เรือนไทย

General Category => ทันกระแส => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ย. 14, 21:01



กระทู้: มาว่ากันเรื่องลิขสิทธิ์ในภาพโบราณหน่อยดีไหม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ย. 14, 21:01
เดี๋ยวนี้มีคนทำอย่างนี้กันมาก อย่างภาพนี้มีคนพะยี่ห้อตนเองเข้าไปเพื่ออะไร จะอ้างลิขสิทธิ์หรือกรรมสิทธิ์ อ้างไปทำไม อ้างได้หรือ


กระทู้: มาว่ากันเรื่องลิขสิทธิ์ในภาพโบราณหน่อยดีไหม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ย. 14, 21:07
ผมเห็นว่าการทำให้ภาพเลอะเทอะอย่างนี้ เป็นการทำลายคุณค่าของภาพอย่างยิ่ง ใครจะอยากโหลดไปเก็บไว้ดูไว้ศึกษา คนที่สนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ของชาติน้อยอยู่แล้ว เจอคนอ้างลิขสิทธิ์โน่นนี่นั่นบ่อยๆคงท้อ เลิกเล่าเลิกเรียน ไปเล่นเกม ดูหนังฟังเพลงดีกว่า


กระทู้: มาว่ากันเรื่องลิขสิทธิ์ในภาพโบราณหน่อยดีไหม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ย. 14, 22:15
ความจริงไม่มีใครจะมีสิทธิ์ใช้คำว่า Photo by ได้เลยนอกจากคนถ่าย ในกรณีรูปข้างบนนี้คือนายจอห์น ทอมสันที่เขาจะเขียนชื่อไว้เล็กๆที่มุมล่างว่า J Thomson photo

นอกจากว่าผู้ที่ตั้งใจกลับรูปจากซ้ายเป็นขวานี้คิดว่าจะอ้างลิขสิทธิ์ในการกระทำแผลงๆนี้ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะอันที่จริงภาพข้างบนจะต้องเป็นดังนี้ครับ

โปรดสังเกตุวิธีการบันทึกข้อความโดยไม่ทำลายคุณค่าของภาพ


กระทู้: มาว่ากันเรื่องลิขสิทธิ์ในภาพโบราณหน่อยดีไหม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ย. 14, 22:21
        V


กระทู้: มาว่ากันเรื่องลิขสิทธิ์ในภาพโบราณหน่อยดีไหม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ย. 14, 22:36
บุคคลหรือนิติบุคคลที่ชื่อว่าFATนนท์อาจรู้มากก็ได้ ถ้าถามว่ารูปนี้มีลิขสิทธิ์หรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่มีเพราะเป็นภาพโบราณ นายทอมสันผู้ถ่ายตายไปเกินกว่า๕๐ปีแล้ว

มาตรา ๑๙ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๒ ลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย


กระทู้: มาว่ากันเรื่องลิขสิทธิ์ในภาพโบราณหน่อยดีไหม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ย. 14, 22:46
แต่ภาพนี้FATนนท์ได้นำภาพของนายทอมสันซึ่งไม่มีลิขสิทธิ์แล้ว ไปดัดแปลงจัดองค์ประกอบใหม่ ทั้งกลับภาพจากซ้ายเป็นขวา แล้วเพิ่มกรอบดำทั้งสองข้าง  แม้จะทำลายคุณค่าของเดิมแต่ก็ถือว่าเป็นงานสร้างสรรชิ้นใหม่ กฏหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้ ใครเอาไปเผยแพร่โดยกฏหมายไม่มีข้อยกเว้นตามที่กฏหมายระบุ และโดยไม่อนุญาตเขาก่อน เขาอาจฟ้องร้องเอาผิดและเรียกค่าเสียหายได้ แต่จะได้เท่าไหร่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

มาตรา ๑๑ งานใดมีลักษณะเป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้ผู้ที่ได้ดัดแปลงนั้นมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้ดัดแปลงตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงานของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกดัดแปลง


กระทู้: มาว่ากันเรื่องลิขสิทธิ์ในภาพโบราณหน่อยดีไหม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ย. 14, 22:58
ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์

มาตรา ๓๒ การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

            ภายใต้บังคับบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามวรรคหนึ่ง มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

            (๑) วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
            (๒) ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท
            (๓) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
            (๔) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
            (๕) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย
                  หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว
            (๖) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏโดยผู้สอน เพื่อประโยชน์ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
            (๗) ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอนหรือทำบทสรุปโดยผู้สอนหรือสถาบันศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียน
                  หรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร
            (๘) นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ

