เรือนไทย

General Category => หน้าต่างโลก => ข้อความที่เริ่มโดย: naitang ที่ 17 ก.พ. 12, 20:32



กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.พ. 12, 20:32
ผมได้อ่านกระทู้ของครุณ han_bing เรื่อง "ว่าด้วยหลังคาจีน" ได้ความรู้มากมายเลยครับ

ผมไม่มีความรู้มากพอที่จะพูดถึงเรื่องของหลังคา แต่มีความสนใจเป็นการส่วนตัวในเรื่องของความเป็นเอกลักษณ์ต่างๆของแต่ละเผ่าพันธุ์ชาติภาษา หลังคาบ้านก็เป็นเรื่องหนึ่ง

เท่าที่ได้สังเกตมา แม้ว่าไทยจะมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนในหลายๆด้าน แต่ก็ดูเหมือนว่าเรื่องของหลังคาบ้านนี้จะมีความแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง
 
อิทธิพลทางวัฒนธรรมของจีนในเรื่องนี้ดูจะไม่กระจายอยู่ในหมู่คนที่เรียกตนเองว่าเป็นคนไทย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ความแตกต่างที่ผมเห็นว่าเป็นไปอย่างไม่เหมือนกันอย่างสิ้นเชิงนั้น คือ วิธีการวางแนวสันของหลังคา บ้านในอิทธิพลของจีนนั้นจะวางแนวสันของหลังคาขนานไปกับแนวถนนหน้าบ้าน เคยสนทนากับกลุ่มคนที่มีบ้านและวางสันหลังคาในลักษณะนี้ ได้ความว่า เป็นความเชื่อและเป็นการแสดงออกถึงฐานะของเจ้าของ กล่าวคือ แผ่นของหลังคายึ่งกว้างยิ่งใหญ่ยิ่งแสดงถึงฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และยศฐาบรรดาศักดิ์ หลังคาจะต้องยื่นยาวและลาดเอียงออกมาจนถึงระดับความสูงของรั้วบ้าน จริงเท็จอย่างไรในความเชื่อนี้ ผมไม่ยืนยัน แต่ได้ฟังมาว่าอย่างนั้น
สำหรับคนไทย รวมทั้งคนชาติพันธุ์ไทยที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตประเทศจีน และรวมถึงคนถิ่นในพื้นที่คาบสมุทรไทย (ในพม่า ลาว เขมร) คนเหล่านี้จะสร้างบ้านที่มีสันหลังคาตั้งฉากหรือค่อนข้างตั้งฉากกับถนนหน้าบ้าน กล่าวง่ายๆ ก็คือ หลังคาบ้านจีนมองไม่เห็นจั่ว (คงจะยกเว้นเฉพาะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์) แต่หลังคาบ้านไทยจะมองเห็นจั่วหลังคา

ท่านผู้ใดพอจะอธิบายขยายความได้บ้างครับ

   


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 12, 20:38
เกินสติปัญญาจะอธิบายได้ค่ะ  ไม่มีพื้นความรู้ทางนี้
ได้แต่เอารูปตามคำบอกเล่าของคุณตั้งมาประกอบกระทู้    ให้เห็นภาพกันว่าหลังคาบ้านไทยกับบ้านจีน หันกันคนละแบบ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 17 ก.พ. 12, 22:56
ทำไมเมืองจีนต้องวางหลังคาขวางถนน

อันนี้ข้าพเจ้าไม่ทราบจริงๆไว้ค้นได้คำตอบเมื่อใดจะมาเล่าสู่กันฟัง

อย่างไรก็ตาม เรื่องชายคาของหลังคา (คิดว่าคำว่าแผ่นหลังคาน่าจะหมายถึงชายคา) ตามหลักสถาปัตยกรรมจีน ยิ่งศักด์ของอาคารยิ่งสูง ชายคายิ่งกว้าง ยิ่งยาว

ผลนี้ทำให้ประดับสัตว์มงคลบนหลังคาได้ง่ายขึ้น เพราะพื้นที่กว่าขึ้น

แต่เรื่องที่ยาวยืดจนเกินออกมานอกรั้วบ้าน หรือกำแพงนี้ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยิน และไม่เคยเห็น แต่ว่าข้าพเจ้าไม่มีข้อมูลใดที่จะคัดค้าน ดังนั้นจึงไม่กล้าเถียง

ด้วยเหตุข้างต้นในข้อที่ว่าชายคายาวเกินกำแพงบ้าน ข้าพเจ้าไม่ขอปฏิเสธ และไม่ขอสนับสนุน แต่ส่วนตัวแล้วไม่คิดว่าจะเป็นจริง

ทั้งนี้ข้าพเจ้าขอนำภาพหลังศักดิ์สูงสุด มาเทียบกับศักรองลงมา คือ "อู่เตี้ยนติง" (庑殿顶: wu dian ding) ที่ใช้กับอาคารศักดิ์สูง และ "อิงซานติง" (硬山顶: ying shan ding) ที่ใช้กับอาคารรองๆลงมา (ต่ำกว่าอุ่เตี้ยนติงเยอะอยู่)

ภาพที่นำมาแสดงเป็นภาพ"อู่เตี้ยนติง" และ"อิงซานติง"

จะเห็นว่าชายคาของหลังคาแบบแรกยาวมาก แต่อีกแบบสั้นจริงๆ

ที่มาจากเว็ปไซด์ http://www.ccnh.cn/jzlx/jzlsyzfs/654993308.htm

สวัสดี


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 17 ก.พ. 12, 23:08
ทั้งนี้ข้าพเจ้าเคยเขียนเรื่อง "สัตว์บนหลังคาจีน" ลงในเรือนไทย

เข้าไปอ่านได้จากลิงค์นี้ http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3365.0

อาจจะมีประโยชน์บ้างเล็กน้อยเกี่ยวกับศักดิ์ของอาคารแบบจีน


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 12, 23:12
ผมได้อ่านกระทู้ของครุณ han_bing เรื่อง "ว่าด้วยหลังคาจีน" ได้ความรู้มากมายเลยครับ

 แผ่นของหลังคายึ่งกว้างยิ่งใหญ่ยิ่งแสดงถึงฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และยศฐาบรรดาศักดิ์ หลังคาจะต้องยื่นยาวและลาดเอียงออกมาจนถึงระดับความสูงของรั้วบ้าน จริงเท็จอย่างไรในความเชื่อนี้ ผมไม่ยืนยัน แต่ได้ฟังมาว่าอย่างนั้น
ไม่ใช่ยาวจนเกินกำแพงบ้านค่ะคุณ han_bing  มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว   ถ้าชายคายาวเกินกำแพงบ้านก็ต้องคลุมกำแพงน่ะซี
คุณตั้งคงจะหมายความว่า ชายคายื่นยาวและลาดเอียงมาจนบรรจบกับความสูงของกำแพงพอดี   คือ ไม่ใช่ชายคาบ้านสูงและกำแพงเตี้ย   เสียจนคนนอกมองข้ามกำแพงไปเห็นชายคา   หรือชายคาบ้านเตี้ยแต่กำแพงสูงจนบังหลังคาหมด

ไปหารูปมาให้ดูได้รูปหนึ่ง  โปรดสังเกตว่าชายคาบ้านจดกำแพงพอดี   เพราะบ้านจีนไม่เหมือนบ้านเศรษฐีไทยที่มีบริเวณกว้างล้อมบ้านอยู่เยอะๆ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.พ. 12, 20:28
ขอบพระคุณคุณเทาชมพูครับที่ได้กรุณาให้ความกระจ่างและยังหารูปมาประกอบอีกด้วย

ข้อสังเกตที่สองของผมนี้ อธิบายยากสักหน่อยครับ มีหลายเรื่องปนๆกันอยู่ จะพยายามอธิบายนะครับ แล้วคงใม่ใช้ศัพท์ทางเทคนิค (เพราะไม่ทราบครับ)

ด้วยหลังคาแบบจีนนั้น แฝงไปด้วยปรัชญาและการแสดงออกในรูปแบบ ซึ่งปรากฏอยู่ในหมู่ชาติพันธุ์ต่างๆที่รับอิทธิพล
ประการแรก หลังคาแบบจีนค่อนข้างจะเป็นผืนเดียวกัน ตั้งแต่สันจนถึงชายหลังคา และมักจะไม่ลาดเอียงแบบเป็นแผ่นตรงๆ คือ พอใกล้ส่วนชายคาก็จะเผินหงายออกเป็นรูป Curve
ประการที่สอง ในหมู่ที่มีฐานานุภาพทั้งหลาย หลังคาจะเป็นแบบมุงด้วยกระเบื้อง ซึ่งมีน้ำหนักมาก การออกแบบการถ่ายน้ำหนักลงเสาจึงมีวิธีการที่พิเศษ คือที่หัวเสาแต่ละต้น (ไม่ว่าจะเป็นเสาที่มีฐานวางบนดิน หรือเสาลอยที่วางอยู่บนคาน) จะมีโครงสร้างไม้เหมือนแขนวางรอรับทับซ้อนกันอยู่เหนือหัวเสา ซึ่งไม่ติดยึดกับหัวเสา
ประการที่สาม เพื่อใ้ห้หลังคาเผินออกใปหาส่วนชายคา จีนใช้วิธีวางไม้ทับซ้อนกันแบบขยับออกไปเรื่อยๆ (โดยอาศัยแขนที่รองรับอยู่เหนือหัวเสาในการรับน้ำหนัก)

แบบไทยและคนในภูมิภาคแหลมไทย ซึ่งแม้จะแยกออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นโบสถ์ วัดวาอาราม และส่วนที่เป็นคนปกติก็มีความคล้ายๆกัน
ประการแรก หลังคาจะไม่เผินเหมือนของจีน
ประการที่สอง ส่วนลาดเอียงของหลังคา หากเป็นวัดวาอาราม จะแยกออกเป็นสองหรือสามส่วน คือส่วนที่ลาดเอียงมากๆจะอยู่ส่วนบน เมื่อเริ่มจะให้เอียงเทน้อยลงก็จะเป็นแผ่นหลังคาอีกชั้นหนึ่ง และแยกออกเป็นชั้นต่อมาเพื่อให้เอียงเทได้ตามต้องการ 
ประการที่สาม เราไม่มีแขนรับแรงบนหัวเสาแต่ละต้น คือ เอาคานวางลงบนหัวเสาโดยตรงเลย
ประการที่สี่ เราจะมีส่วนชายคาที่ยื่นออกมาค่อนข้างมาก ซี่งเราจะใช้เท้าแขนค้ำยันรับน้ำหนัก


ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ แบบจีนนั้นมีต้นกำเนิดในภูมิภาคที่เกือบจะไม่มีแผ่นดินไหว แต่การโครงสร้างของหลังคานั้นกลับเป็นแบบที่รับการโยกคลอนได้อย่างดี ส่วนสำหรับแบบไทยนั้น อยู่ในพื้นที่ๆรับผลจากแผ่นดินไหว แต่โครงสร้างของหลังคากลับดูไม่แข็งแรง (ซึ่งแท้จริงแล้วมีวิธีประกอบที่ทำให้แข็งแรง)

แล้วเอกลักษณ์ของหลังคาแบบไทยเป็นอย่างไร


   
 
   


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ก.พ. 12, 10:09
แล้วเอกลักษณ์ของหลังคาที่ชัดเจนที่สุดของสถาปัตยกรรมไทยคงไม่หนีรูปทรงตามภาพนี้แหละครับ

ไม่ว่าจะเป็นวัดหรือวัง ก็เริ่มต้นพัฒนามาจากรูปทรงของเรือนชาวบ้านที่ลงตัวตามสัดส่วนประมาณที่เห็นนี้ คือด้านสกัด(ด้านแคบ)ยาว๑ส่วน และด้านยาว ยาว๓ส่วน จั่วหลังคาสูงประมาณ๕๕องศา
สัดส่วนนี้ถือเป็น Golden Proportion ของสถาปัตยกรรมไทย อาคารหลังใดสร้างขึ้นมากว้างยาวสูงผิดส่วนไปจากนี้ รูปทรงจะแลดูขัดเขิน


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ก.พ. 12, 10:17
ครูบาอาจารย์ท่านสอนผมตั้งแต่เข้าเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปีหนึ่งว่า รูปทรงถูกสร้างขึ้นมาตามเหตุ๓ประการ

๑ กรรมวิธีในการก่อสร้าง
เครืองไม้เครื่องมือสมัยก่อนก็จำกัด เครื่องทุ่นแรงคนก็มีแค่สัตว์ที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายของหนัก ตั้งแต่เอามาจากแหล่งไปจนถึงเอาขึ้นไปติดตั้งบนที่สูง ขนาดและน้ำหนักของวัสดุก่อสร้างจึงเป็นข้อสำคัญ

๒ วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง
วัสดุที่หาได้ง่ายในเมืองไทยคือไม้และผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากธรรมชาติอื่นๆ  ต่อมาคือดินเผาในรูปของอิฐและกระเบื้อง ส่วนเหล็กและหินเป็นของยากและมีราคาแพง จะเห็นได้เฉพาะในวัดหรือวังเท่านั้น

๓ หน้าที่ใช้สอย
กล่าวคือผู้สร้างต้องการสร้างอาคารนั้นขึ้นมาเพื่ออะไร เป็นที่อยู่อาศัย หรือที่ทำงาน หรือเพื่อสิ่งเคารพสักการะ ฯลฯ


ดังนั้น บ้านทรงไทยจึงต้องมีหลังคาสูง เพราะเดิมมุงด้วยตับแฝก หรือตับจาก ถ้าความลาดชันน้อยไปฝนก็จะรั่ว แต่สูงไปก็จะยิ่งต้านลมมาก เดี๋ยวหลังคาจะกระเจิงไปง่ายๆ ต่อมาทำกระเบื้องดินเผาได้ แต่ยังเป็นขนาดเล็กๆเพราะถ้าแผ่นใหญ่ไปเวลาเผาก็แตกง่าย ความลาดชันหลังคาจึงยังต้องคงเดิม (บ้านคนไทยมาเปลี่ยนทรงหลังคาอย่างมีสาระสำคัญก็ต่อเมื่อแผ่นสังกะสีจากยุโรปถูกนำเข้ามาแล้ว หรือต่อมากระเบื้องแอสเบสตอสซีเมนต์ที่เรียกว่าหลังคาลูกฟูกถูกผลิตได้ในประเทศ หลังคาบ้านเลยแทบจะแบน บังคับให้ลาดเอียงไม่ต่ำกว่า๓องศาก็ใช้ได้แล้ว)

ความยาวช่วงเสา ต้องประมาณ๖ศอกหรือ๓เมตร เพราะหาไม้มาทำโครงสร้างพื้น เช่น คาน ตง หรือโครงสร้างหลังคาเช่นจั่ว จันทัน อะเส ได้ง่าย ต้นไม้ขนาดที่จะตัดมาแปรรูปได้ตามขนาดความยาวที่ว่า หาได้ทั่วไปตามป่าละเมาะแถวๆหมู่บ้าน ไปต้องเข้าไปแสวงหาในป่าลึก


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ก.พ. 12, 10:20
เรือนไทยรูปทรงและขนาดดังกล่าวจึงมีขนาดเล็ก สำหรับครอบครัวใหญ่จึงต้องปลูกหลายเรือน และเชื่อมโยงกันด้วยชาน การวางทิศของเรือนต่างๆส่วนใหญ่จึงไม่ได้วางไปในแนวเดียวกัน
ปกติ เรือนที่สบายที่สุดที่เจ้าเรือนอยู่ จะวางตามทิศที่รับลม ในเมืองไทยแล้วลมโดยเฉลี่ยจะมาทางทิศใต้ บ้านที่ดีจะหันหน้าไปทางทิศเหนือ เพราะจะไม่โดนแดดสาด และลมโกรกทะลุหน้าต่างมาทางด้านทิศใต้ ถ้าเอาด้านยาวของบ้านไว้ในแนวขวางลม ก็จะเป็นบ้านที่อยู่สบายที่สุด

นี่ผมก็ว่าเฉพาะบ้านที่มีพื้นที่ดินกว้างขวางพอที่ตัวบ้านจะหันทิศไปทางไหนก็ได้นะครับ  แต่ถ้าที่ดินบังคับก็ว่าไปตามนั้น ส่วนที่จะต้องวางแนวจั่วหลังคาให้ตั้งฉากหรือขนานไปตามถนน ผมไม่เคยได้ยินว่าเป็นกฏเกณฑ์อะไร  แต่แน่ล่ะครับ หน้าบ้านควรจะต้องหันไปด้านถนน แต่หน้าบ้านกับแนวจั่วเป็นคนละเรื่องกัน บ้านโบราณจะถือซุ้มประตูที่เป็นกระไดขึ้นสู่ชานเรือนเป็นหน้าบ้าน ส่วนเรือนที่สบายที่สุดมักจะอยู่ตามทิศรับลมที่ผมว่าไปแล้ว


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ก.พ. 12, 10:45
บ้านคนจีน ซึ่งมีวิชาฮวงจุ้ยกำกับอยู่ว่าจะต้องทำอะไรไว้ตามทิศอะไร ผมก็คิดว่ามันเหมาะสำหรับประเทศที่หนาวจัดอย่างนั้น แต่ถ้านำมาบังคับใช้กับบ้านแบบจีนในเมืองไทย ก็คงจะอุดอู้เสียสุขลักษณะ เดี๋ยวนี้ชินแสมักจะบอกว่าตำราของตนได้ประยุกต์กับภูมิอากาศเมืองไทยแล้ว (สงสัยว่าจะทะเลาะกับสถาปนิกมาหนัก)

บ้านเจ้าสัวหลังนี้คือส่วนที่ตัวเจ้าของบ้านอยู่ ภายในอาณาเขตของจวนเจ้าเมืองสงขลาสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ดูแล้วจะออกแนวไทยๆ ไม่ใช่จีนแท้เหมือนกัน


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ก.พ. 12, 10:56
เมืองไทยสมัยก่อนนั้น ทางน้ำสำคัญกว่าทางบนบก(ถนน) หน้าบ้านจะวางออกสู่แม่น้ำลำคลอง ส่วนถนนจะมีขนาดเท่าตรอกคนเดิน ไม่ได้มีความสลักสำคัญอย่างใด ในภาพจะเห็นการวางแนวสันหลังคาบ้าน จะมีทั้งสองแนว คือแนวขนานและแนวฉากกับทางน้ำหน้าบ้าน


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.พ. 12, 18:25
อือม์ ได้ความรู้มากมายเลยครับ ขอบคุณมากครับ

แล้วก็เกิดสงสัยขึ้นมาว่า Golden proportion ของสถาปัตยกรรมไทยตามที่คุณนวรัตน์บอกกล่าวนั้น คงอยู่แถวๆประมาณ 3:1 ซึ่งจะต่างกับของตะวันตกที่อยู่แถวๆประมาณ 16:10 หรือที่ค่า ฟี ซึ่งเท่ากับ 1.618
ก็แสดงว่าสถาปัตยกรรมของไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าสวยงามมากนั้น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนะซิครับ ขนาดชาติตะวันตกยังเห็นว่าเป็นความสวยงามทั้งๆที่เขาเกือบจะวินิจฉัยสัดส่วนของทุกสิ่งทุกอย่างที่เรียกว่าสวยงามที่สุดนั้นว่าเป็นไปตามค่า ฟี หรือ Golden number

ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าคนไทยนั้นมีสายตาอันแหลมคมมาก จนสามารถนำข้อจำกัดทางวัสดุมาประกอบกันในสัดส่วนที่ต่างไปจาก Golden number (proportion, ratio, section) ของธรรมชาติ ซึ่งดูจะเป็น norm ของสรรพสิ่งที่สวยงามในธรรมชาติ โดยคนไทยสามารถทำให้กลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวจนเกิดความสวยงามอย่างยิ่ง ผมว่าบ้านไทยที่อยู่เดี่ยวๆนั้นดูไม่งามนัก แต่พออยู่เป็นกลุ่ม หรืออยู่ในที่ๆมีการปรับภูมิทัศน์แล้วกลับงามยิ่ง เย็นตา เย็นใจ สงบ และดูอบอุ่น

 
     


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.พ. 12, 20:51
หารูปเรือนไทยหมู่ และเรือนไทยเดี่ยว มาเปรียบเทียบกัน ตามความเห็นของคุณตั้งค่ะ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 19 ก.พ. 12, 21:08
หาหนังสือ บ้านไทยภาคกลาง   ของศาสตรจารย์ น.อ.สมภพ ภิรมณ์ ร.บ. ราชบัณฑิตมาอ่านซิครับ
แค่คำว่า บ้าน กับ คำว่าเรือน  ก็มีความหมายต่างกันแล้วครับ
เรื่อง ทรงหลังคา และรูปแบบ สัดส่วน คงทะลุปรุโปร่งครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.พ. 12, 21:19
ถ้าคุณ puyum เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ก็ช่วยเล่าให้ฟังได้ไหมคะ
เห็นใจชาวเรือนไทยบ้าง   บางท่านก็อยู่ต่างประเทศ    บางท่านก็อยู่ในจังหวัดไกล  หรือไม่สะดวกจะไปตามหาหนังสือมาอ่านด้วยตัวเอง


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ก.พ. 12, 21:43
อันที่จริง สัดส่วนที่ผมว่าเป็นGolden Proportionของสถาปัตยกรรมไทยนั้น ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ Golden Proportion ของฝรั่ง ที่ลีโอนาร์โด ดา วินชี คิดขึ้นแม้น้อย
ส่วนชาวตะวันตกจะยอมรับว่าสถาปัตยกรรมไทยงามเพราะสัดส่วนที่ว่าหรือไม่ผมก็ไม่เคยได้ยิน แต่ทราบว่าเขาทึ่งในศิลปสถาปัตยกรรมของพระบรมมหาราชวังว่า เต็มไปด้วยองค์ประกอบที่ประดับประดาอย่างงดงามไปทุกรายละเอียด

สำหรับตัวผมคิดว่า คงไม่มีใครเห็นของดีของชาติตนด้อยกว่าของใคร
แต่สัดส่วนที่เหมาะสำหรับเรือนไทย ถ้าเอาไปทำบ้านญี่ปุ่น บ้านฝรั่ง บ้านจีน ก็คงไม่ใช่เหมือนกัน

ส่วนหนังสือของท่านอาจารย์ใหญ่ สมภพ ภิรมย์นั้น ท่านกรุณาเขียนมอบและลงนามกำกับให้ผมรับจากมือของท่านเอง แต่ในนาทีที่ต้องการนี้ ผมหาไม่เจอ ที่เขียนไปก็จากความจำที่เรียนมาทั้งสิ้น  ท่านอาจารย์สมภพไม่เคยสอนผมก็จริง(เพราะท่านเป็นอดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) แต่ถ้ามีอะไรต่างไปจากที่ผมเขียน คุณปูยำกรุณาแก้ไขให้ผมด้วยครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 19 ก.พ. 12, 22:26
ขอโทษด้วยครับ ผมได้หนังสือมาเพราะผมไม่มีความรู้เรื่องบ้านไทยแต่ต้องปลูกบ้านไทยครับ
และอยากได้สวยแบบไทยเลยต้องหา ไม่มีสิ่งใดที่ผมต้องเพิ่มเติม ขอรับฟังต่อครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.พ. 12, 18:19
หารูปเรือนไทยหมู่ และเรือนไทยเดี่ยว มาเปรียบเทียบกัน ตามความเห็นของคุณตั้งค่ะ

อีกรูปแบบหนึ่งของหลังคาบ้านไทยที่เห็นเป็นประจำ คือมีการต่อชายคาให้ครอบคลุมส่วนที่เป็นลานบ้าน ตามรูปบ้่านเดี่ยวที่คุณเทาชมพูได้กรุณาค้นมา ลักษณะนี้ดูเหมือนจะทำกันแทบจะทุกบ้านตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ก็คงจะไม่ใช่เรื่องของความเป็นลักษณะพิเศษอะไร แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า คงเป็นเรื่องที่อยู่ใน mind set ของคนไทย เพราะไม่ค่อยเห็นกระทำกันในประเทศต่างๆ จะเป็นเรื่องของดินฟ้าอากาศเนื่องด้วยอยู่ในเขตร้อนก็ใช่ ทั้งแดด ทั้งฝน และทั้งร้อน ก็ต้องมีอะไรบังกันบ้าง --ถึงเรือนชานต้องต้อนรับ-- ไทยมิใช่เป็นเขตอากาศหนาวที่จะต้องมีห้องหับปิดมิดชิดไปทั้งบ้าน
อีกประการหนึ่ง อาจจะเพราะลักษณะของสังคมครอบครัวและการชอบการขยายและต่อเติม จากบ้านเดี่ยวจึงกลายเป็นขยายต่อติดกันเป็นแพ เป็นเรือนขนาดใหญ่ หนึ่งเรือนจึงมีได้หลายจั่วหลังคา แทบจะนับได้ว่ามีกี่ห้องนอน เพราะแต่ละห้องนอนก็จะมีหนึ่งหลังคา นอนหันหัวไปทางทิศใหนยังแทบจะบอกได้เลย เพราะไม่นอนขวางกระดานกัน ค่อนข้างจะต่างกับบ้านเรือนในประเทศอื่นๆเขาที่เคยเห็นซึ่งมักจะอยู่ในชายคาเดียวกัน แน่นอนว่าเรื่องของการขยายบ้านต่อกันเป็นแพนี้เป็นที่นิยมกันในภาคกลาง ภาคอื่นๆยังคงเป็นลักษณะบ้านเดี่ยวเสียเกือบทั้งหมด 
คิดเองเออเองนะครับ ไม่ได้มีภูมิปัญญาทางสถาปัตยกรรมเลย กระทู้นี้ตั้งขึ้นมาเป็นเรื่องของความอยากรู้มากกว่าครับผม     
 


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 12, 19:49
ดิฉันคิดง่ายๆว่า ลักษณะเรือนไทยที่สัดส่วนหลังคาเป็น 1:3  อย่างที่คุณนวรัตนอธิบายไว้  บวกกับขนาดของเสาที่ตัดจากไม้ขนาดพอเหมาะ   ทำให้เรือนเดี่ยวภาคกลางของไทยมีขนาดกะทัดรัดโดยอัตโนมัติ      ถ้าหากว่าจะสร้างเรือนเดี่ยวให้ใหญ่โตมโหฬาร   สัดส่วนนี้ก็ต้องเพิ่มขนาดขึ้นไปเป็นเงาตามตัว    มันคงออกมาเทอะทะมากทีเดียว   ลองนึกภาพเรือนไทยเดี่ยวขนาดสักครึ่งหนึ่งของตึกไทยคู่ฟ้าดู   มันคงทั้งสูงทั้งใหญ่  ราวกับจะให้ยักษ์อาศัยมากกว่าคน
แต่ถ้าสร้างความสูงเท่ากับ 1  แต่ขยายความยาวของหลังคาจาก 3  ออกไปเป็น 8  หรือ 10   เรือนไทยคงจะออกมายาวเฟื้อยเป็นระเบียงวัด
เพราะฉะนั้น  ขยายเรือนออกไปเป็นหมู่  โดยแต่ละเรือนก็ยังคงขนาดเดิมอยู่ น่าจะเป็นสัดส่วนที่งามที่สุด


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 20 ก.พ. 12, 21:08
ภาพนี้เขาว่าเป็นบ้านเก้าห้อง อยู่ที่บางปลาม้า สุพรรณครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 20 ก.พ. 12, 21:56
เอาบทความสั้นๆจากใน fb ที่พี่สาวท่านหนึ่งกรุณาเขียนไว้มาฝากกันครับ
เป็นเรื่องสถาปัตยกรรมของ 'เมืองเหนือ' หรือ หัวเมืองฝ่ายเหนือ ของกรุงศรีอยุธยาขึ้นไป
คาดว่าเนื้อหาน่าจะใกล้ๆ เคียงๆ กับเนื้อหาในกระทู้นี้อยู่พอดี

ที่จริงบทความชิ้นนี้สำหรับผม เป็นของอ่านง่าย และเข้าใจได้ง่าย
เนื่องจากคนอธิบาย อธิบายได้ค่อนข้างชัดเจนดี (ที่ถูกควรเป็นดีมาก)
แต่ถ้าท่านผู้อ่านท่านใดไม่สันทัดกรณีกับศัพท์ช่างบางคำ อยากจะถามคำถาม
ก็ขอให้ถามมาเถิดนะครับ มิฉะนั้นคนโพสต์จะไม่รู้ว่าคนอ่านไม่เข้าใจในจุดไหนครับผม


 
          สถาปัตยกรรมทางภาคเหนือของเรามีพื้นฐานที่คล้ายคลึงกันหลายกลุ่ม แบ่งง่ายๆเปน 4 กลุ่มคือ
 
1. กลุ่มสุโขทัย
          ได้แก่ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร พิษณุโลก และอุตรดิตถ์
 
2. กลุ่มล้านนา
           อันที่จริงกลุ่มนี้เปนกลุ่มที่สัมพันธ์กับล้านช้างด้วยเคยร่วมในอาณาจักรศรีสัตนาคนหุตด้วยกันในสมัยอยุธยา พอมาพิจารณาในสมัยรัตนโกสินทร์ก็จะพบว่าห่างกันไปเสียแล้ว กลุ่มนี้มีเปนคู่ๆที่คล้ายคลึงกันคือ เชียงใหม่-เชียงราย ลำพูน-ลำปาง แพร่-น่าน (ไม่รวมแม่ฮ่องสอนในนี้นะคะ เพราะมิได้เปน เมืองมาก่อน เปนชุมทางของคนที่ข้ามจากรัฐฉานมาไทย แต่ต่อมาคนมาอยู่มากเลยเปนชุมชนใหญ่)
 
3. กลุ่มล้านช้าง
          ศูนย์กลางใหญ่คือหลวงพระบาง จะมีเมืองอื่นๆอีกบ้างแต่งานจะเปนโบราณสถานเสียเปนส่วนใหญ่เช่นหลวงน้ำทา เปนต้น
 
4. กลุ่มสิบสองปันนาหรือยูนาน
          ศูนย์กลางคือเมืองเชียงรุ้ง เมืองล่า เมืองฮาย ฯลฯ
 
           ทุกกลุ่มเจริญเมื่อ 800 ปีลงมา และด้วยความที่เคยสัมพันธ์กันจึงมีหลายอย่างที่มาคล้ายกันเช่น
 
1. ขนาด
          มักมีขนาดที่พอดี (ถ้าประเมินด้วยคนรุ่นใหม่อาจว่าเล็ก) ยกเว้นที่เปนวิหารหลวงจะใหญ่ อันนี้จะส่งผลไปยังการซ้อนของหลังคาด้วย
 
2. ผัง
          แน่นอนที่จะเปนสี่เหลี่ยมผืนผ้า (ยกเว้นมณฑปต้องเปนจตุรัส) มีการออกแบบเปนไวยกรณ์ที่พอสรุปคร่าวๆได้ว่า
 
          2.1 เปนผังผืนผ้าเรียบๆ มักจะเปนวิหารที่เปนวิหารโถง (เปิดโล่งหมด) หรือกึ่งโถง (คือปิดผนังด้านสกัดด้านหลังหรือบางทีเรียกด้านฝาหุ้มกลองเสีย)
 
          2.2 แบบมีมุขด้านหน้า: มุขของเหนือจะไม่ลดขนาดลงมากแบบภาคกลางบางทีจะน้อยกว่าผนังประธานเพียง 1-1.5 เมตรเท่านั้นก็มี
 
          2.3 แบบมีมุขด้านหน้าและย่อด้านหลัง จะออกแบบมาโดย "ไม่ให้" มีลักษณะสมมาตร โดยปกติด้านหน้าจะยาวกว่าด้านหลัง ซึ่งก็จะส่งผลกับการซ้อนหลังคาด้วย
 
3. โครงสร้างของอาคาร
          โครงสร้างของอาคารจะมี 2 ระบบ คือ
 
          3.1 แบบเสากับคาน (Post & Lintel) จะหมายถึงเสาร่วมใน (เสา 2 แถวที่ขนานกันภายในวิหาร) ซึ่งโครงหลังคารูปสามเหลี่ยมที่เรียกว่า "จันทัน" อยู่ด้านหน้าและด้านหลังอยู่ 2 อัน แต่วิหารมีขนาดยาวกับมีเสาร่วมในหลายคู่ จึงรองรับจันทันอื่นๆอีกหลายตัวเรียกกันว่า "จันทันพราง" ช่วงเสาร่วมใน 1 ช่วงเสา (Span) จะเรียกว่า"ห้อง" (เช่นวิหารมี 4 ช่วงเสาก็เรียกว่ามี 4 ห้อง เปนต้น) โครงสร้างนี้จะนำมาใช้ในวิหารโถงหรือศาลา
 
          3.2 แบบผนังรับนำ้หนัก (Baring Wall): อันนี้หมายถึงการก่อสร้างที่มีการก่ออิฐถือปูน อาจจะมีเสาประดับผนัง (Pilaster) หรือไม่มีก็ได้ มารับจันทันหรือชายคาปีกนก โดยจะมี "ตุ๊กตา" ยื่นมาจากเสามาวางบนผนัง ตุ๊กตา เปนระบบโครงสร้างไม้เล็ก บางทีเรียก "เต้า" จะเกาะอยู่ที่เสาร่วมใน (ด้่านบนรับจันทันถัดลงมารับปีกนก) แล้วถ่ายน้ำหนักไปที่ผนัง ถ้าวิหารใหญ่เสาร่วมในอาจมีด้านละ 2 แถวก็ได้ เสาที่อยู่ตรงมุมอาจมี "เต้ารุม" คือมีปีกนกมาจาก 2 ทางก็ได้เช่นกัน
 
4. ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
          วิหารจาก 4 กลุ่มนี้มีอัตลักษณ์ที่คล้ายคลึงกัน คืออยู่ในภูมิภาคที่มีอากาศเย็น ดังนั้นจึงมีปีกนกชั้นสุดท้ายที่ค่อนข้างเตี้ยเพราะไม่ต้องการลมมาก จันทันจะไม่มีนาคสะดุ้งเรียกว่า "ตัวรวย" ทำได้หลายอย่าง เช่น เปนเซรามิคส์ (สุโขทัย) หรือที่เปนไม้ (ล้านนา, ล้านช้าง และสิบสองปันนา) ตัวสัตว์ที่นำมาตกแต่งจะมีทั้ง นาค นกยูง นกเจ่า นกหัสดีลิงค์ ฯลฯ ด้านหน้าจะเปนการจำหลักไม้ตกแต่งประดับกระจกหรือแผ่นโลหะลงยา ที่หน้าบัน ชั้นลอ ช่องอุดปีกนก และสาหร่ายรวงผึ้ง หรือที่บางทีเรียก โก่งคิ้ว ถัดไปด้านหน้าจะเปนช่วงโถงลักษณะกึ่งปิดล้อม มีประตูเข้าสู่โถงใน ซึ่งจะตกแต่งด้วยเทคนิคหลายหลาก มีทั้ง ลายรดน้ำ (มีทั้งที่เปนรักแดงและรักดำ) และปิดทองล่องชาด ฯลฯ
 
          อาณาจักรทั้งหมดที่กล่าวจะมีรายละเอียดที่ต่างกันและส่งอิทธิพลซึ่งกันและกัน แต่จากภูมิประเทศแล้วจะพบว่าที่หลวงพระบาง (ล้านช้าง) จะรับอิทธิพลจากทุกที่รวมมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นอีกด้วย
 
          สำหรับเวียงจันทร์ตัวแปรเยอะมากค่ะ อิทธิพลที่สำคัญคือกรุงเทพฯ หลายๆอย่างของเวียงจันทร์จะได้รับอิทธิพลรัตนโกสินทร์ตอนต้นมาก่อน พอเข้าช่วงรัชกาลที่ 4 อิทธิพลฝรั่งเศสก็เข้ามา งานแบบ colonialism จะเข้ามาครอบงำแล้วส่งอิทธิพลมายังอุดรธานี หนองคาย นครพนมด้วย แต่เปนเฉพาะเรือนไม้ที่เปนที่ อยู่อาศัยริมฝั่งแม่นำ้โขงนะคะ ปัจจุบันเหลือน้อยเต็มทีเพราะเปนเรือนไม้คนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนเปนตึกกันค่ะ แล้วก็กันเรื่องนำ้ท่วมไม่ได้
 
