เรือนไทย

General Category => ชั้นเรียนวรรณกรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: ลุงไก่ ที่ 09 ก.ย. 10, 18:27



กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 09 ก.ย. 10, 18:27
นิทานชาวไร่ โดยนาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี - ๑ ในหนังสือ ๑๐๐ เล่มที่ควรอ่าน ในหมวดสังคมวิทยา, มานุษยวิทยา, ประวัติศาสตร์สังคม จากงานวิจัยของอาจารย์วิทยากร เชียงกูล ในโครงการคัดเลือกและแนะนำหนังสือดีที่คนไทยน่าจะได้อ่าน (โครงการวิจัยเพื่อคัดเลือกและแนะนำหนังสือดีในรอบทศวรรษ) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

ได้ลงพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือนาวิกศาสตร์ วารสารรายเดือนของกองทัพเรือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ - ๒๕๐๘ และได้ถูกรวบรวมพิมพ์อีกครั้งหนึ่งโดยองค์การค้าของคุรุสภา ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ จำนวน ๑๒ เล่ม ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๘

เท่าที่ผมทราบ (หรืออาจจะไม่ทราบ) ปัจจุบันยังไม่มีการจัดพิมพ์หนังสือชุดนี้ออกมาใหม่

ท่านใดพอจะได้เคยอ่านแล้ว หรือทราบว่าได้มีการจัดพิมพ์ใหม่แล้ว กรุณาแจ้งด้วยครับ






กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 10, 19:02
เคยอ่านแล้ว 
เคยอ้างอิงบางส่วนลงในกระทู้เก่าของเรือนไทยด้วยค่ะ  แต่ยังไม่ได้หาว่ากระทู้ไหน
คุณลุงไก่ ลองคลิก ค้นหา แล้วพิมพ์คำว่านิทานชาวไร่ลงไป นะคะ
ไม่ทราบว่าพิมพ์ใหม่หรือเปล่าค่ะ  ต้องถามคุณวันดีและคุณหลวงเล็ก


กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 09 ก.ย. 10, 20:55
ค้นหาในเรือนไทยแล้ว ไม่พบครับ
แต่เดิมค้นหาจากกูเกิ้ลหลายรอบก็ไม่พบ
ผมมีหนังสือชุดนี้ แต่ไม่ครบเล่มครับ ขาดไปก็หลายเล่ม กำลังมองหาไปเรื่อยๆ


กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 10, 21:56
อยู่นี่ค่ะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1219.msg21306;topicseen#msg21306

เรื่องที่จะเล่านี้ เก็บความมาจากหนังสือเก่าชื่อ นิทานชาวไร่ ที่คุรุสภาจัดพิมพ์ตั้งแต่พ.ศ. 2515   และเหตุการณ์ในเรื่องก็ย้อนหลังกลับไปอีก ถึง พ.ศ. 2502
ผู้บันทึก เป็นอดีตนายทหารเรือเกษียณชื่อ น.อ. สวัสดิ์ จันทนี
ท่านเล่าเรื่องเกร็ดประวัติศาสตร์ไว้หลายเรื่อง ลงในวารสารนาวิกศาสตร์ ก่อนพิมพ์รวมเล่มดังที่บอกมา
เรื่องแรกที่จะเล่า คือเรื่องผีบุญ ในสมัยรัชกาลที่ 5  


กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 ก.ย. 10, 22:01

       นิทานชาวไร่ จะหาครบชุดยากมากค่ะ  ยกเว้นคนบ้าหนังสือเก่าจำพวกหนึ่ง  หรือนักสะสมที่ก็น่าจะจัด

ว่าอยู่ในประเภทหายากอีกประเภทหนึ่ง          หลายคนเคยอ่าน  แต่คนที่มีเก็บไม่ค่อยมี  ส่วนเจ้าของ

ร้านหนังสือเก่ามีกันทุกคนคนละชุดสองชุด  


       นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งเดินผ่านตู้กระจกบานเลื่อนที่บ้าน ซึ่งเดิมมีหนังสือกำลังภายในรุ่นแรกๆอยู่เต็ม

สาดสายตาไปแว๊บหนึ่ง  แล้วถามว่า  ครบไหม  ดิฉันมองตามสายตาของท่าน ก็เห็นจับอยู่ที่

กองหนังสือเล่มเล็ก ๆ ของคุรุสภา   ครบค่ะ  แต่ปกคนละชุด  ฉบับหลัง ๆ จะเป็นปกสี



       ถือว่าเป็นหนังสือสารคดีที่น่าอ่านทีเดียว    โปรดจำไว้นิดหนึ่งนะคะว่าหนังสือชุดนี้เป็นนิทาน  

เรื่องหลายเรื่องเป็นการเก็บข้อมูลมาจากคนป่วย  คนมาเยี่ยมคนป่วย  และท่านผู้บันทึกก็รักษาตัวอยู่ในเรือนพยาบาล


