เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: ลุงแก่ ที่ 27 ต.ค. 00, 12:00



กระทู้: เรื่องของ "หอวัง"
เริ่มกระทู้โดย: ลุงแก่ ที่ 27 ต.ค. 00, 12:00
จากกระทู้ H631191 วันที่ ๔ กรกฏาคม ในห้องสมุดของพันทิบ มีการตั้งคำถามถึงที่มาของโรงเรียน
มัธยมหอวังแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยอันเป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาปัจจุบันและก็มีศษย์เก่าและ
ศิษย์ปัจจุบันมากมายมาร่วมแสดงความคิดเห็น วันนี้ลุงแก่จะขอเสนอเรื่องจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
สมัยยังตั้งอยู่ที่หอวัง อันเป็นข้อเขียนของท่าน ศาสตราจารย์ คุณหญิง ผะอบ โปษะกฤษณะ ที่ท่านได้
เขียนลงไว้ให้ในหนังสือ ๒๓ ตุลา ของปี ๒๕๒๐ ดังนี้

"... ในเมื่อข้าพเจ้าเข้าเป็นนิสิตนั้นเป็นเวลา ๕๐ ปีมาแล้วพอดี คือปี ๒๔๗๑ (นับถึงปัจจุบันก็ได้ ๗๒ ปี
 - ลุงแก่) พวกเราชาวจุฬาฯ ถือเป็นประเพณีอย่างหนึ่งว่าจะต้องจัดทำทุกปี เพื่อแสดงความมีน้ำหนึ่ง
ใจเดียวกัน ... งานรื่นเริงประจำปีนี้ เป็นงานที่นิสิตทุกคนร่วมมือร่วมใจกันจัดขึ้นที่สนามหอวัง คือที่เป็น
สนามกีฬาแห่งชาติในปัจจุบัน เมื่อก่อนนั้น ที่สนามกีฬาแห่งชาติยังเป็นสถานศึกษาของคณะอักษรศาสตร์
และวิทยาศาสตร์ของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นตึกทรงโบราณสีเหลืองคร่ำ มีลานหินหน้าตึกกว้าง
เป็นรูปครึ่งวงกลม เกือบจะพอเล่นเนตบอลได้ ลงจากลานจะมีบันไดเป็นรูปเดียวกับลานประมาณ ๑๒ ขั้น
ถ้าจำไม่ผิด (เพราะผู้เขียนเคยวิ่งตกบันไดมาแล้ว) ต่อจากตึกจะเป็นถนนโรยกรวดออกสู่ถนนใหญ่ สองข้าง
ทางมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น ต้นอะไรจำไม่ได้ถนัด แต่ดูเหมือนจะเป็นมะฮอกกะนี สองข้างถนนเป็นลานดิน
มีหญ้าขึ้นบ้าง เป็นที่ที่นิสิตเล่นฟุตบอล และเมื่อมีงานก็กลายเป็นสถานที่ต่างๆ ตามประสงค์โดยเฉพาะ
เวลามีงานประจำปีก็จัดเป็นเวทีละคร และที่สำหรับแขกรับเชิญ