         อันที่จริงกรณีเวียงจันทร์เปนกรณีศึกษาที่สำคัญ ถ้านำไปเทียบกับพม่า ความจริงก็เลวทั้งสองประเทศแหละค่ะ แต่ถ้ามองไปลึกๆอังกฤษยังทิ้งเรื่องการศึกษาไว้ ดิฉันเคยคุยกับแรงงานพม่าซึ่งเขาเคยวิจารณ์ไว้ว่า น.ศ. ไทยภาษาอังกฤษแย่มาก เรียนแล้วใช้การไม่ได้ ฝรั่งถามก็ตอบไม่ได้ ส่วนลาวนั้นฝรั่งเศสไม่ได้ทิ้งอะไรที่มีค่าไว้เลย นอกจากรสนิยมของตนที่คนลาวก็ดำเนินต่อมา ถ้าไป อุดร สกล มุกดาหาร นครพนม ยังทาน baquette (ขนมปังฝรั่งเศสท่ีแข็งๆ ยาวๆ) อยู่เลยมีทั้งที่เปน sandwich, hamburger หรือ ที่ดัดแปลงก็คือไข่กะทะ ถ้าลองไปเที่ยวเมืองไกลๆ เช่น เมืองหลวงน้ำทา จะพบว่าของบริโภคพื้นฐานจะเปน ของจากไทย แต่ที่หรูหราเช่นแยม หรืออะไรอย่างอื่นจะเปนของจากฝรั่งเศส ลองหลับตาถึงเมืองที่ทั้งเมืองมีอาคารสูงสุดเพียงสามชั้น คนอยู่กันอย่างเงียบๆแต่ใช้ของจากประเทศเจ้าอาณานิคมดูนะคะ.. น่าเศร้าค่ะ้


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.พ. 12, 18:59
ขอบพระคุณมากครับ อ่้านเข้าใจง่ายและชัดเจน ได้ความรู้อีกมากมายเลยครับ

สำหรับกลุ่มล้านนา ที่น่าสนใจจากข้อมูลก็คือ มีลักษณะคล้ายกันเป็นคู่ๆ
เชียงใหม่ - เชียงราย เรื่องนี้ผมไม่ค่อยจะแปลกใจ แม้ว่าทั้งสองจังหวัดจะอยู่กันคนละแ่อ่งที่มีภูเขาล้อมรอบ ทั้งนี้เพราะมีการไปมาหาสู่กันแต่โบราณมา ที่ตัว จ.เชียงราย มีประตูเชียงใหม่ เป็นต้นทางเส้นทางเิดินล้อ (เกวียน) ไปเชียงใหม่ ผ่านบ้านเด่นห้า ผ่านหนองปึ๋ง แล้วแวะพักที่บ้านท่าล้อหรือประตูล้อ ก่อนจะเดินทางต่อไปผ่านบ้านดงมะดะ ไปเลาะตามน้ำแม่ลาว ไป อ.แม่สรวย เวียงป่าเป้า แม่ขะจาน ข้ามดอย ลงดอยสะเก็ด เข้าเชียงใหม่ (รู้สึกว่าจะเป็นเส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรด้วย) เส้นทางสายนี้คงเป็นเส้นทางหลักที่สำคัญต่อมาอีกนาน ในสมัย ร.5 แนวเส้นทางวางสายโทรเลขระหว่างเชียงใหม่กับเชียงราย ก็ไปตามเส้นทางนี้ ผมไม่แน่ใจว่าก่อนหรือหลังเงี้ยวพยายามจะปล้นเมืองเชียงราย คิดว่าหลังเหตุการณ์นั้น ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้น ดูจะเป็นต้นเหตุทำให้มีการตั้งจังหวัดทหารบกขึ้นมาในเวลาต่อมา คนจากเมืองแพร่ก็ย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ตามเส้นทางนี้พอสมควรเหมือนกัน ซึ่งย้ายหนีมานานแถวๆ 100 ปีแล้ว ก็แปลกที่ไม่ไปอยู่แถวๆงาวซึ่งใกล้กว่า ผมเข้าใจเอาเองว่า ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นการย้ายหนีด้วยความกลัวจากเหตุการณ์ในช่วงเมืองแพร่ถูกปล้นโดยเงี้ยว

ถัดมาก็เป็นคู่ แพร่ - น่าน อันนี้ก็ไม่แปลกใจเท่าใด เพราะเป็นเมืองพี่น้องกันมานานและอยู่ห่างกันไม่มาก แม้ว่าจะอยู่กันคนละแอ่งและคนละลุ่มน้ำ (ยม น่าน) แต่ก็มีช่องเขาที่สามารถลัดเลาะข้ามไปมาหาสู่กันไม่ยาก จากเชียงรายไปน่านนั้นดูจะเดินทางยากมากกว่า แม้จะมีเมืองอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น เทิง เชียงคำ ปง จุน
พิจารณาในภาพนี้ พะเยาซึ่งก็เป็นเมืองเก่า คงน่าจะมีต้องลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่คละมาก เพราะไปมาหาสู่ได้ง่ายทั้งเชียงราย (ผ่านแม่ใจ พาน) และแพร่ (ผ่านงาว ร้องกวาง สอง ป่าแดด ซึ่งที่จริงแล้วเมืองที่กล่าวชื่อมาทั้งหมดนี้ไปมาหาสู่กันได้ไม่ยากเลย
 
คู่ลำพูนกับลำปางนี้น่าสนใจ เพราะเชียงใหม่กับลำพูนนั้นอยู่ในแอ่งเดียวกัน อยู่ไม่ห่างกัน แล้วยังอยู่บนแม่น้ำปิงเดียวกันอีกด้วย ลำพูนกับลำปางจะข้ามไปมาหาสู่กันค่อนข้างจะยากด้วยอยู่กันคนละแอ่ง และมีเทือกเขาขุนตาลซึ่งสูงขวางกั้นอยู่ อิทธิพลทางสถาปัตยกรรมในลักษณะคู่นี้น่าจะเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์ได้พอควรเลยทีเดียว

สำหรับกลุ่มสุโขทัยนั้น ดูจากชื่อย่านแล้ว พอจะเห็นภาพได้ว่า อาคารบ้านเรือนคงจะต้องเป็นลักษณะของการยกระดับพื้นให้สูงขึ้น เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ราบลอนคลื่น มีน้ำท่วมแต่ระดับไม่สูงมากนัก ไม่ท่วมขังเป็นเวลานาน เป็นลักษณะของน้ำหลากผ่าน ต่างจากพื้นที่ลุ่มภาคกลางตอนล่าง ซึ่งมีน้ำท่วมขังเป็นประจำปี อาคารบ้านเรือนจึงมีการยกพื้นสูง หลังคามีมุมความลาดชันสูงเพราะฝนตกมาก สถาปัตยกรรมในพื้นที่ย่านนี้สอดคล้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ทางสังคม

มีข้อสงสัยอยู่ประการหนึ่งครับ
ชื่อต่างๆที่เรียกในโครงสร้างของหลังไทยนั้น เกือบทั้งหมดมักจะเป็นคำพยางค์เดี่ยว เช่น ขื่อ แป จั่ว อก แม้จะมีสองพยางค์ก็เข้าใจได้ แต่อย่างคำว่า อะเส จันทัน จันทันพราง เหล่านี้มาจากภาษาใดครับ หรือเป็นภาษาไทยแต่โบราณกาล       

   


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ก.พ. 12, 19:20
บ้านพักชาวต่างประเทศที่หลวงพระบาง อยากให้ อ.NAVARAT.C ช่วยวิเคราะห์เรือน


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ก.พ. 12, 19:38
เคยเห็นภาพชาวกลุ่มน้อยแถวเพชรบุรี บ้านมุงแฝกทั้งหลัง แต่หลังคานั้นลาดลงจนถึงพื้น ถ่ายไว้เมื่อ ค.ศ. 1870


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 12, 19:40
^
เห็นเรือนในรูป 22 แล้วนึกถึงข้างล่างนี้


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 22 ก.พ. 12, 11:35
รูปแบบหลังคาบ้านแบบไทยๆ
1.หลังคาเพิงหมาแหงน คือ หลังคาที่เอียงไปด้านเดียว
2.หลังคาทรงมนิลา หรือหลังคาหน้าจั่ว คือ หลังคา ที่มีสันตรงกลาง และลาดลงทั้ง 2 ข้าง เป็นรูปทรงที่สืบทอดกันมา ตั้งแต่สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เหมาะกับสภาพภูมิอากาศเขตศูนย์สูตรอย่างบ้านเรา เนื่องจากมีฝนตกชุกหลังคาจั่วสามารถระบายน้ำฝนออกไปได้เร็ว และป้องกันแดดได้ดีเนื่องจากชายคายื่นยาวสองด้านส่วนด้านสกัดหรือด้านแคบ แม้ยื่นชายคาไม่ได้มากก็ไม่นิยมทำหน้าต่างด้านนี้
3.หลังคาทรงปั้นหยา ได้แพร่เข้ามาสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งยุคล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจในยุโรป เป็นหลังคาที่กันแดดกันฝน ได้ทุกด้าน แต่ราคาแพงกว่าแบบจั่ว ได้กลายเป็นหลังคารูปทรงหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจวบจนปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะหลังคาทรงนี้สามารถยื่นชายคาเพื่อบังแดดและฝนได้ทั้งสี่ด้าน การระบายน้ำฝนและการป้องกันการรั่วซึม ค่อนข้างจะเสียเปรียบหลังคาจั่ว เนื่องจากมีรอยต่อมากกว่าแต่ถ้ามุงได้ถูกวิธีและดูแลรักษาตามสภาพก็จะไม่รั่วซึม
4.หลังคาปีกผีเสื้อ

รูปแรก   หลังคาทรงมนิลา
รูปที่สอง หลังคาเพิงหมาแหงน
รูปที่สาม หลังคาทรงปั้นหยา


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 22 ก.พ. 12, 17:31

2.หลังคาทรงมนิลา หรือหลังคาหน้าจั่ว คือ หลังคา ที่มีสันตรงกลาง และลาดลงทั้ง 2 ข้าง เป็นรูปทรงที่สืบทอดกันมา ตั้งแต่สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เหมาะกับสภาพภูมิอากาศเขตศูนย์สูตรอย่างบ้านเรา เนื่องจากมีฝนตกชุกหลังคาจั่วสามารถระบายน้ำฝนออกไปได้เร็ว และป้องกันแดดได้ดีเนื่องจากชายคายื่นยาวสองด้านส่วนด้านสกัดหรือด้านแคบ แม้ยื่นชายคาไม่ได้มากก็ไม่นิยมทำหน้าต่างด้านนี้
3.หลังคาทรงปั้นหยา ได้แพร่เข้ามาสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งยุคล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจในยุโรป เป็นหลังคาที่กันแดดกันฝน ได้ทุกด้าน แต่ราคาแพงกว่าแบบจั่ว ได้กลายเป็นหลังคารูปทรงหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจวบจนปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะหลังคาทรงนี้สามารถยื่นชายคาเพื่อบังแดดและฝนได้ทั้งสี่ด้าน การระบายน้ำฝนและการป้องกันการรั่วซึม ค่อนข้างจะเสียเปรียบหลังคาจั่ว เนื่องจากมีรอยต่อมากกว่าแต่ถ้ามุงได้ถูกวิธีและดูแลรักษาตามสภาพก็จะไม่รั่วซึม

ขอแก้ไขค่ะ หลังคาทรงมนิลา ไม่ใช่หลังคาหน้าจั่ว แต่เป็นหลังคาทรงปั้นหยา ที่ทำหน้าจั่วเล็ก ๆ ที่ด้านสกัดทั้งสองด้าน
หลังคาทรงจั่ว (Gable) คือแบบที่มีผืนหลังคาสองด้านชนกันที่สันหลังคา เกิดเป็นรูปสามเหลี่ยมที่ด้านสกัด เรียกว่า หน้าจั่ว
หลังคาทรงปั้นหยา (Hip)
หลังคาทรงมนิลา (Gable-Hip)


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 22 ก.พ. 12, 17:52
^
เห็นเรือนในรูป 22 แล้วนึกถึงข้างล่างนี้

ภาพน่าจะผิดส่วนกระมังครับ.................

 :D


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.พ. 12, 19:29
ได้ความรู้ ได้เห็นทรงหลังคาในไทยอีกหลายแบบ และชื่อเรียกลักษณะหลังคาอีกด้วย ขอบพระคุณมากครับ

ภาพตามความเห็นที่ 23 นั้น เข้าใจว่าเป็นบ้านของพวกโซ่ง (ลาวโซ่ง) คล้ายๆกับของชาวลาวในสมัยก่อนๆโน้น เมื่อนำรูปแบบเดิมๆมาสร้างในแถบเพชรบุรี (คิดว่าตั้งแต่แถวๆท่ามะนาวไปจนถึงเพชรบุรี) หลังคาลักษณะนี้คงจะร้อนแย่ เพราะเป็นลักษณะของหลังคาที่เหมาะกับอากาศเย็น แต่ก็อาจจะเป็นเพราะสมัยนั้น อากาศค่อนข้างจะไม่ร้อนเหมือนในปัจจุบัน หรือไม่ก็เพราะจั่วที่เปิดช่อง ทำให้อากาศร้อนซึ่งลอยตัวขึ้นสูงได้ระบายออกไป
ก็มีสิ่งที่น่าสนใจในภาพนั้น คือ เกวียน ซึ่งดูจะเป็นลักษณะของเกวียนแบบภาคกลาง ปนเหนือ ปนอิสาน ซึ่งดูได้จากขนาดของล้อ ส่วนที่ใช้บรรทุกของ ฯลฯ ซึ่งก็ดูจะเหมาะสำหรับพื้นที่ราบค่อนข้างลุ่มอย่างเพชรบุรี

จากข้อมูลและความเห็นต่างๆที่ได้อ่านมา ทรงหลังคาที่พบเห็นในไทยทั้งหลาย คงได้รับอิทธิพลมิใช่เฉพาะจากข้อจำกัดทางวัสดุและสภาพทางภูมิอากาศ แต่ยังได้มาจากการยอมรับสังคมและวัฒนธรรมจากที่อื่นๆร่วมไปด้วย เปลี่ยนไปตามกาลเวลา

แล้วไม้แป้นที่ปิดเลาะลงมาตามจั่วจนถึงชายคา แถมมีปลายงอนแหลมชี้ฟ้า โดยภาพรวมๆนะครับ เป็นลักษณะเฉพาะของหลังคาแบบไทยหรือไม่ครับ     


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 23 ก.พ. 12, 10:56
น่าจะหมายถึง ไม้ปั้นลม กระมังคะ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 24 ก.พ. 12, 09:41
ปั้นลม คือ ไม้วางทับบนเชิงชายทาบทับปลายแปหัวเสาทับหลังแปลานไปวางอยู่เหนืออกไก่ทั้งสองข้าง
ทำให้เกิดเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายบนของปั้นลมแหลม หลังปั้นลมถากอ่อนช้อยลงมาถึงปลายที่วางอยู่บนเชิงชาย ทำเป็นรูปคล้ายหางหงส์ เรียกส่วนนี้ว่า " ตัวเหงา"
หน้าที่ปั้นลม ป้องกันลมพัดหัวจากหรือแฝกปิดบังหัวจาก ซึ่งไม่น่าดู และเสริมสร้างความงามของหลังคาทรงสูง
ปั้นลมและตัวเหงา เป็นองค์ประกอบสำคัญที่แสดง "เน้นลักษณะเรือนไทยอย่างรุนแรง"

จากหนังสือ "บ้านไทยภาคกลาง" โดย ศาสตราจารย์ พล.ร.ต. สมภพ ภิรมย์ ร.น.,ราชบัณฑิต


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.พ. 12, 09:49
เวปนี้แจ่มแจ้งดีครับ ชี้ช่องเชื่อมให้


http://board.postjung.com/m/536390.html


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 24 ก.พ. 12, 10:05
จากหนังสือ "บ้านไทยภาคกลาง" โดย ศาสตราจารย์ พล.ร.ต. สมภพ ภิรมย์ ร.น.,ราชบัณฑิต
ท่านได้กล่าวถึงความหมายของ บ้านและเรือน ว่า

เรือน น.สิ่งปลูกสร้างสำหรับเป็นที่อยู่ ทรวดทรง เช่น เรือนผม ที่รับเพชรพลอย เช่น เรือนแหวน จำนวน เช่น เรือนเงิน ลักษณะนามใช้เรียกนาฬิกาว่า เรือนหนึ่ง สองเรือน
....................
คำว่าเรือน อาจประมณได้ว่า เรือนเป็นรูปธรรม "เรือน" ตรงกับคำภาษาอังกฤษ (Contrast of Materials)

บ้าน น. ที่อยู่ บริเวณที่เรือนตั้งอยู่ ถิ่นที่มนุษย์อยู่ หมู่บ้าน
บ้านนอก น. เขตแดนที่พ้นจากเมืองหลวงออกไป

คำว่าบ้านอาจประมาณได้ว่า "บ้านเป็นนามธรรม" โดยทั่วไปนิยมพูดว่า "ปลูกบ้าน" หมายถึง "ปลูกเรือน"
คำว่า "บ้าน" หมายถึงบริเวณบ้านที่ประกอบด้วยพื้นที่ดินสิ่งแวดล้อม และจะต้องมีเรือน และ "บ้าน" นั้นอาจจะไม่มีบริเวณพื้นที่ที่ดินก็ได้ แต่หมายถึงตัวเรือนเท่านั้นก็ได้
เช่น เรือนแถว-ตึกแถว  ซึ่งปราศจากบริเวณ คำทั้งสองนี้ไม่อาจจะจำกัดตายตัวได้ บ้านโดยทั่วไปน่าจะเป็น "นามธรรม" แต่ก็ใช้กันทั้ง "นามธรรมและรูปธรรม"
"บ้าน" ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า "Home"

"บ้าน" เป็นคำไทย เดิมหมายความว่าหมู่บ้าน ยังมีเค้าให้เห็นอยู่ในชื่อตำบลต่าง ๆ เช่น บ้านหม้อ บ้านหมี่ บ้านไร่ บ้านนา บ้านบ่อ เป็นต้น ภาษาไทยถิ่นตต่าง ๆ ยังคงใช้คำ บ้าน หมายความว่า หมู่บ้าน อยู่เดี๋ยวนี้ บ้าน หมายความว่า บริเวณที่มีเรือนตั้งอยู่ เช่น เดินเข้าไปในล้านแล้วขึ้นบนเรือน บ้านกำลังจะเคลื่อนที่ความหมายไปอีก ให้เป็นเรือนที่อยู่ เช่น เขียนแบบเรือน ก็ใช้ว่า เขียนแบบบ้าน การที่ความหมายของคำบางคำเคลื่อนที่ไปจากเดิม ก็เป็นของธรรมดา เพราะสิ่งทั้งหลายจะอยู่คงที่ตลอดไปหาได้ไม่ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม บ้านเรือนในกรุงในเมืองซึ่งมีคนอยู่กันหนาแน่น บางแห่งจะหาที่ว่างเป็นบริเวณเรือนก็ไม่มีเพราะเป็นอาคารร้านรวงและห้องแถวไป เมื่อเปรียบเทียบกับหมู่บ้านในชนบทก็ผิดกัน เพราะในชนบทซึ่งอยู่นอกเมืองออกไป ยังรักษาลักษณะของหมู่บ้านไว้ได้ให้เห็นเป็นส่วนสัด ไม่สู้ผิดแปลกไปจากเดิมมากนัก
..........................
ตามความเข้าใจทั่วไป  บ้านไม่มีเรือนก็ไม่เป็นบ้าน   คงเป็นแต่บริเวณพื้นที่เท่านั้น หากปลูกเรือนหรือเพิงอาศัยกินอยู่หลับนอน จะเรียกว่าบ้านได้ทันที
คำว่า เรือน   มักจะหมายถึง ที่อยู่อาศัยสร้างด้วยไม้เป็นส่วนใหญ่  หากสร้างด้วยคอนกรีตหรืออิฐ ก็เรียกว่า ตึก  แต่สมัยนี้ไม่สู้นิยมพูดกัน มักจะพูดว่า ปลูกบ้าน สร้างบ้าน ออกแบบบ้านและกลับบ้าน (ซึ่งบางทีหมายถึงตาย) ทั้ง ๆ ที่การก่อสร้างบ้านนั้นสร้างด้วยอิฐและคอนกรีตเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ความหมายของบ้านซึ่งเป็น นามธรรม  สำคัญกว่า เรือน ซึ่งเป็น รูปธรรม ซึ่งเป็นหลักการที่ถูกต้องตามตรรกวิทยา (Logic) ดีด้วย




กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 24 ก.พ. 12, 10:49
อ่านพบอีกที่หนึ่ง อ.ศรีศักร วัลลิโภดม เขียนไว้ในหนังสือ "เรือนไทย บ้านไทย"  สนพ.เมืองโบราณ

......เรื่องของบ้านกับเมือง เป็นสิ่งที่มีพัฒนาการและความสำคัญอย่างแยกกันไม่ออก ถ้าเราต้องการทำความเข้าใจในเรื่องเรือนไทยและชีวิตไทย ที่แล้วมานั้น พอพูดถึงเรือนไทยแล้ว ภาพที่เห็นอย่างฉับพลันก็คือ เรือนไม้ฝาปะกนตั้งอยู่บนเสาสูง และมีหลังคาสูงทรงหน้าจั่ว มีปั้นลม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหรือในทุ่งนา ในสวนอะไรทำนองนั้น หรือถ้าให้ทันสมัยก็คือ อาคารไม้ลักษณะเดียวกันที่สร้างเป็นกลุ่ม มีระเบียงถึงกันของร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือไม่ก็เป็นเคหสถานของบรรดาเศรษฐีใหม่ในยุคปัจจุบัน เพราะการมีเรือนไทยที่วิจิตรพิสดารเป็นสิ่งทีมีราคาแพงจนบุคคลธรรมดาสามัญไม่มีทางที่จะสร้างได้ อีกสิ่งหนึ่งที่มักไม่เข้าใจกันก็คือ คำว่าบ้านกับเรือน มักมีความเข้าใจที่สับสนกันเรื่อยมา นั่นก็คือ การเข้าใจว่า บ้านคือเรือนนั่นเอง เห็นได้จากคำพูดที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันว่า "กลับบ้าน" หรือ"ไปบ้าน" ทำนองนั้น ในขณะเดียวกัน คำว่า เรือน กำลังจะลดหายไปจนคนรุ่นใหม่อาจไม่เข้าใจได้ในอนาคต แท้จริงแล้ว คำว่า บ้าน หมายถึง หมู่บ้านในลักษณะที่เป็นชุมชน (community)  ที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า วิลเลจ (Village) ประกอบด้วยกลุ่มของเรือนหรือครัวเรือน อันเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวยเป็นจำนวนมากในพื้นที่หนึ่ง โดยมีวัดหรือศาสนสถานเป็นศูนย์กลาง มีโรงเรียน ร้านค้า ทำหน้าที่เป็นเครื่องเชื่อมความสัมพันธ์ทางสังคมและการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน บ้านแต่ละแห่งจะมีชื่อทีทางวัดและโรงเรียนเอาไปตั้งเป็นชื่อ เช่น บ้านหนองบัว มีวัดบ้านหนองบัวและโรงเรียนบ้นหนองบัว เป็นต้น ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่คนในชุมชนมีร่วมกันทำให้เกิดสำนึกความเป็นชุมชนขึ้น (sense of community)  คือ ความรู้สึกของการเป็นคนบ้านหนองบัวร่วมกัน เพราะฉะนั้นคำว่า กลับบ้านหรือไปบ้าน ก็ดี จึงหมายถึงการกลับไปชุมชนบ้านเกิดของตนนั่นเอง
      อย่างไรก็ตาม  ความสับสนระหว่างบ้านกับเรือนที่กล่าวมานี้ ก็เนื่องจากเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออกนั่นเอง ซึ่งก็เป็นทำนองเดียวกับคำว่า บ้านกับเมือง เพราะทั้งสามคำนี้เกี่ยวข้องกันกับการดำรงชีวิตของคนตลอดเวลา ถ้าหากเอาคำว่าบ้านไว้ตรงกลางเป็นเครื่องเชื่อมแล้ว ก็อาจแบ่งการดำรงชีวิตของคนได้เป็นสองมิติ มิติแรกก็คือ ชีวิตระหว่างบ้านกับเมืองเป็นเรื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจการเมือง และพิธีกรรมที่ห่างเหินไปจากชีวิตครอบครัว อย่างเช่น การออกไปตลาดในเมือง ออกไปเที่ยว ไปทำงาน ไปพบปะผู้คนที่อยู่นอกชุมชนออกไป เป็นต้น ส่วนอีกมิติหนึ่งก็คือ ระหว่าง บ้านกับเรือน ซึ่งเป็นเรื่องทางบ้านทางครอบครัว อันเป็นเรื่องภายใน นับแต่เรื่องการกินอยู่หลับนอนในครัวเรือน ไปจนถึงความสัมพันธ์กับญาติพี่น้องเพื่อนบ้านที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน การพบปะพูดคุยกัน การเล่นกันของเด็ก ตลอดจนกิจกรรมที่ทำร่วมกันในวัด หรือพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ทุกครัวเรือนในชุมชนหมู่บ้านต้องช่วยกันทำ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้แยกกันไม่ออกระหว่างเรือนกับบ้าน และเป็นสาระสำคัญที่จะได้เน้นให้เห็นในที่นี้
     เรือน  หรืออีกนัยหนึ่ง ครัวเรือน    นับเนื่องเป็นโครงสร้างทางกายภาพที่เล็กที่สุดที่สัมพันธ์กับกลุ่มคนซึ่งเป็นเรื่องโครงสร้างทางสังคม เด็กแรกเกิดมานั้นเกิดขึ้นในเรือนที่มีพ่อแม่เป็นผู้ปกครองดูแล เด็กกินอยู่หลับนอนในครัวเรือน แต่ในวิถีทางของการเจริญเติบโตนั้น เด็กเติบโตขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างเรือนกับบ้าน พิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต นับแต่การโกนผมไฟ ทำขวัญ โกนจุก เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในเรือนและในหมู่บ้าน มีปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา ญาติพี่น้อง และเพื่อนบ้านที่สนิทชิดเชื้อมาร่วมในการทำพิธี ซึ่งนอกจากให้ความอบอุ่นในด้านจิตใจแล้ว ยังเป็นเรื่องของการประกาศความเป็นสมาชิกที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน ในชีวิตประจำวัน เด็กเล่นกับพี่น้องและเพื่อนบ้านแบบเข้านอกออกในระหว่างเรือนต่อเรือน และวิ่งเล่นไปตามทุกหนทุกแห่งในหมู่บ้าน ทำให้ไม่มีพรมแดนในเรือ่งพื้นที่ภายในชุมชน เป็นวิถีชีวิตที่สนุกสนาน อบอุ่น และไม่ว้าเหว่ เมื่อเด็กโตขึ้นก็ได้รับการศึกษาจากทางวัดและโรงเรียนของชุมชนที่อยู่ภายในหมู่บ้านหรือไม่ก็บริเวณใกล้เคียง พอครบกำหนดบวชเพื่อเข้าสู่สภาวะความเป็นผู้ใหญ่ ก็บวชในวัดของหมู่บ้าน ท่ามกลางการรับรู้และปิติยินดีของครอบครัวญาติพี่น้องและมิตรสหายภายในชุมชน หลังจากบวชเรียนแล้วก็เข้าสู่ช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิตคือการแต่งงาน มักทำที่บ้านของฝ่ายหญิง เพราะหลังจากแต่งงานแล้ว ผู้ชายต้องไปอยู่ที่บ้านของภรรยา โดยอาจอยู่ร่วมเรือนเดียวกันกับพ่อตาแม่ยายก่อน และช่วยเป็นแรงงานให้ทางฝ่ายหญิงประมาณปีหนึ่งหรือสองปี จึงแยกมาปลูกเรือนใหม่ในที่ดินของทางฝ่ายหญิง จึงเป็นเหตุให้มีการเพิ่มจำนวนครัวเรือนขึ้น บางทีจากสมัยพ่อแม่มาถึงรุ่นลูกอาจมีเรือนเกิดขึ้น 3-4 หลัง ก็ได้ และโดยประเพณีที่ปฎิบัติทั่วไปนั้น ผู้ที่เป็นลูกสาวคนเล็กของครอบครัวคือผู้ที่จะได้รับเรือนที่พ่อแม่อยู่อาศัยเป็นมรดก เพราะเป็นผู้ที่แต่งงานทีหลัง อีกทั้งเป็นผู้ต้องคอยเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามแก่เฒ่าด้วย ซึ่งมักปรากฏบ่อย ๆ ว่า ในชุมชนหมู่บ้านไทยนั้น เรือนที่เก่าแก่มักเป็นของลูกสาวคนเล็กในครอบครัว แต่จะมียกเว้นบ้านก็ต่อเมื่อครอบครัวนั้นไม่มีลูกสาวคนเล็ก แต่มีลูกชาย ก็ยินยอมให้ลูกชายคนเล็กดูแลพ่อแม่แทน และเมื่อแต่งงานแล้วก็เอาภรรยามาอยู่ด้วย


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 12, 19:20
ปั้นลม คือ ไม้วางทับบนเชิงชายทาบทับปลายแปหัวเสาทับหลังแปลานไปวางอยู่เหนืออกไก่ทั้งสองข้าง
ทำให้เกิดเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายบนของปั้นลมแหลม หลังปั้นลมถากอ่อนช้อยลงมาถึงปลายที่วางอยู่บนเชิงชาย ทำเป็นรูปคล้ายหางหงส์ เรียกส่วนนี้ว่า " ตัวเหงา"
หน้าที่ปั้นลม ป้องกันลมพัดหัวจากหรือแฝกปิดบังหัวจาก ซึ่งไม่น่าดู และเสริมสร้างความงามของหลังคาทรงสูง
ปั้นลมและตัวเหงา เป็นองค์ประกอบสำคัญที่แสดง "เน้นลักษณะเรือนไทยอย่างรุนแรง"
จากหนังสือ "บ้านไทยภาคกลาง" โดย ศาสตราจารย์ พล.ร.ต. สมภพ ภิรมย์ ร.น.,ราชบัณฑิต

ของคุณมากครับ สำหรับข้อมูลนี้และที่อยู่ในความเห็นของคุณ POJA ต่อๆมา
เรื่องปั้นลมนี้ ผมเกือบจะเขียนถามออกมาแล้วว่า เป็นเอกลักษณ์หรือไม่ ก็พอดีได้คำตอบ

สำหรับเรื่องของคำว่า เรือน และคำว่า บ้าน นั้น อ่านแล้วทำให้นึกถึงความหมายที่ลึกซึ้งของคำว่า House และ Home ในความเข้าใจของฝรั่ง
ฝรั่งเขาว่า A house is a home without love ซึ่งดูจะเป็นการแยกระหว่างที่พักพิง (house) กับภูมิลำเนา (home)

Would you like to come to my house ? หมายถึงมาที่พักของผม (มีแต่ผมอาศัยอยู่) แต่หากลงท้ายด้วย my home หมายถึงจะได้พบกับสมาชิกของครอบครัวของผมด้วย

ในทำนองเดียวกันก็ดูจะมีการใช้คำว่า house plan หรือ house design ในความหมายที่ค่อนข้างจะจำกัดเฉพาะการออกแบบบ้านในเชิงของ conceptual แต่หากใช้คำว่า home plan หรือ home design ดูจะมีความหมายกว้างไกลครอบคลุมถึงวิถีการใช้ชีวิตในลักษณะต่างๆด้วย เรียกได้ว่าเป็นการออกแบบที่คำนึงถึงทุกอย่างว่าจะต้องมี functionality สำหรับความเป็นอยู่อย่างสุขสบายอย่างครอบครัว จึงมักจะได้ยินคำว่า cottage house มากกว่า cottage home เป็นต้น
ก้าวล่วงเข้าไปในดงสถาปนิกแล้ว ขอคาระวะและขออภัยหากข้าน้อยล่วงเกินก็ด้วยเบาปัญญา     

 
จากคำบรรยายของท่าน ศ.พล.ร.ต. สมภพ ภิรมย์ ร.น. และของท่าน อ.ศรีศักร วัลลิโภดม นั้น ผมอาจหาญเดาเอาเองว่า เรือน ดูจะมีความหมายในตรงกับลักษณะที่เป็นตัวสิ่งก่อสร้าง (คือ house) ในขณะที่บ้าน ดูจะหมายถึง home (มีญาติอยู่กันเป็นครอบครัว)

   





กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 12, 19:25
สำหรับเวปที่คุณนวรัตน์ ได้กรุณาบอกมานั้น
ขอบคุณมากครับ
ชัดเจนและเข้าใจง่าย ครับ
ขอบพระคุณจริงๆ มีอะไรดีๆ ง่ายๆ ก็กรุณาบอกกล่าวอีกนะครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.พ. 12, 20:00
อ้างถึง
ก้าวล่วงเข้าไปในดงสถาปนิกแล้ว ขอคาระวะและขออภัยหากข้าน้อยล่วงเกินก็ด้วยเบาปัญญา 

ท่านตั้งก็ว่าเกินปาย

อ้างถึง
ผมอาจหาญเดาเอาเองว่า เรือน ดูจะมีความหมายในตรงกับลักษณะที่เป็นตัวสิ่งก่อสร้าง (คือ house) ในขณะที่บ้าน ดูจะหมายถึง home (มีญาติอยู่กันเป็นครอบครัว)

แต่ไหนๆก็ก้าวล่วงมาและล่วงไปถึงเมืองฝร่งมังค่าแล้ว ลองแปลประโยคนี้เป็นภาษาอังกฤษหน่อยเถิดครับ

บ้านของเรานั้นมีตึกของคุณปู่คุณย่าอยู่ตรงกลาง มีสนามคั่นระหว่างเรือนของผมกับเรือนของน้องสาว


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 12, 20:09
ฝากคำกลอนฝรั่งให้คุณ naitang ครับ เป็นกลอนที่ท่องเมื่อเด็ก ๆ ยังจำได้ดีครับ จึงนำมาฝากให้ครับ  ;D

"A House is made of brick and stone, But Home is made of LOVE alone"


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 12, 20:19
ในสมัยที่ทำงานออกต่างจังหวัด เข้ารกเข้าพงอยู่นั้น ผมใช้ข้อสังเกตจากสภาพสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวหลายๆอย่างประกอบกันเป็นตัวบ่งชี้ข้อมูลอันพึงไปแสวงหาและพิสูจน์ทราบ

กรณีหลังคาของชาวบ้าน นั้นก็เป็นเรื่องหนึ่ง

หลังคาบ้านหรือเขียงนา ที่ทำจากใบตองตึง (ใบต้นพลวง) ซึ่งอาจจะมีใบของต้นเหียงปนอยู่ด้วยบ้างนั้น บ่งชี้ว่าในพื้นที่นั้นจะต้องมีป่าที่เรามักจะเรียกกันว่าป่าเต็งรัง ซึ่งมีต้นพลวง (ตองตึง) และต้นเหียงขึ้น ชาวบ้านไปเก็บเอาใบของต้นไม้นี้ (คล้ายๆใบต้นสัก) มาร้อยตอกให้เป็นตับแล้วนำไปมุงหลังคา ส่วนมากก็จะเป็นการนำไปมุงเขียงนา มากกว่าที่จะนำมามุงหลังคาบ้าน แต่หากจะมุงบ้านก็จะวางตับถี่สักหน่อย (กันฝนรั่วได้ดีหน่อย) หากเป็นแบบเฉพาะกิจ ฉาบฉวยชั่วคราว ก็จะมุงตับห่างหน่อย  
หากมีบ้านหลายหลังในหมู่บ้านหนึ่งมุงหลังคาด้วยตองตึง ก็มักจะบ่งชี้ถึงสภาพทางเศรษฐกิจ สภาพการเริ่มขยายตัวของหมู่บ้านจากการย้ายถิ่นฐานเข้ามา หลังคาบ้านพวกนี้ไม่มีปั้นลม มักจะใช้สังกะสีมาครอบสันหลังคา

อ่านอะไรได้บ้าง ขอเว้นวักไปทำธุระก่อนครับ  

    


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 12, 21:29
ท่านนวรัตน์ครับ
จะขอลองแปลดู ข้างๆคูๆไม่ว่ากันนะครับ ซึ่งคงจะได้หลายรูปแบบ

บ้านของเรานั้นมีตึกของคุณปู่คุณย่าอยู่ตรงกลาง มีสนามคั่นอยู่ระหว่างเรือนของผมกับเรือนของน้องสาว

In our living land (living corner, property, estate), my grand parents' house (living mansion, building) is an egg yolk, surrounded by a green lawn, me and my sister houses (อาจะใช้ home ก็ได้ แต่ดูจะขัดๆยังไงๆพิกลอยู่) are on the periphery (of the lawn).

Our land (property) comprise of three houses, me and my sister's living corner are housing on either side of my grand parents' building, separated by a green lawn.

