เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 15 มิ.ย. 23, 10:50



กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มิ.ย. 23, 10:50
ได้อ่านกระทู้ ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย ของคุณตั้ง   กล่าวถึงเรื่องส้วมในชนบท ที่คุณตั้งเคยมีประสบการณ์ขณะไปพำนักอยู่  สมัยทำงานเป็นนักธรณีวิทยา
เลยนึกได้ว่าไม่ได้ตั้งกระทู้เล่าถึงอะไรต่อมิอะไรมานานแล้ว   เท่าที่จำได้ยังไม่เคยเล่าถึงอุปกรณ์สำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวัน คือ "ส้วม"
เลยมาตั้งกระทู้ไว้ก่อนค่ะ รอคนเข้าห้อง   ถ้าใครอยากจะเสริมหรือเล่าประสบการณ์ถึง "ส้วม" ที่เคยเจอ ก็เชิญแทรกได้เลยค่ะ  ไม่ถือว่าขัดจังหวะ

รูปแรกที่เรียกคนดูคือส้วมโถชักโครกทองคำ 18 กะรัต ใช้งานได้จริง  เคยอยู่ในพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงงานศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเนร์บีออน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

ส้วมทองคำเป็นผลงานของศิลปินชาวอิตาเลียน   Maurizio Cattelan มีแรงบันดาลใจจากต้องการชี้ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ    ไม่ได้ตั้งโชว์ในห้องนิทรรศการ แต่เปิดให้บริการอยู่ที่ ชั้น 4 ของอาคาร มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำจุดอยู่ภายนอก   ได้ข่าวว่าผู้ต้องการใช้บริการอาจต้องคอยคิวนานกว่า 2 ชั่วโมงเพื่อเข้าไปลองปลดทุกข์
ตอนนี้รื้อถอนออกไปแล้วค่ะ


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มิ.ย. 23, 11:11
น่าเสียดายว่าเจ้าโถส้วมทองคำมีชะตากรรมน่าเศร้า    หลังจากถูกนำไปติดตั้งที่ Blenheim Palace ใน Oxfordshire, ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2019   มันก็ถูกมือดีโจรกรรมฉกออกไปจาก ทั้งๆติดตั้งไว้กับท่อในผนังแบบโถส้วมของจริงทุกอย่าง
จนบัดนี้ก็ยังสาบสูญ  หาไม่พบทั้งโถส้วมและโจร   อาจจะถูกหลอมกลายเป็นเครื่องทองหรือแท่งทองไปแล้วก็ได้


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มิ.ย. 23, 19:01
ย่องเข้าหลังห้องมานั่งฟังด้วยครับ  ;D     


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 มิ.ย. 23, 08:35
ว่าด้วยเรื่อง "ส้วม"

จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้ความหมายของ "ส้วม" ว่า สถานที่ที่สร้างไว้สำหรับถ่ายอุจจาระปัสสาวะโดยเฉพาะ มักทำเป็นห้อง นอกจากนี้ในภาษาอีสานยังหมายถึง ห้องนอน หรือถ้าเป็นกิริยายังหมายถึงการเอามือทั้งสองข้างโอบรัดเข้าไว้ในวงแขน เรียกว่า ส้วมกอด หรือ สวมกอด ก็ว่า

จากหนังสือ ส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย ของมนฤทัย ไชยวิเศษ ได้แจกแจงความหมายของคำว่า "ส้วม" ไว้อีกว่า ในภาษาล้านนา มีความหมายว่า หิ้งบูชา หรือที่นอนของพระ โดยเฉพาะของเจ้าอาวาส ส่วนทางอีสานหรือลาว "ส้วม" จะหมายถึง ห้องนอนของลูกสาวหรือเจ้าบ่าว-เจ้าสาวด้วย ส่วนคำอื่นที่หมายถึงส้วม ได้แก่ ห้องสุขา เวจ (เว็จ) ถาน (ส้วมของพระ) สีสำราญ และอุโมงค์ (สองคำหลังนี้เป็นคำเรียกสถานที่ขับถ่ายของผู้หญิงที่อยู่ในวังหรือผู้หญิงชาววังที่มิใช่เจ้านาย) สำหรับเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์จะใช้คำว่า ห้องบังคน อันเป็นคำมาจากภาษาเขมร (បង្គន់)

ส้วมสาธารณะ หรือที่สมัยก่อนเรียกว่า เวจสาธารณะ สร้างขึ้นครั้งแรก โดยกรมสุขาภิบาล (ศุขาภิบาล ตามที่เรียกแต่แรก) อีกทั้งได้มีการออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๔๔๐ เพื่อบังคับให้คนต้องขับถ่ายในส้วม (เพราะสมัยก่อนประชาชนทั่วไปยังไม่นิยมสร้างส้วมในบ้าน แต่จะขับถ่ายตามตรอกซอกซอย ถนนหนทาง ริมกำแพง ฯลฯ หรือเทลงน้ำ เป็นเหตุให้ส่งกลิ่นเหม็น สัตว์มาคุ้ยเขี่ย แมลงวันมาไต่ตอม และเกิดโรคระบาดตามมา) ซึ่งส้วมสาธารณะที่กรมสุขาภิบาลสร้างนี้จะกั้นเป็นห้อง ๆ เป็นห้องแถวไม้ยาว ประมาณ ๕-๖ ห้อง มักตั้งอยู่บนถนนสายสำคัญ ๆ ที่เป็นย่านการค้า หรือที่ที่มีผู้คนอยู่หนาแน่น เช่น ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง บริเวณวัด โรงพัก โรงพยาบาล เป็นต้น ชื่อ กรมสุขาภิบาล นี้เอง น่าจะเป็นที่มาของคำเรียก ส้วม ว่า สุขา ในปัจจุบัน


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 มิ.ย. 23, 09:35
ส้วมในประเทศไทย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีวิวัฒนาการเรื่อยมาตามลำดับ

ส้วมหลุม ถือเป็นส้วมแบบแรกที่คนไทยใช้ เป็นหลุมดินที่มีทั้งแบบหลุมแห้งและหลุมเปียก ขุดเป็นหลุมกลมหรือสี่เหลี่ยม แล้วปลูกตัวเรือนครอบหลุมไว้

ส้วมถังเท มีลักษณะคล้ายส้วมหลุม แต่ใช้ถังวางไว้ในหลุมใต้ฐานไม้สำหรับรองรับอุจจาระผู้ขับถ่าย แล้วค่อยนำไปเททิ้ง ซึ่งมักจะนำถังไปเททิ้งวันละครั้ง

ส้วมบุญสะอาด ประดิษฐ์โดยนายอินทร์ บุญสะอาด ผู้ตรวจการสุขาภิบาลประจำอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลักษณะพิเศษคือมีกลไกป้องกันปัญหาการลืมปิดฝาหลุมถ่าย

ส้วมคอห่าน ผู้ประดิษฐ์คือ พระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) ผู้สำเร็จราชการมณฑลพิษณุโลก ได้คิดค้นการใช้หัวส้วมแบบคอห่านร่วมกับระบบบ่อเกรอะบ่อซึม ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกว่า ส้วมซึม ทำให้การขับถ่ายในส้วมมีความสะดวกสบายและปลอดภัยยิ่งขึ้น

ส้วมชักโครก เป็นส้วมที่มีส่วนประกอบค่อนข้างสลับซับซ้อน ที่เรียกว่าชักโครก คงเพราะเมื่อถ่ายเสร็จต้องชักคันโยกปล่อยน้ำลงมา และมีเสียงดังโครก จึงเรียกตามนั้น ผู้ประดิษฐ์ส้วมชักโครกรุ่นแรกขึ้นคือ เซอร์จอห์น แฮริงตัน ขุนนางชาวอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๙ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๑๘ อเล็กซานเดอร์ คัมมิงส์ ก็ได้พัฒนาส้วมชักโครกแบบใหม่ ให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น และเป็นต้นแบบของส้วมชักโครกที่ใช้งานในปัจจุบัน ในประเทศไทยส้วมชักโครกเป็นที่นิยมแพร่หลายหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เนื่องจากมีการสร้างบ้านแบบสมัยใหม่มากขึ้น จากนั้นก็นิยมต่อ ๆ มาจนปัจจุบัน เพราะมีการออกแบบให้ทันสมัยและน่าใช้ยิ่งขึ้น

ส้วมในต่างประเทศ มีคำเรียกต่าง ๆ กัน เช่น toilet , rest room, lavatory, W.C (ย่อมาจาก water closet) และ bathroom เป็นต้น ซึ่งเรามักจะคุ้นชินอยู่แล้ว แต่ที่แปลกกว่าที่อื่น คือ ประเทศเยอรมัน ที่เขาใช้คำว่า Damen (ดาเมน) กับห้องส้วมหญิง และคำว่า Heren (เฮอร์เร่น) กับห้องส้วมชาย ซึ่งหากเราไปจำภาษาอังกฤษที่ว่า Men แปลว่า ชาย และ Her ที่หมายถึงผู้หญิง แล้วเข้าตามนั้นละก้อ อาจจะมีการหน้าแตก เพราะเข้าผิดห้องได้ อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่ห้องส้วมทุกแห่ง มักจะมีสัญลักษณ์สากลเป็นรูปชาย-หญิงในแบบต่าง ๆ ติดไว้ เพื่อให้แยกออก

ในหลาย ๆ ประเทศ นอกเหนือไปจากส้วมชักโครกแล้ว เรายังอาจพบ โถอนามัย ที่ฝรั่งเรียกว่า bidet (อ่านว่า บิ-เด) ตั้งอยู่ข้าง ๆ  ซึ่งจะมีหัวก๊อกน้ำติดอยู่ ก๊อกนี้บางแห่งจะมีทั้งน้ำร้อน-น้ำเย็นให้เลือก ใช้ได้หลายภารกิจ เช่น ใช้ล้างชำระของสงวนหรือก้นหลังจากเสร็จภารกิจ ใช้ล้างเท้า ใช้ซักผ้า และใช้อาบน้ำเด็ก เป็นต้น

ข้อมูลจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=5405&filename=i)


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มิ.ย. 23, 09:46
จะเหลืออะไรไว้ให้เล่าบ้างล่ะเนี่ย   ;) ;)

ก่อนที่จะเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน  ดินแดนรูปขวานแห่งนี้เป็นที่ตั้งของอาณาจักรหลายแห่ง กระจัดกระจายกันอยู่ เช่นทวารวดี  ตามพรลิงค์  ฟ้าแดดสงยาง (หรือสูงยาง) ฯลฯ  แต่หลงเหลือหลักฐานมาน้อยมาก  กว่าจะมารวบรวมกันได้เป็นชิ้นเป็นอันก็เมื่อถึงยุคอาณาจักรสุโขทัย
ก็ขอเริ่มต้นจากส้วมสุโขทัย

หลักฐานที่เหลือมาว่าชาวสุโขทัยถ่ายหนักเบากันอย่างไร คือส้วมของพระสงฆ์ เรียกว่า “วัจจกุฎี” หรือ “เร็จกุฎี” หรือ “ถาน” ประกอบด้วยแผ่นรองรับเท้าในขณะขับถ่าย หรือที่เรียกกันว่า “เขียง” ซึ่งใช้วางไว้เหนือหลุมรับอุจจาระ จำนวน 3 แผ่น ประกอบไปด้วยเขียงหิน 2 แผ่น และเขียงไม้ 1 แผ่น

ผศ. ดร. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อธิบายไว้ในหนังสือ “มรดก 1,000 ปี เก่าที่สุดในสยาม  ว่า  เขียงทั้ง 3 แผ่น มีลักษณะเหมือนกันคือ มีรูขนาดใหญ่เจาะทะลุ   คาดว่าใช้สําหรับปล่อยให้อุจจาระผ่านลงไปยังหลุมด้านล่าง ส่วนด้านหน้ามีรางยาวเพื่อระบายปัสสาวะให้ไหลลงภาชนะที่วางรองรับอยู่
การแยกรางให้ปัสสาวะกับอุจจาระเช่นนี้ คาดว่าเพื่อแยกไม่ให้ปนกันเป็นการป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มิ.ย. 23, 09:12
   ถ้าพระสงฆ์สมัยสุโขทัยมีส้วมแบบนี้ใช้   ก็เป็นได้ว่าในวังของพ่อขุนทั้งหลายก็ใช้ส้วมแบบนี้เช่นกัน    เพราะพระสงฆ์ไม่สามารถจะก่อสร้างที่อยู่ที่ใช้เองได้  ทุกอย่างเป็นเรื่องของการอุปถัมภ์จากชาวบ้าน    ในเมื่อกษัตริย์เป็นองค์อุปถัมภ์ศาสนา  ก็ย่อมจะสร้างสิ่งที่เห็นว่าเป็นผลดีแก่พระสงฆ์ ถวายให้วัด   รวมทั้งส้วม ที่สมัยนั้นเรียกว่า " เวจกุฎี"
  คำนี้ เมื่อแปลออกมาแล้วทำให้คิดว่า ส้วมของพระในสมัยโบราณ น่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างถาวรและมิดชิด    ถึงใข้คำว่า "กุฎี" ประกอบคำว่า "เวจ"   คือสร้างด้วยไม้กระดานหรือไม้ไผ่ก็ตาม เป็นห้องหรือเรือนเล็กๆ แต่คงไม่ใช่ว่าเอาหินวางไว้โล่งๆ หรือกั้นพอเป็นพิธี
  ต่อมา คำนี้ถูกตัดให้สั้นเหลือแต่คำว่า "เวจ"   โบราณใช้คำว่า "ไปเวจ" ก็เข้าใจกันได้ว่าไปขับถ่าย

  เวจกุฎีสมัยสุโขทัยน่าจะเป็นไม้ จึงหมดสภาพไปตามวันเวลา   ไม่เหลือร่องรอยมาให้เห็น  แต่ตัวอุปกรณ์สำคัญเป็นหิน สร้างไว้ทนทานต่อการใช้งาน  จึงยังเหลือหลักฐานอยู่

   มาถึงสมัยอยุธยา    เราพบหลักฐานเรื่องส้วมในหนังสือจดหมายเหตุของลาลูแบร์  ที่เข้ามาในราชอาณาจักรอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้อธิบายความของ 'เวจ' ไว้ว่า
     "ห้องถ่ายทุกข์หนักเบาสมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะเป็นส้วมหลุมนั่งยองๆ มีไม้หรือหินพาดรองไม่ให้หลุมถล่ม     มักใช้กัน เฉพาะคนในสังคมชั้นสูง"
   ตีความออกมาอีกทีว่าสร้างเป็นห้อง  พอก้าวเข้าไปก็เจอหลุม มีไม้หรือหินพาดปากหลุมไว้ ให้นั่งยองๆลงบนนั้น ถ่ายลงในหลุม   อิริยาบถเดียวกันส้วมนั่งยองๆตามปั๊มน้ำมัน


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 มิ.ย. 23, 09:35
ปุจฉา : ทำไม 'ส้วม' สมัยก่อนเรียกว่า 'บริษัท' ?

