เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: octavian ที่ 22 ก.พ. 12, 22:21



กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: octavian ที่ 22 ก.พ. 12, 22:21
(http://www.navy.mi.th/newwww/document/royalthaiday/image/yut3.gif)

     ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า การต่อสู้กันด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นวิธีการรบอย่างกษัตริย์ในสมัยโบราณ เช่น พระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถี กับพระมหาอุปราชา เป็นต้น
      บนหลังช้างจะมีคนนั่งอยู่สามคน ตัวแม่ทัพจะถือง้าวอยู่ที่คอช้าง คนที่นั่งกลางอยู่บนกูบจะถือหางนกยูงซ้ายขวาโบกเป็นสัญญาณ และคอยส่งอาวุธให้แม่ทัพ (ทราบว่า จะสับเปลี่ยนที่นั่งกัน ตอนกระทำการรบเท่านั้น) ที่ท้ายช้างจะมีควาญนั่งประจำที่ ตามเท้าช้างทั้งสี่มีพลประจำเรียกว่า จตุรงคบาท คนทั้งหมดจะถืออาวุธ เช่น ปืนปลายขอ หอกซัด ของ้าว ขอเกราะเขน แพน ถ้าเป็นช้างยุทธหัตถ ีจะมีหอกผูกผ้าสีแดงสองเล่ม ปืนใหญ่หันปากออกข้างขวาหนึ่งกระบอก ข้างซ้ายหนึ่งกระบอก มีนายทหารและพลทหารสวมเกราะ โพกผ้า ช้างที่เข้ากระบวนทัพจะสวมเกราะใส่เกือกหรือรองเท้าเหล็กสำหรับกันขวากหนาม โดยทั้งที่สี่เท้าสวมหน้าราห์ มีปลอกเหล็กสวมงาทั้งคู่ และมีเกราะโว่พันงวงช้าง สำหรับพังหอค่าย โดยไม่เจ็บปวด


เรียนถามว่า เค้าโบกสัญญาณกันยังไงครับ ท่าไหนหมายถึง รุก หรือ ถอย ยังไงบ้างครับ

ขอบพระคุณมากครับ



กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.พ. 12, 08:24
อ้างถึง
เรียนถามว่า เค้าโบกสัญญาณกันยังไงครับ ท่าไหนหมายถึง รุก หรือ ถอย ยังไงบ้างครับ

คำถามนี้ถ้าตั้งใจจะเอาคำตอบแบบเดียวกับตารางข้างล่าง คงไม่มีใครสามารถค้นตำราพิชัยสงครามของไทยที่ระบุถึงรายละเอียดนี้มาได้แล้วกระมัง


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.พ. 12, 08:27
แต่ถ้าให้เดาจากการเห็น(ของจริง) การให้สัญญาณในการเคลื่อนขบวนพยุหยาตราโดยชลมารค ก็น่าจะเดาได้ไม่ยากว่า เขาต้องการให้ด้านโน้นเร่งๆหน่อย ด้านนี้ช้าๆหน่อย เอ้าเตรียมเดินหน้า เตรียมหยุด หยุด จอดเทียบท่า เป็นต้น


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.พ. 12, 08:41
การแสดงยุทธหัตถีทั้งหลายก็มีตัวแสดงโบกสัญญาณหางนกยูงนี้อยู่บนหลังช้างเหมือนกัน ดูแล้วก็แปลไม่ยากๆว่าเป็นสัญญาณให้เคลื่อนไปข้างหน้า หยุดประเดี๋ยว บุกประจันบาน เป็นต้น  ตอนถอยไม่มี เพราะช้างฉวยโอกาสแสดงก่อนแล้วด้วยการกลับหลังหันวิ่งหนี คนโบก(ถ้ายังไม่ตาย)ก็รีบโบกไปข้างหน้าอย่างรัวไม่หยุด แปลว่า วิ่งให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้เวัยเฮ้ย

ถึงอาจจะมั่ว ไม่ได้เอามาจากตำราดั้งเดิมจริง แต่สัญญาณเหล่านี้ก็เข้าใจง่ายดีครับ


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 ก.พ. 12, 10:48


       นึกถึงกระทู้ "กะหลั่น"   ของคุณ ชัย   ที่ตามอ่านอย่างเมามันหลายปีก่อน  (ขออภัยต้องแก้เป็นซับมันถึงจะถูกต้อง)

ตำราโบราณนั้นโดยทั่วไปก็หายากอยู่แล้ว   ยิ่งตำราขี่ช้าง ๑๒ ประเภท   ยิ่งสุดที่จะหา

ท่านผู้ใหญ่หวงแหน  จัดระดับความลับสูงสุด    จัดทำไว้แค่สองเล่ม  เป็นตำราข้างพระแท่น  และสำหรับสมุหพระคชบาล

ครูช้างและขุนช้างเท่านั้น      ผู้เรียนก็ได้เพียงจดจำและซักถามผู้รู้   จะคัดลอกตำราไม่ได้เด็ดขาด


       ถ้าหา  หนังสืออนุสรณ์ นางตลับ  ไม้เกตุ  เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๕  เรื่องตำราขี่ช้างครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ๒๑๙๙ - ๒๒๓๑

ได้   อาจจะมีข้อมูลเพิ่มเติม


       สหายปัญญาประกายไฟแถวนี้  เคยถามดิฉันว่า  กลางช้างจะส่งอาวุธด้วยมือไหน

       ตอบได้ว่า  มือซ้าย  เพราะธรรมดา  ผู้รับอาวุธ  รับด้วยมือขวา


รายละเอียดอ่านได้จาก  "ช้าง  ราชพาหนะ"   เทอญ




เกราะโว่  ไม่มีค่ะ   มีแต่เกราะโซ่  เป็นการพิมพ์พลาดเล็กน้อยเท่านั้น


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.พ. 12, 11:19
^
ถ้าท่านข้างบนตอบอย่างนี้ แปลว่าว่าไม่ต้องหาครับ


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: octavian ที่ 23 ก.พ. 12, 14:05
ขอบคุณครับ ยังไงจะพยายามหาต่อไป :)


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.พ. 12, 15:41
ดีครับ

ฝากหาด้วยว่า เวลาเข้ากระทำยุทธหัตถีกันจริงๆนั้น กลางช้างนั่งอยู่บนสัปคับคชาธาร หรือจะมีการปลดออกไปก่อนเพื่อลดภาระแก่ช้าง
ดิดดูว่า ถ้าช้างต้องแบกอะไรหนักๆ มีทั้งสรรพอาวุธแถมมีพระมหาเศวตฉัตรอย่างในรูป แถมคนอีก๓ ถึงจะแข็งแรงอย่างไรถ้าอีกฝ่ายหนึ่งเขาเบากว่า คล่องตัวกว่า ผู้เสียเปรียบนอกจากช้างแล้วก็คนที่นั่งบนคอช้างนั่นแหละ จะพลอยพ่ายแพ้ถึงแก่ชีวิตไปด้วย

ในอดีต เจ้านายสองพระองค์ยังทรงแลกเปลี่ยนทัศนะกันถึงเรื่องนี้ ซึ่งถ้ามีหลักฐานบันทึกไว้อย่างมีกิจลักษณะแล้ว คงจะไม่รอดพ้นสายพระเนตรท่าน โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงมีลายพระหัตถ์เมื่อวันที่๑๓ พฤษภาคม ๒๔๘๐ ทูลสมเด็จกรมพระยานริศฯ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

"....เรื่องเครื่องคชาธารปักฉัตรนั้น มิใช่สำหรับขี่ชนช้างเป็นแน่ แต่พิเคราะห์ดูน่าจะมีสำหรับใช้ทางอื่น เพราะเศวตฉัตรกับคนโบกแพนมีเป็นสำคัญก็ 'ฉัตร' เป็นเครื่องหมายของตัวนายทัพ และ 'แพน' เป็นเครื่องสำหรับส่งคำสั่งนายทัพไปได้สุดสายตา ของ ๒ อย่างนี้มีประโยชน์ประกอบกัน ถ้าอยู่สูงให้คนเห็นไปได้ไกล ก็ยิ่งมีประโยชน์ เปรียบเหมือนเวลากองทัพ ๒ ฝ่ายตั้งประชันกันในท้องทุ่ง ถ้าแม่ทัพผู้อำนวยการรบขี่ช้างอยู่ข้างหลังและมีคนโบกแพนอยู่ด้วย ก็อาจจะแลเห็นและอาจจะสั่งกระบวนรบได้สะดวก และจำต้องมีฉัตรสำหรับตัวอยู่ด้วย พวกนายทัพนายกองจึงจะรู้ว่าจะคอยดูสัญญาณที่ตรงไหน ดูเป็นประโยชน์อย่างว่ามานี้ หม่อมฉันจึงเห็นว่าจะเป็นของมีจริง แม่ทัพสามัญอาจจะใช้สัปคับช้างเขนก็ได้ หรือช้างใดๆ ที่มีสัปคับก็ได้ และคงมีพระคชาธารสำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงเวลาบัญชาการรบ เช่นว่าที่มาทำให้เป็นรูปร่างอย่างมีอยู่บัดนี้น่าจะเป็นของคิดทำเพื่อประดับพระเกียรติยศ...."

