เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
อ่าน: 52758 พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 05 ม.ค. 11, 09:18

จดหมายหน้าต่อมา


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 05 ม.ค. 11, 19:11

จดหมายหน้าต่อไป


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 05 ม.ค. 11, 19:26

พ.ท.พโยมเขียนจดหมายฉบับนี้ในขณะที่ป่วยหนัก   แต่มิได้บอกให้ลูกๆรู้   
ขอย้อนกลับไปเล่าถึงสุขภาพอีกสักหน่อยว่า ท่านได้ใช้ชีวิตตรากตรำอยู่ในป่าดงมายาวนานเกือบ 20 ปี    สุขภาพเสื่อมโทรมอย่างหนัก  มีหลายโรครุมเร้าทั้งความดันโลหิตสูง เบาหวานและเก๊าต์     โรคที่เป็นหนักที่สุดคืออัมพฤกษ์ เนื่องจากตกช้าง ทำให้เส้นประสาทในไขสันหลังทำงานไม่ปกติ เวลาเดินจึงเดินตรงๆ ดังเดิมไม่ได้ แต่ต้องเดินถัดด้านข้างๆ แทน   
สรุปว่า กว่าจะมีโอกาสออกจากป่ากลับไปรักษาตัวที่ปักกิ่งเมื่อพ.ศ. 2521  ท่านก็กลายเป็นชายชราทุพพลภาพไปเสียแล้ว   

เมื่อพบลูกชาย   ก่อนจากกัน พ.ท.พโยมได้ถ่ายรูปกับลูกชาย เพื่อให้ลูกเก็บไว้เป็นที่ระลึก  กว่าจะจัดท่าให้ถ่ายได้ ก็ต้องพยายามขยับตัวสุดแรงด้วยความยากลำบาก    ท่านจึงบอกลูกชายว่า
"เราคงจะได้พบกันครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว"

หลังจากเขียนจดหมายนี้ ในพ.ศ. 2523   พ.ท.พโยมก็ถึงแก่กรรมอย่างสงบที่ปักกิ่งนั่นเอง   พรรคคอมมิวนิสต์จีนจัดงานศพให้อย่างสมเกียรติ แต่ครอบครัวทางเมืองไทยไม่ได้ไปร่วมงานด้วย มีเพียงอัฐิของท่านถูกส่งคืนกลับมา     ได้นำไปเก็บไว้ยังวัดเพชรพลี จ.เพชรบุรี รวมกับบรรพชนในตระกูลจุลานนท์    ปัจจุบัน ก็มีญาติพี่น้องไปร่วมกันทำบุญทุกปี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 06 ม.ค. 11, 17:19

ขอขอบคุณคุณ Navarat.C  ที่กรุณาค้นคว้ารวบรวมเอกสารมาให้ คือ
๑   พลิกแผ่นดิน  ของประจวบ อัมพะเศวต
๒   เสวนาทางวิชาการ เรื่อง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในทรรศนะ นักวิชาการและนักการทหาร
๓   ธง แจ่มศรี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย   สัมภาษณ์โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, ธนาพล อิ๋วสกุล
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 ม.ค. 11, 23:23 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 16 ม.ค. 11, 14:02

นึกว่าคงไม่มีอะไรให้เขียนอีกแล้วในกระทู้นี้   จึงปล่อยไว้นานหลายวัน
เมื่อวาน  ได้หนังสืออนุสรณ์งานศพคุณหญิงวิเศษสิงหนาถมาแล้ว  (ของเดิมที่ได้มาไม่รู้ว่าไปเก็บไว้ไหน    เล่มใหม่ได้รับความอนุเคราะห์มาค่ะ)
เลยอยากจะนำเสนอ ชีวิตของพ.ท.โพยมในวัยเยาว์ ที่น้อยคนจะรู้ได้ 
และอยากให้อ่านสำนวนภาษาของนายทหารคนหนึ่ง ซึ่งตอนเขียนหนังสือเล่มนี้  เขายังไม่รู้ว่าตัวเองจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย   