นึกไม่ออกแล้วครับ   

   


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.พ. 12, 21:44
ขอบคุณที่เล่นด้วยนะครับ

แต่ผมจะมิบังอาจตรวจการบ้านท่านตั้ง รออาจารย์ใหญ่ท่านเข้ามาเม้นก็แล้วกัน


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 24 ก.พ. 12, 21:51
   อ.สมภพ ให้ความเห็นอย่างสถาปนิก อ.ศรีศักร ให้ความเห็นทางสังคม-มนุษยวิทยา ค่ะ

   แต่โบราณมา บ้านเรือนซึ่งตั้งอยู่ ณ ที่ใด ก็มักจะใช้ทรัพยากรในบริเวณนั้นมาประกอบขึ้น ตับจากหรือใบตองตึง ก็ใช้กันทั่วไปทั้งโลก เพราะเป็นวัสดุธรรมชาติ ที่หาได้ง่ายทั่วไป ก่อนที่จะมีเครื่องมือประดิษฐวัสดุมุงอื่น ๆ ที่แข็งแรงถาวรขึ้น จัดเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (Vernacular Architecture) ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่ละแห่งแต่ละที่ ทั้งสภาพภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม ความเชื่อต่างๆ
  จนมาถึงยุคปัจจุบัน ผู้ที่มีฐานะส่วนใหญ่ จึงได้เปลี่ยนเป็นวัสดุที่คงทนถาวรมากขึ้น อีกทั้งทรัพยากรมีจำกัด ตับจากหรือใบตองตึงหาไม่ได้ง่ายเหมือนแต่ก่อน ผู้คนที่ยังใช้อยู่จึงมีอยู่ 2 พวก คือ มีฐานะ พอที่จะจัดหาวัสดุมาเปลี่ยนได้ หรือยากจนเกินกว่าจะเปลี่ยนใหม่ สังกะสีเป็นวัสดุที่ถูกพอจะเป็นทางเลือกให้ใช้ได้ ไม่ได้ใช้เป็นปั้นลมหรอกค่ะ แต่เป็นวัสดุมุงเลยทีเดียว

  ไม่ใช่ว่าบ้านไทยทุกหลังจะมีปั้นลม หรือ บ้านไม่มีปั้นลมไม่ใช่บ้านไทยนะคะ
  เรือนไทยยังมีอีกหลายแบบ ยังมีอยู่อีกมากให้ได้ศึกษาหาชมกันค่ะ

  บ้านมุงจาก มุงหญ้า สวยๆ ยังมีอีกเยอะค่ะ ตัวอย่างเมืองไทยอาจยังไม่ชัด ลองดูที่ญี่ปุ่น หรือที่อินโดนีเซีย ที่อินโดฯ นี้ ทรงหลังคาแต่ละที่ น่าตื่นตาตื่นใจทั้งนั้นเลยค่ะ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 12, 21:57
เรียนถามท่านนวรัตน์ครับ
ผมติดใจกับคำว่า อะเส กับ จันทัน
ดูไม่น่าจะใช่คำที่มีต้นกำเนิดจากช่างไทย เอามาจากที่ใหนหรือเปล่าครับ หรือว่าเป็นคำเรียกของช่างไทยแต่โบราณแล้ว


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.พ. 12, 22:08
ไม่ทราบจริงๆครับ

ไม่ทราบเหมือนที่ทำไมเขาเรียกตงว่าตง อกไก่ว่าอกไก่ ดั้งว่าดั้ง


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 12, 23:15
House.  หมายถึงที่อยู่อาศัย. บอกในความหมายของรูปธรรม. จะเป็นตึกเป็นไม้.  สองชั้นสามชั้น ขนาดเล็กใหญ่ยังไง นี่คือความหมายของhouse.    แต่ถ้าhome.  มันแฝงความหมายเชิงนามธรรม. มีอารมณ์ผูกพันอยู่ด้วย.     
บ้านที่ปลูกสำเร็จเรียบร้อย.  พร้อมจะอยู่ได้ทันที. แต่ยังไม่มีคนอยู่ เป็น house.    แต่พอมีคนเข้าไปอยู่อาศัย. ที่นั่นเป็น home
จึงมีเพลง.  Home. Sweet. Home,  there's no place like home.  ซึ่งไม่สามารถจะแทนเป็น house sweet house.  ได้ค่ะ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 25 ก.พ. 12, 00:09
Houses made of bricks and stones,
but home is made from love alone.


จำผิดจำถูก ไม่แน่ใจว่าใช่หรือเปล่านะครับ  ???


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 25 ก.พ. 12, 07:20
จากความหมายของอาจารย์ทั้งสองท่านที่ยกมากล่าวนั้น

ดิฉันคิดว่า คำว่า บ้าน มีความหมายมากกว่าคำว่า home ค่ะ
แต่หมายถึง หมู่บ้าน (village) เลยทีเดียว
ความหมายแฝงอย่างหนึ่ง คือ สมัยก่อนนั้น ในหมู่บ้านหนึ่ง ๆ มักจะเป็นญาติพี่น้องกันหมด คล้ายครอบครัวเดียวกัน


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.พ. 12, 07:45
ครับ

ตั่งแต่ซอก หลืบ เพิง กระต๊อบ เรือน คุ้ม ตึก คฤหาสน์ ไปจนถึงชุมชน หมู่บ้าน  
เริ่มต้นจากใช้ซุกหัวนอน ไปถึงการอยู่อาศัยที่มีสารพัดกิจกรรม

ถ้าเป็นที่ถาวร ไม่ได้เปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆแบบค่ำไหนนอนนั่น มีความผูกพันที่จะกลับไปเสมอ  สิ่งนั้นเรียกว่าบ้าน


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ก.พ. 12, 07:58
ร่วมวงด้วยคน

A house is made of walls and beams, but a home is built with hopes and dreams.

A house is built by human hands, but a home is built by human hearts.

 ;D


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.พ. 12, 08:17
ครบวงแล้ว ต้องพร้อมกันบรรเลง(แต่คนละเพลงแฮะ)


ที่อยู่คือสถาน บ้านคือที่สถิตย์



กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 12, 09:05
มาร่วมวงบรรเลงค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=TofEkPSlbRI

ถือโอกาสออกทะเลเสียเลย    มีสำนวนว่า  Home is where the heart is    หมายความว่าใจคุณอยากอยู่ที่ไหน ที่นั่นแหละคือ"บ้าน" ตามความหมายแท้จริง 
 I'm living in  an apartment in Bangkok, but my real home is my father's old house  in Chiengmai where I grew up.


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 12, 09:08
อ้างถึง
ก้าวล่วงเข้าไปในดงสถาปนิกแล้ว ขอคาระวะและขออภัยหากข้าน้อยล่วงเกินก็ด้วยเบาปัญญา  

ท่านตั้งก็ว่าเกินปาย

อ้างถึง
ผมอาจหาญเดาเอาเองว่า เรือน ดูจะมีความหมายในตรงกับลักษณะที่เป็นตัวสิ่งก่อสร้าง (คือ house) ในขณะที่บ้าน ดูจะหมายถึง home (มีญาติอยู่กันเป็นครอบครัว)

แต่ไหนๆก็ก้าวล่วงมาและล่วงไปถึงเมืองฝร่งมังค่าแล้ว ลองแปลประโยคนี้เป็นภาษาอังกฤษหน่อยเถิดครับ

บ้านของเรานั้นมีตึกของคุณปู่คุณย่าอยู่ตรงกลาง มีสนามคั่นระหว่างเรือนของผมกับเรือนของน้องสาว

ขอบคุณที่เล่นด้วยนะครับ
แต่ผมจะมิบังอาจตรวจการบ้านท่านตั้ง รออาจารย์ใหญ่ท่านเข้ามาเม้นก็แล้วกัน

ใครให้การบ้าน ใครก็ตรวจซิคะ ท่าน   คนอื่นจะไปรู้คำตอบได้ยังไงกันล่ะคะ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.พ. 12, 09:29
อ้าว ...จบกัน


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 12, 09:49
บ้านของเรานั้นมีตึกของคุณปู่คุณย่าอยู่ตรงกลาง มีสนามคั่นระหว่างเรือนของผมกับเรือนของน้องสาว

คุณตั้งเก่งมากที่แปลได้   ส่วนดิฉันแปลไม่ได้เพราะไม่เข้าใจประโยคสั้นๆที่ว่ามา   คือไม่รู้ว่าคนเขียนตั้งใจจะบอกว่า
๑  ในเขตบ้านของ "เรา" นั้น   บนผืนที่ดินมีบ้านคุณปู่คุณย่าตั้งอยู่ตรงกลางที่ดิน    ส่วนเรือนของหลานชายกับเรือนของน้องสาว อยู่ตรงไหนไม่รู้บนที่ดินนั้น    ระหว่างเรือนพี่ชายน้องสาว    มีสนามคั่นกลางกันอยู่
หรือ
๒  ในเขตบ้าน มีบ้าน ๓ หลังเรียงกันอยู่    ตึกคุณปู่อยู่ตรงกลาง ขนาบข้างด้วยเรือนของหลานชายกับหลานสาว  มีสนามหญ้าคั่นอยู่ระหว่างเรือนของท่านกับเรือนหลานๆ

คือถ้าเป็นข้อ ๑  บ้านคุณปู่ก็เป็น center  แต่ถ้าเป็นข้อ ๒   บ้านคุณปู่เป็น middle


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.พ. 12, 10:12
ความจริงผมไม่ได้ต้องการให้คิดมากเรื่องผังบริเวณของบ้าน แต่เน้นความหมายของคำที่คนไทยใช้เรียก บ้าน ตึก และเรือน ซึ่งในที่นี้จะตรงกับภาษาอังกฤษที่ผูกประโยคให้กระชับสั้นที่สุดอย่างไร โดยไม่ต้องขยายความไปมากกว่าที่ใช้ในประโยคภาษาไทยน่ะครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 12, 10:30
อ๋อ เข้าใจละค่ะ
งั้นขอแต่งประโยคให้ใหม่
Our home consisted of my grandparents' (two story) building,  standing in the middle between my sister's house and mine.
ขยายคำเข้าไปหน่อยเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น  ถ้าอยากให้คุณปู่อยู่ตึกชั้นเดียว ก็เป็น one story building
คำว่า building น่าจะแปลว่าตึกแบบอาคารร้านรวงมากกว่าบ้าน    ตึกของเราหมายความรวมถึงตึกแถว และบ้านเดี่ยว ก่ออิฐถือปูน   
แปลออกมาได้แค่นี้ละค่ะ   ใครจะแก้ไขก็ยินดี


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 12, 10:41
กลับมาเรื่องหลังคาของบ้าน อย่างที่คุณตั้งเกริ่นไว้ตอนต้นกระทู้     ที่ว่าบ้านไทยกับจีนหันหน้าและหันขวางต่างกัน
หลายวันก่อน ไปกินอาหารอยู่ที่เรือนแพริมแม่น้ำท่าจีน ตรงคลองบางหลวง
ฟากตรงข้าม มีบ้านร้างสร้างไม่ต่ำกว่าห้าสิบหกสิบปีมาแล้ว    ตัวเรือนสร้างทางขวาง แต่ก็ยังไม่วายมึด้านหันหน้าออกมาทางแม่น้ำจนได้
เลยถ่ายรูปมาให้ดูโครงสร้าง ว่าคนไทยก็ยังนิยมหันหน้าจั่วออกอยู่ดี


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 12, 10:44
ส่วนนี่คือหลังคาอีกแบบหนึ่งของบ้านไทย   ริมคลองพระโขนง  ย้อนกลับไปประมาณรัชกาลที่ ๖ 


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.พ. 12, 19:05
ขอบพระคุณคุณเทาชมพูครับ สำหรับการตรวจทานภาษาอังกฤษและคำชม
เพียงพยายามดำน้ำไป ภาษาของผมไม่จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเลยครับ ยิ่งสังคมกับโลกภายนอกมากเพียงไรก็ยิ่งแย่ลง proper english ที่ร่ำเรียนมาก็กลายเป็น pupil engRish สุดท้ายแทบจะเหลือเป็นเพียงสภาพของวลี บางทีต้องลงไปถึงใช้ศัพท์เป็นคำๆต่อกันในการสนทนา ยิ่งกว่า broken english เสียอีก หลักการ SVOPT นั้นเลิกคำนึงถึงไปเลย ที่แย่ก็คือ พอใช้แบบ improper ไปเรื่อยๆ ก็กลายเป็นลักษณะของ improvise ไป จะกลับไปแบบ proper อีกก็ยากหน่อยเพราะมักจะลืมตนไป   
ภาษาทั้งหลายดิ้นได้ จะพูดตรงๆก็ได้ จะใช้วิธีการอธิบายก็ได้ จะกลับสลับหัวเป็นหางก็ได้ จะใช้วิธีเลียบค่ายก็ได้ ฯลฯ สารพัดที่จะดัดแปลงกันไปเพื่ออธิบายเรื่องราวหรือกล่าวถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทั้งหมดดูเหมือนจะขึ้นอยู่กับประเด็นที่เราตีความและหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวใจของประโยคที่เราจะสื่อออกไป ใช่ใหมครับ

กลา่ยเป็นเรื่องของภาษาไปเสียฉิบ เพียงบ่นมาให้ฟังเท่านั้นเองแหละครับ 


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 12, 19:25
มิบังอาจตรวจทานค่ะ   มีแต่คุณนวรัตนผู้ออกการบ้านเท่านั้นที่จะทำได้   ;D
พูดถึงภาษาอังกฤษ   แม่เคยเจอเพื่อนร่วมชั้นของลูก  ก็ทักทาย  ลูกบอกทีหลังว่าประโยคและศัพท์อย่างแม่พูดนั้นเดี๋ยวนี้เขาไม่พูดกันแล้ว    เขาพูดกันง่ายๆ สั้นๆ เป็นวลีหรือคำ เท่านั้นพอ    ถ้าคุณตั้งพูดอย่างที่บอกมาก็ถือว่าทันสมัยค่ะ  ไม่ตกยุคอย่างดิฉัน

เอารูปปั้นลม หรือป้านลม  ที่ใช้ในบ้านสมัยใหม่ในภาพซ้าย มาให้ดูค่ะ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.พ. 12, 19:56
^
น่าจะเป็น "กาแล" นะครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 12, 20:03
บนยอดคือกาแล
ไม้ปิดขอบหลังคา ตรงลูกศรชี้  เรียกว่าอะไรคะ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.พ. 12, 20:11
ที่ผมสนใจเรื่องของหลังคาแบบไทยนั้น มันเริ่มตรงที่ว่า ทำไมเราเห็นรูปภาพบ้านเรือนต่างๆ เราจึงมักจะเดาได้ว่าเป็นของประเทศใด แน่นอนว่าลักษณะของบ้านและสถาปัตยกรรมจะเป็นองค์ประกอบที่ช่วยจำกัดสถานที่ และลักษณะของหลังคาก็เป็นองค์ประกอบช่วยบอกสภาพทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ หลังคาแบบไทยก็เป็นอย่างหนึ่งที่เราแทบจะบอกได้ในทันทีเลยว่าเป็นไทย ซึ่งก็แน่นอนว่าเรารู้ได้เพราะเราเป็นคนไทยที่ได้ซึมซาบความเหมือนและความต่างในรูปของ intellectual ซึ่งฝังอยู่ภายในสมองของเรา สำหรับคนไทยกันเองนั้น คนส่วนมากยังแทบจะบอกได้เลย (เมื่อเห็นรูปบ้านของไทยนั้น) ว่าอยู่ในภาคใหน บางครั้งยังแทบจะจำกัดพื้นที่ลงไปได้แคบกว่านั้น
ผมคิดถึงเรื่องภาพการ์ตูนล้อเลียนต่างๆ ที่ผู้เขียนภาพสามารถจะจับเอกลักษณ์ของบุคคลที่เขียนล้อเลียน นำมาเขียนเป็นภาพในลักษณะการ์ตูนชนิดที่ไม่ว่าจะหันหน้าไปทางอย่างไร หรือแต่งกายอย่างใด ผู้อ่านชมก็ยังสามารถทราบได้ว่าเป็นใคร ก็เลยคิดว่าหลังคาไทย (ของภาคต่างๆ) นั้นก็น่าจะมีอะไรที่เป็นลักษณะจำเพาะที่แฝงอยู่

ปั้นลม แบบสามแหลม (ที่ยอดจั่วและปลายชายคา) ก็ดูจะเป็นอย่างหนึ่งแล้วที่ดูจะเผยออกมา
ที่นึกออกขณะนี้ ขอคิดดังๆว่า ช่อฟ้า ใบระกา ที่อ่อนช้อย ก็อาจจะเป็นอีกเป็นลักษณะจำเพาะเช่นกัน        


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ก.พ. 12, 20:18
สงสัยมานานแล้วว่า "ตัวเหงา" นี้มีจุดประสงค์และประโยชน์กับอาคารเรือนไทยอย่างไรครับ อยากถาม อ.NAVARAT.C จังเลย  :-[


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.พ. 12, 20:33
ปั้นลม คือไม้ปิดจั่วที่ติดไว้ระดับสูงกว่าเครื่องมุงหลังคา ถ้าไม่สูงกว่ากระเบื้องมุงหลังคาเช่นที่ทำกันในสมัยนี้ จะเหมาเรียกว่า"เชิงชาย"ครับ

ส่วนคำถามของคุณหนุ่มที่ว่า "ตัวเหงา" มีวัตถุประสงค์และประโยชน์อย่างไร
ผมคิดว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อความสวยงาม เป็น "ตัวจบ" ตรงส่วนปลาย ไม่ปล่อยทิ้งไว้ด้วนๆ ซึ่งช่างโบราณพิถึพิถันกับเรื่องรายละเอียดเหล่านี้มาก  อาจมีแบบอย่างอื่นด้วยก็ได้ เช่นแบบหางปลาที่แสดงในเวปซึ่งผมลิงค์ไว้ให้

ส่วนประโยชน์ในด้านรูปธรรมไม่น่าจะมีนะครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ก.พ. 12, 20:40
หากว่าปั้นลม เป็นดังคำอธิบายมาแล้วนั้น หากมองในทำนองเดียวกันกับ นาคสะดุ้ง ก็คงมีจุดประสงค์ที่คล้ายกันใช่ไหม เพียงแต่ยกฐานะศักดิ์ขึ้นไป


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ก.พ. 12, 20:43
หากไม่มีไม้มาหยุดหรือปะ ก็จะเกิดความไม่งามทางสายตาได้ เช่นแบบนี้กระมังครับ... ภาพจาดวัดพระเชตุพนฯ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.พ. 12, 20:47
^
^
ใช่เลยครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.พ. 12, 20:55
ถามท่านตั้งหน่อย

อ้างถึง
ที่ผมสนใจเรื่องของหลังคาแบบไทยนั้น มันเริ่มตรงที่ว่า ทำไมเราเห็นรูปภาพบ้านเรือนต่างๆ เราจึงมักจะเดาได้ว่าเป็นของประเทศใด แน่นอนว่าลักษณะของบ้านและสถาปัตยกรรมจะเป็นองค์ประกอบที่ช่วยจำกัดสถานที่ และลักษณะของหลังคาก็เป็นองค์ประกอบช่วยบอกสภาพทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ หลังคาแบบไทยก็เป็นอย่างหนึ่งที่เราแทบจะบอกได้ในทันทีเลยว่าเป็นไทย ซึ่งก็แน่นอนว่าเรารู้ได้เพราะเราเป็นคนไทยที่ได้ซึมซาบความเหมือนและความต่างในรูปของ intellectual ซึ่งฝังอยู่ภายในสมองของเรา สำหรับคนไทยกันเองนั้น คนส่วนมากยังแทบจะบอกได้เลย (เมื่อเห็นรูปบ้านของไทยนั้น) ว่าอยู่ในภาคใหน บางครั้งยังแทบจะจำกัดพื้นที่ลงไปได้แคบกว่านั้น

บ้านหลังนี้เป็นแบบใด(ตามที่ท่านตั้งกล่าวมาข้างต้น)


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 25 ก.พ. 12, 21:59
(http://a6.sphotos.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-ash4/s720x720/396389_304299109631367_129323423795604_859966_111839547_n.jpg)




ถ้าเป็นส่วนประกอบของอาคารฐานันดร เช่น วัด, ปราสาท
เท่าที่ผมเห็นมาบ้าง 'เหงา' กับ 'หางหงส์' เป็นคนละอย่างกันครับ
เครื่องประกอบของอาคารฐานันดร กับ อาคารทั่วๆไป ต่างกันค่อนข้างมาก
เหงา คือ กนกตัวสุดท้ายที่อยู่ระหว่างหางหงส์กับใบระกาครับ

ตัวอย่างในภาพ มาจากธรรมาสน์ทรงศาลา ของวัดใหญ่สุวรรณาราม
ปัจจุบัน นำมาจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนครครับ
หางหงส์ในภาพ เป็นรูปหัวนาค คั่นด้วย 'เหงา' ที่เป็นกนกตัวเล็กๆ แล้วจึงจะเป็นใบระกาครับผม


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.พ. 12, 22:52
เอาตัวเหงามาให้ดูบ้างสนุกๆ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 12, 23:02
เหงาจริงๆด้วย    :)


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.พ. 12, 23:03

ถามท่านตั้งหน่อย
บ้านหลังนี้เป็นแบบใด(ตามที่ท่านตั้งกล่าวมาข้างต้น)

ตอบแบบฉันเกลอรักกันว่า เป็นแบบตามใจฉัน
และคำตอบจริงๆ คือ ไม่ทราบครับ รูปภาพนี้ เหมือนกับรถที่ถูกโมดิฟายรูปร่างแล้วถามว่าเป็นรถยี่ห้อใด

แต่พอจะวิเคราะห์ตามสภาพของปัญญาความรู้ทีพอจะมีได้ดังนี้ (ทนอ่านหน่อยนะครับ)

บ้านนี้เป็นบ้านในยุคใหม่ สร้างตามจินตนาการของเจ้าของ โดยเอาสิ่งที่คิดว่าดีมาผสมผสานกัน บ้านตั้งอยู่ในพื้นที่ราบรอนคลื่น (Undulating terrain) ใกล้พื้นที่ป่าเขา ซึ่งลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ในไทยลักษณะนี้น่าจะวางตัวอยู่ในแนวประมาณเหนือใต้ พื้นดินน่าจะเป็นพวกดินลูกรัง มีสภาพดินเป็นกรด ดินฐานแน่นหนา และอาจจะมีปลวกมาก (สภาพพื้นที่ในลักษณะนี้มักจะเป็นเช่นนั้น) เลยใช้เสาบ้านวางบนเสาตอหม้อสำเร็จแบบฐานแผ่ที่ขุดฝัง คงจะไม่ลึกเกินกว่า 50 ซม. เพื่อกันปลวก เสาคอนกรีตตอหม้อลักษณะสี่เหลี่ยมขนาดดังภาพนี้ ดูจะเป็นลักษณะประจำถิ่นของภาคเหนือ แต่ก็มีการทำขายโดยทั่วๆไปทั่วทุกภาคของไทย หากเป็นในภาคเหนือเสาคอนกรีตนี้มักจะโผล่เหนือผิวดินมากกว่านี้ ในภาคใต้คอนกรีตตอหม้อนี้มักจะอยู่เหนือผิวดินเล็กน้อย ไม่มาก ทั้งนี้ ของภาคใต้ดั้งเดิมนั้นก็มักจะทำเป็นรูปทรงกระบอกและวางเสาไม้เทินอยู่บนเสาคอนกรีตโดยไม่มีการบากและเชื้อมต่อขันด้วยน๊อต ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อทางศาสนา การเชื่อมต่อของคานบ้านระหว่างหัวเสาเป็นแบบสมัยใหม่ ไม่ลอกเลียนแบบจากลักษณะดั่งเดิมของภาคใด มีใต้ถุนสูงและค่อนข้างจะสูงมากตามแบบฉบับบ้านในที่ราบลุ่มอยุธยา ลักษณะบันใดเป็นแบบบ้านทรงไทย มีที่นั่งพักพิงบนชานบ้านแบบทรงไทย หลังคาเอาแบบของศาลาวัดมาทำ ด้านซ้ายมือของภาพดูจะเป็นเรือนหลังคาจาก (น่าจะมุงด้วยหญ้าคา) พื้นติดดิน (ใช้พื้นดินเป็นพื้นบ้าน) ฝาผนังอาจจะเป็นไม้ไผ่ขัด ซึ่งเป็นลักษณะประจำของเรือนชาวสวนในภาคกลางและคนถิ่นบางกลุ่มในภาคเหนือ มีต้นมะพร้าวและต้นกล้วย ใบกล้วยดูจะแตกเป็นริ้วๆ แสดงว่ามีลมแรง แต่น่าจะอยู่ในพื้นที่ๆที่ฝนตกไม่รุนแรง (ในเชิงของปริมาณต่อเวลา) ซึ่งดูจะสอดคล้องกับหลังคาซึ่งเป็นวัสดุหนักซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นกระเบื้องปูนทรงข้าวหลามตัด ต้นมะพร้าวอาจจะบ่งบอกว่าไม่อยู่ในพื้นที่สูงกว่าระดับนำ้ทะเลมากนัก หากเป็นบ้านคนทั่วไป ใต้ถุนบ้านจะถูกใช้ประโยชน์มากกว่านี้ อาจจะใช้เพื่อเก็บรถและมอเตอร์ไซด์ ในภาพนี้เป็นแผ่นลานคอนกรีตอยู่หน่อยนึง ห้องหับไม่ใหญ่ หน้าต่างและ ฯลฯ

คราวนี้ก็จะขอตอบอย่างตาบอดว่า น่าจะเป็นลักษณะของกุฏิสงฆ์ ของสำนักสงฆ์แห่งใดแห่งหนึ่ง น่าจะอยู่ในภาคใต้ และก็น่าจะเป็นแถบๆหลังสวน ชุมพร หรือไม่ก็ต้องไปในภาคเหนือเลย แถวๆเขตน่าน-พะเยา หากจะเป็นแถวภาคกลางก็น่าจะอยู่แถบตั้งแต่ย่านชิดชายเทือกเขาตะนาวศรีจากราชบุรีไปจนประจวบ แล้วก็เป็นไปได้ที่จะอยู่นอกเขตประเทศไทยทั้งในเขมร ลาว และพม่า (ตำ่กว่าเส้นขนานที่ 15 ลงมา)

ท่านผู้อ่านทั้งหลายอย่าได้คิดอะไรมากเลยนะครับ จะผิดถูกอย่างไรนั้นไม่สำคัญ พิจารณาเพียงเพื่อได้เห็นความคิดเห็นในมุมต่างของสาขาวิชาชีพและองค์ความรู้ต่างๆ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นคุณประโยชน์มากกว่าจะเป็นโทษ  

     




กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.พ. 12, 23:26
โอ้ อื้อ ฮือ ท่านตั้งตอบเสียยาว

ผมเพียงอยากจะเฉลยว่า เป็นบ้านในเวียตนามครับ

คือเรามักจะคิดว่าบ้านคนญวนน่าจะได้รับอิทธิพลจากจีน ดังเช่นบ้านแบบฉบับในเวียตนามอีกหลังหนึ่งตามภาพนี้ แต่ไม่ใช่


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.พ. 12, 23:36
ว่าแล้วเชียว ต้องผิดถนัดเลย

ถามต่ออีกหน่อยว่า เวียดนามแถบใหนครับ เหนือใต้? ใกล้ลาว? ใกล้จีน? ใกล้ไทย?  อยากทราบเป้นข้อมูลครับ
เคยเห็นแต่บ้านเรือนวัดวาอารามของเวียดนามมักจะอยู่ติดพื้นดิน แต่ไม่เคยเห็นพวกที่อยู่ในชนบทจริงๆสักครั้ง


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.พ. 12, 07:59
ในหนังสือที่ผมก๊อปมา(Oriental Design) เขาบอกว่าเป็นVietnamese Houseเฉยๆ ไม่ได้บรรยายอะไร

คือ..มันบอกยากน่ะครับว่าบ้านไม้ใต้ถุนสูงแต่ละรูป เป็นของชาติไหน นอกจากจะเห็นเอกลักษณ์แรงๆที่เด่นชัด เช่นหลังคาของไทย หลังคาของอินโด เป็นต้น

ลองดูภาพที่ผมใช้คำว่า Traditional ......  Houses ค้นหามาประกอบ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 12, 10:36
คุณตั้งและคุณนวรัตนคงจำบ้านหลังคาซ้อนหลายชั้นหลังนี้ได้   น่าจะเคยเข้าไปเยือนหลายครั้งแล้วด้วยซ้ำ   
ว่าอยู่ในประเทศไหน


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.พ. 12, 10:53
ตอนเป็นวัยรุ่นเคยเข้าไปหลายครั้งเหมือนกัน ตื่นตาตื่นใจมาก เป็นอิทธิพลที่ทำให้ชอบบ้านไม้ใต้ถุนสูง แต่บ้านปาร์คนายเลิศมีคุณลักษณะเด่นหลายอย่างยากที่จะนำมาใช้บ้างครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 12, 11:37
เรือนไทยใต้ถุนสูง เหมาะมากสำหรับยุคปัจจุบัน  ที่ได้ข่าวว่าน้องน้ำจะมาตามหาพี่กรุงอีกแล้ว


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 26 ก.พ. 12, 19:53
ปีที่แล้ว เรือนใต้ถุนสูงบางแห่งก็ยังไม่พ้นค่ะ อาจารย์ น้ำมันมามากเกิน
ถนนบางแห่งยกสูงจนเกือบถึงหลังคาบ้าน น้ำก็มาท่วมถนน แล้วใต้ถุนเรือนจะเหลืออะไร


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 12, 20:04
จริงค่ะ  :'(  :'(  :'(


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 12, 20:12
เอามาให้คุณตั้ง (หรือท่านอื่นๆจะร่วมวงทายก็ไม่ขัดข้อง)  ว่าหลังคาแบบนี้ อยู่ประเทศไหน


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.พ. 12, 17:47
เอามาให้คุณตั้ง (หรือท่านอื่นๆจะร่วมวงทายก็ไม่ขัดข้อง)  ว่าหลังคาแบบนี้ อยู่ประเทศไหน

ก็คงจะเดาผิดเช่นเดิมนะครับ
แต่ก็จะขอตอบไปตามประสาคนไม่ชอบอยู่นิ่งๆ โดยจะวิเคราะห์เสียก่อนไปตามสภาพของความรู้อันน้อยนิดที่มี
เป็นบ้านที่ออกแบบโดยสถาปนิก ที่ออกรูปทรงทั้งอาคารในแนว contemporary architecture ??? (แหย่เืพื่อจะได้ถูกวิจารณ์ จะได้ๆความรู้เพิ่ม) แต่ก็ยังคำนึงถึงเรื่องของสภาพภูมิอากาศอยู่บ้าง หรือยังยึดถือหลักการองศาความลาดเอียงของหลังคาที่ควรจะเป็น มีรั้วรอบขอบชิดและมีทับหลังตลอดแนวรั้ว เนื้อที่คงจะไม่กว้างมากนัก อาจะอยู่แถวๆไม่เกิน 100+ ตารางวา ต้องถมที่เพื่อปรับระดับและภูิิมิทัศน์ ต้นไม้ใหญ่ที่ปลูก เป็นลักษณะขุดตัดรากแก้วแล้วยกมาปลูก ดูจะมีกอไม้หน่อพวกต้นข่า (ข่าแดง ???) หรือเบิร์ด ปลูกอยู่มุมรั้วบ้าน ต้นไม้ที่เห็นอาจจะเป็นต้นเตยป่า ??? ส่วนอีกสองต้นใกล้บ้านน่าจะเป็นลั่นทม ต้นหลังบ้านอาจะเป็นมะค่าโมงหรือยาง ??? มีใบของต้นไม้ใหญ่ห้อยย้อยลงมาในรูป น่าจะเป็นต้นไม้ในกลุ่ม lecgum คือตระกูลที่มีฝัก หลังบ้านนอกรั้วมีต้นกล้วย และทรงใหดำที่วางอยู่หน้าบ้าน พอนะครับ สนุกสนานพอสมควร
ลักษณะของจำนวนพื้นที่ แนวคิดเรื่องรั้วรอบขอบชิด ต้นไม้ต่างๆทั้งในรั้วและนอกรั้ว การลงทุน และสิ่งแวดล้อมนอกรั้ว การไม่เห็นโรงรถมีแต่ลานจอด
ผมคิดว่าน่าจะเป็นบ้านที่สองในต่างจังหวัด ลักษณะหลังคาดูจะพยายามให้กลมกลือนไปกับวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะในภาคเหนือ ก็ขอหาญที่จะเดาว่า อยู่ในประเทศไทย และคิดว่าอยู่ในภาคเหนือตอนบน คิดว่าไม่อยู่ในต่างประเทศ

จะผิดถูกอย่างไรไม่ทราบ หากผิดและได้รับคำวิเคราะห์และอธิบายประกอบก็จะกลายเป็นที่มาของปัญญาเพื้อให้เกิดความรู้ครับ 



   


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.พ. 12, 19:29
ย้อนอ่านข้อมูลและความรู้ที่มีอยู่ในกระทู้แล้ว
ดูเหมือนว่าพอพูดถึงไทย บ้านไทยและหลังคาแบบไทย ทั้งหลายจะถูกจำกัดวงให้แคบอยู่เฉพาะในภาคกลาง และโดยเฉพาะแบบอยุธยาเสียด้วย แท้จริงแล้วเรามีภาคอื่นๆอีก แต่ละไว้ที่จะไม่นิยมกล่าวถึงกัน
แน่นอนว่าอาคารบ้านเรือนและหลังคาแบบไทยมีการพัฒนาไปตามยุคสมัยและตามอิทธิพลที่ได้รับ ผมสงสัยอยู่ว่าเราไม่เหลืออะไรที่คงไว้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันบ้างหรือ ทั้งในเชิงความเชื่อ โครงสร้าง สี หลังคา และรูปทรง ฯลฯ หรือเป็นเพราะผมไม่ใช่สถาปนิกเลยไม่ทราบ เอกสารไทยก็หายากแถมแพงอีก และที่ปรากฎอยู่ในที่สาธารณะก็ไม่ค่อยจะมี ส่วนมากก็จะเป็นในเรื่องของภาพความสวยงาม แล้วไปคิดเอาเองต่อไป มากกว่าที่จะเล่าปรัชญา ความเชื่อ ความคิด ความจำเป็น และเอกลักษณ์ในสิ่งนั้นๆ 
ที่ผมเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ยังพอจะรักษาแบบไทย เท่าที่พอที่จะจับได้ ส่วนมากก็จะเป็นอาคารทางราชการ ที่สร้างในยุค พ.ศ. 2500+ ซึ่งแบบที่ยังคงรอดอยู่ในปัจจุบัน (เท่าที่นึกออก) ก็พวกอาคารโรงเรียน ศาลากลาง ที่ว่าการอำเภอ และล่าสุดดูจะเป็นอาคารของ อบต. ซึ่งแม้จะดูกระด้างๆก็ยังดูดี
พอเข้ายุคปลายสงครามเวียดนาม ดูเหมือนว่าอาคารต่างๆของไทยและบ้านเรือนก็เปลี่ยนไปหมด บ้านทรงสเปนที่เราเรียกกันดูจะเป็นที่ฮิตในยุคนั้นแล้วก็พัฒนาต่อมาจนเป็นสภาพที่เห็นในปัจจุบันนี้ แล้วก็ยังไม่เห็นในลักษณะที่ปลีกความคิดออกไปอย่าง Frank Lloyd Wright บ้าง (ไม่ใช่ทำตามนะครับ)
ที่เห็นมาในหลายประเทศ เขายังพยายามรักษาลักษณะบางประการ (แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิด) เอาไว้ ไม่ใช่ norm แต่ทำกันมาก เช่น ทรงหน้าต่าง ทรงช่องลม ลักษณะลวดลายของช่องลม การใช้ผนังบ้านเป็นรั้ว กระเบื้องมุงหลังคา ฯลฯ
แน่นอนว่าในปัจจุบันนี้บ้านของไทยมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น เนื้อที่ปลูกสร้าง ไม่ 20 30 ก็ 50 60 ตารางวา พวก 80 100 และกว่านั้นก็จะเป็นพวกมีฐานะดี ต่างจากในสมัยโบราณที่มีพื้นที่กว้างโล่ง เราจะเอาอะไรที่เป็นไทย (ได้บ้าง) ใส่ไว้ในพื้นที่บ้านเรือนขนาดที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันนี้ได้มากน้อยเพียงใด โดยพึ่งพาอาศัยเทคโนโลยีด้านการอำนวยความสะดวกสะบายได้มากที่สุด
ผมยังจำภาพเขียนล้อของฝรั่ง (นานมาแล้ว) ว่าภาพติดตาจากความทรงจำที่เด่นชัดเมื่อมาเมืองไทยคือ อาคารบ้านเรือนที่เห็นตามถนนหนทางต่างๆเป็นทรง Box work

บ่นมานาน คิดอย่างไรก็กล่าวไปอย่างนั้นนะครับ คงจะกระทุ้งความเห็นทั้ง pro และ con ในลักษณะที่ไม่ใช่กำปั้นทุนทุบดิน แรงบ้างไม่แรงบ้างอันเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่าน
       


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.พ. 12, 21:02
อึ๊ ฮือออ โอ่ะ โฮ (เชิญคุณเพ็ญตามถนัดเลยครับ)
พี่ท่าน

เยี่ยมมมมมม


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.พ. 12, 21:49
ขออภัยท่านนวรัตน์ด้วย  ;D
มิบังอาจคิดว่าเป็นความคิดความเห็นที่ถูกหรอกครับ รู้มาตั้งแต่ต้นแล้วว่าไม่เข้าท่าครับ
ก็แหย่ให้ท่านออกมากระจายความรู้และประสบการณ์ที่ท่านมี เท่านั้นเองแหละครับ



กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.พ. 12, 06:22
ท่านตั้งเป็นมากกว่านักธรณีวิทยา เพราะสามารถวิเคราะห์เลยจากใต้ดินขึ้นมาแยกธาตุสิ่งที่สูงพ้นพื้นดินขึ้นไปได้ด้วย นับเป็นความสามารถยากที่จะเลียนแบบ

รูปที่ท่านอาจารย์ใหญ่มาให้ทาย เป็นสถาปัตยกรรมปัจจุบัน ที่ผมเอาภาพสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมที่แต่ละชาติมาให้ดูเทียบเคียง ก็เพื่อจะบอกว่า ในบรรดาชาติเพื่อนบ้าน บ้านมันจะดูคล้ายๆกันไปหมด ถ้าไม่มีเอกลักษณ์ประจำชาติอย่างโดดเด่นแล้ว จะทายยากมาก ยิ่งถ้าเป็นบ้านที่เป็นแบบร่วมสมัยแล้ว ยิ่งยากเข้าไปใหญ่

แต่ถ้าถูกบังคับให้ทาย ผมก็ไม่มีปัญญาวิเคราะห์แบบยากๆเหมือนท่านตั้ง ผมดูที่ง่ายๆก็ติดปัญหาแล้ว เช่นวัสดุมุงหลังคาดูเป็นว้สดุธรรมชาติที่หากติดไฟได้ เมืองไทยมีข้อบัญญัติที่ห้ามใช้(นอกจากบ้านที่สร้างนอกเขตพ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้าง) ทว่าถ้าสร้างตามบ้านนอกไกลๆ ทำไมรอบรั้วขอบเขตดูเหมือนจะเล็กๆแบบบ้านในเมืองที่ที่ดินแพงๆ หากมีเงินสร้างบ้านอย่างนี้ในบ้านนอกก็น่าจะหาที่ดินผืนใหญ่ๆได้ไม่ยาก

ส่วนการตกแต่งสนามนั้น ไทยๆมากเลยครับ โดยเฉพาะลั่นทมที่เอาตอมาปลูกใหม่กับไหเซรามิกนั่น รั้วก่ออิฐนั่นก็เหมือนกัน

จบแบบนี้แปลว่ารอคำเฉลยดีกว่า



กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.พ. 12, 09:36
ครั้งหนึ่งคุณปัญจมากับดิฉันเคยสนทนากันเรื่องเอกลักษณ์       เธอเอ่ยขึ้นมาว่าเวลาไปเมืองต่างๆในหลายประเทศก็มองเห็นเอกลักษณ์ของบ้าน อย่างที่เห็นปุ๊บก็รู้ว่า นี่บ้านในอังกฤษ   นี่บ้านในเยอรมัน  นี่บ้านในบาหลี    บ้านบาหลีจะไม่ไปตั้งเป็นสง่าอยู่ในอังกฤษ  และบ้านแบบอินเดียก็จะไม่ไปตั้งอยู่ในฝรั่งเศส     แต่ในกรุงเทพและปริมณฑลของเรานี่  มีบ้านทุกชนิด   ยกเว้นอย่างเดียวคือบ้านไทย  ไม่รู้จะไปมองหาที่หมู่บ้านไหน
หลังจากคุณปัญจมาตั้งข้อสังเกต   เวลาไปชานเมืองดิฉันก็มองตามหมู่บ้านจัดสรรที่ผ่านตา  เพื่อมองหาว่าหมู่บ้านไหนมีอะไรที่เราพอจะบอกได้ว่า...อ้อ นี่บ้านเมืองไทย ไปหาจากที่ไหนไม่มีอีกในโลกนอกจากเมืองไทยของเรา      นอกจากหมู่บ้านจัดสรรแล้วก็มองหาตามบ้านเดี่ยวอีกด้วย   
ผลคือจนบัดนี้ หลายปีแล้วยังไม่เจอ   เพราะบ้านที่สร้างใหม่ๆตอนนี้  มันไม่มีอะไรที่ชัดเจนพอจะเห็นปุ๊บบอกปั๊บได้ว่านี่ไทยนะจ๊ะ  ไม่ใช่จีน ไม่ใช่มาเลย์ ฟิลิปปินส์ อินโด ไต้หวัน กัมพูชาหรือลาว     ถ้าจะมองบ้านไทยภาคกลางจริงๆที่เห็นก็รู้ว่าไทย   ต้องย้อนหลังไปสัก 150 ปี สมัยเรายังอยู่บ้านไม้ใต้ถุนสูงริมแม่น้ำ   ก่อนที่อิทธิพลตะวันตกจะพาบ้านสองชั้นเข้ามาในไทย

ร่ายยาวมาเพื่อจะปูพื้นเข้าสู่คำตอบว่า  หลังจากนั้นดิฉันก็ได้พบสัจธรรมว่าโลกของการสื่อสารไร้พรมแดนทำให้ที่อยู่อาศัยของเราก็พลอยไร้พรมแดนไปด้วย  บ้านสร้างใหม่ๆ ดูจะออกมาเป็นแบบแผนคล้ายคลึงกันไปหมด คือสร้างยังไงก็ได้ให้ทันสมัยแบบฝรั่ง - ออกอเมริกันมากกว่ายุโรป    นับแต่แอร์คอนดิชั่นเข้ามากำกับชีวิตในบ้านให้เย็นเจี๊ยบ แม้นอกบ้านออกไปแค่สนามจะร้อนปานไฟเผา    บ้านก็สร้างให้เหมาะกับแอร์   ไม่ต้องสร้างให้เหมาะสมกับภูมิอากาศอีกต่อไป     
บ้านในรูปที่นำมาเสนอ  จึงสร้างด้วยกระจกทั้งหลังในเมืองร้อน   ซึ่งท่านตั้งและท่านนวรัตนและอีกหลายๆท่านที่เข้ามาอ่านก็คงนึกภาพออกว่า  ถ้าเราก้าวเข้าไปนั่งในรถยนต์ที่ปิดกระจกจอดทิ้งมาหลายชั่วโมงกลางแดด    ตัวเราก็จะกลายเป็นไก่ย่างห้าดาวไปโดยง่าย   บ้านในเมืองหนาวสร้างด้วยกระจกเพื่อรับแดดอุ่น เพราะเขาหนาวเย็นตลอดปี   แต่บ้านในเมืองร้อนอย่างบ้านนี้สร้างเพื่อให้แอร์ต่อสู้ชิงชัยกับไอแดด    มันจึงเป็นบ้านที่อยู่ในเมืองร้อนที่ไหนก็ได้   ไม่ขึ้นกับภูมิประเทศ  ส่วนการตกแต่ง ก็ออกมาในแนวอินเตอร์ ไม่ได้เน้นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น
บ้านหลังนี้อยู่ในอินโดนีเซียค่ะ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.พ. 12, 17:20
อินโดนีเซียเป็นชาติหนึ่งที่ยอมให้ใช้หลังคาวัสดุธรรมชาติได้ แม้กระทั่งโรงแรมห้าดาว เอกลักษณ์ของบาหลีจึงมีเสน่ห์กว่าใคร


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.พ. 12, 19:04
ว่าแล้วเชียวว่าต้องผิด เดิมก็จะเดาว่าอินโด เพราะติดใจเรื่องของโทนสีแล้วก็ลักษณะของจิตใต้สำนึกเกี่ยวกับหิน ไม่คิดเดาไปทางนั้นเพราะต้นไม้ต้นเดียวจริงๆ คือต้นที่ปลูกอยู่หลังบ้าน ลักษณะเหมือนกับที่ผู้มีอันจะกินของไทยนิยมกัน ซึ่งแท้จริงแล้วก็คงมิใช่เป็นเรื่องของลักษณะพิเศษใดๆ ก็อย่างที่คุณเทาชมพูว่าไว้ครับ ในโลกไร้พรมแดนนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ มันเป็นเรื่องของการเลือกที่จะทำในความสมดุลย์ของเรื่องของค่าของความมั่งคั่งกับจิตใต้สำนึก
 
คุณเนาวรัตน์พูดถูกที่บอกว่า คนไทยที่มีเงินมากพอที่จะสร้างบ้านแบบนี้ คงมีเงินมากพอที่จะมีที่กว้างกว่านี้ และวัสดุทำหลังคานั้นมีข้อกำหนดตัวบทกฏหมายห้ามไว้ อย่างไรก็ตาม บ้านที่สร้างในชุมชนชนบทของไทยส่วนมาก หรือเกือบจะทั้งหมดดูจะไม่ต้องขออนุญาตและมีการตรวจแบบจากหน่วยงานใด อีกประการหนึ่งก็เคยเห็นบ้านของคนท้องถิ่นที่ได้มาเรียนและทำงานในกรุงเทพฯ กลับไปปลูกบ้านแบบ modern ในที่ดินของตนเอง ออกแบบเองทั้งรูปทรงและหลังคา

ชักใจเหี่ยวแล้วครับ หวังว่าจะได้พบข้อมูลว่ามีอะไรคงเหลือบ้างที่จะบอกได้ว่าเป็นบ้านไทยบ้าง แทบจะไม่มีเอาเสียเลย คงจะยกเว้นบอกได้แต่เพียงว่าบ้านนี้คนไทยอยู่

 


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 28 ก.พ. 12, 19:23
ปั้นลม คือ ไม้วางทับบนเชิงชายทาบทับปลายแปหัวเสาทับหลังแปลานไปวางอยู่เหนืออกไก่ทั้งสองข้าง
ทำให้เกิดเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายบนของปั้นลมแหลม หลังปั้นลมถากอ่อนช้อยลงมาถึงปลายที่วางอยู่บนเชิงชาย ทำเป็นรูปคล้ายหางหงส์ เรียกส่วนนี้ว่า " ตัวเหงา"
หน้าที่ปั้นลม ป้องกันลมพัดหัวจากหรือแฝกปิดบังหัวจาก ซึ่งไม่น่าดู และเสริมสร้างความงามของหลังคาทรงสูง
ปั้นลมและตัวเหงา เป็นองค์ประกอบสำคัญที่แสดง "เน้นลักษณะเรือนไทยอย่างรุนแรง"
จากหนังสือ "บ้านไทยภาคกลาง" โดย ศาสตราจารย์ พล.ร.ต. สมภพ ภิรมย์ ร.น.,ราชบัณฑิต

ของคุณมากครับ สำหรับข้อมูลนี้และที่อยู่ในความเห็นของคุณ POJA ต่อๆมา
เรื่องปั้นลมนี้ ผมเกือบจะเขียนถามออกมาแล้วว่า เป็นเอกลักษณ์หรือไม่ ก็พอดีได้คำตอบ




สำหรับเรื่องของคำว่า เรือน และคำว่า บ้าน นั้น อ่านแล้วทำให้นึกถึงความหมายที่ลึกซึ้งของคำว่า House และ Home ในความเข้าใจของฝรั่ง
ฝรั่งเขาว่า A house is a home without love ซึ่งดูจะเป็นการแยกระหว่างที่พักพิง (house) กับภูมิลำเนา (home)

Would you like to come to my house ? หมายถึงมาที่พักของผม (มีแต่ผมอาศัยอยู่) แต่หากลงท้ายด้วย my home หมายถึงจะได้พบกับสมาชิกของครอบครัวของผมด้วย

ในทำนองเดียวกันก็ดูจะมีการใช้คำว่า house plan หรือ house design ในความหมายที่ค่อนข้างจะจำกัดเฉพาะการออกแบบบ้านในเชิงของ conceptual แต่หากใช้คำว่า home plan หรือ home design ดูจะมีความหมายกว้างไกลครอบคลุมถึงวิถีการใช้ชีวิตในลักษณะต่างๆด้วย เรียกได้ว่าเป็นการออกแบบที่คำนึงถึงทุกอย่างว่าจะต้องมี functionality สำหรับความเป็นอยู่อย่างสุขสบายอย่างครอบครัว จึงมักจะได้ยินคำว่า cottage house มากกว่า cottage home เป็นต้น
ก้าวล่วงเข้าไปในดงสถาปนิกแล้ว ขอคาระวะและขออภัยหากข้าน้อยล่วงเกินก็ด้วยเบาปัญญา     

 
จากคำบรรยายของท่าน ศ.พล.ร.ต. สมภพ ภิรมย์ ร.น. และของท่าน อ.ศรีศักร วัลลิโภดม นั้น ผมอาจหาญเดาเอาเองว่า เรือน ดูจะมีความหมายในตรงกับลักษณะที่เป็นตัวสิ่งก่อสร้าง (คือ house) ในขณะที่บ้าน ดูจะหมายถึง home (มีญาติอยู่กันเป็นครอบครัว)

   






นึกถึงประโยคหนึ่งที่ผมชอบมาก
A house is made of brick and stone, but a home is made of love alone
 :)


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 28 ก.พ. 12, 19:26
ฝากคำกลอนฝรั่งให้คุณ naitang ครับ เป็นกลอนที่ท่องเมื่อเด็ก ๆ ยังจำได้ดีครับ จึงนำมาฝากให้ครับ  ;D

"A House is made of brick and stone, But Home is made of LOVE alone"

ต้องกราบขออภัยด้วยครับ เพราะเพิ่งเห็นคอมเม้นต์นี้หลังจากที่โพสต์ไปแล้ว
 :'( :'( :'(


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 28 ก.พ. 12, 19:38
เหงาจริงๆด้วย    :)

รูปสุดท้ายบางท่านเรียกว่า "เหงาจัด" ครับ
 :(


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.พ. 12, 19:40
ขอนำเพลงเกี่ยวกับ home ที่แพร่หลายที่สุดในโลก  คือเพลง Home, Sweet Home  เข้ามากล่อมในกระทู้
ประโยคที่จับใจที่สุดของเพลง คือ There's no place like home. ไม่มีที่ไหนในโลกที่เหมือนบ้านของเรา

Mid pleasures and palaces
Though we may roam,
Be it ever so humble,
There's no place like home.
A charm from the skies
Seems to hallow us there,
Which seek thro' the world,
Is ne'er met with elsewhere.
Home, home, sweet sweet home,
There's no place like home,
There's no place like home.

I gaze on the moon
As I tread the drear wild,
And feel that my mother
Now thinks of her child;
As she looks on that moon
From our own cottage door,
Thro' the woodbine whose fragrance
Shall cheer me no more.
Home, home, sweet sweet home,
There's no place like home,
There's no place like home.

An exile from home,
Splendor dazzles in vain,
Oh, give me my lowly
Thatched cottage again;
The birds singing gaily,
That came at my call:
Give me them and that
Peace of mind, dearer than all.
Home, home, sweet sweet home,
There's no place like home,
There's no place like home.

http://www.youtube.com/watch?v=eB7PVkf-37g&feature=related


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 28 ก.พ. 12, 19:48
ขอนำเพลงเกี่ยวกับ home ที่แพร่หลายที่สุดในโลก  คือเพลง Home, Sweet Home  เข้ามากล่อมในกระทู้
ประโยคที่จับใจที่สุดของเพลง คือ There's no place like home. ไม่มีที่ไหนในโลกที่เหมือนบ้านของเรา

Mid pleasures and palaces
Though we may roam,
Be it ever so humble,
There's no place like home.
A charm from the skies
Seems to hallow us there,
Which seek thro' the world,
Is ne'er met with elsewhere.
Home, home, sweet sweet home,
There's no place like home,
There's no place like home.

I gaze on the moon
As I tread the drear wild,
And feel that my mother
Now thinks of her child;
As she looks on that moon
From our own cottage door,
Thro' the woodbine whose fragrance
Shall cheer me no more.
Home, home, sweet sweet home,
There's no place like home,
There's no place like home.

An exile from home,
Splendor dazzles in vain,
Oh, give me my lowly
Thatched cottage again;
The birds singing gaily,
That came at my call:
Give me them and that
Peace of mind, dearer than all.
Home, home, sweet sweet home,
There's no place like home,
There's no place like home.

http://www.youtube.com/watch?v=eB7PVkf-37g&feature=related

ทำนองเพลงเหมือนเพลงโบสถ์ของคริสตังค์คาทอลิคครับแต่จำไม่ได้ว่าชื่อเพลงอะไร


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 28 ก.พ. 12, 19:53
ผมขอต่อด้วยเพลงดังของ Sadao Watanabe

เพลง    WHEN WE MAKE A HOME

.>>>
( A lovely home...hoo..hoo)
When we make a home,
when our love has gronw
when all our apprehensions fade,
and we can say forever.
When we share our dreams,
everything we own
we'll build a life together,
when we make a home.
Safe and warm,(safe and worm)
We sheltered from the storm
(so happy together)
When we make a home together,love
will last forever.
Now, our love is young,(hoo..hoo)
facing the unknown (forever more)
but we'll find joy together,
when we make a home.
Solo...
( A lovely home...hoo..hoo)
When our hearts are one,
Though our minds are two
when we can cherish everyday,
And fill our lives with laughter.
We will dance and sing,
in the setting sun
we're make a home together,
when our hearts are one.
Safe and warm, (safe and warm)
we sheltered from the storm
(so happy together)
When we make a home together,love
will last forever.
Now, our love is young,(hoo..hoo)
facing the unknown (forever more)
but we'll find joy together,
when we make a home.
Safe and warm,(safe and warm)
we sheltered from the storm
(so happy together)
When we make a home together,love
will last forever.
Now, our love is young,(hoo..hoo)
facing the unknown (forever more)
but we'll find joy together,
when we make a home.


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.พ. 12, 19:54
เหงาจริงๆด้วย    :)

รูปสุดท้ายบางท่านเรียกว่า "เหงาจัด" ครับ
 :(

เอา "เหงา" มาโชว์บ้างค่ะ  ;D


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 28 ก.พ. 12, 20:00
หาเพลงมาช่วยสร้างบรรยากาศครับ
http://www.youtube.com/index?desktop_uri=%2F&gl=US#/home


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 28 ก.พ. 12, 20:02
โพสต์แล้วไม่ขึ้น
ต้องขออนุญาตโพสต์ใหม่ครับ

http://m.youtube.com/index?desktop_uri=%2F&gl=US#/home


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.พ. 12, 20:19

เคยเป็นเพลงโปรดของผมครับ

http://www.youtube.com/watch?v=TofEkPSlbRI


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.พ. 12, 20:48
ไหนๆก็ไหนๆ จะกลายจากหลังคาเป็นเพลง home แล้ว ก็ขอรำลึกความหลังด้วยเพลงนี้ค่ะ   เป็นเพลงที่เคยร้องในโรงเรียนตอนอยู่ม.ต้น     เรียนจบไปแล้วหลายปี  ค่อยกลับมาสงสัยว่าทำไมถึงถูกสอนให้ร้องเพลงคาวบอย     คงเป็นเพราะมีชั่วโมงร้องเพลงประสานเสียง  และเพลงนี้เป็นหนึ่งในเพลงประสานเสียงละมัง 

http://www.youtube.com/watch?v=wJJGikSD9ho&feature=related



กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.พ. 12, 20:52
ในสมัยที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศ (ในช่วงปี 2000) วันหนึ่งมีเด็กวัยรุ่น 3 คนมาพบ สองคนแต่ตัวเหมือนรูปในการ์ตูนพวกช่างทำนาฬิกากุ๊กกูของเยอรมัน กางเกงขาบาน เสื้อรัดตัว กระดุมเม็ดใหญ่ ใส่หมวก Top hat ทรงสูง มาพบเพื่อสนทนาและหาข้อมูล เขาบอกที่มาที่ไปว่า เขาได้รับทุนจากสมาคมอะไรสักอย่างของยุโรปที่เกี่ยวกับการสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เป็นระยะเวลาสามเดือน เป็นทุนให้กับเยาวชนที่สนใจที่จะยึดอาชีพในสาขาการสร้างอาคารบ้านเรือน (เชิงช่าง) มีให้ทุกๆปี ปีละ 1 ทุนเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับสามคน จำนวนเงินไม่มากพอที่จะใช้เที่ยวเตร่นอนโรงแรมแพงๆได้ ทุนอนุญาตให้เด็กเดินทางไปที่ใหนก็ได้ ไปกินอยู่หลับนอน คลุกคลีและทำงานกับช่างของท้องถิ่นต่างๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ไปเรียนรู้ภูมิปัญญาของท้องถิ่นต่างๆในเรื่องของการสร้างอาคารบ้านเรือน พร้อมๆไปกับการเผยแพร่และนำภูมิปัญญาของท้องถิ่นของตนไปเผยแพร่ด้วย เป็นลักษณะของการการเรียนรู้เข้าถึงด้วยการปฏิบัติ
เด็กสามคนนี้สนใจเมืองไทย สนใจในปรัชญาการทำงาน แนวคิด และวิธีการสร้างบ้านตามแบบวิถีชาวบ้านแบบไทย และโดยเฉพาะบ้านแบบไทยๆที่ชาวบ้านและคนถิ่นเขาอยู่กัน ไม่ใช่บ้่านแบบสมัยใหม่ที่เขาออกแบบและก่อสร้างกันด้วยเทคโนโลยีพร้อมสรรพ เขาถามว่าควรจะไปกินอยู่หลับนอนและร่วมทำงานกับช่างไทยที่ใดดี
ผมค้นหารูปภาพบ้านไทยของถิ่นต่างๆที่ดูเป็นปกติชาวบ้านให้เขาดูด้วยความยากลำบาก หนังสือเผยแพร่ในลักษณะที่เป็นอย่างทางการเท่าที่มีของส่วนราชการ ก็มีแต่ภาพของเรือนไทยภาคกลางเป็นหลัก เขาพยายามหาภาพรายละเอียดที่แสดงถึงเรื่องของภูมิปัญญา เช่น วิธีการเข้าลิ้นไม้ การต่อหัวเสา ฯลฯ จำได้ว่าไม่มี มีแต่ภาพรูปร่าง รูปทรง และความวิจิตรพิศดาร เขาถามผมในหลายเรื่องมากๆ ผมก็เลยต้องพยายามบอกว่ามันหน้าตามันเป็นอย่างไร ทำอย่างไร และคิดอย่างไร โดยไม่ปรุงแต่งและอวดรู้ เล่าจากประสบการณ์ที่เคยเห็น เคยดู เคยคุย เคยถามช่างเท่านั้น ไม่แสดงความคิดเห็นในเชิงวิชาการและปรัชญาประกอบ ด้วยทราบอยู่ว่าเราไม่รู้จริง
บอกเขาให้ติดต่อมหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องสถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยาม แต่สุดท้ายเขาเลือกที่จะลุยไปแสวงหาเอาเองตามถิ่นของสถาปัตยกรรมไทย

เด็กทั้งสามบอกว่า ทุนนี้มีมานานมากแล้ว และเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้ภูมิปัญญาของช่างในยุโรปมีอยู่ในระดับคล้ายๆกันและใกล้ๆกัน และทำให้มีการพัฒนาในเชิงภูมิปัญญาที่เหมาะสำหรับแต่ละถิ่น (local wisdom) ผมชอบปรัชญาความคิดนี้มาก ยังเคยคิดว่าไทยน่าจะนำมาทำบ้าง จะว่าไม่เคยเล่าให้ผู้เกี่ยวข้องฟังก็ไม่ใช่ แต่ดูจะไม่สนใจฟังและถูกเบรคเสียแต่แรกเล่าเรื่อง และสายตายังดูจะบอกด้วยว่าเป็นใครมาจากใหน

คิดว่าคงมีหลายท่านที่ทราบแนวคิดและปรัชญาในลักษณะนี้อยู่แล้ว และอาจเคยได้พบประสบด้วยตนเองอีกด้วย
  
ดูจะเป็นเรื่องเล่าที่ไม่เกี่ยวข้องกันกับกระทู้นี้ แต่เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งลึกๆที่ผลักดันให้ผมตั้งกระทู้ขึ้นมาเลียนแบบคุณ han_bing ครับ  


    


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.พ. 12, 21:09
อย่างนี้เขาเรียกว่าแยกซอยค่ะ  คือเลี้ยวออกจากถนนใหญ่แยกเข้าไปซอยไป  ตอนท้ายจะเลี้ยวกลับมาถนนสายเดิม  หรือว่าจะไปจบที่ถนนสายใหม่ก็แล้วแต่  ไม่ผิดกติกา



กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.พ. 12, 21:27
ก่อนจะลืมไปว่ากระทู้นี้คุยกันเรื่องหลังคา มาจนถึงบ้านเรือนแบบต่างๆ   ขอเอารูปที่เซฟไว้มาลงให้คุณตั้ง(และท่านอื่นๆด้วย) ดู   มองผ่านๆก็เหมือนเรือนไทย
แต่เอาเข้าจริง  ไม่ยักใช่   ไม่ใช่จริงๆด้วย   
ไม่มีคำถามแล้วค่ะว่าของประเทศไหน   รอฟังความเห็นอย่างเดียว


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.พ. 12, 22:30
กำลังเลี้ยวเข้าถนนเดิมแล้วนะครับ
ก่อนจะเข้าถนนใหญ่จริงๆ นึกออกอีกเพลงครับ Homeward Bound ของ Simon & Garfunkel ในหนังเรื่องอะไรนึกชื่อไม่ออก


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 29 ก.พ. 12, 11:44
อยากตอบท่าน อ.เทา แต่อยากฟังท่านตั๋งวิเคราะห์ก่อน

บรรยากาศแบบไทย ๆ ต้องอธิบายด้วยการ์ตูนแบบนี้กระมังคะ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 12, 12:21
กำลังเลี้ยวเข้าถนนเดิมแล้วนะครับ
ก่อนจะเข้าถนนใหญ่จริงๆ นึกออกอีกเพลงครับ Homeward Bound ของ Simon & Garfunkel ในหนังเรื่องอะไรนึกชื่อไม่ออก

เชิญฟื้นความหลังค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=RsTNxVtS4c8&feature=related


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 12, 12:22
อยากตอบท่าน อ.เทา แต่อยากฟังท่านตั๋งวิเคราะห์ก่อน

บรรยากาศแบบไทย ๆ ต้องอธิบายด้วยการ์ตูนแบบนี้กระมังคะ
เป็นแฟนการ์ตูนชัย ราชวัตร   อยากรู้จังค่ะ  ว่าหลวงปู่ตอบว่าอะไร


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 12, 12:46
กระทู้นี้ชักจะครึกครื้นด้วยเสียงเพลง  ;D
ขอแจมอีกสักเพลงเถอะค่ะ  ของนักร้องคนดังในยุค 1970s  ที่ทำให้โคโลราโดดังขึ้นมาอีกครั้งจากชื่อของเขา  John Denver
เพลง Country Roads(Take Me Home)

http://www.youtube.com/watch?v=oN86d0CdgHQ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 29 ก.พ. 12, 12:50
ให้ดูภาพเฉย ๆ ค่ะอาจารย์ ไม่มีนัยยะอะไรทั้งนั้น

เห็นคุณตั๋งเอ่ยถึงเรื่องเอกลักษณ์ไทยในการ์ตูน เลยนึกถึงคุณชัย ราชวัตร เพราะสามารถเขียนการ์ตูนแบบไทย ๆ ได้ดีมาก  ;D


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 29 ก.พ. 12, 16:09
ภาพเรือน ในคห.ที่ 103 ของอาจารย์เทาชมพู เป็นเรือนแบบ ตรังกานู ค่ะ.. ;D
ผนังเหนือหน้าต่างมีลายฉลุ และเป็นผนังในแนวตั้ง ต่างจากผนังเรือนไทย
เสาเรือนวางบนเสาซีเมนต์ และมีคานแทงทะลุเสาตรงใกล้ๆ ตีนเสา ซึ่งไม่พบในบ้านเรือนไทย
บันได ก็มีความแตกต่างจากบันไดของไทย ค่ะ  


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 12, 17:17
 ;D


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 12, 17:17
บันไดแบบตรังกานู


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ก.พ. 12, 17:34
ตรังกานูเคยอยู่ในพระราชอาณาจักรสยามมานาน

ศิลปสถาปัตยกรรมย่อมไหลถ่ายทอดกันไปมาได้
เรือนที่เห็นในภาพจะบอกว่าเป็นเรือนไทยก็ได้เลยครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 12, 18:03
^
จริงด้วยค่ะ  บทความที่ลงรูปเหล่านี้ถึงตั้งขื่อว่า
สถาปัตยกรรมปัตตานี: คู่แฝดเรือนไทย  เรือนตรังกานู (http://www.oknation.net/blog/sigree-architect/2012/02/17/entry-1)

ลักษณะเรือนตรังกานูที่แตกต่างจากเรือนไทยค่ะ 


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 12, 18:04
อีกรูปหนึ่ง


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.พ. 12, 19:36
รูปบ้านของคุณเทาชมพูได้เฉลยไปแล้ว แต่อ่านย้อนพบว่าคุณ POJA อยากจะฟังผมวิเคราะห์ (แบบผิดๆ) ได้เลยครับ

บ้านเหมือนทรงไทยภาคกลางแน่นอน ต่างกันมากๆที่เป็นบ้านทรงยาว ส่วนเสาที่มีไม้สอดตลอดเหมือนคานคอดินนั้น ผมเคยเห็นบ้านชาวเขาในภาคเหนือกระทำกัน จำไม่ได้แน่ว่าจะเป็นพวกใด แต่บ้านของเขาใต้ถุนเตี้ย พอดีๆกับความสูงของคนที่จะเดินลอดผ่านได้และไม่ใช่บ้านทรงนี้ ลักษณะราวลูกกรงที่เฉลียงบ้านมีทำกันในภาคเหนือเหมือนกัน ลวดลายการตีไม้ที่ฝาผนังบ้านดูแปลกๆไม่เหมือนที่นิยมทำกันของไทย คือเป็นทรงสี่เหลี่ยมสูงตั้งในระดับเดียวกันเรียงกัน ต่างกับของไทยที่มักจะเป็นทรงเหลี่ยมสลับสูงต่ำกัน ใต้จั่วหลังคาบ้านมีการตีฝ้าเพดานและยื่นยาวค่อนข้างมากกว่าบ้านไทย ปลายยอดของปั้นลมไม่แหลมเหมือนของไทย มีมู่ลี่แขวนอยู่รอบใต้ถุนบ้านซึ่งบ้านไทยไม่ทำกัน
ที่สะกิดใจให้แนวทางในการเดาก็คือ ลักษณะของตัวบ้านที่ยาว มีจำนวนเสาบ้านที่มาก ดูเหมือนว่าจะมีจำนวนที่เกินมากกว่าตามความเชื่อของไทย และเสาปูนที่รองรับมีรูปร่างเป็นลักษณะคอดกลางและมน คล้ายกับเสาวางอยู่ในเบ้า กระใดที่ไม่เป็นทรงตรง และทรงโค้งด้านบนของบานหน้าต่างมีทรงของแขก เหล่านี้ดูจะบอกว่าเป็นบ้านของคนที่เป็นอิลามทางใต้ และทราบจากคุณเทาชมพูแล้วว่าไม่อยู่ในไทย ฉะนั้นก็ไม่มะลายูก็อินโดแหละครับ

จะเดาอย่างนั้นจริงๆนะครับ

ก็พอจะสรุปได้ว่าบ้านทรงไทยนั้น ลักษณะจำเพาะคงจะจำกัดอยู่ที่ส่วนบนที่เป็นหลังคา และจะบอกได้ที่ลักษณะของปั้นลมเท่านั้น ??? สอดคล้องกับลักษณะเด่นที่คุณชัย ราชวัตร นักเขียนการ์ตูนล้อเลียนจับได้ 

แล้วลักษณะทรงสี่เหลี่ยมคางหมูของบ้านล่ะครับ (เสาโครงบ้านที่เอียงเข้าหากัน) เป็นลักษณะเด่นหรือลักษณะจำเพาะหรือเปล่า ???



กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 12, 20:10
เอารูปบ้านพื้นเมืองของตรังกานูมาฝากอีกค่ะ    คล้ายของไทยภาคกลางมากจริงๆ
รูปทางซ้าย เห็นเรือนหมู่นอกชานกว้าง  มีอีกหลังปลูกใกล้ๆ นึกถึงพระราชวังเดิมที่อัมพวา


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 12, 20:36
รูปซ้าย บ้านตรังกานูอีกแบบหนึ่ง  รูปขวา บ้านไทยที่อ.แม่จัน จ.เชียงราย


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 12, 10:31
หลังคาไทยอลังการงานสร้าง ในเว็บบอกว่าเป็นกุฏิเจ้าอาวาส วัดสังฆทาน นนทบุรี


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 01 มี.ค. 12, 11:01
เห็นภาพข้างบนนี้ แล้วอึ้ง
ไม่ได้เลี้ยวเข้าซอยไหนเลยนะคะ แต่ทางขาดค่ะ
ไปต่อไม่ถูกเลยทีเดียว

 :-[


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 12, 13:48
อ้าว เป็นงั้นไป


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 12, 13:50
กลับรถ  เลี้ยวเข้าซอยใหม่
พาไปดูเรือนไทยมุสลิมทางใต้ค่ะ  เขาบรรยายไว้ว่า หลังคาเป็นหลังคาทรงสูง มีความลาดชัน เพื่อให้น้ำฝนไหลผ่านโดยสะดวก โดยทั่วไปมี 3 แบบ คือ หลังคาจั่ว หลังคาปั้นหยา หลังคาจั่วมนิลา มีการต่อชายคาออกไปคลุมบันได เนื่องจากฝนตกชุกมากในบริเวณภาคใต้


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 12, 13:53
บ้านหลังคาปั้นหยา  ในบริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ พระราชวังสนามจันทร์   เป็นบ้านเก่าแก่ เข้าใจว่าเป็นเรือนมหาดเล็กหรือข้าราชบริพาร ปลูกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖   


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 12, 13:56
บ้านโบราณริมกว๊านพะเยา  หลังคาปั้นหยาผสมมะนิลา  ที่มีจั่วตรงหน้าบ้าน
บ้านนี้มีประวัติยาวเหยียด  ในเว็บ  http://phayaorath.net/vimon/?p=149

เป็นคฤหาสน์โบราณตั้งตระหง่านอยู่ริมกว๊านพะเยาด้านทิศตะวันออก เดิมเป็นบ้านของ “คุณหลวงศรีนครานุกุล” คหบดีเชื้อสายจีน นามสกุล “สุทธภักติ และแซ่เจียว”ที่มีชื่อเสียงในภาคเหนือ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการเขียนไว้ใน “สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์” ไว้ว่า “หัวหน้าชาวจีนก็ได้รับบรรดาศักดิ์ โดยได้รับยศเป็นพิเศษจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือเจ้านครของท้องถิ่นนั้น ในกรุงเทพฯ หัวหน้าชาวจีนมียศเป็นพระยา แต่ในหัวเมืองอื่นมียศเป็นชั้นพระ (เช่นโคราช) มียศหลวง (เช่นเชียงใหม่) หรือยศขุน (เช่นอุตรดิตถ์) ผู้เขียนโชคดีที่ได้สัมภาษณ์ จัน-ไฉ่-ชิง ที่ดูเหมือนจะเป็นคนจีนคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่เคยรับราชการเป็นหัวหน้าคนจีนในสยาม เขาได้รั้งตำแหน่งนี้ที่อุตรดิตถ์เป็นเวลาหลายปี ราว ค.ศ. ๑๙๐๒ (พ.ศ. ๒๔๔๕) และต่อมาได้เป็นนายอากรฝิ่นและสุราสำคัญในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ซึ่งที่นั่นเขายังใช้นามบรรดาศักดิ์ คือ หลวงศรีนครานุกุล ปัจจุบันนี้เขาใช้ชีวิตอยู่อย่างสุภาพบุรุษชาวไทย ลูกหลานเขาก็ถือว่าเป็นคนไทยมากกว่าคนจีน หลายเขาทั้งหมดมี ๓๐ คนล้วนเติบโตขึ้นอย่างเป็นคนไทยทั้งสิ้น..”

