เรือนไทย

General Category => หน้าต่างโลก => ข้อความที่เริ่มโดย: naitang ที่ 30 ก.ย. 13, 21:35



กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ย. 13, 21:35
เปิดกระทู้นี้ขึ้นมาเพื่อเล่าเรื่องเก่าๆเกี่ยวกับป่าดงพงไพรและวิถีชีวิตของชาวบ้านป่าและชาวเมือง ซึ่งผมได้ประสบพบมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2500 จนถึงปัจจุบัน  เท่าที่ยังจำได้ครับ ทั้งนี้ เขียนๆไปอาจจะทำให้ย้อนนึกเรื่องอื่นๆได้อีก เลยอาจจะทำให้เรื่องราวย้อนไปย้อนมา ก็ต้องขออภัยไว้ล่วงหน้าเสียก่อน

ที่ผมนึกจะเล่าเรื่องในหัวข้อตามกระทู้นี้ขึ้นมา ก็เพราะอยากจะให้คนรุ่นหลังๆได้เห็นภาพต่างๆบางส่วนในอดีต ซึ่งในปัจจุบันนี้อาจจะหาคนเล่าให้ฟังได้ไม่ง่ายนักแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นข้อมูลประกอบสำหรับใช้ในการวิเคราะห์เพื่อทำประโยชน์ใดๆ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ย. 13, 22:12
โดยพื้นๆของชีวิตผมแล้ว เสี้ยวใหญ่ๆของชีวิตของผมสัมผัสอยู่กับสังคมท้องถิ่น ตั้งแต่เด็กๆจนกระทั้งทำงาน งานทางวิชาชีพก็ต้องใช้เวลามากในการออกภาคสนาม ออกไปสำรวจเก็บข้อมูล ทำให้ได้เห็นชีวิตท้องถิ่น เห็นป่าเขา เห็นของใหม่ๆแปลกๆตลอดเวลา  เมื่อมีความชอบคลุก ชอบความง่าย ชอบสมถะเป็นทุนอยู่แล้ว แถมถูกใจกับลักษณะของงานในวิชามี่ได้เลือกเรียน ผลก็คือ มันกลายเป็นชีวิตจิตใจของผมที่ชอบจะใช้โอกาสในช่วงการเดินทางไปใหน มาใหน หาทางใช้ถนนเล็กแวะเวียนไปตามหมู่บ้านต่างๆ
 
ผมชอบเดินตลาดสดตอนเช้า หากมีโอกาสก็ไม่เคยละเว้นเลย   ดูตลาด คุยกับแม่ค้า มันเป็นความสุขครับ  ผมเห็นว่าตลาดมันเล่าเรื่องทางสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ได้ดีมากๆ ผมเรียนรู้เรื่องราวของท้องถิ่นรวมทั้งข่าวสารและความเคลื่อนไหวต่างๆจากตลาด แล้วก็วิเคราะห์เตรียมการสำหรับกิจกรรมที่จะจำเป็นจะต้องทำในถิ่นนั้นๆ  ช่วงที่ผมทำงานภาคสนามหนักๆนั้นเป็นช่วงเริ่มมีการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมืองและกำลังแรง ก็ทำงานกับป่าดงอยู่ต่อไปจนเขาเลิกรากันไปแล้ว



กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ย. 13, 22:21
ภาพขของเชียงรายเท่าที่นึกออก คงย้อนไปได้ถึงแถวๆ2498


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ย. 13, 22:28
 :-X ตะกี้นี้กดอะไรก็ไม่รู้ ส่งไปเลย   ตั้งใจว่าจะยกเอาไปต่อวันพรุงนี้ครับ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ต.ค. 13, 07:14
มีภาพเก่าๆของคุณตั้งมาประกอบบ้างก็จะดี


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ต.ค. 13, 10:04
ยังจำได้ถึงภาพรพินทร์ ไพรวัลย์นุ่งโสร่ง ค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4993.msg103087#msg103087


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ต.ค. 13, 20:21
มีภาพเก่าๆของคุณตั้งมาประกอบบ้างก็จะดี

อะแฮ่ม เสียใจจริงๆครับ มีรูปอยู่น้อยมากครับ  แต่ก็จะพยายามหามาสอดแทรก

สมัยทำงานนั้น ป่าคือป่าครับ สัตว์ป่ายังไม่ค่อยจะรู้จักมนุษย์เลย ที่น่ากลัวคือคน มากกว่าความน่ากลัวจากสัตว์  ในขณะนั้นมีคนกำลังต่อสู้ทางอุดมการณ์เคลื่อนไหวอยู่ในป่าในดง เขาไม่ชอบที่จะเห็นกล้องถ่ายรูป วิทยุ และอะไรๆที่เป็นเครื่องใช้สนามแบบทหาร จะเป็นอันตรายแก่ตนมากด้วยถูกคิดว่าเป็นพวกหาข่าว แล้วก็อีกประการหนึ่ง กล้องของหลวงก็มีจำกัดด้วย ภาพเก่าๆในป่าลึกๆจึงไม่ค่อยมี จะพอมีอยู่บ้างก็ในพื้นที่ๆใกล้ชุมชนขนาดใหญ่ ครับ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 01 ต.ค. 13, 21:05
เมื่อหลายปีก่อนโน้นผมเคยเข้าป่าทุ่งใหญ่ฯแถวชายแดนไทยพม่ากลางดงกะเหรี่ยงไปช่วยพระที่วัดในนั้นแบกท่อน้ำทำประปาภูเขาตั้งเดือนนึงได้   ยังเกือบได้สร้างตำนานหนุ่มเมืองกรุงที่ถูกสาวชาวป่าหักอกเลย นิยายทั่วไปสาวชาวป่าจะถูกไอ้หนุ่มเมืองกรุงเด็ดดมแล้วหักอกทอดทิ้ง  แต่ของผมดันกลับกัน  ;D  ;D  ;D


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ต.ค. 13, 21:40
ยังจำได้ถึงภาพรพินทร์ ไพรวัลย์นุ่งโสร่ง ค่ะ

จะเล่าเหตุผลที่ทำไมจึงใช้โสร่งในระหว่างการทำงานสำรวจในสนาม ครับ

หลังจากเดินทำงานในดงกะเหรี่ยงมาพักหนึ่ง ก็ได้เห็นประโยชน์ของการใช้โสร่งของกะเหรี่ยงเทียบได้กับการใช้ผ้าขะม้า (เขียนอย่างไรถูกครับ ขะม้า หรือ ขาวม้า)  โสร่งนั้นใช้งานได้สารพัดอย่างเท่าๆกับผ้าขะม้า ที่จริงแล้วมันก็คือผ้าขะม้าเย็บชายเข้าด้วยกันนั่นเอง  ทั้งคู่ทำจากผ้าฝ้าย สามารถเลือกความหนาของผ้าเพื่อให้เหมาะกับลักษณะการใช้งานได้ ลวดลายบนผืนผ้ามีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง โสร่งจะมีลายที่เป็นทรงสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ในขณะที่ผ้าขะม้าที่ใช้กันในเกือบจะทุกพื้นที่จะเป็นลายตาตรางสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่  ความต่างอีกอย่างหนึ่ง คือ โสร่งมักจะเป็นผ้าทอจากโรงงานเกือบทั้งหมด ส่วนผ้าขะม้ายังคงมีการการทอด้วยมืออยู่มากพอสมควร

ผ้าขะม้านั้น ถูกนำไปใช้สารพัดงาน แต่ที่ชาวบ้านไทยนิยมใช้กันเป็นหลักนั้น ดูจะมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ ใช้อาบน้ำ ใช้โพกหัว และใช้ปูนั่งหรือนอน

โสร่งนั้น ก็ถูกใช้สารพัดงานเช่นกัน แต่ที่นิยมคือใช้ใส่เป็นเครื่องนุ่งห่มห่อหุ้มกาย   ซึ่งสำหรับชาวบ้านกะเหรี่ยงนั้น ได้ใช้โสร่งเป็นผ้าห่มอีกด้วย

ช่วงหนึ่ง ผมนิยมใช้โสร่งก็เพราะเห็นว่าสะดวกในการเดินทำงานตามห้วยที่มีน้ำไหล และในห้วยขนาดใหญ่ (เช่น ห้วยขาแข้ง) เราสามารถยกชายให้สูงพ้นน้ำ จะเหน็บหยักรั้งก็ได้ โป้งโล้งดี เย็นสบาย เปียกน้ำก็แห้งใด้เร็ว  แล้วก็คล่องตัวเมื่อเรือล่มในแม่น้ำที่เชี่ยว (เช่น แควใหญ่ แควน้อย)  



กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ต.ค. 13, 22:12
อีกนิดหน่อยกับเรื่องของโสร่งครับ

ก็แปลกอยู่อย่างนึงนะครับ คนที่อยู่พ้นเขตแดนด้านตะวันตกของไทยทั้งหมด ที่เราเรียกว่าพม่านั่นแหละครับ ทุกชนชาติในพม่าใส่โสร่งกันทั้งนั้น แล้วแต่ละชนชาติก็มีลายโสร่งที่เป็นลักษณะจำเพาะของตน  เช่น ชาวไทยใหญ่ของรัฐฉาน โสร่งจะเป็นสีออกไปทางสีดำหรือน้ำเงินเข้มจนใกล้ดำ แล้วมีลายเส้นสีขาวสั้นๆ (คล้ายลายลอนคลื่น) ประอยู่เป็น pattern อย่างมีระเบียบ     
สำหรับโสร่งที่ดีที่สุดของพม่า (ข้าราชการในร่างกุ้งบอก) คือ ที่พวกชาวยะไข่เขาใช้กัน  มีหลากสี มีลวดลายเป็น pattern ค่อนข้างละเอียด  ทำจากฝ้าย ยิ่งซักยิ่งฟู ผ้าที่ทำมีน้ำหนักดี  ราคาค่อนข้างสูงกว่าโสร่งปรกติ เป็นที่นิยมของคนพม่าที่พอมีเงิน   ส่วนโสร่งของชาวพม่าที่อยู่ในเมืองหลักตลอดภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกลางประเทศ ตั้งแต่มัณฑะเลย์ลงมานั้น แทบจะทั้งหมดไปจากโรงงานผลิตในไทย

โสร่งของยะไข่นั้น ผมมีอยู่ตัวหนึ่ง ก็จัดว่ายากอยู่เหมือนกันที่จะหาซื้อในร่างกุ้ง ได้มานานมากแล้วครับ   

สำหรับโสร่งที่คนในภาคใต้ของเราใช้กันนั้น ส่วนมากจะไปจากโรงงานในกรุงเทพฯ  ส่วนโสร่งที่มีเนื้อผ้าหนาฟูนั้น เพื่อนบอว่าทั้งหมดเข้ามาจากทางมาเลย์เซีย

เป็นเรื่องชวนคิดนะครับว่า วัฒนธรรมโสร่งนั้นแทบจะไม่แปดเปื้อนข้ามเขตแดนเข้ามาในไทยเลย แม้กระทั่งในบริเวณที่เป็นที่อยู่ของกลุ่มคนชาติพันธุ์เดียวกัน (แถบ จ.แม่ฮ่องสอน) 



กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ต.ค. 13, 22:22
มีการนุ่งผ้าแบบหนึ่งของชายไทยเรียกว่านุ่งผ้าลอยชาย   คือไม่ตวัดชายผ้าขึ้นโจง   เป็นวิธีนุ่งแบบอยู่กับบ้านตามสบาย  แต่พอแขกมาก็ต้องโจงให้เรียบร้อย   
ต่างจากโสร่งเพราะผ้านุ่งไทยไม่เย็บเป็นถุง  แต่ก็โป้งโล้งตามสบายอยู่เหมือนกันค่ะ
ดูๆแล้วนุ่งผ้าลอยชายเห็นจะไม่เอามาจากโสร่ง     แต่นุ่งปล่อยๆแบบตามสบาย ไม่รัดกุมอย่างนุ่งโจงกระเบน


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ต.ค. 13, 22:28
เมื่อหลายปีก่อนโน้นผมเคยเข้าป่าทุ่งใหญ่ฯแถวชายแดนไทยพม่ากลางดงกะเหรี่ยงไปช่วยพระที่วัดในนั้นแบกท่อน้ำทำประปาภูเขาตั้งเดือนนึงได้   ยังเกือบได้สร้างตำนานหนุ่มเมืองกรุงที่ถูกสาวชาวป่าหักอกเลย นิยายทั่วไปสาวชาวป่าจะถูกไอ้หนุ่มเมืองกรุงเด็ดดมแล้วหักอกทอดทิ้ง  แต่ของผมดันกลับกัน  ;D  ;D  ;D

ครับ คงจะเป็นแถวบ้านพุจือ ?
สาวกะเหรี่ยงนั้น ดูดีๆแล้วจะเห็นว่าเป็นผู้หญิงที่สวยงาม ไม่ต้องมีการปรุงแต่งใดๆเลย กริยามารยาทก็เรียบร้อย ผมว่าเรียบร้อยกว่าสาวชาวเมืองที่มีการศึกษาดีเสียอีก ยิ่งใส่ผ้าถุงขาวสะอาด นั่งทอผ้าอยู่บนชานบ้าน อารมภ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใสเวลาคุยด้วย และการแสดงอาการเหนียมอายที่ดูน่ารัก

ใช่ภาพนี้ใหมครับ คุณประกอบครับ

ด้วยภาพดังนี้แหละครับ เลยมีหนุ่มเมืองไปตกหลุมรัก แต่งงานแล้วก็กลายเป็นลูกบ้านนั้นไปเลย ไม่กลับเข้าไปอยู่ในเมืองอีก  ผมเห็นมาหลายคนมากเลยทีเดียว โดยเฉพาะในหมู่บ้านที่คนเมืองสามารถเข้าถึงสถานที่นั้นได้ด้วยยานพาหนะ   สำหรับหมู่บ้านที่ต้องเดินเท้าเข้าไปนั้น ไม่พบครับ แต่เคยเห็นฝรั่งไปฝังตังอยู่กินเป็นชาวบ้านป่าไปเลย


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 01 ต.ค. 13, 22:39
ผมไปตกระกำลำบากแบกท่อน้ำอยู่แถวบ้านทิไร่ป้าครับ  ไม่ไกลจากพุจือเท่าไหร่ เป็นหมู่บ้านใหญ่ทีเดียว ฝั่งนึงอยู่ในไทย อีกฝั่งอยู่พม่า มีห้วยอะไรกั้นพรมแดนจำชื่อไม่ได้แล้ว นั่งรถจากถนนใหญ่แถวทองผาภูมิตอนเข้า กว่าจะถึงก็ตอนเย็นพอดี นี่คือในหน้าแล้ง ถ้าหน้าฝนรถเข้าไม่ได้


สาวๆ กะเหรี่ยงนี่ถ้ายังโสดจะใส่เสื้อผ้าทอสีขาวๆ กัน ทั้งเด็กทั้งสาว เค้ามีประเพณีกันว่าถ้าเหยียบกระไดบ้านใครหักต้องเสียผีรับลูกสาวบ้านนั้นไปด้วย ผมอ้วนๆ เดินขึ้นเดินลงกระแทกเท้าหลายบ้านไม่ยักกะหัก  สาวๆ แถวนั้นหน้าใสใช้ได้หุ่นบึกบึนโดนใจจริงๆ  ต่อปากต่อคำก็เก่ง เป็นแม่บ้านแม่เรือนก็ดี โดนหักอกไปหลายดอก ป่านนี้สาวๆ เหล่านั้นลูกๆ คงโตกันหมดแล้ว


ไปอยู่แถวนั้นราวๆ เดือนนึง ผมยังไม่รู้จักกลัวเสือกลัวผีเท่าไหร่  ช่วงนั้นมีข่าวคนเห็นเสือแถวๆ หมู่บ้าน ชาวป่ากลัวกันผมคนเมืองไม่ตระหนัก เดินแบกท่อโทงๆ กับพระบ้าง ถ้าท่อเล็กหน่อยก็ฉายเดี่ยวแบกคนเดียวเดินลัดป่าขึ้นเขา คิดถึงตอนนีแล้วก็เสียวไม่หยอก ดีว่าไม่เจอเสือขบ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ต.ค. 13, 22:47
มีการนุ่งผ้าแบบหนึ่งของชายไทยเรียกว่านุ่งผ้าลอยชาย   คือไม่ตวัดชายผ้าขึ้นโจง   เป็นวิธีนุ่งแบบอยู่กับบ้านตามสบาย  แต่พอแขกมาก็ต้องโจงให้เรียบร้อย   
ต่างจากโสร่งเพราะผ้านุ่งไทยไม่เย็บเป็นถุง  แต่ก็โป้งโล้งตามสบายอยู่เหมือนกันค่ะ
ดูๆแล้วนุ่งผ้าลอยชายเห็นจะไม่เอามาจากโสร่ง     แต่นุ่งปล่อยๆแบบตามสบาย ไม่รัดกุมอย่างนุ่งโจงกระเบน

ผมได้เคยมีโอกาสใส่โจงกระเบนในงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารคครั้งหนึ่ง (คุณนวรัตน์ก็ด้วยเหมือนกัน) ต้องใส่กันอยู่หลายชั่วโมงเลยทีเดียว  กว่าจะปลดทุกข์ได้แทบตาย ชั้นนอกเป็นโจงกระเบน ห่อหุ้มกางเกงขาสั้น แล้วก็ยังมี กกน.อยู่ชั้นในสุด    ก็เลยพอจะเข้าใจดีครับสำหรับการนุ่งผ้าลอยชาย    การมีหางโจงขนาดแขนตวัดลอดอยู่ใต้ขา จะนั่งเต็มก้นก็เหมือนนั่งทับท่อนไม้ ได้แต่นั่งตะแคงก้น หรือไม่ก็เอาก้นยันกำแพงกึ่งยืนกึ่งนั่ง  ดังนั้น เมื่อไรที่อยู่ในความเป็นส่วนตัวหรือพักผ่อน การปลดหางโจงจึงเป็นสิ่งที่กระทำกัน

จะด้วยหางโจงหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ จึงทำให้เกิดการนั้่งพับเพียบ จนกลายเป็นกริยาที่เรียบร้อย นอบน้อม เป็นที่ยอมรับในสังคม กลายเป็นประเพณีสืบทอดต่อๆมา ??


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ต.ค. 13, 23:04
ผมไปตกระกำลำบากแบกท่อน้ำอยู่แถวบ้านทิไร่ป้าครับ....... 

อ้อ บ้านทิไร่ป้า หน้าฝนไม่ต้องเข้าเลย  ถนนเส้นที่วิ่งจากทองผาภูมิไปหมู่บ้านแถวนั้น เข้าเสน่พ่อง ไปจนพุจือ ไปห้วยแม่กษัตริย์ ปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นเหมือนเดิมครับ

ทิ ในภาษากะเหรี่ยงแปลว่า น้ำ 

ผมว่า หากคุณประกอบหลุดปากพูดไปว่า เยออ้ายเน่อ (ฉันรักเธอ) ก็คงต้องกลับไปอยู่ที่ทิไร่ป้าแล้ว  คงไม่มีใครสอนให้พูดว่า เยอบัดสะริเน่อ นะครับ มันแปลว่าผมอยากนอนกับคุณ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ต.ค. 13, 23:11
ได้รูปสาวกะเหรี่ยงจากอินทรเนตร   หน้าตาจิ้มลิ้มทีเดียวค่ะ  เห็นใจคุณประกอบ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ต.ค. 13, 11:43

ไปอยู่แถวนั้นราวๆ เดือนนึง ผมยังไม่รู้จักกลัวเสือกลัวผีเท่าไหร่  ช่วงนั้นมีข่าวคนเห็นเสือแถวๆ หมู่บ้าน ชาวป่ากลัวกันผมคนเมืองไม่ตระหนัก เดินแบกท่อโทงๆ กับพระบ้าง ถ้าท่อเล็กหน่อยก็ฉายเดี่ยวแบกคนเดียวเดินลัดป่าขึ้นเขา คิดถึงตอนนีแล้วก็เสียวไม่หยอก ดีว่าไม่เจอเสือขบ
เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่อย่างคุณประกอบ ไม่รู้เสียแล้วว่าโทงๆแปลว่าอะไร    ไปถามรอยอินดูไป๊
คุณคงไม่ได้เดินโทงๆแบกท่อตามพระท่านไปแน่ๆ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 02 ต.ค. 13, 14:20
ฮิฮิ โทงๆ รู้ความหมายครับ ติดปากเลยเผลอไปหน่อย   ;D  ;D  ;D  แต่ถ้าเดินโทงๆ จริงก็ไม่ต้องกลัวผี  ผีป่าผีบ้านคงหนีกระเจิงหายหมดรวมสาวๆ กะเหรี่ยงด้วย  เหลือแต่เสือ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ต.ค. 13, 19:27
ได้รูปสาวกะเหรี่ยงจากอินทรเนตร   หน้าตาจิ้มลิ้มทีเดียวค่ะ  เห็นใจคุณประกอบ

เห็นสวยหน้าตาจิ้มลิ้มแบบนี้ ทำให้นึกภาพออกเลยว่า หนุ่มทั้งหลายคงจะต้องเดินแบบ ลีๆไถๆ = เดินไปเดินมา = ขึ้นกองล่องกอง (ภาษาเหนือ) แน่นนอน

สำนวนในลักษณะนี้ดูเหมือนจะมีอยู่ในภาษาต่างๆทุกภาษาเลยทีเดียว


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ต.ค. 13, 20:23
ขึ้นต้นเรื่องไว้ที่ประมาณปี พ.ศ.2498   ก็จะขอเริ่มบรรยายภาพของท้องถิ่นที่อยู่เหนือสุดของประเทศไทยในขณะนั้นครับ มิได้หมายความว่าเป็นภาพของปี 2498 เท่านั้นนะครับ

ในสมัยนั้น เชียงรายเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากอุบลราชธานี ก่อนที่จะถูกแบ่ง อ.พะเยาออกไปเป็นจังหวัดใหม่     
เชียงรายเป็นจังหวัดที่มีสองเทศบาล คือ เทศบาลเมืองเชียงราย และเทศบาลเมืองพะเยา  ทั้งสองเขตเทศบาลอยู่ห่างกันประมาณ 90 กม. เชื่อมด้วยถนนที่ทำด้วยกรวดแม่น้ำ ลาดด้วยยางมะตอยบางๆที่ร่อนหายไปเกือบหมดแล้ว   ส่วนถนนต่อจากพะเยาไป อ.งาว จนถึงลำปางอีกประมาณ 130 กม.นั้น ค่อนข้างจะดี

โรงเรียนในสมัยนั้นเปิดเทอมประมาณวันที่ 17 พค. ดังนั้นผมก็จะต้องเดินทาง (เข้ากรุงเทพฯ) ทุกปีในช่วงนี้ พร้อมพ่อ แม่และน้อง  พ่อแม่ก็อาศัยช่วงนี้กลับไปเยี่ยมปู่ย่าตายายและญาติพี่น้อง (พ่อเป็นคนในตัวเมืองโคราช แม่เป็นคนในตัวเมืองแม่กลอง)   จำได้ว่า ประมาณช่วงก่อน พ.ศ.2505 ? จะต้องออกเดินทางจากเชียงรายเวลาประมาณตีสองตีสาม แต่ตื่นเตรียมตัวตั้งแต่ประมาณเที่ยงคืน ไปถึงลำปางก็ประมาณบ่ายสามโมงเย็น เพื่อขึ้นรถไฟซึ่งเป็นขบวนรถด่วนสายเชียงใหม่กรุงเทพฯ จากสถานีนครเขลางค์ (ชื่อสถานีลำปางในสมัยนั้น) เวลาประมาณ 1 ทุ่ม  สมัยนั้นใช้หัวรถจักรไอน้ำและขบวนรถไม่ยาวมากดังในปัจจุบัน เนื่องจากรางรถไปที่ใช้ในการสับหลีกตามสถานี้ต่างๆนั้นไม่ยาว  นั่งอยู่ท้ายขบวนยังได้รับควันจากหัวรถจักร มาถึงปลายทางก็มีกลิ่นควันไฟติดตัว  กลิ่นนี้ยังฝังใจจดจำได้อยู่  ไปทำงานที่ญี่ปุ่นก็ยังหาโอกาสไปนั่งขบวนรถจักรไอน้ำท่องเที่ยวนอกเมืองเพื่อรำลึกความหลังอยู่


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ต.ค. 13, 20:38
คุณตั้งไม่ได้บอกว่าเดินทางจากเชียงรายไปลำปางด้วยรถไฟ หรือรถยนต์   เดาว่ารถไฟ    ต้องไปรอรถไฟสายเชียงใหม่อีก 4 ช.ม.
ทำไมไม่เดินทางจากเชียงรายไปเชียงใหม่แล้วขึ้นขบวนรถด่วนจากที่นั่นคะ   หรือว่าเวลามันไม่ลงตัวกัน


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ต.ค. 13, 21:08
เชียงรายไม่มีทางรถไฟไปถึงครับ

สถานีรถไฟสายเหนือที่ใกล้เชียงรายที่สุดคือลำปาง ซึ่งต้องเดินทางติดต่อกันโดยถนนผ่านพะเยา การเดินทางสมัยโน้นต้องเผื่อเวลาแยะๆเพราะทั้งรถทั้งถนนไม่มีความแน่นอนทั้งคู่


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ต.ค. 13, 21:15
อ้างถึง
จำได้ว่า ประมาณช่วงก่อน พ.ศ.2505 ? จะต้องออกเดินทางจากเชียงรายเวลาประมาณตีสองตีสาม แต่ตื่นเตรียมตัวตั้งแต่ประมาณเที่ยงคืน ไปถึงลำปางก็ประมาณบ่ายสามโมงเย็น
หมายความว่าคุณตั้งต้องนั่งรถออกจากเชียงรายตั้งแต่สองตีสาม  ฝ่าไปในความมืดจนกระทั่งสว่าง จากนั้นรถก็แล่นผ่านพะเยาลงไปถึงลำปางตอนบ่ายสามโมงเย็น  รวมแล้วเกือบ 12 ช.ม.  เผื่อเวลาไว้ 4 ชั่วโมง ก่อนรถไฟสายเชียงใหม่กรุงเทพมาถึง
รอรถด่วนจากเชียงใหม่ จากบ่ายสามโมงถึงทุ่มหนึ่ง  แล้วค่อยขึ้นรถด่วนไปกรุงเทพ  ถึงกรุงเทพในวันรุ่งขึ้น

ใช้เวลาเดินทางนานกว่าไปอเมริกาในยุคนี้อีกไหมเนี่ย?


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ต.ค. 13, 22:00
เล่ามาเสียยาว ก็เพื่อเป็นการปูพื้นเรื่องราวของกระทู้ครับ หวังไว้ว่า เพื่อจะได้เขียนได้ง่ายขึ้นหน่อย ครับ

คงเคยได้ยินคำบรรยายเปรียบเทียบว่า  ".....ล้าหลังกว่า.....ประมาณ 40 ปี"  ผมก็ไม่ทราบว่าทำไมจึงนิยมที่จะเปรียบเทียบกันที่ช่วงระยะเวลาห่างกันประมาณ 40 ปี    แต่เอาเถอะครับ ผมได้เข้าใจและได้เห็นภาพจริงที่เกิดขึ้นเมื่อผมได้มีโอกาสเข้าไปเดินทางในพม่าในช่วงที่พม่ากำลังเริ่มเปิดประเทศ    ครับ ภาพนั้นก็คือ สภาพของพม่าในขณะนั้นกับสภาพที่ผมเห็นเมื่อครั้งผมยังเป็นเด็กอยู่ที่เชียงรายนั่นเอง

ออกจากบ้านตีสอง เดินทางออกจากเมืองสวนทางกับชาวบ้านที่ใช้ล้อ (เกวียน) เดินทางเข้าเมือง (โดยใช้ทางล้อข้างถนน) ล้อเดินทางกันเป็นกลุ่มๆละ 3-5 เล่ม แต่ละล้อมีคน 2-4 คน มักจะมีเพียงเล่มแรกเท่านั้นที่มีคนนั่งห่มผ้าหัวโด่คอยบังคับวัวเทียมล้อให้ไปตามแยกที่ต้องการ ที่เหลือนอกจากนั้นหลับหมด ให้วัวมันเดินตามกันไปเอง ไม่มีไฟฉายและการตามไฟ ไฟรถจะส่องเข้าตาวัวเห็นแวววาวสีเขียวอมเหลือง ไม่มีการชนกันแน่ เพราะรถก็วิ่งได้ไม่เร็วเนื่องจากถนนขรุขระมากๆๆๆๆ   เมื่อถึงเมืองแล้วก็แยกย้ายกันไปตามภาระกิจที่ตนจะไปทำ บางเล่มก็พาคนไข้ไปโรงพยายาล บางเล่มก็ไปตลาดเช้าเพื่อขายของหรือจับจ่ายของ    ตลาดเช้าชาวบ้านโดยทั่วๆไปจะติดตลาดตั้งแต่ประมาณตีสี่  ในช่วงที่ทำงาน ผมมักจะหาโอกาสไปตลาดพวกนี้ตอนประมาณตีห้าครึ่งถึงหกโมงเช้า ช้ากว่านั้นตลาดก็จะเริ่มวายแล้ว


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ต.ค. 13, 22:42
คุณตั้งไม่ได้บอกว่าเดินทางจากเชียงรายไปลำปางด้วยรถไฟ หรือรถยนต์   เดาว่ารถไฟ    ต้องไปรอรถไฟสายเชียงใหม่อีก 4 ช.ม.
ทำไมไม่เดินทางจากเชียงรายไปเชียงใหม่แล้วขึ้นขบวนรถด่วนจากที่นั่นคะ   หรือว่าเวลามันไม่ลงตัวกัน

สมัยนั้น เส้นทางจากเชียงรายไปเชียงใหม่สุดโหดครับ   คิดว่าเส้นทางถนนสายลำปางเชียงใหม่ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็เพิ่งจะเริ่มกรุยทางกันในขณะนั้น 
เส้นทางเชียราย-เชียงใหม่สมัยก่อนนั้น คือการเลาะน้ำแม่ลาวจาก อ.แม่สรวย ไป อ.เวียงป่าเป้า ผ่านแม่ขะจาน แม่เจดีย์ แล้วลัดเลาะข้ามเขาไปยังเชียงใหม่ เส้นทางจากแม่ขะจานไปถึงเชียงใหม่นั้นผมไม่ทราบแน่ว่าในสมัยก่อนนั้นเป็นเส้นใด อาจจะเป็นจากแม่ขะจาน ไป อ.พร้าว แล้วเข้า อ.สันทราย แล้วเข้าเชียงใหม่ก็เป็นได้  สมเด็จพระนเรศวร เคยใช้เส้นทางเหล่านี้ครับ
เส้นทางนี้เป็นเส้นทางเก่าที่ใช้เดินทางตืดต่อกันระหว่างเชียงรายกับเชียงใหม่ เชียงรายจึงมีประตูเมืองที่เรียกว่าประตูเชียงใหม่ จากประตูนี้ผ่านบ้านเด่นห้า หนองหม้อ ท่าล้อ ดงมะดะ ไปแม่สรวย  ที่บ้านท่าล้อนั้น ได้ชื่อมาก็เพราะเป็นที่พักล้อเกวียนนั่นเอง ปัจจุบันได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านประตูล้อ และยังคงเหลือลูกหลานเชื้อสายชาวไทยใหญ่อยู๋บ้าง    ถนนเส้นนี้คงจะเป็นถนนสายหลักระหว่างเชียงราย-เชียงใหม่มาตลอด   ในสมัย ร.5 ที่ได้มีการเชื่อมโยงโครงข่ายสายไทรเลขก็ปักเสาตาม
ถนนเส้นนี้
แล้วก็ดูเหมือนว่า การจะส่งทหารจากเชียงใหม่มาช่วยเชียงรายในคราวเหตุการณ์เงี้ยวล้อมเมืองเชียงรายเพื่อปล้นสดมภ์นั้น ซึ่งก็จะต้องใช้ถนนเส้นนี้ซึ่งทุระกันดารเดินทางลำบากมาก ผนวกกับเหตุการณ์เงี้ยวยึดเมืองแพร่ เหตุกาณ์ผีบุญในอิสาน  จึงเป็นผลทำให้เกิดมีกองทหารประจำจังหวัดขึ้นมา ที่เรียกว่าจังหวัดทหารบกในปัจจุบันนี้  ฟังมาปะติดปะต่อกันได้แบบนี้ ผิดถูกอย่างไรเซนเซทั้งหลายช่วยไขความกระจ่างด้วยครับ


อ้อ เรื่องรถไฟไปเชียงรายนั้น ผมทราบมาตั้งแต่จำความได้ว่าจะมีการสร้าง โดยแยกจาก อ.เด่นชัย จ.แพร่ จนบัดนี้ก็ยังไม่เกิดเลยครับ   แต่ก็อาจจะพอมีโอกาสอยู่บ้างหากจะมีรถไฟสายยาวจากจีนตอนใต้เชื่อมต่อกับไทยและแหลมทอง เห็นว่าจะแยกในลาวเป็นเส้นหนึ่งไปทางหนองคาย อีกเส้นหนึ่งไปทาง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ผ่านพะเยา อ.งาว ไป อ.สอง อ.ร้องกวาง ไปจรดเส้นเดิมที่ อ.เด่นชัย



กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: mrpzone ที่ 02 ต.ค. 13, 23:38
อยากร่วมวงคุยเรื่องสาวกะเหรี่ยงจัง แ่ต่คงนั่งฟังน้ำลายยืดอย่างเดียว เพราะไม่มีประสบการณ์ทำนองนี้เลยครับ เท่าที่เฉียดที่สุดก็ตอนสมัยวัยรุ่นไปแอบชอบมื่อหน่อ (สาวกะเหรี่ยง) อยู่บ้านหนึ่ง แอบปิ๊งอยู่ พอรู้ข่าวอีกทีสาวก็มีครอบครัวแล้ว ธรรมเนียมประเพณีชาวกะเหรี่ยงแถบนี้จะแต่งงานออกเรือนกันเร็วมาก

ทุกวันนี้ยังเห็นสาวน้อยวัยเพิ่งทำบัตรประชาชน มือหนึ่งจูงลูกแล้วยังกระเต็งตัวเล็กข้างหลังอีกคน  :o


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: mrpzone ที่ 02 ต.ค. 13, 23:40
ขออนุญาตเสริมข้อมูลการเดินทางในช่วง 40-50 ปีก่อนของ อ.ตั้ง เพื่อให้เห็นภาพในช่วงนั้นชัดเจนขึ้นครับ แต่เป็นเส้นทางจากบ้านป่าดง อ.ท่าสองยาง จนถึงตัวจังหวัดตากนะครับ (เพิ่งสัมภาษณ์คุณแม่ที่เพิ่งกลับมาจากปฏิบัติธรรมเมื่อซักครู่ใหญ่นี้เองครับ) เป็นเหตุการณ์ในช่วงประมาณปี 2504-2505 ช่วงที่แม่และเพื่อนอีก 2 คน เดินทางไปเรียน รร.สารพัดช่าง (วุฒิการศึกษา ปกศ.สูง) ที่ จ.ตาก ก่อนที่จะศึกษาต่อและเข้ารับราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขครับ

แม่เล่าว่า.. ต้องเตรียมตัวก่อนออกเดินทางกันหลายวัน ต้องหาล้อ (แม่เรียกเกวียนว่า "ล้อ" เหมือน อ.ตั้ง เลยครับ) และจ้างลูกหาบที่ไว้ใจได้ (ปกติจะใช้บริการ "เมล" เป็นลูกหาบ ซึ่งเมลในที่นี้หมายถึง คนที่มีหน้าที่ส่งเอกสารไปรายงานที่จังหวัด หรือสมัยตะก่อนเรียกว่า "คนนำสาร") บางครั้งก็เป็นขบวน บางครั้งก็เดินทางกันแค่ 2 เล่ม ต้องระวังทั้งเสือทั้งคน ลุ้นกันตลอดเส้นทางกว่าจะถึงที่พักในหมายถัดไป

เริ่มต้นเดินทางจาก อ.ท่าสองยาง ไปพักค้างแรมที่บ้านกะเหรี่ยงก่อนเข้าตัวอำเภอแม่ระมาด (ระยะทางประมาณ 50 กม.) ตื่นแต่เช้ามืดแล้วเดินทางเข้าตัวอำเภอแม่ระมาด จากนั้นก็จะเปลี่ยนล้อ (เกวียน) ร่วมขบวนเดินทางต่อไปยัง อ.แม่สอด (ระยะทางห่างออกไปอีก 30 กม.) เพื่อจะเดินทางด้วยรถบรรทุกสินค้าไปยังตัวจังหวัด ถ้าไปไม่ทันหรือมีเหตุขัดข้องก็จะค้างแรมที่ อ.แม่สอด อีกวันสองวัน

สภาพรถบรรทุกก็เป็นรถดีเซลขนาดใหญ่ ไม่ได้ออกแบบไว้ให้สะดวกต่อการบรรทุกผู้โดยสาร ทุกคนที่เดินทางก็ต้องเลือกนั่งอยู่บนกองสรรพาระสิ่งของกันเอาเอง (แต่ก็สะดวกสบายกว่านั่งบนเกวียนเยอะ) เมื่อรถบรรทุกสินค้าเดินทางออกจากแม่สอด ก็จะพักขบวนระหว่างทางที่ห้วยยะอุ เขต อ.แม่สอด ปิดท้ายค้างแรมในทริปอีก 1 คืน (เพื่อพักผ่อน ถ่ายสินค้าและรับสินค้าเพิ่ม) แล้วออกเดินทางต่อตอนเช้ามืด จนถึงตัวเมืองตาก ระยะทางจาก อ.แม่สอด-ตัวเมืองตาก รวมประมาณ 80 กม.