สมเด็จกรมพระยานริศฯ ทรงมีลายพระหัตถ์ตอบตามจดหมายลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๔๘๐

"......ทีนี้จะกราบทูลความเห็นเรื่องพระคชาธาร ฉัตรก็คือร่ม เจ้าร่มขาวหลวงพระบาง ร่มเป็นเครื่องประจำยศ พร้อมด้วยบังสูรย์พัดโบก ยศน้อยลงก็ลดลงเป็นชั้นๆ ฉัตรหลังพระคชาธาร แม้ถูกชนปังเดียวก็จะต้องหักสะบั้นลงมาเป็นแน่ เศวตฉัตรจะเป็นร่มขาว ซึ่งพนักงานเดินดินจะเชิญเอางานถวายพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งประทับอยู่เหนือคอช้างจะได้หรือไม่ เห็นจะไม่สูงกว่าประทับพระที่นั่งพุดตานในการแห่พยุหยาตราไปมากนัก อนึ่งคนกลางช้างที่นั่งบนหลังช้างเปล่าไม่ได้นั่งสัปคับแบบแผนก็มี แม้ช้างพระที่นั่งกลางช้างจะนั่งบนหลังเปล่าคอยส่งพระแสงถวายผลัดเปลี่ยนในเวลาอันจำเป็น และรับสั่งให้สัญญาณหางนกยูง จะเป็นอันสำเร็จประโยชน์ได้หรือไม่ อาวุธอันจะพึงใช้ในการรบซึ่งจะนำไปบนหลังช้างจะเตรียมทำที่สอดใส่ไปอย่างไรก็ได้ ในตำราเพชรพวงก็มี สั่งชาวแสงให้เชิญพระแสงปืนพระแสงดาบไปสอดไปผูกไว้ข้างและหลังเบาะที่ประทับ (เหนือคอช้าง) นั้นเอง อีกประการหนึ่งเห็นรูปสัปคับรถซึ่งเขมรฉลักไว้ที่พระระเบียงพระนครวัดดูเตี้ยๆ พื้นสัปคับเห็นจะไล่เลี่ยกับกระดูกสันหลังช้าง คนรบที่ขี่ช้างทำเท้าหน้าเหยียบบนสัปคับเท้าหลังเหยียบอยู่ท้ายช้างก็มี สัปคับเตี้ยพอทำได้อย่างนั้น อีกอย่างหนึ่งเคยเห็นของลาว เจ้าพระยาสุรศักดิ์เอามาสานด้วยหวายทำเป็นสองซีก มีห่วงผูกติดกันเรียกว่า วอง ในนั้นไม่เห็นมีพื้น จะเอาแต่เบาะยัดลงไปหรืออย่างไรไม่ทราบ ถ้าผูกวองชนิดนั้นให้กลางช้างนั่งเห็นพอจะไปได้ไม่บังตาคนท้าย และแม้จะถูกชนสักทีสองทีก็เห็นจะมิพอเป็นไร แต่ถ้าพื้นตั้งบนหย่องขึ้นไปสูงโงนเงนอยู่บนหลังช้างแล้วปักเศวตฉัตร คนให้สัญญาณนั่งเปลอย่างเช่นเห็นอยู่ทุกวันนี้ ถูกชนโครมเดียวเป็นหกคะเมนม้วนต้วนลงมาหมดเป็นแน่แท้....."

แต่ความเห็นของทั้งสองพระองค์ คนรุ่นต่อมามิได้ใส่ใจ จะเห็นได้จากรูปปั้นอนุสาวรีย์ยุทธหัตถีต่างๆที่กรมศิลปากรสร้างขั้น ล้วนมีสัปคับคชาธารบนหลังช้างทั้งสิ้น

ดังนั้น ถ้าคุณOctavianสามารถค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องราวยุทธวิธีการรบบนหลังช้าง นอกจากสัญญาณหางนกยูง ก็คงจะได้เจอเรื่องที่สองสมเด็จท่านยังไม่เคยทอดพระเนตรเห็นอื่นๆอีกก็ได้

ขอให้โชคดีครับ


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.พ. 12, 16:08
เอาการแสดงยุทธหัตถีโดยมืออาชีพ ชนิดที่ไม่ใช่เปาะแปะโชว์มาให้ชมพอเห็นบรรยากาศ
 
เวลาพญาช้างสารเข้าประจันบานเอาเป็นเอาตายกันนั้น คนกับช้างตัวใครตัวมันนะคะร้าบ นั่งไม่ดีตกลงมาเจอคชบาทา ซึ่งศิริรวมทั้งหมด๘ข้าง ย่ำไปย่ำมาอยู่ตรงนั้นอีก ช้างไม่ขอรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพของผู้ใดทั้งสิ้น ขอบอก


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 ก.พ. 12, 20:53
ให้ข้อคิดเห็น ๒ ประการกับ อ.NAVARAT.C เกี่ยวกับเรื่องฉัตร

๑. อ.NAVARAT.C กล้านั่งภายใต้ฉัตรขาวไหม ? ตรงนี้เข้าใจว่าเมื่อช้างออกศึกอาจจะงอคันฉัตรลงไป หรือถอดพักไว้ ส่วนองค์กษัตริย์เลื่อนมาคอช้าง ต่อเมื่อเสร็จศึกแล้วจึงเปลี่ยนที่นั่งระหว่างกัน ครั้นแล้วจึงอัญเชิญเศวตรฉัตรกางกั้นเหนือพระเศียรต่อไป

๒. หากไม่มีหนังสืองานศพ ก็ลองคิดดูว่า กูบช้างมีเครื่องปักคันฉัตรหรือไม่ ดังภาพประกอบเป็นโครงเหล็กไว้รองรับศาสตราวุธ และหากปักคันฉัตรแล้วต้องโยงลวดตรึงทั้งสี่มุมอีกด้วย เพื่อไม่ให้ฉัตรเกิดอาการแกว่ง ซึ่งอาจจะทำให้หักได้

ในส่วนตัวผมคิดว่าการรบหลังช้างมิควรนำฉัตรออกไปด้วย หากแต่เมื่อเสร็จศึกเปลี่ยนที่นั่งระหว่างกันแล้วจึงปักฉัตร


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: จตุรงคบาท ที่ 23 ก.พ. 12, 21:16
ทั้งสามตำแหน่งต่างเอื้อกันและกัน ช้างที่ขึ้นระวางคู่บารมีกษัตริย์ ต่างถูกฝึกมาอย่างดี กลางช้างที่ส่งสัญญาณจะต้องส่งไปถึงท้ายช้างซึ่งหน้าที่ของท้ายช้างก็คือบังคับท้ายช้างให้เคลื่อนที่สมดุลย์กับกษัตริย์ผู้บังคับรบอยู่ส่วนเศียรของช้างศึก โดยมีกลางช้างส่งสัญญาณ เพราะฉะนั้นตำแหน่งกลางช้างจึงสำคัญมากๆในการศึกยุทธหัตถี คือต้องรู้นิสัยของช้างเชือกนั้นเป็นอย่างดี การเคลื่อนที่ของช้าง  บุคคลที่มีชื่อในประวัติศาสตร์ก็คือเจ้ารามราฆพกลางช้าง แห่งองค์สมเด็จพระนเรศ 


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.พ. 12, 22:05
อ้างถึง
๑. อ.NAVARAT.C กล้านั่งภายใต้ฉัตรขาวไหม ?
แค่คิด ก็มิบังอาจแล้วครับ
ผมเข้าใจดีอยู่แล้วครับ ผู้ที่นั่งภายใต้เศวตฉัตรก็คือพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น
อ้างถึง
ตรงนี้เข้าใจว่าเมื่อช้างออกศึกอาจจะงอคันฉัตรลงไป หรือถอดพักไว้ ส่วนองค์กษัตริย์เลื่อนมาคอช้าง ต่อเมื่อเสร็จศึกแล้วจึงเปลี่ยนที่นั่งระหว่างกัน ครั้นแล้วจึงอัญเชิญเศวตรฉัตรกางกั้นเหนือพระเศียรต่อไป

ผมก็ไม่ทราบว่าท่านจะทำกันดังที่คุณหนุ่มสยามว่าหรือเปล่า เหมือนที่สมเด็จฯทั้งสององค์ท่านก็มิทรงทราบนอกจากสันนิฐาน อย่าลืมว่ายุทธหัตถีครั้งสุดท้ายก็คือสมัยพระนเรศวรมหาราช คนสมัยปลายอยุธยาอาจจะได้เห็นกษัตริย์ทรงช้างพระที่นั่งบนพระราชอาสน์สัปคับที่มีเศวตฉัตร แต่มิใช่ในโอกาสที่เสด็จออกศึกสงคราม สมัยรัตนโกสินทร์ การเสด็จโดยช้างพระที่นั่งคงไม่มีแล้ว คนรุ่นหลังก็ใช้การสันนิฐานเอาทั้งนั้น
 
ในการรบบนหลังช้างนั้น จะงอฉัตรหรือถอดพักไว้(บนหลังช้าง?) น่าจะเกะกะเป็นอย่างยิ่ง ถ้าจะเสด็จพร้อมเศวตฉัตร ผมยังคิดว่า สันนิฐานของสมเด็จกรมพระยานริศฯที่ทรงว่า คนข้างล่างเป็นผู้อัญเชิญ จะน่าเชื่อกว่า

