เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์โลก => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 11, 14:08



กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 11, 14:08
เนื่องจากกระแสโปรตุเกสในเรือนไทย กำลังมาแรง   ทั้งอาหารและขนมโปรตุเกสในไทย    ทั้งประวัติศาสตร์ ที่ดิฉันเอ่ยไว้นิดหน่อยในกระทู้ภาพพระราชพงศาวดาร
พูดถึงบทบาทของทหารโปรตุเกสในเขมร  และโปรตุเกสในพม่า
ก็เลยตั้งกระทู้นี้ขึ้นมา  เพื่อขยายความถึงบทบาทโปรตุเกสให้ละเอียดขึ้น  ดีกว่าจะไปแทรกไว้ที่นั่นนิดที่นี่หน่อย  อ่านไม่ปะติดปะต่อกัน

ชื่อจริงๆของกระทู้ควรเป็น  "บทบาทของโปรตุเกสในเอเชียอาคเนย์"    แต่ฟังเคร่งเครียดเหมือนหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก    เกรงว่าผู้อ่านเรือนไทยจะหลับ
ก็เลยเรียกง่ายๆอย่างข้างบนนี้ละค่ะ

ถ้าท่านผู้อ่านเดินทางย้อนเวลาไปถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวร   ก็จะเห็นเรือสำเภาฝรั่งอย่างนี้ กางใบอยู่ในอ่าวไทย  นายเรือคือฝรั่งโปรตุเกส


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 เม.ย. 11, 14:53
อ.เทาชมพู ล่องเรือมา ต้องจัดหาแผนที่มาด้วย  ;D

แผนที่ระวางนี้พิมพ์ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1491 ก่อนที่เรือโปรตุเกส จะมายังมะละกา - สยาม - พม่า ในช่วง ค.ศ. 1511

รู้เพียงว่า เมืองกัว (Goa) เป็นเมืองที่สำคัญของอินเดีย โปรตุเกสได้ยึดไว้เป็นแหล่งสถานีการค้า เรือโปรตุเกสจึงอาศัยแผนที่เหล่านี้เดินเรืออ้อมเข้าช่องแคบมะละกาเดินทางไปยังประเทศจีน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 11, 15:18
ได้กำลังมาเสริมแล้ว สงสัยกระทู้จะยาว  ;D

ย้อนหลังไปห้าหกร้อยปีก่อน    แสนยานุภาพของประเทศในยุโรปอยู่ในนาวานุภาพหรือกองทัพเรือ     ใครมีกองทัพเรือเข้มแข็งก็เป็นบิ๊กประเทศได้แล้ว     ส่วนกำลังทหารบกมีเอาไว้แค่รบกับเพื่อนบ้าน   เพราะทหารเดินเท้ากันได้ไม่ไกล   ผิดกับทัพเรือที่แล่นกันไปได้ครึ่งโลก    คือไปทั้งค้าขายเอาเงินทองมาเพิ่มพูนท้องพระคลัง  และปะเหมาะเคราะห์ดีก็ใช้ปืนใหญ่ปืนเล็กในเรือ ยึดบ้านเมืองที่เดินทางไปถึงเอาไว้ได้ง่ายๆ   อย่างหลังนี้  ขึ้นกับว่าคุ้มทุนหรือเปล่า
โปรตุเกสเป็นประเทศหนึ่งที่ชาวเรือของเขาแล่นเรือไปไกลๆครึ่งค่อนโลก   โดยเฉพาะมาทางตะวันออก     สินค้าสำคัญที่ต้องการมากได้แก่เครื่องเทศ     เครื่องเทศในสมัยนั้นมีค่าราวกับทองคำ   เพราะนอกจากปรุงรสอาหารแล้วยังใช้ถนอมอาหาร  เนื่องจากยังไม่มีตู้เย็นตู้แช่อย่างในปัจจุบัน    เอเชียเป็นแหล่งเครื่องเทศสำคัญของโลก  นอกจากนี้ยังมั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติอีกหลายอย่าง  ล้วนเป็นที่ต้องประสงค์ของฝรั่ง
ประเทศอีกแห่งที่มีเส้นทางเดินเรือมาถึงเอเชียอาคเนย์คู่คี่กับโปรตุเกส คือสเปน    แต่ขอเว้นไว้ก่อนเพราะเรื่องจะออกนอกทางมากไป

โปรตุเกสเดินทางมาถึงเอเชียอาคเนย์และจีนตั้งแต่ค.ศ. 1517     มาถึงไต้หวันและญี่ปุ่นในยุคนี้แหละค่ะ  

แผนที่ข้างล่างนี้แสดงถึงเส้นทางเดินเรือของโปรตุเกสและสเปน  เพิ่มเติมจากแผนที่ที่คุณ siamese หามาให้ดู
สีน้ำเงินคือเส้นทางเรือของโปรตุเกส  สีขาวคือเส้นทางเรือของสเปน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 11, 15:38

รู้เพียงว่า เมืองกัว (Goa) เป็นเมืองที่สำคัญของอินเดีย โปรตุเกสได้ยึดไว้เป็นแหล่งสถานีการค้า เรือโปรตุเกสจึงอาศัยแผนที่เหล่านี้เดินเรืออ้อมเข้าช่องแคบมะละกาเดินทางไปยังประเทศจีน

โปรตุเกสได้กัวเป็นเมืองท่าอยู่นานพอใช้  มากพอจะทำให้วัฒนธรรมโปรตุเกสทิ้งร่องรอยไว้ในเมืองนี้หลายอย่าง    อย่างหนึ่งคืออาหาร
ไหนๆคุณ siamese  ก็พาผู้อ่านเรือนไทยแวะเมืองกัว  จึงขอเสิฟอาหารกัวที่ได้อิทธิพลโปรตุเกส  คือไก่ทอด( หรือย่าง) สูตรโปรตุเกส เรียกว่า  Cafreal  กินกับมะเขือเทศและมันฝรั่งย่างไฟ     พร้อมกับซอสรสเดียวกับ  Peri-peri sauce ของโปรตุเกส


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 11, 15:48
ส่วนของหวานของ Goa ที่ได้มาจากโปรตุเกส คือ bebinca  
ตอนแรกที่ค้นหาขนมบ้าบิ่น ก็มาเจอชื่อนี้เหมือนกัน  แต่ดูหน้าตามันไม่เหมือนขนมบ้าบิ่นเอาเลย  ก็เลยมองข้ามไป
ขนม bebinca ทำจากกระทิ ผสมกับแป้ง น้ำตาล จันทร์เทศ   กระวาน ไข่ขาว และน้ำมันเนย (ฆี)  ทำเป็นชั้นๆเหมือนขนมชั้น


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 เม.ย. 11, 15:49
ขอบคุณสำหรับไก่ย่างครับผม  :-[ เห็นทีไรท้องร้องทุกที

เมืองกัว ดูจากแผนที่แล้วถือว่าเจริญมาก การจัดระบบผังเมืองออกไปทางวงกลม มีโบสถ์กลางเมือง มีที่พักสินค้า มีเรือหลายลำมาจอดเทียบท่า

เมืองกัวนี้คงเป็นจุดพักแรก ที่บรรดาพ่อค้าขนสินค้าออกจากเปอร์เซีย


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 เม.ย. 11, 16:09
ภาพขยายทัศนียภาพของเมืองกัว ครับมีการใช้ช้างเป็นแรงงาน มีโบสถ์คริสศาสนา เป็นที่พักสินค้า ก่อนนำเรืออ้อมไปถึงศรีลังกา และเข้าช่องแคบมะละกาในเวลาต่อไป


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 11, 17:03
      ดูจากรูปที่คุณ siamese นำมาให้ดูข้างบนนี้  จะเห็นว่า เมื่อโปรตุเกสไปถึงเมืองไหน ก็ต้องเอาคริสตศาสนาลงไปไว้ด้วยที่นั่น    ไม่ได้ไปค้าขายเฉยๆ      เรือสำเภาไม่ได้มีแค่กลาสีกับสินค้าเท่านั้น    แต่ว่าจะต้องพ่วงท้ายด้วยบาทหลวงหรือมิชชันนารีผู้เผยแพร่ศาสนาติดไปด้วยเสมอ     ไปปักหลักอยู่เมืองไหน   คนเหล่านี้ก็ไปสร้างโบสถ์เผยแพร่ศาสนาที่นั่น    มีอุดมการณ์มุ่งมั่นว่าถ้าชาวบ้านชาวเมืองหันมานับถือคริสต์ได้ ก็ถือว่าได้บุญทั้งผู้เผยแพร่และผู้หันมานับถือ   เพราะสำหรับชาวคริสต์  ผู้อยู่นอกศาสนา จะไม่มีโอกาสขึ้นสวรรค์เมื่อตายไปแล้ว
      จากกัว  นักเดินเรือโปรตุเกสค้นพบเส้นทางเดินเรือไปมะละกา    ซึ่งเป็นเมืองมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ มีเจ้าเมืองซึ่งเรียกว่าสุลต่านเป็นผู้ปกครอง    พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสก็พระกรรณผึ่งขึ้นมาทันทีด้วยความสนพระทัย     ถึงกับส่งแม่ทัพเรือชื่อนายพลดิโอโก โลเปซ เดอ เซคีร่า (Diogo Lopes de Sequeira - ถ้าออกเสียงผิดบอกด้วยนะคะ   ดิฉันไม่รู้ภาษาโปรตุเกส) มาเจริญสัมพันธไมตรีกับสุลต่านแห่งมะละกา   และเป็นตัวแทนผู้มีอำนาจเต็มทางอินเดียตะวันออก
       สุลต่านแห่งมะละกาในปี ค.ศ. 1509  ทรงพระนามว่ามาร์หมุด ชาห์ ทรงต้อนรับเซคีร่ากับลูกเรือด้วยดี ยินดีค้าขายด้วย  ไม่ได้รังเกียจเดียดฉันท์อะไรในตอนแรก    แต่ต่อมา ก็เกิดปัญหาระหว่างกันขึ้นมาจนได้    เพราะอย่างที่บอกแล้วว่าโปรตุเกสไปไหนก็เอาคริสตศาสนาไปด้วยที่นั่น     ส่วนมะลากานั้นชาวเมืองนับถือศาสนาอิสลาม  รวมทั้งองค์สุลต่านและขุนนางใหญ่น้อยด้วย   ความข้ดแย้งระหว่างผู้คนต่างศาสนาจึงปะทุขึ้นมา   โดยมีความรังเกียจเป็นเชื้อไฟ

      รูปข้างล่างนี้คือ Sequeira ค่ะ



กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 เม.ย. 11, 17:34
ตอนอยู่ชั้นมัธยม แบบเรียนภาษาอังกฤษของผมมีเรื่องของชาวปอร์ตุเกตคนหนึ่งภายใต้ชื่อว่า “Vasco da Gama, who discovered the sea way to India” อันเป็นเรื่องของนักเดินเรือที่ไม่เชื่อว่าโลกแบน
 
วาสโก ดา กามา ได้ตั้งต้นเดินทางจากลิสบอน และแล่นเรือไปยังหมู่เกาะเคปเวอร์ด แล้วแล่นไปทางใต้อ้อมแหลมกู้ดโฮป ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นจุดอันตรายที่มีลมพายุพัดแรงตลอดเวลาวาสโก ดา กามาต้องใช้วิธีการให้เรือใบวิ่งซิกแซกทวนลมจึงหลุดพ้นไปได้ แล้วเลาะไปตามชายฝั่งอาฟริกาตะวันออกขึ้นไปทางเหนือจนมาถึงมาลีนดี (คีนยา) แล้วจึงได้ข้ามมหาสมุทรอินเดีย ถึงชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของชมพูทวีปในปีค.ศ.1498 อยู่ที่นั่นจนถึงปี ค.ศ.1499 จึงเดินทางกลับโปรตุเกส และได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่เยี่ยงวีรบุรุษของชาติ

หลังจากนั้นมาชาวปอร์ตุเกตก็เป็นจ้าวทะเลในโลกแถบนี้

อ่านกระทู้นี้แล้ว นึกถึงวาสโก ดา กามาขึ้นมาได้ เลยขอเข้ามาแจมเป็นการฟื้นความหลังนี้หน่อยครับ
เชิญท่านเจ้าของกระทู้ต่อ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 11, 19:10
^
คงหนังสือเรียนเรื่องเดียวกันละค่ะ     จำได้แต่ชื่อวาสโก ดา กามา อ้อมแหลมกู๊ดโฮป  แต่จำไม่ได้แล้วว่าแกไปทำอะไรที่ไหนต่อจากนั้น
เชิญท่านนวรัตนร่วมวงได้ตามอัธยาศัย

ถ้าต่อไปนี้เล่าไม่ค่อยได้เรื่องก็โปรดอภัย    มัวดูพิธีอภิเษกของเจ้าชายวิลเลียมกับเจ้าหญิงเคทหรือแคธเทอรีนอยู่ค่ะ

พวกข้าราชบริพารรวมทั้งพ่อค้าวาณิชชาวมะละกา ล้วนแต่ต่อต้านคนต่างชาติศาสนาจากยุโรป      พวกนี้เห็นว่าโปรตุเกสเข้าเมืองไหน ภัยก็มาถึงเมืองนั้น   ดูแต่กัวเป็นตัวอย่างเห็นๆ   อยู่มาดีๆ ก็หลุดไปอยู่ในเงื้อมมือฝรั่ง    สินค้าที่พ่อค้ามะละกาเคยค้าขายตามสบาย   ก็มีคู่แข่งรายใหญ่ขึ้นมาอย่างไม่คาดฝัน   รวมแล้วกลายเป็นว่าโปรตุเกสเป็นภัยคุกคามความมั่นคงมะละกา  อย่าเอาไว้เลยพระเจ้าข้า
ในเมื่อพวกนี้รวมหัวกันแอนตี้เป็นเสียงเดียวกัน  สุลต่านก็คล้อยตาม   ถึงกับตัดสินพระทัยจับกุมชาวโปรตุเกส  คนไหนขัดขืนต่อสู้ก็ถูกฆ่า  แล้วก็ทรงยกพลถล่มขบวนเรือ เพื่อจะปราบปรามเสียให้สิ้นซาก     แต่ไม่ทัน  เรือโปรตุเกสหนีรอดออกทะเลไปได้สำเร็จ
เมื่อหนีรอดไปได้   โปรตุเกสก็รู้ว่าหนทางรอดมีอยู่ทางเดียว  คือตีโต้กลับไป  เล่นงานมะละกาให้อยู่หมัด    มิฉะนั้นความหวังที่จะเปิดเส้นทางสู่เอเชียอาคเนย์ก็หมดไป

โปรตุเกสกลับมาอีกครั้งพร้อมด้วยทัพเรือมหึมา  ยกพลมาถึง ๑๒๐๐ คน เรือ ๑๗-๑๘ ลำในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๕๑๑  ศึกระหว่างมะละกากับโปรตุเกสเริ่มในเดือนกรกฎาคม  ทั้งๆที่ทางฝ่ายมะละกาต่อสู้อย่างทรหด    โปรตุเกสก็เข้ายึดเมืองได้ในเดือนสิงหาคม
มะละกาก็ตกอยู่ในเงื้อมมือโปรตุเกสนับแต่นั้น


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 เม.ย. 11, 20:09
มะละกา ดินแดนที่เต็มไปด้วยเครื่องเทศ เช่น อบเชย พริกไทย รังนก จึงขอนำภาพที่วาดไว้บรรยากาศสมัยนั้น


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 11, 20:19
    โปรตุเกสพบว่าเหนือมะละกาขึ้นไป   มีอาณาจักรอยู่อีกแห่งชื่ออยุธยา  มั่งคั่งด้วยทรัพยากรไม่น้อยหน้ามะละกา     มีกษัตริย์แห่งอยุธยาเป็นผู้ค้าขายกับต่างชาติในเอเชีย    โดยมิได้รังเกียจความแตกต่างทางเชื้อชาติศาสนา     พูดถึงทางด้านศาสนา   อยุธยานับถือพุทธศาสนา  ซึ่งเป็นศาสนาที่สงบสันติ    ถือว่าการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นบาป     ดังนั้นปัญหากระทบกระทั่งจนถึงขั้นรบราฆ่าฟันกับพ่อค้าวาณิชต่างชาติก็ไม่มี        ผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งมะละกาก็สนใจ  จึงดูลู่ทางการค้าด้วยการส่งทูตเข้ามาในปีเดียวกันกับยึดมะละกาได้นั่นเอง
    โปรตุเกสค้าขายกับไทยได้ราบรื่นไม่มีปัญหา  สมดังที่คาดไว้  ก็เพราะเหตุนี้  5 ปีต่อมา  จึงมีเกิดสัญญาทางพระราชไมตรีกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2  ในค.ศ. 1516      จากนั้นชาวโปรตุเกสก็รวมกลุ่มกันได้เป็นหนาแน่น   จนตั้งถิ่นฐานหมู่บ้านโปรตุเกสขึ้นในกรุงศรีอยุธยา


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 เม.ย. 11, 20:20
เรือใบขนาด ๗ ใบ ระวาง ๒,๓๐๐ ตัน บรรทุกคนได้ ๖๕๐ คน ในช่วงที่นำมาบุกยังมะละกา


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 เม.ย. 11, 20:35
ขอเสริม อ.เทาชมพูสักหน่อยเรื่องการเข้ามาของชาวโปรตุเกส ที่กรุงศรีอยุธยา

เมื่อโปรตุเกสได้ทำการยึดมะละกาแล้วเมื่อ ค.ศ. 1511 เพื่อใช้เป็นเมืองท่า ขณะนั้น อัลฟองโซ เดอ อัลคูเคิร์ก (Alfonso de Albuquerque) ผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสประจำภาคอินเดียตะวันออก ซึ่งพำนักที่เมืองกัว ทราบว่ามะละกาเคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของไทย จึงได้ส่ง มานูเอล ฟัลเกา (Manuel Falcao) มาเจรจากับไทย เมื่อ ค.ศ. 1511

ต่อมาจึงส่ง ดูอาร์เต้ เฟอร์นันเดส (Duarte Fernandes) เป็นทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบบดีที่ 2 ในปีเดียวกัน ซึ่งโปรตุเกสต้องการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับไทย เพราะขณะนั้นโปรตุเกสยังติดพันกับการสู้รบกับสุลต่านแห่งเมืองทางตอนใต้ของแหลมมลายูและชายฝั่งตอนเหนือของสุมาตรา และยังต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีเพื่อเป็นแหล่งสถานีการค้า ให้เป็นที่พักเรือ ท่าจอดเรือ และยังสามารถเผยแพร่คริสต์ศาสนาอีด้วย

และในปี ค.ศ. 1512 โปรตุเกสจึงส่งทูตมายังพม่า


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 11, 20:42
      มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า   โปรตุเกสเล็งอาณาจักศรีอยุธยาไว้ตั้งแต่ก่อนได้มะละกาแล้วด้วยซ้ำ   ทูตโปรตุเกสที่มาครั้งแรก   จึงมีข้อเสนอกับอยุธยา นอกจากเรื่องค้าขายแล้ว ก็ยังเสนอสิทธิพิเศษแก่กรุงศรีอยุธยา  หากโปรตุเกสสามารถยึดครองมะละกาได้ หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน โปรตุเกสก็ยึดมะละกาสำเร็จ
      ปีต่อมาคือ ค.ศ. 1512   ทูตโปรตุเกสก็มาอีก  อย่าไปจำชื่อเลยว่าชื่ออะไร เพราะกระทู้นี้ไม่ได้ออกเป็นข้อสอบ      คราวนี้มาเจรจาให้กรุงศรีอยุธยาส่งเรือไปค้าขายที่มะละกา   โดยมีโปรโมชั่นล่อใจว่าให้ความช่วยเหลือด้านการทหาร และมีกองเรือจากมะละกาไว้เป็นแบ๊คแก่กรุงศรีอยุธยา   หากว่าต้องทำศึกหรือเกิดสถานการณ์คับขันขึ้นมา
      คณะทูตกลับไปแล้ว แต่ทิ้งชาวโปรตุเกสไว้คนหนึ่งชื่อ Fragoso   (อ่านว่าฟรากูซู    เพิ่งเจอว่าตัว o ในภาษาโปรตุเกสออกเสียงเป็น อู)  นายคนนี้ไม่รีบกลับ แต่ปักหลักอยู่กรุงศรีอยุธยาประมาณ 2 ปี   เขียนบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยามากมาย  ทั้งพิกัดและที่ตั้ง   รวมทั้งเมืองท่าต่างๆ ในอาณาจักร   บอกรายละเอียดเรื่องสินค้า การแต่งกาย ขนบธรรมประเพณีของชาวสยามด้วย   แกคงจะทำหน้าที่คล้ายๆเจ้าหน้าที่กรมประมวลข่าวกลางละกระมัง

      แถมภาพโปรตุเกสยึดมะละกาค่ะ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 11, 20:57
พักเรื่องโปรตุเกสไว้ก่อน  เผื่อท่านอื่นๆจะช่วยกันเสริม   ขอเชิญค่ะ

ขอตัดเข้าเรื่องการค้าสมัยอยุธยา  เล่าเรื่องพระคลังสินค้าคั่นรายการก่อนนะคะ

     ระบบการคลังและเศรษฐกิจของอยุธยาขึ้นอยู่กับพระคลังสินค้า      พระคลังสินค้าทำงานในหน้าที่กึ่งราชการกึ่งบริษัท   คือมีหน้าที่เก็บส่วยสาอากรแบบเดียวกับกรมสรรพากร    แต่อีกด้าน ก็ทำในรูปแบบของบริษัท  คือเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าส่งออกและนำเข้า แต่ผู้เดียวในพระราชอาณาจักร      ประชาชนทั่วไปไม่ได้ขายอะไรต่อมิอะไรกับต่างชาติได้ตามใจชอบ   เพราะไม่ใช่การค้าเสรีอย่างสมัยนี้    แต่ว่าต้องส่งผ่านพระคลังสินค้าซึ่งทำหน้าที่ผูกขาด    ส่วนพระเจ้าแผ่นดินนั้นทำหน้าที่เหมือนกรรมการผู้จัดการใหญ่   ตัดสินพระทัยและกำหนดเงื่อนไขเองเรื่องการค้าขาย  โดยมีเจ้ากรมท่าซ้ายท่าขวาและขุนนางอื่นๆเป็นพนักงานใหญ่น้อยในบริษัท
    ด้วยระบบผูกขาดโดยพระคลังสินค้า  ที่มีอำนาจในการควบคุมการผลิต   กำหนดปริมาณและเงื่อนไขราคาตามความต้องการซื้อขายในตลาด  ไม่มีคู่แข่งในอาณาจักร   ระบบนี้จึงนำความมั่งคั่งมาสู่อาณาจักรอย่างมหาศาล      พระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าของพระคลังสินค้า    ดังนั้นก็ไม่น่าสงสัยว่าพระราชทรัพย์จะมีมากเพียงใด       การผลัดเปลี่ยนอำนาจในราชบัลลังก์มีผลแค่เปลี่ยนตัวบุคคล   แต่ไม่ได้เปลี่ยนระบบ  ใครขึ้นมาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็ทรงบริหารระบบพระคลังสินค้าได้เหมือนเดิม     


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 เม.ย. 11, 21:15
มะละกาในพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยา

เมืองมะละกาเป็นเมืองขึ้นสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (ค.ศ. 1350) เจ้าเมืองมะละกาแปลงศาสนาเป็นอิสลาม แล้วไปคบกับพวกแขกอาหรับ หรือแขกชาวอินเดียที่เข้ามาค้าขายและชอบพอกันจึงมีการเปลี่ยนศาสนากันขึ้น และต่อมาเกิดการแข็งเมือง โดยไปสวามิภักดิ์กับพระเจ้ากรุงจีน ซึ่งได้เจริญความสัมพันธ์จากการค้าขายด้วยกัน

ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดเกล้าฯให้ยกทัพไปปราบใน ค.ศ. 1455 จึงทำให้มะละกาตกมาอยู่เป็นเมืองขึ้นของไทยอีกครั้ง

สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 มะละกาเกิดการแข็งเมืองขึ้นอีกใน ค.ศ. 1489 กองทัพไทยจึงยกทัพไปเรือไปปราบด้วยเรือ 100 ลำ ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันอย่างทรหดและตกเป็นเมืองขึ้นของไทยในที่สุด

ค.ศ. 1509 พระเจ้ามานูเอลที่ 1 แห่งโปรตุเกส ได้ให้ โลเปส เดอ เซเกอิรา คุมขบวนเรือ 4 ลำ มาเยือนเกาะมาดากัสการ์และเกาะลังกา และให้เดินทางมายังมะละกา เพื่อตั้งสถานีทางการค้า ซึ่งเจ้าเมืองก็ตอบรับเป็นอย่างดี ต่อมาชาวโปรตุเกสเกิดการวิวาทกับชาวมะละกา เซเกอิราสงสัยว่าเจ้าเมืองมะละกา คิดกลอุบายแสร้งเป็นไมตรี และอาจจะหักหลังไปคบกับชาวอิสลามและจะทำร้ายชาวโปรตุเกส

ฝ่ายเจ้าเมืองมะละกาหาว่าโปรตุเกสก้าวร้าวเกินไป สั่งให้ไปล้อมจับชาวโปรตุเกส ฆ่าตายและคุมขังไว้จำนวน 27 คน ส่วนเซเกอิรามีกำลังน้อยไม่อาจจะยึกมะละกาได้ จึงเผาเรือของตนเอง 2 ลำ อีก 2 ลำแล่นกลับไปอินเดีย

เมื่อกษัตริย์โปรตุเกสทราบเรื่อง จงได้นำเรือจากเมืองกัว ไปปราบเมืองมะละกา ใน ค.ศ. 1509 โดยใช้เรือรบ 19 ลำ ทหาร 800 คน จนถึงมะละกาใน ค.ศ. 1511 ซึ่งขณะนั้นมะละกากำลังมีงานแต่งงสนบุตรีสุลต่านแห่งรัฐปาหัง กองเรือโปรตุเกสไปถึงตอนเย็น และได้ยิงปืนใหญ่เข้าเมือง จนมีการหยุดยิงเพื่อการเจรจา พอดีเรือจากเมืองจีน 5 ลำเข้ามาพอดี ได้ขอร้องให้ช่วยเหลือสุลต่าน แต่เรือจีนได้หนีไปยังเมืองไทย

ซึ่งตรงนี้เองทำให้ อัลบูเกอร์ได้ความรู้จากชาวจีนว่า เมืองมะละกาเดิมเป็นของกษัตริย์ไทย และพ่อค้าอินเดียและจีนเข้าไปค้าขายตามชายฝั่งทะเลและในราชธานีไทย ได้กำไรมาก จึงคิดที่จะทำการค้ากับไทยบ้าง ขึงได้จัดทูตมาไทยโดยอาศักเรือจีนเข้ามา

เมื่อสุลต่านไม่สามารถชดใช้ค่าเสียหายให้โปรตุเกสได้ อัลบูเกอร์จึงได้สั่งเรือรบเข้าตีมะละกาเป็นครั้งที่ 2 เหล่าราชวงศ์สุลต่านหนีไปยังแคว้นเปรัฐ และปาหัง ดังนั้นเมืองมะละกาจึงตกอยู่ใต้อิทธิพลตั้งแต่นั้นมา


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 11, 21:32
มาดูกันว่าสินค้าผูกขาดของพระคลังสินค้าคืออะไร

สินค้าต้องห้ามที่ปรากฏใน "คำให้การชาวกรุงเก่า"  ระบุว่าพระคลังสินค้าเป็นผู้ส่งออกแต่ เพียงผู้เดียว ได้แก่ งาช้าง ฝาง ตะกั่วนม ไม้ดำ ไม้แดง ชัน รัก ไม้จันทน์  ชะมดและครั่ง

ส่วนพระไอยการอาญาหลวง   บอกชื่อสินค้าผูกขาดไว้ว่า มีเครื่องศาสตราวุธ (ดินประสิว กำมะถัน ดินปืน) กฤษณา ไม้ฝาง ดีบุก นอระมาด ( คือ นอแรด) งาช้าง และไม้จันทน์
และมีบทลงโทษแก่ผู้ละเมิดอีกด้วย
“...อนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวห้ามมิให้ซื้อขายสิ่งของต้องห้ามแก่ผู้มาแต่ต่างเมือง แลมันขึ้นซื้อขายแลส่งออกไปนอกด่านต่างแดน แลขุนมุนนายอนาพยาบาล ผู้ใดได้ของมัน รู้เหนเปนใจด้วยมัน มิได้มาว่ากล่าวพิดทูล   ท่านให้ลงโทษขุนมุนนายอนาพยาบาลแลมันผู้ส่งสิ่งของ ต้องห้ามออกไปให้ซื้อขายนอกด่านต่างแดนนั้นมิโทษ 6 สถาน ถ้าทรงพระกรรุณาโปรดเกล้าฯ  บให้ฆ่าตีเสีย   ให้เอาสิ่งของนั้นตั้งไหมจัตุรคูณ...”

     ในฐานะผู้ผลิต   พระคลังสินค้ามีสินค้าพื้นเมืองที่เรียกเก็บจากราษฎร  ในรูปแบบของส่วย และภาษีโดยไม่ต้องลงทุน เว้นแต่เรียกซื้อเพิ่มเติมจากราษฎร ได้แก่ ฝาง หนังสัตว์และไม้จันทน์   นอกจากนี้    พระคลังสินค้าสามารถตั้งราคาหากำไรเท่าใดก็ได้ขึ้นกับความต้องการของตลาด    ไม่มีมาตรฐานตายตัว   อาทิ เกลือสินเธาว์ ปกติหาบละ 5 บาท พระคลังสินค้าขายให้แก่พ่อค้าต่างชาติหาบละ 17 บาท ฝางซื้อมาหาบละ 2 สลึง ขายหาบละ 6 สลึง เป็นต้น

     นอกจากนี้ พระคลังสินค้ายังเป็นพ่อค้าคนกลาง   ซื้อสินค้าจากอินเดีย จีนและญี่ปุ่น ซื้อกำยาน(Benzoin)และไม้สักจากพม่า และซื้อชะมดเช็ดจากเชียงใหม่  เพื่อขายแก่พ่อค้ายุโรป    แล้วก็ซื้อสินค้าจากพ่อค้าชาวยุโรป มาขายพ่อค้าจีน และญี่ปุน    กำหนดราคาได้ตามที่เห็นควร  เช่นซื้อทองแดงจากญี่ปุ่นมาในราคาหีบละ 15 เหรียญแล้วขายให้แก่พ่อค้ายุโรปหีบละ 20 เหรียญ หรือรับซื้อไหมดิบจาก“ เมืองน่ำเกี๋ย ” ในราคา 100 เหรียญ แล้วขายให้แก่พ่อค้าชาวยุโรปเป็นเงิน 300 เหรียญ เป็นต้น

     ถ้าพ่อค้าต่างชาติที่ลักลอบซื้อสินค้าต้องห้าม  พระไอยการอาชญาหลวงระบุให้ลงโทษ “ดั่งโจร” ส่วนผู้รู้เห็นเป็นใจ  พระไอยการอาญาหลวงให้ลงโทษถึงตาย  เรียกว่าการผูกขาดนี้ห้ามละเมิด  โทษแรงเอาการ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 เม.ย. 11, 21:40
จดหมายของอัลบูเกอร์

บันทึกว่า ได้ส่ง คูอาร์เต เฟอร์นันเดซ เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ใน ค.ศ. 1511 โดยเดินทางมากับสำเภาจีน ขึ้นบกที่อยุธยา ซึ่งประวัติของคูอาร์เต เฟอร์นันเดซ เคยเป็นทหารของเวเกอิรา แต่ถูกจำคุกที่มะละกาใน ค.ศ. 1509 ขณะอยู่ในคุกได้เรียนภาษาไทยพอใช้การได้ จึงได้ถูกนำตัวไปเป็นทูต

การมาครั้งนี้ได้นำเครื่องบรรณาการ พร้อมด้วยสาสน์จากอัลบูเกอร์ในพระนามาภิไธยแห่งพระเจ้ากรุงโปรตุเกสขอเจริญทางไมตรีทางการค้าด้วย และบอกว่า ได้ยึดมะละกา สร้างป้อมปราการและส่งทหารเข้ามายังมะละกา หากเป็นมิตรกัน สยามสามารถส่งสินค้าไปยังมะละกาได้ และสมเด็จพระรามธิบดีที่ 2 ได้ต้อนรับทูตอย่างดี พาไปดูช้างเผือก และได้พระราชทานสาส์นพร้อมพระธำมรงค์ประดับทับทิมและพลอย พระมงกุฎ พระแสงดาบคร่ำทอง เพื่อพระราชไมตรี

ในเอกสารบางฉบับอ้างว่า "ของกำนัลทั้งหมด และจดหมายอย่างน้อย 5 ฉบับ หายไป เนื่องจากเรือเฟอร์ เดอ ลา มาร์ (Frol de la mar) เกิดอับปางขณะที่อัลบูเกอร์เดินทางไปอินเดีย จดหมายดังกล่าวที่หายไปคือ

1 พระราชสาส์นฉบับแรกที่พระเจ้าแผ่นดินสยาม ไปถึงพระเจ้ามานูเอลที่ 1 และถึงอุปราชโปรตุเกสที่อินเดีย
2 จดหมายอัลกูเบอร์ ถึงพระเจ้ามานูเอลที่ 1 รายงานเกี่ยวกับการปราบปรามที่มะละกา


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 เม.ย. 11, 21:48
สินค้าที่ผูกขาด อ่านเจอ "ตะกั่วน้ำนม" เป็นตะกั่วที่สามารถบิดงอได้โดยไม่หัก ตามภาพครับ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 เม.ย. 11, 21:53
กำไรจากการขาย

"เกลือสินเธาว์ ปกติหาบละ 5 บาท พระคลังสินค้าขายให้แก่พ่อค้าต่างชาติหาบละ 17 บาท".....หลวงรับซื้อจากชาวบ้านประมาณ 4-5 บาท ขาย 17 บาท กำไร 13 บาท

"ฝางซื้อมาหาบละ 2 สลึง ขายหาบละ 6 สลึง เป็นต้น".....หลวงรับซื้อจากชาวบ้านประมาณ 2 สลึง ขาย 6 สลึง กำไร 1 บาท

กำไรมากนะครับ
 ;D


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 เม.ย. 11, 22:21
ในขณะที่ชาวโปรตุเกส ได้รับพระราชทานที่ดินด้านใต้กรุงศรีอยุธยา อีกสายหนึ่งทูตโปรตุเกสก็เดินทางเข้าไปยังพม่าใน ค.ศ. 1511 เช่นเดียวกันโดยปัจจุบันนี้คือ เมืองสิเรียม เป็นดินแดนแห่งโปรตุเกสครับ

เมื่อการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างโปรตุเกสกับพม่า ในช่วงพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เหล่าทหารโปรตุเกส และเหล่านักบวช ก็ดำเนินกิจกรรม การค้า ขายปืน ขายเครื่องรบ เพื่อรบกับไทย ในขณะเดียวกันฝ่ายไทย ก็เจริญด้วยการค้า ปืนไฟ เกราะ และเทคนิคการต่อสู้จากโปรตุเกสเช่นเดียวกัน

แทรกภาพชาวโปรตุเกสในเมืองสิเรียม


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 11, 22:37

เมื่อการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างโปรตุเกสกับพม่า ในช่วงพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เหล่าทหารโปรตุเกส และเหล่านักบวช ก็ดำเนินกิจกรรม การค้า ขายปืน ขายเครื่องรบ เพื่อรบกับไทย ในขณะเดียวกันฝ่ายไทย ก็เจริญด้วยการค้า ปืนไฟ เกราะ และเทคนิคการต่อสู้จากโปรตุเกสเช่นเดียวกัน


เป็นพ่อค้าอาวุธสงครามเต็มตัวเชียวนะ  ตราบใดยังมีศึกระหว่างไทยกับพม่า  โปรตุเกสก็รวย


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 เม.ย. 11, 22:53

เมื่อการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างโปรตุเกสกับพม่า ในช่วงพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เหล่าทหารโปรตุเกส และเหล่านักบวช ก็ดำเนินกิจกรรม การค้า ขายปืน ขายเครื่องรบ เพื่อรบกับไทย ในขณะเดียวกันฝ่ายไทย ก็เจริญด้วยการค้า ปืนไฟ เกราะ และเทคนิคการต่อสู้จากโปรตุเกสเช่นเดียวกัน


เป็นพ่อค้าอาวุธสงครามเต็มตัวเชียวนะ  ตราบใดยังมีศึกระหว่างไทยกับพม่า  โปรตุเกสก็รวย

ใช่ครับ สิ่งนี้ทำให้เกิดกำไรอย่างงาม โดนขั้นต้นมีการพระราชทานแด่กษัตริย์ทั้งสองฝ่าย เป็นเครื่องบรรณาการก่อน ต่อมาจึงได้มีการสั่งอาวุธเข้ามาใช้ในราชสำนัก

ยกตัวอย่างรายการสิ่งของที่อาเซเวโด้นำมาถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการ (การทูตครั้งที่ 2 ของโปรตุเกส) นำมาถวายแก่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 คือ
- เสื้อกั๊กกำมะหยี่สีแดงเลือดนกหลายตัว
- เกราะพร้อมเครื่อง 1 สำรับ
- หมวกโล่ห์หนังติดแถบเป็นลวดลายงาม พร้อมสายสะพายบ่าปักดิ้น 1 โล่ห์
- เสื้อเกราะทำด้วยกำมะหยี่และต่วนสีต่างๆ
- กาน้ำทำด้วยฝีมือช่าง 1 กา
- ถ้วยหูเงิน 2 ถ้วย
- หน้าไม้พร้อมเครื่อง 1 อัน
- กัลปังหาอย่างดีเป็นของมีค่าในเมืองมะละกา 4 กิ่ง
- ผ้าสักหลาด 1 ผืน

"..ข้าพเจ้าเป็นทหารจึงให้อาวุธเป็นของขวัญ ซึ่งใช้ในการช่วยเหลือและปกป้องเพื่อน และข้าพเจ้าจะรับใช้พระเจ้าสยามด้วยตัวของเขาเอง เมื่อพระเจ้าสยามมีบัญชามา.."



ในทำนองเดียวกัน โปรตุเกสสายพม่า ในรัชกาลพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ทรงขยายดินแดนไปยังตอนใต้ที่มีอาณาจักรมอญ พวกทหารโปรตุเกสก็พากันเข้าร่วมรบเป็นอันมาก (จึงได้มีการลำเลียงอาวุธแบบสมัยใหม่เข้ามาใช้เช่นกัน) เบื้องหลังกองทัพพม่ามีทหารอาสาโปรตุเกส ชื่อ ดิเอโก ซัวเร เดอ เมลโล ช่วยพม่าปราบกองทัพสมิงทอ ผู้นำมอญที่เมืองหงสาวดี ดังนั้นกองทัพจากโปรตุเกสจึงมีความมั่นคงและรับใช้ราชสำนักพม่าอย่างมั่นคง


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 11, 09:06

- เกราะพร้อมเครื่อง 1 สำรับ
- หมวกโล่ห์หนังติดแถบเป็นลวดลายงาม พร้อมสายสะพายบ่าปักดิ้น 1 โล่ห์
- เสื้อเกราะทำด้วยกำมะหยี่และต่วนสีต่างๆ
- หน้าไม้พร้อมเครื่อง 1 อัน


อยากเห็นเครื่องรบพวกนี้ว่าหน้าตาเป็นยังไง    เพราะเข้าใจว่า เกราะ กับ เสื้อเกราะ ไม่เหมือนกัน   
เกราะ น่าจะหมายถึง armor  เป็นเหล็กถัก  ส่วนเสื้อเกราะน่าจะเป็น gear coat  หรือเสื้อเกราะอ่อน  ข้างนอกเป็นกำมะหยี่ ข้างในมีซับในบุต่วน   หมวกโล่ห์นั้นไม่รู้จักค่ะ
ของถวายคราวนี้มีหน้าไม้  ไม่ยักมีปืน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 11, 09:15
มีบันทึกของชาวโปรตุเกสคนหนึ่งชื่อ "บันทึกความทรงจำของแฟร์เนา เมนเดซ ปินโต( Fernão Mendez Pinto ค.ศ.1509-1583) ตกทอดมาถึงปัจจุบัน     เขาเป็นนักเผชิญโชคซึ่งเคยเข้ามาในอาณาจักรศรีอยุธยา   ในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ค.ศ.1543-1546)
เมื่อเกิดศึกระหว่างสยามกับเชียงใหม่ขึ้นใน ค.ศ.1548 (พ.ศ.2091) ปินโต กล่าวว่า

“ชาวต่างประเทศทุกๆชาติที่ไปร่วมรบกับกษัตริย์สยามนั้นต่างก็ได้รับคำมั่นสัญญาว่าจะได้รับบำเหน็จรางวัล การยกย่อง ผลประโยชน์ ความชื่นชมและเกียรติยศชื่อเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะได้รับอนุญาตให้สร้างโบสถ์เพื่อการปฏิบัติศาสนกิจในแผ่นดินสยามได้....”

