เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 09, 12:20



กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 09, 12:20
กระทู้นี้  เลือกที่จะตั้งไว้ในห้องประวัติศาสตร์ เพราะถึงแม้ว่า ผลงานของม.ร.ว.นิมิตรมงคล เหมาะจะอยู่ในห้องภาษาและวรรณคดี
แต่ทั้งผลงานและชีวิตของท่าน เป็นหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ที่มิอาจมองข้าม
ครบรอบ ๑๐๐ ปีของคุณชายนิมิตรมงคลไปแล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๑  แต่ในปี ๑๐๑ ก็ยังมีอะไรให้พูดถึงได้อีกมาก

สมัยเรียนประวัติวรรณกรรมไทย   จำได้ว่ามีนิยายการเมือง ๒ เรื่องที่เราวิ่งหาหนังสือในห้องสมุดกันจ้าละหวั่น  เพราะเป็นแนวที่หาได้ยากมากในวงการนวนิยายไทย   เป็นเรื่องต้องศึกษากัน
กระแสหลักของนวนิยายเมื่อ ๔๐ กว่าปีย้อนหลังกลับไป ก็มีแต่นิยายรักเสียเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือนิยายครอบครัว
เรื่องแรกคือ "พัทยา" ของ ดาวหาง (สมัยนั้น  พวกเรามักจะจำกันสับสนว่า เป็นเรื่อง ดาวหาง ของพัทยา  หรือเรื่อง พัทยา ของ ดาวหาง กันแน่)
อีกเรื่องหนึ่งคือ เมืองนิมิตร ของม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน

หนังสือหายากหาเย็น   เรื่องจะหาซื้อตามร้านหนังสือหลังวังบูรพา ไม่ต้องพูดถึง  เพราะไม่มี

เพิ่งจะได้อ่าน เมืองนิมิตร  ความฝันของนักอุดมคติ  อย่างเต็มอิ่ม   เมื่อไม่นานมานี้เอง


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 09, 12:45
เมืองนิมิตร  ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ในหนังสือดี 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน (พ.ศ. 2408-2519)
ซึ่งเป็นงานวิจัย ของ วิทยากร เชียงกูล ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับคณะวิจัยอีก 10 ท่าน ชื่อ "โครงการวิจัยเพื่อคัดเลือกและแนะนำหนังสือดีในรอบศตวรรษ" ซึ่งได้รับการสนับสนุน จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในช่วงปี พ.ศ. 2540-2541

ชื่อเดิมของนวนิยายเรื่องนี้คือ  ความฝันของนักอุดมคติ      แต่ภรรยาของผู้ประพันธ์ คือคุณหญิงบรรจบพันธุ์ นวรัตน ณ อยุธยา   ได้เปลี่ยนเป็น "เมืองนิมิตร" เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ม.ร.ว.นิมิตรมงคล

หนังสือเล่มนี้ ยืนอยู่บนเส้นทางศึกษา ๒ เส้นทางพร้อมกัน คือเส้นทางประวัติศาสตร์การเมืองตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕  - ๒๔๘๒    อีกเส้นทางหนึ่งคือเส้นทางวรรณกรรม
จะเว้นเส้นทางใด หาได้ไม่

กระทู้นี้ ก็จะชวนคุยถึงเส้นทางทั้งสองไปพร้อมๆกัน

ขอหยุดพักแค่นี้ก่อน เพื่อให้สมาชิกเรือนไทยได้ร่วมวง ค่ะ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 พ.ย. 09, 13:50
ใกล้ตัวผมมากเลยครับคราวนี้

ขอบพระคุณอาจารย์ที่กรุณาตั้งเป็นกระทู้ขึ้นในเรือนไทยนี้ แล้วผมจะพยายามตอบทุกคำถามที่หากมีนะครับ
รอบนี้ขออนุญาตผ่านก่อน ยังตั้งตัวไม่ติดน่ะครับ
ขอเวลาไปเตรียมเรื่องเข้ามาเสริมก่อน


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 พ.ย. 09, 13:54
หน้าปกแบบที่ Dr. David Smyth แปลเป็นภาษาอังกฤษครับ
สำนักพิมพ์ Silk Worm จัดพิมพ์จำหน่ายทั่วโลก


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 พ.ย. 09, 13:58
ฉบับที่แปลเป็นภาษาญี่ปุ่นเพิ่งจะวางตลาดไม่กี่เดือนนี้
แปลโดย Assistant Professor Mineko Yoshioda


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 18 พ.ย. 09, 14:10
เข้ามาร่วมวง - นั่งฟัง ครับ

สงสัยเรื่อง นามของท่าน ครับ เป็นการสะกดของยุคนั้น นิมิต สะกดเป็น นิมิตร

หรือ เป็นการเติม นิ หน้าคำว่า มิตร
           นิ    (โบ) ใช้เสริมคําให้พยางค์สละสลวยขึ้น เช่น สนุกนิ สํานักนิ.


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 09, 14:34
นำปกหนังสือ ที่หายาก  มาให้ดูกัน


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 09, 15:54
ผลงานชิ้นแรกที่จะพูดถึง คือ "เมืองนิมิตร  ความฝันของนักอุดมคติ"   งานนี้เรียกได้ว่าเป็นงานชิ้นเอกของคุณชายก็ว่าได้
ขอเล่าเรื่องย่อๆให้ฟัง สำหรับท่านที่ยังไม่เคยอ่าน

ขอแนะนำให้ผู้อ่านเรือนไทย รู้จักชายหนุ่มชื่อ รุ้ง จิตรเกษม   ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ 
รุ้งเป็นปัญญาชนหัวกระทิของสยาม     เพราะเป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง จบปริญญา B.Sc. F.G.S. จากมหาวิทยาลัยลอนดอน
ถ้าหากว่ายังนึกไม่ออกว่ารุ้งเปรื่องปราดอย่างไร  ก็ลองสมมุติว่า ถ้าเป็นปี ๒๕๕๒  รุ้งก็จบปริญญาเอกจากอังกฤษละค่ะ

รุ้งเข้ารับราชการที่กระทรวงธรรมการ(กระทรวงศึกษาธิการ)  ในยุคที่ถือว่า "สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง" ต้องถือว่าอนาคตของเขารุ่งโรจน์อยู่มาก
ถ้าหากว่ารุ้งจะก้มหน้าก้มตาทำงานไป โดยไม่สนใจเหตุการณ์บ้านเมือง    รุ้งก็คงไต่ระดับได้ตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อยๆ  บั้นปลายชีวิตราชการ คงจะได้เป็นอธิบดีเป็นอย่างน้อย จากวิชาความรู้ที่มี
แต่ความผันผวนในชีวิตของเขา เกิดขึ้น เพราะสำนึกที่มีต่อบ้านเมือง   รุ้งไม่เห็นด้วยกับนโยบายของคณะราษฎร์  ก็ลาออกจากราชการ    ต่อมาเมื่อมีกบฏบวรเดชเกิดขึ้นในปี ๒๔๗๖  รุ้งแค่ไปขึ้นเวทีปราศรัยคัดค้านนโยบายรัฐบาล     ก็ถูกตำรวจจับ และถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต   แต่ได้ลดโทษลงมาเรื่อยๆจนเหลือแค่ ๔ ปีครึ่งก็เป็นอิสระ

ชีวิตของรุ้งก็ผันแปรไปหมดสิ้น  แม้ว่าเป็นอิสระออกจากคุกแล้ว      กลายเป็นว่ารุ้งสูญเสียทุกอย่าง  เริ่มต้นชีวิตอย่างมือเปล่า   
เสียคนรัก  เสียสถานภาพในสังคม  แม้แต่อนาคตก็ดูมืดมนและว่างเปล่า
แต่อย่างหนึ่งที่รุ้งไม่เสีย คือความฝันและอุดมคติ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 พ.ย. 09, 16:01
คุณSilaครับ

ชื่อคนเป็นวิสามัญนามอย่าพยายามไปหาเหตุผลเลยครับ

ทุกวันนี้ชื่อคนยิ่งประหลาดๆใหญ่
เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยของผมคนหนึ่งพระเปลี่ยนชื่อให้จากไหหลำเป็น"ผจญเฑียร"
เพื่อนๆถามว่าแปลว่าอะไรนั่น
เค้าบอกว่า"นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่"
เพื่อนๆไม่เห็นด้วย ก็เลยเรียกให้เป็นมงคลนามว่า "ผจญธีน"


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 09, 16:16
ความรักครั้งแรกของรุ้ง เริ่มขึ้นกับหญิงสาวสวยชื่อ"สมส่วน"   เธอเป็นลูกผู้ดีมีตระกูล   เป็น"ไฮโซ" ตัวจริงของสังคมสยาม
ความรักของหนุ่มสาวคู่นี้ อ่านแล้วนึกถึงชีวิตรักของคนดังหลายๆคู่  ที่ฝ่ายชายฟันฝ่าขวากหนามจนกระทั่งชนะใจดอกฟ้า

แต่เมื่อชีวิตรุ้งผันแปร  ชะตาตก   สมส่วนก็ไปพบรักกับชายอื่น   จนถึงขั้นจะแต่งงานกัน    แต่วิวาห์ต้องยกเลิกเพราะเธอเกิดป่วยเป็นวัณโรค  เป็นโรคร้ายไม่มีทางรักษาหาย พอๆกับมะเร็งในยุคนี้
รุ้งได้รับอิสระ  ทันกลับมาเยี่ยมไข้และดูใจสมส่วน  เขาให้อภัย เฝ้าไข้ดูแลเธออย่างดี จนกระทั่งเธอจากไป

ความรักครั้งแรกของรุ้ง อ่านแล้วรู้สึกว่ารุ้งเป็น "นักฝันที่มีอุดมคติ" ในทุกเรื่อง ตั้งแต่ความรัก   ไปจนการงาน และการดำเนินชีวิต
ความรักของรุ้งเริ่มต้นแบบพระเอกวรรณคดีไทย   คือตกหลุมรักทันทีเมื่อแรกเห็นดวงหน้าแสนสวยของหญิงสาว     ความสวยเป็นสิ่งดึงดูดใจเต็มร้อย    ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยเหตุผลอื่น

" พอได้เห็นเธอ   ถ่านแห่งความรักในอกของเขาก็ถูกจุดเป็นไฟฉับพลันเหมือนสายฟ้าแลบ"

อดนึกสงสารรุ้งไม่ได้ ว่ารักผู้หญิงโดยไม่ได้คิดเลยว่าเธอเป็นคนยังไง   นิสัยใจคอเป็นยังไงก็ไม่รู้   จะไปกันได้ไหมก็ไม่รู้
เพราะฉะนั้นก็เสี่ยงกับอกหักได้ง่าย
แต่นึกอีกที  นี่ก็คือความรู้สึกของพระรามเมื่อสบตากับนางสีดา  อิเหนาเมื่อเห็นบุษบา   พลายแก้วเห็นนางพิม  โรมิโอเห็นจูเลียต   ฯลฯ   ก็ไม่เห็นพระเอกพวกนี้จะอกหักสักคน    รุ้งก็คงเชื่อมั่นแบบเดียวกันละมัง

ผู้ประพันธ์ไม่ได้บอกว่ารุ้งเป็นคนหล่อ  ในฉากแรกเมื่อเขาพ้นโทษ   บอกแต่ว่า "รูปร่างค่อนข้างสูง ลีบเล็ก ผอมบาง คิ้วตก  หน้าแห้งคล้ายคนอดอาหารและอดนอน"  
นักโทษที่ผ่านความตรากตรำมาสี่ปีครึ่ง คงจะหาความหล่อได้ยาก   แต่เมื่อเขายังเป็นดาวเด่นในกระทรวงธรรมการ   บุคลิกของนักเรียนนอกจากอังกฤษยังเป็น"ออร่า" อยู่ทั่วร่าง   ท่วงทีของรุ้งสง่างามดุจเจ้าชายในเทพนิยาย  เมื่อเขาเดินเข้าไปแนะนำตัวและขอเต้นรำกับสมส่วนในงานราตรี    ไม่ต้องรอให้ใครแนะนำ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 09, 16:34
การวิจารณ์วรรณกรรม ถือว่า ตัวละครเป็นหลักสำคัญของนวนิยาย เรื่องสั้นและบทละคร   ตัวละครที่ดี ไม่ใช่ตัวละครที่ประกอบคุณงามความดี ไม่มีที่ติ    แต่เป็นตัวละครที่สร้างได้ลึก มีมิติ จนดูเหมือนมีชีวิตจิตใจ    จะดีหรือจะชั่ว จะเข้มแข็งหรืออ่อนแอ ก็ไม่สำคัญ      
แต่ตัวละครยิ่งใหญ่นั้นจะซับซ้อน มีนิสัยหลายด้านในตัว ให้คนอ่านสัมผัสได้เหมือนเป็นคนจริงๆ      เพราะความลึกนี่เองทำให้คนอ่านจะรู้สึกรัก หรือเกลียด หรือเวทนา หรือเอ็นดู ก็แล้วแต่  
ยิ่งตัวละครมีความลึกในตัวมาก    ความรู้สึกของคนอ่านก็ยิ่งซับซ้อนตามไปด้วย  เช่นทั้งรักทั้งเกลียด   ทั้งเอ็นดูทั้งรำคาญ  ทั้งชอบและไม่ชอบฯลฯ

เมื่อม.ร.ว.นิมิตรมงคล พารุ้งออกมาให้รู้จัก   อย่างแรกคือไม่ต้องไปพะวงว่ารุ้งคือตัวผู้ประพันธ์หรือมิใช่    ข้อนี้การวิจารณ์วรรณกรรมไม่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ     ตัวละครแม้มีพื้นฐานมาจากคนจริงๆคนไหนก็ตาม  แต่เมื่อเขาเป็นตัวละคร  เขาก็มีชีวิตจิตใจของเขาเอง

ด้วยเหตุนี้  จึงต้องอารัมภบทเสียยาว เพื่อจะบอกว่าผู้ประพันธ์สร้างรุ้งได้ละเอียดลออดี   จนทั้งๆมองรุ้ง  เห็นหลายๆอย่างแง่บวก ก็ไม่วายเห็นในแง่ลบ ในหลายเรื่องด้วยกัน
วันนี้ขอแค่นี้ก่อนค่ะ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 09, 16:39
ชื่อคุณ "ผจญเฑียร"  จะแปลว่านักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ ก็น่าจะได้นะคะ
อย่างแรกคือ เฑียร  เดาว่าแปลงจาก "เธียร" ที่แปลว่านักปราชญ์    แต่เปลี่ยนตัวสะกดให้ถูกหลักวันเกิด ตามหลักมหาทักษา   เพื่อเดช หรือมูละ อะไรสักอย่าง
ผจญ แปลว่า ชนะ

คนที่ชนะนักปราชญ์ได้  ก็มีแต่นักปราชญ์ระดับบิ๊กกว่านักปราชญ์ทั่วไป เท่านั้น


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 พ.ย. 09, 16:44
หนัวสือดีและน่าอ่านครับ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 พ.ย. 09, 17:30
รุ้ง จิตเกษม  "อายุของเขาประมาณ๓๒ปี รูปร่างค่อนข้างสูง ลีบเล็ก ผมบาง คิ้วดก หน้าแห้งคล้ายคนอดอาหารและอดนอน แต่สีหน้าของเขาบอกชัดลงไปอีกชั้นหนึ่งว่า สิ่งที่เขาอดจริงๆคือความพอใจ"


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 พ.ย. 09, 18:42
รุ้งเป็นลูกชาวนาลพบุรี มาอาศัยอยู่กับน้าในกรุงเทพและเข้าเรียนที่เทพศิรินทร์ จนสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้ไปเรียนเมืองนอกสำเร็จ จบการศึกษาทางด้านชีววิทยา ครั้นกลับมาทำราชการอยู่กระทรวงธรรมการได้พักหนึ่งก็ได้ชื่อเสียงว่าเป็นคนหัวแข็ง เต็มไปด้วยความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงระเบียบการต่างๆที่คนทั้งหลายเห็นว่ายังใช้ได้ผลดีอยู่

การยึดอำนาจจากพระปกเกล้าฯในปี๒๔๗๕ ทำให้รุ้งได้ตำแหน่งสูงขึ้นเพราะนายเห็นว่าเขาไม่ใช่พวกเจ้า และมีเพื่อนบางคนเป็นผู้ก่อการด้วย แต่เขาก็ทนนโยบายของคณะราษฎร์ไม่ได้ ต้องลาออกจะไปอยู่ลพบุรี จังหวะพอดีได้ข่าวพระองค์เจ้าบวรเดชจะปฏิวัติขับไล่คณะราษฎร์จึงรีบเดินทางไปสมทบที่โคราช และได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีด้วย
 “….ท่านสุภาพบุรุษที่เปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าซื่อสัตย์สุจริตและมีเกียรติยศ แต่ท่านเอาความยุ่งเหยิงมาสถิตย์แทนความเป็นระเบียบ เอาความแตกก๊กแตกเหล่ามาแทนความสามัคคี การรักษาตัวเองให้ปลอดภัยโดยตั้งป้อมค่ายอยู่ในวังปารุสกวัน โดยจัดตำรวจลับออกลาดตระเวนจับคนที่ไม่ยอมเป็นพวกพ้อง โดยโยกย้ายนายทหาร และจัดรูปกองทัพแบบปราบจลาจล โดยบรรจุคนของตัวเข้าดำรงตำแหน่งชั้นหัวหน้าในราชการอย่างไม่คำนึงถึงวุฒิความสามารถ เหล่านี้กระทำไปในนามของราษฎร…..
……รัฐบาลนี้อ้างว่าได้จัดตั้งขึ้นโดยราษฎรและเพื่อราษฎร ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เราก็ต้องมีอำนาจที่จะบังคับรัฐบาลให้บริหารในทางที่เป็นประโยชน์แก่เราทั้งหลายร่วมกัน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของรัฐมนตรีและเพื่อนพ้องของรัฐมนตรีเท่านั้น มิฉนั้นเราก็ต้องเปลี่ยนรัฐบาลใหม่…..”

ดูเถิดครับปัญหาของรุ้งเมื่อเกือบแปดสิบปีที่แล้ว กับปัญหาของลูกหลานของรุ้งในทุกวันนี้ยังเหมือนกันอยู่เลย ผิดกันแต่ว่า คนสมัยนี้มีเสรีภาพในการด่าทอทางการเมืองแทบจะไร้ขีดจำกัด ยังไม่เห็นใครติดคุกจริงในกรณีย์หมิ่นประมาททางการเมืองสักราย แต่สมัยโน้น รุ้งถูกสันติบาลบันทึกคำปราศรัยไว้เบิกความในศาลพิเศษส่งผลให้รุ้งถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต ลดโทษฐานสารภาพลงเหลือเพียงจำคุก๒๐ปี ตั้งแต่ตรวนขนาด๖หุนถูกตีเข้าที่เท้าทั้งสอง อนาคตของหนุ่มนักเรียนนอกก็วูบลงทันที


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 18 พ.ย. 09, 19:16
ขอบพระคุณ คุณเทาชมพู และคุณ NAVARAT.C มากครับ

รออ่านด้วยใจจดจ่อนะครับ  :)


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 09, 19:36
สิ่งที่ยากที่สุดในการวิจารณ์ คือคุณชายนิมิตรมงคล ได้บรรยายรายละเอียดและความรู้สึกนึกคิดเอาไว้ในตัวของรุ้ง    อย่างละเอียดลออ  จนคนอ่านหลับตาวาดภาพตัวละคร ก็เห็นหน้าผู้เขียนลอยขึ้นมา
บางทีก็ทำให้หลงทางไปได้  ว่าสิ่งใดที่รุ้งเป็น ก็คือผู้ประพันธ์เป็น       ทั้งๆรุ้งก็คือตัวของเขา   มิใช่ตัวม.ร.ว.นิมิตรมงคล ในชื่อแฝง
ดิฉันจะพยายามแยกข้อนี้ออกมาให้ได้   มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่า การวิจารณ์นวนิยาย กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวิจารณ์ชีวิตส่วนตัวของผู้ประพันธ์


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 พ.ย. 09, 20:29
รุ้งติดคุกอยู่จริงๆสักสี่ปีเศษ รัฐบาลก็เห็นว่านักโทษในคดีกบฏบวรเดชไม่มีฤทธิ์เดชอะไรอีกแล้ว ขังไว้ก็เปลืองข้าวหลวง แต่ก็ไม่ได้ให้อิสรภาพทีเดียว หากเอาตัวไปอบรมอยู่หลายเดือนก่อนจะปล่อย

ปัญหาใหญ่ของรุ้งกำลังติดตามมา เขาจะทำมาหาเลี้ยงชีพอะไร ในเมื่อรับราชการไม่ได้ ความรู้ทางชีววิทยาในสมัยนั้นก็ไม่มีบริษัทเอกชนที่ไหนประสงค์จะว่าจ้าง รุ้งจึงคิดที่จะเลือกอาชีพค้าขาย โดยยินดีจะไปเริ่มต้นฝึกหัดใหม่กับผู้ที่มีประสพการณ์

อีกเรื่องหนึ่งที่เคยหลอกหลอนเขาก็คือ ความรักที่รุ้งเคยมีกับสมส่วน สาวแสนสวยที่เคยสาบานรักกันในอุโบสถวัดพระแก้ว แต่เมื่อเขาต้องโทษ สมส่วนไม่คิดว่าจริงๆแล้วเขาจะติดคุกเพียงสี่ปี ก็สลัดรักเขาทันที เพราะ “สตรีเป็นเพศที่มีความคิดธรรมดา Common Sense ดีกว่าบุรุษ หากสตรีโง่เหมือนบุรุษผู้ฝ่าฝืนอุปสรรคแห่งชีวิตเพื่อรักษาเกียรติยศ ประพฤติความซื่อ ถือวาจาสัตย์ และปฏิบัติบำเพ็ญความโง่เง่าอื่นๆ ชาติมนุษย์อาจสูญสิ้น หรืออย่างน้อยต้องเสื่อมทรามลงกว่านี้….. สตรีจำเป็นต้องฉลาดพอที่จะรู้ว่าเกียรติยศเกียรติศักดิ์และคำมั่นสัญญาต่างๆ เป็นเพียงสิ่งที่ควรสลัดทิ้งเสียทันทีในเมื่อเกิดปัญหาในการดำรงชีพ เมื่อเวลาเอาจริงเอาจังกันแล้ว สิ่งอื่นจะมาสำคัญกว่าชีวิตตนมิได้ ทั้งนี้เพราะว่ามนุษย์จะสืบชาติกันต่อๆไปได้ก็ด้วยอาศัยครรภ์ของสตรี”

เมื่อคิดได้ดังนี้ รุ้งก็ให้อภัยสมส่วน

โอ้โห ท่านผู้อ่านเข้าใจไหมครับ บุรุษสมัยก่อนเขาคิดเขาปฏิบัติกันอย่างไร จะมีสักกี่มากน้อยที่คนสมัยนี้ที่จะยอมฝ่าฝืนอุปสรรคแห่งชีวิตเพื่อรักษาเกียรติยศ ประพฤติความซื่อ ถือวาจาสัตย์ เห็นมีแต่ขายสำนึกดังกล่าวแลกกับเงินตัวเดียว


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 พ.ย. 09, 21:13
เมื่อรุ้งถูกจับแล้วต้องจำคุก     
รุ้งเขียนจดหมายถึงสมส่วน ขอปลดปล่อยเธอจากพันธสัญญา

สมส่วนตอบจดหมายว่า ชาตินี้จะไม่ขอรักใครอีก  จะคอยเวลาที่เขาจะพ้นโทษ
เธอไม่เห็นว่าใครจะประเสริฐไปกว่ารุ้ง

นักโทษชายชื่นใจ




อีกหกเดือนต่อมา  สมส่วนขอบคุณถึงการที่รุ้งขอปลดปล่อยเธอจากสัญญารัก
เธอได้พบคนอื่นเสียแล้ว





หลายปีต่อมาเมื่อรุ้งไปเยี่ยมสมส่วนที่ป่วยหนัก

"เขาได้นึกถึงสมส่วนเหมือนกับคนไข้คนหนึ่งที่เขาไม่เคยรู้จัก  หรือรู้จักเพียงห่าง ๆ
รุ้งได้ร้องไห้เมื่อแรกรู้ว่าสมส่วนป่วยหนัก       แล้วเขาหักใจว่าน้ำตาของเขาไม่ควรเสียให้แก่สตรีที่หาความสัตย์มิได้
เขามาเยี่ยมสมส่วนพอเป็นพิธี      แต่ครั้นมาถึงตัวสมส่วนแล้ว    เหตุผลและความตั้งใจอันเป็นผลิตผลของมันสมอง
ได้พ่ายแพ้แก่ความรู้สึกของหัวใจอย่างราบคาบ

"น้องรักของพี่ํ   เขาพูดเป็นเสียงสะอื้น
"พี่อยากจะเอาชีวิตของพี่มาแลกกับชีวิตของเธอ       รู้ไหมว่าเธอเป็นดวงใจของพี่..."



กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 พ.ย. 09, 22:10
ชีวิตนักโทษระหว่างการอบรมเหมือนนักเรียนประจำที่มาอยู่กินใต้ถุนกระทรวงกลาโหม วันสุดสัปดาห์ก็กลับบ้านได้ รุ้งต้องอาศัยบ้านน้าสะอาดที่รักเขาเหมือนลูก แต่สัปดาห์นี้เขาจะไปเป็นแขกพิเศษของบ้านหลานหลวงที่สมส่วนนอนเจ็บอยู่ด้วยอาการของวัณโรคขั้นสุดท้าย

เมื่อสมศักดิ์พี่ชายและสมทรงน้องสาวมาเยี่ยมรุ้งเพื่อแจ้งว่าสมส่วนขอร้องให้มาเชิญรุ้งไปเยี่ยมเพื่อสมส่วนจะได้มีโอกาสขอโทษรุ้งเป็นครั้งสุดท้ายที่สลัดรักรุ้งไปมีคู่ใหม่ ที่ถอนหมั้นทิ้งไปอย่างไม่ใยดีเมื่อรู้ว่าสมส่วนเป็นวัณโรค ซึ่งสมัยนั้นเชื่อว่าไม่มีทางรักษาให้หายได้ ต้องตายภายในระยะเวลารวดเร็ว รุ้งก็คิดว่าจะไปเพื่อให้มันจบๆเรื่องกันไปเสียที

“ เราจะเชื่อถืออะไรกับผู้ชาย เขาเป็นเพศที่รักด้วยสมอง เราสิรักด้วยหัวใจ…….ถ้าผู้หญิงเป็นวัณโรค ผู้ชายก็หมดรัก แต่ถ้าผู้ชายเป็นวัณโรค ผู้หญิงยิ่งรักมากเพราะเกิดความสงสารเพิ่มขึ้น…….”  

สองสาวลุ้นกันระหว่างรอคอยการมาของรุ้ง รุ้งจะเป็นคนประเภทไหนหนอ?

รุ้งผู้เคยร้องไห้ และหักใจว่าน้ำตาของเขาไม่ควรเสียให้แก่สตรีที่หาความสัตย์มิได้ เขาจะมาเยี่ยมสมส่วนพอเป็นพิธี แต่ครั้นมาถึงตัวสมส่วนแล้ว เหตุผลและความตกลงใจอันเป็นผลิตผลของสมอง ได้พ่ายแพ้ความรู้สึกของหัวใจอย่างราบคาบ

มิใช่แต่กิริยาวาจาที่แสดงว่าเขาได้ยกโทษให้สมส่วนแล้ว ในที่สุด เพื่อให้เธอตระหนักว่าเขาหมายความเช่นนั้นจริงๆ เขาจะกระทำตามสิ่งที่เธอขอร้อง
“ไม่ค่ะ ไม่ใช่ที่ปาก ที่หน้าผากเถอะค่ะ เขาว่ากันว่าฉันเป็นวัณโรค พี่ก็ทราบอยู่แล้ว”
“จะเป็นอะไรไป”
เขาจุมพิศที่ริมฝีปากเธออย่างรักใคร่ เขาเคยยับยั้งที่จะจูบเธอเมื่อริมฝีปากเธอเป็นสีแดงสดเหมือนกลีบกุหลาบ ซึ่งน่าจะมีรสอร่อย และหวานชุ่มเหมือนน้ำผึ้ง แต่เขาไม่ยับยั้งเมื่อถูกเตือนให้ตื่นภัยจากโรค และเมื่อกุหลาบสดแห่งริมฝีปากได้กลายเป็นกุหลาบแห้งสิ้นสวย สิ้นกลิ่น สิ้นหวาน

ความรักของรุ้งมีลักษณะอย่างที่กวีชอบหยิบยกมารำพัน

        Love is not love.
Which alters when it alteration finds,
      Or bends with the remover to remove,
O no, it is an ever fixed mark!
      That looks on tempests, and is never shaken:

คุณชายนิมิตรมงคลแปลเชคสเปียร์ท่อนนี้ไว้ว่า

รักที่มิใช่แท้                                   ก็ปรวนแปรเมื่อเกิดการ
เปลี่ยนแปลง หรือร้าวราน                   เมื่อกระทบกระเทือนถึง
อ๋อ แน่ รักแท้เป็น                           ที่หมายเช่นถูกตอกตรึง
ฟันฝ่าพายุซึ่ง                               ร้ายแรงได้ ไม่โคลงคลอน




กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 พ.ย. 09, 22:58
พิธีพระราชทานอภัยโทษที่กระทรวงกลาโหม      วันที่ ๑๕ เมษายน



การอ่านพระราชกฤษฎีอภัยโทษได้กระทำในเวลาอันต่อเนื่องกัน    ครั้นแล้วก็ถึงเวลาที่ท่านรัฐมนตรีกลาโหมจะให้โอวาท


         "การพูดกับท่านทั้งหลายคราวนี้ข้าพเจ้าไม่ได้เตรียมตัวมาเลย"    ท่านเริ่มต้น

"แต่มิใช่เพราะไม่รู้ตัวล่วงหน้า   แต่เป็นความตั้งใจของข้าพเจ้าที่จะมาพูดกับท่านอย่างจริงใจ
คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น          ความจริงใจของข้าพเจ้าก็คือข้าพเจ้านึกถึงพวกท่านอยู่เสมอ
เมื่อเห็นหน้าบุตรภรรยาคราวใด   ก็อดนึกมิได้ว่า    ท่านคงคิดถึงบุตรภรรยาของท่าน
และบิดามารดาของท่านก็คงคิดถึงท่าน     


ข้าพเจ้าจึงตั้งใจช่วยเหลือให่ท่านได้รับอิสรภาพ    และเดี๋ยวนี้ก็เป็นผลสำเร็จแล้ว"

ในหมู่พวกท่านก็มีเพื่อนของข้าพเจ้าหลายคน"    พลางท่านกวาดสายตาดูผู้รับอภัยโทษ


"แม้แต่ที่นั่งอยู่ในที่นี้   อย่างน้อยก็มีสองหรือสามคน  ที่คุ้นเคยกับข้าพเจ้ามาก่อน"


 
       รุ้งเหลียวไปข้างหลัง  เพราะเขานั่งอยู่ที่โต๊ะในแถวหน้า      เขาเห็นเพื่อนร่วมทุกข์ของเขาหลายคน
ซึ่งส่วนมากเป็นนายทหารกำลังยืดตัวขึ้นให้เห็นเด่นและยิ้มกับท่านรัฐมนตรี



"นอกจากความเห็นใจในทางส่วนตัว"  ท่านรัฐมนตรีกล่าวต่อไป   "ก็ยังมีเหตุอื่นอีกที่ทำให้พวกท่าน
จะต้องอยู่ในความทรงจำของข้าพเจ้าไปช้านานอาจจะเป็นตลอดชีวิต          การรบที่บางเขน
เป็นสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าลืมพวกท่านไปไม่ได้       

ครั้งนั้นเราได้ใช้ความสามารถของเราในการรบกันอย่างทรหด         มันเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งงหนึ่งในประวัติศาสตร์   
ซึ่งจะจารึกลงไว้ว่าที่สนามรบทุ่งบางเขนครั้งนั้น   ได้มีการรบกันด้วยอาวุธสมัยใหม่และยุทธวิธีสมัยใหม่เป็นครั้งแรก
ในประวัติศาสตร์ชาติไทย"



       รุ้งหงายหลังไปพิงพนักเก้าอี้        รู้สึกเสียดายว่าคำพูดของท่านรัฐมนตรีในตอนหลังนี้มีผลตรงกันข้าม
กับข้อความในตอนต้น           น่าประหลาดที่ท่านพูดถ้อยคำในทางผูกมิตรขึ้นแล้วก็พูดถ้อยคำเชิงทำลาย
เสียทันที

"ใครบ้างหนอ"  รุ้งสงสัย    "ที่อยากถูกจำได้เพราะเหตุเป็นคู่ต่อสู้กับท่านที่บางเขน"
เมื่อรุ้งชำเลืองไปข้างหลังก็เห็นสหายร่วมทุกข์ของเขาหดตัวลงไปในเก้าอี้       สีหน้ายิ้มแย้มเปลี่ยนไปแล้ว




กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 พ.ย. 09, 23:34
ขออภัยคุณ   NAVARAT. C   ถ้าการโพสเรื่องจะซำ้กับตอนที่ต้องการจะเล่า


ยังไม่สามารถออกความเห็นอะไรได้ในตอนนี้
นอกจากพระเอกจับมือหญิงสาวตอนไปดูหนังทาร์ซาน แสดงโดยจอนนี ไวส์มุลเลอร์ที่เฉลิมกรุง
รุ้งคงดูหนังไม่ค่อยจะรู้เรื่องตอนนั้น



ได้ถามสหายสามสี่คนที่เป็นที่ปรึกษาของชมรมนักอ่านเล็ก ๆ ชมรมหนึ่งว่า
ใครอ่าน  "ความฝันของนักอุดมคติ" กันบ้าง

ท่านผู้อำนวยการโดนถามประมาณสามครั้งภายในอาทิตย์นี้   ตอบว่า
ก็อ่านกันทุกคนนี่

ไปถามดีลเล่อร์ขายหนังสือคนหนึ่ง  ได้คำตอบเดิมว่า
ยังอ่านกันอยู่    พิมพ์ตั้งหลายครั้งแล้วนะ
ว่าแล้วก็เล่าประวัติการพิมพ์ให้ฟัง


ถามเจ้าของร้านขายหนังสือมือสองทางเว็บผู้มากไมตรี(มีแพรดำให้ดิฉันยืมอ่าน)
เขาตอบว่า   น่าภูมิใจมากที่ได้แปลเป็นภาษาต่างประเทศ


ท่านผู้อำนวยการติดต่อกลับมาว่า  ที่หนังสือได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในร้อย ก็เพราะดูกันที่ว่า
มีอิทธิพลในเวลาที่หนังสือเล่มนั้นออกมา
มีความเคลื่อนไหวที่กระตุ้นการอ่าน
มีมิติทางสังคม
อย่าลืมอ่าน ชีวิตแห่งการกบฏสองครั้งนะ  ท่านว่า


ถามมิตรทั้งปวงว่า ทำไม พัทยา  ไม่มีพิมพ์ใหม่
ได้คำตอบมาว่า   มีคนอยากพิมพ์อยู่   แต่ตอนนั้นไม่ทราบกันแน่ชัดว่า ดาวหางคือใคร



ได้ยื่นหน้าไปคุยกับนักแปลสตรีผู้หนึ่ง เรื่อง รอยร้าวของมรกต
เธอเล่าว่าจำได้และได้เรียนเรื่องนี้ด้วย




กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ย. 09, 07:08
มิเป็นไรมิได้ครับคุณวันดี เป็นพระคุณด้วยซ้ำ ผมกำลังมึนๆอยูพอดีนี่กำลังอยู่ในห้องประวัติศาสตร์ แต่ผมกลับเขียนเข้าทางวรรณคดี

หนังสือ"ความฝันของนักอุดมคติ"นั้น คนสมัย๑๔ตุลาจะรู้จักกันในชื่อว่า"เมืองนิมิตร"
ตอนนั้นออกมาควบกับ"ชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง"อันเป็นเรื่องจริงของนักอุดมคติ
สองเรื่องนี้ อ่านควบกันเมื่อไหร่ ก็โดนใจทุกคนไป นิสิตนักศึกษาตอนนั้นมีอุดมคติในการเคลื่อนไหวข้ามเส้นไฟแดงทางการเมือง พุ่งเป้าไปที่การขอรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการทหารของถนอมประภาสก่อน แล้วก็เลยเถิดไปจนเกิดการเดินขบวนครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์เพื่อขับไล่รัฐบาลนั้นไปเสียเลย

บรรดาแกนนำของปัญญาชนในยุคนั้น ไม่มีใครไม่เคยเห็นหนังสือเล่มนี้ครับ



กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 พ.ย. 09, 08:35
สิ่งที่ยากที่สุดในการวิจารณ์ คือคุณชายนิมิตรมงคล ได้บรรยายรายละเอียดและความรู้สึกนึกคิดเอาไว้ในตัวของรุ้ง    อย่างละเอียดลออ  จนคนอ่านหลับตาวาดภาพตัวละคร ก็เห็นหน้าผู้เขียนลอยขึ้นมา

คุณหญิงบรรจบพันธุ์  นวรัตน ณ อยุธยา คู่ชีวิตของคุณชายนิมิตรมงคล มีความคิดเช่นเดียวกันนี้  ในคำอภิวันทนาการ (ในการพิมพ์ครั้งที่สาม) พ.ศ. ๒๔๙๔  คุณหญิงได้ให้ความเห็นไว้ว่า

หนังสือเรื่องนี้เกือบจะนับได้ว่าเป็นอัตชีวประวัติของผู้เขียนเอง ว่าโดยจิตใจ "รุ้ง" ก็คือ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน  คำสารภาพใด ๆ ที่ "รุ้ง" กล่าวก็เกือบจะนับว่าเป็นคำกล่าวของผู้เขียนเองทั้งสิ้น

"...รัฐบาลไม่ช้าก็เปลี่ยนไป และตัวกันเองไม่ช้าก็ตาย แต่หนังสือของกันจะยังอยู่เป็นเข็มทิศชี้ทางเดินแห่งชีวิตอนุชน...นั่นเป็นหน้าที่ของกัน นั่นเป็นเหตุผลที่กันได้เขียนหนังสือเล่มนี้...."

ตามอ่านคำวิจารณ์ต่อไปด้วยใจจอจ่อ

 ;D


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 พ.ย. 09, 09:17
ที่คุณเพ็ญชมพูเขียนมานั้นก็คือหัวใจของหนังสือเล่มนี้



ไม่ทราบว่าคุณเพ็ญได้อ่าน  ลิลิตเทวราชพิศภาพบนลานอโศก  ตีพิมพ์ครั้งแรก
ในหนังสืออนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท. ม.ร.ว. นิมิตรมงคล  นวรัตน์  ๒๔๙๑    หรือไม่



กลอนสุภาพ  ที่ ม.ล. ชัยนิมิตร  นวรัตน  ตั้งชื่อว่า  "คำสารภาพ"   น่าอ่านมาก
ท่านค้นพบมรดกที่อยู่ในกล่องสังกะสีใส่ขนมปังกรอบ     
มีเอกสารเป็นสมุดและร้อยกรองหลายฉบับ


คุณหญิงบรรจบพันธุ์  เล่าให้ลูกชายฟังเสมอว่า
"ตัวตนของพ่อที่แม่เห็นนั้นไม่ใช่นักการเมือง  ไม่ใช่ทหาร  แต่เป็นกวี"



กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 พ.ย. 09, 09:35
ตามชื่อกระทู้นี้  ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน  เนื้อหาที่จะมาพูดคุยกันคงเป็น ๒ เรื่อง เรื่องแรกคือ ชีวิต และเรื่องที่สองคือ งาน

ข้างต้นที่พูดคุยกันคือ งาน โดยเฉพาะเรื่องหนังสือที่สำคัญ ๒ เล่มคือ ความฝันของนักอุดมคติและชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง  เล่มแรกเนื้อหาบางส่วนทาบทับบนอัตชีวประวัติของผู้เขียนเอง ส่วนเล่มที่สองคือช่วงวิกฤตที่สุดแห่งชีวิตของท่าน

# ๒๓ ได้เปิดตัวคู่ชีวิตของ ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน  จึงขออนุญาตกล่าวถึงในส่วนชีวิตครอบครัวของท่าน

คุณหญิงบรรจบพันธุ์ ได้เล่าไว้ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน  

เมื่อฉากของการแสดงชีวิตเป็นนักการเมืองด้วยความจำเป็นจบลงแล้ว คุณชายก็มีความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะตั้งสำนักพิมพ์หนังสือที่ตนได้เขียน ๆ เอาไว้เองแทนการขายลิขสิทธิ์เช่นก่อน ๆ และในระยะนี้เองที่เธอได้มีโอกาสรู้จักกับข้าพเจ้า และเราต่างไม่รู้ตัวว่า บันไดรักของเราเริ่มก่อร่างตั้งฐานขึ้นแล้ว

แน่ทีเดียว ที่เธอคิดว่าเราคงจะได้เคยร่วมชีวิตกันในภพก่อน ๆ ฉะนั้นในชาตินี้ข้าพเจ้าเองจึงมองเห็นว่า เธอเป็นคนดีและคนเดียวที่ข้าพเจ้ารัก ถึงแม้ว่าสมัยนี้เขาจะวัดความดีความเก่งกันด้วยเงินตรา แต่ข้าพเจ้าก็เชื่อว่าคุณชายของข้าพเจ้ามีบางสิ่งบางอย่างในตัวเธอซึ่งไม่อาจซื้อได้ด้วยเงินตรา

เมื่อชีวิตรักเริ่มก่อรูปร่างขึ้นเช่นนี้ ความทะเยอทะยานในสิ่งทั้งหลายแหล่ค่อยหมดไป คุณชายพูดกับข้าพเจ้าว่า ชีวิตของเธอต่อแต่นี้ไปจะสำเร็จได้ก็ด้วยเหตุและผลสองประการ

ประการที่หนึ่ง คือการได้แต่งงานกับข้าพเจ้า และมีลูกเพียงคนเดียวเพื่อเป็นเลือดเนื้อของเธอ กับประการที่สอง ก็คือการที่จะต้องจัดพิมพ์หนังสือความฝันของนักอุดมคติให้ได้

หลังจากชีวิตแต่งงานของเราผ่านไปได้ ๗ เดือนกว่า คุณชายก็ได้จากข้าพเจ้าไปโดยกระทันหัน ทิ้งลูกชายน้อย-ชัยนิมิตร-ไว้ให้ข้าพเจ้าเป็นตัวแทน ซึ่งแม้แต่พ่อของเขาเองก็ไม่มีโอกาสได้เห็นชมเชยลูก เพราะเธอสิ้นไปก่อนลูกเกิดเพียง ๔๕ วัน คือในวันอาทิตย์ที่ ๑๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๑ สิริรวมอายุได้ ๓๙ ปี ๑๑ เดือน ๒๐ วัน


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 พ.ย. 09, 09:48
ทั้ง  ลิลิตเทวราชพิศภาพบนลานอโศก  และ คำสารภาพ อยู่ในหนังสือที่แสดงไว้ใน # ๒

คุณนวรัตนน่าจะให้ความเห็นเพิ่มเติมได้

 ;D



กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 09, 10:03
ถามคุณเพ็ญชมพู และคุณวันดี

ถ้าอย่างนั้น  เราจะถือว่า ชีวิตรักของรุ้ง คือชีวิตรักจริงๆของผู้ประพันธ์ด้วยหรือคะ?


