เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 43 44 [45] 46 47 ... 49
  พิมพ์  
อ่าน: 71162 ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 660  เมื่อ 20 มี.ค. 16, 18:16

ได้รับความกระจ่างดีครับ

ไม่ทราบว่ากรมควบคุมโรคติดต่อ หรือ กรมอนามัย ได้ตระหนักถึงเรื่องโรคเท้าช้างชนิดลงอัณฑะนี้กับแรงงานชาวพม่าบ้างเพียงใด ก็เชื่อว่าด้วยหน้าที่ตามภาระกิจ เรื่องพวกนี้คงอยู่ในบัญชีการเฝ้าระวังอยู่แล้ว    หากเกิดหลุดมือ เดี๋ยวอีกไม่กี่ปี ก็อาจจะมีโอกาสได้เห็นแฟชั่นอัณฑะโตกันบ้างละ     แต่ไทยก็โชคดีอีกนั่นแหละครับ ผมเดินทำงานในป่าในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่ามานานกว่า 20 ปี ยังไม่เคยพบคนที่เป็นเลย  แต่ก็ต้องเชื่อว่ามีแน่ๆ และก็คงจะมีกรณีน้อยมาก มิฉะนั้นคงไม่มี จนท.เข้าไปเจาะเลือดถึงในบ้านป่าแน่ๆ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 661  เมื่อ 20 มี.ค. 16, 19:07

คุณเพ็ญชมพู ได้กล่าวไปถึงยุงกับไข้มาลาเรียด้วย ก็เลยขอถือโอกาสแวะเรื่องนี้สักแว๊บนึ่ง 

พวกเราน่าจะต้องขอบคุณในความรับผิดชอบอันสูงยิ่งของ จนท.ที่บุกบั่นเข้าไปฉีด DDT ตามบ้านเรือนและเพิงพักโดดเดี่ยวในป่าทั้งหลายในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศไทย ในสมัย พ.ศ.2500+/-  ซึ่งเป็นโครงการปราบมาลาเรียที่สำคัญของเรา จนทำให้การแพร่กระจายไช้มาลาเรียในประเทศของเราลดลง   

ความรู้ที่ผมได้รับมา จะถูกหรือผิดอย่างไรก็มิรู้ได้  ว่า.. ที่เราเห็นฝุ่นสีขาว DDT ที่เกาะติดอยูู่ตามเสา ผนัง ฝ้า เพดาน ฯลฯ นั้น เมื่อยุงก้นปล่องมันมาเกาะ มันก็จะตาย การพ่น DDT แบบดาหน้าดะไปทุกตารางนิ้ว จึงเป็นการจำกัดการเดินทางของยุงก้นปล่องอย่างมาก    แต่ในช่วงหลังๆของโครงการ ชาวบ้านได้เล่าให้ฟังว่า ไอ้ฝุ่นขาวๆนั้นมันกลายเป็นปูนขาวเสียเยอะ   จำนวนคนไข้มาลาเรียที่น่าจะลดลงเหมือนในพื้นที่อื่นๆที่พ่นยามาแต่ก่อนนั้น ในบางพื้นที่กลับกลายเป็นว่ามีคนเป็นไข้มาลาเรียมากขึ้น 

ที่น่าสนใจ ก็คือ ในช่วงทศวรรษที่สองของพุทธศตวรรษ 2500 นั้น ได้มีการหักร้างถางพงอย่างขนานใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันตกของไทย  รุกป่ากันเป็นพื้นที่ต่อเนื่องเป็นผืนใหญ่ๆเพื่อปลูกอ้อยกัน  ป่าสงวนแห่งชาติที่ติดแผ่นป้ายบอกตอกติดไว้กับต้นไม้ตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง หายเกลี้ยงไปเลย เกลี้ยงไปจนชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ แนวเขตอุทยานก็เว้าๆแหว่งๆไปตามพื้นที่ๆชาวบ้านอาศัยอยู่มานานบ้าง ถูกบุกรุกบ้าง ฯลฯ   