ขอเริ่มด้วยคำสรุปท้ายเรื่อง

      "เป็นเวลา ๘ ปีแม่โอบอุ้มกอดลูกไว้ใน "อ้อมอก"  ยืนหยัดแต่เดียวดายด้วยลำขาทั้งสองของผู้หญิง    โต้กับลมร้ายทั้งพายุฝุ่น  พายุฝน ลมหนาว ลมร้อน ฯลฯ  เวลา ๘ ปีนั้นยาวนานมิใช่น้อยสำหรับชีวิตที่แหวกว่ายอยู่ในท้องทะเลของความว้าเหว่ยากเข็ญ   ด้วยพลังของความกล้าหาญมานะอดทน    ในที่สุดแม่ก็สามารพฟันฝ่าเอาชนะอุปสรรคทั้งปวง    ทำให้ครอบครัวที่แตกแยกระหกระเหิน ได้กลับคืนมาสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน    พาลูกมามอบสู่ "อ้อมกอดของพ่อ" เพื่อช่วยกันสร้างวิถีชีวิตของลูกต่อไป
      " อ้อมอกแม่" นั้นกว้างใหญ่ยิ่งนัก    ภาระของแม่หาได้ยุติลงแต่เพียงแค่นี้   "อ้อมอกแม่" สุดที่จะจารึกลงไว้  เพียงเฉพาะในเรื่องของชีวิตแต่สั้นๆ   สร้างพลังแห่งความมานะอดทนกล้าหาญ    สร้างความรู้ผิดรู้ชอบ  รู้เหตุรู้ผล      แม่เป็นผู้วางพื้นฐานในการต่อสู้ให้ลูก  เพื่อจะได้มีชีวิตยืนหยัดต่อสู้บนผืนแผ่นดินใหญ่ในโลก     ในสังคมที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายทุกข์ยาก     แม่เป็นอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่ง ที่สร้างปรัชญาแห่งชีวิตให้แก่ลูก   พระคุณของแม่มหาศาลล้นเหลือ
     " อ้อมอกแม่" หาได้จบลงเพียงแต่เท่านี้ มิได้"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 16 ม.ค. 11, 18:46

พ.ท.พโยมเล่าว่าตั้งแต่จำความได้  ก็อยู่กับแม่เพียงลำพังสองคนแม่ลูก ที่เรือนเล็กชายไร่ริมทางเกวียน ข้างกำแพงเมืองโบราณ ในตัวเมืองเพชรบุรีเก่า  เรียกกันสมัยนั้นว่า "บ้านท่าหิน"  แม้ว่าอยู่ในละแวกเครือญาติ  แต่แม่ลูกก็อยู่กันอย่างโดดเดี่ยว

ในเรื่องไม่ได้บอกอายุ แต่คำนวณจากอายุพ.ท.พโยมที่มีในประวัติ และปีเกิดของมารดา ก็บอกได้ว่าแม่อายุ ๒๑ เมื่อมีลูกชายคนแรก

ส่วนพ่อไม่ได้อยู่ในบ้าน   เด็กชายพโยมเข้าใจจากคำบอกเล่าของแม่ว่า พ่อเป็น "คุณพระ"  จึงเข้าใจว่าพ่อนุ่งเหลืองห่มเหลืองมารับบาตรหน้าบ้าน   ให้เด็กชายวิ่งออกไปไหว้ เรียก "คุณพ่อ คุณพ่อ"
ตอนเช้าๆมี "พ่อ" จำนวนมากตามทาง  สายก็หายไป   วันไหนแม่ยุ่งกับงาน  เด็กชายพโยมก็เดินต่อท้ายแถว "พ่อ" ไปที่บ้านของพ่อซึ่งงดงามด้วยช่อฟ้าใบระกา   พ่อก็เลี้ยงข้าวขนมส้มสูกลูกไม้เสียอิ่ม    พอแม่รู้ว่าหายไปก็ตามมาถึงวัด  รับลูกกลับไปบ้านตามเดิม
เรื่องนี้ทำให้แม่ยุ่งยากใจ  จนต้องแก้ไขใหม่ว่า พ่อเป็นทหาร ไม่ได้เป็นพระ   
คราวนี้ก็เหมือนกัน   ถ้ามีทหารคนไหนในเครื่องแบบเดินผ่านหน้าบ้านมา ไม่ว่าพลทหารหรือนายสิบ ก็จะเจอเด็กชายตัวเล็กๆ เนื้อตัวมอมแมมด้วยฝุ่นดินทราย วิ่งออกไปเกาะมือเรียกว่า "พ่อ  พ่อ" อย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 17 ม.ค. 11, 10:52

แม่กับลูกอยู่กันลำพังสองคน  แต่ในยามค่ำคืนมีคนอยู่ร่วมบ้านอยู่ด้วยอีก ๒ คน   เป็นตายายคู่หนึ่งซึ่งพ.ท.พโยมบอกว่าไม่ได้เป็นญาติกัน   แต่ทำไมถึงมาอาศัยด้วย ท่านไม่ได้เล่าความเป็นมาเอาไว้    เข้าใจจากคำบอกเล่าว่า มารดาของท่านน่าจะให้อยู่อาศัยในฐานะผู้อาศัย หรือบริวารกลายๆ    ไม่ใช่อยู่ระดับเดียวกับเจ้าของบ้าน
พ.ท.พโยมเรียกว่า "ตายายคู่นี้เป็น "แบบฉบับ" ที่ถ่ายทอดชีวิตแบบหนึ่งของชาวเมืองเพชร"
ยาย อายุ ๖๐ กว่า   แต่เป็นคนหาเลี้ยง "ตา"  ตื่นเช้าก็กระเดียดกระทายใบเล็ก  บรรจุสัมภาระที่จำเป็น ที่ขาดมิได้คือหมากพลูพร้อมตะบันหมาก  ตระเวนรับจ้างเป็นหมอนวดไปทั่วบ้านทั่วเมือง  กว่าจะกลับบ้านก็ค่ำ รายได้วันๆหนึ่งก็ตกราวเฟื้องหนึ่ง (คือครึ่งสลึง) หรือหนึ่งสลึง (๒๕ สตางค์)   ถ้าโชคดีก็ได้ถึง ๒ สลึงหรือครึ่งบาท
พอกลับถึงบ้าน ยายก็ขมีขมันหุงหาอาหาร