แต่จริงๆแล้วปินโต(หรือออกเสียงแบบโปรตุเกสว่า ปินตู) บอกว่าทหารโปรตุเกสไม่ใช่ทหารอาสา แต่ถูกเกณฑ์ เพราะถ้าไม่ให้ความร่วมมือก็จะถูกเนรเทศจากอาณาจักรใน 3 วัน เหตุนี้จึงมีชาวโปรตุเกสถึง 120 คน จากจำนวน 130 คน เข้าร่วมรบ   เรื่องรบครั้งนี้มีอยู่ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา   ว่า เป็นศึกเมืองเชียงกรานซึ่งเกิดขึ้นเมื่อค.ศ.1538 (พ.ศ.2081) คลาดเคลื่อนไปจากที่ระบุในหลักฐานของปินโต 10 ปี

อยุธยาก็เลยมีทหารโปรตุเกสร่วมในกองทัพด้วย  120 คน    สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงจ้างเป็นทหารรักษาพระองค์  (bodyguards)พวกนี้เองได้สอนให้ชาวสยามรู้จักใช้ปืนใหญ่     และอาจทำให้กองทัพอยุธยาเริ่มปรับปรุงตำราพิชัยสงครามก็เป็นได้      สันนิษฐานว่าทหารโปรตุเกสในกองทัพสมัยพระไชยราชาเป็นที่มาของการตั้ง “กรมทหารฝรั่งแม่นปืน” จนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีจำนวน 170 คน   ใกล้เคียงกับจำนวนของทหารอาสาโปรตุเกส 120 คน ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 11, 09:22
ภาพโบราณของพม่าครับ
เป็นภาพเรือใบของโปรตุเกส กับเรือรบของพม่า ที่พวกโปรตุเกสมาถ่ายทอดวิทยายุทธให้

การเดินทางมาเผชิญโชคในเอเซียของคนหนุ่มในโปรตุเกสสมัยนั้น เหมือนเป็นการมาตายเอาดาบหน้าของพวกที่คิดว่าตนไม่สามารถจะเอาดีในแผ่นดินแม่ได้แล้วเป็นส่วนใหญ่ หวังว่าถ้าโชคดี ร่ำรวยมีชื่อเสียงแล้วจึงจะกลับบ้าน
ทางทำมาหากินของฝรั่งพวกนี้ ดีกว่าพวกคนจีนอพยพ คือไม่ต้องมาเป็นจับกัง อาศัยที่คงจะเคยยิงปืนไฟมาก็ได้เป็นทหาร ใครจะจ้างถ้าให้เงินดี ไม่ว่าจะฝ่ายใดก็เอาทั้งนั้น ไม่มีจรรยาบรรณอะไร บรรดากษัตริย์ในแถบอุษาคเนย์ก็นิยมจ้างฝรั่งเป็นทหารรักษาพระองค์ เพราะพวกนี้ไม่เล่นการเมือง ไม่เป็นหอกข้างแคร่เหมือนคนพื้นเมืองไว้ใจไม่ค่อยจะได้

ดังนั้นแม้จะมีทหารโปรตุเกสอยู่ในกองทัพทั้งไทย พม่า เขมร ญวนอะไรก็ตามแต่ ทหารฝรั่งพวกนี้คงไม่มีโอกาสฆ่ากันเอง เพราะต้องคอยคุ้มกันจอมทัพ ไม่ได้เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันออกแนวหน้า ใช้แต่อาวุธยาวเด็ดหัวฝ่ายตรงข้ามไปทีละคน เล็งลำกล้องไปเห็นหน้าขาวๆพวกเดียวกันก็เปลี่ยนเป้าไปยิงพวกหน้าดำๆที่มากำกับอยู่

เมื่อกองทัพที่ตนมาด้วยเป็นฝ่ายชนะ เขาปล้นเมืองกันพวกนี้ก็ร่วมปล้นด้วยอย่างชอบธรรม อะไรที่เก็บเกี่ยวมาได้ ถือเป็นโบนัส


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 11, 09:33
อ้างจาก: siamese ที่  29 เม.ย. 11, 22:53

อ้างถึง
อ้างถึง
- เกราะพร้อมเครื่อง 1 สำรับ
- หมวกโล่ห์หนังติดแถบเป็นลวดลายงาม พร้อมสายสะพายบ่าปักดิ้น 1 โล่ห์
- เสื้อเกราะทำด้วยกำมะหยี่และต่วนสีต่างๆ
- หน้าไม้พร้อมเครื่อง 1 อัน


อยากเห็นเครื่องรบพวกนี้ว่าหน้าตาเป็นยังไง    เพราะเข้าใจว่า เกราะ กับ เสื้อเกราะ ไม่เหมือนกัน   
เกราะ น่าจะหมายถึง armor  เป็นเหล็กถัก  ส่วนเสื้อเกราะน่าจะเป็น gear coat  หรือเสื้อเกราะอ่อน  ข้างนอกเป็นกำมะหยี่ ข้างในมีซับในบุต่วน   หมวกโล่ห์นั้นไม่รู้จักค่ะ
ของถวายคราวนี้มีหน้าไม้  ไม่ยักมีปืน

ยังไม่ทราบจะเอาสาระอะไรมาช่วยเสริมกระทู้นี้ได้ ค้นๆไปเจอบทความของท่านอาจารย์พิทยะ ศรีวัฒนสาร ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโปรตุเกส-สยามคดี เรื่อง “ฤาจับปิ้งเด็กไทยจะมาไกลจากโปรตุเกส” เลยขออนุญาตนำมาเล่าต่อ เป็นการสลับฉากแก้เหงาระหว่างคอยท่านอาจารย์เทาชมพูกับคุณหนุ่มสยามหาอะไรที่ถักๆตามที่ปรารภไว้ข้างต้นมานำเสนอต่อไป


“จับปิ้ง” คนสมัยนี้คงไม่รู้จักกันแล้ว แม้คนสมัยผมจะเคยเห็นตอนเด็กๆ ก็ไม่เคยเห็นชาวกรุงแท้จะใส่ให้ลูก นอกจากพวกที่ย้ายถิ่นฐานจากต่างจังหวัดเข้ามากลิ่นอายชาวกรุงยังไม่ติดตัวนัก จึงพอได้เห็นเด็กผู้หญิงสองสามขวบห้อยจับปิ้งไว้ที่เอวด้านหน้ากันโป๊ พ่อแม่ปล่อยให้วิ่งเล่นอยู่ในตรอกในซอย แต่เวลาไปทำบุญสงกรานต์ทุกปีที่วัดปรมัย ปากเกล็ดซึ่งเป็นถิ่นของชาวมอญ จะเห็นเด็กๆห้อยจะปิ้งกันแทบจะทุกบ้าน ก็หน้าร้อนสมัยก่อน เขาไม่นิยมนุ่งผ้ากัน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 11, 09:38
ท่านอาจารย์พิทยะเขียนไว้ว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ หน้า ๒๒๔ อธิบายว่า "จับปิ้ง" เป็นคำนาม แปลว่า "เครื่องปิดที่ลับของเด็กหญิง ทำด้วยเงิน ทอง หรือ นาก เป็นต้น, กระจับปิ้ง จะปิ้ง ตะปิ้ง หรือ ตับปิ้งก็เรียก (มอญเรียกว่า จะปิ้ง)" แต่หนังสืออักขราภิธานศรับท์หมอปรัดเลย์(น.๑๕๐, Dr. D. Bradley)ให้ "อาจาริย์ทัดคัดแปล" เมื่อค.ศ.๑๘๗๓ อธิบายว่า จับปิ้ง ใช้ได้ทั้งเด็กชายและเด็กหญิง กล่าวคือ " จับปิ้ง, เปนชื่อของสำรับผูกบั้นเอวเด็ก, ปิดบังที่ลับของเด็กผู้หญิง, ทำด้วยเงินบ้าง, ทองบ้าง, เหมือนเด็กไทยนั้น"

เวบบล็อกwriter.dek-d.com อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า

"จับปิ้ง ...แผ่นโลหะ หรือ แผ่นไม้ที่ใช้ปิดบังอวัยวะเพศของเด็กผู้หญิง เพื่อไม่ให้โจ่งแจ้ง เปิดเผยจนเกินไป (หากเป็นเด็กชาย จะห้อย พริกเทศ ซึ่งพัฒนามาเป็นปลัดขิก ) เหตุผลอีกข้อหนึ่งที่เด็กผู้หญิงต้องใส่จับปิ้ง ก็เนื่องจากว่า เป็นการสอนกิริยามารยาทของเด็กให้สุภาพ เรียบร้อย หากเด็กคนไหนซนมากๆ พ่อแม่ก็จะใช้จับปิ้งที่มีขนาดหนาและใหญ่เป็นพิเศษ เพื่อที่เวลาเด็กวิ่งเล่นซน ตัวจับปิ้งก็จะตีของลับเด็ก ทำให้ซนมากไม่ค่อยได้ ต้องเดินเรียบร้อย เวลาจะนั่งก็จะเรียบร้อย มิฉะนั้น จับปิ้งก็จะทิ่มที่ลับได้ ลักษณะของจับปิ้งจะมีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งทำจากทองคำฝังเพชร ถมยา ลงรัก เงินและทำจากไม้ ขึ้นอยู่กับชั้นวรรณะของผู้ใช้ หากเป็นลูกเจ้าฟ้าพระมหากษัตริย์ ก็จะใช้ทองคำฝังเพชร ถมยา ลงรัก ลดลั่นลงมาก็จะเป็นเงิน หากเป็นลูก ชาวบ้านชาวไร่ชาวนาก็จะเป็น ไม้ หรือจากกะลามะพร้าว เด็กผู้หญิงในปัจจุบันไม่นิยมใส่จับปิ้ง แต่เราจะเห็นว่ามีชาวต่างชาติบางคนนำจับปิ้งมาเป็นจี้ หรือสร้อย ห้อยคอ แสดงให้เห็นถึงยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงไป"


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 11, 09:39
ผู้เขียน(ท่านอาจารย์พิทยะ)พบว่าเนื้อหาตอนหนึ่งของหนังสือเรื่อง The Portuguese Missions in Malacca and Singapore(1511-1958) Volme III-Singapore(1987 p.485-486)เรียบเรียงโดย Mons. Manuel Teixeira กล่าวถึง "คำ"โปรตุเกส อย่างน้อย ๖ คำตกค้างอยู่ในภาษาเขมร(Cambodia Language)ได้แก่ คำว่า กระดาษ จะปึง(จับปิ้ง) กระสา(นก) ลายลอง(เลหลัง) เหรียญและสบู่ ซึ่งบางคำก็มีเสียงและความหมายคล้ายกับภาษาไทย ดังนี้

กระดาษ ภาษาเขมรออกเสียงว่า kradas ตรงกับ ภาษา โปรตุเกสว่า "carta หรือ cartaz" ภาษาสยามออกเสียงว่า Kradat ภาษามาเลย์ ออกเสียงว่า Kertas

จะปึง(chapung) ตรงกับภาษาโปรตุเกสว่า chapinha(จาปินญา)มาเลย์และสยามออกเสียงคล้ายกันว่า จะปิ้ง จับปิ้ง

กระสา(นก)โปรตุเกสเรียกว่า garça(การ์ซา)

ลายลอง(lay long) โปรตุเกสออกเสียงว่า "leilão-ไลเลา" ไทยออกเสียงว่า เลหลัง

เหรียญ เขมรเรียกว่า "riel" โปรตุเกสเรียกว่า "real"มาเลย์ เรียกว่า "rial" สยามเรียกว่า "rien"

สบู่ เขมรเรียกว่า "sabu" สยามเรียกว่า "sabu" โปรตุเกสเรียกว่า "sabão-ซาเบา หรือ ซาเบิว"


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 11, 09:41
ท่าน NAVARAT อธิบายเรื่องทหารรับจ้างโปรตุเกสได้ชัดเจนเห็นภาพ     ดิฉันไม่มีอะไรจะเพิ่ม นอกจากเอาศัพท์มาบอกให้รู้กัน เผื่อไปเห็นในหนังสือ
พวกนี้ เรียกว่า Soldier of Fortune   แปลเป็นไทยง่ายๆว่านักเผชิญโชค      อีกชื่อหนึ่งคือ  mercenary = ทหารรับจ้าง  หรือเรียกกว้างๆว่า  adventurer = นักผจญภัย   ก็ได้
ไม่จำเป็นต้องเป็นทหารมาก่อน    แต่ต้องอดทนสำบุกสำบัน และเอาตัวรอดเก่ง    
นักผจญภัยชาวยุโรปที่ซัดเซพเนจรไปอยู่ตามประเทศต่างๆ มีอยู่หลายยุคหลายสมัย  เช่นกองทหารต่างด้าวของคนยุโรปในแอฟริกาเหนือสมัยยังเป็นอาณานิคม      ทหารรับจ้างบางคนก็ไม่ได้ลำบากลำบนอะไรนัก แต่ไปรับจ้างเป็นทหารในประเทศอื่นรายได้ดีกว่าทำงานอยู่ในบ้านเมือง   สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒  ชายสวิสที่ไม่ได้รบเพราะประเทศอยู่เป็นกลางไม่มีการรบ   ก็ไปรับจ้างรบกับประเทศนั้นประเทศนี้ก็มี

โปรตุเกสรับจ้างพม่ารบไทย  รับจ้างไทยรบพม่า  รับจ้างเขมรรบไทย  รับจ้างไทยรบเขมร   ฯลฯ  ถ้าไม่ตายเสียก่อน ก็ได้สตางค์ลูกเดียว


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 11, 09:45
ต่อเรื่องจับปิ้งอีกนิดนึง

พอเห็นต้นศัพท์ดังกล่าว ผมก็ตื่นเต้นเล็กน้อย สมัยนี้สงสัยใคร่รู้อะไรเข้าเวปแพร๊บเดียวก็รู้เรื่อง ผมจึงรีบเอาคำว่า chapinhaไปค้นหาในกูเกิลต่อ หวังจะได้รูปจับปิ้งของแท้ของโปรตุเกสเอามาฝาก
 
แต่รูปทั้งหมดที่เจอ กลับกลายเป็นไอ้เจ้าข้างล่างนี่ ไทยแปลจากคำภาษาอังกฤษมาตรงๆว่า เครื่องดัดผม

ผมก็ไม่รู้ภาษาโปรตุเกสแม้กระจิ๊ดเดียว ไม่สามารถจะค้นต่อได้ว่า เจ้าเครื่องดัดผมมือถือเนี่ย มันจะเป็นคำแผลงมาจากจับปิ้งได้อย่างไร มีผมตรงนั้นสักเส้นให้ดัดที่ไหน

เชิญท่านอื่นต่อครับ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 30 เม.ย. 11, 09:47
พลิกตัวไม่ทัน .. ;D มาจับปิ้งเสียแล้ว เลยบรรณาการ จับปิ้งสมัยรัชกาลที่ ๕ อีกแบบซึ่งไม่ได้เป็นลวดถัก

จับปิ้งนิยมสวมให้กับเด็กหญิงใช่ไหมครับ สำหรับเด็กชายจะไม่ใส่แต่ให้คล้องปลัดขิกเล็กๆที่เอวไว้แทน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 11, 09:51

“จับปิ้ง” คนสมัยนี้คงไม่รู้จักกันแล้ว แม้คนสมัยผมจะเคยเห็นตอนเด็กๆ ก็ไม่เคยเห็นชาวกรุงแท้จะใส่ให้ลูก นอกจากพวกที่ย้ายถิ่นฐานจากต่างจังหวัดเข้ามากลิ่นอายชาวกรุงยังไม่ติดตัวนัก จึงพอได้เห็นเด็กผู้หญิงสองสามขวบห้อยจับปิ้งไว้ที่เอวด้านหน้ากันโป๊ พ่อแม่ปล่อยให้วิ่งเล่นอยู่ในตรอกในซอย แต่เวลาไปทำบุญสงกรานต์ทุกปีที่วัดปรมัย ปากเกล็ดซึ่งเป็นถิ่นของชาวมอญ จะเห็นเด็กๆห้อยจะปิ้งกันแทบจะทุกบ้าน ก็หน้าร้อนสมัยก่อน เขาไม่นิยมนุ่งผ้ากัน


จับปิ้ง เห็นจะเป็นของธรรมดาสำหรับชาวกรุงในสมัยคุณแม่ดิฉัน   ส่วนยุคดิฉัน   เกิดมาก็ไม่เคยเห็นญาติพี่น้องผู้หญิงวัยเดียวกันใส่กันเลยสักคน  ในบ้านก็ไม่มี   แต่จำได้ว่าเคยเห็นวางขายอยู่ในร้านเก่าๆ ขายพวกเครื่องเงิน    คุณแม่ชี้ให้ดูว่าเป็นจับปิ้ง หรือเรียกแบบชาวบ้านว่าตะปิ้ง
เมื่อเรียนจบไปเป็นอาจารย์   ลูกศิษย์หนุ่มๆสาวๆ   จัดงานเลี้ยงกันในมหาวิทยาลัย แต่งตัวกันสวยงาม  มีคนหนึ่งสวมสร้อยคอคล้ายรูปข้างล่างนี้     ครูเห็นเข้าแทบช็อค    จะบอกกลางงานก็ไม่ได้  แต่ก็สบายใจว่า คนทั้งงานไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร 


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 11, 10:03
ต่อเรื่องจับปิ้งอีกนิดนึง

พอเห็นต้นศัพท์ดังกล่าว ผมก็ตื่นเต้นเล็กน้อย สมัยนี้สงสัยใคร่รู้อะไรเข้าเวปแพร๊บเดียวก็รู้เรื่อง ผมจึงรีบเอาคำว่า chapinhaไปค้นหาในกูเกิลต่อ หวังจะได้รูปจับปิ้งของแท้ของโปรตุเกสเอามาฝาก
 
แต่รูปทั้งหมดที่เจอ กลับกลายเป็นไอ้เจ้าข้างล่างนี่ ไทยแปลจากคำภาษาอังกฤษมาตรงๆว่า เครื่องดัดผม

ดิฉันก็ตามหาจับปิ้งโปรตุเกสอีกคนเหมือนกันเพราะอยากเห็น    เจอเครื่องดัดผม   เอาคำนี้ส่งให้กูเกิ้ลแปลเป็นอังกฤษ  ได้มาหลายคำ แต่ยังไม่เจออะไรที่คล้ายจับปิ้ง  ฝากคุณ siamese คุณเพ็ญชมพู หรือคุณ DD หากันต่อไป
ก็ยังสงสัยว่าจับปิ้งมันใช้ได้กับประเทศที่อากาศร้อนพอเด็กเล็กๆจะวิ่งเปลือยกายได้    มีอะไรปิดร่างกายไว้นิดเดียวกันอุจาด    แต่โปรตุเกสเป็นประเทศหนาว   ต้องนุ่งห่มมิดชิด  จะผลิตจับปิ้งไว้หาประโยชน์อันใด


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 30 เม.ย. 11, 10:04
ชุดทหารโปรตุเกสเมื่อประมาณ 400 ปีก่อน ถ้าหมวกเกราะ คงจะใกล้เคียงกัน

- เกราะพร้อมเครื่อง
- หมวกโล่ห์หนังติดแถบเป็นลวดลายงาม พร้อมสายสะพายบ่าปักดิ้น 1 โล่ห์
- เสื้อเกราะทำด้วยกำมะหยี่และต่วนสีต่างๆ
 ภาพนี้ก็ตรงกับสิ่งที่ทูตนำมาถวายครับ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 11, 10:21
^
ภาพสวยมากค่ะ   คงจะโก้มากทีเดียวในสายตาชาวอยุธยา

ไหนๆออกทะเลไปเรื่องจับปิ้ง  ก่อนกลับเข้าฝั่งมาหาทหารโปรตุเกส   ขอจับปลาสักตัวในทะเลมาฝากกันก่อน

ดิฉันยังนึกภาพจับปิ้งโปรตุเกสไม่ออกว่าจะใช้ในโอกาสไหนยังไง  เพราะอย่างที่บอก คือเป็นเมืองหนาว   เด็กโปรตุเกสวิ่งตัวเปล่าๆตามถนนคงปอดบวม  หรือถึงไม่บวมก็ไม่ใช่ธรรมเนียมของพวกเขาที่จะเปลือยกายให้ใครเห็น แม้แต่ในบ้าน
แต่มีอะไรอย่างหนึ่งที่ผู้หญิงยุโรปสวม  เพื่อปกป้องอวัยวะ     เรียกว่า chastity belt  หรือเข็มขัดพรหมจารี   เคยอธิบายไว้ในกระทู้เก่าเรือนไทยที่ไหนสักกระทู้      เข็มขัดนี้ผู้หญิงสวมไว้เพื่อป้องกันมิให้ผู้ชายล่วงเกินทางเพศ   ในยุคกลาง เมื่ออัศวินทั้งหลายจะไปสงครามครูเสดยาวนานนับปีๆ  ก็สวมเข็มขัดให้ภรรยา   แล้วเอากุญแจไขเข็มขัดติดตัวไปด้วย     รับรองว่าปลอดภัยหายห่วง  ไม่ต้องกลัวว่าชายอื่นจะมาฉุดคร่าหรือตีท้ายครัว    สามีกลับมาเห็นเข็มขัดยังสวมอยู่บนร่างภรรยาก็โล่งใจ ว่าเธอไม่มีชู้แน่
ถ้าดัดแปลง chastity belt มาเป็นจับปิ้ง ก็พอจะเข้าเค้า     แต่ถ้าบอกว่าโปรตุเกสมีจับปิ้งใช้แบบไทยสมัยก่อน   ยังนึกภาพไม่ออกค่ะ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 30 เม.ย. 11, 10:28
ผมมีความเห็นเรื่อง จับปิ้ง
๑. ตามความเห็นของ อ.เทาชมพู ด้วยว่าชาวโปรตุเกสเป็นเมืองหนาว
๒. อาจจะเป็นการเรียกของภาษาโปรตุเกส ที่ได้มาเจอกับของสิ่งนี้ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (ฝรั่งเขามีแต่เป็นเหล็กถักในชุดเกราะ โรมัน)
๓. ถ้าวัฒนธรรมโปรตุเกสมี อย่างน้อยต้องเห็นกระจายตามแหล่งเมืองขึ้น (นึกถึงการประดับประดา เครื่องห้อย ...อินเดีย..)
๔. ในภาพเขียนสีน้ำมันโปรตุเกส ภาพเด็กน้อย น่าจะมีบ้าง ทั้งในโปรตุเกสและสเปน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 เม.ย. 11, 10:40
รอยอินท่านสะกดรอยไปแค่ว่ามาจากภาษามลายู ยังไม่ไปไกลถึงโปรตุเกส

จะปิ้ง น. เครื่องปิดของลับของเด็กหญิง ทําด้วยเงิน ทอง หรือนาก เป็นต้น, กระจับปิ้ง จับปิ้ง ตะปิ้ง หรือ ตับปิ้ง ก็เรียก. (ม.); แผ่นโลหะที่ติดฝาหีบสําหรับลั่นกุญแจ, ใช้เรียกสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น จะปิ้งหูกลอง จะปิ้งห่วงประตู.

ฤๅว่าอาจารย์พิทยะจะเห็นคำว่า chaping หน้าตาคล้าย chapinha จึงสรุปเช่นนั้น

 ???
 
 


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 11, 10:49
เด็กหญิงโปรตุเกสยุคพระไชยราชา แต่งกายกันแบบนี้ค่ะ  เอาผ้าจีบรอบคอออกไป ก็จะเห็นเสื้อแขนยาวและกระโปรงยาว  ไม่ได้สอดคล้องกับจับปิ้ง

เห็นคล้อยตามคุณเพ็ญชมพู

อ้างถึง
ฤๅว่าอาจารย์พิทยะจะเห็นคำว่า chaping หน้าตาคล้าย chapinha จึงสรุปเช่นนั้น


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 11, 11:14
ไม่นึกว่าจับปิ้งอันนิดเดียวจะพาขบวนล่าโปรตุเกสพลัดพรากจากเป้าหมายจนออกทะเลไปไกลถึงเพียงนี้
ต้องแสดงความรับผิดชอบพาเข้าฝั่งสักหน่อย
เอ…เราถึงไหนกันแล้วนั่น

อ้างถึง
อยุธยาก็เลยมีทหารโปรตุเกสร่วมในกองทัพด้วย 120 คน สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงจ้างเป็นทหารรักษาพระองค์ (bodyguards)พวกนี้เองได้สอนให้ชาวสยามรู้จักใช้ปืนใหญ่

ปืนใหญ่ยุคต้นที่ฝรั่งพุทธเกศเอามาขายและถ่ายทอดเทคโนโลยี่ให้ เป็นปืนที่เรียกว่า muzzle loading cannon หรือปืนใหญ่แบบบรรจุกระสุนทางปลายปากกระบอก
 
ปืนเช่นนี้ยืนยงมาหลายศตวรรษ กว่าจะสามารถหล่อปืนที่เปิดและปิดทางท้ายกระบอกเพื่อความสะดวกในการบรรจุกระสุน แล้วต้องปลอดภัยด้วย ไม่ใช่พอลั่นตูมแล้วเกิดการเป็นbackfire คนยิงทั้งปวงเละเทะระเนระนาด


ปืนที่ฝรั่งพุทธเกศเอามาขายนั้น ไทยก็ใช้เทคโนโลยี่ของการหล่อพระพุทธรูป ลอกแบบออกมาเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นกระบอกเล็กๆก็พอได้อาศัย แต่พอใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็ระแวง คงจะกระบอกแตกเวลายิงมาแล้ว อย่างว่า โลหะที่นำมาผสมหล่อเป็นปืน ซึ่งเรียกว่าสัมฤทธิ์นั้น คุณสมบัติของแต่ละวัสดุที่ใช้อาจจะไม่นิ่ง ทำให้ความแข็งแรงไม่ได้ตามปรารถนา สุดท้ายก็ซื้อฝรั่งดีกว่า

รู้สึกว่าปรัชญาในการหาอาวุธมาใช้ในกองทัพที่ปฏิบัติมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยานี้ ยังอยู่ยงคงกระพันมาจนสมัยปัจจุบันทีเดียว


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 11, 11:18
ปืนใหญ่ของโปรตุเกสที่ขุดได้ที่อยุธยา เป็นปืนใหญ่ในยุคหลังๆแล้วก็จริง แต่ก็ยังบรรจุกระสุนทางปากกระบอกเช่นเดียวกับรุ่นแรกที่เอามาขาย


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 11, 11:29
กลไกของปืนใหญ่ชนิดนี้ก็ง่ายๆ
จะยิงแต่ละครั้งก็ทำได้โดย

๑ กรอกดินปืนลงไป ให้พอดีสำหรับจะเป็นชนวนด้วย
๒ ดินปืน ถ้าน้อยไปก็ยิงไม่ถึงเป้าหมาย แรงไป กระบอกอาจแตกได้
๓ เอาเศษผ้าหรือฝ้ายทำเป็นหมอน กระทุ้งลงไปอัดดินปืนให้แน่น
๔ ใส่กระสุน งานหนักหน่อย เพราะทำด้วยเหล็ก มันหนักจริงๆ
๕ ใส่หมอนอีกชั้นหนึ่ง กระทุ้งให้แน่น แล้วจุดสายชนวนยิงได้

ภาพเล็กกับภาพใหญ่กลับด้านกันนะครับ ดูแล้วอย่าสลับสับสน ผมไม่ได้ประดิษฐ์ภาพเหล่านี้ขึ้นเอง ขอยิ้มเขามาให้ท่านดูทั้งน้าน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 30 เม.ย. 11, 11:38
กลไกของปืนใหญ่ชนิดนี้ก็ง่ายๆ
จะยิงแต่ละครั้งก็ทำได้โดย

๔ ใส่กระสุน งานหนักหน่อย หนักจริงๆ

เคยเห็นกระสุนโบราณ มีทั้งแบบลูกเหล็ก ขนาดเท่าลูกกอล์ฟ ใหญ่จนลูกตะกร้อ ส่วนที่เป็นหิน-ดินเผา ก็ทำหลายขนาด เคยเห็นใหญ่ ย่อมๆลูกนิมิตยังเคยเห็น ท่าทางเวลา load กระสุนคงเหนื่อยน่าดู  :D


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 11, 11:46
อ่านจากที่ท่าน NAVARAT เล่า  แสดงว่าปืนใหญ่แบบนี้ยิงได้ทีละลูก   ยิงไปแล้วต้องบรรจุดินปืนและกระสุนใหม่   ถ้าเป็นเช่นนั้น พระเจ้าแผ่นดินก็ต้องสั่งซื้อหลายๆกระบอก    กระบอกเดียวยิงไม่ทันแน่

ปืนใหญ่แบบนี้หรือเปล่าคะ  ที่ก่อนเสียกรุงครั้งที่ ๒  พระยาวชิรปราการหรือพระเจ้าตาก ยิงโดยพลการไม่ได้ขอพระราชานุญาต เลยโดนโทษหนักเพียงแต่ยกไว้    สาเหตุจริงๆไม่น่าจะเป็นเสียงปืนกึกก้องจนพระสนมแสบหูทนไม่ไหว  น่าจะเป็นเพราะขาดแคลนดินปืนและกระสุนด้วยหรือเปล่า


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 30 เม.ย. 11, 11:48
ส่งแผนที่เกาะเมืองอยุธยา เพื่อให้ดูที่ตั้งชุมชนโปรตุเกส อยู่ด้านซ้ายภาพติดแม่น้ำเจ้าพระยา ( ลำดับที่ K และ I)


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 11, 12:32
อ้างถึง
ปืนใหญ่แบบนี้หรือเปล่าคะ ที่ก่อนเสียกรุงครั้งที่ ๒ พระยาวชิรปราการหรือพระเจ้าตาก ยิงโดยพลการไม่ได้ขอพระราชานุญาต เลยโดนโทษหนักเพียงแต่ยกไว้ สาเหตุจริงๆไม่น่าจะเป็นเสียงปืนกึกก้องจนพระสนมแสบหูทนไม่ไหว น่าจะเป็นเพราะขาดแคลนดินปืนและกระสุนด้วยหรือเปล่า

ส่วนตัวผมคิดว่า ปืนใหญ่ประจำการที่ป้อมปืนบนเชิงเทินของพระนครนั้น คงจะมีขนาดใหญ่โตเหมือนบรรดาปืนใหญ่หน้ากระทรวงกลาโหม ซึ่งแม้จะหนักมาก แต่ตอนบ้านเมืองยังดีอยู่ก็มีเวลาชลอเอาขึ้นไปได้ ก็ถ้าไม่เอาไปตั้งบนนั้นแล้วปืนใหญ่ๆขนาดที่เห็น จะเอาไปตั้งยิงที่ไหน

ปืนดังกล่าวหล่อในประเทศ เมื่อกรุงแตก บอก(ภาษาโบราณใช้คำว่าบอก ไม่ใช่กระบอก)ไหนพม่าเอาไปได้ก็เอาไป เอาไปไม่ได้ก็เอาดินปืนยัดไปมากๆแล้วจุดระเบิดเสีย

มีบอกหนึ่ง ย่อมลงมาหน่อยแต่สวยงามเป็นพิเศษ พม่าลงแรงขนกลับไปแล้วจารึกว่าเป็นปืนเชลยของโยเดีย คนไทยไปพบโดยบังเอิญที่ Fort St.George, เมืองทมิฬนาดู ตอนใต้ของอินเดีย คืออังกฤษเมื่อเอาพม่าเป็นเมืองขึ้นได้แล้ว เห็นปืนบอกนี้สวย ก็ขมายต่อจากพม่าไปอีกทีเป็นของที่ระลึก
ดังนั้น ปืนที่พระยาวชิรปราการสั่งให้ยิง คงจะไม่ใช่ปืนใหญ่ขนาดย่อมลงมาที่เราซื้อจากฝรั่ง น่าจะเป็นปืนใหญ่ขนาดยักษ์ที่เวลายิงแล้ว เสียงจะกึกก้องกัมปนาทกว่าหลายเท่าตัว

ผมคิดว่าผู้ที่จะสั่งยิงปืนขนาดใหญ่มากๆจะต้องมีอำนาจหน้าที่ (authority)ด้วย ไม่ทราบว่าพระยาวชิรปราการท่านมีหรือเปล่า หรือเห็นจวนตัวจริงๆไม่ทันได้ขออนุญาตก็ยิงไป เมื่อเหตุการณ์บรรเทาลงแล้วก็มีการสอบสวน  เมื่อสอบสวนแล้วเห็นว่าสมควรแก่เหตุก็แค่เตือนไว้ ทหารปัจจุบันก็ยังคงต้องปฏิบัติเช่นนี้ ไม่ใช่นึกอยากยิงก็ยิงกันพร่ำเพรื่อในยามขาดแคลนดังที่ท่านอาจารย์เทาชมพูว่า ปืนใหญ่เล็กทุกกระบอก ยิงแต่ละตูมถ้าไม่เป็นผลก็น่าเสียดายกระสุนและดินดำด้วยกันทั้งนั้น

เรื่องที่ว่าท่านถูกคาดโทษเพราะสาวสรรกำนัลในตกใจวิ่งกระเจิดกระเจิง เป็นเหตุให้พระเจ้าเอกทัศน์ทรงเอาเรื่อง ผมว่าจะให้ร้ายพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้กันหนักไปหน่อย อะไรจะงี่เง่ากันถึงขนาดนั้น


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 11, 13:00
     ไปเจอที่ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนไว้ในหนังสือ "สามนคร" ถึงโปรตุเกสกับอยุธยาเอาไว้        ก็เลยเอามาลงให้อ่านกันค่ะ

     "  ไทยเริ่มติดต่อกับตะวันตกอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในค.ศ. ๑๕๑๘     ในเมื่อพระมหากษัตริย์แห่งอยุธยาทรงรับคณะทูตของโปรตุเกสที่ส่งจากมะละกา     การต้อนรับทูตของโปรตุเกสนั้นเป็นไปฉันมิตร     และด้วยไมตรีจิตเป็นผลทำให้ไทยทำสนธิสัญญากับโปรตุเกส    ปล่อยให้โปรตุเกสมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ ที่จะค้าขายทั้งที่อยุธยาเอง   และตามเมืองท่าบนฝั่งทะเลอีกหลายแห่ง    คณะสงฆ์ชาวโปรตุเกสตามคณะทูตนั้นไป    และได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติศาสนกิจ และเผยแพร่ศาสนาคริสเตียนได้     วัดคริสเตียนแห่งแรกที่สร้างขึ้นในประเทศนั้น      พระมหากษัตริย์ไทยทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างด้วย...
      ....สำหรับชาวโปรตุเกสนั้น   มีวิธีการแปลกประหลาด  สามารถคลุกคลีปะปนกับประชาชนคนไทย    จนกระทั่งไม่มีใครถือว่าผลประโยชน์ของชาวโปรตุเกสเป็นผลประโยชน์ของคนต่างชาติต่อไปอีก" 


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 เม.ย. 11, 13:56
     คณะทูตกลับไปแล้ว แต่ทิ้งชาวโปรตุเกสไว้คนหนึ่งชื่อ Fragoso   (อ่านว่าฟรากูซู    เพิ่งเจอว่าตัว o ในภาษาโปรตุเกสออกเสียงเป็น อู)  นายคนนี้ไม่รีบกลับ แต่ปักหลักอยู่กรุงศรีอยุธยาประมาณ 2 ปี   เขียนบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยามากมาย  ทั้งพิกัดและที่ตั้ง   รวมทั้งเมืองท่าต่างๆ ในอาณาจักร   บอกรายละเอียดเรื่องสินค้า การแต่งกาย ขนบธรรมประเพณีของชาวสยามด้วย   แกคงจะทำหน้าที่คล้ายๆเจ้าหน้าที่กรมประมวลข่าวกลางละกระมัง

Manuel Fra  gozo มานูเอล ฟราโกซู (คุณกุ๊กอ่านว่า ฟราโกซู (http://translate.google.co.th/translate_t?hl=th&biw=1596&bih=685&q=%20Fra%20%20gozo&wrapid=tlif130414594392511&um=1&ie=UTF-8&sa=N&tab=wT#pt|th|%20Fra%20%20gozo) )  คนนี้เองที่ได้รับการบันทึกว่าเป็นจารชนชาวยุโรปในสยามคนแรก

คุณภาสกร วงศ์ตาวันเขียนไว้ในบทความเรื่อง ชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา มีทั้งทหารรับจ้าง จารชน และโจรสลัด (http://haab.catholic.or.th/history/history01/protuget6.html)

นายฟรานโกซู  คนนี้มีหน้าที่โดยได้รับคำสั่งว่าให้อาศัยอยู่ในสยามเพื่อรวบรวมข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ให้แก่ฝ่ายโปรตุเกส ข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ที่ว่านี้ได้แก่  ชนิดของสินค้าที่สามารถ หาได้ในสยาม ขนบประเพณีและการแต่งกายของชาวสยาม ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ชัดเจนของเมืองอยุธยา ความลึกของท่าเรืออยุธยา

นอกจากนั้นยังต้องเสาะแสวงหา และรวบรวมข้อมูลด้านแสนยานุภาพทางทหารของสยามอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้นอันที่จริงแล้วการสืบราชการลับเริ่มต้นมาตั้งแต่การเดินทางของทูตครั้งนี้แล้วคือ  เพื่อให้รู้จักเส้นทางของการเข้าสู่อยุธยา  ทูตชุดนี้จึงได้เลือกเดินทางสำรวจมาโดยช่วงแรกเดินทางทางเรือมาขึ้นฝั่งที่เมืองมะริดก่อน แล้วเดินทางบกสำรวจเส้นทางบกไปเรื่อยจนเข้าสู่เมืองอยุธยา

ด้วยภารกิจดังว่า และได้รับพระบรมราชานุญาตให้อาศัยอยู่ในสยามได้  นายฟราโกซูเลยอยู่อย่างสะดวกสบายในสยามถึง  ๒ ปี เป็นเวลา ๒  ปีที่สืบราชการลับโดยมีบรรดาขุนนางข้าราชการให้การต้อนรับ และพร้อมที่จะให้ข้อมูลที่อยากได้ทุกเรื่องหมดเวลา ๒ ปี นายฟราโกซูก็เดินทางออกนอกประเทศนำข้อมูลที่ตัวเองได้ไปรายงานกับผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสที่เมืองกัวได้อย่างพร้อมมูล

เรื่องราวของนายฟราโกซู ได้รับการบันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ของโปรตุเกสอย่างชัดเจนเสียอย่างเดียวที่จนถึงวันนี้รายงานฉบับของเขานั้นได้หายสาบสูญไปเสียแล้ว  เลยไม่มีใครในปัจจุบันที่ได้อ่าน และได้รู้จนถึงผลงานที่เขาได้ทำเอาไว้ในฐานะจารชนคนแรกของชาวตะวันตกในสยามประเทศ

ในเวลาต่อมาไม่ปรากฏว่าโปรตุเกสคิดจะเข้ามายึดกรุงศรีอยุธยาเหมือนกับที่ทำกับหลายเมืองที่ผ่านมา กระนั้นเกมการเมืองครั้งนี้ของโปรตุเกสหากเรามาพิจารณากันในปัจจุบันแล้ว ก็ดูน่าหวาดเสียวอยู่ไม่น้อย ที่สำคัญยังมีประเด็นพ่วงอีกเรื่องหนึ่ง คือ ช่วงเวลาดังกล่าวโปรตุเกสไม่แต่เพียงเข้ามาสืบราชการลับเท่านั้น  ยังส่งคนเข้ามาทำอะไรอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นความลับทางราชการของชาติด้วย นั่นก็คือส่งนายเปรู เรยเนล (Pero Reinal) เข้ามาทำแผนที่เดินเรือของอ่าวสยาม  ซึ่งถือเป็นการทำแผนที่เดินเรือและการสำรวจน่านน้ำของสยามครั้งแรกโดยชาวตะวันตก

คิด ๆ ไปแล้วในแง่ประวัติศาสตร์  ข้อมูลของนายฟราโกซู ที่สูญหายไปนั้นน่าเสียดายอย่างยิ่ง ไม่รู้ว่าเขาบันทึกอะไรเอาไว้บ้าง ซึ่งหากมีอยู่ก็น่าจะสามารถเป็นข้อมูลเกี่ยวกับอยุธยาที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งไม่ต่างจากของยุโรปชาติอื่นที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่องและยังมีหลงเหลือกลายเป็นหลักฐาน และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เช่น ของฮอลันดา ที่มีนาย โยสต์ เซาเต็น  และนายฟาน ฟลีต บันทึกหรือของฝรั่งเศสที่มีหลายคนหลายสำนวน  แต่ที่ได้รับการนับถืออย่างมากก็เช่นของลาลูแบร์  หรือของบาทหลวงตาชาร์ด เป็นต้น ซึ่งแท้จริงมันก็คือข้อมูลในเชิงของการสืบราชการลับ  หรือข้อมูลของจารชนทั้งสิ้นนั่นเอง

 ;D





กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 11, 14:44
      ปลายสมัยสมเด็จพระไชยราชา    โปรตุเกสก็ตั้งเป็นชุมชนได้มั่นคงในอยุธยาแล้ว มีอยู่ราว 300 คน   ประชากรมีหลายอาชีพ  มาค้าขายบ้าง เป็นทหารบ้าง   ฝ่ายทหารก็ฝึกหัดทหารไทยให้รู้จักอาวุธปืนตลอดจนยุทธวิธีในการสงคราม  อีกพวกหนึ่งคือบาทหลวงชาวโปรตุเกส  มาเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก  พระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงกีดกันการเผยแพร่ศาสนาแต่อย่างใด   
      สินค้าที่โปรตุเกสซื้อจากสยามที่อยุธยา และที่มะริด คือ  สินค้าของป่าจัดในหมู่เครื่องยา คือ ไม้ฝาง ครั่งดิบ กำยาน งาช้าง นอแรด ขี้ผึ้ง น้ำมันเลียงผา และสมุนไพรต่างๆ    ส่วนสินค้าที่นำมาขายอยุธยา คือ ผ้านานาชนิดจากคุชราต และโจฬมณฑล เครื่องเทศ น้ำดอกกุหลาบ ชาด ทองแดง และสินค้าแปลกจากยุโรป รวมทั้งเบี้ยหอยจากมัลทวีป ปืน และกระสุน
       อย่างหลังคือปืนและกระสุน ทำอาชีพเป็นล่ำเป็นสันแก่ชายฉกรรจฺ์คือทหารรับจ้าง  สอนวิชาใช้ปืน    หนึ่งในจำนวนนี้กลายมาเป็นขุนนางสยาม ชื่อโดมิงโกส เดอ ซีซาส    ชีวิตของชาวโปรตุเกสคนนี้ สะท้อนภาพฝรั่งในอยุธยาในยุคนั้นได้ชัด  จึงขอเล่ารายละเอียดให้ฟัง