ตึกที่กล่าวถึงนี้ (ตึกนี้เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่สมเด็จพระบรม
โอรสาธิราช เจ้าฟ้าวฃิรุณหิศ ที่เรียกกันว่าวังพญาไทหรือวังฝรั่ง - ลุงกแก่) ชั้นล่างเป็นสำนักงานอย่างที่
เรียกกันสมัยนี้ว่า สำนักงานคณบดีและเป็นห้องพักของคณะบดี อาจารย์ชาวไทย ชาวต่างประเทศ ชั้นบน
เป็นห้องปฎิบัติการทางฟิสิคส์ เคมีฯ และชั้นบนสุดเป็นที่ทำงานของกรมวิทยาศาสตร์ ส่วนที่เรียนวิชา
อื่นๆนั้น คือพื้นซีเมนต์ชั้นล่างไม่มีฝากั้น(โล่งตลอด) ใต้เรือนไม้สีเขียวซึ่งเป็นหอพักของนิสิตชาย
หรือที่เรียกกันว่าหอวัง ถ้าจะพูดกันภาษาชาวบ้านก็ว่าใต้ถุนหอพัก ตั้งโต๊ะยาวไปเท่ากับตัวเรือนไม้ จุโต๊ะ
เรียนได้ประมาณ ๒๐๐ โต๊ะ เป็นห้องเรียนรวมของนิสิตคณะต่งๆ ที่มาเรียนวิชาปีหนึ่งและปีที่สองรวมกัน
(เฉพาะวิชาที่เรียนรวมกันได้) เช่น วิชาภาษาอังกฤษเป็นต้น บางวิชาก็มี ๒ คณะหรือ ๓ คณะ แล้วแต่คณะใด
ต้องการสายวิชานั้น ถ้าจะเทียบกับปัจจุบันก็คือวิชาพื้นฐาน คณะใดรวมกันได้ในวิชาใดก็เรียนรวมกันเช่น
ฟิสิคส์ เคมี ก็จะมีนิสิตคณะเตรียมแพทย์ศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ถ้าวิชาคณิตศาสตร์
ก็จะมีคณะอักษรศาสตร์ที่สมัครเรียนคณิตศาสตร์รวมด้วย เมื่อจบปี ๒ แล้วก็แยกย้ายกันไป ส่วนที่ตึก
จุฬาลงกรณฯเดี๋ยวนี้(ตึกบัญชาการหรือตึก ๑ ของคณะอักษรศาสตร์ในปัจจุบัน - ลุงแก่)นั้น ยังมีตึก
อักษรศาสตร์ปัจจุบันเพียงตึกเดียวเป็นสำนักงานของคณะวิศวกรรมศาสตร์และรัฐศาสตร์ นิสิตต้องพัก
อยู่อีกหอหนึ่ง เรียกว่าหอใหม่ (อยู่หลังตึกสำนักงานเลขาธิการปัจจุบัน)" (ปัจจุบันสถานที่นี้จะเป็นอะไร
ลุงแก่ก็ไม่อาจทราบได้ เพราะไม่ได้ไปสัมผัสมานานมากแล้ว)

ที่นำเรื่องของหอวังนี้มากล่าวถึงก็เพียงอยากให้ทราบถึงประวัติการก่อตั้งในเบื้องต้นของจุฬาฯ ที่นอก
เหนือจากการที่เราทราบกันเพียงว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาจุฬาฯ ขึ้น ยังมี
บันทึกที่กล่าวถึงเรื่องของหอวังนี้อีก แต่ขณะนี้หนังสือนั้นอยู่ไกลตัวจึงไม่อาจนำมาเสนอได้ในขณะนี้

สำหรับโรงเรียนหอวัง(ที่เป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาปัจจุบัน) หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อตีตผู้บุกเบิก
และก่อตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาท่านหนึ่งได้เคยกล่าวถึงไว้ว่าได้รับโอนมาจากโรงเรียนวัดหัวลำโพง
จากกระทรวงธรรมการ เพื่อมาใช้เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูมัธยมของคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์
สมัยที่คณะครุศาสตร์ยังเป็นแผนกครุศาสตร์อยู่ และท่านถือว่าโรงเรียนหอวังนี้นับเป็นโรงเรียนสาธิตฯ
แห่งแรกของไทยด้วย และได้เปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในภายหลังโดยมีวัตถุประสงค์ในการ
เตรียมความพร้อมของนักเรียนเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่จุฬาฯต่อไป

ขอส่งท้ายอีกนิดว่าคำว่า "นิสิต" นี้ เมื่อก่อนเข้าใจกันว่าหมายถึงเฉพาะนักศึกษาที่ทางมหาวิทยาลัยจัดให้
มีหอพักอยู่ภายในมหาวิทยาลัยด้วยเช่นจุฬาฯ หรือเกษตรศาสตร์ ส่วนทีไม่มีหอพักนั้นเรียกว่า"นักศึกษา"
อย่างของธรรมศาสตร์นั้น เรื่องนี้ไม่เป็นเช่นนั้น คำว่า"นิสิต หรือ นิสสิต" นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏ
เกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงแปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า "Matriculated Student" ดังที่ปรากฏ
อยู่ในระเบียบการทั่วไปแห่งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ดังมีข้อความนี้

