เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: หยดน้ำ ที่ 29 ก.ค. 05, 18:03



กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 29 ก.ค. 05, 18:03
 ขออนุญาตเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระมเหสีเทวีนะครับ  ถ้ามีจุดไหนบกพร่องก็ช่วยชี้แนะด้วยครับผม

หากเราพูดถึงราชสำนักฝ่ายในในอดีต สิ่งแรกที่หลายๆ คนนึกถึงคงจะไม่พ้นเรื่องราวของเหล่าพระมเหสีเทวี ราชนารีผู้ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งสตรีชั้นสูงกลุ่มนี้นับได้ว่ามีบทบาทสำคัญในราชสำนักมากกลุ่มหนึ่ง เพราะพระมเหสีเทวีนั้นนอกจากจะมีพระราชโอรสเป็นหลักในการสืบราชสันตติวงศ์แล้ว ยังเป็นผู้ถวายงานรับใช้ใกล้ชิดองค์พระมหากษัตริย์ และในบางครั้งก็ยังมีโอกาสได้ช่วยแบ่งเบาพระราชภาระในทางการบ้านการเมืองอีก


พระมเหสีเทวี ตามความหมายที่เราเข้าใจกันโดยทั่วไปก็คือ พระภรรยาของพระมหากษัตริย์ที่มีพระยศตั้งแต่เจ้าฟ้าลงไปจนถึงหม่อมเจ้า หรือที่ในกฎมณเฑียรบาลเรียกว่า “พระภรรยาเจ้า” แต่ในความเป็นจริงแล้วพระภรรยาเจ้าบางพระองค์อาจจะไม่ได้ทรงเป็น “พระมเหสีเทวี” ก็ได้ หนังสือพระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5 ของนายแพทย์จิรวัฒน์ อุตตมะกุล ได้ให้ความหมายของพระมเหสีเทวีไว้ว่า “พระฐานันดรศักดิ์” หรือ “ตำแหน่ง” ของพระภรรยาเจ้า ซึ่งผมเห็นว่าความหมายนี้ชัดเจนทีเดียวหากกล่าวถึงพระมเหสีเทวีตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 4 เป็นต้นไป แต่หากเป็นช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 - 3 นั้น คงจะใช้ไม่ได้ เพราะในช่วงนั้นยังไม่ได้มีการแต่งตั้งหรือกำหนดตำแหน่งพระมเหสีเทวีอย่างเป็นทางการ เป็นแต่เพียงเข้าใจกันว่าทรงเป็นพระอัครมเหสี หรือพระมเหสี เท่านั้น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้คำจำกัดความของ “พระมเหสีเทวี” ไว้ในธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยามว่า “เมียหลวงของนายหลวง” มาถึงตรงนี้ก็อาจมีคนเข้าใจได้ว่าเมียหลวงของพระเจ้าแผ่นดินนั้น คือ “พระอัครมเหสี” แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะรัชกาลที่ 5 ยังได้ทรงอธิบายถึงความหมายของเมียหลวงไว้ด้วย

“...ตามลัทธิฝ่ายเรา พวกมีเมียมากที่ถือลูกเมียหลวงเมียน้อย ถือว่าเจ้านายองค์ใดมีพระราชโอรสพระราชธิดา ด้วยพระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าฟ้าก็ถือว่า เจ้าฟ้านั้นเป็นลูกเมียหลวง พระองค์เจ้าเป็นลูกเมียน้อย แม่ของลูกเมียหลวงก็ต้องเป็นเมียหลวงอยู่เอง...”

ซึ่งจากคำอธิบายนี้ก็พอจะสรุปได้ว่า “พระมเหสีเทวี” นั้น คือ พระภรรยาเจ้าของพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชโอรสธิดาเป็น “ เจ้าฟ้า” (เมียหลวง)แต่หากพระภรรยาเจ้าองค์ใดมีพระราชโอรสธิดาเป็น “พระองค์เจ้า” (เมียน้อย)แล้ว ก็ไม่ถือว่าทรงเป็นพระมเหสีเทวี ซึ่งพระภรรยาเจ้าที่จะทรงมีพระราชโอรสธิดาเป็น "เจ้าฟ้า" ได้นั้น ต้องดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หรือหม่อมเจ้าที่ยกขึ้นเป็นพระองค์เจ้าเท่านั้น  สำหรับหม่อมเจ้านั้นแม้จะทรงเป็นพระภรรยาเจ้า  แต่หากมีพระราชโอรสธิดาก็จะอยู่ในชั้น  "พระองค์เจ้า"  จึงไม่นับว่าทรงเป็นพระมเหสีเทวี

แล้วจะมาเล่าต่อนะครับผม


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 30 ก.ค. 05, 16:25

มาเล่าต่อครับผม

ตัวอย่างความแตกต่างระหว่างพระมเหสีเทวี  และพระภรรยาเจ้า  เช่น

สมเด็จพระนางเธอ  พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์  พระนามเดิมว่าหม่อมเจ้าหญิงรำเพย  ทรงเป็นพระอัครมเหสีในรัชกาลที่  4  พระราชโอรสธิดาที่ประสูติจากพระนางมีพระยศเป็น  "เจ้าฟ้า"  อาทิ  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์  ฯลฯ

ในขณะที่หม่อมเจ้าหญิงพรรณาราย  พระขนิษฐาของสมเด็จพระนางเธอ  พระองค์เจ้ารำเพยฯ  ทรงมีฐานะเป็นพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่  4  เพราะพระราชโอรสธิดาที่ประสูติจากท่านนั้นเป็น  "พระองค์เจ้า"  อาทิ  พระเจ้าลูกเธอ  พระองค์เจ้าจิตรเจริญ

ซึ่งที่ผมบอกว่า  พระมเหสีเทวี  คือ  เมียหลวงของพระเจ้าแผ่นดิน  และเมียหลวงของพระเจ้าแผ่นดินต้องมีลูกเป็น  "เจ้าฟ้า"  นั้น  อาจจะมีคนสงสัยและแปลกใจว่า  ถ้าเช่นนั้นพระเจ้าแผ่นดินก็ต้องทรงมีเมียหลวงหลายคนน่ะสิ  ไม่น่าเป็นไปได้  แต่จริงๆ  แล้ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆครับ  ดังที่รัชกาลที่  5  ทรงอธิบายว่า  

"...เจ้าฟ้านั้นเป็นลูกเมียหลวง พระองค์เจ้าเป็นลูกเมียน้อย แม่ของลูกเมียหลวงก็ต้องเป็นเมียหลวงอยู่เอง  ขุนนางก็เหมือนกันมีเมียหลวงกี่คน  ลูกก็เป็นลูกเมียหลวง  เมียก็เป็นเมียหลวง  จะมีกี่คนๆ  ก็ได้ไม่กำหนด..."

สำหรับตำแหน่งพระอัครมเหสี  ที่หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นตำแหน่งสำหรับเมียหลวงของพระเจ้าแผ่นดินนั้น  ก็คงจะไม่ใช่อย่างนั้นซะทีเดียว  เพราะพระมเหสีเทวีทุกองค์ก็อยู่ในฐานะ  "เมียหลวง"  จะต่างกันก็ตรงที่ว่า  "พระอัครมเหสี"  ทรงเป็นใหญ่กว่ามเหสีทั้งปวง  หรือจะเรียกว่าเป็น  "เมียเอก"   ก็คงจะไม่ผิดครับ

(ภาพพระสัมพันธวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าพรรณาราย)


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 01 ส.ค. 05, 17:45
 ย้อนกลับไปในสมัยโบราณ  นับตั้งแต่สุโขทัยจนถึงสมัยรัชกาลที่  3  ไม่เคยปรากฎว่ามีการแต่งตั้ง  สถาปนา  หรืออภิเษกพระมเหสีเทวีแต่อย่างใด  ไม่มีการกำหนดพระฐานันดรศักดิ์  หรือพระอิสริยยศให้กับตำแหน่งพระมเหสีเทวี  เป็นแต่เพียงเข้าใจกันว่าพระองค์ใดเป็นพระมเหสี  ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม  เขียนไว้ว่า

"...แต่พระมเหสีนั้นจะเป็นขึ้นเมื่อไรก็ไม่รู้  เป็นแต่จะเรียกเมื่อไหร่ก็เรียกไม่เห็นมีการตั้งแต่งจนสักครั้งเดียว..."

"...แต่บางทีคนคนเดียวนั้นลางทีก็เรียกว่าพระมเหสี  ลางทีเรียกว่าพระอัครชายา  ลางทีเรียกว่าพระราชเทวี  ไม่รู้ว่าอย่างไรจะเป็นยศสูงกว่ากัน  อย่างไรจะเป็นยศแน่เพราะไม่ได้จาฤกสุพรรณบัฏ  ตั้งพระอัครมเหสีสักครั้งหนึ่ง..."

พระมเหสีเทวีนั้นไม่ว่าเดิมจะทรงเป็นเจ้าฟ้า  พระองค์เจ้า  หรือสามัญชนยกขึ้นเป็นเจ้า  เมื่อเป็นพระมเหสีแล้วก็ยังคงเรียกอยู่เช่นนั้น  เช่น  เจ้าฟ้าสังวาลย์  พระมเหสีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  เดิมทรงเป็น  "เจ้าฟ้า"  เมื่อเป็น"  พระมเหสี"  แล้วก็ยังคงรียกว่า  "เจ้าฟ้า"  อยู่

แต่ในช่วงปลายสมัยอยุธยามีการสถาปนาพระมเหสีให้ทรงกรม  เป็นที่  "กรมหลวง"  ต่อมาจึงมีผู้เข้าใจว่า  "กรมหลวง"  นี้  เป็นยศสำหรับพระมเหสี  เช่น

ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา  ทรงได้พระขนิษฐา  และพระราชธิดาของสมเด็จพระนารายณ์เป็นพระมเหสี  ได้แก่  กรมหลวงโยธาทิพ  เป็นเมหสีฝ่ายขวา  และกรมหลวงโยธาเทพ  เป็นมเหสีฝ่ายซ้าย  แต่ทั้ง  2  พระองค์นี้  เป็น  "กรมหลวง"  มาตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์  เมื่อมาเป็นพระมเหสีสมเด็จพระเพทราชาก็ยังทรงเป็น  "กรมหลวง"  อยู่

ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  เมื่อทรงชิงราชสมบัติมาได้แล้ว  ทรงสถาปนาหม่อมห้ามเดิมของท่าน  2  คน  ขึ้นเป็นพระมเหสี  และทรงกรมเป็นที่  "กรมหลวง"   ได้แก่  กรมหลวงอภัยนุชิต  เป็นพระอัครมเหสี  กรมหลวงพิพิธมนตรี  เป็นพระราชมเหสี  แม้กระทั่งในสมัยธนบุรี  สมเด็จพระเจ้าตากสิน  ก็ทรงสถาปนา  "ภรรยาเอก"  เดิม  ขึ้นเป็น  "กรมหลวงบาทบริจาริกา"  ที่ตำแหน่งพระอัครมเหสี


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 02 ส.ค. 05, 12:01
 อย่างไรก็ตามแม้ในสมัยอยุธยาจะไม่มีการสถาปนาพระอิสริยยศสำหรับพระมเหสีเทวีอย่างเป็นทางการ  แต่ในกฎมณเฑียรบาลก็ได้มีการกล่าวถึงตำแหน่งของพระมเหสีเทวีไว้โดยแบ่งเป็นลำดับชั้นดังนี้

พระอัครมเหสี
แม่อยั่วเมือง
พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง
พระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง

(สำหรับตำแหน่งแม่หยั่วเมือง  มีผู้ถูกตีความออกเป็น  2  ความหมาย  คือ  ตำแหน่งพระสนมเอก  และตำแหน่งพระอัครชายา  ซึ่งผมสันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึงพระอัครชายามากกว่า  เพราะตำแหน่งพระสนมเอกนั้น  มียศปรากฎอยู่แล้ว  เช่น  ท้าวศรีสุดาจันทร์  ท้าวศรีจุฬาลักษณ์  เป็นต้น)

ในระยะแรกของสมัยอยุธยาตำแหน่งพระมเหสีเทวีของพระเจ้าแผ่นดินก็คงปรากฎให้เห็น  และเรียกตามกฎมณเฑียรบาล  แต่อยู่มาพระเจ้าแผ่นดิน  ไม่ใคร่จะมีพระอัครมเหสี  ที่จะยกย่องเหลือเกินกว่ากัน(ธรรมเนียมราชตระกูลฯ  :  รัชกาลที่  5)  ลำดับชั้นของตำแหน่งพระมเหสีเทวีจึงเปลี่ยนแปลงไปดังนี้  

พระมเหสี  (ถ้ามีพระมเหสีหลายองค์  พระองค์ใดเป็นใหญ่กว่าบางทีก็จะเรียกว่า  "พระเสาวนีย์"  หมายถึง  พระอัครมเหสี)
พระอัครชายา
แม่อยั่วเมือง  (บางรัชกาลก็มียศสูงกว่าพระอัครชายา)
พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง
พระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง

(มาถึงตรงนี้ผมสันนิษฐานว่าตำแหน่งแม่อยั่วเมือง  ตามพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่  5  น่าจะเป็นคนละตำแหน่งกับพระอัครชายา  และมียศต่ำกว่า  อย่างไรก็ตามความเป็นไปได้ที่ตำแหน่งนี้จะหมายถึงพระสนมเอกนั้นยังไม่ปรากฎ

ตำแหน่งพระมเหสีเทวี  ในช่วงปลายสมัยอยุธยา  พอจะสรุปได้ดังนี้ครับ

พระอัครมเหสีใหญ่  (พระมเหสีกลาง)
พระราชมเหสีฝ่ายขวา  (บางรัชกาลก็ถือว่าตำแหน่งนี้เป็นพระมเหสีใหญ่)
พระราชมเหสีฝ่ายซ้าย
  3  ตำแหน่งข้างบนนี้  เรียกรวมๆ  ว่าเป็นชั้น  "พระมเหสี"
พระราชเทวี
พระอัครชายา
พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง
พระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง

สำหรับในปลายสมัยนี้  แม้พระมเหสีเทวีบางพระองค์  จะได้รับการสถาปนาให้ทรงกรมเป็น  "กรมหลวง"  ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องแน่นอน  ตามแต่พระราชวินิจฉัยของแต่ละรัชกาล  และ  "กรมหลวง"  นี้ก็ไม่ได้เป็นพระยศเฉพาะสำหรับ  "พระมเหสีเทวี"  เท่านั้น  สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ  ลูกเธอ  ก็เป็นได้  เพียงแต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า  "กรมหลวง"  ในสมัยอยุธยานี้  มีแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่ได้

ผมขอจบเรื่องเกี่ยวกับพระมเหสีเทวีในสมัยอยุธยาไว้แต่เพียงเท่านี้ครับ  ที่ผมนำมากล่าวถึงนี้ก็เพื่อที่จะให้ทุกๆ ท่านมองเห็นภาพของวิวัฒนาการของตำแหน่งพระมเหสีเทวีได้อย่างเข้าใจ  อีกอย่างธรรมเนียมราชประเพณีในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ได้รับอิทธิพลมาจากสมัยอยุธยา  จึงได้ปูพื้นให้เข้าใจก่อนครับ


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 02 ส.ค. 05, 12:06
 ขอบคุณ คุณหยดน้ำมากครับ
กำลังจะเข้ามาโพสถามว่า ไม่โพสต่อแล้วเหรอครับ พอดีเจอที่คุณโพส เลยได้อ่าน ขอบคุณมากๆครับ มาเล่าบ่อยๆนะครับ


ปล. ถ้าขอรายชื่อหนังสืออ้างอิงได้ก็ดีครับ


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 05, 13:41
 ขอบคุณคุณหยดน้ำเช่นเดียวกันค่ะ
หวังว่าคงมีเรื่องอื่นๆ
มาโพสต์ให้ความรู้แก่เรือนไทยอีก  