วิสัชนา : ๑.ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีบริษัทรับเก็บของโสโครกเรียกกันว่าบริษัทสอาด คนเลยพลอยเรียก "ส้วม" ว่า "บริษัท" ไปด้วย


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 มิ.ย. 23, 10:35
พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้มีการตั้ง "กรมศุขาภิบาล" ขึ้น ภายใต้กระทรวงนครบาล โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการรักษาความสะอาดและป้องกันการระบาดของโรคที่เป็นอันตรายในขณะนั้น จึงจำเป็นต้องมีระบบการจัดการที่เหมาะสมในการจัดการสิ่งปฏิกูล เพราะส้วมในกรุงเทพฯสมัยนั้นมิได้เป็นส้วมหลุมหรือส้วมซึม ส่วนใหญ่จะเป็นการถ่ายลงถัง แล้วนำไปเททิ้ง ดังนั้น เพื่อให้ส้วมสาธารณะมีความสะอาดเป็นระเบียบจึงมีการว่าจ้างขนถ่ายในรูปของบริษัทรับเหมา

บริษัทแรกที่รับดำเนินการคือ "บริษัทสอาด" ซึ่งได้ประมูลรับจัดการอยู่เป็นเวลานานหลายปี และเป็นรายใหญ่ในการทำกิจการนี้ในพระนคร ที่ตั้งของบริษัทสอาดบริษัทนี้เป็นของพระศิริไอยสวรรย์ เดิมตั้งอยู่ตรงกับวังกรมพระนครสวรรค์ที่บางขุนพรหม ซึ่งเป็นที่ว่างโล่งและใช้เป็นที่เก็บรถบรรทุกขนถ่าย แต่ภายหลังก็ได้ย้ายไปอยู่ที่อื่น โดยส้วมตามบ้านเรือนและตึกแถวจะมีถังแจกให้เจ้าของบ้านจะเสียค่าถังเทประมาณเดือนละ ๑ บาท ถึง ๖ สลึง ต่อถัง ต่อเดือน ซึ่งใครจะใช้หรือไม่ใช้บริการทางบริษัทก็ได้

"บริษัทสอาด" ดำเนินการเป็นเวลาประมาณ ๒๐ กว่าปี จึงได้โอนกิจการให้กับ "บริษัท ออนเหวง" ซึ่งก็ได้รับช่วงดำเนินการด้วยวิธีเดียวกันกับบริษัทสอาดต่อไปเป็นระยะเวลาอีกช่วงหนึ่ง บริษัท ออนเหวงเป็นบริษัทของชาวจีน ที่ตั้งอยู่แถวราชวงศ์

เก็บความจาก 'บริษัทสอาด' ทำธุรกิจอะไรในอดีต ? (https://www.matichon.co.th/article/news_3480896)


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 มิ.ย. 23, 11:35
วิสัขนา : ๒. บริษัทในที่นี้อาจมาจากความหมายในภาษาจีนว่า กงซีล่ง

คนจีนแต้จิ๋วในเมืองไทย จะเรียกห้องส้วมว่า กงซีล่ง (公司廊) ซึ่งหมายถึง โกดังของบริษัท (公司 = บริษัท  廊 จีนแต้จิ๋วนำศัพท์ที่มีใช้อยู่เดิมมาแปลงเสียงเพื่อเลียนคำและความ ของคำไทยว่า โรง) เพราะเมื่อร้อยกว่าปีก่อน คนจีนที่อพยพมาเมืองไทยสมัยก่อน จะตั้งรกรากเป็นกุลีใช้แรงงานอยู่แถวท่าน้ำราชวงศ์

ในยุคนั้น ห้องน้ำไม่ใช่มีกันทุกบ้าน แต่จะไปใช้ห้องน้ำรวม ซึ่งเป็นห้องน้ำที่ตั้งอยู่บริเวณโกดังที่ท่าน้ำราชวงศ์  อันเป็นเป็นที่ตั้งของบริษัทออนเหวง ที่รับขนถ่ายถังอุจจาระไปเททิ้ง (รดน้ำให้สวนผัก)

คำว่า กงซีล่ง นี้ใช้เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ถ้าไปบอกคนแต้จิ๋วในเมืองจีนว่าอยากไป กงซีล่ง อีกฝ่ายน่าจะงง พาไปไม่ถูก :D


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มิ.ย. 23, 13:42
ส้วมที่แม่การะเกดใช้งาน เป็นส้วมไฮโซสมัยอยุธยา  เรื่อยมาจนต้นรัตนโกสินทร์ ใน 3 รัชกาลแรก   
ที่เรียกว่าไฮโซคือเจ้าของเป็นเศรษฐีคหบดี หรือขุนนางถึงจะมีส้วมแบบนี้ใช้เป็นกิจจะลักษณะ   ต้องมีบ่าวไพร่ขุดหลุมไว้ใช้งาน  นานเข้าหลุมเต็มก็ต้องใช้แรงงานคนกลบทิ้ง แล้วย้ายไปขุดที่ใหม่    ส่วนชาวบ้านทั่วไป ถ้าอยู่ต่างจังหวัดมีทุ่งมีนารอบบ้าน ก็ใช้ทุ่งหรือนาเป็นสถานที่   ไม่ต้องเปลืองแรงขุดหลุมหรือปลูกสร้างที่กำบัง   
ถ้าอยู่ริมแม่น้ำลำคลองยิ่งสะดวกเข้าไปใหญ่   คือถ่ายลงน้ำให้น้ำช่วยจัดการพัดพาไปให้หมดปัญหา    ด้วยเหตุนี้จึงเกิดโรคระบาดกันบ่อยๆ  ชาวบ้านเองก็ไม่มีความเข้าใจว่า โรคห่าที่กลัวกันนักหนา เกิดจากอะไร   

ที่แปลกอย่างหนึ่งคือ  ไม่ว่าผู้ดีมีเงินมีตำแหน่งใหญ่โตขนาดไหน  ส้วมต้องอยู่นอกบ้าน  ห้ามสร้างส้วมไว้บนเรือน
ึคนที่ทำได้คือพระมหากษัตริย์เท่านั้น


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 มิ.ย. 23, 14:35
เวจสมัยสมเด็จพระนารายณ์ในมโนทัศน์ของผู้สร้างละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส

https://youtu.be/AnpNr4_Dp6s

และในสมัยของแม่หญิงการะเกดนี้ ในบริเวณพระราชมนเทียรมีการสร้างสถานที่สำหรับการขับถ่าย เรียกว่า ที่ลงพระบังคน หรือ ห้องพระบังคน โดยจะขับถ่ายลงในภาชนะรองรับและมีคนคอยปรนนิบัติรับใช้นำไปทิ้ง ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เขียนเล่าไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๓๑ ว่า

"ในประเทศสยามถือกันว่าเป็นหน้าที่ที่มีเกียรติมาก ถ้าบุคคลใดได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เทโถพระบังคนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะต้องนำไปเทลง ณ สถานที่อันกำหนดไว้เพื่อการนี้ และมียามเฝ้าระวังรักษาอย่างกวดขัน มิให้ผู้ใดอื่นกล้ำกรายเข้าไปได้ อาจเป็นเพราะความเชื่อถือโชคลางทางไสยศาสตร์ ซึ่งชาวสยามเชื่อว่าอาจมีผู้ทำกฤตยาคุณได้จากสิ่งปฏิกูลที่ถ่ายออกมาจากร่างกายนั้น"

จากกระทู้ เรื่องเล่าคนเก่าแก่ (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=7204.msg177193#msg177193)


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มิ.ย. 23, 16:14
ขุนช้างเป็นเศรษฐีใหญ่เมืองสุพรรณ    บ้านช่องใหญ่โตมีเครื่องประดับบ้านหรูหราราคาแพง เช่นเครื่องแก้ว มีม่านปักกั้นห้อง มีข้าทาสบริวารนับไม่ถ้วน   แต่ส้วมของขุนช้างก็ต้องอยู่นอกบ้านอยู่ดี
เห็นได้จากตอนที่พลายงามไปลักตัวนางวันทองจากเรือนขุนช้าง เอามาให้พ่อตัวเอง    บังคับแม่มาด้วยได้สำเร็จแล้ว เช้าขึ้นมาถึงนึกได้ว่าทำอุกอาจแบบนี้ หากขุนช้างไปฟ้องพระพันวัษษา   นางวันทองอาจถูกลงโทษ
ก็เลยใช้ลูกน้องชื่อหมื่นวิเศษผล ไปหาขุนช้าง  แต่งเรื่องว่าพลายงามเกิดป่วยกะทันหันกลางดึก    ให้คนไปตามแม่มาหาลูก 
หมื่นวิเศษผลก็ไปแต่งเรื่องให้ขุนช้างฟัง ตามที่นายสั่งทุกคำ

(ครานั้นวิเศษผลคนว่องไว                ยกมือขึ้นไหว้ไม่วิ่งหนี
ร้องตอบไปพลันในทันที                คนดีดอกข้าไหว้ใช่คนพาล
ข้าพเจ้าเป็นบ่าวพระหมื่นไวย        เป็นขุนหมื่นรับใช้อยู่ในบ้าน)

ท่านใช้ให้กระผมมากราบกราน         ขอประทานคืนนี้พระหมื่นไวย
เจ็บจุกปัจจุบันมีอันเป็น                 แก้ไขก็เห็นหาหายไม่
ร้องโอดโดดดิ้นเพียงสิ้นใจ                 จึงใช้ให้ตัวข้ามาแจ้งการ
พอพบท่านมารดามาส่งทุกข์         ข้าพเจ้าร้องปลุกไปในบ้าน
จะกลับขึ้นเคหาเห็นช้านาน                 ท่านจึงรีบไปในกลางคืน
พยาบาลคุณพระนายพอคลายไข้          คุณอย่าสงสัยว่าไปอื่น
ให้คำมั่นสั่งมาว่ายั่งยืน                  พอหายเจ็บแล้วจะคืนไม่นอนใจ ฯ

สมัยนี้เรียกว่า "ไปสุขา" แต่สมัยนั้นเรียกว่า "ไปส่งทุกข์"



กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มิ.ย. 23, 16:18
แสดงว่าสมัยก่อน ปวดท้องขึ้นมากลางดึกก็ต้องลงจากบ้าน ฝ่าความมืดไปถึงเวจนอกบ้าน   เสี่ยงกับงูเงี้ยวเขี้ยวขอและอันตรายเช่นเดินสะดุดหกล้ม   
หรือไปเจอผีกระสือที่ว่ากันว่ามันชอบมากินของสกปรกในเวจ

นึกถึงที่คุณตั้งเขียนไว้ในกระทู้ ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย   แล้วรู้สึกว่ากิจวัตรประจำวันอื่นๆอาจจะง่าย     แต่เรื่องนี้ไม่ง่ายเลยค่ะ


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 มิ.ย. 23, 18:57
มีกรณีไปส้วมนอกบ้านที่ประทับใจของผมอยู่ครั้งหนึ่ง  เกิดท้องเสียขึ้นมาในระหว่างการเดินทางในบ้านใกล้เรือนเคียงของเรา  ต้องแวะข้างทาง เป็นส้วมที่สร้างบนเสาไม้สี่ต้น ตั้งอยู่กลางแอ่งน้ำข้างทาง มีไม้กระดานพาดให้เดินเข้าไป  ตัวห้องทำด้วยไม้กระดานตีเป็นห้องทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่พอขยับขยายตัวได้ แต่มันเป็นฝาห้องที่สูงเพียงระดับใหล่เมื่อนั่งยองๆ  ไอ้ที่แย่ก็คือช่วงของการปลดกางเกงก่อนจะนั่งยองๆ แถมยังต้องทำบนพื้นที่ๆโยกไปมาอีกด้วย เข้าใจเลยว่า ตัวถ่วงที่สำคัญก็คือกางเกงใน  ก็ถ่ายตรงๆลงน้ำไปเลย เราก็นั่งลอยหน้าสอดส่ายไปมาดูว่าใครเขาจะเห็นเราอย่างไร  เห็นภาพเลยว่ามันก็เป็นอาหารของสัตว์น้ำในคูน้ำนั้น แล้วก็เกิดการหมักกลายเป็นปุ๋ยน้ำที่เขาใช้รดแปลงผักที่ปลูกไว้ข้างแอ่งน้ำ  ก็วนมาถึงเราเมื่อต้องกินผักเหล่านั้น แล้วเราก็ท้องเสีย เป็นวัฎจักรวงหนึ่ง

เห็นด้วยกับอาจารย์ครับ ว่ากิจวัตรประจำวันอื่นๆอาจจะง่าย แต่เรื่องนี้บางทีก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย   


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มิ.ย. 23, 09:41
วัฒนธรรมที่ "ห้องส้วม" มีได้เฉพาะกษัตริย์เท่านั้น เป็นเรื่องสำคัญไม่ใช่เล็กๆ  
เห็นได้จากตอนหนึ่งในขุนช้างขุนแผน  เมื่อขุนแผ่นพานางวันทองหนี    ขุนช้างตื่นมา อ่านจดหมายที่เมียทิ้งไว้ว่าถูกขุนแผนลักตัวไป   ก็รีบพาพรรคพวกตามไป แต่ว่าเอากลับมาไม่สำเร็จ เพราะขุนแผนเป็นนักรบฝีมือเยี่ยม   ขุนช้างรบไม่เป็น ตีพรรคพวกขุนช้างแตกกระจายกลับไป
ขุนช้างตัดสินใจเข้าวังถวายฎีกา  เพื่อจะเพิ่มน้ำหนักเนื้อเรื่องให้พระพันวษาเห็นเป็นเรื่องร้ายแรงต้องจัดการ  ก็ทูลฟ้องใส่สีใส่ไข่เข้าไปว่าขุนแผนก่อการกบฏ  ปลูกป้อมค่าย ซ่องสุมผู้คนไว้มากมาย  บังอาจกล่าวท้าทายพระพันวษาให้มาชนช้างชิงอาณาจักรกัน
รายละเอียดประกอบการเป็นกบฏ ข้อหนึ่งคือปลูกตำหนักพลับพลาและสร้างส้วมเอาไว้บนที่พักด้วย  พูดอีกทีคือทำเทียมพระราชา

 มาดแม้นพระองค์เสด็จไป              จะชนช้างชิงชัยให้ฦๅฉาว
ชิงเอากรุงไกรได้เป็นจ้าว              ว่ากล่าวหยาบช้าสามานย์
มันปลูกตำหนักป่าพลับพลาแรม      ค่ายป้อมล้อมแหลมเป็นหน้าฉาน
ตั้งที่ลงบังคนชอบกลการ              นานไปก็จะเกิดกลีเมือง ฯ


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มิ.ย. 23, 09:51
ห้องส้วมเป็นเครื่องหมายของอภิสิทธิ์ชนสมัยอยุธยา เรื่อยมาจนรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเดินรอยตามขนบธรรมเนียมอยุธยา   มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า "ที่ลงบังคน" หรือ "ห้องบังคน" เพราะคำว่าบังคนเป็นราชาศัพท์ หมายถึงอุจจาระปัสสาวะของเจ้านาย   ถ้าจะแยกแสดงรายละเอียดก็คือ พระบังคนเบา หมายถึงปัสสาวะ  พระบังคนหนัก คืออุจจาระ

ถ้าอยากรู้ว่าสมัยนั้น เขาทำอย่างไร  คำตอบคือมีภาชนะรองรับหรือกระโถน  เจ้านายจะขับถ่ายลงในภาชนะนั้น   เพื่อไม้ให้ภาชนะเสียหายก็จะมีกระทงใบตองรองรับไว้อีกที    แล้วมีนางกำนัลยกกระทงไปทิ้งในแม่น้ำลำคลอง  มีตำแหน่งว่า นางกำนัลพระบังคน  เป็นหนึ่งใน 12 ตำแหน่งพระกำนัลที่มีหน้าที่รับใช้พระมหากษัตริย์   
ตำแหน่งอื่นๆ กำนัลรับพระหัตถ์ กำนัลพระขันหมาก กำนัลน้ำเสวย กำนัลพัชนี กำนัลพระสำอาง กำนัลพระมาลา กำนัลพระบังคน กำนัลพระไสยาสน์ กำนัลทิพยรส กำนัลพระโภชน์ กำนัลพระโอษฐ์ และกำนัลทาพระองค์.

 ส่วนสถานที่ของส้วมหรือสถานที่ลงพระบังคน ยังหาไม่เจอว่าเป็นแบบไหนอย่างไร  แต่เดาว่าเป็นห้องเล็กๆ อยู่ใกล้ห้องพระบรรทม  เพื่อจะได้เสด็จเข้าไปได้สะดวกในยามกลางคืน
 
  เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไทยที่มี "ส้วม" เป็นฉากหลังอยู่ด้วย ก็มีให้อ่านเหมือนกันค่ะ  จะเล่าในค.ห.ต่อไปนะคะ


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มิ.ย. 23, 09:54
ภาพผนังโบสถ์ แสดงให้เห็นการไปทุ่งของชาวบ้านสมัยโบราณ


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 19 มิ.ย. 23, 12:31
คัดความจาก https://web.facebook.com/search/top?q=กงซีล่ง

กงซีล่ง.....

“ ลูกจีนกำมะลอเรียกและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันอย่างผิดๆว่า

กงซีล่ง เป็นภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋วแปลว่า ห้องสุขา... ”

......

ประสบการณ์เมื่อครั้งผมไปเมืองจีนครั้งแรกสมัยวัยรุ่น คนที่แต้จิ๋วเวลานั่นเค้าไม่เข้าใจครับว่า

กงซีล่ง คืออะไร......... ?

......

‘ บ้านจีนในชนบทเมื่อราวปี 2520 ไม่มีห้องสุขาในบ้านครับ ’

ในชนบทเวลานั้นสาวๆเค้าจะทำธุระใส่ในถังไม้มีฝาปิดที่วางอยู่ปลายเตียงของห้องนอน

เสร็จแล้วเธอจึงนำไปเททิ้งในบ่อหมักใหญ่ท้ายหมู่บ้าน...

ส่วนผู้ชาย หรือสาวใหญ่ที่ไม่เขินอายนัก ก็จะไปถ่ายทุกข์กันในห้องที่ไม่มิดชิดนักเหนือบ่อหมัก

มูลในบ่อหมักของหมู่บ้านเป็นสมบัติร่วมกัน ที่ชาวบ้านจะเวียนมาช้อนตักไปใส่ในแปลงพืชผักที่ปลูก เพื่อเป็นปุ๋ย.
คนจีนเรียกบ่อหมักมูลว่า แช่ตี้ ( 廁池 )

เรียกห้องสุขาที่สร้างคร่อมบนบ่อหมักว่า แช่ส้อ ( 厕所 ) คนแต้จิ๋วในเมืองที่มีฐานะท่านถึงมีห้องสุขาเป็นสัดส่วน

ห้องสุขาของคนรวยท่านเรียก ตังซี ( 东司 )

ศัพท์ ตังซี ของชาวแต้จิ๋วนี้เค้าอนุรักษ์มาแต่สมัยยุคราชวงศ์ถังครับ.