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 พ.ย. 09, 10:09
จรรโลงใจค่ะ     คุณเทาชมพู


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 พ.ย. 09, 10:34
ดิฉันอ่านว่าผู้ประพันธ์มีความละเอียดอ่อนในความรัก

อ่านแล้วสุขใจค่ะ








กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 09, 10:49
แยกกระทู้ไปแล้วค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3029.msg57891;topicseen#msg57891


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ย. 09, 11:23
เมื่อเช้าหลบไปทำงานสักหน่อย กลับมาเปิดอ่านอีกที ท่านทั้งหลายทำให้ผมน้ำตากลบ

เขาว่า ลูกผู้ชาย มีแต่เด็ก กับคนแก่เท่านั้นที่ขี้แย
ต้องขอเวลานอกอีกแล้วครับ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 พ.ย. 09, 12:36
ต้องสารภาพว่ายังไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือเมืองนิมิตร และต้องขอบ่นตรงนี้ด้วยว่า หนังสือดีๆอย่างที่แนะนำให้คนไทยอ่าน บางเล่มหาอ่านยากไปหน่อยครับ ที่ว่าอย่างนี้ไม่ใช่ว่าไม่ควรจัดให้เป็นหนังสือควรอ่าน แต่ไหนๆแนะนำหนังสือได้ ก็น่าจะตั้งกองทุนอะไรสักอย่าง ช่วยกันพิมพ์ออกมาให้แพร่หลายกว่านี้หน่อย ผมคิดว่ามีคนรอซื้ออ่านกันอยู่ไม่น้อยครับ

เมื่อไม่เคยได้อ่าน ก็คงไม่มีภูมิอะไรจะมาวิจารณ์ แต่เท่าที่ได้เห็นตัวอย่างบทกวีของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน ก็ต้องว่า "โดนใจ" จริงๆ


  โน่นคัสสิอุสมี      สีหน้าแห้งกระหายใจ
เขาคิดมากเกินไป    คนเช่นนี้สิน่ากลัว

กระหายใจ !!! ช่างคิดคำได้ poetic มาก

กลอนบนปกนั่นก็อีก


เป็นกรรมจำทนทรมาน์          ก้มหน้ายอมรับปราชัย
เสียดายเกิดกายเป็นชายชาติ   วาสนาไม่ส่งเสริมให้
เสียดายพิทย์เพียรเรียนไว้      โอกาสจักใช้ไม่มี
เสียดายเกิดกอหน่อทหาร       ถึงคราวรำบาญถอยหนี
เสียโชคเสียรักเสียที            เสียดายชีวีไม่แล้ว

ผมเรียกท่านว่า "กวี" ได้อย่างไม่ขัดข้องใจเลยครับ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 09, 12:42
ไปเสิชกูเกิ้ล     เจอว่ามีจำหน่ายที่ "ร้านนายอินทร์" ลองโทรสอบถามดูนะคะว่าบางสาขาหมดหรือยัง

Tel. 0-2623-6041 ถึง 42
Mobile. 0-863-405212
Fax. 0-2221-1186

MSN : cs@naiin.com


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 พ.ย. 09, 14:19
บทวิจารณ์งานเขียน ๓ ชิ้นของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล ความฝันของนักอุดมคติ, ชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง  และรอยร้าวของมรกต  หนังสือพิมพ์ Bangkok Post ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

Two times a rebel, three times a writer

MR Nimitmongkol Navarat spent nearly half his adult life as a political prisoner, but three of his books remain to shed light on the turbulent 1930s

In 1932 a bloodless coup ended the Kingdom's absolute monarchy. In 1933 Prince Boworadej led a short-lived and ill-fated rebellion against the new People's Party government, put down by Phibun Songkhram. MR Nimitmongkol Navarat was an aristocratic fighter pilot caught in the crossfire. Despite the lack of evidence against him, Nimitmongkol was convicted and sentenced to nine years in Bang Khwang prison. He was pardoned in 1937 and released, but arrested again in 1939 on similarly spurious charges. Fifty-two people thought tied to the insurrection were tried in a "Special Court", and 18 of his co-defendants were executed. While in prison he wrote the three manuscripts that make up this collection: Dreams of an Idealist, first written in English to escape the prison guards, then in Thai upon his release; A Victim of Two Political Purges, a memoir; and The Emerald's Cleavage, a four-act play, written in English.

ฉบับเต็ม
http://www.bangkokpost.com/print/27127/




กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ย. 09, 16:22
บ่ายวันหนึ่ง ฝูงบินขับไล่จากฐานบินโคกกระเทียมทะยอยร่อนลงสู่สนามบินดอนเมือง นักบินแปลกใจเล็กน้อยที่แลเห็นเครื่องบินรบจากฐานบินอื่นมาจอดเรียงกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง รวมทั้งที่บินวน รอจังหวะที่จะร่อนลงจอด คำสั่งด่วนให้มาแข่งขันเทนนิสชิงรางวัลที่สำคัญมาก สำคัญขนาดให้ผู้เล่นนำเครื่องบินประจำตัวมาร่วมการแข่งขันได้ อะไรกันจะขนาดนั้น

ร.ท. ม.ร.ว. เสนาะ ลดาวัลย์ หนึ่งในสามของฝูงบินดังกล่าว รีบปลีกตัวขึ้นรถไฟไปกรุงเทพ ยังมีเวลาอีกทั้งราตรีที่จะไปหาคู่รัก พรุ่งนี้ค่อยมาทำการแข่งขันก็ได้ ส่วนเพื่อนอีกสองคนไม่มีสิ่งใดดึงดูดใจ ขอนอนพักที่ฐานบินดีกว่า


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ย. 09, 16:23
ทหารชั้นผู้น้อย ไม่มีใครทราบถึงแผนการณ์ที่ถูกวางไว้   ก่อนรุ่งสางวันนั้น กองกำลังของพระองค์เจ้าบวรเดชจากโคราชก็เข้ายึดดอนเมือง เหตุการณ์ที่เรียกว่ากบฏบวรเดชได้เริ่มต้นขึ้นในทันทีที่แถลงการณ์ให้รัฐบาลยอมจำนนโดยการลาออกได้ถูกประกาศเมื่อฟ้าสาง

ทหารนักบินทั้งหมด เข้าใจแล้วว่าถูกผู้บังคับบัญชาหลอกเอามาใช้ในงานอะไร สิ่งแรกที่นึกได้ก็คือ ขอวางตัวเป็นกลาง คนที่มีใจอยู่ฝ่ายทหารหัวเมืองมาก่อนอยู่แล้วก็นำเครื่องบินออกโปรยใบปลิว คนหนึ่งลักลอบนำเครื่องหนีไปบินลงที่ท้องสนามได้ รัฐบาลจึงตั้งข้อกล่าวหานายทหารนักบินที่ดอนเมืองทุกคนว่าเป็นกบฏ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ย. 09, 16:29
ร.ท. ม.ร.ว.เสนาะ ลดาวัลย์ ใช้ชีวิตคืนนั้นในพระนคร รุ่งเช้าขึ้นมาไปรายงานตัวเป็นฝ่ายรัฐบาล ท่านผู้นี้ต่อมามีชีวิตรุ่งโรจน์ในระหว่างสงครามอินโดจีน และสงครามมหาเอเซียบูรพา เป็นนักบินขับไล่ในจำนวนไม่กี่คนที่ได้ประดับเหรียญกล้าหาญในขณะที่ยังมีชีวิต

ส่วนนักบินอื่นๆที่บังเอิญเล่นเทนนิสเป็นและเขาสั่งให้มาร่วมแข่งขัน ต้องกลายเป็นกบฏ เพราะศาลพิเศษพิพากษาว่า ทหารจะเป็นกลางมิได้ เมื่อเกิดกบฏขึ้น จะต้องมีหน้าที่ปราบกบฏ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุก๑๐ปี ให้ถอดถอนยศและออกจากราชการ ไม่มีอุธรณ์ฎีกา

ร.ท. ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน เป็นหนึ่งในปลาทั้งหลายที่ติดร่างแหนี้



กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ย. 09, 22:09

คือ ผมได้ปราวณาไว้ว่า จะพยายามตอบคำถามของทุกท่านนะครับ แต่ข้างล่างนี้ไม่ใช่คำถาม

อ้างถึง
ทั้ง ลิลิตเทวราชพิศภาพบนลานอโศก  และ คำสารภาพ อยู่ในหนังสือที่แสดงไว้ใน # ๒

คุณนวรัตนน่าจะให้ความเห็นเพิ่มเติมได้

ความเห็นเพิ่มเติมมันจะเยิ่นเย้อ ถ้าถามมาตรงๆผมจะตอบตรงๆครับ



อ้างถึง
ถามคุณเพ็ญชมพู และคุณวันดี

ถ้าอย่างนั้น  เราจะถือว่า ชีวิตรักของรุ้ง คือชีวิตรักจริงๆของผู้ประพันธ์ด้วยหรือคะ?


นี่ก็ไม่ได้ถามผมอีกนั่นแหละครับ แม้เต็มทีแต่ก็ต้องเอามืออุดปากไว้


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 พ.ย. 09, 23:04
มีเพื่อนหลายคนที่ชอบกามนิตวาสิฏฐี
อยากชวนให้อ่านเป็นกำลัง


โคลง  ๓    ตอนหนึ่งเขียนไว้น่าคิดมาก
จะตัดตอนมาก็ทำไม่ลง

เพราะควรจะลง ร่าย ด้วย

(ร่าย)  พระผ่านเผ้าเจ้าสวรรค์         ทราบสำคัญข้อคดี          ที่มาตุลีเล่าถวาย
ธ ชายเนตรทัศนา                วาสิฏฐีดรุณีน้อย             ผู้นั่งเรียบร้อยน่ารัก
ทรงศักดิ์นั่งตลึงตไล                 เห็นทรามวัยเปล่งศรี
ขับเมธินีหมองคล้ำ             ดูดำเช่นหิ่งห้อย            ด้อยแสงในใต้อาทิตย์
อันวาสิษฐีทรามวัย            งามแจ่มใสไร้ตำหนิ              เป็นวรวรรณินีนารถ
ศิริวิลาศทั่งองค์นาง              แม้แสนสุรางค์บนฟ้า            หารูปใครเสมอมิได้
..........................
.........................
.....................


(โคลง ๓)

เว้นหกบรรทัด

              แสนเสียดายนงเยาว์                             วรรณเผ่าเพียงพ่อค้า
ศักดิ์นางมิเสมอหน้า                                            ผู้เจ้าจอมสวรรค์
             
              เสียดายครันยุวดี                                  มีคู่รักอยู่แล้ว
เนื้อกรรมนำนางแก้ว                                            ไต่เต้าตามกัน


อ่านออก  วิจารณ์ไม่เป็นค่ะ



ไปอ่าน คำสารภาพเข้า     ไม่ประหลาดใจเลยในความรู้ด้านวรรณกรรมอันกว้างขวางของผู้ประพันธ์

หญิงที่ข้ารักจอดยอดหัวใจ       จำได้ลาง ๆ ว่าเคยอ่าน


กฤษณายอดดีปรนนิบัติ
เห็นยังไม่มีสมรรถจัดเจนเท่า
บุษบาว่าเพริดเฉิดเฉลา
ก็คงเบาความงามทรามกว่านี้
แก้วกนกเรขาว่าเลิศเลอ
จะนำมาเทียบเธอไม่พอที่
รจนาอ่อนหวานงานเรือนดี
จะเปรียบยอดนารียังไกลกัน
วาสิษฐีก่นสร้างทางกุศล
ประสบผลจนได้ไปสวรรค์
แต่เมื่อนางเนาโลกมนุษย์นั้น
ประพฤติมั่นธรรมน้อยกว่ากลอยใจ
         

เพราะค่ะ     เพราะมาก     เลือกคำได้แปลก

เห็นลายมือที่เขียนด้วยดินสอแล้ว  ก็พนมมือน้อมลงไหว้
โชคดีที่ได้อ่าน


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 พ.ย. 09, 23:23
เห็นตาม    ม.ล. ตุ้ย  ชุมสาย  ที่ท่านวิจารณ์ไว้(ในการพิมพ์ครั้งที่สาม)


"คุณนิมิตรมงคลเป็นศิลปินเอกมาแต่กำเนิด        เป็นศิลปินแบบกรีก     คือเคลื่อนไหวหรือประกอบแต่งได้หมดจดงดงามอย่างยิ่ง
โดยไม่คำนึงถึงว่าการเคลื่อนไหวและสิ่งประกอบแต่งนั้นจะต้องมีคุณค่าแก่ใครอย่างไรหรือไม่"


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 พ.ย. 09, 08:02
เมื่อกบฏเกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลได้ออกคำสั่งให้กองทัพเรือส่งเรือปืนทรงอานุภาพที่สุดที่ประจำการในขณะนั้น (เรือหลวงสุโขทัย) ไปที่สะพานพระราม ๖ และให้ยิงทำลายกรมอากาศยานดอนเมือง สถานีรถไฟบางเขนและ หลักสี่ เมื่อ นาวาเอก พระยาวิชิตชลธี (ทองดี สุวรรณพฤกษ์) ผู้บัญชาการทหารเรือนำคำสั่งไปไตร่ตรอง และประชุมนายทหารบนเรือหลวงสุโขทัยแล้ว เห็นว่าไม่สมควรปฏิบัติ เพราะวิถีกระสุนพื้นราบของปืนใหญ่เรือจะสร้างความเสียหายยับเยินแก่ราษฎรที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ไปด้วยจึงสั่งการให้เรือรบทุกลำ "ไปบางนา" เมื่อ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๖ ขณะเคลื่อนขบวน เรือในแม่น้ำ นาวาตรี หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) ผู้ก่อการของคณะราษฎร์คนหนึ่ง นำรถถังจากวังปารุศสกวัน ไปสกัดที่สะพานพระพุทธ ยอดฟ้า โดยสั่งให้ปิดสะพาน แต่ไม่ทัน ได้แต่ยิงสกัดไปที่เรือจูงที่บรรทุกนาวิกโยธิน แต่ถูกปืนเรือรบยิงสวนจนพลประจำรถตาย


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 พ.ย. 09, 08:06
ต่อมานาวาเอก พระยาวิชิตชลธี นำเรือหลวงสุโขทัยและเรือหลวงเจ้าพระยาไปถวายอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่หัวหิน  ความแตกแยกในวงการทหารเรือก็ได้ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน มีการยุยงให้ทหารเรือในเรือหลวงสุโขทัยและ เรือหลวงเจ้าพระยาแข็งข้อต่อนาวาเอก พระยาวิชิตชลธี และให้นำเรือกลับกรุงเทพฯ โดยกล่าวหาว่าท่านเป็นกบฏ แต่นาวาเอก พระยาวิชิตชลธี สามารถระงับเหตุการณ์ได้

เมื่อฝ่ายอีกฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้แล้ว รัฐบาลได้ตั้งข้อหานาวาเอก พระยาวิชิตชลธีว่าเป็นกบฏตามนั้น ระหว่างการดำเนินคดีที่ศาลทหาร ณ กระทรวงกลาโหม  ทุกครั้งระหว่างถูกควบคุมตัวจากคุกบางขวางโดยทางเรือเพื่อไปขึ้นศาล เมื่อผ่านเรือรบลำใด ผู้ต้องหาผู้นี้จะได้รับการเคารพในฐานะ ผู้บัญชาการทหารเรืออย่างแข็งขันทุกครั้ง โดยจ่ายามจะเป่านกหวีดและทหารในเรือ จะยืนรายกราบวันทยาหัตถ์แสดงความเคารพต่ออดีตผู้บังคับบัญชาของเขาแม้จะถูกสวมกุญแจมืออยู่ในท่ามกลางผู้ต้องหาอื่นๆซึ่งรวมถึงม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน ที่มองทหารเรืออย่างประทับใจด้วย


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 พ.ย. 09, 09:02
ม.ร.ว.นิมิตรมงคล เขียนเล่าไว้ว่าพระองค์เจ้าบวรเดชทรงเลือกที่จะใช้แผน “เสือล้อมกวาง” ขู่ให้ยอมจำนนแทนที่จะบุกตลุยเข้ายึดพระนครในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลยังตั้งตัวไม่ติด พระองค์เจ้าบวรเดชอาจจะทรงไม่ต้องการให้มือเปื้อนเลือดคนไทยด้วยกัน หรือใครจะมองว่าพระองค์ไม่แน่จริงก็สุดแล้วแต่ ที่แน่ๆก็คือ พันโทหลวงพิบูลสงครามแม่ทัพฝ่ายรัฐบาลนั้น ไม่ใช่กวางแน่นอน


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 พ.ย. 09, 09:04
นอกจากจะสั่งใช้อำนาจปืนเรือรบดังกล่าวแล้ว ตอนนั้นรถปืนกลต่อสู้อากาศยานแบบอัตตาจรที่ทันสมัยที่สุดที่กองทัพอังกฤษมี เพิ่งนำเข้ามาถึงพอดีถึง๒๘คัน ก็ถูกสั่งให้ไปลองของกับฝ่ายกบฏเสียเลย


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 พ.ย. 09, 09:05
กองกำลังฝ่ายรัฐบาลตั้งหลักได้ก็เข้าปะทะกับทหารฝ่ายหัวเมืองที่ทุ่งบางเขน  ขณะนั้น มีข่าวว่ากองกำลังจากหลายจังหวัดที่เคยตกลงว่าจะเข้าร่วมแผนนี้ด้วยได้ถอนตัวหลังจากที่ทราบข่าวว่าผู้นำปฏิบัติการครั้งนี้มิใช่พันเอก หลวงศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ผู้ที่เป็นที่เคารพรักของนายทหารทั้งปวงเสียแล้ว กลับกลายเป็นพระองค์เจ้าบวรเดชที่น่าระแวงว่า หากชนะแล้วระบบสมบูรณายาสิทธิราชจะกลับมาอีก    ฝ่ายรัฐบาลจึงได้เปรียบรุกไล่ฝ่ายทหารหัวเมืองถอยไปตั้งที่มั่นอยู่ที่สถานีรถไฟดอนเมือง ทัพหน้าของรัฐบาลก็ไปตั้งยันอยู่ที่สถานีรถไฟบางเขน ที่เกือบจะเละเทะเพราะกระสุนของทั้งสองฝ่าย


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 พ.ย. 09, 09:07
กองหนุนของรัฐบาลอันประกอบด้วยกองปืนต่อสู้อากาศยานอันทรงพลานุภาพได้ออกจากเกียกกายมาขึ้นขบวนรถไฟที่สถานีชุมทางบางซื่อ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 พ.ย. 09, 09:09
ขณะที่ไปถึงสถานีบางเขนยังไม่ทันลงจากรถไฟ ก็เจออาวุธหนักของฝ่ายหัวเมือง เป็นหัวรถจักรที่เร่งพลังขับเคลื่อนเต็มพิกัด ปล่อยลงมาปะทะขบวนรถบรรทุกป.ต.อ. พลิกคว่ำลงข้างรางมีทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายนาย ยุทธการครั้งนี้เป็นที่เล่าขานกันต่อมายาวนาน ใช้ศัพท์เรียกอาวุธนี้ว่าตอปิโดบก


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 พ.ย. 09, 09:14
 แต่นี่ก็เป็นความเสียหายขนาดหนักอย่างเดียวที่ฝ่ายหัวเมืองสามารถสร้างให้กับกองกำลังฝ่ายรัฐบาลได้
แต่ก็เพียงพอที่รัฐบาลจะถือโอกาสประกาศความชอบธรรมที่จะกวาดล้างฝ่ายกบฏด้วยอาวุธรุนแรงต่อไป


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 พ.ย. 09, 09:19
แค่นี้ ฝ่ายกบฏก็ขวัญกระเจิงหมดแล้ว อาวุธที่ตนขนมามีแต่ปืนกลหนักไม่กี่กระบอก รัฐบาลเอาปืนใหญ่มาตั้งแถวอวดให้ส่องกล้องเห็นอีกต่างหาก


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 พ.ย. 09, 10:17
สมรรถนะของป.ต.อ.วิคเกอร์อาร์มสตรองขนาด ๔๐ มม.ปืนที่ลำกล้องตั้งแต่ ๒๐ มม.ก็เข้าประเภทปืนใหญ่แล้ว ใช้กระสุนทั้งเจาะเกราะและกระสุนระเบิดยิงได้นาทีละ ๒๐๐ นัด ทั้งวิถีราบและต่อสู้อากาศยาน ระยะยิงไกล ๖ กิโลเมตร ติดตั้งบนรถสายพานเครื่องยนต์ ๘๗ แรงม้า จัดได้ว่าเป็นปืนใหญ่ที่ทรงอานุภาพที่สุดแห่งยุค ทหารไทยทั้งหลายไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนเลย

ฝ่ายรัฐบาลได้นำมาลองใช้เพียงกระบอกเดียว บรรทุกบนรถ ข.ต.เคลื่อนขึ้นไปตามทางรถไฟโดยมีรถจักรดันหลัง ใช้ทหารประจำรถเพียง ๕ คน เมื่อเคลื่อนเลยวัดเสมียนนารีไปได้หน่อยหนึ่งก็ถูกยิงแต่ก็ไม่ได้โต้ตอบ คงเคลื่อนที่เข้าไปช้าๆเพราะมีเกราะกำบัง จนกระทั่งเห็นได้ชัดเจนว่ารังปืนกลของฝ่ายกบฏอยู่หลังหน้าต่างโบสถ์วัดเทวสุนทร

นายทหารได้สั่งทุกคนให้ยกมือไหว้ขอขมาที่จำเป็นต้องยิงโบสถ์และอธิษฐานขออย่าให้ถูกพระประธาน ก่อนที่ลั่นกระสุนนัดแรกของปืนชนิดนี้และยิงติดๆ กันไปอีก ๔ นัด ทหารหัวเมืองเพิ่งเคยเห็นปืนใหญ่ยิงได้รวดเร็วราวกับปืนกล และกระสุนระเบิดแม่นยำเกินกว่าที่เคยพบเห็นมาก่อนในเวลาซ้อมยิงปืนใหญ่แบบเก่าที่เคยมีในกองทัพบก ก็วิ่งหนีกระจัดกระจายออกจากโบสถ์

ที่หมายต่อไปที่สงสัยว่าจะเป็นที่มั่นของฝ่ายตรงกันข้ามคือสถานีวิทยุต่างประเทศที่หลักสี่ จึงได้ยิงข่มขวัญไปอีก ๕ นัด เล็งสูงจากตัวอาคารเพราะเกรงจะได้รับความเสียหาย จากนั้นก็ใช้ทหารราบรุกเข้าไปยึดโดยไม่ได้ยิงอีกเลย

ป.ต.อ. วิคเกอร์อาร์มสตรอง แสดงบทบาทเพียงครั้งเดียว สิ้นเปลืองกระสุนเพียง ๙ นัด ทหารหัวเมืองก็ถอนตัวจากดอนเมืองขึ้นไปตั้งรับในเทือกเขาดงพระยาเย็น แล้วก็พ่ายแพ้โดยเด็ดขาดที่นั่น

พันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) แม่ทัพซึ่งรับหน้าที่เป็นกองระวังหลังของกองทหารหัวเมือง ถูกยิงเสียชีวิตบนทางรถไฟใกล้สถานีหินลับ อำเภอปากช่อง



กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 พ.ย. 09, 10:21
พระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งกลายเป็นหัวหน้าฝ่ายกบฏโดยสมบูรณ์แบบ ได้ทรงหนีขึ้นเครื่องบิน มุ่งหน้าสู่เขมรเพื่อขอลี้ภัยกับฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมอินโดจีนสมัยนั้น สุดท้ายก็ได้สิ้นพระชนม์ที่นั่น


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ย. 09, 11:21
ขอแก้ไขหน่อยค่ะ
พระองค์เจ้าบวรเดช ไม่ได้สิ้นพระชนม์ที่อินโดจีน  แต่ได้เสด็จกลับประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒  เมื่อพ.ศ. ๒๔๙๑
ทรงอยู่ที่หัวหิน    ร่วมงานกับหม่อมเจ้าผจงจิตร กฤดากร  พัฒนาโรงงานทอผ้าลายไทยขึ้นมาจนประสบความสำเร็จ  เรียกว่า ผ้าโขมพัสตร์


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 พ.ย. 09, 12:11
 
ขอบพระคุณที่ทักท้วงครับ ผมไม่รอบคอบเลย สมองเคยจำอย่างไรมือก็จิ้มตาม ประมาทไปหน่อยเรื่องนี้ไม่ได้ตรวจสอบ ไหนๆก็ไหนๆ โฆษณาให้ท่านเสียเลยเป็นการขอประทานอภัย

โขมพัสตร์อาภรณ์ทรงคุณค่าทุกยุคสมัย 

เราเดินทางมาพบกับอีกบทหนึ่งของความทรงจำจากอดีต ร้านโขมพัสตร์ ร้านจำหน่ายผ้าฝ้ายพิมพ์ลายไทยที่รุ่งเรืองมาพร้อมๆ กับเมืองหัวหิน คำว่า โขมพัสตร์ แปลว่า ผ้าขาว หมายถึง ผ้าขาวที่นำมาพิมพ์ลาย เป็นผ้าพิมพ์ลายไทยแท้ๆ แบบโบราณ ซึ่งเขียนลายด้วยมือและพิมพ์ด้วยมือเรียกว่าเป็นงานปราณีตจากฝีมือคนล้วนๆ ไม่ใช้เครื่องจักรแต่อย่างใด
 
 จุดกำเนิดของร้านโขมพัสตร์เริ่มขึ้นในปีพ.ศ. 2492 เมื่อพลเอกพระวรวงค์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช และหม่อมเจ้าหญิงผจงจิตร กฤดากร เสด็จลี้ภัยการเมืองไปประทับอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม ณ ที่นั่นทรงตั้งโรงย้อมผ้าแพรแบบคนญวน แต่พอสงครามเลิกทั้งสองก็เสด็จกลับประเทศไทย และเนื่องจากทรงมีที่ดินที่หัวหิน จึงโปรดให้สร้างโรงย้อมและพิมพ์ผ้าย้อมๆ เช่นเดียวกับที่ไซ่ง่อนขึ้นที่นี่ เพื่อให้คนในท้องถิ่นมีรายได้ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ย. 09, 12:28
ดิฉันนึกถึงบุคคลสำคัญทางการเมืองที่ต้องลี้ภัยจากภัยการเมือง พ.ศ. ๒๘๘๒  ไปถึงแก่กรรมอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน
คือพันเอก พระยาทรงสุรเดช
ชะตากรรมของท่านเป็นโศกนาฏกรรมทางการเมือง  คล้ายกับชีวิตของม.ร.ว.นิมิตรมงคล    น่าเสียดายที่มีผู้รวบรวมเรื่องราวไว้น้อยมาก
ที่จำได้ก็มีบุตรชายของท่าน คุณทศ พันธุมเสน เขียนหรือให้สัมภาษณ์ไว้   แต่ดิฉันไม่มีหนังสือเล่มนี้


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 พ.ย. 09, 18:03
พันเอก พระยาทรงสุรเดช ท่านเป็นหนึ่งในสี่ทหารเสือของคณะราษฎร์อันประกอบด้วยพ.อ. พระยาทรงสุรเดช, พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา, พ.อ. พระยาฤทธิ์อัคเนย์, พ.ท. พระประสาสน์พิทยายุทธ.เรียงลำดับกันในรูป

ไม่นานผู้ร่วมขบวนการแต่มิได้ร่วมอุดมการก็แตกแยก ปล่อยบทบาทสำคัญให้นายทหารยศน้อยกว่าแต่ทะเยอทะยานมากกว่าขึ้นมามีอำนาจ ในที่สุดจากที่ร่วมขบวนการในยศพันโท เมื่อปราบขบถเสร็จได้ยศพันเอก หลวงพิบูลสงครามก็ปราบทหารเสือทั้งสี่อยู่หมัด แต่ละคนต้องชะตากรรมต่างกันจากพวกเดียวกันเองแท้ๆ ในกลุ่มนี้พระยาทรงสุรเดชเคราะห์ร้ายสุด ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารพ.อ.หลวงพิบูลสงคราม ถูกจับและถูกเนรเทศไปอยู่ในอินโดจีน ต้องอยู่อย่างลำบากยากแค้นเพราะพื้นฐานครอบครัวมิได้สะสมเงินทอง ถึงขนาดมีผู้เขียนว่าต้องทอดแหหาปลามาให้ภรรยาทำกับข้าวไปวันๆ ซ้ำร้ายเมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลใหม่จะยอมให้กลับเมืองไทยได้ ก็มีไอ้โม่งส่งนายทหารที่เคยเป็นลูกน้องไปเยี่ยมและทานข้าวด้วย หลังจากมื้อนั้นท่านปวดท้องอย่างแรง เมื่อถึงหมอก็สายไปเสียแล้ว โรงพยาบาลแจ้งว่าถึงแก่กรรมเพราะอาหารเป็นพิษ

ในปีที่ท่านถูกจับคือพ.ศ.2482 รัฐบาลหลวงพิบูลกวาดจับผู้ต้องสงสัยครั้งใหญ่ เรียกว่ากบฏพระยาทรง ซึ่งเป็นกบฏที่การเคลื่อนไหวทางการทหารเป็นการกระทำของรัฐบาลฝ่ายเดียว แต่มีผู้ถูกจับหลายสิบคน รวมทั้งม.ร.ว.นิมิตรมงคลด้วย

รัฐบาลตั้งศาลพิเศษขึ้นมาพิจารณาคดี ศาลพิเศษตัดสินปล่อยตัวพ้นข้อหาจำนวน 7 คน จำคุกตลอดชีวิตจำนวน 25 คน  โทษประหารชีวิตจำนวน 21 คน แต่ให้เว้นการประหาร คงเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต 3 คน เนื่องจากเคยประกอบคุณงามความดีให้กับประเทศชาติ คือ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร
พลโท พระยาเทพหัสดิน
พันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์



คงเหลือถูกประหารจริงๆ18คน การเมืองยุคนี้เรียกว่ายุคทมิฬ
การกบฏครั้งที่2ที่ถูกยัดเยียดข้อหานี้ ม.ร.ว.นิมิตรมงคลถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 พ.ย. 09, 17:41
ในการก่อการปฏิวัตเมื่อปี2475 ปัญหาคือคณะราษฎร์ไม่มีคนคุมกำลังทหารในมือเลย พระยาทรงฯซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนนายร้อย จึงลวงนักเรียนนายร้อยด้วยการปลุกให้ตื่นตั้งแต่ตี3แล้วบอกว่าจะพาไปฝึกภาค สนามที่พระที่นั่งอนันต์ พร้อมกับการที่นายพันเอกพระยาพหลฯไปลวงค่ายทหารให้นำกำลังทหารและรถทหารออกมาสมทบกัน และพระประศาสน์(ซึ่งใกล้ชิดกับพระยาทรง)ไปควบคุมตัวกรมพระนครสวรรค์ฯซึ่งทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมจากวังบางขุนพรหมมาเป็นตัวประกัน

เมื่อนักเรียนทหารที่นายพันเอกพระยาทรงฯลวงมาสมทบกับรถทหาร และทหารจากค่ายที่นายพันเอกพระยาพหลฯลวงมา กับนายพันโทพระประศาสน์ฯควบคุมกรมพระนครสวรรค์มาที่นั่งอนันต์ฯได้ การปฏิวัติที่ปราศจากเลือดเนื้อก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ของไทย

ข้อความข้างบนผมหาเอาในเวปนี้แหละครับ เรื่องของท่านใช้กูเกิลหาก็น่าจะมีครบ แต่ที่ไม่มีคือเรื่องที่จอมพลประภาส จารุเสถียรเขียนประวัติตนเองในหนังสือตอนที่ยังเป็นนักเรียนนายร้อย  อยู่ๆที่โรงเรียนก็จัดโต๊ะอาหาร แยกให้เจ้านายและพวกเชื้อพระวงค์ทั้งหลายนั่งรวมกันที่โต๊ะกลางห้อง มีผ้าปูโต๊ะและภาชนะกระเบื้องอย่างดี  ขณะที่โต๊ะของนักเรียนนายร้อยอื่นๆเป็นโต๊ะธรรมดา อาหารก็อนุญาตให้ส่งจากในวังมาเสริมได้ ขณะที่นายร้อยอื่นๆกินข้าวหลวงที่คุณภาพต่างกันลิบลับ การฝึกภาคสนาม การสอบฯลฯก็ให้สิทธิพิเศษเป็นอภิสิทธิ์ชนจนกระทั่งเกิดการแปลกแยกขึ้นในระหว่างนักเรียนนายร้อย....ตอนหลังจึงทราบว่านั่นเป็นแผนของครูบาอาจารย์ที่ต้องการให้เกิดเช่นนั้น

ผมเห็นว่าวิธีการดังกล่าวฉลาดแนบเนียนแต่โหดร้าย เป็นอันตรายมาก ทุกวันนี้ก็มีผู้ที่อยู่ในคราบของผู้จงรักภักดี ทำอะไรๆที่แยกไม่ออกว่าจงรักภักดีจริงหรือคิดอะไรอยู่ในใจ น่าเป็นห่วงจริงๆครับ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 พ.ย. 09, 06:03
เมื่อถูกศาลพิเศษของรัฐบาลตัดสินจำคุกครั้งแรกนั้น  ม.ร.ว.นิมิตรมงคลคิดว่าเมื่อตนต้องโทษการเมืองทั้งๆที่ไม่รู้ก.ข.ทางการเมืองเลย จึงควรที่จะศึกษาวิชาการเมืองที่ในสมัยนี้เรียกว่ารัฐศาสตร์ไว้บ้าง ตอนนั้นไม่น่าเชื่อว่ารัฐบาลประชาธิปไตยจะห้ามศึกษาหาอ่านเรื่องการเมืองใดๆทั้งสิ้นถึงขนาดเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญเลยทีเดียว

โชคดีที่เลือกเพื่อนร่วมห้องได้ ม.ร.ว.นิมิตรมงคลจึงได้อยู่กับสอ (เศรษฐบุตร)เสถบุตร ท่านผู้นี้ขนตำรับตำราภาษาอังกฤษเข้าไปไว้ในคุกมากมาย และได้เริ่มเขียนปทานานุกรม อังกฤษ-ไทยขึ้น ทั้งสองได้ใช้เวลาระหว่างอยู่ในคุกให้เป็นประโยชน์ที่สุด ม.ร.ว.นิมิตรมงคลได้เป็นผู้ช่วยคุณสอในการค้นคว้าและบัญญัติศัพท์  รวมถึงได้อ่านหนังสือของท่านอันเป็นการเปิดโลกทรรศครั้งใหญ่ ซึ่งก่อให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้เขีบน”ความฝันของนักอุดมคติ” ต่อมา


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 พ.ย. 09, 06:21
บรรดานักโทษการเมืองกลุ่มหนึ่งที่เป็นนักคิดนักเขียน เมื่ออยู่ว่างๆก็อดไม่ได้ที่จะออกกำลังสมองบ้าง จึงได้เขียนบทความหรือกวีนิพนธ์ลงกระดาษที่ฉีกมาจากสมุดนักเรียนและนำมาแลกเปลี่ยนกันอ่านให้ความรู้ซึ่งกันและกัน ต่อมาได้พัฒนาขึ้นถึงกับนำมาเย็บรวมเล่มโดยมีม.ร.ว.นิมิตรมงคลเป็นบรรณาธิการ ตั้งชื่อว่า”น้ำเงินแท้” ลักลอบออกเป็นวารสารเวียนกันอ่านระหว่างผู้ต้องโทษด้วยกัน

น้ำเงินแท้ มีหลายความหมาย นอกจากจะหมายถึงชุดนักโทษที่ย้อมสีหม้อห้อมทั้งเสื้อและกางเกงแล้ว ยังเป็นสีหนึ่งในแถบของธงชาติที่เป็นสัญญลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ แรกๆบทความต่างๆก็เป็นวิชาการกันดี หลังๆก็จะอดมิได้ที่จะวิพากษ์หรือระบายความรู้สึกนึกคิดลงไปบ้าง จึงทำให้นักโทษการเมืองด้วยกันกลุ่มหนึ่งกลัวความผิดหากถูกจับได้ และจะถูกลงโทษหนักเข้าไปอีก คณะน้ำเงินแท้จึงถูกขอร้องให้เลิก  หลังจากที่ออกได้เพียง๑๗ฉบับเท่านั้น

หนังสือทั้งหมดที่ม.ร.ว.นิมิตรมงคลทะยอยลักลอบส่งออกมานอกคุกด้วยลิ้นชักกลใต้กระเช้าเยี่ยมญาติ ก็ถูกญาติท่านนั้นเผาทิ้งไปด้วยเพราะไม่อยากติดคุก วารสารน้ำเงินแท้จึงไม่เหลือให้หาเศษทรากได้เลย


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 พ.ย. 09, 07:32
เวลาผ่านไปสี่ปีกว่า ด้วยการวิ่งเต้นอย่างสุดฤทธิ์ของบรรดาพ่อแม่ลูกเมียของนายทหารชั้นผู้น้อยนับร้อยที่พลอยมาติดคุกโดยไม่ทราบแผนของผู้บังคับบัญชามาก่อน แต่จำต้องเข้าสนามรบตามคำสั่ง รัฐบาลก็เห็นสมควรที่จะปล่อยผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้เป็นอิสระ รวมทั้งม.ร.ว.นิมิตรมงคลด้วยที่ได้รับการปลดปล่อยออกมาสู่โลกภายนอกในครั้งนั้น
ในภาพที่ถ่ายระหว่างถูกย้ายมาอบรมที่กระทรวงกลาโหมหกเดือนเพื่อรอการปลดปล่อย ม.ร.ว.นิมิตรมงคลอยู่ขวามือสุด

สำหรับบรรดาแกนนำของฝ่ายกบฏที่รัฐบาลยังคงถือว่าเป็นนักโทษการเมืองอุฉกรรจ์ ก็ให้คุมขังไว้ในแดนหก ของบางขวางตามเดิม รัฐบาลที่มีรากเหง้ามาจากคณะราษฏร์สายทหารไม่ว่าใครจะแย่งชิงมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ก็ยังเห็นว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการแย่งชิงพระราชอำนาจมาเป็นของตนเป็นศัตรูตลอดกาล ควรต้องขังไว้จนตาย

ดังนั้น เมื่อหลวงพิบูลสงครามได้ขึ้นมาเป็นนายกรํฐมนตรีในปี๒๔๘๑ และมีแผนการณ์ที่จะกำจัดศตรูทางการเมืองอีกชุดใหญ่ซึ่งชุดนี้จะเป็นชุดที่เคยก่อการปฏิวัติ๒๔๗๕มาด้วยกัน แต่บัดนั้นความเห็นไม่ตรงกันจึงสมควรจะต้องบรรลัยลงไปกันข้างหนึ่ง แต่การที่จะเอากลุ่มบุคคลสองพวกไปขังไว้ที่เดียวกันในแดนหกนั้น ไม่น่าจะเป็นการดี ลูกน้องหลวงพิบูลจึงเสนอให้จัดการย้ายพวกนักโทษชุดเดิมซึ่งเป็นพวกสีน้ำเงินแท้ไปปล่อยเกาะตะรุเตาเสียร้อยกว่าคน และจัดแดนหกไว้รอต้อนรับพวกอดีตผู้ก่อการสายที่ไม่เชื่องต่อหลวงพิบูลแทน


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 พ.ย. 09, 08:23
ในบรรดาผู้ที่ได้รับอิสระภาพครั้งนั้น ม.ร.ว.นิมิตรมงคลเป็นคนหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนที่มิได้ยื่นแสดงความจำนงจะขอกลับเข้ารับราชการอีกตามที่หลวงพิบูลแผ่บารมีมาเอื้อเฟื้อ   เนื่องด้วยมีกฏห้ามผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกรับราชการแต่หลวงพิบูล(ในขณะนั้นยังเป็นแค่รัฐมนตรีกลาโหม)รับปากเหล่านักโทษที่เข้ารับการอบรมว่าจะช่วยได้ จึงถูกตราหน้าทันทีว่า”เอ็งไม่ใช่พวกข้า”

ม.ร.ว.นิมิตรมงคลไม่ประสงค์จะรับราชการเพราะอยากจะทำการค้า ได้ลองเข้าไปฝึกงานในบริษัทของชาวอินเดียระยะสั้นๆก็ถอยออกมาเพราะรู้ว่าตนทำอย่างนั้นไม่ได้ (ตรงนี้ม.ร.ว.นิมิตรมงคลน่าจะได้เรียนรู้สันดานดิบของพ่อค้าได้เร็วกว่ารุ้ง จิตเกษมหลายเดือน) งานอาชีพที่ทำและปรากฎเป็นหลักฐานคือ ได้เรียบเรียงบทวิชาการพื้นฐานการเมืองการปกครองที่เคยลักลอบส่งต้นฉบับออกมาจากในคุก และได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารบางฉบับโดยอาศัยชื่อม.ร.ว. ทรงสุจริต นวรัตน พี่ชาย เป็นผู้เขียน หนังสือนั้นให้ชื่อว่า “พรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ”