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 03 ส.ค. 05, 08:18
 ขอบคุณคุณติบอ  กับคุณเทาชมพู  มากครับ  ที่ติดตามอ่าน  เป็นกำลังใจให้ผมมากเลยครับ

หลังจากที่ผมได้ย้อนให้เห็นพัฒนาการของตำแหน่งพระมเหสีเทวีในสมัยอยุธยาและธนบุรีมากันบ้างแล้ว  ทีนี้ผมก็จะกลับมากล่าวถึงตำแหน่งพระมเหสีเทวี  ในสมัยรัตนโกสินทร์  ตามหัวข้อของกระทู้ที่ผมตั้งไว้ครับ

สำหรับตำแหน่งพระมเหสีเทวี  ในสมัยรัตนโกสินทร์  นี้  ผมขอแบ่งออกเป็น  3  ระยะด้วยกัน
ระยะแรก  (รัชกาลที่  1 - 3)  เป็นระยะที่ยังยึดถือธรรมเนียมตามอย่างในสมัยอยุธยา

ระยะที่  2  (รัชกาลที่  4 - ต้นรัชกาลที่  6)  เป็นระยะที่มีการสถาปนาพระอิสริยยศ  และคำนำหน้าพระนามพระมเหสีเทวีอย่างเป็นทางการ

ระยะที่  3  (ปลายรัชกาลที่  6 - รัชกาลปัจจุบัน)  เป็นระยะภายหลังจากการตรากฎมณเฑียรบาล  ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์  พุทธศักราช  2467

เดี๋ยวมาเล่าต่อนะครับ  +_+


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 03 ส.ค. 05, 13:00
 ระยะแรก (รัชกาลที่ 1 - 3) เป็นระยะที่ยังยึดถือธรรมเนียมตามอย่างในสมัยอยุธยา

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ในรัชกาลนี้แม้จะเป็นยุคเริ่มแรกแห่งสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งตามธรรมเนียมนั้น พระเจ้าแผ่นดินที่ทรงปราบดาภิเษกขึ้นมา  นอกจากจะทรงประกาศตั้งพระบรมวงศานุวงศ์  และปูนบำเหน็จความชอบแก่ขุนนางข้าราชการแล้ว  ในส่วนของราชสำนักฝ่ายใน  หากทรงมีพระภรรยามาแต่เดิมก็จะต้องมีการเลื่อนฐานะกันไปตามศักดิ์ของแต่ละท่าน  ภรรยาน้อยที่ไม่มีบุตรธิดาก็มักจะได้เป็นเจ้าจอมพระสนม  แต่หากมีบุตรธิดามาก่อนเสวยราชย์ก็จะได้เป็น  "เจ้าจอมมารดา"  พระสนมเอก  ส่วนพระภรรยาที่ทรงยกย่องให้เป็นเอกนั้น  ก็มักจะสถาปนาขึ้นเป็น  "เจ้า"  ในตำแหน่งพระอัครมเหสี  ตลอดจนภรรยาหลวงท่านอื่นก็อาจได้รับการสถาปนาให้ขึ้นเป็น  "เจ้า"  ในตำแหน่งพระมเหสีเทวีรองๆ  ลงไปเช่นกัน

แต่ในรัชกาลนี้ไม่ปรากฎว่าได้ทรงสถาปนา  "ท่านผู้หญิงนาค"  ภรรยาเอกแต่เดิมขึ้นเป็น  "เจ้า"  หรือเป็นพระมเหสีเทวีในตำแหน่งใดๆ  ทั้งนี้จะเป็นด้วยเหตุใดนั้นไม่ปรากฎแน่ชัด  แต่สันนิษฐานกันว่าอาจจะเป็นเพราะทรงมีความขัดแย้งกันมาเรื่อง  "คุณแว่น"  ภรรยาน้อย  มาตั้งแต่รัชกาลที่  1  ยังไม่เสวยราชย์  จึงเป็นเหตุให้ทรงหมางพระทัยกันมาโดยตลอด  อย่างไรก็ตามแม้  "ท่านผู้หญิงนาค"  จะไม่ได้ทรงเป็น  "เจ้า"  แต่รัชกาลที่  1  ก็ยังทรงยกย่องให้ท่านเป็น  "เอก"  แต่เพียงผู้เดียว  ไม่ได้ทรงยกย่องข้างในท่านใดให้สูงศักดิ์กว่า  คุณแว่นซึ่งเป็นคนโปรดมาตั้งปลายสมัยธนุบรี  เมื่อได้เสวยราชย์แล้วก็มียศเป็นเพียง  "เจ้าจอมแว่น"  พระสนมเอกเท่านั้น  เพราะอย่างไรท่านผู้หญิงก็เป็นเมียคู่ทุกข์คู่ยากมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

สำหรับประเด็นในความเป็น  "เจ้า"  ของท่านผู้หญิงนาคนี้  หลายคนอาจจะเข้าใจ  หรือแม้แต่ในหนังสือหลายเล่มก็เขียนว่าทรงได้รับการสถาปนาให้เป็น  "เจ้า"  มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่  1  ซึ่งนับว่าเป็นความเข้าใจที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก  เพราะท่านผู้หญิงนั้นได้รับการสถาปนาให้เป็น  "เจ้า"  อย่างเป็นทางการถูกต้องตามนิตินัย  ก็เมื่อรัชกาลที่  2  พระราชโอรส  ทรงสถาปนาขึ้นเป็น  "กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์"  ที่ตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

แต่อย่างไรก็ตามแม้จะไม่ได้ทรงเป็น  "เจ้า"  อย่างเป็นทางการตามหลักนิตินัย  แต่ในทางพฤตินัยนั้นคนทั้งปวงต่างก็เข้าใจว่าทรงเป็น  "พระมเหสีเทวี"  และทรงเป็น  "เจ้า"  จึงได้ใช้คำราชาศัพท์ในการกราบทูลกับท่าน  ซึ่งรัชกาลที่  1 เองแม้จะไม่ได้ทรงพระราชทานพระเกียรติยศนี้อย่างเป็นทางการ  แต่ก็ทรงยอมรับและไม่ได้ทรงขัดเคืองในการที่คนทั่วไปถวายพระเกียรติยศพระมเหสีองค์เดียวของพระองค์ว่าเป็น  "เจ้า"

"...ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  สมเด็จพระอมรินทรามาตย์เป็นท่านผู้หญิงเดิม  มีพระราชโอรส  พระราชธิดาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมไหญ่  ถึง  ๔  พระองค์  ก็ไม่เห็นท่านยกย่องตั้งแต่งอย่างไร  แต่คนทั้งปวงเข้าใจว่าท่านเป็นพระมารดาของเจ้าฟ้า  ก็นับถือท่านว่าเป็นพระมเหสี..." (ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม  :  รัชกาลที่  5)

หมายเหตุ
1.  หนังสือบางเล่มจะสะกดพระนามเดิม ของกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ว่า  "นาก"  แต่ในที่นี้ผมขอใช้คำว่า  "นาค"  ตามหนังสือพระมเหสีเทวี  ของลาวัณย์  โชตามระ

2.  หนังสือส่วนใหญ่มักจะเรียกสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ว่า  "คุณหญิงนาค"  แต่ผมเห็นว่าในสมัยปลายกรุงธนบุรี  รัชกาลที่  1  ทรงมีบรรดาศักด์เป็นถึง  "สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก"  ภรรยาเอกย่อมมีศักดิ์เป็น  "ท่านผู้หญิง"  มากกว่า  "คุณหญิง"  อีกประการหนึ่งรัชกาลที่  5  ก็ทรงใช้คำว่า  "ท่านผู้หญิง"


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 03 ส.ค. 05, 22:36
 สรุปตำแหน่งพระมเหสีเทวี  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

1.  ในรัชกาลนี้ทรงมีพระมเหสีเทวีเพียงพระองค์เดียว  คือ  ท่านผู้หญิงนาค  ในรัชกาลที่  2  ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

2.  ท่านผู้หญิงนาค  ทรงเป็นพระภรรยาเจ้า  และพระมเหสีเทวีในทางพฤตินัย

3.  ท่านผู้หญิงนาค  จะทรงเป็นพระอัครมเหสีหรือไม่ไม่ปรากฏแน่ชัด  แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันว่าพระราชโอรสธิดาที่ประสูติจากพระองค์เท่านั้นที่เป็น  “เจ้าฟ้า”  ดังนั้นพระองค์จึงอยู่ในศักดิ์ของ  “พระมเหสี”  ตามธรรมเนียม  และอาจเป็นเพราะทรงเป็นพระมเหสีเพียงพระองค์เดียว  ทั้งยังเป็นพระราชชนนีของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้าฉิม  กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  (รัชกาลที่  2)  จึงอาจทำให้คนในสมัยนั้นอนุมานว่าทรงอยู่ในฐานะของ  “พระอัครมเหสี”  จึงได้ออกพระนามพระองค์ว่า  “สมเด็จพระพรรษาฟากขะโน้น”  
อีกประการหนึ่งที่ทำให้คนในสมัยต่อมาเข้าใจว่าทรงเป็นพระอัครมเหสี  เพราะในสมัยรัชกาลที่  6  โปรดเกล้าให้ออกพระนามใหม่ว่า  “สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี”

4.  “สมเด็จพระพรรษา”  เป็นคำถวายพระพรที่ใช้เรียกพระเจ้าแผ่นดิน  พระราชชนนี  หรือพระมเหสี   เช่นเดียวกับคำว่าพระพันปี  พระพันวสา  พระพันวัสสา  และเหตุที่เรียกพระองค์ท่านว่า  “สมเด็จพระพรรษาฟากขะโน้น”  ก็เพราะทรงประทับอยู่  ณ  พระราชวังเดิม  ฝั่งธนบุรี  โดยไม่ได้เสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังเช่นข้างในท่านอื่นๆ

หมายเหตุ
ในปลายสมัยรัชกาลที่  1  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้สถาปนาพระเจ้าลูกเธอ  พระองค์เจ้าจันทบุรี  พระราชธิดาอันประสูติจากเจ้าจอมมารดา  เจ้านางคำสุก  พระธิดาพระเจ้ากรุงเวียงจันทร์  ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี  “...จึงมีพระราชโองการดำรัสว่า  พระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้  เจ้าจอมมารดาเป็นบุตรีเจ้ากรุงศรีสัตนาคนะหุต  สิ้นชีพเสียตั้งแต่ปีกุนเบญจศก  แต่พระองค์เจ้าได้  ๕  พรรษา  ไม่มีมารดา  ทรงพระกรุณามาก  พระองค์เจ้านี้อัยยกาก็เป็นเจ้าประเทศราชยังดำรงชีพอยู่  ควรสถาปนาให้มีพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า...”  จึงนับว่าเป็น  “เจ้าฟ้า”  อีกพระองค์หนึ่งนอกเหนือไปจาก  “เจ้าฟ้า”  ที่ประสูติจากท่านผู้หญิงนาค


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 05, 09:49
 ขอคุณหยดน้ำเข้ามาเสริมเรื่องสมเด็จพระอมรินทรฯ สักนิดค่ะ
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าไว้ใน "โครงกระดูกในตู้" ว่า สมเด็จฯ ท่านไม่เคยใช้ราชาศัพท์
แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ครองราชย์แล้ว  สมเด็จฯ ก็ยังเอ่ยถึงว่า "เจ้าคุณ" เหมือนเมื่อครั้งท่านยังดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาจักรี
เจ้าฟ้าพระราชโอรสธิดา ก็ยังเป็น พ่อฉิม แม่เอี้ยง พ่อจุ้ย สำหรับท่าน  เหมือนเดิม
ท่านเสด็จเจ้าวังหลวงมาเยี่ยมพระราชธิดา แล้วกลับไปก่อนย่ำค่ำประตูวังปิด ทุกครั้ง
เรียกว่าท่านมี dignity หรือศักดิ์ศรีของท่านเอง เต็มเปี่ยม

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ และสมเด็จฯ ต่างก็ทรงเคารพในพระเกียรติของกันและกัน
ต่างองค์ก็ต่างอยู่ ไม่ได้เสด็จไปมาหาสู่กัน จวบจนสวรรคต

ส่วนคำว่า ท่านผู้หญิง และคุณหญิง  ดิฉันมาเห็นการใช้คุณหญิงในฐานะภรรยาเอกของพระยา อย่างชัดเจนสมัยรัชกาลที่ 5
ก่อนหน้านี้   ไม่ทราบว่าเขาใช้กันเคร่งครัดมากน้อยเพียงใด
แต่ในวรรณคดีหลายๆเรื่องอย่างขุนช้างขุนแผน และนิราศของสุนทรภู่
ผู้หญิงที่เป็นเอกภรรยาของขุนนางข้าราชการ เรียกว่า "ท่านผู้หญิง"
แม้ว่าขุนนางนั้นไม่ใช่พระยา

นางวันทอง กวีเรียกว่า ท่านผู้หญิงวันทอง  เพราะขุนช้างเป็นมหาดเล็ก ก็เป็นข้าราชการสังกัดวัง
ในนิราศของสุนทรภู่ เรียกภรรยาขุนแพ่ง ว่า ท่านผู้หญิง
ขุนแพ่งนี่ก็ไม่ใช่ขุนนางใหญ่โตอะไร  เป็นสมัยนี้ก็ข้าราชการระดับซี 4 อย่างมาก

ถ้าหากว่าผิดพลาดตรงไหน เชิญผู้รู้แก้ไขให้ด้วยค่ะ


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 07 ส.ค. 05, 13:40

มาเล่าต่อในรัชสมัยที่  2  ครับ

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ในรัชกาลที่  2  นี้  ทรงมีพระมเหสีเทวี  2  พระองค์ด้วยกัน  พระองค์แรกคือสมเด็พระเจ้าน้องนางเธอ  เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด  พระอัครมเหสี  และพระองค์ที่  2  คือ  สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ  เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดี  พระมเหสีรอง

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ  เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด  พระอัครมเหสี

เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด  ทรงเป็นพระอัครชายาเดิมในรัชกาลที่  2  มาตั้งแต่ก่อนที่พระองค์จะเสวยราชสมบัติ  ทรงเป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ  เจ้าฟ้าฯกรมศรีสุดารักษ์  มีศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่  1  ในที่นี้ผมจะขออนุญาตไม่กล่าวถึงเรื่องราวขัตติยราชบริพัทธ์ของทั้ง   2  พระองค์  แต่จะกล่าวเพียงลำดับฐานะของเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดให้เห็นเท่านั้น

หลายคนอาจจะทราบดีว่าเมื่อรัชกาลที่  1  ทรงทราบว่าเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด  ซึ่งเวลานั้นพระมารดาสิ้นพระชนม์ไปแล้ว  ทรงพระครรภ์กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าฯ  กรมหลวงอิศรสุนทร  โดยทรงลักลอบมีความสัมพันธ์กันในพระบรมมหาราชวังนั้น  ทรงพระพิโรธมาก  แม้เจ้าจอมแว่นซึ่งเป็นคนโปรดจะเป็นผู้ทูลช่วยเหลือให้ก็ตามก็ยังทรงนิ่งเฉยอยู่  จนในที่สุดเจ้าจอมแว่นได้เข้าไปกราบทูลว่าพระราชกุมารที่จะประสูติออกมาจะเป็นเจ้าฟ้าหรือไม่  เมื่อทรงตอบว่าเป็นเจ้าฟ้า  ก็พลอยทำให้ทุกฝ่ายต่างโล่งใจไปตามๆ  กัน  เพราะเท่ากับว่ารัชกาลที่  1  ได้ทรงยอมรับว่าเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดทรงมีฐานะ  "พระชายาในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ  กรมหลวงอิศรสุนทร"  แต่อย่างไรก็ตามเวลานั้นรัชกาลที่  2  ก็มีหม่อมห้ามที่มีพระโอรสธิดาด้วยอยู่หลายท่านด้วยกัน  ท่านผู้ใหญ่ดำริกันถึงข้อนี้  รัชกาลที่  2  จึงได้ทรงปฎิญาณไว้ว่าเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดจะเป็น  "เมียเอก"  ของพระองค์  และลูกที่เกิดจากพระนางนั้นก็ต้องเป็นใหญ่กว่าลูกของเมียคนใดๆ