 "นิสิต(Matriculated Student) นับเอาจำพวกที่สอบได้ประโยคมัธยมบริบูรณ์(คือมัธยมปีที่ ๘)แล้ว
เข้าเป็นนักเรียนชั้นสูงซึ่งเรียนตามหลักสูตร เพื่อจะสอบวิชาเป็นบัณฑิต(Graduate)ของสำนัก"

 ท่านใดเห็นว่าขาดตกบกพร่องอย่างไรก็ช่วยเสนอแนะด้วยก็แล้วกัน แก่แล้วความจำมันเริ่มเสื่อมน่ะ


กระทู้: เรื่องของ "หอวัง"
เริ่มกระทู้โดย: อินทาเนีย ที่ 14 ต.ค. 00, 00:00
- มีอีกคำหนึ่งที่ผมไม่เคยได้ยินมาก่อนคือ "แขวงวังใหม่"
ผมเห็นคำนี้ตอนที่รุ่นน้องที่กำลังเรียนอยู่ที่จุฬาฯตอนนี้คนหนึ่ง ส่งบทความทางวิชาการที่เขาเขียนมาให้ผมอ่านเมื่อเร็วๆนี้ เขาเขียนที่อยู่ว่า "...จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แขวงวังใหม่ พญาไท กรุงเทพ 10330" ... ผมเคยเรียนอยู่แถวๆนั้นอยู่หลายปี ก็ไม่เคยใส่ว่า"แขวงวังใหม่"ตอนเขียนที่อยู่ของสถาบันเลย และก็ไม่เคยได้ยินมาก่อนด้วยว่าแถวนั้นเข้าเรียก"แขวงวังใหม่" เพิ่งจะได้ยินครั้งนั้นเป็นครั้งแรกนี่แหละครับ... ทำไมจึงเรียกแถวนั้นว่า "วังใหม่" ครับ?
 
- พูดถึงคำว่า "นิสิต" ...แล้วคุณลุงแก่ยกประโยคจากราชกิจจานุเบกษาส่วนนั้นมา ประโยคนั้นผมเข้าใจว่าหมายความว่า ผู้ที่จะเป็นนิสิตได้นั้นต้องเป็นผู้ที่สอบได้ประโยคมัธยมบริบูรณ์ ฯลฯ อันนี้เป็นเพียงคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นนิสิตได้ในทางกฎระเบียบ เหมือนกับมีกฎเกณฑ์ว่าผู้ที่จะมีสิทธิ์เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐได้ต้องเป็นผู้ที่ ๑. อายุไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ ฯลฯ (matriculate = รับเข้าเป็นนักศึกษา, รับเข้าสมาคม) แต่ประโยคนั้นไม่ได้เป็นการนิยามคำว่า "นิสิต" และก็ไม่ได้บ่งถึงความแตกต่างระหว่างคำว่านิสิตกับคำว่านักศึกษาในแง่ต่างๆอื่นๆนะครับ


กระทู้: เรื่องของ "หอวัง"
เริ่มกระทู้โดย: อินทาเนีย ที่ 14 ต.ค. 00, 00:00
รูปหอวัง (วังของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ) ซึ่งต่อมาใช้เป็นตึกคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐



( ภาพจาก http://www.sc.chula.ac.th/thai/about/history )


กระทู้: เรื่องของ "หอวัง"
เริ่มกระทู้โดย: ลุงแก่ ที่ 14 ต.ค. 00, 00:00
เรื่องของแขวงวังใหม่ เคยพบอยู่แตไม่ได้ให้ตวามสนใจ
แต่คราวนี้ต้องขอไปค้นก่อนครับ
คำว่า นิสิต นั้น ผมก็ลอกมาจากระเบียบการที่กล่าวถึง
ยุคสมัยเปลี่ยนไป ทุกสิ่งก็เปลี่ยนไป มันเป็นอนิจจังน่ะครับ
ผมขอรบกวนคุณอินทาเนียหน่อย สงสัยอยู่เหมือนกันว่า
"อินทาเนีย" แปลว่าอะไร มีที่มาจากไหน และทำไม"ต้องไว้ลายอินทาเนีย" ?


