เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: ดาวกระจ่าง ที่ 13 ก.ค. 20, 10:15



กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องระดับเสียงวรรณยุกต์ภาษาที่คนไทยภาคกลางสมัยก่อนใช้ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 13 ก.ค. 20, 10:15
ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องระดับเสียงวรรณยุกต์ภาษาที่คนไทยภาคกลางสมัยก่อนใช้ค่ะ คือดิฉันมีความสงสัยว่าคนไทยภาคกลางในสมัยสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินตอนต้น-ตอนกลางภาษาที่ใช้มีระดับเสียงวรรณยุกต์กี่เสียง มี 5 เสียงเท่ากับคนไทยในสมัยนี้ไหมคะหรือมีน้อยกว่า มากกว่า 5 เสียง เลยอยากขอคำแนะนำค่ะว่า

1 ภาษาที่คนไทยภาคกลางในสมัยสุโขทัยใช้มีระดับเสียงวรรณยุกต์กี่เสียงคะ
 
2 ภาษาที่คนไทยภาคกลางในสมัยอยุธยาใช้มีระดับเสียงวรรณยุกต์กี่เสียงคะ
 
3 ภาษาที่คนไทยภาคกลางในสมัยรัตนโกสินตอนต้นใช้มีระดับเสียงวรรณยุกต์กี่เสียงคะ

4 ภาษาที่คนไทยภาคกลางในสมัยตอนกลางใช้มีระดับเสียงวรรณยุกต์กี่เสียงคะ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องระดับเสียงวรรณยุกต์ภาษาที่คนไทยภาคกลางสมัยก่อนใช้ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 20, 11:45
สงสัยจริงๆว่าคุณดาวกระจ่างเอาข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในเรื่องอะไรคะ
ละเอียดถึงชั้นอยากรู้ระดับเสียงวรรณยุกต์สมัยสุโขทัย


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องระดับเสียงวรรณยุกต์ภาษาที่คนไทยภาคกลางสมัยก่อนใช้ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.ค. 20, 16:10
ระดับเสียงภาษาไทยในสมัยสุโขทัยมี ๕ เสียงเหมือนในสมัยปัจจุบัน เพียงแต่รูปวรรณยุกต์มีเพียง 'ไม้เอก' และ 'ไม้โท' (ซึ่งยังอยู่ในรูป +) ส่วน 'ไม้ตรี' และ 'ไม้จัตวา' ยังไม่เกิด


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องระดับเสียงวรรณยุกต์ภาษาที่คนไทยภาคกลางสมัยก่อนใช้ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.ค. 20, 16:14
;D

เรื่องการวางอักษรเสียงสูงต่ำนี้ ผมมองว่าเป็นการแก้ปัญหา "ไม่มีไม้ตรี ไม้จัตวา" ในระบบการเขียนภาษาไทสุโขทัย ด้วยเช่นกันครับ

เป็นที่ทราบกันว่า ระบบการเขียนภาษาไทสุโขทัย มีวรรณยุกต์แค่ สองตัว คือ ไม้เอก กับ ไม้โท

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหานี้ เลยมีการสร้างอักษรที่ตอบสนองเสียงจัตวาขึ้น ตามที่มีคำศัพท์ "ที่มีความหมายรองรับ" (ไม่ใช่แค่ผันตามเสียง โดยคำนั้นๆ ไม่มีความหมาย)

สามัญ        จัตวา           ตัวอย่างศัพท์เสียงจัตวา (เทียบกับวรรคอักษรกลาง)
ค               ข              ขา
ช               ฉ              ฉาน (แตกฉาน)
ท               ถ              ถุม (ท่วม เช่น นํถุม : น้ำท่วม)
พ               ผ              ผา (หน้าผา, ผาเมือง)
ฟ               ฝ              ฝา
ซ               ส              เสือ
ฮ               ห              หา

ส่วนอักษรวรรคนาสิก กับ เศษวรรค ก็แก้ปัญหาโดยการเพิ่ม อักษรนำ "ห" และ "อ" ครับ

สามัญ            จัตวา               ตัวอย่างเสียงจัตวา (เทียบกับวิธีผันของวรรคอักษรกลาง)
ง                   หง-                เหงา
ญ                 หญ-                หญิง
น                  หน-                หนักหนา
ม                  หม-                หมา

