เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: เปี้ยว ที่ 17 ต.ค. 00, 12:00



กระทู้: การอ่านภาษาโบราณๆ ของนักโบราณคดี
เริ่มกระทู้โดย: เปี้ยว ที่ 17 ต.ค. 00, 12:00
สงสัยมานานแล้วครับ เรื่องการอ่านภาษาโบราณๆ ของนักประวัติศาสตร์
  ทำได้อย่างไรครับ บุคคลเจ้าของภาษานั้นๆก็ล้มหายตายจากไปนานหลายพันปี
  พวกนักโบราณคดี หรือ นักประวัติศาสตร์ก็ยังไปอ่าน(หรือไปแปล) สิ่งที่เขาเขียนไว้ได้
  ผมลองนึกๆ ดูอาจจะเป็นไปได้ว่า

1, ใช้วิธิแบบถอดรหัสลับ เช่น คำขึ้นต้นที่เขียนไว้ก็น่าจะเป็น "ถึงท่านผู้อ่าน"
  หรือ "วันที่....." สถานที่ ส่วนคำลงท้ายก็น่าจะเป็น ชื่อคนเขียน หรือชื่อกษัตริย์สมัยนั้น
  จากนั้นก็เดาๆว่าตัวอักษรที่ขึ้นต้นและลงท้าย ตัวไหนเป็นตัวไหน แล้วเทียบต่อไปเรื่อยๆ

2, ค้นหาภาษาที่คิดว่าใกล้เคียงกัน หรือ สอบถามภาษาจากคนที่อาศัยในท้องถิ่นนั้นๆ
  แล้วลองเทียบดู

พอจะมีส่วนถูกบ้างไม๊ครับที่ผมมั่วๆคิดไว้ ขอบคุณครับ


กระทู้: การอ่านภาษาโบราณๆ ของนักโบราณคดี
เริ่มกระทู้โดย: หนุ่มบ้านนาดอทคอม ที่ 16 ต.ค. 00, 00:00
เคยดูสารคดีในบีบีซี เห็นเขาบอกว่าต้องใช้การถอดระหัสนะครับ
แต่ผมจำไม่ได้แล้ว
เลาๆว่า มีศิลาจารึกสมัยอียิปต์ที่ทหารนโปเลียนไปยึดเอามา
แต่ทำไปทำมาไหงมาอยู่ตกอยู่ในมือของอังกฤษได้ก็ไม่รู้
(คงหลังนโปเลียนรบแพ้)

...รู้สึกว่านาย Thomas Yong นักฟิสิกส์ที่เคมบริด จะเป็นคน
แรกที่พบเทคนิคในการอ่าน ไม่แน่ใจครับจำได้เลาๆ

ขอไปค้นก่อน... ถ้าเจอแล้วจะมาบอกครับ


กระทู้: การอ่านภาษาโบราณๆ ของนักโบราณคดี
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 17 ต.ค. 00, 00:00
เรื่องการอ่านภาษาโบราณ ผมก็ไม่ใช่อินเดียน่า โจนส์ เสียด้วย แต่ที่จำได้เลาๆ กรณีที่คุณหนุ่มบ้านนา.com พูดถึงคงเป็นกรณีการอ่านภาษาอิยิปต์โบราณ ที่เรียกว่า อักษรเฮียโรกลิฟฟิก ซึ่งนักโบราณคดีฝรั่งปวดหัวกันอยู่นานกว่าจะอ่านได้ เพราะเป็นภาษาที่ใช้ทั้งอักษรรูปภาพแทนคำ และอักษรที่มีตัวอักษรผสมคำได้ แล้วยังเขียนจากซ้ายไปขวาก็ได้ ขวาไปซ้ายก็ได้ บนลงล่างก็ยังได้อีก...
โชคดีของเราคนยุคหลัง ที่อาณาจักรอียิปต์สมัยโน้น มีการติดต่อกับอาณาจักรต่างๆ ร่วมสมัยเดียวกันด้วย เช่น ติดต่อกับโรมัน (กรณีคลีโอพัตราเป็นตัวอย่างหนึ่ง) จึงมีการแปลถ่ายทอดหนังสือของแต่ละอาณาจักรกันไปมา เอาไว้เป็นหลักฐานร่วมสมัยให้คนรุ่นหลังได้อ้างอิงได้
หลักฐานที่มีชื่อเสียงที่สุด ก็คืออันที่คุณหนุ่มบ้านนาฯ พูดถึง เรียกว่าศิลาจารึกโรเซ็ตต้า ซึ่งมีคำจารึกทั้งภาษาเฮียโรกลิฟฟิกและภาษาลาตินของโรมันอยู่ด้วยกัน เมื่อเรารู้ว่าข้อความในภาษาเฮียโรกลิฟฟิกต้องเป็นยังงี้ (เพราะคำแปลลาตินเราอ่านออก) ก็ค่อยๆ ถอดรหัสอักษรเฮียโรกลิฟฟิกออกมาได้ครับ
มั่วๆ จากความจำนะครับ ไม่ได้ค้นตำรา ผู้รู้โปรดเมตตาแก้ไขเพิ่มเติมด้วย