.............

กงซีล่ง ( 公司廊 )

กงซี ( 公司 ) แปลว่า บริษัท หรือ ตณะคนที่ร่วมลงทุนทำการค้า

ล่ง ( 廊 ) เป็นศัพท์ที่ชาวแต้จิ๋วในเมืองไทยนำมา แปลงเสียง

 ’ เพื่อเลียนเสียงคำและความของคำไทยว่า โรง ’


(  廊 คำแต้จิ๋วดั่งเดืมท่านออกเสียงว่า ลั้ง  )

ทุกวันนี้พอกล่าวถึง ล่ง หรือ ล้ง เด็กยุคใหม่จะเข้าใจง่ายกว่าคนยุคก่อนหน้านี้ เพราะทายาทเจ้าสัวย่านคลองสานท่านแปลงโรงเก็บสินค้าเก่าเป็นสถานช้อปปิ้ง และลงทุนโฆษณาสร้างความเข้าใจกับคำว่า ล้ง ให้เด็กรุ่นใหม่ได้เข้าใจไปเยอะ

.

ศัพท์ “ กงซีล่ง ” ของชาวจีนสยามเมื่ออดีต

หมายถึง โรงเก็บสินค้า หรือ โกดัง ( godown ) ครับ

.

ปัจจุบันเราต่างคุ้นหูกับศัพท์จีนว่า หลงจู๊ ศัพท์หลงจู๊ มีที่มาจากกงซีล่งนี่แหละครับ

หลงจู๊ ท่านหมายถึง ผู้จัดการ ดูแลโรงสินค้า

“ หลงจู๊ เป็นคนมืออาชีพทำหน้าที่แทนเฒ่าแก่ หรือบริษัท ในการบริหาร คน และการจัดเก็บสินค้า ไปกระทั่งมีอำนาจตัดสินใจ

สั่งซื้อสินค้าเข้า หรือนำสินค้าในโรงเก็บสินค้าออกขายทำกำไร....... ”

..

กงซีล่ง  ยังเป็นชื่อ ‘ ย่าน ’ ครับ

“ ย่านกงซีล่ง ท่านหมายถึงพื้นที่ริมน้ำฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ อนุวงศ์ ราชวงศ์ ทรงวาด จรด วัดสามเพ็ง หรือวัดปทุมคงคา ”

ด้วยแต่เดิม ที่ดินแถบนี้เค้าใช้เป็นโกดังหรือ โรงเก็บสินค้า พืชผลทางการเกษตร และ ของป่า ที่เค้าส่งมากรุงเทพทางเรือแดง
ทั้งเรือที่ขนสินค้าลงมาจากทางเหนือ หรือขึ้นมาจากทางใต้
รวมทั้งยังเป็นโกดังเก็บสินค้าต่างประเทศที่นำเข้ามาทางเรือเดินทะเล
บริษัทเก่าแก่ในกรุงเทพต่างเคยอยู่ หรือยังอยู่ แถบนี้
เช่นบริษัทค้าข้าวใหญ่ของบ้านเรา ทั้งไชยพร นานาพรรณ
บริษัทค้าโภคภัณฑ์ อย่างเจี่ยไต๋ สหพัฒน์ ต่างก็เคยมีโรงสินค้าอยู่ตรงนี้
กระทั่งธนาคารเก่าแก่ ต่างเคยมีเฮดออฟฟิศอยู่ กงซีล่ง

.....

ภาพประกาศของเจ้ากรมอำเภอสำเพ็ง ในราชกิจจาฯ
บนหน้ากระดานแต้จิ๋ว
ปรากฏความที่หลายท่านอาจจะอ่านโดยไม่เฉลียวใจว่า

กงษีโล้ง เมื่อ รศ.128 หรือราว พ.ศ.2453

“ แท้จริงแล้วเป็นชื่อตำบล ขึ้นกับอำเภอสำเพ็ง ”

ทั้งบางส่วนของตำบลยังกินพื้นที่ของถนนสำเพ็ง หรือ ถนนวานิช 1 ในปัจจุบัน

Cr. ภาพ สึคุโมะ ริวสึเกะ @ ‎ภาษาแต้จิ๋วเท่าที่ฉันรู้(จากอาม่า)
8/13/2020
#กงซีล่ง

เพิ่ม

คนจีนโบราณท่านเรียกคนที่ลงเรือสำเภาไปค้าต่างแดนว่า คนทำกงสี

เพราะขนบเรือสำเภาถือว่า
ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นเจ้าของร่วม ทั้ง เรือและสินค้าที่บรรทุก

เพื่อยามที่เรือประสบภัย ทุกคนจะร่วมปกป้องเรือ หรือช่วยกันกอบกู้ให้เรือพ้นจากภาวะวิกฤตโดยเต็มความสามารถ

ดังนั้นทั้งลูกเรือ และนายเรือสำเภาต่างไม่มีค่าจ้างเป็นเงินเดือน
แต่จะได้รับส่วนแบ่งจากผลกำไรที่ได้จากการออกเรือแต่ละรอบ สัดส่วนที่ได้จะได้รับแบ่งตามความรับผิดชอบ
ทั้งยามที่การเดินเรือครั้งนั้นไม่มีผลกำไร ทุกคนก็อดไปด้วยกัน

โกดังสินค้าของชาวเรือ(สำเภา) จึงเรียก โรงพักสินค้าของกงสี




(https://sv1.picz.in.th/images/2023/06/19/InjE1D.jpg)


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 มิ.ย. 23, 12:36
คัดความจาก https://web.facebook.com/search/top?q=กงซีล่ง

https://www.facebook.com/100007194729198/posts/pfbid02RYHc269gMCUtbqe6vCmE7LvcC35gEahwXrtheDBHmu4odFstcM4YHzJpmN58CYRil/?mibextid=cr9u03


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 19 มิ.ย. 23, 12:42
ขอบคุณครับ _/\_


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 มิ.ย. 23, 14:35
ภาพผนังโบสถ์ แสดงให้เห็นการไปทุ่งของชาวบ้านสมัยโบราณ

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=7353.0;attach=79744;image)

นอกจาก' ไปทุ่ง' ก็ยัง 'ไปท่า'

ชาวบ้านถ่ายลงคลอง ท่ามกลางผู้คนที่ขวักไขว่ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดสุทัศนเทพวราราม


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มิ.ย. 23, 18:50
แวะมาสวัสดีคุณนามแปลงค่ะ   ดีใจที่เข้ามาร่วมวงด้วย
มีเกร็ดอะไรดีๆแบบนี้ก็เข้ามาเล่าอีกนะคะ
ดิฉันไม่ได้ไปประเทศจีนมานานหลายปีมาก    เข้าใจว่าระบบห้องน้ำของเขาน่าจะมีการพัฒนาให้ทันสมัยเช่นเดียวกับถนนหนทางตึกรามบ้านช่องแล้ว
สมัยที่ไปนั้น   เคยต้องไปเข้าห้องน้ำแบบโบราณที่มารางผ่านตลอดทุกห้อง   ไม่ต้องอธิบายมากก็คงนึกภาพออก

กลับมาเรื่องไทย  ขออธิบายเรื่องโถพระบังคนอีกหน่อย  เพราะมีความสำคัญไม่ใช่น้อย  ถือเป็นหนึ่งในเครื่องราชูปโภคเชียวนะคะ       มีอยู่หลายชิ้น ใช้ในวาระต่างๆ
ถ้าใช้ประจำวัน คือ โถลงพระบังคนกะไหล่ทอง
ถ้าเป็นในพิธีไม่ค่อยสำคัญ พนักงานเชิญโถลงพระบังคนทองคำเกลี้ยง   แต่ถ้าเป็นงานใหญ่เช่นพระราชพิธีสำคัญๆก็ใช้อย่างหรู คือโถพระบังคนทองคำลงยา
ส้วนกระทงตัดจากใบตอง เย็บเป็นกระทงวางลงในโถอีกทีหนึ่ง  เสร็จแล้วก็จะนำไปลอยน้ำ   


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มิ.ย. 23, 08:33
เรียนคุณนามแปลง
ดิฉันอยากเห็นส้วมคนจีนอย่างที่เล่ามามากค่ะ เลยเอาตัวหนังสือจีนในวงเล็บไปค้นกูเกิ้ล   ปรากฏว่าภาพที่ขึ้นมากลายเป็นส้วมสมัยใหม่ สุขภัณฑ์เอี่ยมอ่องเหมือนยุโรปอเมริกาทั้งนั้นเลยค่ะ



กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มิ.ย. 23, 08:37
เล่าต่อ ถึงประวัติศาสตร์ที่มี "ส้วม" เป็นฉากหลัง

เรื่องนี้ เกิดในรัชกาลที่ 1   เป็นเรื่องของผู้ร้ายชื่อ “อ้ายมา” ลอบเข้าไปทำมิดีมิร้ายพระสนมถึงในวังหลวง   บันทึกโดย เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศได้บันทึกเรื่องนี้ไว้
 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้โปรดเกล้าฯให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นำต้นฉบับที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกไว้มาชำระใหม่ ปรากฏว่า หลายเรื่องได้ถูกตัดหายไป รวมทั้งเรื่องอ้ายมานี้ด้วย
แต่เป็นโชคดีของคนรุ่นหลัง  มีผู้คัดลอกต้นฉบับเดิมไว้ เช่น เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ซึ่งได้รับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศต่อจากเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ ผู้พี่ชาย    ต้นฉบับนี้ถูกถ่ายเป็นไมโครฟิล์มเก็บไว้ในหอสมุดแห่งชาติ  นอกจากนี้ ฉบับคัดลายมือลงสมุดฝรั่ง ๙ เล่มของโรงเรียนหลวงสวนกุหลาบ ก็ยังปรากฏมีเรื่องของอ้ายมาอยู่ด้วย

เรื่องนี้เกิดขึ้นใน พ.ศ.๒๓๔๐ สมัยรัชกาลที่ ๑ อ้ายมาเป็นใคร มาจากไหน เถือกเถาเหล่ากอใด ไม่มีใครรู้ และ อ้ายมาก็ไม่ยอมให้การพาดพิงถึงใครทั้งสิ้น คงกลัวจะทำให้คนอื่นที่ไม่รู้ไม่เห็นพลอยเดือดร้อนถูกตัดหัว ๗ ชั่วโคตรไปด้วย เพราะพฤติกรรมที่อ้ายมากระทำเป็นความผิดมหันต์ ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีคนไทยคนไหนกล้าบังอาจถึงเพียงนี้


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มิ.ย. 23, 08:45
   เริ่มต้นด้วยว่า คืนหนึ่ง  เจ้าจอมทองนอนอยู่เวรบนพระมหามณเฑียรซึ่งเป็นที่ประทับ ได้ร้องโวยวายขึ้นกลางดึก ขณะที่มุ้งยังคลุมตัวยุ่งเหยิง ทำเอาสาวสนมกำนัลในตื่นตกใจกันทั้งพระมหามณเฑียร ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯให้ค้นหาตัวผู้ชายที่เจ้าจอมอ้างว่าเปิดมุ้งเข้าไปหา แต่ก็ค้นไม่พบ ทุกคนต่างเข้าใจกันว่าเจ้าจอมนอนละเมอ จึงให้ลงพระอาญาเฆี่ยนเสีย ๓๐ ที

คืนต่อมา พระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทอดพระเนตรผู้ร้ายเข้าวังด้วยพระองค์เอง ขณะเสด็จฯไปห้องพระบังคนหลังพระมหามณเฑียร อ้ายผู้ร้ายแอบซ่อนอยู่ที่พระทวารถือกริชดักรอจะทำร้าย แต่พอเห็นชายพระภูษาเท่านั้นก็ตกใจตัวสั่นด้วยเกรงพระบรมเดชานุภาพ กระโดดหนีออกไปทางหน้าต่าง ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าโกนศีรษะโล้น

ในระยะเวลานั้น พระเจ้าหลานเธอกรมหลวงนรินทร์รณเรศร์สิ้นพระชนม์ ข้าหลวงตำหนักใหญ่พากันโกนศีรษะไว้ทุกข์
ขออธิบายแทรกหน่อยว่า สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ (พ.ศ. 2300 - พ.ศ. 2340) มีพระนามเดิมว่า ทองจีน เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี กับพระอินทรรักษา (เสม)
ลำดับญาติกันแล้วก็คือหลานน้าของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ

พระเจ้าอยู่หัวทรงสงสัยว่า ข้าหลวงตำหนักใหญ่ที่เป็นข้าของกรมหลวงนรินทร์คบหากับเจ้าจอมคนใดคนหนึ่ง แล้วแอบมาคอยดักพบกัน จึงมีพระราชดำรัสให้เอาตัวข้าหลวงที่โกนหัวทั้งหมดมาพิจารณาสอบดูว่าใครมีบาดแผลบ้าง เพราะเมื่อผู้ร้ายโดดหน้าต่างลงไปนั้นทรงได้ยินเสียงล้ม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าข้าหลวงหัวโล้นคนใดมีบาดแผล

ตั้งแต่คืนนั้นจึงโปรดฯให้ตั้งลงบังคลในพระที่ ไม่ได้เสด็จฯมาที่ห้องเก่านั้นอีก แต่ก็ยังมีผู้เห็นคนร้ายปรากฏตัวในวังทุกคืน จึงโปรดฯให้ตำรวจวังและราชองครักษ์ไปคอยจับ วางกับดักไว้ตามที่ต่างๆ โดยเอากระแชงปูไว้บนถนน ตรอก ซอยทุกแห่ง เมื่อได้ยินเสียงกระแชงกรอบแกรบขึ้นที่ใด ก็ให้เอาท่อนไม้ ก้อนอิฐ ก้อนหิน ขว้างเข้าไปที่ตรงนั้น
ความจริง ถ้าผู้ร้ายรายนี้หนีไปไม่หวนกลับมาอีก ก็คงจะลอยนวลไปได้ เพราะไม่ได้ทิ้งหลักฐานใดๆไว้ แต่เพราะความกำเริบได้ใจไม่เกรงกลัวอาญาแผ่นดิน จึงลอบเข้าไปในวังทุกคืน จนถูกจับได้ที่ข้างสวนดอกไม้ฝ่ายตะวันออกของพระมหามณเฑียร ซักถามได้ความว่าชื่อ “อ้ายมา” แต่ไม่ยอมปริปากบอกว่า เป็นสานุศิษย์หรือเป็นบ่าวไพร่ของผู้ใด นอกนั้นอ้ายมาให้การหมดทุกอย่าง


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มิ.ย. 23, 08:57
เหตุการณ์นี้ แสดงให้เห็นว่า "ที่ลงพระบังคน" เป็นห้องอยู่หลังพระมหามณเฑียร     ไม่ได้อยู่ในตัวพระมหามณเฑียรเอง

คำว่า พระมหามณเฑียร  หมายถึงพระที่นั่งขนาดใหญ่เชื่อมต่อกัน 3 องค์  ในรัชกาลที่ 1  เรียกว่า "พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน"  ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามพระที่นั่งใหม่สำหรับแต่ละองค์คล้องจองกัน คือ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน

เมื่อเกิดเหตุว่ามีผู้ร้ายลอบเข้ามาได้ถึงห้องลงพระบังคน    จึงโปรดฯให้ตั้งลงบังคนในพระที่ ไม่ได้เสด็จฯมาที่ห้องเก่านั้นอีก
ก็คือย้ายที่ลงพระบังคนไปไว้ในพระที่  คือภายในพระมหามณเฑียร ในห้องที่ประทับ     จะได้ไม่ต้องเสด็จออกนอกพระมหามณเฑียรในยามดึกอีก


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มิ.ย. 23, 09:02
ขอเล่าเรื่องต่อ  เกี่ยวกับ "ส้วม" อีกนิดหน่อย


เมื่อขึ้นศาล ตระลาการถามถึงทางเข้าออก อ้ายมาก็บอกว่า เอาเชือกโยนคล้องใบเสมา แล้วปืนไต่กำแพงขึ้นไป ตระลาการถามถึงเจตนาที่ลอบเข้าไปในวัง อ้ายมาก็บอกว่าได้ข่าวว่าในวังสนุกสนานอยากจะเข้าไปเที่ยวเล่น ตระลาการถามอีกว่า ได้ชำเรากับผู้ใดบ้าง อ้ายมาก็ให้การหมดเปลือก