        ด้านสถาปัตยกรรมของบ้านหลังนี้เป็นรูปทรงปั้นหยา สองชั้น หลังคาหน้าจั่วมุงด้วย “แป้นเกร็ด” ที่ใช้กบไสผิวเรียบคล้ายกระเบื้องดินเผา ภายในจัดห้องนอนเป็นสัดส่วนสวยงาม ด้านหน้าชั้นสองเป็นห้องโถงโล่งมองเห็นกว๊านพะเยาได้ถนัด บันไดขึ้นชั้นสองเป็นรูปโค้งเรียงตัวพอเหมาะกับการเดินขึ้น ด้านหลังชั้นหนึ่งเป็นเรือนคนใช้คล้ายห้องแถวยาว โดยมีลานกว้างขั้นกลาง ประตูหน้าต่างแต่ละบานสลักสวยงาม ทุกบานมีช่องคอสองประดับด้วยกระจกลวดลายโบราณ ห่างออกไปด้านทิศตะวันตก มีเรือนชั้นเดียวรูปแบบด้านสถาปัตย์คล้ายกัน อยู่ท่ามกลางความร่มรื่นของต้นไม้โบราณขนาดใหญ่

         สร้างเมื่อปี ๒๔๖๕ บนเนื้อที่ประมาณ ๙ ไร่ โดยช่างชาวจีนเมืองเซียงไฮ้และช่างพื้นบ้านชาวพะเยา  เจ้าของสร้างไว้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและดูแลกิจการคือ การต้มสุราริมกว๊านพะเยา ได้ขุดบ่อน้ำริมแม่น้ำอิงที่ไหลผ่านหน้าบ้านเพื่อสูบมากลั่นที่โรงกลั่นภายในบ้าน กิจการนี้ทำร่วมกับเพื่อนคนจีนคนหนึ่ง ซึ่งสร้างบ้านรั้วติดกันคือ หลวงพิสิษฐ์ไกยากร

          สมัยนั้นเมืองพะเยาไม่มีโรงแรมสำหรับบุคคลสำคัญที่จะเดินทางมาพักหรือเดินทางไปจังหวัดเชียงราย จึงต้องมาพักที่บ้านหลังนี้ เช่น

             ๑. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระราชินี โดยสมเด็จพระสวัสดีบันทึกในสมุดเยี่ยมว่า “ล้นเกล้าล้นกระหม่อมพระบาทสมเด็จพระโพธิสัตว์ได้มาพักเสวยข้าวกลางวันพร้อมด้วยพระบาทบริจาริกา โอรสธิดาและบริพารที่นี่..”  (๖ กุมภ์ ๗๒)

               ๒. พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา  นายกรัฐมนตรี   รัฐมนตรีประทรวงต่างประเทศ     ผู้บัญชาการทหารบก บันทึกไว้ว่า “ได้มาพักอาศัยในบ้านนี้ ๑ คืน เวลากลับจากไปส่งรัฐธรรมนูญฉบับจำลองประจำจังหวัดเชียงรายได้รับการต้อนรับจากเจ้าของบ้านเป็นอย่างดี” (๒๘ พย. ๗๗)    และในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองพลที่ ๔ ในศึกเชียงตุง ของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ดัง พ.อ.จ. การียาเดชพิชัย ผบ.พล ๔ บันทึกไว้ว้า “ขอขอบคุณท่านเจ้าของบ้านเป็นอย่างมากที่ให้บ้านพักและเป็นที่ตั้ง บก. พล.๔ เป็นเวลานาน อำนวยความสะดวกให้ด้วยประการทั้งปวง ขอความสุขสวัสดิ์จงมีแก่ท่านและครอบครัวชั่วกาลนานเทอญ” (๘ ธค. ๘๕)

         ปัจจุบันบ้านหลังนี้อยู่ในการครองครองของนักธุรกิจโดยมีนายปิยะพงศ์  หอมวิเชียร เป็นหุ้นส่วนใหญ่และให้ผู้ประกอบอาชีพร้านค้าเมืองพะเยาเช่าเป็นร้านอาหาร


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 01 มี.ค. 12, 15:22
หลังคาวัดศรีรองเมือง ลำปางค่ะ  ;D


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 12, 15:35
หลังคาวัดสังฆทาน อีกครั้งค่ะ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 12, 15:53
รูปหน้าก่อนที่ว่าเป็นวัดราษฎร์ประคองธรรม บรรยายผิดไป ที่จริงเป็นวัดสังฆทานค่ะ
วัดราษฎร์ประคองธรรม มีหลังคาแบบนี้


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 01 มี.ค. 12, 16:05
ลองเดาเล่นๆ สิคะ ว่าวัดนี้อยู่ภาคไหนของไทย... ;D


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 มี.ค. 12, 19:24
ดูภาพต่างๆที่โพสมา ตั้งแต่เหนืออจรดใต้ ดูเหมือนว่าหลังคาบ้านในไทยจะหันหน้า้จั่วเข้าหาถนนทั้งนั้น ลักษณะนี้พบเลยเข้าไปในมาเลเซียและคงจะเลยไปถึงอินโดนีเซียอีกด้วย อย่างนั้นคงจะต้องคิดใหม่แล้วว่า ทิศทางการวางจั่วบ้านในเอเซียนั้นเหมือนๆกัน ยกเว้นจีน
ความแตกต่างที่เป็นลักษณะเด่นประจำของแต่ละถิ่นคงจะขึ้นอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์และสังคม ซึ่งความต่างที่พอจะใช้จำแนกได้อาจจะปรากฎให้เห็นในสองส่วน คือ ภาพในองค์รวมของสถาปัตยกรรมที่เป็นส่วนตัวบ้าน และข้อบ่งชี้บางประการที่จั่วบ้านและหน้าบรรณ
ผมจะกล่าวอย่างนี้ได้ใหมครับ ??? หรือยังไม่ได้อีก

เมื่อเช้านี้ได้ดูสารคดี มาเลเซียเขาย้ายบ้านเก่าทั้งหลังไปสร้่างใว้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่กัวลาลัมเปอร์ จำชื่อเมืองที่พบบ้านเก่าไม่ได้ แต่คิดว่าเป็นเมืองใกล้ชายแดนไทย เขาบอกว่าเป็นลักษณะของบ้านในสถาปัตยกรรมแบบมาเลย์ ก็เหมือนๆกับบ้านคหบดีในภาคใต้ของไทย ไทยก็มีการจัดทำในลักษณะนี้เหมือนกัน แต่ดูเหมือนจะแยกอยู่คนละแห่งหน และที่พบมาส่วนมากก็เป็นการสร้างจำลองขึ้นมาใหม่ และไม่มีรายละเอียดเชิงช่างของช่างฝีมือของช่างเดิมๆปรากฎ ประเด็นที่แย่คือ คนในท้องถิ่นเองยังแทบจะไม่รู้เลยว่า ในแถบที่อยู่ของตนมีบ้านใดที่ได้สร้างโดยมีภูมิปัญญาของท้องถิ่นบรรจุอยู่อย่างพร้อมมูล ฝ่ายรัฐและผู้รู้เองก็ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควรทั้งในเชิงการให้ความรู้และอนุรักษ์ ซึ่งผนวกไปอีกประการหนึ่งว่า คำว่าบ้่านไทยดูจะจำกัดอยู่แต่เฉพาะบ้านในภาคกลาง

บ้านแบบดั้งเดิมนั้น การดูแลรักษาแพงมาก ในหลายประเทศรัฐจึงเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนช่วยดูรักษาและให้อยู่ใช้ชีวิตประจำวัน แล้วช่วยโฆษณาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อจะได้มีรายได้ เป็นลักษณะของ Life Museum  ในญี่ปุ่นเอง การเปลี่ยนหลังคาบ้่านแบบ Gassho นั้นใช้เงินมากกว่า 20 ล้านเยน หากรัฐไม่ช่วยบ้านเหล่านี้ก็คงจะหมดไปแล้ว บ้านในแคนาดาในทุ่ง Prairie ที่ใช้ Bog peat ในการทำหลังคาและบางส่วนของตัวบ้านก็เช่นกัน บ้านเรือนวัดวาอารามของเก่าที่ใช้ไม้แผ่นเป็นกระเบื้องมุงหลังคาก็เช่นกัน ทั้งๆที่เขามีกฎหมายและระเบียบต้องห้ามเรื่องวัสดุที่เข้มงวดกว่าเรา ก็ยังมีปรากฎให้เห็นภายใต้เงื่อนไขพิเศษบางประการ

ผมรู้สึกว่า ของเรานั้นมักจะพยายามบรรยายมากกว่าจะอธิบายและให้ความรู้เชิงปรัชญา ภูมิปัญญาและแนวคิดในการสร้างส่วนต่างๆ

คิดว่าเลี้ยวเข้าซอยไปอีกแล้วครับ
 
ที่จริงก็เป็นอารัมภบทเพื่อจะพยายามดึงเข้าไปสู่เรื่องของบ้านและหลังบ้านของภาคต่างๆครับ   
     


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 12, 19:31
อ้างถึง
ในญี่ปุ่นเอง การเปลี่ยนหลังคาบ้่านแบบ Gassho นั้นใช้เงินมากกว่า 20 ล้านเยน
เดาว่าเป็นหลังคาแบบนี้ค่ะ  แต่ไม่รู้ว่าทำด้วยอะไร  ทำไมแพงจัง


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 มี.ค. 12, 19:43
สำหรับภาพของคุณดีดีนั้น จะขอร่วมสนุกเดาอีกรอบครับ
เดายากครับ
ลักษณะเด่นของวัดนี้คือตัวเสาที่รองรับอาคาร ตัวสถาปัตยกรรมนั้นดูจะมีของทุกภาครวมกันอยู่ แถมยังรวมอิทธิพลของหลายยุคไว้อีกด้วย
ที่เตะตาผมก็คือต้นไม้ (จำชื่อไม่ได้) ที่อยู่ระหว่างบันใดกับตัวเรือนใหญ่ เป็นต้นที่คนเหนือนิยมใช้เป็นพืชประกอบในการถวายของพระ ต้นไม้นี้เข้าใจว่ากินยอดได้ด้วย โดยเอามาต้มจิ้มน้ำพริก เชิงชายชายคามีไม้ฉลุแบบไทย เหมือนอยู่ในอิทธิพลพม่าหรือล้านนา ปลายปั้นลมดูเหมือนลักษณะนิยมทางภาคใต้ แถมมีเสา (ธง) ที่จั่วซึ่งค่อนข้างจะเป็นลักษณะจำเพาะของภาคใต้ ลักษณะที่หน้าบรรณผสมผสานมากทั้งกลาง ใต้ และเหนือ ตัวซี่ลูกกรงไม้ก็ดูจะเป็นลักษณะนิยมของทางใต้ แต่ก็เป็นที่นิยมของยุค ร.6 และต่อๆมา

ไม่เหนือก็ใต้ แต่จะขอเดาว่าคงจะอยู่ในภาคใต้ แถบระนอง พังงา ภูเก็ต กระมังครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 มี.ค. 12, 20:09
อ้างถึง
ในญี่ปุ่นเอง การเปลี่ยนหลังคาบ้่านแบบ Gassho นั้นใช้เงินมากกว่า 20 ล้านเยน
เดาว่าเป็นหลังคาแบบนี้ค่ะ  แต่ไม่รู้ว่าทำด้วยอะไร  ทำไมแพงจัง

ใช่ครับ ผมเรียกชื่อวัสดุไม่ถูกครับ เป็นวัชพืชต้นกลมๆขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่ง ซม. หลังคานี้มุงซ้อนกันหนาประมาณหนึ่งศอก เก็บเกี่ยวต้นนี้ทั้งบึงยังไม่ทราบเลยว่าจะได้เพียงพอหรือเปล่า แน่นอนครับเป็นเรื่องของความต้องการเก็บความร้อนเพื่อความอบอุ่น ปกติแล้วหลังคาลักษณะนี้จะมุงกับบ้านสามชั้น ชั้นล่างสุดจะรียกว่าชั้นใต้ดินก็ย่อมได้ เป็นการขุดเป็นแอ่งกะทะลงไป ชั้นใต้ถุนหรือใต้ดินนี้ ได้รับการบอกกล่าวว่าใช้สำหรับผลิตดินปืน คือเป็นคลังแสง ชั้นถัดมาเป็นชั้นอยู่อาศัยตามปกติ ชั้นบนที่อยู่ใต้หลังคาโดยตรงเป็นชั้นที่ใช้เลี้ยงใหม ความอบอุ่นคงที่จึงเป็นที่ต้องการ หลังคาจึงต้องหนาครับ
ชั้นที่เป็นแหล่งให้ความร้อนความอบอุ่นทั้งบ้านคือชั้นที่อยู่อาศัย ซึ่งความร้อนจะลอยตัวขึ้นสูงสู่พื้นที่ใต้หลังคาให้ความอบอุ่นกับตัวไหมที่เลี้ยงไว้ในชั้นที่สาม ส่วนชั้นใต้ดินนั้นไม่ต้องการความอบอุ่นใดๆมากไปกว่าความอบอุ่นจากดิน
เนื่องจากความหนักของหลังคากระมัง คานรับน้ำหนักของหลังคาบ้าแบบญี่ปุ่นโบราณจึงเป็นต้นไม้ทั้งต้นที่มีลักษณะโค้งทั้งนั้น สร้างยากเนาะ   


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 12, 20:15
นึกถึง thatch roof  ของอังกฤษเลยค่ะ    ไม่รู้ว่าเป็นหญ้าประเภทเดียวกันหรือเปล่า


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 12, 20:18
ลองเดาเล่นๆ สิคะ ว่าวัดนี้อยู่ภาคไหนของไทย... ;D
เดาว่าภาคใต้ค่ะ  เห็นต้นมะพร้าวหลังบ้าน  ไม่ใต้ก็กลางค่ะ
ดูเสาคอนกรีตของบ้าน เหมือนเรือนข้าราชบริพารรัชกาลที่ ๖ ที่นครปฐม   ลายขนมปังขิงก็เหมือนบ้านเรือนสมัยรัชกาลที่ ๖ ในกรุงเทพและภาคกลาง
ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๕  เรือนยกใต้ถุน หลังคาปั้นหยามีด้านหน้าเป็นจั่วแบบมะนิลา ดูจะกระจายไปเป็นบ้านเรือนราชการในหลายภาค  เลยฟันธงไม่ได้ค่ะ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 01 มี.ค. 12, 23:37
วิเคราะห์ได้ยอดเยี่ยม ทั้งสองท่านเลยค่ะ... ;D
วัดนี้อยู่ใต้สุดของประเทศไทยค่ะ อยู่ที่จ.นราธิวาส ชื่อวัดชลธาราสิงเห ค่ะ
เขาบอกว่า เป็นวัดที่สร้างแบบมลายูพุทธ แห่งเดียวในไทยค่ะ
ในวัดนี้ยังมีหลังคาสวยๆ อีกหลายที่ เช่น หอระฆัง  ศาลากลางน้ำ...


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 มี.ค. 12, 21:22
แตกหน่อไปอีกหน่อยนะครับ
ลักษณะเด่นของหลังคาแบบทางภาคใต้ คือ มักจะมีเสาสั้นๆอยู่ที่ยอดจั่วเป็นสัญลักษณ์ จะมีชื่อเรียกขานว่าอย่างไรผมไม่ทราบ
สำหรับภาคเหนือนั้นก็ดุจะมีกาแลเป็นสัญลักษณ์ แต่ก็แปลกที่กาแล (สำหรับผมนั้น) ดูจะเป็นที่กล่าวถึงและทำกันมากเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง (ผมอาจจะผิดถนัดเลยที่กล่าวเช่นนี้) กาแลนี้ไม่อยู่ในความทรงจำของผมเลยในช่วงเด็ก มาเริ่มรู้จักก็เมื่อประมาณ พ.ศ.2500+แก่ๆนี่เอง หรืออาจจะเป็นงานช่างเฉพาะถิ่นก็เป็นได้ จำได้ว่าไม่เคยเห็นในเชียงราย พะเยา งาว ลำปาง เชียงคำ ปง จุน ฯลฯ และจำได้ไม่ค่อยแม่นแล้วว่าในช่วง พ.ศ.2510+ ดูเหมือนจะเคยเห็นอยู่ในเฉพาะเขตแพร่ น่าน และเฉพาะในตัวเมืองเท่านั้น แม้กระทั่งในเขต อ.ใกล้ตัวเมืองเช่น ร้องกวาง สอง ลอง สูงเม่น เด่นชัย ก็จำได้ว่าไม่สะดุดตา ครั้งแรกที่รู้จักก็คือที่เชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.2508 แล้วก็จำได้คลับคลัายคลับคลาว่าไม่เคยเห็นใน จ.ลำพูนอีกด้วย ทั้งนี้ก็อาจจะเป็นเพราะว่าในสมัยนั้นผมเองยังไม่ได้ตระเวณเที่ยวมากพอก็ได้นะครับ
 
อย่างไรก็ตาม กาแล ได้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของบ้านเรือนต่างๆว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนา

ท่านผู้ไดพอจะขยายข้อมูลและความรู้เพิ่มเติมมากกว่าได้นี้บ้างครับ   


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มี.ค. 12, 15:01
ดิฉันเคยไปเชียงใหม่ตอนเด็กๆเหมือนกัน   นึกไม่ออกว่ามีกาแลตามบ้านช่องหนาตาเหมือนสมัยนี้
เอาหลังคาบ้านเก่าที่ลำปางมาให้ดู   ชื่ออาคารกาญจนวงศ์  เจ้าของเดิมเป็นพ่อค้าไม้ชาวพม่า  สร้างไว้อยู่อาศัยและเป็นร้านเย็บผ้า  ด้วย  ก่อด้วยปูนทั้งหลัง  ตกแต่งด้วยไม้ฉลุแบบขนมปังขิง  มีลวดลายปูนปั้นนูนเหนือประตูฝีมือช่างจากมัณฑะเลย์ 
สังเกตว่าบ้านนี้หันหลังคาด้านข้างให้ถนนหน้าบ้าน แบบบ้านจีน   ไม่มีมุขและหน้าจั่ว


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 มี.ค. 12, 18:37
ครับผม
ในถิ่นที่เรียกว่าเป็นล้านนาของไทยเรานี้ มีศิลปะพม่าโดยช่างชาวพม่าปะปนอยู่พอสมควร ทั้งวัดและบ้านเรือนประชาชน น่าสนใจอยู่ตรงที่อิทธิพลของศิลปะพม่าเหล่านี้ดูจะจำกัดอยู่แต่ในเฉพาะเขตเมืองใหญ่ ไม่ค่อยจะได้พบเห็นในตัวเมืองระดับอำเภอ แสดงว่าในสมัยที่พม่าเขามาอิทธิพลอยู่นั้นมีขอบเขตค่อนข้างจะจำกัดอยู่ในเฉพาะเมืองใหญ่ และคนไทยก็ดูจะไม่เห็นความสวยงามในศิลปะแบบพม่าเอาเสียเลย จึงไม่ค่อยจะมีปรากฏให้เห็นตามบ้านเรือนของชาวบ้าน
บ้านของคนพม่าที่เป็นพวกม่านและพวกมอญจะมีลักษณะเด่นอยู่ประการหนึ่ง คือ ด้านหนึ่งของบ้านไม่ว่าจะเป็นด้านจั่วหรือด้านข้างจะต้องมีช่องยื่นออกเป็นเหมือนช่องหน้าต่างปิดทึบ ช่องนี้จะทำไว้เป็นที่วางพระและวัตถุที่เคารพบูชา คนพม่าจะเอาพระพุทธรูปใส่ไว้ในตู้เล็กๆ วางไว้ที่ช่องนี้ ถ้าจำไม่ผิด ด้านในจะหันหน้าไปทางทิศเหนือหรือทิศตะวันออกเสมอ จะว่าบ้านของคนไทยในทุกภาคจะไม่มีช่องยื่นในลักษณะนี้ก็ไม่ได้ ก็มีอยู่ประปรายในทุกถิ่นทุกภาค แต่ไม่เป็นลักษณะประจำ

ใต้ถุนของบ้านแบบพม่ามักจะไม่ยกสูงชนิดเดินลอดได้สะบายๆเหมือนบ้านของคนไทยในทุกภาค และอีกประการหนึ่งที่ดูจะเป็นลักษณะที่ต่างจากบ้านของคนไทย คือพม่านิยมที่จะสร้างกระไดขึ้นบ้านอยู่ด้านจั่วหลังคาและอยู่ภายใต้ร่มของหลังคา บ้านของชาวบ้านรุ่นเก่าๆของภาคเหนือก็อาจดูจะคล้ายๆกันแต่ดูเหมือนว่าจะมีแนวของกระไดอยู่นอกแนวของหลังคา และมีเป็นจำนวนมากที่ทำหลังคาแยกเฉพาะส่วนที่เป็นกระำได
บ้านไทยภาคกลางเท่านั้นที่ดูจะมีเอกลักษณ์คือนิยมเอากระไดขึ้นบ้านไว้ด้านข้างของลาดเดอียงหลังคาด้านใดด้านหนึ่ง หากเป็นเรือนขนาดใหญ่จึงจะมีการทำหลังคาสำหรับกระไดโดยเฉพาะ

จะว่าไปก็ดูจะมีเฉพาะบ้านไทยของภาคกลาง (หรือแบบอยุธยา) ที่ทำหลังคาแบบสูงชันมีความลาดชันสูง ซึ่งคำอธิบายก็เพียงแต่บอกว่าเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากมีฝนมากจึงทำในลักษณะนี้เพื่อกันน้ำฝนไหลย้อนวัสดุที่มุงหลังคา ผมอดแปลกใจไม่ได้ที่แม้ในภาคใต้ซึ่งมีฝนตกชุกและเป็นลักษณะของฝนตกหนัก หลังคาก็ดูจะมีมุมลาดชันไม่มาก เหมือนๆกันกับหลังคาบ้านในภาคอื่นๆของไทย การใช้ว้สดุมุงหลังคาไม่ว่าจะเป็นตับคา (มีมากในทุ่งของภาคกลาง) ตับจาก (มีมากในภาคกลางตอนใต้และภาคใต้) ตับตองตึง (ภาคเหนือและอิสาน) การใช้ไม้แผ่น (ทุกภาค) หรือการใช้ต้นไผ่ผ่าครึ่งวางคว่ำสลับกันไปมา (ชาวบ้าน) หากวางซ้อนกันถี่มากหน่อย หลังคาก็จะไม่รั่ว หากเป็นพื้นที่มีลมแรงก็ใช้ไม้ไผ่ขัดแตะวางทาบทับไปอีกทีก็ช่วยได้ ปริมาณน้ำฝนและจำนวนวันที่ฝนตกในแต่ละปีเท่าที่มีสถิติเก็บไว้ระหว่งพื้นที่ในภาคกลางและภาคอื่นๆ ก็ไม่แตกต่างกันมาก จะต่างกันก็ในเรื่องของความสามารถในการกักเก็บความชุ่มชื้นของดิน   

       


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 มี.ค. 12, 19:29
นึกขึ้นได้อีกเรื่องหนึ่ง คือ คนไทยถือในเรื่องของทิศทางของหัวนอนปลายเท้า และไม่นอนขวางกระดาน

โดยลักษณะทางภุมิศาสตร์และภูมิประเทศ แม่น้ำทั้งหลายในประเทศไทยไหลอยู่ในแนวประมาณเหนือใต้ (ด้วยเหตุนี้กระมัง เราจึงมีคำว่าขึ้นเหนือและลงใต้ แทนที่จะเป็นไปเหนือไปใต้ ??? สมัยก่อนนั้นเราจะใช้เส้นทางคมนาคมตามเส้นทางแม่น้ำเป็นหลัก) และเกือบทั้งหมดจะไหลลงสู่ทิศไต้ มีน้อยที่ไหลขึ้นเหนือ ที่จำได้ก็ห้วยบ้องตี้ล่างซึ่งไหลเลาะเชิงเทือกเขาตะนาวศรีจากเขตต่อราชบุรีกับกาญจนบุรี (นึกถึงด่านบ้องตี้และด่านมะขามเตี้ย) และแม่น้ำเมย (พม่าเรียกว่าแม่น้ำสะโตง) ยกเว้นในภาคอีสานที่แม่น้ำจะสายใหญ่จะไหลไปทางตะวันออก
ห้วยที่ไหลลงสู่แม่น้ำทั้งหลายก็มักจะอยู่ในแนวทิศตะวันออกตะวันตก ผมสังเกตว่าบ้านเรือนแพนั้นมักจะสร้างอยู่ในแม่น้ำที่เป็นสายหลักและส่วนที่เป็นชุมชนสำคัญมักจะอยู่บริเวณที่แม่น้ำไหลในทิศเหนือ-ใต้ ซึ่งจะทำให้ต้องหันหลังคาบ้านส่วนลาดเอียงเข้าหาแม่น้ำ จะหันหน้าจั่วชนแม่น้ำก็คงจะต้องเป็นบ้านที่ขวางทางน้ำและดูพิลึก ที่แน่ๆก็คือ ได้นอนตามยาวกระดานและหันหัวไปทางเหนือ เมื่อเดินขึ้นฝั่ง ตามสภาพก็ต้องไปทางตะวันออกหรือตะวันตก เส้นทางเดินกลายเป็นถนน บ้านก็จะหันจั่วเข้าถนน ก็จะได้นอนตามกระดานและหันหัวไปในทิศเหนือตามความเชื่อ สำหรับผม คิดว่าสภาพในปัจจุบันก็ยังคงพอจะเป็นในลักษณะนั้นอยู่มาก

เพ้อฝันไปมากหรือเปล่านี่ ??? 


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มี.ค. 12, 19:54
ไม่มีความรู้ค่ะ  ได้แต่เอาภาพบ้านพม่ามาประกอบ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มี.ค. 12, 20:00
ผมสังเกตว่าบ้านเรือนแพนั้นมักจะสร้างอยู่ในแม่น้ำที่เป็นสายหลักและส่วนที่เป็นชุมชนสำคัญมักจะอยู่บริเวณที่แม่น้ำไหลในทิศเหนือ-ใต้ ซึ่งจะทำให้ต้องหันหลังคาบ้านส่วนลาดเอียงเข้าหาแม่น้ำ จะหันหน้าจั่วชนแม่น้ำก็คงจะต้องเป็นบ้านที่ขวางทางน้ำและดูพิลึก ที่แน่ๆก็คือ ได้นอนตามยาวกระดานและหันหัวไปทางเหนือ เมื่อเดินขึ้นฝั่ง ตามสภาพก็ต้องไปทางตะวันออกหรือตะวันตก เส้นทางเดินกลายเป็นถนน บ้านก็จะหันจั่วเข้าถนน ก็จะได้นอนตามกระดานและหันหัวไปในทิศเหนือตามความเชื่อ สำหรับผม คิดว่าสภาพในปัจจุบันก็ยังคงพอจะเป็นในลักษณะนั้นอยู่มาก
 
ภาพการหันหน้าของเรือนแพ อย่างที่คุณตั้งอธิบาย


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 08 มี.ค. 12, 20:07
นานๆจะมีผู้รู้มาให้ถามเรื่อง รัตนชาติ ...(รอกระทู้ใหม่อยู่ค่ะ) ขอถามก่อนว่า เพชรเหลี่ยมลูกโลก
ที่เห็นจากเครื่องประดับโบราณนั้นทำจากหินชนิดไหนค่ะ ส่วนใหญ่ มีที่เจียรจากเพชรจริงๆไหมค่ะ
เป็นตระกูลเดียวกับเพชรซีกหรือไม่ค่ะ

ขอยกไปกระทู้ใหม่เลยนะคะ
 


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: ศิณาวรรณ ที่ 30 มี.ค. 12, 18:19
1.ปั้นหยา มาจากคำว่า แอส-ปัญญอน ใช่หรือเปล่า
2.บ้านทรงสเปญ กับ เรือนทรงปั้นหยา เหมือนกันหรือเปล่า
3.ไทยรับเอาสถาปัตยกรรม บ้านทรงสเปญ เข้ามาในยุค โคโลเนียล ใช่หรือเปล่า
4.สถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล เรือนปั้นหยา บ้านทรงสเปญ บ้านทรงขนมปังขิง
   สถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกิส - เนเธอร์แลนด์ มีความสัมพันธ์กันอย่างไรหรือเปล่า


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มี.ค. 12, 21:53
ใครทราบ ช่วยตอบทีครับ
สมาคมสถาปนิกสยามน่าจะเป็นแหล่งที่ให้คำตอบได้ดี

คำถามเหล่านี้ คงจะเป็นเรื่องยืนยันได้อย่างหนึ่งตามนัยที่ผมได้กล่าวไว้ว่า เรามักจะมีคำบรรยาย (ในเชิงของรูปพรรณสัณฐาน) มากกว่าคำอธิบาย (ในเชิงฐานที่มาและที่ไป) ผมเคยเป็นผู้บรรยายและสอนหนังสือในระดับ Post Grad. มาช่วงระยะเวลาหนึ่ง (นานพอควร) ได้พบมานานแล้วว่า องค์ความรู้ต่างๆที่ได้เรียนรู้ถ่ายทอดกันมานั้นมักจะเป็นในด้านของรูปลักษณ์มากกว่าในด้านของปรัชญา

ดีใจครับที่ได้เห็นลักษณะคำถามของคุณศิณาพรรณ ผมไม่มีความรู้มากพอที่จะตอบได้
จะขอลองตอบแบบเดาจริงๆเลยนะครับ
ข้อ 1 น่าจะใช่ครับ
ข้อ 2 ผมว่าเป็นคนละเรื่องเดียวกัน เราเอาแบบทรงแบบคร่าวๆมาแต่สร้างด้วยไม้
ข้อ 3 มีทั้งใช่และไม่ใช่ โคโลเนียลช่วงใด ??? เราคงเอามาจากภาคใต้ซึ่งได้รับอิทธิพลจากฝรั่ง
ข้อ 4 ไม่มีความรู้ใดๆเลยครับ
 
สำหรับผมแล้ว บ้านทรงสเปญมีลักษณะเด่นที่สำคัญ คือ เป็นบ้านสองชั้น รูปบ้านมีทั้งทรงตรง มีเฉลียง (Balcony) ทรงรูปตัวแอลและทรงรูปตัวยู มีลานบ้านตรงกลาง  มีทางเดินรอบ (Patio) อยู่ใต้พื้นบ้านชั้นบน (หรือ Balcony)  ตัวเสารองรับตามทาง Patio จะกลม ส่วนเชื่อมด้านบนของแต่ละหัวเสาจะเป็นทรงโค้ง (Arc) ผนังบ้านปกติจะหนาหรือเป็นผนังสองชั้น มีการปูกระเบื้องที่ลวดลายมาก สีกระเบื้องมักจะออกโทนสีน้ำเงิน ตัวบ้านมักจะใช้สีขาว

     
 


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 มี.ค. 12, 06:38
1.ปั้นหยา มาจากคำว่า แอส-ปัญญอน ใช่หรือเปล่า

ทรงปั้นหยา (http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=420)
 
หลังคาทรงปั้นหยา เป็นแบบหลังคาเรือนที่ทำให้ลาดลงจากสันหลังคาเรือนทั้ง ๔ ด้าน. ผืนหลังคาด้านข้างจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู. ผืนหลังคาด้านสกัดเป็นรูปสามเหลี่ยม.

คำว่า ปั้นหยา สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า ปั้นหย่า ในภาษา เปอร์เซีย ซึ่งเป็นคำเรียกชื่อมือทองเสียบไม้ ซึ่งเป็นสิ่งแทนพระเจ้า ว่า พระปั้นหย่า. พระปั้นหย่าอยู่ในกะดีเจ้าเซ็น ซึ่งเป็นศาสนสถานในศาสนาอิสลาม. ศาสนสถานนั้นมักจะสร้างหลังคาทรงปั้นหยา. เมื่อมีการสร้างบ้านเรือนให้มีหลังคาแบบศาสนสถานนั้น จึงเรียกบ้านแบบนี้ว่า เรือนทรงปั้นหยา ด้วย.

ผู้เขียน  ศ. ดร.กาญจนา  นาคสกุล  ราชบัณฑิต  ประเภทวรรณศิลป์  สาขาวิชาภาษาไทย สำนักศิลปกรรม

 ;D


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 12, 09:08
ไม่ใช่ผู้แทนจากสมาคมสถาปนิกสยาม  แต่ผมคิดว่าคงไม่มีสถาปนิกอาวุโสท่านใดจะฟันธงตอบได้ ถ้าต้นตอความรู้นี้ปรากฏชัด ครูบาอาจารย์สถาปนิกสมัยก่อนท่านคงสอนให้ทราบแล้วในวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ไม่ต้องรอครูบาอาจารย์ทางวรรณศิลป์มาแถลง

เอาละครับ ในเมื่อในเวปเป็นเวทีเปิด เรามาลองถกกันดูก็ได้โดยผมจะเอาประสพการณ์ในการปฏิบัติวิชาชีพมาเป็นบทนำ มิได้ตั้งใจจะไม่เชื่อศ.ดร.กาญจนา  นาคสกุล ที่คุณเพ็ญอุตส่าห์ค้นมาฝาก ดังนั้นผู้ใดจะแย้งจะเสริมก็เข้ามา ถือว่าแบ่งปันความรู้กัน

1.ปั้นหยา มาจากคำว่า แอส-ปัญญอน ใช่หรือเปล่า
โดยสำเนียงก็พอจะเออออห่อหมกได้ เท่ากับจะหยวนๆกับคำที่ว่ามาจากภาษาเปอร์เซีย

2.บ้านทรงสเปญ กับ เรือนทรงปั้นหยา เหมือนกันหรือเปล่า
ไม่เหมือน และหลังคาปั้นหยาก็ไม่เหมือนหลังคาสุเหร่า หรือมัสยิดในเมืองไทยด้วย


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 12, 09:19
3.ไทยรับเอาสถาปัตยกรรม บ้านทรงสเปญ เข้ามาในยุค โคโลเนียล ใช่หรือเปล่า

อึมม์….ไทยรับสถาปัตยกรรมยุคโคโลเนียล โดยเห็นบ้านและอาคารของกงสุลก่อนในสมัยรัชกาลที่สี่  สมัยรัชกาลที่ห้า เริ่มสร้างสร้างเพื่อสนองวัตถุประสงค์ของไทยเอง

ความเห็นของผม อิงกับหลักการที่จดจำคำของครูบาอาจารย์มาว่า แบบ(Style)เกิดขึ้นจากอิทธิพลของวัตถุที่นำมาก่อสร้าง ดังนั้น เมื่อเกิดมีการนำเข้าหลังคากระเบื้องดินเผาด้วยไฟแรงสูง(Terra cotta) เข้ามาขายแข่งขันกับหลังคากระเบี้องขอของไทย หรือหลังคากระเบื้องกาบกล้วยของจีนที่ใช้เทคโนโลยี่ต่ำกว่า บิดๆงอๆ นำไปทำหลังคาแบบทรงปั้นหยาแล้วรั่วระเบิด จึงต้องใช้สำหรับหลังคาที่ลาดชันสูงแบบทรงไทยเท่านั้น 

กระเบื้องโบราณสองแบบ(ในรูป)ข้างล่างนี้ผ่านตาและผมลูบคลำมาแล้ว กระเบื้องปัตตาเวียนั้นเป็นแบบที่ป้องกันฝนได้ดีกว่าแต่เข้ามุมแทยงตรงตะเฆ่หลังคาไม่ได้ ส่วนอีกแบบหนึ่งสามารถตัดเฉียงออกได้ นำไปมุงชนแล้วปั้นปูนกันฝนครอบไว้อีกทีหนึ่งได้ จึงมีการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนที่ใช้หลังคาแบบใหม่ทรงปิรามิดที่ฝรั่งเรียกรวมกันว่าHip Roof คนไทยยังไม่มีบัญญัติศัพท์นี้อาจเรียกชื่อแบบของกระเบื้องหลังคาของฝรั่ง (ชื่อแบบ- หมายถึง Product name คนละความหมายกับแบบตามรสนิยม (Style)) คือฝรั่งคนขายอาจตั้งชื่อกระเบื้องแบบนี้ว่า แบบเอส ปัญญอน ซึ่งเป็นชื่อที่คนไทยเรียกว่าเสปญ แสดงว่าคนเสปญไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องนี้เลย มิฉะนั้นเราคงเรียกว่าหลังคาแบบเสปญไปแล้ว แต่ไพล่ไปเรียกว่า กระเบื้องปั้นหยา ตามความถนัดในการออกเสียง(อาจจะคุ้นกับคำว่าปั้นหยาตามที่ท่านอาจารย์กาญจนาว่าด้วยก็ได้) และจากกระเบี้องปั้นหยาก็กลายความหมายมาเป็นหลังคาทรงปั้นหยา ซึ่งฟังดูเท่ห์กว่าหลังคาฮิปมาก 

หลังคาปัตตาเวียนั้นไม่ค่อยได้รับความนิยมเพราะแพงมาก  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเคยสั่งมาใช้ในวังและวัด ที่ผมเคยเห็นคือที่วัดปรมัยยิกาวาส  ตามเข้าไปค้นหาหลักฐานดูก็ไม่ได้ปรากฎว่าเป็นกระเบื้องที่ผลิต หรือนิยมใช้ในเมืองปัตตาเวีย หรือยอร์กยาการต้า ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของชวาแต่อย่างใค แปลว่า ฝรั่งยืมชื่อมาตั้งให้กระเบื้องแบบนี้เฉยๆเหมือนกับยืมชื่อเอส ปัญญอนมา เพราะเห็นว่าเป็นซื่อที่คนคุ้นๆ ฟังดูดี ส่งเสริมการขายได้ง่าย


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 12, 09:32
ต่อมากระเบื้องหลังคาทั้งสองแบบถูกตีตลาดแตกด้วยกระเบื้องว่าว หรือกระเบื้องซีเมนต์ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯทรงโปรดให้ต่อตั้งบริษัทปูนซีเมนต์ไทยขึ้น อาคารหลังคาทรงปั้นหยาก็กลายเป็นที่นิยมกันมาก เพราะออกแบบสร้างอาคารให้สวยได้ง่าย และคุ้มแดดคุ้มฝนได้ดีกว่าหลังคาจั่วแบบอื่น

