เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: propaganda ที่ 27 ก.ย. 09, 20:33



กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: propaganda ที่ 27 ก.ย. 09, 20:33
เท่าที่ทราบผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนนางจะต้องมีความสามารถในหน้าที่การงานที่ได้ถวายการรับใช้เบื้องพระยุคลบาทเป็นอย่างดี ถึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนนาง จึงอยากทราบหมื่นพำนักนิกรชนท่านนี้ ได้ทำงานถวายการรับใช้เบื้องพระยุคลบาทในด้านไหนถึงได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งนี้ อย่างไรก็ดีข้อมูลเบื้องต้นที่พอทราบคือ ท่านหมื่นผู้นี้เป็นคนจีนแท้ๆ แต่ได้แต่งงานกับคนไทย คาดว่าน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 5 แต่ที่สงสัยอีกประการคือ เป็นคนจีนแท้ๆแบบ ไว้ผมเปียยาวด้านหลังแต่โกนศีรษะครึ่งศีรษะด้านหน้าแล้วได้เข้ามาทำงานรับใช้ราชสำนักไทยได้อย่างไร มีเหตุการณ์ที่มาที่ไปอย่างไร ที่คนจีนแท้ๆแต่เข้ามาทำงานภายใต้พระบรมโพธิสมภารจนได้ดิบได้ดีเป็นขุนนาง และที่อยากทราบอีกประการหนึ่งคือการที่หมื่นพำนักนิกรชนนี้ ได้ตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีในปัจจุบัน เลยอยากทราบว่าจะเป็นไปได้ไหมที่ท่านเข้ามาทำงานในราชสำนักไทยเริ่มต้นจากที่พระนครแล้วโดนย้ายมาดูแลงานในแถบภูมิภาคนี้เหมือนพวกเจ้าเมืองต่างๆในสมัยก่อนที่มีการหมุนเวียนเปลี่ยนไปดูแลปกครองหรือเป็นการที่หมื่นพำนักนิกรชนได้เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในภูมิภาคแถบจ.อุทัยธานีแต่เดิมแล้ว มีจังหวะได้ทำงานรับราชการจนได้ตำแหน่งเป็นท่านหมื่น

พอดีอยากทราบข้อมูลมาก เคยพยายามหาข้อมูลแล้วไม่เจอเลย เลยไม่ทราบข้อมูลมาจนถึงปัจจุบัน ท่านใดพอช่วยแนะนำเรื่องข้อมูลได้ก็ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย



กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 ก.ย. 09, 22:38
ขอเรียนเชิญ  คุณเงินปุ่นศรี   มาร่วมสนทนา  เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีเรื่อง ตำแหน่งขุนนาง ราชทินนามและศักดินา
(กรุณาร้องเพลง singing in the rain ไปด้วย)

ขอเรียนคุณ propaganda  คร่าว ๆ ตามหลักฐานที่มีนะคะ



หนังสือพิพิธภัณฑ์สัพพะสยามกิจ  ศักราช ๒๔๗๔  หน้า๑๐๘๙ - ๑๐๙๐  กล่าวถึง ราชทินนาม


พำนักชนบท,  ขุน  (เล็ก  พลิคามิน) รองอำมาตย์โท   นายอำเภอบางพลี  จังหวัดสมุทรปราการ

พำนักนรากร,  ขุน  (ตุ่น  โสรัจจ์)   รองอำมาตย์ตรี   ปลัดกิ่งอำเภอจอหอ   อำเภอเมือง  จังหวัดนครราชสีมา

พำนักนิกรชน,  หลวง  (อุ่นห์  สมิตามร)  รองอำมาตย์เอก   นายอำเภออรัญประเทศ   จังหวัดปราจีนบุรี

พำนักนิกรคาม,  ขุน(สนธิ์  เกตโกมล) รองอำมาตย์โท    นายอำเภอควรขนุน   จังหวัดพัทลุง



ยศ   หมื่น  นั้น  ส่วนมากศักดินา  ๔๐๐       มีน้อยรายที่จะขึ้นถึง ๕๐๐
ยศที่สูงกว่ามี ขุน  หลวง  พระ  และ พระยา


ชาวจีนที่ไว้เปียนั้นแล้วเข้ารับราชการใกล้ชิดพระยุคลบาทในตำแหน่งสำคัญๆ   ก็เริ่มมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์แล้ว
ท่านเหล่านี้ได้เคยเข้าเฝ้าใกล้ชิด  กราบทูลเป็นภาษาไทยได้  เนื่องจากมีภรรยาเป็นสาวไทย
ลูกสาวของท่านผุ้มีบรรดาศักดิ์ก็ได้เป็นนางในหลายราย   พระราชทานให้เจ้านายไปก็มี  
ลูกชายของเจ๊สัวเหล่านี่ถวายตัวเป็นมหาดเล็กก็มี   เป็นแล้วก็ตัดเปียทิ้ง
(ก.ศ.ร. กุหลาบเล่าไว้หลายรายทีเดียว ใน สยามประเภท หรือ มหามุขมาตยานุกูลวงศ์)


(อ่านเรื่อง การเซ่นตรุษจีนของ หม่อมกิ่ม  หม่อมของกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ เซ่นไหว้บรรพบุรุษในวันตรุษจีน  ในหนังสือ  "ป้าป้อนหลาน"
พระนิพนธ์หม่อมเจ้าดวงจิตร  จิตรพงศ์   พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ  ๒๕๕๐
อ่านแล้วก็รีบโทรศัพท์ไปอ่านให้มิตรสหายฟังโดนถ้วนหน้า)
(ไม่ได้ชักใบออกอ่าวแต่อย่างใด  หวังว่าหลายท่านคงได้อ่านแล้วเป็นแน่)


ข้าราชการภูธรนั้น  หลายรายเป็นเชื้อสายจีน เกิดเมืองไทยแต่พูดจีนที่บ้าน  
ได้รับแต่งตั้งจากข้าหลวง   ตำแหน่ง "หลวง"  ก็มีปรากฎ    ส่วนมากก็เป็นกรมการเมือง
เพราะเป็นผู้มีหลักฐาน เป็นที่รู้จักอยู่ในตำบล อำเภอนั้นๆ  มีหน้าที่ช่วยเหลือราชการต่างๆ  เรียกว่าเป็นข้าราชการระดับประทวน




กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 09, 22:47
ดิฉันไม่เคยได้ยินชื่อหรือประวัติของ "หมื่นพำนักนิกรชน"  เห็นจะต้องรอคนที่รู้เรื่องในอดีตดี อย่างคุณ wandee  คุณติบอ และท่านอื่นๆ  เผื่อจะมีใครรู้จัก
ถ้าตอบเอง ก็ได้แต่สันนิษฐานจากยศและราชทินนาม และประวัติสั้นๆที่คุณเล่ามา   เท่านั้น  

แต่อยากจะขอแก้ความเข้าใจผิดของคุณเจ้าของกระทู้อย่างหนึ่งที่ว่า
"เท่าที่ทราบผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนนางจะต้องมีความสามารถในหน้าที่การงานที่ได้ถวายการรับใช้เบื้องพระยุคลบาทเป็นอย่างดี"
กับ
"จะเป็นไปได้ไหมที่ท่านเข้ามาทำงานในราชสำนักไทย"

ขุนนางสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ก็เหมือนข้าราชการไทยสมัยนี้อยู่อย่างหนึ่ง  คือไม่จำเป็นว่ารับราชการแล้วจะต้อง "ถวายการรับใช้เบื้องพระยุคลบาทเป็นอย่างดี"  
ข้าราชการจำนวนมากก็ไม่เคยได้มีโอกาสรับใช้เจ้านายพระองค์ไหน   ถ้าหากว่าตำแหน่งหน้าที่การงานของพวกเขา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระราชภารกิจ

ดูจากยศและราชทินนามของ หมื่นพำนักนิกรชนแล้ว   ดิฉันเชื่อว่าท่านไม่ได้ทำงานในราชสำนักค่ะ   ยิ่งคุณบอกว่าท่านเป็น" คนจีนแท้ๆแบบ ไว้ผมเปียยาวด้านหลังแต่โกนศีรษะครึ่งศีรษะด้านหน้า"
ยิ่งเชื่อว่าท่านไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่การงานในราชสำนัก หรือแม้แต่ในกรุงเทพด้วยซ้ำ   มิฉะนั้นคงแต่งกายแบบไทย ตัดผมทรงมหาดไทยเสียนานแล้ว
เชื่อว่าน่าจะเป็นระดับหัวหน้าชุมชนคนจีน ในหัวเมือง   เหมือนเป็นอ.บ.ต. สมัยนี้

หมายเหตุ คลิกส่ง ชนกลางอากาศกับคุณ wandee พอดี


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 ก.ย. 09, 22:55
ขอบคุณ คุณเทาชมพู ค่ะ


ไว้เปียเมื่อเป็นข้าราชการก็ตัดค่ะ  เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ ๔



คุณเงินปุ่นศรีเป็นผู้เชี่ยวชาญตระกูลขุนนางภาคตะวันออกค่ะ
มีระบบเก็บข้อมูลระดับชาติ
มีอารมณ์ขันอยู่เสมอ


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: propaganda ที่ 27 ก.ย. 09, 23:58
ต้องขอขอบพระคุณทั้งสองคนเป็นอย่างมากที่เข้ามาช่วยแนะนำข้อมูล และต้องขอโทษที่อาจจะเข้าใจอะไรผิดไปบ้าง เนื่องจากไม่มีความรู้ทางด้านนี้สักเท่าไหร่ เท่าที่อ่านดู มาก็น่าจะได้เค้ามาบ้าง โดยเฉพาะประเด็น...