ต่อมาเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ  กรมหลวงอิศรสุนทร  ได้ทรงอุปราชาภิเษกขึ้นเป็น  "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าฯ  กรมพระราชวังบวรสถานมงคล"  เจ้าฟ้าหญิงบุญรอดจึงทรงเปลี่ยนฐานะจาก  "พระชายา"  มาเป็น  "พระอัครชายาในสมเด็จพระมหาอุปราชฝ่ายหน้า"  ในขณะที่หม่อมห้ามคนอื่นๆ  ก็เลื่อนฐานะมาเป็นเจ้าจอม  สำหรับพระโอรสธิดาที่ประสูติจากเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดนั้นดำรงพระยศเป็น  "สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้า"  เพราะพระมารดาเป็นเจ้าฟ้า   ในขณะที่พระโอรสธิดาที่ประสูติจากท่านอื่นๆ  มีพระยศเป็นหม่อมเจ้า

และเมื่อรัชกาลที่  2  เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ  เจ้าฟ้าหญิงบุญรอดจึงทรงอยู่ในฐานะพระภรรยาเจ้า  และพระมเหสีเทวี  แต่อย่างไรก็ตามรัชกาลที่  2  ได้ทรงยึดธรรมเนียมอย่างในรัชกาลที่  1  คือไม่ทรงสถาปนาพระอิสริยยศหรือพระอิสริยยศักดิ์ของพระมเหสีอย่างเป็นทางการ  แม้แต่การเลื่อนกรมอย่างในปลายสมัยอยุธยาก็ไม่มี  ก็เป็นแต่เข้าใจกันว่าทรงเป็น  "พระมเหสีเอก"  แม้ในภายหลังจะทรงมีพระมเหสีอีก  1  พระองค์ซึ่งเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงแต่ก็หาได้มีศักดิ์และสิทธิ์ใดสูงไปกว่า"สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ  เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด"  แต่อย่างใด

(พระบรมฉายาลักษณ์  :  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หม่อมจุมพฏเพ็ชรกล้า ที่ 08 ส.ค. 05, 18:49
 สมัยก่อนหน้านี้นิดหน่อยเคยมีคนพูดเข้าหูว่า สมัยนี้ถึงแม้ผู้หญิงใดได้เครื่องราชฯจัตุตถจุลจอมเก้า แต่สามีไม่มีตำแหน่งราชการ ก็ใช้คำว่า คุณหญิง ไม่ได้ จริงรึเปล่าครับ


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 09 ส.ค. 05, 14:42
 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ  เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดี  พระมเหสี

หากเราเปรียบเทียบ  "เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด"  เป็น  "จินตะหรา"  ในบทพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนาแล้ว  "เจ้าฟ้าหญิงกุณฑล"  ก็คงจะเปรียบได้กับ  "บุษบา"  ผู้เป็นวงศ์เทวัญอสัญแดหวา

หากเราพิจารณาถึงพระอิสริยยศของพระมเหสีในรัชกาลที่  2  ทั้ง  2  พระองค์แล้ว  จริงอยู่ที่ทรงเป็น  "เจ้าฟ้า"  เหมือนกัน  แต่เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลนั้น  ทรงเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่  1  ในขณะที่เจ้าฟ้าหญิงบุญรอดเป็นพระราชนัดดา  ซึ่งตามหลักแล้วพระภรรยาเจ้าผู้ทรงเป็นลูกหลวงในรัชกาลก่อน  ย่อมทรงศักดิสูงกว่าพระภรรยาเจ้าผู้เป็นหลานหลวง  แต่เหตุที่เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทรงมีฐานะเป็นพระมเหสีรอง  ในขณะที่เจ้าฟ้าหญิงบุญรอดทรงเป็น  "เอก"  นั้น  ก็เพราะว่าเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดทรงเป็นพระอัครชายามาตั้งแต่ก่อนที่รัชกาล  2  จะเสวยราชย์  ดังนั้นเมื่อผลัดแผ่นดินใหม่ก็ย่อมจะทรงมีพระอิสริยยศักดิ์สูงยิ่งกว่าพระมเหสีที่มาเป็นพระภรรยาเจ้าในภายหลัง

ก็เหมือนกับ  "บุษบา"  พระธิดาของท้าวดาหา  กษัตริย์วงศ์เทวัญ  แม้จะสูงศักดิ์กว่า "จินตะหรา"  ซึ่งเป็นพระธิดาเจ้าเมืองประเทศราช  แต่เมื่อมาเป็นชายาของอิเหนาแล้ว  ตนเป็นผู้มาทีหลังจึงต้องไหว้นางจินตะหรา  ซึ่งเป็นชายาเอก


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 09 ส.ค. 05, 16:02
 ความแตกต่างระหว่างพระฐานะของเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด  และเจ้าฟ้าหญิงกุณฑล

หลายคนอาจจะยังสงสัยว่า  ในเมื่อสมัยรัชกาลที่  2  นั้น  ไม่ได้ทรงสถาปนาพระภรรยาเจ้าพระองค์ใดให้ดำรงตำแหน่งพระมเหสีเทวีอย่างเป็นทางการ  อีกทั้งในหนังสือบางเล่มยังทรงยกย่องให้เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทรงมีฐานะเท่าเทียมกับเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดอีกต่างหาก  แล้วจะทราบแน่ชัดได้อย่างไรว่าองค์ใดเป็น  "เอก"  องค์ใดเป็น  "รอง"  ผมขอสรุปเป้นข้อๆ  ดังนี้ครับ

1.  เจ้าฟ้าหญิงบุญรอดทรงเป็นพระภรรยาเจ้าโดยนิตินัย  แต่ทรงเป็นพระอัครมเหสีโดยพฤตินัย  คือ  เป็นที่เข้าใจกันในสมัยนั้นว่าทรงเป็นใหญ่กว่าพระมเหสีเทวีพระองค์อื่นๆ

2.  เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทรงเป็นพระภรรยาเจ้าโดยนิตินัย  แต่ทรงเป็นพระมเหสีรองโดยพฤตินัย  คือ  เป็นที่เข้าใจกันในสมัยนั้นว่าทรงเป็นพระมเหสีรอง  เพราะต้องทรงคมเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด  แต่ในหนังสือบางเล่มกล่าวว่ารัชกาลที่  2  โปรดให้มีตำแหน่งเป็น  "พระราชชายานารี"  เรื่องนี้ปรากฎในพงศาวดาร  แต่ยังไม่หลักฐานยืนยันแน่ชัด  เพราะในจดหมายเหตุในสมัยต่อมาไม่ได้กล่าวถึงพระนางในฐานะพระราชชายานารี

3  เจ้าฟ้าหญิงบุรอดทรงเป็นพระอัครชายาเดิมมาก่อนเสวยราชย์  ดังนั้นตามธรรมเนียมจึงต้องทรงเป็น  "เอก"  เหนือพระมเหสีเทวีทั้งปวง

4.  รัชกาลที่  2  เคยทรงปฏิญาณไว้ว่าเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดและลูกจะทรงเป็นใหญ่กว่าเมียและลูกคนอื่นๆ

เดี๋ยวมาต่อครับ


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 14 ส.ค. 05, 17:47
 หลังจากหายไปหลายวัน  มาต่อครับ

5  เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง  ตามธรรมเนียมแล้วชาววังต้องออกพระนามของพระราชโอรสที่ประสูติจากพระองค์ว่า  "ทูลกระหม่อม"  แต่ก็ไม่ปรากฎว่ามีการออกพระนามเช่นนั้น  คงเรียกันแต่ว่า  องค์กลาง  องค์ปิ์ว  เป็นต้น

6  เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด  ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง  ตามธรรมเนียมแล้วพระราชโอรสที่ประสูติจากพระองค์ต้องเป็น  "เจ้าฟ้าชั้นโท"  เรียกกันว่า  "สมเด็จ"  แต่ปรากฎว่าพระราชโอรสของพระองค์เป็น  "เจ้าฟ้าชั้นทูลกระหม่อม"  ทั้งสิ้น  ได้แก่  "ทูลกระหม่อมพระองค์ใหญ่"  (รัชกาลที่  4)  และ  "ทูลกระหม่อมพระองค์น้อย"  (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ)  ซึ่งนี่ก็เป็นหลักฐานอันแน่ชัดที่ยืนยันได้ว่าเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดทรงเป็นพระอัครมเหสี   เพราะนอกจากพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงที่จะมีพระราชโอรสธิดาเป็น  "เจ้าฟ้าชั้นเอก"  แล้ว พระอัครมเหสีก็มีพระราชโอรสธิดาเป็นเจ้าฟ้าชั้นเอกเช่นเดียวกัน

7.  ภายหลังจากรัชกาลที่  2  สวรรคตแล้ว  เจ้าจอมมารดาเรียม  ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น  "กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย"  ในตำแหน่งสมเด็จพระพันปีหลวง  ส่วนเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดเสด็จกลับไปประทับยังพระราชวังเดิม  ในฐานะ  "สมเด็จพระพันวสา"   ขณะที่เจ้าฟ้าหญิงกุณฑล  ยังทรงมีฐานะเช่นเดิม


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 16 ส.ค. 05, 07:36
 8.  พระฐานะของเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดมีปรากฎหลักฐานชัดเจน  อยู่ในประกาศตั้งกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์  เมื่อปีพุทธศักราช  2394  ความว่า

"...พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ  ฯลฯ  พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ...  มีพระกมลสันดานประกอบด้วยพระกตัญญูระฦกถึงพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมราชชนนี  ซึ่งทรงพระนามตามตำแหน่งพระบรมอรรคราชมเหษี  ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า  สมเด็จพระพรรษา..."  (จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์  เล่ม  1)


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 16 ส.ค. 05, 07:44
 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในรัชกาลนี้ไม่ทรงมีพระมเหสีเทวีหรือพระภรรยาเจ้าแต่อย่างใด  หนังสือบางเล่มกล่าวว่าเหตุที่ไม่ทรงมีพระมเหสีเทวีนั้น  เพราะไม่มีพระราชประสงค์จะมีพระราชโอรสเป็น  "เจ้าฟ้า"  เนื่องจากจะทรงเก็บราชสมบัติไว้ให้กับสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ  พระราชอนุชา  ซึ่งทรงมีสิทธิโดยชอบธรรมในพระราชบัลลังก์


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 05, 09:05
 เคยอ่านพบว่าเจ้าฟ้าบุญรอด ทรงแยกทางกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยตั้งแต่ทรงได้เจ้าฟ้ากุณฑลเป็นพระราชชายา
เสด็จไปประทับ ณ พระราชวังเดิมกับพระราชโอรสพระองค์เล็ก คือเจ้าฟ้าจุฑามณี(หรือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)
ตั้งแต่ในรัชกาลที่ 2
ไม่เสด็จกลับมาที่วังหลวงอีกเลย ตลอดรัชกาล
แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงงอนง้อหลายครั้ง  ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

ติดตามอ่านตลอดค่ะ คุณหยดน้ำ


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 16 ส.ค. 05, 10:49
 ขอบคุณครับคุณเทาชมพูที่ติดตามอ่าน  เรื่องที่เจ้าฟ้าหญิงบุญรอดทรงกลับไปประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม  ตั้งแต่รัชกาลที่  2  รับเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลมาเป็นพระมเหสี  ผมก็เคยอ่านเจอมาครับ  แต่ดูแล้วความเป็นไปได้ของประเด็นนี้มีน้อยครับ  (ความคิดเห็นส่วนตัวครับ)

เพราะพิจารณาจากเหตุการณ์ต่างๆ  ที่เกิดขึ้นทำให้ผมเชื่อโดยส่วนตัวว่าน่าจะทรงประทับอยู่ในวังหลวงตลอรัชกาลที่  2  และย้ายออกมาเมื่อรัชกาลที่  2  สวรรคตแล้ว  ด้วยเหตุผลดังนี้ครับ

1.  คุณจุลลดา  ภักดีภูมินทร์  ได้เล่าไว้ในหนังสือเวียงวังว่า  รัชกาลที่  3  เมื่อขึ้นครองราชยแล้ว  ได้เสด็จพร้อมด้วยเจ้าจอมมารดาเรียม  ซึ่งเวลานั้นเป็นสมเด็จพระพันปีหลวง  มาส่งเสด็จเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดที่ประตูวังเมื่อคราวที่เสด็จกลับไปประทับยังพระราชวังเดิม  โดยครั้งนั้นกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยได้เชิญพานพระศรีตามเสด็จ  และเมื่อถึงประตูวังแล้วทั้ง  2  พระองค์ก็ได้ถวายบังคมเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด

ไปเรียนก่อนนะครับเดี๋ยวมาคุยต่อ


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 16 ส.ค. 05, 14:52
 ต่อครับผม

2.  หากเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดเสด็จออกไปอยู่พระราชวังเดิมตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่  2  จริง  เหตุใดถึงทรงพาเฉพาะสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณีไปเพียงพระองค์เดียว  ทำไมสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎถึงไม่ตามเสด็จไปด้วย  ซึ่งถ้าเสด็จในสมัยรัชกาลที่  3  แล้ว  ข้อสงสัยนี้ก็จะหมดไป  เพราะเวลานั้นสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎยังทรงผนวชอยู่

3.  คุณลาวัณย์  โชตามระ  ได้เล่าเหตุการณ์ภายหลังจากที่รัชกาลที่  2  รับเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลเป็นพระมเหสีไว้ในหนังสือพระมเหสีเทวีว่า

"...ความน้อยพระทัยที่สมเด็จพระอัครมเหสีทรงมีต่อสมเด็จพระบรมราชสวามีนั้นมากมายนัก  ...  ทรงใช้วิธี  "ดื้อแพ่ง"  ด้วยวิธีการต่างๆ  ไม่เสด็จขึ้นเฝ้าดังที่ทรงเคยปฏิบัติ  ไม่ยอมให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ  ได้เสด็จเข้ามาในพระตำหนัก  ไม่ทำเครื่องเสวยที่เคยโปรดปรานขึ้นถวาย  ....

การประกอบอาหารหวานคาวที่พระตำหนักของสมเด็จพระอัครมเหสีนั้นก็ยังคงทำอยู่ตามปกติ  แต่ทว่าเพื่อให้ข้าหลวงขายในบริเวณ  "วังหลวง"  ตลอดจนให้ผู้อื่นรับไปจำหน่ายแก่คนนอก  ..."

