เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: Koratian ที่ 08 ก.ค. 19, 01:56



กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 08 ก.ค. 19, 01:56
  
     ๒๑๕ ๏ อาภาอาภาษเพี้ยง     เพ็ญพักตร์
     อกกํ่ากรมทรวงถอน           ถอดไส้
     ดวงศรีจุฬาลักษณ์          เฉลิมโลก กูเอย
     เดือนใหม่มามาได้          โศกสมร ฯ

         โคลงทวาทศมาส

           ๏ นพมาศนามแม่นี้   เดิมมา
      โปรดเปลี่ยนศรีจุฬา    ลักษณล้ำ
      อุดดมรูปปรีชา            ชาญยิ่ง นแม่
      หญิงภพใดจักก้ำ    กว่านี้ ฤๅมี

         ตำหรับนางนพมาศซึ่งเปนท้าวศรีจุฬาลักษณ์

เร็วๆนี้ เมื่อผมได้มีโอกาศอ่านเรื่องนางนพมาศ
จากหอสมุดวชิรญาณhttps://vajirayana.org (https://vajirayana.org)
ได้พบข้อมูลที่น่าสนใจ อาจมีประโยชน์ที่นำมาแบ่งปันในที่นี้

ถ้าเราเปลี่ยนให้ "สมเด็จพระร่วงเจ้า" เป็น "สมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน" หรือ "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" และเปลี่ยน "กรุงพระมหานครศุโขไทยราชธานีบูรีรมย์สถาน" เป็น "กรุงพระมหานครศรีอยุธยาราชธานีบูรีรมย์สถาน" รวมทั้งตัดข้อความส่วนที่ชัดเจนว่ามีผู้แต่งแทรกเข้ามาในสมัยรัตนโกสินทร์

จะเห็นร่องรอยว่า นางนพมาศเกิดในสมัยพระเจ้าปราสาททอง
ดังจะได้อธิบายต่อไป


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 08 ก.ค. 19, 02:34

ในคำนำเรื่องนางนพมาศนี้ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายในคำนำของหนังสือว่า

"เมื่อสำนวนหนังสือเห็นได้ว่าเปนหนังสือครั้งกรุงรัตนโกสินทร ด้วยเหตุต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้ประการ ๑ ยังซ้ำหนังสือเรื่องนี้ฉบับที่ข้าพเจ้าเคยได้พบมาแต่ก่อน ล้วนเปนฉบับที่ผู้ร้ายในทางหนังสือ ได้แทรกแซงแปลงปลอมเสียจนเลอะเทอะด้วยอิกประการ ๑ ข้าพเจ้าจึงมิได้มีความนิยมต่อหนังสือเรื่องนางนพมาศ จนถึงได้นำความกราบบังคมทูล ฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในที่ชุมนุมโบราณคดีสโมสร ว่าข้าพเจ้าไม่เชื่อหนังสือเรื่องนี้ว่าเปนหนังสือของนางนพมาศจริงดังอ้างไว้ในตัวเรื่อง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายว่า หนังสือ​เรื่องนี้ได้เคยทอดพระเนตรฉบับหลวง แต่ถึงฉบับหลวงก็เปนหนังสือแต่งใหม่ในชั้นกรุงรัตนโกสินทร อย่างข้าพเจ้าคิดเห็นนั้นเปนแน่ไม่มีที่สงไสย แต่ท่านผู้ศึกษาโบราณคดีแต่ก่อนมา มีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแลกรมหลวงวงษาธิราชสนิทเปนต้น ทรงนับถือหนังสือเรื่องนี้อยู่ ชะรอยเรื่องเดิมเขาจะมีอยู่บ้าง แต่ฉบับเดิมจะบกพร่องวิปลาศขาดหายไปอย่างไร จึงมีผู้ใดในชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้แต่งใหม่ โดยตั้งใจจะปฏิสังขรณ์ให้เรียบร้อย แต่ผู้แต่งนั้นเผลอไป มิได้พิเคราะห์ความจริงเท็จในทางพงษาวดารอย่างเรานิยมกันทุกวันนี้ แต่งแต่จะให้ไพเราะเพราะพริ้ง เรียงลงไปตามความที่รู้ที่มีอยู่ในเวลาแต่งหนังสือ เรื่องหนังสือจึงวิปลาสไป"

"ข้าพเจ้าจึงเอามาอ่านพิจารณาดูโดยถ้วนถี่เมื่อในรัชกาลปัตยุบันนี้ เมื่ออ่านตลอดเรื่องแล้ว คิดเห็นความจริงงามจะเปนอย่างกระแสพระราชวิจารณ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ หนังสือเรื่องนี้ของเดิมเขาจะมีจริง เพราะลักษณพิธีของพราหมณ์ที่กล่าวไว้ในหนังสือเรื่องนี้ โดยมากเปนตำราพิธีจริงแลเปนพิธีอย่างเก่า อาจจะใช้เปนแบบแผนก่อนครั้งกรุงศรีอยุทธยา ไม่ใช่เรื่องที่ผู้ใดจะมาคิดปลอมขึ้นใหม่ได้ทั้งหมด ดีร้ายหนังสือเรื่องนางนพมาศนี้ของเดิมจะมาในจำพวกหนังสือตำราพราหมณ์ ซึ่งเขียนด้วยตัวหนังสือพราหมณ์เปนภาษาไทย หนังสือจำพวกนี้แม้ในหอพระสมุดวชิรญาณทุกวันนี้ก็มีอยู่บ้าง หนังสือเรื่องนางนพมาศ ถ้ามาโดยทางตำราพราหมณ์ฉบับเดิมจะขาด ๆ วิ่น ๆ อยู่อย่างไร จึงมีผู้มาแต่งขึ้นใหม่ เมื่อรัชกาลที่ ๒ หรือที่ ๓ ในกรุงรัตนโกสินทร์ดังกล่าวมาแล้ว"

ในชั้นนี้ขอเชิญท่านผู้สนใจที่ได้อ่านต้นฉบับจากหอสมุดวชิรญาณ
แล้วพิจารณาดูว่า เรื่องนางนพมาศในปัจจุบัน มีส่วนใดที่เป็น "แบบแผน...ครั้งกรุงศรีอยุทธยา"
ส่วนใดที่เป็น "เรื่องที่ผู้ใดจะมาคิดปลอมขึ้นใหม่"

ในชั้นแรกนี้ผมจะได้เรียนให้พิจารณาว่า นางนพมาศตามท้องเรื่องนี้เกี่ยวพันกับกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 08 ก.ค. 19, 02:50

เริ่มจากพิจารณาพระเจ้าแผ่นดิน และ เมืองที่ท่านครองอยู่

   " ๏ แต่นี้จะพึงกล่าวสรรเสริญพระเกรียดิยศสมเด็จพระร่วงเจ้า อันถวัลยราชไอศูรย์สมบัดติ เปนบรมกษัตรอันประเสริฐ ปราบดาภิเศกเสวยราชกรุงพระมหานครศุโขไทยราชธานีบูรีรมย์สถาน เปนปิ่นอาณาประชาราษฎรชาวชนบทนิคมคามสยามประเทศทั้งมวน มีเมืองขึ้นออกเอกโทตรีจัตวาช่วงเมืองกึงเมือง แผ่ผ้านพระราชอาชญาอาณาเขตรขอบขัณฑสีมากว้างขวางนับด้วยโยชน์ยิ่งกว่าร้อย มั่งคั่งไปด้วยสมณชีพราหมณ์ชนประชาชายหญิงอยู่เปนภูมลำเนาติดต่อกันไปโดยระยะย่านบ้านเมือง สร้างสมสวนผลไม้ไร่นาแลที่ทำกินต่าง ๆ เปนผาศุกสบายทั่วทุกหน้า ปราศจากพาลไภยอันตรายมีโจรเปนต้น แล้วก็งามไปด้วยหมู่ลูกค้าพานิชจีนจามแขกฝรั่ง อเนกนานาประเทศภาษาต่าง ๆ ตั้งตึกเตี้ยมบ้านเรือนโรงร้านพ่วงแพเปนถ้องแถวตามวิถีสถลมารค ซื้อขายสรรพสิ่งของเครื่องทองเงินแก้วเก้าเนาวรัตน์อลังกาภรณ์ ทั้งพรรณผ้านุ่งห่มควรแก่บุรุษสัตรีมีหลายอย่าง ผ้าสุพรรณพัตร ผ้าลิขิต​พัสตร์ ผ้าจินะกะพัตร ผ้าตะเลงพัตร ผ้าเทวะครี ผ้ารัตครี ผ้าเจตครี แลพรรณภาชนะเครื่องใช้สอยต่าง ๆ อันควรกับตระกูลทั้งสิบตระกูล ก็มีซื้อขายแก่กันเปนอันมากกว่ามาก บริบูรณ์ไปด้วยโภชนามัจฉะมังษาผลาหารของพึงจะบริโภคโอชารศอันมีมาแต่ประเทศต่าง ๆ ก็ซื้อขายเต็มไปในท้องตลาดพิศาลทุกแห่งทุกตำบล บันดาลูกค้าพานิชในประเทศก็ดี นอกประเทศก็คี ที่ไปมาค้าขายณะจังหวัดแว่นแคว้นกรุงเทพฯพระมหานครศุโขไทยราชธานีนั้น ย่อมบันทุกสินค้าไปมาด้วยสลุปกำปั่นเภตราสัดจอง เกวียนโคเกวียนกระบืออานช้างอานอูฐ ต่างม้าต่างฬ่อต่างฬา เรือถ่อเรือพายเรือแจวเรือกันเชียงเรือแล่นเรือโล้ บ้างก็ไปบ้างก็มาทุกฤดูเดือนมิได้ขาด อันไพร่ฟ้าประชาชาวนิคมคามทั่วแว่นแคว้นเมืองขึ้นออกก็ดี แลในราชธานีก็ดี ย่อมนับกันเปนตระกูลประพฤติตามโปราณาจาริย์สืบ ๆ ต่อมา"

เลือกพิจารณาข้อมูลดังนี้
1. พระเจ้าแผ่นดิน ทรงปราบดาภิเศกเสวยราช
2. ทรงปกครองสยามประเทศ มีเมืองขึ้นออก เอก โท ตรี จัตวา
3. เมืองมั่งคั่ง คนอยู่หนาแน่น มีเรือกสวนไร่นา มีหมู่ลุกค้าวานิช จีน จาม แขก ฝรั่ง
4. ตั้งตึกเตี้ยมบ้านเรือนโรงร้านพ่วงแพเปนถ้องแถวตามวิถีสถลมารค
5. มีการค้าทางบก ทางน้ำ ทางทะเล มีกำปั่น สำเภา เรือพาย เรือแจว เกวียน ช้าง ม้า



กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 08 ก.ค. 19, 03:06

"หมู่มนุษย์ก็ประกอบไปด้วยสติปัญญาโดยมาก ต่างร่ำเรียนสรรพวิชชาต่าง ๆ ฝ่ายทหารก็เรียนรู้ศิลปะสารทเพลงอาวุธ คือวิชชาช้างม้ากระบี่กระบองโล่ดั้งดาบสั้นดาบยาวกฤชกั้นหยั่นโตมรศรกำทราบปืนไฟใหญ่น้อย มวยปล้ำตำหรับตำราพิไชยยุทธ์เวทมนตร์คงกพันธ์ชำนิชำนาญเปนอันดี บันดาพวกพ่อค้าเรือนก็ต่างเล่าเรียนคำภีร์ไตรเพทไตรวิชชา คือกลบทกลกลอนทำนุกนิ์ทำเนียบอักขะระอักษรครุลหุสูตรกรณฑ์สูตรฉวาง ตำหรับโหราสาตรทักษาพยากรณ์สมผุษอินทพาดบาทจันทร์สารำ อาจรู้จักรราษีดาราฤกษนพเคราะห์สุริยะคราธจันทรคราธโดยพิศดาร บ้างก็เรียนรู้เวชชกรรม คือโอสถแพทย์สำพันธแพทย์เนตรแพทย์วรรณะโรคแพทย์อาคมะ​แพทย์อุรุคะแพทย์ บางพวกก็เรียนวิชชาเปนช่างสุวรรณหิรัญรัตน์ วัฒกีวาคเขียนแกะจำหลักปั้นกลึงหล่อหลอมสรรพวิชชาช่างต่าง ๆ ชำนิชำนาญโดยมาก ฝ่ายสัตรีก็ต่างร่ำเรียนวิชชาช่างสุวรรณลายแล่นเลขาแกะปั้นปักทอร้อยกรองเย็บย้อมเปนที่ทำกิน เกษมศุขทุกทั่วหน้า นรชาติชายหญิงบ้างก็เล่นพนันทายบุตรในครรภ์ว่าจะเปนหญิงหรือชาย เล่นโคชนโคเกวียนคนแล่นรอบแล่นธงคลีช้างคลีม้าคลีคนเปนตามนักขัตตะฤกษ์ บ้างก็เล่นระเบงปี่ระเบงกลองฟ้อนแพนขับพิณดุริยางคบันเลงเพลงร้องหนังรำระบำโคม ทุกวันคืนมิได้ขาด เอิกเกริกไปด้วยสำเนียงนิกรประชา เสสรวลสำรวลเล่นแลซื้อขายจ่ายแจก จนราษราตรีมัชฌิมยามจึงค่อยสงัดเสียง"