ย                 หย-                 หยาม, อยาก
ร                  หร-                 หรา
ล                  หล-                หลาย
ว                  หว-                 หวาย

จากนั้น ก็จัดระบบการผันเสียง ของอักษรกลุ่มใหม่ ให้คาบเกี่ยวกับเสียง ตรี ของวรรคอักษรกลาง
อักษรกลาง     กา      ก่า     ก้า     ก๊า     ก๋า
อักษรสูง        คา             ค่า     ค้า
อักษรต่ำ                 ข่า    ข้า             ขา
                 งา              ง่า      ง้า
                         หง่า    หง้า            หงา

ดังนั้น วรรคอักษรสูงจึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา "ไม่มีไม้ตรี" ในภาษาไทสุโขไทย
แล้วทำไม ไม่มีไม้ตรี ไม้จัตวา ในภาษาไทสุโขทัย ? นั่นก็เพราะว่า ศัพท์ที่อยู่ในระดับเสียงนี้ ไม่มีใช้ในอักษรกลาง อีกประการหนึ่ง ชุดอักษรที่สุโขทัยดัดแปลงมาจากอักษรขอม ก็มีเพียงพอ
ส่วนถ้าถามต่อว่า แล้วทำไมต้องเอา "ห" นำ เพื่อทำเป็นเสียงจัตวา ? ก็คงตอบได้ว่า "ห" เป็นอักษรที่เป็นเสียงนาสิกที่ชัดเจนที่สุด และเหตุที่ต้องใช้ ห นำ เพราะ "อักษรขอมมีไม่พอ"  


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องระดับเสียงวรรณยุกต์ภาษาที่คนไทยภาคกลางสมัยก่อนใช้ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.ค. 20, 16:16
ไม้ตรีและไม้จัตวาเริ่มมีใช้เมื่อใด ?

ไม้ตรีและไม้จัตวาถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้เขียนคำที่มาจากภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาจีน จากวิทยานิพนธ์เรื่อง วิวัฒนาการการใช้รูปวรรณยุกต์ตรีและจัตวาในภาษาไทย ของ รองศาสตราจารย์ ดร.วิภาวรรณ อยู่เย็น พบการปรากฏรูปวรรณยุกต์ตรีครั้งแรกในภาษาไทย สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นในคําว่า นําก๊ก ในจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๔๖

                           วังกีเจ้าเมืองวอปะกัน          |
พระเจ้านำก๊กจับได้  วังเตริดเจ้าเมืองเว้             |  กับญาติวงษ
                       งุยเหยียว  |                    |
                       งัยหยอง   | ขุนนางผู้ใหญ่    |


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องระดับเสียงวรรณยุกต์ภาษาที่คนไทยภาคกลางสมัยก่อนใช้ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.ค. 20, 16:20
ส่วนรูปวรรณยุกต์จัตวาพบครั้งแรกสมัยธนบุรี ในคําว่า หมูอี๋  (ตำแหน่งอุปราชเมืองกวางตุ้ง)ในนิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน พ.ศ. ๒๓๒๔

ผู้ถือสารจึงเอาสารรับสั่งส่ง    ให้กับจงตกดูกับหมูอี๋
แล้วคัดข้อสารามาภาที         ว่าพระเจ้าหมื่นปีนั้นโปรฎปราน


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องระดับเสียงวรรณยุกต์ภาษาที่คนไทยภาคกลางสมัยก่อนใช้ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 13 ก.ค. 20, 18:44
ดิฉันแค่สงสัยเฉยๆค่ะคุณเทาชมพูไม่ได้เอาไปทำอะไร ที่ทำละเอียดก็เผื่อไว้จะมีข้อมูลซึ่งถ้าไม่มีข้อมูลจริงๆก็ไม่เป็นอะไรค่ะ

ขอบคุณคำตอบข้อที่ 1 ภาษาในสมัยสุโขทัยมีระดับเสียงวรรณยุกต์กี่เสียมากค่ะคุณเพ็ญชมพู ดิฉันจะคอยคำตอบข้อที่ 2 3 4 ต่อไปนะคะ หรือมี 5 เสียงเท่าเดิมกันหมดเลยมาจนถึงปัจจุบัน