ครับ... ป่าที่ชุ่มชื้นและแหล่งน้ำก็หายไป ยุงก้นปล่องและเชื้อมาลาเรียก็ลดจำนวนและหายไปด้วย เพราะว่ามันไม่มีแหล่งน้ำที่จะขยายพันธุ์ในระยะ 20 กม.ที่มันสามารถจะเดินทางได้โดยไม่มีที่แวะพัก         
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 662  เมื่อ 20 มี.ค. 16, 19:49

อยู่ดีๆ ไข้มาลาเรียในพื้นที่ๆที่ซาไปพักหนึ่ง ก็กลับมาอีก คราวนี้มาแบบแรง และแถมด้วยการดื้อยา

ครับ..เชื้อมาลาเรียมากับการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มารับจ้างตัดอ้อย   ซึ่งแรงงานเหล่านี้มาจากพื้นที่ใกล้ชายแดนเขมรที่ยังคงมีการระบาดที่ค่อนข้างจะรุนแรงของเชื้อมาลาเรีย    ภาคตะวันตกของเราก็เลยได้รับเชื้อมาลาเรียข้ามฟากมาจากฟากตะวันออก

สำหรับเรื่องของการดื้อยานั้น มาจากกระบวนการป้องกันการเป็นโรคของผู้คนทั่วไป    ครับ..ในยุคนั้น (ไม่รู้ว่าจะในยุคนี้ด้วยหรือเปล่า)   ครับ... มาลาเรียนั้นไม่มียาในเชิงของการป้องกัน มีแต่ยารักษา   การกินยาในเชิงของการป้องกันนั้น แท้จริงแล้วเป็นการกินยาฆ่าเชื้อเพื่อไปดักรอและทำการฆ่าเชื้อมิให้เกิดการเจริญพันธุ์ต่อไป   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 663  เมื่อ 21 มี.ค. 16, 19:05

ด้วยที่เป็นมาลาเรียมาหลายครั้ง แถมเชื้อตัวสำคัญที่พบในไทย เกือบร้อยทั้งร้อยจะเป็นชนิดขึ้นสมอง หากร่างกายต้านทานไม่ไหว เพียง 3-4 วัน ก็อาจถึงระดับที่เรียกว่าออกอาการเป็นคนบ้าได้ แม้จะรู้เรื่องแต่ต่างๆพอได้อยู่แต่ก็เพี้ยนไปเยอะเลยทีเดียว   

ผมทำงานอยู่ในป่า หากไม่รู้เรื่องนี้เลยและไม่วางแผนการเดินสำรวจให้ดี ก็อาจเจ็บป่วยถึงคางเหลืองได้ง่ายๆ    ขนาดมาป่วยอยู่ใน กทม. ไป รพ. หมอสั่งให้เจาะเลือดตรวจทันที (ก็ทำแบบ thin film blood smear) ไม่เจอเชื้อเพราะเป็นช่วงเวลาที่มันยังไม่ออกมาแผลงฤทธิ์    เมื่อไม่มีเรื่องของการ follow up ใดๆ   ก็ต้องรู้รักษาตัวเองละครับ รู้ได้แต่รักษาไม่ได้ ก็รอจนบ่ายแก่ๆ พอเชื้อมันแผลงฤทธิ์ จึงรีบไปอีก รพ.หนึ่ง   โป๊ะเชะเลย หมอว่าหากไม่เห็นตัวคนไข้ก็คิดว่าคงนอนเปลหามมาแล้ว เชื้อยุบยับไปหมด     ครับ.. เป็นมาหลายครั้ง ร่างกายมันก็รู้ สู้เต็มที่ให้เรายืนอยู่ได้ เราก็รู้ว่าควรจะปฎิบัติตนเองอย่างไร   ทำให้ผมต้องค้นคว้าหาอ่านและเรียนรู้จากผู้ที่พอจะให้ความรู้ได้

ขออนุญาตคุณหมอทุกท่านนะครับ  ขอเล่าประสพการณ์และความรู้งูๆปลาๆที่แสวงหาได้มาเพื่อการดูแลตนเอง   