6. อาวุธทหารมี ช้างม้า...ปืนไฟใหญ่น้อย


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 08 ก.ค. 19, 03:14

"แล้วก็รุ่งเรืองไปด้วยพระบวรพุทธสาสนา รตนัตยาธิคุณอันเปนนิยานิกะธรรม อาจนำสัตว์ให้พ้นจากวัฏทุกข์ ถึงซึ่งสวรรค์นิพพานด้วยเนื้อนาบุญ แลในจังหวัดพระนครก็ดี แขวงเมืองขึ้นออกทั่วนิคมคามก็ดี พื้นภูมิภาคปรถพีย่อมแน่นเนื่องไปด้วยมหาอาวาศสังฆารามใหญ่น้อยนับบมิถ้วน เปนราชอารามก็มี ขัตติยารามก็มี คะหะบดีรามก็มี กูละประชารามก็มี มีวัดหน้าพระธาตุราชบุรณะเปนต้น แลพระราชอารามหลวงแลพระอารามต่าง ๆ ซึ่งไพศาลกว้างใหญ่นั้น ย่อมประดับไปด้วยไม้พระมหาโพธิแลพระวิหารการเปรียญ พระมหาสถูปเจดีย์สูงใหญ่ยิ่งกว่าร้อยศอก แล้วก็ล้อมด้วยพระวิหารยาว มณฑปทิศสถูปรายแวดวงด้วยเสาไต้ไพที่ซุ้มทวาร มีศาลารายเปนระยะตามขอบ​กำแพงชั้นนอก เปนที่ประชุมบรรสัษย์ ซึ่งไปกระทำสักการบูชา ดูเดียรดาษเยียดยัดไปด้วยเสนาศนะกุฎีสงฆ์ กล้วนกระทำด้วยอิฐปูนเปนหมู่เปนแถว มีทั้งที่จงกรมที่สบายกลางคืนกลางวันหอฉันหอปริตหอสัทธรรมมณเฑียรโรงควงโรงกรักโรงน้ำร้อนน้ำเย็นซุ้มน้ำสรงน้ำชำระเท้า ส้วมสระบ่อตระพานข้ามคูคันคะณะปักเสาหงษ์ธงปะฎากปลูกพรรณไม้ดอกผลร่มรื่นพื้นลานลาดด้วยแผ่นศิลาเลี่ยนสอาดตา มีพระอุโบสถสังฆกรรมผูกพัทธสีมาไว้ในระวางบริเวณคณะสงฆ์ กว้างยาวยี่สิบห้าห้องวิจิตรไปด้วยซุ้มทวารบานประตูหน้าต่าง ฝาผนังพิดานดอกอัจกลับวาดเขียนล้วนลายสุวรรณ์ เปนรูปเทพอินทร์พรหมอสุรครุธนาคแลเครื่องพญาศักะมันธาตุราช พญามหาสุทัศน์จักรพรรดิราชาธิราชเปนต้น อันว่าเจดียถานแลเครื่องประดับพระอารามทั้งมวลเปนที่สุดจนศาลาแลตระพาน ก็อร่ามไปด้วยแสงสุวรรณเลขาลวดลายจิตรกรรมลดากรรม ห้อยย้อยพนมพวงแก้วประทีปแก้วแสงประภัศร ควรจะทอดทัศนายิ่งนัก แลเชิงอัฒจันท์บันไดนั้น ก็กระทำด้วยศิลาลายมีรูปไกรสรคชสีห์คชินทรพาชี โตสิงห์อสุรเสี้ยวกางกินนร ล้วนหล่อด้วยทองประสม บ้างก็ทำด้วยศิลาวางไว้เปนคู่ ๆ ทุก ๆ ทวารเข้าออก หนึ่งโสดควรจะอัศจรรย์ด้วยพระพุทธปฏิมากร ซึ่งประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ แลพระวิหารใหญ่น้อยอันเปนที่สักการะบูชา ทั่วไปทุกพระอารามย่อมหล่อด้วยตามพะโลหะ พระพุทธรูปเปนประธานนั้น หน้าสมาธิกว้างยี่สิบศอกก็มี สิบหกศอกก็มี สิบสองศอกก็มี ยิ่งหย่อนอยู่ในระหว่างนี้ก็มี แลพระพุทธสถารศ​สูงสี่สิบแปดศอกก็มี หย่อนลงมาในระหว่างจนสิบสองศอกก็มี อันพระพุทธปฏิมากรใหญ่ ๆ ดั่งกล่าวนี้มีเปนหลายพระองค์ แลพระพุทธรูปน้อย ๆ กับพระอรหันตรูปนั้น ย่อมมีเปนอันมากกว่ามากเหลือที่จะนับจะประมาณ บางพระองค์ก็หล่อด้วยตามพะโลหะ บางพระองค์ก็กระทำด้วยศิลาทั้งแท่ง ล้วนแต่งามด้วยพระพุทธลักษณะ แล้วก็ย่อมไปด้วยสุวรรณแปดน้ำ รัศมีรุ่งเรืองสถิตย์บัลลังก์ทอง ควรจะเปนที่เลื่อมใสศรัทธาแก่ผู้ได้นมัศการ อนึ่ง อันว่าพระกูลบุตรพุทธชิโนรสสังฆรัตนะ คามวาสีอรัญญวาสีสิ้นทั้งมวน ล้วนแต่ปฏิบัติตามพระวิไนยบัญญัติประเสริฐด้วยศีละคุณ ธุดงคคุณ กิจจะสมณคุณ ต่างเล่าเรียนคันถธุระวิปัศนาธุระ ที่มีพระวรรษาอายุเปนพระมหาเถรท่านรอบรู้ในข้อวัตประฏิบัติก็ได้เปนพระอุปัชฌาย์อำจารย์สั่งสอนภิกษุสามเณร มีอันเตวาสิกสัทธิงวิหาริกนับด้วยสิบด้วยร้อยเปนเจ้าหมู่เจ้าคณะ พระภิกษุบางพระองค์ก็ทรงจำไว้ได้ ซึ่งพระองค์คัมภีร์พระวิไนยปิฎกคัมภีร์หนึ่งบ้าง สองคัมภีร์บ้าง สี่ห้าพระคัมภีร์ก็มีบ้าง บางพระองค์ก็ทรงไว้ซึ่งพระสุตตันตระปิฎกสี่สิบห้าสิบพระสูตร ร้อยพระสูตร ยิ่งกว่าร้อยพระสูตรก็มีบ้าง บ้างก็ทรงไว้ได้ซึ่งพระอภิธรรมปิฎกนับด้วยสิบภาณวารบ้าง ยิ่งกว่าร้อยภาณวารบ้าง บางพระภิกษุก็เปนพระวินัยธร บางพระภิกษุก็เปนพระธรรมกถึก สำแดงพระสัทธรรมเทศนาไพเราะห์ อาจยังน้ำจิตรบรรสัษย์ให้มีประสาทโสมนัศศรัทธา ยิ่งขึ้นไปได้ร้อยเท่าพันทะวี บันดากุลบุตรในตระกูลทั้งปวง ก็ออกบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธสาสนาเปนอันมากทุก​เดือนบีมิได้ขาด"

7. เมืองพุทธศาสนารุ่งเรืองมีวัดวาอารามเป็นจำนวนมาก
8. มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่หลายองค์
9. มีสงฆ์ฝ่ายคามวาสี และ อรัญวาสี


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 08 ก.ค. 19, 03:26

"อันกรุงพระมหานครศุโขไทยราชธานี บูรีรัตนนั้นกว้างใหญ่ไพศาล มีแม่น้ำรอบเมือง ป้อมกำแพงเชิงเทินซุ้มทวารบานประตู แน่นหนาสูงตระหง่าน อาจกันเสียซึ่งข้าศึกศัตรู มีปืนใหญ่วางประจำช่องสีมา ทหารรักษาอยู่โดยรอบ มีคลองน้ำลำหลอดก็หลายสาย ทำตระพานช้างช่องเรือเดินสามช่องบ้างสี่ช่องบ้าง ตามคลองกว้าง​แลแคบ ประดับด้วยตึกกว้านบ้านเรือนราชบุรุษคะหะบดี แลรั้ววังลูกหลวงหลานหลวงราชตระกูล ติดเนื่องกันไปเต็มทั้งฝ่ายในพระนคร มีโรงช้างโรงม้าโรงรถโรงเรือรบฉางเข้าฉางเกลือ คลังลูก คลังดิน คลังส่วย คลังการเรือนตรุเรือนตะราง เรือนไชยเภรีย์ จวนกลาง จวนประจำกอง จวนทวารเวียง สถานพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง มีศาลหลวงกระทรวงความ ศาลหน้าพระกาล ลานสนามหลวงสำหรับประลองช้างม้า ซ้อมหัดนิกรทวยหาญให้ชำนิชำนาญในการศึกสงคราม อันพระราชนิเวศวังสถานนั้น มีปราการป้อมประตู ชั้นในชั้นนอก ประดับด้วยสิบสองพระคลัง มีพระคลังเงินทองแก้วเก้าเนาวรัตน พระคลังสรรพพรรณผ้า เครืองอุปโภคบริโภคเปนต้น มีจวนสนามมาตยา จวนประจำเวร จวนประจำซอง ทิมแถวทิมท้องฉนวน ทิมองครักษ์ ตึกตำแหน่งพระเครื่องต้น เครื่องพระอภิรมย์ เครื่องราชูปโภค ตึกตำแหน่งช้างต้นม้าต้น ราชยานราเชนท์ โรงปืนใหญ่ปืนยาว มีตำแหน่งชื่อเสียง หนักร้อยหาบ สองร้อยหาบ ห้าร้อยหาบ พันหาบก็มี อันปรางคปราสาทราชมณเฑียรสถานเปนที่สมเด็จพระร่วงเจ้า เสด็จทรงสถิตย์อยู่นั้นมีจตุรมุขสี่ด้าน ๆ หน้านั้นมีพระที่นั่งมุขกระสัน ติดเนื่องกันกับสนามมาตยาหน้ามุขเด็จ ขนานนามเรียกว่าพระที่นั่งอินทราภิเศก มีโรงระบำอยู่กลางฉะลาหน้าพระลาน วงด้วยไพทีบริสุทธิ์ ย้อมน้ำมันทองคู ประดับด้วยของทรงประพาศต่าง ๆ มีไม้ดัดปลูกกะถางทองเปนต้น ฝ่ายขวาพระที่นั่งอินทราภิเศกมีมรฎปปะริตอาคม ฝ่ายซ้ายมรฎปอิศวรอาคม แลหน้ามุขปรางค​ปราสาท ซ้ายขวาสองด้านนั้นเปนที่ข้างในเบื้องขวา มีมณเฑียรปฏิมามรฎป ฝ่ายซ้ายมีมณเฑียรเทพย์ปิตรมรฎป มุขหลังปรางคปราสาทนั้น มีมุขกระสันติดเนื่องกันกับพระราชมณเฑียรทั้งสองสถาน จึ่งขนานนามเรียกว่าพระที่นังอดิเรกภิรมย์ พระที่นังอุดดมราชศักดิ์ เบื้องขวามีหอพระนารายน์ เบื้องซ้ายมีหอพระเทวกรรม์ แล้วก็มีพระปรัสทั้งสองเปนลำดับต่อพระที่นั่งพระปรัสขวา ขนานนามเรียกว่ารัตนนารีมณเฑียร พระปรัสซ้ายเรียกว่าศรีอับษรมณเฑียร มีจวนเครื่องจวนคลังจวนชาวแม่ประจำเวรตึกตำแหน่งพระสนมเอก ลูกหลวงหลานหลวงราชตระกูล นักสนมกำนัลนางบำเรอห์เปนหมู่เปนแถวตามท้องสถลมารคร้อยยี่สิบสาย หน้าตึกมีจวนเย็นสำหรับนั่งร้อยกรองวาดเขียนขับร้องเล่น เปนที่สบายทุกตำแหน่งนางใน มีทิมรายทิมรอบ จ่าชาประจำซองรักษาด้านทางกระท่อมไพรใช้งานขาดการกวาดถนนหนทางเปนต้น มีเรือนจำสำหรับพระสนมกำนัล ต้องพระไอยการมิควรจะส่งราชมัน แลมีทางท้องพระฉนวนอยู่สี่พระฉนวน ๆ หนึ่งออกวัดหน้าพระธาตุ ฉนวนหนึ่งออกพระเทวะสถาน ฉนวนหนึ่งออกพระที่นั่งไชยชุมพล เปนที่ทอดพระเนตรการพระราชพิธีแลแห่แหน ฉนวนหนึ่งลงพระที่นั่งชลพิมาน เปนที่สบายเมื่อเทศกาลฤดูน้ำ"