ฉัตรก็คือร่ม เจ้าร่มขาวหลวงพระบาง ร่มเป็นเครื่องประจำยศ พร้อมด้วยบังสูรย์พัดโบก ยศน้อยลงก็ลดลงเป็นชั้นๆ ฉัตรหลังพระคชาธาร แม้ถูกชนปังเดียวก็จะต้องหักสะบั้นลงมาเป็นแน่ เศวตฉัตรจะเป็นร่มขาว ซึ่งพนักงานเดินดินจะเชิญเอางานถวายพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งประทับอยู่เหนือคอช้างจะได้หรือไม่ เห็นจะไม่สูงกว่าประทับพระที่นั่งพุดตานในการแห่พยุหยาตราไปมากนัก

อ้างถึง
๒. หากไม่มีหนังสืองานศพ
งานศพไหนครับ?
อ้างถึง
ก็ลองคิดดูว่า กูบช้างมีเครื่องปักคันฉัตรหรือไม่ ดังภาพประกอบเป็นโครงเหล็กไว้รองรับศาสตราวุธ และหากปักคันฉัตรแล้วต้องโยงลวดตรึงทั้งสี่มุมอีกด้วย เพื่อไม่ให้ฉัตรเกิดอาการแกว่ง ซึ่งอาจจะทำให้หักได้ ในส่วนตัวผมคิดว่าการรบหลังช้างมิควรนำฉัตรออกไปด้วย หากแต่เมื่อเสร็จศึกเปลี่ยนที่นั่งระหว่างกันแล้วจึงปักฉัตร

กรุณาย้อนอ่านข้างต้นครับ


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.พ. 12, 23:04
อ้างถึง
ให้ข้อคิดเห็น ๒ ประการกับ อ.NAVARAT.C เกี่ยวกับเรื่องฉัตร

๑. อ.NAVARAT.C กล้านั่งภายใต้ฉัตรขาวไหม ?

ภาพลายเส้นของฝรั่งนี้ มาจากภาพถ่ายในสมัยต้นรัชกาลที่๕ เป็นช้างทรงที่ผูกเครื่องออกศึก(ไม่ได้หมายความว่าจะกระทำยุทธหัตถี) เข้าใจว่าเอามาเดินอวดฝรั่ง

มีกลางช้างนั่งอยู่ภายใต้เศวตฉัตร
ไม่เข้าใจเหมือนกัน ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช จะมีคนกล้ากระทำเช่นนั้นได้
หรือจะเป็นธรรมเนียม ที่ทรงอนุญาตเฉพาะกลางช้างให้นั่งได้


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 12, 23:24
สังเกตว่ารูปบนเป็นฉัตรเจ็ดชั้น.   รูปล่างดูไม่ถนัด อาจจะสี่ชั้น
มีความหมายอะไรบ้างไหมคะ
รูปที่ว่านี้เป็นการแต่งตัวช้างเอามาโชว์ให้ฝรั่งถ่ายรูปหรือเปล่า


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.พ. 12, 07:01
ขอประทานโทษครับ ผมย้อนกลับไปดูบทความที่ลงภาพดังกล่าวประกอบ ระบุว่าตีพิมพ์ในพ.ศ. ๒๔๒๑ ซึ่งเป็นรัชสมัยของรัชกาลที่๕ แต่อ่านข้อความละเอียดแล้ว ผู้เขียนจะเขียนเรื่องที่ตนได้มากรุงเทพในสมัยรัชกาลที่๔ และไม่ได้เอ่ยที่มาที่ไปของภาพช้างทรงนี้โดยตรง
เข้าใจว่า ผู้เขียนน่าจะมากับคณะทูตอังกฤษคณะใดคณะหนึ่ง และเป็นไปได้ว่า มีการแต่งช้างศึกมาอวดแขก
ภาพทั้งสองภาพ ตีพิมพ์คนละที่ แต่เป็นภาพเหตุการณ์เดียวกัน  ช้างเชือกเดียวกัน ฉัตรที่เห็นก็องค์เดียวกัน ภาพที่เห็นเพียง๔ชั้นก็เพราะชั้นบนๆถ่ายหลุดเฟรมไป

ฉัตร๗ชั้น แสดงว่ามิใช่พระมหาเศวตฉัตร หรือนพปฎลมหาเศวตฉัตร ซึ่งก็คือฉัตร ๙ ชั้น แต่เป็นสัปตปฎลมหาเศวตฉัตร หรือฉัตร ๗ ชั้นอันเป็นเครื่องประดับอิสริยยศชั้นอุปราช หรือเจ้าฟ้า หรือพระเจ้าแผ่นดินที่ยังไม่ได้พระบรมราชาภิเษก

สังเกตุกำแพงพระราชวังแล้ว เห็นเสาธงสูงขนาดนั้น น่าจะเป็นวังหน้า ช้างศึกนั้น น่าจะเป็นช้างทรงของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ที่มาผูกอวดเซอร์จอห์น เบาวริ่งครับ


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 12, 10:51
ขอพาแยกเข้าซอย เรื่อง สัปคับ
สัปคับของไทย ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเองโดยคนไทยหรือไม่  ไม่ทราบค่ะ    รู้แต่ว่าที่นั่งบนหลังช้างที่เราเรียกว่าสัปคับ  อินเดียเขามีเหมือนกัน เรียกว่า howdah  ดังนั้นถ้าจะแปลสัปคับ ว่า howdah ก็ถือว่าถูกต้อง  เพียงแต่ดีไซน์กันมาคนละแบบ  อินเดียมีหลากหลายกันไป
ในอดีต  อินเดียมีช้างมากมาย  การเดินทางเข้าป่า หรือล่าสัตว์เช่นล่าเสือซึ่งเป็นกีฬาขึ้นหน้าขึ้นตามาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒  ก็ใช้ช้างเป็นพาหนะ  บรรดามหาราชาหรือเศรษฐีนักกีฬาล่าสัตว์ทั้งหลายก็พากันนั่งสัปคับกันไป
รูปนี้เป็นสัปคับกว้างขวางพอจะนั่งและยืนได้     ในรูปคือพระเจ้าจอร์ชที่ ๕ แห่งอังกฤษเมื่อเสด็จล่าสัตว์ในอินเดีย    สัปคับที่เห็นมี ๒ ชั้น ชั้นล่างดูเหมือนเป็นฟูกรองนั่ง  แล้วมีคอกสี่เหลี่ยมทำด้วยเสื่อ(หรืออะไรสักอย่างคล้ายเสื่อ) กั้นไว้ ให้พระเจ้าจอร์ชและผู้ติดตามยืนเพื่อประทับปืนเล็งยิงเสือได้สะดวก    เวลาไม่เจอเสือก็คงลงนั่งพักบนฟูก ระหว่างช้างเดินโยกเยกไปในป่า   
ส่วนการบังคับช้างขึ้นอยู่กับควาญช้างบนคอช้าง    คนที่อยู่บนหลังช้างไม่ต้องยุ่งกับเรื่องนี้


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.พ. 12, 11:11
สัปคับสามารถพบได้จากผนังสลักหินของนครวัตครับ

เวลามีพยุหยาตรา กษัตริย์จะประทับบนสัปคับ


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 12, 11:28
จากภาพสลักหิน สัปคับมีมานานแล้วตั้งแต่สมัยขอม     ถ้าพูดอย่างกำปั้นทุบดิน  เมื่อมนุษย์เอาช้างมาใช้เป็นพาหนะได้สำเร็จ  ก็คงพัฒนาการนั่งบนหลังช้างให้สบายขึ้นมากกว่าขี่คร่อมบนขนแข็งๆของช้าง   เพราะการเดินทางต้องใช้เวลานานมาก  บางทีเช้าจนกลางคืนไม่ได้หยุด     ที่นั่งบนหลังช้างจึงเกิดขึ้นมารองรับการนั่ง
รูปนี้เป็นภาพสลักหินของอินเดีย บรรยายว่ามีสัปคับบนหลังช้างเหมือนกัน แต่ดิฉันดูไม่ออกว่ารูปร่างเป็นยังไง อยู่ตรงไหน


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 12, 11:30
ขอโทษ  ค.ห.นี้น่าจะอยู่ต่อจากภาพพระเจ้าจอร์ช  นี่คือสัปคับที่ประทับของพระเจ้าจอร์ช ถ่ายจากด้านหน้า 


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 12, 11:38
ขอนำสัปคับที่ดิฉันเองจัดเข้ากลุ่มไว้เป็น ๒ กลุ่มมาให้ดูกัน     กลุ่มแรก คือสัปคับแบบเรียบง่าย  ใช้ประโยชน์ในการเข้าป่าล่าสัตว์ หรือเดินทางทุรกันดาร
สังเกตว่าที่นั่งบนหลังช้างจะออกแบบง่ายๆ และมีน้ำหนักเบา  เพื่อสะดวกแก่ช้างในการแบกน้ำหนัก    มุ่งประโยชน์ใช้สอยคือให้คนนั่งได้สะดวก ดีกว่านั่งกางขาคร่อมบนหลังช้าง เพราะอาจตกช้างลงไปได้ง่ายๆ ถ้าช้างตะลุยป่า  หรือเจอเสือโจนเข้าใส่ต้องสู้กันอย่างในรูป