แต่ครั้นบริษัทปูนซีเมนต์ไทยตั้งบริษัทลูกขึ้นมาทำหลังคากระเบื้องลอนคู่ ที่แผ่นใหญ่กว่า บางกว่าซึ่งเท่ากับว่าเบากว่า ส่งผลให้หลังคาสามารถลดโครงสร้าง ทำให้ก่อสร้างได้ถูกลง กระเบื้องว่าวจึงแทบจะสูญพันธุ์


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 12, 09:38
กระเบื้องลอนคู่สามารถตัดได้ แต่เอามาทำหลังคาทรงปั้นหยาทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณค่าก่อสร้าง มีบุคคลระดับบิสเนสคลาสขึ้นไปเท่านั้นที่จะเลือกใช้ แต่ก็ไม่สวยสะใจ แฟชั่นทรงหลังคาก็เฮกลับไปทำหลังคาจั่วธรรมดา และหลังคาแบนเอียงแบบเพิงหมาแหงน


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 12, 09:48
หลังคาทรงปั้นหยากลับมาตีคืนความนิยมอีกก็เพราะโครงสร้างหลังคาเปลี่ยนจากไม้มาใช้เหล็ก ไม่น่าเชื่อที่ภายในสี่สิบปี ไม้ที่ถูกกว่าเหล็กแบบไร้ราคาจะถีบตัวขึ้นมาแพงจนเกือบจะเป็นของที่จับจ้องไม่ได้ไปแล้ว เหล็กนอกจากเบา(เมื่อเทียบกับความสามารถในการรับน้ำหนัก) ยังไปกันได้ดีกับกระเบื้องโมเนีย(Product name) ซึ่งสีสวย ทนทาน เหมาะสำหรับหลังคาปั้นหยาที่สุด และตราบที่โครงสร้างหลังคายังเป็นเหล็ก หลังคาปั้นหยายังคงอยู่บนบ้านหรูๆไปอีกนาน และมีผู้ผลิตหรือนำเข้ากระเบื้องเซรามิกสวยๆออกมาให้เลือกอีกมากมายจนเลือกไม่ถูก


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 12, 10:08
แต่ก็ต้องจับตากระเบื้องหลังคาแบบเหล็กขึ้นรูป (Metal Sheet)ไว้ อาคารใหญ่ๆ เช่นโรงงาน โรงยิม เลิกใช้หลังคาลอนคู่หมดแล้ว ตลอดสิบกว่าปีก่อนหลังคาเหล็กแบบนี้รู้จักกันในนามว่า หลังคาซังโก้ ตามProduct nameของผู้ผลิตและวางตลาดรายแรก แต่ก็ใช้กันในวงแคบเพราะราคาที่ยังแพงมากเมื่อเทียบกับหลังคากระเบื้องลอนคู่

ขณะนี้เกิดโรงงานนำแผ่นเหล็กม้วนมาขึ้นรูปเป็นกระเบื้องหลังคาแผ่ขยายไปทั่วพระราชอาณาจักร ทำให้ราคาลดลง และแพร่หลายในนามของเมทัลชี๊ตแทนที่คำว่าซังโก้ บ้านตามต่างจังหวัดใช้กันมาก เพราะถึงแม้จะต้องมีฉนวนกันความร้อนจากหลังคา แต่ก็ย่อมเยาพอสู้ได้ สีสันสวยแสบไส้เร้าใจยิ่งนัก 



กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 12, 10:09
บ้านในเมืองกรุงก็เถอะ จะเกิดแฟชั่นรูปทรงหลังคาใหม่ๆกันอีก

นักบัญญัติศัพท์ ควรเตรียมตัวกันไว้


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 12, 10:15
4.สถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล เรือนปั้นหยา บ้านทรงสเปญ บ้านทรงขนมปังขิง
   สถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกิส - เนเธอร์แลนด์ มีความสัมพันธ์กันอย่างไรหรือเปล่า


ผมไม่อยากจะตอบข้อนี้ มันยาว ขอผ่านให้ท่านอื่นก็แล้วกัน

แต่ไม่ถึงกับส่งกระดาษเปล่านะครับ

ผมฟันธงไปแล้วว่า สถาปัตยกรรมแบบชีโนโปรตุกิส ไม่มีในโลก คนในวงการท่องเที่ยวประดิษฐ์คำนี้ขึ้นมาเป็นจุดขายอย่างหนึ่งของภูเก็ต  เหตุผล ?….ขอให้ตามไปคลิ๊ก

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4376.75

เริ่มจากคคห.79

ขอเตือนกันก่อน !  กระทู้นี้ถ้าย้อนไปอ่านแต่ต้นจะสนุกมาก จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ที่รีบร้อน กำลังจะต้องทำอย่างอื่น


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 12, 11:02
หมายเหตุ

มีเวลาพอที่จะย้อนไปอ่านที่โพสต์ พบว่าบกพร่องในการตวจทาน มีคำเกิน คำผิดอยู่บ้าง ปกติผมพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้พลาดแม้ตัวสะกด เพราะเคารพต่อผู้อ่าน บังเอิญเช้านี้สติไม่ค่อยจะตั้งมั่น แต่เข้าไปแก้สิ่งผิดไม่ได้แล้ว ต้องขออภัย

ถ้าผู้ดูแลเวปจะให้เวลามากกว่านี้อีกสักหนึ่งชั่วโมงก็น่าจะเป็นการดี นี่หิวข้าวเช้าจนตาลายเพราะนั่งเตรียมต้นฉบับแต่เช้าตรู่ พอส่งข้อความเสร็จ ไปจัดการเรื่องปากเรื่องท้องกลับมา ก็สายเกินแก้


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 12, 13:16
นี่เป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่สี่ซึ่งแสดงว่าแฟชั่นกำลังเปลี่ยน พระนครคีรี หรือที่เรียกว่า เขาวังเพชรบุรีอันพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหพระกลาโหม พระเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (ท้วม บุนนาค) ปลัดเมืองเพชรบุรีเป็นนายงาน สร้างขึ้นในรูปแบบตะวันตก แต่เอากระเบื้องคาแบบกาบกล้วยของจีนมามุง หลังคาจีนต้องปั้นปูนครอบแนวต่อเชื่อมระหว่างแนวแผ่นกระเบื้อง แลเห็นชัดเป็นจุดเด่นของหลังคาแบบนี้ ปัจจุบันยังต้องอนุรักษ์ไว้  แต่สมัยที่สร้างเสร็จไม่นานวัน ปูนถูกแดดถูกฝนยืดหดไม่เท่ากันก็ร้าว ฝนลงมาก็รั่วซึม คนซ่อมก็ไม่รู้จะซ่อมให้หาดขาดอย่างไร ในที่สุดต้องทิ้งร้างจนถึงรัชกาลปัจจุบันจึงได้เริ่มซ่อม ในการอนุรักษ์ครั้งใหญ่เมื่อยี่สิบปีก่อนได้รื้อหลังคาเดิมออกหมดแล้วกรุสังกะสีเป็นหลังคากันรั่วซึมเสียชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงสร้างหลังคาในรูปแบบเดิมทับซ้อนลงไป

หลังคาที่เรียกว่าหลังคาแบบชาวตะวันตกจึงไม่เป็นที่นิยมจนกระทั่งมีแผ่นกระเบื้องที่เหมาะสมถูกสั่งเข้ามา แล้วจึงเริ่มปรากฏคำว่าหลังคาปั้นหยาขึ้น


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 12, 13:35
การแก้ไขเรื่องเทคนิค เป็นของแอดมินค่ะ     ถ้าเข้ามาอ่านก็คงเห็นปัญหาของท่าน NAVARAT   ดิฉันขอผ่านไปให้แอดมินเพิ่มเวลาในการแก้ไขค.ห.ของสมาชิกนะคะ
แต่จากหน้าจอของดิฉันในฐานะผู้ดูแลเรือน   ดิฉันถูกตั้งให้แก้ไขค.ห.ของคนอื่นๆได้ตลอดเวลาค่ะ     ขอความกรุณาช่วยบอกด้วยว่าจะให้แก้ไขตัวสะกดในค.ห.ไหนของคุณ  ลอกมาลงให้ทั้งหมดก็ได้   ดิฉันจะ copy&paste ให้ตามนั้นเอง แล้วลบส่วนค.ห.ที่แจ้งมาออกเพื่อไม่ให้คนอ่านต้องอ่านซ้ำค่ะ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: ศิณาวรรณ ที่ 31 มี.ค. 12, 16:35
ขอแถมอีกนิดนะครับ ผมก็ไม่มีความรู้อะไร เป็นแต่เพียงชอบงานก่อสร้าง สถาปัตยกรรม ผมว่าเป็นศิลปอีกอย่างที่งดงามทีเดียว
ผมชอบรูปทรงและเส้นสายของงานสถาปัตยกรรม ผมชอบประโยชน์ใช้สอยจากงานก่อสร้าง ผมชอบวัฒนธรรมที่แฝงตัวอยู่ใน
บ้านเรือนที่พักอาศัยและอาคารสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ รวมทั้งภูมิสถาปัตย์ที่เป็นองค์ความรู้อีกอย่างในงานสถาปัตยกรรมด้วย ตอนเด็ก ๆ
ผมไม่รู้ด้วยว่ามีศัพย์คำว่า "สถาปัตยกรรม" ตอนที่รู้ก็ไม่รู้ด้วยว่าแปลว่าอะไร คิดว่าคงเหมือนกับ "ก่อสร้าง" นั่นแหละ ถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้
ใครมีรากศัพย์ดี ๆ ช่วยขยายให้ทานหน่อย ครูบาอาจารย์ท่านใดมีความรู้ดี ๆ ก็ช่วยตอบเผยแพร่กันให้ด้วย เผื่อจะมีเด็กโง่ ๆ อย่างผม
เหลืออยู่บ้างจะได้พอมีความรู้ต่อไปบ้าง
หลังคาคงเป็นส่วนสำคัญของบ้าน อย่างน้อยก็คงมีหน้าทีเป็น "ครอบครัว" แต่ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวกับบทบาทในการ "คุ้มกะลาหัว" ด้วยหรือเปล่า
หลังคาเรือนไทยเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าลาดลงมาสองข้าง มีหน้าจั่ว ระบายน้ำฝนได้ดี มองจากพื้นที่และรูปทรงแล้วน่าจะประหยัดทรัพยากรได้มาก
ทำงานก็ง่าย ด้านที่มักได้รับความเสียหายมักเป็นด้านจั่ว (ด้านสกัดนี่หมายถึงอะไรครับ) เคยพูดคุยกันแบบเปื้อน ๆ คือไม่ได้เอาสาระอะไรกันแน่นอนว่า
ประเทศสเปญเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตมรสุมของยุโรป แถมมีแสงแดดและอากาศอบอุ่นด้วย ทำให้สเปญเหมือนกับเมืองบางแสนในทวีปยุโรป
คือเป็นสถานที่พักตากอากาศหนีหนาวที่ใกล้ที่สุดของยุโรป คนยุโรปใครอยากจะหนีหนาวแต่มีสตางค์น้อยก็มาแค่สเปญก่อน มีสตางค์มากค่อย
มาภูเก็ต สเปญก็เลยเป็นประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 1 มาตลอด ทีนี้พอมีมรสุม มีหาดทราย มีทะเล ฝนก็เลยมาจากทุกทิศทาง
ด้านจั่วก็เลยกันฝนไม่ได้ หลังคาก็เลยต้องลาดลงมาทุกด้าน เป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสก็มี เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าก็มี รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้านี่แหละที่มีสันหลังคา
5 เส้น ส่วนรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสมี 4 เส้นก็พอ ทีนี้พอยุคล่าอาณานิคม สเปญมาอยู่ที่ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นเกาะ สเปญก็เอาบ้านแบบสเปญมาสร้างอยู่
เพราะกันฝนได้ดี ต่อมาก็แพร่ขยายเข้ามาในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สเปญไม่ค่อยมีบทบาทในพื้นที่เนื่องจากเป็นเขตดูแลของโปรตุเกส ตาม
สัญญา (ไม่รู้ว่าจะเรียกอะไรดี บางทีีก็ว่า "ตอร์เดซิบิส" บางที่ก็ว่า "ตอร์เดซิลลาส") หลังคาแบบสเปญคงต้องหาวิธีเรียงกระเบื้องให้ต่างออกไป
จากหลังคาไทยเพื่อจะได้ไม่ต้องตัดหั่นกันให้วุ่นวาย ว่ากันว่าการเรียงกระเบื้องหลังคาแบบกระเบื้องว่าวก็ช่วยทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้ดีและ
เสียเศษน้อยด้วย จนถึงกับต้องมีการสร้างกระเบื้องว่าวขึ้นมาใช้งานเพื่อการนี้กันโดยเฉพาะเลย พอมาถึงการซ่อมแซมในยุคปัจจุบันก็เจอปัญหา
เขาไม่ผลิดกระเบื้องว่าวกันแล้ว เขาพูดให้ฟังมาอย่างนี้เท็จจริงอย่างไรก็ไม่รู้ ผมเลี้ยงเบียร์เขาอยู่เรื่อย ๆ เขาก็คุยให้ผมฟังอยู่เรื่อย ๆ ตอนหลัง
ไม่ค่อยได้คุยกัน ไม่ใช่เขาไม่อยากคุย แต่ผมไม่มีเงินเลี้ยงเบียร์เขามากกว่า ผมเคยไปเที่ยวเกาะสีชังบ่อย ๆ ผมอยากรู้ว่าเพื่อนผมเขาพูดจริงหรือ
เปล่าผมก็เลยขึ้นดาดฟ้าโรงแรงไปดูหลังคาบ้านของชาวบ้านบนเกาะ ก็เป็นหลังคาลาดลงทุกด้านอย่างที่ว่าเหมือนกันทุกบ้านเลย ถ่ายรูปเอามาด้วย
แต่ไม่รู้เก็บไว้ที่ไหน ถ้าเป็นที่รบกวนกันก็ต้องขอกราบขออภัยไว้ด้วยนะครับ ท่านที่มีเมตตาก็ช่วยบอกกล่าวสั่งสอนด้วยแล้วกัน / ขอบพระคุณครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 12, 18:05
.


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 12, 18:06
อ้างถึง
ผมไม่รู้ด้วยว่ามีศัพย์คำว่า "สถาปัตยกรรม" ตอนที่รู้ก็ไม่รู้ด้วยว่าแปลว่าอะไร คิดว่าคงเหมือนกับ "ก่อสร้าง" นั่นแหละ ถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้
ใครมีรากศัพย์ดี ๆ ช่วยขยายให้ทานหน่อย ครูบาอาจารย์ท่านใดมีความรู้ดี ๆ ก็ช่วยตอบเผยแพร่กันให้ด้วย เผื่อจะมีเด็กโง่ ๆ อย่างผมเหลืออยู่บ้างจะได้พอมีความรู้ต่อไปบ้าง


ผมขอตอบเฉพาะคำถามข้างบน เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจอื่นๆด้วย

ที่อัญเชิญมาเหนือกระทู้นี้ เป็นสำเนาลายพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ที่ได้พระราชทานแด่หม่อมเจ้า อิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ผู้ที่เพิ่งจะทรงเรียนจบการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมจากประเทศอังกฤษ เป็นการส่วนพระองค์


เมื่อจะมีการจัดตั้งสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ในรัชกาลต่อมา ได้มีการประชุมหารือในเรื่องศัพท์บัญญัติภาษาไทย โดยใช้แนวทางที่พระราชทานไว้มาปรับปรุงเล็กน้อย  คือ

Architecture                 เป็น  สถาปัตยกรรม
Architecture Science     เป็น  สถาปัตยกรรมศาสตร์
Architect                      เป็น  สถาปนิก
Architectural Drawing   เป็น  สถาปัตยเรขา

สถาปัตยกรรม น่าจะตั้งต้นรากศัพท์มาจากคำว่าสถาปนาที่สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าทรงเลือกใช้ แปลเป็นไทยในที่นี้ว่าก่อร่างสร้างขึ้น เมื่อเติมคำว่านิกลงไป ก็เปลี่ยนความหมายเป็น ผู้สร้าง สิ่งที่สถาปนิกสร้างขึ้นเรียกว่าสถาปัตยกรรม

ครูบาอาจารย์สถาปนิกท่านหนึ่งได้เขียนเรียบเรียงไว้ให้เข้าใจง่ายๆว่า สถาปนิก  สถาปนา  สถาปัตยกรรม


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 มี.ค. 12, 18:56
คุณศิณาวรรณ อย่าไปวิตกกังวลใดๆเลยครับ ลูกศิษย์ผู้อยากแสวงหาความรู้ก็มีหลายแบบ อาจารย์ผู้ทรงความรู้ก็มีหลายแบบ วิธีการถ่ายทอดความรู้ก็มีหลายแบบ ความไม่รู้ย่อมมาก่อนความรู้เสมอ และความรอบรู้ต่างๆก็มิใช่เกิดได้ในช่วงข้ามคืน มันเป็นเรื่องของการสั่งสมและการใส่ใจที่จะใฝ่หาเพิ่มเติมไปให้ถึงแก่นถึงกึ๋น  การสอบถามและการแสดงความคิดเห็นออกมาโดยปราศจากนัยแอบแฝงจึงเป็นเรื่องที่ดี ในบางครั้งอาจารย์ก็นึกว่าเราเข้าใจในพื้นฐานบางอย่างมามากพอ ศึกษาหาอ่านมามากพอแล้ว จึงไม่ควรจะมีการตั้งคำถามบางอย่าง  อาจารย์ย่อมดุเสมอแต่ก็ใจดีพร้อมที่จะให้ความรู้เสมอมิใช่หรือครับ
    
การแหย่ถามอาจารย์เพื่อขอทราบคำตอบในเรื่องใดๆนั้น เป็นไปได้ทั้งอยากลองภูมิ อยากรู้ถึงระดับก้นบึ้งจริงๆ สักแต่ว่าถาม และเพื่อลดช่องว่างของความเงียบ จากประสบการณ์ทีผ่านมา ไม่เคยเห็นอาจารย์และผู้รู้จะนิ่งเงียบอยู่ได้ หากจะไม่ตอบก็อาจจะแสดงว่าไม่รู้ หรือเห็นว่าเป็นเรื่องงี่เง่า แต่อย่างน้อยอาจารย์ก็จะต้องไปแสวงหาคำตอบที่เป็นที่พอใจให้ได้  ;D

อยากจะบอกว่า ท่านนวรัตน์มีความรอบรู้ในเรื่องต่างๆในระดับปรมาจารณ์ท่านหนึ่งทีเดียวครับ  




กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 12, 19:10
^


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 12, 19:26
ท่านตั้งครับ น้อยๆหน่อยครับท่านครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 12, 19:49
คุณศิณาวรรณหมายถึงหลังคาสเปนอย่างในรูปข้างล่างนี้หรือเปล่าคะ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 12, 20:17
อ้างถึง
พอมาถึงการซ่อมแซมในยุคปัจจุบันก็เจอปัญหา
เขาไม่ผลิดกระเบื้องว่าวกันแล้ว เขาพูดให้ฟังมาอย่างนี้เท็จจริงอย่างไรก็ไม่รู้

ไม่จริงครับ กระเบื้องว่าวมีให้เลือกมากกว่าสมัยก่อนเสียอีก


https://www.google.co.th/search?hl=th&sugexp=frgbld&gs_nf=1&cp=13&gs_id=1h&xhr=t&q=%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5&rlz=1C2GGGE_enTH395&biw=1024&bih=540&bav=on.2,or.r_gc.r_pw.r_qf.,cf.osb&um=1&ie=UTF-8&tbm=isch&source=og&sa=N&tab=wi&ei=fgJ3T-CuGOjU0QWqo6CtDQ#um=1&hl=th&rlz=1C2GGGE_enTH395&tbm=isch&sa=1&q=%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7&oq=%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7&aq=f&aqi=g2g-S8&aql=&gs_l=img.12..0l2j0i24l8.11176l13749l0l21561l5l5l0l0l0l1l827l2782l4-2j2j1l5l0.frgbld.&pbx=1&bav=on.2,or.r_gc.r_pw.r_qf.,cf.osb&fp=c377971db295fddc&biw=1024&bih=540


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: ศิณาวรรณ ที่ 01 เม.ย. 12, 23:15
กราบขอบพระคุณทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ หากมีเรื่องใดที่สนใจ ไฝ่รู้ ก็คงต้องสอบถามครูเข้ามาอีก
เรื่องใดที่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอน เป็นเรื่องที่เล่าต่อกันมาคุยต่อกันมา ถ้าสงสัยไม่แน่ใจก็คงต้องเข้ามาถาม
ครูบาอาจารย์ทั้งหลายอีก ขอบคุณอีกทีครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 02 เม.ย. 12, 17:28
ขอบคุณค่ะ อาจารย์หม่อม
ดิฉันเคยสงสัยอยู่เหมือนกันว่า อาคารแบบชิโน-โปรตุกิส นั้น มีที่มาจากไหน
ไปถึงเมืองมาเก๊า ซึ่งน่าจะเป็นต้นแบบ ก็ไม่เห็นใครพูดถึง เพิ่งจะทราบว่า เป็นคำประดิษฐ์มาเพื่อการท่องเที่ยวนี่เอง

ยุคสมัยของอาคารในไทยยังไม่มีใครแบ่งไว้ชัดเจนค่ะ บ้านทรงสเปนในยุคหนึ่ง มีความหมายถึงบ้านแบบหนึ่งที่นักการตลาดนำมาใช้
อีกยุคหนึ่ง ที่สินค้านมตราหมี แจกบ้านชิงโชค บ้านแบบนั้นเลยกลายเป็นแบบบ้านในฝันของคนทั้งหลาย เรียกว่า "บ้านในฝันของนมตราหมี"

  :)   :D   ;D


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 เม.ย. 12, 18:28
ดั งนั้ น แ ล


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 เม.ย. 12, 21:52
ท่านนวรัตน์ครับ

อยากจะขอทราบความเห็นเพื่อเก็บเป็นความรู้อยู่ 2 ข้อ คือ

- บ้่านเรือนของไทยที่เรียกได้ว่าเป็นแบบรัตนโกสินทร์มีบ้างใหมครับ เอาแบบที่ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งน้อยที่สุด
- ผมเชื่อว่าแม้เราจะเอาแบบอย่างสถาปัตยกรรมจากตะวันตกมามาก มีอะไรบ้างหรือส่วนใดบ้างที่เราไม่ได้ตามและยังคงรักษาทัศนคติแบบของเราไว้


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 เม.ย. 12, 04:55
อ้างถึง
บ้่านเรือนของไทยที่เรียกได้ว่าเป็นแบบรัตนโกสินทร์มีบ้างใหมครับ เอาแบบที่ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งน้อยที่สุด

มีครับ แล้วจะหารูปมาให้ดู

อ้างถึง
- ผมเชื่อว่าแม้เราจะเอาแบบอย่างสถาปัตยกรรมจากตะวันตกมามาก มีอะไรบ้างหรือส่วนใดบ้างที่เราไม่ได้ตามและยังคงรักษาทัศนคติแบบของเราไว้

เป็นส่วนที่เนื่่องมาจากวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของเราครับ
เช่น
ขึ้นเรือนต้องถอดรองเท้า
มีเรือนครัว คนใช้ที่แยกออกไปจากตัวบ้าน
บางบ้านมีห้องพระ
มีหน้าต่างเยอะกว่าบ้านฝรั่ง เพราะเราต้องการลมมาระบายความร้อนอบอ้าว ในขณะที่ฝรั่งต้องการรักษาความอุ่นไว้ต้านความหนาวเย็น

วันนี้ผมมีเรื่องต้องทำแต่เช้า จึงตอบห้วนไปหน่อย ปกติผมจะะต้องมีรูปมาประกอบ แต่ขณะนี้หาให้ไม่ทันแล้วครับ

ขออภัย


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 เม.ย. 12, 19:57
ขอย้อนกลับไปที่หลังคาทรงปั้นหยาอีกครั้งหนึ่งนะครับ

การทำการบ้านให้คุณตั้งทำให้ผมได้พบว่า คำว่าปั้นหยานี้ ปรากฏในเอกสารครั้งแรกเพื่อเรียกอาคารในวัดบวรนิเวศน์วิหารหลังหนึ่ง ที่มีชื่อว่า พระตำหนักปั้นหยา ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงนิยามว่า ตึกอย่างเทศ

พระตำหนักนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏ เมื่อเชิญเสด็จจากวัดราชาธิวาสมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรฯ พระราชนิยมในรัชกาลที่๓ในด้านสถาปัตยกรรมคือไทยผสมจีน ซึ่งผมจะกล่าวต่อไป  ฉะนั้น พระตำหนักซึ่งเป็นตึกอย่างเทศจึงมองออกเป็นจีนๆมากกว่าฝรั่ง คุณว่ามั้ย?


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 เม.ย. 12, 20:08
แล้วคำว่า “ปั้นหยา” มาจากไหน
 
ลองพิจารณากุฏิพระข้างเคียง รูปทรงอาคารก็เป็นตึกอย่างเทศเช่นกัน ที่ผิดกับพระตำหนักชัดเจนก็คือส่วนที่เป็นหลังคา

ผมคิดว่ามาจากนายช่างคนจีนที่จ้างมาสร้างพระตำหนัก ตอนนั้นช่างฝีมือจีนทั้งช่างไม้ ช่างก่อสร้างเริ่มเข้ามาหากินในเมืองไทยมากมายตามกระแสพระราชนิยม

ต้องถามคุณ Han-bing ถ้าคนจีน (สำเนียงไหหลำ หรือแต้จิ๋ว ฯลฯ) เรียกเสปญว่า"เอสปันญา" เราคงสรุปได้ว่าสำเนียงนั้นเข้าหูคนไทยว่า ปั้นหยา
 

พระตำหนักปั้นหยาใช้กระเบื้องกาบกล้วย แต่ทรงหลังคา เป็นหลังคาจั่วธรรมดา (Gable) ไม่ใช่Hip Roofดังที่ปัจจุบันเขาแปลว่า หลังคาทรงปั้นหยา
 
ปั้นหยาในความหมายแรก จึงอาจจะหมายความถึงอาคารแบบเทศ ที่ใช้กระเบื้องหลังคากาบกล้วยแบบเสปญเท่านั้น


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 เม.ย. 12, 19:13
ต้องถามคุณ Han-bing ถ้าคนจีน (สำเนียงไหหลำ หรือแต้จิ๋ว ฯลฯ) เรียกเสปญว่า"เอสปันญา" เราคงสรุปได้ว่าสำเนียงนั้นเข้าหูคนไทยว่า ปั้นหยา

ระหว่างรอคุณหาญปิง  คุณนวรัตนสามารถฟังการออกเสียงคำว่า 西班牙 (สเปน) สำเนียงจีนกลาง ได้จาก คุณกุ๊ก (http://translate.google.com/?hl=th&tab=wT#zh-CN|en|%E8%A5%BF%E7%8F%AD%E7%89%99)

ฟังคล้าย ๆ กับ "ซีปั้งหยา"

 ;D


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 เม.ย. 12, 19:15
น่าจะเป็นสำเนียงไหหลำนะครับ

ช่างก่อสร้างจีนสมัยนั้นจะมาจากที่นั่นมาก


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 08 เม.ย. 12, 22:31
คำว่าปั้นหย่ามาจากคำว่า "ซีปันหย่า" ที่มาจากภาษาจีนอันแปลว่าเสปนหรือไม่ข้าพเจ้าไม่แน่ใจ

ภาษาจีนกลางจะออกเสียงว่า "ซี ปัน หย่า" (西班牙:xi1 ban1 ya2)

อย่างไรก็ตามหากใช้ภาษาไหหลำอ่านแล้ว ปรกติภาษาไหหลำจะเป็นหนึ่งในตระกูลภาษาหมินหนาน หรือภาษาฮกเกี้ยน ถ้าออกเสียงจะได้ว่า

"ไซ ปัน หย่า" (sai1 ban1 nga2) หรือ "เซ ปัน เหย่" (se1 ban1 ye2)

ถ้าภาษาแต้จิ๋วจะออกเสียงว่า "ซาย ปัง เกย์" (sai1 bang1 ghe5)

ฟังได้จากเว็ปไซด์นี้ http://cn.voicedic.com/


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 เม.ย. 12, 05:47
ขอบคุณครับ

เป็นอันสรุปได้ว่า ปั้นหยาในภาษาไทย กร่อนมาจากคำที่คนจีนเรียกพวกเสปญ

คนไทยหมายถึงตึกแบบฝรั่งเสปญ แล้วเพี้ยนไปเป็นหลังคาแบบฝรั่งที่เป็นทรงจั่วแบบปิรามิด ในกาลต่อมา

ซ.ต.พ.


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 09 เม.ย. 12, 06:53
แต่เคยอ่านว่าคนไทยสมัยก่อนเรียนฝรั่งชาวเสปนว่า "ฝรั่งซีปันหยอด"


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: ศิณาวรรณ ที่ 10 เม.ย. 12, 17:10
พ่อเล่าให้ฟังว่า ตอนจะปลูกเรือนแถวริมถนน ช่างชาวจีนขุดดินลงไปถึงโคนเสาบ้านวางรางเหล็ก
แล้วลากบ้านเข้ามาทั้งหลัง ช่างก่อสร้างชาวจีนมาทำงานเมืองไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 10 เม.ย. 12, 21:13
เท่าที่มีหลักฐานบันทึกก็ตั้งแต่ครั้งต้นรัตนโกสินทร์เลยครับ เห็นจากอาคารหลายแห่งในพระราชวัง และวัดต่างๆ

ในวรรณกรรมก็มีการบรรยายถึงช่างชาวจีน


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 เม.ย. 12, 07:19
สมัยก่อน คนจีนประเภทเสื่อผืนหมอนใบจะอพยพมาขายแรงงาน เรียกว่าพวกกุลีจีน ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่๓ ด้วยพระราชนิยมที่ทรงโปรดสถาปัตยกรรมแบบจีน ทำให้พวกเถ้าเก่หาช่างก่อสร้างจีนมารับงานหลวงเป็นล่ำเป็นสัน ช่างไหหลำได้สร้างชื่อเสียงไว้มากในเรื่องของงานอาคาร ส่วนพวกเครื่องเรือนต่างๆ ก็พวกเซี่ยงไฮ้


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 15 เม.ย. 12, 02:46
อ้างถึง
...วิธีการวางแนวสันของหลังคา บ้านในอิทธิพลของจีนนั้นจะวางแนวสันของหลังคาขนานไปกับแนวถนนหน้าบ้าน...

ปกติแล้วเรามักจะทำประตูหันออกถนน เพื่อจะได้เข้าออกสะดวก

ประกอบกับธรรมเนียมการสร้างเรือนจีนเขานิยมทำประตู หรือหน้าเรือนทางด้านกลางของสันเรือน

ดังนั้นสันเรือนจีนจึงมักอยู่ขนานกับถนน

ขณะที่ทางเข้าออกของเรือนไทย (เทียบเคียงกับโบสถ์) มักจะทำทางเข้าออกทางด้านหุ้มกลอง (ด้านปลายของสันเรือน)

ดังนั้นสันเรือนไทยจึงมักอยู่ในสภาพที่ตั้งฉากรับกับถนน


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 15 เม.ย. 12, 03:16
อ้างพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต

http://rirs3.royin.go.th/word25/word-25-a9.asp

ปั้นหยา [-หฺยา] น. สิ่งปลูกสร้างซึ่งมีหลังคาเอนเข้าหาอกไก่ทั้ง ๔ ด้าน  ไม่มีหน้าจั่ว เรียกว่า เรือนปั้นหยา.

(เปอร์เซีย ปั้นหย่า ว่า วัตถุที่ ทําเป็นหัตถ์ของเจ้าเซ็นประดิษฐานอยู่ในกะดีซึ่งมีลักษณะ หลังคาเช่นนั้น).


เท่าที่ผมศึกษา คนไหหลำในไทยยุคแรกจะไปอยู่ในกิจการค้าไม้ คนที่ทำธุรกิจก่อสร้างในไทยมักจะเป็นชาวกวางตุ้ง

โดยมีชาวแต้จิ๋วที่หนีความลำบากจากบ้านเกิดมาทำงานโยธาหรือกุลี

ในอดีตคนจีนส่วนใหญ่มากับเรือค้าข้าว ที่ไม่ใคร่แวะเกาะไหหลำ คนไหหลำจึงมีไม่มากนัก

ดังนั้นภาษาไหหลำจึงไม่ใคร่ส่งผลต่อภาษาไทยเท่าใดนัก

เสียง ปั้นหยา อาจจะใกล้เคียงกับเสียงจีนกลาง ซึ่งในอดีตแทบจะไม่ได้มีอิทธิพลต่อภาษาไทยเพราะเป็นสำเนียงของจีนฝ่ายเหนือ หรือสำเนียงของพวกข้าราชการจีนที่ไม่ใคร่มามีปฏิสัมพันธ์อะไรกับชาวบ้านไทย ส่วนพยางค์ท้ายของซีปันหยาที่ออกเสียงจีนกลางนั้น  จีนหมินหนันไม่ได้ออกเสียงเป็นหยา หากแต่เป็นเสียงที่ไม่มีในภาษาไทย ไม่ว่าจะ เสียง gh หรือ ng


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 16 เม.ย. 12, 01:59
อ้าง หนังสือ " เรือนเครื่องผูก " โดย รศ.เสนอ นิลเดช , สนพ.เมืองโบราณ ,  ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง กย. 2547 } หน้า 62

ปั้นหยา มาจากคำว่า ปันเยอ ของเปอร์เซีย คือหลังคาสี่มุมล้ม หลังคาชนิดนี้มีมากที่อินโดนีเซีย และเข้ามาทางภาคใต้ของไทย...

