เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: Anna ที่ 28 เม.ย. 14, 14:58



กระทู้: หงี่ซัวตึ้ง (เต้ง)?
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 28 เม.ย. 14, 14:58
'หงี่ซัวตึ้ง(หรือ'เต้ง)' ไม่แน่ใจว่าคำไหนกันแน่  แปลว่าสุสานใช่หรือเปล่าคะ ขอท่านผู้รู้กรุณาอธิบายให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ

ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ



กระทู้: หงี่ซัวตึ้ง (เต้ง)?
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 เม.ย. 14, 15:31
คุณ CrazyHOrse เห็นจะตอบข้อนี้ได้
ดิฉันรู้แต่ว่าหงี่ซัวเต๊ง หมายถึงป่าช้าวัดดอน ค่ะ


กระทู้: หงี่ซัวตึ้ง (เต้ง)?
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 28 เม.ย. 14, 18:45
หงี่ซัวเต๊ง ครับ (义山亭 จีนกลางว่า อี้ซานถิง)
คำว่า หงี่ซัว แปลตามตัวอักษรว่า ขุนเขาแห่งความยุติธรรม ใช้ในความหมายทั่วไปว่าสุสาน
ส่วน เต๊ง แปลว่าศาลาครับ


กระทู้: หงี่ซัวตึ้ง (เต้ง)?
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 28 เม.ย. 14, 21:48
เหล่าซือ CrazyHOrse ขา  ศิษย์น้อยขอเรียนถามต่อ  'เหล่าเต๊ง' ที่แปลว่า 'ชั้นสอง' ใช้ 'เต๊ง'คำเดียวกับที่แปลว่าศาลาหรือเปล่าค่ะ ?


กระทู้: หงี่ซัวตึ้ง (เต้ง)?
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 29 เม.ย. 14, 04:18
ในศัพท์ หงี่ซัวเต๊ง ที่เขียนเป็นจีนย่อว่า 义山亭 หรือ 義山亭 ในแบบจีนเต็ม ไม่มีอักษรจีนตัวใดที่แปลว่า สุสาน

แต่ศัพท์คำนี้เป็นที่เข้าใจกันทั้งในมาเลย์และบ้านเราว่าหมายถึง สุสานจีนแต้จิ๋ว

หงี่ซัว มีที่มาจากศัพท์จีนโบราณ ว่า 義冢 (อี้โจ่ง / Yì zhǒng)

冢 (โจ่ง) แปลว่า เนินดินที่พูนเหนือศพ  ( 埋葬死人筑起的土堆 )

ในรัชสมัยจักรพรรดิ จูหยวนจัง (ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์) มีพระราชประสงค์ให้ชาวฮั่น จัดการศพโดยการฝังเท่านั้น จึงได้มีพระราชโองการให้ฝ่ายปกครองท้องถิ่นทุกแห่งจัดหาพื้นที่สร้างสุสานสาธารณะเพื่อใช้เป็นที่ฝังศพของผู้ยากไร้อนาถา และใช้ชื่อเดียวกันทุกที่ว่า 義冢 (แต้จิ๋วว่า หงี่โท่ง)
คนแต้จิ๋วเรียก  เนินดินที่พูนเหนือศพ ว่า 山 ( แปลว่า เนินเขา ) ดังนั้น หงี่ซัวของชาวแต้จิ๋วจึงหมายถึง สุสานสาธารณะ

ที่กลางสุสาน มีศาลา หรือเต๊ง(亭) เพื่อ ตั้งศพระหว่างประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เวลาจะนัดหมายญาติมิตรจึงชอบใช้ศาลาเป็นจุดนัดพบ จึงเป็นที่มาของคำ ว่า หงี่ซัวเต๊ง ที่ใช้กันในปัจจุบัน


กระทู้: หงี่ซัวตึ้ง (เต้ง)?
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 29 เม.ย. 14, 04:22
จูหยวนจัง (ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หมิง)


กระทู้: หงี่ซัวตึ้ง (เต้ง)?
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 29 เม.ย. 14, 08:13
จูหยวนจัง (ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หมิง)

อ้าว นี่คือจูง่วนเจียงในนิยายมังกรหยกภาคหลังๆนี่เอง เดิมทีเป็นหัวหน้ากลุ่มร่วมก่อการ เป็นชาวบ้านธรรมดา ไม่มียศศักดิ์ใดทั้งสิ้น ไปๆมาๆกลายเป็นฮ่องเต้ 8) ในประวัติศาสตร์ไทยไม่เคยมีนิ อย่างต่ำก็คุณหลวง

ส่วนชั้นสองหรือบันได เห็นออกเสียงว่าเต้ง (เหล่าเต้ง) ไม่ค่อยได้ยินผู้ใดเรียกเหล่าเต๊ง เป็นคำเดียวกับเต๊ง ศาลาหรือเปล่าก็ไม่ทราบนาครับ ;D
คำว่าเต้งที่คุ้นเคยกันดีน่าจะเป็นเพลง "ทีเต้งเจ็กเหลียบแช" นานๆจะมีเพลงภาษาชาวบ้านให้ฟังเข้าใจเนื้อความซักเพลง อิอิ


กระทู้: หงี่ซัวตึ้ง (เต้ง)?
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 29 เม.ย. 14, 11:09
ขอบพระคุณเหล่าซืออีกสองท่านที่กรุณาให้ความรู้เพิ่มเติมค่ะ  ศิษย์กำลังพยายามรื้อฟื้นภาษาจีนที่เคยเรียนเมื่อครั้งกระโน้น  ให้คืนกลับมาให้ได้  เล็กๆน้อยๆก็ยังดี

ทั้งจีนแต้จิ๋วและแมนดาริน  เพราะไปเมืองจีนทีไรอายเหลือเกินค่ะ  ใครเห็นหน้าก็มักจะทักว่ายัยนี่หมวยแท้ๆนี่หว่า  แต่ทำไมพูดภาษาของอากงอาม่าไม่รู้เรื่อง :'(


กระทู้: หงี่ซัวตึ้ง (เต้ง)?
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 29 เม.ย. 14, 13:31
ขออนุญาตตอบคำถามแทนคุณ CrazyHOrse  นะครับ

เหล่าเต้ง เขียน 樓頂 เป็นการอ่านออกเสียงสำเนียงแต้จิ๋ว ในภาษาถิ่นแต้จิ๋วแปลว่า   ชั้นบนของเรือน
ในภาษาจีนกลาง ศัพท์นี้จะแปลต่างไป ท่านหมายถึงส่วนบนสุดของเรือน หรือหลังคา ชั้นบนภาษาจีนกลางใช้ว่า  樓上

เต๊ง หรือศาลา (亭) ที่เมื่อก่อนในสุสานวัดดอนใช้เป็นโรงเรือนประกอบพิธีกรรมนั้น หากเป็นโรงพิธีของสมาคม หรือตระกูลแซ่ใหญ่แล้ว ท่านจะใช้คำว่า ถัง (堂 ) หรือออกเสียงว่า ตึ๊ง ในสำเนียงแต้จิ๋วแทนเต๊ง


กระทู้: หงี่ซัวตึ้ง (เต้ง)?
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 29 เม.ย. 14, 17:04
เสี่ยวเอ้อมาช้า เหล่าซือตัวจริงมาตอบแทนครบถ้วนกระบวนความ

กำเสี่ยครับเหล่าซือแปลงนาม