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องระดับเสียงวรรณยุกต์ภาษาที่คนไทยภาคกลางสมัยก่อนใช้ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.ค. 20, 19:27
ระดับเสียงภาษาไทยในสมัยสุโขทัยมี ๕ เสียงเหมือนในสมัยปัจจุบัน

ลองอ่านข้อความนี้
คุณดาวตีความไฉน
ห้าเสียงสุโขทัย
ยังคงใช้ปัจจุบัน


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องระดับเสียงวรรณยุกต์ภาษาที่คนไทยภาคกลางสมัยก่อนใช้ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 14 ก.ค. 20, 21:28
ดิฉันไม่เข้าใจค่ะคุณเพ็ญชมพูสมัยปัจจุบันก็มี 5 เสียงไม่ใช่หรือคะ หรือภาษาที่คนไทยภาคกลางในสมัยอยุธยา รัตนโกสินตอนต้น ตอนกลางรัตนโกสินจะใช้มีระดับเสียงวรรณยุกต์ที่ต่างออกไปหรือคะ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องระดับเสียงวรรณยุกต์ภาษาที่คนไทยภาคกลางสมัยก่อนใช้ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 14 ก.ค. 20, 22:43

"กู" ในสมัยอยุธยา​ออกเสียงจัตวาครับ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องระดับเสียงวรรณยุกต์ภาษาที่คนไทยภาคกลางสมัยก่อนใช้ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ค. 20, 09:01
ดิฉันไม่เข้าใจค่ะคุณเพ็ญชมพูสมัยปัจจุบันก็มี 5 เสียงไม่ใช่หรือคะ หรือภาษาที่คนไทยภาคกลางในสมัยอยุธยา รัตนโกสินตอนต้น ตอนกลางรัตนโกสินจะใช้มีระดับเสียงวรรณยุกต์ที่ต่างออกไปหรือคะ
แม้แต่ในปัจจุบัน บางจังหวัดก็มีเสียงวรรณยุกต์ที่ 6 ค่ะ  อย่างนครปฐม  มีเสียงวรรณยุกต์ที่กรุงเทพไม่มี


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องระดับเสียงวรรณยุกต์ภาษาที่คนไทยภาคกลางสมัยก่อนใช้ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ก.ค. 20, 11:02
ภาษาไทยปัจจุบันมีเสียงวรรณยุกต์ ๕ เสียง นี่ว่ากันโดยใช้ภาษากรุงเทพเป็นมาตรฐาน หากจะกล่าวถึงภาษาถิ่นต่าง ๆ ของไทย ก็จะมีเสียงวรรณยุกต์มากกว่าวรรณยุกต์ในภาษาไทยมาตรฐาน รองศาสตราจารย์ซ่อนกลิ่น พิเศษสกลกิจ บรรยายเรื่องภาษาถิ่นไว้ในหนังสือคำบรรยายภาษาไทยขั้นสูงของชุมนุมภาษาไทยของคุรุสภา (๒๕๑๘) ว่า เสียงวรรณยุกต์ในภาษาเชียงใหม่และภาษาอุบลมี ๖ เสียง ได้แก่ สามัญ เอก โท ตรี ตรีเพี้ยน (เชียงใหม่ อุบล สงขลา เพี้ยนไม่เหมือนกัน) และจัตวา ส่วนภาษาสงขลามีมากถึง ๗ เสียง คือมีเสียง เอกเพี้ยนเพิ่มมา อย่างไรก็ตามบางเสียงก็ไม่ตรงกับเสียงภาษากรุงเทพทีเดียว เป็นแต่เพียงใกล้เคียงเท่านั้น

ในภาษากรุงเทพเองก็มีบางเสียงซึ่งไม่ตรงกับวรรณยุกต์ที่กำกับ ศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา นาคสกุล ได้เสนอไว้ในหนังสือ ระบบเสียงภาษาไทย (๒๕๕๖) ควรเพิ่มรูปวรรณยุกต์ขึ้นอีก ๑ รูป ให้ชื่อว่า ไม้เบญจา สัญลักษณ์ใช้ เลขเก้าไทย (๙) เพราะเห็นว่าอักขรวิธีไทยไม่มีวิธีเขียนวรรณยุกต์เน้น  พยางค์แรกกับสองออกเสียงไม่เท่ากัน เราสามารถออกเสียงได้สูงกว่านั้น