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 12, 11:42
ส่วนรูปกลุ่มนี้คือสัปคับตกแต่งอลังการงานสร้าง   สำหรับช้างทรงมหาราชาหรือวีไอพีของอินเดีย    ใช้ในพิธี  หรือเดินทางระหว่างเมือง หรือไปไหนสักแห่งที่ไม่ลำบากลำบน    คงจะมีขบวนแห่ตามมาด้วย
ที่นั่งบนหลังช้างจึงตกแต่งหรูหรา  อำนวยความสะดวกสบายที่สุดเท่าที่จะทำได้     ช้างในพิธีแต่งงานของวาสิฏฐีกับสาตาเคียร ลูกชายปุโรหิตใหญ่แห่งโกสัมพี ก็คงจะอลังการแบบนี้


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 12, 12:01
(http://www.navy.mi.th/newwww/document/royalthaiday/image/yut3.gif)
ย้อนมาถึงภาพช้างศึก    โดยความเห็นส่วนตัว    คิดว่าช้างออกศึกกับช้างเข้าขบวนแห่ในพระราชพิธี ใช้สัปคับไม่เหมือนกัน    
ช้างศึกต้องการความคล่องตัวสนามรบ    สมควรแบกน้ำหนักไว้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงจะได้เปรียบ   เพราะคนสามคนบนหลังช้าง น้ำหนักรวมกันอย่างน้อยที่สุดก็ 150 ก.ก. เข้าไปแล้ว     ยังไม่รวมอาวุธหนักซึ่งแต่ละอย่างก็หนักหลายกิโลกันทั้งนั้น   อาจจะแบกแล้วรวม 200 ก.ก.  น้ำหนักอะไรที่เพิ่มเข้ามาโดยไม่จำเป็นจึงทำให้ช้างอุ้ยอ้ายเสียเปรียบฝ่ายตรงข้ามง่าย
ดังนั้น  สัปคับที่มีจะต้องมีน้ำหนักเบา และเตี้ย เพื่อคนนั่งจะได้ไม่โงนเงน   หากชนช้างกับศัตรู  ช้างงัดกันขาหน้าลอยขึ้นมา สัปคับขนาดสูงก็จะเทกระจาดทั้งนายกลางช้าง แพนหางนกยูง และอาวุธสารพัดชนิดลงไปบนพื้นดินโดยง่าย   สัปคับบนหลังช้างศึกจึงไม่ควรเป็นไม้ปิดทองล่องชาดขนาดหนัก  ปักฉัตรเก้าชั้นบวกน้ำหนักเพิ่มเข้าไปอีกโดยไม่จำเป็น  
บางทีสัปคับอาจใช้วัสดุเบา ทำง่ายๆเช่นหวายสานเรียบๆ  ผูกติดหลังช้าง  เลยไม่เหลือรอดมาให้เห็น เพราะยุทธหัตถีก็จบลงตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวร   มาถึงปลายอยุธยา  ตอนอลองพญาเข้ามา  ไทยก็ยิงเอาๆจากกำแพงเมือง  ไม่ออกไปสู้บนหลังช้างกันตัวต่อตัวอยู่แล้ว

แต่ถ้าเสด็จประพาสที่ไหนในยามสงบ  หรือในพระราชพิธี  สัปคับหรูหราอลังการก็ย่อมเป็นเรื่องสมพระเกียรติ    ถูกต้องตามกาลเทศะค่ะ
จึงคิดว่าสัปคับที่สร้างกันให้เห็นในสมัยรัตนโกสินทร์    น่าจะเป็นสัปคับยามสงบ มากกว่าสัปคับยามศึก ค่ะ
 


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 12, 12:25
เอาสัปคับ + หลังคา เราเรียกว่า "กูบ"

นี่เป็นกูบของเจ้านายทางเหนือ วัตถุชิ้นนี้เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์พระราชวังฟองแตงโบ ประเทศฝรั่งเศส จัดแสดงโชว์ราชพาหนะตั้งแต่ยุคอียิปต์ กรีก และทั่วโลก


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 12, 12:29
ภาพลายเส้นจากหนังสือเก่า ตีพิมพ์ ค.ศ. 1894 กูบในภาคกลางจะมีหน้าต่าง 4 ด้าน


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 12, 12:31
มาดูสัปคับที่ฝั่งกัมพูชา กรุงพนมเปญกันบ้าง ลักษณะจะดูหนากว่าของไทย ติดธงไว้สองข้างด้านท้าย


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 12, 12:35
กูบอันนี้เก๋ไม่น้อย เปิดหน้า-หลัง ทำด้วยไม้ไผ่สาน ที่เก๋คือมีม่านด้วย  ;)


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 12, 12:46
^
มีม่าน น่าจะเป็นกูบนางใน  ;D

กูบข้างล่างนี้ตั้งโชว์อยู่ในพระราชวังแวซายล์  อธิบายว่าชื่อPhra Thinang Prapatthong  (พระที่นั่งประพัฒน์ทอง - ประพาสทอง ???) ของเจ้าอินทวโรรส สุริยวงศ์  มาจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติในกรุงเทพ


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 12, 13:43
ช้างศึกที่ทำด้วยกระดาษโครงเหล็กงามที่สุด ซุ้มรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จนิวัติพระนครเมื่อเสด็จกลับจากเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ ๒


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 12, 13:47
ขบวนเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองเหนือในรัชกาลที่ ๗ สัปคับกว้างใหญ่มาก และขบวนช้างด้านหลังเป็นกูบ คงเป็นที่ประทับเจ้านายฝ่ายใน (พระนางเจ้ารำไพพรรณี)


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 12, 13:58
สัปคับ มอญนั่ง ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้ววังหน้า


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 12, 14:02
ให้คุณ Wandee ดูภาพนี้เขียนในสมัยอยุธยา หน้ากูบ...ผู้หญิงก็บังคับช้างได้เหมือนกัน  ;D


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ก.พ. 12, 15:54
ขอพาแยกเข้าซอย เรื่อง สัปคับ
สัปคับของไทย ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเองโดยคนไทยหรือไม่  ไม่ทราบค่ะ    รู้แต่ว่าที่นั่งบนหลังช้างที่เราเรียกว่าสัปคับ  อินเดียเขามีเหมือนกัน เรียกว่า howdah  ดังนั้นถ้าจะแปลสัปคับ ว่า howdah ก็ถือว่าถูกต้อง  เพียงแต่ดีไซน์กันมาคนละแบบ  อินเดียมีหลากหลายกันไป

การเดินทางด้วยช้าง จะต้องมีที่นั่งบนหลังช้างซึ่งเรียกว่า สัปคับ หรือ แหย่ง หรือ จำลอง ทางอุตรดิตถ์เรียกแปลกออกไปว่า “ขนาง” บางทีมีผู้เรียกว่า หอดา คำว่าหอดานี้ น่าจะเรียกเพี้ยนมา จากคำในภาษาอังกฤษว่า howdah จากคำภาษาฮินดีว่า howdah ซึ่งได้มาจากคำภาษาอาราบิคว่า hawdaj อีกทอดหนึ่ง มักจะหมายรวมทั้งที่นั่งและประทุน ส่วนสัปคับหรือแหย่งของไทยเรานั้น ถ้ารวมทั้งประทุนหลังช้างที่เรียกว่า กูบ หรือ กูบช้าง ให้ครบชุด โบราณเรียกว่า กั่นโถง จำลองทอง หรือ กระโจมทอง

จาก ลักษณะไทย (http://www.laksanathai.com/book4/p038.aspx)

 ;D


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 24 ก.พ. 12, 16:37
คำว่า Phra Thinang Prapatthong  ที่ท่านอาจารย์ใหญ่ยกมากล่าวถึงในความเห็นที่ ๒๖  น่าจะมากภาษาไทยว่า "พระที่นั่งประพาสโถง" กระมังครับ


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 ก.พ. 12, 16:42

ออไรท์  ออไรท์     นางกันทิมา  น้องสาวจาเลงกะโบก็คงขี่ช้างได้แน่  เพราะนางเป็นนักดาบ

พี่ชายเป็นแม่ทัพช้างของบุเรงนอง


        ดูจากภาพนางคนบังคับช้างคงมีคนที่ถือปฎักแทงที่ซอกหูช้างกระมัง  เพราะท่านั่งที่งอขามาด้านหลังจะใช้ปลายเท้าบังคับช้างได้อย่างไร

เท้าของนางที่ขี่ช้างนั้นคงเหมือนเท้าของนางระบำปลายเท้านั่นเอง

เมื่อออกศึก   พลายภูเขาทอง  และพลายบุญเรือง   ขึ้นระวางสพัด   ติดน้ำมันหน้าหลัง
ช้างเมื่อตกน้ำมันอารมณ์ไม่ดี  ดุร้าย   บังคับยาก
ช้างอื่นไม่อยากเข้าใกล้

การบังคับด้วยขอต้องใช้กำลังมหาศาล

ถ้าเป็นการพาช้างเดินเล่นคงเป็นไปได้


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 ก.พ. 12, 16:46
พิจารณาจากรูปสลักเขมรใน คคห. 16 ที่คุณ Navarat.C ลงไว้ให้ดู จะเห็นว่าฉัตรเขมรโบราณนั้น มีพนักงานเชิญฉัตร และจัดชั้นยศกันโดยจำนวนฉัตร มิใช่จำนวนชั้นของฉัตรครับ