      การอ่านหนังสือของดิฉันเป็นการอ่านเพื่อความสนุกในเบื้องต้น  เบื้องกลาง และเบื้องปลาย ทีเดียวค่ะ

ไม่ต้องคิดจะตรวจสอบข้อมูลแต่ประกาลใด  แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่แขก(ที่จริงคนไทย) มาเยี่ยมท่านผู้ป่วยในห้องใกล้ ๆ กัน

เล่าว่า นายโหมดนั้นเรียนฟิสิกส์ที่อังกฤษ         ดิฉันก็อุทานออกมาว่าแหล่งข่าวคงจำผิด  รับฟังมาไม่ครบถ้วนอย่างแน่นอน

นายโหมด อมาตยกุลนั้นท่านเกิดสมัยรัชกาลที่ ๒(พ.ศ.​๒๓๖๒)  และเติบโตในสมัยรัชกาลที่ ๓ ต่างหาก  

ที่จริงท่านเรียนฟิสิกส์และเคมีจากจันดเลและมิขขันนารีคนหนึ่ง

ลูกชายท่าน คือ พระปรีชากลการเรียน วิศวกรรมเหมืองแร่ที่สก้อตแลนด์


        นาวาเอกสวัสดิ์  จันทนี  สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ  ศึกษาการใช้เรือดำน้ำ ณ ประเทศญี่ปุ่น  

อดีตผู้บังคับกองโรงเรียนนายเรือสมัยเกร็ดแก้ว  และอดีตบรรณาธิการนาวิกศาสตร์  ที่คุณหลวงเล็กที่นับถือ

อุทานว่าหายาก เคยเห็นแว่บ ๆ       ท่านมาเป็นชาวไร่สมัครเล่นจากกรณี ๒๙ มิถุนา ๒๔๙๔

ทำไร่อยู่ที่สัตหีบ  ท่านเขียนด้วยอารมณ์ขันเป็นประวัติศาสตร์เก่าๆ  ให้นายทหารเรือรุ่นหลังได้อ่าน

แทรกเกร็ดประวัติของผู้เขียนลงไปด้วย  


       หนังสืออนุสรณ์ น.อ. สวัสดิ์  จันทนี  ดิฉันก็เกิดอาการแว่บขึ้นมาบ้าง  ว่าไม่มี


       ไม่มีการพิมพ์ใหม่




กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 ก.ย. 10, 22:23

      มีเรื่องราวที่น่าสนุกมากมาย  เช่นเรื่องคูคลอง  นารายณ์อวตาร  เจ้าสัวนำไม้คานปิดทองวางในบ้าน

เรื่องนายกุหลาบพระราชวรินทร์โดนยิงตาย(ต่อกับเรื่องที่ โดนฟ้องเรื่องจ้างวานฆ่ามารดาเลี้ยง)



เรื่องเงินฝากที่รัชกาลที่ ๖ ฝากพระยาบุรีนวราชไปเข้าบัญชีที่อังกฤษ   เจ้าคุณรามไปตามทวงเงิน

คุณหญิงบุรีนวราช(เนื่อง  สิงหเสนี)ตอบว่า  เงินฝากในนามผัวฉันก็ต้องเป็นของฉันน่ะซี  เรื่องนี้อยู่

เล่ม ๘  ตอนที่ ๗๖  คุณหลวงวรภักดิ์ภูบาลเป็นคนเล่า    


       คุณหลวงเล็กกำชับมาว่า อ่านแต่เล่ม ๑ ถึง ๕   ก็พอ    ดิฉันกลับไปเปิดอ่านอีกทีก็ออกจะเห็นด้วย        




กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 09 ก.ย. 10, 23:31
เป็นหนังสือที่ผมตามหาอ่านมา ๓๐ ปีแล้ว
แต่ยังไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสเลย
รู้จักเพราะเคยมีคนนำมาเล่าสู่กันฟังในต่วยตูนพ๊อกเก็ตบุ๊คส์ครับ


กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ก.ย. 10, 03:01

คุณหมอคะ       


       เส้นทางของนักอ่านหนังสือเก่าทุกคน มิได้ปูด้วยกลีบกุหลาบ   ที่จริงก็เสียดายกลีบกุหลาบ

น่าจะเป็นหนทางที่เต็มไปด้วยขวากหนามเสียมากกว่า    อุปสรรคใดๆก็สู้ใจของเราไม่ได้หรอกนะคะ

ที่พูดมานี่ก็มิได้ตั้งใจจะมาบังอาจแนะนำอะไร           ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวแต่เดิม

ก็ไม่ได้ดี  หรือรับมรดกตู้หนังสือเดินทองจากผู้ใด   แต่พวกเรารักการอ่านค่ะ  เราอ่านทุกสิ่งทุกอย่าง

ที่มีตัวหนังสือ  ถุงกล้วยแขกสมัยนู้นเราก็อ่านค่ะ  เพราะกล้วยแขกแถวบ้านใช้กระดาษข้อสอบของ

