เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 12, 19:54



กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 12, 19:54

เราต้องเร่งปลูกฝังค่านิยมกันใหม่ ไม่เฉพาะในประเทศเราเอง แต่รวมถึงประเทศอื่นๆ ในอาเซียนด้วย ผมไม่เห็นประโยชน์ของลัทธิชาตินิยมนอกจากว่ามันนำความมั่นคงให้กับชนชั้นปกครองเท่านั้น และเป็นที่มาของสงครามตลอดมาด้วย
ก่อนจะให้เกรด A+ แก่เด็กชายประกอบ   ขอให้ยกตัวอย่างการปลูกฝังค่านิยมแบบใหม่ให้เห็นชัดๆด้วยค่ะ
เอาตัวอย่างประวัติศาสตร์ก่อนก็ได้   จะสอนใหม่ถึงความสัมพันธ์ของไทยกับลาวยังไงดี


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 29 ส.ค. 12, 20:34
ไอ้หยา  อาจารย์มาถามนักเรียนเหลวไหลแบบนี้ แล้วผมจะตอบได้ยังไงหละครับนี่ วันๆ เอาแต่หลับๆ ตื่นๆ  แต่ลองตอบดูก็ได้ครับ    :-\


อย่างแรก  เวลาเราเรียนถึงเพื่อนบ้าน เราถูกสอนให้มองว่าเพื่อนบ้านต่ำกว่าเรา โน่นก็เคยเป็นเมืองขึ้นเรา  นี่ก็ชาติใต้ปกครองเรามาก่อน   เวลาพูดถึงกษัตริย์ที่ไม่ใช่ของไทย เช่นเจ้าอนุวงศ์ หรือกษัตริย์กัมพูชาในอดีต ถ้ากษัตริย์เหล่านี้ไม่ต้องการขึ้นกับไทย ตำราของเราจะเรียกว่าเป็นกบฏ  เป็นผู้ที่หักหลังหรือไม่สำนึกบุญคุณไทย   ถ้าไปเข้ากับเวียดนามเรามองว่าเป็นนกสองหัว  แต่ถ้าเราเหยียบเรือสองแคมบ้าง เรากลับยกว่านี่คือความฉลาดของเรา


สำหรับเพื่อนบ้านที่ทัดเทียมกับเราในอดีต เช่นพม่า เราจะสร้างภาพว่าเป็นศัตรู  กษัตริย์พม่าที่ยกทัพมาตีสยามคือพวกทรราชย์ ผู้บุกรุก บ้าอำนาจ มาเพื่อทำลายล้างเรา    แต่ถ้ากษัตริย์ของเราเป็นนักรบ รุกรานเพื่อนบ้าน เรามองว่านี่คือกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่    เราสอนประวัติศาสตร์แต่ในมุมที่เราเป็นฝ่ายคนดี คนยิ่งใหญ่เท่านั้น แต่ไม่เคยเอามุมนี้ไปมองสิ่งที่เพื่อนบ้านกระทำ หรือถูกกระทำจากชาติเราเลย  ผลคือเราได้ความภาคภูมิใจจากความเหนือกว่า ดีกว่าเพื่อนบ้านเราโดยไม่รู้ตัว ฝังแน่นใน DNA ตกทอดมารุ่นสู่รุ่น และแสดงอาการหยามเหยียดเพื่อนบ้านเราโดยไม่รู้ตัว เช่นการทำอะไรเชยๆ เราบอกว่าลาวมาก  หรือเขมรนกสองหัว อะไรทำนองนี้


บางเรื่องในอดีต เช่นการมาทำสัญญาของชาติตะวันตก  ตำราเราสอนกลายๆ ว่าเราถูกชาติตะวันตกบังคับให้เปิดประเทศ ทำสนธิสัญญาที่เอาเปรียบ หรือมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต  แต่เราไม่เคยสอนว่าขณะนั้นพลเมืองทั่วไปของเราไม่มีสิทธิค้าขายอย่างเสรี   มีแต่ระบบผูกขาด   ระบบภาษีก็ไม่เป็นธรรม  ระบบกฏหมายและการพิจารณาคดีความที่เป็นหลักเป็นการก็ไม่มี   ระบบเกณฑ์แรงงานก็ย่ำแย่  เราสอนแต่ว่าการเข้ามาของต่างชาติเราเสียอะไร นอกจากจะบอกว่าเราแพ้เพราะกองทัพเราอ่อนแอกว่า แต่ไม่เคยบอกว่าตอนนั้นเราบกพร่องตรงไหน ทั้งในแง่สังคม การเมือง การศึกษา ระบบกฏหมายและแนวคิดของผู้คน  


เวลาเราเรียนประวัติศาสตร์ก็เช่นกัน เราถูกสอนให้จำชื่อวีรบุรุษ  วันเวลาที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ แต่ไม่เคยสอนให้วิเคราะห์เจาะลึกว่าเหตุการณ์นั้นๆ ความขัดแย้งโน้นๆ มันเกิดเพราะอะไร แต่ละฝ่ายคิดยังไง  นักเรียนเราเลยต้องท่องจำแต่ชื่อคน หรือวันเวลาเกิดเหตุการณ์ หรือจำนวนเท่านั้น เพื่อใช้ในการสอบ  แต่มองไม่เห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ที่มาที่ไปในเหตุการณ์ต่างๆ


นี่คือข้อบกพร่องหนึ่งของการสอนประวัติศาสตร์แบบบ้านเราในมุมมองของผมครับ ดังนั้น ถ้าจะแก้ไข เราต้องเปลี่ยนวิธีการสอนประวัติศาสตร์ของเราตั้งแต่ชั้นประถมใหม่หมดเลยครับ ถ้าเลิกค่านิยมเก่าๆ ไม่ได้ ก็หมดหวังปลูกค่านิยมใหม่ครับ


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ส.ค. 12, 20:56
ต้องหัดร้องเพลงของน้าหงา

ไทย เขมร ลาว ญวน           ชักชวนคบหากันไป
แหลมอินโดจีนและไทย        ใช่อื่นไกลเชื้อสายสัมพันธ์

น้ำโขงไม่เคยคิดแบ่ง            เป็นกำแพงชนชาติชนชั้น
น้ำโขงเมื่อเป็นน้ำจัณฑ์          มาลัยสัมพันธ์จะคล้องคอเธอ


 ;D


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ส.ค. 12, 18:00
ใช่เลยครับ คนรุ่นผมได้รับการสอนประวัติศาสตร์มาแบบเล่าเรื่องเป็นยุคๆ เป็นตอนๆ  ไม่มีการตัดต่อใ้ห้เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ    ผมมาสนุกเอาในช่วงก่อนจะเกษ๊ยณนี้เพราะได้อ่านมากขึ้น แล้วเอาเรื่องมาผนวกกันเป็นฉากๆ ต่อเนื่องกันเหมือนหนังเรื่อง ผนวกกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของประเทศรอบบ้านเราและของโลก ทำใ้ห้เข้าใจที่มาที่ไปและเหตุผลที่ทำให้เรื่องราวพัฒนาการไปเป็นอย่างนั้น

ไม่ทราบว่าในปัจจุบันนี้ได้มีการแก้ไข แม่น้ำสะโตง เป็นแม่น้ำเมยหรือยัง และใส่วงเล็บคำว่าโอกินาวาหลังคำอาณาจักรริวกิวหรือยัง เปลี่ยนชื่อภูเขาไฟฟูจีจากฟูจียาม่ะเป็นฟูจีซาน(ง)หรือยัง 


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: saimai ที่ 01 ก.ย. 12, 19:48
รู้สึกคล้ายๆกันกับที่คุณประกอบเขียนในความคิดเห็นที่ 181
การเรียน การสอนประวัติศาสตร์ของชาติเรา และคิดว่าคงมีคนอื่นจำนวนไม่น้อยก็รู้สึกเช่นเดียวกันนี้ เราจะสามารถทำอย่างไรกันได้บ้างเพื่อให้ ประเทศนี้มีการเรียน การสอนที่มีคุณภาพกว่านี้ได้

หรือว่าเรา
-ควรเข้าชื่อกันสักล้านชื่อ แล้วยื่นให้กระทรวงศึกษาธิการทบทวนตัวเอง
-ขอให้รัฐบาลออกกฎหมายบังคับ
หรือว่า
 :-X แล้วก็ไปสอนกันเองครอบครัวใครครอบครัวมัน


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ย. 12, 18:59
การเรียน การสอนประวัติศาสตร์ของชาติเรา และคิดว่าคงมีคนอื่นจำนวนไม่น้อยก็รู้สึกเช่นเดียวกันนี้ เราจะสามารถทำอย่างไรกันได้บ้างเพื่อให้ ประเทศนี้มีการเรียน การสอนที่มีคุณภาพกว่านี้ได้

ขอเพิ่มข้อ 4
-  สอนกันในเรือนไทยนี่แหละค่ะ

เห็นด้วยกับคุณประกอบ เรื่องการสอนประวัติศาสตร์ นี้ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ติดใจอยู่
หลายท่านเห็นตรงกัน คุณสุจิต ที่ศิลปวัฒนธรรมก็พูดอยู่เสมอๆ นานมาแล้ว
จนผมอยากจะถามท่านว่า จะให้อ่านหนังสือสักกี่เล่มอะไรบ้าง
จะได้สมใจท่าน

ผมคิดว่า ระบบการการศึกษาของเราอาจจะเพี้ยนไปมากพอสมควรเลยทีเดียว
เรื่องแรก คือ เราสอนให้จำเพื่อจะได้สอบผ่านเกณฑ์ เราหันมาสนุกสนานกับการกาผิดกาถูกหรือเลือกข้อที่ถูกที่สุด เรียกว่าทำให้ง่ายเข้าไว้ทั้งคนสอนและคนเรียน ไม่ต้องเสียเวลาคิดก่อนเขียน ไม่ต้องอ่านก่อนให้คะแนน  เราไม่ได้สอนให้เกิดความเข้าใจว่าทำไมจึงต้องเรียนวิชานั้นๆ แล้วเราก็ขีดวงจำกัดสอนเฉพาะเรื่องภายในของเรา ไม่บอกเหตุผลและสภาพของสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมรอบตัว รอบบ้าน และของโลก ที่อาจจะเป็นต้นเหตุของพัฒนาการของประวัติศาสตร์ในช่วงต่างๆ  แล้วก็ไม่ได้บอกว่าเมื่อเข้าใจเรื่องราวที่สอนในวิชานั้นๆแล้ว จะเกิด หรือจะมี หรือจะเป็นประโยชน์อย่างไร  จะยกสุภาษิตที่ว่า รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งก็ชนะร้อยครั้ง มาอธิบายก็ยังได้

เรื่องที่สอง คือ ในระหว่างที่เรียนหรือสอนในวิชานั้นๆ มันก็มีซอยแยกมากมายที่เป็นเกล็ดเล็กเกล็ดน้อย ข้ามวิชากันบ้างนิดๆหน่อยๆ เพื่อไห้คนเรียนได้มีความเพลิดเพลิน ได้รู้อะไรมากขึ้น ไม่เกิดความเบื่อหน่ายเหมือนกับถูกบังคับให้มองเห็นเหมือนม้าเทียมรถม้าของเขลางค์นคร  เช่น มิใช่ใช้แต่คำว่า เลือกที่ตั้งอยู่ที่เมืองนั้นเพราะมีความอุมดมสมบูรณ์ อะไรทำนองนี้ หากไม่สมบูรณ์มันก็คงไม่เป็นที่ตั้งเมืองโดยปรกติอยู่แล้ว จะเล่าต่อไปว่าสมบุรณ์อย่างไร ในเรื่องอะไร เพื่ออะไร อีกสักหน่อยคงจะไม่เสียหายอะไร เช่น เป็นการหนีความอดอยาก หรือเป็นการเลือกชัยภูมิเพื่อการต่อสู้เนื่องจากมีศัตรู หรือเป็นการขยายพื้นที่เพื่อรองรับการขยายตัวของพลเมือง ฯลฯ  แน่นอนครับหลายเรื่องเราก็ไม่รู้ แต่หากเล่าสภาพแวดล้อมเพื่อชวนให้คิดต่อไปก็เกิดประโยชน์แล้ว

เรื่องที่สาม คือ เราวัดความดี ความดัง และความเก่งของสถานศึกษาจากความดังของอาจารย์ที่มีชื่อปรากฏอยู่ตามสื่อ หรือที่มักถูกถามความเห็นต่างๆโดยสื่อ เราไม่ได้วัดกันที่ขนาดของห้องสมุด ขนาดของแลป หรือดูจากปริมาณข้อเขียนทางวิชาการของคณาจารย์ในสังกัดสถาบันการศึกษานั้นๆ ที่เขียนในลักษณะของภาษาชาวบ้านให้คนอ่านทั้งหลายได้เข้าใจง่ายๆ ไม่ต้องแปลคำศัพท์บัญญัติทั้งหลายอีกทีหนึ่ง (ซึ่งก็แทบจะหาไม่ได้ เพราะอาจจะต้องไปรู้ถึงรากเง่าที่เป็นภาษาอังกฤษเสียก่อนจึงจะหาพบคำนั้น)

ประการที่สี่ คือ การเรียนประวัติศาสตร์ให้สนุก คนเรียนจะต้องรู้ที่ตั้งและภูมิศาสตร์ค่อนข้างดีด้วย หรือต้องสอนภูมิศาสตร์ไปด้วยพร้อมๆกัน มิฉะนั้นก็จะนึกไม่ออกว่าอะไรมันอยู่ที่ใหน ห่างกันมากน้อยเพียงใด เช่น ทำไมไทยเราจึงให้ความสำคัญกับเมืองราชบุรี เพราะว่ามีเส้นทางเดิน (ทัพ) ด่านมะขามเตี้ย และด่านบ้องตี้ หรือเปล่า หรือทำไมเมืองกาญจนบุรีจึงสำคัญ เพราะว่าเป็นจุดร่วมของแควใหญ่และแควน้อยหรือเปล่า (ทางเดินทัพ) หรือทำไมต้อง ต.ลาดหญ้า เพราะว่ามีเขาชนไก่เป็น land mark หรือเปล่า หรือ ทำไมต้องอู่ทองและอ่างทอง เพราะว่ามีช่องลัดสำหรับการเดิน (ทัพ) จากแควใหญ่ มาโผล่หรือเปล่า เหล่านี้เป็นต้น
ฯลฯ

ทางออกที่สำคัญ จึงคือ อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า แยกแยะข้อมูลเก็บใว้ในลิ้นชักความจำเป็นเรื่องๆ เช่น อ่านจากหนังสือเที่ยวฝรั่งเศส ก็อาจจะเจอ Rue de Siam ก็จะทำให้เราไปค้นต่อไป ฯลฯ   ถึงจุดๆหนึ่ง (หากมีความสนใจอยู่ในก้นบึ้ง) พอได้อ่านเรื่องที่มันคลิ๊ก มันก็จะเป็นอัตโนมัติที่เรื่องต่างๆมันจะมาผูกกัน เป็นภาพออกมาในสมองนึกคิดของเราเอง

ผมเห็นว่าข้อมูลที่มีอยู่ในกระทู้ต่างๆของเรือนไทย หากพินิจพิจาณาพิเคราะห์ดีๆแล้ว แฝงความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยอย่างมากมายเลยทีเดียว

ขออภัยท่านอาจารย์ทั้งหลาย ที่ผมได้ข้ามเส้นเข้าไปไกลโขอยู่ทีเดียวครับ


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 12, 20:52
ตั้งกระทู้ใหม่ แยกจากระทู้เก่าที่ไปกินพื้นที่ AEC ของคุณตั้ง      ต่อจากนี้ก็คือเช็คชื่อนักเรียนจากกระทู้เดิมว่า ในชั้นเรียนใหม่นี้ใครจะโดดเรียนบ้าง
ดิฉันคงร่างหลักสูตรในเรือนไทยไม่ไหว ว่าถ้าจะวางแผนการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่ เราจะสอนกันอย่างไรตั้งแต่มัธยมเป็นต้นไป   แต่จะลองยกตัวอย่างจากเรื่องเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ที่เราเพิ่งพูดกันถึง     เราก็รู้กันว่า ลาวมองเจ้าอนุวงศ์เป็นวีรบุรุษ  แต่ไทยมองเจ้าอนุวงศ์เป็นกบฏ    มันสวนทางกันอย่างนี้  เราจะทำให้เส้นทางที่สวนกันมาบรรจบกันได้อย่างไรดี

ความเห็นของดิฉันคือ หลักฐานข้อมูลในประวัติศาสตร์มีอยู่จริง   ก็อย่าไปบิดเบือนมันด้วยการทำเหมือนมันไม่เคยเกิดขึ้น   หรือไปอ้อมแอ้มเอาใจกันด้วยการลดเครดิตทางฝ่ายเราลงไป  อย่างนั้นไม่ได้ทำให้เกิดผลดีในระยะยาว      แต่เราสามารถสอนให้นักเรียนเข้าใจได้ว่า  ในสมัยโบราณ การรบพุ่งกันระหว่างอาณาจักรที่อยู่ติดกันเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าส่วนไหนของโลก    ฝรั่งเศสก็รบกับอังกฤษกันมานักต่อนักไม่รู้ว่ากี่ร้อยปี   ไทยรบกับพม่าทางตะวันตกยังไม่พอ  เรารบกับทางใต้และทางตะวันออกอีกด้วย    เพราะสมัยนั้นถือว่าใครเข้มแข็งกว่า  ผู้นั้นก็มีความชอบธรรมที่จะอยู่เหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การรบไม่ใช่การดูถูกเหยียดหยามกันไม่รู้จบ      การที่สองอาณาจักรรบกัน ต้องถือว่าต่างฝ่ายต่างก็มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน  ฝ่ายหนึ่งอาจชนะเพราะกำลังพลเหนือกว่า แม่ทัพนายกองมีฝีมือรบดีกว่า  หรือโอกาสและสภาพแวดล้อมเป็นใจให้มากกว่า ฯลฯ  จึงเกิดผลว่ามีฝ่ายหนึ่งชนะและอีกฝ่ายหนึ่งแพ้    แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายแพ้จะต้องถูกประณามหยามเหยียดไปอีกไม่รู้ว่ากี่ร้อยปี    ฝ่ายแพ้อาจเป็นวีรบุรุษก็ได้  ถ้านับที่น้ำใจองอาจกล้าหาญ    เหมือนเราเองก็ถือว่าชาวบ้านบางระจันเป็นวีรบุรุษของคนไทย   ไม่ได้ถือว่าพม่าที่ตีค่ายบางระจันแตกเป็นวีรบุรุษ     
ด้วยเหตุนี้  ครูจึงควรสอนนักเรียนให้เข้าใจว่า ในขณะที่เราถือว่าเจ้าอนุวงศ์เป็นกบฏ แต่ทางลาวถือว่าเป็นวีรบุรุษเพราะอะไร    ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตัวเองเท่าเทียมกัน   เมื่อคิดได้อย่างนี้ก็จะเกิดความเห็นใจกันและกัน   ไม่ถือความคิดตัวเองเป็นใหญ่   ประวัติศาสตร์ก็จะช่วยฝึกนิสัยเด็กให้ใคร่ครวญและคิดกว้างขึ้น   ไม่ใช่ว่ารู้จักประวัติศาสตร์แค่ท่องพ.ศ. กับเหตุการณ์สำคัญๆจนเบื่อเต็มทน


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 02 ก.ย. 12, 21:44
นักเรียนมารายงานตัวแล้วคร๊าบบ คราวนี้จองหน้าชั้นเลย 8)


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 12, 22:06
ใครเข้าชั้นนี้  จะได้รับอภิสิทธิ์ให้ยืนขึ้นพูดค่ะ    ไม่ใช่นั่งฟังเฉยๆ


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 02 ก.ย. 12, 23:01
ขออนุญาตถกด้วยครับ ก่อนจะถามว่าจะสอนประวัติศาสตร์กันอย่างไร คงต้องขอถามกลับก่อนว่า

๑. คุณภาพของนักเรียนเรียนเราพร้อมแค่ไหน ?

๒. นโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างกรณีประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นสอนอย่างหนึ่ง แต่ประเทศที่โดนญี่ปุ่นย่ำยีสอนอีกอย่าง แล้วก็มีปัญหาเรื่องที่เรียน อย่างญี่ปุ่นหรือประเทศที่ได้รับผลกระทบเช่น จีน,เกาหลีใต้ ฯลฯ น่าจะมีคุณภาพการศึกษาที่ดีกว่าเรา แต่ก็ยังมีปัญหาแบบนี้

๓. แต่ละระดับชั้นควรจะรู้แค่ไหน ? และเนื้อหาสอดคล้องกันแค่ไหน ?

ไม่ใช่ว่าตอนเด็ก ๆ เรียนแบบหนึ่ง โตมาเจออีกแบบหนึ่ง เด็กก็คงจะงง ตกลงอย่างไหนถูกกันแน่

และการเรียนประวัติศาสตร์ ไม่พ้นการคิดวิเคราะห์และวิจารณ์ ปัญหาก็คือสังคมไทยจะยอมรับการวิจารณ์บางกรณีได้หรือเปล่า ?



กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 03 ก.ย. 12, 07:09
ก่อนจะไปไกลถึงประวัติศาสตร์ต่างประเทศ  ขอเรียนเสนอว่าเราควรให้ความสนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นลำดับแรก
เช่น เชียงใหม่มีประเพณีลอยกระทงปีละ ๒ วันๆ หนึ่งเป็นลอยกระทงเล็ก  อีกวันลอยกระทงใหญ่
คำถามคือทำไมต้องลอยกระทงถึง ๒ วัน  และเริ่มกันมาแต่เมื่อไร?
คำถามต่อไปคือ ตัวเมืองเชียงใหม้แต่ดั้งเดิมทั้งในส่วนกำแพงเมืองและกำแพงดินล้วนเป็นเมืองที่อยู่บนที่ดอน
ไม่ใช่เมืองริมน้ำ  แล้วเหตุไฉนจึงจัดงานลอยกระทงกันเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต
เมื่อตอบคำถามนี้ได้แล้ว  ก็จะนำไปสู่การศึกษาค้นคว้าเรื่องอื่นๆ  ซึ่งคงจะรวมไปถึงเรื่องพระแก้วมรกตไปเมืองลาว
เมื่มีพื้นฐานการคิดวิเคราะห์ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยเช่นนี้แว  เมื่อนำประสบการณ์ไปคิดวิเคราะห์เรื่องความสัมพันธ์
กับประเทศเพื่อนบ้าง  ผู้ศึกษาย่อมจะปล่อยวางอคติลงได้มาก เพราะมีแนวความคิดพื้นฐานที่กว้างขวางดังที่คุณพี่ นายตั้ง
ได้กล่าวไว้ในความเห็นข้างต้น


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ย. 12, 12:35
รอติดตาม
ตอนนี้ขอถามล่วงหน้า
๑  คุณสายพินไม่ได้บอกว่าท้าวสุรนารีไม่มีตัวจริง     แต่บอกว่าวีรกรรมของย่าโมหรือท้าวสุรนารี เป็นการเสริมแต่ง ขยายขึ้นมาในภายหลัง ในสมัยจอมพลป. เพื่อสนับสนุนลัทธิชาตินิยม  โดยหลวงวิจิตรวาทการ ใช่หรือไม่
๒  หลักฐานที่เกี่ยวกับท้าวสุรนารี ชั้นปฐมภูมิเท่าที่หาเจอกันในประวัติศาสตร์  คือใบบอกที่แจ้งเข้ามาถึงเมืองหลวง ว่าระหว่างการสู้รบระหว่างทัพไทยกับทัพเจ้าอนุวงศ์    ย่าโมยืนอยู่ข้างกองเกวียน  (แปลว่าไม่ได้รบ?)  ใช่หรือไม่
๓  คุณสายพินพูดถึงหลักฐานที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดให้แต่งตั้งคุณหญิงโมเป็นท้าวสุรนารี  ว่าไม่มีจริง หรือค้นไม่พบ หรือเปล่า?  หรือว่าโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจริง   หรือว่าคุณสายพินข้ามประเด็นนี้ไป


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ย. 12, 13:28
ขออนุญาตถกด้วยครับ ก่อนจะถามว่าจะสอนประวัติศาสตร์กันอย่างไร คงต้องขอถามกลับก่อนว่า

๑. คุณภาพของนักเรียนเรียนเราพร้อมแค่ไหน ?

๒. นโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างกรณีประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นสอนอย่างหนึ่ง แต่ประเทศที่โดนญี่ปุ่นย่ำยีสอนอีกอย่าง แล้วก็มีปัญหาเรื่องที่เรียน อย่างญี่ปุ่นหรือประเทศที่ได้รับผลกระทบเช่น จีน,เกาหลีใต้ ฯลฯ น่าจะมีคุณภาพการศึกษาที่ดีกว่าเรา แต่ก็ยังมีปัญหาแบบนี้

๓. แต่ละระดับชั้นควรจะรู้แค่ไหน ? และเนื้อหาสอดคล้องกันแค่ไหน ?

ไม่ใช่ว่าตอนเด็ก ๆ เรียนแบบหนึ่ง โตมาเจออีกแบบหนึ่ง เด็กก็คงจะงง ตกลงอย่างไหนถูกกันแน่

และการเรียนประวัติศาสตร์ ไม่พ้นการคิดวิเคราะห์และวิจารณ์ ปัญหาก็คือสังคมไทยจะยอมรับการวิจารณ์บางกรณีได้หรือเปล่า ?
หมัดคุณ samun007 หนักและเข้าเป้าทุกข้อ  ขอตอบตามนี้ค่ะ

๑  เด็กพร้อมจะเรียนทุกอย่างที่ครูสอน   ขึ้นกับครูว่าจะถ่ายทอดอย่างไร 
๒  ก่อนเริ่มวางหลักสูตรใดๆก็ตาม ประเด็นแรกคือต้องดูถึงจุดมุ่งหมายของการสอน ว่านโยบายการสอนปวศ. เป็นไปเพื่ออะไร    ต้องชัดเจนพอควร  ไม่ใช่กว้างๆอย่าง..." สอนเพื่อความรู้ความเข้าใจในอดีต.." แบบนี้กำปั้นทุบดินเกินไป
     สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2  หรือระหว่างนั้น   เมื่อนโยบายชาตินิยมมาแรง   การสอนปวศ.สมัยนั้นก็เน้นหนักไปทางเทิดทูนวีรกรรมและยกย่องความเป็นใหญ่ของไทยในอดีต    เพื่อปลุกใจให้คนไทยภูมิใจในชาติของตัวเองว่าไทยยิ่งใหญ่ขนาดไหน     แต่เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง  ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นมากมายใน 60 กว่าปีต่อมา    จุดมุ่งหมายเดิมนี้ก็ใช้ไม่ได้แล้ว
    ลองมาสมมุติดูว่า ถ้าเราจะร่างหลักสูตรประวัติศาสตร์ไทยเพื่อรองรับ AEC (หรือ AC  ดิฉันยังจำไม่ได้สักที)   เราก็ต้องสอนใหม่  ลบล้างความคิดเดิมว่าไทยใหญ่กว่าคนอื่นเขา   เขาเป็นศัตรูกับเรา ที่เราต้องปราบให้เหี้ยนเตียน  อันมีแต่จะโดดเดี่ยวไทยออกจากประเทศอื่นๆ   แต่ต้องสอนให้รู้ว่าการแพ้ชนะเป็นเหมือนกีฬา  ต้องรู้จักแพ้รู้จักชนะ     นี่คือตัวอย่างที่ลองเสนอดู
๓  ระดับมัธยมต้น  รู้พื้นฐานทั่วไป   จดจำเรื่องที่ควรจำ   มาถึงมัธยมปลาย รู้จักวิเคราะห์และตั้งคำถาม เพื่อรองรับวิธีเรียนในระดับอุดมศึกษา
    ถ้ามีการวิเคราะห์วิจารณ์เกิดขึ้น  ดิฉันว่าเราฝึกเด็กม.ปลายให้รู้หลักการคิดแบบวิเคราะห์ได้   บอกให้รู้ว่าความคิดต่างๆหลากหลายจากกันได้ แล้วแต่ว่าจะมองมุมไหน  แต่การมองทุกมุมต้องมีหลักฐานรองรับ      โดยมากหลักสูตรเราไปเน้นด้านการจำอย่างเดียวเพื่อสะดวกในการตรวจข้อสอบปรนัย   นักเรียนไม่ค่อยมีโอกาสวิเคราะห์จึงคิดไม่เป็น     
    ที่สำคัญคือ การเรียนประวัติศาสตร์ ต้องฝึกให้รู้จักอ่านละเอียดลออ จนเข้าใจแจ่มแจ้ง   จะได้ตัดปัญหาฟังไม่ได้ศัพท์จับเอามากระเดียด    หรือเชื่อทันทีโดยไม่ตั้งคำถามย้อนกลับไป   จนทำให้เกิดปัญหาตามหลังมาอย่างปัญหาบางเรื่องที่เราพูดกันอยู่ในกระทู้นี้



กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ย. 12, 13:41
1. เราถูกสอนให้อยู่ในกรอบแนวคิดเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง และเราเชื่อว่าเมืองหลวงของไทยมี ๓ อาณาจักรใหญ่ ๆ เทา่นั้นคือ สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ซึ่งในความเป็นจริงยังมีรัฐการปกคอรงที่เติบโตมาก่อนนี้อีกมากมาย และเชื่อมโยงกันด้วยการค้ากับต่างประเทศมากมาย เหล่านี้เราไม่ได้ถูกสอนให้เรียนรู้ในชั้นเรียนเลย

2. เรากถูกสอนให้มีการแบ่งแยกชัดเจน นั้นเขา นั้นเธอ ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันเท่าที่ควรระหว่างกันและกัน ทำให้เกิดการแบ่งแยกและมีอคติเกิดขึ้นในใจ

3. เราละเลยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและชุมชนในบางครั้ง


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ย. 12, 13:47
สมัยนี้มีนักคิดหักมุมมากมายให้เลือกคิด

1. พระเจดีย์นครปฐมเก่าที่สุดจริงหรือ

2. ศิลาจารึกหลักที่ ๑ แท้หรือไม่

3. ย่าโมมีจริงไหม

4. เจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่ไหน

5. นางนพมาศมีจริงหรือ

6. ฯลฯ

เหล่านี้บางครั้งก็ก่อให้เกิดประเด็นโต้เถียงกันในสังคม แต่อีกนัยหนึ่งก็ช่วยให้คนอีกหลายคน เหลียวมามอง มาฟังประวัติศาสตร์กันมากขึ้น ซึ่งบางคนไม่สนใจเสียด้วยซ้ำว่าจะมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร บางครั้งยังไม่รู้จักก็น่าจะมี


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 03 ก.ย. 12, 16:27
นักเรียนมารายงานตัวว่ายังติดตามอย่างใกล้ชิดครับ  8)


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ก.ย. 12, 16:39
เราควรสอนประวัติศาสตร์ให้เป็น "ปกติ" ครับ

ในชีวิตคนเรานั้น มีกิจกรรมต่างๆเกิดขึ้นทุกวัน การกินการอยู่ การทำมาหาเลี้ยงชีพ เรื่องเหล่านี้ เราเหมือนปลาที่อยู่ในน้ำ เห็นทุกวันเจอทุกวันก็ไม่ได้รู้สึกว่าน่าจดจำอะไร เรื่องทุกถูกบันทึกไว้ส่วนมากจึงเป็นเรื่องที่ "ผิดปกติ" ยิ่งเจ็บปวดมากยิ่งจดจำมาก ถ้าถึงกับบ้านแตกเมืองล่ม ก็ถึงกับกลายเป็นวาระแห่งชาติื บดบังเรื่องปกติที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาส่วนมากในประวัติศาสตร์จนจมหายไปหมด

ดังนั้น ถ้าจะปรับปรุงการสอนประวัติศาสตร์ ก็ควรคำนึงถึงประเด็นนี้ให้มากไว้ เรื่องรบทัพจับศึกไม่ต้องเอาออก แต่รักษาสัดส่วนให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่มีศึกจริง สงครามก็จะไม่ยึดครองพื้นที่ในหน้าประวัติศาสตร์ไปหมด แน่นอนว่าถ้าเรายึดพงศาวดาร(ซึ่งย่อมต้องเน้นการบันทึกเหตุการณ์ผิดปกติ)ก็คงยากที่จะทำตามนี้ได้ ส่วนที่จะต้องหามาเติมก็คืองานของนักประวัติศาสตร์ล่ะครับ ถึงที่สุดผมเชื่อว่าทุกอย่างมันจะเข้าที่เข้าทางเอง เพราะว่ามันปกตินี่แหละครับ


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 03 ก.ย. 12, 18:27
ก่อนที่ที่จะเริ่มสอนประวัติศาสตร์ให้แก่เด็กมัธยมนั้น  เห็นควรให้ผู้สอนได้ศึกษาข้อมูลให้ลึกซึ้งเสียก่อน เมื่อถึงเวลาสอนจึงค่อยแนะให้เด็กไปค้นคว้า
อาจจะแนะนำหนังสือให้เด็กไปอ่าน  แล้วให้เด็กคิดวิเคราะห์แล้วมานำเสนอในชั้นเรียน  การให้คะแนนควรให้น้ำหนักไปที่วิธีการคิดวิเคราะห์ของเด็ก
ไม่ใช่้ยึดเอาถูกผิดที่วันเวลาเหมือนข้อสอบในปัจจุบัน  แต่ที่ประสบกันอยู่ในปัจจุบันหากเด็กไปค้นคว้าและเห็นต่างจากครูหรือจากตำราเรียน  ครูกลับบอกว่า
ตอบได้แต่ไม่ได้คะแนน  เพราะอย่างนี้การศึกษาไทยจึงได้เตี้ยลงทุกวัน

ส่วนการคิดวิเคราะห์เชิงลึกอย่างเรื่องคุณหญิงโมหรือโม้นั้น  ออกจะเกินกำลังสำหรับเด็กในวัยมัธยม  ควรจะยกให้เป็นงานวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษาครับ
แต่ก็หวังว่า งานวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษานั้นเมื่อวิจัยมาแล้วก็ควรจะนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ด้วย  ไม่ใช้วิจัยเสร็จก็ประดิษฐานไว้บนหิ้งบูชา


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 03 ก.ย. 12, 19:53
นั่งอยู่หน้าห้องดูอาจารย์แต่ละท่านเข้ามาให้ความเห็นกันด้วยความตื่นตาตื่นใจ  รอท่านอาจารย์ใหญ่เรียกให้ตอบก็ไม่ถูกท่านเรียกซะที จึงขออาจหาญยกมือแล้วกล่าวประเด็นเลย


ปัญหาหนึ่งในเรื่องการเรียนประวัติศาสตร์คือ  เด็กเองก็ไม่รู้ว่าประวัติศาสตร์หลักสูตรปัจจุบันที่นักเรียนไทยกำลงเรียนกันนั้น  เรียนไปเพื่อจุดประสงค์อะไร ถ้ายังไม่มีวัตถุประสงค์ที่แน่ชัด ก็ยังไม่อาจจะวางเป้าหมายเพื่อปรับปรุงได้  เช่นจะเรียนเพื่อให้เข้าใจรากเง่าของเรา  เรียนเพื่อให้เข้าใจธรรมชาติกิเลสของมนุษย์และวงล้อประวัติศาสตร์ เรียนเพื่อเสริมสร้างการใช้ตรรกะเหตุผล ป้องกันสิ่งเลวร้ายในอนาคต เรียนให้รู้เท่าทันผู้นำ  หรือแม้แต่เรียนเพื่อไปร้องบันไซแล้ววิ่งเข้าหาปืนกลเพื่อตายอย่างมีเกียรติเพื่อองค์จักรพรรดิแบบที่นักเรียนญี่ปุ่นเรียนกันสมัยก่อนสงครามโลก  ฯลฯ เพราะการเรียนประวัติศาสตร์มีส่วนปลูกฝังความเชื่อและแนวคิดต่างๆ แก่พลเมืองได้มาก


แต่โดยส่วนตัวผมมีความรู้สึกว่า  ต้องย้ำว่าเป็นความรู้สึกส่วนตัวเท่านั้นนะครับ   คือประวัติศาสตร์แบบที่นักเรียนไทยกำลังเรียน เป็นประวัติศาสตร์ที่มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นไปที่การปลูกฝังลัทธิชาตินิยมให้กับผู้เรียน เรียนแล้วมีความเป็นผู้ตามที่ดี เป็นพลเมืองที่ว่านอนสอนง่ายสำหรับผู้นำเป็นหลัก


ทำไมผมถึงรู้สึกอย่างนั้น?

เพราะผมรู้สึกว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่เราเรียน เราได้เรียนแต่เรื่องของผู้นำ กษัตริย์ ขุนนางต่างๆ และสิ่งที่เราเรียนก็มุ่งเน้นไปที่การเทอดทูนอัจริยภาพ  ความกล้าหาญ  ความเด็ดขาด  สิ่งดีๆ ต่างๆ ฯลฯ ของผู้นำเป็นหลัก  ประชากรส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้อยู่ใต้การปกครองเท่านั้น ชีวิตจะเป็นไปไหนทางไหน ขึ้นอยู่กับอัจริยะภาพของผู้นำ   เมื่อมีปัญหาวิกฤติใดๆ  ขอเพียงรออัศวินม้าขาว ผู้มีบุญญาธิการมาเกิด และนำพาเราไปสู่ความสว่างไสวรุ่งโรจน์   ขอเพียงให้เราเป็นผู้ตามที่ดีเท่านั้น


เราไม่เคยเรียนเลยว่าชีวิตของคนธรรมดา ไพร่ ในอดีตมีความเป็นอยู่อย่างไร กินอะไร อึที่ไหน อยากเปลี่ยนสถานภาพเป็นชนชั้นปกครองทำได้หรือไม่  ตามกองทัพไปรบมีเสบียงแจกหรือต้องพกไปเอง ถ้าตายไปลูกเมียได้สวัสดิการอะไรบ้าง ฯลฯ   เรารู้แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้านายหรือชนชั้นนำผู้ปกครองเท่านั้น     ถ้าเรียนเรื่องการต่อสู้ ความขัดแย้ง  ตำราเรามักมีเพียงสองด้าน ขาวกับดำ ส่วนเรื่องเทาๆ เราเลือกที่จะไม่เล่า ปกปิดไว้  ตัวอย่างเช่นคนส่วนใหญ่รู้จักพระเจ้าเสือจากประวัติศาสตร์แบบนิทานว่าชอบปลอมตัวเป็นสามัญชน  มีน้ำพระทัยกว้างขวาง เช่นไม่เอาโทษต่อพันท้ายนรสิงห์  แต่น้อยคนคงรู้ว่าพระเจ้าเสือนี่โหดเหี้ยมอำมหิต  เข่นฆ่าผู้คนมากมาย ชอบมีอะไรกับเด็กสาวๆ เล็กๆ แถมยังฆ่าทิ้งอีกไม่น้อย  สมัยนี้คงต้องเรียกว่าซาดิสต์ แต่เรื่องพวกนี้ต้องไปแอบหาอ่านเอาเอง  หรือแม้แต่ความขัดแย้งระหว่างเจ้านายพระองค์ต่างๆ  ต้องหาอ่านจากบันทึกของเจ้านายด้วยกัน  และไม่มีในตำราให้ศึกษา เพราะนอกจากพูดเรื่องไม่ดีของข้าศึกศัตรู ตำราของเราจะไม่กล่าวถึงสิ่งไม่ดีของใคร ยกเว้นแต่เพื่อยกย่องผู้นำอีกคน


ผลจากการเรียนแบบนี้ ทำให้เราปลูกฝังค่านิยมการนิยมชมชอบลัทธิดลบันดาล พึ่งพาผู้มีอำนาจ รออัศวันขี่ม้าขาวมานำพาเรา ไม่ได้สอนให้พึ่งพาตัวเองนัก แถมมีมุมมองเรื่องต่างๆ แค่มุมเดียว จนมันซึมสายเลือดจริงๆ    และเรายังถูกสอนให้ต้องเทอดทูนวีรบุรุษเหล่านั้นด้วย  สิ่งที่เขียนไว้ในตำราคือประวัติศาสตร์สำเร็จรูป สมบูรณ์แล้ว ห้ามแย้งห้ามเห็นต่าง  เรียนแล้วให้จำเอาก็พอไม่ต้องวิเคราะห์มาก ยิ่งเมื่อบวกกับเรื่องชาตินิยมแล้วเรื่องคุณหญิงโมก็เป็นตัวอย่างที่ดี  ว่าสอนให้เชื่อง่ายกว่าสอนให้คิดเป็นมากๆๆๆๆๆๆ


ดังนั้น ถ้าจะเปลี่ยนวิธีการสอน อาจต้องมามองกลับมาที่วัตถุประสงค์ ว่าเราต้องการให้ผู้เรียนมุ่งเน้นไปทางไหนก่อน ยกเลิกวัตถุประสงค์ปัจจุบัน คือการเรียนประวัติศาสตร์แบบด้านเดียวเพื่อรองรับระบบชาตินิยมและการเป็นพลเมืองผู้ตามที่ดี แล้วถึงจะมาดูที่เนื้อหาจะวิธีในรายละเอียดอีกที


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ย. 12, 16:42
แยกกระทู้ใหม่ตามความประสงค์ของคุณเพ็ญชมพูแล้วนะคะ

"คำถามจากหนังสือ "การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี" - "วีรกรรมนี้เกิดขึ้นจริงหรือ?"  (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5346.msg111962;topicseen#msg111962)


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ย. 12, 18:38
พรรคพวกยกขบวนไปทุ่งสัมฤทธิ์กันหมดแล้ว   
สงสัยกระทู้นี้จะค้างอยู่แค่นี้สักพักใหญ่ละค่ะ    หรืออาจจะตกจอไปเลยก็ได้


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: Seventoon ที่ 04 ก.ย. 12, 18:54



คุณเทา ชมพู ขอสมัครเป็นนักเรียนด้วยคนครับ ผมแก่แล้ว แต่สนใจศึกษาประวัติศาตร์ ยุโรป-จีนมากเลยอ่ะครับ

ไปเจอกระทู้นี้มาครับ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1727.35;wap2

สุดยอดจริงจริงเลยอ่ะครับ


ขอบคุณมากครับ ยังอ่านไม่จบนะ เพราะว่าผมอยากจะซื้อหนังสือประวัติศาตร์อังกฤษควบคู่ด้วยกันด้วยน่ะครับผม


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ย. 12, 18:58
สำนวนเขียนไม่เหมือนคนแก่เลยนะคะ

ท่านที่สนใจกระทู้ที่คุณ seventoon เอ่ยถึง อ่านได้ที่นี่ค่ะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1727.0


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ย. 12, 19:52
ผมยังไม่มีพาหนะจะไปกับเขาได้ เลยจะยังขออยู่ในห้องเสวนานี้

ดูๆไปแล้ว ลักษณะประวัติศาสตร์ของไทยก็คล้ายๆกับของอเมริกา

คนที่เรียกตนเองว่าเป็นอเมริกันก็มาจากหลายแหล่งหลายเชื้อชาติ คนที่เรียกตนเองว่าเป็นไทยก็เช่นเดียวกัน จะต่างกันก็ตรงที่คนอเมริกันเป็นพวกคนผิวขาวเป็นส่วนมาก ในขณะที่คนไทยเป็นพวกคนผิวเหลืองเป็นส่วนมาก
  
