็เพื่อจะได้รู้ถึงความยากง่ายในการเอามันออกมาและใส่กลับคืนไป ซึ่งก็จะไปเกี่ยวกับการจัดของและการรื้อของที่บรรทุกไว้ท้ายรถ และก็จะได้รู้ว่ามันยังมีลม/ยังใช้ได้อยู่หรือไม่  ผมเชื่อว่า ด้วยความอยากรู้บางประการ เมื่อเห็นแม่แรงแล้วก็คงจะอดไม่ได้ที่จะต้องลองหมุนลองทำให้มันยกตัวขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะจับต้องจับเหล็กขันน็อตล้อ แล้วก็เกิความสงสัยว่า แล้วเราจะมีแรงขันน็อตหรือ

ที่สำคัญก็คือ ตรวจสอบและเติมลมยางอะไหล่นั้นให้มีแรงดันมากกว่าที่เราเติมล้อรถที่ใช้อยู่ประมาณ 5+ psi   และก็แนะนำให้ไปหาซื้อบล็อก(และด้ามขัน)ตามขนาดของน็อตล้อ  ซึ่งขนาดของน็อตล้อสำหรับรถทั่วๆไปก็มักจะเป็นขนาด 19 หรือ 21 มม. แต่หากเป็นรถยุโรปก็จะใช้ขนาดที่เป็นสัดส่วนของนิ้ว น่าจะเป็นขนาด 3/4 หรือ 7/8 นิ้ว (ไม่แน่ใจแล้ว)   สมัยก่อนนั้นใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่ากากบาทกัน แต่ผมไม่แนะนำเพราะมันกินที่ในการเก็บ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ค. 21, 20:12
รถยนต์จะมีที่เก็บยางอะไหล่อยู่ภายในรถและภายนอกรถ    สำหรับพวกที่มีที่เก็บอยู่นอกรถนั้น ด้วยที่มักจะมีการระวังว่ายางอะไหล่อาจจะถูกขโมย ก็เลยมีการใส่ชุดล็อดที่ใช้กุญแจ แต่ยิ่งนานวันเข้าและไม่ได้มีการใช้เลย ก็จะมีกรณีลูกกุญแจหาย หาไม่เจอ หรือไม่ก็รูของแม่กุญแจถูกโคลน/ฝุ่นอุดจนใช้การได้ยากหรือไม่ได้ การมุดใต้ท้องรถตรวจดูสภาพและการใช้งานได้เป็นระยะๆจึงมีความสำคัญมาก ผมแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยวิธีง่ายๆด้วยการใช้เทปพันสายไฟพันปิดรูกุญแจนั้นเสีย 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ค. 21, 20:26
สมัยที่ยังใช้รถแลนด์ในการเดินทางและทำงานในเส้นทางสุดโหดในพื้นที่ป่าดงต่างๆนั้น จะเติมลมยางหน้า 25 psi ยางหลัง 28 psi เป็นพื้นฐาน ตัวรถหนักประมาณ 2.5 ตัน (?) ใช้ยางหน้ากว้าง ผ้าใบ 8 ชั้น  แต่เมื่อต้องมีการบรรทุกเต็มที่ก็จะใช้ลมยางหน้า 30 psi ยางหลัง 32 หรือ 35 psi  น้ำหนักรวมน่าจะประมาณ 3 ตันกว่า  เป็นความลงตัวที่เหมาะมากสำหรับการใช้ในทุกสภาพเส้นทาง    แล้วค่อยขยายความภายหลัง 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ก.ค. 21, 17:36
ก็มีเรื่องเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับเรื่องของเครื่องมือประจำรถ ซึ่งปกติจะเป็นของที่ได้มาพร้อมกับการซื้อรถ โดยพื้นๆก็จะมีไขควงแบบสลับกลับไปมาได้ระหว่างปลายแบนกับปลายแฉก มีคีม 1 ตัว มีประแจขันน็อตเบอร์ 10, 11, หรือ 12 ซึ่งเป็นประแจตัวเดียวที่ด้านหนึ่งมักจะเป็นเบอร์ 10 แต่อีกด้านหนึ่งอาจจะเป็นเบอร์ 11 หรือ 12 ก็ได้   เครื่องมือเหล่านี้ใช้งานได้สำหรับงานที่ไม่ต้องลงแรง ใช้เพื่อคลายหรือปรับอะไรๆได้พอได้บ้าง  จะว่าไปแล้วมันเป็นเพียงสิ่งของที่ต้องมีตามข้อบังคับสำหรับฝ่ายผู้ผลิตว่าจะต้องจัดให้มีประจำรถเท่านั้น   ผมมีความเห็นว่าหากเราเป็นนักนิยมขับรถเดินทางท่องเที่ยว เราก็ควรจะต้องมีประแจที่มีคุณภาพพอที่จะใช้งานเชิงช่างติดอยู่ในรถเป็นประจำ ก็คือหาซื้อของที่ดีกว่านั้น   แต่ก็จะต้องพอมีความเข้าใจในเรื่องของเครื่องมือเหล่านั้นด้วย   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ก.ค. 21, 18:28
แม้ว่าตัวเราจะไม่มีความสันทัดใดๆในเชิงช่างก็ตาม   เครื่องมือติดรถที่มีคุณภาพดีและเหมาะสมเหล่าอันพึงมีเหล่านั้นจะช่วยให้ช่างหรือคนที่มาช่วยเหลือเราในกรณีที่รถเสียกลางทางได้ใช้ทำการช่วยแก้ไขปัญหาให้เราสามารถเดินทางต่อไป แล้วจึงค่อยไปเข้าอู่ซ่อมรถในเมือง  การมีเครื่องมือที่ดีพอที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาฉุกเฉินเหล่านั้นจะช่วยทำให้ไม่เกิดการบุบสลายและความเสียหายต่อเครื่องยนต์กลไกต่างๆ

สำหรับไขควงและประแจที่จำเป็นจะต้องมีติดรถนั้นมีอยู่ไม่กี่อย่าง แต่การไปหาซื้อของใหม่ที่มีคุณภาพดีพอนั้น ก็พึงจะต้องรู้พื้นฐานด้วยว่า ขนาดของน็อตและสกรู(ตะปูควง)ของเครื่องยนต์กลไกของรถในปัจจุบันนี้เกือบทั้งหมดจะใช้ระบบเมตริก (มิลลิเมตร) ในขณะที่ของรถอเมริกันและและยุโรป(พันธุ์แท้)จะยังคงมีการใช้ระบบหุน (นิ้ว) รถของบางผู้ผลิตก็ใช้น็อตทั้ง 2 ระบบ  มากไปกว่านั้น สำหรับรถ เครื่องยนต์ หรือเครื่องกลรุ่นเก่า ก็มีการใช้ขนาดตามมาตรฐานของอังกฤษอีกด้วย (BSW)  คือวัดขนาดที่ตัวแกนน็อต มิได้วัดขนาดที่ตัวหัวน็อต   ซึ่งก็มีบางผู้ผลิตใช้ทั้ง 3 ระบบคละกัน เช่น รถแลนด์โรเวอร์รุ่นก่อนๆโน้น   

 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ก.ค. 21, 19:14
เครื่องมือประจำรถที่สำคัญก็จะมี แม่แรง   พึงลองเอาออกมาใช้ดูบ้างก็จะดี จะได้รู้จักวิธีใช้ รู้ตำแหน่งที่จะเอาแม่แรงไปไปขึ้น และยังจะได้รู้ว่าก้านหมุนแม่แรงนั้นยังอยู่ครบ ต่อกันอย่างไร หรือวิธีการเอาไปสวมกับแม่แรงเพื่อหมุนแม่แรงเป็นอย่างไร     

แม่แรงนั้นมีอยู่ 2 แบบ คือแบบไฮดรอลิคใช้วิธีโยกขึ้นลง และแบบเป็นเกลียวหมุน  รถที่เก๋งและรถกระบะที่ใช้บนถนนพื้นเรียบในเมืองทั้งหมดน่าจะได้รับแม่แรงแบบเกลียวหมุนเป็นของประจำรถ   สำหรับรถที่ใช้ในพื้นที่ทุรกันดารนั้น ควรจะใช้แม่แรงแบบไฮดรอลิคจะดีกว่าแบบเกลียวหมุนมากๆ เพราะไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของการตั้งใช้ในพื้นที่ๆไม่เรียบ และยังสามารถใช้ประโยชน์ในเรื่องอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนยางได้อีกมาก  ผมใช้แม่แรงประเภทนี้ช่วยเอาตัวรอดในการเดินทางไปทำงานในพื้นที่ๆที่มีเส้นทางที่โหดๆบ่อยครั้งมาก   ทั้งนี้ก็คงจะต้องดูความเหมาะสมของแม่แรงไฮดรอลิคที่หาซื้อด้วย มันก็จะมีแบบ 2 ตอน กับ 3 ตอน  และก็มีแบบทรงสูงและทรงเตี้ย แล้วก็มีแบบที่มีเกลียวหมุนปรับระดับแป้นที่จะรองรับตัวรถ

จะมี จะเปลี่ยน จะใช้แม่แรงอย่างไร ก็ต้องมีการพิจารณากันเหมือนกัน   อย่างไรก็ตาม ในสภาพและคุณภาพของเส้นทางคมนาคม รวมทั้งคุณภาพของยางรถที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้  ใช้แม่แรงที่เขาให้ติดรถมาก็พอเพียงแล้ว เว้นแต่จะเป็นรถที่ไปแต่งยกสูงหรือโหลดเตี้ย ซึ่งจะทำให้แม่แรงที่ติดรถมานั้นไม่สามารใช้การได้ คือแม่แรงยืดสุดแล้วยังยกล้อไม่ลอย หรือไม่สามารถอาแม่แรงสอดเข้าไปใด้       


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ก.ค. 21, 19:31
มาถึงเรื่องของไขควง หากเป็นผู้นิยมขับรถเดินทางท่องเที่ยว  ผมก็มีความเห็นว่าควรจะหาซื้อของใหม่มาแทนของที่ได้มากับรถ   ซื้อแยกเป็นปากแบนตัวหนึ่ง เป็นปากแฉกอีกตัวหนึ่ง  และถ้าจะให้ดีก็ควรจะเป็นชนิดที่สามารถตอกก้น(ด้วยฆ้อน)ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นของชั้นดีราคาสูง เอาแต่เพียงเลือกด้ามจับที่ใหญ่หน่อยและไม่ลื่น มีก้านเป็นเหลี่ยม เผื่อว่าต้องใช้คีมช่วยในการหมุน


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ก.ค. 21, 17:31
ไขควงเป็นเครื่องมือที่ส่วนมากจะใช้กับระบบข้อต่อต่างๆ โดยเฉพาะกับข้อรัดที่รัดการต่อระหว่างท่อยางกับท่อโลหะ เช่น ระหว่างหม้อน้ำกับตัวเครื่องยนต์ ท่ออากาศของระบบหม้อกรองต่างๆ (กรองอากาศ กรองน้ำมัน) ... เป็นต้น  และใช้กับในการปรับแต่งระบบเครื่องยนต์และอุปกรณ์ของรถต่างๆด้วย เช่น ปรับไฟส่องทางให้สูง-ต่ำ ปรับระบบกลอนล็อคประตู ขันสกรูยึดอุปกรณ์ต่างๆกับตัวรถ ...เป็นต้น   

ในรถรุ่นเก่า สกรูที่ใช้กับระบบข้อต่อและการขันยึดต่างๆจะมีทั้งแบบที่ต้องใช้ไขควงปากแบนหรือที่ต้องใช้ปากแฉกคละกัน แต่ในรถรุ่นใหม่ หัวสกรูที่ต้องใช้ไขควงขันนั้น ส่วนมากจะเป็นลักษณะที่ใช้ไขควงได้ทั้งสองแบบ   แต่...หากรถได้มีการเข้าซ่อมหรือผ่านมือช่างเพื่อการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ในรูปแบบที่ต้องมีการถอดออกมา  ก็ดูจะเป็นเรื่องปกติที่หัวสกรูไม่เป็นดังเดิม  จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่แบบแบนก็แบบฉาก  ซึ่งหมายถึงการต้องใช้ไขควงปลายแบนหรือแฉกเป็นการเฉพาะสำหรับหัวสกรูนั้นๆ

หัวน็อตหรือสกรูของสายรัดข้อต่อของรถในปัจจุบันนี้ มีการทำในรูปแบบที่ใช้งานได้ทั้งไขควงและประแจ หากแต่แบบผสมนี้จะใช้ไขควงแบบปลายแฉกได้อย่างเดียว   สำหรับที่เป็นพวกข้อรัดท่องยางต่างๆ หัวน็อตจะมีขนาด 8 มม.(ขนาด 6 มม.ก็มีแต่น้อยมาก) และหากเป็นน็อตที่ใช้เพื่อการยึดอุปกรณ์บางประเภทติดกับตัวถังรถยนต์ ก็มักจะเป็นหัวน็อตขนาด 10 มม. ขนาด 11 มม.ก็มีเช่นกัน แต่มักจะใช้กับอุปกรณ์ที่ยึดติดกับตัวเครื่องยนต์     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ก.ค. 21, 17:54
ไขควงปากแบนที่สามารถตอกได้ และปลายเป็นแม่เหล็ก เป็นเครื่องมือที่ใช้ประโยชน์ได้ค่อนข้างมากทีเดียว จะเรียกว่าเอนกประสงค์ก็น่าจะพอได้  นอกจากใช้ขันสกรูแล้ว เมื่อมีความจำเป็นก็สามารถใช้ในลักษณะของสิ่ว เหล็กสกัด การงัดแงะ เขี่ยของ ดูดเศษ/ผงโลหะ (เหล็ก) เจาะรู เจาะกระป๋อง สมอยึดเชือก แม้กระทั่งใช้เป็นอาวุธ เหล่านี้เป็นต้น   

ในมุมหนึ่ง สภาพของไขควงปากแบนที่มีติดอยู่กับรถของพวกคนที่ต้องใช้รถในพื้นที่ทุรกันดารและอ๊อฟโรดจริงๆนั้น ค่อนข้างจะบ่งบอกถึงประสบการณ์และความสัมบุกสัมบันของรถหรือเจ้าของรถคันนั้น


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ก.ค. 21, 18:45
ก็มาถึงเรื่องของประแจ

ประแจเป็นศัพท์บัญญัติ  แต่ในภาษาแบบบ้านๆและตลาดๆจะใช้คำว่ากุญแจ  ก็มี 3 รูปแบบ คือ แบบปากเปิดที่เรียกว่ากุญแจปากตาย ทั้งสองปลายเป็นแบบปลายเปิด   มีแบบที่ปลายเป็นทรงแหวนที่เรียกว่ากุญแจแหวน ทั้งสองปลายเป็นทรงแหวน   และมีแบบผสมกันที่ปลายด้านหนึ่งเป็นปากตาย ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งเป็นแหวน   ทั้ง 3 รูปแบบนี้เป็นประแจในระบบ มม. ซึ่งมีข้อแตกต่างในรายละเอียด คือ เป็นแบบขนาดของประแจ(หัวน็อต)เรียงต่อกันระหว่างปลายด้านหนึ่งกับอีกปลายหนึ่ง (เช่น ขนาด 11 / 12 มม.  เป็นแบบขนาดของประแจ(หัวน็อต)ทั้งสองปลายเป็นชุดเลขคู่หรือเลขคี่ (เช่น 12 /14 มม.)    สำหรับประแจที่เป็นปากตายด้านหนึ่งกับแหวนอีกด้านหนึ่งนั้น ทั้งสองปลายจะเป็นขนาดเดียวกัน     

ส่วนประแจในระบบหุนนั้น เท่าที่มีความคุ้นเคยมา จะเป็นจัดคู่กันเช่น 9/16 กับ 1/2 หรือ 5/8 กับ 7/16 (? จำได้ไม่แม่นแล้ว)     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ก.ค. 21, 19:16
ที่เล่ามาก็เป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานเพื่อการเลือกซื้อประแจให้เหมาะสมตามประสงค์ เช่น ประจำรถ ประจำบ้าน หรือจักรยาน  หรือเพื่อใช้ฉุกเฉินด้วยตนเองเมื่ออยู่ในพื้นที่ๆยังคงสภาพท้องถิ่นเดิมๆที่ไม่ต่างไปมากนักจากแต่เก่าก่อน   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.ค. 21, 18:12
ประแจที่ควรมีประจำรถนั้น มีไม่กี่ตัว ที่ใช้มากที่สุดก็จะเป็นขนาด 10 และ 11 มม.   ขนาด 12 มม.มักจะใช้กับเรื่องของการตั้งสายพานใบพัดลมหม้อน้ำและพวกสายดึงต่างๆ เช่น สายเบรคมือ สายคันเร่ง(รถรุ่นเก่า)    ขนาด 14 มม. ใช้น้อยมาก มักจะเรื่องของอุปกรณ์ต้องใช้ความรู้ทางช่างเป็นมากหน่อย เช่นในการปรับความสูงต่ำของก้านเบรคหรือคลัช แต่ก็มีความจำเป็นเพราะในหลายๆเรื่องมีการใช้ร่วมกับขนาด 12 มม.   แล้วก็ขนาด 8 มม. ที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว     

ก็จะเห็นว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องซื้อประแจเป็นชุด   แต่หากว่าต้องการใช้เป็นเครื่องมือซ่อมพวกจักรยานและของใช้ประจำบ้านร่วมไปด้วย จะซื้อทั้งชุดก็ได้   พวกรถจักรยานและเครื่องใช้กลไกในบ้านหลายอย่างมักจะใช้ประแจเบอร์คี่ เช่น 13 และ 15   พวกสายอ่อนน้ำดีเข้าอ่างล้างมือ โถส้วม ก็มักจะเป็นขนาด 21 หรือ 22 มม. ซึ่งก็จะไม่พอดีเสมอไปเพราะผู้ผลิตใช้ระบบหุนก็มี     สำหรับขนาดที่ไม่ได้กล่าวถึงคือขนาด 16, 18 มม.นั้น มักจะเป็นประแจของช่างใช้ในการถอดประกอบเครื่องยนต์   

สำหรับรถแลนด์ที่ใช้ทำงานในป่าดงสมัยที่ยังทำงานอยู่นั้น จำเป็นจะต้องมีประแจขนาดอื่นเพิ่มเข้าไปอีก โดยเฉพาะขนาด 17 มม.เพื่อใช้ในการตั้งผ้าเบรค (รถสมัยก่อนโน้นใช้ระบบเบรคแบบก้ามปูทั้ง 4 ล้อ มิได้ใช้ผสมแบบระบบดิสเบรคที่ล้อคู่หน้าและแบบก้ามปูที่ล้อคู่หลัง   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.ค. 21, 18:58
ก็มาถึงของอื่นๆที่ควรจะมีไว้ประจำรถ   แรกสุดเลยก็คือสายพ่วงแบตเตอรี่  รถยนต์รุ่นใหม่ในปัจจุบันนี้ใช้ระบบอิเล็คทรอนิกส์ในการจัดการควบคุมกลไกและระบบต่างๆของรถ และเราก็นิยมจะใช้รถเกียร์อัตโนมัติอีกด้วย    ที่เป็นประเด็นสำคัญก็คือ เมื่อแบตเตอรี่หมดหรือมีไฟไม่พอใช้งาน รถพวกนี้ก็เกือบจะอยู่ในสภาพที่ใช้การไม่ได้เลย ติดเครื่องไม่ได้ จะเข็นแล้วกระชากให้เครื่องหมุนติดด้วยระบบ transmission ก็ไม่ได้  จะลากก็ไม่ได้ เข็นหรือลากในระยะทางสั้นมากๆก็พอใหว แต่หากเป็นการลากในระยะทางที่ยาวก็จะพาลให้เกียร์พัง ซ่อมหรือเปลี่ยนเกียร์กันในราคาหลักแสนบาทบวกลบกันเลยทีเดียว (ว่ากันว่าอย่างนั้น)   แบตเตอรี่ก็เลยกลายเป็นหัวใจของรถ

แบตเตอรี่จำแนกง่ายๆแบบเราๆได้เป็น 2 ชนิด คือชนิดที่ต้องคอยเติมน้ำกลั่น กับชนิดที่เรียกกันว่า maintenance free     

ชนิดที่ต้องเติมน้ำกลั่นนั้น ควรจะต้องมีการหมั่นตรวจระดับของน้ำกลั่นในหม้อแบตเตอรี่แบบสม่ำเสมอ  ไม่ควรเติมให้เกินระดับที่กำหนด และก็ไม่ควรจะให้แห้งจนเห็นแผ่นธาตุที่ประกอบกันอยู่ด้านใน   น้ำกลั่นที่ใช้นั้น แท้จริงแล้วมันคือน้ำ deionized water มิใช่น้ำที่ได้มาจากการต้มกลั่น   ประสิทธิภาพในการเก็บไฟและการใช้งานของแบตเตอรี่พวกนี้ขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นกรดของของเหลวที่บรรจุอยู่ในแบตเตอรี่นั้นๆ การบำรุงรักษาตามสมควรก็จึงมีความจำเป็น   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.ค. 21, 20:00
ขอขยายความอีกเล็กน้อยเพื่อให้เห็นภาพในเรื่องเหตุและผลของการให้ความสนใจดูแลแบตเตอรี่ชนิดที่ต้องคอยตรวจสอบระดับน้ำกลั่น

โดยพื้นฐานแล้ว แบตเตอรี่มีความสามารถในการเก็บประจุไฟฟ้าต่างกัน ขึ้นอยู่กับการผลิตและความต้องการของผู้ใช้   ในขณะที่ generator (ที่นิยมเรียกกันว่า ไดชาร์ต) มีความสามารถในการผลิตปริมาณกระแสไฟขึ้นอยู่รอบของการหมุนเช่นเดียวกันกับเครื่องปั่นไฟต่างๆ  การชาร์ตไฟเข้าไปเก็บในแบตเตอรี่นั้น หากมากไปก็ไม่ต่างไปจากการใช้ไฟแรงๆต้มน้ำจนเดือดแล้วไม่ลดความแรงของไฟต้มน้ำลง  ก็เลยต้องมีตัวควบคุมปริมาณไฟที่จะผลิตออกมา ซึ่งตามปกติก็จะไม่ให้เกินว่าประมาณ 15 แอมแปร์  ซึ่งตัวควบคุมปริมาณไฟนี้ก็มีโอกาสเสื่อมและเสียไป     เมื่อมีไฟชาร์ตเข้าหม้อแบตเตอรี่ ก็จะมีปฏิกริยาทางเคมีไฟฟ้าที่ทำให้เกิดฟองอากาศผนวกกับความร้อนในห้องเครื่องยนต์ ซึ่งจะทำให้น้ำกลั่นระเหยออกไป ปริมาณน้ำกลั่นในหม้อก็จะลดลงไปเรื่อยๆ ความพอเหมาะพอดีของความเป็นกรดก็จะเปลี่ยนไป     ในสมัยก่อนนั้น เราจะเห็นว่ามีรถเปิดไฟใหญ่วิ่งอยู่ตามถนนระหว่างจังหวัด เหตุผลก็เพียงเพื่อลดปริมาณการชาร์ตประจุไฟเข้าหม้อแบตเตอรี่ให้ไม่มากจนเกินไปนั่นเอง     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ค. 21, 17:28
แบตเตอรี่ชนิด maintenance free นั้น แม้จะไม่มีความจำเป็นต้องตรวจดูระดับน้ำกลั่น(น้ำกรด)ในหม้อ แต่มันก็มีเรื่องที่ต้องตรวจดูเช่นกัน  หม้อแบตเตอรี่ชนิดนี้จะมีตาแก้วสีสดใสอยู่ด้านบนเพื่อบ่งบอกว่ามันยังมีประจุไฟเก็บอยู่ในระดับที่ดีหรือไม่ ส่วนการแสดงของสีจะเป็นเช่นใดและบ่งบอกอะไรก็สามารถอ่านได้จากฉลากที่ติดอยู่กับหม้อแบตเตอรี่นั้น เอาอย่างง่ายๆก็คือ หากยังมีความสว่างและมีสีสดใสก็แสดงว่ายังใช้งานได้ดี มันจะค่อยๆมืดลงตามอายุการใช้งาน

แบตเตอรี่รถจะมีอายุการใช้งานประมาณ 2+ ปี อาจจะถึง 3 ปีก็มี  อาการของการเสื่อมโดยหลักๆก็คือเก็บไฟไม่อยู่   อาการที่แสดงออกแต่แรกๆเลย บ่งบอกได้จากการติดเครื่องยนต์ครั้งแรกในตอนเช้า เครื่องจะหมุนแบบอืดๆ ไม่หมุนฉิวเหมือนที่กับเสียงดังที่เคยได้ยิน  ซึ่งจะมีมากขึ้นและถึงจุดที่แย่มากๆ ก็คือเกิดขึ้นทุกครั้งที่ทำการติดเครื่องยนต์    อย่างไรก็ตาม หากเกิดอาการเช่นนี้ในช่วงที่แบตเตอรี่ได้มีอายุการใช้งานผ่านมาเพียงปีกว่าๆ ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดในสองประเด็น อาจจะเกิดจากลักษณะการใช้รถยนต์ คือ ขับแล้วจอดในระยะทางสั้นๆ ซึ่งทำให้มีการมีการชาร์ตไฟทดแทนได้ไม่พอเพียง  หรืออาจจะเกิดจาก defect ของหม้อแบตเตอรี่ก็ได้     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ค. 21, 18:41
ในสมัยก่อนที่ยังทำงานแบบลุยๆอยู่นั้น ปัญหาเรื่องการเสื่อมของแบตเตอรี่ของรถที่ใช้งานนั้น ค่อนข้างจะเป็นเรื่องคุ้นเคยกัน  รถทุกคันก็เลยจะต้องมีมือ(เหล็ก)หมุนเครื่อง สำหรับหมุนแทนมอเตอร์สตาร์ตเพื่อติดเครื่องรถ ซึ่งดูคล้ายกับจะเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส แต่จริงๆแล้วง่ายมาก เพียงแต่จะต้องรู้จังหวะและตำแหน่งที่เราจะมีแรงดึงกระชากให้เครื่องมันหมุน    ซึ่งทำได้แม้แต่มีตัวเราเองเพียงคนเดียว เพียงแต่ต้องมีความเข้าใจในเรื่องของการระบบและจังหวะการทำงานของเครื่องยนต์  เรื่องก็เป็นไปเช่นเดียวกับการติดเครื่องยนต์ของเครื่องบินใบพัด(แบบใช้ลูกสูบ)รุ่นเก่าดังที่เคยเห็นในสารคดีต่างๆ 

รถขนาดน้ำหนักเกือบ 3 ตันในพื้นที่ๆเป็นป่าเขานั้น การเข็นรถเพื่อติดเครื่องเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก  ทางแก้อย่างหนึ่งก็คือ การพยายามหาที่จอดรถในที่ลาดเอียง โดยเอาด้านหัวรถพุ่งลงเนิน  แต่ก็อีกแหละ จะต้องเป็นลาดเนินที่ยาวพอสมควรพอให้ได้ระยะที่จะกระตุกเครื่อง   ในเรื่องของการจอดรถหัวทิ่มลงเนินนี้ เป็นเรื่องที่พึงทำให้ติดเป็นนิสัยเมื่อสภาพพื้นที่อำนวย แม้ว่าจะเป็นการใช้รถบนถนนลาดยางก็ตาม

   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ค. 21, 19:22
กรณีของอาการที่เรียกว่าแบตเตอรี่หมด สตาร์ตเครื่องไม่ได้ในตอนเช้าที่เกิดขึ้นกับรถที่ใช้เข้าพื้นที่ป่าเขาทุรกันดารนั้น  ส่วนหนึ่ง(ค่อนข้างจะมาก)เกิดมาจากการชาร์ตไฟเข้าหม้อแบตเตอรี่ไม่ทันกับการดึงเอาไฟออกไปใช้งานในระหว่างการเดินทาง  ซึ่งดูจะไม่มีปัญหากับรถรุ่นใหม่ในปัจจุบันนี้  เรื่องของเรื่องก็มาจากการใช้เครื่องยนต์รอบเบาในระหว่างการเดินทางจนผลิตปริมาณไฟชาร์ตทดแทนเข้าแบตเตอรีได้ไม่ทัน  สืบเนื่องมาจากผลของการที่รถติดหล่มบ้าง การใช้กว้านไฟฟ้า(winch)บ้าง  รวมทั้งการใช้ไฟสปอตไลท์และเครื่องเสียงที่ล้วนแต่กินกำลังไฟ

แต่ก่อนๆนั้น รถจะใช้กว้านแบบเพลาขับ ไม่มีเครื่องเสียง ไม่มีสปอตไลท์ แต่รถมีช่วงเวลาที่จะต้องใช้เครื่องยนต์แบบเดินเบาเป็นเวลานาน   ก็ลองนึกดูบางสภาพการณ์ในการทำงานของผม  ..ออกเดินทางไปหรือมาระหว่างตัว จ.กาญจนบุรี กับสถานีน้ำตก (ไทรโยคน้อย) ระยะทางประมาณ 60 กม. เริ่มออกเดินทางประมาณ 8 โมงเช้า ถึงปลายทางประมาณ 4 ทุ่ม   หรือจาก อ.สังขละบุรี ถึง พระเจดีย์สามองค์ ระยะทางประมาณ 20+ กม. ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชม.     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ค. 21, 17:42
เปิดกระโปรงหน้ารถดูแบตเตอรี่แล้ว ก็ดูเรื่องอื่นๆต่อพร้อมไปด้วยเลย ก็จะเรื่องของการตรวจเติมน้ำในหม้อน้ำล้างกระจก ตรวจเติมน้ำในหม้อน้ำล้นของระบบหม้อน้ำหล่อเย็นเครื่องยนต์  ดูน้ำมันเบรค  ดูสภาพของสายพานพัดลมหม้อน้ำ/แอร์ และความผิดปกติ/ความไม่เรียบร้อยอื่นๆที่สังเกตได้ด้วยตาเปล่า เช่น การซึมรั่วของๆเหลวตามข้อต่อต่างๆ สายไฟที่หลุดกะรุ่งกะริ่ง...เป็นต้น

ผมมีข้อแนะนำเพิ่มเติมเล็กน้อย 2-3 เรื่องที่ควรจะให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ  ซึ่งดูเผินๆก็ไม่น่าจะมีอะไรสำคัญมากนัก แต่มันก็เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้พอสมควรทีเดียว   

เรื่องแรก สำหรับรถที่มีอายุการใช้งานมานานมากกว่าประมาณ 7 ปี ควรจะต้องให้ความสนใจกับหม้อน้ำรถมากเป็นพิเศษ ควรจะสังเกตว่ามีคราบตะกรันหรือความชื้นตามข้อต่อเชื่อมระหว่างท่อยางกับหม้อน้ำและบริเวณตะเข็บระหว่างฝาครอบรังผึ้งกับตัวรังผึ้งของหม้อน้ำหรือไม่  ฝาครอบรังผึ้งของรถรุ่นใหม่ทำมากจากพวกสารผสม polymer มีอายุการใช้งานได้ไม่นานเท่ากับแบบที่ทำด้วยโลหะดังที่ใช้ในรถรุ่นเก่าๆ  ทำให้เมื่อใช้งานที่ผนวกกับการสั่นสะเทือนมานานก็จะเกิดรอยแตก ทำให้น้ำในหม้อน้ำรั่วออกไป หากไม่รู้ถึงวิธีการจัดการที่เหมาะสมและในเวลาอันควร ก็อาจจะยังผลเครื่องยนต์ร้อนจัดจนทำให้ฝาสูบโก่ง กลายเป็นเรื่องใหญ่ไปเลย   จะให้ปลอดภัย เมื่อดูท่าไม่ค่อยจะดี ก็เปลี่ยนใหม่ไปเลย ราคาของใหม่อยู่ในหลักพันบาทแก่ๆ อาจจะใกล้หมื่นบาทสำหรับรถของบางผู้ผลิต   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ค. 21, 18:24
นอกจากนั้นก็ลองเอามือบีบท่อยางต่างๆ ซึ่งโดยปกติแล้วมันควรจะให้ความรู้สึกว่านิ่ม  ท่อยางที่ต่อระหว่างหม้อน้ำกับเครื่องก็เช่นกัน เมื่อใดที่รู้สึกว่ามันแข็งมาก บีบไม่ลง ก็แสดงว่ามันไม่ควรจะต้องเปลี่ยน ไม่ควรจะใช้งานต่อไปอีกแล้ว เพราะมันมีโอกาสที่จะแตกได้ง่ายๆ

รถเสียกลางทางด้วยเรื่องของหม้อน้ำนี้เป็นเรื่องที่ไม่สนุกเอาเสียเลย    แล้วเมื่ออยู่กลางป่ากลางดงจะทำเช่นใด ไม่ยากและก็ไม่ง่ายครับ เสียเวลาและสกปรกกันมากหน่อยเท่านั้นเอง  ก็โชคดีที่หม้อน้ำรถยนต์สมันก่อนนั้นทำด้วยโลหะ(โดยเฉพาะทองแดง)และใช้วิธีการเชื่อมด้วยตะกั่ว(บัดกรี)  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมักจะมาจาก 2 เรื่องเท่านั้นเอง คือ สายยางรั่วหรือจะแตกตรงจุดเชื่อมต่อกับหม้อน้ำ (มิใช่เรื่องฝาครอบรังผึ้งแตกหรือคอท่อส่วนที่ติดกับฝาครอบนั้นแตกดังเช่นของรถในปัจจุบัน)   กับอีกเรื่องหนึ่ง คือ ตัวกรีบของรังผึ้งปริ ซึ่งมักจะมาจากการถูกไม้เสียบ หรือมาจากการกัดกร่อนของน้ำตามความเก่าของรถ  (รถที่ใช้งานกันในสมัยก่อนนั้น ไม่มีการใส่น้ำยาเพื่อกันสนิมและกันการกัดกร่อน ด้วยที่มันเป็นของวัสดุเพิ่มเติมพิเศษที่มีราคาค่อนข้างสูง)     

เรื่องแรก แก้ด้วยการใช้ผ้าพัน รัดให้แน่น เปิดฝาหม้อน้ำไว้เพื่อลดความดันที่พึงจะต้องมีและต้องใช้ในกระบวนการควบคุมระดับของอุณหภูมิของน้ำที่ใช้หมุนเวียนเพื่อลดความร้อนของเครื่องยนต์  จอดรถดูและเติมน้ำเป็นระยะๆตามสมควรแก่เหตุ เพื่อมิให้เครื่องยนต์ร้อนจัดเกินไปจนทำให้เกิดฝาสูบโก่ง   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ค. 21, 18:50
เรื่องที่สอง หม้อน้ำรั่วจากการถูกไม้เสียบ  เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะต้องขับรถลุย  ซึ่ง..บ้างก็เป็นเรื่องของการหลบบ่อ/หลุมโคลน บ้างก็เป็นเรื่องต้องลุยไปในดงที่เป็นลักษณะ bush เช่น ดงต้นต้นสาบเสือ ดงต้น(ไผ่)เพ็ก และข้ามต้นไม้ที่ล้ม....    ก็แก้ไขโดยการใช้คีมบีบกลีบท่อนำน้ำระหว่างฝาครอบด้านบนกับฝาครอบด้านล่าง  ซึ่งก็จะไปทำลายครีบระบายความร้อนบางจุด     หากได้ทันเห็นหน้าหม้อของพวกรถขนซุงก็อาจจะนึกภาพออกถึงสภาพของหม้อน้ำของรถเหล่านั้น ก็เกือบจะเป็นรถทุกคันกระมังที่เคยประสบกับเรื่องของหม้อน้ำรถรั่วเพราะถูกไม้เสียบ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ค. 21, 19:15
มาถึงเรื่องของ น้ำมันเบรค 

น้ำมันเบรคจะอยู่ในกระปุกพลาสติคสีนวลตั้งอยู่บนหม้อลม(ทรงคล้ายกระทะ)สีดำๆที่แปะติดอยู่ด้านคนขับรถ ในกระปุกจะมีน้ำมันใสๆสีขาว หรือสีฟ้า หรือดูเป็นสีครีม ข้างกระปุกจะมีขีดบอกระดับน้ำมันเบรคสูงสุดที่พึงมี (Max) และระดับต่ำสุดที่พึงมี (Min)   

เรื่องที่ต้องมีการระมัดระวังเป็นอย่างแรกๆและอย่างมากๆก็คือ น้ำมันเบรคนั้นมันกัดสีรถให้เป็นจุด เป็นดวง หรือเป็นทาง ตามจุดที่มันหยดไปถูกส่วนที่เป็นสีของรถ จะถูหรือจะขัดออกก็ดูจะลบรอยได้ไม่หมดด้วยที่มันกัดผิวค่อนข้างจะลึกลงไป

โดยนัยแล้ว  สำหรับรถในสมัยปัจจุบันนี้ เราเกือบจะไม่ต้องไปสัมผัสหรือไปเปิดฝากระปุกมันเลย  เพียงแต่ต้องรู้จักและพอจะมีความเข้าใจกับเรื่องราวที่มันสื่อสารกับเรา     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ค. 21, 18:24
ระบบเบรคจะใช้กระบอกดันน้ำมันที่เราเหยียบลงไป เรียกกันตามประสาช่างว่า แม่ปั้มเบรค ไปดันน้ำมันในอีก 4 กระบอก ที่อยู่ตามล้อทั้ง 4 ซึ่งตามประสาช่างนิยมเรียกกันว่า กระบอกเบรค  ในกระบอกทั้งหลายนี้จะมีการใช้ลูกยาง/แหวนยางเพื่อกันไม่ให้น้ำมันเบรคทะลักออกมา  เมื่อใช้นานๆมากเข้า ลูกยางและแหวนยางซึ่งขยับครูดไปมากับตัวกระบอกที่เป็นโลหะก็จะสึก น้ำมันเบรคก็จะไหลซึมออกมา ซึ่งจะไปทำให้ระดับน้ำมันในกระปุกน้ำมันเบรดลดลง   อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อมีการเบรครถมากเข้า ตัวผ้าเบรคก็จะสึก ทำให้ความหนาของผ้าเบรคบางลง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ระดับน้ำมันเบรคในกระปุกลดต่ำลง (ไม่ขยายความต่อนะครับ)

ระดับน้ำมันเบรคในกระปุกสำหรับระบบเบรคที่ใหม่และสมบูรณ์ จะลดระดับลงน้อยมากๆในระยะเวลาหลายๆเดือน (เว้นแต่จะเป็นนักนิยมขับรถแบบกระโชกกระชาก ออกรถแรงเร็ว-เบรคกระชั้นชิดแบบหัวทิ่ม)  การค่อยๆลดลงในช่วงเวลานานบ่งบอกว่าเกิดมาจากการสึกหรอของผ้าเบรค ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน     แต่หากระดับลดลงต่อเนื่องจนเห็นได้ชัด (เช่น ทุกๆสัปดาห์หรือสองสัปดาห์) นั่นแสดงว่าน่าจะมีการรั่วซึมของน้ำมันเบรคที่กระบอกเบรคแห่งใดแห่งหนึ่ง  ควรจะรีบเอารถไปเข้าอู่ให้ช่างเขาตรวจเช็คโดยเร็วมากๆ อาการเช่นนี้ไปถึงจุดแตกหักได้เร็วมากและอย่างคาดเดาไม่ได้  ที่เรียกกันว่ารถเบรคแตกก็มักจะมาจากเรื่องนี้   ซึ่งก็ขอให้คำแนะนำว่าควรจะต้องทำพร้อมกันไปทั้งระบบเลย ไม่คุ้มค่าที่จะประหยัดเงินซ่อมเฉพาะจุดที่เสีย         


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ค. 21, 19:11
สำหรับรถที่ใช้แบบสมบุกสมบันในพื้นที่ทุรกันดาร ต้องลุยน้ำลุยโคลน มีโอกาสที่จะพบกับเหตุการณ์กระบอกเบรครั่วซึมได้ไม่ยากนัก   ที่ได้กล่าวไว้แต่ต้นว่าตะปูเป็นอีกส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่ต้องมีไว้ประจำรถนั้น ก็คือใช้เป็นตัวอุดน้ำมันที่ข้อต่อของท่อน้ำมันโลหะส่วนที่จะเดินไปยังจุดที่มีปัญหา     

ตัวผมเองมีความกังวลไม่มากนักในเรื่องของเบรครถเมื่อใช้รถในพื้นที่ป่าเขา หากว่าเป็นการใช้รถประเภท 4x4  เพราะเราสามารถควบคุมรถได้ด้วยการใช้เกียร์ปกติกับเกียร์สโลว์ ผนวกด้วยใจที่เย็นๆของเรา  ด้วยการใช้ความเข้าใจในเรื่องของวิธีการเปลี่ยนเกียร์จากเกียร์สูงมาเป็นเกียร์ต่ำด้วยจังหวะของรอบเครื่องยนต์(การใช้คันเร่ง)ที่เรียกว่าการเบิ้ลเครื่อง และการเหยียบคลัชที่เรียกว่าการย้ำคลัช   ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่รถที่จะใช้ในพื้นที่ทุรกันดารจึงไม่ควรจะเป็นรถที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ค. 21, 19:36
สีของน้ำมันเบรคในกระปุกก็บอกเรื่องราวเหมือนกัน สีของมันควรจะต้องใส ไม่ควรจะมีสีคล้ำออกไปทางดำ สีที่ออกไปทางขุ่นดำแสดงถึงการที่ไม่ได้มีการใส่ใจดูแลระบบเบรคโดยช่างหรือโดยศูนย์ใดๆเลย คือไม่มีความละเอียดในการทำงานและไม่มีความเข้าใจถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ใช้เลย

ผมเห็นว่า เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง  หากรถของเราใช้วิ่งมาได้ระยะทางประมาณ 5 - 60,000 กม.แล้วโดยที่ยังไม่เคยตรวจเช็คครั้งใหญ่เลย ก็น่าจะลองนึกถึงการเอารถเข้าศูนย์ ให้เขาเปลี่ยนถ่ายของเหลวทั้งหมด รวมทั้งตัวที่ใช้กรอง(ใส้กรอง)ของเหลวนั้นๆ  แล้วจะรู้สึกว่าคล้ายกับได้ขับรถใหม่อีกครั้งหนึ่ง  เช่นกัน เมื่อซื้อรถมือสองมาก็พึงทำเหมือนกัน 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ค. 21, 18:45
เป็นข้อพึงทราบไว้เรื่องหนึ่งว่า เครื่องยนต์และกลไกที่ต้องมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลาของรถยนต์โดยทั่วไปนั้น เมื่อรถได้ใช้งานมาแล้วประมาณ 200,000 - 250,000 กม. ก็จะเริ่มมีการเสื่อมและการชำรุดอย่างเป็นจริงเป็นจัง (หลวม)  เริ่มพ้นจากช่วงเวลาของการปรับแต่ง/ปรับปรุง ไปสู่การซ่อมเปลี่ยน แล้วก็ไปสู่การเปลี่ยน/ดัดแปลงในที่สุด   

ระยะทางดังกล่าวนี้ ได้มาจากประมาณการของการใช้รถของคนที่เดินทางไปใหนมาใหนตามปกติ คือเฉลี่ยปีละประมาณ 20,000 กม. ซึ่งมีจัดเแบ่งเป็นเกณฑ์อันพึงปฏิบัติของแต่ละช่วงเวลา เช่น การเปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุกๆ 10,000 กม. ซึ่งก็คือปีละครั้ง การเปลี่ยนถ่ายของเหลวทุก 40,000 กม. ซึ่งก็คือสองปีครั้ง .......เป็นต้น   

อายุการใช้งานของรถจึงมักจะถูกกำหนดไว้ที่ประมาณ 10 ปี   ต่อจากนั้นก็จะกลายเป็นรถเก่า หรือ รถเก่า โฉม... รุ่นปี...


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ค. 21, 19:25
น้ำมันเครื่องเป็นเรื่องที่ควรจะต้องมีการตรวจสอบทุกครั้งที่ควรจะทำในตอนเช้าทุกวันหลังจากที่ได้มีการใช้รถเดินทางไกลหลายๆชั่วโมงต่อเนื่องกันมาในวันก่อน     

ตามปกติแล้ว ระดับของน้ำมันเครื่องเกือบจะไม่ลดลงให้สังเกตเห็นได้เลยหากเครื่องยนต์ยังคงแน่นอยู่    ในกรณีเป็นรถที่ใช้น้ำมันเบ็นซิน หากสังเกตเห็นได้ค่อนข้างชัดๆเมื่อได้ใช้รถในระยะทางสักประมาณ 3-5,000 ก็ควรจะนำรถเข้าศูนย์เพื่อตรวจสอบได้แล้ว     แต่หากเป็นรถที่ใช้เครื่องดีเซล และไม่ได้ลดลงไปถึงขนาดต้องเติมเกินครึ่งลิตร ก็มิใช่เป็นเรื่องที่น่าจะต้องตกใจ เพียงแต่ต้องคอยสังเกตต่อไป

ก็คงจะไม่ขยายความต่อไปถึงข้อสังเกตประกอบอื่นๆ เช่น สีของควันจากท่อไอเสีย สีของน้ำมันเครื่อง เสียง ฯลฯ   ซึ่งข้อสังเกตเหล่านี้ คนที่เป็นช่างจะถามเพิ่มเติมเพื่อการบ่งบอกจุดหรือกลไกที่เสียหาย         


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ค. 21, 20:14
ก็มีอีกเรื่องหนึ่งว่า น้ำมันเครื่องที่เราเห็นที่ปลายเหล็กวัดระดับนั้น  หากเป็นน้ำมันที่เปลี่ยนมาใหม่มันจะใส แต่หากเป็นน้ำมันที่ได้เติมใช้แล้วมาระยะหนึ่ง มันจะต้องมีสีไปทางสีดำ  ซึ่งนั่นแสดงถึงว่าเครื่องยนต์ทำงานเป็นปกติ    น้ำมันเครื่องสีดำมิได้หมายความว่ามันหมดอายุการใช้งาน อายุการใช้งานของมันดูได้ความหนืด ซึ่งเราวัดเองไม่ได้   เราก็เพียงเปลี่ยนถ่ายมันไปตามระยะเวลาที่เขากำหนดเท่านั้นก็พอแล้ว

สีของน้ำมันเครื่องสีเดียวที่บ่งบอกถึงความไม่ชอบมาพากลของระบบเครื่องยนต์ ก็คือสีน้ำตาลหรือสีกากี ซึ่งแสดงว่าน่าจะมีน้ำรั่วซึมเข้าไปในระบบ อาจจะมาจากเรื่องของประเก็นที่อยู่ระหว่างเสื้อสูบกับผาสูบชำรุด(แตก) หรือฝาสูบได้ถูกตะกรันน้ำกัดกร่อนจนเสียหาย หรือฝาสูบโก่งเนื่องจากเคยเกิดกรณีน้ำในหม้อน้ำแห้งก็เป็นได้   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ค. 21, 17:30
เรื่องสีของน้ำมันปนน้ำนี้ เกิดได้ทั้งกับน้ำมันเครื่องและน้ำมันเฟืองท้าย  สำหรับรถที่ใช้ในพื้นที่ป่าก็จะปากฎกับน้ำมันเฟืองหน้าและเกียร์(บางครั้ง)อีกด้วย   ซึ่งก็มักจะพบในพวกรถที่ต้องขับลุยน้ำระดับสูง หรือหรือติดหล่ม/หลุมโคลนบ่อยครั้ง หรือที่ต้องจอดแช่ในน้ำรอจังหวะรอเวลา     ในกรณีน้ำมันเครื่อง น้ำจะถูกชักเข้าแคร๊งค์น้ำมันเครื่องตามร่องเกลียวของเพลาข้อเหวี่ยง(ที่มีไว้เพื่อช่วยกันไม่ให้น้ำมันเครื่องไหลซึมออกไป)ด้านหน้าของเครื่องยนต์ที่มีจานมู่เล่ย์ขับสายพาน  ส่วนที่น้ำเข้าเฟืองท้ายและเฟืองหน้านั้น มักจะเกิดจากซีลยางกันน้ำมันของเดือยหมูเสื่อมสภาพ

ท่านที่นิยมการขับรถในพื้นที่ทุรกันดารในช่วงฤดูฝนทิ้งช่วง หรือช่วงปลายฝนต้นหนาว อย่าลืมเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่นเหล่านี้เมื่อกลับเข้าเมืองแล้วนะครับ 

ขออภัยที่เลือกใช้คำศัพท์ที่ช่างซ่อมรถคนไทยนิยมใช้กัน   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ค. 21, 18:18
ทำให้นึกถึงอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเราเอารถไปเปลี่ยนยาง ร้านก็มักจะถามว่าจะตั้งศูนย์ด้วยหรือไม่ ซึ่งส่วนมากก็จะตอบว่าไม่  ก็เป็นคำตอบที่ควรจะใช่และไม่ใช่   เรื่องก็มีอยู่ว่า ในการตั้งศูนย์ล้อนั้น ช่างจะต้องตรวจดูความหลวมของลูกหมาก(ball joint)ต่างๆก่อนที่จะทำการตั้งศูนย์ เมื่อรถของเรามีอายุการใช้งานมากกว่า 5++ ปีขึ้นไป ลูกหมากหลวมก็เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะจุดที่เรียกกันว่าลูกหมากปีกนก ซึ่งมีสองตัว(บนและล่าง)  แต่ช่างส่วนมากมักจะให้ความสนใจตรวจดูพวกลูกหมากคันชักคันส่งเสียมากกว่า (ระบบเชื่อมการบังคับล้อคู่หน้าให้ขยับไปมาพร้อมๆกัน)   การเสื่อมและหลวมของพวกลูกหมากเหล่านี้ เรามักจะเชื่อว่าอู่ขาประจำหรือศูนย์จะตรวจสอบและเปลี่ยนของแท้ให้มากกว่าที่จะให้ทำโดยร้านขายยางรถ  จึงเกิดความขัดแย้งในความเชื่อมั่นและความใว้ใจระหว่างการให้ช่างที่มีประสบการณ์และมีความสันทัดกรณีต่างกันฝ่ายใดเป็นผู้ดำเนินการ

ตัวผมเอง ด้วยที่พอจะมีความรู้เล็กน้อยๆทางช่าง เลือกที่จะใช้อู่ที่มีความคุ้นเคยกันมากๆให้เป็นฝ่ายดำเนินการ  เลือกเขาเพราะเขามีความละเอียดในการทำงาน มีการใช้เครื่องมือที่ตรงกับเรื่องที่ต้องทำ มิใช่มีแต่จะคิดตะบันด้วยการตอก/ตีด้วยฆ้อน         


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ค. 21, 19:09
ก็มาถึงเรื่องน้ำมันเกียร์  ซึ่งมีเรื่องค่อนข้างจะสำคัญมากที่พึงทราบสำหรับคนที่ใช้รถเกียร์อัตโนมัติ  และเห็นว่าเป็นเรื่องที่เราจะเป็นผู้ที่ต้องลงมือเอง

ตามหลักการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันของพวกรถเกียร์อัตโนมัติ คือ ปล่อยออกมาเท่าใดก็ใส่ของใหม่กลับคืนเข้าไปเท่านั้น   แต่ในการดำเนินการจริงของช่างต่างๆ เราจะไม่เห็นว่ามีการดำเนินการตามหลักการนี้เลย   ซึ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องตามมาก็จะมีเช่น น้ำมันมากไปหรือน้อยไปต่างก็ทำให้ประสิทธิภาพของการขับเคลื่อน(ถ่ายกำลัง)ลดลง  มีเรื่องของโอกาสที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบเกียร์อย่างรวดเร็ว  มีเรื่องของความไม่สะดวกในการวัดระดับความพอดีของน้ำมัน ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำมัน และการวัดระดับความพอดีจะต้องทำในระหว่างที่เครื่องยนต์กำลังเดิน(ติด)อยู่     ก็มีรถของบางผู้ผลิตที่ออกแบบอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับมัน


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ค. 21, 19:35
ใช้รถเกียร์ออโต้มันก็มีความยุ่งยากของมัน แต่หากเราใช้ตามถนนหนทางในเมืองหรือระหว่างเมืองก็ไม่ต้องไปมีความกังวลใดๆ   ที่จะต้องมีความพิถีพิถันกับเรื่องที่เกี่ยวกับน้ำมันเกียร์ออโต้มากหน่อยก็จะเป็นพวกรถที่ใช้เดินทางไกลบ่อยๆ และที่ใช้ขึ้นภู/ขึ้นดอยไปเที่ยวตามรีสอร์ทต่างๆ ซึ่งอาการที่มักจะพบกันก็คือไฟแสดงความร้อนของน้ำมันเกียร์  ก็ดูจะมาจาก 3 เรื่องเป็นหลัก คือ ระบบการระบายความร้อนไม่ดี (น้ำยาที่ผสมน้ำใส่ในหม้อน้ำเสื่อม?  หรือไม่ได้ใส่ผสมเข้าไป? หรือแผงระบายความร้อนของระบบน้ำมันไฮดรอลิกส์ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ?)  เรื่องของลักษณะการขับขี่ในพื้นที่ลาดชัน (ใช้วิธีการเร่งเข้าไป อัดเข้าไป เอาไว เอาเจ๋งเข้าว่า)  และเรื่องของความไม่พอดีของปริมาณน้ำมันเกียร์ (วิธีการวัดไม่ถูกต้อง)   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ค. 21, 18:01
ก็ยังมีเรื่องที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ที่น่ารู้หรือน่าจะทบทวนความจำอีกพอควร แต่คงจะเริ่มไม่สนุกกับเรื่องราวกันแล้ว   เอาเป็นว่ารถพร้อมแล้ว ออกเดินทางกันได้

ก็มีเรื่องเล็กๆน้อยๆที่จะเล่าความจากนี้ต่อไป เป็นเรื่องที่ได้เรียนรู้มาทั้งจากที่ได้รับการถ่ายทอดและที่ได้ประสบด้วยตนเอง  คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ควรแก่กรเก็บไว้ในลิ้นชักความรู้บ้าง   

เรื่องแรก เมื่อแรกติดเครื่องยนต์ในตอนเช้า ก็พึงทิ้งให้เครื่องยนต์มันติดแบบไม่ต้องเหยียบคันเร่งสักสองสามนาทีก่อนที่จะใส่เกียร์ขับรถออกไป อย่างน้อยสักหนึ่งนาทีก็ยังดี  เหตุผลก็เพียงเพื่อให้น้ำมันเครื่องได้ถูกสูบฉีดเข้าไปหล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆได้เต็มที่ทั้งหมดแล้วหรือพอสมควรแล้ว  ที่จริงแล้วเรารู้ว่าการหล่อลื่นมันพร้อมแล้วได้จากการฟังเสียงและจากอาการสั่นหรือสะดุดของเครื่องยนต์


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ค. 21, 19:03
เมื่อจะเดินทางไกล ก็พึงต้องปรับแต่งเบาะนั่งให้อยู่ในท่านั่งขับที่สบายที่สุด ปรับกระจกมองหลังในรถและกระจกมองข้างรถให้สามารถมองเห็นภาพได้ในมุมมองที่กว้างที่สุด  แล้วเช็ดกระจกทั้งหมดเหล่านั้นให้สะอาด

กระจกหน้ารถควรจะมีการล้างและเช็ดให้สะอาดก่อนการเดินทางใดๆ    กระจกหน้าและหลังของรถที่ใช้งานมานานแล้วจะมีคราบน้ำมันและ Hydrocarbon ต่างๆติดทับถมกันอยู่  อาการสำคัญที่บอกถึงสภาพก็คือ ปัดน้ำฝนปัดไปปัดมาแบบฝืดๆ    ซึ่งการแก้ไขในปัจจุบันนี้จะทำด้วยการใช้น้ำยาที่มีอยู่มากมาย   

ผมใช้ผงซักฟอกผสมน้ำ ใช้ผ้าฝ้ายเนื้อหยาบหรือผ้าขนหนูขัดถู ทำแบบเร็วๆแล้วฉีดน้ำล้างมากๆ ทำซ้ำสองสามครั้ง ก็จะได้กระจกที่ใสสะอาด  จากนั้นก็ใช้พวกสารเคลือบกระจกที่มีวางขายกันทั่วไปเช็ดซ้ำสักสองครั้ง เราก็จะได้กระจกที่ดูใหม่และใสสว่าง   แต่ที่ผมทำบ่อยๆเมื่อไม่มีเวลาจะพิถีพิถันมากนักก็คือ ใช้น้ำยาเช็ดรถผสมน้ำแล้วเช็ด  ก็ใช้ได้ดีพอสำหรับกรณีฝนตกตามรายทางสามสี่ครั้ง

สมัยก่อนนั้น น้ำยาเคลือบกระจกรถยนต์ยังไม่มีขาย หรือจะมี(?)ก็คงจะมีราคาสูงมาก  การแก้ไขปัญหาเรื่องปัดน้ำฝนฝืด หรือปัดแล้วก็ยังมองได้ไม่ดีเพราะกระจกเป็นคราบ ฯลฯ  วิธีแก้ที่ใช้กันก็คือ ใช้บุหรี่หรือยาฉุน ขยี้กับน้ำแล้วขัดถูผิวกระจก ซึ่งก็จะทำให้การปัดน้ำฝนทำได้ดีมากขึ้น คือ ลื่นและสะอาด   นอกจากนั้นก็มีการใช้ยาสีฟันกับผ้าขนหนูขัดเช็ดอีกเช่นกัน   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ค. 21, 19:26
ปรับแต่งสภาพการนั่งขับแล้วก็ไม่ควรจะลืมสภาพความพร้อมของสิ่งของที่ตนเองต้องใช้   ซึ่งจำเป็นที่จะต้องอยู่ในตำแหน่งที่หยิบฉวยได้ง่ายในระหว่างที่ทำการขับรถ  คนที่นั่งคู่กับเราด้านหน้ารถ หากไม่มีอะไรข้างทางน่าสนใจที่จะดู ไม่มีการสนทนาระหว่างกัน...ฯลฯ   สักพักก็มักจะหลับ ซึ่งจะทำให้เราต้องช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น การทำให้เกิดความพร้อมสำหรับตัวของเราเองจึงมีความสำคัญ ก็จะมีอาทิ แว่นตากันแดด น้ำ กาแฟ ผ้าเช็ดหน้า  ยาอม ขนมขบเคี้ยว โทรศัพท์ การตั้งเครื่องเสียง / ระบบ GPS ไว้ล่วงหน้า ...ฯลฯ   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.ค. 21, 18:23
ขับรถออกจากบ้านแล้วก็อย่าลืมดูน้ำมันด้วย  น้ำมันรถควรจะมีอยู่เต็มถังเมื่อออกเดินทางไกล และควรจะมีอยู่ในถังไม่น้อยกว่าประมาณหนึ่งในสี่ของความจุของถังน้ำมันเสมอ    เป็นเรื่องของการพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นมาแบบมิได้คาดคิดไว้    น้ำมันปริมาณนี้ทำให้เราสามารถเดินทางได้ในระยะทางไม่น้อยกว่า 100 กม. ซึ่งหมายความว่า ณ ตำแหน่งใดๆก็ตาม เรามีขีดความสามารถที่จะเดินทางไปยังจุดใดๆก็ได้ที่อยู่ในระยะทางประมาณ 100 กม.  ก็เป็นเรื่องของการลดขีดจำกัดและการช่วยทำให้เรามีความคล่องตัวมากขึ้นในตัดสินใจปรับแผนเปลี่ยนแผนในระหว่างการเดินทางของเรา

สำหรับผู้ที่นิยมทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่รถในพื้นที่ทุรกันดารนั้น ต้องคิดในอีกรูปแบบหนึ่ง คือ น้ำมันที่เติมเต็มถังก่อนเข้าพื้นที่นั้น หมายถึงเป็นน้ำมันที่ควรจะใช้ได้ทั้งขาเข้าไปและออกมา น้ำมันอะไหล่ที่มีติดรถเข้าไปนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะต้องใช้เพื่อให้ครอบคลุมระยะทางเข้า-ออก แต่ก็จะต้องมีให้มากพอที่จะเผื่อไว้สำหรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด      ในประสบการณ์ของผม การเดินทางในพื้นที่ค่อนข้างโหดระยะทางประมาณ 150 กม.  น้ำมัน 70 ลิตร สำหรับรถแลนด์ฯที่กินน้ำมันประมาณ 5 กม.ต่อ 1 ลิตร ใช้ไปเกือบหมดเลยครับ  ดีที่เตรียมสำรองเป็นอะไหล่ แบบทำเพิ่มถังพิเศษใต้เบาะคนขับ 40 ลิตร กับใส่ถังสำรอง 2 ถังละ 20 ลิตร  กะว่าจะลุยให้ไกลตามทางรถป่า กลายเป็นต้องเปลี่ยนเป็นการตั้ง base camp แล้วเดินเอา ก็ดีครับ ได้รายละเอียดมากขึ้นแม้พื้นที่พึงสัมผัสจะลดลง   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.ค. 21, 19:32
ขับรถขึ้นถนนหลวง ใช้ความเร็วแล้ว ก็มีข้อพึงปฏิบัติที่พึงทำอยู่หลายเรื่อง  เรื่องหนึ่งก็คือ พึงคิดและปฎิบัติอย่างเสมอต้นเสมอปลายว่า เราขับรถไปเที่ยวเพื่อการผ่อนคลายทางอารมภ์และจิตใจ  เช่นนั้นแล้วเราจะต้องไปเข้าสนามแข่งขันของความรีบเร่งอีกทำไม    เราสามารถกำหนดได้คร่าวๆว่าควรจะไปถึงจุดใหน ที่ใด เมื่อใด ก็ให้กำหนดเหล่านั้นมันเป็นเพียงการประมาณการอย่างหยาบๆ  ให้มันอยู่ในระดับเพียง accuracy ก็พอ ไม่ต้องไปถึงระดับ precise ที่ต้องเป๊ะไปเสียทุกอย่าง     เดินทางให้มีความสุขกับสิ่งต่างๆที่ได้เห็นตามรายทางและข้างทาง   ในแต่ละปี แต่ละฤดูกาล บนเส้นทางเส้นเดิมๆมันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เล็กน้อยบ้างหรือเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงบ้าง  บางอย่างก็น่าสนใจที่จะแวะชม หรือแวะช่วยซื้อของท้องถิ่นเพื่อช่วยหมุนเศรษฐกิจของชาวบ้าน      หากได้ทำการบ้านล่วงหน้าบ้าง ก็อาจจะได้พบเห็นของดีๆ ของแบบ original  และพวก unseen หลายๆอย่างตามเส้นทาง


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ค. 21, 18:25
การขับรถเดินทางไกลภายใต้ความกดดันของตัวเองในลักษณะของการเป็นภารกิจหนึ่งเดียวที่ต้องทำ คือออกจากจุดหนึ่งก็จะต้องรีบไปให้ถึงอีกจุดหนึ่งเพื่อจะได้ทำอีกเรื่องหนึ่งนั้น ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดแก่ผู้คนจำนวนค่อนข้างมาก  ก็เลยทำให้เกิดความนิยมที่จะไปใช้เครื่องบินแทน ด้วยเหตุผลในทำนองว่าประหยัดเวลา(หรือจะให้เสียเวลาเดินทางไปทำไม)     

ผมมองในมุมว่า สิ่งที่เราได้เห็นและได้สัมผัสในลักษณะเป็นจุดๆกระโดดไปกระโดดมาจากการเดินทางในลักษณะนี้ ดูจะไม่ต่างไปจากการนั่งดูภาพถ่าย หรือดูวีดิทัศน์ หรือการไปดูการแสดง หรือไปกินอาหารมื้อใหญ่กันที่ร้านหนึ่งใด   ก็อาจจะกล่าวได้ในลักษณะว่า ก็เพียงได้เห็น ได้รู้จักแต่ไม่เข้าใจในเชิงของสหสัมพันธ์ (correlation) ระหว่างสิ่งต่างๆที่ได้เจอะเจอเป็นจุดๆเหล่านั้น  ความเข้าใจในเชิงของสหสัมพันธ์จะช่วยสร้างให้เกิดความรู้ในเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวข้องกัน จดจำไปได้อีกนาน ก็คือมี sentimental value

ขับรถทางไกลควรจะอยู่ในอารมภ์ที่ผ่อนคลายตลอดเวลา เพื่อลดความเครียดและอุบัติเหตุ   ซึ่งก็มีข้อชี้แนะที่ได้รับถ่ายทอดมาที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ค่อนข้างมาก แม้ว่าจะใช้กันในสมัยหลายสิบปีมาแล้วก็ตาม     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ค. 21, 19:29
เมื่อประมาณปี 2510+นั้น (?)   ระบบดิสเบรคได้เริ่มมีใช้เป็นมาตรฐานสำหรับรถนั่งจากผู้ผลิต แต่อุปกรณ์ช่วยทุ่นแรงในการเหยียบเบรค(หม้อลม) ยังไม่มี (สำหรับรถนั่ง) ถนนสายหลักยังคงเป็นระบบสองทางวิ่งสวนกัน มีการลาดยางและมีใหล่ถนนกว้างมากขึ้น สะพานต่างๆส่วนมากยังคงเป็นแบบรุ่นเก่า(คือไม่มีไหล่ทาง)  ความเร็วเดินทางสำหรับรถต่างๆบนเส้นทางระหว่างจังหวัด อยู่ระหว่างประมาณ 60 - 100 กม.ต่อชั่วโมง 

ก็เลยมีข้อพึงทำที่น่าสนใจในการขับรถบนทางหลวง  เรื่องหนึ่งก็คือ ทุกๆความเร็วแต่ละ 10 กม.ต่อ ชม. เราควรจะต้องเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าประมาณหนึ่งช่วงความยาวของรถของเรา ดังนั้น ที่ความเร็วเดินทาง 80 กม.ต่อ ชม. ก็ควรจะเว้นระยะห่างประมาณ 8 ช่วงรถของเรา หรือประมาณ 25 เมตรเป็นอย่างน้อย    แม้ว่าในปัจจุบันนี้ประสิทธิภาพของเบรครถจะดีมากแล้วก็ตาม การเว้นห่างรถคันหน้าในระยะประมาณดังที่กล่าวก็ยังดูจะเหมาะสมอยู่  มันช่วยให้เรามีเวลาในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทันหันใดๆได้มากพอสมควร     

ผมก็ยังใช้หลักนี้ในการขับรถทางไกลมาตลอดจนปัจจุบัน  ยิ่งอายุมากขึ้น ความว่องไวต่างๆก็ย่อมลดลง การมีช่วงเวลามากพอให้ได้คิดตอบสนองต่อเหตุการณ์อันตรายต่างๆก็จึงมีความสำคัญ     

ขับบน Autobahn ด้วยความเร็ว 130-150 กม.ต่อ ชม. หลักนี้ก็ยังดูใช้ได้ดีอยู่  แต่เมื่อไปถึงระดับ 170+ กม.ต่อ ชม.แล้ว ก็ชักจะไม่มั่นใจในหลักนี้แล้ว ทั้งจากระบบพวงมาลัย ยาง และเบรค    (ช่วงของถนนที่เขาปล่อยฟรีนั้น 170+ ยังต้องอยู่เลนในสุดเลย  เขาแซงกันฉิวๆ คงจะต้องมากกว่า 200 กม.ต่อ ชม.)