ส่วน ตา เป็นชายอายุราว ๔๐ ปี คือคราวลูกของยาย    ไว้ผมทรงปันหยี  ไว้หนวดที่ริมฝีปากบนอย่างงาม
ผมทรงปันหยี น่าจะพ้นจากความเข้าใจของคนไทยไปแล้ว     เป็นผมผู้ชายที่ยาวประบ่า   มีที่มาจากทรงผมของอิเหนาเมื่อครั้งแปลงเป็นโจรปันหยี     พ.ท.พโยมเล่าว่าเป็นแฟชั่นทรงผมผู้ชายในตอนที่ท่านเป็นเด็ก  ก็ราวต้นรัชกาลที่ ๖   
แต่เป็นละครอิเหนาเล่นกันแบบไหน ที่ไหน ท่านไม่ได้บอกไว้    ดิฉันสันนิษฐานว่าเป็นละครนอกวัง  หรือไม่ก็ลิเก  ชาวบ้านถึงดูกันจนติดอกติดใจ

ตาเป็นผู้ชายซึ่งไม่ได้ทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน     ตื่นมาก็ออกจากบ้าน ไปขลุกอยู่ตามบ่อนเบี้ย รับจ้างเป็นยามดูต้นทาง  บางทีก็ฝากเงินเข้าหุ้นเล่นพนัน     เย็นก็ดักยายที่หัวถนนเพื่อเอาเงินค่าจ้างนวดของยายไปกินเหล้า    ได้เงินไปไม่กลับบ้านจนรุ่งเช้า
วันไหนยายหาเงินได้น้อย ตาก็ด่าเอ็ดอึง    เปลี่ยนคำเรียกยายจาก "แม่" เป็น "อี" ส่วนยายเรียกตาว่า "พ่อ" ซึ่งเป็นคำสุภาพเสมอต้นเสมอปลาย
แต่ตายำเกรงมารดาของพ.ท.พโยมอยู่มาก    ถ้าทะเลาะด่าทอยายเสียงดัง  ถูกมารดาหรือควรจะเรียกว่า "คุณนายนเรนทร์รักษา" ตามบรรดาศักดิ์ของสามี ดุเอา ก็จะเงียบไม่กล้าเถียง  หลบออกจากบ้านไปเงียบๆ ชั่วคราว  ส่วนใหญ่ก็ไปกินเหล้าเมามายอยู่ในร้านเหล้า

อย่างไรก็ตาม พ.ท.พโยมบันทึกว่าตาเป็นคนใจดี รักเด็ก รักษาวาจาสัตย์  และเกรงใจมารดาของท่านมาก    ดูตามนี้ ตาน่าจะทำหน้าที่พี่เลี้ยงของเด็กชายพโยมด้วย

ถ้าถามว่าแม่ลูกยังชีพมาอย่างไร เมื่อไม่มีหัวหน้าครอบครัวหาเลี้ยง  คำตอบคือมารดาของพ.ท.พโยมมีสวนเล็กๆอยู่ประมาณ ๓ ไร่   ปลูกกล้วย  มะม่วง กระท้อน ชมพู่ ฯลฯ  พอขายได้  ประกอบกับเป็นคนขยัน  ไม่ว่าอะไรก็หยิบจับมาเป็นเงินได้ทั้งสิ้น แม้แต่เก็บใบตอง  ยอดตำลึง ยอดชะอม  กรีดเชือกกล้วย     มีลูกชายตัวน้อยๆเป็นคนช่วยแม่ขายอยู่ในเพิงใบตาลหน้าบ้าน
   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 18 ม.ค. 11, 10:43

แม่ดิ้นรนเลี้ยงชีวิตกับลูกชาย ด้วยความหวังว่าพ่อจะกลับมาเป็นแสงสว่างให้ครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง    ความหวังของแม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน จากบรรดาญาติในละแวกนั้น  บางคนก็ถึงกับเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ     แต่ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร แม่ก็ยังคงยืนหยัดกับความหวัง ไม่หวั่นไหวหรือท้อถอย

คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของแม่ ที่พ.ท.พโยมชื่นชม คือเป็นผู้มีสายตากว้างไกลเรื่องการศึกษา   ยุคของแม่ ผู้หญิงไม่ได้เล่าเรียนเขียนอ่าน  ยิ่งผู้หญิงในชนบทแล้วเรื่องนี้ไม่จำเป็นเอาเลย   เพราะเด็กผู้หญิงถูกสอนมาให้อยู่กับบ้าน  หัดดูแลบ้าน ทำกับข้าว เตรียมจะเป็นแม่เรือนต่อไปในอนาคต    ถ้าหากว่าประกอบอาชีพก็คือสืบต่อจากพ่อแม่ เช่นทำสวน ทำนา ทำไร่    ส่วนอ่านเขียนหนังสือเป็นเรื่องของผู้ชายโดยเฉพาะ 
แม่ของพ.ท.พโยมมีความคิดก้าวหน้ากว่าพี่น้องด้วยกัน  จึงหัดเรียนจากหนังสือของญาติคนหนึ่ง จนกระทั่งอ่านออกและเขียนถ้อยคำง่ายๆได้      แม้ไม่สามารถจะอ่านวรรณคดีสูงๆยากๆได้ แต่ก็ชอบกาพย์กลอนโคลงฉันท์    มีโอกาสก็ฟังคนอื่นอ่าน และท่องขึ้นใจตั้งแต่บทกวี ดอกสร้อย สุภาษิตและคำพังเพย เอามาสอนลูก

แม่ตั้งใจจะให้การศึกษาแก่ลูกชายอย่างดีที่สุด     เรื่องส่งเข้าร.ร. แทบจะสุดเอื้อม  เพราะทั้งจังหวัดมีร.ร.รัฐบาลอยู่แห่งเดียว   ตั้งอยู่ในตัวเมืองซึ่งไกลจากบ้านท่าหิน  ไปมาไม่สะดวก   แม่เองก็มีภาระเต็มมือในการเลี้ยงชีพ  เงินทองก็จำกัด     อุปสรรคเหล่านี้ทำให้ไม่อาจส่งลูกชายซึ่งเป็นถึงบุตรของนายพันโทพระนเรนทร์รักษาไปเข้าร.ร.อย่างลูกข้าราชการอื่นๆได้     
ทางเลือกของแม่คือส่งลูกชายเข้าเล่าเรียนแบบผู้ชายโบราณทำกัน คือไปเป็นลูกศิษย์วัด  พึ่งพระสงฆ์ให้ท่านสอนเขียนอ่านให้
พ.ท.พโยมจึงถูกส่งตัวเข้า "วัดป้อม"  ซึ่งตั้งอยู่ที่ป้อมร้างข้างตัวเมืองโบราณของเพชรบุรี   เป็นวัดใกล้บ้านที่สุด

พ.ท.พโยมบรรยายการศึกษาในวัดเพชรบุรีไว้ค่อนข้างละเอียด   จะลอกมาให้อ่านกันค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 18 ม.ค. 11, 17:24

    พ.ท.พโยมเล่าถึงการศึกษาไทยเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน ว่า
   "สภาพการศึกษาของจังหวัดนี้ โดยทั่วไปยังรักษาระบอบเก่าอยู่เกือบทั่วไปดังกล่าว  คือเด็กผู้ชายจะถูกส่งไปเป็นลูกศิษย์วัด   ขณะเดียวกันก็ศึกษาอักขระวิธีจากวัด    เท่าที่วัดไหนจะมีพระอาจารย์ที่รอบรู้อักขรวิธี    ถ้าวัดไหนมีพระอาจารย์ที่คงแก่เรียน มีศิลปในการถ่ายทอด   วัดนั้นก็เป็นสำนักศึกษา มีชื่อเสียง  มีลูกศิษย์ลูกหามากมายกว้างขวาง    
     อนึ่งการถ่ายทอดวิทยาการก็มิใช่จะมีเฉพาะเพียงอักขระวิธีแต่เท่านั้น    พระอาจารย์แต่ละสำนักต่างก็มีวิทยาการเฉพาะที่ชำนาญต่างๆกัน  เช่นบ้างก็มีชื่อเสียงในการถ่ายทอดอักขระวิธี   บทกวี กาพย์ กลอน  บ้างก็มีศิลปวิทยาในทางช่างไม้  ช่างแกะสลัก ลงรักปิดทอง ประดับกระจก    บ้างก็มีชื่อเสียงในการเขียนลายไทยด้วยหมึก หรือรงค์(สีน้ำอย่างหนึ่ง)  เช่นภาพชาดกหรือรามเกียรติ์   ซึ่งในนั้นได้ฝากศิลปวัฒธรรมแห่งยุค  ที่มีเนื้อหาของประชาชาติเข้าไว้    บ้างก็มีฝีมือในทางดินไฟ  วัตถุระเบิด ทำพลุ ดอกไม้ไฟ โคมลอย ตะไล จรวด ฯลฯ   บางวัดก็รวบรวมครูบาอาจารย์มาฝึกอบรมนาฏศิลป์  เช่น หนังตะลุงและโขน   ซึ่งมีศิลปินเป็นชายล้วนๆ  
     แม้ที่สุด  บางพระอาจารย์ยังสามารถถ่ายทอดวิชากระบี่กระบอง  ไม้สั้นไม้ยาว และเพลงมวย ฯลฯ"