เรื่องนี้ ใครอย่ามาฟ้องผมนะครับ เสียเวลาเปล่า


กระทู้: มาว่ากันเรื่องลิขสิทธิ์ในภาพโบราณหน่อยดีไหม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 14, 07:40
ภาพที่เจ้าของมีกรรมสิทธิ์

กรรมสิทธิ์แปลว่า เจ้าของสามารถขาย หรือให้ ให้ยืม แก่ผู้อื่นให้นำภาพ(ซึ่งถือเป็นทรัพย์)นั้นไปทำอะไรต่อก็ได้ แต่มิได้หมายคลุมไปถึงกรรมสิทธิ์ในลิขสิทธิ์ของภาพ เพราะเป็นภาพเก่าเข้าหลักเกณฑ์ของกฎหมายดังที่กล่าวไปแล้ว ลิขสิทธิ์ในภาพนั้นตกเป็นของแผ่นดิน ไม่มีใครมี

การเขียนอะไรแปะลงไปในภาพเช่นนี้ เจ้าของต้องการเพียงให้ทราบว่า รูป(โปสการ์ด)ใบนี้อยู่ที่เขา ใครอยากซื้อก็ติดต่อไป แต่การแปะยี่ห้อก็ระมัดระวังมิให้ทำลายคุณภาพจนด้อยค่า คนอื่นยังนำไปใช้ได้ ต้องขอขอบคุณ


กระทู้: มาว่ากันเรื่องลิขสิทธิ์ในภาพโบราณหน่อยดีไหม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 14, 07:42
ผู้ที่นำไปเผยแพร่ก็พึงกระทำเช่นนี้ จึงถือได้ว่ามีมารยาทงาม


กระทู้: มาว่ากันเรื่องลิขสิทธิ์ในภาพโบราณหน่อยดีไหม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 14, 07:57
ภาพบางภาพนั้น เจ้าของกรรมสิทธิ์ได้ไปแสวงหามาโดยใช้ทั้งกำลังสติปัญญาและกำลังทรัพย์เป็นอันมากเพื่อจะได้ครอบครอง กระนั้นก็ยังมีน้ำใจที่จะนำมาเผยแผ่แก่คนอื่น โดยก็ได้แสดงความเป็นเจ้าของไว้อย่างระมัดระวัง คนชนิดนี้มีคุณค่่าต่อสังคม(กลุ่มเล็กๆนี้)มาก ถ้าไม่มีคนที่มีปัญญาและน้ำใจเช่นนี้ เราๆท่านๆจะไม่มีโอกาสได้เห็นอะไรดีๆเลย

พระบวรฉายาลักษณ์กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญข้างล่าง มาจากภาพที่มีresolutionสูงมาก เจ้าของซื้อมาจากเมืองนอกด้วยราคาแพง แค่ขยายส่วนพระพักตร์ออกมาได้ขนาดนี้ก็พิสูจน์ว่าเกินคุณภาพล้ำบรรดาภาพเดียวกันที่เคยมีในประเทศไทย


กระทู้: มาว่ากันเรื่องลิขสิทธิ์ในภาพโบราณหน่อยดีไหม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 ก.ย. 14, 08:03
ภาพนี้ฝรั่งทำลายน้ำ เพราะขายภาพ


กระทู้: มาว่ากันเรื่องลิขสิทธิ์ในภาพโบราณหน่อยดีไหม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 14, 13:33
ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตราที่ 19-26

มาตรา 21 ลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพให้มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปี นับแต่ได้มี การโฆษณาเป็นครั้งแรก

ภาพข้างล่างนี้ถ่ายเมื่อปลายศตวรรษที่ 19   ปัจจุบันหมดลิขสิทธิ์ไปนานแล้ว แปลว่าใครจะนำไปดัดแปลง ทำซ้ำ ทำใหม่ และเผยแพร่ก็ได้


กระทู้: มาว่ากันเรื่องลิขสิทธิ์ในภาพโบราณหน่อยดีไหม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 14, 13:36
เมื่อไปเจอรูปนี้ในกูเกิ้ล   ดิฉันก็นำมาดัดแปลง สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ด้วยการทำเป็นภาพลายเส้น


กระทู้: มาว่ากันเรื่องลิขสิทธิ์ในภาพโบราณหน่อยดีไหม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 14, 13:38
แล้วก็ไปหา photo effect  ใส่กรอบเข้าไป  
จะเห็นว่าเป็นภาพใหม่ขึ้นมาแล้ว  แม้ว่ามีที่มาจากภาพเดิมก็ตาม แต่ไม่ได้เหมือนเดิมเป๊ะๆ  หากแต่มีเอกลักษณ์ของตนเอง

