เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: ติบอ ที่ 13 มิ.ย. 06, 23:31



กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 13 มิ.ย. 06, 23:31
 ช่วงหยุดยาวคราวนี้ ผมกับเพื่อนอีกหนึ่งนายได้เดินทางไปจังหวัดอยุธยามาล่ะครับ
ว่าแล้วก็เลยมีกระทู้ใหม่อยากเปิดเล่าเรื่องในเรือนไทยซักหน่อยเป็นของฝาก
เพราะสถานที่ สิ่งต่างๆ และเรื่องราวที่เราสองคนได้เดินทางไปเยี่ยมเยือน และประสบพบมา
ผมเชื่อว่าสมาชิกเรือนไทย หรือนักนิยมศิลปะมือสมัครเล่นอย่างผมอีกหลายท่าน อาจจะไม่ได้มีโอกาสอย่างที่ผมมีเท่าใดนัก
ว่าแล้วก็ขออนุญาตเอาเรื่องมาเขียนเล่าประกอบภาพเสียหน่อยนะครับ



ปล.1 ผมมีข้อแม้เล็กน้อยนะครับ ว่า "ผู้เล่า" ยังเป็น "ละอ่อนน้อย" ในแวดวงศิลปะอยู่ กระดูกก็ยังอ่อนนิ่มนัก
เลยต้องขอความกรุณาสมาชิกท่านอื่นที่มีความ "เชี่ยวชาญ" และ "ชำนาญ" กว่าผมมาช่วยกันต่อเติม "สาระ" ที่ผมขาดหายไปด้วยนะครับ
เนื่องจากการอนุเคราะห์ความรู้ของท่านมีค่ามากเหลือเกินสำหรับสมาชิกเรือนไทย (และมีค่าทางใจสำหรับเจ้าของกระทู้อย่างผมด้วยครับ)


ปล.2 ตอนนี้ผมก็เลยขออนุญาตพับกระทู้ "วัดกาลหว่าร์ โบสถ์แม่พระลูกประคำ" ลง PC ส่วนตัวไว้ก่อน
มาเปิดกระทู้ใหม่เล่าเรื่องที่ได้เดินทางไปอยุธยามาซะจะดีกว่า กลัวว่าเหล็กหายร้อนแล้วช่างอย่างผมจะหมดแรงตีน่ะครับ
แต่สัญญาครับ ว่าไม่ NATO ที่ย่อมาจาก No Action Talk Only อย่างแน่นอน
เพราะมะรืนนี้สมาชิกเรือนไทยที่ผมเรียนเชิญให้ช่วยอ่านต้นฉบับกระทู้คงจะกลับจากต่างจังหวัดมาถือมีดจี้คอหอยผมเหมือนเดิมแน่ๆครับ แหะๆ


ปล.3 ถ้าสมาชิกท่านใดทราบว่าได้เดินทางไปเป็นวิทยากรรับเชิญส่วนบุคคลให้ผมในครั้งนี้ และเป็นเจ้าของกล้องถ่ายรูปที่ใช้บันทึกภาพด้วย
ผมขอเรียนเชิญให้ช่วยเข้ามาทำหน้าที่วิทยากรต่อไป และขอรบกวนให้ส่งภาพถ่ายในกล้องของท่านให้ผมด้วยนะครับ
ขอบพระคุณอย่างสูง (ล่วงหน้า) ครับ อิอิ


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 13 มิ.ย. 06, 23:56
 บทที่ 0: ไปอยุธยา


ถ้าใครซักคน "เป็น" หรือ "รู้จัก" วิถีชีวิตของนิสิตสายวิทยาศาสตร์สุขภาพอยู่บ้าง
คงพอจะเข้าใจว่าคำว่า "เวลาเป็นของมีค่า" นั้น "มีค่า" ซักแค่ไหน

ผมเอง ถึงจะไมได้เรียนแพทย์ แต่ก็เหลือเวลาพักผ่อนให้กับชีวิตน้อยเต็มที
จนโดนเพื่อนแซวอยู่บ่อยๆ ว่า สมการชีวิตมึงน่ะ "วันหยุด + พักร้อน = ทำงาน + รายงาน"
เพราะอย่างน้อยนี่ก็เกือบ 3 ปีแล้วที่ผมไม่ได้เดินทางไปต่างจังหวัดที่เรียกได้เต็มปากเต็มคำว่า "ไปเที่ยว" อย่าง "หมดใจ"

จนกระทั่งช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนจำนวนมากคงอยู่ในช่วงเฉลิมฉลอง
ถนนหลายสายทั่วกรุงเทพมหานครปิดเกือบครึ่งวัน และรายการโทรทัศน์คงจะกลายเป็นข่าวในพระราชสำนักวันละหลายชั่วโมง
ผมเลยได้ตัดสินใจ "กบฏ" ใจตัวเองที่อยากอยู่บ้าน ทำงาน ดูโทรทัศน์ และชมเห่เรือไป "เที่ยว" มา

เริ่มต้นจากเมื่อช่วงต้นเดือน ที่ผมกับเพื่อนอีกนายหนึ่งได้ตกลงกันว่าจะเดินทางไปเที่ยวอยุธยา
ตอนแรกเรื่องก็ไม่ได้จริงจังอะไร เพราะนัดกันเอาไว้แค่ 2 คน สถานที่พักก็ไม่ได้หา
เนื่องจากคุณเพื่อนบอกว่า "ขออนุญาตคุณอาไว้แล้ว ให้พี่ไปพักที่บ้านด้วยได้"
แต่พอใกล้วันเดินทาง ในที่สุดเรา 2 คนผมกับเขาก็ตัดสินใจ "ไปเที่ยว" กันตามประสาเพื่อน

2 คนนี่ก็เพื่อนครับ เพราะถ้าใครหา "เพื่อน" คนที่ 3 ได้นี่ผมเรียกว่าเก่งมากล่ะครับ
ลองคิดดูสิครับ ว่าจะมีซักกี่คนมีความสุขกับการไปเดินกรำแดดทางไกลหลายกิโลเมตรเป็นชั่วโมงจนผิวลอก
เพื่อตามหาเสมาแกะสลักซักชุด หรือธรรมาสน์เก่าๆซักหลัง







แนะนำตัวละคร

นาย ติบอ
- ผู้เขียนบท ผู้เล่าเรื่อง และ "เจ้าของกระทู้"
ไอ้ฏั้ว- น้องชายที่น่ารัก ไกด์กิตติมศักดิ์ ผู้บันทึกภาพ และ "สมาชิกเรือนไทย"
ส่วนจะเป็นสมาชิกท่าไหน แนะนำตัวเองนะครับ อิอิ


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 14 มิ.ย. 06, 00:46
 บทที่ 1: บทสนทนาบนรถไฟ





การเดินทางของผมเริ่มจากออกจากบ้านก่อน 6 โมงเช้าเล็กน้อยแต่ก็สายเต็มที

เพราะผมต้องไปซื้อตั๋วรถไฟให้ทันที่หัวลำโพง เพื่อขึ้นรถขบวน 7 โมงเช้าเพื่อเดินทางไปอยุธยา



ผมถึงสถานีตอน 6 โมง 40 เพื่อต่อแถวที่ยาวพอสมควรเพื่อซื้อตั๋วรถไฟกับพนักงานขายตั๋วที่ทำงานอย่างสบายอารมณ์ตลอดเวลา

"เฮ่ย อยู่ไหนวะ" ผมโทรหาไอ้ฏั้วหลังจากได้ยินพนักงานขายตั๋วบอกให้ป้าคนข้างหน้ามาซื้อตั๋วใหม่ตอนบ่ายสาม 'ถ้ายังอยากกลับบ้านอยู่'

"ยังอยู่บ้านเลยพี่" เสียงงัวเงียของอีกฝ่ายตอบผมมาตามสาย ได้แต่ชวนให้ผมนึกในใจว่า 'แม่ง น่าอิจฉาชิบ'

เพราะสถานีรถไฟสามเสนที่น้องเขาขึ้นบรรยากาศรีบร้อนคงน้อยกว่าหัวลำโพงมากเอาการ







รถผ่านสถานีสามเสนตอนเกือบ 7 โมง 10 นาที ไม่นานนักเจ้าฏั้วก็เดินยิ้มร่าขึ้นรถไฟมา ใส่เสื้อสีเหลืองสดใสทันยุคทันสมัยเหมือนคนอื่นๆ

จากนั้นเราสองคนก็ย้ายที่นั่งนิดหน่อยให้อยู่บริเวณหน้าต่างที่แดดไม่ส่อง และคุยกันเรื่องแผนการเดินทางของวันแรก

สักพัก เขาก็หยิบหนังสือสีเทาหม่น สภาพกลางเก่ากลางใหม่ออกจากกระเป๋า ชื่อ "ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา"

คนเขียนก็แน่นอน จะใครซะอีกล่ะครับ อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ น่ะแหละ



แล้วเจ้าฎั้วเริ่มทำหน้าที่ "ไกด์กิตติมศักดิ์" ตามที่ "ลูกทัวร์" อย่างผมโทรไปขอแต่แรกไว้ทันที

เขาเปิดหนังสือไปที่หน้า 20 - 21 หยิบแผนที่แผ่นใหม่ที่เดาได้ว่าเพิ่งกดปุ่มสั่งพิมพ์ออกจากคอมพิวเตอร์ได้ไม่นานขึ้นมา และเริ่มบรรยาย

"สถานีรถไฟอยู่ตรงนี้" "วัดแถวนี้มีวัดนั้นวัดนี้" "ถ้าพี่จะไปพิพิธภัณฑ์เขาจะปิดวันจันทร์ อังคาร ต้อง...." ฯลฯ อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง



ในที่สุดบทสนทนาของเราก็ต้องหยุดไปเมื่อรถเข้าเทียบชานชาลาที่สถานีรถไฟบางปะอิน

"จะถึงแล้วพี่ ผมเข้าห้องน้ำนะ" ไอ้ฏั้วบอก ผมเลยเข้าห้องน้ำต่อจากเขาด้วย

หลังจากออกจากห้องน้ำไม่นาน รถไฟก็เข้าเทียบที่ชานชาลาสถานีรถไฟพระนครศรีอยุธยา







เจ้าฏั้วเลยถือโอกาสส่งหนังสือเล่มโตเมื่อซักครู่ให้ผมช่วยถือระหว่างหยิบของ ผมเลยได้โอกาสเปิดดูอีกหลายหน้าที่สงสัยไว้

อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ใช้เวลาทั้งสิ้น 5 เดือนในการ "สำรวจ" วัดต่างๆจำนวนมากในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

จากวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509 ถึง 31 มีนาคม พ.ศ. 2510 ถ้านับจนถึงปีนี้ ก็ร่วม 40 ปีที่ผ่านไปได้

หลายสิ่งหลายอย่างในบันทึกแต่ละหน้า ประโยคแต่ละประโยคของอาจารย์ คงเปลี่ยนแปลงไปจนหาร่องรอยของบันทึกไม่ได้อีกแล้ว

ถ้าผมใช้บันทึกเล่มเดิม มาค้นหาร่องรอยอดีตของเมืองเก่าอยุธยาเมื่อ 40 ปีที่แล้วกับปัจจุบัน ไม่รู้ว่าผมจะพลาดอะไรๆมากแค่ไหน







ว่าแล้วผมก็แอบให้เวลาตัวเองในใจถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2550 สำหรับตัวเองที่จะ "ค้นหา" เศษของ "ร่องรอย" ภาพอยุธยาที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน

เพราะ "อยากรู้" ว่ามันจะ "แตกต่าง" จากที่ อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ จะเคยเห็น "ซักแค่ไหน"


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 14 มิ.ย. 06, 08:47
 สวัสดีครับ ขออนุญาตแนะนำตัวหน่อยครับ ในฐานะคนที่ถูกกล่าวถึง แต่ไม่อาจเสนอตัวเป็นไกด์กิตติมศักดิ์ได้หรอกครับ อย่างผมเป็นได้แค่ลูกหาบเท่านั้นเอง

ท่าทางพี่ติบอจะยุ่งๆอยู่มากเลยนะครับ แต่ก็ดีใจนะครับ นานๆทีจะมีคนสนใจศิลปะอย่างลึกซึ้งเหมือนพี่เป็นเพื่อนร่วมทางเที่ยว


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มิ.ย. 06, 09:24
 ขอสวมหมวกปีกแข็งคุ่มก่อน   ถือแก้วชามะนาวในมือ  
เสร็จแล้วค่ะ    พร้อมจะเดินตามคุณติบอกับคุณกุรุฯไปละ
เก่งมาก ได้ตั้งห้าสิบเอ็ดวัด

ดิฉันทำได้แค่พาเพื่อนไป ๙ วัดใน ๑ วันเท่านั้นเอง  


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 14 มิ.ย. 06, 20:51
 กระทู้นี้ ทำให้คิดถึงอาจารย์ น.
แม้ว่าอาจารย์จะไม่ได้อยู่แล้ว
แต่ผลงานของท่านก็ยังเป็นแรง
บันดาลใจให้กับใครอีกหลายๆ คน
สมกับคำว่า "ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น"

ว่างๆ มาโพสอีกนะครับ จะแวะเข้า
มาอ่านอีกบ่อยๆ ขอบคุณครับ


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 14 มิ.ย. 06, 23:11
 ตอนที่ 2: วัดแรก



หลังจากออกจากสถานีรถไฟอยุธยาแล้ว วัดแรกที่ผมกับเจ้าฏั้วแวะก่อนจะข้ามแม่น้ำป่าสัก(ใหม่) เข้าสู่เกาะอยุธยา คือ "วัดพิชัย" หรือ "วัดพิชัยสงคราม" ซึ่งตรงกับหมายเลข 219 ในบันทึกหน้า 21 ของ อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ

สภาพวัดที่เห็นเป็นวัดใหม่(มากๆ) ซึ่งเปิดจากบันทึกเล่มเดิมแล้ว อาจารย์ก็ได้บันทึกไว้ถึงความเปลี่ยนแปลงของวัดที่อาจารย์ได้เห็นเอาไว้มากพอควร
แต่เศษอิฐ ซากปูน ที่อาจารย์เคยพบ หรือใบเสมาเก่าทำจากหินโม่ ที่ในบันทึกเมื่อ 40 ปีที่แล้วบอกเอาไว้ว่าทางวัดถอนเอาไว้ใต้โบสถ์ คงไม่เหลืออะไรให้คนรุ่นผมได้ดูแล้ว