ที่เรียกว่ายาป้องกันมาลาเรียนั้น ในสมัยนั้นเท่าที่หน่วยราชการแจกก็จะเป็น  Chloroquine (Aralen) ซึ่งเป็นยาพวก Quinine derivatives  ต่อมาไม่นานก็มีการใช้ยา Fansidar ซึ่งเป็นยาในกลุ่มยา Sulfa  ซึ่งผมเห็นด้วยว่าดีกว่า เพราะว่ามีผลข้างเคียงน้อยมาก ยกเว้นว่าจะแพ้ยาในกลุ่มซัลฟา       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 664  เมื่อ 21 มี.ค. 16, 19:24

ยาพวกนี้ กรณีใช้เพื่อเป็นการป้องกัน เขาจะให้กินอาทิตย์ละครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์ล่วงหน้าก่อนที่จะเข้าป่าหรือเข้าพื้นที่เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อมาลาเรีย และเมื่อพ้นออกมาจากพื้นที่เสี่ยงนั้นแล้ว ก็ยังจะต้องกินต่อไปอีก 4 สัปดาห์   

ในถาพโดยรวมก็คือ ให้มันมียาหมุนเวียนอยู่ในกระแสเลือดในระดับหนึ่งอยู่ตลอดเวลา มีเชื้อเข้ามาเมื่อไรมันก็จะถูกฆ่าไปในทันใด    ซึ่งหากเมื่อเกิดเป็นไช้มาลาเรียขึ้นมา ก็ใช้ยาพวกนี้ในการรักษาอีกแหละครับ แต่ในปริมาณหมุนเวียนในกระแสเลือดที่มากกว่า  จำได้ว่า อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 14 วัน   ทั้งนี้ แม้ว่าเชื้อในร่างกายจะตายหมดแล้ว แต่กว่าจะฟื้นตัวเองกลับมาเป็นปรกติอาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์

หากผมทำงานต่อเนื่องปีละ 6 เดือน  ไม่ติดยาก็คงเมายานี้อย่างต่อเนื่องตลอด 6 เดือนเป็นแน่แท้
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 665  เมื่อ 21 มี.ค. 16, 20:34

ผลข้างเคียงที่สำคัญของยาในกลุ่ม Quinine ที่ใช้ในเชิงของการป้องกันก็คือ อาการสมองตื้อ อาการหูอื้อ (หูตึง) และอาการท้องผูก  ในบางพื้นที่ๆมีไข้ป่ารุนแรง (เช่น แถว น้ำตกไทรโยค)  จนท.ทางการสาธารสุขก็จะให้กินสัปดาห์ละ 2 ครั้ง  เราก็เลยกลายเป็นคณะสำรวจแบบ มึนตึง คล้ายกลุ่มคนที่เมายา

ในยุคนั้น มีหน่วยที่สู้กับมาลาเรียอยู่หลายหน่วย  แจกยากันสะบั้น ชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ก็กินยานั้นบ้าง กินยานี้บ้าง ลืมกินบ้าง แถมมีพวกคนงานที่มาจากทางอีสานอีก เอาเชื้อดื้อยาตัวใหนมาบ้างก็ไม่รู้     ในสภาพเช่นนี้ ก็น่าจะอำนวยให้เกิดการดื้อยาในยุดไร่อ้อย/โรงงานน้ำตาลฟูเฟื่อง    การรักษาไข้มาลาเรียจากที่ง่ายๆด้วยการกินยาสองชนิดที่เล่ามา ก็เลยกลายเป็นเรื่องยากที่ต้องผนวกไปด้วยการใช้ยาอื่นๆร่วมด้วย   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 666  เมื่อ 21 มี.ค. 16, 20:49

ในเรื่องของการกินยาป้องกันแบบ 2 สัปดาห์ล่วงหน้าก่อนเข้าพื้นที่ และหลัง 4 สัปดาห์หลังจากออกจากพื้นที่นี้ ยังคงเป็นรูปแบบที่ปฎิบัติอยู่สำหรับผู้ที่จะเข้าไปท่องเที่ยวและพักแรมในพื้นที่ซาฟารี ของอัฟริกา (เซ้าท์อัฟริกา ซิมบับเว ฯลฯ)  ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะใช้ยาแตกต่างกัน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 667  เมื่อ 22 มี.ค. 16, 17:42