"ข้าราชการภูธรนั้น  หลายรายเป็นเชื้อสายจีน เกิดเมืองไทยแต่พูดจีนที่บ้าน 
ได้รับแต่งตั้งจากข้าหลวง   ตำแหน่ง "หลวง"  ก็มีปรากฎ    ส่วนมากก็เป็นกรมการเมือง
เพราะเป็นผู้มีหลักฐาน เป็นที่รู้จักอยู่ในตำบล อำเภอนั้นๆ  มีหน้าที่ช่วยเหลือราชการต่างๆ  เรียกว่าเป็นข้าราชการระดับประทวน"

"ดูจากยศและราชทินนามของ หมื่นพำนักนิกรชนแล้ว   ดิฉันเชื่อว่าท่านไม่ได้ทำงานในราชสำนักค่ะ   ยิ่งคุณบอกว่าท่านเป็น" คนจีนแท้ๆแบบ ไว้ผมเปียยาวด้านหลังแต่โกนศีรษะครึ่งศีรษะด้านหน้า"
ยิ่งเชื่อว่าท่านไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่การงานในราชสำนัก หรือแม้แต่ในกรุงเทพด้วยซ้ำ   มิฉะนั้นคงแต่งกายแบบไทย ตัดผมทรงมหาดไทยเสียนานแล้ว
เชื่อว่าน่าจะเป็นระดับหัวหน้าชุมชนคนจีน ในหัวเมือง   เหมือนเป็นอ.บ.ต. สมัยนี้"

แต่ด้วยเหตุนี้หรือเปล่าทำให้ไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ เพราะหมื่นพำนักนิกรชนอยู่ในท้องที่ต่างจังหวัดหรือหัวเมืองในสมัยก่อน ทำให้ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนัก อีกทั้งเมืองที่อยู่ก็เป็นเพียงเมืองเล็กๆ แล้วก็มีข้อสงสัยเพิ่มเติมประการหนึ่งจากข้อมูลที่ลงให้อ่านของหนังสือพิพิธภัณฑ์สัพพะสยามกิจ  ศักราช ๒๔๗๔  หน้า๑๐๘๙ - ๑๐๙๐  ที่กล่าวถึง ราชทินนาม ว่าในส่วนนี้ทำไมถึงไม่ปรากฎหมื่นพำนักนิกรชน จะด้วยสาเหตุเป็นขุนนางระดับเล็กหรือว่าเป็นขุนนางรับราชการต่างจังหวัดจะเป็นไปได้ไหม อีกทั้งราชทินนามพำนักนิกรชนนี้จะมีเพียงหลวงพำนักนิกรชน(อุ่นห์  สมิตามร)  รองอำมาตย์เอก   นายอำเภออรัญประเทศ   จังหวัดปราจีนบุรี เท่านั้นหรือ หรือราชทินนามนี้ไม่ครอบคลุมทั้งหมด เพราะถ้าจำไม่ผิดนามเดิมของหมื่นพำนักนิกรชน จะมีชื่อเดิมว่า "อ่วม" น่าจะมีชีวิตอยู่ในช่วงรัชกาลที่ห้า จะเป็นไปได้ไหมที่มีการตกหล่นไม่ได้บันทึกเอาไว้และราชทินนามที่ทางคุณWandee หามาให้นั้นอยู่ในช่วงสมัยรัชกาลใดหรือ ยังไงขอรบกวนเพิ่มเติมด้วย เพราะข้อมูลที่ต้องการนี้มีความสำคัญพอสมควร ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ช่วยหาข้อมูลให้  ;D





กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 ก.ย. 09, 00:50
พิพิธภัณฑ์สัพพะสยามกิจ   ศักราช ๒๔๗๔   ออกมากลางปี ๒๔๗๕
เป็นรายนามขุนนางในรัชกาลที่ ๗ เป็นส่วนใหญ่
เป็นคล้ายๆกับรายชื่อข้าราขการในกรมกระทรวง
เป็นหลักฐานสิ่งพิมพ์ที่พอตอบคำถามได้   แต่คงคลุมไปมากไม่ได้


หนังสือนี้เป็นหนังสือหายาก   ด้วยเหตุที่ถูกทำลายเพราะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ข้อมูลก็เปลี่ยน
ไม่มีผู้ใดกล้าเก็บไว้ เพราะเป็นเวลาฉุกเฉิน
ตามมาด้วยสงครามโลก  มีการโยกย้ายภูมิลำเนา  เอกสารที่ทิ้งไว้เบื้องหลังก็สูญไปมากต่อมาก


มีชื่อข้าราชการบางท่านในสมัยรัชกาลที่ ๖(ที่มีชีวิตอยู่ในปี ๒๔๗๕)     หนังสือหนา ๑๖๙๕ หน้า
เป็นโชคที่เจ้าของโรงพิมพ์ผู้เห็นการณ์ไกลได้เก็บรักษาไว้ด้วยการทำปกเดินทองอย่างงามที่สุด
ตกแต่งด้วยผ้าโปร่งชุบทองทำเป็นกรอบ  
เสียดายที่เล่ม ๑  ผู้ครอบครองขายให้ร้านหนังสือเก่าที่อัมรินทร์พลาซ่าและเดินทางไปประเทศพม่าแล้ว




ราชทินนามนั้น  มีผู้ดำรงตำแหน่งหลายคน  บางชื่ออาจจะหกหรือแปดรายด้วยซ้ำไป
ถ้าเป็นผู้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์    เมื่อทราบนามแล้ว  ก็พอจะติดตามได้เป็นบางท่าน
จากราชกิจจานุเบกษา หรือหนังสือรวบรวมการแต่งแตั้งขุนนางในสมัยรัชกาลที่ ๕  หรือหนังสือรายชื่อข้าราชการของกระทรวง(มีน้อยเล่ม)
เช่นหนังสือของกรมมหาดเล็กเป็นต้น

ชื่อของพระยาบางท่านก็สูญหายไปในกาลเวลา  เพราะไม่ได้บันทึกไว้

โปรดระลึกไว้ด้วยว่า สิ่งพิมพ์ของประเทศไทยเรานั้น ถึงจะเริ่มในรัชกาลที่ ๓  ก็ ปลายรัชสมัยเสียแล้ว
หนังสือสำคัญคือกฎหมายที่ถ่ายมาจากกฎหมายตราสามดวงก็โดนยึดเกือบนำไปบรรจุเจดีย์
ประกาศห้ามสูบฝิ่น  ตามที่เข้าใจเมืองไทยก็ไม่มีทั้งๆที่พิมพ์จากต่างประเทศเกินจำนวนสั่งตั้งมาก


หนังสือวรรณคดีพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ ๔  ก็เป็นหนังสือล้ำค่า  
เมื่อมีการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้กัน  คนที่รักและพยายามสะสมหนังสือเก่านำมาเทิดศีรษะไว้ก็มี


ขนาดนักปราชญ์ที่ทำพจนานุกรมเล่มมหึมา  ยังไม่มีผู้ทราบสายสกุลหรือประวัติของท่านเลย
หาชื่อเดิมได้ ๕ - ๖ แห่ง    ก็ไร้ประโยชน์


  


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 ก.ย. 09, 01:03
ไม่เป็นการรบกวนแม้นแต่น้อยนะคะ


ภูมิใจที่มีส่วนได้ตอบปัญหาตามปัญญาความสามารถ








กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 28 ก.ย. 09, 08:51
บรรพบุรุษผมได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวเสด็จประพาสเมืองตานีครั้งแรก ร.ศ.๑๐๗ ให้เป็นที่ หลวงจีนคณานุรักษ์ กัปตันจีนเมืองตานี
ตอนนั้นท่านยังไว้ผมเปียเหมือนกันครับ
ถ้านับจากรุ่นบิดาท่านที่มาจากเมืองจีน ท่านเป็นรุ่นที่ ๒ และเกิดในเมืองไทย

(http://www.kananurak.com/mcontents/1081081954kananurakcom3.gif)

แต่ต่อมาท่านก็ตัดเปีย ไว้ผมแบบไทย และในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ได้เลื่อนเป็น พระจีนคณานุรักษ์ กรมการพิเศษเมืองตานี

(http://www.kananurak.com/mcontents/1078931390kananurakcom2.gif)

เป็นข้อมูลยืนยันความเห็นอาจารย์เทาชมพูครับ


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 09, 09:33
ระหว่างรอคุณเงินปุ่นศรี มาตอบ รวมท่านอื่นๆที่มีความรู้เรื่องขุนนาง มาเพิ่มเติมให้  ก็ขออธิบายให้คุณเจ้าของกระทู้ฟังไปพลางๆก่อน ถึงบรรดาศักดิ์ขุนนาง
เรียงลำดับจากระดับผู้น้อย ไปหาผู้ใหญ่

พัน                           ประทวน
หมื่น                         ประทวน
********************
ขุน                           สัญญาบัตร
หลวง
พระ
พระยา
เจ้าพระยา
สมเด็จเจ้าพระยา
********************
ที่ยกมานี้  ขอเปรียบกับยศทางทหารตำรวจให้เข้าใจง่ายๆว่า   ระดับพันกับหมื่น ถ้าเป็นทหารตำรวจก็ระดับประทวน   ส่วนตั้งแต่ ขุน ขึ้นไป เป็นระดับสัญญาบัตร
สมเด็จเจ้าพระยา พอจะเทียบได้กับจอมพล  ส่วนเจ้าพระยานั้น ระดับพลเอก

คำว่า พัน  หมื่น เป็นยศของขุนนางผู้น้อย   ส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าชุมชนในท้องถิ่น    หมื่น สูงกว่าพัน
ในขุนช้างขุนแผน   มีตัวละครที่มียศอย่างนี้ คือหมื่นหาญ   ตำแหน่งแกคล้ายๆกำนัน    ก็ถือว่าใหญ่โตในท้องถิ่นนั้น

ส่วนคำว่า "พำนักนิกรชน" เป็นราชทินนาม    
ราชทินนาม  มี 2 แบบคือ
1 พระราชทานเฉพาะตัวของขุนนางคนใดคนหนึ่งก็ได้   พอขุนนางคนนั้นถึงแก่กรรมไปแล้ว ก็ไม่มีใครได้รับราชทินนามนี้อีก   เรียกว่ามีคนเดียวในประวัติศาสตร์
เช่นราชทินนาม รามราฆพ  ของเจ้าพระยารามราฆพ
2 เป็นราชทินนามที่ระบุถึงตำแหน่งหน้าที่     ขุนนางคนไหนมารับตำแหน่งนั้นก็ได้ราชทินนามนั้น
เช่นเจ้าพระยายมราช  เสนาบดีมหาดไทย      ใครมาเป็นเสนาบดีมหาดไทยก็ได้เป็นเจ้าพระยายมราช
คนเก่าถึงแก่อนิจกรรม หรือพ้นตำแหน่งไป  คนใหม่มาแทนก็เป็นเจ้าพระยายมราช คนใหม่
เจ้าเมืองก็แบบนี้  ใครมาเป็นเจ้าเมืองไหนก็รับบรรดาศักดิ์และราชทินนามของเจ้าเมืองนั้นๆ

พำนักนิกรชน   อยู่ในข้อ 2   มีหลายคน     มียศต่างกัน เป็นถึงคุณหลวงก็มี  ในข้อที่คุณ wandee ค้นมาให้
ถ้าเป็นหลวง ก็ถึงระดับนายอำเภอ
แต่ท่านหมื่นพำนัก ฯ   เป็นระดับหมื่น  ต่ำกว่าขุน   ดิฉันสันนิษฐานว่า พอเทียบขั้นได้กับกำนัน

ระดับนี้จะไม่มีบันทึกหน้าที่การงานและประวัติไว้ในหนังสือ  เว้นแต่ว่าท่านจะมีงานการพิเศษให้จารึกไว้ได้   อย่างพันจันทนุมาศ ที่ไปค้นพบหนังสือพงศาวดารสำคัญ  ก็ได้รับเกียรติได้รับชื่อประกอบพงศาวดารนั้นไว้
อย่าว่าแต่ระดับพันหรือหมื่นเลย  แม้แต่พระยาจำนวนมาก  ก็ไม่มีประวัติบันทึกไว้  ถ้าลูกหลานไม่บันทึกเอาไว้เองในหนังสืองานศพของท่าน    จริงอย่างที่คุณ wandee บอกไว้ค่ะ


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 28 ก.ย. 09, 09:52
เรียนถาม อ.เทาชมพูเพิ่มเติมครับ
จากทำเนียบข้าราชการมหาดไทยปี ๒๔๕๘
บางชื่อมี (ป.) ตามหลังเช่น หลวงวิชิตศุลกากร(จูอิ้น)(ป.)
(ป.) หมายถึงอะไรครับ
ขอบคุณครับ