ภาพนี้เป็นลิขสิทธิ์ของเรือนไทย  มีอายุ 50 ปีนับแต่สร้าง(และเผยแพร่ครั้งแรก)คือนับจากวันที่ 2 กันยายน 2014  ไปอีก 50 ปี


กระทู้: มาว่ากันเรื่องลิขสิทธิ์ในภาพโบราณหน่อยดีไหม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 14, 15:31
บุคคลหรือนิติบุคคลที่ชื่อว่าFATนนท์อาจรู้มากก็ได้ ถ้าถามว่ารูปนี้มีลิขสิทธิ์หรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่มีเพราะเป็นภาพโบราณ นายทอมสันผู้ถ่ายตายไปเกินกว่า๕๐ปีแล้ว

มาตรา ๑๙ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๒ ลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย

^
อีกมาตรานึงครับ

มาตรา ๒๑ ลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียงหรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ให้มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก


กระทู้: มาว่ากันเรื่องลิขสิทธิ์ในภาพโบราณหน่อยดีไหม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 14, 15:57
คำหนึ่งที่ผู้ตรากฎหมายใช้ในกฎหมายลิขสิทธิ์ คือคำว่า "ผู้สร้างสรรค์"  เพราะลิขสิทธิ์ไม่ใช่ว่าเกิดในข้าวของอะไรก็ได้   แต่เป็นสิ่งที่ต้องมี "การสร้างสรรค์"ขึ้นมา 
รูปถ่ายที่ช่างภาพตั้งใจถ่ายให้เกิดความสวยงาม จากฝีมือ และองค์ประกอบพอเหมาะพอดี - ไม่ใช่สักแต่ว่ากดแชะส่งเดช ถ่ายอะไรก็ไม่รู้   พอให้ติดก็แล้วกัน - ถือเป็นงานสร้างสรรค์ จึงได้รับความคุ้มครองในฐานะทรัพย์สินทางปัญญา

ทรัพย์สินนี้แลกขายเปลี่ยนมือได้เช่นเดียวกับทรัพย์สินทั่วไป  ต่างกันแต่ว่ามันมีอายุเวลา  หมดอายุเวลาสร้างสรรค์แล้วก็หมดสิทธิ์การครอบครอง   ตกเป็นของสาธารณะ   แม้ว่ามีผู้ครอบครองอยู่ ก็ไม่อาจผูกขาดลิขสิทธิ์ไว้ได้

ขอยกตัวอย่างบทประพันธ์ก็แล้วกันค่ะ
เป็นที่รู้กันว่าสุนทรภู่เขียนนิราศไว้มากกว่า 9 เรื่องแต่ต้นฉบับบางเรื่องสูญหายไป  สาเหตุหนึ่งคือถูกปลวกขึ้นกุฏิเมื่อท่านบวชอยู่ที่วัดเทพธิดาราม     ทีนี้ ถ้าใครเกิดไปเจอนิราศเรื่องที่ 10 เข้า จากหลานเหลนของต้นตระกูลที่ไปคัดลอกนิราศนี้เอาไว้    นำมาขายให้นาย ก.   
นาย ก. มีลิขสิทธิ์ในนิราศเรื่องที่ 10 นี้  สามารถฟ้องร้องห้ามสำนักพิมพ์ใดๆตีพิมพ์นิราศเรื่องที่ 10 นี้ได้ไหม
คำตอบคือไม่ได้  เพราะบทประพันธ์ของสุนทรภู่หมดลิขสิทธิ์ไปนับร้อยปีแล้ว

แต่สิ่งที่นาย ก. ทำได้คือไม่ให้ใครเข้ามาหยิบสมุดข่อยจารึกนิราศเรื่องที่ 10 ไปจากตู้เซฟของเขา  เพราะของสิ่งนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของเขาจากการซื้อขายถูกต้องกับเจ้าของคนก่อน
สมมุติว่าทั้งประเทศไทยไม่มีใครเคยได้เห็นได้อ่านนิราศเรื่องนี้เลย  อยากจะอ่านเต็มแก่  ก็ต้องมาขอนาย ก. 
นาย ก.จะอนุญาตแบบเอาไปให้อ่านหมดในทีเดียว    หรือจะให้เช่าอ่านเป็นครั้งเป็นตอน ก็แล้วแต่จะตกลงกัน   ได้ไหม   ได้ 
นาย ก.จะขายสมุดข่อยให้สำนักพิมพ์ได้ไหม   ได้  สำนักพิมพ์เอาไปพิมพ์ได้ไหม  ได้