หากต้องกินยาต่อเนื่อง ุ6 เดือน ผมสงสัยว่าร่างกายและสมองคงจะมีสภาพที่แย่ลง ประสิทธิภาพของตนเองในเรื่องต่างๆที่พอมีอยู่บ้างก็คงจะลดลง  คณะสำรวจก็คงเบ๊อะบ๊ะกันน่าดู 

แล้วแก้ไขอย่างไร ?   เอาไว้ไปเล่าในอีกกระทู้ดีกว่านะครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 668  เมื่อ 22 มี.ค. 16, 18:06

เล่าต่อครับ

ในขณะที่เริ่มคุยกับหัวหน้าของเขานั้น  ปืน 4 กระบอกก็ยังประทับอยู่บนบ่าของอีก 4 คน เล็งมาที่หัวของคณะผม สองสามคนแรกต้องโดนเล็งอยู่แล้วแน่ๆ เพียงแต่เขายังไม่หยีตาข้างหนึ่ง (เพื่อเล็งเป้าก่อนที่จะเหนี่ยวไก)

คุยกันได้สัก 3-4 นาทีกระมัง ปืนทั้ง 4 กระบอกจึงลดระดับมาอยู่ที่เอว แต่ก็ยังอยู่ในท่าทางพร้อมใช้

ก็เป็นการคุยกันแบบคุมเชิง ฝ่ายเขาก็อยากรู้ตื้นลึกหนาบางของพวกเรา พวกเราก็อยากรู้เรื่องของพวกเขา  ฝ่ายเขานั้นอยู่ในสภาพพร้อมลุยเต็มที่อยู่แล้ว ส่วนฝ่ายผมนั้น มาคุยกันที่หลังจึงได้รู้ว่า ในขณะที่เบื้องหน้าดูสงบและเป็นมิตรดีนั้น ในใจต่างก็คิดว่าหากเกิดกระสุนนัดแรกโป้งออกมา จะต้องสู้อย่างไร จะต้องทำอย่างไร ทางหนีทีไล่จะเป็นอย่างไร  ส่วนตัวผมเองนั้นยังคิดไปถึงว่าแล้วจะทำอย่างไรดีกับคนของคณะที่กำลังเฝ้าแคมป์อยู่   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 669  เมื่อ 22 มี.ค. 16, 18:22

ที่จริงแล้ว ก็มีชาวบ้านที่มีบ้านอยู่ตามเชิงเขาที่จะข้ามเข้าไปห้วยขาแข้งเตือนมาตลอดว่า ให้ระวัง ในห้วยมีคนแปลกหน้าเดินอยู่ ทางราชการเขากำลังพยายามติดตามดูว่าเป็นใคร เป็นพวกใหน    แต่สำหรับผมนั้น รู้ว่าคนที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดห้วยขาแข้งนั้น น่าจะรู้เป็นอย่างดีอยู่แล้วว่าคณะของพวกผมเข้ามาทำอะไร   ก็เลยไม่คิดในเชิงร้ายและไม่กลัวจนหัวหด
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 670  เมื่อ 22 มี.ค. 16, 19:11

ก็ตลกดีที่เรื่องที่คุยกันนั้นคล้ายกับการสนทนาในหัวข้อเรื่อง "ไปใหนมาสามวาสองศอก"  เช่น เขาถามว่ามีวิทยุใหม เราก็บอกว่ามีแล้วก็เปิดธานินทร์ให้ฟังเลย    เขาถามว่า ใช้มีดดาบปลายปืนแล่เนื้อดีเหรอ (คนในคณะของผมคนหนึ่งเป็นอดีตทหารฝึกมาในหน่วยนาวิกฯ ซึ่งจะต้องมีดดาบปลายปืนห้อยเอวเป็นนิสัย) เราก็ตอบว่า ก็ใช้ช่วยมีดเหน็บ มีดพร้าได้ดีทีเดียว ลองหาซื้อใช้บ้างก็ดีนะ      เราถามเขาว่าทางไปได้ถึงใหน เขาก็ตอบว่าเขาไม่รู้ กำลังเดินหาที่ทำกิน  เป็นต้น   