     พ.ท.พโยมถ่ายทอดภาพการศึกษาในวัดเพชรบุรีได้ละเอียดลออ     มองเห็นภาพว่าสมัยนั้นในวัดคงคึกคักด้วยกิจกรรมต่างๆ ไม่เฉพาะแต่หัดให้ลูกศิษย์เขียนบนกระดานชนวนเท่านั้น     ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้วิชาเหล่านี้ยังพอเหลืออยู่บ้างหรือเปล่า     แต่เดาว่าไม่เหลือแล้ว  เพราะย้ายเข้าไปอยู่ในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยกันหมด  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 20 ม.ค. 11, 20:38

        เป็นที่รู้กันว่าเพชรบุรีเป็นเมืองของช่างฝีมือไทย   วัดป้อมสมัยนั้น(ช่วงต้นๆของรัชกาลที่ ๖)มีเจ้าอาวาสชื่อพระครูฉิม  แต่ชาวบ้านทั่วไปเรียกขานว่า "คุณพ่อวัดป้อม" (สมัยนี้คงเรียกว่าหลวงพ่อวัดป้อม)  ท่านเป็นครูมีฝีมือยิ่งใหญ่เรื่องภาพเขียนลายเส้น  และสีรงค์เชิงลายไทย  ส่วนใหญ่เป็นเรื่องรามเกียรติ์     นอกจากนี้ยังมีฝืมือทางแกะสลักลวดลายแผ่นหนังตะลุง เรื่องรามเกียรติ์อีกเช่นกัน
       หนังตะลุงสำนักวัดป้อมขึ้นชื่อในความอ่อนช้อย  แต่ละตัวมีชีวิตจิตใจ สะท้อนลักษณะตัวละครได้โดดเด่น  ขนาดที่ว่าเมื่อท่านพระครูมรณภาพแล้ว  แผ่นหนังฝีมือท่านทั้งใหญ่และเล็ก  ถูกส่งมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
      หลวงพ่อแม้มีฝีมือยอดเยี่ยมทางจิตรกรรม แต่ท่านก็มองเห็นความจำเป็นทางอักษรศาสตร์  ว่าการเขียนอ่านเป็นพื้นฐานของวิชาทั้งปวง     ท่านจึงเสาะแสวงหาครูสอนหนังสือเก่งๆมาสอนประจำในวัด     ไม่จำเป็นต้องเป็นพระสงฆ์ด้วยกัน  เป็นฆราวาสก็ได้ 
       สมัย ๑๐๐ ปีก่อนครูสอนหนังสือตามหัวเมืองหายาก  พ.ท.พโยมเปรียบเทียบว่า "หายากดังสังกรณีตรีชวา"   คนรุ่นนี้อาจไม่รู้ว่ามันคืออะไร  แต่ถ้าใครอ่านรามเกียรติ์รัชกาลที่ ๑ คงจำได้ว่ามันคือตัวยาที่หนุมานไปเสาะหามาจนได้ เพื่อแก้ไขอาการของพระลักษมณ์ให้ฟื้นจากถูกหอกโมกขศักดิ์ของกุมภกรรณ   กว่าจะได้ก็ต้องเล่นเอาเถิดเจ้าล่อกันอยู่พักใหญ่
         ครั้นถึงสรรพยาสิงขร                วานรลงเดินริมเนินผา
ร้องเรียกสังกรณีตรีชวา                   อยู่ไหนออกมาอย่าช้าที
ได้ยินขานข้างล่างลงไปค้น              กลับขึ้นไปกู่อยู่บนคิรีศรี
จึงเอาหางกระหวัดรัดคิรี                 มือกระบี่คอยจับสรรพยา ฯ
        ครู ' สังกรณีตรีชวา' ที่ว่านี้ชื่อ ครูช่วง เป็นชาวเมืองหลวง แต่พเนจรไปอยู่ถึงเพชรบุรีเพราะอะไรไม่มีใครทราบ   พ.ท.พโยมทราบประวัติเพียงเลาๆว่าเป็นญาติห่างๆของพันโทพระนเรนทร์รักษา  แต่ติดตามคุณพระไป หรือไปเองก็ยังสืบความไม่ได้   สรุปได้แต่ว่าครูช่วงน่าจะประสบความยากเข็ญบางประการ   ก็หันหน้าเข้าพึ่งวัด   หลวงพ่อฉิมท่านก็รับไว้ด้วยความยินดี  จ้างให้เป็นครูสอนหนังสือในวัด

