เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: chupong ที่ 14 ม.ค. 11, 14:26



กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 14 ม.ค. 11, 14:26
เรียน ท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านสมาชิกเว็บไซต์เรือนไทยทุกท่านครับ

   เมื่อผมอ่านกระทู้เกี่ยวกับเพลง "เด็กข้างถนน" ซึ่งคุณ pathuma
ได้ตั้งไว้ ณ เว็บไซต์แห่งนี้จบลง ความคิดอยากเปิดกระทู้เพลงเพื่อชีวิตอย่างจริงจังก็เกิดขึ้นทันทีครับ จากข้อมูลอันผมเคยได้รับทราบ ประดานักวิชาการด้านนี้ แบ่งเพลงเพื่อชีวิตออกเป็น ๔ ยุคใหญ่ๆ เริ่มตั้งแต่ยุคแรก หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จวบกระทั่งจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ กระทำรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ ยุคต่อมา หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ยุคที่สาม คือหลังเหตุมหาอำมหิต ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ (ซึ่งเรียกเพลงยุคดังกล่าวว่า "เพลงปฏิวัติ" ได้อย่างเต็มตัว เพราะเนื้อหาพัฒนาไปจากแนวเพื่อชีวิตอีกระดับหนึ่งแล้ว) และยุคที่ ๔ คือเพลงเพื่อชีวิตพาณิชย์ หลังนิสิตนักศึกษาออกจากป่า และเทปเพลงเข้ามามีบทบาทสูงในสังคม แต่ที่ผมตั้งกระทู้โดยระบุว่า ๕ ยุค เพราะตัวเองมีความรู้สึกว่า เดี๋ยวนี้ คำ "เพื่อชีวิต" มักจะถูกนำไปห้อยท้ายเพลงประเภทอื่นๆ แล้วก็กวนกันจนเละเทะ บางเพลงระบุว่าเป็น "ลูกทุ่งแนวเพื่อชีวิต" หาก เนื้อหาหนีไม่พ้นเรื่องรักๆใคร่ๆ เพียงทำดนตรีให้มีกลิ่นอาย ท่วงทำนองท้องถิ่น ก็เท่านั้น ผมจึงขออนุญาตตั้งชื่อเพลงเพื่อชีวิตยุคใหม่ไปพลางๆก่อนว่ายุค "เพื่อชีวิตตู" ครับ

   เริ่มแรกบุกเบิกเพลงสะท้อนปัญหาชนชั้นล่างของสังคม คงต้องคารวะท่าน "แสงนภา บุญราศี" เป็นปฐมคุรุหละครับ ท่านทำเพลงแนวนี้มาตั้งแต่ก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพาจะอุบัติลุกลามมายังประเทศไทยเสียอีก ผมเคยค้นพบจาก google ว่า เพลง "คนจรหมอนหมิ่น" ของท่าน ประพันธ์ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๓ แล้ว คิดว่าคงหาฟังยากปานหาเพชรทีเดียวในยุคปัจจุบัน ตัวผมเองมีโอกาสฟังเพลงของครูแสงนภาฯ ครับ แต่มิใช่จากเสียงร้องของท่านเอง

   ใน พ.ศ. ๒๕๔๖ ครบรอบ ๓๐ ปี เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ทางบริษัทแกรมมี จัดทำซีดีเพลงชุด "เสรีภาพ" ขึ้นมาจำนวน ๔ แผ่น ซีดีแผ่นแรก มีเพลงของครูแสงนภาบรรจุไว้ด้วย แต่ในรูปลักษณ์ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ที่พยายามเรียบเรียงเสียงผสานให้ได้บรรยากาศเก่ามากที่สุดเต็มกำลังความสามารถของผู้นฤมิต ศิลปินผู้ได้รับเลือกให้ขับร้อง ล้วนเป็นศิลปินเพื่อชีวิตแถวหน้าของวงการ ผมขอประเดิมกระทู้ด้วยเพลง "คนปาดตาล" ครับ ฟังเสียหลายรอบ  เนื้อร้องที่ผมจำได้มีดังนี้ครับ

   นี่แหละหนอชีวิตฉัน
ทุกทุกวันมีเพื่อนปลอบใจคือกระบอกตาล
ตื่นแต่เช้า ฉันพบแต่รสอ่อนหวาน
หิ้วกระบอกน้ำตาลไต่ต้นขึ้นปาดปลายงวง

   น้ำตาลไหลร่วงจากงวงตาลหยดมา
คล้ายคล้ายน้ำตาของคนปาดตาลไหลร่วง
หยดหนึ่งน้ำตาลไหลมาจากงวง
น้ำตาแทบร่วง น้ำตาลแทบหลุดจากมือ

   นึกถึงลูกเมียที่อยู่หลังยังบ้าน
ไม่เพราะน้ำตาลดอกหรือ
ลูกเมียไม่เคยอดเลยสักมื้อ
ลูกเรียนหนังสือ พ่อมันใช้มือปาดตาล

   ถ้าขี้เกียจสิ้นขยัน
ไหนจะทันหากินให้ลูกได้สุขไปนาน
ลูกชายฉัน คนโตเป็นนายทหาร
พ่อมันเสาะน้ำตาลส่งเงินให้ลูกเล่าเรียน

   ยากแค้นลำเค็ญสักเพียงไหนพ่อทน
ขอให้ลูกเราทุกคนมานะพากเพียร
ไต่ต้นตาลสูงจนฉันจวนเจียน
บางครั้งวิงเวียน เป็นลมแทบตกจากตาล

   ลูกสาวคนรองศึกษาอยู่บางกอก
พ่อคนบ้านนอก...บักหนาน
ขอสู้เลี้ยงลูก หมั่นปลูกแต่ตาล
สุขจนลูกหลานเพราะคนปาดตาลไม่อาย

   ใครก็เหยียดใครก็หยาม
เขาประณามเห็นคนบ้านนอกไอ้โง่ดั่งควาย
ก็ข้าวที่หุง น้ำตาลที่กักกันขาย
เซ็งลี้กันมากมายก็เพราะไอ้ควายบ้านนา

   ฉันกินน้ำคลองเกือบต้องเป็นอหิวาต์
น้ำก๊อกประปาชาวกรุงเขามาเคยบอก
ว่าพวกบางกอกกินน้ำประปา
เหลียวดูเสื้อผ้า ขาดหลังปะหน้าสิ้นดี

   เพื่อนบ้านเขาเอากระเป๋าไปแลกกับเสื้อ
ขาดแล้วจึงเหลือมาบ้านนี้
เขาแลกน้ำตาล อ้อยหวานตาลดี
เพื่อนเพื่อนเซ็งลี้ เขาเล่นเจี๊ยะฟรีเสียจุใจ

   ข้าไม่แลกก็ไม่ไหว
เดี๋ยวจะไปอำเภอไม่มีผ้าจะนุ่งไป
เสื้อขาดแล้วเขาแลกน้ำตาลตั้งไห
พวกบ้านนอกช้ำใจ ถ้าใครไม่เชื่อไปดู

   ลูกเด็กเล็กแดงแก้ผ้าตัวล่อนจ้อน
สิ้นมุ้งจะนอนหมอนหนุนลูกหลานย่าปู่
ต้องหลับคุดคู้อยู่กลางชานเรือน
สุมไฟเป็นเพื่อน
กันยุงริ้นกัดทนกลืน

   นึกถึงลูกฉันคงอบอุ่นเหลืออยู่บางกอก
คอกคนบ้านนอกสุดฝืน
ไหว้พระกราบหมอนก่อนนอนทุกคืน
ให้ลูกสดชื่น
พ่อมันสะอื้นปาดตาล

   เพลงนี้ ขับร้องใหม่โดย คุณสุรชัย จันทิมาธรครับ ผมมีไฟล์ในรูปแบบออดิโอซีดี มอิหนำ ยังไม่มีโปรแกรมแปลงไฟล์เป็นเอ็มพีสาม เลยขออนุญาตเรียนถามทุกๆท่านไว้ในตอนท้ายของกระทู้ว่า พอจะมีหนทางนำเพลง "คนปาดตาล" นี้ ขึ้นเว็บไซต์เรือนไทยได้หรือไม่ครับ ถ้าหากมี ผมสามารถกระทำได้โดยวิธีใดครับ ขอขอบพระคุณในคำตอบและความกรุณาของท่านครับ

   ก่อนจบกระทู้ ผมมี "คนปาดตาล" ซึ่งเผอิญชื่อซ้ำกับผลงานของครูแสงนภา บุญราศี ไม่ทราบจริงๆครับว่าท่านผู้ใดนิพนธ์ เสียงร้องของคุณก้าน แก้วสุพรรณมาฝากทิ้งท้าย ตามลิงค์นี้ครับ
http://www.youtube.com/watch?v=PF5RS9jn0mI

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

 





 


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ม.ค. 11, 14:43
เพลง คนปาดตาล
ขับร้องโดย ก้าน แก้วสุพรรณ
คำร้อง-ทำนอง สุรพล สมบัติเจริญ

เห็นตาลยืนต้น สูงจนเสียดฟ้า อุตส่าห์มองดู
นี่ใครจะรู้บ้าง ว่าเราเบื่อเหลือทน
แต่เช้าจรดเย็น ไม่เคยเว้นว่าง
แหงนคอเบิ่งค้าง มือโอบต้น กัดฟันสู้ทนแม้จะหม่นทรวง

สองมือเกาะแน่น แขนยังไม่เว้น หิ้วกระบอกตาล
หวังรองนำหวาน ของตาลไหลจากปลายงวง
หยดหนึ่งนำตาลที่ผ่านลงมา คล้ายดังกับว่านำตาไหลร่วง
หยดพรากจากทรวง ของคนปาดตาล

แม้จะเบื่อ เหงื่อย้อยไหลหยดโทรมกาย
ไม่เคยคิดสิ้นความหมาย อุตส่าห์ตะกายป่ายปีนทุกวัน
ถึงตาลเจ้าสูง เสียดฟ้าแหงนคอตั้งชัน
ผมเองไม่เคยนึกหวั่น ขอเพียงลูกเมียนั้นสุขหัวใจ

***เห็นตาลโอนลู่ เหลียวดูสะท้อน
มือไม้อ่อนเพลีย แทบจะขวัญเสีย เพราะตาลเจ้าถูกลมไกว
เหงื่อย้อยท่วมคางหยดหลั่งริน ถึงกายจะสิ้นก็ยอมให้
สิ่งเดียวพอใจ คือได้น้ำตาล


http://www.youtube.com/watch?v=PF5RS9jn0mI

 ;D


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ม.ค. 11, 15:15
อ้างถึง
เพลงนี้ ขับร้องใหม่โดย คุณสุรชัย จันทิมาธรครับ ผมมีไฟล์ในรูปแบบออดิโอซีดี มอิหนำ ยังไม่มีโปรแกรมแปลงไฟล์เป็นเอ็มพีสาม เลยขออนุญาตเรียนถามทุกๆท่านไว้ในตอนท้ายของกระทู้ว่า พอจะมีหนทางนำเพลง "คนปาดตาล" นี้ ขึ้นเว็บไซต์เรือนไทยได้หรือไม่ครับ ถ้าหากมี ผมสามารถกระทำได้โดยวิธีใดครับ ขอขอบพระคุณในคำตอบและความกรุณาของท่านครับ

คุณชูพงศ์ต้องระวังเรื่องลิขสิทธิ์   ถ้าเป็นเพลงที่มีอยู่แล้วในยูทูป  ก็พอจะนำมาได้    หรือถ้าเปิดในบล็อค ก็ทำลิ้งค์ให้ฟังได้
แต่ถ้าคุณแปลงไฟล์โดยพลการแล้วนำมาลง   ผู้ถือลิขสิทธิ์เพลงอาจจะฟ้องเรือนไทยได้ค่ะ


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 14 ม.ค. 11, 15:31
ขอบพระคุณคุณเพ็ญชมพูครับ สำหรับข้อมูลเสริม ผมอ่านเนื้อเพลงของครูสุรพลแล้ว คิดว่า ครูท่านน่าจะได้รับอิทธิพลไม่มากก็น้อยจากครูแสงนภาฯ นะครับ มีบางอย่างคล้ายๆกัน แต่โดยส่วนตัว ผมว่า เพลงครูแสงนภาออกจะเข้มข้นกว่า เพราะมีท่อนที่บ่งชี้ถึงการเอารัดเอาเปรียบของผู้มีฐานะเหนือกว่าที่กระทำต่อผู้อับจนสิ้นหนทาง ทว่าทั้งนี้ทั้งนั้น ครูเพลงแต่ละท่าน ก็มีแนวทางเฉพาะ ซึ่งผลที่สุดก็คือ ได้เพลงไพเราะมาให้เราฟัง ให้เราเรียนรู้ถึงยุคสมัยที่ผ่านมาครับ

   กราบขอบพระคุณครับท่านอาจารย์เทาชมพู ผมเข้าใจแล้วครับ ฉะนั้น ในการถ่ายทอดเพลงแต่ละยุค ผมจะยึดกฏิกาโดยเคร่งครัด คือ เพลงใดหาลิงค์จากเว็บไซต์อื่นๆได้ก็จะนำลิงค์มาวาง ส่วนเพลงใดหาไม่ได้ ก็จะทำเพียงพิมพ์เนื้อร้องเท่านั้น แล้วรอความการุณย์จากสมาชิกท่านอื่นๆที่หาพบครับผม



กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 14 ม.ค. 11, 16:16
พูดถึง "เพลงชีวิต" (ยุคแรกๆ ยังไม่มีคำว่า "เพื่อ" แทรกกลางครับ) ถ้าไม่กล่าวถึงเพลงอันอภิมหาอำมตะบันลือชื่อ "กลิ่นโคลนสาบควาย" ซึ่งท่านครูไพบูลย์ บุตรขันรจนาไว้ ก็เห็นจะผิดไปหละครับ ผมขออนุญาตไม่พิมพ์เนื้อนะครับ เนื่องจากทุกท่านเจนใจเพลงนี้ดี นำลิงค์มาวางให้ฟังกันเลย
http://www.youtube.com/watch?v=4t7f6zpgseA

     พร้อมกันนี้ ก็มีบางสิ่งบางอย่างผุดรำไรขึ้นมาในมโนคำนึง ขอนำมาเรียนถามความเห็นจากทุกท่านครับ

   ทำไม ท่านจิตร ภูมิศักดิ์ จึงประพันธ์เพลง "กลิ่นรวงทอง" ขึ้น ทั้งๆมีเพลง "กลิ่นโคลนสาบควาย" อันถ่ายทอดวิถีชาวนาได้กระชับชัดอยู่แล้ว?