เหตุผลที่ทำตอนนั้นก็เพราะว่าในระหว่างการอบรม หลวงพิบูลได้มาแสดงปาฐกถาตอนหนึ่งบอกว่า ถ้าตนได้เป็นนายกรัฐมนตรี จะยกเลิกบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้การเมืองและจัดตั้งพรรค(นอกจากคณะราษฎร์)ขึ้นได้  ม.ร.ว.นิมิตรมงคลเห็นว่าน่าจะเป็น(นโยบายการค้า)ที่ดีถ้าได้เตรียมหนังสือไว้ล่วงหน้า สำหรับนักศึกษาและผู้สนใจจะซื้อหาได้ทันทีเมื่อโอกาสนั้นมาถึง แต่การณ์มิได้เป็นเช่นนั้น เมื่อหลวงพิบูลเป็นนายกแล้ววันหนึ่งสันติบาลได้ระดมพลเข้าค้นสำนักพิมพ์ทุกแห่งที่หมายหัวไว้ และได้พบหนังสือ“พรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ”รอการจัดจำหน่ายอยู่ เจ้าของสำนักพิมพ์ถูกเชิญตัวไปสอบสวน แม้ว่าจะมิได้กระทำผิดกฏหมาย(เพราะยังมิได้เผยแพร่)หนังสือทั้งหมดก็ถูกยึดแล้วนำไปเผาทำลายเสียสิ้น แต่บังเอิญนายตำรวจบางท่านได้เก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัวและลูกหลานผู้รับมรดกเห็นคุณค่าจึงนำมาให้ห้องสมุด “พรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ” จึงถูกค้นพบและได้รับการตีพิมพ์ขึ้นมาใหม่ ในวาระครบ๑๐๐ปีชาตกาลของม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 พ.ย. 09, 09:07

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ ม.ร.ว.นิมิตรมงคลรู้ได้โดยทันทีว่า หลวงพิบูลมิได้มีความจริงใจในคำพูดของตนเลย  ประกอบกับเมื่อออกมาจากคุกแล้วจึงได้พบว่า สถานะการณ์ของโลกภายนอกเปลี่ยนแปลงไปมาก กระแสชาตินิยมภายใต้ผู้นำอย่างฮิตเลอร์กำลังเปลี่ยนสถานภาพของเยอรมันจากผู้แพ้สงคราม หนี้สินล้นพ้นตัว มาเป็นมหาอำนาจใหม่ที่ผู้ชนะยังไม่อยากสบตา ความนิยมในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จฝากความเชื่อไว้กับความสามารถของท่านผู้นำคนเดียวนั้น มหาชนในเมืองไทยก็รับมาหลงใหลได้ปลื้มกับเขาเหมือนกัน ถึงขนาดมีผู้เห็นรัศมีพวยพุ่งออกจากหลวงพิบูลจนทนไม่ได้ต้องทรุดตัวลงกราบต่อหน้าเพื่อนข้าราชการด้วยกันจนถึงกับทุกคนขนลุกซู่ และหลวงพิบูลเองขวยเขินไปด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ม.ร.ว.นิมิตรมงคลเห็นว่าตนคงไม่อาจต้านกระแสคลั่งไคล้ในตัวท่านผู้นำได้ด้วยการเขียนหนังสือให้ความรู้ด้านการเมืองที่ถูกต้องอีกต่อไป การพายเรือลำน้อยสวนกระแสน้ำบ้าคลั่งเป็นความบ้าหาใช่อุดมคติไม่ เพื่อรักษาสถานภาพของตนมิให้ต้องกลับไปติดคุกอีก จึงตัดสินใจวางปากกาชั่วคราว


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 พ.ย. 09, 12:15
การเมืองไทยตอนนั้นกำลังเข้มข้นเข้ามาใกล้ฉากสุดท้ายของคณะราษฎร์ ซึ่งเป็นไปมิใช่ด้วยการกระทำของพวกเจ้า แต่เป็นพวกผู้ก่อการด้วยกันเอง

คณะปฏิวัติกลุ่มทหารบก ซึ่งมีฉายาว่า  4 ทหารเสือ  ประกอบด้วย พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอกพระทรงสุรเดช พันเอกพระยาฤทธิอาคเนย์ พันโทพระประศาสตร์พิยายุทธ ทั้งสี่ท่านนี้ถือว่า ถือว่าเคียงบ่าเคียงไหล่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกันมา แต่หลังจากทำการปฏิวัติเรียบร้อยแล้วได้เกิดแตกแยกกัน แม้จะด้วยเรื่องความคิดเห็นที่เกี่ยวกับการปกครองบ้านเมือง แต่ในที่สุดก็กลับกลายเป็นศัตรูคู่ฆาตกันไป เปิดโอกาสให้นายทหารหนุ่มรุ่นน้องที่เลื่อนยศจากพันโทขึ้นมาเป็นพันเอกหลวงพิบูลสงคราม ดาวรุ่งดวงใหม่ได้ฉวยเอาตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไปเป็นทุนการเมือง และพอเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมถึงสองครั้งในระยะห่างกันไม่นาน ก็ได้ใช้ กลวิธีในสภา ผลักดันให้พระยาพหลฯ ยุบสภาผู้แทนราษฎร และเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมาใหม่(ตอนนั้นใช้ทั้งแต่งตั้งและเลือกตั้งทางอ้อม) ส่วนมากผู้ที่เข้าสภามาใหม่ก็เป็นกลุ่มสนับสนุนพันเอกหลวงพิบูลสงครามๆจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน

ส่วนพระยาพหลพลพยุหเสนาผู้พ่ายเกมการเมืองครั้งนี้ได้รับตำแหน่งปลอบใจให้เป็น “เชรษฐบุรุษ” ซึ่งเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์ ไม่มีความหมายความหมายทางการเมืองแต่อย่างใด หลังจากถูกผลักดันให้กลับไปอยู่กับบ้านไม่นาน ท่านก็ล้มป่วยเป็นโรคอัมพาต แต่ดำรงสังขารอยู่นานจนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 อายุได้เพียง 66 ปี 


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 พ.ย. 09, 12:19
 พันเอกพระยาฤทธิ์อัคเนย์  อีกหนึ่งในสี่เสืออดีตผู้บังคับบัญชากรมทหารปืนใหญ่ที่เป็นกองกำลังเดียวที่นำอาวุธออกมาก่อการปฏิวัติในวันที่24มิถุนายน 2475  ท่านผู้นี้ถูกหลวงพิบูลเรียกไปกล่าวหาซึ่งๆหน้าว่า มีใจร่วมกับพวกกบฏบวรเดช โดยมีหลักฐานว่าระหว่างเป็นรัฐมนตรีเกษตราธิการ ได้รับอดีตนักโทษการเมืองชื่อพันโทพระเทวัญอำนวยเดชเข้าทำงานที่กรมสหกรณ์ และ ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน เข้าทำงานที่กรมชลประทาน ซึ่งท่านก็แก้ว่าท่านก็ทำไปตามมติของคณะรัฐมนตรีที่ให้รับผู้พ้นโทษกรณีนี้ได้และท่านก็มิได้รู้จักเป็นการส่วนตัวกับบุคคลทั้งสอง แต่อีกข้อกล่าวหาหนึ่งนั้นหนักหน่อยที่ท่านยอมรับว่าท่านยังเป็นเพื่อนของพระยาทรงสุรเดชอยู่ แม้จะไม่ได้ร่วมมือทางการเมืองอะไรกัน แต่เมื่อถูกหลวงพิบูลหมายหัวเช่นนั้น ท่านก็ตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่มลายูของอังกฤษโดยสันติบาลเปิดไฟเขียวผ่านตลอดให้เดินทางข้ามแดนไปได้ ทั้งที่ตอนหายไปรัฐบาลตั้งค่าตัวไว้ถึง 1 หมื่นบาท 


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 พ.ย. 09, 12:21
พันโทพระประศาสตร์พิยายุทธผู้นำรถถังบุกวังบางขุนพรหมเข้าไปจับกุมตัวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตเป็นตัวประกัน สี่เสือท่านสุดท้ายที่หลวงพิบูลหมายหัวว่าฝักไฝ่กับพระยาทรงเช่นกัน ท่านผู้นี้โชคดีกว่าเล็กน้อยที่พระยาพหลทราบเข้าก่อนก็รีบแต่งตั้งให้ไปเป็นเอกอัครราชทูตที่กรุงเบอร์ลินที่บังเอิญตำแหน่งว่าอยู่ ดีกว่าถูกเนรเทศเช่นคนอื่น แต่ท่านก็ไม่ได้โชคดีมากมายเพราะไม่นานยุโรปก็เข้าสู่ภาวะสงคราม เยอรมันได้ยากแค้นลงจนที่สุดเบอร์ลินแตกแก่กองทัพแดงของรัสเซีย ท่านต้องระหกระเหินไปผจญความหนาวตกระกำลำบากแสนสาหัสอยู่ที่ไซบีเรียหลายปีก่อนจะกลับมาใช้ชีวิตวัยสุดท้ายอย่างสงบในเมืองไทย


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 พ.ย. 09, 12:34
พันเอกพระทรงสุรเดชดูเหมือนจะเป็นเป้าแท้จริงเมื่ออำนาจอยู่ในมือหลวงพิบูล ทั้งที่มิได้ควบคุมกำลังทหารส่วนใหญ่ ท่านถูกจู่โจมแบบสายฟ้าแลบและกุมตัวไปปล่อยที่ชายแดนเขมรในทันที แต่ลูกน้อง นายทหารลูกศิษย์ลูกหาถูกจับกุมในเหตุการณ์กบฎพระยาทรงกันระนาว

หลวงพิบูลในตอนนั้นมีอธิบดีกรมตำรวจ พันเอกหลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ)เป็นมือขวาออกสืบเสาะแสวงหาผู้ที่อาจเป็นภัยต่อท่านผู้นำทั่วทุกซอกทุกมุม สงสัยใครนิดเดียวก็จับกุมมาไว้เลย ยังไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหา รอให้แต่งเรื่องผูกโยงให้เกี่ยวข้องกันได้ก่อนค่อยสั่งฟ้องก็ได้

น่าประหลาดที่ผู้ถูกจับกุมในคดีกบฎพระยาทรงนี้ บุคคลที่ควรจะอยู่กันคนละขั้วกับกลุ่มการเมืองของพระยาทรงสุรเดช  เช่นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุน(พระยา)ชัยนาทนเรนทร หรือม.ร.ว.นิมิตรมงคล ก็โดนเหวี่ยงแหไปติดคุกติดตะรางร่วมกับเขาด้วย


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 พ.ย. 09, 15:22
เมื่อตัดสินใจที่จะเลิกกระทำตัวให้ถูกผู้มีอำนาจเพ่งเล็งว่าเป็นศัตรู ม.ร.ว. นิมิตรมงคลก็สมัครเป็นลูกจ้างชั่วคราวของกรมชลประทาน ตำแหน่งนายช่างไปสำรวจคลองไผ่พระ จังหวัดพระนครศรีอยุธยานี่เอง วันหนึ่งขณะที่นอนซมอยู่บนเรือเป็ดด้วยพิษไข้ ตำรวจทั้งหมวดพร้อมอาวุธครบมือได้บุกเข้าไปเชิญตัวไปพบนายของตนที่กรุงเทพ แต่เมื่อสุดปลายทางที่โรงพักพระราชวัง แทนที่จะได้พบนายของพวกตำรวจและได้รู้ว่าตนถูกจับด้วยเรื่องอันใด กลับได้พบเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ประทับอยู่ในห้องขังของโรงพักอยู่แล้ว และตำรวจก็ห้ามมิให้พูดกัน

ในพระรูปข้างล่าง เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระพี่นาง พระอนุชา ในคราวเสด็จนิวัติพระนครครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2481  ทรงฉายร่วมกับเสด็จลุงรังสิต กรมขุนชัยนาทนเรทร ซึ่งเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่องค์เดียวที่มิได้เสด็จลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศเพราะพระองค์มิได้มีตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองใดๆในทั้งสมัยก่อนและหลังการปฎิวัติ หลังจากนั้นไม่กี่เดือนคือในมกราคม สันติบาลก็ไปเชิญเสด็จระหว่างทรงงานอยู่ทางภาคเหนือ จากลำปางมาขังไว้รอการตั้งข้อหาเพื่อจะเอาโทษพระองค์ท่านให้ได้


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: Agonath ที่ 28 พ.ย. 09, 16:51
เข้ามาหาความรู้เพิ่มเติมครับ 


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 พ.ย. 09, 23:27
ขอบคุณคุณAgonathมากครับ ที่เข้ามาส่งสัญญาณให้มีกำลังใจเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ที่ไม่ค่อยมีผู้สนใจแล้วให้อ่านกันต่อไป
บางที อยู่ในเวปแค่ไม่กี่คนนี้ก็เหงานะครับ เขียนอะไรไปไม่รู้ว่าผู้อ่านคิดอะไรอยู่



กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 29 พ.ย. 09, 00:16
เข้ามาลงชื่อว่ายังติดตามอ่านอยู่อย่างต่อเนื่องครับ

ทุกวันนี้ยังมีคนมองการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี ๒๔๗๕ ในลักษณะที่เป็นเอกภาพ หากแต่มองแตกต่างกันไป

หลายคนเห็นคณะราษฎร์เป็นผู้ชิงอำนาจเพียงเพื่อต้องการอำนาจนั้นไว้เอง บางคนก็มองคณะราษฎร์เป็นวีรบุรุษ หรือเผลอๆจะเป็นนักบุญหรือเทพเจ้าเข้าไปนั่น

แต่ในความเป็นจริง หลักฐานร่วมสมัยล้วนบ่งชี้ว่า บุคคลในคณะราษฎร์นี้มีความมุ่งหมายส่วนตัวที่แตกต่างกันไป ถึง "แสวงจุดร่วม" คือล้มล้างระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เรื่องราวหลังจากนั้นคือการแย่งชิงอำนาจของกลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์ต่างกัน เรื่องที่น่าเศร้าคือ ผู้ชนะในเกมที่โหดเหี้ยมนี้มักไม่ใช่ผู้นำที่นักอุดมคติใฝ่หา

ผ่านไปเกือบแปดสิบปี ภาพอย่างนี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ ผมยังนึกไม่ออกว่าจะหลีกเลี่ยงเกมการแย่งชิงอำนาจที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นได้อย่างไร ในเมื่อกลุ่มที่มาประกอบเข้าด้วยกันนี้มีอุดมการณ์(หรือไร้อุดมการณ์) อย่างที่แตกต่างกันเหลือเกิน


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 พ.ย. 09, 08:45
ขอบคุณคุณCrazyHOrseที่เข้ามาช่วยร่วมวงสนทนาให้ออกรสชาดมากขึ้นนะครับ

ความเห็นที่คุณกล่าวมา ผมก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน
ผมเชื่อว่าผู้ก่อการของคณะราษฎร์มีอุดมการณ์ และเมื่อมีจังหวะก็มิอาจรอได้ ไม่สามารถสรรหาความลงตัวทั้งหมดเสียก่อนที่จะลงมือเสี่ยงชีวิตเข้าเปลี่ยนแปลงประเทศชาติ ดังนั้น ปัญหาจึงเกิดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ผมยังมีทัศนคติที่ดีต่อพวกผู้ก่อการเหล่านั้นว่า ท่านแย่งอำนาจขนาดจะเข่นฆ่าเอาเป็นเอาตายเพราะแย่งกันรักชาติ และก็คิดว่า "You must love it my own way" จนกลายเป็นใครที่ไม่ใช่พวกฉัน แกก็ไม่รักชาติ ไม่ควรอยู่ร่วมแผ่นดินกันต่อไปอีก
อย่างน้อยอุดมการณ์เช่นนี้ยังมีในนักการเมืองไทยมาจนถึงพ.ศ.๒๕๐๐ จะเห็นได้ว่านักการเมืองระดับผู้นำ แม้กระทั่งจอมพล ป.เองก็มิได้แสวงหาความร่ำรวยอย่างบ้าคลั่งจากอำนาจที่มีล้นฟ้านั้น จริงอยู่พวกระดับลูกน้องบางคนจะแอบเอาอำนาจของนายไปสร้างความร่ำรวยให้แก่ตระกูล แต่ผู้ก่อการระดับผู้นำทุกท่านมีชีวิตในบั้นปลายอย่างสามัญ เพราะท่านไม่ได้มุ่งสะสมอะไรไว้เพื่อตนเองเลย

ไม่เหมือนนักการเมืองสมัยต่อมาจากนั้นที่พ่อค้าเริ่มเข้ามาผสมโรง เริ่มจากเข้ามาชี้ช่องให้ รับจัดทำให้ และในที่สุดก็หลุดเข้ามาเล่นการเมืองเองได้ พวกนี้มีไม่มีอุดมการณ์อะไรเลยนอกจากหลักการว่าลงทุนแล้วต้องได้กำไร ยิ่งกำไรมากเท่าไรยิ่งเก่ง ยิ่งดี คอร์รัปชั่นเมืองไทยที่เมื่อก่อนคือการฉ้อราษฎร์บังหลวงก็กลายเป็นเกมโปลิศจับโขมยกระจอกๆที่เด็กๆเล่นกัน ผู้ใหญ่ในสภาเขาจะเล่นเกมระดับพันล้าน หมื่นล้านกันแบบเสรีประชาธิปไตยเต็มสูบ

การแย่งอำนาจระหว่างทหารกับทหารในยุคต้น ได้กลายเป็นระหว่างทหารกับพ่อค้า การฟอร์มรัฐบาลเหมือนกายกรรมต่อตัว ใครอยู่บนอยู่ล่างต่อๆกันขึ้นไปให้ตัวยอดสอยดาว สอยมาแล้วแบ่งให้คนล่างๆลงตัวก็อยู่ได้ประเดี๋ยวหนึ่ง ถ้าไม่ลงตัวตรงไหน หรือใครขยับหน่อยนึงก็พังครืนลง แล้วเกมตะเกียกตะกายต่อตัวไปสอยดาวก็จะเริ่มขึ้นใหม่

นักอุดมคติ.......เล่นการเมืองไม่ได้อยู่แล้ว แต่นักการเมืองที่มีอุดมคติบ้างน่าจะพอมี เป็นความหวังริบหรี่ของประชาชนที่เขาหลอกว่าเป็นเจ้าของประเทศ ในการที่จะได้รับการกระจายความอยู่ดีมีสุขจากภาษีอากรที่รัฐเก็บเขาไปอย่างเป็นธรรมมากขึ้น มิใช่ไปตุงอยู่ในห้องลับในบ้านของนักการเมืองฝ่ายเดียว


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ย. 09, 09:34
เข้ามาบอกว่ายังติดตามอ่านอยู่สม่ำเสมอค่ะ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 พ.ย. 09, 13:43
เช่นเดียวกับคุณเทาชมพู ติดตามชีวิตและผลงานของ ลูกหลานหม่อมเจ้าธำรงวรวัฒน์ นวรัตน อยู่เสมอ

 ;D



กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 พ.ย. 09, 20:53
ขอบพระคุณท่านทั้งสองมากครับ
หากตรงไหนที่ท่านอยากจะทักท้วงหรือเสริมแต่งอะไร กรุณาเข้ามาได้เลยนะครับ อย่าได้รีรอ

วันนี้ผมออกไปต่างจังหวัดมาทั้งวัน ขอพักสักคืนหนึ่งก่อน แล้วจะกลับมาต่อครับ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 09, 08:10
ตำรวจสมัยนั้นมีอำนาจกักขังผู้ต้องหาได้ไม่เกิน๑๕วัน แต่ม.ร.ว.นิมิตรมงคลโดนขังอยู่๒เดือนจึงถูกนำตัวไปสันติบาลเพื่อสอบสวน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องต้นฉบับของนวนิยายที่เขียนขึ้นมาบ้าง บันทึกรายวันส่วนตัวบ้าง เอกสารเหล่านี้ตำรวจไปค้นมาได้จากบ้านพักในกรุงเทพ และจดหมายของม.ร.ว.นิมิตรมงคลฉบับหนึ่งที่มีไปถวายพระองค์เจ้าศิริรัตน์บุษบง พระธิดาพระองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้ทรงชุบเลี้ยงม.ร.ว.นิมิตรมงคลมาตั้งแต่อายุ๙ขวบ ให้เข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยจากชั้นประถมจนจบเป็นนายทหาร เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองพระองค์ต้องเสด็จลี้ภัยไปประทับอยู่ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซียโดยไม่มีโอกาสนิวัติคืนประเทศไทย เมื่อม.ร.ว.นิมิตรมงคลพ้นโทษใหม่ๆทราบว่าพระองค์หญิงขณะนั้นประทับอยู่ในกรุงเทพ จึงมีจดหมายไปถวาย นอกจากจะทูลสารทุกข์สุขดิบของตนแล้ว อย่างได้เล่าเรื่องการทำดิกชันนารีในคุกที่ตนมีส่วนร่วมและชักชวนให้พระองค์หญิงทรงอุดหนุนสอ เศรษฐบุตร(ซึ่งยังคงถูกจำขังอยู่ในเรือนจำบางขวาง)ด้วย ในตอนท้ายเขียนว่า “เมื่อเกล้าฯออกจากที่คุมขังมาเป็นอิสระดังนี้แล้ว โอกาสที่จะนำตัวออกรองฉลองบาทก็คงมีบ้าง” ซึ่งเป็นการแสดงกตเวฑิตาต่อผู้มีพระคุณ ที่จะได้รับใช้ในการงานอย่างธรรมดาที่สุด แต่สันติบาลกลับขีดเส้นแดงไว้ว่านี่คือหลักฐานของการหาโอกาสที่จะก่อการกบฏ ท่านลองดูภาพข้างล่างที่พระองค์หญิงใหญ่(ขวา)ทรงถ่ายกับพระบิดาที่บันดุง ผู้หญิงในวัยยี่สิบเศษลักษณะนั้นหรือที่จะกบฏต่อรัฐบาล แต่จะอธิบายเช่นไรก็หาเป็นประโยชน์ไม่

ดังนั้นไม่กี่วันจึงได้รับทราบข้อหาว่าได้สมคบกับนายพันโทพระสิทธิเรืองเดชพล มือขวาของพระยาทรงสุรเดช ผู้ที่เคยเป็นผู้บังคับบัญชาสมัยเป็นนักเรียนนายร้อยแต่ไม่เคยได้พบกันอีกเลยหลังจากเรียนจบ และคนอื่นๆอีกสี่ห้าคนที่รู้จักแต่ชื่อบ้าง ไม่เคยได้ยินบ้าง กล่าวชักชวนผู้คนตระเตรียมสะสมกำลังคิดประทุษร้ายบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาล และสำหรับม.ร.ว.นิมิตรมงคลได้เขียนบทประพันธ์ส่งเสริมลัทธิคอมมูนิสต์ และเขียนบทประพันธ์กล่าววาจาติเตียนรัฐบาล ขอให้ศาลลงโทษเป็นพิเศษฐานต้องโทษมาแล้วแต่ไม่เข็ดหลาบ

การที่ม.ร.ว.นิมิตรมงคลโดนจับเพราะถูกเขาตีตราไว้ที่หน้าว่าเป็นฝ่ายขวาจัดคนก็พอทำความเข้าใจได้ตั้งแต่เห็นคำนำชื่อที่พ่อให้มาแต่เกิด แต่ถูกจับแล้วยัดข้อหาว่าเป็นซ้ายจัดนี้ แสดงภูมิปัญญาและวุฒิภาวะของนายตำรวจสันติบาลเจ้าของคดี คนทั้งปวงอาจดูเป็นเรื่องตลกแต่ความเป็นจริงไม่ตลก ผมบอกล่วงหน้าไว้ก่อนเลยว่าคดีนี้ ม.ร.ว.นิมิตรมงคลถูกศาลพิเศษตัดสินจำคุกตลอดชีวิต


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 09, 10:36
บางท่านได้กล่าวไว้ว่า พ.ศ. 2482 ปีมหาอุบาทว์ของไทย เพราะมี 9 เดือนเท่านั้น ก่อนถึงวันที่ 1 เมษายน 2482 ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่แบบเก่าของไทยครั้งสุดท้าย พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา กับเจ้าพระยาพิชเยนทร์โยธิน สองผู้สำเร็จราชการแผ่นดินภายใต้อาณัติของรัฐบาล ก็ลงชื่อในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481(หรือนับอย่างใหม่เป็นปี 2482) ให้อำนาจพลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เป็นผู้แต่งตั้งทั้งผู้พิพากษาของศาลพิเศษ และอัยการประจำศาลผู้ทำหน้าที่เป็นโจทก์ ซึ่งท่านก็ตั้งเพื่อนฝูงลูกน้องของท่านเข้ามาทั้งสองคณะ เมื่อหมดเวลาในการพิจารณาคดีแต่ละครั้ง คนสองกลุ่มนี้จะควงแขนกันไปเสวนาฮาเฮต่อในสโมสรต่อหน้านักโทษที่รอถูกนำตัวกลับไปคุมขัง

และศาลนี้ก็แปลกดีที่จำเลยไม่มีสิทธิ์ตั้งทนายเข้าต่อสู้คดีได้ ผิดหลักนิติธรรมสำหรับประเทศซึ่งประกาศตนว่าเป็นประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญ มีสภานิติบัญญัติ และอยู่ในภาวะปกติที่ไม่มีสงครามหรือการจลาจลอย่างยิ่ง แต่สมัยนั้นไม่ยักกะมีใครกล้าหือ แม้แต่จิ้งจกก็คงมิกล้าร้องทัก

ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล นักโทษที่ถูกจับกุมมาและถูกตั้งข้อหารวม51คนได้ถูกนำมาขังรวมกันที่เรือนจำลหุโทษ ทำให้มีโอกาสพูดคุยสอบถามว่าอะไรเป็นอะไร ใครเป็นต้นเหตุให้ใครมารับกรรมครั้งนี้ไปด้วย ในครั้งแรกก็โทษกันไปโทษกันมาระหว่างมิตรกับมิตร พ่อกับลูก ส่วนใหญ่เห็นหน้าค่าตาผู้ที่ถูกฟ้องรวมว่าร่วมกันกระทำความผิดแล้ว ก็งงอยู่ว่าตนไปรู้จักเกี่ยวข้องกับคนเหล่านี้ได้อย่างไร

ในที่สุดก็เข้าใจ และปลงใจว่าตนเป็นเพียงเหยื่อของผู้มีอำนาจ หมาป่าที่ขย้ำลูกแกะไม่ใช่เป็นเพราะลูกแกะกระทำความผิดต่อหมาป่า แต่เป็นเพราะตัวเป็นภักษาหาร ผู้บังเอิญมิได้ระวังว่าหมาป่าซุ่มรออยู่ตรงนั้น


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 09, 10:59
หลังจากพิจารณาคดีอยู่สักสิบเดือน ศาลพิเศษก็พิพากษาคดีทั้งหมด คำพิพากษาศาลพิเศษฉบับนี้ รัฐบาลลงทุนตีพิมพ์ออกมาเองเพื่อบำบัดความสงสัยของประชาชนว่ามันจะอะไรกันขนาดนั้น อยู่ๆก็มีการกวาดจับ มีการตั้งศาลพิเศษแล้วก็เงียบหาย อยู่ๆก็เป็นข่าวอันน่าตระหนกว่ามีการประหารชีวิตกันถึง18ศพ กบฏในสมัยสมบูรณายาสิทธิราชยังไม่ฆ่าแกงอะไรกันถึงขนาดนั้น

เนื้อความในหนังสือดังกล่าว ผู้อ่านที่เป็นกลางและไม่ทราบเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรเลยก็อาจคล้อยตามได้ง่ายเพราะเห็นว่ามีพยานเยอะแยะมาให้การในศาล ผูกโยงกันไปผูกโยงกันมาสลับซับซ้อนเป็นขบวนการใหญ่ และมีจำเลยจำนวนหนึ่งที่ศาลตัดสินว่าไม่ผิดให้ปล่อยตัวไปด้วย ดังนั้น พวกที่ศาลลงโทษก็คงจะยุติธรรมสาสมดีแล้ว สำหรับพวกที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลอย่างตาบอดหูดับนั้นไม่ต้องพูดถึง ต่างแซ่ซ้องกฤษดานุภาพของท่านผู้นำกันอย่างระเบ็งเซ็งแซ่ ครอบครัวจำเลยผู้เคราะห์ร้ายทั้งหลายแทบจะอยู่ในสังคมไม่ได้ บางคนเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุลไปเลยเพื่อแสดงให้ชัดๆว่า ฉันไม่ใช่พวกนั้นนะจ๊ะ ท่านทั้งหลาย


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 09, 11:04
ผมขอนำ คำพิพากษาศาลพิเศษในฉบับดังกล่าวเฉพาะที่เกี่ยวกับม.ร.ว. นิมิตรมงคลมานำเสนอในรูปแบบเดิม เพื่อมิให้เป็นที่สงสัยว่าผมได้ปรุงแต่งอะไรลงไปเพิ่มเติมหรือไม่

(หมายเหตุ) ที่ศาลบอกว่าจำเลยยอมรับหลักฐานของโจทก์ว่าความจริงนั้น คือเฉพาะรับว่าเคยต้องโทษในคดีกบฏมาก่อน

1


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 09, 11:09
2


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 09, 11:10
3


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 09, 11:12
4


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 09, 11:14
5


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 09, 11:20
ท่านผู้อ่าน ได้พิเคราะห์คำพิพากษาดังกล่าวแล้ว คิดเห็นประการใดย่อมเป็นสิทธิ์ของท่าน ผมตลกไม่ออกอยู่อย่างเดียว ม.ร.ว.นิมิตรมงคลถูกฟ้องว่ามีการกระทำเป็นคอมมูนิสต์ แต่ศาลพิพากษาว่า  ม.ร.ว.นิมิตรมงคลมีความผิดที่กล่าวหาว่ารัฐบาลเป็นคอมมูนิสต์ ฯลฯ

ต่อไปนี้เป็นท่อนที่สำคัญที่สุดของคำพิพากษาคดีกบฏครั้งนี้


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 09, 11:25
2


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 09, 11:26
3


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 09, 11:34
ต่อไป ผมจะพยายามตามหาร่องรอยผู้ที่โดนตัดสินประหารชีวิตทั้ง21คน(ลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต3คน) ว่าเป็นใคร แล้วทำไมจึงมาต้องมาโดนประหารในครั้งนี้ เผื่อจะเป็นข้อมูลที่ฝากไว้สำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยสืบไป

ขอเวลาหน่อยนะครับ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ย. 09, 12:03
เป็นเรื่องน่าสะเทือนใจ   ประวัติศาสตร์ไทยช่วงนี้ ดูเหมือนจะยังอยู่ในเงามืด   นักวิชาการหยิบยกมาวิเคราะห์กันน้อย

อ่านคำพิพากษาแล้ว  รู้สึกว่าเขามองม.ร.ว.นิมิตรมงคล ว่า เป็นปัญญาชนหัวแข็ง  ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล แล้วยังแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยอีก
นอกจากนี้ความเป็นเชื้อพระวงศ์ของท่าน ก็ทำให้ลงความเห็นได้ว่า เป็นพวกเจ้า  ซึ่งเป็นอำนาจเก่าที่จะต้องล้างให้สิ้นซาก
ส่วนเหตุผลข้ออ้างอะไรนั้นก็แล้วแต่จะอ้าง  คำสรุปกับคำให้การแทบจะเป็นคนละเรื่องกันเลย

ดิฉันเคยได้ยินชื่อบางท่าน  เช่นคุณยันต์ วินิจนัยภาค    แต่ไม่รู้รายละเอียดมากกว่านี้
ส่วนกรรมการ  จำได้แต่ว่าพระยาศรีวิกรมาทิตย์ เป็นบิดาของท่านผู้หญิงสมศรี เจริญรัชตภาคย์  และคุณเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์   สามีคุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 พ.ย. 09, 15:42
ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน มีปฏิกริยาอย่างไรหลังจากฟังคำพิพากษาจบ

เชื่อไหมว่า ท่านหัวเราะ

 :(

พอศาลอ่านคำพิพากษาจบ ข้าพเจ้าก็หัวเราะขึ้น ข้าพเจ้าไม่ใช่คนที่หัวเราะบ่อย ๆ นาน ๆ ข้าพเจ้าจึงจะรู้สึกรื่นเริงหรือขบขันพอที่จะหัวเราะ คำพิพากษาของศาลพิเศษนี้เป็นเรื่องน่าขบขัน มันเป็นเรื่องที่ผู้พิพากษาแกล้งเขียนใส่ร้ายจำเลย แม้แต่ในกระทงความผิดที่หลักฐานของโจทก์อ่อนไป ศาลช่วยสอดข้อความเพิ่มเติมให้ โดยข้อความนั้นไม่ปรากฎอยู่ในสำนวน และศาลช่วยแปลเจตนาของจำเลยให้เป็นประโยชน์แก่โจทก์ นอกเหนือไปจากข้อความที่โจทก์นำพยานมาสืบ กล่าวโดยสรุปว่าแทนที่ศาลจะเป็นผู้รักษาความยุติธรรม ศาลกับโจทก์ได้ร่วมมื่อกันเขียนคำพิพากษา เลือกเอาแต่ที่จะทำให้ประชาชนเชื่อว่าจำเลยเป็นกบฏจริง

ตอนหนึ่งจากหนังสือ ชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง

ขออนุญาตนำเพลง "เธอผู้เสียสละ" แต่งโดย  ศักดิ์สิทธิ เชื้อกลาง (เศก ศักดิ์สิทธิ์) แห่งวงคุรุชน มาประกอบบรรยากาศของการตัดสินคดีครั้งนี้ 

รุ่งเช้าวันหนึ่งแจ่มใส               
เธอพาดวงใจของเธอก้าวมา
แผ่วเบาเหมือนดังลมพา
เธอเริ่มแสวงหาในสิ่งที่ควร

เธอยังใหม่ในศึกษา
ได้ปรารถนาศึกษาโซ่ตรวน
ผูกมัดรัดตรึงทุกส่วน
จนเธอผันผวนในสังคม

เธอได้พบสิ่งใหม่
ที่ชูใจให้ชื่นชม
สลัดทุกข์อันแสนเศร้าตรม
หลุดหายไปในชีวี

แสงเจิดจ้าผ่องใส
ชูผู้นำชัยเรืองรองทั่วไป
เธอมีความสุขใจ
มวลชนพ้นภัยอยู่สุขชื่นบาน

และเธอก็ถูกกล่าวหา
เป็นกบฏชั่วช้าคิดคดการณ์ไกล
กบฏหรือคือผู้นำชัย
เข่นฆ่าโพยภัยหมดสิ้นดินทอง

เนื้อหาของเพลงอาจไม่ตรงกับเรื่องนี้ทั้งหมด แต่ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน อาจถือได้ว่าเป็นนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยชีวิต ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ ในขณะที่ตัวจริงของท่านคือนักอุดมคติผู้ปรารถนาสร้างเข็มทิศชี้ทางเดินไปสู่อนาคตที่รุ่งเรืองแห่งชีวิตของอนุชน

 :)





กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ธ.ค. 09, 12:26
สิ่งที่ยากที่สุดในการวิจารณ์ คือคุณชายนิมิตรมงคล ได้บรรยายรายละเอียดและความรู้สึกนึกคิดเอาไว้ในตัวของรุ้งอย่างละเอียดลออ  จนคนอ่านหลับตาวาดภาพตัวละคร ก็เห็นหน้าผู้เขียนลอยขึ้นมา

บางทีก็ทำให้หลงทางไปได้  ว่าสิ่งใดที่รุ้งเป็น ก็คือผู้ประพันธ์เป็น   ทั้งๆรุ้งก็คือตัวของเขา   มิใช่ตัวม.ร.ว.นิมิตรมงคล ในชื่อแฝง
ดิฉันจะพยายามแยกข้อนี้ออกมาให้ได้   มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่า การวิจารณ์นวนิยาย กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวิจารณ์ชีวิตส่วนตัวของผู้ประพันธ์

รุ้ง จิตเกษม แห่งความฝันของนักอุดมคติ กับ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน ผู้ประพันธ์ อาจเป็นคนละคนกันในกรอบใหญ่ แต่ในบางสถานการณ์ทั้งสองคือคน ๆ เดียวกัน

นี่คือความคิดของ รุ้ง จิตเกษม หรือ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน เมื่อถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ

ชาติไทยได้สร้างบุตรวันละหลายร้อยหลายพันคน บุตรของชาติไทย บางคนต่อไปจะเป็นนักการเมืองที่เฉลียวฉลาด เป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือเป็นนักปราชญ์ เขาได้ศึกษาได้เห็นได้คิดแล้วเกิดความคิดในทางก้าวหน้า แต่ถ้าการปกครองยังคงเป็นแบบสิทธิ์ขาด ใช้อำนาจกดขี่ปรปักษ์ของรัฐบาล ความคิดในทางก้าวหน้าจะไม่ได้รับโอกาสปฏิบัติตามควร

ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจถ้าบุคคลผู้เดียวต้องถูกจับถูกจำคุกหรือถูกยิงเป้า ความตายของบุคคลก็อุปมาดังความระเหยเป็นไอของน้ำหนึ่งหยดในทะเล ชาติไทยจะขาดประโยชน์อันควรได้จากรุ้งไปนิดเดียว แต่หลายนิดรวมกันเข้าก็กลายเป็นมากได้ รัฐบาลของผู้นำแห่งประเทศไทยได้จับกุมปรปักษ์ของตนไปทำทารุณกรรมจำนวนมากขึ้นทุกที รัฐบาลอาจไม่รู้ว่าการกระทำเช่นนี้ เป็นการตัดทอนโอกาสแห่งความเจริญของชาติ ด้วยมีอคติ รัก โลภ โกรธ หลง มากำบังปัญญา

รุ้งอำลาผู้อ่านไปสู่ความตาย ภาวนาอยู่อย่างเดียวว่าขอให้ชาติไทยพ้นจากยุคทมิฬโดยเร็ว


อีกไม่นานน้ำหนึ่งหยดในทะเลนี้ ก็จะถึงเวลาระเหยไปรวมเป็นก้อนเมฆ รอเวลาโปรยลงมาเป็นสายฝนให้ความชุ่มชื้นแก่มหาชน

 :(


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ธ.ค. 09, 09:46
ขอบพระคุณครับ

เพื่อให้ภาพประวัติศาสตร์ชัดเจนสำหรับผู้อ่านบางท่าน ผมขอเล่าเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมในยุคนั้น เพื่อการศึกษาชีวประวัติของม.ร.ว.นิมิตรมงคลในลำดับต่อไป

ก่อนเกิดการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองครั้งใหญ่ หลวงพิบูลถูกปองร้ายหลายครั้ง แม้คนจะคลางแคลงใจว่าจริงหรือจัดฉากขึ้นเพื่อนำมาเป็นข้ออ้าง แต่อย่างน้อย เหตุที่เกิดหลังการปราบกบฏบวรเดชสำเร็จหมาดๆนั้น หลวงพิบูลโดนลูกปืนขนาดหัวกระโหลกมีรอยถากของกระสุนจริงๆ แต่เพราะยังไม่ถึงที่ตายจึงรอดไปได้

ผู้ที่ยิงคือ พุ่ม ทับสายทอง เป็นนักเลงสุพรรณบุรี ชอบดื่มเหล้าเมายา ใครอยากจะให้ตีหัวใครก็ขอเหล้าขวดเดียวแล้วจะตีหัวหรือชกหน้าให้ก็ได้ ชายผู้นี้ถูกจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ เพราะใช้ปืนยิงหลวงพิบูล ที่สนามหลวง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 ขณะนั่งรถกลับหลังการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษระหว่างทหารเหล่าต่างๆ  หลวงพิบูลรอดตายอย่างปาฏิหาริย์เพราะเผอิญก้มศรีษะลงจัดกระบี่ กระสุนพุ่งเข้าหลังต้นคอ ถากกระโหลกไปออกแก้มซ้าย มือปืนถูกจับได้ทันควัน

พุ่ม ทับสายทองให้การกับตำรวจและศาลว่า ต้องการแก้แค้นที่น้องชายถูกตำรวจยิงตาย ด้วยความเข้าใจผิดว่าหลวงพิบูลเป็นนายของตำรวจทั้งหมด และสุดท้ายศาลตัดสินให้จำคุก16 ปี  ฐานพยายามฆ่า แต่สภากาแฟก็วิจารณ์กันแหลกว่าน่าจะเป็นคนนั้นคนนี้บงการให้ฆ่า


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ธ.ค. 09, 09:49
ครั้งที่สองวันที่9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481  ลี บุญตา ผู้เป็นลูกจ้างอิสานในบ้านพักนายทหารใของหลวงพิบูลมา7ปีแล้ว ได้เงินเดือนแต่แรก6บาทจนสุดท้ายได้25บาท ในคำให้การกล่าวว่าหลวงพิบูลเป็นคนใจดี ไม่เคยดุด่าว่าตนเลย วันที่เกิดเหตุนั้นตนเมา เอาปืนที่พลขับรถของรัฐมนตรีกลาโหมวางในรถที่เตรียมจะไปงานที่กระทรวง หลวงพิบูลกำลังแต่งตัวอยู่ นายลีก็จู่โจมเข้าไปในห้องแต่ยิงถูกพื้นทะลุลงมาห้องรับแขก (ผมสงสัยว่าหลวงพิบูลคงนั่งยองๆผูกหูกระต่ายอยู่มั้ง วิถีกระสุนจึงลงต่ำถึงขนาดนั้น) พอถูกยิงนัดแรก หลวงพิบูลก็ร้องว่า”ตาลียิง” พวกท.ส.ข้างล่างก็วิ่งขึ้นบรรไดมา หลวงพิบูลวิ่งไปห้องภรรยา นายลีก็ยิงตามไปอีกนัด นัดนี้ถูกขอบกระจกโต๊ะเครื่องแป้ง ท.ส.ตามขึ้นไปทันตอนที่หลวงพิบูลวิ่งหนีออกมาจากห้องนอนภรรยาโดยมีนายลีตามมาในระยะ1เมตร  ตั้งท่าจะยิงอีกแต่เข้าล็อคของท.ส.ที่ปัดมือและชกหน้าโดยพลัน ตามด้วยรายการรุมยำเล็กน้อยก่อนจะส่งตำรวจ ส่วนหลวงพิบูลและภรรยาก็แต่งตัวต่อเพื่อไปงานราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ลูกน้องสมุนบริวารมารู้ข่าวก็ตอนที่หนังสือพิมพ์พาดหัวในวันรุ่งขึ้นแล้ว ต่างก็อึงมี่สรรเสริญบุญของนายและชื่นชมความกล้าหาญที่ไม่แสดงออกใดๆให้ผิดสังเกตุทั้งๆที่ผ่านเหตุการณ์ที่คอขาดบาดตายมาหยกๆ