กระทู้: การอ่านภาษาโบราณๆ ของนักโบราณคดี
เริ่มกระทู้โดย: สงสัย สงสัย ที่ 17 ต.ค. 00, 00:00
แล้วตัวอักษรเฮียโรกลิฟฟิกที่ เขียนออกมาเป็นภาษาอียิปต์โบราณนี่ ปัจจุบันนี้ ภาษานี้ยังมีการใช้พูดอยู่หรือเปล่าคะ หรือได้พัฒนามาเป็นภาษาปัจจุบันที่คนอียิปตืใช้กันคะ


กระทู้: การอ่านภาษาโบราณๆ ของนักโบราณคดี
เริ่มกระทู้โดย: หนุ่มบ้านนาดอทคอม ที่ 18 ต.ค. 00, 00:00
ขอบคุณครับคุณนิลฯ นับถือครับๆ
ผมยังค้นข้อมูลเพิ่มไม่เจอครับ
ขอพลัดไปก่อนแล้วกัน ฮี่ๆๆๆ


กระทู้: การอ่านภาษาโบราณๆ ของนักโบราณคดี
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 18 ต.ค. 00, 00:00
ผมเข้าใจว่า ภาษาอียิปต์โบราณตายไปนานแล้วครับ คนอียิปต์เดี๋ยวนี้พูดภาษาอารบิกสำเนียงอียิปต์กันครับ (อาหรับเองก็มีหลายเผ่า หลายสำเนียงครับ)


กระทู้: การอ่านภาษาโบราณๆ ของนักโบราณคดี
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 11 พ.ย. 05, 07:42
 ขออนุญาตขุดกระทู้โบราณมาคุยกันหน่อยครับ อิอิ

เรื่องการอ่านภาษาโบราณจากจารึกต่างๆ นั้น ผู้ที่จะอ่านได้ก็ต้องเรียนภาษาโบราณที่ใช้กันในสมัยนั้นๆ ครับ ซึ่งแต่ละส่วนของโลกก็จะแตกต่างกันไป

อย่างกรณีของประเทศไทย เราพบจารึกโบราณมากมาย ซึ่งตัวอักษรที่ใช้ก็เหมือนกันกับที่ใช้กันในอินเดียใต้ ดังนั้น นักโบราณคดีก็ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ภาษาที่ใช้เขียนอักษรเหล่านี้ น่าจะเป็นภาษาสันสกฤต หรือ บาลี หรือ ทมิฬโบราณ ซึ่งภาษาเหล่านี้ ปัจจุบันก็มีการเรียนการสอนกันอยู่ครับจึงพอที่จะหาคนอ่านออกได้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีบางกรณีเหมือนกันที่ ใช้ตัวอักษรอินเดียใต้ (อักษรปัลลวะ) มาใช้เขียนภาษามอญโบราณ อย่างเช่นในกรณีของจารึกสมัยทวารวดี เป็นต้น แล้วรู้ได้อย่างว่าเป็นภาษามอญโบราณ ที่รู้ก็เพราะว่า ตัวอักษรปัลลวะ สามารถถอดออกมาเป็นอักษรไทยปัจจุบันได้ครับ เมื่อผู้เชี่ยวชาญอ่านดูแล้ว ก็จะรู้ว่าภาษาที่เขียนนั้นเป็นภาษาอะไร