กระทู้: เรื่องของ "หอวัง"
เริ่มกระทู้โดย: GSX ที่ 15 ต.ค. 00, 00:00
คล้ายๆengineerมั้งผมว่า


กระทู้: เรื่องของ "หอวัง"
เริ่มกระทู้โดย: อินทาเนีย ที่ 15 ต.ค. 00, 00:00
คำว่า "Intania" ไม่มีความหมายในเชิงภาษาครับ แต่เป็นคำที่พวกวิศวกรจุฬาฯสมัยก่อนคิดขึ้นมาใช้หมายถึง "Engineer(s)" ต่อมาก็มีสถาบันอื่นๆนำคำนี้ไปใช้ด้วยเหมือนกัน อย่างเช่นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ... บางมหาวิทยาลัยก็ใช้ว่า "Entania" ครับ

ผมชอบคำว่า "Intania" มาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ระดับมัธยมปลาย เมื่อตอนสมัยที่ผมเรียนอยู่ระดับปริญญาตรีเลยใช้ "INTANIA" เป็นนามแฝงตอนเล่น IRC และก็เอามาใช้เป็น login name ของ Hotmail account ของผมในตอนนี้ด้วยครับ

แต่ "อินทาเนีย" ที่ผมใช้อยู่นี้ ไม้ได้บ่งบอกว่าผมมาจากหรือสังกัดสถาบันไหนหรอกนะครับ แต่ใช้ในฐานะที่เป็น "intania" (engineer) คนหนึ่งเท่านั้นเองครับ :-)


กระทู้: เรื่องของ "หอวัง"
เริ่มกระทู้โดย: วีณาแกว่งไกว ที่ 15 ต.ค. 00, 00:00
เพิ่งไปเขียนตอบกระทู้เรื่องคำว่า "นิสิต" ที่ PANTIP มาเมื่อกี้นี้...



http://pantip.inet.co.th/cafe/library/topic/K708193.html#17


กระทู้: เรื่องของ "หอวัง"
เริ่มกระทู้โดย: วีณาแกว่งไกว ที่ 15 ต.ค. 00, 00:00
ขออนุญาตแถมกระทู้เรื่อง "สิริกิติ์" http://pantip.inet.co.th/cafe/library/topic/K706279.html#12 ด้วย


กระทู้: เรื่องของ "หอวัง"
เริ่มกระทู้โดย: นานๆมาที แต่ต่อไปคงจะมาบ่อยๆ(แฟน 2499) ที่ 15 ต.ค. 00, 00:00
Pantip ช้าจัง สงสัยคนใช้เยอะ
แหะๆ ลองคัดลอกมาให้อ่านตรงนี้เลยได้ไม๊ครับ


กระทู้: เรื่องของ "หอวัง"
เริ่มกระทู้โดย: ลุงแก่ ที่ 16 ต.ค. 00, 00:00
จุฬาฯ รุ่นคุณยายคนหนึ่งบอกผมว่า Intania มีที่มาจากพวกการเรียกพวก
นักเดินเรือสมัยก่อน ที่เข้ามาในประเทศไทย ประเภทพวกช่างกลเรือน่ะ
แล้วพวกทหารเรือไทยสมัยต้นๆ นำคำนี้มาใช้กัน แล้วก็นำมาใช้ในมหาวิทยาลัย
ก็ที่ วิศวะ จุฬาฯ เป็นแห่งแรก


กระทู้: เรื่องของ "หอวัง"
เริ่มกระทู้โดย: อินทาเนีย ที่ 16 ต.ค. 00, 00:00
กระแสหนึ่งที่ผมเคยได้ยินมาก็อย่างที่คุณลุงแก่ว่าไว้ครับ