      เดอซีซาสเกิดในตระกูลลูกผู้ดีโปรตุเกส   แต่สันนิษฐานว่าเป็นลูกคนรองจึงไม่ได้สมบัติตกทอดของตระกูล    มรดกทั้งหมดย่อมตกแก่บุตรชายคนโตเท่านั้น   เขาจึงเดินทางมาแสวงโชคในเอเชีย    ถูกจับพร้อมชาวโปรตุเกสอื่นๆโดยเจ้าเมืองตะนาวศรี    ตามบันทึกบอกว่าเป็นการจับแพะ     เหตุจากโจรสลัดโปรตุเกสปล้นเรือที่ตะนาวศรี   ชาวโปรตุเกสเคราะห์ร้ายแถวนั้นเลยถูกกวาดจับกราวรูด   แต่เจ้าเมืองไม่กล้าสั่งประหาร  เขากับชาวโปรตุเกสอื่นๆจึงถูกส่งตัวมากรุงศรีอยุธยา 
     


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 11, 14:45
 เมื่อมาเป็นนักโทษในอยุธยาแล้ว จะสืบสวนสอบสวนกันอย่างไรก็ไม่แน่   แต่ผลคือพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงทราบว่าฝรั่งพวกนี้มีความรู้และความเข้าใจในวิทยาการการสงครามรุ่นใหม่โดยเฉพาะมีความรู้ในวิชาการใช้ปืนไฟ    ก่อนหน้านี้  อยุธยามีใช้ก็แค่ปืนใหญ่ที่ใช้วิธีผลิตแบบจีนเท่า นั้น ต่อเมื่อโปรตุเกสเข้ามาแล้ว   เลยเริ่มเห็นประสิทธิภาพของปืนไฟ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ จึงทรงปลดปล่อยจากคุก ให้เข้าประจำในกองทัพเพื่อสอนวิชาการใช้ปืนแก่ไพร่พลสยาม ที่สำคัญมีเบี้ยหวัดและผลตอบแทนอย่างงามอีกด้วย โดยที่นายซีซาสนั้นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการเลยทีเดียว    ชะตาก็พลิกกลับกลายเป็นคนสำคัญ   เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดิน   จนเขาได้อยู่ในกองทัพสยามนานถึง 25 ปี (ค.ศ. 1523 - 1547)
       ต่อมา ในรัชสมัยพระไชยราชา  อยุธยายกกำลังไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต ในปี ค.ศ.1545  เดอซีซาสก็ไปร่วมรบพร้อมทหารรับจ้างโปรตุเกสด้วย     ต่อมาก็ไปรบกับเขียงใหม่ใน   ค.ศ. 1546   ได้รับความดีความชอบ พระราชทานพระราชานุญาตให้สร้างโบสถ์คาทอลิคได้   อีก 2 ปีต่อมาก็ไปช่วยรบกับพระเจ้าตเบงชเวตี้
      เดอซีซาสรับราชการในกรุงศรีอยุธยาจนสิ้นรัชสมัยของสมเด็จพระไชยราชา    พระองค์ถูกวางยาพิษโดยฝีมือพระสนมเอกท้าวศรีสุดาจันทร์  
หลังจากนั้นเดอซีซาสเดินทางกลับโปรตุเกส   ถึงแก่กรรมอย่างสงบในโรงพยาบาลของลิสบอน ก่อนถึงแก่กรรมเขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดในสยามให้แก่ โจเอา เดอ บาร์โรส นักพงศาวดารคนสำคัญบันทึกไว้    เราก็เลยรู้บทบาทของชาวโปรตุเกสในอยุธยาด้วยเหตุนี้


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 11, 15:03
เพ็ญชมพู
อ้างถึง
คิด ๆ ไปแล้วในแง่ประวัติศาสตร์ ข้อมูลของนายฟราโกซู ที่สูญหายไปนั้นน่าเสียดายอย่างยิ่ง ไม่รู้ว่าเขาบันทึกอะไรเอาไว้บ้าง ซึ่งหากมีอยู่ก็น่าจะสามารถเป็นข้อมูลเกี่ยวกับอยุธยาที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งไม่ต่างจากของยุโรปชาติอื่นที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่องและยังมีหลงเหลือกลายเป็นหลักฐาน และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เช่น ของฮอลันดา ที่มีนาย โยสต์ เซาเต็น และนายฟาน ฟลีต บันทึกหรือของฝรั่งเศสที่มีหลายคนหลายสำนวน แต่ที่ได้รับการนับถืออย่างมากก็เช่นของลาลูแบร์ หรือของบาทหลวงตาชาร์ด เป็นต้น ซึ่งแท้จริงมันก็คือข้อมูลในเชิงของการสืบราชการลับ หรือข้อมูลของจารชนทั้งสิ้นนั่นเอง

น่าสนใจมากเลยครับ ผมคิดอย่างเดียวกัน ฝรั่งที่เดินทางมาเผชิญโชคแถวนี้ มีความโลภเป็นตัวนำ ถ้าเป็นโจรสลัดได้ก็เป็น แต่ถ้าโชคดีคนท้องถิ่นรับเข้าไปไว้ในบ้านเมือง ก็ยังคิดอย่างโจรสลัดไปเรื่อยๆ สายตาที่สอดส่ายก็คอยพิเคราะห์ว่าจะเอาสิ่งที่เห็นเหล่านี้ไปเป็นของตัวได้อย่างไรบ้าง ที่มีความรู้ก็หวังสูงหน่อย สังเกตุไหมครับ พวกนี้มักจะเขียนว่าบนยอดเจดีย์ของเรา ล้วนหุ้มด้วยทองคำ พระพุทธรูปก็หุ้มด้วยทองคำ ประดับเพชรพลอยฯลฯ ทั้งๆที่เราก็รู้อยู่ว่าไม่จริง เขาเขียนโม้กันไปเพื่ออะไร

ผลงานเขียนที่เรียกว่าจารกรรมเหล่านี้ ถ้ามีโอกาสก็จะเอากลับไปขายกับผู้มีอำนาจในบ้านเมืองของตนว่าเมืองนี้มีดีอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้ายึดเอามาแล้วจะได้อะไร ถ้าจะเข้าไปยึดจะต้องทำอย่างไร เมืองมีจุดอ่อนที่ไหน ผู้มีอำนาจฟังแล้วก็กลั่นกรอง ทุกอย่างมันต้องลงทุนทั้งนั้น การสงครามไม่ได้มีใครจะอาสาออกรบให้ฟรีๆหรอก ทุกอย่างพอเชคบิลแล้วแพงหูฉี่ทั้งนั้น

โชคดี ฝรั่งคนโตตอนนั้นไม่ค่อยเห็นว่าถ้าลงทุนทำสงครามเข้ายึดอยุธยาแล้ว จะได้คุ้มกับเสีย เทียบกับเมืองท่าอื่นๆ อย่างโปรตุเกสที่ได้กัวประตูสู่อินเดียไปแล้ว ก็หันไปยึดโมลุกะในชวาที่รุ่มรวยเครื่องเทศ และมาเก๊าซึ่งเป็นประตูไปสู่แผ่นดินใหญ่จีนอันน่าตื่นเต้นกว่า อยุธยาก็เลยรอดจากการถูกยึดครอง เก็บไว้เป็นลูกค้าให้นายวานิชได้ทำมาหารับประทานไปเรื่อยๆตามเดิม

ทฤษฎีที่ผมว่านี้ ยังใช้กันมาถึงสมัยอังกฤษครอบครองพม่า กลุ่มพ่อค้าได้ตั้งเป็นนิติบุคคลชื่อบริษัทอินเดียตะวันออก ระดมทุนจากเอกชนเพื่อจ้างทหารของรัฐบาลอังกฤษทำสงครามกับพม่า เสร็จสงครามรวมทั้งหมดสามครั้ง ดีดยี่ต๊อกแล้วบริษัทนี้ไม่ได้กำไร และล้มละลายไปในที่สุด เพราะพม่าไม่มีอะไรให้ตักตวงมากคุ้มกับที่ลงทุนไป เรื่องนี้อังกฤษจึงถูกฝรั่งเศสหัวเราะเยาะว่าสู้ข้าไม่ได้ แค่ส่งเรือรบมา๓ลำไปลอยลำในแม่น้ำเจ้าพระยาก็ได้ค่าปรับมาตั้ง๔ล้านเหรียญทองคำ กำไรกว่าอังกฤษเยอะ แต่สุดท้ายฝรั่งเศสเองก็หนีขาดทุนในการลงทุนที่โคชินไชน่าไปเยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะในเขมรที่แทบจะไม่มีทรัพยากรเลย นึกว่าจะมีไพลิน(Blue Sapphire) เหมือนกับที่อังกฤษได้ทับทิมจากพม่า แต่ก็มีน้อยเกิน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 11, 15:15
มีคำถามอยู่ในใจเหมือนกันว่า อยุธยาไม่เคยถูกโปรตุเกสยึดครองอย่างมะละกาและกัวเจอเข้า  เพราะอะไร    ทั้งๆตอนนั้นอาวุธของไทยก็ยังล้าสมัย รบกันด้วยหอกดาบทวน  สู้ประชิดตัวกัน    การรบระยะไกลด้วยปืนไฟและปืนใหญ่อยู่ในมือโปรตุเกส   พอดีได้คำตอบจากท่าน NAVARAT เสียก่อน

มีเหตุผลประกอบอีกได้ไหมว่า นอกจากทำสงครามได้ไม่คุ้มทุนแล้ว     อยุธยายังไม่สร้างแรงกดดันให้โปรตุเกสมากพอจะเกิดเรื่องแตกหักกัน   โดยเฉพาะความแตกต่างทางศาสนา   เพราะพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาวางพระองค์เป็น ศาสนูปถัมภก  คือทรงอุปถัมภ์ทุกศาสนา

ส่วนเรื่องโจรสลัดโปรตุเกส   ถ้าท่าน NAVARAT จะเล่าต่อ ดิฉันก็จะปูเสื่อ เอาขนมแม่เอ๊ยจากกระทู้โน้นมาวางเรียงใส่จาน รับแขกชาวเรือนไทยที่จะแวะเข้ามาฟัง


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 11, 15:36
^
อื้อฮือ หนักเลยอัตโน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 30 เม.ย. 11, 16:24
เมื่อตอนเรียนประวัติศาสตร์หรือภาษาอังกฤษ ครูในจังหวัดอยุธยามักมีเกร็ดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ มาเล่าให้ฟังเสมอ วันหนึ่งครู่เล่าว่า คำว่า สบู่ มาจากภาษา โปรตุเกส (ภาษาโปรตุเกสเรียกว่า sabaoซึ่งเป็นคำมาจากลาตินว่า sapo) ตอนที่โปรตุเกสเข้ามาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา  แต่ไปพบใน Web บางแห่งว่า มาจากคำที่ญี่ปุ่นใช้เรียกสบู่ว่า โซปปุ (SOAPPU) ผมว่ามีความเป็นไปได้ทั้ง 2 คำ เพราะทั้งญี่ปุ่นและโปรตุเกสเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาทั้งคู่ ไม่แน่ใจว่าใครเข้ามาก่อนกัน   


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 เม.ย. 11, 16:38
บางแห่งว่า มาจากคำที่ญี่ปุ่นใช้เรียกสบู่ว่า โซปปุ (SOAPPU) ผมว่ามีความเป็นไปได้ทั้ง 2 คำ เพราะทั้งญี่ปุ่นและโปรตุเกสเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาทั้งคู่ ไม่แน่ใจว่าใครเข้ามาก่อนกัน  

ญี่่ปุ่นรับภาษาอังกฤษเข้าไปใช้หลายคำ

โซปปุ น่าจะมาจากภาษาอังกฤษ เหมือนอย่างคำว่า ซาต๊อปปุ (stoppu) นั่นแหละ

 ;D


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 30 เม.ย. 11, 17:01
มีอีกคนที่น่ากล่าวถึงคือ  สามเณร อันโตนิโอ ปินโต หรือ อังตวน ปินโต ที่หนังสือประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มักพูดถึง ส่วนใหญ่บอกว่าเป็นลูกครึ่ง สยาม กับแขกบังกล่า แต่ก็มีผู้แย้งว่า เป็นลูกครึ่งสยาม โปรตุเกส เพราะนามสกุล ปินโตนั้น เป็นภาษาโปรตุเกส หนังสือส่วนใหญ่บอกว่า สามเณร ปินโต ไปฝรั่งเศส เพื่อไปสอบ มหาปริญญา ที่ มหาวิทยาลัยซอร์บอน แต่ก็มีผู้แย้งว่า น่าจะไปเพื่อทดสอบความสามารถ เพื่อที่จะเรียนสูงขึ้น เก็บมาฝากตามนี้ครับ http://www.issara.com/article/letter.html (http://www.issara.com/article/letter.html)


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 11, 18:33
ท่านอาจารย์เทาชมพูท่านมีวิธีการสั่งการบ้านให้ผมอย่างแนบเนียนก่อนออกไปชอปปิ้งในวันหยุดสุดสัปดาห์

เรื่องราวต่อไปนี้ ผมย่อยความมาจากที่ท่านอาจารย์ไกรฤกษ์ นานาเขียนไว้ โดยท่านอาจารย์เทาชมพูเองก็ได้เปิดตัวนายปินตู (เฟอร์นาว เมนดืช ปินตูFernao Mendes Pinto) ไว้แล้วตั้งแต่กระทู้ต้นๆ
นายปินตูได้เขียนบันทึกรายงานเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาไว้ว่า เป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ ตั้งอยู่บนที่ราบต่ำ มีทุ่งนามาก และมีแม่น้ำไหลผ่าน แต่มีเขตภูเขาที่อุดมด้วยไม้เนื้อแข็งที่จะใช้ต่อเรือเดินทะเลได้เป็นอย่างดี มีการทำเหมืองแร่ชนิดต่างๆ และยังมีสิน ค้า เช่น ไหม ไม้จันทน์ กำยาน ครั่ง คราม ผ้าฝ้าย อัญมณี งาช้าง และทอง และมีป่าชายฝั่งที่เต็มไปด้วยไม้กฤษณาและไม้มะเกลือสีดำที่จะส่งออกไปยังจีน ไหหลำ ริวกิว กัมพูชา และจัมปา นอกจากนี้ยังมีขี้ผึ้ง น้ำผึ้ง และน้ำตาล อาณาจักรประกอบด้วย ๒๖,๐๐๐ หมู่บ้าน กำแพงเมืองอยุธยาก่อด้วยอิฐ โคลน และดินทุบ มีประชากรราว ๔๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งในจำนวนนี้ราวแสนคนเป็นชาวต่างชาติ และในแต่ละปีจะมีเรือสินค้าจากต่างประเทศหลายสิบลำเดินทางเข้ามาค้าขายยังอยุธยา
จะดูว่าเป็นข้อมูลพื้นๆก็ได้ แต่ถ้านายใหญ่สนใจ นายปินตูอาจหยิบอีกเล่มหนึ่งขึ้นมาขยายความต่อก็ได้ว่ากำแพงเมืองนั้นมีจุดอ่อนที่ไหน ในบรรดาประชากรสี่แสนนั้น ทหารมีเท่าไร ฯลฯ ก็ได้

เมื่อปินตูเข้ามายังอยุธยานั้น เป็นรัชสมัยของสมเด็จพระไชยราชา ซึ่งตรงกับ ค.ศ. ๑๕๔๕ พระองค์นี้ได้ยกกองทัพไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุตใน ค.ศ. ๑๕๔๕ โดยมีทหารรับจ้างโปรตุเกสไปร่วมรบด้วย ๑๖๐ คน ซึ่งรวมถึงโดมิงกูช เดอ ไซซ่าส ต่อมาสมเด็จพระไชยราชาต้องการจะรบเชียงใหม่ จึงได้ส่งออกญากลาโหมมายังหมู่บ้านโปรตุเกสเพื่อหาอาสาสมัคร ไปรบในฐานะกองทหารองครักษ์ โดยสัญญาจะให้ผลตอบแทนอย่างงาม และจะอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสสร้างโบสถ์ได้ ชาวโปรตุเกสส่วนใหญ่ จึงตกลงรับงานสมเด็จพระไชยราชา และทำให้พระองค์รบชนะกษัตริย์เชียงใหม่

บทบาทของทหารโปรตุเกสในกองทัพอยุธยา ถูกกล่าวถึงอีกตอนหนึ่งคือเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๕๔๘ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ กษัตริย์แห่งตองอู ยกกองทัพใหญ่บุกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา พระองค์มีกองทหารรับจ้างโปรตุเกสมาด้วย ๑๘๐ คน นำโดย ดิโอโก้ โซอารืช เดอ เมลู (Diogo Soares de Melo) ทางฝ่ายกองทัพอยุธยาก็มีกองทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสนำโดยดิโอโก้ เปอ ไรร่า (Diogo Pereira) คอยช่วยเหลือ ปินตูเล่าว่า พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้พยายามติดสินบนดิโอโก้ เปอไรร่าให้หักหลังฝ่ายอยุธยา แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ และในที่สุดฝ่ายพม่าต้องถอนทัพ เพราะได้ทราบว่าเกิดกบฏในหัวเมืองมอญ

ปินตูยังได้เขียนเล่าถึงชาวโปรตุเกสที่กลายมาเป็นโจรสลัดในน่านน้ำสยามชื่อ ลานซาโรเต แกเรยโร (Lancarote Gurreiro) ชายผู้นี้ เดินทางจากโปรตุเกสมาเป็นทหารที่เมืองกัว แต่ต่อมาได้แยกกองเรือของตนออกมา แล้วกลายเป็นผู้นำโจรสลัดปล้นสะดมทั่วน่านน้ำเอเชีย ในราว ค.ศ. ๑๕๔๒ แกเรยโรปล้นสะดมอยู่แถวอ่าวเมาะตะมะ และก่ออาชญากรรมไว้มากมายสร้างความสยองขวัญและหวาดกลัวแก่พ่อค้าทั่วไป จนทำให้รายได้ของเมืองท่ามะริดตกต่ำลงมาก กษัตริย์อยุธยาจึงได้แต่ตั้งขุนนางไปปราบโจรสลัดผู้นี้ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ปินตูไปตามหาโจรสลัดผู้นี้ เพราะต้องการให้เขาไปช่วยมะละกาที่กำลังถูกโจมตีจากสุลต่านอาเจะห์ ซึ่งแกเรยโรตกลงที่จะกลับไปช่วยเหลือ ในท้ายที่สุดโจรสลัดผู้ก็ได้รับการอภัยโทษ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งขุนนางที่เมืองมะละกา

นี่เป็นโจรสลัดโปรตุเกสคนแรกที่ปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้



กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 11, 18:43
คนที่๒ คือ นายฟิลิป เดอ บริโต ผู้มีบทบาทอันสำคัญต่อประวัติศาสตร์พม่า ร่วมรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ต่อมาจนถึงพระเอกาทศรถ
ท่านน.พ.วิบูล วิจิตรวาทการได้ค้นคว้าเรื่องนี้มาเขียนไว้ว่านายโปรตุเกสคนนี้เป็นนักเดินเรือสำเภาขั้นเทพ มีความสามารถในการสู้รบ ชำนาญทั้งปืนใหญ่ที่ยิงต่อกรระหว่างเรือรบด้วยกัน และสามารถใช้หอกดาบอย่างชำนิชำนาญเสียด้วย

ก่อนหน้าที่นายฟิลิปจะเดินทางมายังแผ่นดินพม่า สมเด็จพระนเศวรยกทัพขึ้นไปตีกรุงหงสาวดีแล้วถึงสองครั้ง หลังจากนั้น พระเจ้าตองอูก็ตั้งตนเป็นใหญ่เหนือแผ่นดินพม่า จับมือกับพระเจ้ายะไข่มอบหมายให้รักษาเมืองสิเรียม ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ อยู่ตรงข้ามปากอ่าวกับเมืองเมาะตะมะ และเป็นเมืองที่ป้องกันยาก พระเจ้ายะไข่ไม่ไว้พระทัยข้าราชการของตนสักคนเดียว กลับไปแต่งตั้งให้นายฟิลิป นายสำเภาที่มีคุณสมบัติข้างต้น ซึ่งทำให้ผมต้องสันนิฐานว่าน่าเป็นโจรสลัดเอาไว้ก่อน โดยมอบอำนาจให้นายคนนี้คุมไพร่พลรักษาเมืองสิเรียมอันสำคัญนี้

นายฟิลิป เดอ บริโตมีไพร่พลทั้งฝรั่งทั้งเอเซียนจำนวนสามพันคน พร้อมกับเรือกำปั่นอีกสามลำมารักษาเมือง เขาแสดงอำนาจด้วยการเกณฑ์ชาวบ้านชาวเมืองมาสร้างป้อมปราการอย่างแข็งแรงจนเป็นที่ครั่นคร้ามต่อชาวพม่าและมอญที่อาศัยอยู่เมืองนั้น ครั้นแล้วก็ชักชวนชาวโปรตุเกสในพม่าให้เข้ามาตั้งหลักรวมกันในเมืองสิเรียมจำนวนมาก ตั้งเป็นด่านเก็บภาษีเรือสินค้าชาติต่างๆ ที่มาค้าขายกับเมืองพม่าต่างๆที่ต้องผ่านปากน้ำหงสาวดี

นักแสวงโชคชาวโปรตุเกสผู้นี้นำเงินทองจากภาษีไปส่งส่วยให้กับพระเจ้ายะไข่มิได้ขาด แต่ขณะเดียวกัน ตนเองก็หาผลประโยชน์ส่วนตัวไปด้วย จนมีฐานะร่ำรวยมหาศาล
แต่แล้ววันหนึ่งไปทำอะไรเข้าก็ไม่แจ้ง พระเจ้ายะไข่เกิดระแวงนายฟิลิปถึงกับจะถอดออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองสิเรียม นายฟิลิปจึงเป็นกบฏต่อพระเจ้ายะไข่เสียเลย แถมยังส่งกองทหารไปยึดหัวเมืองใกล้เคียงไว้อีกด้วย พระเจ้ายะไข่จึงให้มังคะมองราชบุตรยกทัพเรือมาตีเมืองสิเรียม ส่วนพระเจ้าตองอูก็แต่งตั้งนัดจินหน่อง ผู้เป็นราชบุตรยกทัพบกมาสมทบด้วย

ทัพเรือจากเมืองยะไข่ยกมาถึงเมืองสิเรียมก่อน นายฟิลิปเห็นว่าจำนวนเรือของทัพยะไข่เหลือกำลังมิอาจต่อกรได้แน่ จึงรีบรวบรวมทรัพย์สมบัติ พาครอบครัวลงเรือสำเภาของตนแล่นหนีออกทางทะเล มังคะมองเห็นเข้าก็มุ่งสะกัด สั่งให้กองเรือยะไข่พยายามล้อมเรือของนายฟิลิป ซึ่งใช้เรือรบแบบโปรตุเกสเพียงลำเดียวสู้แบบสุนัขจนตรอก ยิงปืนใหญ่จากรอบด้าน จนเรือของยะไข่จมลงทะเลไปหลายลำ
ระหว่างนั้น นายฟิลิปส่องกล้องมองหาเรือของอุปราชเมืองยะไข่จนพบ แล้วก็สั่งระดมยิงไปที่เรือลำนั้นจนโดนเข้าเต็มใบ มังคะมองต้องกระโดดลงน้ำ นายฟิลิปก็สั่งให้เข้าไปใกล้แล้วให้ทหารลงเรือเล็กไปหิ้วตัวอุปราชเมืองยะไข่ขึ้นมาได้ จึงแล่นเรือกลับเมืองสิเรียม ด้านเรือยะไข่ลำอื่นๆเมื่อเห็นเรือธงล่มลงคาดว่าแม่ทัพคงจมน้ำตายไปแล้ว จึงยกทัพกลับตามธรรมเนียม ส่วนทัพบกจากตองอูที่กำลังเดินทัพมาสมทบนั้นเล่า พอทราบข่าวทัพเรือพ่ายต่อข้าศึกเปิดหนีกลับยะไข่ไปหมดแล้ว ก็ให้ตกใจหยุดทัพไว้เช่นเดียวกัน

พระเจ้ายะไข่ทราบข่าวพระมหาอุปราชเสียทีแก่นายฟิลิปก็แทบลมจับ จัดแจงแต่งทัพเรืออีกกองไปสมทบกับทัพบกของตองอู ยกทัพล้อมเมืองสิเรียมไว้อย่างหนาแน่น ขณะที่นายฟิลิปมีมังคะมองเป็นตัวประกันจึงถือความได้เปรียบ ส่งทูตไปเจรจาขอทำสัญญาไมตรี พระเจ้ายะไข่และพระเจ้าตองอูก็ต้องยอมปฎิบัติตามแต่โดยดี ยอมยกเมืองให้นายฟิลิป เดอ บริโต ในปีเถาะ พ.ศ.2146 ก่อนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชสวรรคตเพียงสองปี

ต่อมานายฟิลิปไม่ไว้ใจ เกรงว่าพระเจ้ายะไข่และพระเจ้าตองอูจะผูกพยาบาท และเห็นไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น ประเทศราชใกล้เคียงล้วนยำเกรง จึงขอสวามิภักดิ์กับกรุงศรีอยุธยา เมื่อสำเร็จแล้วนายฟิลิปก็ถือโอกาสแผ่ขยายอำนาจในพม่า บุกเข้าครอบครองกรุงหงสาวดีซี่งถูกทิ้งร้างตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเศวรยกทัพมาตี เมืองต่างๆแถบนั้นที่อยู่ปากแม่น้ำอิราวดี ตั้งแต่เมืองพะสิมเรื่อยมาจนถึงเมืองสิเรียมก็อยู่ในอำนาจหมดสิ้น นายฟิลิป เดอ บริโตจึงกลายเป็นพระเจ้าหงสาวดีของพม่าไปในบัดดล

หลายปีต่อมา พระเจ้าอังวะ ทำนุบำรุงรี้พลสร้างกองทัพพม่าขึ้นใหม่ แผ่อาณาเขตตีได้เมืองแปร และแผ่ขยายมายังเมืองตองอู ซึ่งกำลังผลัดแผ่นดิน นัดจินหน่องราชบุตรขึ้นครองเมืองแทนพระบิดา เห็นว่ากองทัพพระเจ้าอังวะแข็งแกร่งนัก จึงส่งเครื่องบรรณาการมาถวายสมเด็จพระเอกาทศรถ ยอมอ่อนน้อมเป็นข้าขัณฑสีมาของกรุงศรีอยุธยาเมื่อปีระกา พ.ศ.2152

แต่พระเจ้าอังวะก็หาสนพระทัยไม่ สั่งเกณฑ์ทัพมาตีเมืองตองอู พระเจ้าตองอูรีบขอให้กรุงศรีอยุธยาช่วยเหลือ สมเด็จพระเอกาทศรถรับสั่งให้พระยาทะละ เจ้าเมืองเมาะตะมะ และ พระเจ้าหงสาวดี ฟิลิป เดอ บริโต เกณฑ์กองทัพขึ้นไปช่วยตองอู แต่ทั้งสองเจ้าเมืองกลับเตรียมทัพล่าช้า พระเจ้าตองอูต้องยอมแพ้ต่อพระเจ้าอังวะไปเสียแล้ว

แต่กระนั้น พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาก็เอาเรื่องกับเจ้าเมืองทั้งสองไม่ได้ นายฟิลิป เดอ บริโตก็ยังคงมีอำนาจในพม่า พงศาวดารของพม่ากล่าวว่า นักแสวงโชคชาวโปรตุเกสผู้นี้เป็นมิจฉาทิฐิ และเต็มไปด้วยความโลภอย่างหาที่เปรียบมิได้ ไม่รู้จักความเพียงพอ มักเที่ยวค้นหาทรัพย์สมบัติเข้าใส่คลังของตนเองอยู่เสมอ ถึงขนาดให้รื้อพระพุทธรูปและสถูปเจดีย์ค้นหาสิ่งของที่บรรจุไว้ จนทำให้ชาวมอญและชาวพม่าที่อยู่ใต้การปกครอง พาเกลียดชังยิ่งนัก

ที่สุดพระเจ้าอังวะก็ถือเป็นโอกาสยกทัพตีเมืองหงสาวดี เมื่อปีชวด พ.ศ. 2155 นายฟิลิป เดอ บริโต รีบส่งราชทูตขอกำลังจากกรุงศรีอยุธยาไปช่วยเหลือ คราวนี้สมเด็จพระเอกาทศรถทรงปฎิเสธ นายฟิลิป เดอ บริโตจึงหันไปขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลโปรตุเกสที่กัว โดยมีข้อแลกเปลี่ยนจะยกเมืองหงสาวดีให้เป็นการตอบแทน ขณะเดียวกันก็เกลี้ยกล่อมพระเจ้าตองอู ยกเรือกำปั่นพม่ามาช่วยป้องกันเมืองสิเรียมหลายลำ
แต่แล้ว เรือรบของรัฐบาลโปรตุเกสก็ไม่มาตามนัด พระเจ้าอังวะตีเมืองหงสาวดีแตกในเดือน5 ขึ้น 7 ค่ำ ปีฉลู พ.ศ.2156 และสามารถจับกุมตัวนายฟิลิป เดอ บริโต กับ พระเจ้าตองอูนัดจินหน่องได้ ทั้งสองถูกพระเจ้าอังวะตัดสินประหารชีวิต นัดจินหน่องถูกยัดใส่ถุงแดงเอาท่อนจันทน์ทุบในฐานะเป็นเจ้า ส่วนนายฟิลิป เดอ บริโต ในฐานะเป็นโจร ถูกนำขึ้นขาหย่างตากแดดตากลมอย่างรูปข้างล่างที่อังกฤษจับกบฏพม่ามาสาธิตให้ท่านดู อยู่ได้สามวันก็ตาย ทรัพย์สมบัติถูกริบ ชาวโปรตุเกสชายหญิง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่กว่าสี่ร้อยคนถูกนำไปเป็นเชลยที่เมืองอังวะ
เรือกำปั่นรบของรัฐบาลโปรตุเกสที่เซ่อช่ามาเทียบท่าตอนเขาเลิกรบกันแล้วก็ถูกกองทัพพระเจ้าอังวะยึดไปเป็นสมบัติส่วนพระองค์อีกด้วย

นายฟิลิป เดอ บริโต นักแสวงโชคชาวโปรตุเกส  แม้โชคชะตาจะส่งให้สามารถขึ้นไปมีอำนาจเหนือแผ่นดินพม่าได้ แต่กลับเป็นทาสของความโลภ กระทำการเยี่ยงโจรสลัดปล้นสะดมภ์ชาวบ้านชาวเมือง จึงเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้เขาพบความย่อยยับอัปราชัยในท้ายที่สุด



กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 11, 20:24
^
ยอดเยี่ยมค่ะ   ทำการบ้านเร็วมาก
แบบนี้น่าให้อีก  ;D


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 11, 20:29
เรามักจะเชื่อกันต่อๆมาว่า ขนมฝอยทอง เม็ดขนุน ทองพลุ ฯลฯ มาจากตำรับของท้าวทองกีบม้าซึ่งเป็นลูกครึ่งโปรตุเกส-ญี่ปุ่น      ในเมื่อประวัติศาสตร์ก็แสดงให้เห็นว่ามีชุมชนโปรตุเกสอยู่ในอยุธยา มาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช  แล้วก็อยู่เรื่อยมาหลายร้อยปี จนตั้งรัตนโกสินทร์  ก็ยังมีลูกหลานเชื้อสายโปรตุเกสมาตั้งถิ่นฐานอยู่แถวกุฎีจีน
อย่างนี้ ขนมต่างๆพวกนี้จะมาจากชุมชนโปรตุเกสด้วยอีกทางไม่ได้หรือ      แทนที่จะสืบทอดมาจากผู้หญิงคนเดียวที่ทำงานอยู่ระยะหนึ่งในวัง  ถึงจะมีลูกมือทำต่อมา หลังจากเธอถึงแก่กรรม   มันก็เป็นเส้นทางที่แคบมาก   เมื่อเทียบกับชุมชนที่มีคนหลายร้อย  สามารถแพร่ขยายวัฒนธรรมได้มากกว่า


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 11, 20:47
เพราะทั้งญี่ปุ่นและโปรตุเกสเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาทั้งคู่ ไม่แน่ใจว่าใครเข้ามาก่อนกัน   

โปรตุเกสเข้ามาก่อนค่ะ  ญี่ปุ่นตามเข้ามาหลังจากนั้นไม่กี่ปี
ฝรั่งบอกว่าพงศาวดารไทยบันทึกไว้ว่าใน ค.ศ.  1593, สมเด็จพระนเรศวรมรทหารญี่ปุ่นในทัพอยุธยาถึง 500 คน  ในสงครามยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา

นอกจากนี้ยังมีบันทึกไว้อีกด้วยว่า ในเดือนธันวาคม ปี 1605   นักสำรวจชาวอังกฤษชื่อจอห์น เดวิส ถูกโจรสลัดญี่ปุ่นสังหารนอกอ่าวไทย   เป็นคนอังกฤษคนแรกในประวัติศาสตร์ที่มาจบชีวิตด้วยฝีมือชาวญี่ปุ่น
โจรสลัดแถวเอเชียอาคเนย์ไม่ได้มีแค่โปรตุเกส    ญี่ปุ่นก็มาหากินถึงแถวนี้เหมือนกัน  เพิ่งรู้นี่แหละ
 
มีอีกคนที่น่ากล่าวถึงคือ  สามเณร อันโตนิโอ ปินโต หรือ อังตวน ปินโต ที่หนังสือประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มักพูดถึง ส่วนใหญ่บอกว่าเป็นลูกครึ่ง สยาม กับแขกบังกล่า แต่ก็มีผู้แย้งว่า เป็นลูกครึ่งสยาม โปรตุเกส เพราะนามสกุล ปินโตนั้น เป็นภาษาโปรตุเกส หนังสือส่วนใหญ่บอกว่า สามเณร ปินโต ไปฝรั่งเศส เพื่อไปสอบ มหาปริญญา ที่ มหาวิทยาลัยซอร์บอน แต่ก็มีผู้แย้งว่า น่าจะไปเพื่อทดสอบความสามารถ เพื่อที่จะเรียนสูงขึ้น เก็บมาฝากตามนี้ครับ
http://www.issara.com/article/letter.html (http://www.issara.com/article/letter.html)

คนละคนกับปิ่นตู นักผจญภัยที่ท่าน NAVARAT เล่าให้ฟังในหน้าก่อนนี้เสียละมัง     ท่านผู้เล่าเห็นว่ายังไงคะ   


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 11, 20:55
ไม่ทราบครับ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 11, 21:07
     มาดูกันดีกว่าว่าชาวโปรตุเกสที่ลงหลักปักฐานในอยุธยา  ทำมาหากินอะไรกันบ้างนอกจากค้าขายและเป็นทหารอาชีพ

     ล่วงมาถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์  พระเจ้าแผ่นดินทรงหันไปผูกสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส   ทำให้มีบันทึกของชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในอยุธยาเล่าถึงชาวโปรตุเกสเอาไว้     นิโคลาส แจแวส์ให้รายละเอียดว่า ชาวโปรตุเกสในพระนครศรีอยุธยาบัดนี้เพิ่มจาก 170 คน ขยายเป็น  700-800 ครอบครัว ก็ต้องถือว่าเป็นชุมชนใหญ่ไม่เบาในเมือง
      ตอนที่ผู้ชายโปรตุเกสเดินทางมาแสวงโชคทางตะวันออก  เส้นทางและชีวิตคงลำบากลำบนเกินกว่าจะพาผู้หญิงมาด้วย  ส่วนใหญ่ก็คงมาได้ภรรยาเป็นคนพื้นเมือง ในประเทศที่ตัวเองปักหลักอยู่     จึงมีลูกครึ่งแบบท้าวทองกีบม้าเกิดขึ้นมาก      ในอยุธยาก็คงมีลูกครึ่งโปรตุเกสแม่ไทยอยู่ทุกครอบครัว
     น่าแปลกที่แจแวส์เล่าว่าชาวโปรตุเกสมีฐานะยากจน   พวกนี้ยอมตายเสียดีกว่าจะประกอบอาชีพหรือทำมาหากินเลี้ยงตัวเอง   พ่อค้าฝรั่งเศสนินทาให้ฟังเสียอีกว่า ชาวโปรตุเกสล้วนมีนิสัยเกียจคร้าน เย่อหยิ่ง และชอบอ้างว่าทุนรอนไม่มี  วันๆก็นอนอืดอยู่บนเสื่อ งานการไม่ทำ
    จากการค้นคว้าของ อ.พิทยะ ศรีวัฒนสาร   ค้านบันทึกของแจแวส์ ว่า โปรตุเกสก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นอย่างนั้นกันไปหมด  โปรตุเกสประกอบอาชีพอีกหลากหลาย  เช่น เป็นช่างอัญมณี  คนนำเรือ นักเดินเรือ  นักร้อง นักดนตรี พ่อค้าสำเภา เสมียน  ฯลฯ

    อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ
    http://siamportuguesestudy.blogspot.com/2010/09/1511-1767.html


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 11, 21:30
มีอีกคนที่น่ากล่าวถึงคือ  สามเณร อันโตนิโอ ปินโต หรือ อังตวน ปินโต ที่หนังสือประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มักพูดถึง ส่วนใหญ่บอกว่าเป็นลูกครึ่ง สยาม กับแขกบังกล่า แต่ก็มีผู้แย้งว่า เป็นลูกครึ่งสยาม โปรตุเกส เพราะนามสกุล ปินโตนั้น เป็นภาษาโปรตุเกส หนังสือส่วนใหญ่บอกว่า สามเณร ปินโต ไปฝรั่งเศส เพื่อไปสอบ มหาปริญญา ที่ มหาวิทยาลัยซอร์บอน แต่ก็มีผู้แย้งว่า น่าจะไปเพื่อทดสอบความสามารถ เพื่อที่จะเรียนสูงขึ้น เก็บมาฝากตามนี้ครับ
http://www.issara.com/article/letter.html (http://www.issara.com/article/letter.html)

คนละคนกับปิ่นตู นักผจญภัยที่ท่าน NAVARAT เล่าให้ฟังในหน้าก่อนนี้เสียละมัง     ท่านผู้เล่าเห็นว่ายังไงคะ   


ไม่ทราบครับ

ท่านอาจารย์เทาชมพูท่านมีวิธีการสั่งการบ้านให้ผมอย่างแนบเนียนก่อนออกไปชอปปิ้งในวันหยุดสุดสัปดาห์

อ้าว  ท่าน NAVARAT งดอนุมัติโควต้าเล่าเรื่องเสียแล้ว   ไม่เป็นไร  นั่งพัก ดื่มน้ำใบเตยแก้คอแห้งไปพลางๆก่อนนะคะ

(http://www.healthandcuisine.com/hc_images/hc73/73_m_month1.jpg)

งั้นต้องขอตอบคุณ Pathuma  สั้นๆว่าดิฉันก็ไม่รู้ว่านักเรียนลูกครึ่งโปรตุเกส-ไทยที่ชื่อปินโต  นั้นเป็นใคร และชีวิตต่อไปเป็นอย่างไร    ไปเช็คแล้วรู้แต่ว่าเป็นคนละคนกับนักผจญภัยชื่อปินโตที่บันทึกเรื่องราวของกรุงศรีอยุธยาไว้  เท่านั้นเองค่ะ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 11, 21:40
อ้างถึง
ส่วนใหญ่บอกว่าเป็นลูกครึ่ง สยาม กับแขกบังกล่า แต่ก็มีผู้แย้งว่า เป็นลูกครึ่งสยาม โปรตุเกส เพราะนามสกุล ปินโตนั้น เป็นภาษาโปรตุเกส

อ้างถึง
คนละคนกับปิ่นตู นักผจญภัยที่ท่าน NAVARAT เล่าให้ฟังในหน้าก่อนนี้เสียละมัง     ท่านผู้เล่าเห็นว่ายังไงคะ 


ผมเรียนว่าไม่ทราบ ตรงนี้ครับ
ไม่ได้งดอนุมัติโควต้าเล่าเรื่องเสียแล้วดังที่เข้าใจ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 11, 21:53
งั้น  ท่านก็ยังมีเรื่องโปรตุเกสจะเล่าให้พวกเราฟังอีกหลายเรื่องใช่ไหมคะ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 11, 21:59
^
อื้อฮือ หนักอีกแล้วอัตโน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 30 เม.ย. 11, 22:05
อ้างถึง
ส่วนใหญ่บอกว่าเป็นลูกครึ่ง สยาม กับแขกบังกล่า แต่ก็มีผู้แย้งว่า เป็นลูกครึ่งสยาม โปรตุเกส เพราะนามสกุล ปินโตนั้น เป็นภาษาโปรตุเกส

อ้างถึง
คนละคนกับปิ่นตู นักผจญภัยที่ท่าน NAVARAT เล่าให้ฟังในหน้าก่อนนี้เสียละมัง     ท่านผู้เล่าเห็นว่ายังไงคะ 


ผมเรียนว่าไม่ทราบ ตรงนี้ครับ
ไม่ได้งดอนุมัติโควต้าเล่าเรื่องเสียแล้วดังที่เข้าใจ
เข้าใจว่า เป็นคนละคนกันครับ ตามเรื่องที่เคยอ่านผ่านตาเป็นสามเณรไทยลูกครึ่งที่เดินทางร่วมไปกับคณะฑูตไทยไปฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระนารายณ์ครับ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 11, 22:47
ครับ ผมเข้าใจว่าคุณpathumaก็ทราบว่าสามเณรไทยลูกครึ่งนั้นเป็นคนละคนกันกับปินโตหรือปิ่นตู นักเขียนโปรตุเกสที่ผมเอามาเล่าข้างต้น
แต่คำถามอยู่ตรงนี้ไม่ใช่หรือ
อ้างถึง
ส่วนใหญ่บอกว่า(สามเณร)เป็นลูกครึ่งสยามกับแขกบังกล่า แต่ก็มีผู้แย้งว่า เป็นลูกครึ่งสยาม โปรตุเกส เพราะนามสกุลปินโตนั้น เป็นภาษาโปรตุเกส

คือผมตอบว่าไม่ทราบครับ เพราะผมไม่ทราบจริงๆว่าสามเณรเป็นลูกครึ่งโปรตุเกสหรือลูกครึ่งแขกบังกล่ากันแน่จากการดูแค่นามสกุล เพราะปินโตหรือปิ่นตูนี้เป็นนามสกุลธรรมดาๆที่คนโปรตุเกสทั่วไปใช้ อาจจะมีแขกบังกล่าคนใดไปเข้ารีต แล้วบาดหลวงให้ชื่อคริสเตียนว่า ปินโตหรือปินตูที่ว่าก็ได้ แล้วแขกที่ชื่อคริสเตียนว่าปินโตหรือปินตูคนนั้น อาจจะไปแต่งงานกับสาวสยามแล้วมีลูกชายออกมา โตขึ้นก็ไปบวชเป็นสามเณร(ความจริงน่าเรียกว่าโนวีสนะ)ดังกล่าวก็ได้

แต่ถ้าใครหารูปถ่ายเณรคนนี้มาให้ดู ผมก็บอกได้นะว่าเป็นลูกครึ่งฝรั่งหรือแขกบังกล่า

นึกว่าจะทุ่นแรงแค่ตอบสองสามคำ แต่แล้วก็เลยต้องร่ายยาว


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 09:18
สวัสดีตอนเช้าครับ

รับการบ้านมาอีกข้อเมื่อคืน เพราะการบ้านที่ครูให้มาครั้งก่อนทำเสร็จเร็วไปหน่อย ชะรอยครูจะเกรงว่าหากไม่ให้เพิ่ม วันนี้ผมคงจะออกไปเที่ยวเล่นเพลิดเพลินใจเสียเวลาไปเปล่าๆปลี้ๆ

นอนหลอนอยู่ตั้งค่อนคืน คิดจะเอาเรื่องอะไรดีมานำเสนอดีหนอ ก็สาระดีๆเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสยาม-โปรตุเกส ท่านอาจารย์พิทยะ ศรีวัฒนสารท่านก็เอามาลงเวปให้อ่านแบบเนื้อๆอยู่แล้ว ถ้าใครสนใจจริงๆก็เข้าไปหาความรู้เอาเองตามข้างล่างนี้

http://siamportuguesestudy.blogspot.com/2010/09/1511-1767.html

มานึกขึ้นได้ ในวงการสถาปัตยกรรมบ้านเรา มีศัพท์หนึ่งใช้เรียกตึกแถวในเมืองที่เป็นถิ่นเหมืองดีบุก เช่นภูเก็ตและพังงา ว่าเป็นแบบ ชิโนโปรตุกีส ( Sino-Portuguese Architecture) ซึ่งมีผู้ไปนิยามไว้ในวิกี้ว่า คือรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างตะวันออกและตะวันตก ในแหลมมลายูในยุคสมัยแห่งจักรวรรดินิยมของตะวันตก ราวปี พ.ศ. 2054 สามารถพบเห็นได้ในเมืองมะละกา เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือมาเก๊า รวมไปถึงประเทศไทย

กระทู้นี้ชื่อ “โปรตุเกสเข้าเมือง” โดยไม่ระบุว่าเมืองไหน ผมจึงตัดสินใจเล่นเรื่องนี้ แม้จะเป็นห่วงอยู่นิดๆ กลัวจะเป็นวิชาการเกินไป แขนงนี้เขาก็ไม่ค่อยจะสนใจกันอยู่แล้ว แต่ที่ไหนได้ พอค้นในเวปเข้าจริงๆ ก็เจออะไรคล้ายตะปิ้งเข้าอีก สงสัยจะสนุก

โปรดติดตาม อย่าหยุดกระพริบตานะครับ
.
.
.
.