   เท่าที่ผมทราบจากการค้นข้อมูลตามเว็บไซต์ต่างๆ เพลงกลิ่นโคลนสาบควาย ถูกห้ามออกอากาศอยู่สองช่วง ช่วงแรกโดยรัฐบาลจอมพล ป. (ป.๒) ช่วงหลัง ยุครัฐบาลจอมพลสฤษฎิ์ เหตุผลของการแบนครั้งหลัง ก็เพราะสถานีวิทยุของฟากฝั่งคอมมิวนิสต์ไทยนำไปใช้ (แหม เข้าใจแสวงจุดร่วมดีแท้) เป็นไปได้ไหมครับว่าทางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อาจ (ผมใช้คำว่าอาจ เพราะนี่เป็นข้อสันนิษฐานส่วนตัวเท่านั้นครับ) มอบหมายอย่างลับๆให้ท่านจิตรฯ ประพันธ์เพลง "กลิ่นรวงทอง" ขึ้น เพื่อใช้แทน "กลิ่นโคลนสาบควาย" สำหรับจะให้เป็นเพลงของทาง พคท. เอง ผมขออนุญาตพิมพ์เนื้อเพลงกลิ่นรวงทองไว้ในที่นี้นะครับ ท่านที่อ่าน ลองฮำโดยยึดทำนองกลิ่นโคลนสาบควายเป็นหลัก จะพบว่า ผู้แต่ง กลิ่นรวงทอง พยายามใช้คำอันประกอบด้วยเสียงวรรณยุกต์ซึ่งกลมกลืนกับโน้ตของเพลงต้นแบบมาก ยิ่งสองวรรคแรกของท่อนสุดท้ายยิ่งเห็นชัดๆว่าแกะมาทั้งหมดโดยไม่ดัดแปลงเลย

   เพลง กลิ่นรวงทอง
คำร้อง ท่านจิตร ภูมิศักดิ์

   ท่ามกลางแดดแผดเปลวร้อนผ่าวดังไฟ
กลางผืนดินนาไร่ ใต้ฟ้ากว้างไกลสุดตา
ใครหนอกรำทำงานกลางนา
ไล่ควายดุ่มกุมไถฟันฝ่า คราดนาล้าเมื่อยระบม

   รุ่งจนค่ำปักดำชุ่มฉ่ำเหงื่อนอง
แปลงผืนนางามผ่องเป็นทุ่งรวงทองน่าชม
ยามหนาวยืนฝืนสู้แรงลม
จับเคียวเกี่ยวข้าวมัดก้อนกลม ระดมแรงนวดสุดใจ

   จากแรงเป็นรวงเหลืองงามจนขาวเป็นข้าวหอมกรุ่น
น้ำแรงเนื่องหนุนนั้นมากเพียงไหน
รสข้าวละมุนหวานอุ่นละไม ด้วยหยาดเหงื่อใคร
หวานเอยน้ำใจของหมู่ชาวนา

   อย่าดูถูกชาวนาเห็นว่าอับเฉา
มือถือเคียวชันเข่า เกี่ยวข้าวเลี้ยงเราผ่านมา
ความหวังเอยของเราชาวนา
สักวันหนึ่งเมฆร้ายเคลื่อนคลา ชาวนาสุขสันต์รื่นรมย์

   นำลิงค์จาก youtube มาให้ฟังกันชัดๆครับ
http://www.youtube.com/watch?v=zRP_wvh-jGU





 


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ม.ค. 11, 16:26
เพลงกลิ่นโคลนสาบควาย แต่งขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๙๖  ลาวัณย์ โชตามระ เขียนเล่าเอาไว้ใน "ไพบูลย์ บุตรขัน" นักแต่งเพลง "ประวัติการณ์" ว่า
     
"...นับว่าเป็นประวัติการณ์ทีเดียวที่เพลงไทยถูกทางการสั่งห้ามออกอากาศโดยอ้างว่าเนื้อเพลงมีข้อความที่ไม่เหมาะสม แสดงถึงความเหลื่อมล้ำแห่งชีวิตของชนชั้น เพลงที่ว่านี้คือเพลงกลิ่นโคลนสาบควายของไพบูลย์ บุตรขัน...
     
และนี่ก็เป็นประวัติการณ์อีกเหมือนกันที่ว่า พอถึงวันแม่ซึ่งทางการยุคหนึ่งกำหนดให้ถือเอา วันที่ ๑๕ เมษายน ตลอดวันวิทยุก็จะกระจายเสียง แต่เพลงที่เขาแต่งขึ้นอีกนั่นแหละ นั่นคือเพลงชุด "แม่" อันได้แก่ เพลงค่าน้ำนม ที่มีเนื้อร้องขึ้นต้นว่า "แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง..."


http://www.youtube.com/watch?v=4t7f6zpgseA

ฟังเพลงนี้ทีไร น้ำตาไหลทุกที

 :(


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 14 ม.ค. 11, 16:36
ขอเรียนถามคุณเพ็ญชมพูครับ ในทรรศนะของคุณ เพลงใดที่ครูไพบูลย์ท่านเล่นแรงที่สุด สำหรับผมคิดว่า "ตาสีกำสรวล" นี่ออกจะหนักหนาสากรรจ์ไม่น้อยเลยนะครับสำหรับยุคนั้น ยุคอันปากกระบอกปืนทรงมหิทธานุภาพ


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ม.ค. 11, 16:51
ถ้าพูดถึงความแรง  คงสู้ จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ได้

แต่ถ้าพูดถึงเนื้อหากินใจ กลิ่นโคลนสาบควาย เหนือว่า กลิ่นรวงทอง อยู่หลายขุม

 ;D


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 14 ม.ค. 11, 23:22
เคยได้ฟังแต่ เพื่อมวลชน เดือนเพ็ญ นกสีเหลือง อะไรทำนองนั้น

ไม่ทราบว่าเพลงเหล่านี้จัดอยู่ในยุคไหนของเพลงเพื่อชีวิตครับ


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 15 ม.ค. 11, 16:32
สวัสดีขอรับทุกๆท่าน

   นายชูพงค์กลับมาแล้วครับ เห็นด้วยกับคุณเพ็ญชมพูครับ ว่า กลิ่นโคลนสาบควายเนื้อหาจับใจนัก เรื่องของเพลงท่านจิตร ถ้าท่านผู้อ่านยังไม่เบื่อกระทู้นี้เสียก่อน ผมจะชวนท่านคุยในช่วง...เอ จะช่วงไหนดีครับเนี่ย เพราะถ้าจะกล่าวตามสมัยแห่งการกำเนิด เพลงเหล่านั้นเขียนขึ้นช่วงรัฐบาลจอมพล ป. (ป. ๒) ต่อช่วงถึงยุคจอมพลผ้าขาวม้าแดง แล้วเลยมาถึงห้วงเวลาต้นๆของรัฐบาลจอมพลถนอม แต่ได้รับการบันทึกเสียงจริงๆหลัง ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ครับ วงดนตรี “กรรมาชน” เป็นวงแรกๆที่นำมาเผยแพร่ และก็มีเพลงอยู่จำนวนหนึ่งที่เป็น “เพลงปฏิวัติ” เต็มที่ ตรงนี้ ขอความเห็นท่านผู้อ่านด้วยขอรับ

   ตอบคุณ art47
 ครับ

   “เพื่อมวลชน” ของวงกรรมาชน “นกสีเหลือง” วงคาราวาน “เดือนเพ็ญ” ท่านอัสนี พลจันทร ประพันธ์ พ.ศ.ใดนั้น ผมยังค้นข้อมูลไม่กระจะ แต่ที่แน่ๆ วงคาราวานนำมาเผยแพร่ครั้งแรกในอัลบัมชุด “บ้านนาสะเทือน” ยุคพลเอกเปรม ติณสูรานนท์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สรุป เพลงที่คุณเอ่ยถึงส่วนใหญ่ จัดอยู่ในสมัยเพื่อชีวิตหลัง ๑๔ ตุลาครับ
 


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 15 ม.ค. 11, 16:59
   ก่อนจะเข้ายุคเพลงครูคำรณ ผมต้องขอกล่าวถึง “ครูเสน่ห์ โกมารชุน” ก่อนครับ มีเพลงโปรดผมเพลงหนึ่ง ถ้อยคำบริภาษกันชนิดตรงๆ ครูเสน่ห์ท่านไม่อ้อมค้อมเลย จะมีเว็บไหนนำมาให้ฟังหรือเปล่า ผมยังค้นไม่พบครับ ดังนั้น ขออนุญาตพิมพ์เนื้อร้องลงไว้ก่อนแล้วกันครับ

ผู้แทนควาย
โดย ครูเสน่ห์ โกมารชุน

   ฉันเป็นผู้แทนมาจากควาย
ฟังเถิดพี่น้องหญิงชาย นี่ควายเขาใช้ฉันมา
ให้ฉันช่วยถามเนื้อความเป็นปัญหา
ว่าควายที่ใช้ไถนามันเกิดมาเพื่อใคร

   ทำงานทุกอย่างส่วนต่างต่างของควาย
มีประโยชน์เหลือหลาย มากมายสุดพรรณนา
มนุษย์ขี้เหม็นยังเคี่ยวเข็ญต่างๆนานา
คิดแล้วช่างเอือมระอา คิดขึ้นมาควายน้อยใจ

   ยามมีชีวิตก็คิดแต่ใช้
ตากแดดตากฝนทนไป นี่แหละควายที่ไถนา
ทั้งเฆี่ยนทั้งตีขอแต่ให้มีข้าวมา
อาหารคือฟางกับหญ้าที่ให้มาเป็นค่าตอบแทน

   เพราะข้าวในนาเงินไหลมาเป็นแสนแสน
บางครั้งยังข้ามต่างแดน ควายมันแสนสลดใจ
ที่ควายไถนาเพราะเกิดมาเป็นควายไทย
ข้าวของเราแต่เขาขนไป คนอื่นกินได้ไทยไม่มีกิน

   ปักษ์เหนือปักษ์ใต้แดนไกลกันดาร
ไม่มีข้าวรับประทานเพราะคอร์รัปชั่นมันโกงกิน
ควายมันอยากร้องให้พี่น้องได้ยิน
ไปถึงสวรรค์ชั้นอินทร์ ให้พวกโกงกินมันวอดวาย

   แต่เกิดเป็นควายก็ได้แต่ยืนดู
ถึงจะรู้ก็เหมือนไม่รู้ ได้แต่ดูเขาขนไป
ถ้าควายปากบอนควายจะต้องนอนตาย
เอ้า โกงกันให้สบายเถอะไอ้ควายจะยอมทน

   ว่ากันว่า พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ถึงกับหนวดกระตุกอย่างแรง เรียกตัวครูเสน่ห์ไปพบ แล้วตั้งคำถามขู่ขวัญที่สรุปออกมาได้ว่า อยากมีลมหายใจอยู่ต่อหรือไม่? ครูเพลงชีวิตท่านนี้ จึงจำต้องป้องกันตัวท่านเอง ยุติบทบาทนักแต่ง/นักร้องเพลงชีวิตไป น่าเสียดายจริงๆครับ
 



 


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 15 ม.ค. 11, 19:26
สนับสนุนคุณ chupong ด้วย 1 เสียงครับ


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 16 ม.ค. 11, 11:39
สวัสดีอีกคำรบครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน
ผมหวนคืนมาคราใหม่ พร้อมการเริ่มต้นเพลงชีวิตของนักร้องสำคัญอีกท่านหนึ่ง “ครูคำรณ สัมบุญญานนท์” ครับ แรกทีเดียว ตั้งใจจะนำเสนอ “มนต์การเมือง” เพลงอกาลิโกที่ใช้ได้ทุกขณะ (แน่หละ ในเมื่อนักกินเมืองบ้านเรายังคลุกอาจมมิเปลี่ยนแปลง) แต่ ขออนุญาตเปลี่ยนใจกะทันหันครับ เพราะ...

    วันนี้หวยจะออกในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า จึงนำเพลง “หวยใต้ดิน” มาฝากก่อนครับ ในแผ่นซีดีซึ่งผมถือครองมิได้ระบุนามผู้แต่งแหละ พ.ศ. อันเพลงดังกล่าวกำเนิดขึ้นเอาไว้ ท่านใดมีข้อมูลโปรดจุนเจือเกื้อกรุณาด้วยเถิดครับ ผมจำได้แต่เนื้อร้อง ก็จะพิมพ์ลงก่อนครับ

เพลง หวยใต้ดิน
ขับร้องโดย ครูคำรณ สัมบุญญานนท์

   อาดูรดวงใจ ข้าสูญสิ้นไปทุกอย่าง
เพราะใช้ชีวิตผิดทางสร้างความร่ำรวยด้วยหวยใต้ดิน
อาจารย์ไหนดีข้าไปหามาจนสิ้น
ตัวเก็งตัวกันตัวกินข้าแทงจนสิ้นวัวควายไร่นา

   เคยทำการงาน จิตใจก็พลันผันเปลี่ยน
ทั้งวันข้านั่งขีดเขียนพากเพียรคำนวณหวยตัวที่จะมา
บนบานพระภูมิเทพไทผีไพรเจ้าป่า
อินทร์พรหมสยมเทวาโปรดจงช่วยข้าให้รวยสักที

   อาจารย์ท่านใบ้ว่าช้างไปไข่ในเรือสำเภา
ตามกำลังวันพอเข้าบวกลบคูณหารได้เก้าสูญสี่
เพราะความอยากรวยรวบรวมทรัพย์สินที่มี
แทงหวยตัวเก้าสูญสี่หวังครองตำแหน่งเสรษฐีเมืองไทย

   ชะตาคนเรา เมื่อคราวมันจะถึงฆาต
หวยกินอย่างน่าอนาถโชควาสนาชักพาเป็นไป
มัวเมาสามตัวชั่วเพียงไม่นานเท่าไหร่
สินทรัพย์เงินทองบรรลัยต้องกลายสภาพกลับเป็นขอทาน

   ลงเอยกันที ไม่มีวันจะฝันใฝ่
สามตัวข้าขอห่างไกลยากจนเพียงใดไม่ขอพบพาน
นอนตามศาลาต้องอาศัยวัดแทนบ้าน
ขอร้องพี่น้องทั่วกัน อย่าได้เมามัวสามตัวอีกเลย



 
   


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ม.ค. 11, 13:31
ไม่แน่ใจว่าเพลง ป่าลั่น จะเข้าข่าย เพลงเพื่อชีวิต หรือไม่  ทำนอง สมาน กาญจนผลิน คำร้อง ชาลี อินทรวิจิตร
คิดว่าเป็นเพลงจากภาพยนตร์ไทย     เป็นเพลงเก่าที่ร้องกันมาหลายยุค จนถึงปัจจุบัน

เรียงลำดับตั้งแต่เก่าสุด ของสุเทพ วงศ์คำแหง   อาจจะประมาณ 2500 กว่าๆ

http://www.youtube.com/watch?v=3TZiz5FNI9o

ต่อมา ธานินทร์ อินทรเทพ นำมาร้อง  มีอีกหลายคน  ที่นำมาลงให้ฟังกันคือเสียงของฝรั่งร้องเพลงไทยได้ชัดกว่านักร้องไทยหลายคน
โจนัสกับคริสตี้
http://www.youtube.com/watch?v=vOw4BnKrmY0&feature=related




กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 16 ม.ค. 11, 15:12
จะเป็นด้วยแรงบันดาลใจจากเพลง "ผู้แทนควาย" หรือเปล่าไม่ทราบได้ ทำให้ ส.ส. ไพฑูรย์ วงศ์วานิช จากสุราษฎร์ ธานี ครั้งหนึ่งเคยขี่ควายเข้าสภา  อ่านจากเรื่องพรหมลิขิตหักเห ในหนังสือ ฟ้าเมืองไทย จำได้ว่าคุณไพฑูรย์ นำควาย ขึ้นรถที่สถานีชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ สุราษฎร์ธานีเพื่อนำควายเข้ากรุงเทพฯ


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 17 ม.ค. 11, 10:37
เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูครับ

   ในทรรศนะส่วนตัวของผม โดยมิต้องอ้างตำรา เอาเฉพาะความรู้สึกล้วนๆ ผมคิดว่า เพลงที่กล่าวถึงชีวิตของ "กลุ่มชน" มิใช่แค่ "ปัจเจกชน" สะท้อนถ่ายวิถีความเป็นอยู่อย่างซื่อตรง หลากหลายมุม ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ น่าจะจัดเข้าทำเนียบเพื่อชีวิตครับ แหละเพลง "ป่าลั่น" ก็เป็นเพลงโปรดของผมอีกเพลงเช่นกันครับ กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์อย่างยิ่งครับที่กรุณานำมาให้รับอรรถรสกันทั่วถ้วน

   ขอบพระคุณคุณ pathuma
 เป็นอเนกอนันต์ครับ สำหรับข้อมูลเสริมที่ผมเองก็ไม่รู้เรื่องมาก่อนเลย เอ ว่าแต่ เรื่อง ส.ส. ท่านนั้น เกิดขึ้นประมาณ พ.ศ. อะไรครับ
 

 


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ม.ค. 11, 13:16
เพลง "บ้านนา" ของสุนทราภรณ์ เป็นเพลงเก่าแก่ ก่อนมีเพลงเพื่อชีวิต  ทำนองดัดแปลงจากเพลงไทยเดิม ลาวแพนน้อย
น่าจะเข้าข่ายเพลงเพื่อชีวิตตามความหมายของคุณชูพงศ์
นำคลิปวิดีโอมาลงให้ค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=xh6fPocNnf0



กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 17 ม.ค. 11, 14:53
กราบขอบพระคุณครับ ท่านอาจารย์เทาชมพู เพลงนี้ผมก็เคยฟังครับอาจารย์ ถ้าฟังตอนเย็นๆ ท้องกำลังร้องจ๊อกๆหละก็ จะน้ำลายไหลทันที เพราะ...