สรุป ระยะทางจากบ้านป่า อ.ท่าสองยาง ถึงตัวจังหวัดตาก 170 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-5 วัน ครึ่งแรกเดินทางด้วยล้อ (เกวียน)  ครึ่งหลังเดินทางด้วยรถบรรทุกสินค้า

ปล. การเดินทางเช้ามืดเป็นอย่างที่ อ.ตั้ง เล่าไว้ครับ ต้องเดินทางก่อนพระอาทิตย์ขึ้น นอกจากต้องกะเวลา พัก กิน นอน ในเป้าหมายต่อไป แล้วจะเสียเวลาช้าโอ้เอ้ไม่ได้ เพราะการเดินทางด้วยเกวียนต้องคิดถึงวัวด้วย ถ้าวัวเป็นอะไรไปก็จบกัน แม่บอกว่า "ต้องออกเดินทางตั้งแต่ตีสามตีสี่ เดี๋ยววัวร้อน" และถ้าเป็นหน้าฝนจะเดินเท้ากันเกือบตลอดเส้นทาง ผมนึกภาพความลำบากในการเดินทางไปเรียนของแม่แล้วน้ำตาซึมเลยครับ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ต.ค. 13, 07:44
เอารูปมาช่วยงาน พอให้เห็นบรรยากาศครั้งกระนั้น


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ต.ค. 13, 08:02
สถานีรถไฟนครลำปางในอดีตและปัจจุบัน แตกต่างกันน้อยมาก


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ต.ค. 13, 11:32
รูป #27 ให้ภาพถนัดชัดเจนมากค่ะ    เข้าใจทันที  ว่าการเดินทางในสมัยนั้นลำบากลำบนขนาดไหน
เส้นทางในยุคคุณตั้งมาเป็นนักเรียนที่กรุงเทพ น่าจะเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองละมัง

ขอคารวะคุณแม่ของคุณพี ในความมานะ และอดทน ตั้งแต่เดินทางจากบ้านไปถึงร.ร.เลยทีเดียวค่ะ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ต.ค. 13, 20:58
ขอบคุณคุณนวรัตน์ที่ได้เอื้อเฟื้อรูปภาพประกอบเรื่องครับ

รูป #27 จะเห็นว่า ในหลายๆกรณีการเดินทางด้วยเกวียนดูจะดีกว่าการนั่งรถ นั่งรถเมื่อติดหล่มก็ต้องช่วยกันเข็น นั่งเกวียนไม่ติดหล่มง่ายๆ แต่ก็ไม่แน่นัก บางทีก็ต้องลงไปเข็นช่วยวัวเหมือนกัน 
การเข็นรถ/เข็นเกวียนนี้ ภาษาเหนือเรียกว่า ยู้ (รถ)  ซึ่งผมเห็นว่าคำนี้มีความหมายที่ครอบคลุมมาก คือ จะกระทำด้วยวิธีการฉุดกระชากลากเข็นอย่างไรก็ได้ ขอให้มันเคลื่อนที่พ้นจุดที่ติดอยู่นั้นไปได้

ขยายความเรื่องเกวียน ครับ  เกวียนนี้ ภาษาเหนือเรียกว่า ล้อ แล้วก็มีคำต่อท้ายอีกหน่อยเพื่อขยายชนิดของสัตว์ที่ใช้เทียมลาก--ล้องัว (วัว)  ล้อควาย-- เกวียนของภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอิสานมีความต่างกันค่อนข้างมาก  แต่การขับขี่นั้นยากเหมือนๆกัน คือ มันมีอยู่ 3 จิตใจ (วัว หรือ ควาย 2 ตัว กับคนบังคับอีก 1 คน) ที่จะต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน เกวียนจึงจะเคลื่อนที่ไปถึงจุดหมายปลายทางได้   
ความต่างของเกวียนเรื่องแรก คือ เกวียนทางเหนือจะใช้วงล้อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.50 ม. (พบในพื้นที่จนถึงเขตต่อกับพิษณุโลกและอีสานเหนือด้านตะวันตก) ในขณะที่วงล้อของภาคอิสานจะมีขนาดใหญ่กว่าของภาคเหนือเล็กน้อย (เริ่มพบตั้งแต่เขต อ.หล่มสัก เพชรบูรณ์ ไปตลอดภาคอิสาน) ส่วนของภาคกลางจะใช้วงล้อขนาดใหญ่ที่สุดคิดว่าประมาณ 1.80 ม. (พบในพื้นที่ราบภาคกลางที่ทำนากันทั้งหลาย)     เหตุผลที่ใช้วงล้อต่างกันเช่นนั้น ก็เนื่องจากสภาพของพื้นดิน
   ในภาคเหนือนั้น เป็นพื้นที่ลอนคลื่น (undulating terrain) และป่าเขา พื้นดินมีกรวดหินดินทรายผสมกันอยู่  ใช้วงล้อขนาดเล็กจะดีกว่าขนาดใหญ่ เนื่องจากไม่กินกำลังวัวควาย เบาแรงในการลากขึ้นเนินชัน และง่ายต่อการหมุนข้ามก้อนกรวดก้อนหิน
   ภาคกลาง เป็นพื้นที่ราบตะกอนลำน้ำ (alluvium) พื้นดินเป็นดินทรายละเอียด เฉอะแฉะเป็นโคลนเป็นหล่ม  จึงใช้ล้อเกวียนขนาดใหญ่ซึ่งจะเหมาะกับพื้นที่ๆเป็นหล่มโคลน 
   ภาคอิสาน มีพื้นที่รองรับด้วยหินทราย ค่อนข้างราบ พื้นดินเป็นทราย มีหล่มอยู่บ้าง  จึงเลือกใช้วงล้อขนาดที่ใหญ่กว่าของทางภาคเหนือเล็กน้อย แต่ไม่จำเป็นต้องเท่ากับของภาคกลาง


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ต.ค. 13, 21:31
ความต่างเรื่องที่สอง คือ เกวียนของภาคเหนือจะมีกะบะวางอยู่บนคานเหนือเพลาล้อ ของภาคกลางจะไม่มีกะบะแต่จะเป็นไม้โครงรูปตัว V วางอยู่บนคาน  ส่วนของอิสานนั้นมีทั้งสองแบบและแบบของภาคกลางด้วย   เกวียนของอิสานที่ใช้เดินทางมักจะมีหลังคาที่ทำจากไม้ไผ่สานอยู่ด้วย ของภาคกลางก็มีการใช้หลังคาเหมือนกันแต่ไม่ค่อยเห็นมีการใช้กัน
ที่ต่างกันเช่นนี้ ก็เนื่องมาจากลักษณะการใช้งาน  ภาคเหนือใช้ขนของและใช้เป็นพาหนะเป็นหลัก ในขณะที่ภาคกลางจะใช้ขนรวงข้าวที่เกี่ยวแล้วเป็นหลัก ส่วนของอิสานนั้น ใช้ทั้งการเดินทาง ขนฟางสำหรับวัวเป็นฝูงที่ต้อนไป เลี้ยงไป จนโตได้ที่พอดี ณ จุดขายที่ตลาดนัดวัว และใช้ในการเดินทางไกล (ระหว่างเมือง) เป็นขบวน 

เกวียนนั้นมีการใช้ทั้งวัวและควายในการลาก ซึ่งก็มีความต่างกันอีก ภาคเหนือเกือบทั้งหมดจะใช้วัวลากเกวียน มีการใช้ควายบ้างเหมือนกัน แต่น้อยมากและจะพบเฉพาะในเมืองที่เป็นแอ่งกะทะ (คือ มีที่ราบทำนากว้างขวาง)  ในอิสานก็ใช้วัวเป็นหลัก จะมีก็ภาคกลางเท่านั้นที่นิยมใช้ควาย   สาเหตุที่เหนือและอิสานนิยมใช้วัวก็เพราะมันทนแดดและทนแล้งได้ดี หากใช้ควายลาก เขาว่ายังไม่ถึงใหนก็ตับแตกตายแล้ว ควายไม่ทนร้อน ต้องการน้ำและต้องการแช่น้ำ   มากไปกว่านั้น ในแต่ละถิ่นบ้างก็นิยมใช้วัว/ควายตัวเมีย บ้างก็นิยมใช้ตัวผู้


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ต.ค. 13, 21:55
ก็เลยเกิดเรื่องสนุกขึ้นมา เท่าที่เคยพบและเคยอยู่ในเหตุการณ์

เรื่องแรก  วัว/ควายที่จะใช้เทียมเกวียนนั้น จะต้องฝึกเป็นคู่ เจ้าของจะเลือกคู่ที่มีขนาดความสูงใหญ่พอๆกัน แล้วมัก็เลือกคู่ของมันเองด้วย เป้นคู่ซี้กันตลอดไป เมื่อใดที่เปลี่ยนตัวคู่ซี้เป็นได้เรื่องเลย มีทั้งอู้และแกล้ง โดยเฉพาะตอนเลี้ยวและตอนต้องฮึดออกกำลังกระชุ่นให้เกวียนข้ามหลุม ท่อนไม้ หรือก้อนหิน   ก็อย่างที่บอกแหละครับ ขับเกวียนไม่ใช่เรื่องง่ายนัก สามจิตสามใจที่ต้องประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน

เรื่องที่สอง  ในแถบที่ใช้วัวตัวผู้  ก็มีเรื่องของเขตอาณาของใครของมัน  มีเรื่องทั้งลากเกวียนวิ่งกระเจิงไปสู้กับเขา หรือถูกเจ้าของถิ่นวิ่งเข้ามาชนขวิดกันคาเกวียนเลยก็มี เจ้าของเกวียนจะต้องรีบกระโดดลงแล้วปลดให้หลุด ให้ไปสู้กันแบบอิสระ ทั้งนี้เจ้าของเองนั่นแหละที่จะต้องเข้าไปแบกแอกแทนตัวที่ปล่อยออกไป เกวียนทุกเล่มจึงต้องมีไม้ง่ามสำหับค้ำคานลาก แล้วก็ต้องแขวนห้อยต่องแต่งอยู่ใกล้กับแอก

เรื่องที่สาม   พวกที่ใช้ควายลาก แล้วก็เกิดต้องลากไกลกว่าแหล่งน้ำมากๆ และตอนแดดจัด ได้เรื่องอีกแบบหนึ่ง คือพอควายเจอแหล่งน้ำข้างทางเท่านั้นแหละครับ มันก็จะวิ่งลากเกวียนลงไปในคูน้ำเลย

 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ต.ค. 13, 22:00
เอ  จะอธิบายเด็กๆอย่างไรดีว่า วัว กับ ควายต่างกันอย่างไร

แล้วก็คำถามว่า มูลวัว กับ มูลควาย ต่างกันอย่างไรครับ



กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ต.ค. 13, 22:44
เอ  จะอธิบายเด็กๆอย่างไรดีว่า วัว กับ ควายต่างกันอย่างไร
แล้วก็คำถามว่า มูลวัว กับ มูลควาย ต่างกันอย่างไรครับ

ถามเด็กชายพี ไหมคะ?


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 04 ต.ค. 13, 13:46
สมัยเด็กๆ ผมเคยได้ยิน ผู้ใหญ่ เรียกเกวียนว่า "กะแทะ" ด้วย แต่จำไม่ได้แล้วครับ ว่ามีรูปร่างอย่างไร


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 13, 14:28
น่าจะเป็น "ระแทะ" มั้งคะ คุณ Naris
ระแทะรูปร่างเป็นอย่างนี้ค่ะ   แต่บางแห่งก็บอกว่า ระแทะ ก็คือเกวียน นั่นเอง

ภาพนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทับในระแทะเมื่อคราวเสด็จตรวจตราราชการเมืองอุบลราชธานี พ.ศ. 2449 (คำอธิบายภาพเก่าจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ต.ค. 13, 18:33
เกวียนมีอยู่ ๒ ชนิดคือ เกวียนวัว และเกวียนควาย

"กระแทะ" หรือ "ระแทะ" หรือ "รันแทะ"  มาจากภาษาเขมรเขียนว่า "​រទេះ - รเทะ" อ่านว่า "รอเตะฮฺ" เป็นเกวียนวัวชนิดหนึ่งมีทั้งแบบที่มีหลังคาแบบข้างบนและแบบที่ไม่มีหลังคา

ข้อมูลจาก สารานุกรมสำหรับเยาวชน ฯ (http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/sub/book/book.php?book=36&chap=3&page=t36-3-infodetail03.html)

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley04.png)


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ต.ค. 13, 20:28
ความจริงแล้ว เกวียนของทางภาคเหนือจะดูเทอะทะหนาแน่น ไม้เป็นไม้ คานเป็นคาน       ของภาคอิสานจะดูกระทัดรัด ป้อมสั้น งดงามและอ่อนช้อยแบบอรชรอ้อนแอ้น    ส่วนของภาคกลางนั้นจะดูเหมือนมีแต่โครงไม้ โปร่ง และสูงโย่งเย่ง

หลายท่านอาจจะเคยเห็นเกวียนลักษณะของภาคเหนือมีการใช้อยู่ในเขตพื้นที่ภาคกลางด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ในเขตทิวเขาทางตะวันตกตั้งแต่กำแพงเพชรจนถึงปลายเขตกาญจนบุรีต่อราชบุรี  ข้อเท็จจริงที่ผมทราบจากการที่ผมได้คลุกคลีกับชาวบ้านมาพอควร คือ มีหลายหมู่บ้านชาวบ้าน เป็นกลุ่มคนที่ย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนมาอยู่เป็นหมู่ใหม่ 
 
ซึ่งที่น่าสนใจมากๆก็คือ มีหลายหมู่บ้านเลยทีเดียวที่เป็นกลุ่มคนมาจากแถว จ.ตาก โดยเฉพาะ อ.แม่สอด และก็ย้ายมาอยู่กันหลายชั่วอายุคนแล้ว  แล้วก็ในถิ่นที่เขาอยู่กันเหล่านี้มีมากที่อยู่ในพื้นที่เส้นทางเดินทัพของศึกไทย-พม่า


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ต.ค. 13, 21:20
ต่อเรื่องวัวกับควายอีกเล็กๆน้อยๆครับ

เมื่อยังเป็นเด็ก (คงประมาณ 6-7 ขวบ) นั้น พ่อและแม่อนุญาตให้ไปกับคนในบ้าน ไปเลี้ยงวัวในทุ่งนาหลังโรงพยาบาลหลายครั้ง ก็เลยได้มีโอกาสสัมผัสชีวิตของเด็กเลี้ยงวัว เมื่อทำงานก็ได้เข้าใจมากขึ้นถึงวิถีของชาวบ้านที่ต้องไปเลี้ยงวัว    ผมไม่เคยเลี้ยงควาย แต่ผมกลับชอบควาย โดยเฉพาะควายที่อ้วนพี ตัวมันจะกลมแน่น หนังเป็นมัน ผมเลยชอบสะสมควาย โดยเฉพาะควายทรงพันธุ์ไทยนะครับ  เรามีคนทำควายโลหะหล่อ มีทำจากปูน มีทำจากเรซิน มีทำเป็นแบบตัวการ์ตูน  แต่เชื่อใหมครับว่า ในไทยไม่มีใครทำควายไม้แกะสลักแบบลอยตัวสักเจ้าเดียว  ผมเคยให้พวกสล่า (ช่าง) ที่ว่าเก่งๆทางแกะสลักทางภาคเหนือให้ช่วยแกะควายไม้ ปรากฎว่า ไม่สำเร็จสักราย มันออกมาเป็นตัวอะไรก็ไม่รู้ สัดส่วนไม่ถูกต้องเลย     ผมได้ควายไม้ของโอกินาวามา มันก็เป็นควายที่มีขายาว  เลยสรุปเอาเองว่า อาจจะเป็นเพราะสัดส่วนของควายนั้นมันไม่เป็นสมดุลย์แก่กัน เลยเป็นความยากในการแกะสลัก ต่างกับการปั้นซึ่งสามารถจะแก้ไขให้สมสัดส่วนได้
 
เคยสังเกตบ้างใหมครับว่า เราไม่ค่อยจะเห็นคนขี่วัว เรามักจะเห็นแต่คนขี่ควาย  ผมก็ไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงนะครับ ผมเดาเอาว่าวัวมันดุกว่าควาย วัวมันไม่ค่อยยอมให้ใครขึ้นหลังมัน แล้วมันก็เตะเอาเวลาเข้าประชิดตัวมันด้วย (เรามักจะขึ้นขี่หลังวัวควายทางด้านบั้นท้ายโดยการดึงหางมันปีนขึ้นไป) ต่างกับควายที่จะใช้วิธีขวิด

แล้วก็ สังเกตใหมครับว่า คนที่ไปทำหน้าที่เลี้ยงวัว-ควาย จะถูกเราเรียกกันว่า เด็กเลี้ยงวัว หรือเด็กเลี้ยงควาย ก็แปลกดี
   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ต.ค. 13, 21:43
เด็กเลี้ยงวัวทุกคนจะต้องมีย่ามสะพาย  ในย่ามก็จะมีกระสุนทำด้วยดินปั้นกลมๆและกรวดก้อนค่อนข้างกลมสำหรับใช้กับหนังสติ๊ก  หนังสติ๊กนี้ ทางเหนือเรียกว่า ก๋ง  ซึ่งไม้ง่ามก๋ง (ง่ามหนังสติ๊ก) จะนิยมทำมาจากไม้มะขาม หรือไม้ต้นฝรั่ง เพราะเหนียวดี  คนที่ใช้หนังสติ๊กแต่ละคนมักจะมีหลังสติ๊กอยู่หลายอัน ก็เพราะว่ามันไม่เคยมีอันใดที่ถูกใจเราเลย   หนังสติ๊กมีไว้ใช้ยิงต้อนฝูงวัวและจะไม่ใช้ก้อนกรวดเป็นกระสุน  กระสุนกรวดมักจะมีไว้เพื่อใช้ยิงนกหรือสัตว์ตัวเล็ก

แต่สำหรับพวกที่มีอาชีพต้อนวัวจากบังดลาเทศ พม่า เข้ามาขายในไทยผ่านทางด่านต่างๆนั้น เขาจะใช้กิ่งไม้ไผ่ที่ติดปลายด้วยตะปูแหลมๆยาวประมาณครึ่งนิ้ว คอยทิ่มที่แก้มก้นวัว เพื่อไล่ให้มันเดิน  ผมเห็นด้วยความสงสาร ก้นวัวบางตัวนี้ช้ำไปหมดเลย บางตัวเดินกะเพรกด้วยความเจ็บปวด


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ต.ค. 13, 22:32
วกกลับไปที่รูปของคุณนวรัตน์ รูป#27 นิดหน่อย

เห็นรูปรถบรรทุกที่กำลังติดหล่มอยู่     รถในภาพ  "เป็นรถบรรทุกแบบคอกหมู เป็นรถเบ็นซ์หัวแตงโม ไม่ติดกว้าน (winch)" 

ข้อมูลดังในเครื่องหมายคำพูดนี้ เป็นตัวอย่างของข้อมูลที่ผมต้องการทราบสำหรับการเตรียมความพร้อมในการเข้าไปทำงานในท้องที่นั้นๆ  เพียงเมื่อผมซักชาวบ้านได้เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะบอกผมว่า สภาพทางเข้าออกไม่เลวร้ายจนเกินไป พื้นที่ที่รถบรรทุกวิ่งรับจ้างไปมานี้ น่าจะเป็นพื้นที่ๆค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เพราะรถบรรทุกแบบคอกหมูนั้นเป็นรถบรรทุกแบบอเนกประสงค์ทั้งคนและสิ่งของ การใช้รถเบ็นซ์หัวแตงโมนั้น แสดงว่าเป็นพื้นที่ขึ้นเขาลงห้วยอยู่พอสมควร เพราะรถรุ่นนี้ส่วนมากเป็นรถที่ใช้ลากซุงในพื้นที่ป่าเขา มีกำลังเครื่องยนต์ 90 แรงม้า  ไม่ติดกว้านก็แสดงว่า สภาพของถนนก็คงเป็นเพียงเละเทะแต่ไม่เป็นหลุมบ่อขนาดลึก



กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ต.ค. 13, 22:51
มีเรื่องเกวียนจะเล่าอีกเล็กน้อย

เรื่องนี้ได้พบเห็นเมื่อ 2511 แถว อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย    มีชาวบ้านเข้าไปแอบตัดไม้ในป่า แล้วขนเสาไม้กลับบ้าน เขาใช้เกวียนที่มีแต่โครงเท่านั้น เขาเอาเสาไม้สองต้นผูกห้อยไว้ใต้เพลาล้อและคานบริเวณใกล้ๆกับแอก  บังเอิญเราเดินไปทำงานจะเอ๋กันเข้า ก็คุยซักถามกัน พอเขารู้ว่าเราไม่ใช่ป่าไม้ก็เลยคุยดีกับเรา เราก็เลยรู้วิธีการอันฉลาดของชาวบ้านที่ใช้วิธีผูกไม้ห้อยไว้ใต้คานล้อ กล่าวคือ หากเจอเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้า เขาก็เพียงใช้มีดตัดเชือกที่ผูกท่อนไม่ให้มันหล่นลงพื้นดินโดยไม่หยุดเกวียน ป่าไม้ก็จับไม่ได้เพราะไม่มีของกลางอยู่กับคนและเกวียน



กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ต.ค. 13, 23:03
ครับ เขียนเรื่องเกวียนมาเท่านี้  ก็คงพอจะทำให้เห็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและของชาวบ้านในบางแง่มุม

อืม์ จำได้ว่า ก่อนที่จะมาฮิตคำว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น (local wisdom) ก็มีความพยายามจะใช้คำว่า เทคโนโลยีที่เหมาะสม (appropriate technology) ในความหมายเดียวกัน  ตอนนี้คำนี้หายเข้ากลีบเมฆไปเลย


ผมคงใช้คำเรียกส่วนประกอบของเกวียนไม่ถูกต้องตามศัพท์ทางช่างนะครับ ขออภัยด้วยครับ



กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 13, 21:21
อืม์ จำได้ว่า ก่อนที่จะมาฮิตคำว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น (local wisdom) ก็มีความพยายามจะใช้คำว่า เทคโนโลยีที่เหมาะสม (appropriate technology) ในความหมายเดียวกัน  ตอนนี้คำนี้หายเข้ากลีบเมฆไปเลย

ก็ควรจะหายเจ้ากลีบเมฆละค่ะ    เพราะคำว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสม  มันกว้างขวางเลื่อนลอยเสียจนจับไม่ติด   ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไรกันแน่    และน่าจะเป็นคนละความหมายกับภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ต.ค. 13, 21:29
กลับไปยังภาพที่ว่าล้าหลังประมาณ 40 ปี เป็นอย่างไร

ในช่วงทศวรรษแรกของ พ.ศ.2500 นั้น เครื่องจักรทำถนนสายหลักในต่างจังหวัดที่ห่างไกลต่างจากสมัยนี้มาก  หลักๆก็มีเพียงรถบดถนนที่ขับเคลื่อนด้วยไอน้ำ คนงานกลุ่มหนึ่ง ปุ้งกี๋ จอบ ถังยางมะตอย แล้วก็รถบรรทุกกะบะ 6 ล้อ  ส่วนรถแทรกเตอร์ (Bulldozer) นั้นนานๆจะเห็นสักคันหนึ่ง    ถนนลาดยางจึงมีเฉพาะสายหลักที่เชื่อมจังหวัดต่างๆ (มักจะต้องเป็นจังหวัดใหญ่ด้วย) ถนนสายรองนั้นไม่ต้องพูดถึง มีแต่ถนนลูกรัง
วัสดุที่นำมาสร้างทางก็หาเอาจากแหล่งใกล้ๆ หินปูนที่จะไปขนเอามาทำถนนนั้น จะจัดว่ามีจำกัดก็ได้ แต่มีใช่จำกัดเพราะไม่มีแหล่ง เป็นความจำกัดเพราะเมื่อระเบิดออกมาแล้วจะต้องใช้แรงคนงานใช้ฆ้อนย่อยให้เล็กลงได้ขนาดด้วยมือ เนื่องจากไม่มีเครื่องโม่หินที่แหล่งหิน พื้นถนนที่บดอัดจึงมีผสมกันทั้งหินปูนและกรวดที่หาได้ตามท้องห้วยต่างๆ
คนงานจะโกยหินใส่ปุ้งกี๋แล้วเอาไปโรยดาดหน้าบนถนนดินที่บดอัดแล้ว จากนั้นก็เอารถบดถนนบดทับให้แน่น ตักยางมะตอยจากถังเหล็กที่สุมไฟให้รอนจนยางมะตอยละลาย ตักใส่ถังบัว (เหมือนถังบัวรดน้ำต้นไม้) เอาไปราดบนหินที่บดอัดแล้ว สุดท้ายก็เอากรวดขนาดเล็กจากห้วยใกล้ๆมาโรยปิดหน้ายางมะตอย เป็นอันเสร็จงาน

ดังนั้น มีการทำถนนที่ใหน ก็หมายถึงมีการจ้างงานเกิดขึ้นที่นั่น ชาวบ้านก็จึงจะพอมีเงินจับจ่ายใช้สอย ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับรากหญ้า ซึ่งแม้จะเป็นเฟืองเล็กๆ มันก็จะเชื่อมโยงกัน ขยายตัวเป็นวงใหญ่ แล้วก็จะมีกำลังไปหมุนเศรษฐกิจในระบบที่ใหญ่ขึ้นในระดับจังหวัดหรือระดับประเทศ     โดยนัยตามที่เล่ามานี้ มันก็คือภาระพื้นฐานของรัฐ ที่แต่ละรัฐบาลจะต้องพยายามกระจายงบประมาณลงไปทำในเรื่องสาธารณูปโภคต่างๆที่เกิดประโยชน์กับท้องถิ่นและในองค์รวมที่เป็นระดับประเทศ

ผมยังเห็นภาพนี้ในพม่าเมื่อครั้งพม่าเริ่มเข้าเวทีอาเซียน ในถนนช่วงระหว่างตองอูกับมัณฑะเลย์ เพียงแต่รถบดนั้นมิใช่เครื่องจักรไอน้ำเท่านั้นเอง ก็เลยเข้าใจในคำเปรียบเทียบว่า มันมีความเป็นจริงให้สามารถเปรียบเทียบได้ มิใช่จะเป็นการกล่าวลอยๆในลักษณะของวาทกรรมเท่านั้น


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ต.ค. 13, 21:55
วิถีชิวิตของชาวบ้านตามถนนสายหลักที่พาดผ่านกับพวกที่อยู่ตามถนนสายรองๆ ในสมัยก่อนนั้น ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก  ก็คงจะเป็นเพราะเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆยังมีการกระจายตัวที่จำกัดวง   ความไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้ ไม่เคยได้ยินของชาวบ้านจึงพอๆกัน  ข่าวสารต่างๆก็จำกัด ข่าวสารทางราชการก็รับรู้ได้จาการฟังวิทยุ จากกำนัลผู้ใหญ่บ้านที่ไปประชุมมา หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้านส่วนใหญ่ก็ยังไม่มี     แม้ในยุคนี้ ผมเดินทางไปต่างจังหวัดก็ยังสัมผัสกับสภาพดังกล่าวนี้ได้  หากท่านผู้อ่านสังเกตดูก็จะพบว่า แม้เพียงท่านเดินทางออกไปชานเขต กทม. (เช่น ย่านถนนรามอินทรา ย่านบางบัวทอง) ท่านก็เริ่มจะได้รับข้อมูลเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นกระท่อนกระแท่นแล้ว และอาจเริ่มสับสนกับข้อเท็จจริงต่างๆ  แล้วชาวบ้านจะไปเหลืออะไรครับ



กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ต.ค. 13, 22:28
ก็ควรจะหายเจ้ากลีบเมฆละค่ะ    เพราะคำว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสม  มันกว้างขวางเลื่อนลอยเสียจนจับไม่ติด   ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไรกันแน่    และน่าจะเป็นคนละความหมายกับภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย

ถูกต้องเลยครับ 
ผมเองไม่ทราบว่า ใครที่ใหนเป็นผู้เริ่มใช้คำว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสม ทราบแต่ว่าองค์กรหนึ่งในระบบ UN ครั้งหนึ่งเคยใช้คำนี้ และก็พยายามเผยแพร่แนวคิดการพัฒนาตนเองโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นผนวกกับความรู้ทางวิชาการและศาสตร์สมัยใหม่ มีโครงการ (project) ช่วยเหลืออยู่หลายตัวอย่างในอัฟริกาที่ใช้ในการโฆษณาปรัชญานี้ แต่การโฆษณาชวนเชื่อนี้ไม่สำเร็จครับ ไม่มีรัฐฝ่ายผู้รับ (Recipient countries) สนใจมากพอ แล้วก็ไม่มีรัฐฝ่ายผู้ให้ (Donner Countries) สนใจจะให้การสนับสนุนแผนงาน (programme ไม่สะกด program) นี้มากพอ 

 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ต.ค. 13, 22:05
เขียนเรื่องย้อนหลังไปไกลเกิน เลยหลงทางครับ อิๆ    (ไปง่วนอยู่กับการนัดของแพทย์หลายคนครับ)

ย้อนกลับมาอ่านที่เขียนไป ก็พบคำที่เขียนผิด   ต้องขอแก้คำว่า Donner Countries เป็น Doner Countries  ส่วนคำว่า programme นั้น เป็นการเขียนตามแบบที่ UN เขาใช้กัน



กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ต.ค. 13, 22:43
มาต่อเรื่องราวกันครับ

ถนนสายหลักของประเทศไทยเรานั้น หากถามคนรุ่นก่อนๆโน้น เขามักจะตอบว่า ก็มี ถนนพหลโยธิน (จาก กทม.ไปสุดที่ด่าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย โน่น) ถนนเพชรเกษม (จาก กทม.ไปสุดที่ด่าน อ.สะเดา จ.สงขลา) ถนนสุขุมวิท (จาก กทม.ไปสุดที่ บ.หาดเล็ก จ.ตราด) ถนนสุวรรณศร (แยกจากถนนพหลโยธินที่ อ.หินกอง จ.สระบุรี ไปสุดที่ด่าน บ.คลองลึก จ.สระแก้ว) ถนนแสงชูโต (แยกจาก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุร๊ ไปสุดที่ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี)
 
ทั้งหมดนี้ก็คือ ถนนสายยาวสำหรับการเดินทางไปภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ ทุกเส้นทางสร้างไปจนชนชายแดนของไทย ยกเว้นถนนแสงชูโตที่ไปไม่ถึงชายแดนจริงๆ ต้องต่อรถไฟจากตัวเมืองกาญนบุรีจึงจะไปถึงชายแดนที่ด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี  ที่จริงแล้วถนนจากตัว จ.กาญจนบุรีไปยังด่านเจดีย์สามองค์นั้น ก็เป็นถนนที่่สร้างอยู่บนแนวทางรถไฟสายมรณะ ซึ่งจะว่าไป ก็แทบจะเป็นการสร้างทับอยู่บนพูนดินที่เป็นฐานรากของรางรถไฟทั้งหมด ช่วงที่เป็นการตัดถนนใหม่จริงๆ ไม่เกี่ยวกับทางรถไฟเลยก็คือ ช่วงจาก วค.กาญจนบุรี ขึ้นผ่านพื้นที่สูงที่เรียกว่าเขาสามชั้น ไปจบกับทางรถไฟตรงอีกประมาณ 4 กม.จะถึงสถานี้น้ำตก 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ต.ค. 13, 23:14
สำหรับถนนสายหลักของภาคอิสานนั้น ก็คือ ถนนมิตรภาพที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว  แต่ก่อนจะเป็นชื่อถนนมิตรภาพนั้น ถนนช่วง จ.สระบุรี ถึง จ.นครราสีมา แต่เดิมเป็นถนนชื่อถนนสุดบรรทัด และช่วง จ.นครราชสีมา ถึง จหนองคาย เป็นถนนชื่อถนนเจนจบทิศ     ส่วนถนนหลักของอิสานตอนล่างนั้นเรียกกันว่า สายโชคชัย-เดชอุดม คือ แยกจาก อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ไปสุดที่ตัว จ.อุบลราชธานี


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ต.ค. 13, 23:39
เขียนถึงถนนเหล่านี้ก็เพื่อจะบอกว่า ตามเส้นทางของถนนสายหลักเหล่านี้ (รวมทั้งตามเส้นทางสายรองและเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างชุมชนต่างๆ) มันอุดมไปด้วยเรื่องราว ข้อมูล ข้อสนเทศ วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ฯลฯ ต่างๆมากมาย ที่ทำให้เราได้รู้จักตัวตนของตนเองและแก่นของความเป็นไทยในมิติต่างๆ    ในครั้งระโน้น เราเรียนประวัติศาสตร์ สังคม/วัฒนธรรม แบบต้องจินตนาการเอาเพื่อให้เห็นภาพเพื่อจะได้เกิดความเข้าใจและจำใด้ (เนื่องจากมีข้อจำกัดทางการสื่อสารและการคมนาคม)  ในปัจจุบัน เราไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์กัน ในขณะการสื่อสารและการคมนาคมกลับดีเยี่ยม สามารถที่จะเดินทางไปเรียนรู้ ไปดู ไปเห็น ที่ใหนๆก็ได้  แต่ก็อีกนั่นแหละ เรากลับนิยมไปเที่ยวต่างประเทศกัน แล้วก็รู้จักดีกว่าไทยเสียอีก



กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ต.ค. 13, 22:58
เมื่อช่วงอายุ 10 (+/-) ปี ก็ได้มีโอกาสตามพ่อไป อ.เทิง พ่อจะไปดูสถานที่ๆจะสร้างโรงพยาบาลประจำอำเภอ  ซึ่งเป็นครั้งแรกของผมที่เดินทางไปในพื้นที่ชนบทจริงๆ ตื่นเต้นมากครับ จำได้ว่าเป็นฤดูหนาว ออกจากเมืองเชียงรายกันแต่เช้า พ่อต้องซ้ือข้าวเหนียว หมูชุบแป้งทอด และใส้อั่ว เอาติดรถไปด้วย เผื่อรถเสียหรือติดหล่มในระหว่างการเดินทาง ที่จริงแล้วระยะทางไม่ไกลมากนัก สามารถเดินทางถึงได้ภายในเวลาประมาณเที่ยงวัน

เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาว ถนนจึงมีแต่ฝุ่น ฝุ่นคงจะหนาประมาณสักศอกหนึ่งได้ครับ ตลอดทางเลย   เมื่อพ้นเขตทุ่งนาก็เข้าเขตที่เป็นป่า มีแต่ต้นไม้ใหญ่ๆสองข้างทาง สะพานข้ามห้วยต่างๆยังใช้ไม้ซุงวางพาด เป็นซุงรวม 6 ต้น วางพาดแยกกันเป็นข้างละ 3 ต้น แล้วใช้ปลิงตียึดท่อนซุงไม่ให้แยกจากกัน (ปลิง ก็คือเส้นเหล็กพับเป็นทรงใส้เครื่องเย็บกระดาษที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน)   รถที่ใช้ทางเหล่านี้เกือบทั้งหมดจะเป็นรถ 6 ล้อ ทั้งรถโดยสารที่เราเรียกว่ารถคอกหมูและรถลากซุงต่างๆ  รถเล็ก 4 ล้อที่ใช้กันก็ต้องเป็นรถจี๊บขับเคลื่อ 4 ล้อ เท่านั้น   
รถจี๊บนี้ สมัยก่อนนั้นเขาแบ่งออกเป็น 3 ขนาด คือ จี๊บเล็ก จี๊บกลาง และจี็บใหญ่  และทั้งหมดก็คือรถเก่าที่ใช้ในทางทหารมาแล้วทั้งสิ้น    รถจี๊บเล็ก ก็คือรถจี๊บขนาดที่เราเห็นกันทั่วไปในปัจจุบัน (ในทางทหารเรียกว่ารถขนาด 1/4 ตัน)  รถจี๊บกลางนั้น ลำตัวจะกว้าง ใช้เครื่องยนต์ 6 สูบ รถจี๊บกลางนี้เป็นรถยอดนิยมสำหรับพวกฉายหนังกลางแปลง และพวกขายยา เขาเอามาต่อมาดัดแปลงใส่หลังคาจนดูดี  ส่วนรถจี๊บใหญ่นั้น จะเป็นทรงสูงโย่ง หน้าหม้อสั้น รถจี๊บใหญ่นี้จะถูกดัดแปลงเป็นรถขนไม้ซุงที่ตัดเป็นท่อนสั้น (ยาวประมาณ 4-5 เมตร)    รถสมัยสงครามโลกเหล่านี้ จะมีก็เฉพาะรถจี๊บเล็กเท่านั้นเองกระมังที่ยังคงเหลือพอเห็นวิ่งกันอยู่  สำหรับรถจี๊บกลางและจี๊บใหญ่นั้น ผมว่าหายไปจากถนนโดยสิ้นเชิงเมื่อสักประมาณปี 2520  ก็หลังจากสงครามเวียดนามได้จบลงแล้ว และเมื่อเริ่มการนำมีซากรถทหารสมัยเวียดนามเข้ามาใช้แทน   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ต.ค. 13, 23:42
กลับมาขยายเรื่องอาหารที่ซื้อติดรถไว้สักหน่อยครับ

ในช่วงฤดูหนาว ข้าวสารต่างๆจะเป็นข้าวใหม่ เพิ่งเก็บเกี่ยวกันมาไม่นาน  ทางเหนือเขาจะเอาข้าวเหนียวใหม่นี้มานึ่งให้สุก (คนเหนือแต่ก่อนเรียกข้าวเหนียวว่า ข้าวนึ่ง) แล้วเอาคลุกกับงาดำที่ตำพอแหลกกับเกลือเล็กน้อย กลิ่นฉุย หอมน่ากินมากๆ แล้วไม่ค่อยติดมือด้วย (เพราะมีน้ำมันจากงา) ผมยังชอบจนถึงในปัจจุบันนี้ ยังมีขายนะครับ ตามตลาดเช้าทั้งหลาย  ชื่อเรียกข้าวเหนียวคลุกงานี้อาจจะต่างกันไปบ้างนะครับ ภาษาเหนือตามปรกติเรียกว่า ข้าวหนุกงา  สมัยก่อนเรียกว่าข้าวเหนียวงาก็รู้กัน สมัยนี้ดูเหมือนจะต้องเรียกว่าข้าวหนุกงาเท่านั้นจึงจะเข้าใจ ที่แย่ก็คือ ในปัจจุบันนี้ มีแม่ค้าหัวใส ทำส่วนที่จะใช้คลุกแยกขายเลย ผู้ใดอยากจะหนุกเมื่อใดก็ทำได้เอง
 
ในปัจจุบันนี้ความสุนทรีย์ของข้าวเหนียวงาหรือข้าวหนุกงานี้ หายไปหมดแล้วครับ  ทั้งความหอม ความมัน และความอร่อยกลมกลืน  ส่วนหนึ่งเพราะ แม่ค้ามักจะใช้ข้าวเก่า งาก็งาเก่า แห้งสนิทเลยอีกด้วย       ทั้งนี้ หากท่านใดอยากจะลองทำแล้วทำอย่างที่ให้กินแล้วเกิดความอร่อยนะครับ   ควรจะต้องเข้าใจดังนี้  ข้าวหนุกงาเป็นของกินครึ่งทางระหว่างอาหารเช้า กับ ขนม   ต้องกินเมื่ออุ่นมากๆหน่อย หากเย็นแล้วจะหมดความอร่อยไปมากเลยทีเดียว  ข้าวเหนียวที่ใช้จะต้องเป็นข้าวเหนียวใหม่ ไม่ใช้ข้าวเก่า (ข้าวเก่าทำให้หมดความอร่อยไปเลย) หากจะนึ่งข้าวเองก็จะต้องแช่ข้าวค้างคืน  และเมื่อนึ่งสุกแล้ว ให้เทออกมาใส่ถาด เอาน้ำพรมเล็กน้อยแล้วใช้ไม้พายคลุกเคล้าข้าวให้คละเคล้ากันทั้งหมด จากนั้นจึงจะทำการหนุกงา
หากมีข้อจำกัดในเรื่องครัว ก็ยังพอจะแก้ลำทำให้อร่อยได้เหมือนกัน เอาข้าวเหนียวนึ่งแล้วที่เราซื้อมาตอนเย็นแล้วเอามาใส้ตู้เย็นไว้ ดูที่มันออกท่าทางว่าจะนิ่มก็แล้วกัน พอเช้าก็เอามือยีข้าวเหนียวนั้น พยายามแยกให้มันร่วนหน่อยโดยเอาน้ำพรมช่วย แล้วเอาใส่ถ้วย ใสไมโครเวฟ (เวลาสั้นๆ) เอาออกมาใช้ซ่อมช่วยพลิกคลุกเคล้า เอาใส่เวฟใหม่ ก็เพื่อทำให้ข้าวนิ่มทั่วกัน  เอางาที่ซื้อมาสำหรับหนุกนั้น มาคั่วไฟอ่อนให้ร้อน พองาเริ่มนื่มและมีน้ำมันออกมาจึงเอาไปคลุกกับข้าวเหนียว


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ต.ค. 13, 10:15
ฟังเชฟบ้านป่าทำข้าวเหนียวใหม่คลุกงาแล้วน้ำลายไหล  น่ากินมากค่ะ   ทำเอาอยากรู้ว่าหน้าตามันเป็นอย่างไร  ก็เลยไปถามเชฟกู๊กดู   ได้คำตอบมาตามภาพข้างล่างนี้


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ต.ค. 13, 21:57
เอาข้าวจี่มาแลกกัน


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ต.ค. 13, 22:35
แต่เดิมนั้น เขาจะใช้งาดำ ไม่ได้ใช้งาขาวดังในภาพครับ

เลยขอเล่าต่อไปเลยว่า ที่ผมแปลกใจ ก็คือการนำข้าวเหนียวใหม่มาทำข้าวคลุกงานี้ กะเหรี่ยงบ้านป่าก็ทำเหมือนกัน ทำในฤดูหนาวเหมือนกัน โดยเฉพาะในงานบุญช่วงปีใหม่ ต่างกับการทำของเราอยู่หน่อยนึงตรงที่ เขาตั้งใจทำเป็นของหวาน โดยเอาข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วมาตำจนเกือบจะเป็นเนื้อเดียวกัน (เรียกว่า ทองโยะ) แล้วจึงคลุกงา   แต่หลายคนชอบที่จะเอามาจิ้มกับนมข้นหวาน     ในญี่ปุ่นก็ทำเหมือนกัน ใช้ครกแบบครกกระเดื่อง เพียงแต่ใช้แรงคน (มากคนหน่อย) ช่วยกันใช้สากไม้หรือฆ้อนไม้ทุบจนเมล็ดข้าวกลายเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นงานเทศกาลประจำปีของเขา

ทำให้คิดไปว่า ข้าวเหนียวนี่คงเป็นจะข้าวดั้งเดิมประจำถิ่นของภูมิภาคนี้ จนมีการนำพันธุ์ข้าวเจ้าจากอินเดียเข้ามาปลูกกัน   ทำให้ หากเป็นข้าวสารเม็ดยาวก็จะเรียกชื่อหลวมๆในปัจจุบันนี้ว่า Indica rice   หากเป็นเพันธุ์ที่เม็ดป้อมสั้น ก็จะเรียกชื่อหลวมๆว่า Japonica rice (เพราะปลูกและนิยมกินโดยคนญี่ปุ่น)   ข้าวเม็ดป้อมสั้นนี้ในบ้านเราก็มีปลูกกันโดยชาวเขาทั้งหลาย เรียกกันว่า ข้าวไร่ เป็นพันธุ์ข้าวที่ต้องการน้ำน้อย ปลูกได้ตามลาดเอียงของภูเขาทั้งหลาย  

เมื่อครั้งทำงานเข้าป่าเข้าดงอยู่นั้น ผมนิยมที่จะเอาข้าวสารที่ซื้อจากเมือง ไปแลกกับข้าวไร่  ผมว่าข้าวไร่อร่อยดี แล้วก็พบว่าข้าวไร่ที่ปลูกในแถบเชิงเขาของป่าห้วยขาแข้ง โดนเฉพาะแถบย่าน อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี จะหอมอร่อยมาก  ที่จริงแล้ว ในปัจจุบันนี้หากมีโอกาสก็ยังหาซื้ออยู่ครับ
 
กลายเป็นเล่าเรื่องข้าวไปเสียแล้ว เอาไว้ค่อยเล่าเพิ่มเติมนะครับ  



กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ต.ค. 13, 22:57
เอามารวมแบ่งกันกินดีกว่าครับ อร่อยทั้งคู่   

ข้าวจี่นี้ ดูจะไม่เป็นที่นิยมของคนในภาคเหนือ  ที่ผมเห็นนิยมกินกันก็อยู่ในญี่ปุ่นและเวียดนาม    ของเราจะต้องเอามาห่อด้วยใบตองกล้วยเสียก่อนแล้วจึงจะปิ้ง   สมัยก่อนนั้น หากเป็นบ้านชนบทจริงๆ ก็จะเป็นข้าวเหนียวไม่ได้มูลด้วยกะทิ มีทั้งแบบใส่ใส้กล้วยและใส่ถั่วดำ (สามสี่เม็ด)  หากเป็นในเมืองก็จะเป็นข้าวเหนียวมูลกะทิใส้กล้วย จำได้ว่าไม่เคยเห็นใส้อื่นๆเลย  ก็น่าจะแสดงว่าข้าวเหนียวปิ้งใส้อื่นๆ (เผือก มัน ถั่วเขียวบด) นี้เป็นของคนในภาคกลาง     

ที่ว่าเป็นข้าวเหนียวไม่มูลกะทินั้น ก็มีสาเหตุอยู่หรอกครับ จำได้จากการเห็นและคำบอกเล่าว่า มะพร้าวนั้นปลูกได้ผลดีเฉพาะใน อ.แม่ใจ  จะปลูกไม่ขึ้นหรือไม่ได้ผลเลยในพื้นที่เหนืออำเภอแม่ใจขึ้นไป (เชียงราย - แม่ใจ ระยะทางประมาณ 25 กม.)  ปัจจุบันนี้ก็จะยังเห็นว่าแทบจะไม่เห็นต้นมะพร้าวเลยเมื่อเลยพื้นที่ อ.แม่ใจ ขึ้นไป


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ต.ค. 13, 23:22
พูดถึงข้าวเหนียวปิ้งว่าใช้ใบตองกล้วย   ก็เลยขอขยายความต่อ

ยังมีวัสดุที่ใช้ห่ออาหารการกินอีกอย่างหนึ่ง คือ ใบตองตึง  เป็นใบไม้ของต้นตึง รูปทรงใบคล้ายๆกับใบของต้นสัก    ชาวบ้านเขาจะแยกใช้ใบไม้ทั้งสองชนิดนี้ คือ ใบตองกล้วยจะใช้กับพวกขนมเป็นหลัก รวมทั้งใช้ห่อของที่จะต้องปิ้งย่าง ซึ่งจะทำให้อาหารหอมน่ากิน  จะเอาวางรองหรือปิดทับขณะปิ้งก็ได้ทั้งนั้น   
   (ลองดูนะครับ เมื่อซื้อใส้อั่วมาทานนั้น ทำให้อร่อยมากขึ้นได้ 2 วิธีการ คือ อุ่นใส้อั่วโดยเอาใส้อั่วทั้งท่อนวางบนใบตองกล้วยในกะทะที่ร้อนๆ หรือ หั่นเป็นคำๆแล้วเอาลงทอดในน้ำมันร้อนๆคะเนว่าพอแห้งก็ใช้ได้ ทั้งสองวิธีนี้จะช่วยรีดความมันออกไปได้พอควร)

ใบตองตึงนั้น จะใช้ห่ออาหารแห้งทุกชนิด ใช้ทั้งชนิดใบเกือบแห้ง (สำหรับห่อเครื่องปรุงอาหารทั้งหลาย) และใบสด (สำหรับอาหารที่ทำสำเร็จพร้อมกิน)   หากเป็นข้าวเหนียว แม่ค้าก็จะเลือกใช้ใบที่อ่อนหน่อย ผมว่ามันผสมผสานกันได้ดีเมื่อใช้ใบตองตึงห่อข้าวเหนียวร้อนๆ เปิดออกมาหอมฉุยเลย  ใบตองตึงยังมีคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่ง คือ มันช่วยกักเก็บและให้ความชื้น ดังนั้น ข้าวเหนี่ยวจึงไม่แห้งแข็งจนถึงช่วงเวลาเย็น แม้ว่าจะซื้อตั้งแต่เช้าตรู่ก็ตาม


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: warisa ที่ 16 ต.ค. 13, 09:11
....เป็นคนลำปาง...เข้ามาช่วยตอบค่ะ..ที่ลำปางเรียกว่า ข้าวหนึกงาค่ะ...งาที่นำมาคลุกเรียกว่า งาขี้ม่อน..ส่วนมากเป็นอาหารว่างในฤดูหนาวยามเช้าของคนชนบททางเหนือ..เพราะเป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวจะได้ข้าวหอมใหม่ประกอบกับงาที่ปลูกก็เป็นฤดูเก็บเกี่ยวพอดี..จะเป็นข้าวใหม่คลุกกับงาที่หอมใหม่ทั้งคู่จึงดับเบิ้ลความอร่อยเลย..บางท้องที่จะทานกับน้ำอ้อย(น้ำตาลก้อนที่เคี่ยวใหม่ๆจากน้ำอ้อยเช่นกัน)...
.....นอกจากข้าวหนึกงาแล้ว...ทางเหนือชนบทยังนิยมเอาข้าวใหม่มาใส่ในกระบอกข้าวหลาม...โดยแช่ไว้ตอนกลางคืนแล้วนำมาเผาไฟในตอนเช้า...เป็นกิจกรรมที่เด็กและผู้ใหญ่ทำร่วมกันอย่างมีความสุข...คิดถึงบรรยากาศเก่าๆจัง.....


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ต.ค. 13, 23:56
ขอบคุณครับที่เข้ามาช่วยเสริมความรู้

ขอต่อเรื่องใบตองตึงอีกเล็กน้อย

เนื่องจากในสมัยก่อนนั้นมีการใช้ใบตองตึงมาก จึงมีอาชีพเก็บใบตองตึงไปขาย  ในปัจจุบันนี้มีการใช้ถุงพลาสติกและใบตองกล้วยแทน จึงทำให้เกือบจะไม่เห็นตลาดชาวบ้านใช้ตองตึงกัน เท่าที่ทราบจากคำบอกเล่า ก็คือหายาก และไม่นิยมใช้กันแล้ว    ดั้งเดิมเมื่อใช้ใบตองตึงนั้น เขาจะใช้ตอก (ไม้ไผ่จักให้เป็นตอก) เพื่อรัดห่อของนั้นๆ  ต่อมาในช่วงประมาณ พ.ศ.2505 +/-  แม่ค้าในตลาดในเมืองต่างๆก็เริ่มเปลี่ยนไปใช้ยางรัดแทนตอก (ภาษาเหนือเรียกว่ายางรัดว่า หนังวีอง หรือ หนังวง) แต่ตลาดในชนบทก็ยังคงใช้กันอยู่  จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ.2515 (จากข้อสังเกตที่พอจำได้นะครับ) เมื่อแถว จ.กำแพงเพชร ได้เริ่มปลูกกล้วยไข่กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งเป็นจังหวะที่ถนนช่วงนครสวรรค์-กำแพงเพชร ได้ก่อสร้างเสร็จ ใบตองกล้วยก็เริ่มขยายตลาดออกไป ในที่สุดการใช้ใบตองตึงก็หมดไป

ต้นตองตึง ในภาษาภาคกลางก็คือ ต้นพลวง เป็นไม้ยืนต้นที่สูงได้ในระดับ 20-30 เมตร พื้นที่ที่พบจะเป็นบริเวณที่เป็นดินปนหิน แห้งแล้ง ที่เรามักจะเรียกพื้นที่นี้ว่าป่าเต็งรัง แต่จริงๆแล้วส่วนมากจะเป็นต้นพลวงและต้นเหียง   ป่าเหียงและพลวงนี้จะพบในบริเวณที่เป็นตะพักลำน้ำเก่า (river terrace) เป็นพื้นที่ๆมีการสะสมของตะกอนลำน้ำ (ทราย กรวด ดินโคลน) สภาพของดินจึงเป็นกรด ทำให้มีต้นไม้ไม่มากชนิดที่จะขึ้นได้ พันธุ์ไม้ที่ขึ้นจะเป็นพวกที่มีเปลือกหนา

ครับแล้วค่อนขยายต่อ

 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ต.ค. 13, 05:10
แล้วกัน ผมนึกว่าใบตองตึงคือใบสักเสียอีก สมัยเด็กๆเคยไปล่องแก่งแม่ปิงจากเชียงใหม่มาตาก แพทำด้วยไม้ไฝ่กับใบตองตึง ผู้ใหญ่บอกผมว่าชาวเหนือเรียกใบสักว่าใบตองตึง

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/06/K7930494/K7930494.html


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ต.ค. 13, 22:54
เข้าใจไม่ผิดซะทีเดียวหรอกครับ 

ใช่ครับ คนทางเหนือนำใบตองตึงมาพับแล้วเย็บเข้ากับก้านไม้ไผ่ เป็นตับๆ แล้วก็เอาไปมุงหลังคา  เรียกว่าหลังคาตองตึง   อันหลังคาตองตึงนี้จะใช้กับที่พักอาศัยชั่วคราว หรือเมื่อแรกย้ายที่อยู่เท่านั้น  เราจึงพบการใช้หลังคาตองตึงก้บที่พักกลางทุ่งนาที่เรียกว่า ห้างนา หรือ เขียงนา   และก็จะพบการใช้กับบ้านพักพิงชั่วคราวตามชายทุ่ง (ทุ่งที่อยู่ในป่าดง) เมื่อเขาออกไปเลี้ยงวัวหรือเก็บของกินในป่า  ด้วยลักษณะการใช้ในลักษณะนี้ จึงได้พบเห็นบ่อยครั้งที่มีการใช้ใบต้นสักด้วย   ผมเดาเอาว่าเหตุที่ไม่นิยมใช้ใบต้นสักก็เพราะในสักมีขน อาจจะทำให้เกิดการคันเมื่อใบสักแห้ง

หลังจากที่ใช้หลังคาตองตึงกับบ้านพักอาศัยเป็นการชั่วคราวแล้ว ชาวบ้านเขาก็จะเปลี่ยนไปใช้หญ้าคา  หลังคาหญ้าคาเป็นงานละเอียดและคงทนมากกว่าใบตองตึง กันฝนและให้ความอบอุ่นได้ดีกว่าใบตองตึงมาก นอกจากนั้นแล้วใบตองตึงยังแห้งกรอบและหักแหว่งได้ง่ายอีกด้วย   
แท้จริงแล้วมันยังมีเรื่องของช่วงเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย   ดังได้กล่าวมาแล้วว่าตองตึงเป็นต้นไม้สูง เวลาที่เหมาะสมจะเก็บเกี่ยวใบตึงมีอยู่สองช่วง คือ ช่วงแตกใบใหม่เมื่อเริ่มเข้าฤดูฝน และช่วงที่ต้นไม้ผลัดใบ  ผมเคยเห็นพื้นที่ที่มีต้นพลวงถูกตัดเหลือแต่ตอ ที่เมื่อเข้าฤดูฝนแล้วก็จะมีใบแตกออกมา ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเป็นการตั้งใจทำสวนทำไร่ตองตึงหรือไม่

หลังคาหญ้าคานั้นจะมีราคาแพงมากกว่าตองตึง เก็บเกี่ยวและจัดเย็บเป็นตับสำหรับใช้ในการมุงหลังคาได้ยากกว่า      นึกถึงตอนเดินป่าผ่านเข้าไปในดงหญ้าคา ใบของมันบาดจนแขนลนลายไปหมด แถมยังรู้สึกแสบๆคันๆแบบมันอีกด้วย เนื่องจากเหงื่อที่เค็มของเราเยิ้มเข้าไปตามรอยบาดเหล่านั้น



กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ต.ค. 13, 10:57
เอาภาพประกอบ ใบตองตึง  มาเสริมค่ะ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ต.ค. 13, 11:14
หลังคาหญ้าคา


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ต.ค. 13, 19:51
หะแรกคิดว่าจะมีเวลาเขียนคืนนี้อีกสักตอน  พอสำรวจดูเวลาแล้วไม่ได้แน่ๆ เลยต้องมาบอกกล่าวเสียแต่ตอนนี้ว่า ผมจะไป ตจว. ประมาณสัปดาห์หนึ่ง จึงขออภัยที่จะต้องเว้นวรรคไปครับ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: mutita ที่ 21 ต.ค. 13, 15:10
 :)
สมัยเด็กๆเวลาไปซื้อหมูที่ตลาดสด เค้าจะใช้ใบแบบนี้ห่อมาให้พร้อมใช้เชือกกล้วยผูกให้หิ้ว เพิ่งทราบว่าเรียกใบตองตึง

เพราะเข้าใจมาตลอดว่าเป็นใบสัก ขอบคุณมากๆสำหรับความรู้ดีๆและรูปภาพสวยๆจากทุกๆท่านค่ะ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ต.ค. 13, 19:52
กลับจาก ตจว. แล้วครับ

ใบตองตึงนี้ เท่าที่จำได้จากการออกไปทำงาน (ออกสำรวจ) ในพื้นที่ต่างๆ   พบว่ามีการใช้เฉพาะในภาคเหนือเท่านั้น คือ เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน แล้วก็จำได้ว่าไม่พบต่ำลงมากว่า อ.เถิน ของ จ.ลำปาง, อ.เด่นชัย อ.ลอง (ไม่ลงไปถึง อ.วังชิ้น) ของ จ.แพร่  อย่างไรก็ตาม ก็พบว่ามีการใช้กันบ้างในบางหมู่บ้านและชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนด้านตะวันตก (ลงไปถึงในพื้นที่ของ อ.สังขละบุรี ของ จ.กาญจนบุรี)
   
นอกจากนั้นแล้วก็พบว่ามีการใช้ในหมู่ชาวพม่าที่อยู่ตามตะเข็บชายแดน และรวมทั้งบรรดาชาวเขาทั้งหลาย ยกเว้นชาวม้ง (ชาวม้งนี้ ไม่แน่ใจนัก)

ดังที่เล่ามานี้ ทำให้ผมจินตนาการ (เดา) ไปใน 2 เรื่อง คือ เรื่องธรรมชาติของป่าตองตึง และเรื่องทางวัฒนธรรมของการใช้ใบตองตึง


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ต.ค. 13, 19:56
ลากเก้าอี้มาฟังต่อค่ะ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 13, 20:47
เมื่อวานนี้เครื่องคอมพ์รวนนิดหน่อย เลยต้องลงจากเวทีครับ

ต่อครับ
ธรรมชาติของป่าตองตึงหรือป่าตึง - พบเป็นผืนป่าหย่อมๆมากกว่าที่จะเป็นผืนป่าขนาดใหญ่มากๆ เกิดในพื้นที่ๆเป็นดินปนหินปนกรวด เป็นดินที่ระบายน้ำได้ดี พื้นดินจึงดูแห้งแล้ง ต้นตึงมีความสูงได้ในระดับประมาณ 20 เมตร แต่ส่วนมากจะพบว่าสูงในระดับประมาณ 5-10 เมตร เปลือกของต้นมีความหนามากและแตกเป็นร่องลึก ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของไม้ในพื้นที่แห้งแล้ง  ต้นตึงเป็นต้นไม้ผลัดใบ จึงพบเห็นใบร่วงหล่นแห้งกรอบอยู่ตามพื้น    ป่าตึงเป็นป่าที่โปร่ง ต้นไม้แต่ละต้นขึ้นค่อนข้างห่างกัน (อย่างน้อยก็ 1 เมตรขึ้นไป) เกือบจะไม่มีไม้พื้นล่างหรือไม้คลุมดิน

เล่ามาเป็นพื้น เพื่อจะเล่าต่อไปว่า นอกจากใบจากต้นตึงจะมีประโยชน์ใช้สอยอย่างมากแล้ว ตัวต้นเองก็นำมาใช้เป็นเสาและโครงสร้างบ้านสำหรับชาวบ้านป่าโดยทั่วไป  ป่าตึงนี้มีความสำคัญในระบบนิเวศน์มาก    เมื่อแรกเริ่มฤดูฝน ผืนดินของป่าที่ตลอดช่วงแห้งแล้งเกือบจะไม่มีวัชพืชใดๆขึ้นเลยนั้น ก็จะมีหญ้าระบัดงอกเงยออกมาเต็มพื้นที่ (ระบัดแปลว่าผลิ แต่ชาวบ้านก็เรียกหญ้าที่งอกออกมาว่า หญ้าระบัด) เป็นแหล่งหญ้าอ่อนสำหรับสัตว์กินหญ้าทั้งหลาย หลังจากที่ค่อนข้างจะอดของอร่อยมานานหลายเดือน  โดยเฉพาะสัตว์พวกที่มีเขาจะชอบมาก เพราะเดินเล็มหญ้าสบายๆ เนื่องจากเป็นป่าโปร่ง ไม่มีอะไรมาระเกะระกะเขา   คงนึกออกแล้วนะครับว่า ป่านี้จะพบเห็นสัตว์อะไรได้บ้าง แล้วก็คงจะนึกออกต่อไปว่าแล้วนายพรานจะไปด้อมๆอยู่ที่ใหนกันบ้าง   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 13, 21:26
คราวนี้ ย้อนไปในช่วงก่อนฝน ต้นไม้ก็จะผลัดใบ มีใบแห้งร่วงและแห้งกรอบอยู่ตามพื้นดินเต็มไปหมด แต่ไม่ได้ทับถมกันแบบหนาแน่น     เนื่องจากช่วงก่อนฝนตั้งแต่ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไปนั้น อากาศจะแห้งและใบไม้ก็จะแห้งมาก   ชาวบ้านป่าทั้งหลายที่เดินผ่านป่าประเภทนี้ก็จะจุดไฟเผาใบไม้ เพื่อเปิดหน้าดินให้โอกาสหญ้าระบัดงอกเงยออกมาเมื่อฝนตก บางคนก็จุดไฟเพื่อหวังจะได้มาล่าสัตว์ บางคนก็จุดไฟเพื่อสัตว์จะได้มีกินกัน  ทั้งนี้ จากประสบการณ์อันยาวนานของผมกับชีวิตในป่าดง ผมพบว่าชาวบ้านป่าเกือบทั้งหมดจะจุดไฟเพื่อช่วยให้สัตว์มีแหล่งอาหารกินกัน ไม่คิดในเรื่องจะกลับมาล่ามันไปเป็นอาหาร ก็เรียกได้ว่าเขามีคุณธรรมกันพอควรเลยทีเดียว
  
นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราจะเห็นควันไฟในผืนป่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม  การจุดไฟเพื่อให้หญ้าระบัดงอกขึ้นนี้ ชาวบ้านป่าเขาจะทำกันเป็นกิจวัตรประจำปีกัน ก่อนจะจุดก็จะมีการดูช่วงเวลาที่เหมาะสม ดูลม ดูความแห้งของใบไม้ ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้ไฟลุกลามไปมากกว่าพื้นที่ๆต้องการ   ที่เราเห็นไฟป่าเป็นไฟลามทุ่งนั้น มักจะเกิดจากฝีมือของพวกลักลอบล่าสัตว์ เนื่องจากความไม่รู้จักพื้นที่นั้นๆ  

ในช่วงเดือนดังกล่าวนี้ ก็จะมีการเผาไม้ที่ถางออกจากการเปิดป่าเพื่อทำการเกษตรด้วย ทั้งหมดเป็นเป็นการเผาที่มีการกำหนดขอบเขตและควบคุมค่อนข้างดี (จะได้เล่าในโอกาสต่อไป)

ฝุ่นควันไฟที่ออกมาจากป่าในช่วงเดือนนี้ จะถูกกดให้ลอยอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากมวลอากาศยังมีความหนาแน่นสูง ยังเป็นช่วงของมวลอากาศเย็นที่ไหลมาจากทิศเหนือเข้าปกคลุมประเทศ  ผลอย่างหนึ่งก็คือ เกิดสภาพอากาศที่เรียกว่าหมอกแดด (haze) หรือสภาพฟ้าหลัว

  
 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 13, 21:56
ช่วงที่ทำงานแล้วต้องเดินผ่านป่านี้เมื่อเขาได้จุดไฟเผาแล้วจะเป็นช่วงที่ทุกคนมอมแมมากที่สุด  ฝุ่นจากขี้เถ้าจะฟุ้งขึ้นมาจากการเดินมาทำหน้าที่เป็นแป้งประพรมเสื้อผ้า ใบหน้าและผม     ถ่านจากเปลือกไม้ที่ใหม้ไฟอยู่ตามต้นและกิ่งไม้จะช่วยแต่งเติมลายเส้นและปื้นสีดำบนเสื้อผ้าและใบหน้า   สำหรับตัวผมเองยิ่งสกปรกหนักเข้าไปใหญ่เพราะจะต้องหยิบจับหินดิน สภาพความสกปรกของมือจึงไม่ค่อยจะต่างไปจากเท้ามากนัก  (ผมใส่รองเท้าแตะเดินป่าครับ)


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 13, 23:28
เรื่องทางวัฒนธรรมของการใช้ใบตองตึง

เรื่องนี้ทำให้ได้ทบทวนความจำ แล้วก็พบว่า แท้จริงแล้วในภาคตะวันออกแถวจันทบุรีโน่นก็มีการใช้ตองตึง ในภาคอิสานก็มีการใช้เช่นกัน 
ผมไม่คุ้นกับภาคตะวันออกและอิสาน เลยทำให้ไม่แน่ใจในเรื่องของวิถีการใช้ใบตองตึง  ซึ่งการใช้ในการทำหลังคานั้นมีแน่นอน แต่การใช้เป็นวัสดุสำหรับห่อของกินนั้น เท่าที่เห็นเป็นปรกติก็เห็นจะมีเฉพาะการใช้บุข้างกระชุหรือชะลอมเท่านั้น  ซึ่งต่างจากภาคเหนือ (ตามเขตพื้นที่ที่ผมได้กล่าวถึง) ที่มีการใช้เป็นวัสดุสำหรับห่อของกินอย่างเป็นปรกติ
 
ดูจะมีความต่างกันในระหว่างกลุ่มชนที่อยู่ในถิ่นภาคกลางกับกลุ่มชนที่อยู่ในภาคอื่นๆ  จะกล่าวว่าเพราะในภาคกลางไม่มีป่าตึงหรือหาใบตองตึงได้ยาก ก็ถูกในส่วนหนึ่ง แต่ก็มีกลุ่มชนที่อยู่ในพื้นที่ชายขอบของภาคกลางซึ่งมีพื้นที่ป่าตึงอุดมอยู่ ก็ดูจะไม่มีการใช้ตองตึง แต่กลับนิยมใช้ตองกล้วยตามคนในที่ราบลุ่มส่วนกลาง   ซึ่ง ?? คล้ายกับว่าเป็นคนละกลุ่มสายพันธุ์กัน  อย่างไรก็ตาม ความเหมือนและความต่างก็น่าจะเป็นเรื่องทาง social anthropology

เขียนเลอะเลือนเลอะเทอะไปใหนๆแล้วก็ไม่รู้ครับ   สมควรจะพอได้แล้ว   ไป อ.เทิง ยังไม่ถึงใหนเลย


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ต.ค. 13, 09:59
ตามอ่านอยู่ค่ะ    จะพาเดินไปทางไหน ลูกหาบในเรือนไทยก็เดินตามอย่างว่าง่ายไปเป็นพรวนกันเลยละค่ะ

เอารูปไส้อั่วห่อด้วยใบตองตึงมาลงประกอบ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ย. 13, 21:59
เห็นใส้อั่วแล้วเลยต้องขอขยายความ

ใส้อั่วเป็นอาหารเฉพาะถิ่นของภาคเหนืออย่างแท้จริง ไม่พบว่ามีการทำลงมาในเขต จ.ตาก จ.อุตรดิตถ์ แล้วก็ไม่พบว่ามีการทำในหมู่คนชาวเขาทั้งหลายอีกด้วย
     
มีความน่าสนใจอยู่ประการหนึ่ง คือ อาหารที่ทำในรูปของใส้กรอกนี้มีการทำกันในแทบจะทุกชาติพันธุ์ ในไทยเราก็มีอยู่หลายชนิดและแต่ละชนิดก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิง    ทีนึกออกในทันทีก็คือ
              - ใส้กรอกข้าวเหนียวใส่ถั่วลิสง ที่กินคู่กับตือฮวน (อาหารชุดนี้มีกินในเวียดนามด้วย) 
              - ใส้กรอกข้าวผสมเนื้อ ที่เราเรียกกันว่าใส้กรอกอิสาน (แพร่หลายอยู่ในญี่ปุ่นแล้ว)
              - ใส้กรอกเครื่องแกง ที่เราเรียกว่าใส้อั่ว
              - ใส้กรอกหมู ที่เราเรียกว่ากุนเชียง
              - ใสกรอกตับ ที่เราเรียกว่าน้ำตับ หรือ มั่ม