.

เดี๋ยวตาจะบอด

(หน้าโฆษณา)



กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 18:17
เข้ามาดูครับ

ทำการบ้านเสร็จแล้ว แต่ในห้องไม่มีใครเลย
เหงาจริงๆ

ไปบ้างดีกว่า


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 พ.ค. 11, 18:26
ระหว่างรอ อ.NAVARAT.C ห้ามกระพริบตา  ::) ::) ::) ขอคั่นด้วยข้อมูลเรื่องการเผยแพร่คริสศาสนา และเหตุผลถึงการมาของโปรตุเกส

ในช่วงคริสศตวรรษที่ 16 นั้นแสนยานุภาพทางการเดินเรือเพื่อแสวงหาดินแดนต่างๆ มีสองชาติที่แข่งขันกันอย่างมากคือ สเปน และ โปรตุเกส

ซึ่งที่ตั้งของทั้งสองประเทศนั้นอยู่ติดกันดังนั้นการเดินเรือออกไปเพื่อหาดินแดนย่อมเป็นคู่แข่งขันโดยปริยาย เมื่อการแข่งขันต่างแย่งความเป็นเจ้าแห่งการยึดดินแดน ลงท้ายด้วยการทำสงครามกันระหว่างโปรตุเกส - สเปน จึงเป็นที่มาของ "สัญญาทอเดสซิลลา"

"สัญญาทอเดสซิลลา" ได้รับความเห็นชอบจากพระสันตปาปา อเล็กซานเดอร์ที่ 6 แห่งกรุงวาติกัน โดยท่านให้แบ่งโลกออกเป็น 2 ซีก
- ด้านตะวันตก ให้เป็นเขตแสวงหาดินแดนของสเปน
- ด้านตะวันออก ให้เป็นเขตแสวงหาดินแดนของโปรตุเกส

โดยทั้งสองประเทศต้องให้เงื่อนไขว่า จะต้องดำเนินการเผยแพร่ศาสนาคริสต์เข้าไปในดินแดนที่ตนเองยึดไว้ด้วย ดังนั้นจึงเป็นที่มาว่าทำไมอิทธิพลของสเปน จึงไม่ย่างกรายมายังดินแดนแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และเอเซียตะวันออกไกลเลย


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 พ.ค. 11, 18:50
ในดินแดนมะละกา มีความเชื่อกันว่า "นักบุญฟรานซิส ซาเวียร์" เป็นมิชชันนารีคนแรกที่เดินทางเข้าไปเผยแพร่คริสศาสนา และก่อนที่เข้ามายังไทยใน ค.ศ. 1552 ท่านได้เสียชีวิตเสียก่อน ต่อมามีคณะโดมินิกันและคณะฟรานซิล 2 ท่านได้เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ใน ค.ศ. 1565 ในปลายรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์

การแสดงธรรมครั้งแรกให้กับชาวกรุงศรีอยุธยา คงสร้างความประหลาดใจให้กับชาวเมืองไม่น้อย ด้วยชาวสยาม ยึดถือพระพุทธศาสนาเป็นหลัก ดังบาทหลวงนิโกลาส์ กล่าวว่า
".และเมื่อเริ่มแสดงธรรมนั้น บาทหลวงได้สังเกตุเห็นว่าทุกคนพากันประหลาดใจ อันแสดงว่าไม่เคยมีผู้เข้ามาดำเนินการเผยแพร่ก่อนหน้านี้..." แต่ความเห็นของบาดหลวงผู้นี้อาจจะไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากในรัชกาลก่อนหน้านี้ สมัยสมเด็จพระไชยราชา หลังจากชนะในคราวศึกเชียงไกร เชียงกราน พระองค์ได้ประทานที่ดินสร้างโบสถ์ และประกอบศาสนกิจได้อย่างเสรีแล้ว

แต่การที่บาทหลวงได้ขยันในการเผยแพร่ศาสนากลับเป็นภัยทำร้ายตนเอง โดยคณะพ่อค้าชาวมุสลิมได้เกิดความริษยาและได้กระทำการฆาตกรรมบาดหลวงที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาเสียสิ้น

การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ได้นำให้ชาวสยามพากันเข้ารีต และเกิดปัญหาความขัดแย้งกันอยู่เนืองๆ 


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 พ.ค. 11, 19:57
ขออนุญาตเลี้ยวเข้าซอยภาษาแป๊บเดียว

คุณปทุมาเคยตั้งข้อสงสัยเรื่องที่มาของคำว่า สบู่ ว่ามาจากภาษาโปรตุเกสหรือญี่ปุ่น (คำตอบคือภาษาโปรตุเกส)

เมื่อตอนเรียนประวัติศาสตร์หรือภาษาอังกฤษ ครูในจังหวัดอยุธยามักมีเกร็ดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ มาเล่าให้ฟังเสมอ วันหนึ่งครู่เล่าว่า คำว่า สบู่ มาจากภาษา โปรตุเกส (ภาษาโปรตุเกสเรียกว่า sabaoซึ่งเป็นคำมาจากลาตินว่า sapo) ตอนที่โปรตุเกสเข้ามาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา  แต่ไปพบใน Web บางแห่งว่า มาจากคำที่ญี่ปุ่นใช้เรียกสบู่ว่า โซปปุ (SOAPPU) ผมว่ามีความเป็นไปได้ทั้ง 2 คำ เพราะทั้งญี่ปุ่นและโปรตุเกสเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาทั้งคู่ ไม่แน่ใจว่าใครเข้ามาก่อนกัน  

ทีนี้เห็นชื่อนายปินโตอยู่หลายครั้ง

คุณปทุมาและทุกท่านคิดว่า

ปิ่นโต มาจากภาษาโปรตุเกสหรือญี่ปุ่น

 ;)


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 พ.ค. 11, 20:26
ขออนุญาตเลี้ยวเข้าซอยภาษาแป๊บเดียว

คุณปทุมาเคยตั้งข้อสงสัยเรื่องที่มาของคำว่า สบู่ ว่ามาจากภาษาโปรตุเกสหรือญี่ปุ่น (คำตอบคือภาษาโปรตุเกส)

เมื่อตอนเรียนประวัติศาสตร์หรือภาษาอังกฤษ ครูในจังหวัดอยุธยามักมีเกร็ดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ มาเล่าให้ฟังเสมอ วันหนึ่งครู่เล่าว่า คำว่า สบู่ มาจากภาษา โปรตุเกส (ภาษาโปรตุเกสเรียกว่า sabaoซึ่งเป็นคำมาจากลาตินว่า sapo) ตอนที่โปรตุเกสเข้ามาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา  แต่ไปพบใน Web บางแห่งว่า มาจากคำที่ญี่ปุ่นใช้เรียกสบู่ว่า โซปปุ (SOAPPU) ผมว่ามีความเป็นไปได้ทั้ง 2 คำ เพราะทั้งญี่ปุ่นและโปรตุเกสเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาทั้งคู่ ไม่แน่ใจว่าใครเข้ามาก่อนกัน  

ทีนี้เห็นชื่อนายปินโตอยู่หลายครั้ง

คุณปทุมาและทุกท่านคิดว่า

ปิ่นโต มาจากภาษาโปรตุเกสหรือญี่ปุ่น

 ;)

ลองหา Pinto ในภาษาโปรตุเกส แปลว่า เป็นคำเรียกเด็กแบบเอ็นดู หรือ ม้าคละสีและเรียกเป็นนามสกุลก็นิยมกัน
http://answers.yahoo.com/question/index?qid=1006051705183


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 พ.ค. 11, 20:32
คุณวิกกี้  (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%95) ว่าไว้ดังนี้

เดิมเชื่อว่า "ปิ่นโต" มาจากคำว่า "ปินโต" ในภาษาโปรตุเกส แต่โสมทัต เทเวศร์ (นามปากกาของ ส.พลายน้อย หรือ สมบัติ พลายน้อย) นักภาษาศาสตร์ เขียนแย้งว่า น่าจะเป็นการจำไขว้เขวกับฝรั่งโปรตุเกสที่เข้ามาอยู่เมืองไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อ เฟอร์นันโด เม็นเดซ ปินโต (Fernão Mendes Pinto) จึงทำให้คนคล้อยตามกันมาก ความจริงแล้วตามพจนานุกรมภาษาโปรตุเกส คำว่า Pinto หมายถึงลูกไก่ ดังนั้นภายหลังส่วนใหญ่ลงความเห็นสอดคล้องกันว่าน่าจะมาจากคำว่า "เบนโต" (弁当) ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึง ข้าวกล่อง ซึ่งอาจจะผ่านมาจากภาษาจีน คำว่า "เปี้ยนตัง" (便當, biàndāng)

คุณไซอามีสเห็นด้วยกับคุณวิกกี้ไหม

 ;)


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 พ.ค. 11, 20:55
คุณวิกกี้  (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%95) ว่าไว้ดังนี้

เดิมเชื่อว่า "ปิ่นโต" มาจากคำว่า "ปินโต" ในภาษาโปรตุเกส แต่โสมทัต เทเวศร์ (นามปากกาของ ส.พลายน้อย หรือ สมบัติ พลายน้อย) นักภาษาศาสตร์ เขียนแย้งว่า น่าจะเป็นการจำไขว้เขวกับฝรั่งโปรตุเกสที่เข้ามาอยู่เมืองไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อ เฟอร์นันโด เม็นเดซ ปินโต (Fernão Mendes Pinto) จึงทำให้คนคล้อยตามกันมาก ความจริงแล้วตามพจนานุกรมภาษาโปรตุเกส คำว่า Pinto หมายถึงลูกไก่ ดังนั้นภายหลังส่วนใหญ่ลงความเห็นสอดคล้องกันว่าน่าจะมาจากคำว่า "เบนโต" (弁当) ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึง ข้าวกล่อง ซึ่งอาจจะผ่านมาจากภาษาจีน คำว่า "เปี้ยนตัง" (便當, biàndāng)

คุณไซอามีสเห็นด้วยกับคุณวิกกี้ไหม

 ;)

ผมมีแนวโน้มว่า ภาชนะที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ สานด้วยไม้ไผ่นั้นกำเนิดจากจีน ซึ่งยังคงเห็นมาจนบัดนี้ ส่วนการบรรจุภาชนะของโปรตุเกสนั้น ผมก็นึกไม่ออกว่าจะเอาไปบรรจุอะไร สองชั้น สามชั้น เพราะการทานอาหารของเขากินเป็นจานๆ มื้อใหญ่ไปเลย ชั้นแรกใส่ซุป ชั้นที่สองใส่ไก่อบ ชั้นที่สามใส่เค้ก ก็คงไม่เข้าท่าเข้าทาง ..


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 พ.ค. 11, 21:00
ดร.ซารา ลูโดวิโก (Dr. Sara Ludovico) อาจารย์พิเศษสอนวิชาภาษาและวัฒนธรรมโปรตุเกส ให้กับสาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสาขาวิชาภาษาตะวันตก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฉลยไว้ดังนี้

ในประเทศไทยพบว่ามีการหยิบยืมศัพท์โปรตุเกสบางคำมาใช้ เช่น "สบู่" น่าจะมาจากคำว่าซาปู คำว่า "ศาลา" ที่แปลว่าส่วนนั่งเล่น โปรตุเกสก็เรียกว่าซาลาเหมือนกัน คำว่า "ปิ่นโต" ของไทยที่หมายถึงภาชนะบรรจุอาหารลักษณะเป็นเถา โปรตุเกสก็เรียกว่าปินโตเหมือนกัน อีกคำก็คือ “ใคร” โปรตุเกสใช้คำว่า “ไค” เหมือนกัน

http://news.mediathai.net/detail_news.php?newsid=47499

 ;D




กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ค. 11, 21:06
เข้ามาดูครับ
ทำการบ้านเสร็จแล้ว แต่ในห้องไม่มีใครเลย

เพิ่งกลับขึ้นเรือนค่ะ    วันนี้นั่งเรือแจวข้ามเจ้าพระยาไปฟากขะโน้นทั้งวัน   สั่งอ้ายจุกอ้ายแกละให้เฝ้าเรือน  ไม่มีใครอยู่  หนีไปเล่นกันหมด  
ดิฉันปูเสื่อ วางหมอนขวาน ยกหมากพลูบุหรี่มาต้อนรับท่านแล้วนะคะ
รอฟังเรื่องชิโนปอร์ตุกีส    กระพริบตาปริบๆ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 21:16
^
นั่นสำหรับผม หรือปู่ของผมครับนั่น

จากวิกี้

ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำการค้าบริเวณเมืองท่ามะละกา และได้นำเอาศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนวิทยาการตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ และได้สร้างบ้าน และสถาปัตยกรรมตามรูปแบบของตน ซึ่งช่างชาวจีนได้นำผังการก่อสร้างไปดำเนินการ แต่ลักษณะของสถาปัตยกรรมได้เพี้ยนไปจากเดิมโดยช่างชาวจีนได้ตกแต่งลวดลายสัญลักษณ์รวมถึงลักษณะรูปแบบบางส่วนของตัวอาคารตามคติความเชื่อของจีน เกิดการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมโปรตุเกสและจีน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นท่ามกลางสังคมของกลุ่มชน 3 เชื้อชาติ อันได้แก่โปรตุเกส จีน และมาเลย์ ในดินแดนแหลมมลายู

ต่อมาเมื่อชาวดัตช์และอังกฤษเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้ ก็ได้ปรับปรุงรูปแบบของอาคารโดยดัดแปลงและเพิ่มเติมลวดลายต่างๆ และมีชื่อเรียกลักษณะการก่อสร้างอาคารเหล่านี้ว่า สถาปัตยกรรม “ชิโนโปรตุกีส” คำว่า “ชิโน” หมายถึงคนจีน และคำว่า “โปรตุกีส” หมายถึง โปรตุเกส แม้ว่าอังกฤษและดัตช์จะเข้ามามีอิทธิพลในการผสมผสานศิลปะของตนเข้าไปในยุคหลังด้วยก็ตามก็ยังเรียกรวมกันว่า ชิโนโปรตุกีส

ในประเทศไทยพบสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสได้ในจังหวัดภูเก็ตรวมถึง จังหวัดระนอง กระบี่ ตะกั่วป่า พังงา หรือตรัง ซึ่งอาคารส่วนใหญ่สร้างในสมัยของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต ในช่วงปี พ.ศ. 2444 - 2456 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ภูเก็ตในสมัยนั้นมีความสัมพันธ์ทางด้านการค้ากับปีนัง อาคารแบบชิโนโปรตุกีสได้ถูกสร้างขึ้นโดยนักธุรกิจชาวจีนที่มีความร่ำรวยจากการทำธุรกิจเหมืองแร่ดีบุก

เมื่อปี พ.ศ. 2537 ทางเทศบาลนครภูเก็ต รวมทั้งหน่วยงานจากภาครัฐและองค์กรเอกชน องค์กรท้องถิ่นในเมืองภูเก็ต ได้ร่วมกันพัฒนาและอนุรักษ์ย่านเมืองเก่าขึ้นมา มีการกำหนดให้พื้นที่ประมาณ 210 ไร่ ซึ่งครอบคลุมถนนรัษฎา ถนนพังงา ถนนเยาวราช ถนนกระบี่ ถนนดีบุก ถนนถลาง ถนนเทพกระษัตรี ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม โดยออกเป็นประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีการควบคุมให้พื้นที่อนุรักษ์นี้ ให้มีความสูงอาคารได้ไม่เกิน 12 เมตร และยังได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาอาคารในรูปแบบดั้งเดิมไว้ อย่างเช่นมีการให้เว้นช่องทางเดินด้านหน้า และคงรูปแบบอาคารลักษณะชิโนโปรตุกีสไว้ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของเมืองภูเก็ต


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 21:20
.


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 21:24
คราวนี้มาดูรูปแบบอาคารบ้านเรือนตึกแถวในภูเก็ตกัน

ด้านบนเป็นคฤหาสน์ของบรรดานายหัว

ส่วนด้านล่างเป็นตึกแถว ชั้นล่างทำการค้า ชั้นบนอยู่อาศัยตามวัฒนธรรมของคนจีนทั่วไป

คนจีนเหล่านี้ ส่วนใหญ่หนีความอดอยาก แย่งกันอยู่แย่งกันกินจากเมืองจีนมาแสวงหาชีวิตใหม่ คนพวกนี้ต่างกับฝรั่งนักแสวงโชคที่ผมกล่าวไปแล้วเพราะต้องการฝากทั้งชีวิตและร่างกายไว้ยังถิ่นที่อยู่ใหม่เลย ไม่คิดว่ารวยแล้วจะกลับไปตายรังในเมืองจีนอีก ส่วนใหญ่ก็หนักเอาเบาสู้ มารับจ้างเป็นกุลีเหมืองแร่ดีบุกที่ฝรั่งได้รับสัมปทานไปจากรัฐบาลไทย ใครเก็บหอมรอมริบเงินทองไว้ได้มากหน่อย ก็เริ่มเป็นนายหัวน้อย ขอสัมปทานจากข้าหลวงทำเหมืองเล็กๆที่ฝรั่งไม่สนใจ เป็นโอกาสให้คนจีนตักตวงทรัพยากรที่มีอยู่ใต้ดินมากมาย จากจับกังหลายคนก็เปลี่ยนสถานะเป็นนายหัว ร่ำรวยมหาศาล เศรษฐกิจสะพรึ่บไปทั่วทั้งเมือง ไปไหนมีแต่คนรวยเดินชนกัน ฝรั่งได้เงินแล้วก็ส่งให้บริษัทแม่ในบ้านเกิด แต่คนจีนแบ่งส่งกลับบ้านไปเลี้ยงดูครอบครัวที่ทิ้งมาบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็เอามาลงทุนต่อ เกิดหมุนเวียนทางระบบเศรษฐกิจเป็นผลดีต่อประเทศที่เข้ามาทำมาหากิน

คนจีนในภูเก็ตแทบทั้งหมดเป็นคนฮกเกี้ยนเช่นเดียวกับคนจีนในมาเลเซียที่อังกฤษขนไปจากเมืองจีนในสมัยรัชกาลที่๕ และทะเล็ดเข้าไทยมาด้วย พวกนายหัวจึงมักจะมีญาติ หรือมีคนรู้จักอยู่ที่ปินัง ซึ่งคนจีนที่รวยแล้วจะไปเป็นคนในบังคับของอังกฤษอยู่ที่นั่น สมัยก่อนที่จะมีรถเมล์บริการคนทั่วไปด้วยค่าโดยสารแบบสบายกระเป๋า ถือว่าปินังอยู่ใกล้ภูเก็ตกว่ากรุงเทพมาก คนภูเก็ตจึงนิยมส่งลูกส่งหลานไปโรงเรียนที่นั่นกัน เพราะนั่งๆนอนๆในเรือเมล์คืนเดียวก็ถึงแล้ว และยังได้เรียนภาษาอังกฤษอีกด้วย

ไม่ต้องสงสัย วัสดุ วิทยาการ รสนิยมทุกอย่าง คนภูเก็ตจึงอิมพอร์ตมาจากปินังโดยตรง รวมทั้งผู้รับเหมาที่จะมาสร้างบ้านเรือนให้ทัดเทียมกับเหล่านายหัวที่ปินังด้วย

ฉะนั้น จุดแรกที่ผมท่านจะไปเสาะหา Sino-Portuguese Architecture ก็คือที่ปินังครับ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 21:27
กรุงเทพมีเกาะรัตนโกสินทร์ ในปินังก็มียอร์ชทาวน์

สมัยรัชกาลที่5ตอนต้น ปินังเป็นส่วนหนึ่งของไทรบุรี เรียกว่าเกาะหมาก เมื่อยกให้อังกฤษไปแล้ว ปีค.ศ.1786 กัปตัน ฟรานซิส ไลท์ ก็นำกำลังทหารเข้าครอบครองในนามของ บริษัท อินเดียตะวันออก(East India Company)ของประเทศอังกฤษแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น เกาะปรินซ์ออฟเวลส์ และสร้างเมืองยอร์ชทาวน์(George Town)ขึ้น

ผมเข้าไปค้นหาในเวปโดยใช้key wordว่า Sino-Portuguese Architecture ทั้งหมดที่พรึ่บขึ้นมาเป็นสิบๆหน้าล้วนแต่เป็นเวปที่โฆษณาเมืองภูเก็ต ลองเอาคำว่า Architecture ออกไป เหลือแต่ Sino-Portuguese ก็ยังเหมือนๆเดิม เลยเอาคำว่าMalacca ใส่ลงไป คราวนี้จึงมีคำว่า Sino-Portuguese Relationship และ Sino-Portuguese Treaty โผล่ขึ้นมาบ้างในหน้าหลังๆ

เอาละซี ชักจะหม่างๆแล้ว

พอเปลี่ยน key word ใหม่ เอาคำว่า Pinang Heritage Architecture มาลง คราวนี้เจอแจ็คพอต
อ้างถึง
Heritage shophouses in George Town fall into 6 main historical styles. Each style has distinctive architectural and decorative features which is representative of a different period in George Town’s history.

ตึกแถวที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของยอร์ชทาวน์แบ่งออกเป็น6รูปแบบตามประวัติศาสตร์ แต่ละรูปแบบมีความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรมและลักษณะการตกแต่งอาคาร ซึ่งแสดงความแตกต่างของแต่ละยุคสมัยในประวัติศาสตร์ของเมืองยอร์ชทาวน์เอง


ในเวปที่ดูเป็นทางการนี้ แบ่งรูปแบบดังกล่าวออกเป็น6ยุคสมัยด้วยกัน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 21:36
Early “Penang” Style (1790s - 1850s)

รูปแบบปินังยุคแรกพ.ศ.2333-2393 ตรงกับปลายรัชกาลที่๑ถึงปลายรัชกาลที่๓


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 21:42
“Southern Chinese” Eclectic Style (1840s - 1900s)

รูปแบบที่พัฒนามาจากทางภาคใต้ของจีน พ.ศ.2383-2443 ตรงกับปลายรัชกาลที่๓ถึงต้นรัชกาลที่๕


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 21:43
Early “Straits” Eclectic Style (1890s - 1910s)

รูปแบบที่พัฒนาขึ้นใน“อาณานิคม”ยุคแรก พ.ศ.2433-2453 ตรงกับยุคสมัยในรัชกาลที่๕


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 21:46
Late “Straits” Eclectic Style (1910s -1940s)

รูปแบบที่พัฒนาขึ้นใน“อาณานิคม”ยุคหลัง พ.ศ.2453-2483

ตรงกับยุคสมัยในรัชกาลที่๖
 
ในเวปที่ลอกต่อๆกันมาไม่ทราบใครเขียนขึ้นก่อนนั้นระบุว่า อาคารแบบชิโนโปรตุกีสได้ถูกสร้างในภูเก็ตครั้งแรกในปี พ.ศ. 2446 โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นผู้นำ ถ้าเป็นจริงก็ใกล้เคียงกับรูปแบบ“อาณานิคม”ปลายยุคแรกสืบมาจนต้นยุคหลังที่คนจีนพัฒนาจนลงตัวสำหรับท้องถิ่นมลายูโดยเฉพาะ แล้วภูเก็ตก็รับศิลปสถาปัตยกรรมนี้ผ่านสายสัมพันธ์ของคนจีนปินัง จนอาจกล่าวได้ว่าอยู่ร่วมสมัยเดียวกัน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 21:52
Art Deco Style (1930s -1960s)

รูปแบบสมัยก่อนสงครามโลกที่เรียกว่าอาร์ต เดกอ พ.ศ.2473-2503

ตรงกับยุคสมัยในรัชกาลที่๗ ต่อมาจนถึงรัชกาลที่๙ สมัยจอมพลป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงตอนจอมพลสฤษดิ์ปฏิวัติ ตัวอย่างของไทยที่เป็นอาร์ต เดกอก็คืออาคารทั้งสองข้างของถนนราชดำเนินกลาง

ถ้าสังเกตุให้ดี ภูเก็ตก็มีตึกรูปแบบนี้อยู่เหมือนกัน แต่ถนนหนทางในเมืองไทยเริ่มดีขึ้นแล้ว ผมไม่แน่ใจว่ายังต้องเอาช่างมาจากปินังอีกหรือเปล่า


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 21:53
Early Modernism Style (1950s -1970s)

รูปแบบสมัยใหม่ยุคต้น พ.ศ.2493-2513 คือเมื่อ๕๐-๖๐ปีที่แล้วมา


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 21:54
ขยายความก่อน กันงง

คำว่าStrait ปกติก็แปลว่าช่องแคบในทะเล ถ้าเป็นช่องแคบสากลใช้ในการเดินเรือนานาชาติมักจะใส่sเป็นพหูพจน์เป็น Straits (แต่จะใส่หรือไม่ใส่ ฝรั่งเองก็มั่วน่าดู) ในมาเลเซียมีช่องแคบมะละกา หรือ Straits of Malacca และ Straits of Singapore ซึ่งอยู่ระหว่างเกาะสิงคโปร์และเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย เมื่ออังกฤษเข้ามาเป็นจ้าวเข้าครองแถบนี้ในปี1826 ได้เรียกอาณานิคมนี้ว่า Straits Settlements ซึ่งมีความหมายรวมทั้งสิงคโปร มะละกา(ที่ยึดไปจากโปรตุเกส) และปินัง อันเป็นที่ตั้งสาขาของบริษัทอินเดียตะวันออกที่อยู่ภายใต้การบริหารเดียวกัน สมัยนี้คำดังกล่าวกร่อนลงเหลือแต่เพียงStraitsเฉยๆ หนังสือพิมพ์ฉบับหลักของสิงคโปร์ยังอนุรักษ์ชื่อ The Straits Times อยู่ในความหมายเดียวกับ The London Times หรือ The New York Times โดยไม่ยักยอมใช้ว่า The Singapore Times




กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 22:00
ส่วนคำว่า Eclectic Style เป็นภาษาของนักออกแบบ มีความหมายว่า เอาไอ้โน่นนิด ไอ้นี่หน่อยที่ดีๆเอามาผสมกัน เป็นของๆตัว
“Straits” Eclectic Style เป็นคำที่พวกจีนมาเลย์บัญญัติขึ้นสำหรับสถาปัตยกรรมลูกผสม ที่คนจีนในภูมิภาคช่องแคบมะละกา ลอกแบบกันไปลอกแบบกันมาในช่วงเวลาร้อยกว่าปี เกิดเป็นรูปแบบที่ไม่ใช่จีนในแผ่นดินแม่ หรือจีนโพ้นทะเลใดๆในโลก แล้วก็ไม่ใช่ฝรั่งด้วย

คิดดูแล้วก็คล้ายๆที่สยามแตกตัวมาจากขอมโดยมีวัฒนธรรมติดมาด้วย นานวันเข้าก็ค่อยๆพัฒนามาเป็นรูปแบบของตนเอง จนหลายร้อยปีให้หลังผิดจากขอมโดยสิ้นเชิง แล้วอยู่ๆเขมรมาบอกว่าของอันนี้โขมยมาจากเขมร ก็เลยต้องชกกัน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 22:03
ถ้ายังสงสัยอยู่ ผมจะพาท่านไปที่มะละกา อาณานิคมของโปรตุเกสในแหลมมลายูเพื่อดูว่าจะมีรูปแบบสถาปัตยกรรมฝรั่งผสมจีนอย่างไรหรือไม่

เมื่อแรกยกพลขึ้นบกเข้าตั้งที่มั่นในปี 1511 (สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่2 แห่งกรุงศรีอยุธยา)คนโปรตุเกสก็สร้างเป็นเมืองป้อมปราการขึ้นบนภูเขาเลย ไม่ได้ไว้ใจชาวเมืองที่เป็นมุสลิมหรอก ต่างคนต่างอยู่อยู่แล้ว


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 22:14
คนจีน เพิ่งจะมามีอิทธิพลแท้จริงในมลายู ก็มาเอาสมัยรัชกาลที่๕ เมื่ออังกฤษใช้ฮ่องกงเป็นฐาน ขนคนกวางตุ้งและฮกเกี้ยนเข้ามาเป็นแรงงานทำเหมืองดีบุกเป็นจำนวนมากมายมหาศาลจนเกิดปัญหาการเมืองระหว่างคนมาเลย์แท้ๆกับมาเลย์เชื้อสายจีนจนเข่นฆ่ากันมาแล้วในอดีตไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา

คนจีนไม่เกี่ยวอะไรกับพวกโปรตุเกสที่มลายู แต่เกี่ยวข้องโดยตรงที่มาเก๊า ซึ่งผมจะพาไปดูในลำดับต่อไป

ดังนั้นวิวัฒนาการอาคารตึกแถวของคนจีนในมะละกา ก็เป็นไปตามอิทธิพลท้องถิ่นเหมือนเมืองที่สำคัญๆในคาบสมุทรมลายู ส่วนอาคารที่ขึ้นทะเบียนโบราณสถานในเขตยึดครองของโปรตุเกสในมะละกาก็เป็นแบบฝรั่งทั้งดุ้น มิได้มีจีนผสมอยู่เลย


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 22:26
มะละกา ไม่มีใครรู้จักชิโนโปรตุกีสที่คนไทยบอกว่ามีต้นกำเนิดที่นี่


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 22:29
เลยไปสิงคโปรกัน แถวนั้นเขาพยายามอนุรักษ์อาคารเก่าที่เหลืออยู่ หลังจากได้ทุบทิ้งไปทำตึกระฟ้ากันจนแทบจะหมดเกาะแล้ว อาคารแบบนี้เขาจะเรียกเต็มปากเต็มคำว่า“Straits” Eclectic Style Architecture


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 22:31
ไม่มีใครที่นั่นรู้จักชิโนโปรตุกีสเช่นกัน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 22:41
มาเก๊า อันเป็นต้นกำเนิดของคำว่า Sino-Portuguese Relationship

เดิมทีโปรตุเกสได้ไปตั้งหลักแหล่งค้าขายอยู่ที่มาเก๊าเพื่อเป็นศูนย์กลางทางการค้าระหว่างโปรตุเกสกับจีน โดยในช่วงแรกเป็นการเช่าที่ดินส่วนหนึ่งจากจีนแล้วประกาศว่าดินแดน28.2 ตารางกิโลเมตรนี้เป็นจังหวัดโพ้นทะเลของโปรตุเกส (Overseas province of Portugal) โดยที่จีนไม่ได้ตอบรับ จนกระทั่งพ.ศ.2430 จีนยกดินแดนมาเก๊าให้โปรตุเกสอย่างเป็นทางการเพื่อเป็นการตอบแทนที่ โปรตุเกสอาสาจีนปราบปรามโจรสลัดที่อาละวาดในเขตทะเลจีนใต้จนราบคาบ อันเป็นที่มาของสญธิสัญญาที่เรียกว่า Sino-Portuguese Treaty


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ค. 11, 22:44
ไล่กวดกระทู้มาไม่ลดละ  สู้สู้..สู้ตาย..ไว้ลาย สู้ตาย   สู้สู้


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 22:50
^
มากันกี่คนน่ะครับ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 22:53
แต่หลังจากที่โปรตุเกสไม่ได้เป็นมหาอำนาจทางทะเลแล้ว มาเก๊าก็หมดความหมาย การค้าทั้งหมดระหว่างจีนกับโลกภายนอกไปกระจุกตัวอยู่ที่ฮ่องกง บ้านเมืองจึงทรุดโทรมเศรษฐกิจล้มละลาย หาเศรษฐีมาอยู่มิได้ ต่อมาโปรตุเกสปิ๊งความคิดขึ้นมาได้ด้วยการเปิดให้มาเก๊าเป็นแหล่งที่เล่นการพนันได้โดยเสรี เข้าทางเศรษฐีจีนทั้งที่ฮ่องกง และจีนโพ้นทะเล พากันแห่ไปคาสิโนในมาเก๊าจนเศรฐกิจที่นั่นกระดี้กระด้าขึ้นมาพักหนึ่ง สมัยสี่ห้าสิบปีก่อน อาเสี่ยจากเยาวราชจะยกขบวนนั่งเครื่องบินไปมาเก๊าในวันศุกร์แล้วตัวเบากลับบ้านในวันอาทิตย์ ตอนหลังมาเลเซียทำเกนติ้งไฮแลนด์ขึ้นมาแข่งขัน มาเก๊าก็เสียลูกค้าแถวนี้ไปเยอะ

วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2542 โปรตุเกสได้ส่งมอบมาเก๊าคืนแก่จีน โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะใช้ระบบ “หนึ่งประเทศสองระบบ” (one country, two systems) และมาเก๊ามีสถานะเป็นเขตบริหารพิเศษของจีน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 22:56
ว่ามาซะนานเพื่อจะบอกว่า สถาปัตยกรรมที่นั่น ก็ไม่ยักมีใครเอ่ยคำว่า Sino-Portuguese Style เลย


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ค. 11, 22:57
มากันหลายคนค่ะ  แต่คนอื่นยังสปีดไม่ทันเจ้าเรือน  ;D

ไปจอร์ชทาวน์และปีนังเมื่อปีก่อนนี้เอง  เห็นรูปแล้วอยากจะกลับไปดูอีกครั้ง   ตอนนั้นไม่รู้จักชิโนปอตุกีส  เลยเหมารวมเป็นตึกจีนไปหมด  เสียดายจริงๆ
เห็นรูปโบสถ์โปรตุเกสในมาเก๊า  ยังจำได้   เหลือแต่ผนังด้านหน้า   เป็นจุดท่องเที่ยวที่ใครไปมาเก๊าก็ต้องไปถ่ายรูป  


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 11, 23:10
ตกลง สถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส ในโลกนี้มีแต่ในภูเก็ตเท่านั้นเองคะรับท่านผู้อ่าน

แต่ก็เออ ดีไปอย่างนะครับ ออกเสียงให้นักท่องเที่ยวฟังง่ายดี
แล้วก็ออกจะดูโก้กว่าที่จะบอกว่าเป็นแบบ“Straits” Eclectic Style
อ่านออกเสียงก็ยาก ท่านอาจารย์เทาชมพูกรุณาสาธิตหน่อยเถิดครับ ออกเสียงยังไงฟังแล้ว ฝรั่งจะไม่แปลว่า"รูปแบบการไฟฟ้าของรัฐ"ไปซะงั้น


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 11, 08:01
อ่านออกเสียงก็ยาก ท่านอาจารย์เทาชมพูกรุณาสาธิตหน่อยเถิดครับ ออกเสียงยังไงฟังแล้ว ฝรั่งจะไม่แปลว่า"รูปแบบการไฟฟ้าของรัฐ"ไปซะงั้น

อ่านว่า เอคเคลคติค ค่ะ 
ถ้าอ่านผิดเป็นอีเล็คทริค  ก็จะเป็นสถาปัตยกรรมแบบ กฟผ. บางกรวย  หรือกฟภ.งามวงศ์วาน ไปแทน

ติดตามอ่านของท่าน NAVARAT    เกิดอยากเห็นให้ชัดๆ ว่าอาคารแบบโปรตุเกสเป็นยังไง  ก่อนจะมาเป็นแบบยำใหญ่ ผสมโน่นนิดนี่หน่อยในอุษาคเนย์    เลยไปหาตึกแถวที่ลิสบอนมาลงให้ดูกัน
รูปข้างบนคือชิโนปอร์ตุเกสที่ท่าน NAVARAT ไปรวมรวมมาให้ดู

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4376.0;attach=19239;image)

รูปล่างทั้งสองรูป คือตึกแถวที่ลิสบอน  เมืองหลวงของโปรตุเกส  ก็พอมองเห็นเค้าที่มาของโครงสร้าง   ส่วนสีสันที่ดูตุ้งแช่ นั้นเป็นแบบจีน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 11, 08:16
พอเห็นรูปตึกแถวในลิสบอน  แล้วนึกถึงตึกแถวบางแห่งในกรุงเทพ    เคยนำมาทายเป็นภาพโหดหินด้วยฝีมือคุณ siamese ในค.ห. 302 ของกระทู้ภาพเก่าเล่าเรื่อง เมืองบางกอก

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3462.0;attach=13747;image)


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 11, 09:05
เมื่อไปจอร์ชทาวน์บนเกาะปีนังช่วงสงกรานต์ปีก่อน     ในเมื่อไม่รู้จักชิโนปอร์ตุเกส  ก็เลยกระทบสายตาแต่ตึกที่เห็นหน้าตาเป็นอังกฤษ ซึ่งเป็นตึกใหญ่ๆ อยู่ทั่วเมือง   สถานที่สำคัญๆก็สร้างแบบอังกฤษ     ส่วนตึกแถวเก่าๆนั้นดูเหมือนจะเหลือน้อยเต็มทีแล้วบนเกาะปีนัง   ถ้าไม่ซ่อมแซมใหม่ให้ดีก็ดูโทรมเต็มที   ไม่น่าดู
ถ้าได้กลับไปอีก คงจะไปเดินดูตึกแบบต่างๆให้ถี่ถ้วนกว่านี้ละค่ะ