อีกกระแสหนึ่งก็บอกว่า "Intania" เป็นคำภาษาละตินแปลว่าวิศวกร แต่พอผมถามคนที่เรียนเอกภาษาละตินดู เขาก็บอกว่าไม่เคยได้ยินศัพท์คำนี้ แล้วผมได้เคยเปิดพจนานุกรมภาษาละติน (ภาษากรีก ภาษาเยอรมัน และก็ภาษาฝรั่งเศสด้วย) ก็ไม่พบคำนี้

แต่ที่แน่ ๆ ในบรรดาพวกวิศวกรแล้ว มีใช้ที่จุฬาฯเป็นแห่งแรกครับ


กระทู้: เรื่องของ "หอวัง"
เริ่มกระทู้โดย: อินทาเนีย ที่ 16 ต.ค. 00, 00:00
เสริม : พวกที่เรียนหมอจุฬาฯเขาเรียกตัวเองว่า "อินเดียน" ... ทราบไหมครับว่ามีที่มาอย่างไร? *_^


กระทู้: เรื่องของ "หอวัง"
เริ่มกระทู้โดย: อินทาเนีย ที่ 16 ต.ค. 00, 00:00
ป.ล. : รอฟังเรื่อง "วังใหม่" จากคุณลุงแก่อยู่ครับ :-)


กระทู้: เรื่องของ "หอวัง"
เริ่มกระทู้โดย: วศ. 38 ที่ 17 ต.ค. 00, 00:00
เคยได้ยินมาว่า คำว่า Intania เป็นคำที่เพี้ยนมาจาก Engineer เหมือนคำว่าราชปะแตน ที่เพี้ยนมาจากคำว่า Raj Pattern เพราะว่าคนไหยเมื่อก่อนออกเสียงภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้  ส่วนที่คุณลุงแก่นำมาเล่าสู่กันฟังความคิดเห็นข้อ 9 น่าจะใช้เรียกวิศวกรประจำเรือที่เดินทางมากด้วยกับเรือน่ะครับ


กระทู้: เรื่องของ "หอวัง"
เริ่มกระทู้โดย: intania69 ที่ 17 ต.ค. 00, 00:00
น่านสิ อยากรู้เหมือนกัน


กระทู้: เรื่องของ "หอวัง"
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 17 ต.ค. 00, 00:00
คุณอินทาเนียน่าจะทราบดีกว่าผม ว่าทำไมหมอจุฬาฯ ถึงได้เรียกตัวเองว่าอินเดียน และจัดงานอินเดียนแดงรับน้องใหม่ทุกปี
เท่าที่ผม ซึ่งไม่ใช่หมอ (ไม่ได้มีแฟนเป็นหมอด้วย เพราะจีบไม่ติดอีกนั่นแหละ ... เฮ้อ-) ทราบ ตามประสาคนบุญไม่ถึง บุญส่งให้ไปถึงจุฬา แต่ส่งข้ามถนนอังรีดูนังต์ไม่ได้ หล่นปุ๊อยู่ตรงคณะรัฐศาสตร์นั่นเอง... นั้น ดูเหมือนการเล่นเป็นอินเดียนแดงในงานรื่นเริงรับน้องใหม่ของหมอจุฬาฯ จะมีมาหลายสิบปีแล้วครับ ตั้งแต่สมัยหนังฝรั่งโบราณเรื่องหนึ่ง เรื่อง Annie Get Your Gun เป็นหนังคาวบอย (หญิง) เข้ามาฉายในเมืองไทย นางเอก คือ Annie นั่นว่ากันว่ายิงปืนแม่นมาก คุณหมอรุ่นโน้น - จะสี่ห้าสิบปีได้แล้วมั้งครับ - ท่านไปดูหนังแล้วชอบใจ เอามาเล่นรับน้อง จนสืบมาเป็นธรรมเนียม
เมื่อมีคาวบอยก็มีอินเดียนแดง มีการเล่นรอบกองไฟ (แต่หลังๆ คาวบอยหายไปนะ) มีการให้น้องใหม่ดื่มน้ำอมฤต firewater บางปีเล่ากันว่าพี่กรอกน้องจนเมา ต้องเอาไปนอนหอพักกันหลายคน ก็เคยได้ยินว่ามี มีปีหนึ่งหลายปีมาแล้ว มีเนื้อวัวย่างหรือวัวหัน (สมมติว่าเป็นแบบอินเดียนแดง) เฉือนให้น้องกินด้วย ผมจำได้เพราะเผอิญปีนั้นผมไปเป็นแขกของอินเดียนแดง ... เผ่าชอกี ... ทั้งหลายด้วยน่ะครับ เนื้อย่างอร่อยดีครับ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ทราบจะไปเล่นรอบกองไฟได้ที่ไหน จุฬาฯ ทั้งฝั่ง รพ. ฝั่งมหาวิทยาลัยมีแต่ตึกแน่นไปหมดแล้ว
นอกเรื่องหอวังไปหน่อยครับ