10. เมืองมีแม่น้ำล้อมรอบ มีกำแพงเมือง ป้อมเชิงเทิน
11. มีคู คลองหลายสาย มีสะพานช้างข้าม มีบ้านเรือนหนาแน่น  
12. พระราชวังมีป้อม กำแพง ประตู  
13. พระเจ้าแผ่นดินประทับปราสาทจตุรมุข
14.  มีสนามหน้าวัง วังติดวัด ติดแม่น้ำ
 


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 08 ก.ค. 19, 03:32

"๏ ข้าพระองค์ผู้ชื่อศรีจุฬาลักษณ์ น้อมเศียรศิโรตม์กราบถวายบังคมพระบาทบรมนารถบรมบพิตรสมเด็จพระร่วงเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณแก่ไพร่พ้าข้าแผ่นดินเหลือที่จะบรรยาย พระองค์ย่อมทรงซึ่งทศพิธราชธรรมมีน้ำพระไทยเมตตากรุณา กอบไปด้วยพระปัญญาสอดส่องในราชกิจการบ้านเมือง หยั่งเห็นศุขทุกข์ของอาณาประชาราษฎรทั่วทั้งขอบขัณฑสีมา มิได้เรียกร้องส่วยสาอากรให้เหลือเกิน ชุบเลี้ยงท้าวพระยาข้าเฝ้าฝ่ายทหารพลเรือน แลผู้รั้งเมือง ครองเมืองเอกโทตรีจัตวา บรรดาข้าราชบุรุษทุกกระทรวงพนักงานโดยฝีมือแลความคิด ​ถ้าผู้ใดมีความชอบก็สักการะรางวัลให้ถึงขนาด แม้กระทำความผิดก็ลดหย่อนผ่อนโทษให้เบาลง บำรุงรักษพระราชบุตรพระราชธิดาพระบรมวงษานุวงษ์ให้บริบูรณ์ด้วยศฤงคารบริวารยศ ทั้งพระอรรคมเหสีพระสนมกำนัลก็พระราชทาน เครื่องอลังกาภรณ์ แลเครื่องอุปโภคบริโภคตามยศถาศักดิ์มิให้อนาทร เปนที่สุดจนจ่าชาคนใช้ประจำการ ก็ได้ผ้านุ่งห่มเงินประจำขวบปี ทั่วทุกตัวคนตามสมควร แล้วก็ทรงพระมหากรุณามีพระราชโอวาทสั่งสอน พระบรมวงษาข้าเฝ้าฝ่ายนอกแลฝ่ายใน มิให้ผู้ใดเกียจคร้านกระทำทุจจริตประพฤติน้ำใจพาล สันดานโลภเบียดเบียฬไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้ได้ความเดือดร้อน หนึ่งโสดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชศรัทธา ทำนุบำรุงพระบวรพุทธสาสนาให้ถาวรวัฒนารุ่งเรือง ด้วยเอาน้ำพระทัยใส่ในการพระราชกุศลต่างๆ บริจาคพระราชทรัพย์แจกจ่ายสักการะบูชาพระรัตนไตรย เปนอาวาศทาน เปนธรรมทาน เปนนิจจะภัตรทาน เปนสังฆทาน บุคคะลิกทาน เปนนิจจะนิรันตรทุกวันคืนเดือนปีมิได้ขาด ทรงสถาปะนาพระมหาเถรเจ้าผู้รู้ธรรมโดยยิ่ง ขึ้นสู่ที่สมเด็จพระสังฆราชามะหาคะณิศร เปนประธานคามะวาสีอรัญญวาสีอธิบดีสงฆ์ ทั้งเจ้ามหาคณะโดยลำดับ สถาปะนานามบัญญัติเถรมุนี ฝ่ายคันถธุระ วิปัศนาธุระ ถวายจตุปัจจัยเปนไวยาวัจกร แลทรงขอโอกาศเผดียงแก่พระภิกษุสามเณรทั่วไป ให้บอกกล่าวเล่าเรียนธุระทั้งสอง อันเปนอายุพระพุทธสาสนามิให้เสื่อมทราม แล้วก็ชี้ชวนราชบริษัท​ชายหญิงให้ยินดีในศีลทานการกุศล ซึ่งเปนผลประโยชน์ในชั่วนี้ชั่วหน้า อนึ่งพระองค์ทรงสักการะ แก่พราหมณ์ผู้ประพฤติพรหมพรตพิธี ด้วยพระราชทานรางวัลแลการคารวะมิได้ลบหลู่ดูแคลน ย่อมดำรัสไต่ถามซึ่งเหตุแลใช่เหตุ อันจะพึงมีกับบ้านเมืองโดยนิมิตรต่าง ๆ แลมีพระกมลสันดานกอบไปด้วยอนิจจะลักษณ ทรงสงเคราะห์แก่คนชราพยาธิอะนาถาหาญาติมิได้ด้วยพระราชทรัพย์ ให้มีอาหารบริโภคแลผ้านุ่งห่มทั่วทั้งพระราชอาณาเขตร กับโปรดพระราชทานอไภยแก่ชีวิตรสัตว์ ห้ามมิให้ผู้ใดฆ่าช้างม้าโคกระบืออันเปนของมีคุณกับมนุษย์เปนอันขาดทีเดียว เดชะผลอานิสงส์ ซึ่งทรงสร้างสมกองการพระราชกุศลต่าง ๆ เปนทฤษฐธรรมเวทนีย์ บันดาลให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระจำเริญศุขสวัสดิ เสวยศิริสมบัติบริบูรณ ด้วยพระโชคลาภต่าง ๆ มีกุญชรเสวตรแลสุวรรณหิรัญรัตน์ แล้วก็รุ่งเรืองพระเกียรติยศ มีพระเดชเดชานุภาพแผ่ผ่านไปในอเนกนา ๆ ประเทศทั้งปวง มีแต่พระนครเปนมหามิตรไมตรี จะได้มีเมืองเปนข้าศึกศัตรูนั้นหามิได้ กรุงพระมหานครศุโขไทยราชธานีก็มีแต่ความเกษมศุข ประดุจเทพยนครก็ปานกัน อันว่าพระบรมวงษาภิมุขมาตยาข้าทูลธุลีพระบาทฝ่ายหน้าฝ่ายใน แลสมณชีพราหมณ์ลูกค้าพานิชราษฎรประชาชายหญิงไพร่พ้าข้าแผ่นดินสิ้นทั้งมวน ต่างมีกมลจิตรสวามิภักดิ์สร้องสาธุการ สรรเสริญพระเดชพระคุณอวยไชยถวายพร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงพระจำเริญศุขสิ้นกาลทุก​เมื่อ แลข้าพระองค์ผู้ชื่อศรีจุฬาลักษณ์ มิได้กล่าวความบรรยายว่าสมเด็จพระร่วงเจ้าจะเปนสมมุติวงษ์แลราชอสัมภินนะวงษ์ดั่งฤๅ พระอรรคมเหษีทั้งสองพระองค์นั้นจะเปนประยูรวงษ์ดั่งฤๅ จะมีพระราชโอรสชายหญิงมากแลน้อยเปนดั่งฤา แลพระบารมีบุญฤทธิศักดาเดชย่อมอัศจรรย์ในโลกย์เปนดั่งฤๅนั้น ด้วยเหตุเห็นว่านักปราชญผู้มีปัญญาท่านกล่าวพิศดารไว้แล้ว ถ้าผู้ใดจะใครรู้ใคร่ฟังจงไปเสาวนาในตำหรับจามเทวีวงษ์โน้นเทอญ ข้าพระองค์พึงใจจะกล่าวแต่ที่เปนความสวัสดิจำเริญ แก่สัตรีภาพทั้งปวงโดยเอกเทศให้พิศดาร ๚ะ"

15. พระเจ้าแผ่นดินมีอัครมเหสีสองพระองค์


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 08 ก.ค. 19, 03:42

ต่อไปนี้เป็นใจความสำคัญ


"๏ เบื้องหน้าแต่นี้จะพึงพรรณาโดยอุปนิไสยสมบัติ ซึ่งข้าน้อยได้สร้างสมกองการกุศลมาแต่อดีตชาติ จึงตกแต่งรูปศิริวิลาศให้เปนที่จำเริญตา ทั้งได้กำเนิดในตระกูลวงษ์อันสูงศักดิ์บริบูรณ์ด้วยสมบัติ และศฤงคารบริวารยศกอบไปด้วยสติปัญญา ว่าจะกล่าวคำสุภาสิตตั้งตำหรับ สหายเทวีวงษ์ไว้ในสยามประเทศ ให้จฤฐิติกาลอยู่ในโลกย์ได้ชั่วฟ้าแลดิน อันว่าบิดามารดาข้าน้อยนี้เปนตระกูลพราหมณมหาศาลชาติเวรามเหศร์ ทั้งวงษาคณาญาติก็มีเปนอันมาก นามบิดาชื่อโชตะรัตน์มารดาชื่อเรวะดี สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินชุบย้อมบิดาข้าน้อยนี้เปนพระมหาปะโรหิต ตำแหน่งนามนั้นออกพระศรีมโหสถ ยศกมเลศครรไลยหงษ์ พงษ์มหาพฤฒาจาริย์ มีเกียรติยศยิ่งกว่านักปราชญราชบัณฑิตย์ทั้งปวง ได้บังคับบัญชากิจการตกแต่งพระนคร มีทำการพระราชพิธีสิบสองเดือน เปนต้น ​แลเมื่อข้าน้อยนี้ปฏิสนธิในครรภ์มารดา ๆ นิมิตรฝันว่า ได้เยี่ยมบัญชรพระเจ้าแผ่นดินชมแสงพระจันทร์อยู่จนตื่น บิดาฝันว่าพรรณดอกไม้ต่าง ๆ แย้มบานเกษรใช่ฤดูการ หอมกลิ่นรวยรื่นไปทั่วทั้งจังหวัดพระนคร เหตุนิมิตรดั่งนี้ท่านทั้งสองก็ได้ทำนายไว้ ว่าจะได้บุตรเปนธิดา จะมีบุญพาศนาพร้อมด้วยสติปัญญาแลเกียรติยศเปนที่พึ่งแก่วงษ์ญาติได้เปนแท้ วันข้าคลอดจากครรภ์มารดา พื้นอากาศก็ปราศจากเมฆ พระจันทร์ก็ทรงกลดแสงประภัศร รัศมีขาวเจือสีเหลืองอ่อน เสวยฤกษบุษยะวันเพ็ญเดือนสามปีชวดสัปตศกจันทะวาระดฤถี ซึ่งมีในกำหนดศักราชไว้ในที่นี้ ด้วยปีนั้นยังใช้โบราณศักราช สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินยังหาได้ลบศักราชตั้งตยุลศักราชขึ้นใหม่ไม่ ประการหนึ่งหมู่ญาติสัมพันธมิตรต่างมีน้ำใจเบิกบาน บ้างก็นำมาซึ่งดอกไม้ทอง สนอบเกล้าทอง จุธาทอง ประวิชทอง กุณฑลทอง ธุรำทอง วะไลยทอง ของเจ็ดสิ่งเฉลิมขวัญข้าน้อยนี้โดยมากกว่าของทั้งปวง พระศรีมโหสถผู้บิดาเห็นเปนมงคลนิมิตร ประกอบกับลักษณข้าน้อยอันมีฉวีวรรณเรื่อเหลือง ประดุจฉะโลมลูบด้วยแป้งสารภีทั่วทั้งกะรัชกาย จึ่งให้นามกรข้าน้อยนี้ชื่อนพมาศ แล้วหยิบยกเอาสุวรรณแปดน้ำร้อยตำลึงออกให้เปนของโลมขวัญ ทั้งท่านให้อาราธนาพระมหาเถรานุเถรแปดสิบพระองค์ เชิญพระพุทธปฏิมากรมาประดิษฐานเปนประธาน นิมนต์พระมหาเถรเจ้า จำเริญพระมงคลสูตร พระรัตนสูตร พระมหา​สมัยสูตร ถ้วนคำรบเจ็ดวันเจ็ดครั้ง เพื่อจะให้เปนสวัสดิมงคลแก่ข้าน้อยนี้ แล้วท่านให้อัญเชิญพระครูพรหมพรตพิธีกับหมู่พราหมณาจารย์หกสิบคน ล้วนแต่ชำนาญในไตรเพทมาประชุมกันตั้งพระเทวะรูปประจำทิศทำการพิธีระงับสรรพไภย พิธีไชยมงคลสิ้นสามทิวาราตรีถ้วนสามครั้ง ท่านถวายไทยธรรมแก่พระมหาเถรเจ้าให้บริบูรณ์ด้วยไตรจีวรสมณบริขารกับปิยะการก สิ้นทุก ๆ พระองค์ สักการะหมู่พราหมณ์ด้วยทรัพย์อันเปนแก่นสารก็พอเพียง แล้วท่านอุทิศส่วนกุศลให้อุปถัมภ์บำรุงข้าน้อย ผู้เปนบุตรให้เจริญชนมายุมีความศุขปราศจากโรคันต์อันตรายต่าง ๆ สิ้นกาลทุกเมื่อ อันผู้สำหรับอภิบาลบำเรอเลี้ยงข้าน้อยนี้ บิดามารดาท่านเลือกสรร เอาแต่คนมีศีลาจาระวัต ทั้งฉลาดในการวิชชาช่างต่าง ๆ ให้พิทักษ์รักษาอยู่เปนนิตย์ จนข้าน้อยค่อยจำเริญรู้พูดรู้เล่น หมู่ชนซึ่งเปนผู้เลี้ยง จะได้ให้เล่นสิ่งนั้น ๆ เหมือนเด็กทั้งหลายหามิได้ สอนให้เล่นแต่ร้อยกรองวาดเขียน แลชวนพูดเปนกลบทกลกลอนเจือด้วยคำสุภาสิตทุกวันคืน จนข้าน้อยมีชนมายุศม์ได้เจ็ดขวบ พระศรีมโหสถผู้บิดาก็ให้เล่าเรียนอักษรสยามพากย์ แลอักษรสังสกฤต ได้ชำนิชำนาญ แล้วจึ่งให้เรียนพระพุทธวัจนะพอรู้ศัพท์รู้แปลตามกลประโยคที่ตื้น ๆ แล้วท่านก็ให้เรียนคัมภีร์ไตรเพท ให้รู้ลักษณะเอกโทตรีจัตวากากะบาททัณฑฆาฎไต่คู้ สศษไม้ม้วนไม้มลายประวิสัญชนีฝนทองฟองดันนฤคหิต ทีฆะรัสสะสิถิลธนิตครุละหุอักขระสระพยัญชะนะ เห็นรู้จะแจ้ง​เจนใจเปนอันดี แล้วจึ่งสอนให้แต่งกลบทกลกลอน กาพย์โคลงฉันทลิลิตไว้วางถ้อยคำสำนวนตามคะตินักปราชญ์ ทั้งท่านให้เรียนคัมภีร์ไตรวิชชาตามตำหรับโหราสาตร สอนให้ดูดาวนพเคราะห์นักขัตฤกษ์จนรู้ลักษณะทายร้ายแลดี ๚ะ"