จากหนังสือ 台湾古建筑图解事典 โดย 李乾郎 พบว่า ทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างก็มีการสร้างหลังคาลักษณะปั้นหยามาแต่อดีตเช่นกัน  โดยจีนมีศัพท์ เรียกหลังคาอย่างทรงปั้นหยาว่า 四注 ( ซื่อ จู้ ) หรือ 寄栋 ( จี้ โต้ง )


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 เม.ย. 12, 06:50
ขอบคุณที่เข้ามาร่วมอภิปรายค้นหาที่มาของคำว่าหลังคาปั้นหยากันครับ

ตามไปดู 四注 ( ซื่อ จู้ )

https://www.google.co.th/search?tbm=isch&hl=th&source=hp&biw=1024&bih=540&gbv=2&oq=%E5%AF%84%E6%A0%8B+&aq=f&aqi=&gs_l=img.12...3319l3319l0l4441l1l1l0l0l0l0l94l94l1l1l0.frgbld.&q=%E5%AF%84%E6%A0%8B&orq=%E5%AF%84%E6%A0%8B+#hl=th&gbv=2&tbm=isch&sa=1&q=%E5%9B%9B%E6%B3%A8&oq=%E5%9B%9B%E6%B3%A8&aq=f&aqi=g-sS2g-S1&aql=&gs_l=img.12..0i10i24l2j0i24.241480l241480l0l243361l1l1l0l0l0l0l78l78l1l1l0.frgbld.&pbx=1&bav=on.2,or.r_gc.r_pw.r_qf.,cf.osb&fp=199fdc41a81867e4&biw=1024&bih=540


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 เม.ย. 12, 06:51

寄栋 ( จี้ โต้ง )

ไม่เห็นมีสถาปัตยกรรมจีนโบราณที่เป็นแบบฉบับแท้ๆ นอกจากหลังคาบ้านที่สร้างกันใหม่ๆ กับสถาปัตยกรรมแบบใหม่ของญี่ปุ่น

https://www.google.co.th/search?tbm=isch&hl=th&source=hp&biw=1024&bih=540&gbv=2&oq=%E5%AF%84%E6%A0%8B+&aq=f&aqi=&gs_l=img.12...3319l3319l0l4441l1l1l0l0l0l0l94l94l1l1l0.frgbld.&q=%E5%AF%84%E6%A0%8B&orq=%E5%AF%84%E6%A0%8B+


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 เม.ย. 12, 07:11
สถาปัตยกรรมแบบฉบับของอินโดนีเซียที่คนไทยรู้จักส่วนมากก็มาจากชวา และก็สุมาตรา ซึ่งมีลักษณะจำเพาะดังในภาพข้างล่าง
ที่เห็นเป็นหลังคาแบบปั้นหยา(ล่างกลาง)นั้น เป็นสถาปัตยกรรมของบาหลี ซึ่งเป็นเกาะอยู่สุดทิศใต้ ไกลมากคนไทยโบราณไม่รู้จัก บาหลีก็มีศิลปวัฒนธรรมของตนที่โดดเด่น และต่างกับชวาและสุมาตราโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นฮินดู ไม่ใช่มุสลิม และไม่เกี่ยวอะไรกับเปอร์เซีย

ด้วยความเคารพครูบาอาจารย์ที่อ้างอิงชื่อท่านมา

ภาษาเปอร์เซียจะมีคำว่าปันเยอ หรือปั้นหย่า หรือไม่ ส่วนตัวผม ถ้าคนไทยมุสลิมของเรา ไม่ได้เป็นผู้นำในการเรียกมัสยิด หรือเรือนที่มีหลังคาทรงดังกล่าวว่า ทรงปั้นหยา แล้ว  ย่อมยากที่จะปลงใจเชื่อได้


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 16 เม.ย. 12, 10:12
บ่อยครั้ง เวลาได้ศัพท์ที่เป็นศัพท์เทคนิคผมพึ่งพาการหาของกูเกิลไม่ได้

กับ 四注 ก็คงเหมือนกัน แต่ถ้าเติมคำว่า顶 ที่แปลว่า หลังคา เข้าไป

เป็น 四注顶 ก็พอจะมีรูปโผล่มาให้เห็นบ้างครับ (ถ้าไม่คร้านเสียก่อน)

ส่วนข้ออ้างว่าเรือนปั้นหยา เข้ามาเมืองไทยผ่านทางภาคใต้ ส่วนตัวแล้วผมค่อนข้างเชื่อตามนั้น

เพราะผมเคยทำงานที่ปักษ์ใต้อยู่ช่วงหนึ่ง พบว่า เรือนเก่าๆหน่อยของทางนั้น มักจะปลูกหลังคาเป็นปั้นหยา

ขณะเดียวกัน ข้อสันนิฐานว่า ปั้นหยา มาจาก เอสปันย่า ผมกับรับฟัง  

หากแต่ผมไม่เห็นด้วยที่จะดันว่า ศัพท์แสงนั้นผ่านเข้าไทยโดยช่างจีน

ส่วนการหาภาพสนับสนุนหรือคัดค้าน ผ่านการหาด้วยกูเกิล นั้น

ก็เอาไว้เป็นข้ออ้างตามความถนัดของท่านเองก็แล้วกัน ผมไม่ชำนาญ

จะว่าไป ผมได้ความรู้และความเพลิดเพลิน จากภาพ และเนื้อหาที่ท่านนำเสนอมากที่เดียว



กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 เม.ย. 12, 13:27
อ้างถึง
บ่อยครั้ง เวลาได้ศัพท์ที่เป็นศัพท์เทคนิคผมพึ่งพาการหาของกูเกิลไม่ได้

กับ 四注 ก็คงเหมือนกัน แต่ถ้าเติมคำว่า顶 ที่แปลว่า หลังคา เข้าไป

เป็น 四注顶 ก็พอจะมีรูปโผล่มาให้เห็นบ้างครับ (ถ้าไม่คร้านเสียก่อน)

ไม่คร้านครับ ไม่คร้าน ตามไปดูมาแล้ว ได้ผลดังนี้

https://www.google.co.th/search?hl=th&sugexp=frgbld&cp=3&gs_id=3&xhr=t&q=%E5%9B%9B%E6%B3%A8%E9%A1%B6&bav=on.2,or.r_gc.r_pw.r_qf.,cf.osb&biw=1024&bih=540&um=1&ie=UTF-8&tbm=isch&source=og&sa=N&tab=wi&ei=A7qLT5y-HMq8rAeeg4WoCw


อินเทอเน็ตนั้น ง่าย ย่นเวลา และให้ความรู้กว้างขวางกว่าการเข้าไปค้นข้อมูลในห้องสมุดมาก เชื่อได้หรือเชื่อไม่ได้ก็ต้องใช้วิจารณญาณเป็นกรณีย์ๆไป ก็เหมือนกับการหยิบหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งขั้นมาอ่าน ก็มิใช่จะเชื่อได้เพียงดูชื่อผู้แต่ง มันขึ้นกับเงื่อนไขอื่นๆประกอบด้วย


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 เม.ย. 12, 14:10
มุสลิมทางภาคใต้ของเราส่วนใหญ่(ยกเว้นสตูล) ถือนิกายซุนนี ซึ่งเผยแพร่มาจากอาหรับแถบอัฟริกาเหนือทางตะวันออกกลาง เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของฟิลลิปปินส์

ส่วนน้อย จะเป็นมุสลิมที่มากับพ่อค้าชาวเปอร์เซีย ถือนิกายชีอะฮ์ ที่คนไทยเรียกเจ้าเซ็น ซึ่งเข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยแต่โบราณกาลสมัยกรุงศรีอยุธยา คนไทยมุสลิมส่วนนี้จึงอยู่ในภาคกลางเสียเป็นส่วนใหญ่
 
ในอดีตมุสลิมสองนิกายนี้จะไม่ถูกกัน และทำสงครามกันเสมอระหว่างชาวอาหรับและชาวเปอร์เซีย แม้ในปัจจุบันก็ยังฮึ่มฮั่มกันอยู่

ดังนั้น การที่จะบอกว่าบ้านเรือนของมุสลิมภาคใต้ จะรับเอาศัพท์ทางศาสนาอิสลามนิกายของเปอร์เซีย เรียกวัตถุที่ทําเป็นหัตถ์ของเจ้าเซ็นประดิษฐานอยู่ในกะดี(กุฏี)ว่า ปั้นหย่า มาใช้เรียกหลังคาอาคารของตน จึงเป็นสิ่งที่ผมเชื่อยากแบบยกกำลังสองเข้าไปอีกครับ

อาคารหลังคาปั้นหยาที่คุณน้ำเพลิงไปเห็นคราวไปทำงานที่ภาคใต้ที่บอกว่าเป็นอาคารเก่านั้น ต้องทราบด้วยว่าเก่ากี่ปี อายุเท่าอาคารสมัยร้ชกาลที่๓ที่หลังคาแบบนี้เริ่มปรากฎเรียกไหม ส่วนใหญ่อาคารเก่าบ้านเรา ไม่ว่าไม้ว่าตึก ถ้าบำรุงรักษาไม่ถึงขั้นจริงๆ ห้าสิบปีก็ชำรุดทรุดโทรมแทบสิ้นสภาพแล้ว

อาคารของชาวบ้านสมัยก่อน แทบจะร้อยละร้อยจะมุงหลังคาด้วยจากหรือแฝก เขาจะไม่กล้าทำหลังคาทรงปั้นหยาหรอกครับ เดี๋ยวรั่วระเบิดเถิดเทิง ทำทรงจั่วสูงๆง่ายกว่า สบายใจกว่า


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 เม.ย. 12, 14:20
อ้างถึง
หากแต่ผมไม่เห็นด้วยที่จะดันว่า ศัพท์แสงนั้นผ่านเข้าไทยโดยช่างจีน

ส่วนการหาภาพสนับสนุนหรือคัดค้าน ผ่านการหาด้วยกูเกิล นั้น

ก็เอาไว้เป็นข้ออ้างตามความถนัดของท่านเองก็แล้วกัน ผมไม่ชำนาญ

จะว่าไป ผมได้ความรู้และความเพลิดเพลิน จากภาพ และเนื้อหาที่ท่านนำเสนอมากที่เดียว

คุณน้ำเพลิงไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับผมหรอกครับ อ่านผ่านตาไว้เท่านั้นก็พอ

แค่บอกว่าได้ความรู้และความเพลิดเพลิน จากภาพ และเนื้อหาที่ผมนำเสนอ ผมก็พอใจแล้ว


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 16 เม.ย. 12, 14:57
เรื่องปั้นหยามาจากแขกเจ้าเซ็น
ผมเข้าใจว่าต้นความคิดจะเป็นสมเด็จฯ กรมพระยานริศ
และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงนะครับ

ถ้าคุณ NAVARAT.C หรือคุณ Namplaeng พอมีเวลาว่าง
จะลองพลิกหาดูในสาส์สมเด็จก็น่าจะได้
ถ้าเป็นดังทรงไว้จริง เรื่องมุสลิมในกรุงศรีอยุธยา
เป็นมุสลิมที่มาจากเปอร์เชียกับการค้า ก็ถูกต้องอย่างที่ทรงไว้


เข้ามาคุยด้วย เพราะเห็นว่าเป็นชุดหลักฐานที่เคยคุ้นอยู่บ้าง
แต่หลังคาทรงปั้นหยาจะมาจากไหนผมเองก็จนใจครับ
โดยส่วนตัวมีความเห็นว่า ถ้าช่างคนไหนรู้จักปรุงหลังคาของอาคารทรงมณฑป ให้เป็นทรงบุษบกได้
แต่ไม่รู้จักปรุงหลังคาของอาคารทรงศาลา ให้เป็นทรงปั้นหยาได้... ก็อย่าได้เรียกว่าช่างเลย... ดักดานเสียเต็มประดาแล้ว



ปล. ถ้าจำไม่ผิด ที่ พิพิธภัณฑ์ของ San Carlos Uni ในเกาะเซบู
มีหม้อเก็บกระดูกหลายใบ อายุสักพันกว่า - 2,000 ปีได้
ที่ทำฝาเป็นรูปหลังคาอาคารนะครับ

บางใบก็เป็นทรงปั้นหยาเรียบๆ
บางใบก็ใส่ช่อฟ้าขดๆ หน้าตาเหมือนยากันยุงไว้ที่ปลายจั่วล้ม 2 ฝั่ง ฝั่งละอัน
บางใบพิเศษหน่อยก็เอาช่อฟ้าหน้าตาเหมือนยากันยุงมาไขว้ตัดกันเป็นรูปกาแลก็มี
ถ้าคุณ NAVARAT.C สนใจลองหาภาพหม้อชุดนี้ดูอาจจะได้หลักฐานเพิ่มครับผม


ปล.2 ดูเหมือนว่าในอินเดียอาคารทรงศาลาที่ทำยอดเป็นโดมทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมือนหลังคาทรงปั้นหยา
จะพบมาตั้งแต่กลุ่มเทวาลัย 5 หลัง ที่ มาวลีปุรัมนะครับ
อายุอานามศิลปะปัลลวะที่นั่นน่าจะสัก 1,500 ปีเห็นจะได้ครับผม


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 เม.ย. 12, 17:13
อ้างถึง
ถ้าช่างคนไหนรู้จักปรุงหลังคาของอาคารทรงมณฑป ให้เป็นทรงบุษบกได้
แต่ไม่รู้จักปรุงหลังคาของอาคารทรงศาลา ให้เป็นทรงปั้นหยาได้... ก็อย่าได้เรียกว่าช่างเลย... ดักดานเสียเต็มประดาแล้ว

ทำได้ครับ แต่ไม่ทำ เพราะเห็นว่าทรงศาลาแบบเดิม ซึ่งมีจั่วให้ใส่ช่อฟ้า ใบระกา  มีหน้าบัน สวยงามถูกรสนิยมคนไทยกว่า

ถ้าย้อนไปดูต้นๆ จะพบว่า รูปทรงของสถาปัตยกรรมจะเป็นเช่นไรนั้น ขึ้นอยู่กับวัสดุก่อสร้าง อันเป็นอมตะวาจาของครูบาอาจารย์สถาปนิก ผมให้ความสำคัญที่วัสดุมุง ที่เป็นตัวบังคับขอบเขตของรูปทรงหลังคา ให้ต้องสูงชัน หรือแบนราบลงมาได้ วัสดุมุงที่ใช้ครอบสันหลังคา เช่นตะเฆ่สัน และตะเฆ่ราง ก็สำคัญยิ่ง หลังคาจะสวยอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคุ้มแดดคุ้มฝนด้วย


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 เม.ย. 12, 18:49
เข้ามาโกยความรู้
เพิ่งเคยได้ยินคำว่า ตะเฆ่สัน และตะเฆ่ราง  (แน่ละ  คำนี้ไม่เคยมีสอนในคณะอักษรศาสตร์)
ใช้อินทรเนตรส่องหา ได้รูปมา เลยเอามาเผื่อคนที่ไม่เคยได้ยินเหมือนดิฉันค่ะ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 16 เม.ย. 12, 22:13
อันนี้ขอถามด้วยข้าพเจ้าไม่เชี่ยวชาญเรื่องสถาปัตยกรรมไทยเท่าใดนัก

สรุปแล้วหลังคาปั้นหย่านี้จะมีทรงแบบปีระมิด หรือว่าเป็นทรงไม่มีหน้าจั่ว เข้าหากันสี่ด้านแล้วมีสันหลังคาตรงกลาง เพราะแต่ละอย่างจีนจะมีคำเรียกทรงหลังคาไว้หมด

เผื่อจะลองค้นคว้ามาเพิ่มเติม



กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 เม.ย. 12, 22:50
หลังคาทั้งทรงแบบปีระมิด กับทรงไม่มีหน้าจั่ว เข้าหากันสี่ด้านแล้วมีสันหลังคาตรงกลาง เรียกว่าหลังคาทรงปั้นหยาทั้งคู่ครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 16 เม.ย. 12, 23:34
ขอบพระคุณ คุณ NAVARAT.C ครับ ที่พูดถึงวัสดุ
คำนี้เป็นคำสำคัญ... แต่บ่อยครั้งคนที่สนใจรูปแบบก็ลืมมันไปเสมอๆ


มีเรื่องอยากเรียนถามเรื่องหนึ่งครับ เกี่ยวกับหลังคาชนิดที่เป็น 'ชายคาปีกนก' ครับ
เพราะถ้าล้มหน้าบรรพ์ที่อยู่ด้านบนของจั่วชนิดนี้ลงเสีย
หลังคาที่เคยมีมุขก็จะกลายเป็นทรงปั้นหยาทันที
กรณีอย่างนี้ คุณ NAVARAT.C เห็นว่าทรงหลังคาสัมพันธ์กันหรือไม่ครับ?

ถ้าสัมพันธ์ คุณ han_bing อาจจะลองหาชื่อของหลังคาทั้ง 2 ทรง ในศิลปะจีนได้ครับ
เพราะดูเหมือนศิลปะจีนจะใช้ทรงหลังคาทั้ง 2 ชนิดนี้มานานพอดูแล้วน่ะครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 เม.ย. 12, 06:01
อ้างถึง
มีเรื่องอยากเรียนถามเรื่องหนึ่งครับ เกี่ยวกับหลังคาชนิดที่เป็น 'ชายคาปีกนก' ครับ
เพราะถ้าล้มหน้าบรรพ์ที่อยู่ด้านบนของจั่วชนิดนี้ลงเสีย
หลังคาที่เคยมีมุขก็จะกลายเป็นทรงปั้นหยาทันที
กรณีอย่างนี้ คุณ NAVARAT.C เห็นว่าทรงหลังคาสัมพันธ์กันหรือไม่ครับ?

ผมไม่คิดว่ามันจะสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญนะครับ
 
คือ รูปทรงทั้งสอง มีอะไรแบบตัวใครตัวมัน ไม่ใช่ว่าล้มแบบหนึ่งเพื่อจะได้อีกแบบหนึ่ง นายช่างออกแบบมีโจทย์จะต้องคิดแก้ปัญหาอีกมาก เพราะผลงานไม่ได้แค่เป็นลายเส้นอยู่บนกระดาษ แต่เป็นสิ่งที่ต้องสร้างให้อยู่กลางแดดกลางฝนสำหรับคนเข้าไปอยู่อาศัยได้จริง

หลังคาทรงจั่ว มีจุดอ่อนด้านหน้าบัน(ผมสะกดอย่างนี้นะครับ)ที่แดดและฝนจะสาดเข้าทางหน้าต่าง(ถ้ามี) จึงต้องทำหลังคาปีกนกไว้เพื่อกันสาด

ส่วนหลังคาปั้นหยา ชายคาเสมอกันทุกด้าน และอยู่ในระดับต่ำ เป็นกันสาดไปในตัว


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 เม.ย. 12, 06:03
กันสาดของหลังคาทรงจั่วนั้นจะอยู่ส่วนนอกตัวอาคาร ซึ่งยอมให้ฝนรั่วซึมได้บ้าง จึงทำให้ความลาดเอียงน้อยลง เพื่อความสวยงามได้


แต่ถ้าอาคารเป็นบ้านไทยสมัยก่อนที่ใช้กระเบื้องดินเผามุงหลังคา ก็จะใช้ตรงส่วนที่คลุมตัวบ้าน และทำทรงหลังคาให้ชันเพื่อระบายฝนรวดเร็ว  ส่วนหลังคากันสาดที่เรียกว่าปีกนกนั้น จะมุงด้วยจาก(ซึ่งเบา ทำให้โครงสร้างไม้ที่รองรับไม่เทอะทะสิ้นเปลือง) ต่อมาสมัยเมื่อมีสังกะสีใช้ ก็เอามาเปลี่ยนแทนจาก


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 เม.ย. 12, 06:04
หลังคาทรงปั้นหยาแบบไทยแท้ ในสมัยที่เครื่องมุงทำด้วยกระเบื้องดินเผาจะไปไม่รอด โดยเฉพาะในส่วนยอดที่ตะเฆ่สันวิ่งขึ้นไปเจอกัน  นายช่างก่อสร้างท่านก็แก้ปัญหาโดยสร้างหลังคาซ้อนทับ เปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง แต่ความนิยมก็อยู่ในวงจำกัด ผมดูแล้วก็คงจะกันฝนรั่วไม่ได้ทั้ง๑๐๐%


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 เม.ย. 12, 06:10
บังเอิญผมไปเจอมาในเวป ตรงประเด็นที่เรากำลังอภิปรายกันอยู่พอดี เชิญเข้าไปดูข้อความแบบเต็มๆครับ

http://www.oknation.net/blog/sigree-architect/2012/02/03/entry-1

สถาปัตยกรรมปัตตานี : หลังคาทรงบัว - Waqaf Roof
Posted by Sigree

เรามักจะเจอหลังคาประเภทหนึ่งบริเวญภาคใต้  จะว่าไปมันพิเศษมากมากจนมีคนถ่ายรูปเสมอ  หลายคนเรียกมันว่าหลังคาปั้นหยา 2 ชั้น แต่บรรดาผู้ศึกษาสถาปัตยกรรม อาทิผมเราเรียกมัยกเจาะจงกว่านั้นว่า หลังคาทรงบัว - Waqaf Roof

สำหรับในสังคมมุสลิมชายแดนใต้แล้ว  เราจะเรียกหลังคาประเภทนี้ว่า วากัฟ Waqaf  ซึ่งมาจากภาษาอาหรับที่แปลว่า สาธารณะประโยชน์

หลังคาแบบนี้มีการกล่าวถึงน้อยมากในงานวิจัยด้านอาคารและสถาปัตยกรรมต่างๆในพื้นที่ภาคใต้และอาคารใน 3 จังหวัดชายแดน
ศาลาริมน้ำ วัดชลธาราสิงเห นราธิวาส(Pavilion at Chonlatara Singhae Narathiwat Thailand)
หลังคาแบบนี้จะมีลักษณ์พิเศษคือ  มีลักษณ์ 2 ชั้นหรือมากกว่า เป็นปันหยาทรงจตุรัส  พบทั้งในแบบพุทธและมุสลิม

ครับ ผมเพิ่งเคยเห็นศัพท์ที่ว่าทรงบัวก็ครั้งนี้แหละ แต่ผู้เขียนยังต้องใช้คำว่า ทรงปั้นหยาขยายความคำว่าทรงบัวอีกทีหนึ่งเหมือนกัน

แต่วากัฟก็น่าจะทำให้ราชบัณฑิตสถานพิจารณาที่มาของทรงปั้นหยาได้แล้ว


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 เม.ย. 12, 08:26
ตัวอย่างอาคารที่ใช้เป็นหอพระหลังคาทรงปั้นหยาแบบไทยๆนะครับ

สถาปนิกผู้ออกแบบเห็นว่าถ้าปล่อยสันหลังคาขึ้นไปสบกันเป็นยอดแหลมแบบปิรามิด  เห็นทีจะแก้ปัญหาไม่ให้ฝนรั่วซึมได้ยาก ก็เลยนำมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปมาตั้งบนเรือนยอด


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 17 เม.ย. 12, 09:30
หลังคาทรงปั้นหย่าในจีน

ในเมืองจีนมีการสร้างหลังคาทรงปั้นหย่ามานานแล้ว อย่างไรก็ตามในจีนนี้การแบ่งทรงหลังคานี้ไม่ได้แบ่งว่าเป็นทรงปั้นหย่าเพียงยึดหลักว่าไม่มีหน้าจั่วเท่านั้น ยังมีการแบ่งตามรูปทรงของหลังคาอีก ทั้งนี้หลังคาจีนรูปทรงที่จัดว่าเป็นทรงปั้นหย่าของไทยมีอยู่ ๒ ตระกูล ซึ่งในจีนถือว่าเป็นคนละตระกูลกัน มีดังนี้

๑.   หลังคาแบบอู๋เตี้ยนติ่ง (庑殿顶:wu dian ding)
หลังคาประเภทนี้ในสมัยราชวงศ์ซ่งเรียกว่าหลังคาแบบ “ซืออ่าติ่ง” (四啊顶:si a ding) หลังคาประเภทนี้จะมีสันหลังคายาวอยู่ตรงกลาง แต่ไม่มีหน้าจั่ว ใช้สำหรับอาคารที่มีฐานะสูงและสำคัญมาก เช่นพระที่นั่ง หรือโบถ์วิหารต่างๆ

๒.   หลังคาแบบฉวนเจียนติ่ง (攒尖:cuan jian)
สมัยราชวงศ์ซ่งเรียกว่า ”โตว่เจียนติ่ง” (斗尖顶:dou jian) เป็นหลังคายอดแหลมแบบยอดมณฑปไทย ใช้สำหรับอาคารที่มีขนาดไม่ใหญ่นักดังศาลา หรือยอดเจดีย์ทรงหอยคอยของจีน มีตั้งแต่ทรงกลม ทรงสี่เหลี่ยม ห้าเหลี่ยม หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม กระทั่งสิบสองเหลี่ยมยังมี สันนิษฐานว่าน่าจะมีมาอย่างน้อยตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่นครั้งยุคราชวงศ์หมิง ชิงก็มีปรากฎทั่วไป   

คิดว่าที่บางตำราเรียกว่า "ซือจู้ติ่ง" (四柱顶:si zhu ding) น่าจะจัดอยู่ในตระกูลอู่เตี้ยนติ่ง

ที่มาข้อมูลนำมาจากหนังสือ "จงกั๋วกู่ไต้เจี้ยนจู้ซือเปี่ย" (中国古代建筑识别: zhong guo gu dai jian zhu shi bie) ของคุณหลี่จินหลง (李金龙:li jin long)

และตามค้นได้จากเว็ปไซด์ต่อไปนี้

http://www.confucianism.com.cn/html/yishu/6087412.html
http://baike.baidu.com/view/659377.htm



กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 17 เม.ย. 12, 09:32
๑.   หลังคาแบบอู๋เตี้ยนติ่ง (庑殿顶:wu dian ding)


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 17 เม.ย. 12, 09:33
๒.   หลังคาแบบฉวนเจียนติ่ง (攒尖:cuan jian)


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 17 เม.ย. 12, 09:37
ทั้งนี้หลังคาหน้าจั่วมีชายคาล้อมรอบ เรียกว่า  เรียกว่า “เซี้ยซันติ่ง” (歇山顶:xie shan ding) ใช้สำหรับสถานที่ราชการหรือศาสนสถานสำคัญ จะถือเป็นหลังคาปั้นหยาหักมุข มีหน้าจั่วคงจะได้กระมัง

รูปประกอบ



กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 เม.ย. 12, 09:44
ผมอยากให้ท่านดูหลังคาทรงบาหลี ซึ่งเป็นทรงปั้นหยาบริสุทธิ์มุงด้วยแฝก คนไทยภาคกลางไม่นิยมใช้แฝกโดยจะใช้ใบจากแทน อาจเป็นเพราะหาง่ายกว่า หรือแฝกมันเป็นใบไม้มีคม ทำงานยากก็เหลือเดา หลังคาบ้านของเราจึงต้องออกแบบแตกต่างกว่าเขา ผมเคยลงทุนหอบตับหลังคาหญ้าจากบาหลีใส่กระเป๋าเดินทางมาไม้หนึ่ง ให้ผู้ชำนาญในเมืองไทยดูว่ามันเป็นหญ้าที่เมืองไทยไม่มีหรือเปล่า เขาบอกว่ามันเหมือนกับแฝกไทยเช๊ะ ยังงงว่าผมบ้าไปหอบกลับมาทำไม ก็ผมสงสัยว่าทำไมคนบาหลีเขาไม่กลัวว่า มันจะใช้ได้เพียงแค่ปีสองปีแบบหลังคาแฝกที่คนไทยทำ ผมเคยเห็นกับตา บางหลังในช่วงฤดูฝน พอเปิดประตูเข้าไปภายในก็ต้องผงะ เจอราขึ้นเต็มหลังคาน่าสยดสยองมาก ภายนอกตรงส่วนที่ร่มๆ มีเห็ดคล้ายๆเห็ดฟางขึ้นบนหลังคาได้ด้วย

กลับไปอีกครั้ง มีเวลาได้ดูชัดๆ คนบาหลีเป็นช่างระดับครู(ผมอยากเรียกว่าศิลปินช่างค้วยซ้ำ)ที่ประณีตมาก ไม่มีมั่วเพราะจะเอาเร็วเข้าว่า โครงหลังคาภายในปล่อยโล่งอวดแขกได้เลย ผมสงสัยว่าส่วนที่ตู้Build-inบังไว้ จะเนี๊ยบเหมือนกันไหม ลงทุนปีนขึ้นไปดูปรากฏว่าเหมือนกัน ตับแฝกมัดชิดติดกันแน่นหนาและมุงอย่างถี่ยิบ ถี่กว่าที่บ้านเราทำทางภาคเหนือหรือภาคใต้กว่าเท่าตัว ทำให้ได้ความหนาของตัวหญ้ามุงหลังคา ฝนไม่สามารถซึมทะลุผ่าน ภายในจึงไม่มีความชื้น และผมก็หาหยากไย่ไม่เจอเลย ไม่ทราบเขาว่าทำยังไงกับแมลงมุม ส่วนตะเฆ่สันก็ใช้แฝกนั่นแหละ มุงหนาพิเศษขึ้นไปอีกจนเห็นเป็นสันนูน ส่วนยอด แก้ปัญหาโดยทำเครื่องยอดด้วยดินเผาทรงระฆังมาครอบไว้ ฝนไม่อาจจะรั่วได้ หลังคาแบบปั้นหยาของเขาจึงคุ้มแดดคุ้มฝนให้คนที่อยู่อาศัยได้อยู่เย็นเป็นสุขอย่างยิ่ง

ผมหลงใหลในความสวยที่เรียบง่ายของสถาปัตยกรรมบาหลีแบบนี้มาก แต่คนไทยโบราณคงไม่ถูกรสนิยม เพราะมันไม่มีสีสันอันอลังการ ในบาหลีเองก็เถอะ มีสถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีกแบบหนึ่งที่ละลานไปด้วยสีสดๆ และงานแกะสลักทั้งไม้ทั้งหินรุ่มรวยไปหมดเหมือนกัน น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากชวาและสุมาตรามาไม่น้อย  

สมัยใหม่นี้ รีสอร์ททรงหลังคาปั้นหยามุงแฝกจะได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวฝรั่ง ส่วนนักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซียเอง จะชอบแบบฉูดฉาดมากกว่า


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 เม.ย. 12, 10:02
อย่างไรก็ตาม มาถึงบรรทัดนี้แล้วก็อย่าเพิ่งหลงประเด็นนะครับว่า ผมเสนอว่าภาษาไทยบัญญัติคำว่า ปั้นหยา มาจากหลังคาแบบจีนโดยที่ฟังมาจากสำเนียงจากจีน

แต่ผมเสนอสมมติฐานว่า ปั้นหยามาจากรูปทรงอาคาร ของพระตำหนักกึ่งจีนกึ่งฝรั่งแบบเสปญที่สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกสมัยรัชกาลที่๓ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเรียกอย่างเป็นทางการว่าพระปั้นหยา

โดยที่ผู้รับเหมาและช่างก่อสร้างเป็นคนจีน เวลาเรียกตึกแบบเสปญเขาออกเสียงว่า  "ซี ปัน หย่า"  หรือ "ไซ ปัน หย่า"  หรือ "เซ ปัน เหย่" อันใดอันหนึ่งนี้แหละ พอเข้าหูคนไทยมาออกทางปากก็กร่อนเป็น ปันหย่า และ กลายมาสะกดว่า ปั้นหยา

พอจะเรียกรูปทรงหลังคาแบบที่ไม่ค่อยจะนิยมทำกันมาก่อนหน้านี้ ก็คงจะเริ่มต้นเรียกว่า หลังคาแบบพระปั้นหยา แล้วกร่อนมาเรื่อยๆ จนสุดท้ายเป็น หลังคาปั้นหยา ในปัจจุบัน



กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 17 เม.ย. 12, 10:20
อ้อ  และผมที่คุณเรียกว่า น้ำเพลิง อย่างให้เกียรติน้อย ก็แสดงความแย้งไว้ว่า

คนจีนเขามีชื่อเรียกหลังคาลักษณะปั้นหยา ของเขาอยู่แต่เดิม

สำเนียงจีนกลางที่ลากถูกันไป ก็ไม่ใช่สำเนียงหลักที่นิยมใช้ในกลุ่มชาวจีนใต้ที่ย้ายมาอยู่เมืองไทยแต่เก่าก่อน


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 เม.ย. 12, 10:23
ขอประทานโทษครับ คุณNamplaeng ที่ผมเรียกว่าคุณน้ำเพลิง มิได้หมายจะลดเกียรติอะไรคุณเลย ถ้ารู้สึกเช่นนั้นก็ขออภัย


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 เม.ย. 12, 10:46
เนื่องจากแอดมินกำหนดให้สมาชิกสมัครใหม่ สะกดชื่อเป็นภาษาอังกฤษ เพราะเกรงว่าระบบจะไม่รู้จักฟ้อนท์ไทย    ชื่อไทยหลายชื่อจึงสะกดด้วยภาษาอังกฤษ    บางชื่อก็อ่านยาก  ทำให้คนอ่านอ่านผิดได้ง่าย
ดิฉันเคยอ่านชื่อคุณ Takae (ตาแก่) เป็น ตะเข้   ส่วนคุณ samun007  จนบัดนี้ก็ยังไม่รู้ว่าว่าอ่านว่าสมุนหรือสมัน     ชื่อคุณ namplaeng  ดิฉันอ่านว่า น้ำเพลง
ไม่รู้ว่าจริงๆแล้ว  คำว่า  namplaeng  คุณเจ้าของชื่อตั้งใจจะให้อ่านว่าอะไรกันแน่คะ

ไม่มีใครลดเกียรติใครในเรือนไทยหรอกค่ะ  อย่าได้คิดเช่นนั้นเลย  พวกเราส่วนใหญ่ก็มีวุฒิภาวะพอจะไม่ทำเช่นนั้น

ป.ล. แอดมินบอกดิฉันว่า  ความจริงระบบอ่านฟ้อนท์ไทยออก   ถ้าใครจะสมัครใหม่ก็ใช้่ชื่อภาษาไทยได้แล้วนะคะ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 เม.ย. 12, 13:09
http://www.baanjomyut.com/library/thaihouse/04.html



ในฐานะที่ปัตตานีเป็นศูนย์กลางการค้าขายทางทะเลมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา รูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นบ้านจึงมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย คือ นอกจากจะเป็นเรือนไม้ยกพื้นใต้ถุนสูง ซึ่งเป็นลักษณะร่วมทางสถาปัตยกรรมพื้นฐานของภูมิภาคศูนย์สูตรแล้ว ยังมีลักษณะรูปทรงหลังคาที่โดดเด่นเป็นพิเศษ โดยทั่วไปหลังคาเรือนไทยมุสลิมจะมี 3 ลักษณะ ดังนี้คือ

1.   หลังคาปั้นหยา หรือหลังคาลีมะ คำว่า “ลีมะ” แปลว่า “ห้า” หมายถึงหลังคาที่นับสันหลังคาได้ 5 ล้น เป็นรูปทรงหลังคาที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคมของชาวตะวันตก หลังคาทรงปั้นหยานี้นับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ และพบได้ทั่วไปในจังหวัดภาคใต้โดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานี

2.   หลังคาจั่วมนิลา ชาวมุสลิมเรียกว่า “บลานอ” ซึ่งหมายถึง ชาวฮอลันดา หลังคาแบบนี้เชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมของชาวฮอลันดา เป็นหลังคาที่มีโครงสร้างเช่นเดียวกับหลังคาปั้นหยา แต่เป็นหลังคาที่มีจั่วติดอยู่ เพื่อระบายอากาศและดูสวยงาม หลังคาบลานอนี้จะมีรูปแบบที่สวยงามกว่าแบบอื่น เหมาะที่จะมีจั่วอย่างน้อย 3 จั่ว โดยมีหลังจั่วแฝด และมีจั่วขนาดเล็กสร้างคลุมเฉลียงหน้าบ้านติดกับบันไดทางขึ้น เพื่อใช้รับรองแขกอย่างไม่เป็นทางการ นอกยากนั้น ช่างไม่ยังแสดงฝีมือเชิงช่างในการประดิษฐ์ลวดลายด้วยการแกะสลักไม้ ปูนปั้น เป็นลวดลายประดับลวดลายประดับยอดจั่ว และมีการเขียนลายบนหน้าจั่ว หรือตีไม้ให้มีลวดลายเป็นแสงตะวัน

3.   หลังคาจั่ว ชาวมุสลิมเรียกว่า “แมและ” เชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากเรือนไทยภาคกลาง แต่จะมีข้อแตกต่างไปจากภาคกลาง ตรงที่มีปั้นลมปีกนกที่ได้รับอิทธิพลจากรูปแบบสถาปัตยกรรมจากมาเลเซีย ไม่เหมือนปั้นลมไทย ซึ่งปลายปั้นลมทั้งสองข้างจะมีเหงาปั้นลมประดับอยู่


หลังคาลีมะ ทำไมเรียกลีมะเฉยๆไม่ได้ ต้องเอาคำว่าหลังคาปั้นหยามาขยายความด้วย  และในรูปที่นำมาประกอบในหน้าเวป ก็ไม่ใช่หลังคาทรงปั้นหยา


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 เม.ย. 12, 13:11
http://talubun.go.th/thai/?name=page&file=page&op=%C1%D1%CA%C2%D4%B4%C3%D2%C2%D2

มัสยิดรายา หรือมัสยิดเก่าตั้งอยู่ถนนลูกเสือ ติดเขาสลินดงบายู ในเนื้อที่ 2 ใน 3 งาน 48 วา สร้างเมื่อปี 2428 โดยสถาปนิกชาวชวา และชาวท้องถิ่น ใช้เวลาสร้าง 1 ปี ซึ่งเป็นมัสยิดหลัง-แรกของเมืองสายบุรี ลักษณะตัวอาคารมัสยิด เป็นสี่เหลี่ยมหลังคามี 3 ช่วง ช่วงที่ 1,2 หลังคาทรงปันหยา(ลีมะ) ปูด้วยกระเบื้องเล็ก ช่วงที่ 3 เป็นส่วนที่จะต่อเติมจากช่วงที่ 1 จะมีโดมเล็ก ๆ ยอดบนสุดจะเป็นแก้วกลม และด้านขวาจะเป็นระเบียง หลังคากระเบื้องดินเผา ผนังฉาบปูนเปลือกหอย (อยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลตะลุบัน)

พ.ศ. ตรงกับสมัยรัชกาลที่๕ อาคารหลังนี้อายุน้อยกว่าพระตำหนักปั้นหยาในวัดบวร


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 เม.ย. 12, 12:29
จำได้ว่าบ้านสไตล์บาหลีเป็นที่นิยมกันฮือฮาอยู่ช่วงหนึ่งในไทย  บ้านจัดสรรใหม่ๆในตอนนั้นก็ทำแบบบาหลี     ส่วนสปาที่แพร่หลายรวดเร็วเป็นไฟลามทุ่ง นิยมทำแบบบาหลีกันมาก    รีสอร์ทชายทะเลก็ทำแบบบาหลี
แต่ไม่รู้ว่าบาหลีจริงหรือว่าบาหลีประยุกต์ 
ใช้อินทรเนตรหาบ้านบาหลีมาลงให้ดูกันค่ะ  พบว่าหลังคาทรงปั้นหยาทั้งนั้นเลย
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=travelaround&date=28-03-2008&group=16&gblog=36
   


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 เม.ย. 12, 09:26
อ้างถึง
ท่านนวรัตน์ครับ

อยากจะขอทราบความเห็นเพื่อเก็บเป็นความรู้อยู่ 2 ข้อ คือ

- บ้่านเรือนของไทยที่เรียกได้ว่าเป็นแบบรัตนโกสินทร์มีบ้างใหมครับ เอาแบบที่ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งน้อยที่สุด
- ผมเชื่อว่าแม้เราจะเอาแบบอย่างสถาปัตยกรรมจากตะวันตกมามาก มีอะไรบ้างหรือส่วนใดบ้างที่เราไม่ได้ตามและยังคงรักษาทัศนคติแบบของเราไว้