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ค. 21, 18:40
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เมื่อจะแซงรถ ก็จะต้องมองเห็นถนนข้างหน้าว่าว่างเป็นระยะทางไกล เปิดไฟเลี้ยวบอกว่าจะขับข้ามเลน เร่งเครื่องแซงให้พ้นอย่างรวดเร็ว พ้นไปจนเห็นรถที่เราแซงมาได้ทางกระจกส่องหลัง(ภายในรถ) แล้วจึงยกไฟเลี้ยวบอกว่าจะขับกลับเข้าเลนเดิม  ข้อพึงกระทำเหล่านี้ผมได้ไปประสบว่าเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบความรู้เพื่อการมีใบขับขี่รถใน ตปท.ด้วย แม้ว่าเหตุผลของการพึงกระทำในการแซงรถที่ผมรู้มาแต่ก่อนโน้นจะต่างออกไป แต่ดูจะยังเป็นเรื่องที่ทันสมัยอยู่ในปัจจุบัน   การเร่งเครื่องแซงให้พ้นโดยเร็วก็เพื่อเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในหลายๆกรณี หากไม่เร่งเครื่องแซงให้พ้น การแซงนั้นก็จะอยู่ในรูปของการขับรถแบบคู่ขนาน (ตีคู่)  หากรถคันที่เราจะแซงหรือรถเราเองต้องหลบอะไรบางอย่างๆกระทันหัน (สุนัข ก้อนหิน หลุมบ่อ มีอะไรโผล่ขึ้นมาจากข้างทางอย่างรวดเร็ว ...) ก็จะไปกระทบอีกคันหนึ่ง    ซึ่งเมื่อต่างฝ่ายต่างก็ระวังไม่ให้เกิดการเบียดกัน แต่แรกต่างก็พอจะบังคับรถให้ไปในทิศทางเดียวกันได้ แต่ด้วยความต่างของความเร็ว ลักษณะของรถ น้ำหนักรถ ความสามารถของผู้ขับ ...ฯลฯ  การกลับเข้ามาในลู่ใหม่ต่างก็จะไม่ค่อยนุ่มนวล/ราบเรียบ ก็จะเกิดการกระทบกันเกิดเป็นอุบัติเหตุได้ง่ายๆ และก็ดูจะเป็นในลักษณะของการกระเด็นไปคนละทิศละทาง 

ในหลายๆกรณี ก็เปลี่ยนสภาพจากขับรถแซงกันไปเป็นการขับรถแข่งกัน  เป็นการแกล้งกัน เป็นการประลองความสามารถ จบด้วยเรื่องการปาดหน้ากันแล้วมีเรื่องกัน    ก็ขับรถด้วยใจที่เย็นนะครับ ไม่จำเป็นต้องไปรับเอาความโกรธใดๆจากคนที่ขับรถคันอื่นๆ เอามาเป็นสาระให้เราต้องร่วมไปมีอารมภ์ร่วมในความโกรธนั้นๆของเขา  อยู่ในรถคนละคัน เขาจะพูดเช่นใดอย่างไรเราก็ไม่ได้ยิน เป็นเรื่องทุกข์ของเขา ไม่จำเป็นต้องกระเสือกกระสนเอาเข้ามาให้เป็นทุกข์ของเรา 

เรื่องของการแซงรถนี้ ในบางครั้งก็เป็นเรื่องของดวง ช่วยไม่ได้จริงๆ  ผมเคยขับรถแซงรถบรรทุกอ้อย พอรถขึ้นแซงเทียบเสมอกัน ยางของรถอ้อยก็ระเบิดตูมเลย  บนถนนลูกรังที่ไม่สามารถจะใช้ความเร็วได้ แถมรถของเราเองก็ยังหนักและมีอัตราเร่งค่อนข้างต่ำมาก  ในหัวนึกได้อย่างเดียวว่า อย่าล้มมาทางเรานะ ก็ได้เพียงเท่านั้นเอง     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ค. 21, 19:34
การแซงรถบนสะพานก็เป็นเรื่องที่ไม่พึงทำ  แต่ก่อนนั้นก็เป็นเรื่องของความแคบของสะพาน และที่บริเวณคอสะพานมักจะเป็นที่ขึ้น-ลงของสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย (วัว ควาย สุนัข) รวมทั้งการใช้ของพวกจักรยาน มอเตอร์ไซด์ และเครื่องจักรกลการเกษตร   ในยุคสมัยที่เก่าแก่กว่านั้น บริเวณคอสะพานโดยส่วนมากจะเป็นที่ขึ้นลงของเกวียนซึ่งเขามีเส้นทางขนานไปตามถนนหลวงต่างๆ    การขับรถในสมัยก่อนนั้นจึงต้องมีการชะลอความเร็วเมื่อจะต้องข้ามสะพาน ประกอบกับการที่มีตะพักรอยต่อระหว่างถนนกับคอสะพานที่มีระดับต่างกันค่อนข้างมากอีกด้วย สภาพเหล่านี้ทำให้ต้องมีการชะลอรถเมื่อต้องข้ามสะพาน การแซงรถบนสะพานจะต้องมีความระวังอย่างสูง ก็คงทำให้ไม่เป็นการดีนักหากบริเวณสะพานจะมีรถสองคันมะรุมมะตุ้มกันอยู่ โดยเฉพาะในถนนหลวงที่มีรถวิ่งไปมาด้วยความเร็ว

แท้จริงแล้ว ในปัจจุบันนี้ ภาพดังกล่าวของการใช้สะพานแต่ดั้งเดิมก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่พื้นผิวของสะพานมีความกว้างมากขึ้น มีใหล่ทางบนสะพาน  และมีคอต่อระหว่างถนนกับสะพานที่ต่อเชื่อมกันอย่างราบเรียบ  กระนั้น พื้นที่ๆมีสะพานก็ยังคงเป็นบริเวณที่มีการข้ามฝั่งถนนของชาวบ้านและกิจกรรมทางเกษตรกรรมที่ต้องมีการข้ามถนน เพราะว่าพื้นที่เกษตรกรรมผืนเดิมถูกผ่าออกไปโดยเส้นทางถนน   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ค. 21, 17:33
เรื่องไหล่ถนนที่ได้กล่าวถึงนั้น  แต่ก่อนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องให้ความใส่ใจในการระวังค่อนข้างมาก เพราะมักจะมีอะไรพรวดพราดออกมาค่อนข้างจะบ่อย เช่น สุนัข วัว ควาย เด็กวิ่งเล่น จักรยาน และการข้ามถนนต่างๆ เป็นต้น   ในปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องให้ความใส่ใจอยู่ดี แต่จะเป็นเรื่องของการข้ามถนนเป็นหลัก  ก็ต้องคอยสังเกตดูบริเวณข้างทางส่วนต่อระหว่างไหล่ทางที่ลาดยางกับพื้นดินที่มีสีอ่อนๆหรือขาวเด่นออกมา เพราะจะเป็นจุดที่ชาวบ้านเขาใช้ข้ามทาง ซึ่งก็จะต้องให้การระวังให้มากเป็นพิเศษในบางช่วงเวลา ก็จะมีในตอนเช้าช่วงเด็กไปโรงเรียนและมีการติดตลาดสดยามเช้า  จะมีในช่วงเวลาโรงเรียนในช่วงตอนบ่าย นักเรียนกลับบ้านกัน  และก็ในช่วงเวลากลับจากงานทำสวนทำนาของชาวบ้านในตอนเย็น 

ข้อสำคัญเรื่องหนึ่งก็คือ ความเร็วของการเคลื่อนที่ระหว่างรถของเรากับสิ่งที่เราเห็นว่ามันเคลื่อนที่อยู่ข้างทางนั้นมันค่อนข้างจะหลอกตา ซึ่งจะทำให้การตอบสนองของเราต่อเหตุการณ์ใดๆที่ควรจะเป็นเรื่องที่นุ่มนวลตามปกติ แปรไปเป็นเรื่องในลักษณะของการต้องตอบสนองแบบกระชั้นชิด เฉียดฉิว 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ค. 21, 18:46
เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ควรจะต้องบันทึกไว้ในความจำ คือเรื่องของการใช้เบรครถ     

ระบบการชะลอความเร็วของรถ โดยหลักการก็คือการเปลี่ยนพลังงานจลไปเป็นพลังงานความร้อน    อุปกรณ์สำคัญที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็จะมี จานเบรค ทำด้วยเหล็กหล่อ(โลหะผสม)   มีผ้าเบรค ซึ่งทำมาจากวัสดุผสมหลายชนิด   และก็มีน้ำมันเบรคที่ต้องมีคุณสมบัติทนความร้อนได้สูงมาก   ที่สำคัญก็คือ ผ้าเบรคจะสึกหรอได้มากกว่าจานเบรคมากๆ รวมทั้งวัสดุที่ใช้ประกอบมันขึ้นมาก็สามารถจะหลอมรวมกันได้เมื่อได้รับความร้อนที่สูงพอ   

ดังนั้น ในกรณีขับรถลงพื้นที่ลาดชันมาก หรือการลงเขาค่อนข้างชัน หรือการลงในระยะทางที่ยาว  หากเราเหยียบเบรคตลอดเวลาเพื่อการชะลอความเร็ว มันก็จะยังผลให้ส่วนผสมของผ้าเบรคส่วนที่เป็นหน้าสัมผัสกับจานเบรคหลอมเข้าด้วยกัน มีลักษณะคล้ายกระเบื้องเคลือบ ทำให้ขาดคุณสมบัติในการเปลี่ยนถ่ายพลังงาน ภาษาทางช่างเรียกกันว่าผ้าเบรคใหม้ เพราะจะได้กลิ่นใหม้โชยออกมาด้วย  ประสิทธิภาพของการเบรคจะลดลงค่อนข้างมากเลยทีเดียว    ทั้งนี้ การใช้เบรคในระหว่างการลงทางลาดชันจะทำให้เกิดความร้อนที่กระทะล้อสูงมากเสมอ ซึ่งสำหรับรถรุ่นใหม่ๆก็ไม่มีเรื่องอะไรจะต้องไปกังวลนัก  ต่างกับสมัยก่อนที่เมื่อขับลงเขาเรียบร้อยแล้วก็มักจะต้องหาที่หยุดพักเพื่อให้จานเบรคได้คลายความร้อน   

ก็มีวิธีการที่พึงกระทำเพื่อให้เกิดความปลอดภัยที่ยังมีความเป็นจริงอยู่


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ค. 21, 19:21
หลักก็มีอยู่ว่า ลงเขาด้วยความเร็วต่ำ ใช้เบรคในลักษณะ เหยียบปล่อย เหยียบปล่อย   พร้อมๆไปกับการใช้เกียร์ต่ำ  ซึ่งสำหรับรถที่ใช้เกียร์อัตโนมัติที่ไม่ใช้ระบบเกียร์แบบ CVT ก็อาจจะดึงคันเกียร์มาที่ตำแหน่ง 3 หรือ L หรือ L1 หรืออื่นใด   สำหรับรถที่ใช้ระบบเกียร์แบบ CVT นั้น บางผู้ผลิตก็จัดให้สามารถเลือกใช้ระบบในลักษณะของเกียร์ธรรมดาหรือในระบบอัตโนมัติ     ก็เลือกใช้ตำแหน่งของเกียร์ไปตามความเหมาะสมกับเส้นทาง   ทั้งหลายทั้งปวงของการกระทำใดๆก็เพียงเพื่อให้เบรครถยังคงอยู่ในสภาพที่มีประสิทธิภาพเต็มตามที่มันพึงมี เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ต่อๆไป

มีข้อแนะนำเพียงว่า เมื่อใดที่ได้เคยได้กลิ่นใหม้ของผ้าเบรคของรถของเรา หรือเมื่อใดที่ได้ใช้รถขึ้นลงเขา/ดอยที่สูงชันต่างๆบ่อยครั้ง เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว การนำรถเข้าไปอู่เพื่อตรวจสอบสภาพของผ้าเบรคก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี           


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ค. 21, 18:46
เจาะจงลงไปอีกเล็กน้อยถึงพวกขาลุยแบบพอให้เกิดความเพลิดเพลิน     รถที่เลือกใช้ก็คงจะเป็นพวกรถ SUV ซึ่งมีใต้ท้องรถสูงกว่ารถเก๋ง มีให้เลือกประเภทขับเพียง 2 ล้อหลัง   ประเภทขับ 4 ล้อเมื่อต้องการ (4x4) ซึ่งรถแบบนี้จะมีเกียร์กำลังที่เรียกว่าเกียร์สโลว์อยู่ด้วย   และประเภทขับ 4 ล้อตลอดเวลา (AWD หรือ 4WD)  ยางที่ใช้กับรถพวกนี้ควรจะเป็นพวกที่มีอักษร AT (All Terrain) ซึ่งจะมีดอกยางที่หยาบและขวางไปขวางมามากกว่าพวกยางที่ใช้บนถนนเรียบๆซึ่งโดยทั่วๆไปจะมีอักษร H หรืออื่นๆ เช่น V กำกับต่อจากตัวเลขที่บอกขนาดของยาง

เมื่อใช้รถประเภท SUV ก็ย่อมมั่นใจที่จะขับลงไปบนถนนลูกรัง หรือขับในถนนที่ไม่มีการบดอัดที่ใช้เข้าไร่เข้าสวนต่างๆ  ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดกรณีรถลื่นไถลหรือติดหล่มได้ในบางฤดูกาล  ซึ่งกรณีเกือบทั้งหมดจะเป็นเรื่องของล้อรถหมุนฟรี   

หลักการพื้นฐานที่จะเอารถขึ้นจากหล่มก็คือ กระทำใดๆก็ได้เพื่อให้ล้อที่หมุนฟรีนั้นมันมี friction กับพื้นดิน (มันเป็นกลไกการทำงานขับเคลื่อนของล้อรถยนต์ ที่ทั้งสองล้อจะต้องมี friction กับพื้นผิว)  เมื่อเกิดกรณีขึ้น ความคิดแรกสุดของเราก็คงจะหนีไม่พ้นจากการช่วยกันเข็นรถ   ตามมาด้วยการหาวัสดุมาใส่ใต้ล้อที่หมุนฟรี และสุดท้ายก็จะนึกถึงการลาก     ก็อยากจะให้ลองอีกวิธีการหนึ่งแทนการออกแรงเข็นรถโดยตรง ลองใช้วิธีการโยกรถเพื่อให้ล้อที่หมุนฟรีอยู่นั้นมันมีโอกาสกดลึกเข้าไปในดินเป็นช่วงๆ เพื่อให้ล้อได้มีกำลังฉุด

วิธีการโยกรถนี้ มีการใช้กันค่อนข้างมากในสมัยก่อนโน้นในพื้นที่ๆมีการขุดพลอยของ จ.จันทบุรี และตราด    ด้วยที่เส้นทางคมนาคมระหว่างแหล่งขุดพลอยเป็นถนนที่เละเต็มไปด้วยโคลน คนที่ใช้รถเข้าออกพื้นที่ต่างรู้กันอยู่ว่าเมื่อใดที่ล้อรถเริ่มหมุนฟรี เขาก็จะช่วยกันขย่มรถเพื่อให้มีน้ำหนักกด             


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ค. 21, 19:26
เมื่อกรณีไปถึงจุดที่ต้องใช้วิธีการลาก  ก็มีเรื่องที่จะต้องมีความระวังเป็นอย่างมากๆ เนื่องมาจากอาจจะเกิดกรณีสายลากขาดในระหว่างที่มีการดึงอย่างเต็มกำลัง (สายที่ใช้ลากนั้นคงจะไม่หนีไปจากเชือก ลวดสลิงทั้งแบบไม่มีใส้และมีใส้ใช้เชือก สลิงใยสังเคราะห์ และโซ่)    การขาดของสายลากในขณะที่ใช้กำลังดึงอย่างเต็มที่นั้น ทำให้เกิดการตวัดอย่างแรงมากๆของช่วงปลายสายที่ขาด หากถูกเราก็จะทำให้เกิดการบาดเจ็บและเกิดบาดแผลที่ฉกรรจ์ได้

ก็จึงเป็นข้อที่ต้องพึงระลึกถึงอยู่เสมอว่า เมื่อใดที่มีการลากรถ มีการใช้สายลากรถเมื่อรถติดหล่ม  ก็ควรจะต้องไปหาจุดยืนที่เห็นว่าพอจะเป็นที่กำบังจากการตวัดของปลายสายลากที่ขาดนั้นได้   เสมือนกับหลบหลีกการถูกตวัดด้วยแส้หนังหรือแส้หางกระเบน   เป็นเรื่องที่น่ากลัวและอาจจมีอันตรายถึงชีวิตได้ 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ค. 21, 18:27
ทีแรกว่าจะต่อไปในโซนของเรื่อง off road และ off grid  แต่เกรงว่าจะน่าเบื่อก็เลยจะเว้นวรรคไปสักช่วงหนึ่ง 

เมื่อเราจะเดินทางไปท่องเที่ยวในที่ต่างๆ  การเตรียมตัวของเราเรื่องหนึ่งก็คือการหาความรู้ในวงกว้างอย่างคร่าวๆเกี่ยวกับพื้นที่นั้นๆ จากนั้นก็มักจะเจาะจงลงไปถึงเรื่องของดีประจำถิ่นและแหล่งจับจ่ายซื้อขายของต่างๆ บ้างก็ลงไปถึงระดับชื่อร้านและสถานที่ตั้งเลยก็มี (เช่น ตัวผมเอง  ;D)   แต่ผมชอบที่จะหาอ่านข้อมูลในวงกว้างที่ละเอียดลึกลงไปก่อนที่จะเดินทางไป  (ทั้งในเชิงภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคม ผู้คน วิถิชีวิต ความเป็นอยู่ อาหารการกินที่นิยมของชาวถิ่น ผลิตภัณฑ์สินค้าที่ขึ้นชื่อของท้องถิ่น ...เหล่านี้เป็นต้น)  ซึ่ง สำหรับตัวผมแล้ว เห็นว่ามันเป็นอะไรๆที่ช่วยเพิ่ม/เติมเต็มให้กับการเดินทางในครั้งนั้นๆ  คือมิไช่เพียงแต่เพื่อให้มีภาพของตนกับฉากหลังว่าได้เคยไปยังพื้นที่นั้นๆแล้ว     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ค. 21, 19:38
ก็มีข้อเสนอเพื่อลองทำให้การเดินทางไปเที่ยวในต่างจังหวัดของเราดูมีความน่าสนใจมากขึ้น   

เรื่องหนึ่งก็คือ ชื่อของพื้นที่ต่างๆมันสื่ออะไรบ้าง  เมื่อออกจากบ้าน ดูแผนที่ก็จะรู้ว่าต้องนั่งรถผ่านจังหวัดใดบ้าง อำเภอใดบ้าง  เมื่อขับหรือนั่งรถไป เราจะเห็นป้ายข้างทางถนนหลวงบอกชื่อสถานที่ต่างๆเป็นระยะๆ  แต่ที่น่าสนใจก็คือสะพานที่มีป้ายบอกชื่อคลอง  คลองเหล่านั้นสวนมากจะเป็นคลองที่เป็นลำน้ำตามธรรมชาติ หรือไม่ก็เป็นคลองที่มีการขุดขึ้นมาเพื่อการใดการหนึ่งที่มีความสำคัญต่อชุมชน ต่อเศรษฐกิจ หรือต่อความมั่นคง  ก็คือมักจะมีประวัติและเรื่องเล่าเกี่ยวกับคลองเหล่านั้น  เช่น คลองมะขามเฒ่า (หลวงปู่ศุข) คลองตะเคียน (พระกริ่ง) คลองพระยาบรรลือ (ชลประทาน)   
สำหรับถนนสายรองที่เชื่อมระหว่างอำเภอ ที่น่าสนใจก็จะเป็นเรื่องของชื่อตำบลหรือชื่อหมู่บ้านว่ามันสื่ออะไร  หากต้องเดินทางไปในภูมิภาคต่างๆค่อนข้างมากก็จะพอเห็นว่า ชื่อหมู่บ้านที่นำด้วยคำว่า_นา_นั้น มันให้ภาพของสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมในสมัยก่อนโน้นค่อนข้างมาก 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ค. 21, 18:27
เช่น

บ้านนาไร่เดียว เป็นชื่อที่พบมากในภาคเหนือ  บอกถึงสภาพภูมิประเทศของพื้นที่ๆเป็นหุบเขาแคบๆ แต่มีห้วยที่ให้น้ำได้ในปริมาณที่ค่อนข้างดีและต่อเนื่องนานพอสมควร  แต่แรกเริ่มก็คงมีพื้นที่ถูกถากถางปรับให้เป็นพื้นที่ทำนาได้เพียงเล็กน้อย ต่อมาก็มีการขยายพื้นที่และมีการทำระบบทดน้ำเพื่อส่งน้ำเข้าผืนนาต่างๆ      บ้านนากลาง เป็นชื่อที่พบอยู่ในทุกภาค โดยความหมายของชื่อก็น่าจะบ่งชี้ถึงลักษณะของสังคมและการอยู่ร่วมอย่างสันติสุข

หลายชื่อบ่งบอกถึงลักษณะของพื้นที่และป่าดงดั้งเดิม เช่น นาต้นวิ้ว นาบอน นาป่าหนาด นาป่าพง นาป่าแฝก นาหวาย นามะเฟือง นาบัว ฯลฯ    หลายชื่อบ่งบอกถึงผู้บุกเบิกหรือเจ้าของ เช่น นายายอาม นาตาผาง ฯลฯ    หลายชื่อน่าจะบ่งบอกถึงนาของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น นามอญ นาลาว ฯลฯ     ก็มีหลายๆชื่อที่เดาไม่ออก เช่น นาสาร (จ.สุราษฎร์ธานี) นาทวี (จ.สงขลา) นาบ่อคำ (จ.กำแพงเพชร) นาหม่อม (พิจิตร และ สงขลา)    แล้วก็มีประเภทชื่อที่น่าจะมาจากคำกริยา เช่น นาคาย ซึ่งอาจจะมาจากพืชพรรณไม้ที่ทำให้เกิดการระคายผิวบางอย่าง (ไม้ไผ่บงชนิดที่มีขน_บงคาย  หญ้าคา  สาบเสือ  ฯลฯ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ค. 21, 19:23
ในมุมหนึ่ง ก็จะพอสังเกตเห็นว่า ชื่อตำบลและอำเภอที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "นา" นั้นมีอยู่ทั่วประเทศ  แต่ละแห่งก็ดูล้วนแต่จะเป็นชุมชนใหญ่ที่มีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจของพื้นถิ่นย่านนั้นๆ ซึ่งก็น่าจะเป็นเวลามาช้านานแล้ว จึงได้มีการปรับตั้งให้มีความสำคัญในทางการปกครอง มีการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคให้ดีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหล่านี้ก็พอจะเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่าน่าจะต้องมีของดีอะไรๆแต่เก่าก่อนซ่อนเร้นอยู่      เมื่อเดินทางไปเที่ยวบนเส้นทางที่ต้องผ่านตำบลหรืออำเภอเหล่านี้ ก็น่าจะลองขับผ่านตัวเมืองหรือลองแวะเข้าไปเดินชมเมืองหรือตลาดของเขาเท่าที่เวลาจะพอเอื้ออำนวย   อาจจะได้เห็นอะไรๆที่เป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่น่าสนใจ แม้กระทั่งอาหารตามปกติที่เราคุ้นเคยกินกันที่ใช้เครื่องปรุงเหมือนกัน แต่วิธีการทำหรือการปรับแต่งใส่บางอย่างเพิ่มเติมลงไปได้ทำให้อาหารจานนั้นๆมีความรู้สึกที่อร่อยแตกต่างกันออกไปเลย     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.ค. 21, 18:51
ชื่ออื่นๆของหมู่บ้านและตำบล ก็มีที่บอกเรื่องราวเสี้ยวหนึ่งทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเช่นกัน   ซึ่งหลายแห่งได้ถูกเปลี่ยนชื่อไป จะด้วยความตั้งใจหรือด้วยเหตุอื่นใดก็ไม่ทราบได้ เพราะหลายๆชื่อมิใช่เป็นชื่อที่พึงใช้ตามภาษาถิ่น เช่น บ้านประตูล้อ ใกล้ตัวเมืองเชียงราย ซี่งแต่เดิมเรียกว่า บ้านท่าล้อ  สถานที่นี้ ตามประวัติก็คือเป็นที่พักค้างแรมของพวกเกวียน(ล้อ)ที่เดินทางระหว่างเชียงรายกับเชียงใหม่ เป็นพวกพ่อค้าชาวไทยใหญ่ (ยังมีเชื้อสายตกค้างอยู่ในปัจจุบันนี้) โดยออกจากเมืองเชียงรายทางประตูเชียงใหม่ ผ่านเขต อ.แม่สรวย  อ.เวียงป่าเป้า อ.ดอยสะเก็ด ?? (หรือตัดไปทาง อ.วังเหนือ ??) เข้าเชียงใหม่ทางประตูท่าแพ ??    เส้นทางนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเดินทัพสมัยสมเด็จพระนเรศวรฯอีกด้วย     

ในบางกรณีก็ชวนให้เกิดความน่าสนใจต้องไปค้นคว้าเพิ่มเติม เช่น ที่ตัวเมืองเชียงใหม่เองก็มี ประตูเชียงใหม่ ซึ่งเป็นประตูทางเข้า-ออกของเส้นทางเชื่อมระหว่าง เชียงใหม่ กับ ลำพูน    ??? จะเป็นการสื่อหมายความหรือไม่ว่า ที่ตั้งของเมืองเชียงใหม่แต่แรกเริ่มนั้นอาจจะใช้พื้นที่ของเมืองลำพูนหรือพื้นที่ของเวียงกุมกาม (อยู่บนเส้นทางเดียวกัน) ด้วยว่าเมืองเชียงใหม่อยู่ในระหว่างการสร้าง  หรือในอีกมุมหนึ่ง เมืองเชียงใหม่มีชื่อเดิมอีกชื่อหนึ่ง   ครับ..ก็คงพอจะช่วยให้เห็นช่องของการคิดแบบประหลาดๆในระห่างการเดินทาง ก็แก้ง่วงและช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดแล่นไปกับสิ่งที่ได้พบเห็นตามเส้นทาง 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ค. 21, 18:31
ก็มีชื่อหมู่บ้านที่ถูกเปลี่ยนไปในลักษณะของการเข้าใจเอาเอง ซึ่งบางกรณีก็ทำให้ความหมายและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องสูญหายไป  เช่น บ้านวังปะโท่ ของ อ.ทองผาภูมิ กาญจนบุรี  มาจากภาษากะเหรี่ยงที่หมายถึง ตลิ่ง(ลำน้ำ)ที่สูงชัน  ในแผนที่ภูมิประเทศชุดแรกแสดงชื่อหมู่บ้านนี้ว่า บ้านตำรองผาโท้  ชาวถิ่นและคนในหมู่บ้านเองเรียกว่าบ้านวังปาโท่ เพราะมีคุ้งน้ำใหญ่ มีน้ำลึก(วังน้ำ) ก็เลยเอาคำในภาษากะเหรี่ยงคำว่า พาโด๊ะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชื่อเดิมของสถานที่นั้นมาต่อท้าย แต่ออกเสียงเพี้ยนๆไปเป็น(ปาไท่) ชื่อก็เลยกลายเป็น วังปาโท่   ในช่วงก่อสร้างเขื่อนเขาแหลม มีการเรียกชื่อที่ปรากฎตามป้ายต่างๆกัน (วังปลาโท่ วังปาโท้) จนในปัจจุบันกลายเป็น วังปะโท่  สถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม     

ก็เลยมีบางเรื่องราวที่น่าสนใจ เพราะว่าหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่บนเส้นทางเดินทัพของไทยและพม่าในการสงครามต่างๆระหว่างกัน  มีอาวุธและเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆที่ใช้กันอยู่ในสมัยนั้นๆฝังอยู่เป็นหย่อม หรือเป็นเศษกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป   แม้กระทั่งสิ่งของและอะไรๆต่างๆในสมัยการสร้างทางรถไฟสายมรณะก็มี  ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้ ในปัจจุบันนี้อยู่ใต้น้ำในอ่างน้ำของเขื่อนเขาแหลม   

เรื่องหนึ่งที่อาจจะทำให้เกิดความน่าสนใจก็คือ ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่แถบนี้เป็นพวกที่ใช้ภาษาและสำเนียงต่างไปจากพวกที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ   คำว่า พาโด๊ะ เป็นภาษา/สำเนียงที่ใช้กันในชาวกะเหรี่ยงภาคเหนือ ชาวกะเหรี่ยงภาคกลางและใต้ใช้ว่า พาดู๊   ก็อาจเป็นชนวนชวนให้คิดที่จะไปหาอ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมว่าแล้วมันมาเป็นชื่อที่ใช้เรียกสถานที่นี้ได้อย่างไร อาจจะเริ่มค้นด้วยชื่อ พระศรีสุวรรณคีรี หรือ อำเภอสังขละบุรี  หรือจะต้องไปเที่ยวเพื่อพบปะพูดคุยกับลูกหลานของพระศรีสุวรรณคีรีก็ได้ มากกว่าที่จะรู้สึกว่าเมืองนี้มีแต่ชาวมอญ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ค. 21, 19:13
ต้องไม่ลืมอยู่เรื่องหนึ่งว่าในปัจจุบันนี้ หลายหมู่บ้าน หลายตำบล หลายอำเภอ มิได้ตั้งอยู่บนพื้นที่ดังเดิม ด้วยที่ถูกย้ายไปตั้งเป็นพื้นที่ชุมชนใหม่เนื่องจากอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมของอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆ     หากเราได้ศึกษาข้อมูลของพื้นที่ต่างๆในมุมนี้ก่อนจะเดินทางไปเที่ยวก็เป็นการดีเช่นกัน  ชุมชนที่ต้องย้ายไปอยู่พื้นที่ใหม่/บ้านใหม่เหล่านี้ส่วนมากจะต้องปรับวิถีการดำรงชีพ ซึ่งโดยมากก็จะต้องเปลี่ยนจากหาเลี้ยงชีพด้วยการทำนาไปเป็นการทำเกษตรกรรมในรูปแบบผสมผสานอื่นๆที่น่าสนใจ  ยังผลทำให้ภูมิปัญญาดั้งเดิมต่างๆของชาวบ้านเพื่อการเอาตัวรอดได้ปรากฎออกมา   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.ค. 21, 18:26
ชื่อสถานที่ต่างตลอดลำน้ำแควน้อย จ.กาญจนบุรี ก็มีความน่าสนใจค่อนข้างมาก  อาจจะเป็นเพราะเคยเป็นพื้นที่ๆมีการเดินทัพผ่าน เป็นพื้นที่ๆมีทหารหลายชาติพันธุ์อยู่ในการรบ  มีการตั้งแคมป์พักแรมเป็นระยะๆ  มีการใช้เส้นทางท้้งทางบกและทางน้ำโดยเรือแพ 

ลองสำรวจดู  ชื่อ อ.สังขละบุรี จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าชาวบ้านคนไทยที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ที่ห้วยมาลัย (เป็นหมู่บ้านคนไทย) และชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ในพื้นที่ละแวกนั้น บอกว่าชื่อดั้งเดิมนั้นดูจะเป็นชื่อภาษาไทยว่าเรียกพื้นที่นี้ว่า สามแคว หรือ สามสบ คือเป็นจุดบรรจบของน้ำ 3 สาย ได้แก่ซองกาเลีย บีคลี่ และรันตี  น้ำทั้ง 3 สายนี้คือจัดให้เป็นจุดเริ่มต้นของแม่น้ำแควน้อย แม้ว่าห้วยบีคลี่จะเป็นทางน้ำสายหลักที่มีท้องน้ำลึกและมีน้ำไหลตลอดทั้งปีก็ตาม จุดบรรจบของน้ำสามสายนี้ชาวมอญนิยมเรียกว่า สามแคว แต่พูดได้ไม่ชัด ออกเสียงเป็น แซงแคล แล้วก็เลยกลายเป็น สังขละ  ก็มีความเป็นไปได้เพราะว่าพื้นที่ในย่านของเจดีย์สามองค์นั้นอยู่ในเขตทางสังคมและวัฒนธรรมของคนชาติพันธุ์มอญ (เมืองทะวายและเย)

หากเป็นนักนิยมท่องไพร  เส้นทางเดินเลาะลึกๆเข้าไปตามลำห้วยบีคลี่ก็ไม่เลวนัก มีลำน้ำที่กว้างและไหลเอื่อยๆ มีคุ้งน้ำที่นิ่งสงบ มีป่าที่ยังคงมีความเป็นธรรมชาติ อาจจะได้พบสัตว์บางอย่างที่ไม่ค่อยจะได้เห็นกัน คือ หมีขอ    ก็ยังนึกถึงการเดินไปทำงานลึกเข้าไปตามห้วยเมื่อครั้งกระโน้นอยู่เลยครับ แถวๆ พ.ศ.2525 +/-   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ค. 21, 18:58
เพิ่งเคยได้ยินคำว่า "หมีขอ" ต้องรีบไปค้นดูว่าเป็นตัวอะไร


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.ค. 21, 19:19
เพลินไปหน่อย นึกขึ้นได้ว่า ห้วยบีคลี่ถูกน้ำในอ่างน้ำของเขื่อนเอ่อท่วมไปแล้ว สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันน่าจะมีการพัฒนาเป็นชุมชนเกษตรกรรม รีสอร์ทที่พัก และชุมชนเมืองไปแล้ว  

ในพื้นที่ไม่ไกลไปจากที่ตั้งของตัวอำเภอสังขละบุรีนัก จะมีชื่อ เช่น ไล่ไว่ วังกะ รันตี ซองกาเลีย หนองลู ปรังเผล่ ทิไร่ป่า กองม่องทะ ฯลฯ     ลงมาตามน้ำแควน้อยก็จะมี เช่น บุ(โบ)อ่อง ห้วยเขย่ง วังปะโท่ ปรังกาสี ทุ่งก้างย่าง ลิ่นถิ่น หินดาด กุยมั่ง (เป็นจุดมีพุน้ำร้อนที่ทหารญี่ปุ่นลงไปแช่ในสมัยสงคราม) จันเดย์ ฯลฯ     หากเป็นชุมชนชายน้ำก็มักจะมีชื่อที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ท่า(ท่าน้ำ ท่าลงสินค้า) หรือไม่ก็ด้วยคำว่า วัง (คุ้งน้ำที่มีน้ำลึก มีปาชุกชุม)  พอจะเห็นได้ว่า ชื่อเหล่านี้มีทั้งที่เป็นภาษาไทย ภาษามอญ และภาษากะเหรี่ยง  บ้างก็เดาไม่ออกว่าเป็นภาษาอะไร

เมื่อลงมาถึงแถวน้ำตกไทรโยค ชื่อของสถานที่ก็เริ่มมีความเป็นภาษาไทยเกือบทั้งหมดหรือไม่ก็ผสมกัน(พุองกะ พุถ่อง)  แล้วก็มาเป็นชื่อในภาษาไทย  แต่ก็มีที่ไม่รู้ว่าเป็นภาษาอะไร เช่น ลุ่มสุ่ม ส้มสุ่ย เป็นต้น

ก็คจะพอจะเป็นตัวอย่างนำพาให้การเดินทางบนเส้นทางนี้ไม่รู้สึกว่าเบื่อลงไปได้บ้าง    


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.ค. 21, 19:39
เพิ่งเคยได้ยินคำว่า "หมีขอ" ต้องรีบไปค้นดูว่าเป็นตัวอะไร

ในประสบการณ์ของผม เคยพบเห็น "หมีขอ" เฉพาะแต่ในพื้นที่เทือกเขาตะนาวศรี ในเขตของ จ.กาญจนบุรี  พบที่บริเวณใกล้สันเขาที่มีความชื้นและมีต้นไม้ค่อนข้างหนาแน่น  เคลื่อนไหวคล่องแคล่วแต่ไม่เร็วปรู๊ดปร๊าด ไม่แสดงอาการตื่นกลัวคน  เมื่อเห็นกันแล้วก็ยังทำอะไรๆของเขาอย่างสบายๆต่อไปเรื่อยๆ ดูน่ารักดีครับ 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ค. 21, 18:41
ต่อเรื่องไปอีกสักหน่อย ครับ  อาจจะมีแง่มุมให้คิดในเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว การตั้งหน่วย การจัดกำลังของกองกำลังในสมัยที่ไทยกับพม่ายังมีการสงครามระหว่างกัน 

เมื่อล่องลงมาจากสังขละบุรีมาถึงแถวน้ำตกไทรโยค ชื่อสถานที่ก็มีความเป็นไทยมากขึ้น ฝั่งตรงข้ามของน้ำตกไทรโยคมีลำน้ำที่มีน้ำไหลตลอดปี เรียกกันว่า แม่น้ำน้อย เป็นชื่อลักษณะของภาษาไทยภาคกลาง   เหนือขึ้นไปไม่มากนักติดชายแดนก็จะเป็นบ้านเต่าดำ ซึ่งเคยเป็นจุดเดินข้ามสันเขาระหว่างไทยกับพม่า เป็นจุดที่เรียกชื่อกันแต่เดิมว่า ด่านเต่าดำ  แต่..ด้วยที่พื้นที่ี้นี้เคยเป็นจุดทำเหมืองแร่ ก็เลยนิยมเรียกกันว่าเหมืองเต่าคำ    ใต้ลงมาจากแม่น้ำน้อยก็มี ห้วยบ้องตี้ และมีพื้นที่ราบเรียกว่า ทุ่งมะซัยย่อ    ก็คงนึกออกถึงชื่อด่านบ้องตี้ ซึ่งเป็นด่าน(เส้นทาง)ใหญ่ที่พม่าใช้ในการเดินทัพเข้าไทย  ผมเข้าใจเอาเองว่าทุ่งมะซัยย่อน่าจะเป็นจุดพักทัพ  ก็น่าสนใจอยู่เหมือนกันว่า ทุ่ง เป็นคำในภาษาไทย  มะซัยย่อ น่าจะเป็นภาษาพม่า  แต่ที่หมู่บ้านนี้ ผู้ที่อยู่อาศัยมาเป็นเวลาช้านานแล้วเป็นชาวกะเหรี่ยงกลุ่มที่ไม่ใช้ภาษาแบบชาวกะเหรี่ยงในภาคเหนือ     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ค. 21, 19:40
จากน้ำตกไทรโยคใหญ่ หากมาทางน้ำก็จะต้องผ่านถ้ำกระแซ (จุดที่รถไฟเลาะหน้าผา) หากใช้ทางบกก็จะต้องผ่านพื้นที่ๆเรียกว่าเขาสามชั้น  จากนั้นก็จะเป็นที่ราบ จากนั้นก็จะมีทางลัดไปออกแควใหญ่ ผ่านทางบ้านทับศิลา ซึ่งเมื่อล่องไปตามแนวของแควใหญ่ไม่ไกลนักก็จะเห็นเขาชนไก่  ก็จะเป็น land mark ที่ดีในเชิงของการยุทธต่างๆ เช่น เป็นจุดรวมพลหรือจุดสะสมเสบียงของพม่าในสมัยอยุธยา  หรือเป็นจุดตั้งรับของฝ่ายไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ....ฯลฯ

ชื่อของสถานที่ทางแควใหญ่นี้ เท่าที่ผมทำงานในพื้นที่นี้มา ชื่อที่เหลือเป็นชื่อเกี่ยวกับพม่าก็ดูจะมีอยู่เพียงที่เดียว คือ ห้วยตาม่องไล่และแก่งตาม่องไล่   ซึ่งก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อเรียกขานกันเมื่อประมาณ 60+/- ปีมานี้เอง  เป็นชื่อ เอราวัณ ก็คือห้วยที่มีน้ำตกเอราวัณนั่นเอง   แต่ก่อนนั้นแก่งตาม่องไล่จัดว่าเป็นแก่งที่ค่อนข้างจะอันตราย เพราะมีน้ำที่ไหลแรงจากห้วยลงมาผนวกด้วย แต่ความอันตรายได้หายไปหมดแล้ว ตั้งแต่มีเขื่อนเจ้าเณร ตามมาด้วยเขื่อนท่าทุ่งนา

ทางฝั่งตะวันตกของเขื่อนท่าทุ่งนาจะมีหน้าผาของเขาหินปูนที่มีภาพเขียนติดผนังหินของคนในยุคก่อน (ผมนึกชื่อของสถานที่ไม่ออก)  ผมชอบที่จะเรียกภาพวาดนี้ว่า สี่คนหามสามคนแห่  เป็นภาพที่สื่อความหมายคล้ายๆกับการฉลองความสำเร็จบางอย่างอย่างมีความสุข คล้ายๆกับการเดินแห่เป็นขบวน   ก็ไม่รู้ว่า ในปัจจุบันนี้ได้มีการจัดการในเชิงของงานทางโบราณคดีไปแล้วเช่นใดบ้าง


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ค. 21, 18:58
ในพื้นที่ของแควใหญ่เกือบจะไม่มีชื่อสถานที่แบบพม่าดังที่กล่าวถึงแล้ว แต่ก็มีชื่อสถานที่ๆเป็นภาษามอญตกค้างอยู่หลายแห่ง เช่น ห้วยองคต  เขา/ห้วยอุ้ง(อง)หลุ  เขา/ห้วยองทั่ง ถ้ำองจุ เป็นต้น

เมื่อนึกดู เส้นทางเดินทัพทั้งหมดทั้งของไทยและพม่าน่าจะอิงตามลำน้ำแควน้อยเท่านั้น  แต่ในแควใหญ่เราก็มีเมืองด่านท่ากระดานซึ่งตั้งอยู่ตอนล่างของแคว แล้วเรามีเมืองด่านศรีสวัสดิ์ ตั้งอยู่ตอนบนของแคว  ผมก็เลยเกิดความสนใจในประเด็นว่า ตั้งเมืองด่านศรีสวัสดิ์ไว้ด้วยเหตุใด เพราะว่าเหนือจากศรีสวัสดิ์ขึ้นไปเป็นพื้นที่ป่าใหญ่และเขาสูงชันจริงๆ   ผมเคยเดินทำงานอยู่ในพื้นที่ด้านเหนือของศรีสวัสดิ์ ไม่เคยเห็นว่ามีช่องทางเดินลัดไปหาแควน้อยเลย มีแต่ช่องทางที่เดินขึ้นเหนือไปตามห้วยขาแข้งเท่านั้น     

จะเป็นเช่นใดก็ตาม คำว่าท่ากระดานดูจะมีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวถึงตลอดมาจนถึงในปัจจุบัน  ก็คือ พระเครื่องท่ากระดาน เศียรคด สนิมแดง     จำได้ว่าเคยเห็นพระเครื่องทรงนี้ที่ทำด้วยดินเผา เป็นพระเก่าของคนพม่าคนหนึ่ง       

 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ค. 21, 20:10
ตลอดลำน้ำแควใหญ่ตั้งแต่ตัว จ.กาญจนบุรีขึ้นเหนือน้ำไปเรื่อยๆจนถึง อ.ศรีสวัสดิ์ (ปัจจุบันนี้ อ.ศรีสวัสดิ์เก่า อยู่ใต้อ่างเก็บน้ำของเขื่อนเจ้าเณร) พบว่ามีแต่ชื่อสถานที่ๆเป็นภาษาไทยทั้งนั้น (ยกเว้นตาม่องไล่ที่ได้กล่าวถึงแล้ว)  แล้วก็ยังดูคล้ายกับจะมีการใช้เส้นทางบนบกที่ใช้ในการสัญจรด้วย โดยเริ่มแยกออกจากแควใหญ่แถวๆท่ากระดาน (อยู่ใต้น้ำแล้วเช่นกัน) ไปดงเสลา เตาเหล้า แล้วก็เข้าด่านศรีสวัสดิ์   (สมัยก่อนจำชื่อสถานที่กันในเชิงชื่อพ้องกันของเส้นทางนี้ว่า ลำสะด่อง ช่องสะเดา ดงเสลา เตาเหล้า)

จากศรีสวัสดิ์ก็มีเส้นทางเดินไปทางทิศตะวันตกไปสู่พื้นที่ของแควน้อยใกล้ตัว อ.ทองผาภูมิ    ก็น่าสนใจอยู่เหมือนกันว่า ในพื้นที่ราบเป็นหย่อมๆบนเขาสูงที่กั้นระหว่างแควใหญ่กับแควน้อยนี้ ไม่ปรากฎว่ามีชื่อสถานที่ในภาษาอื่นใดเลย นอกจากชื่อในภาษากะเหรี่ยง  จนกระทั่งลงสู่พื้นที่ึบึงเกริงกราเวียในที่ราบของแควน้อย โดยใช้เส้นทางลงใต้ผ่านห้วยอู่ร่อง (บ้านอู่ล่อง) เข้าสู่ อ.ทองผาภูมิ

ใกล้ๆจะไม่เป็นเรื่องเข้าไปแล้ว  ก็เลยขอสรุปสั้นๆในชั้นนี้ว่า ด่านศรีสวัสดิ์นั้นไม่น่าจะเป็นด่านที่เน้นเพื่อการใช้กำลัง ดูน่าจะเป็น outpost เพื่อการหาข่าวต่างๆและเพื่อการจัดหาทรัพยากรที่มีความสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศในด้านต่างๆ   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ก.ค. 21, 19:02
ทิวเขาที่กั้นระหว่างแควใหญ่กับแควน้อยนั้น เป็นทิวเขาสูงที่มีที่ราบเป็นหย่อมๆ มีเชิงเขาทั้งสองฝั่งสูงชัน   ซึ่งในพื่้นที่ช่วงตัดตรงระหว่าง อ.ศรีสวัสดิ์ กับ อ.ทองผาภูมิ ก็มีแหล่งแร่ตะกั่วที่มีการทำเหมืองแต่โบราณแล้ว     สรุปข้อมูลเท่าที่ประมวลได้จากเอกสารฝ่ายไทยและการพูดคุยกับฝ่ายเยอรมันที่เข้ามาร่วมลุงทุนทำเหมืองตั้งแต่ประมาณ พศ.2485  พบว่าแหล่งแร่นี้เคยมรการทำเหมืองมาแล้วหลายช่วงเวลา การหาอายุจาก ธาตุคาร์บอน 14 (C14) พบว่า เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 800 ปีมาแล้วครั้งหนึ่ง ช่วงประมาณ 400 ปีอีกครั้งหนึ่ง   และจากบันทึกของไทยระบุว่าในช่วง ร.3 ก็มีการผลิตตะกั่วส่งออกไปขายเมืองจีน  ในปัจจุบัน การเริ่มฟื้นฟูเริ่มขึ้นในช่วงประมาณ พ.ศ.2485 เป็นต้นมา (ปัจจุบันนี้ยุติการทำเหมืองทั้งหมดแล้ว)
ก็เลยทำให้มองในอีกมุมได้ว่า ด่านศรีสวัสดิ์อาจจะตั้งขึ้นมาส่วนหนึ่งก็เพื่อการเฝ้าระวังการลักลอบผลิตตะกั่วขายฝ่ายศัตรู และอีกส่วนหนึ่งก็เพื่อการจัดการนำส่งตะกั่วเพื่อเอาไปทำเครื่องกระสุนและอาวุธต่างๆ ก็เป็นได้ หากดูจากช่วงเวลาแล้ว กิจกรรมเช่นนี้ก็อาจจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว     

ที่ลานแหล่งแร่ตะกั่วในพื้นที่ด้านเหนือของหมู่บ้านคลิตี้ มีการพบเศษจาน/ชามที่เป็นเครื่องเคลือบแบบศิลาดล (ซึ่งพอจะเทียบเคียงกันได้ว่าไม่ต่างไปจากกับที่พบในจุดที่ฝังเครื่องศาสตราวุธและอุปกรณ์ที่ใช้กับสัตว์ต่างที่พบอยู่ในพื้นที่บ้านวังปาโท่ทางแควน้อย)  ที่พบเครื่องเคลือบแบบ Blue and White ก็มีบ้าง   แล้วก็มีที่พบอุปกรณ์/เครื่องใช้ในการกินหมาก โดยเฉพาะตะบันหมาก และก็ยังพบเสี้ยวของจานที่ทำด้วยตะกั่วอีกด้วย   

ผมคงจะไม่ขอออกความเห็นว่าคิดเป็นเรื่องราวเช่นใดกับข้อมูลแบบสะเปะสะปะโน่นนิดนี่หน่อยตามที่ได้เล่าความมา


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ส.ค. 21, 18:10
ก็มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับชื่อสถานที่ในพื้นที่ราบติดทิวเขาตั้งแต่เขตของ จ.ราชบุรี ต่อเนื่องถึง จ.อยุธยา   ซึ่งชื่อเหล่านั้นดูจะบ่งบอกถึงลักษณะของการมีผู้คนต่างชาติพันธุ์/ต่างถิ่นมาอยู่กันเป็นกลุ่มๆในพื้นที่ราบย่านนี้  ซึ่งอาจจะเนื่องมากจากการรวมพลเพื่อการสงครามหรือจากการย้ายถิ่นฐานด้วยการอพยพใดๆก็ได้

ชื่อที่บอกเรื่องราวที่น่าสนใจจะเป็นชื่อของทางน้ำสายต่างๆที่ใช้คำนำหน้าชื่อว่า แม่น้ำ...  น้ำแม่...  แคว...  ลำ...  คลอง...

ผมมีข้อสังเกตว่า  ชื่อทางน้ำที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "แม่น้ำ..." เป็นคำที่ใช้กันในหมู่คนไทยในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ใช้กับทางน้ำสายใหญ่ที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี   คำว่า "น้ำแม่..." ใช้กันในหมู่ผู้คนที่ใช้ภาษาเหนือและกลุ่มผู้คนที่เราเรียกว่า ลาว ใช้กับทางน้ำที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี   คำว่า "แคว..." ใช้กันในหมู่คนไทยภาคกลางตอนบน โดยเฉพาะในพื้นที่ๆเชื่อมต่อกับภาคอิสาน ใช้กับทางน้ำที่มีน้ำไหลตลอดปี     คำว่า "ลำ..." ใช้กันในหมู่คนอิสาน ใช้กับทางน้ำที่มีน้ำตลอดปี   และคำว่า "คลอง..." ซึ่งใช้กันในหมู่คนไทยภาคกลางทั้งหมด ใช้กับทางน้ำที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี และ/หรือใช้สัญจรทางเรือได้     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ส.ค. 21, 19:02
ลองสำรวจดูก็พบว่า เรามีชื่อแควใหญ่ แควน้อย เมื่อทั้งสองแควมาบรรจบกันที่ตัวเมือง จ.กาญจนบุรี จากนั้นถูกเรียกว่า น้ำแม่กลอง แต่ในการเรียกชื่อที่เป็นทางการจะใช้คำว่าแม่น้ำแม่กลอง   ในพื้นที่ จ.ราชบุรี  มี ลำภาชี  เหนือขึ้นมาจากลำภาชีก็มี ห้วยบ้องตี้   มาถึงลาดหญ้า(กาญจนบุรี) ก็มี ลำสะด่อง ลำตะเพิน เหนือขึ้นไปอีกหน่อยก็มี ลำอีซู  แล้วจึงมีชื่อแบบไทยเข้ามาแซมมากขึ้นเช่น ช่องด่าน หลุมรัง หนองรี หนองปรือ ห้วยกระเจา เลาขวัญ ด่านช้าง  มันจะบอกเรื่องราวอะไรได้บ้างใหม ?

เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติม  เขาอึมครึมในพื้นที่ของ ต.หนองรี อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี เป็นแหล่งแร่เหล็ก แต่มีปริมาณไม่มากพอในเชิงเศรษฐกิจปัจจุบัน  ผมไม่มีความรู้ว่าในอดีตนั้นมีการขุดเอาไปถลุงเป็นเหล็กเพื่อใช้ประโยชน์ใดๆหรือไม่   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ส.ค. 21, 18:20
ก็มีเรื่องเกี่ยวกับสำเนียงที่พูดกันที่น่าสนใจในพื้นที่ๆกล่าวถึงนี้อีกด้วย   สำเนียงแบบสุพรรณบุรีที่เหน่อมากที่สุด เหน่อมากจนถึงระดับฟังไม่ออกว่าพูดว่าอะไรก็มี ซึ่งผมเคยพบด้วยตนเอง  จากการพูดคุยกับชาวบ้านที่มีความคุ้นเคยกัน เขาบอกว่าบ้านห้วยกระเจา (ปัจจุบัน_อ.ห้วยกระเจา)เป็นจุดที่มีสำเนียงแบบสุพรรณฯเหน่อมากที่สุด ชาวบ้านเขาก็รู้ตัวเอง ไม่รู้สึกโกรธ และก็พร้อมจะอธิบายขยายความให้เราเข้าใจ จัดว่าเป็นชาวบ้านแห่งหนึ่งที่มีนิสัยน่ารักมาก โดยทั่วๆไปจะเป็นคนอารมภ์ดี มีอารมภ์ขัน ตลก ซึ่งก็คงเป็นลักษณะพื้นฐานของผู้คนในกลุ่มที่พูดสำเนียงนี้ ที่เรียกกันว่าชาวสุพรรณฯ

เคยมีพนักงานขับรถชาวห้วยกระเจา ขับรถสิบล้อขนแร่ดีบุกไปส่งที่ จ.ภูเก็ต  ซึ่งด้วยสำเนียงที่เหน่อสุดๆนั้นทำให้คนทางใต้คิดว่าเขาเป็นคนใต้ จึงพูดภาษาใต้แบบแท้ๆกับเขา เขาฟังไม่ออก ก็อธิบายกันไปมาจนเข้าใจกัน  ในระยะหลังเมื่อขับรถไปส่งแร่ เขาจึงพยายามพูดให้น้อยที่สุด  เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งผมได้มีโอกาสพูดคุยกับพนักงานขับรถผู้นั้นโดยตรงด้วย ก็เป็นเรื่องสนทนาที่หัวเราะครื้นเครงกันไป 

เป็นเรื่องชวนให้คิดอยู่เหมือนกันว่า สำเนียงเหน่อๆนี้ดูมันจะมีความสอดคล้องกันระหว่างภาคกลางกับภาคใต้       


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ส.ค. 21, 19:26
ผมมีข้อสังเกตว่า สำเนียงของภาษาไทยในพื้นที่ราบด้านตะวันตกติดชายเขาตั้งแต่ประมาณประมาณ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ลงมาจนถึงประมาณ จ.ราชบุรี  มีการออกเสียงในหลายๆคำที่พอจะกล่าวได้ว่าดูจะคล้ายๆกัน  ซึ่งดูจะเป็นพวกคำที่เกิดจากการเปล่งเสียงออกมาในลักษณะของการตะโกนหรือตะเบ็งเสียงคำนั้นๆ เช่นคำว่า ยืน ที่จะออกเสียงไปคล้ายกับ ยื้น ฯลฯ  เมื่อเอาคำเหล่านี้มาร้อยเรียงเป็นประโยคแล้วพูดออกไป ก็เลยได้การออกเสียงที่ไปเป็นสำเนียงแบบเหน่อๆ     ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยไปว่า สำเนียงของภาษากลางแบบกรุงเทพฯนี้ ดูจะเป็นสำเนียงของภาษาไทยแบบไม่มีการตะโกนหรือตะเบ็งเสียงนั่นเอง ซึ่งน่าจะสื่อความต่อไปว่า เป็นสังคมที่มีความสงบ มีการดำรงชีวิตที่ไม่ต้องเร่งรีบ มีความเป็นชุมชนแบบบ้านใกล้เรือนเคียงกัน ...   