กระทู้: เรื่องของ "หอวัง"
เริ่มกระทู้โดย: วีณินทาเนีย ที่ 17 ต.ค. 00, 00:00
เคยมีโอกาสไปร่วมดื่มน้ำโสมะ..เอ๊ย..น้ำอมฤตร่วมกับพวกอินเดียนอยู่ ๒ ครั้ง ตอนนั้น...ครั้งที่ผมอยู่ปี ๑ ถูกป้อนน้ำอมฤต (จนไม่ได้สติสมปฤดี) เขาก่อกองไฟที่สนามฟุตบอลเล็กๆหน้าโรงยิมปรีดา อีกครั้งหนึ่ง...ตอนนั้นเพื่อนๆอยู่ชั้นปี ๔ กันแล้ว ผมเป็นฝ่ายป้อนน้ำอมฤตให้น้องๆ เขาจัดกันที่ลานจอดรถติดกับตึกสิริภาจุฑาภรณ์ ครั้งนั้นไฮเทคมาก เขาจุดกองไฟโดยใช้สายชนวนไฟแล่น เดี๋ยวนี้คิดว่าน่าจะยังจัดตรงนี้อยู่ เพราะหลับตาจินตนาการดูแล้วรู้สึกจะเป็นพื้นที่กว้างแห่งเดียวในโรงพยาบาลที่ยังไม่ได้ปลูกสิ่งก่อสร้าง


กระทู้: เรื่องของ "หอวัง"
เริ่มกระทู้โดย: วีณินทาเนีย ที่ 17 ต.ค. 00, 00:00
วันหลังจะกลับไปช่วยพวกอินเดียนเขาพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในการจุดกองไฟ... เป็น ใช้ลำเลเซอร์มหัศจรรย์ความความคลื่น 1300 นาโนเมตรแทน


กระทู้: เรื่องของ "หอวัง"
เริ่มกระทู้โดย: ลุงแก่ ที่ 18 ต.ค. 00, 00:00
ไม่ได้เข้ามา ๒ วัน ขอติดเรื่อง วังใหม่ กับคุณอินทาเนียไว้ก่อน
ไม่มีข้อมูลข้างตัวเลย แบบว่าจะเตรียมย้ายบ้าน เลยขนหนังสือลงลัง
ไปเก็บซะแล้ว แต่เข้าใจว่า วังใหม่ คงจะหมายถึง วังหลังนี้นั่นแหละ
และขอแก้ข้อผิดของคุณหน่อย จุฬาฯ อยู่ในเขตปทุมวันครับ ไม่ใช่เขตพญาไท