แปลกอยู่ประการหนึ่งคือ ความต่างกับฝรั่ง ตรงที่ของฝรั่งนั้น แม้จะเป็นกลุ่มคนต่างชาติพันธุ์กัน ลักษณะของใส้กรอกก็ใม่ต่างกันมาก  แต่ของไทยซึ่งกลุ่มคนแทบจะเป็นชาติพันธุ์เดียวกันทั้งหมด กลับมีการทำใส้กรอกต่างอย่างสิ้นเชิง


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ย. 13, 22:58
ใส้อั่วเป็นกับข้าวขาประจำสำหรับการพกพาไปกินในหว่างการเดินทางไกล   ตามปรกติจะมีขายในตลาดทั้งตลาดเช้า (กาดเช้า) และตลาดเย็น (กาดแลง) ซึ่งจะมีแม่ค้าหลายเจ้าทำมาขาย    ใส้อั่วที่ทำมาขายกันนั้นมีความแตกต่างกันที่พอจะเล่าให้ฟังได้ดังนี้   
   ตัวใส้ที่หุ้มห่อ  - มีอยู่สองแบบที่คงจะพอรู้กันอยู่แล้ว คือ ใส้เทียม กับ ใส้หมูจริงๆ     ที่ทำจากใส้หมูจริงๆจะอร่อยกว่ามาก และยังหาซื้อได้ไม่ยาก โดยเฉพาะการซื้อจากแม่ค้าชาวบ้าน   ของที่ขายดีๆและที่ทำเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือนมักจะใช้ใส้เทียม
   ขนาดของใส้  - มีการทำกันหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดประมาณนิ้วหัวแม่มือไปจนถึงขนาดประมาณกล้วยหอม
   เนื้อในใส้อั่ว  - มีทั้งแบบเนื้อหยาบและเนื้อละเอียด มีทั้งแบบมีมันหมูปนมากหรือปนน้อย  และในปัจจุบันนี้ยังมีชนิดที่เรียกว่าใส้อั่วสมุนไพร ซึ่งเป็นพวกเนื้อละเอียดที่มีเครื่องแกงมาก (เป็นพิเศษ) กว่าเนื่้อหมู

สำหรับตัวผมเอง ผมชอบใส้อั่วที่ทำจากใส้หมูจริง เนื้อในหยาบ ขนาดแท่งกลางๆ (ระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับกล้วยหอม) หากพบว่ามีมันหมูมากไป ก็จะหั่นเป็นชิ้นๆแล้วทอดไล่น้ำมัน ก็จะได้ใส้อั่วที่ค่อนข้างแห้งกินอร่อย จะกินกับข้าวเหนียว หรือจะกินเล่นกับเครื่องแหนมก็ได้ (หอมแดง ขิงสด ถั่วลิสง ผักกาดหอมหรือผักสลัด)    ผมพบว่าใส้อั่วที่ขายในตลาดชาวบ้านนั้นอร่อยกว่าที่ขายในตลาดใหญ่ๆหรือในร้านขายของฝากมากมายจริงๆ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 14 ธ.ค. 13, 13:50
เข้ามาอ่านด้วยความเพลิดเพลิน แม้จะเคยใช้ชีวิตอยู่ทางภาคเหนือ ไม่กี่ปี แต่จำได้ว่า

การเรียนรู้วัฒนธรรมในท้องถิ่นเป็นเรื่องสนุก เริ่มจากการเรียนรู้ที่จะพูดภาษาถิ่นเหนือ

ที่เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แต่เพื่อสื่อสารกับชาวบ้านเวลาขึ้นรถ ซื้อของในตลาด

หรือพูดกับเพื่อนๆที่เป็นชาวเมือง การพูดภาษาเดียวกันทำให้เราเป็นมิตรกันง่ายขึ้น

และสนุกที่จะเรียนรู้คำใหม่ๆทุกวัน  อาหารการกินก็แปลกจากที่เราคุ้นชิน มีของอร่อยให้

ลองทาน โดยเพื่อนชาวเมืองพาไป แล้วก็แนะนำว่าเจ้านั้นอร่อย เจ้านี้อร่อย แต่ก็เป็นแค่

ชีวิตในเมืองเชียงใหม่ เมื่อ 40 ปีมาแล้ว เดี๋ยวนี้เชียงใหม่เปลื่ยนไปมาก แออัดขึ้น

มีคนต่างถิ่นย้ายมาทำมาหากินกับนักท่องเที่ยว รถราก็แน่นไปหมด ค่าครองชีพสูง

ไปครั้งหลังสุดเมื่อ 2-3 ปีมานี้ ก็ได้แต่ยิ้มแห้งๆ กับความเปลี่ยนแปลงที่เห็นคะ

พูดถึงอาหาร นอกจาก "จิ้นปิ้ง" ซึ่งหมายถึง หมูชุบแป้งทอด ก็มีไส้อั่ว แกงฮังเล

แกงโฮะ ที่เรามักซื้อมาทานกับข้าวเหนียวร้อนๆ นุ่มๆ  อีกอันที่ชอบดูเหมือนจะเรียกว่า

กระบอง (ไม่แน่ใจ) คือหน่อไม้ที่กรีดเป็นเส้นตรงส่วนกลาง แต่หัวท้ายยังเป็นเนื้อเดียวกัน

ยัดไส้หมูตรงกลางและชุบแป้งทอด นานๆจะเห็นคนเอามาขายเสียที                                                             
 
ส่วนมื้อกลางวันถ้ามีโอกาสต้อง ข้าวซอย ขนมจีนน้ำเงี้ยวซึ่งก็ต้องเลือกเจ้าที่ถูกปากเท่านั้น                                 
 
เพราะแต่ละเจ้าก็ปรุงรสไม่เหมือนกัน

 
และอาหารของชาวไทยใหญ่ที่ต้องทานร้อนๆ คือ ข้าวกั้นจิ้นหรือข้าวเงี้ยว

ข้าวกั้นจิ้น เป็นอาหารเหนือ คำว่า กั๊น เป็นคำเมืองแปลว่า นวด บีบหรือคั้น ส่วนคำว่า จิ้น ก็คือเนื้อหมูแต่ สำหรับบางคนมักเรียกว่า" ข้าวเงี้ยว " อันเป็นคำที่คนไทยในอดีตใช้เรียกชาวไทยใหญ่ว่า "เงี้ยว" ข้าวกั้นจิ้นนิยมบริโภคแพร่หลายในภาคเหนือ ถือเป็นหนึ่งในอาหารอันเป็น
เอกลักษณ์ของชาวไทยใหญ่และเป็นอาหารล้านนาข้าวกั้นจิ้น มีวิธีทำที่ไม่ยาก เริ่มจากการเอาเลือดไปคั้นกับใบตะไคร้ แล้วจึงนำเอาเลือด
ที่ได้และหมูสับมาคลุกกับข้าวสวย นวดให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยเกลือหรือซีอิ้ว แล้วนำไปห่อใบตอง นึ่งจนสุกเวลารับประทาน โรยหน้าด้วยกระเทียมเจียว พริกแห้งทอด หอมแดง แตงกวา ผักชี ต้นหอม เป็นเครื่องเคียง ว่ากันว่าเป็นอาหารไม่กี่ชนิดในอาหารล้านนาที่ทำมาจากข้าวจ้าวเพราะปกติคนแถบนี้นิยมทานข้าวนึ่งหรือข้าวเหนียวเป็นหลัก และสามารถทานกับขนมเส้นน้ำเงี้ยวได้
 

 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 15 ธ.ค. 13, 09:59
เข้ามารำลึกความหลังไปพลางๆ รอท่านที่รู้จริงกลับมาขยาย นะคะ

แหนมทอดเป็นของโปรดอีกอย่างที่เรียกน้ำลายได้ทุกทีที่เห็น อาจเป็นเพราะกลิ่นและรสที่เป็นเอกลักษณ์

คือกลิ่นหอมของหมูที่หมักจนมีรสเปรี้ยวได้ที่แล้วเอาไปทอด ทานกับข้าวเหนียวร้อนๆ เอาสเต็กมาแลกก็ไม่ยอม

แหนมสมัยนั้นเท่าที่เห็นในตลาดมีสองแบบค่ะ คือห่อใบตองหลายๆชั้น มัดให้แน่นด้วยตอก เหมือนข้าวต้มมัด

แต่ความยาวจะสัก 2 เท่า เวลาแกะออกปริมาณใบตองมากกว่าเนื้อใน ไม่ค่อยสะใจเท่าไหร่

อีกแบบหนึ่งเรียกว่าแหนมหม้อ คือไม่ใช้ใบตองห่อ แต่บรรจุเนื้อหมักในหม้ออลูมิเนียมขนาดใหญ่

ประมาณหม้อหุ้งข้าวใบกลางๆ  ดิฉันชอบแหนมหม้อ รสชาติแหลมกว่าแหนมห่อ ไม่ต้องลุ้นว่าแกะใบตอง

แล้วเนื้อแหนมจะเหลือขนาดเล็กจิ๋วหรือเปล่า เพราะเวลาเขาขาย แม่ค้าจะตัดแหนมเป็นก้อนโต

แล้วช่างกิโลขาย ครึ่งโล หรือ 1 กิโล เห็นๆไปเลย

ที่สงสัยคือแหนมห่อนั้นเป็นการหมักแบบที่มีใบตองห่อหุ้ม แน่นจนอากาศเข้าไปไม่ได้ แต่แหนมหม้อเข้าหมักด้วย

วิธีใดจึงเกิดรสเปรี้ยวที่แหลมกว่าแบบแรก  ปัจจุบันแหนมห่อใบตองแทบไม่เห็นในท้องตลาดใหญ่ๆ

แต่ใช้พลาสติคห่อหุ้มแทน ก็ดีที่มองเห็นเนื้อในชัดเจน เห็นสี เห็นส่วนผสม และปริมาณ แต่ความละมุนของรส

คงสู้แบบห่อด้วยวัสดุธรรมชาติไม่ได้ 

แหนมทอดร้อนๆกับข้าวเหนียวสุกใหม่นิ่มๆ ใครจะทนได้จริงไหม




กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 15 ธ.ค. 13, 10:48
เมื่อ 3-4 ปีมานี้ เคยขับรถไปภาคเหนือ แวะไปเรื่อยๆแวะเยี่ยมคนรู้จักที่จังหวัดตากแล้วก็เลยพักค้างคืนที่

โรงแรมในจ.ว.ตากเสียหนึ่งคืน ได้คุยกันตามประสามิตรสหายที่นานๆจะได้พบกันที แล้วก้ขับต่อขึ้นไปเชียงใหม่

ความที่ไม่คุ้นทาง ขับไปเรื่อยๆแต่ดันหลุดจากถนนหลักไปเข้าทางไปเชียงรายโดยไม่รู้ตัว แต่สังเกตว่ายิ่ง

ไปไกล ถนนก็เล็กลงๆ และสองข้างทางก็ดูเป็นป่าเขามาขึ้น มารู้อีกทีก็หลุดไปไกลร่วม 40 ก.ม. แต่ยอมรับว่า

สองข้างทางถนนสายนั้นสวยมาก มีธรรมชาติที่น่าชื่นชม เสียดายที่ไม่มีเวลามากนักไม่งั้นคงถึงเชียงใหม่ค่ำมืด

ก็วกรถกลับมาที่ทางหลัก มุ่งตรงสู่เชียงใหม่ได้สำเร็จ

ช่วงลำพูน ดิฉันได้เห็นตลาดนัดเล็กๆริมทาง ก็แวะตามระเบียบ ยิ่งตื่นเต้นมากขึ้นเมื่อพบว่า ของที่วางขายนั้น

เป็นของที่ชาวบ้านเขาหาซื้อไปกิน ใช้ จริงๆ มีพืชผัก ผลไม้และอาหารที่แปลกตาหลายอย่าง  แต่ที่สำคัญคือการจัดวาง

เพื่อขายก็เป็นไปอย่างเรียบง่าย สาวงามเสียดายที่หารูปทีึ่เก็บไว้ไม่เจอ สิ่งหนึ่งที่จำได้คือ รังผึ้งห่อใบตองปิ้ง

น้ำผึ้งยังฉ่ำ มีตัวผึ้งค้างอยู่บ้าง หรือผักพื้นบ้าน ดอกไม้กินได้จะจัดเป็นกองบนใบพลวง  กบตัวอ้วนๆ สัตว์ตัวเล็กๆ

ตากแห้งมัดไว้เป็นพวงเล็กๆ ดิฉันไม่รู้จัก แต่ภาพทั้งหมดมันสะท้อนวิถีชีวิตชาวบ้านที่เรียบง่าย สวยงาม สะอาด

ตอนหลังๆนี้เคยเห็นมีคนเขียนบทความเกี่ยวกับตลาดแห่งนี้ลงนิตยสารสกุลไทยเมื่อ1-2 ปีมานี้เอง

ใครที่ขับรถผ่านไปลองแวะดูนะคะ อยู่ริมถนนสายหลักนี้แหละค่ะ

ส่วนตลาดด่านเกวียนที่ลำปาง ถ้ากลับจากเชียงใหม่ลงมากรุงเทพ จะอยู่ซ้ายมือ ก็เคยเห้นตั้งแต่ยังเป็นตลาดเก่า

ก่อนไฟไหม้ แล้วปรับปรุงใหม่ในปัจจุบัน  ตลาดด่านเกวียนเก่ามีเสน่ห์ไปอีกแบบ มีของป่าขายเยอะเหมือนกันแต่

ขายเหมือนตลาดสด ขายเนื้อสัตว์ แล่กันสดๆเลือดยังแดงๆ แล้วก้อาหารแบบชาวบ้าน แต่ความสะอาดก้ยังไม่ดีนัก

พอเกิดไฟไหม้ใหญ่เมื่อไม่นานมานี้ตลาดแห่งนี้ก็ปรับโฉมใหม่ ทันสมัย สะอาดขึ้นมาก แต่เสน่ห์บางอย่างกลับหายไป

มีแต่สิ้นค้าสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูปแม่นั่น แม่นี่ เต็มไปหมด เข้าไปเดินดูแล้วก็ไม่รู้จะดูอะไร มันแห้งแล้ง ไร้ชีวิตชีวา

บอกไม่ถูก

แต่อย่างไรก็ตามการขับรถขึ้นภาคเหนือก็ยังเป็นเส้นทางที่มีเสน่ห์  ถ้ามีคนรู้ทางพาไปคงยิ่งตื่นตาตื่นใจ  เพราะเป็นเส้นทาง

ที่สะดวก และสวยงาม 

เล่ามาพอเรียกน้ำย่อย รอคุณตั้งและผู้รู้เข้ามาแจมนะคะ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 15 ธ.ค. 13, 15:06
เล่าเสียยาวลืมบอกว่า  ตลาดริมทางที่ลำพูน ชื่อ บ้านทาดอยแก้ว ค่ะ



กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ม.ค. 19, 19:30
ขอขุดเอากระทู้นี้ขึ้นมาต่อความตามที่ได้เคยได้ตั้งใจไว้แต่แรก ครับ

เหตุผลที่ผมปล่อยให้กระทู้นี้หยุดไปดื้อๆนั้น  ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของสุขภาพของผมอันเรื่องมาจากผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเป็นระรอกๆที่ตามมาจากการรักษาโรคร้ายแรงชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นกับตัวผม  โรคนี้มีเรียกตามภาษาทางการแพทย์ว่า Nasal NK\T-cell Lymphoma ซึ่งตัวผมเองไม่รู้มากพอว่าจะเกี่ยวข้องกับ EBV (Epstein-Barr Virus) หรือไม่ 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 19, 19:59
ต้อนรับคุณตั้งคืนกลับกระทู้นี้ค่ะ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 06 ม.ค. 19, 21:55
อยากอ่านมากครับ อยากรู้เรื่องราวป่าในสมัยอดีต


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ม.ค. 19, 18:56
ที่ผมตั้งกระทู้ชื่อนี้ขึ้นมาก็มีเหตุผลเบื่องหลังอยู่นิดหน่อย  ด้วยว่าโรคที่ผมเป็นนั้นมันอันตรายมาก จะรักษาได้หายขาดหรือไม่ก็ไม่รู้ หรือจะได้แต่เพียง"เอาอยู่"ในช่วงเวลาหนึ่งซึ่งจะสั้นหรือนานมากน้อยเพียงใดก็ไม่รู้อีกเช่นกัน  ก็เลยคิดในช่วงนั้นว่าน่าจะเล่าอะไรๆที่เคยประสบมาในอดีต เผื่อว่ามันอาจจะเป็นประโยชน์ใดๆบ้างแก่ผู้คนทั่วไป   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ม.ค. 19, 19:32
ขอเริ่มต้นกับคำว่า "ป่า" ในภาษาไทยของเรา

เมื่อชาวบ้านใช้คำว่า "เข้าป่า"  ความหมายของพวกเขาดูจะจำกัดอยู่ในเรื่องของการหาอาหาร และการเข้าไปทำกิจกรรมอะไรบางอย่าง (สุขา, ตัดไม้, เข้าไปติดตามดูการเปลี่ยนแปลงต่างๆ...)  ต่างกับพวกข้าราชการที่มักจะหมายถึงการออกไปทำงานในพื้นที่ป่าเขาทุรกันดาร  ส่วนพวกคนที่มีเงินก็มักจะหมายถึงพื้นที่ๆจะเข้าไปผจญกับธรรมชาติในลักษณะ off road


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ม.ค. 19, 20:20
ชื่อเรียกชนิดหรือลักษณะของป่าแบบชาวบ้านกับทางวิชาการก็มีความต่างกัน 

ป่าของชาวบ้านจะลงลึกถึงกลุ่มต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่นั้นๆ เช่น ป่าเหียง ป่าตองตึง ป่าเมี่ยง ป่าไผ่ ป่าผาก ป่าสัก ป่าหวาย ป่าเสม็ด ป่าจาก ป่าชายเลน ป่าโกงกาง ... และก็มีชื่อที่ตามลักษณะของพื้นที่ เช่น ทุ่งมะกอก ทุ่งพรุ ทุ่งบอน เด่นสะหรี(สะหลี สลี) โป่งทราย โป่งสลี ...

ป่าในทางวิชาการโดยหลักๆก็จะแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 2 กลุ่ม คือ ป่าไม้ไม่ผลัดใบ (เช่น ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา) กับ ป่าไม้ผลัดใบ (เช่น ป่าเบญจพรรณ ป่าแดง/ป่าแพะ/ป่าเต็งรัง)  และป่าอื่นๆ (ป่าพรุ ป่าสน..)   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ม.ค. 19, 18:25
คำว่า "ป่า" ในภาษาอังกฤษที่เราได้เรียนกันมานั้น ดูจะจำกัดอยู่เฉพาะกับคำว่า forest และ jungle  ซึ่งเมื่อเรานำเอาทั้งสองคำนี้ไปใช้ในการสนทนากับพวกฝรั่งเจ้าของภาษา เขาจะนึกภาพของทั้งสองคำนี้แตกต่างไปจากที่เราหมายถึง  ภาษาอังกฤษมีคำที่มีความหมายถึงป่าอยู่หลายคำเลยทีเดียว อาทิ

forest ดูจะเน้นความหมายไปทางพื้นที่ๆมีต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ ขึ้นเองตามธรรมชาติค่อนข้างจะหนาแน่นแต่ก็โปร่งพอที่จะตัดทางลัดเลาะเข้าไปได้ แสงแดดส่องถึงพื้นดินได้พอสมควร มีสัตว์พวกหากินกลางวันเป็นพื้นฐาน

jungle เน้นไปทางพื้นที่ๆพื้นดินค่อนข้างชื้น แสงแดดส่องถึงพื้นได้ไม่มากนัก มีพืชพื้นล่างและต้นไม้ใหญ่ขึ้นหนาแน่น มีสัตว์พวกหากินกลางคืนเป็นพื้นฐาน

bush เป็นพื้นที่โล่งผืนใหญ่ที่มีต้นไม้ขนาดเล็กขึ้นอยู่เป็นหย่อมๆหรือเป็นพุ่มๆ เป็นคำที่ใช้สำหรับพื้นที่แห้งแล้งห่างจากพื้นที่ชายฝั่งของออสเตรเลีย


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ม.ค. 19, 19:02
woods คำนี้นิยมใช้กันในยุโรปและแคนาดา หมายถึงพื้นที่ๆละเว้นการถากถาง ยังคงปล่อยให้เป็นบริเวณที่ยังคงมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ ก็เพื่อประโยชน์ในการใช้สอยแลความสำราญใจ เช่น เพื่อเป็นแหล่งไม้ฟืนในหน้าหนาว เป็นแหล่งเก็บของป่าเพื่อการบริโภค (เห็ด ต้น barlauch_กระเทียมป่า)

และคำอื่นๆ  outback, up country, timber land, wilds, field, terrain ...   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ม.ค. 19, 19:37
ขออภัยที่ได้ขี่ม้าเลียบค่ายมาสองสามวันแล้ว  พรุ่งนี้ก็จะได้เริ่มเข้าเรื่องอย่างจริงจัง ครับ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ม.ค. 19, 18:31
ผมเริ่มต้นเรื่องจากประสบการณ์ที่ได้พบมาตั้งแต่เด็ก ก็เลยจะขอฉายภาพไปตามช่วงเวลาต่างๆที่ได้สัมผัส ผมเกิดที่เชียงรายและเติบโตมาในเมืองจนกระทั่ง พ.ศ.2498 จึงเข้ามาเป็นนักเรียนประจำในโรงเรียนที่กรุงเทพฯ  ก็ได้เดินทางกลับบ้านที่เชียงรายปีละครั้งในช่วงปิดเทอมใหญ่ ภาพในความทรงจำในช่วงเวลาก่อนที่จะเข้ากรุงเทพฯนั้นจึงค่อนข้างจะเลือนลาง   

ภาพที่จำได้ติดตามากที่สุดก็ดูจะเป็นเรื่องราวตามเส้นทางถนนพหลโยธินตลอดเส้นทาง อ.แม่สาย ถึง จ.ลำปาง ซึ่งเป็นภาพที่ดูจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆไปมากนัก  จนกระทั่งประมาณ พ.ศ.2510 จึงเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านกายภาพ ด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งอาจจะมีสาเหตุเนื่องมาจากการเริ่มเกิดกระบวนแย่งประชาชนออกไปตามแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองและการปกครอง 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ม.ค. 19, 19:12
ถนนพหลโยธินในช่วงเวลาที่กล่าวถึงนี้  ใช้วัสดุก่อสร้าง(ดิน หิน)เท่าที่จะหาได้ที่พบอยู่ใกล้ๆแนวเส้นทางถนน   ดังนั้น ถนนในแต่ละช่วงจึงมีความต่างกัน (ต่างกับในสมัยนี้ที่ล้วนแต่พยายามจะใช้วัสดุที่เหมือนๆกัน เพราะมีรถขนส่งได้สะดวก)  ถนนช่วงที่มีเขาหินปูนอยู่ใกล้ๆ ก็จะใช้หินปูนบดอัดและราดทับด้วยยางมะตอย ก็จึงดูจะไม่แปลกนักที่ถนนในตัวจังหวัดออกไปจนถึง อ.แม่สาย จะเป็นถนนที่ค่อนข้างเรียบดี (ใช้หินปูนจากทิวเขานางนอน) มีการราดยางมะตอย เช่นเดียวกันกับถนนช่วงตั้งแต่ประมาณเขตต่อ อ.พะเยา กับ อ.งาว ไปจนถึงจนเกือบจะเข้าตัวเมือง จ.ลำปาง ที่ค่อนข้างเป็นถนนดี แต่ก็วิ่งได้ช้าเพราะมีความคดเคี้ยวและมีความลาดชัน ถนนช่วงนี้ตัดผ่านเทือกเขาหินปูนที่คั่นอยู่ระหว่างแอ่งงาวกับแอ่งลำปาง มีจุดสูงสุดเป็นสันข้ามระหว่างแอ่งอยู่ที่จุดที่เรียกว่าประตูผา

ถนนช่วงที่แย่ที่สุดจะอยู่ช่วงตั้งแต่ประมาณ อ.แม่ลาว ผ่านตัว จ.พะเยา ไปจนถึงประมาณ ม.พะเยา  เป็นช่วงที่ใช้หินกรวดแม่น้ำก้อนขนาดประมานกำปั้น นำมาบดอัดเป็นผิวถนน ไม่มีการลาดยางใดๆ ก็ลองนึกภาพเอานะครับ ทั้งตะปุ่มตะป่ำ เป็นหลุมเป็นบ่อ และมีฝุ่นคละคลุ้งไปหมด   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ม.ค. 19, 19:56
เรื่องราวบนถนนในช่วงทางที่กล่าวถึงนี้  แต่ก่อนนั้นก็มีที่น่าจะกล่าวถึงอยู่หลายเรื่องเหมือนกัน อาทิ

ตัวแย้ จะไม่พบเหนือจากแอ่งลำปางขึ้นไป    อ.แม่ใจ เป็นบริเวณสุดท้ายที่สามารถจะปลูกมะพร้าวได้  ชาวนาในเขต อ.งาว จะใช้งอบทรงคล้ายเวียดนาม  การเป่าปี่แนใหญ่นำขบวนแห่ศพเข้าสุสาน ...


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ม.ค. 19, 19:11
เรื่องการเป่าปี่แนใหญ่(แนหลวง)นี้ ยังเป็นภาพที่อยู่ในความทรงจำของผมตลอดมา  มีคนเป่า 1 คนเดินนำหน้า มีญาติเดินตามประมาณ 20 คน ตามด้วยเกวียนบรรทุกโรงศพที่ประดับด้วยโครงไม้ทรงบ้านวางทับอยู่ ค่อยๆเดินไปช้าๆ ความเร็วเท่าๆกับความเร็วของวัวที่เดินเทียมเกวียน เพลงที่ใช้ในการเป่าปี่นั้น ผมมาค้นเอาในภายหลัง(ตามที่พอจำท่วงทำนองได้นิดๆหน่อยๆ)คิดว่าน่าจะเป็นเพลงปราสาทไหว  เพลงเพราะนะครับ ฟังเย็นๆในช่วงเวลาบ่ายๆ อากาศเย็นๆ มีวิวเป็นทุ่งนากว้าง   เมื่อนั่งรถผ่านขบวนนำศพเข้าสุสานนี้ ผมก็จะถอดหมวกเอามาแนบหน้าอกเพื่อแสดงความเคารพให้เกียรติต่อผู้ตาย ตามแบบที่พ่อผมทำซึ่งผมก็ยังทำตลอดมาจนทุกวันนี้

ปี่แนนี้ ผมชอบมากจนต้องหามาเป็นของสะสม แล้วก็ได้มาจริงๆ ก็จากใน อ.งาว นั้นเอง ได้มา 3 ขนาด คือ ปี่แนหลวง ปี่แนขนาดกลาง และปี่แนน้อย


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ม.ค. 19, 19:35
อีกเรื่องหนึ่งที่ยังคงติดตาอยู่ คือ รถบดถนนที่ใช้จักรไอน้ำ มีถังใส่ไม้ฟืนท่อนสั้นๆอยู่ด้านหลังคนขับ  ในสมัยนั้นหน่วยงานทำถนนและซ่อมทางของกรมทางหลวงยังไม่มีรถเล็กใช้งาน พนักงานก็จึงต้องนอนอยู่กับเครื่องจักรกล คอยเฝ้าใส่ฟืนเพื่อให้น้ำในหม้อต้มของรถบดอุ่นอยู่ตลอด เมื่อจะทำงานตอนเช้าก็จะได้ไม่เสียเวลาในการต้มน้ำให้เกิดไอน้ำสำหรับขับเคลื่อนเครื่องจักรกล  คนเหล่านี้จะทำเพิงผ้าใบนอนอยู่ด้วยกันสองสามคน อาหารก็หากินกันเอาตามมีตามเกิด มีปืนแก็บคู่ใจไว้ป้องกันตัวและใช้หาอาหารพวกสัตว์เล็ก


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ม.ค. 19, 20:21
อันที่จริงแล้ว เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานสร้างทางที่ขับจักรกลหนัก(โดยเฉพาะที่เป็นรถไถตีนตะขาบนั้น)  ก็ยังใช้ชีวิตในลักษณะที่ได้เล่ามา เพิงที่พักนอนของพวกเขาเหล่านั้น ส่วนมากจะผันแปรต่อไปเป็นจุดชมวิวบ้าง เป็นจุดแวะพักผ่อนข้างทางบ้าง ดังที่เราได้เห็นอยู่ทั่วๆไป (ในต่างประเทศก็เกิดขึ้นมาคล้ายๆกันกับของเรา) จุดเหล่านี้โดยพื้นๆแล้วจะอยู่ใกล้กับที่ๆมีน้ำซึมน้ำซับ ซึ่งน้ำที่ไหลซึมออกมานั้น ในบางพื้นที่ก็เรียกว่าน้ำดิบ  ก็คงจะเคยได้ยินชื่อหมู่บ้านหรือสถานที่ๆเรียกกันว่า บ้านน้ำดิบ กันบ้างนะครับ   

ชื่อน้ำดิบนี้ อย่างย้อยก็พอจะบอกว่ามีน้ำใต้ผิวดิน (water table) ในระดับที่ไม่ลึกนัก ดินน่าจะชุ่มชื้นพอได้ ป่าก็มักจะมีต้นไม้ขนาดเล็กและขนาดกลาง ใบมีสีค่อนข้างเข้ม ขึ้นอยู่ค่อนข้างจะหนาแน่นกว่าปกติ  ก็คงพอจะเดาออกนะครับว่าน่าจะมีสัตว์พวกใหนอยู่กันมากกว่าปกติ     


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ม.ค. 19, 17:56
ผมเข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯเมื่อ พ.ศ.2498 และเริ่มอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯค่อนข้างจะถาวรเมื่อ พ.ศ.2508 ดังนั้นภาพที่จะเล่าสู่กันฟังต่อไปก็จะขอจำกัดอยู่ในช่วงเวลาประมาณนี้ และในพื้นที่ในอิทธิพลของเส้นทางคมนาคมของถนนหนลโยธิน

พาหนะที่พบมากบนถนนพหลโยธินช่วงลำปาง-เชียงราย ก็คือรถบรรทุกขนาด 6 ล้อที่ต่อแบบคอกหมู ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการโดยสารหรือการบรรทุก   สิ่งของที่บรรทุกสำหรับขาล่องส่วนมากก็จะเป็นข้าวสาร ส่วนสินค้าขาขึ้นก็จะเป็นพวกของอุปโภค/บริโภค อาทิ น้ำมันก๊าดบรรจุอยู่ในปี๊บ อาหารและเครื่องปรุงบางอย่างที่ใช้ปี๊บในการบรรจุ (น้ำตาลปื็บ ขนมปังปี๊บ...) ของทะเลตากแห้งทั้งหลาย ....   ซึ่งรถบรรทุกเหล่านี้ก็มักจะมีผู้โดยสารนั่งทับอยู่บนสิ่งของที่บรรทุกมาด้วย  ทั้งนี้ แม้รถจะมีความเร็วช้าแต่น้ำหนักของที่บรรทุกอยู่บนรถจะช่วยลดการกระแทกทำให้รู้สึกนั่งได้นิ่มนวลมากขึ้นอย่างมากๆเลยทีเดียว ที่พอจะรู้อยู่บ้างก็คือนั่งฟรี เป็นการเอื้อเฟื้อช่วยกันตามสมควรแก่เหตุ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ม.ค. 19, 18:08
รถคอกหมูนี้ ผมไม่มีความรู้ว่าใครเป็นผู้ออกแบบและต่อมาตั้งแต่เมื่อใด  เป็นลักษณะรถที่พบเห็นได้ในทุกภาคของประเทศไทย แม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ก็ยังพอจะเห็นได้ประปรายอยู่ เช่น ในพื้นที่ของ จ.อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน  ในภาคใต้ก็อาจะเห็นจอดเป็นของเก่าเก็บอยู่ เช่น ในภูเก็ต ชุมพร หลังสวน ระนอง   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ม.ค. 19, 18:25
สำหรับรถบรรทุก 6 ล้อ ที่ใช้การบรรทุกของในกระบะจริงๆนั้น จะเป็นรถของ รสพ. ซึ่งเป็นระบบ logistic ที่รัฐสนับสนุนการดำเนินการ  รสพ.ได้ช่วยทำให้พื้นที่ในชนบทของไทยได้มีวัสดุ/คุรุภัณฑ์หนักสำหรับใช้การพัฒนาท้องถิ่น จนกระทั่งได้มีรถ 10 ล้อเข้ามา ทำให้ภาคเอกชนได้เริ่มมีความแข็งแรงในการให้การบริการ

บรรดาพนักงานขับรถของ รสพ.จะใส่หมวก baret สีแดง ขับรถหนักส่งของระหว่างเมืองต่างๆ 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ม.ค. 19, 18:46
(สะกด beret ผิดไปเป็น baret ครับ ขออภัย)

ถนนสมัยก่อนนั้นมิได้มีการลาดยางหมดทั้งเส้นดังเช่นในปัจจุบัน จึงเป็นถนนที่มีฝุ่นเยอะมาก   

เมื่อครั้งผมยังเป็นเด็กอยู่นั้น ก็จะเห็นเด็กนักเรียนชาวบ้านใส่หมวกกะโล่สีขาวเดินอยู่ข้างถนน ไปโรงเรียนหรือกลับบ้าน ก็ไม่ได้คิดอะไรหรือเห็นภาพอะไร จนกระทั่งจบมาทำงานเข้าป่าดงซึ่งต้องเดินทางผ่านหมู่บ้านต่างๆในชนบท ทำให้ได้พบเห็นภาพที่ทำให้ต้องคิดและต้องทำเช่นเดียวกับการให้ความเคารพต่อขบวนเคลื่อนศพดังที่ได้เล่ามา

ภาพที่พบบ่อยๆ คือภาพของเด็กนักเรียนสามสี่คน เดินเรียงกันอยู่ข้างถนนลูกรัง บางครั้งก็มีคุณครูผู้หญิงแต่งชุดสีกากี (ชุดลูกเสือ) เดินตามปิดท้ายแถวเด็กๆ   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ม.ค. 19, 19:22
เมื่อผมเริ่มทำงานนั้น เป็นช่วงของการพัฒนาประเทศที่เริ่มมีความเข้มข้น  เราใช้รถแลนด์โรเวอร์ในการเดินทางเข้าไปทำงาน ซึ่งการเดินทางไปตามบนถนนลูกรังเพื่อจะเข้าพื้นที่ป่าเขานั้น เราจะต้องใช้ความเร็วพอประมาณในระดับหนึ่งเพื่อมิให้สัมภาระและคนต้องถูกกระแทกมากนัก แต่ความเร็วเช่นนี้มันทำให้เกิดฝุ่นตามมาค่อนข้างมาก ขนาดนั่งอยู่ในรถยังหัวแดงเลย  เด็กและครูต่างก็ถูก(สั่ง)สอนให้มีวินัย เมื่อรถเราวิ่งผ่าน ทั้งครูและนักเรียนก็จะต้องหยุดยืนนิ่ง หันหน้ามองก้มหัวทำความเคารพ    ผมมองด้วยความรู้สึกที่ไม่ดีเอามากๆเลย รถเราสร้างฝุ่นตลบอบอวลไปหมด ครูและนักเรียนก็ไม่ได้ใส่หมวกอะไรเลย  เสื้อผ้าของเด็กที่ใส่อยู่ออกเป็นสีของฝุ่นและดูกะรุ่งกะริ่ง เดินเท้าเปล่า

ตั้งแต่นั้นมา ทุกครั้งที่เห็นแถวเด็ก รถของผมจะต้องลดความเร็วลงให้มากในทันที ผมจะถอดหมวกเอามาแนบอก แสดงการรับการทำความเคารพของเด็กๆและคุณครูเหล่านั้น  เรียนมาก็พอรู้อยู่ว่าการหายใจเอาผงฝุ่นเข้าไปมากๆมันอาจจะทำให้เกิดโรค Silicosis

ในสมัยก่อนนั้น ที่ชาวบ้านบ่นกันว่า อยู่ๆก็ไม่มีแรง ทำอะไรนิดๆหน่อยๆก็เหนื่อย ผมเห็นว่าสำหรับบางคนอาจจะเกิดมาจากโรค Silicosis ก็ได้


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ม.ค. 19, 18:37
วันนี้เป็นวันเด็กแห่งชาติ วันเด็กนี้จะกำเนิดมาแต่เมื่อใดก็ไม่รู้ ผมมารู้จักวันเด็กก็เมื่อเริ่มเข้าวัยเด็กโตแล้ว คือเมื่อเริ่มมีกางเกงขายาวใส่ได้บ้าง เริ่มรู้สึกว่าเป็นวันของเราจริงๆก็เมื่อเริ่มได้รับอนุญาตให้ออกไปกับเพื่อนได้เป็นครั้งคราว ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่รถรางกำลังจะเลิกให้บริการ รถเมล์ขาว เมล์เขียว และรถสีน้ำตาลกำลังเข้ามาเป็นที่นิยมมากขึ้น   

วันเด็กในวัยนั้นได้มีโอกาสเรียนรู้และเปิดหูเปิดตาสู่โลกกว้างอย่างแท้จริง ได้เห็นความต่างในเรื่องต่างๆ ได้เรียนรู้เรื่องของความรู้สึกผิดชอบชั่วดี   เรื่องที่ประทับใจมากๆดูจะเป็นการนั่งรถไฟไปอยุธยา ได้เดินดูทุกอย่าง ได้รู้ว่าพระกรุเป็นอย่างไรและเขาขุดหากันมาได้อย่างไร ที่ใหน ฯลฯ   มีโอกาสได้ชมพระบรมมหาราชวัง ได้เดินดูภาพที่เขียนอยูรอบวัดพระแก้ว ได้รู้จักชื่อขรัวอินโข่ง ....


