เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: ดาวกระจ่าง ที่ 03 ธ.ค. 19, 20:25



กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องตำนานกำเนิดมนุษย์ กำเนิดชาติพันธุ์ไทในพงศาวดารไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 03 ธ.ค. 19, 20:25
คือดิฉันได้ไปอ่านตำนานกำเนิดมนุษย์ กำเนิดชาติพันธุ์ไทที่อยู่ในพงศาวดารล้านช้างเลยสงสัยว่าในพงศาวดารไทย รวมไปถึงตำนานความเชื่อหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆของฝั่งไทยเองได้มีการพูดถึงเรื่องราวในส่วนแบบนี้ไว้บ้างไหมคะ (จะกล่าวโดยรวมหรือกล่าวเฉพาะฝั่งคนแถบประเทศไทยก็ได้ค่ะ) ดิฉันได้ไปค้นหาแล้วไม่พบเลยจึงไม่รู้ว่ามีไหม


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องตำนานกำเนิดมนุษย์ กำเนิดชาติพันธุ์ไทในพงศาวดารไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ธ.ค. 19, 08:11
https://www.thairath.co.th/content/228656


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องตำนานกำเนิดมนุษย์ กำเนิดชาติพันธุ์ไทในพงศาวดารไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ธ.ค. 19, 09:13
ทางตะวันออกดินแดนตอนใต้ของจีนและอาเซียน   คนพื้นเมือง (ไม่ใช่ฮั่น) มีตำนานเกี่ยวกับคนออกมาจากน้ำเต้า และ/หรือ น้ำเต้าช่วยให้เผ่าพันธุ์มนุษย์รอดตายจากน้ำท่วมโลก  มันเกี่ยวกับการเคารพบูชาพญาแถน หรือ tahun ในภาษามลายู   แต่ทุกวันนี้เราลืม เราไม่เคารพบูชาน้ำเต้า

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4775.0;attach=25428;image)

https://e-shann.com/16036/ตำนานน้ำเต้าปุง/ (https://e-shann.com/16036/ตำนานน้ำเต้าปุง/)


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องตำนานกำเนิดมนุษย์ กำเนิดชาติพันธุ์ไทในพงศาวดารไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ธ.ค. 19, 10:17
อีกตำนานหนึ่ง  ;D

บทต่อไป คัดมาจาก ประมวลสาระวิชา มนุษย์กับสังคม  202205 โดย อาจารย์สุริยา สมุทคุปติ์  และอาจารย์ ดร.พัฒนา  กิติอาษา

ตำนานกำเนิดโลกและมนุษย์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไต หรือไท มีหลายสำนวน กลุ่มชาติพันธุ์ไต/ไท โดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และดินแดนส่วนใหญ่ของลาวในปัจจุบัน เชื่อว่าผีฟ้า หรือผีแถนเป็นผู้สร้างโลก ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าเทพยดาสูงสุด หรือผู้สร้างโลกว่าพญาแถน  

ชาวบ้านที่เรียกตัวเองว่า "ลาวข้าวเจ้า" ในเขตอำเภอสูงเนิน สีคิ้วและปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เชื่อว่ากำเนิดโลก และมนุษย์มาจากแถน "[เพราะ] แถนเป็นคนแต่งโลกขึ้นมา โดยการปั้นรูปผู้หญิงหงาย ปั้นรูปผู้ชายคว่ำ ปั้นไว้เฉพาะวิญญาณ ยังไม่มีตัณหา ลมพัดกระจัดกระจายตกไปอยู่คนละแห่ง ต่างคนต่างอยู่ ต่อมาเกิดไฟไหม้แผ่นดิน กลิ่นหอมโชยขึ้นไปถึงแถน กลิ่นหอมไปถึงคู่ชาย-หญิงที่แถนปั้นไว้ แถนก็พูดว่า 'โลกทางลุ่ม [ข้างล่าง] คือหอมแท้' ว่าแล้วชาย-หญิงคู่นั้นก็ลงไปกินดินที่ถูกไฟไหม้ในโลกมนุษย์ จากนั้นทำให้คนเกิดตัณหาขึ้นมา พอสมสู่กันแล้วก็ไม่สามารถกลับคืนไปอยู่สวรรค์ได้อีกต่อไป…" (อ้างในสุริยา สมุทคุปติ์และคณะ ๒๕๔๐:๙๓)