ก็เป็นความเห็นส่วนตัวที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานทางวิชาการใดๆ อาจจะพอมีประโยชน์เป็นจุดเล็กๆสำหรับ Hypothesis อื่นใดในทางวิชาการ   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ส.ค. 21, 18:31
เคยได้ยินจากผู้ที่อยู่ในวงการศึกษาว่าสำเนียงของภาษาไทยแท้แต่ดั้งเดิมนั้นเป็นสำเนียงแบบสุพรรณฯ ซึ่งจะมีการออกเสียงหนักเบาต่างกันในที่พื้นที่ต่างๆ  ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีเหตุผลพอที่จะชวนให้คิดว่าก็อาจจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ 

ตัวผมเองเห็นว่าผู้คนที่พูดสำเนียงในลักษณะนี้ ล้วนมีรูปแบบของการใช้ประโยคคำพูดที่มีสำนวนเฉพาะ แม้จะต่างกันในแต่ละท้องถิ่น แต่ก็มักจะมีลักษณะที่แฝงไว้ด้วยตรรกะและปรัชญาในรูปที่ไม่ทำให้การสนทนาเกิดความเครียด การสนทนาต่างๆจึงมักจะเป็นไปในลักษณะที่ผ่อนคลายและสนุกสนาน  การไปเที่ยวสถานที่ต่างๆของสุพรรณจึงเป็นเรื่องที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายจริงๆ     

ผมมีข้อสังเกตว่า ในเรื่องของการกล่าวถึงหรืออ้างถึง รวมถึงการแสดงเชิงประจักษ์ของมรดกตกทอดทางสังคมและวัฒนธรรมต่างๆของไทยภาคกลาง ส่วนมากจะอยู่บนฐานของมรดกตกทอดรุ่นต่อรุ่นของชาวสุพรรณ อาทิ ในเรื่องของเพลงพื้นบ้านหลากหลายรูปแบบ (เพลงอีแซว เพลงฉ่อย เพลงขอทาน ...)  เรื่องของวรรณคดี (ขุนช้าง ขุนแผน...)  เรื่องของเครื่องรางของขลัง (พระผงสุพรรณ พระขุนแผน....)  เรื่องของอาหาร  (ปลาม้า แกงสับนก แกงคั่ว  แกงเผ็ดต่างๆ ...)    ก็จึงคงจะไม่ผิดเพี้ยนมากนัก หากจะกล่าวว่า  สุพรรณฯน่าจะเป็นพื้นที่ต้นทางของลักษณะวิถีชีวิต โครงสร้างทางสังคม และวัฒนธรรมของไทยที่ถ่ายทอดส่งต่อกันมาจนถึงในปัจจุบัน

จำได้ว่า เคยมีความเห็นจากหน่วยงาน ตปท.ที่ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยว่า  สุพรรณบุรี น่าจะมีความเหมาะสมที่จะพัฒนาไปสู่ความเป็นศูนย์ (เมือง/พื้นที่) ในด้านการศึกษา


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ส.ค. 21, 19:32
ก็มาถึงเรื่องของอาหารที่ผมมีความเห็นว่า สำหรับในพื้นที่ราบทางตะวันตกของภาคกลาง ต่างก็มีลักษณะเฉพาะ

อาหารไทยที่เราคุ้นเคยกันก็จะมี แกงเผ็ด แกงส้ม แกงคั่ว แกงเขียวหวาน ต้ม ลาบ ย่าง/เผา ผัดเผ็ด น้ำพริก หมก ...   แล้วก็มีแกงแบบโบราณอีกสองสามอย่าง   ด้วยที่เครื่องปรุงพื้นฐานเกือบจะไม่มีความต่างกัน จะต่างกันก็แต่ในเชิงของปริมาณเปรียบเทียบ (relative amount)ระหว่างชนิดของเครื่องปรุง  จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากที่จะจำแนกความต่างหรือความเด่นของอาหารพื้นบ้านที่ทำต่างกันระหว่างที่ต่างๆ 

ก็จะลองพยายามหาลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของอาหารของแต่ละพื้นที่ดูว่าจะพอไหวใหมนะครับ     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ส.ค. 21, 18:33
เป็นข้อเท็จจริงที่ทราบกันอยู่แล้วว่า  ระดับละติจูด ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะภูมิอากาศ และลักษณะ/คุณสมบัติของดิน ล้วนส่งผลให้เกิดควมแตกต่างของพืชพรรณไม้และสัตว์ต่างๆ    สำหรับประเทศไทย เท่าที่ผมพอจะรู้จากการเดินทางไปทำงานในพื้นที่ต่างๆและจากการสอบถามพูดคุยกับชาวบ้านในสมัยที่การเกษตรต่างๆยังไม่ได้ก้าวหน้าไปดังในปัจจุบัน ก็จะมีเช่น มะพร้าวจะปลูกไม่ขึ้นเมื่อเลยจากพื้นที่ อ.แม่ใจ จ.พะเยา ขึ้นไปทาง จ.เชียงราย    ตัวแย้ (สัตว์)พบได้เหนือสุดในแอ่ง จ.ลำปาง  แย้ในพื้นที่ภาคกลางตอนบนจะพบมากในพื้นที่ จ.ตาก    ส่วนในพื้นที่ราบภาคกลางตอนล่างก็จะพบได้ในพื้นที่ราบติดทิวเขาตั้งแต่ จ.อุทัยธานี เรื่อยลงมาถึงประมาณ จ.ราชบุรี     ต้นสะระแหน่พันธุ์ใบเล็กและบาง พบได้ในภาคเหนือ ส่วนพวกพันธุ์ใบกลมและหนา พบในภาคกลาง (ซึ่งน่าเสียดายที่น่าจะ หรือเกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว)  ทั้งสองพันธุ์นี้ได้กลิ่นหอมชวนกินเป็นพื้นฐานและไม่ออกรสซ่า  ต่างไปจากพวกใบรีหรือที่ปลายใบใกล้ๆจะแหลมที่วางขายกันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะมีรสซ่าของ menthol ปะปนอยู่    สะระแหน่พันธุ์ใบกลมและหนานี้เป็นของอย่างหนึ่งที่ผมหาเพื่อนำมาปลูกขยายพันธุ์  ที่จริงก็พอจะรู้อยู่ว่ามีปลูกอยู่ที่บ้านพักของคนทำเหมืองในพื้นที่ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ น่าจะยังพอจะนำมาขยายพันธุ์ต่อไปได้    แต่ผมก็ยังมีความสุขและเพลิดเพลินไปกับการเดินตลาดสดยามของชาวบ้าน ได้พูดคุยสอบถามแม่ค้า ผนวกไปกับการหาพวกพืชผักพื้นบ้านที่หากินได้ยาก เช่น ยอดหวาย(หางหวาย) ใบจิก(กระโดน) ฝักมะริดไม้(ลิ้นฟ้าหรือเพกา) ผักก้านจอง(ผักพายใหญ่) ลูกอ้อยสามสวน(ลูกชะเอม) ผักเชียงดา ผักคาวตอง  ผักขี้หูด เพียงเอามาเผา มาต้ม นึ่ง หรือลวก กินกับน้ำพริก(ที่ไม่ใช่น้ำพริกกะปิ) หรือบางอย่างก็เอามาผัดน้ำมันหอย เช่น ผักก้านจอง  หรือเอาไปผัดกับไข่ เช่น ใบเหลียง ฝักเพกา  หรือเอาไปแกง เช่นยอดต้นส้มป่อยแกงกับปลา  หรือเอาไปยำ เช่น ยอดต้นผักปู่ย่า   ฯลฯ   ล้วนแต่อร่อยทั้งนั้น


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ส.ค. 21, 19:34
ว่าจะนำเสนอข้อสังเกตเกี่ยวกับอาหารในพื้นที่ราบติดทิวเขาทางภาคตะวันตกของภาคกลาง  กลายเป็นการปูทางที่เลยเถิดไปไกล  ;D

ข้อสังเกตที่เด่นออกมาก็คือ เรื่องของอาหารพวกแกงที่เข้ากะทิและไม่เข้ากะทิ พวกที่เรียกว่าต้ม และพวกยำ

เริ่มด้วยการลองสังเกตดูพวกแกงเข้ากะทิต่างๆที่เราเห็นอยู่ตามตลาดขายอาหารในปัจจุบัน จะเห็นว่า มีอยู่สองภาพ คือ แกงที่มีน้ำมันลอยอยู่ที่ผิวหน้าจนเห็นชัด และแกงที่ดูมีเนื้อแกงขุ่นข้นมีน้ำมันลอยที่ผิวหน้าเล็กน้อย     สำหรับแกงที่ไม่เข้ากะทิก็จะมีสองภาพเช่นกัน คือ แบบเครื่องปรุงหั่นหยาบแต่บุบให้แหลก กับแบบตำเครื่องปรุงให้แหลกหยาบๆ    สำหรับพวกยำนั้นก็เช่นกัน คือ มีในรูปของยำผักใส่เนื้อสัตว์ กับยำเนื้อสัตว์ล้วนๆ         


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ส.ค. 21, 18:27
แกงเข้ากะทิในพื้นที่นี้ มักจะเป็นแกงประเภทที่มีน้ำมันลอยอยู่ที่ผิวหน้าน้อยมาก  ซึ่งผมเห็นว่าเกิดจากวิธีการทำที่ยังคงใช้วิธีทำแบบโบราณ คือการใช้กะทิที่ได้จากใช้วิธีคั้นจากเนื้อ(ผง)มะพร้าวขูดที่ได้จากการขูดเนื้อมะพร้าวห้าว เอามาใส่น้ำอุ่นเล็กน้อยพอฉ่ำน้ำ ขยำๆแรงๆสักสี่ห้าครั้ง แล้วเอาใส่กระชอน(ตะแกรง)ไม้ไผ่สานละเอียด บีบคั้นเพื่อกรองเอาแต่น้ำกะทิ  ทำเช่นนี้ซ้ำสักสองสามครั้งแล้วแยกน้ำกะทิเก็บไว้ เรียกว่า หัวกะทิ  คั้นกระทิต่อไปเพื่อเอาหางกะทิ คะเนเอาว่าได้ปริมาณหางกะทิพอหม้อแกงแล้วก็พอ   เมื่อจะทำแกง ก็เอากระทะมาตั้งบนเตาให้ร้อน เอาหัวกะทิปริมาณไม่มากใส่ลงไป เคี่ยวจนเริ่มแตกมัน (ได้น้ำมันมะพร้าว) จึงเอาเครื่องแกงลงไปผัดให้สุกหอม เติมหางกะทิลงไปเล็กน้อยพอขลุกขลิก ใส่เนื้อสัตว์ลงไปผัด ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำตาลตะโนด ผัดพอสุก ใส่ผักลงไป เติมหางกะทิลงไป ปรุงรสให้ถูกปากอีกครั้งหนึ่งแล้วปิดฝาครอบ เร่งไฟแรงให้เดือด ทันทีเมื่อเดือดก็เปิดฝาครอบ ใส่มะเขือเปราะ มะเขือพวง ผักโรยหน้าที่เป็นเครื่องหอมลงไป(โหระพา...) ปิดฝาแล้วยกลงจากเตา

ในปัจจุบันนี้ กะทิที่ใช้ในการทำแกงเข้ากะทิเกือบทั้งหมดน่าจะเป็นการใช้กะทิสำเร็จรูป ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะนำมาทำอาหารตามวิธีเช่นเดียวกันกับวิธีข้างต้นได้หรือไม่ โดยเฉพาะหากเป็นกะทิสำเร็จรูปที่ผ่านกระบวนการ homogenized             


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ส.ค. 21, 18:38
กากมะพร้าวที่ใช้แล้วจากการคั้นเอากะทิก็เอามาทำเป็นของกินอย่างอื่นและของหวานได้อีกหลายอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมมีความรู้อย่างจำกัดมากจริงๆ แล้วค่อยว่ากันต่อไป


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ส.ค. 21, 19:34
กล่าวถึงวิธีการใช้กะทิในการทำอาหาร ทำให้นึกถึงความเป็นจำเพาะของอาหารอีกจานหนึ่ง คือ ฉู่ฉี่ปลา แต่ก่อนนั้นดูจะจำกัดเฉพาะการทำกับปลาปลาน้ำจืดเช่นปลาหมอ ปลากราย ปลาสวาย ปลาเนื้ออ่อน...   ฉู่ฉี่ปลาเป็นอาหารที่เกือบจะไม่เคยได้ยินว่ามีการทำกินกันในพื้นที่อื่นใด ยกเว้นแต่เฉพาะในพื้นที่ภาคกลางฝั่งตะวันตกตอนกลาง 

ต้มข่าไก่ ก็เป็นอีกเมนูอาหารหนึ่งที่เป็นอาหารประเภทข้าวราดแกงมื้อเช้าที่พบเห็นได้มากที่สุดในละแวกพื้นที่ฝั่งตะวันตก   ในประสบการณ์ของผม ได้เริ่มเห็นมีเมนูต้มข่าไก่กระจายอยู่ตามร้านขายข้าวแกงมื้อเช้าและมื้อกลางวันในเกือบจะทุกพื้นที่ๆมีการการทำไร่อ้อย (ประมาณ พ.ศ.2520+)  ซึ่งทำอร่อยได้ไม่ต่างกันโดยเฉพาะเมื่อเหยาะด้วยน้ำปลาพริกขี้หนูที่ใส่หอมแดงซอย     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ส.ค. 21, 17:16
แกงที่ไม่เข้ากะทิก็เป็นอาหารประจำถิ่นในพื้นที่นี้เช่นกัน  ในความเห็นของผมที่เคยสัมผัสมาไม่มากนัก แต่เป็นช่วงเวลาก่อนที่อุตสาหรรมอ้อยและน้ำตาลจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว เห็นว่า โดยพื้นฐานก็คือแกงที่เราเรียกว่า แกงป่า ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นแกงที่ใช้ปลาหนัง รวมทั้งพวกกบ เขียด และปลาไหลด้วย  โดยนัยก็คือแกงที่ทำกับสัตว์ที่มีกลิ่นคาว จึงเป็นแกงที่มีการใส่กระชายเพื่อการดับกลิ่นคาว และมักจะมีการใส่ใบกระเพราหรือไม่ก็ดอกกระเพราโขลกรวมไปในน้ำพริกแกง    สำหรับแกงป่าที่ใช้เนื้อสัตว์บกอื่นๆนั้น ในพวกคนเดินป่าเดินดงค่อนข้างจะหมายถึงการเอาเนื้อสัตว์ไปผัดกับเครื่องแกงหรือพริกแกง(จะหยาบ หรือละเอียด หรือจะซอยหยาบแล้วบุบก็ได้) ใส่น้ำขลุกขลิกมากพอสำหรับการคลุกข้าว ผักที่จะใส่ก็สุดแท้แต่จะมี ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นมะเขือขื่น(มะเขือเหลือง) มะเขือพวง และมะเขือเปราะ 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ส.ค. 21, 17:55
ต้มก็เป็นอาหารประจำถิ่นเช่นกัน  โดยพื้นฐานก็ต้องเป็นน้ำใส ออกรสเผ็ด เปรี้ยว เค็ม หวาน(ในเนื้อ)  จำได้ว่าแต่เดิมก่อนยุคไร่อ้อยนั้น แต่ละแห่งก็จะมีความนิยมในการปรุงแต่งกลิ่นและรสต่างกันไปด้วยการผสมผสานการใช้เครื่องปรุงต่างๆ เช่น ใช้ผักไผ่ ใช้มะขามเปียก ใช้ใบมะขามอ่อน ใช้มะนาว ใช้มะดัน ใช้พริกสด ใช้พริกแห้งคั่วหรือย่างไฟ ใช้หอมแดงเผา ใช้ข่าเผา ใส่ใบสะระแหน่ ใส่ใบผักชีฝรั่ง กะเพรา ...   สำหรับเนื่อสัตว์จะเป็นอะไรก็ได้ตามแต่ที่จะหามาได้ ทั้งสด ที่แห้งหมาดๆ หรือที่แห้งสนิท

ต้ม เป็นอาหารที่แสดงถึงระดับฝีมือของคนทำอาหาร รสชาติจะต้องชัดเจน มีกลิ่นหอมที่ละมุนกลมกลืนของพืชผักสมุนไพรต่างๆ ซดแล้วคล่องคอและรู้สึกเคลียร์ ไม่มีรสตกค้าง   ฝีมือระดับนี้ ในปัจจุบันก็น่าจะยังพบได้ในบางร้านอาหาร  แต่ก็น่าจะลองแวะตามร้านข้างทางที่ดูแล้วรู้สึกว่าพอรับได้ก็อาจจะมีโอกาส   ผมไปพบอยู่ร้านหนึ่งบนเส้นทางสายเหนือในพื้นที่เขต จ.พิจิตร     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ส.ค. 21, 18:09
ข้ามอาหารที่เรียกว่าขึ้นต้นชื่อว่า ต้ม อีกพวกหนึ่ง คือพวกต้มกะทิและพวกต้มเค็มหวาน   

อาหารพวกต้มกะทิกับพวกต้มเค็มหวาน ในพื้นที่ๆกำลังคุยกันอยู่นี้ ในสมัยก่อนนั้นไม่เคยพบว่ามี   ที่พบเห็นก็จะมีแต่เฉพาะในพื้นที่ๆเป็นในเมือง   นอกเมืองออกไปไม่เคยเห็นว่ามีชาวบ้านทำกินกันเลย ก็เลยจะไม่ขอกล่าวถึง   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ส.ค. 21, 19:05
อาหารพวก ยำ    อาหารประเภทนี้เรามักจะนึกถึงการเอาของสดมาทำให้สุกตามระดับที่ต้องการแล้วจึงเอามายำ   

ผมไม่มีความคุ้นเคยมากพอในพื้นที่ย่านสุพรรณบุรีและอ่างทอง   ส่วนสำหรับในพื้นที่ย่านกาญจนบุรีและราชบุรีนั้น การยำจะค่อนไปในทางการเอาเนื้อสัตว์ที่ทำการถนอมอาหารแล้วออกมาทำการยำ  ก็ด้วยที่มันเป็นอาหารสำหรับการกินในลักษณะของแกล้ม ผนวกกับการเป็นเรื่องของการเอาอาหารที่ถนอมไว้กินยามขาดแคลนมาทำกินเล่น ก็เลยมีโอกาสจับข้อสังเกตได้น้อยตามไปด้วย     ที่พอจะจับได้แบบที่ทำแบบพื้นบ้านจริงๆนั้น  เครื่องปรุงต่างๆจะถูกหั่นแบบซอย เช่น หอมสด หอมแดง สะระแหน่ ผักชีฝรั่ง ผักชี พริกสด ผักไผ่ ตะไคร้ ใบมะกอกอ่อน... บ้างก็ใส่ข้าวคั่วป่น   ซึ่งการยำก็จะออกไปทางขยำเบาๆมากกว่าการคลุกเคล้าเบาๆให้เข้ากัน

เข้าใจเอาเองว่า น่าจะได้รับอิทธิพลจากวิถีลาวที่ถูกโยกย้ายให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่นี้     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ส.ค. 21, 19:34
เมื่อเราคิดจะใช้เวลาช่วงหนึ่งเพื่อการเดินทางไปพักผ่อน เรามักจะคิดถึงการเดินทางไกลเพื่อไปสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆในอีกรูปแบบหนึ่ง   แต่หากเรามีช่วงวันหยุดสั้นๆที่ไม่อำนวยต่อการเดินทางไกล  บางทีการเดินทางใกล้ๆไปสัมผัสกับสิ่งที่น่าสนใจในอีกรูปแบบหนึ่งก็น่าจะทำให้เราได้เพิ่ม collective knowledge ซึ่งอาจจะได้ knowhow แถมมาด้วยก็ได้


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ส.ค. 21, 18:12
อาหารอีกอย่างหนึ่งที่แต่ก่อนโน้นพบเห็นเป็นปกติทั่วไปก็คือขนมจีนน้ำยาป่า ไม่ใช่น้ำยากะทิดังที่ค่อนข้างจะนิยมกินกันในปัจจุบันนี้   สำหรับผักที่กินด้วย เท่าที่พอจะจำได้ก็จะมียอดกระถิน ถั่วงอก ผักกาดดอง ใบบัวบก และใบอ่อนของต้นไม้บางอย่าง  ขนมจีนจัดเป็นอาหารพื้นฐานที่จัดเตรียมเพื่อการรับรองแขกในงานต่างๆ     

เมื่อนึกย้อนดู ฤๅขนมจีนจะเป็นอาหารพื้นฐานของชนเผ่าไทยที่ทำกันเพื่อเลี้ยงแขกในงานพิธีต่างๆในช่วงเวลาเช้า-กลางวัน   ในอีสานตอนบนก็มีข้าวปุ้น หรือขนมจีนน้ำยาที่ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า ที่ใส่หยวกกล้วยลงไปด้วยก็มี   ในภาคเหนือก็มีขนมจีนน้ำเงี้ยว ที่ใช้ซี่โครงหมูอ่อนและเลือดหมู  ในภาคใต้ก็มีขนมจีนน้ำยากะทิ มีรสจัด กินกับผักที่มีรสแะกลิ่นต่างๆ  น้ำยาที่ใช้ปลาเค็มทำก็มี   ในภาคกลาง ภาคเมืองหลวงก็มีขนมจีน แต่มีหลากหลายรูปแบบให้เลือก เช่น ขนมจีนแกงเขียวหวานที่ใส่ใบโหระพา กินกับปลาสละหั่นเป็นชิ้นเล็กๆทอด หรือปลาตะเพียนแห้งทอด หรือกับไข่ต้ม อร่อยดีเหลือหลาย   มีขนมจีนน้ำยาป่าและขนมจีนน้ำยากะทิ กินกับผักสดหรือผักลวก (ถั่วงอก แตงกวา มะระจีน ผักกาดดอง ...)   มีขนมจีนน้ำพริก กินกับหัวปลีซอย ผักและดอกไม้ชุบแป้งทอดต่างๆ พริกแห้งคั่วหรือทอด ก็อร่อยมาก    และก็มีขนมจีนซาวน้ำ ของที่ค่อนข้างจะยุ่งยากในการทำเลยทำให้หากินได้ยาก  ขนมจีนซาวน้ำดูจะเป็นของกรุงเทพฯโดยเฉพาะ  ความอร่อยอยู่ที่ความพอดีของสัดส่วนของเครื่องปรุง ความสดใหม่และความแก่อ่อนของพืชนำมาที่ใช้  กลิ่นและรสชาติที่เหมาะสมของแต่ละเครื่องปรุง   

เลยนึกออกถึงแกงส้ม ซึ่งเป็นแบบที่มีการตำเนื้อปลาผสมลงไปในน้ำพริกแกงด้วย ทำให้น้ำแกงมีความข้น  เนื้อปลาที่ใช้อาจจะเป็นของปลาช่อนหรือปลาชะโดก็ได้  แต่เนื้อของปลาชะโดดูจะนิยมกันเพราะมีปริมาณเนื้อมาก เป็นเนื้อปลาที่ค่อนข้างจะออกรสจืด และมีความคาวน้อย  ไม่นิยมเอาไปทำอาหารอื่นเพราะจะไม่ให้ความอร่อยเท่าที่ควร   แกงส้มในรูปแบบนี้พบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่นี้เช่นกัน   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ส.ค. 21, 19:02
เมื่อเข้าสู่ยุคที่เส้นทางการคมนาคมต่างๆเริ่มกระจายตัวเป็นโครงข่ายและเป็นมาตรฐานมากขึ้น  ของดีๆ ของที่พอจะมีความเด่นเป็นเอกลักษณ์ประจำของแต่ละพื้นที่ชุมชนระดับกลางๆก็เปลี่ยนแปลงไปทั้งในเชิงรูปแบบ คุณภาพ และความหลากหลาย  เปลี่ยนไปอิงกับรูปแบบที่เป็นความนิยมของผู้บริโภค  ซึ่งทำให้ของดี/ของเดิมค่อยๆหายไปอย่างรวดเร็วพอๆกับความเจริญที่แผ่เข้ามาบนพื้นฐานของระบบ capitalism ต่างๆที่มีหลากหลายรูปแบบ   จะเป็นเช่นใดก็ตาม ก็ยังคงมีของดีของเด่นประจำถิ่นตกค้างอยู่พอให้เราได้มีโอกาสสัมผัสได้  ซึ่งหลายๆอย่างอาจจะถูก conceal ด้วยรูปลักษณ์หรือข่าวสารต่างๆ     ที่ผมได้ฉายภาพมาในกระทู้นี้ เป็นเพียงประสบการณ์ที่น่าจะพอชี้นำอะไรได้บ้างเล็กน้อยๆ ครับ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ส.ค. 21, 19:37
ผมเห็นว่ามีเรื่องน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือ มีข้อสังเกตว่าในพื้นที่ราบด้านตะวันตกนี้มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมากกว่าฝั่งด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยามาก   ทางฝั่งตะวันออกดูจะมีแต่เฉพาะในพื้นที่บริเวณที่ติดๆหรือไม่ไกลจากแม่น้ำเจ้าพระยา ก็คือค่อนข้างจะจำกัดอยู่ในบริเวณที่เป็นสันคันคลองตามธรรมชาติ (natural levee) ของแม่น้ำเจ้าพระยา   

สันคันคองตามธรรมชาตินี้ก็คือแนวตลิ่งสูงตลอดล้ำน้ำ ซึ่งจะมีระดับที่สูงมากกว่าพื้นที่ๆห่างออกไปจากตัวลำน้ำทั้งสองด้าน พื้นที่ๆห่างออกไปจากสันคันคลองนี้จะเป็นพื้นที่ราบต่ำ ซึ่งมักจะมีระดับต่ำกว่าระดับน้ำในลำน้ำนั้นอีกด้วย เป็นพื้นที่ๆมีดินที่มีเนื้อละเอียดมาก เป็นดินโคลน มีหนองน้ำกระจายอยู่ทั่วไป พื้นที่นี้จึงเหมาะกับการทำนา  ทุ่งรังสิตก็เป็นพื้นที่ๆมีสภาพอยู่ในลักษณะเช่นนี้     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ส.ค. 21, 17:58
ในพื้นที่ด้านตะวันออกดูจะมีแต่การทำนาข้าว แต่ในด้านตะวันตกจะมีทั้งการทำนาข้าว การทำสวน และการใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบอื่นๆ ก็มีที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือ ในพื้นที่ย่านชัยนาท สุพรรณบุรี อ่างทอง  มีการทำนาบัว นาบอน นาแห้ว และนากระจับอีกด้วย   มีข้อน่าสังเกตอีกด้วยว่า เป็นพื้นที่ๆมีการปลูกต้นตาล ตามคันนา  ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าในพื้นที่นี้น่าจะต้องมีความสันทัดในการทำน้ำตาลโตนด การทำขนมหวาน และการทำของมึนเมาที่เรียกว่ากระแช่ ซึ่งหมายถึงว่าจะต้องมีการทำสาโทเป็นคู่ประกบให้เลือกดื่มอีกด้วย

เมื่อช่วงประมาณ 2514-2516 ผมยังเห็นรถสามล้อถีบเร่ขายขนมหวานอยู่ทั่วไปทั้งในพื้นที่เมืองและพื้นที่ชุมชนสำคัญๆ จะเห็นออกเร่ขายในช่วงเวลาเย็นต่อช่วงหัวค่ำ  บังเอิญว่าผมไม่นิยมของหวานนัก ก็เลยให้ความสนใจน้อย    เท่าที่นึกออก นอกจากของหวานพวกทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และเม็ดขนุนที่เป็นขาประจำโดยพื้นฐานแล้ว ก็มีพวกขนมที่ต้องใช้น้ำตาลปึกเป็นองค์ประกอบในการทำ เช่น ขนมชั้น ข้าวเหนียวตัด ถั่วกวน เผือกกวน หม้อแกงทำแบบปิ้ง สังขยา เหล่านี้เป็นต้น    แต่หากเป็นในช่วงเวลาเช้า ของหวานก็จะมีวางขายอยู่ในตลาด ซึ่งก็จะเป็นอีกพวกหนึ่ง อาทิ ขนมครก ขนมต้มขาว-ต้มแดง  เล็บมือนาง  ปลากริม-ไข่เต่า ถั่วแปบ ขนมกรวย ขนมตาล ขนมขี้หนู บวชชีต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น

โดยส่วนตัวผมเห็นว่า ขนมหวานที่ใช้น้ำตาลโตนดนั้น ให้ความหวานแะหอมละมุนมากกว่าการใช้น้ำตาลมะพร้าว   ในปัจจุบันนี้ ขนมพวกนี้ได้กลายเป็นของหวานเด่นดังของ จ.เพชรบุรี  แต่ก็เชื่อว่ายังคงมีขนมหวานอร่อยๆที่เป็นฝีมือการทำแบบโบราณจากแม่ครัวพื้นบ้าน ตกค้างและกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ   ก็น่าจะลองแวะซื้อแวะกินบ้าง ไม่ไหวจริงๆก็ทิ้งไป อย่างน้อยที่สุดก็ยังเป็นการช่วยกระจายรายได้และช่วยหมุนวงจรเศรษฐิจรากหญ้า     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ส.ค. 21, 19:07
ต้นตาลมีเรื่องราวเกี่ยวกับตัวมันที่น่าสนใจมากทีเดียว  ผลตาลเมื่อมันยังอ่อนพอดีๆ เอามาซอยแล้วทำแกงคั่ว อร่อยดี จัดเป็นอาหารพื้นบ้านของคนชาวเพชรบุรี หากมีอยู่ในเมนูของร้านอาหารใดก็เป็นของที่น่าจะต้องสั่งมาทาน  ผลตาลที่สุกแล้วเอามาผ่า จะมีเส้นใยสีเหลืองๆ ยีเอาเนื้อมันออกมาผสมกับแป้งและน้ำตาล ตักใส่กระทงใบตองกลัด เอาไปนึ่งให้สุก ก็จะได้ขนมตาลสีเหลืองสวยๆ หอมอร่อย  เมื่อเอาแต่ละลูกเอาไปขยำน้ำล้างให้สะอาด เอาไปตากแห้ง ก็จะได้เป็นของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิง คือเป็นเสมือนผมของคน ในลูกตาลผลหนึ่งจะมีลูกตาลอยู่สามหรือสี่ลูก เมื่อผลตาลแก่จัดๆ ลูกข้างในของมันก็จะแข็งมาก เมื่อกระเทาะออกมา เราก็จะได้จาวตาล จำไม่ได้แล้วว่ารสจะหวานมากน้อยเช่นใด จาวตาลนั้นจะนิยมเอาไปเชื่อมเป็นของหวานกินกัน 

เช่นกัน ในปัจจุบันนี้คงจะไม่มีโอกาสได้เห็นจาวมะพร้าวกันแล้วเช่นกัน  แต่ก่อนนั้น มีโอกาสได้เห็นและได้เอามาเป็นของกินเล่นเพาะจะต้องมีการกระเทาะกะลามาพร้าวก่อนที่จะทำหารขูดมะหร้าวด้วยกระต่ายขูดมะพร้าว  (ปัจจุบันนี้ กระต่ายขูดมะพร้าวได้กลายเป็นของสะสมอย่างหนึ่งแล้ว)


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ส.ค. 21, 19:55
น่าจะพอในเรื่องของอาหารไทย  ที่เหลือก็น่าจะเป็นเรื่องของอาหารจีน

อาหารจีนที่ยังคงหลงเหลือเค้าที่ส่อถึงความเป็นของดั้งเดิมนั้น ส่วนมากจะพบในพื้นที่ชุมชนเมืองในระดับตำบล  ผมมีข้อสังเกตแต่เพียงว่า อาหารจานเหล่านั้นมีลักษณะบางอย่างที่ต่างไปจากที่ทำขายกันในร้านอาหารต่างๆทั่วๆไป  เช่น ก๋วยเตี๋ยว ปลาเจี๋ยน เส้นใหญ่ผัดใบต้นกระเทียม ใส้หมูพะโล้ทอด ...


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ส.ค. 21, 18:24
ที่ว่ามีโอกาสจะได้กินอาหารจีนที่ทำตามแบบด้้งเดิมในชุมชนเมืองระดับตำบลนั้น ก็เพราะว่ามีพวกคนจีนที่เป็นเจ้าของโรงสี เจ้าของร้านขายส่งเครื่องอุปโภคและบริโภค และเจ้าของกิจการ ได้ตั้งกิจการ/ร้านค้า/บ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองนานมาแล้ว จึงทำให้มีร้านอาหารที่ทำอาหารจีนในลักษณะที่พยายามคงไว้ซึ่งองค์ประกอบของเครื่องปรุงต่างๆตามตำราดั้งเดิม   

ในปัจจุุบันนี้ แม้ว่าชุมชนจะเป็นเมืองที่มีความเจริญมากแล้วก็ตาม ทุกอย่างได้เปลื่ยนไป แต่โดยความรู้สึกบางอย่างของคนทำอาหาร ก็มักจะไม่ทิ้งลักษณะและองค์ประกอบของเครื่องปรุงบางอย่างที่คุ้นเคยว่าต้องมี เช่น การใส่ตังฉ่ายในอาหาร (ก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้ม ...)  การใช้หัวไชเท้าดอง (ต้มถั่วลิสงกับซี่โครงหมู ผัดไข่ กินกับข้าวต้ม...)  การใส่กระเทียมเจียว (ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยว แกงจืดบางอย่าง ...)  การใช้กุ้งแห้งหรือปลาหมึกแห้งเพื่อช่วยปรุงรสต้มจืดต่างๆ (แกงจืดวุ้นเส้น แกงจืดแตงกวา/แตงร้าน ต้มมะระ ...)  การใช้ฟองเต้าหู้และเห็ดหูหนู (ต้มจืดหมูสับ ฟองเต้าหู้ห่อหมูสับทอดหรือนึ่ง ...) การใช้ผักกาดดอง (ตือฮวน / ข้าวเหนียวยัดใส้ กระเพาะหมูผัดเกี่ยมฉ่าย ต้มกับปลาทอด ใส่เต้าหู้ยี้ ...)  และการใช้เต้าหู้หลากหลายรูปแบบ (รูปแบบหนึ่งคือหั่นขวางเป็นแผ่นบางๆ เอาไปตากแดดให้แห้ง แล้วเอามาทอดโรยหน้าชามข้ามต้มหรือโจ๊ก อร่อยครับ) ..... 

อาหารดังตัวอย่างในวงเล็บเหล่านี้เกือบทั้งหมด คงจะหากิน(เกือบจะ)ไม่ได้แล้วตามร้านอาหารต่างๆในเมืองใหญ่ๆ  แต่ในต่างจังหวัดอาจจะยังพอหากินบางเมนูได้อยู่ โดยเฉพาะในเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาใช่วงเวลาประมาณ 100 ปีที่แล้ว   นอกจากนั้นก็ยังอาจจะได้เห็นที่มีการทำขายกันตามร้านข้าวราดแกงหรือแผงขายกับข้าวในตลาดเช้าและตลาดบ่าย     สำหรับตัวผมนั้น ในบางครั้ง เมื่อพอสังเกตได้จากอาหารว่าคนทำอาหารเป็นพวกพ่อครัวฝีมือเก่า ก็จะขอให้ทางร้านเขาเพิ่มเครื่องปรุงบางอย่างเพิ่มเติมลงไป หรือไม่ก็ขอให้เขาทำตามแบบที่เราต้องการ โดยเฉพาะที่เป็นจานอาหารง่ายๆ เช่น จานมะระผัดไข่ ก็จะขอให้เขาผัดให้แห้งให้มีกลิ่นใหม้นิดๆ     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ส.ค. 21, 19:08
นึกขึ้นได้ว่า เมื่อเดินทางไปต่างจังหวัด หากเห็นร้านอาหารที่มีของกินบางอย่างแขวนไว้หรือวางไว้ในตู้หน้าร้านอาหาร ก็น่าจะทำให้เราพอรู้ได้ว่าเป็นร้านอาหารจีนฝีมือพ่อครัวเก่าหรือมีอาหารตำราเก่า   ก็จะมี อาทิ หมูตั้งก้อนสี่เหลี่ยม   มีเป็ดพะโล้แห้ง (จะเป็นแบบขดเป็นวงกลมทั้งตัว หรือจะเป็นแบบแยกเป็นส่วนอกหรือตะโพกก็ได้ เรียกในอีกชื่อว่าเป็ดย่างชานอ้อย)  มีหมูสามชั้นพะโล้แห้ง  มีฟองเต้าหู้แห้ง และอาหารอื่นบางอย่างที่ได้กล่าวถึง

หมูตั้ง หั่นเป็นเส้นยาว ใช้เป็นใส้ในปอเปี๊ยะสดที่อร่อยๆ หรือจะหั่นเป็นชิ้นเล็กกินกับข้าวต้มก็อร่อย   เป็ดอบชานอ้อย(อกเป็ด) เอามานึ่งให้นิ่ม กินกับข้าวสวยหรือข้าวต้ม จะจิ้มน้ำส้มหรือซีอิ๊วขาวก็ได้  หมูสามชั้นพะโล้แห้งก็เช่นกัน   ทั้งสามอย่างนี้ ยังหาซื้อจากตลาดเยาวราชเอามาทำกินเองได้   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 21, 10:17
เป็ดอบชานอ้อย น่ากินมากๆ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ส.ค. 21, 18:08
ครับ เป็ดอบชานอ้อยเป็นของอร่อยจริงๆ

ผมรู้จักและเคยกินมาตั้งแต่ยังเด็ก สมัยก่อนนั้นจะมีแขวนขายอยู่ในร้านอาหารใน อ.แม่จัน จ.เชียงราย   แต่หลังจากช่วงประมาณ พ.ศ.2505 ?? ก็หายไปเลย  ผมเข้าใจว่าผู้ทำร้านอาหารคงจะเลิกกิจการ หรือคนทำก็ย้ายกลับเมืองจีน(ไต้หวัน) หรือไม่ก็ย้ายไปอยู่ในพื้นที่บนดอยแม่สะลอง  เพราะว่าในช่วงประมาณปีที่กล่าวถึง ได้มีการย้ายกลับของกลุ่มทหารจีนที่เรารู้จักกันในชื่อ กองพล 93  มีเครื่องบิน DC3 Dakota และ C47 ขึ้นลงที่สนามบินเชียงรายวันละสองสามเที่ยว  (ที่จำชื่อเครื่องบินได้และการปฏิบัติการต่างๆได้มากพอสมควรเพราะตัวเองมีความสนใจในเรื่องทาง mechanics  ได้มีโอกาสสอบถาม และได้รับฟังเรื่องราวที่มาที่ไปของเรื่องราวต่างๆ ประกอบกับสนามบินเองก็อยู่ไม่ไกลจากที่บ้านที่อยู่อาศัย ครับ)

ร้านอาหารที่ทำอาหารจีนได้ที่ดีที่สุดในภาคเหนือในสมัยนั้นน่าจะอยู่ที่ อ.แม่จัน นี้เอง     อีกแห่งหนึ่งก็น่าจะเป็นที่ อ.พะเยา (จ.พะเยา ในปัจจุบัน) ซึ่งทำอาหารเมนูจานปลาต่างๆได้อร่อยมาก  ที่ยังจำได้ติดปากก็คือต้มจืดผักกาดขาว หมูสับ กับลูกชิ้นปลา เหยาะกระเทียมเจียวนิดหน่อย คลับคล้ายคลับคลาว่ามีการใส่ปลาหมึกกรอบลงไปด้วย     น่าเสียดายที่ๆในปัจจุบันนี้ ผมยังไม่พบร้านขายอาหารจีนในเมืองพะเยาที่ทำอาหารคล้อยไปในรูปแบบแต่เก่าก่อน   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ส.ค. 21, 19:13
ผมมีความเห็นว่า อาหารที่ทำแบบจีน หรือจีนผสมไทย หรือไทยผสมจีน ที่ยังค่อนข้างจะยังคงรักษาลักษณะของความเป็นอาหารแต่เก่าก่อนที่มีความอร่อยนั้น ยังคงมีอยู่ค่อนข้างมากในพื้นที่ของ จ.นครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม และเพชรบุรี  ซึ่งอาหารในลักษณะดังกล่าวนี้มักจะปรากฎอยู่ในร้านอาหารแบบพื้นๆทั่วไป 

สิ่งที่พอจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่ายังคงมีการทำอาหารแบบเก่าก่อนนั้น ก็อาจจะพอสังเกตได้จากความหลากหลายของชนิดสินค้าเพื่อการบริโภคทั้งหลาย รวมทั้งลักษณะการตัดแต่งรูปทรงของเครื่องปรุง ชุดเครื่องปรุง  ชุดเครื่องตุ๋น ...  ฯลฯ           


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 21, 19:15
ต้มจืดผักกาดขาว หมูสับ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ส.ค. 21, 17:52
ต้มจืดผักกาดขาวหมูสับ เป็นอาหารอร่อย เรียบง่ายและทำไม่ยาก

เอาเนื้อหมูส่วนสันคอ (เนื้อผสมมัน) หั่นเป็นชิ้นๆขนาดประมาณหัวแม่มือ ใช้มัดปังตอสับ เมื่อใกล้จะละเอียดก็เหยาะด้วยน้ำปลาและซีอิ๊วพอออกรสเค็ม บุบกระเทียมให้แหลกสักกลีบหรือสองกลีบและบุบรากผักชี ซอยแล้วใส่ลงสับไปกัลหมูด้วยกัน โรยพริกไทยป่น สับและพลิกกลับไปมาเพื่อเคล้ากันให้ทั่ว   เอาหม้อมาต้มน้ำให้เดือด ใส่เกลือลงไปเล็กน้อย แล้วเอาหมูสับ(บะช่อ)ปั้นเป็นก้อนเล็กใหญ่ตามแต่ต้องการใส่ลงไป หรือจะบี้ให้เป็นแผ่นเล็กแล้วยีให้มันแตกกระจาย  เมื่อใกล้สุก หมูจะลอยขึ้นมา ก็หรี่ไฟลงแล้วช้อนฟองจนน้ำดูใสดีแล้ว  ก็เร่งไฟแล้วเอาผักกาดขาวใส่ลงไป รอจนน้ำเดือดแล้วจึงหรี่ไฟลง ทำการปรุงรสให้เหมาะตมต้องการ ปิดฝาหม้อ ยกลงจากเตา ทิ้งไว้สักพักใหญ่ๆเพื่อให้ผักได้นิ่มลงและเพื่อให้รสต่างๆได้มีเวลาผสมผสานกลมกลืนกัน จากนั้นก็พร้อมที่จะกินแล้ว  เมื่อตักใส่ชามแกงแล้ว ก็มีแบบที่เหยาะหน้าด้วยกระเทียมเจียวลงไปอีก    การทำวิธีนี้จะได้น้ำแกงที่หอมและหวานจากวิธีการทำหมูสับและจากผักกาดขาวที่สด แต่หากได้น้ำแกงที่ได้มาจากการต้มกระดูกหมูก็จะยิ่งหวานอร่อยเข้าไปอีก

ก็เป็นตัวอย่างของอาหารที่ผมเห็นว่าเป็นแบบจีนผสมไทย ? หรือไทยผสมจีน ?  ผมได้เห็นการทำและกินอาหารในกลุ่มพวกผสมเช่นนี้มาตั้งแต่เด็ก ด้วยที่ต้องเดินทางไปเยี่ยมคุณยายที่แม่กลอง ก็เลยเอามาเป็นเกณฑ์จำแนกระหว่างอาหารจีนที่ยังคงมีสิ่งที่บ่งชี้ว่ายังมีลักษณะของความเป็นของเดิมกับที่เป็นอาหารรุ่นใหม่   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ส.ค. 21, 18:57
จะลองนำเสนออาหารลูกผสมดังที่กล่าวมา ซึ่งน่าจะเกือบไม่ได้เห็นกันแล้วในพื้นที่เมืองต่างๆ  บางอย่างอาจจะพอเห็นกันได้บ้างตามแผงขายอาหารสำเร็จรูปของแม่ค้าที่เป็นชาวบ้านๆจริงๆ (มิใช่ชาวบ้านในระดับที่มีคำเรียกนำหน้าชื่อว่า เจ๊ )   

ก็มีอาทิ กระเทียมดองผัดกับไข่  วุ้นเส้นผัดกับไข่ใส่กระเทียมดอง  ดอกกุยช่ายผัดกับตับ  ตับผัดกับต้นกระเทียมสด  เต้าหู้อ่อน(เหลือง)ผัดกับหมูสับใส่เต้าเจี้ยวและหอมสดหรือกระเทียมสด  แกงจืดเซี่ยงจี๊กับหมูสับ  แกงจืดหมูสับกับใบตั้งโอ๋   ผัดหลากหลายชนิดที่ใส่เต้าเจี้ยว(หอยหะพง หอยลาย...)   ผัดหลากหลายชนิดที่ใส่เต้าหู้ยี้ (หมู จับฉายแห้ง...)   ต้มจับฉ่าย/พะโล้/ต้มหรืออื่นใดที่เริ่มต้นด้วยการเคี่ยวน้ำตาลปี๊บกับซีอิ๊วเพื่อทำให้เป็น caramel ก่อนจะละลายให้เป็นน้ำแกงต่อไป ....      ที่เป็นอาหารระดับเหลาก็มีอาทิ เป็ดเสฉวน(ชนิดเลาะกระดูกออกไปทั้งตัว)  ตีนเป็ด(น้ำแดง ผัดหน่อไม้..)   ขาหมูยัดใส้  ปลานึ่งเกี้ยมบ้วย ....

อาหารดังตัวอย่างเหล่านี้และอื่นๆ ยังคงมีทำขายผลุบๆโผล่ๆอยู่ในพื้นที่ๆกล่าวถึง   แต่หลังจบเรื่องเรื่องโควิด-19 แล้ว จะยังคงพอจะมีตกค้างสืบทอดต่อไปอยู่บ้างหรือไม่ ???     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ส.ค. 21, 19:35
กุยช่ายผัดตับ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ส.ค. 21, 18:12
นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม  แต่ละจังหวัดต่างก็อยู่ในพื้นที่ๆไม่ต่างกันมากในสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ธรณีฯ ดิน... และในเชิงของการใช้ประโยชน์ที่ดิน เกษตรกรรม กสิกรรม ...    แต่ แต่ละจังหวัดต่างก็มีความไม่เหมือนกันในด้านของผลิตภัณฑ์ที่ทำรายได้ให้กับผู้คนชาวจังหวัดนั้นๆ   ทุกจังหวัดมีสวนผลไม้ ทุกจังหวัดมีกิจการในรูปของอุตสาหกรรม (ทั้งด้านบริโภคและอุปโภค) ทุกจังหวัดมีสถานที่หรือแหล่งท่องเที่ยว  มีอาหารที่มีลักษณะเป็นของทำเฉพาะถิ่น ....     

ก็จึงน่าสนใจว่า ด้วยเหตุใด แต่ละจังหวัดจึงมีความโดดเด่นออกมาไม่เหมือนกัน 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ส.ค. 21, 19:04
ความต่างกันในด้านพืชผลทางการเกษตรนั้น แต่เดิมจะไปขึ้นอยู่กับลักษณะและสภาพของดิน เมื่อพื้นที่ใดที่ได้ผลผลิตสำหรับพืชผลชนิดใดดีก็จะมีการขยายพื้นที่การปลูกพืชผลชนิดนั้นๆให้กว้างมากขึ้น เข้าไปสู่กิจการที่มุ่งผลทางการครองตลาด     ก็ยังมีบางพื้นที่ๆมีของที่มีคุณภาพชั้นเยี่ยม ที่อยู่นอกพื้นที่การผลิตที่สำคัญเหล่านี้ ซึ่งจัดเป็นของดีประจำถิ่นนั้นๆหรือนอกถิ่นนั้นๆที่ผู้คนนอกถิ่นไม่รู้  รู้กันถึงระดับว่าต้นใดดีที่สุดก็ยังมี     ทำให้การเดินทางไปเที่ยวแบบติดดินที่มีการพูดคุย with respect กับชาวบ้าน (ใช้คำฝรั่งเพื่อลดคำศัพท์ภาษาไทย) จะทำให้มีโอกาสได้สัมผัสกับของที่มีคุณภาพจริงๆเหล่านั้น


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ส.ค. 21, 20:27
ยกเรื่องพืชผลทางการเกษตรขึ้นมาเพื่อจะฉายภาพว่า ทั้งห้าจังหวัดที่ได้กล่าวถึงนั้น ก็ล้วนแต่มีพื้นที่สวน(ที่มีพื้นที่รวมกันแล้วกว้างพอสมควร) ต่างก็มีการปลูกผัก ปลูกมะม่วง ปลูกมะนาว ปลูกส้มโอ ปลูกชมพู่ ฯลฯ  ซึ่งแต่ๆละพื้นที่ๆไม่เน้นการเข้าแข่งในด้านปริมาณ ต่างก็ดูจะไปเน้นในด้านคุณภาพ      ซึ่ง..ผมมีความเห็นว่า มันเป็นภาพที่บ่งชี้ถึงความคิดในการมองตลาดหรือทำตลาดบนฐานของ comparative advantage   ซึ่งน่าจะมองได้ในอีกมุมหนึ่งว่า เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่เป็นมรดกตกทอดส่งถ่ายต่อกันมา  ยังให้เกิดความหลากหลายจนทำให้ไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจในทุกรูปแบบของอาหารการกินและการท่องเที่ยว 

comparative advantage เป็นเรื่องของหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนในเรื่องของนโยบายและวิเทโศบายของการแข่งขันระหว่างผู้ที่เป็นคู่แข่งกัน


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ส.ค. 21, 18:38
ล่องใต้ต่อจากเพชรบุลงไป   

เมื่อครั้งบ้านเมืองยังไม่เจริญและขยายตัวมากนัก  การเดินทางโดยรถยนต์จะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะน่าเบื่อหน่ายมาก เพราะแต่ละจุดตามเส้นทางที่พอจะจอดรถพักทั้งรถและคนได้นั้น จะมีระยะห่างกันค่อนข้างมากและใช้เวลาในการเดินทางระหว่างกันค่อนข้างจะนานด้วยมีข้อจำกัดทางด้านสภาพของถนนและผิวทางการจราจร    ช่วงแรก เพชรบุรี - ประจวบฯ ระยะทางประมาณ 160 กม.  ช่วงที่สอง ประจวบ - ชุมพร ระยะทางประมาณ 180 กม. ก่อนจะแยกเข้าเมือง จ.ชุมพร จะมีสี่แยกปฐมพร หากเลี้ยวซ้ายก็จะเข้าตัวเมือง จ.ชุมพร   หากเลี้ยวขวาก็จะไป จ.ระนอง ระยะทางอีกประมาณ 140 กม. และหากตรงไปก็จะไปยัง จ.สุราษฎร์ธานี ระยะทางอีกประมาณ 180 กม. จากกรุงเทพฯถึงเพชรบุรี ก็ประมาณ 200 กม.   ลองจินตนาการถึงการเดินทางด้วยความเร็วในระดับที่ต่ำกว่า 100 กม.ต่อ ชม.ในสมัยก่อน ที่ถูกบังคับให้ต้องเดินทางจากจุดหนึ่งไปถึงอีกจุดหนึ่งเพราะต้องมีที่พักนอนและที่กิน  ต่างกับในปัจจุบันนี้ที่ถนนดีขึ้นมากๆ การเดินทางสามารถใช้ความเร็วได้มากในระดับมากกว่า 100 กม.ต่อ ชม.อย่างต่อเนื่อง   

ที่จะบอกกล่าวก็คือ ยังมีสถานที่มากมายในพื้นที่ช่วงระหว่างส่วนต่อของภาคกลางกับภาคใต้ที่ยังคงมีความเป็น virgin แฝงอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ตามชายฝั่งทะเล  ด้วยเหตุที่มาจากการเดินทางที่ถูกจำกัดหรือถูกกำหนดด้วยสภาพแวดล้อม จนทำให้เกิดสภาพของการเหาะเหินข้ามไปในหลายๆพื้นที่         


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ส.ค. 21, 18:50
จะขับรถล่องใต้ในครั้งหน้า ก็น่าจะลองวางแผนใช้ถนนเส้นใน(ริมทะเล) ตั้งแต่แถวๆ อ.ทับสะแก ลงไป  ผมไม่สันทัดเส้นทางนี้ เคยแต่เจาะเข้าไปจากถนนใหญ่เป็นบางจุดนานมาแล้ว เคยนอนค้างแรมอยู่เป็นบางที่     

ผมได้มีโอกาสเดินทางบนเส้นทางสายหลัก(ถนนเพชรเกษม)ครั้งหลังสุดเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว   ขับรถเดินทาง 2 คนตายายเป็นวงรอบ ขาลงแยกเข้า จ.ระนอง ไป จ.พังงา ขากลับจาก จ.พังงา ตัดขึ้นมาหา จ.สุราษฎร์ธานี กลับเข้าสู่ถนนเพชรเกษมเพื่อกลับเข้ากรุงเทพฯ  ก็เลยเอาข้อสังเกตที่ได้จากภาพที่ได้เห็นเมื่อขับรถผ่านพื้นที่และสถานที่ต่างๆ เอามาประมวลรวมกับภาพเก่าที่คุ้นตา  ทำให้พอจะเห็นว่า แม้จะมีชุมชนและบ้านเมืองขยายตัวมากขึ้นกว่าเดิมค่อนข้างมาก ดูอย่างผิวเผินคล้ายๆกับว่าจะไม่เหลือสิ่งที่เป็นของเดิมไว้ให้เห็น  หลายๆอย่างก็ดูจะหายไปอย่างสิ้นเชิง  แต่เมื่อดูละเอียดลงไปก็พบว่ายังคงมีอะไรๆคงเหลืออยู่ไม่น้อย       ที่แนะนำว่าน่าจะลองวางแผนใช้เส้นทางเลาะชายทะเลนั้น ก็ด้วยเห็นว่าในปัจจุบันนี้มีถนนลาดยางเชื่อมต่อระหว่างตำบลและชุมชนครอบคลุมเกือบจะทุกพื้นที่ทั่วประเทศ  จึงมีโอกาสจะได้เดินทางเข้าพื้นที่เหล่านี้ได้โดยง่าย และก็คิดว่าพื้นที่เหล่านี้น่าจะยังคงมีสภาพที่เป็นธรรมชาติอยู่ค่อนข้างมาก อีกทั้งลักษณะและรูปแบบของชีวิตแบบธรรมดาของชาวบ้าน ทั้งในด้านหลักคิด/หลักนิยมแบบดั้งเดิมของท้องถิ่นก็จะยังคงมีอยู่   ได้กินของทะเลสดที่ทำแบบชาวบ้านแสนอร่อย ได้เห็นวิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน ฯลฯ     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ส.ค. 21, 17:40
ประจวบคีรีขันธ์ เป็นจังหวัดที่น่าจะแวะค้างสักคืนหนึ่ง แต่ก่อนนั้นเป็นดูจะเป็นจุดพักค้างแรมหลักของพนักงานขายส่งสินค้าสายใต้  มีโรงแรมที่สร้างในทรงคล้ายเรือนแถว ห้องพักมีขนาดเล็กๆ มีผนังห้องติดกัน   ในปัจจุบันมีความเจริญทันสมัยมาก มีการจัดพื้นที่หน้าเมืองริมทะเลเป็นถนนคนเดิน มีร้านอาหารแบบ open air  เห็นภาพแล้วเหมือนไปงานแฟร์ รู้สึกผ่อนคลายสบายๆดีครับ

หากมีเด็กๆไปด้วยก็น่าจะแวะไปที่หว้ากอด้วย ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 15 กม.  หว้ากอเป็นสถานที่ๆมีชื่อบึนทึกอยู่ในประวัติศาสตร์สมัยรัชการที่ 4 ซึ่งคงทราบเรื่องราวดีกันอยู่แล้ว ในปัจจุบันนี้มี aquarium ตั้งอยู่ด้วย 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ส.ค. 21, 18:53
ชายฝั่งทะเลตั้งแต่ประมาณกุยบุรีลงไปถึงชุมพรนั้น มีเรื่องที่เป็นข้อสังเกตอยู่หลายเรื่อง ที่เด่นออกมาก็จะมีเรื่องของการมีพื้นที่ๆเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นริเวณค่อนข้างกว้างในย่าน อ.กุยบุรี   เรื่องของการมีปลาฉลามวาฬเข้ามาหากินในทะเลย่านประจวบและชุมพร  และเรื่องของอาหาร เป็นต้น   ซึ่งต้นเหตุที่ทำให้เกิดมีเรื่องดังกล่าวเหล่านี้ ผมเห็นว่ามาจากเรื่องของกระแสน้ำในอ่าวไทยตอนบน       


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 21, 19:22
ขอความกรุณาคุณตั้งช่วยเปิดลิ้นชักความจำ ว่าด้วยของดีของอร่อยตามเส้นทางลงใต้นี้บ้างค่ะ   มีอะไรที่คุณจำได้   
หมดโควิดเมื่อไหร่ เห็นจะต้องไปสำรวจเส้นทางเลียบทะเลกันบ้างละค่ะ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ส.ค. 21, 17:49
คิดว่าพอจะค้นได้บ้างครับ แต่อาจจะเรียบเรียงเรื่องไม่ได้ดีนัก คงจะต้องกระโดดไปกระโดดมาบ้าง    ผมมีโอกาสลงไปทำงานในพื้นที่ภาคใต้ไม่มากนัก และในแต่ละครั้งก็เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ข้อสังเกตเกี่ยวกับความต่างของอะไรต่างๆจึงมีข้อจำกัดอยู่มาก  จะดีอยู่หน่อยนึงก็ตรงที่ได้สัมผัสกับสิ่งที่ค่อนข้างจะเป็นแบบชาวบ้าน/แบบพื้นบ้านจริงๆ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ส.ค. 21, 19:18
จะต้องขอย้อนกลับไปเล็กน้อย 

ถ้าจะกล่าวในองค์รวมว่าแต่ะจังหวัดติดทะเลล้วนแต่มีความเด่นดังที่แตกต่างกัน ก็คงจะเป็นเรื่องที่ไม่ผิดนัก    ลองไล่ดู จ.ตราด เด่นดังในเรื่องของพลอย  จันทบุรี ในเรื่องของผลไม้  ของทะเลของทั้งสองจังหวัดนี้ก็มีแต่ไม่เด่นออกมา  ที่ดูจะมีความเป็นเฉพาะก็คือ มีการเอาตัว "เพรียงไม้" มากิน เพรียงไม้พบได้ในไม้ผุ(ต้นไม้)ที่ขึ้นอยู่ในป่าชายเลน  เอาตัวเพรียงมาทำความสะอาดแล้วหั่นเป็นท่อนสั้นๆ กินกันดิบๆกับน้ำจิ้มแซบๆ  ผมเคยสั่งกินสองสามครั้งในช่วงระระเวลาที่ต่างกันนาน เพื่อดูพัฒนาการของการพัฒนาให้เกิดความอร่อยมากขึ้น ก็ยังไม่เป็นของชอบที่น่ากินของผมเลย เป็นอาหารจานแพงนะครับ หากท่านใดกล้าพอก็น่าจะสั่งมาลองดูสักคำ     

มองในมุมหนึ่ง  พื้นที่ชายฝั่งของจันทบุรี-ตราด อยู่เขตอิทธิพลของน้ำขึ้น-น้ำลง (littoral zone) ที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งผมเห็นว่าเป็นป่าชายเลนที่ถูกครอบคลุมด้วยอิทธิพลของน้ำจืดในระดับที่ยังไม่มากนัก  ผมใช้การสังเกตดูจากลักษณะจากการแผ่กระจายของต้นเสม็ดในพื้นที่ 

สำหรับผู้ที่ชอบเข้าครัวทำอาหาร หากไปเที่ยวพักผ่อนในพื้นที่สองจังหวัดนี้ น่าจะลองแวะหาซื้อเขียงที่ทำจากไม้ตะพูน(ตะพรูน ?)มาใช้ในครัวสักเขียงหนึ่ง ตะพูนเป็นไม้เนื้อแข็ง เอามาทำเป็นเขียงหั่นหรือซอยของได้ดี  มีคู่ไปในครัวกับเขียงจากไม้มะขาม(แก่ๆ) ที่เหมาะสำหรับใช้สับเนื้อ  (ถ้าจะให้ดูเหมาะยิ่งยวดเลย ก็น่าจะลองหาซื้อมีดแบบที่พ่อครัวจีนดังๆเขาใช้กัน หาชื่อได้แถวซอย/ถนนแปลงนาม)   ครับ เครื่องใช้ในการทำครัวดีๆแบบพื้นๆมันก็ช่วยทำให้เราได้มีความสุขได้มากในการเข้าครัวทำอาหาร  ก็คงจะไม่ต่างไปมากนักจากการเลือกวิธีการชงกาแฟ     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ส.ค. 21, 20:47
จากจันทบุรีก็มาชายทะเลของ จ.ระยอง    แถวบ้านเพที่จะข้ามไปเกาะเสม็ด ก็ดูจะมีสิ่งบ่งชี้เรื่องราวที่น่าสนใจ  เราจะเห็นปลาหมึกตากแห้งทั่วไปทำขายเป็นสินค้าหลักของท้องถิ่น  จะมองว่าพื้นที่ทะเลใกล้ชายฝั่งแถบนั้นเป็นแหล่งชุมนุมของปลาหมึกก็คงจะไม่ผิดนัก  บ้านเพมีท่าเรือมานาน ทั้งในลักษณะของท่าเรือประมงและท่าเรือข้ามฝั่งกับเกาะเสม็ด     เมื่อนั่งเรือข้ามไปเกาะเสม็ด หากจะสนใจมองพื้นน้ำก็คงพอจะเห็นว่าน้ำทะเลใส พื้นท้องทะเลเป็นหินกรวด (cobblestone) ซึ่งแสดงว่ากระแสน้ำชายฝั่งน่าจะค่อนข้างแรง หรือในบางช่วงของฤดูกาลอาจจะได้รับอิทธิพลของคลื่นลมทะเลที่มาจากทะเลเปิดโดยตรง

ผมก็เลยประมวลเอาดื้อๆว่า โดยไม่ขยายความข้อถกทางวิชาการว่า ด้วยทิศทางการไหลของกระแสน้ำชายฝั่ง (longshore current) ที่ไหลผ่านพื้นที่ป่าชายเลน ผนวกกับคุณภาพน้ำของทะเลเปิดที่พัดพาเข้าฝั่ง น่าจะเป็นเหตุให้มีชุมชนปลาหมึกชุกชุมอยู่ในพื้นที่ในละแวกเกาะเสม็ด       


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ส.ค. 21, 17:07
เขียนถึงเขียงที่ทำด้วยไม้ตะพูน แล้ววงเล็บด้วยความไม่แน่ใจว่า ตะพรุน  เลยไปหาอ่านความรู้เพิ่มเติม ได้ความว่า ตะพรุน ดูจะเป็นชื่อเรียกที่ถูกต้อง  แต่ก็มีต้นตะบูนขาวและตะบูนดำที่พบอยู่ในพื้นที่ชยฝั่งทะเลเช่นกัน   ทำให้เกิดความสงสัยว่า แต่ก่อนเมื่อยังเป็นเด็กอยู่นั้น เคยได้ยินผู้สูงอายุเรียก จ.จันทบุรี ว่า จันตะบูน   ฤๅชื่อดั้งเดิมของพื้นที่แถบนั้น ชาวบ้าน/ชาวถิ่นเขาเรียกกันว่า จันตะบูน  ???