อ้ายมาบอกว่าได้ขึ้นไปบนพระมหามณเฑียร เห็นเจ้าจอมผู้หนึ่งรูปงามนัก ห่มสไบสีทับทิม ใส่ตุ้มหูระย้าเพชร ถือเทียนนำเสด็จฯออกมาจากในพระที่ เพียงแรกเห็นอ้ายมาผู้ไม่รู้ที่ต่ำที่สูงก็เกิดความรักอยากได้ บังอาจถึงขนาดคิดจะทำร้ายพระเจ้าอยู่หัว แต่ก็ประหม่าเกรงพระบรมเดชานุภาพ ต้องถอยห่างหลบไปไม่กล้าทำอย่างที่คิด

ตกดึกคืนนั้น อ้ายมาก็เที่ยวค้นหาเจ้าจอมผู้นั้นว่านอนอยู่ที่ไหน เที่ยวเปิดดูตามมุ้งก็ไม่พบ จนเห็นเจ้าจอมคนหนึ่งหน้าตาคล้ายคลึง จึงมุดมุ้งเข้าไปข่มขืนกระทำชำเรา สำเร็จเสร็จสรรพแล้วเจ้าจอมผู้นั้นบอกว่าขอไปเบา แล้วหายไปไม่กลับมาอีก อ้ายมานอนคอยอยู่จนเกือบรุ่งจึงจำต้องปืนกำแพงวังกลับออกไป แต่ก็จำมุ้งที่นอน หีบหมากของเจ้าจอมผู้นั้นได้

รุ่งขึ้นอ้ายมาก็ได้ใจ ปีนวังหลวงเข้าไปหาเจ้าจอมคนเก่าอีก แต่ก็ไม่พบ เที่ยวเปิดมุ้งหาจนเจ้าจอมคนหนึ่งร้องโวยวายขึ้น ทำเอาตื่นกันทั้งพระมหามณเฑียร อ้ายมาจึงรีบหนีออกไป

ทรงให้เอาที่นอน หมอน มุ้ง และหีบหมากของเจ้าจอมทั้งหมดไปให้อ้ายมาดู อ้ายมาก็จำที่นอนหมอนมุ้งและหีบหมากของเจ้าจอมคู่สวาทได้ ตระลาการเขียนแผนที่ตำแหน่งของมุ้งสอบดู อ้ายมาก็ชี้ได้ ปรากฏว่าชุดนอน หีบหมาก และที่นอนตรงกับของ เจ้าจอมอิ่ม ลูกสาวพระไตรศรี จึงมีพระราชดำรัสให้เอาตัวเจ้าจอมอิ่มไปให้ตระลาการซักถาม เจ้าจอมอิ่มให้การว่า

คืนนั้นนอนหลับอยู่ ตื่นขึ้นมาก็เห็นอ้ายมาคร่อมทับอยู่แล้ว เอามีดจ่ออกขู่ว่าถ้าร้องจะฆ่าให้ตาย เจ้าจอมอิ่มกลัวเลยต้องปล่อยให้อ้ายมาทำมิดีมิร้าย จนสำเร็จประสงค์แล้วจึงออกอุบายว่าจะขอไปเบา เมื่ออ้ายมาตายใจปล่อยให้ไป ก็หลบไปไม่กลับมาอีก จากนั้นก็ซ่อนตัวอยู่แต่ในบ้านไม่กลับไปนอนที่เก่า

ทรงเห็นว่าเจ้าจอมอิ่มมิได้ปลงใจรักใคร่ด้วยอ้ายมา จะเอาผิดนั้นยังไม่ได้ จึงเพียงให้ริบเครื่องยศคืน แล้วให้พระไตรศรีรับตัวกลับไปอยู่บ้าน ส่วนเจ้าจอมทองที่ถูกหาว่านอนละเมอจนถูกเฆี่ยนฟรีไป ๓๐ ที ก็พระราชทานทำขวัญไป สำหรับอ้ายมาตัวแสบได้รับโทษไปตามที่เหมาะที่ควร คือประหารชีวิต

คดีของอ้ายมา ทำให้ต้องมีการสร้างกำแพงวังชั้นในกันใหม่ให้แน่นหนา มีประตูสกัดเหนือสกัดใต้ เพื่อถวายการอารักขาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ไม่หละหลวมจนอ้ายมาเข้าออกได้เป็นว่าเล่น


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มิ.ย. 23, 09:35
  พยายามวาดภาพสถานที่นอนของเจ้าจอมในพระบรมมหาราชวัง   ตามคำให้การของอ้ายมา
   การที่อ้ายมาเที่ยวเปิดมุ้งดูสาวๆชาววังได้ ก็แสดงว่าในพระมหามณเฑียรมีห้องใหญ่ ที่ไม่ได้ปิดประตูลงกลอนมิดชิด    เจ้าจอมนอนกันอยู่ในนั้นเป็นกลุ่มใหญ่ ต่างคนต่างมีฟูก(ที่นอน) มุ้ง และหีบหมาก (ซึ่งเป็นของใช้ติดตัว ขาดไม่ได้)  เป็นของตัวเองเวลาขึ้นไปอยู่เวรบนพระมหามณเฑียร
  ดูลักษณะเหมือนนักเรียนไปค่ายพักแรม  คือนอนรวมกัน    มุ้งใครมุ้งมัน
  อ้ายมาเข้าไปข่มขืนกระทำชำเราเจ้าจอมอิ่มได้   แสดงว่ามุ้งแต้ละมุ้งน่าจะอยู่ห่างกันพอสมควร   จึงไม่มีเจ้าของมุ้งอื่นเอะใจว่าเกิดอะไรขึ้นในมุ้งนี้   และในห้องก็คงมืด ไม่มีการจุดตะเกียงหรือแสงสว่างใดๆ

  เจ้าจอมอิ่มออกอุบายว่าจะ "ไปเบา" แล้วเปิดมุ้งหนีหายไป     แสดงว่าที่ปลดทุกข์ต้องอยู่นอกพระมหามณเฑียร ไกลพอสมควร   อ้ายมาจึงไม่ผิดสังเกตที่เธอหายไปนาน   นอนรอแล้วรอเล่าจนรุ่งเช้าก็ไม่เห็นกลับมา เลยต้องหนีออกไป  คนอื่นๆก็ยังไม่ผิดสังเกตอีกนั่นแหละว่าทำไมมี 2 คนอยู่ในมุ้งเดียว 
  ตอนนั้น "อุโมงค์" ของสาวชาววังน่าจะมีแล้ว    ที่เจ้าจอมอิ่มออกอุบายก็คือหลอกว่าไปอุโมงค์นั่นเอง
  แต่เธอกลับไปนอนบ้านแทน  นี่คือคำให้การของอ้ายมา
  "บ้าน" ที่ว่าน่าจะเป็นตำหนักใหญ่น้อยในเขตพระราชฐานชั้นใน    เจ้าจอมพักอาศัยอยู่ใน "บ้าน" เหล่านี้ เวลาไม่ได้ขึ้นไปอยู่เวรบนพระมหามณเฑียร     ไม่ได้อยู่ประจำบนนั้น


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 20 มิ.ย. 23, 09:54
เรียนอาจารย์เทาชมพู

ีรู้สึกเสียใจที่ขอแจ้งว่า วันนี้ กระดานเฟสบุ๊คของผมถูก ระบบเอไอของเค้าบล็อกการมองเห็นอีกแล้วครับ....

คงจะเป็นเพราะมีสมาชิกจากเรือนไทยเรียกเข้าไปใช้มากผิดปกติกระมังครับ

ไว้สักหนึ่งเดือนให้หลังจากนี้ เมื่อเฟสบุ๊คผ่อนมาตรการ ปิดกั้น

ขอเรียนเชิญเคาะเข้าไปชมเรื่องห้องน้ำ-ห้องส้วม ในเรือนจีนโบราณ ที่

https://web.facebook.com/plu.danai/posts/pfbid021eQofUCmBFyVGQwUtJbNeRyojEd2NYuTF3mCmNSCZXXkkfPBxEES1bVQ7ckSwpCVl

หรือถ้าท่านใดมีวิธีซิกแซกที่จะเข้าชมกระดานเฟสบุ๊กที่ถูกบล็อก ผมก็ขอคำแนะนำด้วยนะครับ

...

ห้องน้ำในชนบทจีน ที่ยังมีภาพหลงเหลือจากมาตรการกวาดล้างบนโลกไซเบอร์ของรัฐบาลกลางครับ

https://img.pic.in.th/0002435d54d7ddd38c36.jpeg

https://img.pic.in.th/00032aa0dd0209d3c3dc.jpeg






กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มิ.ย. 23, 10:42
เรียนอาจารย์เทาชมพู

ีรู้สึกเสียใจที่ขอแจ้งว่า วันนี้ กระดานเฟสบุ๊คของผมถูก ระบบเอไอของเค้าบล็อกการมองเห็นอีกแล้วครับ....

คงจะเป็นเพราะมีสมาชิกจากเรือนไทยเรียกเข้าไปใช้มากผิดปกติกระมังครับ

ไว้สักหนึ่งเดือนให้หลังจากนี้ เมื่อเฟสบุ๊คผ่อนมาตรการ ปิดกั้น

ขอเรียนเชิญเคาะเข้าไปชมเรื่องห้องน้ำ-ห้องส้วม ในเรือนจีนโบราณ ที่

https://web.facebook.com/plu.danai/posts/pfbid021eQofUCmBFyVGQwUtJbNeRyojEd2NYuTF3mCmNSCZXXkkfPBxEES1bVQ7ckSwpCVl

หรือถ้าท่านใดมีวิธีซิกแซกที่จะเข้าชมกระดานเฟสบุ๊กที่ถูกบล็อก ผมก็ขอคำแนะนำด้วยนะครับ
...
ห้องน้ำในชนบทจีน ที่ยังมีภาพหลงเหลือจากมาตรการกวาดล้างบนโลกไซเบอร์ของรัฐบาลกลางครับ

https://img.pic.in.th/0002435d54d7ddd38c36.jpeg

https://img.pic.in.th/00032aa0dd0209d3c3dc.jpeg

ดิฉันเข้าไปอ่านในลิ้งค์ที่ให้มาได้หมดเลยค่ะ ทั้ง 3 ลิ้งค์
FB ของดิฉันไม่เคยถูกบล็อค  ก็เลยไม่เข้าใจว่าถูกบล็อคคืออะไร  แบบไหน  เจ้าของอ่านไม่ได้แต่คนอื่นอ่านได้หรืออย่างไร   เพราะดิฉันเข้าไปอ่านได้หมดค่ะ
ถ้าลิ้งค์ข้างล่างนี้เป็นของคุณนามแปลง   ดิฉันขออนูญาตนำรูปบางรูปมาลงในกระทู้นะคะ

https://web.facebook.com/plu.danai/posts/pfbid021eQofUCmBFyVGQwUtJbNeRyojEd2NYuTF3mCmNSCZXXkkfPBxEES1bVQ7ckSwpCVl



กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 20 มิ.ย. 23, 12:02
หลักฐานที่เหลือมาว่าชาวสุโขทัยถ่ายหนักเบากันอย่างไร คือส้วมของพระสงฆ์ เรียกว่า “วัจจกุฎี” หรือ “เร็จกุฎี” หรือ “ถาน”
ประกอบด้วยแผ่นรองรับเท้าในขณะขับถ่าย หรือที่เรียกกันว่า “เขียง” ซึ่งใช้วางไว้เหนือหลุมรับอุจจาระ จำนวน 3 แผ่น
ประกอบไปด้วยเขียงหิน 2 แผ่น และเขียงไม้ 1 แผ่น

ผศ. ดร. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อธิบายไว้ในหนังสือ “มรดก 1,000 ปี เก่าที่สุดในสยาม  ว่า  เขียงทั้ง 3 แผ่น มีลักษณะเหมือนกัน
คือ มีรูขนาดใหญ่เจาะทะลุ   คาดว่าใช้สําหรับปล่อยให้อุจจาระผ่านลงไปยังหลุมด้านล่าง ส่วนด้านหน้ามีรางยาวเพื่อระบายปัสสาวะให้
ไหลลงภาชนะที่วางรองรับอยู่ การแยกรางให้ปัสสาวะกับอุจจาระเช่นนี้ คาดว่าเพื่อแยกไม่ให้ปนกันเป็นการป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์

           แผ่นหินนี้ เป็นหนึ่งในปริศนาให้ขบคิดว่า เป็น “ส้วม” หรือ “โยนีโทรณะ” (ฐานศิวลึงค์) กันแน่ มาแต่ พ.ศ.2503 ที่
กรมศิลปากรเคยเปิดเวทีเสวนาด้านโบราณคดี ท่ามกลางซากโบราณสถานกรุงเก่าสุโขทัย
           จน 30 ปีต่อมา “ไมเคิล ไรท์” เป็นผู้เฉลยว่าแผ่นหินที่พบบริเวณอรัญญิกเมืองสุโขทัยนั้นหาใช่ “ฐานโยนี” ไม่ หากแต่
เป็น “ส้วมของภิกษุ” ซึ่งในประเทศศรีลังกาก็มีแผ่นหินหลุมส้วมทำนองเดียวกันนี้อย่างกลาดเกลื่อน

https://www.matichonweekly.com/culture/article_25722


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มิ.ย. 23, 13:35
“ไมเคิล ไรท์” เป็นผู้เฉลยว่าแผ่นหินที่พบบริเวณอรัญญิกเมืองสุโขทัยนั้นหาใช่ “ฐานโยนี” ไม่ หากแต่เป็น “ส้วมของภิกษุ” ซึ่งในประเทศศรีลังกาก็มีแผ่นหินหลุมส้วมทำนองเดียวกันนี้อย่างกลาดเกลื่อน

นาทีที่ ๖.๑๒ - ๘.๒๖

https://youtu.be/nxXtdxa52L4


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 20 มิ.ย. 23, 13:55
                 มิวเซียมสยามเคยจัดนิทรรศการ สืบจากส้วม เมื่อปี ๒๕๕๓

เชิญไปทุ่งท่องได้ที่

https://archives.museumsiam.org/uploads/r/national-discovery-museum-institute-ndmi/d/7/7/d77561f8aa6c132a93e8c4adfb5690cbe35912d71383e8fc15c84b4356176b4a/th-ndmi-exh-tmp-05-01-002.pdf


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มิ.ย. 23, 14:35
;D

https://youtu.be/OlAnJnP9TAQ


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มิ.ย. 23, 15:35
ส้วมชาววังสมัยอยุธยา

https://youtu.be/5LlpA2BeeDg


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 23, 19:34
เมื่อสยามรับอิทธิพลตะวันตกเข้ามาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 3   มาชัดเจนในรัชกาลที่ 4   พอถึงรัชกาลที่  5  วัฒนธรรมตะวันตกหลายอย่างก็พรั่งพรูเข้ามาในสังคมไทย รวมทั้ง "ส้วม" ด้วย
ส้วมของเจ้านายและคนชั้นสูงในสมัยนั้น เปลี่ยนอิริยาบถของคนไทยในขณะปลดทุกข์ไปจากเดิม    ถ้าดูจากภาพผนังโบสถ์ที่ยกมาในกระทู้นี้   จะเห็นว่าเดิมคนไทยนั่งยองๆ กัน   ท่านี้เป็นท่านั่งยอดนิยมของคนไทย
ที่มาคือคนไทยนั่งบนพื้น  จะเคลื่อนไหวอย่างไหนก็อยู่ติดพื้นตามความเคยชิน   แต่ฝรั่งไม่นั่งยองๆ เขานั่งห้อยขา   ส้วมของฝรั่งจึงเปลี่ยนอิริยาบถคนไทยให้ห้อยขาตามไปด้วย

อย่างส้วมรูปร่างเหมือนหีบมีฝาปิด และมีฝาปิดรูกลมๆนี้  ใส่ภาชนะรองรับไว้ข้างใต้  เปิดด้านข้างให้ดึงโถข้างในออกมาทำความสะอาดแล้วใส่กลับเข้าไปได้    เมื่อเข้ามาในไทยก็ตรงไปที่วังก่อนบ้านชาวบ้าน   เจ้านายไทยได้ใช้ก่อนคนอื่น


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 23, 19:38
ภาพนี้เห็นลิ้นชักด้านข้างชัดกว่า


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 23, 19:44
เคยถามคุณยายเจ้าของบ้านที่ไปอาศัยอยู่ด้วยตอนเรียนหนังสือว่า สมัยคุณยายเล็กๆก่อนมีห้องน้ำสุขภัณฑ์ทันสมัย   คุณยายไปห้องน้ำยังไงตอนกลางคืน  เพราะตอนเล็กๆคุณยายอยู่ในยุคต้นศตวรรษที่ 20  ดินแดนแถวโคโลราโดยังเป็นแดนเถื่อนของตะวันตกอยู่มาก
คุณยายตอบว่า สมัยนั้นมี chamber pot

กระโถนแบบฝรั่งเข้ามาในสยามในรัชกาลที่ 5   เจ้านายโดยเฉพาะเจ้านายสตรี น่าจะมีใช้กัน


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 22 มิ.ย. 23, 03:29
อ้างถึง
ดิฉันเข้าไปอ่านในลิ้งค์ที่ให้มาได้หมดเลยค่ะ ทั้ง 3 ลิ้งค์
FB ของดิฉันไม่เคยถูกบล็อค  ก็เลยไม่เข้าใจว่าถูกบล็อคคืออะไร  แบบไหน  เจ้าของอ่านไม่ได้แต่คนอื่นอ่านได้หรืออย่างไร   เพราะดิฉันเข้าไปอ่านได้หมดค่ะ
ถ้าลิ้งค์ข้างล่างนี้เป็นของคุณนามแปลง   ดิฉันขออนูญาตนำรูปบางรูปมาลงในกระทู้นะคะ

อาจารย์ครับ ผมไม่เข้าใจเกณฑ์ การบล๊อกการมองเห็นของเฟสบุ๊ค ครับ
เพราะเพื่อนของผมหลายคนที่เข้าไปอ่านไม่ได้
บางคน ค้นหาหน้าเฟสของผม จากหน้าเฟสบุ๊คไม่ได้
ผมเคยถูกเพื่อนสนิทเคือง ที่ผมต้องแก้ปัญหาโดยการส่งรหัสหน้าเฟสบุ๊คให้เพื่อนเข้าไปดูว่า ผมไม่ได้บล๊อกเค้า
แต่การบล็อกการมองเห็นจะเป็นช่วงเวลาสั้นบ้าง ยาวบ้าง
ที่ผมไม่เข้าใจอีกเหมือนกันครับว่า ทางเฟสบุ๊คใช้เกณฑ์อะไร.....

