เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: chupong ที่ 14 ม.ค. 16, 19:54



กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามความหมายของคำว่า "วิกร" ครับผม
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 14 ม.ค. 16, 19:54
เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนท่านสมาชิกเว็บไซต์เรือนไทยที่เคารพยิ่งทุกท่านครับ

   ผมนายชูพงค์กลับมาแล้วครับ หลังจากหายไปศึกษาวรรณคดี กวีนิพนธ์ไทยอยู่พักหนึ่ง วันนี้ พบท่านอาจารย์เทาชมพูที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ท่านยังการุณย์ผมอยู่เหมือนเดิม ผมพลันหวนคิดถึงเรือนไทยจนทนไม่ไหว ต้องกลับมาเยือนเหมือนเช่นเคยครับ

   ตั้งแต่ประมาณเดือนสิงหาคมของปีกลาย จนถึงบัดนี้ ผมติดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์จากเว็บไซต์ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณชนิดงอมแงมเชียวครับ วรรณคดีไทยที่ไม่เคยอ่านก็ได้อ่านจนจบหลายรอบ หนึ่งในบรรดาห้าเรื่องซึ่งผมอ่านจบนั้น คือ “พระนลคำฉันท์” พระนิพนธ์พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) กว่าจะอ่านจนอวสาน หืดขึ้นคอจริงๆครับ ต้องเข้าเว็บไซต์พจนานุกรมถึงสี่ห้าแห่ง เพื่อค้นหาศัพท์บาลี-สันสกฤตยากๆอันมีเต็มไปหมด บางคำก็ไม่พบ บางคำเจอในแหล่งข้อมูลอื่นก็ไม่สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง เช่นคำว่า “วิกร” ที่ยกมาตั้งกระทู้นี่แหละครับ
   ผมเจอะนิยามของคำ “วิกร” จากเว็บไซต์ประเภทตั้งชื่อมงคล ซึ่งให้ความหมายว่า พระอาทิตย์ ผมเชื่อความหมายนี้ไว้ก่อน แต่สงสัยว่าจะมีความหมายอื่นอีกหรือเปล่า โดยพิจารณาจากพระนลคำฉันท์บางวรรคตอน เช่น:
   “มีสวามิหมางเพราะร้างสมร
เพราะโฉดเพราะเฉากำเลาวิกร
วิกลจิต”

   “เชิงเชาว์กำเลามนท์
มนช้ำระกำวิกร”

   น่าพินิจตรง คำ “วิกร” ถูกแวดล้อมด้วยคำที่มีความหมายว่า “โง่เขลา” ได้แก่ โฉดเฉา, กำเลา, มนท์ ผมจึงตั้งสมมุติฐานในเบื้องต้นกับตัวเอง “วิกร” แปลว่า สติปัญญา ได้หรือเปล่าหนอ?
   ความสงสัยมีมากถึงขนาดทำให้ผมตัดสินใจซื้อหนังสือ “สํสกฤต-ไทย-อังกฤษ อภิธาน” รวบรวมเรียบเรียงโดยท่านหลวงบวรบรรณรักษ์มาครอบครอง แต่ ยังมิทันจะแกะห่อหนังสือ น้าสาวคนเล็กผู้ป่วยเป็นโรคไตเสื่อมเรื้อรังมาระยะหนึ่งแล้วก็ได้เวลาล้างไต ทำให้น้าสาวคนรองเหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด เนื่องจากทำหน้าที่พยาบาลจำเป็นเต็มสมรรถภาพ อย่ากล่าวถึงเวลาอ่านหนังสือให้หลานฟังเลยครับ เวลาพักผ่อนสำหรับตัวเองก็หายาก (พรุ่งนี้ หมอนัดตรวจน้าสาวคนเล็กอีกแล้ว)
   ผมจึงมากราบขอความเมตตาจากทุกๆท่านในเรือนไทยครับ หากท่านทราบความหมายของคำ “วิกร” โปรดสงเคราะห์เอื้ออวยวิทยาทานให้ผมคนทาสปัญญาด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
นายชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามความหมายของคำว่า "วิกร" ครับผม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ม.ค. 16, 21:20
คงจะต้องยกการบ้านข้อนี้ให้คุณเพ็ญชมพูค่ะ
ราชบัณฑิตไม่ได้ให้ความหมายของ "วิกร" เอาไว้ 