อเมริกาเป็นดินแดนของคนที่ไปแสวงหาความเป็นอิสระเสรี ไทยก็เป็นดินแดนเช่นนั้นเหมือนกัน  ในดินแดนอเมริกา เหล่าประชากรช่วยกันสร้างให้เกิดขึ้น ในดินแดนของไทยก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพียงแต่มีวัฒนธรรมและความเชื่อต่างกัน เขาเห็นว่าทุกคนมีภาระและหน้าที่ๆจะต้องพยุงสภาพนั้นๆ ในขณะที่เราเห็นว่าเป็นภาระและหน้าที่เป็นของผู้นำ ซึ่งเป็นลักษณะปรกติในจิตวิญญาณที่มีมายาวนานในสังคมของคนในเอเซีย  สภาพของจิตวิญญาณในลักษณะนี้ยังเห็นได้ในสังคมของเราในปัจจุบันในแวดวงต่างๆ ทั้งในวงการเมือง วงราชการ และวงคหบดี      

  


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: Seventoon ที่ 04 ก.ย. 12, 21:46
สำนวนเขียนไม่เหมือนคนแก่เลยนะคะ

ท่านที่สนใจกระทู้ที่คุณ seventoon เอ่ยถึง อ่านได้ที่นี่ค่ะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1727.0


อา  แหม แก่แล้วอ่ะ ผมอ่ะ แต่ทำตัวเด็กไง 55+


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ย. 12, 21:53
     ในอเมริกา ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเขาได้รับการส่งเสริมมาก  เมืองทุกเมืองไม่ว่าเมืองเล็กเมืองน้อยยังไงก็ต้องมีพิพิธภัณฑ์หรือหอประวัติศาสตร์ของเมืองที่แสดงถึงกำเนิดของเมืองนั้น ควบคู่ไปกับเมืองใหญ่มีประวัติศาสตร์ของรัฐ       สิ่งสำคัญที่เขาเน้นให้เยาวชนสำนึกคือ กว่าจะมาเป็นประเทศมั่งคั่งสมบูรณ์ พลเมืองอยู่ดีกินดีอย่างทุกวันนี้     นักบุกเบิกอเมริกันที่อพยพจากตะวันออกมาตะวันตกต้องฝ่าฟันความลำบากขนาดไหน กว่าจะสร้างบ้านสร้างเมืองขึ้นมาให้ลูกหลานอยู่กันได้สบาย
    การสอนประวัติศาสตร์ของอเมริกาก็มีจุดหมาย(หรือเรียกว่าวัตถุประสงค์เด่นชัดเหมือนกัน) ว่าเขาสอนให้เยาวชนภูมิใจในความบากบั่นอดทนของบรรพบุรุษ   ทางรัฐตะวันตก  นักบุกเบิกดูจะเป็นฮีโร่มากที่สุด    หลักฐานที่เขาช่วยกันเก็บของเก่าและจำลองของใหม่ก็คือสรรเสริญการอพยพบุกเบิกมาตั้งถิ่นฐาน     แต่...ดิฉันก็มองเห็นว่า นักประวัติศาสตร์หรือครูปวศ. ก็อมพะนำบางเรื่องไว้ไม่สอนเยาวชนตัวเล็กตัวน้อยตามความจริงอีกด้านหนึ่งเหมือนกัน   คือไม่สอนว่าพวกคนขาวไปแย่งดินแดนของอินเดียนแดงมาเป็นของตัวเอง    แต่ไปสอนว่าดินแดนเหล่านี้ว่างเปล่าไร้เจ้าของ  ใครที่ขยันจะมาตั้งถิ่นฐานเพื่อทำให้ที่ทางเจริญขึ้นก็ทำได้ทั้งนั้น  ส่วนอินเดียนแดงคือ "เผ่าคนเถื่อน" ที่อาศัยเป็นกลุ่มเล็กๆในท้องถิ่น  เป็นพวกโหดร้ายป่าเถื่อน  รังควานฝรั่งที่เข้าไปอย่างสันติ  ทำให้ฝรั่งต้องป้องกันตัวเองไม่ให้พวกนี้รุกราน  เพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้าได้สำเร็จ
    เพราะงั้น เราก็ต้องมาดูว่า ประวัติศาสตร์ของชาติซึ่งมีหลายด้านหลายมุม  หลายสีทั้งขาว ดำและเทา เราจะเลือกอะไรมาสอนเด็กประถมเป็นพื้นฐาน   มัธยมสอนอะไร แล้วถึงอุดมศึกษาจะสอนอะไร


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ก.ย. 12, 21:55
เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี

บทความของคุณสายพิน แก้วงามประเสริฐข้างล่างนี้ น่าจะเป็นคำตอบหนึ่งของคำถามข้างบน

วิชาประวัติศาสตร์ไทยจะนำไทยไปอาเซียน ? (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1344931316&grpid=03&catid=03) โดย สายพิน แก้วงามประเสริฐ มติชน วันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

เรื่องที่ต้องเตรียมความพร้อมเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นอกจากความรู้ด้านภาษา การรู้จักประเทศเพื่อนบ้านแล้ว สิ่งที่จำเป็นมากคือทัศนคติดี ๆ ที่มีต่อกัน อย่างที่จุดเน้นที่อาเซียนประกาศไว้คือ "หนึ่งประชาคม หนึ่งอัตลักษณ์" คือต้องมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ความเป็นหนึ่งเดียวจะเกิดขึ้นไม่ได้ หรือเกิดได้ยากในขณะที่การกินแหนงแคลงใจกันยังมีอยู่

จึงจำเป็นต้องพยายามให้อคติที่มีต่อกันเบาบางจนหมดสิ้นไปให้จงได้

อคติที่มีต่อกันเกิดจากอะไร หากมองที่ตัวเองเป็นสำคัญ น่าจะเกิดจากการที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้านน้อย โดยการเรียนผ่านตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยรัฐชาติ สมัยชาตินิยม โดยเน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของ "เรา" ส่วน "เขา" เป็นผู้ร้ายไป หรือเน้นความรักชาติ ชาติของเราย่อมยิ่งใหญ่เหนือใคร คนไทยในตำราเรียนประวัติศาสตร์จึงเป็นคนเก่งที่ไม่มีใครเหมือน

ผู้ผ่านระบบการศึกษาถูกปลูกฝังให้เห็นเพื่อนบ้านเป็นศัตรู เพราะตำราเรียนประวัติศาสตร์มุ่งเน้นเรียนเรื่องศึกสงคราม เช่น ในส่วนที่เกี่ยวกับพม่าจะกล่าวถึงการสู้รบระหว่างไทยกับพม่าว่ามีหลายสิบครั้ง และมักยกกรณีศึกสงครามสมัยสมเด็จพระนเรศวร ศึกบางระจัน การกอบกู้เอกราชของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี รวมทั้งสงครามเก้าทัพ ศึกรบพม่าที่ท่าดินแดงสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นต้น

ตำราเรียนยังสรุปว่าไทยกับพม่าทำศึกสงครามสมัยอยุธยา ๒๔ ครั้ง ธนบุรี ๑๐ ครั้ง รัตนโกสินทร์ ๑๐ ครั้ง รวมเป็น ๔๔ ครั้ง และอธิบายต่อว่า ส่วนใหญ่พม่าเป็นฝ่ายยกทัพมา และไทยเป็นฝ่ายตั้งรับ โดยให้เหตุผลการที่เป็นเช่นนี้เพราะ "พม่าเป็นรัฐที่มีกำลังทหารเข้มแข็ง และต้องการเข้ามามีอำนาจเหนือดินแดนไทย ไทยจึงตอบโต้ด้วยการใช้แสนยานุภาพทางทหาร เพราะไม่สามารถใช้วิธีการทางการทูตได้..." นี่เป็นการอธิบายประวัติศาสตร์ในมุมมองของตนเอง

ในส่วนของความสัมพันธ์กับลาว ตำราเรียนประวัติศาสตร์ไทยอธิบายเกี่ยวกับเรื่องศึกสงคราม ที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์บาดหมาง และบาดแผลที่ทำให้ไม่อาจเป็นมิตรที่ดีต่อกันได้จริง ๆ น่าจะเป็นกรณีที่ตำราเรียนประวัติศาสตร์ไทยแม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรไปหลายฉบับแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ตำราเรียนประวัติศาสตร์ไม่เคยหลงลืมที่จะเขียนเลยคือ กรณีศึกเจ้าอนุวงศ์ที่ไทยกล่าวหาว่าเป็น "กบฏ" และยกกรณีวีรกรรมของท้าวสุรนารีว่าใช้อุบายมอมเหล้าทหารลาว จนสามารถโจมตีกองทัพเจ้าอนุวงศ์แตกพ่ายไป

ในสมัยหนึ่งการนำประวัติศาสตร์เรื่องนี้มาเรียนอาจก่อให้เกิดความรักชาติ เกิดความฮึกเหิม แต่ทำให้มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อเพื่อนบ้าน เป็นการฝึกนิสัยข่มคนอื่นที่เห็นว่าด้อยกว่าตน จนทำให้คนไทยคนลาวส่วนหนึ่งมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อกัน ทั้งที่หากมองไปรอบ ๆ บ้านแล้ว ไทยกับลาวมีภาษา มีประเพณีวัฒนธรรม วิถีการดำรงชีวิตใกล้เคียงกันมากที่สุด และอาจมาจากบรรพบุรุษที่มีรากเหง้าเดียวกันก็เป็นได้ แต่ความเป็นไทยที่ถูกสร้างให้มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง จึงไม่ค่อยเห็นอกเห็นใจใครนัก

ความหยิ่งทะนงองอาจว่าเราเหนือกว่าลาว กลับถูกท้าทายเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยการที่ลาวสร้างอนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ ตั้งตระหง่านหันหน้ามาทางฝั่งไทยแบบไม่ยี่หระ สื่อนัยอะไรบางอย่าง รวมทั้งการสร้างสนามกีฬาขนาดใหญ่โดยให้ชื่อสนามกีฬาว่า "เจ้าอนุวงศ์" โดยได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากเวียดนาม ชื่อสนามกีฬาและการรับความช่วยเหลือจากเวียดนาม เป็นการบอกเล่าประวัติศาสตร์ของลาวสมัยที่เจ้าอนุวงศ์ถูกกองทัพสยามตามไปโจมตี แล้วต้องหนีไปพึ่งญวนหรือเวียดนาม

เป็นการสื่อนัยว่าปัจจุบันลาวเห็นเวียดนามเป็นมิตรที่ดีกว่าไทย ตั้งแต่อดีตจนอาจถึงปัจจุบัน เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งสำหรับเพื่อนบ้านที่มีวัฒนธรรมประเพณีใกล้เคียงกันมาก น่าจะเข้าใจกันมากกว่าที่เป็นอยู่ หากไทยไม่มัวแต่ใช้ตำราเรียนประวัติศาสตร์เพื่อสร้างความภูมิใจในตนเอง แต่ไม่ได้นึกถึงจิตใจของผู้อื่น ทำให้ต้องขาดโอกาสดีๆ ในการที่จะมีเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดเช่นนี้

ในส่วนของเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ปัจจุบันที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังง่อนแง่น เพราะมีกรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่งความสัมพันธ์จะดีหรือไม่ดีช่วงนี้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกัมพูชากับรัฐบาลไทยเป็นสำคัญ ทำให้บางรัฐบาลความสัมพันธ์แย่มาก ทั้งที่ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนทั้งสองชาติที่อยู่บริเวณชายแดนกลับไม่ได้มีปัญหาต่อกัน

ในส่วนของตำราเรียนประวัติศาสตร์ไทยเมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์กับกัมพูชา มักจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ในสมัยอยุธยาที่กล่าวว่า เขมรยอมอ่อนน้อมต่อไทย แต่มักถือโอกาสที่ไทยติดศึกสงครามเข้ามากวาดต้อนผู้คนกลับไป รวมทั้งการกล่าวถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวรที่ไปจับพระยาละแวก กษัตริย์เขมรมาทำพิธีปฐมกรรม ซึ่งในส่วนนี้น่าจะเป็นประวัติศาสตร์บาดหมางที่สุด ที่ไม่ควรกล่าวถึง แต่มักจะพบอยู่เสมอเมื่อเกิดข้อพิพาทกับกัมพูชา ที่คนไทยส่วนหนึ่งที่ผ่านการเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนแบบโบราณ มักจะนำเรื่องราวที่เป็นบาดแผลของชาติอื่นมากล่าวเพื่อให้ตนเองเกิดความสะใจ แต่กลับลืมนึกไปว่า แล้วจะเกิดประโยชน์อันใด และหากเป็นเราถูกหมิ่นหยามเช่นนี้ จะรู้สึกอย่างไร?

หากพิจารณาเนื้อหาในตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่มุ่งเน้นการเรียนเพื่อส่งเสริมความรักชาติ โดยต้องกล่าวถึงศึกสงคราม ความเก่งกล้าสามารถของคนไทย โดยไปเหยียบย่ำชาติอื่นแล้ว ดูเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ความเข้าใจอันดีกับผู้อื่น และอาจเป็นการฝึกนิสัยที่ไม่ดีให้กับเด็กด้วย

การเรียนประวัติศาสตร์แบบสากลนิยมจริง ๆ สิ่งสำคัญไม่ใช่เนื้อหาเรื่องราวที่เน้นความเป็นวีรบุรุษวีรสตรีเท่านั้น เพราะความสำเร็จใด ๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากมีผู้เก่งกล้าสามารถเพียงผู้เดียว แต่ต้องหมายรวมถึงการร่วมมือร่วมใจที่จะทำให้ประเทศชาติเดินไปได้เท่านั้น

สิ่งสำคัญในการเรียนประวัติศาสตร์ คือการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยผ่านการตั้งประเด็นข้อสงสัย การรวบรวมหลักฐาน การวิพากษ์ความน่าเชื่อถือของหลักฐานว่าใครเขียน เขียนทำไม เนื้อหาที่ต้องการนำเสนอคืออะไร ไปจนถึงการจัดความสัมพันธ์ของข้อมูล และนำเสนอเรื่องราวแบบหลากหลายรอบด้านตามที่หลักฐานบ่งบอก ไม่สรุปหรืออธิบายอย่างหนึ่งอย่างใดตามความเชื่อของตนเอง

การเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนจึงไม่ใช่การเรียนแบบท่องจำ เรื่องที่สอนกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เรื่องศึกสงคราม หรือไทยเก่งกว่าใคร แต่การเรียนประวัติศาสตร์ควรเรียนเพื่อฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ การหาเหตุผลอย่างรอบด้าน เพื่อนำความรู้ที่เรียนไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้ ควรเป็นการเรียนเพื่อให้เข้าใจอดีตว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ และเรียนเพื่อที่จะระมัดระวังปัจจุบัน ประวัติศาสตร์จึงเป็นการเรียนเพื่อทบทวนอดีต ไม่ใช่การจมปลักอยู่กับอดีตอันรุ่งเรืองหรือรันทดหดหู่

ในโอกาสที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีการเตรียมการกันตั้งหลายเรื่อง แต่เรื่องที่ไม่ได้มีการกล่าวถึงกันอย่างชัด ๆ คือ กระบวนการหล่อหลอมกล่อมเกลาทัศนคติต่อเพื่อนบ้านในทางลบที่ผ่านตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่เป็นอุปสรรคต่อการอยู่ร่วมกับคนอื่น

แม้ว่าจะมีแนวคิดในการจัดทำหลักสูตรอาเซียน โดยให้ความสำคัญกับ ๗ สาขาวิชา โดยในนั้นมีวิชาประวัติศาสตร์อยู่ด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจุดเน้นการทำหลักสูตรนี้เพียงเพื่อนำประวัติการก่อตั้งอาเซียนไปใส่ไว้ แต่ในส่วนการเรียนเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านยังเหมือนเดิมแล้ว หลักสูตรอาเซียนในส่วนของวิชาประวัติศาสตร์คงไม่สามารถทำให้การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนราบรื่นไปได้

นอกจากต้องมีการปรับเนื้อหาในตำราเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียน ให้กล่าวถึงศึกสงครามให้น้อยลง เขียนประวัติศาสตร์ด้วยความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้นแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมคือ ครูผู้สอนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนที่ผ่านกระบวนการศึกษาด้วยระบบเก่า ที่ยังมุ่งเน้นไทยรบกับพม่า ต้องให้ครูผู้สอนเหล่านี้ได้เห็นความสำคัญของการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ในการฝึกกระบวนการคิดให้กับเด็ก มากกว่าที่จะให้สอนกันแบบเดิม ๆ ที่เน้นการจดจำ แต่ควรปฏิรูปครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ทั้งระบบ ให้สามารถใช้กระบวนคิดอย่างมีวิจารณญาณ ฝึกให้เด็กคิดเป็น โดยจัดอบรมครูอย่างจริงจัง ด้วยวิทยากรที่มีความรู้ด้านการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์อย่างเชี่ยวชาญ และมีความคิดทัศนคติที่ทันสมัย ไม่ล้าหลังคลั่งชาติ

เรื่องสำคัญของการรวมเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน คือการมีทัศนคติที่ดีต่อกัน เป็นการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน การรู้จักและเข้าใจคนอื่นอย่างที่เขาเป็น นั้นย่อมส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากเราปล่อยให้ตำราเรียนประวัติศาสตร์ ถูกมองว่ามีทัศนคติเหยียดหยามเพื่อนบ้าน หากเป็นเช่นนี้ต่อไป วิชาประวัติศาสตร์ไทยจะนำไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างไร?

 8)



กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: saimai ที่ 05 ก.ย. 12, 21:39
มาลงทะเบียนเรียนค่ะ

-พร้อมเรียนและพร้อมเปิดใจรับรู้
-จะตั้งใจเรียน+และจะหมั่นหาความรู้เพิ่มเติมค่ะ   ;D


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ย. 12, 22:06
ดิฉันก็ไม่รู้ว่าลาวสอนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนของเขาอย่างไรแบบไหน   ให้รู้สึกเป็นมิตรกับคนไทยหรือเปล่า   และมีนักวิชาการลาวมาเรียกร้องให้เปลี่ยนประวัติศาสตร์ลาวให้รับกับ AEC หรือไม่
การสร้างหลักสูตรวิชาอะไรก็ตาม อย่างแรกคือดูจุดมุ่งหมายว่าจะสอนไปทำไม    ถ้าสอนเพื่อเตรียมรับ AEC หรือ AC ให้ประเทศเพื่อนบ้านอยู่กันได้อย่างสันติ  ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน    ก็ต้องเน้นเนื้อหาให้เป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายนี้     เพราะในโลกสมัยใหม่ การยกพลเข้าต่อสู้ล้มตายกันอาจสิ้นเปลืองทั้งงบประมาณและชีวิต   สงครามอาจเปลี่ยนรูปแบบเป็นแบบอื่นเช่นการชิงชัยกันทางเศรษฐกิจ   หลักสูตรการสอนก็ต้องเปลี่ยนไปจากเดิมเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม

โดยส่วนตัว ดิฉันไม่มีความรู้สึกทางลบกับประเทศเพื่อนบ้านประเทศไหน   แต่ก็ไม่ลืมว่า ถ้าคนไทยบางคนรู้สึกในทางลบกับลาวอย่างคุณสายพินว่าจริง   ก็น่าจะมีคนลาวบางคนรู้สึกในทางลบกับไทยเช่นกัน   คุณสายพินมีคำตอบสำหรับข้อนี้หรือไม่ว่าจะแนะนำให้แก้ไขอย่างไรดี   ถ้าไทยเปลี่ยนประวัติศาสตร์แล้ว  เราจะดำเนินการอย่างไรให้ลาวปรับเปลี่ยนประวัติศาสตร์ด้านเขาบ้าง เพื่อประสานความเข้าใจอันดีระหว่างกัน 
หรือว่ามุ่งจะเปลี่ยนของเราอย่างเดียวพอ   แต่ประวัติศาสตร์ลาวคงไว้อย่างที่เป็นอยู่  ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด?


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: saimai ที่ 05 ก.ย. 12, 22:07
เห็นด้วยกับคุณประกอบ(อีกแล้ว) ว่าเรียนไปเพื่อจุดประสงค์อะไรถ้ายังไม่มีวัตถุประสงค์ที่แน่ชัด ก็ยังไม่อาจจะวางเป้าหมายเพื่อปรับปรุงได้ ขอนอกเรื่องนิดนึงนะคะว่า เมื่อก่อนนี้ดิฉันก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ค่อยสนใจกับวัตถุประสงค์ในการทำอะไรมากนัก รู้สึกว่าตัวเองสะเปะสะปะมากระบบความคิดวกไปเวียนมา ต่อมา ก็มาคิดถึงตอนเรียนวิทยาศาสตร์ ก่อนเริ่มการทดลองแต่ละครั้ง ต้องเขียนวัตถุประสงค์ก่อนเพื่อที่เราจะได้รู้เราจะทดลองไปทำไมเพื่ออะไร จากวัตถุประสงค์นี้เอง ทำให้ดิฉันมีกรอบความคิดและการกระทำมากขึ้น

เพราะฉะนั้นเราต้องมีวัตถุประสงค์ไปเลยว่า เรียนไปเพื่ออะไร
- รู้รากเหง้าของตนเอง
- ปรับปรุงในจุดด้อย ไม่ผิดซ้ำซาก  และพัฒนาสิ่งที่ดีให้ดียิ่งขึ้นไป
เป็นต้น

ควรเรียนประวัติศาสตร์ที่ใกล้ตัวก่อน เป็นตัวตั้งต้น เพราะยุคสมัยใกล้ หรือจะห่างก็ยังไม่มาก ยังพอจินตนาการถึงได้ไม่ยาก แล้วค่อยๆย้อนหลังกลับไปในอดีต จะได้เรียนรู้ข้อเท็จจริงและ เปรียบเทียบและวิเคราะห์ ไปพร้อมๆกัน


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 05 ก.ย. 12, 23:30
วัตถุประสงค์ของการเรียนประวัติศาสตร์  ควรเป็นการเรียนเพื่อรู้จักกระบวนการตั้งคำถามและคิดวิเคราะห์หาคำตอบสำหรับคำถาม
และควรเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้นั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคม  เช่นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
ให้รู้รากเหง้าของท้องถิ่น  หรือนำไปประยุกต์ใช้กับการดำรงชีพในยุคปัจจุบัน  แต่การศึกษาวิจัยเพื่อให้เกิดข้อขัดแย้ง  เช่นการขัดแย้ง
ในเชิงประวัติศาสตร์กับประเทศเพื่อนบ้านนั้น  ถึงศึกษาวิจัยไปก็ไม่ทำให้เกิดประโยชน์อันใด  แล้วจะมาศึกษากันทำอะไร?



กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.ย. 12, 19:42
ผมเห็นว่า ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมของมนุษย์ ซึ่งมีทั้งที่เรื่องที่เป็นการก้าวย่างที่มนุษย์โลกต่างก็เห็นพ้องกันว่าเป็นเรื่องที่ดี มีหลายเรื่องที่คนกลุ่มใหญ่เห็นพ้องกันว่าดีหรือไม่ดี และก็มีหลายเรื่องที่ต่างกลุ่มต่างคนเห็นว่าดีหรือไม่ดีคละกันไป

เรื่องราวทางประวัติศาสตร์นั้นเป็นพลวัติที่เกิดขึ้นได้ทั้งในระดับท้องถิ่นเล็กๆไปจนถึงระดับทวีปและโลก

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกกันนั้น เป็นเหตุการจริงที่เกิดขึ้น แต่ในการบันทึกนั้นมักจะมีการผนวกความเห็นของผู้บันทึกเข้าไปด้วย แล้วก็มีผู้รู้หรือผู้ที่อ่านมาก ได้เห็นข้อมูลจากหลายแหล่งบันทึก เอามาเรียบเรียงผูกกันขึ้นมาเป็นเรื่องราวตามที่ตนเองได้วิเคราะห์และเห็นว่าข้อมูลเหล่านั้นมีความสอดคล้องกันหรือสนับสนุนซึ่งกันและกัน แล้วก็มีคนเอาข้อมูลทั้งหลายเหล่านั้นมารวมกันเขียนเป็นเรื่องราวต่อไปอีก นอกจากนั้นยังมีการเอาเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยเข้ามาผนวกและขยายความ บ้างก็ละเลยเลยที่จะไม่กล่าวถึงในบางเรื่อง บ้างก็เน้นในบางเรื่อง 

เมื่อจะนำไปทำเป็นตำราสอนกัน ก็ตัดตอนเขียนกันใหม่อีกให้เหมาะสมตามวัตถุประสงค์และนโยบายของรัฐ ตามสภาพของสังคมในเวลานั้นๆ

เขียนมาเสียยาวก็เพื่อแสดงความเห็นว่า เราสร้างเรื่องจากข้อมูลเท่าที่มีได้ในสามลักษณะ คือ ในลักษณะของการสร้างทรงบ้านที่มันน่าจะเป็นเสียก่อน (โครงของเรื่องราว) แล้วพยายามหาเฟอร์นิเจอร์ (รายละเอียด) มาใส่ ว่ามันสอดคล้องกันหรือไม่ ดูเข้ากันดีหรือไม่อย่างหนึ่ง  หรือจะรวบรวมข้อมูลเฟอร์นิเจอร์ (รายละเอียด)ให้พร้อมมากพอแล้วจึงคิดว่าบ้านนั้นจะเป็นรูปทรงใด (โครงของเรื่องราว) ที่จะเหมาะสมกับเฟอร์นิเจอร์นั้นๆ

ในการสอนประวัติศาสตร์ของเราก็เช่นกัน เนื่องจากเป็นการสอนต่อเนื่องหลายปี ประเด็นชวนคิดคือ เราจะเริ่มจากใหญ่ไปหาเล็ก หรือจากเล็กไปหาใหญ่ อย่างใหนจะดีกว่ากัน ???

ดูจะเป็นความเห็นไม่เข้าท่าและไม่เข้าเรื่องนัก :D   
 
เพียงจะบอกว่า แทนที่จะสอน (เล่าเรื่อง) ลงไปถึงในระดับรายละเอียดว่า ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ช่วงนั้นๆคิดอย่างไร และสอนกันไปถึงในรายละเอียดถึงขั้นของผลลัพท์ที่เกิดขึ้นนั้นๆ   ก็เพียงแต่จะเล่าเรื่องราวได้ใหมว่า เหตุการณ์เป็นอย่างไร เราคิดอย่างไร เขาคิดอย่างไร  ก็น่าจะเพียงพอแล้ว 

     


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ย. 12, 20:02
ยังติดใจเรื่องการสอนประวัติศาสตร์อยู่ครับ

การศึกษาภาคบังคับของเราได้พัฒนาไปมาก จากพื้นฐานเดิมๆที่ 4 ปี (ป.4) จนในปัจจุบันนี้ คือ 12 ปี (หรือจบ ม.8 ในสมัยก่อนโน้น)

ในนัยหนึ่ง คือ เปลี่ยนจากสอนให้เกิดความรู้อันพึงมีสำหรับคนในะดับอายุประมาณ 12 ปี (ป.4) ไปเป็นการสอนให้เกิดความรู้อันพึงมีสำหรับคนในระดับอายุประมาณ 18 ปี (ม.8 สมัยก่อน) ซึ่งตามกฎหมายถือว่าเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว   หรือในอีกนัยหนึ่ง คือ เพื่อทำให้คนในวัยเจริญพันธุ์ซึ่งพร้อมที่จะเป็นพ่อแม่ของคนรุ่นต่อไปแล้วนั้น ได้มีความรู้พื้นฐานเพียงพอสำหรับการสั่งสอนเลี้ยงดูบุตรธิดาอันเป็นคนในรุ่นต่อไป

ประเด็นอยู่ที่ว่า อะไรคือสาระทางวิชาความรู้ที่คนในวัยประมาณ 18 ปีนี้พึงได้รู้เป็นพื้นฐานเพียงพอที่จะนำไปต่อยอด ทั้งในเชิงของการศึกษาต่อทางวิทยาการ การศึกษาต่อทางวิชาชีพ และการนำไปศึกษาต่อด้วยตนเองหรือนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ


 


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: P.bangban ที่ 16 ก.ย. 12, 23:47
ประวัติศาสตร์คือข้อเท็จจริงในอดีต
คนบันทึกประวัติศาสตร์จะบันทึกข้อเท็จจริงที่เข้าข้างตัวเองหรือไม่


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 12, 19:38
ประวัติศาสตร์นั้นมีระบบการชำระกันบ้างหรือไม่ครับ   ผมคิดว่าน่าจะต้องมี เพราะว่าจะต้องมีการค้นพบเอกสารที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเอกสารในรูปของ archive และ chronicle รวมทั้ง documents ที่ปรากฎหรือเก็บอยู่ในที่อื่นๆนอกประเทศอีกด้วย  ซึ่งจะทำให้สามารถสอบทวนความถูกต้องได้ และอาจจะเพิ่มรายละเอียดและเรื่องราวที่ขาดหายไปในเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ซึ่งได้เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริงนั้นๆ

 


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 12, 21:57
ใช่ค่ะ เรามีคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ ทำงานอยู่ทุกวันนี้  แต่ระหว่างกรรมการทำงานอยู่  ตำราของกระทรวงก็ยังต้องมีให้เรียนกันต่อทุกปี  ไม่สามารถรอให้ชำระจบหมด ซึ่งอีกไม่รู้ว่านานเท่าไร   ก็ต้องเรียนกันไป แก้หลักสูตรกันไป  เท่านั้นเอง

ประวัติศาสตร์คือข้อเท็จจริงในอดีต
คนบันทึกประวัติศาสตร์จะบันทึกข้อเท็จจริงที่เข้าข้างตัวเองหรือไม่
ตราบใดมนุษย์ยังมีอัตตา  แม้แต่ข้อเท็จจริงตรงหน้าก็ยังมองกันคนละอย่างได้
มีน้ำอยู่ครึ่งแก้วตรงหน้า   นายก.บอกว่า ยังมีน้ำอีกตั้งครึ่งแก้ว  ไม่ต้องเติมหรอก นายข.บอกว่า ไม่เติมได้ไง  เหลือครึ่งแก้วเท่านั้นเอง
การมองประวัติศาสตร์ก็ทำนองเดียวกัน
แต่มันก็ไม่ได้ทำให้เราต้องหยุดบันทึกประวัติศาสตร์นะคะ   มันทำให้คุณมีโอกาสเปรียบเทียบแล้วตัดสินด้วยตัวเองต่างหาก


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 25 ก.ย. 12, 22:55
ปิดภาคต้นแล้วครับ
เมื่อไรคุณครูจะเริ่มสอนประวัติศาสตร์ เสียที
ติดน้องน้ำหรือน้องฝนครับ


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 เม.ย. 13, 14:05
วิธีสอนอย่างนี้จะดีไหม    ;)

http://www.youtube.com/watch?v=D5P9Bm8ua9Q


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 27 เม.ย. 13, 18:46
เห็นด้วยอย่างยิ่งกับความเห็นของท่านอาจารย์ใหญ่ที่ว่า
"ตราบใดมนุษย์ยังมีอัตตา  แม้แต่ข้อเท็จจริงตรงหน้าก็ยังมองกันคนละอย่างได้
มีน้ำอยู่ครึ่งแก้วตรงหน้า   นายก.บอกว่า ยังมีน้ำอีกตั้งครึ่งแก้ว  ไม่ต้องเติมหรอก นายข.บอกว่า ไม่เติมได้ไง  เหลือครึ่งแก้วเท่านั้นเอง
การมองประวัติศาสตร์ก็ทำนองเดียวกัน
แต่มันก็ไม่ได้ทำให้เราต้องหยุดบันทึกประวัติศาสตร์นะคะ   มันทำให้คุณมีโอกาสเปรียบเทียบแล้วตัดสินด้วยตัวเองต่างหาก"

แต่ประเด็นที่น่ากังวลในทุกวันนี้ คือการที่บรรดานักวิชาการ  ใช้วิธีคิดไปเองโดยมิได้ศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์โดยถ่องแท้  แล้วนำสิ่งที่ตนคิดและเข้าใจไปเองไปสอนศิษย์  ตัวอย่างเช่นเรื่องการรวมประเทศราชล้านนาเข้ากับราชอาณาจักรสยาม  ในเรื่องเทศาภิบาลของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงกล่าวไว้ว่าล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ โปรดให้รวมหัวเมืองประเทศราล้านนาเป็นมณฑลลาวเฉียงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗  แล้วจึงเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลตวันตกเฉียงเหนือ และมณฑลพายัพในเวลาต่อมาตามลำดับ  พระนิพนธ์มีเพียงเท่านี้  แต่นักวิชาการท่านไปตีความเอาว่า รัชกาลที่ ๕ ไปยึดเอาหัวเมืองประเทศราชล้านนามารวมกับสยาม  แต่ในอัตชีวประวัติของพระประชากิจกรจักร (ชุบ  โอสถานนท์) ซึ่งขึ้นไปรับราชการป่าไม้ที่เมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๓๙  กลับบันทึกว่าการปกครองในหัวเมืองเหล่านั้นล้วนเป็นสิทธิ์ขาดอยู่ในเจ้าครองเมือง ยิ่งค้นเอกสารจดหมายเหตุต่อไปยิ่งพบความตลาดเคลื่อนอีกมาก  ปัญหาคือคนไทยในยุคนี้ขาดวิสัยที่จะศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง  คอยแต่จะรับสิ่งที่ถูกปรุงแต่งมาเท่านั้น


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 เม.ย. 13, 15:17
วิทยานิพนธ์และตำราในหลายสำนัก มีค่านิยมให้เกิดการตีความแปลกๆกันออกไปจากตำราเรียนกันเมื่อก่อน     โดยเชื่อกันว่าเป็นการขยายโลกทัศน์ออกไป   หรือไม่ก็ 'จะได้ไม่ซ้ำซากจำเจอยู่อย่างเก่า'   เพราะ 'ตำราเด่นต้องไม่ซ้ำของเก่า'    ใครทำได้ถือว่าเก่ง

ทีนี้ ถ้ามีข้อมูลใหม่เข้ามาจนเป็นเหตุให้ตีความแตกต่างไปได้จากเดิม ก็ดีไป    กลายเป็นนวัตกรรม มีของใหม่มาให้ตื่นเต้นกัน   แต่ความเป็นจริงคือข้อมูลมันไม่ได้งอกขึ้นมาง่ายๆ  หากันแทบตายยังไง  ประเด็นเรื่องนี้ก็มีข้อมูลเท่าเดิม   เพื่อจะทำให้เป็นเรื่องใหม่ก็เลยต้องตั้งสมมุติฐานขึ้นมาใหม่      แล้วค่อยเลือกหยิบข้อมูลที่เข้ากับสมมุติฐานใหม่นี้ขึ้นมารองรับ    
เช่นมีข้อมูลทั้งหมด  10 ประการ    8 ประการชี้ไปทิศทางขวา  อีก 2 ชี้ไปทิศทางซ้าย      ถ้าเอามาหมด   คำตอบมันก็ไปทางขวามืออย่างที่เคยเป็นมาในอดีต  อย่ากระนั้นเลย เพื่อให้ฉีกแนวออกไป  ก็เอามาแค่ส่วนที่ชี้ไปทางซ้ายเท่านั้นก็พอ   เพื่อจะให้มีคำตอบใหม่เกิดขึ้น    
ถึงรวบรวมมาได้  มันไม่ค่อยจะมีน้ำหนักนัก ก็มั่วผสมเข้าไปบ้างก็ได้  ยังไงก็ให้อยู่ในแนวทางเดียวกันก็พอ
จากนั้นก็เกิดคำตอบใหม่ ว่า ทิศด้านซ้ายต่างหากคือคำตอบ    ไม่ใช่ขวา     แล้วก็ตื่นเต้นกันไปว่าเป็นนวัตกรรม  ไม่มีใครเคยทำ  เพิ่งค้นพบกัน

ใครอยากค้านก็ต้องไปหาอีก 8 ขวามาค้าน   แต่ค้านแล้ว คำตอบกลับไปเหมือนเดิมตามที่ท่านก่อนๆเคยว่ากันมา  ก็ไม่มีอะไรตื่นเต้น  บางทีจะถูกค่อนเสียอีกว่า เป็นเรื่องเก่าไดโนเสาร์เต่าล้านปี  งมงาย ไม่ยอมรับของใหม่  เป็นงั้นไป

หนังสือบางเล่มที่คุณ V_Mee คงนึกออกว่าเป็นเรื่องอะไร  ก็เข้าลักษณะเช่นนี้ละค่ะ


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เอ้อระเหย ที่ 01 พ.ค. 13, 22:32
ผมนึกถึง หนังสือที่เพิ่งออกมาวางจำหน่ายครับ
"นายใน สมัยรัชกาลที่6"
ผิดไหมครับ ถ้าผมอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วเห็นแย้งกับผู้นิพนธ์
ผมรู้สึกว่าผู้นิพนธ์พยายามโยงเรื่องราวต่างๆ ให้เราคิดเช่นนั้น


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 02 พ.ค. 13, 07:09
หนังสือเล่มที่ว่า เป็นหนังสือที่หลายท่านไม่อยากจะเอ่ยถึงแม้ชื่อ  เพราะเนื้อหาในหนังสือเป็นการตัดแปะข้อความจากแหฃ่งต่างๆ เพียงบางส่วน  เพียงเพื่อจะสนับสนุนความเชื่อของผู้เขียน  ซึ่งถ้าได้อ่านเนื้อความส่วนที่เหลือจากการตัดแปะ  จะได้ความหมายที่ต่างจากที่ปรากฏในหนังสือนั้นโดยสิ้นเชิง  ตัวอย่างเช่นเรื่องกีฬาฟุตบอล  ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้  แต่ผู้เขียนไม่หยิบลกไอ้างถึงคือ

“บรรดาผู้อ่านหนังสือพิมพ์ของท่าน  คงจะได้สังเกตเห็นแล้วว่าฟุตบอลนั้น  ในสมัยนี้มีคนพอใจชอบเล่นกันเปนอันมาก  แลไม่ต้องสงสัยเลยคงจะเปนการเล่นที่จะยั่งยืนต่อไปในกรุงเทพฯ ข้อนี้ก็ไม่ปลาดอะไร  แต่ท่านทั้งหลายคงจะได้สังเกตเห็นแล้วว่าฟุตบอลซึ่งเปนการเล่นของชาวอังกฤษโดยแท้นั้น  พึ่งจะได้มีคนนิยมเล่นกันมากใน ๔ – ๕ ปีนี้เอง.  ตามโรงเรียนต่างๆ นั้น ได้เล่นกันมานานแล้วจริงอยู่  แต่ในหมู่ทหารพึ่งจะได้มาแลเห็นเล่นกันหนาตาขึ้นในเร็วๆ นี้เอง.  ผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหารย่อมทราบอยู่ดีแล้วว่า  เวลาใดที่คนหนุ่มๆ มาประชุมรวมกันอยู่ในที่แห่งเดียวกันเปนจำนวนมาก  จะเปนทหารหรือพลเรือนก็ตาม  ความคนองอันเปนธรรมดาแห่งวิสัยหนุ่มจำเปนต้องมีทางระบายออกโดยอาการอย่างใดอย่าง ๑ ในสมัยก่อนเมื่อครั้งกองทัพของเราได้เริ่มจัดระเบียบขึ้นตามแบบของกองทัพเยอรมันโดยเคร่งครัดนั้น  การเล่นใดๆ และการกรีฑาทั้งปวงย่อมนับว่าเปนสิ่งที่ไม่สมควรแก่ทหาร  เพราะฉนั้นข้าพเจ้าเข้าใจว่าด้วยเหตุนี้เองผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหารของเรา  ถึงจะไม่ห้ามปรามตรงๆ จึงไม่ใคร่จะได้อุดหนุนส่งเสริมการเล่นอย่างใดๆ ทั้งสิ้น  จริงอยู่การกรีฑาได้มีมาแล้วเปนครั้งคราว  และเราก็ยังจำได้ว่าได้เคยเห็นการกรีฑาของทหารที่ท้องสนามหลวงมาแล้ว ๒ คราว  แต่การกรีฑาอย่างที่จัดมาแล้วนั้นเปนแต่การชั่วคราว  ความพยายามที่จะบำรุงการเล่นในหมู่ทหารเพื่อให้เปนทางออกกำลังกายและหย่อนใจนั้นนับว่าไม่มีเลย  เพราะฉนั้นทหารไทยเราจึงล้วนเปนผู้ที่ได้เคยต้องประพฤติตนอย่างที่ชนเยอรมันเขาเห็นว่าสมควรแก่ทหาร  แต่ซึ่งชาวเราเห็นว่าไม่สนุกอย่างยิ่ง

ในกองทัพบกอังกฤษ  เขาย่อมมีการเล่นแลกรีฑาต่างๆ  ส่วนในกองทัพบกรัสเซียเขาก็อุดหนุนการเต้นรำและร้องเพลงเปนทางบรรเทิงใจในหมู่ทหาร  ฝ่ายกองทัพเยอรมันนั้น  ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าทหารมีทางบันเทิงใจโดยอาการอย่างไร  ข้าพเจ้าได้ยินแต่กิติศัพท์เขาว่าวิธีเดินก้าวช้ายกขาสูงๆ ซึ่งฝรั่งเขาเรียกกันว่า “เดินตีนห่าน”  นั่นแหละเปนวิธีที่เยอรมันเขาใช้สำหรับฝึกหัดกำลังกาย  ซึ่งผู้บังคับบัญชาในกองทัพอันเปนเจ้าของแบบอย่างนั้นได้ให้อนุมัติเห็นชอบด้วย.  การเดินชนิดนี้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงจะต้องใช้กำลังมากจริง  แต่จะนับว่าเปนทางบันเทิงใจนั้นยังแลไม่เห็น  แต่อย่างไรก็ดี  วิธีเดินตีนห่านนี้  หาได้นำเอามาใช้เปน แบบอย่างในกองทัพไทยเราไม่  และเมื่อการเล่นอย่างใดๆ อื่นก็มิได้จัดให้มีขึ้น  ทหารของเราจึงมิได้มีการเล่นเพื่อหย่อนใจและออกกำลังกายเลย  เว้นไว้แต่การฝึกหัดดัดตนและหัดกำลังกาย  ซึ่งทหารของเราก็ถือว่าเปนการงาน  มิใช่การเล่น.  ทางหย่อนใจนี้แหละเปนสิ่งที่ทหารเราต้องการ  ก็เมื่อทหารเหล่านี้ไม่มีทางที่จะระบายความคนองซึ่งมีอยู่โดยธรรมดานั้นโดยอาการอันปราศจากโทษและสนุกสนาน คือ มีการเล่นชนิดที่ออกกำลังกายอย่างลูกผู้ชาย  อีกประการหนึ่งการดื่มเหล้าเบียร์ฤาก็มิใช่เปนทางหย่อนใจที่จะหาได้ด้วยราคาถูกเหมือนอย่างในเมืองอื่นบางเมือง  ทหารของเราตามทางราชการ  จึงนับว่าไม่มีทางสนุกสนานหย่อนใจอะไรเลย  แต่ในทางซึ่งมิใช่ราชการหรือทางส่วนตัวนั้น  เขาทั้งหลายบางทีก็ระบายความคนองของเขาโดยวิธีไม่สนุกแก่พลเรือนเลย (เพราะพลเรือนมักต้องหัวแตก)  และไม่ขันสำหรับพลตระเวนด้วย  ส่วนนายผู้มีน่าที่บังคับบัญชา  ก็ต้องใช้ความระวังระไวอยู่เสมอ  เพื่อควบคุมคนที่อยู่ในบังคับของตน.
ต่อมาความนิยมอย่างใหม่ได้ปรากฏขึ้นทีละเล็กละน้อย.  ในโรงเรียนนายร้อยและนายเรือ  ได้เกิดเล่นฟุตบอลกันขึ้น  ฟุตบอลได้เกิดมีขึ้นด้วยอาการอย่างไรนั้น  ก็หาได้มีปรากฏในจดหมายเหตุแห่งใดไม่  และข้าพเจ้าไม่ทราบว่า  ผู้มีหน้าที่บังคับบัญชาจะได้เปนผู้ชักนำเข้ามาหรืออย่างไร  แต่การเล่นของอังกฤษชนิดนี้ย่อมมีลักษณอยู่อย่าง ๑ คือ ว่าถ้าได้เข้าไปถึงแห่งใดแล้ว  แม้ทางราชการจะแสดงกิริยาเม้ยเมินสักเท่าใดก็ดี  คงไม่สามารถจะบันดาลให้สูญหายไปได้  เพราะฉนั้นในไม่ช้าการเล่นฟุตบอลนี้จึงได้กลายมาเปนวิธีหย่อนใจแลออกกำลังกายของนักเรียนนายร้อยแลนายเรือ  ฝ่ายผู้ที่มีอำนาจบังคับบัญชานั้น  ก็เออ อวยอุดหนุนไปตามควร.  เมื่อในเร็วๆ นี้ได้มีการเล่นแข่งขันกันหลายคราวอย่างฉันมิตร์  ในระหว่างนักเรียนนายร้อยทหารบกแลเสือป่ากรมพรานหลวงรักษาพระองค์  ซึ่งอยู่ใกล้กันในบริเวณสวนดุสิต  ส่วนนักเรียนนายเรือก็ได้มาเล่นกับนักเรียนมหาดเล็กหลวงหลายคราว.