   "ท่าทางพี่คงหิวข้าว
น้องแกงถั่วฝักยาว น้ำพริกมะขาม
บ๊ะ ดีสิน้องต้องกินหลายชาม
มะเขืองามจิ้มกับหลนปลา
แหมทำเข้าท่ายกเอามาไวไว" ฟังแล้ว อยากกินครับ

   ผมขออนุญาตนำเพลง "มนต์การเมือง" มาฝากครับ เมื่อปีกลาย เห็นผู้หลักผู้ใหญ่ในคณะรัฐบาลท่านปรารภว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปีนี้ ถ้าจริงดั่งท่านกล่าว ก็ขอโพสต์เพลงนี้ไว้ล่วงหน้าครับ

มนต์การเมือง
คำร้อง/ทำนอง ครูสุเทพ โชคสกุล
ขับร้องโดย ครูคำรณ สัมบุญญานนท์

   เสียงโฆษณาของนักการเมือง
ยกเอาแต่เรื่องที่ดีงามมาพูดจา
มีหนังมาฉายให้ชาวไร่ชาวนา
ได้ดูได้ชมกันทั่วหน้าระรื่นตื่นตากันทั่วไป

   จะสร้างไอ้โน่นจะทำไอ้นี่ที่ยังขาดแคลน
ทั่วทุกถิ่นทุกแดนฟังดูช่างแสนจะชื่นใจ
ถนนหนทางลำคลองจะสร้างให้มากมาย
เลิกเลี้ยงวัวเลี้ยงควายจะซื้อรถให้มาไถนา

   ดีอกดีใจแต่นี้ต่อไปคงสุขอารมณ์
ชาวนาพากันชื่นชม นิยมดังเขาพูดมา
พอเป็นผู้แทนนั่งแท่นอยู่ในสภา
ตั้งหลายปีที่ผ่านมาจะไถนายังต้องใช้ควาย

   ถนนหนทางที่ว่าจะสร้างก็ยังไม่มี
มันกินอิฐทรายกันป่นปี้ ถนนจะมีกันได้ยังไง
เขาเป็นผู้แทนกันยังไม่ทันเท่าไร
ทรัพย์สินเงินทองมีมากมายมันน่าแปลกใจเมื่อคิดขึ้นมา

   ปากบอกรักชาติผมฟังอนาถใจจริง
เห็นแต่เขาจะช่วงจะชิงตำแหน่งใหญ่ยิ่งกันในสภา
วิ่งเต้นหาเสียงกินเลี้ยงกันใหญ่ตามเหลาตามบาร์
บางคราวยกพวกเข้าเข่นฆ่า มันเหลือระอาผู้แทนเมืองไทย

   ผมขอวิงวอนราษฎรทั่วทั้งแผ่นดิน
ไอ้พวกชอบโกงชอบกิน ไอ้พวกกังฉินอย่าเลือกเข้าไป
เลือกแต่คนดียังมีอยู่อีกมากมาย
แล้วพี่น้องจะสุขใจ จะพาชาติไทยเรารุ่งเรือง

   และขอเชิญทุกท่านรับฟังเพลงอันทันสมัยเสมอเพลงนี้ได้ที่นี่ครับ
http://www.youtube.com/watch?v=Xk-9KsKwvec
 


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ม.ค. 11, 23:01
เคยฟังเพลง หนูเอย ไหมคะ
ลองเปิดคลิปดู

http://www.youtube.com/watch?v=VGrvjWh8qHU


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 18 ม.ค. 11, 08:44
ขออนุญาตเรียนถามท่านอาจารย์เทาชมพูครับ เพลง "หนูเอย" คือเพลงที่ขึ้นต้นด้วย
   "หนูเอยหนูจงฟัง
พี่จะสอนพี่จะสั่งหนูจงฟังเอาไว้ให้ดี
หนูเอยสมัยนี้
เป็นสมัยที่เอาดีกันด้วยปัญญา" หรือเปล่าครับ ถ้าเป็นเพลงนั้น ผมชอบครับ ก่อนวันเด็กแห่งชาติยังเปิดเทปฟังตั้งสองสามเที่ยว ฟังพลางนึกถึงวัยเยาว์ไปพลางครับผม
 


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 11, 09:42
ใช่ค่ะ  นำมาลงให้อ่านทั้งเพลง

หนูเอย
คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล
ทำนอง เวส สุนทรจามร     
   
หนูเอยหนูจงฟัง
พี่จะสอนพี่จะสั่งหนูจงฟังเอาไว้ให้ดี
หนูเอยสมัยนี้
เป็นสมัยที่เอาดีกันด้วยปัญญา

หนูอย่าซุกซน
จงอด และจงทนหนูจงบ่นท่องวิชา
ในภายภาคหน้า
จะได้พึ่งวิชาปัญญาจะเฟื่องฟู

หนูเอยหนูจงเพียร
หนูจงเล่าหนูจงเรียนหนูจงเพียรหาความรู้
หนูเอยจงคิดดู
หากมีใครลบหลู่แล้วหนูจะโทษใคร

หนูเร่งเร็วพลัน
จงบาก และจงบั่นหนูจงหมั่นอย่าท้อใจ
หนูเอยจะบอกให้
ปลูกปัญญาเอาไว้เรียนไปให้เชี่ยวชาญ

หนูเอยอย่าเกเร
หนูอย่าเที่ยวหนูอย่าเตร่ อย่าเสเพลประพฤติพาล
หนูเอยอย่าเกียจคร้าน
หมั่นเล่าเรียนเขียนอ่านคบพาลจะเสียคน

หนูกอปรการดี
เป็นศักดิ์ และเป็นศรีทั้งเป็นที่น้อมกมล
หนูจะไม่อับจน
แต่จงเลือกคบคนแล้วตนจะรุ่งเรือง

หนูเอยหนููฟังว่า
เพราะสติเพราะปัญญานั้นจะพาให้กระเดื่อง
หนูเอยชาติบ้านเมือง
จะเจริญฟุ้งเฟื่องก็เนื่องด้วยเด็กไทย

แม้ชาติต่างแดน
มาหมิ่นหรือมาแคลนหนูไม่แค้นบ้างหรือไร
บ้านเมืองเจริญได้
อยู่ที่เด็กของไทยมิใช่ใครอื่นเลย


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 18 ม.ค. 11, 09:51
กราบขอบพระคุณครับท่านอาจารย์เทาชมพู อ่านแล้วอิ่มใจครับ ทำให้ผมนึกถึงอีกเพลงหนึ่งของสุนทราภรณ์ขึ้นมาได้ เพราะเป็นคนชอบอ่านหนังสือ จึงชอบครับ เพลงนั้นขึ้นต้นว่า:

   "หนังสือจ๋าไปไหนมาเป็นแถวแถว
กินข้าวแล้วหรือยังหนังสือจ๋า
เจ้านั่นหรือช่างดีมีคุณหนักหนา
กอขอกอกาเริ่มแรกศึกษาจากเจ้า" ฟังไปยิ้มไปครับอาจารย์

 


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 18 ม.ค. 11, 10:19
ผมมีเรื่องกราบขอความปรานีจากทุกท่านครับ นั่นคือ ตนเองตั้งใจจะพิมพ์เนื้อเพลง "ตาสีกำสรวล" ลงในกระทู้นี้ แต่พยายามเข้าเว็บไซต์ google เพื่อค้นหาเนื้อร้องที่ถูกต้อง หรือลิงค์ที่จะสามารถเข้าไปฟังได้ก็ยังค้นไม่เจอครับ ครั้นจะพิมพ์เอาจากความทรงจำก็มิกล้า เนื่องเพราะเพลงนี้มีศัพท์แสงเฉพาะยุคเฉพาะสมัยอยู่บางคำซึ่งผมมิแน่ใจว่าสะกดอย่างไร แหละก็ค่อนข้างมั่นใจว่าท่านรอยอินไม่บรรจุเอาไว้แหงๆ ท่านใดชอบสะสมหนังสือเพลงเก่า หากพบว่าหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งที่ท่านรวบรวม มีเพลง "ตาสีกำสรวล" ทั้งภาค ๑ และภาค ๒ อยู่ โปรดเมตตาผมด้วยเถิดครับ

   ในเมื่อยังพิมพ์ "ตาสีกำสรวล" มิได้ ผมขอพิมพ์เพลงครูคำรณ สัมบุญญานนท์ที่ผมแสนรักลงไว้อีกเพลงหนึ่งแล้วกันครับ ตอนฟังเพลงนี้ครั้งแรก ผมสะอึกกับท่อนที่สาม เพราะครูไพบูลย์ บุตรขัน ท่านเล่นแรง ลองอ่านกันดูเทอญครับ

ลูกสาวตาสี
ผู้ประพันธ์ ครูไพบูลย์ บุตรขัน
ผู้ขับร้อง ครูคำรณ สัมบุญญานนท์

   โฉมเอ๋ยสะอางน้องนางแน่งน้อยอ่อนช้อยชวนชม
ถึงผิวกร้านคล้ำดำคล้ายดินตมบางคนเมิน
แต่พี่ขอชมแหละสรรเสริญ
รักน้องเหลือเกินตรงที่น้ำใจ

   ฟ้าดินเสกสรรค์ปั้นนางร่างน้อยจากร้อยในพัน
เหลือหลายที่น้ำคำพี่จำนรรจ์จาระไน
เอ่ยถ้อยร้อยกรองด้วยพิสมัย
น้องเป็นขวัญใจของหนุ่มบ้านนา

   ในวรรณคดีกวีร้อยกรองเหยียดน้องว่าต่ำ
รูปชั่วตัวดำเหมือนกับอีกา
เขาเอ่ยประณามหยามลูกตาสาไม่น่าเคลียเคล้า
แต่เขากินข้าวจากน้ำมือนางตลอดปี

   แม้ตัวจะดำน้ำใจแม่น้องเรียกร้องเมตตา
สงสารแม่น้องพี่ร้องครวญมาชมความดี
นี่แหละพวกเราลูกสาวตาสี
น้อยคนนักมีผู้ให้เกียรติเธอ

   และขอเชิญท่านรับฟังได้ที่ลิงค์นี้ครับ

http://www.youtube.com/watch?v=o7gHK2eCjy8





 


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 11, 11:15
ดิฉันไปเจอเว็บที่ให้ดาวน์โหลด เพลงตาสีกำสรวล 1 และ 2  แต่พอคลิกเข้าไป เขาให้ request admission ก็เลยไม่ได้เข้าต่อ  ไม่แน่ใจว่าจะโหลดได้
คุณม้าเว็บมาสเตอร์ เตือนดิฉันว่าอย่าโหลดอะไรมาง่ายๆ อาจมีไวรัสแถมมาด้วย  ก็เลยเตือนคุณชูพงศ์ต่ออีกที  ถ้าโหลดก็ควรมีวิธีป้องกัน

download ตาสีกำสรวล 1.mp3
http://www.ziddu.com/download.php?uid=Y66blpmnY7OemZmnr6yZlJyiYa6WlpWp1
download ตาสีกำสรวล 2.mp3
http://www.ziddu.com/download.php?uid=ZLCflJSlZbKdluKnYaqhkZSpXqyal52s1

ในกูเกิ้ลมีหลายเว็บและบล็อคที่เอ่ยถึงเพลงนี้    แต่ดิฉันไม่ได้ยินเสียงเพลง คงเป็นเพราะเครื่องไม่มีโปรแกรมที่จะฟัง


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 18 ม.ค. 11, 15:40
เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูครับ

   ผมก็มิกล้าไปดึงข้อมูลเหมือนกันครับ เพราะเสี่ยงต่อไวรัส ยิ่งใช้เครื่องที่ทำงานเสียด้วย เสียวครับ กลัวกระเทือนส่วนสำคัญเข้า แล้วต้องเรียกผู้แก้ไขมาดู พอความแตกว่านายชูพงค์ไปโหลดเพลงเข้า ทีนี้หละ... ไม่กล้านึกต่อครับ

   เรียนท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านครับ
   เดิม ผมตั้งใจมั่นว่า ยังไงก็จะพิมพ์ "ตาสีกำสรวล" ให้ทุกท่านอ่าน เพราะเป็นเพลงที่สะท้อนสภาพสังคมสมัยก่อนในด้านเศรษฐกิจ ค่าครองชีพของประชาชนได้กระชับและชัดแจ้งพอสมควร จึงส่งเนื้อร้องที่ผมพิมพ์จากความทรงจำไปกราบขอความกรุณาท่านอาจารย์เทาชมพู ท่านเมตตาตรวจแก้คำที่สะกดผิดให้ กระนั้น ก็ยังมีบางคำที่ท่านเองไม่แน่ใจ ผมก็ลังเล ดังนั้น ขอชะลอตาสีกำสรวลไว้ก่อนทั้งๆที่เสียดายสุดแสนครับ

   พอหมดยุคจอมพล ป. วาระ ๒ ก็เข้าสู่ยุคจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ หละครับ ยุคนี้ เพลงเนื้อหาเข้มๆ คาบเกี่ยวการเมือง ประเทียดเสียดสีรัฐบาล ถูกห้ามทั้งทางตรงทางอ้อม แต่ก็มิใช่ว่า จะห้ามศิลปินมิให้สร้างงานศิลปะเพื่อประท้วงความอยุติธรรมได้ แหละหนึ่งในศิลปินผู้ทำหน้าที่ผลิตเพลงแนวนี้อย่างมิยั่น ก็คือ "ท่านจิตร ภูมิศักดิ์ครับ"

   ผมขออนุญาตส่งเทียบเชิญผู้ที่ชื่นชอบผลงานของปราชญ์ท่านนี้ มาร่วมเพิ่มสีสันในกระทู้ด้วยกันนะครับ ตั้งใจจะว่าด้วย "เพลงของท่านจิตร ภูมิศักดิ์" ในบางส่วนครับ

   นับว่าโชคเข้าข้างผมครับ เนื่องจากเพลงท่านจิตรหาลิงค์ไม่ยาก ทั้งนี้เพราะ มีการจัดคอนเสิร์ทอย่างต่อเนื่องในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา แม้ในปีกลายเดือนธันวาก็ยังจัด จึงไม่แปลกที่จะมีผู้นำคลิปจากคอนเสิร์ทมาโพสต์ลงในเว็บไซต์ต่างๆ ท่านใดมีเพลงไหนโปรดปราน ฝากชื่อเพลงไว้ที่กระทู้ได้เลยครับ ถ้าผมหาลิงค์พบ ก็จะจัดกำนัลท่านทันทีครับ



กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ม.ค. 11, 15:55
เพลง ตาสีกำสรวล  (ภาค ๑)
ประพันธ์โดย ไพบูลย์ บุตรขัน
ขับร้องโดย   คำรณ สัมปุณณานนท์

     เมื่อก่อนนี้ สมัยที่ผมยังเด็กเล็กอยู่ ยังไม่มีหนังฝรั่งมาฉายให้ดู
บ้านเมืองไม่งามหรู ไม่เฟื่องฟูเหมือนยุคใหม่ เมื่อก่อนนี้ของถูกเหลือเกินเงินก็ใหญ่
มีร้อยเดียวเหมือนเป็นเศรษฐีเมืองไทย ทุกคนไม่ว่าใครว่าเงินไทยนั้นมีค่า

     เดงนาง เดงนาง กางโกง ผมจะเปิดโปงเริองสมัยคุณย่า
ฟังกันเล่นเป็นข้อคิดดี ฟังกันเล่นเป็นข้อคิดดี เงินพระคลังไม่มีเพิ่มภาษีเข้ามา เป๊กพ่อ

     เอ่อ เอ๊อ เอ้อ เอ่อ เออ...เอิง เอย สมัยก่อนกลอนเก่า เมื่อครั้งที่เรายังเด็ก
สมัยรถเจ๊กวิ่งอ้าว อายุผมราวสิบห้า ประเทศของเรามีนามว่าสยามไซแอม
ฝรั่งแหม่มยังไม่ค่อยมี หนังสียังไม่ได้มา ไม่มีรถยนต์เรือบินเท่าที่ได้ยินได้ฟัง
จะไปธุระปะปัง อย่างดีก็นั่งรถม้า เศรษฐกิจสมัยก่อน ไม่ค่อยเดือดร้อนประชาราษฎร์
เงินเดือนเพียงยี่สิบบาท แหมเดินองอาจสง่า ข้าวต้มกุ๊ยสามสตังค์ ว่าเสียพุงกางเต็มที่
จะกินก๋วยเตี๋ยวบ๊ะหมี่ แถมมีน้ำแข็งใส่ชา  ถึงยากจนพอประทัง ม้วยไก่ตังทียูโหล้ะ
มีหนึ่งสตังค์นั่งโต๊ะ กินข้าวต้มน้ำปลา มีเงินบาทเดียวในกระเป๋า ใช้ตั้งแต่เช้าไปจนค่ำ
เลี้ยงเพื่อนหงำงอมแงม แล้วยังมีแถมอย่างว่า ผมไม่เท็จพูดเลย เอ้อ เออ เอิง เอิง เอย
ใครที่ไม่เคยได้รู้ ไม่เชื่อไปถามคุณย่าดู แกเล่าสู่ทุกเวลา เป๊กพ่อ...