ว่าแล้วก็เข้าไปชมภายในพระอุโบสถซักหน่อยแล้วกัน ไหนๆก็ก้าวขาเข้าเขตวัดมาแล้ว

ผมกับเจ้าฎั้วเข้าไปนั่งกันในพระอุโบสถได้ซักครู่ก็มีหลวงตารูปหนึ่งเดินเข้ามานั่งคุยกับพวกเรา
ท่านเล่าประวัติวัดให้พวกเราฟังว่าว่าเดิม วัดพิชัยสงครามชื่อ "วัดพิชัย" เป็นวัดที่พระเจ้าตากมาชุมนุมพลที่นี่ก่อนจะหนีไปเมืองจันทบูรณ์เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เสียใหม่โดยการรื้ออุโบสถไม้หลังเดิมออกไป และสร้างอุโบสถใหม่เป็นโบสถ์ปูนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2499

พระพุทธรูปองค์ใหม่ที่ประดิษฐานอยู่นั้น หลวงตาเล่าต่อไปว่าพระพุทธรูปองค์เดิมมีขนาดเล็ก ทางวัดกลัวว่าจะมีคน "พาท่านไปเที่ยว" เลยต้องเสริมให้องค์ใหญ่ขึ้นเหมือนอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

โบราณวัตถุเพียง 2 ชี้ที่เห็นว่าเป็นของเก่าในพระอุโบสถ คือ เศียรพระพุทธรูปศิลาแกะสลักสมัยอยุธยาที่ยังเหลืออยู่หน้าพระประธาน ซึ่งหลวงตาเล่าว่าเป็นเศียรพระพุทธรูปที่ชาวบ้านค้นพบบริเวณใกล้เคียงจึงนำมาถวายวัดเอาไว้

ส่วนจิตรกรรมฝาฟนังที่เพิ่งจะเริ่มเขียนได้แค่ภาพมารผจญ บนผนังสะกัดฝั่งตรงข้ามพระประธานนั้น ถึงช่างจะพยายามเขียนให้สวยสดงดงามเท่าใดแต่เห็นแล้วก็ไม่ได้แตกต่างจากจิตรกรรมในสมัยปัจจุบันที่พูดไปแล้วคือการ "เขียนให้เก่า เท่าที่ช่างจะทำได้"
(ต้องขออภัยสมาชิกอีกหลายท่านด้วย ที่ผมนิยมที่จะเรียกแบบนี้ เนื่องจากจิตกรรมในยุคนี้ อะไรๆที่ช่างเห็นว่าเก่าและงามจากทั่วสารทิศมักจะถูกจับมาไว้ด้วยกันเสียหมดอย่างไม่นึกถึงความสอดคล้องขององค์ประกอบภาพหรือสายครูช่างแต่ละสกุล) เท่าที่เห็นนี่ ก็เกินความคาดเดาของผมไปมากแล้วว่าภาพในห้องระหว่างบานหน้าต่างและทวารบาล จะถูกเขียนขึ้นอย่างไรบ้าง



แต่แค่ที่ได้เห็นนี้ก็พอบอกผู้ไปเยี่ยมเยือนถึงความเป็น "อยุธยา" ที่ผ่านยุค "ล่าโบราณวัตถุ" มาอย่างโชกโชนได้ตั้งแต่เริ่มวัดแรกเสียแล้ว






เศียรพระพุทธรูป 1 ใน 2 เศียรหน้าพระประธานในพระอุโบสถครับ

.


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 14 มิ.ย. 06, 23:21
 ขอบพระคุณ อ.เทาชมพู ที่เข้ามาเจิมกระทู้ให้เป็นศิริมงคลแก่สมาชิกเดินทางในครั้งนี้เป็นท่านแรกครับ

ส่วนคุณโพธิ์ประทับช้างครับ ถึงแม้ว่าผมจะ "โตไม่ทัน" ยุคของ อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ แต่ผมก็ขอนับถือท่านเป็นครูท่านหนึ่งของผม ผ่านงานเขียนหลายชิ้นของท่านครับ
ถ้าคุณได้ทันเป็นลูกศิษย์ที่ศึกษาหาวิชาความรู้จากท่าน ผมก็ขออนุญาตริษยาคุณอย่างสุดหัวใจทีเดียวล่ะครับ



คุณกุรุกุลา ว่างตรงกันเมื่อไหร่ไปเดินกันต่อนะ (แต่คราวนี้ไม่มีการโทรไปถามหา "วัดใหม่ประชุมพล" ตอนอยู่บางปะอินอีกแล้วนะ หิหิ)



เศียรพระพุทธรูปอีกเศียรในพระอุโบสถครับ จะยุคไหนสมัยไหนก็เกินความสามารถของผมที่จะจำได้เสียแล้ว
ขอความอนุเคราะห์จากสมาชิกท่านอื่นๆที่มีความรู้ความเข้าใจกับเรื่องพระพุทธรูปเข้ามาอธิบายด้วยนะครับ

.


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 15 มิ.ย. 06, 03:11
 ศิลปะอู่ทอง แบบอโยธยา-สุพรรณภูมิ ครับ
ซึ่งขณะนั้นคงรุ่งโรจน์แข่งกับศิลปะสุโขทัย

ส่วนใหญ่ พบใน ฝั่งตะวันตก-ตะวันออก
ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เมืองใหญ่ๆ
ในแคว้นสุพรรณภูมิ เช่น สุพรรณบุรี ราชบุรี
ชัยนาท เพชรบุรี นครปฐม เป็นต้น
และ เมืองใหญ่ๆ ในแค้วนอโยธยา-ลพบุรี

ปัจจุบันในกรุงเทพฯ, นนทบุรี และ พิษณุโลก
ก็พบหลายองค์ บางองค์พบไปไกลถึงสุราษฎร์ธานี

คนไทยกลุ่มนี้ถนัดการสลัก และทำกันเรื่อยมา
จนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น หลังจากนั้นก็หัน
มาหล่อสำริด-ปูนปั้นกันหมด


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 15 มิ.ย. 06, 14:22
 ง่า ขอโทษคุณติบอที่ลืมแต่งรูปไปให้ พระเศียรจึงดูเบลอๆ ไว้ทีหลังจะเอาเข้าโฟโต้ชอปให้ครับ


ขอบคุณคุณโพธิ์ประทับช้างที่ให้ความรู้ครับ ถ้าอ้างอิงตาม อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ท่านจะย้ำอยู่เสมอๆว่า พระที่สร้างด้วยหินทรายเป็นของที่ทำขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยา อยุธยาเองนั้นเป็นที่ราบลุ่ม มีแต่แม่น้ำไม่มีภูเขา เป็นเรื่องยากเหมือนกันที่จะคาดเดาได้ว่า ท่านไปหาหินทรายมากมายเหล่านั้นมาได้อย่างไร

อยากขอความเห็นต่อครับว่า ถ้าพระพุทธรูปเหล่านี้เป็นพระในพื้นที่ อโยธยา - สุพรรณภูมิจริงแล้ว เราจะอธิบายถึงที่มาของพระพุทธรูปแบบอู่ทองซึ่งมักสร้างด้วยสำริดและมีลักษณะแตกต่างกันได้อย่างไร

ถึงพี่ติบอครับ ผมว่างอยู่เสมอๆแหละครับ เมื่อไหร่พี่จะว่างอีกครับ นานๆจะมีคนรู้ใจไปเที่ยวด้วยสักคน


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 17 มิ.ย. 06, 15:47
 เอามาฝากคุณกุรุกุลา

หินทราย หรือ หินตะกอน มีลักษณะ เนื้อหยาบ จับดูระคายมือ
เพราะประกอบด้วยเม็ดทรายขนาดแตกต่างกัน
ส่วนใหญ่เป็นควอร์ตซ์ แต่อาจมีแร่อื่นและเศษหินดินปะปนอยู่ด้วย
เพราะมีวัตถุประสารมีความแข็งมากสามารถขูดเหล็กเป็นรอยได้
มีสีต่าง ๆ เช่น แดง น้ำตาล เทา เขียว เหลืองอ่อน
อาจแสดงรอยชั้นให้เห็น มีซากดึกดำบรรพ์  

กระบวนการเกิด จากการรวมตัวกันของเม็ดทราย
องค์ประกอบ ประกอบด้วยควอร์ตซ์เป็นส่วนใหญ่
อาจมีแร่แมกเนไทต์และไมกาปะปนอยู่ วัตถุประสาร
(Cement) ส่วนมากเป็นพวกซิลิกา (ควอร์ตซ์ หรือเชิร์ต)
แคลไซด์ โดโลไบต์ เหล็กออกไซด์ ซึ่งมักทำให้หินมีสีเหลือง
น้ำตาล แดง   บริเวณที่พบ เป็นหินที่มีอยู่ทั่วไป แต่พบมาก
ทางภาคอีสาน จังหวัดราชบุรี  เพชรบุรี กาญจนบุรี และ
ทางภาคใต้บางแห่ง มีประโยชน์ใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้าง
ทำถนน สร้างโบราณสถาน แกะสลักรูปปั้น เช่น พระพุทธรูป

 http://www.soil.civil.mut.ac.th/rock/stones/Sedimentary/Sandstone.html  


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 17 มิ.ย. 06, 15:49
 น้องติบอ หายไปในวัดที่อยุธยาแล้ว


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 17 มิ.ย. 06, 16:07
 ความลับของสำริด

พระพุทธรูปส่วนใหญ่ เราดูกันที่เนื้อสำริดขององคืพระครับ
เราจะรู้ว่าเป็นสำริดชนิดใด ก็ดูที่เนื้อองค์พระ มี 3 ชนิดใหญ่ ๆ เช่น
- สำริดเงิน ประกอบด้วยโลหะหลายชนิดสุดจะคาดเดา แต่แก่เงิน
- สำริดทอง ประกอบด้วยโลหะหลายชนิดสุดจะคาดเดา แต่แก่ทอง
- สำริดนาค ประกอบด้วยโลหะหลายชนิดสุดจะคาดเดา แต่แก่นาค

อู่ทองเป็นยุคที่หล่อสำริดได้ เก่ง,ใหญ่ และ บางที่สุด
แต่ไม่ว่าจะเป็นสำริดชนิดใด ก็ต้องใส่แร่ทองคำลงไป
เพราะทองจะทำให้สำริดเหนียวและทำให้สำริดไม่เปราะ
และแตก ทั้งยังทำให้ขึ้นรูปง่ายเวลาน้ำโลหะไหลลงไป
ในช่องของแม่พิมพ์ที่มีลายละเอียดมาก

ทองจึงนิยมนำมาตีเป็นแผ่นทองคำเปลวครับ
สมัยที่พระพุทธรูปใส่ทองมาที่สุด คือ พระพุทธรูป
สมัยเชียงแสนและสุโขทัย โดยเฉพาะเชียงแสน
โดยส่วนใหญ่จะมีปริมาณแร่ทองคำปนอยู่มาก
แทบจะทุกองค์ มากกว่าสุโขทัยเสียด้วยซ้ำ

คนไทยสมัยลพบุรีหล่อโลหะเก่งมาก มากกว่าเขมร
เสียด้วยซ้ำ หรืออาจจะเก่งที่สุดในโลก

ผมคัดมาฝาก เรื่อง "ศิลปะเขมรสูงชาวพุทธ" กล่าวถึงการหล่อสำริด
คัดลอกจากหนังสือพระพุทธรูปศิลปะสมัยอยุธยา
ประวัติศาสตร์ชนชาติไทยกับปฏิมากรรมในพุทธศาสนา เล่ม 1
ของ สมเกียรติ โล่ห์เพชรัตน์
พิพม์ครั้งที่ 2 หน้า373

"เป็นศิลปะที่มีอายุอยู่ช่วงสมัยกับศิลปะทวาราวดีและลวะปุระ ที่ปัจจุบันเรายังอนุโลมให้เรียก
พระพุทธรูปและปฏิมากรรมทางศาสนาอื่นๆ ที่มีอายุตั้งแต่ปีคริสต์ศตวรรษที่ 7-11
ว่าเป็นกลุ่มศิลปะทวา-อีสาน แต่ที่ถูกต้องตามความเป็นจริงในหน้าประวัติศาสตร์จะต้องเป็น
ศิลปะเขมรสูง ตั้งแต่สมัยก่อนเมืองพระนครหลวงจนถึงยุคนครหลวงตอนต้น จริงอยู่ในสมัยนั้น
โดยสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ศิลปะเขมรสูงกลุ่มนี้ได้ร่วมศิลปะกับศิลปะทวาราวดีที่อยู่ใกล้กัน
มานานแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ประชาชนและดินแดนส่วนนี้ก็ยังขึ้นอยู่ภายใต้การปกครอง
ของอาณาจักรกัมพูชาอย่างปฏิเสธมิได้ ศิลปะที่ค้นพบในดินแดนเขมรสูงแห่งนี้ มีทั้งปฏิมากรรม
ทางศาสนาพราหมณ์ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นงานปฏิมากรรมที่สร้างขึ้นเพื่อศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน
เช่น พระพุทธรูปที่แสดงสัญลักษณ์ของเหล่าธยานิพุทธ หรือ พระโพธิสัตต์ศรีอริยเมตไตรที่ค้นพบ
ที่อำเภอประโคนชัยที่โด่งดังไปทั่วโลก ที่มีอายุอยู่ระหว่างคริสศตวรรษที่ 8-9 มีรูปแบบคล้ายกับ
ศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุกของเขมรเมืองพระนครหลวง แต่มีรูปแบบที่แตกต่างออกไปตามสาย
สกุลช่างพื้นถิ่น

จากการศึกษาถึงด้านประติมานวิทยาจะเห็นว่า ตั้งแต่ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 8 ช่างในดินแดน
ประเทศไทยส่วนนี้มีประติมานวิยาทางการหล่อสำริดจะสูงกว่าในเมืองนครหลวงของอาณาจักร
กัมพูชามาก ดังพระราชวินิจฉัยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่พระองค์กล่าวว่า
หากเป็นการแกะสลักศิลาช่างเขมรจะเก่งกว่า แต่หากเป็นงานหล่อโลหะสำริดช่างลพบุรีจะ
เก่งกว่ามาก เพราะฉะนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่ปฏิมากรรมโลหะที่พบในกัมพูชาอาจจะ
หล่อจากเมืองลพบุรี แล้วส่งไปยังนครหลวงของกัมพูชา ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานที่ไม่น่าจะเกิน
ความเป็นจริงนัก เพราะมีการพบหลักฐานหล่อปฏิมากรรมรูปแบบต่างๆ ที่หล่อไม่ติดมีมากมาย
ที่ค้นพบในเมืองลพบุรี จนถึงทุกวันนี้ยังมีการค้นพบปฏิมากรรมโลหะแบบสำริดผสมในลพบุรี
จำนวนมากกว่ากัมพูชา