ก่อนจะเพลิดเพลินกับอาคารลูกผสมต่อไป     ขอเตือนตัวเองเรื่องโปรตุเกส  ด้วยคำถามว่า  โปรตุเกสยังอยู่ในอยุธยาต่อมาจนถึงกรุงแตกครั้งที่ ๒ หรือเปล่า     มีส่วนร่วมรบกับพม่าด้วยหรือไม่
ยังไม่รู้คำตอบ  จึงขอถามไว้ก่อน  แต่ถ้าไม่มีใครตอบก็จะไปปรึกษาคุณกู๊ก หาคำตอบให้ตัวเองต่อไป

โดยส่วนตัวคิดว่าโปรตุเกสเข้ามาสมัยพระไชยราชา ตั้งบ้านเรือนเป็นปึกแผ่นกันได้ตั้งแต่ก่อนเสียกรุงครั้งที่ ๑     ถ้าไม่มีโปรตุเกสรุ่นใหม่ทยอยกันเข้ามาเรื่อยๆ     ลูกหลานโปรตุเกสรุ่นเก่าพวกนั้น กว่าจะถึงเสียกรุงครั้งที่ ๒ คงกลายเป็นชายหญิงไทยกินหมากฟันดำ ตัดผมทรงหลักแจวกันไปหมดแล้วละมังคะ 


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 พ.ค. 11, 09:24
ฝากสถาปัตยกรรมโบสถ์เซนต์ปอล ที่มาเก๊า เป็นโบสถ์ที่ก่อสร้างยุคสมัยโปรตุเกสเข้าครอบครองครับ

ดูจากสถาปัตยกรรมที่ อ.NAVARAT.C อธิบายเป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมอย่างจีน + ยุโรป หรือยุคอาณานิคมที่อังกฤษเข้าปกครองดินแดนในภูมิภาคนี้รวมทั้งที่กวางตุ้งและบรรดาเมืองท่าต่างๆที่จีน ต่อมาได้พัฒนาการตกแต่งจากวัฒนธรรมจีน-มาเลย์เข้าไป หรือ พวกบาบ๋า ตกแต่งให้มีความสวยงาม

ในอาคารแบบจีนยุคแรกๆนั้นทางไทยเองก็ล่องเรือค้าขายกับสิงคโปร์ ก็ได้จำแบบการสร้างตึกมาเล่าถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงโปรดให้สร้างอาคารแบบดังกล่าวสร้างเป็นหมู่ตึกแถวถนนบำรุงเมือง และในต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดให้นำตัวอย่างการก่อสร้างตึกแถวจากสิงคโปร์มา (ซึ่งได้พัฒนามีการตกแต่งลวลลาย) สร้างเพิ่มขึ้นทั่วกรุงเทพ บ้านเมืองจึงได้สวยงามอย่างมาก


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 พ.ค. 11, 09:29
สถาปัตยกรรมโปรตุเกสที่เมืองกัว อินเดีย


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 พ.ค. 11, 09:36
ลักษณะโครงสร้างสถาปัตยกรรมตึกที่สร้างเป็นห้องแถวต่อกันไป สูง 2-3 ชั้น กวางตุ้งเมื่อ 150 ปีก่อน

ด้านล่างไว้ทำการค้า ด้านบนไว้พักอาศัย หรือเป็นที่เก็บสินค้า เป็นลักษณะ Shop-House


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ค. 11, 09:41
^
ครับ
ผมขอย้ำอีกที ในโลกนี้จริงๆแล้วไม่มีสถาปัตยกรรมแบบชิโนปอร์ตุกีส อย่าไปเที่ยวเดินหา มีแต่จีนผสมยุโรปรวมๆกัน แยกแยะไม่ออกว่าตรงไหนเป็นเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมของอังกฤษ ดัชท์ โปรตุกีส เสปญหรือฝรั่งเศส ซึ่งรากเง่าจริงๆแล้วก็มาจากกรีกและโรมันเหมือนกัน ภูเก็ตเอาคำว่าชิโนปอร์ตุกีสไปขายในการตลาดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (ก็คงเป็นสถาปนิกนั่นแหละ ที่ไปคิดให้เขา)

แต่หนังสือสถาปัตยกรรมเล่มนี้ ไม่ยอมเออออห่อหมกตาม แต่ได้แยกแยะรูปแบบอาคารแบบจีนที่นั่นออกมา คล้ายๆกับของมาเลเซียที่ผมเสนอไปข้างต้น

http://www.art4d.com/nipponpaint/sites/04/images.html


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 พ.ค. 11, 09:45
ล่องเรือโดยไม่ทอดสมอ ลมพัดไปยังฟิลิปินส์ นำโบสถ์สถาปัตยกรรมโปรตุเกส ให้ชมอีกครั้ง

จะเห็นว่าลักษณะสถาปัตยกรรมของโปรตุเกส และสเปน มีความคล้ายคลึงกัน โดยเน้นเสากลม และวงโค้ง มีการเจาะช่องหน้าต่างเป็นสี่เหลี่ยมและวงกลม และหน้าบันปูนปั้นที่ดูบึกบึน บางครั้งก็ทำอย่างป้อมปราการดูน่าเกรงขาม


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 พ.ค. 11, 09:51
จากวิกี้

ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำการค้าบริเวณเมืองท่ามะละกา และได้นำเอาศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนวิทยาการตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ และได้สร้างบ้าน และสถาปัตยกรรมตามรูปแบบของตน ซึ่งช่างชาวจีนได้นำผังการก่อสร้างไปดำเนินการ แต่ลักษณะของสถาปัตยกรรมได้เพี้ยนไปจากเดิมโดยช่างชาวจีนได้ตกแต่งลวดลายสัญลักษณ์รวมถึงลักษณะรูปแบบบางส่วนของตัวอาคารตามคติความเชื่อของจีน เกิดการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมโปรตุเกสและจีน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นท่ามกลางสังคมของกลุ่มชน 3 เชื้อชาติ อันได้แก่โปรตุเกส จีน และมาเลย์ ในดินแดนแหลมมลายู

ต่อมาเมื่อชาวดัตช์และอังกฤษเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้ ก็ได้ปรับปรุงรูปแบบของอาคารโดยดัดแปลงและเพิ่มเติมลวดลายต่างๆ และมีชื่อเรียกลักษณะการก่อสร้างอาคารเหล่านี้ว่า สถาปัตยกรรม “ชิโนโปรตุกีส” คำว่า “ชิโน” หมายถึงคนจีน และคำว่า “โปรตุกีส” หมายถึง โปรตุเกส แม้ว่าอังกฤษและดัตช์จะเข้ามามีอิทธิพลในการผสมผสานศิลปะของตนเข้าไปในยุคหลังด้วยก็ตามก็ยังเรียกรวมกันว่า ชิโนโปรตุกีส

................

ยังมีต่อ

ลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีสคือการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมยุโรปและศิลปะจีน กล่าวคือ “สถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม” หรือ “อาคารแบบโคโลเนียล” (Colonial Style) ถ้าเป็นอาคารสองชั้นกึ่งร้านค้ากึ่งที่อยู่อาศัย (shop-house or semi-residential) จะมีด้านหน้าอาคารที่ชั้นล่างมีช่องโค้ง (arch) ต่อเนื่องกันเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เกิดการเดินเท้า ที่ภาษาไทยเรียกทับศัพท์ว่า “อาเขต” (arcade) หรือที่ภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า “หง่อคาขี่” ซึ่งมีความหมายว่า ทางเดินกว้างห้าฟุต นอกจากอาเขตแล้ว อาคารแบบโคโลเนียลมีการนำลวดลายศิลปะตะวันตกแบบกรีก โรมัน หรือเรียกว่า “สมัยคลาสสิก” เช่น หน้าต่างวงโค้งเกือกม้า หรือหัวเสาแบบโยนิก หรือไอโอนิก (แบบม้วนก้นหอย) และคอรินเทียน (มีใบไม้ขนาดใหญ่ประดับ) เป็นต้น ซึ่งนักวิชาการบางท่านอาจเรียกสถาปัตยกรรมแบบนี้ว่า “นีโอคลาสสิก”

สิ่งที่ผสมผสานศิลปะจีนคือ ลวดลายการตกแต่ง ไม่ว่าจะเป็นภาพประติมากรรมนูนต่ำหรือนูนสูงทำด้วยปูนปั้นระบายสีของช่างฝีมือจีนประดับอยู่บนโครงสร้างอาคารแบบโปรตุเกส บานประตูหน้าต่าง ตลอดจนการตกแต่งภายในที่มีลักษณะเป็นศิลปะแบบจีน

สถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีสแบบที่คุณวิกกี้อธิบาย รู้สึกจะเน้นว่าต้องมี "อาเขต"

ขอความรู้คุณนวรัตนเรื่อง "อาเขต" ว่าเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมโปรตุเกสหรือไม่

 ???


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 พ.ค. 11, 10:06
ผมจะนำเสนอสถาปัตยกรรม วิวัฒนาการของการก่อสร้างตึกให้ฟังสักนิดนะครับ อยากฟังกันไหมเอ่ย ซึ่งเกี่ยวข้องกันในสมัยอยุธยา


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ค. 11, 10:09
^
เชิญคุณหนุ่มครับ
ของคุณเพ็ญ ขอติดไว้ก่อน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 พ.ค. 11, 10:25
ได้อ่านจดหมายเหตุของราชทูต ลาลูแบร์ เกี่ยวกับเรื่องการก่อสร้างอาคารในสยาม (กรุงศรีอยุธยา) ระบุว่าการก่อสร้างตึกของชาวสยามนั้นก่อสร้างโดยสถาปัตยกรรมแบบเดิม คือ โบสถ์-วิหาร เป็นของตนเองก่อน ไม่ได้นำตัวอย่างการก่อสร้างมาจากจีน แต่ตึกแบบฝรั่งที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยารุ่นแรกที่เรียกว่า "ตึก" ในจดหมายเหตุระบุว่า "ฝรั่งคนแรกซึ่งได้สร้างตึกขึ้นในเมืองนี้ชื่อ แฟกเตอร์  

คนจีนเรียกตึกเรือนเหล่านี้ว่า "แฟกตอรี" ชาวสยามไม่รู้จักคำนี้ แต่ไผล้ไปเรียกพระอุโบสถสถานที่ก่อด้วยอิฐปูนว่า "โบสถ์แฟกตอรี่" ซึ่งหมายถึง ตึกที่สร้างตามอย่างนายแฟกเตอร์

มาดูกันว่าเจ้าตึกแบบ "แฟกเตอร์" นี้มีลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร และกระจายตัวอยู่ที่ไหนกันบ้าง ?

ให้ดูภาพวาดลายเส้นแผนผังเมืองมาเก๊า สมัยโปรตุเกส จะเห็นลักษณะหมู่ตึกไม่เหมือนตึกอย่างจีน แต่เป็นอาคารทรงตัน สี่เหลี่ยม เจาะช่องประตู หน้าต่างเท่านั้น ดูออกทึบๆ ไม่โปร่งสบายตา


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 พ.ค. 11, 10:26
จดหมายเหตุที่ลาลูแบร์ กล่าวถึง


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 พ.ค. 11, 10:34
ดังนั้น อาคารตำหนักสมเด็จพระพุฒาจารย์ ที่อยุธยา ก็ได้รับสถาปัตยกรรมแบบตึกแฟกเตอร์มาเช่นเดียวกัน คือมีลักษณะ2 ชั้น หน้าต่าง ประตูเจาะช่องแบบทึบ ไม่มีกันสาด แต่ยังคงถือธรรมเนียมบันได นำไว้นอกอาคารกันจัญไร

รู้จัก "ถนนสิบสามห้าง" กันไหมครับ ถนนสิบสามห้างเป็นถนนอยู่ข้างวัดบวรนิเวศ ที่ถูกสร้างเป็นหมู่ตึกแถวในสมัยรัชกาลที่ ๔ ก็ถือธรรมเนียมนี้จากเมืองกวางตุ้งที่ฝรั่งสร้างไว้ คำว่า "สิบสามห้าง" สำหรับชาวสยามมิได้แปลว่า ร้านค้าจำนวน 13 อย่างแต่สยามรับชื่อมาใช้โดยเรียกสถาปัตยกรรมที่เขาเรียกกัน

สำหรับที่กวางตุ้งแล้วสามารถย้อนไปยัง "ตึกแบบแฟกเตอรี่" ได้โดยการก่อสร้างแบบนี้อาศัยการก่อสร้างแบบอย่างนายแฟกเตอร์มาใช้ คือ เป็นอาคารทึบ มีหน้าต่างน้อย เจาะช่องไว้ มี 2 ชั้นไว้เก็บสินค้า และพักอาศัย และมีเจ้าอาณานิคมจำนวน 13 ประเทศเข้าทำการค้า คือ สเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา เนเธอร์แลนด์ จีน เดนมาร์ก เป็นต้น จึงเป็นที่มาของคำว่า Thirteen Factory ครับ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 พ.ค. 11, 10:39
รูปวาดเมืองมาเก๊า ที่ดูจากโครงสร้างเป็นตึกอาคารทึบมีหน้าต่างน้อยๆ โดยที่มาของนายแฟกเตอรี่ ได้นำสถาปัตยกรรมโกดัง อย่างยุโปรมาใช้ก่อสร้างในดินแดนอาณานิคมเมื่อ 400 ปีก่อน ซึ่งทางยุโรปเป็นเมืองหนาว เจาะหน้าต่างน้อย บานสี่เหลี่ยมจตุรัส เป็นที่นิยมของชาวยุโรป จึงเป็นที่มาของความนิยมการก่อสร้างตึกดังกล่าว และได้กลมกลืนเป็นสถาปัตยกรรมผสมกับจีน ในเวลาต่อมา


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 พ.ค. 11, 10:53
ลักษณะตึกดิน ที่มีการก่อสร้างโดยอาศัยรูบแบบอย่างตึกแฟกเตอรี่ ผสมกับสถาปัตยกรรมจีน สมัยรัชกาลที่ ๔


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ค. 11, 11:45

เพ็ญชมพู
อ้างถึง
สถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีสแบบที่คุณวิกกี้อธิบาย รู้สึกจะเน้นว่าต้องมี "อาเขต"

ขอความรู้คุณนวรัตนเรื่อง "อาเขต" ว่าเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมโปรตุเกสหรือไม่

ผมว่าไม่มีครับ
 
เอาอาคารในประเทศโปรตุเกสมาให้ดูก่อน สถาปัตยกรรมคลาสสิกที่นั่นนอกจากจะรับอิทธิพลของกรีกและโรมันมาแล้ว ยังได้ของแขกมัวร์อิสลามมาด้วยแต่น้อยกว่าเสปญมาก


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ค. 11, 11:46

นี่เป็นอาคารในบราซิล ที่บอกว่าเป็นแบบที่โปรตุเกสนำมา


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ค. 11, 11:48
คราวนี้ตึกแถวร้านค้าในภูมิภาคเขตมรสุมของเอเซีย ทำไมจึงต้องมีทางเดินใต้อาคารที่เรียกว่าอาเขต ผมเชื่อว่านั่นเป็นเพราะภูมิอากาศที่ฝนตกชุก  บางวันตกติดต่อกันเป็นสัปดาห์ ดังนั้น เพื่อที่จะให้ค้าขายได้ ไม่ต้องลำบากลำบนจนเกินเหตุ จึงออกแบบอาคารริมถนนให้มีทางเดินใต้อาคาร กันเปียก

นี่เป็นอาคารในกัว เมืองขึ้นของโปรตุเกศในอินเดีย ไม่ใช่ทุกอาคารจะมีอาเขตดังกล่าว


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ค. 11, 11:53
ใน ภูเก็ต ตะกั่วป่า และระนอง ที่เป็นTin Beltของเมืองไทย รับอิทธิพลของพวกจีนมาเลย์เข้ามาเต็มๆ รูปแบบของอาคารจึงมีอาเขต ซึ่งก็เหมาะสมดีตามสภาพภูมิอากาศ

เพียงแต่เสียดายว่าไม่มีกฏหมายรองรับ เจ้าของอาคารบางคูหาจึงถือโอกาสว่าโฉนดส่วนทางเดินนั้น ตนเป็นเจ้าของ จึงปิดกั้นไม่ให้ใครเดินผ่าน

อาเขตเลยเป็นหมันไป


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 11, 18:32
ไม่มีใครมาตอบเรื่องโปรตุเกสยังปักหลักอยู่ในกรุงศรีอยุธยามายาวนานจนถึงเสียกรุงครั้งที่ 2 หรือไม่  ก็เลยไปหาคำตอบมาเอง  
เจอคำตอบว่า โปรตุเกสอยู่ในอยุธยามาต่อเนื่องยาวนานค่ะ

หลักฐานจากหอจดหมายเหตุ ของหออัครสังฆมณฑลกรุงเทพ เล่าว่ามาถึงปีพ.ศ. 2310( ค.ศ. 1767) ทหารพม่าบุกเข้าทำลายกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระสังฆราชของคาทอลิคถูกจับ นำตัวไปประเทศพม่า โบสถ์ถูกเผา บ้านถูกปล้น พวกคริสต์ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย     ส่วนพวกที่หนีเอาตัวรอดได้ก็หนีกระจัดกระจายไปตามที่ต่างๆ   บางกลุ่มก็หนีลงมาบางกอก
มีชาวโปรตุเกสตระกูลหนึ่งชื่อตระกูลรูดิเกวช   เป็นช่างทำอัญมณีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์   มีลูกหลานสืบทอดมาจนกระทั่งสมัยพระเจ้าเอกทัศ   เมื่อเสียกรุง  พวกนี้หนีไปตั้งหลักใหม่ที่ธนบุรี   เข้าร่วมรบในฐานะทหาร ในสงครามกู้อิสรภาพของสมเด็จพระเจ้าตากสินเมื่อปี พ.ศ.2311(ค.ศ.1768)
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกอบกู้เอกราชคืนมาได้   ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี   พวกคริสต์ในสยามก็เริ่มรวมตัวกันได้อีกครั้ง    บาทหลวงกอรร์ (Corre) ซึ่งได้ลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศเขมรได้เดินทางกลับเข้ามาอีกครั้ง  รวบรวมชาวคริสต์ที่บางกอกซึ่งมีจำนวนถึง 400 คน ให้มาอยู่รวมกัน
ด้วยความดีความชอบของชาวคริสต์  สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงพระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งสำหรับสร้างโบสถ์      คุณพ่อกอรร์ได้ตั้งชื่อว่า   "วัดซางตาครู้ส"  หลักฐานปรากฏในจารึกประกาศพระราชทานที่ดินในการสร้างโบสถ์ซางตาครูซแก่ชาวโปรตุเกส เมื่อปีค.ศ.1768 ซึ่งบาทหลวงไตไซราเป็นผู้รวบรวมไว้


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 11, 18:49
ย้อนกลับมาเรื่องสถาปัตยกรรมลูกผสมโปรตุเกส   ไม่กล้าใช้คำว่าชิโนปอร์ตุกีส  เพราะท่านก็บอกแล้วว่าไม่มี้...ไม่มี   ;)
ตึกนี้เคยเอามาทายกันในกระทู้เก่า  สมัยแก๊งค์ช้อนลูกน้ำและแก๊งค์ย่อยหินยังว่างงาน      ขอซ้อมความเข้าใจของตัวเองว่ามันคือ  “Straits” Eclectic Style ใช่ไหมคะ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ค. 11, 19:04
ตึกลูกผสมผรั่งๆจีนๆในกรุงเทพ ผมเชื่อว่ามีอิทธืพลมาจากพวกเซี่ยงไฮ้นะครับ
สมัยก่อนช่างก่อสร้างเซี่ยงไฮ้มีชื่อมาก


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 11, 19:14
สอบตกไปหนึ่งตึก


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 11, 19:31
อ.พิทยะ ศรีวัฒนสารยังสันนิษฐานด้วยว่า  ชาวโปรตุเกสและชาวกรุงศรีอยุธยาอาจมีการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่วัฒนธรรมทางดนตรีกัน    และอาจเป็นที่มาของเพลงไทยเดิมสำเนียงฝรั่ง อาทิ เพลงต้นบรเทศ หรือต่อมาเราเรียกว่า ต้นวรเชษฐ   
อ.พิทยะเคยเสนอว่า คำว่า บรเทศ    มีรากเหง้ามาจากคำว่า ปูรตุเกช(Português หรือ portuguêsa ในภาษาโปรตุเกส

มาฟัง ต้นบรเทศ กันดีกว่า

http://www.youtube.com/watch?v=oLuGAqa6NYM&playnext=1&list=PLC21DBA4FD02EFF57

ถ้าบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีฝรั่ง  สำเนียงเป็นฝรั่งไหมคะ

http://www.youtube.com/watch?v=nMaNaubuXK8&playnext=1&list=PLCDE883B86DCAA2D4


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 พ.ค. 11, 19:58
     ขอย้อนกลับไปถึงโปรตุเกสสมัยปลายอยุธยา
     แม้ว่าชุมชนโปรตุเกสอยู่ในอยุธยามาได้จนถึงเสียกรุงครั้งที่ 2    แต่เส้นทางชีวิตของพวกนี้ก็ไม่ใช่ว่าราบรื่น   ทหารโปรตุเกสไปทัพ ร่วมรบกับกองทัพอยุธยาต่อเนื่องกันมาหลายยุคหลายสมัยก็จริง     แต่ในบันทึกของบาทหลวงเจซูอิทที่ส่งไปโรม เล่าว่าเมื่อดัทช์แผ่อิทธิพลมาถึงเอเชียอาคเนย์    โปรตุเกสก็กลายเป็นแพะตัวใหญ่ให้อยุธยาเชือด   ทั้งๆโปรตุเกสก็ไม่ได้ก่อเรื่องอะไรขึ้นมาเลย

      เรื่องมีอยู่ว่า ในค.ศ. 1624   เรือดัทช์กับสเปนเกิดปะทะกันในน่านน้ำไทย    ในข้อมูลบอกว่า สเปนเป็นฝ่ายโจมตีเรือ  VOC  yacht ของดัทช์ชื่อ “Zeelandt” ที่แล่นผ่าน       เรือดัทช์ที่ว่าเป็นเรือสินค้าใหญ่เล็กขนาดไหน หน้าตาเป็นยังไงยังนึกไม่ออก    เขาบอกไว้สั้นๆแค่นี้    ก็ขอให้คนอ่านช่วยกลืนลงคอไปแบบฝืดๆแบบนี้  
       จะไปขอผู้เชี่ยวชาญมาช่วยอธิบายอีกสักครั้งก็เกรงใจ     ขอทีไรกลายเป็นให้การบ้านท่านไปทุกที     ก็ขอหมายเหตุว่า...แล้วแต่ท่านจะเมตตาเด็กๆแถวนี้แล้วกันนะคะ

       เรื่องนี้เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม   พระองค์ทรงเข้าข้างดัทช์ ปราบปรามสเปนอย่างเฉียบขาด   สังหารสเปนตายไป  150 คน  ที่เหลือก็ถูกจับ   เรือสเปนถูกยึด     ศึกครั้งนี้ทำเอาอยุธยาหวิดจะเกิดศึกใหญ่กับกองกำลังทหารสเปนซึ่งปักหลักอยู่ที่มาเก๊า      ส่วนโปรตุเกสซึ่งไม่รู้อีโหน่อีเหน่ก็เจองานเข้า   ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นคอเดียวกับสเปน     ความดีความชอบทั้งหลายที่เคยทำมา ก็หายวับไป  ไม่เป็นที่ไว้ใจของราชสำนักอยุธยาอีก

       ประวัติศาสตร์ไทยช่วงนี้ที่บาทหลวงฝรั่งเขียนไว้   เหมือนจิ๊กซอ เพราะมันขาดๆไม่มีที่มาที่ไปให้เข้าใจได้   ต้องค่อยๆปะติดปะต่อกัน  ด้วยกาวตราเดา   อาจผิดหรือถูกก็ได้  ไม่รับรอง   คือเดาว่าเรือดัทช์ที่ว่านั้นเป็นเรือสินค้ามาค้าขายกับอยุธยา จะขามาหรือขากลับก็ไม่รู้ละค่ะ  เคราะห์ร้าย ไปเจอเรือโจรสลัดสเปน    
       อย่างที่ท่าน NAVARAT เคยอธิบายเรื่องโจรสลัดไว้ ว่าพวกฝรั่งที่มาแสวงโชคหรือมาทำราชการงานเมืองแถวนี้   ปะเหมาะ อาจจะทำ part time เป็นโจรสลัดขึ้นมาเฉยๆ ก็ได้ ถ้าจังหวะเหมาะมีเหยื่อผ่านเข้ามา   เพราะยังไงก็ไม่มีตำรวจน้ำของประเทศไหนมาลาดตระเวนตรวจตราอยู่แล้ว

        ในเมื่อสเปนปล้นเรือค้าขายกับอยุธยา พระเจ้าทรงธรรมก็เดือดร้อน เพราะรายได้ค้าขายของอยุธยามีสิทธิ์ลดฮวบ หากเจอเข้าบ่อยๆ    จะทรงปล่อยไว้กระไรได้     ก็ทรงส่งกองทัพเรือไปปราบโจรสลัดสเปนเสียเหี้ยนเตียน      ส่วนโปรตุเกสที่งานเข้าเดาได้ 2 ทางคือถูกส่งลงเรือไปปราบโจรสลัดสเปนแล้วทำงานเหยาะแหยะ ปราบไม่สำเร็จ   กลายเป็นพี่ไทยอยุธยาปราบอยู่ฝ่ายเดียว     หรืออีกทางหนึ่ง โปรตุเกสไปเข้ากับโจรสลัดสเปน  อาจจะถ่วงโยกโย้หรือรู้เห็นเป็นใจกัน    แต่ทัพเรือไทยของพระเจ้าทรงธรรมเก่งกว่า   ชนะศึกกลับมากราบทูลฟ้องพระเจ้าแผ่นดิน    โปรตุเกสในอยุธยาเลยเดือดร้อนกันไปหมดเพราะเป็นปลาข้องเดียวกัน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 พ.ค. 11, 20:37
ตอนนี้มีตัวละครเพิ่มเข้ามา 3 ประเทศแล้ว คือ โปรตุเกส, สเปน และฮอลันดา (ดัชท์)

ซึ่งลักษณะของทั้งสามประเทศต่างเป็นคู่แข่งกันอย่างสิ้นเชิง จะขอเล่าสักเล็กน้อยพอให้ทราบถึงสถานภาพทั้งสามคือ สเปน เป็นประเทศใหญ่มีอำนาจมากในการเดินเรือ และมีคู่แข่งคือ โปรตุเกส ซึ่งแข่งขันทางด้านแสวงหาดินแดนเช่นเดียวกัน จนกระทั้งทำสงครามกันและได้ถูกตัดสินให้โลกตะวันออกเป็นของโปรตุเกส โลกตะวันตกเป็นของสเปน

พอโปรตุเกสเข้ามาแพร่อิทธิพลที่ เมืองกัว ที่มะละกา ที่อยุธยา ที่สิเรียม ที่มะนิลา ที่ชวา ที่มาเก๊า ไม่นานนัก ซึ่งตรงกับช่วงหลังสมัยพระนเรศวรมหาราช ประเทศโปรตุเกส กลับถูกสเปนยึดประเทศไป ทำให้อิทธิพลทางการค้าดับลงไป ซึ่งฝ่ายหนึ่งดับ มีฝ่ายหนึ่งเด่นขึ้นมาแทนที่คือ "ฮอลันดา"

ฮอลันดา เป็นดินแดนในการยึดครองของโปรตุเกส เมื่อโปรตุเกสถูกรวมเข้ากับสเปน ฝ่ายฮอลันดาก็ได้โอกาสขึ้นเป็นเอกราช ออกเดินเรือเป็นคู่แข่งกับเขาบ้าง และเป็นคู่แข่ง คู่สงครามกับโปรตุเกสกันอยู่เนืองๆ จะสังเกตุว่าไม่นานนัก ราชสำนักอยุธยาก็อ้าแขนเปิดรับชาวดัชท์เข้าประเทศ ทำให้ฝรั่งสามชาตินี้แข่งกัน ทะเลาะกัน แย่งกันอยู่เนืองๆ  ;D


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 พ.ค. 11, 21:07
อ่านจดหมายเหตุของบาทหลวงเยซูอิทย่อหน้าต่อไป แล้วพบว่าตัวเองเดาถูก 1 ข้อ คือเรือสเปนที่ว่านั้น ปฏิบัติการเป็นโจรสลัดพาร์ทไทม์จริงๆ    
เมื่อเจออยุธยาเอาเรื่องเข้า     โจรสลัดสเปนก็ตอบโต้กลับมา     กองเรือขนาดใหญ่ของสเปนที่เดินทางมาจากมาเก๊า  ไล่ปล้นสะดมเรือสินค้าหลายลำของอยุธยาเป็นการแก้แค้นที่อยุธยาทำกับสเปน     พอดีกับปลายปี   พระเจ้าทรงธรรมเสด็จสวรรคต  อาณาจักรศรีอยุธยากับสเปนก็กลายเป็นปรปักษ์ฮึ่มฮั่มทำศึกกันไป
ส่วนโปรตุเกสถูกมองว่า ก็แก๊งค์เดียวกับสเปน   คงเป็นเพราะมาถึงยุคนี้  อิทธิพลของสเปนกลืนโปรตุเกสเข้าไปเรียบร้อยแล้ว   ชาวโปรตุเกสจำนวนมากก็เลยถูกจับเข้าคุก    พระเจ้าแผ่นดิน(ในนี้ไม่ได้บอกว่าองค์ไหน   คงจะเป็นสมเด็จพระเชษฐาธิราช หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 2 พระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม  ผู้เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา)กับขุนนางใหญ่น้อยพากันเกลียดชังโปรตุเกสหนักขึ้นทุกที  จนนำไปสู่การยึดเรือสินค้าโปรตุเกสที่บรรทุกสินค้าจีนจากมาเก๊า   ในค.ศ. 1630  ส่วนพวกโปรตุเกสในอยุธยาก็ถูกจับเป็นเชลยตลอด 4 ปี   ทำมาหากินอะไรก็ไม่ได้นอกจากไปเร่ร่อนเป็นขอทานอยู่ตามถนน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 พ.ค. 11, 21:56
ถึงตอนนี้ขอเดินเลี้ยวเข้าซอยไปสักนิด

จดหมายเหตุของบาทหลวงนิกายเยซูอิท  ให้ภาพพระเจ้าทรงธรรมแตกต่างจากในพงศาวดารไทย
 
     หลักฐานทางไทยให้ภาพลักษณ์พระเจ้าทรงธรรมเป็นนักปราชญ์  เลื่อมใสทางพุทธศาสนา  มีพระราชกรณียกิจทางพุทธศาสนามากมาย  สมพระนามว่าพระเจ้าทรงธรรม    ก็น่าจะเป็นผู้ใหญ่ที่ค่อนไปทางธรรมะธัมโม  สงบเยือกเย็นอยู่ในศีลในธรรม   ไม่ชอบรบราฆ่าฟัน  ชอบความสงบศานติ    เพราะพงศาวดารไทยยังบอกอีกว่า ทรงมีสัมพันธ์ไมตรีที่ดีกับต่างชาติ  ทั้งดัทช์(ฮอลันดา) อังกฤษและญี่ปุ่น   รัชสมัยของพระองค์นี่เองที่มีการตั้งกรมอาสาญี่ปุ่นขึ้น  เพราะมีชาวญี่ปุ่นสมัครเข้ารับราชการที่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก  ซามูไรญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นขุนพลใหญ่ของอยุธยาคือยามาดะ นางามาซะ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกญาเสนาภิมุข ก็อยู่ในรัชสมัยนี้
    นอกจากนี้ ทรงบริหารการค้าได้เก่งมาก  ทำให้อยุธยากลายเป็นแหล่งศูนย์รวมการค้าสำคัญ    ฮอลันดาที่เข้ามาค้าขายก็ได้รับไฟเขียวด้วยดี  ถึงขั้นพระราชทานที่ดินบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ริมคลองปลากด เหนือเมืองสมุทรปราการ ให้ชาวฮอลันดาตั้งคลังสินค้า   ในปี พ.ศ. 2115 พระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ได้มีพระราชสาส์นทูลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พ่อค้าชาวอังกฤษเข้ามาค้าขายที่กรุง ศรีอยุธยาได้สะดวก ก็โปรดอำนวยให้ตามนั้น

    พงศาวดารไทยยังบอกด้วยว่า  พระเจ้าทรงธรรมไม่นิยมการทำสงคราม     จึงต้องเสียเมืองทวาย ให้พม่าที่ยกกำลังมาตีเมืองทวายใน พ.ศ. 2165 ต่อมา กัมพูชาและเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเคยเป็นเมืองประเทศราชมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรต่างก็พากันแข็งเมืองไม่ยอมขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา

     แต่อ่านจากจดหมายเหตุของบาทหลวงเยซูอิท   พระเจ้าทรงธรรมทรงเป็นนักรบ และแข็งกร้าวมากทีเดียว


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 พ.ค. 11, 22:30
มีเรืองเพิ่มเติมเกี่ยวกับบันทึกการมาของ เดอ ซัวซีย์ เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บันทึกไว้ว่า

"เสนาบดีไทยพูดภาษาโปรตุเกสได้ทุกคน ..ก่อนทีเขาจะมากรุงศรีอยุธยาต้องหัดเรียนภาษาโปรตุเกส ควบคู่กับภาษาไทย และในการเผยแพร่ศาสนาศริสต์ของชาวฝรั่งเศสในระยะแรกๆ ก็ต้องใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นสื่อกลาง และภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาทางการทูตในการติดต่อกับชาวยุโรปและการทำสนธิสัญญากับชาวตะวันตก เนื่องจากชาวโปรตุเกสได้เข้ามาในดินแดนแถบนี้ก่อนชนชาติอื่นๆ ภาษาโปรตุเกสจึงเป็นที่เผยแพร่ในดินแดนแถบนี้.."

แสดงให้เห็นว่าอิทธิพลของภาษาโปรตุเกสที่โยงเข้ากับภาษาไทย คงมีด้วยกันหลายคำนะครับ  ;)


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 พ.ค. 11, 22:47
น่าจะมีมากกว่าที่คิดค่ะ   :o

กลับมาต่อเรื่องโปรตุเกส

     อย่างไรก็ตาม  โปรตุเกสในสยามก็ไม่ได้ถูกพวกเดียวกันทอดทิ้งไม่ดูดำดูดี   ปล่อยให้ยากแค้นแสนเข็ญอยู่อย่างนั้น    ทางนี้คงส่งข่าวไปขอความช่วยเหลือจากต้นสังกัดเดิมคือพวกโปรตุเกสด้วยกัน    เพราะเหตุนี้  ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1633   โปรตุเกสที่มะละกาจึงส่งทูตมาที่ราชสำนักอยุธยา  ถือสาส์นมาขอให้ช่วยปล่อยโปรตุเกสออกจากคุกเสียที
      จดหมายเหตุบอกว่า แต่พระเจ้าแผ่นดินต้อนรับทูตอย่างเสียไม่ได้   แต่ก็ทรงยอมรับสาส์นและปล่อยนักโทษออกจากคุก      ทูตโปรตุเกสจับตาดูเพราะไม่ค่อยไว้ใจ     เห็นท่าไม่ดี  เพราะมีท่าทีว่าจะทรงเปลี่ยนพระทัยขึ้นมา   ทูตก็เลยหอบหิ้วนักโทษทั้งหมด ลงเรือแล่นหนีออกเจ้าพระยาไปปากอ่าว       ทางอยุธยาก็ส่งเรือไล่ตาม   แต่ขบวนการไล่ล่านี้ก็ซ้ำรอยประวัติศาสตร์พระยาจีนจันตุ     เรือโปรตุเกสหนีออกปากอ่าวไปได้
      เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ อยู่ในบันทึกของวันวลิต    เขาบอกว่าพระเจ้าแผ่นดินยิ่งกริ้วและชังน้ำหน้าโปรตุเกสมากพอๆกับเกลียดชังสเปน     ประจวบเหมาะกับปีเดียวกันนั้นพวกนี้เอาเรือไปปิดปากแม่น้ำตะนาวศรี ทำให้เรือสินค้าจากกวางตุ้งเดินทางมาค้าขายที่อยุธยาไม่ได้   ก็ยิ่งเป็นเหตุให้เป็นปรปักษ์หนักเข้าไปอีก


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 11, 09:35
อ้างถึง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ อยู่ในบันทึกของวันวลิต เขาบอกว่าพระเจ้าแผ่นดินยิ่งกริ้วและชังน้ำหน้าโปรตุเกสมากพอๆกับเกลียดชังสเปน ประจวบเหมาะกับปีเดียวกันนั้นพวกนี้เอาเรือไปปิดปากแม่น้ำตะนาวศรี ทำให้เรือสินค้าจากกวางตุ้งเดินทางมาค้าขายที่อยุธยาไม่ได้ ก็ยิ่งเป็นเหตุให้เป็นปรปักษ์หนักเข้าไปอีกแล้วเมืองตะนาวศรีอยู่ตรงไหน แล้วปากแม่น้ำตะนาวศรี วันวลิตหมายถึงที่ใด ผมสงสัยมานมนานแล้ว

ตะนาวศรีนั้นมีหลายชื่อด้วยกัน อังกฤษจะเรียกว่า Tenasserim อันเป็นชื่อของเทือกเขาที่ตั้งตระหง่านทอดตัวยาวไปตามพรมแดนธรรมชาติระหว่างไทยกับพม่าด้วย ส่วนพม่าเรียก Tanintharyi อันหมายถึงภาคใต้ของเขาที่มีอาณาเขตตั้งแต่ทวายลงไปถึงระนอง โดยมีเมืองที่สำคัญอีกเมืองหนึ่งคือมะริด อังกฤษเรียก Mergui พม่าเรียกMyeik
ส่วนตะนาวศรีที่เป็นชื่อชุมชนนั้น ก็เล็กแค่ระดับหมู่บ้านชนบท ห่างไกลความเจริญสุดกู่

แต่ตะนาวศรีในพระราชพงศาวดารของไทยนั้น ให้ความสำคัญเหลือเกิน ในบางยุคเช่นรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ทรงโปรดให้แม่ทัพนายกองทั้งสิ้นไปตีเมืองมะริดและตะนาวศรี เพื่อแก้ตัวที่ติดตามช้างทรงไม่ทันในสงครามยุทธหัตถี ครั้นตีได้แล้วก็แต่งตั้งให้พระยาศรีไสยณรงค์ แม่ทัพหน้าครั้งนั้น เป็นเจ้าเมืองตะนาวศรี ดูเหมือนจะตกรางวัลให้แต่พระยาศรีไสยณรงค์กลับน้อยใจ พลั้งปากไปว่า ถ้ารู้จะเป็นอย่างนี้ก็ไปเป็นข้าพม่าเสียดีกว่า คนของกอรมน.ได้ยินเข้าก็แจ้งมากรุงศรี เลยเจอข้อหากบฎ สุดท้ายก็ศรีษะหลุดจากบ่าจนได้
เมืองตะนาวศรีสำคัญเพียงใดหรือ แล้วมันไปเกี่ยวอะไรกับเรือสินค้าของไต้ก๋งจีนจากกวางตุ้งที่เดินทางมาค้าขายที่อยุธยาไม่ได้ เพราะโปรตุเกสเอาเรือไปปิดปากแม่น้ำตะนาวศรี

มาดูแผนที่สักนิด เมืองตะนาวศรีตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขาตะนาวศรีฝั่งพม่า และบนฝั่งแควที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำตะนาวศรี ไหลไปออกทะเลอันดามันที่เมืองมะริด และแยกเป็นสาขาไปออกทะวายได้อีกเส้นหนึ่ง
 
คนละโพ้นทะเลกับเมืองกวางตุ้งโน่นเลยครับ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 11, 09:39
ปัจจุบัน หมู่บ้านตะนาวศรีของพม่า ขนาดกว้างยาวประมาณแค่๘๐๐เมตร ดูจุดที่ตั้งแล้วก็น่าจะใช่ว่าเคยเป็นเมืองยุทธศาสตร์ เพราะอยู่ตรงโค้งสุดท้ายของแม่น้ำตะนาวศรี ซึ่งเป็นคูเมืองธรรมชาติ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 11, 09:42
สภาพบ้านเรือนในปัจจุบัน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 11, 09:43
วัดที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ตรงคุ้งน้ำหน้าเมืองพอดี


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 11, 09:48
เส้นทางแม่น้ำตะนาวศรีที่จะไปจากมะริด ไปทะลุแถวๆทะวายได้นั้น ขนาดพอที่เรือขนาดนี้จะวิ่งได้ แต่แม่น้ำนี้ไม่ได้เฉียดไปช่องเขาที่ใช้เป็นทางเดินข้ามาฝั่งอ่าวไทย ซึ่งต้องไปตามลำธารเล็กๆคดเคี้ยวที่เห็นอีกทีหนึ่ง