16. นางนพมาศเกิดในตระกูลพราหมณ์ เป็นธิดาของพระศรีมโหสถ ปุโรหิตในพระราชสำนัก
17. นางนพมาศเกิด วันเพ็ญเดือนสามปีชวดสัปตศก
18. นางนพมาศเกิดก่อนที่พระเจ้าแผ่นดินจะลบศักราช


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 08 ก.ค. 19, 04:00

"เจ้าอย่ามีความประมาทนะแม่ผู้เปนที่รักของมารดา ประการหนึ่งอันพระมหาราชเทพีก็ควรหมู่พระสนมกำนัลจะฝากตัวกลัวเกรง ด้วยว่าเปนใหญ่อยู่ในพระราชนิเวศวังสถาน ได้บัญชากิจราชการสิ้นเสร็จ เจ้าจงดูถ้าเห็นว่ามากไปด้วยฤษยาพยาบาทเคียดขึ้งหึงหวง มักเก็บถ้อยมาร้อยเปนความแล้ว เจ้าอย่าได้เอาตัวเข้าพัวพัน ให้เกิดกุลียุคขุ่นเคืองเบื้องบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเปนอันขาดทีเดียว ซึ่งมารดาให้โอวาทสั่งสอนแต่สิ่งละอันพันละน้อยนี้ ด้วยเห็นว่าเจ้ามีปัญญาเฉลียวฉลาดรอบคอบรู้ชอบผิดชั่วดีอยู่กับใจเจ้าแล้ว ข้าน้อยได้สดับก็มีความยินดีจึ่งคำนับรับคำสอนจำใส่ใจไว้มั่นคง ครั้นเพลารุ่งเช้าเปนวันสุกรเดือนสิบสองขึ้นสิบค่ำจุลศักราชปกปีมะโรงฉอศกถึงวาระกำหนดข้าน้อยจะจากเคหะสถานไปอยู่ในพระราชนิเวศเปนข้าบาทสมเด็จพระร่วงเจ้า แลข้าน้อยมีอายุสม์นับตามปีได้สิบเจ็ดตามเดือนได้สิบห้าปีกับแปดเดือนยี่สิบสี่วัน ในขณะเพลาเช้าวันนั้นเปนวาระมหาสิทธิโชคฤกษดี จึ่งท่านมารดาแลหมู่ญาติทั้งหลาย​ก็ตกแต่งกรัชกายให้ข้าน้อยตามตระกูลคะหะบดี เจือด้วยเพศพราหมณ์ คือให้ใส่ประวิชสอดสายธุหร่ำสร้อยอ่อนสามสาย ทัดจันทรจุฑามาศ แล้วข้าน้อยก็มาคำนับลาบิดรกับวงศาคะณาญาติโดยสัจเคารพ พระศรีมโหสถผู้เปนบิดาก็อวยไชยให้พรว่า เจ้าจงไปอยู่เปนข้าบาทให้ปราศจากไภยันตราย ทุกข์โศกโรคร้อนสรรพสิ่งมิดี อย่าได้บังเกิดมีแก่เจ้าสักขณะจิตรหนึ่งเลย จงมีความจำเริญศุขทุก ๆ อิริยาบถให้ยิ่งด้วยเกียรติยศไปชั่วกัลปาวสาน"

19. เมื่อเข้าวัง เป็นเดือนสิบสอง ปีมะโรง ฉอศก นางนพมาศอายุได้สิบห้าปีแปดเดือนยี่สิบสี่วัน

จาก 1-19
อาจสรุปได้ว่าเรื่องนางนพมาศอยู่ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง กรุงศรีอยุธยา
มีอายุในเกณฑ์ใกล้เคียงกับพระนารายณ์และพระเพทราชา


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ก.ค. 19, 07:59
เอกสารต้นเรื่อง   ;D

https://vajirayana.org/เรื่องนางนพมาศ-หรือ-ตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์-ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ/คำนำ (https://vajirayana.org/เรื่องนางนพมาศ-หรือ-ตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์-ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ/คำนำ)

https://vajirayana.org/เรื่องนางนพมาศ-หรือ-ตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์-ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ/ตำหรับนางนพมาศซึ่งเปนท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (https://vajirayana.org/เรื่องนางนพมาศ-หรือ-ตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์-ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ/ตำหรับนางนพมาศซึ่งเปนท้าวศรีจุฬาลักษณ์)


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 08 ก.ค. 19, 11:41

 "ข้าน้อยนพมาศได้ฟังพระราชบริหารแล้วก็ให้สดุ้งจิตรคิดกลัวแต่สังสารวัฏ แม้ชาติหน้าเกลือกจะไปเกิดเปนพระสนมกำนัลพระมหากษัตราธิราชเจ้าในภายภาคหน้า ก็จะต้องใกล้เคียงด้วยคนพาลสันดานลามก จึงอุสาหะสร้างกุศลปราถนาไปเกิดในเทวโลกย์อย่างเดียว ฯ แต่นี้ข้าน้อยจะบรรยายสหายดำนานสืบไป ในเมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าเสวยศิริราชสมบัติโดยยุติธรรม​ตามราชประเพณี ล่วงจุลศักราชไปได้สิบแปดปีโดยกำหนด ทรงสำราญภิรมย์ยินดีสโมสร พร้อมเพรียงด้วยหมู่พระสนมกำนัลและราชบริรักษ์ ทั้งประยูรวงษาฝ่ายหน้าฝ่ายในเปนบรมศุขอาณาประชาราษฎรปราศจากไภยอันตราย ราชสัตรูภายนอกภายในก็มิได้กำเริบให้เดือดร้อน มีแต่การบำเพ็ญพระราชกุศล ทรงศีลจำแนกทานบันเทิงพระกระมลหฤไทยในทางพระโพธิญาณทุกเช้าค่ำคืนวันเดือนปีเปนนิจนิรันดร อันตัวข้าน้อยนี้ก็มีความผาสุกด้วยพระคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาชุบเลี้ยง พระราชทานยศถาบันดาศักดิ์ให้งามหน้าบิดามารดา ทั้งใช้สอยกิจราชการใหญ่น้อยสนิทชิดชม เปนที่ไว้วางพระราชหฤไทยในพระราชดำริห์ทุกประการ แม้นจะมีที่เสด็จพระราชดำเนินแห่งดค จะค้างแรมใกล้ไกลกันดารแลมิกันดารก็ดี ข้าน้อยก็ได้โดยเสด็จทุกครั้งประดุจเกือกทอง หนึ่งเล่ายามเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมิสบายพระสกลกายด้วยเหตุกำเริบพระโรค ข้าน้อยก็ได้ถนอมบาทบงกชมาศบำเรอรัก โดยใจสวามิภักดิ์มิได้เปนกินเปนนอนผ่อนสบาย ตั้งใจทำราชกิจจะได้คิดแก่ลำบากยากเหนื่อยแต่สักขณะจิตรหนึ่งก็หามิได้ ใช่ข้าน้อยนพมาศจะแกล้งกล่าวไว้อวดอ้างนรชาติซึ่งเกิดภายหลัง ผู้ใดอย่าพึงสงไสย อันความจงรักภักดีของข้าน้อยนี้ ควรจะเปนแบบอย่างไปได้ในแผ่นดินชั่วกลปาวะสาน ๚ะ"


20. พระเจ้าแผ่นดินทรงประชวร เมื่อล่วงจุลศักราชได้สิบแปดปี
      พระเจ้าปราสาททอง สวรรคต จ.ศ. ๑๐๑๗ ย่างสิบแปดปี หลังจากประกาศตัดศักราช


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 19, 13:31
เรื่องนางนพมาศ ดิฉันเชื่อว่าแต่งสมัยรัตนโกสินทร์   แต่อาจมีเค้าของเดิมอยู่เป็นพื้นฐานอย่างคุณคนโคราชว่า
อย่างไรก็ตาม  สำนวนภาษานั้นไม่เก่าถึงสมัยพระเจ้าปราสาททองค่ะ    เป็นภาษาสมัยต้นรัตนโกสินทร์นี่เอง


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 10 ก.ค. 19, 15:14

คำนวณวัดเกิดนางนพมาศ

   “วันข้าคลอดจากครรภ์มารดา พื้นอากาศก็ปราศจากเมฆ พระจันทร์ก็ทรงกลดแสงประภัศร รัศมีขาวเจือสีเหลืองอ่อน เสวยฤกษบุษยะ วันเพ็ญเดือนสาม ปีชวด สัปตศก จันทะวาระดฤถี ซึ่งมีในกำหนดศักราชไว้ในที่นี้ ด้วยปีนั้นยังใช้โบราณศักราช สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินยังหาได้ลบศักราชตั้งตยุลศักราชขึ้นใหม่ไม่ ประการหนึ่งหมู่ญาติสัมพันธมิตรต่างมีน้ำใจเบิกบาน บ้างก็นำมาซึ่งดอกไม้ทอง สนอบเกล้าทอง จุธาทอง ประวิชทอง กุณฑลทอง ธุรำทอง วะไลยทอง ของเจ็ดสิ่งเฉลิมขวัญข้าน้อยนี้โดยมากกว่าของทั้งปวง พระศรีมโหสถผู้บิดาเห็นเปนมงคลนิมิตร ประกอบกับลักษณข้าน้อยอันมีฉวีวรรณเรื่อเหลือง ประดุจฉะโลมลูบด้วยแป้งสารภีทั่วทั้งกะรัชกาย จึ่งให้นามกรข้าน้อยนี้ชื่อนพมาศ”
ตำนานนางนพมาศ

นางนพมาศเกิดปีชวด วันเพ็ญ ขึ้นสิบห้าค่ำเดือนสาม คืนวันจันทร์ ก่อนปีลบศักราช
เมื่อเทียบกับพงศาวดาร จัดวางได้ที่เดียวเท่านั้น ในปีชวด จ.ศ. ๙๙๘