กระทู้: เรื่องของ "หอวัง"
เริ่มกระทู้โดย: ลุงแก่ ที่ 19 ต.ค. 00, 00:00
-เพิ่มเติม-
๑) เรื่องของหอวัง, คุณพระเจริญวิศวกรรม อดีตคณะบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
 ได้บันทึกในบทความของท่านที่ เมื่อ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ มีบางส่วนกล่าวถึงหอวังไว้ดังนี้
" ... คณะวิศวกรรมศาสตร์เกิดที่โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ณ วังปทุมวัน พ.ศ. ๒๔๕๖ ซึ่งเดิมเรียกว่า
 แผนกยันตรศึกษา ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ เมื่อได้ประกาศตั้งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยขึ้นแล้ว แผนกยันตรศึกษา
ก็ได้เข้ารวมอยู่ในมหาวิทยาลัยนี้และได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ ใน พ.ศ. ๒๔๖๑ คณะวิศวกรรม
ศาสตร์ได้ย้ายมาจากวังปทุมวัน มาอยู่ที่ตึกใหม่ของมหาวิทยาลัย ริมถนนสนามม้า ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นที่ตั้งของ
กองบัญชาการและคณะอักษรศาสตร์
แผนกข้าราชการพลเรือนซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นคณะรัฐประศาสนศาสตร์ก็ได้ย้ายมาตึกใหม่พร้อมกับคณะ
วิศวกรรมศาสตร์เหมือนกัน คณะวิศวกรรมศาสตร์อยู่ชั้นล่าง คณะรัฐประศานสศาสตร์อยู่ชั้นบน
ส่วนโรงเรียนข้าราชการพลเรือนภายหลังกลายเป็นคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และหอวังปทุมวัน
ซึ่งเป็นสำนักของนักเรียนมหาวิทยาลัย นักเรียนวิศวกรมศาสตร์ก็ได้พำนักอยู่ในหอนี้ และต่อมาภายหลัง
เมื่อมีนักเรียนสำนักหอมากขึ้น มหาวิทยาลัยได้สร้างหอใหม่เพิ่มเติม นักเรียนวิศวกรรมศาสตร์ก็ได้ย้ายมา
อยู่หอใหม่โดยส่วนมาก เมื่อคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ย้ายมาอยู่ที่ตึกใหม่ริมถนนพญาไท ตัวตึก
วังปทุมวันก็กลายเป็นโรงเรียนมัธยมหอวัง และเมื่อโรงเรียนมัธยมหอวังย้ายมาอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดม
ศึกษาริมถนนพญาไท ตัวตึกและหอวังปทุมวัน ก็ได้ถูกรื้อลงเพื่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติ ... "

๒) เรื่องของคำว่า เอนจิเนียร์, ในราชกิจจานุเบกษาในรัชกาลที่ ๔ เล่มที่ ๑ แผ่นที่ ๑๖ รัตนโกสินทรศก ๗๗
(พ.ศ. ๒๔๐๑) มีกล่าวว่า
" ... ในกรุงสยามนี้ เมื่อครั้งกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยาเก่า แลกรุงลพบุรียังเปนกรุงที่ตั้งพระเจ้าแผ่นดิน
สยามอยู่นั้น มีคนในเมืองยุโรปหลายชาติหลายภาษา คือฝรั่งเสศ สแบเนียด แลโปรตุเคศสามพวกที่ไทยได้
เรียกแต่ว่า ฝรั่งตามคำแขกอินเดียน ผู้ชักนำมาเรียกอยู่แต่ก่อน แลอังกฤษคริดฮอลันด์ก็มีบ้าง ตามทีได้ยิน
มาแต่พวกโปรตุเคศนี้ได้มาอยู่ในเมืองไทยก่อนกว่าคนยุโรปเมืองอื่น มีจดหมายเหตุเก่าในเวลานานกว่าร้อยปี
มาแล้วว่า ได้มีคนโปรตุเคศเปนเอนเยเนียช่วยแนะนำพระเจ้าแผ่นดินตัดทางพระพุทธบาท แล้วจัดทางขุด
คลองตรงแลการอื่นๆ ครั้นเมื่อเมืองเดิมของของโปรตุเคศมีความวุ่นวายเปลี่ยนเจ้าแผ่นดิน แลอำนาถ
แผ่นดินโปรตุคอลแปรปรวนไปด้วยแผ่นดินไหว แลข้าศึกภายนอกเบียดเบียนแลอื่นๆ คนโปรตุเคศที่อยู่
ในเมืองสยาม ไม่มีที่พึ่งที่อ้างในเมืองเดิมแล้วก็กลับกลายเปนคนเปนข้าแผ่นดินสยามไป ..."
ชักสงสัยแล้วสิว่าคำว่า อินทาเนีย อาจจะมาจากภาษาโปรตุเกสหรือสเปนก็เป็นได้