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 11, 09:55
ลำธารนี้ไหลลงมาจากที่ทิวเขาตะนาวศรี ตื้นและเต็มไปด้วยหิน ต้องใช้แพถ่อไป
คณะบาทหลวงฝรั่งเศสคณะแรกที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาสามคน ประกอบด้วยบาทหลวงลาม็อต ลังแบรต์ (De La Motte Lambert) ซึ่งเป็นสังฆราชแห่งเบริธ (Eveque de Beryte) เป็นหัวหน้าคณะร่วมกับ บาทหลวง เดดิเอร์ (D’idier) และบาทหลวงเดอบูร์ช (De Brourges) ได้เลี่ยงการเดินทางอ้อมแหลมมลายู มาขึ้นฝั่งที่มะริด ได้บันทึกไว้เป็นเรื่องเป็นราวว่า ได้เปลียนจากสำเภามานั่งเรือเล็ก มุ่งมาที่ตะนาวศรี จากนั้นก็นั่งแพไปจนสุดสายเท่าที่แพจะไปได้ แล้วจึงลงเดินเท้าข้ามภูเขามาออกที่ด่านสิงขร(เดี๋ยวนี้ชาวบ้านก็ยังใช้วิธีนี้) เมื่อพ้นมาแล้ว เดินไปอีกเป็นวันเพื่อลงเรือที่แม่น้ำกุยบุรี เพื่อเดินทางทอดสุดท้ายเข้ากรุงศรีอยุธยา
นัยว่าเส้นทางที่ว่าเร็วกว่าเดินทางโดยสำเภา สงสัยว่าคงเพราะต้องวิ่งสวนลม ไม่ช่วงลงใต้ก็ช่วงขึ้นเหนือใด ขาใดขาหนึ่งนั่นเอง

ตะนาวศรีจึงมีฐานะแค่เมืองหน้าด่านป้องกันเส้นทางเดินข้ามแดน  ไม่ใช่เมืองค้าเมืองขายระดับอินเตอร์ที่สำเภาจะมาเทียบท่า


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 11, 09:56
ดังนั้นที่วันวลิตบอกว่าพระเจ้าแผ่นดินยิ่งกริ้วและชังน้ำหน้าโปรตุเกสมากพอๆกับเกลียดชังสเปน เพราะพวกนี้เอาเรือไปปิดปากแม่น้ำตะนาวศรี ทำให้เรือสินค้าจากกวางตุ้งเดินทางมาค้าขายที่อยุธยาไม่ได้ จึงไม่เป็นเหตุเป็นผลด้วยประการทั้งปวง


นอกจากว่า……….(ติดไว้ก่อนครับ)


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 11, 10:10
อินเตอร์มิชชั่น
 ;D

ถึงเวลาเสิฟขนมเค้กกับกาแฟดำเย็นจากโปรตุเกสค่ะ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 11, 10:13
^
เล่นเสิฟวิธีนี้ ต้องจุดธูปด้วยนะครับ ผมถึงจะได้กิน :-\


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 11, 11:09
เถอะน่า     แบบนี้  รับประทานได้ไม่อั้นค่ะ  แคลอรี่เป็นศูนย์
ส่วนเรื่องตะนาวศรี  ไม่มีความเห็นเพราะไม่รู้จักแถบนี้เลยค่ะ   อ่านประวัติศาสตร์ ก็รู้แต่ว่าทวาย มะริด ตะนาวศรี เป็นเมืองที่ถูกแย่งกันไปมาระหว่างพม่ากับไทย   

โปรตุเกสทั้งๆชะตาตกในอยุธยา  แต่ก็พยายามตีตื้นขึ้นในค.ศ. 1684 หรือพ.ศ. 2227  ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์    มีทูตโปรตุเกสจากเมืองหลวงในยุโรปโน่นมาเจริญพระราชไมตรีกับอยุธยา    ทูตผู้นำสาส์นมาก็ไม่ใช่คนเล็กคนน้อย แต่เป็นถึงลูกชายราชทูตโปรตุเกสในญี่ปุ่น   จุดมุ่งหมายเพื่อจะมาทำสัญญาการค้า  และพร้อมกันนั้นก็จะกันท่าพวกฝรั่งเศสที่ชักจะแผ่อิทธิพลเข้ามามากในแถบนี้
แต่ความพยายามข้อนี้ไม่สำเร็จ     เพราะขุนนางกรีกคนสำคัญแห่งสยาม คือเจ้าพระยาวิชเยนทร์ถือหางฝรั่งเศสเต็มตัว    โปรตุเกสก็เลยถูกจำกัดขอบเขตไว้แค่นั้น



กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 11, 13:02
ตามธรรมเนียม เมื่อลิสบอนส่งทูตมา  ทางอยุธยาก็ส่งทูตไปเจริญพระราชไมตรีเป็นการตอบแทน   ในปีเดียวกัน
เส้นทางของทูตสยามคือเดินเรือไปเมืองกัวในอินเดีย   เพื่อจะสมทบขอโดยสารขบวนทัพเรือของโปรตุเกสไปลิสบอน    แต่จะเป็นด้วยข่าวสารส่งถึงกันช้า หรือเดินทางเจออุปสรรคอะไรก็ไม่แน่ชัด    ปรากฏว่ากว่าทูตไทยจะไปถึงกัว   เรือโปรตุเกสก็ออกเดินทางไปแล้ว  ทำให้ราชทูตไทยต้องตกค้างอยู่ในเมืองกัวเกือบหนึ่งปี   
ในที่สุด ทูตไทยก็โดยสารเรือจากกัวไปยุโรปจนได้    แต่ว่าเจ้ากรรม  เรือเกิดไปอับปางนอกแหลมอะกลหัสนอกฝั่งแอฟริกาใต้     ส่วนหนึ่งก็ตายไปพร้อมเรือ  อีกฝ่ายไปขึ้นฝั่งที่แหลมกู๊ดโฮปแล้วหาเรือที่เดินทางไปปัตตาเวีย  กลับมาอยุธยาได้ในปีต่อมา

จากนั้นก็ไม่มีบันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีอย่างเป็นทางการระหว่างสยามกับโปรตุเกสอีก    แต่ชาวโปรตุเกสก็ยังตั้งถิ่นฐานอยู่ในอยุธยาเรื่อยมาจนถึงตอนปลาย    บันทึกของบาทหลวงนิโคลัส แจเวส์ ชาวฝรั่งเศส ระบุว่ามีโปรตุเกสประมาณ 700 - 800 ครอบครัวในหมู่บ้าน   ส่วนบาทหลวงตาชาด์ จดจากคำบอกเล่าของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ว่าในค.ศ. 1685 มีชาวโปรตุเกสตั้งถิ่นฐานอยู่  4,000 กว่าคน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 04 พ.ค. 11, 15:33
ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะเป็นไมเคิล ไรท์ที่เคยเขียนไว้ว่าเรือที่เดินทางผ่านช่องแคบมะละกาจะเสียเวลามากในช่วงที่เดินทางในช่องแคบ เพราะไม่มีลม บางครั้งต้องใช้เวลาเป็นเดือนในการเดินทางผ่านช่องแคบไป ในขณะที่ใช้เวลาเดือนทางในทะเลเปิดเพียงด้านละไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ครับ

ผมลองค้นเว็บพยากรณ์ลม ก็ได้ข้อมูลว่าลมในแถบช่องแคบมะละกานั้นแปรปรวนมาก เรือไม่น่าจะใช้ใบแล่นได้ถนัดแน่ ถือว่าสอดคล้องกับข้อมูลข้างต้นครับ

นอกจากเรื่องเวลา ในอดีต ช่องแคบมะละกามักไม่มีรัฐใหญ่ที่มีอำนาจมากพอที่จะดูแลความปลอดภัยให้กับเรือที่เดินทางผ่านช่องแคบ สภาพทางภูมิศาสตร์ร่วมกับปัญหาเรื่องลมทำให้เป็นจุดที่โจรสลัดทำมาหากินง่าย และมีชุกชุม เรือที่แล่นผ่านต้องมีความเสี่ยงในเรื่องนี้ด้วย

เส้นทางเดินบกข้ามคาบสมุทรซึ่งอยู่ใกล้ศูนย์กลางอำนาจอยุธยา พม่า หรือมอญ ปัญหาเรื่องความปลอดภัยจะน้อยกว่าด้วยครับ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 11, 16:33
โอ้ คุณม้าขาวขี่อัศวินมาช่วยผมแล้ว

กำลังติดสันดอนอยู่ไปต่อไม่ได้ นึกไม่ออกว่าเส้นทางเรืออ้อมแหลมมลายูมันอะไรกันหักหนา พ่อค้าและนักเดินทางจึงเลือกใช้เส้นทางที่ผมว่ามันหินโหดกว่า ต้องปีนเขาลุยห้วยข้ามอันดามันมาอ่าวไทย ทำมั้ย..ไม่นั่งๆนอนมาบนเรือสบายๆ

เป็นอย่างนี้นี่เอง ไม่ใช่ยาวอย่างเดียว มันมีลมนิ่งให้สำเภาลอยเท้งเต้งรอให้โจรสลัดมาเชือดด้วย

มิน่า โปรตุเกสครั้งหนึ่งยังแพ้สงครามทางทะเลกับพวกอาเจะจากสุมาตรา ที่ใช้เรือยาวเหมือนของพระนเรศวร มารุมกินโต๊ะเรือสำเภาเดินสมุทรในช่องแคบมะละกา นึกภาพออกแล้ว มันลอยเท้งเต้งอยู่นิ่งๆให้เขาเอาเรือเทียบ แล้วสะพายหอกสะพายดาบโหนกราบขึ้นไป ฝรั่งจะยิงปืนไฟได้สักกี่โป้งก็ยอมให้ยิง เดี๋ยวก็เสร็จแขก


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 11, 16:43
เป็นอันว่า ตะนาวศรีเป็นเมืองด่านที่สำคัญในด้านการรักษาความปลอยภัยจากโจรสลัดที่หากินในแม่น้ำลำธารด้วย อาจมีความสำคัญไม่น้อยกว่าเมืองกุยสมัยก่อน ที่หมดความหมายไป ผมเคยไปเดินหาทรากกำแพงเมืองเก่าที่เขาว่าอยู่ข้างๆโรงพักในปัจจุบัน ถามใครที่นั่นก็ไม่มีใครรู้ว่าผมพูดถึงอะไร ตกลงเสียเวลาเปล่า

มิน่า สมเด็จพระนเรศวรจึงให้มือขนาดพระยาศรีไสยณรงค์รักษาเมืองนั้น
คราวนี้มาดูปากอ่าวของแม่น้ำตะนาวศรี ที่มาออกทะเล ตรงนั้นน่ะเป็นเมืองท่าแท้จริง


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 11, 16:56
มะริดในหน้าเวป เจริญกว่าสมัยที่ผมไปมาเมื่อสิบกว่าปีก่อนนิดเดียว สมัยโน้นอาคารหลังคาจั่วสีแดงหมด ยังไม่มีแบบโมเดิร์นทั้งหลาย โรงแรมที่พออยู่ได้ก็ไม่มี เพื่อนพม่าที่พาไปเขาติดต่อไว้ ขอไปนอนในหอพักของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ด่านศุลกากร พอดีรองนายด่านมีกิจต้องไปย่างกุ้ง นายด่านจึงให้ผมสองคนเข้าไปใช้ห้องที่เขาอยู่ เตียงที่เขานอนนั้น

เกรงใจเจ้าของห้องสุดๆ แต่ดูเหมือนพวกเขาทุกคนจะชินกับสภาวะเช่นนั้น คนที่นี่บางที่ต้องสละห้องให้ใครก็ไม่รู้ ตัวเองไปขอนอนห้องเพื่อนข้างๆ

เป็นวัฒนธรรม น้ำใจของคนตะวันออกครับ สมัยก่อนก็เหมือนๆกันทุกชาติ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 11, 16:57
ค่อยๆนึกตามไป    เอารูปช่องแคบมะละกามาให้ดูค่ะ  

ตามที่คุณม้าอธิบาย  เรือที่แล่นอ้อมผ่านทะเลเปิด คือผ่านอินโดนีเซียไปหรือคะ

นึกไม่ออกว่าเส้นทางเรืออ้อมแหลมมลายูมันอะไรกันหักหนา พ่อค้าและนักเดินทางจึงเลือกใช้เส้นทางที่ผมว่ามันหินโหดกว่า ต้องปีนเขาลุยห้วยข้ามอันดามันมาอ่าวไทย ทำมั้ย..ไม่นั่งๆนอนมาบนเรือสบายๆ


หมายถึงเส้นทางผ่านตะนาวศรีหรือคะ    ไม่ถนัดวิชาภูมิศาสตร์


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 11, 17:04
ไปหาแผนที่ตะนาวศรีมาให้ดูกัน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 11, 17:26
อ้างถึง
ตามที่คุณม้าอธิบาย  เรือที่แล่นอ้อมผ่านทะเลเปิด คือผ่านอินโดนีเซียไปหรือคะ

ใช่ครับ แต่แล่นอยู่ในช่องแคบมะละกา มาอ้อมเกาะสิงคโปรแล้ววกขึ้นอ่าวไทย


อ้างถึง
ต้องปีนเขาลุยห้วยข้ามอันดามันมาอ่าวไทย...หมายถึงเส้นทางผ่านตะนาวศรีหรือคะ

ใช่ครับ

แต่คำว่าTanintharyi Divisionในแผนที่พม่า หมายถึงภาคใต้ของเขาซึ่งใช้ชื่อนี้
พม่าไม่มีเมืองTanintharyi มีแต่หมู่บ้านที่เคยเป็นเมืองหน้าด่าน ไทยมาสร้างไว้สมัยเข้ายึดครองแผ่นดินฝั่งนี้ ให้ชื่อว่าตะนาวศรี


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 11, 17:33
แผนที่โบราณเมืองมะริดที่ฝรั่งเศสทำไว้นี้ น่าจะเป็นสมัยสมเด็จพระนารยณ์ จะเห็นว่ามะริดเป็นเมืองท่าสำคัญในสมัยนั้นทีเดียว ฝรั่งมังค่ามาทำโกดังสินค้ากันพรึ่ด

ช่วงรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรส ไทยก็เอาโจรสลัดอังกฤษมาตั้งให้เป็นเจ้าเมืองมะริด ชื่อนายแซมมูเอล ไวท์ เขามีฉายาว่า The Siamese White
ความสามารถทางภาษาสมัยนั้น คนไทยคงจะเป็นเจ้าเมืองระดับอินเตอร์ยากมั้ง


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 11, 17:39
ภาพถ่ายดาวเทียมของเมืองในปัจจุบัน

ผมละทึ่งฝีมือการทำแผนที่ของคนสมัยนั้นมาก เขาทำได้ใกล้เคียงความเป็นจริงทีเดียว


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 11, 17:45
สิ่งที่เป็นLand Markของเมือง คือยอดเขาเตี้ยๆที่เป็นที่ตั้งของพระเจดีย์นี้


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 11, 17:53
พระเจดีย์ยังปรากฏทั้งบนแผนที่และภาพถ่าย


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 11, 18:01
จากบทความประวัติศาสตร์ที่พม่าเขียนขึ้นและผมถอดความมาจากภาษาอังกฤษ อ่านแล้วต้องอย่าลืมว่าตะนาวศรีในที่นี้ พม่าหมายถึงภาค ไม่ใช่เมือง

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นอิสระจากราชวงศ์ตองอูในปี1587แล้ว ก็สามารถครอบครองครึ่งหนึ่งของตะนาวศรีทางด้านใต้ในปี1593 และได้หมดทั้งแหลมในปี1599 ครั้นปี1614พระเจ้าอโนเพตลุนยึดคืนด้านทิศเหนือของทะวายมาได้ แต่ทางใต้ลงไปยังอยู่ภายใต้การควบคุมของสยาม โดยมีมะริดเป็นศุนย์กลางหลักในการค้าระหว่างสยามกับชาวยุโรป

จากกลางศตวรรษที่18 ถึงต้นศตวรรษที่19 พม่ากับสยามได้ทำสงครามกันหลายครั้งตลอด70ปีเพื่อควบคุมชายฝั่งทะเล โดยสยามถือความได้เปรียบที่พม่าทำสงครามกันเองในระหว่างปี1740–1757 รุกคืบอย่างระมัดระวังจนได้ถึงเมืองเมาะตะมะ จวบจนปี1759พระเจ้าอลองพญาผู้พิชิตก็รบไล่ลงมาทางภาคใต้อีกจนถึงเมืองถลาง แต่หลังจากการสรรคตของพระองค์ สยามก็กลับเข้าไปครอบครองใหม่  พระเจ้ามังระราชโอรสที่ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ก็ยกทัพไปเอาคืน แต่ไม่นานสยามก็ตีกลับขึ้นมาได้ถึงเมืองระนอง
 
ในหลายทศวรรษต่อมาทั้งสองฝ่ายพยายามรบขยายอาณาเขตของตนแต่ก็ไม่สำเร็จทั้งคู่ พม่าได้ใช้ตะนาวศรีเป็นฐานในการโจมตีสยามหลายครั้งแต่ไม่สัมฤทธิ์ผล(1774–1776; 1785–1786; 1808–1809)  แต่สยามเองก็ไม่ประสพความสำเร็จที่จะแย่งชิงตะตาวศรีกลับคืนมา (1787 and 1792–1793) จวบจนพม่าต้องเสียแผ่นดินภาคนี้ให้แก่อังกฤษไปในสงครามครั้งแรก


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 11, 18:14
ผมมีหลักฐานอย่างหนึ่งที่ไปพบมาว่า ชาวโปรตุเกสมักจะเรียกเมืองมะริดว่าตะนาวศรี ก็เป็นไปได้เพราะพม่าเวลาเอ่ยถึงตะนาวศรี จะหมายถึงทะวายที่เป็นเมืองเอกในตอนบนของภาค หรือมะริดอันเป็นเมืองเอกทางใต้ของภาค ไทยก็มีตะนาวศรีในคนละความหมาย แต่ย่อมยังความสับสนให้ฝรั่งอย่างยิ่ง ยกตัวอย่าง โปรตุกีสนายหนึ่งชื่อลินซโชเตนเขียนหนังสือไว้ เรียกมะริดว่าตะนาวศรีตลอด และฝรั่งโปรตุเกสคนอื่นๆก็เลยเรียกผิดตามๆกันมา




กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ค. 11, 18:29
คงต้องมาจบที่ปุจฉาเดิม
ตอนนี้ท่านคงจะทราบเหมือนผมแล้วว่า ปากแม่น้ำตะนาวศรีก็คือเมืองมะริดแน่นอน

อ้างถึง
บันทึกของวันวลิต เขาบอกว่าพระเจ้าแผ่นดินยิ่งกริ้วและชังน้ำหน้าโปรตุเกสมากพอๆกับเกลียดชังสเปน ประจวบเหมาะกับปีเดียวกันนั้นพวกนี้เอาเรือไปปิดปากแม่น้ำตะนาวศรี ทำให้เรือสินค้าจากกวางตุ้งเดินทางมาค้าขายที่อยุธยาไม่ได้ ก็ยิ่งเป็นเหตุให้เป็นปรปักษ์หนักเข้าไปอีก

แต่คงจะต้องให้คุณม้าช่วยตอบ คำว่าเรือสินค้าจากกวางตุ้งเดินทางมาค้าขายที่อยุธยาไม่ได้
ผู้เขียนอาจจะตั้งใจจะเขียนว่า
เรือสินค้าจากกวางตุ้งเดินทางมาค้าขายที่พะโคไม่ได้
หรือ
เรือสินค้าจากกวางตุ้งเดินทางมาค้าขายที่พะโคแล้วจะไปอยุธยาต่อไม่ได้

หรือท่านมีความเห็นเป็นอย่างอื่นครับ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 04 พ.ค. 11, 19:13
เรียนสมาชิกเรือนไทย

              เรือสินค้าจากกวางตุ้ง หากคิดไปน่าจะเข้ามายังประเทศไทยก่อนถึงจะเข้ามายังแถบพม่าได้

              หากเป็นเรือพ่อค้าที่ไปค้าขายจากเมืองพะโค จะปิดปากแม้น้ำอย่างใด ตอนขากลัีบ ก็น่าจะผ่านอยุธยาได้

              ข้าพเจ้าก็งงๆเหมือนกัน

              อนึ่ง อิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบโปรตุเกสในจีนน้อยมาก ลักษณะการสร้างหน้าต่างเล็กๆ มีอยู่ทั่วไปในจีนแล้ว โดยเฉพาะทางภาคเหนือ และบางส่วนในภาคใต้ ทั้งนี้ก่อนค.ศ. ๑๘๔๐ ภายในประเทศจีนมีสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกปรากฎแล้ว อาทิ ค.ศ. ๑๕๕๗ มีการสร้างอาคารแบบโปรตุเกสในมาเก๊า ปี ๑๖๖๕ มีการสร้างอาคาร ๑๓ หลังสำหรับติดต่อค้าขายกับต่างชาติ ภาษาจีนใช้คำว่า "สือสานหางไว่เหรินซางก่วน" (十三行外人商馆: shi san hang wai ren shang guan) ซึ่งเป็นแบบสุภาพหมายถึงห้างทั้งสิบสามสำหรับค้าขายของคนต่างชาติ แต่้ถ้าไม่ค่อยสุภาพใช้ "กวางโจว่สือสานอี้ก่วน" (广州十三夷馆: guang zhou shi san yi guan) แปลตรงๆว่าห้างทั้ง ๑๓ ของคนป่า และระหว่างปี ๑๗๙๐ - ๑๘๖๐ มีการสร้างอาคารแบบตะวันตกในพระราชวังฤดูร้อนหยวนหมิงหยวน (圆明园: yuan ming yuan)

             แต่ถึงจะปรากฎอยู่ หากอิทธิพลนี้น้อยนัก ดังในมาเก๊าก็จำกัดอยู่เฉพาะตัววัดตัวอาคารโกดัง เนื่องด้วยสมัยโบราณแล้วห้ามฝรั่งเข้ามาตั้งห้างใดๆทั่วไปในจีน มีให้แต่สิบสามห้างซึึ่งถูกรัฐบาลควบคุมอย่างเข้มงวด เรื่อนี้เรื่องจริง เพราะแต่ก่อนห้ามฝรั่งเข้ามาพักในเมืองช่วงฤดูหนาว อยู่ได้ก็เฉพาะในฤดูร้อนเท่านั้น (ด้วยเหตุนี้จึงไปตั้งอยู่ที่่มาเก๊า โดยแอบๆไปยึด) หรือที่โก้ๆในวังก็อยู่แค่ในวัง และเป็นแบบที่นายช่างชาวฝรั่งเศสและศิลปินชาวอิตาลี (ซึ่งเป็นผู้เผยแพร่ศาสนาที่นานๆทีจะหลุดเข้ามาได้) ออกแบบ

             ดังนั้นเรื่องหน้าต่างเล็กๆในจีนมีอยู่ทั่วไปในหลายพื้นที่ คงมิใช่เพราะรับอิทธิพลจากตะวันตกแต่อย่างใด

            ทั้งนี้เก็บข้อความเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมจีนจากเว็ปไซด์ดังนี้

             http://zhidao.baidu.com/question/128306171.html

             http://www.jsdj.com/luyou/lyzy/bjyuanmingyuan3.htm

              http://baike.baidu.com/view/149386.htm

             และหนังสือเล่มนี้ 中国近代建筑史 (Illustration of the history of china modern architecture) เขียนโดย 邓庆坦 สำนักพิมพ์ 华中科技大学出版社

             สวัสดี


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 11, 19:19
 Van Vliet wrote that the discontent of the king  about the sudden departure, was so great, that from that moment he hated the Portuguese just as much as the Spaniards; also because in that same year they blocked  the river of Tenasserim with two frigates, prevented Cantonese junks from coming to  Siam.

Canton = กวางตุ้ง

ลองคิดอีกทาง   สมมุติว่าข้อมูลนี้ผิดเรื่องกวางตุ้ง    ดังนั้น เรือสำเภาจีนที่ว่า ควรจะมาจากไหน จึงจะถึงตะนาวศรีก่อนอ่าวไทยได้คะ

ในหนังสือ Cambridge History of India  พูดถึงความสำคัญของตะนาวศรีเอาไว้ว่า เป็นแหล่งลงสินค้าจากยุโรป ที่ส่งมาขายสยามและมะละกา  แต่ในขณะเดียวกันก็พูดถึงมะริดเต็มไปหมด     เป็นไปได้ว่า ตะนาวศรีอาจหมายถึงอาณาเขต ที่มีมะริดเป็นเมืองท่าสำคัญ  ไม่ใช่หมู่บ้านตะนาวศรีเล็กๆที่ท่าน NAVARAT ไปเจอมา


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 04 พ.ค. 11, 21:04
เรื่องเรือกวางตุ้งนั้นเท่าที่นึกออกเป็นไปได้อยู่สองอย่างครับ

อย่างแรกคือ มีการถอดเสียงผิดอย่างที่ได้ตั้งข้อสังเกตไว้แล้ว

อีกอย่างหนึ่งคือ เป็นไปได้ว่าเรือจากกวางตุ้งเองอาจไปวิ่งทำการค้าในเส้นทางมะละกา-อินเดียด้วย จึงเป็นไปได้ว่าจะไปเกิดปัญหากับการเข้าทำการค้าที่มะริดครับ

เรื่องมะริดกับตะนาวศรี ผมจำไม่ได้ว่าเคยอ่านมาจากไหน แต่คุ้นๆว่าเคยมีคนว่ามะริดถูกตั้งขึ้นเป็นเมืองท่าของตะนาวศรีครับ

ผิดถูกอย่างไรไม่มีหลักฐานประกอบครับ ขออภัย


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 11, 22:55
ก็เป็นได้ทั้ง ๒ ทาง  ดิฉันไปเข้าใจว่าวันวลิตเขียนผิดเรื่องเรือสำเภาจีนจากกวางตุ้ง   เพราะยังไงเสียถ้ามาจากกวางตุ้งต้องถึงอ่าวไทยก่อนตะนาวศรี
แต่ถ้าเป็นเรือที่แล่นไปค้าขายถึงอินเดีย  แล้วกลับมาตามเส้นทางเดิม ผ่านมะริด  โดนปล้นเข้าก็เป็นได้เหมือนกัน

เคยอ่านพบที่ไหนสักแห่งว่าเหตุผลหนึ่งของพม่าที่ตีอยุธยาก็คือต้องการครอบครองมะริดและตะนาวศรี     ถ้าเป็นเมืองท่าสำคัญก็ย่อมเป็นแหล่งรายได้ของอาณาจักร
ตะนาวศรีขึ้นอยู่กับไทยจนถึงปีค.ศ. 1760  จึงกลับไปเป็นของพม่า     มะละกาถูกเปลี่ยนมือจากโปรตุเกสมาเป็นอาณานิคมของฮอลันดา  ในค.ศ. 1671  แต่ชุมชนโปรตุเกสที่มะริดยังคงปักหลักอยู่ที่นั่น


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 11, 22:56

    ช่วงรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรส ไทยก็เอาโจรสลัดอังกฤษมาตั้งให้เป็นเจ้าเมืองมะริด ชื่อนายแซมมูเอล ไวท์ เขามีฉายาว่า The Siamese White
ความสามารถทางภาษาสมัยนั้น คนไทยคงจะเป็นเจ้าเมืองระดับอินเตอร์ยากมั้ง

    สมัยสมเด็จพระนารายณ์  ผลประโยชน์ในมะริดถูกยื้อแย่งกันระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส    นายโจรสลัดไวท์ถูกฝรั่งเศสผลักตกเก้าอี้ไป     สมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งตั้งเชอวาลิเย เดอ โบเรอการ์ดชาวฝรั่งเศสเป็นเจ้าเมืองมะริดแทนในค.ศ. 1687   อิทธิพลของฝรั่งเศสที่เฟื่องฟูในยุคนี้ก็เป็นฝีมือสนับสนุนของเจ้าพระยาวิชเยนทร์อย่างไม่ต้องสงสัย   ส่วนโปรตุเกสไม่ปรากฏว่ามีปากมีเสียงทางการเมืองการปกครองที่นี่อีก
     เมื่ออำนาจเทไปทางเจ้าพระยาวิชเยนทร์และฝรั่งเศสมากเกินไป    ในตอนปลายรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์  กองกำลังรัฐประหารของพระเพทราชาขุนนางสำคัญก็ก่อตัวขึ้นมา     เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จสวรรคตอย่างมีเงื่อนงำ     ไม่มีพระราชโอรสจะสืบทอด    พระเพทราชาก็ขึ้นครองราชย์แทน แล้วกวาดล้างฝรั่งเศสออกจากมะริด    วิชเยนทร์ถูกประหาร    อิทธิพลของฝรั่งเศสก็เสื่อมถอยจนหมดบทบาทไปจากมะริดและอยุธยา


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 05 พ.ค. 11, 00:04
ถ้าว่าตามหนังสือ Siamese White ของ Maurice Collis พี่ชายของ Samuel White เป็นเพื่อนกับวิชาเยนทร์ ตัว White เองเมื่อเป็นเจ้าเมืองมะริดก็แสบมหาแสบ ก่อเรื่องครั้งแล้วครั้งเล่า วิชาเยนทร์ก็ช่วยปกป้องอยู่หลายครั้ง แต่หนักข้อเข้าตัว White เองก็รู้ตัว เลยเผ่นกลับอังกฤษไปเองครับ

แต่ไม่ทราบเหมือนกันครับว่าตรงไหนเรื่องจริง ตรงไหนบ้างที่เป็นเรื่องแต่ง


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ค. 11, 16:27
   สมัยที่บุญหล่นทับได้เป็นเจ้าเมืองมะริด  แซมมวล ไวท์ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ก่อกรรมทำเข็ญไว้มาก   อาศัยที่ตัวเองมีกองกำลังทางเรืออยู่ในมือ    ก็เลยใช้โอกาสนี้เข้ายึดเรือสินค้าต่างๆที่แล่นผ่านในอ่าวเบงกอล    ยัดข้อหาต่างๆเข้าไป   แล้วยึดเอาสินค้าในเรือไปเป็นส่วนตัว   พูดง่ายๆว่าเจ้าเมืองมะริดคือหัวหน้าโจรสลัดตัวจริง   และเป็นอย่างเปิดเผยด้วย 
   เหตุนี้ทำให้บริษัทอินเดียตะวันออกทนไม่ไหว    ก็เลยส่งเรือรบสองลำมาที่มะริดเพื่อสั่งสอน    ในค.ศ.  1687   แต่ผลกลับเป็นเหตุลุกลามเกินคาดหมาย    ชาวเมืองและชาวจีนที่อาศัยอยู่เข้าใจว่าเรือรบมาถล่มมะริดเพื่อเอาเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ  ก็เลยลุกฮือขึ้นจับคนอังกฤษทั้งหมดในเมือง สังหารหมู่เสียเกลี้ยง   ประมาณ 60-70 คน   ไวท์เองก็ตกเก้าอี้ในคราวนี้ แต่หนีรอดออกทะเลไปได้
   เรือรบอังกฤษถูกยิงจมไปหนึ่งลำ  บริษัทอินเดียตะวันออกก็เลยตัดขาดการค้าขายกับสยามนับแต่นั้น    ส่วนไวท์ยังคงหนังเหนียว  รอดกลับไปอังกฤษ  ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นั่นอย่างคหบดีชนบท   ส่วนทางอยุธยา เมื่อเจ้าเมืองคนเก่าหนีตายไปแล้ว   สมเด็จพระนารายณ์ก็ตั้งคนฝรั่งเศสเป็นเจ้าเมืองคนใหม่     แต่ฝรั่งเศสก็ถูกขับออกไปหลังพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. 1688
 


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 05 พ.ค. 11, 16:51
เมื่อสมาชิกต่างพากันเฮโลไปยังเมืองท่าของอดีตสยาม "ตะนาวศรี" จึงขอแนบแผนที่การเดินเรือ และเส้นทางบก สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นแผนที่วาดจากกรุงศรีอยุธยาเป็นหลัก ไปทางซ้ายมือไปทางจีน ญี่ปุ่น และเขียนฝั่งขวามือออกไปทางไทรบุรี สิงคโปร์ อ้อมไปมะริด ตะนาวศรี ไปหมู่เกาะนิโคบาร์ นาควารี ไปอินเดีย และไปถึง โรม


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 05 พ.ค. 11, 16:53
จัดเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องคือ แถบตะนาวศรี ครับ เชิญทัศนาและอ้างถึงกันต่อไปครับ อ.NAVARAT.C

แผนที่ระวางนี้จะไม่ตรงตามภูมิศาสตร์แต่อาศัยการเดินทางเมือง ต่อ เมือง คือ มาจากเมืองนี้ ไปต่อด้วยเมืองอะไรต่อไป

เช่น สี่เหลี่ยมด้านล่างชิดกรอบภาพ "หงสาวดี" เดินทาง ๓๐ โยชน์ ถึงเมืองสิเรียม ดังนั้นจากสิเรียม ไล่ย้อนเมืองขึ้นไปเรื่อยๆ จะไปเมืองตะนาว เมาละเลิงเป็นต้นครับ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ค. 11, 17:22
ตอนนี้ขอเปลี่ยนที่นั่ง   ลงเวทีไปขึ้นนั่งชั้นบ็อกซ์  ดูคนอื่นบ้างนะคะ
พร้อมกับเตรียมข้อมูลโปรตุเกสเข้าเมืองเขมรไปด้วยพลางๆ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 11, 08:39
ฝากมะริดเอาไว้กับท่านนวรัตนและคุณ siamese ดูแลอยู่ทางนี้ก่อน   ขอกลับไปหาพระเอกตัวจริงคือโปรตุเกสที่อยุธยา

จะเห็นตามหลักอนิจจังว่า โปรตุเกสที่เคยเฟื่องฟูอยู่ในเส้นทางตะวันออก  ก็ค่อยๆอับแสงลง  ไหนจะถูกสเปนผงาดขึ้นมาเหนือกว่า  ไหนจะถูกฮอลันดาหรือดัทช์แซงคิว   สอยมะละกาไปครอบครองแทน      หมู่บ้านโปรตุเกสในอยุธยาซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ของชาวต่างชาติก็ดูเหมือนจะหมดบทบาทลงไปมาก     แม้ว่าราชวงศ์บ้านพลูหลวงไม่ได้รังแกหรือบีบคั้นคนพวกนี้ก็ตาม

โปรตุเกสอยู่มาจนถึงค.ศ. 1760  ก็เจอศึกภายนอก คือพม่าที่ยกทัพมารุกรานอยุธยาหลังจากว่างเว้นไปนานนับร้อยปี      พระเจ้าอลองพญายกทัพมาทางด่านเจดีย์สามองค์    ดังนั้นจึงต้องผ่านหมู่บ้านโปรตุเกสไปก่อนจะถึงตัวเมือง     หมู่บ้านนี้ก็เลยกลายเป็นด่านแรกที่ถูกโจมตี   แต่ในบันทึกของโปรตุเกสกว่าไว้ว่า  แม้ส่วนหนึ่งถูกพม่าเผาทำลายราบลงไป   แต่อีกส่วนก็ต่อสู้อย่างเข้มแข็งจนพม่ายึดไม่ได้   ต้องล่าถอยไปเอง


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 11, 08:59
อวสานของหมู่บ้านโปรตุเกสในอยุธยามาถึง  เมื่อศึกพม่าเริ่มหนักหน่วงขึ้นในปีต่อมา     พม่าหันไปตีแคว้นทางเหนือของไทยเอาไว้ในอำนาจได้หมด    5 ปีต่อมา ก็ยกทัพกลับมาอยุธยาอีกครั้ง   ตีเมืองรายทางแตกยับมาตลอดทาง  จนกระทั่งล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ทุกด้านได้ในที่สุด

ในเมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกล้อมกรอบหนาแน่น   หมู่บ้านโปรตุเกสซึ่งอยู่ชั้นนอก ก็เท่ากับถูกตัดขาดจากตัวเมือง   ไม่อาจหากำลังจากในเมืองมาสมทบได้      บันทึกของบาทหลวงโปรตุเกส ทั้งในนิกายเยซูอิทและโดมินิกัน บอกตรงกันว่าชาวบ้านสู้ยิบตา  แต่ว่าน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ    เพราะมีจำนวนน้อยและยังขาดแคลนกระสุนดินดำ    ก็เลยต้องยอมพ่ายแพ้ไปตามระเบียบ
ในสองวันแรก   พม่าไม่ได้ทำอันตรายโบสถ์ บ้านช่องและทรัพย์สินของหมู่บ้าน   ทั้งนี้เพื่อเกลี้ยกล่อมให้บิชอปบริโกต์และพวกนับถือคริสตศาสนานิกายคาทอลิค ของฝรั่งเศสยอมจำนนด้วย    แต่พอพวกนี้ยอมหมด    พม่าก็เปลี่ยนท่าทีทันที  บุกเข้าปล้นทำลายกวาดทรัพย์สินทุกอย่าง ไม่ว่าคาทอลิคของฝรั่งเศส  โดมินิกันและเยซูอิทของโปรตุเกส  โดนทำลายเรียบไม่มีเหลือ  

ชาวโปรตุเกสทั้งหลายตกเป็นเชลยศึก   เมื่อพม่าเข้ากรุงศรีอยุธยา เผาเมืองกวาดต้อนผู้คนและเก็บทรัพย์สินกลับไปพม่า      ชาวโปรตุเกสส่วนหนึ่งก็ถูกกวาดต้อนไปด้วย    ส่วนที่เหลือหนีตายออกไปได้  ไปสมทบกับสมเด็จพระเจ้าตากสินที่กรุงธนบุรี   เข้าร่วมรบจนได้ความดีความชอบ พระราชทานที่ดินให้ตั้งโบสถ์ซานตาครูซได้ อย่างที่เล่าให้ฟังแล้วตอนกลางๆกระทู้    พวกโปรตุเกสก็ตั้งถิ่นฐานอยู่ตรงที่เรียกว่าหมู่บ้านกุฏีจีน   มาจนถึงปัจจุบัน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 11, 09:51
หน้าที่ส่วนหนึ่งของพวกโปรตุเกสในอาณาจักรธนบุรีและต่อมาถึงสมัยรัตน โกสินทร์  คือทำหน้าที่ล่ามโปรตุเกส เมื่อมีสารมาจากเจ้าเมืองมาเก๊าถึงไทย   ซึ่งนานๆจะมีสักที    หัวหน้าล่ามได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงโกชาอิศหาก   (ชื่อนี้ถ้าใครแปลได้ จะขอบคุณมาก)

หมู่บ้านโปรตุเกสที่กุฏีจีนยังอยู่มาจนทุกวันนี้      แต่เชื้อสายโปรตุเกสดูเหมือนจะกลายเป็นไทยกันไปหมดแล้ว   ไม่รู้ว่ายังพูดภาษาเดิมกันได้อยู่หรือเปล่า 
ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ เมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุลให้ประชาชนไทยทุกคนมีนามสกุล    พวกเชื้อสายโปรตุเกสก็ตั้งนามสกุลภาษาไทยของตัวเอง  โดยอาศัยเค้าจากชื่อตระกูลดั้งเดิม   

ข้อมูลที่ไปเอามานี้เป็นภาษาอังกฤษ จึงสะกดนามสกุลไทยเป็นภาษาอังกฤษ   ดิฉันไม่แน่ใจว่าจะถอดออกมาเป็นอักษรไทยยังไง  เขาบอกยังงี้ค่ะ  Such families are 'Na Silawan' (da Silva),    'Yesu' (deJesus), 'Renangkul' (de Reina)

 ณ ศีลวันต์  หรือ ณ ศิลาวรรณ ?  เยซู?  รีนางกูล ?