A.D.    จุลศักราช   ปีนักษัตร   เหตุการณ์
1630     ๙๙๒   มะเมีย      พระเจ้าปราสาททองปราบดาภิเศก
1631     ๙๙๓   มะแม      แรกสร้างปราสาทนครหลวง
1632     ๙๙๔   วอก      สร้างมหาปราสาทจักรวรรดิไพชยนต์   พระนารายณ์ประสูตร  โสกันต์เจ้าฟ้าชัย
1633     ๙๙๕   ระกา      บูรณะพระปรางค์วัดมหาธาตุ สร้างทาง นมัสการพระพุทธบาท
1635     ๙๙๗   กุน      พระราชทานเพลิงพระเจ้าลูกเธอ
1636     ๙๙๘   ชวด      ขยายกำแพงพระราชวัง ซ่อมพระที่นั่ง พระนารายณ์ ๕ พรรษา   *นางนพมาศเกิด
1637     ๙๙๙   ฉลู      พระอาทิตยวงศ์เป็นกบฏ
1638     ๑๐๐๐   ขาล      ลบศักราช เอากุนเป็นสัมฤทธิ์ศก
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ

คำนวณได้ตรงกับวันจันทร์ที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1637  และเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง จริงครับ
ผู้แต่งเลือกวันได้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง และสอดคล้องกับพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งทำได้ยาก 


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 10 ก.ค. 19, 15:34

คำนวณวันนางนพมาสเข้าวัง

"ครั้นเพลารุ่งเช้าเปน วันสุกร เดือนสิบสอง ขึ้นสิบค่ำ จุลศักราชปก ปีมะโรง ฉอศก ถึงวาระกำหนดข้าน้อยจะจากเคหะสถานไปอยู่ในพระราชนิเวศเปนข้าบาทสมเด็จพระร่วงเจ้า แลข้าน้อยมีอายุสม์ นับตามปีได้สิบเจ็ด ตามเดือนได้สิบห้าปีกับแปดเดือนยี่สิบสี่วัน ในขณะเพลาเช้าวันนั้นเปนวาระมหาสิทธิโชคฤกษดี"
ตำนานนางนพมาศ

นางนพมาส เกิดปีชวด เข้าวังปีมะโรง นับตามปีได้สิบเจ็ดปีย่างจริง
เกิด ปีชวด สิบสองค่ำเดือนสาม เข้าวังปีมะโรง ขึ้นสิบค่ำ เดือนสิบสอง นับตามเดือนได้สิบห้าปี แปดเดือน ยี่สิบสี่วัน ไม่มีปัญหา
จัดวางปีนางนพมาศเข้าวังได้เป็น ปีมะโรง จ.ศ. ๑๐๑๔

A.D.    จุลศักราช   ปีนักษัตร     เหตุการณ์
1636     ๙๙๘   ชวด         พระนารายณ์ ๕ พรรษา  * นางนพมาศเกิด
1637     ๙๙๙   ฉลู        พระอาทิตยวงศ์เป็นกบฏ
1638     ๑๐๐๐   ขาล        ลบศักราช เอากุนเป็นสัมฤทธิ์ศก
1640   ๑๐๐๒   มะโรง        รับทูตพม่า
1641     ๑๐๐๓   มะเส็ง        ฟ้าผ่าพระที่นั่ง พระนารายณ์ไม่เป็นอันตราย  กำปั่นเข้ามาค้าขาย
1643     ๑๐๐๕   มะแม        พระโหราทำนาย  ซ่อมพระที่นั่งวิหารสมเด็จ
1644     ๑๐๐๖   วอก        ไพร่ฟ้าเป็นสุข
1652     ๑๐๑๔   มะโรง                           * นางนพมาศเข้าวัง
1655     ๑๐๑๗   มะแม        พระเจ้าปราสาททองประชวร สวรรคต
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ

คำนวณวันนางนพมาศเข้าวังได้เป็น วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1652 (ขึ้น ๘ ค่ำ ขาดไป ๒ วาร)
ตรงกับ  พุทธศักราช ๒๑๙๖ ฉอศก

เรื่องนี้ปลอมกันได้ยากครับ


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 10 ก.ค. 19, 16:43

จารึกแผ่นทองแดงวัดไชยวัฒนาราม https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/634 (https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/634)

ศุภมัสดุ พุทธศักราช ๒๑๙๒ มหาศักราช (๑)๕๗  วันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ คํ่า  จอ โทศก  แรกสถาปนา



กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 10 ก.ค. 19, 18:29

เพิ่มเติมครับ

Julian calendar : Monday 30 January 1637
Gregorian calendar :Monday 9 February 1637


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 10 ก.ค. 19, 22:34

"วันข้าคลอดจากครรภ์มารดา พื้นอากาศก็ปราศจากเมฆ พระจันทร์ก็ทรงกลดแสงประภัศร รัศมีขาวเจือสีเหลืองอ่อน เสวยฤกษบุษยะ"

ตรวจสอบตำแหน่งพระจันทร์ Monday 9 February 1637 (Gregorian)
Credit : Stellarium 0.19.1

พระจันทร์เต็มดวง วิ่งเลยปุษยะฤกษ์มาแล้วและกำลังจะเข้ามาฆะฤกษ์
(วันที่ 8 ยังเสวยปุษยะฤกษ์อยู่แต่ดิถีไม่เต็มดวง ขึ้น ๑๔ ค่ำ)
สังเกตว่า ในยุคนั้นไม่ได้กล่าวถึงพิธีมาฆะบูชาในวันเพ็ญเดือนสาม


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 10 ก.ค. 19, 23:06

"พระจันทร์ก็ทรงกลดแสงประภัศร รัศมีขาวเจือสีเหลืองอ่อน (4) เสวยฤกษบุษยะ (2) วันเพ็ญเดือนสาม (3) ปีชวด (5) สัปตศก (1) จันทะวาระดฤถี ซึ่งมีในกำหนดศักราชไว้ในที่นี้ ด้วยปีนั้นยังใช้โบราณศักราช"

หลักฐานยืนยันว่า (1) จันทะวาระดฤถี (2)  วันเพ็ญเดือนสาม (3) ปีชวด (4) เสวยฤกษบุษยะ
คือ
Monday 30 January 1637 (Julian) หรือ Monday 9 February 1637 (Gregorian)

เหลือปัญหา
ก.  สัปตศก ตามโบราณศักราช คืออะไร ยังไม่แน่ชัด
     ปีดังกล่าวเป็นปีที่ 7 ของรัชกาล และเข้าสู่ ค.ศ. 1637
     จะเป็นศักราชจุฬามณีก็เหลื่อมไป 1 ปี

ข.   เมื่อนางนพมาศอายุน้อยกว่าพระนารายณ์ 4-5 ปี
      อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นบุคคลเดียวกันกับท้าวศรีจุฬาลักษณ์น้องสาวของพระเพทราชา 
      หรือสนับสนุนว่าพระเพทราชาเกิดอยู่ในตระกูลพราหมณ์

สองเรื่องนี้ฝากให้ท่านพิจารณากันต่อไปครับ



กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 ก.ค. 19, 11:49
สัปตศกคือปีที่จุลศักราชลงท้ายด้วย 7 ครับ เป็นระบบบันทึกปีแบบไทย จะใช้ร่วมกับการระบุปีนักษัตร มีที่มาจากระบบกิ่งฟ้าก้านดินที่จีนใช้แต่โบราณ ลองหากระทู้เรื่องปีหนไทยดูนะครับ

ผมเห็นว่าเรื่องนี้เหมือนเป็นร่องรอยที่ผู้นิพนธ์เรื่องนี้เจตนาทิ้งไว้ให้คนอ่าน เพราะไม่ใช่แค่ปีชวด จ.ศ. 998 จะไม่ใส่สัปตศก แต่สัปตศกไม่มีทางจะเป็นปีชวดไปได้ ต้องเป็นปีที่ลงด้วยเลขคู่ จะเป็น ฉศก หรืออัฐศก อย่างนั้นได้ครับ

เรื่องนี้คนรุ่นหลังอ่านแล้วอาจจะไม่รู้สึกผิดสังเกต แต่ผมคิดว่าคนสมัยก่อนที่คุ้นเคยกับระบบนี้ ไม่ว่าคนแต่งหรือคนคัดลอกหรือแม้แต่คนอ่านต้องเห็นทันทีว่าเป็นเรื่องผิดปกติ คนแต่งน่าจะตั้งใจบอกว่านี่คือเรื่องแต่งเหนือจริงครับ


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 11 ก.ค. 19, 14:44

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าสัปตศกตืออะไรครับ ปัญหาคือ"โบราณศักราช"ที่ว่า คือศักราชอะไร
ชัดเจนว่าไม่ได้หมายถึง จุลศักราชแน่ๆ (ลองดูความเห็น 12 ครับ)

จารึกแผ่นทองแดงวัดไชยวัฒนาราม ก็เขียนว่า ปีจอ โทศก ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าหมายถึงอะไร
ปีจอเลขคี่ ก่อนหน้านั้นเป็นโทศก ตาม พ.ศ.ไม่ได้ครับ

เรื่องวันเดือนปี เหตุการณ์ดาราศาสตร์จริงและ สอดคล้องกับพงศาวดารอยุธยา
แต่งในสมัย ร.๒ ถึง ร.๓ ได้ยากครับ
เรารู้ว่า เหตุการณ์สมัยพระเจ้าปราสาททองเชื่อถือได้เมื่อเทียบกับวันวลิตและหลักฐานอื่นๆ

ถ้าเป็นเรื่องแต่งล้วนๆ ผู้แต่งรู้ได้อย่างไรว่าวันจันทร์ วันเพ็ญเดือนสาม ปีชวดนั้นพระจันทร์เต็มดวง
ต้องตั้งใจแต่งมากๆ แต่สิ่งที่เติมเข้ามาจับได้ง่ายมากว่าปลอมชัดเจนครับ


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ค. 19, 15:29
ถ้าเป็นเรื่องแต่งล้วนๆ ผู้แต่งรู้ได้อย่างไรว่าวันจันทร์ วันเพ็ญเดือนสาม ปีชวดนั้นพระจันทร์เต็มดวง

วันเพ็ญ พระจันทร์ย่อมเต็มดวงเป็นธรรมดา  ;D


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 11 ก.ค. 19, 15:41
 ;D
ถูกต้องครับ​แต่จะพิสูจน์อย่างไรว่าเป็นวันเพ็ญจริง
วันขึ้นสิบห้าค่ำพระจันทร์ไม่เต็มดวงบ่อยๆนะครับ

วันขึ้นสิบห้าค่ำ​เดือนสิบสอง​ ปีที่นางนพมาศเข้าวังนี่พระจันทร์​เต็มดวงไหมครับ


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 11 ก.ค. 19, 16:18

คำถามที่ง่ายกว่าครับ
ให้หาวันขึ้น​สิบห้าค่ำเดือนสามปีชวดที่เป็นวันจันทร์​  มีวันไหนบ้างครับ


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 ก.ค. 19, 16:44
ศกในปีหนไทยไม่เกี่ยวกับ พ.ศ.แต่อย่างใด อ่านกระทู้นี้ก่อนดีกว่าครับ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2192.0


ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าสัปตศกตืออะไรครับ ปัญหาคือ"โบราณศักราช"ที่ว่า คือศักราชอะไร
ชัดเจนว่าไม่ได้หมายถึง จุลศักราชแน่ๆ (ลองดูความเห็น 12 ครับ)

จารึกแผ่นทองแดงวัดไชยวัฒนาราม ก็เขียนว่า ปีจอ โทศก ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าหมายถึงอะไร
ปีจอเลขคี่ ก่อนหน้านั้นเป็นโทศก ตาม พ.ศ.ไม่ได้ครับ

เรื่องวันเดือนปี เหตุการณ์ดาราศาสตร์จริงและ สอดคล้องกับพงศาวดารอยุธยา
แต่งในสมัย ร.๒ ถึง ร.๓ ได้ยากครับ
เรารู้ว่า เหตุการณ์สมัยพระเจ้าปราสาททองเชื่อถือได้เมื่อเทียบกับวันวลิตและหลักฐานอื่นๆ

ถ้าเป็นเรื่องแต่งล้วนๆ ผู้แต่งรู้ได้อย่างไรว่าวันจันทร์ วันเพ็ญเดือนสาม ปีชวดนั้นพระจันทร์เต็มดวง
ต้องตั้งใจแต่งมากๆ แต่สิ่งที่เติมเข้ามาจับได้ง่ายมากว่าปลอมชัดเจนครับ



กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 ก.ค. 19, 16:55

คำถามที่ง่ายกว่าครับ
ให้หาวันขึ้น​สิบห้าค่ำเดือนสามปีชวดที่เป็นวันจันทร์​  มีวันไหนบ้างครับ


ปีชวด มีทุก 12 ปี วันเพ็ญเดือน 3 มีโอกาสเป็นวันจันทร์ 1/7 ดังนั้นปีชวดที่มีวันเพ็ญเดือนสามเป็นวันจันทร์ก็จะพบได้ทุกๆ 84 ปี