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 09, 10:02
ดิฉันไม่มีหนังสือเล่มนี้ เลยไม่ทราบว่าตรงคำนำ หรือหมายเหตุของหนังสือ เขาอธิบายไว้ว่า ป.ย่อมาจากคำว่าอะไร
คุณ wandee น่าจะตอบได้ค่ะ


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: propaganda ที่ 28 ก.ย. 09, 10:21
ขอขอบพระคุณทุกๆข้อมูลเป็นอย่างสูง

เท่าที่อ่านมา อาจจะสรุปได้ไหมว่า หมื่นพำนักนิกรชน อาจจะเป็นหัวหน้าชุมชนแบบกำนันในสมัยนี้ มีหน้าที่ดูแลชุมชนที่อาศัยอยู่ในหัวเมือง...แต่ก็เตรียมทำใจแล้วว่าคงไม่มีข้อมูลลึกไปกว่านี้ก็เป็นได้ เพราะด้วยเป็นเพียงข้าราชการระดับล่างๆ คงไม่น่าจะมีบันทึกอะไรไว้มาก แต่ก็ยังดีใจที่อย่างน้อยก็พอจะทราบความรู้เพิ่มเติมอีกมากมายจากหลายๆท่าน ในบอร์ดแห่งนี้ แต่ถ้ามีข้อมูลใดพอจะแนะนำเพิ่มเติมได้อีกก็ยิ่งเป็นการดี ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 09, 14:39
น่าจะมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องขุนนางจีน มาขยายความให้คุณเจ้าของกระทู้ ได้เกร็ดความรู้เพิ่มเติมได้
ระหว่างรอ ก็ขอคั่นโปรแกรมด้วยบทสันนิษฐาน  วิเคราะห์จากคำบอกเล่าของคุณเอง
๑   ถ้าคุณรู้ชื่อเดิมและแซ่ของหมื่นพำนักฯ  สมาชิกเรือนไทยที่รู้ภาษาจีนอย่างคุณเครซี่ฮอส ก็จะบอกได้จากการออกเสียงชื่อและแซ่ ว่าท่านเป็นคนจีน เชื้อสายแต้จิ๋ว แคะ  ฮกเกี้ยนฯลฯ หรืออะไรแน่
๒  "ท่านหมื่นผู้นี้เป็นคนจีนแท้ๆ แต่ได้แต่งงานกับคนไทย เป็นคนจีนแท้ๆแบบ ไว้ผมเปียยาวด้านหลังแต่โกนศีรษะครึ่งศีรษะด้านหน้า"
ท่านอาจจะเป็นลูกจีนเกิดในสยาม  พ่อเป็นจีนอพยพ  จึงแต่งกายตามเชื้อชาติจีน   หรือท่านอาจเป็นจีนอพยพเองก็ได้
ในเมื่อแต่งงานกับภรรยาคนไทย  ก็แสดงว่าถ้าเป็นจีนอพยพ ท่านไม่ได้นำภรรยามาด้วยจากจีน  แต่มาแต่งงานกับหญิงไทย
ชายจีนที่มาแต่งงานกับหญิงไทย ตั้งถิ่นฐานอยู่ในไทย    มีมาตั้งแต่อยุธยา  ในสมัยรัตนโกสินทร์ก็มีเป็นจำนวนมาก
๓  ตำแหน่ง หมื่นพำนักนิกรชน   บอกให้รู้ว่าเป็น "นายบ้าน" หรือหัวหน้าชุมชน เข้าใจว่าระดับตำบล ในเมืองอุทัยธานี  คนที่มีตำแหน่งนี้ได้ก็ต้องมีลูกบ้านให้การยอมรับนับถือ   ทั้งคนจีนและคนไทยท้องถิ่น
อย่างน้อยก็ต้องพูดไทยได้  ถึงสื่อสารกับลูกบ้านและขุนนางระดับสูงขึ้นไปได้
๔ ในเมื่อเป็น "นายบ้าน" ก็แปลว่าท่านต้องมาตั้งรกรากอยู่ในตำบลนั้นของอุทัยธานี นานพอสมควร ก่อนทางการจะตั้งให้ได้รับตำแหน่งนี้   มีลูกน้อง มีชาวบ้านรู้จักดี   ถึงกลายเป็นหัวหน้าชุมชนขึ้นมาได้
๕  คุณคงจะมีภาพถ่ายของท่านแต่งกายแบบจีน  ขอให้สังเกตดูว่าท่านอยู่ในวัยชราหรือไม่    ถ้าแต่งกายแบบจีนในวัยชราก็แปลว่าไม่ได้เปลี่ยนตัวเองเป็นไทย     คงจะสะดวกใจที่แต่งกายแบบจีนอยู่อย่างนั้น
ก็มีแนวโน้มว่า ท่านอาจเป็นจีนอพยพ  หรือลูกจีนรุ่นแรก    คงไม่ใช่จีนรุ่นสามหรือสี่


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: เงินปุ่นสี ที่ 28 ก.ย. 09, 15:57
ก่อนอื่นต้องขออภัยทุกฯท่าน โดยเฉพาะคุณวันดี
ที่หนูเงินปุ่นสีคนนี้เข้ามาร่วมแจมช้าไปนิด

ที่จริงเมื่อได้อ่านความเห็นของทุกฯท่าน โดยเฉพาะของอาจารย์เทาชมพู
เสริมด้วยชื่อและตำแหน่งที่มีอยู่ในหนังสือฯ ของคุณวันดีที่อุตสาห์ไปเปิดหามาให้
ก็เกินความรู้และข้อมูลที่ผมมีอยู่แล้วละครับ

การค้นประวัติบุคคลในอดีตโดยเฉพาะถ้าท่านฯนั้นอยู่ในหัวเมือง
เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับครับว่ายากจริงฯ โดยทั่วไปแล้วในขั้นต้น
คงต้องหาเค้าจากคนในสกุลของท่านนั้นฯ ก่อน อย่างเช่นว่าเคยดำรงตำแหน่งอะไร?
หรือมีหน้าที่เกี่ยวกับอะไร? จากนั้นจึงค่อยไปหาโครงจากเอกสารชั้นต้นหรือชั้นรองอื่นฯ
และที่สำคัญก็คือต้องพิจารณาด้วยว่าสมัยไหน? เพราะจะพบได้มากว่าส่วนใหญ่แล้ว
จะระบุช่วงเวลาเก่าเกินช่วงอายุ สำหรับข้อมูลที่เกี่ยวกับหมื่นพำนักนิกรชนนั้น
คงต้องขอให้ทางคุณ Propaganda ช่วยขยายข้อมูลเบื้องต้นอีกนิดครับ
เพื่อว่าจะได้หาแนวทางในการสืบค้นได้มากยิ่งขึ้น

เห็นด้วยกับท่านอาจารย์เทาชมพูครับว่าราชทินนาม "พำนักนิกรชน" นั้น
น่าจะเป็นตำแหน่งรับประทวน และส่วนตัวแล้วเชื่อว่าน่าจะรับประทวนกระทรวงมหาดไทย
ในส่วนหัวเมืองและอยู่ในช่วงรัชกาลที่ ๖ เป็นต้นไป

และไม่แน่นะครับอาจจะมีชื่อหมื่นพำนักนิกรชนอยู่ในหนังสือทำเนียบข้าราชการกระทรวงมหาดไทย
พ.ศ.๒๔๕๙ ที่คุณ CVT มีก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นส่วนหัวเมืองก็จะเขียนเรียงตามชื่อเมืองและอำเภอ
เพียงแต่ว่าอาจจะไม่มีชื่อสกุลดังเช่นหนังสือฯของคุณวันดี และตัวอักษร (ป) ข้างหลังนั้น
ก็อย่างที่เข้าใจกันครับว่าน่าจะหมายถึงประทวนนั้นเอง



กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 28 ก.ย. 09, 17:14
และไม่แน่นะครับอาจจะมีชื่อหมื่นพำนักนิกรชนอยู่ในหนังสือทำเนียบข้าราชการกระทรวงมหาดไทย
พ.ศ.๒๔๕๙ ที่คุณ CVT มีก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นส่วนหัวเมืองก็จะเขียนเรียงตามชื่อเมืองและอำเภอ
เพียงแต่ว่าอาจจะไม่มีชื่อสกุลดังเช่นหนังสือฯของคุณวันดี และตัวอักษร (ป) ข้างหลังนั้น
ก็อย่างที่เข้าใจกันครับว่าน่าจะหมายถึงประทวนนั้นเอง

ถ้า (ป.) หมายถึงประทวน ก็จะค้านกับที่ อ.เทาชมพูว่าไว้ใน คคห ๘ ครับ

พัน                           ประทวน
หมื่น                         ประทวน
********************
ขุน                           สัญญาบัตร
หลวง
พระ
พระยา
เจ้าพระยา
สมเด็จเจ้าพระยา
********************

สำหรับหนังสือทำเนียบข้าราชการมหาดไทย ผมไม่มีในครอบครองครับ
แต่เคยไปค้นที่หอสมุดกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว
ไม่มีเครื่องถ่ายเอกสารต้องคัดลอกเนื้อหาที่ต้องการไว้เอง
ผมเลยไม่ได้คัดลอกตอนคำนำ หรือคำชี้แจง น่าเสียดายเหมือนกันครับ


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: เงินปุ่นสี ที่ 28 ก.ย. 09, 17:36
ขอคัดข้อบังคับปกครองหัวเมือง ร.ศ.๑๑๗ ว่าด้วยตำแหน่งกรมการในทำเนียบ ดังนี้ครับ

"..ข้อ ๕ …ตำแหน่งจ่าเมือง สัสดี แพ่ง ศุภมาตรา และสาระเลข ๕ ตำแหน่งนี้
เป็นตำแหน่งรับประทวนตราเสนาบดีรับพระบรมราชโองการตั้งเป็นหลวงหรือขุน และการเลือกสรร…เป็นหน้าที่ข้าหลวงเทศาภิบาล"


ดังนั้นจะเห็นได้ว่าถึงการรับประทวนนั้น ตั้งเปนหลวงหรือขุนได้ครับ


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 09, 17:55
ไปเปิดพจนานุกรมมาเสริม

ขุนหมื่น (โบ) น. ข้าราชการชั้นต่ำพวกหนึ่งที่เจ้าสังกัดเอาประทวน
 ตั้งเป็นขุนบ้างเป็นหมื่นบ้าง.

ถ้างั้นในรัชกาลที่ 5   ถึงชั้นหลวง ก็ยังเป็นประทวนอยู่  ขอบคุณที่ให้ข้อมูลค่ะ


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 28 ก.ย. 09, 18:01
ได้ความรู้เพิ่มเติมอีกแล้ว
มีนี่อีกครับ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๑ วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๔๕๗ หน้า ๒๙๕๗

...แจ้งความกระทรวงมหาดไทย...
...เรื่องออกประทวนตราตั้งบรรดาศักดิ์...

ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ทำประทวนตราพระราชสีห์ตั้ง
ขุนวิชิตศุลกากร เจ้าพนักงานด่านภาษีปากน้ำเมืองตานี เปน หลวงวิชิตศุลกากร ๑
ฯลฯ
...ตั้งแต่ ณ วันที่ ๒๐ มีนาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ แล้ว...
...(ลงนาม) มหาอำมาตย์โท พระยามหาอำมาตยาธิบดี...
...ผู้แทนเสนาบดี...