     เดงนาง เดงนาง กางโกง ผมจะเปิดโปงเรื่องสมัยคุณย่า
ฟังกันเล่นเป็นข้อคิดดี ฟังกันเล่นเป็นข้อคิดดี เงินพระคลังไม่มีเพิ่มภาษีเข้ามา เป๊กพ่อ...



กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ม.ค. 11, 15:57
เพลง ตาสีกำสรวล  (ภาค ๒)
ประพันธ์โดย ไพบูลย์ บุตรขัน
ขับร้องโดย   คำรณ สัมปุณณานนท์

     ยุคสมัยนี้ เป็นยุคที่เหลือทนจนเหลือกลั้น แทบทุกคนเขาต้องอดเหมือน ๆ กัน
เพราะเงินหนึ่งบาทนั้น ไม่สำคัญเหมือนไร้ค่า

     เดงนาง เดงนาง กางโกง ผมจะเปิดโปงเรื่องสมัยคุณย่า
ฟังกันเล่นเป็นข้อคิดดี ฟังกันเล่นเป็นข้อคิดดี เงินพระคลังไม่มีเพิ่มภาษีเข้ามา เป๊กพ่อ

     เอ่อ เอ๊อ เอ้อ เอ่อ เออ...เอิง เอย ผมเป็นตาสีตาสา อยู่บ้านนาน้ำตก
ที่เมืองนครนายก มาเสียภาษีค่านา หัวอกตรมขมไหม้ พูดอะไรก็ไม่ออก
ลูกผมอยู่บางกอก มันเล่าบอกมันว่า สมัยนี้เงินเฟ้อ เหมือนน้ำเอ่อล้นฝั่ง
หนึ่งสตังค์เดี๋ยวนี้มันก็ไม่มีคุณค่า เงินเดือนเพียงห้าร้อยบาท มันน่าประหลาดไหมท่าน
ไม่ขอรับประกัน ต้องซมซานกู้มา ไม่ถึงเดือนก็หน้าดำ เอาโรงจำนำเป็นที่พึ่ง
ดอกเบี้ยบาทละสลึง ยังชักค่าฝากรักษา ไอ้ของกินก็แพง เอ้อ เออ เอิง เอิง เอย
จะต้มแกงก็ไม่ไหว ต้องล่ออาหารแบบไทย ๆ คือทอดไข่นกกระทา

     ใคร่ขอวิงวอน เสนอสุนทรณ์ข้อสนทนา เพิ่มภาษีเข้ามา จนชาวประชาบ่าลู่แล้วท่าน
ภาษีกะปิ ภาษีน้ำปลา ภาษีน้ำตาล อีกหน่อยไม่ช้าไม่นาน ภาษีเล่นงานกระทั่งหายใจ
ต้องติดแสตมป์เอาไว้ที่รูจมูกเรา หายใจออกเข้า ภาษีเล่นเราไม่รู้เท่าไหร่ ไม่ใช่ประชด
ไม่ใช่ประชัน ไม่ใช่ว่าใคร เรายอมเสียด้วยเต็มใจ ขอเพียงชาติไทยเราวัฒนา

     ข้าราชการ ขอให้ทำงานเพื่อประชาชน อย่าได้คิดว่าตนอยู่เหนือหัวคนเพราะใส่ชฎา
ตาสาตาสี ยายมายายมี อย่างผมเข้ามาเพื่อเสียภาษีค่านา อย่าใช้วาจาเป็นเจ้านาย...

http://saisampan.net/index.php?topic=8238.15;wap2


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 18 ม.ค. 11, 16:15
ขอบพระคุณคุณเพ็ญชมพูอย่างสูงยิ่งครับ ที่การุณย์นำเนื้อเพลงมาลง ท่านผู้อ่านคงประจักษ์นะครับว่า ครูไพบูลย์ บุตรขัน ท่านฝากฝีมือไว้จริงๆ นี่เป็นเพลงอันเปรียบเสมือนคันฉ่องส่องสะท้อนยุคสมัยเลยทีเดียว ผมมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจะเล่าให้ทุกท่านฟังครับ คราวหนึ่ง ผมเปิดเพลงตาสีกำสรวลฟัง น้าสาวซึ่งรับราชการอยู่สำนักงานเขตบางซื่อเข้ามาในห้องพอดีตรงท่อนที่ว่า:
"ข้าราชการขอให้ทำงานเพื่อประชาชน
อย่าได้คิดว่าตนอยู่เหนือหัวคนเพราะใส่ชฎา"
ท่านปฏิเสธทันควัน
"ไม่เคยนะยะ ข้าราชการไม่เคยอยู่เหนือประชาชน ประชาชนบางคนเสียอีก เล่นเอาปวดหัว" ผมในฐานะคนรับฟัง ก็ได้แต่หัวเราะหึๆ นี่แสดงว่าเพลงครูไพบูลย์เพลงนี้ยัง "ทำงาน" ได้อยู่จริงๆ


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 18 ม.ค. 11, 16:24
ผมเคยนั่งจำแนกเล่นๆ แล้วจัดหมวดหมู่เพลงที่ท่านจิตร ภูมิศักดิ์ ประพันธ์ไว้ โดยอาศัยเกณฑ์พิจารณาจากแหล่งกำเนิด (สถานที่แต่ง) ของเพลง ปรากฏว่าได้ ๓ กลุ่ม คือ

   ๑. เพลงนอกคุก (แต่งก่อนถูกจองจำ)
๒. เพลงในคุก (แต่ง ณ ทัณฑสถานลาดยาว ประเภทนี้มีมากกว่าอื่น)
๓. เพลงในป่า (แต่งเมื่อเข้าร่วมต่อสู้กับ พคท.)
ทั้งนี้ มีเพลงอยู่บางเพลงซึ่งที่มายังคลุมเครือ จะกล่าวถึงในลำดับต่อไปครับ

 


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 18 ม.ค. 11, 16:38
เพลงนอกคุก เท่าที่ปรากฏ มี
มาร์ชเยาวชนไทย, มาร์ชครูไทย, มาร์ชธรรมศาสตร์-จุฬา สามัคคี, มาร์ชกรรมกร, มาร์ชแอนตี้จักรวรรดินิยม

   ขอนำ "มาร์ชกรรมกร" มาให้ฟังกันก่อนครับ เนื่องด้วย ผมหาพบก่อนเพลงอื่นครับ
http://www.youtube.com/watch?v=vETJb8EK8zg






   


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 11, 16:49
เพลง ตาสีกำสรวล  (ภาค ๑)

    ข้าวต้มกุ๊ยสามสตังค์ ว่าเสียพุงกางเต็มที่
จะกินก๋วยเตี๋ยวบ๊ะหมี่ แถมมีน้ำแข็งใส่ชา  ถึงยากจนพอประทัง ม้วยไก่ตังทียูโหล้ะ


ตอนตรวจปรู๊ฟให้คุณชูพงศ์หลังไมค์  ก็มาสะดุด หยุดสนิทเอาที่คำสีแดง  คุณชูพงศ์เลยยกเลิก   ไม่โพสต์
คำนี้แปลว่าอะไรคะ คุณเพ็ญชมพู?


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 19 ม.ค. 11, 09:41
สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   ระหว่างรอคำตอบจากคุณเพ็ญชมพูอย่างใจจดใจจ่ออยู่นั้น ผมนำเพลง "มาร์ชธรรมศาสตร์จุฬาสามัคคี" มาฝากครับ เจอในเว็บไซต์ youtube ดีใจยิ่งครับ พร้อมกันนี้ ก็ขออนุญาตเรียนถามท่านอาจารย์เทาชมพูครับ  เพลงนี้ เคยปรากฏว่ามีการใช้ร้องในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลประเพณีจุฬา/ธรรมศาสตร์หรือเปล่าครับ

http://www.youtube.com/watch?v=Nuh_UY8Vkjw


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 19 ม.ค. 11, 13:19
สวัสดียามเที่ยงกว่าๆใกล้บ่ายครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   เพื่อเป็นการสืบเนื่อง ผมนำลิงค์เพลง "มาร์ชเยาวชนไทย" กับ "มาร์ชครูไทย" ที่ท่านจิตร ภูมิศักดิ์ ประพันธ์ไว้มาฝากครับ

มาร์ชเยาวชนไทย
http://www.youtube.com/watch?v=ugrFEb3OyTo

มาร์ชครูไทย
http://www.youtube.com/watch?v=qbinh1BhIpg

   อนึ่ง มีเรื่องขอเรียนให้ทุกท่านทราบครับ เหตุที่ผมไม่พิมพ์เนื้อเพลงประกอบ เพราะติดอุปสรรคสำคัญ กล่าวคือ เพลงของท่านจิตรฯ ที่แต่งก่อนต้องโทษจองจำนั้น รวมพิมพ์อยู่ในหนังสือ "ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง" จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน หนังสือดังกล่าว ยังมิได้รับการผลิตเป็นหนังสือเสียงสำหรับคนตาบอด ข้อสำคัญคือ ผมจำเนื้อเพลงแทบจะไม่ได้เลย จำได้เพลงเดียวคือ "มาร์ชกรรมกร" ฉะนั้น คงต้องกราบขอความเมตตาจากท่านผู้อ่านเหมือนเช่นเคยครับ หากท่านเห็นว่า กระทู้นี้พอจะเกิดประโยชน์บ้าง (ถึงแม้จะน้อยนิดก็ตาม) โปรดอนุเคราะห์พิมพ์เนื้อเพลงเกื้อกูลคนตาบอดคนหนึ่งซึ่งปราศจากหนังสือตาดีอยู่ในมือขณะนี้ แหละไม่มีคนตาดีคอยบอกให้พิมพ์ขณะต่อกระทู้ด้วยเถิดครับ
   


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ม.ค. 11, 13:38
เพลง ตาสีกำสรวล  (ภาค ๑)

    ข้าวต้มกุ๊ยสามสตังค์ ว่าเสียพุงกางเต็มที่
จะกินก๋วยเตี๋ยวบ๊ะหมี่ แถมมีน้ำแข็งใส่ชา  ถึงยากจนพอประทัง ม้วยไก่ตังทียูโหล้ะ


ตอนตรวจปรู๊ฟให้คุณชูพงศ์หลังไมค์  ก็มาสะดุด หยุดสนิทเอาที่คำสีแดง  คุณชูพงศ์เลยยกเลิก   ไม่โพสต์
คำนี้แปลว่าอะไรคะ คุณเพ็ญชมพู?

รู้อยู่่คำเดียวคือ ม้วย = ข้าวต้ม  คำอื่นต้องให้คุณม้าแปล

เรื่องเนื้อเพลงมาร์ชของจิตร คุณชูพงศ์สามารถจะหาอ่านได้จาก

http://www.9dern.com/rsa/view.php?id=99

 ;D


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 19 ม.ค. 11, 13:52
ขอบพระคุณอย่างยิ่งครับ คุณเพ็ญชมพู เรียนตามตรงว่า เพลงของท่านจิตรยุคก่อนสมัยมหาวิทยาลัยลาดยาวนั้น ไม่ค่อยจะติดหูคุ้นเคยเท่าไหร่ครับ แต่ในยุคที่ท่านถูกจำกัดอิสรภาพนั่นสิ ยินบ่อยหลายรอบมากครับ เพราะได้ซีดีบันทึกการแสดงสด คอนเสิร์ท "เพลงของจิตร" ซึ่งจัดขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มานั่งฟังนอนฟัง จนตอนนี้แผ่นแทบจะผุแล้วกระมังครับผม

 


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ม.ค. 11, 14:07
มาร์ชครูไทยนี้ จิตรก็แต่งที่ ม. ลาดยาว

จิตรประพันธ์บทเพลงมาร์ชครูไทย เสร็จพร้อมใส่ทำนองเป็นตัวเลขแทนเสียงดนตร­ีเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๓ ขณะอยู่ที่ห้อง ๗๙ คุกลาดยาว ต่อมาได้ใส่ตัวโน้ตเขบ็ดเสร็จเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๓ ในห้องเดียวกัน

ตื่นเถิดเราเหล่าครูไทย
ร่วมจิตใจเพื่อรับใช้มวลชนทั่วผืนดิน
ร่วมพลังร่วมชีวินกู้ศักดิ์ศรี
เพื่อเทิดทูนความดีเกริกไกร

ชีวิตครูพลีเพื่อมวลเยาวชน
ทั้งอดทนรับภาระแสนยิ่งใหญ่
เขาประณามคุณค่าหยามดวงใจ
เปรียบครูไทยคือเรือจ้างชั่วครู่ยาม
ถูกทอดทิ้งไว้ตามครรลองกรรม
ใจเจ็บช้ำซ้ำชีวิตมืดระทม

ลุกขึ้นเเถิดผองครูไทย
เป็นโคมไฟนำทางแก่สังคม
เพียรอบรมมวลลูกไทย
ศึกษาเพื่อรับใช้ประชาชน

ตื่นจงพร้อมผองครูจงสามัคคี
สร้างวิถีชีวิตด้วยมือเราใหม่
ทำลายล้างทุกข์เข็ญให้สูญสิ้นดินไทย
เพื่อสร้างสรรค์โลกใหม่เปรมปรีดิ์

 :D




กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 19 ม.ค. 11, 14:17
ผมเข้ามาขอบพระคุณคุณเพ็ญชมพูอีกครา และขออภัยท่านผู้อ่านทุกท่านด้วยครับ ในกรณีปล่อยไก่ตัวโตออกไป สรุป ขอแก้ไขข้อมูลตามที่คุณเพ็ญชมพูชี้แนะครับ ตกลง เพลงนอกคุกของท่านจิตร ตัด มาร์ชครูไทย ออกไปครับ


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ม.ค. 11, 14:57
ภาษาจีนในเพลง ตาสีกำสรวล (๑) ไปถามที่พันทิปมาแล้วได้ความว่า

ม้วยไก่ตังทียูโหล้ะ = ข้าวต้มไก่ใส่ซีอิ๊ว

 ;D


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 19 ม.ค. 11, 15:40
แหม คุณเพ็ญชมพูครับ อาหารที่ "ถึงยากจนพอประทัง" สมัยนั้น ทำเอาผมซึ่งเป็นหวัดยังไม่หายท้องร้องขึ้นมาแล้วซีครับ เมนูนี้ ถ้าได้ไก่หั่นชิ้นโตๆหละก็.... โอ้ สวรรค์แห่งการกินโดยแท้ครับ