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามความหมายของคำว่า "วิกร" ครับผม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ม.ค. 16, 09:51
เปิด พจนานุกรมสันสกฤต-อังกฤษ  (http://spokensanskrit.de/index.php?tinput=vikara&script=&direction=SE&link=yes) ให้ความหมายคำว่า "วิกร" (vikara เขียนด้วยอักษรเทวนาครีว่า विकर) ไว้ ๕ อย่าง ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับคำฉันท์ที่คุณชูพงศ์ยกมาเห็นจะเป็นความหมายที่ ๒ และ ๓ คือ โรค (disease) และ ความเจ็บป่วย (sickness)

      ความสงสัยมีมากถึงขนาดทำให้ผมตัดสินใจซื้อ หนังสือ “สํสกฤต-ไทย-อังกฤษ อภิธาน”  รวบรวมเรียบเรียงโดยท่านหลวงบวรบรรณรักษ์มาครอบครอง แต่ ยังมิทันจะแกะห่อหนังสือ น้าสาวคนเล็กผู้ป่วยเป็นโรคไตเสื่อมเรื้อรังมาระยะหนึ่งแล้วก็ได้เวลาล้างไต ทำให้น้าสาวคนรองเหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด เนื่องจากทำหน้าที่พยาบาลจำเป็นเต็มสมรรถภาพ อย่ากล่าวถึงเวลาอ่านหนังสือให้หลานฟังเลยครับ เวลาพักผ่อนสำหรับตัวเองก็หายาก (พรุ่งนี้ หมอนัดตรวจน้าสาวคนเล็กอีกแล้ว)
นี่ถ้าหากคุณชูพงศ์เปิดหนังสือเล่มที่ซื้อมาคงได้คำตอบไปแล้ว   ;D


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามความหมายของคำว่า "วิกร" ครับผม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ม.ค. 16, 10:09
ความจริงคำว่า "วิกร" ก็มีความหมายทับซ้อนกับคำว่า "วิการ" ซึ่งเป็นคำเดียวกับ "พิการ" ซึ่งท่านรอยอินให้ความหมายไว้ว่า "ที่ผิดแปลกไปจากธรรมชาติ, มักใช้เข้าคู่กับคำ วิกล เป็น วิกลวิการ. . ความผันแปร." ใน ภาษาสันสกฤต  (http://spokensanskrit.de/index.php?tinput=vikAra&script=&direction=SE&link=yes) คำว่า "วิการ" (vikAra - विकार) มีความหมายมากมายกว่านั้น  "โรค" และ "ความเจ็บป่วย" ก็เป็นความหมายของคำว่า "วิการ" ด้วย


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามความหมายของคำว่า "วิกร" ครับผม
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 15 ม.ค. 16, 13:25
เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูครับ

   ผมอ่าน “พระนลคำฉันท์” แล้วทึ่งกับพระปรีชาสามารถขององค์พระผู้ทรงนิพนธ์มากมายครับ บางศัพท์ผมมองว่าเป็นคำแผลงธรรมดา ที่ไหนได้ เป็นศัพท์ใหม่ที่ผมมิเคยรู้จัก ต้องรีบจดลงในสมุดจดศัพท์ อย่างเช่นคำ “สาขี” ในสรรคที่ ๒๖
   “สาขีกระบี่โจน
รถก้องก็ร้องกลัว”
   เดิมผมเข้าใจว่า “สาขี” แผลงมาจาก “สาขา” คือกิ่งไม้ เพื่อให้สัมผัสรับกับ “กระบี่” แต่พอเปิดพจนานุกรมบาลี-ไทย ถึงได้รู้ความจริง “สาขี” หมายถึง ต้นไม้ ผมนั่งอึ้งไปพักใหญ่เลยครับอาจารย์

   ขอกราบงามๆขอบพระคุณท่านอาจารย์เพ็ญชมพูครับ ผมกระจ่างกับคำ “วิกร” แล้ว เดี๋ยวจะเอาไปแซวเพื่อนสักหน่อย ผมมีเพื่อนตาบอดรุ่นน้องคนหนึ่งชื่อ “วิกร” เป็นคนขอนแก่น เราไม่ค่อยติดต่อกันบ่อยนัก หากมีโอกาสเจอเขา จะแจกแจงความหมายให้ฟัง นายคนนี้อารมณ์ดีครับ  ตลกโปกฮา และโกรธคนยาก เขาคงขำถ้ารู้ว่าชื่อตัวเองแปลว่าโรคภัยไข้เจ็บก็ได้ด้วย