หากเป็นปีที่เป็นสัปตศก โอกาสที่จะเป็นวันจันทร์ก็เป็น 1/70

เหมือนโอกาสจะน้อย แต่นับย้อนหลังไปในอดีตก็เรียกได้ว่าจะจับไปเข้ายุคไหนก็ได้ทั้งนั้นแหละครับ


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 ก.ค. 19, 17:09
ผมเปิดปฏิทินย้อนหลังได้ผลดังนี้ครับ

จ.ศ. 998 ปีชวด อัฐศก วันขึ้น 15 ค่ำเดือนสาม เป็นวันศุกร์

จ.ศ. 997 ปีกุน สัปตศก วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 เป็นวันอาทิตย์

ไม่ใช่วันจันทร์ครับ


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 11 ก.ค. 19, 22:00
ผมเปิดปฏิทินย้อนหลังได้ผลดังนี้ครับ

จ.ศ. 998 ปีชวด อัฐศก วันขึ้น 15 ค่ำเดือนสาม เป็นวันศุกร์

จ.ศ. 997 ปีกุน สัปตศก วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 เป็นวันอาทิตย์

ไม่ใช่วันจันทร์ครับ

ตกลงมีไหมครับที่เป็นวันจันทร์​
ลองหามาสักวันแล้วจับคู่กับพระเจ้าแผ่นดินที่ลบศักราช​ มียุคไหนครับ
ผมยืนยันว่าคำนวณแล้วเป็นวันจันทร์
วัฒนธรรมอินโด​ ยูโรเปียนใช้วันเดียวกันทั้งโลก
วันจันทร์ที่ยุโรป​ ตรงกับวันจันทร์ที่สยาม
เรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันอยู่แล้ว

จารึกแผ่นทองคำวัดไชยวัฒนารามก็บอกอยู่ว่า​ โทศก พ.ศ.​ลงท้ายด้วย​ 2


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 11 ก.ค. 19, 23:03

ผมเข้าใจว่าเราใช้ตารางของท่าน อ.ทองเจือ​ อ่างแก้วเหมือนกัน​  
แต่ใช้การวางอธิกวารที่ต่างกัน

ไม่มีสูตรตายตัวครับว่าจะวางอธิกวารยังไง
จะบวก​ 1​ วัน​ หรือไม่บวก​ 1​ วันในปีนั้น
ให้ตรงกับตำแหน่งดาว

แต่วันจันทร์ไทย​ กับวันจันทร์ฝรั่งต้องเป็นวันเดียวกัน

ส่วนเรื่องปีหนไท​ กับ​ จุลศักราช​ และนักษัตร
ในสมัยอยุธยาไม่ได้เกี่ยวกันครับ
ปีนักษัตร​ กับ​ จุลศักราช​เปลี่ยนไม่พร้อมกัน​ไม่เกี่ยวกับปีหนไท


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 19, 08:39
ดิฉันขออ่านอย่างเดียวนะคะ
เรื่องนางนพมาศ อาจมีเค้าเดิมมาตั้งแต่อยุธยา แต่ตัวเรื่องนั้นแต่งสมัยรัตนโกสินทร์แน่นอนเพราะพูดถึงประเทศมะริกาด้วย
สำนวนภาษาก็อ่านเข้าใจได้   ถ้าเป็นสมัยพระเจ้าปราสาททอง ภาษาไทยไกลกว่าความเข้าใจของคนยุคนี้มากกว่า
กระทู้นี้ตั้งขึ้นจากสมมุติฐานว่า วันเดือนปีที่ระบุในเรื่องตรงกับความจริงทั้งหมด    ไม่ได้สมมุติขึ้นมา    จึงมีการหาว่าวันเดือนปีนั้นไปตรงกับสมัยไหน 
แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ว่าถ้าเป็นสมัยอยุธยาแล้วทำไมถึงเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่าพระร่วง     ในเมื่อคนแต่งรู้ละเอียด(อาจมีต้นฉบับเดิมอยู่ในมือ) ว่าวันเดือนปีในเรื่องมีวันไหนบ้าง  ทำไมถึงไม่มีข้อมูลว่าเป็นของกษัตริย์พระองค์ไหน

แต่ไม่ได้หมายความว่า ดิฉันหาว่าคำตอบของคุณคนโคราชผิด      เพียงแต่มีคำถามหลายคำถาม
ก็เลยยังสรุปไม่ได้
ขออ่านเงียบๆไปก่อนค่ะ


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 12 ก.ค. 19, 16:52
จารึกแผ่นทองคำวัดไชยวัฒนารามก็บอกอยู่ว่า​ โทศก พ.ศ.​ลงท้ายด้วย​ 2

น่าสนใจครับ ผมไปดูแล้วจารึกนี้มีเชิงอรรถเกี่ยวกับประเด็นนี้ดังนี้

๒. นวพรรณ ภัทรมูล : ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ได้กรุณาคำนวณเปรียบเทียบวันทางสุริยคติแล้วตรงกับวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๑๙๒ ยังอยู่ใน จ.ศ. ๑๐๑๑ ส่วนโทศกเรียกตามเลขท้ายของมหาศักราช ซึ่งเคยปรากฏใช้มาแล้วในจารึกวัดพระเสด็จ พ.ศ. ๒๐๖๘


ผมไม่แน่ใจว่าเคยพบมีการใช้อย่างนี้ในที่อื่นอีกหรือไม่ ถ้าไม่มี อาจกล่าวได้ว่ามีหลักฐานเพียงสองแห่งเท่านั้นที่ใช้ตาม ม.ศ. น้อย แต่ในเมื่อจารึกวัดไชยฯอยู่ร่วมสมัยกับสมมติฐานของคุณ Koratian ดังนั้นคงตัดไปเฉยๆโดยไม่พิจารณาไม่ได้

หากสัปตศกมาจาก ม.ศ. (พ.ศ. ไม่ต้องพิจารณา เพราะเลขท้ายตรงกับ ม.ศ. ส่วนศักราชอื่นๆนั้นเกินกว่าความรับรู้ครับ) สัปตศกที่ใกล้ที่สุดก็จะตรงกับ จ.ศ. ๙๙๖

ปัญหาคือ จ.ศ.๙๙๖ ไม่ใช่ปีชวดอยู่ดีครับ ต้องย้อนไปอีก 10 ปี เป็นปีชวด จ.ศ. ๙๘๖ ครับ


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 12 ก.ค. 19, 17:14
 :)

Note​ :  พ.ศ.​ 2192   ตรงกับ​ จ.ศ.​ 1010  ครับ
เชิงอรรถคลาดเคลื่อนเล็กน้อย​ กรมศิลป์ผิดพลาดได้ครับ


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 12 ก.ค. 19, 17:53

ศักราช ๙๙๘ ปีชวด  ในตารางเทียบวันเถลิงศกในปีใกล้เคียงกันนั้นสลับไปมาระหว่าง 30-31 March
ตามปีปฏิทินจูเลียน เลือกวันต่างกันทำให้วันเลื่อนได้ 1 วัน อีกอย่างคือการวางอธิกมารทำให้วันเลื่อนได้อีก 1 วัน
ทุกปีโหรท่านต้องปรับปฏิทินให้ตรงกัน

ท่านว่าให้คำนวณวันทางจันทรคติก่อนแล้วเทียบกับวันสุริยคติ และดูตำแหน่งดาวตามจริงแล้วปรับให้ตรงกัน

ถ้าเปิดปฏิทินสำเร็จรูป ได้ ศักราช ๙๙๘ ปีชวด วันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนสามเป็นวันอาทิตย์
ผมคำนวณ (นับวัน) ว่า ศักราช ๙๙๘ ปีชวด วันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนสามเป็นวันจันทร์ ต่างกัน 1 วัน
Monday 30 January 1637 (Julian calendar) เป็นวันพระจันทร์เต็มดวง ดังนั้นวันที่ถูกควรเป็นวันจันทร์ไม่ใช่วันอาทิตย์ครับ  


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 12 ก.ค. 19, 18:23

โจทย์เลขเป็นอย่างนี้ครับ
1. วันเกิดนางนพมาศ เป็นวันจันทร์ ขึ้นสิบห้าค่ำเดือนสาม ปีชวด และพระจันทร์เต็มดวง
2. พระราชา ขึ้นครองราชย์โดยปราบดาภิเษก เป็นผู้ลบศักราช และ ป่วยในปีที่สิบแปดนับจากปีตัดศักราช
3. นางนพมาศเกิดก่อนการลบศักราช
4. นางนพมาศเข้าวัง หลังลบศักราช ปีมะโรง วันศุกร์ ขึ้นสิบค่ำ เดือนสิบสอง มีอายุนับปีได้สิบเจ็ดปี

สัปตศกกับฉอศก อาจละไว้ก่อนเพราะจะมีผลจากการลบศักราช ตัดปี หรือเลิกใช้ศักราช

ข้อ 1. และ 4. บอกว่าปีชวดและปีมะโรง ต้องนับต่อกัน หนึ่งรอบกับห้าปี จึงจะได้สิบเจ็ดปี
ข้อ 2-3. พระราชาต้องครองราชย์ติดต่อกันมากกว่าสิบแปดปี
ข้อ 1. กำหนดว่าต้องมีปีชวด ก่อนปีขึ้นครองราชย์

ข้อกำหนด 1.-4. ทำให้เหลือพระราชาไม่กี่องค์ในสมัยสุโขทัยและอยุธยาที่จะต้องพิจารณา

พ่อขุนรามคำแหง มิได้ขึ้นครองราชย์โดยปราบดาภิเศก แต่อาจทรงตัดศักราช ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ
พระยาลิไทย ทรงปราบดาภิเศก ครองราชย์ตามเกณฑ์  และอาจทรงตัดหรือลบศักราช
พระราเมศวร ไม่ได้ตัดศักราช
พระไชยราชา พระเจ้าทรงธรรม ไม่ตามเกณฑ์
พระเจ้าปราสาททอง เป็นไปตามเกณฑ์
พระนารายณ์ ไม่ได้ตัดศักราช
พระเพทราชา พระเจ้าเสือ ไม่ตามเกณฑ์
พระเจ้าบรมโกศ ไม่ได้ตัดศักราช

ไปๆมาๆ เหลือพิจารณาอยู่สองแผ่นดิน พระยาลิไทย และพระเจ้าปราสาททอง
ยังไม่นับว่าภูมิสถานเมืองพระมหานครที่บรรยายในตำนานตรงกับกรุงศรีอยุธยา มากกว่ากรุงสุโขทัย

ถ้าผู้แต่งเติม คัดลอกตำราใหม่เชื่อว่าเป็นพระยาลิไทย
ท่านก็เติม "สมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน" เป็น "สมเด็จพระร่วงเจ้า"
เติม "กรุงพระมหานครราชธานี" เป็น "กรุงพระมหานครศุโขทัยราชธานี" ได้อย่างสะดวกใจครับ


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 12 ก.ค. 19, 18:41

ที่มา https://vajirayana.org/ (https://vajirayana.org/)

     เตภูมิกถา รตนตยปณามคาถา

     ชิโนรุณา วิภาเวนฺโต       เหมปาสาทปญญวา
     สทฺธาจลผลา พุทฺธํ        พาหุสจฺจธนาลโย
     กูปภูปนฺธยนฺโต โย        ราชา สุนุรนฺธชโก
     สุโขเทยฺยนรินฺทสฺส        ลิเทยฺโย นาม อตฺรโช
     อภิราโม มหาปญโญ       ธิติมา จ วิสารโท
     ทานสิลคุณุเปโต          มาตาปิตุภโรปิ จ
     ธมฺมธโร สกุสโล           สพฺพสตฺเถ จ สุปากโฏ
     อยํ ภูมิกถา นาม           รญญา เภเทน จ
     สชนาลยฺยธรมฺหิ           ถปิตา ทยภาสฺโต
     พุชฺฌิตุสาสนญเจว        สกฺกจฺจํ สพฺพโส สทา ๚๛



กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.ค. 19, 06:52
คาถานมัสการพระรัตนตรัย

พระราชาทรงพระนามว่า “พญาลิไทย” เป็นพระราชากล้าหาญ มีพระปรีชาแตกฉาน เป็นพระโอรสพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย (พญาเลอไทย) มีปัญญาผ่องใสไม่ติดขัด มีเรือนทรัพย์คือพาหุสัจจะ (ความเป็นพหูสูต) ทรงประกาศพระพุทธศาสนาด้วยศรัทธาไม่หวั่นไหว อันปราศจากความมืดมน เป็นพระราชาผู้เป็นนักปราชญ์ มีความรื่นรมย์ มีพระสติปัญญามั่นคง และองอาจยิ่ง เป็นพระราชาผู้ทรงธรรม (ทศพิธราชธรรม) บำเพ็ญทานและศีลเป็นคุณูปการ อุปถัมภ์เลี้ยงดูบุพการีคือมารดาและบิดา มีพระปรีชาสามารถปรากฏในสรรพศาสตร์ทั้งปวง พระองค์ผู้ทรงแตกฉาน มีพระประสงค์จะยกย่องเชิดชู พระ (พุทธ) ศาสนา ด้วยความเคารพตลอดกาลทุกเมื่อ จึงทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ (ไตร) ภูมิกถานี้ขึ้นไว้เป็นภาษาไทย ณ เมืองศรีสัชนาลัย