เรื่องนี้น่าสนใจ ถึงแม้ว่าเราจะยืนยันไม่ได้ว่าอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์รับแนวคิดเรื่องฉัตรนี้มาจากเขมร แต่น่าสังเกตว่าฉัตรหลายชั้นที่เป็นเครื่องยศอย่างรัตนโกสินทร์ที่เราคุ้นเคยนี้ ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการบังแดดเลย เนื่องจากฉัตรมีขนาดเล็ก, บังอยู่เหนือศีรษะพอดี และสูงขึ้นไปจากศีรษะมาก แม้แดดยามเที่ยงซึ่งเอียง 15 องศาก็ดูเหมือนจะกำบังไม่ได้ด้วยซ้ำไปครับ ดังนั้นมีความหมายในเชิงสัญญลักษณ์เป็นเพียงเครื่องยศได้อย่างเดียวเท่านั้น

ถ้าพิจารณาที่มาที่ไปของเครื่องยศแต่ละอย่างนั้น น่าจะต้องมีเหตุมาจากวัตถุประสงค์ในการใช้งานมากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าฉัตรแบบเขมรโบราณนั้นตอบคำถามนี้ได้ครับ


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ก.พ. 12, 17:22
เครื่องสูงในกองทัพ สฺยำกุกฺ ที่ใช้ประดับยศผู้นำบนหลังช้างนั้น เป็นร่มใหญ่คล้ายกลด แต่หลังคาลาดตรง ไม่คุ่มมีเชิงระบายหลุบมนลงมานิดหน่อย, คันยาว ถือชูบังคนที่ยืนบนหลังช้างได้สบาย และใช้ประดับเป็นหมู่หลาย ๆ คัน

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/02/K6342130/K6342130-14.jpg)

ร่มที่ว่านี้ เป็นแบบเดียวกับของพวกเขมร  สังเกตดูจากภาพสลักเขมรในที่อื่น ๆ แล้ว ได้ความว่าร่มชนิดนี้เป็นแบบฉบับของร่มยศเขมรโบราณ ยิ่งผู้นั้นมียศสูงก็ยิ่งประดับมากคัน  เช่นตัวกษัตริย์ศรีสูรยวรรมันที่ ๒ ในภาพตอนนั่งทำพิธีเคลื่อนพลอยู่บนยอดเขานั้น มีร่มที่ว่านับสิบคันทีเดียว

(http://pds.exblog.jp/pds/1/200601/05/45/b0050445_1035860.jpg)

ข้อมูลจากหนังสือ  "ความเป็นมาของคำ สยาม, ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ" โดย จิตร ภูมิศักดิ์

 ;D



กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 24 ก.พ. 12, 18:15
เรื่องพระคชาธารปักฉัตรนี้

สมเด็จกรมนริศ ท่านก็ทรงสงสัยยิ่งนัก ถึงขนาดสันนิษฐานว่ากระบวนช้างผูกสัปคับพระคชาธารปักฉัตรนั้นอาจจะคิดจัดทำกันขึ้นในกรุงเทพ
ก็เป็นได้ เพราะประการหนึ่งเมื่อทรงนึกถึงรูปเขียนชนช้างผูกสัปคับพระคชาธารปักฉัตร ดูเหมือนจะมีใน "หอราชกรมานุสรณ์" ที่ขรัวอินโข่ง
เขียนเป็นครั้งแรก ในรัชกาลที่ ๔ ทรงเขียนใจว่าเขียนตามพระราชพงศาวดารฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงเรียบเรียงในรัชกาลที่ ๓

นั่นทำให้พระองค์ทรงขอช่วยพระยาอนุมานราชธนช่วยค้น "ตำราแห่เพชรพวง" ครั้งกรุงเก่า ว่ามีพระคชาธารปักฉัตรหรือไม่ ซึ่งเจ้าคุณอนุมาน
ตรวจดูแล้ว พบว่าไม่ปรากฏกล่าวถึงช้างผูกสัปคับพระคชาธารปักฉัตรเลย


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 ก.พ. 12, 18:49
ให้คุณ Wandee ดูภาพนี้เขียนในสมัยอยุธยา หน้ากูบ...ผู้หญิงก็บังคับช้างได้เหมือนกัน  ;D

แหม  ได้อ่านข้อความนี้แล้วนึกถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง  
อ่านกี่ครั้งก็นึกนิยมชมชอบอารมณ์ขันของท่านผู้แต่ง ;D


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 24 ก.พ. 12, 19:16
ให้คุณ Wandee ดูภาพนี้เขียนในสมัยอยุธยา หน้ากูบ...ผู้หญิงก็บังคับช้างได้เหมือนกัน  ;D

แหม  ได้อ่านข้อความนี้แล้วนึกถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง 
อ่านกี่ครั้งก็นึกนิยมชทชอบอารมณ์ขันของท่านผู้แต่ง ;D

"แล้วคุณพระก็ยังเป็นช้างต่อไป ไอ้ผมก็เป็นควาญช้างต่อไป แต่วันนี้มีวีรสตรีเกิดขึ้นอีกคนหนึ่ง... เฮ้อ! ผู้หญิงจะถือเอาเรื่องวันนี้เบ่งกันไปอีกกี่ร้อยปีก็ไม่รู้ซี"

 :D


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 ก.พ. 12, 19:32


"แล้วคุณพระก็ยังเป็นช้างต่อไป ไอ้ผมก็เป็นควาญช้างต่อไป แต่วันนี้มีวีรสตรีเกิดขึ้นอีกคนหนึ่ง... เฮ้อ! ผู้หญิงจะถือเอาเรื่องวันนี้เบ่งกันไปอีกกี่ร้อยปีก็ไม่รู้ซี"

 :D

แน่ะ  มีคนรู้ทันด้วย  น่าจะให้เอาตัวไปลงตะพุ่นหญ้านก เอ๊ย หญ้าช้างเสียให้เข็ด ;D


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 12, 19:43
ให้คุณ Wandee ดูภาพนี้เขียนในสมัยอยุธยา หน้ากูบ...ผู้หญิงก็บังคับช้างได้เหมือนกัน  ;D

แหม  ได้อ่านข้อความนี้แล้วนึกถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง 
อ่านกี่ครั้งก็นึกนิยมชทชอบอารมณ์ขันของท่านผู้แต่ง ;D

"แล้วคุณพระก็ยังเป็นช้างต่อไป ไอ้ผมก็เป็นควาญช้างต่อไป แต่วันนี้มีวีรสตรีเกิดขึ้นอีกคนหนึ่ง... เฮ้อ! ผู้หญิงจะถือเอาเรื่องวันนี้เบ่งกันไปอีกกี่ร้อยปีก็ไม่รู้ซี"

 :D

คุณอาร์ทต้องสั่งผ้าผืนเหมาทั้งสำเพ็งหรือไม่  :o


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 12, 19:45
เครื่องสูงในกองทัพ สฺยำกุกฺ ที่ใช้ประดับยศผู้นำบนหลังช้างนั้น เป็นร่มใหญ่คล้ายกลด แต่หลังคาลาดตรง ไม่คุ่มมีเชิงระบายหลุบมนลงมานิดหน่อย, คันยาว ถือชูบังคนที่ยืนบนหลังช้างได้สบาย และใช้ประดับเป็นหมู่หลาย ๆ คัน


จิวต้ากวนชาวจีนผู้บรรยายสภาพบรรยากาศแห่งนครวัดว่า "..ขบวนนั้นยาวเหยียด เมื่อผ่านขบวนของเหล่านางในแล้วก็ตามด้วยฉัตรสีทองเป็นร้อยคัน แล้วจึงตามด้วยช้างทรงขององค์ชัยวรมัน"


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 12, 19:51
พิจารณาจากรูปสลักเขมรใน คคห. 16 ที่คุณ Navarat.C ลงไว้ให้ดู จะเห็นว่าฉัตรเขมรโบราณนั้น มีพนักงานเชิญฉัตร และจัดชั้นยศกันโดยจำนวนฉัตร มิใช่จำนวนชั้นของฉัตรครับ

เรื่องนี้น่าสนใจ ถึงแม้ว่าเราจะยืนยันไม่ได้ว่าอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์รับแนวคิดเรื่องฉัตรนี้มาจากเขมร แต่น่าสังเกตว่าฉัตรหลายชั้นที่เป็นเครื่องยศอย่างรัตนโกสินทร์ที่เราคุ้นเคยนี้ ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการบังแดดเลย เนื่องจากฉัตรมีขนาดเล็ก, บังอยู่เหนือศีรษะพอดี และสูงขึ้นไปจากศีรษะมาก แม้แดดยามเที่ยงซึ่งเอียง 15 องศาก็ดูเหมือนจะกำบังไม่ได้ด้วยซ้ำไปครับ ดังนั้นมีความหมายในเชิงสัญญลักษณ์เป็นเพียงเครื่องยศได้อย่างเดียวเท่านั้น

ถ้าพิจารณาที่มาที่ไปของเครื่องยศแต่ละอย่างนั้น น่าจะต้องมีเหตุมาจากวัตถุประสงค์ในการใช้งานมากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าฉัตรแบบเขมรโบราณนั้นตอบคำถามนี้ได้ครับ