หมายเหตุ
ขออนุญาตแก้ไขคำผิดครับ

ในความคิดเห็นที่  8  ที่ถูกต้องต้องเป็น  "สมเด็จพระพันพรรษาฟากขะโน้น"  ครับ

ในความคิดเห็นที่  15  ที่ถูกต้องต้องเป็น  "สมเด็จพระพันพรรษา"  แต่หนังสือบางเล่มก็ใช้ว่า  "สมเด็จพระพรรษา"  และ  "สมเด็จพระพันวษา"  ครับ


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 16 ส.ค. 05, 15:52
 ระยะที่ 2 (รัชกาลที่ 4 - ต้นรัชกาลที่ 6) เป็นระยะที่มีการสถาปนาพระอิสริยยศ และคำนำหน้าพระนามพระมเหสีเทวีอย่างเป็นทางการ

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในรัชกาลนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดคำนำหน้าพระนามและพระอิสริยยศสำหรับพระมเหสีเทวี  แต่อย่างไรก็ตามก็ยังไม่ปรากฎว่าได้ทรงประกาศสถาปนาพระมเหสีอย่างเป็นทางการ

รัชกาลที่  4  ทรงมีพระภรรยาเจ้าที่เป็นหม่อมเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่  3  หลายพระองค์ด้วยกัน  แต่ที่ได้เป็นพระมเหสีนั้นมีอยู่  2  พระองค์  คือสมเด็จพระนางเธอโสมนัสวัฒนาวดี  (พ.ศ.  2394  -  2395)  และสมเด็จพระนางเธอรำเพยภมราภิรมย์  (พ.ศ.  2395  -  2404)  ซึ่งทั้ง  2  พระองค์นี้ทรงเป็นพระมเหสีต่างวาระกัน

เมื่อรัชกาลที่  4  เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว  ได้ทรงรับเอาพระเจ้าหลานเธอ  พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีในรัชกาลที่  3  ขึ้นเป็นพระอัครมเหสี  เมื่อวันที่  2  มกราคม  พ.ศ.  2394  (หนังสือพระบรมราชินี  และเจ้าจอมมารดา  ของ  ส.  พลายน้อย)  ทรงพระนามว่า  

"สมเด็จพระนางนาฏโสมนัสวัฒนาวดี  บรมอรรคราชเทวี"  หรือ
"สมเด็จพระนางนาฏ  พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี  บรมอรรคราชเทวี"

ซึ่งคำนำนหน้าพระนามว่า  "สมเด็จพระนางนาฏ"  และพระอิสริยยศ  "บรมอรรคราชเทวี"  นี้  จะได้รับพระราชทานเมื่อใดไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด  แต่ปรากฎว่าได้ออกพระนามนี้ไว้ในประกาศสถาปนาพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์  เมื่อปี  พ.ศ.  2395  ความว่า

"...บัดนี้ทรงพระราชดำริว่าพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี  ซึ่งเป็นพระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาไว้  แลพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่แลเสนาบดีได้ทำเรื่องราวกราบบังคมทูลถวาย  ให้เป็นสมเด็จพระนางนาฏบรมอรรคราชเทวีครั้งนี้นั้น  ก็เสด็จสวรรคตเสียแล้ว..."  (จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์  เล่ม  1)

ซึ่งประกาศฉบับนี้มีขึ้นภายหลังจากที่สมเด็จพระนางเธอโสมนัสฯ  ได้เสด็จสวรรตไปแล้ว  โดยทรงดำรงตำแหน่งนี้เพียง  9  เดือน  ภายหลังเมื่อมีพระประสูติกาลเจ้าฟ้าชายโสมนัสแล้ว(สิ้นพระชนม์ในประสูติ)  ก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่  10  ตุลาคม  พ.ศ.  2395

หลังจากนั้นในเดือนมกราคม  พ.ศ.  2395(ปฏิทินใหม่  2396)  ก็ได้ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าหญิงรำเพย  ขึ้นเป็น  "พระองค์เจ้าหญิงรำเพยภมราภิรมย์"  ดังประกาศสถาปนาว่า

“...จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่ง   ให้สถาปนาหม่อมเจ้ารำเพยซึ่งเป็นพระเจ้าหลานเธอผู้ใหญ่ฝ่ายใน  ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น  เป็นพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์...”

ซึ่งในประกาศฉบับนี้ระบุเพียงว่าทรงเป็นพระองค์เจ้า  แต่จะทรงใช้คำหน้าพระนามหรือดำรงพระอิสริยยศอย่างไรในตำแหน่งพระมเหสีเทวีนั้นไม่ปรากฎ  จนเมื่อภายหลังที่ทรงสิ้นพระชนม์ไปแล้ว  จึงได้ปรากฎการออกพระนามในประกาศชำระเลกในสมเด็จพระนางนาถราชเทวีว่า

“...ด้วยสมเด็จพระนางนาถราชเทวีสิ้นพระชนม์แล้ว  เลกในกรมก็กระจัดพลัดพลายที่พาระบาดหลบหนี...”

ซึ่งจากประกาศนี้ทำให้พอสันนิษฐานไดว่าทรงมีพระอิสริยยศเป็น

"สมเด็จพระนางนาถรำเพยภมราภิรมย์  ราชเทวี"  หรือ
"สมเด็จพระนางนาถ  พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์  ราชเทวี"

สำหรับประกาศชำระเลกในสมเด็จพระนางนาถราชเทวี  จะประกาศเมื่อใดไม่ทราบแน่ชัด  แต่ต้องหลังจากวันที่  9  กันยายน  พ.ศ.  2404  ซึ่งเป็นวันที่พระนางสิ้นพระชนม์  และต้องก่อนงานพระเมรุสมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล  ในปีพ.ศ.  2406  ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงการออกพระนามพระมเหสีในรัชกาลที่  4  ใหม่แล้ว


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ส.ค. 05, 12:46
 มาเสริมคุณหยดน้ำค่ะ

ดิฉันไม่แน่ใจว่า พระนางโสมนัสฯ ทรงเป็น "สมเด็จพระนางเจ้า" หรือ "สมเด็จพระนางเธอ " กันแน่
แต่ทรงเป็นพระอัครมเหสี แน่นอน

ในหนังสือ พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดา ของคุณ ส. พลายน้อย อ้างถึงพระนิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
ทรงระบุว่า
" เวลา  1 นาฬิกาหลังเที่ยง  สมเด็จพระนางเจ้า พระอัครมเหสี ประสูติพระราชกุมาร  บรมราชโอรสโดนเรียบร้อย  และมีพระชนม์
แต่พระกำลังอ่อน และพระองค์ย่อม
พระกันแสง และแสดงอาการอย่างทารกแรกเกิดโดยปกติ  
แต่ต่อเวลาพระประสูติมาอีก 3 ชั่วโมงเท่านั้น พระอัสสาสะปัสสาสะพระราชกุมารก็หยุดลงเสียเฉยๆ"


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 22 ส.ค. 05, 21:47
 ขอออกความเห็นครับ
ถ้าถือตามหนังสือเฉลิมพระยศเจ้านาย เล่ม ๑ จะระบุพระอิสริยยศของสมเด็จพระเทพศิรินฯ ว่า พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ ซึ่งถือเป็นพระอัครมเหสีพระองค์ที่ ๒ ต่อจากสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดีครับ (คาดว่าประมาณปีใดจำไม่ได้)
อ้อ ไม่ทราบว่าเขาส่งรูปอย่างไรจึงจะได้รูปคั่นกลางข้อความครับ


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 22 ส.ค. 05, 22:01
 ขอบคุณครับคุณเทาชมพู

..........................................

ดังที่ผมบอกไว้แล้วในคราวก่อน  นับตั้งแต่ปี  พ.ศ.  2406  เป็นต้นมาปรากฎหลักฐานว่าได้มีการออกพระนามพระมเหสีเทวีใหม่  ดังในประกาศงานพระเมรุสมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑลมีความตอนหนึ่งว่า


"...อนึ่งเสาและตัวไม้ใหญ่ๆ  สิ่งของที่ทำในครั้งนี้  ก้ไม่ได้ตกทอดกะเกรฑ์มากนัก  เป็นแต่ของเก่าสะสมทับมาแต่ครั้งการพระศพพระเจ้าพี่ยาเธอ  กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศร์  พระนางเธอ  พระองค์เจ้ารำเพย..."


ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ปรากฎหลักฐานอย่างเป็นทางการว่าทรงเปลี่ยนการออกพระนาม  "พระนางนาถราชเทวี"  เป็น  "พระนางเธอ"  (ชุมนุมประกาศรัชกาลที่  4)


และในปี  พ.ศ.  2409  ประกาศงานพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์  ได้ออกพระนามพระอัครมเหสีทั้ง  2  พระองค์ว่า  "สมเด็จพระนางเธอ"


"...แล้วพระราชวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ฝ่ายหน้าฝ่ายใน  แลท่านเสนาบดีปรึกษาพร้อมกันว่าพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี  ได้เป็นพระองค์เจ้ามียศใหญ่ได้มีการโสกันต์อย่างเจ้าฟ้าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีพระนามแลเกียรติยศลือชาปรากฎสมควร  จึงได้กราบทูลถวายตั้งเป็นสมเด็จพระนางเธอ  เป็นเจ้าเป็นใหญ่ข้างใน  สมเด็จพระนางเธอ  พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี  ทรงพระครรภ์ได้  7  เดือน...

.....ครั้งภายหลังมาพระราชวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ฝ่ายหน้าฝ่ายใน  แลเสนาบดีพร้อมใจกันถวายพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์  พระธิดาของพระเจ้าลุงของสมเด้จพระนางเธอซึ่งสิ้นพระชนม์แล้วนั้น  ให้เป็นสมเด็จพระนางเธอสืบฐานันดรนั้นต่อไป..."


และนับเป็นประกาศสุดท้ายที่ผมค้นเจอเกี่ยวกับการออกพระนามพระมเหสีเทวี  จนกระทั่งในปี  พ.ศ.  2411  ซึ่งเป็นปีสุดท้ายแห่งรัชกาล  ได้มีประกาศการใช้คำนำหน้าพระนามพระบรมวงศานุวงศ์  ทำให้ทราบที่มีของคำว่า  "พระนางเธอ"  ดังนี้


"...คำว่าพระเจ้าพี่ยาเธอ  พี่นางเธอ  น้องยาเธอ  น้องนางเธอ  ลุกเธอ  หลานเธอ  6  คำนี้หรือเป็น  7  ทั้งคำว่พระเจ้าลูกยาเธอ  ตามดำริในกรมหรือทั้งเป็นคำว่า  พระนางเธอ  ที่ทรงพระราชดำริให้ใช้ขึ้นใหม่โดยอนุโลมนั้น..."


หลักฐานในสมัยต่อมาโดยมากแล้วจะออกพระนามสมเด็จพระนางโสมนัสฯ  ว่า  "สมเด็จพระนาง"  ในขณะที่ออกพระนามสมเด็จพระนางรำเพยฯ  ว่า  "พระนางเธอ  พระองค์เจ้ารำเพย"  ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม  พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่  5  ได้ทรงบรรยาถึงธรรมเนียมพระมเหสีเทวีในรัชกาลที่  4  ความว่า


"...ครั้งตกมาในแผ่นดิน  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ท่านทรงขึ้นใหม่  เรื่องคำนำพระนามพระองค์โสมนัศ  พระองค์เจ้ารำเพย  2  พระองค์  ซึ่งเป็นพระมารดาเจ้าฟ้า  นับว่าเป็นพระราชเทวี  ให้เรียกว่าพระนางเธอ  ฤาสมเด็จพระนางเธอ  ให้สมควรแก่ที่เป็นตำแหน่งเช่นนี้  ...  สมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์  นั้นมาในแผ่นดินปัจจุบันนี้  ก็ได้เป็นกรมสมเด็จพระเทพามาตย์..."

สำหรับการออกพระนามสมเด็จพระนางเธอโสมนัสฯ  นั้น  ผมยังไม่พบหลักฐานว่าได้มีการใช้คำว่า  "สมเด็จพระนางเจ้า"  เป็นคำนำพระนาม  แต่ปรากฎในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่  5  เรื่องการออกพระนามพระองค์เจ้าสุนันทาฯ  "...ให้ใช้สมเด็จพระนางเจ้าอย่างสมเด็จพระนางโสมนัส..."  และระบุว่าได้มีการค้นในหมายรับสั่งเก่าดูแล้ว  แต่อย่างไรในจดหมายเหตุนี้ก็ยังออกพระนามว่า  "สมเด็จพระนาง"


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 22 ส.ค. 05, 22:28
 ขอบคุณครับคุณศรีปิงเวียง

ในหัวข้อประกาศใช้คำว่าพระนางเธอ  พระองค์รำเพยฯ  ก็จริงครับ  แต่ในคำประกาศสถาปนาไม่ได้ออกพระนามว่า  "พระนางเธอ"  บอกเพียงแต่ว่าเป็น  "พระองค์เจ้ารำเพยฯ"  ครับ


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ส.ค. 05, 09:11

ขอบคุณค่ะ คุณหยดน้ำ

ภาพนี้คือพระบรมฉายาลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ทรงฉายคู่กับสมเด็จพระนางรำเพยฯ


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 26 ส.ค. 05, 08:27
 มาโพสต์ต่อก่อนไปแอ่วสุโขทัยครับ

.................................................
พระราชฐานะของพระอัครมเหสีทั้ง  2  พระองค์ในรัชกาลที่  4

ในช่วงต้นรัชสมัย  หากเปรียบเทียบว่าพระอัครมเหสีทั้ง  2  พระองค์  ยังทรงมีพระชนม์อยู่  ผมเข้าใจว่าสมเด็จพระนางเธอ  พระองค์เจ้าโสมนัสฯ  ทรงมีพระอิสสริยยศสูงกว่าสมเด็จพระนางเธอ  พระองค์เจ้ารำเพยฯ  ซึ่งผมมีข้อสังเกตดังนี้ครับ


1.  ในระยะแรกถึงแม้จะทรงใช้คำนำหน้าพระนามว่า  "สมเด็จพระนางนาฏ(นาถ)"  เหมือนกัน  แต่พระอิสสริยยศที่ต่อท้ายพระนามนั้นแตกต่างกัน  โดยสมเด็จพระนางเธอโสมนัสฯ  นั้นทรงเป็น  "บรมอรรคราชเทวี"  ในขณะที่สมเด็จพระนางเธอรำเพยฯ  ทรงเป็นเพียง  "ราชเทวี"  อย่างไรก็ตามแม้จะมีการกำหนดคำนำหน้าพระนามและพระอิสสริยยศสำหรับพระมเหสีแล้ว  แต่ก็ยังไม่เป็นระเบียบแบบแผนอันแน่นอน  จะชี้ชัดว่า  "ราชเทวี"  มีพระอิสสริยยศต่ำกว่า  "บรมอรรคราชเทวี"  ซะทีเดียวก็ไม่ได้  แต่ด้วยความที่ทรงดำรงตำแหน่งต่างวาระกันจึงทรงเป็น  "เอก"  ด้วยกันทั้ง  2  พระองค์


2.  สมเด็จพระนางเธอโสมนัสฯ  นั้นทรงเป็นพระเจ้าหลานเธอผู้ใหญ่ในรัชกาลที่  3  สมเด็จพระบรมอัยกาทรงยกย่องและพระราชเกียรติยศเป็นอันมากเกือบเสมอด้วย  "เจ้าฟ้า"  จึงพอจะเข้าใจได้ว่าเมื่อทรงมาเป็นพระอัครมเหสีแล้วย่อมจะต้องทรงยกย่องให้ยิ่งใหญ่กว่าพระภรรยาเจ้าทั้งปวง  สมเด็จพระนางเธอรำเพยฯ  แม้จะทรงเป็นพระราชนัดดาในรัชกาลที่  3  เหมือนกันแต่ก็ทรงมีพระยศเพียง  "หม่อมเจ้า"  ในระยะแรกจึงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะทรงยกย่องสมเด็จพระนางรำเพยฯ  ให้มีพระเกียรติยศสูงกว่าสมเด็จพระนางโสมนัสฯ

3.  สมเด็จพระนางโสมนัสฯ  ทรงใช้คำว่า  "สวรรคต"  ตามประกาศในปี  พ.ศ.  2395  แต่สมเด็จพระนางรำเพยฯ  ทรงใช้  "สิ้นพระชนม์"  ตามประกาศในปีหลังปีพ.ศ.  2404  -  2406

4.  เมื่อสมเด็จพระนางโสมนัสฯ  มีพระประสูติกาลพระราชโอรสนั้น  พระราชโอรสทรงมีพระยศเป็น  "เจ้าฟ้า"  โดยอัตโนมัติ  แต่เมื่อสมเด็จพระนางรำเพยฯ  มีพระประสูติกาลพระราชโอรสพระองค์แรกในปี  พ.ศ.  2396  สมเด็จเจ้่าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์  กลับต้องกราบบังคมทูลขอให้พระเจ้าลูกเธอพระองค์นั้นมีพระยศเป็น  "เจ้าฟ้า"  ซึ่งปรากฎประกาศในนปี  พ.ศ.  2404  ว่า

"...สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ  เมื่อแรกประสูติใหม่  สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ได้กราบทูลพระกรุณาให้เป็นเจ้าฟ้าด้วยกลัวว่าธรรมเนียมเจ้าฟ้าซึ่งเคยมีมาในราชตระกูลจะสาบสูญ..."