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ม.ค. 11, 18:03
สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   ขออนุญาตเรียนถามท่านอาจารย์เทาชมพูครับ  เพลงนี้ เคยปรากฏว่ามีการใช้ร้องในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลประเพณีจุฬา/ธรรมศาสตร์หรือเปล่าครับ

http://www.youtube.com/watch?v=Nuh_UY8Vkjw


    สมัยดิฉันเชียร์บอลประเพณี   ไม่เคยร้องเพลงนี้เลย   เพลงนี้เป็นที่รู้จักกันหรือยัง ก็ไม่แน่ใจ    อีกคนที่อาจรู้จักคือคุณ Navarat.C  ถ้าหากว่าแวะเข้ามาอ่าน กรุณาทบทวนความหลังด้วย
    อีกคนคือคุณ srisiam อาจเคยรู้จักก็ได้

    เพลงจุฬา/ธรรมศาสตร์ เพลงเดียวที่ดิฉันเคยร้องคือ  "ธรรมศาสตร์-จุฬาเราสามัคคี เราต่างผูกไมตรีกันมั่นไว้ เช่นพี่เช่นน้องเราร้องเริงใจ เรารักกันไว้ชั่วดินฟ้า  ใครอาจมาหยามความสามัคคีเรา เรายืนเคียงเข้าร่วมฟันฝ่า เกียรติเราเชิดชูให้รู้กันทั่วหล้า ธรรมศาสตร์-จุฬาลือชื่อไกล "   
    อาจจำผิดบ้างบางคำ ที่รวมๆส่วนใหญ่ก็ร้องอย่างนี้ละค่ะ  เป็นเพลงเดียวที่กล่าวถึงสองมหาวิทยาลัยรวมกัน


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ม.ค. 11, 08:24
ภาษาจีนในเพลง ตาสีกำสรวล (๑) ไปถามที่พันทิปมาแล้วได้ความว่า

ม้วยไก่ตังทียูโหล้ะ = ข้าวต้มไก่ใส่ซีอิ๊ว

 ;D

คำตอบที่สองจากเพื่อนชาวพันทิปดูจะเข้าท่ามากกว่า

ม้วยไก่ตังซีอิ๋วเลาะ

ม่วย แปลว่า ข้าวต้มน่าจะถูกแล้วนะครับ แต่ ไก่ คงไม่ได้แปลว่า ไก่ แน่ เพราะไก่ในภาษาแต้จิ๋วคือ โกย

ม้วยไก่ตัง เค้าละคำว่า เจ่ก ที่แปลว่า หนึ่ง ไว้หนะครับ ดังนั้น ม้วย(เจ่ก)ไก่ตัง จึงแปลว่า ข้าวต้มหนึ่งสตังค์ ใส่ซีอิ้ว (สี่อิ่วเลาะ) ซึ่งก็จะคล้องกับเนื้อเพลงในภาษาไทยข้างหน้าที่พูดถึงข้าวต้มกุ๊ยสามสตังค์ ไงล่ะครับ

จากคุณ : little the Great   
เขียนเมื่อ : 19 ม.ค. 54 20:19:08 

 http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K10146662/K10146662.html
 



กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 20 ม.ค. 11, 09:04
กราบขอบพระคุณครับ ท่านอาจารย์เทาชมพู ผมอ่านเนื้อเพลงที่ท่านอาจารย์นำมาลงไว้แล้ว โดยส่วนตัว คิดว่า ความสามัคคีคือบ่อเกิดแห่งพลังอันยิ่งใหญ่ ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพลงใด ใครแต่ง ถ้ารณรงค์ ปลูกฝังให้เกิดคุณธรรมข้อนี้ ย่อมถือเป็นเพลงประเสริฐทั้งสิ้นครับ

   ขออนุญาตเรียนถามคุณเพ็ญชมพูเล่นๆสักนิดนะครับ
   ข้าวต้มไก่ใส่ซีอิ๊ว ราคาแค่หนึ่งสตังค์สมัยนั้น ถ้าเดี๋ยวนี้ เผอิญผมเดินเข้าไปในร้านข้าวต้มสักแห่งแล้วสั่งมากิน จะต้องเสียเงินชามละประมาณเท่าไรครับ ขึ้นถึงสามสิบบาทหรือเปล่าครับนี่





กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ม.ค. 11, 09:12
คุณตัวเล็กผู้ยิ่งใหญ่ ให้คำแปลดังนี้

ม้วยไก่ตังทียูโหล้ะ = ข้าวต้มใส่ซีอิ๊วราคาหนึ่งสตางค์

ดังนั้น ข้าวต้มไก่ สมัยนั้นคงราคามากกว่าหนึ่งสตางค์ จะสักเท่าไรคงต้องถามคุณเทาชมพู

ส่วนสมัยนี้ราคาคงขึ้นกับปริมาณ และสถานที่

ถ้าปริมาณพออิ่ม และร้านข้างทาง ยี่ิสิบบาทคงเอาอยู่

 ;D


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ม.ค. 11, 09:43
คุณตัวเล็กผู้ยิ่งใหญ่ ให้คำแปลดังนี้

ม้วยไก่ตังทียูโหล้ะ = ข้าวต้มใส่ซีอิ๊วราคาหนึ่งสตางค์

ดังนั้น ข้าวต้มไก่ สมัยนั้นคงราคามากกว่าหนึ่งสตางค์ จะสักเท่าไรคงต้องถามคุณเทาชมพู

ส่วนสมัยนี้ราคาคงขึ้นกับปริมาณ และสถานที่

ถ้าปริมาณพออิ่ม และร้านข้างทาง   ยี่สิบบาทคงเอาอยู่

 ;D

คุณเพ็ญชมพูคงจะนึกว่าดิฉันเกิดตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์   


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 20 ม.ค. 11, 10:10
สวัสดีวันใหม่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๔ ครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   ผมมาพบกับทุกท่านวันนี้ จะขอนำเพลงที่ท่านจิตร ภูมิศักดิ์ แต่งในคุกลาดยาวมาเสนอ เรื่องเพลงนอกคุกนั้น เห็นจะพอได้แล้วกระมังครับ เพราะกล่าวถึงจนเกือบหมด

   ดังที่เรียนไว้แต่ต้นว่า เพลงในหมวดหมู่นี้มีมากที่สุด ผมจึงต้องใช้วิธีคัดมาสักจำนวนหนึ่ง หากท่านสนใจเพลงใดเพิ่มเติม ผมยินดีจัดมอบตอบสนองครับ (ถ้าหาลิงค์พบ)

   ผมมีคติในใจประการหนึ่ง นั่นคือ ดนตรีย่อมเป็นดนตรี เพลง มิว่าจะประพันธ์ขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายอื่นแฝงเร้นหรือไม่ หากถ้าพิจารณาจากองค์ประกอบแล้วว่ามีความงาม ก็ควรนับเนื่องเข้าในทำเนียบศิลปะ อันทุกผู้ทุกฝ่ายมิพึงเดียดฉันท์ ดังนั้น ผมจึงมีความคิดพิเรนทร์เกิดขึ้นในคราวหนึ่ง คือ คิดอยากจะเขียนจดหมายไปขอเพลง “เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ” กับวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งออกอากาศรายการ “เสียงสวรรค์เมื่อวันวาน” ทางช่องสิบเอ็ด (ขออนุญาตเรียกนามนี้ตามความคุ้นชินเถิดนะครับ) เพราะเห็นว่า เพลงนี้เดินด้วยจังหวะแทงโก้แหละวอลซ์ อันจังหวะแห่งการลีลาศนั้น สุนทราภรณ์ถนัดนัก ทั้งยังอยากได้ยินคุณอโศก สุขสิริพรฤทธิ์ ขับร้องเพลงนี้ น่าจะเหมาะกับน้ำเสียงท่านอยู่  นี่เป็นอีกเพลงหนึ่งซึ่งท่านจิตร ภูมิศักดิ์ (ในนามปากกา “สุธรรม บุญรุ่ง”) ประพันธ์ไว้ลงตัวทั้งเนื้อร้องและทำนองครับ

เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ
คำร้อง/ทำนอง สุธรรม บุญรุ่ง

   ม่านฟ้ายามค่ำ
ดั่งม่านสีดำม่านแห่งความร้าวระบม
เปรียบเหมือนดวงใจมืดทึบระทม
พ่ายแพ้ซานซมพลัดพรากบ้านมา

   ต่อสู้กู้ถิ่น
แหละสิทธิ์เสรี กู้ศักดิ์และศรีโสภา
จึงพลัดมาไกลทิ้งไว้โรยรา
จะร้างดั่งป่าอยู่นับปี

   เคยสดใสรื่นเริงดั่งนกเริงรมย์
ถลาลอยชื่นชมอย่างมีเสรี
แม้นร้อยวังวิมานที่มี
มิเทียมเทียบปัถพีที่รักมั่น
ความใฝ่ฝันแสนงามแต่ครั้งเคยเนา
ชื่นหวานในใจเราอยู่มิเว้นวัน
ความหวังยังไม่เคยไหวหวั่น
ยึดมั่นว่าจะได้คืนเหมือนศรัทธา

   แว่วเสียงก้องกู่
จากขอบฟ้าไกลแว่วดังจากโพ้นนภา
บ้านเอ๋ยเคยเนากังวานครวญมา
รอคอยเรียกข้าอยู่ทุกวัน

   ผมนำลิงค์มาฝาก พร้อมขออนุญาตเรียนถามท่านอาจารย์เทาชมพู รวมถึงท่านผู้อ่านทุกท่านครับ ว่า ถ้าสมมุติ วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์เกิดเล่นเพลงนี้ขึ้นมา จะถูกเพ่งเล็ง จับผิด หรือมองในแง่ลบหรือเปล่าครับ

http://www.youtube.com/watch?v=b9iHUzUqZvg


 






กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ม.ค. 11, 11:57
ใกล้่จะถึงเวลาอาหารกลางวันแล้ว

มาเปิบข้าว แล้วฟังเพลงกันเถอะ

http://www.youtube.com/watch?v=EFdL4yawqw8

แท้จริงแล้วเพลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทกวีที่ชื่อว่า "วิญญาณหนังสือพิมพ์" จิตรเขียนบทกวีนี้ลงหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ก่อนออกจากคุกเพียง ๔ เดือน

ตุณชูพงศ์เข้าไปอ่านได้ที่นี่

http://www.9dern.com/rsa/view.php?id=139

วงคาราวานนำส่วนหนึ่งของบทกวีนี้มาใส่ทำนอง เป็นเพลงในชื่อว่า "เปิบข้าว"

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ทรงเคยได้ฟังเพลงเปิบข้าวนี้ ทรงวิจารณ์เพลงนี้ในบทความชื่อ "ทุกข์ของชาวนาในบทกวี" พิมพ์ครั้งแรก ในหนังสือ มณีพลอยร้อยแสง ซึ่งพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทาน พระราชานุญาตให้นิสิตอักษรศาสตร์รุ่นที่ ๔๑ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓ ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระมายุครบ ๓ รอบ

ทุกข์ของชาวนาในบทกวี

เมื่อครั้งเป็นนิสิต ข้าพเจ้าได้เคยอ่านผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด หรือวิเคราะห์อะไร เพียงแต่ได้ยินคำเล่าลือว่าเขาเป็นคนที่ค้นคว้าวิชาการได้กว้างขวางและลึกซึ้งถี่ถ้วน ในสมัยที่เราเรียนหนังสือกันได้มีผู้นำบทกวีของจิตรมาใส่ทำนองร้องกัน ฟังติดหู มาจนถึงวันนี้

เปิบข้าวทุกคราวคำ                 จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน                       จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้น่ะมีรส                       ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน                และขมขื่นจนเขียวคาว
จากแรงมาเป็นรวง                 ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากรวงเป็นเม็ดพราว              ล้วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็ญ
เหงื่อหยดสักกี่หยาด              ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น                  จึงแปรรวงมาเปิบกิน
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง                 และนำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูทั้งสิ้น                 ที่สูซดกำซาบฟัน

ดูจากสรรพนามที่ใช้ว่า กู ในบทกวีนี้ แสดงว่าผู้ที่พูดคือชาวนา ชวนให้คิดว่าเรื่องจริง ๆ นั้น ชาวนาจะมีโอกาสไหมที่จะลำเลิกกับใคร ๆ ว่า ถ้าไม่มีคนที่คอยเหนื่อยยากตรากตรำอย่างพวกเขา คนอื่น ๆ จะเอาอะไรกิน อย่าว่าแต่การลำเลิกทวงบุญคุณเลย ความช่วยเหลือที่สังคมมีต่อคนกลุ่มนี้ ในด้านของปัจจัยในการผลิต การพยุงหรือการประกันราคา และการรักษาความยุติธรรมทั้งปวง ก็ยังแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทำให้ในหลาย ๆ ประเทศ ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ ชาวนาต่างก็จะละทิ้งอาชีพเกษตรกรรมไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมหรือการบริโภค ซึ่งทำให้ตนมีรายได้สูงกว่า หรือได้เงินเร็วกว่า แน่นอนกว่า มีสวัสดิการดีกว่า และไม่ต้องเสี่ยงมากเท่าการเป็นชาวนา บางคนที่ยังคงอยู่ในภาคเกษตรกรรม ก็มักจะนิยมเปลี่ยนพืชที่ปลูกจากธัญพืชซึ่งมักจะได้ราคาต่ำ เพราะรัฐบาลก็มีความจำเป็นที่จะต้องขยับขยายตัวให้อยู่ในสถานะที่ดีขึ้นได้ อาจแย่ลงเสียด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ฎีกากับใคร ถึงจะมีคนแบบจิตรที่พยายามใช้จินตนาการสะท้อนความในใจออกมาสะกิดใจคนอื่นบ้าง แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป

หลายปีมาแล้วข้าพเจ้าอ่านพบบทกวีจีนบทหนึ่ง ผู้แต่งชื่อหลี่เชิน ชาวเมืองอู่ชี มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี ค.ศ. ๗๗๒ ถึง ๘๔๖ สมัยราชวงศ์ถัง ท่านหลี่เชินได้บรรยายความในใจไว้เป็นบทกวีภาษาจีน ข้าพเจ้าจะพยายามแปลด้วยภาษาที่ขรุขระไม่เป็นวรรณศิลป์เหมือนบทกวีของ จิตร ภูมิศักดิ์

หว่านข้าวในฤดูใบไม้ผลิ ข้าวเมล็ดหนึ่ง
จะกลายเป็นหมื่นเมล็ดในฤดูใบไม้ร่วง
รอบข้างไม่มีนาที่ไหนทิ้งว่าง
แต่ชาวนาก็ยังอดตาย

ตอนอาทิตย์เที่ยงวัน ชาวนายังพรวนดิน
เหงื่อหยดบนดินภายใต้ต้นข้าว
ใครจะรู้บ้างว่าในจานใบนั้น
ข้าวแต่ละเม็ดคือความยากแค้นแสนสาหัส

กวีผู้นี้รับราชการมีตำแหน่งเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นอยู่ในชนบท ฉะนั้นเป็นไปได้ที่เขาจะได้เห็นความเป็นอยู่ของราษฎรชาวไร่ชาวนาในยุคนั้น และเกิดความสะเทือนใจ จึงได้บรรยายความรู้สึกออกเป็นบทกวีที่เขาให้ชื่อว่า ประเพณีดั้งเดิม บทกวีของหลี่เชินเรียบ ๆ ง่าย ๆ แต่ก็แสดงความขัดแย้งชัดเจน แม้ว่าในฤดูกาลนั้น ภูมิอากาศจะอำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นประโยชน์ของผู้ผลิตเท่าที่ควร

เทคนิคในการเขียนของหลี่เชินกับของจิตรต่างกัน คือ หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็น เหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับนำชาวนามาบรรยายเรื่องของตนให้ผู้อื่นอ่านฟังด้วยตนเอง