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 11, 09:54
เล่ามาจนจบบทบาทของโปรตุเกสเข้าเมืองอยุธยาแล้ว   หมดตำราที่เกี่ยวกับสยามเพียงแค่นี้    ส่วนเรื่องเมืองมะริดและตะนาวศรีก็ขอให้เป็นบทบาทของท่านออกญานวรัตน และท่านออกหลวงหนุ่มสยาม( ยังเด็ก  อย่าเพิ่งเป็นออกพระ) ทำหน้าที่รักษาเมืองต่อไป
ดิฉันจะข้ามชายแดนไปกัมพูชา ตามหาโปรตุเกสเข้าเมืองพนมเปญ   ได้เรื่องเมื่อไรจะกลับมาเล่าให้ฟัง


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 พ.ค. 11, 09:56
ออกญากำลังออกจากบ้าน ขอให้ออกหลวงออกจากออฟฟิศมาเป็นออกญาแทน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 11, 10:21
^
สำนวนชาววังมะริดตะนาวศรี ของแท้เลยนะเนี่ย

ท่านออกญาออกจากบ้านไปออกงาน  ออกหลวงออกจะชักช้า อาจจะออกใบสั่งไม่ทันท่านนะคะ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 พ.ค. 11, 13:36
กลับมาแล้ว ไหง๋เงียบ

อ้อ ท่านออกหลวงท่านออกไปตั้งด่านด้านตะวันออก ป้องกันไม่ให้แก็งค์ช้อนลูกน้ำออกมาออกนามถนนมีชื่อนั่นได้แล


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 11, 14:01
มิน่าล่ะ  วันนี้ท่านออกหลวงถึงออกเวรจากกระทู้นี้เร็วกว่าปกติ    :-\

ขอเล่าถึงโปรตุเกสเข้าเมืองเขมร เป็นการฆ่าเวลาไปพลางๆก่อน
จุดเริ่มต้นจากโปรตุเกสและสเปนแบ่งซีกโลกกัน ระหว่างตะวันตกกับตะวันออก  อย่างที่คุณ siamese เล่าตอนต้นๆกระทู้     จึงทำให้โปรตุเกสมาสำรวจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เจอเขมรเข้าในศตวรรษที่ 16  ไล่เลี่ยกับเจอสยาม

ตามประวัติศาสตร์เขมรที่ฝรั่งเล่า    ในคริสตวรรษที่ 16  เขมรอยู่ในยุครุ่งเรืองเฟื่องฟูจากอาณาจักรทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตนเลสาบ เลียบริมฝั่งแม่น้ำโขง     พระเจ้าแผ่นดินเขมรก็ทรงเปิดอาณาจักรค้าขายกับชาติอื่นๆ  เหมือนไทยนี่ละ   เรือโปรตุเกสที่มีนักเผชิญโชคเป็นลูกเรือและผู้เผยแพร่ศาสนาห้อยท้ายเรือไปด้วยก็เดินทางมาแถบนี้พอดี
จำเป็นต้องฉายหนังซ้ำอีกครั้งหนึ่ง  นำมาจากกระทู้ภาพพระราชพงศาวดาร  เพื่อจะให้เห็นเรื่องกันตั้งแต่ต้นจนจบ

จุดเริ่มตั้งแต่โปรตุเกสตีมะละกาเป็นเมืองขึ้นได้    ก็เริ่มทำความรู้จักกับอาณาจักรอื่นๆใกล้เคียง     สยามเป็นที่รู้จักในฐานะเคยมีอำนาจเหนือมะละกามาก่อน   ส่วนเขมรเป็นเพื่อนบ้านของสยาม   ก็เป็นที่รู้จักในเวลาไล่เลี่ยกัน      สิ่งที่ตามมาคือการค้าขายระหว่างโปรตุเกสที่มะละกากับเขมร  เพราะอย่างที่บอก คือพระเจ้าแผ่นดินเขมรไม่ขัดข้อง  ยินดีเปิดประตูรับสินค้าเข้าและออกกับคนต่างชาติ
 


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 11, 14:15
ที่ว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เห็นจะจริงในกรณีโปรตุเกส   พระเจ้าแผ่นดินทั้งสามอาณาจักรคือพม่า สยาม และเขมร  ต่างก็มีเหตุผลเดียวกันในการอ้าแขนออกรับฝรั่งชาตินี้    เพราะอาณาจักรมีศึกรบพุ่งประชิดติดพันกัน   ด้วยจุดหมายเดียวกันคืออยากตีอีกฝ่ายเป็นเมืองขึ้น  ไล่กันมาตั้งแต่พม่าอยากตีสยาม  สยามอยากตีเขมร     แต่สยามก็ไม่อยากให้พม่าตีอยุธยาได้สำเร็จ เช่นเดียวกับเขมรก็ไม่อยากให้สยามมาได้ชัยชนะเหนือเขาพระวิหารเหมือนกัน

คำตอบคือ  ต้องพึ่งพาอาวุธมีประสิทธิภาพกว่าเก่า      ลำพังแต่ธนูหน้าไม้หลาวแหลนหอกดาบที่ต่างฝ่ายต่างก็มี  ถือว่าไม่พอเสียแล้ว  ต้องพึ่งปืนไฟ    คนขายก็มีแต่ฝรั่งเท่านั้น
เรื่องนี้ได้มาจากจดหมายของบาทหลวงนิกายโดมินิกันชื่อแคสเปอร์ ดาครูซ  ผู้เป็นผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์คนแรกในเขมร     เดินทางไปจากมะละกา  ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1555   ท่านเล่าว่าเมื่อเดินทางมาถึง  เรือพ่อค้าก็มาจอดอยู่หน้าเมืองเต็มไปหมดแล้ว     งานเผยแพร่ศาสนาไม่ได้ผล  เพราะอย่างแรกคือชาวเขมรศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า  และอย่างที่สองก็คือการรังเกียจเดียดฉันท์จากท้องถิ่น
แต่งานที่ได้ผลของโปรตุเกส คือเป็นทหารรับจ้าง  ทางการบ้านเมืองไม่รังเกียจเลย  ชอบมากเสียอีก

ทหารรับจ้างโปรตุเกสจึงรับจ๊อบกันเป็นล่ำเป็นสันทั้งในพม่า สยาม และกัมพูชา


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 พ.ค. 11, 15:34
เรื่องเมืองมะริดและตะนาวศรีก็ขอให้เป็นบทบาทของท่านออกญานวรัตน และท่านออกหลวงหนุ่มสยาม( ยังเด็ก  อย่าเพิ่งเป็นออกพระ) ทำหน้าที่รักษาเมืองต่อไป

ขอบคุณครับ  :-[ เนื่องด้วยงานราชการรัดตัว แต่ก็คอยโผล่ชะโงกเข้ามาอ่าน ท่านออกญานวรัตนเข้าพม่า บุกตะนาวศรีได้รวดเร็วมาก  ;D

จะเข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับชาวโปรตุเกสในอยุธยาว่าในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 นั้นมีชาวโปรตุเกสในอยุธยาเพียง 120-160 คนเท่านั้นเอง ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามารับเป็นทหารอาสา มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าชาวโปรตุเกสเองเข้ามาร้อยกว่าวชีวิต แต่หลังจากนั้นก็ผสมแต่งงานกับชาวสยาม มีลูกเชื้อสายลูกครึ่งไว้อยู่มาก ทำจนต้องเป็นปัญหาสังคม คือ การเอาใจออกห่างจากสยาม ไปเข้ากับโปรตุเกส จนต้องมีกฎหมายคุ้มกันไม่ให้ลูกครึ่งไปเข้ากับโปรตุเกสมากนัก

ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ทรงมีนโยบายการเมืองที่ล้ำหน้าคือ การคานอำนาจระหว่างข้าราชการไทยโดยส่งเสริมให้ชาวต่างชาติเข้ามารับราชการ ซึ่งชาวโปรตุเกสบางคนได้ก้าวอำนาจไปในฝ่ายปกครองอีกด้วย ซึ่งดูเหมือนว่าพระองค์ก็ทรงไว้ใจชาวฝรั่งเช่นกัน

ชาวโปรตุเกสระลอกใหม่อพยพเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเพิ่มขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เนื่องจากพากันอพยพจากการรบกับพวกฮอลันดาในอินเดีย และพากันตั้งบ้านเรือนในหมู่บ้านโปรตุเกส กว่า 700-800 หลังคาเรือน มีหลักฐานว่าใน พ.ศ. 2228 ทรงแต่งตั้งชาวโปรตุเกส เป็นผู้บังคับบัญชาการทหารที่บางกอกอีกด้วย


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ค. 11, 18:19
        ในประวัติศาสตร์ไทย   ชาวโปรตุเกสเป็นแค่ตัวละครประกอบตั้งแต่ต้นจนจบ     ไม่มีคนไหนโดดขึ้นมาเป็นตัวนำจนถึงขั้นกล่าวขวัญกันเป็นพิเศษ          แต่ว่าในประวัติศาสตร์เขมร ร่วมสมัยกับรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร   มีโปรตุเกสเล่นบทดารานำอยู่คนหนึ่ง   ชื่อนายดิโอกู  เวโลซู  (Diogo Veloso)  เป็นบทโลดโผนผจญภัยทำนองเดียวกับอินเดียน่า โจนส์       ต่างจากหนังตรงที่ว่านายคนนี้มีตัวจริง และเรื่องราวผจญภัยต่างๆก็เกิดขึ้นในชีวิตจริง

        ดิโอกู เวโลซูเป็นนักแสวงโชค   ร่อนเร่จากบ้านเกิดเมืองนอนมาถึงเอเชียอาคเนย์   ไปถึงเขมรราวๆ ค.ศ. 1558 หรือ 1559 (พ.ศ. 2101-2102)  เขาอยู่ในกลุ่มทหารรับจ้าง  พระเจ้าแผ่นดินเขมร ทรงพระนามว่านักพระสัตถาหรือที่คนไทยรู้จักกันในนามพระยาละแวก  ทรงเปิดประตูรับการค้าขายกับต่างชาติ  และจ้างทหารพวกนี้เอาไว้ เพื่อช่วยฝึกการรบด้วยปืนไฟ ในกองทัพเขมร

         ทหารโปรตุเกสเข้าเมืองละแวกไปด้วยกันหลายคน    แต่เวโลซูน่าจะเป็นคนเก่งสุด  จึงได้เลื่อนขึ้นไปเป็นนายทหารระดับสูงกว่าเพื่อนๆ       ตามประวัติบอกว่า นอกจากพูดภาษาเขมรได้คล่องแล้ว    ยังโชคดีส้มหล่นได้แต่งงานกับเจ้าหญิงเขมร พระญาติของนักพระสัตถา     พระเจ้าแผ่นดินเขมร ก็เลยทรงโปรดปรานไว้พระทัยเขยฝรั่งคนนี้เป็นพิเศษกว่าใคร


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ค. 11, 18:31
      ในค.ศ. 1592  มีนักแสวงโชคชาวสเปนกลุ่มหนึ่ง เดินทางมาจากมะนิลาที่สเปนครอบครองอยู่  มาถึงเขมร    ในจำนวนนี้มีอยู่คนหนึ่งชื่อรูอิซ เดอ เฮอร์มาร กอนซาเลซ   เป็นคนที่พระพรหมขีดชะตามาเป็นดารานำคนที่สอง     เมื่อรูอิซมาถึงก็พบว่ามีฝรั่งคนละชาติ แต่พอพูดกันรู้เรื่อง นั่งแท่นเป็นใหญ่เป็นโตอยู่ในเมืองหลวง ก็เลยทำความรู้จักด้วย
      ทั้งเวโลซูและรูอิซก็ได้คบค้าสมาคมเป็นมิตรกัน     จากนั้นก็มิตรภาพนี้ก็ยั่งยืนอยู่จนจบเรื่อง    เหมือนชอลิ้วเฮียงกับโอวทิฮวย  เป็นพระเอกและผู้ช่วยพระเอก ยังไงยังงั้น

      ชีวิตของเวโลซูและรูอิซที่จะเล่าต่อไปนี้ไปหามาจากเว็บโปรตุเกส  เพราะมีรายละเอียดมากกว่าในเว็บอังกฤษ     ใช้โปรแกรมแปลภาษาของกูเกิ้ลช่วยแปลจากโปรตุเกสมาเป็นอังกฤษอีกที       แต่ก็อย่างที่รู้ๆกัน คือโปรแกรมนี้ไว้ใจอะไรไม่ค่อยได้   บางครั้งแปลผิดแปลถูกให้ต้องมาเดากันต่อ     ดังนั้นถ้าเห็นอะไรผิดสังเกตหรือไม่ค่อยจะเป็นเหตุเป็นผลกัน  ก็อาจเป็นได้ว่าโปรแกรมแปลหักหลังดิฉันเข้าแล้ว

      ข้างล่างนี้คือรูปปั้นของเวโลซู ประดับอยู่เป็นอนุสรณ์ ที่เมืองบาพนมซึ่งเขาเคยดำรงเจ้าเมือง  สร้างในค.ศ. 1934  ปัจจุบันจะยังอยู่หรือเปล่าไม่ทราบ  


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ค. 11, 20:20
ขอแยกซอย เลี้ยวไปเล่าถึงนักพระสัตถาหรือพระยาละแวก สักเล็กน้อย
พงศาวดารอยุธยาที่บันทึกโดยคนไทย  และประวัติศาสตร์เขมรที่บันทึกโดยฝรั่ง ให้ภาพพระยาละแวกไว้แตกต่างกัน อาจเป็นการมองคนละมุมหรือไม่ก็ดูพระกรณียกิจกันคนละด้าน
ผู้บันทึกพงศาวดารไทย มีท่าทีว่าไม่ชอบหน้าพระยาละแวก  เพราะรู้สึกว่าทรงกระทำไม่ชอบมาพากล  ชอบถือโอกาสมาเบียดเบียนชายแดนด้านตะวันออกอยู่เรื่อย เวลาอยุธยามีศึก  กลายเป็นว่าสยามต้องพะวักพะวนกับศึกสองด้าน  ดังที่ทางฝ่ายเรามีบันทึกไว้ว่า

"เมื่อปีพศ.2075 ในรัชสมัยพระมหาจักรพรรดิ   กรุงหงสาวดีได้ยกทัพมาตีไทย ฝ่ายเขมรพระยาละแวกเห็นได้ทีจึงยกทัพเข้ามาทางปราจีนบุรี กวาดต้อนผู้คนกลับไปเขมรจำนวนมาก   หลังจากพม่ายกทัพกลับไปสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงพิโรธมาก จึงทรงรับสั่งให้ยกทัพไปถึงเมืองพระตะบองและละแวก พระยาละแวก เห็นท่าจะแพ้ในการศึกจึงมีราชสาสน์มากราบทูลพระมหาจักรพรรดิ  ว่า

        “ ข้าพระองค์ผู้ปกครองกัมพูชา มิได้เกรงพระบรมเดชานุภาพที่ไปกวาดต้อน คนจากปราจีนบุรี ขออย่าทรงพิโรธยกทัพมาตีเมือง ข้าพเจ้าจะนำเครื่องราชบรรณา การมาถวาย และเป็นข้าพระบาทตราบชั่วกัลปวสาน ”

หลังจากนั้น ๓ วันพระยาละแวกได้นำเครื่องราชบรรณาการ พร้อมด้วยนักพระสุโทและนักพระสุทัน ราชบุตร มาเข้าเฝ้า ทางพระมหาจักรพรรดิก็ทรงคลายพิโรธและขอนำโอรสทั้งสองไปเลี้ยงดู    พระยาละแวกก็ยอม  จากนั้นก็กวาดต้อนคนชาวปราจีนบุรีกลับคืนมา
ฝั่งไทย    ต่อมาไม่นานญวณได้ยึดเมืองละแวก ไทยจึงส่งกองทัพไปช่วยเพื่อตีเมืองคืนแต่ทำไม่สำเร็จ"


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ค. 11, 20:41
  หลังเสียกรุงครั้งที่ 1  ในพ.ศ.2113 (ค.ศ. 1570) พระยาละแวกก็มาอีก  คราวนี้เข้ามาลึกถึงขั้นตีเมืองนครนายก   สมเด็จพระมหาธรรมราชายกทัพไปปราบ    ทหารอยุธยายิงปืนจ่ารงค์ไปถูกพระจำปาธิราช แม่ทัพเขมร ตายคาที่บนคอช้าง ทัพเขมรถอยกลับไปแต่ก็ย้อนกลับมาปล้นเมืองอีกหลายครั้ง แล้วยังกวาดต้อนผู้คนแถวจันทรบุรี ระยอง ฉะเชิง เทรากลับไปเขมรจำนวนมากด้วย
   แค่นี้ยังไม่เข็ด   พระยาละแวกยกทัพเรือมาถึงปากน้ำพระประแดง  โจมตีเมืองธนบุรีจับชาวเมืองธนบุรีและนนทบุรีเป็นเชลยจำนวนมาก เลยได้ใจรวบรวมคนหมายจะตีกรุงศรีอยุธยา แต่งทัพเรือ ๓๐ ลำเข้าปล้นบ้านนายก่าย แต่โชคไม่ดีถูกปืนใหญ่ของไทยยิงตายเป็นจำนวนมาก ฝ่ายเขมรแตกทัพหนีกลับไปทางพระประแดง  กวาดต้อนผู้คนแถวสาครบุรีกลับไปอีกด้วย
   พระยาละแวกก็ยังไม่ยอมเลิกวิธีการ     ในปีพศ. 2129 (ค.ศ. 1586)  พระยาละแวกเห็นว่าไทยกำลังสู้ศึกหงสาวดีอยู่ จึงฉวยโอกาสยกทัพเข้ามาตีเมืองปราจีน แต่ทัพอยุธยาก็ไล่ตีเขมรไปจนสุดชายแดน ทหารเขมรตายจำนวนมาก

   พ.ศ.  2132  (ค.ศ.1589) แผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรครองราชย์ ก็ืทรงยกทัพไปตีเขมร   แก้แค้นพระยาละแวก เอาโลหิตมาล้างพระบาท ทรงจัดกองทัพให้ไปตีเมืองปัตบอง   เมืองโพธิสัตว์ แล้วเข้าล้อมเมืองละแวกเอาไว้ ทรงล้อมเมืองนานถึง ๓ เดือนยังตีไม่ได้ เสบียงอาหารเริ่มลดน้อยลงจึงทรงรับสั่งให้ยก  ทัพกลับกรุงศรีอยุธยาไปก่อน แล้วจะเตรียมการมาตีในภายหน้า


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ค. 11, 20:49
อ่านมาถึงตอนนี้  ยังไม่ถึงตอนทัพอยุธยาบุกไปตีเมืองหลวงของเขมร    ก็มีข้อสงสัยเรื่องปีพ.ศ. อีกแล้ว
ความเป็นปรปักษ์ระหว่างสยามกับเขมร เริ่มต้นตั้งแต่พ.ศ. 2075 (ค.ศ. 1532)  จนกระทั่งสมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพไปเมืองละแวก ในพ.ศ. 2132  (ค.ศ.1589) กินเวลายาวนานถึง 57 ปี   เปลี่ยนแผ่นดินของอยุธยาไปแล้ว 3 แผ่นดิน   
พระยาละแวกที่ตั้งหน้าตั้งตากวาดต้อนผู้คนจากสยามไปอาณาจักรตัวเอง  คงไม่สามารถครองราชย์อยู่ได้ถึง 57 ปี  ต่อให้ครองราชย์ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ก็น่าจะทรงพระชราจนหง่อมมากแล้วในปลายรัชกาล   ไม่น่าจะทรงมีกำลังเข้มแข็งคิดตีบ้านตีเมืองเพื่อนบ้านอยู่ได้ไม่หยุด

จึงคิดว่า น่าจะมีพระยาละแวกมากกว่า 1 องค์ ที่มาราวีชายแดนและหัวเมืองของสยามอยู่หลายครั้ง  สืบเนื่องกันหลายรัชกาลเขมร

ขอถามคุณเพ็ญชมพูว่า นักพระสัตถาครองราชย์ตั้งแต่พ.ศ. อะไร  ก่อนหน้านั้นคือใครคะ



กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 พ.ค. 11, 09:15
ขอถามคุณเพ็ญชมพูว่า นักพระสัตถาครองราชย์ตั้งแต่พ.ศ. อะไร  ก่อนหน้านั้นคือใครคะ

ถามคุณวิกกี้ (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%A7%E0%B8%81) ได้ความว่า

พระยาละแวกในพงศาวดารไทย หมายถึงกษัตริย์เขมร ๓ พระองค์ คือ

๑. พระบรมราชาที่ ๓ (พระจันทราชา หรือ นักองจันที่ ๑) ครองราชย์ พ.ศ. ๒๐๕๙ - ๒๑๐๙
๒. พระบรมราชาที่ ๔ (นักพระบรมราชา) ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๐๙ - ๒๑๑๙
๓. พระบรมราชาที่ ๕ (นักพระสัฏฐา, นักพระสัตถา) ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๑๙ - ๒๑๓๖

 ;D


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ค. 11, 10:25
เป็นอันว่าได้คำตอบจากคุณเพ็ญชมพูแล้วว่า   เขมรมีศึกยืดเยื้อกับสยามต่อกัน ๓ รัชกาลเหมือนกัน  แต่ครั้งปู่จนถึงหลาน  แต่พระเจ้าแผ่นดินเขมรที่งานเข้าอย่างจังคือองค์ที่ ๓  นักพระสัตถา
นับปีพ.ศ.  พบว่านักพระสัตถาเข้ามาตีปราจีณหนหนึ่งแต่ว่าไม่สำเร็จ  ต้องพ่ายแพ้กลับไป      แต่ข้อนี้ไม่อยู่ในบันทึกของฝรั่ง   ฝรั่งบอกแต่เพียงว่าสยามในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรบุกเขมร   เหมือนจู่ๆก็ยกทัพมารบ  ไม่ได้กล่าวถึงสาเหตุว่าเขมรไปทำเขาก่อนหรือไม่

บันทึกของฝรั่งยังเล่าต่อไปอีกว่า เมื่อข่าวศึกมากระทบพระกรรณ    นักพระสัตถาทรงตกพระทัยมาก เห็นทีว่ากำลังของเขมรเห็นจะสู่สยามไม่ได้   จึงส่งฝรั่งทั้ง ๒ คนไปติดต่อขอกำลังทัพต่างชาติมาช่วย   พูดง่ายๆคือไปจ้างทหารต่างชาติมารบ     เวโลซูถูกส่งตัวไปจ้างทหารโปรตุเกสที่มะละกา  และรูอิซไปหากำลังจากสเปนที่มะนิลา

ถ้าตัดเอาก๊อสสิปเรื่องนักพระสัตถาพระทัยฝ่อออกไป  ก็จะเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินเขมรองค์นี้ ทรงเตรียมรับศึกอย่างเข้มแข็งพอใช้    ขนาดคำนวณดูว่ากำลังทหารเขมรยังไม่พอจะสู้กับกองทัพสยาม   ก็ต้องไปเอากองทหารต่างด้าวมาช่วยถึง ๒ ทัพ ทั้งโปรตุเกสและสเปน  ซึ่งย่อมจะเปลืองพระราชทรัพย์ไปอีกมาก     แต่ก็ฮึดสู้ ดีกว่าจะยอมจำนนเอาง่ายๆ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ค. 11, 15:12
บันทึกหลักฐานในประวัติศาสตร์ตอนนี้  แบ่งเป็น ๓ กระแส  คือกระแสพงศาวดารไทย กระแสพงศาวดารเขมร และบันทึกของฝรั่งโปรตุเกส   ที่ไม่รวมกันเป็นแควเดียว    ทำให้ยุ่งยากอยู่บ้างว่าจะสรุปได้อย่างไร
มีอย่างเดียวที่ตรงกันก็คือทัพสยามของสมเด็จพระนเรศวรบุกเขมร  ก่อให้เกิดความปั่นป่วนอลวนในการเมืองเขมรยุคนั้นเป็นการใหญ่
ส่วนรายละเอียดผิดเพี้ยนกันไป

ทางฝ่ายพงศาวดารไทย เขียนไว้อย่างค.ห.ข้างบนนี้ว่าเขมรเป็นฝ่ายเข้ามารังควานอยุธยาหลายครั้ง   ไทยตีแตกพ่ายไป  ต่อมาไทยก็เอื้อเฟื้อยอมทำไมตรีกัน  แต่เขมรก็ไม่ยอมหยุด   มีโอกาสเมื่อไรเป็นยกทัพเข้ามากวาดต้อนผู้คนไปทีนั้น

"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสแก่มุขมนตรีแลอำมาตย์ว่า แผ่นดินกรุงกัมพูชากุรุราฐนั้น ผู้ใดครองสมบัติจิตมักเป็นสันดานพาลทุจริต เหมือนพระยาละแวด บิดานักพระสุโทนักพระสุทัน เมื่อศึกกรุงหงสาวดียกมาคราวแรก ครั้งสมเด็จพระอัยการธิราชเจ้าผ่านพิภพใหม่นั้น พระยาละแวกก็ยกทัพเข้ามาพลอยซ้ำตี กวาดเอาครัวอพยพชาวปราจีนบุรีไป   จนสมเด็จพระบรมราชอัยกาต้องเสด็จยกทัพออกไปปราบ จึ่งถวายพระสุโท นักพระสุทันราชบุตรเข้ามา
แล้วนักพระสัตถาไปเอาทัพเข้ามาตี ฆ่าบิดานักพระสุโทนักพระสุทันเสีย นักพระสัตถาได้สมบัติกรุงกัมพูชาธิบดี เป็นพระยา ยกทัพจู่มาถึงวัดสามพิหาร จนเสียพระจำปาธิราชลูกชาย ก็ยังหาเข็ดไม่ มีศึกหงสาวดีมาติดพระนครครั้งใดก็มีแต่ยกทัพมาพลอยซ้ำดี กวาดเอาประชาราษฎรข้าขอบขัณฑเสมาไปทุกครั้ง   แล้วแต่งทูตานุทูตมาขอเป็นทางพระราชมนตรี สมเด็จพระบรมราชบิดา เราก็มิได้มีพระทัยอาฆาต เพื่อมิให้เสียทางพระราชไมตรีจนปันเขตแดนปักเสาศิลาจารึก
ครั้นทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยกมา   พระยาละแวด(หมายถึงละแวก) ให้น้องชายเข้ามาช่วยงานพระราชสงคราม น้องชายนั้นมิได้สติสัมปชัญญะดุจหนึ่ง สิงคาละชาติโปดก ฝ่ายพระยาละแวดก็ปราศจากวิจารณ์ปัญญา มีพาลทุจริตในสันดานสุจริตธรรมเสีย กลับยกทัพมาตีปัจจันตชนบทอีกเล่า
ความแค้นของเราดังว่าเสี้ยน ยอกอยู่ในอุระไม่รู้หาย ครั้งนี้แผ่นดินเป็นของเราแล้ว จะไปแก้แค้นเอาโลหิตพระยาละแวดล้างบาทเสียให้จงได้ ตรัสแล้ว สั่งให้เกณฑ์ทัพฉกรรจ์นำเครื่องเหยียบแสน ช้างเครื่องแปดร้อย ม้าพันห้าร้อย น้ำแห้งเท้าช้างเท้าม้าแล้วก็จะยกไป"


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ค. 11, 16:26
       ส่วนทางพงศาวดารเขมรบันทึกไว้ว่า พระยาละแวกองค์ที่ 3   คือนักพระสัตถาเป็นฝ่ายยกทัพตีอยุธยา  จับเอาเชลยสยามกลับมาเป็นจำนวนมาก  ในตอนนั้นศรีอยุธยายังเป็นเมืองขึ้นของพม่า  อยู่ภายใต้การปกครองของบุเรงนอง    พระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา ตกไปเป็นตัวประกันอยู่ในเมืองหงสาวดี    
       ต่อมาพระนเรศวร พระราชโอรสหนีกลับมาสู่บ้านเมือง แล้วส่งสาส์นมาขอเป็นไมตรีและขอกำลังช่วยเหลือจากเขมร   นักพระสัตถาก็ส่งพระศรีสุริโยพรรณ มหาอุปราชยกทัพไปช่วยตามคำขอ   แต่เกิดการขัดแย้งกันขึ้นระหว่างพระนเรศวร กับพระศรีสุริโยพรรณ   พระองค์จึงทรงนำทัพกลับสู่ละแวก
       การขอกำลังช่วยเหลือจากเขมรในตอนนี้ มีอยู่แต่ในบันทึกของเขมร   ไม่มีอยู่ในพงศาวดารไทย    ถ้าหากว่าเป็นความจริงก็แสดงว่าเขมรในตอนนั้นมีอำนาจมาก   อยุธยาจึงขอเป็นไมตรีด้วย เพราะไม่อยากมีศึกกระหนาบสองข้างคือทั้งพม่าและเขมร   ส่วนเรื่องเขมรมาตีอยุธยาครั้งก่อนนั้น  อยุธยาก็คงกลืนเลือดไว้   ไม่เอามาเป็นเรื่องขัดเคืองกัน    แต่ถ้าไม่จริงก็คงต้องหากันต่อไปอีก ว่าเรื่องจริงๆเป็นอย่างไร
       ในพงศาวดารเขมรยังบันทึกต่อไปว่า ต่อมาเมื่ออยุธยาประกาศเป็นอิสรภาพไม่ขึ้นกับพม่าอีก   นักพระสัตถาเห็นว่ากำลังทัพของอยุธยาไม่น่าจะแข็งแกร่งเท่าไร   เดี๋ยวก็คงต้องกลับไปตกอยู่ในอำนาจพม่าอีก   จึงถือโอกาสซ้ำเติม ยกพลเข้ามาโจมตีเมืองปราจีนบุรี ตอนนี้พงศาวดารเขมรระบุเอาไว้ชัดเจนว่าทัพเขมรมาตีถึงปราจีนบุรี นครราชสีมา และนครนายก จนกระทั่งกองทัพอยุธยายกมาสู้  จึงได้ถอยทัพกลับสู่กัมพูชา


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ค. 11, 16:58

"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสแก่มุขมนตรีแลอำมาตย์ว่า แผ่นดินกรุงกัมพูชากุรุราฐนั้น ผู้ใดครองสมบัติจิตมักเป็นสันดานพาลทุจริต เหมือนพระยาละแวด บิดานักพระสุโทนักพระสุทัน เมื่อศึกกรุงหงสาวดียกมาคราวแรก ครั้งสมเด็จพระอัยการธิราชเจ้าผ่านพิภพใหม่นั้น พระยาละแวกก็ยกทัพเข้ามาพลอยซ้ำตี กวาดเอาครัวอพยพชาวปราจีนบุรีไป   จนสมเด็จพระบรมราชอัยกาต้องเสด็จยกทัพออกไปปราบ จึ่งถวายพระสุโท นักพระสุทันราชบุตรเข้ามา

ครั้นทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยกมา   พระยาละแวด(หมายถึงละแวก) ให้น้องชายเข้ามาช่วยงานพระราชสงคราม น้องชายนั้นมิได้สติสัมปชัญญะดุจหนึ่ง สิงคาละชาติโปดก ฝ่ายพระยาละแวดก็ปราศจากวิจารณ์ปัญญา มีพาลทุจริตในสันดานสุจริตธรรมเสีย กลับยกทัพมาตีปัจจันตชนบทอีกเล่า
 


พงศาวดารเขมรเรียกการกระทบกระทั่งระหว่างอยุธยากับเขมรว่า  เขมรมาทำศึกกับอยุธยา   ตีเมืองไหนก็ตาม เมื่อชนะเมืองนั้น  ขากลับก็จับเชลยศึกกลับไป  ฟังน้ำเสียงทางเขมรก็เห็นเป็นเรื่องธรรมดา ของการแผ่พระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน      ส่วนทางพงศาวดารอยุธยาน้ำเสียงโกรธเคืองว่า เขมรถือโอกาสผีซ้ำด้ำพลอย เข้ามากวาดต้อนราษฎรของอยุธยาไป

ส่วนเรื่องนักพระสัตถาส่งพระอนุชาเข้ามาช่วยทัพอยุธยา   ก็มีตรงกันทั้งพงศาวดารไทยและเขมร   แตกต่างกันในรายละเอียด   พงศาวดารเขมรบอกว่าพระนเรศวรขอความช่วยเหลือไป ตอนเสด็จหนีจากหงสาวดีกลับมาอยุธยาแล้ว    ส่วนทางไทยบอกว่าเมื่อเกิดศึกกับเชียงใหม่   พระเจ้าแผ่นดินเขมรส่งน้องชายยกทัพมาช่วยเหลือ   แต่น้องชายคือพระศรีสุริโยพรรณ  คงได้ทำอะไรไม่เหมาะสมในสายตาฝ่ายไทย   เป็นเหตุให้สมเด็จพระนเรศวรทรงพระพิโรธถึงกับประณามเอา

จากนั้น ทัพไทยก็ยกไปตีเขมร หลังเสร็จศึกพม่าแล้ว  ในพงศาวดารเขมรเล่าว่าเกิดการสู้รบกันอย่างหนักในเมืองพระตะบอง ที่ “กำพงปราก่” หรือกำปงปรัก   ฝ่ายเขมรต้านไม่ไหว จึงถอยกลับ สยามจึงตามตีมาถึงเมืองบันทายบริบูรณ์ พระศรีสุริโยพรรณแม่ทัพเขมรจึงได้นำทัพถอยเข้าสู่เมืองละแวก


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ค. 11, 13:05
   ทัพไทยล้อมเมืองละแวกอยู่ถึง ๓ เดือน ขาดแคลนเสบียงอาหาร ก็ต้องถอยกลับ    แต่ว่ายกกลับมาอีกครั้ง ครั้งนี้คือครั้งที่พระเอกโปรตุเกสของเรา ถูกส่งไปจ้างทหารฝรั่งที่มะละกามารับนั่นเอง
   พงศาวดารเขมรกับบันทึกของโปรตุเกสเล่าตรงกันว่า ในเมืองละแวกเกิดเหตุระส่ำระสายภายในราชสำนัก   คือราชบัลลังก์เปลี่ยนมือเป็นของพระราชโอรสของนักพระสัตถา    แตกต่างกันตรงที่ว่าพงศาวดารเขมรเล่าว่า นักพระสัตถาทรงตั้งพระราชโอรสองค์ใหญ่ขึ้นครองบัลลังก์เอง    ส่วนโปรตุเกสเล่าว่านักพระสัตถาถูกแย่งราชบัลลังก์โดยพระราชโอรส  ส่วนพระญาติวงศ์เขมรต่างก็ไม่พอพระทัยนักพระสัตถา   จึงเกิดการรัฐประหารภายในขึ้น   พวกพระญาติก็ยอมอ่อนน้อมต่อกองทัพของอยุธยา

   ผลของสงครามครั้งนี้  ไทยได้ชัยชนะ    พงศาวดารไทยเล่าว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำพิธี"ปฐมกรรม" คือตัดหัวพระยาละแวกเอาเลือดมาล้างพระบาท      แต่พงศาวดารเขมรและบันทึกของโปรตุเกสเล่าตรงกันว่า นักพระสัตถาหนีจากเมืองละแวก ลี้ภัยไปอยู่ในลาว     ส่วนเจ้าคุณทหารโปรตุเกสเวโลซูมัวไปจ้างทหารฝรั่งอยู่ที่มะละกา  กลับมาไม่ทันการณ์   ละแวกแตกไปแล้ว
   เพื่อนพระเอกคือนักรบสเปนชื่อรูอิซ  ไปจ้างทหารสเปนที่มะนิลา นั่งเรือกลับมาเขมร ก็สายเกินการณ์ไปเช่นกัน    เรือแล่นเข้ามาในเขตเขมร ที่ถูกไทยยึดเอาไว้ได้แล้ว   เรือของรูอิซก็เลยถูกยึด เจ้าตัวก็ถูกจับเป็นเชลยศึกในเรือนั่นเอง   


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 พ.ค. 11, 00:10
เขมรในยุคนั้นเป็นยุคมืดก็จริงครับ แต่ช่วงนั้นเวียดนามยังไม่แผ่อำนาจลงมาถึงเขมร เขมรจึงมีศึกอยู่ข้างเดียวคือฝั่งไทย

เมื่ออยุธยาเสียแก่พม่า ถูกเทครัวไปมาก น่าจะเหลือคนเบาบาง จึงเป็นโอกาสที่เขมรจะยกมาตีบ้าง ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปได้มากว่าบุเรงนองเองก็คาดการณ์เอาไว้แล้วครับ และก็ต้องถือว่าคาดการณ์ได้แม่นยำ เพราะเขมรยกมาหลายครั้ง แต่ไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้ ถึงกระนั้นก็สามารถเทครัวไทยไปได้บ่อยๆ เป็นการตัดกำลังไม่ให้อยุธยาโตได้เร็วไปในตัว

ที่น่าสนใจคือ พระนเรศนั้นไปครองเมืองเหนือ เท่ากับแบ่งกำลังเป็นสองส่วน นี่อาจเป็นสิ่งที่บุเรงนองกำหนดมาด้วยซ้ำ เป็นการแบ่งแยกเพื่อปกครองครับ

เมื่อพระนเรศฟื้น ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของพม่าต่อไป ได้ทรงเทครัวเมืองเหนือลงมารวมกันไว้ที่อยุธยาที่เดียว การกระทำดังนี้ นอกเหนือจะเป็นการรวมกำลังป้องกันศึกพม่าแล้ว ยังเป็นการรวมกำลังเพื่อให้อยู่ในสภาพที่พร้อมในการรุกด้วย กว่าจะตั้งเมืองเหนือกลับขึ้นมาใหม่ก็เมื่อทำศึกกวาดต้อนผู้คนจากเมืองเขมรและมอญพม่ามาได้มากแล้วครับ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ค. 11, 08:26
มาต่อค่ะ

บันทึกของสเปนกับโปรตุเกสแตกต่างกันเล็กน้อย  สเปนบอกว่าเวโลซูถูกส่งไปจ้างกองกำลังทหารต่างด้าวเพียงคนเดียว  ส่วนรูอิซอยู่ในละแวก ช่วยรบกับทัพอยุธยา      แต่รายละเอียดของโปรตุเกสมีมากกว่าพอจะเชื่อได้ว่า รูอิซไปมะนิลาเหมือนกัน   เมื่อถูกจับตัว ความที่แกเป็น CIA สเปนมาแต่ก่อน ก็ทำให้ฮึดสู้ทหารไทย  สามารถจี้เรือ พาลูกเรือเขมรหนีออกทะเลกลับไปมะนิลาได้สำเร็จ

ส่วนเวโลซูถูกจับเป็นเชลยศึกมาอยุธยา    ในบันทึกของสเปนบอกว่านายคนนี้มีตำแหน่งสูงในละแวก เป็นถึงพระโอรสบุญธรรมของนักพระสัตถา     อาจจะเป็นการใส่สีใส่ไข่เพิ่มเติมขึ้นเล็กน้อยก็เป็นได้     แต่อย่างไรก็ตาม หลักฐานก็ตรงกันว่า เมื่ออยู่ในเมืองละแวก  เขามีตำแหน่งสำคัญกว่าทหารรับจ้างคนอื่นๆ และเป็นที่โปรดปรานของนักพระสัตถา     อาจจะด้วยเหตุนี้ เมื่อตกมาเป็นเชลยศึกอยุธยา อาจได้รับการปฏิบัติด้วยดีกว่าเชลยอื่นๆ  ไม่ต้องติดคุกตกอับอยู่ 14 ปี เหมือนขุนแผน
เวโลซูน่าจะเป็นคนมีไหวพริบดี   แล้วก็คงจะมีลิ้นการทูตด้วย   จึงสามารถเพ็ดทูลให้สมเด็จพระนเรศวรทรงเชื่อได้ว่า ควรส่งทูตไปจำเริญพระราชไมตรีกับสเปนที่มะนิลา    โดยมีตัวเขาเป็นผู้นำคณะทูตไปเอง

เมื่อได้อิสรภาพ   นำคณะทูตไทยนั่งเรือไปถึงมะนิลา     ลายเดิมของเวโลซูก็ออกมา   ตระบัดสัตย์ในทันทีทันควัน   กลับไปยืนข้างนักพระสัตถาอีกครั้ง   อ้างตัวเองเป็นผู้แทนพระเจ้าแผ่นดินเขมร


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ค. 11, 08:03
พงศาวดารไทยไม่ได้เอ่ยถึงชาวโปรตุเกสและสเปนทั้งสองคนนี้เลย    เอ่ยถึงแต่เขมร ตอนเมืองละแวกแตก

ในพงศาวดารเขมร (ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑)  บันทึกไว้กว่า
“ลุ ศักราช ๙๕๕ ศกมะเส็ง นักษัตรได้ ๒ เดือน… จึงสมเด็จพระนเรศวรพระเจ้ากรุงไทยยกกองทัพไพร่พล ๕ หมื่นมารบกับพระองค์ (คือพระสัตถาหรือพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี) พาสมเด็จพระอัครมเหสีกับสมเด็จพระราชบุตรทั้ง ๒ หนีไปอยู่เมืองศรีส่อชอ ลุศักราช ๙๕๖ ศกมะเมียนักษัตร…พระองค์พาสมเด็จพระอัครมเหสีกับพระราชบุตรทั้งสองพระองค์ไป เมืองลาว ฝ่ายพระองค์บรมบพิตร เมื่อ ลุ ศักราช ๙๕๗ ศกมะแมนักษัตร พระชันษาได้ ๔๓ ปี พระไชยเชษฐาพระราชบุตรใหญ่ เมื่อ ลุ ศักราช ๙๕๘ ศกวอกนักษัตร พระชันษาได้ ๒๓ ปี นักองค์บรมบพิตรทั้งสองพระองค์สุรคตอยู่ที่เมืองลาว ยังแต่พระบรมราชาธิราชผู้เป็นพระอนุชา พระชันษาได้ ๑๘ ปี อยู่เมืองลาว…ฝ่ายสมเด็จพระศรีสุพรรณผู้เป็นพระอนุชา… ครั้งนั้นจึงพระนเรศวรเป็นเจ้าพระองค์กับพระราชบุตรแล้วกวาดต้อนตัวเขมรไป เป็นอันมาก

ลุ ศักราช ๙๕๖ ศกมะเมีย นักษัตรเดือน ๓ จึงพระนเรศวรเป็นเจ้านำพระองค์ไปกรุงศรีอยุธยา  ให้แต่พระมหามนตรีเป็นแม่ทัพใหญ่รั้งอยู่อุดงฦๅไชย…”

ราชวงศ์ของพระยาละแวกก็แตกฉานซ่านเซ็น   พระเจ้าแผ่นดินหนีไปลาว พร้อมด้วยพระราชบุตรองค์ใหญ่และองค์น้อย    เจ้านายเขมรอีกส่วนหนึ่งถูกนำตัวมาอยุธยา    มีแม่ทัพใหญ่ของไทยชื่อพระมหามนตรี ครองเมืองอยู่ที่อุดงฦๅไชย

เวโลซู หรือพงศาวดารเขมรเรียกชื่อว่า "ละวิศเวโล" ได้พบกับเพื่อนรักคือรูอิซที่มะนิลาอีกครั้ง   ทั้งสองก็ตั้งใจว่าจะกลับไปเขมร  เพื่อไปเชิญนักพระสัตถากลับมาครองราชย์ตามเดิม    แลกกับเงื่อนไขว่า พระเจ้าแผ่นดินเขมรจะต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์    ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คือ  เขมรเปิดประตูรับอิทธิพลของโปรตุเกสและสเปนเต็มๆตัว    แบบเดียวกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์เปิดประตูอยุธยารับฝรั่งเศส