คำบอกเล่าของชาวบ้านข้างต้นนี้ใกล้เคียงกับตำนานการเกิดมนุษย์ที่ปรากฎในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาเล่มสำคัญ และเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ หนังสือเรื่อง "ไตรภูมิพระร่วง" ซึ่งแต่งโดยพญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย ปฐมบทของมนุษย์ในโลกเกิดจากการที่อภัสรพรหมลงมากินง้วนดินในโลกมนุษย์แล้วทำให้เกิดราคะขึ้นมา (อ้างใน ส. ศิวรักษ์ ๒๕๓๘:๑๐)

อย่างไรก็ตามตำนานการเกิดมนุษย์ของชาวบ้านอีสานหรือกลุ่มชาติพันธุ์ไทย-ลาวบางสำนวนก็บอกว่ามนุษย์ไม่ใช่ประดิษฐกรรมของพญาแถน เพราะมนุษย์ในโลกทัศน์ของคนเชื้อสายไทย-ลาว เกิดจากคราบไคลของน้ำในห้วงน้ำใหญ่ ซึ่งเรียกว่า "ขี้ตมปวก" หรือ "ขี้ไคน้ำ" มนุษย์คู่แรก เรียกว่า "ปู่สังไคสา-ย่าสังไคสี" (ต่อมาเรียก ปู่สังกะสา-ย่าสังกะสี)


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องตำนานกำเนิดมนุษย์ กำเนิดชาติพันธุ์ไทในพงศาวดารไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 04 ธ.ค. 19, 11:41
ขอบพระคุณสำหรับคำตอบค่ะ เท่าที่อ่านมารู้สึกเหมือนว่าหลักฐานส่วนใหญ่ว่ามีความเชื่อนี้จะมาจากภาคเหนือ อีสานที่มีความสัมพันธุ์กับลาวอย่างใกล้ชิดนะคะ ขอเรียนถามเพิ่มหน่อยค่ะว่าหลักฐานของทางภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคใต้ มีบ้างไหมคะว่าก็มีความเชื่อแบบนี้


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องตำนานกำเนิดมนุษย์ กำเนิดชาติพันธุ์ไทในพงศาวดารไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ธ.ค. 19, 13:40
การวิเคราะห์โครงสร้างของตำนานสร้างโลกของคนไทด้วยระเบียบวิธีทางคติชนวิทยา ทำให้แยกประเภทของตำนานสร้างโลกได้ ๓ แบบเรื่อง คือ แบบเรื่องประเภทปู่สังกะสา-ย่าสังกะสีสร้างโลก แบบเรื่องประเภทมนุษย์ออกมาจากน้ำเต้า และแบบเรื่องประเภทเทวดาลงมากินง้วนดิน แบบเรื่องประเภทปู่-ย่าสร้างโลกพบมากในกลุ่มตำนานไทลื้อ ไทเขิน ไทยวน-ล้านนา และอีสาน แบบเรื่องประเภทมนุษย์ออกมาจากน้ำเต้าพบมากในกลุ่มตำนานลาว ไทดำ ไทขาว และแบบเรื่องเทวดาลงมากินง้วนดินพบในตำนานทางล้านนา และตำนานไทใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งแบบเรื่องประเภทหลังนี้ได้อิทธิพลความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้าไปผสมผสม ส่วนตำนานสร้างโลกของไทอาหม ซึ่งนับเป็นชนชาติไทที่อยู่ตะวันตกสุด กับตำนานของจ้วงซึ่งอยู่ทางตะวันออกสุด แม้โครงเรื่องจะไม่ตรงทีเดียวนักกับแบบเรื่องทั้ ๓ แบบซึ่งพบในตำนานสร้างโลกส่วนใหญ่ของชนชาติไท แต่ก็ยังคงปรากฏแนวคิดเรื่องมีผู้สร้างโลก มีผู้สร้างมนุษย์ ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ได้เลือนไปจากความเชื่อของคนไทยภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลพุทธศาสนามากแล้ว

การวิเคราะห์เนื้อหาของตำนานสร้างโลกของคนไทสะท้อนระบบคิดและวัฒนธรรมของคนไทหลายประการ ประการแรก ชี้ให้เห็นว่าคนไทดั้งเดิมที่กระจายกันอยู่ตามที่ต่าง ๆ ตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนมีความเชื่อดั้งเดิมเรื่องมีผู้สร้างโลก ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของปู่สังกะสา-ย่าสังกะสีสร้างโลก สร้างมนุษย์ หรือปู่แถนที่นำน้ำเต้าที่บรรจุมนุษย์ไว้ลงมายังโลก ประการที่สอง ตำนานสร้างโลกของคนไทไม่ว่าจะเป็นแบบเรื่องแบบใด สะท้อนระบบคิดและความเชื่อที่อธิบายให้เห็นว่าคนไทเป็น "ลูกฟ้า" มีชาติกำเนิดและความสัมพันธ์กับสวรรค์ตำนานของคนไทบางกลุ่มเน้นให้เห็นว่า ผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นผู้ที่ถูก "ฟ้าส่งมา" หรือสืบเชื้อสายมาจากเทวดาบนสวรรค์ ในแง่นี้ตำนานสร้างโลกจึงเป็นสิ่งอธิบายสถานภาพทางสังคมของคนไทและผู้ปกครองที่เป็นชาติพันธุ์ไท ประการที่สาม ตำนานสร้างโลกของคนไทเกือบทุกกลุ่มสอดแทรกเนื้อหาเรื่องปู่-ย่า หรือแถนสอนให้คนไททำนาปลูกข้าว เป็นหลักฐานที่ทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมข้าวเป็นสิ่งที่เป็นแก่นและอยู่คู่กับวัฒนธรรมของคนไทมาตั้งแต่ดั้งเดิม ประการที่สี่ ตำนานของกลุ่มลาว ไทดำ ไทขาวสะท้อนวิถีชีวิตและปริบททางสังคมที่คนไทต้องสัมพันธ์กับคนชาติพันธุ์อื่น ๆ จึงอธิบายกำเนิดมนุษย์ในลักษณะที่เป็นพี่น้องกับคนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ออกมาจากน้ำเต้าเดียวกัน อย่างไรก็ตามตำนานก็สะท้อนระบบคิดที่จำแนกคนไท-ลาว ออกจากคนชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่เป็นข่า ขมุ ลาว แกว ฮ่อ ในแง่นี้ตำนานจึงเป็นสิ่งสะท้อนเอกลักษณ์ชาติพันธุ์ไทว่า "ไท" ต่างจากคนชาติพันธุ์อื่นอย่างไรด้วย

จากการวิเคราะห์บริเวณที่มีการกระจุกตัวอย่างหนาแน่นของตำนานสร้างโลกทั้ง ๓ แบบ เรื่องหลักพบว่า บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางกินอาณาเขตตั้งแต่ตอนใต้ของจีน ตอนเหนือของไทย ตอนเหนือของลาวเป็น "ชุมทาง" ที่เป็นแหล่งปะทะสังสรรค์ของชนชาติไทหลายกลุ่ม แม้บริเวณดังกล่าวอาจจะไม่ใช่แหล่งกำเนิดของคนไท แต่หลักฐานจากตำนานสร้างโลกบอกเราว่าเป็นชุมทางวัฒนธรรมแหล่งสำคัญของชนชาติไทที่สามารถศึกษาประวัติศาสตร์ ร่องรอยของวัฒนธรรมดั้งเดิม ตลอดจนพัฒนาการทางวัฒนธรรมความคิด ความเชื่อของคนไท

จากบทคัดย่อรายงานการวิจัยเรื่อง การวิเคราะห์ตำนานสร้างโลกของคนไท An analysis of the creation myths of the Tai speaking peoples โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ศิราพร ณ ถลาง

http://cuir.car.chula.ac.th/bitstream/123456789/2744/3/Siriporn%28tai%29.pdf