สาส์นสมเด็จ อธิบายเรื่องฉัตรดังนี้
ฉัตร มาจากภาษาสันสฤต แปลว่า "ร่ม" เกิดจากใบบัวที่ถือบังศีรษะ ต่อเมื่อมีร่มก็ใช้แทนสัญลักษณ์เครื่องยศกษัตริย์ตามอย่างอินเดีย และกันกันทั่วเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ฉัตรของไทยมี ๖ อย่าง คือ ฉัตรชั้นเดียว ๒ ชั้น ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น และ ๙ ชั้น

การนิยมว่า ฉัตรเป็นของตนเอง ๑ ชั้น ส่วนชั้นที่เหนือกว่านั้นเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะเหนือทิศอื่น ๆ ฉัตรชั้นเดียวเรียกว่า "พระกลด" มีการระบายที่ขอบบ่งบรรดาศักดิ์"


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ก.พ. 12, 20:21
สาส์นสมเด็จ อธิบายเรื่องฉัตรดังนี้
ฉัตร มาจากภาษาสันสฤต แปลว่า "ร่ม" เกิดจากใบบัวที่ถือบังศีรษะ ต่อเมื่อมีร่มก็ใช้แทนสัญลักษณ์เครื่องยศกษัตริย์ตามอย่างอินเดีย และกันกันทั่วเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ฉัตรของไทยมี ๖ อย่าง คือ ฉัตรชั้นเดียว ๒ ชั้น ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น และ ๙ ชั้น

ฉัตร छत्र ในภาษาสันสกฤตแปลได้ ๒ อย่างคือ ร่ม และ เห็ด

มีลักษณะเหมือนกันเลย

 ;D


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 12, 20:27
^
ขอบคุณครับ

ให้ภาพกูบงาม ๆ อย่างทางเวียงจันทน์ กูบทำหลังคาจั่ว ประดับม่าน นั่งแล้วคงสบายมิน้อย


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 12, 20:29
สัปคับไว้สำหรับขนของ ถักด้วยหวายครับ


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.พ. 12, 20:55
อ้างถึง
ย้อนมาถึงภาพช้างศึก    โดยความเห็นส่วนตัว    คิดว่าช้างออกศึกกับช้างเข้าขบวนแห่ในพระราชพิธี ใช้สัปคับไม่เหมือนกัน     
ช้างศึกต้องการความคล่องตัวสนามรบ    สมควรแบกน้ำหนักไว้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงจะได้เปรียบ   เพราะคนสามคนบนหลังช้าง น้ำหนักรวมกันอย่างน้อยที่สุดก็ 150 ก.ก. เข้าไปแล้ว     ยังไม่รวมอาวุธหนักซึ่งแต่ละอย่างก็หนักหลายกิโลกันทั้งนั้น   อาจจะแบกแล้วรวม 200 ก.ก.  น้ำหนักอะไรที่เพิ่มเข้ามาโดยไม่จำเป็นจึงทำให้ช้างอุ้ยอ้ายเสียเปรียบฝ่ายตรงข้ามง่าย
ดังนั้น  สัปคับที่มีจะต้องมีน้ำหนักเบา และเตี้ย เพื่อคนนั่งจะได้ไม่โงนเงน   หากชนช้างกับศัตรู  ช้างงัดกันขาหน้าลอยขึ้นมา สัปคับขนาดสูงก็จะเทกระจาดทั้งนายกลางช้าง แพนหางนกยูง และอาวุธสารพัดชนิดลงไปบนพื้นดินโดยง่าย   สัปคับบนหลังช้างศึกจึงไม่ควรเป็นไม้ปิดทองล่องชาดขนาดหนัก  ปักฉัตรเก้าชั้นบวกน้ำหนักเพิ่มเข้าไปอีกโดยไม่จำเป็น 
บางทีสัปคับอาจใช้วัสดุเบา ทำง่ายๆเช่นหวายสานเรียบๆ  ผูกติดหลังช้าง  เลยไม่เหลือรอดมาให้เห็น เพราะยุทธหัตถีก็จบลงตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวร   มาถึงปลายอยุธยา  ตอนอลองพญาเข้ามา  ไทยก็ยิงเอาๆจากกำแพงเมือง  ไม่ออกไปสู้บนหลังช้างกันตัวต่อตัวอยู่แล้ว

แต่ถ้าเสด็จประพาสที่ไหนในยามสงบ  หรือในพระราชพิธี  สัปคับหรูหราอลังการก็ย่อมเป็นเรื่องสมพระเกียรติ    ถูกต้องตามกาลเทศะค่ะ
จึงคิดว่าสัปคับที่สร้างกันให้เห็นในสมัยรัตนโกสินทร์    น่าจะเป็นสัปคับยามสงบ มากกว่าสัปคับยามศึก ค่ะ

ขออนุญาต ผมอยากจะขออภิปรายต่อในเรื่องนี้หน่อยน่ะครับ

สมัยโบราณแถวอุษาคเนย์ ยามกษัตริย์ทรงเป็นจอมทัพนำออกรบ พระองค์มักจะทรงช้างมากกว่าราชรถ เพราะภูมิประเทศและภูมิอากาศ ช้างย่อมลุยไปได้ทุกที่ การเดินทัพแต่ละครั้งมิใช่ไปกันวันสองวันก็ถึง แต่อาจกินเวลาเป็นเดือนๆ

ช้างทรงขององค์จอมทัพที่จะนำไป ย่อมไม่ใช่ช้างเดียวหากจะไปกันเป็นโขลง แต่ละช้างอาจถูกฝึกกับการผูกเครื่องหลังไม่เหมือนกัน แล้วแต่ช่วงไหนจะทรงโปรดอย่างไร เช่น ตอนแห่ทัพออกจากพระนคร อาจตั้งสัปคับปักฉัตร หรือมีคนถือพร้อมบังสูรย์บังแทรก แต่เมื่อแปรขบวนใหม่เพื่อเดินทางไกล อาจเปลี่ยนไปทรงแบบกูบ เพราะไม่ทราบจะประทับตากแดดไปทั้งวันทำไม พอเดินทัพถึงที่หมายเห็นตัวข้าศึกแล้ว ตั้งค่ายไว้ก่อนรอปะทะ ได้ฤกษ์วันใด ก็เสด็จประทับช้างทรงซึ่งเป็นช้างศึกที่ฝึกหัดไว้เฉพาะกิจ อาจจะมีสัปคับเบาๆพร้อมเครื่องสูงก็ได้ถ้าทรงเล็งผลทางด้านกำลังใจของทหาร หรือต้องการข่มขวัญศัตรูหากเห็นกษัตริย์เสด็จออกรบด้วยพระองค์เอง แต่ถ้าทรงคาดว่าอาจจะมีการรบบนหลังช้างแบบยุทธหัตถี ผมไม่คิดว่าพระองค์จะทรงช้างที่มีสัปคับอันเป็นภาระให้เสียเปรียบราชศัตรู  น่าจะทรงรีบเปลี่ยนช้างที่บนหลังช้างจะมีแค่คนที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น

รูปสลักหินการรบกันบนหลังช้างที่เรียกว่ายุทธหัตถีที่นครวัตนี้เป็นเครื่องยืนยัน  และผมก็ไม่เคยเห็นภาพอื่นไม่ว่าของชาติไหน ที่เป็นภาพการชนช้าง มีผู้กล้านั่งอยู่บนคอช้างพยายามใช้อาวุธยาวฟาดฟันสังหารกัน แต่มีผูกเครื่องสัปคับปักเครื่องอิสริยยศทั้งหลายบนตัวช้าง (นอกจากจะเป็นภาพช้างศึกที่ตลุยสมรภูมิโดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ตั้งใจจะชนช้างกัน) คงมีแตภาพพระนเรศวรชนช้างของไทย ที่ทำขึ้นในสมัยหลังจากเหตุการณ์ผ่านพ้นไปนับเป็นร้อยปีแล้วเท่านั้น




กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.พ. 12, 21:01
ภาพพระนเรศวรชนช้างภาพนี้ น่าจะใกล้ความจริงที่สุด เสียอย่างเดียวที่มิได้ดูยิ่งใหญ่อลังการ์เหมือนแบบที่ผูกเครื่องสัปคับ มีกลางช้างนั่งโบกสัญญาณหางนกยูง ซึ่งในนาทีแห่งความเป็นความตายนั้น จะโบกไปหาพระแสงองค์ไหน


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.พ. 12, 21:06
ภาพกษัตริย์ประทับบนหลังช้างทรง บนพระราชอาสน์สัปคับพร้อมศาตราวุธเครื่องอิสริยยศภาพนี้เป็นภาพที่มีเหตุผล เพราะเป็นภาพที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯเสด็จนิวัติพระนคร เพื่อปราบดาภิเษก


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.พ. 12, 21:14
มาชมขบวนพยุหยาตราโดยสถลมารคในสมัยต้นรัตนโกสินทร์กัน ภาพนี้อยู่ในอุโบสถวัดพระแก้ว ผมถ่ายมาจากหนังสือ"ช้างราชพาหนะ" ต้นฉบับเองก็ไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ เอาเป็นดูพอเข้าใจก็แล้วกัน