เพราะเหตุนี้ ผู้เขียนจึงขอฝากงานวิจัยให้ท่านนักปราชญ์ช่วยนำเรื่องศิลปะลพบุรีไปช่วยศึกษา
ค้นคว้าต่อ โดยเฉพาะหน่วยงานการศึกษาของทางราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพราะเหตุว่า
สิ่งที่ค้นพบเหล่านี้เป็นศิลปะภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย ที่น่าจะมีการขยายวงกว้างเจาะลึก
เขียนเป็นงานศึกษาวิจัยขนาดใหญ่สำคัญของชาติ ดีกว่าจะให้คนบางกลุ่มที่ไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์
ชอบนำมากล่าวแบบลอยๆ ไร้หลักฐานว่า ศิลปะเหล่านี้เป็นของกัมพูชา แต่เราก็ไม่ปฏิเสธว่า
กลุ่มเขมรสูงและกลุ่มมอญทวาราวดีซึ่งเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณษจักรกัมพูชาที่
ศูนย์อำนาจอยู่ที่เมืองพระนครหลวงนั้น เป็นบรรพบุรุษตัวจริงผู้มีส่วนริเริ่มการก่อตั้งรัฐไทย
โดยเฉพาะอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาที่ยิ่งใหญ่ของชนชาติไทย"

ลองอ่านเรื่องศรีจนาศะ
 http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Cid=130&Pid=52443  


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 18 มิ.ย. 06, 21:53
 ขอบคุณคุณโพธิ์ประทับช้างที่กรุณาให้ข้อมูลครับ ทีหน้าทีหลังขอเชิญชมกระทู้อีกนะครับ


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 18 มิ.ย. 06, 22:22
 ตอนที่ 3: ข้ามฝั่ง







"เฮ่ย เราค้องข้ามฝั่งไงวะไอ้ฏั้ว" ผมถามขึ้นระหว่างเดินออกจากวัดพิชัยสงครามออกมา

"ข้ามสะพานมั้งพี่" เจ้าน้องชายตัวแสบตอบพลางชี้มือไปที่สะพานปรีดี พนมยงค์ ที่สุดถนนไกลลิบๆนู่น

เราสองคนก็เลยตัดสินใจเดินต่อไปตามถนนจนถึงเชิงสะพานในที่สุด

แต่หลังจากที่มาถึงสะพานปรีดี ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสักแล้ว สิ่งที่ 'กระเหรี่ยงกรุง' 2 คนที่ไปลุยอยุธยาพบคือ "เฮ่ย  มันไม่มีบันไดขึ้นสะพานนี่หว่า"





มองขึ้นจากเชิงสะพานจะเห็นว่าสะพานปรีดีสะพานเก่า มีทางเดินทางด้านริมทั้งสองฝั่งเหมือนสะพานที่เป็นโครงเหล็กทั่วๆไป

แต่ปลายสุดส่วนที่ควรจะเชื่อมต่อเป็นบันไดเดินขึ้น ของไอ้เจ้าระเบียงทางเดินที่ว่าถูกปิดไว้ด้วยรั้วครับ บันได้หายไปไหนเสียก็ไม่รู้ได้





ผลที่ตามมาคือ 'กระเหรี่ยงกรุง' 2 คนก็เลยต้องเดินขึ้นสะพานไปสวนกับรถที่วิ่งลงมา

"เฮ่ย ถ้าพี่ถูกรถชนจะทำไงดีวะ เรียนก็ยังเรียนไม่จบ" ผมถามไอ้ฏั้วที่เดินตามหลังมาขึ้นด้วยความคึก

เจ้าตัวก็พลอยรับมุก ตอบผมมาให้อึ้งเล็กน้อยว่า "ไม่เป็นไรหรอกพี่ เกิดชาติหน้าก็มาเรียนได้"

เดชะบุญ ในที่สุดกระเหรี่ยงกรุง 2 คนก็ข้ามมาถึงฝั่งเกาะอยุธยาจนได้

ทางฝั่งเกาะอยุธยาริมสะพานยังเหลือบันไดอิฐเรียงเป็นขั้นๆอยู่ให้เดินไต่ลงมาได้กระย่องกระแย่งจนถึงพื้นให้ถอนหายใจได้ดัง "เฮือก" ซักหนนึง





หลังจากหายใจได้คล่องขึ้นแล้ว คำถามต่อไปที่เกิดขึ้นกับนักทัศนาจรกระเหรี่ยง ก็คือ 'ไปไหนต่อดี' คราวนี้ไกด์กิตติมศักดิ์อย่างไอ้ฏั้วเริ่มทำหน้าที่ของมันอีกครั้ง "ไปทางนี้มีวัดสุวรรณดาราราม แวะไปดูก่อนมั้ยพี่"

ผมก็ได้แต่พยักหน้าเดินตากแดดตามมันไปต้อยๆ ด้วยความไม่รู้เรื่องอะไรซักอย่างกับอยุธยานี่ครับ แหะๆ





คงต้องรอดูว่ามาอยุธยา 4 วันผมจะได้อะไรติดเขาไปมั่งล่ะครับ หิหิ


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 18 มิ.ย. 06, 22:34
 สรุปว่าถึงวัดสุวรรณดารารามแล้วนะครับ ผมให้พี่ภูมิเป็นคนเล่าดีกว่า

เขียนพระนเรศวรทรงบุญญา
ชิงชัยไอยราในสงคราม
คาบพระแสงแต่งองค์ณรงค์ศึก
ห้าวฮึกบุกประจันไม่ครั่นขาม
พระเดชายรรยงดังองค์ราม
อวตารปราบปรามดัสกร
โบสถ์เขียนเทพชุมนุมประชุมนั่ง
สกัดหลังเขียนไตรภูมิเป็นคำสอน
สกัดหน้ามารามาราญรอน
ผจญองค์บวรศาสดา


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 21 มิ.ย. 06, 18:55
 เที่ยวอยุธยาเป็นร้อยครั้ง
กินนอนก็นับครั้งไม่ถ้วน
แต่ไม่เคยเข้าไปดูภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถเลยสักครั้งเดียว
เพราะมักเป็นสถานที่ท้ายๆ ที่ไป
แล้วก็ "มึน" ตรงครัวป้อมเพชรเสียก่อนทุกครา

แวะมาปูเสื่อฟังเช่นคนอื่นซักคน
ที่นี่ร่มเย็นน่าพักผ่อนเสียเหลือเกิน


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 21 มิ.ย. 06, 22:07
 ยินดีต้อนรับครับ คุณ NickyNick ไปอยุธยาบ่อยอย่างนี้คงต้องให้มาช่วยแนะนำแบ่งปันประสบการณ์บ้างแล้ว วัดสุวรรณดารารามเองผมเคยไปแค่สองครั้ง ครั้งนี้ก็ไม่ได้พิจารณาให้ละเอียดเพราะติดงานบวช จะเข้าไปยุ่งย่ามนักก็ไม่งาม

อยากให้คุณติบอตอบเร็วๆจังเลยครับ ผมจะได้ตามอ่านบ้าง เห็นว่ากำลังมีงานยุ่ง


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 21 มิ.ย. 06, 22:18
 เชิญครับ คุณNickyNick จะรับเครื่องดื่มอะไร  หรือว่าขนมชนิดไหนถ้าผมหาให้ได้จะหามาต้อนรับครับ
ยกเว้นแต่เครื่องดื่มที่มี "ปริญญา" นี่ผมไม่ทราบจะหาให้จากที่ไหน จนใจจริงๆนะครับ อิอิ

ขอบคุณคุณกุรุกุลา สำหรับกลอนที่แต่งเข้ามาเตือนว่าต้องเล่าเรื่องวัดสุวรรณดารารามต่อ
ขอผมส่งรายงานฉบับวันพรุ่งนี้เสร็จก่อนแล้วกันนะครับ อาจจะหาเวลาว่างแวะมาแปะให้อ่านอีกซักสองสามตอนได้


วันนี้ขอตัวทำงานก่อนล่ะครับ เมื่อคืนนอนเอาเกือบสว่าง คืนนี้อยากนอนเต็มแก่แล้วครับ


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 25 มิ.ย. 06, 00:44
 ไม่รู้ว่า "โรคแอบนอย" จะระบาดมาถึงกระทู้นี้มั้ยนะครับ แต่คนไปเที่ยวด้วยกันมาก็บ่นกระปอดกระแปดอยู่ว่าผมไม่มาเล่าต่อซะที
แหม่ ใครจะไม่อยากเล่าล่ะครับ แต่สมุดบันทึกกับหนังสืออ้างอิงมันอยู่กันคนละที่นี่นา กลัวเขียนผิดเขียนถูกอ่ะ
แล้วคนเล่าก็ไม่ค่อยมีเวลาเท่าไหร่ คนคอยก็ต้องรอคนเล่าหาเวลาว่างกลับไปเอาสมุดบันทึกมามั่งสิครับ แหะๆ

วันนี้มาเล่าเรื่องต่อแล้วกันครับ





***************

ตอนที่ 4: วัดสุวรรดาราราม


กระเหรี่ยงกรุง 2 คนเดินตากแดดเวลาสายไปตามถนนจนเหงือซึมไปหมด ในใจผมเริ่มเห็นด้วยมาตะหงิดๆกับคำพูดของมัคคุเทศก์กิติมศักดิ์คนนี้ ที่ยืนยันมาทางโทรศัพท์ว่า "แล้วจะรู้สึก" ตอนผมปฏิเสธเจ้าตัวเรื่องเอาครีมกันแดดมาด้วย

เราสองคนเดินเลี้ยวเข้าไปตามป้ายบอกทาง "วัดสุวรรณดารารม" จนถึงหน้าวัดที่มีรถหลากสีหลายคันจอดเรียงรายกันอยู่ มองดูเห็นมีคนมากหน้าหลายตาเกินกว่าปรกติแต่ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไร จนจะเข้าไปชมด้านในพระอุโบสถน่ะแหละครับถึงได้เห็นว่าเขาทำพิธีบวชนาคกันอยู่ กระเหรี่ยงกรุง 2 คนก็เลยได้แค่เข้าชมพระวิหารและถ่ายภาพรอบๆมา


วัดนี้ ของที่ต้องมา "ถ่ายรูป" สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วๆไปคงหนีไม่พ้น ภาพพระนเรศวรมหาราชกระทำยุทธหัตถีซึ่งเขียนโดยพระยาอนุศาสนจิตรกร ด้วยสีน้ำมัน กับ ทวยไม้แกะสลักฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย

ส่วนนักท่องเที่ยวท่านไหนมีตำราเรื่อง "วัดสุวรรณดาราราม" ของ อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ มาเป็นคู่มือ ถ้าเปิดไปที่หน้า 13 หรือหน้า 19 ก็อาจจะเจอคำแนะนำสำหรับจิตรกรรมชิ้นอื่นๆด้วย
เพราะท่านแนะนำไว้ว่ามีภาพที่ "แจ่ม" ที่สุดอยู่ 5 ชิ้นได้แก่ ภาพกระบวนพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรฯ, ภาพสมเด็จพระนเรศวรฯ ยกทัพเข้ากรุงหงสาวดี, ภาพสมเด็จพระนเรศวรทรงพระสุบินฯ, ภาพสมเด็จพระนเรศวรฯ ชนช้างกับพระมหาอุปราชา, และภาพที่ทรงเล็งปืนไปยังเรือของพระยาจีนจันตุ

แต่สำหรับภาพทั้งหมดที่ได้กล่าวถึง รวมถึงคันทวยของวัดนั้น ผมต้องขอโทษผู้ที่เข้ามาอ่านกระทู้ด้วย ที่ไม่ได้หาภาพประกอบมาลงไว้ในกระทู้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นภาพที่กล่าวถึง เรียกได้ว่าเป็นจิตรกรรมฝาผนังสีน้ำมันที่น่าสนใจที่สุดชุดหนึ่งในประเทศ เจ้าของกระทู้จึงอยากขอความกรุณาจากผู้อ่านแต่ละท่าน ให้ท่านเดินทางไปชมความงามของจิตรกรรมดังกล่าวด้วยสายตาของท่านเองเถิด เพราะนักถ่ายภาพปลายแถวอย่างผู้เขียนกระทู้นี้นั้นหาได้เหมาะสมแก่การบันทึก "ภาพครู" ของจิตรกรรมชุดนี้ไม่




นอกจากจิตรกรรมที่สวยงามและทวยที่อ่อนช้อยแล้วนั้น อีกอย่างหนึ่งที่ถูกอกถูกใจกระเหรี่ยงกรุง 2 รายมากพอสมควรคือสิ่งปลูกสร้างร้างด้านหลังกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถออกไปทางด้านริมน้ำ ส่วนจะเป็นกุฏิเก่าหรืออะไรนักสำรวจมือใหม่อย่างผมที่ออกสำรวจเป็นครั้งแรกก็หาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ ทราบแต่ว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในสภาพชำรุดมากแล้ว
มีลักษณะเป็นเรือนยกพื้นขึ้น 2 ชั้น ด้านล่างเป็นห้องใต้ถุนมีผนังกั้นตรงกลาง ด้านข้างประตูบานแคบเจาะช่องให้เดินเข้าไปได้อยู่ทั้งสองฝั่ง ลักษณะชวนให้นึกถึงสิ่งปลูกสร้างสมัยอยุธยาตอนปลายหลายหลัง ที่มีบันไดจากภายนอกอาคารทอดขึ้นสู่ด้านบนและใช้ด้านล่างเป็นห้องใต้ถุน เช่น "ตำหนัก" ที่วัดเจ้าย่า แต่ที่นี่ดูเหมือนจะมีวิวัฒนาการมากกว่าเนื่องจากพื้นอาคารทางด้านบนเป็นปูน และมีร่องรอยเคยถูก "เดินสายไฟ" แล้ว ไม่ทราบเหมือนกันครับ ว่าจะเก่าซักแค่ไหน





ลองเอาภาพมาขอความรู้ครับ


.