ลี บุญตาปฏิเสธว่ามิได้มีผู้ใดจ้างวานตน ที่ทำไปเพราะความเมาอย่างเดียว แต่ไม่มีรายงานว่าตำรวจสอบสวนถึงเหตุจูงใจลึกๆหรือไม่ว่า ตัวเป็นคนทำสวนทำไมวันนั้นรีบเมาแต่หัววัน แล้วเกิดอยากจะยิงนายใจดีผู้มีพระคุณขึ้นมาถึงขนาดโขมยปืนในรถนายแล้วบุกขึ้นไปยิงถึงห้องนอน


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ธ.ค. 09, 09:54
และครั้งที่สาม เกิดขึ้นเพียง10วันให้หลัง คือในวันที่ 9 ธันวาคม ปีเดียวกันเวลาประมาณ16น. หลวงพิบูลและครอบครัว รวมทั้งนายทหารอื่นๆรวม8คนได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน (ตอนบ่ายสี่โมง? เด็กๆหิวแย่) หลังจากทานของหวานแล้วทุกคนรู้สึกผิดปกติ จนรู้สึกว่าได้ถูกวางยาพิษ  จึงรีบพากันไปล้างท้องที่โรงพยาบาลทหาร ที่พญาไท

การถูกวางยาพิษนี้สภากาแฟวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการสร้างเรื่องขึ้นมาเองฝ่ายของหลวงพิบูลก็เขียนโต้ว่า พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเขียนถึงเรื่องดังกล่าวไว้ในเกิดวังปารุสก์ ตอนหนึ่งว่า
"ในไม่ช้าก็มีข่าวว่ามีผู้พยายามจะปลงชีพหลวงพิบูลฯ อีก คราวนี้โดยการวางยาพิษ และปรากฏว่าภรรยาก็ถูกยาพิษด้วย ผู้เขียนไปเยี่ยม และได้พบในห้องนอนที่โรงพยาบาลทหารบก ดูท่านทั้งสองไม่สบายอย่างมากนอนครางอยู่เรื่อย จึงไม่เป็นของแปลกที่เมื่อหายสบายดีแล้ว ท่านทั้งสองจะไม่รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มอย่างใดนอกบ้านเลยอยู่เป็นเวลาชั่วขณะหนึ่ง"

ข้อความข้างบนขัดกับคำแถลงของทางราชการที่ออกในวันที่11ธันวาคม2481ว่า นายแพทย์กองเสนารักษ์มณฑลทหารบกที่1 พญาไทได้จัดการรักษาพยาบาลบุคคลทั้งหมดทันท่วงที หลวงพิบูลและขุนรณนภากาศมีอาการมากหน่อย คนอื่นๆพอประมาณ เมื่อได้รับการรักษาพยาบาลอย่างดีก็ทุเลาลงพ้นอันตราย แพทย์ให้กลับบ้านได้ทุกคนในค่ำวันนั้น

ก็ไม่ทราบว่าพระองค์จุลเสด็จไปเยี่ยมตอนไหนในช่วงเย็นวันนั้น คนไข้ที่มีอาการขนาดอยู่โรงพยาบาลเพียงไม่กี่ชั่วโมงหมอก็ให้กลับบ้านได้นั้น ชายชาติทหารจะนอนร้องครวญครางแข่งกับภรรยาให้แขกไกลตัวผู้มาเยี่ยมได้เห็นได้ยินกระนั้นเชียวหรือ อนึ่ง ถ้าคนไข้สำคัญระดับนั้นเพิ่งถูกพยายามจะฆ่าโดยการวางยาพิษ กำลังนอนร้องโอดโอยอยู่ หมอและองครักษ์ทั้งหลายจะยอมให้ใครที่ไม่ใช่ครอบครัวญาติสนิทเข้าไปเยี่ยมถึงภายในห้องนอนได้อย่างไร

และเรื่องที่แปลกกว่าก็คือ เรื่องนี้นางแม่ครัวคนหนึ่งในบ้านรับกับตำรวจว่าเป็นผู้กระทำการวางยาพิษจริง แต่ตำรวจกันตัวเป็นพยานเพราะนางได้ซัดทอด ร้อยโท ณเณร ตาละลักษณ์ว่าเป็นผู้จ้างวาน เอาสารหนูมามอบให้วางยาหลวงพิบูล นางแม่ครัวไม่โดนโทษอะไรเลยแต่ณเณร ต้องโทษประหาร


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 ธ.ค. 09, 14:05
เข้ามาร่วมอ่าน และติดตามผลงาน


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ธ.ค. 09, 08:59
ขอบคุณครับ

ต่อ


ครั้นถึงวันที่15 ธันวาคม 2481 คือไม่กี่วันหลังจากนั้น สภาก็โหวตให้หลวงพิบูลเป็นนายกรัฐมนตรี

บังเอิญในช่วงเวลาดังกล่าว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วยพระชนนี พระพี่นาง และพระอนุชาได้เสด็จจากสวิตเซอร์แลนด์มาประทับในประเทศไทยเป็นครั้งแรก มีกำหนด3เดือน โดยมีพระองค์เจ้าอาทิตยาภาประธานคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเป็นผู้ถวายงานเป็นหลักแทนรัฐบาลที่ตอนนั้นกำลังมีปัญหา เพราะเหตุการณ์ยุ่งๆทางการเมืองที่ระดมกันเกิดในช่วงนั้นด้วย แม้ประชาชนจะเทความสนใจไปอยู่ที่องค์ยุวกษัตริย์ในวัยเพียง13พระชนษา มิค่อยให้ความสนใจข่าวเล็กที่ขึ้นหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่ว่า ตำรวจสันติบาลได้ระดมพลเข้าตรวจค้นสถานที่ต้องสงสัยต่างๆจำนวนมาก แทบจะทุกวัน เพื่อหาเบาะแสกลุ่มที่ตั้งตนเป็นศัตรูต่อท่านนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และมีข่าวว่าคนโน้นถูกจับ คนนี้ถูกจับ ซึ่งหลายคนเป็นบุคคลสำคัญของบ้านเมือง

ครั้นพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาต่อในวันที่ 1 มกราคม 2482 ประชาชนจึงเริ่มตกใจเมื่อหนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ที่ทรงรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่แทบทุกงานก็ทรงถูกจับเป็นผู้ต้องหาในคดีเดียวกันนี้ด้วยในทันที


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ธ.ค. 09, 09:09
รัฐบาลแถลงว่าผู้ที่ถูกจับครั้งนี้ 51คน ล้วนต้องสงสัยว่าพยายามฆ่าบุคคลสำคัญและก่อการกบฏ กระทรวงยุติธรรมได้เสนอพรบ.ศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีนี้เข้าสู่สภาและได้รับความเห็นชอบ

นับเป็นการปฏิบัติภารกิจแรกของรัฐบาลหลวงพิบูล คือการกำจัดศัตรูทางการเมืองให้สิ้นทราก เป้าหมายคือคู่แข่งคนสำคัญพันเอกพระยาทรงสุรเดชและผู้สนับสนุนในสภา ตลอดจนนายทหารลูกศิษย์ลูกหานอกสภา  การจับกรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นการขู่เจ้านายองค์อื่นๆกับพวกที่แสดงตนอย่างเด่นชัดว่าไม่ใช่พวกของหลวงพิบูลให้สยบเกรงกลัว หลังเกิดกบฏบวรเดช รัฐใช้วิธีการตั้งสายลับขึ้นมามากมายเพื่อเฝ้าติดตามสอดแนมบุคคลเหล่านี้ แล้วรายงานมายังสันติบาล ซึ่งคราวนั้นอยู่ใต้การบัญชาการของพันเอกหลวงอดุลเดชจรัสผู้เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ว่ามีใครเข้าไปพบหาบ้าง ครั้นได้รับคำสั่งจากนายให้จับผู้ที่พยายามลอบฆ่าหลวงพิบูลให้ได้ ก็เหวี่ยงแหจับเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายมาก่อนให้มากที่สุด แล้วจึงค่อยผูกเรื่อง กุมตัวผู้ที่เคยเข้าไปพบเหยื่อเหล่านั้นมาซักถาม แล้วก็ข่มขู่หรือว่าจ้างให้เป็นพยานปรักปรำเหยื่อเหล่านั้นจนตั้งเป็นสำนวนฟ้องได้


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ธ.ค. 09, 09:11
ข้อความในหนังสือคำพิพากษาศาลพิเศษ เป็นหลักฐานแห่งความอัปยศอดสูของขบวนการยุติธรรมสมัยนั้น ความเห็นของศาลที่กล่าวแทรกอยู่เป็นระยะๆเพื่ออธิบายตรรกะต่างๆ ล้วนสะท้อนความเห็นของคนฝ่ายปกครอง ที่แสดงอย่างชัดเจนว่าเมื่อแกไม่ใช่พวกฉัน ฉันก็ไม่มีวันจะเชื่อแก ศาลเลือกที่จะเชื่อคำให้การของพยานเท็จที่อัยการผู้เป็นโจทก์นำมาแถลง คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นระดับกเฬวรากแม้พูดโกหกไม่แนบเนียนศาลก็เชื่อและมั่นใจถึงขนาดบันทึกไว้ประจานตนในภายหลัง

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นเล่า?

ดังที่ม.ร.ว.นิมิตรมงคลว่าไว้ จากกระแสนิยมของโลกที่เปลี่ยนไป และระบาดมาถึงประเทศไทย ประชาธิปไตยไม่เหมาะสมกับชาติในยุคนั้น เท่ากับการได้คนเก่งมาเป็นผู้นำเสียแล้ว ชาติต้องการเผด็จการเพื่อยุติความขัดแย้งและนำพาทุกคนในชาติไปสู่จุดหมายเดียวกัน(ที่หวังว่าจะเป็นความรุ่งเรือง) เมื่อมุสโสลินีและฮิตเลอร์ได้สร้างตัวอย่างให้เห็นในยุโรปอย่างเป็นรูปธรรม ไทยก็ควรจะเอาอย่างนั้นบ้าง และใครเล่าจะเหมาะสมเท่ากับหลวงพิบูล ดังนั้น จำเลยในศาลเหล่านี้จึงเป็นแค่เสี้ยนหนามที่ควรกำจัดทิ้ง พวกที่ไม่เห็นด้วยนี้เป็นภัยต่อชาติ เมื่อภารกิจแล้วเสร็จ รัฐมีความภูมิใจถึงขนาดที่ตีพิมพ์หนังสือคำพิพากษาศาลพิเศษออกมา แม้จำนวนมากก็ไม่พอจำหน่ายจ่ายแจก กระแสสังคมส่วนหนึ่งสะใจและสมน้ำหน้ากบฏพวกนี้ ผู้ไม่เห็นด้วยก็ได้แต่หุบปากนิ่ง

ตำรวจไทยได้กลายเป็นเกสตาโปไปเสียแล้ว เมืองไทยยุคนั้นไม่มีใครไม่กลัวหลวงอดุลเดชจรัสผู้มีฉายาว่านายพลตาดุ ท่านผู้นี้จะเล่นบทผู้ร้ายให้เพื่อนเล่นบทพระเอกอ่อนนอกแข็งใน นิ่มนวล มีเสน่ห์ ไม่ช้าหลวงพิบูลก็สามารถรวมชาติได้เป็นหนึ่งเดียวดัวยการเป็นผู้นำชาติไทยเข้ารบกับฝรั่งเศสในอินโดจีน ซึ่งยุติลงตอนนั้นด้วยการได้ดินแดนที่นักล่าอาณานิคมยึดไปจากสยามในสมัยรัชกาลที่ห้าคืน เมืองไทยพ.ศ.นั้นผู้ใดเล่าจะมีบุญญาธิการเท่าท่าน นายกรัฐมนตรี ผู้สถาปนาตนเองจากพลตรีขึ้นเป็นจอมพล จอมพลหลวงพิบูลสงคราม



กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ธ.ค. 09, 10:10
ครั้นพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาต่อในวันที่ 1 มกราคม 2482 ประชาชนจึงเริ่มตกใจเมื่อหนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ที่ทรงรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่แทบทุกงานก็ทรงถูกจับเป็นผู้ต้องหาในคดีเดียวกันนี้ด้วยในทันที

รายละเอียดจากคำบอกเล่าของหลายท่านตั้งแต่ทรงถูกจับ ถูกถอดฐานันดรศักดิ์ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จนถึงวันปล่อยตัวและกลับคืนสู่ฐานันดรศักดิ์และพระอิสริยยศเดิม เรียบเรียงโดยคุณรอยใบลาน

เมื่อ “เจ้านาย” ถูกตัดสินประหารชีวิต ในสมัยประชาธิปไตย
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=504722


ณ เรือนจำกลางบางขวาง เช้าวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๘๖

เจ้าหน้าที่เรือนจำ นับแต่ชั้นอธิบดีกรมราชทัณฑ์จนถึงชั้นผู้คุม และเจ้าหน้าที่ผู้ใหญฝ่ายตำรวจได้เข้ามาในแดนหก กราบทูลเชิญเสด็จในกรมฯ ให้พ้นจากการคุมขัง กลับเป็นอิสรภาพแต่บัดนั้น

เสด็จในกรมทรงฉลองพระองค์แบบสากลสีครีมอ่อน ไทดำ รองพระบาทสีน้ำตาล พระองค์ได้เสด็จมาหน้าห้องพวกเราทุกคน รับสั่งอำลาและประทานพระหัตถ์ลอดช่องกรงมาให้พวกเราทุกคนจับ ดวงพระเนตรและพระพักตร์กอร์ปด้วยความอาลัย และมีพระทัยสงสารพวกเรามาก แก่พวกเด็ก ๆ บางคน เสด็จในกรมฯรับสั่งเบา ๆ

"จงอดทนต่อไป...คงไม่ช้านัก..."

และแก่ห้องนายโชติ คุ้มพันธ์ กับห้องม.ร.ว นิมิตรมงคล ซึ่งว่างอยู่โดยที่เจ้าของห้องทั้งสองถูกเนรเทศไปไว้เกาะ  เสด็จในกรมฯได้ทอดพระเนตรมองอยู่ครู่หนึ่ง และโบกพระหัตถ์พร้อมด้วยอุทานว่า

 "ลาก่อน นิมิตร ลาก่อนโชติ"

และพระองค์ก็ลงจากตึกขังไป ทิ้งพวกเราไว้ในความโสมนัส และเศร้าวังเวงใจอย่างบอกไม่ถูก

จากหนังสือ "ทมิฬ" โดย ขุนโรจนวิชัย (พายัพ โรจนวิภาต) ๑ ในนักโทษการเมืองครั้งนั้น

 :(
 


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ธ.ค. 09, 23:09
ขอบคุณที่เข้ามาช่วยนำเรื่องเสนอครับ

ผมเริ่มประเด็นที่จะนำผู้อ่านไปทำความรู้จักเหยื่อการเมืองทั้งหลายว่าหลวงพิบูลและหลวงอดุลเห็นพวกเขาว่าเป็นศัตรูได้อย่างไร

ก็ขอเริ่มต้นที่กรมขุนชัยนาทฯเลยก็แล้วกัน ผมจะว่าไปพร้อมกับนำความเห็นของศาลในการพิพากษามาลงประกบไปด้วยทีละหน้า

อัยการศาลพิเศษผู้เป็นโจทก์ ได้ยื่นฟ้องแยกเป็นคดีๆ คดีนี้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นจำเลยที่1 นายเพิ่ม เผื่อนพิภพ เป็นจำเลยที่2 ทั้งคู่ต้องหาว่าสมคบกัน และมีผู้อื่นร่วมด้วยที่จะล้มล้างรัฐบาล

นายเพิ่มนั้นเป็นคนขับรถของกรมขุนชัยนาท ตำรวจจับนายเพิ่มมาแล้วใช้เพทุบายต่างๆให้นายเพิ่มปรักปรำผู้มีพระคุณ เมื่อนายเพิ่มมาขอกลับคำให้การในศาลอ้างว่าถูกพนักงานสอบสวนข่มขู่ แต่ศาลไม่รับฟัง (ตอนท้ายจะมีสำนวนของศาลเรื่องของนายเพิ่มตอนดังกล่าวนี้)



กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ธ.ค. 09, 23:10
กรมขุนชัยนาทนเรนทรเมื่อทรงเกษียณจากราชการแล้ว เพราะมิทรงฝักไฝ่ทางการเมืองจึงโปรดเสด็จต่างจังหวัดบ่อยๆ ทรงชอบบันทึกภาพนิ่งและภาพยนต์ทางด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา  เมื่อหม่อมเจ้าสนิธประยูรศักดิ์พระโอรสจะทรงทำวิทยานิพนธ์ส่งมหาวิทยาลัยซูริค ทรงแนะนำให้ทำเรื่องชาวละว้า ทางเหนือของไทย และเสด็จนำพระโอรสขึ้นไปเชียงใหม่หลายครั้ง และเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับ ก็พาหม่อมเจ้าสนิธประยูรศักดิ์ขึ้นไปเหนืออีก โดยจะเสด็จไปแพร่และน่าน แต่เมื่อถึงที่แพร่ทรงทราบว่าถนนขาดจึงเปลี่ยนพระทัยเสด็จเชียงใหม่อีก เมื่อส่งพระโอรสแล้ว ก็เสด็จมาเยี่ยมม.ร.ว.คึกฤทธิ์ที่ลำปาง ซึ่งสันติบาลตามไปทูลเชิญให้กลับกรุงเทพในทันที

สันติบาลพยายามปะติดปะต่อ ว่าเสด็จไปพบกับพระยาทรงสุรเดชที่อำเภอเชียงดาว เพื่อปรึกษากันเรื่องยึดอำนาจการปกครองคืน ให้พระปกเกล้ากลับมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินดังเดิม(แทนในหลวงอานันท์ที่เสมือนหลานแท้ๆของพระองค์???)


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ธ.ค. 09, 23:14
พยานโจทก์ที่ศาลให้น้ำหนักมากที่สุดคือนายอุ๊ เป็นคนขับรถของเจ้าคุณท่านหนึ่งที่อ้างตนว่าเป็นเพื่อนกับนายเพิ่ม (ซึ่งนายเพิ่มปฏิเสธว่าเพียงพูดคุยกันแค่2ครั้ง เมื่อนายอุ๊ขับรถให้นายมาเฝ้าเสด็จในกรมที่วังเท่านั้น) นายอุ๊ให้การว่านายเพิ่มบอกกับตนว่าได้รับหน้าที่จากกรมขุนชัยนาทให้หาพวกกรรมกรรถยนต์ที่เป็นนักเลงหัวไม้และไว้ใจได้ให้มากๆ เพื่อนำมาใช้เป็นกำลังพาหนะในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายอุ๊อ้างว่านายเพิ่มนำตนเข้าเฝ้าก็ทรงบอกกับนายอุ๊ว่าดีแล้ว ขอบใจขอให้ถือว่าร่วมมือกันกู้ชาติ นายอุ๊จึงไปเล่าให้นายวัน ซึ่งเป็นตำรวจยามของรัฐสภา(และเป็นสายลับให้สันติบาลคอยรายงานพฤติกรรมของนักการเมือง)ฟัง นายวันก็ไปรายงานให้ขุนศรีศรากร(นายตำรวจสันติบาล)ทราบ นายอุ๊ยังให้การอีกว่า ต่อมานายเพิ่มมาบอกว่ากรมขุนชัยนาทจะเสด็จไปชวาเพื่อเฝ้ากรมพระนครสวรรค์ เพื่อขอทุนมาดำเนินการ และจะเลยไปเข้าเฝ้าพระปกเกล้าที่อังกฤษเพื่อจะอัญเชิญให้กลับมาครองราชย์หากดำเนินการสำเร็จด้วย (เสด็จไปจริงและโดยเปิดเผยเมื่อปี2479)
 
ครั้นเสด็จกลับมาก็มีรับสั่งให้นายเพิ่มมาถามนายอุ๊ว่าหาพวกกรรมกรได้กี่คนแล้ว เพราะรอช้าไม่ได้ หลวงพิบูลกำลังจะขึ้นมาเป็นผู้เผด็จการ พระองค์จะรีบขึ้นไปเชียงใหม่เพื่อเร่งให้พระยาทรงลงมือดำเนินการโดยเร็ว นายอุ๊ ก็พานายวัน และนายสวัสดิ์มาเฝ้า ทรงประทานเงินให้คนละ100บาทเป็นค่าดำเนินการ ทรงนินทาว่าร้ายรัฐบาลต่างๆนาๆฯลฯ ให้คนพวกนี้ฟังด้วย

นายวัน นายสวัสดิ์ก็มาให้การทำนองเดียวกันนี้ มีกระทั่งบ้านใกล้เรือนเคียงมาให้การว่ารู้จักกับนายเพิ่ม นายเพิ่มเล่าให้ฟังว่ากรมขุนชัยนาทรับสั่งกับตนว่า พระปกเกล้า ต่อไปจะเป็นพระเวียนเกล้า ซึ่งพยานเข้าใจว่าพระปกเกล้าจะเวียนกลับมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีก

ทั้งเสด็จนายกรมและนายเพิ่มปฏิเสธว่าไม่เคยรู้จักและพูดจาหรือให้เงินอะไรกับคนเหล่านี้ แต่ศาลหาได้เชื่อจำเลยทั้งสองไม่


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ธ.ค. 09, 23:17
ทรงรับว่าในประมาณเดือนตุลาคม ได้เสด็จไปอำเภอเชียงดาวและได้แวะตลาดเพื่อจะถ่ายรูปพวกมูเซอร์ ได้เห็นรถยนต์หลายคันจอดอยู่ก่อนและทรงทราบว่าเป็นรถของพระยาทรงแต่ก็มิได้ใส่พระทัย และไม่พบเห็นตัวพระยาทรงที่นั่น อัยการเบิกตัวคนขับรถของเจ้าแก้วนวรัฐที่ให้ยืมรถในวันนั้น คนขับรถก็ให้การตรงกันทั้งหมดเว้นแต่ตนเองไม่ทราบว่าเมื่อเสด็จลงจากรถเข้าไปในตลาดแล้วจะทรงพบผู้ใดบ้าง เช่นเดียวกับสัสดีอำเภอ พยานโจทก์อีกคนหนึ่งที่ให้การสอดคล้องว่าเห็นบุคคลทั้งสอง แต่ปฏิเสธว่าไม่ทราบว่าทั้งคู่จะพบกันหรือไม่เพราะตนขึ้นไปบนอำเภอก่อน มีพยานคนเดียวคืออดีตทหารเก่าชื่อนายตัน ที่เห็นพระยาทรงสุรเดชที่ตลาดก็จำได้ พระยาทรงกำลังคุยกับชายคนหนึ่งซึ่งตนไม่รู้จัก ทราบทีหลังเมื่อเห็นรูปในหนังสือพิมพ์ที่พนักงานสอบสวนมาให้ดู และมาเห็นเมื่อกำลังเบิกความในศาลนี้ว่าคือกรมขุนชัยนาทเรนทร


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ธ.ค. 09, 23:21
แต่ในที่สุดศาลก็เชื่ออย่างสนิทใจว่าเสด็จในกรมทรงดั้นด้นไปถึงเชียงใหม่ เพื่อวางแผนการณ์ล้มล้างรัฐบาลในตลาดสดของอำเภอเชียงดาวนั้นเอง

เรื่องนี้ถ้าเอาไปทำหนังไทย ก็จะเป็นหนังตลกปัญญาอ่อนสมบูรณ์แบบ ผู้ร้ายเป็นถึงโอรสพระเจ้าแผ่นดิน คิดจะแก้แค้นพระเอกด้วยการจะยึดอำนาจรัฐคืนโดยคบคิดกับคนขับรถของตน ให้ระดมพลอยู่กว่าปีได้ไพร่พลระดับทหารเลวมาตั้ง3-4คนจ่ายค่าจ้างคนละ100บาท เสร็จสรรพก็นัดไปวางแผนปฏิบัติการกับหัวหน้าผู้ร้ายอีกคนหนึ่ง โดยอุตส่าห์ดั้นด้นขึ้นไปถึงเชียงใหม่ แล้วต่างคนต่างนั่งรถคันโก้ไปจอดเป็นขบวนอยู่ที่ตลาดบ้านนอกอย่างที่เชียงดาวแล้วประชุมกันกลางตลาดมันซะเลย ไม่เกรงแม้แต่จะตกเป็นเป้าสายตาของชาวบ้านลูกเด็กเล็กแดงหรือจะเข้าหูสายสืบของรัฐ จนทำให้เสียท่าถูกรายงานให้พระเอกจับได้ นำตัวไปขึ้นศาลจนศาลตัดสินให้ประหารชีวิต ด้วยความกรุณาพระเอกก็ลดโทษให้ตั้งเยอะ เหลือแค่จำคุกตลอดชีวิต เท่ากับคนขับรถคู่ใจเท่านั้นเอง



กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ธ.ค. 09, 23:50
อนึ่ง คดีนี้อัยการได้นำพยานเอกสารที่ไปค้นมาได้จากในวังของท่าน และศาลก็นำมาอ่านประกอบคำพิพากษาอย่างยืดยาวทุกถ้อยกระทงความ เป็นจดหมายของสมเด็จพระราชปิตุจฉา(อาของในหลวง) เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินทร ที่เสด็จไปรักษาพระองค์ที่อังกฤษแล้วเล่าเรื่องต่างๆมาถึงเสด็จในกรมผู้เสมือนพี่น้องร่วมพระอุทรของพระองค์ ผมอ่านแล้วเห็นว่ามีสาระทางการเมืองอยู่นิดเดียวว่า สมเด็จพระปกเกล้าทรงอยากให้ในหลวงอานันท์ทรงย้ายจากสวิตเซอร์แลนด์ไปเรียนพับบลิกสกูลในอังกฤษเพราะที่สวิตเซอร์แลนด์มีผู้ห้อมล้อมมากไปแล้ว พระราชชนนีก็ทรงเห็นด้วย แต่ไม่ทรงสามารถพูดให้ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเห็นชอบได้ ทางนี้เอะอะก็จะเรียกตัวมาเก็บที่เมืองไทย เพราะไม่อยากให้ในหลวงติดต่อกับพระปกเกล้า มีเท่านี้จริงๆไม่ทราบว่าศาลเอามาอ่านทำไม

จึงอาจคิดได้ว่านี่เป็นบทสะท้อนความคิดของรัฐบาลชุดนี้ให้ชัดลงไปว่าไม่ต้องการให้ใครทั้งสิ้นติดต่อกับกลุ่มอำนาจเก่า การที่ศาลยกมาข้อนึงว่าเสด็จในกรมเสด็จไปเฝ้ากรมพระนครสวรรค์ และพระปกเกล้า(จึงอาจเชื่อได้ว่า……)  ผมคิดว่าตรงนี้แหละที่ทำให้ทรงต้องติดคุกติดตะราง ประเด็นอื่นๆเป็นเพียงเรื่องโกหกที่แต่งขึ้นมาให้รู้ๆกันให้ทั่วว่าฉันหาเรื่องเอาแกเข้าคุกได้นะจะบอกให้ เท่านั้นเอง


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ธ.ค. 09, 07:05
นายเพิ่ม เผื่อนพิภพ เป็นตัวประกอบที่จำเป็นต้องนำมาประกอบฉาก เพราะมิฉะนั้นก็ไม่ทราบว่าจะเอาใครมาได้ยินที่เสด็จในกรมท่านบ่นรัฐบาล นายเพิ่มเป็นคนมีการศึกษาต่ำ ผู้ต้องหาคดีนี้ทั้งหมดเมื่อถูกจับ ตำรวจห้ามเยี่ยมห้ามประกัน ศาลพิเศษไม่อนุญาตให้จำเลยมีทนาย จึงน่าเชื่อมากว่านายเพิ่มจะถูกขู่ถูกเค้นให้พูดว่านายพูดอะไรให้ได้ยินบ้าง นายเพิ่มนั้นอยู่มานานจนเงินเดือน40บาทแต่ตอนหลังลดลงเหลือ30บาท ท่านก็คงอธิบายให้นายเพิ่มฟังตรงๆว่าท่านถูกลดเงินที่เคยได้รับจากหลวง ตำรวจก็เอาตรงนี้มาแต่งถ้อยความใหม่ว่าท่านมีความแค้นพระทัย บางทีท่านทรงนั่งรถยนต์ไปตกหลุมตกบ่อแล้วอาจจะทรงบ่นดังๆว่ารัฐไม่มีเงินมาทำนุบำรุงถนนหนทางเพราะไปซื้ออาวุธหมด นายเพิ่มก็อาจจะพูดตรงนี้ตำรวจก็แต่งเสริมไปว่า ท่านตำหนิรัฐบาล เรื่องที่ผมยกให้ฟังนี้เพราะเสด็จในกรมท่านก็ทรงยอมรับว่าอาจจะเคยพูดเช่นนั้นแต่โจทก์ยกมาห้วนไปจึงทำให้มองว่าท่านไม่พอพระทัยรัฐบาล


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ธ.ค. 09, 07:23
นายเพิ่มกล้าหาญมาก ที่กลับคำให้การในศาลทั้งที่ไม่มีทนายแนะนำ อย่าลืมว่าในขณะให้การว่าถูกทั้งขู่บังคับ ทั้งติดสินบนว่าจะให้งานทำใหม่ดีๆเป็นการฉีกหน้าขุนประสงค์สิทธิการ ตำรวจหัวหน้าเจ้าพนักงานสอบสวน นายเพิ่มไม่อาจรู้ได้ว่าเมื่อกลับเข้าตารางไปแล้ววันนั้นตนจะเจอกับอะไร นายเพิ่มยอมแลกกับการที่จะถูกกันตัวเป็นพยานในชั้นสอบสวน และยอมแลกการรับโทษน้อยหรือปล่อยตัวในชั้นศาลกับสำนึกผิดชอบชั่วดี ขอแก้ใขคำให้การที่กลายเป็นปรักปรำนาย ยอมที่จะหลุดก็หลุดด้วยกันติดคุกก็ติดด้วยกัน คนอย่างนายเพิ่มถือว่าเป็นคนที่มีอุดมคติน่านับถืออย่างยิ่งคนหนึ่ง


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ธ.ค. 09, 07:38
เมื่อนายเพิ่มแผลงฤทธิ์กลับคำให้การและกล่าวหาเจ้าพนักงานสอบสวน ตำรวจก็ระดมพลมาให้การโต้ ประเด็นที่ศาลเชื่อตำรวจแล้วนำมาอ่านก็คือ เมื่อไม่สมัครใจแล้วไปลงลายมือชื่อหรือพิมพ์นิ้วมือเล่า ศาลลืมนึกไปว่าถ้าจำเลยไม่ยอมทำเช่นนั้นล้วตำรวจยินยอมให้เดินกลับออกไปโดยดีแล้วเขาจะมาร้องหาความยุตติธรรมบนศาลว่าถูกขู่เข็ญอย่างไรได้


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ธ.ค. 09, 07:46
ขอประทานโทษ นี่ไม่ใช่ศาลสถิตย์ยุติธรรม แต่เป็นศาลเตี้ยของผู้เผด็จการ และสมุนบริวาร อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ก่อนแล้ว ในศาลนี้ถึงแกจะถูกอย่างไร แกก็ผิดอยู่ดีนั่นแหละ เพราะแกไม่ใช่พวกฉัน


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ธ.ค. 09, 08:10
สรุป ศาลเชื่อว่าทั้งนายและคนขับรถคู่นี้ ได้คบคิดกันจะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจะเอาพระปกเกล้าผู้ทรงท้อถอยพระทัยสละราชบัลลังก์ไปแล้วให้กลับมาเป็นกษัตริย์ใหม่แทนพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลที่ทรงกำลังเป็นความหวังของประชาชาติในฐานะพระประมุขในระบอบประชาธิปไตย  ที่แย่กว่านั้นคือจะเอาพระยาทรงสุรเดชหัวหอกในการล้มระบอบราชาธิปไตย ให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยใช้ทุนทรัพย์ในการดำเนินการโค่นล้มเปลี่ยนแปลงรัฐบาลนี้จากกรมพระนครสวรรค์ที่โดนพวกพระยาทรงสุรเดชเนรเทศไปต่างประเทศ

ไม่ทราบว่าใครหนอ ที่เขียนบทละครน้ำเน่าสนิทเรื่องนี้ให้บรรดาผู้มีเกียรติมาแสดงเป็นคณะผู้พิพากษาในศาล แต่ท่านก็แสดงกันได้คุ้มค่าตัวทีเดียว


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ธ.ค. 09, 10:36
ที่หน้าห้องขังนั้นเอง ข้าพเจ้ายืนตะลึง เกือบไม่เชื่อตาตนเอง กรมขุนชัยนาทฯ ประทับอยู่บนเก้าอี้ในห้องขังนั้น

ข้าพเจ้ายกมือขึ้นถวายบังคม และกำลังจะเดินเข้าไปเฝ้าใกล้ ๆ แต่นายสิบยามเดินแซงเข้ามากันข้าพเจ้าไว้ และนำไปยังห้องขังอีกห้องหนึ่งที่อยู่ใกล้ชิดกัน

การที่ได้เห็นกรมขุนชัยนาทฯ ในห้องขังนั้น ดูเป็นของประหลาดเหลือเชื่อ นี่เมืองไทยมาถึงยุคทมิฬจริงแล้วหรือ รัฐบาลหลวงพิบูลฯ ช่างทะนงองอาจเสียเหลือเกิน ที่จับพระโอรสของพระพุทธเจ้าหลวงมาเข้าห้องขัง ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลควรละอายใจในการังแกพระบรมวงศ์พระองค์นี้ ซึ่งชนทั้งหลายย่อมทราบดีว่าเป็นเจ้านายที่พระทัยบุญ ปรารถนาแต่กุศลกิจ พระองค์ได้บำเพ็ญคุณานุคุณไว้แก่ชาติเป็นอเนกประการ อาทิเช่น ตั้งโรงพยาบาลศิริราชห ก่อตั้งมหาวิทยาลัย และกรมสาธารณสุขขึ้นเป็นปฐม ทรงตรากตรำงานจนประชวรหนักจึงลาออก ตั้งแต่นั้นก็สนพระทัยบำรุงศิลปกรรม ดนตรีและศาสนา หลวงพิบูลฯ ควรจะเข้าใจได้ว่าผู้ที่มักใหญ่ใฝ่สูงคิดแย่งอำนาจในทางการเมือง กับผู้ที่รักวิทยาการและความงามของศิลปกรรมนั้นจะเป็นคน ๆ เดียวกันไม่ได้ แต่หลวงพิบูลฯ อาจหลงตนเองเกินไปจนเชื่อคำยุยงใส่ร้ายว่ากรมชุนชัยนาทฯ ถ่อมพระองค์ลงมาเป็นปรปักษ์กับตน

ตอนหนึ่งจากหนังสือชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง


และนี่เป็นความเห็นของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน กราบทูลกรมขุนชัยนาทฯ ขณะอยู่ในเรือนจำ

I bet those men in power don't understand that your Royal Highness takes no interest in politics. Such fool !