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ม.ค. 19, 19:13
ไม่รู้ว่าเด็กในชนบทจะมีโอกาสได้สัมผัสกับวันเด็กที่เป็นรูปธรรมได้มากน้อยเพียงใด  แต่ก็ดูน่าจะมีวันเด็กได้เกือบจะทุกวัน

ในหมู่บ้านที่มีจำนวนครัวเรือนมากหน่อยก็จะมีเด็กมาก เด็กๆจะรวมกลุ่มเล่นกันอย่างสนุกสนาน การเล่นที่นิยมกันก็จะมี การตีล้อ ไม้หึ่ง ตี่จับ ม้าก้านกล้วย การละเล่นดังกล่าวนี้ผมเห็นมีอยู่ตลอดมาจนกระทั่งแถวประมาณ พ.ศ.2515 จึงได้หายไปเกือบหมด ที่ดูจะอยู่ยงคงกระพันที่สุดก็เห็นจะเป็น ตีล้อ กับ ม้าก้านกล้วย   สำหรับเด็กในภาคอื่นๆก็มีการละเล่นอื่นๆที่ต่างออกไป ซึ่งจะเป็นการเล่นที่ค่อนข้างจะนุ่มนวล เช่น มอญซ่อนผ้า งุกินหาง ฯลฯ

ในหมู่บ้านที่มีจำนวนครัวเรือนน้อยมาก หรือมีเด็กเป็นจำนวนน้อย  กิจกรรมที่สนุกสนานก็มักจะไปเกี่ยวกับเรื่องของการหาอาหาร ซึ่งผมเป็นเด็กในแนวนี้     


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ม.ค. 19, 18:09
อุปกรณ์ประจำตัวเพื่อสร้างความสุขก็คือ หนังสติ๊ก (ก๋ง ในภาษาเหนือ)  ลูก(กระสุน)สำหรับใช้ยิงหนังสติ๊กก็เก็บเอาตามข้างถนน เพราะถนนในชนบทสมัยก่อนนั้นใช้กรวดแม่น้ำบดอัดเอา  ก็ยิงอะไรๆไปตามที่นึกอยาก เช่น แข่งความแม่นกัน ยิงนก กิ้งก่า ยิงกระป๋องใส่กาแฟที่ทิ้งแล้ว แม้กระทั่งยิงอากาศ(เพื่อทดลองและปรับอุปกรณ์) ฯลฯ    สำหรับเด็กที่อยู่ในพื้นที่ไกลเมืองจริงๆ โดยเฉพาะที่ต้องเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ก็มักจะใช้เวลาว่างปั้นดินเป็นก้อนกลมๆ ตามลมหรือแดดให้แห้ง ทำเป็นลูกกระสุนตุนอยู่ในย่ามที่สะพายติดตัวไปมา ก็จะได้ลูกกระสุนตามขนาดที่เหมาะสมกับหนังสติ๊กและความพอใจของตน     

หนังสติ๊กนี้มันก็มีอะไรๆที่สามารถเอามาคุยหรือถกกันได้ไม่น้อยเหมือนกัน ตั้งแต่เรื่องของง่าม ยางที่ผูกรัด วิธีผูกยาง หนังรอง ลูกกระสุน ฯลฯ 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ม.ค. 19, 18:56
สำหรับง่ามหนังสติ๊กนั้น สำหรับเด็กในชนบทก็จะคุยกันในเรื่องของสัดส่วน ก็จะมีในเรื่องของขนาดของด้ามจับ ความกว้างและความสวยของง่าม (ลักษณะตัว Y) ความสั้นยาวของง่าม และฝีมือการเหลาง่ามให้สวย   

มีข้อสำคัญอยู่อย่างหนึ่งที่เป็นความต้องการเหมือนๆกัน ก็คือง่ามหนังสติ๊กที่ทำด้วยไม้ต้นมะขาม  ไม้มะขามนี้หายากนะครับ แม้ในสมัยนี้จะมีการปลูกมะขามเป็นสวนๆกันอยู่ในหลายพื้นที่หลายจังหวัดก็ตาม  ในสมัยก่อนนั้นยิ่งหาต้นมะขามได้ยากขึ้นไปอีก การจะปีนขึ้นไปตัดกิ่งตัดง่ามก็มิใช่เรื่องง่าย กว่าจะได้มาครั้งหนึ่งๆก็จะเป็นจากการโค่นต้นมะขามทั้งต้น(จะเพื่อเหตุใดก็ตาม)  ต้นมะขามที่ถูกโค่นจะถูกตัดขวางต้นให้เป็นแว่นๆเพื่อเอามาทำเขียงใช้ในครัว  (เขียงที่ใช้สับเป็ดสับไก่ตามร้านอาหารดังๆทั้งหลายในปัจจุบันนี้ก็ยังนิยม(ต้อง)ใช้เขียงที่ทำจากไม้มะขาม) กิ่งก้านสาขาที่เหมาะกับการเอามาทำง่ามหนังสติ๊กก็จึงได้มาจากการโค่นต้นมะขามเป็นหลัก

ไม้มะขามนี้มีคุณสมบัติในเรื่องของความเหนียว มีเนื้อแน่นแต่ไม่แข็งกระด้าง ก็ด้วยเหตุนี้กระมังจึงเป็นที่นิยมเอามาทำเขียงกัน   ก่อนที่จะใช้ก็จะต้องนำไปแช่น้ำเกลือให้ฉ่ำเสียก่อน เขียงจึงจะไม่แตก  ชาวบ้านในท้องถิ่นห่างไกลก็นิยมใช้เขียงไม้มะขามเหมือนกัน แต่เรามักจะเห็นเขียงของเขาเป็นลักษณะของส่วนของแว่นไม้ทรงกลม ก็ดูจะมาจากสาเหตุว่าเขียงแตกเพราะไม่ได้แช่น้ำเกลือ (เกลือมีข้อจำกัดในการนำไปใช้ในเรื่องอื่นๆที่มิใช่ในการทำอาหาร)


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 19, 19:24
เขียงไม้มะขาม


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 14 ม.ค. 19, 09:45
ผมเคยดูยูทูป มีรายการหนึ่งเขาทดลองเอาเขียงไม้มะขามมาเป็นเป้า แล้วยิงด้วยปืนขนาดต่างๆ พบว่า แม้จะเป็นปืนขนาด .45 ก็ยังเจาะเขียงไม้มะขามไม่ทะลุ
แสดงว่า เหนียวแน่นและทนทานจริงๆครับ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ม.ค. 19, 18:33
ไม้มะขามมีเนื้อแน่นเช่นนั้นจริงๆ สามารถทนทานการใช้ได้นานมาก   คงจะเคยเห็นเขียงไม้มะขามในร้านขายพวกเป็ดย่าง หมูแดง หมูกรอบ และข้าวมันไก่ เขานิยมใช้ขนาดกว้างประมาณศอกหนึ่ง หนาประมระมาณ 15-20 ซม. พวกนี้จะใช้กันมานานหลายสิบปีแล้ว แม้จะมีการขูดทำความสะอาดผิวบ่อยครั้งมากจนผิวหน้าเขียงเป็นหลุม ก็ยังคงมีความทนทานในการใช้งานต่อไปได้อีกนาน

ผมก็ชอบเขียงไม้มะขาม เมื่อเห็นมีวางขายก็จะต้องหาทางแวะดู แต่ด้วยที่เรื่องมากหน่อยก็ทำให้เลือกที่ถูกใจได้ยาก บางครั้งซื้อมาใช้แล้วก็ไม่ถูกใจแบบถึงจุดพอใจที่สุด
       
ครับ..ทั้งขนาดความกว้าง ความหนา ความหนัก ตำแหน่งของแก่นไม้ของเขียง ทั้งหมดนี้มีความสัมพันธ์กับลักษณะของการใช้ในการทำครัวของแต่ละคน ก็ตั้งแต่ลักษณะและชนิดของมีดที่ชอบใช้ ลักษณะของการใช้เขียง (หั่น สับ บะช่อ) ความเสถียร(การขยับเขยื้อน)เมื่อใช้งาน ความหนักเบาในการเคลื่อนย้าย....

คนทำครัวที่ชอบใช้มีดมีน้ำหนัก(มีดแบบจีน) ก็จะนิยมใช้เขียงแบบไม้มะขาม  คนที่ชอบใช้มีดเล็ก(มีดแบบตะวันตก)หรือทำอาหารพวกหั่นซอยก็จะใช้เขียงที่เป็นลักษณะแผ่นไม้   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ม.ค. 19, 18:50
มีดแบบจีนนั้นหาซื้อได้ทั้งแบบที่ทำโดยคนไทยหรือชุมชนแหล่งตีมีดต่างๆของไทยเรา เช่น ของอยุธยา นครราชสีมา เพชรบูรณ์ ลำปาง แพร่ เป็นต้น     หรือจะหาซื้อแบบที่ทำมาจากจีนหรือฮ่องกงก็ได้ มีไม่มากรูปแบบนัก เท่าที่รู้ก็มีในร้านย่านถนนแปลงนาม (เยาวราช-เจริญกรุง) ราคาอยู่ในหลักต้นๆของหน่วยพันบาท  หากชอบก็พอคุ้มอยู่นะครับ ใช้ได้เหมาะมือตามใจอยากเลยทีเดียว


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ม.ค. 19, 19:33
เลยเถิดไปถึงเรื่องมีดทำครัว   ขอวกกลับไปเรื่องหนังสติ๊กอีกเล็กน้อย

ยางที่ใช้กับหนังสติ็กสมัยก่อนก็มีความต่างกับที่มีขายอยู่ในสมัยนี้  ยางสมัยก่อนนั้นจะมีลักษณะออกไปทางเป็นเส้นแบน กว้างประมาณเกือบๆ 1 เซ็นติเมตร หนาประมาณ 2-3 มิลิเมตร และมีความยาวและยืดหยุ่นมากกว่าในปัจจุบัน  ยางของสมัยปัจจุบันนี้จะออกลักษณะไปทางเส้นอ้วนใกล้จะกลม มีความยืดหยุ่นไม่มาก   ขยายความเรื่องยางนี้ก็เพียงจะบอกว่า ในสมัยนั้น เราสามารถปรับแต่งความยืดหยุ่นได้อย่างตามใจเราด้วยการผูกให้มันยาวหรือสั้น ต่างกับของในปัจจุบันนี้ที่ยางจะสั้นจนไม่สามารถปรับจะแต่งได้เลย  ก็มีส่วนประกอบของหนังสติ๊กอีกอย่างหนึ่งที่น่าจะต้องรู้จักกัน ที่เรียกว่าหนังรอง ในภาษาเหนือนั้นเรียกส่วนประกอบนี้ว่า ...ก๋ง (คำหยาบของอวัยวะเพศหญิง)

เพียงหนังสติ๊กอย่างเดียว เด็กและผู้ใหญ่ในชนชทห่างไกลก็เป็นเรื่องที่เอามาคุยมาถกกันได้ ก็เป็นความสุขและความสุนทรีย์อีกอย่างหนึ่งในชีวิตของผู้คนสมัยโน้น  จะจัดให้เป็นลักษณะของการเรียนรู้ธรรมชาติในเรื่องของ behavior ของ elasticity, rebound, trajectory .. ก็น่าจะพอได้อยู่เหมือนกัน   

ง่ามหนังสติ๊กนี้เป็นของที่ผมสนใจสะสมเหมือนกัน แต่ต้องเป็นแบบชาวบ้าน มิใช่ของที่ผลิตขายแบบอุตสาหกรรม


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ม.ค. 19, 19:04
การละเล่นของเด็กบ้านป่าจริงๆนั้น เท่าที่ประสบมาไม่ว่าจะเป็นที่ใดๆดูจะมีอยู่สองสามอย่างเหมือนๆกัน คือ ตีล้อ (ตีแป้นไม้กลม) ลากกล่องหรือท่อนไม้(เสมือนรถยนต์) และปั้นดิน  สำหรับกิจกรรมอื่นๆเพื่อความสนุกก็คือไปหาแมลงหรือสัตว์ตัวเล็กเอามาทำกินเล่นกัน ซึ่งก็แล้วแต่ว่าพื้นที่ใหนจะมีแมลงอะไรและในฤดูอะไร   

หากเป็นในภาคเหนือ ก็นิยมจะไปขุดหาจิ้งกุ่ง   ส่วนที่สนุกกันก็คือการจดจ้องและความพยายามในการเอาตัวมันออกมา เช่น ขุดจนเป็นแอ่งแล้วไปตักน้ำมาเทใส่ให้ท่วมรูของมันจนมันต้องออกมา หรือเพื่อให้ดินนิ่มจะได้ขุดได้ง่ายขึ้น  ก็ตามประสาเด็ก กว่าจะขุดได้ตัวหนึ่งก็ใช้เวลานานเลยทีเดียว ขนาดตัวของจิ้งกุ่งก็จะประมาณนิ้วก้อยของเรา  ที่ว่าสนุกเพลิดเพลินกันจริงๆก็คือการได้พูด ได้ถกกัน ได้หาทางเอาตัวมัน ได้แหย่กัน   เมื่อได้ตัวมาแล้วก็เอามาหมกใต้เตาหรือในกองไฟ คะเนว่าสุกแล้วก็เอาออกมาเด็ดหัวทิ้งไป แบ่งกันกิน ตัวหนึ่งกับเด็กสองสามคน ก็พอจะได้แต่เพียงลิ้มรสเท่านั้นเอง       


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ม.ค. 19, 19:24
จิ้งกุ่งนี้ เป็นของอร่อยและมีขายในตลาดเช้าทั่วๆไปในพื้นที่ภาคเหนือ  ในเชียงใหม่ในช่วงปี 2510+ ก็ยังเห็นมีทำขายกันในตลาดใหญ่กลางเมือง เอามาเสียบไม้สี่ห้าตัวแล้วชุบไข่หรือชุบแป้งทอด กินกับข้าวเหนียวห่อนึง (50 สตางค์) กับน้ำพริกตาแดง (หยิบนึง 25สตางค์) ผักต้ม (หยิบหนึ่ง 25 สตางค์) มื้อนั้นรวมกัน 2 บาท ก็อิ่มแล้ว   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ม.ค. 19, 20:12
เมื่อย่างเข้าต้นฝนก็จะมีแมงมัน   เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยจะมีแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นเพราะโดนยาฆ่าแมลงตายกันไปหมด ขายกันแพงมาก ปริมาณถ้วยตะไลหนึ่งราคาไม่น้อยกว่า 20 บาท หากคิดเป็นกิโลกรัมราคาก็น่าจะถึงประมาณ 2,000 ++ บาทเลยทีเดียว  แมงมันนี้ชอบแสงไฟที่สว่างๆ และจะมาตอมไฟพร้อมๆกับแมลงเม่า

เมื่อเห็นแมลงเม่ามาตอมไฟ ก็ได้เวลาจะเอากะละมังใส่น้ำไปวางไว้ใต้หลอดไฟเพื่อดักเอาแมลงเม่าไปทิ้ง เราก็จะได้แมงมันด้วย เก็บรวมกับที่มันเดินอยู่ตามพื้นก็พอจะได้จำนวนไม่น้อย     ในชนบทห่างไกล ชาวบ้านที่ใช้ตะเกียงเจ้าพายุก็มีโอกาสจะได้แมงมันเป็นจำนวนมาก ส่วนชาวบ้านที่ใช้ตะเกียงรั้วหรือตะเกียงกระป๋องก็เกือบจะไม่มีโอกาสจับแมงมันได้เลย 

ผมชอบแมงมันคั่วแห้งๆกับน้ำมันนิ๊ดเดียวในกระทะร้อนๆแล้วโรยเกลือ    ในปัจจุบันนี้ ด้วยที่มันมีราคาแพงมาก ชาวบ้านจึงนิยมเอาไปตำน้ำพริกกัน แทนที่จะเอามาคั่วแบบแต่ก่อน

แมงมันเป็นแมลง เป็นมดชนิดหนึ่ง เป็นตัวนางพญาของมดพันธุ์นั้น เป็นตัวแม่พันธุ์รุ่นใหม่ที่บินออกไปเพื่อจะสร้างอาณาจักรใหม่  แหล่งที่อยู่ของมันมักจะมีลักษณะเป็นเนินดินคล้ายรังปลวก ชาวบ้านที่มีความชำนาญจะพยายามหารังของแมงมัน แล้วขุดเอาไข่และตัวอ่อนของมันออกมาทำกิน       


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ม.ค. 19, 20:14
จิ้งกุ่งคือตัวนี้ใช่ไหมคะ
ทำใจลำบากถ้าจะต้องกินค่ะ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ม.ค. 19, 20:18
แมงมัน ก็ทำใจลำบากเหมือนกัน ได้ข่าวว่ากิโลละ 1000 บาท  คงประหยัดเงินได้คราวนี้ละค่ะ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ม.ค. 19, 20:38
ตัวจิ้งกุ่ง ก็เป็นดังภาพนั้นครับ ในมุมหนึ่งมันก็คือจิ้งหรีดอย่างหนึ่งที่อยู่ในรู ตัวใหญ่กว่าจิ้งหรีดที่เราเห็นเขาเอามาทอดขายกัน ตัวจิ้งกุ่งนั้นเราเกือบจะไม่เห็นเลยว่ามันมีปีก

สำหรับแมงมันนั้นหากเด็ดปีก เด็ดส่วนหัวและตัวทิ้งไป เหลือแต่ส่วนท้องลักษณะคล้ายเมล็ดถั่วเขียวสีดำแดงเข้ม หากไม่บอกว่าเป็นอะไรก็น่าจะกินได้นะครับ จะไปสงสัยว่าเป็นอะไรหว่าก็คงจะเป็นตอนที่รู้สึกมีกากคล้ายเกล็ดปลาเล็กๆอยู่ในปาก

ผมเองไม่ได้รู้สึกว่าเป็นของโปรดหรือของมักอีกเลยนานมาแล้วครับ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ม.ค. 19, 19:31
ในประสบการณ์ของผม คนบ้านป่าไม่นิยมกินพวกแมลง ต่างกับคนในชนบทที่มีอาชีพทำนา ทำไร่ หรือทำสวน ซึ่งนิยมกินแมลงชนิดต่างๆ    ก็มีเหตุผลที่เข้าใจได้ว่าเป็นเพราะมีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงของพื้นที่ ทั้งทางด้านกายภาพ ด้านชีวภาพ ระบบนิเวศน์ วัฎจักรการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ สังคมและวิถีของการดำรงชีพ   

คนบ้านป่าในความหมายของผม คือผู้คนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ราบลอนคลื่น (undulating terrain) และในพื้นที่ป่าเขา (ridge and valley terrain)   ส่วนคนในชนบทในความหมายของผม คือผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ๆเป็นตะพักลำน้ำ (river terrace terrain) และที่ราบน้ำท่วมถึง (flood plain area) 

ด้วยสภาพและลักษณะทางธรรมชาติ คนบ้านป่าโดยทั่วไปนิยมที่จะหากินสัตว์บกพวกเลี้ยงลูกด้วยนมและนก สัตว์น้ำก็จะเป็นพวกปลาและพวกกบเขียด    สำหรับคนในชนบททั่วไปอยู่ในระบบนิเวศน์ที่หลากหลายมากกว่า จึงมีโอกาสที่จะหาของกินได้หลากหลายมากตามไปด้วย แมลงจึงเป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งในเมนูอาหารของผู้คนในชนบท 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ม.ค. 19, 20:13
ช่วงเวลาปลายฤดูหนาวต่อไปจนถึงช่วงต้นฤดูฝน จะเป็นช่วงของเวลาการเร่งการเจริญวัยให้เต็มที่ของแมลงส่วนใหญ่ เพื่อพร้อมจะออกหาคู่ขยายพันธุ์ต่อไป  ต้นไม้ก็เริ่มแตกใบอ่อน เป็นอาหารชั้นดีให้กับแมลงเหล่านั้น 

ก็มีแมลงอยู่อีกสองชนิด(นอกเหนือจากแมงมัน)ที่ดูจะเป็นที่รอคอยของชาวบ้าน โดยเฉพาะคนในภาคเหนือและอีสาน คือ แมงนูน กับแมงขี้เบ้า


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ม.ค. 19, 19:17
แมงนูน มีชื่อเรียกอื่นๆเช่น แมงอีนูน แมงกินูน แมงจินูน  เป็นแมลงที่นิยมเอามากินกันของผู้คนในภาคเหนือและอีสาน  การไปจับแมงนูนนี้เป็นกิจกรรมของความสุขเมื่อยามค่ำของชาวบ้านและเด็กๆ  เมื่อฟ้ามืดดีแล้ว ก็จะใช้ไฟฉายเดินท่อมๆไปส่องดูตามใบของต้นไม้ พวกนี้จะอยู่กันเป็นกลุ่ม เมื่อพบว่ามีตัวเคลื่อนไหวก็จะเอาผ้าขาวม้ามารองใต้ต้น แล้วเขย่ากิ่งให้มันร่วงตกลงมา  ผมสัมผัสกับเรื่องของแมงนูนนี้น้อยมาก ก็คงจะขยายความได้เพียงเท่านี้ 

เช่นเดียวกันกับขี้เบ้าที่ผมก็สัมผัสกับเรื่องราวของมันน้อยมาก เคยไปขุดกับเขาเมื่อเด็กๆครั้งหนึ่งและก็ไม่เคยได้ลองลิ้มรสของมันด้วย ขี้เบ้ามีลักษณะเป็นก้อนกลมๆขนาดใกล้เคียงกับลูกเทนนิส จะพบลึกอยู่ใต้ผิวดินประมาณหนึ่งไม้บรรทัด ต้องขุดดินลึกลงไปบริเวณใต้กองขี้ควายเก่า จะพบขี้เบ้าอยู่ในโพรงดินสี่ห้าลูก เมื่อเอามาลูกกลมๆนั้นมากระเทาะเปลือกก็จะพบตัวหนอน(ด้วง)อ้วนๆ เอาออกมาทำอาหาร ส่วนตัวแม่ของมันนั้นเป็นแมลงปีกแข็งทางซึ่งอีสานเรียกว่าแมงกุ๊ดจี่ ภาษากลางเรียกว่าด้วงขี้ควาย   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ม.ค. 19, 19:34
ในพื้นที่บริเวณที่เป็นชายป่า จะมีสัตว์ประเภท แมง (มี 8 ขา) อยู่ชนิดนึ่งที่ก็เอามาทำกินกัน แต่ดูจะไม่เป็นที่นิยมกันนัก ก็จะใช้วิธีล่อให้มันออกมาหรือขุดเอามา ซึ่งอาจจะเป็นเพราะหายากหรือกลัวก็ได้ เรียกกันว่า ตัวบึ้ง

บึ้งก็คือแมงมุมชนิดหนึ่งตัวขนาดใหญ่ (พวก Tarantura ?) อยู่ในรู ที่ปากของรูจะพบมีไยแมงมุมถักอยู่   

ผมไม่เคยได้ลองกินอีกเช่นกัน   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ม.ค. 19, 20:10
ตัวบึ้ง  ต้องถามคุณเพ็ญชมพูว่าเป็นอย่างเดียวกับ tarantula  หรือเปล่านะคะ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ม.ค. 19, 20:29
ตัวบึ้ง  ต้องถามคุณเพ็ญชมพูว่าเป็นอย่างเดียวกับ tarantula  หรือเปล่านะคะ

คุณวิกกี้บอกว่า "บึ้ง" คือแมงมุมทารันทูล่าชนิดหนึ่ง

https://th.wikipedia.org/wiki/แมงมุมทารันทูล่า (https://th.wikipedia.org/wiki/แมงมุมทารันทูล่า)


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ม.ค. 19, 19:08
ขอบคุณครับ  เห็นแต่ภาพและเรื่องราวของคนที่ชอบเลี้ยงแมงมุมตัวใหญ่นี้ นึกว่าจะมีนิสัยไม่ดุร้ายนัก ที่แท้ก็ดูจะดุร้ายเอาการอยู่ทีเดียว

เมื่อเดินทำงานอยู่ในป่าดง เรามักจะพบเห็นรูของบึ้งอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้ตลิ่งห้วย หรือบริเวณที่มีความชุ่มชื้นของดินจากการที่ใบไม้ร่วงลงมาทับถมกัน  ในพื้นที่ของป่า(ไผ่)ไม้ไร่ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มักพบรูของพวกมัน         


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 19, 21:45
รูบึ้ง


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ม.ค. 19, 10:55
อาหารเลิศรสจากเขมร "บึ้งทอดกระเทียมพริกไทย"  ;D

อันนี้เป็นเมนูจากเพื่อนบ้านไม่ไกล กัมพูชา นี่เอง ... แมงมุมยักษ์ทอดกระเทียมพริกไทยค่ะ ... เบ้อเริ่มเลย


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ม.ค. 19, 17:14
ดูน่ากลัวมากกว่าน่ากินนะครับ   ผมขอบาย


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ม.ค. 19, 18:18
สัตว์ในกลุ่มที่เรียกว่าแมงและสามารถเอามาทำอาหารได้นั้น ดูจะมีอยู่ 3 ชนิด คือ แมงมุมที่ได้กล่าวถึงแล้ว แมงป่อง และแมงดา

สำหรับแมงป่อง ผมไม่เคยคนไทยจับเอามากินกัน เคยเห็นแต่ในเมืองจีนในตลาดยามเย็นบนถนนสายหนึ่งในกรุงปักกิ่ง มีอยู่หลายแผงลอยที่เอามาปิ้งย่างวางขายร่วมกับสัตว์อื่นๆ ที่นึกออกก็มีอาทิ ปลาดาว งู ...

สำหรับแมงดานั้น คงไม่ต้องกล่าวว่าคนไทยส่วนใหญ่นิยมเอามาทำอาหาร เป็นของโปรดของผู้คนในทุกภาคเลยทีเดียว 

ที่จริงแล้วจะควรจะต้องเรียกชื่อให้ครบว่า แมงดานา เพราะมีอีกแมงดาหนึ่งที่เป็นสัตว์ทะเล   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ม.ค. 19, 19:19
แมงป่องเป็นสัตว์หากินในเวลากลางคืน ในเวลากลางวันมันจะซ่อนตัวอยู่ในที่ๆเย็นๆและชื้น เช่น ใต้ก้อนหิน ใต้กองใบไม้   และดูมันจะขี้หนาวเมือนกัน ก็จึงมักจะพบในจุดที่มีอุณหภูมิอบอุ่น ซึ่งคะเนตามประสบการณ์ของผมก็คงจะเป็นแถวๆ 20-25 องศา  มันมีอยู่หลายสายพันธุ์ ซึ่งสำหรับพันธุ์ตัวใหญ่สีดำที่เรียกกันว่า แมงเวา แมงเงา แมงป่องช้างนั้น เราไม่ค่อยจะได้พบเห็นมัน

เมื่อเราพูดถึงแมงป่องในเรื่องของความอันตรายของมัน เรามักจะนึกถึงภาพของแมงป่องสีดำตัวใหญ่   แต่แท้จริงแล้ว อันตรายที่เราจะได้รับจากแมงป่องตัวใหญ่นั้นกลับมีไม่มากเท่ากับพวกตัวเล็กๆสีขี้เถ้าอ่อนๆ ซึ่งคนที่จะได้รับอันตรายจากพวกตัวเล็กๆนี้ก็ดูจะกลับเป็นพวกเราคนกรุงเสียมากกว่าพวกชาวบ้านทั้งหลาย (ทั้งชาวชนบทและบ้านป่า)

พวกแมงป่องตัวเล็กนี้ชอบที่จะเข้าไปหลบพักหลับนอนอยู่ในรองเท้า กองเสื้อผ้า ใต้หมอน ใต้ผ้าห่ม... ของเรา  เราจึงมีโอกาสถูกมันต่อยเอาเวลาเช้าเมื่อใส่ถุงเท้ารองเท้า หรือเมื่อรื้อเสื้อกางเกง(โดยเฉพาะเสื้อหนาว)จากกองผ้าที่พับไว้   ผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ในเขตเมืองจะมีโอกาสเกิดเหตุได้น้อยมาก ในที่อยู่อาศัยตามชายทุ่งชายป่าจะมีโอกาสเกิดเหตุได้มากขึ้น  ส่วนผู้ที่มีโอกาสจะได้จะถูกมันต่อยมากที่สุดก็คือพวกนักธรรมชาติที่นิยมตั้งที่พักค้างแรมอยู่ในพื้นที่ป่าดง               


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ม.ค. 19, 18:09
อาจจะมีข้อสงสัยว่า แล้วจะถูกแมงป่องตัวน้อยมันต่อยได้อย่างไร 

ไม่ยากเลยครับ และก็ยังมักจะเป็นเวลาเช้าเสียอีกด้วย  เรื่องเกิดเนื่องมาจากการที่เราใช้ถุงนอน ใช้ผ้่าห่ม และถอดรองเท้าถุงเท้าเวลานอน    ในขณะที่เรากำลังนอนหลับอยู่นั้น มันก็ออกเดินเพ่นพ่านหากิน  ก็เป็นธรรมดาที่หลังจากที่เราได้ที่ๆเหมาะสมสำหรับการปักหลักค้างแรมแล้ว เราก็มักจะต้องหุงหาอาหารกินก่อนที่จะนอน ซึ่งหมายถึงการมีเศษอาหารที่สัตว์ตัวเล็กๆหลากหลายสนใจเข้ามาเยี่ยมเยียน  แมงป่องก็สนใจเพราะมีทั้งสัตว์และของที่สามารถเอามาเป็นอาหารได้  กินอิ่มแล้วยังมีที่มืดๆ อุ่นๆ ให้มุดหลบนอนได้    เมื่อเราตื่นมาในตอนเช้า ขยับตัว หรือทำกิจกรรมอื่นใดก็จะไปจ๊ะเอ๋กับมัน หากไม่สังเกต ไม่เห็นมัน ก็มีโอกาสจะถูกมันต่อยเอาง่ายๆ

แล้วจะมีวิธีการป้องกันบ้างใหม ?  ก็มีนะ แต่จะเป็นในรูปของการลดโอกาสมากกว่าที่จะเป็นการป้องกัน   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ม.ค. 19, 19:04
ในประสบการณ์ของผม  วิธีการลดโอกาสเจ็บตัวที่ใช้ได้ผลที่สุด คือการปูผ้าใบรองพื้นสำหรับการนั่งและการปูถุงนอนทับลงไป  ซึ่งหากจะต้องค้างแรมอยู่กับที่เดิมต่อไป ก็ควรจะต้องทำตนให้เป็นคนที่มีระเบียบ เมื่อตื่นนอนแล้วก็จัดพับเก็บเครื่องนอน เครื่องนุ่งห่มต่างๆให้เรียบร้อย มิใช่ทิ้งหมกกองไว้   

การปูผ้าใบนั้น ก็คล้ายๆกับการแบ่งเขตระหว่างกิจกรรมของเรากับกิจกรรมที่ดำเนินการไปตามธรรมชาติ     หากเราต้องนอนค้างแรมอยู่หลายวัน เมื่อรื้อผ้าใบออกมาเราก็มักจะพบอะไรๆใต้ผืนผ้าใบที่แปลกไปจากเดิม มันกลายเป็นบ้านใหม่ของสิ่งมีชีวิตหลายอย่างเลยทีเดียว

ผ้าใบที่กล่าวถึงนี้ อาจจะทำให้หลายท่านนึกถึงผ้าที่มีความหนา ความหนัก และความเป็นไปได้ที่จะแบกพกติดตัวเข้าป่า ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ   ผมใช้ผ้าใบเมื่อผมใช้สัตว์ต่างในการเดินทำงานในพื้นที่ป่าลึก และใช้ผ้าขาวม้าเมื่อต้องแบกของด้วยตนเอง    ชาวบ้านป่าและนักเดินดงแต่ก่อนนั้นต่างก็ใช้ผ้าขาวม้ากันทั้งนั้น         


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ม.ค. 19, 19:03
ผมเริ่มมีและใช้ผ้าขาวม้าตั้งแต่แรกเข้าวัยรุ่น แรกๆก็ใช้เพียงเพื่อการห่อตัวเดินเข้าออกห้องอาบน้ำ และใช้ในการผลัดเปลี่ยนกางเกง  เมื่อเรียนในสาขาวิชาที่ต้องมีการเดินทางออกภาคสนาม ก็จึงได้เริ่มมีประสบการณ์ในการใช้ประโยชน์อื่นๆที่หลายหลายจริงๆ จนเมื่อเข้าทำงาน ต้องเดินทางไปในพื้นที่ชนบทและป่าดง ผ้าขาวม้าก็เลยกลายเป็นของใช้ที่ขาดมิได้และต้องอยู่ติดตัวเกือบตลอดเวลา  คงไม่ต้องขยายความนะครับว่าใช้อะไรกันบ้าง ก็ไม่ต่างไปจากที่เรารู้ๆกันว่าชาวบ้านเขาใช้กันอย่างไร