ในภาพเป็นขบวนช้างครับ น่าทึ่งในกองทัพช้างสมัยนั้นดีไหม ไม่ทราบว่ามีประจำการทั้งสิ้นกี่ร้อยเชือก ดูไปแบบผ่านๆก่อนนะครับ


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.พ. 12, 21:27
ถึงแม้ช้างศึกแทบจะทุกเชือกจะมีสัปคับ หรือกูบผูกติดหลัง แต่นั่นมันก็เหมือนเครื่องแบบเต็มยศของทหาร แต่เวลารบจริงก็อีกเรื่อง

ทหารราบเมื่อแต่งเครื่องแบบสนามก็จะสพายเป้หลังบรรจุของกินของใช้สารพัด แต่เวลาอยู่แนวหน้าติดดาบปลายปืนเตรียมประจันบาน ทุกคนปลดเป้ออกหมดให้ตัวเบา เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องเอาชีวิตให้รอด

ฉันใดก็ฉันนั้น

พอดีมีภาพช้างสำคัญในขบวนที่ไม่ได้ผูกเครื่องหลัง มีช้างอื่นเดินขนาบด้วย ทำให้ผมเห็นภาพว่า ช้างที่ใช้สำหรับทำยุทธหัตถีคงเป็นลักษณะนี้แหละครับ


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 12, 22:40
อ้างถึง
ผมไม่คิดว่าพระองค์จะทรงช้างที่มีสัปคับอันเป็นภาระให้เสียเปรียบราชศัตรู  น่าจะทรงรีบเปลี่ยนช้างที่บนหลังช้างจะมีแค่คนที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น
ถ้าไม่มีสัปคับ. นายกลางช้างจะต้องนั่งยังไงถึงทรงตัวอยู่ได้บนหลังช้าง โดนที่มือไม่มีที่ยึดเพราะต้องถือแพนหางนกยูงไว้โบกสัญญาณ.  น่าจะทรงตัวยากนะคะ หลังช้างมันกว้างเกินกว่าจะหนีบได้ทะมัดทะแมงอย่างคอช้างหรือท้ายช้าง
นอกจากนี้. เมื่อไม่มีสัปคับ. ก็ไม่มีที่เสียบอาวุธ.   นายกลางช้างจะหนีบอาวุธด้ามยาวด้วย. โบกสัญญาณไปด้วย  แกคงต้องมีสักสี่มืออย่างน้อย

หรือ...
ยุทธหัตถี ใช้อาวุธอย่างเดียวคือของ้าว. ไม่มีการเปลี่ยนอาวุธ.     นายกลางช้างถือสัญญานไว้โบกอย่างเดียว. ต้องฝึกทรงตัวเก่งๆไว้ไม่ให้กลิ้งตกจากกลางหลังช้างเท่านั้น


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.พ. 12, 07:27
การทำการรบบนหลังช้างที่เรียกว่ายุทธหัตถีนั้น ถ้าไม่ใช่จะมีแค่ผู้นั่งเหนือคอช้างที่ทำการรบเพียงคนเดียวก็อาจจะมีควาญนั่งหลังเท่านั้น แต่กลางช้างนั้น ในนาทีนั้นไม่จำเป็นครับ

อ้างอิงภาพแกะสลักของขอมและความเห็นของสมเด็จฯกรมพระยานริศฯ

อาวุธอันจะพึงใช้ในการรบซึ่งจะนำไปบนหลังช้างจะเตรียมทำที่สอดใส่ไปอย่างไรก็ได้ ในตำราเพชรพวงก็มี สั่งชาวแสงให้เชิญพระแสงปืนพระแสงดาบไปสอดไปผูกไว้ข้างและหลังเบาะที่ประทับ (เหนือคอช้าง) นั้นเอง


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 ก.พ. 12, 07:30
ตำราเล่มหนึ่ง(ขออภัยที่หาไม่ทันในตอนนี้)     เล่าว่า กลางช้างนั่งเปล

(คานหามสำหรับขุนนางระดับล่าง  ก็เป็นเปล   มีคนหามสองคน  กางร่มทาขี้ผึ้ง  หนึ่งคน)

เรื่องการส่งอาวุธนั้น   น่าจะเป็นหน้าที่หลักของกลางช้าง    เช่นส่งปืนไฟเป็นต้น

จัตุลังคบาทนั้น   ต่างมีกองกำลังของตนติดตามมาอย่างใกล้ชิด  เพราะเป็นนายพระตำรวจระดับ
พระมหามนตรี   พระมหาเทพ    หลวงอินทรเทพ    และหลวงพิเรนทรเทพ
ท่านเหล่านี้เชี่ยวชาญอาวุธยาวและสั้น    และคงถืออาวุธยาวในเบื้องต้น  


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 12, 07:41
เคยเห็นรูปเปลที่ขุนนางนั่ง. ในกระทู้เก่าของเรือนไทยนี่เอง.   แต่คงไม่ใช่ชนิดเดียวกับกลางช้างนั่งบนหลังช้าง
ไม่ทราบว่า กลางช้างนั่งเปล หมายถึงระดับชั้นของกลางช้างที่ยังไม่ถึงขั้นมีสุจหนี่ขี่คานหามหรืออย่างไรคะ. หรือหมายถึงบนหลังช้างมีที่นั่งเรียกว่าเปล
ถ้าเป็นเปล ไม่ว่าเปลญวนหรือเปลไทย มันน่าจะแกว่งได้. เอาขึ้นไปบนหลังช้าง. กลางช้างคงแกว่งเหมือนกายกรรมจีน
เห็นด้วยกับคุณนวรัตนว่า.  ถ้าผู้นำทัพนั่งบนคอช้างออกบัญชาการรบแบบตะลุมบอนกัน    บนหลังช้างมีควาญท้ายอีกคนเดียวพอ
เหมือนตอนพระเจ้าตากยกทัพตีเมืองจันทบุรี


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ก.พ. 12, 08:43
เคยเห็นรูปเปลที่ขุนนางนั่ง. ในกระทู้เก่าของเรือนไทยนี่เอง.   แต่คงไม่ใช่ชนิดเดียวกับกลางช้างนั่งบนหลังช้าง
ไม่ทราบว่า กลางช้างนั่งเปล หมายถึงระดับชั้นของกลางช้างที่ยังไม่ถึงขั้นมีสุจหนี่ขี่คานหามหรืออย่างไรคะ. หรือหมายถึงบนหลังช้างมีที่นั่งเรียกว่าเปล
ถ้าเป็นเปล ไม่ว่าเปลญวนหรือเปลไทย มันน่าจะแกว่งได้. เอาขึ้นไปบนหลังช้าง. กลางช้างคงแกว่งเหมือนกายกรรมจีน
เห็นด้วยกับคุณนวรัตนว่า.  ถ้าผู้นำทัพนั่งบนคอช้างออกบัญชาการรบแบบตะลุมบอนกัน    บนหลังช้างมีควาญท้ายอีกคนเดียวพอ
เหมือนตอนพระเจ้าตากยกทัพตีเมืองจันทบุรี

ภาพการใช้เปลแบบญวน วาดไว้ในหนังสือจอห์น คอร์เฟริ์ด

ผมยังสงสัยว่า เปลหลังช้าง ผู้นั่งคงจะเกิดอาการวิงเวียนศีรษะไม่มากก็น้อย  ???


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 12, 09:12
เปลคงอยู่บนหลังช้างไม่ได้   เพราะนั่งเฉยๆบนหลังช้าง ไม่ต้องมีเปล ก็โยกเยกพอกับเปลอยู่แล้ว
ถ้าจะผูกกันให้ได้จริงๆ  เห็นมีแต่ใต้ท้องช้างที่พอจะแกว่งไกวได้   ;)
แต่ถ้ายังงั้น นายกลางช้าง คงเป็น นายท้องช้าง  ;) ;) ;)

ดิฉันเข้าใจว่าหนังสือที่คุณวันดีอ่าน คงหมายความถึงแสดงระดับฐานะขุนนางของนายกลางช้าง ว่าระดับนั่งเปล   คือต่ำกว่านั่งคานหาม


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 12, 09:21
ให้คุณ Wandee ดูภาพนี้เขียนในสมัยอยุธยา หน้ากูบ...ผู้หญิงก็บังคับช้างได้เหมือนกัน  ;D

แหม  ได้อ่านข้อความนี้แล้วนึกถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง 
อ่านกี่ครั้งก็นึกนิยมชทชอบอารมณ์ขันของท่านผู้แต่ง ;D

"แล้วคุณพระก็ยังเป็นช้างต่อไป ไอ้ผมก็เป็นควาญช้างต่อไป แต่วันนี้มีวีรสตรีเกิดขึ้นอีกคนหนึ่ง... เฮ้อ! ผู้หญิงจะถือเอาเรื่องวันนี้เบ่งกันไปอีกกี่ร้อยปีก็ไม่รู้ซี"

 :D

มีแต่ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชเท่านั้นที่จะคิดและเขียนเรื่องนี้ได้     เป็นคนอื่นเขียนคงหัวขาดตามกฎมนเทียรบาล