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 25 มิ.ย. 06, 01:22


  ตอนที่ 5: ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา







หลังจากเดินลุยหญ้าสำรวจเจ้าตึกในภาพความเห็นเพิ่มเติมที่ 20 แล้ว ผมกับไอ้ฏั้วแวะกันมานั่งจดบันทึกเรื่องวัดต่างๆใต้ร่มไม้ใหญ่ของวัดซักพักแล้วจึงตัดสินใจเดินทางกันต่อไป



ตามแผนแล้ว เรา 2 คนต้องไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้ง 2 แห่งให้ครบในวันแรกและวันที่ 2 ของการเดินทาง เนื่องจากเป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์ เพราะพิพิธภัณฑ์ไทยจะปิดในวันจันทร์และอังคาร ดังนั้นสถานที่ต่อไปที่ควรจะแวะชมก็หนีไม่พ้น "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา" หรือ "พิพิธภัณฑ์ลูกเมียหลวง" ที่เราแอบเรียกกันในการเดินทางครั้งนี้ เพราะถือได้ว่า ศิลปะวัตถุที่จัดแสดงที่นี่ และความสนใจจากผู้คนภายนอกนั้น มีมากกว่าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทร์เกษมอยู่มาก (ขนาดผมมาทัศนศึกษากับอาจารย์พิเศษซึ่งเป็นอดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ท่านยังไม่แวะที่จันทร์เกษมเลยครับ เหอๆ)



แต่แล้ว เมื่อเดินมาถึงกลางทางสิ่งก่อสร้างสีขาวขนาดใหญ่ที่มีบางส่วนหักพังไปแล้วก็ดึงดูดตาให้ผมหันไปมอง



"ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา เหรอวะไอ้ฎั้ว" ผมหันไปถามไกด์กิติมศักดิ์ประจำตัว

"อืม นี่แหละพี่" มันตอบกลับมาท่าทางเนือยๆว่า "แวะมะ"

แน่นอนครับ ผมแวะอยู่แล้วล่ะ ก็ศูนย์ที่นี่สู้ลงทุนเอาป้ายไปแปะไว้ทั่วเมืองนี่นา ว่า อยากศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาให้มาเริ่มต้นที่นี่

เรา 2 คนก็เลยได้เดินข้ามสระน้ำด้านหน้าลงไปซื้อบัตรเข้าชมศูนย์ที่ว่าเพื่อจะขึ้นไป "เริ่มต้น" กับอยุธยาที่นั่น





หลังจากที่เข้าชมด้านในแล้ว ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ที่นี่ก็ไม่ต่างจากศูนย์ศึกษาอะไรต่อมิอะไรของรัฐบาลไทยเสียเท่าไหร่ ที่จัดเตรียมทุกอย่างเอาไว้ "เปิดศูนย์" สำหรับคนตัดริบบิ้น

ส่วนคนเข้าชมจะพบเห็นอะไร รัฐบาลไทยไม่สนใจอยู่แล้วเพราะถือว่า "ไม่ได้หน้า" เช่น ซุ้มต้อนรับทางด้านหน้าของศูนย์ที่นี่ก็หักเสียแล้ว



สิ่งต่างๆภายในศูนย์ยิ่งเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญสนับสนุนความรู้สึกของผมยิ่งกว่าด้านนอกเสียอีก ของที่จัดแสดงและยังพอจะอยู่ในสภาพดีอยู่ส่วนมากมักเป็น "ถาวรวัตถุ" ซึ่ง มีความคงทนสูง เช่นกระจกแกะสลักบานโตลายการแสดง 'ชักนาคดึกดำบรรพ์' หรือไม่ก็ต้องเป็นของที่เก็บรักษาในตู้กระจก แต่เนื่องจากตู้กระจกที่นี่มีลักษณะเปิดเป็นร่องจึงทำให้ของต่างๆที่จัดแสดงด้านในมีฝุ่นเกาะจนไม่สามารถเห็นรายละเอียดของของได้ครบถ้วนนัก ไม่เว้นแม้แต่เครื่องเบญจรงค์ราคาเรือนหมื่นหลายชิ้น



ส่วนปุ่มกดชมมอนิเตอร์ หรือฟังเสียงทางด้านในก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ ของพวกนี้ในพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศไทยร้อยละร้อยมักตกที่นั่ง "นิทรรศการหมุนเวียน" ไปโดยปริยาย คือใช้จัดแสดงได้ในช่วงแรก และเสียเมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน แต่จะ "หมุนเวีน" กลับมาชมได้หลังจากการซ่อมบำรุงสามปีครั้ง

แต่จะว่าคนไทยเลยก็อาจจะไม่ได้ เพราะผมเคยพบกับตัวเองว่า ปุ่มกดต่างๆในศูนย์วิทยาศาสตร์ที่สิงคโปร์ก็อยู่ในสภาพไม่ต่างกันกับเมืองไทยเลย โดยเฉพาะในช่วงหลายปีหลังมานี่ที่เด็กไทยไปเที่ยวกันมากขึ้น !!





ในที่สุดผมกับไอ้ฎั้วก็เลยตัดสินใจเดินออกจากศูนย์ฯ เพื่อไปชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาต่อไป สำหรับไอ้ฎั้ว เขาจะมีความรู้สึกอย่างไรกับศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ที่นี่ผมก็ไม่ทราบได้ แต่สำหรับผมนั้น เสียดายเวลา และกำลังขาที่เดินขึ้นไปชมเอาการ (ส่วนเงิน 10 บาทนั้นไม่ต้องพูดถึง ถือว่าบริจาคให้เขาไปซ่อมปุ่มกดซักปุ่มก็แล้วกัน)









ไม่มีภาพถ่ายภายในศูนย์ฯ มาให้ชมนะครับ ผมเลยเอาภาพพระอุโบสถวัดสุวรรณดารารามมาฝากกันแทน (ภาพนี้ท่านผู้อ่านกระทู้กรุณาอย่าถือสานะครับ คนถ่ายสายตาเอียงครับ หุหุ)





.



กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 มิ.ย. 06, 09:19
 กว่าจะครบ 51 วัด คนเล่าคงไกล้เกษียณเต็มที ส่วนคนอ่านกลุ่มหนึ่งขอลาไปเกิดใหม่อีกรอบ.....55555

ศูนย์อะไรที่คุณจ่าย 10 บาทนั่น เขามีชื่อจริงว่า "ศูนย์ญี่ปุ่น(อยาก) ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา"
ทุกบาททุกสตางค์ เป็นเงินเยน คนออกแบบก็เป็นเยน ผู้รับเหมาก็เป็นเยน ยังดีเขาไม่เก็นค่าชมเป็นเยน
นักวิชาการไทยที่รับใช้ญี่ปุ่นอย่างซื่อสัตย์ จะถูกเกณฑ์มาแสดงฝีมือที่นี่ คนละหนุบคนละหนับ ตอนเปิดใหม่ๆ เป็นที่ฮือฮามาก

ในนั้นมีอะไรน่าชมอยู่หลายสิ่ง ทำไมไม่เล่าให้ฟังกันบ้าง
อย่างเรือนไทยจำลองที่เขาทำให้ชมน่ะ
ฉีกตำราเรือนไทยทุกเล่มทิ้งได้เลย
พวกเราสร้างผิดมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองละกระมัง ยังดีที่เขามาทำให้ดู พอหายโง่


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 25 มิ.ย. 06, 09:43

คุ้มค่ากับที่รอคอยครับ

ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ที่ว่านี่คือในรูปนี้หรือเปล่าครับ
เพราะตามเส้นทางเดินแล้วคงจะเป็นจุดนี้  เพราะอยู่ไม่ไกลกับพิพิธภัณฑ์ลูกเมียหลวง กับวัดสุวรรณดารารามเท่าใด

เคยฟังตามเกร็ดที่เขาเล่ากันมา  บอกว่าญี่ปุ่นให้เงินมาสร้าง แต่ต้องการให้สร้างตรง "บ้านญี่ปุ่น" ฝั่งตรงข้ามเจ้าพระยากับ "บ้านโปรตุเกส"

ไม่รู้ว่าทำไมรัฐบาลสมัยนั้นถึงได้โยกเงินมาสร้างตรงนี้ได้  ผิดวัตถุประสงค์ของเขา  หากมองด้วยใจเป็นธรรม  ก็น่าเห็นใจญี่ปุ่นเหมือนกัน  แต่ไทยเราก็ยังดี  เห็นว่าทำเป็นศูนย์ศึกษาฯ หน่วยย่อยให้ที่บ้านญี่ปุ่นเพิ่มอีกนิ้ดดดดดด ไม่ให้คนออกเงินเขาน้อยใจ

......................

เป็นสมาชิกใหม่ครับ
ลองพยายามส่งรูปดู  น่าจะขึ้นนะ
รูปนี้รีบถ่าย เพราะนั่งรถรางล้อยางที่เขาจัดให้ท่องเที่ยวชมโบราณสถาน  ราคาผู้ใหญ่นั่งคนละ ๒๐ เด็ก ๑๐ บาท
เริ่มนั่งจากปางช้าง  วนไปเรื่อยๆ ใกล้ตลาดเจ้าพรหม - ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ฯ แล้วก็กลับมาที่เดิม  วันนั้นพาเด็ก (จริงๆ) ไปด้วยหลายคน  ลองนั่งเปลี่ยนบรรยากาศดู  เย็นดี


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 มิ.ย. 06, 11:44
 คุณ NickyNick ถ่ายรูปได้มุมเหมาะเจาะ

งานออกแบบสมัยใหม่นี่เข้าใจยาก คือเขาไปทำสิ่งที่ไม่ต้องทำ มากกว่าสิ่งที่ต้องทำ เสียดายปูน ดูแล้วนึกว่าวิทยาเขตธรรมศาสตร์ ไม่เป็นสถาปัตยกรรม ดังนั้นจึงไม่เป็นไทย
"สูญ" บ้าๆ แห่งนี้ ทำตัวเหมือนกล่องชาเขียวปัจจุบันนี้ คือมีแต่คำประกาศสรรพคุณเต็มสองตา ฉูดฉาดหวือหวา ทำตัวเป็นของมีค่า หัวสูง แต่เนื้อในไม่มีอะไร
ผมยังเสียดายที่ดิน เสียดายทางเดิน เสียดายบ่อน้ำ ....เสียดายหลายอย่าง มันควรจะทำได้ดีกว่านี้พันเท่า ถ้ารู้จักคิดเสียหน่อย

ตอนแรกเขาก็อยากสร้างที่หมู่บ้านญี่ปุ่นครับ แต่ที่ดินมีเจ้าของ รัฐบาลไม่อยากเวรคืน (เวรนะครับ ไม่ใช่เวณ คือจะได้กรรมเวรกลับคืน ถ้าไปเวณคืนมาทำสูญสัปปะรังเคแบบนี้) ที่ตรงนี้ดูเหมือนเป็นของสถาบันแห่งหนึ่ง เลยริบมาง่ายหน่อย

ให้ผมเดานะ ผมว่าพี่ยุ่นคงอยากสร้างอนุสาวรีย์ยามาดะ มากกว่า
ตั้งชื่อว่า A man who would be king
เท่ ระเบิด


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 25 มิ.ย. 06, 12:25
 โถ่ คุณpipat ครับ ผมน่ะ งานหลวงเป็นนิสิต งานราษฎร์เป็นช่าง(สาระพัดช่าง) งานอดิเรกเป็นสมาชิกเวบวิชาการ
แล้วจะให้ผมทำงานอดิเรกจนเกินหน้างานหลวง งานราษฎร์ ที่ผู้ใหญ่ท่านสอนสั่งกันว่า "ไม่ให้ขาดไม่ให้เกิน" ตอนช่วงเปิดเทอมน่ะ เห็นทีจะยากนะครับ

แค่นี้ผมก็เรียนตกๆหล่นๆมากพอดูแล้ว คุณpipat ก็ไม่รับเป็นศิษย์ มีหรือจะกล้าละงานหลวงงานราษฎร์มาทำงานอดิเรกได้



ปล. เห็นคุณpipat เข้ามากระทู้นี้แล้วแอบดีใจ ว่าเรามีที่พึ่งขอความอนุเคราะห์เรื่องพระยาอนุศาสนจิตรกรได้แล้ว
รบกวนคุณpipat เล่าคร่าวๆให้เด็กน้อยในกะลา(ที่แย่งคุณหมูฯมา) ฟังได้มั้ยครับ (นะครับ นะ)


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 มิ.ย. 06, 12:50
 หลานพระยาอนุศาสนฯ ทำผมไม่อยากเอ่ยถึงท่าน

เอาง่ายๆ อย่างนี้ละกัน
ในทางช่างภาพ ท่านเป็นรองก็เพียงฟะรันซิศจิต
ในทางจิตรกรรม ท่านก็เป็นรองเพียงขรัวอินโข่ง
ในทางวาดเส้น มีเพียงสมเด็จฯ นริศ ที่เหนือกว่า

ท่านรับพระบรมราชโองการรัชกาลที่ 7 รับเขียนที่วัดสุวรรณดาราราม ลองบวกลบดูว่าตอนนั้น ท่านอายุเท่าไร
ลอยเรือกินอยู่หลับนอนบนเรือหน้าวัด จนงานสำเร็จ
มีชีวิตรอดกลับเข้ากรุงได้ (อันนี้คุณชำนาญ อินทุโศภณ เล่าให้ฟังที่ระเบียงบ้านท่าน ตรงซอยสวนพลู)

นานนนนน มากกกกกแล้ว ไม่เคยบอกใคร


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 25 มิ.ย. 06, 13:27
 ง่า... นั่งอ้าปากค้าง  ...คนสมัยก่อนมีอายุยืนยาวดีจริง..อาหารการกินคงดีมีประโยชน์ ไม่มีขนมกรุบกรอบราคา 5 บาท ที่หาประโยชน์ใดๆไม่ได้เลยนอกจากมีแพคเกจ ที่ดูสวยน่าซื้อ อย่างสมัยนี้    


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 25 มิ.ย. 06, 13:37
 ฟังคุณ pipat เล่า
แล้วนั่งอ้าปากค้างงงงงงงงงงง เหมือนกันเยย
นานมากกกกกกกกก ขนาดนั้นเลยเหรอ
โชคดีที่ผมได้รับรู้พร้อมกับท่านอื่น ในนี้


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 มิ.ย. 06, 14:12
 คุณชำนาณ เสียชีวิตเมื่อ 2534 กระมัง
ผมไปพบท่านที่บ้าน อยากรู้เรื่องหนังสือพิมพ์ไทยเขษม
ก่อนท่านตายสิบกว่าปี หลายคนในนี้ยังไม่เกิดกระมัง

ลองไปหา "นักวาดในดวงใจ" ของเอนก นาวิกมูล มาอ่านดู
มีทั้งพระยาอนุศาสนจิตรกร และคุณชำนาณฯ
รวมทั้งคนอื่นๆ อีกเพียบ
ถ้าใจร้อน อ่านนี่ก่อน

 http://www.matichon.co.th/art/art.php?srctag=0606010348&srcday=2005/03/01&search=no  


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 06, 14:43
 ลิ้งค์ของคุณพิพัฒน์ ดิฉันเข้าไม่ได้ ไปขอน้องกู๊กช่วยหาให้ถึงเจอ
เลยเอามาลงให้อ่านกันเต็มๆ เผื่อบางคนเข้าไม่ได้เหมือนกัน

ศิลปวัฒนธรรม - วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 26 ฉบับที่ 05

ภาษา-หนังสือ

หลง ใส่ลายสือ

จันทร์ จิตรกร ศิลปินคู่พระทัยรัชกาลที่ ๖

คนที่นิยมชมชอบหนังสือเก่า น่าจะเห็นพ้องต้องกันว่า หนังสือ "ปกสวย" คือหนังสือพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ มีเอกลักษณ์เป็นลายไทย ลายเถา พิมพ์ทองบนหน้าปก มีความประณีตงดงาม ยากที่หนังสือรุ่นอื่นๆ จะเทียบได้

ส่วนหนึ่งของหนังสือ "ปกสวย" นั้น เป็นฝีมือของพระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ผู้ที่รับสนองพระราชกระแสรับสั่งเขียนภาพต่างๆ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นจำนวนมาก รวมทั้งภาพประกอบในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องต่างๆ เช่น ลิลิตนารายน์สิบปาง เป็นต้น มีภาพประกอบเทวดา นางฟ้า ยักษ์ ลิง อย่างงดงาม ตามที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์คำนำ ในหนังสือลิลิตนารายน์สิบปาง ฉบับพิมพ์ปี ๒๔๖๖ ว่า "ส่วนภาพที่เขียนขึ้นใหม่สำหรับหนังสือเรื่องนี้เปนฝีมือจางวางตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จัน จิตรกร), และข้าพเจ้าขอขอบใจฃ้าราชการผู้นี้ที่ได้ช่วยประดับหนังสือนี้ด้วยฝีมือ."