ด้วยที่ผมต้องมีและต้องใช้ผ้าขาวม้าดังที่เล่ามา ก็เลยพอจะเข้าใจได้ว่า ด้วยเหตุใดเราจึงเห็นผู้คนนิยมใช้ผ้าขาวม้าผืนเก่าๆ สีซีดๆ ดูสกปรก ไม่ทิ้งมันไปหากมันยังไม่ขาดวิ่น ทั้งๆที่มีผ้าผืนใหม่อยู่แล้วหรือจะหาซื้อผืนใหม่ทดแทนก็ไม่ยากนัก 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ม.ค. 19, 19:46
ผมก็เป็นหนึ่งในพวกนั้น จะซื้อทีก็เรื่องมาก แถมซื้อมาใช้ครั้งแรกแล้วก็พับเก็บไว้แบบถาวรเลยก็มากทีเดียว  มันก็อดไม่ได้ที่จะซื้อผ้าที่เขาว่าดีและเป็นฝีมือของชุมชนหรือชาวถิ่นนั้นๆ  ผ้าขาวม้าก็เลยกลายเป็นของเก็บสะสมเล็กๆน้อยๆอีกอย่างหนึ่งของตัวเอง   จะว่าไปแล้วผมก็ยังชอบใช้ผ้าขาวม้าที่ผมใช้ติดตัวมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2514 ยังดีอยู่และก็ยังเก็บอยู่ จะเดินทางไปค้างแรมที่ใหนก็ยังอดที่จะแอบเอาใส่กระเป๋าไปด้วยไม่ได้   

ผมขอแบ่งการใช้งานผ้าขาวม้าออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ใช้ในเชิงเป็นองค์ประกอบของเครื่องแต่งกาย มีการใช้งานเบาๆ  และกลุ่มที่ใช้ในเชิงเป็นผืนผ้าสำหรับใช้งานแบบอเนกประสงค์

ผ้าขาวม้าของกลุ่มแรกมักจะเน้นไปทางความสวยงาม เนื้อผ้ามักจะมิใช่ทอด้วยด้ายฝ้าย 100%  อาจมีด้ายไหมหรือเส้นด้ายที่ทำมาจากสารสังเคราะห์ปนอยู่ ซึ่งอาจจะมีทั้งที่ใช้เป็นด้ายยืนและด้ายนอน(ด้ายพุ่ง) 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ม.ค. 19, 20:32
ผ้าข้าวม้าของกลุ่มที่สองซึ่งเป็นพวกผ้าสำหรับใช้งาน   ผ้าของกลุ่มนี้จะเป็นผ้าฝ้าย ก็มีทั้งแบบที่ทอจากโรงงานทอผ้าขนาดใหญ่ โรงทอผ้าขนาดเล็ก (SME) และที่ทอด้วยมือ   แม้จะใช้ด้ายฝ้ายเหมือนกันแต่มันก็มีความแตกต่างกันในด้านคุณสมบัติเมื่อนำไปใช้งานจริง   

คุณสมบัติที่สำคัญ คือ ยิ่งใช้ยิ่งเนื้อฟูนิ่ม ซับน้ำดี เนื้อผ้าแน่น หนาพอควร ผ้ามีน้ำหนักพอสมควร เนื้อผ้าไม่โย้เย้ไปมา ผ้ามีความยาวและมีหน้ากว้างเหมาะสมกับสรีระของผู้ใช้     


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ม.ค. 19, 18:46
เคยคิดเล่นๆว่า  ผ้าขาวม้านี้ดูคล้ายกับว่าจะเป็นของใช้ในวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่(ประมาณ)ระหว่างเส้นลองติจูดที่ 99 องศาตะวันออก กับลำน้ำโขง และละติจูดที่ 0 - 20 องศาเหนือ     ผู้คนที่อยู่เหนือขึ้นไปจากกรอบพื้นที่นี้ดูจะใช้ผ้าทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าลักษณะนี้ในการโพกหัวเป็นหลัก ยิ่งใต้ลงมาการใช้ประโยชน์ของผ้าก็จะลดการใช้จากระดับหัวลงมาเรื่อยๆ เป็นผ้าคาดอก คาดเอว แล้วก็กลายเป็นโสร่ง

ลองติจูดที่ 99 องศาตะวันออกนี้ มีลักษณะคล้ายกับเป็นแนวพื้นที่เชื่อมต่อของความต่างทางสังคม วัฒนธรรม และอิทธิพลของมหาอำนาจในอดีต (ซึ่งยังคงถือปฎิบัติกันแบบกลายๆกันอยู่)


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ม.ค. 19, 19:06
กลับมาต่อกันอีกแมงหนึ่ง คือ แมงดา

ขอกล่าวถึงแมงดาทะเลเพียงเล็กน้อยว่า มันมีอยู่สองชนิด เรียกว่า แมงดาจาน กับ แมงดาถ้วย     

แมงดาถ้วยนั้น เป็นพวกที่มีพิษ มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า เห-รา  กินแล้วอาจจะถึงแก่ชีวิตก็ได้  มันมีหางเป็นทรงกลม

แมงดาจาน เป็นชนิดที่เราเอาไข่ของมันมาทำกินกัน  มันมีหางเป็นทรงเหลี่ยม  มีวางขายค่อยข้างมากในตลาดสดในตัวเมืองของ จ.เพชรบุรี  ไข่ของมันเอามากินแบบจิ้มกับน้ำจิ้มซีฟูดก็ได้ เอามาแกงคั่วกับสับปะรดก็ได้ (หากจะใส่เห็ดเผาะลงไปด้วยก็จะยิ่งอร่อยมากขั้น)           


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ม.ค. 19, 19:15
ยำไข่แมงดาทะเล


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ม.ค. 19, 19:35
แมงดาทะเลในโลกนี้มีอยู่ ๔ ชนิด พบที่เมืองไทย ๒ ชนิด คือ แมงดาถ้วย (Carcinoscorpius rotundicauda) และแมงดาจาน (Tachypleus gigas)

อีก ๒ ชนิด ตัวหนึ่งพบแถวจีนและญี่ปุ่นคือ Tachypleus tridentatus และตัวที่พบแถวชายฝั่งตะวันออกของอเมริกา คือ Limulus polyphemus

แมงดาจานของไทยมีดีที่ไข่

แมงดาจาน เป็นชนิดที่เราเอาไข่ของมันมาทำกินกัน  มันมีหางเป็นทรงเหลี่ยม  มีวางขายค่อยข้างมากในตลาดสดในตัวเมืองของ จ.เพชรบุรี  ไข่ของมันเอามากินแบบจิ้มกับน้ำจิ้มซีฟูดก็ได้ เอามาแกงคั่วกับสับปะรดก็ได้ (หากจะใส่เห็ดเผาะลงไปด้วยก็จะยิ่งอร่อยมากขั้น)

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5776.0;attach=70129;image)

ส่วนแมงดาทะเลของจีนและญี่ปุ่นกับแมงดาทะเลของอเมริกามีดีที่เลือด  ;D

ทุกวันนี้ในมาตรฐานการผลิดยาฉีดระบุว่าเภสัชภัณฑ์หรืออุปกรณ์การแพทย์ใดๆ ที่สัมผัสกับของเหลวในร่างกาย หรือระบบไหลเวียนของเลือด ต้องไม่มีสารพิษ endotoxin ตัวนี้ สิ่งที่จะใช้ทดสอบเรื่องนี้ได้ก็คือสิ่งที่สกัดมาจาก amoebocyte ในเลือดแมงดาทะเล

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5920.0;attach=57439;image)


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ม.ค. 19, 20:02
ขอบคุณครับ

แมงดาทะเลนี้จัดอยู่ในพวก living fossil  เราพบฟอสซิลของพวกมันในหินที่กำเนิดขึ้นมาจากตะกอนที่มีอายุในช่วง 450 ล้านปี (ยุค Ordovician) 

ในปัจจุบัน เราได้พบว่ามีพวก living fossil อยู่เป็นจำนวนมาก มีทั้งพืชและสัตว์ ที่เป็นพืชก็เช่นต้นแปะก๊วย  ที่เป็นสัตว์ก็เช่นแมงดาทะเล ที่เราพูดถึง  พวกหอยก็เช่นหอยงวงช้าง เป็นต้น


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ม.ค. 19, 20:25
https://www.youtube.com/watch?v=h4RgxeC_cFw


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ม.ค. 19, 20:38
แมงดานา ของอร่อย แกะ(ฉีก)เป็นชิ้นเล็กใส่ครกโขลกน้ำพริกกะปิ น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกปลาร้า กินกับผักต้มหรือนึ่ง โดยเฉพาะพวกยอดฟักทอง ยอดมะระ หัวปลี ชะอม ขนุนอ่อน ผักกาดดอก ยอดแค... หรือกับพวกผักเผาเช่นฝักลิ้นฟ้าเผา(ฝักเพกา) ยอดหวาย(หางหวาย) มะเขือยาว...  อร่อยนักแล

แมงดานาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ๆมีน้ำ จึงพบมากในพื้นที่ๆมีภูมิประเทศเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง   แต่ก่อนนั้น ตามเส้นทางรถไฟสายเหนือตั้งแต่แถวอยุธยาไปจนแถวพิษณุโลก เราจะเห็นชาวบ้านตั้งเสาไฟ ติดไฟนีออนสีขาวนวลหรือสีม่วงและขึงตาข่าย (ตะคัด)เพื่อดักขับแมงดาเอามากินมาขายกัน  

ในปัจจุบัน ภาพนี้ไม่เห็นแล้ว ก็คงจะเป็นเพราะความเจริญและพัฒนาการทางด้านบริโภคและอุปโภค เลยทำให้วิถีชิวิตของผู้คนเปลี่ยนไป หรือไม่ก็เพราะมีพวกยาฆ่าพืชฆ่าสัตว์ตกสะสมอยู่ในดินในน้ำมากจนทำลายวงจรชีวิตของมันไปหมด    ทราบแต่ว่า เดี๋ยวนี้เรา import แมงดาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาขายอยู่ไม่น้อย  


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ม.ค. 19, 20:49
https://www.youtube.com/watch?v=2P4A752KKAs


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ม.ค. 19, 20:52
น้ำพริกแมงดา


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ม.ค. 19, 21:00
ขื่อหอยงวงช้างคงจะใช้เรียกชื่อหอยสองชนิดที่มีความแตกต่างกัน    ตัวในภาพนั้นจะพบอาศัยอยู่ในพื้นที่ๆเป็นโคลนบริเวณปากแม่น้ำ มีชื่อเรียกกันว่า Geoduck clam    อีกชนิดหนึ่งเป็นพวกหอบที่ลอยไปมาอยู่ในน้ำทะเล มีหนวดคล้ายปลาหมึก  มันสามารถจะทำตัวให้ลอยขึ้นหรือจมลงได้ และเคลื่อนที่ไปมาได้ด้วยการพ่นน้ำคล้ายปลาหมึกพ่นน้ำ มีชื่อเรียกกันว่า Nautilus clam (หากเป็นฟอสซิล ก็มักเรียกรวมๆว่าพวก Ammonite หรือ พวก Nautiloid)    


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ม.ค. 19, 07:30
ชื่อหอยงวงช้างเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน

Geoduck (http://en.wikipedia.org/wiki/Geoduck) มีชื่อจีนว่า  象拔蚌 แปลว่า หอยงวงช้าง คนไทยจึงเรียกว่า หอยงวงช้าง บ้าง แต่บางคนก็เรียกอีกชื่อหนึ่งตามลักษณะของหอย  ;D  ถ้านำมาผัดคงไม่ดึกดำบรรพ์

ผัดดึกดำบรรพ์  ฝีมืออาเฮีย

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5645.0;attach=40915;image)

Nautilus (http://en.wikipedia.org/wiki/Nautilus)  คนไทยก็เรียกว่า หอยงวงช้าง เช่นกัน ถ้านำมาผัดก็คงเรียกว่า "ผัดดึกดำบรรพ์" ได้ แต่คงไม่อร่อย

Nautilus เป็นสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์อยู่บนโลกนี้แล้วกว่า ๓๕๐ ล้านปีแล้ว และยังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็น ฟอสซิลที่มีชีวิต

หอยงวงช้าง  Nautilus pompilius (https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AB%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87) มีความสามารถในการดำดิ่งไปใต้พื้นสมุทรได้ถึง ๓ กิโลเมตร ทำให้ถูกนำไปเป็นชื่อเรือดำน้ำ ที่เรารู้จักกันดีคือเรือดำน้ำของกัปตันนีโม ใน ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์ (Twenty Thousand Leagues Under the Sea) (https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%83%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%97%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C) ของ จูลส์ เวิร์น (Jules Gabriel Verne)

ภายในเปลือกจะแบ่งเป็นช่อง ๆ ใช้กักอากาศและน้ำเพื่อการลอยตัวและดำดิ่งไปใต้สมุทร


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6355.0;attach=59036;image)


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ม.ค. 19, 18:39
ใช่ครับ
   
หอย Ammonite ปรากฎตัวในท้องน้ำมหาสมุทรเมื่อประมาณ 350 ล้านปีที่แล้ว (ยุค Devonian) มันมีวิวัฒนาการไปเป็นหอยตัวขนาดใหญ่ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่กำลังมีวิวัฒนาการของสัตว์พวกไดโนเสาร์ (Dinosaur)  ฟอสซิลของมันตัวขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยพบ มีขนาดประมาณ 2.5 เมตร  แล้วพวกตัวใหญ่ๆก็หายไปในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ไดโนเสาร์หายไปเช่นกัน

เห็นเปลือกหอย Nautilus มีวางขายตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันของเรา ก็ไม่รู้ว่าเป็นของในเขตทะเลไทยหรือจากทะเลอื่น


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ม.ค. 19, 18:50
(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5645.0;attach=40826;image)

แอมโมไนต์ตัวนี้ชื่อ Dactylioceras tenuicostatum มาจากWhitby, Yorkshire ประเทศอังกฤษ  

แอมโมไนต์เพิ่งสูญพันธุ์ไปพร้อม ๆ กับไดโนเสาร์เมื่อ ๖๕ ล้านปีมานี้เอง  มีขนาดตั้งแต่เล็กอย่างในภาพ จนถึงใหญ่ยักษ์ดังในคลิป

http://www.youtube.com/watch?v=teYVYbo0Ac8


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ม.ค. 19, 19:26
ขอต่อเรื่องแมลงและแมงอีกหน่อย แล้วจะกลับไปต่อเรื่องหอย ครับ

ชาวบ้านป่าไม่นิยมกินแมงและแมลงต่างๆดังที่นิยมในหมู่ผู้คนในพื้นราบ  ที่เคยเห็นชาวบ้านป่าเก็บกินกันอยู่บ้างก็จะเป็นจักจั่น ซึ่งผมไม่เคยกินก็เลยไม่รู้รสและความอร่อยของมัน รู้แต่ว่าจักจั่นมีหลายขนาดและหลายสี คือ ตัวสีเขียว(ที่เห็นเขาเอามากินกัน) สีดำ สีน้ำตาล และตัวเล็กที่เรียกว่าเรไร  

ผมประเมินจากความดังของเสียง เห็นว่าจักจั่นในพื้นที่ป่าจริงๆมีไม่มากเหมือนกับในพื้นที่ชายป่าชายทุ่ง   จำได้ว่าเมื่อยังอยู่ในวัยเด็กนั้น ในช่วงพื้นที่มหาวิทยาลัยพะเยา บนเส้นทางรถยนต์เชียงราย-ลำปาง และเส้นทางช่วง อ.งาว-จ.ลำปาง จะได้ยินเสียงจักจั่นดังสนั่นไปหมด  เมื่อมาทำงานเดินป่าเดินดง จึงได้สังเกตเห็นว่า จักจั่นจะอาศัยอยู่มากในบริเวณที่เป็นป่าดิบแล้ง มีต้นไม้ใหญ่จำนวนมากแต่ค่อนข้างจะโปร่ง มีแสงแดดส่องถึงพื้นรำไร และดูจะต้องเป็นพื้นที่ป่าในบริเวณที่เป็นเขาหินปูนอีกด้วย      


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ม.ค. 19, 20:45
จักจั่นตัวสีเขียว (ที่เห็นเขาเอามากินกัน)

น่าจะเป็นเจ้าตัวนี้

จั๊กจั่นงวงช้าง Pyrops candelarius (http://en.wikipedia.org/wiki/Pyrops_candelarius)

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3296.0;attach=22339;image)

คุณ ๔๒๘๓๒๖๒ แห่ง พันทิป (https://pantip.com/topic/30656487#18) เล่าว่า

มันเป็นแมลงศัตรูพืช จะอาศัยกินท่อน้ำเลี้ยงของต้นไม้ไม่มีอันตรายต่อมนุษย์ เคยเห็นเค้าใช้ถุงพลาสติกใส ๆ เอามาผูกที่ปลายไม้ ทำคล้ายตะกร้อ ไปจับตามต้นลำไย ต้นลิ้นจี่ ช่วงฤดูหนาว จากนั้นเอามาแช่น้ำทำความสะอาด เด็ดปีกแล้วเอามาทอดกรอบ โรยเกลือ เมื่อทอดเสร็จแล้วสามารถกินได้ทั้งตัว รสชาติจะออกมัน ๆ มีกลิ่นหอมดี


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ม.ค. 19, 18:30
ตัวนี้ไม่เคยเห็น เคยเห็นแต่พวกที่มีรูปร่างตามปรกติ คือไม่มีงวง ครับ

ที่เคยเห็นอีกอย่างหนึ่ง คือ กินจักจั่นสดๆ หักหัวมันทิ้งไปแล้วก็เอาใส่ปาก ภาพนี้ได้เห็นครั้งหนึ่ง วันหนึ่งในช่วงเวลาหัวค่ำขณะกำลังตั้งวงสนทนายามแดดร่มลมตกที่เหมืองแร่ปิล๊อกบนสันเขาเทือกเขาตะนาวศรี  จักจั่นตัวนั้นคงจะโชคไม่ดี บินมาเกาะขอบเสบบ้านไม้ก็เลยถูกจับกิน 

สันเขาตะนาวศรีที่แบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับพม่านี้มีความสูงประมาณ 1000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ก็แสดงว่าในความสูงระดับนี้ จักจั่นก็ยังอาศัยอยู่ได้   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ม.ค. 19, 19:24
เรื่องราวของกระทู้กระโดดไปมาแล้วก็มาถึงชื่อ ปิล็อก ซึ่งเป็นสถานที่ๆอยู่ในบริเวณสันเขาแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า เทือกเขาตะนาวศรี   ก็เลยเห็นว่า คงจะต้องขยายความกันอีกเล็กน้อย

ประวัติของเหมืองแร่ปิล็อกนั้นคงจะหาอ่านได้ไม่ยาก เช่น  https://thailandtourismdirectory.go.th/th/info/attraction/compare/itemid/1309 (https://thailandtourismdirectory.go.th/th/info/attraction/compare/itemid/1309)
 
อย่างย่อๆก็คือ เมื่อประมาณ พ.ศ.2580 มีชาวพม่าแอบเข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุกและทังสเตน ทางการไทยรู้เข้าก็เลยให้กรมโลหกิจฯ (กรมทรัพยากรธรณีในปัจจุบัน) เข้าไปสำรวจและจัดการแก้ไขปัญหา มีการออกประทานบัตรให้กับองค์การเหมืองแร่(รัฐวิสาหกิจในสมัยนั้น) เพื่อการทำเหมืองแร่อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งนี้โดยนัยก็คือการประกาศยืนยันต่อพม่าและผู้ปกครองอาณานิคม (อังกฤษ) ว่าเขตแดนไทยอยู่ถึงตรงใหน   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: kui045 ที่ 02 ก.พ. 19, 13:42
เรื่องราวของกระทู้กระโดดไปมาแล้วก็มาถึงชื่อ ปิล็อก ซึ่งเป็นสถานที่ๆอยู่ในบริเวณสันเขาแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า เทือกเขาตะนาวศรี   ก็เลยเห็นว่า คงจะต้องขยายความกันอีกเล็กน้อย

ประวัติของเหมืองแร่ปิล็อกนั้นคงจะหาอ่านได้ไม่ยาก เช่น  https://thailandtourismdirectory.go.th/th/info/attraction/compare/itemid/1309 (https://thailandtourismdirectory.go.th/th/info/attraction/compare/itemid/1309)
 
อย่างย่อๆก็คือ เมื่อประมาณ พ.ศ.2580 มีชาวพม่าแอบเข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุกและทังสเตน ทางการไทยรู้เข้าก็เลยให้กรมโลหกิจฯ (กรมทรัพยากรธรณีในปัจจุบัน) เข้าไปสำรวจและจัดการแก้ไขปัญหา มีการออกประทานบัตรให้กับองค์การเหมืองแร่(รัฐวิสาหกิจในสมัยนั้น) เพื่อการทำเหมืองแร่อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งนี้โดยนัยก็คือการประกาศยืนยันต่อพม่าและผู้ปกครองอาณานิคม (อังกฤษ) ว่าเขตแดนไทยอยู่ถึงตรงใหน   

2580 ?


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.พ. 19, 19:39
 :-[ พิมพ์ผิดอย่างแรงครับ ต้องเป็น 2480 โน่น

ก็รู้ตัวอยู่นะครับว่า ความสูงวัยนั้นมันมีเรื่องของความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ง่ายมากในเรื่องของการสื่อสารทั้งด้านการเขียน การพูด และการฟัง กระทั่งทางตา  แม้ว่าจะได้พยายามคิดก่อนทำ สอบทานเมื่อทำเสร็จแล้ว มันก็ยังหลุดได้อยู่ดี   

จากการสังเกตตัวเองของผม พบว่า ในวัยก่อน 65 นั้น ตัวเองยังรู้สึกว่าทุกอย่างก็ยังเหมือนๆเดิมดังที่ผ่านๆมา(ร่างกาย สมอง และความคิด) มารู้สึกและรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มแสดงออกอย่างชัดเจนก็เมื่อหลังจาก 65 ปีไปแล้ว คือคล้ายกำลังเดินลงดอยในพื้นที่ราบลอนคลื่น  พอเข้าวัยเลข 7 คราวนี้รู้สึกเลยว่ากำลังเดินลงมาตามลาดเชิงเขาที่ค่อนข้างจะสูงชัน   ยิ่งอยู่ในวัย 70+ มากขึ้นเท่าใด การสะดุดหกล้มเจ็บตัวก็คงจะมีเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว                       

เคยคิดว่าน่าจะมีกระทู้คุยกันในเรื่องของคนในวัย สว. (ส.ว. ??)  เพราะคิดว่ามีเรื่องที่จะคุยกันได้อย่างหลากหลาย และน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกๆคน


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.พ. 19, 19:59
:-[ พิมพ์ผิดอย่างแรงครับ ต้องเป็น 2480 โน่น


เคยคิดว่าน่าจะมีกระทู้คุยกันในเรื่องของคนในวัย สว. (ส.ว. ??)  เพราะคิดว่ามีเรื่องที่จะคุยกันได้อย่างหลากหลาย และน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกๆคน

ได้เลยค่ะ 
เชิญคุณตั้ง ตั้งกระทู้ ใน "ทันกระแส"  นะคะ
มีประเด็นหนึ่งที่อยากจะเล่าสู่กันฟัง    ทำนองเดียวกับ "เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก"  คือบ้านเมืองเราเมื่อ 50+ ปี ก่อน มีอะไรที่ยุคนี้ไม่มีอีกแล้วบ้าง


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.พ. 19, 18:21
ขอเวลาสักนิดครับ  หรือว่าท่านใดจะตั้งกระทู้ก็เรียนเชิญได้เลยนะครับ 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 19, 18:28
ถ้างั้น ดิฉันตั้งกระทู้ให้เลยนะคะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6978.new#new


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.พ. 19, 18:48
ในสมัยก่อนนั้น เมื่อกล่าวถึง ปิล็อก มันก็จะต้องมีอีกหลายชื่อที่เข้าเกี่ยวพันกัน คือ ท่าขนุน ห้วยเขย่ง น้ำดิบ อีปู่ อีต่อง ผาแป   เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาของโครงการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ(พ.ศ.2520+) ก็มีอีกสองชื่อเข้ามา คือ เขาแหลม และวัดวังวิเวการามหรือวัดหลวงพ่ออุตมะ (วัดจมน้ำ/วัดใต้น้ำ_ในปัจจุบัน)    สำหรับ ตะนาวศรีนั้นเข้ามาทีหลัง แล้วก็ตามด้วยเขาช้างเผือก  


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.พ. 19, 19:14
ท่าขนุน ก็คือตัว อ.ทองผาภูมิ  ซึ่งคนไทยก่อนยุคทีวีจะเฟื่องฟูจะคุ้นหูกับชื่อ อ.ทองผาภูมิ เป็นอย่างดี ชื่อนี้จะปรากฎอยู่ในข่าวสภาพอากาศที่ออกอากาศทางวิทยุในช่วงเวลาเช้าของแต่ละวันทุกวัน โดยเฉพาะในรายงานข่าวอากาศเรื่องอุณหภูมิสูงสุดและต่ำสุด ซึ่งชื่อ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี จะได้ยินเสมอๆคู่อยู่กับ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ในเรื่องของอุณหภูมิต่ำสุด 

ความเกี่ยวพันของชื่อต่างๆก็มีดังนี้ ท่าขนุน เป็นท่าเรือ เป็นศูนย์การติดต่อประสานงาน และเป็นแหล่งพักพิงของผู้คนก่อนการเดินทางเข้า-ออกหมู่เหมืองปิล็อก เป็นแหล่งสะสมและส่งอาหาร สิ่งของเครื่องอุปโภค/บริโภค รวมทั้งเครื่องมือ/อุปกรณ์ต่างๆสำหรับผู้คนและการทำเหมืองที่หมู่เหมืองปิล็อก


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.พ. 19, 20:06
ห้วยเขย่ง เป็นชื่อของพื้นที่ราบที่อยู่ด้านหลังเขาทองผาภูมิ ก่อนที่จะเข้าสู่เส้นทางขึ้นเขาอย่างต่อเนื่องไปจนถึงหมู่เหมืองปิล็อก ในพื้นที่ห้วยเขย่งนี้มีการทำไร่ทำสวนของชาวบ้านทั่วๆไป   โดยความรู้สึกแล้ว เมื่อเดินทางขาเข้าหมู่เหมือง ก็คล้ายกับว่ากำลังเข้าไปสู่พื้นที่ๆจะไม่ผู้คนอีกเลยจนกระทั่งถึงหมู่เหมือง แม้จะเป็นระยะทางไม่กี่สิบกิโลเมตรแต่ก็อาจใช้เวลาหลายวัน หลายๆวันแบบที่อาจจะนานมากพอที่ถั่วเขียวจะงอกออกมาเป็นถั่วงอก

น้ำดิบ เป็นจุดประมาณครึ่งทางระหว่างตีนเขาถึงยอดเขาอีต่อง  น้ำดิบเป็นจุดที่มีน้ำไหลออกมาจากผนังข้างทางถนน (เป็น seepage อย่างหนึ่งที่เกิดจากระดับของน้ำใต้ผิวดิน_water table_โผล่พ้นผิวดิน ในกรณีนี้เกิดจากการตัดถนนเพื่อทำทาง)  น้ำดิบเป็นช่วงของถนนที่เละ รถคิดหล่มได้ง่ายๆ เลยกลายเป็นที่พักกลางทางกลายๆ ได้มีการสร้างเพิงพักแล้วกลายมาเป็นศาลาไม้จริงในภายหลังต่อมา


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.พ. 19, 18:50
อีปู่และอีต่องนั้นเป็นชื่อของชุมชน   อีต่องจะอยู่บนสันเขาที่เป็นเขตแดนไทยกับพม่า อีปู่จะอยู่ถึงก่อนอีต่อง   

ชื่อผาแปนั้นก็คือบริเวณที่พบแหล่แร่และมีการทำเหมืองแร่  ถ้าความจำของผมยังไม่บกพร่องก็คิดว่ามี ผาแป 1 ถึง ผาแป 7 หลังจากนั้นชื่อแหล่งแร่หรือเหมืองจะเรียกเป็นชื่อของสถานที่ เท่าที่รู้ก็ดูจะมีเพียงชื่อ ตะนาวศรี(หรือกลุ่มเหมืองตะนาวศรี) อยู่ทางทิศใต้ของกลุ่มเหมืองผาแป และ ช้างเผือก(หรือกลุ่มเหมืองช้างเผือก)ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของกลุ่มเหมืองผาแป

เส้นทางหฤโหดจริงๆนั้นมิใช่ช่วงของการเดินทางจากห้วยเขย่งถึงอีต่อง ที่โหดจริงๆคือเส้นทางแยกเข้าสู่ผาแป 3 และหมู่เหมืองตะนาวศรี ในช่วงที่เป็นถนนลงสู่หุบเขาซึ่งมีความชันมาก  มากขนาดรถไหลข้ามขอนไม้ที่หนุนล้อรถเพื่อไม่ให้รถไหลได้ 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.พ. 19, 19:14
เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างหมู่เหมืองช่วงที่ตัดอยู่บนสันเขาแบ่งเขตแดนนี้ให้ทัศนียภาพที่สวยงามมาก บางช่วงล้อรถด้านหนึ่งอยู่ในเขตแดนไทย ส่วนอีกด้านหนึ่งอยู่ในเขตพม่า  ให้ความรู้สึกแปลกๆในเชิงของการปลดปล่อยและความมีอิสระเสรี 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.พ. 19, 19:32
อีต่องเป็นชุมชนที่มีตลาด มีสินค้าบางอย่างที่คนพม่าแบกขึ้นเขาเข้ามาขาย สินค้าของไทยก็จะมีพวกโสร่ง เครื่องกระป๋อง ของแห้ง ถั่วเขียว น้ำตาล และเวชภัณฑ์เป็นหลัก  แล้วก็มีเหล้าขาวและเหล้าแม่โขง

ในเขตพม่าที่อีต่องก็มีชุมชนเล็กๆเช่นกัน ซึ่งที่น่าสนใจก็ตรงที่ ผู้คนในชุมชนของเขานั้นมีพวกที่มีการศึกษาในระดับที่ดีอยู่ค่อนข้างมาก ก็มีทั้งแพทย์ สัตวแพทย์ ทันตแพทย์ และวิชาชีพอื่นๆ หลายคนจบจากต่างประเทศ (โดยเฉพาะจากออสเตรเลีย) สนทนากันด้วยภาษาอังกฤษแบบใช้ technical term กันได้อย่างสบายๆ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.พ. 19, 20:36
ที่ตลาดอีต่องในสมัยนั้น เมื่อถึงฤดูก็จะมีปู มีกุ้ง และไข่เต่าวางขายกันในตลาด พวกพ่อค้าชาวพม่าเขาจะแบกขึ้นเขามาขายกัน สำหรับของแห้งที่มีวางขายกันเป็นสินค้าประจำก็คือ ปลาเค็มที่ทำมาจากปลาสละตากแห้ง เอามาตัดเป็นชิ้นๆพอคำ ทอด แล้วกินแนมกับแกงเผ็ดๆ อร่อยดีครับ เป็นของคู่กันเช่นเดียวกับแกงเขียวหวานเนื้อ(หรือไก่ก็ได้  ;D) ที่กินคู่กับปลาตะเพียนตากแห้งทอดให้กรอบ   นอกจากปลาเค็มแล้วก็มีกุ้งแห้งตัวโตๆ ตัวโตขนาดแท่งดินสอก็มี แต่คงจะเคี้ยวไม่ออก คงเป็นได้เพียงของฝาก หรือนำมาป่นใส่ในอาหารต่างๆ (ข้าวคลุกกะปิ ข้าวยำ ยำถั่วพู..) แล้วก็มีปลาหัวยุ่ง เอามาทอดกิน

เมื่อครั้งที่ว่านนางพญาหงสาวดีกำลังเป็นที่นิยมนำมาปลูกเล่นกันของคนไทย มีราคาค่อนข้างแพงในตลาดขายต้นไม้ในกรุงเทพฯ ชาวพม่าเขาเก็บจากพื้นที่ฉ่ำน้ำตามเส้นทางขึ้นบ้านอีต่อง แบกขึ้นมาขายแบบถูกๆ  ว่านนี้มีชื่อพม่าว่า เมดอจี๊  ซึ่งแปลว่านางผู้ยิ่งใหญ่  เป็นว่านที่เลี้ยงง่ายตายยาก เมื่อออกดอกแล้วจะมีกลิ่นฉุน ที่แปลกก็ดูเหมือนว่าพวกงูจะนิยมเข้ามาอยู่เมื่อว่านนี้ออกดอก


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.พ. 19, 19:31
ในปัจจุบันนี้การไป อีปู่ อีต่อง และผาแป 3 (เหมืองสมศักดิ์) ได้มีการปรับเส้นทางให้ลดความลาดชันลงไปจนเดินทางได้ไม่ยากนัก   ที่ยังคงน่าจะไปยากอยู่มากๆก็คือ จากอีต่องลงใต้ไปเหมืองตะนาวศรี และจากอีต่องขึ้นเหนือไปปิเต่ง   

เหมืองตะนาวศรีอยู่ในร่องหุบเขาแคบๆ  แต่ก่อนนั้นคนกับสัตว์ป่าอยู่ด้วยกันอย่างเป็นมิตรไม่กลัวกัน ภาพที่ยังอยู่ในความทรงจำก็คือ ตกเย็นจะมีกวางป่าเดินเข้ามาโชว์ตัวในพื้นที่เหมือง ได้กล้วยกินบ้างหากมี บางทีก็มีหมีขอเข้ามาแสดงตัวที่ชายป่า เก้งหม้อ(ก้นดำ)ก็มี เห็นอยู่ตามเส้นทางรถเป็นปรกติ

สำหรับปิเต่งนั้น อยู่ห่างจากอีต่องประมาณ 10 +/- กม.เป็นพื้นที่ๆมีพวกกะเหรี่ยง(พวกที่ใช้คำถาม ไปใหนมา ว่า ลีคือแล่) มาตั้งชุมชนเล็กๆอยู่ (จะไม่ขอขยายความต่อ เพราะไปเกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองของทั้งเราและพม่า)   ท่านที่ชอบแส้นทาง off road แบบ extreme เส้นทางนี้ก็ไม่เลวนะครับ มีความท้าทายอยู่ไม่น้อยทั้งในด้านของเครื่องจักรกล ร่างกาย จิตใจ และความสามารถในการเอาตัวรอด           


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.พ. 19, 19:42
จากทองผาภูมิไปทางทิศตะวันตกก็จะไปสู่หมู่เหมืองปิล็อก แต่หากขึ้นเหนือก็จะเป็นถนนขนานไปกับแม่น้ำแควน้อย (ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ใต้น้ำของอ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลม) เป็นเส้นทางสู่ อ.สังขละบุรี ต่อไปยังเจดีย์สามองค์ แล้วเลยเข้าเขตพม่าไปตามเส้นทางรถไฟสายมรณะ ไทย-พม่า