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ส.ค. 21, 18:21
มาถึงชายทะเลช่วงสัตหีบขึ้นมาถึงชลบุรี แต่ก่อนนั้นความเจริญจะกระจุกอยู่ในพื้นที่ตัวเมืองชลบุรีและศรีราชา  ที่ศรีราชาก็เพราะเป็นท่าเรือข้ามฝั่งไปยังเกาะสีชัง  ส่วนที่ตัวเมืองชลบุรีนั้นก็เพราะอยู่ในลักษณะของการเป็นตลาดกลางขายส่งสินค้าสดจากทะเลและสินค้าอุปโภคที่เข้ามาทางเกาะสีชัง   

คิดว่าหลายๆท่านอาจจะไม่เคยสังเกต ได้เห็น หรืออาจจะไม่เคยทราบเลยว่า ชลบุรีก็มีการทำนาเกลือ ซึ่งอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนาเกลือต่างๆก็เหมือนกันกับที่ใช้กันในพื้นที่สมุทรสงคราม มีการใช้กังหันลมเพื่อเอาไปหมุนระหัดวิดน้ำที่ทำด้วยไม้  พื้นที่ทำนาเกลือจะอยู่ทางด้านตะวันตกของบริเวณแยกเลี่ยงเมือง (ขวามือของขาไป)   แถวบริเวณแยกนี้เคยมีแหล่งสะสมของเปลือกหอย เป็นชั้นหนาไม่น้อยกว่า 5 เมตร เป็นพวกเปลือกของหอยแคลง (ถ้าความจำยังพอใช้ได้อยู่)  ทราบอยู่ว่าได้มีการขุด/ตักเอาไปใช้ในการทำอาหารสัตว์

ของกินของใช้ที่โดดเด่นออกมาของพื้นที่นี้ก็มี หอยนางรมจากการเพาะเลี้ยง และครกหินอ่างศิลา ซึ่งมีครกหินนี้มีทั้งที่ใช้หินของอ่างศิลาเองและที่ใช้หินจากที่อื่น    ผมมีความเห็นว่า หากจะซื้อครก ก็น่าจะต้องพิจารณาว่าเราจะเอาไปทำอะไร  ในวิถีชีวิตปัจจุบันคงจะมีน้อยคนนักที่จะตำน้ำพริกแกงแบบทำเอง ซึ่งหากเป็นในวัตถุประสงค์นั้น ก็จำเป็นจะต้องใช้ขนาดใหญ่สักหน่อย  แต่หากจะซื้อไปเพื่อตำน้ำพริกกินเองกับผักหรือใช้บุบเครื่องแกงบางอย่าง ก็ใช้ขนาดที่เล็กลงมา เลือกที่มีก้นลึกมากหน่อย  เลือกที่เนื้อหินด้านในของครกไม่มี(หรือมีน้อยมากๆ)จุดเล็กๆ ขาวๆ ที่สะท้อนแสงวาววับ และที่เมื่อเอามือลูบไล้แล้วรู้สึกเนียนมากๆ  มิฉะนั้น เมื่อกินน้ำพริกก็อาจจะรู้สึกว่าเหมือนมีทรายปะปนเข้ามา       


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ส.ค. 21, 19:35
หอยนางรมเป็นสัตว์น้ำในเขตน้ำขึ้นน้ำลง เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีลักษณะเป็น open sea  คือไม่เป็นฝั่งทะเลที่อับ มีการหมุนเวียนของน้ำทะเลที่ดี ทำให้ Plankton (รวมทั้งสัตว์ตัวจิ๋วและจุลินทรีย์ที่กำเนิดในพื้นที่ป่าชายเลน)ถูกนำไปพัดผ่าน ทั้งในเชิงของ upwelling (ล่างขึ้นบน) หรือกระแสน้ำไหลผ่าน (longshore current)

สรุปกันดื้อๆเช่นนี้ก็แล้วกัน บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง มีสภาพเป็นน้ำกร่อย มีป่าชายเลนที่เหมาะแก่การเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ และอนุบาลสัตว์น้ำตัวเล็กๆ   กระแสน้ำในอ่าวไทยส่วนบนที่เป็นทรงอักษร ก ไก่ ได้พัดพาเอาของดีเหล่านี้ให้กระพือไปทั้งทางด้านซ้ายและทางขวาตามฤดูกาล

ที่จริงแล้วผมก็ยังไม่เคยขุดลึกลงไปหาเหตุผลที่พอจะอธิบายได้ในบางเรื่องว่า ด้วยเหตุใด หอยแครงจึงพบไม่มากจนเป็นของเด่นในพื้นที่นี้ ทั้งๆที่ก็มี สุสานหอยแครงที่แสดงถึงความมีอยู่ในอดีตอย่างสมบูรณ์     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ส.ค. 21, 18:04
เลาะฝั่งผ่านปากแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา มาสู่พื้นที่ของปากแม่น้ำท่าจีน จ.สมุทรสาคร ต่อเนื่องถึงปากแม่น้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม   

สมุทรสาคร น่าจะกล่าวได้ว่าเป็นศูนย์กลางของกิจการด้านการประมงของไทย มีทั้งตลาดกลางสินค้าสัตว์น้ำจากทะเล มีโรงงานแปรรูปอาหารทะเล และมีกองเรือประมงน้ำลึกที่ไปทำการประมงระยะไกลจากฝั่ง ไกลจนเป็นการทำประมงในเขตน่านน้ำของประเทศอื่น  ทำให้สัตว์ทะเลที่เห็นวางขายอยู่ในตลาดกลางจึงมีทั้งที่มีอยู่ในน่านน้ำไทยและที่อยู่ในน่านน้ำของประเทศอื่นๆ   ก็น่าเป็นได้ที่จะมีในรูปแบบที่จับได้เอง ที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนสินค้า และที่ได้ซื้อรวบรวมมา   

ด้วยที่ของทะเลที่มักจะถูกเรียกว่าของดีนั้น มักจะหมายถึงการมีขนาดตัวที่ใหญ่และสด ซึ่งของเหล่านี้ส่วนมากจะพบอยู่ในพื้นที่ของทะเลเปิด  ก็เลยทำให้ตลาดของทะเลสดของสมุทรสาคร(ชื่อเรียกติดปากกันมาแต่ก่อนคือตลาดมหาชัย)เป็นตลาดที่สามารถจะหาซื้อของในลักษณะนั้นได้   สมุทรสาครหรือมหาชัยน่าจะมีความเป็นชุมชนเมืองที่มีวิถีชีวิตในลักษณะนี้มานานแล้ว มิฉะนั้นก็คงจะไม่มีแนวคิดในการสร้างทางรถไฟสายปากคลองสาน - มหาชัย  จำได้กระท่อนกระแท่นว่าเป็นระบบสัมปทานอีกเสียด้วย และก็ยังขอสัมปทาน (?) สร้างทางรถไฟต่อไปจนถึงแม่กลองอีกด้วย

แต่ก่อนนั้นมีผู้คนเดินทางด้วยรถไฟสายนี้ค่อนข้างมาก  ถึงขนาดต้องรีบขึ้นรถไฟเพื่อจองที่นั่งกัน  สนุกดีเหมือนกันครับ  ที่ปากคลองสานก็รีบหาที่นั่ง ถึงมหาชัยก็ไปรีบลงเรือข้ามฟากไปท่าฉลอม หาจุดที่ขึ้นจากท่าน้ำแล้วเดินไปต่อรถไฟที่สถานีบ้านแหลมได้เร็วๆ จะได้มีที่นั่งต่อไปจนถึงแม่กลอง   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ส.ค. 21, 19:13
ก็มีอยู่ 3 เมืองในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนที่มีความสัมพันธ์กันมาช้านาน  ผมเองไม่เคยได้ลงไปค้นหาในรายละเอียดลึกๆกับความสัมพันธ์นี้  คิดว่าหลายๆท่านคงจะมีข้อมูลและความรู้อยู่พอประมาณแล้ว     ก็คือการที่ผู้คนผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของอ่าวไทยตอนบนนี้ ต่างก็ให้การเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่งกับพระพุทธรูป 3 องค์  คือ หลวงพ่อโสธร วัดโสธรฯ จ.ฉะเชิงเทรา   หลวงพ่อบ้านแหลม  วัดเพชรสมุทรฯ จ.สมุทรสงคราม  และหลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา จ.เพชรบุรี    จากการบอกเล่าของผู้สูงวัยและแม่ เล่าว่าในแต่ละปีจะมีงานประจำปีของวัดทั้งสามนี้ ก็จะมีผู้คนเดินทางไปนมัสการและเที่ยวงานวัด  เมื่อมีงานที่เพชรบุรี ผู้คนทางแม่กลองและมหาชัยจะใช้เรือในการเดินทางเดินทางโดยเรือเมล์กัน  เสียดายที่ผมไม่มีข้อมูลใดๆเลยเกี่ยวกับวิธีการเดินทางไปวัดโสธรฯ   คิดเอาเองว่าผู้คนแถบเพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร ก็คงจะไปกัน แต่จะไม่เป็นการไปในลักษณะเป็นประจำปี คงจะเป็นในลักษณะเมื่อมีโอกาส   

คงจะเป็นเรื่องที่แสดงพื้นฐานของความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้คนในพื้นที่ชายทะเลแถบสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี    แล้วราชบุรีล่ะ ?? ในความเห็นของผม เท่าที่ประมวลจากภาพต่างๆที่ผ่านสายตาจากการทำงานในพื้นที่ ผมมีความเห็นว่า ราชบุรีไปรวมอยู่ในกลุ่มพื้นที่ต่อเนื่องละแวกนครปฐมและกาญจนบุรี       ที่น่าจะสังเกตต่อไปอีกสักหน่อยก็คือ ดูว่าไม่ค่อยจะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันนักทั้งในเชิงของสายเลือดของผู้คนและในเชิงของวัฒนธรรมบางอย่าง


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ส.ค. 21, 19:56
ชายทะเลของปากแม่น้ำแม่กลอง มีลักษณะเป็นผืนดินโคลน(mud flat) ที่ผลุบโผล่ตามช่วงเวลาของน้ำทะเลขึ้นหรือน้ำลง ชายฝั่งมีลักษณะเป็นพื้นที่ค่อนข้างราบ แผ่ไปค่อนข้างจะกว้างไกล หมายถึงน้ำยังไม่ลึก และก็ยังเป็นพื้นที่ในอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลง  ดูจะเหมาะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่หากินในพื้นที่ๆเป็นโคลน 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ส.ค. 21, 17:54
ปากอ่าวแม่กลองจึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลากหลายชนิด จำแนกได้เป็นหลายพวก ก็จะมีพวกที่อยู่ในบริเวณที่ๆเป็นป่าชายเลน ที่จับเอามากินได้ก็จะมีเช่น ปูทะเล ปูแสม ปลาตีน(ญี่ปุ่นกินกัน)   พวกที่อยู่ในพื้นที่ดินโคลน(ที่ผลุบโผล่ตามช่วงเวลาน้ำขึ้น-น้ำลง) ก็จะมีเช่น หอยหลอด หอยพิม (หอยพิมพบมากไปอยู่ในพื้นที่ของสมุทรสาคร) และหอยอื่นๆที่อาศัยอยู่ในรู    พวกที่ต้องอยู่ใต้น้ำตลอดเวลาก็เช่น หอยแครง หอยลาย หอยตลับ    พวกที่ต้องมีหลักไว้สำหรับเกาะก็เช่น หอยแมลงภู่ หอยกะพง   สำหรับพวกปลานั้นมีมากมาย แต่ที่เด่นดังก็จะเป็นปลาทูแม่กลองที่รู้จักกันอยู่แล้ว  โดยแท้จริงแล้ว ปลาทูแม่กลองแท้ๆตัวจะเล็ก  ซึ่งเท่าที่พอจะทราบจากข้อเขียนเกี่ยวกับวงจรชีวิตของปลาทูในอ่าวไทย ดูจะบ่งชี้ว่าจะเป็นปลาทูที่กำลังเข้ามาเจริญวัยในพื้นที่นี้ตามวัฎจักรในธรรมชาติของมัน เป็นวัยที่กำลังแข็งแรงและอ้วนพี     

การจับปลาในพื้นที่ปากอ่าวของแม่กลองนี้ แต่ก่อนนั้นไม่ได้ใช้วิธีการลากอวนกัน หากแต่ใช้วิธีการทำโป๊ะ ซึ่งมีทั้งการใช้ไม้ไผ่และไม้จริงในการทำ(ไม่รู้ว่าต้นอะไร)  ทราบว่าวิถีนี้ยังคงมีให้เห็นอยู่  ดังนั้น หากจะไปเที่ยวแม่กลองในครั้งหน้า ก็ลองพิจารณาประสานกับชาวบ้านเจ้าของเรือเช่าเหมาว่า ช่วงใด เวลาใดจะเหมาะสมที่สุดสำหรับการไปดูกิจกรรมเกี่ยวกับโป๊ะ แยกเป็นการสร้างโป๊ะ และการเข้าไปจับปลาในโป๊ะ สนุกดีและน่าทึ่งในความสามารถต่างๆของคนทำงาน       


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ส.ค. 21, 18:33
ปลาที่น่าสนใจในล้ำน้ำแม่กลองชนิดหนึ่งก็คือ ปลาลิ้นหมา  เป็นปลาสองน้ำ คนฒ่าคนแก่บอกว่ามันมีเสียงร้องด้วย ผมไม่เคยตั้งใจจะฟังหรือให้ความสนใจเป็นพิเศษก็เลยเล่าความอะไรไม่ได้  เคยได้ยินว่าพบปลาชนิดนี้ในแม่น้ำเจ้าพระยาแถวชัยนาทในบางฤดูกาลอีกด้วย   ผมไม่มี้อมูลและความรู้ว่าได้มีการพบย้อนขึ้นไปในน้ำแม่กลองไกลเพียงใด     เช่นกัน ก็มีปลากระเบนน้ำจืด  ซึ่งในแม่น้ำแม่กลองนั้น เคยได้คุยกับชาวบ้าน เขาว่ามีเข้าไปในแควใหญ่ในพื้นที่แถวสบห้วยขาแข้งเลยทีเดียว  สำหรับในแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ถ้าจำไม่ผิด ก็เคยมีชาวบ้านจับได้แถว อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ส.ค. 21, 18:54
ปลาลิ้นหมา


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ส.ค. 21, 18:57
รู้แต่ว่าปลาลื่นหมาทอดกินได้ แต่รสชาติจะสู้ปลาทับทิม หรือปลายอดนิยมอื่นๆได้หรือเปล่าไม่ทราบนะคะ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ส.ค. 21, 19:55
ที่เล่าความมานี้ก็คงพอจะฉายภาพให้เห็นว่า ของกินดีๆที่ได้จากทะเลของแต่ละถิ่นนั้นควรจะเป็นอะไร  ส่วนจะเอามาทำอย่างไรให้อร่อยนั้นเป็นเรื่องของฝีมือของคนทำอาหาร  ซึ่งในความเห็นของผมนั้น เมนูที่ทำง่ายที่สุด จะเป็นเมนูอาหารที่ให้ความอร่อยมากที่สุด เพราะมันทำให้เราได้สัมผัสกับรสและกลิ่นเนื้อที่เป็นธรรมชาติจริงๆมากกว่าที่จะได้รับรู้แต่รสจากเครื่องปรุงและการปรุงรส  ทั้งนี้ก็หมายถึงการทำเนื้อนั้นๆให้มันความสุกพอดีๆ ไม่เกินเลยไปจนกระทั่งเนื้อนั้นแปรสภาพไปเป็นความเหนียว   หากจะต้องจิ้มน้ำจิ้มเพื่อปรับให้รสอร่อยมากขึ้น น้ำจิ้มนั้นก็ควรจะต้องมีเอกลักษณ์เป็นการจำเพาะ มิใช่ใช้น้ำจิ้มสำเร็จรูปที่มีวางขายกันทั่วไป


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ส.ค. 21, 20:29
ผมเองมีโอกาสได้กินปลาลิ้นหมาสดที่นำมาทอดน้อยครั้งมาก จนกระทั่งนึกไม่ออกเลยว่ารสชาติและรสเนื้อเป็นเช่นใด    กินปลาตาเดียวตัวใหญ่ที่เรียกว่า Flounder บ่อยครั้งมากกว่ามากครับ ทั้งแบบดิบ(ที่ญี่ปุ่น) แบบทอด และแบบเจี๋ยน   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ส.ค. 21, 09:56
ปลาตาเดียว ทอดกระเทียม อร่อยมากค่ะ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ส.ค. 21, 18:43
ใช่เลยครับ  อาหารสด เอามาทำความสะอาด ซับน้ำหรือผึ่ให้แห้งหมาดๆ ตบด้วยฝุ่นแป้งให้ทั่วตัว เอาลงทอดในน้ำมันมากหน่อยที่ร้อนจัด เอาปลาลงแล้วหรี่ไฟลงเหลือไฟกลาง ทอดให้สุกจนพอใจ เร่งไฟอีกครั้ง ทอดสั้นๆให้ผิวแห้งกรอบ(ใกล้จะใหม้)     ใช้กระเทียมไทย ไม่จำเป็นต้องที่ลอกผิว(เปลือก)ให้หมด บุบด้วยมีดให้แหลกแล้วสับแบบหยาบ      กระเทียมไทยจะมีกลีบเล็ก มีกลิ่นและรสที่อร่อยกว่ากระเทียมจีนและกระเทียมไทยชนิดกลีบใหญ่ ความอร่อยของการใช้กระเทียมไทยอยู่ตรงที่มันทอดให้กรอบได้ทั้งเปลือกของมัน

อาหารที่เน้นความอร่อยจากสัมผัสที่ได้จากลักษณะจำเพาะของเนื้อสัตว์หรือของพืช จะแยกเป็นแต่ละชนิดหรือที่เอามารวมกัน ทั้งหลายเหล่านั้นเกือบจะทั้งหมดจะต้องมี Sauce เข้ามาเป็นตัวช่วยประสาน ช่วยปรับรส หรือช่วยขยาย(enhance)ความอร่อยให้มีมากขึ้น   ซึ่ง sauce ก็มีทั้งแบบที่เรียกว่าน้ำราด กับแบบที่เรียกว่าน้ำจิ้ม  อาหารฝรั่งนิยมใช้แบบน้ำราด อาหารจีนนิยมใช้ทั้งราดและจิ้มปะปนกัน  ของไทยนิยมใช้แบบจิ้ม แต่ก็มีลักษณะที่เป็นเฉพาะของผู้คนในลุ่มเจ้าพระยาครอบคลุมลงไปถึงในภาคใต้ ที่เน้นความอร่อยไปที่ sauce ซึ่งก็คือพวกแกงที่มีน้ำข้นเช่นแกงที่เข้ากะทิทั้งหลาย  ก็เป็นข้อังเกตที่ทำให้ผมมีความเห็นเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง แกง กับ ต้ม 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ส.ค. 21, 19:44
น้ำจิ้มในสายอาหารแบบจีนเกือบทั้งหมดจะอยู่ในรูปของน้ำจิ้มรสต่างๆ   ต่างกับน้ำจิ้มแบบไทยๆที่ใช้วิธีการใส่เครื่องปรุงแต่งสดๆที่สับหรือซอยใส่ผสมลงไป     ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่มากเช่นกันว่า การผสมผสานเครื่องปรุงที่ใส่ลงไปในน้ำจิ้มนั้น มันทำให้ได้น้ำจิ้มที่ได้รสสัมผัสต่างๆกันมากมาย ซึ่งทั้งหลายเหล่านั้นเกือบทั้งหมดจะเริ่มด้วยเพียงการใช้น้ำปลา   ความต่างกันก็มีจากเช่น จากการใช้พริกที่ซอยหยาบ ละเอียด บุบ หรือตำ ไม่ว่าจะเป็นพริกขี้หนูสวน พริกจินดา พริกแก่ พริกอ่อน  รวมทั้งการใช้พริกแห้ง(ของพริกเหล่านี้)ทั้งในรูปที่ไม่คั่ว คั่วแห้ง คั่วน้ำมัน หรือเผา(อบ)...   เครื่องผสมอื่นๆก็มีเช่น หอมสดซอย ผักชีซอย กระเทียมซอยหรือสับ หอมแดงซอยหรือสับ ถั่วลิสง งา มะม่วงดิบ หากเป็นแบบชาวบ้านก็อาจจะใช้มะคอแลน มะกอก ...    รวมทั้งการใช้น้ำส้มสายชูหมักหรือน้ำส้มสายชูกลั่น น้ำตาลทราย (แดง ขาว) น้ำตาลมะพร้าว น้ำมะนาว(หรือทั้งเนื้อ) น้ำมะขามเปียก ...       

การผสมน้ำจิ้มที่ปรับให้มีความกลมกลืนในตัวของตัวน้ำจิ้มเอง กับเมื่อเอาไปใช้กับอาหารที่ทำแบบง่ายๆ (ปิ้ง ย่าง ทอด)  จัดเป็นศิลปที่ทำให้อาหารง่ายๆแบบไทยๆหลายๆอย่างในแต่ละถิ่นมีความอร่อยได้อย่างไม่น่าเชื่อ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ส.ค. 21, 20:24
ผมมีข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการใช้ขิงในการทำอาหารต่างๆ ว่า อาหารจีนส่วนมากจะมีการนำขิงเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการปรุงต่างๆ และคนจีนมีการนำมาใช้ในในชีวิตประจำบันเป็นบางส่วน     เห็นว่าสมุทรสงครามดูจะเป็นพื้นที่เขตต่อของความนิยมในการใช้ขิงกับพื้นที่ๆไม่นิยมที่มีต่อเนื่องลงไปตลอดพื้นที่ทางภาคใต้   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ส.ค. 21, 18:21
ขยับต่อไปดูพื้นที่ชายฝั่งไนเขต จ.เพชรบุรี     

พื้นที่ชายทะเลจากปากอ่าวแม่กลองไปถึงเพชรบุรีจะค่อยๆมีสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป  บ้างก็อยู่ในอิทธิพลจากลักษณะการไหลของกระแสน้ำชายฝั่งที่ไหลในบริเวณที่เป็นชายฝั่งหักศอกของอ่าวไทยตอนบนด้านตะวันตก  บ้างก็ด้วยอิทธิพลของน้ำและตะกอนทั้งหลายของแม่น้ำเพชรบุรีที่ไหลมาโผล่ที่บางตะบูน  ผนวกกับฤดูกาลที่ทำให้ของคุณภาพของน้ำในบริเวณนี้เกิดมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านกายภาพและด้านเคมี (ความเค็ม ความขุ่นข้น อุณหภูมิ แร่ธาตุและสารอาหาร) ที่มีความพอเหมาะพอดีสำหรับการเจริญเติบโตของ plankton และพวกสัตว์ลูกอ่อนทั้งหลาย    เหล่านี้ดูจะเป็นผลทำให้แม่กลองและเพชรบุรีมีความต่างกันที่พอจะเห็นได้ในเชิงของๆที่มีอยู่ในทะเลและที่จับมาได้จากทะเล   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ส.ค. 21, 19:04
เมื่อเข้าไปเดินตลาดสด เปรียบเทียบระหว่างตลาดสดของแม่กลองกับตลาดสดของเพชรบุรี เราจะเห็นความแตกต่างในสินค้าค่อนข้างจะมาก  แต่ทั้งสองตลาดนี้ก็มีลักษณะเหมือนกันในเรื่องของๆทะเลที่มีความสดจริงๆ  ของทะเลสดที่เป็นของสดใหม่จริงๆของทั้งสองตลาดนี้จะมีวางขายก็เมื่อมีเรือประมงเข้ามาเทียบท่า หมายความว่า ของสดจริงๆในแต่ละวันนั้นจะมีมาวางขายในตลาดสดในช่วงใดของเวลากลางวันก็ได้  มิได้หมายความว่าของนั้นๆจะต้องมีวางขายอยู่แต่เฉพาะในเวลาเช้ามืดดังเช่นพวกเนื้อสัตว์บกและพืชผักต่างๆ  ลักษณะดังกล่าวนี้ก็ยังมีอยู่ในปัจจุบันแต่จะรู้กันในหมู่ผู้คนชาวถิ่น   

เมื่อตลาดสดได้กลายเป็นแหล่งซื้อของทะเลสดก่อนการเดินทางกลับจากการท่องเที่ยว ก็จำเป็นต้องมีของทะเลสดวางขาย ของทะเลสดหลายอย่างที่เป็นพวกจับได้ในทะเลลึกและในน่านน้ำอื่น เป็นพวกของที่ผ่านการแช่แข็งและผ่านการทำให้ละลายแล้ว (thawing) ซึ่งกระบวนการ thawing นี้ หากทำไม่ถูกวิธีก็จะทำให้สัมผัสที่เป็นธรรมชาติหายไป ซึ่งหากขายไม่หมดแล้วเอาแช่น้ำแข็งเพื่อนำไปขายต่อในวันรุ่ง สัมผัสแะรสก็จะยิ่งแย่ลงไปอีกเป็นทวีคูณ   หากเห็นของสดๆ ตัวขนาดเท่าๆกัน ของเหล่านี้บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นของที่มาจากการเลี้ยงในฟาร์ม


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ส.ค. 21, 19:38
ท่านที่ไปเที่ยวหัวหินในสมัยที่ไปเป็นแบบครอบครัว ต้องเช่าบังกาโลอยู่นั้น คงจะนึกออกว่า ผู้ใหญ่จะต้องมีคำถามกับชาวบ้านว่า เรือประมงจะเข้าเทียบท่าเวลาใหน  เมื่อถึงช่วงเวลาประมาณนั้นก็จะแห่กันไปที่สะพานปลาเพื่อขอแบ่งซื้อของสดๆจากชาวประมงแล้วเอามาทำกินเอง   นั่นแหละครับ ของสดจริงๆ   หากไปบางแสน ก็จะต้องไปหาซื้อของสดที่อ่างศิลา     

น่าเสียดายที่การณ์เปลี่ยนไป  ที่หัวหินเกือบจะหาจุดลงหาดที่ไม่มีการแสดงออกโดยนัยว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว  ดูจะถูกบังคับโดยนัยว่าควรจะต้องอยู่โรงแรมเพียงเท่านั้น  เช่นเดียวกันกับที่พัทยาและเกาะสมุย    แต่ที่บางแสนยังมีความต่างออกๆป มีบังกาโลให้เช่าและสามารถเข้าถึงชายหาดบริเวณใดๆก็ได้

คิดว่าคนที่ไปหัวหินรุ่นเก่าน่าจะยังคงนึกถึงข้าวต้มปลาหมึกกับหมูสับและปลากระบอกทอด  ที่ไปบางแสนก็น่าจะนึกถึงพล่าปลากุแลและหอยนางรมสด บีบมะนาว เหยาะด้วยหอมเจียว หยอดใส่ปากแล้วเคี้ยวยอดกฐินตามไป   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ส.ค. 21, 18:15
เมื่อจะไปพักผ่อนและค้างแรมที่ชะอำหรือหัวหิน ผมคิดว่าคงจะมีไม่มากนักที่คิดจะใช้เส้นทางเลาะชายทะเล ผ่านบางตะบูน เข้าเมืองเพชรบุรี ผ่านเมืองไปใช้ถนนเพชรเกษมต่อไป  และก็จะยิ่งน้อยมากเข้าไปอีกที่จะเลือกใช้เส้นทางเลาะชายทะเลต่อไป ผ่านแหลมผักเบี้ย หาดเจ้าสำราญ หาดปึกเตียน แล้วก็ชะอำ   

หากใช้ถนนหลัก(ถนนเพชรเกษม)ในการเดินทางไปหัวหิน ก็จะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ออกจากบ้านให้เช้าหน่อยก็จะถึงหัวหินใกล้เวลาอาหารกลางวัน    หากใช้เส้นทางเลาะชายทะเลก็จะใช้เวลาไม่ต่างกัน หากแต่จะมีโอกาสได้แวะกินอาหารกลางวันที่ทำจากของสดๆใหม่ๆที่ได้มาใหม่จากทะเลแถวๆนั้น ซึ่งจะมีตามร้านอาหารตั้งแต่ในพื้นที่ปากอ่าวบางตะบูนเป็นต้นไป ของทะเลหลายๆอย่างที่ใช้ในการทำอาหาร ได้มาจากการทำประมงพื้นบ้านของชาวบ้านแถวนั้น ดูได้จากเรือทำประมงประเภทที่ใช้เครื่องหางยาวที่จอดอยู่แถวนั้น   แวะนั่งกินแบบไม่ต้องเร่งรีบ เพราะสามารถจะแวะพักค้างคืนย่านหาดเจ้าสำราญหรือหาดปึกเตียนซึ่งอยู่ไม่ห่างไปนักก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องให้เวลาและความวิลิศมาหรามาเป็นข้อจำกัดหรือเป็นข้อที่ทำให้เราต้องเร่งรีบ ละเลย หรือละเว้นไปเสียทุกเรื่อง  ที่สำคัญก็คือ จะได้มีโอกาสสัมผัสกับสิ่งต่างๆที่ยังคงมีความเป็นธรรมชาติหลงเหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของธรรมชาติ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ปรัชญาแนวคิดของเขา อัธยาศัยไมตรี  อาหาร... ฯลฯ   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ส.ค. 21, 19:20
ในเชิงทางกายภาพของพื้นที่  หากได้มีโอกาสขับรถตามถนนที่ตัดเข้าไปสู่ชายทะเลเป็นระยะๆ ก็จะสังเกตเห็นว่าความเป็นชายหาดโคลนจะค่อยๆหายไป เปลี่ยนไปเป็นชายหาดที่เป็นทรายละเอียด และในที่สุดก็เป็นชายหาดที่เป็นทรายล้วนๆ   ชายหาดที่เป็นเนื้อทรายเม็ดทรายค่อนเล็ก ที่ดูสะอาด  และที่เริ่มเป็นลักษณะที่ชายหาดที่เหมาะสมเพื่อการเล่นน้ำ เดินเล่น.... ดูจะเริ่มที่หาดเจ้าสำราญของเพชรบุรี

ในเชิงความหลากหลายทางชีวภาพ  เรื่องนี้น่าสนใจ

โดยหลักพื้นฐาน ชายทะเลที่เป็นโคลนหรือที่มีพื้นที่ชายหาดที่กว้างมากๆเมื่อน้ำลง แสดงว่าความลาดเอียงของพื้นที่จะมีน้อยตั้งแต่บนแผ่นดินลงไปในผืนทะเล ซึ่งหมายความว่า ต้องออกไปไกลกว่าจะถึงบริเวณที่มีน้ำลึก หากเป็นหาดทรายที่ไม่กว้าง ก็จะแสดงว่าความลาดเอียงของพื้นที่มีระดับไปในทางสูงชันตั้งแต่ในแผ่นดินลงไปในทะเล ซึ่งหมายความว่า จากชายหาดลงไปไม่ไกลก็จะถึงบริเวณที่มีน้ำลึก     โดยลักษณะทางกายภาพดังกล่าวนี้ เมื่อนำไปผนวกกับเรื่องของการไหลของน้ำทะเลที่เข้ามาเกี่ยวข้องแบบ 3 มิติ (ทางราบและทางตั้ง) จะทำให้เกิดสภาพที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกันออกไป   ซึ่งพอจะรู้ได้ว่ามีอะไรบ้าง ก็จากการสังเกตของทะเลที่เอามาวางขายกันในตลาดสด 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ส.ค. 21, 20:14
สำหรับร้านอาหารตลอดเส้นทางเลาะชายทะเลผ่านบางตะบูนนี้  ผมเห็นว่าทุกร้านก็คงมีฝีมือในเชิงของการทำอาหารให้เกิดความอร่อยไม่ต่างกันนักเพราะผู้ทำอาหารยังเป็นแม่ครัวชาวถิ่นอยู่   เดินทางผ่านไปหลายเที่ยวก็ลองแวะดูนั่งกินร้านต่างๆที่คิดว่าดูดีพอใจเรา    น่าจะสังเกตได้ว่าการปรุงอาหารแบบพื้นๆที่ใช้เครื่องปรุงไม่ต่างกัน แต่จะต่างกันด้วยสิ่งเล็กๆน้อยๆที่เป็นมรดกตกทอดทางฝีมือของแม่ครัวแต่ละร้านที่ทำให้อาหารอร่อยจนตัดสินใจได้ค่อนข้างยากว่าร้านใหนจะอร่อยกว่าร้านใหน   ข้อสำคัญที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ไม่ควรจะไปลองเมนูอาหารแบบเหลาชั้นดีและของที่ใช้ของนอกพื้นที่ 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ส.ค. 21, 17:43
ตามเส้นทางชายทะเลก่อนจะถึงหาดเจ้าสำราญก็จะต้องผ่านแหลมผักเบี้ยซึ่งเป็นย่านที่มีการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น   มีโอกาสก็น่าจะลองแวะร้านอาหารสั่งมาทานสักเมนูหนึ่ง   ผมกินครั้งแรกที่เกาะโอกินาวา ไม่เคยเห็นในโตเกียวมาก่อนหน้านั้นเลยแม้กระทั่งในเรือนรับรองของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ  เปิดเว็ปหาข้อมูลเพิ่มเติมจึงทราบว่า คนญี่ปุ่นเรียกว่า Lato    ภาษาอังกฤษเรียกว่า Sea grapes   

เมื่อเพาะเลี้ยงได้ในเมืองไทยมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว คิดว่าก็น่าจะต้องมีวิธีนำไปทำอาหารแบบไทยๆอยู่หลายเมนู ตามประสาคนไทยที่ชอบดัดแปลงอาหาร    ผมยังกินน้อยครั้งอยู่ จึงไม่สามารถจะให้ข้อมูลที่น่าสนใจใดๆได้ 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ส.ค. 21, 19:02
ลองเข้าไปสำรวจตลาดสดในเมืองเพชรบุรีเพื่อดูว่ามีสินค้าทะเลอะไรบ้าง จะเห็นว่าของที่มีวางขายค่อนข้างจะชินตาก็จะมี อาทิ ปลากุแล ปลากระบอก ปลาดุกทะเล ปลาใส้ตัน (ปลากะตัก) แมงดาทะเล ปลากระเบนที่เรียกว่าปลายี่สน(ยี่สุ่น ?) เป็นต้น  กลุ่มปลาเหล่านี้ค่อนข้างจะบ่งบอกถึงความคุ้นเคยในการบริโภคมาแต่ดั้งเดิมของผู้คน ปลาเหล่านี้เป็นปลาที่พบอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งที่มีน้ำทะเลค่อนข้างจะไปทางใสและมีคลื่นลมดี ซึ่งเป็นลักษณะของชายหาดของเพชรบุรี  ทั้งหลายนี้ก็เป็นภาพของความเป็นธรรมชาติในมุมหนึ่งของพื้นที่ชายทะเลย่านนี้

เมื่อเอาภาพของธรรมชาติที่เล่ามาแบบกระท่อนกระแท่นตั้งแต่ฝั่งชลบุรี เลาะชายฝั่งต่อเนื่องมาจนถึงเพชรบุรี ผ่านปากแม่น้ำบางปะกง เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง คลองบางตะบูน  ก็จะเห็นภาพรวมของความเหมาะสมทางธรรมชาติที่ทำให้เป็นพื้นที่เพื่อการเจริญพันธุ์และพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลต่างๆที่มีวิถีการดำรงชีพแตกต่างกัน     หากจะมองในเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ว่ามีมากน้อยเพียงใด ก็คงจะต้องย้อนไปดูว่า ในอ่าวไทยตอนบนที่เป็นลักษณะเป็นตัวอักษร ก.ไก่ นี้ ก็มีความสมบูรณ์ดีมากพอที่จะมีสัตว์น้ำนอกถิ่นแวะเวียนเข้ามาหาอาหาร เช่น วาฬบรูด้า ใต้ลงไปแถวประจวบฯ ก็มีฉลามวาฬ เป็นต้น 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ส.ค. 21, 20:25
อาจจะมีคำถามว่า แล้วความสมบูรณ์นั้นหดหายไปหรือยัง 

เท่าที่พอจะมีความรู้  ความหมายของคำว่า 'ความสมบูรณ์'  วัดกันได้ในหลายรูปแบบ ทั้งในเชิงที่จับต้องได้และในเชิงที่จับต้องไม่ได้ (คุณค่าทางใจ)  ความสมบูรณ์ของทรัพยากรโดยทั่วไปมักจะวัดกันที่ขนาดหรือปริมาณ   แต่เมื่อเป็นทรัพยากรที่มีการเกิด การตาย และการเคลื่อนที่ทดแทนกันไปมา (เช่น ปลาในทะเล) ความสมบูรณ์ก็มักจะวัดกันที่ yield คือความสามารถในการดึงเอาออกมาจากระบบ เอามาใช้ได้สูงสุดเท่าที่มันยังสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้   

yield ของทรัพยากรในทะเลในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน หัว ก.ไก่ ที่นำเอามาเป็นอาหารได้นี้ จะเป็นตัวเลขเช่นใดผมก็ไม่ทราบ  ผมประมวลจากสิ่งที่ได้เห็นจากวางขายอยู่ในตลาดสดของท้องถิ่น ว่ามีสัตว์หลายอย่างไม่มากนักที่น่าจะถูกกวาดจับเอามาจนเกิน yield  แต่ก็ยังน่าจะอยู่ในสภาพที่ไม่น่าจะขาดความสมดุลย์มากนัก สังเกตได้จากขนาดของสัตว์ที่จับมา โดยสภาพรวมๆก็คือโตขึ้นมาทดแทนเกือบจะไม่ทัน(อยู่แล้ว)  แต่ก็ยังน่าจะ OK อยู่ เพราะมีการเพาะเลี้ยงทั้งในเชิงของการอุตสาหกรรมและในของชาวบ้านที่เข้ามาทดแทนได้อยู่พอสมควร   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ส.ค. 21, 18:12
ขอออกนอกเส้นทางเพื่อลองขยายความเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรสักเล็กน้อย

คำภาษาไทยใช้คำว่า ทรัพยากร ตรงกับภาษาอังกฤษว่า resource   โดยนัยแล้ว สรรพสิ่งทุกอย่างในโลกจะเป็นทรัพยากรก็เมื่อเรานำใช้แล้วกำหนดให้มันเป็น มันก็เลยมีเรื่องของเวลา ความมีค่า ความสำคัญ ความต้องการ ปริมาณ คุณภาพ และอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง  ตัวอย่างที่พอจะยกให้เห็นภาพได้ชัดๆก็เช่นกรณีของเปลือกหอย cowry หรือหอยหมูสีขาวตัวเล็กที่มนุษย์ในยุคก่อนใช้ในลักษณะเป็นเงินตรา    อีกตัวอย่างหนึ่งก็เช่น ฝักของต้นโกโก้และพวกเครื่องเทศหลายชนิด ผลผลิตของพืชพวกนี้ แต่ดั้งเดิมก็มิได้มีลักษณะของความเป็นทรัพยากรของผู้คนชาวถิ่นแต่อย่างใด ในขณะที่มันเป็นของที่เป็นความต้องการของฝรั่งชาวตะวันตก ถึงขนาดต้องมีความพยายามมาทำธุรกิจ ทำการค้า และแย่งกันครอบครองแหล่งผลิต มันก็เลยมีสภาพไปเป็นทรัพยากร เป็นของมีค่า มีความสำคัญ เป็นที่ต้องการทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ   ซึ่งในภายหลังความเป็นทรัพยากรที่สำคัญของฝรั่งก็กลับกลายมาเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศผู้ผลิต     ก็เลยต้องเพิ่มลักษณะของความเป็นทรัพยากร 'ของใคร' เข้าไปอีกด้วย 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ส.ค. 21, 19:08
ทรัพยากร  เมื่อนำเอามาใช้ มันก็จะต้องร่อยหรอไป  เมื่อทรัพยากรเป็นของมีค่า ไม่ว่าจะเป็นในเชิงทางเศรษฐกิจหรือเชิงของจิตใจ มันก็ควรจะต้องรู้ว่าทรัพยากรนั้นๆจะมีปริมาณเท่าใดในแต่ละคุณภาพของมัน เรียกกันในคำรวมๆว่า Reserve     

ซึ่งหากเป็นทรัพยกรพวกที่ไม่มีชีวิตเช่นแร่ธาตุ ก็จะมักจะบอกในรูปของน้ำหนักของสินแร่ หรือในรูปของตัวทรัพยากรที่สามารถจะสกัดออกมาได้ ณ ความสามารถทางเทคโนโลยีในวันที่ให้ข่าวสาร  ก็จึงทำให้ปริมาณของ Reserve หรือที่เรียกว่าปริมาณสำรองนั้นจะมีมากหรือน้อยก็ได้ ขึ้นอยู่กับการประเมินบนฐานของเทคโนโยีที่จะนำมาใช้   ทั้งนี้ Reserve ก็ยังไปขึ้นอยู่กับราคาของทรัพยากรที่ขายกันอยู่ในตลาดอีกด้วย ซึ่งราคาในตลาดและความขาดแคลนก็ไปมีผลทำให้สินแร่ที่มีความสมบูรณ์ต่ำ (เปอร์เซ็นต์ต่ำ) ที่เคยถูกตัดออกไปจากการคำนวณ (cutoff grade) ก็กลับมากลายเป็นสินแร่ที่มีค่าขึ้นมา ทำให้ปริมาณสำรองในพื้นที่เดิมนั้นเพิ่มขึ้น 

ต่างไปจากทรัพยากรที่มีชีวิต ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีวัฎจักรของการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย   บางอย่างก็มีชีวิตติดอยู่กับที่ตั้งแต่เติบโตขึ้นมา  บางอย่างก็มีชีวิตที่ต้องเคลื่อนย้ายที่อยู่  อยู่ไม่เป็นที่ไปตลอดทั้งชีวิต   ประเด็นก็จึงไปอยู่ที่ว่า แล้วเราจะรู้ปริมาณสำรองของมันได้เช่นใด   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ส.ค. 21, 20:07
เมื่อความหมายของคำว่าปริมาณสำรองอยู่ในความหมายของการมีของอยู่  ก็จึงดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ต่างไปมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับการขายสินค้าเฉพาะอย่างของร้านขายปลีกต่างๆ  เมื่อของที่วางขายหน้าร้านขายออกไปแล้วก็หยิบเอาของที่อยู่หลังร้านมาวางให้เต็มใหม่ เมื่อขายดีจนเกินปกติ ของที่สั่งมาขายในปริมาณและระยะเวลาตามปกติที่เคยทำมาก็หมดไป ก็ต้องรอจนกว่าจะมีของมาส่งให้ใหม่

การบริหารทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสิ่งที่มีชีวิตเพื่อให้มีความพอเพียงในการนำไปใช้ประโยชน์ โดยที่ไม่ไปรบกวนหรือขัดขวางจนวัฏจักรของการมีเข้ามาทดแทน(replenish)ถูกตัดขาดนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญและค่อนข้างยาก จำเป็นจะต้องมีข้อมูลและความรู้มากมายทั้งฝ่ายเขา(ตัวทรัพยากร)และรู้ทั้งฝ่ายเรา(ผู้บริโภค) 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ส.ค. 21, 18:32
ทรัพยากรที่มีความสามารถในการกำเนิดขึ้นมาทดแทนของเดิมที่ล้มหายตายจากไปที่กล่าวถึงนี้ เป็นประเภทที่เรียกกันว่า renewable resources ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว  แต่ด้วยที่โลกมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา บ้างก็เป็นในรอบหลายๆปี บ้างก็เป็นในรอบปีเดียว บ้างก็เปลี่ยนไปแบบถาวร และอื่นๆ เช่น โดยการกระทำของมนุษย์...   ทรัพยากรประเภทนี้ก็จะมีการปรับตัว/เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ทั้งในเชิงของการมีมากขึ้นหรือมีน้อยลง และในเชิงของคุณภาพอีกด้วย  การไปดึงเอามันออกมาใช้อย่างมีสมดุลย์โดยไม่ให้เกิดความเสียหายต่อระบบ ให้มีความสอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ก็จะทำให้เราสามารถที่จะแสวงประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้นได้อย่างยั่งยืน (sustainable exploitation)   ซึ่งก็คือ การอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ (living in harmony with nature)

แต่เมื่อสินค้าที่เป็นทรัพยากรเหล่านั้นเป็นที่ต้องการมากขึ้น ด้วยความรู้และเทคโนโลยีก็ทำให้สามารถเพิ่มทรัพยากรเหล่านั้นได้ด้วยการเพาะเลี้ยง  จากขนาดเล็กๆก็ขยายไปเป็นลักษณะของอุตสาหกรรม   ซึ่งก็จะต้องไม่ไปทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ  ก็เลยเข้าไปสู่เรื่องของการพัฒนาแบบยั่งยืน (sustainable development) 

 :-X รู้สึกว่าจะเลยเถิดนอกเรื่องมากเกินไปแล้ว ก็จะต้องขอตัดใว้เพียงเท่านี้  ;D


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ส.ค. 21, 19:19
เรื่องที่ออกนอกลู่ไปจนถึง sustainable development นั้น  ในมุมหนึ่งก็มีเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (conservation) เข้ามาเกี่ยวข้อง   ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ดูจะมีอยู่ในสำนึกของชาวไทย     

มาตรการหรือปฎิบัติการที่นิยมใช้ในเรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติเมื่อสักสี่สิบปีก่อนนั้น มีอยู่ 7 อย่าง (หากยังจำถูกต้องอยู่) คือ Minimized นำออกมาใช้ให้น้อย  Maximized เอาออกมาแล้วใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด  Recycle เอาวัสดุจากของเก่ามาใช้ทำของใหม่  Reuse เอาของที่ใช้แล้วนำมาปรับปรุงใช้ใหม่  Substitution เอาของอื่นมาใช้ทดแทนกัน  Integration เอามาใช้อย่างหลากหลายประโยชน์   อีกอย่างหนึ่งนึกไม่ออกครับ ไม่แน่ใจว่าจะเป็น Replenish หรือเปล่า?      ในปัจจุบันนี้ ดูจะไปใช้หลักการของ 3R  คือ Reduce  Reuse และ Recycle   

ผมมีข้อสังเกตว่า คนไทยชาวถิ่นที่อยู่ตามพื้นที่ชายฝั่งของอ่าวไทยดูจะมีสำนึกในเรื่องของ conservation ค่อนข้างจะมากมาเป็นเวลานานแล้ว


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ส.ค. 21, 18:18
ลองดูตัวอย่างกัน

ปลาทูที่จับมาได้ จะมีการควักใส้และเหงือกออก ทำความสะอาดแล้วจึงจัดใส่เข่งเอาไปนึ่ง  ใส้(เครื่องใน)ที่ควักออกมานั้น ก็เอามารีดให้สิ่งปฎิกูลในลำใส้ออกมา ล้างให้สะอาดแล้วเอาไปคลุกกับเกลือ หมักไว้ช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วจึงเอาออกมาทำอาหาร ก็คือบรรดาที่มีคำว่าไตปลาติดอยู่ในชื่อของเมนูนั้นๆ   หากใส้พุงปลาทูมีมากเกินพอที่จะทำเป็นไตปลาใว้ใช้ ก็ะเอาไปรวมเป็นวัตถุดิบกับวัตถุดิบอื่นเพื่อหมักทำน้ำปลา   ปลาทูนึ่งสามารถเอาไปทอดหรือย่างให้หอม  เอาไปทำอาหารได้หลายอย่าง เช่น กินกับน้ำพริกกะปิ ทำเมี่ยงปลาทู ทำต้มยำ ต้มส้ม ...ฯลฯ   ก็มีหลายคนที่ชอบกินตาและแก้มของปลาทูที่ทอดได้กรอบๆ ซึ่งทำได้ไม่ยาก ก็เพียงใส่น้ำมันกระทะให้มากพอท่วมประมาณเกือบครึ่งตัวปลา รอให้น้ำมันร้อนจัด ใส่ปลาลงไป ลดไฟลง ทอดไปจนใกล้จะเกรียม เร่งไฟแล้วทอดต่ออีกเล็กน้อย ก็จะได้ปลาทูที่น่ากินไปอีกแบบหนึ่ง กรอบตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้าง    ก็คงมีแม่ค้าจับจุดได้ว่ามีคนชอบกินหัวปลาทู ในปัจจุบันนี้เลยมีการเอาแก้มปลาทูมาทำแห้ง เพื่อจะได้ทอดกรอบๆ กินอย่างเป็นเรื่องเป็นราวไปเลย

ที่เล่ามาก็คงจะนึกออกว่าเป็นการกระทำที่อยู่ในกระบวนคิดในเรื่องของอนุรักษ์มากน้อยเพียงใด


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 21, 18:43
ไตปลา ทำจากไส้ปลาทู เอามาปรุงรสอีกทีทำเป็นเครื่องจิ้ม กินกับผักสด


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ส.ค. 21, 19:27
ในด้านของพืชพันธ์ุไม้ก็เช่นกัน    ตัวอย่างก็เช่นต้นมะพร้าวและต้นตาล  เราใช้ประโยชน์มันเกือบจะทุกส่วน และมีการปลูกทดแทนด้วย    สำหรับมะพร้าวน้้น ก้านใบก็เอามาทำไม้กวาด เอาน้ำหวานจากจั่นไปทำน้ำตาล  กินน้ำและเนื้อในผลอ่อนของมัน เอาเนื้อในของผลแก่มาคั้นกะทิ เอากะลาไปทำเป็นของใช้ หรือเอาไปทำเป็นเชื้อเพลิง หรือเอาไปทำถ่านกัมมันต์  เอากาบมะพร้าว(เปลือก)ไปผสมดินเพื่อการเพาะชำพืช .... ฯลฯ  น้ำมันมะพร้าวเอาไปใช้ในทำอาหาร ทำเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางค์ ...ฯลฯ  

มะพร้าวและผลิตภัณฑ์ของมันเป็นสินค้าที่อยู่ในตลาดระดับโลก  เป็น commodity ที่มี supply and demand chain ยาวมาก   มากพอที่เคยมีโครงการศึกษาเกี่ยวกับทำระบบข้อมูลแบบ Real time ของตลาดระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย  ตั้งแต่เมื่อครั้ง PC เพิ่งจะเริ่มใช้ processor Pentium กัน  ผมทราบเพราะเป็นคนที่ต้องเข้าไปร่วมในกระบวนการศึกษานี้ แต่เป็นในเรื่องของดีบุก  


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ส.ค. 21, 20:20
ไตปลา ทำจากไส้ปลาทู เอามาปรุงรสอีกทีทำเป็นเครื่องจิ้ม กินกับผักสด

ใช่เลยครับ เป็นเมนูที่มีการทำกันลงไปถึงปลายด้ามขวานไทย   แต่ก็มีข้อน่าสังเกตว่า ดูจะไม่มีการเอามาทำในลักษณะเป็นแกงไตปลาแบบของภาคใต้


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ส.ค. 21, 18:17
ในภาพรวมก็น่าจะพอสรุปได้ว่า พื้นที่ของสมุทรสงครามและเพชรบุรีเป็นพื้นที่ๆมีการพัฒนาตลอดมาบนวิถีของการอนุรักษ์  มิฉะนั้นแล้ว ภาพที่พอจะจินตนาการได้จากเอกสารทางประวัติศาสตร์และบทกวีนิพนธ์ต่างๆตั้งแต่สมัยต้นยุครัตนโกสินทร์ก็คงจะไม่หลงเหลือให้ได้เห็นกันอย่างเป็นจริงในปัจจุบันนี้   ทั้งที่ตัวเมืองและที่ตั้งชุมชนของสมุทรสงครามและเพชรบุรีก็ยังคงมีความเป็นของเดิมอยู่ค่อนข้างมาก ดูเผินๆแล้วคล้ายกับถูกดองอยู่ (freeze) แต่ทั้งสองจังหวัด (และรวมทั้งราชบุรีและนครปฐม) ต่างก็มีการพัฒนาการและความเจริญทางเศรษฐกิจที่ดีเอามากๆ     คงพอจะนึกออกถึงความสอดคล้องกับปรัชญาพื้นฐานของการพัฒนาของในหลวง ร.9  ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในสังคมโลก มีการนำไปใช้ในทางปฏิบัติในหลายโครงการความช่วยเหลือด้าน Sustainable development 

 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ส.ค. 21, 20:10
ได้พูดถึง comparative advantage มาหลายครั้ง ก็เลยจะขอขยายความเท่าที่พอจะมีความรู้และความเข้าใจ เป็นความรู้ที่ได้มาจากการทำงานในระบบ UN เมื่อครั้งเป็นผู้แทนคนหนึ่งของไทยในองค์กร UNIDO 

หลักคิดในเรื่องนี้อยู่ในกระบวนการคิดของการให้ความรู้และการให้ความช่วยกับเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาประเภทยังตามไม่ค่อยทันโลก  ซึ่งเป็นหลักการที่เราน่าจะนำมาพิจารณาใช้ในการวางแผนในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของเราสำหรับแต่ละชุมชน ตำบล อำเภอ และจังหวัด    หลักการนั้นเป็นเรื่องไม่ยาก ที่ยากก็คือเรื่องของการรู้จักตัวเราจริงๆและรู้จักตัวเขาจริงๆ ว่ามีมากน้อยเพียงใด

เริ่มต้นด้วยการลองคิดดู  ถ้าผลลัพท์ของการบวกตัวเลขที่ต้องการ = 50   ตัวเลขที่จะเอามาบวกกันให้ได้ 50 นั้น จะมีได้กี่ชุด จะมีได้กี่ค่า และจะมีได้กี่ตัว    ในกรณีที่หากกำหนดตัวเลข 50 เป็นเป้าประสงค์ของการแข่งขันระหว่างผู้เข้าร่วมแข่งขันต่างๆ และมีกติกาว่าผู้เข้าแขงขันต่างๆจะต้องไม่ใช้ตัวเลขที่ไม่ซ้ำกันในการเอามาบวกกันเพื่อให้ได้ผลลัพท์ =50  เราก็จะได้เห็นชุดตัวเลขมากมายที่จะเอามาบวกกันเพื่อให้ได้ผลลัพท์ตามต้องการ

ทีนี้ หากเราแทนตัวเลขเหล่านั้นด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเราและของเขา เราก็จะรู้ว่าเราได้เปรียบและรู้ข้อด้อยของเขาและของเรา (แรงงาน วัตถุดิบ ปริมาณการผลิต.....ฯลฯ)  เราก็จะรู้ตัวเองว่าควรจะปรับแต่งตัวเราเองในทางใดที่จะยังคงรักษาระดับทางเศรษฐกิจ พร้อมๆไปกับการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆเพื่อให้สามารถแข่งขันกับเขาได้ หรืออื่นใด 

ขยายความสั้นๆมาก็คงจะเห็นภาพได้    แล้ว นครปฐม แม่กลอง ราชบุรี เพชรบุรี ... เป็นเช่นนี้หรือไม่ ??       


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ส.ค. 21, 18:15
ที่จริงมีอีกสองสามคำศัพท์ที่โยงใยกับเรื่องที่ขยายความมา  เป็นเรื่องหนึ่งที่มักจะต้องมีการกล่าวถึงและปรากฎอยู่ในโครงการเพื่อการพัฒนาเศรษกิจและสังคมที่ต้องการให้ผลที่ได้รับมีความยั่งยืน  ก็คือคำว่า Institutional building และ Capacity Building  แต่กิจกรรมที่พึงได้จากสองคำศัพท์นี้จะเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จได้ค่อนข้างยากหรือไม่ก็ใช้ระยะเวลานาน สาเหตุก็เป็นเพียงเพราะมีกับดักในเรื่องของการแสวงหาประโยชน์ในระหว่างการดำเนินการ 

ก็คงจะไม่ก้าวล่วงข้ามเส้นเข้าไปในศาสตร์อื่นไกลกว่านี้แล้ว    ไพล่ไปนึกถึงความสำเร็จของโครงการตามพระราชดำริต่างๆ ครับ 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ส.ค. 21, 20:08
กลับมาเข้าเรื่องของเรา   

ผมมีข้อสังเกตในภาพกว้างๆว่า เพชรบุรีมีลักษณะคล้ายเกาะทางวัฒนธรรมของไทยภาคกลาง ผู้คนมีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตค่อนไปทางความเป็นไทยมากกว่าวัฒนธรรมไทยผสมจีน  และคล้ายกับจะเป็นพื้นที่เขตต่อระหว่างความเป็นภาคกลางกับความเป็นภาคใต้      ที่เพชรบุรีมีผู้คนที่มีเชื้อสายพราหมณ์ มีช่างฝีมือและงานฝีมือแบบเก่า เช่น การทำทองรูปพรรณที่มีเอกลักษ์ ปูนปั้น การแทงหยวกกล้วย...ฯลฯ  อาหารพื้นบ้านแบบเพชรบุรีที่เป็นแกงจะออกไปทางรสไม่จัด น้ำน้อย ข้น และมักจะเป็นประเภทแกงคั่ว  พวกที่เป็นต้มก็จะนิยมใส่พวกผลหรือใบของพืชที่ออกรสเปรี้ยว เช่น มะดัน ใบมะขาม มะปริง ฯลฯ   อื่นๆที่เด่นออกมาก็จะมีข้าวแช่ ข้าวเกรียบ และขนมหวานทั้งหลาย โดยเฉพาะ ขนมอาลัว   ที่น่าเสียดายและหากินไม่ค่อยได้แล้วก็คือขนมหม้อแกงที่ทำแบบโบราณ อบด้วยเตาถ่านและหอมด้วยกลิ่นกาบมะพร้าว


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 31 ส.ค. 21, 12:14

พวกที่เป็นต้มก็จะนิยมใส่พวกผลหรือใบของพืชที่ออกรสเปรี้ยว เช่น มะดัน ใบมะขาม มะปริง ฯลฯ   
เพิ่งได้ยินผลไม้ชื่อมะปริงเป็นครั้งแรก รีบเปิดดูหน้าตาในกูเกิ้ล เห็นเมล็ดที่เขาผ่าครึ่งให้ดูด้านในสีสวยจังเลยค่ะ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ส.ค. 21, 18:29
ครับ สีเม็ดม่วงสวยแล้วเนื้อก็เปรี้ยวได้จับใจเลย   สำนวนที่ว่า'เปรี้ยวจี๊ด'นั้นก็คือรสเปรี้ยวแบบของผลมะปริงนี้ละครับ   

ทำให้นึกออกว่าบรรดาอาหารที่เรียกว่าต้มกะทิทั้งหลายนั้นดูจะชุมนุมกันอยู่แถวเพชรบุรีนี้เอง มีการปรุงรสให้เปรี้ยวด้วยใบมะขามอ่อน ตะลิงปลิง มะดัน...  ที่ใช้ส้มแขกก็เคยพบเหมือนกัน     หากยังกินเนื้อวัวกันอยู่และมีโอกาสได้พบเมนูต้มกะทิเนื้อเค็ม ก็น่าจะลองลิ้มรสกับความอร่อยของมัน

ต้มกะปิก็เป็นอีกหนึ่งเมนู แต่ไม่น่าจะได้เห็นหรือคุ้นเคยกันนัก    ก็คิดว่าเป็นการทำอาหารแบบพื้นบ้านจริงๆ ที่ได้เคยกินมามีอยู่ 2 แบบ คือแบบที่ใช้เครื่องต้มยำแต่ไม่ใส่ใบมะกรูดและมะนาว  ใส่หอมแดง ใส่พริกขี้หนูสวนบุบพอแหลก และกะปิที่ทำจากเคยกลิ่นหอมๆ    กับอีกแบบหนึ่งที่ใช้แต่เครื่องหอม ก็มีหอมแดงหรือต้นหอมสด รากและต้นผักชี ใส่กะละลายลงไป  แบบนี้ไม่ใส่พริกสดบุบ    ถามว่าอร่อยใหม ก็อร่อยนะครับ   สำหรับคนที่เคยกินมะม่วงดิบที่เปรี้ยวๆจิ้มกับกะปิ จะไม่ค่อยรู้สึกตะขิดตะขวงใจในการซดน้ำมากนัก  ที่จริงแล้วก็เป็นลักษณะของการทำอาหารพื้นบ้านอย่างหนึ่งเช่นเดียวกันกับของชาวอีสานและชาวเหนือที่ใช้ปลาร้า         


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ส.ค. 21, 19:15
มะปริง


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ส.ค. 21, 19:52
ต้องขออภัยครับ เขียนเสร็จแล้ว กดผิด หายแว๊บไปหมดเลยครับ พรุ่งนี้ค่อยต่อความใหม่ครับ     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ย. 21, 18:13
ต่อเรื่อง ครับ

ฝนตกก็เลยนึกถึงเห็ดเผาะ ของอร่อยที่หาซื้อมาทำกินในช่วงต้นฤดูฝนเกือบจะทุกปี  ในปีนี้ยังไม่เห็นชาวบ้านเอามาวางขายกันเลย  สืบถามดูจึงได้รู้ว่า ปีนี้ไม่ออก(ออกน้อยมาก) แถมยังนัดไม่ออกกันทั้งในภาคเหนือและอีสานอีกด้วย ก็แปลกดี  ที่จริงแล้วก็คล้ายๆกับพวกผลไม้หลายชนิดและแม้กระทั่งที่เป็นชนิดเดียวกันแต่ต่างสายพันธ์กันก็ยังมีการนัดกันออกดอกออกผลอีกด้วย หรือนัดกันออกดอกแต่ไม่ให้ผล กระทั่งไม่ออกดอกเลยก็มี (ไม่นับพวกไม้ผลที่ถูกตั้งหน้าตั้งตาโด๊ปสารพัดยา)   ซึ่งคำอธิบายถึงสาเหตุเกือบจะทั้งหมดจะไปเกี่ยวกับเเรื่องของภูมิอากาศ โดยเฉพาะในเรื่องของความแล้ง ปริมาณน้ำฝน ช่วงฝนทิ้งช่วง และช่วงเวลาของอากาศร้อน/หนาว เป็นเรื่องของการแปรผันของสภาพแวดล้อมเหนือผิวดิน  ก็เชื่อว่าหลายๆท่านคงนึกอยากจะรู้ถึงการแปรผันต่างๆที่เกิดขึ้นใต้ผิวดินด้วย(ที่สืบเนื่องมาจากการแปรผันต่างๆเหนือผิวดิน)  ซึ่งเป็นเรื่องที่นักปฐพีวิทยาและนักการเกษตรพวกพืชไร่น่าจะสามารถอธิบายได้เป็นอย่างดี  แต่ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ยากสักหน่อย    เพราะค่อนข้างจะไปเกี่ยวกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของแร่ที่เป็นองค์ประกอบอยู่ในก้อนกรวด หิน ดิน ทราย ที่อยู่รวมกันเป็นดิน    มีทั้งการแปรเปลี่ยนของพวกซากพืช ซากสัตว์ มูลสัตว์...(Hydrocarbon ต่างๆ)   อีกทั้งจากการทำงานของสิ่งมีชีวิตตั้งแต่ระดับ micro organism ขึ้นไป   



กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ย. 21, 19:12
ก็ขยายความจนออกนอกลู่ไปเช่นเคย

เพชรบุรีก็มีเห็ดเผาะ มีสับปะรด มีแมงดาทะเลที่มีไข่วางขายอยู่ในตลาดสด แล้วก็นิยมทำแกงแบบที่เรียกว่าแกงคั่ว  ก็เลยหมารวมเอาง่ายๆว่า แกงคั่วสับปะรดกับไข่แมงดาทะเล แล้วใส่เห็ดเผาะลงไปด้วยนั้น อาจจะมีต้นทางมาจากเพชรบุรีนี้เอง เป็นเมนูอาหารอร่อยที่อร่อยเอามากๆเสียด้วย ไม่เคยเห็นว่ามีการทำขาย มีแต่การทำกินกันเองเท่านั้น ผมได้ลิ้มรสแกงนี้ตั้งแต่เป็นเด็กเรียนหนังสือระดับ ม.ต้น  เหตุผลหนึ่งที่เชื่อว่าต้นทางน่าจะมาจากเพชรบุรีก็คือ จากประสบการณ์ทำงานในพื้นที่ย่านตะวันตกตั้งแต่ปี 2514  ผมไม่เคยได้เห็นหรือเคยได้ยินชาวบ้านในพื้นที่อื่นใดได้พูดถึงแกงใดๆที่ใช้เห็ดเผาะในลักษณะนี้เลย

เห็ดเผาะที่เก็บมาวางขายกันในตลาดมีอยู่ 2 พันธุ์ คือ เห็ดเผาะผิวสีขาว (เรียกว่าเห็ดเผาะฝ้าย ??) กับเห็ดเผาะหนัง ผิวสีน้ำตาลดำ ที่เอามาทำอาหารได้อร่อยจะต้องเป็นเห็ดเผาะหนัง  สำหรับเห็ดเผาะผิวขาวนั้น เมื่อเคี้ยวแล้วจะรู้สึกมีกากคล้ายกับการกินหนอนรถด่วน จึงไม่เป็นที่นิยมกัน  สำหรับเห็ดเผาะหนัง หากเป็นเม็ดโตก็มักจะเป็นเห็ดแก่ มีเปลือกที่เหนียว เคี้ยวเหมือนเคี้ยวหนังสมชื่อของมัน  การเลือกซื้อในช่วงเวลาที่เหมาะจึงเป็นความท้าทายอยู่บ้าง หากเห็ดอ่อนไปก็ไม่เผาะอร่อยอย่างที่มันพึงจะเป็น

         


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 21, 20:16
เห็ดเผาะ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ย. 21, 20:31
ผู้คนในภาคเหนือและอีสานจะกินเห็ดเผาะในรูปแบบที่คล้ายๆกัน คือ ใช้ต้มกินกับน้ำพริก ที่ใช้เป็นองค์ประกอบของผักในแกงก็มี เช่น ใส่ในแกงแคของภาคเหนือ และทำต้มกับส้มมวง (ใบชะมวง)     ของอิสานเท่าที่รู้แต่ไม่เคยได้ลองลิ้มรสก็คือต้มกับใบย่านาง     ในภาคเหนือนั้น หากเก็บมาได้มากเกินพอก็มักจะเอาไปต้มกับใบมะขามกับเกลือเก็บไว้กินในวันหลัง

เห็ดเผาะน่าจะจัดเป็นเห็ดที่มีราคาค่อนข้างจะสูงมากในอันดับต้นๆ  ราคาต่อกิโลกรัมตามปกติ(ทุกๆปี)สำหรับเห็ดสดจะอยู่ในระดับประมาณ 800 บาท หากเป็นของที่เก็บมาใหม่ๆก็จะไม่ค่อยมีกลิ่น แต่หากเพียงเก็บไว้ข้ามคืนก็จะได้กลิ่นฉุนเลยทีเดียว  ก็ไม่เป็นไร เอามาแช่น้ำ ล้างเอาดินทรายออกหลายๆน้ำ กลิ่นก็จะลดลงไป เมื่อเอาไปต้มไปแกงกลิ่นที่ว่ามีนั้นก็จะเปลี่ยนไปเป็นกลิ่นที่ชวนให้น้ำลายไหล    เคยนึกอยู่ว่ามันน่าจะได้มีการศึกษาให้เต็มที่เลยว่า มันมีโอกาสจะเป็นประเภทเห็ด Truffle เช่นของฝรั่งจะพอใหวใหม หรือมีโอกาสจะขยายพันธุ์มันให้มีผลผลิตอย่างถาวรได้เช่นใดบ้าง      


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ก.ย. 21, 20:54
ทางเหนือเรียก เห็ดเผาะ ว่า เห็ดถอบ เวลาซื้อต้องดูให้ดีเพราะถ้าแบบมีรากนั่นคือ เห็ดพิษ  :o

https://youtu.be/GMAsXeOLC3g


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ย. 21, 17:49
ขอบคุณที่ช่วยให้ข้อมูลและขยายความเรื่องเห็ด ครับ  ;D 

เห็ดที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาตินั้น ผู้คนชาวเมืองมักจะไม่รู้จัก  เห็ดป่าเหล่านั้น เกือบทั้งหมดและเกือบจะทุกชนิดจะไม่เห็นว่ามีวางขายอยู่ในตลาดสดใดๆในพื้นที่ชุมชนเมือง    เห็ดหลากหลายชนิดที่ว่ากินได้เหล่านั้น จะเป็นการไปหาเองชาวบ้านในพื้นที่ๆเป็นป่าละเมาะ  ซึ่งพื้นที่่ป่านั้นๆก็ดูจะมีลักษณะจำเพาะอยู่เหมือนกัน    เห็ดที่เห็นวางขายอยู่ในตลาดในพื้นที่เมืองเกือบทั้งหมดจะเป็นพวกเห็ดที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยง มีน้อยเมนูมากที่เกี่ยวกับการใช้เห็ดที่เกิดเองในธรรมชาติ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ย. 21, 19:15
ด้วยที่เห็ดโคนและเห็ดเผาะนั้น เป็นพวกเห็ดที่กินอร่อย มีราคาสูง ค่อนข้างจะหายาก อีกทั้งเป็นพวกเห็ดที่จะเกิดซ้ำอยู่ที่ตำแหน่งเดิม  ก็เลยทำให้ชาวบ้านนักหาเห็ดมักจะถีอเป็นความลับที่จะไม่บอกว่าพบในป่าที่บริเวณใดหรือตำแหน่งใด 

ที่เราพอจะมีความรู้เชิงวิชาการพื้นฐานเกี่ยวกับเห็ดทั้งสองชนิดนี้ก็คือ ในวงจรการการกระจายพันธุ์ของเห็ดโคนนั้นมันมีความสัมพันธ์กับจอมปลวก ซึ่งเชื่อกันว่ามันน่าจะต้องมีวงจรที่ไปผ่านในท้องของตัวปลวกด้วย ผมได้รู้เรื่องนี้เมื่อกว่า 30 ปีแล้ว แต่ไม่ได้ติดตามอ่าน paper ของกระบวนการวิจัย ก็เลยเชื่อว่า ณ วันนี้คงจะมีความรู้ที่น่าจะกระจ่างแล้ว     อย่างน้อยก็เห็นว่าใน assumption นี้ก็เป็นจริง เพราะได้ลองทำในพื้นที่สวนของตนเอง ซึ่งก็ดูจะได้ผลดังที่คาดไว้

สำหรับเห็ดเผาะนั้น รู้แต่ว่าวงจรชีวิตของมันโยงใยอยู่กับพวกต้นไม้ในตะกูลต้นยาง ก็ยังอยู่ในระหว่างการลองทำอยู่   

 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ย. 21, 18:06
ลืมอาหารแปลกของเพชรบุรีไปอย่างหนึ่งครับ   คือ ขนมจีนทอดมัน (ทอดมันกินกับเส้นขนมจีน) ทอดมันนั้นทำด้วยเนื้อปลาอินทรีย์ ใช้น้ำจิ้มที่ทำเป็นพื้นด้วยน้ำเชื่อม น้ำส้ม เกลือ และพริกสดตำ รสจะออกไปทางเปรี้ยวนำหวาน เครื่องปรุงที่เหลือต่อมาก็จะออกไปทางใครทางมัน ก็มีทั้งการใส่หรือไม่ใส่แตงกวา หรือถั่วลิสงบดแหลก    ความอร่อยของเมนูนี้จะมาจากฝีมือในการปรุงรสให้เข้มข้นของน้ำจิ้ม(น้ำราด)ให้มีมากพอที่จะประสานความจืดของเส้นขนมจีนและรสของทอดมันปลาที่มีรสออกไปทางเผ็ดร้อนจากน้ำพริกและใบกะเพรา(แดงหรือขาว)ที่ใส่ผสมลงไป จนทำให้เกิดรสที่เข้ากันได้อย่างพอดีที่กลายเป็นความอร่อย  น้ำจิ้มนี้ต่างไปจากน้ำจิ้มที่ออกรสหวานนำดังที่เราคุ้นกันในเมนูจานทอดมันปลากรายในร้านอาหารต่างๆ

น้ำจิ้มที่ทำด้วยวิธีการนี้ หากไม่ใส่พริกสดตำและไม่ใส่แตงกวา ใส่แต่เพียงถั่วลิสงบดแหลก ก็จะเป็นน้ำจิ้มที่ใช้กับพวกปลาที่ใช้วิธีการนึ่งให้สุก  เป็นน้ำจิ้มที่ผมรู้จักและคุ้นเคยมาตั้งยังเป็นเด็กๆ  ก็น่าจะพออนุมาณได้ว่าน่าจะเป็นลักษณะของรสจิ้มที่นิยมทำกันในพื้นที่แถวสมุทรสงครามและเพชรบุรี 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ย. 21, 18:44
ก่อนจะออกจากเพชรบุรีข้ามเขตไปยังอีกสี่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่ต่างออกไป ก็อย่าลืมลองหาทาน แกงคั่วหัวตาล ขนมจีนทอดมัน ต้มกะทิต่างๆ (โดยเฉพาะต้มกะทิไข่ปลาริวกิว) ...   