นักเรียนมาทำถุง  อ่านแล้วดูคะแนนนักเรียนโรงเรียนอื่นสดชื่นเหมือนกัน


          นักอ่านเมื่อเจอนักอ่านจะสร้างไมตรีได้เร็ว  เพราะจะวางอันดับกันได้โดยธรรมชาติ

เราเรียนรู้จากสหายทั้งสิ้น   ฝีมือดั้งเดิมที่ติดตัวมาจากสำนักไม่สามารถทำให้เราเข้าสู่วังวนของยุทธจักรได้

เราชอบอ่านอะไร  ก็อ่านให้รู้จริง  ไม่ต้องไปจำสามก๊กทั้งเล่มหรอกค่ะ   แต่ก็น่าที่จะทราบว่ามีคู่มือสามก๊ก

นักประพันธ์รุ่นแรก ๆ ของประเทศเราก็หาเรื่องของท่านเหล่านั้นมาอ่านซิคะ   ลองอ่านให้ทั่วๆ

พอฝึกการอ่านให้ไวขึ้น  ละเอียดขึ้น          อ่านไป ก็จะจับประเด็นได้แม่น


       จุดประสงค์ของดิฉันที่เข้ามาในเรือนไทย  ก็เพื่อหาโอกาสคุยเรื่องหนังสือเก่า   เล่าว่ายังมีหนังสือที่

มีค่ามหาศาลในเชิงประวัติศาสตร์  วรรณคดี   พอมีอยู่จริง  ไม่ได้สูญไปอย่างคำเล่าลือที่จำต่อกันมาไม่ถูกต้อง 




เล่ม ๑  ตอนที่ ๑๔  หน้า ๒๓๖ - ๒๓๗

เพื่อไมตรีระหว่างนักอ่านด้วยกัน  ดิฉันก็จะเล่าเรื่อง  แหม่มหลิน  Miss Irene  ลูกสาวของหมอบรัดเล

ตามประโยคโปรดของคุณหลวงเล็กสหายที่นับถือ  ว่า "พอเป็นน้ำจิ้ม"

โรงพิมพ์เก่าของหมอบรัดเลคือบ้านของเธอ  ตั้งอยู่ใกล้โรงพยาบาลของนักเรียนนายเรือ
     
คุณสวัสดิ์ท่านเล่าว่า   แหม่มหลินหลังโกงนิด ๆ  อายุประมาณ ๗๐ ในปี ๒๔๖๓     

ผมขาวเป็นธรรมดา  แต่งตัวเป็นฝรั่ง(คงนุ่งกระโปรงจีบบาน เป็นผ้าลินินดอกเล็ก ๆ กระจุ๋มกระจิ๋ม)

นักเรียนทหารเรือก็จะล้อเลียนโดยส่งจูบไปให้          แหม่มชอบใจ  ตอบมาว่า "พ่อวานร"

บางวันเธออารมณ์ไม่ดีก็จะทำปากขมุบขมิบ

       บ้านเธอรกมาก  ทั้งๆที่มีคนทำสวน   บางทีก็มีเสียงเปียนโนกระหึ่ม ............

(อ่านต่อคราวหน้านะคะ)   เนื้อไม่ค่อยมี  แต่ก็สนุกค่ะ      ต้องอ่านให้สนุกให้ได้


กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 ก.ย. 10, 08:28

คุณหมอคะ       


       เส้นทางของนักอ่านหนังสือเก่าทุกคน มิได้ปูด้วยกลีบกุหลาบ   ที่จริงก็เสียดายกลีบกุหลาบ

น่าจะเป็นหนทางที่เต็มไปด้วยขวากหนามเสียมากกว่า    อุปสรรคใดๆก็สู้ใจของเราไม่ได้หรอกนะคะ

ที่พูดมานี่ก็มิได้ตั้งใจจะมาบังอาจแนะนำอะไร           ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวแต่เดิม

ก็ไม่ได้ดี  หรือรับมรดกตู้หนังสือเดินทองจากผู้ใด   แต่พวกเรารักการอ่านค่ะ  เราอ่านทุกสิ่งทุกอย่าง

ที่มีตัวหนังสือ  ถุงกล้วยแขกสมัยนู้นเราก็อ่านค่ะ  เพราะกล้วยแขกแถวบ้านใช้กระดาษข้อสอบของ

นักเรียนมาทำถุง  อ่านแล้วดูคะแนนนักเรียนโรงเรียนอื่นสดชื่นเหมือนกัน


         

ขอยืนยันตามข้อความที่ขีดเส้นใต้ว่า  เป็นจริงทุกประการ 
นักอ่านหนังสือมักเริ่มฝึกวิทยายุทธ์จากการอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า
ส่วนนักสะสมหนังสือมักเริ่มเก็บเพราะความอยากอ่านและไม่มีใครให้ยืมหนังสือที่อยากอ่าน
จากนั้นความอยากอ่านก็จะเข้าเส้นเลือด  ทำให้เริ่มสะสมหนังสือมากเข้าจนไม่มีที่เก็บ
พอถึงระดับหนึ่งก็จะล้นบ้าน และเริ่มปลงได้ว่า  อ่านอย่างก็พออย่าเก็บสะสมเลย  ถ้าไม่ได้ใช้ประโยชน์
แต่ก็ปลงได้เท่านั้น   พอเผลอๆ ก็หามาเก็บอีก  จึงต้องคอยเตือนตนเองว่า  พอได้แล้ว