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 20 ม.ค. 11, 22:57

ครูช่วงในความทรงจำของพ.ท.พโยมเป็นชายร่างเล็กผอมบาง   ทุพพลภาพอย่างหนึ่งคือมือซ้ายพิการ  จนชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า "ครูช่วง มือแป"
แต่ครูที่มือแปนี่แหละ  เป็นครู "มือดี" เป็นที่เลื่องลือของวัดป้อม ในการสอนทั้งความรู้  และทั้งอบรมสั่งสอนลูกศิษย์อย่างเข้มงวดกวดขัน เพื่อให้ได้วิชาความรู้   มือข้างดีของครูกำไม้บรรทัดหรือไม่ก็ไม้เรียวไว้ขัดเกลาลูกศิษย์ทั้งเล็กและโต    ไม่มีข้อละเว้นแม้แต่เด็กชายพโยมซึ่งนับได้ว่าเป็นหลานน้อยที่แม่ฝากฝังให้ไปเรียน

การวางตัวของครูช่วงทำให้นึกถึงครูรุ่นเก่าที่มักจะมีอยู่ทุกโรงเรียน  ขึ้นชื่อลือชาในความดุและเข้มงวด    ไม่เห็นแก่หน้าใคร ไม่ตามใจนักเรียนคนไหน   คำว่าคะแนนนิยมเป็นยังไงไม่รู้จัก      รู้แต่ว่าถ้านักเรียนดื้อ ซน หรือไม่ทำตามคำสั่ง   ก็โดนไม้เรียวหรือไม้บรรทัดกันทุกคน มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ดีกรีความถูกผิด    ครูพวกนี้ตอนสอนลูกศิษย์มักจะแอบเกลียดและกลัว   แต่เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วจะรำลึกถึงพระคุณที่ตั้งอกตั้งใจสอน    และอบรมบ่มนิสัยให้มีระเบียบ  นอกเหนือจากมีวิชาความรู้
พ.ท.พโยมก็รำลึกถึงครูช่วงด้วยความรู้สึกเช่นนี้

เด็กชายพโยมดื้อและซนหรือไม่  ท่านไม่ได้กล่าวถึงตัวเองไว้   แต่เล่าว่า ตั้งแต่เด็กๆ ท่านมีหัวในการวาดรูป  กระดานชนวนในวิชาครูช่วง แทนที่จะมีตัวอักษร กะ ขะ คะ งะ  กลับมาลายเส้นหน้ายักษ์หน้าลิงอยู่แทน     ครูเจอเมื่อไร  ไม้บรรทัดในมือข้างดีของครูก็ทำหน้าที่กระหน่ำก้นลูกศิษย์เมื่อนั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 22 ม.ค. 11, 22:50

เกร็ดเล็กๆที่พ.ท.พโยมแทรกไว้ในชีวิตวัยเด็ก คือเรื่อง ดินสอ
ดินสอ ที่เป็นที่มาของ เครื่องเขียนที่เราเรียกว่า "ดินสอ" เดี๋ยวนี้    เดิมเป็นดินจริงๆ ประเภทหนึ่ง เรียกว่า "ดินสอ  มีมาก่อนดินสอหินที่ใช้เขียนกระดานชนวน
เพชรบุรีเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน  กระดานชนวนยังหายากในหัวเมือง    นักเรียนใช้แผ่นไม้ซึ่งหาง่ายกว่า ทาด้วยเขม่าไฟ ซึ่งหาได้ตามครัวเรือนทั่วไป ผสมน้ำข้าว  ให้เป็นของเหลวสีดำ แล้วทาบนแผ่นไม้เหมือนทาสีดำ    จากนั้นขุดดินสอสีเหลืองมันปู จากบ่อดินชนิดนี้ มาทำเป็นแท่งเขียน
ดินสอ เป็นดินที่กินได้  มีกลิ่นหอมและรสมัน    นักเรียนคนไหนซุกซนกัดกินดินสอเล่นก็มีคราบเหลืองติดปาก    เป็นเหตุให้ได้รับรางวัลจากไม้เรียวครูช่วงอยู่เนืองๆ

คำอธิบายของพ.ท.พโยมในเรื่องนี้ทำให้นึกถึง สี่แผ่นดิน ตอนแม่พลอยแพ้ท้องลูกคนแรก อยากกิน  "ดินสอ"  ร้อนถึงนางพิศและนางเทียบแม่ครัวต้องไปซื้อมาจากตลาด  ปั้นเป็นก้อนเล็กๆ  ใส่โหลอบควันเทียนให้กิน   แม่พลอยก็นั่งกินทั้งวันทั้งคืนอย่างเอร็ดอร่อย จนคุณเปรมนึกฉงนขอกินบ้าง
พอกินใส่ปากเคี้ยว คุณเปรมก็เบะหน้าคายทิ้ง ร้องว่า
"กินเข้าไปได้ยังไง แม่พลอย"
ดิฉันไม่เคยเห็นดินสอ     ไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นยังไง   คงจะเป็นดินสอชนิดนี้ก็เป็นได้นะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 24 ม.ค. 11, 18:35