คุยกันแบบต่างคนต่างก็กล้าๆกลัวอยู่ประมาณ 15 นาทีได้ละมัง  ก่อนจะแยกกัน เขาก็บอกว่า เดินไปเถอะ ไม่มีอะไรหรอก เจอใครก็บอกเขาว่าพบผู้ใหญ่บ้านโป่งสอแล้ว    ส่วนผมก็บอกว่า เดินไปเถอะแล้วจะเจอกับแคมป์ของผม มีคนเฝ้าอยู่ 2 คน เมื่อวานก่อนได้กวางมาตัวหนึ่ง แบ่งเอาไปกินได้เลย ตามสบาย

ส่วนที่เล่าตอนนี้เป็นภาพที่ปรากฏทางหน้าฉาก ซึ่งเป็นเวทีของเขาที่ผมเดินหลุดเข้าไปปรากฎตัว   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 671  เมื่อ 22 มี.ค. 16, 19:38

ในระหว่างที่คุยกัน   ผมก็ประเมินข้อมูลในเรื่องต่างๆ    ดูเครื่องแต่งกายของพวกเขา   อ้าว.. มันเหมือนกันทุกคนเลยนี้ เป็นชุดเครื่องแบบดีๆนี่เอง   

แบบเสื้อนั้มผมจำไม่ได้แม่น แต่คิดว่าเป็นแบบของชาวโม้ง   กางเกงเป็นทรงเอกลักษณ์ของชาวโม้งแน่นอน (เป้ายาน)  สีของเสื้อผ้าออกไปทางสีดำ (หรือไม่ก็ย้อมครามเข้ม)   ที่เอวมีผ้าคาดเอว แล้วก็มีปืน 11 มม.เหน็บเอวกันทุกคน  ใส่รองเท้ายางรถยนต์ทรงรองเท้าแตะที่มีสายรัดหุ้มส้น  ทุกคนสะพายย่ามไพล่หลัง ย่ามมีขนาดเท่าๆกันทุกคนและก็มีความโป่งพองของสิ่งของที่ใส่อยู่ในย่ามนั้นๆพอๆกัน  ทุกคนดูมีร่างกายและเสื้อผ้าที่สะอาด ท่าทางการถือปืนและการลดปืนลงและถือที่ระดับเอวเหมือนกันทุกคน  ปืนยาวที่ใช้ของทุกคนเป็นปืนที่เรียกชื่อกันว่า ปืนคาบิ้น (Carbine M1 Garand) ลูกกระสุนขนาด 30-30   ทั้งปืนยาวและปืนสั้นมีการดูแลรักษาอย่างดี มีความสอาดมาก       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 672  เมื่อ 23 มี.ค. 16, 18:29

เรื่องราวและภาพที่ผมเล่ามานั้น ดูเผินๆมันก็ดูจะไม่มีอะไรแปลก ก็เพียงเป็นการเผชิญหน้ากับกลุ่มคนที่มีสภาพเป็นนักรบ

เมื่อแยกกันแล้ว ผมก็หารือกับคนในคณะว่าจะเอาอย่างไร หลายคนคิดว่าอันตรายเกินไปแล้วและมีการเสนอให้เดินตัดเขาออกให้พ้นจากห้วยไปเลยโดยไม่ต้องเดินย้อนกลับไปที่แคมป์  ผมก็ว่าเราจะทิ้งคนที่เฝ้าแคมป์ไปได้อย่างไร (คนหนึ่งเป็นพนักงานขับรถคู่ชีพของผม) อดีตนาวิกฯบอกว่าลูกพี่จะเอาอย่างไรก็เอาด้วย    ในช่วงเวลานั้น ผมสังเกตเห็นอาการกลัวเพิ่มมากขึ้ันในบางคนจนถึงระดับลนระส่ำ (panic) 