ตามเส้นทางใต้น้ำเส้นนี้มีอะไรๆที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว จากตัว อ.ทองผาภูมิ ก็จะผ่านสถานที่ๆเรียกว่า เจดีย์บุอ่อง (หรือโบอ่อง) ทางด้านตะวันตก   ผ่านบริเวณที่เป็นหลุม(หลายหลุม)ที่ดูจะเกิดจากลูกระเบิดที่ทิ้งจากเครื่องบินเพื่อยุติการสร้างทางรถไฟสายมรณะเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง   ผ่านหมู่บ้านวังปาโท่ มีหลุมฝังศพนักรบสมัยสงครามไทย-พม่า  ผ่านวัดใต้น้ำ(วัดหลวงพ่ออุตตมะ วัดวังวิเวการาม)  แล้วก็ถึงจุดที่เรียกว่า สามสบ ซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำสามสายมาบรรจบกัน (แม่น้ำบีคลี่ ซองกาเลีย และรันตี) พื้นที่ตั้งของ อ.สังขละบุรี แต่เดิม ซึ่งยังเห็นตอม่อและคานคอนกรีดสำหรับพาดรางรถไฟสายมรณะ   เลยขึ้นเหนือไปก็จะผ่าทะลุผ่านเขตพม่าสู่ที่ตั้งของพระเจดีย์สามองค์  หากใช้ถนนไปทางทิศตะวันตกของตัวอำเภอก็จะเข้าพื้นที่เกษตรกรรม มีบ้านเรียนตั้งอยู่ไม่มากนัก ชื่อว่า ทุ่งมาลัย ซึ่งได้กลายเป็นที่ตั้งใหม่ในปัจจุบันของ อ.สังขละบุรี 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ก.พ. 19, 19:15
เจดีย์บุอ่อง(หรือโบอ่อง)ตั้งอยู่ในที่ราบราบด้านเหนือของที่ราบห้วยเขย่ง เป็นเจดีย์ที่ตั้งอยู่บนโขดหินกลางสระน้ำที่มีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่  มีสะพานไม้เดินเข้าไปหาตัวเจดีย์ทางทิศเหนือ อนุญาตให้เฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่สามารถจะเดินข้ามไปได้  ผมไม่ทราบประวัติความเป็นมา ดูจากลักษณะที่คล้ายกับภูมิสถาปัตย์แบบพระราชวังมัณฑะเลย์ของพม่าแล้วก็น่าจะเป็นฝ่ายพม่าที่เป็นผู้สร้าง พื้นที่นี้น่าจะเป็นที่ตั้งค่ายสะสมกำลังพลและเสบียงของพม่าในยุคสงครามเก้าทัพ

เหนือขึ้นไปตามเส้นทางจนถึงบ้านวังปาโท่ ผ่านหลุมระเบิดสมัยสครามโลกครั้งที่สองหลายหลุม ซึ่งผมเดาเอาว่าอาจจะเป็นการทิ้งระเบิดที่พลาดเป้าหมาย เพราะเส้นทางรถไฟสายมรณะจะอยู่อีกฝั่งหนึ่ง(ฝั่งตะวันออก)ของลำน้ำแควน้อยนี้ หรือมิฉะนั้นก็เป็นการทิ้งเพื่อทำลายค่ายของทหารญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบฝั่งตรงข้ามกับทางรถไฟ

บ้านวังปาโท่นี้ ในแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1:50,000 ของกรมแผนที่ทหารรุ่นเก่า เขียนชื่อว่าบ้านตำรองผาโท้ (เป็นภาษากะเหรี่ยงที่แปลว่าตลิ่งสูง) ชาวบ้านที่อยู่อาศัยเรียกว่า บ้านวังปาโท่ และก็มีผู้คนที่เรียกและเขียนป้ายว่า วังปลาโท้ ก็มี  วังผาโท่ ก็มีเช่นกัน   ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชื่อของสถานที่ต่างๆที่เกือบทั้งหมดที่มักจะจะบ่งชี้ถึงสภาพทางกายภาพหรือเรื่องราว ณ จุดนั้นๆ ถูกผันแปรออกไปเป็นชื่ออื่นๆที่ไม่สื่อความหมายถึงอะไรใดๆเลย 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ก.พ. 19, 19:49
บ้านวังปาโท่นี้ตั้งอยู่บริเวณหัวคุ้งน้ำฝั่งที่ถูกน้ำกัดเซาะ ตลิ่งของลำน้ำจึงมีสภาพเป็นหน้าผาตั้งชัน เป็นด้านของลำน้ำที่มีความลึก จึงมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลาชนิดต่างๆ โดยเฉพาะปลาตัวใหญ่ๆ เช่น ปลาแข้ (แค้ แค่ จะสะกดเช่นใดถูกไม่รู้ครับ) ปลาคังตัวโตขนาดโคนขา ปลายี่สกตัวยาวประมาณ 1 เมตร  ปลาแมลงภู่ (ปลาแมงภู่หรือปลาขะโด ?)ตัวขนาดน่องของเรา รวมทั้งปลาตะโกกตัวขนาดท่อนแขน เป็นต้น

ก็ไม่น่าจะแปลกใจนักที่จะพบว่าบ้านวังปาโท่นี้เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการตั้งหน่วยทหารขนาดย่อม อาจจะเป็นที่ตั้งของพวกลาดตระเวณ หรือพวกด่านหน้าเฝ้าระวังในยุคที่ยังมีการรบระหว่างไทยกับพม่า   ซึ่งก็มีสิ่งที่พอจะสนับสนุนอยู่ คือพบว่ามีพื้นที่ๆมีหลุมเป็นวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5+ เมตร ยกขอบสูงประมาณครึ่งเมตร ในหลุมนั้นก็พบสิ่งของที่ใช้ในทางการทหารหลายอย่างเลยทีเดียว 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ก.พ. 19, 19:06
ชาวบ้านวังปาโท่เป็นผู้คนที่มีต้นตะกูล/ถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในพื้นที่ อ.แม่สอด (หรือ อุตรดิตถ์ ? จำได้ไม่แม่นเสียแล้ว) มีอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน ผมไม่ได้ซักถามโดยละเอียดถึงที่มาที่ไปว่าเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่เมื่อใด ก็เข้าใจเอาเองว่าคงจะเข้ามาตั้งบ้านเรือนในยุคที่มีการให้สัมปทานการทำไม้ในพื้นที่ป่าด้านเหนือของพื้นที่ราบห้วยเขย่ง  ในภายหลัง(ณ ขณะนั้น) ก็มีคนอีสานจาก จ.ชัยภูมิ ย้ายมาตั้งบ้านเรือนอยู่ด้วย 2-3 คน ทำมาหากินกับการจับปลาในบริเวณที่เป็นวังน้ำของแควน้อย(น้ำลึก) 

ได้พบคนแต่งกายแบบพม่า ใช้งอบทรงหมวกกุยเล้ยใบเล็กของจีน เชื้อสายไทย-ลาวที่พูดภาษาไทยแบบใช้สรรพนามเรียกต้นเองว่า ข้อย
เข้ามารับจ้างทำงานอยู่ในพื้นที่ มีบ้านเรือนอยู่ในเขตประเทศพม่า พวกนี้รู้ประวัติตนเองว่าเป็นคนไทย/ลาวที่ถูกต้อน(หรืออพยพ)ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ต่างๆในเขตพม่าเป็นจำนวนหลายหมู่บ้าน ก็คงเป็นข้อมูลที่จับต้องได้ของเรื่องราวในสมัยอยุธยาต้น (?) ต่อเนื่องจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ก่อนที่จะมีการเสียดินแดน   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ก.พ. 19, 20:17
เราคงจะจัดให้ชาวบ้านวังปาโท่เป็นผู้คนพวกรักความสงบ ใช้ชีวิตเรียบง่ายและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  หมู่บ้านร่มรื่นไปด้วยร่มไม้ แต่ละบ้านมีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ เช่น กุหลาบพวง (กุหลาบป่าสายพันธุหนึ่ง ใบและกลีบดอกเอามากินแนมกับลาบหรือน้ำพริกได้) ต้นโกสนสายพันธุ์เก่าใบเล็กเป็นเกลียวและพันธุ์ใบใหญ่ (ใบแฮ่ม_เอามากินสดแนมกับลาบได้ เอามาเป็นผักผัดกับเนื้อสัตว์ก็ได้)

ที่ผมชื่นชมพวกเขาก็คือ การพยายามอนุรักษ์สถานที่ๆมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ดังเช่นเรื่องแอ่ง(หลุม)วงกลมที่ได้เล่ามา    (ในแอ่งวงกลมนี้ได้พบใหวางแบบตั้งหลายใบ มีกรวดแม่น้ำก้อนขนาดประมาณกำปั้นมือ 2 ก้อนวางทับอยู่บนปากให  พบเศษถ้วยชามลวดลายและสีสรรแบบศิลาดล พบอุปกรณ์เครื่องประกอบของเชี่ยนหมาก (เช่นเบ้าใส่ปูนสำหรับทาใบพลู) พบดาบ พบโกลนม้า เหล่านี้เป็นต้น)   ชาวบ้านจะไม่บอกเล่าให้คนแปลกหน้าฟัง ไม่บอกสถานที่ และไม่พาไป   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.พ. 19, 20:37
จากบ้านวังปาโท่ไประยะหนึ่งก็จะเข้าเขตชุมขนตัวเมือง อ.สังขละบุรี    ในครั้ง พ.ศ.2520+นั้น สังขละบุรีมีสภาพเป็นชุมชนขนาดเล็กมาก มีชุมชนแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มคนเชื้อชาติกะเหรี่ยง อาศัยอยู่ในบ้านเรือนที่ทำด้วยไม้จริง (มิใช่บ้านที่สร้างด้วยไม้ไผ่) ในแต่ละบ้านมีรูปของพระสุวรรณคีรีแขวนอยู่ เมื่อสอบถามก็ได้ความว่า เป็นกลุ่มคนที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพระสุวรรณคีรี สืบต่อตกทอดต่อๆกันมาจนในปัจจุบัน พระสุวรรณคีรีผู้นี้เป็นชาวกะเหรี่ยงที่ ร.5 ท่านได้ทรงตั้งให้เป็นหัวหน้าชุมชนส่วนหน้าของไทยในพื้นที่ชายแดนต่อกับพม่า   กลุ่มคนอีกลุ่มคือพวกคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกที่ทำงานทางราชการ  และอีกกลุ่มหนึ่งก็จะเป็นพวกชาวบ้านที่เป็นคนไทย กลุ่มนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ทุ่งมาลัย ห่างจากตัวอำเภอไปสองสามกิโลเมตร มีอาชีพทำไร่ ทำสวน และเลี้ยงสัตว์(โดยเฉพาะว้ว)   

ในปัจจุบัน เมื่อน้ำในอ่างน้ำของเขื่อนศรีนครินทร์ได้ท่วมพื้นที่ตั้งของตัวอำเภอดั้งเดิม ได้มีการย้ายที่ตั้งตัวอำเภอใหม่ และมีการย้ายวัดของหลวงพ่ออุตตมะ ผู้คนของ อ.สังขละบุรี ก็ได้เปลียนไปเป็นพวกเชื้อสายมอญเป็นจำนวนมากขึ้น   ผมห่างเหินกับพื้นที่นี้มานานจนไม่เหลือความรู้เลยว่าพวกชาวกะเหรี่ยงลูกหลานของพระสุวรรณคีรีเหล่านั้นได้โยกย้ายกระจายไปอยู่ที่ใดกันบ้าง   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.พ. 19, 20:16
เรื่องหนึ่งที่ได้เห็นในตัว อ.สังขละบุรี คือ ตอนเย็นๆจะมีแม่ค้าหาบผักสดมาขายตามบ้าน ส่วนของสดพวกเนื้อสัตว์นั้น ก็จะว่ากันเป็นวันๆไป อาจจะมีหรือไม่มีก็ไม่มีใครรู้ได้ แล้วก็ยังไม่รู้อีกด้วยว่าจะขายที่จุดใหนและเวลาใหน  เมื่อเดินทางเข้าไปทำงานในพื้นที่จึงต้องมีความพร้อมเสมอ  บ้านที่ขายของก็จะมีแต่พวกเครื่องกระป๋องเล็กๆน้อยๆ นอกนั้นก็จะเป็นของใช้เสียเกือบทั้งหมด ครับ อดเอาง่ายๆเลย

ภาพเช่นนี้ผมเห็นอีกแห่งหนึ่งที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก  ซึ่งที่นี่ดูจะหนักกว่าที่สังขละบุรีเสียอีก คือยู่ในลักษณะใกล้จะไม่มีอะไรเลย   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.พ. 19, 20:35
เส้นทางถนนต่อจากสังขละบุรี จะผ่าเข้าเขตพม่าซึ่งเป็นพื้นที่ๆมีขอบเขตคล้ายคล้ายปากนกแก้ว เป็นที่ตั้งของทหารมอญ และแหล่งทำการของพวกมอญอิสระ (หากความจำยังถูกต้อง เรียกว่า รัฐมะลิวัลย์) ก่อนที่จะกลับเข้าเขตไทยแ้ล้วไต่เส้นพรมแดนไปยังพระเจดีย์สามองค์  ระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 27 กม. ใช้เวลาเดินทางในหน้าแล้งประมาณ 3+/- ชั่วโมง ส่วนในฤดูฝนนั้นมิอาจคาดเดาเวลาได้


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.พ. 19, 19:10
แแต่ก่อนนั้น เจดีย์สามองค์เป็นจุดส่งต่อสินค้าที่เป็นที่ต้องการอย่างมากๆของผู้คนในพม่า มีโกดังสองชั้นที่สร้างด้วยไม้ (ขนาดประมาณ 3 คูหา) อยู่ 1 หลัง  มีรถสิบล้อหรือรถบรรทุกสองเพลาบรรทุกสิ่งของเต็มกระบะวิ่งส่งของไปสต๊อกไว้ เมื่อเข้าสู่ปลายฝนก็จะเริ่มเห็นมีวิ่งกัน เพื่อทะยอยขนของที่ขนมาทางเรือในช่วงฤดูฝน มาสต๊อกไว้กลางทางที่ อ.ทองผาภูมิ    เมื่อแล้งจัดก็อาจจะพบการขนของไปจากตัว จ.กาญจนบุรี หรือจาก อ.บ้านโป่ง

สินค้าหลักๆก็คือ หัวจักรเย็บผ้า ชิ้นส่วนรถจักรยานทั้งแบบเอาไปประกอบเองหรือประกอบเรียนร้อยแล้ว โสร่งสำหรับใส่นุ่งห่ม ผงชูรส นมข้นหวานกระป๋อง ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ขนาดใหญ่ (เช่น เพลาท้าย) และอะไหล่ต่างๆ  ของใช้จำเป็นและเครื่องสวยงามของสตรี เป็นต้น   

สินค้าเหล่านี้จะทะยอยขนเข้าเขตพม่าผ่านหน้าเจดีย์สามองค์ ขนด้วยคาราวานเกวียนเทียมวัว       


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.พ. 19, 19:34
ก็คงจะพอจินตนาการได้นะครับ ถึงความขาดแคลนในพม่าในสมัยที่มีความขัดแย้งกันทางอำนาจและการปกครอง

  หัวจักรเย็บผ้านั้น จัดเป็นทรัพย์สินที่มีค่าของครัวเรือนต่างๆ ใช้ตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มต่างๆ 
  รถจักรยาน เป็นสิ่งอำนวยความสะดวก ช่วยให้เพิ่มมีมากขึ้น
  โสร่ง เป็นปัจจัยสี่รูปแบบหนึ่งของเขาที่จำเป็นต้องมีใช้
  ผงชูรสนั้น นอกจากจะใช้ทำอาหารแล้ว ยังใช้ในยุทธบริภัณฑ์ทางการแพทย์
  นมข้นหวาน อันนี้เป็นเรื่องของความเพิ่มความสุขให้กับชีวิต  พม่าชาวบ้านป่าจะเอาน้ำมันใส่กระทะ เทนมข้นหวานลงไป คนให้เข้ากันบนเตาไฟร้อน กินเป็นของหวาน
  ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ ที่เห็นรถรุ่นสงครามโลกยังวิ่งอยู่ได้ก็นี่แหละ
  ข้าวของเครื่องใช้ของสตรี จะมีอะไรบ้างก็ที่ทราบๆกันอยู่แล้ว


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.พ. 19, 18:37
อ่านย้อนกลับไป ได้พบว่ากล่าวถึงชื่อ พระสุวรรณคีรี   ชื่อคุณพระนี้ตกไปคำหนึ่ง ชื่อที่ถูกต้องคือ พระศรีสุวรรณคีรี  รายละเอียดเพิ่มเติมหาอ่านได้ที่   
http://rehmonnya.org/blog/wearcadi/Wat%20Sanehpong.html (http://rehmonnya.org/blog/wearcadi/Wat%20Sanehpong.html)


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.พ. 19, 20:27
ผมมีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่า พื้นที่ด้านตะวันตกของถนนพหลโยธิน (กรุงเทพฯ-เชียงราย) จะเป็นพื้นที่ๆมีเรื่องเล่าและวัตถุทางรูปธรรมและนามธรรมที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของไทยเราค่อนข้างมาก (interconnected) ซึ่งในองค์รวมดูจะอยู่ในรูปของ defensive  ต่างกับอีกฟากหนึ่งซึ่งเรื่องราวดูจะอยู่ในรูปของ offensive   

ผมสนใจประวัติศาสตร์ในเชิงที่เป็นความรอบรู้อีกมุมหนึ่ง คือนำข้อสังเกตที่ได้จากชื่อสถานที่ ประเพณีวัฒนธรรม ค่านิยมบางอย่าง อาหารและการปรุง ... ที่ดูไม่ค่อยจะเหมือนกับใครอื่นในถิ่นนั้นๆ นำไปสอบถามพูดคุยกับชาวบ้านที่เป็นชาวบ้านแท้ๆ โดยเฉพาะพวกพ่อแก่แม่เฒ่าที่นำของมาขายในตลาดเช้าชุมชน บางทีก็ทำให้เราได้รู้ถึงอะไรๆที่เป็นเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยเสริมเพิ่มพูนได้อีกมากมายเลยทีเดียว


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.พ. 19, 19:19
สังขละบุรีเป็นพื้นที่ๆ แม่น้ำบีคลี่ ซองการเลีย และรันตี ไหลมาบรรจบรวมกันเป็นแม่น้ำแควน้อย   แม่น้ำบีคลี่นั้นจะไหลขึ้นเหนือในหุบร่องเขาทางตะวันออกของเทือกเขาตะนาวศรี(ทางตะวันตก) เป็นสายน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำลึกและมากตลอดปี  ผมเคยเดินเลาะไปตามตลิ่งเข้าไปทำงานในห้วยนี้ (ค่อนข้างลึก)  พบว่าเป็นพื้นที่ๆเงียบสงบ ชุ่มชื้น ร่มเย็นไปด้วยไม้ใหญ่ จัดได้ว่าเป็นพื้นที่ธรรมชาติที่เกือบจะไม่แปดเปื้อนกับการกระทำใดๆจากฝีมือมนุษย์เลย 

แม่น้ำซองกาเลียไหลจากเหนือลงใต้ ส่วนแม่น้ำรันตีนั้นไหลจากตะออกไปทางตะวันตก ทั้งสองแม่น้ำนี้มีน้ำไหลตลอดปีเช่นกันแต่มีขนาดเล็กและตื้น(ประมาณเอว แม่น้ำบีคลี่นั้นลึกท่วมหัว)


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.พ. 19, 20:05
ยังมีอีกชื่อหนึ่งในพื้นที่ของ อ.สังขละบุรี ที่มีการกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ คือ ท่าดินแดง ผู้ที่เรียนมาทางประวัติศาสตร์น่าจะต้องรู้จักชื่อนี้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะเป็นสงครามเล็กๆหลังจากสงครามเก้าทัพ แต่ก็ดูจะเป็นสงครามที่ส่งผลให้พม่ายุติการส่งกองทัพมารุกไทยตลอดมา แล้วก็ดูจะเป็นผลให้เกิดเขตแดนไทยกับพม่าที่ชัดเจนและถาวรขึ้นที่บริเวณเจดีย์สามองค์

บริเวณที่เรียกว่าท่าดินแดงนั้น เมื่อครั้งที่ผมยังทำงานอยู่ (ประมาณ 20 ปีมาแล้ว) เป็นป่าที่เป็นดงไผ่ (ชัฎป่าไผ่) เดินเข้าไปทำงานไม่ใหว

ที่เรียกชื่อว่าท่าดินแดงในบันทึกทางประวัติศาสตร์นั้น ในองค์รวมแล้วน่าจะหมายถึงพื้นที่ค่อนข้างราบที่อยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำแควน้อยทางใต้ที่ตั้งตัว อ.สังขละบุรี  เป็นพื้นที่บ้านเกริงกราเวีย บ้านวังปาโท่ เจดีย์บุอ่อง และพื้นที่ด้านเหนือของบ้านห้วยเขย่ง

ชื่อท่าดินแดงน่าจะมาจากสีของชั้นดินที่ออกสี maroon สีแดง และเหลือง ที่พบอยู่ในพื้นที่บ้านเกริงกราเวีย (ตามเส้นทางรถจาก อ.ทองผาภูมิ ก่อนจะเข้าพื้นที่ตัวหมู่บ้าน)   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.พ. 19, 20:22
ที่บ้านเกริงกราเวีย มีแอ่งน้ำที่เกิดจากหลุมยุบ (sink hole) แล้วก็มีแร่ตะกั่วชนิดหนึ่งที่พบอยู่ใต้พื้นดิน (ที่ความลึกประมาณ 3 ม.)  จะพบว่ามีการขุดหลุมเป็นหลุมแฝด เอาแร่ซึ่งลักษณะแต่ละก้อนแบน ขนาดประมาณกล่องไม้ขีด ขึ้นมาหลอมในภาชนะเหล็กด้วยความร้อนจากไม้ไผ่ ก็จะได้ตะกั่วเอาไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ทำลูกปืน  ซึ่งในสมัยสงครามเก้าทัพนั้น่าจะมีการใช้ปืนดินดำกันบ้างเป็นบางส่วน

หากขึ้นเขาชันทางด้านตะวันออกของหมู่บ้าน ก็จะเข้าพื้นที่ๆมีการทำเหมืองแร่ตะกั่ว (บ่อน้อย และสองท่อ)   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.พ. 19, 19:04
กล่าวถึงปืนดินดำ หากเป็นแบบชาวบ้านทำเองในสมัยหลังๆปืนนั้นก็จะเรียกว่าปืนแก็ป  ดินดำที่เป็นดินปืนของชาวบ้านนั้น เขาจะใช้ถ่านที่ได้จากการเผาไม้แจง(ต้นแจง)  ต้นแจงนี้ ผมไม่เคยเห็นต้นขนาดใหญ่ เคยเห็นแต่ต้นขนาดเล็กในพื้นที่ราบของห้วยเขย่งและบนเส้นทางขึ้นเหมืองปิล็อก 

คิดเลยไปได้ใหมว่า ถ้าพบต้นแจงเล็กๆในพื้นที่แต่ไม่พบต้นใหญ่เลย ก็พอจะเป็นสิ่งเล็กๆน้อยที่จะบ่งชี้ว่าในสมัยสงครามนั้น มีการใช้ปืนและมันได้ถูกตัดไปใช้ทำดินดำเป็นจำนวนมาก


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.พ. 19, 19:33
เดินไปทางทิศตะวันออกของบ้านเกริงกราเวีย ก็จะขึ้นไหล่เขาสูงชันเข้าสู่ที่ราบแคบๆบนเขา อาจจะเป็นจุดที่ในปัจจุบันเรียกว่าเนินสวรรค์และบ่อน้อย หรืออาจจะเป็นจุดที่เป็นแอ่งมีเขาล้อมรอบที่เรียกว่าหนันยะ ซึ่งเดินต่อไปทางตะวันออกก็จะผ่านช่องเขา (ที่เรียกว่าช่องแคบหนันยะ) แล้วลงสู่แม่น้ำแควใหญ่เข้าสู่เขต อ.ศรีสวัสดิ์ (เดิม) ที่ถูกน้ำของเขื่อนเจ้าเณรท่วมไปแล้ว  อำเภอนี้ก็เลยต้องเป็นที่ตั้งของด่านทางการทหารและความมั่นคง เพราะเมื่อผ่านพื้นที่นี้ไปแล้วก็สามารถจะลงแพไปตามลำน้ำแควใหญ่ไปถึงที่ราบทุ่งลาดหญ้าโดยสะดวก หรือแยกย้ายกันเดินลัดเลาะไปตามช่องเขาลงสู่พื้นที่ราบในพื้นที่ทางตะวันตกของ จ.กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.พ. 19, 19:00
ทำให้นึกถึงเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับงานศพ   ท่านที่ออกต่างจังหวัดน่าจะเคยได้ยินเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการจัดงานศพของชาวบ้าน เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายของคนที่อยู่ในตัวเมือง แล้วเราก็มักจะตำหนิเขาว่า จะต้องไปทำอะไรให้มันเสียเงินเสียทองไปมากมายขนาดนั้น ถึงขนาดงานหนึ่งๆจะต้องล้มหมูล้มวัวกันเป็นตัวๆ เลี้ยงกันกินกันทั้งวันทั้งคืนต่อเนื่องกันหลายวัน  เรียกว่าเกือบจะหมดเนื้อหมดตัวกันเลยทีเดียว   ผมได้สัมผัสกับงานประเภทนี้ในหลายพื้นที่ชนบท รวมทั้งที่ชาวเผ่าเขาทำกันด้วย ก็เลยพอมีความเข้าใจ ซึ่งก็พอจะอธิบายขยายความได้ดังนี้

เมื่อมีผู้เสียชีวิต เขาจะตั้งศพที่บ้าน ไม่เอาไปไว้ที่วัดดังที่เราทำกัน เหตุผลที่สำคัญแต่ดั้งเดิมก็คือไม่มีวัด หรือไม่มีศาลาวัด หรือไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่วัด ...   การไว้ที่บ้านทำให้เขาสามารถต้อนรับขับสู้ญาติโยมที่มาจากต่างถิ่นได้สะดวกกว่า เช่น พอที่จะจัดเป็นพักพิงพักผ่อนได้บ้าง เพราะว่าในพื้นที่ชุมชนชนบทเหล่านั้นไม่มีโรงแรมหรือที่พักแรมอื่นใด   

 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.พ. 19, 19:38
ชาวบ้านโดยทั่วไปจะประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับด้านเกษตรกรรม ซึ่งเป็นงานที่องค์ประกอบทางกิจกรรมต่างๆขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ซึ่งกำหนดเวลาตายตัวไม่ได้  ทำให้เวลาของการออกเดินทางและเวลามาถึงงานศพก็ไม่สามารถกำหนดได้เช่นกัน ยังให้มาถึงงานได้ทุกเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน เมื่อเขาเดินทางมาจากถิ่นไกล ต่างอำเภอ ต่างจังหวัด มาถึงงาน เจ้าบ้านก็ต้องต้อนรับ หุงหาอาหารให้กิน ชุดหนึ่งมากินกัน นั่งเป็นสำรับยังไม่ทันจบ ชุดใหม่ก็มาอีกอาจรวมสำรับก็ได้ หรือไม่ก็ต้องตั้งสำรับใหม่  อาหารที่ดีที่สุดและประหยัดที่สุดในกรณีเช่นนี้ก็คือ พวกต้ม ย่าง และลาบ ซึ่งเป็นเมนูเนื้อสัตว์ เมนูผักก็จะมีก็มีน้ำพริกแนมด้วยผักสด ส่วนข้าวนั้นจะเป็นข้าวเหนียวหรือข้าวเจ้าก็ได้ 

ด้วยภาพดังกล่าวนี้ แล้วจะเลือกใช้เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว หรือเนื้อปลา อย่างใดจะประหยัดกว่ากัน  แถมจะไปซื้อในตลาดสดหรือจะชำแหละ ใหนจะถูกกว่ากัน  ก็คงจะหนีไม่พ้นที่จะเลือกล้มวัวหากแขกไม่มากนัก หรือล้มวัวหากมีแขกเยอะ   แถมล้มเองก็ยังได้เครื่องในอีกด้วย   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.พ. 19, 19:34
เมื่อมีคนตาย ชาวบ้านในหมู่บ้านก็จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ก็มีทั้งการช่วยด้วยแรงกาย ช่วยด้วยการให้สิ่งของ หรือการช่วยด้วยเงิน   

ด้านการช่วยด้วยแรงกายนั้น ส่วนมากจะเป็นเรื่องของฝ่ายแม่บ้าน ก็มีตั้งแต่เรื่องของการทำครัว ช่วยกันเตรียมเครื่องใช้ในการประกอบพิธีต่างๆ... ซึ่งส่วนมากจะเป็นเรื่องของงานที่ทำกันในเวลากลางวัน   ที่ดูจะไม่ค่อยเป็นที่รู้กันก็คือ ในด้านของฝ่ายชาย เขามีการจัดเวร จัดเป็นหมวดเวรเฝ้าศพสำหรับแต่ละคืนก่อนจถถึงวันฌาปนกิจ ซึ่งโดยทั่วๆไปก็จะประมาณ 3-4 คืน  ในพื้นที่ภาคกลางของเรา งานเช่นนี้มักจะถูกเรียกชื่อให้ดูดีว่า ไปนอนเป็นเพื่อนศพ   แท้จริงแล้ว จุดประสงค์จริงๆก็คือไปนอนเป็นเพื่อนเจ้าบ้านที่อยู่ร่วมเตียงร่วมชายคากับผู้ตาย ช่วยเจ้าบ้านดูแลรับแขกที่มาจากแดนไกลซึ่งเดินทางมาถึงในเวลาดึกดื่น  และช่วยเป็นหูเป็นตา เป็นยามดูและทรัพย์สินของเจ้าบ้าน เนื่องจากบ้านจะต้องเปิดประตูบ้านตลอดวันทั้งคืน   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 19, 18:33
พวกที่ช่วยด้วยของ ส่วนมากก็จะเป็นพวกพืชผักต่างๆ ในทางภาคเหนือก็จะมีขนุนอ่อน ฟักหรือแฟง ผักกาดดอก(ผักกาดจอ)   ขนุนอ่อนนั้นจะเอามาต้มทำเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือเอามาทำเป็นแกงขนุน หรือทำเป็นยำขนุน    ฟักหรือแฟงนั้นจะเอามาต้มกับกระดูกหมูและเนื้อส่วนที่ต้องเคี่ยว ทำเป็นต้มจืดหม้อใหญ่ๆ  ผักกาดดอกนั้นก็เอามาต้มจิ้มน้ำพริกหรือทำเป็นต้มจอผักกาด   เหล่านี้เป็นเมนูที่จะทำทิ้งไว้บนเตา รวมทั้งหม้อต้มบรรดาเครื่องในหมูหรือเครื่องในวัวที่จะต้มก้บข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ต้มให้ออกรสเค็มด้วยเกลือเม็ด     สำหรับส่วนที่เป็นเนื้อนั้นจะพยายามเก็บเป็นเนื้อสด เพื่อจะได้นำไปย่าง ทำลาบ หรืออื่นใดตามแต่ที่แขกจะนึกอยาก

แท้จริงแล้วเมนูอาหารในรูปแบบนี้มีการใช้กันโดยทั่วไปในทุกภาค 

เมื่อทำการฆ่าและชำแหละสัตว์นั้น ในภาคเหนือและอิสานดูจะมีความเหมือนกันอยู่เรื่องหนึ่ง คือ เก็บเลือด  ขี้เพี้ยและถุงน้ำดีของวัว  สำหรับเลือดนั้นก็จะเอาไปคั้นกับใบตะไคร้เพื่อไม่ให้เลือดจับตัวเป็นก้อนและช่วยลดตาว เพื่อใช้ผสมลงในลาบดิบ ซกเล็ก หรือหลู้    ในภาคเหนือนั้นเขาจะแยกเลือดหมูส่วนหนึ่ง ปล่อยให้จับตัวเป็นก้อน และแยกส่วนที่เป็นซี่โครงอ่อนของหมูเก็บไว้ เอาไว้ทำขนมจีนน้ำเงี้ยวเลี้ยงผู้ที่มางานเผาเมื่อการเผาเสร็จสมบูรณ์แล้ว 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 19, 18:50
ขี้เพี้ย คืออาหารที่มีการย่อยแล้วบางส่วน (ผสมกับน้ำดีแล้ว) พบอยู่ในลำใส้เล็กตอนต้นๆใกล้กับกระเพาะอาหาร  ขี้เพี้ยที่ดีจะต้องออกสีเขียวอ่อนๆ มีเนื้อละเอียดพอสมควร และจะมีรสที่ดีมากเมื่อสัตว์นั้นๆได้กินพวกใบไม้หรือผลไม้ที่ออกรสเปรี้ยว ขี้เพี้ยนั้นส่วนมากจะเอามาใส่ในแกง(ต้มเครื่องใน หรือต้มเนื้อ) 

น้ำดีนั้น ชาวบ้านนิยมจะใส่ในลาบดิบให้ออกรสขม แต่ก็มีที่นิยมใส่ในต้มเนื้อที่เรียกกันว่าต้มขม แล้วก็มีที่นิยมทำน้ำปลาพริกป่น ใส่ข้าวคั่ว แล้วเหยาะด้วยน้ำดี ใช้สำหรับจิ้มเนื้อย่างน้ำตก 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 19, 19:11
ในปัจจุบันนี้ พอจะได้เห็นมีพัฒนาการบางอย่างเกิดขึ้น คือ แต่ก่อนนั้น ผู้หญิงที่ไปงานในวันเผาศพจะแต่งกายด้วยเสื้อสีขาวนุ่งโสร่งสีดำ ในปัจจุบันนี้เริ่มเห็นมีการแต่งสีดำทั้งชุดมากขึ้น   สำหรับฝ่ายชายนั้น แต่ก่อนมักจะเห็นคนที่ฉ่ำไปด้วยเหล้าในระหว่างการชะแหละหมูหรือวัว  และมีตั้งวงก๊งเหล้าหรือเล่นการพนันตอนกลางคืนช่วงนอนเป็นเพื่อนศพ  เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นแล้ว นอนเฝ้าศพก็กลายเป็นนั่งคุยกันเรื่องการทำมาหากิน จากกินเหล้าก็กลายเป็นนั่งแทะเมล็ดทานตะวันกับน้ำหรือน้ำหวาน ท้องกางกันถ้วนหน้า   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.พ. 19, 18:42
ในความเห็นของคนในเมืองคนในเมือง ค่าใช้จ่ายดังที่เล่ามาอาจจะดูว่าก็ไม่ได้มากนัก แต่สำหรับชาวบ้านนั้นจัดว่ามาก มักจะไปถึงระดับที่ต้องขายทรัพย์สินบางอย่างเลยทีเดียว หรือไม่ก็กลายไปเป็นลูกหนี้นอกระบบ 

แล้วเงินช่วยเหลืองานจะมีส่วนช่วยอะไรได้บ้าง  ในสมัยก่อนเมื่อครั้งค่าแรงงานต่อวันประมาณ 20 บาท ก็จะช่วยงานโดยใช้ธนบัตรใบเล็กที่สุด 5 บาท ก็ดูดีที่จะปรากฎให้เห็นอยู่ในตู้กระจกที่วางรับเงินช่วยอยู่หน้าศพ สมัยนั้นเมื่อครั้งใช้เงินไม่เกิน 2 บาทก็สามารถจะอิ่มแบบแน่นท้องได้แล้ว    ในปัจจุบันค่าแรงประมาณ 300 บาทต่อวัน แต่ค่าครองชีพในแต่ละวันสูงมาก ธนบัตรใบเล็กที่สุด 20 บาทที่หย่อนใส่ตู้ลงไปก็ยังส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายต่างๆ   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 19, 19:53
ในสมัยก่อน ที่คุณตั้งไปบุกป่าฝ่าดงอยู่     ครอบครัวหนึ่งใช้เงินประมาณเดือนละเท่าไรคะ
หมายความว่าเขาต้องหาเงินได้เดือนละเท่าไร จึงจะพอใช้ในบ้านที่มีคนอยู่ประมาณ 5-6 คน


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 25 ก.พ. 19, 20:31
สมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าไช้ ต้องดื่มเหล้าเพื่อย้อมใจกันด้วยไหมครับ โลงศพตั้งอยู่ภายในเขตบ้าน ส่วนวงเหล้าก็อยู่แถวๆ นั้นแหละ ฟอร์มารีนก็ไม่มีฉีด ถ้าเป็นหน้าฝนก็เผาศพกลางแจ้งลำบากอีก จะฝังก็ไม่มีที่และไม่นิยมกันแล้ว บางทีอาจต้องเก็บไว้หน้าหนาวหรือหน้าร้อนโน่น คนแถวบ้านเคยเล่าให้ฟังประมาณนี้ครับ แต่พอมาถึงเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติผมก็เผ่นทันที  :-\


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.พ. 19, 20:43
ผมไม่มีข้อมูลที่แท้จริงครับ  เอาเป็นว่าเมื่อสมัยเรียนอยู่ที่ ชม.นั้น นักศึกษาจะได้รับค่าใช้จ่ายจากทางบ้านประมาณเดือนละ 500-800 บาท คิดเป็นปีรวมที่หมดในกระบวนการเรียนก็คงอยู่ประมาณ 12,000 กระมัง   ชาวบ้านโดยทั่วไปมีรายรับเป็นรายปีจากการขายผลผลิตทางการเกษตร เทียบดูก็น่าจะอยู่ในหลักพันบาทต้นๆต่อปี พวกที่อยู่ใกล้เมืองหรือใกล้แหล่งน้ำก็จะมีรายได้มากกว่าชาวบ้านทั่วๆไป และอาจจะมีมากได้ถึงระดับรวยเลยทีเดียว หากเป็นการทำสวนมะพร้าว สวนสับปะรด สวนลำไย สวนมะม่วงอกร่อง ....    