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเวลานั้นสมเด็จพระนางรำเพยฯ  ไม่ได้ทรงมีพระยศเท่ากับสมเด็จพระนางโสมนัสฯ  แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าหม่อมเจ้าหญิงรำเพย  ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น  "พระองค์เจ้า"  ตั้งแต่ปี  พ.ศ.  2495  (จากหนังสือเฉลิมพระยศเจ้านาย)  แต่ทำไมพระราชโอรสไม่ทรงเป็น  "เจ้าฟ้า"  ตั้งแต่แรกประสูติตามธรรมเนียม  แล้วจะเก็บเรื่องนัีี้ไว้คุยกันต่อครับ


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ส.ค. 05, 18:30
 ขอแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เกี่ยวกับสมเด็จพระนางโสมนัสฯ ว่า

พระองค์ท่านโปรดละคร   ในพระตำหนักจึงมีการฝึกหัดตัวละครสาวๆชาววังไว้หลายคนด้วยกัน
หนึ่งในจำนวนนั้น ชื่อเขียน   เป็นหลานเจ้าจอมมารดางิ้ว  
ต่อมา ก็คือเจ้าจอมมารดาเขียน  ในรัชกาลที่ ๔
หรือเรียกกันว่า เขียนอิเหนา  เพราะรำเป็นตัวอิเหนา
เจ้าจอมมารดาเขียน มีพระเจ้าลูกยาเธอคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

เมื่อสมเด็จพระนางโสมนัสฯสวรรคตแล้ว  เจ้าจอมมารดางิ้วได้กราบถวายบังคมลา  ออกจากพระบรมมหาราชวังไปอยู่กับพี่ชาย คือพระยาราชภักดี(ทองคำ สุวรรณทัต)
พร้อมด้วยทรัพย์สินของท่าน

ในตอนหลัง  มีการค้นพบดาบฝักคร่ำทอง ตกทอดกันมาเป็นของเก่าในบ้าน    ลูกหลานของพระยาราชภักดีไม่ทราบว่าเป็นของใคร
พลเอกทวนทอง สุวรรณทัต สันนิษฐานว่าเป็นพระแสงดาบที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เจ้าฟ้าชายโสมนัสเมื่อแรกประสูติ  ตามพระราชธรรมเนียมประเพณี
จึงนำดาบนี้ทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 31 ส.ค. 05, 10:01
 ก่อนที่จะมาต่อเรื่องพระราชฐานะของพระอัครมเหสีทั้ง  2  พระองค์  ผมต้องบอกก่อนว่าการที่เปรียบเทียบความแตกต่างของพระราชฐานะให้เห็นนั้น  มิได้มีเจตนาจะหมิ่นพระเกีรติยศพระองค์ใด  เพียงแต่อยากให้เกิดความเข้าใจและได้เห็นชัดเจนเกี่ยวกับเหตุการณืและฐานะที่แท้จริงของแต่ละพระองค์ในช่วงนั้น

5.  ในประกาศพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์  ปี  พ.ศ.  2409  ได้กล่าวถึงสมเด็จพระนางโสมนัสฯ  ว่า  "...มีพระนามแลเกียรติยศลือชาปรากฏสมควร..."  แต่ในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่  4  ที่มีถึงพระยาศรีพิพัฒฯ  กลับกล่าวถึงสมเด็จพระนางรำเพยฯ  เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วว่า  "...แม่เพยนี้ถึงในกรุงเทพฯ  ท่านทั้งปวงรู้ว่าแต่เป็นเจ้าเล็กเจ้าน้อยก็ดี..."

6.  เมื่อสมเด็จพระนางโสมนัสฯ  สวรรคตนั้น  โปรดเกล้าฯ  ให้ตั้งพระศพบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  แต่เมื่อสมเด้จพระนางรำเพยฯ  สิ้นพระชนม์นั้น  โปรดเกล้าฯ  ให้ตั้งพระศพที่หอธรรมสังเวช  อย่างไรก็ตจามในพระราชพงศาดาร  รัชกาลที่  4  ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  ได้ระบุว่าเหตุที่ต้องตั้งพระศพสมเด็จพระนางโสมนัสฯ  บนพระที่นั่ง  เพราะเวลานั้นหอธรรมสังเวชซ่อมยังไม่แล้วเสร็จ  ส่วนพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่  4  ลงวันที่  20  พฤศจิกายน  2404  ถึงพระองค์เจ้าปัทมราช  ได้ทรงเขียนถึงการตั้งพระศพสมเด็จพระนางรำเพยฯ  ว่า  "...ได้รับประทานจัดการไว้ศพในโกศตั้งไว้ที่ตึกต้นสน  แต่ตกแต่งเสียใหม่ให้งามดี...  แลตกแต่งสิ่งอื่นมากพอสมควร  ครั้นจะยกขึ้นไปไว้บนพระมหาปราสาท  เห็นจะกีดขวางการพระราชพิธีไม่พอที่  แต่เท่านั้นก็ดีแล้ว..."

7.  ในประกาศใช้คำนำหน้าพระนามพระบรมวงศานุวงศ์  ปี  พ.ศ.  2411  ผมเข้าใจว่ารัชกาลท่  4  ได้ทรงแต่งตั้งพระมเหสีตามธรรมโบราณ    โดยทรงแบ่งระดับชั้นพระมเหสีเทวีดังนี้

พระบรมอัครชายา  หรือพระบรมราชเทวี
พระราชเทวี
พระมเหสี  และอื่นๆ

ซึ่งหลักฐานเท่าที่ปรากฎและตราประจำตำแหน่งของสมเด็จพระนางรำเพยฯ  เป็นที่แน่นอนว่าทรงอยู่ในฐานะ  "พระราชเทวี"  ส่วนสมเด็จพระนางโสมนัสฯ  นั้นเนื่องจากทรงเป็นพระอัครมเหสีในระยะเวลาอันสั้น  เท่าที่ผมค้นยังไม่พบหลักฐานที่แน่นอน  แต่หากดูจากพระอิสสริยยศของพระนางซึ่งทรงเป็น  "พระบรมอรรคราชเทวี"  นั้น  ก็น่าจะทรงอยู่ในตำแหน่งพระบรมอัครชายา  หรือพระบรมราชเทวีครับ


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 14 ก.ย. 05, 11:36
 หายไปนาน   ...  กลับมาโพสต์ต่อแล้วคับผม

.................
จากความคิดเห็นเพิ่มเติมที่  20  และ  23  ซึ่งผมได้บอกไว้ว่า

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2406 เป็นต้นมาปรากฎหลักฐานว่าได้มีการออกพระนามพระมเหสีเทวีใหม่ ดังปรากฎในประกาศงานพระเมรุสมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล  และนับเป็นครั้งแรกที่ปรากฎหลักฐานอย่างเป็นทางการว่าทรงเปลี่ยนการออกพระนาม "พระนางนาถราชเทวี" เป็น "พระนางเธอ" (ชุมนุมประกาศรัชกาลที่ 4)

แต่เมื่อผมกลับไปเปิดชุมนุมประกาศรัชกาลที่  4  ใหม่อีกรอบ  พบว่า  ในปี  พ.ศ.  2405  ก็ได้มีการออกพระนามสมเด็จพระนางรำเพยฯ  ว่า  "พระนางเธอ  พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์"  แล้ว  ดังปรากฎในประกาศพระราชพิธีลงสรงโสกันต์  พระเจ้าลูกเธอ  ความว่า

"...พระเจ้าลูกเธอ  4  พระองค์ ซึ่งประสูติแต่พระนางเธอ  พระองค์เจ้ารำเพย..."

ดังนั้นข้อสรุปในส่วนนี้ก็คือ  ตั้งแต่ปี  2405  เป็นต้นไปได้มีการใช้คำนำพระนามว่า  "พระนางเธอ"  แล้ว

.................

สำหรับเรื่องพระราชฐานะของพระอัครมเหสีทั้ง  2  พระองค์  นั้นจากการพิจารณาหลักฐานต่างๆ  แล้ว  อย่างน้อยที่สุด  ก่อนปี  พ.ศ.  2409  สมเด็จพระนางรำเพยฯ  ยังไม่ได้ทรงได้รับการยกย่องให้มีพระอิสสริยยศเสมอด้วยสมเด็จพระนางโสมนัสฯ

แต่ภายหลังจากงานพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์  แล้ว   ทั้ง  2  พระองค์ก็มีพระอิสสริยยศเป็น  "สมเด็จพระนางเธอ "  เสมอกัน

สรุปการออกพระนามพระมเหสีเทวีในรัชกาลที่  4

ช่วงแรก  (2394  -  2404)
สมเด็จพระนางนาฏ  บรมอรรคราชเทวี
สมเด็จพระนางนาถราชเทวี

ช่วงที่  2  (2405  -  2408)
พระนางเธอ  มีหลักฐานว่าออกพระนามนี้เฉพาะ "สมเด็จพระนางรำเพยฯ"  เท่านั้น

ช่วงที่  3  (2409  -  2411)
สมเด็จพระนางเธอ  พระองค์เจ้า  ออกพระนามแบบนี้ทั้ง  2  พระองค์


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 23 ก.ย. 05, 15:44
 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


ในรัชกาลนี้มีการกำหนดคำนำพระนาม  และลำดับพระอิสสริยยศแห่งพระมเหสีอย่างเป็นทางการ  และมีแบบแผนที่ค่อนข้างแน่นอนกว่าในรัชกาลก่อนๆ  ส่วนการเพิ่มพูนพระอิสสริยยศของพระภรรยาเจ้านั้น  ขึ้นอยู่กับการมีพระราชโอรสเป็นสำคัญ


ในระยะแรกของรัชสมัยนี้มีเจ้านายฝ่ายในหลายพระองค์ที่เข้ารับราชการเป็นพระภรรยาเจ้า  ซึ่งมีทั้งที่เป็นลูกหลวง  และหลานหลวง  ดังนี้


พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง  (พระราชธิดาในรัชกาลที่  4)  ลำดับตามพระชันษา  และการเข้ารับราชการ

พระเจ้าพี่นางเธอ  พระองค์เจ้าทักษิณชา  นราธิราชบุตรี
พระเจ้าน้องนางเธอ  พระองค์เจ้าสุนัทากุมารีรัตน์
พระเจ้าน้องนางเธอ  พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี
พระเจ้าน้องนางเธอ  พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา
พระเจ้าน้องนางเธอ  พระองค์เสาวภาผ่องศรี

พระองค์เจ้าทักษิณชา  เป็นพระภรรยาเจ้าพระองค์แรกสุด  และเป็นเพียงพระองค์เดียวในขณะนั้น  ต่อมาเมื่อพระประชวรจนไม่อาจถวายงานได้  รัชกาลที่  5  จึงได้ทรงรับพระเจ้าน้องนางเธอพระองค์อื่นมาถวายงานแทน  โดยเริ่มตั้งพระองค์เจ้าสุนันทากุมารรีรัตน์  และเรียงลำดับกันไปพระองค์ละปี  4  "...โดยพระภรรยาเจ้าทั้ง  ๔  พระองค์นี้เมื่อแรกรับราชการทรงยกย่องไว้เสมอกันทุกพระองค์  พระเกียรติยศที่จะทรงเพิ่มพูนนั้นขึ้นอยู่กับการที่ทรงมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเป็นสำคัญ..."  จากหนังสือสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ  ของคุณสมภพ  จันทรประภา


พระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง  (หม่อมเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่  3)

หม่อมเจ้าปิ๋ว  (หม่อมเจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์)
หม่อมเจ้าบัว  (หม่อมเจ้าอุบลรัตนนารีนาค)
หม่อมเจ้าสาย  (หม่อมเจ้าสายสวลีภิรมย์)


เดิมพระภรรยาเจ้าทั้ง  3  พระองค์นี้ไม่ได้ทรงอยู่ในฐานะแห่งพระมเหสีเทวี  เพราะพระราชโอรสธิดาที่ประสูติออกมาเป็น  "พระองคืเจ้า"  ตามธรรมเนียม  ต่อมาภายหลังเมื่อทรงยกขึ้นเป็นพระองค์เจ้า  ตลอดจนพระราชโอรสธิดาที่ประสูติจากทั้ง  3  พระองค์ก้ได้เลื่อนพระอิสสริยยศเป็น  "เจ้าฟ้า"  แล้ว  จึงได้ทรงเป็นพระมเหสีเทวีอย่างเป็นทางการ


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 23 ก.ย. 05, 16:03
 พระมเหสีพระองค์ที่  1  พระเจ้าพี่นางเธอ  พระองค์เจ้าทักษิณชา  นราธิราชบุตรี


หลายคนอาจสงสัยว่าทำไม่ผมถึงได้ยกล่าวถึงเจ้านายพระองค์นี้ในฐานะพระมเหสี  เพราะไม่ปรากฎว่ารัชกาลที่  5  ได้ทรงยกย่องให้มีพระอิสสริยยศของพระมเหสีเทวีอย่างใดอย่างหนึ่งเลย  เหตุผลก็คือเพราะเจ้านายพระองค์นี้ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง  ตามธรรมเนียมพระราชโอรสธิดาที่ประสูติจากพระองค์ก็ย่อมต้องมีพระยศเป็น  "เจ้าฟ้า"  อย่างไม่ต้องสงสัย  ดังนั้นทันที่ทรงมีพระประสูติกาลสมเด็จเจ้าฟ้าชาย  เมื่อวันพฤหัสบดีที่  13  มิถุนายน  พ.ศ.  2515  ก็ทรงเปลี่ยนฐานะจากพระภรรยาเจ้า  มาเป็นพระมเหสีพระองค์ที่หนึ่งในรัชกาลนั้น  อนุโลมตามอย่างเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด  พระอัครมเหสีในรัชกาลที่  2  ที่แม้จะไม่ได้ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสสริยยศอย่างเป็นทางการ  แต่ก็ทรงเป็น  "พระมเหสี"  ตามธรรมเนียม  เพราะทรงเป็นพระราชมารดาเจ้าฟ้า


แต่แล้วเหตุการณ์อันโศกเศร้าได้เกิดขึ้นเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าชายพระองค์นั้น  สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ  "...ทำให้พระองค์เจ้าทักษิณาชาฯ  ทรงเสียพระทัยมากจนกระทั่งถึงสูญเสียพระจริต  ไม่อาจรับราชการสนองพระยุคลบาทได้อีกต่อไป  จึงไม่ได้มีพรอิสสริยยศอย่างใดอย่างหนึ่ง  หลังจากนั้นรัชกาลที่  ๕  ก็ทรงโปรดเกล้าฯ  ให้พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ์  กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช  .พระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดา...  ทรงรับไปอภิบาลดุแลที่วังของท่าน  ...  สิ้นพระชนม์เมื่อวันพฤหัสบดีที่  ๑๓  กันยายน  พ.ศ.  ๒๔๔๙  ..."  พระภรรยาเจ้าและสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่  ๕  ของนายจิวัฒน์  อุตตมะกุล


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 23 ก.ย. 05, 17:03
 ขอออกตัวว่าน่าเสียดายแทนพระองค์เจ้าทักษิณชายิ่งนักครับ ที่ต้องมาสูญเสียพระราชโอรสพระองค์แรกในเศวตฉัตร ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นพระโอรสของพระองค์มีพระพลานามัยดูสมบูรณ์ แต่กลับทรงพระชนมชีพเพียง 8 ชั่วโมงเท่านั้นครับ(ไม่ทราบเพราะเหตุใด?)
เท่าที่จำได้ก็คือ พระองค์เจ้าทักษิณชา(พระธิดาลำดับที่ 5 ในพระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)เป็นพระพี่นางในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรองจากพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรควรราชสุดา
หรือถ้าจะแสดงเอาง่าย ๆ ก็คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระเชษฐาและพระกนิษฐภคินี 8 พระองค์ ที่ทรงพระชนมชีพจนถึงรัชกาลนี้มีเพียงแค่ 3 พระองค์เท่านั้น และทุกพระองค์ประสูติต่างมารดาทั้งสิ้นครับ
ได้แก่ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์(ลำดับที่ 3) พระองค์เจ้าทักษิณชา และกรมหลวงสมรรัตน์สิริเชษฐ์(ลำดับที่ 8)
ป.ล.ถ้ามีข้อมูลมากกว่านี้ขออนุญาตลงเสริมนะครับ    


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 26 ก.ย. 05, 15:30
 พระมเหสีพระองค์ที่  2  พระเจ้าน้องนางเธอ  พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี

พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี  เป็นพระภรรยาเจ้าพระองค์ต่อมาที่ได้ทรงเลื่อนฐานะเป็นพระมเหสี  ภายหลังที่มีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์  สุขุมขัตติยกัลยาวดี  เมื่อวันที่  14  กันยายน  พ.ศ.  2420  และเป็นพระมเหสีพระองค์แรกที่ได้รับพระราชทานพระเกียรติยศให้สมกับตำแหน่งพระมเหสี

โดยปรากฎพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพนักงานจ่ายเงิน  กรมพระคลังมหาสมบัติ  เมื่อวันอังคาร  แรม  11  ค่ำ  เดือน  11  ปีฉลู  นพศก  1239  ความว่า

"ให้ตั้งเงินเดือนสุขุมาลย์มารศรีเติมขึ้น  เดิม  ๘  บาท  ขึ้นอีก  ๑๒  บาท  เก่าใหม่เป็นเดือนละ  ๒๐  บาท  ตั้งแต่เดือน  ๑๐  ปีฉลู  นพศก  นี้ไป ..."