วันหนึ่ง รางวัลไม้เรียวกำลังกระทบก้นเด็กชายพโยม จากหน้ายักษ์หน้าลิงที่อยู่เต็มกระดานตัวสะกด    เจ้าอาวาสมาเจอเข้า สอบสวนได้ความ   เมื่อเห็นฝีมือเด็กชายว่ามีแววทางศิลปะ  ท่านก็เรียกตัวไปฝึกสอนให้เป็นพิเศษ   และยังครอบครูให้อีกด้วย  เพื่อมิให้ฟั่นเฟือนเสียคนไป  ตามความเชื่อสมัยนั้น
แต่เด็กชายพโยมก็ไม่ได้ใช้วิชาศิลปะที่เรียนมา   ชะตาหันเหไปทางอื่นแทน

การเรียนในวัดไม่มีกำหนดประถม มัธยม  เด็กชายเรียนกันไปเรื่อยจนอายุพอจะบรรพชาเป็นสามเณร หรือบวชเป็นภิกษุ  แล้วแต่ว่าพ่อแม่จะให้เรียนมากน้อยแค่ไหน   
จุดมุ่งหมายของมารดาคือให้ลูกชายเรียนจนสอบเปรียญธรรมได้    ก่อนมาอยู่วัดป้อม   ท่านก็ส่งลูกชายวัย ๔ ขวบไปกินๆเล่นๆอยู่ที่วัดสิพลี  เจ้าอาวาสที่นั่นเมตตาเอ็นดูหาข้าวและขนมให้กิน    โตขึ้นก็มาเรียนที่วัดป้อม   เด็กชายพโยมน่าจะไปตามทางที่แม่วางไว้ให้  แต่ก็ไม่ได้ไปตามทางนั้นอยู่ดี   เพราะกระแสที่มาแรงกว่า คือกระแสครูช่วง

ครูช่วงเป็นชาวกรุงเทพ  แม้มาอยู่ถึงเพชรบุรี ก็ยังหูตากว้างไกลว่าชาวบ้านทั่วไป  เรียนหนังสือมาอย่างคนเมืองหลวง   ไม่ได้เรียนจากวัดอย่างคนอื่นๆ     เมื่อมีเวลาว่าง  ครูก็เล่าให้เด็กชายผู้เป็นหลานฟังถึงโรงเรียนในกรุงเทพว่าเป็นอย่างไร  เขาเรียนอะไรกันบ้าง  เปิดโลกทัศน์ให้เด็กชายพโยมได้หูตากว้างกว่าเด็กอื่นๆ     
ความคิดของเด็กชายจึงมุ่งมั่นไปในทางก้าวหน้า  มากกว่าเพื่อนฝูงวัยเดียวกัน   ประกอบกับรู้เรื่องบิดาจากครูช่วงว่าท่านเป็นทหารยศใหญ่  เป็นถึงนายพัน   จินตภาพของเด็กชายจึงเริ่มก่อตัวขึ้นไกลกว่าเดิม    ขนาดเห็นทหารที่ไหนไม่ว่านายสิบหรือพลทหาร ก็ชอบวิ่งตามไป  บางทีก็เลียนแบบ ดึงกางเกงให้พองๆแบบที่ทหารใส่กันอยู่ตอนนั้น
ความใฝ่ฝันของเด็กชายพโยม เป็นเรื่องเจ้าตัวรู้คนเดียว   มารดายังไม่รู้เรื่องนี้     ภาระอย่างหนึ่งที่ท่านเริ่มทำเมื่อลูกชายโตพอจะทิ้งไว้ทางบ้านได้แล้ว  ก็คือเข้ามาติดตามถามหาข่าวคราวสามี ในเมืองหลวง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 25 ม.ค. 11, 21:41

พ.ท.พโยมเล่าถึงเส้นทางเดินทางระหว่างเพชรบุรีกับกรุงเทพในสมัยนั้นไว้ชัดเจน      ท่านบอกว่าสมัยแม่ของท่าน  มีเส้นทางแบบเดียวคือเดินทางเรือ  ถ้าไม่ลงเรือฉลอมจากปากน้ำเพชร(บ้านแหลม)ออกทะเลมาเข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยา     ก็ลัดมาตามลำน้ำแม่กลอง แล้วมาจอดเทียบเรือที่ปากคลองตลาด  หรือปากคลองบางหลวง     ต้องนอนค้างอ้างแรมกันตามทาง   
สรุปว่าใช้เวลานานกว่าสมัยนี้นั่งเครื่องบินไปอเมริกาสองหรือสามเท่า
แต่พอมาถึงปลายรัชกาลที่ ๕   ก็มีเส้นทางรถไฟเพิ่มขึ้นอีกทาง  สะดวกกว่าทางเรือ    ส่วนทางรถไม่ต้องพูดถึง เพราะสมัยนั้นทั้งสยามมีรถอยู่ไม่กี่คัน   ถ้าไม่ใช่รถยนต์หลวง ก็เป็นรถของเจ้านายและขุนนางระดับสูง      รถยนต์เป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏแก่ตาของชาวเมืองเพชร 
อย่าว่าแต่รถยนต์  แม้แต่ใครขี่จักรยานไปให้เห็น  รับรองว่าประชาชนจะต้องแตกตื่นกันเข้ามามุงว่ามันเป็นอะไรกัน     เพราะทั้งเมือง พาหนะที่ทันสมัยที่สุดคือรถม้า  มีรถม้าเปิดปิดประทุนได้  พ.ท.พโยมเรียกว่ารถกู๊บ หรือ coupe    รถดอกการ์ท(dogeart) เป็นรถม้าขนาดเล็กเทียมม้าเดี่ยว    รถ wagon คือรถม้าบรรทุกใช้ขนของ  มีทั้งรถส่วนตัวและรถรับจ้าง  แต่คนที่มีรถม้าส่วนตัวได้ก็ต้องระดับข้าหลวง หรือผู้บังคับการทหาร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 27 ม.ค. 11, 19:46