ชาวบ้านป่าจริงๆที่เคยสัมผัสด้วยนั้น น่าจะมีรายได้น้อยกว่า 1000 บาทต่อปี   การปลูกข้าว ก็เอาไว้กินเอง  การปลูกข้าวโพด ก็เอาไว้เลี้ยงไก่  มีการปลูกละหุ่ง บ้านหนึ่งก็ไม่เกิน 20 ต้น อันนี้ขายเม็ดได้   มีการปลูต้นนุ่น ก็ไม่เกิน 20 ต้นเช่นกัน อันนี้ก็ขายได้   มีการปลูกงา ก็เอาไปขายเช่นกัน  รายได้อื่นๆก็คือการเก็บของป่าไปขาย เช่น ไม้เกี๊ยะ (เอาไว้จุดไฟ) พวกเถาสมุนไพรต่างๆ (ม้ากระทืบโรง ฮ่อตะพายควาย กำแพงเจ็ดชั้น ...)  สัตว์ป่าบางชนิด (ตะพาบน้ำ ปลาคัง เก้ง กวาง อ้น ...)  อีกรายได้หนึ่งที่ได้มากหน่อยก็คือรับจ้างเป็นคนนำทางและทำงานกับพวกทำไม้    


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.พ. 19, 18:57
จึงคงจะไม่แปลกนักที่ชาวบ้านในสมัยนั้นจะแบกปืนแก็บเข้าป่าเพื่อหาอาหารมาตุนไว้สำหรับครอบครัว การล่าสัตว์ส่วนมากจะเน้นไปที่ไก่ป่า เก้ง และอีเห็น นอกจากนั้นก็จะเป็นพวกสัตว์กินรากไม้ เม่น และอ้น สัตว์ขนาดใหญ่กว่านั้นเช่น หมูป่า ก็เมื่อมีความตั้งใจจริงๆ เพราะเป็นการล่าที่จัดว่ามีความอันตรายค่อนข้างมาก  กวาง ก็ดูจะไม่เป็นที่นิยมล่าของชาวบ้านป่า สัตว์ขนาดใหญ่จริงๆเช่นกระทิง วัวแดง ช้าง และเสือ ก็ไม่เป็นที่นิยมล่ากัน ก็อาจจะเป็นเพราะว่าปืนมีขนาดเล็กเกินไป การล่าสัตว์ใหญ่พวกนี้ส่วนมากจะเป็นพวกพรานชาวกรุง มีชาวบ้านเป็นผู้นำทาง แล้วก็จะได้บรรดาเนื้อที่พรานชาวเมืองเหล่านั้นเขาไม่เอาออกจากป่ากลับบ้าน 

ก็มีที่ชาวบ้านที่มีอาชีพหาชิ้นส่วนของสัตว์ใหญ่ไปขายอยู่แต่มีน้อยคนมาก เช่น การล่าเอาหัวกระทิงทั้งเขาขายให้แก่ผู้นิยมเอาไปติดโชว์ในบ้าน การล่าเลียงผาเพื่อเอาไปขายให้กับพวกที่ทำน้ำมันเลียงผา  เขากวางก็เช่นเดียวกับกระทิง เขี้ยวหมู หากเป็นเขี้ยวตันก็จะได้ราคาสูงเอาไปทำเครื่องลางของขลัง งาช้าง เหล่านี้เป็นต้น    สำหรับเสือนั้น พวกพรานชาวบ้านเขาจะยิงกระทิงหรือกวางทิ้งไว้เป็นเหยื่อล่อเสือ เสือนั้นขายได้ทั้งตัวยกเว้นเนื้อ มีราคาค่อนข้างสูงมาก ในสมัยนั้น หัว+กะโหลก+กระดูก+หนัง มีราคาประมาณหมื่นบาทหรือกว่านั้น เนื้อเสือและส่วนที่เป็นมันใต้หนัง เอามาเคี่ยวแล้วแยกเอามันออกไปทำเป็นน้ำมันเสือ ขายให้กับพวกที่เลี้ยงไก่ชนและพวกที่ใช้ตะเกียงน้ำมันเสือในการสูบฝิ่น    การล่าสัตว์ใหญ่เพื่อการขายดังที่เล่ามานี้ มิได้ทำกันอย่างเป็นอาจินต์ตลอดทั้งปี ปีหนึ่งอาจจะทำเพียงครั้งเดียวหรือสองครั้งเท่านั้น เป็นลักษณะของการหารายได้ประจำปีอีกแบบหนึ่ง


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.พ. 19, 19:33
ในมุมคิดหนึ่ง การหลับตาข้างหนึ่งหรือจะทำตาพร่ามัวบ้าง ไม่ไปจับแบบเอาเป็นเอาตายกับเรื่องของปืนแก็บ มันก็อาจจะยังคงพอจะมีภาพของความสมดุลย์ดังที่เล่ามาอยู่พอสมควร เมื่อปืนแก็บเป็นปืนเถื่อน ชาวบ้านเขาก็ดิ้นรนไปหาซื้อปืนที่ถูกกฎหมาย ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นปืนลูกซองลำกล้องเดี่ยว รายที่มีอาชีพเป็นพรานป่าเขาก็ซื้อปืนลูกเดี่ยวที่เรียกกันว่าปืนไรเฟิ้ล

ปืนลูกซองมีลูกกระสุนหลายแบบ เช่น SG (ลูกเก้า) OOBuck(ลูกโดด) ประสิทธิภาพของปืนดีกว่าปืนแก็บมาก ใช้ยิงสัตว์ปีกต่างๆและสัตว์หนังบางต่างๆได้ดี ส่วนปืนไรเฟิ้ลนั้นเป็นปืนลูกเดี่ยวสำหรับใช้ยิงสัตว์ใหญ่พวกวัวแดง กระทิง ช้าง หมูป่า หมี แถมลูกปืนก็ยังมักจะใช้ร่วมกันกับทางราชการทหารได้อีกด้วย โดยเฉพาะ ขนาด 30.06 Springfield ที่ใช้กับปืน ปลยบ.88

การปิดช่องแล้วทำให้เกิดมีการใช้ประโยชน์จากปืนที่ทันสมัย ได้ทำให้เกิดการล่าที่มีประสิทธิผลมากขึ้น จากกว่าจะจัดการได้หนึ่งก็สามารถเพิ่มจำนวนได้มากตามที่ต้องการ     

ผมได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้อยู่พอสมควร เข้าไปทำงานอยู่หลายปีในพื้นที่ๆเกือบจะไม่เห็นส่วนงานใดเข้าไป เป็นพื้นที่สีชมพูหรือสีแดงที่น่ากลัว ก็เลยได้เห็นได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวชนบทและชาวบ้านป่าแบบดั้งเดิมที่ยังไม่มีการปรุงแต่งใดๆ


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.พ. 19, 18:42
ได้กล่าวถึงรายได้-รายจ่ายของชาวบ้านแล้ว ก็อยากจะขอขยายความซักสองสามเรื่องที่มีผลกระทบต่อดำรงชีพของเขา  ซึ่งเป็นเรื่องที่มีลักษณะกึ่งบังคับในทางสังคมว่าต้องทำ ดังเช่นเรื่องของงานศพที่ได้กล่าวมา 

เรื่องงานศพเป็นเรื่องในส่วนของครอบครัวก็จริง แต่หากเป็นครอบครัวที่เป็นดนดีมีคนนับถือมาก หรือมีฐานะเป็นญาติผู้ใหญ่ของชาวบ้านหลายครอบครัวในหมู่บ้านนั้นๆและในอีกหลายหมู่บ้านที่กระจายไปอยู่ทำมาหากิน ผู้ที่มาคารวะศพก็จะยิ่งมีมาก ก็คงพอจะนึกออกนะครับว่าค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเพียงใด    เป็นเรื่องปกติที่ชาวบ้านในหมู่บ้านหนึ่งๆจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวดองเป็นญาติกันทางใดทางหนึ่ง แล้วก็เป็นปกติอีกเช่นกันที่ขนาดของแต่ละหมู่บ้านที่มีความเจริญแล้วตามควร มักจะมีขนาดประมาณ 100+/- หลังคาเรือน หรือมีประมาณ 500 คนในหนึ่งหมู่บ้าน
 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.พ. 19, 19:07
เรื่องที่เกิดตามมาของแต่ละหมู่บ้านก็คือ จะมีความศรัทธาที่จะให้มีพระและมีวัดเป็นของแต่ละหมู่บ้าน  ทีนี้ก็ตามมาด้วยการสร้างถาวรวัตถุจากผฝ่ายโยมบ้าง จากฝ่ายพระบ้าง จากเพียงเพื่อให้มีตามสมควรก็กลายเป็นแบบเปรียบเทียบได้ไม่น้อยหน้ากับที่อื่นๆ  เกิดระบบช่วยกันคนละไม้ละมือ ทำกันตามวันสำคัญทางศาสนาต่างๆ  In Cash บ้าง In kind บ้าง เกิดเป็นภาษีสังคมในอีกแบบหนึ่ง ยังดีที่เป็นไปตามกำลังศรัทธาของแต่ละคน


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.พ. 19, 18:40
ก็มีรายจ่ายอีกลักษณะหนึ่งที่ชาวบ้านซึ่งยิ่งอยู่ห่างไกลมากขึ้นเพียงใดก็ยิ่งจะต้องจ่ายมากขึ้นเท่านั้น  ซึ่งก็ดูจะเป็นเรื่องของระบบการค้าตามปกติ   ในสมัยก่อนนั้น ค่าขนส่งและค่า packaging จะเป็นเรื่องหลักที่ทำให้สินค้านั้นๆมีราคาสูงกว่าตลาดในเมือง   เช่น เมื่อครั้งทำงานอยู่ในย่าน อ.ทองผาภูมิ อ.สังขละบุรี นั้น  เมื่อย่างเข้าฤดูฝน ถนนช่วง วค.กาญจนบุรี ถึงตัว อ.ไทรโยค รถจะใช้เส้นทางเกือบไม่ได้เลย ยกเว้นรถขับเคลื่อนสี่ล้อและรถป่าบางชนิดที่ไม่กลัวต่อการเดินทางผ่านเขาสามชั้น กระนั้นก็ใช้เวลาเดินทางมากกว่า 12 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง หรือข้ามวันข้ามคืนไปเลย การขนส่งต่างๆจะหันไปใช้ทางเรือ น้ำมันรถก็ไปทางเรือ ก็ใช้วิธีการบรรจุปี๊บขนาด 20 ลิตร น้ำมันรถที่ทองผาภูมิจึงมีราคาสูง แพงมาก  ผมใช้รถแลนด์โรเวอร์ ถังน้ำมันบรรจุประมาณ 70 ลิตร กินน้ำมันประมาณ 5 กิโลเมตรต่อลิตร เติมน้ำมันครั้งหนึ่งๆใช้ระหว่าง 2-3 ปี๊บ เติมได้ครั้งสองครั้งก็ต้องกลับเข้าเมือง สู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว

ในสมัยก่อนนั้น ระบบการตลาดเป็นระบบการขายส่งแบบที่มีส่วนลดที่ราคาของสิ่งของ ผนวกด้วยการยังมีน้ำใจต่อกันกับคนในอาชีพเดียวกันซึ่งจะยังผลไปในเรื่องของ market sharing   ในปัจจุบันนี้ ส่วนมากจะเปลี่ยนไปเป็นการขายส่งแบบให้ไปเอากำไรจากสินค้าที่แถมให้ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องซื้อในจำนวนหนึ่งเสียก่อน   ยังผลให้ร้านค้ารายย่อยต้องซื้อของมาในราคาเต็มของตลาด แล้วบวกราคาเป็นราคาขายให้กับชาวบ้าน  ยิ่งอยู่ไกลห่างจากปืนเที่ยงมากเท่าใดก็ยิ่งจะต้องซื้อของแพงกว่าคนในเมืองมากเท่านั้น     


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.พ. 19, 19:06
ในปัจจุบัน รายได้ของชาวบ้านดีขึ้นก็จริง แต่ด้วยระบบตลาดดังที่เล่ามา มันก็เป็นตัวถ่วงอำนาจการจับจ่ายของชาวบ้านในพื้นที่ของตนเอง  เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินอันพึงหมุนเวียนอยู่ในระบบรากหญ้าของท้องถิ่นหายไป  ชาวบ้านนิยมเข้าเมืองไปซื้อของในราคาที่ถูกกว่าตามห้างร้านต่างๆมากกว่าจะซื้อจากร้านค้าในพื้นที่ของตน   พ่อค้าแม่ขายและร้านค้าในหมู่บ้านต่างๆจึงเกือบจะไม่ค่อยได้พบเห็นกันมากนัก   เมื่อ micro entrepreneur ยังล้มลุกคลุกคลาน เกิดได้ยากแต่ตายง่าย การก้าวไปสู่ธุรกิจระดับ SME ด้วยตนเองของแต่ละชุมชนที่อยู่ห่างไกลก็ยิ่งยากตามไปด้วย เป็นเรื่องของรัฐที่จะต้องช่วยสนับสนุนและประคองตั้งแต่การตั้งไข่เอาเลยทีเดียว     


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 มี.ค. 19, 19:27
เรื่องหนึ่งที่ยังได้พบเห็นตามหมู่บ้านในชนบทคือ การเอาแรง การลงแรง หรือที่เราเรียกกันว่าการลงแขก  เรื่องนี้ไม่มีการขอร้องกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีแต่การกล่าวเปรยๆให้รู้ว่า -คิดว่าจะทำอะไรในวันใหน-   คนที่คิดว่าจะไปช่วยก็อาจจจะบอกไปเลยว่าจะไป หรือไม่ก็โผล่ไปในวันงานจริงๆเลย  พวกเขาจะจำกันได้เองว่าผู้ใดมาช่วยงานมากน้อยเพียงใด ช่วยทั้งวันหรือช่วงเวลาหนึ่ง  เมื่อถึงวาระที่จะต้องต่างตอบแทน ก็จะเป็นสนองตอบไปตามสมควรตามที่ตนเองได้รับมา    อาหารกลางวันก็ต่างคนต่างนำไปเอง แต่ก็จะเอามาวางนั่งร่วมวงกินกัน  ตกเย็นเลิกงานแล้ว ฝ่ายเจ้าของเรื่องก็มักจะจัดกับแกล้มง่ายๆ เช่นพวกปิ้งย่าง นั่งก๊งกันสองสามเป็กก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน หากเป็นงานต่อเนื่องสองสามวัน เย็นวันสุดท้ายก็อาจจะจัดอาหารหลายอย่างมากกว่าปกติ    ห้างนาหรือเถียงนา ที่เราเห็นอยู่ในพื้นที่นาต่างๆ เกือบทั้งหมดจะสร้างขึ้นมาใช้สำหรับการนั่งพักในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการลงแขก


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 มี.ค. 19, 19:38
การลงแขกยังพบได้ในพื้นที่ๆเครื่องจักรกลการเกษตรยังเข้าไม่ถึง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะชาวบ้านไม่มีทุนมากพอจะลงทุน หรือค่าว่าจ้างการใช้เครื่องจักรกลมีราคาสูง ไม่คุ้มทุนกับปริมาณงานที่จะจ้าง หรือผู้รับจ้างไม่มีอยู่ในพื้นที่หรือไม่มีช่วงเวลาเข้ามารับจ้าง ...  งานลงแขกที่ยังเห็นมีอยู่ก็มี ปลูกและเก็บเกี่ยวข้าว ปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวโพด ปลุกและเก็บเกี่ยวมันสัมปะหลัง เป็นต้น 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 19, 20:49
   ในเมื่อมีรายได้น้อยมาก    เหล้าที่นำมาเลี้ยงกัน เป็นเหล้าเถื่อนใช่ไหมคะ  หรือว่ามีแม่โขงขายกันในถิ่นนั้น


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 มี.ค. 19, 19:36
ส่วนมากจะพบว่าเหล้าแม่โขงมีขายอยู่ในละแวกพื้นที่ชุมชุนที่มีลักษณะใกล้ความเป็นเมือง เมื่อไกลออกไปนอกเมืองก็มักจะเป็นเหล้ากวางทอง และเมื่อเป็นพื้นที่หมู่บ้านชนบท ก็จะมีแต่เหล้าขาว 28 ดีกรี (เหล้าโรง)  สำหรับเหล้าแม่โขงและกวางทองนั้น ชาวบ้านนิยมเรียกว่า เหล้าสี

ที่จริงแล้วการที่จะเลือกเรียกว่าเหล้าขาวหรือเหล้าโรงนั้น มันก็มีนัยอยู่นิดหน่อยว่า เหล้าโรงจะหมายถึงเหล้าที่ผลิตโดยโรงกลั่นเหล้าในความควบคุมของรัฐ มีการเสียภาษีถูกต้อง  ส่วนเหล้าขาวนั้นจะหมายถึงเหล้าที่ทำเอง(ก็เหล้าเถื่อนนั่นแหละครับ) อีกคำหนึ่งที่ชาวบ้านใช้เรียกชื่อเหล้าที่ทำเอง คือ เหล้าต้ม หรือ เหล้าป่า โดยอาจจะมีสร้อยชื่อต่อท้ายเพื่อระบุว่าทำมากจากที่ใหนหรือใครทำ

สำหรับคำตอบที่อาจารย์สงสัยอยู่นั้น ก็คือ หากห้างนาอยู่ใกล้เขตชุมชน ก็มักจะมีเหล้าโรงตั้งไว้ขวดหนึ่ง แต่ที่บริโภคกันจนท้องร้อนฉ่านั้นจะเป็นเหล้าป่า  แต่หากอยู่กลางทุ่ง ก็จะเป็นเหล้าป่าล้วนๆ 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 มี.ค. 19, 18:53
จะขอขยายเรื่องเหล้าป่าไปอีกหน่อยนึง

จากพื้นฐานที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าน้ำเมรัยทั้งหลายนั้น พอจะแยกออกได้เป็น 3 พวก คือ
  - พวกที่ได้จากการหมักส่วนของพืชที่มีปริมาณแป้งสูงเพื่อเปลี่ยนให้เปลี่ยนไปเป็นน้ำตาล แล้วหมักต่อไปเพื่อให้เปลี่ยนจากน้ำตาลไปเป็นแอลกอฮอล์ แล้วเอามาดื่มกินกัน  ซึ่งของไทยเราที่นิยมทำกันก็คือ  สาโท และ อุ   
  - พวกที่เอาน้ำตาล(น้ำหวาน)ที่ได้โดยตรงจากพืชไปทำ ให้เกิดการหมักจนได้แอลกอฮอล์ ของเราก็คือ น้ำตาลเมา หรือกระแช่
  - พวกที่เอาน้ำหมักเหล่านั้นไปกลั่นเพื่อให้ได้ปริมาณแอลกอฮอลที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งของเราที่ได้มาก็คือ เหล้าขาวและเหล้าป่าต่างๆ

เมรัยของชาวบ้านก็มีระดับเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ (แหล่งวัตถุดิบ) และฝีมือคนทำ (การเลือกใช้วัตถุดิบ) 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 มี.ค. 19, 19:30
ในกรณีของน้ำตาลเมานั้น ความแตกต่างก็จะมาได้ทั้งจากการเลือกใช้น้ำตาลของต้นมะพร้าวหรือของต้นตาล และจากการเลือกใช้ไม้ที่จะช่วยป้องกันน้ำตาลไม่ไห้บูดและช่วยการเร่งกระบวนการ ก็มีอาทิ ไม้มะเกลือ ไม้เคี่ยม และไม้พะยอม (?)

ในกรณีของสาโทนั้น ความต่างก็มาได้จากทั้งจากการจะเลือกใช้ข้าวเนียว หรือข้าวเจ้า หรือข้าวไร่  ซึ่งข้าวเหล่านี้จะมีความแตกต่างกันในปริมาณแป้งและความหอม ต่างกันไปทั้งจากแหล่งปลูกและสายพันธุ์ข้าว  อีกทั้งลูกแป้งที่จะใช้หมักก็มีแต่ละสูตรของการทำ ก็ต่างกันไป โดยเฉพาะในเรื่องของสมุนไพรต่างๆที่นำมาผสมเข้าด้วยกัน  ไม่รวมถึงการปรุงแต่งกลิ่นของน้ำสาโทในใหหมัก เท่าที่นึกออกก็เช่น การใส่พริกแดงสดผ่าเป็นรูปดอกไม้สวยๆ และ/หรือการใส่เปลือกกล้วยหอมวางไว้ที่ผิวหน้าของสิ่งที่หมัก   และก็ไม่รวมถึงสถานที่บ่มเพาะ (ที่ซ่อน) เช่น โคนต้นไม้ใหญ่ ข้างผนังคลองส่งน้ำเข้านา  เรื่องนี้ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของอุณหภูมิที่เหมาะสมด้วย 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 มี.ค. 19, 19:44
ขอโทษเพื่อนที่เข้ามาขัดจังหวะ


ได้อ่านเรื่องเกี่ยวกับโรงเรียนของอาจารย์เทาชมพูเมื่อ 50 + ปีก่อนแล้วอยากอ่านเรื่องโรงเรียนของคุณตั้งหรือคุณ NAVARAT.C ที่เป็นโรงเรียนซึ่งสมัยก่อนชาวบ้านเรียกว่าโรงเรียนกินนอนบ้าง รู้สึกเหมือนเป็นแดนสนธยา ไม่ทราบจะมีโอกาสไหมครับ


ถ้ามีโอกาสก็เข้าไปเพิ่มเติมเสริมแต่งหน่อยนะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6984.msg167390;topicseen#msg167390


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 19, 20:09
มาฟังเป็นความรู้ค่ะ
นานหลายสิบปีมาแล้ว  เคยเห็นน้ำสีๆเหล่านี้ตั้งอยู่บนโต๊ะเล็กๆ ขายแถวชานเมือง   มีคนเดืนมาซื้อไม่ขาดสาย
ตอนแรกนึกว่าน้ำหวาน  แต่เห็นคนกินเป็นผู้ชายกันทั้งนั้น   ก็เลยหายโง่  เดาออกว่าเป็นเหล้าไทย
แต่ไม่รู้ว่าเหล้าชื่ออะไร  


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 มี.ค. 19, 19:46
สาโทนั้นมีช่วงเวลาที่นำมาดื่มได้อร่อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาว่าเชื้อยีสได้เปลี่ยนแป้งไปเป็นน้ำตาลและจากน้ำตาลไปเป็นแอลกอฮอล์ได้มากน้อยเพียงใด สาโทก็จึงมีรสได้ทั้งออกไปทางหวานและออกไปทางเปรี้ยวและขมนิดๆ จะว่าของใครทำอร่อยก็สุดแท้แต่ละบุคคลจะชอบรสชาติในแนวใด  ทั้งนี้ หากปล่อยให้หมักต่อไปเรื่อยๆมันก็จะออกรสเปรี้ยวและมีกลิ่นฉุนของแอลกอฮอล์ เรียกกันว่าเหล้าเดือน สาโทแบบนี้แหละที่เอาไปกลั่นให้ออกมาเป็นเหล้าป่า 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มี.ค. 19, 20:46
แล้วการกลั่นให้เป็นเหล้านั้นยากใหม ?    ไม่ยากเลยสำหรับชาวบ้าน แบบพื้นฐานที่สุดก็เอาปี๊บมาเจาะด้านหนึ่งให้เป็นรูพอที่จะใส่ท่อนไม้ไผ่เข้าไปได้ ตัดไม้ไผ่มา 2 ปล้อง ทะลวงข้อทำให้เป็นท่อ ผ่าปลายด้านหนึ่งไว้ให้เป็นที่รับหยดน้ำ สอดเข้าไปในปี๊บ คะเนว่าอยู่ใต้จุดที่เป็นก้นกระทะ เอาน้ำสาโทใสปี๊บแล้วตั้งบนสามขาเหนือกองไฟ เอากระทะที่ขัดจนก้นขาวนวลมาวางปิดปี๊บไว้ คะเนว่าจุดต่ำสุดของก้นกระทะอยู่เหนือกระบอกไม่ไผ่ที่ผ่ารองรับไว้นั้น (หรือปรับแต่งทั้งสองสิ่งให้ตรงกัน) เอาผ้ามาอุดไว้ตามช่องว่างต่างๆเพื่อมิให้ไอน้ำแอลกอฮอล์ระเหยหายไป เอาน้ำเย็นใส่กระทะ แล้งเอาขวดมารองรับน้ำแอลกอฮอล์ที่ปลายท่อไม้ไผ่

ตามปกติก็จะได้น้ำเหล้าประมาณ 2-3 ขวด ขวดแรกจะได้เหล้าที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงมาก ขวดที่ 3 จะเรียกว่าจืดเลยก็ว่าได้  เอาทั้ง 3 ขวดนี้มาผสมกันก็จะได้เหล้าป่าที่ต้องการ รสของเหล่าป่าแต่ละชุดที่ทำจึงมักจะไม่คงที่ ยกเว้นจะเป็นนักต้มเหล้าฝีมือดีจึงจะทำให้ได้เหล้าที่พอจะมีมาตรฐานเหมือนๆกัน 

เหล้าป่าที่ว่าดีนั้น เมื่อดื่มลงคอไปจะรู้สึกได้ว่ามันกำลังไหลลงไปถึงกระเพาะเลยทีเดียว  ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์น่าจะอยู่ที่ประมาณ 45 +/- ดีกรี  (เหล้าของฝรั่งที่ว่าดีในสมัยก่อนนั้น จะอยู่ที่ 43 ดีกรี  ในปัจจุบันนี้ทำขายกันอยู่ที่ 40 ดีกรี)


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มี.ค. 19, 18:40
แต่ก่อนนั้นมีอยู่ที่หนึ่งที่ผลิตเหล้าได้อย่างค่อนข้างจะเสรี อยู่ที่บ้านแม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่ว่าเสรีก็เพราะเส้นทางเข้าไปนั้นทุรกันดารมากจนเหล้าจากเมืองขนส่งเข้าไปไม่ได้ เจ้าหน้าที่ๆจะเดินทางเข้าไปจับเข้าไปยากมาก  ด้วยที่มันเป็นการผลิตที่เกือบจะไม่ต้องกังวลว่าจะถูกจับ มันก็เลยมีพัฒนาการในการผลิตขึ้นไปอยู่ในระดับเหล้าป่าชั้นดี ประเภท moonshine ของอเมริกาในพื้นที่แถบ Appalachian

เหล้าป่าของหมู่บ้านนี้มีความใสดั่งตาตั๊กแตน มีปริมาณแอลกอฮอลสูงพอที่จะจุดไฟติด มีกลิ่นฉุนน้อยและกลิ่นจะออกไปทองใบตองกล้วยสอ มันได้กลายเป็นเหล้าที่จะต้องซื้อไปฝากกันในหมู่นักดื่มทั้งหลาย  เหล้านี้เป็นเหล้าที่ใช้ข้าวโพดในการผลิต และมักจะนิยมเอาไปดองสมุนไพร  ไม้สมุนไพรง่ายๆที่นิยมใช้กันก็มี อาทิ ฮ่อตะพายควาย ชะค้านแดง... แล้วก็มีแบบที่เป็นเครื่องยาผสมกัน เช่น โด่ไม่รู้ล้ม กำแพงเจ็ดชั้น พญามือเหล็ก แห้ม กำลังเสือโคร่ง มะเขือแจ้เครือ... 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มี.ค. 19, 19:00
เมื่อพูดถึงเหล้า ก็ต้องพูดถึงบุหรี่

การสูบบุหรี่ของชาวบ้านนั้น โดยพื้นฐานแล้วเป็นการสูบเพื่อไล่แมลงที่เกาะกินเลือดแล้วแพร่เชื้อโรค จึงใช้ยาเส้นที่มีกลิ่นฉุน ได้จากใบยาสูบใบล่างๆใกล้โคนต้น  ซึ่งการสูบก็จะเป็นในลักษณะของการ puff มากกว่าจะเป็นการดูดให้เข้าถึงปอด แย่หน่อยก็ตรงที่มันเป็นของเสพติดอย่างหนึ่ง  แต่การติดบุหรี่ของชาวบ้านก็ดูจะเป็นลักษณะกึ่งๆระหว่างการติดด้วยสารนิโคตินกับการติดด้วยเหตุจากความคุ้นเคย 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มี.ค. 19, 19:21
ที่ผมได้สัมผัสมา เห็นว่าบุหรี่ที่ชาวบ้านเขามวนแล้สูบกันนั้น พอจแยกออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ สูบเมื่อเข้าสังคม สูบเพราะติด และสูบเพื่อการไล่แมลง ซึ่งทั้ง 3 ลักษณะนี้ใช้ยาเส้นที่มีความฉุนต่างกันไป   
  บุหรี่ที่สูบกันในงานสังคมจะใช้ยาเส้นที่ไม่มีรสเข้มข้นหรือมีความฉุนมาก   ในภาคเหนือก็จะเป็นบุหรี่ขี้โย ที่เขาจะผสมยาเส้นกับเปลือกมะขามแห้ง (?) และไม้อื่นบางชนิด (ดูจะเป็นสูตรของใครสูตรของมัน)  ในพื้นที่อื่นๆ ชาวบ้านจะใช้ยาเส้นที่ทำมาจากใบยาสูบส่วนใกล้ยอด (ซึ่งจะมีความฉุนน้อย) มวนด้วยใบตองอ่อนที่อังไฟให้แห้ง  หรือใช้ใบกระโดนบก(ต้นจิกนา)ที่ร่วงลงดินเมื่อถึงฤดูผลัดใบ เอามาใช้มีดขูดให้บางแล้วตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมพอมวนบุหรี่ได้  กระโดนเป็นไม้สมุนไพรอย่างหนึ่ง ว่ากันว่าใช้มวนยาสูบช่วยรักษาริดสีดวงจมูก
  บุหรี่ที่สูบเพราะติด จะใช้ยาเส้นที่ได้จากใบช่วงกลางของต้นยาสูบ ความฉุนและความเข้มข้นก็จะประมาณบุหรี่ขายดีของโรงงานยาสูบทั้งของไทยและของต่างประเทศ พวกที่สูบเพราะติดนี้จะใช้อะไรก็ได้ที่สามารถนำมามวนยาเส้นได้ เช่น ใบตองอ่อน ใบจาก ใบพลูหมักแล้วผึ่งแห้ง และกระดาษหนังสือพิมพ์
  พวกที่สูบเพื่อไล่แมลง พวกนี้ใช้ยาเส้นประเภทฉุน ดังที่เล่ามาแล้วก่อนหน้านี้ สูสีกับยาฉุนที่เหน็บไว้ที่ริมฝีปากของคนกินหมาก


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 09 มี.ค. 19, 21:57
ตามความเห็นที่ 204 "เหล้าป่าที่ว่าดีนั้น เมื่อดื่มลงคอไปจะรู้สึกได้ว่ามันกำลังไหลลงไปถึงกระเพาะเลยทีเดียว  ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์น่าจะอยู่ที่ประมาณ 45 +/- ดีกรี  (เหล้าของฝรั่งที่ว่าดีในสมัยก่อนนั้น จะอยู่ที่ 43 ดีกรี  ในปัจจุบันนี้ทำขายกันอยู่ที่ 40 ดีกรี) "
[/quote]    

เหล้าฝรั่งที่ Distilled Blended And Bottled In Scotland จริงๆ เช่น  Green Label และ Blue Lebel ยังเป็น 43 ดีกรีอยู่ครับ



กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 มี.ค. 19, 18:48
ขอบคุณครับ   

ห่างเหินจากวงการเหล้า Scotch มานานแล้ว หันไปดื่มเบียร์เสียมากกว่า  กระนั้นเองก็ยังอดไม่ได้ที่จะต้องมีเก็บพวก Bourbon, Single Malt และของไทยทำบางชื่อ   


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 มี.ค. 19, 19:34
เมื่อออกไปต่างจังหวัด นั่งรถผ่านหมู่บ้านที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก หากสังเกตก็จะเห็นว่า บ้านชาวบ้านคนไทยนั้น ส่วนที่ใช้นอนกับส่วนที่ใช้ทำครัวนั้นมักจะไม่อยู่ติดกัน มักจะมีลานเล็กๆคั่นกลาง บางบ้านก็แยกหลังคากัน บางบ้านก็อยู่ใต้หลังคาผืนเดียวกัน ลักษณะเช่นนี้ก็พบอยู่ในบ้านของชาวบ้านป่าเช่นกัน   

  ส่วนที่ใช้ทำครัวของชาวบ้านป่านั้น (บ้านที่ปลูกด้วยไม้ไผ่ผสมไม้จริง)  เราจะเห็นมีราวอยู่เหนือบริเวณเตาไฟด้านที่รับลมจากควันไฟ เขาใช้แขวนฝักข้าวโพดและอื่นๆ (ใบยาสูบ จมูกเม่น...) เพื่อประโยชน์ในการอบ รมควันและไล่แมลงที่จะมากัดกิน   

  ในขณะที่ของชาวบ้านในชนบท(บ้านที่ปลูกด้วยไม้จริง) ก็จะมีราวในครัวเช่นกัน แต่จะแขวนพวกหอม กระเทียม และอื่นๆ (ข้าวโพด ต้นงา) รวมทั้งการเหน็บอยู่ตามฝาเรือน บ้านชาวบ้านในชนบทเหล่านี้มักจะมีกระใดอยู่ทั้งด้านหน้าบ้านและที่บริเวณลานครัว   

ที่เหมือนกันอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ลานทำครัวนั้นมักจะเปิดโล่งหรือมีร่องเพื่อใช้เทน้ำทำครัวและล้างของใช้ต่างๆ ซึ่งที่พื้นของบริเวณที่เทน้ำทิ้งนั้นก็มักจะมีการปลูกผักสวนครัวบางชนิด เช่น ผักไผ่ 


กระทู้: เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มี.ค. 19, 19:29
เล่าเรื่องมาตั้งนาน ลืมเล่าไปว่าด้วยเหตุใดชาวบ้านเขาจึงเลือกที่จะตั้งชุมชนถาวรในพื้นที่นั้นๆ 

ในสมัยก่อนนั้น เรื่องนี้มีภูมิปัญญาชาวบ้านเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ่ายทอดรุ่นต่อรุ่นสืบทอดต่อกันมา เป็นความรอบรู้ที่อิงกับความเข้าใจในกระบวนการทางธรรมชาติ    ต่างกับในโลกปัจจุบันที่เลือกจะไปตั้งชุมชนอยู่ใกล้เส้นทางคมนาคม ไม่ว่าพื้นที่นั้นๆจะสามารถจะพึ่งตนเองได้หรือไม่ หรือจะต้องใช้จมูกคนอื่นเขาช่วยหายใจก็ตาม