นิทานชาวไร่เป็นหนังสืออ่านสนุกดี  เหมาะแก่ผู้สนใจอ่านหนังสือประเภทเรื่องเล่าฟังเขาว่ามา
อ่านดี อ่านเพลิน แต่อย่าเพิ่งเชื่อถือเสียทั้งหมด  เพราะคนเขียนจดเอาตามคำที่ฟังมา
ยังไม่ได้สอบกับข้อมูลและเอกสารอื่นๆ  จึงอาจจะมีข้อผิดพลาดได้มาก
ท่านจึงได้ตั้งชื่อว่า  นิทานชาวไร่  เพราะมันไม่ใช่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์


กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 10 ก.ย. 10, 08:36

แต่พวกเรารักการอ่านค่ะ  เราอ่านทุกสิ่งทุกอย่าง

ที่มีตัวหนังสือ  ถุงกล้วยแขกสมัยนู้นเราก็อ่านค่ะ  

ชอบใจจริงๆครับ
ผมก็อ่านถุงกล้วยแขก กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อกะปิ ฯลฯ
สมัยถูกจับอยู่ในรังหนูตอนไปเรียนต่อเฉพาะทางที่ศิริราช
เพื่อนเอาหนังสือพิมพ์เก่าไปปิดช่องลมประตูส้วมไม่ให้กลิ่นโชยเข้าจมูกคนอื่นในรังหนู
ผมนั่งอ่านมัน ๒ ปี จนจำได้แทบทุกตัวอักษร  ;D

คุณพี่วันดีครับ สัมผัสของผมไม่ได้หมายถึงเป็นเจ้าของนะครับ  :D
ผมแค่อยากอ่านฉบับเต็มๆสักครั้งครับ


กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ย. 10, 10:43
นิทานชาวไร่ มีรายละเอียดผิดพลาดหลายอย่าง เช่นชื่อเจ้าจอมสดับ ท่านฟังเป็นเจ้าจอมตลับ    น.อ.สวัสดิ์ท่านบันทึกไปตามที่ได้ยิน แต่ไม่มีโอกาสหรือเวลาจะตรวจสอบความถูกต้อง
ดิฉันไม่มีหนังสือชุดนี้ แต่คุณ"มนันยา" ให้ขอยืมมาอ่านในระยะยาว   พอลงกระทู้เสร็จก็คืนท่านไปนานแล้วค่ะ


กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 10 ก.ย. 10, 12:18
จากความเห็นที่ ๕ ของคุณ Wandee

"คุณหลวงเล็กกำชับมาว่า อ่านแต่เล่ม ๑ ถึง ๕   ก็พอ    ดิฉันกลับไปเปิดอ่านอีกทีก็ออกจะเห็นด้วย"

ทำให้ผมทราบในขั้นต้นว่า ทำไมผมจึงได้หนังสือชุดนี้มาเพียงเล่มที่ ๖ ถึงเล่มที่ ๑๒ แต่ยังขาดเล่มที่ ๑ ถึงเล่มที่ ๕ หายังไม่พบ

จากคำนำในหนังสือ ท่านกล่าวออกตัวไว้แล้วว่า "ข้าพเจ้าจึงคิดว่าถ้าได้เขียนเรื่องประวัติศาสตร์เก่าๆ ให้นายทหารเรือชั้นหลังอ่านเป็นทำนองเล่านิทาน คงจะทำความเพลิดเพลินให้ผู้อ่านบ้าง ...
... ทุกเรื่องที่ข้าพเจ้าเขียนนี้ ได้จากประสบการณ์จริงๆ บ้าง ได้จากผู้เล่าเล่าให้ฟังบ้าง ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น"

ในความหมายของท่าน คงจะเป็นการบันทึกเรื่องที่ท่านได้รับฟังมาจาการสอบถามพูดคุยเท่านั้น  ไม่ได้มีการสอบทานข้อเท็จจริงจากแหล่งอื่น เพราะว่าท่านเขียนขณะป่วยอยู่ในโรงพยาบาล และเรื่องที่ท่านประสบด้วยตนเอง เรื่องจริงที่ท่านกล่าวถึงก็น่าจะหมายถึงท่านรับฟังมาอย่างนั้น ท่านก็บันทึกไว้อย่างนั้น แต่ตัวผู้พูดที่เล่าให้ท่านฟังก็เป็นปุถุชนธรรมดา จะเล่าเรื่องจริงมั่ง เท็จมั่ง ก็แล้วแต่อุปนิสัยของผู้เล่าท่านนั้น ท่านก็บันทึกไปตามที่ได้รับฟัง

แต่หนังสือชุดนี้ก็น่าจะใช้เป็นเข็มทิศอันหนึ่งสำหรับการค้นคว้าประวัติศาสตร์ต่อไปได้นะครับ