ก็มีประมาณครึ่งๆกระมัง ที่อยากจะเดินออกไปเลย และ ที่เป็นห่วงคนข้างหลังซึ่งจะต้องเดินกลับไปดู    อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่จะเดินออกไปเลยนั้น ก็จะต้องเดินต่อไปเพื่อหาช่องเดินข้ามเขา   ผมตัดสินใจเดินต่อไปแบบช้าๆอีกประมาณครึ่งชั่วโมงกว่า เพื่อทิ้งระยะให้พ้นห่างจากกันเป็นระยะที่ไกลพอควร  แล้วจะว่าอย่างไรก็ค่อยว่ากัน  จากนั้นก็นั่งพักรอเวลาอีกประมาณ 1+ ชม. คะเนดูว่า เมื่อผมเดินกลับถึงแคมป์ กลุ่มคนมีปืนก็คงจะผ่านพ้นไปจากแคมป์แล้ว     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 673  เมื่อ 23 มี.ค. 16, 18:54

ในที่สุดทุกคนก็เดินย้อนกลับแคมป์พร้อมกัน    ในระหว่างทางเดินกลับ ก็ไม่รู้ว่าใครคิดอะไรกันบ้าง  แต่สำหรับผมนั้นคิดถึง worst scenario ว่าภาพที่พบจะเป็นแบบใหนได้บ้าง จะต้องทำอะไร จะต้องทำอย่างไร เป็นขั้นเป็นตอนอย่างไร....   ก็เกิดความกลัวเหมือนกันว่าจะพบกับอะไร

ครับ.. ความกลัว ความตื่นเต้นและความตื่นตระหนกต่างๆจะเกิดขึ้นเมื่อเราเริ่มวาดภาพและเห็นภาพต่างๆนั้นๆตามจินตนาการของเรา  ความกลัวนั้นๆเกือบจะไม่มีในขณะที่เรากำลังเผชิญอยู่ในสภาพการณ์นั้นจริงๆ  เมื่อผ่านเหตุการณ์นั้นๆมาแล้ว ก็จะเกิดความกลัว ความตื่นเต้นและความตื่นตระหนกต่างๆขึ้นมาอีก จากนั้นก็จะค่อยๆลดลงจนหายไป เมื่อนานวันเข้า เรื่องที่ผ่านมานั้นก็จะกลายเป็นเรื่องเล่าที่สนุกไป

ก็เดินกลับแคมป์กันด้วยความเงียบและด้วยความเร็วผิดปรกติ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 674  เมื่อ 23 มี.ค. 16, 19:20

มาถึงแคมป์ก็บ่ายๆแล้ว  ภาพแรกที่เห็นก็คือ บรรดาเนื้อที่ร้อยตอกแขวนไว้เป็นราวนั้น หายไปเกือบหมดเลย  เพ่งมองดูก็เห็นคนทั้งสองคนนอนเอกเขนกอยู่  ก็ใจชื้นไม่เป็นไรกันทั้งคู่ 

พอถึงแคมป์ก็ถามไถ่ ได้ความว่า มีลงมาประมาณ 50 คน ระรอกแรกประมาณ 10 คน ค่อยๆเดินแบบลาดตระเวณลงมา ระรอกที่สองลงมาแบบหน้ากระดานประมาณ 20 คน และระรอกที่สามอีกประมาณ 20 คน เดินลงมาแบบถือปืนในลักษณะปลดจากการสะพาย (พร้อมใช้) 

คนของผมเล่าว่ากำลังนอนเล่นคุยกัน ถอดปืนทำความสะอาดวางอยู่ เหลือบเห็นมีคนกลุ่มหนึ่งกำลังค่อยๆย่องเดินลงมาจากเนิน ก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านอนเล่นอยู่เฉยๆต่อไป  เช่นเดียวกันกับผม คนของผมบอกว่ามาล่าสัตว์ ได้กวางมา แบ่งเอาไปกินได้   พอ 10 คนแรกนั่งคุยกัน ก็มีอีกกลุ่มลงมา แล้วก็อีกกลุ่ม เนื้อที่ตากไว้ก็หมดไปเหลือทิ้งไว้ให้เล็กน้อยเท่านั้น   

ทุกคนรู้สึกเป็นสุขที่ทุกคนปลอดภัย 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 43 44 [45] 46 47 ... 49
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.053 วินาที กับ 19 คำสั่ง