๓) เรื่องของคำว่า นิสิต
จากระเบียบการทั่วไปฯ ที่อ้างถึงในต้นกระทู้ ขอเพิ่มเติมดังนี้
"ข้อ ๙  การสอบวิชานักเรียนมัธยมบริบูรณ์ ซึ่งโรงเรียนจะเลือกเข้าเป็นนักเรียนชั้นนิสิต เป็นหน้าที่ของ
กระทรวงธรรมการสอบไล่อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการสอนวิชาชั้นต้น ซึ่งโรงเรียนแผนกต่างๆ จะเลือกเข้า
เป็นนักเรียนชั้นศิษย์ก็ควรจะมีเจ้าหน้าที่สอบไล่เป็นแห่งเดียวกัน จะได้เทียบวิชาสูงต่ำได้เสมอกัน เวลานี้
โรงเรียนข้าราชการพลเรือนจึงได้มอบให้กระทรวงธรรมการเป็นผู้สอบวิชานักเรียนให้ นักเรียนที่จะเข้า
สอบวิชาชั้นต้นนี้ เพื่อกันไม่ให้ผู้ที่มีความรู้ต่ำเกินไปเข้ามาขอสมัครสอบ เป็นเหตุให้เสียเวลาของการตรวจ
สอบ กระทรวงธรรมการจะเรียกค่าธรรมเนียมจากผู้สมัครสอบก็ได้ แต่อย่างสูงไม่เกินคนละ ๕ บาท"


กระทู้: เรื่องของ "หอวัง"
เริ่มกระทู้โดย: อินทาเนีย ที่ 19 ต.ค. 00, 00:00
ผมตั้งใจจะหมายถึง "ถนนพญาไท" ครับคุณลุงแก่ ขอโทษครับที่เขียนไม่ละเอียด
ปกติผมจะเขียนที่อยู่โรงเรียนเตรียมฯ แค่ว่า "โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ถนนพญาไท กรุงเทพ 10330" แค่นี้ครับ

สำหรับคำว่า "เอนยิเนีย" ผมว่ามาจากคำภาษาอังกฤษว่า "Engineer" มากกว่าครับ

ส่วน "Intania" เปิดพจนานุกรมภาษาสเปน (Onine) ก็ไม่พบครับ
ดูหน้าตาแล้วก็ไม่น่าจะเป็นภาษาโปรตุเกสด้วยเหมือนกัน

ผมว่า "อินทาเนีย" น่าจะเพี้ยนมาจาก "เอนยิเนีย" ซึ่งก็มาจาก "engineer" อย่างที่คุณ วศ. 38 (ความคิดเห็นที่ 13) ว่าไว้นั่นแหละครับ


กระทู้: เรื่องของ "หอวัง"
เริ่มกระทู้โดย: ด.เด็ก ที่ 28 ต.ค. 00, 04:28
คำว่าอินทาเนีย น่าจะกร่อนมาจากเอ็นทะเนียซึ่งมาจากเอ็นจิเนียร์ ผมเคยอ่านตำราสร้างวิทยุของอาจารย์บุญสม แน่นหนา อาจารย์แต่งเรื่องนี้ไว้สอนชาวบ้านให้ซ่อมวิทยุเป็น ตัวเอกชื่อว่า เอ็นทะเนียแดง  แล้วตอนอยู่จุฬาฯ ไปกินเหล้ากับเพื่อนชาววิศวะ เวลาครึ้มๆ เพื่อนก็แหกปากว่า"สมัญญาอินทะเนีย เกียร์มีรู'ให้ฟัง