และในวันที่  17  พฤษภาคม  พ.ศ.  2421  ได้มีพระบรมราชโองการพระราชทานเครื่องประกอบพระอิสสริยยศพระองค์เจ้าสุขุมาลย์มารศรี  "...สุขุมาลย์มารศรี  ได้มีบุตรีกับข้าพเจ้าคนหนึ่ง  คือ  เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน  เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าเห็นสมควรว่าสุขุมาลย์มารศรีควรจจะได้รับเครื่องยศตามตำแหน่งเช่นนี้สมควรแก่ราชตระกูล..."

เครื่องประกอบพระอิสสริยยศพระเจ้าน้องนางเธอ  พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี  พระมเหสี  มีดังนี้

พานหมากทองคำลงยาราชาวดี  1
ผอบลงยาราชาวดีปริกประดับดับเพชร  1
จอกหมากลงยาราชาวดี  2
ซองพลูลงยาราชาวดี  1
ตลับขี้ผึ้งเป็นลุกลิ้นจี่ประดับทับทิมมีสายสร้อยห้อย  -  ไม้ควักหูเป็นต้นประดับเพชรเล็กน้อย  1
มีดพับด้ามลงยาราชาวดี  1
หีบหมากลงยาราชาวดีลายสระบัวประดับเพชรพลอย  1
ตลับเครื่องในประดับมรกตเพชรสามใบเถาสำรับ  1
ขันครองลงยาราชาวดีสำรับ  1
ข้นล้างหน้าพานรองทองคำลงยาราชวดีสำรับ  1
กาน้ำร้อนหูหิ้วมีถาดรองทำด้วยทองคำลงยาราชาวดีสำรับ  1

เครื่องยศเหล่านี้สร้างขึ้นจากเงินพระคลังข้างที่  ส่วนเพชรพลอยที่ประดับเป็นของกรมพระคลังมหาสมบัติ  โดยพระราชให้เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี

หมายเหตุ

เครื่องยศทองคำลงยาราชาวดีนี้  จะพระราชทานให้กับสมเด็จเจ้าพระยา  พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง  จนถึงพระอัครมเหสีครับ


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 27 ก.ย. 05, 08:04
 พระมเหสีพระองค์ที่  3  พระเจ้าน้องนางเธอ  พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา

หลังจากพระองค์ิเจ้าสุขุมาลมารศรี  ได้่ัรับพระราชทานพระเกียรติยศให้อยู่ในศักดิ์ของพระมเหสีได้เพียง  1  เดือน  วันที่  27  มิถุนายน  พ.ศ.  2421  พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา  ก็มีพระประสูติกาล  "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ"  ซึ่งเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่  พระองค์เจ้าสว่างวัฒนาจึงได้ทรงเลื่อนขึ้นเป็นพระมเหสีพระองค์ที่  3  ในรัชกาล

พระมเหสีพระองค์ที่  4  พระเจ้าน้องนางเธอ  พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

ได้เลื่อนเป็นพระมเหสี  เมื่อมีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์โสภางคทัศนิยลักษณ์  อัครวรราชกุมารี  เมื่อวันที่  12  สิงหาคม  พ.ศ.  2421

พระมเหสีพระองค์ที่  5  พระเจ้าน้องนางเธอ  พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี

ได้เลื่อนเป็นพระมเหสี  เมื่อมีพระระสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย  ประไพพรรณพิจิตร  นริศราชกุมารี  เมื่อวันที่  19  ธันวาคม  พ.ศ.  2421

สำหรับการพระราชทานพระเกียรติยศนั้น  ได้ทรงมีลายพระหัตถเลขาถึงเจ้าพนักผู้รักษาเงินกรมพระคลังมหาสมบัติเมื่อวันที่  23  กรกฎาคม  พ.ศ.  2421  ให้เพิ่มเงินเดือนพระมเหสีทั้ง  4  พระองค์เป็น  7  ตำลึงเสมอกันทุกพระองค์  และสังเกตว่าพระราชหัตเลขาสั่งราชการฉบับนี้  มีหลังจากพระองค์เจ้าสว่างวัฒนามีพระประสูติกาลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ  ได้  1  เดือน  และหลังจากงานพระราชพิธีสมโภชเดือนขึ้นพระอู่ได้  3  วัน

แต่การพระราชทานเครื่องประกอบพระอิสริยยศให้กับพระมเหสีทั้ง  3  พระองค์ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด  แต่ในพระราชหัตถเลขาแบ่งทรัพย์มรดกของพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์นั้น  ได้ระบุว่าพระองค์เจ้าสุนันทาฯ  ทรงได้พระราชทานหนังสือสำคัญมอบเครื่องประกอบพระอิสริยยศ  เมื่อวันศุกร์  ขึ้น  3  ค่ำ  เดือน  12  ปีเถาะ  เอกศก  จุลศักราช  1241 หลังจากสมเด็จเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย  ประสูติแล้วประมาณ  1  ปี

และสัีนนิษฐานว่าพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา  พระองค์เจ้าสุนันทาฯ  พระองค์เจ้าเสาวภาฯ  น่าจะได้รับพระราชทานเครื่องประกอบพระอิสสริยยศพร้อมกันทุกพระองค์

และในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันวันที่  23  กรกฎาคม  พ.ศ. 2421  ได้ออกพระนามพระมเหสีทั้ง  4  พระองค์อย่างไม่เป็นทางการว่า  "พระนางเธอ"

"...ทรงด้วยเงินพระนางเธอทั้ง  4  พระองค์  ก็ยังไม่สมกับเบี้ยหวัด.."

จึงสันนิษฐานได้ว่าอย่างน้อย"ก่อน"หรือตั้งแต่วันที่  23  กรกฎาคม  พ.ศ.  2421  เป็นต้นไป  ได้เปลี่ยนคำนำพระนาม  "พระมเหสี"  ทุกพระองค์  จาก  "พระเจ้าน้องนางเธอ"  เป็น  "พระนางเธอ"

อนึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าทรงยกย่องพระองค์เจ้าสุนันทาฯ  ให้เป็นใหญ่กว่าพระมเหสีทุกพระองค์  เพราะมีแต่สร้อยพระนามพระเจ้าลูกเธอที่ประสูติจากพระองค์เจ้าสุนันทาฯ  เท่านั้น  ที่ใช้ว่า  "อัครวรราชกุมารี"


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 05, 11:46

พระฉายาลักษณ์ พระมเหสีเทวีและพระเจ้าลูกเธอ
เท่าที่ดิฉันดูออกคือ
แถวบน  ซ้ายสุด  พระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฎ
แถวกลาง  ที่สามจากซ้าย สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ถัดจากพระองค์ท่าน  พระองค์ที่สี่นับจากทางขวา คือสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ
แถวนั่ง (ไม่ใช่แถวหมอบด้านหน้าสุดนะคะ) ขวาสุด  สมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์  กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร
เจ้านายสตรีองค์ที่ประทับบนพระเก้าอี้ยาว อีกพระองค์หนึ่ง ไม่แน่ใจว่าเป็นสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี หรือเปล่า


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 27 ก.ย. 05, 17:23
ขอบคุณคุณเทาชมพูสำหรับรูปนะครับ

................................................

เมื่อพระภรรยาเจ้าทั้ง  4  พระองค์  อันได้แก่  พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี  พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี  ประสูติพระราชโอรสธิดาถวาย  และได้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น  "พระมเหสี"  ตามลำดับทุกพระองค์แล้ว  รัชกาลที่  5  ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ใช้คำนำพระนามว่า  "พระนางเธอ"  เป็นพระอิสสริยยศเสมอกันทุกพระองค์  แต่ไม่ได้มีการใช้อย่างเป็นทางการ


จนกระทั่งปี  พ.ศ.  2423  เมื่อพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุเรือพระที่นั่งล่ม  ที่ตำบลบางพูด  พร้อมด้วยพระราชธิดา  จึงได้เกิดปัญหาเรื่องการออกพระนามขึ้น  ผสมกับพระราชดำริของรัชกาลที่  5  ที่ทรงต้องการกำหนด  และลำดับพระอิสริยยศพระมเหสีเทวีให้เหมือนกับนานาอารยะประเทศ  จึงโปรดเกล้าฯ  ใหมีการออกพระนามพระมเหสีเทวีในเวลานั้นใหม่ทุกพระองค์


สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

จากหลักฐานจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน  และพระราชหัตถเลขา  สรุปได้ดังนี้

31  พฤษภาคม  2423  พระองค์เจ้าสุนันทากุมารรัตน์  สิ้นพระชนม์

3  มิถุนายน  2423  โปรดเกล้าฯ  ให้ออกพระนามพระองค์เจ้าสุนันทาฯ  เป็น  "สมเด็จพระนางเจ้า  สุนันทากุมารีรัตน์"  เหมือนอย่างสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี  ในรัชกาลที่  4

4  มิถุนายน  2423  โปรดเกล้าฯ  ให้เปลียนการออกพระนามใหม่เป็น  "สมเด็จพระนางเธอสุนันทากุมารีรัตน์"  ด้วยมีกระแสพระราชดำริว่าสมเด็จพระนางเจ้านั้นไว้ใช้ให้แปลเป็นคำอังกฤษว่ากวีน

5  มิถุนายน  2423  ในพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี  ระบุว่าพระยศของสมเด็จพระนางเธอสุนันทาฯ  นั้น  ในภาษาอังกฤษให้ใช้คำว่าปรินเซส  สำหรับผู้ที่จะเป็นควีนนั้นจะให้ทรงมีคนเดียว  โดยมีพระอิสสริยยศเป็นที่สมเด็จพระนางเจ้า  ...  พระราชเทวี*  (เข้าใจว่าพระอิสริยยศนี้น่าจะทรงดัดแปลงมาจากคำในสมัยรัชกาลที่  4  ได้แก่  สมเด็จพระนางนาฏ  ... พระบรมอัครราชเทวี,  สมเด็จพระนางนาถ  ...  ราชเทวี)

24  กรกฎาคม  2423  โปรดเกล้าฯ  ให้เปลี่ยนพระนามเป็น  "สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์"

จึงอนุโลมว่านับตั้งแต่วันที่  3  มิถุนายน  พ.ศ.  2423  เป็นต้นไป  พระองค์เจ้าสุนันทาฯ  ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น  "สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์"  และยังไม่ได้ทรงอยู่ในฐานะพระอัครมเหสี


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 05, 08:52

ติดตามตลอดค่ะ

วันนี้ ขอเชิญพระฉายาลักษณ์ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ  มาลง
ทรงฉายพร้อมกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี  
และพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ค่ะ


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 29 ก.ย. 05, 08:17
 สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  พระราชเทวี  พระอัครมเหสีในรัชกาลที่  5
พระนางเธอ  พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี
พระนางเธอ  พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี


ภายหลังจากการเฉลิมพระนามสมเด็จพระนางเธอ  เป็น  “สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์”  เมื่อวันที่  24  กรกฎาคม  พ.ศ.  2423  แล้ว  ก็ได้ทรงสถาปนาพระมเหสีอีก  3  พระองค์  ให้ดำรงฐานันดรศักดิ์ในตำแหน่งพระมเหสีเทวี

สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  พระราชเทวี  พระอัครมเหสี
พระนางเธอ  พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี
พระนางเธอ  พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี

สันนิษฐานว่าทรงได้รับการสถาปนาในคราวเดียวกันทั้ง  3  พระองค์  แต่จะได้รับการสถาปนาเมื่อใดนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด  ในหนังสือพระภรรยาเจ้าและสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่  5  ของนายแพทย์จิรวัฒน์  กับหนังสือสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ  ของคุณสมภพ  ระบุว่าสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ  ทรงได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่  12  สิงหาคม  พ.ศ.  2423  ซึ่งภายหลังจาการเสร็จสิ้นพิธีขึ้นพระตำหนักใหม่

สำหรับผู้เขียนเห็นด้วยกับหนังสือจุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ฯ  ของคุณเจฟฟรี่  ไฟน์สโตน  ที่ระบุว่าทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเมื่อวันที่  6  สิงหาคม  พ.ศ.  2423  ดังปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในวันที่  6  สิงหาคมนั้นว่า

“วันนี้เป็นวันเริ่มหมายลงพระนามสมเด็จพระนางเจ้า  ขึ้นพระตำหนัก  เป็นพระฤกษ์...”

ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการออกพระนาม  “สมเด็จพระนางเจ้า”  ดังนั้นอย่างน้อยที่สุดพระมเหสีทั้ง  3  พระองค์ต้องได้รับการสถาปนาในวันที่  6  สิงหาคม  หรือก่อนหน้านั้น  แต่ต้องหลังจากการเฉลิมพระนามสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์แล้ว

การพิจารณาพิธีขึ้นพระตำหนักใหม่  เป็นพิธีเดียวกับการเฉลิมพระอิสริยยศพระมเหสีนั้น  ไม่น่าจะเป็นไปได้  เพราะประการแรกตามหลักฐานต่างๆ  พบว่าได้มีการออกพระนาม  “สมเด็จพระนางเจ้า”  และ  “พระนางเธอ”  ตั้งแต่ก่อนวันที่  12  สิงหาคม  ซึ่งแสดงว่าต้องได้รับการสถาปนาก่อนหน้านั้นแล้ว  มิฉะนั้นผู้บันทึกจะออกพระนามเช่นนั้นได้อย่างไร  เป็นการผิดธรรมเนียม  ประการที่  2  ในพิธีขึ้นพระตำหนักนั้นกล่าวถึงเฉพาะสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ  และพระนางเธอ  พระองค์เจ้าเสาวภาฯ  โดยไม่ได้กล่าวถึงพระนางเธอ  พระองค์เจ้าสุขุมาลฯ  แต่อย่างใด  ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่าพิธีขึ้นพระตำหนักใหม่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของพิธีเฉลิมพระอิสริยยศ

สำหรับพระอิสริยยศ  “พระราชเทวี”  นั้น  ไม่ปรากฏว่ามีออกพระนามเช่นนี้แต่อย่งใด  แต่อาศัยจากพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี  ลงวันที่  5  มิถุนายน  พ.ศ.  2423  ที่ทรงระบุว่า

“…ที่กวีนนั้นจะใช้ให้แปลกกับสมเด็จพระนางเจ้ามีชื่อแล้วจึงใช้พระราชเทวีเติมข้างท้าย…”
นอกจากนี้พระราชหัตถเลขาถึงพระยาราชภักดี  ลงวันที่  16  สิงหาคม  พ.ศ.  2423  กล่าวว่า

“ด้วยเงินเดือนสว่างวัฒนา  เดิมมีอยู่เดือนละเจ็ดตำลึง  บัดนี้เลื่อนยศเป็นสมเด็จพระนางเจ้า  ให้เงินเดือนกึ่งกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร  คือจำนวนเดือนละชั่ง  สุขุมาลมารศรี  เสาวภาผ่องศรี  เดิมเดือนละเจ็ดตำลึงเป็นพระนางเธอให้ขึ้นเงินเดือนคนละสิบตำลึง  ตั้งแต่เดือนเก้า  ปีมะโรง  โทศกนี้ไป”

ส่วนพระอิสริยยศ  “พระนางเธอ  พระองค์เจ้า”  นั้น  บางคนอาจจะสงสัยว่าต้องออกพระนางเธอเฉยๆ  เช่น  พระนางเธอสุขุมาลฯ  หรือต้องมีพระองค์เจ้าต่อท้ายด้วย  เช่น  พระนางเธอ  พระองค์เจ้าสุขุมาลฯ  นั้น  จริงๆ  แล้วออกพระนามได้ทั้ง  2  อย่าง  แต่ที่เป็นทางการและถูกต้องควรออกพระนามว่า  “พระนางเธอ  พระองค์เจ้า”  ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาถึงพระยาเทพประชุน  ลงวันที่  4  พฤศจิกายน พ.ศ.  2423  ว่า  “...แต่ว่าการในครอบครัว  ได้ยกหญิงกลางสว่างวัฒนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้า  อีกสองคนนั้นเป็นพระนางเธอ  พระองค์เจ้า...”

สำหรับพระอิสริยยศ  “พระนางเธอ  พระองค์เจ้า”  นั้นเป็นพระอิสริยยศของพระมเหสีเทวีที่กำหนดไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่  4


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 03 ต.ค. 05, 12:04

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์  พระบรมราชเทวี
สมเด้จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  พระบรมราชเทวี

พระมเหสีทั้ง  2  พระองค์นี้จะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น  "สมเด็จพระนางเจ้า  พระบรมราชเทวี"  เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด  แต่สันนิษฐานว่าน่าจะได้รับการเฉลิมพระยศในคราวเดียวกัน  คือ  ในช่วงงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ  


หลักฐานแรกสุดที่มีการออกพระนามว่าสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์  พระบรมราชเทวี  ได้แก่หนังสือที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้พิมพ์พระราชเทานเนื่องในงานพระราชทานเพลิงพระศพ  ในปีพ.ศ  2423  ปรากฎความว่า  "...ทรงพระราชดำริจะทรงสร้างหนังสือสวดมนต์  รวมพระสูตร  และพระปริตต่างๆ  เพื่อเป็นก่ารพระราชกุศลในงานพระเมรุ  การพระศพสมเด้จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์  พระบรมราชเทวี..."  โดนหนังสือเล่มนี้พิมพ์เสร็จเมื่อวันที่  17  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2423  จึงสันนิษฐานได้ว่าสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ  ได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น  "พระบรมราชเทวี"  ในระหว่างวันที่  1  สิงหาคม  -  17  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2423  


แต่หนังสือจุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ฯ  ของคุรเจฟฟรี่  ไฟน์สโตน  ระบุว่าทั้งสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ  และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  พระราชเทวี  ทรงได้รับเฉลิมพระอิสริยยศพร้อมกันเมื่อวันที่  17  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2423


ซึ่จะสอดคล้องกับหนังสือเรื่องสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ  ของคุณสมภพ  จันทรประภา  ที่ระบุว่า  "...เมื่อถึงงานพระเมรุฯ  สมเด้จพระนางเจ้าสุนันทาฯ  ก็ได้มีประกาศฐานะพระอัครมเหสีให้ปรากฎหนาแน่นยิ่งขึ้น  โดยเพิ่มคำว่า  "บรม"  ลงไปเป็นคำคุณศัพท์ของพระราชเทวีอีกคำหนึ่งด้วย  ซึ่งสมเด็จฯ  ก็ทรงอยู่ในฐานะ  "พระบรมราชเทวี"  ในคราวเดียวกันนั้น..."

แต่หลักฐานแรกสุดที่มีการออกพระนามสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  พระบรมราชเทวี  คือจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่  5  วันที่  28  กรกฎาคม  พ.ศ.  2426

"...เวลา  ๒  โมงเช้า  สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี..."

ในขณะเดียวกันจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันฉบับแรกที่ออกพระนามสมเด็จพระนางเจ้สุนันทากุมารีรัตน์  พระบรมราชเทวี  คือวันที่  30 พฤษภาคม  พ.ศ.  2426  ภายหลังจากสวรรคตแล้ว  3  ปี  ความว่า

"...ในการเปิดอนุสาวรีย์ที่ระลึกแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์  พระบรมราชเทวี..."

ซึ่งจะสังเกตได้ว่าจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันออกพระนามทั้ง  2  พระองค์ว่า  "พระบรมราชเทวี"  ในปี  พ.ศ.  2426  เหมือนกัน


สำหรับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ  นั้นผมสันนิษฐานว่าน่าจะได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น  "พระบรมราชเทวี"  ระหว่างวันที่  5  พฤศจิกายน  -  17  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2423  เพราะในพระราชหัตถเลขาถึงข้าหลวงเมืองเชียงใหม่ลงวันที่  4  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2423  ยังทรงระบุเพียงว่า  "...ได้ยกหญิงกลางสว่างวัฒนา เป็นสมเด็จพระนางเจ้า"


เดิมนั้นรัชกาลที่  5  มีพระราชประสงค์จะให้ตำแหน่ง  "สมเด็จพระนางเจ้า  พระราชเทวี"  เป็นตำแหน่งพระอัครมเหสี  และพระองค์เองก็ทรงเข้าพระทัยว่าในสมัยรัชกาลที่  4  สมเด็จพระนางโสมนัสฯ  กับสมเด็จพระนางรำเพยฯ  ต่างก็ทรงอยู่ในศักดิ์ของพระราชเทวี  ทั้ง  2  พระองค์  (สันนิษฐานจากพระราชนิพนธ์ธรรมเนียมราชตระกูลฯ  และรัชกาลที่  4  ก็ทรงกล่าวไว้เช่นนั้น)  แต่ในความจริงแล้วในสมัยรัชกาลที่  4  สมเด็จพระนางโสมนัสฯ  ทรงอยู่ในฐานะ  "พระบรมราชเทวี"  หรือ  "พระบรมอัครชายา"  ในขณะที่สมเด็จพระนางรำเพยฯ  ทรงอยู่ในฐานะ  "พระราชเทวี"  แต่ในภายหลังเข้าใจว่าอาจจะเป็นเรื่องฐานะขององค์รัชทายาท  จึงโปรดให้ออกพระนามพระมเหสีทั้ง  2  องค์เป็น  "สมเด็จพระนางเธอ"  เสมอกัน


และเราจะยังสังเกตได้ว่า  อย่างไรก็ตามรัชกาลที่  5  ก็ยังไม่ทรงแน่พระทัยเรื่องการลำดับพระอิสริยยศพระมเหสีเทวีในรัชกาลก่อน  เพราะอย่างไรก็ยังทรงมีพระราชดำริว่า  พระยศของสมเด็จพระนางโสมนัสนั้น  สูงกว่าสมเด็จพระนางรำเพยฯ  ซึ่งเป็นพระราชชนนีของพระองค์   เช่น  "ให้ใช้สมเด็จพระนางเจ้าอย่างสมเด็จพระนางโสมนัส"  ข้อความนี้พิจารณาได้ว่าถ้าพระมเหสีในรัชกาลที่  2  มีพระอิสริยยศเท่ากันจริง  ทำไมรัชกาลที่  5  ไม่ตรัสว่า  "ให้ใช้อย่างสมเด็จพระนางเจ้าอย่างสมเด็จพระนางรำเพย"  ซึ่งเป็นพระราชชนนีของพระองค์  และดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีนานกว่าสมเด็จพระนางโสมนัสฯ

ที่กล่าวมาทั้งหมดต้องการให้ผู้อ่านยเห้นว่า  รัชกาลที่  5  ทรงลำดับพระอิสริยยศพระมเหสีเทวีในระยะแรกตามอย่างในสมัยรัชกาลที่  4


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 03 ต.ค. 05, 12:13
 ในสมัยรัชกาลที่  4

พระบรมอัครชายา/พระบรมราชเทวี  --  สมเด็จพระนางนาฏ  บรมอัครราชเทวี/สมเด็จพระนางเธอ

พระราชเทวี  --  พระนางเธอ  พระองค์เจ้า/สมเด็จพระนางเธอ


ในสมัยรัชกาลที่  5  ช่วงแรก

พระบรมอัครชายา/พระบรมราชเทวี  --  สมเด็จพระนางเจ้า  พระราชเทวี  ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็น  "พระบรมราชเทวี"

พระราชเทวี  --  พระนางเธอ  พระองค์เจ้า  ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน  บางรั้งจะออกพระนามพระนางเธอ  แล้วตามด้วยพระราชเทวี  ต่อมาในภายหลังเมื่อมีการสถาปนาตำแหน่ง  สมเด็จระนางเจ้า  พระวรราชเทวี  กับพระนางเจ้า  พระราชเทวี  แล้วพระอิสริยยศ  "พระนางเธอ"  นี้จึงลดลำดับชั้นไป


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 03 ต.ค. 05, 12:13

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์  พระบรมราชเทวี


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 06 ต.ค. 05, 08:20
 พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระราชเทวี(พระนางเธอเสาวภาผ่องศรี  พระราชเทวี)


หลายๆ  ท่านที่เคยทราบพระราชประวัติของสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ  ก็จะทราบว่าเมื่อพระนางมีพระประสูติกาลสมเด็จฯ  เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธแล้ว  ก็ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศจาก  "พระนางเธอ  พระองค์เจ้า"  เป็น  "พระนางเจ้า  พระวรราชเทวี"  ...  แต่ความเข้าใจนี้อาจจะคลาดเคลื่อนก็เป็นได้


สมเด็จฯ  เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  ประสูติเมื่อวันที่  1  มกราคม  พ.ศ.  2423  ซึ่งหนังสือหลายเล่มกล่าวว่า  "พระนางเธอ  พระองค์เจ้าเสาวภาฯ"  ได้เลื่อนพระอิสริยยศในคราวนี้  หรือภายหลังจากพระราชพิธีสมโภชเดือนตั้งพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ


แต่ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่  5  ตั้งแต่วันพระราชพิธีสมโภชเดือนตั้งพระนามในวันที่  4  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2423  -  11  กันยายน  พ.ศ.  2426  ยังคงออกพระนามว่า  "พระนางเธอ  พระองค์เจ้า"  อยู่  ดังนั้นประเด็นที่ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศในปีพ.ศ.  2423  -  2424  จึงตกไป


จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่  5  วันที่  21  กันยายน  พ.ศ.  2426

"...เสด็จเรือพระที่นั่งกลไฟพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี  พระราชเทวี  และข้างใน..."

วันที่  3  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2426

"...ทรงเรือพระที่นั่งรัตนดิลกพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี  และพระนางเธอพระราชเทวี  และเจ้าจอม..."

วันที่  10  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2426

"...สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี  และพระนางเธอ  พระราชเทวี  และเจ้าจอมข้างใน..."

จากจดหมายเหตุฯ  ทั้ง  3  วันนี้  ทีแรกมีผู้เข้าใจว่าทรงได้เลื่อนเป็นพระราชเทวีแ้ล้ว  แต่ก็ปรากฎว่าในวันที่  19  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2426  ก็กลับไปออกพระนามว่า  "พระนางเธอพระองค์เจ้าเสาวภาฯ"  อีก  อย่างไรก็ดีทำให้เราได้ทราบว่าคำนำพระนามว่า  "พระนางเธอ"  เป็นพระอิสริยยศสำหรับผู้มีตำแหน่ง "พระราชเทวี"


ในจดหมายเหตพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่  5  ได้ออกพระนาม  "พระนางเจ้า"  เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่  27  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2428  "เวลาบ่าย  ๒  โมง  ๖  นาที  พระนางเจ้าเสาวภาผ่องสรีประสูติ..."


และออกพระนามว่า  "พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระราชเทวี"  ครั้งแรกเมื่อวันที่  30  ตุลาคม  พ.ศ.  2429


ดังนั้นแสดงให้เห็นว่า  พระนางเจ้าเสาวภาฯ  ทรงน่าจะได้รับการเลื่อนพระอิสริยยศระหว่างวันที่  27  กันยายน  พ.ศ.  2427(เป็นวัดสุดท้ายที่มีการออกพระนามว่า  "พระนางเธอ")  -  วันที่  27  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2428(เป็นวันแรกที่มีการออกพระนามว่า  "พระนางเจ้า")


แต่ในระยะแรกที่มีการออกพระนามเพียง  "พระนางเจ้า"  โดยไม่มีพระราชเทวีต่อท้ายนั้น  เป็นการเขียนเพียงย่อๆ  ของผู้บันทึก  หรือทรงเป็นพระนางเจ้าก่อน  แล้วจึงได้รับการสถาปนาเป็นพระนางเจ้า  พระราชเทวีกันแน่

แต่โดยส่วนตัวของผมเห็นว่าทรงเป็น  "พระนางเจ้า  พระราชเทวี"  มาตั้งแต่แรก  อนุโลมเช่นเดียวกับ  "สมเด็จพระนางเจ้า  พระราชเทวี"  ที่ใในระยะแรกแม้จะเป็น  "พระราชเทวี"  แล้ว  ก็ยังคงออกพระนามเพียงว่า  "สมเด็จพระนางเจ้า"


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 06 ต.ค. 05, 09:05

3  พระอัครมเหสีในรัชกาลที่  5

สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  พระบรมราชเทวี
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารรัตน์  พระบรมราชเทวี
สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระบรมราชินีนาถ
(จากซ้ายไปขวาครับ)


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 31 ต.ค. 05, 17:07

พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี  พระราชเทวี


สำหรับการสถาปนาพระอิสริยยศพระนางเธอสุขุมาลมารศรี  ขึ้นเป็น  "พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี  พระราชเทวี"  นั้น  ก็เช่นเดียวกับพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีซึ่งไปรากฎหลักฐานแน่ชัด  แต่ได้มีผู้สันนิษฐานถึงช่วงเวลาที่ทรงน่าจะได้รับการสถาปนาไว้  2  กรณีด้วยกัน

1.  ภายหลังจากที่สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯ  ประสูติเมื่อวันที่  29  มิถุนายน  2424  ซึ่งถ้าดูตามปฏิทินใหม่  ก็จะเป็นปีเดียวกับที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธประสูติ  ดังนั้นข้อสันนิษฐานนี้จะไปสนับสนุนประเด็นที่ว่า  พระนางเธอเสาวภา  ได้เป็นพระนางเจ้าในปีนี้พร้อมกับพระนางสุขุมาล  แต่ในกรณีของพระนางเจ้าเสาวภา  ข้อสันนิษฐานนี้ตกไปตามความเห็นที่  42  

ในขณะเดียวกันความน่าจะเป็นที่พระนางเธอสุขุมาล  จะได้เป็นพระนางเจ้าในปีนี้ก็ตกไปเช่นกัน  เพราะนับตั้งแต่วันประสูติสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตร  จนถึงวันที่  12  กุมภาพันธ์  2426  จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน  ก็ยังคงออกพระนามว่า  "พระนางเธอ"  เรื่อยมา