ต่อนั้นมาฟุตบอลจึงได้เข้าไปถึงโรงทหาร  ผู้ใดได้เปนผู้นำเข้าไปนั้น  ข้าพเจ้าหาทราบไม่  แต่จะเปนใครก็ตาม  เขาเปนผู้สมควรที่จะได้รับความขอบใจแห่งเราทั้งหลาย  และข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าพวกทหารเองคงจะรูสึกขอบคุณเขาเปนอันมาก.  เวลานี้พวกทหารมีทางที่จะหย่อนใจด้วยความร่าเริงและไม่มีโทษ  ส่วนการเล่นนั้นเองก็เปนที่บันเทิงไม่เฉภาะแต่ส่วนผู้เล่น  ทั้งคนดูก็พลอยรู้สึกสนุกสนานด้วย.  ท้องสนามหลวงเวลานี้เปนสนามที่ฝึกหัดเล่นฟุตบอลสำหรับทหาร  ดังที่เราเห็นอยู่แทบทุกวันเวลาบ่ายๆ เต็มไปด้วยเพื่อนทหารที่ล้อมคอยดูตะโกนบอกและล้อกันฉันเพื่อนฝูง.  สนามหญ้าในพระบรมมหาราชวังหลังวัดพระแก้ว  ก็เปนที่สำหรับเล่นของกรมทหารรักษาวัง  ส่วนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ก็ไปเล่นที่สวนมิสกะวันใกล้โรงโขนหลวงที่สวนดุสิต  แลได้เล่นแข่งขันกับเสือป่ากรมพรานหลวงรักษาพระองค์เนืองๆ เปนการบำรุงความสามัคคีให้ดีขึ้น  ตั้งแต่ฟุตบอลได้เข้าไปถึงในกองทัพบกแล้ว  ความรู้สึกเปนเกลอกันในหมู่ทหาร  สังเกตเห็นได้ว่าดีขึ้นเปนอันมาก  ในห้องรักษาการแลห้องขังก็มีคนน้อยลงกว่าแต่ก่อน  การออกนอกบริเวณแลการหนีก็มีน้อยลงมาก  ความรู้สึกเปนมิตรเปนเกลอในหมู่ทหารและเสือป่าก็ได้เกิดขึ้นจากการเล่นฟุตบอลเปนปฐม  ทั้งนี้ส่อให้เห็นว่า  นิสัยของทหารเราไม่ถูกกับวิธีปกครองตามแบบของเยอรมัน (ซึ่งไม่ให้มีการเล่น).”



กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ต.ค. 15, 10:19
เมื่อวานนี้ (๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๘) ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติมีการจัดงานเสวนาวิพากษ์หนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย”  (http://www.m-culture.go.th/index.php/th/2013-06-21-06-56-5/2013-06-07-04-39-31/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%9B-%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3/item/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1-%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8-%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99-%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%8A%E0%B8%99-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4.html) เขียนโดยข้าราชการจากสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์  (http://www.arts.chula.ac.th/~history/viewteacher.php?id=7) อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิพากษ์หนังสือเล่มนี้ว่า

หนังสือเล่มนี้มีทั้งคำปรารภที่เขียนโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คำนำเขียนโดย นายวีระ โรจน์พจน์รัตน์ รมว.วธ. และคำชี้แจงโดย นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร สรุปได้ว่าหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทยเป็นของรัฐบาล จัดทำตามระบบราชการ เป็นการสั่งการลงมาเป็นทอด ๆ ทั้งนี้ หนังสือเล่มนี้ถูกจัดทำขึ้นโดยมีเป้าประสงค์ เพื่อให้เกิดความรักสามัคคีของคนในชาติ เพื่อให้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องในประวัติศาสตร์ และเป็นที่ยอมรับของคนทุกระดับชั้นวัย แต่เป้าประสงค์นี้กลับอยู่ภายใต้ข้อจำกัดสองข้อ คือ ๑.ข้อกำจัดในเรื่องบุคลกร ระบบราชการ ทำให้มีเจ้าหน้าที่ไม่กี่คนที่ต้องทำหน้าที่รับผิดชอบผลงานระดับชาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่กี่คนจะตอบโจทย์ที่ยิ่งใหญ่ของประเทศกับโลกที่เปลี่ยนไปได้ดีแค่ไหน ๒.ข้อกำจัดในเรื่องเวลา หนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย ถูกจำกัดให้เขียนให้เสร็จภายใน ๒ เดือน ซึ่งจะคาดหวังจะมีความสมบูรณ์คงเป็นไปได้ยาก

หนังสือเล่มนี้มี ๒ เป้าหมาย ๑.ตอบสนองเชิงนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ ๒.ตอบสนองความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย แต่ความจริงกลับมีความขัดแย้งกันในตัว ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ข้อเท็จจริงทางวิชาการ อาจไปขัดกับวัตถุประสงค์ได้ ยกตัวอย่างเช่น สงครามยุทธหัตถี หากศึกษาตามประวัติศาสตร์ นานาชาติบอกว่าอาจจะไม่เกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้น แต่ไม่ได้เป็นไปตามความเข้าใจของไทย ขณะที่วันที่ ๑๘ ม.ค. ของทุกปี ที่เป็นวันกองทัพไทย เสมือนเป็นสิ่งยืนยันว่า สงครามยุทธหัตถีได้เกิดขึ้นจริง เป็นที่เรียบร้อย จึงมีความขัดแย้งกันอยู่

"รัฐบาลต้องการมุ่งเน้นเรื่องปรองดอง แต่กลับมีข้อมูลที่อาจมีผู้ไม่ประสงค์ความปรองดองสามารถใช้มาโจมตีรัฐบาล หรือมองว่าไม่ได้สร้างความปรองดองได้ เพราะพอดูรายละเอียดจะพบว่ามีการพูดถึง การกำเนิดรัฐไทย สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา แต่ไม่ได้มีการพูดถึงล้านนาหรืออีสานเลย คำถามคือล้านนาเป็นไทย อีสานเป็นไทยหรือไม่"

เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องการเมืองในหนังสือ ยังส่งผลให้การปรองดองเกิดขึ้นตามเป้าประสงค์ได้ยาก เพราะมีความตอนหนึ่งระบุว่า พรรคไทยรักไทยดำเนินนโยบายแบบประชานิยม และนายทักษิณ ชินวัตร มีปัญหาทุจริตการเลือกตั้ง รวมถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการดำเนินนโยบายเน้นความโปร่งใส แต่ก็ยังมีการใช้นโยบายประชานิยม แต่กลับพูดถึงการเข้ามาของพล.อ.ประยุทธ์ ว่าทำการรัฐประหาร เพื่อขจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่หนังสือเล่มนี้ทำโดยหน่วยงานของรัฐ จึงทำให้หนังสือมีความลำเอียง และแท้จริงแล้วหนังสือประวัติศาสตร์ ไม่มีความจำเป็นที่จะโจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และชื่นชมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้ขัดกับเป้าประสงค์ที่ต้องการให้เกิดการปรองดอง

"ผมว่าไม่ต้องรีบร้อนที่จะต้องเขียน รอให้เหตุการณ์ตกผลึกก่อนจะดีกว่า การนำข้อมูลเหล่านี้มาใส่ตอนที่สถานการณ์ยังมีความระหองระแหง จะเป็นชนวนให้เกิดความแตกแยก และนำไปสู่การต่อต้านซึ่งกันและกันได้ อีกทั้งในทางวิชาการที่ต้องมีความน่าเชื่อถือ มีความทันสมัย สอดคล้องกับยุคสมัย การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่ในขณะที่บรรณานุกรมของหนังสือเล่มนี้ กลับไม่มีหนังสือต่างประเทศที่พูดถึงประวัติศาสตร์ไทยแม้แต่เล่มเดียว อ่านแล้วไม่สามารถเชื่อถือว่าเป็นบรรทัดฐานทางประวัติศาสตร์ได้

เวลานี้หากจะลุกขึ้นมาเขียนหนังสือประวัติศาสตร์ ไม่สามารถเขียนภายใต้กลไกราชการได้อีกต่อไป จะทำให้เป็นปัญหาเสียมากกว่า นอกจากนี้ จะต้องมีเวลามากกว่าสองเดือน มีเวลามากพอที่จะให้รายละเอียดต่าง ๆ และควรต้องมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน ภาคนักวิชาการ เพราะประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะผูกขาดได้อีกต่อไป"


ข้อมูลจาก ข่าวสด (http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1445851594)

เหตุการณ์ทางการเมืองที่เพิ่งผ่านมาก็กลับกลายเป็น "ประวัติศาสตร์" ในหนังสือเล่มนี้เสียแล้ว    :-X



กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 27 ต.ค. 15, 18:13

ถ้าจะวงเล็บขยายความชื่อหนังสือเป็น

 ประวัติศาสตร์ชาติไทย (ฉบับราชการ)

ก็น่าจะบอกตัวตนของหนังสือได้ดีขึ้นครับ




กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 15, 18:46
อ้างถึง
หนังสือเล่มนี้มี ๒ เป้าหมาย ๑.ตอบสนองเชิงนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ ๒.ตอบสนองความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย แต่ความจริงกลับมีความขัดแย้งกันในตัว ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ข้อเท็จจริงทางวิชาการ อาจไปขัดกับวัตถุประสงค์ได้ ยกตัวอย่างเช่น สงครามยุทธหัตถี หากศึกษาตามประวัติศาสตร์ นานาชาติบอกว่าอาจจะไม่เกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้น แต่ไม่ได้เป็นไปตามความเข้าใจของไทย ขณะที่วันที่ ๑๘ ม.ค. ของทุกปี ที่เป็นวันกองทัพไทย เสมือนเป็นสิ่งยืนยันว่า สงครามยุทธหัตถีได้เกิดขึ้นจริง เป็นที่เรียบร้อย จึงมีความขัดแย้งกันอยู่

ถ้าหากว่าเราสามารถนั่งยานเวลาไปสัมภาษณ์สมเด็จพระนารายณ์  พระเพทราชา และเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ให้เล่าถึงเหตุการณ์ตอนท้ายรัชสมัย
เราก็จะได้เหตุการณ์ 3 เรื่อง ที่แตกต่างกันออกไป
ประวัติศาสตร์ไม่ว่าเรื่องไหน  ไม่มีข้อเท็จจริงที่ตายตัวจนกระดิกกระเดี้ยไม่ได้   ถ้ามีได้ก็มักเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่นวันเดือนปีเกิด
แม้แต่ยุทธหัตถี  พม่าบ้นทึกอย่าง ไทยบันทึกอีกอย่าง
ฝรั่งบันทึกอึกอย่าง  แล้วจะตัดสินอย่างไร ในการเชื่อฝรั่งมากกว่าไทยหรือพม่า



กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 27 ต.ค. 15, 19:12
อ้างถึง
หนังสือเล่มนี้มี ๒ เป้าหมาย ๑.ตอบสนองเชิงนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ ๒.ตอบสนองความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย แต่ความจริงกลับมีความขัดแย้งกันในตัว ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ข้อเท็จจริงทางวิชาการ อาจไปขัดกับวัตถุประสงค์ได้ ยกตัวอย่างเช่น สงครามยุทธหัตถี หากศึกษาตามประวัติศาสตร์ นานาชาติบอกว่าอาจจะไม่เกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้น แต่ไม่ได้เป็นไปตามความเข้าใจของไทย ขณะที่วันที่ ๑๘ ม.ค. ของทุกปี ที่เป็นวันกองทัพไทย เสมือนเป็นสิ่งยืนยันว่า สงครามยุทธหัตถีได้เกิดขึ้นจริง เป็นที่เรียบร้อย จึงมีความขัดแย้งกันอยู่

ในประเด็นเรื่องศึกยุทธหัตถีนี้  เอกสารของไทยเอง คือ พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ  ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์  และฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ ก็ไม่ตรงกัน  แต่เมื่อได้ใช้วิทยาการสมัยใหม่ เช่น ปฏิทินดวงดาวของท้องฟ้าจำลองตรวจสอบกับข้อมูลจากพงศาวดารทั้งสามฉบับ  ก็พบแล้วว่า ข้อมูลในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติมีความแม่นยำในเรื่องวันเวลา  ยิ่งหากได้อ่านพระราชบันทึกในสมุดจดหมายเหตุรายวันส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าชัชวลิต  เกษมสันต์ ด้วยแล้ว  จะยิ่งเห็นเหตุและผลที่สมเด็จพระนเรศวรต้องทรงยกทัพออกจากกรุงศรีอยุธยาไปตั้งรับจนได้ทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาที่ดอนเจดีย์ตามที่มีบันทึกในพงศาวดาร  เพราะในพระราชบันทึกนั้นทรงกล่าวถึงซากค่ายทหารพม่าในเส้นทางที่เสด็จผ่าน  และเหตุผลที่พม่าที่ยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์แล้วต้องวกขึ้นเหนือ  ก็เพื่อรอทัพที่ยกมาจากด่านแม่สอดที่ไล่ตีหัวเมืองเหนือ  สะสมกำลังพลและเสบียงเรื่อยมา  จนมาสมทบกันเป็นกองทัพใหญ่ที่สุพรรณบุรี  แล้วจึงยกไปตีกรุงศรีอยุธยา  สภาพบ้านเมืองในเวลาที่เสด็จนั้นความเจริญยังเข้าไปไม่ถึง  จึงได้ทอดพระเนตรซากค่ายคูประตูหอรบที่ยังไม่ถูกทำลาย  นี่คือเสน่ห์ของการเรียนประวัติศาสตร์  แต่ผู้ศึกษาต้องละทิ้งควงามยึดมั่นถือมั่นในชุดข้อมูลใดๆ จนไม่รับฟังจ้อมูลอื่นๆ


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ต.ค. 15, 09:12
ปุจฉา :
ประวัติศาสตร์ไม่ว่าเรื่องไหน  ไม่มีข้อเท็จจริงที่ตายตัวจนกระดิกกระเดี้ยไม่ได้   ถ้ามีได้ก็มักเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่นวันเดือนปีเกิด
แม้แต่ยุทธหัตถี  พม่าบ้นทึกอย่าง ไทยบันทึกอีกอย่าง
ฝรั่งบันทึกอึกอย่าง  แล้วจะตัดสินอย่างไร ในการเชื่อฝรั่งมากกว่าไทยหรือพม่า
วิสัชนา :
ท่องเน็ตไปแล้วเจอเข้า ถูกใจ จึงเด็ดมาฝาก

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6391.0;attach=59387;image)


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ต.ค. 15, 10:51
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าใครผิดใครถูก    ไม่จำกัดที่คำตอบเดียว
ถ้างั้น หนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย ก็ถือว่าเป็นคำตอบหนึ่งก็แล้วกันนะคะ


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ต.ค. 15, 15:25
คุณทองแถมน่าจะหมายถึง racial discrimination  ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ชาตินิยม


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 30 ต.ค. 15, 13:15

    บุราณรัฐใหญ่น้อย            อยู่กระจาย
ค่อยค่อยก่อสืบสาย               ชาติเชื้อ
แต่ละถิ่นเฉิดฉาย                  เรืองรุ่ง
อำนาจแข่ง-กูเกิ้ล                 คบค้า-ยึดครอง
 ;D


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: Rockyb ที่ 02 พ.ย. 15, 22:10
ยินดีที่ได้รู้จักทุกคนครับ ติดตามมานานเพิ่งมีโอกาสได้พูดคุยด้วยครับ
เมื่อวานผมเพิ่งพบอาจารย์เทาชมพูที่งานสัปดาห์หนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์ฯมาน่ะครับ อาจารย์แนะนำว่าให้ผมลองมาพูดคุยกันบ้าง ที่ผมเป็นทหารน่ะครับ ที่ชื่อผมแปลว่า นักปราชญ์+นักปราชญ์น่ะครับ
ผมมองว่าการสอนประวัติศาสตร์นั้น ต้องสอนในข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน บางคนอาจจะสอนโดยตัดเอามาบางท่อน+ความเห็นส่วนตัว แล้วเด็กก็นำไปจำเมื่อนำไปจำแล้ว ก็จะทำให้สิ่งที่ตนเชื่อนั้นถูกต้องไม่ยอมเปิดใจรับข้อเท็จจริงของอีกฝั่ง การสอนด้วยการตัดทอน เพิ่มด้วยความอคติเช่นนี้ เสมือนเป็นการล้างสมองไปโดยที่ผู้เรียนไม่ได้รู้ตัว การสอนประวัติศาสตร์ต้องนำเสนอทั้งสองด้าน เหรียญยังมีสองฝั่ง จะได้ทำให้เด็กนั้นวิเคราะห์ในข้อเท็จจริง ไม่ทำให้กลายเป็นการสุดโต่งไปเช่นทุกๆวันนี้ครับ


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 พ.ย. 15, 07:33
มาทักทายคุณ Rockyb ค่ะ  ขอบคุณที่มาตามคำเชิญ
วิธีเรียนรู้ข้อมูลหลายๆด้าน มีสอนในระดับมหาวิทยาลัย และสูงขึ้นไปกว่าปริญญาตรีค่ะ


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 03 พ.ย. 15, 19:27
ในความคิดของคนที่ไม่ได้เรียนทางประวัติศาสตร์มาอย่างผม การเรียนประวัติศาสตร์สมควรเป็นวิชาให้ผู้ศึกษาได้ฝึกตั้งประเด็นที่ต้องการศึกษา ค้นคว้าข้อมูลหลักฐาน วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ มากกว่าจะเป็นเพียงการท่องจำเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้เรียนรู้ว่าเหตุการณ์ต่างๆส่งผลกระทบทางสังคมอย่างไรบ้าง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีประโยชน์อะไรต่อการดำเนินชีวิต อย่างที่ รศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดมเคยกล่าวว่า "ประวัติศาสตร์ไม่ได้สอนให้คนจำ ไม่ได้ให้คนท่อง แต่ให้คนคิด"

ซึ่งการฝึกกระบวนการคิดที่ว่าก็คงจะมีทั่วไปในการเรียนประวัติศาสตร์ระดับอุดมศึกษาซึ่งมีผู้เรียนเฉพาะกลุ่ม แต่คิดว่าน่าจะยังน้อยในระดับโรงเรียนมัธยมครับ ซึ่งน่าจะยังขาดการเรียนประวัติศาสตร์แบบฝึกคิดวิเคราะห์อยู่ครับ อาจจะไม่ได้ต้องศึกษาเชิงลึกแบบมหาวิทยาลัย แต่แค่อยากให้เน้นทางนี้มากขึ้นครับ

ผมไม่แน่ใจว่าสมัยนี้ยังเป็นแบบนั้นอยู่หรือเปล่า แต่สมัยที่ผมเรียนประวัติศาสตร์ไทยตอนมัธยมต้นอยู่ก็คือเน้นจำชื่อบุคคลสำคัญซึ่งส่วนมากคือพระมหากษัตริย์หรือวีรชน(ในหนังสือเรียนผมมีเขียนถึงเทียนวรรณ  กบฏ ร.ศ.๑๓๐ แต่ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกจะไม่ได้สอน)และเหตุการณ์เป็นหลัก มีให้เขียน family tree ของกษัตริย์อยุทธยา ให้หาประวัติคนสำคัญ นอกจากนี้อาจารย์ยังสอนผิดด้วยครับ(ที่จำได้คือบอกว่าพระเจ้าอุทุมพรเป็นพี่พระเจ้าเอกทัศน์ ฟอลคอนเป็นคนฝรั่งเศส) ผมเลยไปศึกษาด้วยตนเองพบว่ามีอะไรที่น่าสนใจกว่าในชั่วโมงเรียนมากครับ ได้ฝึกวิเคราะห์ฝึกหาหลักฐานศึกษามาจนถึงตอนนี้

การปลูกฝังเรื่องประวัติศาสตร์ไทยให้คนส่วนใหญ่ในประเทศรู้ หรือการเลือกเนื้อหานำมาเพื่อใช้ในการเรียนการสอนระดับโรงเรียน ควรจะเป็นข้อมูลที่ปราศจากอคติมีความเป็นกลางที่มากพอ เพิ่มการสอบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคอื่นที่ไม่ใช่สุโขทัย อยุทธยา ธนบุรี มากขึ้นอย่างเหตุการณ์ของยุคประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่บ้างครับ ซึ่งตามความคิดเห็นส่วนตัวแล้วหนังสือ 'ประวัติศาสตร์ชาติไทย' ที่เพิ่งออกมายังไม่ค่อยเหมาะสมต่อการใช้เป็นแหล่งอ้างอิงที่ดีเท่าไหร่ครับ


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ก.ค. 20, 13:12
หนังสือเรียนวิชาภาษาไทย ภาษาพาที ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ของกระทรวงศึกษาธิการ เปรียบเทียบระหว่างแผ่นดินพ่อและแผ่นดินแม่ของ เคหลิบ