นายบุญเลิศ เลนานนท์ นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ ผู้แปล

https://vajirayana.org/ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ/คำแปล (https://vajirayana.org/ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ/คำแปล)


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 14 ก.ค. 19, 20:02

     อญ ศฺรีศรฺูยฺยพงฺศรามมหาธรฺมฺมราชาธิราช กฺสมาทาน ศีล
     ชา ตาบสเพส ไอเพฺนก พฺระสพรุณปรตฺิมา ดิปรดฺิสฺถา เล
     ราชมนฺทิร นา สฺดจ นมสฺการ บชาู สบ ไถฺง เลฺหย เทบ อญฺเชญ
     มหาสามิสงฺฆราชเถรานเถรุ  ภิกฺษุสงฺฆ โผง เถฺลง
     เล เหมปราสาทราชมน ฺทิร เทบ บฺวส ชา สามเนร ๐
     กาลนา นุบฺวส สฺวํศิล โนะ พฺระบาทกมฺรเดงอญ
     ศฺรีศรฺูยฺยพงฺศรามมหาธรฺมฺมราชาธิราช สฺดจ ฌร เถฺลง
     เลก อญฺชลุ ีนมสฺการ พฺระสพรุ ฺณปรตฺ ิมา นุพฺระปิฏกตฺรย
     ดิปรดบ ฺ ทกุ เล พฺระราชมนฺทิรนุมากสามิสิงฺฆราช
     อธิสฺถาน โระห เนะ นุผลบนุ ฺย ดิอญ บฺวส ด สาสน
     พฺระพทุ ฺธ กมฺรเดงอญ รุว เนะอญ พฺวํตฺฤษฺณาจกฺรพรฺตฺติสํบตฺติ
     อินฺทรสํบตฺติพฺรหฺมสํบตฺติอญ ตฺฤษฺณา สฺวํเลงอญ อํบาน ชา
     พฺระพทุ ฺธ บินํา สตฺว โผง โฉฺลง ไตฺรภพ เนะคะุ อธิษฺถาน
     โระโนะ เลฺหย เทบ โยก ไตฺรสรณาคม ๐ กฺสณ โนะ ไผฺท
     กโรม เนะ กเกฺรก สบ ทิษ อธิษฺถาน บฺวส เลฺหย เทบ
     ทฺรง พฺระจรด จะุ อํวิ สุพร ฺณปราสาท ฺ บาทจาร เทา ลฺวะ ด
     พฺระไพฺรสฺวาย นา เสฺดจ ปรดฺิษฺถา พฺระบาท จะุ ด ธรณิดล
     ปรฺถวิเนะ ปรกม ฺ ฺบิต วงั สบ ทิส โสด ด รฺณฺเณาจโนะ

จารึกวัดป่ามะม่วง


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ก.ค. 19, 21:17
คำแปล

(พระบาทกัมรเดง)อัญ ศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราชก็สมาทานศีลเป็นดาบสเพศ เฉพาะพระเนตรพระพุทธรูปทอง ที่ประดิษฐานอยู่บนพระราชมนเทียร และเสด็จไปนมัสการบูชาทุกวัน แล้วจึงอาราธนาพระมหาสามีสังฆราช พระเถรานุเถรภิกษุสงฆ์ทั้งหลายขึ้นบนปราสาทราชมณเทียรทอง จึงบวชเป็นสามเณร เมื่อเวลาจะออกบวชขอศีลนั้น พระบาทกัมรเดงอัญ ศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราชเสด็จยืนขึ้นยกอัญชลีนมัสการพระพุทธรูปทองและพระไตรปิฏกที่เก็บไว้บนพระราชมณเทียรกับพระมหาสามีสังฆราชทรงอธิษฐานอย่างนี้ว่า ผลบุญที่อาตมาบวชในศาสนาของพระพุทธ พระผู้เป็นเจ้าครั้งนี้ อาตมาไม่อยากได้จักรพรรดิสมบัติ อินทรสมบัติ พรหมสมบัติ อาตมาอยากขอมอบ อาตมาปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อนำสัตว์ทั้งปวงข้ามไตรภพนี้ ครั้นอธิษฐานอย่างนี้แล้ว จึงรับเอาไตรสรณาคมน์ขณะนั้น พื้นดินตอนล่างนี้ ก็หวั่นไหวทุกทิศ อธิษฐานบวชแล้ว จึงทรงเสด็จลงจากปราสาททอง บทจรไปถึงป่ามะม่วง เวลาที่เสด็จวางพระบาทลงบนพื้นธรณีแผ่นดินนี้ ก็หวั่นไหวไปทุกทิศ ส่วนในห้วงน้ำนั้น....

https://db.sac.or.th/inscriptions/uploads/file/sth3-wat-pa-mamuang-khmer-b-tr.pdf


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 14 ก.ค. 19, 22:50
 ;D เรื่องนี้น่าสนใจดีครับ


https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/130 (https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/130)

ศิลาจารึกหลักนี้ มีขนาดและลักษณะคล้ายคลึงกันกับศิลาที่จารึกด้วยอักษรเขมร แต่สั้นกว่า สูง ๑ เมตร ๑๕ ซม. กว้าง ๒๘ ซม. หนา ๒๙ ซม. ส่วนอักษรที่จารึกตัวอักษรไทยโบราณ ซึ่งใช้เมื่อครั้งเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี และความที่จารึกเป็นภาษาไทย เป็นเรื่องเดียวกันกับที่จารึกเป็นภาษาเขมร เชื่อได้ว่าหลักภาษาไทยนี้ จารึกพร้อมกับหลักศิลาที่จารึกเป็นภาษาเขมร หลักศิลานี้พระยาโบราณธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ได้ไปพบอยู่ที่วัดใหม่ (ปราสาททอง) อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สืบถามว่าใครได้มา แต่เมื่อใด ก็ไม่ได้ความ พระยาโบราณฯ จึงให้ย้ายมารักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานอยุธยา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จขึ้นไปทอดพระเนตร ทรงพยายามอ่านหนังสือซึ่งยังหลงเหลืออยู่ ได้ความว่าเป็นศิลาจารึกของพระธรรมราชฦาไทย คู่กับหลักภาษาเขมร ซึ่งอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คือ จารึกความอย่างเดียวกัน เป็นภาษาเขมรหลัก ๑ เป็นภาษาไทยหลัก ๑ เดิมคงตั้งไว้เป็นคู่กัน จึงตรัสสั่งให้ส่งศิลาจารึกนั้นลงมาไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ด้วยกันกับหลักภาษาเขมร ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้มาจากเมืองสุโขทัย ศิลาจารึกหลักนี้อยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามจนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ จึงย้ายมาไว้ที่หอพระสมุดฯ


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 14 ก.ค. 19, 23:56

ธรรมิกราช​    ปราสาททอง
มหาธรรมราชา​  ศรีธรรมาธิราช
ศรีสุริยพงษ์ราม​  ศรีสุริยวงศ์
ราชวงศ์สุโขทัย


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 18 ก.ค. 19, 11:48

"พระจันทร์ก็ทรงกลดแสงประภัศร รัศมีขาวเจือสีเหลืองอ่อน (4) เสวยฤกษบุษยะ (2) วันเพ็ญเดือนสาม (3) ปีชวด (5) สัปตศก (1) จันทะวาระดฤถี ซึ่งมีในกำหนดศักราชไว้ในที่นี้ ด้วยปีนั้นยังใช้โบราณศักราช"

หลักฐานยืนยันว่า (1) จันทะวาระดฤถี (2)  วันเพ็ญเดือนสาม (3) ปีชวด (4) เสวยฤกษบุษยะ
คือ
Monday 30 January 1637 (Julian) หรือ Monday 9 February 1637 (Gregorian)

เหลือปัญหา
ก.  สัปตศก ตามโบราณศักราช คืออะไร ยังไม่แน่ชัด
     ปีดังกล่าวเป็นปีที่ 7 ของรัชกาล และเข้าสู่ ค.ศ. 1637
     จะเป็นศักราชจุฬามณีก็เหลื่อมไป 1 ปี

ข.   เมื่อนางนพมาศอายุน้อยกว่าพระนารายณ์ 4-5 ปี
      อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นบุคคลเดียวกันกับท้าวศรีจุฬาลักษณ์น้องสาวของพระเพทราชา  
      หรือสนับสนุนว่าพระเพทราชาเกิดอยู่ในตระกูลพราหมณ์

สองเรื่องนี้ฝากให้ท่านพิจารณากันต่อไปครับ




ว่าด้วยโบราณศักราช

ตามตำนานสิงหวนวัติ เจ้าชายแห่งแคว้นมคธ กำเนิดเมื่อ อัญชนะศักราช ๑ เกิดก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ๑๔๘ ปี
เรียก "อัญชนะศักราช" ว่า "โบราณศักราช"

ถ้าให้นางนพมาศเกิด พ.ศ. ๒๑๘๐ คิดเป็น อัญชนะศักราช ๒๓๒ หรือเป็น สัปตศก ตามโบราณศักราช 

ตามตำนานนางนพมาศ พระราชา ตัดศักราช ยกเลิกโบราณศักราช
ตรงกับพระเจ้าปราสาททองใช้ พ.ศ. ในจารึกแผ่นทองแดง

ดังนั้น วันนางนพมาศเข้าวัง ปีมะโรง ฉอศก ตรงกับ พ.ศ. ๒๑๙
สอดคล้องกับตำนาน ธรรมิกราช ที่ยกเลิกจุลศักราช หันมาใช้พุทธศักราช


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 18 ก.ค. 19, 13:15

โจทย์เลขเป็นอย่างนี้ครับ
1. วันเกิดนางนพมาศ เป็นวันจันทร์ ขึ้นสิบห้าค่ำเดือนสาม ปีชวด และพระจันทร์เต็มดวง
2. พระราชา ขึ้นครองราชย์โดยปราบดาภิเษก เป็นผู้ลบศักราช และ ป่วยในปีที่สิบแปดนับจากปีตัดศักราช
3. นางนพมาศเกิดก่อนการลบศักราช
4. นางนพมาศเข้าวัง หลังลบศักราช ปีมะโรง วันศุกร์ ขึ้นสิบค่ำ เดือนสิบสอง มีอายุนับปีได้สิบเจ็ดปี

สัปตศกกับฉอศก อาจละไว้ก่อนเพราะจะมีผลจากการลบศักราช ตัดปี หรือเลิกใช้ศักราช

ข้อ 1. และ 4. บอกว่าปีชวดและปีมะโรง ต้องนับต่อกัน หนึ่งรอบกับห้าปี จึงจะได้สิบเจ็ดปี
ข้อ 2-3. พระราชาต้องครองราชย์ติดต่อกันมากกว่าสิบแปดปี
ข้อ 1. กำหนดว่าต้องมีปีชวด ก่อนปีขึ้นครองราชย์

ข้อกำหนด 1.-4. ทำให้เหลือพระราชาไม่กี่องค์ในสมัยสุโขทัยและอยุธยาที่จะต้องพิจารณา



แก้ไขครับ พิมพ์อธิบายโจทย์ไม่ถูกต้อง

โจทย์เลขเป็นอย่างนี้ครับ
1. วันเกิดนางนพมาศ เป็นวันจันทร์ ขึ้นสิบห้าค่ำเดือนสาม ปีชวด และพระจันทร์เต็มดวง
2. พระราชา ขึ้นครองราชย์โดยปราบดาภิเษก เป็นผู้ลบศักราช และ ป่วยในปีที่สิบแปดนับจากปีตัดศักราช
3. นางนพมาศเกิดก่อนการลบศักราช
4. นางนพมาศเข้าวัง หลังลบศักราช ปีมะโรง วันศุกร์ ขึ้นสิบค่ำ เดือนสิบสอง มีอายุนับปีได้สิบเจ็ดปี

ข้อ 1. และ 4. บอกว่าปีชวดและปีมะโรง ต้องนับต่อกัน หนึ่งรอบกับห้าปี จึงจะได้สิบเจ็ดปี
ข้อ 2-3. พระราชาต้องครองราชย์ติดต่อกันมากกว่าสิบแปดปี
ข้อ 1. กำหนดว่าต้องมีปีชวด หลังปีขึ้นครองราชย์ ก่อนปีตัดศักราช