2  มีผู้สันนิษฐานว่าอาจจะทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระนางเจ้าพระราชเทวี  ในปีเดียวกับที่สถาปนาพระนางเจ้าเสาวภา  เป็นสมเด็จพระนางเจ้าพระอัครราชเทวี  ซึ่งก็คือ  ในปี  2438  แต่ประเด็นนี้ก็ตกไปเช่นกัน  เพราะในวันที่  27  ธันวาคม  พ.ศ.  2429  ก็ได้มีการออกพระนามว่า  "พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี"  แล้ว


ดังนั้นจากจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่  7  พอจะสันนิษฐานได้ว่า  พระนางเธอสุขุมาลมารศรี  ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี    ระหว่างวันที่  13  กุมภาพันธ์  2426  ถึงวันที่  26  ธันวาคม  2429  ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่มีการออกพระนามว่า  "พระนางเธอ"  และก่อนวันแรกที่จะมีการออกพระนามว่า  "พระนางเจ้า"


ซึ่งถ้าสังเกตให้ดีตามข้อสันนิษฐานนี้

พระนางเจ้าเสาวภาฯ ได้รับการเลื่อนพระอิสริยยศระหว่างวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2427 - วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428

พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี  ได้รับการเลื่อนพระอิสริยยศระหว่างวันที่  13  กุมภาพันธ์  2426(ปฏิทินใหม่  2427)  - วันที่  26  ธันวาคม  2429

จะเห็นว่าถ้าดูตามปฏิทินใหม่  คือเอาวันที่  1  มกราคม  เป็นวันขึ้นปีใหม่  ปี  2427  เป็นปีสุดท้ายที่การออกพระนามพระมเหสีทั้ง  2  พระองค์ว่า   "พระนางเธอ"  ในขณะที่มีการออกพระนามว่า  "พระนางเจ้าเสวภา"  ก่อน  "พระนางเจ้าสุขุมาล"  ถึง  1  ปี  ซึ่พอจะสันนิษฐานได้  2  ประเด็นคือ

ประเด็นที่  1  ได้รับการสถาปนาใรคราวเดียวกันทั้ง  2  พระองค์
ประเด็นที่  2  พระนางเจ้าเสาวภา  ได้สถาปนาก่อนแล้วจึงสถาปนาพระนางเจ้าสุขุมาลในภายหลัง


อย่างไรก็ตามโอกาสที่จะมีการสถาปนาพระมเหสีทั้ง  2  พระองค์ในปี  พ.ศ.  2428  นั้นมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก  เพราะในปีนั้นเจ้าจอมมารดาเปี่ยม  ได้เลื่อนเป็นเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม  แต่จะเลื่อนเจ้าจอมมารดาสำลีด้วยหรือไม่นั้นผมไม่แน่ใจ  เนื่องจากเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม  เป็นพระชนนของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา  สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  พระนางเจ้าเสาวภา


ส่วนพระอิสริยยศ "พระราชเทวี"  ของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี  มีการออกพระนามนี้ครั้งแรกในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันเมื่อวันที่  13  กุทภาพันธ์  2432

"...แลเครื่องสังเคตของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี  แลพระนางเจ้าพระราชเทวี  พระนางเจ้าพระราชเทวี  แลของพระเจ้าพี่นางเธอน้องนางเธอฝ่ายใน..."


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 31 ต.ค. 05, 18:06
 สวัสดีครับคุณหยดน้ำ หลังจากที่หายหน้าหายตามานาน
ขอเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับความเห็นที่ 44 ครับ
สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี ทรงอุ้มพระองค์เจ้าอินทุรัตนา ข้าง ๆ ทางซ้าย คือพระราชโอรสของพระองค์
ดูจากในพระรูป(เสียดายเล็กไปหน่อย)แล้ว มีแต่พระธิดาของทูลกระหม่อมบริพัตรทั้งหมดครับ และดูเหมือนจะทรงฉายที่วังบางขุนพรหม
น่าแปลกที่สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี มิได้รับหารสถาปนาให้สูงกว่านี้ ทั้ง ๆ ที่พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถทางด้านการประพันธ์ ดังในหนังสือ สุขุมาลนิพนธ์ ครับ(ไม่ทราบว่ามีการตีพิมพ์อีกหรือเปล่าครับ)
ข้อมูลที่คุณหยดน้ำมีแก่ใจที่รวบรวมนี้เป็นประโยชน์มาก ๆ ครับ น่าเสียดายที่ไม่มีรูปหม่อมสมพันธุ์ครับ


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 01 พ.ย. 05, 17:51

พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระวรราชเทวี


พระนางเจ้าเสาวภาฯ  จะได้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น  "พระนางเจ้าพระวรราชเทวี"  เมื่อใดไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด  จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่  5  ออกพระนามว่า  "พระนางเจ้าพระราชเทวี"  วัดสุดท้ายเมื่อวันที่  10  มิถุนายน  พ.ศ.  2431  และได้ออกพระนามว่า  "พระนางเจ้าพระวรราชเทวี"  ครั้งแรกเมื่อวันที่  16  สิงหาคม  พ.ศ.  2431


"...วันนี้พระนางเจ้าไม่ทรงสบาย  ไม่ได้เสด็จออกขุนนาง  พระอาการที่พระนางเจ้าพระวรราชเทวีทรงประชวรครั้งนั้น  ให้ทรงพระกระตุกไปตามพระบาทและพระกร  แลเป็นวันละหลายครั้ง..."

จากหลักฐานที่ได้นี้  พระองค์น่าจะเป็นพระนางเจ้าพระวรราชเทวี  ในช่วงวันที่  10  มิถุนายน  พ.ศ.  2431  ถึงวันที่  16  สิงหาคม  พ.ศ.  2431  (พระภรรยาเจ้า  และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่  5  :  นายแพทย์จิรวัฒน์  อุตตมะกุล)


ในเดือนพฤษภาคม  ปี  พ.ศ.  2431  มีการสถาปนาพระอิสริยยศพระอัครชายาเธอ  เป็นพระองค์เจ้า   และเลื่อนพระอิสริยยศพระราชธิดาที่ประสูติจากพระอัครชายาเธอเป็น  "พระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้า"


ในเดือนกรกฎาคม  พ.ศ.  2431  สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  พระบรมราชเทวี  มีพระประสูติกาลพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ


ดูในระยะเวลาตามที่นายแพทย์จิรวัฒน์  สันนิษฐานไว้ผมยังไม่เห็นมูลเหตุที่จะสามารถระบุได้ว่าทรงได้รับสถาปนาในเดือนใดแน่ชัด  แต่ในปี  พ.ศ.  2430  นั้นนับว่าเป็นปีวิปโยคของพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีเป็นอย่างมาก  เพราะพระราชโอรสธิดาสิ้นพระชนม์พร้อมกันถึง  3  พระองค์  และจากจดหมายเกตุพระราชกิจรายวันนั้นจะเห็นได้ว่าทรงเสียพระทัยมาก  จนถึงกับประชวร  ดังนั้นรัชกาลที่  5  จึงอาจจะทรงพระเมตตาสถาปนาพระอิสริยยศเสด็จพระนางให้สูงขึ้น  เพื่อเป็นการปลอบพระขวัญของพระมเหสีที่ทรงโปรดปรานมากพระองค์หนึ่ง


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 04 พ.ย. 05, 10:19
 ขอเรียนถามจากเรื่อง “เลาะวัง” ค่ะ   ม.ล. ศรีฟ้าเขียนถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมมาลมารศรี
...เมื่อตระกูลบุนนาคเป็นตระกูลใหญ่ มีคนในตระกูลรับราชการเป็นใหญ่เป็นโตมาก
ทั้งสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯ เป็นเจ้าฟ้าชั้นเอก มีพระชนนีเป็นลูกหลวง จึงเป็นที่หวาดระแวงมาก...

1. “ลูกหลวง” ดูจากคอนเท็กซ์แล้วแปลความหมายไม่ออกค่ะ
2. ดังปรากฏในลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมมาลมารศรี ที่มีไปถึงทูลหม่อมบริพัตรฯ ว่า
ตระกูลบุนนาคสร้างวีรกรรมไว้มาก ทำให้ลูกหลานเป็นที่หวาดระแวง
ทรงหมายถึงเหตุการณ์ไหนเป็นพิเศษหรือเปล่าค่ะ
3. ทรงขอให้ทูลหม่อมบริพัตรฯทำตัวให้ทูลหม่อมโตโปรดปราน
จะได้ไว้วางพระทัย ตรงนี้มีผลต่อ ตำแหน่งทางราชกาลตลอดสมัย ร. 6 ไหมค่ะ
(คนเราบางครั้งอาจไม่ถึงกับชัง แต่ไม่สนับสนุนให้โต) และจากเรื่องวังปารุสก์
ดูพระองค์จุลฯไม่ใคร่ชอบลูกหลานสายบริพัตรเลย ขอบคุณค่ะ


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 04 พ.ย. 05, 12:25
 ลูกหลวง  ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ  ลูกของในหลวง  ครับ  สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลฯ  ทรงเป็นพระราชธิดาในรัชกาล  4  กับเจ้าคุณจอมมารดาสำลี  ดังนั้นจึงทรงเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง  ในรัชกาลที่  5  เพราะทรงเป็นลูก(พระราชธิดา)ของในหลวงรัชกาลที่  4  น่ะครับ


ส่วนประเด็นอื่นๆ เดี๋ยวผมจะกลับมาตอบอีกทีนะครับ


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 04 พ.ย. 05, 17:45
 ถามของคุณ   Nuchan  ในข้อ  2  ผมไม่ทราบจริงๆ  ครับ  เพราะตระกูลบุนาก สร้างวีรกรรมไว้เยอะจริงๆ  แต่โดยความคิดเห็นส่วนตัวผมคิดว่า  การทึตระกูลบุนนางมีอำนาจและบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและคัดเลือกผู้ที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่  2  รัชกาลที่  3  และรัชกาลที่  4  และเมื่อต้นรัชกาลที่  5   นั้นก็เรืองอำนาสวาสนาเป็นที่สุด  สายตระกูลอื่นๆ  ก็อาจะเกิดการระแวงว่า  "สกุลบุนนาค"  อาจะสนับสนุนให้เชื้อสายของตนเป็นรัชทายาทก้ไดครับ


สำหรับความสัมพันธ์กับรัชกาลที่  6  ผมเห็นว่าในระยะต้นรัชกาลก้เป็นไปได้ด้วยดีนะครับ  ถึงกับโปรดให้ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง  แต่ในปลายรัชกาลปรากฎว่าทรงมีความขัดแย้งกัน  ดังนั้นเมื่อปลายรัชกาลที่  6  บทบาท  อำนาจหน้าที่ของสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯ  จึงดูน้อยลงไปเมื่อเทียบกับต้นรัชกาล  และยังปรากฎว่าเมื่อรัชกาลที่  6  สวรรคตได้ไม่นาน  เจ้าฟ้าบริพัตรทรงเคยตรัสกับทูตกับอังกฤฤษว่า  "ต่อไปนี้ไม่มีรามาแล้ว  เบื่อเต็มที  ต่อไปจะต้องไม่เป็นอย่างนี้อีก"


"ความคัดแย้งอย่างเห็นได้ชัดนี้อธิบายได้ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า  แม้จะไม่เป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่  6  -โดยเฉพาะหลังจากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ จักรพงษ์ภูวนารถ  และสมเด็จฯ  กรมพระยาเทววงศ์วรโปการสิ้นพระชนม์ในปี  1920  และ  1923  ตามลำดับแล้ว ..  ไม่มีพระบมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ท่านใดมีบทบาทสำคัญในคณะรัฐบาล-  สมเด็จเจ้าฟ้าฯ  กรมพระนครสวรรค์ฯ  เป็นผู้นำคนสำคัญในฝ่ายคัดค้านพระเจ้าแผ่นดินและราชสำนัก..."  (อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม :  เบนจามิน  เอ  บัทสัน)


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ย. 05, 18:02
 ขอแจมข้อ ๒ นะคะ
ดิฉันเข้าใจว่าหมายถึงบทบาทของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการค่ะ
สมัยนั้นท่านมีอำนาจมาก  เหนือกว่าพระบรมวงศานุวงศ์  มีเหตุการณ์เล็กๆน้อยๆหลายอย่างในบันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล  แสดงให้เห็นว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯเป็นที่ยำเกรงมากขนาดไหน
การที่ท่านเป็นผู้เลือกกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเอง   และวังหลวงกับวังหน้าก็มีเรื่องขัดแย้งกัน จนอังกฤษเข้ามาพัวพันด้วย สยามเกือบจะได้แบ่งเป็น ๒ ประเทศไปแล้ว  ก็เป็นส่วนหนึ่งของความหวั่นเกรงที่ยืดเยื้อมานาน

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯ พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแล้ว   ท่านก็ตึงๆกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  แต่ก็ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นอย่างที่วิตกกัน  บั้นปลายท่านก็ย้ายไปอยู่ที่ราชบุรี และถึงแก่อสัญกรรมขณะเดินทางกลับมากรุงเทพ

ความรู้สึกไม่พอใจยังคงหลงเหลืออยู่   ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จเจ้าพระยาฯ ยังคงมีกล่าวถึงในบันทึกต้นรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  แม้สั้นๆก็สะท้อนให้เห็นได้

สมเด็จกรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงเป็นเจ้านายที่มีอำนาจ เป็นที่เคารพนับถือของทหาร
ก็ก่อความรู้สึกระแวงอยู่ไม่มากก็น้อย ตลอดรัชกาลที่ ๖
แม้แต่เรื่องกรมหลวงชุมพรฯ ก็มีเสียงซุบซิบระแวงว่า พระองค์ท่านจะเป็นฝ่ายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 04 พ.ย. 05, 18:07
 ขอบคุณ คุณหยดน้ำมากค่ะ ดิฉันสนใจเรื่องของไทยมาก เป็นมือใหม่ที่พึ่งเริ่มอ่านงานในสาขานี้
อาศัยว่าอ่านหนังสือได้ค่อนข้างเร็ว ผู้อ่านเว็บนี้ก็ช่วยตอบให้ดิฉันเข้าใจได้มากขึ้นมากค่ะ

คำว่า "ลูกหลวง" มัวแต่ไปนึกถึง ระบบปกครองในสมัยก่อน ที่เมืองนั้น เมืองนี้เป็นเมืองลูกหลวง
ของอยุธยาทำนองนี้ค่ะ

เรื่องตระกูลบุนนาค ม.ล. ศรีฟ้า เขียนไว้เหมือนกับตระกูลนี้เคยก่อกบฎต่อบังลังก์อะไรสักอย่างค่ะ


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ย. 05, 19:29
 น่าจะคล้ายกับที่อังกฤษเรียกว่า King maker มากกว่าค่ะไม่ใช่กบฎ


กระทู้: ตำแหน่งพระมเหสีเทวี ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 05 พ.ย. 05, 11:23
 ขอบคุณอาจารย์เทาชมพู สำหรับ ค.ห. 50 และ 52 ค่ะ
เมื่อคืนดิฉันบึ่งออก ตจว. พอถึงบ้านก็รีบอ่านอัตชีวประวัติของคุณหญิงมณี
และในอารัมกถาก็ได้กล่าวถึงตระกูลบุนนาคว่ามีวงศ์วานว่านเครือเป็นใหญ่เป็นโต
นับแล้วเป็นญาติกันหมด ตำแหน่งสำคัญ พวกลูกหลานบุนนาคตีตราจองไว้เกลี้ยง

ในเมื่อ ร. 4 ทรงเป็นเขยบุนนาค ในสมัย ร.5 บุนนาคน่าจะมีกลีบกุหลาบโรยทางด้วยซ้ำ เพราะความเป็นญาติอิงแอบน่ะคะ