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 09, 18:44
ชักสงสัยว่า รับประทวน  เอาประทวน  ออกประทวน ในสมัยโบราณ ไม่ได้มีความหมายเดียวกับ ประทวน ในสมัยนี้หรือเปล่าคะ


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: propaganda ที่ 28 ก.ย. 09, 20:25
ต้องขอขอบคุณทุกๆท่านที่รวมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์อย่างสูง

ในวันนี้ได้ค้นหาประวัติเพิ่มเติมจากคำบอกเล่าของคนที่พอเคยได้ยินเรื่องของหมื่นพำนักนิกรชนมาบ้าง ขออนุญาตนำเสนอเพื่อเป็นแนวทางในการค้นข้อมูลต่อไป

เดิมหมื่นพำนักนิกรชน มีนามเดิมว่า นายอ่วม แซ่เล้า (แต่ไม่ทราบว่าอพยพมาในรุ่นนี้หรือเป็นบุตรของผู้ที่อพยพมาก่อนหน้านี้--แต่จากความคิดส่วนตัวคือกำลังคิดว่าน่าจะย้ายมาจากรุ่นก่อนหน้าที่เพราะการแต่งงานในสมัยก่อนมักจะแต่งกันตอนอายุน้อยๆก็ทำให้ไม่น่าเป็นไปได้ที่จะอพยพมาเองโดยลำพังแต่อายุยังน้อย แต่มันก็ขัดกับการแต่งตัวว่าถ้ากรณีอพยพมานานแล้วทำไมการแต่งตัวยังเป็นแบบจีนแท้ๆตามข้อมูลที่ระบุข้างล่าง) ได้แต่งงานกับคนไทย ชื่อ นางเต๊า แล้วได้ทำอาชีพค้าไม้ (สับสนพอสมควรว่าทำอาชีพส่วนตัวค้าขายไม้แล้วมารับราชการจนเป็นหมื่นได้อย่างไรแต่มีหลักฐานเป็นเรือนไม้สักที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นไม้ที่ดีๆสวยๆที่หมื่นพำนักนิกรชนเลือกเอาไว้ปลูกบ้านของตนเอง) เดิมทีอาศัยอยู่ที่อำเภอเมืองของจังหวัดอุทัยธานีในขณะนั้น (แต่อำเภอเมืองของอุทัยธานีในขณะนั้นคืออำเภอหนองฉางในปัจจุบัน) แต่ต่อมาได้มีการย้ายอำเภอเมืองมาอยู่ในพื่นที่อำเภอเมืองในปัจจุบัน จึงได้ย้ายมาตั้งรกรากอยู่และตัวบ้านของหมื่นพำนักนิกรชนนี้ก็มีมาอยู่จนถึงปัจจุบัน จากการดูรูปถ่ายที่หลงเหลืออยู่ เป็นภาพผู้ชายชาวจีนถ่ายเหมือนในสตูดิโอแบบโบราณ นั่งเก้าอี้อยู่มีโต๊ะวางของพวกถ้วยชาจีนกับกระถางต้นไม้ขนาบสองข้าง ตัวท่านหมื่นแต่งตัวด้วยเสื้อสีขาวตัวใหญ่ๆ กางเกงเหมือนโจงกระเบนแต่ไม่ใช่เพราะผ้าดูกรุยกรายกว่านั้น แทบจะเหมือนกางเกงขาก๊วยแบบคนจีนใส่  ขากางเกงสั้นเพียงหน้าแข้ง สวมถุงเท้ายาวสีขาวไม่เห็นผิวหนัง สวมรองเท้าแบบรองเท้าผ้ารัดๆพอดีเท้าเหมือนที่พระเอกในหนังจีนใส่กัน มีส้นหนาพอสมควร ผมไว้ทรงแบบโกนหัวครึ่งหน้าแต่ด้านหลังมีเปียยาวอ้อมมาพาดเลยอกลงมาอีก เป็นรูปถ่ายเพียงรูปเดียว ที่หลงเหลืออยู่

ด้านครอบครัว ได้แต่งงานกับนางเต๊า มีบุตร-ธิดาที่ร่วมอุทรกัน คือ ขุนปาลวัฒน์วิไชย กับคุณหญิงอาณาจักรบริบาล (นามเดิมละมูน-ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นคุณหญิงเข้าใจว่าได้รับแต่งตั้งตามสามีที่ได้รับราชการจนได้เป็นอำมาตย์เอกพระยาอาณาจักรบริบาล)

ส่วนอายุที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 5 ได้สันนิษฐานจากการที่ ได้ลองเปรียบเทียบกับอายุของผู้ที่อยู่ในชั้นระดับเดียวกัน(ได้ข้อมูลจากหนังสืองานศพที่มีหลงเหลืออยู่ เนื่องจากผู้ตาย เกี่ยวดองโดยการเป็นมารดาของอำมาตย์เอกพระยาอาณาจักรบริบาลผู้เป็นลูกเขยท่านหมื่นโดยผู้ตายได้เกิดในปี 2411 และเสียชีวิตลงในปี 2494 แต่ได้ทำการบรรจุศพไว้เป็นเวลาหลายสิบปีเพิ่งจะพระราชทานเพลิงไปเมื่อปี 2519 ทำให้ยังพอมีหนังสืออนุสรณ์หลงเหลืออยู่) โดยเท่าที่ค้นคว้าดูรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 อยู่ในช่วงปี 2411-2453 เลยสันนิษฐานว่าหมื่นพำนักนิกรชนนี้อยู่ในช่วงรัชกาลที่ 5 อาจจะคาบเกี่ยวมาถึงต้นรัชกาลที่ 6 อีกทั้งได้ค้นคว้าพบว่า แม้กระทั่งผู้เป็นบุตรเขยของหมื่นพำนักนิกรชนนั้น ยังมีหนังสือประวัติที่พิมพ์เป็นที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ ว่าเกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงทำให้ปักใจเชื่อว่าหมื่นพำนักนิกรชนที่มีศักดิ์เป็นพ่อตานั้นน่าจะเกิดในสมัยรัชกาลที่ 5

อย่างไรคงต้องขออนุญาตรบกวนทุกๆท่าน โดยข้อมูลเพิ่มเติมที่ค้นคว้ามาได้เพียงเท่านี้เองหวังว่าคงช่วยได้บ้างไม่มากก็น้อย


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 09, 20:48
มาแกะรอยท่านหมื่น ตามข้อมูลใหม่
๑  เป็นอันรู้กันว่า ท่านหมื่นพำนักฯ มีนามเดิม เรียกแบบจีน ว่า เล้าอ่วม   คุณเครซี่ฮอสหรือสมาชิกอื่นๆที่รู้ภาษาจีน คงบอกได้ว่าเป็นสำเนียงอะไร   แต้จิ๋วหรือฮกเกี้ยน
๒  ภรรยาท่านที่ว่าชื่อนางเต๊า    เห็นทีจะเป็นสาวไทยเชื้อสายจีน  เพราะชื่อเต๊า ไม่ใช่ภาษาไทย เป็นภาษาจีน
๓  ถ้าหากว่าท่านเดินทางมาจากเมืองจีน  ก็มาเมื่อโตเป็นหนุ่มพอสมควรแล้ว    ไม่งั้นคงเดินทางมาแต่ยังเด็กไม่ได้  ถ้าหากว่ามีภรรยาที่แต่งกันตั้งแต่ยังเด็ก  ก็คงอยู่ทางเมืองจีน   ไม่ได้นำภรรยามาด้วย 
แต่ใจดิฉันสงสัยว่าท่านจะเป็นลูกจีนเกิดในไทยมากกว่า   เหตุผลเรื่องนี้จะอธิบายให้ฟังในข้อต่อๆไป
๔ ถ้าท่านเดินทางมาจากจีน  ก็ต้องมาขึ้นที่กรุงเทพ หรือจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งที่เป็นเมืองท่า    แล้วเดินทางมาตั้งรกรากอยู่ที่อุทัยธานี     แต่ถ้าเป็นลูกจีนเกิดในไทย  อาจจะเกิดที่อุทัยธานีหรือจังหวัดใกล้เคียง
๕  การค้าไม้ ไม่ใช่ของประหลาดอะไรเลย   เพราะจีนอพยพ  ไปทำไร่ทำนา หักร้างถางพงแบบ pioneer กันมากในภาคกลาง     เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม  มีจีนอพยพมาทำไร่ทำสวนกันมากมาย
เมื่ออุทัยธานีมีป่าไม้ที่สมบูรณ์   ท่านหมื่นก็คงเห็นช่องทางว่าค้าไม้คงไปได้ดี     ท่านคงจะมีบริวารจำนวนมาก  รับจ้างตัดไม้ให้ท่าน    ท่านเป็นหัวหน้าพวกเขาทั้งหมด  ถึงได้เป็นนายบ้าน
ข้าราชการสมัยท่านไม่มีออฟฟิศ ไม่ต้องเข้าไปนั่งโต๊ะทำงานอย่างสมัยนี้     ขุนนางไทยทำงานอยู่กับบ้าน   ในเมื่อท่านหมื่นฯ น่าจะเป็นคหบดีมีเงิน(จากค้าไม้) มีผู้คนบริวาร   เจ้าเมืองหรือกรมการเมืองก็ให้เครดิต  ตั้งเป็นหมื่นพำนักฯ ให้ช่วยดูแลลูกบ้าน
๖  ดูจากบริบทแล้ว ท่านหมื่นฯน่าจะเป็นระดับเศรษฐีท้องถิ่นทีเดียว 


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 09, 21:04
ถ้าท่านหมื่นฯ ไม่ได้เปลี่ยนการแต่งกายเป็นไทย ในบั้นปลายชีวิต    ก็แปลว่าท่านก็อยู่แบบจีนของท่าน อย่างที่เคยชินมาตั้งแต่เกิด    ที่บ้านไม้สักในอ.เมือง  อย่างนั้นแหละ   เป็นคหบดีท้องถิ่น ที่ผู้คนคงจะรู้จักกันดีพอสมควร
ท่านไม่ได้ไปรับราชการไทย   จนต้องนุ่งโจงกระเบนสวมเสื้อคอปิดแบบไทย   แต่ที่น่าสังเกตคือ ท่านหมื่นฯคงจะมี"คอนเนคชั่น " หรือแวดวงสมาคมอยู่กับขุนนางไทยมากพอสมควร  อาจจะมากกว่าสมาคมกับคนจีนด้วยกันเสียอีก
เพราะว่าลูกชายและลูกสาว กลายเป็นไทยไปเต็มตัวทั้งสองคน   ไม่ได้เป็นจีนอย่างคุณพ่อ
ข้อนี้เองทำให้ดิฉันสงสัยว่าท่านหมื่นฯเป็นลูกจีนเกิดในไทย     เพราะท่านกำหนดอนาคตของลูกชายลูกสาวไปในทางไทยเต็มตัว    