 :o




กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ธ.ค. 09, 11:20
ความสัมพันธ์ในยามยากของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคลกับกรมขุนชัยนาทนเรนทร ได้ก่อตัวขึ้นในคุก เสด็จในกรมฯ ทรงให้ความเอื้อเอ็นดู ม.ร.ว.นิมิตรมงคลตลอดอายุขัย

พ่อแต่งงานกับแม่ในวังของสมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทรผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมัยนั้น ซึ่งทรงเป็นอดีตนักโทษการเมืองของรัฐบาลจอมพล ป.ด้วย ทรงประทานความเมตตาสนิทสนมแก่พ่อ หลังจากที่ประทานน้ำสังข์แล้วเจ้าบ่าวเจ้าสาวก็กลับมาจัดงานเลี้ยงฉลองทีบ้านโรงเรียนสวนเด็กนั่นเอง มีเพื่อนฝูงมาร่วมงานมากพอสมควร ก่อนการแต่งงานกรมพระยาชัยนาทนเรนทรเสด็จมาสู่ขอแม่กับคุณตาคุณยายถึงบ้าน นับเป็นเกียรติอย่างสูงของครอบครัวสังขดุลย์ของแม่ ทรงประทานแหวนเพชรให้พ่อสวมเป็นแหวนหมั้นแก่แม่ ซึ่งแม่สวมมันไว้ตลอด บั้นปลายของชีวิตพูดไม่ได้แล้วผมจึงขอถอดเก็บไว้

จากหนังสือ ชีวิตที่ลิขิตไว้ ของ คุณหญิงบรรจบพันธุ์ นวรัตน ณ อยุธยา เรียบเรียงโดย ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน




กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ธ.ค. 09, 13:07
คุณเพ็ญชมพูที่เข้ามาจบเรื่องของเสด็จในกรมอย่างนิ่มนวล ผมขอขอบคุณด้วยภาพอันเป็นสมบัติมีค่าของม.ร.ว.นิมิตรมงคลที่เป็นมรดกตกทอดมาสู่ลูก นี่เป็นผมดอกนะจึงขอเอามาลงได้เพราะเจ้าของเขาหวงมาก


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ธ.ค. 09, 13:10
ดีใจที่ได้อ่าน


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ธ.ค. 09, 13:11
ต่อไปเป็นคดีระหว่าง อัยการศาลพิเศษ โจทก์

และ

พลโท พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
ร้อยโท เผ่าพงษ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
นายดาบ ผุดพันธ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
ร้อยตรีบุญมาก ฤทธิ์สิงห์
พันโท พระสุวรรณชิต (วร กังสวร)
ร้อยเอกดาว บุญญเสฐ

จำเลย


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ธ.ค. 09, 13:15
คดีนี้บิดาและบุตรชายวัยหนุ่มคะนองสองคนถึงจะอยู่ในรั้วเดียวกันแต่คนละบ้านจึงไม่ค่อยได้พบกัน เมื่อถูกจับตัวไปพบกันในคุก ต่างฝ่ายต่างต่อว่าซึ่งกันและกันว่าไปทำอะไรมาให้ตนรับเคราะห์ไปด้วย


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ธ.ค. 09, 13:17
ส่วนพระสุวรรณชิตคนรู้จักกันที่ไปมาหาสู่อยู่2-3ครั้ง เจ้าคุณเทพท่านนึกว่าเป็นเรื่องของการค้าขายเพราะพระสุวรรณชิตเป็นนายทหารนอกราชการมีอาชีพโดยเปิดเผยว่าทำการค้าอยู่ แต่เพิ่งจะมาเปิดเผยกันในศาลว่าเป็นสายลับหมายเลข100 จะพยายามเข้าไปสืบเสาะว่าเจ้าคุณเทพเล่นการเมืองนอกสภาอยู่หรือเปล่า เล่นเอางงกันไปหมดว่าแล้วไฉนกลับมาโดนข้อหาว่าร่วมกันคบคิดล้มล้างรัฐบาลที่ทั้งคู่ก็ตอบไม่ได้

ร้อยตรีบุญมาก ฤทธ์สิงห์ เป็นนักเรียนนายร้อยคนละรุ่นกับร้อยโทเผ่าพงษ์ รู้จักแต่ไม่สนิทกัน เคยไปหาเจ้าคุณเทพครั้งเดียวหลายปีก่อนหน้าเรื่องทุนเล่าเรียน ทั้งๆที่ไม่รู้จักใครเลยแต่ขบวนการคนขับรถทั้งหลายก็มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ จัดให้รัอยตรีบุญมากอยู่ในขบวนนายทหารผู้จ้างวานให้สวะตัวหนึ่งไปยิงหลวงพิบูลที่เชิงสพานมัฆวานด้วย แต่สวะตัวนั้นไม่กล้ายิง แถมมาเป็นพยานให้ตำรวจเอาผิดนายทหารเหล่านั้นเสียด้วย

ร้อยเอกดาว บุญญเสฐ เข้าออกบ้านเจ้าคุณเทพบ่อยเมื่อมีงาน เป็นทหารธรรมะธรรโมจึงเป็นผู้อาราธนาพระสงฆ์ในพิธีบุญ ถูกซัดทอดกับเขาด้วย เวลาให้การในศาลก็เนื้อถ้อยกระทงความเช่นเดียวกับคนอื่นๆ แต่คนนี้ศาลเชื่อ พิพากษาให้ปล่อยตัวไป คนอื่นต้องโทษประหารชีวิตหมด


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ธ.ค. 09, 13:19
ศาลเชื่อคำให้การของนายชลอ ฉายกระวีพยานโจทก์ที่บอกว่าไปหาร้อยโทเผ่าพงษ์ ศาลได้บอกกลายๆทำให้เดาได้ว่านายชลอเป็นนักเลงหัวไม้ ตำรวจเลี้ยงไว้เพื่อเอาปรักปรำเหยื่อ เพราะไม่ได้ระบุว่าอยู่ๆตนไปสนิทชิดเชื้อกับร้อยโทเผ่าพงษ์ได้อย่างไร แล้วทำไมร้อยโทเผ่าพงษ์จึงไว้ใจขนาดพาไปพบท่านบิดาที่อยู่พร้อมๆกับคนอื่นๆให้ไปทำงานใหญ่ค่าจ้าง5000บาท และมอบปืนพกให้ล่วงหน้าเพื่อนัดกันไปยิงหลวงพิบูลที่จะนั่งรถผ่านสพานมัฆวาน แต่เนิองจากรถแล่นเร็วเกินไปนายชลอไม่กล้ายิง แผนใหญ่จึงล้มเหลวไม่เป็นท่า

ถ้าเรื่องนี้เป็นความจริง นายทหารหนุ่มๆเหล่านี้สมควรที่รัฐจะเอาไปฆ่าทิ้งเสียให้หมด ใช้ได้ที่ไหน อุตส่าห์เล่าเรียนจบโรงเรียนนายร้อยมา แต่ขี้ขลาดตาขาวเสียชื่อนายทหารของชาติ อยากจะยิงเขาแต่ไม่กล้าไปจ้างวานสวะสังคมมายิงแทน แล้ววางจุดไปดักยิงที่ไหนไม่ไป เอามันที่เชิงสพานมัฆวานที่รถจะต้องวิ่งเต็มกำลังมันซะเลย ฉลาดแท้ เจ้าคุณเทพก็เช่นกัน ท่านเป็นถึงแม่ทัพของสมเด็จพระธีรราชเจ้า นำทหารอาสาไปราชการสงครามในยุโรป ท่านจะปฏิเสธไม่รู้ไม่เห็นแผนนี้ไม่ได้ เมื่อแผนล้มเหลวเพราะสวะตัวเดียว ไม่กล้ายิงแล้วยังนำความไปบอกตำรวจเสียอีกเช่นนี้ ท่านสมควรแก่โทษประหารเช่นกัน


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ธ.ค. 09, 13:23
พยานรุมกันกล่าวถึงหลวงสงครามวิจารณ์ ท่านผู้นี้จะปรากฏเป็นยาดำไปแทบทุกคดีมีผู้พบเห็นว่าได้เข้ามาร่วมประชุมด้วยอย่างโน้นอย่างนี้

ในวันที่ผู้เผด็จการส่งลูกน้องไปจับกุมตัวพระยาทรงสุรเดชที่กรมทหารราชบุรี ได้แยกสายกันจับอดีตนายทหารคนสนิทของท่านในที่ต่างๆกันด้วย พันตรีหลวงราญรณกาจ ได้ต่อสู้จนถูกยิงตาย พันตรีหลวงวรณสฤช ถูกจับที่ปากพนัง เมื่อสันติบาลคุมตัวมาถึงชุมพร ผู้ต้องหารายนี้ได้ฆ่าตัวตาย พันตรีหลวงสงครามวิจารณ์ออกจากราชการไปประกอบอาชีพส่วนตัวอยู่ยะลา ทางราชการแถลงว่าระหว่างทางมีคนร้าย9คนจะเข้ามาแย่งตัว หลวงสงครามวิจารณ์พยายามจะแย่งปืนจากตำรวจจึงถูกยิงตาย เบื้องหลังนั้นไม่มีใครทราบว่านายทหารทั้ง3เจตนาจะให้ตนเองตาย หรือมีใครจัดให้

ข่าวเหล่านี้ออกมาติดๆกับข่าวที่ว่าพระยาทรงสุรเดชหนีไปอินโดจีนแล้ว ประชาชนจึงอยู่ในข้างเชื่อว่าเกิดการปะทะกันแตกดับระหว่างพระยาทรงและหลวงพิบูลจริงๆเนื่องจากหลวงพิบูลเป็นฝ่ายถูกกระทำก่อน แต่ไม่สำเร็จ หลังจากนั้นชื่อนายทหารทั้งสามก็จะไปปรากฏในสำนวนฟ้องเหยื่อทั้งหลายให้ดูหนักแน่นขึ้น เพราะคนทั่วไปเชื่อเสียแล้วว่าผู้เสียชีวิตทั้ง3มีความผิดจริง


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ธ.ค. 09, 13:27
บุญมากที่น่าสงสาร คำฟ้องที่สาหัสสากรรจ์ต่อเขามีอย่างเดียว คือร่วมจ้างวานและเป็นผู้นำนายชลอไปดักยิงหลวงพิบูลในช่วงเดือนตุลาคม เขามีพี่สาวมาให้การเป็นพยานแก้ต่างว่า ในระหว่างระยะเวลาที่อัยการอ้างในฟ้องนั้น เธอกำลังเจ็บหนักอยู่โดยมีน้องชายเฝ้าดูแลอยู่ตลอดเวลา ศาลมีความเห็นว่า จำเลยนำพยานมาให้การเพียงปากเดียว ความผิดอื่นๆ(คือไปร่วมประชุมที่นั่นที่นี่ เพื่อล้มล้างรัฐบาล) ที่จำเลยให้การปฏิเสธโดยอ้างตนเป็นพยานไม่สามารถเบิกพยานบุคคลอื่นๆมานำสืบได้ จำเลยจึงไม่พ้นผิดอยู่ดี  บุญมากเป็นหนึ่งใน18ที่โดนประหารร่วมกับร้อยโท เผ่าพงษ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา นายดาบ ผุดพันธ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา พันโท พระสุวรรณชิต ส่วนพลโท พระยาเทพหัสดินให้ลดโทษประหารลงเหลือจำคุกตลอดชีวิตเพราะเคยประกอบคุณความดีในอดีต

ทำไมพลโท พระยาเทพหัสดินจึงไม่ใช่พวกของเขา ในหนังสือประวัติของท่าน เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งแรก ท่านได้เป็นส.ส.คนแรกของประเทศไทย โดยได้เป็นผู้แทนที่คนกรุงเทพลงคะแนนให้อย่างท่วมท้นโดยไม่ต้องหาเสียง ไม่ต้องมีหัวคะแนน ท่านเป็นคนที่กล่าวอภิปรายตำหนิผู้ที่ใช้อำนาจทหารและตำรวจในสภาอย่างรุนแรง ที่นำกำลังพลถืออาวุธมายืนคุมเชิงรักษาความปลอดภัยให้ตนในสภา สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากแก่ผู้มีอำนาจเหล่านั้น



กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ธ.ค. 09, 13:29
ผมจะขอจบเรื่องของท่านด้วยบันทึกที่ท่านเขียนไว้เอง
1


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ธ.ค. 09, 13:29
2


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ธ.ค. 09, 13:30
3


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ธ.ค. 09, 13:31
4


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ธ.ค. 09, 13:33
5


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ธ.ค. 09, 13:33
อ้างถึง
พันตรีหลวงราญรณกาจ ได้ต่อสู้จะถูกยิงตาย  


วันที่หลวงราญรณกาจถูกยิงตาย      มีนายทหารจากรัฐบาลไปจับกุมตัวถึงบ้าน  ในตอนเช้า    คุณหลวงขอตัวว่ายังไม่ได้แต่งตัว ขอไปแต่งตัวก่อน
พอกลับเข้าไปในห้องนอน   นายทหารคนนั้นก็ตามเข้าไปแล้วยิงตายคาบ้านพัก    เรื่องนี้ไม่เคยปรากฏต่อสาธารณะ  และลูกหลานไม่อาจร้องเรียนเอาผิดจากใครได้  


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ธ.ค. 09, 13:34
6


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ธ.ค. 09, 13:39
จาก "จงรักเกียรติยิ่งชีวิต"
พลเอก พระยาเทพหัสดิน สยามพิชิตินทร์สวามิภักดิ์ อุดมศักดิ์เสนีย์พิริยะพาหะ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ธ.ค. 09, 13:54
Lives of great men all remind us
We can make our lives sublime.
And departing leave behind us
Footprints on the sand of time.

Henry Wordsworth Longfellow

บทแปลเป็นโคลงมหาวิชชุมาลี   พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประวัติวีรบุรุษไซร้             เตือนใจ เรานา
ว่าอาจจะยังชนม์               เลิศได้
และยามจะบรรลัย             ทิ้งซึ่ง
รอยบาทเหยียบแน่นไว้      แทบพื้นทรายสมัย


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ธ.ค. 09, 14:25
อ่านเรื่องของพลเอกพระยาเทพหัสดินแล้ว  นึกถึงโคลงพระราชนิพนธ์แปล  ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
Mon ame au Dieu,
Mon bras au roi,
Mon coeur aux dames,
L'honneur a moi.

มะโนมอบพระผู้................เสวยสวรรค์
แขนมอบถวายทรงธรรม์.........เทอดหล้า
ดวงใจมอบเมียขวัญ...............และแม่
เกียรติศักดิ์รักของข้า.............มอบไว้แก่ตัว


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ธ.ค. 09, 16:25
จาก "จงรักเกียรติยิ่งชีวิต"
พลเอก พระยาเทพหัสดิน สยามพิชิตินทร์สวามิภักดิ์ อุดมศักดิ์เสนีย์พิริยะพาหะ

นอกจากชื่อหนังสือที่ปกหน้า จงรักเกียรติยิ่งชีวิต จะเป็นอุดมการณ์แห่งชีวิตของท่านแล้ว ที่ปกหลังของหนังสือเล่มนี้ยังทำให้เราทราบว่ามีคติธรรมสำคัญประการหนึ่งซึ่งท่านยึดถืออยู่เช่นกันคือ การรู้จักอโหสิกรรมเป็นยอดแห่งการเป็นผู้ดี

ข้อมูลจากคุณวิกกี้
http://th.wikipedia.org/wiki/พระยาเทพหัสดิน (http://th.wikipedia.org/wiki/พระยาเทพหัสดิน)

หลายปีต่อมา พลโท พระยาเทพหัสดิน ได้รับหนังสือขอโทษจากจอมพล ป.พิบูลสงครามที่ได้เข้าใจผิดในเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด และขอการอโหสิ

พระยาเทพหัสดิน ได้รับพระราชทานยศเป็น พลเอก พระยาเทพหัสดิน และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๑

ถึงแม้ว่าต้องเสียบุตรชายไปถึง ๒ คน ท่านยังอโหสิกรรมให้ได้

ขอแสดงความนับถือ

  8)







กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ธ.ค. 09, 17:37
ครับ การรู้จักอโหสิกรรมเป็นยอดแห่งการเป็นผู้ดี



กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ธ.ค. 09, 20:25
"แม้ตายจาก ฝากชื่อ"


ตื่นเช้าสุขสราญ พวกเราเบิกบานกมล
หอมกลิ่นปืนกล เราห้าคนจะขอลาตาย
พวกเราเหล่าทหารชาญสนาม
 ไม่ครั่นคร้ามปืนกลเราทนได้
แม้ตายจาก ฝากชื่อ เลื่องลือไกล
ขอชาวไทยจงประสบพบความจริง
ว่าเรานี้ไม่ผิด คิดกระด้าง
ทำลายล้างผู้ใดให้เกรงกริ่ง
ละล้วนเรื่องมดเท็จ แกล้งเพ็ดพิง
ขอทุกสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่าปิดความ

บทเพลงข้างบนเป็น “หนังตัวอย่าง” ตอนต่อไปที่ร้อยโท ณเณร ตาละลักษณ์ จะเดินร้องก้องกังวานไปทั่วในย่ำรุ่งที่เยือกเย็นและเงียบกริบ ขณะเดินนำกลุ่มนักโทษไปสู่แดนประหารที่บางขวาง

เรื่องอโหสิกรรมก็เรื่องหนึ่ง เรื่องประวัติศาสตร์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เราควรเรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วยใจที่เป็นธรรม และเป็นกลาง

ณเณร ตาละลักษณ์เป็นใคร และทำไมเขาจึงตกเป็นเหยื่ออธรรมในครั้งนี้


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ธ.ค. 09, 21:27
ร้อยโท ณ เณร ตาละลักษณ์ 

ในบรรดากบฏคดีนี้ ณเณรเป็นผู้ที่ม่สีสรรที่สุด แค่ชื่อก็ไม่มีใครเหมือนแล้ว แถมยังหน้าตาดีรูปร่างสมาร์ท อารมณ์แจ่มใสอยู่เป็นนิตย์ทั้งที่กำลังเผชิญเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างไรก็ตาม

ในปี2479 ในขณะที่ยังเป็นนายทหาร ณเณรเขีบนบทความลงหนังสือพืมพ์วิพากษ์วิจารณ์งบประมาณจัดซื้ออาวุธของทหารอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้ถูกหอกปลายปืนจี้ไปพบหลวงพิบูล ซึ่งตอนนั้นเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก และมีข่าวว่าโดนศาลเตี้ยชำระความอย่างรุนแรง ซ้ำถูกลงโทษกักขังที่กระทรวงกลาโหมอยู่25วันในข้อหาว่าประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์กับการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นณเณรลาป่วย ทางราชการจึงถือโอกาสสั่งปลดออกไปเลย ณเณรจึงออกมาลงทุนทำหนังสือพิมพ์ตนเป็นบรรณาธิการชื่อ  “ชุมชน” ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือพิมพ์ 'อุดมคติ' ที่มุ่งมั่นจะให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยแท้จริงเล่มหนึ่ง  ณเณรใช้หนังสือพิมพ์ของตนนี้เป็นฐานเสียงลงสมัครส.ส.กรุงเทพเขต2ในการเลือกตั้งปี2481 ได้รับคะแนนชนะคู่แข่ง(คนของเจ้าคุณเทพหัสดิน ทำให้ทั้งสองไม่ค่อยจะถูกกัน แต่กลับโดนข้อหาคดีเดียวกัน)ถล่มทลาย เมื่อเข้าสภาได้ก็กลายเป็นฝ่ายค้านฝีปากกล้าไม่เกรงที่จะชนกับฝ่ายรัฐบาลทุกเรื่องหากตนไม่เห็นด้วย เคยอภิปรายโจมตีพระยาพหลพลพยุหเสนาในสภาอย่างรุนแรงยังไม่พอ จูงควายเอาไปผูกไว้หน้าวังปารุสก์ที่พระยาพหลใช้เป็นที่พำนักระหว่างดำรงตำแหน่งนายกอีก สร้างความโกรธแค้นให้กับเจ้าคุณพหลและเพื่อนพ้องเป็นอย่างยิ่ง
ครั้งที่สภาผู้แทนจัดให้มีการประชุมลับเพื่อหยั่งเสียงว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีแทนพระยาพหลที่ลาออกเพราะถูกสภาอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องที่รัฐบาลเอาที่ดินของพระคลังข้างที่ออกมาจำหน่ายให้แก่กันเองในราคาถูกแสนถูก แถมยังให้ผ่อนส่งอีกต่างหาก วันรุ่งขึ้น”ชุมชน”ได้ตีภาพพระยาทรงกับหลวงพิบูลขึ้นหน้าหนึ่งคู่กันโดยบรรยายภาพว่า สภาลงคะแนนลับให้พระยาทรง37คะแนน หลวงพิบูล5แต้ม 
       
หลังผลการหยั่งเสียงออกมา พระยาพหลได้เรียกประชุมแกนนำสำคัญของรัฐบาลเพื่อตกลงกันให้เรียบร้อยว่าจะเอาอย่างไรกัน เมื่อการประชุมผู้แทนราษฏรเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้มีขึ้นถัดมา การออกเสียงของ ส.ส.ประเภท2 ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้ง รวมกับเสียง ส.ส.ประเภท1 แล้วปรากฏว่าหลวงพิบูลสงครามได้เป็นนายกรัฐมนตรี

หลวงพิบูลเป็นนายกรัฐมนตรีไม่นานเกินรอ เพียงเดือนเศษก็ถึงคิวฆ่าณเณร ตาละลักษณ์


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ธ.ค. 09, 08:07
สันติบาลไปค้นบ้านณเณรขณะที่เจ้าของไปต่างจังหวัดเพื่อหาอะไรสักอย่างหนึ่งที่จะเป็นยาพิษได้ เพื่อหาคำตอบเรื่องหลวงพิบูลโดนวางยา  แล้วยึดเอาผงสีเทาไป1กระป๋อง ผงสีขาว1ห่อ หมึกแดง1ขวดไปตรวจสอบ

ผลการตรวจสอบพบว่าผงสีขาวเป็นสารหนู อย่างอื่นไม่พบอะไร กระดาษที่ห่อเป็นกระดาษของณเณร ซึ่งณเณรยอมรับว่าใช่กระดาษของตนแต่สารสีขาวไม่ใช่
วันหนึ่งที่เรือนจำลหุโทษที่คุมขังนักโทษการเมืองขณะรอการขึ้นศาล ขณะที่ผู้คุมเอานักโทษมาออกกำลังกาย มีคนสองสามคนมาแอบหน้าต่างบ้านพัศดีดูพวกนักโทษการเมือง หญิงสาวนางหนึ่งเล่นหูเล่นตากับณเณรกระทั่งเพื่อนนักโทษด้วยกันเห็นหมดจนอดล้อพ่อรูปหล่อณเณรไม่ได้ วันหนึ่งขึ้นศาลถึงกับตกตะลึง แม่สาวนางนั้นชื่อนางเสงี่ยม ปลุกใจเสือมาให้การเป็นพยานโจทก์ว่าตนเป็นผู้ช่วยทำครัวบ้านหลวงพิบูล ชี้ตัวณเณรว่าเป็นคนมอบยาพิษให้พันจ่าตรีทองดี จันทนะโลหิตแฟนของตน เอามาให้ตนอีกทีหนึ่งเพื่อใส่ในอาหารให้หลวงพิบูลรับประทาน แฟนบอกว่าเป็นยาเสน่ห์หลวงพิบูลเสพย์เข้าไปแล้วจะเกิดความเมตตา


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ธ.ค. 09, 08:09
พันจ่าตรีทองดีก็มาให้ในฐานะพยานโจทก์ด้วยว่าตนเป็นสนิทสนมกับณเณรมานานแล้วจากการแนะนำของหลวงราญรณกาจ(จำชื่อนี้ ที่ถูกยิงเสียชีวิตตอนถูกจับกุมตัวได้ไหมครับ) ให้การยาวเกี่ยวพันไปถึงพระยาทรง และแผนการณ์ลับต่างๆที่นายทหารระดับสูงไม่น่าจะเที่ยวพูดกับทหารชั้นประทวนผู้รับใช้อยู่ในบ้านหลวงพิบูล ประเด็นสำคัญอยู่ที่วันหนึ่งณเณรเอาผงสีขาว1ห่อกับเงิน15บาทส่งให้ตนไปวางยาหลวงพิบูล (15บาทเท่านั้นจริงๆครับ ผมอ่านแล้วอ่านอีกไม่มีรางวัลจูงใจทั้งเงินหรือตำแหน่งอย่างใดกว่านี้) ตนเอา15บาทให้นางเสงี่ยมแฟนของตนและให้เอายาสีขาวไปเก็บไว้เพื่อโรยอาหารให้หลวงพิบูล แต่วันเกิดเหตุได้ช่องให้ตนแบ่งยาจากนางเสงี่ยมเอามาโรยเสียเอง หลังจากเป็นเรื่องขึ้นแล้วตนถูกตำรวจคุมตัวไว้ อีก7วันต่อมาหลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจได้เรียกไปสอบ ตนจึงซัดทอดนางเสงี่ยมว่าเป็นผู้วางยาแต่นางเสงี่ยมปฏิเสธและซัดทอดตนกลับ อีก3-4วันตนจึงสารภาพกับขุนศรีศรากร ตามคำให้การในศาลนี้


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ธ.ค. 09, 08:11
อัยการได้เบิกพยานอีกหลายปากมาให้การในประเด็นไร้สาระระหว่างการหาเสียงสมัครผู้แทนของณเณร ซึ่งเกี่ยวพันกับจำเลยร่วมคดีอีกสองคนที่เป็นหัวคะแนน เรื่องหลักก็คือกล่าวติเตียนรัฐบาล และร่วมกับพระยาทรงกับลูกน้องที่เสียชีวิตไปแล้ว มิอาจปฏิเสธให้ปรากฏหลักฐานได้นั้น ชักจูงหาสมัครพรรคพวกเตรียมการโค่นล้มรัฐบาล ถ้าข้อกล่าวหาประเภทนี้ทำให้คนติดคุกได้ในสมัยปัจจุบัน คงต้องใช้สนามกีฬาแห่งชาติทุกสนามคุมขังบรรดานักโทษเสื้อสีต่างๆ 

ณเณรปฏิเสธไม่รู้จักพยานทั้งหลายที่อัยการนำมาให้การปรักปรำตนด้วยเนื้อหาคอขาดบาดตาย เช่นเดียวกับจำเลยหัวคะแนนของณเณรอีกสองคนในคดีเดียวกันนี้ แต่ศาลหาได้รับฟังไม่ จึงพิพากษาให้ประหารชีวิต ร้อยโท ณเณร ตาละลักษณ์ จำเลยที่1 ส่วนนายละมัย แจ่มสมบูรณ์ จำเลยที่2 และนายมณี มติวัตร์ จำเลยที่3 ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต  ตัวผู้ที่รับว่าเป็นผู้ร่วมมือและลงมือวางยาพิษหลวงพิบูลเป็นพยานครับ พยานไม่ต้องรับโทษอะไรเลยนอกจากรับรางวัลจากนายอย่างเดียว


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ธ.ค. 09, 08:19
ผมอยากให้ผู้อ่านให้เวลาสักเล็กน้อยที่จะอ่านพยานเอกสารชิ้นหนึ่ง ผมขอนำเสนอเป็นตัวอย่าง จะไม่เอาเอกสารประเภทนี้มาลงให้เปลืองสมองอีกแล้วในตอนต่อๆไปเพราะร้อยเนื้อทำนองเดียว เพื่อให้ผู้อ่านเรื่องที่ผมเขียนนี้ได้เข้าใจขบวนการทำงานของศาลพิเศษ อันประกอบด้วย ตำรวจสันติบาลของหลวงอดุลเดชจรัส อัยการ และคณะผู้พิพากษาของพันเอกมังกร พรหมโยธี จะได้ตอบความสงสัยว่าผมมีอคติเกินเหตุหรือไม่

พยานเอกสารชิ้นนี้คือจดหมายของนายประดิษฐ์ วรสูตร์ที่ศาลนำมาอ่านในสำนวนพิพากษาทุกสิ้นกระบวนความดูประหนึ่งว่าเป็นหลักฐานอันสำคัญยิ่ง ปรากฏว่าเป็นจดหมายฉบับหนึ่งที่ตำรวจค้นได้ที่บ้านและยึดเป็นของกลาง ส่งทางไปรณีย์ส่งจากหัวคะแนนรายหนึ่งมาถึงณเณรเพื่อจะขอเงิน ไม่ทราบว่าณเณรจะรู้จักนายคนนี้ดีเกินไปหรือน้อยเกินไป จึงไม่ได้ให้ เมื่อตำรวจตามรอยจดหมายไปเอาตัวนายประดิษฐ์มาสอบสวนหรือใช้อะไรล่อก็ไม่ทราบได้ นายประดิษฐ์ก็เลยมาให้การปรักปรำณเณร

ศาล ผู้พร้อมจะเชื่อบุคคลประเภทนี้อยู่แล้วก็ลงความเห็นว่าเกี่ยวข้องในการที่จะร่วมมือกันล้มล้างรัฐบาลเปลี่ยนแปลงการปกครอง อะไรเป็นอย่างไรเชิญอ่านดูเอง รับรองยิ่งกว่านิยาย


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ธ.ค. 09, 08:20
2


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ธ.ค. 09, 08:21
3


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ธ.ค. 09, 08:28
4


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ธ.ค. 09, 08:30
5


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ธ.ค. 09, 11:25
ผมขอจบเรื่องของลูกผู้ชายชื่อ ณเณร ตาละลักษณ์ จากหนังสือเล่มนี้ครับ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ธ.ค. 09, 11:41
การประหาร เจ้าหน้าที่ราชทัณท์ได้จัดการยิงเป้าวันละ6คน วันนี้เป็นนายทหาร4คน นอกจากณเณรแล้ว อีก3คนเป็นนายทหารหนุ่มๆลูกศิษย์พระยาทรง นอกนั้นคนหนึ่งเป็นทหารนอกราชการชื่อนายดาบพวง พลนาวี ผู้นี้เป็นพี่ภรรยาพระยาทรงจึงถูกหาเรื่องให้ออกจากงาน สายลับรายงานว่าขึ้นไปพบกับพี่เขยที่เชียงใหม่ ความจริงคือเพื่อไปของานทำ พระยาทรงนั้นได้ชื่อว่าเป็นคนตรงอย่างไม่ยอมเลี้ยวไม่ยอมงอคนหนึ่ง เรื่องจะเอาญาติพี่น้องเพื่อนฝูงมาเกี่ยวกับงานราชการนั้นไม่ทำ นายดาบพวงนอกจากจะผิดหวังที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆแล้ว กลับมายังถูกยัดข้อหากบฏและถูกตัดสินประหารชีวิตไปด้วย แต่แทนที่จะแค้นผู้กระทำ กลับแค้นพระยาทรง ก่นด่าน้องเขยตลอดเวลาที่ทำให้เขาเคราะห์ร้ายตลอดมาจนถึงชีวิต


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ธ.ค. 09, 11:46
ณ เณรให้การในศาล ยอมรับว่าไม่ถูกกับพระยาเทพหัสดินเพราะเป็นคู่แข่งทางการเมืองในสนามเลือกตั้งเดียวกัน แต่ในวาระที่สุดของชีวิต เขาก้มลงกราบอดีตคู่แข่งของเขาที่หน้าห้องของท่านเพื่อลาไปตาย


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ธ.ค. 09, 11:55
ลี บุญตาผู้ปฏิเสธว่ามิได้มีผู้ใดจ้างวานให้ยิงหลวงพิบูลผู้เป็นนายใจดี ตนทำไปเพราะความเมาเท่านั้น ลีเป็นอีกคนหนึ่งที่จะโดนประหารในชุดนี้

ระหว่างอยู่ในคุกลี บุญตาเครียดมาก ไม่ยอมพูดกับใคร ถูกถามอะไรก็เดินหนี ไม่มีญาติโกโหติกามาเยี่ยมแม้แต่ครั้งเดียว อยู่ๆ ใกล้จะถึงวันที่ศาลพิพากษาโทษ ปรากฏว่าลี บุญตาได้รับเงินก้อนหนึ่ง ไม่มีใครทราบจำนวน เสื้อกางเกงสากลหนึ่งชุด เชิ๊ต2-3ตัว โสร่งไหมหนึ่งผืน จากผู้ไม่ปรากฏนาม ลี บุญตายินดีจนออกนอกหน้าและเผลอพลั้งปากมาว่า “ท่านจะมารับผมกลับบ้านแล้ว…”

อพิโธ่เอ๋ย ลีหารู้ไม่ว่า ท่านที่มารับกลับบ้านเก่าก็คือพญายมนั่นเอง ท่านที่ลีรอคอยคงไม่อยากเก็บลีเอาไว้เปิดโปงตนเองในวันข้างหน้า


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ธ.ค. 09, 12:05
ลีถูกแยกออกไปขังในคุกอื่น เช้าวันนั้นเขาถูกเบิกตัวมาบางขวาง เห็นแดนประหารเข้าก็เข่าอ่อนร่ำไห้ ลีเผอิญจะต้องเข้าคู่สู่หลักประหารพร้อมกับณเณรเสียด้วย ข้อความที่ณเณรกับลีพูดโต้ตอบกันจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนอย่ากรู้ รวมถึงบรรดาพัศดีที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานในวันนั้นด้วย เรื่องราวเบื้องหลังการประหารจึงเป็นที่ร่ำลือเล่าขานกันทั่วไป คล้ายๆกับในสำนวนของพายัพ โรจนวิภาตนี้


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ธ.ค. 09, 12:08
และนี่คือหน้าสุดท้ายแห่งชีวิตของร้อยโท ณเณร ตาละลักษณ์


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ธ.ค. 09, 10:22
ณ เณร ตาละลักษณ์ เวอร์ชั่นของคุณพายัพ โรจนวิภาต ช่างห้าวหาญยิ่งนัก ดูต่างจาก ณ เณร ในสายตาของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล อย่างสิ้นเชิง

จำเลยรู้สึกตัวว่าปราศจากความเห็นใจแล้วไม่มีทางรอดความผิด ดังนั้นเจ้าหนุ่ม ณ เณร จึงยกมือไหว้ศาลแทบทุกครั้งที่ถูกศาลซัก และเมื่ออัยการลุกขึ้นถามซักหรือถามติง เจ้าหนุ่ม ณ เณร ก็ยกมือไหว้อัยการเพื่อขอให้กรุณา โอกาสหนึ่ง ณ เณร กล่าวว่าตนเองเปรียบเหมือนคนไม่เป็นมวย แต่ต้องถูกบังคับให้มาชกกับแย็ก เดมเซย์ และคนทั้งหลายก็ฮากันขึ้น เห็นว่าเป็นตัวตลก เขารู้สึกสนุกจากความทุกข์ของ ณ เณร

พวกจำเลยที่โจทก์โจมตีรุนแรงเหล่านี้ มิใช่จะได้รับความเห็นใจจากพวกจำเลยด้วยกัน จะเห็นได้ว่าในโอกาสที่ ณ เณร ตั้งคำถามพลาดพลั้งซึ่งอาจเป็นภัยแก่ตนเอง พวกจำเลยก็ฮากันขึ้นพร้อมกับโจทก์ ความรู้สึกทั่ว ๆ ในพวกจำเลยมีว่า "ตัวใครตัวมัน" แม้ว่าน้ำใจจริงของเขา ๆ สงสาร ณ เณร แต่เขาจะต้องแสดงต่อศาลและต่ออัยการว่าเขาไม่มีความเกี่ยวข้องกับ ณ เณร กิริยาท่าทางของจำเลยอื่น ๆ ที่ไม่ได้ถูกพยานซัดทอดมาถึงตนจึงเป็นกิริยาประหนึ่งจะแขวนป้ายไว้ที่คอของตนให้ศาลและอัยการเห็นด้วยตัวอักษรขนาดโตว่า "โปรดอย่าเข้าใจว่าผมเป็นพวกเดียวกับ ณ เณร"

ตอนหนึ่งจาก ชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง

 ::)


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ธ.ค. 09, 08:20
คดีระหว่าง อัยการศาลพิเศษ โจทก์

และ

นายพันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์ (เชย รมยะนันท์)
นายร้อยเอก ขุนคลี่พลพฤนท์ (คลี่ สุนทรารชุน)
นายพันตำรวจตรี ขุนนามนฤนาท (นาม ประดิษฐานนท์)
นายพันตรี หลวงไววิทยาศร (เสงี่ยม ไววิทย์)
นายพันตรี หลวงอภิบาลภูวนารถ (สังข์ นาคะวัจนะ)
จำเลย

คดีนี้ ที่น่าสนใจคือ พันเอกหลวงชำนาญยุทธศิลป์ อดีตผู้ก่อการในปฏิวัติ2475รายหนึ่ง ท่านผู้นี้ถูกกระทรวงกลาโหมประกาศปลดออกจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญขณะอยู่ในระหว่างการเดินทางไปราชการอยู่ในอังกฤษ เจ้าตัวรู้ข่าวถึงกับงงงันว่าหลวงพิบูลคงจะเข้าใจอะไรตนผิดสักอย่าง เมื่อรีบกลับหวังว่าจะปรับความเข้าใจกันได้ก็ไม่มีโอกาส สันติบาลไปรอรับเข้ากรงขังตั้งแต่ก้าวแรกที่เหยียบเข้าเมืองไทย

หลวงชำนาญเป็นผู้ที่มีความศรัทธาในตัวพระยาทรงสุรเดช จึงได้เข้าร่วมก่อการเปลี่ยนระบอบการปกครองด้วยในครั้งนั้น หลังจากนั้นแล้วพระยาทรงเริ่มมีความขัดแย้งกับผู้ก่อการด้วยกัน เริ่มจากการที่ไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ และการที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการปราบกบฏบวรเดชเลย เท่ากับเปิดโอกาสให้หลวงพิบูลผู้ด้อยอาวุโสกว่าได้รับบทดาวรุ่งพุ่งแรงในวงการทหาร พระยาทรงกับหลวงพิบูลงัดข้อกันหนักๆครั้งแรกก็เป็นเรื่องการปรับปรุงกองทัพที่พระยาทรงเห็นว่า ประเทศเล็กๆอย่างเมืองไทย นายทหารประจำการยศสูงสุดแค่พันเอกเหมือนสวิตเซอร์แลนด์นั้นก็เหมาะสมดีแล้วแต่หลวงพิบูลไม่เห็นด้วยอยากให้เพิ่มยศนายพล เมื่อสู้ในที่ประชุมไม่ได้ก็วอร์คเอ้าท์ออกมา และเกือบจะโดนย้ายออกจากตำแหน่งคุมกำลัง แต่พระยาพหลกันไว้

พระยาทรงจำต้องร่วมมือกับพระยาพหลในการปฏิวัติพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกออกไป ให้พระยาพหลเข้าดำรงตำแหน่งแทน แต่พระยาทรงก็ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้เพราะเห็นว่าพระยาพหลยอมต่ออำนาจของหลวงพิบูล รัฐมนตรีกลาโหมเกินไป พระยาทรงเองก็ขอผันตัวเองออกไปตั้งโรงเรียนรบสำหรับระดับนายทหารขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่
ก่อนไปก็คิดว่าได้ปรับความเข้าใจกับหลวงพิบูลเรียบร้อย

เรื่องเป็นเรื่องขึ้นก็เพราะหลวงพิบูลถูกยิงที่สนามหลวงโดยนายพุ่ม คราวนั้นเจ็บจริงขนาดลูกสาว(จีรวัสส์ (พิบูลสงคราม) ปันยารชุน)เล่าว่าขณะเผาศพพ่อ มองเข้าไปในเตาได้เห็นหัวกระโหลกมีรอยกระสุนถากเป็นทาง ครั้งนั้นศาลอาญาตัดสินลงโทษจำเลยเพียงจำคุก14ปีฐานพยายามฆ่า แต่ทิ้งปัญหาว่า จริงๆแล้วมีผู้จ้างวานไหม ซึ่งทั้งหลวงพิบูลและหลวงอดุลเพื่อนรักคู่ใจเชื่อว่าพระยาทรงและ/หรือ พรรคพวกลูกน้องเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง


หลวงพิบูลจำต้องรอคอยเพียงไม่นาน จังหวะก็เปิดให้ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี  ภารกิจแรกก็บรรดา4ทหารเสือในคณะผู้ก่อการ นอกจากพระยาพหลที่จัดให้ไปนอนพักผ่อนอยู่กับบ้านแล้ว ที่เหลือถูกจัดการแบบถอนรากถอนโคนหมด พระยาทรงถูกเนรเทศไปอินโดจีน พระยาฤทธิ์อาคเนย์ไปมลายู (ลูกชายคนหนึ่งของท่านคือร้อยเอกชลอ เอมะศิริโดนจับยัดข้อหาในคดีนี้ แล้วศาลพิเศษตัดสินจำคุกตลอดชีวิต) พระประศาสน์พิทยายุทธ ที่ผมกล่าวถึงตอนต้นว่า พระยาพหลขอไว้ให้ไปเป็นทูตในเยอรมันนั้น ความจริงคือหลวงประดิษฐ์มนูธรรมในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศที่ไปขอชีวิตพระประศาสน์พิทยายุทธจากหลวงพิบูลโดยตรง ชีวิตพระประศาสน์พิทยายุทธลำบากแสนสาหัสในเบอร์ลินช่วงที่สัมพันธมิตรถล่มด้วยระเบิดและปืนใหญ่ ลูกสาวเสียชีวิต ครอบครัวต้องพลัดพราก ตนถูกจับเข้าคุกเชลยในไซบีเรีย กว่าจะเอาตัวรอดกลับมาเมืองไทยได้อย่างหวุดหวิดความตายเต็มที

ระดับต่อมาที่ต้องกำจัดให้สิ้นเสี้ยนหนามคือลูกน้องและศิษย์นายทหารของพระยาทรง ที่เด่นๆก็คือพันเอกหลวงชำนาญยุทธศิลป์และพันเอกพระสิทธิเรืองเดชพล นอกนั้นส่วนใหญ่เป็นชั้นผู้น้อย พวกนี้ถูกคำสั่งปลดออกจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญแล้วจับตัวเข้าคุกทันที อัยการฟ้องว่าเป็นผู้จ้างวานนายพุ่มมายิงหลวงพิบูลที่สนามหลวง ที่ตลกเป็นพิเศษคือนายพันตำรวจตรี ขุนนามนฤนาท ท่านผู้นี้โชคไม่ดีไปดูฟุตบอลคู่พิเศษดังกล่าวและออกมาจากสนามก่อนเลิกเล็กน้อย พอฟุตบอลเลิกหลวงพิบูลนั่งรถกลับและถูกยิง ขุนนามเผอิญอยู่ตรงนั้นพอดีเลยจับนายพุ่มได้และเป็นผู้เปิดประตูรถให้คนนำหลวงพิบูลออกไปขึ้นรถโรงพยาบาล กลับเป็นว่าขุนนามกลายเป็นจำเลยข้อหาร่วมกันจ้างวานนายพุ่มไปด้วย เพราะสายลับที่เฝ้าอยู่ทางเชียงใหม่เคยรายงานว่าครั้งหนึ่งหลวงชำนาญกับขุนนามเคยไปหาพระยาทรง อันนี้ขุนนามรับว่าจริงแต่เรื่องที่พยานโจทก์เรียงหน้ามากล่าวหานั้นไม่จริง แต่ศาลวินิจฉัยว่าขุนนามมาคุ้มกันความปลอดภัยไม่ให้นายพุ่มถูกฆ่าตายหลังจากยิงหลวงพิบูลแล้ว คนอื่นๆที่อยู่ในบัญชีของสายลับว่าไปมาหาสู่พระยาทรง โดนศาลลงโทษถึงตายหมด ยกเวันหลวงชำนาญยุทธศิลป์ผู้เป็น1ใน3ที่ศาลลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต เพราะทำคุณความดีแก่ชาติมาก่อน

ขออภัยที่ไม่ได้เอาสำนวนพิพากษามาลงไว้อีก เพราะผมเห็นว่าซ้ำซาก เท่าที่เอาลงไปแล้วท่านผู้อ่านก็วิเคราะห์เจตนารมณ์ของขบวนการนี้ได้แล้ว



กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ธ.ค. 09, 10:41
คดีระหว่าง อัยการศาลพิเศษ โจทก์
และ
พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ (ม.ร.ว.ประยูร อิศรศักดิ์)
พระยาสุเทพภักดี (ดี สุเดชะ)
พระวุฒิภาคภักดี (หอมจันทร์ สรวงสมบูรณ์)
นายพันเอก พระสิทธิเรืองเดชพล (แสง พันธุ์ประภาส)
จ่านายสิบตำรวจ แม้น เลิศนาวี
นายร้อยเอก หลวงประจัญสิทธิการ (บัว สุเดชะ)
นายโชติ คุ้มพันธ์
หม่อมราชวงศ์ นิมิตรมงคล นวรัตน
จำเลย

พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลชุดที่พระยาพหลเป็นนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2476  ตอนที่นายถวัติ ฤทธิเดช ผู้นำกรรมกรรถรางฟ้องสมเด็จพระปกเกล้าฯว่าทรงหมิ่นประมาทตนในพระราชหัตถเลขาวิจารณ์เค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ท้าวความตอนหนึ่งว่า การที่กรรมกรรถรางนัดหยุดงานมิใช่ความเดือดร้อนจริง แต่เพราะถูกยุยงโดยคนที่หวังจะขึ้นมาเป็นผู้นำ พระยาอุดมแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในที่ประชุมครม. ขณะที่รัฐมนตรีสายคณะราษฎร์รู้สึกเฉยๆ ในคราวนี้จึงถูกจับเพราะถูกหมายตัวว่าเป็นพวกเจ้า

ส่วนพระวุฒิภาคภักดีข้าหลวงนครปฐม เมืองซึ่งควบคุมถนนไปหัวหินซึ่งสมเด็จพระปกเกล้าฯประทับอยู่ระหว่างเกิดการปฏิวัติ พระวุฒิภาคได้สั่งปิดเส้นทางเพื่อถวายความปลอดภัย จึงเป็นที่เขม่นของคณะราษฎร์มากถึงกับหาเรื่องให้ย้ายไปตราดและถูกออกจากราชการในเวลาต่อมา พระวุฒิภาคก็ลงสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรก่อนโดนจับข้อหากบฏครั้งนี้ อัยการเบิกพยานมาสองสามคน หนึ่งในนั้นเป็นนักเลงที่พระวุฒิภาคเคยจับข้อหาเจ้ามือการพนันมาให้การว่า ระหว่างหาเสียงพระวุฒิภาคได้พูดกับหัวคะแนนถ้าหากได้รับเลือกจะดำเนินการคืนพระราชอำนาจให้พระเจ้าแผ่นดิน และราษฎรจะได้รับการยกเว้นภาษีเพราะพวกเจ้ารวยอยู่แล้ว ไม่เหมือนพวกที่มายึดอำนาจ

ทั้งสองและรวมถึงหม่อมราชวงศ์ นิมิตรมงคล นวรัตนถูกจัดว่าเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนเจ้า แต่จะเอากลุ่มนี้เข้าคุกก็จะต้องยัดข้อหากบฏให้ร้อยพวงเข้ากับกลุ่มทหารของพระยาทรงสุรเดชเสียก่อนโดยเอาจ่านายสิบตำรวจ แม้น เลิศนาวีเป็นตัวเชื่อม  บุคคลผู้นี้เป็นพี่ภรรยาของพระยาทรง เคยเป็นเด็กในวังสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมขุนนครราชสีมาอยู่พักหนึ่งแล้วออกมารับราชการมีชีวิตลุ่มๆดอนๆ รู้จักกับนายร้อยเอก หลวงประจัญสิทธิการน้องชายพระยาสุเทพภักดี หลวงประจัญขอให้พี่ชายเขียนจดหมายแนะนำจ่านายสิบตำรวจแม้น กับพระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ผู้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น ซึ่งก็ไม่ได้เป็นมรรคเป็นผลอะไร แต่บังเอิญตอนที่สันติบาลไปค้นบ้านพระยาอุดมเจอเอาจดหมายฝากงานฉบับนี้ ก็เลยปิ๊งไอเดียที่จะลากเรื่องมาโยงกันว่า ทั้งสองกลุ่มนี้ติดต่อวางแผนที่จะกระทำการกบฏร่วมกันโดยมีจ่านายสิบตำรวจแม้นเป็นผู้เชื่อมโยงกับฝ่ายของพระยาทรงในกรุงเทพ ที่มีผู้บงการใหญ่คือนายพันเอกพระสิทธิเรืองเดชพล อดีตนายทหารคนสนิท ส่วนนายโชติ คุ้มพันธ์ดอกเตอร์ทางเศรษฐศาสตร์จากเยอรมันผู้คุ้นเคยกับพระยาทรงดีในฐานะนักเรียนเยอรมันด้วยกัน ก่อนหน้าถูกรัฐบาลเขม่นหนักขนาดเนรเทศให้ไปรับราชการที่แม่ฮ่องสอนมีกำหนด10ปี (สมัยนั้นเขาใช้ถ้อยคำกันอย่างนี้จริงๆ)เลยลาออกแล้วลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นส.ส.อยู่ฝ่ายค้าน ก็ถูกลากจากแม่ฮ่องสอนมาเข้าคุกในคดีเดียวกันนี้ด้วย เพราะมีพยานซัดทอดว่าได้มาร่วมประชุมเพื่อจะก่อการกบฏกับเขา


ผลของการพิพากษาเป็นดังนี้

ประหารชีวิต
นายพันเอก พระสิทธิเรืองเดชพล ผู้ที่หม่อมราชวงศ์ นิมิตรมงคล นวรัตนเขีบนไว้ในหนังสือ“ชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง”ว่า เป็นพระเอกในคดีกบฏ
และ
จ่านายสิบตำรวจ แม้น เลิศนาวี ชายที่น่าสงสารที่พร่ำด่าพระยาทรงน้องเขยตลอดเวลาจนลมหายใจสุดท้ายว่า ตอนมีอำนาจก็ไม่เคยเกื้อกูลญาติพี่น้องเลย แต่พอหมดอำนาจตนกลับต้องมาตายไปด้วยทั้งๆที่ไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วยเลย

จำคุกตลอดชีวิต
พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์
พระวุฒิภาคภักดี
นายร้อยเอก หลวงประจัญสิทธิการ
นายโชติ คุ้มพันธ์
หม่อมราชวงศ์ นิมิตรมงคล นวรัตน

พระยาสุเทพภักดี หลุดไปคนเดียว แม้จะยอมรับว่าจดหมายแนะนำจ่านายสิบตำรวจแม้นกับพระยาอุดมพงศ์เป็นของตน สันติบาลไม่ได้หาพยานมาปรักปรำอย่างอื่นเพราะคำให้การดังกล่าวก็เพียงพอแก่การจัดฉากแล้ว



กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: Kris ที่ 17 ธ.ค. 09, 10:44
ตามคุณเทาชมพูชี้ทางมาที่นี่ ต้องขออนุญาตรำพึงถึงพระองค์ท่านซักนิด

เจ้าชายรูปงามและนายทหารหนุ่มแห่งราชนาวีสยาม

หลังจากได้รับการสถาปนาเลื่อนกรมเพียงไม่กี่วันต่อมา
ดวงพระชะตาของพระองค์กลับผกผันให้ขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ
แต่พิษเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นดั่งมรสุมลูกใหญ่ที่พัดกระหน่ำพระนคร
กลุ่มผู้ก่อการหัวใหม่จำนวนเท่าหยิบมือถือโอกาสเข้ากุมบังเหียนบ้านเมือง
ด้วยนโยบายกินใจ “โดยประชาชนและเพื่อประชาชน” เป็นเกราะกำบัง

จากเดิมที่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองได้ออกแบบอย่างสมดุลย์  
กลับปีนเกลียวซึ่งกันและกัน ปมเงื่อนต่างๆ ถูกขมวดรอบแล้วรอบเล่า
จนสิ้นแรงต้านทานลงในที่สุด

หมดแล้วซึ่งความรู้สึกอิหลักอิเหลื่อ กับการถูกเชิด
เจ้าชีวิตจำต้องสละแล้วสิทธิในแผ่นดินที่บรรพบุรุษได้ก่อร่างสร้างกันมา
ไม่ยอมแม้แต่ให้มาตุภูมินี้เป็นเชิงตะกอน


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: Kris ที่ 17 ธ.ค. 09, 10:45
โอ้ โพสต์ชนกันกับคุณ NAVARAT C.