ท่านผู้นี้จึงถือได้ว่าเป็น "ศิลปินคู่มือ" คนสำคัญคนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๖ สมควรที่จะบันทึกประวัติและผลงานให้คนไทยได้รู้จัก พระยาอนุศาสน์จิตรกร ซึ่งเป็นทั้งคนเขียนภาพประกอบ จิตรกร และช่างภาพ คนสำคัญของไทยไว้พอสังเขป

น่าเสียดายที่ขณะนี้ยังไม่พบหนังสืองานศพของท่าน พบแต่หนังสืองานศพของบุตรสาวท่าน คือคุณหญิงบำรุงราชบริพาร (อำพัน สุนทรเวช) ซึ่งได้รวบรวมประวัติชีวิตและผลงานของ "พ่อ" ไว้ส่วนหนึ่ง

หนังสือพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงบำรุงราชบริพาร (อำพัน สุนทรเวช) มีขนาด ๘ หน้ายก ปกสีฟ้า หนา ๑๒๘ หน้า พิมพ์ขึ้นในปี ๒๕๒๔ แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๓ ส่วนใหญ่ๆ คือส่วนประวัติและอนุสรณ์คุณหญิงบำรุงราชบริพาร ส่วนที่สองเป็น "ฝีมือพ่อ" คือประวัติและผลงานของพระยาอนุศาสน์จิตรกร ส่วนสุดท้ายเป็น "ฝีปากลูก" เป็นคำอภิปรายในวาระต่างๆ ของนายสมัคร สุนทรเวช

คุณหญิงบำรุงราชบริพาร นามเดิมคือ อำพัน จิตรกร สมรสกับพระยาบำรุงราชบริพาร (เสมียน สุนทรเวช) มีบุตรธิดา ๙ คน หนึ่งในนี้เป็นที่รู้จักกันดีคือนายสมัคร สุนทรเวช

ประวัติโดยย่อของพระยาอนุศาสน์จิตรกรตามที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ คือท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๑๔ ตำบลวัดราชบูรณะ อำเภอพระนคร เข้าศึกษาวิชาการชั้นต้นที่วัดสังเวชวิศยาราม สำนักพระอาจารย์เพชร และพระอาจารย์สังข์ และวิชาการอื่นๆ จากครูพุด ยุวะพุกกะ

ต่อมาในปี ๒๔๓๖ ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ด้วยทรงเห็นว่า "มีฝีมือทางช่าง" จึงทรงนำเข้าเฝ้าถวายตัวต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการตำแหน่งช่างเขียนในพระบรมมหาราชวัง

จากนั้นในปี ๒๔๔๘ ได้รับราชการในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นที่หลวงบุรีนวราษฎร์

ปี ๒๔๕๔ ได้รับพระราชทานยศชั้นหัวหมื่นมหาดเล็ก เป็นจางวางกรมช่างมหาดเล็ก มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอนุศาสน์จิตรกร ต่อมาในปี ๒๔๕๙ ได้ตำแหน่งเป็นเจ้ากรมช่างมหาดเล็ก และในปี ๒๔๖๒ เป็นองคมนตรีในรัชกาลที่ ๖ และในสมัยรัชกาลที่ ๗ ปี ๒๔๖๙ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี

ผลงานทางช่างของพระยาอนุศาสน์จิตรกร นอกจากหนังสือ "ปกสวย" แล้ว ยังมีงานด้านจิตรกรรมตามวัดวาอารามต่างๆ อีกมาก เช่น ภาพชาดกในพระวิหารหลวงจังหวัดนครปฐม ภาพตัดขวางแสดงพระปฐมเจดีย์องค์เดิม ที่วัดพระปฐมเจดีย์ ภาพเรื่องรามเกียรติ์ ในพระที่นั่งบรมพิมาน และระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภาพเขียนสีน้ำมันบนกุฏิสมเด็จฯ วัดเทพศิรินทราวาส เป็นต้น

ด้วยความสามารถทางการเขียนภาพนี่เอง ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล "จิตรกร"

นอกจากความสามารถทางด้านจิตรกรรมแล้ว พระยาอนุศาสน์จิตรกรยังเป็นผู้สร้างฉาก และออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับบทละครเรื่องต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดง รวมถึงความสามารถในการถ่ายภาพจนได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการร้านถ่ายรูปฉายานรสิงห์ ซึ่งเป็นร้านถ่ายภาพหลวง พระยาอนุศาสน์จิตรกรจึงเป็นช่างภาพประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ และการเสด็จประพาสในที่ต่างๆ

แต่ผลงานชิ้นเอกที่ทำให้คนไทยรู้จักมากที่สุดเห็นจะเป็นภาพพงศาวดาร การกู้เอกราชของสมเด็จพระนเรศวร ในวิหารวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากท่านลงนาม "พระยาอนุศาสนจิตรกร" ไว้ใต้ภาพทุกภาพ ต่างจากงานเขียนภาพประกอบในหนังสือที่จะมีตรา "จ" อยู่ในวงกลมเล็กๆ ลักษณะคล้ายลายประจำยามที่มุมภาพ

วัดสุวรรณดารารามที่พระยาอนุศาสน์จิตรกรได้เขียนภาพไว้นั้น เป็นวัดสำคัญประจำราชวงศ์จักรี เนื่องด้วยเป็นวัดที่สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) พระราชบิดาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้สร้างไว้ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยายังไม่แตก เดิมวัดนี้ชื่อวัดทอง และมีการปฏิสังขรณ์ในฐานะวัดสำคัญประจำราชวงศ์เรื่อยมา

จนในสมัยรัชกาลที่ ๗ ระหว่างปี ๒๔๗๓-๒๔๗๔ มีพระราชกระแสรับสั่งให้พระยาอนุศาสน์จิตรกรไปเขียนภาพพระราชพงศาวดาร ประวัติสมเด็จพระนเรศวร เกี่ยวกับการกอบกู้เอกราช ตามประวัติการเขียนภาพนี้ พระยาอนุศาสน์จิตรกรได้ค้นคว้าและจินตนาการด้วยตนเอง โดยเมื่อร่างแบบขึ้นมาแล้วก็จะนำขึ้นถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อทรงพิจารณาก่อนจะนำไปเขียนจริงทุกครั้ง

นอกจากนี้ยังมีเกร็ดประวัติการเขียนภาพของพระยาอนุศาสน์จิตรกรบันทึกไว้ในหนังสืองานศพคุณหญิงบำรุงราชบริพาร ดังนี้

"สำหรับภาพเขียนที่วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระยาอนุศาสน์จิตรกรได้ใช้เวลาวาดภาพเกือบ ๒ ปีเต็ม โดยรับพระราชทานให้นำแพไปจอดที่หน้าวัด ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาแพเกิดจมลง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ จึงได้พระราชทานเรือ "ปิคนิค" ให้พระยาอนุศาสน์จิตรกรได้ใช้แทนแพ จนกระทั่งวาดภาพเสร็จสมบูรณ์

ในตอนที่ไปวาดรูปพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนี้ พระยาอนุศาสน์จิตรกรเคยเล่าให้ลูกๆ ฟังว่า เมื่อเขียนถึงพระเนตรของสมเด็จพระนเรศวรเป็นครั้งแรก ตัวเองเป็นลมตกลงมาจากนั่งร้านถึง ๓ หน จึงต้องมีพิธีบวงสรวง ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจึงสามารถเขียนได้สำเร็จ"

อย่างไรก็ดีแม้ภาพชุดนี้จะเป็นชุดที่โด่งดังที่สุดของ "จันทร์ จิตรกร" แต่สัดส่วนของคนนั้น ยังไม่งดงามเท่ากับเมื่อเขียนภาพประกอบหนังสือ อาจจะเป็นเพราะขณะเขียนภาพชุดพระราชประวัตินี้ ท่านมีอายุถึง ๖๐ ปีแล้ว สุขภาพไม่ดีถึงขั้นเป็นลมอยู่บ่อยๆ ไม่ "สด" เหมือนเมื่อเขียนภาพประกอบถวาย หรืออาจจะเป็นเพราะต้องเขียนงานขนาดใหญ่กว่างานเขียนภาพประกอบหลายเท่า หรืออาจจะเป็นเพราะงานเขียนภาพประกอบของท่านที่งดงามนั้นเป็น "ทางไทย" ส่วนภาพชุดพระราชประวัติที่วัดสุวรรณดารารามนี้เป็นการเขียนอย่าง "ฝรั่ง" จึงทำให้สัดส่วนผิดไปหลายแห่ง

พระยาอนุศาสน์จิตรกร เสียชีวิตในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๙๒ เมื่อมีอายุได้ ๗๘ ปี งานชิ้นสุดท้ายไม่ใช่งานจิตรกรรม แต่เป็นงานประดับมุกพานแว่นฟ้า ที่มีลวดลายวิจิตรบรรจงอย่างยิ่ง นอกจากนี้ท่านยังมีทายาทที่ได้ "เลือดพ่อ" อีก ๑ คน คือนางดรุณาทร (ผิว กัลยาณมิตร) ที่มีฝีมือทางการวาดเขียนอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ถนัดทางสีน้ำมากกว่า


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 มิ.ย. 06, 15:18
 ขอเติมอีกนิดว่า
ท่านเคยเขียนนิราศนครวัดเป็นกลอนเล่มเล็ก ในนั้นพูดทำนองน้อยใจว่าอยากเห็นมานาน ไม่ได้เห็น
ลูกสาวท่าน (คุณหญิงอำพัน จิตรกร) ที่มีลูกชายเป็นผู้ว่าจอมขุดสนามหลวง มีฝีมือทางศิลปะสูง โดยเฉพาะการถ่ายรูป

ฝีมือถ่ายรูปของพระยาอนุศาสนฯ นั้นความจริงแล้วพวกเราก็คุ้นเคยกันดี คือพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 จำนวนมาก ทั้งเดี่ยวและคู่ ถ้ามียี่ห้อฉายานรสิงห์ละก้อ เป็นรูปงามๆ ของท่านแทบทั้งนั้น
ที่นึกได้ตอนนี้ก็พระรูปชุดจอมพลเสือป่า เป็นต้น
ใครมีน่าจะมาอวดกันหน่อยนะครับ

ห้างนี้ ได้รับทรัพย์สินมาจากช่างภาพหลวงชาวเยอรมัน โรเบิร์ต เลนส์ คราว ร. 6 ประกาศสงคราม ถูกหางเลข กลายเป็นชนชาติศัตรู หลังจากนั้นเลยกลับเยอรมัน คุณ ส.ศ.ษ.เคยไปพบทายาท ได้รูปเก่าแก่มาชุดใหญ่ จัดเป็นนิทรรศการได้หนึ่งครั้ง เมื่อ 2511


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 25 มิ.ย. 06, 16:00
 กราบขอประทานอภัยท่านทั้งหลาย  ขอนอกเรื่องอีกสักหน่อย

มีข้าราชสำนักรัชกาลที่ ๖ ผู้มีภูมิรู้สำคัญท่านหนึ่งชื่อ จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช)
ไม่ทราบว่าเกี่ยวพันอันใดกับพระยาบำรุงราชบริพาร (เสมียน สุนทรเวช) และคุณหญิงอำพัน ครับ

วานบอกเป็นความรู้เสริมกับสมาชิกหน้าใหม่ (ตัวแก่) ผู้นี้สักนิดดดดดดด


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 25 มิ.ย. 06, 16:17
 ขอเดินตามไก้ด์มาเที่ยวในวัดด้วยคนนะครับ

วัดนั้นมีความร่มรื่น ร่มเย็น เป็นสถานที่สงบ แหล่งรวมใจชาวพุทธ แหล่งความรู้ แหล่งรวมสรรพศิลป์ รวมทั้งในอดีตเป็นแหล่งรวมตัวเพื่อเสวนาของนักปราชญ์ผู้รู้  วัดนั้นงดงามนัก
ไฉนคนถึงเข้าวัดน้อยกว่าเข้าห้างฯนับ 10เท่า ก็ไม่รู้

วันนี้ได้เข้ามาชมวัด แม้เป็นเพียงภาพทางอินเทอร์เนต(สะกดถูกไหมนี่)ก็ตาม ได้รับความอิ่มเอมกลับไปไม่น้อย ได้เจอความสวยงามและบรรยากาศความร่มรื่นของวัด ได้ความรู้จากไก้ด์ไปไม่น้อย(โดยไม่ต้องออกแรง แฮ่ๆ)
แถมวันนี้ได้เจอนักปราชญ์ในวัดมาเสวนาความรู้ให้ฟังอีกตั้งหลายท่าน

นับเป็นความโชคดีของผมโดยแท้

ปล.ขอบคุณ2ไก้ด์หนุ่มแห่งเรือนไทยและทุกท่านครับ


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 25 มิ.ย. 06, 19:25
 กราบขออภัยทุกท่านและขอขอบพระคุณคุณ Pipat เป็นอย่างสูงเลยครับ คิดว่าถ้าใช้ข้อมูลของตัวเองมาโพสนี่ก็เท่ากับเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน ข้อผิดพลาดมากมายมหาศาล รวมทั้งความบกพร่องของภาพถ่ายด้วย

ขอเวลาสักนิดครับ จะพยายามหาข้อมูลของวัดสุวรรณดารารามมาโพสให้สมบูรณ์ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณติบอเจ้าของกระทู้ด้วยว่าจะเอื้อให้ผมแค่ไหน


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 26 มิ.ย. 06, 01:26


  ขอบพระคุณ คุณpipat และ อาจารย์เทาชมพูครับ ที่กรุณาข้อมูลแก่กระทู้อืดๆของผม

และขอบพระคุณ คุณหมูฯ และคุณNicky ที่เข้ามาร่วมอ่านกระทู้กันให้ผมอุ่นใจว่าไม่ได้เข้ากระทู้นี้อยู่คนเดียว



ส่วนคุณกุรุกุลา มีเรื่องไหนช่วยกันเล่าได้ก็เชิญเลยครับครับ เพราะข้อมูลหลายอย่างที่คุณกุรุกุลาถ่ายทอดให้ผม ถึงจะเข้ามาทั้งทางหูซ้าย และหูขวา แต่แค่หลับโงกเงกขึ้นมามันก็รั่วออกไปเสียแล้วล่ะครับ แหะๆ





เล่าต่อนะครับ เดี๋ยวจะมีคนตายอีกหลายรายก่อนกระทู้จะจบ

(แหม่ คุณพิพัฒน์ก็พูดซะเหมือนว่าเรือนไทยเป็นศูนย์รวมคนแก่เสียอย่างนั้นแหละครับ เดี๋ยวสมาชิกท่านอื่นมาได้ยินเข้าน้อยใจเอานา หิหิ)



*************************











ตอนที่ 6: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา







หลังจากหยิบกระเป๋าสะพายใบใหญ่ที่วางที่ทางเข้าศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อเดินทางต่อไปพิพิธภัณฑ์แล้ว กระเหรี่ยงกรุงทั้ง 2 คนก็เริ่มตระหนักว่าสมบัติพระศุลีที่แบกกันมาจากเมืองพระนครคนละกระเป่านั้นเป็นภาระแก่การเดินทางเสียแล้ว ในที่สุดความคิดที่ดีที่สุดสำหรับเหตุการณืที่เกิดขึ้นก็คือ "ฝากของไว้ที่พิพิธภัณฑ์" น่ะแหละ



แต่จะเริ่มต้นฝากของอย่างไรดี ?....