แต่หากจะกลับเข้ากรุงเทพฯในช่วงฤดูกาลที่พอดีกับฤดูของผลไม้ ก็น่าจะต้องแวะซื้อ ชมพู่เพชร ชมพู่ม่าเหมี่ยว ชมพู่สาแหรก ...      เมื่อผ่านย่านสมุทรสงคราม ก็น่จะลองหาซื้อ 'ขนมจาก' มาลองกินกัน ขนมจากเป็นขนมของท้องถิ่นตามชายทะเลที่มีป่าต้นจาก  สมัยก่อนมีขายกันดาษดื่นตามข้างทางถนนสายสุขุมวิทในพื้นที่ของ จ.สมุทรปราการ ตั้งแต่แถวบางปูจนใกล้ถึงเขตบางนา  มีทำขายกันใน จ.สมุทรสงคราม ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ยังพอหาซื้อได้อยู่   เมื่อใดที่ใช้เส้นทางสมุทรสงคราม - เพชรบุรี ผมก็จะต้องแวะซื้อมาใส่บาตรพระทุกครั้งไป


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ย. 21, 19:59
ที่ผมมีข้อสังเกตในองค์รวมที่มองอย่างกว้างๆว่า เพรชรบุรีเป็นเขตต่อระหว่างภาคกลางกับภาคใต้ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติและในด้านทางเศรษฐกิจและสังคม

ในเชิงของวิถีชีวิต ก็เช่น ชาวเพชรบุรียังมีความผูกพันอยู่กับการทำนาและการทำสวน แต่จากชะอำลงไป นาและสวนก็หายไปเกือบหมด วิถีของการดำรงชีพเปลี่ยนไปเป็นการพึ่งอยู่กับทะเล     ในเชิงของธรรมชาติ ชายทะเลก็เปลี่ยนจากที่เป็นพื้นที่ๆมีระดับความลาดเอียงต่ำไปมีระดับความลาดเอียงที่สูงมากขึ้น ตะกอนก็เปลี่ยนจากตะกอนดินทรายที่ละเอียดไปเป็นตะกอนดินทรายที่มีความหยาบ  ทำให้ชายหาดและชายฝั่งทะเลมีความต่างกันในหลายๆเรื่อง เช่น ในเชิงของความกว้างเมื่อน้ำลด ในเชิงของทรายของชายหาดที่มีความละเอียดต่างกัน (หยาบมากขึ้นเมื่อยิ่งลงใต้) เมื่อผนวกกับกระแสน้ำและการหมุนเวียนของอาหารตามกระแสน้ำ ก็ทำให้สิ่งมีชีวิตในพื้นที่ชายฝั่งแตกต่างกันออกไป   ทั้งหลายเหล่านี้ก็ส่งผลโยงใยกับเรื่องทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับภูมิภาค


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ย. 21, 17:49
ผมเชื่อว่า เกือบจะทุกท่านที่ไปเที่ยวพักผ่อนที่ชายทะเลจะต้องหาโอกาสเดินไปตามชายหาด ซึ่งส่วนมากจะมองไปไกลๆ มองไปในมุมกว้างเพื่อดูความงามของทิวทัศน์รอบๆ  ข้อมูลที่เกี่ยวกับชายทะเลในที่ต่างๆก็จึงมักจะจำกัดอยู่ที่เรื่องของความงาม ความละเอียด ความสะอาด และความขาวของหาดทราย    แท้จริงแล้ว ตัวชายหาดและหาดทรายมีเรื่องราวมากมายที่มันบอกให้เรารู้จักพื้นที่ชายทะเลแถบนั้นๆ  ก็จะลองขยายความดูนะครับ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ย. 21, 17:52
ขอไปจัดการกับเรื่องฝนก่อนนะครับ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ย. 21, 18:38
เมื่อวานนี้ฝนตกและมีลมกรรโชก ก็เลยต้องรีบไปปิดหน้าต่างและเก็บของ ต้องขออภัยที่ต้องออกจากห้องไปเลย

ชายฝั่งทะเลที่นิยมไปเที่ยวพักผ่อนเล่นน้ำทะเลกันนั้น  จะเห็นว่ามีพื้นที่ราบก่อนจะถึงบริเวณที่เป็นชายหาด เมื่อเดินลงไปในส่วนที่เป็นหาดทราย ก็มักจะพบว่าหาดทรายนั้นจะมีตะพัก ต้องเดินลงจากตะพักนั้นก่อนแล้วจึงจะเป็นหาดทรายที่ลาดเอียงต่อเนื่องลงไปจนลงน้ำทะเล  ตะพักที่กล่าวถึงนั้นคือร่องรอยของระดับน้ำทะเลในช่วงที่ขึ้นสูงสุดในแต่ละรอบปี     เมื่อลงเล่นน้ำในช่วงเวลาที่นำลงเต็มที่ เดินจากชายหาดลงไปก็จะพบแอ่งน้ำทรงรียาวขนานกับชายฝั่ง จากนั้นก็จะเป็นเนิน ต้องเดินผ่านเนินนี้ไปจึงจะลงเล่นน้ำได้   

ภาพตัดของชายทะเลที่กล่าวมานี้ เป็นภาพพื้นฐานของพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ค่อนข้างจะมีระดับความลาดเอียงต่ำ หากเราเพิ่มระดับความเอียงให้มีความลาดชันมากขึ้น ขนาดพื้นที่ของแต่ละส่วนที่จำแนกไว้นั้นก็จะแคบลง บางอย่างก็จะหายไป   คลื่นลมที่ชายทะเลจะแรงมากขึ้น น้ำจะลึกขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อห่างฝั่งออกไป 

ความแตกต่างของชายฝั่งทะเล บ่งบอกถึงการเลื่อนที่ของมวลน้ำทะเล ซึ่งก็จะบ่งชี้ถึงลักษณะในองค์รวมของชนิดของสัตว์ทะเลที่อยู่ย่านนั้นๆด้วย


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ย. 21, 19:19
ทรายของชายหาดก็ให้ข้อมูลในหลายๆเรื่องเช่นกัน    คงจะเคยได้เคยสังเกตกันว่า บางปีก็ดูสะอาดดี บางปีก็ดูสกปรก บางปีก็มีเปลือกหอยมากมาย ...ฯลฯ      ชายทะเลที่เป็นอ่าวก็เช่นกัน บางอ่าวใกล้ชายฝั่งก็มีปะการัง บางอ่าวก็มีปะการังที่ส่วนที่เป็นแหลม บางอ่าวก็เป็นโคลน ...ฯลฯ 

ความต่างกันเหล่านี้ล้วนมาจากเรื่องของการเคลื่อนที่ของมวลน้ำและความแรงของคลื่นลม 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.ย. 21, 18:02
ก็จะขอลงไปในรายละเอียดพอสังเขปให้พอเห็นภาพธรรมชาติของสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในทะเลบริเวณใกล้ฝั่ง ดังนี้

คลื่นทะเลและทิศทางการเลื่อนที่ของมันนั้น เกือบทั้งหมดจะเกิดมาจากลมที่พัดผ่านผิวน้ำ ลมแรงน้อยก็จะได้คลื่นลูกเล็ก ลมแรงมากก็จะได้คลื่นลูกใหญ่ หากเป็นพายุก็จะได้คลื่นลูกใหญ่มากๆ  คลื่นทะเลเหล่านั้นจะเคลื่อนที่เป็นลูกๆต่อกันไปในทิศทางหนึ่ง ไปผสมกันกับคลื่นที่เกิดมาจากที่อื่นๆก็กลายเป็นคลื่นลูกผสมที่ไม่เป็นริ้วกระบวนที่ราบเรียบสวยงาม ใหญ่บ้างเล็กบ้างปนกันอยู่     คลื่นจะมีส่วนที่เป็นยอดสูงสุดและจุดที่ต่ำสุด ระยะระหว่างยอดกับจุดที่ต่ำสุดนี้ก็คือความสูงของคลื่นที่ใช้รายงานกัน  คลื่นแต่ละลูกที่เคลื่อนต่อเนื่องกันมา ก็จะมีระยะห่างระหว่างแต่ละยอดหรือแต่ละร่องคลื่น ก็คือความถี่ของคลื่น   

เมื่อลงเล่นน้ำทะเลก็คงจะได้เคยพบกันว่า กำลังเล่นน้ำกับคลื่นลูกเล็กอยู่ แต่อยู่ดีๆก็มีคลื่นลูกใหญ่โถมเข้ามาเป็นระยะๆ  ก็เป็นเรื่องของคลื่นที่มีความสูงคลื่นต่างกันและที่มีความถี่ต่างกันเคลื่อนที่ไล่ตามกันมา  ที่เราไม่เห็นบนผิวน้ำว่ามีคลื่นลูกใหญ่เคลื่อนที่ตามมาก็เพราะว่า ส่วนท้องหรือจุดต่ำสุดของคลื่นลูกใหญ่มันอยู่ใต้ผิวน้ำ มันโผล่แต่ส่วนยอดที่เหมือนกับลักษณะคลื่นทั่วๆไปให้เราเห็นเท่านั้น คลื่น Tsunami มีลักษณะเป็นเช่นนี้ เราจึงไม่เห็นมันในทะเลลึก จะเห็นมันก็เมื่อมันเข้าใกล้จะถึงชายฝั่งอยู่แล้ว


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.ย. 21, 18:44
คงพอจะเห็นภาพว่าคลื่นทะเลแต่ะลูกนั้นมันผสมกันเคลื่อนที่มา มีทั้งที่ท้องคลื่นที่เราเห็นได้ และที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะอยู่ลึกลงไปใต้ผิวน้ำในระดับหนึ่ง   

คลื่นที่เคลื่อนที่เข้ามาใกล้ชายหาด ท้องคลื่นที่อยู่ใต้น้ำก็จะสัมผัสกับพื้นทะเล ยิ่งเข้าใกล้ที่ตื้นมากขึ้นมวลน้ำที่เป็นคลื่นนั้นก็จะถูกดันให้ยกตัวสูงขึ้น จนถึงจุดหนึ่งยอดคลื่นก็ล้มลง เป็นภาพดังที่เห็นกันตามชายทะเล   ชาวเรือจะสังเกตว่าที่ใดเป็นน้ำตื้นก็จะดูจากคลื่นที่แตกนี้เช่นกัน




กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.ย. 21, 19:26
ก็มาถึงอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องของทรายชายหาด   

จะขอเริ่มต้นด้วยความสัมพันธ์บางประการในเรื่องของการพัดพาระหว่างการเคลื่อนที่ของน้ำกับตะกอน  ขออธิบายด้วยการยกตัวอย่างจากกรณีน้ำไหลหลาก จากภาพข่าวต่างๆจะเห็นว่า เมื่อใดที่น้ำไหลแรง มันก็สามารถพัดพาสรรพสิ่งใดๆให้เคลื่อนที่ไปกับมันได้ มีตะกอนดินทรายคลุกเคล้าอยู่ในมวลน้ำจนออกเป็นสีดินเข้ม  เมื่อกรณีเริ่มสงบลง ของที่มันพัดพามาก็จะตกอยู่กับที่ น้ำก็จะมีความขุ่นข้นน้อยลง   แสดงว่ามวลน้ำที่เคลื่อนที่จะมีพลังมากขึ้นหรือลดลน้อยลงไปตามความเร็วในการไหลของมัน  และก็แสดงว่ามวลน้ำที่มีความเข้มข้นมีความสามารถที่จะอุ้มของที่มีมวลเบากว่ามันได้ 

ขนาดและน้ำหนักของสิ่งต่างๆที่ถูถพัดพามาตกค้างบนชายหาด ก็จึงบอกลักษณะของคลื่นลมทะเลในช่วงเวลาต่างๆของปีได้เช่นกัน     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.ย. 21, 18:11
เมื่อเอาภาพลักษณะของตัวลูกคลื่นทะเลมาผนวกกับพลังจากการเคลื่อนไหว(เคลื่อนที่)ของมวลน้ำ ก็จึงเป็นคำอธิบายง่ายๆว่า หาดทรายที่มีทรายไปทางหยาบจะอยู่ในบริเวณที่มีคลื่นลมไปทางแรง หาดทรายที่เป็นโคลนก็จะอยู่ในบริเวณที่คลื่นลมค่อนข้างจะสงบ (ไม่นับรวมชายหาดที่อยู่ในพื้นที่ๆเป็นปากแม่น้ำใดๆ)   สำหรับในด้านความแรงของคลื่นลมนั้น พวกชายหาดที่จัดเป็นพวกมีคลื่นลมแรงก็จะบ่งบอกว่ามันหันหน้ารับคลื่นที่มาจากทะเลเปิด

เมื่อกลไกของธรรมชาติอยู่ในลักษณะเช่นนี้ ก็โยงไปถึงสัตว์ทะเลชนิดต่างๆที่จะเลือกบ้านที่อยู่และใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมในแต่ละบริเวณที่ต่างๆกันไป   

ก็จะขอให้ข้อสังเกตบางเรื่องที่เกี่ยวโยงกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่ได้กล่าวมา


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ย. 21, 20:10
หาดทรายที่มีทรายละเอียดอย่างหัวหิน อยู่ในเขตคลื่นลมสงบใช่ไหมคะ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ก.ย. 21, 19:18
ใช่ครับ   

ชายหาดหัวหินจะมีระดับความลาดเอียงมากกว่าชายหาดที่อยู่ขึ้นไปทางทิศเหนือ เพราะอยู่ในพื้นที่ใกล้เนินสูง (เนินเขาหินเหล็กไฟหลังตลาดฉัตรไชย) ก็จะสังเกตได้ว่า พื้นที่ราบทาง(ทิศ)เหนือจากหัวหินขึ้นไปจะค่อยๆขยายเป็นผืนใหญ่มากขึ้นไปเรื่อยๆ  ทิวเขายิ่งอยู่ห่างไกลไปทางทิศตะวันตกมากขึ้นเท่าใด พื้นที่ราบต่อเนื่องจากชายทะเลเข้าไปก็จะยิ่งแผ่กว้างมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

คงจะพอนึกภาพเก่าๆออกว่า การเดินทางไปสมุทรสงครามผ่านสมุทรสาคร หรือเดินทางไปหัวหินผ่านเขาย้อย เพชรบุรี ชะอำ  จะเห็นพื้นที่บางแห่งเป็นป่าต้นจาก ป่าต้นแสม ป่าต้นโกงกาง ...  ป่าเหล่านี้บ่งบอกถึงสภาพของน้ำที่มันเติบโตอยู่ว่าเป็นน้ำกร่อยที่มีระดับของความกร่อยมากน้อยเพียงใด  ในปัจจุบันนี้ป่าพวกนี้หายไปเกือบหมดแล้ว พื้นที่ได้ถูกพัฒนาไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่างๆกัน   หากเป็นป่าต้นเสม็ด ก็แสดงว่าน้ำในพื้นที่นั้นออกไปทางเป็นน้ำจืดแล้ว    แต่ก่อนนั้น ป่าต้นแสมยังพบในพื้นที่ย่านโรงปูนซีเม็นต์ที่ชะอำและที่ย่านเขาตะเกียบ แต่ระหว่างทั้งสองบริเวณนี้จะเป็นพื้นที่ๆเป็นทราย เป็นพื้นที่ชายหาดที่มีผู้คนไปพักผ่อนกัน (ชะอำและหัวหิน)

ในพื้นที่เขาเต่า ก็คงจะเคยสังเกตเห็นถนนบางส่วนที่ตัดเข้าสู่ อ.เขาเต่า มีการตัดผ่านเนินทราย เรียกกันว่า beach dune  เกิดมาจากการที่ลมพัดพาเอาทรายมากองรวมกันเป็นสันเป็นแนว แสดงว่าน่าจะเป็นพื้นที่ๆมีลมทะเลพัดแรง ซึ่งก็เป็นไปได้ทั้งีเป็นลมจากลมพายุเป็นครั้งคราวในอดีตหรือค่อยๆสะสมต่อเนื่องมาจนในปัจจุบัน  แต่ดูพื้นทรายก็จะเห็นว่ามีทั้งบริเวณที่มีทรายละเอียดและทรายออกไปทางหยาบที่มีเศษเปลือกหอยปน  ซึ่งบ่งชี้ไปว่าก็น่าจะเป็นชายทะเลที่มีคลื่นลมแรงเป็นฤดูกาล


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ย. 21, 17:29
พื้นที่ชายฝั่งของปราณบุรีและกุยบุรี ก็จะมีลักษณะคล้ายๆกับพื้นที่ราบต่อเนื่องจากย่านสมุทรสาครไปจนถึงถึงเพชรบุรี และก็มีเป็นพื้นที่เล็กๆแทรกอยู่แถวชะอำ เขาตะเกียบ ที่เป็นผืนใหญ่หน่อยก็ย่านปากน้ำปราณฯและปากน้ำกุยบุรี  ใต้ลงไปจากนี้ก็เกือบจะไม่มีอีกเลยจนเข้าสู่ย่านปากน้ำชุมพร

ขยายความออกมามากจนคิดว่าน่าจะเกินพอแล้ว  ตั้งใจไว้แต่เพียงเพื่อให้เห็นภาพความต่างกันในความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำใกล้ชายฝั่งที่มีอยู่ในแต่ละสภาพสิ่งแวดล้อมทางกายภายของพื้นที่และการทำงานของมวลน้ำทะเล ซึ่งก็ไปเกี่ยวข้องกับอาหารที่แขวนลอยอยู่ในน้ำ หรือลอยฟ่องอยู่ใกล้ผิวน้ำ หรือที่ตกตะกอนอยู่ที่พื้นท้องทะเล   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ย. 21, 19:23
ก๋อนจะไปถึงเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวกับภาคใต้ จะต้องขอบอกกล่าวเสียก่อนว่า ผมมีความรู้ที่ค่อนข้างจะจำกัดตั้งแต่พื้นที่หัวหินลงไป เพราะไม่เคยลงไปทำงานแบบคลุกอยู่ในพื้นที่เป็นเวลานานๆ

ปราณบุรีและกุยบุรีมีแม่น้ำที่ไหลลงทะเล เป็นแม่น้ำสายสั้นที่มีต้นน้ำเป็นพื้นที่เขาสูง ที่ปากแม่น้ำมีป่าชายเลน แต่ในเขตพื้นที่น้ำขึ้น-ลง ไม่มีพื้นที่ๆเป็นดินโคลน  ลักษณะของพื้นที่เช่นนี้บ่งชี้ไปในทางว่ามีกระแสน้ำชายฝั่งไหลผ่าน น้ำทะเลจะค่อนข้างใสสะอาด  ก็คือมีการถ่ายเทและมีการนำพาเข้ามาของอาหาร   กลุ่มและชนิดของสัตว์ทะเลก็จะเปลี่ยนไป ที่พอจะนึกออกโดยเร็วก็จากปูทะเลเป็นปูม้า ปลากระเบนและปลาดุกทะเลที่ดูจะมีชุกชุมแถวเพชรบรีก็หายไป ปลาหมึกมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากย่านชะอำเป็นต้นมา เป็นต้น     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ก.ย. 21, 19:27
ปราณบุรีและกุยบุรีเป็นเมืองเก่ามาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองบนเส้นทางเดินทัพที่ผ่านช่องด่านสิงขรทั้งของไทยและพม่า  ทั้งสองเมืองนี้มีแม่น้ำไหลผ่าน จึงเหมะที่จะเป็นจุดพักในการเดินทัพและเป็นที่ตั้งของหน่วยรบเพื่อสกัดการรุกรานของพม่า ซึ่ง land mark ที่สำคัญที่ใช้ในการนำทางก้คงจะเป็นเขาทุ่งกระต่ายที่ตั้งอยู่บริเวณชายทะเลอ่าวน้อย และเขาสามร้อยยอดของ อ.สามร้อยยอด   

ผมมีข้อสังเกตจากภาพถ่ายและ clip ที่ถ่ายกันในหมู่บ้านสิงขรซึ่งตั้งอยู่ในเขตพม่าว่า บ้านเรือนของคนไทยพลัดถิ่นเหล่านั้นมีลักษณะผสมผสานกันระหว่างบ้านแบบชาวบ้านไทยภาคกลาง ภาคเหนือ และมอญ  เพียงแต่สำเนียงของภาษาไทยที่พูดเป็นของภาษาทางภาคใต้    ก็เลยเดาเอาในวงกว้างว่า ผู้คนชาวปราณบุรี กุยบุรี ชุมชนเก่าแก่เล็กๆทั้งหลายแต่ดั้งเดิม น่าจะมีวิถีชีวิตแบบคนในภาคกลาง คือเป็นชาวบกมากกว่าชาวทะเล   ก็อาจจะแปลกที่ไม่มุ่งไปในเรื่องของการประมง เหตุผลส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะพื้นที่ปากแม่น้ำเป็นป่าชุ่มน้ำ ชายฝั่งทะเลมีลักษณะเป็นชายหาดเปิดเป็นเส้นตรงยาว   มีอ่าวเล็กอ่าวน้อยที่ไม่สามารถใช้เป็นที่หลบคลื่นลมสำหรับเรือประมงขนาดใหญ่ที่กินน้ำลึก   อีกประการหนึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องของการที่เป็นชายทะเลแบบเปิด มีคลื่นลมที่มีกำลังแรงพอดีๆ มวลน้ำไหลหมุนเวียนดีทั้งในทางราบและทางดิ่ง และมีแสงแดดดี ก็เลยทำให้อุดมไปด้วย plankton ปู ปลาหมึก ปลาเล็กปลาน้อยต่างๆ พวกปลากระบอก ปลากะพง ฯลฯ  ของกินพวกนี้ตัวจะไม่ใหญ่  ของกินดีๆประจำถิ่นก็เลยดูจะไม่หนีไปจากอาหารที่ทำง่ายๆด้วยของทะเลที่สดและนำมาทำทั้งตัว จะด้วยการนึ่งหรือการเผาก็ได้ 
 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ก.ย. 21, 19:06
ก็มีเรื่องที่น่าจะให้ความสนใจอยู่สองสามเรื่อง เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับเส้นทางการเดินทัพของไทยและพม่าระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองตะนาวศรีของพม่า ว่าผ่านแถวใหนหรือจุดใหนบ้าง เช่น ท่าข้าม ที่ว่ากันว่าเป็นจุดข้ามน้ำแม่น้ำกุย(บุรี)ของทั้งกองทัพไทยและพม่า จุดนี้อยู่ในบริเวณของสะพานข้ามแม่น้ำกุยของเส้นทางหลวงในปัจจุบัน   หรือว่า ถนนเพชรเกษมลงใต้นั้นได้ตัดตามแนวของเส้นทางเดินทัพแต่เก่าก่อน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็ยอมหมายถึงว่าควรจะต้องมีอะไรบางอย่างที่น่าจะหลงเหลือให้พอได้พบเห็นบ้าง อาจจะเป็นชื่อสถานที่ เป็นตำนาน เป็นความเชื่อ เป็นสิ่งของ เป็นวิถีชีวิตบางอย่าง ...ฯลฯ  ผมเห็นว่าเส้นทางช่วงตั้งแต่ปราณบุรีลงไปจนถึงประจวบนั้นค่อนข้างจะแล้งเรื่องเล่าและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อย

อีกเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับเหตุที่ไม่มีชุมชนเมืองสำคัญตั้งอยู่ติดพื้นที่ชายทะเลตั้งแต่ประจวบฯไปจนถึง อ.บางสะพาน จ.ประวบฯ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับลักษณะของชายฝั่งที่เป็นแบบเปิดตรงและยาว เพราะไม่มีอ่าวที่สามารถใช้เป็นจุดพักเรือ เติมน้ำ เติมอาหารและหลบคลื่นลมแรง ประกอบกับอ่าวเหล่านั้นมีภูเขาหินสูงพอที่จะใช้เป็น landmark ได้อีกด้วย    ในอ่าวไทยมีการเดินเรือเลียบชายฝั่งมาตั้งแต่โบราณกาล


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.ย. 21, 19:21
เรื่องน่าสนใจที่กล่าวถึงนี้ ได้ขยายความอยากรู้ของผมออกไปถึงเรื่องราวบางเรื่องในทางประวัติศาสตร์  ก็คือเรื่องของเส้นทางที่ใช้ในการเดินทางของผู้คนที่นำพาเอาศาสนาฮินดู พระพุทธศาสนา และวัฒนธรรมจากอินเดียมาแพร่ขยายในพื้นที่ของประเทศแถบบ้านเรา   แต่ยิ่งอยากรู้มากขึ้นไปเพียงใดก็ยิ่งมีความไม่รู้มากขึ้นตามไปเพียงนั้น

ขอแวะออกนอกเส้นทาง ขยายความอยากรู้ออกไปสักเล็กน้อยดังนี้   กรณีการใช้เรือจากอินเดียมาพื้นที่แหลมทอง หากเป็นในช่วงฤดูหนาว กระแสน้ำในทะเลอ่าวเบงกอลจะไหลหมุนทวนเข็นนาฬิกา หากเป็นช่วงฤดูร้อนก็จะไหลตามเข็มนาฬิกา  ดังนั้น การเดินทางด้วยเรือ (ซึ่งควรจะต้องเลาะตามชายฝั่ง) ก็ควรจะต้องเป็นในช่วงฤดูร้อน ก็จะผ่านเมืองจิตตะกอง แล้วมาถึงชายฝั่งของพม่าในพื้นที่ของรัฐยะไข่   แต่หากเดินทางใช้ช่วงฤดูหนาวกระแสน้ำก็จะพาไปยังทิวเกาะนิโคบา อีกทั้งยังเป็นการเดินทางข้ามผืนทะเลที่กว้างมาก   กรณีจึงน่าจะเป็นการเลือกเดินทางในช่วงฤดูร้อน  เมื่อผ่านชายทะเลของยะไข่แล้ว ก็สามารถเดินเรือเลาะตามชายฝั่งผ่านปากอ่าวมะตะบัน (เมาะตะมะ)  จากนั้นก็จะเป็นจุดที่ขึ้นฝั้งได้ตลอดแนวในพื้นที่ของรัฐมอญของพม่า


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.ย. 21, 19:53
หากมีการเดินทางลงใต้ต่อไปก็จะไปถึงช่องแคบมะละกา ขึ้นบกได้ทั้งฝั่งแหลมทองและฝั่งเกาะสุมาตรา   ทีนี้มาดูเส้นทางเข้าสู่อ่าวไทย และที่ราบภาคกลาง ภาคอิสานของไทย และเขมร 

ค่อยว่ากันวันมะรืน ครับ  พรุ่งนี้ตอนเย็นมีนัดกับหมอ ครับ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 13 ก.ย. 21, 12:20
ขอบคุณที่ช่วยให้ข้อมูลและขยายความเรื่องเห็ด ครับ  ;D 

เห็ดที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาตินั้น ผู้คนชาวเมืองมักจะไม่รู้จัก  เห็ดป่าเหล่านั้น เกือบทั้งหมดและเกือบจะทุกชนิดจะไม่เห็นว่ามีวางขายอยู่ในตลาดสดใดๆในพื้นที่ชุมชนเมือง    เห็ดหลากหลายชนิดที่ว่ากินได้เหล่านั้น จะเป็นการไปหาเองชาวบ้านในพื้นที่ๆเป็นป่าละเมาะ  ซึ่งพื้นที่่ป่านั้นๆก็ดูจะมีลักษณะจำเพาะอยู่เหมือนกัน    เห็ดที่เห็นวางขายอยู่ในตลาดในพื้นที่เมืองเกือบทั้งหมดจะเป็นพวกเห็ดที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยง มีน้อยเมนูมากที่เกี่ยวกับการใช้เห็ดที่เกิดเองในธรรมชาติ

ยังจำได้ถึงตอนที่เห็นเห็ดเผาะครั้งแรกในชีวิต วันนั้นไปกินข้าวบ้านเพื่อนแล้วแม่ครัวทำแกงหน้าตาแปลกๆขึ้นโต๊ะ
ดิฉันไม่รู้จักก็ถามว่าอะไร แม่ครัวก็ตอบอย่างภูมิใจนำเสนอว่า แกงค่ั่วเห็ดเผาะ เพื่อนก็ช่วยเสริมด้วยว่า อร่อยนะ แล้วพอเห็นดิฉันไม่ตักชิมสักที เพื่อนก็ตักแกงใส่จานข้าวให้ซะเลย ด้วยความเกรงใจ ดิฉันก็จำต้องกิน
โห! ไม่นึกเลยว่าเห็ดดำๆหน้าตาน่ากลัวมันจะอร่อยได้ปานนี้!
ตั้งแต่นั้นมาโดดเข้าใส่แกงเผ็ดเผาะเลยค่ะ แต่มันหากินยาก ไม่ค่อยเจอร้านไหนขาย เคยเจออยู่ในเมนูร้านนิตยาไก่ย่างแค่หนเดียวเองค่ะ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ย. 21, 16:25
เอารูปมาประกอบค่ะ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 21, 17:26
เห็ดเผาะเป็นของอร่อยจริงครับ ถ้าชอบมากๆก็สามารถจะหามาทำกินเองได้ไม่ยาก แถมอยากจะกินเมื่อใดก็ทำกินได้ทั้งปี

ความไม่ลับมีอยู่แบบนี้ครับ  ที่สนามบินเชียงใหม่และเชียงรายมีเห็ดเผาะที่ทำสะอาดแล้ว ต้มสุกและบรรจุกระป๋องวางขายอยู่ ราคาต่อกระป๋องประมาณ 300 บาท ??  ซื้อเอามาเก็บไว้  เมนูทำกินง่ายๆ 3 เมนูที่จะแนะนำก็คือ เมนูแรก ไปหาซื้อแกงคั่วสับประรดก้บหอยแมลงภู่มา เทใส่หม้อแกง เปิดกระป๋องเอาเห็ดเผาะใส่ลงไปตามปริมาณที่ชอบ ตั้งไฟแรงปานกลางให้แกงร้อนจัดๆสักพัก ก็ตักเอามาทานกับข้าวสวยร้อนๆได้อร่อยแล้ว    อีกเมนูหนึ่งต้องทำเอง  เอานำตาลปี๊บลงหม้อแกง ใส่ซีอิ๊วขาวลงไป บุบรากผักชีใส่ลงไปด้วย ตั้งไฟให้น้ำตาลละลาย กวนให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกันกับซีอิ๊ว เอาน้ำใส่ลงไปเล็กน้อยเพื่อละลายเป็นน้ำแกงข้นๆ เอาหมูสามชั้นหั่นเป็นชิ้นเล็กใส่ลงไป ใส่พริกไทยดำบุบพอแหลก รวนให้หมูหดตัวลงบ้าง เอาเห็ดเผาะใส่ลงไป เติมน้ำให้ท่วมเหมือนทำแกงจืด ต้มให้เดือดสักพัก ปรุงรสให้ออกรสเค็มด้วยเกลือ+ซีอิ้วขาว อาจจะเติมน้ำตาลปี๊บลงไปเพื่อเพิ่มรสหวานให้มากขึ้นก็ได้ รสของน้ำที่ต้องการจะคล้ายกับรสของน้ำพะโล้ที่ไม่ได้ใส่อบเชยและโปยกั๋ก    กั๊กเห็ดไว้เล็กน้อย เพื่อเอาไว้กินกับน้ำพริกมะขาม     กินทั้งสามเมนูนี้แล้วก็จะมีความสุขใจไปได้อีกนานวัน   อย่าลืมก็แล้วกันว่า เมื่อเปิดกระป๋องเห็ดแล้วก็ควรจะต้องถ่ายใส่ภาชนะอื่น เก็บไว้ในตู้เย็น

เห็ดเผาะกระป๋องอาจจะหาซื้อในกรุงเทพฯได้ยากหน่อย ลองแวะเวียนไปหาดูในตลาด Bon Marche ประชาชื่น จำได้ว่ามีวางขายอยู่


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 21, 19:33
ต่อเรื่องความอยากรู้ของผมครับ

ก็มาดูเรื่องทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ซึ่งจะขอกล่าวถึงอย่างง่ายๆเท่าที่พอจะมีความรู้ว่า    พระเจ้าอโศกฯส่งธรรมทูตมาเผยแพร่พระพุทธศาสนา (ช่วงครองราชย์ ประมาณ พ.ศ. 200-300)  พระธรรมทูตสายที่ 8 ออกเดินทางโดยมีพื้นที่เป้าหมายในย่านแหลมทองรวมทั้งอินโนีเซีย   ศาสนาพุทธในจีนเริ่มอย่างจริงจังเมื่อประมาณ พ.ศ.800 แต่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางเมื่อประมาณ พ.ศ.1200 (สมัยราชวงค์ถัง)  เซอรามิกส์ Blue & White เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในช่วง พ.ศ.1300++   อินโดนีเซียเริ่มหันไปนับถือศาสนาอิลามในช่วงประมาณ พ.ศ.1400    อาณาจักรทวาราวดีมีอยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ.1100 -1500  เขาพระวิหารเกิดขึ้นในช่วงประมาณ พ.ศ.1500  อาณาจักรสุโขทัยเกิดขึ้นในช่วงประมาณ พ.ศ.1700

ในภาพที่ได้กล่าวถึงนี้ จะเห็นว่า มีอิทธิพลของศาสนาฮินดูเป็นบริเวณจำเพาะอยู่ในพื้นที่อิสาน เขมร และภาคกลางของไทยในช่วงเวลาหนึ่ง ในขณะที่ในพื้นที่รอบๆอื่นใดอยู่ในอิทธิพลของศาสนาพุทธ  ต่อมาในพื้นที่ทางใต้รวมทั้งอินโดนีเซียก็มีการหันไปนับถือศาสนาอิสลาม

ประเด็นที่เป็นความสนใจของผมก็คือ เราพอจะรู้เส้นทางของการเดินทางเชื่อมต่อทางสังคมและวัฒนธรรมว่า ทางหนึ่งใช้เส้นทางบก อีกทางหนึ่งใช้เส้นทางทะเล แต่ดูเหมือนจะไม่มีสิ่งตกค้างทางวัตถุและวัฒนธรรมในช่วงเวลาต่างๆให้ได้เห็นกันตามพื้นที่ๆน่าจะเป็นเส้นทางที่พึงใช้กัน  ดูจะมีแต่อาหารเท่านั้นที่พอจะบ่งบอกที่มาที่ไปได้บ้าง ว่าลงมาจากทางเหนือ หรือขึ้นไปจากทางใต้ หรือมาจากแดนไกล ซึ่งก็อาจจะพอเดาต่อไปได้ถึงเส้นทางที่ใช้กันในการเดินทางของผู้คนในอดีตได้   หากเป็นการมโนที่ล่องลอยมากจนเกินไปก็ต้องขออภัยด้วยครับ 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ย. 21, 19:07
ลองเอาเรื่องราวและข้อมูลต่างๆมาประมวลแล้วพิจารณาดู 

เมืองจิตตะกองตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำ Kanaphuli  การเดินทางโดยเรือคงจะต้องแวะพักสะสมสะเบียงและน้ำจืด  จากนั้นก็จะผ่านพื้นที่ปากแม่น้ำอีกสองสามแห่ง ผ่านเกาะต่างๆ จนถึงพื้นที่ปากแม่น้ำอิระวดีของพม่า ซึ่งมีเมืองย่างกุ้งตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนนี้  ไปสู่ปากแม่น้ำสาละวิน ซึ่งมีเมืองเมาะลำเลิงตั้งอยู่ใน ไปถึงปากแม่น้ำทะวาย ซึ่งมีเมืองทะวายตั้งอยู่  ไปถึงปากแม่น้ำตะนาวศรี มีเมืองมะริดตั้งอยู่  จากนั้นก็ถึงปากแม่น้ำกระบุรี  ลงใต้ต่อไปถึงเกาะภูเก็ต เข้าอ่าวกระบี่ ตรัง สตูล แล้วก็เข้าถึงช่องแคบมะละกา

น่าสนใจก็คือ ตามชื่อสถานที่(ประเทศ)ต่างๆเหล่านี้ ผู้คนที่เป็นชายล้วนแต่มีวัฒนธรรมการใช่โสร่ง ต่างกับไทยภาคกลางและเขมรที่มีวัฒนธรรมการใช้โจงกระเบน  ความต่างนี้เกิดจากชาวอินเดียต่างกลุ่มที่มีวัฒนธรรมต่างกันเมื่อแรกเข้ามามีอิทธิพลทางวัฒนธรรมหรือไม่ ? 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ย. 21, 20:11
มาลองพิจารณาเส้นทางที่จะใช้เข้าอ่าวไทย โดยเฉพาะที่นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเมืองสำคัญสมัยทวาราวดีและเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาในสมัยนั้น    หากจะใช้ทางเรือก็จะต้องอ้อมมาเลเซียทั้งประเทศ และต้องผ่านสงขลา ซึ่งก็น่าจะเป็นที่มีชุมชนอาศัยอยู่มากในสมัยนั้น เพราะมีทะเลสาบที่มีคลื่นลมสงบและมีความสมบูรณ์ด้านอาหารการกิน  ซึ่งก็เป็นไปได้เพราะกระแสน้ำจะไหลขึ้นไปทางทิศเหนือเลาะชายฝั่ง   แต่หากเป็นการใช้เส้นทางบก ก็หมายถึงต้องพยายามเดินไปตามร่องเขาที่มีห้วยน้ำไหล แล้วเดินตัดผ่านช่องเขาสู่ที่ราบฝั่งอ่าวไทย


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 16 ก.ย. 21, 03:48
อ้างถึง
เซอรามิกส์ Blue & White เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในช่วง พ.ศ.1300++

ขออนุญาตครับ

.

เอกสารจีนว่า เครื่องลายครามจีนชนิดที่ทั่วโลกรู้จักในชื่อ   Blue & White เพิ่งจะกำเนิด ในช่วง ‘ ค.ศ.’ 1200-1300 ครับ

.

ก่อนหน้านั้น จีนมีความเชื่อดั่งเดิมเรื่องสี ว่า

ขาว และ น้ำเงิน เป็นสีเพื่อการไว้ทุกข์ จึงไม่นิยมใช้ของที่มี สีขาว-น้ำเงิน ในชีวิตประจำวัน

จีนผลิตเครื่อง Blue & White จริงๆ จังๆ หลังจากมองโกลยกทัพไปตีชนะเปอร์เซีย และกวาดต้อนช่างหลวงเปอร์เซียกลับมา

ช่างหลวงเปอร์เซียมีเทคนิคเฉพาะในการใช้แร่ที่ใช้เคลือบ  ที่หลังการเผาแล้วให้สีน้ำเงิน (จากโคบอลท์) จีนเรียกสีเคลือบแขก

พร้อมกับการเคลือบคราม ช่างหลวงนำวิธีการวาดลายลักษณะ Key pattern ที่ทางตะวันตกนิยมเข้ามาเผบแพร่ด้วยครับ



ลายที่ฝรั่งเรียก Greek Key Pattern ช่างไทยไม่เข้าใจ เรียกสืบต่อกันว่า ลายประแจจีน

แต่ทางจีนเรียก ลายฝรั่ง  ครับ :)

“ เครื่องเคลือบลายคราม เบื้องแรกนิยมในพระราชสำนักจีน สมัยมองโกล ”  แล้วภายหลังจึงนิยมแพร่มาภายนอกวังครับ

ที่เริ่มในพระราชสำนัก เพราะคติมองโกลเชื่อในเรื่อง Totem ว่า

ชาวเผ่ามองโกลมีกำเนิดจาก สุนัขป่าสีน้ำเงิน สมสู่กับ นางกวางขาว..

.


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: kui045 ที่ 16 ก.ย. 21, 17:31
ต่อเรื่องความอยากรู้ของผมครับ

ก็มาดูเรื่องทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ซึ่งจะขอกล่าวถึงอย่างง่ายๆเท่าที่พอจะมีความรู้ว่า    พระเจ้าอโศกฯส่งธรรมทูตมาเผยแพร่พระพุทธศาสนา (ช่วงครองราชย์ ประมาณ พ.ศ. 200-300)  พระธรรมทูตสายที่ 8 ออกเดินทางโดยมีพื้นที่เป้าหมายในย่านแหลมทองรวมทั้งอินโนีเซีย   ศาสนาพุทธในจีนเริ่มอย่างจริงจังเมื่อประมาณ พ.ศ.800 แต่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางเมื่อประมาณ พ.ศ.1200 (สมัยราชวงค์ถัง)  เซอรามิกส์ Blue & White เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในช่วง พ.ศ.1300++   อินโดนีเซียเริ่มหันไปนับถือศาสนาอิลามในช่วงประมาณ พ.ศ.1400    อาณาจักรทวาราวดีมีอยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ.1100 -1500  เขาพระวิหารเกิดขึ้นในช่วงประมาณ พ.ศ.1500  อาณาจักรสุโขทัยเกิดขึ้นในช่วงประมาณ พ.ศ.1700

ในภาพที่ได้กล่าวถึงนี้ จะเห็นว่า มีอิทธิพลของศาสนาฮินดูเป็นบริเวณจำเพาะอยู่ในพื้นที่อิสาน เขมร และภาคกลางของไทยในช่วงเวลาหนึ่ง ในขณะที่ในพื้นที่รอบๆอื่นใดอยู่ในอิทธิพลของศาสนาพุทธ  ต่อมาในพื้นที่ทางใต้รวมทั้งอินโดนีเซียก็มีการหันไปนับถือศาสนาอิสลาม

ประเด็นที่เป็นความสนใจของผมก็คือ เราพอจะรู้เส้นทางของการเดินทางเชื่อมต่อทางสังคมและวัฒนธรรมว่า ทางหนึ่งใช้เส้นทางบก อีกทางหนึ่งใช้เส้นทางทะเล แต่ดูเหมือนจะไม่มีสิ่งตกค้างทางวัตถุและวัฒนธรรมในช่วงเวลาต่างๆให้ได้เห็นกันตามพื้นที่ๆน่าจะเป็นเส้นทางที่พึงใช้กัน  ดูจะมีแต่อาหารเท่านั้นที่พอจะบ่งบอกที่มาที่ไปได้บ้าง ว่าลงมาจากทางเหนือ หรือขึ้นไปจากทางใต้ หรือมาจากแดนไกล ซึ่งก็อาจจะพอเดาต่อไปได้ถึงเส้นทางที่ใช้กันในการเดินทางของผู้คนในอดีตได้   หากเป็นการมโนที่ล่องลอยมากจนเกินไปก็ต้องขออภัยด้วยครับ 

ที่จริงแล้วเส้นทางสมัยโบราณก็น่าจะพอปะติดปะต่อได้จากวัตถุทางโบราณคดีที่ขุดค้นได้ตั้งแต่สมัยทวาราวดี
เป็นต้น ที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี มีพวกลูกปัด ที่มาจากตะวันออกกลาง ที่ส่วนตัวคาดว่าเดินทางเข้ามาจากทางมอญ พม่า
ย้อนไปตอนต้น ที่พุทธศาสนาแพร่มาสู่ สุวรรณภูมิ ก็คาดว่าน่าจะขึ้นฝั่งทางพม่า จนแพร่มาถึง นครปฐม มีการสร้างพระปฐมเจดีย์ที่มีการบูรณะมาเรื่อยๆ
ส่วนทางใต้ ก็มีเจดีย์ที่นครศรี ไม่แน่ใจว่าที่ไหน จะสร้างก่อนกัน

ส่วนการเดินทางเส้นอื่น ก็คงมีการเดินทางจากทางบกที่ลัดจากฝั่งอันดามันมาอ่าวไทย
มีจุดหนึ่งที่คลองท่อม จ.กระบี มีวัตถุพยาน คือลูกปัดสุริเทพ
 
บางส่วน ก็คงแล่นเรืออ้อมแหลมมลายูมาขึ้นฝั่งที่เขมร นำศาสนาพราหณ์ฮินดูมา โดยมีอิทธิพลมากช่วงจักรวรรด์ขอม
ส่วนยุคต่อๆ มาก็อาศัยสืบจากศิลาจารึก สมัยสุโขทัย เริ่มสมัยพ่อขุนรามที่รับศาสนาพุทธลังกาวงศ์ โดยมาจากนครศรีธรรมราช
ในยุคต่อๆ มา อาณาจักรสุโขทัย ก็เคย แผ่อิทธิพลไปถึงพม่า (เมาะตะมะ,เมาะลำเลิง เดินเข้าทาง แม่สอด เมืองฉอด เมืองตาก ก่อนเข้าสุโขทัย)


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ย. 21, 18:22
ขอบคุณที่ช่วยขยายความครับ     ธาตุโคบอลท์นี้ได้มาจากแร่ Lapis Lazuli ที่เอามาทำเป็นเครื่องประดับกันตั้งแต่ยุคหิน แหล่งผลิตที่สำคัญตั้งแต่โบราณอยู่ในอัฟกันนิสถานตอนเหนือ    สำหรับปี พ.ศ. 1300++ ที่ผมว่าแพร่หลายนั้น ผมแปลงจาก ค.ศ. (โดยบวก 543 เข้าไป)   ด้วยเมื่อประมาณ ค.ศ. 800 จะเป็นประมาณช่วงเวลาที่เตาเผาจีนกำลังแข่งขันกันพัฒนาเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด เป็นที่พอใจที่สุดตามนิยมของจักรพรรดิ์  ที่เขียนไปว่ารู้จักกันอย่างกว้างขวางนั้น ก็มีประสงค์จะสื่อในความหมายนี้   ก็คงบอกเล่าไปไม่ชัดเจน แต่ก็ยังอาจจะผิดอยู่อีกก็ได้  ;D


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ย. 21, 19:55

ที่จริงแล้วเส้นทางสมัยโบราณก็น่าจะพอปะติดปะต่อได้จากวัตถุทางโบราณคดีที่ขุดค้นได้ตั้งแต่สมัยทวาราวดี
เป็นต้น ที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี มีพวกลูกปัด ที่มาจากตะวันออกกลาง ที่ส่วนตัวคาดว่าเดินทางเข้ามาจากทางมอญ พม่า
ย้อนไปตอนต้น ที่พุทธศาสนาแพร่มาสู่ สุวรรณภูมิ ก็คาดว่าน่าจะขึ้นฝั่งทางพม่า จนแพร่มาถึง นครปฐม มีการสร้างพระปฐมเจดีย์ที่มีการบูรณะมาเรื่อยๆ
  ส่วนทางใต้ ก็มีเจดีย์ที่นครศรี ไม่แน่ใจว่าที่ไหน จะสร้างก่อนกัน
  ส่วนการเดินทางเส้นอื่น ก็คงมีการเดินทางจากทางบกที่ลัดจากฝั่งอันดามันมาอ่าวไทย
  มีจุดหนึ่งที่คลองท่อม จ.กระบี มีวัตถุพยาน คือลูกปัดสุริเทพ
  บางส่วน ก็คงแล่นเรืออ้อมแหลมมลายูมาขึ้นฝั่งที่เขมร นำศาสนาพราหณ์ฮินดูมา โดยมีอิทธิพลมากช่วงจักรวรรด์ขอม
  ส่วนยุคต่อๆ มาก็อาศัยสืบจากศิลาจารึก สมัยสุโขทัย เริ่มสมัยพ่อขุนรามที่รับศาสนาพุทธลังกาวงศ์ โดยมาจากนครศรีธรรมราช
ในยุคต่อๆ มา อาณาจักรสุโขทัย ก็เคย แผ่อิทธิพลไปถึงพม่า (เมาะตะมะ,เมาะลำเลิง เดินเข้าทาง แม่สอด เมืองฉอด เมืองตาก ก่อนเข้าสุโขทัย)

ครับ ผมเห็นด้วยว่าทางบกก็ต้องมาจากชายฝั่งของรัฐมอญ จุดเริ่มต้นก็คงจะหนีไม่พ้นไปจากเมืองที่อยู่ตามปากแม่น้ำ  การเดินทางข้ามมาฝั่งอ่าวไทยก็คงจะไม่เลือกทางเดินขึ้นเขาหรือข้ามเขาสูง   ก็จะต้องเป็นเส้นทางตามร่องเขาที่ค่อนข้างจะราบซึ่งก็จะมีอยู่ไม่มากนัก    เดาเอาตามประสาคนเดินทำงานในพื้นที่ป่าดงว่า เมื่อโผล่ถึงที่ราบแล้ว ตามลักษณะนิสัยของคนเดินทางหรือนักสำรวจก็จะต้องมองหาจุดที่เป็น landmark    ในภาพนี้ก็เลยดูจะพอจำกัดร่องเขาได้อีกพอสมควร ทำให้พอเดาต่อไปได้อีกว่า น่าจะเป็นเมืองใดในปัจจุบันนี้ที่มี landmark ที่พอจะมองเห็นได้ตลอดเวลา   แล้วก็คงจะต้องผนวกเรื่องของระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยเมื่อ 1000+ ปีที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าระดับในปัจจุบัน น้ำทะเลระดับนี้ทำให้ชุมชนนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี อยู่ติดชายทะเล...
 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 17 ก.ย. 21, 13:21
อ้างถึง
ธาตุโคบอลท์นี้ได้มาจากแร่ Lapis Lazuli ที่เอามาทำเป็นเครื่องประดับกันตั้งแต่ยุคหิน แหล่งผลิตที่สำคัญตั้งแต่โบราณอยู่ในอัฟกันนิสถานตอนเหนือ    สำหรับปี พ.ศ. 1300++ ที่ผมว่าแพร่หลายนั้น ผมแปลงจาก ค.ศ. (โดยบวก 543 เข้าไป)

ขอโทษนะครับ

1. White & Blue เป็นเครื่องเคลือบที่มีคุณสมบัติเฉพาะ ต่างจากเครื่องเคลือบจีนยุคอื่นมังครับ

2. Lapis Lazuli กับ สีวาดลายเครื่อง White & Blue เป็นคนละชนิดกันครับ

...

lapis lazuli is lazurite. ....

lazurite เป็นแร่ที่มีองค์ประกอบสำคัญ คือ Sodium และ Silicate มีชื่อทางเคมีว่า Sodalite  ครับ

.

ส่วนสี ที่ใช้วาดเครื่อง White & Blue ที่จีนสมัยหยวนรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเปอร์เซีย ท่านได้จากการบดแร่ Smalt 

แร่ Smalt มีองค์ประกอบคือ potassium cobalt silicate ครับ

...

อ่าน Cobalt blue ที่

https://web.facebook.com/photo/?fbid=2685047848411680&set=a.1443756242540853


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 21, 19:33
 :-[   ขอบคุณครับที่ท้วงติงมา  ขอบคุณที่ช่วยกระตุกขาไก่ตัวใหญ่ที่กำลังวิ่งออกจากเล้า ก็เพลิดเพลินและเผอเรอไปอย่างไม่น่าจะให้อภัย  มัวแต่ไปนึกถึงแร่ที่มีสี deep blue  และวิธีการทำสีเคลือบแบบโบราณที่เอาวัสดุให้สีมาตำให้ละเอียดแล้วผสมลงไป  ก็เลยเขียนเพลินไป

ขอเสริมก็แล้วกันว่า Lazurite เป็นแร่น้ำเงินเข้มที่เกิดในหินแปร  จัดอยู่ในกลุ่มแร่ที่เรียกว่า Sodalite

สำหรับ Smalt นั้น คงไม่จัดให้เป็นแร่ตามธรรมชาติ หากแต่เป็นแก้วสีน้ำเงินที่ได้มาจากการทำแก้วที่มีส่วนผสมของธาตุ Potassium  Cobalt และ Quartz       

แก้วได้มาจากการนำทรายมาหลอมละลายแล้วทำให้เย็นตัวลงด้วยควมรวดเร็ว   ทรายโดยทั่วๆไปจะมีเม็ดทรายเกือบทั้งหมดเป็นแร่ Quartz  ส่วนที่เหลือก็มักจะเป็นแร่ Feldspar   ซึ่งแร่ Feldspar นั้น มีอยู่สองชนิดที่พบมากในทราย ชนิดหนึ่งมีองค์ประกอบหลักเป็นธาตุ Potassium และอีกชนิดหนึ่งเป็น Sodium   เป็นอันว่าการทำแก้วให้ได้สีน้ำเงินก็จะขาดส่วนผสมที่เป็นธาตุ Cobalt    ตัวแร่โคบอลท์เป็นแร่หายาก พบอยู่ไม่กี่แห่งในโลก  แต่ธาตุโคบอลท์พบเป็นส่วนผสมอยู่ในแร่บางชนิดในกลุ่มแร่ Sulfide ที่รวมกลุ่มกันอยู่เป็นแหล่งแร่ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี ซึ่งเป็นแหล่งแร่ที่สามารถขุดมาถลุงเพื่อเอาโลหะเงินและทองคำ ซึ่งหากกรรมวิธีถูกต้องก็อาจจะได้ Cobalt และ Bismuth ในตะกรัน หรือ.??    โลหะทองคำและโลหะอื่นๆที่เกิดเองตามธรรมชาติ ก็เกิดได้ในแหล่งแร่เช่นนี้    ก็เป็นเรื่องน่าสนใจอยู่ว่าคนโบราณก่อนคริสกาลเขาได้ Cobalt มาจากวัสดุใดหรือด้วยวิธีการใด     Cobalt และ Bismuth ให้สีน้ำเงินเหมือนกัน   

     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 21, 20:26
อ่าน comment ของคุณ Namplaeng แล้ว  ก็มีสิ่งบอกเหตุว่าเป็นผู้มีความรู้ที่ลึกซึ้งและมีความสันทัดกรณีเกี่ยวกับเรื่องของเครื่องปั้นดินเผาเอามากๆทีเดียว  ก็เลยจะขอให้ช่วยขยายความรู้เรื่อง pottery wares ต่างๆ เช่น earthenware  stoneware  porcelain ..   และโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับด้านของคุณสมบัติเฉพาะตัวของงานในแต่ละช่วงเวลาของวัตถุโบราณต่างๆ   หรือจะตั้งเป็นกระทู้ใหม่เล่าความก็น่าจะเป็นบันทึกที่น่าสนใจยิ่ง   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ย. 21, 18:56
ต่อเรื่องให้จบกระทู้นี้นะครับ  ช่องทางเดินตัดจากฝั่งทะเลอันดามันมาอ่าวไทย    ตามวัตถุทางโบราณคดี ก็น่าจะเริ่มที่คลองท่อม ใช้เส้นทางไปสู่พื้นที่ทุ่งสง หรือห้วยยอด แล้วเข้าช่องเขาไปโผล่นครศรีธรรมราช     อีกเส้นทางหนึ่งที่เป็นไปได้ก็อาจจะเริ่มแถวปากคลองปะเหลียน จ.ตรัง ไปทางห้วยยอด ตัดช่องเขาเข้าสู่พื้นที่พัทลุง ใช้เขาทะลุเป็น landmark  แล้วขึ้นเหนือไปนครศรีธรรมราช     และอีกเส้นทางที่เป็นไปได้อาจจะเริ่มต้นจากปากคลองท่าจีน จ.สตูล ตัดช่องเขาไปสู่พื้นที่ อ.รัตนภูมิ และทะเลสาบสงขลา

จากมุมมองในกรณีที่ไม่ใช้ใช้เส้นทางเริ่มต้นจากบริเวณคลองท่อม  ก็พอจะเห็นว่าปลายทางทั้งหลายอยู่ในพื้นที่ของ จ.พัทลุง ก่อนที่จะเดินขึ้นเหนือต่อไปยังนครศรีธรรมราช    ซึ่งก็พอจะมีอะไรที่จะใช้สนับสนุนการมโนของผมอยู่บ้าง  พัทลุงมีอะไรๆที่มีความต่างกับพื้นที่รอบๆตัว ก็คือลักษณะโครงสร้างและใบหน้าของบุคคลชาวถิ่น  เรื่องของ school of thought   เรื่องของความนิยมในการผลิตและบริโภคข้าวบางสายพันธุ์ (เช่น ข้าวสังข์หยด ข้าวเล็บนก..) และเรื่องของอาหาร (เช่น สาคูจากต้นสาคู) และการถนอมอาหาร (เช่น ปลาดุกร้า)


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ย. 21, 20:27
ก็ยังมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องทางประวัติศาสตร์/โบราณคดีเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้อีก แต่จะไม่กล่าวถึงต่อไป   

ผมรู้สึกตัวเองว่าเข้าสู่วัยช้า คิดช้า สับสนง่าย หลงลืม ความแม่นยำในความรู้ทางวิชาการแต่เดิมลดน้อยลงไป   ก็คงจะสังเกตเห็นว่า ผมใช้เวลานานอยู่ในกระทู้ แต่เขียนแสดงความเห็นได้เพียงหนึ่งหรือสองความเห็นเท่านั้น ก็ช้าทั้งการประมวลให้เป็นประโยคที่อ่านเข้าใจได้ ช้าทั้งการตรวจสอบการเขียนให้ถูกหลักภาษา (พอสมควร) ตรวจการสะกดให้ถูกต้อง แถมยังช้าที่ต้องอ่านทบทวนและต้องแก้ไข้การพิมพ์ผิดพิมพ์ถูกอีกด้วย  ประกอบกับเป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ มีเชิงวิชาการมาเกี่ยวข้องบ้าง หลายๆเรื่องที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถจะกล่าวถึงหรือเล่าความได้เลย   ยากขึ้นไปอีกหน่อยเพราะเป็นเรื่องในลักษณะก่อ มิใช่ในลักษณะขยายความต่อ    เคยคิดจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับการทำงานระบบใน UN จากประสบการณ์ 4 ปีของตนเอง  แล้วปิดท้ายด้วยกระทู้เรื่องประสาคนสูงวัย แต่ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องที่น่ารำคาญ    ก็เลยคิดว่าจบจากเรื่องของกระทู้นี้แล้ว ก็คงจะต้องลงจากเวทีนี้แล้วละครับ     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ย. 21, 08:58
อ้างถึง
เคยคิดจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับการทำงานระบบใน UN จากประสบการณ์ 4 ปีของตนเอง  แล้วปิดท้ายด้วยกระทู้เรื่องประสาคนสูงวัย แต่ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องที่น่ารำคาญ    ก็เลยคิดว่าจบจากเรื่องของกระทู้นี้แล้ว ก็คงจะต้องลงจากเวทีนี้แล้วละครับ   

อย่าเพิ่งลงจากเวทีเลยค่ะ   อยากรู้เรื่องการทำงานใน UN   เป็นประสบการณ์ที่หายากมาก   
เรื่องประสาคนสูงวัย ก็อยากอ่านค่ะ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.ย. 21, 18:05
ขอบคุณอาจารย์มากครับ   ทำให้ได้ย้อนคิดไปถึงความตั้งใจแต่เดิมว่า ตัวเองมีโอกาสและมีหลากหลายประสบการณ์ที่น่าจะได้ถ่ายทอดเป็นตัวอักษร ซึ่งจะกระจายได้มากกว่าการบอกเล่าด้วยปากเปล่าในกลุ่มคนเล็กๆ  เผื่อว่าอาจจะมีเพียงเกล็ดเล็กๆน้อยๆที่มีประโยชน์ หรืออาจจะพอมีอะไรๆที่สะกิดใจสำหรับผู้คนรุ่นหลังให้ใด้นำไปคิดและพัฒนาอะไรๆใหม่ๆขึ้นมาเพื่อประโยชน์สำหรับตนหรือแก่สังคม   

คิดเองเออเองว่า knowledge ได้มาจากการเรียนรู้เรื่องราวทางตำรา แต่ wisdom นั้นได้มาจากการเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องราวทางประสบการณ์    ก็ยินดีที่จะเล่าทั้งสองเรื่องนั้นเพื่อความเป็นประโยชน์ต่างๆ ครับ   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ย. 21, 19:01
ขอบคุณที่จะอยู่ต่อค่ะ   คุณตั้ง
ความรู้ในตำราอาจขวนขวายหาอ่านได้  แต่ความรู้จากประสบการณ์เป็นสิ่งหายากกว่า ถ้าเจ้าตัวไม่ถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้รู้ บางทีก็อาจจะสูญหายไปอย่างน่าเสียดายมาก    เพราะประสบการณ์ของแต่ละคนเป็นเรื่องเฉพาะตัว  ไม่ได้มีกันหลายเล่มอย่างตำรา
ในเรือนไทยยังไม่มีใครเคยเป็นทูตอุตสาหกรรมอย่างคุณตั้ง   ดิฉันเองก็ไม่ค่อยรู้ว่ามีหน้าที่อะไรบ้าง  ทราบแต่ว่าเคยประจำอยู่หลายประเทศ
ถ้าจะถ่ายทอดเป็นวิทยาทานก็จะมีประโยชน์แก่คนรุ่นหลังอย่างมากค่ะ



กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.ย. 21, 19:36
สำหรับเส้นทางธรรมทูตที่เกี่ยวเนื่องกับองค์พระปฐมเจดีย์ที่นครปฐมนั้น ก็มีความเป็นไปได้ทั้งด้วยการใช้เส้นทางเรือเลาะชายฝั่งและเส้นทางบก แต่ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นการใช้ทางเรือ เพราะการเดินจากชายฝั่งพม่ามาชายฝั่งไทยจะต้องเดินข้ามเทือกเขาตะนาวศรี ป่าในสมัยนั้นไม่ใช่เดินได้ง่ายๆ   ผมมโนเรื่องเปื่อยไปว่า พระปฐมเจดีย์อาจจะเป็นหลักเขตสัญลักษณ์ที่พระพุทธศาสนาได้แพร่มาถึง (คล้ายเจดีย์สามองค์) แต่สถานที่ๆเป็นที่ตั้งของชุมชนอาจจะเป็นที่เพชรบุรี เพราะมีแม่น้ำเพชรฯเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้  เพชรบุรีเป็นเมืองที่มีชุมชนพราหมณ์ พัทลุงก็ดูจะมีผู้คนเชื่อสายพราหมณ์เช่นกัน (? จำได้ไม่แม่นแล้ว)

ก็จะขอออกจากเรื่องนี้เพียงเท่านี้   ท่านที่อ่านก็อย่าเชื่อเรื่องที่ผมมโนมานี้นะครับ  คิดเสียว่าอ่านเรื่องของคนที่รู้น้อยก็แล้วกัน  


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ย. 21, 18:51
อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ ก็มีความน่าสนใจ จัดเป็นเมืองเก่า จัดเป็นเมืองท่า(เรือ) และมีการแต่งตั้งเจ้าเมือง   หากเดินทวนน้ำคลองบางสะพานขึ้นไปก็จะข้ามช่องเขาลงสู่ห้วยในเขตพม่า ซึ่งจะนำพาไปสู่ชายฝั่งทะเลอันดามันย่านเมืองมะริดของพม่า