ขอเรียนสวัสดีเสียตรงนี้เลย และขออภัยที่โพสต์นอกประเด็นไปซักนิด
แค่รู้สึกสลดเล็กๆ เมื่ออ่านเนื้อหากระทู้ได้ซักพัก
ขออนุญาตปลดความรู้สึกเสียเล็กน้อย

หวังว่าคงไม่นอกประเด็นจนเกินไป



กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ธ.ค. 09, 15:38
ขอบคุณคุณKrisครับ
ผมขออนุญาตเดินเรื่องต่อ

การผูกเรื่องร้อยโยงเหยื่อเข้าด้วยกัน ก็ต้องมีพยานเอกสาร วันที่สันติบาลไปค้นบ้านพระยาอุดมนั้น ได้อะไรต่อมิอะไรไปชุดใหญ่โดยให้พระยาอุดมรับรองว่าเป็นเอกสารที่ค้นมาได้จากบ้านของตน นอกจากจดหมายฝากงานจ่าแม้นแล้ว มีอีกฉบับหนึ่งที่คอขาดบาดตายมาก เป็นจดหมายของพระสิทธิเรืองเดชพลเขียนถึงพระยาอุดมที่พระยาอุดมปฏิเสธว่าไม่เคยเห็นมาก่อนและไม่ทราบจริงๆว่าจดหมายนี้มาอยู่ในตู้เอกสารของตนได้อย่างไร ส่วนพระสิทธิ์นั้น ได้เห็นในศาลก็งงเป็นไก่ตาแตกว่า จดหมายฉบับนั้นเหมือนลายมือของตนมาก แต่ตนไม่ได้เขียนจดหมายฉบับนั้นไปถึงพระยาอุดม

ผมขอคัดที่ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตนเขียนไว้ในหนังสือชีวิตแห่งการกบฏสองครั้งกล่าวถึงเรื่องนี้มาลงทั้งหมดใจความ หากผมเขียนเองก็จะไม่ชัดเจนและกินใจเท่า


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ธ.ค. 09, 15:39
2


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ธ.ค. 09, 15:50
คดีนี้ สันติบาลสามารถหาญาติของนายพุ่ม ทับสายทองมือปืนที่ยิงกระโหลกหลวงพิบูลจนเป็นรอยได้หลายคน และนำมาให้การกล่าวหาคนโน้นคนนี้ตามบทที่สันติบาลเสกสร้างให้ น่าประหลาดที่ไม่ยักนำนายพุ่มออกจากคุกมาชี้ตัวจำเลยลงไปให้ชัดๆว่าใครจ้างตน

อนึ่ง ผมหาหลักฐานไม่ได้ และไม่เคยอ่านเจอว่านายพุ่มได้พ้นโทษออกจากคุกโดยอาการครบ32ดีหรือไม่ เมื่อไหร่ ออกมาแล้วไปทำอะไร คือแกหายจ้อยจากหน้าประวัติศาสตร์ไปในทันทีที่ศาลพิพากษาให้ติดคุก


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ธ.ค. 09, 15:51
ต่อ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ธ.ค. 09, 15:52
ต่อครับ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ธ.ค. 09, 15:55
พระสิทธิ์เป็นพระเอกในระหว่างการให้การในศาล แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องเศร้าที่พระเอกแพ้เหล่าร้าย ต้องตายตอนจบ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ธ.ค. 09, 16:04
ผมคงยุติเรื่องของศาลพิเศษเพียงเท่านี้ และขอเว้นวรรคสักนิดก่อนจะนำท่านติดตามม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตนไปสู่เกาะเต่า แดนประหารแบบธรรมชาติที่รัฐบาลจัดให้นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามและบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจว่าจะเป็นศัตรูของตนหรือไม่ ไปอยู่ที่นั่นจนกว่าตายไปเอง


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ธ.ค. 09, 07:32
เพื่อความสมบูรณ์ทางประวัติศาสตร์ ผมขออนุญาตอีกสักนิดเพื่อนำความเห็นของผู้มีมุมมองอีกด้านหนึ่งมาลงไว้ในรูปแบบสำเนาถ่ายจากต้นฉบับ เพื่อป้องกันข้อสงสัยว่าผมจะแปลงสารของเขาหรือไม่  เป็นบางตอนจากเรื่อง “จอมพลป. พิบูลสงคราม” โดย อ. พิบูลสงคราม โรงพิมพ์มนตรี 2518

การแบ่งฝ่าย โดยการเรียกขานว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายขุนนางในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชกับฝ่ายผู้ก่อการ ช่างคล้ายๆกับทุกวันนี้ที่เราได้ยินได้ฟังเขาจัดคู่ว่าเป็นฝ่ายอำมาตย์กับฝ่ายประชาธิปไตย รู้สึกหม่างๆชอบกล ในอดีตเป็นความขัดแย้งแบ่งฝ่ายระหว่างผู้ก่อการกันเอง และไปโยงเป็นฝ่ายเจ้ากับฝ่ายไม่ใช่เจ้าก็ทีนึงแล้ว


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ธ.ค. 09, 07:34
1


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ธ.ค. 09, 07:39
การแอบอ้างพระราชกระแสร์ทั้งที่ตนเองกระทำลงไปในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินภายใต้อำนาจของผู้ก่อการ ด้วยการตอบฎีกาขอชีวิตของนักโทษประหารในวันรุ่งขึ้นเท่านั้น ก็เป็นความหมองมัวในหัวใจของราษฎรไทยอีกเรื่องหนึ่ง อะไรที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนแล้ว คนพวกนี้จะไม่ลังเลที่จะดึงพระองค์ลงมาเกี่ยวข้องด้วย


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ธ.ค. 09, 07:40
ต่อ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ธ.ค. 09, 07:42
ตกลงแล้ว หลวงอดุล ผู้บงการแห่งสันติบาล หรือหลวงพิบูล นายกรัฐมนตรี ใครมีส่วนต้องรับผิดชอบผลงานของศาลพิเศษมากกว่ากัน?


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ธ.ค. 09, 07:48
ตกลงแล้ว "ยุคทมิฬ" ในมุมมองฝ่ายนี้ก็คือ ยุคที่หลวงพิบูลถูกยิงแบบเผาขน2ครั้ง แต่รอดมาอย่างปาฏิหารย์ และโดนยาพิษต้องไปล้างท้อง1ครั้งนั่นเอง เอวัง


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ธ.ค. 09, 10:00
ม.ร.ว.นิมิตรมงคลถูกส่งไปจองจำอยู่ที่บางขวางพร้อมกับนักโทษทั้งหลายในคดีนี้ซึ่ง18 คนได้ถูกประหารไป ที่เหลืออยู่ก็ไม่ทราบชะตากรรมว่าจะต้องทนทุกข์อีกสักกี่ปีกี่เดือนกับโทษจำคุกตลอดชีวิตนั้น หลายคนที่สุขภาพไม่ดีอยู่แล้วก็สิ้นอายุขัยลงในคุก แต่ยังมีสิ่งที่ดีบังเกิดแด่ม.ร.ว.นิมิตรมงคลอยู่บ้างก็ด้วยว่าเสด็จในกรมท่านทรงประทานพระเมตตาเสมือนพระองค์ทรงเป็นบิดาและม.ร.ว.นิมิตรมงคลก็ถือว่าตนเสมือนเป็นบุตร อย่างไรก็ดี นั่นก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆสักปีเดียว เมื่อพัศดีเข้าตรวจค้นห้องขังของนักโทษวันหนึ่ง ได้ยึดเอาต้นฉบับตำราสอนภาษาอังกฤษที่ม.ร.ว.นิมิตรมงคลแต่งขึ้น และแอบเขียนนวนิยายการเมืองเรื่องหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษให้ชื่อว่า “ The Dream of An Idealist” ปะปนลงไปด้วย เมื่อรายงานขึ้นไปแล้ว ผู้มีอำนาจเห็นว่ายังไม่เข็ดหลาบ จึงให้ลงโทษหนักด้วยการเนรเทศไปจองจำที่เกาะเต่า พร้อมนักโทษอีกคนหนึ่งคือ ดร. โชติ คุ้มพันธ์ ดุษฎีบัณฑิตจากเยอรมันที่อยู่เฉยๆโดยไม่ขีดไม่เขียนไม่ได้เช่นกัน

ภาพข้างล่างเป็นตัวอย่างต้นฉบับตำราสอนภาษาอังกฤษที่ม.ร.ว.นิมิตรมงคลเขียนลายมือด้วยดินสอลงในสมุดแบบฝึกหัดที่นักเรียนใช้กัน ในคุกนั้นม.ร.ว.นิมิตรมงคลได้ใช้ทดลองสอนผู้ที่ต้องขังร่วมกัน แต่เล่มนี้คงเขียนขึ้นมาใหม่ในชั้นหลัง โปรดสังเกตุภาษาอังกฤษของผู้ที่จบโรงเรียนนายร้อยไม่เคยไปเรียนต่อเมืองนอกเลย


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ธ.ค. 09, 10:04
วันที่ผู้คุมมาเอาตัวออกไปนั้น เมื่อม.ร.ว.นิมิตรมงคลคุกเข่าลงถวายบังคมกรมขุนชัยนาทฯหน้าห้องที่ประทับอยู่ รับสั่งถามว่าเขาจะเอานิมิตรไปไหน ทูลตอบว่า ไม่ทราบด้วยเกล้าฯ เขาไม่บอก ทรงเบือนพระพักตร์ไปอีกทางหนึ่ง คราวที่นักโทษการเมืองถูกนำไปประหารวันละสี่คนโดยไม่ให้รู้ตัวก่อนคงยังติดตรึงความรู้สึกอยู่ ทำให้มิอาจรับสั่งประการใดออกมาได้ เกรงว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะทรงได้เห็นม.ร.ว.นิมิตรมงคลในครั้งนั้น

ทัณฑสถานเกาะเต่า คือคุกที่รัฐบาลจัดสร้างขึ้นอย่างรีบเร่งเพื่อรองรับนักโทษการเมืองชุดกบฏบวรเดชที่เนรเทศไปไว้ที่เกาะตะรุเตา แต่โน่นอยู่ใกล้เส้นแบ่งเขตแดนของมลายูจนเกินไปจนทำให้นักโทษการเมืองรุ่นอาวุโส4คนซื้อเรือประมงเล็กๆจากชาวบ้านหนีไปเกาะลังกาวีได้สำเร็จ เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นได้อีกรัฐบาลจึงได้ย้ายนักโทษการเมืองทั้งหมดห้าสิบกว่าคนมาไว้ที่เกาะเต่าในอ่าวไทยแทน

คุกที่ตะรุเตามีลักษณะเป็นทัณฑนิคม นักโทษถูกจัดให้อยู่เป็นกระต็อบเล็กๆแบบของใครของมันเป็นอาณาบริเวณโดยให่อิสระที่จะไปไหนมาไหนเพื่อจับปูจับปลากินเองได้พอสมควร หรือบางท่านเช่นหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ทรงทดลองปลูกพืชหลายชนิดและเลี้ยงไก่ตามแนวเกษตรผสมผสาน ได้ผลดีโดยเฉพาะแตงโมที่ทรงปลูกขนาดสามารถส่งมาขายที่สตูลได้ เป็นต้นพันธุ์ของแตงโมบางเบิดรูปทรงยาว เนื้อแดงหวานกรอบที่โด่งดังในกาลต่อมา

แต่คุกที่เกาะเต่าเป็นคุกจริงๆมีรั้วรอบขอบชิดและหอปืนกล โรงขังปลูกเป็นเรือนยาวพื้นซีเมนต์คล้ายคอกหมูให้นอนรวมกันในที่แคบๆ น้ำจืดอัตคัดมากเพราะหอถังน้ำได้ถูกพายุพัดพังลงก่อนที่นักโทษการเมืองจะมาถึง ต้องขุดบ่อขึ้นแทนแต่ต้องใช้กะลาตักน้ำเอา แย่ที่สุดคือยุงที่ชุกชุมมากและเป็นพาหะของมาเลเรียซึ่งเป็นโรคร้ายในสมัยนั้น นักโทษจึงมีอาการของโรคไข้จับสั่นกันทุกคน แรกเริ่มเดิมทีนักโทษยังได้รับอนุญาติให้ออกไปหาพืชผักจับปลามาทำกินกันได้เช่นเดียวกับครั้งที่อยู่ตะรุเตา แต่เมื่อร้อยตรีพยอม เปรมเดชา พัศดีคนใหม่ถูกส่งมาแทนพัศดีเพี้ยน อนุโรจน์ ผู้อำนวยการที่พันตำรวจเอกพระกล้ากลางสมร (มงคล หงสไกร) อธิบดีกรมราชทัณฑ์ขณะนั้นเห็นว่าใจดีกับนักโทษเกินไป ประตูคุกก็ถูกปิดตาย จะเปิดออกเพื่อนำนักโทษไปทำงานโยธาเพื่อหาเรื่องให้นักโทษที่อ่อนแรงอยู่แล้วตายเร็วขึ้นเท่านั้น อาหารที่จัดให้กับนักโทษมีเพียงสองอย่าง ถ้าไม่ใช่ข้าวแดงแกงกาบกล้วยก็แกงยอดมันสลับกันทุกมื้อ

เกาะเต่าทุกวันนี้เป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวที่มาเรียนดำน้ำดูปะการัง ไร้กลิ่นอายของนรกในครั้งนั้นโดยสิ้นเชิง


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ธ.ค. 09, 10:07
ภาพที่ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน และดร.โชติ คุ้มพันธ์ ประสพเมื่อแรกไปถึงเกาะเต่านั้น เป็นภาพของเมืองนรกบนโลกมนุษย์อย่างแท้จริง นักโทษการเมืองคดีกบฏ พ.ศ.2476แทบทุกคนผอมจนมีแต่หนังหุ้มกระดูก หน้าซีดเซียว แววตาแห้งแล้งอิดโรย บางคนนั่งกอดเข่าห่มผ้าตัวสั่นสะท้าน บางคนก็ดิ้นทุรนทุราย ผ้าผ่อนหลุดรุ่ย ปากก็พร่ำเพ้อตะโกนโวยวายด้วยพิษไข้ขึ้นสมอง บางคนก็อาเจียนเปื้อนเปรอะบริเวณที่นอนอยู่ บางคนก็นั่งซึมดวงตาเหม่อลอย บางคนก็นอนขดห่มผ้าตัวสั่นราวกับลูกนก ผู้มาใหม่ทั้งสองสำนึกทันทีว่า ตนถูกส่งเข้ามาร่วมตายกับนักโทษการเมืองเหล่านี้แล้วณบัดนั้น

การที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ผู้รับนโยบายจากหลวงอดุลเดชจรัสรัฐมนตรีมหาดไทยได้มีคำสั่งให้นักโทษการเมืองที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปีทั้งหมด ทำงานโยธาเช่นเดียวกับนักโทษสามัญ แม้จะผิดกฎของเรือนจำที่ว่า นักโทษการเมืองถือว่าเป็นนักโทษที่มีเกียรติ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำงานเยี่ยงกรรมกร ควรให้ทำงานช่วยเจ้าหน้าที่ มิฉนั้นก็งานเกี่ยวกับหนังสือหรือการบัญชี แต่คำสั่งดังกล่าวอ้างว่าการทำงานโยธาจะทำให้นักโทษการเมืองได้มีโอกาสออกกำลังกาย เป็นการต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บ ดังนั้นนักโทษการเมืองจึงถูกบังคับให้ออกไปทำงานหมู่ละ 5 คนบ้าง 6 คนบ้าง เพื่อถางป่า โค่นต้นไม้ ดายหญ้า ปราบที่สำหรับทำถนน ทำไร่ถั่วไร่มัน การกลั่นแกล้งให้ทำงานหนัก กรำแดดกรำฝนในขณะที่เป็นไข้จับสั่น ตลอดจนการกีดกันมิให้ญาติได้มีโอกาสส่งเครื่องอุปโภคบริโภค และยารักษาโรคไปให้นั้น เป็นเสมือนการประหารชีวิตนักโทษการเมืองเหล่านั้นวิธีหนึ่งนั่นเอง

รัฐบาลหลวงพิบูลยังเห็นว่าพวกนักโทษการเมืองคือเสี้ยนหนามของตนอยู่ดีหากออกจากคุกมาได้ ควรตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการกลั่นแกล้งบีบคั้นทั้งทางร่างกายและจิตใจให้นักโทษการเมืองทั้งหลายต้องมีอันเป็นไป ตายเสียที่เกาะเต่าไปเลย

ในภาพเป็นทางเดินลาดจากชายหาดขึ้นมาสู่ประตูคุก ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างอย่างเดียวที่เหลือทรากให้เห็นณจุดนี้


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ธ.ค. 09, 10:18
ในช่วงระยะเวลาเพียงหกสัปดาห์หลังจากถูกบังคับให้ทำงานหนัก ชีวิตนักโทษการเมืองต้องสูญสิ้นไปบนเกาะเต่าถึงหกคน คนแรกคือ ร้อยเอกหลวงจักรโยธิน (ม.ล.บุษ อิศรางกูร) ขณะที่พิษไข้จับสั่นขึ้นสมองดิ้นทุรนทุรายพร่ำเพ้อเรียกหาแต่ลูกเมีย อาการหนักในขั้นอันตราย พระยาจินดาจักรรัตน์ ได้บริจาคยาฉีดแอตตาบรินให้หนึ่งหลอด อาการก็ไม่ทุเลาลง หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ได้ประทานยาแคมเฟอร์ให้อีกหนึ่งหลอดก็ไร้ผล หลวงจักรได้สิ้นชีวิตลงในเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา

พระแสงสิทธิการติดตามหลวงจักรไปเป็นคนที่สองด้วยไข้จับสั่นอีกเช่นกัน ต่อมา อ่ำ บุญไทย นักหนังสือพิมพ์เจ้าของนามปากกา “แม่น้ำโขง”ก็ได้จบ
ชีวิตลงเป็นคนที่สามด้วยโรคท้องมาน โรคนี้ได้สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่อ่ำอย่างยิ่ง เคยมีนายแพทย์เดินทางไปเกาะเต่ากับเรือเชวงศักดิ์สงครามเพื่อเจาะท้องให้อ่ำครั้งหนึ่งจนท้องยุบเป็นปกติ แต่เพียงไม่กี่วันท้องของอ่ำก็โตขึ้นอีก เมื่อไม่มีนายแพทย์จะเจาะท้องให้แล้ว อ่ำจึงใช้ตะปูซึ่งฝนกับหินจนแหลมเจาะท้องของตนเองอีกสองสามครั้ง จนติดเชื้อบาดทะยักและนำไปสู่ความสิ้นความทรมานทั้งปวง

คนที่สี่ที่สิ้นชีวิตด้วยไข้จับสั่นในเวลาไล่เลี่ยกันก็คือ สิบโทศาสตร์ คชกุล ตลอดเวลาที่ผ่านมาศาสตร์ไม่เคยมีญาติพี่น้องหรือผู้หนึ่งผู้ใดส่งเสียเขาเลย ภรรยาได้ทอดทิ้งไปในทันทีที่เขาต้องโทษจำคุก “ไทยน้อย” ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่องค่ายคุมขังนักโทษการเมืองว่า   “ความเป็นอยู่ของเราในค่าย ได้มีพื้นฐานอยู่ในคติที่ว่า ตัวใครตัวมัน เพราะทุกคนเท่ากับลอยคออยู่ในห้วงมหาสมุทร อีเมตินเม็ดหนึ่งหรือควินินเม็ดหนึ่ง หมายถึงชีวิต ในที่นี้เราน่าจะอนุโมทนาแก่น้ำใจอันงดงามของ หลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เสถบุตร) ซึ่งช่วยทั้งยา เงินและอาหารแก่ศาสตร์ เพื่อจะประคับประคองชีวิตของเขา ไว้จนสุดความสามารถ ตลอดจนเสื้อผ้าก็พยายามว่าจ้างคนซักฟอกให้ตามสมควร แต่ในที่สุด ศาสตร์ก็ต้อง จากเราไปอย่างไม่มีวันกลับ”

หลังจากนั้น หลวงโจมพลล้าน อดีตผู้บังคับการตำรวจจังหวัดเพชรบุรีผู้มีน้ำใจโอบอ้อมอารีก็มีอาการเพียบหนักด้วยพิษไข้จับสั่นขึ้นสมอง พร่ำรำพันเรียกหาลูกเมียตลอดเวลาจนสิ้นใจไปในตอนพลบค่ำวันหนึ่ง เป็นคนที่ห้า

ไม่กี่วันต่อมาเผื่อน ปุณฑนิก ก็ตายลงอย่างกะทันหันเป็นคนที่หก

ศพของนักโทษการเมืองทั้งหกถูกฝังอย่างง่ายๆบนชายป่าริมทะเลไม่ห่างไปจากคุกสักเท่าไร แม้ต่อมาภายหลังญาติพี่น้องจะมาขุดกลับไปบำเพ็ญกุศลหมดแล้ว ชาวเกาะเต่ารุ่นชรายังจำได้ดีว่าอยู่ที่ไหน แต่ทว่าบัดนี้กระแสดอลล่าร์จากนักท่องเที่ยวมันไม่เข้าใครออกใคร ป่าตรงนั้นที่ถูกครอบครองกลายเป็นสวนมะพร้าวก็เปลี่ยนไปเป็นโฮเต็ลรับฝรั่ง บาร์ริมหาดตรงที่มีรถกระบะจอดอยู่นั่นแหละที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสุสานของนักโทษการเมืองที่เอาชีวิตมาทิ้งไว้ที่เกาะนี้



กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ธ.ค. 09, 10:32
สอ เสถบุตร เล่าว่าในสภาพแวดล้อมอันคับแค้น ซึ่งขาดทั้งยาและอาหารเช่นนั้น การให้ยาแก่เพื่อนซึ่ง กำลังจะตาย อาจหมายถึงความตายของตัวเองในเวลาต่อไปเมื่อหมดยา ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องของการตัดสินใจที่ยากยิ่งระหว่างมนุษยธรรมกับสัญชาติญาณของการอยู่รอด นักโทษการเมืองทุกคนต้องระวังสุขภาพ และใช้วิธีบำบัดรักษาโรคด้วยตนเอง เจ้าหน้าที่เรือนจำมิได้ เหลียวแลหรือให้การบำบัดรักษาแต่อย่างใด ยาควินนิน แอตตาบริน หรืออิเมตินแต่ละเม็ดมีความหมายต่อชีวิตของแต่ละคน การมียาโดยจำกัดทำให้แต่ละคนใช้วิธีบำบัดรักษาตนเองด้วยวิธีต่างๆกัน บางคนแบ่งยากินทีละน้อยแต่กินเรื่อยๆ จึงเกิดอาการชินกับยา และยาก็มีไม่มากพอที่จะบำบัดโรคซึ่งเป็นอยู่อย่างร้ายแรงให้หายขาดได้ บางคนเวลาที่เป็นน้อยอยู่ ถนอมยาไว้ไม่ยอมกิน พอเป็นมากถึงขั้นเพ้อคลั่ง ยาก็เอาไว้ไม่อยู่ เช่นในราย ของพระแสงสิทธิการ เมื่อพระแสงสิ้นชีวิตลงนั้น มียาแอตตาบรินและควินิน ซ่อนอยู่ใต้หมอนและใต้ที่นอนเป็นจำนวนมาก ส่วน สอ เสถบุตร นั้นได้ใช้วิธีที่ว่า โดยปกติจะไม่กินยาป้องกันไว้ก่อน แต่ถ้าโรคไข้จับสั่น กำเริบขึ้นเมื่อใด ก็รีบกินยาอย่างเต็มที่ เพื่อให้หายจากโรคโดยเร็วที่สุด ด้วยวิธีการเช่นนี้ สอ เสถบุตร ทั้งที่ตัวเล็กบอบบางจึงรอดชีวิตจากไข้จับสั่นของเกาะเต่ามาได้

ม.ร.ว.นิมิตรมงคล เองในเวลาต่อมาก็เกือบจะสูญสิ้นชีวิตด้วยพิษไข้ขึ้นสมองเช่นกันถ้าหากมิได้รับพระกรุณาอย่างใหญ่หลวงจากหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร พระองค์ท่านได้ทรงเสียสละอย่างยิ่งโดยประทานยาฉีดซึ่งมีเหลืออยู่เพียงสองสามหลอดสุดท้ายของพระองค์เพื่อช่วยชีวิตของม.ร.ว.นิมิตรมงคลไว้

ในภาพนี้คือที่ทำการของอบต.เกาะเต่าที่สร้างทับไปบนสถานที่ที่เคยเป็นเรือนนอนของนักโทษ บริเวณใดมีทรากอิฐหักกากปูนของคุกอยู่นั้น จะเป็นที่ซึ่งทางราชการใช้เป็นหลักฐานไม่ยอมให้ผู้บุกเบิกจากเกาะพงันที่หลั่งไหลเข้ามาจับจองที่ทำกินหลังจากยกเลิกทัณฑสถานไปเข้าครอบครองได้ แต่ส่วนที่เคยเป็นอาณาบริเวณของคุกทว่าถูกทำลายหลักฐานเสียแล้ว กรมธนารักษ์ก็ยอมให้ปลูกสร้างโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยวไปหมด ทุกวันนี้คนเกาะเต่าไม่อยากพูดถึงคุกตะรางในอดีต พูดทำไม เรื่องมันผ่านไปแล้วก็ให้แล้วกันไป สมัยนี้ make money กันดีกว่า


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ธ.ค. 09, 10:40
ในระหว่างระยะเวลาแห่งความลำบากยากแค้นแสนสาหัสใกล้จะวาระสุดท้ายของทุกคนนั้นเอง วันหนึ่งก็ได้มีเครื่องบินของกองทัพอากาศมาบินทักษิณาวรรตอยู่เหนือเกาะในระยะต่ำจนนักโทษการเมืองเห็นนักบินโบกมือให้สัญญาณแสดงความยินดี ความจริงก็คือนักบินผู้ใจบุญผู้นั้นได้มาบอกใบ้ให้ทราบว่าบ้านเมืองได้เปลี่ยนรัฐบาลใหม่แล้ว จอมพลแปลก พิบูลสงคราม จำต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุที่แพ้คะแนนเสียงในรัฐสภาเรื่องการสร้างนครเพชรบูรณ์ ให้เป็นเมืองหลวงใหม่ของประเทศ
และสร้างพุทธบุรี ที่จังหวัดสระบุรี นายควง อภัยวงศ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน และคณะรัฐมนตรีใหม่โดยทันทีได้มีมติให้ กราบบังคับทูลขอพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษการเมืองทั้งในคดีกบฏบวรเดช พ.ศ.2476 และคดีกบฏพระยาทรงสุรเดช พ.ศ.2481

กรมราชทัณฑ์ได้กระทำการปลดปล่อยนักโทษการเมืองจากเกาะเต่าที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 20 ตุลาคม 2487 ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตนได้กลับเป็นอิสระชนอีกครั้งหนึ่ง

ภาพสุดท้ายนี้เป็นทรากฐานคอนกรีตที่เหลืออยู่ในส่วนที่เคยเป็นบ้านพักของพัศดีและผู้คุม  ชาวบ้านครอบครองมิได้จึงถูกเว้นไว้ ต่อมาพระท่านเห็นเป็นที่รกร้างก็เลยเข้าไปตั้งเป็นสำนักสงฆ์  ซึ่งเจริญวัตถุขึ้นใหญ่โตพร้อมๆกับเศรฐกิจของเกาะเต่าในปัจจุบัน


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ธ.ค. 09, 08:21
เมื่อพ้นโทษจากเกาะเต่าเพราะรัฐบาลเผด็จการหมดอำนาจ ฝ่ายประชาธิปไตยได้ขึ้นปกครองประเทศ อันที่จริงแม้ว่าเป็นผลที่เกิดจากปัจจัยภายนอกด้วยว่าสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะสงครามโลก รัฐบาลพิบูลสงครามที่ประกาศร่วมวงศ์ไพบูลย์กับญี่ปุ่นไว้จำเป็นต้องสลายตัวก่อนที่ชาติจะสลายไปด้วย นายควง อภัยวงศ์ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเพิ่อขัดตาทัพในช่วงสุดท้ายก่อนที่ญี่ปุ่นจะประกาศยอมแพ้ ได้ประกาศยกเลิกบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร์ที่ห้ามมิให้มีพรรคการเมืองอื่น เปิดโอกาสให้ประชาชนมีเสรีภาพในการดำเนินการทางการเมือง เพื่อจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นโดยเร็ว

อดีตนักโทษการเมืองจึงได้รวมตัวกันกับกลุ่มบุคคลที่มีความคิดตรงข้ามกับคณะราษฎรสามารถจัดตั้งและจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองแรกตามกฎหมายได้ในพ.ศ. 2488นั้นเอง ให้ชื่อว่า “พรรคก้าวหน้า” มี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ดร.โชติ คุ้มพันธ์ เป็นรองหัวหน้าพรรค ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน เป็นเลขาธิการพรรค สมาชิกคนสำคัญๆได้แก่ นายสอ เสถบุตร นายสุวิชช์ พันธุ์เศรษฐ พระยาสุรพันธุ์เสนี พระยาโทณวณิกมนตรี  นายเลียง ไชยกาล นายบุญเท่ง ทองสว้สดิ์ เป็นต้น

พรรคก้าวหน้าได้ส่ง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และ ดร.โชติ คุ้มพันธ์ ลงสมัคร ส.ส. เขตพระนคร ได้รับเลือกตั้งทั้งคู่ คราวนั้นอดีตนักโทษการเมืองได้คะแนนสงสารจากประชาชน ได้รับเลือกเข้าสภาหลายคน รวมไถง สุวรรณทัต และร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ที่ลงในนามของพรรคประชาธิปัตย์เป็นอาทิ ม.ร.ว. นิมิตรมงคลนั้นมิได้ลงสมัครด้วยเพราะตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นงานที่ต้องการความทุ่มเทเวลาให้กับพรรคมากกว่าที่จะตัวต้องการเพื่อออกไปตระเวณหาเสียง

พรรคก้าวหน้าเกิดในสภาได้แล้วก็จริง แต่แล้วจุดมุ่งหมายและพฤติกรรมทางการเมืองก็มิได้สอดคล้องกับอุดมการที่เคยคุยๆกันไว้ ประกอบกับสุขภาพไม่เอื้ออำนวยให้ต่อสู้ต่อไปได้ ม.ร.ว. นิมิตรมงคลรู้สึกผิดหวัง จึงลาออกจากพรรคและหันหลังให้กับการเมืองอย่างสิ้นเชิงนับจากบัดนั้น


ต่อมาใน พ.ศ. 2493 พรรคก้าวหน้าได้ยุบรวมเข้ากับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนายควง อภัยวงศ์ ร่วมกับม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ดำเนินการจัดตั้งขึ้น นายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นรองหัวหน้าพรรค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ยุบพรรคก้าวหน้ามารวมกับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเลขาธิการ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ธ.ค. 09, 11:12
ในช่วงหลังนี้ ชื่อของม.ร.ว.นิมิตรมงคลจะถูกเอ่ยพร้อมๆกับเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกท่านหนึ่งคือ ดร.โชติ คุ้มพันธ์

ท่านผู้นี้เป็นใคร
ผมได้หาข้อมูลมาให้ ส่วนหนึ่งมาจากวิกื้แต่แก้ใขที่ผิดพลาดในบางตอนแล้ว

ดร.โชติ คุ้มพันธ์ เป็นชาวจังหวัดปทุมธานี เรียนจบระดับชั้นมัธยม เข้าสมัครเป็นเสมียนกรมศุลกากร ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้อาสาสมัครเข้าเป็นพลทหาร ตำแหน่งพลขับ เมื่อกลับมาแล้วรับจ้างเป็นกะลาสีในเรือ แล้วจึงไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนี สถานที่เคยอาสาไปรบ จนกระทั่งเรียนจนได้ปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อกลับมาแล้วได้เข้ารับราชการ โดยเป็นผู้หนึ่งที่ริเริ่มตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้น ถูกกล่าวหาว่ากระทำตนเป็นภัยต่อคณะราษฎร์เรื่องอันใดไม่ปรากฏเลยถูกให้เนรเทศไปอยู่แม่ฮ่องสอน เมื่อทำงานที่นั่นสักพักก็ลาออกจากราชการมาเล่นการเมืองโดยเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปไตย มีสมาชิกคนสำคัญเช่น นายสอ เสถบุตร, ร้อยโทจงกล ไกรฤกษ์ เป็นต้น

ดร.โชติ คุ้มพันธ์ ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนประเภทที่ 1 ตามรัฐธรรมนูฐฉบับปี พ.ศ. 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของไทย หลังเหตุการณ์กบฏพระยาทรงสุรเดช ถูกจับกุมในข้อหากบฏคิดล้มล้างรัฐบาล ได้ถูกส่งไปจำคุกที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และย้ายไปจำคุกตลอดชีวิตที่เกาะเต่า ในโอกาสนั้น ดร.โชติ ได้รู้จักกับหม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน นักโทษอีกคนที่เคยต้องโทษมาแล้วจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช ด้วย

เมื่อพ้นโทษออกมา ได้กลับมาสู่เส้นทางทางการเมืองใหม่และร่วมตั้งพรรคก้าวหน้าและสมัครลงเลือกตั้งชนะในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 ได้รับฉายาว่า ผู้แทนคนยาก เนื่องจากเป็นผู้ที่ริเริ่มการหาเสียงด้วยโทรโข่ง ไปพบปะกับชาวบ้านด้วยการเดินหาเสียงตามบ้านเรือน  เนื่องจากไม่มีทุนรอนในการหาเสียง จึงใช้วิธีตะโกนพูดผ่านโทรโข่งบนอานรถสามล้อถีบ ท่ามกลางชุมชนตามตลาดบ้าง ตามลานวัดต่างๆ บ้าง มีคนถีบสามล้อเป็นขบวนนำ หยุดพูดที่ไหนก็ให้ ดร.โชติ ยืนสองเท้าเหยียบบนอานรถสองคันตะโกนใส่ลำโพง โดยหาเสียงแข่งกับ นายควง อภัยวงศ์ และ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ซึ่งต่างก็ใช้วิธีด้วยเช่นกัน

ต่อมา เมื่อมีการก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้น ดร.โชติ คุ้มพันธ์ ได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคด้วย โดยการยุบของพรรคก้าวหน้าเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์

หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งแทน นายควง อภัยวงศ์ แล้วนั้น ดร.โชติ ผิดหวังอย่างรุนแรงจนได้วางมือจากการเมืองหลังจากนั้น และด้วยสุขภาพที่ทรุดโทรมจากโรคร้ายที่ติดมาจากเกาะเต่า ดร.โชติ คุ้มพันธ์ ถึงแก่กรรมอย่างเงียบ ๆในปีนั้นเอง


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ธ.ค. 09, 11:49
อดีตนักโทษการเมืองจากเกาะเต่าที่ผมอยากจะนำมาเล่าไว้ในเรื่องราวของม.ร.ว. นิมิตรมงคล มีอีก2ท่าน

คนแรกคือสอ เสถบุตร(เศรษฐบุตร) คุณสอนั้นได้ใช้เวลาในคุกอุทิศให้แก่การค้นคว้าและเขียนพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยขึ้นตั้งแต่อยู่ที่บางขวาง ม.ร.ว. นิมิตรมงคลซึ่งเลือกอยู่ห้องเดียวกันนั้นได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือค้นคว้า หาศัพท์ ตรวจบรู๊ฟ ตลอดจนหาทางส่งต้นฉบับออกไปตีพิมพ์ด้วยการใช้ลิ้นชักกลของน้าสะอาด เอ้ย..ขอประทานโทษ คุณอาม.ร.ว.สุดใจ บรรยงกะเสนา เมื่อถูกเนรเทศไปอยู่เกาะตะรูเตา คุณสอเป็นสุขในการทำงานชิ้นนี้ขึ้นมากเพราะไม่ต้องคอยซุกซ่อนสัมภาระหลบสายตาพวกผู้คุม ตอนที่เจ้าคุณศราภัยจะหนีไปลังกาวีได้เอ่ยปากชวนคุณสอให้ไปด้วย แต่คุณสอปฏิเสธเพราะเป็นห่วงงานเขียนพจนานุกรมนี้เอง

นี่ก็นักอุดมคติตัวจริงอีกท่านหนึ่งเช่นกัน

บนปกพจนานุกรมของคุณสอ ผู้พิมพ์ต้องเปลี่ยนตัวสะกดนามสกุลเศรษฐบุตรเสียใหม่ตามรัฐนิยมของหลวงพิบูลเป็น เสถบุตร เมื่อพ้นโทษมาแล้วคุณสอพบว่าคนรู้จักท่านในนามเช่นนั้นแล้วก็เลยปล่อยเลยตามเลย มิได้แก้กลับมาใช้อย่างเก่า เสถบุตร เลยกลายเป็นสัญญลักษณ์ของท่านไป

คุณสอได้งานที่สำนักพิมพ์ศรีกรุงทันทีที่พ้นโทษ และในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. 2489 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตจังหวัดธนบุรี สังกัดพรรคก้าวหน้า และได้รับเลือกเข้าสภา

การเมืองไทยในเวลานั้นเรื่องใหญ่ก็คือ จะเอาประเทศชาติให้รอดพ้นจากการเป็นฝ่ายผู้แพ้สงครามได้อย่างไร พอศึกภายนอกเริ่มสงบ นักการเมืองก็หันมางัดข้อกันใหม่ การจับขั้วทางการเมืองก็พลิกผันหลายครั้ง เมื่อนายควง อภัยวงศ์ ได้กลับเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกเป็นครั้งที่ 3 บรรดาอดีตนักโทษการเมืองได้รับการเชื้อเชิญเข้าร่วมรัฐบาลด้วยหลายคน ไม่ว่าจะเป็น นายเลื่อน ศราภัยวานิช หรือพระยาศราภัยพิพัฒ ผู้เคยสร้างวีรกรรมแหกคุกตะรุเตา ก็ได้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากรเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ โดยมีคุณสอ เสถบุตรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย

ท่านสิทธิพรทรงแจกงาน โดยตรัสกับคุณสอว่า "ฉันจะว่าเรื่องข้าว ป่าไม้เป็นเรื่องของเธอ เธอว่าของเธอไป ฉันจะไม่เกี่ยว" ครั้งหนึ่ง ผู้ที่เสนอ "สินน้ำใจ" ให้กับคุณสอเพื่อแลกกับการอนุมัติสัมปทานป่าไม้ ได้ถูกปฏิเสธว่า "ถ้าผมขายป่าไม้ให้คุณ ก็เท่ากับผมขายชาติ”

ไม่ใช่ว่าท่านรวยแล้วจึงไม่โกง เล่ากันมาว่า ครั้งหนึ่งท่าน รมช. สอ ได้รับเชิญให้เป็นประธานการแข่งขันฟุตบอล และเขาขอถ้วยรางวัลให้แก่ทีมที่ชนะ คุณสอตอนนั้นไม่มีเงินเลย ต้องปลดนาฬิกาข้อมือให้คนช่วยเอาไปจำนำเอาเงินมาเป็นค่าถ้วยรางวัลฟุตบอล

อายุของรัฐบาลนี้สั้นนักแค่3เดือนเศษ ทหารก็ปฏิวัติเอาจอมพลป.กลับมาอีก หลังรัฐประหาร2491นี้แล้ว คุณสอก็เลิกเล่นการเมือง หันไปทำงานด้านหนังสืออย่างเดียว

สอ เสถบุตรถึงแก่กรรมเมื่อ8กันยายน2513 อายุยืนถึง66ปี


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ธ.ค. 09, 11:56
รูปที่สหายร่วมชะตากรรมทั้งสองได้พบกันในยามชรา ขณะที่คุณสอได้ไปเฝ้าท่านสิทธิพรที่ฟาร์มบางเบิด ที่อำเภอบางสะพานน้อยของประจวบเกือบจะถึงจังหวัดชุมพรซึ่งท่านทรงบุกเบิกไปทำเกษตรในแนวของท่านอยู่ที่นั่น ทั้งสองได้สนทนากันอย่างถูกคอ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ธ.ค. 09, 14:38
ประวัติของหลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เสถบุตร, ๒๔๔๖-๒๕๑๓)

เคยรับราชการเป็นเจ้ากรมกองเลขานุการองคมนตรี กรมราชเลขาธิการในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จนได้รับตำแหน่งเป็นเสวกโท หลวงมหาสิทธิโวหาร ต่อมาถูกจับในฐานร่วมกันกบฏในพระราชอาณาจักร เมื่อปี ๒๔๗๖ ภายหลังสงครามได้รับการปล่อยตัว งานเขียนจำนวนมากของเขาส่วนใหญ่เป็นการสอนภาษาอังกฤษ มีงานน้อยชิ้นที่เขาเขียนเกี่ยวกับการเมือง

สอ เสถบุตรได้ให้เหตุผลในการเข้าร่วมกับ "คณะกู้บ้านกู้เมือง" ว่า เขาไม่พอใจในรัฐธรรมนูญที่ "ไม่เป็นประชาธิปไตย" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทเฉพาะกาล เนื่องจากถวายพระราชอำนาจน้อยเกินไป ไม่เป็นประชาธิปไตยและรัฐบาลเป็น "คณาธิปไตย" แต่เขาไม่ได้ให้รายละเอียดในบทบาทความร่วมมือของเขา นอกจากติดหลังแหจากกวาดจับโดยคณะราษฎร (สอ เสถบุตร. "กบฏเพื่ออะไร," ใน "ไทยน้อย". ค่ายคุมขังนักโทษการเมือง. พระนคร : โรงพิมพ์ไทยพานิช, ๒๔๘๘, หน้า ๑๙๑-๑๙๖)

ในประวัติของสอ เสถบุตร เขียนโดยพิมพ์วัลคุ์ ภรรยาของเขาที่เขียนขึ้นหลังจากนั้นหลายสิบปีว่า เหตุผลในการเข้าร่วมของสามี คือ เขาหวังว่าจะได้การแต่งตั้งเป็นพระยาศรีสุนทรโวหารในไม่ช้า แต่การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ได้เกิดขึ้นก่อน อนาคตของเขาที่รุ่งโรจน์ดับวูบลง เขาจึงได้ร่วมมือกับพระองค์เจ้าบวรเดช ตามคำชักชวนของหลุย คีรีวัต อย่างไม่ลังเล ด้วยการแปลคำใบปลิวแถลงการณ์ข้อเรียกร้องของคณะกู้บ้านกู้เมืองเป็นภาษาอังกฤษและลงมือโรเนียวด้วยตนเองในเรือพร้อมหลุยและพระยาศราภัยพิพัฒ หลังจากการพ้นโทษแล้ว เขามีแผนการรวมกลุ่มเป็นการเมืองกับชาว "น้ำเงินแท้" และเจ้านักการเมือง ต่อมาได้ตั้งพรรคก้าวหน้าร่วมกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และได้ผนวกรวมเป็นพรรคประชาธิปัตย์ในเวลาต่อมา (พิมพ์วัลคุ์ เสถบุตร, ๒๕๓๗, หน้า ๑๑๗, ๑๘๕, ๑๙๖.)

หลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐ เขาเป็นหัวหอกผู้หนึ่งในการนำข้อเรียกร้องที่ล้มเหลวของ "คณะกู้บ้านกู้เมือง" -ชาว "น้ำเงินแท้" เมื่อปี ๒๔๗๖ กลับมาใหม่เพื่อสร้าง "ประชาธิปไตย" ตามแบบฉบับของพวกเขา ด้วยถวายพระราชอำนาจคืนพระมหากษัตริย์ (ดูบันทึกของเขาที่เขียนลงศรีกรุง ฉบับวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ สาระคือ เขาต้องการการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์ ปลอดจากการทัดทานจากสถาบันการเมืองอื่นตามรัฐธรรมนูญ)

สำหรับ พิมพ์วัลคุ์ ภรรยาของสอ เสถบุตรเป็นบุตรสาวของพโยม โรจนวิภาต อดีตสายลับส่วนพระองค์ รหัส พ.๒๗ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่ทรงใช้สืบข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมืองของคณะราษฎรหลังการปฏิวัติ

ที่มา : บทความเรื่อง  "การรื้อสร้าง ๒๔๗๕" : ฝันจริงของนักอุดมคติ "น้ำเงินแท้" โดย ณัฐพล ใจจริง
       
         นิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม"  วันที่ ๐๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๐๒

http://www.vcharkarn.com/vcafe/149473


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ธ.ค. 09, 14:55
หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ทรงเคยใช้ชีวิตในเรือนจำบางขวางและที่เกาะเต่าร่วมกับ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน

ระหว่างที่อยู่ที่เรือนจำบางขวางทรงแต่งเพลง "True Blue" คือ "น้ำเงินแท้"เป็นภาษาอังกฤษ โดยใช้ทำนองเพลง "You Too"

We"ve been in prison for over three years,

But there"s no reason for living in fear,

We"re bright and merry, "cause we"re

Not very sad at being here for merely.

Doing our duty to Country and King,

So let be cheery make the well kin"ring,

Long live the King, We say Hoo-ray and sing,

We hope to go home pretty soon, Yes, we do.

You too, You too.

Back to Wives and Sweethearts, also true, To you,

Let"s say that we vow all of us to remain,

True Blue, And pray,

That our King be with us all life through,

Chai-Yo, "True Blue".





กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ธ.ค. 09, 14:56
อ้างถึง
ประวัติของหลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เสถบุตร, ๒๔๔๖-๒๕๑๓)

เคยรับราชการเป็นเจ้ากรมกองเลขานุการองคมนตรี กรมราชเลขาธิการในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จนได้รับตำแหน่งเป็นเสวกโท หลวงมหาสิทธิโวหาร ต่อมาถูกจับในฐานร่วมกันกบฏในพระราชอาณาจักร เมื่อปี ๒๔๗๖

ในประวัติของสอ เสถบุตร เขียนโดยพิมพ์วัลคุ์ ภรรยาของเขาที่เขียนขึ้นหลังจากนั้นหลายสิบปีว่า เหตุผลในการเข้าร่วมของสามี คือ เขาหวังว่าจะได้การแต่งตั้งเป็นพระยาศรีสุนทรโวหารในไม่ช้า แต่การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ได้เกิดขึ้นก่อน อนาคตของเขาที่รุ่งโรจน์ดับวูบลง


คุณสอ มีบรรดาศักดิ์เป็นคุณหลวง   ได้เป็นในปีไหนไม่ทราบ แต่ในปี 2475 คุณหลวงเพิ่งอายุ ๒๙ ปี เท่านั้น
บรรดาศักดิ์ จากหลวง ต่อไปก็คือคุณพระ และถึงจะได้เป็นพระยา     คนเป็นพระยานั้นโดยทั่วไปก็อายุสามสิบปลายๆ หรือสี่สิบ ถึงจะได้เป็น
คุณสอจะกระโดดข้ามจาก หลวง เป็น พระยา ได้อย่างไร  ในไม่ช้า อย่างที่บทความนี้กล่าวอ้าง โดยอ้างว่า คุณพิมพ์วัลคุ์เป็นคนเขียน อีกด้วย
ถ้าคุณพิมพ์วัลคุ์ เขียนอย่างนี้ในหนังสืออนุสรณ์งานศพสามี  ก็เป็นการฉีกหน้าอุดมคติของคุณสอ อย่างแรง

นอกจากนี้เคยอ่านพบในบันทึกของพระยาอนุมานราชธน ว่า คนที่มีสิทธิ์จะได้เป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร คือพระสารประเสริฐ  เพื่อนร่วมงานของท่าน  เพราะมีผลงานมากมาย มาตั้งแต่รัชกาลที่ ๖
ยังเข้าเค้าว่าคุณหลวงหนุ่มอายุไม่ถึงสามสิบ  จะหวังบรรดาศักดิ์นี้

ในบทความที่คุณเพ็ญชมพูทำลิ้งค์ให้อ่าน   ข้ามความจริงไปว่า ม.ร.ว. นิมิตรมงคล  ถูกข้อหาพัวพันกับคดีลอบสังหารจอมพล ป.  ไม่ใช่คดีกบฏ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ธ.ค. 09, 21:07
ผมขอเอาข้อเขียนของณัฐพล ใจจริงมาลงทั้งหมด ความจริงแล้วประวัติของคุณสอนี้อยู่ในเชิงอรรถของบทความเรื่อง ฝันจริงของนักอุดมคติ ของชาว"น้ำเงินแท้" ที่อ่านแล้วก็ทราบได้ว่าผู้เขียนมิได้เป็นฝ่ายน้ำเงินแท้ แม้จะเขียนดูเป็นวิชาการแต่ข้อมูลหลายจุดก็ผิดๆแบบไม่มีที่มาที่ไป ก็ไม่ทราบว่ามีเจตนาหรือไม่อย่างไร ดังเช่นที่อ้างข้อความที่พิมพ์วัลดุ์เขียนถึงประวัติสามีดังกล่าว

ประวัติของหลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เสถบุตร, ๒๔๔๖-๒๕๑๓)

เคยรับราชการเป็นเจ้ากรมกองเลขานุการองคมนตรี กรมราชเลขาธิการในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จนได้รับตำแหน่งเป็นเสวกโท หลวงมหาสิทธิโวหาร ต่อมาถูกจับในฐานร่วมกันกบฏในพระราชอาณาจักร เมื่อปี ๒๔๗๖ ภายหลังสงครามได้รับการปล่อยตัว งานเขียนจำนวนมากของเขาส่วนใหญ่เป็นการสอนภาษาอังกฤษ มีงานน้อยชิ้นที่เขาเขียนเกี่ยวกับการเมือง

สอ เสถบุตรได้ให้เหตุผลในการเข้าร่วมกับ "คณะกู้บ้านกู้เมือง" ว่า เขาไม่พอใจในรัฐธรรมนูญที่ "ไม่เป็นประชาธิปไตย" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทเฉพาะกาล เนื่องจากถวายพระราชอำนาจน้อยเกินไป ไม่เป็นประชาธิปไตยและรัฐบาลเป็น "คณาธิปไตย" แต่เขาไม่ได้ให้รายละเอียดในบทบาทความร่วมมือของเขา นอกจากติดหลังแหจากกวาดจับโดยคณะราษฎร (สอ เสถบุตร. "กบฏเพื่ออะไร," ใน "ไทยน้อย". ค่ายคุมขังนักโทษการเมือง. พระนคร : โรงพิมพ์ไทยพานิช, ๒๔๘๘, หน้า ๑๙๑-๑๙๖)

ในประวัติของสอ เสถบุตร เขียนโดยพิมพ์วัลดุ์ ภรรยาของเขาที่เขียนขึ้นหลังจากนั้นหลายสิบปีว่า เหตุผลในการเข้าร่วมของสามี คือ เขาหวังว่าจะได้การแต่งตั้งเป็นพระยาศรีสุนทรโวหารในไม่ช้า แต่การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ได้เกิดขึ้นก่อน อนาคตของเขาที่รุ่งโรจน์ดับวูบลง เขาจึงได้ร่วมมือกับพระองค์เจ้าบวรเดช ตามคำชักชวนของหลุย คีรีวัต อย่างไม่ลังเล ด้วยการแปลคำใบปลิวแถลงการณ์ข้อเรียกร้องของคณะกู้บ้านกู้เมืองเป็นภาษาอังกฤษและลงมือโรเนียวด้วยตนเองในเรือพร้อมหลุยและพระยาศราภัยพิพัฒ หลังจากการพ้นโทษแล้ว เขามีแผนการรวมกลุ่มเป็นการเมืองกับชาว "น้ำเงินแท้" และเจ้านักการเมือง ต่อมาได้ตั้งพรรคก้าวหน้าร่วมกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และได้ผนวกรวมเป็นพรรคประชาธิปัตย์ในเวลาต่อมา (พิมพ์วัลคุ์ เสถบุตร, ๒๕๓๗, หน้า ๑๑๗, ๑๘๕, ๑๙๖.)

หลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐ เขาเป็นหัวหอกผู้หนึ่งในการนำข้อเรียกร้องที่ล้มเหลวของ "คณะกู้บ้านกู้เมือง" -ชาว "น้ำเงินแท้" เมื่อปี ๒๔๗๖ กลับมาใหม่เพื่อสร้าง "ประชาธิปไตย" ตามแบบฉบับของพวกเขา ด้วยถวายพระราชอำนาจคืนพระมหากษัตริย์ (ดูบันทึกของเขาที่เขียนลงศรีกรุง ฉบับวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ สาระคือ เขาต้องการการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์ ปลอดจากการทัดทานจากสถาบันการเมืองอื่นตามรัฐธรรมนูญ)

สำหรับ พิมพ์วัลคุ์ ภรรยาของสอ เสถบุตรเป็นบุตรสาวของพโยม โรจนวิภาต อดีตสายลับส่วนพระองค์ รหัส พ.๒๗ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่ทรงใช้สืบข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมืองของคณะราษฎรหลังการปฏิวัติ       
         นิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม"  วันที่ ๐๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๐๒


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ธ.ค. 09, 21:18
ผมมีหนังสือประวัติของคุณสอ เรียบเรียงโดยคุณพิมพ์วัลดุ์ เสถบุตรอยู่ในมือ ไม่เห็นมีตอนใดที่เธอเขียนข้อความดังกล่าว และไม่มีวี่แววว่าเธอจะเขียนอย่างนั้นไปได้ โดยเฉพาะที่บอกว่าเขียนในหนังสืออนุสรณ์งานศพสามี ณัฐพลเองก็มิได้เขียนเช่นนั้นเพียงแต่อ้างลอยๆอย่างที่เห็น  ผมขอเอาหน้าซึ่งเธอเขียนไว้ในเล่มที่ผมมี กล่าวถึงเหตุที่คุณสอลาออกจากราชการ มาเป็นนักหนังสือพิมพ์และเหตุผลที่ตกลงกระทำการที่ศาลพิเศษตัดสินว่าเป็นกบฏมาลงไว้ด้วย ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณของท่านเองในการวินิจฉัยเถิด


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ธ.ค. 09, 21:19
1


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ธ.ค. 09, 21:20
2


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ธ.ค. 09, 21:22
3


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ธ.ค. 09, 21:28
4


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ธ.ค. 09, 08:00
คราวนี้มาดู “เจ้านักการเมือง”ที่คุณณัฐพล ใจจริง ใช้เป็นศัพท์เรียกในบทความของตนนั้นบ้าง
หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ผู้ชึ่งผมจะไม่กล่าวถึงไม่ได้เป็นอันขาด ชีวิตของท่านยิ่งกว่านิยาย และท่านก็เป็นพระเอกในโลกแห่งความจริงเสียด้วย

ทรงเป็นโอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ กับหม่อมสุภาพ ประสูติเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2426  เมื่อเจริญชันษาขึ้นถึงวัยอันสมควรก็ถูกส่งไปทรงศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงอุดมศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ที่ Harrow School อันมีชื่อเสียงและ City and Guild's Technical College, University of London ทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล

พ.ศ. 2444 หลังจากเสด็จกลับมายังประเทศไทยแล้วได้เข้ารับราชการเป็นเลขานุการของที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างนั้นทรงพัฒนาวิธีการเขียนชวเลขไทยประกวดได้รับรางวัลที่ 1 จากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่ด้วยเหตุที่ทรงมีความรู้ดีเรื่องเครื่องจักรกลจึงได้รับการโยกย้ายไปทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมฝิ่น กระทรวงการคลัง เพื่อกำกับดูแลการจัดสร้างและดำเนินงานโรงงานใหม่ เมื่องานสำเร็จลงก็ทรงย้ายไปเป็นอธิบดีกรมกษาปณ์สิทธิการ ดำเนินการปรับปรุงเครื่องทำเหรียญกษาปณ์ ท้ายสุดทรงย้ายกลับไปเป็นอธิบดีกรมฝิ่น ทรงปรับปรุงระบบการจำหน่ายจนกรมฝิ่นสามารถทำรายได้ให้แก่ราชการมากถึงร้อยละ 20 ของรายได้ทั้งหมด

ในช่วงสมัยกีฬาฟุตบอลกำลังเฟืองฟูทั่วพระนครนั้น ม.จ.สิทธิพร ทรงเล่นฟุตบอลร่วมกับชาวยุโรป อยู่ที่ราชกรีฑาสโมสร เมื่อมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมชาติสยามและทีมชาวอังกฤษในเมืองไทยขึ้นเป็นครั้งแรก หน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผลปรากฏว่าทีมสยามที่ทรงเป็นกัปตันชนะ 2 - 1  ม.จ.สิทธิพร จึงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอุปนายกสมาคมคนแรกของคณะฟุตบอลแห่งสยาม (ปัจจุบัน คือสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ)

รับราชการอยู่ยี่สิบปี ม.จ.สิทธิพรก็กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ เสด็จจากกรุงเทพฯ พร้อมครอบครัวอันประกอบด้วยหม่อมศรีพรหมาชายา ม.ร.ว.อนุพร บุตรชายอายุ 3 ขวบครึ่ง ม.ร.ว.เพ็ญศรี บุตรีอายุ 9 เดือน คนรับใช้ 2 คน มุ่งหน้าอย่างมาดมั่นสู่บางเบิด ตำบลชายทะเลเล็กๆแห่งหนึ่งในอำเภอบางสะพานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ธ.ค. 09, 08:02
การตัดสินพระทัยดังนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่ชอบทำงานประจำประเภท นั่งโต๊ะ ที่สำคัญ ทรงมองการณ์ไกลว่าต่อไประบบราชการไม่อาจจะขยายตำแหน่งได้เพียงพอที่จะรองรับคนใหม่ได้ ในอนาคตคนรุ่นหลังจำเป็นต้องหาอาชีพใหม่ ทรงเลือกอาชีพเกษตรกรรมเตรียมไว้ให้บุตรธิดาของท่าน ด้วยทรงเห็นว่ากสิกรรมมีโอกาสเหลือเฟือ เป็นอาชีพที่ไม่ต้องแข่งขันกับใครนอกจากตนเอง

ทรงกล่าวตอนหนึ่งว่า
"เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2463 บังเอิญข้าราชการกรมใหญ่กรมหนึ่งสมัครใจโดยลำพังที่จะสละตำแหน่งสูงโดยกราบบังคมทูลลาออกจากราชการ เพื่อจะได้ไปประกอบการกสิกรรมตามแบบสมัยใหม่ ซึ่งในสมัยนั้นผู้คนโดยมากเห็นว่าเป็นการกระทำของคนที่ไม่บ้าก็บอ นั่นคือข้าพเจ้าเอง ทั้งนี้ เพราะข้าพเจ้าบังเอิญได้ภรรยาที่เป็นเจ้าของที่ดินชายทะเลแห่งหนึ่งเป็นที่ถูกใจเป็นอย่างยิ่ง และบังเอิญภรรยาก็เห็นพ้องด้วย ซึ่งเป็นที่แปลกใจของเพื่อนฝูงไม่น้อย เพราะการทิ้งกรุงเทพฯแดนสวรรค์ หอบลูกเล็กๆ สองคนไปอยู่ที่ๆ ห่างไกลหมอดูเสมือนเป็นการกระทำที่ไม่บ้าก็บอ"

ผมนึกถึงรุ้ง พระเอกใน “ความฝันของนักอุดมคติ” ของม.ร.ว.นิมิตรมงคล ตอนที่ตัดสินใจทิ้งการเป็นดาวดวงเด่นในกระทรวงธรรมการ ลาออกเพื่อจะกลับไปทำนาที่ลพบุรีบ้านเกิดเสียจริงๆ ม.ร.ว.นิมิตรมงคลถูกวิจารณ์ว่าฝันมากไปหน่อยกระมัง ไปเอาความคิดที่ไหนมาว่านักเรียนนอกอยากจะไปทำนา ก็สงสัยเอามาจากท่านสิทธิพรนี้เอง


"ในระหว่างการติเตียนการลาออกของข้าพเจ้า ได้มีเจ้านายบางพระองค์ที่ชมเชยว่าเป็นการก้าวหน้าโดยเฉพาะสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปก ซึ่งทรงคุ้นเคยกับพวกข้าพเจ้า เพราะบังเอิญพี่ชายของข้าพเจ้าสองคนได้เคยเป็นพระอภิบาลเมื่อเสด็จไปศึกษาในประเทศอังกฤษ ทั้งภรรยาของข้าพเจ้าก็บังเอิญเป็นข้าหลวงเดิมคนหนึ่งด้วย ฉะนั้นต่อมาอีก 3 ปี เมื่อบังเอิญเสวยราชสมบัติเป็นพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงแวะดูกิจการที่ฟาร์มบางเบิดในระหว่างการประพาสทางทะเล มีความสนพระราชหฤทัยในกิจการที่ได้กระทำอยู่ด้วยเครื่องมือทุ่นแรงต่างๆ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเกษตร"

แม้ว่าดั้งเดิมที่นั่นสภาพปฐพีวิทยาจะเป็นดินปนทรายไม่เหมาะสมกับเกษตรจนไม่มีชาวบ้านมาตั้งรกรากทำไร่ทำสวน  แต่ฟาร์มบางเบิดได้รับการพัฒนาด้วยวิชาการเกษตรแผนใหม่จนก้าวหน้าที่สุดในปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้ใช้รถแทรกเตอร์ทำการเกษตรเป็นครั้งแรกของประเทศไทยเพื่อปรับพื้นที่เป็นขั้นบันได ใช้ปุ๋ยพืชสด ปลูกพืชหมุนเวียน ต่างกับการปลูกพืชที่ดอนแบบชาวบ้านในยุคนั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกไร่เลื่อนลอยปีละครั้ง ในสวนผักของหม่อมเจ้าสิทธิพรนั้น มีการปลูกมะเขือเทศ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก  ทรงปลูกแตงโมพันธุ์ต่างประเทศที่นำเข้าเมล็ดพันธุ์จากสหรัฐอเมริกา ควบคู่ไปกับแตงไทย ข้าวโพด ถั่วลิสง เลี้ยงไก่เล็กฮอร์นขาวพันธุ์แท้ เลี้ยงหมูพันธุ์ยอร์คเชีย นำมาแปรรูปทำแฮมเอง นอกจากนั้น ยังเป็นฟาร์มแห่งแรกที่ทดลองผลิตยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนียที่บ่มด้วยความร้อน และ ส่วนหม่อมของท่านก็เป็นสตรีเหล็กนอกจากเลี้ยงดูให้การศึกษาบุตรธิดา ยังเคียงข้างท่านในกิจการ ด้วยการเป็นผู้จดบันทึกการปฏิบัติทดลองต่างๆและทำบัญชีควบคุมการเงิน


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ธ.ค. 09, 08:15
ดังนั้น...เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ราคาข้าวลดลงมาก รัฐบาลของสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เห็นถึงเวลาที่จะต้องสนใจ และส่งเสริมพืชไร่อื่นๆนอกจากข้าว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกม.จ.สิทธิพร กฤดากร กลับมารับราชการเพื่อปรับปรุงกรมกสิกรรมให้ดำเนินงานตามนโยบายใหม่ ในฐานะที่ทรงเป็นผู้เดียวที่มีประสบการณ์ในการปลูกพืชไร่มากว่า10 ปีเศษ  ม.จ.สิทธิพรทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตรวจกสิกรรมและทรงให้เริ่มตั้งสถานีทดลองพืชดอนขึ้น 3 แห่งโดยทันที ภาคเหนือที่แม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่โนนสูง จังหวัดนครราชสีมา และภาคใต้ที่คอหงษ์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทรงเลือกหัวหน้าสถานีทดลองซึ่งทั้งสามท่านต่อมาก็คือพระช่วงเกษตรศิลปการ หลวงอิงคศรีกสิการ และหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ผู้มีฉายาร่วมกันว่าสามเสือแห่งเกษตร บูรพาจารย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนนั่นเอง


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ธ.ค. 09, 08:25
แต่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ที่ผันแปรในปีต่อมาทำให้ม.จ.สิทธิพร ผู้ดำรงตนอย่างสมถะต้องกลายเป็นหนึ่งในจำนวน 54 คนที่ถูกจับด้วยข้อหากบฏด้วย เนื่องจาก พระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร หัวหน้าฝ่ายกบฏซึ่งเป็นพี่ชายแท้ๆ ทรงขอให้ท่านเข้าร่วมด้วย ท่านจึงเสด็จขึ้นไปโคราชและตามทัพลงมา สั่งสอนอบรมประชาธิปไตยให้แก่ราษฎรจนตลอดทาง ศาลพิเศษจึงตัดสินจำคุกท่านตลอดชีวิต ทรงโดนจองจำในเรือนจำบางขวาง เกาะตะรุเตา และเกาะเต่า รวมเวลาแล้วนานกว่า 11 ปี แต่ระหว่างที่ทรงต้องโทษอยู่ ทรงเป็นที่รักและเคารพของทุกคน ก็ไม่มีใครเคยเห็นว่าทรงอยู่เฉยจากตำรับตำราและงานเกษตรที่ทรงรัก ทรงเป็นสุภาพบุรุษที่เสียสละด้วยพระทัยงามแก่เพื่อนนักโทษด้วยกันหลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งที่ทรงฉีดยาแสนแพงและหาได้อย่างยากยิ่งในระหว่างสงครามซึ่งหม่อมของท่านจัดซื้อส่งมาถวายด้วยความยากลำบากสองสามหลอดสุดท้ายที่ทรงเหลืออยู่ให้ม.ร.ว.นิมิตรมงคลเพื่อยื้อชีวิตไว้ได้สำเร็จ

หลังจากได้รับอิสระภาพจากเกาะเต่า และขบวนรถไฟซึ่งนำอดีตนักโทษการเมืองจากสุราษฎร์กลับเข้ากรุงเทพได้แวะจอดที่สถานีบางเบิด ทรงพาร่างอันผ่ายผอมลงไปพบกับครอบครัวที่มายืนรอรับอยู่ที่นั่น และทรงโบกพระหัตถ์อำลาเพื่อนอดีตนักโทษจนลับสายตา ก่อนจะกลับไปไร่ที่หม่อมศรีพรหมายังอดทนทำอยู่ตามคำขอร้องและส่งกำลังใจของท่านให้จากคุก


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ธ.ค. 09, 08:36
ขณะนั้นทรงมีพระชันษา 61 ปีแล้ว แต่ก็ยังโปรดที่จะทำการเกษตรที่บางเบิดต่อไป บัดนี้ความสนพระทัยยังได้ขยายขอบเขตไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเกษตรกรด้วย ทรงเขียนความคิดเห็นโต้แย้งรัฐบาลเกี่ยวกับผลผลิตข้าวลงในหนังสือพิมพ์ และทรงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในนามของพรรคก้าวหน้าได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงอันท่วมท้น รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ จึงทูลขอให้ท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ทรงตอบรับ และทรงดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตามเงื่อนไขของรัฐบาลยุคนั้นด้วย

ทรงบันทึกถึงแนวทางจัดตั้งทางการเมืองครั้งนี้ไว้ว่า

"….นายควง อภัยวงศ์ ระมัดระวังไม่ให้มี "ประชาธิปไตยจอมปลอม" เกิดขึ้นอีกได้ ในการเลือกและแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภาจึงได้ร่วมมือกับคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ภายใต้กรมพระชัยนาทฯ องค์ประธานอย่างใกล้ชิดและเลือกเฟ้นเอาข้าราชการที่ช่ำชองในการงานสาขาต่าง ๆ ประกอบกับ พ่อค้าวาณิชที่มีชื่อเสียง และไม่มีข้าราชการประจำหรือสมาชิกพรรคของนายควงสักคนเดียว ฉะนั้น เมื่อมีการเลือกตั้งกันใหม่แล้วรัฐสภาภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวจึงประกอบด้วย ส.ส. ที่ราษฎรเลือกตั้งกับสมาชิกแต่งตั้งที่เป็นอิสระ ปราศจากอิทธิพลของรัฐบาลทั้งสิ้น จึงเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย คือ ไม่ใช่ประชาธิปไตย "จอมปลอม"..."

ตรงนี้ที่คุณณัฐพล ใจจริงเห็นต่างว่าเป็นคณะรัฐมนตรีที่ประกอบไปด้วยเชื้อพระวงศ์ ขุนนางระบอบเก่า และ “ชาวน้ำเงินแท้” อย่างไม่เคยมีปรากฏมาก่อน คุณณัฐพลพยายามบอกท่านผู้อ่านว่านี่คือฝันจริงของชาวน้ำเงินแท้ที่ขึ้นมาพยายามลบล้างคุณความดีของคณะราษฎร์ และมุ่งหมายที่จะถวายพระราชอำนาจคืนแก่พระมหากษัตริย์ (ซึ่งผมคิดว่าคุณณัฐพลเขียนอย่างนั้นก็ถูกอยู่บ้าง แต่ไม่จริงเสียกว่า50%)

มีตำนานเล่าว่า ม.จ.สิทธิพรทรงใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่บางเบิด ดังนั้นเมื่อตอบรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการท่านจึงไปเฝ้าพระองค์เจ้าธานีนิวัติ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร) ว่าจำเป็นต้องเข้ามาประทับในกรุง แต่ท่านไม่มีบ้านอยู่ พอดีว่าได้สังเกตเห็นว่ามีเรือนหลังหนึ่งข้างประตูวังยังว่าง ๆ อยู่ จึงมีพระประสงค์จะขออาศัยที่นั่น พระองค์ธานีฯ ทรงค้านว่าเรือนหลังเล็กเช่นนั้นดูจะไม่สมพระเกียรติของรัฐมนตรี หม่อมเจ้าสิทธิพรจึงทูลว่า "เรือนหลังนี้ก็ดีถมเถไปแล้ว...หม่อมฉันอยู่ในคุกยังอยู่ได้"

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้จัดตั้งคณะกรรมการข้าวนานาชาติ (International Rice Commission - IRC) ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนข้าว ม.จ.สิทธิพรได้ทรงรับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของประเทศไทยและได้ทรงรับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการระหว่าง พ.ศ. 2492-2495

ใน พ.ศ. 2503 ทรงชราภาพเกินกว่าจะตรากตรำและบุตรธิดาไม่ประสงค์จะสืบงานต่อดังที่ทรงคาดหวังแต่ต้น จึงทรงขายฟาร์มบางเบิดให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากที่กระทรวงเกษตรตอบปฏิเสธไม่รับซื้อไว้เป็นสถานีทดลองเพราะไม่มีงบประมาณ ทรงนำเงินมาซื้อที่ดินขนาดย่อมลงเหมาะแก่กำลังที่หัวหินแล้วดำเนินการทดลองการเกษตรต่อ ได้ศาสตราจารย์ปวิณ ปุณศรีนำองุ่นมาร่วมทดลองปลูกเป็นครั้งแรกๆที่ไร่บ้านเขาน้อยของท่าน ผลของการศึกษาวิจัยครั้งนี้ทำให้ต่อมาประเทศไทยสามารถปลูกองุ่นเพื่อการค้าได้สำเร็จ
 
พ.ศ. 2510 ดูเหมือนจะเป็นปีที่ดีของม.จ.สิทธิพร ด้วยมีสองสถาบันพร้อมใจกันยกย่องท่าน หนึ่งคือ สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขากสิกรรมและสัตวบาลแก่ท่านในเดือนกรกฎาคม และสอง มูลนิธิรามอน แมกไซไซ ถวายรางวัลด้านบริการสาธารณะ สาขาพัฒนาการเกษตรแผนใหม่แก่ท่านเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ปีนั้น


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ธ.ค. 09, 08:43
แม้ความผันผวนทางการเมืองจะทำให้หม่อมเจ้าสิทธิพรไม่อาจทรงงานตามอุดมการณ์ในตำแหน่งรัฐมนตรีได้นาน แต่บทบาทของท่านในการพัฒนาเกษตรกรรมและเกษตรกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนายังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ใน พ.ศ. 2512 ทรงริเริ่มก่อตั้งพรรคการเมือง ชื่อ พรรคสัมมาชีพ-ช่วยชาวนา เพื่อรวบรวมนักวิชาการที่มีอุดมการณ์เข้าด้วยกัน ทรงนิพนธ์บทความโต้แย้งรัฐบาล คัดค้านนโยบายการส่งออกข้าวด้วยการเก็บค่าพรีเมี่ยม อันเป็นมูลเหตุสำคัญให้ชาวนาถูกกดราคาอย่างไม่เป็นธรรม จนสุดท้ายรัฐบาลต่อมาก็เห็นด้วยที่จะเลิกพรีเมียมข้าวหรือภาษีขาออกที่ดูเหมือนจะเรียกเก็บจากพ่อค้าก็จริง แต่ที่แท้ความเดือดร้อนอยู่ที่ชาวนา
เรื่องการตั้งกำแพงภาษีเพื่อทั้งขาเข้าและขาออกนี้ ม.ร.ว.นิมิตรมงคลได้แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงใน “ความฝันของนักอุดมคติ” ที่พิมพ์ก่อนหน้าการรณรงค์ในครั้งสำคัญนี้กว่าสิบปีเหมือนกัน

"เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง"

ประโยคทองนี้ถือเป็นวาทะสำคัญ ของม.จ.สิทธิพร ในระหว่างที่ทรงประกาศเรียกร้องมาตรการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้ครอบคลุมครัวเรือนเกษตรกร โดยมุ่งหวังให้สามารถผลิตอาหารพึ่งตนเองได้ไม่ต้องซื้อเขา ก็จะหลุดพ้นจากความยากจน ไม่ถูกนายทุนเงินกู้เอาเปรียบ ประเทศชาติก็จะมีอนาคตที่มั่นคงได้อันจะเป็นประโยชน์สูงสุด ทรงตอกย้ำความสำคัญเรื่องให้การศึกษาแก่เกษตรกร เงิน 1 แสนบาทอันเป็นส่วนหนึ่งของรางวัลแมกไซไซทรงหมดไปกับโครงการอบรมลูกหลานชาวไร่ชาวนา และ โครงการนาสาธิต ที่ทรงลงมือทำด้วยตนเองโดยตลอด จนความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สนับสนุนโครงการอบรมลูกหลานชาวนาของม.จ.สิทธิพรด้วย และต่อมาได้ทรงพระกรุณานำไปต่อยอดในโครงการพระราชดำริต่างๆอีกมากมาย

ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ทรงงานหนักจนกระทั่งชราภาพสังขารแบกรับไม่ไหว ทรงถึงชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2514 สิริชันษายืนยาวถึง 88 ปี

เพื่อสืบทอดมรดกอุดมการณ์ของม.จ.สิทธิพร และเพื่อให้มีสิ่งน้อมใจอนุชนให้รำลึกถึงท่านผู้อุทิศตนเพื่อพัฒนาการเกษตรและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้ดำเนินการจัดสร้างสถานีวิจัยและอนุสรณ์สถานขึ้นบนพื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นฟาร์มบางเบิด โดยได้รับอนุมัติจากกรมธนารักษ์และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งชื่อสถานีวิจัยแห่งนี้เฉลิมพระนามของท่านว่า สถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ธ.ค. 09, 19:11
หนังสือพิมพ์ “กสิกร” ได้จัดทำโดย หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร (ผู้เป็นทั้งเจ้าของ และบรรณาธิการในตัว) และคณะ อาทิ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ, ม.ล. ต้อย ชุมสาย ณ อยุธยา, พระยาเทพศาสตร์สถิตย์, หลวงอิงคศรีกสิการ, ศรีพรหมากฤดากร ณ อยุธยา, หลวงช่วงเกษตรศิลปการ ความน่าสนใจของหนังสือพิมพ์ “กสิกร” นอกจากจะเป็นบันทึกสำคัญทางประวัติศาสตร์ทางด้านวิทยาการการเกษตรแล้ว ยังมีบทบรรณาธิการของ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ผู้ซึ่งเป็น “บิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่”


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ธ.ค. 09, 22:22
ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน มิได้ได้เข้าสู่วงการเมืองอย่างจริงจัง เพราะการที่ได้เข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับวิถีการเมือง ก็รู้สึกผิดหวังแล้ว ถ้าจะเป็นนักการเมืองก็จำต้องปรับเปลี่ยนการปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับคนหมู่ใหญ่ให้ได้ จึงจะมีโอกาสทำงานร่วมกับเขาได้ ดังนั้นอุดมการณ์ถึงจะมีอยู่แต่ก็ต้องเอาวางไว้บนหิ้งบ้างหากหวังผลทางการเมือง การรวมตัวของพรรคก้าวหน้ากับพรรคประชาธิปัตย์ภายหลังจากเข้าสภาแล้ว จึงเป็นเหตุให้ม.ร.ว.นิมิตรมงคล ยุติบทบาททางการเมืองโดยสิ้นเชิง

ม.ร.ว.นิมิตรมงคลอาศัยอยู่กับคุณอา ม.ร.ว. สุดใจ บรรยงกะเสนา ญาติห่างๆที่รักม.ร.ว.นิมิตรมงคลเหมือนลูกจริงๆ รับสอนภาษาอังกฤษเพื่อหารายได้เลี้ยงตนเองโดยไม่ต้องรบกวนผู้ใด ลูกศิษย์ส่วนใหญ่เป็นนายทหารอากาศรุ่นน้อง นอกจากนั้น ยังได้ตั้งสำนักพิมพ์ เขียนหนังสือออกขาย

หนังสือเล่มแรกคือ “ชีวิต(ร)แห่งการกบฏ2ครั้ง” เป็นสารคดีที่บันทึกเหตุการณ์จริงๆที่ทำให้ผู้เขียนต้องโทษกบฏ ข้อเท็จจริงที่นำมาเปิดเผยถือเป็นการฉีกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองซึ่งผู้ชนะเป็นฝ่ายเขียนเอาไว้ ยุคหนึ่งประชาชนเชื่อว่ามีเหตุการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบ้านเมืองแล้วรัฐบาลใช้ความเด็ดเดี่ยวแก้ปัญหาได้เด็ดขาด 18ชีวิตที่ถูกประหาร แม้จะดูโหดร้าย แต่ก็สมควรแล้วที่จะแลกกับความสงบสุขของบ้านเมือง เพื่อให้ชาติก้าวเจริญรุดหน้าไปสู่ทิศทางเดียวกัน ม.ร.ว.นิมิตรมงคลชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์ร้ายแรงทั้งหลายแหล่นั้นรัฐเป็นผู้กระทำขึ้นแต่ฝ่ายเดียวเพื่อเก็บฝ่ายที่คิดเห็นตรงข้าม เพื่อกรุยทางให้แก่การเป็นเผด็จการสมบูรณ์แบบของนายกรัฐมนตรีในมาดท่านผู้นำ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ธ.ค. 09, 22:23
เล่มที่2ที่ม.ร.ว.นิมิตรมงคลผลิตออกมาคือ “ความฝันของนักอุดมคติ” โครงร่างของนวนิยายเรื่องนี้ผูกขึ้นระหว่างอยู่ในคุกและเป็นเหตูให้ถูกเนรเทศไปอยู่เกาะเต่า เมื่อพ้นโทษออกมาแล้วจึงได้เรียบเรียงขึ้นใหม่

หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น2เล่ม ตอนที่1ออกมาแล้วก็ขายดีเกินคาด ตอนที่2จึงออกต่อมาอย่างรวดเร็ว คงเพราะเป็นหนังสือแห่ง “ยุคเสรีภาพ”แต่ฉีกแนวจากหนังสือที่บรรดาอดีตนักการเมืองเขียนออกมาจนเต็มตลาด บางเล่มแม้จะเป็นสารคดีแต่ก็พรรณาท่วงทำนองจนถูกกล่าวหาว่าเป็นนวนิยาย “ความฝันของนักอุดมคติ” ซึ่งประกาศตนว่าเป็นนวนิยาย แต่ผู้อ่านกลับเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงที่ผู้เขียนถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดและชิวิตของตนลงในบทบาทของพระเอกที่มีนามกรว่า รุ้ง จิตเกษม