ประเทศไทยยิ่งใหญ่เสมอ  ;D


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ค. 20, 15:11
รู้สึกแปลกใจหลายข้อ
1    เด็กสองคนนี่มีชื่อที่หายากสำหรับเด็กฝรั่ง   เคหลิบ =Caleb  และลู้ค = Luke  แทนที่จะชื่อ John James Peter Henry William  Robert ฯลฯ  ซึ่งเห็นได้ทั่วไป
2    ถ้าพ่อของเด็กสองคนนี้มาจากประเทศที่เป็นเกาะ  น่าจะหมายถึงอังกฤษ  แต่ประวัติศาสตร์ที่เล่ากลับเป็นประวัติศาสตร์ของอเมริกา   ซึ่งไม่ใช่ประเทศที่เป็นเกาะ
     ตกลงพ่อของเด็กเป็นชาวอังกฤษหรืออเมริกันกันแน่
3   คนอเมริกันไม่สอนเด็กให้เรียนประวัติศาสตร์ของประเทศเขาแบบนี้   เขาจะสอนถึงโคลัมบัสค้นพบทวีปใหม่   ต่อมา คนยุโรปอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่ทวีปใหม่  ด้วยความหวังว่าจะพบสิ่งที่ดีกว่า เช่นเสรีภาพทางศาสนา   โอกาสที่จะตั้งตัว และความเท่าเทียมกันในสังคม ฯลฯ
4   ยังสอนว่าสุโขทัยเป็นอาณาจักรแรกอยู่อีกหรือคะ
    แล้วอาณาจักรโยนกเชียงแสน  อาณาจักรล้านนา อาณาจักรหริภุญชัย อาณาจักรโคตรบูร  อาณาจักรศรีวิชัย อาณาจักรตามพรลิงค์  อาณาจักรละโว้ อาณาจักรทวารวดี  อยู่ไหน


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ก.ค. 20, 17:22
ถ้าพ่อของเด็กสองคนนี้มาจากประเทศที่เป็นเกาะ  น่าจะหมายถึงอังกฤษ  แต่ประวัติศาสตร์ที่เล่ากลับเป็นประวัติศาสตร์ของอเมริกา   ซึ่งไม่ใช่ประเทศที่เป็นเกาะ
ตกลงพ่อของเด็กเป็นชาวอังกฤษหรืออเมริกันกันแน่

มีเฉลยอยู่ใน บล็อกของคุณ nzmum (https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=nzmum&month=01-2009&date=14&group=1&gblog=83) แผ่นดินพ่อของเคหลิบคือ นิวซีแลนด์

คุณ nzmum น่าจะเป็นผู้เขียนเรื่องในแบบเรียนภาษาไทยอิงประวัติศาสตร์ด้วย แต่พลาดหลายประเด็น

๑. ประวัติศาสตร์ของแผ่นดินพ่อ (นิวซีแลนด์) แทนที่จะใช้ฉากของนิวซีแลนด์ กลับไปใช้ฉากในประวัติศาสตร์ของอเมริกา (คงน่าตื่นเต้นกว่า) ในมุมมองคนไทย

๒. ประวัติศาสตร์ของแผ่นดินแม่ ไม่ได้เริ่มจากอาณาจักรสุโขทัย โดยลืมอาณาจักรอื่น ๆ ไว้ข้างหลัง (ซึ่งคงเป็นการรับรู้ของคุณ nzmum จากโรงเรียนไทยในวัยเยาว์)


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ค. 20, 18:33
ถ้าบรรพบุรุษฝรั่งของเคเล็บและลู้คเป็นชาวอังกฤษที่ไปตั้งรกรากอยู่ในนิวซีแลนด์  ประวัติศาสตร์ที่เขาเอ่ยถึงก็คือสงครามชิงดินแดนของชาวพื้นเมืองเผ่าเมารี โดยชาวยุโรป
ทำให้นับประวัติศาสตร์ตั้งแต่สงคราม ปี 1834  ทำให้ประวัติศาสตร์ของประเทศมีแค่ 200 ปี   ไม่ได้นับตั้งแต่ชาวยุโรปไปเยือนดินแดนนี้ตั้งแต่ 1642
ไม่ได้นับตั้งแต่ชาวโปลีนีเชียนไปตั้งถิ่นฐานเมื่อ 700 ปีก่อน


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ก.ค. 20, 19:22
Maori or Native American  ???


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 20, 12:30
ไปกันใหญ่แล้ว! คนโคราชเดือดจ่อแจ้งจับ “เรนนี่” หมิ่นสามีย่าโม เอาลูกทำเมีย ซัดแค่คิดก็จั_ไร!

คนโคราชเดือด จวก "เรนนี่ ช่องส่องผี" ขี้รดหัวใจคนโคราช หมิ่นเกียรติ "ย่าโม" กล่าวหา "ย่าบุญเหลือ" เป็นเมียน้อย ซัดแค่คิดก็จั_ไรแล้ว เป็นใครมาจากไหนไม่รู้ แต่อย่ามาอวดรู้ในลักษณะแบบนี้ ร้องผู้ว่าฯ ให้ดำเนินคดีกับรายการ ถ้าไม่ทำจะรวมตัวฟ้องเอง

จากกรณีที่รายการ “ช่องส่องผี” นำโดย บ๊วย เชษฐวุฒิ วัชรคุณ, อาจารย์เรนนี่ สุระประภา คำขจร และ เจมส์ ศราวุฒิ วรพัทธ์ทีวีโชติ เดินทางมาบันทึกเทปรายการที่วัดศาลาลอย อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นวัดที่บรรจุอัฐิของ ”ท้าวสุรนารี” หรือ “ย่าโม” ที่ชาวนครราชสีมาและคนไทยทั้งประเทศให้ความเคารพนับถือเป็นวีรสตรีที่ร่วมกับ “ย่าบุญเหลือ” บุตรบุญธรรม และหญิงกล้าชาวโคราช ร่วมกันกอบกู้เมืองนครราชสีมาที่ถูกข้าศึกเข้ามายึด ฉายเป็นอีพี 39 และ 40 ต่อเนื่องกัน

โดยในระหว่างที่มีการบันทึกเทปที่บริเวณหน้าอุโบสถเก่าที่มีรูปปั้นของพระยาปลัดทองคำ เจ้าเมืองนครราชสีมา สามีของท้าวสุรนารี หรือ ย่าโม อาจารย์เรนนี่ กล่าวว่า ตนเองมีจิตสัมผัสต่อสิ่งลี้ลับเมื่อมายืนอยู่ตรงนี้ ท่านปลัดทองคำและย่าโมรวมทั้งนางสาวบุญเหลือก็มาอยู่ตรงนี้ด้วยกัน โดยท่านปลัดทองคำบอกว่าแม่บุญเหลือเป็นเมียของท่านอีกคนหนึ่ง ส่วนย่าโมเป็นเมียหลัก แม่บุญเหลือเป็นเมียสองไม่ใช่ลูกสาวบุญธรรม และแม่บุญเหลือก็เป็นคนบอกเรนนี่เองว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ คุณย่าบุญเหลือก็อยู่ที่นี่อยู่ตรงก้านธูปแม่บุญเหลืออยู่ด้านหลังปลัดทองคำ พร้อมชี้ให้กล้องแพนไปที่บริเวณที่ตั้งธูปเทียน

หลังจากที่เทปดังกล่าวออกอากาศไป ปรากฎว่าถูกคนในจังหวัดนครราชสีมาออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิถึงการนำเสนอข้อมูลของอาจารย์เรนนี่ที่ไม่ตรงกับประวัติศาสตร์ที่ระบุไว้มาแต่ช้านาน โดย “นายสมาน ฐิติพงศ์ทัพพ์” ประธานกลุ่มคนรักษ์ย่าโม ได้ออกมาวิจารณ์ถึงเทปดังกล่าวในฐานะคนโคราชว่า การกล่าวว่าย่าบุญเหลือเป็นเมียน้อยของพระยาปลัดทองคำแค่คิดก็จั_ไรแล้ว

“การกล่าวของเรนนี่ที่ระบุว่าย่าบุญเหลือเป็นเมียน้อยของพระยาปลัดทองคำ เจ้าเมืองนครราชสีมาในสมัยนั้น แค่คิดก็จั_ไรแล้ว ถือว่าไม่ให้เกียรติย่าโม และเป็นการทำลายคุณความความดีของย่าโม และย่าบุญเหลือที่ท่านสร้างวีรกรรมเอาไว้ให้ชาวโคราช ซึ่งกว่าจะกอบกู้บ้านเมืองมาได้ต้องแลกด้วยเลือดเนื้อและชีวิต”

“คนโคราชทุกคนร่วมกันสร้างอนุสรณ์สถานของย่าโมขึ้นมาก็เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของท่านที่ร่วมกันกอบกู้บ้านเมืองมา คุณเป็นใครมายืนกล่าวหาว่าย่าโมและย่าบุญเหลือเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คุณขี้รดหัวใจคนโคราชและคุณกำลังทำลายคุณงามความดีที่วีรสตรีของไทยสร้างมา คุณรู้ไหมว่าประวัติศาสตร์หน้านี้กว่าจะเขียนขึ้นมาได้คือชีวิตของคนที่เสียสละ”

“กี่ปีมาแล้วที่ย่าโมได้พาชาวโคราชต่อสู้ที่ทุ่งสัมฤทธิ์คุณเคยรู้ศึกษาประวัติศาสตร์และลงไปดูสถานที่จริงที่ชาวโคราชเทิดทูนย่าบ้างหรือไม่ อยู่ดีๆ คุณมาบอกว่าย่าโม ย่าบุญเหลือ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ผมเป็นคนหนึ่งที่ยอมไม่ได้จริงๆ “

ลั่น “อาจารย์เรนนี่” จะเป็นใครมาจากไหนตนไม่รู้ แต่ไม่ควรมาอวดรู้ในลักษณะแบบนี้ เตรียมร้องผู้ว่าฯ โคราชให้จัดการจริงจัง หากไม่ทำตนจะรวบรวมพยานหลักฐานแจ้งความเอง

“เรนนี่จะเป็นใครมาจากไหนไม่รู้ แต่คุณไม่ควรมาอวดรู้ในลักษณะเช่นนี้ ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและไม่สมควรอย่างยิ่ง จึงอยากเรียกร้องให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที ที่ผ่านมาปล่อยปละละเลยให้คนใช้โลกออนไลน์มาย่ำยีทำลายย่าโม ด้วยการนำภาพใบหน้ามาตัดต่อใส่แทนใบหน้าของย่าและใช้คำไม่สุภาพไม่เหมาะสมหลายครั้ง”

“มาวันนี้ก็มาปล่อยให้ใครก็ไม่รู้ที่ศีล 5 ไม่ครบมาทำลายย่าโมแบบนี้ไม่เห็นด้วย ถ้าท่านผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการไม่ได้ กลุ่มคนรักษ์ย่าโมในฐานะคนโคราชที่เสียหายจะดำเนินการเอง ด้วยการรวบรวมพยานหลักฐานเข้าแจ้งความดำเนินบุคคลพวกนี้ให้ถึงที่สุด”


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ก.ค. 20, 14:40
ประวัติและวีรกรรมของนางสาวบุญเหลือไม่มีกล่าวถึงในหลักฐานร่วมสมัยในรัชกาลที่ ๓ หรือพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์

หลักฐานที่เป็นงานเขียนเก่าที่สุดที่พูดถึง "นางสาวบุญเหลือ" คือสมุดสั่งสอนทหารแบบสั่งสอนที่ ๑ ว่าด้วยพระราชวงศ์และพงศาวดาร พิมพ์ที่โรงพิมพ์กรมทหารบก มณฑลนครราชสีมา เมื่อ ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) นิพนธ์โดยพลเอกพระองค์เจ้าบวรเดช ขณะดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารมณฑลนครราชสีมา เขียนยกย่องวีรกรรมของ "นางสาวเหลือ" ว่าเป็นผู้จุดเกวียนบรรทุกกระสุนดินดำ

งานเขียนเรื่องที่สองคือ เรื่อง "ท้าวสุระนารี" ของพันตรีหลวงศรีโยธา (ศรี จูฑะพล) พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ เพื่อจำหน่ายในงานเปิดอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีในปีเดียวกัน ในเรื่องนี้กล่าวถึง "นางสาวทองเหลือ" บุตรีหลวงเจริญ ได้รับมอบหมายจากคุณหญิงโมให้เป็นผู้ปรนนิบัติเพี้ยรามพิชัย ผู้ทำหน้าที่ดูแลเกวียนกระสุนดินดำ โดยหวังว่าถ้ากำจัดเพี้ยนายนี้ได้ ก็จะสามารถฉกฉวยเอาเกวียนและกระสุนดินดำมาใช้ประโยชน์ได้ หรืออาจทำลายเพื่อไม่ให้ฝ่ายลาวนำมาใช้ทำร้ายพวกครัว

เรื่องที่สามอยู่ในหนังสือที่ระลึกเนื่องในพิธีเปิดอนุสรณ์สถานของนางสาวบุญเหลือ พ.ศ. ๒๕๒๙ เขียนโดยพันโทเนตร อุตมัง โดยใช้ชื่อว่า เนตรนิมิตร ภาพของ "นางสาวบุญเหลือ" คล้ายคลึงกับงานเขียนของพันตรีหลวงศรีโยธา แต่ต่างกันตรงชื่อ  และประเด็นการจุดดินระเบิดของนางสาวบุญเหลือที่หลวงศรีโยธาให้ภาพว่าคุณหญิงโมมอบหมายให้นางสาวทองเหลือฆ่าเพี้ยรามพิชัยหรือจุดทำลายดินระเบิด ขณะที่เนตรนิมิตรเชื่อว่าคุณหญิงโมไม่ได้สั่งให้นางสาวบุญเหลือทำเช่นนั้น เป็นการแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้า

ในระหว่างที่มีการบันทึกเทปที่บริเวณหน้าอุโบสถเก่าที่มีรูปปั้นของพระยาปลัดทองคำ เจ้าเมืองนครราชสีมา สามีของท้าวสุรนารี หรือ ย่าโม อาจารย์เรนนี่ กล่าวว่า ตนเองมีจิตสัมผัสต่อสิ่งลี้ลับเมื่อมายืนอยู่ตรงนี้ ท่านปลัดทองคำและย่าโมรวมทั้งนางสาวบุญเหลือก็มาอยู่ตรงนี้ด้วยกัน โดยท่านปลัดทองคำบอกว่าแม่บุญเหลือเป็นเมียของท่านอีกคนหนึ่ง ส่วนย่าโมเป็นเมียหลัก แม่บุญเหลือเป็นเมียสองไม่ใช่ลูกสาวบุญธรรม และแม่บุญเหลือก็เป็นคนบอกเรนนี่เองว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ คุณย่าบุญเหลือก็อยู่ที่นี่อยู่ตรงก้านธูปแม่บุญเหลืออยู่ด้านหลังปลัดทองคำ พร้อมชี้ให้กล้องแพนไปที่บริเวณที่ตั้งธูปเทียน

เรื่องของแม่หมอเรนนี่เป็นเรื่องหนึ่งที่คนในสมัยหลังกล่าวถึงนางสาวบุญเหลือ แต่พิเศษกว่าเรื่องอื่น ๆ ตรงที่ได้จากโลกวิญญาณ  ;D

เว็บไซต์เรือนไทยนี้มีเสน่ห์ตรงที่มีสมาชิกที่มีวุฒิภาวะดังที่เจ้าเรือนได้กล่าวไปแล้ว นอกจากนั้นก็คือการมุ่งวิเคราะห์ ถกเถียง หาข้อมูลเชิงลึกอย่างจริงจังโดยเฉพาะในเรื่องประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเกิดการศึกษาค้นคว้า ใช้เอกสารหลักฐานอ้างอิงในเรื่องที่ยังมีข้อขัดแย้งอยู่ ดังที่คุณ “เพ็ญชมพู”ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของไทยมีหลายเรื่องซึ่งมีข้อขัดแย้งกัน เช่นเรื่องคนไทยมาจากไหน (อยู่ที่นี่มาก่อนหรือมาจากภูเขาอัลไต), เรื่องศิลาจารึก (เขียนโดยพ่อขุนรามคำแหงหรือรัชกาลที่ ๔),  เรื่องท้าวสุรนารี (มีตัวตนจริงหรือไม่ ถ้ามีสร้างวีรกรรมอย่างที่เล่าขานกันมาจริงหรือไม่) เรื่องหลังนี้น่าสนใจและเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกระทบกับความรู้สึกของคนในท้องถิ่นมาก   คนที่ค้นคว้าหาความจริงในเรื่องนี้เช่นคุณสายพิน แก้วงามประเสริฐ  แม้จะเผยแพร่ในแง่วิชาการ ก็ยังถูกกล่าวว่าเสียหาย หนังสือ “การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี” ก็ถูกเรียกร้องให้เผา จนสำนักพิมพ์ต้องงดการจำหน่าย แม้เมื่อเรื่องนี้นำมาเขียนเป็นกระทู้ในเรือนไทย  “คำถามจากหนังสือการเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี -วีรกรรมนี้เกิดขึ้นจริงหรือ” ก็ยังถูกซักฟอกในหลายประเด็นเชียว


การหาข้อเท็จจริงของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต วิธีสืบค้นให้ได้ความจริงที่สุดต้องอาศัยหลักฐานปฐมภูมิ (primary source)  ขอยกตัวอย่างการสืบค้นเรื่อง “ท้าวสุรนารี” หลักฐานปฐมภูมิในเรื่องนี้ได้แก่ใบบอก คำให้การของบุคคลทั้งฝ่ายไทยและลาวในสมัยนั้น  ส่วนหลักฐานทุติยภูมิ (secondary source) เช่นพงศาวดารหรือตำนานที่เขียนในสมัยหลัง ๆ การให้ความสำคัญย่อมน้อยลงมา

ประวัติและวีรกรรมของ "นางสาวเหลือ" "นางสาวทองเหลือ" "นางสาวบุญเหลือ" ข้างต้น เป็นหลักฐานชั้นหลังห่างจากหลักฐานปฐมภูมิและทุติยภูมิมาก จะน่าเชื่อถือเพียงใด ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตรแต่ละท่าน


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 20, 16:02
ประวัติศาสตร์ไม่ว่าของชาติไหน มีอยู่มากที่ยังเคลือบคลุม มีข้อมูลบ่งชี้ไปคนละทาง จนหาคำตอบชัดๆไม่ได้
นอกเหนือจากคำนึงถึงข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิ   มีอีกเรื่องหนึ่งที่ควรคำนึงถึงเช่นกัน คือการเล่าเรื่องเป็นการรำลึกถึง ยกย่องสรรเสริญ  เล่าข้อเท็จจริงโดยปราศจากความเห็น   หรือว่าเอามาลบหลู่ดูถูก


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 08 ก.ค. 20, 19:13
เรื่องอ.เรนนี่ดิฉันก็สงสัยว่าจะจบเช่นไรเพราะเป็นการพูดโดยอ้างสื่อสารผ่านผี กลุ่มที่เชื่อเขาก็มองว่าเป็นประวัติศาสตร์นอกกระแสไม่มีถูกไม่มีผิด ให้ฟังเป็นความบันเทิง พูดเพื่อให้คนกลัวบาป ทำดี ดูท่าจะจบยากอยู่


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 20, 19:54
น่าจะจบได้ในระดับหนึ่งแล้วค่ะ    เจ้าของรายการนี้ถอดรายการออกจากช่อง 8 แล้ว

https://www.springnews.co.th/entertain/687958
บ๊วย เชษฐวุฒิ แจงดราม่าหมิ่นย่าโม ประกาศรับผิดชอบ ถอนรายการช่องส่องผีออกจากช่อง 8

บ๊วย เชษฐวุฒิ เปิดใจแจงดราม่าหมิ่นย่าโม ขอโทษชาวโคราช เคลียร์ปม‘อ.เรนนี่’ตาย 49 วัน ประกาศรับผิดชอบ ถอนรายการช่องส่องผีออกจากช่อง 8

จากกรณี รายการช่องส่องผี โดยมี บ๊วย เชษฐวุฒิ พร้อมด้วย อ.เรนนี่ สุระประภา และ เจมส์ ศราวุฒิ เดินทางไปบันทึกเทปรายการที่ วัดศาลาลอย จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นวัดที่บรรจุอัฐิของท้าวสุรนารี หรือ ย่าโม ที่ชาวนครราชสีมา และ คนไทยให้ความเคารพนับถือร่วมกับ น.ส.บุญเหลือ ลูกบุญธรรม และหญิงชาวโคราช กอบกู้เมืองนครราชสีมาที่ถูกข้าศึกยึด


ล่าสุด บ๊วย เชษฐวุฒิ หนึ่งในพิธีกร รายการช่องส่องผี ได้อัดคลิปเปิดใจถึงปมร้อนนี้ว่า “ขอเป็นตัวแทนรายงานช่องส่องผี เรื่องความรับผิดชอบของรายการที่ออกอากาศเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ในเรื่องของย่าโม จนมีกระแสดราม่าตามหลังมาที่อาจไปกระทบจิตใจของชาวนครราชสีมา

“หากดูรายการทั้งหมด จะเห็นว่าเราเคารพทุกดวงวิญญาณ เคารพทุกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเทปรายการครั้งนั้น เราตั้งใจให้คนเห็นว่า ย่าโมมีจริง ย่าโมอยากสื่อสารอะไร อยากบอกอะไรลูกหลาน ตนก็เป็นลูกหลานคนหนึ่งของย่าโมเช่นกัน”

“ในความรับผิดชอบนี้ เมื่อเจอความสะเทือนใจกับชาวนครราชสีมา ตนในฐานะผู้บริหารรายการ จึงแจ้งความจำนงไปยังผู้บริหารของช่อง 8 เพื่อถอนรายการช่องส่องผี ออกจากช่อง 8 เพื่อแสดงความรับผิดชอบ”