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ค. 11, 10:41
หลักฐานทางสเปนที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ค. 11, 11:21
ในหนังสือเล่มนี้ มีบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในเขมรเพิ่มขึ้นมาอีกคน   เรียกชื่อว่า Prince Ream  เจ้านายองค์นี้เป็นผู้ทำรัฐประหารนักพระสัตถา 
 เมื่อทัพอยุธยาของสมเด็จพระนเรศวรเข้าตีละแวก     ทำให้นักพระสัตถาต้องหนีออกจากละแวก  ตอนแรกไม่ได้ตรงไปที่หลวงพระบางเสียเดียว  แต่ไปพักอยู่ที่เมืองศรีสันธร(Srei Santhor)  จนกระทั่ง Prince Ream กบฏขึ้นมา   นักพระสัตถาจึงออกจากศรีสันธรไปหลวงพระบาง  แต่ไปสิ้นพระชนม์เสียระหว่างทาง

Prince Ream เป็นใคร    ดิฉันเข้าใจว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่พงศาวดารเขมรเรียกว่า พระเชษฐาแห่งเจิงเปรีย (Chettha Chung Prey)ครองบัลลังก์เขมรอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2137 - พ.ศ. 2139  ตามบันทึกข้างล่างนี้   พระเชษฐานอกจากยึดอำนาจได้แล้ว  ยังรวบรวมพลขับไล่ทัพอยุธยาออกจากเขมรได้สำเร็จ
น่าจะเป็นเหตุการณ์เมื่อสมเด็จพระนเรศวรยกทัพกลับไปอยุธยา แล้วให้พระมหามนตรีรักษาสถานการณ์อยู่ที่เมืองอุดงฯ   พระเชษฐาอยู่ในเมืองหลวงจึงรวบรวมกำลังได้

ในระยะนี้เองที่เวโลซูกลับมาเขมรพอดี   ทัพไทยที่ล่าถอยไปก็เลยจับตัวทั้งเวโลซูและรูอิซ  รวมทั้งบาทหลวงที่มาเผยแพร่ศาสนา เอากลับไปอยุธยา แต่รูอิซหนีกลับมะนิลาได้   ส่วนเวโลซูตกเป็นเชลยศึกอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะทำอุบาย ออกจากอยุธยาไปมะนิลาได้สำเร็จ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 12 พ.ค. 11, 12:59
Ream เขียนตามการออกเสียงของทางเขมรว่าเรียม แต่จะเขียนว่า ราม ครับ wiki ภาษาอังกฤษเรียกกษัตริย์เขมรพระองค์นี้ว่า Reamea (รามา) Chungprey อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์เคยเขียนในบทความเรื่อง ไม่มี"พิธีปฐมกรรม" "โลหิตล้างพระบาท"ก็ไม่มี พระนเรศวรตีเมืองละแวก แต่ไม่ได้"ฆ่า"พระยาละแวก ใช้ชื่อว่า องค์นักพระราม ไม่แน่ใจว่าถอดเสียงมาจากตเนฉบับภาษาสเปนหรือไม่ ผมหายังต้นฉบับมาตรวจสอบไม่ได้ครับ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ค. 11, 08:47
ขอบคุณค่ะคุณม้า  เกือบจะเขียนเป็นเจ้าชายรีม เสียแล้ว
กลับมาต่อเรื่องโปรตุเกสเข้าเมืองเขมร และลาว ให้จบกระทู้เสียที 

เวโลซูอ้างว่าตัวเองคือตัวแทนผู้มีอำนาจเต็มของนักพระสัตถา พระเจ้าแผ่นดินเขมรองค์ก่อน   จึงสามารถลงนามในสนธิสัญญา ซึ่งยินยอมให้กองทหารสเปน  พ่อค้าและผู้เผยแพร่ศาสนาได้เดินทางเข้าออกเขมร ไปไหนมาไหนได้อย่างเสรี   แลกกับการขอกำลังสเปนไปช่วยบ้านเมืองเขมรทำศึกกับอยุธยา    แล้วยังสัญญาด้วยว่าพระเจ้าแผ่นดินเขมรกับพระมเหสีจะตกลงเปลี่ยนศาสนามาเป็นชาวคริสต์
เมื่อทำแบบนี้ก็ได้กองกำลังกลับไป   

เมื่อกลับมาที่เขมร ทั้งเวโลซูและรูอิซก็ไปขึ้นท่าที่เมืองญวน แล้วเดินทางบกไปที่ลาว เพื่อติดตามเชิญนักพระสัตถากลับมาครองราชย์ตามเดิม     เมื่อไปถึงพบว่า ทั้งนักพระสัตถาและพระราชโอรสพระองค์ใหญ่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว   สองคนนี้ก็เลยกลับมาพนมเปญ  พ่วงพระโอรสองค์น้อยกลับมาด้วย
 


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ค. 11, 09:09
      พงศาวดารเขมรเล่าถึงตอนนี้ว่า
   
      “ลุศักราช ๙๕๘ ศกวอกนักษัตร   มีฝรั่งคนหนึ่งชื่อละวิศเวโล…ฝรั่งนั้นไปเชิญพระบรมราชา ผู้เป็นพระราชบุตรน้อยของพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี(หมายถึงนักพระสัตถา)มาจากเมืองลาว เมื่อศักราช ๙๕๙ ศกระกานักษัตร…ลงมาทรงราชย์อยู่ ณ เมือง ศรีส่อชอ"

     ส่วนหลักฐานทางสเปนก็สอดคล้องกัน คือ

      "พวกสเปนสืบได้ความว่า นักพระสัตถาอยู่ในประเทศลาว จึงออกติดตามเพื่ออัญเชิญให้เสด็จกลับกรุงกัมพูชา พวกหนึ่งไปทางบก พวกหนึ่งไปทางเรือจนถึงเมืองตังเกี๋ย แล้วเดินบกไปประเทศลาวจนถึงนครหลวงของลาว (เขียนชื่อไว้ว่า Alanchan) จึงได้ทราบว่านักพระสัตถาสิ้นพระชนม์แล้ว  พระโอรสองศ์ใหญ่และพระธิดาก็สิ้นพระชนม์ด้วย เหลืออยู่แต่โอรสอีกองศ์หนึ่งมีชื่อว่า Prauncar กับพระมารดาเลี้ยงพระอัยยิกา และพระมาตุฉาหลายพระองค์ (ไม่บอกจำนวน) จึงอัญเชิญท่านเหล่านี้ลงเรือ ล่องลงมาตามลำน้ำ (โขง) จนเข้าเขตแดนกัมพูชา"
      พระโอรส Prauncar  คือ  พระบรมราชารามาธิบดีที่ 3 (Barom Reachea III)
      เมื่อพระบรมราชาฯ ขึ้นครองราชย์  ก็ปูนบำเหน็จฝรั่งโปรตุเกสและสเปนอย่างงาม  คือให้เป็นเจ้าเมืองด้วยกันทั้งคู่   รูอิซไปกินเมืองตรัน    ส่วนเวโลซูกินเมืองบาพนม


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 พ.ค. 11, 09:12
ไม่รู้ว่าในรอบๆเมืองละแวกและอุดงฤาชัย นั้นจะมีหมู่บ้านโปรตุเกส เหมือนอย่างในพม่าและสยาม หรือไม่  ???


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ค. 11, 19:44
      เรื่องก็ยังไม่จบเพียงแค่นี้  เพราะเขมรมีชาวต่างชาติอีกกลุ่มหนึ่ง มีบทบาทสำคัญขึ้นมาแทนโปรตุเกส  คือพวกทหารมุสลิมชาวมาเลย์ ที่มาทำหน้าที่ทหารรักษาพระองค์ในราชสำนักเขมร ตั้งแต่สมัยพระเชษฐาแห่งเจิงเปรีย     เรื่อยต่อมาจนถึงสมัยพระบรมราชาที่ ๓    ทหารพวกนี้เริ่มกุมอำนาจในราชสำนักมากกว่าพระเอกทั้งสอง ซึ่งไปเป็นเจ้าเมืองอยู่ห่างไกลเมืองหลวง
      ในที่สุด หลังจากคุมเชิงกันมานาน   ก็ถึงจุดระเบิด  ทหารมาเลย์กับทหารสเปนเกิดปะทะกันขึ้นมาเป็นศึกกลางเมืองในพนมเปญ   ในค.ศ. 1599  ตอนนั้นเวโลซูมาเฝ้าในราชสำนัก  พระบรมราชาฯ ทรงสั่งให้กลับไปเมืองบาพนมเพื่อความปลอดภัย   แต่เขาไม่กลับ  แต่เข้าไปร่วมรบกับพวกคริสต์ต่อต้านพวกมุสลิม
     ศึกกลางเมืองลุกลามเป็นสงครามนองเลือดกันแบบเลือดท่วมท้องช้าง       พวกฝรั่งถูกสังหารกวาดล้างเหี้ยนเตียนไม่มีเหลือ     ในวิกิบอกว่าเวโลซูหนีรอดไปมะละกาได้  แต่ตามหลักฐานใน Portuguese American Historical &Research Foundation เล่าว่าเวโลซูถูกฆ่าตายในศึกกลางเมืองครั้งนี้      และที่ร้ายกว่านี้ก็คือพวกกบฏปลงพระชนม์พระบรมราชาที่ ๓  ด้วย  ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ต่อมา
     เวโลซูได้รับการยกย่องอย่างสูงในเขมร  ในความกล้าหาญและจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินเขมร     เป็นที่จดจำกันมาหลายร้อยปีจนต้นศตวรรษที่ ๒๐  ในค.ศ. ๑๙๓๔   ข้าหลวงใหญ่ชาวฝรั่งเศสที่ปกครองเขมรอยู่ สร้างรูปปั้นให้เป็นอนุสรณ์ในเมืองนาคหลวง (Neak Luong)   


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ค. 11, 20:56
ไม่รู้ว่าในรอบๆเมืองละแวกและอุดงฤาชัย นั้นจะมีหมู่บ้านโปรตุเกส เหมือนอย่างในพม่าและสยาม หรือไม่  ???

ดิฉันยังหาข้อมูลไม่เจอว่ามีโปรตุเกสตั้งหมู่บ้านอยู่ในเขมรหลังค.ศ. 1599 ซึ่งเป็นปีที่โปรตุเกส สเปนและญี่ปุ่นถูกฆ่าชนิดกวาดล้างจากพนมเปญอีกหรือเปล่า   อาจจะไม่มีอิทธิพลในเขมรอีกก็เป็นได้     
ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์โปรตุเกส ก็พบว่า ตั้งแต่ค.ศ. 1580 โปรตุเกสเริ่มเสื่อมถอยจากอำนาจ  สเปนผงาดขึ้นมาแทน แม้ว่ายังแยกปกครองกันเป็นอิสระก็ตาม      ด้วยเหตุนี้ ผลที่ตามมาคืออาณานิคมของโปรตุเกสในเอเชียก็ถูกช่วงชิงบ้าง เปลี่ยนมือบ้าง ไปทีละแห่งสองแห่ง   
ไหนจะสเปน  ไหนจะฮอลันดา  แล้วก็ยังมีสองมหาอำนาจคือฝรั่งเศสกับอังกฤษ  ซึ่งพอเลิกรบกันหลังจบสงครามวอเตอร์ลู  ในค.ศ.1815  ก็มาคิดได้ว่าจะรบกันไปให้เปลืองรี้พลและเงินทองทำไม   แยกย้ายกันไปสำรวจดินแดนไกลๆ  เพื่อหาเงินเข้าประเทศกันดีกว่า 

จุดนี้เองคือยุคเริ่มของการล่าอาณานิคม ที่โปรตุเกสและสเปนวางรากฐานไว้ก่อนแล้ว    โปรตุเกสมีกำลังคนน้อยกว่า   อิทธิพลก็สู้ประเทศที่มาทีหลังไม่ได้     เริ่มเสียอินเดียโปรตุเกส และมะละกาให้ฮอลันดาไปในคริสตวรรษที่ 17   เป็นจุดจบของการค้าทางทะเลที่โปรตุเกสเคยผูกขาดในมหาสมุทรอินเดีย   แม้ว่าเหลือเมืองกัวในอินเดียและมาเก๊าเอาไว้  แต่ก็ไม่แทบจะไม่มีบทบาทไปเข้าเมืองไหนอีก   
จบตำนานโปรตุเกสในเอเชียอาคเนย์เพียงนี้


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 11, 17:46
ยังติดคำถามเรื่องนี้อยู่ในใจ   ว่าโปรตุเกสหมดไปจากเขมรตั้งแต่ถูกกวาดล้างในพนมเปญเมื่อค.ศ. 1599 จริงหรือ   สอดส่องอินทรเนตร(ศัพท์ของคุณดีดี) ต่อมาสักพัก ก็พบว่ายังไม่หมด
มีชาวเขมรเชื้อสายโปรตุเกส ซึ่งยังใช้ชื่อสกุลโปรตุเกสตามบรรพบุรุษข้างพ่อ ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขมรต่อมาอีก     ในต้นศตวรรษที่ 17  พวกนี้พยายามฟื้นฟูอิทธิพลในเขมรขึ้นมาอีก หลังจากถูกฮอลันดาขับไล่ออกจากสุมาตรา
มีหลักฐานเพิ่มเติมนิดหน่อยว่า ในค.ศ. 1811 คือเมื่อต้นศตวรรษที่ 19   แพทย์หลวงประจำพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดินเขมรชื่อ
Joseph de Monteiro    และล่ามของพระเจ้านโรดมชื่อ  Bernard Kol de Monteiro

พวกโปรตุเกสค้นพบนครวัดก่อนฝรั่งเศส    แต่ฝรั่งเศสเป็นคนเผยแพร่ชื่อเสียงของนครวัดให้ขจรขจายไปทั่วโลก


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: Bidya Sriwattansarn ที่ 21 พ.ค. 11, 13:50
ในขณะที่ชาวโปรตุเกส ได้รับพระราชทานที่ดินด้านใต้กรุงศรีอยุธยา อีกสายหนึ่งทูตโปรตุเกสก็เดินทางเข้าไปยังพม่าใน ค.ศ. 1511 เช่นเดียวกันโดยปัจจุบันนี้คือ เมืองสิเรียม เป็นดินแดนแห่งโปรตุเกสครับ

เมื่อการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างโปรตุเกสกับพม่า ในช่วงพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เหล่าทหารโปรตุเกส และเหล่านักบวช ก็ดำเนินกิจกรรม การค้า ขายปืน ขายเครื่องรบ เพื่อรบกับไทย ในขณะเดียวกันฝ่ายไทย ก็เจริญด้วยการค้า ปืนไฟ เกราะ และเทคนิคการต่อสู้จากโปรตุเกสเช่นเดียวกัน

แทรกภาพชาวโปรตุเกสในเมืองสิเรียม

ภาพล่างผมมั่นใจว่า เป็นจิตรกรรมศิลปะนันบัน(Nan ban Art ) ของญี่ปุ่น ส่วนภาพบนไม่เคยเห็นมาก่อน แต่อาจเป็นภาพจิตรกรรมชุดเดียวกัน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: Bidya Sriwattansarn ที่ 21 พ.ค. 11, 14:07
ต่อเรื่องจับปิ้งอีกนิดนึง

พอเห็นต้นศัพท์ดังกล่าว ผมก็ตื่นเต้นเล็กน้อย สมัยนี้สงสัยใคร่รู้อะไรเข้าเวปแพร๊บเดียวก็รู้เรื่อง ผมจึงรีบเอาคำว่า chapinhaไปค้นหาในกูเกิลต่อ หวังจะได้รูปจับปิ้งของแท้ของโปรตุเกสเอามาฝาก
 
แต่รูปทั้งหมดที่เจอ กลับกลายเป็นไอ้เจ้าข้างล่างนี่ ไทยแปลจากคำภาษาอังกฤษมาตรงๆว่า เครื่องดัดผม

ผมก็ไม่รู้ภาษาโปรตุเกสแม้กระจิ๊ดเดียว ไม่สามารถจะค้นต่อได้ว่า เจ้าเครื่องดัดผมมือถือเนี่ย มันจะเป็นคำแผลงมาจากจับปิ้งได้อย่างไร มีผมตรงนั้นสักเส้นให้ดัดที่ไหน

เชิญท่านอื่นต่อครับ

ผมขออนุญาตเรียนชี้แจงว่า บทความเรื่อง "ฤาจับปิ้งเด็กไทยจะมาไกลจากโปรตุเกส" นั้น เป็นการตั้งสมมติฐานโดยต่อยอดจากข้อค้นพบรากศัพท์คำว่า "จับปิ้ง" ในภาษาโปรตุเกส ซึ่งเสนอโดยบาทหลวง Manuel Teixeira นักประวัติศาสตร์ชาวโปรตุเกส และได้แจ้งที่มาของเอกสารอ้างอิงอย่างชัดเจนในหนังสือชื่อ  The Portuguese Missions in Malacca and Singapore(1511-1958) Volme III-Singapore(1987 p.485-486) และรู้สึกยินดีที่มีการdeateอย่างออกรสออกชาติดังปรากฏข้างต้นไปแล้วครับ ยุคนี้ "จะปินญา"(chapinha) อาจแปลว่า "เครื่องหนีบผม, ดัดผม" ในGoogle แต่ก่อนหน้านี้ ผมไม่เชื่อว่า บาทหลวงไตไซราจะโมเมคิดเป็นตุเป็นตะตั้งชื่อในภาษาโปรตุเกสเอาเองแต่อย่างใดครับ ;D


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 11, 14:23
คำว่า chapinha ในภาษาโปรตุเกส แปลตามตัวว่า flat iron หรือแผ่นเหล็กแบน    เครื่องเหยียดผม ที่เรียกว่า chapinha เพิ่งคิดค้นขึ้นมาเมื่อค.ศ. 1882 นี้เอง
คำว่า chapinha  ถ้ามีในภาษาโปรตุเกสก่อนหน้านี้  ก็แสดงว่าเป็นแผ่นเหล็กแบนที่ใช้ในเรื่องอื่น  วัตถุประสงค์อื่น   ไม่ใช่เอาไว้หนีบผมให้เหยียดตรง

เด็กโปรตุเกสไม่ใช้จับปิ้งแน่นอน  สภาพอากาศทำให้ไม่ควรคาดอะไรให้เกะกะร่างกาย  เพราะสวมเสื้อผ้าก็รุ่มร่ามมิดชิดพออยู่แล้ว

แต่ถ้าอาจารย์พิทยะและบาทหลวงหมายถึงว่า  ในภาษาโปรตุเกสมีตำว่า chapinha  ซึ่งฟังสำเนียงคล้ายๆจับปิ้ง   จึงอาจเป็นได้ว่าศัพท์"จับปิ้ง" มาจากภาษาโปรตุเกส  แต่แปลว่าอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่จับปิ้ง
สมมุติว่าโปรตุเกสใช้คำว่า chapinha (จะปินญา) ในความหมายดั้งเดิมของเขาว่า แผ่นเหล็กเล็กๆ ( ซึ่งจะใช้ทำอะไรก็ได้)   พอมาเห็นเด็กสยามคาดจับปิ้ง  เลยเรียกว่า  อ้อ  เด็กหญิงชาวสยามคาดจะปินญา   คนไทยเลยเรียกตามว่าจับปิ้ง  
แล้วถ้างั้น ก่อนบาทหลวงจะเรียก   ชาวบ้านสยามเขาเรียกอะไรล่ะคะ    เมื่อมันมีวัตถุขึ้นมาแล้ว มันก็น่าจะมีชื่อเรียกมาก่อนหน้านี้ด้วย    ไม่ต้องรอฝรั่งตั้งให้ก่อน
อีกอย่าง จับปิ้งไทยไม่ได้ทำด้วยเหล็ก   เด็กชาวบ้านใช้กะลามะพร้าวเจาะรูร้อยเชือกคาดเอว    ถ้าเป็นคนมีเงินอาจใช้โลหะ  เช่นเงิน   แต่ก็ไม่ใช่เหล็กแน่นอน    เหล็กเป็นของหายากสำหรับชาวสยาม 


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: Bidya Sriwattansarn ที่ 21 พ.ค. 11, 14:27
จดหมายเหตุที่ลาลูแบร์ กล่าวถึง
ผมเคยอธิบายไว้ว่า คำว่า "(วัด)ตึก" น่าจะพัฒนามาจากรากศัพท์ภาษาโปรตุเกสว่า " เฝ- ต๊อ- ริ -ยา feitoria" แปลว่า โรงสินค้า (โดยต่อยอดจากงานเขียนของลาลูแบร์ ฉบับแปลของ อ.สันต์ ท. โกมลบุตร ดูเพิ่มเติมใน สยามโปรตุเกสศึกษาครับ)  ฉบับที่นำมาอ้างนี้น่าจะแปลคลาดเคลื่อนไปบ้าง จนทำให้เกิด "นายแฟกเตอร์" ซึ่งน่าจะไม่เคยมีตัวตนขึ้นมา กล่าวคือการก่อสร้างอาคารแบบก่ออิฐถือปูนในสยาม น่าจะเป็นพัฒนาการที่มาจากรูปแบบของโรงสินค้าของโปรตุเกสนั่นเอง ซึ่งสอดคล้องกับร่องรอยที่ปรากฏในบันทึกของชิมอง เดอ ลาลูแบร์ ;D


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: Bidya Sriwattansarn ที่ 21 พ.ค. 11, 14:59
คำว่า chapinha ในภาษาโปรตุเกส แปลตามตัวว่า flat iron หรือแผ่นเหล็กแบน    เครื่องเหยียดผม ที่เรียกว่า chapinha เพิ่งคิดค้นขึ้นมาเมื่อค.ศ. 1882 นี้เอง
คำว่า chapinha  ถ้ามีในภาษาโปรตุเกสก่อนหน้านี้  ก็แสดงว่าเป็นแผ่นเหล็กแบนที่ใช้ในเรื่องอื่น  วัตถุประสงค์อื่น   ไม่ใช่เอาไว้หนีบผมให้เหยียดตรง

เด็กโปรตุเกสไม่ใช้จับปิ้งแน่นอน  สภาพอากาศทำให้ไม่ควรคาดอะไรให้เกะกะร่างกาย  เพราะสวมเสื้อผ้าก็รุ่มร่ามมิดชิดพออยู่แล้ว

แต่ถ้าอาจารย์พิทยะและบาทหลวงหมายถึงว่า  ในภาษาโปรตุเกสมีตำว่า chapinha  ซึ่งฟังสำเนียงคล้ายๆจับปิ้ง   จึงอาจเป็นได้ว่าศัพท์"จับปิ้ง" มาจากภาษาโปรตุเกส  แต่แปลว่าอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่จับปิ้ง
สมมุติว่าโปรตุเกสใช้คำว่า chapinha (จะปินญา) ในความหมายดั้งเดิมของเขาว่า แผ่นเหล็กเล็กๆ ( ซึ่งจะใช้ทำอะไรก็ได้)   พอมาเห็นเด็กสยามคาดจับปิ้ง  เลยเรียกว่า  อ้อ  เด็กหญิงชาวสยามคาดจะปินญา   คนไทยเลยเรียกตามว่าจับปิ้ง  
แล้วถ้างั้น ก่อนบาทหลวงจะเรียก   ชาวบ้านสยามเขาเรียกอะไรล่ะคะ    เมื่อมันมีวัตถุขึ้นมาแล้ว มันก็น่าจะมีชื่อเรียกมาก่อนหน้านี้ด้วย    ไม่ต้องรอฝรั่งตั้งให้ก่อน
อีกอย่าง จับปิ้งไทยไม่ได้ทำด้วยเหล็ก   เด็กชาวบ้านใช้กะลามะพร้าวเจาะรูร้อยเชือกคาดเอว    ถ้าเป็นคนมีเงินอาจใช้โลหะ  เช่นเงิน   แต่ก็ไม่ใช่เหล็กแน่นอน    เหล็กเป็นของหายากสำหรับชาวสยาม 
บางทีวิเคราะห์และตีความเกินหลักฐาน มันสนุกก็จริง แต่ก็ชวนให้ปวดศีรษะเหมือนกันนะครับ เฮ้อ ... ;)


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 11, 15:34
ขอต้อนรับสู่เรือนไทยค่ะ
ถ้าอาจารย์นั่งในเรือนไทยไปสักพัก  สมองจะเกิดภูมิคุ้มกันเองค่ะ จากนั้นก็จะสนุกไปเอง


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 พ.ค. 11, 18:45
^
^
^
โปรตุเกสเข้าเมืองมาแล้ววว


ด้วยความเคารพครับ ท่านอาจารย์ Bidya Sriwattansarn


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 21 พ.ค. 11, 19:16
ด้วยความเคารพครับ เรื่องเหล่านี้เคยอ่านผ่านๆ แต่จำไม่ได้แล้วว่ามาจากไหนกันแน่  :'(

เหมือนกับ กิีรดังได้ยินมาว่า จับปิ้งในภาษาโปรตุเกส คำที่ออกเสียงคล้ายๆกันนี้ แปลว่า แผ่นเหล็กที่ใช้ปิดรูกุญแจครับ

อีกคำหนึ่ง ที่ กิรดังได้ิยินมาเช่นกัน คือ หลวงโกชาอิศหาก ที่อาจารย์เทาชมพูพูดถึงไปนานแล้วนั้น คำว่า อิศหาก มาจากชื่อบุคคลในพระคัมภีร์ คือ อิสอัค หรือ Isaac (อย่างไอแซค นิวตัน) แต่เป็นสำเนียงอาหรับ จะอ่านว่า อิศหากครับ

คิดว่าราชทินนาม โกชาอิศหากนี้ น่าจะเป็นของมุสลิมมะห์มากกว่าพวกล่ามโปรตุเกศที่เป็นคริสเตียนครับ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 11, 21:56
ดิฉันจำสับกันระหว่างล่ามโปรตุเกสกับล่ามมลายู    ขออภัยด้วย  คุณกุรุกุลาท้วงถูกแล้วค่ะ
เคยเขียนเป็นบทความในเรือนไทยว่า

" เมื่อตั้งกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ คนไทยเชื้อสายโปรตุเกสอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่แถวตำบลกุฎีจีน ตำบลสามเสน ออกเสียงเรียกอย่างชาวบ้านว่า "ฝรั่งกฎีจีน" หรือ "ฝรั่งกระดีจีน" พวกนี้พอจะเรียนรู้ภาษาโปรตุเกสบ้างตามที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ จึงมักรับราชการในตำแหน่งที่เรียกว่า "ล่ามฝรั่ง" อยู่ในกรมท่า มีอัตราอยู่ 5 คน หัวหน้ามีราชทินนามเป็นขุนเทพวาจา รับเบี้ยหวัดปีละ 7 ตำลึง หน้าที่การงานมีน้อยมาก เพราะไทยติดต่อกับโปรตุเกสก็แต่เฉพาะการค้าขายที่เมืองมาเก๊า นานๆเจ้าเมืองจะมีหนังสือมาสักครั้งหนึ่ง

ส่วนการติดต่อค้าขายกับอังกฤษเริ่มมีขึ้นมาบ้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ไม่มีล่ามไทยคนไหนพูดอังกฤษได้ นายเรืออังกฤษจึงต้องอาศัยแขกมลายูเป็นล่าม ดังนั้นการติดต่อค้าขายระหว่างรัฐบาลไทยกับเรือสินค้าอังกฤษก็ดี หรือการติดต่อทางราชการกับอังกฤษที่เกาะหมาก และสิงคโปร์ก็ดี ต้องใช้ภาษามลายูล้วนๆ

ในปลายรัชกาลที่ 3 ไวศ์รอยหรือผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดีย มีบัญชาให้นายจอห์น ครอฟอร์ด เป็นทูตมาเจรจาติดต่อกับประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2364 ก็ต้องอาศัยภาษามลายูเป็นพื้นฐานการติดต่อ ปรากฏในจดหมายเหตุของครอฟอร์ด ฟังดูก็ค่อนข้างทุลักทุเล คือทูตอังกฤษเริ่มต้นด้วยการพูดภาษาอังกฤษแก่ล่ามมลายูที่พามาด้วย ล่ามแปลคำพูดจากอังกฤษเป็นภาษามลายูให้ล่ามไทยที่รู้ภาษามลายูชื่อหลวงโกชาอิศหากฟัง แล้วหลวงโกชาอิศหากจึงแปลจากภาษามลายูเป็นภาษาไทยให้เจ้าพระยาพระคลังรับทราบอีกทีหนึ่ง เมื่อเจ้าพระยาพระคลังจะตอบว่าอะไร ก็ต้องแปลย้อนกลับเป็นลำดับจากไทย มลายู และอังกฤษ กลับไปเป็นทอดๆอีกที


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: Bidya Sriwattansarn ที่ 30 พ.ค. 11, 13:42
ขอต้อนรับสู่เรือนไทยค่ะ
ถ้าอาจารย์นั่งในเรือนไทยไปสักพัก  สมองจะเกิดภูมิคุ้มกันเองค่ะ จากนั้นก็จะสนุกไปเอง
ขอบคุณครับ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 11, 13:44
อ้าว อาจารย์กลับมาแล้ว
มีเรื่องโปรตุเกสจะเล่าสู่กันฟังกับชาวเรือนไทยอีกไหมคะ   กระทู้นี้ยังไม่จำเป็นต้องจบ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: Bidya Sriwattansarn ที่ 30 พ.ค. 11, 13:48
^
^
^
โปรตุเกสเข้าเมืองมาแล้ววว


ด้วยความเคารพครับ ท่านอาจารย์ Bidya Sriwattansarn
8) สนุกดีครับว่างๆผมจะแวะมาเสวนาเพื่อความระมัดระวังในการอ้างอิงงานของผมบางส่วนครับ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มิ.ย. 11, 17:24
ดึงกระทู้นี้ขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากได้อ่านหนังสือ สามนคร ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  ท่านพูดถึงอิทธิพลของดัทช์หรือฮอลันดาในสมัยอยุธยาเอาไว้ และเอ่ยถึงโปรตุเกสอีกนิดหน่อย
จึงคิดว่าควรจะเก็บมาบันทึกไว้ในกระทู้นี้

ท่านเล่าอย่างที่พวกเราคุยกันมาในกระทู้นี้ละค่ะ   ว่าอยุธยาเริ่มติดต่อกับตะวันตก  เมื่อพระมหากษัตริย์แห่งอยุธยาทรงรับทูตโปรตุเกสที่ยึดมะละกาเอาไว้ได้     ตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อค.ศ.  1518  ไทยก็แสดงความใจกว้างรับรองชาวตะวันตกอย่างเต็มใจ   นอกจากติดต่อค้าขายด้วยก็ยังอนุญาตให้เผยแพร่ศาสนาได้  ไม่รังเกียจเดียดฉันท์
จากโปรตุเกส  ฮอลันดาก็เข้ามาหลังค.ศ. 1600 เล็กน้อย    แต่สองชาติคือโปรตุเกสกับฮอลันดานี้คบหากับไทยต่างกัน   ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าว่าฮอลันดาก้าวร้าว  ผิดกับโปรตุเกสที่สามารถทำตัวคลุกคลีปะปนกับชาวบ้านได้อย่างสนิท  จนชาวอยุธยาไม่รู้สึกว่าผลประโยชน์ของโปรตุเกสเป็นผลประโยชน์ของคนต่างชาติ
ส่วนฮอลันดานั้นหนักไปทางแผ่อิทธิพล  จนอยุธยารู้สึกว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคง    จนสมเด็จพระนารายณ์หันไปคบฝรั่งเศส  เพื่อถ่วงดุลย์อำนาจของฮอลันดา  แต่ฝรั่งเศสก็หวังผลตอบแทนที่พระองค์ให้ไม่ได้ คือหวังว่าพระเจ้าแผ่นดินไทยจะหันไปนับถือคริสตศาสนา
ด้วยเหตุนี้ปลายรัชสมัย พระเพทราชาก็ปราบปรามอิทธิพลฝรั่งเศสให้สิ้นซากในอยุธยา      ปิดอาณาจักรจากฝรั่งนับแต่นั้น  แต่ว่าโปรตุเกสซึ่งมาตั้งหลักแหล่งอยู่ยาวนาน และไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อความมั่นคง ก็ได้รับอนุญาตให้อยู่ในอยุธยา มีลูกมีหลานเป็นคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสกันต่อมา จนสิ้นสุดอาณาจักรเมื่อพ.ศ. 2310

จบ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: Bidya Sriwattansarn ที่ 23 มิ.ย. 11, 18:27
พิทยะ
ผมน้อมรับในคำวิจารณ์ข้างต้นครับ และได้ตรวจสอบจากทูตวัฒนธรรมโปรตุเกสและแล้วปรากฏว่าในช่วงอายุของเธอก็ไม่รู้จักจับปิ้ง

ได้เขียนไปถามเว็บไซต์คุณแม่(www.mum.org)ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า ไม่รู้จักเช่นกัน ดังนั้นในเบื้องต้นนี้ผมจึงต้องยอมรับตามข้อเสนอของทั้งสองท่านโดยดุษณี  ด้วยความขอบคุณครับผม อนึ่ง ในการเสวนาทางวิชาการเรื่อง Spice, trade and sacred ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 21 มิย. 54 ผมก็ได้อ้างถึงข้อถกเถียงนี้ในhttp://www.reurnthai.comด้วยความชื่นชมเช่นเดียวกัน
ขอแสดงความนับถือ
พิทยะ ศรีวัฒนสาร


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มิ.ย. 11, 18:41
อ้างถึง
ในการเสวนาทางวิชาการเรื่อง Spice, trade and sacred ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 21 มิย. 54

อาจารย์จะกรุณาเล่าย่อๆได้ไหมว่าเสวนาเรื่องนี้พูดถึงโปรตุเกสว่าอย่างไรบ้างคะ  สำหรับท่านที่สนใจแต่ไม่มีโอกาสไปฟัง
หรือจะนำเอกสารประกอบมาลง ก็ยินดี ค่ะ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: Bidya Sriwattansarn ที่ 01 ก.ค. 11, 16:55
ขอความกรุณาอ่านใน เว็บ http://siamportuguesestudy.blogspot.com ชื่อบทความ Seafaring, Spice route, Sacred Christ  ครับ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: คริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่ 07 ก.ย. 13, 14:32
ชอบจังเลยครับเรื่องประเภทนี้


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 13, 18:29
เอารูปเด็กไทยใส่จับปิ้งมาให้ดูเล่นน่ารักๆเฉยๆ

เครื่องแต่งกายชิ้นน้อยนี้เกือบกลายเป็นโปรตุเกสนำมาเผยแพร่อย่างเป็นทางวิชาการซะแล้ว


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ย. 13, 18:43
สาวๆ อย่าเผลอคิดว่าเป็นสร้อยคอเข้าล่ะ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.ย. 13, 21:04
เห็นภาพแล้วทำให้ย้อนนึกขึ้นได้ว่า ตัวเองเคยซื้อเก็บสะสมไว้อันหนึ่ง นานมาแล้ว เป็นเงินผสม

ก็ด้วยสนใจในวิธี (จะเรียกว่าเทคโนโลยีก็น่าจะพอได้) การร้อยห่วงจนเป็นแผงที่มีน้ำหนักทิ้งตัว และพริ้วเหมือนผ้า ไม่มีโอกาสติดหรือพันกันเป็นก้อนเลย


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ย. 13, 21:31
ไม่ทราบว่าช่างที่ดีไซน์จับปิ้งเป็นใคร  แต่ว่าออกแบบได้คลาสสิคจริงๆ 
ภาพที่นำมาลงข้างล่างนี้เป็นสร้อยคอสั้นติดคอของสตรี เรียกว่า choker  มีหลายแบบ  จะเห็นได้ว่าบางแบบเหมือนจับปิ้งของเราเลย


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.ย. 13, 22:04
จับปิ้ง หรือ ตะปิ้ง ?


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ย. 13, 22:08
พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ให้เรียกได้ทั้งจับปิ้ง   กระจับปิ้ง จะปิ้ง ตะปิ้ง หรือ ตับปิ้ง  ก็ได้ค่ะ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: mutita ที่ 24 ต.ค. 13, 18:06
ขอบพระคุณทุกๆท่านสำหรับความรู้มากมาย ความรู้ไม่มีให้เจรจาขอนำภาพมาให้ชมแล้วกันนะค๊ะ ถ้าไม่ผิดธรรมเนียม

โบสถ์ในเมืองเล็กๆระหว่างทางกลับบ้านค่ะ

(https://fbcdn-sphotos-c-a.akamaihd.net/hphotos-ak-frc3/992853_679775398704335_31912955_n.jpg)


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: mutita ที่ 24 ต.ค. 13, 18:10
เด็กๆเต้นรำสนุกสนานช่วงเทศกาลในเมืองเล็กๆ แต่ละเมืองการแต่งกายผิดแปลกจากกันไปบ้าง ไม่เหมือนกันจนหมดซะทีเดียว

(https://fbcdn-sphotos-b-a.akamaihd.net/hphotos-ak-ash4/1006166_678527808829094_1900538460_n.jpg)

ไม่ทราบว่าควรโพสภาพไว้ที่กระทู้ไหน จึงจะสมควรคะคุณเทาชมพู (เพื่อความเหมาะสม นัทรอคำตอบก่อน แล้วค่อยโพสรูปภาพในโปรตุเกสน่าจะเหมาะกว่า)


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ต.ค. 13, 18:12
อ้าวอยู่ยูเคน่ะหรือ ระวังคนไทยขับแทกซี่ป้ายดำอ้างตนเป็นเจ้าเขมรนะครับ องค์ชายอะไรไม่รู้ชื่อจำยากชะมัด หากินอยู่แถวๆนั้นแหละ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: mutita ที่ 24 ต.ค. 13, 18:28
เมื่อก่อนค่ะ แต่ตอนนี้ย้ายมาเป็นชาวไร่ ชาวสวนอยู่บ้านนอกในโปรตุเกสได้แปดเก้าเดือนแล้วค่ะคุณNAVARAT.C


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ต.ค. 13, 19:27
เฮอออ โล่งใจ แทกซี่ป้ายดำคงไปไม่ถึงที่นั่น


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 24 ต.ค. 13, 20:14
ดูจากลายน้ำในรูปผมก็เข้าใจว่าคุณมุทิตาแกอยู่ UK เหมือนกันเลย แถว UK มีจอมลวงโลกอยู่คน โม้ว่าเป็นนักเรียนนอกมั่ง เจ้าชายประเทศอะไรซักอย่างมั่ง ปลอมตัวขับ taxi ตามหารักแท้มั่ง ต้องระวังมากๆ เชียวครับ คนนี้เค้าหลอกเก่งมาก   :P  :P  :P


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: mutita ที่ 24 ต.ค. 13, 20:27
ใครหนอ ???


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ต.ค. 13, 20:45
แถว UK มีจอมลวงโลกอยู่คน โม้ว่าเป็นนักเรียนนอกมั่ง เจ้าชายประเทศอะไรซักอย่างมั่ง ปลอมตัวขับ taxi ตามหารักแท้มั่ง ต้องระวังมากๆ เชียวครับ คนนี้เค้าหลอกเก่งมาก   :P  :P  :P

คุณชายรุศฑ์ษมาศร์

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม16.png)           


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: mutita ที่ 24 ต.ค. 13, 20:46
ขออนุญาติไปเซิร์ทถามอากู๋ก่อนค่ะ ไม่รู้จักจริงๆ อำแน่ๆเลย


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: mutita ที่ 24 ต.ค. 13, 20:55
 ;D
ที่แท้ก็ท่านชายประกอบเทพนี่เอง(ทราบมาว่าคุณประกอบชื่อจริงคือ คุณชาย รุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์)
http://www.reurnthai.com/index.php?action=printpage;topic=5609.0  ต้องขอบคุณ คุณเพ็ญชมพู มากๆค่ะ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ต.ค. 13, 21:02
ท่านชายประกอบเทพ หรือ คุณชาย รุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์ ฯลฯ อะไรทำนองนี้ ฯลฯ จัดอยู่ในคิวที่จะต้องโดนชำแหละเหมือนท่านหญิงในกระทู้ข้างๆด้วยเหมือนกัน


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ต.ค. 13, 21:04
แถว UK มีจอมลวงโลกอยู่คน โม้ว่าเป็นนักเรียนนอกมั่ง เจ้าชายประเทศอะไรซักอย่างมั่ง ปลอมตัวขับ taxi ตามหารักแท้มั่ง ต้องระวังมากๆ เชียวครับ คนนี้เค้าหลอกเก่งมาก   :P  :P  :P

คุณชายรุศฑ์ษมาศร์

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม16.png)           

ส่วนคุณเพ็ญชมพูเนี่ย ของจริงค่ะ ประทับตรารับรอง


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: mutita ที่ 24 ต.ค. 13, 21:07
(https://fbcdn-sphotos-a-a.akamaihd.net/hphotos-ak-ash3/400669_661027933912415_2050453262_n.jpg)

บ้านร้างหลังนี้สวยมากๆ สวยจนต้องลงไปยืนเกาะรั้วยืนชื่นชม

กำลังจะสอบถามคุณNAVARAT.C ว่าท่านหญิงที่ไหนอีก พอดีคุณเทาชมพูเฉลยให้ ตามไม่ทันเลยจริงๆค่ะ ;D


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ต.ค. 13, 21:08
ครั้งหนึ่งบ้านนี้คงสวยมาก   แต่ในสภาพที่เป็นอยู่ ตอนค่ำๆดิฉันไม่เดินเฉียดนะคะ


กระทู้: โปรตุเกสเข้าเมือง
เริ่มกระทู้โดย: mutita ที่ 24 ต.ค. 13, 21:10
คิดเหมือนกันเลยค่ะ สวยมากๆ แต่ถ้าให้อยู่ตอนกลางคืน ก็ไม่กล้าเหมือนกันค่ะ