ปัญหาข้อนี้นายติบอเสนอทางออกด้วยการทักทายเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ว่า "สวัสดีครับ คุณสุบงกชอยู่มั้ยครับ"

และได้คำตอบเรียบๆกลับมาว่า "ผอ. ท่านไม่อยู่ค่ะ คุณจะมาพบทำไมไม่นัดไว้ก่อนล่ะคะ"

ดังนั้น ผลที่ตามมาก็คือหน้าของนายติบอนั้น แตก ยับ เยิน





ในที่สุด นายติบอเลยจำเป็นต้องเจียดเงินติดตัว 2500 บาท ซื้อหนังสือไป 2 เล่ม รวมๆแล้วก็เกือบ 1000 บาท

เพื่อที่จะบอกคนขายหนังสือต่อไปว่า "ผมขอฝากกระเป๋ากันหนังสือไว้ก่อนนะครับ เดี๋ยวไปชมตึก 2 แล้วจะกลับมาเอา"

(ที่จริง คือออกไปเดินต่อรอบเมืองแล้วกลับไปเอาเหมือนแผนแรกที่จะยืมมือ ผอ. น่ะแหละ หุหุ)









ถึงจะเป็นพิพิธภัณฑ์ 'ลูกเมียหลวง' ตามคำเรียกของกระเหรี่ยงกรุงทั้ง 2 เพราะศิลปวัตถุที่จัดแสดงนั้นน่าสนใจเหลือเกิน

แต่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาก็ยังเป็น 'พิพิธภัณฑ์ห้องแถว' จากคำเรียกของนายติบอด้วย

เพราะลักษณะตัวอาคารของพิพิธภัณฑ์นั้น เป็นตึกสูง 2 ชั้น ตรงกลางเปิดโล่งและติดไว้ด้วย 'เหล็กดัด' โดยรอบ



แต่ถึงจะห้องแถวอย่างไรก็ตาม ศิลปะวัตถุที่พิพิธภัณฑ์ที่นี่จัดแสดงก็ไม่เคยทำให้นายติบอผิดหวังที่จะเข้าชม

โดยเฉพาะตู้พระธรรมเขียนลายจักรวาลลายรดน้ำใบหนึ่งซึ่งจัดแสดงอยู่ด้านบนชั้น 2 ของพิพิธภัณฑ์

เนื่องจากสมาชิกเรือนไทยท่านหนึ่งถึงกับออกปากชมภาพสัตว์รอบสระอโนดาตบนตู้ใบนั้นว่า "เป็นสัตว์ทั้ง 4 ที่สวยที่สุดในประเทศ"

เสียดายครับ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ออกมานั่งเผ้าอยู่ตรงนั้นพอดี ถ้าไม่เฝ้าคงได้เก็บภาพมาฝากกันแล้วล่ะครับ แหะๆ







เครื่องทองด้านในที่จัดแสดงไว้ ประกอบด้วยทรัพย์สมบัติล้ำค่าจำนวนมากจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

แต่จะมากซักเท่าไหร่ก็ตาม เครื่องทองจำนวนทั้งหมดนี้ก็ถือได้ว่าเป็นเครื่องทองไม่ถึง 20% ของสมบัติในกรุที่ถูกลักลอบขุดในครั้งนั้น



เครื่องทองแต่ละชิ้นที่นี่ แสดงถึงความตั้งใจในการประดิษฐ์ และความละเอียดลออของช่างทองผู้ออกแบบ

ทั้งจากการขดลายด้วยลวดทองที่เล็กกว่าเส้นผม จุดไข่ปลาที่ใหญ่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเม็ดไข่ปลา

หรืออัญมณีน้ำงามเม็ดไม่เกินหัวไม้ขีดไฟที่ประดับอยู่บนตัวเรือน ก็เป็นเครื่องยืนยันการอวดฝีมือช่างได้เป็นอย่างดี

แต่จนแล้วจนรอด กระเหรี่ยงกรุง 2 คนก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปให้แก่ตัวเองได้ว่า "ทองในกรุเป็นฝีมือช่างสยามทั้งหมดหรือไม่"







หลังจากละเลียดสายตาชมเครื่องทองหลายร้อยชิ้นในห้องจัดแสดงแล้ว

ผมกับไอ้ฎั้วก็ถูกเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ยื่นแบบสอบถามชุดโตให้ทันทีที่ออกจากห้อง พร้อมกับคำถามที่ว่า "ช่วยทำได้มั้ยคะ"

เรา 2 คนเลยต้องยึดเอาม้านั่งยาวหน้าห้องจัดแสดงเครื่องทองนั่นแหละ ทำแบบสอบถามกันจน 'หายหิว' ไปโดยปริยาย

มารู้ตัวอีกทีว่ายังไมได้กินข้าวก็ตอนเข้าชม "ตึก 2" ไปแล้วน่ะแหละครับ











คืนนี้ดึกมากแล้ว เดี๋ยวพรุ่งนี้ผมมาเล่าต่อแล้วกัน ขอค้างเรื่องตึก 2 ไว้ก่อนนะครับ





ปล. ในพิพิธภัณฑ์เขาไม่ให้ผมถ่ายภาพอ่ะ ยืมภาพจากกระทู้อื่นมา หวังว่าคุณโพธิ์ประทับช้างรูปหล่อคงจะกรุณาผมนะครับ อิอิ





.



กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 26 มิ.ย. 06, 20:28
 สวัสดีครับ คุณติบอ ขอบคุณที่ช่วยขยับเขยื้อนกระทู้เสียที ตอนแรกคิดว่าถ้าคุณติบอดองไว้อีกสักสองสามวันผมจะไปเปิดกระทู้ใหม่แล้ว

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆที่น่าตื่นตาตื่นใจจริงๆ ไปกี่ครั้งก็ยังได้อะไรๆใหม่ๆกลับมาอยู่เรื่อยๆ

ของบางอย่างก็ชวนให้พิศวงใจอย่างยิ่ง ถ้าใครเคยไปชมก็คงระลึกขึ้นมาได้บ้าง อาทิ

เศียรหลวงพ่อแก่ (หลวงพ่อวัดธรรมิกราช) ขนาดมหึมา

ทวารบาลวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ นิมิตเป็นเทวาถืออาวุธ

ครุฑโขนเรือกระทำกฏกมุทรา (ภาพของคุณโพธิ์ประทับช้าง)

หลวงพ่อขาวสมัยทวาราวดี ที่ทำวิตรรกมุทราและวรมุทรา (คาดว่าน่าจะซ่อม)

เครื่องทองจำนวนมหาศาล (แม้ว่าจะไม่ถึง20% ของทั้งหมด) แต่ก็ยืนยันถึงความร่ำรวยของอาณาจักรอยุธยาได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาตอบครับ ตอนนี้รูปภาพยังไม่ค่อยมีเพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่าย แต่ต่อไปจะมีมาให้ชมกันแน่ๆ


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 28 มิ.ย. 06, 11:57
 เข้ามาอ่าน
และแอบดูวิธี "ดอง"


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 29 มิ.ย. 06, 04:34

รูปนี้คุ้นกับบ้างมั้ยครับ ?
มีอยู่คืนหนึ่ง หลังจากท่องเที่ยวไปในโลกไร้พรมแดน
รู้สึกง่วงมาก จึงไม่ได้สังเกตุรูปที่ได้เซฟมา แต่เห็นว่า
เป็นเศียรพุทธรูปศิลปะอยุธยาต้นที่สวยมาก เลยเซฟ
เก็บไว้ ด้วยความเพลีย เลยไม่ได้จำหรือเซฟชื่อของ
เว็บไซท์ที่ได้รูปนี้มา เวลาผ่านไปราว 3 เดือน มาเปิด
รูปนี้อีกครั้ง เกิดอาการตกใจ รู้สึกว่าคุ้นๆ เหมือนเคย
เห็นที่ไหน ปรากฏว่ามาจากหนังสือ ห้าเดือนฯ ที่
อาจารย์ น. เคยลงไว้ว่าอยู่ที่วัดพระราม
น้องติบอ และ ท่านอื่นๆ ลองช่วยเทียบว่าใช่หรือไม่ ?
ถ้าใช่ก็แสดงว่าถูกขโมยออกไปนอกประเทศแล้ว
ท่านไปอยู่ที่ไหน ? ผมอยากจะพาท่านกลับไปอยุธยา
คิดว่าจะลองส่งไปให้ที่สำนักพิมพ์เมืองโบราณดูอีกที


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 12 ก.ค. 06, 23:44
 มาเล่าต่อดีกว่า คนเล่าไมได้ตั้งใจเบี้ยวหรือดองหรอกนะครับ แค่"ทำปลาแดก" โดนแดกลงไหนิดหน่อยเอง
(ที่จริงคือเพิ่งสอบเสร็จครับ อดนอนจนผมร่วงเกือบหมดหัวแล้วครับเนี่ยะ)



******************
ตอนที่ 7: ตึก 2 และเรือนไทย




เห็นผมขึ้นชื่อตอน อย่าเพิ่งสงสัยนะครับว่าจะมาชวนคุยเรื่องเวบสุดฮอตแห่งหนึ่ง หรือไม่ก็ละคร Sit-com แต่จำชื่อมาผิดหรือเปล่า
ถ้าคุณคิดเช่นนั้น กรุณาย้อนกลับไปอ่านความเห็นเพิ่มเติมที่ 34 เพื่อตอบข้อสงสัยนะครับ ตึก 1 อยู่ที่นั่นล่ะครับ อิอิ


ที่จริงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยายังมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่อีกมากครับ แต่ด้วยความ "ตื่นทอง" ใน habitus ของคนไทย ผู้เข้าชมก็เลยมัวแต่ไปชม "ตึก 1" ที่ "ห้องเครื่องทอง" เสียเป็นส่วนมาก สถานที่ๆเหลือที่คนส่วนมากจะไปปก็เลยกลายเป็น ลานจอดรถ(ถ้าขับรถมา) ร้านขายน้ำ(ถ้ากระหาย) และห้องสุขา(ถ้าอยากหาความสุข... เฮ่ย อยากขับถ่ายตะหาก)
อาคารหรือส่วนแสดงนิทรรศการอื่นๆของพิพิธภัณฑ์ก็ถูก "ละเลย" ไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติของผู้ชมส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนในประเทศนี้



แต่ไหนๆก็มาถึงที่พิพิธภัณฑ์ทั้งที (เข้าชมก็ฟรีด้วย) ผมกับไอ้ฏั้วก็เลยขอชมให้คุ้ม ด้วยการดูของให้ทั่วพิพิธภัณฑ์นั่นแหละน่าจะดี (ถ้าห้องเก็บรักษาโบราณวัตถุเปิดให้ชมได้ผมก็ชมไปแล้วล่ะครับ แหะๆ) เริ่มจากของชุดแรกที่ควรไปดูคือ พรหมพักตร์ ซึ่งได้มาจากพระบรมหาราชวังเก่าจัดแสดงอยู่หน้า "เหล็กดัดกันขโมย" ของอาคาร 1 (เท่าที่ความจะของผมจะเอื้ออำนวยเดาเอาว่าน่าจะเป็นพรหมพักตร์ซึ่งกั้นอยู่ระหว่างพระราชฐานชั้นกลางกับชั้นใน - แต่ความจริงจะเป็นอย่างไรไม่แน่ใจครับ) และมุมของพระปรางค์จากวัดภูเขาทอง ซึ่งมีปูนปั้นที่งดงามมากประดับอยู่ (ชิ้นนี้ก็จัดแสดงอยู่ด้านหน้าอาคารริมสระน้ำอีกเหมือนกัน) จนเห็นแล้วไอ้ฏั้วอดบ่นไม่ได้ ถึงวิธีการจัดแสดงโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ด้วยการตั้งไว้กลางแจ้ง ว่า "เสียดายของ"



พวกเราเดินกันต่อไปตามถนนภายในรั้วของพิพิธภัณฑ์เพื่อไปชม เรือนไทย ซึ่งใช้เป็นเวบบอร์ดพูดคุยของสมาชิกแก่ๆหลายคน... เฮ่ย ผิดแระๆ ใช้เป็นที่จัดแสดงศิลปะพื้นบ้านหลายชิ้นซึ่งประชาชนมอบให้พิพิธภัณฑ์ เช่น ภาพเขียนลอกๆ ตู้เก่าๆ เครื่องจักสานผุๆ จานร้าวๆ หรือชามแตกๆ ที่ถึงสภาพจะไม่สมบูรณ์แล้วแต่ยังรักษาคุณค่าทางวัฒนธรรมที่สมบูรณ์เอาไว้ได้อยู่หลายชิ้น และแวะซื้อขนมของทางพิพิธภัณฑ์ที่ขายอยู่นั่น