ลูกชาย ที่ได้บรรดาศักดิ์เป็น "ขุนปาลวัฒน์วิไชย"  ดูจากราชทินนาม น่าจะสังกัดมหาดไทย
ส่วนลูกสาว ชื่อเป็นไทยเต็มตัว คือละมูน    ทำให้เดาว่าถูกเลี้ยงมาแบบสาวไทย    เดาต่อไปว่าคงไม่ได้รัดเท้าอย่างหญิงจีน  และคงจะมีคุณสมบัติแบบแม่บ้านแม่เรือนไทย  ถึงแต่งงานไปกับหนุ่มขุนนางไทย แทนที่จะไปแต่งกับคุณชายแซ่อะไรสักคน  (ซึ่งก็น่าจะหาลูกชายเจ้าสัวด้วยกันในอุทัยธานีได้ไม่ยากนัก)
การกลืนจากจีนเป็นไทยในรุ่นลูกของท่านหมื่นฯ ทำให้ดิฉันคิดว่าท่านคงไม่ได้ยึดขนบธรรมเนียมจีนเคร่งครัดนัก   ไม่งั้นลูกชายคงมีชื่อจีน ค้าขายต่อจากพ่อ     และลูกสาวคงแต่งไปกับเจ้าสัวเมืองอุทัย
เมื่อพ่อไม่ยึดธรรมเนียมเคร่งครัด ก็มีแนวโน้มว่าท่านอาจเป็นลูกจีนเกิดในไทยก็ได้     ท่านก็เลยรักษาความเป็นจีนไว้เฉพาะตัวเอง อย่างที่ท่านเคยชิน   ไม่ได้ให้ลูกๆเป็นจีนตามไปด้วย

ลูกเขยของท่านหมื่นฯ ที่ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาอาณาจักรบริบาล   สังกัดมหาดไทยแน่นอน    ตอนแต่งอาจจะเป็นท่านขุนหรือคุณหลวงหนุ่มๆ ราชทินนามอื่น    ตำแหน่งงานเลื่อนขึ้นจนได้เป็นพระยา แสดงว่าก้าวหน้าไม่เบาเลย
คุณหญิงละมุน  อาณาจักรบริบาล  นั้น เมื่อเป็นเอกภรรยาของเจ้าคุณอาณาจักร ก็เป็นคุณหญิงโดยอัตโนมัติ  ไม่ต้องได้รับการแต่งตั้งก็เป็นเองค่ะ


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: propaganda ที่ 28 ก.ย. 09, 21:12
เรียนคุณเทาชมพู ขอเพิ่มเติมข้อมูลนิดหน่อย

2. นางเต๊า เท่าที่ค้นมาไม่น่าจะเป็นคนจีน อาจจะแค่มีเชื้อจีนหรือเป็นการออกเสียงชื่อที่ผิดๆมาตั้งแต่ต้น พอดีเจอหนังสือประวัติวัดแห่งหนึ่งระบุว่า "นายจันกับนาง.....(จำชื่อไม่ได้แต่เป็นชื่อไทยๆ) ผู้เป็นตากับยายของขุนปาลวัฒน์วิไชยกับคุณหญิงอาณาจักรบริบาล (ตากับยายน่าจะหมายถึงเป็นพ่อกับแม่ของนางเต๊า)ได้บริจาคไม้ที่รื้อจากเรือนมาปลูกเป็นกุฎิถวายวัด" ดังนั้นคิดว่าน่าจะเป็นคนไทยที่อยู่ในพื้นที่นั้นมาเป็นเวลานาน

3. คิดแนวเดียวกันว่าน่าจะเติบโตที่นี่มากกว่าอพยพมาจากเมืองจีน

6. จากประวัติในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพอำมาตย์เอกพระยาอาณาจักรบริบาลระบุไว้ว่า"อำมาตย์เอกพระยาอาณาจักรบริบาลได้สมรสกับบุตรีหมื่นพำนักนิกรชนและนางพำนักนิกรชน คหบดีชาวเมืองอุทัย"

ส่วนเรื่องการคบค้าสมาคมนั้นเข้าใจว่าในเมืองสมัยก่อนน่าจะมีชาวจีนหรือลูกหลายชาวจีนอยู่อย่างแพร่หลายเพราะแม้แต่อำมาตย์เอกพระยาอาณาจักรบริบาลผู้นี้ก็เป็นบุตรของชาวจีนกับหญิงไทยเข้าใจว่าน่าจะเป็นเพื่อนกันกับหมื่นพำนักนิกรชน เรียกต่อๆกันมาว่า ก๋งต่อกับนางนกแก้ว โดยก๋งต่อนี้มีข้อมูลว่าสืบเชื้อสายจากสกุลกั่วะ มีรูปภาพหลักฐานปรากฎเป็นภาพถ่ายของครอบครัวพระยาอาณาจักรฯ เป็นรูปที่ก๋งต่อแต่งตัวแบบชาวจีนเหมือนรูปของหมื่นพำนักนิกรชน กับบุตรชายแต่งตัวสไตล์จีนไว้ผมแบบโกนหัวครึ่งหน้าและครึ่งหลังถักเปียยาวพาดที่อก  ในขณะที่นางนกแก้วกับบุตรีอีกคนแต่งตัวแบบไทยแท้คือนางนกแก้วนุ่งโจงกระเบน ใส่เสื้อแขนยาว ห่มสไบทับ ส่วนบุตรีใส่แต่แขนยาว แบบแขนพอง ไม่มีสไบแต่มีสายสร้อยยาวๆพาดบ่ามาถึงเอว ไว้ผมจุก ใส่กำไลข้อเท้า แบบไทยๆ

คุณหญิงละมูนไม่ได้มีการรัดข้อเท้าแต่อย่างไร แต่ประพฤติตนตามธรรมเนียมไทยแท้ๆ แต่ยังคงเรียกหมื่นพำนักนิกรชนว่า "คุณเตี่ย" ส่วนที่แต่งงานกับพระยานั้นตอนที่แต่งงานพระยาอาณาจักรเป็นเพียงมหาดเล็กรายงานมณฑลกรุงเก่า(น่าจะหมายถึงอยุธยา)ยังไม่ได้มีตำแหน่งสำคัญแต่อย่างไร อายุตอนนั้นพระยาเพิ่งจะ อายุ 21 ปี (คำนวนจากเกิดปี 2434 แต่งงานปี 2455ปีเดียวกับที่รับราชการเป็นมหาดเล็ก)ส่วนเรื่องหน้าที่ที่ก้าวหน้าของพระยานั้น ส่วนตัวถ้าเทียบจากปีพ.ศ.แล้วพบว่าก้าวหน้าอย่างเร็วมาก ที่พอมีบันทึกระบุไว้ว่า
2455 - มหาดเล็กรายงานมณฑลกรุงเก่า
2456 - รองอำมาตย์ตรี นายอำเภอพระราชวังบางปะอิน
2457 - รองอำมาตย์ตรี นายอำเภอเสนา
2458 - รองอำมาตย์โท ขุนบริหารชนาธิกรณ์
2460 - รองอำมาตย์โท หลวงอรรถโกวิทวที หัวหน้ากองคดีกรมอัยการ
2461 - รองอำมาตย์โท หลวงอรรถโกวิทวที อัยการมณฑลกรุงเก่า
2464 - อำมาตย์ตรี พระอรรถโกวิทวที อัยการมณฑลภูเก็ต
2467 - อำมาตย์โท พระอรรถโกวิทวที
2470 - รั้งตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง
2471 - เจ้าเมืองตรัง
2472 - อำมาตย์เอก พระยาอาณาจักรบริบาล
2475 - อำมาตย์เอก พระยาอาณาจักรบริบาล เจ้าเมืองลพบุรี
คำนวนจากข้อมูลที่มี รับราชการครั้งแรกตอนอายุ 21 ปี และได้เป็นอำมาตย์เอกพระยาอาณาจักรบริบาล ตอนอายุ 38 ปี

-สอบถามเพิ่มเติมว่าตำแหน่งแรกเริ่มเลยที่เมื่อสามีได้รับตำแหน่งแล้ว ภริยาเอกได้เป็นคุณหญิงโดยอัตโนมัติไม่ทราบว่าเริ่ม ณ ตำแหน่งไหน


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 09, 21:25
ภรรยาท่านหมื่นพำนักฯ คือคุณนายเต๊า  น่าจะเป็นคนไทย     ดูจากพ่อแม่ชื่อไทย และเธอก็เลี้ยงลูกชายหญิงแบบไทย
ส่วนชื่อนี้จะสะกดผิด หรือเรียกกันตามนี้ก็ตาม    คงจะสรุปได้ว่าท่านหมื่นฯ มีภรรยาเป็นไทย    แล้วตกลงใจ เลี้ยงลูกๆแบบคนไทยมากกว่าจีน

"อำมาตย์เอกพระยาอาณาจักรบริบาลได้สมรสกับบุตรีหมื่นพำนักนิกรชนและนางพำนักนิกรชน คหบดีชาวเมืองอุทัย"
นี่คือคำสรุป   ท่านหมื่นฯเป็นเศรษฐีท้องถิ่นของบ้านฉวาง อุทัยธานีค่ะ

ขอแถมท้ายว่า การที่บ้านท่านหมื่นฯ ยังอยู่มาถึงปัจจุบัน ทำให้เดาว่าลูกหลานท่านที่อยู่ในอุทัยฯ ก็คงจะมีฐานะไม่ตกต่ำ  จึงรักษามรดกของบรรพบุรุษไว้ได้   


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: propaganda ที่ 28 ก.ย. 09, 21:42
รบกวนขอถามว่า ที่กล่าวสรุปว่าท่านหมื่นฯเป็นเศรษฐีท้องถิ่นของบ้านฉวาง อุทัยธานีค่ะ

บ้านฉวางคืออะไร???


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 09, 21:44
ขอโทษ ตั้งใจจะพิมพ์ว่า หนองฉาง  ค่ะ  พิมพ์ผิดไปทั้งคำ  :-[


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: propaganda ที่ 28 ก.ย. 09, 22:04
อ่อ มิเป็นไรแต่ก็เอางงเลยว่ามาจากข้อมูลตรงไหน  ;D

ส่วนเรื่องการดูแลรักษา ตอนนี้บ้านของหมื่นก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม ของตกทอดก็ยังคงอยู่ ว่ากันว่ามีการสั่งเอาไว้ว่าห้ามเคลื่อนย้ายของออกจากเรือน และเคยมีผู้เคยฝ่าฝืนนำของบางอย่างออกไป เอาไปไม่กี่วันบ้านก็ไฟไหม้ เจ้าตัวก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา จะว่าบังเอิญหรืออะไรก็แล้วแต่แต่ก็กลับทำให้ของยังคงอยู่ไม่มีใครกล้าเคลื่อนย้ายไปไหน แต่ก็มีที่เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลาก็เยอะ ที่เหลือตกทอดมาถึงทุกวันนี้ก็เป็นพวกเครื่องเคลือบแบบจีน ภาชนะเครื่องใช้ของจีน พวกกาน้ำร้อน พวกเฟอร์นิเจอร์มุก โต๊ะหมู่มุก กระจกมุก นอกนั้นเข้าใจว่าเป็นของตกทอดในรุ่นของคุณหญิงอาณาจักรบริบาลเพราะของจะดูเป็นไทยแท้มากขึ้น

ขอบพระคุณคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆมากที่ช่วยเหลือค้นคว้าให้แบบละเอียด   :D


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: propaganda ที่ 29 ก.ย. 09, 20:40
ว่าแต่วันนี้คุณเทาชมพูหรือท่านอื่นๆไม่มีข้อมูลหรือการสันนิษฐานเพิ่มเติมเรื่องใดบ้างเหรอ กำลังรอคอยด้วยความตั้งใจ  :-[


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ย. 09, 21:54
ท่านอื่นๆคงกำลังช่วยหาข้อมูลอยู่มั้งคะ
ได้แค่นี้ก็ถือว่าเยอะแล้ว  ลายแทงที่ให้มา มีนิดเดียว

กำลังนึกว่าผลงานของท่านหมื่นฯ น่าจะมีให้เห็นตามวัดวาอารามแถวนั้นบ้าง   คหบดีมักจะมีชื่อในการสร้าง หรือบริจาค จารึกชื่อเอาไว้ในวัดท้องถิ่น  เช่นสร้างศาลา
คุณไปสำรวจบ้างหรือยัง?