ผลเมื่อเช้าครับ จากบัญชีเพื่อนที่จะเข้าไปอ่าน ลิ้งก์

https://web.facebook.com/plu.danai/posts/pfbid021eQofUCmBFyVGQwUtJbNeRyojEd2NYuTF3mCmNSCZXXkkfPBxEES1bVQ7ckSwpCVl

(https://sv1.picz.in.th/images/2023/06/22/IpsfFJ.jpg)


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 22 มิ.ย. 23, 03:36
ขอโทษครับ ผมแก้ลดขนาดภาพที่ลงผิดไม่ได้

ส่วนเรื่องภาพในหน้าเฟสบุ๊คนั้นไม่ใช่ของผมสักภาพครับ ผมนำมาจากหน้าค้นหาของกูเกิลครับ

กราบขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพทุกท่านครับ


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มิ.ย. 23, 09:48
ดิฉันเข้าไปอ่านได้ตามปกติค่ะ
คุณเพ็ญชมพู คุณหมอ SILA  และท่านอื่นๆ อ่านได้ไหมคะ


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 22 มิ.ย. 23, 09:53
เข้าไปอ่านได้ ครับ

เมื่อสยามรับอิทธิพลตะวันตกเข้ามาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 3   มาชัดเจนในรัชกาลที่ 4   พอถึงรัชกาลที่  5  วัฒนธรรมตะวันตกหลายอย่างก็พรั่งพรูเข้ามาในสังคมไทย รวมทั้ง "ส้วม" ด้วย
ส้วมของเจ้านายและคนชั้นสูงในสมัยนั้น เปลี่ยนอิริยาบถของคนไทยในขณะปลดทุกข์ไปจากเดิม  
.....มาไทยก็ตรงไปที่วังก่อนบ้านชาวบ้าน   เจ้านายไทยได้ใช้ก่อนคนอื่น


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 มิ.ย. 23, 10:35
ดิฉันเข้าไปอ่านได้ตามปกติค่ะ
คุณเพ็ญชมพู คุณหมอ SILA  และท่านอื่นๆ อ่านได้ไหมคะ

เข้าไปอ่านได้เช่นกัน

ในพระนิพนธ์ของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ เรื่อง เกิดในวังปารุสก์ ทรงเล่าว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้านายพระองค์แรก ๆ ที่มีพระราชนิยมใช้ห้องน้ำแบบตะวันตก โดยโปรดให้สร้างห้องสรงหรือห้องน้ำแบบตะวันตกในพระราชมณเฑียรต่างๆ ที่เสด็จไปประทับ อย่างเช่น พระราชวังบางปะอิน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชวังบ้านปืน พระราชนิเวศมฤคทายวัน พระราชวังพญาไท พระราชวังสนามจันทร์

แม้กระทั่งพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นพระราชมณเฑียรที่พระมหากษัตริย์ต้องเสด็จประทับเมื่อแรกพระบรมราชาภิเษก ก็โปรดให้ต่อเติมห้องสรงโดยจัดแอบไว้อย่างกลมกลืนกับงานสถาปัตยกรรมไทยแบบโบราณ ต่อมาพระราชนิยมในเรื่องห้องน้ำแบบตะวันออกจึงได้แพร่หลายในหมู่ชั้นชนสูง ตลอดจนคหบดีและสามัญชนทั่วไป


ห้องน้ำในพระราชวังพญาไท


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มิ.ย. 23, 11:06
เคยเห็นห้องสรงในพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์  ปูกระเบื้องขาวมีลวดลายประดับด้วย  สุขภัณฑ์และอ่างน้ำ  ดูทันสมัยมากค่ะ


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มิ.ย. 23, 11:10
ตอนเด็กๆ ทันเห็นสุขภัณฑ์ที่ตัวเครื่องปล่อยน้ำอยู่สูงบนผนัง ไม่ได้อยู่ติดกับโถนั่งอย่างทุกวันนี้   มีสายโซ๋ห้อยลงมาให้ดึงเพื่อน้ำจะได้ไหลลงมา    พอชักโซ่  น้ำก็ไหลแรงลงมา ก่อนจะถูกดูดลงไปในท่อ เสียงดัง "โครก"
ที่มาของคำว่า "ชักโครก" น่าจะอยู่ตรงนี้เอง
จำได้อีกอย่างคือที่รองนั่งเป็นไม้ ดัดโค้งพอสวมลงไปบนโถได้  เกลาเรียบลงน้ำมันด้วยค่ะ


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มิ.ย. 23, 13:25
  ขอแวะออกนอกทางจากประเทศไทย เลี้ยวไปต่างแดนหน่อยนะคะ
  เล่าถึงส้วมในโคโลราโดก็แล้วกัน  
  รัฐนี้เป็นรัฐทางตะวันตก  หมายความว่าลุกขึ้นยืนช้ากว่ารัฐทางตะวันออกที่อยู่ใกล้ยุโรปมากกว่า     ผู้คนที่มาตั้งถิ่นฐานอพยพกันมาก็เป็นชาวบ้านธรรมดา มาตายเอาดาบหน้า   เป็นชาวไร่ชาวนามาปลูกกระท่อมอยู่กลางทุ่ง
  ส้วมของพวกเขาทำง่ายๆ  คือขุดหลุมลึกลงไปห่างจากตัวกระท่อมเล็กน้อย   สร้างฝา 4 ด้านล้อมรอบ เป็นห้องเล็กๆ มุงหลังคา   มีประตูทางเข้าด้านหน้าทางเดียว     ไม่มีหน้าต่าง
  ส้วมแบบนี้ยังหลงเหลืออยู่สมัยไปเรียน   แต่อยู่บนภูเขา คือเทือกเขาร็อคกี้ที่พาดผ่านจากเหนือลงไปใต้     ที่นั่นคนไปสร้างบ้านพักสวยๆอยู่   ความที่เทือกเขามันสูงมาก มีเขาลูกเล็กลูกน้อยนับไม่ถ้วน บางแห่งสุขาภิบาลยังตามไม่ถึง   ก็เลยยังมีห้องสุขาแบบเดิมให้เห็น    เขากำจัดกลิ่นด้วยการโรยปูนขาวลงไปในหลุมค่ะ  


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มิ.ย. 23, 13:26
ภายในเป็นแบบนี้ค่ะ


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 22 มิ.ย. 23, 13:52
ภาพสวยจากปฏิทิน
                         RoomLoo with a View


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มิ.ย. 23, 14:21
งามกลมกลืนกับธรรมชาติ  ;D ;D


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มิ.ย. 23, 19:15
ภาพที่นำมาลงข้างล่างนี้เป็นห้องน้ำหรู สมัยใหม่ของปี 1885  ตรงกับรัชกาลที่ 5 ค่ะ
ใครดูออกว่าโถส้วมอยู่ตรงไหน


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มิ.ย. 23, 20:09
ภาพสวยจากปฏิทิน
ภายในเป็นแบบนี้ค่ะ
งามกลมกลืนกับธรรมชาติ  ;D ;D

เคยไปพักที่บ้านนอกเมืองของเพื่อนร่วมงานในพื้นที่ทางเหนือของรัฐ Quebec แคนาดา หรือในสมัยเรียน ในพื้นที่ Appalachian ก็เป็นเช่นนี้ ครับ 


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 มิ.ย. 23, 22:35
ใครดูออกว่าโถส้วมอยู่ตรงไหน

ข้างบนคือ 'ถังเก็บน้ำ' น้ำจะไหลตามท่อมาลง 'โถส้วม' ที่ซ่อนอยู่ในตู้ไม้ข้างล่าง


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มิ.ย. 23, 09:10
 ;D


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มิ.ย. 23, 09:23
ก่อนจะมีกระดาษม้วนขาวๆนุ่มๆใช้อย่างทุกวันนี้  อุปกรณ์เช็ดทำความสะอาดในยุคก่อนโน้น หาได้จากธรรมชาติ เช่นใบไม้ที่เด็ดติดมือไประหว่างทาง  กิ่งไม้   กาบมะพร้าว หรือประณีตหน่อยก็เหลาไม้เล็กๆให้เรียบ หมดเสี้ยน เรียกว่า "ไม้แก้งก้น" ใช้ปาดเช็ดออกไป เสร็จแล้วก็ทิ้งลงหลุม
อุปกรณ์เหล่านี้ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายมาก   สุขอนามัยของคนโบราณจึงไม่ดีนัก  


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มิ.ย. 23, 09:30
    นายแพทย์มัลคอล์ม สมิธ ชาวอังกฤษ ได้รับการชักนำจากสมเด็จฯเจ้าฟ้าจักรพงศภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ถวายการดูแลพระพลานามัยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง พระราชมารดา ณ พระราชวังพญาไท และปฏิบัติหน้าที่ในราชสำนักสยามอยู่หลายปี จึงมีความใกล้ชิดกับเจ้านายชั้นสูงของไทยหลายพระองค์
   เขาได้เขียนไว้ในหนังสือ “A Physician at the Court of Siam” ซึ่งกรมศิลปากรนำมาแปลในชื่อ “ราชสำนักสยามในทรรศนะของหมอสมิธ” เล่าเรื่องไปเฝ้า พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์ร์ พระเจ้าน้องนางร่วมพระมารดาของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ซึ่งยังประทับอยู่ในวังหน้าหลังกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญสิ้นพระชนม์ชีพแล้ว มีความตอนหนึ่งว่า

“...เจ้านายผู้ทรงมีพระอารมณ์ดีและช่างตรัส พระชนมายุอยู่ราว ๖๕ พรรษา พระองค์ประทับอยู่ตามลำพังภายในห้องซึ่งมีขนาดใหญ่โตและกว้างขวาง ตามบริเวณผนังห้องมีตู้ทุกขนาดทุกแบบตั้งเรียงรายอยู่ บางตู้ก็ใช้เก็บถ้วยชาม และบางตู้ก็ตกแต่งเล็กๆน้อยๆสำหรับตั้งโชว์เครื่องปั้นดินเผาของจีนประเภทชามและแจกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสีน้ำเงิน-ขาว และล้วนแต่เป็นของมีค่า โดยปกติแล้วเจ้านายพระชันษาสูงๆเหล่านี้มักจะเรียกใช้ข้าพเจ้าโดยมิได้ประทานสิ่งของใดๆเป็นการตอบแทน แต่สำหรับพระองค์จันทร์ซึ่งมักจะทรงมีรับสั่งให้ข้าพเจ้ามาเฝ้าอยู่บ่อยครั้ง พระองค์จึงได้ประทานเครื่องปั้นดินเผาที่ทรงสะสมไว้มาให้ข้าพเจ้าชิ้นหนึ่ง

พระองค์จันทร์ทรงมีรับสั่งกับข้าพเจ้าว่า “ลองเดินดูไปรอบๆสิ ดูซิว่าท่านชอบชิ้นไหน”

วันหนึ่งขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเดินสำรวจไปรอบๆห้อง ข้าพเจ้าได้เปิดลิ้นชักๆหนึ่งออกดู และพบว่ามีกระดาษหนังสือพิมพ์ฉีกเป็นชิ้นๆ ขนาดเท่าๆกันวางอยู่ ข้าพเจ้าจึงทูลถามว่า “มันคืออะไรขอรับ”

พระองค์จันทร์ได้ตรัสตอบพร้อมกับทรงพระสรวลเสียงดังว่า “มันคือกระดาษชำระ”

ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าที่พระองค์ทรงเรียกเช่นนั้นไม่ใช่เพราะไม่ทรงรู้จัก แต่การพูดอธิบายความเช่นนี้น่าจะเป็นการง่ายต่อความเข้าใจมากกว่า ในสถานการณ์เดียวกันนี้หากเป็นหญิงสาวชาวยุโรปก็คงจะรู้สึกกระดากอาย แต่ความรู้สึกดังกล่าวกลับมิได้เกิดขึ้นกับเจ้านายพระองค์นี้ และการที่พระองค์มิได้ทรงใส่พระทัยในกฎเกณฑ์ และทรงเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องน่าอาย สามารถทำให้พระองค์ตรัสได้อย่างไม่ขัดเขิน และเหมือนว่าจะพอพระทัยเช่นนั้นด้วย

หลังจากที่ข้าพเจ้าอธิบายให้ฟังว่ากระดาษชำระมีลักษณะเช่นไรแล้ว พระองค์จันทร์ทรงให้ความสนพระทัยและตรัสว่า “นำมาให้ฉันสิ แล้วฉันจะให้เครื่องปั้นดินเผาท่านอีกชิ้นหนึ่ง”

ในการเข้าเฝ้าครั้งต่อมา ข้าพเจ้าจึงได้นำกระดาษชำระ ๖ ม้วนใหญ่มาถวาย พระองค์จันทร์ได้ประทานแจกันดินเผาสมัย K’ang Hsu ประมาณปี ค.ศ.๑๗๐๐ อายุไม่ต่ำกว่า ๕๐ รัชกาลมาแล้ว ให้แก่ข้าพเจ้าอีกใบหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าไม่ถือว่าเป็นการขโมย แต่ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนกันมากกว่า เพราะพระองค์จันทร์เองก็ทรงพอพระทัยในกระดาษชำระที่ข้าพเจ้านำมาถวาย และข้าพเจ้าเองก็พอใจในแจกันที่พระองค์ประทานเช่นกัน”


สถานที่ที่หมอสมิธกล่าวถึงนี้ ก็คือพระตำหนักหนึ่งในวังหน้า ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนครในปัจจุบัน เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญสวรรคตในปี ๒๔๒๘ แล้ว รัชกาลที่ ๕ โปรดให้จัดพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ และพระที่นั่งศิวโมกพิมาน เป็นพิพิธภัณฑ์ ส่วนชั้นในยังมีเจ้านายทั้งราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯและพระราชธิดากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จมาประทับ รวมทั้งพระองค์เจ้าวงจันทร์ซึ่งเป็นเจ้านายที่พระชนมายุยืนยาวมาถึงรัชกาลที่ ๖ และสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.๒๔๕๙ ขณะทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฝ่ายในวังหน้า
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9610000013171


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มิ.ย. 23, 09:31
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มิ.ย. 23, 09:34
ทันเห็นกระดาษฟาง เป็นกระดาษแผ่นสี่เหลี่ยมตัดขนาดเท่าฝ่ามือ   แขวนไว้กับลวดทีละหลายๆแผ่นในห้องน้ำ 
เป็นกระดาษเนื้อหยาบกว่ากระดาษทิชชูในปัจจุบันมาก
ยังหาภาพไม่เจอค่ะ


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 มิ.ย. 23, 10:35
กระดาษชำระหรือกระดาษทิชชู เริ่มมีมาประมาณ พ.ศ. ๒๔๐๐ โดยนายโจเซฟ กาเย็ตตี้ (Joseph Gayetty) นักธุรกิจชาวอเมริกัน ผลิตกระดาษชำระออกมาวางจำหน่าย แต่กิจการขาดทุนอย่างรวดเร็ว เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเสียเงินซื้อกระดาษชำระที่ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทั้ง ๆ ที่มีกระดาษหนังสือพิมพ์เก่า ๆ ใบปลิวเก่า ๆ ใบโฆษณาและกระดาษห่อของให้ใช้ได้

ประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๐ พี่น้องตระกูลสก๊อต (Scott) ได้พัฒนากระดาษแบบม้วนและมีรอยปรุขึ้น ซึ่งใช้ได้สะดวกกว่ากระดาษชำระแผ่นโตแบบของกาเย็ตตี้ ในระยะนี้ส้วมชักโครกและห้องน้ำภายในอาคารเริ่มเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในอเมริกาทำให้คนสนใจกระดาษชำระมากขึ้น เพราะมีขนาดเล็ก นุ่ม และยังเข้ากับแฟชั่นการตกแต่งห้องส้วมในขณะนั้นอีกด้วย ทำให้มีผู้ผลิตกระดาษชำระตามมาอีกหลายยี่ห้อ ซึ่งในระยะแรกการมีกระดาษชำระคู่กับโถชักโครกไว้ในห้องน้ำเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจของเจ้าของบ้านเลยทีเดียว

สําหรับฝรั่ง กระดาษชำระหรือทิชชูจะเอาไว้เช็ดชำระจากการขับถ่ายอย่างเดียว ไม่ได้เป็นกระดาษอเนกประสงค์แบบคนไทยในปัจจุบัน ที่นอกจากเอาไว้เป็นกระดาษชำระแล้ว ยังใช้เช็ดหน้า เช็ดเครื่องสำอาง ใช้เป็นกระดาษเช็ดปาก และใช้เช็ดสิ่งสกปรก ซึ่งกระดาษทิชชูมาแทนวัฒนธรรมการใช้กิ่งไม้เช็ดก้น กระดาษเช็ดหน้ามาแทนผ้าเช็ดหน้า และกระดาษเช็ดปากมาแทนผ้าเช็ดปาก นอกจากนี้มีการผลิตกระดาษที่ใช้ทำความสะอาดมาแทนผ้าขี้ริ้ว กระดาษพวกนี้ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ต่างจากผ้าที่สามารถนำกลับมา

การใช้กระดาษชำระในสังคมไทยในอดีต ผู้ที่มีโอกาสใช้ได้มีแต่ชนชั้นสูงและผู้มีฐานะดีเท่านั้น เพราะเป็นของที่ต้องสั่งเข้าจากเมืองนอก กระดาษชำระเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตของคนโดยเฉพาะในวัฒนธรรมการขับถ่ายและชำระร่างกายของคนในเมือง เรื่องของกระดาษชำระก็เช่นเดียวกันกับเรื่องของอุตสาหกรรมสุขภัณฑ์ที่มีปริมาณความต้องการใช้ของคนในสังคมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้มีการติดตั้งโรงงานผลิตขึ้นในประเทศไทย

ในช่วงสมัยเร่งรัดพัฒนาเมืองมีการขยายตัว เกิดที่อยู่อาศัยอย่างมากมายในกรุงเทพฯ ในบ้านที่มีห้องน้ำทันสมัย มีการใช้สุขภัณฑ์ชักโครก ซึ่งของที่คู่กับชักโครกอย่างหนึ่งคือกระดาษชำระ ประมาณทศวรรษ ๒๕๐๐ เป็นต้นมา เราไม่ต้องนำเข้ากระดาษชำระที่เป็นม้วนโดยตรง มีผู้ประกอบการในไทยได้สั่งซื้อกระดาษม้วนใหญ่มาจากต่างประเทศ แล้วมาแปรเป็นม้วนเล็ก ๆ  ซึ่งนอกจากจะมีกิจการกระดาษชำระแล้ว มักมีกิจการเกี่ยวกับผ้าอนามัยควบคู่ไปด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวบ้านในอดีต กระดาษชำระได้แก่พวกหนังสือพิมพ์ สมุดเก่า ๆ และกระดาษห่อของ เป็นต้น โดยเอามาตัดเป็นแผ่น ๆ ร้อยด้วยลวดหรือเชือกแขวนไว้ที่ห้องน้ำ การใช้กระดาษหนังสือพิมพ์เช็ดก็เป็นการใช้แทนกิ่งไม้หรือใบไม้ ซึ่งกว่าที่จะเปลี่ยนมาใช้และเห็นความสำคัญของกระดาษชำระก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และปัจจัยในด้านราคา และความสะดวกในการซื้อหา

ข้อมูลจาก : มนฤทัย ไชยวิเศษ. ประวัติศาสตร์สังคม-ว่าด้วยส้วม และเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย, สำนักพิมพ์มติชน, มิถุนายน ๒๕๔๕.


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มิ.ย. 23, 11:37
กระดาษชำระยุคนี้ ออกแบบสวยเสียจนน่าจะเอามาห่อเป็นกระดาษของขวัญได้


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 23 มิ.ย. 23, 11:45
ภาพจาก ส้วม @ museum siam


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มิ.ย. 23, 10:50
นับว่าแปลก ที่ "ส้วม" เป็นของใช้จำเป็นว่าอย่างอื่น เช่นเตียงนอนหรือโต๊ะเก้าอี้  แต่อย่างหลังกลับได้พัฒนามากกว่าจนล้ำหน้าไปไกล    ผิดกับส้วมที่อืดอาดยืดยาดเอามากๆ อย่างไม่น่าเชื่อ
กว่าจะให้ความสะดวกสบายได้อย่างทุกวันนี้  บรรพบุรุษของเราก็ต้องทุลักทุเลกับความไม่สะดวกหลายประการ    พยานยืนยันได้คือมนุษย์สามารถก่อสร้างปราสาทราชวังโอ่อ่าได้ราวสวรรค์วิมาน   อย่างพระราชวังแวซายลส์  ใครจะเชื่อว่าในความหรูหราทุกกระเบียดนิ้ว    ไม่มีห้องน้ำรวมอยู่ด้วยแม้แต่ห้องเดียว

สรุปคือ แวซายลส์ไม่มีส้วม!



กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มิ.ย. 23, 10:53
ทั้งๆแวซายลส์ถูกก่อสร้างให้มีสระน้ำทั้งสร้างขึ้นมา   และตามธรรมชาติ  มีน้ำพุโอฬารตระการตา  ไม่รู้กี่แห่งต่อกี่แห่ง  แสดงว่าระบบชลประทานดีเยี่ยม
แต่นายช่างที่สร้างก็ไม่ยักคิดจะสร้างท่อลำเลียงน้ำสะอาด และท่อน้ำทิ้ง ให้บรรดาเจ้านายขุนน้ำขุนนางได้ใช้ แม้แต่ท่อเดียว


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 มิ.ย. 23, 09:35
ดิฉันไม่ได้ไปประเทศจีนมานานหลายปีมาก  เข้าใจว่าระบบห้องน้ำของเขาน่าจะมีการพัฒนาให้ทันสมัยเช่นเดียวกับถนนหนทางตึกรามบ้านช่องแล้ว
สมัยที่ไปนั้น   เคยต้องไปเข้าห้องน้ำแบบโบราณที่มารางผ่านตลอดทุกห้อง   ไม่ต้องอธิบายมากก็คงนึกภาพออก

คุณหมอพรทิพย์เล่าไว้ใน FB คราไปเที่ยวเมืองจีนครั้งล่าสุด (https://www.facebook.com/100003391161376/posts/pfbid02WR31agGzccB8Sw52XnVdyvpgePsvUFMkTEvfxNhSGFqvUbUxfRAcrQP92TJPVGfFl/?mibextid=cr9u03) ว่า

กลับมาคุนหมิงในรอบ ๒๐ ปี เปลี่ยนไปมากมาย คราวนี้ได้ขึ้นกระเช้าไปดูเขาซีซาน มองดูเมืองคุนหมิงที่ใหญ่โต ถ่ายรูปได้ไม่มากเพราะคนเยอะ เดินเหนื่อย แม้จะสวยงามแต่ที่ไม่น่ามาเที่ยวเลยคือเรื่องห้องน้ำทั้งในร้านอาหารและที่สาธารณะมีแต่แบบนั่งยอง สวไม่ถนัด

ส้วมแบบนั่งยองหากมีห้องมีประตูปิดมิดชิดก็ยังดี แต่ถ้าโล่งโจ้งแบบนี้คงทำใจลำบาก
;D


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 มิ.ย. 23, 11:35
เรื่องเล่าจากเมืองจีน (https://www.facebook.com/101087721873474/posts/pfbid0Fi75M4hKUhjNZzPoNVAUELEqKQARMbbPXWGsYsB9vMsy5FXvFVSq1xk17sTA6cRDl/?mibextid=cr9u03)

หญิงสาวไปสัมภาษณ์งานใหม่ที่บริษัทแห่งหนึ่งในเมืองกวางโจว เธอกับเพื่อนชวนกันไปเข้าห้องน้ำ แต่ก็ตกใจกับสภาพห้องน้ำแบบเปิด เปิดโล่งจริง ๆ  อย่างภาพที่เห็น แต่เธอก็พยายามเข้าใจว่าเป็นตึกใหม่ อาจจะยังสร้างหรือยังปรับปรุงไม่เสร็จ จึงได้แต่ล้างมือ แล้วกลับออกมาถามคนในตึกว่า

"ห้องน้ำยังสร้างไม่เสร็จเหรอคะ"

ได้คำตอบกลับมาว่า

"เสร็จหมดแล้วค่ะ"

ได้ยินแบบนั้น เธอกับเพื่อนถึงกับลังเล จะรับงานบริษัทใหม่นี้ดีหรือไม่ดีเลยทีเดียว

หมายเหตุ รูปนี้เป็นรูปเมื่อปี ๒๕๖๔ นี้เอง แต่อาจจะเป็นตึกเก่าที่เขาปรับปรุงใหม่และยังเก็บห้องน้ำสไตล์เดิมไว้อยู่


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มิ.ย. 23, 09:41
ภาพที่คุณเพ็ญชมพูนำมาแสดงให้ดูข้างบนนี้  แสดงว่าส้วมในจีนพัฒนาขึ้นไปด้านความสะอาดเรียบร้อย(หากว่าของจริงยังดำรงความสะอาดอย่างในภาพไว้ได้สม่ำเสมอ) แต่ด้านความเปิดเผยยังเหมือนเดิม
และลำบากสำหรับส.ว. อย่างเดิม
ถ้าจะไปอีก  ต้องเช็คกับไกด์ให้ดีเสียก่อนค่ะ

กลับมาที่แวร์ซายลส์  ท่านผู้อ่านเรือนไทยจำนวนมากน่าจะเคยไปเที่ยวมาแล้ว    วันนี้จะพาเที่ยวไม่ซ้ำแบบกับที่เคยไปมาก่อน
ขอเชิญท่านทั้งหลายที่เข้ามาอ่าน  แต่งองค์ทรงเครื่องสวมคอสตูมย้อนยุคไปสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (เรือนไทยเตรียมไว้ให้เสร็จแล้ว ดังในรูป)  เพื่อจะนั่งไทม์แมชชีนไปร่วมงานราตรีสโมสรกาลาดินเนอร์ที่แวซายลส์กัน    เลือกแบบได้ตามใจชอบจากภาพล่าง


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มิ.ย. 23, 09:51
งานหรูอลังการ มีอาหารหายากและไวน์แพงๆเสิฟไม่อั้นที่โต๊ะอาหาร  จากนั้นก็ถึงเวลาลีลาศกัน ยาวนานไม่รู้จบ ตระการตาเหมือนในภาพยนตร์ย้อนยุคหรือในนิยายอย่าง "สามทหารเสือ"
แต่ส่วนที่ภาพยนตร์และนิยายไม่ได้บอกไว้ก็คือ หลังจากกินและดื่มไม่อั้น   ธรรมชาติในร่างกายก็เรียกร้องให้ปลดปล่อยของที่กินและดื่มให้ออกไปบ้าง    เพราะแบกต่อไปไม่ไหวแล้ว   อย่างหนึ่งที่ทำได้สำหรับผู้ชาย ก็คือหลบจากห้องโถง ไปที่ห้องทางเดินยาวระหว่างห้อง  แล้วแอบปล่อยของเหลวในร่างกายไว้แถวผ้าม่าน 
งานเลี้ยงมีแขกเป็นร้อยๆในแต่ละครั้ง   และเลี้ยงกันประจำ  จึงไม่แปลกที่ใครก็ตามเดินเข้าไปในพระราชวัง จะได้กลิ่นฉุนรุนแรงยิ่งกว่ายาสลบ ระเหยอยู่ทั่วโดยเฉพาะตามทางเดิน  บรรดาทูตานุทูตที่มาประจำในฝรั่งเศสบันทึกกลับไปที่ต้นสังกัดว่า พระราชวังหรูหราอันดับหนึ่งของยุโรปนี้ เป็นสถานที่สกปรกที่สุดแห่งหนึ่งเท่าที่เคยเจอมา
ร้อนถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14  ต้องมีพระบัญชาให้คนงานคนรับใช้ทั้งหลาย ทำความสะอาดกวาดล้างทุกห้องหับในพระราชวังอาทิตย์ละครั้ง   รวมทั้งในสวนที่บรรดาแขกไปใช้เป็นส้วมกลางแจ้งด้วย

ทีนี้ ถ้าอยากเกิดถ่ายหนักขึ้นมาจะทำอย่างไร?


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มิ.ย. 23, 10:02
ข้าราชบริพารที่ทำงานประจำอยู่ในแวซายลส์  มี "ส้วมเคลื่อนที่" เป็นส่วนตัวของแต่ละคน หอบหิ้วจากห้องนอนเอาไปในห้องทำงานได้  ลักษณะตามรูปข้างล่างนี้ค่ะ
คือเป็นเก้าอี้มีกระโถนรองรับอยู่ภายใน   ดึงออกมาเททิ้งทำความสะอาด ก่อนจะใส่กลับเข้าไป พร้อมใช้งานใหม่

เวลามีงานเลี้ยงอลังการในวัง  (ซึ่งก็มีประจำเกือบทุกคืน)  บรรดาแขกก็จะตีสนิท ขอยืมส้วมดังกล่าวมาใช้ โดยนัดแนะกับเจ้าของส้วมให้หอบหิ้วมาวางในที่มิดชิดหน่อย  ใช้งานเสร็จแล้วก็ทิปเจ้าของอุปกรณ์  ก่อนกลับเข้าห้องไปเต้นรำต่อ
แต่ว่าส้วมดังว่านี้มีจำนวนพอๆกับบรรดาคนทำงานในวัง คือประมาณ 300 ตัว    ส่วนแขกมีจำนวนมากกว่า   ดังนั้นเมื่อเกิดความจำเป็นขึ้นมาพร้อมๆกัน รอคิวไม่ไหว   ก็ต้องไปหาที่ปลดปล่อยกันเองแล้วแต่จะหาได้ที่ไหน
มันเป็นความทุลักทุเลเบื้องหลังความอลังการ ที่ไม่มีใครอยากเอ่ยถึง    หนังละครและหนังสือต่างๆก็จงใจข้ามกันไปหมด
ไม่งั้นจะหมดสง่าราศีของพระเอกนางเอกไปเปล่าๆ


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มิ.ย. 23, 10:13
โปรดสังเกตถึงเสื้อผ้าของบรรดาชนชั้นสูงในสมัยนั้น ว่าอลังการรับกับพระราชวังเพียงใด    เสียแต่ความอลังการที่ว่ากลับกลายเป็นอุปสรรคต่อร่างกาย ชนิดที่ไม่มีใครรู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร  
ขอให้นึกว่าการใส่และการถอดเสื้อผ้าอย่างในรูปข้างบนนี้  มันยากกว่าเสื้อตัวกางเกงตัว หรือกระโปรงชุดในยุคศตวรรษที่ 21  ไม่รู้ว่ากี่เท่า     เวลาแต่งตัวจะออกไปงาน  คุณผู้ชายและคุณนายถึงต้องมีคนรับใช้คอยช่วยแต่งตัวให้ กว่าจะสวมเข้าไปแต่ละชิ้น จนครบครันตั้งแต่หัวลงมาถึงเท้า มันยากและใช้เวลามาก
เพราะฉะนั้นตอนถอดเพื่อธุระเร่งด่วน จึงลำบากเอาการ
บางที คุณผู้หญิงบางคน เช่น เจ้าหญิงดัคคูร์ต์   เวลาปวดพระบังคนเบา ก็เลยไม่ถอด  ปล่อยออกมาทั้งยังงั้น  แล้วให้คนรับใช้ตามเช็ดไล่หลังตามทางที่เธอเดินเอาเอง


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มิ.ย. 23, 10:18
ส้วมของพระนางมารี อังตัวแน็ตต์


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 26 มิ.ย. 23, 13:44
             ตัวช่วยบรรเทาทุกข์(ไม่หนัก)อีกอย่างหนึ่งสำหรับสาวๆ คือ bourdaloue ที่ได้ชื่อตามคุณพ่อ(คณะเยซูอิต) Louis Bourdaloue
(1632-1704) ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ ๑๔ "ตำนาน"เล่าว่า เทศน์ของท่านที่แวร์ซายนั้นได้รับความนิยมอย่างสูง (สมญานามของท่านคือ
King of the Preachers และ Preacher of Kings) สาวๆ ต้องรีบมาจองที่นั่งก่อนเวลาเพื่อจะฟังท่านเทศนาคำสอนซึ่งยาวเหยียด
ไม่มีช่วงหยุดพักจนสาธุชนสาวต้องอาศัยตัวช่วยนี้ยามที่ธรรมชาติเรียกร้อง
            (หากเป็นงานเลี้ยงในวังยังนึกภาพสาวๆ ปลีกตัวไปปลดทุกข์ในห้องหับลับตาคนได้ แต่การใช้ขณะฟังเทศน์ท่ามกลางผู้คน
มากมายนั้น  :o  ???)