ถึงมีรถไฟให้ความสะดวกสบายกว่าเดินทางเรือ   การไปเมืองหลวงก็ยังลำบากยากเย็นอยู่นั่นเองสำหรับแม่ลูก   เพราะบ้านที่บ้านท่าหินอยู่ห่างสถานีในเมืองประมาณ ๔  ก.ม.   ถ้าจะจ้างรถม้ามารับ และเอาสัมภาระขนใส่รถม้าโดยสารก็จะแพงโดยใช่เหตุ      มารดาจึงหันมาจ้างแรงงานคนที่ถูกกว่า คือจ้างคนหาบหามไปแทน   
คนหาบพวกนี้ เหมือนแม่ค้าหาบของ  คือตะกร้าข้างหนึ่งใส่สัมภาระของใช้ที่หอบหิ้วไปด้วย  อีกข้างหนึ่งใส่เด็กชายพโยม ซึ่งโตเกินกว่าจะอุ้มไป  แต่ก็เล็กเกินกว่าจะเดินได้ถึง ๔ ก.ม. ในรวดเดียว     คนหาบซึ่งเป็นผู้หญิงก็หาบเด็กและข้าวของเดินไปตามทาง  มีแม่เดินบ้างวิ่งบ้างตามไปด้วย   
ค่าจ้างแท้ถูกกว่าจ้างรถม้า แต่ก็ถือว่าไม่น้อยสำหรับครอบครัวเล็กๆ  คือ สองสลึงหรือห้าสิบสตางค์      ดิฉันประมาณเอาจากค่าของเงินสมัยนั้น ว่ามาสมัยนี้ก็คงเกินหนึ่งร้อยบาท

จากเพชรบุรี  แม่ลูกมาลงที่สถานีบางกอกน้อย  ในยุคนั้นเป็นสถานีเล็กๆทำด้วยไม้    เมื่อถึงที่หมายก็ลงจากรถไฟ   แม่ซื้ออาหารให้ลูกชายเป็นข้าวคนละหนึ่งกระทง กับไข่พะโล้คนละครึ่งซีก    ราคากระทงละ ๑ ไพ  หรือ ๓ สตางค์  เป็นอาหารบางกอกอย่างดีที่เด็กชายพโยมยังติดอกติดใจอยู่  เพราะไข่พะโล้เป็นของโปรดอยู่แล้ว
จากบางกอกน้อย  ก็ลงเรือจ้างข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา มาขึ้นที่ท่าพระจันทร์บ้าง   ท่าช้างวังหน้าบ้าง   บางครั้งก็เลยเข้ามาถึงคลองรามบุตรีหน้าวัดบวรนิเวศน์
สถานที่แถวบางลำพู วัดบวรฯ เป็นที่แม่มาอาศัยพักแรม   ในยุคนั้น ถึงมีโรงแรมหรือเรียกว่า "โฮเต็ล" อยู่บ้างไม่กี่แห่ง ก็เป็นสถานที่สำหรับชาวต่างประเทศมากกว่า  คนไทยไม่พักกัน    ผู้หญิงตัวคนเดียวกับลูกน้อยก็ต้องอาศัยบ้านญาติหรือคนรู้จักเพื่อความปลอดภัยและสะดวกในการพักแรมจนกว่าจะกลับ     บ้านที่แม่มาพัก ถ้าไม่ใช่บ้านพระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์)ที่คลองรามบุตรี    ก็บ้านร้อยเอกเวก ดิษยบุตรที่ตำบลบ้านแขก บางลำพู ใกล้ๆสะพานรามบุตรี
อีกหลังหนึ่งที่แม่เคยมาพักด้วยคือบ้านภรรยาเก่าของพ่อ   ที่ตรอกข้าวสาร บางลำพู
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.075 วินาที กับ 19 คำสั่ง