เวลานี้สภาพบ้านเมืองก็เปลี่ยนไป ตั้งแต่สมัยหลี่เชินเมื่อพันกว่าปี สมัยจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว สมัยที่ข้าพเจ้าได้เห็นเอง ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันนัก ฉะนั้นก่อนที่ทุกคนจะหันไปกินอาหารเม็ดเหมือนนักบินอวกาศ เรื่องความทุกข์ของชาวนาก็คงยังจะเป็นแรงสร้างความสะเทือนใจให้แก่กวียุคคอมพิวเตอร์สืบต่อไป

สิงหาคม ๒๕๓๓

http://www.thaihandiworks.com/KhunKhao_preface_page01.html


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 20 ม.ค. 11, 17:47
ขอขอบพระคุณคุณเพ็ญชมพูเป็นล้นพ้นครับ ที่อัญเชิญบทพระราชนิพนธ์ในองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเตือนความทรงจำผม เคยอ่านเคยเรียนตอนอยู่ชั้น ม.๔ ครับ นับย้อนเวลาไปก็เป็นสิบกว่าปีล่วงมาแล้ว

   เมื่อกล่าวถึง “เปิบข้าว” อันมีลีลากาพย์ยานีงดงาม ในขณะเดียวกันก็ทระนงทรงศักดิ์ในน้ำเสียง ถ้อยคำ ทำให้ผมนึกถึงกาพย์อีกชิ้นหนึ่งของท่านจิตร ภูมิศักดิ์ขึ้นมาได้ กาพย์ ๔ บท ที่จะนำมาลงต่อไปนี้ กวีเลือกสรรคำแหละคัดเฟ้นสำเนียงได้ไพเราะนัก ปรากฏอยู่ในงานกานทนิพนธ์ชื่อ “เสียงแผ่นดิน” (พ.ศ. ๒๕๐๘) อันอาจถือได้ว่าเป็นบทกวี “ทิ้งทวน” ก่อนเจ้าของผลงานละเคหสถานสู่ภูพงดงดอย “เสียงแผ่นดิน” แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๘ ตอนย่อยๆ แหละเนื้อความต่อไปนี้ อยู่ช่วงท้ายของตอนที่ ๒ ซึ่งมีชื่อตอนว่า “ฟ้าเฟียด” ครับ

   สิ้นน้ำบ่สิ้นหวัง
ที่ใดยังพอทนทำ
แทงนาด้วยไม้นำ
เอากล้าซุกลงรูทราย

   “ปักหลุ้ง” ในทุ่งแล้ง
ที่หลอมลนแทบละลาย
เหงื่อผุดอยู่พรายพราย
ดั่งฝนพรมลงพร่างพรู

   พื้นนาและแนวเนิน
จะงามเกินด้วยเหงื่อกู
น้ำฟ้าไม่นองฟู
เท่าน้ำแรงนี้ไหลริน

   ปักหลุ้งไว้คอยท่า
ถนอมกล้าไว้คอยกิน
ปักกล้าไว้คาดิน
คงน้ำฟ้าจักมาเยือน

 
 


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ม.ค. 11, 08:12
คุณตัวเล็กผู้ยิ่งใหญ่ ให้คำแปลดังนี้

ม้วยไก่ตังทียูโหล้ะ = ข้าวต้มใส่ซีอิ๊วราคาหนึ่งสตางค์

ดังนั้น ข้าวต้มไก่ สมัยนั้นคงราคามากกว่าหนึ่งสตางค์ จะสักเท่าไรคงต้องถามคุณเทาชมพู

ส่วนสมัยนี้ราคาคงขึ้นกับปริมาณ และสถานที่

ถ้าปริมาณพออิ่ม และร้านข้างทาง   ยี่สิบบาทคงเอาอยู่

 ;D

คุณเพ็ญชมพูคงจะนึกว่าดิฉันเกิดตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์     


รัตนโกสินทร์

(http://static.weloveshopping.com/shop/client/000039/malaibook/427.jpg)

พ่อฟัก และ แม่เพ็ญ เอ๊ย แม่เพ็ง

  ;)


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ม.ค. 11, 08:32
เป็นอันว่า  เกิดพร้อมแม่เพ็ญ ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์  ;D

ราคาข้าวต้มไก่สมัยนั้นเท่าใดไม่อาจทราบได้   ขอเดาว่าไม่เกิน ๕ สตางค์ เพราะข้าวเปล่าใส่ซีอิ๊วซึ่งถือว่าเป็นอาหารคนจน ราคา ๑ สตางค์
ดิฉันเกิดในสมัยที่เงิน ๑ สตางค์ซื้ออะไรไม่ได้แล้ว    ต่ำสุดคือ ๑๐ สตางค์ ซื้อผักชีได้กำมือหนึ่ง  (ผักชีสมัยนั้นไม่แพง)  ขนมไทยๆห่อด้วยใบตอง ห่อละ ๑ สลึง  ตอนป. ๑ ได้เงินไปร.ร. ๒ บาท ก็พอซื้อก๋วยเตี๋ยวในร.ร.ได้ ๔ ชาม  เพราะก๋วยเตี๋ยวชามละ ๕๐ สตางค์ 
พอเรียนม.ปลาย  ไปเข้าร.ร.เตรียม  จำได้ว่าข้าวเปล่ามื้อกลางวัน มีกับข้าว ๑ อย่างราคา ๓ บาท     ถ้าชั้นดีสุด กับข้าว ๒ อย่างราคา ๔ บาท
สมัยอยู่อักษรฯ มีข้าวแกงกรมประชาสงเคราะห์มาตั้งเต๊นท์ขาย ข้าวแกงจานละ ๑ บาท แต่ปริมาณสักครึ่งของข้าวแกงทั่วไป


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 21 ม.ค. 11, 09:40
อ่านคำตอบท่านอาจารย์เทาชมพูเรื่องอาหารการกินแล้ว ผมเกิดข้อสงสัยทันทีครับ

   “สมัยก่อนตอนเก่าเมื่อครั้งที่เรายังเด็ก
สมัยรถเจ๊กวิ่งอ้าว อายุผมราวสิบห้า”

เรียนถามท่านอาจารย์เทาชมพูครับ ถ้าพิจารณาจากถ้อยสาธยายสภาพเศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ ในเพลง “ตาสีกำสรวล (๑)” ท่านอาจารย์คิดว่า “ผม” ที่อายุราวสิบห้า ณ ครานั้น น่าจะหมายถึงผู้แต่งหรือผู้ร้องครับ



กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ม.ค. 11, 10:03
ผู้แต่งค่ะ


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 21 ม.ค. 11, 10:21
กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูครับ ที่ผมกังขาก็เพราะ เพลงนี้ถือกำเนิดขึ้น ในขณะนายชูพงค์ยังใช้หนี้กรรมอยู่ตรงนรกขุมไหนก็สุดรู้ (คงจะทำบาปไว้มาก ชาติปัจจุบันจึงตาบอด) กว่าจะเกิด ก็ล่วงเลยเวลาที่เพลงอุบัติขึ้นแล้วหลายศก จึงสนใจใคร่รู้ครับ


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 21 ม.ค. 11, 10:28
สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน เรื่อง “ชาวนา” ยังมีอะไรค้างคาในใจผมอยู่ ขออนุญาตสานต่อให้จบแล้วกันครับ

   ขอส่งท้ายด้วยเพลงนี้ครับ “มาร์ชชาวนาไทย” ข้อมูลเรื่องปีที่ท่านจิตร ภูมิศักดิ์ แต่ง คงต้องขอความเมตตาคุณเพ็ญชมพูแล้วหละครับ ผมมิกล้าระบุ กลัวไก่ตัวโตจะบินอีกครั้งครับ

มาร์ชชาวนาไทย

   ชาวนาไทยผู้ทุกข์ลำเค็ญ
ชีวิตเห็นเพียงความมืดมน
ลงแรงกายไถดำกรำทน
ผลิตข้าวเป็นผลเลี้ยงโลกเสมอมา

   สิ่งตอบแทนคือเขากดขี่
เหยียดศักดิ์ศรีราวทาสไร้ค่า
ล้มละลายล้าหลังเรื่อยมา
เจ้าจักรพรรดินิยมล่ารุกราน

   มวลชาวนาอย่าหยามพลังตนร่วมกัน
สามัคคีชนชั้นคนงานกว้างใหญ่
เราผู้หลับมานานเนิ่นไกล
ตื่นเถิด ต่อสู้โค่นล้มผู้ขูดรีดเรา

   รวมพลังเร็วมาสามัคคีรวมใจ
มือที่เคยไถ เกี่ยวข้าวนี่ไซร้
พลังเกรียงไกร ใครจักทาน

   เคียวที่คมวาววาม ไถที่เราชาญชัย
เกี่ยวศัตรูไป พลิกแผ่นดินไทย
สร้างชีวิตใหม่ให้สุขศานติ์

   เชิญทุกท่านสราญจากการรับฟังที่ลิงค์นี้ครับ

http://www.youtube.com/watch?v=WUfDVss8qYs










กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ม.ค. 11, 10:41
http://www.youtube.com/watch?v=WUfDVss8qYs

สันนิษฐานว่าจิตรแต่งเพลงนี้ในคุกระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๓ - ๒๕๐๕ โดยใช้นามปากกาว่า “สุธรรม บุญรุ่ง”

ทองใบ ทองเปาด์ วิจารณ์ไว้ในหนังสือ คอมมิวนิสต์ลาดยาว ว่า

"ท่านจะเห็นความงาม ความแจ่มชัดและความเกรียงไกรอยู่ในเนื้อเพลงนี้อย่างสมบุรณ์"

 ;D


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 21 ม.ค. 11, 11:18
ขอบพระคุณคุณเพ็ญชมพูครับ ที่ปรานีนำข้อมูลมาเสริม ถ้าคุณเพ็ญชมพูยังเอื้อเอ็นดูชูชุบอุปถัมภ์ค้ำจุน ผมก็อุ่นใจครับ
เพราะคนไร้จักษุเยี่ยงผมหรือจะมองใดได้ทะลุปรุโปร่งเล่า ในชีวิตจริง ก็ต้องพึ่งพิงพึ่งพาผู้อื่น แม้มิอยากรับ ก็ต้องรับผลแห่งเพรงกรรมครับ เฮ่อ...

   ขอนำท่านผู้อ่านไปทัศนาชีวิต “กรรมกร” บ้างครับ ในบทกวี “เปิบข้าว” เราได้อ่าน/ฟังชาวนาพูดแล้ว คราวนี้ ฟังชนชั้นกรรมาชีพอุทธรณ์บ้างเป็นไรครับ ผมนำบางส่วนจากบทกวี “เสียงแผ่นดิน” ตอนที่ ๔ อันมีชื่อตอนว่า “ผู้สร้าง” มาฝากครับ

   กูทนระกำทำ
ทั้งเรือนร่างนี้ร้าวราน
แรงกายที่ทนทาน
เอาแทนทุนออกทุ่มเท

   หนักเอาและเบาสู้
จนกายโทรมแทบทรุดเซ
คงจนอยู่จำเจ
เหมือนตกปลักที่ดักดาน

   สองหูของกูอื้อ
ด้วยโลกลือว่าแรงงาน
สร้างโลกอันโอฬาร
และวังเวียงอันเพียงแมน

   แรงงานที่โลมหลั่ง
กระเดื่องดังทุกด้าวแดน
”คุณค่า” นั้นเหลือแสน
แต่ “ราคา” สิทรามเหลือ

   ความจนนั้นจองจำ
ไม่ยอมทำก็กินเกลือ
โรงงานไม่เหลือเฟือ
ถ้าคิดสู้ก็สู, เชิญ  เชิญออกไป

   โอ้อกเมื่อตกงาน
ต้องซมซานกระเซิงเดิน
”แรงงานย่อมล้นเกิน”
เป็นกฎแห่งสังคมทราม

   เกียรติกูนิเลิศล้ำ
ตระหง่านง้ำอย่างงดงาม
แต่ท้องที่คุกคาม
สิเอาเกียรติฤมากิน

โอ้ชีพไยชาชืด
ไยมนมืด.... ไยทึมทมิฬ
เพื่อนเอ๋ยจงยลยิน
เอาตีนคิดพินิจดู



   
 


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 21 ม.ค. 11, 16:00
สวัสดียามบ่ายใกล้เย็นครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   บทกวีของท่านจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อตอนสาย ผมนำมาโพสต์ ก็เพื่อจะเปิดทางนำไปสู่เพลงต่อไปนี้ครับ

ความหวังยังไม่สิ้น

   ชะตาชีวิตเราช่างมืดมัวมน
ยากเข็ญทุกทนสุดที่จะพรรณนา
ถูกรีดขูดบีฑา
ทุกสิ่งสิ้นสูญหมดตัวยากไร้

   สิ่งที่คงเหลือมีเพียงแต่แรงงาน
เที่ยวขายซมซานค่าต่ำกว่าใดใด
ปวดร้าวรานดวงใจ
เจ้าอยู่แห่งไหนเล่าความเที่ยงธรรม

   อย่าเหยียดหยันเราสังคมแสนทราม
แม้เราพบความร้าวรานระกำ
มิยอมสูญความหวังสิ้นพลัง แม้ลมหายใจสองแขนนี้ยัง
จักกอบกู้ฟื้นพลิกความเป็นธรรม ให้ฟ้าแหละดินชื่นชม

http://www.youtube.com/watch?v=mhKdPF01Vdk


   เรียนถามคุณเพ็ญชมพูครับ ท่านจิตร ภูมิศักดิ์ เขียนเพลงนี้ประกอบละครเรื่องหนึ่งซึ่งเล่นกันในคุกลาดยาว โดยมีท่านสุวัฒน์ วรดิลก (รพีพร) กำกับการแสดงใช่หรือเปล่าครับผม






กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ม.ค. 11, 16:15
http://www.youtube.com/watch?v=mhKdPF01Vdk

คุณชูพงศ์เข้าใจถูกแล้ว เพลงนี้จิตรใช้นามปากกา สุธรรม บุญรุ่ง แต่งขึ้นเมื่อปี ๒๕๐๕ ขณะที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกลาดยาว วัตถุประสงค์เมื่อเหล่านักโทษการเมืองจัดง­านในขึ้นปีใหม่  ในงานดังกล่าวมีการแสดงละครเรื่อง "มนต์รักจากเสียงกระดึง" กำกับการแสดงโดย รพีพร

 ;D


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 22 ม.ค. 11, 12:04
สวัสดีขอรับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   อ่านคำยืนยันจากคุณเพ็ญชมพูจบ ผมรำพึงกับตนโดยพลัน “งานเข้าแล้ว นายชูพงค์เอ๋ย” ก็เพลง “มนต์รักจากเสียงกระดึง” นั่นน่ะ ผมอยากพิมพ์ให้ท่านอ่านเหลือเกิน แต่จนใจครับ เพราะเพลงนี้มีความพิเศษ คือท่านจิตร ภูมิศักดิ์ เขียนให้มีการร้องรับลันลาด้วย ข้อสำคัญคือ ผมมิรู้ว่าต้นฉบับของท่านจะเขียนว่าอย่างไรน่ะซีครับ จะตัดเพลงนี้ทิ้งไปก็มิได้ เพราะถือเป็นคีตพยานสำคัญครับ

   เพลง “มนต์รักจากเสียงกระดึง” ผู้ประพันธ์นำทำนองเพลงแคนของภาคอิสานที่ชื่อ “ปางนางขึ้นภูเก็บผักหวาน”
มาประยุกต์ให้เป็นเพลงแนวไทยสากลที่ยังคงบรรยากาศพื้นถิ่นไว้ครบครัน ท่านจิตรฯ นั้น เกิดที่ปราจีนบุรี ท่านเป็นคนภาคตะวันออกแท้ๆ แต่สามารถเจาะทะลุจนปรุโปร่งในภาษาพื้นบ้านภาคต่างๆของไทย รวมเลยไปถึงภาษาอื่นๆได้อย่างน่าพิศวงยิ่ง ท่านผู้อ่านลองหาหนังสือ “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” มายลเถิดครับ