 



กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ก.ย. 10, 13:08


       ในเรื่องของทหารเรือ  นิทานชาวไร่มีประโยชน์มาก  น่าอ่าน

ไม่ว่าเราจะอ่านหนังสือเล่มไหน  เราก็ได้ประโยชน์ทั้งสิ้น  เป็นความรู้  ความเพลิดเพลิน

หนังสือชาวไร่ชุดที่ดิฉันมีอยู่นี้ เป็นชุดที่ ๓  ที่ผ่านมา

ชุดแรกน่าจะสมบูรณ์  อ่านตอนเป็นเด็กมัธยม   เหลือติดบ้านอยู่ไม่กี่เล่ม

วันดีคืนดีก็มีผู้ผ่านทางนำมาทิ้งไว้ให้ยืมอ่านอีกหนึ่งชุด  นั่นก็หลายปีมาแล้ว

มีผู้อ้างอิงหนังสือชุดนี้บ่อยครั้ง   ดิฉันก็เกิดอาการอยากอ่านอีกขึ้นมา  จึงไปร้องทุกข์ที่กลุ่มนักอ่านของดิฉัน

สหายเหลือทนเหตุผลต่าง ๆ ที่ดิฉันโอดครวญ     จึงให้มาหนึ่งชุด

ดิฉันได้ข้อมูลที่ต้องการแล้ว  ก็สบายใจ  เก็บหนังสือทั้งชุดเข้าตู้

อิ่มใจเหมือนแมวกำพร้าที่เพิ่งหาอาหารอิ่มท้อง

ในไม่ช้าไม่นานก็จะต้องไปหาอาหารอีกแล้ว


       แต่ถ้าดิฉันจะออกเดินทางผจญภัย   ดิฉันต้องมั่นใจว่าจะมีเข็มทิศดี ๆ  ค่ะ       
       
             


กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 18 ก.ย. 13, 13:36
ขุดกระทู้เก่าขึ้นมาเล่าขานต่อสักนิด .. พ่อหนุ่มสยามกระซิบมาว่าทางสำนักพิมพ์ต้นฉบับของคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ กำลังจัดพิมพ์ชุดนิทานชาวไร่อีกครั้ง ก็เลยเรียนสอบถามไปทางคุณธงชัย ก็ได้รับคำตอบว่าอีกสำนักพิมพ์หนึ่งกำลังดำเนินการจัดพิมพ์ครั้งใหม่แล้ว ทางสำนักพิมพ์ของท่านไม่ได้ทำ แต่กำลังจัดทำอีกเล่มหนึ่งอยู ตอนนี้ผมก็หยิบเอาเล่มที่มีอยู่มาอ่านใหม่

พ่อหนุ่มสยามให้ความเห็นว่าเรื่องราวในหนังสือชุดนิทานชาวไร่นี้เอาเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ได้ ผมก็บอกว่าใช่ เพราเรื่องราวต่างๆ นั้น ทางผู้เขียนได้เขียนขึ้นจากคำบอกเล่าของบุคคลที่สาม จะถือว่าเป็น "มุขปาฐะ" ก็ได้ จึงได้เขียนไว้ให้อ่านกันเล่นๆ เท่านั้น บางเรื่องก็ไม่มีสาระพอที่จะเขียนไว้เป็นประวัติศาสตร์ บางเรื่องที่น่าจะเขียนไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็เขียนไว้ตรงๆ ไม่ได้ ต้องอ้อมค้อมสมมตินามกันขึ้นมา เพื่อไม่ให้กระทบต่อบุคคลผู้ถูกกล่าวถึงที่ยังมีชีวิตอยู่หรือกับทางลูกหลานของท่านผู้นั้น และบางเรื่องไม่สามารถที่จะเขียนไว้ได้เลย

มีเรื่องหนึ่งในหนังสือนิทานชาวไร่นี้คือ การพาท่านจอมพล ป. หนีจากเรือศรีอยุธยา ตอนที่ถูกเครื่องบินระดมทิ้งระเบิด เมื่อคราวกบฏแมนฮัตตัน เหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงนั้น และรายชื่อทหารเรือทั้งหลายที่ถูกจับกุมและถูกฟ้องในข้อหากบฏ ท่านผู้ประพันธ์เขียนเล่าไว้ละเอียดมาก





กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ย. 13, 13:19
หวังว่าสนพ.ที่พิมพ์งานของท่านขึ้นมาใหม่ มีบรรณาธิการหรือเอดิเตอร์ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้อง โดยเขียนลงเป็นเชิงอรรถเอาไว้ว่าที่ถูกต้องคืออะไร  อย่างเช่นเจ้าจอมตลับ ที่น.อ.สวัสดิ์ท่านได้ยินผิดไป   ตัวจริงคือเจ้าจอม(ม.ร.ว.)สดับ    ถ้าแก้ไขตามนี้  จะเป็นประโยชน์แก่คนอ่านมากทีเดียวค่ะ
ในหนังสือโครงกระดูกในตู้ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ที่พิมพ์ใหม่ รวมกับเรื่องอื่นๆรวมเป็นเล่มใหญ่  น่าชมเชยมากที่มีบรรณาธิการคอยแก้ไขสิ่งที่ท่านผู้ประพันธ์เขียนผิดบ้างจำผิดบ้าง   โดยระบุไว้ในเชิงอรรถ   ไม่ได้ไปแก้ตัวเนื้อเรื่อง


กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: Neepata ที่ 22 ก.ย. 13, 00:03
หนังสือเล่มนี้พิมพ์แล้วจะวางขายที่ร้านหนังสือไหนคะ  หนูจะได้ตามไปซื้อเก็บค่ะ พึ่งจะได้หนังสือเมื่อคุณตาคุณยายยังเด็กมาครบ4 เล่มเพราะมาอ่านที่เรือนไทยนี้สนุกจนต้องติดตาม  ;D 


กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 22 ก.ย. 13, 06:54
ตอนนี้ทราบมาว่าเป็นสำนักพิมพ์ ถนนเฟื่องนครครับ


กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ย. 13, 10:59
หนังสือเล่มนี้พิมพ์แล้วจะวางขายที่ร้านหนังสือไหนคะ  หนูจะได้ตามไปซื้อเก็บค่ะ พึ่งจะได้หนังสือเมื่อคุณตาคุณยายยังเด็กมาครบ4 เล่มเพราะมาอ่านที่เรือนไทยนี้สนุกจนต้องติดตาม  ;D 
เป็นหนึ่งในเรื่องโปรดค่ะ  ดีใจด้วยที่คุณหาได้ครบ 4 เล่มแล้ว


กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: Neepata ที่ 28 ก.ย. 13, 00:19
ขอบคุณค่ะคุณลุงไก่ หนูจะลองติดต่อสำนักพิมพ์ดูค่ะ   
อาจารย์เทาชมพูคะ ขอถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือทำขนมชาววังสูตรดั้งเดิมต้นตำรับมีชื่ออะไรคะ แล้วหนูจะหาได้ที่ไหนคะ อยากเอามาเก็บไว้และหัดทำดูค่ะ เพราะหนูไม่รู้ว่ารสชาดชาววังจริงๆคือแบบไหน แต่ละร้านที่บอกว่าชาววังรสชาดไม่เหมือนกันสักร้านเลยค่ะ  ???
อีกเรื่องนะคะ คือหนูเก็บหนังสือกฎแห่งกรรมของคุณ ท เลียงพิบูลย์แบบฉบับรวมเล่มใหญ่ได้7 เล่ม ไม่รู้ว่าผลงานการเขียนของท่านมียังมือนอกเหนือจากนี้หรือเปล่าคะ
หนูชอบงานเขียนหนังสือ ภาษา การสื่อความหมาย การแสดงสรรพนาม ของนักเขียนรุ่นเก่าๆเพราะอ่านแล้วสบายใจดูสละสลวยดีค่ะ  และชื่นชอบงานเขียนของอาจารย์ด้วยนะคะ (แต่ไม่ได้หมายความว่าอาจารย์เป็นคนรุ่นเก่านะคะ หนูว่าอาจารย์ยังเอ๊าะๆอยู่เลย)   ;D


กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 28 ก.ย. 13, 05:48
ขอบคุณค่ะคุณลุงไก่ หนูจะลองติดต่อสำนักพิมพ์ดูค่ะ  
   ;D

ติดต่อสอบถามไปแล้วครับ คงจะต้องรออีกนาน หนังสือนิทานชาวไร่ที่ผมมีอยู่เป็นฉบับคุรุสภา ทั้งชุดมี ๑๒ เล่ม ผมขาดเล่ม ๑-๕ มีแต่เล่ม ๖-๑๒ ตอนนี้ถูกพ่อหนุ่มสยามตามจีบขอยืมอ่านอยู่

จากคำนำหนังสือ "พระราชนิพนธ์โคลงสุภาษิต" ที่จัดพิมพ์ขึ้นในงานพระราชทานเพลิงศพพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ ๖ เจ้าฟ้าเพชรรัตน ทรงใช้สรรพนามเรียกพระมารดาว่า "แม่ก๊ะ" พอจะมีท่านผู้รู้ให้คำอธิบายบ้างไหมครับ


กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ก.ย. 13, 07:37
จากคำนำหนังสือ "พระราชนิพนธ์โคลงสุภาษิต" ที่จัดพิมพ์ขึ้นในงานพระราชทานเพลิงศพพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ ๖ เจ้าฟ้าเพชรรัตน ทรงใช้สรรพนามเรียกพระมารดาว่า "แม่ก๊ะ" พอจะมีท่านผู้รู้ให้คำอธิบายบ้างไหมครับ

ตั้งแต่เมื่อแรกรับสั่งได้ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ ทรงเรียกพระชนนีว่า “แม่ก๊ะ” ซึ่งเลือนมาจากพระสุรเสียง “แม่คะ” อย่างเด็กหัดพูด