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 25 ก.ค. 19, 11:38

นางนพมาศไม่เคยอ้างตัวว่าเป็นผู้ประดิษฐ์กระทงเป็นคนแรกในพิธีลอยกระทง

ตามที่บันทึกไว้ในตำนานนางนพมาศ
พระราชพิธีจองเปรียง วันเพ็ญเดือนสิบสอง ลอยกระทงมีมาก่อนแล้ว
นางนพมาศเป็นผู้ประดิษฐ์กระทงรูปดอกบัวที่ตกแต่งอย่างสวยงามและได้รับความนิยมต่อมา ไม่ใช่ผู้ประดิษฐ์กระทงเป็นคนแรก

"อยู่ได้ห้าวัน ภอถึงการพระราชพิธีจองเปรียงในวันเพ็ญเดือนสิบสอง เปนนักขัตฤกษ์ชักโคมลอยโคม บรรดาชนประชาชายหญิงต่างตกแต่งโคมชักโคมแขวนโคมลอยทุกตระกูลทั่วทั้งพระนคร แล้วก็ชวนกันเล่นมโหระสพสิ้นสามราตรีเปนเยี่ยงอย่าง แต่บรรดาข้าเฝ้าฝ่ายราชบุรุษนั้นต่างทำโคมประเทียบบริวารวิจิตรด้วยลวดลายวาดเขียนเปนรูปแลสันถานต่าง ๆ ประกวดกัน มาชักมาแขวนเปนระเบียบเรียบรายตามแนวโคมไชยเสา​ระหงตรงหน้าพระที่นั่งชลพิมาน ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงพระราชอุทิศสักการบูชาพระมหาเกษธาตุจุฬามณีในชั้นดาวดึงษ์ ฝ่ายพระสนมกำนัลก็ทำโคมลอยร้อยด้วยบุบผาชาติเปนรูปต่าง ๆ ประกวดกัน ถวายให้ทรงอุทิศบูชาพระบวรพุทธบาทซึ่งประดิษฐานยังนัมมทานที แลข้าน้อยก็กระทำโคมลอยคิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมพระสนมกำนัลทั้งปวง จึงเลือกผะกาเกสรศรีต่าง ๆ ประดับเปนรูปดอกกระมุทบานกลีบรับแสงพระจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนศรีสลับให้เปนลวดลาย แล้วก็เอาผลพฤกษาลดาชาติมาแกะจำหลักเปนรูปมยุระคะณานกวิหคหงษ์ ให้จับจิกเกสรบุบผชาติอยู่ตามกลีบดอกกระมุทเปนระเบียบเรียบเรียง วิจิตรไปด้วยศรีย้อมสดส่างควรจะทอดทัศนายิ่งนัก ทั้งเสียบแซมเทียนธูปแลประทีปนำมั้นเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโค ครั้นเพลาพลบค่ำสมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จลงพระที่นั่งชลพิมาน พร้อมด้วยพระอัคชายา พระบรมวงษาแลพระสนมกำนัลนางท้าวชาวชะแม่ทั้งปวง พราหมณ์ก็ถวายเสียงสังข์อันเปนมงคล ชาวพนักงานก็ชักสายโคมไชยโคมประเทียบบริวารขึ้นพร้อมกัน เพื่อจะให้ทรงพระราชอุทิศสักการบูชาพระจุฬามณี ฝ่ายนางท้าวชาวชะแม่ก็ลอยโคมพระราชเทพีพระวงษานุวงษ์ โคมพระสนมกำนัลเปนลำดับกันลงมา ถวายให้ทอดพระเนตรแลทรงพระราชอุทิศ ครั้นถึงโคมรูปดอกกระมุทของข้าน้อย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรพลาง​ทางตรัสชมว่าโคมลอยอย่างนี้งามประหลาดยังหาเคยมีไม่ เปนโคมของผู้ใดคิดกระทำ ท้าวศรีราชศักดิโสภาก็กราบบังคมทูลว่าโคมของนพมาศธิดาพระศรีมโหสถ ครั้นได้ทรงทราบก็ดำรัสถามข้าน้อยว่าทำโคมลอยให้แปลกประหลาดจากเยี่ยงอย่างด้วยเห็นเหตุเปนดังฤๅ ข้าน้อยก็บังคมทูลว่าข้าพระองค์สำคัญใจคิดเห็นว่าเปนนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือนสิบสองพระจันทร์แจ่มแสงปราศจากเมฆมลทิน อันว่าดวงดอกชาติโกสุมภ์ประทุมมาลย์มีแต่จะแบ่งบานกลีบรับแสงพระอาทิตย์ ถ้าชาติอุบลเหล่าใดบานผกาเกสรรับแสงพระจันทร์แล้ว ก็ได้ชื่อว่าดอกกระมุท ข้าพระองค์จึ่งทำโคมลอยเปนรูปดอกกระมุท ซึ่งบังเกิดมีอยู่ยังนัมมะทานที อันเปนที่พระบวรพุทธบาทประดิษฐาน กับแกะรูปมยุราคณานกวิหคหงษ์ประดับ แลมีประทีปเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโค ถวายในการทรงพระราชอุทิศครั้งนี้ ด้วยจะให้ถูกต้องสมกับนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือนสิบสอง พระราชพิธีจองเปรียง โดยพุทธสาสน์ไสยสาตร ครั้นสมเด็จพระร่วงเจ้าได้ทรงสดับ ก็ดำรัสว่าข้าน้อยนี้มีปัญญาฉลาดสมที่เกิดในตระกูลนักปราชญ์ กระทำถูกต้องควรจะถือเอาเปนเยี่ยงอย่างได้ จึ่งมีพระราชบริหารบำหญัดสาปสันว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับกษัตรในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือนสิบสอง พระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้กระทำโคมลอยเปนรูปดอกกระมุท อุทิศสักการะบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที กราบเท่ากลปาวสาน อันว่าโคมลอยรูปดอกกระมุทก็ปรากฎมาจนเท่าทุกวันนี้ ​แต่คำโลกย์สมมุติเปลี่ยนชื่อเรียกว่าลอยกระทงทรงประทีป เหตุดังนี้ข้าน้อยผู้ชื่อว่านพมาศก็ถึงซึ่งมีชื่อเสียงปรากฎอยู่ในแผ่นดินได้อย่างหนึ่ง อันราชประเพณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยทรงประพฤติมาแต่ก่อน ถ้าทอดพระเนตรชักโคมลอยโคมแล้ว ก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งไปถวายดอกไม้เพลิง บูชาพระรัตนไตรยทุกพระอารามหลวง บรรดาที่อยู่ริมฝั่งนทีจนรอบกรุง ทั้งทรงทอดบังสุกุลจีวร ทรงพระราชอุทิศถวายพระภิกษุสงฆ์อันพึงปราถนานั้นด้วย แล้วก็ทรงทอดพระเนตรทรงฟังประชาชนชายหญิงร้องรำเล่นนักขัตฤกษ์เปนการมโหรสพต่าง ๆ สำราญราชหฤไทยทั้งสามราตรี"


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 25 ก.ค. 19, 11:50

ท้องฟ้าคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง
ที่นางนพมาศทำกระทงเข้าประกวด



กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ก.ค. 19, 13:14
ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง  ;D

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5461


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 05 ก.ย. 19, 12:58
เรื่องชื่อเมืองกรุงพระมหานครศุโขไทยราชธานีบูรีรมย์สถาน

นักวิชาการไม่เคยตั้งข้อสงสัยว่า ชื่อเมืองสุโขทัยในตำนานเมืองนพมาศ
ที่เรียกว่า "กรุงพระมหานครศุโขไทยราชธานีบูรีรมย์สถาน"
ไม่เคยปรากฎมาก่อนในเอกสารใดๆ ทั้งๆที่ควรตั้งเป็นข้อสงสัยว่าชื่อดังกล่าวถูกเติมเข้ามาภายหลัง
หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเมืองของนางนพมาศไม่ใช่เมืองสุโขทัย
และ "กรุงพระมหานคร...ราชธานีบูรีรมย์สถาน" สอดคล้องกับชื่อของอยุธยา ตามเอกสารประวัติศาสตร์

จารึกชื่อเมืองชื่อเจ้าเมือง
หลักที่ ๑ จารึกพ่อขุนรามคำแหง
พ.ศ. ๑๘๓๕
เมืองษุกโขไท
เมืองสุกโขไท
เมืองสุโขไท
เมืองศรีสชชนาไลสุโขไท
เมืองษรีสชชนาไลสุโขไท
เมืองไท
สรีนทราทีตย
บานเมือง
ขุนสามชน
พระรามคำแหง
พ่ขุนรามคำแหง
พ่ขุนพระรามคำแหง
ลูกพ่ขุนษีรีนทราทีตย
หลักที่ ๒ จารึกวัดศรีชุม
พ.ศ. ๑๘๘๔-๑๙๑๐
นครสุกโขไท นครสรีเสชนาไล
สรีเสชนาไลสุกโขไท
เมืองสุโขไท
พระญาสรีนาวนำถุม
พขุนนำถุม
พรญาผาเมือง
พขุนผาเมือง
พขุนบางกลางหาว
ขอมสบาดโขลญลำพง   
สรีอีนทรบดีนทราทิตย
พขุนสรีอีนทรบดีนทราทิตย
กมรแดงอัญผาเมือง
ผีฟาเจาเมืองสรโสธรปุร
พขุนรามราชปราญรูธรรม
ธรรมราชา
ขุนจงง
พรญาคำแหงพระราม
สำเดจธรรมราชา
ท้าวอีจาน
หลักที่ ๓ จารึกนครชุม
พ.ศ. ๑๙๐๐
เมืองศรีสชชนาไลยสุโขไทยพรญาฤาไทยราช
ลูกพรญาเลือไทย
หลานพรญารามราช
ศรีสูรยพงศมหาธมมราชาธิราช
พรญาธรมมิกราช
หลักที่ ๕ จารึกวัดป่ามะม่วง
พ.ศ. ๑๙๐๔
เมืองศรีสัชนาไลยสุโขไทย
เมืองศรีสชชนาไลยศุโขไทย
เมืองศุโขไทย
พรญารามราช
พรญาฤาไทย
ศรีสูรยพงศรามมหาธรมมราชาธิราช
พรญาศรีสูรยพงศรามมหาธรรมราชาธิราช
พรญาศรีสูรยพงศรามมหาธรมมราชาธิราช
พรญาศรีสูรพงศรามมหาธรมมราชาธิราช
หลักที่ ๗๖ จารึกวัดเชียงมั่น
พ.ศ. ๒๑๒๔
เมืองชยงไหม่พรญามังราย
พรญางำเมือง
พรญาร่วง
พรติลกราชเจ้า
สมเดจพรมหาธมมิกราชเจ้า
พรมหาธมมิกราชาธิราชเจ้า
พรญาแสนหลวง
พรวรโอรสาธิราชเจ้า
หลักที่ ๒๘๕ จารึกพ่อขุนรามพล
พ.ศ. ๑๘๙๐-๑๙๐๐
เมืองศรีสชชนาไลย
เมืองศรีสชชนาไลยสุโขไทย
พขุนรามพล
พขุนสรี
ขุนสรีมาริ


กระทู้: เมื่อนางนพมาศ เกิดในสมัยอยุธยา
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 05 ก.ย. 19, 13:29

เรื่องพระนามพระเจ้าแผ่นดิน

จากหลักฐานศิลาจารึก เราทราบว่าพระนามของกษัตริย์ สุโขทัย คือ
พรญาร่วง สมเดจพรมหาธมมิกราชเจ้า พรญาศรีสูรยพงศรามมหาธรรมราชาธิราช

ในจารึกวัดป่ามะม่วง กล่าวถึง เหมปราสาทราชมน ฺทิร และ ศฺรีศรฺูยฺยพงฺศรามมหาธรฺมฺมราชาธิราช

จารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาไทย พบที่ปราสาทนครหลวงที่สร้างโดยพระเจ้าปราสาททอง

ในจดหมายเหตุ วันวลิต บอกพระนามของพระเจ้าปราสาททองคือ
พระองค์ศรีธรรมราชาธิราช
(Prae Onghsrij d'Harmae Roateial Thieraija)

ในขณะที่เอกสารบางฉบับเรียกรัชกาลที่ ๓ พระเจ้าปราสาททอง

มีความเชื่องโยง จากสมัยรัชกาลที่ ๓ ไปยังพระเจ้าปราสาททอง และพระร่วง ที่น่าสนใจ
มีความเป็นไปได้ที่ผู้คัดลอกสมัยนั้น ตีความว่า "ศรีธรรมราชาธิราช" คือ "มหาธรรมราชาธิราช" หรือ "พระร่วง"
จึงไปแก้ชื่อเมือง "อยุธยา" เป็น "สุโขทัย"
เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้นเอง เรียก "กรุงเทพ" (Bangkok) ว่าเป็น "กรุงพระมหานครศรีอยุธยาราชธานีบุรีรมย์"