   เมื่อผมยังพิมพ์ มนต์รักจากเสียงกระดึงมิได้ ด้วยติดอุปสรรคดังได้กล่าวแล้ว ก็จะขอนำช่วงหนึ่งของงานกวี “เสียงแผ่นดิน” ของท่านจิตรฯ มาเสนอให้ท่านผู้อ่านทอดสายตาดูไปพลางๆก่อนครับ กลอนต่อไปนี้อยู่ในตอนที่ ๓ ชื่อตอน “หยดน้ำบนผืนทราย” กวีเอ่ยอ้างถึงเพลงพื้นบ้านภาคอิสานไว้หลายเพลง นั่น แสดงว่าท่านค้นคว้า จดบันทึกมาแล้วอย่างดีนอกจากนั้น ประเพณีการละเล่นหมอลำ ลีลาลวดลายทำนองทางแคนก็ปรากฏในกลอนด้วยครับ

   ฟ้าใส
ความหวังใหม่พราวเสน่ห์บนเวหา
ท้องทุ่งนี้ที่จักฟื้นเป็นผืนนา
เป็นพรมทองที่ทายท้าทุกด้าวแดน

   ณ ทุ่งนี้ที่พวกข้าจักถาโถม
พลังโลมเชี่ยวกระชับนับแสนแสน
ให้กลับฟื้นครื้นเครงด้วยเพลงแคน
ที่ลืมร้าง “สุดสะแนน” เสียเนิ่นนาน

   ที่เชิงโน้นโพ้นเพลงวังเวงคราง
ถึง “ปางนางขึ้นภูเก็บผักหวาน”
เสียงแคนนั้นคันคร่ำมือชำนาญ
ที่พริ้วสร้านเพลงทิพย์ลิบโพยม

   เจ้าเป่า “ภู่ตอมดอก” บอกความรัก
ที่สมัครมั่นเสมอเจ้าเลอโฉม
เป่า “ล่องของ” สองฝั่งจะหลั่งโลม
สำเนียงโน้มแนบมิตรสนิทมาน

   “เต้ยพม่า” บา... ขยับฉับกระเฉง
หวานเลวง “เต้ยของ” ทำนองหวาน
แล้วเป่าโดดโลดโผน “เต้ยโนนตาล”
พื้นโบราณ “ทางยาว” เพลงลาวเดิม

   ที่ชายทุ่ง “ซุง” เอกวิเวกแว่ว
เดี๋ยวโผยแผ่วหลบลึกเดี๋ยวฮึกเหิม
ลูกรับส่งประจงคิดประดิษฐ์เติม
ทั้งลดเพิ่มลูกแยกแปลกแปลกไป

   เสียงหมอลำนำแคนแล่นแตเร้า
คำหวานเว้าเลี้ยวลดเสียงสดใส
กลอนเกี้ยวสาวขาวเนื้อนวลละไม
แคนจะไล้ทุ่งนี้...ฟื้นชีวา

หมายเหตุ:
   ทุกถ้อยในบทกลอน ผมพิมพ์ตามที่มีอยู่ในหนังสือ “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” สำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๒ แม้บางคำจะสงกาก็มิกล้าแก้ไขโดยพลการครับ








กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ม.ค. 11, 09:21
http://www.youtube.com/watch?v=VsduD8DdzQc

เรื่อรางรุ่งแสงตะวัน
นกน้อยก็พลันโผผก ยามตะวันโลม
ประดุจสาวงาม เจ้าอ่าอวดโฉม
ที่ร่าเริงโน้มน้าวชายให้ฝันคะนึง

เจ้าเดิน หว็อยหว็อยขึ้นภู
ย่างน้อยน่าดูแสนงามมองแล้วตะลึง
แขนไกวทั้งสอง ที่กลมดั่งกลึง
ช่างงามเหมือนหนึ่งร่ายรำในเสียงกระดึง

ลัน ลัน ลา ลา

เ่จ้าเที่ยวมองมอง  หมู่ไม้ทุกหมู่หมู่
เจ้าเที่ยวดูดู  ใบไม้ทุกใบใบ
เ่จ้าเลือกดึงดึง  ผักหวานทุกกิ่งกิ่ง
งามจริงจริง  มือน้อยเ่จ้าเต้นระไว

ดิง ดิง ดิง ดิง

ลัน ลัน ลา ลา

เจ้าพี่เยอ  เจ้างามจริงเออ
เจ้าหมั่นจริงเออ  รักงานกว่าสิงอื่นใด
รักพี่นี้ อยากมอบให้ไว้
ประดับดวงใจโฉมงามเจ้าเพียงคนเดียว

ดิง ดิง ดิง ดิง

ลัน ลัน ลา ลา

โอ้หนอ เจ้าเอย พี่มีแต่ตัว
ทำงานเลี้ยงงัว ฟังเสียงกระดึง

โอ้หนอ เจ้าเอย พี่่จนยากจริง
มีงานเป็นสิ่งหมั้นไว้ต่างเงิน

ลัน ลัน ลา ลา

 ;D


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 23 ม.ค. 11, 11:25
ผมกลับเข้ามาคราวนี้ ขอนำ “ผักหวานทุกกิ่ง” เต็มกระเช้ามาขอบพระคุณคุณเพ็ญชมพูครับ หากมิได้คุณเพ็ญชมพูช่วย ผมนึกไม่ออกเลยครับว่าจะต่อกระทู้ได้อย่างไร คิดไว้ว่า จะเสนอเพลงฟังสบายๆอีกสักเพลงหรือสองเพลง จากนั้น ก็เข้าสู่หมวดเพลงรบ ปลุกระดมกันเต็มที่ไปเลย ดีไหมครับทุกท่าน
   


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ม.ค. 11, 15:34
เพิ่งไปหาข้อมูลอาหารมาได้ว่า สมัยก่อนสงครามโลก    ก๋วยเตี๋ยวใส่เครื่อง เช่นเนื้อ ตับ เครื่องใน  จนพูนล้นชาม  ราคา ๕ สตางค์
ข้าวเปล่าจานละ ๒ สตางค์  เนื้อวัวต้มเปื่อยชามละ ๕ สตางค์
ถ้างั้นข้าวต้มไก่น่าจะถูกกว่า ๕ สตางค์  คงประมาณ ๓-๔ สตางค์


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 24 ม.ค. 11, 16:14
ขอบพระคุณครับ ท่านอาจารย์เทาชมพู ผมสารภาพครับว่าในกระบวนเนื้อสัตว์แล้ว ชอบเนื้อวัวเป็นที่หนึ่ง ได้เรียนรู้ข้อมูลจากท่านอาจารย์ว่า สมัยก่อนสงครามโลก ก๋วยเตี๋ยวเนื้อมีเครื่องในครบ ชามละห้าสตางค์แล้วอยากมีเครื่องย้อนเวลาจังครับ เดี๋ยวนี้ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋น เครื่องในพร้อม ร้านโปรดของผม ราคาปกติ ๕๐ บาท ถ้าจะเพิ่มสามสิบกีบ, ขอบกระด้ง ผ้าขี้ริ้ว ฯลฯ เผลอๆราคาอาจถีบตัวขึ้นถึง ๘๐ ฉะนั้นแม้จะอยากแสนอยากปานใดบางทีก็ต้องประหยัดใจครับผม
 


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ม.ค. 11, 16:22
ดิฉันเลิกกินเนื้อวัวและทุกอย่างเกี่ยวกับวัว ไม่ว่าหางวัว ลิ้นวัว เครื่องในฯลฯมา ๓๐ กว่าปีแล้ว  เป็นอันว่าประหยัดไปได้ ๘๐ บาท  ;D


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ม.ค. 11, 08:43
ขออนุญาตนำจดหมายของคุณชูพงศ์มาลง

เรียน คุณเพ็ญชมพูที่เคารพยิ่งครับ

ผมมีความตั้งใจจะพิมพ์เนื้อร้องเพลง "อาณาจักรความรัก" ลงในกระทู้ เพื่อชีวาห้ายุคครับ แต่เพลงนี้มีความอัศจรรย์นัก ท่านจิตร ภูมิศักดิ์ แต่งในคุก ทว่าได้บรรเลง/ขับร้องต่อสาธารณชนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้เอง ในคอนเสิร์ต "เพลงของจิตร" ซึ่งจัดขึ้น ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ขับร้องคือ คุณกมลพร หุ่นเจริญ กับ คุณอิสรพงษ์ ดอกยอ เนื่องจากเพลงดังกล่าวเป็นเพลงคู่ ผมเลยไม่แน่ใจว่าต้นฉบับของท่านจิตรจะเป็นดังที่โสตประสาทของตนเองสดับหรือเปล่า จึงตัดสินใจพิมพ์เนื้อมาให้คุณเพ็ญชมพูเมตตาปรู๊ฟให้ก่อนครับ

อาณาจักรความรัก

   (ชาย) เพื่อนรักเอย อยู่หนใด
(หญิง) อยู่แสนไกล

   (ชาย) อย่าเพ่อทอดท้อระทม
(หญิง) ชีวิตสิ้นรักนี้ขื่นขม
อยากตายหลีกหนีความตรอมตรม
(ชาย) อย่าด่วนซานซมหนีชีวิตเลย

   (หญิง) ต่อสู้ชีวิตผู้เดียว
เปล่าเปลี่ยวอ้างว้างจริงอกเอ๋ย สุดทน

(ชาย) โลกยังมีรักจีรัง
อย่าเพ่อสิ้นหวังและหมองหม่น
(หญิง) ฉันตรมจะทนคงอยู่ต่อไป...ไร้ค่า

   (หญิง) อันความรักแท้จริงจากใจ
ฝากไว้ในยอดยุพิน
รักทรยศเหมือนนกผกผิน
โผโบยบินจากรังลืมคู่ไปไม่คืนมา

   (ชาย) อันความรักแท้จริงจากใจ
แผ่กว้างไปในนภา
เหมือนนกน้อยร่อนเริงถลา
เผยอาณาจักรรักกว้างแผ่ไปถึงมวลชน
(ร้องพร้องกัน) รักชนชั้นลำเค็ญยากจน
ไร้ทรยศจากคนและชนชั้นที่ยิ่งใหญ่

   (หญิง) เพื่อนรักเอย อยู่หนใด
(ชาย) อย่าหมองไหม้

   (ชาย) ชีวิตไม่ไร้คุณค่า
(หญิง) อยู่รออนาคตสดใส
(ชาย) แผ่รักที่คับแคบออกไป
(หญิง) ออกสู่ดวงใจผองผู้ทุกข์ยาก

   (ร้องพร้อมกัน) ชีวิตไม่ไร้คุณค่า
อยู่รออนาคตสดใส
แผ่รักที่คับแคบออกไป
ออกสู่ดวงใจผองผู้ทุกข์ยาก...ทั่วแคว้นแดนดิน

   หากคุณเพ็ญชมพูว่าง โปรดปรานีผมสักน้อยหนึ่งเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ



กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ม.ค. 11, 08:52
เนื้อเพลง "อาณาจักรรัก" ของคุณชูพงศ์ถูกต้อง เพลงนี้จิตรแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘

เมื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกจับกุมด้วยข้อหา "สมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภ­ายใน และภายนอกราชอาณาจักรและกระทำการเป็นคอมมิ­วนิสต์" เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ขณะที่มีอายุ ๒๘ จิตรให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อเจ้าพนักง­านสอบสวนว่า

"ข้าฯ ยังไม่แต่งงาน เพราะข้าฯ รู้สึกว่าความรู้สึกในตัวข้าฯ เฉยเมยต่อความรู้สึกทางกามารมณ์ และรู้สึกหนักใจในภาระการครองชีพ กลัวว่าเมื่อได้หญิงใดมาเป็นภรรยาแล้วจะให­้ความสุขกับภรรยาได้ไม่เพียงพอ"

หลายประโยคข้างต้นเป็นปากคำในเชิงคดีความ ซึ่งอาจถูกเขียนขึ้นภายใต้เงื่อนไขหรือเป้­าหมายหนึ่งใดก็เป็นไปได้ แต่อุดมคติที่แท้จริงของเขาต่อเรื่องความร­ัก น่าจะอยู่ในบทเพลง "อาณาจักรความรัก" ที่เขาเขียนขึ้นหลังจากนั้น

จาก นิตยสารสารคดี เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๗

เพลงข้างล่างนี้เรียบเรียงเสียงประสาน บรรเลง และขับร้องประสานเสียงโดย วงออเสตราวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล  วันเสาร์ที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๒ ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

http://www.youtube.com/watch?v=9Cvee29KetM

 ;D


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 25 ม.ค. 11, 09:36
ขอบพระคุณยิ่งยวดครับ คุณเพ็ญชมพู มาได้รับคำรับรองว่าถูกต้องจากคุณเพ็ญชมพูในวันที่มีม็อบหลากสีพอดีเลยครับ แหะๆ อย่าอ้อยอิ่งทิ้งช่วงดีกว่า ขอเดินเครื่องต่อนะครับทุกท่าน

   สายๆอย่างนี้ ยังไม่เหมาะแก่การปลุกระดมแบบร้อนจัด เอาไว้เที่ยงๆแดดเปรี้ยงแผดเผาก่อนเถิดครับ ค่อยเสนอเพลงอุณหภูมิสูงๆ ผมขอเริ่มด้วยการนำเพลงโปรดของเพื่อนร่วมงานผมมาฝากกันก่อนครับ เวลาผมเปิดฟังทีไร พี่แกต้องร้องตามคลอไปทุกที นี่เป็นเพลงที่ท่านจิตร ภูมิศักดิ์ ใช้นามปากกาแปลกออกไปจากปกติที่มักเป็น "สุธรรม บุญรุ่ง" เปลี่ยนมาเป็น "ส. หิรัญภาส" คุณวิชัย นภารัศมี (เมือง บ่อยาง) สันนิษฐานว่า อักษร ส. น่าจะมีที่มาจาก สมจิตร ชื่อเดิมของท่านก่อนจะตัดคำหน้าออก เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลจอมพล ป. สมัยนั้น ที่กำหนดให้หญิงชายพึงมีชื่อเสียงเรียงนามเหมาะควรแก่เพศแห่งตน สำหรับ หิรัญภาส นั้น คุณวิชัยให้ความเห็นว่าอาจเป็นนามมารดาของท่าน คุณแม่แสงเงิน ภูมิศักดิ์ (หิรัญ = เงิน ภาส = แสงสว่าง) ผมมิอาจรู้ได้ว่าขณะแต่งเพลงนี้ ท่านจิตร กำลังคิดถึงใคร แต่สัมผัสถึงอารมณ์ห่วงกังวลอันลอยอ้อยอิ่งอยู่ในเนื้อเพลงได้ครับ

ทะเลชีวิต
โดย ส. หิรัญภาส

   ลมหวิว
เจ้าแผ่วโชยพลิ้วมาปลอบใจข้า
ยิ่งกระพือโหมไฟที่เริงร่า
ลนลวกอุราให้แสนสุดร้อนรน

   คอยหา
เหม่อมองขอบฟ้าไยช่างมืดมน
โอ้สุดที่รักล่องลอยทุกข์ทน
ฝ่าคลื่นฝืนลม ว่ายวน

   ดวงดาวเอ๋ย วอนดาวโปรดจงปรานี
วานดาวชี้ทิศทางให้แก่เพื่อนใจ
จงทรงผองพลังยืนหยัดสู้ภัย
ฝ่าฟันจนเขามีชัยรอดพ้นคืนมา

   ความหวัง
โปรดอย่าหักหลังลวงหลอกใจข้า
สิ่งที่ใฝ่ฝันจงอย่าโรยรา
บรรเจิดอยู่บนนภาดังแสงดาว ตราบนิรันดร


 


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ม.ค. 11, 09:46
http://www.youtube.com/watch?v=L4N1UxKONFI

เพลงนี้ จิตรแต่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ เดิมตั้งใจจะให้ชื่อเพลงว่า "ขอบฟ้าสีเงิน" จากหลักฐานที่หลงเหลือ กว่าจะเป็นเพลง "ทะเลชีวิต" จิตรต้องใช้แต่งถึง ๔ ครั้งจึงจะพอใจ วัตถุประสงค์เพื่อให้กำลังใจแก่ผู้ที่ต่อส­ู้กับรัฐบาลเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์