ไม้เบญจาเป็นวรรณยุกต์เน้น ใช้แสดงเสียงวรรณยุกต์เน้นพิเศษที่มีลักษณะสูงกว่าเสียงตรีปรกติในภาษาไทย เช่นคำว่า จริง ๆ (สามัญ) ถ้าออกคำท้ายเป็นเสียงตรี จะได้ จริงจริ๊ง  แต่ถ้าเราออกเสียงสูงกว่านั้น (จะเพื่ออะไรก็แล้วแต่) กรณีนี้จะใช้ไม้เบญจา 

อธิบายเสีย ยาว ยาว คุณดาวคงพอจะได้คำตอบที่ตรงใจบ้างหนอ  ;D


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องระดับเสียงวรรณยุกต์ภาษาที่คนไทยภาคกลางสมัยก่อนใช้ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 20 ก.ค. 20, 13:10
ขออภัยที่มาตอบช้าค่ะ ขอบพระคุณคุณเพ็ญชมพูสำหรับคำตอบด้วยนะคะ สรุปว่าแบบนี้ก็คือเหมารวมได้เลยไหมคะว่าสมัยอยุธยา รัตนโกสินตอนต้น รัตนโกสินตอนกลาง คนไทยภาคกลางน่าจะมี 6 เสียง (ขอไม่นับภาคอีสาน เหนือ ใต้นะคะ) แต่ทางราชการ ทางราชสำนักมี 5 เสียง เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องระดับเสียงวรรณยุกต์ภาษาที่คนไทยภาคกลางสมัยก่อนใช้ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ก.ค. 20, 08:42
คนไทยภาคกลางน่าจะมี 6 เสียง (ขอไม่นับภาคอีสาน เหนือ ใต้นะคะ) แต่ทางราชการ ทางราชสำนักมี 5 เสียง เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ข้อสรุปของคุณดาวมาจากตรงไหนหนอ ขอทราบหน่อย  ;)


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องระดับเสียงวรรณยุกต์ภาษาที่คนไทยภาคกลางสมัยก่อนใช้ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 21 ก.ค. 20, 11:32
จากเรื่องข้อสรุปเห็นคุณเทาชมพููบอกว่าภาคกลางบางพื้นที่ก็มีพูด 6 เสียง อีกอย่างทางภาคกลางก็มีกลุามคนหลายชาติพัันธ์อยู่ตั้งแต่สมัยอยุธยาลงมา ส่วนทางราชการ ราชสำนักในสมัยก่อนก็มักจะเป็นคนกลุ่มเดียว เป็นไปได้ไหมคะว่าทำให้ระดับเสียงมีความแตกต่างกัน


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องระดับเสียงวรรณยุกต์ภาษาที่คนไทยภาคกลางสมัยก่อนใช้ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ก.ค. 20, 18:34
คนไทยภาคกลางน่าจะมี 6 เสียง (ขอไม่นับภาคอีสาน เหนือ ใต้นะคะ) แต่ทางราชการ ทางราชสำนักมี 5 เสียง เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ที่ถูกต้องควรเป็น

เสียงวรรณยุกต์ในภาษาถิ่นภาคกลางบางจังหวัดมีถึง ๖ เสียง แต่ในภาษาไทยมาตรฐาน หรือภาษากรุงเทพ มีเสียงวรรณยุกต์ ๕ เสียง


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องระดับเสียงวรรณยุกต์ภาษาที่คนไทยภาคกลางสมัยก่อนใช้ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 25 ก.ค. 20, 21:08
ขอบคุณสำหรับคำชี้แนะค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องระดับเสียงวรรณยุกต์ภาษาที่คนไทยภาคกลางสมัยก่อนใช้ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 26 ก.ค. 20, 16:20
ระบบที่นิยมใช้ศึกษาเสียงวรรณยุกต์ในภาษา(ตระกูล)ไทยถิ่นต่างๆคือ กล่องวรรณยุกต์ ที่คิดค้นโดย William J. Gedney

ลองค้นดูด้วยคีย์เวิร์ด กล่องวรรณยุกต์ หรือ gedney tone box จะได้ข้อมูลเยอะเลยนะครับ