อ่านประวัติของท่านแล้วก็นึกถึงขุนจำนงจีนารักษ์ แห่งตลาดสามชุก สุพรรณบุรี       เป็นคหบดีชาวจีนที่ได้เป็นขุนนาง มีบ้านช่องสวยงาม ลูกหลานรักษาไว้ได้
เป็นหน้าตาของตลาดสามชุกมาจนทุกวันนี้


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 29 ก.ย. 09, 22:42
ถ้าคุณ propaganda  จะลองอ่านกระทู้อื่นๆที่ถามเรื่องราชทินนาม หรือบรรดาศักดิ์
จะเห็นได้ชัดว่า  เรื่องของท่านหมื่น  ได้รับความสนใจ  มีผู้เข้ามาพูดคุยด้วยมากเป็นพิเศษอยู่แล้ว
ทั้งๆที่หลักฐานก็น้อยมาก   จะอ้างอิงเอกสารใดก็ลำบาก  เพียงแต่ทราบว่า เป็นเชื้อสายจีน
มีฐานะทางเศรษฐกิจดี   ทำงานเป็นกรมการเมืองอยู่มหาดไทย


ธรรมดาธิดาของสกุลก็น่าจะรู้เห็นรับทราบความเป็นมาของบิดามารดาและวงศ์ญาติ
ญาติก็น่าจะสนทนาถึงบรรพบุรุษเป็นแนวทางอยู่บ้างแล้ว


สมควรสืบหาจากญาติสายใกล้ชิดต่อไป
เช่นคุณหญิงมีลูกพี่ลูกน้องกี่คน  สายสกุลยังพอมีผู้อาวุโสที่ยังอยู่และจำบรรพบุรุษสายตนเองได้ไหม


ถ้าทำได้ดั่งนี้   ก็จะได้ข้อมูลที่พอเชื่อถือได้มาบ้าง    รายชื่ออาจขัดแย้งกันบ้าง
เป็นธรรมดา


เหตุที่กระทู้นี้ได้รับความสนใจก็เพราะ คุณเทาชมพู ได้เข้ามาเล่นกระทู้ใหม่
ดิฉันและเพื่อนสมาชิกก็เข้ามาพยายามพูดคุยกันเพื่อสร้างความเข้าใจอันดี
ืี่

พวกเราก็เฝ้าคอยที่ขอความรู้อันเป็นขุมทรัพย์จากคุณ เทาชมพู ในเรื่องอื่นๆต่อไป







กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: propaganda ที่ 29 ก.ย. 09, 23:20
ขออนุญาตตอบคุณเทาชมพู

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณมากอีกครั้งสำหรับข้อมูล ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะได้เจอข้อมูลที่พยายามค้นหามาตั้งแต่รับรู้เรื่องราวพวกนี้ บังเอิญเซิสหาข้อมูลเล่นๆผ่านกูเกิ้ล แล้วเผอิญไปกดโดนเรื่องราวเกี่ยวกับวังเก่าๆเลยลองหาเวปหลักจนมาเจอหน้าแรกของเวปนี้ถึงได้ลองเข้ามาตั้งกระทู้ดู เท่าที่อ่านๆมาก็พอประติดประต่อได้บางเรื่อง แต่ข้อมูลดิบที่มีอยู่จริงๆแล้วก็มีเพียงเท่านี้เพราะถ้าถามถึงหลักฐานแรกเริ่มจริงๆก็มีเพียงรูปถ่ายซีดๆเพียง 1 ใบกับชื่อที่ได้ยินบอกทอดกันต่อๆมาเพราะถ้าสันนิษฐานถึงอายุก็น่าจะอยู่ราวๆ 120 ปีขึ้นไป มันอาจจะนานเกินไปที่คนรุ่นหลังจะมาสนใจหรือใส่ใจให้ความสำคัญ ตามวัดต่างๆก็ไม่มีผู้รู้หรือหลักฐานใดๆเพราะมันอาจจะนานเกินไปจริงๆก็เป็นได้ เพราะอย่างกุฏิที่ว่าปัจจุบันก็ไม่เหลือร่องรอยแล้ว วัดในรุ่นหลังๆจากการสำรวจมาทุกวัดก็มักจะปรากฏแต่เพียงชื่อของทายาทหมื่นพำนักนิกรชนเสียส่วนมาก

เคยไปเยี่ยมชมมาแล้วที่ตลาดสามชุก ยังแอบชื่นชมในการดูแลบ้านขุนจำนงค์ของทายาท แต่ที่นี้คงไม่สามารถทำแบบนั้นได้เลยเพราะเป็นเพียงเมืองเล็กๆไม่ได้มีแหล่งท่องเที่ยวอะไรมาก ที่สำคัญไม่ได้เป็นทางผ่านไปยังเมืองอื่นๆ คนจะเข้ามาต้องเจาะจงเข้ามาจากสายเอเซียหลายสิบกิโล แต่ถ้าแบบสามชุกใครจะไปไหนก็ผ่านไปผ่านมาได้อย่างสะดวก อีกทั้งคนที่นี้มักจะชอบปล่อยให้อดีตมันกลายเป็นอดีตที่พร้อมจะจางหายไปกับเวลา

วันนี้ได้ข้อมูลมานิดหน่อยพร้อมจะขอสอบถามเพิ่มเติม บางเรื่อง
คือได้เห็นโปสเตอร์การสมโภชเจ้าแม่ของคนจีนไหหลำโดยมีการบรรยายว่าคนจีนไหหลำได้เริ่มอพยพเข้ามาสู่เมืองอุทัยต้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 จะเป็นไปได้ไหมที่ว่าเล้าอ่วมเป็นคนจีนไหหลำ?
ส่วนอีกสองข้อขอนอกเรื่องนิดหน่อย
1.อยากรู้ว่าถ้าเราจะหาหนังสืออนุสรณ์งานศพของคนโบราณจะไปหาได้จากที่ไหน คือเคยค้นเจอว่ามีในหอสมุดของม.ธรรมศาสตร์กับม.กรุงเทพแต่เราเป็นคนนอกจะสามารถเข้าไปยืมได้ไหม
2.อยากรู้ว่าถ้าหมื่นพำนักนิกรชนและนางพำนักนิกรชนมีบุตรและธิดา ในวัยเยาว์เด็กจะใช้นามสกุลอะไร จะใช้แซ่เล้าหรือจะใช้พำนักนิกรชนเป็นนามสกุลได้เลยไหม เหมือนแบบตามที่เห็นในปัจจุบันที่มีหลายท่านมีนามสกุลที่มาจากราชทินนามหรือบรรดาศักดิ์ เพราะในสมัยร5นั้นยังไม่มีการใช้นามสกุล เพราะเท่าที่สอบถามจากผู้ที่พอรู้ ทำไมกลายเป็นว่าถ้าพูดถึงชื่อหมื่นพำนักนิกรชน กลับใช้ชื่อนามสกุลว่าอ่วม ปาลวัฒน์วิไชย (ซึ่งเป็นราชทินนามของขุนปาลวัฒน์วิไชย)ซึ่งได้รับแต่งตั้งภายหลังจากผู้เป็นบิดาได้เป็นหมื่นพำนักนิกรชนอย่างแน่นอน รวมไปถึงคุณหญิงละมูนก่อนแต่งงานก็ใช้นามสกุลปาลวัฒน์วิไชยเช่นกัน

ขออนุญาตแทรกตอบคุณWandee
พอดีเป็นครั้งแรกที่เข้ามาเล่นอาจจะไม่รู้ธรรมเนียมการเล่นของคนในบอร์ดนี้ไปบ้างต้องขอโทษด้วยแต่ก็ขอขอบคุณสำหรับทุกๆความสนใจเมื่อดูจากจำนวนที่มีคนเข้ามาอ่านก็เยอะพอสมควร ส่วนเรื่องคุณเทาชมพูเข้ามาเล่นบอร์ดนี้อีกครั้งมาตรงจังหวะกับการที่เข้ามาเล่นบอร์ดนี้ครั้งแรกก็ถือเป็นโชคดีของpropagandaอย่างมากที่ทำให้ได้ข้อมูลจากทุกๆท่านช่วยพอขยายความในเรื่องที่ข้องใจมานาน

เรื่องสืบหาจากญาติใกล้ชิดได้ลองทำอย่าละเอียดและครบถ้วนแล้วแต่ไม่มีประโยชน์เพราะแต่ละคนที่เหลืออยู่ล้วนเกิดไม่ทันหรือโตไม่ทันในยุคสมัยของหมื่นพำนักนิกรชนสักคน แต่ละคนเคยได้ยินแต่คำบอกเล่าจากปากของคุณหญิงละมูนที่พูดถึงคุณเตี่ย ก็คือข้อมูลที่บอกไปหมดแล้วอีกทั้งผู้ที่เหลืออยู่ก็อายุมากๆกันแล้วทั้งนั้น ทายาทที่เหลืออยู่ในขณะนี้ถือเป็นรุ่นที่ 4 แล้วที่สืบทอดจากหมื่นพำนักนิกรชน--->คุณหญิงอาณาจักรบริบาล--->บุตรชายของคุณหญิงฯ--->ทายาทรุ่นปัจจุบันอายุประมาณ 65-75 ปี (ถ้าอายุน้อยกว่านี้ก็ไม่ทราบเรื่องแล้วเพราะไม่ทันรู้ความในรุ่นของคุณหญิงอาณาจักรบริบาล ถ้าหมดรุ่นนี้แล้วคิดว่าข้อมูลต่างๆคงสิ้นสุดกันอย่างแน่นอน


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 09, 08:59
ขอบคุณคุณ wandee ค่ะ    ตอนนี้ งานที่ทำอยู่นอกเน็ต เสร็จไปบางส่วนแล้ว อีกอย่างก็ปิดเทอมแล้วด้วย    เลยพอมีเวลาเข้ามาคุยได้ จะพยายามเข้ามาสม่ำเสมอ  เหมือนเมื่อก่อน
เห็นหน้าเก่าๆที่หายไปนาน กลับมาอีกอย่างติบอและคุณโฮฯ ก็ดีใจ   คุณ wandee อีกคน  อย่าหายไปนะคะ คิดถึง