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มิ.ย. 23, 13:57
ท่านบาทหลวงจะภูมิใจไหมหนอ ที่ชื่อของท่านถูกนำไปตั้งในความหมายว่า "กระโถน"
ใบนี้งามมาก  เข้าข่ายศิลปะ


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มิ.ย. 23, 13:59
                (หากเป็นงานเลี้ยงในวังยังนึกภาพสาวๆ ปลีกตัวไปปลดทุกข์ในห้องหับลับตาคนได้ แต่การใช้ขณะฟังเทศน์ท่ามกลางผู้คนมากมายนั้น  :o  ???)

คำถามของคุณหมอ SILA ทำให้ดิฉันต้องไปค้นคำตอบมาให้    ได้คำตอบแล้วว่าสมัยนั้นสาวๆเขาปลดทุกข์กันท่าไหนอย่างไร
แต่ใช้ท่านี้ ต่อหน้าคุณพ่อและผู้คนอื่นๆหรือเปล่า ยังจนปัญญาหาหลักฐานไม่ได้ค่ะ
ใครทราบช่วยบอกด้วย


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 มิ.ย. 23, 15:35
จากรายการทีวีสัญชาติอังกฤษสำหรับเด็ก Horrible Histories สาว ๆ ปฏิบัติการต่อหน้าราชินีเชียว

https://youtu.be/hIPFXavxnhY


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มิ.ย. 23, 18:11
ถ้าถามว่า หลังจากขับถ่ายเสร็จแล้ว  เขาชำระล้างกันอย่างไร  จะเช็ดอย่างเดียวกันตลอดไปหรือ 
คำตอบคือในฝรั่งเศส เขามีโถชำระล้างเรียกว่า bidet (อ่านว่าบิเด้)
ใช้งานกันอย่างรูปข้างล่างนี้
คนไทยที่ไปเที่ยวยุโรปโดยเฉพาะฝรั่งเศส   ถ้าพักตามโรงแรมอายุร้อยสองร้อยปีขึ้นไป  จะเจอบิเด้อยู่ในห้องน้ำ


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มิ.ย. 23, 18:13
bidet  สมัยใหม่หน้าตาเป็นแบบนี้


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มิ.ย. 23, 18:38
               (หากเป็นงานเลี้ยงในวังยังนึกภาพสาวๆ ปลีกตัวไปปลดทุกข์ในห้องหับลับตาคนได้ แต่การใช้ขณะฟังเทศน์ท่ามกลางผู้คนมากมายนั้น  :o  ???)
คำถามของคุณหมอ SILA ทำให้ดิฉันต้องไปค้นคำตอบมาให้    ได้คำตอบแล้วว่าสมัยนั้นสาวๆเขาปลดทุกข์กันท่าไหนอย่างไร
แต่ใช้ท่านี้ ต่อหน้าคุณพ่อและผู้คนอื่นๆหรือเปล่า ยังจนปัญญาหาหลักฐานไม่ได้ค่ะ
ใครทราบช่วยบอกด้วย

ของไทยเมื่อสมัยก่อนง่ายกว่า เพราะใส่ผ้าซิ่นเมื่อต้องเข้าเมืองไปทำธุระ  ภาพที่ผมเห็นค่อนข้างบ่อยเมื่อยุค 2500 +/-ต้นๆ ก็คือการยกผ้าซิ่นให้โป่งด้านหน้า ยืนฉี่บริเวณใกล้โตนเสาไฟฟ้า    สมัยนั้น ในพื้นที่ๆผมอยู่ ถนนยังเป็นลักษณะของการใช้หินปูนเกลี่ยให้เรียบแล้วบดอัดด้วยรถบดที่ทำงานด้วยเครื่องจักรไอน้ำแล้วจึงราดยาง  ที่บริเวณโคนเสาไฟฟ้าริมถนนเหล่านี้จะมีกอหญ้าสูงประมาณข่าขึ้นอยู่รอบโคนเสาไฟฟ้า ลำบากที่จะทำด้วยการนั่งยองแล้วกางร่มบัง  แต่ก็มีที่ถกหญ้าออกให้เป็นที่ว่างพอนั่งได้ แล้วใช้การกางร่มหมุนไปมาเพื่อบัง

กรณีปล่อยออกไปเลยตามสะดวกก็เคยเห็น  ครั้งหนึ่งที่ญี่ปุ่น ในการเลี้ยงรับรองด้วยอาหารเย็นที่คลับเฮ้าส์ของบริษัทหนึ่ง สาวผู้ใหญ่โตได้ปล่อยอย่างสบายลงบนหมอรองนั่งในโต๊ะอาหาร ก็อั้นไม่อยู่เพราะเพลินจนมาสายเลยเวลานัด เลยต้องรีบเข้ากระบวนพิธีต้อนรับตามธรรมเนียมให้จบ สักพักใหญ่ก็ลุกขึ้นไปห้องน้ำ เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ (สาวเสิร์ฟ) นำอาหารมาวางบนโต๊ะ พบว่าเบาะรองนั่งและบริเวณนั้นเปียก ก็เลยจัดการเปลี่ยนเบาะรองนั่งก่อนที่เธอจะกลับมานั่ง  ทุกคนที่ร่วมโต๊ะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น(เดาได้)ก็เมื่อตอนที่สาวเสิร์ฟได้เอาเบาะมาเปลี่ยน เมื่อเธอกลับมานั่ง ฝ่ายรับรองต่างก็ช่วยกันกลบเกลื่อนด้วยการนำสนทนาไปในเรื่องสัพเพเหระที่สนุกสนาน  


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 23, 09:25
อ่านแล้วนับว่าเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากยิ่งค่ะ  ;D

กลับมาเรื่อง bidet  
บิเด้ยังมีในยุโรป  แต่ก็เสื่อมความนิยมลงไปมากแล้ว  เพราะไหนจะเทอะทะเมื่อติดตั้งในห้องน้ำ   ไหนจะไม่สะดวกในการใช้    ประกอบกับมีผู้คิดค้นวิธีทำความสะอาดแบบใหม่ที่ง่ายดายและคล่องตัวกว่า  คือใช้สายฉีดน้ำ
เมื่อก่อนห้องน้ำในโรงแรมใหญ่ๆและห้างสรรพสินค้าในไทยไม่มีสายฉีด  ส่วนบิเด้ไม่ต้องพูด ไม่มีอยู่แล้ว    เดี๋ยวนี้มีสายฉีดน้ำกันแพร่หลายแล้ว


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 มิ.ย. 23, 09:35
ของไทยเมื่อสมัยก่อนง่ายกว่า เพราะใส่ผ้าซิ่นเมื่อต้องเข้าเมืองไปทำธุระ  ภาพที่ผมเห็นค่อนข้างบ่อยเมื่อยุค 2500 +/-ต้นๆ ก็คือการยกผ้าซิ่นให้โป่งด้านหน้า ยืนฉี่บริเวณใกล้โตนเสาไฟฟ้า

อาจารย์เสรินทร์ จิรคุปต์ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นล้านนา เล่าว่าในหนังสือ เรื่องเล่าจาวกาดเล่ม ๑ ว่า

ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แม่เล่าให้ผมฟังว่า แม่เป็นชาวบ้านวัดศรีสุพรรณ ชื่อบุญชุม สมนาวรรณ ตอนเป็นสาวแม่หาบข้าวสารเดินขายที่กาดหลวงบ้าง กาดเก๊าลำไยบ้าง วันหนึ่งแม่หาบข้าวมาถึงวัดผ้าขาว เกิดปวดฉี่ เพื่อนแม่จึงแนะนำให้ยืนฉี่ โดยยืนถ่างขา มือข้างหนึ่งจับหาบ อีกข้างหนึ่งจับชื่นยกขึ้น ทำเหมือนป้าคนที่เดินนำแต่แม่ซึ่งเป็นสาวรู้สึกอาย จึงไม่กล้ายืนฉี่ จึงต้องหาบข้าวเดินกลับบ้านที่ศรีสุพรรณ เสียเวลาอีกค่อนวัน วันนั้นเลยไมได้ขายข้าว

เรื่องผู้หญิงยืนฉี่ มีหลายท่านยืนยันว่าเคยพบเห็นในภาคอีสานเช่นกัน

ในภาพเป็นสาวอินโดนีเซีย นุ่งซิ่นยืนฉี่ลักษณะเดียวกับสาวล้านนาสมัยก่อน
;D


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 23, 10:16
ประเทศที่ให้ความสำคัญกับส้วมมากที่สุด เห็นจะไม่มีใครเกินญี่ปุ่น   จากประสบการณ์  ไม่ว่าจะเดินทางไปเที่ยวเมืองเล็กเมืองน้อยห่างไกลยังไง  ที่เที่ยวทุกแห่งมีห้องน้ำสะอาดทันสมัย   ชักโครกขาวสะอาดเอี่ยมอ่องราวกับเพิ่งนำมาติดตั้งเมื่อวานนี้เอง
ราวๆ 25 ปีก่อน  เคยไปพักที่บ้านชาวญี่ปุ่น   จึงเห็นสุขภัณฑ์อัตโนมัติ หรือชักโครกไฟฟ้า   หรือตอนนั้นเรียกว่าส้วมคอมพิวเตอร์ เป็นครั้งแรก   มันมีปุ่มให้กดอยู่บนที่วางแขนข้างๆตัวที่นั่ง    ปุ่มนั้นปุ่มนี้หลายปุ่ม  ทำเอาเงอะงะไปหมดกว่าจะดูออก  ว่ามันใช้งานอะไรแบบไหนกัน   
สุขภัณฑ์เหล่านี้นำมาใช้ในไทย   แต่ไม่ได้แพร่หลายนัก   ตามห้างคงใช้ไม่ไหว คนใช้จำนวนมาก และใข้ไม่เป็น คงพังเร็ว


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 23, 10:17
คู่มือการใช้ห้องน้ำญี่ปุ่นแบบละเอียดยิบ! พร้อมคำอธิบายปุ่มกด อ่านไว้จะได้ไม่งง!?

https://www.tsunagujapan.com/th/perfect-guide-how-to-use-restroom-toilet-in-japan/


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: MCMLII ที่ 27 มิ.ย. 23, 23:14
ส้วมในประเทศไทย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีวิวัฒนาการเรื่อยมาตามลำดับ

ส้วมหลุม ถือเป็นส้วมแบบแรกที่คนไทยใช้ เป็นหลุมดินที่มีทั้งแบบหลุมแห้งและหลุมเปียก ขุดเป็นหลุมกลมหรือสี่เหลี่ยม แล้วปลูกตัวเรือนครอบหลุมไว้

ส้วมถังเท มีลักษณะคล้ายส้วมหลุม แต่ใช้ถังวางไว้ในหลุมใต้ฐานไม้สำหรับรองรับอุจจาระผู้ขับถ่าย แล้วค่อยนำไปเททิ้ง ซึ่งมักจะนำถังไปเททิ้งวันละครั้ง

ส้วมบุญสะอาด ประดิษฐ์โดยนายอินทร์ บุญสะอาด ผู้ตรวจการสุขาภิบาลประจำอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลักษณะพิเศษคือมีกลไกป้องกันปัญหาการลืมปิดฝาหลุมถ่าย

ส้วมคอห่าน ผู้ประดิษฐ์คือ พระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) ผู้สำเร็จราชการมณฑลพิษณุโลก ได้คิดค้นการใช้หัวส้วมแบบคอห่านร่วมกับระบบบ่อเกรอะบ่อซึม ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกว่า ส้วมซึม ทำให้การขับถ่ายในส้วมมีความสะดวกสบายและปลอดภัยยิ่งขึ้น

ส้วมชักโครก เป็นส้วมที่มีส่วนประกอบค่อนข้างสลับซับซ้อน ที่เรียกว่าชักโครก คงเพราะเมื่อถ่ายเสร็จต้องชักคันโยกปล่อยน้ำลงมา และมีเสียงดังโครก จึงเรียกตามนั้น ผู้ประดิษฐ์ส้วมชักโครกรุ่นแรกขึ้นคือ เซอร์จอห์น แฮริงตัน ขุนนางชาวอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๙ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๑๘ อเล็กซานเดอร์ คัมมิงส์ ก็ได้พัฒนาส้วมชักโครกแบบใหม่ ให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น และเป็นต้นแบบของส้วมชักโครกที่ใช้งานในปัจจุบัน ในประเทศไทยส้วมชักโครกเป็นที่นิยมแพร่หลายหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เนื่องจากมีการสร้างบ้านแบบสมัยใหม่มากขึ้น จากนั้นก็นิยมต่อ ๆ มาจนปัจจุบัน เพราะมีการออกแบบให้ทันสมัยและน่าใช้ยิ่งขึ้น

ส้วมในต่างประเทศ มีคำเรียกต่าง ๆ กัน เช่น toilet , rest room, lavatory, W.C (ย่อมาจาก water closet) และ bathroom เป็นต้น ซึ่งเรามักจะคุ้นชินอยู่แล้ว แต่ที่แปลกกว่าที่อื่น คือ ประเทศเยอรมัน ที่เขาใช้คำว่า Damen (ดาเมน) กับห้องส้วมหญิง และคำว่า Heren (เฮอร์เร่น) กับห้องส้วมชาย ซึ่งหากเราไปจำภาษาอังกฤษที่ว่า Men แปลว่า ชาย และ Her ที่หมายถึงผู้หญิง แล้วเข้าตามนั้นละก้อ อาจจะมีการหน้าแตก เพราะเข้าผิดห้องได้ อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่ห้องส้วมทุกแห่ง มักจะมีสัญลักษณ์สากลเป็นรูปชาย-หญิงในแบบต่าง ๆ ติดไว้ เพื่อให้แยกออก

ในหลาย ๆ ประเทศ นอกเหนือไปจากส้วมชักโครกแล้ว เรายังอาจพบ โถอนามัย ที่ฝรั่งเรียกว่า bidet (อ่านว่า บิ-เด) ตั้งอยู่ข้าง ๆ  ซึ่งจะมีหัวก๊อกน้ำติดอยู่ ก๊อกนี้บางแห่งจะมีทั้งน้ำร้อน-น้ำเย็นให้เลือก ใช้ได้หลายภารกิจ เช่น ใช้ล้างชำระของสงวนหรือก้นหลังจากเสร็จภารกิจ ใช้ล้างเท้า ใช้ซักผ้า และใช้อาบน้ำเด็ก เป็นต้น

ข้อมูลจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=5405&filename=i)


ถึงปลายศตวรรษที่ 19 ทั้งชักโครกและคอห่าน ก็ถูกนาย Thomas Crapper ต่อยอดเป็นที่นิยมไปทั่ว ยิ่งห้วงมหาสงครามในยุโรปไอ้กันส่ง Dough Boy ไปช่วยตีกับไกเซอร์ ได้ใช้ส้วมของ Crapper เข้าก็ติดใจ แล้ว Crap ก็หมายถึง อึ ไปในที่สุด


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 28 มิ.ย. 23, 09:31
      แวะกลับไปชักโครก ย้อนไปไกลลิบกับข่าวเมื่อ ก.พ. ปีนี้ -

           ทีมนักโบราณคดีจีนขุดพบชิ้นส่วนส้วมระบบชักโครก ซึ่งคาดว่ามีอายุเก่าแก่ถึง 2,400 ปี และถือว่าเป็นของใช้ที่หรูหรา
สำหรับชนชั้นสูงในยุคนั้น
           ที่แหล่งขุดค้นโบราณวัตถุเย่วหยาง ในเมืองซีอาน มณฑลฉ่านซี ได้ขุดเจอชิ้นส่วนเครื่องใช้ที่แตกหักหลายชิ้นท่ามกลาง
ซากปรักหักพังของพระราชวังเก่า และใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะนำมาประกอบกันเป็นรูปเป็นร่างได้สำเร็จ ตามรูปประกอบ

https://www.dailynews.co.th/news/2008383/


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มิ.ย. 23, 09:32
มาขยายความต่อจากคุณ MCMLII ค่ะ