ที่บางสะพานนี้มีทองคำบริสุทธิ์ มีชื่อโด่งดังมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  ผมไม่เคยเข้าไปดูสถานที่ๆเขาทำการขุดทองกัน เคยแต่ได้เห็นตัวทองคำของแหล่งนี้ และรู้แต่ว่าแหล่งขุด/เลียงทองคำอยู่ในบริเวณพื้นที่ของห้วยจังหัน ในเขต ต.ร่อนทอง ของ อ.บางสะพาน  ในปัจจุบันนี้คงจะหมดไปแล้ว หากจะมีก็คงจะน้อยมากจนได้ทองไม่คุ้มค่ากับการไปนั่งเปียกน้ำเลียงร่อนกันทั้งวัน  ต่างกับที่ทองที่บ้านโต๊ะโม๊ะ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ที่ยังทำกันเมื่อยามว่างจากงานสวน    เมื่อครั้งไทยเสียดินแดนให้อังกฤษนั้น อังกฤษอาจจะคำนึงถึงศักยภาพของแหล่งแร่ทองคำจากต้นกำเนิดแถวทิวเขาบริเวณนี้ ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตของสองฟากฝั่งทะเลก็เป็นได้  เลยลากเส้นแบ่งเขตตั้งแต่ปากคลองกระ(บุรี) ตามน้ำขึ้นไป    ผมเคยได้ยินชาวบ้านซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี เล่าเรื่องเล่าของผู้เฒ่ารุ่นปู่ย่าตายายของเขาว่า เส้นแบ่งแดนที่ควรจะเริ่มต้นที่ปากแม่น้ำสาละวินนั้น ถูกฉ้อฉลไป(เริ่มต้นที่คลองกระ)  จึงเป็นเหตุให้มีหมู่บ้านคนไทยตกค้างอยู่ในเขตพม่า ก็เป็นเรื่องที่น่าจะได้ยินไว้ จะจริงเท็จเช่นใดก็สุดแท้แต่จะพิจารณากัน

ทะเลแถบบางสะพาน อยู่ในลักษณะของทะเลเปิด มีคลื่นลมดี ออกไปทางแรง  ทำให้มีการหมุนเวียนของ plankton และสัตว์ทะเลตัวเล็กๆที่เป็นอาหารหนุนเข้ามาเสริมอยู่ตลอดเวลา ก็จึงไม่แปลกที่จะมีฉลามวาฬแวะเวียนเข้ามา พวกแมงกะพรุนก็มีมากเช่นกัน    ของดีจากทะเลก็เลยดูจะไม่พ้นพวกที่เนื้อแน่นเต่งตึง แต่ในปัจจุบันนี้มีอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุเรียน  ก็ดีมากพอที่ tag ได้ว่าเป็นทุเรียนบางสะพาน   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ย. 21, 20:06
ขอเสริมอีกนิดนึงว่า ในพื้นที่ชายฝั่งย่านบางสะพานนี้ ในแต่ละปี หลังฤดูมรสุม จะมีพวกทรายจากก้นทะเลลึกถูกพัดพาขึ้นมาสะสมอยู่บนชายหาด เป็นเม็ดทรายที่เป็นเม็ดแร่บางชนิดที่มีน้ำหนักต่อหน่วย(ถ.พ.)มากกว่าเม็ดทราย(quartz)ตามปกติ  ซึ่งบ่งชี้ว่ามีการ upwelling ของน้ำทะเล มีการพัดพาเอาสารอาหารจากใต้ท้องน้ำขึ้นมาสู่ผิวน้ำ (phosphate....)  ซึ่งเป็นอาหารชั้นดีและหายากของสัตว์ทะเลที่หากินใกล้ผิวน้ำ     

แล้วก็ "บางเบิด"  ซึ่งสำหรับผู้ที่ทำสวนและนักกินแตงโมน่าจะรู้จักดี    บางเบิดเป็นขื่อสถานที่แรกปลูกของแตงโมสายพันธุ์หนึ่ง ต่อมามีการนำสายพันธุ์นี้ไปปลูกในหลายๆพื้นที่ทั่วไทย เลยเรียกกันว่าแตงโมบางเบิด มีเนื้อในเป็นสีแดงสด แกนกลางเป็นเนื้อทราย ใส้ไม่ล้ม กัดกินแล้วหอมฉ่ำชื่นใจ สำหรับประวัติที่มาที่ไปนั้นสามารถค้นหาได้ในเว็ปครับ
   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ย. 21, 18:50
จกบางสะพานก็เข้าสู่พื้นที่ตั้ง จ.ชุมพร  ซึ่งเป็นพื้นที่ๆต่อแดน เริ่มต้นทางวัฒนธรรมของความเป็นภาคใต้อย่างสมบูรณ์ทั้งในเชิงของภาษาและสำเนียง และอาหาร ดังเช่น เครื่องแกงที่ใส่ขมิ้น  แต่ก็ยังคงมีลักษณะบางอย่างที่เป็นลักษณะของภาคกลางติดอยู่บ้าง เช่น รสของอาหารที่ยังมีความนุ่มนวลแฝงอยู่ ยังไม่มีความฉูดฉาดร้อนแรงและเข้มข้นดังเช่นของจังหวัดที่อยู่ใต้ๆลงไป     

ชุมพรเป็นเมื่อเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา (อาจจะตั้งแต่ในสมัยสุโขทัย ??) มีเรื่องราวเกี่ยวกับชาวจามมาเกี่ยวข้องด้วย  จึงเป็นเมืองที่น่าสนใจอีกเมืองหนึ่งสำหรับผู้ที่ชอบเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ย. 21, 19:27
ที่จริงแล้ว แต่ละเมืองในภาคใต้ต่างก็มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของตนเอง มีความเกี่ยวพันโยงใยกับเรื่องราวในยุคสมัยต่างๆระหว่างเมืองอื่นๆในพื้นที่ภาคใต้ด้วยกันเองและกับภาคกลาง    แต่น่าเสียดายที่ (ในความเห็นของผม) ดูจะยังไม่มีการรวบรวมเรื่องราวความสัมพันธ์ต่างๆในเชิงของ spatial relationship แล้วจัดให้อยู่ในรูปของ chronology  ข้อมูลมากมายยังอยู่ในลักษณะลอยอยู่เป็นเอกเทศ มีทั้งในรูปของเรื่องเล่าต่อกันมา บันทึกของบุคคล ฯลฯ   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ย. 21, 20:17
จากชุมพรลงไปก็จะพบกับอาหารอีกรูปแบบหนึ่งทั้งอาหารคาวและหวาน ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนที่เราเรียกกันว่าอาหารปักษ์ใต้ ซึ่งจะมีรสชาติออกไปทางเข้มข้น จัดจ้าน เผ็ด และร้อนแรง   อาหารปักษ์ใต้ค่อนข้างจะนิยมใช้ปลาในการทำอาหาร เครื่องแกงทางใต้จึงมีการใส่ขมิ้นและพริกไทยเพื่อช่วยดับคาว  พริกไทยในน้ำพริกแกงช่วยขยายความเผ็ดของพริกให้มีความรู้สึกร้อนควบคู่ไปด้วย   รสแกงต่างๆจะออกไปทางเค็ม เปรี้ยว และเผ็ด  ไม่มีการใช้ความหวานช่วยลดความฉูดฉาดของรสให้น้อยลงไป    น่าจะเคยสังเกตกันว่าปลาที่ใช้ทำอาหารส่วนมากจะเป็นปลาเกล็ด เมนูที่ใช้ปลาหนังนั้นมีน้อย เท่าที่นึกออกในทันทีก็คือผัดเผ็ดปลาดุกใส่ใบยี่หร่า  ใบยี่หร่าก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่นิยมใช้ใส่ผัดเผ็ดต่างๆ  ใบยี่หร่าเกือบจะไม่มีการใช้ในอาหารของภาคอื่นๆเลย 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ย. 21, 11:02
ผัดเผ็ดปลาดุกใส่ใบยี่หร่า  หน้าตาน่ากินมากค่ะ
ึคนชอบเผ็ดเห็นเข้าคงน้ำลายไหล


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ย. 21, 11:03
มีวิธีทำอยู่ที่นี่ สำหรับคนอยากทำบ้าง

https://www.youtube.com/watch?v=Rzov7BS5rA4


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ย. 21, 17:24
ใบยี่หร่าใส่ในแกงก็มี ที่นิยมกันก็ดูจะเป็นแกงไก่      นอกจากใบยี่หร่าแล้ว ใบชะพลูก็พืชผักที่นำมาใช้ในการทำอาหารหลากหลายเมนูด้วยกัน โดยเฉพาะพวกที่เป็นแกงคั่วที่ทำแบบน้ำข้นๆ ที่นิยมกินกันก็จะมีแกงหอยแครง แกงปู แกงหอยขม  ที่ใช้เนื้อสัตว์อื่นก็จะมี หมูสด หมูย่าง ไก่ ปลาดุก ปลาไหล     ห่อหมกใบชะพลูก็อร่อยนะครับ

ใบเหลียงก็เป็นใบไม้อีกชนิดหนึ่งที่ผู้คนในภาคใต้นิยมเอามาทำอาหารกัน  ใบไม้นี้ ที่สะกดว่า 'ใบเหรียง' ก็มี  และที่เรียกว่า 'ใบเหมียง' ก็มี  ไม่รู้ว่าที่ถูกต้องเป็นเช่นใด   ใบเหลียงให้รสมัน ไม่มีรสใดเด่นออกมา และไม่มีกลิ่น  คนในภาคใต้นิมยมเอาไปต้มกับกะทิ เป็นแกงที่ทำง่าย เครื่องแกงไม่ต้องตำ เพียงบุบพอแหลกก็พอ ก็จะมีเพียง หอมแดง กระเทียม กะปิเล็กน้อย ปรุงรสด้วยเกลือและน้ำตาล ต้มกะทิใบเหลียงนี้จะออกรสเค็ม หวาน มัน    ที่ทำง่ายมากไปกว่านี้ อีกทั้งมีความอร่อยและประโยชน์ ก็คือเอามาผัดกับไข่ ซึ่งจะเป็นเมนูของทุกร้านที่มีนักท่องเที่ยวแวะเข้าไปทานอาหาร 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ย. 21, 18:34
แกงเหลือง (แกงส้มแบบทางใต้) เป็นอาหารเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของภาคใต้  มีความต่างไปจากแกงส้มของภาคกลางหลายอย่าง  ก็มี น้ำแกงจะมีสีเหลืองจากขมิ้น ค่อนข้างจะมีความใสมากกว่า ไม่แต่งให้มีรสออกหวานปะแล่มๆ   รสเปรี้ยวจะได้มาจากการใช้ส้มแขก(ตากแห้ง) ซึ่งดูจะนิยมกันในพื้นที่ฝั่งด้านอ่าวไทย (??) หรือจากส้มควาย(ตากแห้ง) ซึ่งดูจะนิยมใช้กันในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน (??)  หรือที่ใช้ผลมะเฟือง(ฝานตากแห้ง)ก็มี 

แกงเหลืองจะมีรสค่อนข้างเผ็ด เป็นแกงที่ดูจะนิยมทำกินแบบสดใหม่ ใช้ปลาที่หั่นเป็นชิ้นค่อนข้างใหญ่ ต้มให้สุกกับพืชผักที่ใส่ลงไป  เนื้อปลาและผักในแกงจึงค่อนข้างจะออกไปทางแข็ง  ต่างกับแกงส้มของภาคกลางที่หากจะให้ได้รสที่อร่อยจริงๆจะต้องต้มให้ผักสุกแล้วเก็บค้างคืนไว้หนึ่งคืนก่อนเอามาอุ่นอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงตักเอาออกมากิน เพื่อให้ผักได้คายรสหวานน้ำในตัวไปรวมเป็นเดียวไปกับน้ำแกง แกงส้มอร่อยของภาคกลางจึงมีเนื้อในน้ำแกงออกไปทางนุ่ม

ชนิดของผักที่นำมาใช้ในการทำแกงส้มของภาคกลางและในแกงเหลืองจะไม่ต่างกัน  ที่จะต่างกันก็เพียงในเรื่องของความนิยม แกงส้มค่อนข้างจะนิยมใช้ส่วนที่อ่อนของพืช แต่แกงเหลืองดูจะนิยมใช้ส่วนที่แข็งของพืช

ผมชองแกงเหลืองต้นทูน (ต้นตูน) ที่เป็นแกงค้างคืน  แนมด้วยปลาหมึกแห้งทอด คือได้รสหวานจากปลาหมึกมาช่วยประสานความอร่อย 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ก.ย. 21, 19:18
ผมชอบแกงเหลืองต้นทูน (ต้นตูน) ที่เป็นแกงค้างคืน  แนมด้วยปลาหมึกแห้งทอด คือได้รสหวานจากปลาหมึกมาช่วยประสานความอร่อย

https://youtu.be/phHWJ9C-Wno

ภาคกลางเรียกว่า ต้นคูน อีสานว่า ต้นทูน เหนือคือ ต้นตูน ใต้เรียก อ้อดิบ หรือ ออดิบ

ราชบัณฑิตท่านขยายความว่า คูน เป็นไม้ล้มลุกชนิด Colocasia gigantea Hook. f. ในวงศ์ Araceae คล้ายบอน ก้านใบและแผ่นใบสีเขียวอ่อน มีนวล ก้านใบทำให้สุกกินได้

พืชในวงศ์บอน (Araceae) บางชนิดเป็นพิษ และมีลักษณะคล้ายกับคูนมากเช่น โหรา ดังนั้นควรระมัดระวังในการซื้อหามารับประทาน

ภาพจาก สวนสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรันครินทรวิโรฒ (https://www.facebook.com/botanicalgardenpharmacySWU/photos/a.2193305757604320/2198830270385202)


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ย. 21, 20:44
ใบเหลียงผัดไข่

https://www.youtube.com/watch?v=T027624mJ8w


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ย. 21, 18:04
ขอบพระคุณมากๆสำหรับภาพและข้อสนเทศต่างๆของทั้งสองท่าน คงจะได้รับความกรุณาต่อๆไปนะครับ

ขอเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยว่า หากเป็นพื้นที่ติดทะเลฝั่งอ่าวไทย เมนูแกงเหลืองและต้มขมิ้นจะมีความอร่อยมากขึ้นหากใช้ปลากระบอกที่จับได้ในทะเลแถบนั้น 

เล่าความข้ามอาหารแปลกๆของชุมพรไปเมนูหนึ่ง คือแกงส้มทุเรียน   เป็นแกงที่มีความผสมผสานระหว่างแกงส้มของภาคกลางกับแกงเหลืองของภาคใต้ คือมีการใช้น้ำพริกแกงเหลืองแบบทางใต้ มีการใช้น้ำตาลปี๊บและใช้น้ำมะขามเปียกในการปรุงรสแบบภาคกลาง    ก็ดูจะเป็นสิ่งบ่งชี้อย่างหนึ่งว่า พื้นที่ชุมพรเป็นประตูบานแรกของภาคใต้จริงๆ     แกงส้มทุเรียนนี้ได้เคยทานอยู่ครั้งเดียว ก็อร่อยดี แต่สำหรับตัวผมเองยังไม่ถึงกับติดใจจริงๆ

ของดีของชุมพรอีกอย่างหนึ่งก็คือ กาแฟ  เป็นผลผลิตทางเกษตรในพื้นที่ๆทำรายได้ๆดีสำหรับเกษตรกร มีการปลูกมานานแล้วทั้งสายพันธุ์โรบัสต้าและอาราบิก้า ในปัจจุบันนี้มีการนำไปทำเป็นแบบผสมสำเร็จรูป 3 in 1 โดยใช้กาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า และใช้ชื่อ 'เขาทะลุ' เป็นชื่อแบรนด์


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ย. 21, 19:09
https://www.youtube.com/watch?v=7jAzJMEDKIQ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ย. 21, 20:10
ของดีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมค่อนข้างจะชอบ มิใช่เรื่องของอาหาร แต่เป็นเรื่องของวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นิยมการทำไร่ทำสวนในพื้นที่สวนหลังบ้านในรูปของหลักการ 'ไร่นาสวนผสม'  ก็คิดว่ายังน่าจะได้พบเห็นอยู่ในพื้นที่ อ.หลังสวน จ.ชุมพร โดยเฉพาะในพื้นที่ปากแม่น้ำหลังสวน  จึงดูไม่น่าจะแปลกใจนักที่ชื่อ'หลังสวน' ยังคงเป็น tag ที่ติดอยู่กับผลไม้ที่มีคุณภาพจากภาคใต้ เช่น มังคุดหลังสวน ทุเรียนหลังสวน..     ซึ่งเมื่อมองในมุมกว้าง พื้นที่ของชุมพรก็ดูจะอยู่ในลักษณะของไร่นาสวนผสมนั้น ก็มีทั้งสวนมังคุด สวนทุเรียน สวนกาแฟพันธ์ุไรบัสต้า สวนกาแฟพันธุ์อาราบิก้า สวนมะพร้าว สวนปาล์มน้ำมัน สวนเงาะ สวนลองกอง สวนยางพารา ...

ไร่นาสวนผสม โดยพื้นฐานก็คือ การปลูกพืชพันธุ์หลากหลายชนิด (multi-species) มิใช่ปลูกแต่เพียงพืชพันธุ์ชนิดเดียว (mono-species) ทั้งนี้ก็เพื่อลดโอกาสในการสร้างหรือเพิ่มปริมาณ / ลดการแพร่กระจายหรือลดความเสียหายในวงกว้างจากแมลงศัตรูพืชและเชื้อรา

ขยายความเพียงสั้นๆว่า ในพื้นที่ชุมพรมีเขาหินแกรนิต มีหินปูน และมีที่ราบชายทะเลที่น้ำทะเลเคยเข้าถึง  หินแกรนิตมีแร่ feldspar ทั้งชนิดมีธาตุโซเดียมหรือธาตุโปแตสเซียมเป็นหลัก(ในองค์ประกอบทางเคมี)  หินปูนมีธาตุแคลเซียมเป็นเนื้อหิน น้ำทะเลมีพวกธาตุฟอสฟอรัสและพวกสารประกอบ phosphate    เมื่อหินดินเหล่านั้นถูกแปรเปลี่ยนไปด้วยกระบวนการผุพังและทำลาย ในองค์รวม พื้นที่นั้นๆก็น่าจะได้ดินที่อุดมไปด้วยธาตุ Na, Ca, K, P  ส่วนไนโตรเจน (์N) นั้นได้มาจากพวกซากพืช (?) ตระกูลถั่ว (พวกที่มีลูกเป็นฝัก เช่น กะถิน สะตอ เนียง ยาง ยางนา ......) ที่ล้มตายสะสมกันมาเป็นเวลานาน ก็จึงดูจะเป็นเหตุที่ทำให้เป็นพื้นที่ๆเหมาะสำหรับพวกพืชที่ให้ผลใม้ที่มีเนื้อดีและมีรสดี เพราะมีปุ๋ยธรรมชาติอยู่ในดิน (N P K) พร้อมสรรพ     ที่จริงแล้ว หากชอบเที่ยวแบบขาลุย ก็ลองลุยเข้าไปในพื้นที่ทางทิศตะวันตกของถนนเพชรเกษมตั้งแต่ย่านหลังสวนลงไป จะรู้สึกรับรู้ได้ในทันทีว่าเป็นพื้นที่ๆมีดินดีจริงๆ        


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ย. 21, 19:54
กล่าวถึงผลไม้แล้ว ก็เลยนึกถึงอยู่เรื่องหนึ่ง คือผลของต้นไม้ที่นำมากินในรูปของอาหารคาว  เป็นพวกที่ออกผลเป็นฝัก เรียกชื่อรวมๆว่า Legumes  ซึ่งที่ชาวใต้นิยมกินกัน ก็จะมีเช่น สะตอ ทั้งชนิดที่เรียกว่าสะตอข้าวและสะตอดาน  ลูกเหรียง ซึ่งจะเอามาเพาะให้งอกคล้ายถั่วงอก (หน่อเหรียง)  ลูกเนียง มีอยู่หลายชนิด(จำชื่อไม่ได้แล้ว) ซึ่งหากมีความแก่จัดๆก็จะเอาไปต้มสักสองสามน้ำ แกะเอาเนื้อในออกมากินกับะพร้าวขูดที่แต่งรสด้วยเกลือและน้ำตาล  สะตอเบา(เม็ดกระถิน)   ก็พอจะสังเกตเห็นว่านิยมกินพวกพืชที่มีเนื้อแน่น เคี้ยวหนึบๆ และมีกลิ่นเฉพาะตัว   เม็ดขนุนและมันขี้หนู ซึ่งมีเนื้อแน่น เคี้ยวหนึบๆ ก็นำมาใช้ในการทำอาหารเช่นกัน

เมื่อกินอาหารรสจัดๆ เผ็ดร้อนแรง ก็มีการกินผักแนมพร้อมไปด้วย เรียกกันว่าผักเหนาะดังที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว  เพียงแต่มีข้อสังเกตเล็กน้อยว่า บรรดาผักเหนาะทั้งหลายนั้น ส่วนมากจะเป็นพืชผักที่มีรสเปรี้ยวและ/หรือรสฝาดแฝงอยู่เกือบทั้งนั้น เช่น ยอดมะม่วงหิมพานต์ ยอดมะกอก ยอดจิก หยวกกล้วยอ่อน หัวปลี ยอดมะตูม แปะตำปึง มะระ มะเขือ .....     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ย. 21, 20:17
https://www.youtube.com/watch?v=qzps52Mobbc


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ย. 21, 20:19
เมนูผักเหนาะ

https://www.youtube.com/watch?v=6Za8UPcddPs


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ย. 21, 20:21
https://www.youtube.com/watch?v=-fGW6u5cwVA


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ย. 21, 17:56
เห็นภาพสะตอผัดกุ้งแล้วนึกอยากทานขึ้นมาทันใด  ครั้งหนึ่งนานมาแล้วเมื่อสมัยไทยเรายังมีความขัดในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองและการปกครอง ผมต้องไปทำงานในพื้นที่ อ.ลานสะกา จ.นครศรีธรรมราช  ซึ่งเป็นพื้นที่ๆมีการปฏิบัติการทางภาคสนามที่ค่อนข้างจะรุนแรง จัดเป็นพื้นที่อันตรายมากๆสำหรับคนนอกพื้นที่   ก็ได้ไปเห็นต้นสะตอเป็นครั้งแรก ขากลับออกมาเพื่อขึ้นรถไฟกับกรุงเทพฯ ก็ได้เอาสะตอมาด้วย  อาหารมื้อเย็นบนรถไฟเป็นข้าวผัดแบบรุ่นเก่าที่ใช้ซีอิ๊วหวานเพื่อเอากลิ่นและสี ใส่ซีอิ๊วขาวเพื่อปรุงรสและกลิ่น  เป็นข้าวผัดหมู ใส่หอมใหญ่ ใส่มะเขือเทศ ใส่ไข่  ซื้อจากร้านขายอาหารเอาขึ้นมากินบนรถไฟ แกะห่อข้าวผัดออกมาทานแนมด้วยสะตอแกะด้วยตังเองสดๆ อร่อยสุดๆไปเลยครับ    ที่จำเรื่องได้แม่นก็เพราะด้วยความอร่อยนี้เอง 

ข้าวผัดที่ทำแบบนี้ ในปัจจุบันดูจะหาร้านที่ทำขายได้ไม่ง่ายแล้ว  ความอร่อยมาจากกลิ่น ความแห้งและความร่วนซุยพอดีๆของข้าวผัด และการผสมผสานระหว่างซีอิ๊วดำ ซีอิ๊วขาว น้ำปลาและน้ำตาลทราย   ต้องใช้ไฟแรงและกะทะที่ร้อนจัดในการผัด มิฉะนั้นข้าวก็จะนิ่มและแฉะไปด้วยน้ำซอส   แต่หากจะผัดเองที่บ้านก็พอจะทำได้ด้วยการใช้เกลือช่วยสำหรับรสเค็ม และใช้วิธีการต่อยไข่ใส่ผัดไปกับเครื่องเพื่อดูดซับความแฉะก่อนที่จะเอาข้าวสวยที่หุงสุกแล้วที่ทิ้งค้างคืนไว้ใส่ลงไป   

สะตอในพื้นที่ของ อ.ลานสะกา จัดได้เป็นของดีมีชื่อเลยทีเดียว


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 21, 19:04
ไม่เจอเมนูข้าวผัดแนมด้วยสะตอสดค่ะ   เจอแต่รายการนี้

https://www.youtube.com/watch?v=SYGpWbtsCJQ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ย. 21, 19:21
สะตอมีวางขายอยู่ในปัจจุบันนี้ มีทั้งที่ได้มาจากต้นสะตอในป่าและต้นสะตอที่ปลูก   เท่าที่รู้ ในปัจจุบันนี้ แหล่งผลิตผลที่สำคัญดูจะอยู่ในพื้นที่ของ จ.กระบี่  แต่ก็น่าสนใจว่ามีการปลูกกันเป็นสวนสะตอไปเลยในภาคอิสานในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งได้กลายเป็นแหล่งผลิตผลที่สำคัญเช่นกัน  

กล่าวถึงเรื่องของการปลูกพืชผล ก็มีเรื่องน่าสนใจอยู่เหมือนกันว่า ข้อมูลที่เกี่ยวกับการปลูกพืชผลทั้งหมดดูจะเป็นเฉพาะเรื่องในด้านทางกายภาพ (เรื่องของแสง เรื่องของดิน เรื่องของอากาศ ...) ซึ่งก็ล้วนแต่บอกเป็นกลางๆเหมือนๆกัน (ชอบดินร่วนซุย ชอบดินที่น้ำไหลผ่านได้ดี แดดดี...)   ข้อมูลทางวิชาการก็ดูจะบอกกล่าวจำกัดอยู่ในมุมมองด้านการนำไปปลูกในเชิงเศรษฐกิจ    ยังไม่เคยเห็นที่บอกกล่าวในมุมมองเชิงของไร่นาสวนผสม หรือเศรษฐกิจพอเพียง เช่นกรณีไม้บางชนิดควรจะต้องปลูกพร้อมๆกันสองสามต้น แล้วเลือกตัดต้นที่เรียกกันว่าต้นตัวผู้ทิ้งไป (ก็มีเช่น มะละกอ สะตอ ตาล...)   หรือกรณีต้นไม้ที่ยังประโยชน์แก่กันและกัน เช่น ต้นทองหลางกับต้นทุเรียน   ไม้พวก legume กับพวกเห็ดต่างๆ....   (นึกไม่ออกแล้วครับ)        


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ย. 21, 20:16
อาจารย์น่าจะเคยได้ทานแล้ว อาหารจานสิงห์เหนือ-เสือใต้พบกัน     

เมนูสะตอผัดกับแหนมนี้ จัดเป็นเมนูที่ทำได้ง่ายมากๆ แต่ก็อร่อยมากๆเช่นกัน  ความอร่อยจะต่างกันไประหว่างการเลือกใช้วัตถุดิบที่ต่างกัน แต่ทั้งหลายก็จะยังไว้ซึ่งความอร่อยทั้งนั้น  เราจะเลือกใช้สะตอข้าวก็ได้ สะตอดานก็ได้ จะเลือกใช้แหนมหม้อก็ได้ ใช้แหนมห่อก็ได้ แถมยังเลือกได้อีกว่าจะเอาแหนมที่ออกรสเปรี้ยวมากน้อยเช่นใดก็ได้ จะใช้พริกสดหรือพริกแห้งก็ได้อีกเช่นกัน   ความอร่อยส่วนหนึ่งจะไปอยู่ที่ฝีมือของผู้ทำว่าได้ผลออกมาเข่นใด เช่น แหนมเละหรือไม่ สะตอสุกพอดีหรือไม่ และการปรุงรส     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ย. 21, 13:41
สิงห์เหนือ เสือใต้ แถมทะเลตะวันออกด้วยค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=e67cmpkdMjM


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.ย. 21, 17:49
เรียกว่าผัดแบบถึงเครื่องจริงๆเลยนะครับ    สะตอผัดกับกุ้ง กะปิ และพริกสดตำมีความอร่อยเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว  หรือจะเอาน้ำพริกกะปิมาผัดกับสะตอแล้วใส่กุ้งก็เป็นอีกเมนูพื้นฐาน  เอาสะตอมาผัดกับแหนมก็เป็นการแปลงการทำออกไป  มาเจอจานแบบที่อาจารย์นำมานี้ มีทั้งกะปิ น้ำพริกเผา หมู กุ้ง และปลาหมึก ก็เลยสุดยอดไปเลย ดูน่ากินจริงๆ รสน่าจะมีความกลมกล่อมเพราะมีความหวานจากน้ำพริกเผาเข้าไปช่วยประสานให้มีรสเค็ม เปรี้ยว หวาน  ก็เลยน่าจะกล่าวได้ว่า เป็นการแปลงไปบนเส้นทางสู่ความเป็นอาหารไทยภาคกลางและสู่ความเป็นสากล



กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.ย. 21, 19:31
เห็นว่า หากจะว่ากันด้วยเรื่องของผักที่กินกันทางภาคใต้ ก็คงจะมีเรื่องที่เกี่ยวข้องมากมาย เลยคิดว่าได้แตะไปที่ผักที่มีความเด่นเป็นเอกลักษณ์มาพอสมควรแล้ว   น่าจะพอ

จะลองแวะเข้าไปดูขนมบ้าง แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วก็รู้สึกว่าจะไม่ไหวที่จะกล่าวถึง เพราะมีหลากหลายจริงๆ เช่น เพียงข้าวต้มมัด ก็ยังมีทั้งมัดใบกะพ้อ มัดใบเตย มัดใบมะพร้าว มัดใต้(รูปทรง) มัด(เป็น)พวง...  อื่นๆก็เช่น ขนมเจาะหู ขนมตู(ขนมขี้หมา-ขี้แมว)...   ขนมที่เหมือนกับของภาคกลางแต่เรียกอีกชื่อหนึ่งก็มี เช่น ขนมโค (ขนมต้ม)     

ก็มีขนมที่ชื่อเสียงจนกลายเป็นของฝากที่พึงซื้อหานำมาฝากกันเมื่อลงไปทำงานในภาคใต้ คือ ขนมเค็กลำภูรา (บ้านลำภูรา ต.ลำภูรา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง)  มีชื่อเสียงมานานมากกว่า 50+ ปีแล้ว   ผมเคยต้องใช้เส้นทางผ่านชุมชนนี้ สมัยนั้นยังไม่เป็นพื้นที่ๆมีความเจริญมากนัก มีลักษณะเป็นเพียงชุมชนใหญ่ที่ถนนหลวงตัดผ่าน ก็เป็นขนม(ที่เป็นผลิตผลของชาวถิ่น)ที่มีความอร่อยในระดับที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในวงกว้าง คล้ายๆกับขนมสาลี่ของเมืองสุพรรณบุรี หรือขนมชั้นของเมืองตราด หรือขนมหม้อแกงของเพชรบุรี....

เห็นว่า ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี หากจะมีกระทู้เรื่องขนมของภาคใต้และของภาคอื่นๆ ทั้งในเชิงของความเป็นจำเพาะ ความต่าง และการเปรียบเทียบ ด้วยเห็นว่า เมื่อเรากล่าวถึงขนมหวานใดๆ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องก็มักจะเป็นวิถีแบบภาคกลาง และโดยเฉพาะแบบกรุงเทพฯ     กระทูเกี่ยวกับข้อสนเทศที่เสนอไปนี้ ผมเห็นว่ามีท่านสมาชิกผู้อาวุโสที่มีประสบการณ์มากพอที่จะเป็นแกนหลักในการดำเนินการได้  ตัวผมเองไม่เป็นผู้ที่นิยมขนมหวาน จึงขาดความรู้ในเรื่องนี้อย่างสิ้นเชิง ไปสันทัดในเรื่องของ ว.ทางน้ำ เสียมากกว่า  ;D       


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ย. 21, 17:57
เกือบลืมไปว่า ยังมีเมนูอาหารที่น่าจะต้องหาโอกาสลองทานอีกสองสามอย่างในพื้นที่สุราษฎรธานี อย่างแรกคือ ผัดไทยแบบใส่กะทิ ที่เรียกว่าผัดไทยท่าฉาง (อ.ท่าฉาง)   อีกอย่างหนึ่งคือ แกงหอยแครงกับใบชะพลู แบบน้ำข้นๆ  เมนูสุดท้ายเป็นเมนูที่ทำกินกันเองในครอบครัว ซึ่งเราก็คงจะต้องทำกินเองเช่นกัน คือเอาหอยนางรมตัวใหญ่มาลวกในน้ำต้มผักกาดดอง (คล้ายวิธีกินสุกี้ยากี้แบบจีน) ก็จะเป็นการกินหอยนางรมแบบทำให้สุกที่อร่อยมากเลยทีเดียว หากจำรสของตือฮวนเกี้ยมฉ่ายได้ น้ำแกงก็จะเป็นรสนั้นแหละครับ จะหาใส้กรอกข้าวเหนียว(จุกบี้) ที่จิ้มกินกับซอสที่ทำจากซีอิ๊วมากินร่วมด้วยก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด   สำหรับใส้กรอกข้าวเหนียวนั้นหาซื้อได้ค่อนข้างจะยาก  ก็ยังมีอยู่เจ้าหนึ่ง เป็นเจ้าเก่าขายมานานมากแล้ว เป็นร้านเพิงตั้งอยู่ริมปากทางเข้าตลาดปีระกา(ตัวตลาดสดเลิกไปแล้ว) จัดได้ว่าทำใส้กรอกได้ดี อร่อย และราคาไม่แพง โดยเฉพาะน้ำจิ้มแบบนั้น หาฝีมือเช่นนั้นไม่ได้อีกแล้ว(คิดว่า)

สำหรับไข่เค็มไชยยานั้น คงไม่ต้องขยายความอะไร มีวางขายในชื่อนี้อยู่แพร่หลายไปหมด จะจริงหรือเท็จก็ไม่รู้  ผมกลับชอบไข่เค็มที่ยังไม่ถึงเวลาเอามาต้ม เอามาทอดแบบไข่ดาวแล้วกินแนมกับแกงเผ็ดหลายๆอย่างได้อย่างเข้ากันได้ดีและอร่อยเลยทีเดียว       


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ย. 21, 18:29
นี่ก็ใกล้จะเข้าสู่ช่วงปลายปีแล้ว ก็จะมีของดีๆจากพื้นที่ส่วนใต้สงขลาลงไป  คือปลาเค็มที่ทำจากปลากุเลา ซึ่งมีราคาต่อกิโลกรัมที่ค่อนข้างจะสูงมาก  ตัวขนาดประมาณปลายมือถึงข้อศอกของเราอาจจะมีราคาหลายร้อยบาทเลยทีเดียว  ก็อาจจะซื้อได้ แต่ก็ต้องมาคิดต่อเมื่อถึงเวลาเอามากิน จะกินปลาเค็มทั้งตัว หั่นแบ่งเป็นชิ้นๆทอดกินในแต่ละครั้ง จะทอดกินให้หมดในช่วงเวลาหนึ่งก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก    แต่ก็พอจะมีทางเอามาทำกินให้อร่อยได้ อย่างหนึ่งก็คือ ซื้อปลากุเลาแดดเดียวตัวขนาดย่อมกว่าไม้บรรทัดเล็กน้อย เอามาทอด กินกับข้าวสวยร้อนๆหรือกับข้าวต้ม ก็จะอร่อยนักแล  อีกอย่างหนึ่งก็คือแกะเอาเนื้ปลามาสับปนกับเนื้อหมู แล้วปั้นเป็นก้อนๆ กดให้แบนลง อาจจะแต่งหน้าด้วยไข่แดงของไข่เค็ม แล้วเอาไปนึ่งให้สุก หรือจะทอดก็ได้เช่นกัน     

หากเป็นฝั่งด้านทะเลอันดามัน ก็จะมีปลาที่เอามาทำเค็มอีกชนิดหนึ่ง ชื่อว่าปลาสละ มีเนื้อที่แน่น ไม่ยุ่ยเหมือนปลากุเลา  เอาปลาสละเค็มมาหั่นเป็นชิ้นๆพอคำแล้วทอด กินแนมกับแกงเผ็ดต่างๆก็อร่อยดี   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 21, 19:04
https://www.youtube.com/watch?v=lNUthD9-LxI


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ย. 21, 19:24
การเดินทางเลาะไปตามถนนเลียบชายฝั่งลงใต้จากสงขลาไปปัตตานีนั้น คงจะมีน้อยคนที่คิดจะกระทำ  มีแต่ที่จะเดินทางข้ามจากสงขลาไปยังฝั่งทะเลอันดามันเข้าสู่พื้นที่ของ จ.สตูล โดยเฉพาะจุดที่เรียกว่าปาก(คลอง)บารา  เพื่อนั่งเรือข้ามไปยังเกาะหลีเป๊ะในพื้นที่ย่านเกาะตารุเตา   หากไปยัง จ.สตูล ก็ควรจะลองดื่มกาแฟของท้องถิ่น หรือซื้อกลับเป็นของฝากเพื่อช่วยโปรยเม็ดเงินทางเศรษฐกิจให้กับผู้คนชาวถิ่นในพื้นที่  ถ้าจำไม่ผิด คิดว่าเป็นกาแฟพันธุ์โรบัสต้าที่มีการปลูกกันมากในหลายพื้นที่ของจังหวัดสตูล    

แล้วก็อย่าลืมลองไปฟังเสียงของ 'หมาน้ำ' (เขียดว๊าก)  หรือ จงโคร่ง ?? (คางคกชนิดหนึ่ง ??) ในอุทยานแห่งชาติทะเลบัน น่าสนใจดีครับกับเสียงของสตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดนี้


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 27 ก.ย. 21, 20:38
การเดินทางเลาะไปตามถนนเลียบชายฝั่งลงใต้จากสงขลาไปปัตตานีนั้น คงจะมีน้อยคนที่คิดจะกระทำ  

ปัจจุบันการเดินทางจากสงขลาไปปัตตานี หรือจากหาดใหญ่ไปปัตตานีจะใช้ถนนหลวงหมายเลข ๔๓ เลียบทะเลตั้งแต่จะนะไปครับ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.ย. 21, 18:43
ขอบคุณครับ  อาจจะสื่อความไม่ถูกต้อง ที่ต้องการกล่าวถึงก็คือ ไม่ค่อยจะมีคนอยากจะลงไปปัตตานี ก็เพียงพยายามเลี่ยงที่จะไม่กล่าวถึงในทาง
-ve     

ถนนสาย 43 นี้ ผ่านหาดสะกอม ซึ่งเป็นพื้นที่พักผ่อนชายทะเลนอกเมืองที่นิยมของชาวสงขลา จากสะกอมก็จะเข้าสู่พื้นที่ปาก(แม่)น้ำเทพา  ตามเส้นทางเลาะชายหาดนี้ เมื่อน้ำลงก็จะมองเห็นกองหินอยู่ในน้ำห่างจากชายหาดไปไม่มากนัก เป็นกองหินทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ละกองน่าจะมีความยาวประมาณ 40-50 เมตร เว้นห่างกันพอประมาณ กองอยู่เรียงรายตลอดชายฝั่ง  กองหินเหล่านี้เรียก Wave barrier หรือจะเรียกว่า Wave breaker ก็เป็นที่เข้าใจกัน      ที่เขาทำไว้ก็เพื่อกันการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งก็คงจะป้องกันได้ไม่ 100% แต่ก็พอจะช่วยได้มากอยู่ทีเดียว     

หากไปถึงสงขลาแล้วแวะเยือนหาดสมิหลา ขับรถเลาะชายหาดชลาทัศน์ไปเก้าเส้ง ก็จะเห็นว่าชายหาดสวยๆหายไปเยอะมากเลยทีเดียว ก็มาจากการที่หาดทรายถูกกัดเซาะด้วยกระแสน้ำชายฝั่งแล้วพัดพานำเอาทรายชายหาดออกไปที่อื่น     สำหรับท่านที่เคยไปหาดสมิหลาและหาดชลาทัศน์แต่ครั้งกระโน้น คงจะนึกออกถึงความสวยงามของชายหาดที่มีพื้นที่กว้าง เรียบ ลมทะเลดี พักผ่อนได้อย่างมีความสุข แต่ในปัจจุบันนี่มิใช่เช่นนั้นแล้ว  ดูจะกลายเป็นต้องไปหาทรายมาเติมเพื่อให้ยังคงมีสภาพของความเป็นชายหาดอยู่เท่าที่พอจะทำได้     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.ย. 21, 20:08
ต้นเหตุของเรื่องชายหาดถูกกัดเซาะในย่านนี้ เกิดมาจากการพัฒนาปากน้ำเทพาด้วยการสร้างสันคันคลองของปากน้ำเทพาให้ยื่นยาวออกไปในทะเล ทำให้ตะกอนทรายที่เคยถูกพัดพามาด้วยกระแสน้ำชายฝั่งที่เลาะจากใต้ขึ้นเหนือนั้นถูกกั้นและเปลี่ยนทิศทาง  จะไปตัดสินว่าใครผิดใครถูกในการตัดสินใจทำนั้นก็คงจะทำไม่ได้   มันเป็นเรื่องของความขัดแย้งที่จะต้องมี จะต้องเกิดขึ้น ซึ่งเป็นความขัดแย้งในหลายๆมิติอีกด้วย   คนที่ลงทำงานจริงในพื้นที่จริงจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ดี

เล่าเพียงเท่านี้ก็คงพอแล้วนะครับ   ประเด็นสำคัญในปัจจุบันนี้ก็คือจะทำอย่างไรเพื่อช่วยให้กระบวนการทางธรรมชาติช่วยปรับสมดุลย์ใหม่จาก destructive environment ไปเป็น constructive environment สำหรับพื้นที่ๆเราต้องการ   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.ย. 21, 20:29
กล่าวถึงชื่อปัตตานี ก็เลยต้องกล่าวถึง น้ำบูดู ของสายบุรี ซึ่งเป็นของดังประจำถิ่น    อีกอย่างหนึ่งก็คือโรตีที่ทำด้วยแป้งนำเข้าจากมาเลเซีย เนื้อหอม หนานุ่ม กินกับชาชัก   ในกรุงเทพฯก็มีร้านขายทั้งโรตี ชาชัก และโรตีมะตะบะ  ในกรุงเทพฯก็มีอยู่เจ้าหนึ่ง อยู่ในพื้นที่ท่าน้ำวังหลัง อร่อยใช้ได้เลยทีเดียว   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ย. 21, 19:06
ก็มีสถานที่ๆมีความสำคัญทางศาสนาที่โด่งดังในเขต จ.ปัตตานี อีก 3 จุด คือ ศาลเจ้าแม่กอเหนื่ยว  มัสยิดกรือเซะ  และวัดช้างให้ ซึ่งเป็นวัดที่เป็นจุดเริ่มต้นของความโด่งดังและความมีชื่อเสียงขจรขจายของหลวงพ่อทวด  วัดตั้งอยู่ประมาณครึ่งทางบนเส้นทางระหว่างปัตตานีกับยะลา

เข้าไปในเขต จ.นราธิวาส ก็มีเรื่องที่น่าสนใจอยู่ค่อนข้างจะมาก แต่คงจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะมีคนสนใจอยากจะรู้กันนัก เพราะดูจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะไกลตัว   แต่เรื่องของข้อมูลและความรู้ที่ไกลตัวเหล่านี้มันเป็น butterfly effect ที่อาจจะส่งผลต่อการทำงานในอนาคตทั้งด้านวิชาชีพ การดำเนินชีวิต และการอยู่รอดในระดับความสำเร็จที่ดีในเชิงของ social hierarchy  ในอีกด้านหนึ่งก็คือการทำงานอยู่บนพื้นฐานของการรู้จักตัวตนของตนเองและของประเทศ ในองค์รวมก็คือ เป็นเรื่องของการมีข้อมูล มีความรู้ และความเข้าใจในเชิงของ geopolitical sphere และ sphere of influences ตั้งแต่ในระดับ sub-regional ไปจนถึงระดับ global   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ย. 21, 20:23
ชื่อที่คุ้นเคยกันในพื้นที่ชายแดนใต้สุดก็น่าจะเป็น โต๊ะโม๊ะ (เหมืองทองคำ)  อ.แว้ง   อ.สุไหงโกลก   อ.เบตง   ตันหยงมัส   ปาดังเบซาร์    น่าแปลกที่ผมไม่ต้องมีงานไปถึง อ.เบตง และ อ.สุไหงโกลก ก็เลยไม่เคยไปทั้งสองอำเภอนี้

โต๊ะโม๊ะ และ แว้ง เป็นสถานที่คู่กัน คือ ขุดทองได้ที่โต๊ะโม๊ะแต่ต้องขนไปส่งที่แว้ง เพื่อดำเนินการธุรกรรมในด้านการค้าขายต่อไป 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ต.ค. 21, 18:28
เรื่องราวของการเหมืองแร่ทองคำที่โต๊ะโม๊ะ สามารถจะค้นคว้าหาอ่านได้ไม่ยาก ก็จะขอข้ามไปแตะบางเรื่องราวของทองคำที่อาจจะสนใจแทน   

ทองคำที่พบอยู่ในธรรมชาตินั้น โดยพื้นฐานแล้วพบได้ในรูปของทองคำบริสุทธิ์และในรูปที่เป็นสารประกอบทางเคมีของแร่บางชนิด  ทองคำในรูปที่บริสุทธิ์นั้น มีตั้งแต่ขนาดเล็กจัดจนต้องใช้กล้องจุลทัศน์จึงจะเห็นได้ ไปจนถึงเป็นก้อนขนาดใหญ่ที่เรียกว่า gold nugget    สำหรับพวกที่มีขนาดเล็กจัดนั้น ส่านมากจะพบแทรกอยู่ในช่องว่างหรือรอยแตกระหว่างผลึกของกลุ่มแร่อื่นๆ (แร่ในกลุ่ม sulfide minerals) 

เหมืองทองขนาดใหญ่ส่วนมากจะเป็นเหมืองแร่ที่ทำการขุดแร่ในกลุ่มแร่ sulfide  ได้แร่มาแล้วก็เอามาบดให้ละเอียดจนถึงระดับที่สามารถจะให้ทองคำแยกตัวออกมา จากนั้นก็เอาแร่ที่บดนั้นไปผ่านน้ำยา(ที่กลัวกัน)เพื่อแยกทองคำ แล้วเอาไปผ่านกระบวนการเพื่อให้ได้เป็นตัวโลหะทองคำออกมา หลอมให้เป็นแท่งเพื่อสะดวกในการขนย้าย   ทองคำที่ได้มาในขั้นนี้ยังไม่ใช่โลหะทองคำบริสุทธิ์ แต่จะอยู่ที่ประมาณ 95+% ขึ้นไป ในเนื้อจะยังมีธาตุบางอย่างปนอยู่ เช่น เงิน ทองแดง เหล็ก ตะกั่ว    ทองแท่งในขั้นนี้จะมีสีแปลกๆที่ออกไปทางสีซีด  ต้องเอาไปผ่านกระบวนการทำให้เป็นทองคำที่บริสุทธิ์เพื่อให้สามารถขายได้ในตลาดต่อไป             


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ต.ค. 21, 20:06
ได้กล่าวถึงการทำเหมืองแร่ทองคำ แต่ในทางปฎิบัติการกลับกลายเป็นการขุดแร่พวก sulfide ore body  ซึ่งแร่ในกลุ่มนี้ก็คือแร่ที่มีการทำเหมืองเพื่อสกัดเอาโลหะ ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี รวมทั้งโลหะหรือสารประกอบในกลุ่ม base metal อื่นๆ     การทำเหมืองทองคำในหลายๆกรณีก็เลยไม่เป็นที่แน่ชัดว่า จริงๆแล้วคือการทำเหมืองแร่อะไร  ในหลายๆกรณี ปริมาณทองคำคือตัวกำไร โลหะอื่นๆที่ขายได้คือค่าใช้จ่ายในการทำเหมือง 

แต่ตลาดค้าขายแลกเปลี่ยนแร่โลหะพวก base metal กับตลาดทองคำเป็นคนละตลาดที่มีระบบไม่เหมือนกันเลย รวมทั้งสมาชิกก็ต่างกลุ่มกันอีกด้วย    สำหรับการค้าขายในตลาดทองคำนั้น ทองคำที่ขายได้จะต้องเป็นทองคำบริสุทธิ์ที่มีตราประทับรับรองระดับความบริสุทธิ์(บนทองแท่ง)ของหน่วยงาน หรือองค์กร หรือผู้ที่ทำการให้ทองนั้นๆมันมีความบริสุทธิ์  ซึ่งผู้ที่ทำการรับรองนั้นจะต้องเป็นที่ยอมรับกันของประเทศต่างๆอีกด้วย เพราะทองคำมันไปเกี่ยวข้องกับการใช้เป็นทรัพย์สินประกันค่าของเงินและความมั่นคงทางด้านการเงินและการคลังของแต่ละประเทศ

อาจจะขยายความอืดอาดไปบ้างเพราะต้องใช้เวลาในการคิดตรองว่าจะบรรยายเช่นใดจึงจะพอให้เห็นภาพ และได้เห็นความโยงใยของเรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับทองคำ   เพียงเคยทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาบ้างทั้งในด้านวิชาการและด้านนโยบาย ก็เลยอยากเล่าให้ฟังในส่วนที่ไม่ค่อยจะรู้กัน   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ต.ค. 21, 20:12
gold nugget


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ต.ค. 21, 20:15
ทองคำบริสุทธิ์


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ต.ค. 21, 18:26
ทองคำที่ยังไม่บริสุทธิ์จากเหมือง เมื่อเอาไปทำให้มันมีความเป็นทองคำบริสุทธิ์ (refine) เราก็หวังว่าจะได้ทองคำ 100%  แต่ในการทำจริงๆก็ไม่สามารถจะทำให้ได้เป็นเนื้อทองคำ100% เต็ม ยังไงๆก็ไม่สามารถจะ refine เอาโลหะธาตุสามสี่ตัว(impurities)ที่กล่าวถึงออกไปให้หมดได้   ที่เราเรียกว่าทองคำบริสุทธิ์หรือทองคำ 100% นั้นจึงไม่มี และในธรรมชาติก็ไม่มี จะมีก็แต่ทองคำที่มีความบริสุทธิ์ 99.99+/-%   

ด้วย impurities นี้ จึงทำให้ทองคำที่จัดว่าเป็นทองคำบริสุทธิ์นั้นมีได้หลายสี ที่เด่นๆชัดเจนก็จะมีสีเหลืองสด สีเหลืองอมเขียว สีเหลืองอมแดง   หากจะโยงไปโยงมาก็พอจะโยงไปถึงแหล่งที่ทำเหมืองจนได้ทองคำบริสุทธิ์นั้นๆออกมา หรือ ก็พอจะรู้ว่าทองคำนั้นมาจากตลาดค้าทองคำตลาดใด   คนไทยดูจะนิยมทองคำสีเหลืองอมเขียว หากเป็นคนที่นิยมของเก่า  แต่หากเป็นคนที่มีความนิยมตะวันตกและเชื่อในเรื่องสีทองกับความบริสุทธิ์ ก็ดูจะนิยมสีเหลืองทองอร่าม  คนอินเดียและตะวันออกกลางดูจะนิยมทองคำที่มีสีเหลืองอมแดง(ชมพู) ... 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ต.ค. 21, 18:43
สีของทองคำแปรเปลี่ยนไปตามเปอร์เซ็นต์ของโลหะเจือปน

ภาพจาก วิกิพีเดีย (https://th.m.wikipedia.org/wiki/ทองคำสี)


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ต.ค. 21, 19:35
ทองคำบริสุทธิ์ที่ค้าขายกันในตลาดโลก น่าจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทระดับประเทศ (รัฐบาล กระทรวงการคลัง แบงค์ชาติ) และประเภทระดับเอกชน  

ระดับประเทศ    ด้วยที่ทองคำมันมีราคาสูงมาก มีน้ำหนักมาก ซื้อขายกันในปริมาณ ในมูลค่าที่สูงมาก และมีปัญหาในเรื่องของความปลอดภัยทั้งในระหว่างการขนย้ายและในการเก็บรักษา  การซื้อขายจึงมีอยู่ในสองลักษณะ คือ แบบแลกเปลี่ยนกระดาษกัน กับแบบซื้อแล้วมีการเคลื่อนย้ายตัวทองคำนั้นๆจริงๆ ซึ่งก็แล้วแต่จะตกลงกันว่า จะฝากไว้ก่อน หรือจะขนย้ายไปเก็บไว้ที่ใดหรือฝากใว้ที่ใด...

มองง่ายๆว่า กระดาษแผ่นเดียวที่มีข้อมูลแสดงมูลค่าที่ซื้อขายกันนั้น มันก็เป็นกระดาษที่มีมูลค่าดังที่ปรากฎเช่นนั้น  แต่ถ้าหากผู้ถือกระดาษแผ่นนั้นเป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือสูง เขาก็อาจจะเอากระดาษอีก 10 แผ่น  100 แผ่น 1000 แผ่น หรือหลายร้อยหลายพันล้านแผ่น เอามาเขียนตัวเลขบอกค่าของกระดาษแต่ละแผ่น ซึ่งเมื่อเอามูลค่าในกระดาษทุกๆแผ่นที่เขียนตัวเลขบอกไว้นั้น เอามาบวกรวมกันแล้วก็ได้ตัวเลขมูลค่าเท่ากับกระดาษแผ่นแรกต้นทาง     ในองค์รวมก็คือระบบเงินตราและความมั่นคงทางการคลังของแต่ละประเทศ     ก็เป็นภาพที่ดูง่ายๆดี แต่ไม่ง่ายเลยในทางปฏิบัติ    


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ต.ค. 21, 20:41
Ternary diagram ที่คุณเพ็ญชมพูนำมาแสดงนั้น เป็นข้อมูลที่อธิบายให้เห็นสีต่างๆของทองคำได้ดี เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง แต่หากจะนำข้อมูลนี้ไปใช้ในปฏิบัติการทดลองแปรเปลี่ยนสีของทองคำ ก็ควรจะต้องทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้กับคำว่า wt% (of Au, Ag, Cu) ที่เห็นอยู่แต่ละด้านของกราฟสามเหลี่ยมนั้น     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ต.ค. 21, 18:34
เนื่องจากทองคำบริสุทธิ์ที่ได้มาจากการ refine จะมีความบริสุทธิ์ที่ตัวเลข 99 % เป็นพื้นฐาน แล้วมีตัวเลข .1 ถึง .9 ต่อท้ายอีก ก็เลยทำให้มันมีความบริสุทธิ์ที่ต่างกัน ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่ 99.1% ไปจนถึง 99.9%  แล้วก็ยังมีความบริสุทธิ์ยิ่งยวดเข้าไปอีก เป็น 99.91% ไปจนถึง 99.99 % หรือเพิ่มต่อท้ายเข้าไปอีกตัวเลขหนึ่งก็ยังมี   

ทองคำบริสุทธิ์เหล่านี้ ก็คือทองคำแท่งที่เราเรียกกัน  ราคาของทองคำแท่งที่มีความบริสุทธิ์ต่างกันก็จะมีราคาที่ต่างกัน ยิ่งบริสุทธิ์มากก็ยิ่งมีราคาสูงมากเป็นธรรมดา  ดังนั้น หากจะเป็นนักสะสมทองคำแท่ง ก็ต้องดูด้วยว่ามันมีตราประทับรับรองขนาดของความบริสุทธิ์อยู่บนทองแท่งนั้นๆด้วยหรือไม่

ทองคำแท่งที่ขายกันตามร้านขายทองในไทย หากเป็นแบบที่มีตราประทับและมีตัวแลขบอกความบริสุทธิ์ ก็เป็นทองที่น่าจะขายได้ทั่วโลก    แต่หากเป็นทองแท่งที่มีตราประทับเป็นของกลุ่มร้านทองนั้นๆ ก็จะซื้อขายกลับไปกลับมาได้กับกลุ่มร้านทองนั้นๆ จะขายข้ามกลุ่มได้ยากและยังถูกกดราคาอีกด้วย ทั้งทองแท่งและทองรูปพรรณ      เหตุผลก็เป็นเรื่องความริสุทธิ์ ไม่ว่าจะมาจากต้นทาง(ทองจากตลาดค้าทองนานาชาติ) หรือเป็นทองที่มีการเพิ่มโลหะธาตุเข้าไปตามสัดส่วนที่เป็นมาตรฐานของกลุ่ม       ผมไม่มีความรู้ว่า ความบริสุทธิ์ของทองแท่งที่ยอมรับและซื้อขายกันในกันในหมู่ผู้ค้าทองในไทยนั้นเป็นอย่างไร
   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ต.ค. 21, 20:19
พูดถึงเรื่องทองคำเลยทำให้นึกถึงเรื่องของงานของภาครัฐที่เรียกเราเรียกว่า กษาปณ์  ซึ่งโดยพื้นฐานก็คือ โรงหลอมโลหะมีค่าเพื่อสะสมเป็นทรัพย์สินของรัฐ (ทุนสำรอง) แล้วแปรสภาพ(บางส่วน)ไปอยู่ในรูปของเงินตราที่ใช้ในการซื้อขายหรือในการพาณิชย์ต่างๆ  ประเทศที่มีแหล่งโลหะทองคำและแหล่งโลหะเงิน ล้วนจะต้องมีกิจการด้านนี้ ซึ่งหากมีทรัพยากรมากและประชาชนมีความต้องการใช้มาก ก็อาจจะดำเนินการในรูปแบบเชิงอุตสาหกรรมไปเลย (Mint industry) เช่น ในออสเตรเลีย

โรงกษาปณ์มีบทบาทค่อนข้างมากในบางสถานการณ์ เช่น เมื่อครั้งเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง  ทุนสำรองทองคำของบางประเทศ(ไม่ใช่ไทย)ได้หดหายไปจนเกือบจะไม่เหลือเลย รัฐก็ออกรับซื้อทองคำจากชาวบ้านที่ร่อนเลียงสะสมได้มาจากเสี่ยงโชค  เอาทองคำเหล่านั้นมา refine ใช้เป็นทุนสำรองเพื่อพยุงความมั่นคงของระบบเงินตราและเศรษฐกิจของตน     หรือในอีกลักษณะหนึ่ง คือ การเอาทองรูปพรรณต่างๆมา refine ให้กลับไปเป็นทองบริสุทธิ์เพื่อหมุนเวียนใช้ในตลาดอีกครั้งหนึ่ง

โรงกษาปณ์ของไทยมีบันทึกการจัดตั้งอย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 4   แต่จริงๆแล้ว โรงกษาปณ์น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพียงแต่คงจะมีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่น คือจะต้องมีมาตั้งแต่เมื่อครั้งเราใช้เงินพดด้วงที่มีตราของทางราชการประทับอยู่

แหกโค้งจนมาถึงเรื่องของการกษาปณ์แบบสังเขปแล้ว ด้วยเพราะว่ามันเป็นระบบที่เกี่ยวข้องกัน    ก็คงจะต้องขอกลับเข้าสู่เส้นทางหลักแต่เดิม


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ต.ค. 21, 18:30
ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ย่านเหมืองแร่ทองคำโต๊ะโม๊ะ ส่วนมากจะเป็นชาวไทยพุทธมาจากภาคอื่นๆ มีอาชีพหลักในการทำสวนผลไม้ เมื่อมีเวลาว่างๆก็เอาเลียงร่อนแร่เดินลงห้วยไปร่อนหาทองคำ ได้วันละเล็กละน้อยสะสมไว้    หากว่าท่านใดได้มีโอกาสไปเที่ยวที่โต๊ะโม๊ะก็น่าจะลองเจรจาขอแบ่งซื้อเอามาเก็บไว้เป็นที่ระลึกบ้าง ก็น่าจะดี   ในต่างประเทศ ทองคำที่หาได้โดยวิธีการใช้เลียงร่อนหาตามลำน้ำนี้  มักจะถูกแบ่งเอามาใส่ขวดเล็กๆ ใส่น้ำสะอาดๆให้เต็มขวด แล้วนำมาขายเป็นของที่ระลึก   

อาจจะไม่รู้กันว่า ในลำน้ำแควน้อย แถว ต.บ้านเก่า ก็เคยมีชาวบ้านลงน้ำขูดทรายท้องแม่น้ำแควเอามาเลียงหาทองคำกัน ซึ่งก็พบทองเหมือนกัน แต่น้อยนิดเอามากๆจนไม่คุ้มค่ากับการไปนั่งแช่เปียกอยู่ในน้ำทั้งวันหลายๆวัน   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ต.ค. 21, 20:12
ขยายความนิดนึงครับ

แหล่งแร่ทองคำพอจะจำแนกได้ง่ายออกได้เป็น 3 แบบ คือ แบบทองคำเกิดร่วมอยู่กับกลุ่มแร่อื่นๆ (พวกแหล่ง copper-lead-zinc sulfide)  แบบที่เกิดประปรายอยู่ตามสายแร่ quartz ที่ตัดผ่านไปในหินบางอย่าง  และแบบที่ตัวทองคำหลุด แยกตัวออกมาเป็นอิสระแล้วถูกพัดพาไปพร้อมกับ หิน-ดิน-ทราย ไปตกสะสมอยู่ในที่อื่นใดสถานที่หนึ่ง เรียกกันว่า placer deposit

แหล่งทองคำแบบแรกจะเป็นการทำเหมืองขนาดใหญ่ ทั้งแบบทำเหมืองเปิด และเหมืองใต้ดิน แต่ส่วนมากจะเป็นเหมืองใต้ดิน ซึ่งบางเหมืองมีอุโมงค์ขนาดกว้างใหญ่พอที่รถ 10 จะวิ่งสวนทวงกันได้อย่างสบายๆ  เดินในอุโมงค์ต้องมีความระวังไม่ต่างไปจากการเดินตามถนนหลวง  เหมืองแบบนี้จะมีเจ้าของกิจการในรูปของบริษัท    แบบที่สองจะเป็นแบบที่เราเห็นตามที่ปรากฎในภาพยนตร์ มักจะเป็นเหมืองแบบขุดเจาะเป็นอุโมงค์เข้าไปในเขา อุโมงค์มีขนาดพอตัวหรือพอที่จะใช้พาหนะเล็กๆขนหินออกมาได้  เจ้าของเหมืองมักจะเป็นแบบหุ้นส่วน หรือเป็นเจ้าของเดี่ยว     แบบที่สามจะเป็นแบบที่เราเห็นในสารคดีที่เกี่ยวกับเรื่องราวของคนทำเหมืองทอง เป็นแบบที่มีการใช้รถขุดตักดินเอาไปล้างเพื่อเอาทองคำ ส่วนมากจะเป็นเหมืองขนาดไม่ใหญ่ ยกเว้นกรณีของเหมืองทองใน Alaska ของสหรัฐอเมริกา ในประเทศ Canada  ใน Australia 

ความคุ้มค่าในการทำเหมืองทองคำ จะพิจาณาจากปริมาณน้ำหนักของทองคำที่จะได้ต่อน้ำหนักของหินดินทรายที่จะต้องขุดเอาออกมา  ตัวเลขที่ค่อนข้างจะเป็นข้อพิจารณาในเบื้องต้น(ก่อนที่จะนำเรื่องขององค์ประกอบในการทำเหมืองอื่นใดเข้ามาเกี่ยวข้อง) มักจะอยู่ในเกณฑ์ว่า ในหินดินทรายน้ำหนัก 1 ตัน ที่ขุดออกมา เมื่อเอามาผ่านกระบวนการล้างหรือทดสอบแล้ว ควรจะต้องได้ทองคำเป็นน้ำหนักประมาณ 2-3 กรัม  ซึ่งในอีกมุมก็คือ ในน้ำหนักของหินดินทราย 1 ตัน ควรจะได้ทองคำน้ำหนักประมาณ 2-3 กรัม

ลองดูในอีกภาพหนึ่ง น้ำหนักทองคำ 1 บาท เท่ากับประมาณ 15 กรัม  สลึงหนึ่งก็จะประมาณ 4 กรัม    น้ำหนักหินดินทราย 1 ตัน ยังได้ทองไม่ถึงสลึงเลย       



กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ต.ค. 21, 19:15
เหมืองแร่ทองคำอยู่ในพื้นที่ อ.สุคิริน  แต่มีผู้คนไม่มากนักที่จะเคยได้ยินชื่ออำเภอนี้     ตันหยงมัส เป็นชื่อที่ผู้คนส่วนมากจะรู้จักในด้านของเรื่องผลไม้ชื่อ ลองกอง และก็รู้จักชื่อ อ.ระแงะ ว่าเป็นพื้นที่ในด้านที่มีความอ่อนไหวทางด้านความมั่นคง  แท้จริงแล้วตันหยงมัสเป็นชื่อของสถานีรถไฟที่อยู่ในตัวเมือง อ.ระแงะ     เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นนายอำเภออยู่ในพื้นที่แถบนั้น บอกว่า บรรดาผลไม้จากสวนของชาวบ้านในพื้นที่แถบ อ.สุคิริน อ.แว้ง รวมทั้งบางส่วนของ อ.ศรีสาคร อ.จะแนะ และ อ.รือเสาะ   ผลไม้เหล่านั้น (ลองกอง มังคุด เงาะ...) และผลิตผลเกษตรอื่นๆ จะถูกขนไปขึ้นรถไฟที่สถานีตันหยงมัสเพื่อเข้าส่งเข้ากรุงเทพฯ    แต่เดิม ลองกอง เป็นผลไม้ที่ส่งในปริมาณมากจากสถานีตันหยงมัส เมื่อเริ่มมีมาวางจำหน่ายในกรุงเทพ ก็เลยได้ชื่อว่าเป็นของจากตันหยงมัส     เงาะโรงเรียน(เงาะนาสาร)และไข่เค็มไชยา ของสุราษฎร์ธานี    มังคุดและทุเรียนหลังสวน ของชุมพร .... ก็ดูจะไม่ต่างไปจากตรรกะนี้นัก  แน่นอนว่าผลไม้เหล่านี้ที่ปลูกกันในถิ่นต่างๆก็ย่อมจะมีคุณลักษณะและคุณภาพจำเพาะที่เป็นที่ถูกใจของผู้คน ก็เลยมี tag ติดท้ายเพื่อระบุว่าเป็นความต้องการของผู้ซื้อผู้นั้น         


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ต.ค. 21, 19:31
ก็น่าสนใจอยู่เหมือนกันว่า อาหารแบบปักษ์ใต้ที่ดูจะมี tag ชื่อว่าเป็นอาหารของครัวแบบจังหวัดโน่นนี่นั้น ก็อาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของข้าวแกงรสจัดจ้านและอร่อยๆตามสถานีรถไฟได้เหมือนกัน    ท่านที่เคยเดินทางด้วยรถไฟขบวนรถเร็วและขบวนหวานเย็นที่แวะจอดเกือบจะทุกสถานี น่าจะนึกออกสภาพดังกล่าวนี้ได้บ้าง

สายใต้ก็จะเริ่มจากที่นครปฐม ก็มีอาทิ ข้าวหมูแดง ข้าวหลาม ไก่ย่าง เข้าเขตราชบุรีก็มีไก่ย่างบางตาล ข้าวเหนียว  เข้าเขตเพชรบุรีก็จะมี ข้าวราดแกง ขนมหม้อแกง และขนมหวานอื่นๆ ฯลฯ   สายเหนือก็จะเริ่มที่อยุธยา แต่นึกไม่ออกแล้ว จำได้แต่แถวบางมูลนาก พิจิตร ก็จะมีนกกระจาบทอดกรอบ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: unicorn9u ที่ 06 ต.ค. 21, 09:14
ก็จะมีนกกระจาบทอดกรอบ

ตอนนี้ไม่น่าจะมีแล้วครับ นกกระจาบและรังนกกระจาบเป็นสัตว์คุ้มครองไปแล้ว


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ต.ค. 21, 18:44
ใช่ครับ ไม่มีแล้ว ตัวนกกระจาบและรังของมันก็เกือบจะไม่มีให้เห็นแล้วอีกด้วย  นกกระจาบจะอยู่กันเป็นฝูงๆ  เห็นมากในช่วงที่ข้าวแก่จัดกำลังสุก ชาวนาไม่ชอบเพราะมันจะลงมากินข้าวที่กำลังจะเก็บเกี่ยว ได้รับความเสียหายในระดับที่สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย  ช่วงเวลาหนึ่งคงเห็นว่าจะไล่ก็ไม่จบเรื่องเสียที เลยจับเอามาถอนขนแล้วทอดขายบ้างก็คงจะดีกว่า  คนที่จะกินนกกระจาบทอดก็คงจะเป็นพวกตั้งวงสนทนายามแดดร่มลมตก ที่จะเอาไปทำผัดหรือแกงสับนกก็คงจะไม่มีมากนัก เพราะนกตัวเล็กมาก มีเนื้อน้อย มีแต่กระดูก       

หากขับรถขึ้นเหนือโดยใช้เส้นทาง อ.อินทร์บุรี จ.สิงหฺบุรี - อ.วังทอง จ.พิษณุโลก  ก็จะเห็นที่ราบที่กว้างใหญ่มองไกลสุดลูกหูลูกตาทั้งสองฝั่งถนน ตลอดเส้นทางประมาณ 200+ กม. ล้วนแต่เป็นพื้นที่ใช้ทำนากันทั้งนั้น   

จากข้อมูลที่คุณ unicorn9u ว่า นกกระจาบเป็นสัตว์คุ้มครองไปแล้ว   ก็ทำให้มองได้ใน 2 ด้าน  ในด้านหนึ่งดูจะบ่งบอกว่า นกกระจาบถูกจับไปบริโภค ถูกจับไปทำลาย หรือมีการตัดตอนวงจรชีวิตของมัน มากไปจนเกินความเหมาะสมของการคงสายพันธุ์ตามธรรมชาติ (species sustainability)     ในอีกด้านหนึ่งดูจะบ่งบอกว่า สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติได้แปรเปลี่ยนไปโดยการกระทำของมนุษย์ จนทำให้มันไม่สามารถเจริญพันธุ์ได้ในปริมาณที่มากพอเพื่อการคงสายพันธุ์ตามธรรมชาติ       ก็ดูเป็นเรื่องที่น่าสนใจนะครับ พื้นที่ๆเป็นแหล่งอาหารสำคัญของพวกมันใหญ่ขนาดนั้น ประชากรของพวกมันก็คงจะต้องมีอยู่เป็นจำนวนมากเลยทีเดียว  วันหนึ่งพวกมันก็หายไปมากพอที่จะต้องถูกคุ้มครอง    แล้วสาเหตุหรือต้นเหตุที่แท้จริงคืออะไร  เป็นไปได้ใหมว่าเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของการใช้ยาปราบแมลงต่างๆ  แมลงมักจะเป็นส่วนหนึ่งในวงจรอาหารการกินของนกโดยเฉพาะในวัยแรกเกิดและเริ่มโต     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ต.ค. 21, 20:32
ลืมบอกกล่าวถึงของดีๆของสงขลา  ก็มีมะม่วงเบาแช่อิ่ม และผ้าฝ้ายทอมือของเกาะยอ   มะม่วงเบาเป็นมะม่วงที่อร่อย ออกผลทั้งปี ผลดิบไม่มีรสที่เปรี้ยวจัด เอามากินกับน้ำปลาหวานจะอร่อยมาก  จะเป็นน้ำปลาหวานที่ทำแบบลวกๆหรือที่แบบแบบมีเครื่องปรุงครบก็อร่อยทั้งนั้น       สำหรับที่หาดใหญ่ก็น่าจะลองไปกินปลากระบอกแช่เย็น อร่อยมาก  และก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาหมึก

ก็มีเรื่องของข้าวมันไก่ที่น่าสนใจอยู่ว่า เขาว่าไก่เบตงและข้าวมันไก่เบตงนั้นมีความสุดอร่อย  ไก่สายพันธุเบตงนั้น เท่าที่พอจะมีความรู้ เขาว่าเป็นสายพันธุ์ที่มาจากมณฑกวางสีของจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ๆใช้ภาษาในกลุ่มภาษาไทยและภาษาจีนกวางตุ้ง   แต่ที่เราในภาคกลางมักจะรู้กัน คือข้าวมันไก่อร่อยต้องเป็นแบบไหหลำ   ก็ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วมีความอร่อยต่างกันเช่นใด 

แวบออกนอกเส้นทางหน่อยนึง -หากประสงค์จะสัมผัสกับความรู้สึกที่ตื่นเต้นในพื้นที่ภาคใต้บ้าง ก็น่าจะลองขับรถในช่วงเวลาก่อนพลบค่ำบนถนนระหว่างอำเภอในพื้นที่ส่วนใต้ตัว จ.สงขลา ลงไป  จะรู้สึกโดดเดี่ยวและวังเวงดีครับ 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 21, 20:42
ข้าวมันไก่เบตง ข้าวมันไก่ไหหลำ ข้าวมันไก่​สิงคโปร์ ต่างจากข้าวมันไก่ธรรมดาอย่างไรครับ?

https://pantip.com/topic/36253716


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ต.ค. 21, 17:49
แต่ก่อนนั้น ข้าวมันไก่จะต้องมีต่อท้ายด้วยคำว่า 'ตอน'  เหมือนกับจะบอกว่าเป็นข้าวมันไก่ที่ใช้ไก่ตอน มิได้ใช้ไก่ตัวใหญ่อ้วนๆธรรมดาๆ และในแต่ละจานที่สับไก่ใส่ลงไปก็จะต้องมีเลือดไก่สองสามชิ้น มีเครื่องในไก่เป็นกึ๋นและตับอีกอย่างละชิ้นสองชิ้นแนมมาด้วย   บางเจ้าในต่างจังหวัดมีการใส่ไข่อ่อนมาด้วยก็มี    แต่หากเป็นแบบสับไก่โปะหน้าข้าวก็จะมีแต่เพียงเลือดหนึ่งชิ้นเท่านั้น   ในปัจจุบันนี้ดูทุกเจ้าดูจะเหลือแต่เลือดเท่านั้น     แต่ก็มีเจ้าที่สับไก่แบบพิถีพิถันในอีกแบบหนึ่ง คือ ลอกหนังไก่ออกมา ขูดเอามันออกไป เอาหนังนั้นปะกลับไปบนเนื่อแล้วจึงสับใส่จาน  ร้านน่าจะยังคงอยู่แถวๆย่านบรรทัดทอง

ข้าวมันไก่นั้นดูคล้ายกับจะเป็นอาหารที่ทำง่ายๆ  แท้จริงแล้วไม่ง่ายนัก เพราะมีสูตรและวิธีการทำที่หลากหลายทีเดียว ทั้งวิธีการต้มไก่และวิธีการหุงข้าวมันให้อร่อย กระทั่งน้ำจิ้มของมัน    แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะแต่ละวิธีดูจะเหมาะกับลักษณะและสภาพของแต่ละครัวที่แตกต่างกัน  หากจะทำกินเองก็จึงควรจะต้องหาอ่านสูตรการทำต่างๆที่เหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อมของตน   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ต.ค. 21, 18:44
ก็มีอีกไม่กี่เรื่องที่จะกล่าวถึงสำหรับในพื้นที่ภาคใต้ 

ลงไปเที่ยวใต้ถึงพังงาแล้วก็ควรจะหาโอกาสไปบ้านบางพัฒน์ เป็นหมู่บ้านเล็กๆอยู่ปากคลองบางลิง ก้นอ่าวพังงา  บ้านอยู่อาศัยของชุมชนมีลักษณะคล้ายๆกับหมู่บ้านชาวเลของเกาะลันตา   ผู้คนที่นี่มีอัธยาศัยดีและมีความเป็นมิตรกับคนต่างถิ่นมาก มีร้านอาหารอร่อย   ไปหมู่บ้านนี้แล้วรู้สึกสบายใจและผ่อนคลายกับธรมชาติที่เกือบจะไร้การปรับแต่งโดยฝีมือของมนุษย์     

ขากลับออกจากเมืองพังงาก็น่าจะลองหาซื้อข้าวดอกข่าติดมือกลับมาด้วย เอามาลองหุงทานกัน  ข้าวดอกข่าเป็นข้าวพันธุ์โบราณของพื้นที่แถบนั้น มีการปลูกแบบข้าวไร่  จัดว่าเป็นข้าวไร่สายพันธุ์หนึ่งที่ยังคงมีการปลูกกันที่พังงา     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ต.ค. 21, 19:28
พักอยู่ในเมืองพังงา พอตกบ่ายๆก็ขับรถไป อ.ท้ายเหมือง ตรงลงหาดไปเลย หาดทรายแถบนี้เป็นพื้นที่อยู่สำคัญของตัวจั๊กจั่นทะเล ซึ่งเป็นสัตว์มีเปลือกพวก Crustacean   เอามาทำกินได้หลายอย่าง สำหรับคนต่างถิ่นก็อาจจะนิยมเอามาทอดกรอบ สำหรับคนพื้นที่ก็อาจเอามาใช้ในแกงต่างๆ

ที่จะกล่าวถึงนั้นเป็นเรื่องของความสนุกในการจับตัวจั๊กจั่น   จะจัดเป็นการไป picnic ง่ายๆที่หาดท้ายเหมืองก็ได้  เป็นหาดที่มีผู้คนน้อย จึงไม่ต้องมีเรื่องใดที่จะต้องกังวลมากนัก   เมื่อพร้อมแล้วก็ออกไปทำความคุ้นเคยกับคลื่นที่เข้ามากระทบฝั่งและระยะที่น้ำซัดเข้ามาบนหาดทราย  ตั้งใจรอดูว่าในช่วงเวลาที่น้ำที่ซัดเข้ามาบนหาดนั้นกำลังไหลกลับทะเล จะเห็นฟองน้ำปุดๆอยู่ ก็รีบวิ่งไป ณ จุดนั้นโดยเร็ว แล้วเอามือขุดวิดทรายออกมา ก่อนที่มันจะฝังตัวลงไปนิ่งอยู่ใต้ทราย   ก็สนุกดี ได้ออกกำลังเล็กๆน้อยๆ  ก็คงไม่สามารถหาตัวมันได้มากพอที่จะเอามาทำกิน  หากจะลองกินมันก็คงต้องไปหาเอาตามร้านอาหาร     ก็อาจจะขับรถเข้าตลาดซึ่งอยู่ใกล้ๆเพื่อดูลักษณะอาคารที่ทำเป็นคอนโดของนกนางแอ่นก็ได้อยู่ 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 21, 19:39
https://www.youtube.com/watch?v=nD99ha7DCGk


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 21, 19:41
https://www.facebook.com/JJWHOUSE3939/posts/760460607459455/


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 08 ต.ค. 21, 14:14
ของดีๆของสงขลา  ก็มีมะม่วงเบาแช่อิ่ม มะม่วงเบาเป็นมะม่วงที่อร่อย  
ไม่รู้จักมะม่วงเบาค่ะ ตอนแรกไม่อยากรบกวนอาจารย์เลยไปถามอากู๋ ปรากฏอากู๋ไม่มีคำอธิบายอะไรเลยค่ะ มีแค่รูปมะม่วงให้ดู สังเกตได้ว่าเป็นมะม่วงลูกเล็กๆทั้งนั้น ทำให้ไม่แน่ใจว่ามะม่วงเบาหมายถึงมะม่วงลูกเล็กๆน้ำหนักเบา หรือว่าเป็นชื่อพันธุ์ เลยต้องมารบกวนขอความรู้จากอาจารย์ ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ต.ค. 21, 19:05
คงจะให้ความเห็นตามความรู้ที่ประมวลได้จากการทำงานภาคสนามในพื้นที่ต่างๆ และเป็นความเห็นนอกตำราทางภาษาศาสตร์และทางเกษตรศาสตร์

ผลิตผลของพืชไร่/พืชสวนต่างๆนั้น จะมีแบบที่ออกดอกผลตามฤดูกาลตามธรรมชาติของมัน และมีแบบที่ออกดอกผลนอกฤดูกาลของมัน   ชาวบ้านจะนิยมเรียกพืชผลที่ออกนอกฤดูกาลโดยใช้คำว่า 'ทะวาย' ต่อท้ายชื่อพืชผลนั้นๆ    ในกรณีที่ระยะเวลาตั้งแต่พืชผลนั้นๆออกดอกจนสามารถเก็บเกี่ยวผลได้ มีช่วงเวลาที่สั้นกว่าที่เป็นไปตามธรรมชาติตามปกติของพืชผลนั้นๆ ก็นิยมจะใช้คำว่า 'เบา' ต่อท้ายชื่อนั้นๆ 

พืชผลที่เป็นพวก 'ทะวาย' และ 'เบา' นั้นมีทั้งที่เป็นไม้สายพันธุ์ตามธรรมชาติ  มีทั้งไม้ที่มาจากการตัดต่อข้ามสายพันธุ์ หรือกระทั่งการใช้สารเคมีเพื่อแปรผันวัฎจักรช่วงเวลาของการออกดอกผลและการให้ผลผลิตของมัน

ผมมีความเห็นว่า มะม่วงเบาก็คือมะม่วงป่าสายพันธุ์หนึ่งที่มีการเอามาปลูกกันในสวน   ที่ใช้คำว่าเบาต่อท้ายนั้น น่าจะหมายถึงการเอามะม่วงที่ยังไม่แก่ (เม็ดในยังไม่เป็นเปลือกแข็ง)  เก็บเอามากินกัน ซึ่งจะได้ทั้งกลิ่นและรสที่ชวนกินมากกว่าตอนที่มันแก่และสุกแล้ว (ซึ่งจะมีเนื้ออยู่น้อยมากเพราะว่ามันเป็นลูกมะม่วงขนาดเล็ก)

แล้วมะม่วงเบามีสายพันธุ์หรือไม่  ก็มี  ดูจะเป็นชื่อของสายพันธุ์ตามชื่อจังหวัดหรือสวนที่เพาะพันธุ์ขายกัน   เชื่อว่าน่าจะเน้นไปในเรื่องของปริมาณผลผลิตมากกว่าในเรื่องของรสและกลิ่น


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ต.ค. 21, 20:02
จาก อ.ท้ายเหมือง ขึ้นเหนือไปตามถนนเพชรเกษม ก็จะผ่านเขาหลัก ผ่านบ้านน้ำเค็ม ซึ่งเป็นพื้นที่ๆได้มีพิบัติภัยอย่างรุนแรงทางธรรมชาติจากคลื่น Tsunami เมื่อ พ.ศ.2547  แล้วก็เข้าสู่ จ.ระนอง ซึ่งบ้านเมืองได้เปลี่ยนไปจนเกือบจจะไม่หลงเหลือภาพเดิมๆให้เห็นเลย


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ต.ค. 21, 19:06
ก็มีเรื่องหนึ่งที่กั๊กไว้เพื่อเอามาเล่ารวมกันเมื่อถึงระนอง ก็คือ เรื่องของแร่ดีบุก  แหล่งแร่ดีบุกของไทยเรานั้น พบกระจายอยู่ตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี   ที่เป็นแหล่งใหญ่มีชื่อที่รู้จักกันดี  ทางตอนเหนือก็คือ บ.ปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ ซึ่งมีแร่วูลแฟรม (Wolframite) เกิดร่วมอยู่ด้วย  ใต้ลงมาก็มี ห้วยเต่าดำ อ.ไทรโยค  ใต้ลงไปอีกก็จะเป็นที่ ตะโกปิดทอง และ เจิงเจ้ย  อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี  แล้วก็ไปที่ หาดส้มแป้น จ.ระนอง   ทางฝั่งอ่าวไทย ก็จะเริ่มพบใต้ลงไปของเส้นทางหลวงสาย อ.หลังสวน (ชุมพร) - ต.หงาว (ระนอง)

แหล่งแร่ดีบุกเกือบทั้งหมดของไทยจะอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า Placer deposit   ตัวแร่ดีบุก (Cassiterite)จะอยู่ปะปนกับชั้นทรายปนกรวด การทำเหมืองจึงใช้วิธีการฉีดน้ำแรงๆเพื่อทำให้ดินทรายแตกตัวออกจากกัน แล้วปล่อยในน้ำปนทรายนั้นให้ไหลผ่านรางน้ำที่มีลูกขั้น แร่ดีบุกซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าทรายก็จะตกสะสม จากนั้นก็เอามาล้างทำให้มันสะอาด เอาทรายที่ยังคงเหลือออกให้หมด      แร่ดีบุกปริมาณประมาณ 1 กระป๋องนมข้น จะมีน้ำหนักประมาณหนึ่งกิโลฯกับอีกขีดสองขีด

ขอย้อนกลับไปนิดนึง บนเส้นทางยะลา-เบตง จะต้องผ่าน บ.ปินเยาะ  ต.ถ้ำทะลุ    ที่ปินเยาะก็มีการทำเหมืองแร่ดีบุก เป็นเหมืองที่ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวตลอดยุคเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้  พื้นที่นี้ได้เคยเป็นเสมือนจุดเชื่อมต่อของเจตนารมภ์ของการ compromise ของทั้งสองฝ่าย 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ต.ค. 21, 20:08
แร่ดีบุก


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ต.ค. 21, 20:23
แรดีบุกกับประเทศไทยมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกันมายาวนาน น่าจะมากกว่า 200+ ปี  มีทั้งเรื่องภายใน  เรื่องระหว่างประเทศ และเรื่องเกี่ยวกับตลาดโลก  ไทยเราเคยเป็นผู้ผลิต/ผู้ส่งออกในอันดับ 1-3 ตลอดมาจนกระทั่งตลาดดีบุกของโลกวายลง    


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ต.ค. 21, 17:54
ครั้งหนึ่ง โลหะดีบุกถูกจัดอยู่ในกลุ่มโลหะยุทธปัจจัยของประเทศทางตะวันตก  จัดอยู่ในระดับที่ต้องมีความจำเป็นต้องมีการเก็บสำรองให้มีพอสำหรับการใช้ในกิจการด้านการส่งกำลังบำรุง  ดีบุกใช้ในการเคลือบด้านในของกระป๋องอาหารที่ทหารใช้ในระหว่างการทำสงคราม    ซึ่งน่าจะเป็นที่มาที่ทำให้ครั้งหนึ่ง บรรดาของที่บรรจุกระป๋องวางขายกันนั้นเรียกกันว่า Tin can หรือใช้คำสั้นๆว่า Tin       คงประมาณแถวๆ พ.ศ.2520+/- กระมัง ก็ได้มีการพัฒนาวัสดุที่เป็นกระดาษเคลือบแผ่นพลาติก (polymer)  โดยวิธีการที่เรียกว่า laminate composite layer  ที่เมื่อเอามาทำเป็นภาชนะใช้งานในลักษณะกระป๋องแล้ว สามารถรับแรงดันได้ดีไม่ต่างไปจากกระป๋องที่ทำด้วยแผ่นเหล็กเคลือบผิวด้วยดีบุก  แต่มีความเบามากกว่า มีความแข็งแรงทนทานดี ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าโละหะมากนัก   ความต้องการของดีบุกในทางอุตสาหกรรมก็ลดลงไปและถูกแทนที่ด้วย laminate composite technology  ซึ่งมีการขยายการใช้ไปในเกือบจะทุกอุตสาหกรรม  สำหรับในกรณีที่ยังจำเป็นต้องใช้กระป๋องเหล็ก ก็จะเป็นกระป๋องที่ด้านในถูก laminated ด้วยพลาสติก    คำว่า tin หรือ tin can ก็เลยหายไป เหลือแต่คำว่า can ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน (ผมเห็นว่าเช่นนั้น)   

โลหะดีบุกมีการค้าขายกันในตลาดใหญ่ที่สำคัญของโลกชื่อว่าLondon Metal Exchange Market  ค้าขาย ดีบุก ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี อลูมิเนียม โคบอลท์ ลิเที่ยม โมลิดินัม นิเกิล เหล็ก และโลหะมีค่าอื่นๆ (ยกเว้นทองคำ) 

เทคโนโลยีการทำวัสดุแบบ Laminate composite นี้ได้ทำให้สิ่งของ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่างๆในโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ต.ค. 21, 19:09
กล่วถึงเรื่องดีบุก ก็ต้องผนวกเรื่อง pewter เข้าไปด้วย

โลหะดีบุกมีความอ่อนและหลอมเหลวได้ง่ายที่อุณหภูมิประมาณ 200+/- C  ก็จึงสามารถเอามาหลอมขึ้นรูปเป็นของใช้บางอย่างได้ง่าย แต่เพื่อที่จะทำให้มันที่ความแข็งและคงรูปจากกระทบกระทั่งได้ดี ก็จึงมีการเอาโละหะอื่นๆไปผสม หลอมเข้าไปด้วยกัน ก็เป็นได้ทั้ง ตะกั่ว ทองแดง พลวง เงิน...

pewter เป็นโลหะที่มีการทำเป็นภาชนะเพื่อใช้ในด้านการบริโภคเป็นส่วนมาก (?)  พบว่ามีการทำกันมานานนับพันปี  ดูเหมือนว่าแต่ละแหล่งที่มีการผลิตและใช้ pewter ตั้งแต่อดีตกาลจนถึงในปัจจุบันนี้ จะไม่มีสูตรของการใช้ชนิดของโลหะและปริมาณที่ใส่ผสมลงไปที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน  อย่างไรก็ตาม ที่พอรู้มา ก็ล้วนแต่จะมีสัดส่วนของโลหะดีบุกอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น้อยกว่า 90%  หากมีดีบุกในสัดส่วนที่น้อย ชิ้นงานก็จะค่อนข้างแข็ง หากมีดีบุกในปริมาณที่มาก ชิ้นงานก็จะออกไปทางอ่อน   ก็อาจจะเป็นด้วยที่ส่วนผสมมีลักษณะเป็นสูตรของใครสูตรของมัน  pewter เลยมีต้องมีชื่อกำกับว่าเป็นของผู้ใดทำหรือของประเทศใดทำ  ก็เลยมีเช่น Thailand pewter  มี Selangor pewter (ของมาเลเซีย)  หรือมีตราประทับว่าเป็นของบริษัทห้างร้านใดทำ ดังที่ปรากฎให้เห็นบนภาชนะเครื่องใช้ที่เป็นของเก่าของยุโรป             


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 21, 19:21
pewter  ดีบุกผสมตะกั่ว


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ต.ค. 21, 18:07
เห็นภาพแล้วทำให้นึกถึงเครื่องเงินที่ทำด้วย Sterling silver และเครื่องเงินของทางภาคเหนือของไทยเรา   

Sterling silver มีโลหะเงินเป็นพื้นฐาน ผสมกับโลหะอื่น โดยเฉพาะทองแดง เพื่อให้ชิ้นงานมีความแข็งแรง ที่เอาโลหะอื่นๆมาผสมเพิ่มลงไปด้วยก็มีเช่นกัน   ในขณะที่ Pewter มีโลหะดีบุกเป็นพื้นฐาน ผสมกับโลหะอื่นๆดังที่กล่าวถึงแล้ว      สินค้าที่ผลิตขึ้นมาของแต่ละผู้ผลิตสินค้าจากโลหะผสมทั้งสองตระกูลนี้ต่างก็จะมีตราประทับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตน   ผลิตภัณฑ์จากโลหะผสมทั้งสองตระกูลนี้ มีผิวที่มีความแวววาว (luster) เกือบจะเหมือนกัน  เพียงแต่ของ sterling silver จะออกไปทาง vitreous มากกว่า  ส่วนของ pewter จะออกไปทาง dull มากกว่า

ทั้ง sterling silver และ pewter เป็นของที่มีนักสะสมของเก่านิยมจะหาซื้อเอามาเก็บสะสมกัน  ซึ่งที่นิยมกันมากดูจะเป็นพวก sterling silver  สำหรับพวกนักสะสมตัวยงก็จะพิจารณลงลึกไปถึงผู้ผลิต (ตราประทับ) กันเลยทีเดียว     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ต.ค. 21, 18:43
Sterling silver


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ต.ค. 21, 18:45
เครื่องเงินวัวลายของภาคเหนือ

https://www.m-culture.go.th/chiangmai/ewt_news.php?nid=954&filename=index


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ต.ค. 21, 19:05
กล่าวถึง sterling silver ของฝรั่งแล้วก็ต้องขยายความออกไปอีกเล็กน้อยเกี่ยวกับเครื่องเงินของทางภาคเหนือของไทยตามที่พอจะมีความรุู้

เครื่องเงินของทางภาคเหนือน่าจะแบ่งออกได้เป็น 4 พวก คือ พวกที่ใช้โลหะเงินบริสุทธิ์ ซึ่งจะได้ชิ้นงานที่ค่อนข้างจะอ่อน  พวกที่ทำจากเงินรูปี (เงินแถบ)  พวกที่ทำจากเงินของจีน  และพวกที่ทำจากเงินที่หลอมผสมกับโลหะอื่นขึ้นมาเอง      

เครื่องเงินรุ่นเก่าเมื่อ 60+ มาแล้ว ที่มีอยู่ตามบ้านต่างๆ ส่วนมากน่าจะทำมาจากเงินของรูปีหรือเงินของจีน   ซึ่งช่างตีเงินมักจะต้องขึ้นรูปชิ้นงานโดยให้ยังคงเหลือตราประทับให้เห็นอยู่ที่ฐานว่าเป็นชิ้นงานที่ทำมาจากเงินใด     เครื่องเงินเหล่านี้ จะจัดเป็นเครื่องใช้ในกลุ่มโลหะ sterling silver ด้วยหรือไม่ ??  ในเมื่อเหรียญเงินรูปีของอินเดียและเงินแท่งของจีนต่างก็เป็นโลหะเงินผสมกับโลหะอื่นๆ  ก็อาจจะเป็นความเข้าใจที่ความคลาดเคลื่อนอย่างมหันต์ก็ได้  ช่วยชี้แนะและขยายความด้วยครับ    

สำหรับเงินบริสุทธิ์นั้นดูจะใช้กับชิ้นงานที่มีการฉลุลาย ซึ่งโดยมากดูจะเป็นชิ้นงานของช่างเงินพม่า ก็มีเช่น ขันเงินฉลุใบเล็ก  ปลอกเงินที่ใช้สวมด้ามร่มกันแดดกันฝน  


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ต.ค. 21, 20:20
ขอบคุณครับ สำหรับ link ไปวัวลาย แหล่งผลิตสำคัญของเครื่องเงินต่างๆ   แต่ก่อนนั้นเน้นการผลิตไปในเรื่องของขัน พาน ถาด ชุดแก้วน้ำ 2 ใบ  เครื่องประดับมีไม่กี่อย่าง ส่วนมากก็จะเป็นเข็มขัดเงินสำหรับการใส่ผ้าซิ่น และกระเป๋าเงินที่ใช้ในงานกลางคืน  จำไม่ได้ว่าเคยเห็นพวกที่ทำแบบเงินลงยาหรือไม่      ปัจจุบันนี้ ฝีมือการทำเครื่องเงินดีๆ (โดยเฉพาะเครื่องประดับ) ไปมีอยู่ในพื้นที่อื่นๆก็มี เช่นแถวหาดเสี้ยว (ศรีสัชนาลัย)   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ต.ค. 21, 20:25
ก็ยังมีเรื่องของดีบุกที่ใช้ในเรื่องของชิ้นงานโลหะที่เรียกว่า Bronze      แล้วค่อยต่อกันครับ 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 21, 08:44
ขันเงินพม่า  ไม่ทราบว่าเป็นอย่างที่คุณตั้งเรียกว่าขันเงินฉลุหรือเปล่า  เพราะมันไม่มีลายฉลุ แต่ตีให่เป็นรูปนูนต่ำก็มี นูนสูงก็มี ค่ะ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 12 ต.ค. 21, 10:46
ผมมีสำเนาสัญญาซื้อขายแร่สมัยปี ค.ศ.๑๘๗๖ ที่เหมืองในตำบลถ้ำทะลุ ยะลา ระหว่าง Galena Mining Company Limited, Jalor and Raman. กับหลวงสุนทรสิทธิโลหะ(ตันจูเบ้ง) บรรพบุรุษผม
แปลกตรงแทนที่จะเรียก tin เขาเรียกว่า galena ครับ
ซึ่งในความเข้าใจของผม galena มันเป็นต้นทางของตะกั่ว ไม่ใช่ดีบุก


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ต.ค. 21, 12:00
สำเนาสัญญาซื้อขายแร่สมัยปี ค.ศ.๑๘๗๖ ที่เหมืองในตำบลถ้ำทะลุ ยะลา ระหว่าง Galena Mining Company Limited, Jalor and Raman. กับหลวงสุนทรสิทธิโลหะ(ตันจูเบ้ง) บรรพบุรุษผม

Agreement entered into this day the 26th of December 1876. Between the Galena Mining Company Limited, Jalor and Raman on the one part and Tan Choo Beng on the other part.

That Tan Choo Beng hereby agrees to work the various mines or workings of the company and any other places of which he may be aware in Gua Tumbus and sell to the above named Company whatever Galena Ores may be obtained therefrom.

Tan Choo Beng (ตันจูเบ้ง) คือ หลวงสุนทรสิทธิโลหะ

รายละเอียดอยู่ใน blogspot ของคุณหมอ CVT (http://drpanthep.blogspot.com/2016/03/blog-post_28.html)


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ต.ค. 21, 18:35
ขันเงินพม่า  ไม่ทราบว่าเป็นอย่างที่คุณตั้งเรียกว่าขันเงินฉลุหรือเปล่า  เพราะมันไม่มีลายฉลุ แต่ตีให่เป็นรูปนูนต่ำก็มี นูนสูงก็มี ค่ะ

ไม่ใช่ครับ เป็นของที่มีการฉลุลายจริงๆ มีทั้งแบบฉลุลายเฉพาะด้านข้างทั้งหมด หรืฉลุเฉพาะส่วนบนของปากขันก็มี  ผมมีเก็บสะสมไว้ใบหนึ่ง ใบขนาดประมาณอุ้งมือ ทำด้วยเงินแท้ จึงค่อนข้างจะบอบบาง เป็นฝีมือช่างพม่า  เสียดายที่นึกไม่ออกว่าเก็บอยู่ในลังเก็บของใด บังเอิญว่าได้ย้ายบ้านสลับที่อยู่กับลูก เลยเอามาถ่ายรูปให้ชมไม่ได้ ครับ

ขันเงินมักจะต้องมีการตอกลวดลาย พวกลายนูนสูงมักจะเป็นชิ้นงานที่ใช้โลหะเงินที่มีปริมาณเงินสูง ส่วนพวกที่เอาเหรีญเงินมาตีขึ้นรูป ก็มักจะทำเป็นชิ้นงานลายนูนต่ำ หรือเพียงตอกให้เป็นลายร่องเล็กๆ   ชุดเครื่องเงินที่เป็นของสะสมกันนั้น เท่าที่ผมพอจะรู้และเคยอยู่ในสิ่งแวดล้อมทางสังคมนั้นๆ  เห็นว่า ชุดแรก จะประกอบด้วยพานยกฐานสูง ขันลายนูนต่ำใบขนาดที่วางได้พอดีบนพานนั้นๆ แล้วก็ทัพพีตักข้าวตอกลายตามด้ามจับ ชุดนี้ใช้ในการใส่ข้าวเพื่อการตักบาตร  และมีพานเงินยกฐานสูงหรือถาดเงินเพื่อใช้วางเครื่องอาหารคาวหวานสำหรับใส่บาตรอีกใบหนึ่งหรือทั้งสองแบบ      อีกชุดหนึ่งก็จะประกอบด้วยขันเงินใบใหญ่ปากกว้างประมาณ 30+/- ซม. ลายนูนสูง และขันเงินใบเล็กลายตอก เพื่อใช้ใส่น้ำมนต์หรือน้ำส้มป่อยในการสรงน้ำพระ  ใช้ในการรดน้ำดำหัว หรือใช้ในพิธีการให้ศีลให้พรต่างๆ    นอกเหนือไปจากสองชุดที่กล่าวถึงนี้ และที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว (เข็มขัดผ้าซิ่น กระเป๋าถือ) ก็จะเป็นการซื้อหาสะสมไปตามความจริตและชอบของแต่ละบุคคล 

สำหรับตัวผมเองชอบขันเงินขนาดประมาณ ฝ่ามือที่ไม่มีลาย หรือมีลากตอกเล็กน้อยรอบๆปากขัน ขึ้นรูปมาจากเหรียญเงิน มีความหนา แข็งแรงดี มีน้ำหนัก และดีดที่ปากแล้วมีเสียงกังวานดี   เอามาใส่น้ำแข็ง ใส่น้ำสะอาด เหยาะด้วยน้ำยาอุทัย ทิ้งไว้สักพักให้น้ำเย็นทั่วกันทั้งมวล  กินน้ำแล้วรู้สึกชื่นใจจริงๆ   ออกไปทางโบราณมากไปหน่อย นึกอยากก็ทำเสียครั้งหนึ่ง  จะใส่น้ำชาแทนน้ำเปล่าก็ได้ ก็ได้ความรู้สึกที่ดีเหมือนกัน


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ต.ค. 21, 20:11
ผมมีสำเนาสัญญาซื้อขายแร่สมัยปี ค.ศ.๑๘๗๖ ที่เหมืองในตำบลถ้ำทะลุ ยะลา ระหว่าง Galena Mining Company Limited, Jalor and Raman. กับหลวงสุนทรสิทธิโลหะ(ตันจูเบ้ง) บรรพบุรุษผม
แปลกตรงแทนที่จะเรียก tin เขาเรียกว่า galena ครับ
ซึ่งในความเข้าใจของผม galena มันเป็นต้นทางของตะกั่ว ไม่ใช่ดีบุก

เหมืองนั้นเป็นเหมืองแร่ตะกั่ว ถูกต้องแล้วครับ   พื้นที่แถบนั้นเป็นบริเวณที่มีหินอัคนีแทรกซอนขึ้นมาสัมผัสกับหินปูน  มีน้ำแร่ร้อน (Hydrothermal)  ซึ่งมีสารประกอบของธาตุต่างๆที่เกิดตามสภาพการผันแปรไปตามแรงดัน (pressure)  อุณหภูมิ (temperature) ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) และสภาพของบรรยากาศ (oxidation / reduction) ตามเส้นทางที่มันแทรกตามขึ้นมา  ยังผลให้เกิดสารประกอบต่างๆ (แร่)ที่มีความเสถียร ณ สภาพที่ต่างๆกันไป     

การสัมผัสระหว่างหินอัคนีประเภทแทรกซอนขึ้นมาในหินปูน มักจะทำให้เกิดแร่พวก sulfide  โดยเฉพาะพวกที่ให้โลหะที่เรียกกันว่าเป็นพวก Base metal (Cu Pb Zn Sb...) ซึ่งในกลุ่มแร่พวกนี้ก็มักจะให้โลหะอื่นๆปนมาอีกด้วย (เงิน ทองคำ สารหนู ปรอท..)  ระยะสุfท้ายของการแทรกซอนขึ้นมาก็มักจะเป็นสายแร่ quartz และ feldspar ซึ่งบางแห่งก็จะนำแร่ดีบุก ทังสเตน ขึ้นมาด้วย  กระทั่งพลอยบางอย่าง เช่น garnet, tourmaline, beryl และ moonstone ...

ขยายความออกมายืดยาว ไปค้นข้อมูลมาได้ว่า เหมืองตะกั่วในพื้นที่ก็มี เช่น เหมืองถ้ําทะลุ เหมืองใหม่ เหมืองบุหลัน เหมืองบายอ เหมืองยูโรไทย และเหมืองลาหนา 

สำหรับเหมืองแร่ดีบุกก็ เช่น เหมืองปินเยาะ เหมืองราซ่า และเหมืองบรรจบ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 13 ต.ค. 21, 08:01


ขยายความออกมายืดยาว ไปค้นข้อมูลมาได้ว่า เหมืองตะกั่วในพื้นที่ก็มี เช่น เหมืองถ้ําทะลุ เหมืองใหม่ เหมืองบุหลัน เหมืองบายอ เหมืองยูโรไทย และเหมืองลาหนา 

สำหรับเหมืองแร่ดีบุกก็ เช่น เหมืองปินเยาะ เหมืองราซ่า และเหมืองบรรจบ


ขอบคุณครับอาจารย์ แสดงว่าในอดีตมีความสับสนระหว่างดีบุกกับตะกั่ว
สิ่งที่เรารับรู้มาตลอดคือบรรพบุรุษทำเหมืองแร่ดีบุกทั้งเหมืองถ้ำทะลุ เหมืองบูหล่วน เหมืองบายอ

แต่มายุคหลังสมัยพ่อผมนี่ที่บูหล่วนทำแร่ดีบุกแน่ ๆ ครับ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ต.ค. 21, 19:05
ก็เป็นข้อเท็จจริงดังนั้นครับ  ไม่สับสนตั้งแต่อดีตแล้วครับ

ในพื้นที่แถวนั้นของยะลา มีแร่ดีบุกเกิดร่วมอยู่กับกลุ่มแร่ sulfide  ซึ่งเป็นแหล่งแร่ประเภทที่ไม่พบมากนักในธรรมชาติ  พื้นที่นี้ก็เป็นหนึ่งในประเภทนั้น    เท่าที่พอจะทราบ ก็มีการเปลี่ยนการทำเหมืองแร่ตะกั่วไปเป็นการทำเหมืองแร่ดีบุกในพื้นที่ๆดีบุกถูกพัดพามาสะสมจากแหล่งกำเนิดที่ผุพัง ซึ่งมีปริมาณมากพอที่จะมีผลกำไรจากการลงทุนทำเหมืองดีบุก 

แหล่งแร่ sulfide ก็มีทั้งแบบมีแร่หลักเพียงชนิดเดียว เช่น แร่พลวง แร่ตะกั่ว   หรือมีแร่หลายชนิดเกิดปะปนกัน ซึ่งประเภทปะปนกันนี้ ที่พบกันมากมักจะมีขนาดเล็ก ส่วนมากไม่คุ้มค่าในการลงทุน  เหมืองแร่ที่ยะลานี้จึงเป็นเหมืองตัวอย่างหนึ่งที่วิศวกรเหมืองแร่รุ่นเก่าก่อนนั้นต้องรู้จักและเรียนรู้กัน     สำหรับในกรณีที่เป็นแหล่งขนาดใหญ่ ก็จะเรียกกันในอีกชื่อว่า Massive sulfide ore body    แหล่งแร่ sulfide ขนาดใหญ่นี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการในอุตสาหรรมเหมืองแร่รายใหญ่ให้ความสนใจเป็นอย่างมากในการลงทุน   ในภาพง่ายๆก็คือ ลงทุนเปิดเหมืองที่เดียวแต่ได้สินค้าที่สามารถนำไปขายในตลาดโลกได้มากมาย  มากน้อยชนิดต่างกันไปในแต่ละแหล่ง ก็จะมี อาทิ ทองคำ ทองแดง เงิน ตะกั่ว สังกะสี นิเกิล สารหนู ปรอท....     

ก็มีเรื่องที่น่าสังเกตอยู่ว่า เหมืองแร่ทองคำขนาดใหญ่ทั้งหลายดูจะไม่มีคำว่าทองคำปรากฎอยู่ในชื่อเหมืองหรือในชื่อของบริษัทที่ทำผลิตทองคำจากแหล่งทองคำนั้นๆ  พอจะนึกเหตุผลได้ใหมครับ ?   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ต.ค. 21, 19:35
ขอบคุณครับอาจารย์ แสดงว่าในอดีตมีความสับสนระหว่างดีบุกกับตะกั่ว
สิ่งที่เรารับรู้มาตลอดคือบรรพบุรุษทำเหมืองแร่ดีบุกทั้งเหมืองถ้ำทะลุ เหมืองบูหล่วน เหมืองบายอ
แต่มายุคหลังสมัยพ่อผมนี่ที่บูหล่วนทำแร่ดีบุกแน่ ๆ ครับ

ที่ได้กล่าวมา ก็เป็นความเห็นไปตามความรู้เท่าที่พอจะมีของผมครับ ผมมีความคุ้นเคยกับพื้นที่น้อยมากและไม่มีข้อมูลสถิติเกี่ยวกับปริมาณการผลิตแร่ชนิดใดและการเสียค่าภาคหลวงสำหรับแร่ชนิดใดมากพอที่จะ delineate เรื่องราวต่างๆให้กระจ่างได้ตามข้อสงสัยครับ   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ต.ค. 21, 20:49
ได้เห็นสัญญาบางส่วนเกี่ยวกับเรื่องของการทำเหมืองแร่ของบรรพบุรุษของคุณหมอ CVT แล้ว เลยคิดว่าน่าจะต้องขยายความอ่างผิวเผินกับเรื่องของสัญญาหรือความตกลงในการแสวงหาประโยชน์กับทรัพยากรของรัฐ    ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่เราๆทั้งหลายน่าจะได้พอรู้พื้นฐานของมัน  มันเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนและซ่อนเงื่อนอยู่มากทีเดียว


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 14 ต.ค. 21, 19:22
ได้เห็นสัญญาบางส่วนเกี่ยวกับเรื่องของการทำเหมืองแร่ของบรรพบุรุษของคุณหมอ CVT แล้ว เลยคิดว่าน่าจะต้องขยายความอ่างผิวเผินกับเรื่องของสัญญาหรือความตกลงในการแสวงหาประโยชน์กับทรัพยากรของรัฐ    ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่เราๆทั้งหลายน่าจะได้พอรู้พื้นฐานของมัน  มันเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนและซ่อนเงื่อนอยู่มากทีเดียว

เนื้อความเต็มตามนี้ครับอาจารย์

Agreement entered into this day the 26th of December 1876. Between the Galena Mining Company Limited, Jalor and Raman on the one part and Tan Choo Beng on the other part.
That Tan Choo Beng hereby agrees to work the various mines or workings of the company and any other places of which he may be aware in Gua Tumbus and sell to  the above named Company whatever Galena Ores may be obtained therefrom.
For which the Company agrees to pay the said Tan Choo Beng at the rate of $2.25 per picul for ores which will when smelted return  from 55 % to 60 %  and at the rate of  $1.50 per picul for ores which when smelted will return 40 % ores of different per Centages to the above mentioned will be paid for according to value.
The Company will in the first instance supply Bores and Hammers which Tan Choo Beng must keep up and be responsible for also ore bag for the conveyance of the ore.
In cases of Sinking Shafts or Draining Levels such working must be properly carried on by being made safe and secure to the satisfaction of the Company’s Manager at the time being or any substitude he may appoint.
All ores to be conveyed from Gua Tambus to alongside the Companys road at Tan Choo Beng’s cost and risk after which the Company will take charge of it.
All ores to be weighed at the Company smelting shed and stand 106 Catties same as Patani Picul.
Powder will be supplied by the Company at the rate of $16 per keg, Fuse at 20 Cents per Coil. Dynamite $5.00 per packet and Detonators at $2.00 per tin.
Ore to be paid by cheque payable in Singapore.
This agreement to last for 20 years.


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ต.ค. 21, 19:31
ขอบคุณครับ ได้ความรู้มากเลยครับ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากที่ได้ทรงตั้งกระทรวงการคลังขึ้นมาได้ประมาณปีเดียว      ผมเอาข้อมูลในสัญญานี้  ข้อมูลจากประวัติของกระทรวงการคลัง(ฉบับภาษาอังกฤษ) ข้อมูลเกี่ยวกับระบบสัมปทานที่นานาชาติใช้กัน และที่ได้รู้จากการเคยร่วมทำงานที่เกี่ยวกับการสัมปทานทรัพยากรธรณี   เอามาประมวลเข้าด้วยกัน ก็ได้ความมากพอที่จะนำมาเล่าสู่กันๆฟัง แต่คงจะต้องเป็นแบบพื้นฐานที่ไม่มีความสลับซับซ้อนนัก 

แต่ก่อนนั้น การหาเงินของรัฐต่างๆเอามาใช้เป็นส่วนกลาง ส่วนมากจะใช้วิธีการตั้งบุคคลที่มีถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่หรือส่งบุคคลส่วนกลางไปอยู่ประจำ เพื่อทำหน้าที่เก็บรวบรวมสินค้า ส่วย ภาษีอากร แล้วส่งเข้าส่วนกลาง    ต่อมาเมื่อการเดินทางได้ขยายกว้างไปไกลทั้งบนบกและข้ามน้ำข้ามทะเล ข้ามซีกโลกมากขึ้น การค้าขายและการลงทุนก็ได้เปิดกว้างมากขึ้นตามไปด้วย  ทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายชนิดของหลายประเทศกลายเป็นสินค้าที่ต้องการประเทศมหาอำนาจทางตะวันตก  ซึ่งการใช้อำนาจเข้าไปครอบครองนั้นมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก  ก็เลยเกิดระบบสัมปทานขึ้นมา (น่าจะเป็นช่วงสมัย ร.2  ร.3 แถวๆนั้น ?)  ระบบนี้ ในด้านหนึ่งก็เพื่อเป็นการบีบให้ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นที่ต้องการ เปิดให้มีการเข้าไปแสวงประโยชน์โดยได้รับผลตอบแทน (ไม่ต้องมีการใช้กำลังกัน ??)    สำหรับประเทศไทย ในสมัย ร.4 อังกฤษก็ส่ง Sir John Bowring เข้ามาทำสนธิสัญญาการค้ากับไทย  ซึ่งรายละเอียดหนึ่งในนั้นก็คือ การเก็บภาษีเกี่ยวกับทรัพยากรของรัฐ (Crowns monopolies on certain commodities) และ custom duty ในอัตราไม่เกิน 3%  (ในปีถัดไป นายพล Matthew Perry ของสหรัฐฯ ก็ไปเปิดญี่ปุ่น)   

เมื่อถึงสมัย ร.5 จึงมีการตั้งกระทรวงการคลัง สมัยนั้น เหมืองแร่ดีบุกกำลังเฟื่องฟู หากความจำยังพอใช้ได้อยู่ จำได้ว่าอยู่ในอัตรา 100 ชัก 3 ของราคาโลหะดีบุก  ดังนั้น ก็จึงต้องมีราคาอ้างอิงเพื่อความ fair ของทั้งสองฝ่ายที่ต่างก็ยอมรับกัน ซึ่งก็คือราคาตลาดโลก  ก็จะไปพัวพันกับอัตราแลกเปลี่ยนและอื่นๆ เช่น ตลาดซื้อขายอยู่ในอังกฤษใช้เงินปอนด์ แต่ซื้อขายกันในตลาดทั่วไปด้วยดอลล่า หรือในด้านการ hedging      ราคาตลาดโลกก็เปลี่ยนแปลงทุกวัน ก็เลยต้องประกาศกันทุกวัน   ท่านที่เป็นนักการเงินหรือนักบัญชีคงจะทราบเรื่องเช่นนี้ดีในเรื่องของการดำเนินการในแบบที่เป็นบวกหรือเป็นลบ

ก็เข้าใจเอาเองว่า การเก็บรายได้เข้ารัฐจากการอนุญาตให้แสวงหาประโยชน์ทรัพยากรอันเป็นของรัฐนั้นใช้คำว่า ค่าภาคหลวง     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ต.ค. 21, 20:14
นานมาแล้ว เคยสนใจเรื่องเกี่ยวกับคำว่าสัมปทาน (concession, concessionaire)   สมัยนั้นค้นหาความรู้ได้แต่เพียงจากหนังสือและวารสาร (Journal) ต่างๆ จำได้ว่าสัมปทานแรกๆที่เกิดขึ้นในช่วงประมาณปี ค.ศ.1901 โดยเฉพาะสัญญาสัมปทานของประเทศอิหร่านที่ให้สัมปทานการขุดเจาะน้ำมันนั้นคือต้นแบบที่ได้ถูกนำมาพัฒนา จนเกิดเป็นข้อสัญญาสำคัญที่ต้องมีอยู่ในสัญญาสัมปทานในปัจจุบันหลายๆเรื่องด้วยกัน โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ของแต่ละฝ่าย  เรื่องของผลประโยชน์ เรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี  เรื่องของ Grace period  เรื่องของทรัพย์สิน (ผู้ใดลงทุน สุดท้ายเป็นของใคร)  เรื่องของเหตุสุดวิสัย (Force Majeure)  เรื่องของกรณีเกิดความขัดแย้งกัน (ใช้ระบบศาล หรือใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ ตามกฎหมายของใคร หรือใช้ระบบของ UNCITRAL)  และเรื่องอื่นๆ เช่น ระยะเวลาของการ carry forward (ขาดทุน กำไร)  บางสัมปทานก็มีเรื่องทางการบัญชีผนวกเข้าไปด้วย

เรื่องของการสัมปทาน จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ง่ายนัก เป็นเรื่องทางเทคนิค ทางกฎหมาย ทางการเงินการคลัง ทางนโยบายระยะยาวของรัฐ ฯลฯ แล้วก็ต้องคำนึงถึงช่องโหว่ที่อาจจะนำไปสู่การบิดพริ้วและการแสวงหาประโยชน์ใดๆ     เป็นเรื่องที่ต้องคิดถึงผลที่จะตามมา (consequences) อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาของการสัมปทาน ทั้งในเชิงทางรูปธรรมและนามธรรม     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 17 ต.ค. 21, 10:34
นานมาแล้ว เคยสนใจเรื่องเกี่ยวกับคำว่าสัมปทาน (concession, concessionaire)      

ผมมีสำเนาเอกสารเก่า ยังไม่ใช้คำว่าสัมปทาน แต่เป็นภาษีส่วยแร่ครับ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ต.ค. 21, 18:38
ขอบคุณมากครับ ได้เห็นเอกสารที่เป็นข้อมูลที่น่าสนใจอย่างยิ่งเพิ่มมาอีก  ลองเรียงวันเวลาดูกันนะครับ

  -ปี พ.ศ.2398  มีการลงนามในสนธิสัญญาบาวริงระหว่างไทยกับอังกฤษ
  -ปี พ.ศ.2419  มีข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของสัญญาระหว่างเอกชน ในพื้นที่ Gua Timbus เกาะลังกาวี  เป็นสัญญาระยะยาว (20 ปี) มีรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการคำนวณและการจัดการเกี่ยวกับผลประโยชน์ เงื่อนไขในเรื่องของภาระงานและการลงทุน และเรื่องเกี่ยวกับการเงิน (ดังที่ปรากฏในเอกสารใน คห. CVT เมื่อ 14 ตค.)
  -ปีพ.ศ.2432  มีข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของการระบบการเก็บส่วย ภาษี อากร ในสมัยนั้น   ก็มีเรื่องของการผูกส่วย มีเรื่องของความเป็นปัจเฉกของพื้นที่ในการเรียกเก็บภาษี  และเรื่องของแนวคิดในเชิงของการอนุญาตให้สิทธิในการประกอบกิจการแบบระยะยาว(50 ปี)  เรื่องของการให้ผลประโยชน์ตอบแทนกับรัฐแบบ conclusive  และเรื่องของการกำหนดเขตพื้นที่ๆได้รับสิทธินั้นๆ 
  -ปี พ.ศ.2441 มีการจัดตั้งกรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา  งานด้านการรังวัดดูจะเริ่มมีอย่างจจริงจังนช่วงนี้


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ต.ค. 21, 18:58
อยู่ดีๆแป้นพิมพ์คอมก็รวนขึ้นมา  อ่านทวนแล้วแก้ไขคำผิดหรือจะปรับคำอย่างไรมันก็ยิ่งไปกันใหญ่  เลยต้องหยุดชะงัก

  -ปี พ.ศ.2444  มีการตั้งกรมที่ดินขึ้นมา
  -ปี พ.ศ.2444  ก็มีการออก พรบ.แร่ ฉบับแรก  กำหนดพื้นที่ทำเหมืองได้ไม่เกิน 300 ไร่ มีอายุไม่เกิน 25 ปี
  -ปี พ.ศ.2445  จึงมีการออกประทานบัตรฉบับแรก

 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ต.ค. 21, 20:02
ก็คงจะไม่ต้องมีคำวิพากษ์ใดๆ     time line และข้อมูลอันมีประโยชน์อย่างยิ่งของท่าน CVT คงจะเล่าเรื่องราวต่างๆได้ดีอยู่แล้ว เช่นเรื่องของส่วยและการผูกส่วย และเรื่องของภาษีอากรที่เป็น(อยู่ในลักษณะ) levy fee (tax) ? ซึ่งเรียกเก็บจากสินค้าบางอย่างที่นำเข้ามาค้าขายหรือหาประโยชน์ในพื้นที่ของตน  รวมถึงภาพในเรื่องของผลและประโยชน์อื่นใดต่างๆ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ต.ค. 21, 19:00
อีกภาพหนึ่งที่เกี่ยวข้องในเรื่องแรกเกิดของการสัมปทานของไทย ก็เป็นเรื่องของการทำไม้   จากประวัติของกรมป่าไม้ที่เผยแพร่อยู่ เรื่องราวก็พอประมวลได้ดังนี้

ผลจากสนธิสัญญาบาวริ่งได้ยังผลให้ในปี พ.ศ.2430 ไทยถูกบีบให้จำกัดอำนาจของเจ้านายฝ่ายเหนือในการอนุญาตให้ทำไม้สัก โดยให้การอนุญาตเข้าไปทำไม้ในแต่ละผืนป่าจะมีได้เพียงเจ้าเดียว    ในปี พ.ศ.2439 ได้มีการตั้งกรมป่าไม้ขึ้นมาและดำเนินการในหลักการว่า ไม้สักเป็นสมบัติของแผ่นดิน   ในปี พ.ศ.2449 รัฐจึงได้จึงได้เริ่มกิจการทำป่าไม้สักด้วยตนเองแทนการให้สัมปทาน   

มาถึงตรงนี้ ก็คงจะต้องเอาเรื่องราวด้านอื่นๆระหว่างไทยกับอังกฤษในช่วงเวลาต่างๆจนถึงการเสียดินแดนภาคใต้มาประกอบด้วย  โดยเฉพาะเรื่องราวทางการเมือง การปกครอง การค้า สิทธิประโยชน์ต่างๆ และเรื่องของอำนาจทางศาล   ซึ่งเมื่อเอาประมวลรวมเข้าด้วยกันแล้ว ก็ดูจะพอทำให้เห็นภาพของ quasi-judicial ที่มีอยู่ในสมัยนั้น รวมถึงภาคปฎิบัติในด้าน legitimacy ของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายในเชิงของผลประโยชน์ของรัฐส่วนกลาง ส่วนของพื้นที่ และส่วนตน 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ต.ค. 21, 20:04
ขออภัยที่แหกโค้งไปขุดเอาเรื่องที่อาจจะน่าเบื่อมาขยายความสู่กันฟัง  จุดประสงค์ก็เพียงเพื่อจะบอกกล่าวเป็นพื้นฐานว่า ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในผืนแผ่นดินที่ตั้งของแต่ละประเทศนั้น ล้วนเป็นทรัพย์สมบัติของแต่ละประเทศนั้นๆ และเป็นไปตามหลักการที่มีลักษณะเป็นปรัชญาว่า ลึกลงไปใต้ดินจนถึงแกนโลกและเหนือขึ้นไปจนสุดฟากฟ้า   ในอีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐทรงไว้ซึ่งความเป็นเจ้าของและเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ทั้งหลายเหล่านั้น เพียงแต่ว่ารัฐจะจัดการกับสมบัติของประเทศเหล่านั้นด้วยวิธีการเช่นใด ซึ่งก็มี เช่น การจัดสรรค์บางส่วนให้ผู้คนสามารถเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ได้  การให้เช่า การให้สิทธิ์ในการแสวงประโยชน์กับสมบัตินั้นๆ ...

ด้วยหลักการที่ว่าข้างต้นนี้  ด้วยภาพในอดีตที่ได้กล่าวถึงมา ด้วยระบบสัมปทานที่มีช่องให้ผู้รับสัมปทานได้ประโยชน์จาก


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ต.ค. 21, 20:14
กดปุ่มผิดพลาดไป เลยส่งไปก่อนจะจบความ   

ก็เลยขอจบเรื่องในวันนี้ซึ่งจะนำพาไปสู่อีกเรื่องหนึ่งที่ตั้งใจไว้ ก็คือเรื่องของระบบที่เข้ามาทดแทนระบบสัมปทาน ที่เรียกกันว่า PSC _ Production Sharing Contract   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ต.ค. 21, 18:25
การให้สัมปทานกระทำได้ทั้งในระหว่าง รัฐกับเอกชน และในระหว่างเอกชนกับเอกชน แต่เกือบทั้งหมดจะเป็นกรณีระหว่างรัฐกับเอกชน  การให้สัมปทานทั้งหลายตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานว่า ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติหรือเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์เหนือสิ่งใดๆ ได้ให้สิทธิแก่ผู้หนึ่งผู้ใดให้สามารถดำเนินการทำประโยชน์ในเรื่องหนึ่งใดบนสิ่งที่เป็นทรัพย์สมบัติหรือสิ่งที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตน โดยทำเป็นสัญญาที่มีอายุยาวระหว่างกัน และโดยที่ผู้ได้รับสัมปทานจะจ่ายค่าตอบแทนให้ตามที่ตกลงกัน (Royalty)  การสัมปทานส่วนมากจะเกิดขึ้นกับทรัพย์สมบัติประเภทที่ต้องมีการลงทุนสูง มีความเสี่ยงในเรื่องของความคุ้มค่าของผลตอบแทน ใช้เทคโนโลยีหลากหลาย และในกรณีที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ยังไม่มีขีดความสามารถเพียงพอ 

ระบบการแบ่งปันผลผลิต (PSC) ก็เป็นระบบที่ใช้กับทรัพย์สมบัติประเภทที่ต้องมีการลงทุนสูง มีความเสี่ยงในเรื่องของความคุ้มค่าของผลตอบแทน ใช้เทคโนโลยีหลากหลาย และในกรณีที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ยังไม่มีขีดความสามารถเพียงพอ    แต่ต่างออกไปตรงที่ ผู้รับสัญญาได้รับสิทธิแต่เพียงการเข้าไปบริหารจัดการทรัพย์สมบัตินั้นๆให้เกิดประโยชน์เท่านั้น จึงไม่มีระบบการจ่ายค่าภาคหลวง (Royalty)    PSC มีลักษณะเหมือนกับสัญญาจ้างทำงานโดยผู้รับจ้างเป็นฝ่ายลงทุนทั้งหมด ฝ่ายเจ้าของเกือบจะไม่ต้องลงทุนลงแรงใดๆเลย จะมีก็เพียงการอำนวยความสะดวกในบางเรื่อง  ผู้รับจ้างจะทำการใดๆก็จะต้องแจ้งและได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายเจ้าของ   ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นมา ส่วนหนึ่งจะจัดแบ่งออกเป็นส่วนคืนค่าใช้จ่ายในการลงทุนของผู้รับจ้าง กำไรที่ได้เกินมาจากส่วนการลงทุนนั้นจะเอามาแบ่งกันในลักษณะที่ปีแรกๆผู้รับจ้างจะได้มาก ผู้จ้างจะได้น้อย ค่อยๆแปรผันไปจนในปีหลังๆผู้รับจ้างจะได้เป็นส่วนน้อย ส่วนผู้เป็นเจ้าของจะได้เป็นส่วนมาก


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ต.ค. 21, 19:08
ขยายภาพเป็นตุ๊กตาเพื่อให้เห็นชัดเจนอีกหน่อย

มีการเปิดพื้นที่ให้ทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กำหนดสัญญา 30 ปี ให้ผู้รับจ้างทำการสำรวจได้ 5 ปี แล้วจะต้องเริ่มทำการผลิต  น้ำมันที่ผลิตได้ 100 ถัง ให้ตัดออกเป็นค่าการลงทุน 50 ถัง  ที่เหลือเอามาแบ่งกัน ให้ผู้รับจ้างได้ไป 35 ถัง ผู้จ้างได้ไป 15 ถัง สัดส่วนการแบ่งผลผลิตนี้จะเปลี่ยนไปตามระยะเวลาที่มีการกำหนด จนในปีสุดท้ายค่าใช้จ่ายในการผลิตเหลือเพียง 10 ถัง ผู้จ้างจะได้รับ 70 ถัง ผู้รับจ้างได้ 20 ถัง  โดยทรัพย์สินทั้งหมดที่ใช้ในการลงทุนและการผลิตตกเป็นของฝ่ายผู้จ้าง  เป็นต้น
   
ระบบ PSC เป็นสัญญาที่อยู่บนฐานของการเจรจาในเกือบจะทุกเรื่อง  เกิดขึ้นครั้งแรกโดยอินโดนีเซีย แถวๆ พ.ศ.2510 (์??) ได้มีการพัฒนาต่อๆมาเพื่อให้กระชับ ลดช่องโหว่ และได้กลายเป็นรูปแบบของสัญญากระจายใช้กันไปเกือบจะทั่วโลก  ประเทศเพื่อนบ้านรอบๆตัวเราก็ดูจะมีการใช้ระบบนี้กับเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ต.ค. 21, 17:59
การทำสัญญาของทั้งระบบ concession (สัมปทาน) และระบบ PSC นั้น จำเป็นจะต้องใช้คณะบุคคลที่มีความซื่อสัตย์เป็นอย่างสูง มีความรู้ในวงกว้างในระดับ master ในเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวข้องในสัญญา และต้องรู้(จัก)เขา-รู้(จัก)ตัวเรา ในแง่มุมต่างๆอย่างพอสมควร ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคณะบุคคลที่ต่างก็มีความรู้อันเป็นเลิศทางวิชาการเฉพาะทาง   สัญญาจะถูกรักษาไว้เป็นความลับ เนื่องจากเนื้อในของสัญญามันเป็นข้อสนเทศที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเรื่องการแข่งขันทางธุรกิจและอื่นๆได้

แท้จริงแล้วการทำสัญญาระยะยาวนี้ยังมีในรูปแบบอื่นๆอีก เช่น การลงทุนร่วมระหว่างรัฐกับเอกชน (Public Private Partnership), RSP (Revenue Sharing Agreement) ภาษาไทยเรียกว่าเช่นใดก็ไม่ทราบ ? และอื่นๆ    และก็มีชื่อเฉพาะสำหรับสัญญาระยะยาวในเรื่องอื่นๆอีกมาก เช่น การเก้บค่าไฟ ค่าน้ำ การให้บริการรถเมล์ ....