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 ก.พ. 12, 09:29
ฝรั่งที่เห็น  นำความไปเล่าให้ฝรั่งอาร์ติสที่วาดรูปประกอบ   เล่าก็ตกหล่นไปบ้าง
ที่จะพาช่างวาดไปด้วยเหมือนเมื่อไปขุดสุสานอียิปต์นั้น  น้อย  เนื่องจากผู้อุปการะหรือสปอนเซอร์ยังไม่รู้จักบ้านเมืองเราเท่าไร
(ขนาดลายโมเสคกระเบื้องทางเดินก็คัดลอกมาให้โลกได้เรียนรู้วัฒนธรรมของอียิปต์)
นั่งคานหามไปเฝ้า  นั่งขวางค่ะ


ในการชนช้าง   คนกลางช้างที่ดั้งเดิมเลือกจากผู้มีความเกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์  เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย
เพราะในวาระนั้นเป็นผู้อารักขาที่ใกล้ชิดที่สุด   การชำนาญเชิงอาวุธและบังคับช้าง เหนือกว่าพระตำรวจ
ซึ่งชำนาญอาวุธเท่านั้น  เพราะน้อยคนจะได้เรียนการขับขี่บังคับช้าง   ซึ่งเป็นวิชาหวงแหน

ที่นั่งของกลางช้าง  อาจจะเป็นเพียงการทักทอของหวายอย่างง่ายๆแต่มั่นคง    อาวุธทั้งหลายก็เสียบไว้รายรอบ
คนกลางช้างจะดูสถานการณ์ว่าควรเตรียมอาวุธใดไว้

การรบกลางแปลงนั้น  อันตรายมาจากทุกทิศ    

การเข้าโจมตีเมือง   อันตรายมาจากเบื้องหน้าด้านเดียว


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ก.พ. 12, 21:19
ครูเหม เวชกร วาดช้างออกรบไว้


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 12, 21:57
อาจารย์เหมท่านวาดให้สัปคับเตี้ยมาก ไม่ได้ตั้งบนหลังช้าง แต่คร่อมหลังแทน    ขาออกแบบเหมือนตั้งบนพื้นราบ  แต่ในภาพนี้ขาสัปคับทำหน้าที่หนีบด้านข้างของช้างไว้
ไม่มีนายกลางช้าง มีแต่อาวุธพาดบนสัปคับ   


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.พ. 12, 22:06
นี่ก็ผลงานของอาจารย์เหม เวชกรครับ

เป็นภาพยุทธหัตถีระหว่างเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.พ. 12, 22:19
การทรงช้างไปทำยุทธหัตถีก็เรื่องหนึ่ง การทรงช้างไปรบในกองทัพก็อีกเรื่องหนึ่ง

สมัยสุโขทัยมาอยุธยาตอนต้น การที่คู่ต่อสู้ทั้งสองฝ่ายจะชนช้างเพื่อหาจังหวะใช้อาวุธด้ามยาวประหัตประหารกันนั้น ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาของนายทัพ เหมือนกับชาติอื่นเขารบกันตัวต่อตัวบนหลังม้า

ต่อเมื่ออาวุธมีพัฒนาการขึ้น ปืนไฟเข้ามาแทนที่ การรบบนหลังช้างแบบยุทธหัตถีก็หมดความจำเป็น การยุทธบนหลังช้างยังคงอยู่แต่เปลี่ยนรูปแบบไปเพื่อให้ทันยุคทันสมัย

รูปนี้เป็นยุทธหัตถีระหว่างขุนศรีอินทราทิตย์ ขุนรามคำแหงกับขุนสามชน ทั้งสองฝ่ายตั้งใจออกไปทำยุทธหัตถีกันก็ต้องเตรียมช้างไปอย่างในภาพ


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 12, 22:24
ภาพในค.ห. 61
ไม่มีกลางช้าง
สะดุดตากับท่านั่งของควาญช้าง   เหมือนนั่งคุกเข่า แต่เท้าสอดไว้ในเชือกเพื่อรั้งตัวไว้
นั่งท่านี้ จะถนัดในการบังคับช้างหรือคะ


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.พ. 12, 23:17
แหม๊ พ้มก็ไม่เคยลองนั่งซะด้วย (คุณเพ็ญไม่ต้องแก้ตัวสะกดนะครับ อ่านออกเสียงอย่างไรผมก็อุทานอย่างนั้น)

แต่บัดนี้ ขอนำภาพจากหนังสือ "ช้างราชพาหนะ" มาให้ชม ก็ไม่รู้ว่าท่านนั่งของท่านได้อย่างไร สงสัยก้นจะทากาวไว้


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.พ. 12, 23:18
คือภาพเขียนมันเป็นคนละเรื่องกับภาพถ่ายน่ะครับ


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 12, 23:45
ท่านั่งพับขา.   ท่าเดียวกันทั้งภาพวาดและภาพถ่าย. น่ะเอง
แต่ภาพวาด ศิลปินย้ายที่นั่งควาญท้ายไปอยู่ท้ายช้าง.   
 


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 ก.พ. 12, 11:22
นั่งเกือบท้ายช้างก็นั่งได้ขอรับ


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 ก.พ. 12, 11:29
นั่งท้ายช้าง


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 ก.พ. 12, 11:31
สัปคับแบบไม่มีพนัก ใช้หวายรัดเหมือน seat belt


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 12, 11:41
ท้ายช้างในรูปที่คุณ siamese นำมาให้ดู ทรงตัวเก่งมาก   ไม่ต้องมีอะไรช่วยยึดไว้เลยหรือคะ   
ในการออกรบ ควาญท้ายช้างมีหน้าที่บังคับช้างด้วยขอช้าง    แปลว่ามือข้างหนึ่งไม่ว่างแล้ว    ถ้าช้างวิ่ง หรือชนช้างกับช้างข้าศึก   แกจะเหนี่ยวตัวเองไว้บนท้ายช้างได้ยังไง  หรือว่าเลี้ยงตัวเอาไว้ด้วยความชำนาญอย่างเดียว


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 12, 19:44
นายกลางช้างที่ไม่มีสัปคับ


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 12, 19:45
นายกลางช้างที่นั่งบนสัปคับเสียบอาวุธ   ถือแพนหางนกยูง   แต่ไม่มีฉัตร


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 12, 19:47
นายกลางช้างนั่งบนสัปคับ  ถือแพนหางนกยูง แต่ไม่มีอาวุธ


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 12, 19:51
รูปนี้นายกลางช้างนั่งบนสัปคับเสียบอาวุธ มีแพนหางนกยูง  แต่ไม่มีท้ายช้าง


กระทู้: รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 07 มี.ค. 12, 22:15


เรียนถามว่า เค้าโบกสัญญาณกันยังไงครับ ท่าไหนหมายถึง รุก หรือ ถอย ยังไงบ้างครับ

ขอบพระคุณมากครับ



เท่าที่จำได้ การให้อาณัติสัญญาณ ถ้าโบกไปข้างหน้าพร้อมกันสองข้าง หมายถึงให้เร่งระดมทุกทัพเข้าตีต่อเนื่องครับ ที่จำได้เลา ๆ ก็เท่านี้  
อ.ปริญญา สัญญะเดช ท่านเคยบอกให้ผมฟังว่า ถ้ายกอาวุธประเภทไหน หมายถึงให้กองอาวุธนั้น ๆ เข้าต่อตีกับข้าศึก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแม่ทัพว่าจะเลือกใช้กลพยุหะไหน อย่างไร


จริง ๆ แล้ว การให้อาณัติสัญญาณนี้ น่าจะประยุกต์มาจาก การใช้ธงสามชาย ห้าชาย ซึ่งเป็นหนึ่งในการให้อาณัติสัญญาณของทหารสยามแต่โบราณ

ตามในตำราพระพิไชยสงคราม ฉบับ ร.๒ ( คนได้อ่านกันน้อย เพราะน่าจะสูญหายไปแล้ว )  บอกไว้ถึงการใช้ธงสัญญาณ ทั้งบนหลังม้า และ หลังช้างครับ ขอยกยอดไว้ก่อนแล้วกัน เพราะเริ่มลืม ๆ ไปแล้ว

และการใช้อาณัติสัญญาณแบบนี้  ยังมีอยู่ในหมู่ของ กองสอดแนม อย่างพวก สามหอก - เจ็ดหอก ด้วยเช่นกัน (น่าจะเป็นพวกเดียวกับ เสือหมอบ แมวเซา )


ป.ล. ตำรานี้ น่าจะหายไปแล้ว เพราะเคยไปถามที่หอสมุดแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่หาไม่เจอ แต่ผมไปเห็นตัว XEROX ในหนังสืองานศพ ของอดีตข้าราชการระดับ Big ท่านหนึ่งเข้าโดยบังเอิญ


นอกจากนี้ ในตำรานี้ ยังมีการสาธยายถึง ตำราตัดไม้ข่มนามอย่างโบราณ ตำราการแต่งกายของทหารที่จะไปรบตามวันต่าง ๆ  ซึ่งเป็นพิธีค่อนข้างละเอียดพอสมควร รวมไปถึง ตำราการดูลักษณะทหาร ตำรายิงปืนใหญ่

แต่ที่สงสัยคือ ทำไมตำรายิงปืนใหญ่ มันถึงได้คล้ายกับ ตำราปืนใหญ่พระนิพนธ์ของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จังเลย ????