อย่างกรณีที่คุยกันข้างต้น เห็นจะเกี่ยวกับตัวอักษรภาพของอิยิปต์โบราณ

เรื่องนี้ คนที่อ่านได้เป็นคนแรก เป็นชาวฝรั่งเศสชื่อ ชามโปลิยง ครับ การอ่านอักษรโบราณนี้ ชามโปลิยงได้อาศัยการเปรียบเทียบคำศัพท์ คำต่อคำ ภาพต่อภาพ กลับไปกลับมาระหว่าง ๓ ภาษา ที่ปรากฏอยู่บนจารึกโรเซ็ตต้า ครับ

จารึกโรเซ็ตต้า เป็นจารึกเนื้อความเดียวกัน แต่แยกออกเป็น ๓ ภาษา คือ

๑ ภาษาอิยิปต์โบราณ จารึกด้วยอักษรภาพ
๒ ภาษาคอปติก จารึกด้วยอักษรคอปติก (เป็นภาษาซึ่งร่วมสมัยกับภาษากรีกโบราณ และพัฒนาต่อมาจากภาษาอิยิปต์โบราณ)
๓ ภาษากรีกโบราณ จารึกด้วยอักษรกรีก  

ชามโปลิยง ได้ศึกษาภาษากรีกโบราณอย่างแตกฉาน (มีการเรียนการสอนครับ) จากนั้นก็ไปศึกษาภาษาถิ่นของอิยิปต์ ซึ่งพัฒนามาจากภาษาคอปติกโบราณ (ซึ่งไม่ใช่ภาษาอาหรับ ภาษาอาหรับเข้ามาพร้อมกับวัฒนธรรมอิสลาม)

ท่านได้ศึกษาคำศัพท์ระหว่าง ภาษากรีกโบราณ กับ ภาษาคอปติก ก่อน เมื่ออ่านได้หมดแล้วจึงเริ่มการเปรียบเทียบกับอักษรภาพโบราณ

วิธีที่ง่ายที่สุดในการถอดรหัสคือ การถอด "ชื่อเฉพาะ" ให้ได้ก่อน และท่านก็ทำสำเร็จด้วยการถอดชื่อของกษัตริย์และราชินีของอิยิปต์ในสมัยที่จารึกได้ เช่น ปโตเลมี (มีหลายองค์) คลีโอพัตรา (มีหลายองค์ครับ องค์ที่ดังที่สุดคือ คลีโอพัตราที่ ๗)

จากนั้นก็เริ่มเทียบศัพท์อื่นๆ โดยเปรียบเทียบกันระหว่างศัพท์ของภาษาคอปติกโบราณ กับศัพท์ที่แสดงด้วยอักษรภาพ

นั่นแหละครับ จึงอ่านออก

สรุปว่า การที่จะอ่านจารึกโบราณที่เขียนด้วยภาษาที่ตายไปแล้วนั้น อย่างน้อยที่สุดจะต้องมีภาษาอื่นที่เขียนเรื่องเดียวกัน ไว้สำหรับเปรียบเทียบ จึงจะอ่านออกได้อย่างหมดจดครับ ถ้าไม่มี ก็ต้องใช้ "verb to เดา" กันไป เช่น อักษรบนตราประทับดินเผา ของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ซึ่งก็ยังแปลกันไม่ออกอย่างแท้จริง

แต่ "การเดา" ก็ต้องเป็นไปอย่างมีหลักการนะครับ โดยผู้ที่ศึกษาจะต้องมีพื้นฐานเกี่ยวกับภาษาโบราณ และภาษาถิ่นที่พูดกันในภูมิภาคนั้นๆ ด้วยครับ