แวะเข้าซอยซะนาน ขอกลับมาที่คำถามของท่านตั้ง

คำถามแรก มันก็คงมีแน่แหละครับ แต่ที่เหลืออยู่ก็เป็นเฉพาะวังและวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๓ขึ้นไป พวกนี้ ช่างยุคนั้นจะเอาแบบฉบับมาจากสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา แต่ดัดแปลงให้เรียบง่ายลง(เพราะยังไม่รุ่มรวยเท่าก่อนกรุงแตก) ครั้นมาถึงสมัยที่พอจะมีเงินมีทองสร้างให้หรูเลิศบ้าง แฟชั่นฝรั่งก็เริ่มระบาดมาถึงเสียแล้ว

รูปที่ท่านตั้งเห็นต้องร้องอ๋อนี้  ยกตัวอย่างขั้นมาก็เพียงเพื่อประกอบความเห็นข้างต้น สองตึกนี้ ถึงจะสร้างในยุคปลายรัตนโกสินทร์ แต่ผังพื้น(แบบฝรั่ง)เป็นแปลนเดียวกัน  แต่หน้าตาออกคนละแบบ ด้านบนเป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์  ด้านล่างเป็นอยุธยา


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 เม.ย. 12, 09:31
อ้างถึง
ผมเชื่อว่าแม้เราจะเอาแบบอย่างสถาปัตยกรรมจากตะวันตกมามาก มีอะไรบ้างหรือส่วนใดบ้างที่เราไม่ได้ตามและยังคงรักษาทัศนคติแบบของเราไว้

มีสถาปนิกระดับปรมาจารย์หลายท่านที่ยังออกแบบสถาปัตยกรรมไทยตามขนบประเพณีทั้งหลัง  โดยใส่ “ลูกเล่น” อันสวยงามที่ท่านประดิษฐ์ขึ้นเองต่างจากบูรพาจารย์ในอดีตอย่างเห็นได้ชัด พอจะจำแนกว่าเป็นสถาปัตยกรรมไทยสมัยร้ช กาลที่๙โดยเฉพาะได้

แต่คนทั่วไปคงไม่สามารถแยกแยะ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 เม.ย. 12, 09:36
ความจริง เอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทยที่เราคิดขึ้นมาเอง และโดดเด่นที่สุดในสายตาชาวโลก ก็คือรูปทรงหลังคา และการยกฐาน หรือใช้เสาสูง เพื่อให้พื้นอาคารอยู่ระดับเหนือน้ำ ในฤดูน้ำหลาก

ปัจจุบัน สถาปนิกได้พยายามออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัยให้ดูเป็นไทย มีให้เห็นมากมาย ทั้ง The good, the bad, and the ugly.  บางทีก็แค่เอารูปแบบหลังคาไทยไปครอบ หรือเอาช่อฟ้ากาแลไปแปะ แล้วอ้างว่าเป็นสถาปัตยกรรมไทยแบบประยุกต์

ฝรั่งบางคน ก็เอาเจดีย์(แบบเก็บอัฐิ)ไปตั้งประดับกลางโรงแรม เพื่อหวังจะให้ดูเป็นไทยๆเลย

ครูบาอาจารย์ของผมสอนว่า สถาปัตยกรรมที่ดีต้องมีสัจจะ เช่นจะทำหลังคาให้มีเอกลักษณ์ไทย ก็ต้องเป็นหลังคาที่ใช้คุ้มแดดคุ้มฝนให้ตัวอาคารจริงๆ ไม่ใช่ทำหลังคาคอนกรีตแล้วแล้วเอาอะไรไทยๆไปตั้งไว้ อาคารที่ไม่มีสัจจะ ก็สักแต่ว่าเป็นสิ่งก่อสร้าง มิใช่สถาปัตยกรรม


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 เม.ย. 12, 09:40
โดยส่วนตัวผมเห็นว่า สถาปัตยกรรมไทยในสมัยปัจจุบัน ก็คือ สถาปัตยกรรมที่รังสรรค์ขึ้นเพื่อสนองความต้องการของคนในยุคนี้ โดยนำวัสดุก่อสร้างร่วมสมัยมาประกอบเป็นเอกลักษณ์ไทย ที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ภูมิอากาศ และขนบธรรมเนียมประเพณีของคนไทย อย่างสมเหตุสมผล โดยไม่จำเป็นต้องใส่ชฎา

ส่วนจะสถาปนิกคนไหน จะทำได้สวยงามหรือไม่ ก็ว่ากันไปตามรสนิยมอันเป็นปัจเจก

สำหรับประเภทของอาคารตามความต้องการของคนในยุคนี้ แม้จะหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่แล้วที่ดีๆ และเราๆท่านๆจะมีโอกาสได้เห็นง่ายหน่อยก็คือพวกรีสอร์ทหรือโรงแรมซึ่งต้องการดึงดูดชาวต่างชาติด้วยสถาปัตยกรรมอันแตกต่างจากความจำเจในบ้านเมืองของเขา แต่เมื่อเข้าไปอยู่อาศัยภายในแล้ว ต้องให้ความรู้สึกคุ้นเคย ปลอดภัยที่จะนอนให้หลับลนิทได้เหมือนนอนในบ้านของตนเอง


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 เม.ย. 12, 09:43
ภาพนี้เอามาให้ดูเฉยๆ ไม่ได้ชักชวนให้ไปตำหนิท่าน แต่สถาปัตยกรรมไทยที่ไปอยู่ผิดที่ผิดทาง ก็เหมือนเอาช้างไปอยู่ขั้วโลก 

ถ้าในลักษณะสร้างให้เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง จะถูกหิมะคลุมก็พอจะดูเป็นของแปลกตาดี แต่ถ้ามุ่งเป็นที่อยู่อาศัยจริงๆ เจ้าของนอกจากจะต้องรวยแล้ว ยังต้องใจเด็ดมากมายอีกด้วยนะครับ ผมว่า


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 เม.ย. 12, 10:04
พอๆกับอาคารโรมันในประเทศไทยหรือเปล่าคะ    สร้างไว้เผื่อติดแอร์ทั้งหลัง

ภาพขวามือเป็นบ้านไทยในอดีต  ประมาณรัชกาลที่ 6    หน้าต่างประตูยาวและกว้างเมื่อเทียบกับขนาดผนัง   เพื่อรับลม   มีช่องลมเพื่อระบายความร้อนและลมถ่ายเทได้   


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 เม.ย. 12, 10:32
^
ในด้านของความชินตาแล้ว ก็ไม่ค่อยจะรู้สึกแปลกถิ่นแปลกที่เท่าไหร่แล้วนะครับ ที่ไหนในโลกก็สร้างกัน คนมีเงินเหลือเฟือเขาย่อมไม่สนใจเรื่องการประหยัด ในเรื่องการเสริมอัตตา


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 เม.ย. 12, 10:49
 ;D


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 เม.ย. 12, 12:12
ผมได้รับข้อความหนึ่งจากทางหลังไมค์ครับ
ขอบพระคุณท่านผู้ประท้วง ในความเมตตาที่จะไว้หน้าผมไม่ให้แตกกระจายในที่สาธารณะ  ท่านเป็นคนน่ารักมาก
ส่วนข้อความมีดังนี้ครับ

จาก: hobo   เมื่อ: วันนี้ เวลา 11:01

ขอประท้วงอาจารย์ Navarat C ครับ อ่านแล้วใจคอไม่ค่อยดีเลย จะว่าผมเรื่องมากก็ได้

ถึงจะสร้างในยุคปลายรัตนโกสินทร์ แต่ผังพื้น(แบบฝรั่ง)


ผมเห็นว่า อาจจะมีท่านอื่นคิดเห็นทำนองนี้เช่นกัน จึงขออรรถาธิบายดังนี้

อาคารที่เห็น เป็นหอนอน+ ห้องเรียน+ ห้องสันทนาการ+ ห้องอาหาร รวมกัน ของนักเรียนประจำตามแบบฉบับ Public school ของอังกฤษ  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯทรงนำมาเป็นต้นแบบของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์  ซึ่งปัจจุบันมีชื่อซึ่งพระราชทานให้ใหม่ในรัชกาลต่อมา เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ขององค์ผู้พระราชทานกำเนิดว่า วชิราวุธวิทยาลัย นั้น

อาคารตามประโยชน์ใช้สอยนี้  Public schoolของอังกฤษเรียกว่าHouse  ความหมายตรงๆคือเป็นบ้าน(หลังใหญ่) แต่วชิราวุธวิทยาลัยเรียกว่าคณะ มีอยู่๔คณะ การจัดแผนผัง(Planning)ของอาคารนั้น  เนื่องจากไม่เคยมีการทำอาคารที่สนองประโยชน์แบบเอนกประสงค์อย่างนี้มาก่อน กล่าวตรงๆก็คือ จึงได้เอาผังพื้น(Plan)ที่เขาสร้างHouseมาเป็นแนวทาง แล้วดัดแปลง แบ่งผังพื้นให้กระจายตัวอาคารออก เพื่อให้ลมโกรกได้ทุกส่วนอย่างสถาปัตยกรรมเมืองร้อนที่ดี  เพราะสมัยเมื่อสร้างไม่มีระบบปรับอากาศใช้

นั่นคือที่มาของ ถึงจะสร้างในยุคปลายรัตนโกสินทร์ แต่ผังพื้น(แบบฝรั่ง) ในความหมายของผมครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: hobo ที่ 20 เม.ย. 12, 12:44
ขอประทานโทษครับ ผมหมายถึง คำว่า 'ปลาย' ต่างหาก มันรู้สึกแปลกๆ
ยิ่งตอนนี้บรรยากาศไม่ค่อยจะดีนะครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 เม.ย. 12, 13:19
อ้าว ตายจริง สื่อผิดความหมายไปลิบ

คำว่าสมัยรัตนโกสินทร์ผมร่ำเรียนมาว่าจบลงตรงที่สิ้นสุดรัชกาลที่๗  เป็นสมัยทางศิลปวัฒนธรรมครับ ไม่(ค่อย)เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง

ปลายรัตนโกสินทร์ของผมเริ่มตั้งแต่ปลายรัชกาลที่๖ จนสิ้นรัชกาลที่๗

สมัยต่อมาเขาเรียกว่าสมัยใหม่ ตรงกับคำว่าModern

นึกว่าทราบๆกันแล้ว
ขออภัยครับ คราวหลังจะได้ระมัดระวังยิ่งขึ้น


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 เม.ย. 12, 15:47
มาต่อให้จบไป ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย ตามหัวข้อของท่านตั้ง ซึ่งไม่ทราบว่าบัดนี้หนีแผ่นดินไหวและซึนามิ ไปกินอาหารป่าอยู่ในเหมืองรัตนมณีที่จังหวัดไหน

เมื้อกี้ผมระบุว่า สถาปัตยกรรมไทยในสมัยปัจจุบัน ก็คือ สถาปัตยกรรมที่รังสรรค์ขึ้นเพื่อสนองความต้องการของคนในยุคนี้ โดยนำวัสดุก่อสร้างร่วมสมัยมาประกอบเป็นเอกลักษณ์ไทย ที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ภูมิอากาศ และขนบธรรมเนียมประเพณีของคนไทย อย่างสมเหตุสมผล โดยไม่จำเป็นต้องใส่ชฎา นั้น อยากจะขอยกตัวอย่างสักหน่อย

ส่วนตัวเห็นว่าสถาปัตยกรรมของโรงแรมรายาวดี จังหวัดกระบี่ ได้รับพระราชทานรางวัลเหรียญทอง สถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี๒๕๓๗ คัดเลือกโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์  เข้าแนว “ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย”ที่สุด

หลังคาที่ว่านี้ มาจากรูปทรงที่คนไทยรู้จัก และใช้กันมาแต่โบราณเท่าที่มีความจำเป็น ช่องแสงเหนือหน้าต่างเป็นลายพระอาทิตย์ที่ปรากฏตามหน้าบันของบ้านเก่าๆตามภูมิภาค


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 เม.ย. 12, 15:53
ตัวผังพื้นที่เป็นวงกลม ไม่ได้เกิดจากความเสแสร้งอยากจะได้อะไรประหลาดๆ แต่เป็นความจำเป็นที่ต้องการนำมันไปจัดลงภายในช่องว่างระหว่างต้นมะพร้าวในสวนอายุกว่าสี่สิบปี โดยไม่ให้เกิดการตัดทำลายวายวอด หลังจากประเมินแล้ว ไม่มีอะไรจะเหมาะสมเท่ารูปทรงนี้

อาคารกลม มีอิสระในการหมุนผังให้หน้าต่างของห้องนอนชั้นบน หันออกสู่วิวทะเลได้ทุกหลัง โดยไม่ทำให้โรงแรมดูเกะกะ หากจะเป็นทรงกล่องสี่เหลี่ยม

วัสดุก่อสร้างทันสมัยเท่าที่จะหาได้ในตลาด ไม่ได้ใช้ไม้ธรรมชาติแต่ดูนุ่มนวลเหมือนไม้ หลังคาทรงหมวกนั้น สามารถรับแรงกระทบจากลูกมะพร้าวที่อาจหล่นลงมาใส่ได้ โดยไม่เกิดความเสียหาย

การตกแต่งภายใน ให้ความรู้สึกที่ชาวยุโรประดับกลุ่มเป้าหมายของโรงแรมนี้คุ้นเคย และนอนหลับได้ ไม่ว่าเมื่อก่อนค่ำจะเห็นลิงป่าทั้งฝูงมานั่งอยู่นอกหน้าต่างก็ตาม


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 เม.ย. 12, 15:55
คงจบแล้วละครับ พอสมควรแล้ว


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 เม.ย. 12, 19:21
ไม่ได้หายไปใหนหรอกนะครับ เฝ้าคอยอยู่ ตามอ่านไปเรื่อยๆมาตลอด ด้วยรู้น้อยจึงฟังมาก
อ่านแล้วก็ให้รู้สึกว่า กินนอนอยู่เป็นนานไม่ยักกะรู้ว่าบ้านเราเป็นอย่างไร เห็นแต่ความสวย (เปลือกนอก) แต่ไม่เห็นความงาม (ส่วนใน) ก็เพิ่งจะได้รับการเบิ่งตาให้เห็นในครั้งนี้เอง   หากไม่ชั้นครูจริงๆก็คงจะไม่สามารถอรรถาธิบายกระตุ้นให้เห็นเนื้อแท้ได้

ด้วยความคารวะจริงๆ ครับ

ผมทราบมาโดยประสบการณ์ว่า การจะนำเรื่องราวในเชิงนามธรรมมาเล่าขานให้เกิดภาพในเชิงรูปธรรมนั้นยากมาก หากไม่รู้จริงก็ต้องพยายามใช้วิธีการอธิบายกันยืดยาวเพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจ แต่หากรู้จริงทุกรูขุมขนก็สามารถจะรู้วิธีสะกิดเพียงนิดเดียวให้อีกฝ่ายเห็นภาพได้

ท่านนวรัตน์จึงเป็นผู้รู้จริง

ทำให้เห็นภาพว่าปรมาจารย์แต่ก่อนนั้น จะคิดอะไรจะทำอะไรก็จะทำให้เกิดมีคุณค่าดีที่สุดสนองตอบโจทย์ต่างๆอย่างครบถ้วน มีการศึกษาและทำการบ้านมาก่อนเท่าที่ปัญญาและความรู้จะพึงมี ซึ่งในภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า Research ซึ่งคำนี้ในปัจจุบันมักจะมีความหมายไปในเชิงเพื่อจะไปหาสิ่งใหม่ๆ มากกว่าที่จะหมายความถึงการทบทวนสิ่งที่เขารู้ๆกันมาก่อนที่จะทำอะไรให้เป็นที่ประจักษ์   

อย่างน้อยผมก็มีความดีใจเล็กๆน้อยๆว่า
....ความจริง เอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทยที่เราคิดขึ้นมาเอง และโดดเด่นที่สุดในสายตาชาวโลก ก็คือรูปทรงหลังคา และการยกฐาน หรือใช้เสาสูง เพื่อให้พื้นอาคารอยู่ระดับเหนือน้ำ ในฤดูน้ำหลาก...


อ.นวรัตน์อยากจะจบแล้ว แต่ผมอยากจะขอแยกเข้าซอยไปนี๊ดเดียวด้วยความอยากรู้อีกสักหน่อยว่า  แล้วมีอะไรที่เป็นไทยๆซ่ิอนอยู่ในการออกแบบบ้านเรือนในปัจจุบันบ้างครับ (เรื่องใต้ถุนบ้านสูงนั้นหายไปแล้ว) นอกเหนือจากพื้นที่ทำครัวนอกตัวบ้าน (ซึ่งมักจะต้องต่อเติมด้วยตนเองในภายหลัง) แล้วมีอะไรอีกบ้างที่สถาปนิกคิดว่าเป็นวิถีไทยที่ยังจะต้องคำนึงถึงในการออกแบบบ้านและอาคาร

อาจารย์อย่าโกรธผมน้า อยากทราบจริงๆครับ

(อ. คนนี้ดุ อยากรู้ก็ต้องโดน....ไม่ถามแล้วจะรู้ได้อย่างไร จริงๆใหมครับ????)

 


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 เม.ย. 12, 19:24
เคยได้ยินชื่อรายาวดีมานานแล้วค่ะ  หวังว่าจะได้ไปเห็นด้วยตัวเอง
แต่ตอนนี้เห็นจะต้องรอปีหน้า


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 เม.ย. 12, 22:24
อาาา…….นี่ท่านตั้งก็ได้อุปโลกย์ให้ผมเป็นอาจารย์ไปอีกคนนึงแล้ว…..เอ  นี่มันอะไรกันนักหนา

ส่วนคำถามของท่านตั้งนั้น แต่ละข้อก็ลึกซึ้งยิ่ง เหมือนออกข้อสอบล่อหลอกให้คนตอบขยายขี้เท่ออวดชาวบ้าน


เอ้า ลองดู

“มีอะไรอีกบ้างที่สถาปนิกคิดว่าเป็นวิถีไทยที่ยังจะต้องคำนึงถึงในการออกแบบบ้านและอาคาร”

ถ้าเป็นผมก็คงต้องแยกออกเป็นสองประเภท ประเภทแรก ทำไปเลยไม่ต้องถามเจ้าของ อันนี้ได้แก่การพยายามปรุงอาคารให้ด้านทิศเหนือเปิดออกสู่วิว มีหน้าต่างหรือผนังกระจกได้ เพราะด้านเหนือปลอดจากแดดที่จะสาดเข้ามาถึงภายในห้อง การหลบห้องครัวและห้องคนใช้ไปในทิศที่ไม่รบกวนสายตา การยกพื้นชั้นล่างให้สูงจากระดับดิน อย่างน้อยก็ต้องประมาณเมตรนึง ก่อนจะเข้าบ้าน ต้องมีพื้นที่อำนวยให้แขก หรือคนในบ้านถอดรองเท้าก่อนจะเข้าบ้าน อ้อ บันได ไม่ว่าจะขึ้นชั้นล่างหรือชั้นบน ต้องนับขั้นให้ได้เลขคี่ ไม่ใช่เลขคู่ อันนี้ไม่รู้คนไทยถือกันมาแต่ครั้งไหนที่ว่า “บันไดคู่บันไดผี บันไดคี่บันไดคน” แม้เจ้าของบ้านบางตนอาจจะไม่รู้ เราก็ควรทำไปเลย มิฉะนั้นหากอยู่ๆไปมีคนมาทักเข้า คนอยู่ก็จะไม่สบายใจ
  
นอกจากนั้น ต้องถามเจ้าของก่อนว่า เขาจะต้องการให้มีไหม เช่นห้องพระ ซึ่งควรจะอยู่ทิศอะไรของบ้านก็ได้ยกเว้นตะวันตก  อีกห้องหนึ่งซึ่งก็สำคัญ ควรจะต้องมี คือห้องเก็บของ การงกสมบัติไม่ยอมทิ้งของง่ายๆดูเหมือนจะเป็นวัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่งเหมือนกัน ถ้าไม่มีห้องเก็บของ บ้านจะรกไปหมด บางบ้านถึงจะมีแต่ก็เต็มจนล้นออกมาในบ้าน ของเก่าไม่ใช่โบราณวัตถุนะครับ เป็นของที่ไม่ใช้แล้ว แต่ยังเสียดายไม่ยอมทิ้งหรือให้คนอื่นเขาไป
 
วัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งที่คนไทยรับมาจากคนจีน และระบาดอย่างหนักในปัจจุบันก็คือ การเอาซินแสมาดูฮวงจุ้ย แล้วสั่งให้สถาปนิกทำอย่างโน้นอย่างนี้ เป็นที่ปวดเศียรเวียนเกล้ามาก ผมขอไม่เล่า เดี๋ยวยาวเกิน ถ้าซินแสมีอิทธิพลต่อเจ้าของมากกว่าฟังสถาปนิก ต่อไปก็ควรเชิญซินแสไปเป็นคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เสียให้รู้แล้วรู้แรด


พอผ่านได้มั้ย ท่านตั้งขอรับ



กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 เม.ย. 12, 18:20
ซือโก้ย (ญี่ปุ่น) =  สุดยอด

ทำให้นึกถึงอะไรอีกหลายอย่างที่เป็นไทยๆแฝงอยู่ในบ้านไทย ที่ล้างเท้าตีนบันใดบ้านในภาคเหนือก็อย่างหนึ่ง หายไปหมดแล้ว ดีที่ยังแปลงเป็นแผ่นปูนเอาไว้ถอดและวางรองเท้า

ตามประสาก็ยังคงมีความอยากรู้อีก
เรามีมิชชันนารีจากสหรัฐฯเข้ามาในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ก็พอจะนับได้ว่ามีอิทธิพลทางสังคมพอสมควร ขนาดไปตั้งหลักปักฐานที่พิษณุโลก เป็นฐานกระจายการทำงานในภาคเหนือ และคงจะมีความสนิทสนมกันมากพอทีเดียวขนาด ร.4 ยังมีพระราชสาส์นจะส่งช้างไปให้ ก่อนหน้านั้นในสมัยอยุธยาก็มีทั้งปอร์ตุเกต ญี่ปุ่น เปอร์เซีย มากมาย แต่ทำไมเราจึงมีแต่คำเรียกทรงหลังคา "ปั้นหยา"  ไม่ว่าชื่อนี้จะเพี้ยนมาจากคำว่า "สเปญ" ตัวช่างจีน หรืออะไรก็ตาม
 
จะเป็นการแสดงว่าปั้นหยานั้น จะมีลักษณะเฉพาะบางอย่างหรือเปล่าที่เป็นการผสมผสานของอิทธิพลจากหลายประเทศ
 
ช่วยคลายอีกสงสัยหน่อยด้วยได้ใหมครับว่า ทรงอาคารและหลังคาแบบโคโลเนียลซึ่งยังคงมีปรากฎให้เห็นอยู่ในหลายๆแห่งที่ยังคงเป็นสิ่งปลูกสร้างของพวกมิชชันนารีอยู่นั้น มีแฝงอยู่ในอาคารบ้านเรือนไทยบ้างหรือไม่ หรือกลายเป็นศิลปประจำถิ่นที่ซ่อนอยู่ในช่างไทย หรือถูกกลบเกลื่อนเลือนลางหายไปหมดแล้ว

ท่านนวรัตน์ช่วยเบิ่งตาให้ด้วย น้อยนิดก็ยังดีครับ  ;D

 


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 เม.ย. 12, 20:53
ท่านตั้งก็พิจารณาเอาเอง รูปบนๆน่ะ เป็นสถาปัตยกรรมแบบโคโรเนียลในสมัยแรกสร้างในเมืองไทย ส่วนรูปท้ายๆเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่แบบที่เขาเรียกว่า "อนุรักษ์นิยม"  ซึ่งแฝงแบบโคโรเนียลอย่างเห็นได้ชัด  เรียกว่ากลายเป็นศิลปประจำถิ่นที่ซ่อนอยู่ในช่างไทย มิได้ถูกกลบเกลื่อนเลือนลางหายไปหมดแล้วดังปุจฉา


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 เม.ย. 12, 21:53
อืม์  เห็นชัดเลยเนาะ

โคโลเนียลสไตล์หลังคาปั้นหยา  ;)

พวกบ้านที่มีระเบียงชั้นบนทั้งหลาย ก็คือเสี้ยวซากของโคโลเนียลที่หลงเหลือติดอยู่นะสิ ???



กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 เม.ย. 12, 22:34
เขาเรียก สถาปัตยกรรมแบบไทยผสมฝรั่ง ขอรับ

เออ ครับ พวกระเบียง เฉลียง ชาน อะไรประเภทเช่นนี้ เป็นวิถีไทยที่ยังจะต้องคำนึงถึงในการออกแบบบ้านและอาคาร ตามที่ถามในข้อที่ผ่านมาด้วย เพราะบ้านฝรั่งในเมืองหนาวเขาไม่นิยมจะสร้างกัน แต่คนไทยชอบ ความจริงไม่ได้ออกมานั่งกินลมเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่ทนแดดไม่ไหว กลางคืนก็ยุงกัด ที่เห็นบางบ้านใช้ประโยชน์จริงๆก็เอาไว้ตากผ้านี่แหละ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 เม.ย. 12, 16:14
เขาลงจากหลังคาไปเดินตามระเบียงกันหมดแล้ว
   
ผมก็จะต้องลงเดินตามเขาไปด้วยแล้ว


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 16:22
ท่าน NAVARAT ให้ดิฉันเอาบันไดมารับคุณตั้งจากหลังคา  ลงไปที่ระเบียงและเฉลียง ค่ะ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 16:36
อยู่ที่เดิมก็ได้ ท่านตั้ง เดี่ยวจะทำดาดฟ้าให้


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 เม.ย. 12, 19:34
ขอบคุณครับคุณเพ็ญชมพูที่ส่งกระไดมาพาดให้ ลงได้ง่ายอีกหน่อย
แล้วก็ขอบคุณท่านนวรัตน์ ที่จะทำดาดฟ้าให้อยู่ แต่กลัวจะต้องอยู่คนเดียวครับ
ยังไงก็ต้องลงไประเบียงให้ได้ครับ

หลังคาไทยนั้นช่างมุงหลังคาจะอยู่ด้านใน แต่หลังคาฝรั่งช่างมุงหลังคามักจะอยู่ด้านนอก ทั้งคู่มุงจากชายคาขึ้นไปหาจั่ว เลยต้องขอบคุณคุณเทาชมพูที่ทราบว่าต้องเอาบันไดมาพาดให้ด้านนอก มิฉะนั้นผมคงจะโผล่ออกมาลงไม่ได้   

ภาพของท่านนวรัตน์ทำให้ผมคิดถึงส่วนของหลังคาที่เรียกว่า Widow watch ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเอกลักษณ์ของหลังคาของอเมริกันเฉพาะแถบนิวอิงแลนด์ ซึ่งดูเหมือนจะมีอยู่บนบางอาคารทั้งสมัยเก่าและอาคารแบบร่วมสมัยของไทย แต่เหลือเพียงเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นเท่านั้น หรือไม่เกี่ยวกันเลย ???


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 19:38
ขอบคุณครับคุณเพ็ญชมพูที่ส่งกระไดมาพาดให้ ลงได้ง่ายอีกหน่อย


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 19:42
^
เมาแหง๋


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 เม.ย. 12, 19:44
แน่นอน ;)


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 เม.ย. 12, 19:46
ขออภัยจริงๆครับ
เป็นคุณเทาชมพูที่กรุณาเอากระไดมาพาดให้ลง


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 19:50
ภาพของท่านนวรัตน์ทำให้ผมคิดถึงส่วนของหลังคาที่เรียกว่า Widow watch ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเอกลักษณ์ของหลังคาของอเมริกันเฉพาะแถบนิวอิงแลนด์ ซึ่งดูเหมือนจะมีอยู่บนบางอาคารทั้งสมัยเก่าและอาคารแบบร่วมสมัยของไทย แต่เหลือเพียงเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นเท่านั้น หรือไม่เกี่ยวกันเลย ???
Widow's watch  คงจะเป็นเหลาเต๊งบนหลังคาในรูปบนสองรูป ที่นำมาให้ดู
รัฐที่ดิฉันเคยอยู่ เป็น northwestern state    ไม่มีเหลาเต๊ง   แต่มีห้องใต้หลังคา มีหน้าจั่วเล็กๆเป็นหน้าต่างรับแสงสว่าง อย่างในรูปล่างทั้งสองรูป   ถ้าจำไม่ผิดเรียกว่า gable  ค่ะ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 19:57
ห้องใต้หลังคา Attic ก็ได้ Loft ก็ได้ครับ

ส่วน Gable แปลว่าหลังคาจั่ว


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 19:59
ใช่เลย


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 20:13
ขออภัยจริงๆครับ
เป็นคุณเทาชมพูที่กรุณาเอากระไดมาพาดให้ลง
ไม่เป็นไรค่ะ   ชื่อคล้ายๆกัน   ก็เคยมีคนเรียกสลับกันมาแล้ว


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 20:58
ภาพของท่านนวรัตน์ทำให้ผมคิดถึงส่วนของหลังคาที่เรียกว่า Widow watch ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเอกลักษณ์ของหลังคาของอเมริกันเฉพาะแถบนิวอิงแลนด์ ซึ่งดูเหมือนจะมีอยู่บนบางอาคารทั้งสมัยเก่าและอาคารแบบร่วมสมัยของไทย แต่เหลือเพียงเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นเท่านั้น หรือไม่เกี่ยวกันเลย ???
มารอคำตอบอีกคนค่ะ   ดิฉันเคยเห็นอะไรแบบนี้อยู่บนหลังคาคฤหาสน์แบบโรมันในหมู่บ้านจัดสรรของไทย     แต่เข้าใจว่าเป็นที่เก็บแท้งค์น้ำเสียอีก
 :)


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 21:17
สองรูปที่เอามาข้างล่างจะใช่หรือเปล่า

แต่ปกติ องค์ประกอบของอาคารเช่นนี้จะมีไว้ประดับเกียรติมากกว่าจะใช้งานจริงๆ แม้แต่จะเป็นหอถังน้ำก็เถอะ วันดีคืนดี ท่อแตก น้ำรั่วลงมาแล้ว อะไรต่อมิอะไรในห้องข้างล่างจะพลอยเสียหายไปด้วยน่ะครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 21:42
บ้าน 3 หลังนี้อยู่ในประเทศไทย     ไม่แน่ใจว่าในวงกลมสีแดงคือ Widow's watch หรือเปล่าค่ะ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 22:05
ถ้าใช่ ก็คงทำไปโก้ๆอย่างนั้นเอง แต่สองหลังแรกอาจเอาพระพรหมหรือเจ้าแม่กวนอิมไปตั้งก็ได้นะ
นึกขึ้นมาได้
ถ้าเป็นมัสยิดเขาก็เอาลำโพงขึ้นไปตั้ง แต่หลังสุดท้ายนี่ ดูเหมือนปล่องไฟมากกว่านะครับ ผมไม่แน่ใจ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 12, 11:50
เลยยังไม่ทราบจากคุณตั้งว่า widow's watch เขามีเอาไว้ทำไมคะ? 


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 12, 13:56
ขอแยกกระทู้จากหลังคาไทยไปเป็นหลังคาฝรั่งนะคะ
ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบฝรั่ง (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5084.new#new)

ท่านสถาปนิกใหญ่อุตส่าห์ดีไซน์ดาดฟ้าให้คุณตั้งนั่งเล่น    แต่คุณตั้งไม่ยอม เพราะยังไม่อยากอยู่คนเดียว  ถ้างั้นเชิญตามไปสำรวจหลังคาฝรั่งกับดิฉันไปพลางๆก่อนก็ได้
คงจะมีชาวเรือนไทยตามไปบ้างอย่างน้อยก็สองสามคน   ไม่ต้องนั่งเหงาอยู่คนเดียว


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 เม.ย. 12, 19:27
widow's watch ก็คือพื้นที่ราบขนาดเล็กๆบนหลังคา ที่มีราวกั้น จะเป็นทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส หรือทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าก็มี เป็นคล้ายๆระเบียงยาวตลอดเชิงลาดของหลังคาก็มี หรือตลอดแนวสันของหลังคาก็มี บ้านที่มีการทำพื้นที่ลักษณะนี้บนหลังคามักจะอยู่ตามชายทะเล เหตุที่เรียกชื่อนี้กันก็เพราะว่า ในสมัยก่อนนั้นภรรยาของนักเดินเรือจะใช้สำหรับขึ้นไปเฝ้ามองเฝ้ารอคอยว่า เรือที่สามีของตนเดินทางไปนั้นเดินทางกลับมาหรือยัง ยึ่งสูงก็จะยิ่งเห็นการปรากฏของเรือที่ขอบฟ้าได้ไกลมากเท่านั้น

จะผิดถูกอย่างไรก็ไม่รู้จริง เพื่อนสนิทคนอเมริกันของผมซึ่งอยู่ในแถบนิวอิงแลนด์ของสหรัฐฯ เป็นคนอธิบายให้ฟังครับ
บ้านที่มีหลังคาลักษณะนี้ผมจำได้ว่ายังพอจะมีให้เห็นได้อีกบ้างแถวควีเบคซิตี้ ตามริมแม่น้ำ St.Lawrence ในแคนาดา สำหรับในที่อื่นๆนั้นก็ดูจะมี (จำไม่แม่นเสียแล้ว) แต่จะใช่หรือไม่ก็ไม่ทราบ หรือเป็นเพียงการประดับให้สวยงาม เช่น แถบหลุยเซียน่า แถบนอร์ทแคโลไรน่า แถบเวอร์จิเนีย ดูเหมือนจะมีอยู่ในแถบรัฐวอชิงตันแต่ก็ดูจะจำกัดอยู่เฉพาะซานฟรานซิสโก ก็แปลกใจอยู่เหมือนกันว่าเหมือนจะไม่เคยเห็นในประเทศไอร์แลนด์เลย
 
ผมคิดว่า Widow's watch ที่เห็นตามอาคารเก่าๆที่สร้างในสมัย ร.6 นั้น บางอาคารก็ทำไว้เป็นเพียงส่วนประดับเพื่อความสวยงาม มิได้เพื่อประโยชน์ใช้สอยอะไร       



กระทู้: ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
เริ่มกระทู้โดย: sigree ที่ 20 ต.ค. 12, 20:23
ไม่แน่ใจว่ากระทู้นี้จบหรือยัง  เอาว่ามาให้แนวคิดเรื่องหลังคาแบบ มลายูแล้วกันนะครับ

หลังคาปั้นหยาในคำเรียกแบบไทยืั้ยึดตาม กรุงเทพ ว่าเป็นแหล่งกระจายอาจไม่ถูกนัก  หลังคาปั้นหยาทางใต้นั้นมีการใช่งานนานกว่านั้นมาก อาทิ มัญยิดกำปงลาอุ กลันตัน มาเลย์ ก็มีอายุไปแล้วถึง 500 ปี
(http://farm4.static.flickr.com/3171/2986427142_801c207770.jpg)
และยังมีศาสนสถานในอินโดบางแห่งที่ก่อนอิฐเป็นทรงปั้นหยาด้วย

ปั้นหยาเลยมีใช่มานานมาในแถบคาบสมุทธมลายู และอินโด(นูซันตารา)

และคนปัตตานีเรียกหลังคาปั้นหยาต่างจากคนในภูมิภาคอื่นของประเทศมาก  กล่าวคือ

ปั้นหยา จตุรัส เรียก วากัฟ Wakaf
(http://www.malaysiavacationguide.com/images/craftcentre.jpg)
และเรียก ปั้นหยาแบบผืนผ้าว่า ลีมะ(Limas)
(http://i2.photobucket.com/albums/y21/fleurzsa/rt1.jpg)
และเรียกหลังคาแบบ จั่วปั้นหยา หรือ มะลิลา ว่า.......ลีมะ(Limas) เช่นกัน
(http://lh5.ggpht.com/_82Via6pTstI/SzMORaWQAGI/AAAAAAAAAuU/tW5hHX7Bdo4/limas3.JPG)

เพราะ limas มาจากคำว่า Lima ที่แปลว่า 5 หมายถึงสันหลังคาทั้ง 5 (4สัน ทะแยง 1 สันบนสุด) และหลังคาแบบมะลิลา ก็มี 5 สันเช่นกัน

ดังนั้นเวลาคนมลายู อินโด เวลาเห็นหลังคา

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/673/8673/images/Trang/GantangStation02.jpg)

เขาจะเรียก ลีมะ ทันที

ที่นำมาคือสถานีรถไฟกันตัง  เอกสารเก่าบางฉบับก็เรียกมันว่า ปั้นหยาตามแบบมลายู.....

อย่างไรก็ดี  เขาก็มีคำแยกทั้งสองหลังคา  โดยเรียกปั้นหยาในคำเต็มๆว่า Limas Bukung  หรือเรียกย่อๆว่า Limas

ส่วนมะลิลาจะเรียกเต็มๆว่า Limas Berlanda  ฺำ ซึ่ง Berlanda เพี้ยนเสียงมาจาก ฮอลลันดา 

จาก ฺBerlanda เพี้ยนเสียงไปเป็น บราลันดา และบรานอ ในที่สุด