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ต.ค. 21, 18:32
ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้แทนหน่วยงานไปร่วมใน workshop ที่ ESCAP จัดขึ้น เกี่ยวกับความช่วยเหลือในด้านกรอบแนวคิดในการบัญญัติกฎหมาย กฎ ระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการแสวงประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติของกลุ่มประเทศอินโดจีน(ตะวันออกของไทย)   ผู้ที่ให้ข้อมูลในเรื่องระบบของตนก็มี อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และของประเทศทางตะวันตกบางประเทศ (จำไม่ได้แล้ว)  ผลสรุปดูจะเห็นพ้องกันว่า น่าจะเริ่มด้วยการใช้ระบบสัมปทานก่อน ในลักษณะของการใช้กฎหมายบังคับประมาณ 75%ของกระบวนการ  เปิดช่องให้มีการเจรจาหรือตัดสินใจโดยนโยบายประมาณ 25%    จากนั้น เมื่อบุคลากรมีความสันทัดกรณีมากขึ้น ก็อาจจะยึดถือระบบสัมปทานต่อไป หรือเปลี่ยนเป็นระบบอื่นใด (PSC) ตามที่เห็นว่าเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของตน       


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ต.ค. 21, 19:31
ก็มีกรณีที่ผู้ได้รับสัมปทานหรือผู้ให้สัมปทาน ประสงค์จะให้มีการตั้งบริษัทขึ้นมาภายใต้กฎหมายของประเทศนั้นๆ เพื่อดำเนินกิจการ(กิจกรรม)ในสมบัติทรัพย์สินที่มีการให้สัมปทานนั้นๆ (ซึ่งต่างก็จะมีเหตุผลในการจัดตั้งต่างๆกันไป)  ในหลายกรณีรัฐก็ร่วมลงทุนด้วยการลงเงิน บางกรณีก็ร่วมเพียงด้านการอำนวยความสะดวก....    ลักษณะของการสัมปทานในรูปแบบนี้ รัฐก็พึงจะต้องส่งคนของรัฐไปเป็นกรรมการในนิติบุคคลเกิดใหม่นั้นๆ เพื่อให้มี vote right ในเรื่องของการตัดสินใจต่างๆที่จะไม่ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย รัฐเองไม่นิยมลงทุนด้วยเงิน (in cash) เพราะมีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณและทางด้านการเมือง หากแต่จะนิยมลงทุนด้านการอำนวยความสะดวกหรืออื่นใด (in kind)     แต่เมื่อใดที่คนที่ถูกส่งไปเป็นกรรมการนั้นมีความเข้าใจอันจำกัดในเรื่องของภาระและหน้าที่อันพึงทำ ก็จะเกิดกรณีที่ทำให้ต้องรัฐต้องสูญเสียประโยชน์อยู่เนืองๆ   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ต.ค. 21, 18:38
ในการเจรจาเพื่อตกลงทำสัญญาระยะยาวระหว่างรัฐกับเอกชนนั้น รัฐมีความคล่องตัวน้อยกว่าเอกชนมาก มีข้อจำกัดมากมายในการตัดสินใจในแต่ละเรื่อง แต่ละประเด็น  ด้วยที่เรื่องหนึ่งๆมักจะต้องไปเกี่ยวข้องกับขอบเขตอำนาจและหน้าที่ของหลายหน่วยงาน (หน่วยงานในระดับกระทรวงจะถูกจัดตั้งขึ้นมาบนฐานของกฎหมาย ที่มีเนื้อในที่พร้อมสรรพไปด้วยขอบเขตอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ซึ่งก็คือการมีลักษณะของความเป็นนิติบุคคลที่สมบุรณ์)   ดังนั้นเมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับธุรกิจที่ทำรายได้สูงมากๆ  รัฐต่างๆทั้งในยุโรปและอาเซียน ก็เลยตั้งบริษัทของรัฐเพื่อให้เป็นนิติบุคคลที่สามารถดำเนินการทางธุรกิจที่มีความเป็นอิสระใกล้เคียงกับธุรกิจของภาคเอกชน  คือโดยเกือบจะไม่มีเรื่องของราชการและการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง และไม่มีข้อจำกัดตามระบบและระเบียบของรัฐวิสาหกิจและของราชการ

     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ต.ค. 21, 20:10
ก็น่าจะพอกับเรื่องราวของการสัมปทานและ PSC ที่ขยายความมา  สั้นๆแต่ก็น่าจะได้แก่นของเรื่อง ผมมิใช่เป็นผู้ที่มีความสันทัด เพียงแต่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่เล็กๆน้อยๆ(แต่เป็นเรื่องใหญ่พอได้อยู่ ;D)พอประมาณ 

จะออกจากเรื่องนี้ ก็เกิดนึกขึ้นมาได้อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเพียงประสบการณ์ที่อาจจะน่าสนใจ 

สัญญาเป็นเรื่องของความตกลงกันระหว่างสองฝ่าย  ก็น่าจะเคยสังเกตเห็นในสัญญาของไทยต่างๆว่า จะเริ่มด้วยแต่ละฝ่ายคือใคร ทำสัญญานี้ในเรื่องอะไร  จากนั้นก็จะเป็นเรื่องราวในลักษณะที่ฝ่ายหนึ่งมักจะมีฐานะทางนิตินัยสูงกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ทรงสิทธิและอำนาจในการบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญานั้นๆ  ท้ายๆสัญญาก็จะเกี่ยวกับเรื่องการชดใช้ค่าเสียหาย  ในมุมที่ผมมองก็คือ มันอยู่บนฐานของ superior right มากกว่า equal right  และหากเกิดกรณีผิดสัญญาก็จะอยู่บนฐานของการตัดสินโดยศาล คือว่ากันตามตัวอักษรตามที่เขียนไว้ในกฎหมาย

ในร่างสัญญาที่ยกร่างโดยต่างชาติ ที่นำเสนอเพื่อให้ฝ่ายไทยพิจารณาแทนร่างที่ไทยยกร่างเป็นตุ๊กตาให้เขาพิจารณา ที่ผมเคยเห็นนั้น มีความต่างออกไปทั้งในเชิงของ right และแนวคิดพื้นฐาน (conceptual)  คือตั้งอยู่บนฐานของความเสมอภาคกัน มีการระบุลงไปเลยถึงขอบเขตของสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ  และเมื่อเกิดกรณีพิพาทกัน ก็จะหาทางออกด้วยการพูดคุยกันบนพื้นฐานของการประณีประนอม (compromise) ตามสถานะการณ์หรือสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งนั้นๆ โดยใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ     ก็มีข้อหนึ่งที่ต้องพูดคุยกันมาก คือเรื่องของเหตุสุดวิสัย เพราะว่าสามารถใช้เป็นข้อหลีกเลี่ยงได้ในกรณีการผิดสัญญา  เหตุสุดวิสัยนั้นเกิดได้จากหลายเรื่อง อาทิ ที่เป็นเรื่องของธรรมชาติ ที่เกิดจากการกระทำที่ไม่มีการป้องกันอย่างรัดกุม ที่เกิดจากเหตุการณ์ทางการเมือง....ฯลฯ     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ต.ค. 21, 20:33
ก็คงจะต้องหันออกจากเรื่องทางกฎหมายเหล่านี้เสียที  เรื่องหนึ่งก็เพราะไม่เป็นผู้ที่รู้จริงในเรื่องข้อกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง  ก็เล่าไปตามที่เคยได้ทำงานเกี่ยวข้อง บ้างก็ในเชิงนโยบาย บ้างก็ในเชิงช่วยเขาปฏิบัติ เคยอยู่ในกลุ่มคณะเจรจาบ้าง ชี้แจงกับหน่วยงานกฏหมายของรัฐบ้าง และเล็กๆน้อยๆกับการอนุวัติกฎหมายบ้าง    ก็ถือว่ายังละอ่อนในเรื่องเหล่านั้นอยู่มากๆเลยทีเดียว


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ต.ค. 21, 17:41
เลยเรื่องที่เล่าค้างไว้มาไกลเลยทีเดียว ก็เลยจะขอย้อนกลับไปต่อเรื่องที่ค้างไว้ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในเชิงของข้อมูลเพื่อประกอบการเตรียมความพร้อมในบางด้านของกิจกรรมที่กำลังวางแผนจะดำเนินการ   ก็คือการเพื่มสภาพของการ 'รู้เขา-รู้เรา' ในเรื่องต่างๆเพื่อการเตรียมการรับมือหรือการเข้าไปร่วมอยู่ในสภาพนั้นๆอย่างมีความสุข   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ต.ค. 21, 18:42
เรากำลังจะเปิดประเทศอย่างจริงจัง  เรื่องหนึ่งที่จะตามมาในทันใดก็คือเรื่องของการใช้รถเดินทาง   ช่วงนี้เป็นช่วงของฝนสั่งฟ้า กำลังเข้าไปสู่สภาพอากาศที่เย็นลง  ในภาคเหนือก็จะเข้าสู่สภาพหนาว ภาคกลางอากาศก็จะเย็นสบายมากขึ้น ภาคใต้ก็จะเข้าสู่ช่วงของฝนชุกและลมแรง   การเตรียมรถให้มีความพร้อมเพื่อการเดินทางก็จะมีความแตกต่างกันไป   รถเสียในระหว่างการเดินทางนั้นเป็นเรื่องใหญ่ แต่เกือบทั้งหมดจะเป็นเรื่องที่ไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต  เรื่องที่ทำให้เกิดอันตรายนั้นจะมาจาก 3 เรื่องใหญ่ๆคือ ยางรถ เบรค และการขับขี่   สองเรื่องแรกได้กล่าวถึงไปแล้ว ก็มาถึงเรื่องของการขับขี่  บนถนนที่แห้ง การขับขี่ก็จะเป็นไปตามปกติตามลักษณะและวิธีการขับของแต่ละคน   แต่บนถนนที่เปียกน้ำเนื่องด้วยฝนตกนั้น จะต้องมีความเข้าใจเหมือนๆกันว่า บนผิวถนนนั้นมันมีฝุ่นดินทรายอยู่บนผิว เมื่อฝนกำลังตกลงมาใหม่ๆ หรือตกบางๆปรอยๆ ดินทรายบนพื้นผิวถนนนั้นจะแปรสภาพไปไม่ต่างจากโคลนบางๆเคลือบผิวถนน  แต่หากฝนตกลงมาแรงๆ น้ำฝนก็จะชะล้างโคลนนั้นให้ไหออกไปหมด       

ความเร็วของการใช้รถบนถนนในสภาพแรก จึงจำเป็นจะต้องลดลง เพราะถนนค่อนข้างจะลื่นมาก   หากเป็นถนนมีสถาพที่เปียกชุ่มด้วยฝนที่ตกหนักมาก่อนหน้านั้น สภาพของถนนก็จะคล้ายถนนสร้างใหม่ที่มีความสะอาด ก็สามารถจะใช้ความเร็วได้พอสมควร   แต่หากเป็นการขับขี่ในขณะที่ฝนตกหนัก น้ำบนผิวถนนจะอยู่ในสภาพที่ระบายออกไม่ทัน จะค้างเป็นผิวน้ำหนาอยู่บนผิวถนน  การขับรถก็จะมีสภาพคล้ายกับการขับรถลุยน้ำ  หากความเร็วของรถมากเกินไป ยางรถรีดน้ำออกไม่ทัน รถก็จะมีสภาพคล้ายกับเรือที่ไม่มีหางเสือ คือล่องลอยไปได้ทุกทิศทาง             


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ต.ค. 21, 19:29
หลักการที่กล่าวถึงนั้น เป็นเรื่องจริงที่นำมาใช้กับการใช้รถในพื้นที่ป่าทุรกันดาร  เมื่อฝนเริ่มตก ก็จะหยุดรอให้ฝนฝนตกหนักแล้วจึงออกเดินทาง ก็คือรอให้ดินโคลนเปลี่ยนจากสภาพดินที่เหนียวๆแปรสภาพไปเป็นน้ำโคลน  คือแทนที่จะต้องต่อสู้กับดินเหนียวลื่นๆที่ทั้งคนและรถติดกันเหนอะหนะไปหมด ไปเป็นการขับรถในน้ำโคลน

ที่เป็นความรู้จากประสบการณ์อีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับใช้รถในพื้นที่ป่าเขาในช่วงต้นฝนและปลายฝนก็คือ น้ำหนักรถ(ตัวรถและของบรรทุก)ที่เหมาะสมในการลุยควรจะอยู่ที่ประมาณ 3+/- ตัน  หน้ายางของล้อรถควรจะอยู่ที่ประมาณหน้ายางของยาง 245/70 r15  ซึ่งจะทำให้ได้ทั้งน้ำหนักกดบนโคลนเละๆลึกลงไปมากพอถึงจุดที่โคลนเริ่มหนืดจนมีความเสียดทานมากพอที่ยางรถสามารถจะตะกุยไปข้างหน้า  นำหนักรถประมาณนี้ทำให้รถมีน้ำกดพื้นมากพอในการขับเคลื่อนไปตามลาดชันที่มีมุมค่อนข้างสูง   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ต.ค. 21, 18:23
ปัดน้ำฝนก็เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องได้รับการตรวจตราดูแลให้ดีก่อนเข้าช่วงฤดูฝน  ยางของใบปัดน้ำฝนนั้นเมื่อใช้ไปนานๆเข้ามันก็เสื่อมคุณภาพได้ โดยเฉพาะกับรถที่ต้องจอดกลางแจ้ง ยางจะค่อยๆแข็งกระด้างมากขึ้น ปัดน้ำได้ไม่หมด หลงเหลือเป็นทาง และในที่สุดก็จะฉีกขาด     

น้ำฝนที่ปัดออกจากกระจกหน้ารถได้ไม่หมดนั้น นอกจากจะเกิดจากยางปัดน้ำฝนที่แข็งและเสื่อมสภาพแล้ว ก็เกิดจากความสะอาดของผิวกระจกอีกด้วย   การขับรถไปบนถนนต่างๆนั้น พวก particulate matter ทั้งที่เป็นพวกสารอินทรีย์และอนินทรีย์ รวมทั้งฝุ่นละอองดินทรายเม็ดขนาดเล็กต่างๆ (พวก silt sized particle) จะมาจับติดอยู่กับผิวกระจกหน้ารถ หากเราไม่เช็ดล้างทำความสะอาดกระจกหน้ารถบ้าง สารเหล่านั้นมันก็จะเกาะสะสมกันหนามากขึ้น ทำให้น้ำยังคงเหลือติดกระจกเป็นรอยหรือเป็นวงๆเป็นดวงๆคงค้างอยู่หรือเป็นฝ้า ไม่ใสจนสามารถมองทะลุออกไปเห็นสิ่งต่างๆได้อย่างชัดเจน    สารที่จับติดอยู่ที่ผิวกระจกนี้ยังทำให้เกิดเสียงเอี๊ยดอ๊าดหรือทำให้การไม่ราบรื่น(กระตุก)เมื่อเปิดใช้ปัดน้ำฝน 

การแก้ไขชั่วคราวที่นิยมใช้กันในหมู่คนที่ทำงานในพื้นที่ชนบท  ในกรณีที่มีคนสูบบุหรี่นั่งรถไปด้วย ก็คือเอาบุหรี่มวนหนึ่งถูไปถูมาที่กระจก หรือไม่ก็ใช้ผงซักฟอกเช็ดล้างกระจก ก็จะทำให้การปัดน้ำหน้ากระจกลื่นมากขึ้น ได้กระจกที่ใสมากขึ้น    ก็อาจจะกลัวว่าจะเกิดการไปกัดสีรถ ไม่ต้องกลัวเพราะน้ำฝนจะชะล้างไปจนหมดในระหว่างที่ขับลุยฝนไป   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ต.ค. 21, 19:26
จะแก้ปัญหาเรื่องที่กล่าวมานั้น ผมใช้สองสามขั้นตอนในการดำเนินการ    แรกสุดก็คือล้างกระจกรถด้วยการใช้ผงซักฟอกและใช้ฟองน้ำด้านขัดถูขัดกระจก  ล้างออกแล้วก็เอาใบมีด cutter ยาวประมาณ 2 นิ้ว ค่อยๆขูดกระจกบริเวณที่เป็นรอย หรือวงฝ้า และที่อื่นๆจนรู้สึกว่ากระจกลื่นและใสทั่วกันดีแล้วก็ล้างด้วยผงซักฝอกอีกรอบหนึ่ง แล้วก็ล้างรถไปเลย  (ไม่ต้องกลัวว่าจะมีรอยขีดของใบมีดบนกระจก เพราะว่าเหล็กกับกระจกมีความแข็งต่างกันค่อนข้างมาก แต่ก็ต้องมีความระวังอยู่พอสมควร คือไม่ให้มีส่วนคมของใบมีดกดหรือกรีดลงไปแรงๆ)

จากนั้นก็ทำการเคลือบกระจกใหม่ด้วยน้ำยาเคลือบกระจกรถที่มีขายกันอยู่ทั่วไป ทำแบบใจเย็นๆตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์นั้นๆ  ก็จะได้กระจกรถใสๆกลับคืนมา เมื่อเปลี่ยนใบปัดน้ำฝนเสียใหม่ ทุกอย่างก็จะทำให้เกิดความรู้สึกคล้ายกับเป็นของใหม่

กระจกหน้ารถยนต์ควรจะต้องเช็ดด้วยผ้าชื้นๆ เพื่อจะได้เก็บฝุ่นทรายที่มีเม็ดละเอียดมากๆที่เกาะติดอยู่ ซึ่งส่วนมากจะเป็นฝุ่นพวกที่มีสารประกอบเป็น silica ซึ่งมีความแข็งพอๆกันกับกระจก หากเช็ดด้วยผ้าแห้ง ก็จะได้สภาพเสมือนหนึ่งใช้กระดาษทรายเบอร์ละเอียดมากๆไปขัดกระจก     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ต.ค. 21, 18:05
ก็มาถึงเรื่องของเบรครถ    ได้พูดถึงเรื่องน้ำมันเบรครั่วไปแล้วเป็นบางส่วน   เบรคเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญสูง ต้องพึงระวังสำหรับรถที่มีอายุนานมากกว่าประมาณ 15 ปีขึ้นไป น้ำมันเบรครั่วซึมมีสาเหตุหลักๆมาจากลูกยางในกระบอกเบรคสึก ทั้งที่แม่ปั้มและที่ล้อรถ หรือมีสนิมขุมเกิดขึ้นภายในกระบอกเบรค เนื่องจากใช้งานมานาน   

ระดับของน้ำมันเบรคในกระปุกน้ำมันเบรคนั้น พอจะบ่งชี้สภาพของระบบเบรคของรถได้พอสมควรเลยทีเดียว  เราอาจจะนึกว่ามันเป็นการดีที่ควรจะต้องหมั่นเติมน้ำมันเบรคให้เท่ากับขีด max ที่ข้างกระปุกน้ำมัน   ผมเห็นว่ามันก็มีทั้งดีและไม่ดี ดีในเชิงที่มีการดูแลรักษารถดี แต่ไม่ดีในเชิงที่ไม่ให้ควมสนใจกับสถานะของการเสื่อมสภาพต่างๆ     มันเป็นเรื่องปกติของระบบเบรครถที่เมื่อผ้าเบรคสึกไป ระดับน้ำมันก็จะลดลงตามไปด้วย  หากเป็นการขับรถแบบไม่กระโชกโฮกฮาก ปริมาณการสึกของผ้าเบรคก็จะไม่มาก  ในช่วงเวลา 1 ปีก็อาจจะเห็นระดับน้ำมันเบรคลดลงไปเพียงเล็กน้อย  เมื่อใดก็ตามที่ระดับน้ำมันลดลงไปประมาณใกล้หนึ่งในสี่ของขีดระดับ max และ min  ก็ถึงเวลาที่ควรจะต้องนำรถเข้าอู่ทำเบรคดีๆ ซึ่งอาจจะมี 3 เรื่องที่จะเกิดขึ้น คือเจียรจานเบรค เปลี่ยนผ้าเบรค และเปลี่ยนชุดลูกยางเบรค   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ต.ค. 21, 19:18
หากเป็นรถที่มีอายุค่อนข้างมาก ก็ควรจะขอให้ร้านทำเบรคเขาช่วยตรวจสอบด้วยว่า สายอ่อนของระบบเบรคยังนิ่มดีอยู่หรือไม่ หรือค่อนข้างแข็งและเริ่มแตกลายงา  สายอ่อนพวกนี้ควรจะต้องมีความนิ่ม ยิ่งใช้งานมานานมันก็จะยิ่งแข็งและมีโอกาสแตกได้ง่าย     ขับรถแบบไม่มีเบรคนี้เป็นเรื่องบนเส้นแบ่งเขตระหว่างเป็นกับตาย  แม้กระทั่งกับการใช้ถนนในป่าเขา ก็เหมือนๆกัน  เพียงแต่ในป่าเขานั้นมักจะสามารถประคองให้พ้นวิกฤติได้ดีกว่า

การเจียรจานเบรคนั้นเป็นสิ่งที่พึงต้องยอมให้ช่างเขากระทำพร้อมๆไปกับการเปลี่ยนผ้าเบรคที่สึกหรอจนหมดสภาพที่เหมาะสมจะการใช้งานต่อไป  แต่เราก็ต้องรู้ด้วยว่า สมควรแก่เหตุแล้วหรือยัง     สำหรับกรณี disk break นั้น การขับรถบนทางหลวงต่อเนื่องระยะยาว จานเบรคจะมีความร้อนมาก  ทำให้เมื่อถูกน้ำฝนหรือแอ่งน้ำบนถนนในทันที ก็จะเกิดอาการบิดเบี้ยวเล็กน้อย     กรณีเป็น drum break หากเป็นการใช้รถบนถนนที่ยังเป็นถนนดินบดอัดแน่นบ่อยครั้งมากๆ ฝุ่นทรายซึ่งมีความแข็งกว่าเหล็กก็จะเข้าไปแทรกอยู่ระหว่างผ้าเบรคและจานเบรค การใช้เบรคจะทำให้เกิดการเสียดสีกันมาก จานเบรคจะถูกเซาะให้เป็นร่องด้วยเม็ดทราย เสียงเบรครถที่ดังอี๊ดๆอ๊าดๆเกือบทั้งหมดก็จะมาจากเรื่องนี้    ซึ่งทั้งร่องและเสียงนี้ก็เกิดกับพวก disk break เช่นกัน

อาการของจานเบรคบิดเบี้ยวนี้ เราอาจจะสังเกตได้จากความรู้สึกที่เท้าในขณะที่เหยียบเบรค ทางช่างดูจะนิยมใช้คำว่า สู้ตีน ก็คือ แทนที่จะแป้นเหยียบเบรคจะนิ่งในขณะที่ใช้กำลังเหยียบเบรคลงไป มันจะขยับขึ้นๆลงๆให้รู้สึกได้       


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ต.ค. 21, 17:49
เรื่องเมื่อทำการเบรครถแล้วรถจะกินซ้ายหรือกินขวานั้น เป็นอาการปกติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะกับรถรุ่นเก่าๆที่ใช้ระบบ drum break ทั้งสี่ล้อ ซึ่งสาเหตุส่วนมากจะมาจากเรื่องของการตั้งระยะห่างระหว่างผ้าเบรคกับจานเบรคให้เท่าๆกันทั้งสี่ล้อ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับฝีมือและความละเอียดของช่าง

อาการเบรครถแล้วกินซ้ายหรือขวานี้ ค่อนข้างจะทำให้เกิดอุบัติเหตุอันตรายได้ง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อถนนลื่นหรือในขณะฝนตก ซึ่งจะส่งผลให้รถลื่นไถลหรือหมุนจนควบคุมทิศทางไม่ได้    สำหรับรถที่มีการใช้ disk break ไม่ว่าจะเป็นเฉพาะล้อคู่หน้าหรือทั้งสี่ล้อจะไม่ค่อยพบกับปัญหานี้  แต่ก็อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกันหากลูกสูบในกระบอกเบรคหนึ่งใดเกิดทำงานได้ไม่ดี ขยับได้น้อยมาก หรือติดขัด  ซึ่งมักจะเกิดจากการที่มีฝุ่นละอองจับติดจนหนาแน่น (เหตุเพราะยางกันฝุ่นหมดอายุหรือมีรอยแตก)   หากนำรถเข้าร้านทำเบรคที่ดี ช่างก็จะทำการตรวจสอบให้ทั้งหมด ซึ่งเมื่อรื้อออกมาแล้วก็จะต้องมีการเปลี่ยนลูกยางทั้งหมดหรือกระทั่งลูกสูบ   ลืมบอกกล่าวไปว่า อาการเบรคคืนตัวช้าเมื่อเหยียบเบรคแบบย้ำบ่อยครั้งนั้น ก็มักจะมาจากสาเหตุลูกสูบในกระบอกเบรคของ disk break นั้นมันกลับคืนตำแหน่งเดิมช้า ซึ่งอาจจะรู้สึกอาการนี้ได้เมื่อผ้าเบรคได้ถูกใช้ไปจนเกือบจะหมดแล้ว     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ต.ค. 21, 19:05
ก็มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของการใช้เบรค

หลักพื้นฐานของการเบรครถเรื่องหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนพลังงานจลน์ไปเป็นพลังงานความร้อน  ระบบเบรคของรถได้ถูกออกแบบมาให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานตามสมรรถนะของรถ และในสภาพภูมิประเทศที่ไม่ extreme จนเกินไป    ในกรณีขับรถลงเขา ก็คงต้องมีการเหยียบเบรคเพื่อชะลอความเร็ว ข้อสำคัญที่ต้องคำนึงก็คืออย่าเหยียบเบรคแช่ ควรใช้วิธีเหยียบย้ำแล้วปล่อย เพื่อให้เบรคสามารถระบายความร้อนได้ทัน  การเหยียบแช่ไว้จะทำให้เกิดความร้อนจัดจนผิวหน้าของผ้าเบรคใหม้ ขาดคุณสมบัติในการถ่ายเทพลังงาน ทำให้เบรครถไม่อยู่ ไม่สามารถชะลอความเร็วรถได้   การขับรถลงเขาที่ค่อนข้างชันจึงควรจะต้องใช้เกียร์ต่ำช่วยด้วย

ก่อนจะพอเรื่องของเบรค ก็จะขอไปเรื่องของคลัชสำหรับผู้ที่ใช้รถเกียร์ manual   นิดเดียวเกี่ยวกับการขับรถลุยน้ำท่วม คือว่า ในระหว่างการขับลุยน้ำนั้น ควรจะต้องมีความใจเย็น ขับไปช้าๆเรื่อยๆ ซึ่งส่วนมากก็มักจะใช้เกียร์ 2 กัน   การเปลี่ยนเกียร์ไปมาในระหว่างลุยน้ำทำให้อาจจะพบกับสภาพคลัชลื่นจนลดกำลังการขับเคลื่อนรถ  หากยิ่งแช่น้ำนานมากขึ้น ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถเคลื่อนรถได้เลย    เบรคของรถก็เช่นกัน สมรรถนะจะลดลงและอาจจะหายไปจนเกือบหมดเลยก็ได้ ก็คือเข้าใกล้สภาพของการขับรถแบบไม่มีระบบเบรค     สำหรับพวกที่ใช้รถพื้นที่ป่าเขาจะพบกับเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องปกติ  ก็เลยมีวิธีการขับรถที่มีลักษณะเฉพาะต่างออกไปจากปกติทั่วไป เห็นแล้วก็พอจะรู้กันได้ไม่ยาก   

เรื่องของเบรคก็น่าจะพอเพียงนี้


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ต.ค. 21, 18:50
เมื่อวานนี้เว้นว่างไปพบหมอเพื่อ follow up เรื่อง Lymphoma มาครับ  นั่งรอคิวอยู่ก็เกิดนึกเรื่องเกี่ยวกับเบรครถออกอีกเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับระยะเบรคของรถ  ผู้ผลิตรถเขาต่างก็มีวิจัยเกี่ยวกับระยะของการเบรครถให้หยุดที่ผันแปรไปตามความเร็ว บ้างก็บอกกล่าวถึงในเชิงของความสมรรถนะของระบบเบรคของเขาที่สามารถสู้กับเครื่องยนต์ที่มีกำลังแรงม้าระดับใด....   เราโดยส่วนมากก็ดูจะไม่ได้สนใจในเรื่องนี้นัก  แล้วก็น่าจะเกีอบไม่เคยขับรถในความเร็วเต็มพิกัดกำลังม้าของรถคันนั้นๆ     

ผมได้รับรู้หลักการสำคัญจากรุ่นพี่คนหนึ่งตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานงาน (งานของผมเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตส่วนหนึ่งกับการเดินทางไกลไปบนถนนหลวงสายต่างๆ) ว่าเมื่อขับรถทางไกล ทุกๆความเร็วของรถที่ประมาณ 10 กม.ต่อ ชม. เราควรจะต้องเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าประมาณ 1 ช่วงความยาวรถ  ดังนั้นที่ความเร็ว 80 กม. ต่อ ชม. ก็ควรจะต้องเว้นระระห่างประมาณ 8 ช่วงรถ   ระยะของการเบรครถแบบกระทันหันที่สามารถเอาอยู่นั้น จะใช้ระยะทางในการเบรคให้หยุดประมาณนี้   สมัยนั้นรถใช้ drum break เป็นหลัก สมัยนี้ก็อาจจะปรับระยะห่างให้น้อยลงไปได้ เพราะรถใช้ disk break ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่า 

ผมเห็นว่าเรื่องระยะห่างนี้เป็นหลักการที่ดี  ผู้ที่เดินทางไกลบ่อยๆ อาจจะเคยสังเกตเห็นว่า รถที่ขับกันบนถนนที่แต่ละช่วงของจุดพักรถสำคัญๆอยู่ห่างกันไกลๆนั้น เราเกือบจะไม่เคยเห็นว่ามีการขับรถจี้ตูดกันเลย   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ต.ค. 21, 19:28
ก็มีข้อพึงระวังมากๆเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับน้ำมันเบรค   มันเป็นของเหลวที่กัดสีรถ ชนิดที่กัดลึกลงไปในเนื้อของสีรถเลยทีเดียว มิใช่เพียงแต่ทำให้เป็นคราบเท่านั้น  แก้ไขอะไรไม่ได้เลยเว้นแต่จะต้องทำสีรถใหม่   

คนที่ใช้รถทำงานในพื้นที่ทุรกันดารในอดีตนั้น จะต้องจะมีน้ำมันเบรคสำรองไว้ในรถเป็นอะไหล่ 1 กระป๋องเสมอ  เพื่อใช้ในกรณีต่างๆ เช่น เบรคหรือคลัชรั่วซึม การไล่ลมเบรคหรือคลัช ใช้หยอดกัดสนิมเพื่อคลายน็อตต่างๆ

โดยหลักพื้นฐานแล้ว เมื่อใช้น้ำมันเบรคของยี่ห้อใด ก็ควรจะใช้ยี่ห้อนั้นในการเติมเมื่อน้ำมันเบรคพร่องลงไป  แต่หากเป็นในสภาวะจำเป็น จะใช้ยี่ห้อใด็ได้ เพียงแต่หลังจากนั้นก็ควรหาโอกาสเปลี่ยนถ่ายของที่อยู่ในระบบทิ้งไปให้หมด แล้วเลือกใช้ยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งเพียงยี่ห้อเดียว     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ต.ค. 21, 17:53
เกือบลืมเรื่องของระบบเบรคที่เรียกว่า ระบบ ABS (Anti-lock Breaking System) ระบบนี้ช่วยทำให้รถไม่แฉลบไปซ้ายหรือขวาเมื่อทำการเบรดรถบนถนนที่ลื่นจากน้ำ ฝน หรือหิมะ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะที่ล้อทั้งสองฝั่งอยู่บนพื้นผิวถนนที่แห้งหรือเปียกลื่นต่างกันก็ตาม   แต่เท่าที่ผมได้พบเห็นในต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูที่มีหิมะตก  ก็ดูแปลกที่มักจะเห็นอุบัติเหตุเกิดเฉพาะกับพวกรถเก๋งที่ขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หลัง ซึ่งรถทุกยี่ห้อและเกือบจะทุกคันล้วนมีการใช้ระบบเบรคแบบ ABS   ก็เป็นเพียงข้อสังเกตที่เห็นค่อนข้างจะชินตา

การใช้รถที่มีระบบ ABS นี้  หากเราเปลี่ยนรถใหม่เป็นรถคนละรุ่นหรือต่างผู้ผลิตกัน เมื่อขับๆไปในบางโอกาสที่ต้องมีการเบรคที่ค่อนข้างกระชั้นชิด เราอาจจะรู้สึกอาการเบรครถไม่อยู่ (เบรคลื่น)  ความรู้สึกนี้อาจจะเกิดจากความไม่คุ้นเคยกับรถใหม่อย่างเต็มที่  แต่หากยังรู้สึกไม่ชอบอาการเช่นนั้นอยู่ก็อาจจะพอปรับแก้ได้บ้างด้วยการเปลี่ยนผ้าเบรคไปใช้ของที่มิใช่อะไหล่แบบ OEM (Original Equipment Manufacturer) เป็นเพียงของที่ส่วนผสมของเนื้อผ้าเบรคต่างกันไป ซึ่งช่างทำเบรคมักจะจำแนกง่ายๆว่าเป็นผ้าเบรคแข็งหรือผ้าเบรคอ่อน และอื่นใด...   

 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ต.ค. 21, 19:35
ในเรื่องของการขับขี่รถเดินทางในพื้นที่ต่างจังหวัด  ก็มีเรื่องที่พึงจะต้องระวังเพื่อลดสภาพที่อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ (นอกเหนือไปจากที่รู้ๆกันอยู่โดยทั่วไปแล้ว)

ก็จะมีเรื่องเกี่ยวกับความต่างระดับระหว่างถนนกับสะพาน (คอสะพานต่างๆ)  สภาพนี้มีมาตลอดตั้งแต่สมัยหลายๆสิบปีที่แล้วจนถึงในปัจจุบัน ตั้งแต่ยุคการใช้ไม้ซุงทำสะพานจนถึงสะพานคอนกรีต     ลักษณะเด่นของสะพานไม้ซุงก็คือ ถนนทั้้งสองฝั่งสะพานจะมีผิวการจราจรที่ค่อนข้างกว้าง จะถูบีบให้ลดลงอย่างทันทีที่บริเวณคอสะพาน รถข้ามได้ครั้งละคัน ไปหรือมา การขับรถข้ามสะพานจะอยู่ในลักษณะของคำพูดว่า ขึ้นสะพาน ลงสะพาน และไต่สะพาน      เมื่อถนนมีการพัฒนามากขึ้น สะพานเปลี่ยนไปเป็นสะพานคอนกรีต ผิวการจราจรบนสะพานก็กว้างเพียงพอให้รถพอจะสวนกันบนสะพานได้  แต่ผิวการจราจรของถนนก็ยังคงกว้างกว่าบนสะพาน กว้างมากพอที่รถจะวิ่งสวนกันได้ด้วยความเร็วอย่างสบายๆ แต่จะต้องลดความเร็วลงบนสะพาน      พัฒนาการต่อมาก็คือลักษณะที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบันในถนนสายหลักต่างๆ ถนนมีการสร้างแบบมีมาตรฐาน มีการลาดยาง มีไหล่ทาง บนสะพานก็มีไหล่ทางที่ยกระดับขึ้นมาด้วย รถสามารถวิ่งสวนกันบนสะพานได้ด้วยความเร็ว เกือบจะไม่มีปัญหาถนนต่างระดับที่บริเวณคอสะพาน

ขยายความออกมาเพื่อจะบอกกล่าวว่า จะอย่างไรก็ตามก็ยังคงจะต้องมีการเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อจะขับรถข้ามสะพาน จะต้องมีการประเมินสถานะการณ์ทุกครั้ง สะพานมีการใช้ทั้งคน สัตว์ เครื่องจักรกลเกษตรเคลื่อนที่ช้า...ฯลฯ  ซึ่งล้วนแต่สามารถจะโผล่ขึ้นมาบริเวณคอสะพานได้อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย โดยเฉพาะในช่วงเวลาแดดร่มลมตกเมื่อชาวบ้านเดินกลับบ้านจากการทำไร ทำนา ทำสวน     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ต.ค. 21, 17:58
ต่อจากช่วงเวลาแดดร่มลมตกก็จะเข้าสู่ยามโพล้เพล้ ซึ่งในบางพื้นที่หรือบางบริเวณ ลักษณะของภูมิประเทศก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว  ก็มีข้อควรระวังและพึงปฏิบัติอยู่หลายเรื่องที่ได้มีการสั่งสอนถ่ายทอดส่งต่อๆกันมาว่า หากมีจุดที่สามารถหยุดพักรถได้ก็ควรจะต้องหยุด แวะเพื่อยืดเส้นยืดสาย ทำตัวเองให้สดชื่น เตรียมตัวสำหรับการขับรถในตอนกลางคืน(ซึ่งจะมีความเครียดมากกว่าตอนกลางวัน) เช่น ล้างหน้า ดื่มน้ำ กินของว่างหรืออาหารเย็น ตรวจสภาพรถ เติมน้ำมัน... ฯลฯ การเดินทางในเวลากลางคืนควรจะเป็นการเดินทางแบบต่อเนื่อง ไม่ควรจะมีเรื่องใดๆที่จะต้องหยุดหรือจอดรถข้างทาง

สมัยก่อนนั้น ใช่วงยามโพล้เพล้ สิ่งที่จะเห็นจนชินตาก็จะมีบรรดารถไถพรวนดินที่ยังมีชุดไถพรวนติดอยู่ท้ายรถ มีพวกรถไถนาในกลุ่มที่เรียกกว่าควายเหล็ก อีต๊อก อีแต๊ก... และชุดพ่วงลากของมัน  เครื่องจักรกลพวกนี้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่ช้ามาก (10-20 กม./ชม.) ไฟท้ายก็ไม่มี หรือที่มีก็ไม่สว่าง     ในช่วงเวลาตอนเย็นมากๆใกล้มืดนี้ kelvin temperature ของแสงตามธรรมชาติกับแสงไฟจากหลอดไฟของรถจะไม่มีความต่างกันมากพอที่ทำให้สามารถจำแนกสิ่งต่างๆในเชิงเปรียบเทียบกันได้อย่างดี  ก็จึงมักจะพบประสบกับอะไรๆในระยะที่กระชั้นชิดเสมอๆ ซึ่งในบางสถานการณ์ก็เกือบจะแก้ไขอะไรไม่ได้เลย   การขับรถในช่วงโพล้เพล้จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง และก็ควรจะต้องไม่ใชความเร็วที่สูงมากอีกด้วย สภาพกิจกรรมตามไหล่ทางของถนนหลวงสายต่างๆในยามโพล้เพล้ในปัจจุบันนี้ ก็ยังคงมีสิ่งที่ได้กล่าวมาให้ได้พบเห็นอยู่ไม่น้อย     


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ต.ค. 21, 18:44
แต่ก่อนนั้น เรามักจะเห็นฝูงวัว-ควายเดินข้ามถนน  ในปัจจุบันนี้ ในถนนสายหลักคิดว่าคงไม่มีอีกแล้ว แต่ตามถนนสายรองที่เชื่อมระหว่างอำเภอหรือระหว่างตำบลจะยังคงพบเห็นได้อยู่    ก็มีหลักที่พึงกระทำในการรับเหตุการณ์กระชั้นชิดนี้   เมื่อจ๊ะเอ๋กับฝูงวัว-ควายที่โผล่ออกมาจากข้างทางแล้วพรวดพราดข้ามถนน  หลักที่ถ่ายทอดกันมาก็คือ เหยียบเบรคลดความเร็วลดลงให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยก็ให้ได้ที่ประมาณ 60 กม./ชม. ซึ่งที่ความเร็วระดับนี้ เราสามารถจะหักหลบวัว-ควายเหล่านั้นได้โดยที่ยังมีความสามารถจะควบคุมรถได้ดีพอสมควรอยู่   หากจะชนก็ชนแบบตรงหน้าไปเลย เพราะการชนตรงในความเร็วขนาดประมาณนี้ จะไม่ทำให้ถึงกับเสียชีวิต   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ต.ค. 21, 18:59
 ใ
ฝฟ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ต.ค. 21, 19:27
มัวแต่เขี่ยของที่ตกหล่นลงในคีย์บอร์ด เครื่องก็เลยส่งอะไรไปก็ไม่รู้ครับ ขออภัย ครับ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 21, 17:57
น่าจะพอสำหรับเรื่องของเบรครถ  สำหรับคนที่ใช้รถในพื้นที่ป่าเขาหรือที่เรียกกันว่าทางป่านั้น ก็จะมีเรื่องของวิกฤติเกี่ยวกับเบรครถคุยกันอย่างสนุกสนานเมื่อผ่านเหตุการณ์นั้นๆมาได้ ในมุมหนึ่งก็เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนกลวิธีในการเอาตัวรอดในภาวะคับขันต่างๆ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ในแต่ละภูมิภาคก็ล้วนมีแตกต่างกันไป 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 21, 19:04
ไปต่ออีกเรื่องเกี่ยวกับระบบถ่ายกำลังเพื่อขับเคลื่อนรถ (ระบบเกียร์และเฟืองขับเพลาล้อ)  ก็พอจะจำแนกได้เป็น 2 ระบบ คือ ระบบเกียร์ที่ต้องมีการเหยียบคลัชเพื่อการเปลี่ยนเกียร์ (Manual Transmission) เรียกกันสั้นๆว่าเกียร์แมนนวล ย่อๆว่า MT    กับอีกอีกระบบหนึ่งที่ไม่ต้องมีการเหยียบ คลัชเพื่อการเปลี่ยนเกียร์ (Automatic Transmission) เรียกันสั้นๆว่า เกียร์ออโต้ ย่อๆว่า AT    ซึ่งแยกออกไปอีกเป็น 2 ระบบ คือระบบที่ใช้เฟืองเกียร์ตามหลักของ MT แต่ไม่ต้องมีการเหยียบคลัช   กับระบบในหลักการคล้ายกับของมอเตอร์ไซด์เกียร์ออโต้ เรียกว่าระบบเกียร์แบบ CVT (Continuous Variable Transmission) 

ออกตัวเสียก่อนว่า ผมเกือบจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับเกียร์ระบบ CVT  เคยแต่ใช้และก็ยังใช้รถที่ใช้เกียร์ระบบ CVT อยู่ ยังไม่เคยเห็นตับไตใส้พุงข้างในของมันเลย จึงจะขอเว้นไม่กล่าวถึงจากนี้ต่อไป

เรื่องที่จะกล่าวถึงแรกเริ่มเป็นเรื่องเกี่ยวกับน้ำมันเกียร์  นำมันเกียร์จะต้องมีการถ่ายเปลี่ยนเมื่อถึงระยะเวลาตามกำหนด ซึ่งก็ควรจะเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเฟืองท้ายพร้อมกันไปด้วย   ในระบบเกียร์แบบ MT นั้น เมื่อถ่ายของเก่าออกไปแล้ว ปริมาณของใหม่ที่ใส่ลงไปจะใช้ระบบเติมจนล้นไหลออก เป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อให้ได้มีปริมาณน้ำมันในระบบเพียงพอสำหรับการใช้งานไปจนถึงวาระต้องเปลี่ยนถ่ายในครั้งต่อไป (กรณีไม่มีการรั่วซึมใดๆ) 


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 21, 19:31
ระบบ AT   ระบบนี้ก็ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเช่นกัน แต่เป็นน้ำมันที่มีคุณสมบัติเป็นการเฉพาะ เรียกกันง่ายๆว่า น้ำมันไฮดรอลิกส์ ซึ่งมีอยู่หลายชนิดสำหรับการใช้ในเรื่องต่างๆกัน  ที่ใช้กับเกียร์ออโต้จะมีตัวอักษรบอกไว้ชัดเจนว่า AFT (Automatic Transmission Fluid) ซึ่งเป็นน้ำมันที่ใช้ในระบบพวงมาลัยพาวเวอร์ (Power steering) ได้ด้วย   น้ำมัน ATF นี้ก็จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนถ่ายเมื่อถึงเวลาอันควรตามกำหนด หากแต่เป็นเรื่องที่เราจะต้องมีความเข้าใจในการดูแลด้วย  เพราะมันเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำพาไปสู่ความเสื่อมและความเสียหายของระบบเกียร์ออโต้ ซึ่งมีค่าช่อมที่แพงเอามากๆเลยทีเดียว   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ต.ค. 21, 18:52
การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ออโต้มีหลักการสำคัอยู่ว่า  ปริมาณน้ำมันของใหม่ที่ใส่ลงไปควรจะต้องมีปริมาณเท่ากับของเก่าที่ถ่ายออกมา   ฟังดูแล้วอาจจะงงๆ ??  เหตุผลก็คือ มันจะยังคงมีน้ำมันที่ตกค้างอยู่ในระบบอีกพอสมควร ปริมาณน้ำมันใหม่ที่ใส่ลงไปนั้นอาจมากเกินไปหรือน้อยเกินไปก็ได้ ซึ่งจะทำให้น้ำมันเกียร์ในชุดเกียร์มากจนเกินไปหรือน้อยจนเกินไป ทั้งสองกรณีนี้ล้วนทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบเกียร์ได้  อาการเตือนว่าน้ำมันเกียร์นั้นมีมากหรือน้อยเกินไปที่สำคัญก็มีอาทิ การออกตัวรถช้า การเปลี่ยนเกียร์ต่างๆเป็นไปค่อนข้างช้าและมีอาการกระตุกหรือกระชาก ความร้อนของน้ำมันเกียร์ร้อนจัด(มีไฟเตือน)เมื่อรถต้องใช้กำลังสูงอย่างต่อเนื่อง...   

อาจจะเป็นเรื่องที่ดูน่ากังวล แต่คงจะไม่ต้องไปกังวลอะไรกับมันมากนัก   แก้ความกังวลด้วยการเอารถเข้าศูนย์ให้ช่วยดำเนินการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์เก่าทิ้งไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณีที่มีการซื้อรถมือสองมา    แก้กังวลอีกอย่างหนึ่งด้วยการวัดระดับน้ำมันเกียร์ด้วยตัวเอง เรื่องนี้อาจจะยุ่งยากนิดนึง คือจะต้องวัดในขณะที่เครื่องยนต์กำลังทำงาน และอุณหภูมิของน้ำมันเกียร์ควรจะต้องอยู่ในเกณฑ์ใช้งาน ซึ่งก็สามารถทำได้ไม่ยากนักด้วยการขับรถไปวนที่ใหนสักรอบหนึ่ง กลับมาบ้าน ไม่ต้องดับเครื่อง ดึงก้านวัดระดับน้ำมันเกียร์ออกมาดู  ที่ก้านน้ำมันเกียร์จะมี mark ให้เห็นอยู่ 4 จุดหรือขีด คู่บนอาจจะมีอักษร H (hot) กำกับไว้ด้วย ระดับน้ำมันเกียร์ควรจะอยู่ที่ระหว่างคู่บนนี้  หากอยากจะเติมให้เต็มถึงขีดบน ก็จะต้องเติมในลักษณะเป็น shot เล็กๆ (ครั้งละ 50-100 cc.) แล้วค่อยๆวัดไป    แต่หากไม่อยากเอารถออกไปวิ่ง ก็จะต้องติดเครื่องรถให้ร้อนจนถึงระดับการใช้งาน จากนั้นก็เหยียบเบรคแล้วขยับเกียร์ ค่อยๆไล่ไปทีละเกียร์ แล้วจึงลงมาทำการวัดระดับน้ำมัน

วิธีการของผมเพื่อความสบายใจของตนเอง ผมให้ศูนย์เป็นผู้เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ แต่จะทำการปรับแต่งปริมาณให้มีความถูกต้องสมบูรณ์ด้วยตัวเองที่บ้าน (ที่ศูนย์ทำมานั้น มีทั้งแบบที่น้อยไปและมากไป) เพราะผมใช้รถเดินทางไกลและมีรถที่ใช้เพื่อการขึ้นเขาลงห้วยด้วย       


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ต.ค. 21, 20:14
รถที่ใช้ในพื้นที่ป่าเขาและที่ทุรกันดารจริงๆควรจะเป็นรถที่ใช้เกียร์ MT  เพราะเราสามารถจะควบคุมหรือบังคับให้พาหนะนั้นๆปฎิบัติได้ตามใจและตามกลวิธีที่เราต้องการได้ในทันที ไม่จำเป็นจะต้องรอการปฎิบัติตาม algorithm ของระบบอัตโนมัติ

คงจะเคยมีการสังเกตและเคยมีความรำคาญกับการขับรถที่ต้องมีการเบิ้ลเครื่องยนต์เมื่อมีการเปลี่ยนเกียร์ (double clutching)  ก็มีอยู่สามสาเหตุหลักๆ คือ การทำเพื่อการเปลี่ยนเกียร์สำหรับชุดเกียร์ที่ไม่มี synchromesh ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิค   การทำเพราะความเคยชิน   และการทำเพราะเห็นว่าเท่ห์

คนรุ่นเก่าที่ขับรถป่าทั้งหลายแต่ก่อนนั้น ล้วนจะต้องรู้จักและเคยทำการเบิ้ลเครื่องพร้อมๆไปกับการเปลี่ยนเกียร์รถ    หากเป็นการเปลี่ยนจากเกียร์ต่ำไปเป็นเกียร์สูงก็อาจจะไม่ได้ยินเสียงเครื่องยนต์กระหึ่มดัง   หากเป็นการเปลี่ยนจากเกียร์สูงไปเป็นเกียร์ต่ำตามขั้นบันได (เช่น จากเกียร์ 3 ไปเป็นเกียร์ 2) ก็จะได้ยินเสียงกระหึ่มไม่ยาวนักและเสียงเครื่องยนต์ไม่ดังนัก   แต่หากเป็นเสียงเครื่องยนต์ที่กระหึ่มดังยาวสองสามครั้ง ก็มักแสดงว่าเป็นการเปลี่ยนเกียร์ข้ามขั้นบันได (เช่น จากเกียร์ 4 ไปเป็นเกียร์ 2)   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ย. 21, 18:41
น่าจะพอในเรื่องหลักๆที่สำคัญเกี่ยวกับเกียร์ของรถยนต์   

ก็มาถึงเรื่องของเฟืองขับเพลาล้อรถที่เรียกกันว่าเฟืองท้าย  สำหรับรถที่ใช้ขับบนถนนทั่วๆไปก็จะมีแต่เพียงเฟืองท้ายลูกเดียว  ส่วนรถขับเคลื่อนล้อหน้านั้น ชุดเฟืองขับเพลาล้อจะถูกออกแบบให้กลมกลือนไปกับระบบเครื่องยนต์    พวกรถที่ออกแบบมาให้ใช้ในทางสมบุกสมบันก็จะมีทั้งเฟืองหลังและเฟืองหน้า  ซึ่งมีชื่อเรียกที่ทำให้งงและสับสนอยู่บ้าง  แต่ก่อนนั้น ภาษาไทยจะเรียกรถที่สามารถขับเคลื่อนทั้ง 4 ล้อว่า รถขับเคลื่อน 4 ล้อบ้าง  รถ 2 เพลาบ้าง  รถมีเกียร์สโลว์บ้าง  หรือรถ 4x4 บ้าง   จนกระทั่งมีการผลิตรถที่ขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลาออกมาจำหน่าย  ก็จะมีการเรียกรถพวกนี้ว่า รถขับเคลื่อนสี่ล้อบ้าง รถระบบขับเคลื่อนสี่ล้อบ้าง  หรือรถ AWD (All Wheel Drive) บ้าง   ที่จริงแล้วก็ยังมีรถระบบ 4x4 ที่มีเกียร์ที่สามารถใช้ปรับให้เป็นการใช้แบบล้อทั้งสี่(หรือมากกว่านั้น)หมุนตะกุยดินไปพร้อมๆกันทุกล้ออีกด้วย  (การหมุนของล้อรถยนต์ตามปกติ ทั้งสองข้างจะหมุนไปในทิศทางที่สวนกัน จะทำให้เกิดสภาพคล้ายกับช่วยกันผลักช่วยกันดันซ้ายทีขวาที)     

จำแนกแบบง่ายๆก็คือ มีกลุ่มรถที่มีชุดเกียร์ทดกำลังพิเศษ (4x4 มีเกียร์สโลว์)  กับกลุ่มรถที่ล้อทั้งสี่มีกำลังตลอดเวลาในการฉุดรถให้รถเคลื่อนที่ (AWD)    แน่นอนว่า รถทั้งสองกลุ่มนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานในสภาพพื้นที่และถนนที่แตกต่างกัน  อย่างไรก็ตาม รถทั้งสองประเภทนี้ต่างก็ต้องเคยอยู่ในสถานการณ์ขับลุยน้ำ


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ย. 21, 20:18
เมื่อขับรถลุยน้ำ ก็จึงมีโอกาสที่น้ำจะซึมเข้าไปปะปนอยู่กับน้ำมันของเฟืองขับเพลาล้อ โดยเฉพาะในกรณีที่ระดับน้ำนั้นสูงใกล้ๆระดับครึ่งล้อรถ     รถที่ใช้งานมานานระยะหนึ่งแล้ว ส่วนประกอบเรียกว่าซีลกันน้ำมันต่างๆไม้ให้รั่วซึมออก(หรือกันน้ำไม่ให้เข้า)ซึ่งทำด้วยยางนั้น นานเข้ามันก็จะแข็งและสึกหรอ มีประสิทธิภาพในการกันการรั่วซึมได้น้อยลง  ดังนั้นเมื่อพ้นช่วงเวลาของสภาวะตามธรรมชาติแล้ว ก็จึงควรจะต้องนำรถไปเปลี่ยนถ่ายน้ำมันของระบบเฟือง  ซึ่งก็ควรจะถามช่างหรือขอเข้าไปดูน้ำมันที่ถ่ายออกมาด้วยตาของตัวเราเอง น้ำมันพวกนี้ ของใหม่จะมีความใส หากมีน้ำปนก็จะมีสีน้ำตาลหรือสีกากีและดูเป็นฟอง และหากเป็นสีดำก็แสดงว่าใช้มานานจนมันใหม้ ไม่มีคุณสมบัติใดๆเหลือสำหรับใช้งานต่อไป

น้ำก็มีโอกาสเข้าไปในอ่างน้ำมันเครื่องยนต์ได้เช่นกัน โดยผ่านทางมู่เล่ (pulley) ของเหลาข้อเหวี่ยงลูกสูบ   ผู้ที่ชอบกิกรรม off road ในถิ่นทุรกันดารในปาที่ต้องขึ้นเขา ลงห้วย ข้ามน้ำ การมีน้ำมันเครื่องสักแกลอนหนึ่งติดรถไว้จึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำ  เราจะรู้ว่ามีน้ำเข้ามาปนอยู่กับน้ำมันเครื่องได้ด้วยการดูสีและระดับน้ำมันเครื่องที่ก้านวัดน้ำมันเครื่อง   


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 พ.ย. 21, 18:19
สำหรับรถประเภท 4x4 นั้น   ผู้ที่ครอบครองรถก็น่าจะเป็นผู้ที่ชอบและสนใจในการขับรถแบบลุยๆในพื้นที่ๆเป็นเขาเป็นดอยสูงต่ำทั้งหลาย หรือเป็นผู้ที่ชอบการพักผ่อนด้วยการออกไปขับรถผจญความท้าทายตามเส้นทางที่มีสภาพเป็น off road จริงๆ   

ในชีวิตการทำงานของผมนั้น การเดินทางในพื้นที่ต่างๆเกือบจะทุกแห่ง จะเป็นการใช้ถนนป่าในสภาพที่สุดจะบรรยาย  รถจำเป็นจะต้องมีกว้าน (winch) ติดไว้ และจะต้องเป็นกว้านชนิดที่ขับด้วยเพลาอีกด้วย (ใช้เฟืองถ่ายกำลังจากชุดเกียร์ของรถ)  กว้านที่ใช้กำลังไฟฟ้านั้นเหมาะสำหรับการใช้เป็นครั้งคราว  สำหรับกว้านที่ใช้กำลังของระบบไฮดรอลักส์นั้นดูค่อนข้างจะไว้ใจได้ไม่เต็มร้อย    ท่านที่เคยไปเที่ยวน้ำตกไทรโยค ในปัจจุบันจะใช้เวลาเดินทางจากตัว จ.กาญจนบุรี ไม่ถึง 1 ชม. ในสมัยที่ผมทำงานอยู่นั้น หลายๆครั้ง การเดินทางระหว่างตัว จ.กาญจนบุรีกับสถานีน้ำตก (บ.ท่าเสา) ออกเดินทางเวลา 8 โมงเช้า ถึงปลายทางเวาลาประมาณสี่ทุ่ม บางช่วงของถนน ต้องเอาผ้าขะม้าคาดเอวแล้วเอาตะขอของสลิงกว้านเกี่ยวหลัง เดินนำรถ  ก็ได้สัมผัสและมีประสบการณ์กับเส้นทางลักษณะ off road เช่นนี้ในหลายๆพื้นที่ประมาณ 20 ปีกระมัง  จะเล่า tactic ต่างๆก็ก็คงจะไม่มีประโยชน์นัก เพราะสภาพถนนต่างๆได้เปลี่ยนไปมากแล้ว อีกทั้งจะใช้วิธีเขียนก็ยาก สู้เล่าด้วยปากเปล่าไม่ได้   ก็เลยคัดเอาแต่เพียงเรื่องที่สำคัญมาขยายความ       


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 พ.ย. 21, 19:13
รถ 4x4 รุ่นเก่าจะมีคันเกียร์อยู่ 3 คันเกียร์   รุ่นใหม่ก็จะมี 2 คันเกียร์   ส่วนในรุ่นที่วางขายกันอยู่ในปัจจุบัน ที่เรียกว่ารถ SUV นั้น ไม่รู้ว่าควรจะจัดเป็น 4x4 หรือ AWD  เพราะสามารถจะเปลี่ยนการขับเคลื่อนจากตามปกติที่ขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หลัง ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หน้าผสมผสานพร้อมๆกันไปได้อีกด้วย โดยใช้ระบบการหมุนตุ่มบิด (knob) สั่งการด้วยระบบไฟฟ้า 

ไม่ว่าจะเป็นแบบ 3 คันเกียร์ หรือ 2 คันเกียร์ หรือรถรุ่นใหม่ๆ เมื่อจะปรับเปลี่ยนให้มีการใช้กำลังของ 2 ล้อคู่หน้าร่วมด้วย สิ่งที่ควรจะต้องกระทำก็คือการลดความเร็วของรถลงให้มากที่สุด น่าจะเป็นความเร็วที่ต่ำกว่า 60 กม./ชม. ซึ่งสำหรับรถรุ่นเก่าก็ควรจะน้อยกว่านั้น    เมื่อต้องการปลดออก สิ่งที่ควรกระทำก็คือควรจะลดความเร็วของรถให้เหลือน้อยที่สุด อาจจะ 20-30 กม./ชม. หรือสำหรับรถบางยี่ห้อหรือบางรุ่นที่มีระบบ auto locking wheel hub ก็อาจจะต้องหยุดรถสนิทหรือถอยหลังเล็กน้อยเพื่อปลดให้ล็อคหลุด         


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 พ.ย. 21, 18:52
สำหรับรถที่มีเกียร์สโลว์  การใช้สโลว์จะต้องมีผ่านการทำให้ล้อคู่หน้าทำงานพร้อมเสียก่อนจึงจะเข้าเกียร์ทดกำลังแบบสโลว์ได้  ในระบบของการเข้าสโลว์นั้น จะต้องผ่านจุด neutral แล้วจึงจะเข้าสโลว์   เมื่อเข้าเกียร์สโลแล้ว โดยทั่วๆไป ผู้คนทั่วไปจะใช้คู่กับเกียร์ 1  แท้จริงแล้วจะใช้คู่กับเกียร์ 2 หรือ 3 ก็ได้ในกรณี่ที่ต้องการลุยหลุมโคลนด้วยความเร็วต่ำๆ  หรือแม้กระทั่งกรณีไต่เนินเขาชันเป็นช่วงๆ 

ก็มีข้อที่ไม่พึงกระทำเลย โดยเฉพาะกับคนที่ไม่มีความสันทัดมากพอในการเปลี่ยนเกียร์ที่ต้องเบิ้ลคลัช ก็คือการเปลี่ยนเกียร์ไปมาหรือใส่เกียร์สโลว์ในระหว่างการขับรถไต่พื้นที่ลาดชันสูง แม้กระทั่งพวกที่มีความชำนาญค่อนข้างมากก็ยังไม่นิยมจะทำกันเพราะว่าเมื่อผลักคนเกียร์ผ่าจุด neutral แล้วมักจะมีการติดขัดเล็กน้อยในการผลักคันเกียร์เข้าสู่สโลว์  การใส่เกียร์สโลว์มีความจำเป็นจะต้องหยุดรถเสียก่อน  แต่หากคุ้นเคยกับเส้นทางดี ก็มักจะใส่เฉพาะเกี่ยร์ที่ทำให้มันขับเคลื่อนสี่ล้อไว้ก่อน เมื่อกำลังรถเริ่มไม่พอจะไต่ลาดชันนั้นๆก็จึงใส่สโลว์     เมื่อจะปลดระบบการใช้เกียร์สโลว์ ก็พึงหาที่ค่อนข้างราบและจึงหยุดรถทำการปลดระบบ    ห้ามเด็ดขาด ห้ามปลดระบบในขณะที่รถกำลังอยู่บนลาดชัน หากต้องการความเร็วมากขึ้นก็ใช้เกียร์ 2 หรือ 3 ก็พอจะได้ความเร็วที่พอเพียง           


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 พ.ย. 21, 19:19
ต่ออีกนิดนึงแล้วก็จะพอสำหรับเรื่องรถ

เมื่อขับรถลงเขาหรือทางลาดชัดที่ถนนมีักษณะเปียกลื่น (ด้วยดินโคลนหรือน้ำ) ก็ควรจะต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นอีกหน่อย    คงจะเคยสังเกตว่าเมื่อทำการเบรครถนั้น ส่วนหน้าของรถจะยวบลงไป    เมื่อขับรถลงที่ลาดชันแล้วมีการเบรครถ ท้ายรถซึ่งส่วนมากจะมีความหนักมากกว่าส่วนหน้ารถก็จึงมักจะลื่นปัด อาการเช่นนี้อาจจะรู้สึกได้น้อยมากบนถนนหลวงโดยทั่วๆไป  แต่จะเห็นได้ชัดก้บรถที่ใช้เส้นทางในป่าเขา แม้กระทั่งจะขับแบบช้าๆลงตามลาดชันบนถนนที่เป็นดินโคลนลื่นๆ จะขับโดยใช้วิธีเบรคด้วยเครื่องยนต์หรือระบบเบรคของรถก็ตาม   วิธีหนึ่งที่ใช้ในการแก้ไขสำหรับพวกขับรถป่าก็คือ ถอนการเบรคหรือเหยียบคลัชปลดระบบเบรคด้วยเครื่องยนต์เป็นช่วงๆ เพื่อให้รถได้เคลื่อนที่ไปในลักษณะของ free fall เป็นระยะๆ       


กระทู้: ความรู้ในลิ้นชัก
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 พ.ย. 21, 19:59
ขอเว้นรรคไป ตจว. หลายวันครับ