ตอบคุณ proฯ
๑  เรื่องท่านหมื่นเป็นคนจีนเชื้อสายอะไร   ตอบง่ายมาก  แค่รอคุณเครซี่ฮอสหรือท่านอื่นๆที่รู้ภาษาจีนเข้ามาตอบก็จะได้คำตอบทันที    ว่าเล้าอ่วมเป็นสำเนียงจีนไหหลำหรือไม่
๒  เรื่องนามสกุลท่านหมื่น  ขอตอบว่านามสกุลคนไทยเพิ่งจะมีในรัชกาลที่ ๖   สมัยท่านหมื่นยังไม่มีนามสกุล   
คนรุ่นแรกที่ใช้นามสกุล คือลูกชายท่าน    ก็คงนำราชทินนามมาตั้งเป็นชื่อสกุล   พอเอ่ยถึงชื่อพ่อในประวัติสกุล   ก็เลยเอานามสกุลลูกต่อท้ายชื่อพ่อ เท่านั้นเองค่ะ
๓  หนังสืองานศพ  ไปสอบถามได้ที่หอสมุดแห่งชาติ   เข้าไปอ่านได้แต่ยืมออกมาไม่ได้


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: เงินปุ่นสี ที่ 30 ก.ย. 09, 09:55
ได้ค้นเอกสารที่มีอยู่ที่เป็นรายชื่อขุนนางในเมืองอุทัยธานีในช่วงต้น ร.๖
พบว่าบันทึกไว้แต่กรมการนอกทำเนียบที่เป็นชั้นคุณหลวง
ส่วนในราชกิจจาฯ ที่ค้นประวัติฯแบบคร่าวฯ ก็พบแต่หลวงพำนักนิกรราษฎร์ เท่านั้น
ยังไม่พบชื่อหมื่นพำนักนิกรกิจ ก็คงต้องช่วยกันหากันต่อไป

ในทำเนียบข้าราชการฯ พ.ศ.๒๔๘๑ ปรากฎชื่อขุนปาลวัฒน์วิไชย เป็นนายอำเภอนำ้้ซึมอยู่ครับ
ซึ่งเมื่อค้นเพิ่มเติมใน net พบว่าท่านเป็นผู้ขอเปลี่ยนชื่ออำเภอนำ้ซึมไปเป็นอำเภอเมืองอุทัยธานีในปีถัดมา
และตามข้อมูลของคุณ Propaganda ก็คงต้องถือว่าหมื่นพำนักนิกรกิจท่านนี้เป็นต้นตระกูลของ "ปาลวัฒน์วิไชย"
ดังนั้นก็คงไม่เป็นการผิดนัก ถ้าจะเขียนเป็น หมื่นพำนักนิกรกิจ (อ่วม ปาลวัฒน์วิไชย)

ว่าไปแล้วข้อมูลที่คุณ Propaganda ค้นมาได้ ก็ถือว่าละเอียดพอสมควร
แต่ถ้าจะค้นประวัติที่เกี่ยวข้องกับการงาน อาจต้องเข้าไปดูใบบอกหรือประกาศแจ้งความของกระทรวงต่างฯ

เท่าที่ผ่านตาพบมีหนังสือที่พิมพ์เอกสารพวกใบบอกของเมืองอุไทยธานีอยู่เล่มหนึ่ง
ชื่อ "เมืองอุไทยธานี เอกสารประวัติศาสตร์ฯ" ประมาณนี้ เขียนโดยคุณพลาดิสัย สิทธิธัญกิจ
และเข้าใจว่าคุณพลาดิสัยจะเป็นคนอุทัยธานีด้วย
ซึ่งถ้าจะค้นหนังสือดังกล่าวหรือติดต่อกับผู้เขียนอาจจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมครับ



กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: propaganda ที่ 30 ก.ย. 09, 11:12
ขอขอบพระคุณ คุณเทาชมพูสำหรับข้อมูลและคำตอบที่ได้สอบถามเอาไว้

และก็ขอขอบพระคุณ คุณเงินปุ่นสีเช่นเดียวกันที่ช่วยค้นคว้าข้อมูลมาเพิ่มเติม
แต่จะขออนุญาตแก้ไข จาก หมื่นพำนักนิกรกิจ เป็น "หมื่นพำนักนิกรชน" สักหน่อย
ส่วนเรื่องของหลวงพำนักนิกรราษฏร์นั้นไม่ทราบว่าที่ค้นในราชกิจจา ใช่ขุนนางเมืองอุทัยหรือเปล่า
อย่างไรขอรบกวนเพิ่มเติมด้วย  ;D


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 30 ก.ย. 09, 13:48
ผมไม่รู้ภาษาไหหลำครับ แต่แซ่ "เล้า" นี่ตรงกับสำเนียงของแต้จิ๋วครับ ค้นเจอบางที่บอกว่าฮกเกี้ยนเรียก "เล่า" และเจออะไรลมๆที่ดูเหมือนจะบ่งชี้ว่าไหหลำออกเสียงแซ่นี้ว่า Liu (ไม่รู้ประวรรณยุกต์อย่างไร) แต่อาจคล้ายจีนกลางที่ออกเสียงว่า "หลิว"

ถ้าสมมุติไว้ก่อนว่าท่านเล้า เป็นจีนแต้จิ๋ว แล้วมาดูที่ชื่อ "อ่วม"

คำนี้ไม่มีในภาษาแต้จิ๋วครับ แต่มีคำที่ออกเสียงว่า อ่วน, ฮ่วง

ถ้าท่านเล้าเป็นจีนแต้จิ๋ว ก็เป็นไปได้สองประการ
1. ชื่อของท่านถูกคนไทยเรียกเพี้ยนไปเป็นอ่วม เรื่องนี้พบได้บ่อยๆครับ ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดที่คนไทยจะจับแปลงชื่อจีนเป็นชื่อไทยๆที่ออกเสียงคล้ายกัน
2. ชื่อ "อ่วม" เป็นชื่อไทย ซึ่งอาจบ่งชี้ว่าเป็นลูกจีนที่เกิดในไทยครับ


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 30 ก.ย. 09, 17:10
เป็นกำลังใจให้คุณ propaganda ครับ
ผมติดตามหาข้อมูลจากที่นี่ทุกวัน แต่ไม่ค่อยแสดงความเห็นเพราะรู้น้อย
ที่นี่เป็นเวทีวิชาการที่มีความเป็นกันเอง ไม่หวงวิชา

การติดตามเรื่องราวของบรรพบุรุษ หรือวงศ์ตระกูล ต้องใช้ความพยายามสูงถ้าเริ่มช้า ก็ต้องใจเย็นๆครับ แต่อย่าเพิ่งท้อหรือหยุด
ตอนเด็กๆ พ่อสอนให้ท่องชื่อปู่ย่า, พ่อแม่ของปู่และย่า, ปู่ของปู่
เมื่อผมอายุประมาณ ๑๐ ปี ไปเจอเศษกระดาษบันทึกของปู่ ๔-๕ แผ่น เขียนบันทึกประวัติตระกูล มีชื่อนอกเหนือจากที่เคยท่อง
เป็นมูลเหตุให้เกิดความสนใจ เพราะยังมีนามสกุลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
เริ่มสอบถามเวลาเจอญาติ ว่าคนนี้เป็นอะไรกับเรา
จนเรียนจบมหาวิทยาลัย ทำแบบสอบถามส่งไปให้คนที่คิดว่าเป็นญาติ โดยเปิดดูจากสมุดโทรศัพท์ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
ขอรายละเอียดของแต่ละคนให้มากที่สุด เจอใครก็ขอจดรายละเอียด
แล้วเอามาปะติดปะต่อกันแบบจิ๊กซอว์ เพราะมีข้อมูลมากมาย เนื่องจากบรรพบุรุษที่มาจากเมืองจีนมีภรรยาหลายคน มีลูกหลายคน
นอกจากนี้ไปอ่านเจอเรื่องของบรรพบุรุษท่านหนึ่งในจดหมายเหตุฯ ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๕ เสด็จเมืองตานี
เลยค้นคว้าข้อมูลจากหอสมุดแห่งชาติ, หอสมุดกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหอสมุดอื่นๆ
ตอนที่รวบรวมรายชื่อเครือญาติผมเป็นรุ่นที่ ๖ มีรุ่นอาวุโสที่เหลือเป็นรุ่น ๔ ไม่กี่คน
แต่ก็สืบค้นไปจนถึงรุ่นที่ ๑ ได้เกือบครบทุกคน จนสามารถทำหนังสือประวัติตระกูลขึ้นมาได้ ๑ เล่มใหญ่ๆ

ก็ขอเป็นกำลังใจให้เร่งทำต่อไปครับ


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: propaganda ที่ 30 ก.ย. 09, 19:27
ขอขอบพระคุณ คุณCVT สำหรับกำลังใจและความคิดเห็นที่มีให้ ตอนนี้ก็พยายามใจเย็นๆค่อยค้นหาข้อมูลจากคำบอกเล่าของคนที่เหลืออยู่กับได้ข้อมูลจากทุกๆท่านในบอร์ดแห่งนี้ ก็คาดว่าคงจะเจอปลายทางในไม่ช้า ถึงแม้จะรู้ว่าโอกาสที่จะเจอหลักฐานที่เป็นเอกสารอาจจะน้อยนิด อาจจะเป็นเพราะทั้งความสำคัญไม่เท่ากับข้าราชการชั้นสูงที่ทำให้อาจจะมีตกหล่นในบันทึกต่างๆ รวมไปถึงระยะเวลาที่ผ่านมาเนิ่นนาน อีกทั้งมีข้อจำกัดที่อยู่ต่างจังหวัด หอสมุดหรือหอจดหมายเหตุที่นี่ก็มีไม่มาก และก็ไม่มีโอกาสเท่าไรที่จะเข้าไปค้นคว้าตามหอสมุดในกรุงเทพฯ แต่ก็คิดว่าจะพยายามทำให้ดีที่สุด แบบที่คุณCVT ทำได้จนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี


วันนี้ก็มีข้อมูลใหม่มานำเสนอเล็กน้อยพอดี คนที่ได้ไปสอบถามเมื่อวันก่อนได้แจ้งมาว่าพอจะนึกได้ว่า หมื่นพำนักนิกรชน หรือก๋งอ่วม มีน้องชาย ชื่อ "ก๋งกวย"
เลยกำลังคิดว่าถ้าคำว่า "กวย" เป็นภาษาจีน ก็อาจจะสันนิษฐานได้ตามที่คุณ CrazyHOrse ให้ข้อคิดว่าอาจจะชื่อ "อ่วน" ซึ่งเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วแต่เรียกนานๆอาจจะเรียกเพี้ยนกันไปบ้าง อีกทั้งยังได้รับคำบอกเล่าเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากบุตรและบุตรี คือขุนปาลวัฒน์วิไชย กับคุณหญิงอาณาจักรบริบาลแล้ว หมื่นพำนักนิกรชนยังมีบุตรกับภริยาคนอื่นๆ แล้วเท่าที่จำได้ก็มีบุตรชื่อ ซุ่นโฮว กับ ซุ่นฮวง (จะใช่คำจากภาษาแต้จิ๋วด้วยหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจนัก)