 ;D


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 26 ม.ค. 11, 14:47
เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูครับ

   ในทรรศนะส่วนตัวของผม โดยมิต้องอ้างตำรา เอาเฉพาะความรู้สึกล้วนๆ ผมคิดว่า เพลงที่กล่าวถึงชีวิตของ "กลุ่มชน" มิใช่แค่ "ปัจเจกชน" สะท้อนถ่ายวิถีความเป็นอยู่อย่างซื่อตรง หลากหลายมุม ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ น่าจะจัดเข้าทำเนียบเพื่อชีวิตครับ แหละเพลง "ป่าลั่น" ก็เป็นเพลงโปรดของผมอีกเพลงเช่นกันครับ กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์อย่างยิ่งครับที่กรุณานำมาให้รับอรรถรสกันทั่วถ้วน

   ขอบพระคุณคุณ pathuma
 เป็นอเนกอนันต์ครับ สำหรับข้อมูลเสริมที่ผมเองก็ไม่รู้เรื่องมาก่อนเลย เอ ว่าแต่ เรื่อง ส.ส. ท่านนั้น เกิดขึ้นประมาณ พ.ศ. อะไรครับ
 

 
กำลังอ่านเรื่องเพลงเก่าเพลินขอวกกลับไปที่เพลงผู้แทนควายที่คุณชูพงค์ นำมาลงทำให้ผมนึกถึงผู้แทนที่ขี่ควายเข้าสภาคือ ส.ส.ไพฑูรย์ วงศ์วานิช ที่ขี่ควายเข้าสภาเมื่อ 35 ปีที่แล้ว ในเช้าวันที่ 16 เมษายน 2519  คุณไพฑูรย์ เป็นชาวสุราษฎร์ธานี เป็นน้องชายของพลเอก วิมล วงศ์วานิช อดีตผู้บัญชาการทหารบก เป็น ส.ส. สุราษฎร์ธานี ช่วงเดือน เมษายน-ตุลาคม 2519 ซึ่งขณะนั้นการเมืองไทยกำลังร้อนระอุ คุณไพฑูรย์ เป็นหนึ่งในสี่ของ ส.ส.ที่ยื่นกระทู้ด่วนในสภาเรื่องการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร ผลการอภิปรายทำให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ประกาศลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากไม่อาจเสนอ พ.ร.บ. จำกัดถิ่นที่อยู่ของบุคคลบางประเภทซึ่งขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 47 อีกทั้งยังไม่สามรถควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองได้(siamparade.wordpress.com)
ลักษณะควายเขากางที่คุณไพฑูรย์ขี่มานั้น สมัยก่อนถ้าควายตายลงก็จะนำเขาทั้ง 2 ข้างไปวางไว้ที่หน้าพระพุทธรูปเพื่อใช้แทนเชิงเทียน ขอเล่าเพิ่มเติมนิดนะครับว่า ควายไทยที่นำมาใช้ไถนานั้นเจ้าของจะตั้งชื่อให้เป็นมงคล เช่นอยากให้เจ้าของมีเงินทอง มาก ก็จะตั้งชื่อว่า พัน หมื่น แสน เป็นต้น บางทีก็ตั้งตามลักษณะเขาควายเช่นไอ้ กาง เป็นต้นหรือถ้าเป็นควายเผือกเพศเมียก็มักเรียกว่า อีเผือก หรือถ้าเป็นเพศผู้ก็เรียกไอ้เผือก ควายแต่ละตัวจะมีทะเบียนบอกรูปพรรณเอาไว้เวลาซื้อขายก็จะใช้ทะเบียนยืนยัน ดูทะเบียนควายไปที่นี่ครับ
http://www.cm108.com/bbb/index.php?showtopic=6140&pid=81871&mode=threaded&start= (http://www.cm108.com/bbb/index.php?showtopic=6140&pid=81871&mode=threaded&start=)


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 27 ม.ค. 11, 08:35
ขอบพระคุณครับ คุณ pathuma  ที่กรุณาเล่าเรื่อง ส.ส. ขี่ควายเข้าสภาให้พวกเราได้อ่านกัน ผมอยากรู้จริงๆเจียวครับ ว่าพอคุณไพฑูรย์ วงศ์วานิช ขี่ควายเข้ามา ประดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันทรงเกียรติ (ทว่าที่แท้น่าเกลียด) จะรู้สึกอย่างไร ตอนนั้น ท่านประทานสภาฯ คือใครครับ



กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 28 ม.ค. 11, 14:00
กราบขออภัยท่านผู้อ่านเป็นอย่างยิ่งครับ กระผมหายตัวไปพักหนึ่ง มิได้นำเพลงเสนอต่อท่าน ทั้งนี้ เพราะไปทำการบ้านมาครับ อีกมินาน พอจบเพลงท่านจิตร ภูมิศักดิ์ ผมก็จะชวนท่านย้อนอดีตสู่ยุคหลัง ๑๔ ตุลาคม ซึ่งถือเป็นยุคทองของเพลงเพื่อชีวิต ก่อนจะดับวูบลงชั่วคราว เมื่อเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ระเบิดขึ้น เพลงแนวนี้ก็เปลี่ยนภูมิสถานไปดังก้องกังวานในป่าแทน แหละมันมิใช่เพื่อชีวิตธรรมดาๆอีกต่อไปแล้ว

   ความจริง เพลงของท่านจิตรฯ ที่ผมนำเสนอผ่านมา ก็มีบางเพลง อาทิ “มาร์ชกรรมกร,” “มาร์ชชาวนาไทย” ปรากฏแนวของเพลงปฏิวัติชัดแจ้ง ยิ่งเพลงอันจะเสนอต่อไปยิ่งเข้าแนวดังกล่าวแจ้งชัด สิ่งซึ่งจะขอเรียนทุกท่านเป็นอารัมภบทก่อนจะขึ้นเพลงใหม่ในกระทู้ก็คือ ผมนำเพลงเหล่านี้มาย้อนทบทวนเพื่อฟังกันเล่นเป็นเครื่องสำเริงอารมณ์เท่านั้น มิได้มีเจตนาปลุกระดม หรือมีจุดประสงค์อื่นใดแอบแฝงแสร้งซ่อนอยู่เลย แหละสำหรับผม ชอบเรียนประวัติศาสตร์ผ่านเพลงครับ

   เข้าเพลงกันเลยดีกว่า ตั้งใจจะเสนอ “หยดน้ำบนผืนทราย” ครับ ผมชอบเพลงนี้ตรงอุปมาโวหาร ผู้นิพนธ์นำทวิภาวะอันแตกต่างกันสุดขั้วของธรรมชาติ มาเปรียบกับช่องว่างทางชนชั้นได้อย่างแยบคาย เชิญอ่านเชิญฟังกันดูเถิดครับ

หยดน้ำบนผืนทราย

   ท่ามกลางสิ่งบำเรอ
ความหวานปรนเปรอ หวานดั่งน้ำทิพย์รื่นรมย์
กลั่นมาจากความตรอมตรม
ความร้าวระบม ความขื่นขมของหมู่ชน

   ดื่มกิน
หยาดเหงื่อมนุษย์ที่หลั่งไหลริน
หยดเลือดแดงฉานที่สาดผืนดิน
ประดุจฟากฟ้าบรรเจิดโสภิน
ประดับเปลวร้อนลามแห่งทะเลทราย
ดูธรรมชาติขัดแย้งประหนึ่งขาวดำ
ชีวาที่สุขแสนหวานและขื่นขมใจ
งามในนภาเพียงใด คุณค่าย่อมไร้เหนือแผ่นดินยากเข็ญ
บนความระกำลำเค็ญ ใครเล่าจักเห็นสุขของตนชื่นชม

   ข้าขอ
เปล่งคำสาบานไปกับสายลม
จักพิทักษ์ชีวิตผู้ทุกข์ตรม
จักลบล้างการกดขี่ระทม
แหละต่อสู้ล้มอำนาจอธรรม

   ชีพนี้
จักอุทิศพลีเพื่อกอบกู้ธรรม
จักจองล้างทรราชระยำ
ให้โลกร่ำลือในวีรกรรม
ตราบจนฟ้าดินจักสิ้นมลาย

http://www.youtube.com/watch?v=AknoVNeD-XI


   สำหรับท่านที่คลิกเข้าไปฟังตามลิงค์ได้ ผมขอความเห็นด้วยครับ ว่า ทำนองเพลงนี้มีกลิ่นอายของเพลงภารตะอยู่หรือไม่ ผมรู้สึกเอาเองว่ากระเดียดไปทางนั้นครับ



กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ม.ค. 11, 15:29
http://www.youtube.com/watch?v=mHFEgPja4R8

เพลง "หยดน้ำบนผืนทราย" ประพันธ์ขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ถือเป็นเพียงการตั้งชื่อขั้นต้นเท่านั้น เพราะลายเส้นดินสอที่จิตรเขียนชื่อเพลงในต­้นฉบับนั้นอ่อนมาก เนื้อเพลงนี้ จิตรได้นำลักษณะความขัดแย้งและแตกต่างทางส­ังคมให้มาเกี่ยวโยงกับความขัดแย้งและแตกต่­างทางธรรมชาติ

 ;D


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 07 พ.ค. 23, 20:19
เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนสมาชิกเรือนไทยที่เคารพยิ่งทุกๆท่านครับ

   ขออนุญาตดึงกระทู้นี้กลับขึ้นมาอีกครั้งนะครับ สาเหตุก็เนื่องจาก ใน พ.ศ. ๒๕๕๒ ผมนำร้อยกรองที่เคยเขียนสดุดีท่านอาจารย์จิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ มาปรับแปรแก้ไขจนเรียบร้อยแล้ว ก็คิดว่าคงมิมีอะไรให้เขียนถึงท่านจิตรฯ หรือหยิบจับบทกวีของท่านมาเล่นประยุกต์ด้วยความสนุกสนานได้อีกต่อไป แต่มันไม่เป็นอย่างนั้นซีครับ พอเกิดประเด็นดรามาสนั่นโลกออนไลน์ เกี่ยวกับแบบเรียนชุด “ภาษาพาที” ของน้องๆหนูๆชั้นประฐมศึกษา กรณี “ไข่ต้มครึ่งซีก” กับ “ข้าวคลุกน้ำปลา” จู่ๆ อารมณ์ขันของผมก็บังเกิดครับ ปรารถนาจะล้อเลียน สพฐ. เขาสักหน่อย พลัน บทกวีสำนวน “เปิบข้าว” ของท่านจิตร ภูมิศักดิ์ ก็ผุดขึ้นในความคิด ผมรีบหยิบฉวยทันใด นำกลับมาแต่งเล่นเสียจนแฟนคลับท่านจิตรฯ บางท่านอาจจะเคือง แต่นายชูสำเริงสำราญยิ่งยวดครับ เขียนพลางหัวเราะพลาง ครั้นเสร็จ ก็นึกถึงเว็บไซต์เรือนไทย อยากนำกาพย์มาลงเพื่อสร้างความครึกครื้นแก่ทุกท่านบ้าง ทว่ามิรู้ควรลงกระทู้ใดดี เมื่อวาน ผมส่งข้อความหลังไมค์ไปขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์เพ็ญชมพู ท่านก็กรุณาชี้ทางสว่างให้ และต่อไปนี้คือ “เปิบข้าว” ฉบับดัดแปลงครั้งล่าสุดของผมครับ

ตักข้าว

   ตักข้าวทุกคราวคำ
จงสูจำกลางใจเจิม
ไข่ต้มครึ่งซีกเติม
จึงเด็กเติบกายโตโต
   ข้าวคลุกน้ำปลาเคล้า
ใช่ซึมเซาแร้นแค้นโซ
พวกหลงหยุดพาโล
นี้สอนหลักอำนรรฆหลาย
   จัดเจนเจอความจน
ชนะตนแล้วไป่ตาย
อึดทานการท้าทาย
ทุกข์ร้อนที่รุมถี่ถม
   ฝึกอยู่อย่างอดอยาก
ล้นสุขฉากซึ้งน่าชม
หมู่ตัวอยู่ใต้ตม
พึงเจียมตัวตอนติเตียน
   น้ำจิตร่วมกิจแจง
บวกน้ำแรงทำแบบเรียน
กูใส่เข้าในเศียร
ให้สูซับกำซาบทรวง ฯ

ร่างเดิม ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๖
ปรับแปรแก้ไขครั้งล่าสุด ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๖ ครับ

หมายเหตุ: งานเขียนสำนวนนี้ ก่อเกิดแรงบันดาลใจจากบางส่วนของบทกวีชื่อ “วิญญาณหนังสือพิมพ์ (คำเตือนจากเพื่อนเก่าอีกครั้ง)” นิพนธ์โดยท่านอาจารย์จิตร ภูมิศักดิ์ ครับผม


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 พ.ค. 23, 20:35
แบบเรียนชุด “ภาษาพาที” ของน้องๆหนูๆชั้นประฐมศึกษา กรณี “ไข่ต้มครึ่งซีก” กับ “ข้าวคลุกน้ำปลา”

จาก หนังสือเรียน รายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย ชุดภาษาเพื่อชีวิต
ภาษาพาที ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ (https://online.anyflip.com/jvtkt/cvhu/mobile/index.html) บทที่ ๙ ชีวิตมีค่า หน้า ๑๔๘


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ค. 23, 17:32
สวัสดีค่ะคุณชูพงศ์
ไม่ได้เข้ามาโพสในเรือนไทยเสียนาน   ขอต้อนรับด้วยความยินดีค่ะ
ดีใจที่เห็นคุณชูพงศ์ยังคงเบิกบานสนุกสนานกับผลงานเช่นเดิม    เขียนล้อเลียนสพฐ.ได้ยอดเยี่ยมค่ะ
ว่างๆน่าจะเขียนอีก

ไม่ค่อยอยากพูดถึงแบบเรียนนี้เพราะสงสารคนเขียนและสพฐ.ว่าโดนหนักค่ะ


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 08 พ.ค. 23, 20:13
กราบท่านอาจารย์เทาชมพูที่เคารพยิ่งครับ

   หัวใจผมไม่เคยไปไกลห่างเรือนไทยเลยครับ เข้ามาอ่านกระทู้นานาอยู่บ่อยๆ แต่ที่ยังมิเขียนอะไร เพราะใช้เวลาหมกตัวอยู่กับเว็บไซต์ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณอยู่นานทีเดียวครับ ผมอยากอ่านวรรณคดีไทยหลายเรื่องมานานแล้ว แต่หนังสืออิเล็กทรอนิกส์รูปแบบซึ่งคนตาบอดสามารถเข้าถึงได้ง่ายไม่ค่อยจะมี พอพบแหล่งศึกษาถูกใจเข้า เลยบอกตัวเองว่าต้องตักตวงให้คุ้มความกระหายครับ


   ตอนแรกเมื่อเกิดดรามาใหม่ๆ ผมก็เฉยๆนะครับ แต่พอทาง สพฐ. บอกว่า ให้คนอ่านแยกเรื่องแต่งกับเรื่องจริงออกจากกัน  ผมปรี๊ดแตกทันทีครับ เพราะคุณกำลังดื้อตาใส คุณรู้ทั้งรู้ว่า แม้เป็นเรื่องแต่ง ทว่าหากองค์ประกอบต่างๆสร้างขึ้นจากบริบทของความจริงในสังคม ทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องสมจริง สมเหตุสมผล กระนั้นก็ยังแถ โอ๊ะ! ใช้คำว่ารั้นดีกว่า ผมจึงจัดร้อยกรองให้เขาไปหนึ่งสำนวนครับอาจารย์


กระทู้: เพื่อชีวา ๕ ยุค
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ค. 23, 20:50
    ทางสพฐ.ก็คงจะตอบไปตามที่่ควรจะตอบน่ะค่ะ    คืออ้างว่าเป็นเรื่องสมมุติไม่ใช่เรื่องจริง     แต่ตามเหตุผล ก็เป็นอย่างที่คุณชูพงศ์ว่า คือถึงสมมุติก็ต้องแนบเนียนสมจริง