ความเชื่ออันนี้เลยเถิดไปจนครั้งหนึ่ง มีการจะสร้างหนังไทยฟอร์มใหญ่ชื่อ “นักโทษประหาร2482”  มีฉากปรากฏตัวตนของม.ร.ว.นิมิตรมงคลประกอบอยู่ด้วย ผู้แต่งบทเอาตอนสุดท้ายในความฝันของนักอุดมคติไปแปลงใหม่ เป็นว่า ม.ร.ว.นิมิตรมงคล(หลังจากอกหัก)กำลังจะเดินทางไปรักษาแผลหัวใจที่อยุธยา แต่ยังอุตส่าห์เป็นห่วงงาน ไปตรวจบรู๊ฟหนังสือของตนที่โรงพิมพ์ก่อน ครั้นย่ำรุ่งได้เวลาจะไป อุไรวรรณ นางเอกในหนังสือก็ตามเอากุหลาบแดงช่อใหญ่ไปง้องอนท่ามกลางสายฝนพรำๆ คุณชายคะคุณชายขาดิฉันพูดผิดไปอย่างโน้นอย่างนี้ เป็นฉากดราม่าอันน่าสะเทือนใจอยู่เพราะพระเอกใจแข็งชะมัด ถืออุดมคติยิ่งกว่าความรัก หลังจากร่ำลากันเปียกโชกไม่รู้ว่าน้ำตาหรือน้ำฝนแล้ว พอจะเดินทาง รัอยตำรวจเอกแสวงก็แสดงตนออกมาจับกุมตัวทันที บีบหัวใจคนดูซะแหลกเหลว

ผมได้อ่านบทภาพยนต์นี้แล้วก็งงๆอยู่ว่าจะดีเร้อะ เอาเรื่องจริงกับนิยายมาปนกันเละเทะจนคนดูแยกแยะไม่ออกไปทั้งเรื่อง พอดีทางทายาทจอมพลป.เขาขู่เสียงเข้มว่าถ้าขืนสร้างขึ้นจะมาฟ้องศาล ผู้สร้างก็ถอดใจยอมระงับโครงการณ์ไปโดยดี


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ธ.ค. 09, 22:27
“ความฝันของนักอุดมคติ” เป็นความฝันของ รุ้ง จิตเกษม โมเดลทางการเมืองที่รุ้งเห็นว่าน่าจะแก้ข้อบกพร่องของลัทธิต่างๆที่รุ้งยังไม่พอใจ เพราะ
 “ ลัทธิของกษัตริย์โบราณหรือลัทธิของกษัตริย์ไม่สวมมงกุฏอย่างฮิตเลอร์ คือการกดขี่คนส่วนมากโดยคนส่วนน้อย ลัทธิประชาธิปไตยอย่างที่เราได้เห็นในยุโรปบางประเทศ คือการกดขี่คนส่วนน้อยโดยคนส่วนมาก และการปกครองตามลัทธิคอมมูนิสต์ในรัสเซีย  คือการกดขี่คนทุกชั้นที่มิใช่กรรมกรโดยหัวหน้ากรรมกร”
ดังนั้นรุ้ง ผู้เป็นนักชีววิทยาได้เสนอทฤษฎีขึ้นใหม่โดยเอาธรรมชาติขององคาพยพ ที่ร่างกายๆหนึ่งประกอบด้วยชีวิตเล็กๆที่เรียกว่าจุลินทรีย์(เชลล์)นับแสนล้าน รวมกลุ่มกันเป็นอวัยวะ มีหน้าที่ต่างๆ แต่ทำงานสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ ทั้งส่วนที่เป็นผู้สั่งการ และส่วนปฏิบัติการ ระบบองคาพยพไม่เคยทำร้ายเชลล์ใดๆในร่างกายเลย ตรงข้าม หากเกิดบกพร่องหรือบาดเจ็บจากปัจจัยภายนอก เชลล์สั่งการในสมองจะสั่งเชลล์ปฏิบัติการอื่นๆให้ไปช่วยเยียวยาจนสุดความสามารถ รัฐบาลของประชาชาติในอุดมคติควรมีธรรมชาติเช่นเดียวกับองคาพยพ ประชาชนแต่ละคนคือเซลล์แต่ละเซลล์ ทว่าในระบอบการบริหารปกครองนี้ต้องมีขบวนการที่จะแยกแยะว่าประชาชนคนหนึ่งๆนั้น ควรจะสังกัดอยู่กับหน่วยไหน ทำหน้าที่อะไรในสังคม แต่ละหน้าที่จะต้องได้นับการยอมรับนับถือเท่าเทียมกันไม่ว่าจะอยู่หน่วยสั่งการหรือปฏิบัติการ หากประชาชนคนหนึ่งคนใดบกพร่อง สังคมจะต้องช่วยกันเยียวยาให้กลับมาทำประโยชน์ได้อีก ไม่ใช่นำไปจำคุกหรือประหารชีวิตเหมือนรัฐบาลที่เป็นอยู่ในประเทศต่างๆทั้งโลก

ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ รุ้งก็เสนอวิธีการคัดเลือกว่าใครควรจะทำหน้าที่อะไรด้วยการวัดผลตั้งแต่เกิดและจำเริญวัยว่าคนๆนั้น น่าจะทำงานที่ใช้กำลังและสมองในสัดส่วนอย่างไร หลังจากนั้น รัฐจะมีหน้าที่ให้การศึกษา ฝึกงานอาชีพและจัดงานที่เหมาะสมให้ วิธีทันสมัยในยุคของรุ้งคือวิธีการทางจิตวิทยาที่มีแบบทดสอบสามารถระบุได้ว่า คนๆนี้เป็นประเภทอินโทรเวิร์ตหรือเอกซ์โทรเวิร์ต แม้ว่าจะยังไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด แต่เชื่อว่าถ้ารัฐเห็นด้วยและทุ่มทำการวิจัย รัฐบาลในอนาคตก็อาจจะจำแนกพลเมืองและหัดแต่ละคนให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละหน้าที่ที่เขาจะต้องทำร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นคนกวาดถนน คนขับรถเมล์ ทหาร วิศวกร แพทย์ หรือนักบริหาร ฯลฯ เขาทั้งหลายจะต้องมีความทัดเทียมกันในสังคม เหมือนอวัยวะหลายแหล่ที่หากขาดอะไรไป ชีวิตนั้นก็จะพิการหรืออยู่ไม่ได้ ดังนั้นทุกส่วนในร่างกายจึงได้รับการจัดสรรเลือดไปหล่อเลี้ยงในปริมาณที่พอเพียงเท่าๆกัน

ความคิดความฝันดังกล่าวของรุ้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความคิดความฝันที่ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล “นิมิต”เห็นระหว่างใช้ความว่างในคุกให้เป็นประโยชน์ (และเป็นเหตุให้หนังสือเล่มนี้ครั้งหนึ่งได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองนิมิตร) ถ้าจะว่าห่างไกลจากความเป็นจริงในโลกก็ใช่ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับ “อุตมรัฐ(Utopia)” ของเซอร์โทมัส มอร์แล้ว ความคิดความฝันของม.ร.ว.นิมิตรมงคลโมเดลนี้ยังมีเปอร์เซนต์ของความเป็นไปได้มากกว่าด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามบุคคลทั้งสองก็คงมิได้หวังว่ารัฐบาลประเทศที่ตนถือบัตรประชาชนอยู่จะยอมรับความคิดนั้นไปปฏิบัติ แต่ก็อยากจะจารึกความคิดดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมไว้
 
ผมนึกถึงตอนเป็นนิสิตสถาปัตย์เริ่มต้นเรียนวิชาออกแบบใหม่ๆ ครั้งหนึ่งอาจารย์ได้ให้งาน sketch design ซึ่งต้องทำวันเดียวให้เสร็จส่งภายในเย็นวันนั้น เป็นบ้านที่จะสร้างบนโลกพระจันทร์  ครูบาอาจารย์ท่านเพียงต้องการฝึกสมองให้นิสิตระเบิดกรอบเก่าๆที่ติดตาอยู่ออกไปสู่จินตนาการที่กว้าง ไกล ล้ำลึกโดยไร้ขอบเขต ผลงานของนิสิตวันนั้นดูแล้วก็ได้เฮกัน คงบ้าแน่ถ้าใครจะสร้างขึ้นจริงๆในโลกมนุษย์ แต่ทุกคนก็มีเหตุผลน่าฟังว่าคิดมาได้อย่างไร ทำไมจึงออกแบบเช่นนั้น ไม่ได้ไร้สาระเลยทีเดียว รัฐในอุดมคติของม.ร.ว.นิมิตรมงคล ใช้เวลาเป็นปีๆในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่สัปปายะสถานของมนุษย ด้วยจินตนาการไร้ขอบเขตเช่นกัน แม้ว่าโมเดลที่นำเสนอจะดีเกินกว่าที่สังคมโลกจะนำไปปฏิบัติได้ก็ตาม ก็น่ารับฟังเป็นอย่างยิ่ง ใครเลยจะรู้ ถึงยุคที่มนุษย์จะไปสร้างบ้านบนดวงจันทร์เมื่อไร แนวทางปฏิบัติที่จะสร้างรัฐในอุดมคติของม.ร.ว.นิมิตรมงคลอาจจะเป็นไปได้แล้วเช่นนั้น
 
งานของม.ร.ว.นิมิตรมงคลทั้งหมดร่างต้นฉบับขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ ผิดธรรมชาติของนักเรียนเก่าโรงเรียนนายร้อยผู้ที่ไม่เดยเป็นนักเรียนนอกแต่อ้อนแต่ออกอย่างยิ่ง ผมเชื่อว่าเป็นเพราะ ม.ร.ว.นิมิตรมงคลคงพยายามคิดเป็นสากล แม้จะมุ่งหวังให้เป็นเข็มทิศของอนุชนไทยก็ตาม หากยังมีอายุยืนยาวต่อไป ม.ร.ว.นิมิตรมงคลอาจจะเสนอ A Dream of An Idealist ออกสู่ตลาดหนังสือได้เองโดยไม่ต้องรอยาวนานหลายสิบปี จนกระทั่งคนอังกฤษที่อ่านภาษาไทยมาค้นพบและนำไปแปลเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ธ.ค. 09, 22:31
เรื่องที่3 เขียนเป็นบทละครพูด ชื่อภาษาอังกฤษว่า “The Emerald Cleavage”  ศาสตราจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริผู้แปลเป็นภาษาไทยให้ชื่อว่า “รอยร้าวของมรกต” ต้นฉบับเป็นลายมือเขียนด้วยดินสอเก็บไว้นานมาก อาจารย์ชาญวิทย์อ่านแล้วเกิดศรัทธาปสาทะ แปลแล้วยังให้สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พิมพ์จำหน่ายเผยแพร่ในปี 2523 ด้วย

ดอกเตอร์เดวิด สไมท์ผู้แปลความฝันของนักอุดมคติ ยกย่องวรรณกรรมชิ้นนี้มาก นอกจากจะทึ่งในความสามารถด้านภาษาที่คนอังกฤษอย่างท่านไม่กล้าแตะต้องแก้ใขต้นฉบับแล้ว เนื้อหายังสะท้อนจริยธรรมและความเป็นสุภาพบุรุษในจิตใจของผู้แต่งอย่างชัดเจน

เนื้อเรื่องของละครเป็นเหตุการณ์ในบ้านของนักการเมืองสมัยนั้นผู้ประสพความสำเร็จทั้งตำแหน่งหน้าที่ ฐานะทางการเงิน และความรัก มีภรรยาทั้งสวยทั้งฉลาด มีเพื่อนแท้ที่เก่งและจริงใจ ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อผู้เป็นภรรยาของเหยื่อทางการเมืองผู้จะถูกกำจัดคนหนึ่งเกิดฮึดสู้ อาศัยไพ่เหนือที่กำความลับในอดีตของท่านรัฐมนตรี หากเปิดเผยออกมาเมื่อไหร่อาจติดคุกและสูญเสียครอบครัวตนที่รัก และผู้หญิงคนนั้นก็ไม่ธรรมดาเสียด้วยในการเสนอข้อแลกเปลี่ยนกับการที่ท่านรัฐมนตรีจะต้องปล่อยสามีของตน

เรื่องดำเนินต่อไปอย่างน่าติดตาม และจบอย่างพลิกมุม ถ้าผมเล่าไปก็จะเสียของหมด เผยนิดเดียวว่าชื่อเรื่องรอยร้าวของมรกตแสดงถึงธรรมชาติแท้ของอัญมณีที่ทรงคุณค่าและราคาชนิดนี้ ทุกเม็ดจะต้องมีรอยร้าว เช่นเดียวกับคนเราไม่ว่ายากดีมีจน จะหาที่ไร้ตำหนิเลยนั้นไม่มี ขึ้นอยู่กับว่า ถ้าเรื่องมันเป็นอดีตไปแล้วจะให้อภัยกันได้หรือไม่

คงไม่ต้องบอกว่าม.ร.ว.นิมิตรมงคลจบเรื่องนี้ด้วยการให้อภัย


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ธ.ค. 09, 22:33
พิมพ์ครั้งแรก


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ธ.ค. 09, 22:35
เรื่องที่4 เป็นบทความวิชาการเรื่อง “พรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ”
อันที่จริงเล่มนี้ถือว่าเป็นเรื่องแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ขึ้นในบรรณพิภพด้วยซ้ำ

ม.ร.ว.นิมิตรมงคลเขียนไว้ใน “ชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง”ว่า เมื่อต้องคำพิพากษาติดคุกครั้งแรกแล้วจึงได้เรื่มกระทำผิดกฏหมาย ด้วยการเขียนหนังสือ และได้ลักลอบส่งบทความออกมาจากคุกให้วารสารต่างๆอยู่เนืองๆ เป็นที่ทราบกันด้วยว่าได้ยืมชื่อพี่ชายคนหนึ่งใช้เป็นนามแฝง เมื่อก่อนพ้นโทษครั้งแรกได้ยินหลวงพิบูล ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีกลาโหมพูดในระหว่างการอบรมนักโทษการเมืองก่อนปลดปล่อยว่า ถ้าตนได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะเร่งรัดประชาธิปไตย แก้ไขให้มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นโดยเร็ว (เพราะขณะนั้น มีบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญห้ามไว้)

เมื่อเป็นอิสระจึงเขียนหนังสือ อธิบายถึงลัทธิการเมืองต่างๆที่เกิดขึ้นในยุโรปและเมืองไทย ใช้ชื่อร่วมกับพี่ชายที่ผู้อ่านรู้จักกันอยู่แล้ว ให้สำนักพิมพ์วางตลาดเมื่อหลวงพิบูลได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งตอนนั้นก็ใกล้ความจริงเข้ามาทุกนาทีแล้ว

แต่พอท่านได้เสวยอำนาจเข้าจริงๆ สันติบาลกลับระดมพลเข้าค้นทุกสำนักพิมพ์ เจอหนังสือ“พรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ”เข้าก็ยึดไปตรวจ แล้วก็จัดการเผาทิ้งเสียทั้งหมดทั้งๆที่ไม่เจอความผิดพอที่จะตั้งข้อหาเอากับใครได้ แต่ก็ขึ้นบัญชีดำม.ร.ว.นิมิตรมงคลไว้ว่าเพิ่งพ้นโทษแต่ก็ยังหัวแข็งไม่หลาบจำ แล้วก็หาข้อหาอื่นมายัดให้กลับไปติดคุกอีกเป็นครั้งที่สองจนได้

หนังสือที่ตำรวจยึดไปทั้งหมดนั้น ส่วนหนึ่งคงมีใครหยิบเอาไปอ่านที่บ้านบ้างและตกค้างอยู่ ลูกหลานเอามาบริจาคให้ห้องสมุด หาเจอสองสามเล่มที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งได้นำมาเป็นต้นฉบับในการพิมพ์ขึ้นใหม่ รวมเล่มกับเรื่องที่กล่าวมาแล้วในหนังสือ “ระลึก100ปีชาตกาลม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน”
 


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ธ.ค. 09, 22:41
ม.ร.ว.นิมิตรมงคลสามารถมีชีวิตอยู่เพื่อผลิตผลงานได้เพียงเท่านี้  โรคร้ายตัวสำคัญที่เบียดเบียนอยู่คือวัณโรค สมัยนั้นยังไม่มียารักษาให้หายได้ หลังพ้นโทษจากเกาะเต่า ม.ร.ว.นิมิตรมงคลเหลือปอดทำงานได้เพียงข้างเดียวเท่านั้น

บุญทำกรรมแต่ง ม.ร.ว.นิมิตรมงคลได้พบเนื้อคู่ในช่วงนี้ บรรจบพันธุ์ สังขดุลย์ ครูที่กำลังเริ่มต้นปลุกปั้นโรงเรียนอนุบาลสวนเด็กของตนเอง ทั้งสองเป็นผู้ใหญ่แล้วและรู้อนาคตดีว่า ถ้าแต่งงานกันฝ่ายชายก็คงจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน แต่ฝ่ายหญิงก็มีความมั่นใจสูงและเด็ดเดี่ยวมาก เธอมองทะลุสังขารของม.ร.ว.นิมิตรมงคลไปที่สมองและจิตใจ เมื่อผู้ใหญ่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงความตั้งใจได้ ทั้งสองจึงได้แต่งงานกันโดยมีสมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรทรทรงเมตตาเป็นเจ้าภาพและประทานแหวนเพชรวงน้อยให้ฝ่ายชายสวมให้ฝ่ายหญิง ม.ร.ว.นิมิตรมงคลได้ประสพความสุขสมหวังครั้งแรกในชีวิต


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ธ.ค. 09, 22:52
ท่ามกลางวันคืนแห่งความสุขในชีวิตสมรส วันหนึ่งรัฐบาลได้ออกประกาศคืนยศฐาบรรดาศักดิ์ที่รัฐบาลก่อนยึดไปให้แก่นักโทษทั้งหมดที่ได้รับนิรโทษกรรม ม.ร.ว.นิมิตรมงคลจะได้รับยศเรืออากาศโทคืนเป็นนายทหารนอกราชการและได้รับเบี้ยหวัดเงินเดือนย้อนหลัง เมื่อปรึกษากับภรรยาแล้วเห็นว่าสมควรรับไว้ จึงเดินทางด้วยรถไฟจากกรุงเทพไปลงที่สถานีดอนเมือง เจอกับลูกศิษย์นายทหารอากาศที่นั่นถามว่าครูจะให้ช่วยอะไรบ้าง แทนที่จะขอให้หารถไปส่งที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ กลับขอยืมจักรยานถีบไปกลางแดดเปรี้ยงของเดือนเมษายน แม้เหนื่อยแทบขาดใจยังฝืนสังขารจนกลับถึงบ้าน แต่ก็สุดวิสัยที่ร่างกายจะฟื้นคืนได้ กลางดึกนั้นเอง ปอดที่ทำงานหนักเกินกำลังก็ค่อยๆหมดเรียวแรงลงจนสงบไปในที่สุด ม.ร.ว.นิมิตรมงคลถึงแก่กรรมต่อหน้ามารดาและภรรยา หมดโอกาสได้เห็นลูกชายที่กำลังจะเกิดหลังจากนั้นเพียง45วันเท่านั้นเอง


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ธ.ค. 09, 07:04

อวสาน


ขอบพระคุณ
อาจารย์เทาชมพูผู้เปิดกระทู้นี้ ทำให้ผมได้มีโอกาสกลับไปเป็นเด็กไฟแรง พยายามค้นคว้าหาข้อมูลมาทำรายงานส่งอาจารย์ แม้จะไม่มีคะแนนให้

ขอบพระคุณ
ผู้เข้ามาร่วมสนทนาในกระทู้ ท่านทำให้ผมไม่รู้สึกว่าถูกปล่อยเกาะอยู่แต่เดียวดาย แม้จะไม่ใช่เกาะเต่าก็ตาม

ขอบพระคุณ
ท่านผู้อ่านที่ติดตามอย่างอดทนมาเงียบๆจนถึงบรรทัดนี้ ถ้าผมไม่ทราบว่ามีพวกท่านวนเวียนเข้ามาในกระทู้ ผมก็คงโดดน้ำหนีขึ้นฝั่งไปนานแล้ว


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ธ.ค. 09, 09:21
ในที่สุด ม.ร.ว.นิมิตรมงคลถึงแก่กรรมต่อหน้ามารดาและภรรยา หมดโอกาสได้เห็นลูกชายที่กำลังจะเกิดหลังจากนั้นเพียง45วันเท่านั้นเอง

หน่อน้อย ๆ ของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล ได้เล่าถึงความรู้สึกที่แม่มีต่อพ่อไว้ว่า

แม่เล่าว่าแม่รักพ่อเพราะเป็นสุภาพบุรุษ เป็นผู้ดีทุกกริยามารยาท พูดกับแม่ไพเราะ และไม่เคยกล่าวคำหยาบหรือไร้สาระ ไม่เคยรำพันพิลาปเรื่องเคราะห์กรรมที่ผ่านา ไม่พยาบาทอาฆาต พ่อเป็นนักคิด นักเขียน เป็นนักอุดมคติ และเป็นกวี สามารถกระทั่งอ่านบทกวีของวิลเลียม เชคสเปียร์แล้วแปลออกมาเป็นฉันทลักษณ์ไทยได้โดยทันที แม่บอกว่าแม่แต่งงานกับพ่อเพราะเชื่อว่าลูกจะต้องออกมีอะไรเหมือนพ่อ

จากหนังสือ ชีวิตที่ลิขิตไว้ ของ คุณหญิงบรรจบพันธุ์ นวรัตน ณ อยุธยา เรียบเรียงโดย ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน

เท่าที่ติดตามกระทู้นี้มาแต่ต้น พิสูจน์ได้ว่าความเชื่อของคุณหญิงบรรจบพันธุ์ที่ว่า ลูกจะต้องออกมีอะไรเหมือนพ่อ นั้นเป็นความจริง

 ;)


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ธ.ค. 09, 09:23
ขอบคุณคุณ N.C. อย่างยิ่ง   สำหรับกระทู้ที่มีคุณค่า ด้วยเนื้อหาสาระ กระทู้นี้
แม้ว่าคุณอาจจะเขียนจบแล้ว แต่ผลงานของม.ร.ว. นิมิตรมงคล ยังไม่จบ
มีอะไรให้เอ่ยถึงอีกหลายประเด็น

จะแตกเป็นกระทู้อื่นต่อไปอีกค่ะ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 ธ.ค. 09, 12:00
ขอบคุณ คุณ N C อย่างมากครับ

อ้างถึง
คุณสอ มีบรรดาศักดิ์เป็นคุณหลวง   ได้เป็นในปีไหนไม่ทราบ แต่ในปี 2475 คุณหลวงเพิ่งอายุ ๒๙ ปี เท่านั้น

      จากนิตยสาร สารคดี ฉบับ พจนานุกรมชีวิต สอ เสถบุตร โดย ศรัณย์ ทองปาน -

G garter

The King gartered him.
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งให้เขาเป็นขุนนาง

          ตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ในอังกฤษ สอ เศรษฐบุตร มีความสนใจในงานหนังสือพิมพ์มาก เขาทำหน้าที่เป็นเลขานุการ
ของสามัคคีสมาคม ซึ่งเป็นสมาคมนักเรียนไทยในอังกฤษ ทั้งยังรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการของ สามัคคีสาร นอกจากนั้น
เขายังสรุปข่าวต่างประเทศในรอบสัปดาห์ส่งให้แก่หนังสือพิมพ์ไทย และเขียนบทความภาษาอังกฤษมาลงใน Bangkok Times
และ Bangkok Daily Mail เป็นประจำ เพื่อเป็นรายได้จุนเจือครอบครัวทางเมืองไทย
           แม้จนเมื่อกลับมารับราชการแล้ว งานเขียนต่าง ๆ ของสอก็ยังคงมีปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่สม่ำเสมอ
โดยเฉพาะบทความที่ใช้นามปากกาว่า Nai Nakorn (นายนคร) ของเขา ที่ลงพิมพ์ใน Bangkok Daily Mail

          ทัศนะของนายนครเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก ถึงกับโปรดให้
สืบหาตัวผู้เขียน และเมื่อทราบว่าเป็นข้าราชการในกรมโลหะกิจและภูมิวิทยา กระทรวงเกษตราธิการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้โอนมารับราชการในกรมราชเลขาธิการแทน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๑

            จุดสูงสุดในชีวิตราชการของสอมาถึงตั้งแต่อายุยังไม่ถึง ๓๐ ปี ได้แก่ชั้นยศเสวกโท ซึ่งเป็นยศของข้าราชการพลเรือน
เทียบเท่านายพันโท กับได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงมหาสิทธิโวหาร เจ้ากรมกองเลขาธิการองคมนตรี สังกัดกรมราชเลขาธิการ
นอกจากนั้น หลวงมหาสิทธิโวหาร ยังได้รับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในหน้าที่ต่างๆ ที่ทรงพระกรุณาฯ อีกหลายประการ เช่น
ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทย ของกรมพระคลังข้างที่ ซึ่งถือเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
            ดังนั้น เมื่อการยึดอำนาจของคณะราษฎรมาถึง ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ หลวงมหาสิทธิฯ ก็ย่อมถูก "หางเลข"
ไปด้วยอย่างเต็มที่

            เริ่มจากการถูกสอบสวน แล้วย้ายไปเป็นรองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ต่อมาอีกไม่กี่เดือน ก็ถูกโยกกลับไปถิ่นเดิมคือ
กรมโลหะกิจอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าเมื่อสิบปีก่อน เขาจะเคยรู้จักมักคุ้นกับหลายคนในคณะผู้ก่อการฯ ซึ่งก็คือนักเรียนไทยในฝรั่งเศส
ที่เขาเคยกล่าวถึงไว้ในจดหมาย แต่ในวันที่กระแสการเมืองกำลังเชี่ยวกรากเยี่ยงนั้น หลวงมหาสิทธิโวหารเล็งเห็นว่าคงเอาดีใน
ทางราชการได้ยาก จึงตัดสินใจลาออกในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๗๕
            หลังจากลาออกได้ไม่ถึงเดือน ก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมก่อตั้งโรงเบียร์ของบุญรอดบริวเวอรี อันเป็นกิจการของพระยาภิรมย์ภักดี
(บุญรอด เศรษฐบุตร) ที่มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน โดยมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการหนึ่งในห้าคนของบริษัท ทั้งยังคงเขียนบทความ
โจมตีรัฐบาลใหม่ในหน้ากระดาษของ Bangkok Daily Mail อยู่เนือง ๆ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: JD ที่ 30 ธ.ค. 09, 19:43
ขอบพระคุณสำหรับเรื่องที่โหด มัน แต่ฮาไม่ออก

อยากทราบว่าจาก คคห 196
เสด็จในกรมฯ เสด็จเป็นองค์ประธานในฐานะเจ้านายหรือสหายร่วมตะรุเตา?


และจากวันสมรสจนวันมรณกรรมคุณชาย
เป็นเวลาเท่าไร?

กราบขอบพระคุณอีกครั้ง


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ธ.ค. 09, 21:34
ตอนถูกสันติบาลจับหลังเป็นอิสระจากการติดคุกคดีกบฏบวรเดชได้ไม่นาน  ม.ร.ว.นิมิตรมงคลถูกนำมาฝากขังที่โรงพักพระราชวัง ตรงตลาดท่าเตียน  เมื่อมาถึงก็ตกตะลึงเพราะที่นั่น กรมขุนชัยนาทฯประทับอยู่ในห้องขังห้องหนึ่งอยู่ก่อนแล้ว ตำรวจห้ามไม่ให้บุคคลทั้ง2พูดกัน แต่หลังจากสั่งฟ้องและนำไปขังที่เรือนจำด้วยกัน  ตลอดจนร่วมเป็นจำเลยในศาลพิเศษ จึงได้มีโอกาสได้ใกล้ชิด และทรงประทานเมตตาต่อ ม.ร.ว.นิมิตรมงคลมาก เมื่อม.ร.ว.นิมิตรมงคลถูกปล่อยเกาะเต่า(ไม่ใช่ตะรุเตานะครับ) แต่กรมขุนชัยนาทฯ(ตอนนั้นเขาปลดยศฐาบรรดาศักด์เป็นนักโทษชายรังสิต)เขาเอาไว้ที่บางขวาง

ดังนั้น เมื่อจะแต่งงาน ม.ร.ว.นิมิตรมงคลได้เข้าเฝ้าขอให้พระองค์ท่านแต่งให้ จึงทรงรับเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าว เสด็จมาทรงสู่ขอเจ้าสาวต่อพ่อแม่ด้วยพระองค์เองถึงที่บ้านซอยนามบัญญัติและประทานแหวนให้เจ้าบ่าวสวมให้เจ้าสาว ส่วนการแต่งงานเป็นพิธีง่ายๆที่วังวิทยุของพระองค์ท่าน เชิญนายอำเภอมาจดทะเบียนสมรสให้ที่วัง หลังจากนั้นก็ประทานน้ำสังข์ แล้วพ่อแม่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวก็ร่วมรดน้ำเป็นอันเสร็จพิธี แล้วประทานเลี้ยงน้ำชาแก่ทุกคน คืนนั้นมีงานเลี้ยงฉลองสมรสกันเองในหมู่ญาติมิตรที่บ้านของเจ้าสาว

วันแต่งงาน 22สิงหาคม2490 หลังจากนั้นเก้าเดือนเศษ วันแห่งการพลัดพรากชั่วนิรันดร์ก็มาถึงในวันที่ 11มิถุนายน2491


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: JD ที่ 31 ธ.ค. 09, 20:53
จาก คคห ๒๕


หลังจากชีวิตแต่งงานของเราผ่านไปได้ ๗ เดือนกว่า คุณชายก็ได้จากข้าพเจ้าไปโดยกระทันหัน ทิ้งลูกชายน้อย-ชัยนิมิตร-ไว้ให้ข้าพเจ้าเป็นตัวแทน ซึ่งแม้แต่พ่อของเขาเองก็ไม่มีโอกาสได้เห็นชมเชยลูก เพราะเธอสิ้นไปก่อนลูกเกิดเพียง ๔๕ วัน คือในวันอาทิตย์ที่ ๑๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๑ สิริรวมอายุได้ ๓๙ ปี ๑๑ เดือน ๒๐ วัน



และท่อนนี้ วันที่คลาดเคลื่อนกันเล็กน้อย



วันแต่งงาน 22สิงหาคม2490 หลังจากนั้นเก้าเดือนเศษ วันแห่งการพลัดพรากชั่วนิรันดร์ก็มาถึงในวันที่ 11มิถุนายน2491


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: JD ที่ 31 ธ.ค. 09, 21:02
หากคุณชายมีอายุยืนยาวกว่านี้ คงมีโอกาสเล่าเรื่องราวสารพัดสารพันที่น่าสนใจเกี่ยวกับตึกหลังนี้
น่าเสียดายอย่างยิ่ง


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ธ.ค. 09, 23:50
อ้างถึง
วันแต่งงาน 22สิงหาคม2490 หลังจากนั้นเก้าเดือนเศษ วันแห่งการพลัดพรากชั่วนิรันดร์ก็มาถึงในวันที่ 11มิถุนายน2491

ผมผิดไปเองครับ ขอประทานโทษเป็นอย่างสูง หลงเผลอไผลไปทั้งๆที่หลักฐานก็มีอยู่ครบ จะพิมพ์เมษายนนิ้วไปจิ้มเป็นมิถุนา เลยนับนิ้ววันเดือนปีมั่วไปด้วย ขอบพระคุณคุณJDที่ทักท้วงนะครับ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ม.ค. 10, 00:04
สวัสดีปีใหม่ครับ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: JD ที่ 01 ม.ค. 10, 16:23
ห้วงเวลาแห่งความสุขของคุณชายและคุณหญิงบรรจบพันธุ์ช่างแสนสั้น
คุณหญิงท่านคงใช้ชีวิตอย่างเตรียมพร้อมและตั้งมั่นนับแต่วันที่ตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต
แต่คุณหญิงก็นับว่าโชคดีที่ไม่ต้องส่งปิ่นโต
หรือย้ายครัวเรือนมาตั้งหน้าบางขวางเหมือนบางคู่


รูปงานศพโตเท่าแสตมป์ หากได้ชมขนาดจัมโบ้จะเป็นพระคุณมากๆๆๆ

ใคร่ขอทราบอีกสักหน่อยว่าตอนที่คุณชายตกตะลึงเมื่อพบเสด็จในกรมที่ สน พระราชวังนั้น
ทั้งสองรู้จักกันมาก่อนหรือเปล่า หรือเป็นการรู้จักฝ่ายเดียวตามธรรมดาที่ใครๆ ก็รู้จักเจ้านาย


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ม.ค. 10, 16:58
ม.ร.ว.นิมิตรมงคลเคยเป็นนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ทูลกระหม่อมบริพัตรนมนานก่อนไปเป็นศิษย์การบิน น่าจะได้คุ้นเคยเจ้านายหลายองค์อยู่แม้อาจจะไม่มีโอกาสเพ็ดทูลอะไรท่านก็ตาม เมื่อเห็นเสด็จในกรมชัยนาทจึงจำได้แม่นยำ

นอกจากนั้น ประสพการณ์ที่เคยถวายงานใกล้ชิดเจ้านายทำให้ไม่เกร็งที่จะปฏิบัติถวายเสด็จในกรมในยามที่ได้ร่วมเคราะห์กรรมที่บางขวาง ทำให้พระองค์โปรดม.ร.ว.นิมิตรมงคลเหมือนลูกหลาน

รูปแต่งงานต่อด้วยงานศพอยู่อัลบั้มเดียวกัน มีบันทึกด้วยลายมือของม.ร.ว.นิมิตรมงคลอยู่ และกล่าวถึงความสัมพันธ์ของตนกับเสด็จในกรมด้วย ผมยังเกรงใจผู้อ่าน ไม่ทราบจะเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนตัวเกินไปหรือเปล่าหากนำลงในกระทู้นี้ต่อ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: Lonelybankz ที่ 09 ม.ค. 10, 17:49
สุดยอดมากครับ ท่านNavarat.c  ลงต่อเลยครับ รอติดตามอ่านอยุ่นะครับ ต้องชอบพระคุณผู้ใหญ่ใจดี ที่ส่งหนังสือ ความฝันของนักอุดมคติ ชีวิต และ งานม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์ ไห้ได้อ่าน ได้ศึกษา ^^

(http://i252.photobucket.com/albums/hh14/akkarachai/SL377388.jpg)


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 12 ม.ค. 10, 22:51
ตามเข้ามาอ่านครับ

ขอบคุณ คุณ Navarat.C เป็นอย่างมากที่รวบรวม แล้วเรียบเรียงมาให้อ่านครับ
เป็นกำลังใจให้เสมอครับ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.พ. 10, 16:35
เพิ่งจะได้รับมา

ขอขอบพระคุณท่านผู้มอบให้อย่างยิ่งครับ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.พ. 10, 12:43
บทกลอนต่อไปนี้ เป็นกลอนสดเขียนบนเวที  โดย
คุณอดุล จันทรศักดิ์  ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์(กวีนิพนธ์ บทความ)

เมืองนิมิตร

คือเมืองซึ่งจะมีเพียงนิมิต
เมืองแห่งสิทธิ์เสรีที่จะฝัน
เมืองที่คนทุกคนเท่าเทียมกัน
ไม่มีชั้นช่องว่างระหว่างชน

ซึ่งจะมีในความงาม ในความคิด
เมืองที่รู้ถูกผิด รู้เหตุผล
มุมมองของคุณชายนิมิตรมงคล
ซึ่งอาจต้องคอยจนข้ามชาติภพ

**************



กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 ก.พ. 10, 15:27
  เมืองเอยเมืองนิมิตร      เมืองความคิดหรือความฝัน
ทางสว่างหรือทางตัน       คำตอบนั้นไม่ไกลนัก
  จงกล้าที่จะก้าว           ไม่ร้อนหนาวต่ออุปสรรค
ด้วยน้ำแรงและน้ำพัก       จะก้าวพ้นอำนาจพาล
  สัจธรรมนำศรัทธา        ปวงประชาจงพิจารณ์
ธรรมาหรือสามานย์         สติรู้ปัญญาเห็น ฯ

/\ ด้วยจิตคารวะ /\


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.พ. 10, 22:11
เข้ามาเพื่อขอบพระคุณอีกครั้งหนึ่งครับ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 16 มิ.ย. 10, 13:13
เพิ่งอ่านบทความนี้จบ มีความรู้สึกหลากหลายมากเลยค่ะ ทั้งซาบซึ้งกับเรื่องราวความรักของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล
และสลดใจในความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น เพราะการเมืองในสมัยนั้น ขอบคุณที่กรุณานำเรื่องราวในอดีตมาถ่ายทอด
ให้ได้รับทราบกันนะคะ
มีข้อสงสัยนิดหน่อยคะ หลวงพิบูลฯนี่ ใช่บุคคลคนเดียวกับที่เป็นรูปปั้น หน้าโรงเรียนพิบูลสงคราม ลาดพร้าว หรือเปล่าคะ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 มิ.ย. 10, 14:59
ใช่ครับ
โรงเรียนชื่อ พิบูลอุปถัมภ์ ตั้งอยู่ ถนนลาดพร้าว
ตามประวัติจอมพลป.พิบูลสงครามเป็นคนอนุมัติเงินงบประมาณเพื่อซื้อที่ดินและสร้างอาคารเรียนหลังแรกในปี2495ครับ

จอมพลป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี2ครั้ง
ครั้งแรก สมัยก่อนสงคราม มักจะเรียกว่า รัฐบาลหลวงพิบูล
ครั้งที่สอง หลังสงคราม มักจะเรียกว่า รัฐบาลจอมพลป.

ป. ย่อมาจากชื่อตัวครับ เดิมท่านชื่อแปลก


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 16 มิ.ย. 10, 17:24
ขอบพระคุณมากค่ะ ที่ให้ความกระจ่าง ตามอ่านเรื่องราวอื่นๆในเวปนี้อยู่ค่ะ
เป็นเวปไซด์ที่มีสาระน่ารู้มากมายจริงๆ เป็นคลังความรู้สำหรับตัวเองเลยล่ะค่ะ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: prickly heat ที่ 03 ก.ค. 10, 15:34
สมาชิกใหม่เพิ่งสมัคร.....มาลงชื่อว่าได้ติดตามอ่านครับ....

อ่านม้วนเดียวตั้งแต่สิบโมงเช้า.....จะลุกขึ้นก็ไม่ได้เพราะจะลุกก็ไม่อยากขาดตอน....

ขอบพระคุณสำหรับเรื่องราวที่นำมาถ่ายทอดให้ทราบครับ.....


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: djkob ที่ 27 ส.ค. 10, 14:37
กราบขอบพระคุณอาจารย์ และ เกจิ ผู้รู้ทุกท่านมาก ๆ ค่ะ  เพิ่งเป็นสมาชิกได้มานานแต่ติดตามมานาน

ขอคารวะเป็นศิษย์ของทุกท่านเลยค่ะ

เพราะกระทู้จึงทำให้ได้รู้จัก ท่าน ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์  ทำให้อยากได้หนังสือของท่านมาไว้อ่าน
ขณะนี้หาซื้อได้แล้ว คุ้มค่ามากเลยค่ะ 

ท่านใดอยากได้ต้องไปที่ร้านหนังสือ นายอิน ค่ะ

ด้วยความเคารพและศรัทธา

ดีเจกบ  :)
 


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 16 ก.ย. 14, 04:59
       ต้องกราบขอโทษอาจารย์ค่ะที่ยกระทู้เก่าขึ้นมาใหม่  เพิ่งมีเวลาไล่อ่านย้อนหลังค่ะ กระทู้นี้ดีมากๆเลยค่ะ  ได้ความรู้ เสียแต่เปลืองกระดาษทิชชูจังเลยค่ะ หมดไปห่อกว่าๆในค.ห.197(ทั้งถ้อยคำทั้งภาพทำให้น้ำตาไหลจนซับกันมือเป็นระวิง)
       อ่านจบก็เกิดค้างคาใจกับค.ห.205 ของคุณ JD  ที่ว่า
       "หากคุณชายมีอายุยืนยาวกว่านี้  คงมีโอกาสเล่าเรื่องราวสารพัดสารพันที่น่าสนใจเกี่ยวกับตึกหลังนี้  น่าเสียดายอย่างยิ่ง"
       นั่นซีค่ะ น่าเสียดายจัง กราบรบกวนอาจารย์นวรัตนช่วยกระซิบขอให้บุตรชายของคุณชายกรุณาเล่าแทนได้ไหมคะ  ;D


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ย. 14, 08:07
บุตรชายของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน ไม่เหลือจะเล่าอะไรเรื่องบิดาแล้วละครับ มีแต่ผมนี่แหละที่ยังเล่าเรื่องโน่นนี่นั่นอยู่ เกือบหมดภูมิแล้วเหมือนกัน

อยากทราบเรื่องอะไรเกี่ยวกับกระทรวงกลาโหมละครับ ถ้าเป็นประวัติศาสตร์การเมืองสมัยก่อนจอมพลสฤษดิ์ ผมก็เขียนไว้แล้วเป็นกระทู้มหากาพย์ ไม่ทราบว่าได้อ่านหรือยัง เป็นเรื่องราวที่เขียนต่อจากกระทู้นี้เลย


http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3363.0 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3363.0)

ลองดูนะครับ
ต่อจากข้างบน ยังมีอีกสองเรื่องยาวๆ อ่านกันตาเปียกตาแฉะก่อนที่จอมพลสฤษดิ์จะยึดอำนาจ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: สุวดี ที่ 23 ก.ย. 14, 00:07
มีเพื่อนที่อยู่ฮอลแลนด์ด้วยกันในตอนนี้
คือ หม่อมหลวงกรกต นวรัตน์ ค่ะ


กระทู้: ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 14, 06:03
ถ้าเช่นนั้น ให้เธอ(หรือเขา)ผู้นั้นอ่านเรื่องนี้ครับ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3000.0 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3000.0)

Looking for the Royal Family of "Navarat"
เจอคคห.แรกๆเป็นภาษาอังกฤษอย่าเพิ่งเลิกอ่านนะครับ ให้ navarat.c ออกโรงก่อน แล้วจะเลิกค่อยเลิก