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลสันนิษฐานเพิ่มเติมว่า หมื่นพำนักนิกรชนน่าจะทำงานให้กับทางราชการตรงกับช่วงก่อน หรือช่วงที่  พระไชยนฤนาท ตำแหน่งในขณะนั้นของอำมาตย์เอกพระยายอดเมืองขวาง (ม.ล.อั้น เสนีวงศ์) เป็นผู้ว่าการเมืองอุไทยธานี เมื่อปี 2450 เพราะเปรียบเทียบกับลำดับชั้น เนื่องจากขุนปาลวัฒน์วิไชย บุตรของหมื่นพำนักนิกรชนได้แต่งงานกับนางอำไพ เสนีวงศ์ บุตรีของม.ล.อั้น เสนีวงศ์ กับคุณหญิงสายหยุด เสนีวงศ์ (เป็นความคิดเห็นส่วนตัวเนื่องจากมักจะเป็นที่รู้กันว่าในสมัยก่อนพวกขุนนางหรือข้าราชการในสมัยนั้นมักจะจับคู่ให้บุตร-ธิดาของต่างฝ่ายให้ได้แต่งงานกัน)


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 30 ก.ย. 09, 20:44
ชื่อ "กวย" "ซุนโฮ่ว" "ซุนฮวง"

อย่างนี้ไม่ต้องเดาแล้วครับ ผมเชื่อเสีย 85% แล้วว่าเป็นแต้จิ๋ว เผื่อไว้นิดหน่อยว่าอาจเป็นฮกเกี้ยนที่เป็นภาษาใกล้เคียงกันครับ


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 30 ก.ย. 09, 20:52
ชื่อ "กวย" "ซุนโฮ่ว" "ซุนฮวง"

อย่างนี้ไม่ต้องเดาแล้วครับ ผมเชื่อเสีย 85% แล้วว่าเป็นแต้จิ๋ว เผื่อไว้นิดหน่อยว่าอาจเป็นฮกเกี้ยนที่เป็นภาษาใกล้เคียงกันครับ

ใช่ครับ บ้านผมเป็นฮกเกี้ยน มีชื่อ กิมกวย, ซุ่นจ่าย, ซุ่นเฉี้ยง


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 09, 21:04
ฮกเกี้ยน มีชื่อ "อ่วม" หรือคำที่ออกเสียงคล้ายกันไหมคะ

ความเห็นนี้ไม่เกี่ยวกับประวัติท่านหมื่นฯ  แต่อยากบอกว่า  ท่านหมื่นฯมีลูกที่เกิดจากคุณนายเต๊า เป็นอภิชาติบุตรทั้งสองคน
อันที่จริงประวัติของขุนปาลวัฒน์ฯ กับคุณหญิงละมุน  น่าจะมีลูกหลานจำได้มากกว่าท่านหมื่นฯ เพราะใกล้มากกว่า
คุณโปรฯคงรวบรวมเอาไว้ได้มากแล้ว


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: เงินปุ่นสี ที่ 30 ก.ย. 09, 22:37
เพิ่มเติมตามที่ถามมา
หลวงพำนักนิกรราษฎร์ ไม่ใช่ขุนนางเมืองอุทัยฯ
ท่านรับราชการอยู่ในกรุงเก่าและอ่างทองครับ

และขออภัยที่หลายครั้งต้องตอบช้า
เพราะเอกสารไม่ได้อยู่ตัวและงานประจำช่วงนี้ยุ่งมาก


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: propaganda ที่ 30 ก.ย. 09, 23:16
ขอขอบพระคุณๆทุกความเห็นและคำแนะนำ
1.ตอนนี้จะสามารถสรุปได้ว่า หมื่นพำนักนิกรชน เป็นคนจีนแต้จิ๋วที่เข้ามาอยู่ใต้พึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทยในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 คาบเกี่ยวต้นรัชกาลที่ 6 แล้วหรือไม่
2.เรื่องประวัติของขุนปาลฯนั้น เนื่องด้วยภรรยาของขุนปาลฯก็เพิ่งจะเสียไปประมาณ 10 ปีได้และก็ยังมีบุตร-ธิดาเป็นจำนวนมากทำให้ข้อมูลยังคงอยู่ แต่คุณหญิงละมูนนั้น มีบุตร-ธิดาเพียงสองคน ซึ่งแต่ละคนก็ล้วนแต่เสียชีวิตไปนานแล้วเป็นเวลาหลายสิบปี รุ่นหลานๆที่อยู่ในตอนนี้ก็ล้วนอายุมาก ก็จดจำอะไรก็ไม่ค่อยได้ อีกทั้งเมื่อคราวคุณหญิงเสีย ก็เสียที่กรุงเทพ และเสียในขณะที่อายุเพียง 70 บุตรีเพียงคนเดียวของท่านที่ย้ายไปอยู่กับสามีในกรุงเทพฯก็ได้จัดงานที่กรุงเทพให้เสร็จสิ้นเสียทีเดียว โดยที่ทราบมาก็มีเพียงหนังสืออนุสรณ์งานศพของคุณหญิงละมูน ซึ่งแม้แต่ทายาทคนอื่นๆก็ไม่มีหนังสือที่ว่านี้ ตามที่เคยเรียนถามคุณเทาชมพูเรื่องการขอยืมหนังสืออนุสรณ์งานศพ เพราะเคยค้นหาเจอว่ามีในหอสมุดของมธ.กับม.กรุงเทพ อาจรวมไปถึงในหอสมุดแห่งชาติ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องการเดินทางไปกรุงเทพทำให้ข้อนี้โอกาสเป็นไปได้ยาก ยังเคยคิดว่าถ้าได้ข้อมูลประวัติจากหนังสืออนุสรณ์ของคุณหญิง อาจจะได้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมถึง คุณเตี่ย ของคุณหญิงได้บ้างไม่มากก็น้อย
3.หลายๆท่านอาจจะมีงานส่วนตัวที่ค่อนข้างยุ่งอยู่ก็ขอให้ท่านทำงานส่วนตัวให้เรียบร้อยก่อนไม่ต้องกังวลหรือไม่ต้องขอโทษขอโพยใดๆด้วยซ้ำที่บางทีอาจจะตอบช้าเพราะแค่นี้ก็ซาบซึ้งและเกรงใจทุกๆท่านที่สละเวลาอันมีค่ามาช่วยค้นคว้าหาข้อมูลมาได้จนขนาดนี้


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 01 ต.ค. 09, 07:51
ตามที่เคยเรียนถามคุณเทาชมพูเรื่องการขอยืมหนังสืออนุสรณ์งานศพ เพราะเคยค้นหาเจอว่ามีในหอสมุดของมธ.กับม.กรุงเทพ อาจรวมไปถึงในหอสมุดแห่งชาติ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องการเดินทางไปกรุงเทพทำให้ข้อนี้โอกาสเป็นไปได้ยาก ยังเคยคิดว่าถ้าได้ข้อมูลประวัติจากหนังสืออนุสรณ์ของคุณหญิง อาจจะได้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมถึง คุณเตี่ย ของคุณหญิงได้บ้างไม่มากก็น้อย
3.หลายๆท่านอาจจะมีงานส่วนตัวที่ค่อนข้างยุ่งอยู่ก็ขอให้ท่านทำงานส่วนตัวให้เรียบร้อยก่อนไม่ต้องกังวลหรือไม่ต้องขอโทษขอโพยใดๆด้วยซ้ำที่บางทีอาจจะตอบช้าเพราะแค่นี้ก็ซาบซึ้งและเกรงใจทุกๆท่านที่สละเวลาอันมีค่ามาช่วยค้นคว้าหาข้อมูลมาได้จนขนาดนี้

เมื่อประมาณปี ๒๕๓๕ เคยค้นข้อมูลเจอว่าในห้องสมุด มธ. มีหนังสือจดหมายเหตุ ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๖ เสด็จประพาสปักษ์ใต้ ของสักขี
ผมอยู่ที่หาดใหญ่ไม่สะดวกต่อการไปค้นคว้า เลยทำหนังสือถึงบรรณารักษ์ห้องสมุด มธ. ขอให้ถ่ายสำเนาหนังสือทั้งเล่มให้
ทางหอสมุดฯจัดทำและส่งไปให้ แล้วให้ผมส่งเงินตามหลังให้ บริการดีมากเลยครับ

สำหรับข้อ ๓ ส่วนตัวผมถือเป็นความมัน ความท้าทาย ในความอยากรู้อยากเห็นของผม ไม่ถือเป็นภาระครับ  ;D


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: propaganda ที่ 01 ต.ค. 09, 10:17
รบกวนสอบถามคุณ CVT ว่าเราจะติดต่อบรรณารักษ์ได้อย่างไร จะสามารถติดต่อผ่านทางโทรศัพท์เลยได้ไหม แบบเซิสหาจากเนตถึงเบอร์หอสมุดของมธ. แล้วบริการที่ว่านี้เขามีอยู่แล้วหรือว่าเฉพาะกิจ อย่างไรจะได้รีบติดต่อเผื่อจะได้ข้อมูลเสริมบ้าง


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 01 ต.ค. 09, 11:15
รบกวนสอบถามคุณ CVT ว่าเราจะติดต่อบรรณารักษ์ได้อย่างไร จะสามารถติดต่อผ่านทางโทรศัพท์เลยได้ไหม แบบเซิสหาจากเนตถึงเบอร์หอสมุดของมธ. แล้วบริการที่ว่านี้เขามีอยู่แล้วหรือว่าเฉพาะกิจ อย่างไรจะได้รีบติดต่อเผื่อจะได้ข้อมูลเสริมบ้าง

ผมเขียนจดหมายไปถึงบรรณารักษ์แบบวัดดวงดื้อๆ แต่ได้รับการตอบรับและบริการดีมากครับ


กระทู้: อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
เริ่มกระทู้โดย: propaganda ที่ 14 ต.ค. 09, 18:59
วันนี้พอดีมีบางอย่างมาเรียนให้ทราบกันแต่ก็ไม่มากเท่าไหร่ คือได้ลองทำตามคำแนะนำของคุณ CVT แล้วเรื่องทำจดหมายไปถึงบรรณารักษ์โดยได้ทำจดหมายไปถึงหอสมุดของม.ธรรมศาสตร์เพื่อขอคัดลอกสำเนาหนังสืออนุสรณ์งานศพคุณหญิงอาณาจักรบริบาล  ธิดาของหมื่นพำนักนิกรชนมาให้ และก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทางหอสมุด โดยจะทำการจัดส่งสำเนาหนังสืออนุสรณ์งานศพของคุณหญิงมาให้ในเร็ววันนี้ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าในหนังสืออนุสรณ์นั้นจะพอมีข้อมูลใดๆกล่าวถึงหมื่นพำนักนิกรชนหรือไม่ ก็ได้แต่ลุ้นว่าขอให้มีที่มาที่ไปบ้าง แม้แต่เล็กน้อยก็ยังดี จะได้นำมาประติดประต่อเรื่องราวได้ ส่วนช่วงที่หายไปก็ได้ไปค้นหาข้อมูลจากห้องสมุดในท้องถื่นก็ไม่มีหลักฐานใดๆปรากฎ โดยส่วนตัวเข้าใจว่าอาจจะเป็นเพราะหมื่นพำนักนิกรชนนั้นเป็นเพียงตำแหน่งในระดับที่ไม่สูงนักก็เป็นได้ ก็ยังหวังว่าอาจจะมีท่านใดไปเจอข้อมูลคร่าวๆหรือรูปภาพของหมื่นพำนักนิกรชนหรือเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่การงานบ้างสักเล็กน้อยก็คงจะดี

อย่างไรก็ขอขอบคุณทุกๆท่านที่ช่วยแนะนำและเป็นกำลังใจให้กันมาตลอดจนถึง ณ วันนี้