แต่ถ้าใครไปเจอสำเนาเรื่องนี้ในหอสมุดแห่งชาติ จะเอามาพิมพ์เผยแพร่ นาย ก. ห้ามได้ไหม เพราะถือว่าตัวเองถือลิขสิทธิ์นิราศเรื่องที่ 10  อยู่ คำตอบคือไม่ได้
เมื่อสำนักพิมพ์พิมพ์แล้ว   คนอื่นก๊อปปี้ไปลงเผยแพร่ที่อื่นโดยไม่ต้องขออนุญาต  ทำได้ไหม  ได้ เพราะงานประพันธ์ชิ้นนี้หมดลิขสิทธิ์ไปนานแล้ว

อยากให้ท่านที่รู้กฎหมายลิขสิทธิ์เข้ามาเพิ่มเติมหรือแก้ไขบ้างค่ะ


กระทู้: มาว่ากันเรื่องลิขสิทธิ์ในภาพโบราณหน่อยดีไหม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ย. 14, 15:25
คำที่มักจะมีผู้สับสน ใช้กันไม่ถูก คือ กรรมสิทธิ์ กับ ลิขสิทธิ์ ทั้งสองอย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร

1.  ลิขสิทธิ์เป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียว เจ้าของลิขสิทธิ์นั้น มีอำนาจห้ามบุคคลอื่นๆมิให้ลอกเลียนแบบผลงานของเขาได้ หรือมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการบางอย่างเกี่ยวกับงานลิขสิทธิ์ที่ตนเป็นเจ้าของ หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นสิทธิเด็ดขาด แต่ไม่ใช่เป็นสิทธิ์ในการผูกขาด (Monopoly)

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ได้มีบทบัญญัติที่สอดคล้องกับลักษณะของลิขสิทธิ์ในข้อนี้ โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 4 ว่า “ลิขสิทธิ์ หมายความว่า สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะทำการใดๆตามพระราชบัญญัติเกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น” คำว่าสิทธิแต่ผู้เดียว จึงย่อมเป็นลักษณะของสิทธิเด็ดขาดของเจ้าของลิขสิทธิ์

2.  ลิขสิทธิ์เป็นสิทธิในทางทรัพย์สิน ลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่เป็นทรัพย์สินรูปหนึ่ง โดยมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นอำนาจหวงกันมิให้ผู้อื่นมาละเมิดสิทธิทั้งหลายที่ตนมีอยู่ เจ้าของลิขสิทธิ์จึงสามารถโอนสิทธิของตนให้ผู้อื่นไปทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้ หรือสามารถอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิของตนได้

3.  ลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่มีจำกัดเวลา ลิขสิทธิ์เป็นสิทธิในทางหวงกันที่เจ้าของลิขสิทธิ์ได้มาเป็นการตอบแทนแก่การทุ่มเทกำลังกาย กำลังสติปัญญา สร้างสรรค์งานขึ้นมาเป็นประโยชน์แก่สังคม และในขณะเดียวกัน ก็คำนึงถึงประโยชน์ของสังคมที่จะได้ใช้งานนั้นด้วย อายุของลิขสิทธิ์จึงถูกกำหนดไว้ด้วยเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งน่าจะเป็นการตอบแทนที่พอสมควรแก่ผู้สร้างสรรค์งานนั้น ส่วนจะเป็นระยะเวลาเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับความตกลงในประเทศหรือกฎหมายภายในของประเทศนั้น

4.  ลิขสิทธิ์เป็นสหสิทธิ์ หมายความว่า เจ้าของลิขสิทธิ์ จะมีสิทธิอยู่หลายประการ คือ สิทธิในการทำซ้ำ สิทธิในการดัดแปลง สิทธิ์ในการเผยแพร่ต่อสาธารณะชน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเจ้าของลิขสิทธิ์จึงอาจจะโอนหรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิทั้งหมดรวมกันหรือแยกกันก็ได้

5.  ลิขสิทธิ์แยกต่างหากจากกรรมสิทธิ์ กรรมสิทธิ์เป็นทรัพย์สินซึ่งมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นตัวทรัพย์ และกรรมสิทธิ์จะติดมากับตัวทรัพย์เสมอ และมีอำนาจจำหน่าย จ่าย โอนตัวทรัพย์ และติดตามเอาทรัพย์นั้นคืนได้ ส่วนลิขสิทธิ์เป็นสิทธิเด็ดขาดที่มีอำนาจหวงกันมิให้ผู้อื่นเข้ามาใช้สิทธิที่เจ้าของสิทธิมีอยู่แต่เพียงผู้เดียว