อีกส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจ ได้แก่ ตึก 2 ซึ่งจัดแสดงพระพุทธรูปและโบราณวัตถุจำนวนมาก(ที่ไม่ได้ทำจากทอง) ซึ่งขุดได้จากในกรุ ด้านในมีตู้จัดแสดงพระพุทธรูปศิลปะต่างๆจำนวนมากมายกว่า 200 องค์ เรียกได้ว่ามีพระพุทธรูปโบราณจากเกือบทุกมุมโลกก็ว่าได้ เพราะแม้แต่พระพุทธรูปจากแดนไกลอย่าง ศรีลังกา หรือ อินเดีย ก็ได้รับการบรรจุลงในกรุของพระปรางค์องค์นี้
ตึก 2 ของพิพิธภัณฑ์ดึงดูดเวลาในการเดินชมกรุงเก่าของกระเหรี่ยงกรุงใหม่ 2 คนไว้ได้อีกตามเคย แค่ตู้บรรจุพระพุทธรูปแต่ละตู้ก็เรียกเสียงฮือฮาของไกด์ส่วนตัวของผมจนคนอื่นๆที่ชมอยู่หันมาสนใจได้หลายครั้งเสียแล้ว



หลังจากชมพิพิธภัณฑ์จนทั่วแล้ว แต่ยังไม่ "หิว" เพราะฤทธิ์แบบสอบถามชุดเขื่องที่ต้องทำ ผมกับไอ้ฏั้วก็เลยได้โอกาสออกไปชมโบราณสถานต่างๆรอบเมืองต่อไป คุณไกด์กิตติมศักดิ์ก็กล่าวตัดบทตอนที่เรา 2 คนเดินออกจากพิพิธภัณฑ์กันแล้วเห็นผมห่วงกระเป๋าสัมภาระว่า "ไว้เกือบๆ 4 โมงค่อยมาเอาของก็ได้พี่"






ปล. ขอโทษทีไม่มีภาพให้ชมนะครับ แหะๆ


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 13 ก.ค. 06, 20:27
 ในที่สุดปลาร้าก็ได้ที่นะครับ คิดว่าคงจะอร่อยพอดูเลยล่ะ เอามาโพสเยอะๆหน่อยสิครับ คุณติบอ เดี๋ยวสมาชิกท่านอื่นจะเบื่อกันก่อน


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ก.ค. 06, 21:11
 ขอถามหน่อยนะครับ
"มุมของพระปรางค์จากวัดภูเขาทอง"
เข้าใจว่าจะเป็นลายเฟื่องปูนปั้น เป็นกรอบประตูกระมัง
วัดนี้ไม่ทราบว่ามีพระปรางค์ด้วย

เมื่อไหร่ไปอีก ช่วยลอกคำให้การคนขุดกรุที่เขาแปะไว้ในห้องเครื่องทองมาฝากด้วยได้ปะ

แล้วไปที่พช.เจ้าสามพระยาแล้ว เหตุไฉนไม่ไปไหว้พระธาตุ
อยู่ห้องฝั่งตรงข้ามห้องทองน่ะ


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 14 ก.ค. 06, 00:51

วัดภูเขาทอง


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 14 ก.ค. 06, 00:55

อันที่ย้ายมาเก็บ


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 14 ก.ค. 06, 16:22
 ขอบคุณคุณโพธิ์ที่ช่วยหาภาพมาโพสครับ เป็นความผิดของผมจริงๆที่พลั้นเผลอไม่ได้ถ่ายเอาไว้


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 15 ก.ค. 06, 03:52
 เล็กๆ น้อยๆ ของฝากครับคุณกุรุกุลา


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 15 ก.ค. 06, 12:01
 มานั่งชมความงาม
ทั้งของภาพ
และของน้ำใจคน

ช่างอ่อนหวานกันจริงจริ๊ง


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 23 ก.ค. 06, 19:07
 ไปเห็นข้อความนี้ในกระทู้อื่นเข้า ผมเลยต้องรีบมาตอบคุณpipat

อาจารย์เทาฯ ถามคำถามทิ้งไว้ ตั้งแต่ 17 กค. วันนี้ 23 เข้าไปแล้ว
เจ้าของกระทู้ยังไม่เข้ามาตอบ จะทราบหรือไม่ว่าเสียมารยาทมาก


เพราะของผมเสียมรรยาทกว่ามาก (ก็คุณพิพัฒน์ถามไว้ตั้งแต่วันที่ 13 แหน่ะ ผมยังไม่ได้ตอบเลย)
พอดีช่วงนี้ผมมีงานทำค่อนข้างมาก + เนตอืดอาด เลยไม่ได้เข้ามาต่อกระทู้นี้เสียหลายวัน ต้องขอโทษสมาชิกท่านอื่นๆด้วยครับ


ก่อนอื่น ขอขอบพระคุณ คุณpipat และคุณโพธิ์ประทับช้างนะครับ ที่ช่วยเตือนเรื่องข้อมูล และหาภาพประกอบให้ครับ
ผมเองเป็น "กระเหรี่ยงกรุง" น่ะครับ เดินทางไปชมแล้วก็จำได้มั่ง จำไมได้มั่ง คุณไกด์กิติมศักดิ์ก็บรรยายมาถี่ยิบ
ผมก็จดมาถูกมังผิดมั่งไปตามระเบียบ ข้อมูลที่ว่าก็เลยผิดน่ะครับ แหะๆ
คราวนี้โทรไปถามไกด์กิติมศักดิ์มา ได้ความว่า "ไม่ใช่มุมปรางค์หรอกพี่ พี่จำผิดแล้วแหละ"
เลยเป็นอันว่าคนเล่าจำผิดเองครับผม ขออนุญาตรับผิดสถานเดียวครับผม


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 24 ก.ค. 06, 21:04
 นั่งคอยตอนต่อไป
((จะอีกนานมั้ยน๊า))


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 25 ก.ค. 06, 08:39
 มาดูทุกวัน
แต่ลงนามอาทิตย์ละครั้ง
เหมือนช่วยกวนปลาร้าที่กำลังหอมได้ที่ไม่ให้เหม็น

เจตนามีเท่านี้เองครับ


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: โพธิ์ประทับช้าง ที่ 30 ส.ค. 06, 00:51
 ขี่ช้างผ่านมาชมครับ


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 30 ส.ค. 06, 09:26
 ท่าทางจะอีกนานครับ คุณติบอครับ เร่งต้นฉบับหน่อยครับ


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 30 ส.ค. 06, 17:42
 เห็นขึ้นหน้าเป็นกระทู้แนะนำโดยตลอด
ทั้งของเรือนไทย  แล้วก็ของเวป
แต่ไหงเนื้อเรื่องไม่ไปถึงไหน


อยากรู้จัง
มีเกณฑ์ในการเป็นกระทู้แนะนำกันยังไง
หรือเริ่มแนะนำ  แล้วเลยแนะนำกันเรื่อยๆ
ไม่มีพัก  ไม่มีการตรวจสอบ
เมื่อไรจะหลุดหิ้ง
กระทู้ไม่เดินเป็นเดือน  ก็ยังแนะนำกันอยู่

ไม่ได้อิจฉาหรอก
เพียงแต่สงสัย


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 30 ส.ค. 06, 22:43

คงจะต้องเข้ามาขอโทษสมาชิกท่านอื่นๆ อย่างคุณNickyNick ที่สงสัยว่า "กระทู้แนะนำ" บางกระทู้ (อย่างกระทู้นี้น่ะแหละ) มันติดเข้าไปในข่าย "แนะนำ" ได้อย่างไร ทำไมเจ้าของกระทู้ไม่เข้ามาตอบซักที

ตอบข้อแรกครับ ผมเข้าใจว่าทางเวบต้องการ "แนะนำ" ว่ากระทู้ลักษณะ "หมักดอง" เป็นอย่างไร กระทู้เจ้ากรรมของผมถึงได้ติดเข้าไปในลักษณะของ "กระทู้แนะนำ" เอาได้ ครับ อิอิ


ส่วนเรื่องการตอบช้า ผมขอยอมรับเฉยๆแต่ไม่อธิบายอะไรนะครับ เกรงว่าคำอธิบายของผมอาจเรียกเสียงหยอกล้อจากสมาชิกในเรือนไทยหลายท่าน ให้สมาชิกเวบวิชาการท่านอื่นๆที่อยากอ่านกระทู้นี้ต้องเสียเวลาลากเมาส์ผ่านๆไปเอาน่ะครับ แหะๆ




มาต่อกันซักตอนดีกว่า (ของดีมีน้อยครับ ห้ามโพสต์เกินวันละ 1 ความเห็นเพิ่มเติมครับ เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรโพสตืแต่ประการใด)

**********************


ตอนที่ 8: วัดแรก


หลังจากเยี่ยมชม "วัดสุวรรณดาราราม" ซึ่งเป็นวัดในสมัยรัตนโกสินทร์ไปแล้ว ผมขอนำชมวัดแรกของกรุงศรีฯ นะครับ จะได้เล่ากันต่อไปได้ซักที


วัดแรกที่ผมกับคุณไกด์กิติมศักดิ์ แวะเข้าไปเยี่ยมชม อยู่บนทางเดินจาก "ศูนย์ญี่ปุ่นอยากเที่ยวอยุธยา" ของคุณพิพัฒน์ และ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา" ครับ ชื่อว่า "วัดขุนเมืองใจ" หรือ "วัดขุนดลใจ" วัดนี้ เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในสมัยอยุธยามาก่อน แต่ผมไม่สามารถหาหลักฐานมาได้ว่าใครเป็นผู้สร้างวัด เอาเป็นว่าเป็นวัดสำคัญแล้วกันนะครับ

แต่ปัจจุบันวัดนี้มีสภาพเป็นวัดร้างอยู่ริมถนน ภายในมีเจดีย์ทรงย่อมุมไม้สิบสององค์เขื่องอยู่องค์หนึ่ง สถูปองค์น้อย และวิหารอีกหนึ่งหลังซึ่งกำแพงกำลังจะพังลงอยู่มะรอมมะร่อ แต่ทั้งเจดย์ที่ผุ และสถูปองค์น้อยที่กำลังจะพังก็มีร่องรอยการซ่อมโดยช่างยุคหลังซึ่งแสดงฝีมือในเชิงช่างอันอ่อนด้อยฝากไว้บนอาคารเดิมเป็นหย่อมๆให้เห็นได้อย่างไม่อายใคร

ผมกับคุณไกด์กิติมศักดิ์แวะกันที่นี่ซักพัก แต่ไม่ได้ข้อมูลบอะไรเลย เพราะแผ่นป้ายโลหะที่มีคำบรรยายเรื่องข้อมูลของวัดนั้นถูกซาเล้งผู้หิวโหยซักคนถอดออกไปขายเพื่อประทังชีวิตเสียแล้ว และหนังสือ "ห้าเดือนฯ" ก็ไม่ได้เล่าข้อความอะไรเกี่ยวกับวัดมากนัก แถมไกด์ยังไปนั่งจดไดอารี่ด้วยการวาดภาพที่ "ดูไม่เป็นสับปะรดขลุ่ย" เสียอีกตะหาก ปล่อยให้ผมเดินดูนู่นดูนี่ไปตามเรื่องตามราว ก็เลยได้เห็นแค่เพียงเศษพระพุทธรูปศิลาสลักอยู่กองหนึ่ง ที่ลวดลายจำหลักบนองค์พระมีร่องรอยของลดลายแบบอยุธยาตอนกลางให้เห็นอยู่หลายชิ้นเองครับ




เอาภาพของวัดมาฝากครับ กรุณาอย่าถือสาคนถ่ายภาพนะครับ ถ้ารูปเบี้ยว ผมรับประกันได้ครับว่าอ่านกระทู้นี้จบเมื่อไหร่ ผู้อ่านจะชินกับ "ศิลปะภาพเบี้ยว" ไปโดยปริยายเองครับ



ปล. สงสารแต่อาจารย์ของนิสิตรูปเบี้ยวเนี่ยะสิ เวลาอ่านรายงานที่มีรูปพวกนี้ติดอยู่คงปวดคอไปอีกนานเลยล่ะ เหอๆ


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 30 ส.ค. 06, 22:45
 เทียบกับภาพบนแล้ว สถูปองค์นี้จะเอียงมากขึ้นครับ




.


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 30 ส.ค. 06, 22:46
 ภาพหลุดครับ เอาใหม่ๆ




.


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 30 ส.ค. 06, 22:48
 ถ้าคราวนี้ภาพไม่หลุด ผู้อ่านกระทู้ต้องเอาภาพไปเทียบกับความเห็นเพิ่มเติมที่ 52 เองนะครับ


.


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 30 ส.ค. 06, 22:50

.




วิหารที่เหลือแต่ฐานครับ กำแพงด้านหลังมีโครงเหล็กค้ำยันอยู่ คงใกล้พังเต็มทีแล้วล่ะครับ


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 30 ส.ค. 06, 22:53

.