จาก เฉลิมพระเกียรติ" ๗ รอบปีฉลูนักษัตร"สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี  เรียบเรียงโดย ดร.ชัชพล ไชยพร  (http://www.g-pra.com/webboard/show.php?Category=show&No=164946)


กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 13, 11:03
   
อาจารย์เทาชมพูคะ ขอถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือทำขนมชาววังสูตรดั้งเดิมต้นตำรับมีชื่ออะไรคะ แล้วหนูจะหาได้ที่ไหนคะ อยากเอามาเก็บไว้และหัดทำดูค่ะ เพราะหนูไม่รู้ว่ารสชาดชาววังจริงๆคือแบบไหน แต่ละร้านที่บอกว่าชาววังรสชาดไม่เหมือนกันสักร้านเลยค่ะ  ???
ยังนึกไม่ออกเรื่องหนังสือทำขนมค่ะ   เอากระทู้นี้ไปอ่านก่อนดีไหมคะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5187.0


กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 13, 20:52

อีกเรื่องนะคะ คือหนูเก็บหนังสือกฎแห่งกรรมของคุณ ท เลียงพิบูลย์แบบฉบับรวมเล่มใหญ่ได้7 เล่ม ไม่รู้ว่าผลงานการเขียนของท่านมียังมือนอกเหนือจากนี้หรือเปล่าคะ
เจอแต่เรื่องกฎแห่งกรรมค่ะ   ไม่ทราบว่าคุณท.เขียนเรื่องอื่นนอกเหนือจากแนวนี้หรือเปล่า  ต้องรอท่านอื่นตอบ


กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: Neepata ที่ 29 ก.ย. 13, 22:31
ขอบคุณค่ะคุณลุงไก่ ถ้าโชคดีคงได้เจอตามร้านขายหนังสือเก่า , ขอบคุณค่ะอาจารย์เทาชมพู


กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 07 ต.ค. 13, 00:48
อยู่นี่ค่ะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1219.msg21306;topicseen#msg21306

เรื่องที่จะเล่านี้ เก็บความมาจากหนังสือเก่าชื่อ นิทานชาวไร่ ที่คุรุสภาจัดพิมพ์ตั้งแต่พ.ศ. 2515   และเหตุการณ์ในเรื่องก็ย้อนหลังกลับไปอีก ถึง พ.ศ. 2502
ผู้บันทึก เป็นอดีตนายทหารเรือเกษียณชื่อ น.อ. สวัสดิ์ จันทนี
ท่านเล่าเรื่องเกร็ดประวัติศาสตร์ไว้หลายเรื่อง ลงในวารสารนาวิกศาสตร์ ก่อนพิมพ์รวมเล่มดังที่บอกมา
เรื่องแรกที่จะเล่า คือเรื่องผีบุญ ในสมัยรัชกาลที่ 5  
ได้ตามลิ้งค์เข้าไปแล้วครับ
เคยอ่านนิทานชาวไร่สมัยที่ลงในนาวิกศาสตร์ ทุกๆเดือนที่ได้หนังสือมาก็อ่านเรื่องนี้ก่อนเลย ท่านน.อ.สวัสดิ์ท่านเขียนในแบบเรื่องเล่าสู่กันฟัง จึงเห็นภาพตามไปด้วย
ชอบตอนที่ท่านคุยกับหลวงวิฆเนศวร์ประสิทธิ์วิทย์ ที่เป็นแพทย์ศิริราชหมายเลข๑ แต๋ชีวิิตผกผันเมื่อไปร่วมกบฎร.ศ.๑๓๐ ท่านบริจาคร่างเป็นอาจารย์ใหญ่ โครงร่างของท่านอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กายวิภาคที่ศิริราช ท่านเสียชีวิตหลังการสนทนากับน.อ.สวัสดิ์ สักสองสามปี(๒๕๐๖)
ตอนหลวงวิฆเนศวร์ฯอยู่ใน๕เล่มแรกที่หายาก เคยไปเจอเล่มที่๖ ถึงเล่มสุดท้ายวางอยุ่บนชั้นตรงมุมอับๆที่ศึกษาภัณฑ์ราชดำเนินเมื่อ๒๐กว่าปีมาแล้ว


กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 07 ต.ค. 13, 21:07
นิทานชาวไร่ในมุมอับนั่น ผมกวาดมาได้หนึ่งชุดครับ มาตอนหลังแวะไปอีกยังมีเหลือติดชั้นวางอยู่หลายเรื่อง

เลยถือโอกาสกวาดมาอย่างละเล่มจนเกือบหมด รวมแล้วเกือบร้อย่เล่ม ขายตามราคาปก ใครล่จะทนได้


กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 13 ต.ค. 13, 02:12
ผมรู้จักนิทานชาวไร่มาจากหนังสือของคุณประเทือง ศรีสุข ทหารเรือเก่าที่ท่านเขียนเรื่องชีวิตทหารเรือและนักเรียนนายเรือ ที่ผมไปเหมาหนังสือท่านประเทืองมาจากสวนจตุจักรแบบ 3 เล่ม 10 บาทสมัยผมเด็กๆ โน่น ซึ่งท่านเก็บความหลายตอนมาจากนิทานชาวไร่ ทำให้อยากอ่านนิทานชาวไร่ แต่หาอ่านไม่ได้จนต้องไปหาถึงหอสมดแห่งชาติจึงเจอบ้าง  

ผมเคยไปศึกษาภัณฑ์ทั้งที่ราชดำเนินและลาดพร้าว จุดประสงค์คือเพื่อหานิทานชาวไร่อย่างเดียวเลย แต่หาไม่เคยเจอ ถามคนขายก็ไม่เคยได้  ได้แต่เหมาพงศาวดารจีนมาแทน ราคาถูกกว่ากระดาษเช็ดก้น ขายตามราคาปกเล่มละสองบาทมั่งสามบาทมั่ง แต่นิทานชาวไร่เคยได้มาเล่มหรือสองเล่มจากซุ้มของศึกษาภัณฑ์ในงานหนังสือเมื่อหลายปีก่อน แต่หลังจากนั้นไม่เคยเห็นอีกเลย  เล่มที่ผมมีก็เล่มเดียวกับที่ท่านอาจารย์เทาฯเก็บความมาเล่า เรื่องจาก มรว ร้าย นั่นแหละครับ ส่วนอีกเล่มมีแต่ชื่อเรือรบต่างๆ กับตัวละครในรามเกียรติ์ ไม่สนุก เศร้าเลย


กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 16 ก.ย. 14, 21:28
แจ้งข่าวครับ

อ่านกระทู้ท่านอาจารย์นวรัตนเรื่องสำนักหอจดหมายเหตุ  เลยละลึกถึงอดีตสมัยไปอ่านนิทานชาวไร่ที่หอสมุดแห่งชาติ  เลยลอง google เล่นๆ เผื่อว่าจะมีใครพิมพ์นิทานชาวไร่ใหม่หรือมีใครประกาศขาย ปรากฏว่าไปเจอขุมทรัพย์เข้าอย่างจัง


ตอนนี้มีบริการไฟล์ของนิตยสารนาวิกศาสตร์   มีการนำบทความเก่าๆ ที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารมาแปลงเป็น pdf ให้ download กันได้ตามอัธยาสัย ซึ่งมีนิทานชาวไร่ด้วย โดยเท่าที่ค้นหาได้มีตั้งแต่ที่ตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2503 - 2510 ทั้งหมดประมาณแปดสิบกว่าตอน   นอกจากนั้นยังมีบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกนับไม่ถ้วน ซึ่งแม้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับทหารเรือแต่ก็น่าสนใจไม่น้อย  เช่นเรื่องมนุษย์กบ  หรือยุทธนาวีต่างๆ

แม้ระบบอาจจะมีการแสดงผลที่ไม่สะดวกต่อการค้นหาและดูดเอกสารนัก แต่ก็นับว่าใช้ได้ หลังจากค้นหาตามชื่อของท่านผู้แต่งหรือค้นหาจาก tag นิทานชาวไร่ ระบบจะแสดงผลที่ละ 5 บทความ ให้เลือกปุ่ม FETCH MORE ITEMS ที่ด้านล่าง จะมีการแสดงผลเพิ่มอีกทีละ 5 ไล่ไปตามความเก่าของบทความ ค่อยๆ ไล่ไปจะสามารถโหลดนิทานชาวไร่ทั้งหมดที่มีได้  ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ามีครบหรือไม่ เพราะในบางปีบางเดือนก็ไม่มี ไม่ทราบว่าในเดือนนั้นไม่มีนิทานชาวไร่หรือมีการตกหล่น

ผู้สนใจสามารถเข้าไปได้ที่นี่ครับ

www.rtni.org/th/library/ (http://www.rtni.org/th/library/)

จากนั้นเลือก tag นิทานชาวไร่ ในมุมด้านขวาล่างๆ หน่อย


กระทู้: นิทานชาวไร่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 14, 09:34
   นับเป็นข่าวดีสำหรับผู้สนใจจะอ่านนิทานชาวไร่ ซึ่งมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในอดีตอยู่มากมาย    เกร็ดเหล่านี้ไม่มีในพงศาวดารหรือประวัติศาสตร์    เกิดจากการบันทึกความทรงจำของผู้เกี่ยวข้อง หรือผู้ได้รับการบอกเล่าสืบทอดกันมา
   แต่ก็ต้องระวังด้วยว่า ท่านผู้เขียนบันทึกจากคำบอกเล่าซึ่งมีข้อผิดพลาดได้ง่าย    ชื่อบุคคลหรือเหตุการณ์ในบางตอน ผิดพลาดอยู่เหมือนกัน เช่นเจ้าจอมตลับ ความจริงคือเจ้าจอมม.ร.ว.สดับ (ลดาวัลย์)