ถ้าคุณซื้อของมาชิ้นหนึ่ง จะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ รถยนต์ อะไรก็ตาม   ของสิ่งนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของคุณแต่ผู้เดียว ใครมาเอาไปไม่ได้  ถ้าเอาไปดื้อๆโดยคุณไม่ยอม สามารถแจ้งตำรวจจับได้ในฐานะขโมย
ถ้าเพื่อนบ้านมาเห็นโต๊ะในบ้านสวยดี  ไปต่อขึ้นมาเองบ้างเหมือนกันเปี๊ยบ  คุณไม่มีสิทธิ์ไปฟ้องเขาว่าละเมิดกรรมสิทธิ์ เพราะเขาไม่ได้มาเอาของของคุณไป  
แต่ถ้าโต๊ะตัวนี้คุณดีไซน์ขึ้นมาเองด้วยมันสมองและจินตนาการ  ต่อเองเสร็จเรียบร้อย   เพื่อหวังขายเป็นสินค้า    คนมาเห็น แอบลอกดีไซน์ไปขายตัดหน้า    ถือว่าเขาละเมิดลิขสิทธิ์ของคุณ    คุณฟ้องศาลได้
แต่โต๊ะที่คุณดีไซน์และสร้างขึ้นมา  เมื่อคุณขายให้ลูกค้า  ลูกค้าซื้อไปแล้วจะทำอะไรกับโต๊ะนั้นก็ได้ แม้แต่จะเอาไปเผาทิ้งถ้านึกอยากเผาขึ้นมา   คุณห้ามเขาไม่ได้     แต่การเผาโต๊ะทิ้งไม่ได้กระทบกระเทือนลิขสิทธิ์ของคุณ  คุณยังคงมีสิทธิ์เป็นเจ้าของแบบโต๊ะหรือดีไซน์นั้นเช่นเดิม  


กระทู้: มาว่ากันเรื่องลิขสิทธิ์ในภาพโบราณหน่อยดีไหม
เริ่มกระทู้โดย: Prasit.S ที่ 05 ก.ย. 14, 14:17
อย่างที่เคย ไปยื่นเรื่องขอ ทำสำเนาพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่6 รัชกาลที่7 ที่หอสมุดแห่งชาติ ตามที่ อาจารย์ NAVARAT.C แนะนำ ( แอบโมโหตัวเอง เสียทีที่เป็น ศิยษ์เก่าวัดราชาธิวาส ) ตอนไปยื่นเรื่องขอ เจ้าหน้าที่ ก็ มีอธิบาย เรื่องลิขสิทธิ์ เคยมีลูกค้ามาถ่ายงานเอกสารที่บ้าน (ที่บ้านรับงานเอกสาร )เห็น พระบรมฉายาลักษ์ ก็ถามว่ามีขายไหมซื้อมาจากไหน ( คนไทยด้วยกันส่วนมากไม่ทราบว่าเราสามารถไปยื่นเรื่องขอทำสำเนาได้ ) ผมจึงแนะนำให้ไปที่ หอสมุดแห่งชาติ รบกวนถาม อาจาร์ย  NAVARAT.C  ครับ คือตอนที่ผมไปรับ พระบรมฉายาลักษณ์ ตามใบนัด ก็ไปหาซื้อ กรอบที่จะมาใส่พระรูป เห็นร้านถ่ายรูปร้านนึง แถวตลาดเทเวศน์ เขามี พระบรมฉายาลักษณ์จำนวนมากให้เลือกซื้อ  พระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ผมเข้าใจได้ แต่ ของพระองค์ท่าน อื่นอย่างเช่น พระรูปรัชกาลที่ 5 นี่มีลิขสิทธิ์ไหมครับ


กระทู้: มาว่ากันเรื่องลิขสิทธิ์ในภาพโบราณหน่อยดีไหม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.ย. 14, 14:32
ผมคิดว่าไม่มีครับ เกิน๕๐ปีแล้ว


กระทู้: มาว่ากันเรื่องลิขสิทธิ์ในภาพโบราณหน่อยดีไหม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ย. 14, 21:43
แถมข่าวปัจจุบันให้ดูค่ะ  ดีเจชื่อดัง deadmau5 สวมหูหนูกลมใหญ่เป็นสัญลักษณ์ประจำตัว เวลาปรากฏตัวกับแฟนคลับ
ทำมาหลายปีแล้ว  ตอนนี้บริษัทดิสนีย์ฟ้องเขาแล้วข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์หูของมิกกี้ เม้าส์

http://www.usatoday.com/story/money/business/2014/09/04/disney-deadmau5-deadmouse-mickey-mouse/15106939/ (http://www.usatoday.com/story/money/business/2014/09/04/disney-deadmau5-deadmouse-mickey-mouse/15106939/)