ผมขอทิ้งภาพไว้ที่ภาพเจดีย์ทรงย่อมุมไม้ 12 องค์นี้แล้วกันนะครับ เผื่อคุณไกด์กิติมศักดิ์จะได้เล่าอะไรเพิ่มเติมฝากไว้ในกระทู้ให้สมาชิกท่านอื่นๆและผมได้ฟังบ้าง


หรือสมาชิกท่านอื่นจะกรุณาช่วยกันเล่าได้ก็ดีครับ ขอบพระคุณล่วงหน้าครับผม



ปล. ยังไม่ได้ไปค้นวิทยานิพนธ์ที่จุฬาเสียทีเลยยังไมได้หาคำตอบเรื่องการบรรจุพระธาตุมาตอบคุณpipat เลยครับ
ขอผลัดไปอีกหลายเพลานะครับ แหะๆ


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 31 ส.ค. 06, 08:48
 ที่เรียนสอบถามเรื่องการเป็นกระทู้แนะนำ  เพื่อผมจะได้มีความเข้าใจยิ่งขึ้น  รวมทั้งท่านอื่นที่ไม่เคยเข้าใจก็จะได้ร่วมกันรับรู้
ที่นำมาใส่ไว้ ณ ที่นี้  เพราะกระทู้นี้เป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งในการยกขึ้นมาอ้างครับ

เพราะมีความสงสัยมานานราว ๒ เดือนที่เข้ามาเป็นสมาชิกของเวปนี้แล้วละครับ
ทำไมกระทู้ที่ไม่เดิน  ก็ยังเป็นกระทู้แนะนำ
กระทู้ที่เรื่องราวจบนานเป็นเดือนสองเดือนแล้ว  ก็ยังเป็นกระทู้แนะนำ
กระทู้ที่คนเข้ามาร่วมนิดหน่อย  ก็ยังเป็นกระทู้แนะนำ
กระทู้ที่ดูแล้วไม่แตกต่างจากกระทู้อื่นๆ ก็เป็นกระทู้แนะนำ

พอแนะนำแล้วก็อยู่ยงคงกระพัน  เหนียวแน่นเหลือเกิน  แม้ในวันหนึ่งถึงจะเข้า criteria ที่ยกมาคุยข้างบน  กระทู้ควรจะเป็นธรรมดาได้แล้ว  แต่ก็ยังแนะนำกันอยู่

จึงรู้สึกว่า  ทำไมกระทู้แนะนำของเวปถึงได้ไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง  ไม่เปลี่ยนทุกวัน  จะเปลี่ยนทุกสัปดาห์ก็ยังได้  แต่ ๒ เดือนยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย  เลยเกิดความสงสัยครับ

เพราะเป็นการเสียเวลาที่จะกดอ่านครับ  ยิ่งการโหลดช้า  ยิ่งมีปัญหาใหญ่  กว่าจะโหลดได้ก็นาน  พอโหลดเสร็จแล้วเห็นเนื้อเรื่องเท่าเดิมไม่ไปไหนสักที  สมาชิกเก่าพอจะคุ้นเคยกับการจับจุดเล็กๆ น้อยๆ เรื่องการดำเนินเรื่องได้  แต่ผู้แวะเวียนเข้ามาอ่านเพียงบางครั้งบางคราวจะรู้สึกเบื่อครับ  เราจะสูญเสียผู้อ่านก็เพราะเหตุนี้ด้วยครับ

อยากแนะนำทางเวปให้ทำเป็นเรื่องเป็นราวเสียที  เพื่อจะได้โกอินเตอร์ครับ

เท่าที่พอสังเกต  กระทู้ที่เป็นที่แนะนำ  จะเป็นกระทู้ของ Hornour Member  ไม่รู้ว่าเข้าใจถูกต้องรึเปล่า  แต่ที่เห็นจะเป็นอย่างนี้  ส่วน V Member ธรรมดาถึงเนื้อหาจะดี  แต่ก็ไม่ติดอันดับ

ปัญหาดังกล่าวอาจสร้างความรู้สึกเล็กๆ น้อยๆ สำหรับผู้เข้ามาศึกษา  อย่างเช่น  กระทู้แนะนำเป็นอย่างนี้  แล้วกระทู้อื่นๆ เล่า  จะเป็นอย่างไร

ฝากเรียนนำเสนอไว้ด้วยครับ


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 01 ก.ย. 06, 18:40
 ใจเย็นๆครับคุณนิก ผมคิดว่าก็ไม่ได้เสียหายอะไรนี่ครับ ที่กระทู้จะไม่เลื่อนหรือไม่มีคนเข้าไปชม


วัดขุนเมืองใจ      มีชื่อในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมครับ ในฐานะที่เป็นเจดีย์หลักของอยุธยา

"พระมหาเจดีย์ฐานที่เปนหลักกรุง 5 องค์ คือพระมหาเจดีย์วัดสวนหลวงสพสวรรค์หนึ่ง พระมหาเจดีย์วัดขุนเมืองใจ 1 พระมหาเจดีย์วัดเจ้าพระยาไทย 1 พระมหาเจดีย์วัดภูเขาทอง สูงเส้นห้าวา 1 พระมหาเจดีย์วัดใหญ่ไชยมงคลสูงเส้นห้าวา 1 "


ซึ่งดูจากขนาดแล้วก็ใหญ่โตมโหฬารจริงๆ และคงอย่างที่ อาจารย์ น ณ ปากน้ำกล่าวไว้ว่าเจดีย์ประธานวัดขุนเมืองใจ เกี่ยวข้องกับแบบอย่างของเจดีย์แปดเหลี่ยมวัดพระแก้ว สรรค์บุรี ที่ชัยนาท

ซึ่งก็เชื่อกันว่าเป็นเจดีย์รูปแบบเก่าทรงแปดเหลี่ยมแบบสุพรรณภูมิ ที่อาจสร้างในสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเสียอีก


หรือถ้าเทียบกับวัดนอกเกาะเมืองใกล้ๆ ก็น่าจะเทียบได้กับวัดใหญ่ไชยมงคล ซึ่งใหญ่โตมหึมาเช่นกัน


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 01 ก.ย. 06, 19:14
 วัดนี้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมมากมายหลายครั้ง ทั้งการก่ออิฐทับของเดิม หรือปั้นปูนทับปูนปั้นเก่า และที่มีความพิเศษก็คือ การเปลี่ยนวิหารมาเป็นอุโบสถ

สังเกตการวางผังของวัดนี้ที่สร้างตามแนว ตะวันออก - ตะวันตก โดยมีเจดีย์ประธานอยู่ตรงกลาง อุโบสถอยู่ทางตะวันออก และวิหารอยู่ทางตะวันตก

ผังแนวยาวเช่นนี้ปรากฏบ่อยในสมัยอยุธยาตอนต้น แต่ในยุคนี้ นิยมให้ความสำคัญกับวิหารมากกว่า จึงสร้างให้มีขนาดใหญ่และอยู่ทางตะวันออก

เรียกว่า "วิหารหลวง" และมีอุโบสถขนาดเล็กกว่าอยู่ทางตะวันตก


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 01 ก.ย. 06, 19:15
 พอเข้าสู่สมัยอยุธยาปลาย อุโบสถกลายเป็นที่นิยม เขาก็เลยย้ายใบเสมา จากโบสถ์เดิม มาไว้ที่วิหารหลวง

ซึ่งก็คือ การแปลง "วิหาร" ให้เป็น "อุโบสถ" นั่นเอง

"แล้วทำไมเขาต้องทำอย่างนั้นล่ะ"

"อันนี้ก็คงจะอธิบายได้ว่า อุโบสถ เป็นอาคารที่มีประโยชน์มากกว่าในแง่ของการทำสังฆกรรม พูดง่ายๆก็คือใช้บวชพระได้ ส่วนวิหารเป็นเพียงอาคารที่ใช้ในส่วนของฆราวาสหรือประดิษฐ์รูปบูชาเท่านั้น "

"แปลว่าอยุธยาตอนปลายเน้นการใช้ประโยชน์มากกว่า?"

"ก็อาจเป็นอย่างนั้น เช่นการสร้างเจดีย์ ก็มีขนาดเล็กลงพอเป็นกษัย ไม่ได้ใหญ่โตมหึมาเหมือนอยุธยาตอนต้น "

"แล้วนอกจากวัดขุนเมืองใจ มีวัดอื่นไหมที่เอาวิหารมาเป็นอุโบสถ"

"เท่าที่น่าจะเป็นไปได้ ก็สันนิษฐานกันว่า วัดมเหยงคณ์กับวัดกุฏีดาวก็น่าจะเปลี่ยนเช่นกัน"
"...."

"อย่างวัดมเหยงคณ์ ก็มีหลักฐานว่าทำมาตั้งแต่อยุธยาตอนต้น สักประมาณเจ้าสามพระยา แต่ก็ซ่อมอย่าง "รื้อทำใหม่" ในสมัย พระเจ้าท้ายสระ ในช่วงนี้เองที่อาจเปลี่ยนวิหารเป็นโบสถ์"


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 01 ก.ย. 06, 20:13
 เขาจะแนะนำกระทู้ไหนผมว่ามันอยู่ที่เนื้อหาของกระทู้ว่าควรนำเสนอหรือไม่มากกว่า

และคงไม่เกี่ยวว่าจะเป็น Hornour Member เป็นเจ้าของกระทู้หรือเปล่า

ยกตัวอย่างเช่น กระทู้นี้แม้ว่าผมจะไม่ค่อยแหย่หน้าออกมาโพสทักทาย แต่ก็แวะมาอ่านบ่อยๆ เพราะเนื้อหากระทู้น่าสนใจ อีกทั้งมี2ไกด์หนุ่มคอยผลัดกันอับเดดเรื่องราวน่าสนใจใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง  เหมาะแล้วที่จะเป็นกระทู้แนะนำ

แม้ว่าบางกระทู้ที่เป็นกระทู้แนะนำอาจไม่มีการอับเดด
แต่ก็หาทำให้กระทู้เหล่านั้นลดความน่าสนใจหรือคุณค่าในตัวมันเองลงไม่ ไม่ว่าปล่อยทิ้งร้างนานไปสักเท่าไร ทองมันก็ยังเป็นทอง มันจะกลายเป็นดินไปไม่ได้

ด้วยความเคารพครับ


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 06 ก.ย. 06, 07:11
 ใจเย็นๆ ครับ เรื่องแบบนี้ "สมานฉันท์" กันได้ เพราะไม่มีใครถูก ไม่มีใครผิด เป็นเพียงความเห็นไม่ตรงกันเท่านั้น ไม่เหมือนกับกรณีชาวบ้านทะเลาะกับโจร แต่มีชาวบ้านจาก ๒ ตำบล มายืนร้องเพลงบอกให้สมานฉันท์กับโจร อิอิ (แท้จริงคือให้ทำเฉยๆ ซะ ปล่อยให้โจรปล้นต่อไป ... ไม่เกี่ยวกับประเทศไทยนะครับ เรื่องนี้เกิดขึ้นที่นครอาบูดาบี เมื่อหลายพันปีมาแล้ว) ....

กลับมาที่ประเด็นครับ ขอออกความเห็นต่อข้อสงสัยของคุณ NickyNick ดังนี้ครับ

1. "ทำไมกระทู้ที่ไม่เดิน ก็ยังเป็นกระทู้แนะนำ"
ผมเข้าใจว่า กระทู้แนะนำคือ กระทู้มีเนื้อหาสนใจติดตาม เพื่อที่จะได้รับความรู้ หรือ รับทราบประสบการณ์ตรงของผู้นำเสนอกระทู้

การที่กระทู้ "ไม่เดิน" ซึ่งผมเข้าใจว่า คุณ NickyNick คงหมายถึง เจ้าของกระทู้ "ไม่ได้มาโพสเรื่องราวต่อ" ที่ไม่ปลดออกนั่นก็เพราะว่า การนำเสนอเรื่องราว "ยังไม่จบ" ครับ อยู่ๆ จะถอดออก ก็น่าสงสารเจ้าของกระทู้อยู่เหมือนกันนะครับ อิอิ (เรียกได้ว่า ถูกปลดกลางอากาศ) เจ้าของบ้านคงไม่ใจร้าย เพราะเจ้าของกระทู้บอกว่า 51 วัด แต่เห็นพิมพ์ วัดขุนเมืองใจเป็นวัดแรก ก็ยังมีอีกตั้ง 50 วัด (เจ้าของกระทู้รับผิดชอบด้วยนะครับ อิอิ) เรือนไทยอยู่กันอย่างเอื้ออาทรครับ เจ้าบ้านคงเข้าใจว่า เจ้าของกระทู้ติดเรียนเลยไม่ถอดออก (ซึ่งเจ้าของกระทู้ก็มาต่อนะครับ ไม่ได้หายไปไหน)


2. "กระทู้ที่เรื่องราวจบนานเป็นเดือนสองเดือนแล้ว ก็ยังเป็นกระทู้แนะนำ"
กระทู้บางเรื่องถึงแม้เรื่องราวจะจบไปแล้ว แต่ถ้าเนื้อหาดี น่าทำให้โดดเด่นเพื่อให้มีคนมาอ่าน ก็มีสิทธิ์เป็นกระทู้แนะนำต่อได้ครับ เพราะคนที่แวะเวียนมาบอร์ดแห่งนี้ ก็มีหน้าใหม่ๆ มาเรื่อยๆ ทั้งที่สมัครเป็นสมาชิก และไม่สมัคร ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับเจ้าบ้านครับว่าจะปลดเมื่อใด เรื่องนี้ต้องให้เกียรติเจ้าบ้านครับ


3. "กระทู้ที่คนเข้ามาร่วมนิดหน่อย ก็ยังเป็นกระทู้แนะนำ"
กระทู้ที่ไม่มีคนโพสออกความเห็น ก็ไม่ได้หมายความไม่มีคนสนใจนะครับ เพราะบางคนเข้ามาอ่าน แต่ไม่ออกความเห็นก็มีอยู่มาก และคุณภาพบางทีก็ไม่ได้วัดด้วยปริมาณคนตอบ ถ้าเนื้อหาน่าติดตาม ก็เป็นกระทู้แนะนำได้


4. "กระทู้ที่ดูแล้วไม่แตกต่างจากกระทู้อื่นๆ ก็เป็นกระทู้แนะนำ"
ตรงนี้ อยู่กับว่า เป็นมุมมองของผู้อ่าน หรือ เจ้าบ้านครับว่า เนื้อหาแตกต่างหรือไม่ บางเรื่องผู้อ่านอาจมองว่า เนื้อหาไม่แตกต่าง แต่เจ้าบ้านมองว่า มีอะไรบางอย่างที่น่าสนใจ

------------

ผมเป็นสมาชิกที่นี่อยู่พักใหญ่ๆ ถึงแม้ว่าช่วงหลังๆ จะหายๆ ไปเนื่องจากติดเรียน ก็สังเกตว่า "กระทู้แนะนำ" ของที่นี่ ก็มีหลักมีเกณฑ์ครับ คือ ๑. เนื้อหาน่าสนใจติดตาม และ ๒.เจ้าของกระทู้ เป็นที่รู้จักกันดีในบอร์ด ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลย์พินิจของเจ้าบ้านครับ นอกเสียจากว่า เจ้าบ้านจะเปลี่ยนเป็นวิธี "โวต" ให้เป็นกระทู้แนะนำ อันนี้ก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งในการเลือกโดยผู้อ่าน

-------------


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 06 ก.ย. 06, 07:19

เอามาแข่งครับ อิอิ
ภาพวัดขุนเมืองใจ เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2548)

ผมไปเก็บตัวอย่างดินครับ กรมศิลปากรกำลังขุดศึกษาชั้นดินอยู่พอดี แต่ไปๆ มาๆ ผมไม่ได้เก็บตัวอย่างดินของที่นี่ เพราะมันเป็นชั้นดินถมที่หนามากๆ ไม่ใช่ชั้นดินธรรมชาติแบบที่ผมต้องการ

จะเห็นว่ามีกองดินอยู่ใกล้ๆ กับเจดีย์


กระทู้: ห้าสิบเอ็ดวัด กับสี่วันในอยุธยา (ย้อนรอย 40 ปี 'ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา' ตอน1)
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 06 ก.ย. 06, 07:26

ชั้นดินครับ

ลึกประมาณ ๓ เมตรครึ่ง จะเห็นว่าชั้นดินถมประกอบด้วยเศษปูน และเศษอิฐ หนาถึง ๒ เมตรเลยทีเดียว ส่วนดินล่างนั้นมีสีออกดำๆ ก็จะมีเศษอิฐมอญ ปะปนอยู่เป็นช่วงๆ แสดงถึงชั้นที่อยู่อาศัยก่อนการสร้างเจดีย์