“โดยอยากขอโทษชาวนครราชสีมา แต่ยืนยันตนทำรายการด้วยความเคารพและเจตนาดี เพื่อให้พี่น้องชาวโคราชเห็นว่า ท่านยังมีย่าโมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพปกปักษ์รักษาอยู่”

ส่วนเรื่องดราม่า อ.เรนนี่ สุระประภา จากที่ทำรายการด้วยกัน 2 ปี ตอนแรกตนก็ไม่เชื่อ แต่เมื่อได้ทำรายการด้วยกันก็เชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า อ.เรนนี่ สื่อสารกับดวงวิญญาณได้จริง หรือแม้กระทั่งดราม่า อ.เรนนี่ ตายไปแล้ว 49 วันนั้น เท่าที่ตนได้ข้อมูลมาจาก อ.เรนนี่ หรือดูเทปย้อนหลัง ยังไม่เคยเห็น อ.เรนนี่ พูดว่าตายไปแล้ว 49 วัน
ถ้าเป็นไปได้อาจเป็นความเข้าใจผิดในอีพีที่สุสานรถรามอินทรา โดย อ.เรนนี่ บอกว่า วิญญาณของคนตายที่ไปตาย 3-7 วัน หรือ 49 วันถึงสามารถพูดภาษาผีได้ โดยเตรียมนำคลิปมายืนยันอีกครั้ง

การที่ อ.เรนนี่ บอกคนตายแล้ว 49 วันถึงสามารถพูดภาษาผีได้ ไม่ได้แปลว่า อ.เรนนี่ เคยตายมาแล้ว 49 วัน อ.เรนนี่ พูดว่าตายมาแล้ว 1 วันและไปฟื้นที่ห้องดับจิต ดังนั้นประเด็นนี้เป็นข้อมูลเท็จ จึงไม่เป็นธรรมสำหรับตน ซึ่งตนได้แสดงความรับผิดชอบแล้วด้วยการถอนรายการจากช่อง 8 แต่อยากถามกลับถึงใครที่ทำให้เราต้องถอยกลับไป จะรับผิดชอบอะไรได้บ้าง


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ค. 20, 09:28
ประวัติและวีรกรรมของนางสาวบุญเหลือไม่มีกล่าวถึงในหลักฐานร่วมสมัยในรัชกาลที่ ๓ หรือพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์

นาทีที่ ๓.๑๐

https://youtu.be/Ftgb81mI6ag

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิทักษ์ชัย จัตุชัย นักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

"การจะบอกว่าคนคนหนึ่งเป็นเมียน้อยหรือเป็นอนุภรรยา ไม่ใช่เรื่องแปลกในสมัยอดีตเลย เพราะฉะนั้นถ้านางสาวบุญเหลือเป็นอนุภรรยาจริง ๆ ในทางประวัติศาสตร์ก็คงมีการบันทึกเอาไว้ เมื่อไม่มีการกล่าวถึงจึงพิสูจน์ไม่ได้ บอกได้เลยว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง"

ถ้าจะสรุปอย่างที่อาจารย์พิทักษ์ชัยว่า วีรกรรมของนางสาวบุญเหลือก็คงไม่ใช่เรื่องจริง และเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งกว่าเรื่องนางสาวบุญเหลือเป็นอนุภรรยาเสียอีก  ;)


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 20, 16:53

ถ้าจะสรุปอย่างที่อาจารย์พิทักษ์ชัยว่า วีรกรรมของนางสาวบุญเหลือก็คงไม่ใช่เรื่องจริง และเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งกว่าเรื่องนางสาวบุญเหลือเป็นอนุภรรยาเสียอีก  ;)
ถ้าไม่มีการบันทึกเรื่องนางสาวบุญเหลือเอาไว้เลย   เราจะรู้เรื่องนางสาวบุญเหลือได้ยังไงล่ะคะ
จริงๆคือไม่มีการบันทึกในพงศาวดาร แต่มีการเล่าไว้ในที่อื่น
ผิดกับเรื่องเธอเป็นอนุภรรยา ที่ไม่มีการเล่าไว้ที่ไหนเลยนอกจากเป็นการบอกเล่าของคนที่อ้างว่าติดต่อกับผีได้

ปกติการเรียนประวัติศาสตร์ไม่นับคำบอกเล่าจากผี ว่าเป็นหลักฐานอยู่แล้ว


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ค. 20, 18:12
ปกติการเรียนประวัติศาสตร์ไม่นับคำบอกเล่าจากผี ว่าเป็นหลักฐานอยู่แล้ว

ประวัติศาสตร์ที่ได้จากโลกวิญญาณไม่ใช่มาจากแม่หมอเรนนี่เป็นคนแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ ก็มีการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง "ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน" โดยแม่ชีวรมัย กบิลสิงห์ ยึดถือพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาและพงศาวดารอื่น ๆ อีกบางเล่มเพื่อใช้เขียน แต่ที่ไม่เหมือนใครคือ แม่ชีใช้วิธีการนั่งทางในเพื่อสืบค้นพระราชประวัติของพระเจ้าตาก

สิ่งที่แม่ขีค้นพบเรียกได้ว่าสวนกระแสประวัติศาสตร์กันเลย เพราะค้นพบว่าพระเจ้าตากเป็นเปาบุ้นจิ้นกลับชาติมาเกิด และยังเคยเป็นพระนเรศวรกลับชาติมาเกิดอีกด้วย แต่หนังสือของแม่ชีขายดีทีเดียว และยังหาซื้อได้ถึงทุกวันนี้

ข้อมูลจากบทความเรื่อง วาทกรรมประวัติศาสตร์ ผีที่แฝงกายในรายการช่องส่องผี โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ (https://thestandard.co/discourse-ghost-in-the-real-ghost-program/)

ประวัติศาสตร์ของแม่ชีวรมัยและแม่หมอเรนนี่ก็ล้วนมาจากโลกวิญญาณเหมือนกัน แต่ปฏิกิริยาตอบสนองของผู้รับสารต่างกัน คงเป็นเพราะข้อมูลหนึ่งถูกใจ แต่อีกข้อมูลหนึ่งขัดใจ  ;D


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 20, 19:29
  ไม่เชื่อว่าคุณเพ็ญชมพูไม่รู้ว่าดิฉันหมายถึงอะไร   
  ไม่มีใครห้ามใครเขียนประวัติศาสตร์ไทยได้    ไม่มีกฎหมายข้อไหนกำหนดให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคล ใดบุคคลหนึ่งเท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์เขียนและเผยแพร่   คนอื่นนอกจากนี้ห้ามเข้ามาแตะต้อง
  เราจึงมีหนังสือประวัติศาสตร์เขียนโดยคณะกรรมการชำระประวัติศาตร์    เขียนโดยอาจารย์มหาวิทยาลัย  เขียนโดยผู้สนใจประวัติศาสตร์แม้ไม่ได้เรียนหรือสอนวิชานี้     มีจนกระทั่งผู้นั่งทางใน ตาทิพย์  สื่อสารกับวิญญาณทั้งหลายรวมทั้งบุคคลในประวัติศาสตร์ได้คล่อง   แต่หาหลักฐานมาพิสูจน์ไม่ได้
  แต่อย่างไหนสมควรแก่การวิเคราะห์วิจารณ์  ค้นคว้าให้ลึกลงไป    อย่างไหนถือเป็นเรื่องอ่านเล่น จะเอามาอ่านจริงจังไม่ได้ คุณเพ็ญชมพูอยู่ในเรือนไทยมานานสองทศวรรษแล้ว ย่อมจะตอบได้เอง

  ส่วนเรื่องถูกใจหรือขัดใจนั้น  ดิฉันเห็นว่าเป็นเรื่องของอารมณ์  ไม่ใช่เรื่องเนื้อหา ก็เลยไม่อยากจะไปทุ่มเทกับประเด็นนี้   
  อะไรที่เอาอารมณ์เป็นหลัก ย่อมทะเลาะกันได้ไม่มีที่สิ้นสุดค่ะ   ไม่เหมาะกับสนทนากันบนเรือนไทยอยู่แล้ว


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 12 ก.ค. 20, 09:16
 8)


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 12 ก.ค. 20, 14:23

[/quote]
“...พ.ศ. 2500 ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง สุรนารี ระบบ 35 มม. สีอิสต์แมน เสียงในฟิล์ม สร้างโดย วิจิตรเกษมภาพยนตร์ - ชอว์บราเดอร์ส นำแสดงโดย วิไลวรรณ วัฒนพานิช และ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ ร่วมด้วยดาวรุ่งแห่งฮ่องกง ยูหมิ่น และ เจาหลุ่ย ฉายทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ได้แก่ อาหรับ, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, อินโดจีน, ฮ่องกง, สิงคโปร์, มลายู, ไต้หวัน และ มาเก๊า...”

   โรงเรียนพาไปดูหนังเรื่องนี้ ตอนนั้นเรียนชั้นประถม (โรงเรียนของผมอยู่ต่างจังหวัด อยู่ไม่ห่างจากโรงหนังมากนัก เวลามีโปรแกรมหนังที่น่าสนใจที่จะสร้างเสริมประสพการณ์การเรียน คุณครูจะพานักเรียนไปทั้งโรงเรียน โดยสลับวันกันไป จะเก็บค่าดู ถูกมากๆ นัยว่าได้รับประโยชน์ทั้งนักเรียนและโรงหนัง)

    ข้อความข้างบนคัดลอกมาจากวิกิพีเดีย เนื่องด้วยสงสัยว่า เรืองราววีรกรรมย่าโมถูกสร้างออกมาทางสื่อเมื่อใด เข้าใจว่า ภาพยนต์ปี ๒๕๐๐ นี้น่าจะเป็นครั้งแรก จำไม่ได้แล้วว่า ผู้แสดงนำคือใครบ้าง แต่จำได้เพียงว่าผู้แสดงเป็นนางสาวบุญเหลือ ไม่ใช่นักแสดงชาวไทย


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.ค. 20, 17:54
มโหฬารที่สุดในรอบปี ๒๕๐๑

คือภาพยนตร์เสียง ๓๕ มม. ที่ลงทุนสร้างอย่างมหาศาล เพื่อเกียรติประวัติของวีรสตรีที่คนไทยทั้งชาติจะลืมเสียมิได้ .....

วิจิตรเกษมภาพยนตร์
ซุ่มสร้างมาเป็นเวลาแรมปี บัดนี้ถ่ายทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขอเสนอเป็นของขวัญปีใหม่ ที่ ........
ศาลาเฉลิมไทย

สุรนารี
แสดงนำโดย ........

วิไลวรรณ วัฒนพานิช

สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ 

พร้อมด้วยดาราต่างประเทศและผู้แสดงนับพัน ......


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 13 ก.ค. 20, 18:47
เหมือนคราวนี้มีข่าวรายการจะโดนคนฟ้องร้องเรื่องนี้เรื่อยๆลงมาหลายจังหวัดเลย ดิฉันไม่แน่ใจว่าฟ้องหมิ่นกับบุคคลในประวัติศาสตร์ได้หรอ


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 20, 19:01
เห็นจะต้องถามมือกฎหมายอย่างคุณ Naris ค่ะ 
ส่วนตัวคิดว่าคงไม่สามารถฟ้องหมิ่นประมาทบุคคลในประวัติศาสตร์ได้   เพราะท่านเหล่านั้นล่วงลับไปแล้ว แต่น่าจะฟ้องได้ในข้อหาอื่น


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 13 ก.ค. 20, 21:07
ขอบคุณคุณเพ็ญชมพูมากครับ อุตส่าห์ไปค้นหลักฐานมาจนได้ (วิกิพีเดียคลาดเคลื่อนไป ๑ ปี)

สังเกตว่าท่านไม่ยอมให้ข้อความในกระทู้ เป็นข้อความลอยๆ พยายามหาหลักฐานมาเพิ่มนำ้หนักให้เสมอ

ขอแสดงความนับถือท่านจริงๆ


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.ค. 20, 21:42
๒ บรรทัดบน  : บริษัท วิจิตรเกษมภาพยนตร์ จำกัด ภูมิใจที่จะเสนอภาพยนตร์ประวัติศาสตร์เรื่องเยี่ยมต่อพี่น้องชาวไทย เพื่อระลึกซึ่งเกียรติคุณของวีรสตรีไทยผู้กล้าหาญ ต้อนรับ ๒๕ ศตวรรษแน่นอน

บรรทัดล่างสุด : ฉายครั้งแรกปลายธันวาคม ๒๕๐๐ ที่เฉลิมไทย คุณวิกกี้ไม่ผิดดอก  ;D


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 29 ก.ค. 20, 09:30
อ้างถึง
เห็นจะต้องถามมือกฎหมายอย่างคุณ Naris ค่ะ
ส่วนตัวคิดว่าคงไม่สามารถฟ้องหมิ่นประมาทบุคคลในประวัติศาสตร์ได้   เพราะท่านเหล่านั้นล่วงลับไปแล้ว แต่น่าจะฟ้องได้ในข้อหาอื่น

ผมลองเอาคดีนี้มาเทียบเคียงครับ
https://prachatai.com/journal/2017/10/73602

พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี 'ส.ศิวรักษ์' ข้อหา ม.112  ปมกล่าวพาดพิงถึงสมเด็จพระนเรศวรและกรณียุทธหัตถี ส่งพนักงานอัยการศาลทหารพิจารณาคดีต่อ พร้อมนัดให้มาฟังคำสั่งวันที่ 7 ธ.ค.นี้

9 ต.ค.2560 จากกรณี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักวิจารณ์การเมืองชื่อดัง ถูก พล.ท.ผดุง นิเวศวรรณ และ พล.ท.พิทยา วิมะลิน เข้าแจ้งความให้เจ้าพนักงาสอบสวน สน.ชนะสงคราม  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2557 จากรณีที่ สุลักษณ์ ได้ร่วมอภิปรายเรื่อง “ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดยคณะสภาหน้าโดม เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2557 โดยกล่าวหาว่าในการอภิปรายดังกล่าวสุลักษณ์ได้กล่าวหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอดีตพระมหากษัตริย์ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยกล่าวว่า การทรงกระทำยุทธหัตถีไม่มีจริง และมีอีกหลายถ้อยคำที่เข้าข่าย “หมิ่นเบื้องสูง”

ล่าสุดวันนี้ (9 ต.ค.60) พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความของสุลักษณ์ เปิดเผยว่าวันนี้ พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนคดีดังกล่าวเสร็จแล้ว และมีความเห็นควรสั่งฟ้อง จึงนำสำนวนพร้อมตัวสุลักษณ์ส่งพนักงานอัยการศาลทหารให้พิจารณาคดีต่อไป โดยหลังจากนี้จะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของพนักงานอัยการ และนัดให้มาฟังคำสั่งวันที่ 7 ธ.ค.นี้ 10.00 น.




กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ก.ค. 20, 16:48
พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี 'ส.ศิวรักษ์' ข้อหา ม.112  ปมกล่าวพาดพิงถึงสมเด็จพระนเรศวรและกรณียุทธหัตถี ส่งพนักงานอัยการศาลทหารพิจารณาคดีต่อ พร้อมนัดให้มาฟังคำสั่งวันที่ 7 ธ.ค.นี้

คดีนี้อัยการศาลทหารยกฟ้อง

คุณนริศมีความคิดเห็นอย่างไรที่ ส. ศิวรักษ์ ถูกฟ้องในคดีนี้  ::)


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 30 ก.ค. 20, 11:14
ความเห็นผม ผมมองว่า ประวิติศาสตร์ก็เหมือนศาสตร์อื่นๆทั่วไปครับ คือมีทั้งส่วนที่เป็นศาสตร์แท้ๆ และส่วนที่ว่าด้วยการนำไปประยุกต์ใช้
ปัญหาของประวัติศาสตร์ก็คือ ส่วนที่เป็นศาสตร์แท้ๆนั้น มีความไม่แน่นอน เนื่องจากเป็นเรื่องที่ล่วงพ้นไปแล้ว ไม่สามารถกลับไปสืบค้นอะไรได้อีก การรับรู้สิ่งที่ล่วงพ้นมาแล้วจึงทำได้เพียงอาศัยพยานหลักฐาน ซึ่งวันหนึ่งพยานหลักฐานอาจชี้ไปทางหนึ่ง อีกวันหนึ่งก็อาจชี้ไปอีกทางหนึ่งก็ได้ ไม่แปลกอะไรครับ

แต่ส่วนที่เป็นปัญหา คือเรื่องของการประยุกต์ใช้ บางครั้งเรานำประวัติศาสตร์มาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ใช้ในการสร้างความภาคภูมิใจร่วมกัน หรือการสร้างศัตรูร่วมกัน เพื่อรวบคนให้เป็นปึกแผ่น ซึ่งอาจจะเรียกว่าประวัติศาสตร์ในมิติของความมั่นคงก็พอได้กระมังครับ ของอย่างนี้ ไม่ได้มีแต่ประเทศเราที่ทำ ที่ไหนๆ เขาก็ทำ มากหรือน้อยต่างกันเท่านั้นเอง (ก็อย่างที่พี่จีนเขาอ้างว่า ทะเลจีนใต้เป็นของเขา เพราะมีประวัติศาสตร์นั่นโน่นนี้ หรือเวลาที่เราอ้างว่า ต้าหลี่เป็นอาณาจักรคนไทย เขาก็เถียงสุดชีวิตว่า No!! ต้าหลี่เป็นของชนชาติจ้วง เกาหลีนี่ถึงขนาดอ้างว่า อะไรๆก็มีรากมาจากอารยธรรมเกาหลี ใกล้กว่านี้ก็บ้านข้างๆเรา ที่เริ่มจะเคลมว่า อารยธรรมไทยทุกอย่างขโมยมาจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน)

ประเด็นของเรื่องนี้ก็คือ การลดความน่าเชื่อถือของประวัติศาสตร์เชิงความมั่นคงของประเทศเราลง จะมีผลดีอย่างไร ถ้ารุ่นลูกผมจดจำว่า พระนเรศวรไม่ได้ชนะในการดวลเกียรติยศ เป็นแต่เพียงคนที่ดักยิงแม่ทัพฝ่ายตรงข้ามตาย แล้วผลดีคืออะไร

อีกประเด็นนี่ผมคิดใจมานานแล้วครับ คือ เรื่องพระมหาอุปราชากับพระนเรศวรนี้ ฝ่ายไทยกับฝ่ายพม่าบันทึกไว้ต่างกัน
ฝ่ายไทยบอก พระนเรศวร ชนะในการดวล ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ พระเกียรติยศจะสูงกว่า
ฝ่ายพม่าบอก พระมหาอุปราชาถูกยิง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ พระเกียรติยศจะไม่มากเท่าไหร่
หลายคนเลือกเชื่อหลักฐานทางพม่า

แต่พอเรื่องสงครามคราวเสียกรุงฝ่ายไทยกับฝ่ายพม่าก็บันทึกไม่เหมือนกันเช่นกัน
ฝ่ายไทยบอก พระเจ้าเอกทัศน์ทรงแย่มาก
ในขณะที่ฝ่ายพม่าบอกว่า ทรงป้องกันเมืองเข้มแข็ง รักษาพระนครได้นานเป็นปีทั้งที่เสียเปรียบทุกด้าน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ พระเกียรติยศของพระเจ้าเอกทัศน์ก็จะสูงกว่าที่เป็นอยู่
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมไม่เชื่อหลักฐานทางพม่าบ้างเล่าครับ ก็ของเขาเขียนดีกว่า ชัดกว่าไม่ใช่หรือ หลักฐานทางไทยเราเชื่อไม่ได้ไม่ใช่หรือ ทำไม นักวิชาการจำนวนหนึ่ง ถึงเลือกที่จะเชื่อหลักฐานด้านที่ทำให้พระเกียรติยศลดต่ำลงเสียทุกทีไป ถ้าหลักการยังแกว่งไปแกว่งมาอย่างนี้ แม้แต่ส่วนที่เป็นศาสตร์แท้ก็ยังไม่น่าเชื่อถือเลยครับ ถ้าเรื่องพระนเรศวรเปลี่ยนได้ เรื่องพระเจ้าเอกทัศน์ก็ต้องเปลี่ยนได้เหมือนกันสิครับ ถ้าจะให้เลิกสอนเด็กว่า พระนเรศวรไม่ได้ชนะการดวล ก็ต้องสอนว่าพระเจ้าเอกทัศน์ไม่ได้แย่ด้วย ด้วยหลักการเดียวกัน ฉันใด ฉันนั้น ครับ

ดังนั้น เมื่อศาสตร์แท้เชื่อไม่ได้ ผมขอเลือกประวัติศาสตร์เชิงความมั่นคงครับ

อ่ะ อาจารย์ถามผมว่า คิดอย่างไรกับการถูกฟ้อง ผมขอเรียนว่า ถูกฟ้องเพราะความมั่นคง อัยการสั่งไม่ฟ้องก็เพราะความมั่นคงเช่นกันครับ (สุดท้ายปัญหาเรื่องนี้จบด้วยกระบวนการอย่างอื่นนี่ครับ) 
 


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ก.ค. 20, 11:27
อ่ะ อาจารย์ถามผมว่า คิดอย่างไรกับการถูกฟ้อง ผมขอเรียนว่า ถูกฟ้องเพราะความมั่นคง อัยการสั่งไม่ฟ้องก็เพราะความมั่นคงเช่นกันครับ (สุดท้ายปัญหาเรื่องนี้จบด้วยกระบวนการอย่างอื่นนี่ครับ)

ขอถามในประเด็นตัวกฎหมาย คุณนริศคิดว่าสามารถฟ้อง ส. ศิวรักษ์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ด้วยความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอดีตพระมหากษัตริย์ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้หรือไม่  


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ก.ค. 20, 17:40
การที่ ส. ศิวรักษ์ ถูกดำเนินคดีหมิ่นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นอกจากสะท้อนปัญหาในการมีและการใช้ ม.๑๑๒ แล้ว ยังมีปัญหาในเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในเมืองไทย

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

นับตั้งแต่เริ่มมีการศึกษาประวัติศาสตร์แบบตะวันตกในเมืองไทย ก็ดูเหมือนนักประวัติศาสตร์จะให้ความสำคัญแก่การสงครามมาแต่ต้น สงครามมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของทุกประเทศจริง เพราะสงครามสะท้อนอะไรอื่นอีกหลายอย่างเช่น ระดับเทคโนโลยี, สังคม, เศรษฐกิจ หรือแม้แต่การเมือง ฯลฯ แต่นักประวัติศาสตร์ไทยสนใจสงครามอยู่เรื่องเดียวคือ การรบ และใครแผ่อำนาจไปถึงไหนได้บ้าง

เนื้อหาสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่โบราณมาจนถึงรัชกาลที่ ๔ จึงเป็นสงครามตลอด น่าเบื่อเข้าไส้แก่ทุกคน เพราะมองไม่เห็นว่าสงครามโบราณเหล่านั้นจะช่วยให้เข้าใจชีวิตจริงในอดีตหรือปัจจุบันได้อย่างไร ซ้ำร้ายยังช่วยส่งเสริมบทบาทครอบงำทางการเมืองของกองทัพเสียอีก คนไทยจำนวนมากยอมรับทันทีเมื่อกองทัพบอกว่าตนคือแนวหน้าในการปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพราะเขาถูกประวัติศาสตร์สอนมาว่า ชาติคือการรบ และเมื่อจะรบกันแล้ว ใครจะไปสำคัญกว่ากองทัพเล่า

ประวัติศาสตร์สงคราม (อันเป็นวิชาบังคับของโรงเรียนทหารทั่วโลก) ที่สอนในโรงเรียนทหารไทยนั้น กลายเป็นประวัติศาสตร์สงครามที่ตื้นเขิน เพราะประกอบด้วยศาสตร์ของการรบต่าง ๆ เช่นเทคโนโลยี, กำลังคน, ผู้นำทัพ, ยุทธวิธี มากกว่ายุทธศาสตร์ด้วยซ้ำ เพราะเป้าหมายของสงครามนั้นย่อมกว้างใหญ่ไพศาลกว่าการรบ เช่นชิงเมืองท่าของข้าศึกเพื่อกีดกันการค้ามิให้มาแข่งขันได้ เช่นที่อยุธยาเคยทำแก่จตุรพักตร์หรือพนมเปญ และหงสาวดีทำแก่เมืองท่าฝั่งตะวันตกของอยุธยา และส่วนนี้แหละที่ประวัติศาสตร์สงครามแบบไทยไม่ได้สอน

สงครามก็เหมือนกิจกรรมทางสังคมอื่น ๆ ของมนุษย์ เช่นการปกครอง, การปฏิบัติศาสนา, การค้าขาย, การขนส่ง ไปจนถึงการเลือกคู่ และการทำมาหากิน กล่าวคือไม่ใช่อากัปกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่งที่อยู่โดด ๆ แต่เป็นการกระทำที่เชื่อมโยงไปถึงด้านอื่น ๆ เกือบทุกด้านของสังคม ถ้าเราย่นย่อประวัติศาสตร์สงครามให้เหลือเพียงมิติเดียวคือการรบ เรากำลังสอนเทวปกรณัมที่เทวดาองค์ต่าง ๆ ทำสงครามกันเท่านั้น ไม่สามารถสร้างนายทหารที่รบเป็นขึ้นมาได้ ไม่พักต้องพูดถึงแม่ทัพใหญ่ที่สามารถนำชัยชนะมาสู่กองทัพได้

ไม่ว่าพระนเรศวรจะได้ทรงทำยุทธหัตถีหรือไม่ หรือทรงทำในลักษณาการใด พระนเรศวรก็เป็นกษัตริย์ที่สำคัญพระองค์หนึ่งของอยุธยาอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะทรงมีพระชนมชีพในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของราชอาณาจักรอยุธยา ในช่วงเวลาที่อยุธยาอาจพัฒนาไปเป็นราชอาณาจักรขนาดใหญ่ หรือถอยกลับไปเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย (principalities) เหมือนรัฐไทยอื่น ๆ เช่นล้านช้าง, ล้านนา, รัฐชานในพม่า, รัฐไทในสิบสองจุไท, ฯลฯ

และเป็นเพราะสมเด็จพระนเรศวรนี่แหละที่ทำให้อยุธยาไม่มีวันถอยกลับไปเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อยได้อีก

แม้ว่ากษัตริย์ก่อนหน้าสมเด็จพระนเรศวรพยายามสร้างราชอาณาจักรขนาดใหญ่ โดยการปราบปรามหรือผนวกแคว้นเล็กแคว้นน้อยมาไว้ในอำนาจ แต่แว่นแคว้นที่ขึ้นอยุธยาไม่เคยประสานกันได้สนิท การเสียกรุงแก่พระเจ้าบุเรงนองเป็นพยานให้เห็นว่าหัวเมืองเหนือหรือแคว้นสุโขทัยเดิม พร้อมจะแยกตัวกลับไปเป็นรัฐอิสระ (ที่อาจเปลี่ยนนายได้ตามจังหวะ)

ในช่วงที่อยุธยาตกเป็นประเทศราชของหงสาวดีภายใต้รัชกาลพระมหาธรรมราชา ไม่เฉพาะละแวกเท่านั้นที่ยกกำลังมาโจมตีกวาดต้อนผู้คนถึงอยุธยา แต่หัวเมืองในเขตที่เคยขึ้นต่ออยุธยาเองก็ทำอย่างเดียวกัน เช่นเพชรบุรี, ญาณพิเชียรได้กำลังคนจากลพบุรีก่อกบฏ และเจ้าเมืองพิชัยและสวรรคโลกเลือกจะขึ้นหงสาวดีแทนอยุธยา (นี่ว่าเฉพาะเท่าที่มีหลักฐานบอกให้รู้ได้) นี่คืออาการล่มสลายของราชอาณาจักรใหญ่ของพวกไทย-ลาวซึ่งเคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งหลายหนแล้ว แต่สมเด็จพระนเรศวรสามารถหยุดยั้งกระบวนการนี้ได้ ซ้ำเสริมสร้างให้แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม

มหายุทธนาการที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐต่าง ๆ ในช่วงนี้ เป็นไปได้ก็เพราะความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้มาเป็นเวลากว่า ๑๐๐ ปีแล้ว ซึ่งมีผลต่อเทคโนโลยีทางทหาร สรุปได้สามอย่างคือ หนึ่งปืนไฟ (ทั้งปืนใหญ่และปืนประจำกายทหาร) ซึ่งฝรั่งพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยีจีน สองทหารจ้าง ซึ่งกลายเป็นกำลังหลัก (elite force) ของกองทัพ ทหารจ้างเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญการรบยิ่งกว่าทหารเกณฑ์ในกองทัพชาวพื้นเมือง เพราะวิถีชีวิตในวัฒนธรรมหรืออาชีพก็ตาม และสามคือความสามารถที่จะเกณฑ์ช้างและม้าและผู้คนจำนวนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเพื่อใช้ในการสงครามได้

สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างเต็มที่ ทรงเสริมสร้างให้กำลังทหารและกำลังการบริหารของอยุธยาแข็งแกร่งเหนือหัวเมืองทั้งหมดอย่างเทียบกันไม่ได้ ปราศจากพลังกดดันอย่างใหญ่จากอำนาจภายนอก ก็ยากที่ราชอาณาจักรอยุธยาจะแตกสลายลงได้

ทรงกวาดต้อนผู้คนในแคว้นสุโขทัยเดิมลงมาไว้ในภาคกลางภายใต้อยุธยา เพื่อรวบรวมกำลังในการป้องกันตนเองจากทัพหงสาวดี ทำให้รอยแยกระหว่างสุโขทัยและอยุธยาสลายไปหมดในทางปฏิบัติ การเมืองเรื่องแย่งอำนาจระหว่างราชวงศ์ที่ครองอยุธยากับราชวงศ์ท้องถิ่น ต้องย้ายมาอยู่ในราชสำนักอยุธยาเพียงจุดเดียว

การเอาคนที่ยังวางใจสนิทไม่ได้จำนวนมากมาไว้ใกล้ตัว ด้านหนึ่งก็ทำให้ควบคุมได้ง่าย แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจก่ออันตรายให้แก่ตนเองได้ง่ายด้วย กวาดต้อนจึงไม่ใช่แค่เรื่องใช้กำลังทหาร แต่ต้องใช้วิธีอื่น ๆ อีกมากที่จะทำให้ภัยใกล้ตัวไม่เกิดขึ้น สงครามจึงไม่ใช่เรื่องการรบอย่างเดียวดังที่สอนกันในโรงเรียนทหาร มีเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ทหารไม่ชำนาญอีกมาก ที่จะทำให้กองทัพประสบชัยชนะได้

การที่ทรงยกทัพไปปราบหัวเมืองใกล้เคียงและทำสงครามกับหงสาวดีเกือบตลอดรัชกาล ทำให้กองทัพจากส่วนกลางเหยียบย่ำไปทั่วพระราชอาณาจักร สะกดหัวเมืองให้สยบยอมต่ออยุธยาสืบต่อมาอีก ๒๐๐ ปี ก็เป็นผลให้อยุธยาเข้มแข็งขึ้นและใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์เหนือหัวเมืองทั้งหมดได้อย่างมั่นคง จริงอยู่ กษัตริย์นักรบที่ทำสงครามตลอดรัชกาลย่อมนำบ้านเมืองสู่หายนะ (อย่างเช่นกษัตริย์ราชวงศ์ตองอูระยะแรก ราชอาณาจักรอันไพศาลล่มสลายลงในพริบตาเมื่อสิ้นพระเจ้าบุเรงนอง) แต่ก็บังเกิดผลในระยะยาว หากผู้นำต่อ ๆ มารู้จักใช้ประโยชน์จากอำนาจครอบงำที่เกิดขึ้นได้อย่างสร้างสรรค์ เช่นสร้างระบบปกครองที่รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางยิ่งขึ้น

แต่ความสำคัญของสมเด็จพระนเรศวรที่เรียนและสอนกันในประวัติศาสตร์ไทย เหลืออยู่แค่เรื่องชนช้าง จนทหารบางคนเดือดร้อนที่มีคนพูดว่าท่านไม่ได้ชนช้าง ต้องไปฟ้องร้องให้เป็นคดีความว่าหมิ่นพระนเรศวร ซึ่งไม่รู้ว่าผิดกฏหมายข้อไหน (กลับไปอ่าน ม.๑๑๒ให้ดี ไม่ว่าจะยืดความหมายอย่างไร ก็คลุมไม่ถึงพระนเรศวรอยู่นั่นเอง)

เก็บความจาก นิธิ เอียวศรีวงศ์ : คุณค่าอื่นนอกจากรบไม่ขลาด (๑) (https://prachatai.com/journal/2017/11/74232)


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 26 ส.ค. 20, 13:42
ต้องกราบขออภัยท่านอาจารย์ด้วยครับ ช่วงนี้เป็นฤดูการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หน่วยงานผมเป็นผู้รับผิดชอบเต็มๆ ข้าราชการครึ่งกรม ถูกส่งไปสนับสนุนภารกิจนี้ ส่วนที่เหลือ เลยมีภารกิจมากขึ้น กว่าที่ผมจะได้แวะกลับมาเห็นการบ้านนี้ ก็ผ่านไปเกือบหนึ่งเดือนแล้ว

จะว่าไป ระหว่างนี้ เกิดเรื่องอะไรๆ ขึ้นเยอะแยะเลยนะครับ อย่าไปกล่าวถึงเรื่องเหล่านั้นเลยพาลอารมณ์เสียกันเสียเปล่าๆ (ซึ่งเรียนตามตรงว่า ผมอารมณ์เสียสุดๆ ไปเลยครับ)

เรื่องการมีอยู่ของหลักกฎหมายอาญา (ขอนำเสนอในภาพกว้างละกันนะครับ อย่าเพึ่งไประบุว่ามาตราอะไร และเขียนว่าอย่างไร) โดยทฤษฎีสมัยใหม่ กฎหมายอาญาได้รับการจำแนกว่า เป็นสภาพบังคับของกฎหมายกฎหมายเอกชน สมัยก่อน กฎหมายอาญาได้รับการจำแนกว่า เป็นกฎหมายมหาชน คือเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน แต่ทุกวันนี้แนวคิดสมัยใหม่บอก ไม่ใช่ กฎหมายอาญา พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชนสองคน (หรือสองฝ่าย) นั่นแหละ ที่เขาจะต้องมีนิติสัมพันธ์ระหว่างกัน อันว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างกัน ก็จะต้องประกอบด้วย สิ่งที่เรียกว่า สิทธิ คืออำนาจที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ ขีดเส้นใต้คำว่า "คุ้มครองให้" และหน้าที่ ก็คือ ข้อปฏิบัติ หรือข้อห้าม ที่อาจกระทำได้ภายใต้สิทธิของตน และการที่ตนรับรู้ว่า จะต้องไม่ "รุกล้ำ" หรือก้าวล่วงเข้าไปในสิทธิของผู้อื่น

ผู้ที่รุกล้ำ หรือก้างล่วงเข้าไปในสิทธิของผู้อื่น ย่อมมีโทษ คือผลร้ายที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง สมัยโบราณ การสร้างผลร้ายให้เกิดกับอีกฝ่ายเพื่อปกป้องสิทธิของตน เป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนมี เรียกว่า การแก้แค้น แต่ปัจจุบัน เราห้ามปัจเจกชน มิให้บังคับสิทธิกันเอง และสร้างระบบการลงโทษโดยรัฐขึ้นแทน นั่นก็คือ โทษทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา

ดังนั้น จิ๊กซอว์ตัวแรก คือ กฎหมายอาญาไม่ใช่การกดขี่โดยรัฐ แต่มันคือการคุ้มครองสิทธิของปัจเจกชนทุกคน และป้องกันมิให้ปัจเจกชนหยิบหลักการแก้แค้นทดแทนขึ้นฟาดฟันกันเอง       


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 26 ส.ค. 20, 14:04
(ต่อ)
ทีนี้ สิทธิ ที่ควรได้รับการคุ้มครอง มันมีอะไรบ้างหละ แต่ละที่ก็คงมีขอบเขตในการให้ความคุ้มครองที่แตกต่างกัน แต่ถ้าจะวัดมาตรฐานขั้นต่ำสุด ก็คือ Human Dignity หรือ สิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ก็ว่ากันง่ายๆ ว่า มนุษย์จะปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกัน อย่างที่มิใช่มนุษย์ไม่ได้ อันนี้ ถ้าเอาหลักการโบราณจริงๆ ก็หมายถึง สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย สิทธิในการมีชีวิตอยู่ สิทธิในการถือครองทรัพย์สิน ฯลฯ รวมถึง สิทธิในชื่อเสียงของตนด้วย

ด้วยเหตุนี้ กฎหมายอาญาจึงมีมาตราที่กล่าวถึงการเอาโทษ การดูหมิ่น เหยียดหยาม ใส่ความ หรือการทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงอยู่ด้วย ซึ่งมาตรานี้ มุ่งคุ้มครอง ปัจเจนชน ทุกคน มนุษย์ทุกผู้ทุกนาม เหมือนๆกัน ซึ่ง ถ้าจะพูดกันโดยทฤษฎี ก็หมายความรวมถึง King ด้วย เพราะ King ก็เป็นมนุษย์ผู้หนึ่งเช่นเดียวกัน (King As Human)

ปัญหาคือ King ไม่ได้เป็นแค่ Human เท่านั้น แต่ King ยังเป็น Foundation ด้วย (ยังจำประโยค The King is Dead, Long Life The King ได้ใช่ไหมครับ)

กลับมาที่มาตรา 112 คำถามแรก คือ หากไม่มีมาตรานี้ King as Human ก็ยังได้รับการคุ้มครอง ตามหลักกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาอยู่เหมือนเดิม ใช่หรือไม่ คำตอบ ก็คงจะตอบว่า "ใช่" ถูกไหมครับ

แต่ปัญหาคือ แล้ว King As Foundation หละ ใช้อะไรคุ้มครอง? หรือไม่ต้อง คุ้มครอง?
เมื่อมาถึงจุดนี้ ก็เป็นประเด็นละเอียดอ่อนแล้วครับ จุดที่กำลังเห็นต่างกันอยู่ ก็คือจุดนี้ เมื่อพิจารณาจากชะตากรรมของผู้ที่แสดงความเห็นไปในทางหนึ่งทางใดแล้ว ฝ่ายประชาธิปไตยเขาแรงเหลือเกิน ผมไม่กล้าที่จะแสดงความเห็นต่อไปหละครับ   


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ส.ค. 20, 17:04
 :-X


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 27 ส.ค. 20, 16:21
 ...


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 27 ส.ค. 20, 19:53
(ต่อ)
ทีนี้ สิทธิ ที่ควรได้รับการคุ้มครอง มันมีอะไรบ้างหละ แต่ละที่ก็คงมีขอบเขตในการให้ความคุ้มครองที่แตกต่างกัน แต่ถ้าจะวัดมาตรฐานขั้นต่ำสุด ก็คือ Human Dignity หรือ สิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ก็ว่ากันง่ายๆ ว่า มนุษย์จะปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกัน อย่างที่มิใช่มนุษย์ไม่ได้ อันนี้ ถ้าเอาหลักการโบราณจริงๆ ก็หมายถึง สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย สิทธิในการมีชีวิตอยู่ สิทธิในการถือครองทรัพย์สิน ฯลฯ รวมถึง สิทธิในชื่อเสียงของตนด้วย

ด้วยเหตุนี้ กฎหมายอาญาจึงมีมาตราที่กล่าวถึงการเอาโทษ การดูหมิ่น เหยียดหยาม ใส่ความ หรือการทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงอยู่ด้วย ซึ่งมาตรานี้ มุ่งคุ้มครอง ปัจเจนชน ทุกคน มนุษย์ทุกผู้ทุกนาม เหมือนๆกัน ซึ่ง ถ้าจะพูดกันโดยทฤษฎี ก็หมายความรวมถึง King ด้วย เพราะ King ก็เป็นมนุษย์ผู้หนึ่งเช่นเดียวกัน (King As Human)

ปัญหาคือ King ไม่ได้เป็นแค่ Human เท่านั้น แต่ King ยังเป็น Foundation ด้วย (ยังจำประโยค The King is Dead, Long Life The King ได้ใช่ไหมครับ)

กลับมาที่มาตรา 112 คำถามแรก คือ หากไม่มีมาตรานี้ King as Human ก็ยังได้รับการคุ้มครอง ตามหลักกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาอยู่เหมือนเดิม ใช่หรือไม่ คำตอบ ก็คงจะตอบว่า "ใช่" ถูกไหมครับ

แต่ปัญหาคือ แล้ว King As Foundation หละ ใช้อะไรคุ้มครอง? หรือไม่ต้อง คุ้มครอง?
เมื่อมาถึงจุดนี้ ก็เป็นประเด็นละเอียดอ่อนแล้วครับ จุดที่กำลังเห็นต่างกันอยู่ ก็คือจุดนี้ เมื่อพิจารณาจากชะตากรรมของผู้ที่แสดงความเห็นไปในทางหนึ่งทางใดแล้ว ฝ่ายประชาธิปไตยเขาแรงเหลือเกิน ผมไม่กล้าที่จะแสดงความเห็นต่อไปหละครับ   
   อยากให้คุณ Naris ช่วยตอบด้วยว่าหากมีใครมากล่าวหาคุณปู่ทวดของผมซึ่งมีบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้ทำความดีความชอบไว้มากมาย ว่าเป็นคนช่อโกงจนร่ำรวย โกงแผ่นดิน แบบนี้ผมซึ่งเป็นผู้สืบเชื้อสายโดยตรงสามารถฟ้องหมิ่นประมาทได้หรือไม่ คือฟ้องแทนคนที่ตายไปแล้วได้ไหมครับ ที่ถามมานี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองใดใดทั้งสิ้น


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ส.ค. 20, 14:19
ฝากถามคุณนริศเพิ่มอีก ๑ คำถาม

มีผู้แอบอ้างภาพบรรพบุรุษของคุณนวรัตนว่าเป็นภาพของอีกบุคคลหนึ่ง อย่างนี้จะเป็นคดีฟ้องร้องในศาลได้หรือไม่


ผมเป็นผู้สืบสายโลหิตขององค์ต้นราชสกุลนวรัตน ผมจึงมีสิทธิตามกฏหมายที่จะตั้งคำถามให้นายยอดตอบ ถ้าไม่ตอบในนี้ก็คงต้องไปตอบในศาล ว่า ทำไมจึงเอาพระรูปของพระองค์เจ้าเนาวรัตน์ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ ไปแอบอ้างว่าเป็นรูปถ่ายของหลวงวิจิตร นฤมล (เขียนแยกกันตามวิธีการของนายยอด)

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=7096.0;attach=73499;image)







กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 28 ต.ค. 20, 16:13
ฝากถามคุณนริศเพิ่มอีก ๑ คำถาม

มีผู้แอบอ้างภาพบรรพบุรุษของคุณนวรัตนว่าเป็นภาพของอีกบุคคลหนึ่ง อย่างนี้จะเป็นคดีฟ้องร้องในศาลได้หรือไม่


ผมเป็นผู้สืบสายโลหิตขององค์ต้นราชสกุลนวรัตน ผมจึงมีสิทธิตามกฏหมายที่จะตั้งคำถามให้นายยอดตอบ ถ้าไม่ตอบในนี้ก็คงต้องไปตอบในศาล ว่า ทำไมจึงเอาพระรูปของพระองค์เจ้าเนาวรัตน์ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ ไปแอบอ้างว่าเป็นรูปถ่ายของหลวงวิจิตร นฤมล (เขียนแยกกันตามวิธีการของนายยอด)

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=7096.0;attach=73499;image)







ล่าสุดกองปราบปรามจับกุมเจ้าของสถานที่แล้วครับ


กระทู้: เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ต.ค. 20, 16:28
กองบังคับการปราบปรามแถลงการจับกุม

https://www.facebook.com/csdthai/videos/2882160358732451/