บริษัทจำหน่ายสุขภัณฑ์ของนายโธมัส แครปเปอร์ยังดำเนินกิจการมาจนถึงทุกวันนี้   ดูสินต้าแล้วน่าจะเน้นแนวหรูแบบคลาสสิค
https://thomas-crapper.com/


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 มิ.ย. 23, 09:35
ถึงปลายศตวรรษที่ 19 ทั้งชักโครกและคอห่าน ก็ถูกนาย Thomas Crapper ต่อยอดเป็นที่นิยมไปทั่ว ยิ่งห้วงมหาสงครามในยุโรปไอ้กันส่ง Dough Boy ไปช่วยตีกับไกเซอร์ ได้ใช้ส้วมของ Crapper เข้าก็ติดใจ แล้ว Crap ก็หมายถึง อึ ไปในที่สุด

มีเรื่องเล่าว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทหารอเมริกันที่ประจำการไปที่ประเทศอังกฤษ ช่วงเวลานั้นห้องสุขาในประเทศอังกฤษใช้ผลิตภัณฑ์ของ บริษัท "Thomas Crapper & Co Ltd" โดยมีชื่อบริษัทปรากฏอยู่บนผลิตภัณฑ์ในห้องสุขา ทหารอเมริกันจึงพากันเรียกห้องสุขาว่า "crapper" และนำคำสแลงดังกล่าวมาใช้กับห้องสุขาในอเมริกา (แต่มีบางข้อมูลกล่าวว่า crapper เป็น American slang ใช้มาตั้งแต่ 1920s)

ที่น่าสนใจคือ คำว่า "crap" ที่หมายถึง bodily waste ปรากฏอยู่ใน the Oxford English Dictionary ปี ๑๘๔๖ เพียง ๑๐ ปี หลังจาก Thomas Crapper เกืด คำนี้ในความหมายว่า "อึ" จึงไม่น่ามาจากชื่อของเขา เพียงแต่พ้องกันเท่านั้น

ข้อมูลจาก http://www.worldwidewords.org/qa/qa-cra1.htm


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มิ.ย. 23, 09:42
     แวะกลับไปชักโครก ย้อนไปไกลลิบกับข่าวเมื่อ ก.พ. ปีนี้ -

           ทีมนักโบราณคดีจีนขุดพบชิ้นส่วนส้วมระบบชักโครก ซึ่งคาดว่ามีอายุเก่าแก่ถึง 2,400 ปี และถือว่าเป็นของใช้ที่หรูหราสำหรับชนชั้นสูงในยุคนั้น
           ที่แหล่งขุดค้นโบราณวัตถุเย่วหยาง ในเมืองซีอาน มณฑลฉ่านซี ได้ขุดเจอชิ้นส่วนเครื่องใช้ที่แตกหักหลายชิ้นท่ามกลางซากปรักหักพังของพระราชวังเก่า และใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะนำมาประกอบกันเป็นรูปเป็นร่างได้สำเร็จ ตามรูปประกอบ

https://www.dailynews.co.th/news/2008383/
น่าสนใจมาก    ถ้าสิ่งที่ขุดเจอคือส้วมชักโครกของจีน  ก็ต้องเปลี่ยนประวัติการคิดค้นประดิษฐกรรมของ "ส้วม" จากที่รู้ๆกันมาก่อน   ว่าจีนนำหน้ายุโรปไปไกลหลายพันปี

ขอลอกจากลิ้งค์ที่คุณหมอ SILA ทำไว้ให้  เอาลงมาให้อ่านกันเต็มๆนะคะ

วันที่ 15 ก.พ. 2023 ที่ผ่านมา ทีมนักโบราณคดีได้เปิดเผยหน้าตาของเครื่องใช้ที่ประกอบขึ้นมาใหม่จากชิ้นส่วนที่ขุดพบว่า มันคือส้วมชักโครกระบบแมนวล ซึ่งคาดว่ามีอายุเก่าแก่ย้อนไปถึง 2,400 ปีก่อน

ทีมงานเชื่อว่า ส้วมชักโครกชุดนี้น่าจะเป็นของใช้ส่วนตัวของชนชั้นผู้ปกครอง มีการสันนิษฐานรายนามของผู้ที่อาจเป็นเจ้าของไว้หลายราย ตั้งแต่ ฉินเซี่ยวกง เจ้าผู้ครองนครรัฐฉินในช่วง 381-338 ปีก่อน ค.ศ. หรือ ฉินเซี่ยนกง ผู้เป็นบิดาของเขา และ หลิวปัง ซึ่งต่อมาทรงเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ฮั่น ในพระนามว่า จักรพรรดิฮั่นเกาจู่ (ฮั่นโกโจ) เนื่องจากพระราชวังโบราณที่ทีมงานขุดค้นอยู่นั้น ได้รับการประเมินว่าน่าจะเป็นสถานที่ที่ใช้ว่าราชการของเหล่ากษัตริย์และจักรพรรดิ

วันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา ทีมนักโบราณคดีได้เปิดเผยหน้าตาของเครื่องใช้ที่ประกอบขึ้นมาใหม่จากชิ้นส่วนที่ขุดพบว่า มันคือส้วมชักโครกระบบแมนวล ซึ่งคาดว่ามีอายุเก่าแก่ย้อนไปถึง 2,400 ปีก่อน

ทีมงานเชื่อว่า ส้วมชักโครกชุดนี้น่าจะเป็นของใช้ส่วนตัวของชนชั้นผู้ปกครอง มีการสันนิษฐานรายนามของผู้ที่อาจเป็นเจ้าของไว้หลายราย ตั้งแต่ ฉินเซี่ยวกง เจ้าผู้ครองนครรัฐฉินในช่วง 381-338 ปีก่อน ค.ศ. หรือ ฉินเซี่ยนกง ผู้เป็นบิดาของเขา และ หลิวปัง ซึ่งต่อมาทรงเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ฮั่น ในพระนามว่า จักรพรรดิฮั่นเกาจู่ (ฮั่นโกโจ) เนื่องจากพระราชวังโบราณที่ทีมงานขุดค้นอยู่นั้น ได้รับการประเมินว่าน่าจะเป็นสถานที่ที่ใช้ว่าราชการของเหล่ากษัตริย์และจักรพรรดิ

หลิวรุ่ย นักวิจัยของสถาบันโบราณคดีแห่งสถาบันสังคมศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมขุดค้นอธิบายว่า ของใช้ที่หรูหรา เช่น ระบบส้วมชักโครกนี้ เป็นเครื่องใช้ที่มีไว้สำหรับชนชั้นสูงของยุคนั้นเท่านั้น นอกจากนี้ เขายังระบุด้วยว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ขุดพบส้วมระบบชักโครกเช่นนี้ในประเทศจีน ซึ่งทำให้ทีมงานประหลาดใจมาก

ส้วมชักโครกโบราณแบบนี้จะติดตั้งไว้ในอาคาร โดยมีการต่อท่อออกมาด้านนอกสู่หลุมรองรับสิ่งปฏิกูล ที่เรียกว่าเป็นระบบ ‘แมนวล’ นั้นก็เนื่องจากบ่าวรับใช้จะเป็นผู้ราดน้ำลงโถ หลังจากที่มีการใช้งานเสร็จทุกครั้ง 

หลิว กล่าวว่า ขณะนี้ยังขุดไม่พบชิ้นส่วนด้านบนของโถชักโครก จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่า ในการใช้งานส้วมชักโครกนี้ ผู้ใช้จะนั่งลงบนโถเหมือนการนั่งบนเก้าอี้หรือจะต้องนั่งยอง ๆ 

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาจากบันทึกเก่าแก่เกี่ยวกับสุขาโบราณ เช่น ภาพสลักหินตามสุสานของสมาชิกราชวงศ์ในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ซึ่งอยู่ระหว่าง 206 ก่อน ค.ศ. ถึง ค.ศ. 24 เป็นไปได้ว่าผู้ใช้งานจะต้องนั่งยอง ๆ 

หลิว อธิบายว่า การค้นพบชิ้นส่วนสุขาโบราณเป็นการช่วยยืนยันได้ว่า ชาวจีนโบราณให้ความสำคัญเรื่องสุขอนามัยอย่างยิ่ง 

ก่อนหน้าที่จะมีการขุดเจอชิ้นส่วนของระบบส้วมชักโครกชิ้นนี้ มีการบันทึกอย่างเป็นทางการว่า ผู้ที่คิดค้นระบบส้วมชักโครกคือ จอห์น แฮริงตัน ข้าราชสำนักของอังกฤษในศตวรรษที่ 16 โดยเขาประดิษฐ์สุขาชนิดนี้เพื่อให้สมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 1 ได้ทรงใช้

นอกเหนือจากชิ้นส่วนของสุขาโบราณแล้ว ทีมนักโบราณคดีแห่งเย่วหยางยังขุดตัวอย่างดินในบริเวณใกล้เคียงมาวิเคราะห์ด้วย โดยหวังว่าจะพบร่องรอยจากซากของเสียที่ช่วยให้ข้อมูลเรื่องอาหารการกินของคนยุคโบราณ แต่ ณ เวลานี้ยังพบเพียงร่องรอยของการใช้ปุ๋ยคอกในการเพาะปลูกของยุคราชวงศ์ฮั่นเท่านั้น


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 มิ.ย. 23, 12:35
ส้วมชักโครกโบราณแบบนี้จะติดตั้งไว้ในอาคาร โดยมีการต่อท่อออกมาด้านนอกสู่หลุมรองรับสิ่งปฏิกูล ที่เรียกว่าเป็นระบบ ‘แมนวล’ นั้นก็เนื่องจากบ่าวรับใช้จะเป็นผู้ราดน้ำลงโถ หลังจากที่มีการใช้งานเสร็จทุกครั้ง

เรียกว่า ส้วมชักโครก คงไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีระบบเปิดน้ำเพื่อขับล้างได้ ก็คงเป็นเพียง ส้วมราดน้ำ (เพื่อขับล้าง)

https://youtu.be/qx3Br8WMb1I


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 28 มิ.ย. 23, 13:50
        ดูลักษณะเป็น flush toilet แบบว่า ส้วมท( ่อ)างลาด+ราด น้ำ
        - flush toilet ที่แปลไทยเป็น ชักโครก
        (นิยามตามวิกิว่า flush toilet - ชักโครก เป็นส้วมที่กำจัดของเสียจากมนุษย์โดยใช้แรงของน้ำเพื่อชะล้างผ่านท่อระบายน้ำไปยังจุดอื่นเพื่อทำการบำบัด)
        หากขุดค้นได้ชิ้นส่วนเพิ่มเติมอาจจะพบกลไลไขน้ำราดลง ;D


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 28 มิ.ย. 23, 15:01
           จากวังฝรั่งเศส ข้ามช่องแคบไปวังอังกฤษบ้าง

           “ส้วมหลวง” ในวังฝรั่ง พระเจ้าเฮนรีที่ 8 และชาววังอังกฤษ ขับถ่าย (ขี้) กันอย่างไร?
ผู้เขียน    ไมเคิล ไรท์ ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2538

           https://www.silpa-mag.com/history/article_86016

           หนังสือพิมพ์ Independent ของอังกฤษได้ลงบทความวิเคราะห์รายการโทรทัศน์ BBC ว่าด้วย “ส้วมในวังของพระเจ้า Henry ที่ 8
(สมัยอยุธยาตอนกลาง)”
          
           พระเจ้าแผ่นดินมีห้องพระบังคนเฉพาะพระองค์ ในนั้นมีตู้ไม้บุกำมะหยี่สีดำขลิบทอง เมื่อเปิดฝาจะเห็นเบาะกำมะหยี่ที่เป็นช่องตรงกลาง
ข้างหลังมีกระโถนทำด้วยโลหะมีค่า ตามประเพณีจะต้องมีมหาดเล็กเฝ้าพระบังคน (Groom of the Stool*) เพื่อปรนนิบัติพระองค์, นับว่าเป็น
ตำแหน่งสูงที่เจ้านายทุกคนแย่งกันสมัคร เพราะเป็นการเฝ้าพระองค์อย่างใกล้ชิด เป็นโอกาสดีที่จะขอผลประโยชน์ให้ตนและญาติ
          สำหรับปี ค.ศ. 1539 มหาดเล็กเฝ้าพระบังคนบันทึกว่า “พระองค์เสวยพระโอสถถ่าย, ทรงรับการสวนพระทวาร ตี 2 ตื่นพระบรรทม,
เสด็จไปยังห้องพระบังคน พระโอสถได้ผลดี, ทรงพระอารมณ์เบิกบาน” มหาดเล็กจะขอพระสงเคราะห์อันใดก็คงได้เมื่อนั้น
          
* As the name suggests the Groom of the Stool was responsible for attending to the King's toileting needs.
The Groom would care for the King's toilet, known in the Tudor period as a 'Stool' (tudorsociety.com)
   ส่งต่อมาถึงปัจจุบันที่ในโรงพยาบาล - Stool Exam. ตรวจอุจจาระ


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 28 มิ.ย. 23, 15:07
             ที่วัง Hampton Court ชาววังธรรมดา ๆ ใช้ The Great House of Basement (มหาศาลาสุขา?), เป็นอาคารสองชั้น
ดังที่เห็นในภาพ, ประกอบด้วยกระดานม้านั่ง, สองชั้น, สองข้างฝาเจาะเป็นรู 28 รูทั้งหมด แต่ละรูห่างกันสองฟุต, เหมาะแก่การนั่งคุยกัน
นินทาตามประสาชาววังทั่วโลก ว่ากันว่าใคร ๆ อยากนั่งข้างบนเพราะอากาศบริสุทธิ์กว่า และยังมีหน้าต่างให้มองดูได้ว่าใคร ๆ เข้า ๆ ออก ๆ จากวัง

             จาก “มหาศาลาสุขา” มีท่ออิฐนำไปข้างล่าง (ใต้ดิน) แล้วก็นำออกไปสู่แม่น้ำเทมส์ ระบบนี้ใช้ได้ดี, แต่ไม่นานกว่าหนึ่งเดือน
เพราะไม่มีระบบชักโครก ภัณฑารักษ์ฯ ท่านอธิบายว่า “หลังจากที่ประทับอยู่ได้สี่สัปดาห์, ท่อใต้ดินจะเต็มอยู่ท่วมหัวคน, จึงต้องแปรพระราชฐาน
หรือเสด็จประพาส เพื่อให้ข้าราชการขุดและขัด (King’s Scourers) ขุดและขัดท่อให้ใช้งานได้อีกต่อไป จึงจะเสด็จกลับเข้าวังพร้อมพระราชบริวาร
เป็นร้อยเป็นพัน”


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 23, 09:12
ส่วนที่ถ่ายของชาววังไทย เชิญกลับไปอ่านกระทู้นี้ค่ะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4738.0


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 23, 09:18
จะเห็นได้ว่า การจัดการเรื่องขับถ่ายให้ถูกอนามัย เพิ่งมีมาสัก 2-3 ร้อยปีนี้เอง    ขอย้อนหลังกลับไปถึงยุคกลางของยุโรป  ว่าบรรดาบุคคลระดับสูงทั้งหลาย เขามีส้วมกันแบบไหน
คำตอบคือตามปราสาทต่างๆ  ช่างสร้างส้วมไว้แบบนี้ คือเป็นห้องยื่นออกไปจากผนังปราสาท   พิ้นห้องเจาะไว้เป็นช่อง
สำหรับปล่อยของเสียออกมา(อย่างง่ายๆ)
ห้องเหล่านี้ยื่นออกมาเหนือคูที่ขุดไว้รอบปราสาท   คูนี้ใช้ประโยชน์เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าศึกจู่่โจมเข้าถึงตัวปราสาทได้ง่าย   มีสะพานยกขึ้นลงได้เป็นทางเช้าประตูปราสาท
เมื่อของเสียถูกปล่อยลงน้ำ  น้ำที่มีทางไหลเข้าออกได้ ก็พัดพาออกไป ไม้ขังเป็นน้ำเน่า 
อีกอย่างคือ เท่ากับกำจัดกลิ่นกันไม่พึงประสงค์ออกไปจากห้องส้วม และตัวข้างในปราสาทด้วย


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 23, 09:21
https://www.youtube.com/watch?v=Q1Yoy0uiljU


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ค. 23, 09:55
กลับมาที่ส้วมจีนอีกครั้ง  ทันสมัยหรือยัง

https://www.youtube.com/watch?v=kSERlMCYeNw


กระทู้: เรื่องของ "ส้วม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ค. 23, 10:14
ขอย้อนกลับไปถึงส้วมยุคกลางอีกครั้ง   ไปเจอรูปปราสาทที่มีคูน้ำล้อมรอบ
คูน้ำใช้แทนท่อระบายน้ำ เพราะมีน้ำขึ้นลงต่อจากภายนอกได้   ปล่อยของเสียลงไปก็ถูกพัดหรือไม่ก็กลายเป็นปุ๋ยไปหมด